ปรัชญาการศึกษาของไทย ภาคพุทธธรรม: แกนนำการศึกษา (ภาคต้นของหนังสือ ปรัชญาการศึกษาของไทย)

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

กล่าวโดยทั่วไป ในปัจจุบัน ผู้ที่ใฝ่ในคุณค่าของพระพุทธศาสนามักตกอยู่ในภาวะที่ต้องทำงานสองอย่างพร้อมกันไปในเวลาเดียว คือ การศึกษาค้นคว้าเพื่อให้ตนเองเข้าถึงความหมายและคุณค่าที่แท้ของหลักธรรม และการแสดงความหมายและคุณค่านั้นให้ผู้อื่นเห็นประโยชน์ในการใช้แก้ปัญหาของมนุษย์ ที่เป็นเช่นนี้ คงต้องยอมรับความจริงว่า การศึกษาพระพุทธศาสนาเท่าที่มีอยู่ ไม่ได้เตรียมบุคคลไว้ให้พร้อมที่จะทำหน้าที่ กล่าวคือ ไม่สามารถผลิตบุคคลที่รู้เข้าใจธรรมแจ่มแจ้ง ซาบซึ้งในคุณค่าและสามารถนำธรรมมาแสดงให้คนปัจจุบันยอมรับได้ทั่วไป ผู้ที่ใฝ่ใจจึงมีภาระในการแสวงหาและศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองมากกว่าที่ควร ครั้นเมื่อความสนใจในการศึกษาธรรมเกิดขึ้นแล้ว จะรอให้ตัวผู้ศึกษาเองเข้าถึงความหมายและคุณค่าอย่างพอเพียงเสียก่อน จึงจะเริ่มงานแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ก็ดูเหมือนว่าสภาวะของโลกปัจจุบัน บีบให้รออยู่ไม่ได้ กลายเป็นว่า ทั้งที่ศึกษาอยู่ ก็ต้องเป็นผู้แสดงไปด้วย ภาวะเช่นนี้มีประโยชน์ แต่ก็มีอันตรายควบอยู่ จะลดอันตราย ทำให้มีประโยชน์เหนือกว่าได้เท่าใด ย่อมขึ้นกับความซื่อตรง ความเคารพในธรรม และความไม่ประมาทในการศึกษาเป็นสำคัญ

ผู้เขียนหนังสือนี้ ก็ตกอยู่ในภาวะที่กล่าวข้างต้น คือ ทั้งที่ยังเป็นเพียงผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา แต่ได้หาญมาทำหน้าที่เป็นผู้แสดงคำสอนด้วย อย่างไรก็ดี มีความเบาใจอยู่อย่างหนึ่งว่า ได้ทำการนี้ด้วยความเพียรพยายามจริงจังเท่าที่ตนจะกำหนดได้ว่าเป็นการกระทำโดยรอบคอบ มีหลักฐาน ตรงตามเหตุผลและความมุ่งหมายของธรรมอย่างยิ่ง กับทั้งพร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงความคิดเห็นความเข้าใจของตนที่ยังบกพร่อง แต่สิ่งที่ผู้เขียนถือว่าสำคัญที่สุดก็คือ ความเพียรพยายามในการกระทำนี้ เกิดจากความมั่นใจที่เป็นแรงอยู่ภายในว่า เท่าที่สติปัญญาของตนพอจะหยั่งไปถึงและส่องนำให้เห็นได้ คำตอบขั้นสุดท้ายที่ครอบคลุมสำหรับปัญหาของมนุษย์มีอยู่ในพระพุทธศาสนา หรือแน่ชัดลงไปอีกว่า ในพุทธ­ธรรม ด้วยเหตุนี้หลักธรรมจึงมีค่าควรแก่การศึกษา และควรแก่การที่จะพยายามนำมาแสดงให้เห็นทางใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาของมนุษย์ ความมั่นใจนี้ยังไม่ได้จากแหล่งปัญญาอื่นๆ นอกจากคำตอบที่เป็นเพียงส่วนประกอบ หรือคำตอบเฉพาะกรณี หรือคำตอบที่เกื้อกูลในบางระดับของการแก้ปัญหาเท่านั้น การที่ขวนขวายศึกษาและพยายามแสดงหลักธรรมนี้ จึงมิใช่เป็นการกระทำให้สมฐานะที่มีชื่อว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธ­ศาสนา หรือโดยถือว่าเป็นหน้าที่ในฐานะที่เป็นพระภิกษุผู้พึงเล่าเรียนและสั่งสอนธรรม

