ปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องของกฎธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องใหญ่ มีความกว้างขวางลึกซึ้ง และมีแง่ด้านต่างๆ มากมาย ละเอียดซับซ้อนอย่างยิ่ง ไม่ต้องพูดถึงว่าจะยากต่อการที่จะเข้าใจให้ทั่วถึง แม้แต่จะพูดให้ครบถ้วนก็ยากที่จะทำได้
ด้วยเหตุนี้ ในการศึกษาทั่วๆ ไป เมื่อเรียนรู้หลักพื้นฐานแล้ว ก็อาจจะศึกษาบางแง่บางจุดที่น่าสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะส่วนที่เกื้อหนุนความเข้าใจทั่วไป และส่วนที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต แก้ปัญหา และทำการสร้างสรรค์ต่างๆ
ในที่นี้ จะขอย้อนกลับไปยกข้อควรทราบสำคัญ ที่กล่าวถึงข้างต้น ขึ้นมาขยายความอีกเล็กน้อย พอให้เข้าใจชัดเจนมากขึ้น และเห็นทางนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของหลักกรรม ที่เป็นธรรมสืบเนื่องออกไป
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหัวข้อนี้เป็นเพียงคำอธิบายเสริม การขยายความจึงทำได้เพียงโดยย่อ
ในหนังสือพุทธธรรม (ฉบับเดิม) หน้า ๘๕ ได้เขียนข้อความสั้นๆ แทรกไว้พอเป็นที่สังเกต ดังต่อไปนี้
“ข้อควรทราบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ
• ความเป็นปัจจัยแก่กันขององค์ประกอบเหล่านี้ มิใช่มีความหมายตรงกับคำว่า “เหตุ” ทีเดียว เช่น ปัจจัยให้ต้นไม้งอกขึ้น มิใช่หมายเพียงเมล็ดพืช แต่หมายถึง ดิน น้ำ ปุ๋ย อากาศ อุณหภูมิ เป็นต้น เป็นปัจจัยแต่ละอย่าง และ
• การเป็นปัจจัยแก่กันนี้ เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่จำต้องเป็นไปตามลำดับก่อนหลังโดยกาละหรือเทศะ เช่น พื้นกระดาน เป็นปัจจัยแก่การตั้งอยู่ของโต๊ะ เป็นต้น”
ข้อความนี้บอกให้ทราบว่า ปฏิจจสมุปบาท เป็นหลักความจริงของธรรมชาติ ที่แสดงถึงความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยแก่กันของสิ่งทั้งหลาย
เบื้องแรกควรเข้าใจความหมายของถ้อยคำเป็นพื้นไว้ก่อน
ในที่ทั่วไป หรือเมื่อใช้ตามปกติ คำว่า “เหตุ” กับ “ปัจจัย” ถือว่าใช้แทนกันได้
แต่ในความหมายที่เคร่งครัด ท่านใช้ “ปัจจัย” ในความหมายที่กว้าง แยกเป็นปัจจัยต่างๆ ได้หลายประเภท ส่วนคำว่า “เหตุ” เป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง ซึ่งมีความหมายจำกัดเฉพาะ กล่าวคือ
“ปัจจัย” หมายถึง สภาวะที่เอื้อ เกื้อหนุน ค้ำจุน เปิดโอกาส เป็นที่อาศัย เป็นองค์ประกอบร่วม หรือเป็นเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะให้สิ่งนั้นๆ เกิดมีขึ้น ดำเนินต่อไป หรือเจริญงอกงาม
ส่วนคำว่า “เหตุ” หมายถึง ปัจจัยจำเพาะ ที่เป็นตัวก่อให้เกิดผลนั้นๆ
“เหตุ” มีลักษณะที่พึงสังเกต นอกจากเป็นปัจจัยเฉพาะ และเป็นตัวก่อให้เกิดผลแล้ว ก็มีภาวะตรงกับผล (สภาวะ) และเกิดสืบทอดลำดับ คือตามลำดับก่อนหลังด้วย
ส่วน “ปัจจัย” มีลักษณะเป็นสาธารณะ เป็นตัวเกื้อหนุนหรือเป็นเงื่อนไข เป็นต้น อย่างที่กล่าวแล้ว อีกทั้งมีภาวะต่าง (ปรภาวะ) และไม่เกี่ยวกับลำดับ (อาจเกิดก่อน หลัง พร้อมกัน ร่วมกัน หรือต้องแยกกัน-ไม่ร่วมกัน ก็ได้)
ตัวอย่างเช่น เม็ดมะม่วงเป็น “เหตุ” ให้เกิดต้นมะม่วง และพร้อมกันนั้น ดิน น้ำ อุณหภูมิ โอชา (ปุ๋ย) เป็นต้น ก็เป็น “ปัจจัย” ให้ต้นมะม่วงนั้นเกิดขึ้นมา
มีเฉพาะเหตุคือเม็ดมะม่วง แต่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องไม่พร้อม หรือไม่อำนวย ผลคือต้นมะม่วงก็ไม่เกิดขึ้น
ในเวลาอธิบายเรื่องเหตุปัจจัย มีอีกคำหนึ่งที่ท่านนิยมใช้แทนคำว่าเหตุปัจจัย คือคำว่า “การณะ” หรือ “การณ์” ซึ่งก็แปลกันว่าเหตุ 1
ในพระอภิธรรม ท่านจำแนกความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย ที่เป็นเหตุปัจจัยแก่กันนี้ไว้ถึง ๒๔ แบบ เรียกว่า ปัจจัย ๒๔
เหตุ เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งใน ๒๔ นั้น ท่านจัดไว้เป็นปัจจัยข้อแรก เรียกว่า “เหตุปัจจัย”
ปัจจัยอื่นอีก ๒๓ อย่างจะไม่กล่าวไว้ทั้งหมดที่นี่ เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือแก่ผู้เริ่มศึกษา เพียงขอยกตัวอย่างไว้ เช่น ปัจจัยโดยเป็นที่อาศัย (นิสสยปัจจัย) ปัจจัยโดยเป็นตัวหนุนหรือกระตุ้น (อุปนิสสยปัจจัย) ปัจจัยโดยประกอบร่วม (สัมปยุตตปัจจัย) ปัจจัยโดยมีอยู่ คือต้องมีสภาวะนั้น สิ่งนี้จึงเกิดมีได้ (อัตถิปัจจัย) ปัจจัยโดยไม่มีอยู่ คือต้องไม่มีสภาวะนั้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้นได้ (นัตถิปัจจัย) ปัจจัยโดยเกิดก่อน (ปุเรชาตปัจจัย) ปัจจัยโดยเกิดทีหลัง (ปัจฉาชาตปัจจัย) ฯลฯ
ที่ว่านี้รวมทั้งหลักปลีกย่อยที่ว่า อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล (ชั่วเป็นปัจจัยให้เกิดดี) ก็ได้ กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล (ดีเป็นปัจจัยให้เกิดชั่ว) ก็ได้ด้วย
ปัจจัยข้ออื่น เมื่อแปลความหมายเพียงสั้นๆ ผู้อ่านก็คงพอเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ปัจฉาชาตปัจจัย คือปัจจัยเกิดทีหลัง คนทั่วไปจะรู้สึกแปลกและคิดไม่ออก จึงขอยกตัวอย่างง่ายๆ ด้านรูปธรรม เช่น การสร้างตึกที่จะดำเนินการภายหลัง เป็นปัจฉาชาตปัจจัยแก่การสร้างนั่งร้านที่เกิดขึ้นก่อน ส่วนในทางสภาวธรรมด้านนาม ท่านยกตัวอย่างว่า จิตและเจตสิกซึ่งเกิดทีหลัง เป็นปัจจัยแก่ร่างกายนี้ที่เกิดขึ้นก่อน
ขอสรุปความตอนนี้ว่า
ตามหลักธรรม ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติ การที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะเกิดมีขึ้นได้ ต้องอาศัยเหตุปัจจัยต่างๆ หลากหลายประชุมกันพรั่งพร้อม (ปัจจัยสามัคคี)
