แง่คิดข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

แง่คิดข้อสังเกต
เกี่ยวกับ
การปฏิรูปการศึกษา1

เกริ่นนำ

ท่านอธิบดีกรมวิชาการ ท่านอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และผู้มาเยือนกรมวิชาการทุกท่าน

วันนี้เป็นวันสิริมงคลอย่างยิ่ง เป็นวันสถาปนากรมวิชาการที่ได้เวียนมาบรรจบครบ ๔๔ ปี มีพิธีกรรมทางศาสนา คือ การทำบุญเลี้ยงพระ และมีกิจกรรมคล้ายๆ การฟังเทศน์ ท่านที่ปรึกษา ท่านรัฐมนตรี พร้อมด้วยท่านรองปลัดกระทรวง เป็นต้น ก็ได้ให้เกียรติมาร่วม ถือว่าท่านมาแสดงมุทิตาจิต

การจัดงานนี้ก็เหมือนกับการอนุวัตรตามวัฒนธรรมประเพณีของเรา คือ พอถึงวันสำคัญก็มีการทำบุญเลี้ยงพระ แล้วก็ฟังธรรม ตอนนี้เลี้ยงพระเสร็จแล้วก็มีการฟังธรรม เป็นการทำบุญอีกส่วนหนึ่งให้ครบทั้งทาน ศีล และภาวนา ทานก็คือการเลี้ยงพระ เวลาเลี้ยงพระก็จะมีการทำพิธีที่เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง คือ การรับศีล และสำรวมกายวาจาอยู่ในความสงบเรียบร้อยดีงามตามวินัยและวัฒนธรรม ซึ่งถือว่าเป็นศีล ส่วนการฟังธรรมต่อไปนี้ก็เป็นภาวนา

ภาวนาคือ การฝึกอบรมจิตใจและปัญญา ซึ่งแยกเป็น จิตตภาวนา คือ พัฒนาจิตใจ และปัญญาภาวนา คือ พัฒนาปัญญา เป็นอันว่าครบถ้วน ส่วนในแง่ของอาตมภาพผู้แสดงธรรมนั้น ถือว่าเป็นการมาร่วมอนุโมทนาในงานมงคลของกรมวิชาการ

การปาฐกถาวันนี้ไม่มีหัวข้อเรื่อง แต่หลังจากได้รับนิมนต์แล้วก็ได้ยินเสียงที่บอกต่อๆ กันมาจากกรมวิชาการว่า ประสงค์จะให้พูดเรื่อง “การปฏิรูปการศึกษา

การศึกษา กับ อารยธรรม

การปฏิรูปการศึกษา นั้นเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อสักครู่ได้ฟังจากท่านอธิบดีว่า เป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังเน้นมาก แต่ในเวลาที่สั้นนี้คงพูดโดยตรงให้หมดไม่ได้ จึงคงจะพูดในทำนอง “แง่คิดและข้อสังเกต” และก็เป็นแง่คิดและข้อสังเกตในแง่เนื้อหาสาระ อาจจะเน้นในเรื่องเกี่ยวกับหลักสูตร หรือการจัดการด้านหลักสูตร คงจะไม่ออกไปในด้านการบริหาร เป็นต้น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ทุกอย่างสัมพันธ์กัน

ตอนแรกคำว่า “ปฏิรูป” เป็นคำที่น่าศึกษา ปฏิรูปนั้นมีความหมาย ๒ อย่าง คือ

๑. ทำให้กลับเข้ารูปเดิม เพราะคำว่า “ปฏิ” ก็คือ กลับไปเป็นอย่างเก่า หรือกลับเข้าที่ ส่วน “รูป” ก็คือ รูปแบบ เมื่อรวมเป็น “ปฏิรูป” จึงแปลว่า ปรับรูป หรือปรับให้กลับเข้าที่ คืออาจจะเกิดความเคลื่อนคลาดออกไป ก็ทำให้เข้ารูปเดิมที่ถูกต้อง

๒. ทำให้เหมาะสม หมายความว่าปรับแก้ให้เหมาะกับสภาพที่เป็นอยู่ เพื่อให้ได้ผลดีตามวัตถุประสงค์

การปฏิรูปในที่นี้อาจจะมีความหมายได้ทั้ง ๒ อย่าง คือในบางกรณีก็เป็นความหมายแรก บางกรณีก็เป็นความหมายที่ ๒

ปัจจุบันนี้เรามักพยายามปรับอะไรต่างๆ ให้เหมาะกับสภาพของโลกที่มีความเจริญ ที่เราเรียกว่ามีอารยธรรม อารยธรรมของมนุษย์ได้ก้าวมาไกลมากแล้ว ดังที่ได้เกิดผลการสร้างสรรค์ต่างๆ ของมนุษยชาติมากมาย โดยเฉพาะที่เด่นชัดก็คือ เรื่องของเทคโนโลยี เวลานี้เราต้องการการศึกษาที่จะสร้างคนมาสืบต่องานสร้างสรรค์อารยธรรม ถ้าอารยธรรมดีอยู่แล้ว ก็มุ่งให้สืบต่อและเสริม แต่ถ้ามีความผิดพลาดก็อาจจะต้องมีการแก้ไขปรับปรุง เพราะวัฒนธรรมและอารยธรรมมิใช่จะต้องได้รับการยอมรับว่าถูกต้องเสมอไป

อย่างไรก็ตาม เรื่องคงไม่ใช่เพียงว่าเมื่อให้คนได้รับการศึกษาแล้วจะสามารถสร้างสรรค์อารยธรรมได้ สิ่งหนึ่งที่น่าคำนึงคือ บางทีถ้าให้การศึกษาผิดพลาด อย่าว่าแต่จะสามารถสร้างสรรค์ต่อไปเลย แม้แต่อารยธรรมที่มีอยู่แล้วมนุษย์ก็ไม่สามารถได้รับประโยชน์ที่ควรจะได้จากอารยธรรมนั้น ซึ่งเป็นผลงานสร้างสรรค์ของบรรพบุรุษ และถ้าหนักกว่านั้นอาจจะถึงกับทำลายอารยธรรมนั้นเสียก็ได้

ทางที่จะเกิดความผิดพลาดเมื่ออารยธรรมเจริญขึ้นแล้วนั้นมีหลายทาง นอกจากเรื่องที่อารยธรรมที่สืบกันมาจะผิดพลาดเองแล้ว ตัวมนุษย์ที่เกิดภายหลังท่ามกลางอารยธรรมก็อาจจะทำการผิดพลาดนำอารยธรรมไปสู่ความเสื่อมหรือความพินาศ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่มีมาตลอดประวัติศาสตร์ คนเก่าสร้างอารยธรรมไว้ พอมาถึงยุคหนึ่งอารยธรรมก็ถูกทำลาย ด้วยเหตุปัจจัยภายนอกบ้าง ด้วยเหตุปัจจัยภายในบ้าง หลายกรณีก่อนที่คนภายนอกจะมาทำลาย คนภายในได้ทำลายแล้ว เช่น เมื่ออารยธรรมโรมัน เป็นต้น ถูกทำลาย เราก็มองว่าถูกทำลายโดยพวกบาร์เบเรียน แต่ที่จริงก่อนที่พวกอนารยชนหรือพวกป่าเถื่อนจะทำลายนั้น พวกโรมันเองได้เป็นผู้ทำลายโดยตรงบ้างแล้วด้วยความมัวเมา เป็นต้น แล้วก็เสื่อมลง

นอกจากนั้น สิ่งที่เรียกว่าอารยธรรมนั้นเองบางอย่างก็เป็นความเจริญที่แท้ที่สืบเนื่องต่อมา แต่บางอย่างก็อาจเป็นความผิดพลาด เมื่อมาถึงปัจจุบันก็เกิดความสงสัยกันว่าถูกต้องหรือเปล่า เช่นเวลานี้อารยธรรมตะวันตกทั้งหมดก็ถูกตั้งข้อสงสัยโดยพวกฝรั่งเอง แม้จะมีเสียงยืนยันจากสังคมที่เรียกว่าพัฒนาแล้วว่าอารยธรรมนี้เป็นอารยธรรมที่ถูกต้อง แต่ก็น่าจะตั้งคำถามว่า ถ้าเป็นอารยธรรมจริงก็ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่มนุษยชาติ แต่อารยธรรมปัจจุบันนี้เป็นอย่างนั้นหรือไม่ หรือว่าจะเป็นไปเพื่อทุกข์เพื่อความพินาศในบั้นปลาย เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาทั้งนั้น

เรื่องอาจกลายเป็นว่า ที่จริงนั้นอารยธรรมไม่ใช่จุดหมายที่แท้ของการสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ อารยธรรมอาจจะเป็นสภาพแวดล้อมหรือปัจจัยเกื้อหนุนที่เราพยายามสร้างขึ้นมา เพื่อที่จะช่วยให้มนุษย์เข้าถึงจุดหมายบางอย่าง โดยที่ตัวมันเองไม่ใช่จุดหมาย เราอาจจะเข้าใจผิดว่าอารยธรรมนี้เป็นจุดหมาย แต่แท้ที่จริงอารยธรรมนั้นอาจจะช่วยให้มนุษย์ได้สิ่งดีงามประเสริฐที่เขาควรจะได้ หรืออาจจะทำให้เขาพลาดไปจากสิ่งที่ดีงามประเสริฐที่เขาพึงได้ก็ได้ อารยธรรมจึงเป็นเรื่องที่ยังเป็นปัญหา

อย่างไรก็ตาม อารยธรรมที่สร้างกันมานั้น ถึงแม้เมื่อมองโดยภาพรวม ถ้าหากว่าผิดพลาดจริง ก็ยังมีส่วนที่เป็นประโยชน์อยู่มาก อย่างที่เราพูดกันเวลานี้ว่าความเจริญทางด้านวัตถุหรือทางเศรษฐกิจผิดพลาด กลายเป็นเหตุแห่งการทำลายธรรมชาติ ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ก็ไม่ได้หมายความว่า ความเจริญทางด้านวัตถุหรือทางเศรษฐกิจนั้นจะไม่มีประโยชน์เสียเลย เป็นแต่เพียงว่า มันไม่พอดี เอียงข้าง หรือเสียดุล คือเป็นการพัฒนาที่ขาดองค์ประกอบอื่น จึงเกินพอดีไปข้างเดียว ทำให้ไม่ได้ประโยชน์สมบูรณ์

เวลานี้ที่เราพูดว่าการพัฒนาไม่ยั่งยืน เพราะมัวเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ มุ่งความเจริญทางวัตถุ ไม่ได้หมายความว่าความเจริญทางด้านวัตถุไม่มีประโยชน์ เป็นแต่เพียงว่าจะปฏิบัติต่อมันอย่างไรจึงจะถูกต้อง เช่น มองว่าความเจริญทางด้านวัตถุหรือทางเศรษฐกิจนั้นมีขอบเขตของการให้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์แค่ไหนเพียงไร การวางท่าทีที่ถูกต้องด้วยความรู้ความเข้าใจโดยมีปัญญาที่ชัดเจนนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่เมื่อสักครู่ได้พูดย้ำอย่างหนึ่งว่า ถ้าหากการศึกษาไม่ถูกต้อง อย่าว่าแต่จะให้คนสามารถสร้างสรรค์อารยธรรมสืบต่อไปเลย การศึกษานั้นอาจจะทำให้เขาไม่สามารถแม้แต่จะได้ประโยชน์จากอารยธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์มาแล้ว และถ้าหากอารยธรรมนั้นไม่สมบูรณ์ ยังมีผิดพลาด และเราต้องการให้เขามาแก้ไขให้ถูกต้อง เขาก็ทำไม่ได้ และร้ายกว่านั้นก็คือ แม้แต่ส่วนที่ดีที่มีอยู่เขาก็อาจจะทำลายเสีย อันนี้ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้อารยธรรมนั้นเป็นหมันไป

เพราะฉะนั้น การศึกษา ถ้ามองในแง่อารยธรรมนี้เราอาจจะพูดว่า เป็นการพยายามพัฒนาคนให้มีความสามารถที่จะสร้างสรรค์อารยธรรม และแก้ไขปรับปรุงพัฒนาต่อไปให้บรรลุจุดหมายที่ดีงาม อย่างน้อยก็ให้คนได้รับประโยชน์สูงสุดจากอารยธรรมที่สร้างสรรค์กันมา หรือจะเรียกว่าจากผลงานสร้างสรรค์ของมนุษยชาติก็ได้ เมื่อพูดในแง่นี้ก็มีเรื่องที่จะต้องวิเคราะห์กันมาก อย่างไรก็ตาม ในที่นี้จะไม่ตอบคำถามโดยตรงในทันที แต่จะพูดในเรื่องปลีกย่อยเป็นข้อๆ เพื่อให้เห็นแง่มุมต่างๆ ที่ว่าจะตอบคำถามนี้ได้บ้าง

เมื่ออารยธรรมถึงยุคไอที บทบาทที่แท้ของครูจะต้องเด่นขึ้นมา

เวลานี้อารยธรรมของมนุษย์ที่บอกว่าเจริญมาก ได้มาถึงยุคที่มีชื่อเรียกต่างๆ หลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือเรียกว่า ยุคของ “ไอที” หรือยุคของ Information Technology คือ ยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือบางทีก็เรียกแค่ว่า Information Age คือยุคข่าวสารข้อมูล หรือยุคสารสนเทศ เมื่อมาถึงยุคนี้ข้อมูลความรู้แพร่หลายกระจายไปอย่างกว้างขวาง คนก็เกิดความดีใจเพราะเข้าใจว่า เรื่องของข้อมูลความรู้นี้เป็นสิ่งที่ดีทำให้เกิดปัญญา เราก็ภูมิใจว่าโลกเจริญมาก คนยุคนี้จะมีปัญญามาก แต่มีข้อพิจารณาหลายอย่าง

สิ่งหนึ่งที่จะต้องเกี่ยวข้องในที่นี้ก็คือ เรื่องด้านการศึกษา ผู้ที่ทำหน้าที่ด้านการศึกษาก็คือครูอาจารย์ เมื่อถึงยุคไอที หรือยุคสารสนเทศ ที่มีข้อมูลข่าวสารแพร่หลายกระจายไปทั่ว และรวดเร็วมาก เราก็จะต้องมาพิจารณาถึงบทบาทของผู้ให้การศึกษา โดยเฉพาะด้านตัวครู ว่าตัวครูจะมีบทบาทอย่างไร

เคยย้ำว่า ในยุคนี้ เมื่อมีข้อมูลข่าวสารรวดเร็วและมีไปทั่ว แหล่งความรู้มีมากมายเหลือเกิน และเครื่องมือหาความรู้ก็มาก เด็กนักเรียนหรือคนทั่วไปสามารถเข้าถึงความรู้ได้ง่าย ก็ทำให้เกิดปัญหาได้ เช่น ในวงการแพทย์ที่ว่า บางทีคนไข้ (ในประเทศตะวันตก) ก็เอามาใช้จ้องจับผิดแพทย์ เพราะว่าคนไข้ได้ความรู้จากสื่อด้านข้อมูลข่าวสารต่างๆ แล้วนำมาจ้องมาเพ่งดูการกระทำของหมอ หมอเองบางทีก็เถียงไม่ทันคนไข้ เพราะว่าหมอยุ่งกับการงานมาก ไม่มีเวลาที่จะไปติดตามข่าวสารใหม่ๆ รายการอะไรใหม่ๆ คนไข้บางคนมีเวลามากได้ดูอะไรอยู่เสมอ ก็เลยได้ข่าวสารอะไรใหม่ๆ กว่าหมอ ก็เลยเอามาเถียงหมอ และทำให้หมอลำบากใจ

ในวงการการศึกษาก็เหมือนกัน ต่อไปก็จะมีปัญหาเรื่องนี้คือ นักเรียนบางทีมีเวลามากกว่าครู เมื่อข่าวสารข้อมูลแพร่หลายรวดเร็ว นักเรียนก็ได้ดูรายการหลากหลายจากสื่อต่างๆ ที่มาทางเทคโนโลยี เช่น รายการทีวี หรือแม้แต่ที่มาทางอินเตอร์เนต แล้วเขาก็ได้ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งอาจจะนำหน้าครูอาจารย์ไปก็ได้ ตอนนี้เราจะต้องมาทำความเข้าใจและพิจารณากันว่า บทบาทของครูในยุคนี้ ที่แท้จริงคืออะไร

เรามักจะมองว่าครูคือผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดวิชาการ ให้ความรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ แต่ในปัจจุบันถ้าเราเน้นบทบาทของครูในแง่นี้ อาจจะลำบาก เราจะต้องมาทบทวนกันว่าหน้าที่ที่แท้จริงของครูคืออะไร เคยพูดบ่อยๆ ว่าครูนั้นทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ

๑. ถ่ายทอดศิลปวิทยา ถ้าใช้ศัพท์พระก็ได้แก่ สิปปทายก คือสอนให้เขารู้ข้อมูล วิชาการ และวิชาชีพอะไรต่างๆ เราเน้นแง่นี้มาก แต่

๒. อีกหน้าที่หนึ่งของครูก็คือ การทำคนให้มีชีวิตที่ดีงาม หรือการสร้างบัณฑิต

ในการเรียนระดับมหาวิทยาลัยเรื่องนี้จะต้องชัด คือ ครูอาจารย์มีงาน ๒ อย่าง ด้านหนึ่งก็ให้ความรู้วิชาการและวิชาชีพไป พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่งก็ต้องพัฒนาคนให้เป็นบัณฑิต คือเป็นคนที่เจริญงอกงามด้วยสติปัญญาและคุณธรรม

หน้าที่ที่แท้จริงของครู คือสร้างบัณฑิต หรือทำคนให้เป็นบัณฑิต ส่วนวิชาการและวิชาชีพต่างๆ ที่ให้นั้นเป็นการให้เครื่องมือแก่บัณฑิต ถ้าเราตกลงกันอย่างนี้ความเป็นครูจะชัดขึ้น ความเป็นครูที่แท้อยู่ที่การทำให้ตัวคนกลายเป็นคนดีขึ้นมา และเป็นคนผู้พร้อมที่จะดำเนินชีวิตที่ดีงามและสร้างสรรค์สังคม คือ เป็นบัณฑิต เมื่อเขาพร้อมอย่างนั้นเราก็ให้เครื่องมือไป เครื่องมือยิ่งดีและมีประสิทธิภาพ เป็นเครื่องมือที่คมที่ใช้งานได้สัมฤทธิผลมากเท่าไร ก็ยิ่งดี เมื่อบัณฑิตนำเครื่องมือไปใช้ก็ดำเนินชีวิตที่ดีงามและสร้างสรรค์สังคมได้สำเร็จ แต่ถ้าเราไม่สร้างคนให้เป็นบัณฑิต แล้วเราไปให้เครื่องมือ ถ้าเครื่องมือนั้นมีประสิทธิภาพ เขาอาจนำเครื่องมือนั้นไปทำสิ่งที่ร้ายแรงเป็นอันตรายก็ได้ เหมือนกับการยื่นดาบก็ควรดูว่าควรจะให้แก่คนดีหรือให้แก่คนชั่ว ถ้าให้ดาบแก่โจรก็จะเกิดผลร้ายมาก

เพราะฉะนั้น ภาระที่สำคัญยิ่งของการศึกษาก็คือ ทำคนให้เป็นบัณฑิต และให้เครื่องมือแก่บัณฑิต บางยุคบางสมัยเราไปเน้นการให้เครื่องมือเสียมาก ไม่ได้คำนึงว่าตัวคนนั้นจะเป็นคนประเภทไหน เขาจะเอาเครื่องมือนั้นไปใช้อย่างไร มายุคนี้เมื่อข่าวสารข้อมูลมีแพร่หลายและเด็กสามารถเข้าถึงได้มาก เขาสามารถได้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมาก และปัญหาก็จะเกิดขึ้น ยิ่งกว่านั้นเขาอาจจะได้เครื่องมือนี้โดยไม่ต้องอาศัยครู

ในความเป็นครูที่แท้จริงนั้นบทบาทอยู่ที่ไหน มีบทบาทอยู่ ๒ อย่างที่ไม่มีสิ่งใดมาทำแทนได้ ไม่ว่ายุคใดสมัยใด ซึ่งเป็นบทบาทที่แท้จริงของครู คือ

๑. การทำคนให้เป็นคนดี โดยชี้นำชีวิตที่ดีงาม หน้าที่นี้เป็นงานที่ยืนตัวอยู่ทุกยุคทุกสมัย

แต่หน้าที่อีกอย่างหนึ่งที่พ่วงมาด้วยก็คือ ครูคู่กับลูกศิษย์ หรือครูคู่กับนักเรียน และอาจารย์คู่กับนักศึกษา สิ่งที่สำคัญก็ตรงนี้แหละคือ ครูคู่กับนักเรียน หรืออาจารย์คู่กับนักศึกษา เมื่อเป็นอาจารย์ก็ต้องทำให้เกิดนักศึกษา เมื่อเป็นครูก็ต้องทำให้เกิดนักเรียนให้ได้ นี่คือหน้าที่ข้อที่สองที่ว่า