ที่กล่าวมานั้นเป็นด้านศาสนธรรม ส่วนในด้านสถาบัน คือ วัด พระสงฆ์ และวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะส่วนที่เป็นรากฐานและสืบต่อมาในสังคมไทย ผู้เขียนก็เห็นว่าคนทั่วไปยังสนใจและเข้าใจกันไม่เพียงพอ ทำให้มองเห็นภาพผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปบ้าง ยึดติดในพฤติการณ์ที่เขวไปบ้าง อันจะเป็นโทษแก่สังคมได้มาก ผู้เขียนมั่นใจว่า สถาบันพุทธศาสนายังมีคุณค่าที่จะต้องทำความเข้าใจกันอีกมาก และเมื่อเข้าใจแล้ว จะส่งผลสะท้อนเป็นประโยชน์แก่สังคมไทยได้มากด้วย แม้ในส่วนที่เป็นโทษก็มีข้อที่ต้องทำความเข้าใจ เพื่อให้แก้ไขได้ถูกแนวทาง มิใช่ซ้ำเติม หรือหลีกไปสร้างโทษใหม่เพิ่มขึ้น

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ ผู้เขียนได้เริ่มเขียนงานศึกษาค้นคว้า ด้านศาสนธรรมเรื่องหนึ่ง ให้ชื่อว่า “พุทธธรรม” ตั้งใจว่าจะให้เป็นข้อเขียนที่แสดงหลักธรรมในพระพุทธศาสนาหลายๆ ด้าน ให้ครอบคลุมหลักธรรมสำคัญๆ ทั้งหมด โดยเรียบเรียงเป็นระบบความคิดที่เสนอคุณค่าสำหรับปัญญาของมนุษย์ ในสมัยปัจจุบัน แต่เขียนได้เพียงสองตอนก็ค้างอยู่แต่นั้นมา แม้จะได้รับอาราธนาให้เขียนต่อจนจบก็มีงานอื่นบีบรัด ไม่มีโอกาสสืบต่องานนั้นอีกจนบัดนี้ อย่างไรก็ดี ในระยะเวลาระหว่างนั้น ได้มีเหตุการณ์และกรณีต่างๆ บังคับโดยตรงบ้างโดยอ้อมบ้าง ให้ผู้เขียนต้องพูดหรือเขียนเรื่องเกี่ยวกับหลักธรรมต่างๆ ในรูปปาฐกถา คำบรรยาย และบทความต่างๆ บางเรื่องมีผู้นำไปตีพิมพ์ในโอกาสต่างๆ กระจายอยู่หลายแห่ง

บัดนี้ คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในนามของสำนักพิมพ์เคล็ดไทย ได้ขอให้รวบรวมปาฐกถาคำบรรยาย และบทความต่างๆ ของผู้เขียน ที่เกี่ยวกับการศึกษาและสังคม มาจัดพิมพ์เข้าไว้เป็นเล่มเดียวกันสักครั้งหนึ่ง ได้เรื่องตีพิมพ์คราวนี้ ๑๐ เรื่อง มีทั้งในด้านศาสนธรรมและในด้านสถาบัน เฉพาะในด้านศาสนธรรมนั้น กล่าวได้ว่าเป็นบางส่วนของเนื้อหาที่คิดไว้ว่าจะเขียนในเรื่องพุทธธรรมที่ค้างอยู่นั่นเอง ส่วนเรื่องต่างๆ ในด้านสถาบัน ก็ตั้งความหวังไว้ว่า ถ้ามีโอกาสจะเรียบเรียงปรับปรุงประมวลเข้าเป็นงานชิ้นเดียวกันในภายหลัง

การที่หนังสือนี้เกิดขึ้น ต้องนับว่าเป็นผลแห่งกุศลเจตนาของคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์โดยแท้ ด้วยเป็นผู้ต้นคิดให้เรื่องที่กระจายอยู่ในที่ต่างๆ ได้มารวมอยู่แห่งเดียวกัน และในบรรดาเรื่องทั้งหลายเหล่านั้น บางเรื่องก็เกิดจากการอาราธนาของคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์เอง จึงขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ไว้ ณ ที่นี้เป็นอย่างยิ่ง

ในการจัดพิมพ์ คุณอนันต์ วิริยะพินิจ ได้เอาใจใส่ติดตามเป็นธุระตลอดมาด้วยดี และได้อาศัยเจ้าหน้าที่ผู้อื่นของสำนักพิมพ์เคล็ดไทยช่วยเหลือเอื้อเฟื้อ จึงขออนุโมทนาขอบใจไว้ ณ ที่นี้ด้วย

อนึ่ง ในระยะเริ่มแรกที่งานแต่ละเรื่องจะสำเร็จเป็นรูปขึ้นนั้น ได้อาศัยคุณชลธีร์ ธรรมวรางกูร ช่วยเหลือพิมพ์ดีดต้นฉบับให้แทบทั้งสิ้น จึงขออนุโมทนาไว้ ณ ที่นี้เป็นพิเศษ

พระราชวรมุนี
๒๘ ก.พ. ๒๕๑๘

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.