ตามหลักแห่งความเป็นไปในระบบสัมพันธ์นี้ ยังมีข้อควรทราบแฝงอยู่อีก โดยเฉพาะ
• ขณะที่เราเพ่งดูเฉพาะผลอย่างหนึ่ง ว่าเกิดจากปัจจัยหลากหลายพรั่งพร้อมนั้น ต้องทราบด้วยว่า ที่แท้นั้น ต้องมองให้ครบทั้งสองด้าน คือ
๑. ผลแต่ละอย่าง เกิดโดยอาศัยปัจจัยหลายอย่าง
๒. ปัจจัย (ที่ร่วมกันให้เกิดผลอย่างหนึ่งนั้น) แต่ละอย่าง หนุนให้เกิดผลหลายอย่าง
ในธรรมชาติที่เป็นจริงนั้น ความสัมพันธ์และประสานส่งผลต่อกันระหว่างปัจจัยทั้งหลาย มีความละเอียดซับซ้อนมาก จนต้องพูดรวมๆ ว่า “ผลหลากหลาย เกิดจากเหตุ (ปัจจัย) หลากหลาย” หรือ “ผลอเนก เกิดจากเหตุอเนก” เช่น จากปัจจัยหลากหลาย มีเมล็ดพืช ดิน น้ำ อุณหภูมิ เป็นต้น ปรากฏผลอเนก มีต้นไม้ พร้อมทั้งรูป สี กลิ่น เป็นต้น
• ย้ำว่า ความเป็นเหตุปัจจัยนั้น มิใช่มีเพียงการเกิดก่อน-หลังตามลำดับกาละหรือเทศะเท่านั้น แต่มีหลายแบบ รวมทั้งเกิดพร้อมกัน หรือต้องไม่เกิดด้วยกัน ดังกล่าวแล้ว
เมื่อเห็นสิ่งหรือปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง เช่นตัวหนังสือบนกระดานป้ายแล้ว มองดูโดยพินิจ ก็จะเห็นว่าที่ตัวหนังสือตัวเดียวนั้น มีเหตุปัจจัยแบบต่างๆ ประชุมกันอยู่มากมาย เช่น คนเขียน (เจตนา+การเขียน) ชอล์ก แผ่นป้าย สีที่ตัดกัน ความชื้น เป็นต้น แล้วหัดจำแนกว่าเป็นปัจจัยแบบไหนๆ
• นอกจากเรื่องปัจจัย ๒๔ แบบ ที่เพียงให้ตัวอย่างไว้แล้ว ขอให้ดูตัวอย่างคำอธิบายของท่านสักตอนหนึ่งว่า
แท้จริงนั้น จากเหตุเดียว ในกรณีนี้ จะมีผลหนึ่งเดียว ก็หาไม่ (หรือ) จะมีผลอเนก ก็หาไม่ (หรือ) จะมีผลเดียวจากเหตุอเนก ก็หาไม่; แต่ย่อมมีผลอเนก จากเหตุอันอเนก 2
ตามหลักการนี้ ท่านสอนไว้ด้วยว่า ในปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เพราะอวิชชา (อย่างนั้น) เป็นปัจจัย สังขาร (อย่างนั้น) จึงมี, เพราะสังขาร (อย่างนั้น) เป็นปัจจัย วิญญาณ (อย่างนั้น) จึงมี, ฯลฯ” ดังนี้
- จะต้องไม่เข้าใจผิดไปว่าพระองค์ตรัสเหตุเดียว-ผลเดียว หรือปัจจัยอย่างหนึ่ง → ผลอย่างหนึ่งเท่านั้น
- ที่จริงนั้น ในทุกคู่ทุกตอน แต่ละเหตุ แต่ละผล มีปัจจัยอื่นและผลอื่นเกิดด้วย
ถ้าอย่างนั้น เหตุใดจึงตรัสช่วงละปัจจัย ช่วงละผล ทีละคู่? ตอบว่า การที่ตรัสเหตุ/ปัจจัย และผล เพียงอย่างเดียวนั้น มีหลัก คือ
บางแห่งตรัส เพราะเป็นปัจจัยหรือเป็นผล ตัวเอกตัวประธาน
บางแห่งตรัส เพราะเป็นปัจจัยหรือเป็นผล ตัวเด่น
บางแห่งตรัส เพราะเป็นปัจจัยหรือเป็นผล จำเพาะ (อสาธารณะ)
บางแห่งตรัส ตามความ เหมาะกับทำนองเทศนา (เช่นคราวนั้น กรณีนั้น จะเน้น หรือมุ่งให้ผู้ฟังเข้าใจแง่ไหนจุดใด) หรือให้ เหมาะกับเวไนย์ คือผู้รับคำสอน (เช่นยกจุดไหน ประเด็นใดขึ้นมาแสดง บุคคลนั้นจึงจะสนใจและเข้าใจได้ดี)
ในที่นี้ ตรัสอย่างนั้น เพราะจะทรงแสดงปัจจัยและผล ที่เป็นตัวเอกตัวประธาน เช่นในช่วง “เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี” ตรัสอย่างนี้ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยตัวประธานของเวทนา (กำหนดเวทนาตามผัสสะ) และเพราะเวทนาเป็นผลตัวประธานของผัสสะ (กำหนดผัสสะตามเวทนา)
หลักความจริงนี้ปฏิเสธลัทธิเหตุเดียว ที่เรียกว่า “เอกการณวาท” ซึ่งถือว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากต้นเหตุอย่างเดียว โดยเฉพาะลัทธิที่ถือว่ามี มูลการณ์ เช่น มีพระผู้สร้าง อย่าง อิสสรวาท (=อิศวรวาท คือลัทธิพระผู้เป็นเจ้าบันดาล) ปชาปติวาท (ลัทธิถือว่าเทพประชาบดีเป็นผู้สร้างสรรพสัตว์) ปกติวาท (ลัทธิสางขยะ ที่ถือว่าสิ่งทั้งปวงมีกำเนิดจากประกฤติ) เป็นต้น
แม้แต่ในสมัยปัจจุบัน คนก็ยังติดอยู่กับลัทธิเหตุเดียวผลเดียว ตลอดจนลัทธิผลเดียว และประสบปัญหามากจากความยึดติดนี้ ดังปรากฏชัดในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มุ่งผลเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วศึกษาและนำความรู้ความเข้าใจในเหตุปัจจัยมาประยุกต์ให้เกิดผลที่ต้องการ แต่เพราะมองอยู่แค่ผลเป้าหมาย ไม่ได้มองผลหลากหลายที่เกิดจากปัจจัยอเนกให้ทั่วถึง (และยังไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะมองเห็นอย่างนั้นด้วย) จึงปรากฏบ่อยๆ ว่า หลังจากทำผลเป้าหมายสำเร็จผ่านไป บางที ๒๐–๓๐ ปี จึงรู้ตัวว่า ผลร้ายที่พ่วงมากระทบหมู่มนุษย์อย่างรุนแรง จนกลายเป็นได้ไม่เท่าเสีย
วงการแพทย์สมัยใหม่ แม้จะถูกบังคับจากงานเชิงปฏิบัติการ ให้เอาใจใส่ต่อผลข้างเคียงต่างๆ มากสักหน่อย แต่ความรู้เข้าใจต่อความสัมพันธ์เชิงเหตุผลของปรากฏการณ์ต่างๆ โดยส่วนใหญ่ ก็ยังเป็นเพียงการสังเกตแบบคลุมๆ ไม่สามารถแยกปัจจัยแต่ละอย่างที่สัมพันธ์ต่อไปยังผลแต่ละด้านให้เห็นชัดได้
พูดโดยรวม แม้ว่ามนุษย์จะพัฒนาความรู้ในธรรมชาติได้ก้าวหน้ามามาก แต่ความรู้นั้นก็ยังห่างไกลจากการเข้าถึงธรรมชาติอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ในด้านนามธรรม มนุษย์ควรใช้ประโยชน์จากความรู้ในความจริงของระบบปัจจัยสัมพันธ์ ที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทนี้ได้มาก
โดยเฉพาะในการดำเนินชีวิตของตน คือในระดับกฎแห่งกรรม ความเข้าใจหลัก “ผลหลากหลาย จากปัจจัยอเนก” จะช่วยให้จัดการกับชีวิตของตน ให้พัฒนาทั้งภายใน และดำเนินไปในโลกอย่างสำเร็จผลดี
เมื่อพูดถึงหลักกรรม ปัญหาที่พูดกันมากที่สุดก็คือ
ทำดีได้ดี จริงหรือไม่? ทำไมฉันทำดีแล้ว ไม่เห็นได้ดี?
ถ้าเข้าใจปฏิจจสมุปบาท ในเรื่องเหตุปัจจัยอย่างที่พูดไปแล้ว ปัญหาอย่างนั้นจะหมดไป แต่จะก้าวขึ้นไปสู่คำถามใหม่ที่เป็นประโยชน์และควรจะถามมากกว่าว่า ทำกรรมอย่างไรจึงจะได้ผลดี และได้ผลดียิ่งขึ้นไป?
อีกปัญหาหนึ่งคือ
กรรมเก่ามีผลต่อชีวิตของเราแค่ไหน? และ
เราควรปฏิบัติต่อกรรมเก่าอย่างไร?
แม้ว่าเรื่องกรรมจะละเอียดซับซ้อนมาก แต่ก็พอจะให้หลักในการพิจารณาที่สำคัญได้ (ขอให้ทบทวนตามหลักใหญ่ที่ได้พูดไปแล้ว) ดังนี้
๑. รู้หลักความตรงกันของเหตุกับผล ต้องถามตัวเอง หรือจับให้ชัดก่อนว่า กรรมคือความดีที่เราทำนี้ เป็นปัจจัยตัวเหตุ ที่จะให้เกิดผลอะไร ที่เป็นผลโดยตรงของมัน (ผลโดยตรงของเหตุ) เช่น การปลูกเม็ดมะม่วง ทำให้เกิดต้นมะม่วง (ไม่ใช่ได้ต้นมะปราง ไม่ใช่ได้เงิน เป็นต้น) การศึกษา ทำให้ได้ปัญญาและเป็นอยู่หรือจัดการกับชีวิตของตนและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ดีขึ้น (ไม่ใช่ได้เงิน ไม่ใช่ได้งาน เป็นต้น) การเรียนแพทย์ ทำให้สามารถบำบัดโรครักษาคนไข้ (ไม่ใช่ได้ตำแหน่ง ไม่ใช่ร่ำรวย เป็นต้น)
๒. กำหนดผลดีที่ต้องการให้ชัด จะเห็นว่า เพียงแค่ตามหลักความจริงของธรรมชาติว่า “ผลหลากหลาย จากปัจจัยอเนก” การแยกปัจจัยแยกผลก็ซับซ้อนอยู่แล้ว เมื่อพูดถึงสังคมมนุษย์ ความซับซ้อนก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เพราะมีกฎมนุษย์ และปัจจัยทางสังคม ซ้อนขึ้นมาบนกฎธรรมชาติอีกชั้นหนึ่ง ขอยกตัวอย่างง่ายๆ
กฎธรรมชาติ: การทำสวนเป็นเหตุ ต้นไม้เจริญงอกงามเป็นผล
กฎมนุษย์: การทำสวนเป็นเหตุ ได้เงินเดือน ๗,๐๐๐ บาทเป็นผล
หรือ การทำสวนเป็นเหตุ ขายผลไม้ได้เงินมากเป็นผล
ผลโดยตรงของเหตุ เป็นผลตามกฎธรรมชาติ ซึ่งเป็นไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยที่เที่ยงตรง
อย่างไรก็ดี ผลที่คนพูดถึงกันมาก มักไม่ใช่ผลโดยตรงของเหตุที่เป็นไปตามกฎธรรมชาตินั้น แต่คนมักพูดกันถึงผลตามกฎมนุษย์
กฎมนุษย์เป็นกฎสมมติ ซึ่งขึ้นต่อเงื่อนไขคือสมมติ (=สํ-ร่วมกัน + มติ-การยอมรับ, ข้อตกลง → สมมติ=การตกลงหรือยอมรับร่วมกัน) ซึ่งผันแปรได้ และยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่นอกเหนือกฎมนุษย์นั้นอีก เช่น ค่านิยมของสังคม และความถูกใจพอใจของบุคคล เป็นต้น โดยมีความต้องการเป็นตัวกำหนดที่สำคัญ
จะเห็นว่า ความหมายของคำไทยว่า “ดี” หรือ “ไม่ดี” นี้ มักจะกำกวม “ดี” นี้ เรามักใช้ในความหมายว่าน่าปรารถนา ตรงกับความพอใจ ชอบใจ หรือแม้กระทั่งเป็นไปตามค่านิยม ดังนั้นจึงต้องมีการแยกแยะ เช่นว่า ดีตรงไปตรงมาตามความจริงของธรรมชาติ ดีต่อชีวิต ดีในเชิงสังคม เป็นต้น
ยกตัวอย่างที่แสนจะง่าย ใกล้ๆ ตัว เช่น เรากินอาหารอย่างหนึ่ง ที่มีผลดีต่อชีวิต ทำให้มีสุขภาพดี แต่อาจจะไม่ดีในเชิงสังคม ไม่สนองค่านิยมให้รู้สึกโก้เก๋ บางคนอาจจะดูถูกว่าเราต่ำต้อย หรือว่าไม่ทันสมัย แต่ชีวิตเราก็ดี
ในทางตรงข้าม มีคนอื่นมาให้ของกินอย่างหนึ่งแก่เรา อาจจะเป็นขนมก็ได้ ราคาแพง มีกล่องใส่ ห่ออย่างสวยหรู โก้เก๋มาก ดีเหลือเกินในเชิงสังคม เราอาจจะลิงโลดดีใจที่ได้รับ แต่ถ้ากินเข้าไป ของนั้นกลับไม่ดีต่อชีวิตของเรา จะบั่นทอนสุขภาพ หรือก่อให้เกิดโรค
นี่เป็นตัวอย่าง ซึ่งคงนึกขยายเองได้
เพราะฉะนั้น คำว่า “ผลดี” ที่พูดถึงหรือนึกถึงนั้น จะต้องวิเคราะห์หรือกำหนดให้ชัดกับตัวเองว่า ผลดีที่เราต้องการนั้น “ดี” ในแง่ไหน เช่น เป็น นักกีฬาเตะตะกร้อ
๑. ผลดีตามกฎธรรมชาติ (=ร่างกายแข็งแรงเคลื่อนไหวแคล่วคล่อง)
→ได้ผลแน่นอน เท่ากับผลรวมหักลบแล้วของเหตุปัจจัย
๒. ผลดีตามนิยามและนิยมของมนุษย์
• ในแง่กระแสสังคม (=ผู้คนชื่นชมนิยมยกย่อง)
ปัจจัยภายนอก: ไม่เอื้อ → คนสนใจน้อย ได้รับการยกย่องในวงแคบ
• ในแง่อาชีพ (=เป็นทางหารายได้มีเงินเลี้ยงชีวิตและร่ำรวย)
ปัจจัยภายนอก: ไม่เอื้อ → แม้เป็นสัมมาชีพ แต่หาเงินยาก อาจฝืดเคือง
• ในแง่วัฒนธรรม (=ช่วยรักษาสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ)
ปัจจัยภายใน: ถ้าทำใจถูกต้อง → รู้สึกว่าได้ทำประโยชน์ ภูมิใจ สุขใจ แต่
ปัจจัยภายนอก: เงื่อนไขกาลเทศะ → คนอาจจะไม่เห็นคุณค่า ขึ้นต่อสภาพสังคม-การเมือง
นี้เป็นเพียงตัวอย่างของการที่จะต้องวิเคราะห์หรือกำหนดให้ชัดกับตัวเองว่า ผลดีที่เราต้องการนั้น “ดี” ตามสภาวะของมัน ดีที่เป็นความดีตามหลักการแท้ๆ (เช่น ดีเพื่อความดี) หรือดีต่อชีวิตของเรา หรือดีในแง่สังคมโดยการยอมรับ โดยระบบ โดยค่านิยม ฯลฯ
เมื่อชัดกับตัวเองแล้วว่า เราต้องการผลดีในความหมายใด ก็วิเคราะห์ต่อไปว่า ผลดีแบบที่เราต้องการนั้น จะเกิดขึ้นได้ นอกจากตัวการกระทำดีที่เป็นเหตุตรงแล้ว จะต้องมีปัจจัยอะไรอีกบ้าง ปัจจัยเหล่านั้นมีอยู่หรือเอื้ออำนวยหรือไม่ มีปัจจัยประกอบอะไรอีกที่เราจะต้องทำเพื่อให้ครบถ้วนที่จะออกผลที่เราต้องการ ถ้าต้องการผลดีที่ปัจจัยไม่เอื้อ ผลยากที่จะมา จะยอมรับหรือไม่ ฯลฯ
