จัดระเบียบสังคม ตามคตินิยมแห่งสังฆะ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ปัจจัยแวดล้อมคือสังคมดี ปัจจัยหนุนคือเศรษฐกิจดี
ต้องมีจุดหมายทางจิตใจและปัญญามาต่อ

เมื่อมีทาน ก็ช่วยให้สังคมอยู่กันได้ด้วยดี แต่เมื่อมีวัตถุพรั่งพร้อมคือด้านเศรษฐกิจดี ก็ต้องจัดสรรสังคมอีกระดับหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องของศีลอีก คือนอกจากการที่จะไม่ให้มีการเบียดเบียนข่มเหงกัน และการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันแล้ว ก็ให้มีช่องทางที่จะใช้ทรัพยากรและโอกาสในการสร้างสรรค์และพัฒนาชีวิตยิ่งขึ้นไป คือ ถึงจะมีด้านเศรษฐกิจและสังคมดีแล้ว ก็ยังไม่พอ

ทั้งนี้ เพราะว่า ถ้ามนุษย์มีเศรษฐกิจดี มีวัตถุพรั่งพร้อม ก็อาจจะเกิดความหลงระเริงมัวเมา เช่น สังคมที่เอาวัตถุเป็นจุดหมาย หรือเอาความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจเป็นจุดหมาย พอมีวัตถุเสพบริโภคมาก ก็เลยเพลิดเพลินหลงระเริงมัวเมา สังคมก็เสื่อมอีก

ฉะนั้น ทางพระพุทธศาสนาจึง ให้มองความพรั่งพร้อมทางวัตถุหรือเรื่องเศรษฐกิจนี้เป็นปัจจัย ไม่ให้ถือเป็นจุดหมาย ดังจะเห็นว่าคำเรียกวัตถุเสพบริโภค ตลอดจนทรัพย์สินเงินทอง ในพระพุทธศาสนาเราใช้คำว่า “ปัจจัย”

คำว่า “ปัจจัย” นี้ จะต้องเป็นเครื่องเตือนใจพุทธศาสนิกชนอยู่เสมอว่า วัตถุหรือด้านเศรษฐกิจนี้เป็นปัจจัยนะ เป็นเครื่องเกื้อหนุนนะ ไม่ใช่เป็นจุดหมาย คือเราต้องอาศัยมัน ไม่มีไม่ได้ ไม่มีแล้วสังคมก็เดือดร้อน และก้าวไปสู่คุณความดีเบื้องสูงไม่ได้ แต่เราไม่จบแค่นั้น เราอาศัยวัตถุพรั่งพร้อมหรือเศรษฐกิจดีเป็นปัจจัยแล้ว มันก็มาเป็นฐานหนุนให้เราก้าวไปสู่คุณความดีที่สูงขึ้นไป

ถึงตอนนี้ก็ก้าวไปสู่เรื่องของจิตใจและปัญญา อย่างน้อยก็ต้องมีการศึกษาที่ฝึกให้คนมีจิตสำนึกต่อสังคม มีจิตใจและความเข้าใจที่คำนึงถึง หรือเห็นแก่ความดีงามและประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวม หรือการมีชีวิตที่อยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งต้องทำคู่เคียงกันไปกับการจัดสรรเศรษฐกิจ และการจัดระเบียบสังคม

ด้านจิตใจและปัญญาเป็นเรื่องของการพัฒนาชีวิตในขั้นสูง เรียกว่า “ภาวนา” แยกเป็น จิตตภาวนา คือพัฒนาจิตใจ และปัญญาภาวนา คือพัฒนาปัญญา

เริ่มด้วยเรื่องศิลปวัฒนธรรม การค้นคว้าแสวงหาความรู้ ส่งเสริมวิทยาการต่างๆ กิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาจิตใจและพัฒนาปัญญา กิจกรรมในการบำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมส่งเสริมความรักความสามัคคีระหว่างกลุ่มระหว่างถิ่น ส่งเสริมไมตรีจิตมิตรภาพและความสุขทางสังคม รวมทั้งการเดินทางเยี่ยมเยือน แสดงน้ำใจต่อกัน การส่งเสริมความรักและการมีความสุขกับธรรมชาติแวดล้อม ตลอดไปจนถึงเรื่องสมถะ และวิปัสสนา ซึ่งจะต้องก้าวต่อไป โดยอาศัยฐานทางเศรษฐกิจ และการจัดสังคมให้เรียบร้อย

เมื่อเศรษฐกิจดีสังคมดีแล้ว ก็มีความพร้อม เรียกว่ามีปัจจัยเกื้อหนุน มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย คราวนี้ก็มามุ่งมั่น ที่จะก้าวไปในด้านจิตใจและปัญญา สังคมนั้นก็จะอยู่ดี ซึ่งก็จะกลับมาคุมและนำทางให้เรื่องของเศรษฐกิจและสังคมนี้ ไม่ติดจม และไม่หันเหไปในทางเสียหาย

สังคมใดที่ไม่มีครบตามนี้ แม้จะมีเศรษฐกิจดี และสังคมเรียบร้อย ไม่ช้าก็เสื่อม เพราะคนจะลุ่มหลงมัวเมาในวัตถุเป็นต้น สังคมอย่างนี้เรียกว่ามีความเห็นผิด มีมิจฉาทิฏฐิ เพราะไปมองเอาวัตถุ หรือความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจเป็นจุดหมาย ซึ่งเป็นปัญหาที่น่ากลัว

สังคมปัจจุบันที่เป็นสังคมบริโภคนิยมนี้ ก็บอกอยู่ในตัวว่าจะเอาวัตถุเสพบริโภคเป็นจุดหมาย ซึ่งเป็นลางเป็นนิมิตบอกว่าจะเสื่อม เพราะถ้าคนมัวเมาลุ่มหลงในการเสพบริโภควัตถุ ก็จะเกิดโทษ เกิดความเสื่อมทราม จมลงไป

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.