๒. การฝึกความเป็นนักเรียนหรือความเป็นนักศึกษาให้เกิดขึ้น คือสร้างคนให้เป็นผู้มีความสามารถที่จะแสวงหาความรู้และพัฒนาสติปัญญา

งานอย่างนี้คอมพิวเตอร์ก็ทำแทนไม่ได้ คอมพิวเตอร์ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ใช้เป็นเครื่องมืออย่างที่ว่า แต่ทำอย่างไรคนนั้นจะมีความใฝ่รู้ ทำอย่างไรคนนั้นจะแสวงปัญญา ทำอย่างไรคนนั้นจึงจะมีความสามารถที่จะหาความรู้ เข้าถึงแหล่งความรู้ และใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ได้ งานนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นงานหลัก เป็นเนื้อเป็นตัวของความเป็นครูทีเดียว ส่วนงานถ่ายทอดศิลปวิทยานั้น ควรถือเป็นงานประกอบด้วยซ้ำไป

งานสำคัญ ๒ ประการ คือการชี้นำทำให้เป็นคนดี และการฝึกให้ศิษย์มีความสามารถแสวงปัญญานี้ เป็นงานที่ต้องการจากครูทุกยุคทุกสมัย ไม่มีอะไรแทนได้ และยิ่งมาถึงยุคสมัยนี้ครูจะต้องปรับตัวให้ทัน มิฉะนั้นครูจะล้าสมัย ถ้าครูล้าสมัยก็จะตกไปเป็นเบี้ยล่าง คือกลายเป็นผู้ที่อาจจะถูกคนอื่น ถูกสังคม หรือแม้แต่ถูกนักเรียนดูถูกดูแคลนเอาได้ เพราะถ้าเอาแต่ด้านข้อมูลข่าวสาร ครูอาจจะหาความรู้ไม่ทันเขาก็ได้

ในแง่ข้อมูลความรู้นี้เราบอกว่ามีแหล่งความรู้มากมาย ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้เขาเป็นนักเรียนนักศึกษาที่แท้จริง เป็นผู้มีความสามารถในการแสวงหาความรู้และพัฒนาสติปัญญาของตน เริ่มตั้งแต่มีความใฝ่รู้เป็นต้นไป การที่จะหาความรู้ให้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำอย่างไรจะเลือกสรรแหล่งความรู้ จะเข้าถึงแหล่งความรู้ ทำอย่างไรจะเลือกสรรความรู้เป็น รับความรู้ที่ถูกต้อง แล้วก็เข้าถึงสาระของความรู้นั้น นำความรู้นั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ มีความสามารถในการคิด คิดเป็น ภารกิจเหล่านี้อยู่ในบทบาทหน้าที่ข้อนี้ทั้งหมด

การศึกษาต้องทำให้คนสามารถเรียนรู้ เพื่อทำข้อรู้ให้เป็นความรู้

ที่ว่ามานี้เป็นสิ่งที่ครูจะต้องช่วยเด็กให้พัฒนาขึ้นมา คือ บทบาทของครูที่สำคัญ ๒ อย่างนี้ที่ยืนตัวอยู่ ที่บอกแล้วว่าอะไรก็ทำแทนไม่ได้ คือ

  1. การชี้นำชีวิตที่ดีงาม หรือพูดง่ายๆ ว่า ทำคนให้เป็นคนดี
  2. การปลุกความเป็นนักศึกษา หรือความเป็นนักเรียน ที่ทำให้เขาเป็นคนใฝ่รู้ แสวงปัญญา มีความสามารถในการหาความรู้ รู้จักวิธีการที่จะได้มาซึ่งความรู้ เข้าถึงตัวความรู้นั้น สามารถในการคิด พร้อมที่จะนำเอาความรู้นั้นมาใช้แก้ปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้

สองข้อนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อครูทำบทบาทนี้สำเร็จ เด็กก็นำข้อมูลความรู้ไปใช้และสามารถใช้แหล่งความรู้และแม้แต่เครื่องมือสื่อสารต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ ในขณะที่เครื่องมือในการสื่อสาร ในการหาความรู้ และตัวข้อมูลความรู้เองแม้จะมีมากมาย ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า คนจะสามารถได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น ดังที่ปรากฏอยู่ว่าเรามีปัญหามากมายในเวลานี้ คนบางพวกนำข้อมูลมาเป็นเครื่องมือในการที่จะทำให้คนเกิดโมหะ ทำให้เกิดความหลงใหลความมัวเมาต่างๆ มากยิ่งขึ้น หรือใช้เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงกันก็มี อย่างในเวลานี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า ข้อมูลข่าวสารถูกนำมาใช้ได้ทั้งในทางเสริมปัญญา และทั้งในทางเสริมโมหะ รวมทั้งในทางเสริมสนองโลภะคือการหาผลประโยชน์ และปลุกเร้าความต้องการบริโภค

เราใช้ข้อมูลข่าวสารพร้อมทั้งเครื่องมือไอทีในการหาผลประโยชน์มากในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมที่เข้าสู่ยุคแข่งขันหาผลประโยชน์ เมื่อใช้สนองโลภะก็ไม่ต้องการประโยชน์ที่แท้จริง ไม่ต้องการให้เกิดคุณภาพชีวิตแก่ผู้ที่ได้รับข่าวสารเหล่านั้น แต่กลายเป็นว่าตัวผู้ใช้นั้นต้องการผลประโยชน์ เมื่อผู้ใช้ต้องการผลประโยชน์ก็จะต้องให้ผู้รับเกิดโมหะมากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นการใช้ในเชิงทำให้เกิดโมหะจึงมีมากในยุคแห่งการแข่งขันหาผลประโยชน์ อย่าว่าแต่ในวงการค้าเลย แม้แต่ในวงการพระศาสนาก็เหมือนกัน เราอาจจะมีเครื่องมือข่าวสารคือ IT แพร่หลายไปมาก แต่ถูกนำมาใช้เพื่อจะหาเงินเข้าวัด หาเงินเข้าวัดก็ยังดี แต่หาเงินเพื่อสนองผลประโยชน์ของบุคคลก็มี ก็เลยยิ่งเพิ่มโมหะให้แก่ประชาชนเพื่อสนองโลภะให้แก่ตัวเอง

เพราะฉะนั้นการศึกษาจะต้องทันยุคทันการณ์คือ ทำอย่างไรจะให้เด็ก นักเรียน ประชาชน มีความสามารถที่จะปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูลเหล่านี้ พร้อมทั้งใช้เครื่องมือสื่อสารและตัวสื่อต่างๆ ให้เป็นประโยชน์อย่างสมวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการศึกษา หลักการนี้เป็นคู่กัน เพราะว่าในเมื่อครูมีบทบาทอย่างที่ว่ามานั้น นักเรียนก็มีบทบาทที่สอดคล้องกัน เท่ากับบอกว่าบทบาทของนักเรียนที่เราต้องการ ไม่ใช่เป็นเพียงว่า ไปภูมิใจดีใจและเพลิดเพลินอยู่กับข่าวสารข้อมูลและเครื่องมือเหล่านั้น ซึ่งอาจจะใช้ผิดพลาดและเกิดโทษก็ได้ แต่ในขณะที่ข้อมูลข่าวสารหรือสิ่งที่จะเรียนหาได้ง่าย ทำอย่างไรเราจะให้เขาได้ประโยชน์จากข้อมูลที่เข้ามาเหล่านั้น

เพราะฉะนั้น เราจะต้องช่วยให้นักเรียนมีความสามารถที่จะพัฒนาตนเองให้มีชีวิตที่ดีงาม พร้อมทั้งพัฒนาความเป็นนักเรียน นักศึกษา ผู้ใฝ่แสวงปัญญาและรู้วิธีที่จะศึกษา

เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ก็ทำให้นึกถึงศัพท์ที่คู่กันอีกด้านหนึ่ง คือว่า ยุคนี้เรามองไปข้างนอกที่สภาพแวดล้อม ก็เห็นข่าวสารข้อมูลหรือสารสนเทศแพร่หลายมีอิทธิพลโดดเด่น เราจึงเรียกว่าเป็น Information Age หรือยุคสารสนเทศ แต่เราจะต้องแยกว่า ข้อมูลความรู้เหล่านี้ไม่ใช่เป็นตัวความรู้ เพราะว่าบางทีข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดโมหะก็มี หรือที่ว่าเป็น information นั้น บางทีก็เป็น misinformation เสียมาก นอกจากนั้น แม้แต่เป็น information ก็ยังไม่เป็นหลักประกันว่าคนจะเกิดความรู้ จึงจะต้องแยกระหว่างข้อรู้ กับความรู้

ตัว information ยังเป็นข้อรู้ซึ่งยังไม่เป็นหลักประกันว่าจะเป็นความรู้ เวลานี้เริ่มมีการเข้าใจตระหนักมากขึ้นว่าจะต้องแยกระหว่าง information กับ knowledge คือ ข้อมูลหรือข้อรู้ กับความรู้ เพียงแค่จะให้คนเปลี่ยน information เป็น knowledge นี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

ถ้าใช้คำไทยที่จะสื่อให้ชัดและกระชับ เรามีคำใช้มาก่อนแล้ว คือ information (ข้อรู้) เรียกว่า “สุตะ” และ knowledge (ความรู้) เรียกว่า “ปัญญา”

“สุตะ” เป็นความรู้ของคนอื่น ที่ถ่ายทอดหรือส่งออกมาเป็นข้อรู้ เราจะต้องเรียนรู้ คือ learning ได้แก่ “สิกขา” เพื่อทำให้ information คือ สุตะนั้น กลายเป็น knowledge ตลอดจนเป็น wisdom คือ “ปัญญา” ที่เป็นความรู้ของเราเอง

ปัญหาในสังคมพัฒนาก็คือ จะทำอย่างไรให้คนสามารถได้ความรู้คือปัญญา จากข้อรู้คือ สุตะ หรือพูดเป็นภาษาอังกฤษก็คือได้ knowledge จาก information เพราะ information ยังไม่ใช่เป็นตัว knowledge จะต้องให้ข้อมูลมาเป็นความรู้ และยิ่งกว่านั้นก็คือ ทำอย่างไรจะให้ต่อจาก knowledge ไปเป็น wisdom อีก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้นในยุคนี้อย่ามัวหลงภูมิใจ บางทีอาจจะพลาด นี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้ต้องคำนึงว่า สังคมสมัยนี้จะต้องมีการเน้นว่าอย่าเป็นเพียง Information Society (สังคมข่าวสารข้อมูล) จะต้องพัฒนาต่อไปอีกให้เป็น Knowledge Society (ปัญญาสังคม)

ในการที่จะเป็น Knowledge Society (สังคมแห่งความรู้) นั้น ได้มีอีกคำหนึ่งแทรกเข้ามาดังที่มีผู้นิยมใช้คำว่า Learning Society คือสังคมแห่งการเรียนรู้ เวลานี้ในเมืองไทยก็เริ่มเน้นแล้วที่จะให้สังคมของเราเป็น “สังคมแห่งการเรียนรู้” และการศึกษาของเราก็จะต้องทำหน้าที่ช่วยพัฒนาคน ให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ มีองค์กรก็ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และให้ทั้งสังคมเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

เรื่องการเรียนรู้นี้เมื่อมองในแง่ตัวคน ตอนนี้ก็จะมีคู่ คือในด้านสภาพแวดล้อมมีตัวข้อมูลความรู้ คือ information ซึ่งมองในแง่หนึ่งก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญ การที่มนุษย์จะได้ประโยชน์จาก information คือสุตะ มนุษย์จะต้องมี learning คือสิกขา เพื่อจะรับมือกับ information คนจะต้องพัฒนาตัวให้ทัน เมื่อมองสภาพแวดล้อมที่เป็นยุค information สังคมก็เป็นสังคม information เรียกว่า Information Society เราจะต้องพัฒนาคนจนกระทั่งสร้างสังคมให้เป็น Learning Society คือเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้แล้วจึงจะคู่กัน และตอนนี้แหละเราจะได้ประโยชน์จากอารยธรรมในด้านหนึ่ง เป็นอันว่าตอนนี้เราเข้ามาถึงตัวคน จาก information คือ สุตะ ภายนอก เราต้องได้ learning คือ สิกขา ซึ่งอยู่ที่ตัวคน

ปฏิรูปการศึกษา คือกลับไปหาธรรมชาติ ที่มนุษย์เป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้

เมื่อมาถึงการที่จะให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เราก็มีศัพท์ต่างๆ ที่พูดมาก่อนหน้านี้และก็เน้นกันว่า ให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต การศึกษาตลอดชีวิต เป็นต้น ถ้ามองในแง่นี้การปฏิรูปการศึกษาก็กลับไปเป็นการปฏิรูปที่ใช้ในความหมายแรก คือ กลับเข้ารูปเดิม กลับเข้าที่เดิม เพราะว่าเมื่อเราเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างบุคคลแห่งการเรียนรู้ เราสร้างศัพท์ใหม่คิดกันว่าโก้ แต่ที่จริงบุคคลแห่งการเรียนรู้ ก็คือนักเรียนนี่แหละ ใช่ไหม เป็นศัพท์เก่าที่สุด นักเรียนก็คือผู้ที่เอาจริงเอาจังในการเรียน บุคคลแห่งการเรียนรู้ ก็คือนักเรียนนั่นเอง และนักศึกษาก็เช่นเดียวกัน เรียนเป็นภาษาไทย ศึกษาเป็นภาษาสันสกฤต เป็นคำบาลี ก็เป็นสิกขา ซึ่งแปลว่า เรียนรู้ (ฝึกหัด พัฒนา) ก็อยู่นี่เอง ไม่ได้ไปไหน

เมื่อพูดว่าเป็นนักเรียน เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ อยู่ในสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่บอกว่ามันเป็นการปรับให้กลับเข้าสู่รูปเดิม ก็คือว่า ถ้ามองตามหลักพระศาสนาเรื่องนี้ชัดอยู่แล้ว แต่เราอาจจะลืมหลักการเดิมไปก็ได้ ตามหลักพุทธศาสนาบอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึก ที่ว่าฝึกก็คือ เรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา หมายความว่า มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษในแง่ที่ว่า ความสามารถในการดำเนินชีวิตของเขาไม่ได้มาเปล่าๆ โดยไม่ลงทุน ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่น คือ พิเศษในความหมายที่ว่าแปลกจากสัตว์อื่น ซึ่งแยกเป็น ๒ อย่างคือ แปลกในแง่ไม่ดี กับแปลกในแง่ดี

มนุษย์พิเศษในแง่ ๑ คือ ในแง่ด้อยกว่า หรือแย่กว่า คือมนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกหรือต้องเรียนรู้ ต่างจากสัตว์ชนิดอื่นที่สามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้โดยแทบไม่ต้องเรียนรู้ไม่ต้องฝึกหัด ไม่ต้องพัฒนาตัวเอง เพราะเกิดมาแล้ว พอออกจากท้องแม่ก็เดินได้ เป็นต้น เรียกว่า แทบจะมีชีวิตอยู่รอดได้ด้วยตัวเองในวันนั้นเลย พอออกมาก็เริ่มเดินได้ หากินได้ ไม่ต้องเรียนรู้อะไรมาก อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ แต่มนุษย์หาเป็นเช่นนั้นไม่ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก เพราะว่าพอเกิดมาแล้วต้องมีผู้ประคบประหงม เริ่มด้วยพ่อแม่ แล้วก็ต้องใช้เวลานานเป็นปี เลี้ยงดูกันอยู่อย่างนั้น แต่เรามักจะมองกันในแง่เลี้ยงดู แต่ระหว่างที่คนอื่นเลี้ยงดูเขาเป็นปีๆ ห้าปี สิบปี ตัวเขาทำอะไร สิ่งที่ตัวเขาทำคือการเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนาตลอด

กว่ามนุษย์จะดำเนินชีวิตอยู่ได้รอดเขาต้องใช้เวลานานในการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นทางพระถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก เรียกง่ายๆ ว่าเป็น สัตว์แห่งการเรียนรู้ คือ การดำเนินชีวิตของเขา โดยเฉพาะการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ไม่ใช่ได้มาเปล่าๆ เขาต้องลงทุนด้วยการเรียนรู้และฝึกหัดก็คือการศึกษานั่นเอง เมื่อมนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องศึกษาโดยธรรมชาติของเขา เขาก็ได้ดำเนินชีวิตมา เรียนรู้มา ฝึกหัดพัฒนามาเรื่อยๆ จนกระทั่งดำเนินชีวิตอยู่รอดได้ การกิน การนอน การนั่ง การเดิน การพูด ทุกอย่างต้องเรียนรู้ ต้องฝึกหัดทั้งนั้น แต่พอดำรงชีวิตอยู่ได้รอดแล้ว มนุษย์มักจะฝึกเท่าที่จำเป็น พออยู่ได้แล้วก็ไม่ใช้หลักการนี้ต่อ เขาก็เลยไม่พัฒนาเท่าที่ควร ถ้าเราเอาหลักการนี้มาใช้ คือ ในฐานะที่มนุษย์เป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้ ก็ให้เขามีชีวิตแห่งการเรียนรู้ แล้วเขาก็จะพัฒนาไปในวิถีแห่งความมีชีวิตที่ดีงาม

ขอแทรกตอนนี้หน่อยว่า ที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกต้องศึกษาหรือต้องเรียนรู้นั้น ชีวิตแห่งการเรียนรู้และฝึกหัดพัฒนาในช่วงแรกของเขาต้องอาศัยผู้อื่นช่วยเหลืออย่างมาก การช่วยเหลือในชีวิตช่วงแรกนี้เราเรียกกันว่าการเลี้ยงดู

ช่วงเวลาแห่งการเลี้ยงดูสำหรับมนุษย์เมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่นนับว่ายาวนานมาก ข้อสำคัญคนทั่วไปมักมอง “การเลี้ยง” ในความหมายที่จำกัด หรือเน้นเพียงในแง่ของการบำรุงด้วยอาหารและสิ่งเสพบริโภคต่างๆ

แท้ที่จริง เราควรมองการเลี้ยงสำหรับมนุษย์ในความหมายที่ต่างจากการเลี้ยงของสัตว์อื่น เพราะระยะเวลาของการเลี้ยงนั้นเป็นช่วงเวลาสำคัญของการเรียนรู้ด้วย ระหว่างที่พ่อแม่เลี้ยงอยู่นั้น ลูกก็เรียนรู้คู่กันไป การเลี้ยงจึงคู่กับการเรียน (หรือ การเลี้ยงดูคู่กับการเรียนรู้)

ในการเลี้ยงจึงควรหันมาเน้นความหมายในแง่ของการช่วยเอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก คือให้ “การเลี้่ยง” มีความหมายว่าเป็น กระบวนการช่วยเกื้อหนุนและเอื้อโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้และฝึกหัดพัฒนาอย่างดีที่สุด มิฉะนั้นการศึกษาในวัยต้นแห่งชีวิตของมนุษย์จะสูญเสียหรือบกพร่องไปอย่างน่าเสียดาย ดังที่เป็นอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน

รวมความในแง่นี้ก็คือ มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามด้วยการศึกษา คือ เรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา เท่านั้น พูดได้ว่า ชีวิตที่ดีงามของมนุษย์ (มรรค) ก็คือชีวิตที่มีการศึกษาหรือชีวิตแห่งการศึกษา (สิกขา) เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังมีชีวิต เขาก็จะต้องศึกษาเรื่อยไปเพื่อมีชีวิตที่ดีงาม หลักการเรื่องการศึกษาตลอดชีวิตก็เป็นมาแต่เดิม คือ เรื่องของมนุษย์ผู้เป็นสัตว์ที่ต้องศึกษา ด้วยเหตุนั้น เราจึงจัดสรรสังคมและชุมชนให้มีสภาพที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของคน

“สังฆะ” คือชุมชนแห่งการศึกษา เพื่อพัฒนาให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้

อย่างพระพุทธเจ้าตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมาเป็นชุมชนเพื่ออะไร ก็เพื่อจะให้คนที่ต้องการฝึกหัดพัฒนาตัวเองได้เข้ามาฝึกฝนพัฒนาตัวเองได้เต็มที่ พอตั้งสงฆ์ขึ้นและมีวัดวาอารามก็จะได้เป็นแหล่งศึกษา และเมื่อบุคคลที่เข้ามาในสงฆ์ในวัดนี้มีการศึกษาดีแล้ว ก็จะได้เป็นที่ที่ประชาชนจะเข้ามาหาความรู้และออกไปให้การศึกษาแก่ประชาชน หรือว่าเป็นจุดศูนย์กลางที่คนรู้กันว่า ถ้าต้องการการศึกษา ก็มาที่นี่ ตลอดจนกระทั่งเป็นแหล่งชุมชนการศึกษาที่ผู้ที่ต้องการจะมาศึกษาจริงๆ จังๆ จะเข้ามาอยู่ร่วมด้วย ในลักษณะที่เรียกว่า “การบวช”

