ในการถวายสังฆทานนั้น อะไรควรถวาย? อะไรไม่ควรถวาย?

การถวายสังฆทาน  ไม่ใช่  การถวายถังเหลือง

และ การทำบุญ  ไม่ใช่  การถวายสังฆทาน  เท่านั้น

 

การทำบุญทำได้หลายวิธี ทั้งการให้ทาน (ให้วัตถุ ให้คำสอน ให้คำแนะนำ ให้ธรรมะ ให้เวลากับพ่อแม่ ให้อภัย) การรักษาศีล (ไม่เบียดเบียนทำร้ายสัตว์, ไม่ลักขโมยฉ้อโกง, ไม่ประพฤติผิดในกาม, ไม่พูดโกหก เพ้อเจ้อ ส่อเสียด หยาบคาย, ไม่ดื่มสุรา ไม่ใช้ยาเสพติด) และการภาวนา (พัฒนาจิตใจและปัญญา ด้วยการศึกษา สนทนาธรรม รักษาใจให้ผ่องแผ้ว สดใส พิจารณาชีวิตตามความเป็นจริง)

แต่ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่า ต้องการทำบุญด้วยการถวายสังฆทาน ก็ควรให้อย่างสัตบุรุษ คือยึดหลักธรรมที่เรียกว่า สัปปุริสทาน ๘ ได้แก่

(๑) ให้ของสะอาด : เลือกสิ่งที่บริสุทธิ์ ได้มาโดยสุจริต

(๒) ให้ของประณีต : ให้ของที่ดี ตามกำลังศรัทธา อย่างรู้จักประมาณ

(๓) ให้ถูกเวลา : เช่นถวายภัตตาหารพระก่อนเวลาเพลเท่านั้น ถ้าจะถวายหลังเวลาเที่ยงไปแล้วก็อาจจะถวายเครื่องไทยธรรม ดอกไม้ธูปเทียน น้ำปานะต่างๆ ที่ไม่ขัดต่อพระวินัย เป็นต้น

(๔) ให้ของที่สมควรแก่ผู้รับจะนำไปใช้ได้ : เช่นถ้าจะถวายสังฆทาน ก็ควรถวายของที่สมควรแก่พระ ไม่ใช่สุรา ยาเสพติด เครื่องประดับตกแต่ง บางคนคิดว่าจะถวายสังฆทานอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับก็ต้องนำของที่ผู้ล่วงลับชอบใจหรือใช้อยู่เป็นประจำมาถวายพระ นี่เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะของเหล่านั้นถวายแก่พระ ไม่ใช่การทำพิธีให้ของนั้นล่องลอยไปสู่ผู้ล่วงลับ บุญเกิดจากการให้ มิใช่อยู่ที่ตัวสิ่งของ

(๕) ให้ด้วยวิจารณญาณ ให้เกิดผลเกิดประโยชน์มาก : ของที่จะให้เป็นทานจะมีราคาสูงหรือ ต่ำไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ควรเป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้จริง การจัดหาของน้อยชิ้นที่ใช้งานได้ อาจจะดีกว่าการจัดของสารพัดอย่างลงในถังให้ดูครบครันแต่นำมาใช้ หรือแม้แต่จะจัดเก็บก็ยากลำบาก

(๖) ให้ประจำสม่ำเสมอ

(๗) เมื่อให้ ทำจิตให้ผ่องใส

(๘) ให้แล้ว เบิกบานใจ : ไม่คิดกังวลว่าผู้รับจะใช้หรือไม่ จะยินดีแค่ไหน เมื่อให้ไปแล้วก็ไม่ยึดถือเป็นของเรา ตัวเราต่อไปอีก

เมื่อทำได้ดังนี้ หรือฝึกฝนที่จะทำเช่นนี้ ก็ชื่อว่าได้ให้อย่างผู้มีปัญญา เป็นการให้ที่มีประโยชน์ มีอานิสงส์มาก มีอานิสงส์ใหญ่ น่าอนุโมทนาชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง