การศึกษา: พัฒนาการหรือบูรณาการ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

บทที่ ๓
ระบบแห่งบูรณาการ

ทีนี้ก็อยากจะพูดย่อยลงไปอีกถึงเนื้อหา และการปฏิบัติ ในบูรณาการว่า เราจะเอาอะไรมาบูรณาการ และจะทำกันอย่างไร ขอย้ำอีกหน่อยหนึ่งว่า บูรณาการนั้นไม่เฉพาะจะทำในขอบเขตที่ครอบคลุมทั้งหมดหรือในระดับองค์รวมใหญ่สุดเท่านั้น แต่บูรณาการนั้นจะต้องทำในทุกระดับของพัฒนาการ คือ ในการพัฒนาแต่ละระดับ จะต้องมีภารกิจในการที่จะสร้างบูรณาการอยู่เสมอ จะต้องทำเรื่อยไปทุกระดับของพัฒนาการ และจะต้องทำในทุกขอบเขตหรือทุกขนาดที่บูรณาการได้ พูดง่ายๆ ว่า

  1. การบูรณาการนั้นจะต้องทำในทุกระดับของพัฒนาการ
  2. บูรณาการจะต้องทำในแต่ละส่วนหรือทุกส่วนทุกขนาดภายในองค์รวม

ข้อที่สอง หมายความว่า องค์รวมนั้นมันมีหน่วยย่อยหรือส่วนประกอบที่เป็นองค์รวมย่อยๆ ซ้อนกันลงไป เช่น ในร่างกายของมนุษย์ เราจะเห็นว่า คนนี้เป็นระบบบูรณาการใหญ่ และภายในระบบบูรณาการใหญ่นี้ ก็มีระบบบูรณาการย่อยมากมาย เช่น ระบบหายใจ ภายในระบบหายใจ ก็มีปอด มีหลอดลม มีอะไรต่างๆ ซึ่งแต่ละอย่างก็เป็นอีกระบบหนึ่งๆ ที่มีบูรณาการภายในตัว ในขอบเขตย่อยลงไปๆ หรือระบบทางเดินอาหาร ก็มีกระเพาะอาหาร ลำไส้และอะไรต่ออะไร ที่ต่างก็มีระบบบูรณาการของมัน หรือระบบประสาท ระบบสูบฉีดโลหิต ก็ล้วนแต่เป็นระบบบูรณาการทั้งนั้น ถ้าระบบเหล่านี้บูรณาการกันดีท่ามกลางพัฒนาการอย่างสมดุล ก็ประกอบกันเข้าเป็นระบบบูรณาการใหญ่ คือองค์รวมใหญ่ที่เป็นมนุษย์อีกทีหนึ่ง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.