ขอย้ำว่า ผลดีตามสภาวะ หรือตามกฎธรรมชาตินั้น เป็นของแน่นอนตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติเอง แต่ผลดีตามนิยามและนิยมของมนุษย์ขึ้นต่อเจตจำนง เกี่ยวเนื่องกับความต้องการของมนุษย์ตามกาละและเทศะเป็นต้น ซึ่งจะต้องใช้ปัญญาวิเคราะห์สืบค้นออกมา
หลักปฏิบัติที่ถูกต้อง ก็คือ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม พึงมุ่งผลดีตามสภาวะเป็นแกนหรือเป็นหลักไว้ก่อน ซึ่งเมื่อทำก็ย่อมได้ ส่วนผลดีเชิงสังคมเป็นต้น พึงถือเป็นเรื่องรองหรือเป็นส่วนประกอบ จะได้หรือไม่ ก็แล้วแต่ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้ก็ดี ไม่ได้ก็แล้วไป เช่นทำดีเพื่อให้เกิดความดี ใครจะยกย่องสรรเสริญหรือไม่ ก็ไม่มัวติดข้อง หรือทำดีเพื่อฝึกตน เพื่อให้ชีวิตและสังคมเจริญงอกงาม โดยไม่ต้องคิดจะเอาหรือจะได้อะไรจากสังคม 3
แต่ถ้ามุ่งเอาผลดีด้านสังคมเป็นต้น โดยไม่ทำให้เกิดผลดีตามสภาวะ ถึงจะได้ผลที่ต้องการ แต่จะกลายเป็นการหลอกลวง ซึ่งมีแต่จะทำให้ชีวิตและสังคมเสื่อมทรามลงไป ไม่เร็วก็ช้า
๓. ทำเหตุปัจจัยให้ครบที่จะให้เกิดผลที่ต้องการ ตามหลักความพรั่งพร้อมของปัจจัย อะไรจะปรากฏเป็นผลขึ้น ต้องมีปัจจัยพรั่งพร้อม ตรงนี้จะช่วยให้ไม่ไปติดในลัทธิเหตุเดียวผลเดียว
หลักหรือกฎไม่ได้บอกว่า เมื่อเอาเม็ดมะม่วงไปปลูกแล้ว ต้นมะม่วงจะต้องงอกขึ้นมา ท่านพูดแต่เพียงว่า จากเม็ดมะม่วง ต้นไม้ที่จะงอกขึ้นมา ก็เป็นมะม่วง นี้คือ เหตุ → ผล หรือ ปัจจัยตัวตรงสภาวะ → ผล
การที่เม็ดมะม่วงจะงอกขึ้นมาเป็นต้นมะม่วงนั้น ไมใช่มีแต่เม็ดมะม่วงอย่างเดียวแล้วจะได้ต้นมะม่วง ต้องมีดิน มีปุ๋ยในดิน มีน้ำ มีแก๊ส (เช่น ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์) มีอุณหภูมิพอเหมาะ เป็นต้น พูดสั้นๆ ว่า เมื่อปัจจัยพรั่งพร้อมแล้ว ต้นมะม่วงจึงจะงอกขึ้นมาได้
นอกจากผลที่เรามองจะเกิดจากปัจจัยหลายอย่างพรั่งพร้อมแล้ว ปัจจัยแต่ละอย่างที่มาพรั่งพร้อมนั้น ก็สัมพันธ์ไปสู่ผลอย่างอื่นที่เราไม่ได้มองขณะนั้นด้วย ดังได้พูดแล้วข้างต้น
ได้บอกแล้วว่า ให้มุ่งผลดีตามสภาวะเป็นหลักหรือเป็นแกนไว้ก่อน ตอนนี้ก็มองดูว่ามีปัจจัยตัวไหนบ้างที่จะต้องทำให้ครบที่จะเกิดผลนี้ ต่อจากนั้น เมื่อยังต้องการผลดีด้านไหนอีก เช่นในทางสังคม เป็นต้น ก็พิจารณาให้ครบ แล้วทำกรรมดีให้ได้เหตุปัจจัยพรั่งพร้อมที่จะเกิดผลดีตามที่ต้องการนั้น
๔. ฝึกฝนปรับปรุงตนให้ทำกรรม (ได้ผล) ดียิ่งขึ้นไป ตามหลักความไม่ประมาท โดยเฉพาะความไม่ประมาทในการศึกษา เราจะต้องฝึกกาย วาจา จิตใจ และปัญญา (เรียกรวมว่า ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา) ให้สามารถทำกรรมที่ดียิ่งขึ้นๆ เช่น จากกรรมชั่ว เปลี่ยนมาทำกรรมดี จากกรรมดี ก็ก้าวไปสู่กรรมดีที่ประณีตหรือสูงยิ่งขึ้นๆ ให้ชีวิตก้าวไปในมรรค คือในวิถีชีวิตประเสริฐ ที่เรียกว่า พรหมจริยะ/พรหมจรรย์
(ถ้าใช้คำศัพท์ ก็คือ ก้าวจากอกุศลมากกุศลน้อย ไปสู่อกุศลน้อยกุศลมาก จากกามาวจรกุศล ไปสู่รูปาวจรกุศล ไปสู่อรูปาวจรกุศล และไปสู่โลกุตตรกุศล )
ถ้าใช้สำนวนพูดให้เหมาะกับคนสมัยนี้ ก็คือ พัฒนากรรมให้ดียิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้น เมื่อทำกรรมดีตามหลักในข้อก่อนไปแล้ว ถ้าผลดีในความหมายหรือในแง่ที่เราต้องการไม่ออกมา ก็วิเคราะห์สืบสาวว่า ทำกรรมนั้นแล้ว แต่สำหรับผลดีแง่นี้ๆ ปัจจัยอะไรบ้างขาดไป หรือยังบกพร่องส่วนไหน จะได้แก้ไขปรับปรุง เพื่อว่าคราวต่อไปจะได้ทำให้ตรง ให้ถูกแง่ ให้ครบ นี่คือความไม่ประมาทในการศึกษา ที่จะใช้ปัญญาพิจารณาแก้ปัญหา และพัฒนากรรมให้ดีและให้ได้ผลยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่าง เช่น นายชูกิจได้ยินข่าวสารจากวิทยุ เป็นต้น พูดถึงปัญหาของบ้านเมือง ที่ว่าป่าลดน้อยลงจนน่ากลัว จะต้องช่วยกันปลูกต้นไม้ให้มากๆ และมีข่าวด้วยว่า บางแห่งคนมากมายช่วยกันปลูกต้นไม้ มีการนำมายกย่อง บางทีมีการให้รางวัลด้วย
นายชูกิจได้ยินได้ฟังข่าวแล้ว ก็เกิดศรัทธา เที่ยวดูสถานที่เหมาะๆ ใกล้หมู่บ้านของเขา แล้วหาต้นไม้เหมาะๆ มาปลูก ต้นไม้ก็ขึ้นงอกงามดี เขาปลูกไปได้หลายต้น
เวลาผ่านไประยะหนึ่ง เขามานึกดูว่า เขาทำความดีนี้มาก็นานแล้ว ไม่เห็นมีใครสนใจ ก็เลยชักจะท้อ และน้อยใจว่า “เราอุตส่าห์ทำดี เหนื่อยไปมากมาย ไม่เห็นได้ดีอะไร”
พอมองลึกลงไปในใจของคุณชูกิจ ปรากฏว่าเขาอยากได้ความนิยมยกย่อง และหวังจะได้รางวัลด้วย
เมื่อวิเคราะห์ตามหลักความสัมพันธ์สืบทอดเหตุปัจจัยสู่ผลต่างๆ ที่ตรงกัน ก็เห็นได้ว่า
• ผลตามกฎธรรมชาติ หรือผลตามธรรม ก็เกิดขึ้นแล้ว คือ เขาปลูกต้นไม้ เมื่อทำเหตุปัจจัยของมันครบ ต้นไม้ก็ขึ้นมา
• ผลตามธรรมแก่ตัวเขาเอง ที่เป็นผู้ทำการนั้น เขาก็ได้แล้ว เช่น เกิดและเพิ่มความรู้ความเข้าใจความชำนาญที่เรียกกันว่าทักษะ ในเรื่องต้นไม้และการปลูกต้นไม้ ตลอดจนผลพ่วง เช่น ร่างกายแข็งแรง เสริมสุขภาพ
• ผลตามธรรมแก่สังคม คือ ท้องถิ่นของเขา ตลอดถึงโลกมนุษย์ทั้งหมด ได้สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ดีงามเพิ่มขึ้น