เพราะฉะนั้นการบวชแต่โบราณจึงเรียกว่า “บวชเรียน” ถือว่าการบวชเป็นการเรียน หรือว่าบวชเพื่อเรียน และชีวิตของพระเองตั้งแต่บวช พอบวชเสร็จพระอุปัชฌาย์ก็จะบอกคำสอนเบื้องต้น เรียกว่า อนุศาสน์ ๘ อย่าง คือ คำสอนเบื้องต้นให้รู้ว่าพระมีข้อปฏิบัติอย่างไร การดำเนินชีวิตต้องอาศัยอะไรบ้าง ต้องอาศัยปัจจัย ๔ ด้วยวิธีอย่างไร และจะทำอะไรไม่ได้ เพราะเมื่อทำแล้วจะพ้นจากความเป็นพระ และปิดท้ายก็จะบอกว่าต่อไปนี้ท่านจะต้องตั้งใจศึกษาในไตรสิกขา นี่คือชีวิตของพระทั้งหมด อยู่ที่ไตรสิกขา คือการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา ๓ ด้าน

เราเข้าใจกันว่าวัดเท่านั้นเป็นศูนย์กลางหรือชุมชนที่เอาจริงเอาจังในการศึกษา แต่ว่าที่จริงแล้วมนุษย์ทั้งหมดก็คือ ผู้ที่จะต้องศึกษา เมื่อศึกษาไปได้บรรลุผลสำเร็จในการเรียนรู้ ฝึกหัดพัฒนาตนเอง ก็จะมีชื่อเรียกว่า เป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี เป็นต้น ที่เราเรียกว่าเป็นอริยบุคคล แต่ศัพท์หนึ่งที่เรามักจะมองข้ามก็คือ คำรวมที่เรียกท่านเหล่านี้ว่า “เสกขะ”

สิกขา แปลว่าการศึกษา เป็นการกระทำ เป็นระบบหรือเป็นกระบวนการ ทีนี้พอเป็นคนก็เปลี่ยน อิ เป็น เอ สิกขา เปลี่ยนเป็น เสกขา แล้วตัด อา ออกเหลือ เสกข หรือ เสข แปลว่าผู้ยังต้องศึกษา เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ที่เรียกว่า อริยบุคคลนั้นเป็นผู้กำลังศึกษา คือ เริ่มได้รับผลจากการศึกษา แล้วพอจบการศึกษาก็เป็นพระอรหันต์ เรียกว่า อเสกขะ หรือ อเสขะ แปลว่าผู้ไม่ต้องศึกษา

ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ต้องศึกษาตลอด ไม่ว่าเป็นมหาเถระบวชมา ๘๐ ปี ๙๐ ปี อย่างดีก็ได้เป็นนักศึกษา บวชมาตลอดชีวิตก็ยังยากที่จะได้เป็นนักศึกษาในพุทธศาสนา จะเป็นนักศึกษานั้นจะต้องเป็นโสดาบันขึ้นไป แต่ว่าในยุคหลังนี้ท่านผ่อนให้ ท่านบอกว่าเป็นกัลยาณปุถุชน ยอมให้เป็นเสกขะหรือเป็นนักศึกษาแล้ว เพราะฉะนั้นชีวิตในพุทธศาสนาจึงเป็นชีวิตแห่งการศึกษาโดยตลอด

ด้วยเหตุผลที่ว่ามานี้ การที่จะบอกว่าเราจะสร้างบุคคลให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ให้องค์กรเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และให้สังคมเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้นั้น เป็นเรื่องเก่าเหลือเกิน แต่เก่านี้เป็นเก่าตามหลักการของธรรมชาติ ไม่ใช่เก่าเพียงเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ แต่เก่าในที่นี้ก็คือ คืนไปสู่ธรรมชาติของมนุษย์นั่นเอง เพราะธรรมชาติมนุษย์นั้นคือเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก หรือเป็นสัตว์ที่จะมีชีวิตที่ดีงามได้ด้วยการเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา ไม่สามารถจะมีชีวิตที่ดีงามได้เปล่าๆ นี้แหละเป็นข้อด้อยของมนุษย์ แต่พร้อมกันนี้ก็เป็นข้อดีของมนุษย์ในแง่ของความประเสริฐด้วย คือพิเศษแปลกกว่าสัตว์อื่นทั้งในแง่ที่แย่และดีกว่า ซึ่งอยู่ที่การฝึก

เมื่อเราพูดว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้ว ไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอด อันนี้เราด้อยกว่าสัตว์อื่น เพราะสัตว์อื่นไม่ต้องเรียนรู้มากก็อยู่ได้ ถึงตอนนี้แหละที่เราพูดต่อไปว่า

มนุษย์พิเศษในแง่ที่ ๒ คือในแง่ที่เลิศกว่า คือมนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้เรียนรู้ได้ ข้อนี้เราเก่งประเสริฐเลิศกว่าสัตว์อื่น เพราะสัตว์อื่นนั้นเป็นสัตว์ที่ฝึกแทบไม่ได้ คือว่ามันเกิดมาอย่างไรมันก็ตายไปอย่างนั้น เกิดมาด้วยสัญชาตญาณใดก็ตายไปด้วยสัญชาตญาณนั้น ส่วนมนุษย์นี้พอฝึกแล้วก็ก้าวไปสู่ความประเสริฐเลิศล้ำได้ สัตว์อื่นไม่สามารถจะเป็นอย่างนี้ได้ มนุษย์ประเสริฐด้วยการศึกษาคือการฝึกหรือการเรียนรู้ และด้วยการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนานั้นก็ทำให้มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ เราจึงบอกว่ามนุษย์ที่ฝึกแล้วนั้นประเสริฐได้แม้ยิ่งกว่าเทวดาและพรหม พระพุทธศาสนาถืออย่างนั้น แม้แต่เทวดาและพรหมก็น้อมนมัสการมนุษย์นั้น อันนี้เป็นหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา คือ หลักการศึกษา

เราอาจจะเสียเวลาในเรื่องนี้มากไป แต่ก็อยากจะย้ำไว้ว่า เรื่องของการศึกษานี้เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่โยงไปหาพุทธศาสนา ที่ว่านี้ไม่ใช่ว่าจะไปเน้นที่ตัวพุทธศาสนา แต่ต้องการเน้นในแง่ที่ว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์อย่างนั้นเอง และพุทธศาสนาสอนในเรื่องของธรรมชาติ ตามที่มันเป็นจริงว่าธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว คือการที่จะมีชีวิตที่ดีงามได้ด้วยการศึกษา และมนุษย์ก็เป็นสัตว์ที่ประเสริฐได้ด้วยการศึกษา ความพิเศษในแง่ของความประเสริฐของมนุษย์ก็อยู่ที่การศึกษา คือการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนานี้แหละ พูดสั้นๆ ว่า ความพิเศษและความประเสริฐของมนุษย์ ก็คือ มนุษย์เป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้

ตอนนี้เราก็หันกลับไปสู่บทบาทพื้นฐานของครู คิดว่าตอนนี้คงจะเน้นเรื่องการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารน้อยลง แต่จะมาเน้นที่การช่วยให้เด็กสามารถได้ประโยชน์จากข่าวสารข้อมูลเหล่านั้น เช่นสามารถนำมาใช้สร้างสรรค์ เอามาแก้ปัญหาได้ พร้อมทั้งเป็นผู้ที่จะชี้นำการดำเนินชีวิตที่ดีงามหรือทำคนให้เป็นคนดี บทบาท ๒ อย่างนี้ยืนตัวเป็นหลัก

การศึกษาทำให้คนพัฒนาความสุขได้

ตอนนี้อยากจะข้ามไปอีกข้อหนึ่ง ข้อนี้คล้ายๆ เป็นข้อคิดข้อสังเกตที่พูดขึ้นมาโดยไม่จำเป็นจะต้องต่อเนื่องกัน คือเรื่องเกี่ยวกับความสุข ความสุขถูกมองข้ามมานาน ความสุขเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในกระบวนการการศึกษา หรืออาจจะเรียกในแง่จริยธรรมว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในจริยธรรม คือ จริยธรรมที่ดีจะมีไม่ได้ถ้าขาดความสุข และการศึกษาก็เช่นเดียวกัน การศึกษาที่สำเร็จจะมีไม่ได้ ถ้าไม่สามารถทำคนให้มีความสุข เวลานี้เราอาจจะต้องมาเน้นว่าทำอย่างไรจะให้คนเรียนรู้ด้วยความสุข หรือมีความสุขในการเรียน หรือเรียนอย่างมีความสุข เข้าใจว่าในนโยบายปฏิรูปการศึกษาก็มีข้อนี้ด้วย

แต่น่าจะเลยไปถึงจุดที่ว่าการศึกษาต้องทำคนให้เป็นคนที่มีความสุขด้วย ไม่ใช่แค่เรียนอย่างมีความสุข แต่ให้เป็นคนมีความสุข เป็นคนมีความสุขจนกระทั่งว่ามีความสุขไปตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเมื่อเรียนก็เรียนอย่างมีความสุขด้วย ข้อนี้จะต้องพูดด้วยการเทียบฝ่ายตรงข้ามเพื่อจะให้ชัดขึ้น ก็คือการศึกษาที่ผิดพลาดจะทำให้เกิดภาวะที่ตรงข้าม คือทำให้ยิ่งหิวโหยกระหายความสุข

การศึกษาที่ผิดพลาดทำให้คนที่เรียนไปๆ ก้าวหน้าไป ยิ่งจบชั้นสูงขึ้นก็ยิ่งหิวโหยความสุขมากขึ้น ขาดแคลนความสุขมากขึ้น จนกระทั่งเขาออกไปพร้อมด้วยความหิวโหยนี้ แล้วโลดแล่นไปในสังคมเพื่อจะแสวงหาความสุขให้กับตนเองและแย่งชิงความสุขกัน แล้วก็ก่อความเดือดร้อนเบียดเบียนแก่ผู้อื่น และคนที่ไม่มีความสุข เมื่อมีความทุกข์

  1. ก็จะระบายความทุกข์ให้กับผู้อื่น
  2. ก็จะกอบโกยหาความสุขให้กับตนเอง

ถ้าเป็นอย่างนี้จะเกิดอะไรขึ้น เขาจะไปสร้างสรรค์สังคมอย่างไรได้ เขาก็จะต้องหาความสุขให้กับตนเอง เพราะฉะนั้นจะต้องเกิดปัญหาแน่นอน การที่จะทำให้การเรียนมีความสุข หรือมีความสุขในการเรียนรู้นี้จะทำได้อย่างไร เราจะทำให้บทเรียนและกิจกรรมต่างๆ สนุกสนานใช่ไหม คิดว่าคงไม่ใช่เท่านั้น เพียงแค่นี้คงไม่ใช่การศึกษา อาจจะเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นส่วนประกอบเท่านั้น เพราะถ้ามุ่งว่าจะทำให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข หรือมีความสุขในการเรียนรู้ ด้วยการทำให้การเรียนสนุกสนาน เป็นต้น ดีไม่ดีจะกลายเป็นการเอาใจเด็กแล้วจะเกิดผลในทางตรงกันข้าม คือ อาจจะทำลายการศึกษาเลยก็ได้ และการศึกษาอย่างนั้นก็จะทำให้คนไม่พัฒนาด้วย

เพราะฉะนั้นคงจะต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องของการเรียนอย่างมีความสุข ซึ่งมี ๒ ขั้นตอน ซึ่งถ้าทำสำเร็จก็ทำให้คนมีความสุข และเป็นคนที่มีความสุข เบื้องแรกเราจะต้องแยกความสุขออกเป็น ๒ ประเภทก่อน คือ

๑. ความสุขที่ไม่ต้องอาศัยการศึกษา ไม่เกิดจากการศึกษา และไม่เอื้อต่อการศึกษา

ความสุขประเภทที่หนึ่งคืออะไร ความสุขประเภทนี้ ถ้าจัดการไม่ถูกต้องอาจจะเป็นสิ่งขัดขวางและทำลายการศึกษาด้วย เพราะฉะนั้นจะต้องระวัง ในกระบวนการการศึกษา ต้องรู้ทันความสุขประเภทนี้โดยแยกให้ออกว่าเป็นความสุขที่ไม่พึงประสงค์ในการศึกษา ความสุขประเภทที่หนึ่งคือความสุขจากการเสพ หรือพูดให้เต็มว่าความสุขจากการสนองความใฝ่เสพ ได้แก่ความสุขจากการบำรุงบำเรออายตนะ คือตา หู จมูก ลิ้น กายของตัวเอง ซึ่งพ่วงมาด้วยกันกับความสุขจากการที่ไม่ต้องทำอะไร อยู่ในจำพวกความสุขของคนขี้เกียจ พูดสั้นๆ ว่าความสุขที่ไม่ต้องทำอะไร และมีสิ่งบำรุงบำเรอมาช่วยให้สุขยิ่งขึ้น ความสุขประเภทนี้ไม่ต้องอาศัยการศึกษา คนไม่ต้องมีการศึกษาจะต้องพึ่งพาขึ้นต่อความสุขประเภทนี้ หรือจมอยู่แค่นี้

๒. ความสุขที่เกิดจากการศึกษา ถ้าไม่มีการศึกษาความสุขประเภทนี้เกิดไม่ได้

นี่เป็นความสุขที่เราต้องการ เป็นความสุขที่เป็นเรื่องของการศึกษาโดยตรง พูดย้ำว่า เป็นความสุขที่ถ้าไม่มีการศึกษาแล้วจะไม่เกิดขึ้น และความสุขประเภทนี้จะเป็นความสุขที่เอื้อต่อการศึกษาต่อไปด้วย โดยทำให้คนพัฒนายิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะต้องมามองว่า ความสุขที่ว่าเกิดจากการศึกษาคืออะไร

ขอยกตัวอย่าง เริ่มด้วยความสุขจากการสนองความใฝ่รู้ อันนี้เป็นความสุขที่เกิดจากการศึกษา ถ้ายังไม่มีการศึกษาจะเกิดไม่ได้ ความใฝ่รู้นี้ไม่เกิดมาเองลอยๆ เราต้องมีวิธีการฝึกฝนพัฒนา แต่เมื่อมีความใฝ่รู้ก็ต้องสนองความใฝ่รู้นั้น พอสนองความใฝ่รู้ก็เกิดความสุขขึ้นมา ถ้าคนยังไม่มีความใฝ่รู้เขาก็ไม่เกิดความต้องการที่จะสนอง เขาก็จะไม่ได้ความสุขจากการสนองความต้องการที่จะรู้ เพราะฉะนั้นวิธีการคือเราต้องสร้างความต้องการใหม่

ความต้องการของมนุษย์นั้น ตามหลักธรรมถือว่าปรับเปลี่ยนได้หรือพัฒนาได้ ตอนแรกคนต้องการสิ่งเสพบำเรอความสุขทางตา ทางหู เป็นต้น เขาก็ต้องสนองความต้องการนั้น เมื่อเขาได้สนองเขาก็มีความสุข พอเราพัฒนาคนให้เกิดความต้องการความรู้ เขาก็ต้องสนองความต้องการนี้ พอเขาสนองความต้องการนี้เขาก็เกิดความสุข แต่เรื่องไม่ใช่แค่นั้น จะพูดอย่างไรให้คนเห็นว่า ความสุขแบบนี้เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา

ก้าวสำคัญของการศึกษา คือการเกิดความสุขจากการสนองความใฝ่รู้

จะยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เห็นในชีวิตประจำวัน เรื่องนี้ยกตัวอย่างบ่อยๆ ในการกิน จะมีความสุข ๒ อย่าง คนที่ไม่มีการศึกษากับคนที่มีการศึกษาจะมีความสุขต่างกัน คนที่มีการศึกษาจะได้ความสุข ๒ อย่าง แต่คนที่ไม่มีการศึกษาจะมีความสุขอย่างเดียว และความสุขอย่างเดียวที่เขาได้ก็คือความสุขที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยการศึกษา

ทันทีที่มนุษย์เกิดมา มีหู มีตา มีปาก มีฟัน พอเกิดมาก็มีอายตนะ หรืออินทรีย์สำหรับรับรู้ติดมาด้วย อินทรีย์นั้นทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ

  1. รู้สึก หรือเสพ
  2. รู้ หรือศึกษา

พร้อมกับที่เรารับรู้ทุกครั้งนั้น อินทรีย์ เช่น ตาของเราทำหน้าที่ ๒ อย่าง อย่าเข้าใจว่ารับรู้อย่างเดียว พอเราได้เห็นอะไรมันจะมีความรู้สึกสบาย ไม่สบาย เรียกว่าสุข-ทุกข์ นี่ด้านความรู้สึก แต่อีกด้านหนึ่งคือรู้ รู้ว่าเป็นอะไร เขียวแดง รูปร่างกลม แบน ยาว เป็นต้น ด้านความรู้สึกจะเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของคนก่อน พอเรารู้สึกสบาย เราชอบ เราจะเอา แต่พอรู้สึกไม่สบาย เราเปลี่ยน เราไม่เอา จากนั้นพฤติกรรมก็ตามมาว่า จะคิดอย่างไร จะเอาอย่างไร และจะทำให้ได้มา อันไหนที่ไม่ชอบ ทำให้รู้สึกไม่สบาย ก็จะชัง จะเกลียด จะเลี่ยง จะหนี จะทำลาย

ส่วนอีกด้านหนึ่ง คือ ความรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็จะได้เก็บไว้เป็นสถิติสำหรับสติ เป็นข้อมูลสำหรับระลึก และใช้ประโยชน์ให้ปัญญาพิจารณา เข้าถึง เข้าใจ

ในการดำเนินชีวิตขั้นแรก เมื่อเรายังไม่มีการศึกษา เราจะมีความรู้สึกได้ทันที คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากอายตนะที่ได้รับการสนองว่า รู้สึกสบายก็ชอบใจ ก็มีความสุข อันนี้ไม่ต้องมีการศึกษา เวลากินเราก็มีลิ้นที่จะรับความรู้สึก พอเรากินรับความรู้สึกอาหารอร่อยก็สุข ความสุขประเภทนี้ไม่ต้องอาศัยการศึกษา ตอนแรกกินเพื่ออร่อยเพื่อสนองความต้องการของลิ้น ได้รสที่เราชอบใจ ได้กินก็รู้สึกมีความสุข ตอนนี้ยังไม่มีเรื่องของการศึกษาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่พอเริ่มคิด พอเริ่มมีการศึกษา เราก็ถามตัวเองว่าที่กินนั้นกินนี้เพื่ออะไร กินเพื่ออร่อยหรือ? พอเริ่มถามก็จะเริ่มเห็นว่ามันไม่ใช่ เรากินไม่ใช่เพียงเพื่ออร่อย แต่เพื่อช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง มีสุขภาพดี จะได้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ยิ่งกว่านั้นเมื่อเราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ดี ร่างกายมีความแข็งแรง เราจะได้ทำสิ่งที่เราต้องการหรือมีการสร้างสรรค์ ถ้าพูดอย่างผู้ที่มีวัฒนธรรมและอารยธรรมก็คือว่า จะได้ใช้ชีวิตร่างกายนี้ดำเนินชีวิตที่ดีงามและทำการสร้างสรรค์ต่างๆ ได้ ตอนนี้ก็จะเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายและความมุ่งหมายของการกินขึ้นมาใหม่

พอเกิดความเข้าใจว่าเรากินเพื่อสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง เป็นต้น พอเกิดความเข้าใจอย่างนี้ก็จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทันที เริ่มตั้งแต่ในจิตใจ ตอนที่กินเพื่ออร่อยนั้นมันจะกินจนกระทั่งว่ากินไม่ไหว และเกิดผลเฉพาะหน้าคือ กินจนลุกไม่ขึ้น หรืออาหารไม่ย่อย เกิดโทษ หรือว่ากินโดยไม่คำนึงว่าอาหารมีคุณค่าเป็นประโยชน์ต่อร่างกายหรือไม่ เราก็อาจจะกินอาหารที่เป็นพิษเข้าไป ในระยะยาวร่างกายก็เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคไขมันในเส้นเลือด โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคสารพัดก็จะเกิดตามมา การกินเพื่อเสพ คือเพื่อบำเรอลิ้นนี้จึงเกิดโทษได้ แต่พอเรากินเพื่อสนองความต้องการที่เกิดจากความรู้เข้าใจความมุ่งหมายที่แท้จริงว่ากินเพื่อสุขภาพ ก็จะเกิดพฤติกรรมใหม่ในการกิน คือ

