ปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องของกฎธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องใหญ่ มีความกว้างขวางลึกซึ้ง และมีแง่ด้านต่างๆ มากมาย ละเอียดซับซ้อนอย่างยิ่ง ไม่ต้องพูดถึงว่าจะยากต่อการที่จะเข้าใจให้ทั่วถึง แม้แต่จะพูดให้ครบถ้วนก็ยากที่จะทำได้
ด้วยเหตุนี้ ในการศึกษาทั่วๆ ไป เมื่อเรียนรู้หลักพื้นฐานแล้ว ก็อาจจะศึกษาบางแง่บางจุดที่น่าสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะส่วนที่เกื้อหนุนความเข้าใจทั่วไป และส่วนที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต แก้ปัญหา และทำการสร้างสรรค์ต่างๆ
ในที่นี้ จะขอย้อนกลับไปยกข้อควรทราบสำคัญ ที่กล่าวถึงข้างต้น ขึ้นมาขยายความอีกเล็กน้อย พอให้เข้าใจชัดเจนมากขึ้น และเห็นทางนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของหลักกรรม ที่เป็นธรรมสืบเนื่องออกไป
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหัวข้อนี้เป็นเพียงคำอธิบายเสริม การขยายความจึงทำได้เพียงโดยย่อ
ในหนังสือพุทธธรรม (ฉบับเดิม) หน้า ๘๕ ได้เขียนข้อความสั้นๆ แทรกไว้พอเป็นที่สังเกต ดังต่อไปนี้
“ข้อควรทราบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ
• ความเป็นปัจจัยแก่กันขององค์ประกอบเหล่านี้ มิใช่มีความหมายตรงกับคำว่า “เหตุ” ทีเดียว เช่น ปัจจัยให้ต้นไม้งอกขึ้น มิใช่หมายเพียงเมล็ดพืช แต่หมายถึง ดิน น้ำ ปุ๋ย อากาศ อุณหภูมิ เป็นต้น เป็นปัจจัยแต่ละอย่าง และ
• การเป็นปัจจัยแก่กันนี้ เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่จำต้องเป็นไปตามลำดับก่อนหลังโดยกาละหรือเทศะ เช่น พื้นกระดาน เป็นปัจจัยแก่การตั้งอยู่ของโต๊ะ เป็นต้น”
ข้อความนี้บอกให้ทราบว่า ปฏิจจสมุปบาท เป็นหลักความจริงของธรรมชาติ ที่แสดงถึงความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยแก่กันของสิ่งทั้งหลาย