แต่ผลที่ตัวเขาว่า “ดี” ที่เขาไม่ได้ คือผลทางสังคม (=ผลที่จะได้แก่ตัวเขา จากสังคม) ได้แก่ เสียงยกย่อง และรางวัล หรือเงินทองของตอบแทน ซึ่งมิใช่เป็นผลที่ตรงตามเหตุปัจจัยของการปลูกต้นไม้
ถ้าคุณชูกิจต้องการผลทางสังคมที่ว่านี้ ก็ต้องดูและทำปัจจัยเหล่านั้นด้วย เริ่มตั้งแต่ดูว่า การทำความดีด้วยการปลูกต้นไม้นี้ เข้ากับกระแสนิยมของท้องถิ่นของตนเองหรือไม่ (พิจารณาโดยกาล-เทศะ หรือโดยคติ และกาละ) ถ้าจะให้ได้รับคำยกย่องและรางวัล จะต้องทำปัจจัยอะไรประกอบเพิ่มเข้ามากับการทำความดีคือการปลูกต้นไม้นั้น แล้วทำให้ครบ
ที่จริง ถ้าคุณชูกิจมุ่งหวังผลดีที่แท้ คือผลตามธรรมที่ว่าข้างต้น ไม่มัวห่วงผลทางสังคม(แก่ตัวตน) เขาจะได้ผลตามธรรมเพิ่มอีกอย่างหนึ่งด้วย คือปีติความเอิบอิ่มใจและความสุข ในการทำความดี และในการที่ได้เห็นผลดีตามธรรมด้านต่างๆ เพิ่มขยายคลี่คลายขึ้นมาเรื่อยๆ ตลอดเวลา แต่ความหวังผล ‘ดี’ แก่ตัวตน ได้ปิดกั้นปีติสุขนี้เสีย และหนำซ้ำ ทำให้เขาได้รับความผิดหวังและความช้ำใจเข้ามาแทน
ยิ่งกว่านั้น ถ้าเขาฉลาดในความดีและฉลาดในการทำประโยชน์ เมื่อเขาจะเริ่มหรือกำลังทำการนั้นอยู่ เขาอาจจะชักชวนคนอื่นๆ ให้รู้เข้าใจมองเห็นประโยชน์ของการปลูกต้นไม้ แล้วมาร่วมกับเขาบ้าง หรือต่างคนก็ไปทำของตนบ้าง แพร่ขยายการปลูกต้นไม้ให้กว้างออกไป นอกจากผลตามธรรมทุกด้านจะเพิ่มพูนแล้ว ผลทางสังคมแก่ตัวเขาก็อาจจะพลอยตามมาด้วย
จะต้องชัดกับตนเองว่า ผลดีตามธรรมของกรรมดีนั้นๆ คืออะไร และควรฝึกตนให้ต้องการผลตามธรรมนั้นก่อนผลอย่างอื่น แล้วนอกจากนั้นเราต้องการผลดีอย่างไหนอีก และเพื่อให้เกิดผลดีนั้นๆ จะต้องทำปัจจัยอะไรเพิ่มอีกบ้าง เมื่อจะทำก็ทำเหตุปัจจัยให้ครบ เมื่อทำไปแล้วก็ตรวจสอบให้รู้ปัจจัยที่ยิ่งและหย่อนสำหรับผลดีแต่ละด้านนั้นๆ เพื่อทำให้ครบและดียิ่งขึ้นในครั้งต่อไป
อนึ่ง ผลดีทางสังคม หรือผลดีจากสังคมแก่ตัวตนนั้น อาจจะไม่สอดคล้องกับผลดีตามธรรมก็ได้ บางครั้ง บางเรื่องอาจจะถึงกับตรงกันข้ามเลยก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นต่อปัจจัยทางสังคมเป็นต้น ที่เนื่องด้วยกาลเทศะ เช่น ในกาละและเทศะที่ธรรมวาทีอ่อนกำลัง และอธรรมวาทีมีกำลัง ดังนั้น จึงต้องพิจารณาด้วยว่าผลที่ว่าดีนั้น เป็นของสมควรหรือไม่ เราจะเอาธรรมไว้ หรือจะไปกับตัวตน
จะต้องไม่ประมาทในการศึกษาและพัฒนากรรมกันอย่างนี้ จึงจะถูกต้อง นี่ก็คือการพัฒนาตัวเราเอง และพัฒนาสังคมไปด้วย ไม่ใช่ทำอะไรไปแล้ว ก็มองแง่เดียวชั้นเดียว ว่าได้ผลที่ตนต้องการ หรือไม่ได้ พอไม่ได้ก็เอาแต่โวยวายโอดครวญว่าทำดีไม่ได้ดี เลยไม่ไปไหน
แต่ต้องขอเตือนไว้ด้วยว่า คนที่ต้องการผลดีต่อบุคคล (คือแค่ที่ถูกใจตนหรือตัวเองชอบใจ) และผลดีตามกระแสหรือค่านิยมของสังคมนั้น ถ้าไม่มองให้ถึงผลดีตามสภาวะ คือผลดีตามธรรม ซึ่งเป็นผลที่ดีอย่างแท้จริงต่อชีวิต ต่อหลักการ และต่อความดีงามที่แท้ของสังคมแล้ว แม้จะทำกรรมเพื่อผลดีที่ตนต้องการนั้นได้เก่ง แต่ก็คือทำกรรมไม่ดีหรืออกุศลซ่อนไว้ ซึ่งตัวเองอาจจะมีปัญญารู้ไม่ทันผลแง่อื่น เพราะมัวแต่มองเพียงผลดีแบบที่ตัวต้องการอย่างเดียวด้านเดียว แล้วในไม่ช้า หรือในที่สุด อกุศลที่แฝงไว้นั้นก็จะออกผลให้โทษต่อไป
จึงได้ย้ำไว้ข้างต้นว่า ไม่ว่าจะต้องการผลดีข้างเคียงอะไรก็ตาม ขอให้ทำกรรมดีเพื่อผลดีที่ตรงตามสภาวะหรือผลดีตามธรรมเป็นหลักเป็นแกนไว้ก่อน ถ้าปฏิบัติตามนี้ จะได้ผลดีที่แท้ และปลอดภัยในระยะยาว ดีทั้งแก่ชีวิต แก่สังคม แก่ตน และแก่ผู้อื่น
เราคงจะมุ่งเอาผลดีต่อตัวตนของบุคคล ผลดีตามกระแสสังคม หรือผลดีเชิงค่านิยมกันมากไป จึงมองไม่เห็นผลดีที่ตรงไปตรงมาตามธรรม ถ้าอย่างนี้ก็จะต้องบ่นเรื่อง “ทำดีไม่เห็นได้ดี แต่ทำชั่วได้ดีมีถมไป” กันอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ และคงจะแก้ปัญหาของสังคมได้ยาก เพราะความคิดของเราเองก็เป็นกรรมไม่ดี ที่เป็นปัจจัยร่วมให้เกิดผลอย่างนั้นด้วย
ถ้ามองกันอยู่แค่นี้ ก็จะไม่มีคนอย่างพระโพธิสัตว์ที่ถึงแม้จะถูกเขาทำร้ายหรือฆ่า ก็ยังเข้มแข็งอยู่ในการทำความดี เพราะมุ่งผลดีที่ตรงไปตรงมาตามความจริงของมัน
ถ้าจะช่วยแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมนี้ แต่ยังห่วงผลดีต่อตัวตน ผลดีเชิงบุคคลและผลดีเชิงค่านิยมทางสังคมอยู่ ก็ขอแค่ว่า อย่าถึงกับละทิ้งหรือละเลยความต้องการผลดีที่ตรงตามธรรม ผลดีต่อชีวิต และผลดีที่แท้ต่อสังคม เอาพอประนีประนอมกัน
แค่นี้ก็จะประคับประคองโลกมนุษย์ ให้พออยู่กันไปได้ แต่จะเอาดีจริงคงยาก เพราะมนุษย์นี้เองไม่ได้ต้องการผลดีแท้จริงที่ตรงตามธรรมของกรรมดี
คนไทยสมัยนี้ได้ยินคำว่า “กรรม” มักจะนึกไปในแง่ว่ากรรมจะตามมาให้เคราะห์ให้โทษอย่างไร พูดถึงกรรมก็จะนึกถึงอะไรอย่างหนึ่งที่คอยตามจะลงโทษ หรือทำให้เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยเฉพาะคิดไปถึงชาติก่อน คือมองกรรมในแง่กรรมเก่า และเป็นเรื่องไม่ดี