  1. รู้ว่าถ้ากินปริมาณน้อยหรือมากเกินไปจะเป็นโทษต่อร่างกาย ก็จะจำกัดปริมาณอาหารที่กินให้พอดี
  2. เลือกประเภทอาหารว่า อาหารอะไรมีคุณค่าต่อร่างกาย ก็เลือกกินอาหารนั้น

ถึงตอนนี้อาหารที่ไม่อร่อยหรือไม่ค่อยอร่อยแต่มีคุณค่ากลับอยากกิน ความอยากชนิดนี้ เมื่อยังไม่มีการศึกษานั้นไม่มี เพราะว่าตอนที่ยังไม่มีการศึกษาก็มีความอยากที่จะกินเพื่อให้ลิ้นได้รสอร่อยอย่างเดียว ถ้าต้องกินอาหารที่ไม่อร่อยก็ต้องทุกข์อย่างเดียว พอเกิดปัญญาเกิดความรู้แล้วต้องการกินอาหารที่มีคุณค่า บางทีอาหารนั้นไม่อร่อยแต่อยากกิน และกินแล้วได้ความสุขด้วย

คนเราสามารถมีความสุขชนิดใหม่จากการสนองความต้องการที่เกิดจากการศึกษา หมายความว่า เมื่อเราเริ่มมีการศึกษาคือมีการเรียนรู้ เกิดปัญญาขึ้น เราก็เกิดความอยากชนิดใหม่และเมื่อเราสนองความอยากนั้น เราก็มีความสุข เราจึงแยกความอยากเป็น ๒ ประเภท คือ

  1. ความอยากที่มากับความไม่ต้องรู้ คือ อวิชชา คืออยากเพียงว่าได้สนองความต้องการเสพ เช่น ได้อร่อย เป็นต้น นี้เรียกว่า ตัณหา
  2. ความอยากที่เกิดจากปัญญารู้เข้าใจคุณค่าหรือประโยชน์ เรียกว่า ฉันทะ

ความอยากประเภทที่สอง ก็คืออยากในคุณภาพชีวิต ซึ่งทำให้เรามีความสุขชนิดใหม่ พอเราสนองตัณหาเราก็เกิดความสุข เราสนองฉันทะเราก็เกิดความสุข ทีนี้คนยิ่งพัฒนาไปก็ยิ่งเกิดปัญญารู้เข้าใจคุณค่าของสิ่งต่างๆ ดีขึ้น กว้างขวางชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความสุขชนิดใหม่มากขึ้น

สิ่งที่พัฒนามากขึ้นที่สำคัญยิ่งก็คือความรู้ที่ทำให้เกิดความต้องการที่ถูกต้อง แม้แต่รู้ว่ากินอาหารเพื่ออะไร กินอาหารอะไรจึงจะมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ ซึ่งทำให้เขาอยากกินอาหารประเภทที่มีคุณค่า เพราะตัวความรู้เกิดขึ้น ทำให้เขารู้ว่าชีวิตของเขาต้องการอะไร ซึ่งต่างจากความคิดที่ว่าตัวตนของเขาต้องการอะไร ต่อจากนั้นก็จะเกิดความใฝ่รู้ ความใฝ่รู้นั้นก็ทำให้เขาปฏิบัติต่อชีวิตของตนเองถูกต้อง ทำให้เขาได้ชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น เขาจะเกิดความใฝ่รู้ขึ้นมา เพราะความใฝ่รู้ทำให้ได้ความรู้ที่นำมาซึ่งชีวิตที่ดีงาม เริ่มแต่ได้มาซึ่งคุณภาพชีวิต เมื่อได้ความรู้ก็คือได้สนองความใฝ่รู้นั้น เพราะฉะนั้นจึงทำให้มีความสุข

เมื่อกระบวนการนี้เกิดขึ้น เด็กก็จะเกิดความสุขจากการสนองความใฝ่รู้ และเมื่อได้ความรู้ก็มีความสุข ที่ว่านี้จึงเป็นช่องทางแห่งความสุขอย่างใหม่ว่า เมื่อเด็กเรียนถ้าเขาไม่มีความใฝ่รู้หรือถ้าเขาต้องรู้สิ่งที่เขาไม่มีความใฝ่รู้ เขาก็จำใจรู้หรือเรียนด้วยความทุกข์ แต่ถ้าเด็กมีความใฝ่รู้ ต้องการรู้โดยเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียนเป็นต้น เขาก็จะเกิดความสุขในการเรียน นี้คือความสุขที่เราต้องการ ถ้าเป็นเพียงความสุขในการเสพก็อันตราย และไม่เกี่ยวกับการศึกษา นอกจากว่าเราจะมาจัดทำเพียงเพื่อให้เป็นตัวเอื้อต่อการที่เขาจะได้สนองความใฝ่รู้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเท่านั้น

ความสุขยิ่งเพิ่ม และการศึกษายิ่งก้าว เมื่อเด็กมีความใฝ่สร้างสรรค์

ยิ่งกว่านั้น ยังมีความสุขจากการทำ การสนองความต้องการที่จะทำ หรือความต้องการสร้างสรรค์ คนเราต้องการสร้างสรรค์เมื่อมีการศึกษาเกิดขึ้น หมายความว่า เมื่อมีการศึกษาก็จะเป็นการฝึกคนให้มีความใฝ่สิ่งหนึ่งคือ ต้องการที่จะทำอะไรให้ดี ความต้องการเสพมีเป็นธรรมดา แต่เราสามารถฝึกให้มีความต้องการเพิ่มขึ้นอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นความต้องการที่เราฝึกได้ คือความต้องการให้ทุกสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องหรือประสบนั้นดี เข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรก็ตามเราอยากจะให้สิ่งนั้นดีหมด เราอยู่ในที่นี้เราก็อยากให้ที่นี้สะอาดเรียบร้อยสวยงาม เราไปเกี่ยวข้องกับคนอื่น เราไปสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ก็อยากให้คนอื่นเขามีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี อยากให้เขามีความสุข การที่อยากให้เกิดความดี อยากให้สิ่งนั้นดีขึ้นมานี้เป็นสิ่งที่ฝึกได้ เป็นความอยากอีกชนิดหนึ่ง

เมื่อสร้างความอยากนี้ขึ้นมาได้ พออยากให้สิ่งนั้นดี ก็อยากจะทำให้มันดี พออยากทำให้มันดีก็เกิดความต้องการที่ต้องสนอง เมื่อพยายามทำให้มันดีก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าการสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นความใฝ่สร้างสรรค์ก็เกิดขึ้น สิ่งที่คู่กับความใฝ่รู้ก็คือ ความใฝ่สร้างสรรค์ พอเด็กเกิดความใฝ่สร้างสรรค์อยากจะทำแล้ว เขาก็จะมีความสุขจากการกระทำและจากการสร้างสรรค์นั้น นี้คือสิ่งหนึ่งที่เราต้องการ ซึ่งจะเป็นความสุขในการเรียนรู้อย่างแท้จริง และเรียนรู้อย่างมีความสุข

ถ้าเราไม่สามารถสร้างความอยากหรือความต้องการใหม่ที่ว่ามานี้ เด็กจะไม่สามารถมีความสุขจากการเรียนรู้ได้เลย เด็กก็จะต้องแสวงหาแต่สิ่งที่จะทำให้เขาสนุกสนานเพลิดเพลินเท่านั้น ถ้าเป็นอย่างนี้บทบาทของครูก็จะต้องเป็นผู้คอยตามใจและเอาใจเด็ก เมื่อเอาใจกันอยู่ร่ำไปก็จะทำให้เด็กอ่อนแอลงเรื่อยๆ การศึกษาจะไม่สำเร็จ ซึ่งเป็นแนวทางการศึกษาที่ผิดพลาด

อเมริกาก็มีแนวโน้มที่จะพลาดในเรื่องนี้ด้วย นั่นคือ การศึกษาจะไปสู่ระดับหนึ่งที่กลายเป็นเรื่องของการมุ่งเน้นและพยายามที่จะทำบทเรียนให้สนุกสนาน ทำกิจกรรมให้สนุกอย่างเลยเถิด จนกระทั่งกลายเป็นการเอาใจเด็กไป เมื่อเอาใจเด็กไปครูก็มัวสาละวนกับการที่จะทำบทเรียนและทำกิจกรรมให้สนุก เด็กไม่ชอบก็ไม่เรียน ไม่เอาทั้งนั้น เด็กเองก็อ่อนแอลง ครูก็แย่ลง การศึกษาก็ไม่ได้ผล ในทางตรงข้าม ในบางประเทศจะให้เด็กสู้สิ่งที่ยาก ให้สู้บทเรียนที่ยาก เด็กก็เข้มแข็งอดทนและประสบความสำเร็จในการศึกษา

แต่เราจะไม่ไปสุดโต่งทั้งสองอย่างนั้น เราต้องใช้ทั้งสองอย่าง อย่างรู้เท่าทัน คือ ทั้งทำบทเรียนกิจกรรมให้น่าสนใจ และทำให้เด็กมีใจสู้บทเรียนและกิจกรรม การทำบทเรียนและกิจกรรมให้น่าสนใจเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ บางทีอาจจะถึงกับต้องให้สนุกสนาน แต่เป็นเพียงวิธีการที่จะมาช่วยเอื้อในการที่จะให้เด็กเข้าถึงเป้าหมายที่เราต้องการ คือกระตุ้นให้เขาเกิดความใฝ่รู้ขึ้นมา (อาศัยตัณหาละตัณหา หรือใช้ตัณหาเป็นสื่อส่งต่อสู่ฉันทะ) ถ้าเขาไม่เกิดความใฝ่รู้ ไม่เกิดความใฝ่สร้างสรรค์หรือใฝ่ทำแล้ว การเรียนที่แท้และการมีความสุขที่ถูกทางจะไม่เกิดขึ้น เด็กจะติดอยู่แค่อยากเสพรสความสนุกที่เป็นตัณหา เพราะฉะนั้นจะต้องทำให้เกิดความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์นี้ให้ได้

เกณฑ์ตัดสินอยู่ที่ไหน? ในการศึกษาที่แท้ การเรียนรู้จะต้องเกิดมีและพัฒนาขึ้นในตัวคน และการเรียนรู้ก็พัฒนาไปด้วยการสนองความใฝ่รู้ เราจึงต้องทำให้เกิดกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติ คือ ทำให้การเรียนรู้เป็นการสนองความต้องการที่จะรู้ ถ้าเรามุ่งแต่จะทำบทเรียนและกิจกรรมให้สนุกสนานโดยไม่แยบคาย แทนที่เด็กจะเกิดความใฝ่รู้ เด็กอาจจะเขวออกไปและเกิดความใฝ่เสพต่อความสนุกสนานนั้นแทน ก็จะได้ผลตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นถ้าจะทำกิจกรรมและบทเรียนให้สนุกสนาน ก็ต้องให้เป็นสะพานเชื่อมไปสู่ความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ให้ได้

ที่จริงความใฝ่สร้างสรรค์ก็เกิดไม่ยาก เพราะมนุษย์มีศักยภาพในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ความใฝ่รู้ก็สร้างได้ ความใฝ่ดีก็สร้างได้ อย่างที่บอกว่าไม่ว่าไปอยู่ที่ไหน ไปทำอะไร เกี่ยวข้องกับอะไรก็อยากให้ดีไปหมด ถ้ามีความอยากตัวนี้ คืออยากให้มันดี ความต้องการทำให้มันดีก็เกิดขึ้น เมื่อต้องการทำให้ดี ก็เกิดความใฝ่สร้างสรรค์ขึ้นมาแล้วเขาก็จะต้องสนองความต้องการหรือความใฝ่นั้น เมื่อเขาทำอะไรเขาก็จะทำด้วยความสุข

อย่างเช่นในเรื่องคอมพิวเตอร์ก็มีการใช้ ๒ แบบ คือ ใช้เทคโนโลยีเพื่อเสพ กับใช้เทคโนโลยีเพื่อหาความรู้ และเพื่อทำการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ คอมพิวเตอร์นี้ถ้าเรามีความใฝ่รู้ เราก็สามารถใช้หาความรู้ได้มาก ถ้าเรามีความใฝ่สร้างสรรค์ เราก็สามารถคิดอะไรต่างๆ ทำการสร้างสรรค์แก้ปัญหาต่างๆ ได้ แต่ถ้าเด็กของเราไม่เกิดความใฝ่รู้ และไม่เกิดความใฝ่สร้างสรรค์ เขาก็ใช้คอมพิวเตอร์หาความสนุกสนานอย่างเดียว เช่น เอาแต่เล่นเกมส์ เรียกว่าใช้เพื่อเสพเท่านั้น ถ้าอย่างนี้การศึกษาก็ไม่ได้ผลแน่นอน แต่จะเสื่อมจากการศึกษา จึงจะต้องทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของการเรียนรู้ด้วยความสุข หรือมีความสุขในการเรียนรู้
ถึงตอนนี้ควรจะสรุปเรื่องความสุข ๒ ประเภทไว้อีกครั้งหนึ่ง

ความสุขประเภทที่หนึ่ง ที่ไม่ต้องอาศัยการศึกษา และไม่เอื้อต่อการศึกษา คือความสุขจากการเสพ หรือความสุขจากการสนองความใฝ่เสพ

ความสุขประเภทนี้มีลักษณะที่ต้องพึ่งพาหรือขึ้นต่อวัตถุหรือปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะสิ่งเสพบริโภคต่างๆ จึงเป็นความสุขแบบที่ต้องแย่งชิง ทำให้เกิดการเบียดเบียนกันในสังคม และทำลายหรือก่อความเสื่อมโทรมแก่สิ่งแวดล้อม นอกจากไม่เอื้อต่อการศึกษา และไม่เอื้อต่อการสร้างสรรค์แล้ว ก็ยังขัดขวางการศึกษาด้วย เพราะเป็นความสุขเชิงเสพ ที่จะต้องได้รับการบำรุงปรนเปรอหรือสุขจากการที่ไม่ต้องทำอะไร จึงทำให้มีท่าทีต่อการเรียนรู้และการกระทำสร้าง สรรค์ต่างๆ ในเชิงจำใจ ฝืนใจ เป็นทุกข์ การหาความสุขประเภทนี้ของมนุษย์จึงเป็นภาระแก่สังคมในการที่จะต้องดำเนินการควบคุมด้วยมาตรการต่างๆ มากมาย

ความสุขประเภทที่สอง ที่เกิดจากการศึกษา และเป็นปัจจัยเอื้อต่อกันกับการศึกษา คือความสุขจากการเรียนรู้และการทำให้ดี หรือความสุขจากการสนองความใฝ่ศึกษาและใฝ่สร้างสรรค์

ความสุขประเภทนี้มีลักษณะที่ไม่ขึ้นต่อสิ่งภายนอก แต่เป็นความสุขภายในอย่างเป็นอิสระของบุคคล จึงไม่ก่อให้เกิดการเบียดเบียนสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่เกื้อหนุนการอยู่ร่วมกันด้วยดี และเกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม แต่ลักษณะที่เด่นก็คือความเป็นปัจจัยต่อกันกับการศึกษาและการสร้างสรรค์ เพราะจะสุขได้ก็เพราะได้สนองความต้องการที่จะเรียนรู้และทำให้ดี เพราะฉะนั้นยิ่งได้เรียนรู้และได้ทำให้ดีก็ยิ่งมีความสุข และยิ่งสุขก็ยิ่งศึกษาและยิ่งสร้างสรรค์

เมื่อจิตสำนึกในการศึกษาเกิดขึ้น แม้แต่ความยากก็กลายเป็นความสุข

แต่เพียงเท่านี้ยังไม่หมด สิ่งที่จะทำให้เด็กมีความสุขยิ่งขึ้นในการศึกษาก็คือจิตสำนึกในการศึกษา เรื่องนี้ต่อเนื่องกับธรรมชาติของมนุษย์ที่ว่าเป็นสัตว์ที่ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกฝน ต้องพัฒนา เมื่อเรามีความสำนึกอยู่ในธรรมชาติของคนว่าเป็นสัตว์ที่ต้องเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา ถ้าไม่ศึกษาจะไม่สามารถมีชีวิตที่ดีงามได้ เมื่อเรารู้ตระหนักว่า มนุษย์เป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้ ต้องมีชีวิตแห่งการเรียนรู้ เราก็สร้างให้เป็นจิตสำนึกในการฝึกตน หรือจิตสำนึกในการศึกษานี้ให้เกิดมีขึ้น

เมื่อมีจิตสำนึกนี้แล้วก็จะได้ผลซ้อนขึ้นมา คือ ความสุขจากการศึกษาที่แท้จริงที่เกิดขึ้นแล้วจะเป็นตัวหนุนให้การศึกษาได้ผลพัฒนาคนทางการศึกษายิ่งขึ้นไปอีก เด็กที่ได้รับการฝึกอย่างนี้จะมองว่าประสบการณ์และสถานการณ์ทุกอย่างที่เขาประสบเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้

เด็กมีการมอง ๒ แบบ คือ เมื่อเด็กพบประสบการณ์หรือสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง พวกหนึ่งจะมีความต้องการที่จะได้ความสุขจากสถานการณ์นั้น ว่าทำอย่างไรเขาถึงจะได้ความสนุก ความสุข ความสบาย เรียกว่า มองเชิงเสพ แต่เด็กที่มีการศึกษาจะมีความต้องการได้ความรู้จากประสบการณ์หรือสถานการณ์นั้น เขาจะมองในแง่เป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ เรียกว่า มองเชิงศึกษา

สำหรับเด็กที่มองเชิงเสพ เขาจะอยู่ที่จุดเสี่ยงระหว่างได้กับเสีย คือถ้าเจอสิ่งที่สบายชอบใจ ก็สุข ถ้าเจอสิ่งไม่สบายไม่ชอบใจก็ทุกข์ แต่เด็กที่มองเชิงศึกษาจะมีแต่ “ได้” จากทุกประสบการณ์และทุกสถานการณ์ พอมองเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ ก็จะรู้สึกว่าจะได้ทั้งนั้น ไม่ว่าสถานการณ์นั้นจะสบายหรือไม่สบายก็ตาม ถ้าคนเราไม่มีจิตสำนึกนี้ เขาต้องการเจอเฉพาะสถานการณ์ที่สบายหรือชอบใจเท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็ไม่เอา และเมื่อต้องประสบกับสถานการณ์ที่ไม่สบายก็ทุกข์ทันที

เมื่อเด็กมีจิตสำนึกในการศึกษาหรือในการฝึกตนขึ้นมา เขาจะมองสถานการณ์นั้นเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ เขาจึง “ได้” จากทุกสถานการณ์ สถานการณ์นั้นจะสบายหรือไม่สบายก็คือโอกาสที่จะเรียนรู้ทั้งนั้น พอได้เรียนรู้เขาก็มีความสุข เพราะได้สนองความต้องการที่จะเรียนรู้ ไม่ว่าจะเผชิญอะไรก็ตามเขาจะรู้สึกว่าเขาจะได้เรียนรู้ เขาจึง “ได้” ทุกที เด็กพวกนี้จะไม่กลัวบทเรียน ไม่กลัวงานแม้แต่ที่ยาก ถ้าเราฝึกไปถึงระดับหนึ่งก็จะถึงจุดที่รู้สึกว่า “ยิ่งยากยิ่งได้มาก” ซึ่งเป็นธรรมชาติหรือเป็นความจริงตามธรรมดา

ถ้าเราเจอสถานการณ์อะไรที่ง่าย ไม่ต้องทำอะไร เราก็ไม่ได้ฝึกฝน ไม่ได้พัฒนาตัวเอง แต่อะไรที่ยาก เราต้องฝึกฝนมาก เราก็ได้พัฒนามาก เช่น ถ้าเราไม่เจอปัญหาเราก็ไม่ได้เรียนรู้ไม่ได้พัฒนาอะไรขึ้นมา แต่เมื่อเราเจอปัญหาเราก็เริ่มคิดหาทางออก หาทางแก้ไข ทันทีที่การคิดอย่างนั้นเริ่มต้นเราก็เริ่มพัฒนาตัวเรา พอเราคิดไป หาทางออกไป เราก็พัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาและพัฒนาปัญญาขึ้นมา เราก็ได้ปัญญามากขึ้นจนกระทั่งแก้ปัญหาได้