คำว่า “กรรมเก่า” ก็บอกอยู่ในตัวเองแล้วว่า มันถูกจำกัดให้หดแคบเข้ามาเหลือเพียงส่วนหนึ่ง เพราะเติมคำว่า “เก่า” เข้าไป กรรมก็เหลือแคบเข้ามา ยิ่งนึกในแง่ว่ากรรมไม่ดีอีก ก็ยิ่งแคบหนักเข้า รวมแล้วก็คือเป็นกรรมที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไปๆ มาๆ ก็เลยอะไรๆ ก็แล้วแต่กรรม (เก่า-ที่ไม่ดี) บางทีถึงกับมีการหาทางตัดกรรม เลยพลัดออกไปจากพระพุทธศาสนา
ความจริง กรรมก็เป็นเรื่องธรรมดาธรรมชาติ คือเป็นเรื่องความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของชีวิตมนุษย์ ที่มีเจตนา มีการคิด การพูด และการกระทำ แสดงออก มีความสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลาย แล้วก็เกิดผลต่อเนื่องกันไปในความสัมพันธ์นั้น
ถ้ามัวไปยึดถือว่า แล้วแต่กรรมเก่าปางก่อนอย่างเดียว ก็จะทำกรรมใหม่ที่เป็นบาปอกุศลโดยไม่รู้ตัว
หมายความว่า ใครก็ตามที่ปลงว่า “แล้วแต่กรรม (เก่า)” นั้น ก็คือ เขากำลังทำความประมาท ที่ปล่อยปละละเลย ไม่ทำกรรมใหม่ที่ควรทำ ความประมาทนั้นก็เลยเป็นกรรมใหม่ของเขา ซึ่งเป็นผลจากโมหะ แล้วกรรมใหม่ที่ประมาทเพราะโมหะหลงงมงายนั้น ก็จะก่อผลร้ายแก่เขาต่อไป
ความเชื่อว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่กรรมเก่า กรรมปางก่อน หรือกรรมในชาติก่อน คือลัทธิกรรมเก่านั้น เป็นมิจฉาทิฏฐิ ที่เรียกว่าปุพเพกตเหตุวาท หรือเรียกสั้นๆ ว่า ปุพเพกตวาท ดังพุทธพจน์ที่แสดงแล้วข้างต้น
ท่านไม่ได้สอนว่าไม่ให้เชื่อกรรมเก่า แต่ท่านสอนไม่ให้เชื่อว่าอะไรๆ จะเป็นอย่างไรก็เพราะกรรมเก่า
• การเชื่อแต่กรรมเก่า ก็สุดโต่งไปข้างหนึ่ง
• การไม่เชื่อกรรมเก่า ก็สุดโต่งไปอีกข้างหนึ่ง
ได้กล่าวแล้วว่า “กรรม” พอเติม “เก่า” เข้าไป คำเดิมที่กว้างครบถ้วนสมบูรณ์ ก็หดแคบเข้ามาเหลืออยู่ส่วนเดียว อย่ามองกรรมที่กว้างสมบูรณ์ให้เหลือส่วนเดียวแค่กรรมเก่า
เรื่องกรรมที่เชื่อกันในแง่กรรมเก่านี้ มีจุดพลาดอยู่ ๒ แง่ คือ
๑. ไปจับเอาส่วนเดียวเฉพาะอดีต ทั้งที่กรรมนั้นก็เป็นกลางๆ ไม่จำกัด ถ้าแยกโดยกาลเวลาก็ต้องมี ๓ คือ กรรมเก่า (ในอดีต) กรรมใหม่ (ในปัจจุบัน) กรรมข้างหน้า (ในอนาคต) ต้องมองให้ครบ
๒. มองแบบแยกขาดตัดตอน ไม่มองให้เห็นความเป็นไปของเหตุปัจจัยที่ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด คือ ไม่มองเป็นกระแสหรือกระบวนการที่ต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา แต่มองเหมือนกับว่ากรรมเก่าเป็นอะไรก้อนหนึ่งที่ลอยตามเรามาจากชาติก่อน แล้วมารอทำอะไรกับเราอยู่เรื่อยๆ
ถ้ามองกรรมให้ถูกต้องทั้ง ๓ กาล และมองอย่างเป็นกระบวนการของเหตุปัจจัย ในด้านเจตจำนง และการทำ-คิด-พูด ของมนุษย์ ที่ต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา ก็จะมองเห็นกรรมถูกต้อง ชัดเจนและง่ายขึ้น ในที่นี้ แม้จะไม่อธิบายรายละเอียด แต่จะขอให้จุดสังเกตในการทำความเข้าใจ ๒-๓ อย่าง
๑. ไม่มองกรรมแบบแยกขาดตัดตอน คือ มองให้เห็นเป็นกระแสที่ต่อเนื่องตลอดมาจนถึงขณะนี้ และกำลังดำเนินสืบต่อไป
ถ้ามองกรรมให้ครบ ๓ กาล และมองเป็นกระบวนการต่อเนื่อง จากอดีต มาถึงบัดนี้ และจะสืบไปข้างหน้า ก็จะเห็นว่า กรรมเก่า (ส่วนอดีต) ก็คือ เอาขณะปัจจุบันเดี๋ยวนี้เป็นจุดกำหนด นับถอยจากขณะนี้ ย้อนหลังไปนานเท่าไรก็ตาม กี่ร้อยกี่พันชาติก็ตาม มาจนถึงขณะหนึ่งหรือวินาทีหนึ่งก่อนนี้ ก็เป็นกรรมเก่า (ส่วนอดีต) ทั้งหมด
กรรมเก่าทั้งหมดนี้ คือกรรมที่ได้ทำไปแล้ว ส่วนกรรมใหม่ (ในปัจจุบัน) ก็คือที่กำลังทำๆ ซึ่งขณะต่อไปหรือวินาทีต่อไป ก็จะกลายเป็นกรรมเก่า (ส่วนอดีต) และอีกอย่างหนึ่งคือ กรรมข้างหน้า ซึ่งยังไม่ถึง แต่จะทำในอนาคต
กรรมเก่านั้นยาวนานและมากนักหนา สำหรับคนสามัญ กรรมเก่าที่จะพอมองเห็นได้ ก็คือกรรมเก่าในชาตินี้ ส่วนกรรมเก่าในชาติก่อนๆ ก็อาจจะลึกล้ำเกินไป เราเป็นนักศึกษาก็ค่อยๆ เริ่มจากมองใกล้หน่อยก่อน แล้วจึงค่อยๆ ขยายไกลออกไป
อย่างเช่นเราจะวัดหรือตัดสินคนด้วยการกระทำของเขา กรรมใหม่ในปัจจุบันเรายังไม่รู้ว่าเขากำลังจะทำอะไร เราก็ดูจากกรรมเก่า คือความประพฤติและการกระทำต่างๆ ของเขาย้อนหลังไปในชีวิตนี้ ตั้งแต่วินาทีนี้ไป นี่ก็กรรมเก่า ซึ่งใช้ประโยชน์ได้เลย
๒. รู้จักตัวเอง ทั้งทุนที่มีและข้อจำกัดของตน พร้อมทั้งเห็นตระหนักถึงผลสะท้อนที่ตนจะประสบ ซึ่งเกิดจากกรรมที่ตนได้ประกอบไว้
กรรมเก่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเราทุกคน เพราะแต่ละคนที่เป็นอยู่ขณะนี้ ก็คือผลรวมของกรรมเก่าของตนที่ได้สะสมมา ด้วยการทำ-พูด-คิด การศึกษาพัฒนาตน และความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ในอดีตทั้งหมด ตลอดมาจนถึงขณะหรือวินาทีสุดท้ายก่อนขณะนี้
กรรมเก่านี้ให้ผลแก่เรา หรือเรารับผลของกรรมเก่านั้นเต็มที่ เพราะตัวเราที่เป็นอยู่ขณะนี้ เป็นผลรวมที่ปรากฏของกรรมเก่าทั้งหมดที่ผ่านมา กรรมเก่านั้นเท่ากับเป็นทุนเดิมของเราที่ได้สะสมไว้ ซึ่งกำหนดว่า เรามีความพร้อม มีวิสัยขีดความสามารถทางกาย วาจา ทางจิตใจ และทางปัญญาเท่าไร และเป็นตัวบ่งชี้ว่าเราจะทำอะไรได้ดีหรือไม่ อะไรเหมาะกับตัวเรา เราจะทำได้แค่ไหน และควรจะทำอะไรต่อไป
ประโยชน์ที่สำคัญของกรรมเก่า ก็คือการรู้จักตัวเองดังที่ว่านั้น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ด้วยการรู้จักวิเคราะห์และตรวจสอบตนเอง โดยไม่มัวแต่ซัดทอดปัจจัยภายนอก
การรู้จักตัวเองนี้ นอกจากช่วยให้ทำการที่เหมาะกับตนอย่างได้ผลดีแล้ว ก็ทำให้รู้จุดที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไปด้วย
๓. แก้ไขปรับปรุงเพื่อก้าวสู่การทำกรรมที่ดียิ่งขึ้น แน่นอนว่า ในที่สุด การปฏิบัติถูกต้องที่จะได้ประโยชน์จากกรรมเก่ามากที่สุด ก็คือ การทำกรรมใหม่ ที่ดีกว่ากรรมเก่า
ทั้งนี้ เพราะหลักปฏิบัติทั้งหมดของพระพุทธศาสนารวมอยู่ในไตรสิกขา อันได้แก่การฝึกศึกษาพัฒนาตน ในการที่จะทำกรรมที่ดีได้ยิ่งขึ้นไป ทั้ง
• ในขั้นศีล คือการฝึกกาย วาจา สัมมาอาชีวะ รวมทั้งการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้วยอินทรีย์ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
• ในขั้นสมาธิ คือฝึกอบรมพัฒนาจิตใจ ที่เรียกว่าจิตภาวนาทั้งหมด และ
• ในขั้นปัญญา คือความรู้คิดเข้าใจถูกต้อง มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง และสามารถใช้ความรู้นั้นแก้ไขปรับปรุงกรรม ตลอดจนแก้ปัญหาดับทุกข์หมดไปมิให้มีทุกข์ใหม่ได้
พูดสั้นๆ ก็คือ แม้ว่ากรรมเก่าจะสำคัญมาก ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปสยบยอมต่อมัน แต่ตรงข้าม เรามีหน้าที่พัฒนาชีวิตของเราที่เป็นผลรวมของกรรมเก่านั้นให้ดีขึ้น
ถ้าจะใช้คำที่ง่ายแก่คนสมัยนี้ ก็คือ เรามีหน้าที่พัฒนากรรม กรรมที่ไม่ดีเป็นอกุศล ผิดพลาดต่างๆ เราศึกษาเรียนรู้แล้วก็ต้องแก้ไข การปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา ก็คือการพัฒนากรรม ให้เป็นกุศล หรือดียิ่งขึ้นๆ
ดังนั้น เมื่อทำกรรมอย่างหนึ่งแล้ว ก็พิจารณาวิเคราะห์ตรวจสอบคุณภาพและผลของกรรมนั้น ให้เห็นข้อยิ่ง ข้อหย่อน ส่วนที่ขาดที่พร่อง เป็นต้น ตามหลักเหตุปัจจัยที่กล่าวแล้วในหัวข้อก่อน แล้วแก้ไขปรับปรุงเพื่อจะได้ทำกรรมที่ดียิ่งขึ้นไป
จะพูดว่า รู้กรรมเก่า เพื่อวางแผนทำกรรมใหม่ให้ดียิ่งขึ้นไป ก็ได้
ที่พูดมานี้ เท่ากับบอกให้รู้ว่า เราจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องต่อกรรมที่แยกเป็น ๓ ส่วน คือ กรรมเก่า-กรรมใหม่-กรรมข้างหน้า
ขอสรุปวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อกรรมทั้ง ๓ ส่วนว่า
กรรมเก่า (ในอดีต) เป็นอันผ่านไปแล้ว เราทำไม่ได้ แต่เราควรรู้ เพื่อเอาความรู้จักมันนั้นมาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปรับปรุงกรรมใหม่ให้ดียิ่งขึ้น
กรรมใหม่ (ในปัจจุบัน) คือกรรมที่เราทำได้ และจะต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุด ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ
กรรมข้างหน้า (ในอนาคต) เรายังทำไม่ได้ แต่เราสามารถเตรียมหรือวางแผนเพื่อจะไปทำกรรมที่ดีที่สุด ด้วยการทำกรรมปัจจุบันที่จะพัฒนาเราให้ดีงามและงอกงามยิ่งขึ้น จนกระทั่งเมื่อถึงเวลานั้นเราก็จะสามารถทำกรรมที่ดีสูงขึ้นไปตามลำดับ จนถึงขั้นเป็นกุศลอย่างเยี่ยมยอด
นี่แหละคือคำอธิบายที่จะทำให้มองเห็นได้ว่า ทำไมจึงว่า คนที่วางใจ ว่าจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่กรรม (เก่า) นั้นแล กำลังทำกรรมใหม่ (ปัจจุบัน) ที่ผิด เป็นบาป คือความประมาท ได้แก่การปล่อยปละละเลย อันเกิดจากโมหะ และมองเห็นเหตุผลด้วยว่า ทำไมพุทธศาสนาจึงสอนให้หวังผลจากการกระทำ
ขอย้ำอีกครั้งว่า กรรมใหม่สำหรับทำ กรรมเก่าสำหรับรู้ อย่ามัวรอกรรมเก่าที่เราทำอะไรมันไม่ได้แล้ว แต่หาความรู้จากกรรมเก่านั้น เพื่อเอามาปรับปรุงการทำกรรมปัจจุบัน จะได้พัฒนาตัวเราให้สามารถทำกรรมอย่างเลิศประเสริฐได้ในอนาคต
มีคำเก่าได้ยินมานานแล้วประโยคหนึ่ง คือที่พูดว่า “คนเราเกิดมาเพื่อใช้กรรมเก่า” ความเชื่ออย่างนั้นไม่ใช่พุทธศาสนา และต้องระวังจะเป็นลัทธินิครนถ์
ที่พูดกันมาอย่างนั้น ความจริงก็คงประสงค์ดี คือมุ่งว่าถ้าเจอเรื่องร้าย ก็อย่าไปซัดทอดคนอื่น และอย่าไปทำอะไรที่ชั่วร้ายให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยความโกรธแค้นเป็นต้น แต่ยังไม่ถูกหลักพระพุทธศาสนา และจะมีผลเสียมาก
ลัทธินิครนถ์ ซึ่งก็มีผู้นับถือในสมัยพุทธกาลจนกระทั่งในอินเดียทุกวันนี้ เป็นลัทธิกรรมเก่าโดยตรง เขาสอนว่า คนเราจะได้สุขได้ทุกข์อย่างไรก็เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อน และสอนต่อไปว่า ไม่ให้ทำกรรมใหม่ แต่ต้องทำกรรมเก่าให้หมดสิ้นไปด้วยการบำเพ็ญตบะ จึงจะสิ้นกรรมสิ้นทุกข์ นักบวชลัทธินี้จึงบำเพ็ญตบะทรมานร่างกายด้วยวิธีต่างๆ 4
คนที่พูดว่า เราอยู่ไปเพื่อใช้กรรมเก่านั้น ก็คล้ายกับพวกนิครนถ์นี่แหละ คิดว่าเมื่อไม่ทำกรรมใหม่ อยู่ไปๆ กรรมเก่าก็คงจะหมด ต่างแต่ว่าพวกนิครนถ์ไม่รอให้กรรมเก่าหมดไปเอง แต่เขาบำเพ็ญตบะเพื่อทำกรรมเก่าให้หมดไปด้วยความเพียรพยายามของเขาด้วย
มีคำถามที่น่าสังเกตว่า “ถ้าไม่ทำกรรมใหม่ อยู่ไปๆ กรรมเก่าจะหมดไปเองไหม?”