เมื่อเราสามารถแก้ปัญหาได้ก็คือปัญญามาโดยสมบูรณ์นั่นเอง จึงพูดได้ว่า ปัญหามาปัญญายังไม่มี แต่พอปัญญามาปัญหาก็หมด เพราะฉะนั้นนักเรียนรู้ที่แท้คือผู้มีจิตสำนึกในการศึกษาจะมองปัญหาเป็นเวทีพัฒนาปัญญา คือ มองปัญหาเป็นโอกาสแห่งการพัฒนาปัญญานั่นเอง แล้วเราก็เปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา พอเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญาได้สำเร็จ เราก็ได้พัฒนาอย่างมาก และก็เป็นไปตามหลักที่ว่าอะไรที่ยากเรายิ่งได้มาก ถ้าไม่ยากเราก็ไม่ได้อะไรมาก คือไม่ได้ฝึกตนมาก เพราะฉะนั้นยิ่งยากยิ่งได้มาก เด็กที่มีจิตสำนึกในการศึกษาจึงไม่กลัวบทเรียนยาก และไม่กลัวงานยาก แต่กลับชอบเพราะมองเป็นโอกาสที่จะได้ทั้งนั้น ถ้าเราสร้างจิตสำนึกนี้ขึ้นมาได้ เด็กก็จะมีความสุขได้ง่ายและมีทุกข์ได้ยากแน่ๆ ไม่มีปัญหาเลย

ทำอย่างไรจะให้เด็กมีจิตสำนึกในการศึกษา นี้คือต้นทางของการศึกษา ถ้าไม่สามารถสร้างจิตสำนึกในการศึกษาหรือการฝึกตนขึ้นมา การศึกษาจะฝืด และเด็กจะไม่สามารถมีความสุขอย่างแท้จริงในการศึกษาด้วย ในตอนแรกๆ แม้แต่มีขึ้นมานิดหนึ่ง เขาก็เรียนอย่างมีความสุข แต่ถ้าเราสามารถพัฒนาจิตสำนึกนั้นจนกระทั่งเด็กแข็งกล้าอย่างที่ว่า แข็งกล้าจนกระทั่งเด็กเห็นว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก ตอนนี้ทันทีที่เขาเจอสิ่งที่ยาก แทนที่จะทุกข์เขากลับมีความสุข เขารู้สึกว่าเขาจะได้ เขาก็เต็มใจพอใจ เขาจึงตั้งใจ เมื่อตั้งใจทำก็ทำได้ผลด้วยและมีความสุข เพราะฉะนั้นจึงย้ำบ่อยๆ ว่างานก็ได้ผลคนก็เป็นสุข แต่เด็กที่ไม่มีจิตสำนึกในการศึกษา พอเจออะไรที่จะต้องทำก็ทุกข์ทันที พอทุกข์ก็ระย่อท้อถอย พอถอยจิตใจก็ไม่สบาย เสียสุขภาพจิตด้วย และทำไม่ได้ผลด้วย เสียทั้งสองอย่าง ต้นทางของการศึกษาก็อยู่ตรงนี้ และที่ว่ามานี้ก็เป็นตัวอย่าง

เป็นอันว่า เด็กที่เราช่วยให้พัฒนาตัวขึ้นมาอย่างถูกต้อง โดยมีการศึกษาที่ถูกต้อง จะเก็บความรู้จากทุกอย่างที่ขวางหน้า และมองว่าการเจอปัญหาเป็นโอกาสสร้างปัญญาหรือเจอปัญหาคือโอกาสที่จะพัฒนา
เรื่องความสุขยังไม่จบเท่านี้ ปัจจัยที่จะทำให้มีความสุขไม่ใช่แค่นี้ เรายังมีทางพัฒนาความสุขต่อไปอีก และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรง จึงจะหันกลับมาอีกทีถ้ามีเวลา

“มองเชิงจุดหมาย” หรือ “มองเชิงปัจจัย” จุดตัดสินเทคโนโลยีเพื่อหายนะหรือเพื่อพัฒนา

เมื่อพูดถึงเรื่องความสุข ตอนนี้จะแทรกเรื่องความสัมพันธ์กับวัตถุต่างๆ โดยเฉพาะกับเทคโนโลยีว่า ทำอย่างไรจะให้ความสัมพันธ์นั้นเกิดผลในทางการศึกษา โดยเฉพาะยุคนี้ซึ่งเป็นยุคที่วัตถุเจริญพรั่งพร้อม ทำอย่างไรเราจึงจะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ถ้าเราให้การศึกษาที่ไม่ถูกต้อง คนจะได้รับโทษมากกว่าได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี

การสัมพันธ์กับวัตถุก็เริ่มจากการมองความสัมพันธ์นั่นเอง ว่าเรามองความสัมพันธ์กับวัตถุหรือมีท่าทีต่อวัตถุอย่างไร ถ้าเรามองความสัมพันธ์ผิดมันก็ไม่เป็นการศึกษา แล้วคนก็เสียด้วย แทนที่จะได้ประโยชน์จากการศึกษา ก็กลายเป็นเสื่อมจากการศึกษา แทนที่จะได้ประโยชน์จากวัตถุเช่นอุปกรณ์เทคโนโลยีนั้นก็เลยได้โทษมาแทน แต่ในทางตรงข้าม ถ้าเรามองการศึกษาได้ถูกต้องคนก็จะยิ่งพัฒนาด้วยการศึกษานั้น แล้วก็จะยิ่งมีความสุขด้วย ทีนี้จะทำอย่างไร การมองความสัมพันธ์กับวัตถุมี ๒ แบบ อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ขอย้ำอีกแง่หนึ่งว่า

๑. มองเชิงจุดหมาย คือ มองวัตถุตลอดจนเทคโนโลยีเป็นเครื่องบำรุงบำเรอให้ความสุข เสริมความสะดวกสบาย เป็นจุดหมายของชีวิต ซึ่งเป็นวงจรที่วนอยู่กับที่ ถ้ามองเพียงเท่านี้ก็จะตันแล้วจบแค่นั้น

๒. มองเชิงปัจจัย คือมองวัตถุรวมทั้งเทคโนโลยีเป็นเครื่องเกื้อหนุน หรือเป็นตัวเอื้อโอกาสในการที่จะดำเนินชีวิตที่ดี ในการที่เราจะพัฒนาชีวิตของเรา ในการที่จะสร้างสรรค์สังคมให้ดีงามยิ่งขึ้น

ในการมองวัตถุนั้น คนจะมองสองแบบอย่างนี้ แต่คนจำนวนมากจะมองแง่แรกอย่างเดียว คือมองเชิงจุดหมายว่าวัตถุเทคโนโลยีเป็นเครื่องบำรุงบำเรออำนวยความสะดวกสบายให้เรา ความสุขอยู่ที่การมีสิ่งเหล่านั้นไว้เสพบริโภคให้มากที่สุด แต่คนที่มีการศึกษาจะมองความหมายที่สองด้วย และความหมายที่สองนี่จะโดดเด่นขึ้นมา คือมองเป็นปัจจัย ซึ่งตรงตามหลักพุทธศาสนาซึ่งเรียกวัตถุว่าเป็นปัจจัย คือเป็นตัวเกื้อหนุน ทำให้เกิดโอกาสในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ก้าวไปสู่สิ่งที่ประเสริฐยิ่งขึ้นไป สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ถ้าเราไม่มีวัตถุ ไม่มีปัจจัย เราก็ไม่สามารถทำการสร้างสรรค์ ไม่สามารถมีชีวิตที่ดีงามได้ เพราะฉะนั้นวัตถุเช่นอุปกรณ์เทคโนโลยีนี้หลายอย่างเราจึงถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่จำเป็นในความหมายที่ชัดว่าเพื่อเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนให้เรามีโอกาสทำสิ่งที่ดีงามยิ่งขึ้นไป

การมองเชิงจุดหมายนั้น มาด้วยกันกับการมองเชิงเสพ ถ้าเรามองเชิงเสพ เราก็มุ่งใช้วัตถุเพื่อให้มันบำเรอเรา เพื่อให้เราไม่ต้องทำ ถ้าเราจะต้องทำอะไร เราจะทุกข์หมด มันจะต้องบำเรอเรา เทคโนโลยีมาทำแทนเราหมด เรามีความสุข ความสุขของเราอยู่ที่มันรับใช้เรา บำเรอเรา ทำให้เราสบายคือไม่ต้องทำอะไร และนั้นคือความสุขที่เป็นจุดหมาย ทีนี้ถ้าเกิดเราต้องทำอะไร เราก็ทุกข์

ถ้าเรามองเชิงปัจจัย เราต้องการจะทำสิ่งที่ดีงาม เราจะทำอยู่แล้ว พอเทคโนโลยีมา วัตถุมา ทำให้เราสะดวกในการทำนั้นยิ่งขึ้น เพราะเราได้เครื่องช่วยทำให้สะดวกยิ่งขึ้น เราอยากจะทำอยู่แล้ว เราได้ทำเราก็มีความสุข ยิ่งมีเครื่องช่วยให้เราทำได้ดีได้มากยิ่งขึ้น เราก็ยิ่งมีความสุขกันใหญ่ ถ้าเด็กสามารถมีความสุขในการทำการสร้างสรรค์ก็ปลอดภัยแล้ว ในการศึกษาเวลานี้เด็กเป็นอย่างไร เด็กมองวัตถุด้วยความสัมพันธ์เชิงไหน ข้อที่ต้องระวังมากคือการมีความสัมพันธ์มองวัตถุเชิงเสพและเชิงจุดหมาย ซึ่งเป็นกันมากในสังคมของเรา

เมื่อใฝ่เสพ คนก็อ่อนแอลง ทุกข์ง่ายแต่สุขได้ยาก
เมื่อใฝ่สร้างสรรค์ คนก็เข้มแข็งขึ้น สุขได้ง่ายและทุกข์ได้ยาก

ผลสืบเนื่องก็คือว่า ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนมองวัตถุด้วยความสัมพันธ์เชิงเสพแล้ว จะเกิดปัญหาที่เรียกว่าสภาพทุกข์ง่ายและสุขได้ยาก จะขอยกตัวอย่าง แต่ก่อนนี้เราสร้างที่อยู่ขึ้นมา จะเป็นถ้ำหรือเป็นบ้านก็ตาม เทคโนโลยียังไม่เจริญ เวลาจะปิดประตูป้องกันสัตว์ร้ายเป็นต้น หรือไม่ให้ใครเข้ามา เราไม่มีเครื่องมือ เราก็ไปยกเอาหินมาปิด เวลาจะปิดทีหนึ่งก็ต้องช่วยกันยก อาจจะต้องหลายคน ต่อมาอาจใช้ท่อนไม้ใหญ่ๆ ก็ยังต้องแบกหามหนัก วันหนึ่งๆ เช้ายกออกเพื่อเปิด เย็นค่ำยกเข้ามาเพื่อปิด แสนจะลำบากยากเย็น

ต่อมาเจริญขึ้น ทำเป็นบานประตูและมีเดือย ตอนนี้ผลักคนเดียวและใช้กำลังน้อยลง แต่ก็ยังเหนื่อย บางทีมันฝืดเพราะประตูมันหนักมาก กว่าจะผลักได้ก็ลำบาก แต่ตอนที่พัฒนาจากการที่ต้องยกเอาแผ่นหินหรือแผ่นไม้ใหญ่ๆ มาปิด เปลี่ยนมาเป็นผลักประตูนี้ รู้สึกว่าสะดวกสบาย มีความสุขขึ้นมาก

ทีนี้ต่อมา ประดิษฐ์บานพับได้ ปิดง่าย ตอนนี้ใช้แรงนิดเดียว ในตอนที่เปลี่ยนจากการที่ต้องใช้ประตูมีเดือยมาเป็นบานพับ สุขมาก ทีนี้ต่อมาไม่ต้องใช้บานพับแล้ว มาถึงก็กดปุ่มเลย พอกดปุ่มประตูก็เปิดเลย ต่อมายิ่งกว่านั้นอีก ไม่ต้องกดปุ่ม เดินมาถึงประตูเปิดเองเลย ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์

ขอให้ดูตอนที่ใช้ประตูบานพับก็สบายขึ้นมาแล้ว แต่คนที่เกิดมาในยุคที่ใช้ประตูบานพับ จะรู้สึกเฉยๆ พอมาถึงยุคที่กดปุ่ ก็สบายขึ้นอีก จนกระทั่งในที่สุด เดินมาถึงแล้วประตูเปิดเอง แสนสบาย แต่ถ้าคนดำเนินชีวิตอยู่อย่างนั้นเป็นประจำเขาจะรู้สึกเฉยๆ แต่ตอนนี้ถ้าวันไหนจะต้องกดปุ่ม เด็กจะเริ่มรำคาญและอาจจะถึงกับมีความทุกข์ในการที่ต้องไปกดปุ่ม แม้แต่เป็นประตูบานพับแต่ก่อนก็แสนจะสะดวกสบาย เมื่อเทียบกับยุคที่ต้องยกก้อนหิน แต่เด็กในยุคเดินไปถึงประตูก็เปิดเองนี้ ถ้าต้องไปเปิดประตูจะกลายเป็นทุกข์ยาก นี่จะเห็นว่าเด็กที่ต้องออกแรงเปิดประตูเกิดความทุกข์ขึ้น ได้กลายเป็นคนที่ทุกข์ได้ง่าย และสุขได้ยากขึ้น

เรื่องที่พูดมานี้มีความหมายอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง นี่เป็นเพียงตัวอย่างง่ายๆ แต่คล้ายๆ เป็นหลักการอย่างหนึ่งว่า คนเราเกิดในสภาพชีวิตอย่างไร ก็จะเห็นสภาพอย่างนั้นเป็นปกติแล้วจะชินชา เมื่อชินชาก็กลายเป็นสภาพที่รู้สึกเฉยๆ ด้วยเหตุนี้เด็กที่เกิดขึ้นสมัยนี้ ท่ามกลางความพรั่งพร้อมทางเทคโนโลยีเหล่านี้ ความสะดวก ความพรั่งพร้อมต่างๆ เหล่านี้จะไม่ได้ให้คุณค่าพิเศษอะไรมากมาย เขาจะรู้สึกเฉยๆ และชินชา แล้วถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าหากว่า ความพรั่งพร้อม หรือความสะดวกเหล่านี้ขาดไปแม้นิดหน่อย เขาจะมีความทุกข์ทันที หรือถ้ามันไม่เป็นไปตามชอบใจ ไม่ได้อย่างใจ เขาจะทุกข์ทันที แปลว่า ขาดนิดขาดหน่อยทุกข์ ไม่ได้อย่างใจก็ทุกข์ จะต้องทำอะไรนิดก็ทุกข์

ไม่เหมือนอย่างเด็กสมัยก่อนที่อยู่ในสภาพที่ในสมัยนี้ถือว่าลำบาก ต้องทำอะไรที่เหน็ดเหนื่อย แต่สภาพชีวิตนั้นเป็นธรรมดาของเขา เหมือนอย่างที่ยกตัวอย่างบ่อยๆ ว่า เด็กสมัยก่อนนี้ ตื่นเช้าขึ้นมาอาจจะต้องช่วยพ่อแม่หุงข้าว ต้องติดไฟ ต้องผ่าฟืน ต้องซาวข้าว ต้องยกหม้อข้าว ต้องไปตักน้ำมา เขาดำเนินชีวิตอยู่อย่างนั้นเป็นธรรมดา แต่เด็กสมัยนี้ที่เกิดมาในยุคที่ใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้านี้ ถ้าต้องไปทำอย่างเด็กสมัยนั้นจะเป็นอย่างไร เขาจะมีความทุกข์อย่างยิ่ง ทีนี้เด็กสมัยนั้นที่เขาดำเนินชีวิตในสมัยก่อนอย่างที่เรารู้สึกว่ายากลำบาก แต่เขารู้สึกปกติ ถ้าเขาได้อะไรที่สะดวกขึ้นนิดหนึ่งเขาจะสุขมาก

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเด็กสมัยก่อนนั้นไปเจออะไรที่ต้องทำ สิ่งที่เขาต้องทำใหม่นั้นก็อาจจะไม่ยากเท่ากับสิ่งที่เขาต้องทำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ทำให้เขาเกิดความทุกข์แต่อย่างไรเลย ด้วยเหตุนี้เมื่อเทียบกัน เด็กสมัยนั้นในสภาพแวดล้อมอย่างนั้นจะทุกข์ได้ยากและสุขได้ง่ายกว่าเด็กสมัยนี้ แต่เด็กสมัยนี้ ถ้าขาดการศึกษา (ที่แท้) จะกลายเป็นคนที่สุขได้ยาก และทุกข์ได้ง่าย หมายความว่าทุกอย่างสะดวกพรั่งพร้อมจนเคยชินแล้ว จะเติมให้สุขกว่านี้มันแสนยาก เพราะฉะนั้นจึงบอกว่าทำให้สุขได้ยาก แต่ทุกข์ได้ง่าย เพราะขาดนิดเดียวจะทุกข์ทันที

นี่เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง ถ้าเราไม่พัฒนาคนให้ทัน เขาจะไม่ได้รับประโยชน์จากความเจริญของสิ่งสร้างสรรค์เหล่านี้เลย แต่ถ้าเราพัฒนาคนให้ถูกต้อง เขาจะได้ประโยชน์เต็มที่จากสิ่งเหล่านั้นทั้งในแง่การดำเนินชีวิต ในแง่การทำกิจการงาน และในแง่ของความสุขด้วย นี่ก็คือเราจะต้องพัฒนาคนขึ้นมาให้ได้ดุลยภาพ ทันกับการพัฒนาวัตถุ

เมื่อวัตถุเจริญขึ้นอย่างนี้ คนก็ต้องเจริญขึ้น ในแง่ที่ว่ามีคุณภาพมากขึ้นด้วย เช่น มีความเข้มแข็งด้วยจิตสำนึกในการศึกษา เป็นต้น เพราะเมื่อเขาต้องการจะทำเขาก็มีเทคโนโลยีมาช่วย เทคโนโลยีช่วยให้เขาทำได้สะดวกยิ่งขึ้น ทุ่นแรงทุ่นเวลาขยายวิสัยของอินทรีย์ ทำให้ทำได้ผลมากยิ่งขึ้น แล้วเขาก็ทำต่อไป เขาก็สร้างสรรค์ได้กว้างไกลยิ่งขึ้น เขาก็มีความสุขในการทำหรือการสร้างสรรค์นั้น แต่ถ้าเขาไม่มีคุณสมบัตินี้ เขาจะมองวัตถุแค่เป็นสิ่งเสพ ที่จะช่วยให้เขาไม่ต้องทำอะไร ได้แต่เสวยความสุข เสร็จแล้วมันก็จะเป็นวงจรที่วนอยู่กับที่ ไม่มีการพัฒนา แล้วเขาก็จะทุกข์ไปหมด เพราะว่าหันไปเจออะไรที่ต้องทำก็ทุกข์ เพราะฉะนั้นจะต้องทำให้เขามีความสุขจากการทำ หรือจากการสร้างสรรค์ขึ้นมาให้ได้

เป็นอันว่าความสุขจากการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ถ้าเราหันมาพัฒนาคนให้ถูกต้อง เมื่อการศึกษาที่แท้เริ่มขึ้นแล้ว ต่อจากนั้นเขาจะยิ่งมีความสุขมากขึ้น เขาสามารถมีความสุขจากการเอาเทคโนโลยีและวัตถุเหล่านั้นไปใช้ทำงานสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงขอให้มองวัตถุรวมทั้งเทคโนโลยีเหล่านี้ในเชิงเป็นปัจจัย ถ้ามองเป็นปัจจัยแล้ว ความสุขทางการศึกษาก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

คนใฝ่เสพ มองเศรษฐกิจเป็นจุดหมาย
คนใฝ่สร้างสรรค์ มองเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเป็นปัจจัย

เวลานี้ปัญหาแห่งอารยธรรมได้เกิดขึ้น ซึ่งพวกเราก็คงทราบ ยกตัวอย่าง เช่น เรื่องของประเทศอเมริกาที่ว่า พอเจริญมากขึ้นทำไมคนฆ่าตัวตายมากขึ้น เพราะว่า ในขณะที่มีความเจริญทางเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวกสบายมีมากมายเหลือเกิน แต่คนมองสิ่งเหล่านั้นในเชิงเสพ และยิ่งสังคมปัจจุบันนี้ คนชื่นชมตัวเองว่าเป็นสังคมบริโภค มีความพอใจในการบริโภค ชอบบริโภค มีความสุขกับการบริโภค ก็มองวัตถุในความหมายสัมพันธ์เชิงเสพ ที่มีความหมายว่าทำให้ตัวเองยิ่งไม่ต้องทำอะไรยิ่งขึ้น มุ่งจะมีความสุขอยู่กับการที่ได้เสพเท่านั้น เมื่อจะต้องทำอะไรก็ทุกข์ ไม่ได้พัฒนาจิตสำนึกในการศึกษาที่จะมาช่วยให้ต้องสนองความต้องการที่จะทำ คือคนไม่ได้พัฒนานั่นเอง จึงต้องเกิดปัญหา