เมื่อไม่ทำกรรมใหม่ อยู่ไป กรรมเก่าก็น่าจะหมดไปเอง แต่ไม่หมดหรอก ไม่ต้องอยู่เฉยๆ แม้แต่จะชดใช้กรรมเก่าไปเท่าไรๆ ก็ไม่มีทางหมดไปได้
เหตุผลง่ายๆ คือ
๑. คนเรายังมีชีวิต ก็คือเป็นอยู่ ต้องกินอยู่ เคลื่อนไหวอิริยาบถ ทำโน่นทำนี่ เมื่อยังไม่ตาย ก็ไม่ได้อยู่นิ่งๆ
๒. คนเหล่านี้เป็นมนุษย์ปุถุชน ก็มีโลภ โกรธ หลง โดยเฉพาะความหลง หรือโมหะนี้มีอยู่ประจำในใจตลอดเวลา เพราะยังไม่ได้รู้เข้าใจความจริงถึงสัจธรรม
เมื่อรวมทั้งสองข้อนี้ก็คือ คนที่อยู่เพื่อใช้กรรมนั้น เขาก็ทำกรรมใหม่อยู่ตลอดเวลา แม้แต่โดยไม่รู้ตัว แม้จะไม่เป็นบาปกรรมที่ร้ายแรง แต่ก็เป็นการกระทำที่ประกอบด้วยโมหะ เช่นกรรมในรูปต่างๆ ของความประมาท ปล่อยชีวิตเรื่อยเปื่อย
ถ้ามองลึกเข้าไปในใจ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ผุดโผล่ขึ้นมาในใจของเขาอยู่เรื่อยๆ ในลักษณะต่างๆ เช่น เศร้า ขุ่นมัว กังวล อยากโน่นอยากนี่ หงุดหงิด เหงา เบื่อหน่าย กังวล คับข้อง ฯลฯ นี่ก็คือทำกรรมอยู่ตลอดเวลา แถมเป็นอกุศลกรรมเสียด้วย เพราะฉะนั้นอย่างนี้จึงไม่มีทางสิ้นกรรม ชดใช้ไปเท่าไรก็ไม่รู้จักสิ้นสุด มีแต่เพิ่มกรรม
“แล้วทำอย่างไรจะหมดกรรม?” การที่จะหมดกรรม ก็คือ ไม่ทำกรรมชั่ว ทำกรรมดี และทำกรรมที่ดียิ่งขึ้น คือแม้แต่กรรมดีก็เปลี่ยนให้ดีขึ้น จากระดับหนึ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
พูดเป็นภาษาพระว่า เปลี่ยนจากทำอกุศลกรรม เป็นทำกุศลกรรม และทำกุศลระดับสูงขึ้นไป จนถึงขั้นเป็นโลกุตตรกุศล
ถ้าใช้ภาษาสมัยใหม่ ก็พูดว่า พัฒนากรรมให้ดียิ่งขึ้น เราก็จะมีศีล มีจิตใจ มีปัญญา ดีขึ้นๆ ในที่สุดก็จะพ้นกรรม
พูดสั้นๆ ว่า กรรมไม่หมดไปด้วยการชดใช้กรรม แต่หมดกรรมด้วยการพัฒนากรรม คือปรับปรุงตัวให้ทำกรรมที่ดียิ่งขึ้นๆ จนพ้นขั้นของกรรมไป ถึงขั้นทำ แต่ไม่เป็นกรรม คือทำด้วยปัญญาที่บริสุทธิ์ ไม่ถูกครอบงำหรือชักจูงด้วยโลภะ โทสะ โมหะ จึงจะเรียกว่า พ้นกรรม
หลักกรรมอีกแง่หนึ่งที่สำคัญและน่าสนใจมาก คือ กรรมที่แยกได้เป็น ๒ ระดับ ได้แก่
๑. กรรมระดับปัจเจกบุคคล ตามนัยพุทธพจน์เช่นว่า “กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย”5 เป็นต้น ซึ่งแปลความว่า กรรมย่อมจำแนกสัตว์ไปต่างๆ คือ ให้ทรามและประณีต
กรรมระดับปัจเจกบุคคลเป็นเรื่องของส่วนย่อย จึงเป็นส่วนฐานและเป็นแกนของหลักกรรมทั้งหมด เรื่องกรรมที่ได้อธิบายมาแล้วเน้นในระดับนี้
๒. กรรมในระดับสังคม ตามนัยพุทธพจน์ เช่นว่า “กมฺมุนา วตฺตตี โลโก กมฺมุนา วตฺตตี ปชา” 6 แปลความว่า โลก (คือสังคมมนุษย์) เป็นไปตามกรรม หมู่สัตว์เป็นไปตามกรรม
กรรมในระดับนี้ ซึ่งเป็นกระแสร่วมกัน ที่มองเห็นง่ายๆ ก็คืออาชีพการงาน ซึ่งทำให้หมู่มนุษย์มีวิถีชีวิตเป็นไปต่างๆ พร้อมทั้งกำหนดสภาวะและวิถีของสังคมนั้นๆ ด้วย
แต่กรรมที่ลึกซึ้งและมีกำลังนำสังคมมากที่สุด ก็คือมโนกรรม เริ่มด้วยค่านิยมต่างๆ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวทางการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ตลอดจนกิจกรรมและวิธีการในการแสวงหาความสุขของเขา
แต่มโนกรรมที่มีกำลังอานุภาพยิ่งใหญ่ที่สุด ก็คือ ทิฏฐิต่างๆ ซึ่งรวมถึงทฤษฎี ลัทธินิยม อุดมการณ์ต่างๆ อันประณีตลึกลงไปและฝังแน่น แล้วกำหนดนำชะตาของสังคมหรือของโลก สร้างประวัติศาสตร์ ตลอดจนวิถีแห่งอารยธรรม เช่น ทิฏฐิที่เชื่อและเห็นว่ามนุษยชาติจะบรรลุความสำเร็จมีความสุขสมบูรณ์ด้วยการเอาชนะธรรมชาติ ซึ่งได้เป็นแกนนำขับดันอารยธรรมตะวันตกมาสู่สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
กรรมระดับสังคมนี้เป็นเรื่องใหญ่มากอีกแง่หนึ่ง ขอพูดไว้เป็นแนวเพียงเท่านี้