เวลานี้อเมริกาที่เป็นประเทศที่พัฒนาสูงสุดนั้นมีสถิติคนฆ่าตัวตายมากกว่าประเทศเม็กซิโกซึ่งเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและยากจนแร้นแค้นซึ่งบางสถิติว่าถึง ๗.๔ เท่า และในประเทศอเมริกาเองถ้าเทียบสถิติระหว่างอดีตกับปัจจุบันก็มีปัญหาอีกว่า คนฆ่าตัวตาย นอกจากมากขึ้นแล้วยังกลายเป็นว่าเด็กหนุ่มสาววัยรุ่นฆ่าตัวตายมากขึ้นถึง ๓๐๐ เปอร์เซนต์ การที่คนฆ่าตัวตายมาก ก็เนื่องจากภาวะที่ทุกข์ได้ง่ายแต่สุขได้ยาก ยิ่งเทคโนโยลีเจริญคนก็ยิ่งทุกข์ได้ง่ายและสุขได้ยากขึ้น และคนก็อ่อนแอลง เรียกว่าใจเสาะเปราะบาง

เมื่อเราสนองความต้องการปรนเปรอตน คนไม่อยากทำอะไร มีชีวิตที่เห็นแก่สะดวกสบาย คนก็ยิ่งอ่อนแอลง พออ่อนแอลงก็ยิ่งทุกข์ง่ายลง เพราะมันเป็นวงจร แต่ถ้าเขาเข้มแข็งขึ้นก็ทุกข์ได้ยากแต่สุขได้ง่ายขึ้น พอทุกข์ได้ยากขึ้นก็ยิ่งเข้มแข็งขึ้น ที่ว่านี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้องการทำให้เขาทุกข์ แต่หมายความว่าให้เกิดสุขจากคุณภาพในใจของเขาเอง จนเกิดผลอย่างที่บอกว่า ถ้าเด็กมีความใฝ่รู้สู้สิ่งยากจริงๆ โดยมีจิตสำนึกในการศึกษา เขาจะกลายเป็นคนที่มีความสุขยิ่งขึ้น ยิ่งเทคโนโลยีมาช่วยเสริมเขาก็ยิ่งสุขมากขึ้น เขาสุขจากเทคโนโลยีที่ช่วยเขาแล้ว เขายังสุขจากการได้ทำการสร้างสรรค์ยิ่งๆ ขึ้นไปอีกด้วย จึงได้ ๒ ชั้นทีเดียว

ฉะนั้น การมองความสัมพันธ์กับวัตถุจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก จะเห็นว่าท่าทีต่อวัตถุ เวลานี้คนแทนที่จะมองวัตถุและเทคโนโลยีอย่างเป็นปัจจัย เรากลับมองอย่างเป็นจุดหมายเสีย เราศึกษาเล่าเรียนทำงานทำการอะไรต่างๆ เพื่อจะได้มีวัตถุพรั่งพร้อม นั่นคือมองปัจจัยเป็นจุดหมาย ปัจจัยเป็นฐานคือเป็นตัวเกื้อหนุนให้เราจะได้เดินหน้า เราจะได้ดำรงชีวิตที่ดีงาม เป็นโอกาสที่จะทำการสร้างสรรค์ยิ่งๆ ขึ้นไป แต่คนมองปัจจัยคือวัตถุหรือเทคโนโยลีเป็นจุดยอด เป็นจุดหมายเสียแล้ว คือเป็นตัวเป้าหมายที่ต้องการ ถ้าอย่างนี้ก็กลับหัวลงแล้ว อารยธรรมมนุษย์พลาดแน่ๆ กลับฐานเป็นยอด กลับยอดเป็นฐาน

สังคมปัจจุบันที่กลายมาเป็นสังคมบริโภคนิยม และเป็นสังคมในระบบผลประโยชน์ คนมุ่งแต่จะหาผลประโยชน์อย่างเดียว เอาผลประโยชน์เป็นจุดหมาย ตรงข้ามกับศัพท์ทางพระพุทธศาสนาที่บอกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น ถ้าขาดมันเราจะเดินหน้าไม่ได้ในชีวิตที่ดีงามหรือชีวิตแห่งการสร้างสรรค์ แต่เมื่อได้สิ่งเหล่านี้มาเป็นปัจจัย มันก็เป็นตัวเกื้อหนุนให้เราก้าวหน้าต่อไปในชีวิตที่ดีงามและการสร้างสรรค์ ศัพท์ของพระชัดเจนอยู่แล้วให้เป็นปัจจัย แต่เราไม่ยอมมองเป็นปัจจัย เรากลับเอาปัจจัยไปเป็นจุดหมายทั้งๆ ที่ตัวศัพท์ยังเป็นปัจจัยอยู่ อันนี้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเรื่องของวัตถุและเทคโนโลยีอย่างที่ว่ามาแล้ว ซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องจุดหมายของการศึกษาด้วย

ถ้าเราพัฒนาคนให้มองวัตถุเป็นปัจจัย และมีความสุขจากการทำหรือจากการสร้างสรรค์อย่างนี้ การที่จะประสบความสำเร็จในการต่อสู้เพื่อชัยชนะในระบบแข่งขันก็เป็นเรื่องง่ายๆ เด็กของเราจะมีความเข้มแข็ง ไม่อ่อนแอ ไม่ใจเสาะเปราะบาง การที่เป็นคนไม่อ่อนแอใจเสาะเปราะบางจึงจะสู้และมีชัยชนะในระบบแข่งขันได้ แต่จุดหมายที่แท้ของเราไม่ใช่แค่นี้ เราจะต้องมีชัยชนะที่จะขึ้นไปเหนือระบบแข่งขันนั้นอีก แต่อย่างน้อยเราจะอยู่ดีได้ โดยได้ประโยชน์จากความเจริญของเทคโนโลยี เป็นต้น ที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมา และนี่ก็คือบุคคลแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริง คือเป็นนักเรียนที่แท้จริง

เพราะมัวรอผลจากการดลบันดาล คนจึงอ่อนแอแพ้การแข่งขัน

ขั้นต่อไปคือ การเสริมความเข้มแข็ง เสริมความเข้มแข็งนี้ไม่ใช่หมายความว่า จะให้เขาทุกข์ แต่เสริมความเข้มแข็งเพื่อให้เขาเป็นสุขยิ่งขึ้น และมีศักยภาพที่จะมีความสุขมากยิ่งขึ้น ในการเสริมความเข้มแข็งก็ต้องมีภูมิคุ้มกันต้านทานความอ่อนแอ คนเรามีทางที่จะเกิดความอ่อนแอได้หลายอย่าง เมื่อสักครู่ได้พูดถึงเทคโนโลยีในเชิงเสพ ที่ทำให้คนอ่อนแอแล้ว คราวนี้อะไรอีกที่ทำให้คนอ่อนแอ การหวังพึ่งอำนาจภายนอกมาช่วยก็เป็นอย่างหนึ่ง การพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอก คือให้เขาคิดให้ ให้เขาทำให้ ระบบนี้จะทำให้คนอ่อนแอแน่นอน อำนาจดลบันดาลจากภายนอกมาจากไหน

๑. มาจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จากคนอื่น ระบบนี้เหมาะสำหรับยุคสมัยอื่น แต่การปกครองที่เป็นระบอบประชาธิปไตย คือการปกครองที่ต้องการให้คนมาช่วยกันเอง มาพึ่งกันเอง มาทำกันเอง ไม่ใช่หวังความช่วยเหลือหรือความสำเร็จจากการหยิบยื่นให้ของผู้มีอำนาจหรือคนอื่นนอกชุมชน ดังนั้นในระบบการปกครองจึงต้องการสิ่งนี้ คือต้องการคนที่เข้มแข็ง พึ่งตนเองและสามารถพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

๒. มาจากสิ่งเร้นลับ เช่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้า ไสยศาสตร์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนอ่อนแอ เพราะว่าเมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น แทนที่จะคิดสู้คิดแก้ปัญหา ก็ถ่ายโอนภาระ ยกภาระไปให้เทวดาทำให้ ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำให้ ซึ่งทำให้เกิดความอ่อนแอและตกอยู่ในความประมาท

ทางพระพุทธศาสนา ท่านไม่เคยเถียงว่า เทวดามีจริงไหม ไสยศาสตร์มีจริงไหม ฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์มีจริงไหม เพราะมีหลักการที่ชัดเจนว่า ถึงมีถึงจริงก็ไม่หวังพึ่ง ตรงนี้เป็นจุดเด็ดขาด ถึงจริงก็ไม่เอา เพราะอะไร เพราะการหวังพึ่งเทพเจ้าและรอการดลบันดาลจากอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์เร้นลับมีโทษอย่างน้อย ๔ ประการ ซึ่งเป็นการผิดหลักพุทธศาสนา คือ

๑. ไม่ทำการด้วยความเพียรพยายามของตน อย่างที่บอกแล้วว่า ถ่ายโอนภาระไปให้เทวดา แล้วตัวเองก็นอนรอผลที่หวังว่าเทวดาจะทำให้

๒. ผิดธรรมชาติมนุษย์ที่ต้องเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา คนอย่างนี้จะไม่พัฒนาตนเอง เขามัวแต่หวังพึ่งสิ่งเหล่านี้ให้สิ่งเหล่านี้ทำให้ พอปัญหามา ก็ยกปัญหาไปให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อยกปัญหาไปให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตัวเองก็ไม่ได้คิด ไม่หาทางออก เมื่อไม่คิดไม่พยายามก็ไม่พัฒนา ก็จมอยู่เท่าเดิม เพราะฉะนั้นชีวิตเดินหน้าไม่ได้ ผิดหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนา

๓. พึ่งตนเองไม่ได้ สูญเสียอิสรภาพ คือ ต้องขึ้นกับสิ่งอื่น ไม่เป็นตัวของตัวเอง ความสำเร็จนั้นไม่อยู่ในวิสัยของเรา สิ่งนั้นจะสำเร็จหรือไม่อย่างไร ก็อยู่ที่ท่าน เราไม่มีทางรู้และทำอะไรไม่ได้ ได้แต่รอด้วยความหวัง ก็ต้องสูญเสียอิสรภาพเพราะต้องไปขึ้นกับสิ่งอื่น

๔. ตกอยู่ในความประมาท หมายความว่า ทำให้เรานิ่งเฉยเฉื่อยชา ไม่เร่งรัด ไม่กระตือรือร้น ไม่ขวนขวาย ไม่ทำการที่ควรจะทำด้วยความเอาจริงเอาจัง ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเสียเปล่า

จะเห็นว่า ๔ ข้อนี้เป็นหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนาทั้งนั้นเลย คือ

๑. หลักทำการด้วยความเพียร (กรรมวาท วิริยวาท)

๒. หลักการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาตนตลอดเวลา (ไตรสิกขา)

๓. หลักการพึ่งตนได้และมีอิสรภาพ (อัตตนาถะ และวิมุตติ)

๔. หลักความไม่ประมาท (อัปปมาทะ)

ฉะนั้นพระพุทธศาสนา จึงให้เปลี่ยนท่าทีต่อเทพเจ้าจากการไปหวังพึ่งอ้อนวอนมาเป็นมิตร แล้วแผ่เมตตาให้ แม้แต่ทำบุญก็ยังอุทิศส่วนกุศลให้เทวดาด้วย เวลาพระสวดมนต์จะมีการชุมนุมเทวดา คือเชิญเทวดามาฟังธรรม ด้วยน้ำใจไมตรี หมายความว่า เราถือว่าเทวดายังต้องฟังธรรม จะได้เรียนรู้ธรรมะเอาไปใช้ปฏิบัติตัวให้ดี เอาไปพัฒนาตัวเอง เราก็เลยบอกว่านี่พระจะสาธยายบทสวดมนต์ บทสวดมนต์ก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเวลานี้เราจะฟังธรรม เราก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เทวดา เชิญเทวดามาฟังธรรมด้วย ไม่ว่าจะทำอะไรเราก็ชวนเทวดามาทำด้วยในสิ่งที่ดี เรามีเมตตาต่อเทพเจ้า แต่เราไม่อ้อนวอน

มีลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาที่เปลี่ยนแปลงจากศรัทธาแบบเก่าอย่างได้รสอร่อยอย่างเดียว การกินอาหารที่ไม่อร่อยก็ต้องทุกขชัดเจนมาก พระพุทธเจ้าทรงเป็นยอดของคนมีฤทธิ์ ทรงมีฤทธิ์มีปาฏิหาริย์มาก แต่ใครอ่านพุทธประวัติเคยเจอบ้างไหม ว่าพระพุทธเจ้ายอดของคนมีฤทธิ์ เคยเอาฤทธิ์ดลบันดาลผลที่ต้องการให้ใครบ้าง ในพุทธประวัติไม่มีเลย ในพุทธประวัติพระพุทธเจ้าผู้เป็นยอดของคนมีฤทธิ์ ไม่เคยใช้ฤทธิ์ดลบันดาลอะไรให้ใครเลย

พระพุทธเจ้าใช้ฤทธิ์เพื่องานเผยแพร่พระพุทธศาสนา คือ ในยุคนั้นเขามีค่านิยมถือว่าผู้มีฤทธิ์เท่านั้นเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงใช้ฤทธิ์เพื่อปราบฤทธิ์ ปราบให้เขายอมแล้วจะได้ฟังธรรม พอคนที่ผยองฤทธิ์ยอมฟังธรรมแล้วพระองค์ก็เลิกใช้ฤทธิ์ ต่อไปนี้ก็ให้ท่านอยู่กับความจริงนะ อยู่กับความจริงของความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

ในสังคมไทยเวลานี้เพี้ยนกันมาก เพราะฉะนั้นหลักการนี้จะต้องชัด โดยเฉพาะในวงการการศึกษาจะต้องมีท่าทีมั่นคง ถ้าไม่ชัดแล้วคนของเราจะมีความสัมพันธ์ที่ผิดแล้วจะอ่อนแอด้วย จะไปกันใหญ่ จะต้องให้คนทำการด้วยความเพียรของตน ต้องเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาด้วยการสู้ปัญหา แก้ปัญหา เป็นต้น ต้องพัฒนาคนให้พึ่งตนได้ มีอิสรภาพ และมีความไม่ประมาท

การศึกษาไม่เดินหน้า ทั้งชีวิตและสังคมไม่พัฒนา เพราะมัวหาความสุขจากสิ่งกล่อม

สิ่งที่จะทำให้คนอ่อนแออีกอย่างหนึ่งคือ สิ่งกล่อม อย่างเทคโนโลยี ถ้าใช้ผิดก็เป็นสิ่งกล่อม สิ่งกล่อมช่วยให้คนเพลินสบายหลบปัญหาหายทุกข์อะไรต่ออะไรชั่วคราว เพราะฉะนั้นในชีวิตของมนุษย์จึงอาศัยสิ่งกล่อมกันมาก ในทางกาย เช่น นอนไม่หลับ ไม่สบาย มีความทุกข์ เราก็อาจจะต้องอาศัยยากล่อมประสาท แต่คนเราถ้าอยู่ด้วยยากล่อมประสาทตลอดไป เห็นจะไม่ดีแน่ ฉะนั้น เราไม่ควรจะติด ไม่ควรจะเป็นทาสของมัน แต่จะใช้เฉพาะเมื่อจำเป็นเพื่อแก้ปัญหาชั่วคราว เช่น ทำให้เราสามารถหลับได้แล้ว เราก็จะต้องลุกขึ้นมาทำงานอย่างกระชุ่มกระชวย มีความสดชื่นที่จะทำงานต่อไป

สิ่งกล่อมทั้งหลายก็เหมือนกัน สิ่งกล่อมจะมีประโยชน์เมื่อรู้จักใช้ เช่น ทำให้เราได้พักผ่อน แล้วมีกำลังสดชื่นขึ้นมาเพื่อจะเดินหน้าต่อไป แต่ถ้าใช้ผิดโดยอยู่กับสิ่งกล่อมก็จบ เพราะนั่นคือความประมาทและอ่อนแอ สิ่งกล่อมนี้มีมากในสังคมไทย และมีอยู่หลายระดับ ตั้งแต่ระดับที่หยาบและเลวร้าย จนถึงระดับที่ประณีต จนกระทั่งสิ่งที่ดีแต่คนเข้าใจผิด เอาสิ่งที่ดีมาใช้ในทางที่ผิดกลายเป็นสิ่งกล่อมไปก็มี

จะยกตัวอย่างสิ่งกล่อมระดับร้าย เช่น สุรา สิ่งเสพติด การพนัน พวกนี้เป็นสิ่งกล่อมทั้งนั้น คนบางคนมีทุกข์เดือดร้อน แก้ปัญหาไม่ได้ก็เอาสุรามากล่อมใจ ก็หลบปัญหาไปได้ชั่วคราว สบาย สิ่งเสพติดทั้งหลายก็เหมือนกัน เด็กสมัยนี้มีทุกข์มาก ใช้ยาเสพติดเป็นสิ่งกล่อม ก็หายทุกข์ สบายไปชั่วคราว แต่ข้างหน้าไม่ต้องคิดอีกพวกหนึ่งก็คือการพนัน ซึ่งเป็นสิ่งกล่อมใจให้อยู่ด้วยความหวัง แต่ทำให้คนไม่เพียรพยายามทำการด้วยตนเอง แล้วก็จม ถ้าติดหลงเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้ ก็จะไม่พัฒนา แต่จะอ่อนแอและไม่ก้าวหน้าต่อไป นี้หนึ่งละคือระดับที่ร้าย

สิ่งกล่อมระดับกลางก็เช่น สิ่งบันเทิง แม้แต่ดนตรี กีฬา ซึ่งถ้ารู้จักใช้พอดีก็ทำให้คนสดชื่นกระชุ่มกระชวยมีแรง แต่อย่าอยู่กับมันตลอด ใครอยู่กับมันตลอดก็จบเหมือนกัน ฉะนั้นจะต้องรู้จักใช้สิ่งบันเทิง ดนตรี กีฬา ฯลฯ ให้เป็นสิ่งกล่อมในขอบเขต ต่อไปยังมีสิ่งกล่อมที่ประณีตมากยิ่งขึ้นไปอีกจนกระทั่งถึงสมาธิ

สมาธิ นั้นคนจำนวนมากเอามาใช้เป็นสิ่งกล่อม คือ มันช่วยให้สบาย พอเข้าสมาธิได้ก็นั่งเพลินอยู่นั่นแหละ สบา ยสงบจิตใจ มีความสุข หายฟุ้งซ่าน ความกลุ้มความเครียดก็หายไป ที่ว่านี้ก็ดีเหลือเกิน สบาย แต่เมื่อติดสมาธิ มัวนั่งสมาธิ ไม่เอาแล้วปัญหามีไม่แก้ ก็กลายเป็นติดสิ่งกล่อมเหมือนกัน

ในกระบวนการปฏิบัติของพระพุทธศาสนา สมาธิเป็นองค์ประกอบหนึ่งในไตรสิกขา หมายความว่าเป็นองค์ประกอบในกระบวนการพัฒนาคน ถ้าใช้ผิดสมาธิกลับเป็นตัวหยุดยั้งคนไม่ให้พัฒนา ทำให้คนหยุดนิ่ง อะไรก็ตามที่เรานำมาใช้แม้เป็นสิ่งที่ดีแต่ถ้าใช้แล้วทำให้เราหยุด จมอยู่กับที่ก็ผิดทันที เราต้องจับให้ชัดว่าสมาธิก็ดี วิปัสสนาหรือข้อปฏิบัติอะไรต่างๆ มากมายก็ดี เป็นองค์ประกอบอยู่ในกระบวนการของไตรสิกขา ซึ่งหมายถึงการพัฒนาเดินหน้าต่อไป ถ้าทำให้หยุด ก็ผิด

การใช้สมาธิเป็นตัวกล่อม ก็พลาด แต่ไม่ใช่หมายความว่าไม่ให้ใช้เลย ถ้าเขากลุ้มใจมาก นอนไม่หลับจะแย่แล้ว ระหว่างการเอาสมาธิมาเป็นตัวกล่อม กับใช้ยากล่อมประสาท อันไหนดีกว่า สมาธิก็ย่อมดีกว่า เพราะพึ่งตนได้เป็นอิสระมากกว่า และเมื่อเขามีทุกข์เดือดร้อน สมาธิช่วยให้สงบได้ชั่วคราวก็ยังดี แต่จะต้องระวังเพราะนี่เป็นการเอามาใช้เป็นตัวกล่อม นั่นคือเป็นตัวที่จะนำไปสู่ความประมาท เพราะฉะนั้นทางพลาดจึงมีได้ทุกระดับ

วิปัสสนาแบบปลงอนิจจัง บางคนพอเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเสื่อมไป เกิดความพลัดพราก ก็ว่า โอ้ ไม่เที่ยงหนอ สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นก็ย่อมจะต้องดับไปเป็นธรรมดา เจริญแล้วก็ต้องมีเสื่อม จะทำอะไรได้ หรือจะไปเอาอะไรกับมัน ก็ต้องปล่อยมันไป ปลงอนิจจังได้ก็ใจสบาย พอใจสบายก็ไม่เอาแล้ว ปัญหาต่างๆ ไม่แก้ เรื่อยเปื่อยเฉื่อยชาประมาท นี่ก็เป็นตัวกล่อมเหมือนกัน

ฉะนั้นถ้าใช้ไม่เป็นแล้วผิดหมด จะต้องตรวจสอบพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของตนด้วยหลักการสำคัญ คือ

  1. ต้องทำการด้วยความเพียร
  2. ต้องเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาคือต้องเดินหน้าในไตรสิกขา
  3. ต้องพึ่งตนได้ มีอิสรภาพ
  4. ต้องอยู่ด้วยความไม่ประมาท

อะไรก็ตาม แม้จะดี ถ้าทำให้เกิดความประมาท ก็ผิด เช่น เมตตากรุณา ถ้าใช้ผิด ขาดปัญญา ไม่มีอุเบกขา ก็อาจทำให้เกิดความประมาทได้ สรุปว่าคนจะอ่อนแอไม่พัฒนาและเสียผลต่อการศึกษา เนื่องจาก

  1. การรอคอยหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอก
  2. การเห็นแก่ความสะดวกสบาย หลงติดในสิ่งกล่อม

การศึกษาที่ถูกต้องทำให้เกิดดุลยภาพในการพัฒนา
ระหว่างความสามารถหาสิ่งบำเรอสุข กับความสามารถที่จะมีความสุข

ทีนี้ขอหวนกลับมาเรื่องความสุขอีกครั้งหนึ่ง ความสุขนั้นเกี่ยวข้องกับการศึกษาไปโดยตลอด และยิ่งพัฒนาในการศึกษาไปก็ยิ่งสุขได้มาก และยิ่งมีช่องทางที่จะมีความสุขได้หลายทางมากขึ้น และจะเป็นความสุขที่เอื้อต่อการศึกษาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งเป็นความสุขที่เกื้อหนุนชีวิตและสังคม ไม่เป็นพิษภัยแก่ใครๆ ด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าการศึกษาถูกต้องก็จะยิ่งทำให้คนมีความสุขมากขึ้น และมีช่องทางที่จะมีความสุขได้หลายทางมากขึ้น เรียกว่า ขยายมิติแห่งความสุข และความสุขนั้นจะเป็นความสุขที่เอื้อต่อการศึกษาด้วย ไม่ใช่มาขัดขวางทำลายการศึกษา

ได้พูดไปแล้วถึงความสุขจากการเรียนรู้ ความสุขจากการสนองความใฝ่รู้ ความสุขจากการสนองความใฝ่สร้างสรรค์ ความสุขจากการกระทำ ความสุขจากจิตสำนึกในการศึกษาหรือจิตสำนึกในการฝึกตน ซึ่งทำให้สุขได้อย่างมากอยู่แล้ว เท่านี้ก็พออยู่แล้ว แต่เรายังมีทางที่ทำให้คนมีความสุขอีกมาก

การศึกษาเกี่ยวข้องกับความสุขอีกอย่างหนึ่งในความหมายว่า เมื่อคนพัฒนามากขึ้น เขาจะอยู่ในโลกนี้โดยมีความสามารถที่จะมีความสุขมากขึ้น อย่างน้อยการศึกษาจะต้องช่วยให้คนมีดุลยภาพในแง่ความสุขสองอย่าง คือ

  1. การศึกษาพัฒนาคนให้มีความสามารถที่จะหาสิ่งอำนวยความสุขได้เก่งขึ้น
  2. การศึกษาพัฒนาคนให้มีความสามารถที่จะมีความสุขมากขึ้น

การศึกษาที่เสียดุลจะพัฒนาความสุขอย่างที่หนึ่งข้างเดียว คือพัฒนาความสามารถที่จะหาวัตถุบำเรอความสุข แต่ไม่พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข เมื่อเกิดความเสียดุลแล้วบุคคลนั้นจะมีลักษณะอย่างที่ว่า เมื่ออยู่ไปในโลกนานๆ เข้าก็กลายเป็นคนที่สุขได้ยาก ถ้าคนพัฒนาถูกต้องเขาจะเป็นคนที่สุขได้ง่าย ถ้าเป็นการศึกษาที่แท้จะต้องช่วยคนให้สุขได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่เป็นคนที่สุขได้ยากขึ้น เดี๋ยวนี้ดูเหมือนจะเป็นไปในทางตรงข้าม คือการศึกษาทำให้คนเป็นคนที่สุขได้ยากและทุกข์ได้ง่าย ถ้าอย่างนี้ก็แสดงว่าพลาดแล้ว อย่างน้อยก็ทำให้คนเสียดุล ทีนี้จะทำอย่างไร ก็ต้องพัฒนาคนให้ถูกต้อง มีวิธีมากที่จะทำให้คนสุขง่ายขึ้น
การที่จะสุขได้ง่ายขึ้น ก็คือสุขนั้นจะต้องมีในตัวเองมากขึ้นและขึ้นต่อการเสพวัตถุน้อยลง คนสุขยากขึ้นเมื่อความสุขนั้นมีในตัวน้อยลง และต้องขึ้นต่อวัตถุภายนอกมากขึ้น เมื่อคนพัฒนาไม่ถูก เขาต้องหาสิ่งเสพมากขึ้นเพื่อให้ได้ความสุขเท่าเดิม แต่คนที่พัฒนาถูกต้อง จะสุขมากขึ้นด้วยวัตถุเท่าเดิม หรือถ้าเก่งจริงก็สุขง่ายด้วยวัตถุที่น้อยที่สุด

การสุขง่ายด้วยวัตถุที่น้อยที่สุดนี้ เรียกง่ายๆ ว่า สันโดษ แต่ต้องระวังอาจจะพลาดได้อีก สุขง่ายด้วยวัตถุน้อยที่สุดนี้เป็นแนวทางการพัฒนาอย่างหนึ่ง เราต้องทำคนให้สุขง่ายด้วยวัตถุที่น้อยลง แต่ยังไม่จบเท่านั้น เพราะความสุขนั้นไม่เป็น end แต่มันเป็น means คือมันเป็นตัวเอื้อต่อการศึกษา เพื่อช่วยให้การศึกษาเดินหน้าต่อไป มันไม่ใช่จุดหมายของการศึกษา

ในด้านความสุขที่สัมพันธ์กับวัตถุ เมื่อเราสุขง่ายด้วยวัตถุน้อย ก็เรียกว่าสันโดษ พอสันโดษแล้วอะไรเกิดขึ้น สิ่งที่คนนั้นจะได้มาด้วยทันที ก็คือการสงวนเวลา แรงงาน และความคิด

คนที่ความสุขขึ้นอยู่กับการเสพวัตถุ เขาจะต้องโลดแล่นหาวัตถุมาเสพ เพราะฉะนั้นเขาจะต้องใช้เวลา แรงงาน และความคิดให้หมดเปลืองไปกับเรื่องนี้ เมื่อเขาหมดเวลาไปกับการโลดแล่นหาสิ่งเสพมาบำเรอความสุขพร้อมทั้งแรงงานและความคิดก็ใช้หมดไป เขาก็ไม่มีเวลา แรงงาน และความคิดที่จะเอามาใช้ทำการสร้างสรรค์ หน้าที่การงานจึงเสื่อมเสีย บางทีต้องทุจริต

แต่ถ้าเขาสันโดษ คือสุขได้ง่ายด้วยวัตถุน้อยที่สุด เขาไม่ต้องสูญเสียเวลา แรงงาน และความคิดไปกับการที่มัวโลดแล่นหาสิ่งเหล่านี้ เขาก็สงวนเวลา แรงงาน และความคิดนั้นไว้ได้ แล้วเอาเวลาแรงงานและความคิดนั้นมาทุ่มให้กับการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม รวมทั้งการทำหน้าที่การงาน ที่จะสนองความใฝ่รู้ใฝ่ดี และใฝ่สร้างสรรค์ ตอนนี้การศึกษาก็เดินหน้า

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนไว้ว่า ให้สันโดษในสิ่งเสพ แต่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม หลักการนี้ชัดมาก แต่เรามักจะพูดครึ่งเดียว ซึ่งเป็นการเสียหลักการอย่างมาก ถ้าสันโดษในวัตถุแล้วมีความสุขและจบแค่นั้น ก็กลายเป็นคนขี้เกียจ บางคนพูดว่าสันโดษเพื่อจะได้มีความสุข ถ้าอย่างนี้ก็ไม่เกิดการศึกษา สุขกลายเป็น end ไปแล้ว คือกลายเป็นจุดหมาย ถ้าอย่างนี้ก็ตันอยู่ที่นั่น พอสันโดษแล้วสุข สุขแล้วก็ขี้เกียจลงนอนเลย

ท่านให้สันโดษเพื่ออะไร องค์ธรรมทุกข้ออยู่ในกระบวนการสิกขาที่จะทำให้คนพัฒนาทั้งนั้น ต้องมองธรรมะอย่างนี้ทุกข้อ ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการคืบเคลื่อนไปข้างหน้า มันจะต้องมาสนับสนุนเป็นปัจจัยในการเดินหน้าอย่างใดอย่างหนึ่ง

สันโดษท่านสอนไว้ก็เพื่อให้ได้วัตถุประสงค์ข้อนี้ คือ เพื่อจะได้สงวนเวลา แรงงาน และความคิดเอาไว้ พอเราสันโดษ เรามีความสุขได้ง่ายด้วยวัตถุน้อยที่สุด เราก็มีเวลาเหลือเฟือ แรงงานและความคิดของเราก็มีเต็มที่ เราก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นมาทุ่มเทให้กับการทำการสร้างสรรค์สิ่งดีงามที่เรียกว่า กุศลธรรม ก็ได้ผลพร้อมกันตามหลักทั้งสองประการ และความสันโดษและไม่สันโดษก็มาสนับสนุนกัน คือสันโดษในสิ่งเสพมาทำให้เราไม่สันโดษในกุศลธรรมได้เต็มที่ การพัฒนาก็เดินหน้าทั้งในสังคมและในตัวคน ทีนี้ก็สุขสองชั้น

คนที่ไม่สันโดษจะสุขยาก ด้วยวัตถุที่ต้องเพิ่มเรื่อยไป และไม่ถึงสุขนั้นสักที คือสุขนั้นมันยังไม่ถึง เพราะต้องสนองด้วยวัตถุที่มากยิ่งขึ้น ซึ่งยังไม่ได้ เมื่อความสุขอยู่กับวัตถุที่ยังไม่ได้ แม้แต่ความสุขจากวัตถุเขาก็ยังไม่ได้ พร้อมกันนั้น เวลาทำงานทำการสร้างสรรค์กุศลธรรมหรือทำสิ่งที่ดีงาม กลายเป็นเวลาแห่งความทุกข์ เพราะฝืนใจที่จะต้องไปทำการสร้างสรรค์ทำสิ่งที่ดีงามทำกิจหน้าที่ที่ตนไม่มีฉันทะ หนึ่ง สุขจากวัตถุก็ยังไม่ได้ สอง ยังไปทุกข์จากการต้องทำงานอีก

ส่วนคนที่สันโดษได้สุขทั้งสองฝ่ายและได้เต็มที่ด้วย หนึ่ง สุขจากวัตถุสุขก็มีแล้ว สอง ยังไปสุขในการทำงานอีก เพราะตัวเองมีความใฝ่สร้างสรรค์ และมีความต้องการที่จะทำ ยิ่งมีความไม่สันโดษในกุศลธรรมด้วย เวลาได้ทำงานทำการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ก็มีความสุขตลอดเวลาในการสร้างสรรค์นั้น จึงสุขสองชั้น ฉะนั้นการศึกษาที่ถูกต้องจะทำให้คนยิ่งมีความสุข และความสุขนั้นก็มาหนุนการศึกษายิ่งๆ ขึ้นไป

การศึกษาที่ดีช่วยให้คนมีวิธีที่จะรักษาอิสรภาพทางด้านความสุข

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ยังมีอีกมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ควรพูดไว้ด้วย ก็คือ เราควรมีวิธีรักษาอิสรภาพในการที่จะมีความสุข เพราะว่าโดยทั่วไป คนเราย่อมมีแนวโน้มที่ว่า เมื่อเราสร้างหรือแสวงหาวัตถุเสพได้มากขึ้น เราก็มีความโน้มเอียงที่จะฝากความสุขไว้กับวัตถุมากขึ้น ทำให้ความสุขของเราไปขึ้นกับวัตถุ เราก็ค่อยๆ สูญเสียอิสรภาพไปโดยไม่รู้ตัว เรานึกว่าเราเก่ง แต่ที่จริงเราสูญเสียอิสรภาพ เพราะเราต้องพึ่งพาหรือขึ้นต่อวัตถุมากขึ้น ไม่สามารถเป็นสุขด้วยตนเอง

ถ้าเราพัฒนาคนถูกต้อง เราจะให้คนรักษาอิสรภาพในทางความสุขไว้ได้ด้วย เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราพัฒนาตัวเองด้วยหลักการต่างๆ เช่น ในด้านพฤติกรรมคือศีล จากศีลห้าไม่ให้คนเบียดเบียนกันในสังคม พระพุทธเจ้าก็เพิ่มศีลแปดขึ้นมา

ศีลแปดคืออะไร ในศีลแปดนั้นจะเห็นว่าส่วนที่เพิ่มจะเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลทั้งนั้น ไม่เกี่ยวกับสังคม ต่างจากศีลห้าที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมทั้งหมดที่จะให้ไม่เบียดเบียนกัน แต่ในศีลแปด ข้อที่เพิ่มเข้ามาเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวบุคคลทั้งนั้น ไม่ให้กินอาหารในเวลาวิกาล ไม่ให้วุ่นวายกับการหาความสุขจากการบำรุงบำเรอด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ดนตรี สิ่งบันเทิง ไม่หาความสุขจากที่นั่งที่นอนที่หรูหราต่างๆ ๓ ข้อนี้ เพิ่มเข้ามาเพื่อเตรียมคนให้พร้อมในการที่จะพัฒนาทางด้านจิตใจต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสุขด้วย ด้วยเหตุผลที่กล่าวแล้วว่า ในการแสวงหา มีและเสพวัตถุนั้น ถ้าเราปล่อยตัว เราจะลืม และเราจะเพลิน สติจะหมดไป แล้วเราก็จะเอาความสุขของเราไปขึ้นกับการเสพวัตถุ

ถ้าไม่มีของเสพกินอร่อยอย่างนี้แล้วจะไม่มีความสุข ก็เลยต้องหาวัตถุเสพอยู่เรื่อยไปและยิ่งขึ้นไป ทีนี้ท่านก็บอกว่า ๗-๘ วัน ก็มาฝึกกันเสียทีหนึ่ง คือว่า คุณตามใจลิ้นมา ๗ วัน แล้ว มาวันที่ ๘ คุณลองกินเพื่อคุณภาพชีวิตดูบ้าง กินเพียงเพื่อว่าให้ร่างกายอยู่ดีมีสุขภาพ แค่เที่ยงพอแล้ว เดี๋ยวนี้หมอบอกว่า ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้กินแค่กลางวัน แค่เที่ยง ถูกที่สุดเลย เพราะว่ามื้อเย็นนี้ไม่จำเป็นและอาจเป็นโทษมากด้วย เดี๋ยวนี้หมอพากันพูดอย่างนี้ กลับไปยอมรับหลักการเก่า แต่ท่านขอเพียง ๘ วันครั้งหนึ่งให้ฝึก

ใน ๘ วันนั้น เฉพาะวันที่ ๘ กินเพื่อสุขภาพสักวันหนึ่ง คือ กินเพื่อคุณภาพชีวิต ไม่ตามใจลิ้น ไม่เห็นแก่ความสุขจากการบำเรอลิ้น กินเพียงเพื่อสุขภาพชีวิตอย่างที่ว่า ทีนี้ลองดูซิว่าเราจะสามารถมีชีวิตที่ดีงามมีความสุขได้ด้วยอาหารเพียงเท่านั้นได้ไหม ลองซิว่าไม่ต้องบำเรอตาหู ด้วยการดูฟ้อนรำขับร้องดนตรีบันเทิงต่างๆ และก็ไม่ต้องตามใจนอนบนฟูกที่สบายสักวันหนึ่ง เราจะอยู่ดีมีความสุขด้วยตัวของเราเองสักวันหนึ่งได้ไหม ด้วยการฝึกเพียงวันหนึ่งนี้ เราจะสามารถอยู่ได้ด้วยชีวิตของเราเองดีขึ้น

พอปฏิบัติไปอย่างนี้ เราจะมีลักษณะที่เรียกว่ามีอิสรภาพของชีวิตมากขึ้น คนที่ตามใจตนเองในการบำเรอความสุขทางวัตถุมาก มีเทคโนโลยีก็มาบำเรอความสุขของตัวเองในการเสพ เขาจะกลายเป็นคนชนิดที่ว่า ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านั้นแล้ว จะทุรนทุราย จะมีแต่ความทุกข์ ไม่มีความสุข แต่คนที่ฝึกหัดรักษาอิสรภาพอย่างนี้นั้น ต่อไปเขาจะเป็นคนชนิดที่เรียกว่า สิ่งบำเรอความสุขทางวัตถุ และเทคโนโลยีเหล่านั้น “มีก็ดี ไม่มีก็ได้

วิธีพิสูจน์อิสรภาพอย่างหนึ่งก็คือ สามารถพูดได้ว่าสิ่งบำเรอเหล่านั้นมีก็ดี ไม่มีก็ได้ ถ้าใครพูดอย่างนี้ได้แสดงว่ายังมีอิสรภาพ แต่ถ้าคนไหนพูดไม่ได้ ต้องมีฉันจึงจะอยู่ได้ ถ้าไม่มีมันฉันจะต้องตาย แสดงว่าเป็นคนหมดอิสรภาพแล้ว ความสุขต้องไปขึ้นกับวัตถุทั้งหมด

คนเราต้องมีชีวิตที่อยู่ได้ด้วยตนเองบ้าง ทั้งเพื่ออยู่ดีมีสุขได้ในตนเอง และลดการเบียดเบียนรู้อื่นและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแง่ที่ว่า ต่อไปข้างหน้าชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไป ภายนอกบ้าง ภายในบ้าง อินทรีย์ของเรา ร่างกายของเราอ่อนแอลง แก่ตัวลง เราไม่สามารถหาความสุขจากสิ่งเสพภายนอกได้ตามชอบใจ เราจะต้องอยู่กับความสุขภายในมากขึ้น ถ้าเราไม่ฝึกไว้เลยจะลำบากมาก จะมีชีวิตที่ทุรนทุรายมาก เพราะฉะนั้นจะต้องปฏิบัติเรื่องนี้ให้ได้ แล้วเราจะเป็นคนที่เป็นอิสระมาก คือต้องพูดได้ว่า “มีก็ดี ไม่มีก็ได้”

นี่คือความหมายขั้นต้นของการรักษาอุโบสถ หรือศีล ๘ และต่อไปในเรื่องเทคโนโลยีและวัตถุบางชนิด เราจะพูดได้ถึงขนาดที่ว่า “มีก็ได้ ไม่มีก็ดี” ปัจจุบันคนมีปัญหามากจากการบำรุงบำเรอชีวิตของตน อย่างที่พูดบ่อยๆ ว่า เวลานี้ปัญหาเกิดขึ้นคือ “มาตรฐานการครองชีพสูง แต่คุณภาพชีวิตเสีย” คือคนมีฐานะดีเศรษฐกิจดี กินมาก แต่สุขภาพเสื่อมคือคุณภาพชีวิตเสีย มาตรฐานการครองชีพเลยไม่เป็นหลักประกันของคุณภาพชีวิต คนนอนฟูกนอนอะไรต่ออะไรเกิดปวดหลัง จนกระทั่งหมอบอกว่าต้องนอนพื้น นอนกระดาน กลายเป็นว่า โดนบังคับ ทีนี้ถ้าเราฝึกตัวเองไว้จะไม่เป็นปัญหาเลย มีแต่ความสุขสบายและเป็นอิสระคล่องตัว จะไปไหนมาไหนก็ง่าย ยังมีอีกมาก แต่ยกมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น

การมีข้อมูลความรู้มาก ไม่เป็นเครื่องวัดความสำเร็จของการศึกษา

ตอนนี้ขอผ่านไปถึงบทสรุป เนื้อแท้ของการศึกษาต้องอยู่ที่การพัฒนาในตัวคนที่แท้จริง เช่น วิชาความรู้ก็ไม่ได้อยู่ที่ข้อมูลที่เราเรียนรู้ แต่อยู่ที่ตัวคนที่พัฒนาขึ้นไปให้มีความสามารถที่จะสัมพันธ์กับสิ่งนั้นอย่างได้ผลดี เช่น มีความใฝ่รู้ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเขามีความใฝ่รู้ มีจิตสำนึกในการศึกษาแล้ว เขาจะได้ประโยชน์จริงจากสิ่งภายนอกนั้น เพราะเขาจะใช้เป็น และมันจะเกิดประโยชน์แก่เขา แต่ถ้าคนไม่พัฒนาตนในด้านนี้ ไม่มีความใฝ่รู้ ไม่มีจิตสำนึกในการศึกษา สิ่งที่บรรพบุรุษสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยความเหนื่อยยาก จะเกิดโทษต่อคนที่เกิดมาในภายหลัง เขาจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากอารยธรรมของมนุษยชาติ

ฉะนั้นการศึกษาจะต้องจับให้ได้ว่าอะไรเป็นตัวแก่นและอะไรเป็นตัวประกอบ ยกตัวอย่างก็คือ กระบวนการศึกษาที่เป็นการพัฒนาในตัวคน เช่น อย่างเรามีการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ความสำเร็จของการเรียนวิทยาศาสตร์คืออะไร คงไม่อยู่ที่การเรียนรู้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจจะมีการเน้นมากเกินไป จริงอยู่เราต้องเก่งที่จะหาความรู้ แต่ด้วยการให้ข้อมูลความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้น เราคงจะไม่สามารถสร้างนักวิทยาศาสตร์ที่เยี่ยมยอดขึ้นในสังคมไทยได้ การศึกษาวิทยาศาสตร์จะสำเร็จ เมื่อสามารถพัฒนาเด็กให้เป็นคนมีจิตใจวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งจิตใจวิทยาศาสตร์นั้นออกมาสู่วิถีชีวิตของสังคม กลายเป็นวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ คือวัฒนธรรมแห่งความใฝ่รู้นี่แหละ

จิตใจที่ใฝ่รู้ นิยมเหตุผล ชอบพิสูจน์ ชอบทดลองนี้ใช่ไหมที่เราต้องการ ถ้าเราให้ความรู้วิทยาศาสตร์ เด็กเรียนวิชาวิทยาศาสตร์  รู้เรื่องแสง เสียง จำได้ว่าเรื่องนั้นเรื่องโน้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ดาวดวงนั้นโตเท่านั้น ใหญ่เท่านี้ ไกลเท่านั้น แต่ไม่มีความใฝ่รู้ ไม่มีจิตใจวิทยาศาสตร์เลย การศึกษาวิทยาศาสตร์จะไม่ประสบความสำเร็จ คงต้องพูดว่าเป็นการศึกษาที่ผิดพลาด การศึกษาวิทยาศาสตร์จะไม่ประสบความสำเร็จ

ต่อเมื่อใดเราทำให้คนมีจิตใจวิทยาศาสตร์ได้ นั้นจึงเป็นความสำเร็จของการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ เวลานี้สังคมไทยเราแทบไม่มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ จิตใจวิทยาศาสตร์ก็หายาก เป็นจิตใจที่เชื่ออะไรง่ายๆ ไม่ชอบพิสูจน์ ไม่ชอบทดลอง ไม่ใฝ่รู้ และคร้านที่จะเรียนรู้ แล้วการศึกษาวิทยาศาสตร์จะได้ผลอะไร การพัฒนาคนอยู่ตรงนี้ ที่พูดกันว่าต่อไปนี้จะต้องเน้นการพัฒนาคนด้วยการศึกษานั้น คือต้องพัฒนาอย่างนี้ ไม่ใช่เพียงได้ข้อมูล เรื่องอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน

จุดเริ่มและจุดปลายแห่งสัมฤทธิผลของการศึกษา

ขอข้ามไปถึงข้อแปดเลย คือ เรื่องสัมฤทธิผลของการศึกษา การสัมฤทธิ์ผลของการศึกษามี ๒ จุด คือจุดเริ่มกับจุดปลาย

จุดเริ่มก็คือตอนที่คนเริ่มเข้าสู่กระบวนการศึกษา หรือเมื่อการศึกษาเกิดขึ้นในตัวคน ถ้าเรายังไม่สามารถนำคนเข้าสู่กระบวนการศึกษาได้ การศึกษาก็ยังไม่สำเร็จแม้แต่ในขั้นต้น ทำอย่างไรคนจะเข้าสู่กระบวนการศึกษาได้ หรือการศึกษาจึงจะเกิดขึ้นในตัวเขา การศึกษาที่อยู่ข้างนอก เราจัดอะไรแทบล้มแทบตาย มันก็ไม่เป็นการศึกษาที่แท้จริง เพราะการศึกษาที่แท้จริงอยู่ในตัวคน

เรื่องนี้ต้องมาสู่หลักที่เรียกว่าปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกก็คือตัวบุคลากรทางการศึกษา มีครูอาจารย์ เป็นต้น รวมทั้งระบบการบริหารทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการจัดสรรสิ่งแวดล้อม เพื่อเอื้อให้เกิดการศึกษาขึ้นในตัวคน ระบบทั้งหมดนี้เราเรียกว่า ระบบกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก เราก็มาช่วยกันจัดสรรข้อมูลความรู้ จัดสภาพแวดล้อมให้ดี มีโรงเรียนที่ดี มีกิจกรรมต่างๆ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เหล่านี้ทั้งหมด เราเรียกว่าองค์ประกอบของการศึกษา แต่ไม่ใช่ตัวการศึกษา มันเป็นปัจจัยของการศึกษา

ที่จริงเราจัดปัจจัยของการศึกษาต่างๆ ต่างหาก เราไม่ได้ให้การศึกษาแก่คน เราไม่สามารถให้การศึกษาแก่คนได้ เราได้แต่ให้ปัจจัยแห่งการศึกษาแก่เขา ทีนี้ปัจจัยในการศึกษาจะสำเร็จผล เมื่อคนเกิดการศึกษาขึ้นมาในตัวของเขา กัลยาณมิตรนี่เป็นปัจจัยในการศึกษา เราจึงมาจัดสรรอำนวยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการศึกษา เช่น ข้อมูล เป็นต้น ให้เขา แล้วหาทางทำให้เขาเกิดการศึกษาขึ้นมา

การที่จะเกิดการศึกษาก็คือมีองค์ประกอบภายในเกิดขึ้น องค์ประกอบภายในตัวยืนที่สำคัญก็คือโยนิโสมนสิการ กัลยาณมิตรเป็นปัจจัยภายนอกมาจัดสรรโอกาส พอโยนิโสมนสิการเกิดขึ้น เขารู้จักคิด คิดเป็น เขาก็พึ่งตนเองได้ เขาจะรู้จักปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ รู้จักหาความรู้ รู้จักใช้สิ่งต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ หาความจริงได้ หาประโยชน์ได้จากสิ่งต่างๆ จากประสบการณ์และสถานการณ์ทั้งหลาย พร้อมกันนั้นจะต้องพัฒนาองค์ประกอบอื่นๆ อีก ๖ ข้อ ที่เป็นองค์ประกอบภายในขึ้นมาด้วย

องค์ประกอบภายนอกอย่างเดียว แต่องค์ประกอบภายในมากถึง ๖ อย่าง คือ ความมีวินัยที่เรียกว่า สีลสัมปทา ความใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ที่เรียกว่า ฉันทะ ความมีจิตสำนึกในการศึกษาที่เรียกว่า อัตตสัมปทา การมีแนวคิดความเชื่อและทัศนคติเชิงเหตุผล ที่เรียกว่า ทิฏฐิสัมปทา ความกระตือรือร้นด้วยจิตสำนึกในกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลง ที่เรียกว่า ความไม่ประมาท และตัวแกนที่ว่าเมื่อกี้คือ โยนิโสมนสิการ ทั้งหมดนี้พัฒนาขึ้นจากการรู้จักธรรมชาติของมนุษย์ในการฝึกตน ทั้งหมดเหล่านี้ เราเรียกว่าเป็นเนื้อเป็นตัวของการศึกษาที่เกิดขึ้นในตัวคน ถ้าไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้เกิดขึ้น ก็ยังไม่มีการศึกษา

เราจะพูดถึงการศึกษาในลักษณะที่ย้อนกัน คือบอกว่า ในแง่ของกัลยาณมิตร เราต้องจัดสรรสิ่งแวดล้อมและข่าวสารข้อมูลเป็นต้นให้ดีที่สุด จัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก แต่ในแง่ของตัวเด็กจะต้องให้เขาพัฒนาขึ้นจนเขาสามารถหาประโยชน์ได้แม้จากสิ่งแวดล้อมที่เลวที่สุด นี่เป็นคู่กัน เราจะจัดสรรสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดให้เขาเรื่อยไปไม่ได้ เราไม่สามารถอยู่กับเขาและเป็นผู้จัดให้เขาได้ตลอดไป สังคมคือโลกและชีวิตแห่งความเป็นจริงรอเขาอยู่ โลกและชีวิตนั้นมิใช่มีแต่สิ่งที่ดี มันมีส่วนที่ร้ายด้วย เพราะฉะนั้นเด็กจะต้องมีความสามารถในตัวเองที่จะเอาดีจากสิ่งเหล่านั้น และนี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า โยนิโสมนสิการ

เป็นอันว่า เราจัดสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุด แต่พร้อมกันนั้นก็พัฒนาในตัวเด็กให้สามารถเอาประโยชน์ได้แม้แต่จากสิ่งที่เลวที่สุด ถ้าอย่างนี้ก็เป็นอันว่าการศึกษาดำเนินไปได้ ถ้าเด็กเข้าสู่กระบวนการนี้ ถึงจุดนี้เราเรียกว่า เป็นผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาในจุดเริ่มต้น

ต่อไป จุดปลายก็คือผลจากคนมีการศึกษาที่จะไปทำให้เกิดขึ้น ซึ่งดูที่ความสำเร็จของมนุษยชาติ เพราะมนุษย์ที่พัฒนามีการศึกษาดีจะไปสร้างความสำเร็จให้แก่มนุษยชาติ

อะไรคือความสำเร็จของมนุษยชาติ ระบบสังคมในปัจจุบันและค่านิยมต่างๆ ที่เป็นไปในสังคมกำลังจะพรางตาเราให้เราไม่เห็นจุดหมายที่แท้จริง หรือความสำเร็จของมนุษยชาติ เวลานี้ สังคมอยู่ในระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ คนเริ่มมองไปว่าผลประโยชน์คือจุดหมายของชีวิต คือจุดหมายของกิจการ และจุดหมายของโลก เขามองว่าการมีสิ่งเสพสิ่งบำเรอความสุขพรั่งพร้อมสมบูรณ์นี้คือจุดหมาย

ในการดำเนินกิจการต่างๆ ในระบบแข่งขัน เวลาวัดความสำเร็จคนยุคนี้เอาอะไรเป็นเกณฑ์วัด ที่ยกตัวอย่างบ่อยๆ เช่นตั้งโรงพยาบาลเอกชนขึ้นมาโรงหนึ่ง อะไรเป็นเกณฑ์วัดความสำเร็จของโรงพยาบาลนั้น ยุคนี้คนมีความโน้มเอียงที่จะบอกว่า ความสำเร็จคือการได้กำไรสูงสุด และเวลานี้กิจการแทบทุกอย่างในสังคมจะมองแบบนี้ ความสำเร็จคือกำไรสูงสุด

แต่ความสำเร็จที่แท้จริงของมนุษยชาติ คืออะไร มนุษย์สร้างสรรค์อารยธรรมขึ้นมา มีการศึกษาเป็นต้น เพื่ออะไร ก็เพื่อสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม สังคมที่มีสันติสุข และโลกที่น่าอยู่ โลกที่น่าอยู่ก็รวมทั้งสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติด้วย นี่ใช่ไหม คือจุดหมายที่เราต้องการ ความสำเร็จที่แท้ของมนุษย์อยู่ที่นี่ แต่เวลานี้คนเริ่มไม่มองหรือมองข้าม หรือถูกพรางตาด้วยระบบของผลประโยชน์ในสังคมแห่งการแข่งขัน เพราะ
ฉะนั้นก็จะมองว่า กำไรสูงสุดคือความสำเร็จ

เพราะฉะนั้น การศึกษาจะต้องวัดความสำเร็จด้วยการทำให้คนสามารถสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม สังคมที่มีสันติสุข และโลกที่น่าอยู่ ถ้าไม่สามารถทำอย่างนี้ จะสร้างอะไรขึ้นมาได้เท่าไรก็ไม่ใช่ความสำเร็จที่แท้จริง การศึกษาต้องร่วมในจุดหมายนี้ ถ้าเราพัฒนาคนไปเพื่อสนองค่านิยมของสังคมเพียงเพื่อให้เขาสามารถไปสร้างกำไรสูงสุด ก็น่ากลัวอันตรายมาก

ในขั้นประนีประนอม เมื่อดำเนินกิจการในยุคนี้อย่างต่ำจะต้องวางจุดหมายสองชั้น

  1. จุดหมายสูงสุด คือการสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม สังคมที่มีสันติสุข และโลกที่น่าอยู่ และ
  2. จุดหมายรอง จึงเป็นกำไรสูงสุด

จุดหมายรองต้องหนุนและไม่ขัดกับจุดหมายสูงสุด ต้องเอื้อต่อกัน ถ้าจุดหมายรองขัดต่อจุดหมายสูงสุดก็ใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจุดหมายรองจะต้องเป็นรองอยู่เรื่อยไป อย่าให้เป็นจุดหมายสูงสุดเป็นอันขาด ถ้าอย่างนี้ก็พอยอมได้ เรียกว่าประนีประนอม เวลานี้จะต้องเตือนต้องย้ำเรื่องนี้กันว่า การศึกษายังช่วยมนุษย์ให้สร้างสิ่งนี้ไม่ได้ คือจุดหมายที่เป็นความสำเร็จของมนุษยชาติ และในเมื่อความสำเร็จของมนุษยชาติที่ว่านี้ต้องพึ่งการศึกษา การศึกษาจะต้องเน้นจุดหมายนี้และจะต้องพัฒนามนุษย์ให้ทำให้สำเร็จให้ได้

ปฏิรูปการศึกษาที่แท้ต้องถึงขั้นปฏิรูปอารยธรรม

ต่อไปขอฝากไว้เป็นข้อสุดท้ายคือ อารยธรรมทั้งหมดของเราที่ผ่านมานี้ เป็นกระแสที่อยู่ใต้อิทธิพลของอารยธรรมตะวันตก และอารยธรรมตะวันตกนั้นตั้งอยู่บนฐานความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ หรือเอาชนะธรรมชาติ ชาวตะวันตกมีความภูมิใจที่มีชัยชนะเหนือธรรมชาติ เขาสืบกันว่าเป็นเวลา ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว ที่แนวความคิดนี้ได้เป็นอิทธิพลอยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติที่มาจากสายตะวันตก และมนุษย์ก็ภูมิใจตั้งใจพยายามเอาชนะธรรมชาติ และได้พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นมา จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งยังไม่ทันได้ชัยชนะจริง ก็เกิดเห็นพิษเห็นภัยว่า แนวความคิดนี้กลับเป็นตัวร้ายที่ก่อปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสีย

ถึงตอนนี้ก็จะมีแนวความคิดที่คู่ตรงข้าม คือต้องปล่อยตามธรรมชาติ ตะวันตกก็จะไปเอียงสุด คือเมื่อไม่เอาชนะธรรมชาติก็ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ นี้เป็นความคิดที่เอียงสุด สุดโต่งสองอย่าง มนุษย์นั้นมีความโน้มเอียงที่จะไปสุดโต่ง สุดโต่งหนึ่งคือจะเอาชนะธรรมชาติ อีกสุดโต่งหนึ่งคือจะปล่อยตามธรรมชาติ ผิดทั้งคู่ แล้วบางคนเข้าใจว่า นี้คือพระพุทธศาสนา นั่นไม่ใช่เลย พระพุทธศาสนาไม่ใช่อย่างนั้นเป็นอันขาด

อะไรคือท่าทีที่ถูกต้อง อารยธรรมยุคต่อไปจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ถูกต้อง มนุษย์บอกว่าถ้ามนุษย์เอาชนะธรรมชาติได้ นั่นคือความสามารถสูงสุด แต่ตามหลักพุทธศาสนาบอกว่าไม่ใช่ มนุษย์มีความสามารถมากกว่านั้น คืออะไร มันย่อมไม่ใช่การปล่อยตามธรรมชาติแน่นอน เวลานี้ตะวันตกบอกว่า เมื่อไม่เอาชนะธรรมชาติก็ต้องปล่อยตามธรรมชาติ และยังเข้าใจว่าสิ่งนี้คือพระพุทธศาสนา ซึ่งผิด

พุทธศาสนาถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ หรือเป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้ ความพิเศษอยู่ที่ฝึกได้เรียนรู้ได้หรือพัฒนาได้ ทีนี้ระบบความเป็นอยู่ของโลกนี้ทั้งหมดที่เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นระบบที่ยังมีการเบียดเบียนกันมาก เมื่อมนุษย์ยังไม่พัฒนาก็อยู่ร่วมในระบบนี้ ถ้ามนุษย์ไม่พัฒนาโดยปล่อยให้ระบบความสัมพันธ์อยู่ร่วมกันในโลกเป็นไปอย่างนี้ ก็จะยังมีการเบียดเบียนกันมาก ในฐานะที่มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษ ฝึกได้ พัฒนาได้ เราจึงใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์โดยการพัฒนาคุณภาพของตนเองให้มาช่วยปรับปรุงระบบความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันในโลกให้ดีขึ้น คือให้มีการเบียดเบียนกันน้อยลง และมีความเกื้อกูลต่อกันยิ่งขึ้น นี่ต่างหากที่เป็นความสามารถที่แท้จริงของมนุษย์

การที่คิดจะเอาชนะธรรมชาติ หรือพิชิตมันนั้นเป็นความรู้สึกและท่าทีแบบศัตรู หรือคู่ปรปักษ์ ที่จะจัดการกับมัน แต่เรามีท่าทีอีกแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนอย่างนั้น ก็คือในฐานะเป็นองค์ประกอบที่อยู่ร่วมกันในระบบทั้งหมดของโลกแห่งธรรมชาตินี้ทำอย่างไร ในฐานะที่เราเป็นผู้มีความสามารถพิเศษ จะช่วยให้ทุกอย่างทุกส่วนอยู่ร่วมกันด้วยดียิ่งขึ้น ให้เป็นโลกที่มีการเบียดเบียนกันน้อยลง

เพราะฉะนั้น จุดหมายของพระพุทธศาสนาท่านจึงใช้คำว่า อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลกํ แปลว่า “เข้าถึงโลกที่เป็นสุขไร้การเบียดเบียน” มนุษย์จะต้องทำเพื่อจุดหมายนี้ คือ หาทางทำให้โลกมีความสุขยิ่งขึ้น ไร้การเบียดเบียนยิ่งขึ้น อยู่ร่วมกันด้วยความเกื้อกูลกันยิ่งขึ้น

สิ่งไหนจะเป็นความสามารถมากกว่ากัน ระหว่างการเอาชนะธรรมชาติ กับการที่สามารถปรับระบบความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกัน ให้อยู่ดีด้วยกัน และมีความสุขมากยิ่งขึ้น สิ่งไหนเป็นความสามารถมากกว่า เราคงต้องบอกว่าอย่างหลัง คือความสามารถที่จะปรับหรือปฏิรูประบบการอยู่ร่วมกันให้เอื้อเกื้อกูลต่อกันยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นแนวคิดพื้นฐานของอารยธรรมยุคต่อไป ไม่ใช่การยอมตามธรรมชาติ แต่ก็ไม่ใช่การพิชิตธรรมชาติ เพราะมนุษย์มีความสามารถมากกว่านั้น

สรุปก็คือ การศึกษาในยุคที่ผ่านมาสนองแนวคิดนี้ทั้งหมด คือการเอาชนะธรรมชาติ แล้วเราก็ได้สร้างอารยธรรมอย่างที่เป็นอยู่นี้ขึ้นมา จนกระทั่งมาถึงจุดนี้ที่มนุษย์เริ่มรู้ตัวว่าไม่ถูกต้อง จะต้องแก้ไขใหม่ แล้วจะเอาแนวคิดอะไรมาเป็นฐานของการพัฒนาต่อไปที่จะทำให้มีการศึกษาที่ยั่งยืน คือการศึกษาที่ถูกต้อง สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ แล้วทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน แล้วก็นำมาซึ่งอารยธรรมที่ยั่งยืนด้วย ก็คิดว่าจะต้องหันกลับมาสู่แนวความคิดที่ว่านี้ กล่าวคือ การพัฒนาความสามารถพิเศษของมนุษย์ที่จะมาช่วยปรับระบบความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันในโลกทั้งหมดนี้ให้เป็นไปในทางประสานเกื้อกูลแก่กันและกัน เป็นสุข ไร้การเบียดเบียน หรืออย่างน้อยเบียดเบียนกันน้อยลง

การศึกษาอย่างที่ว่านี้ จะช่วยให้มีการการพัฒนาที่ยั่งยืน และทำให้มนุษย์สามารถสร้างสรรค์อารยธรรมที่ยั่งยืน เป็นการศึกษาที่ถูกต้องสอดคล้องกับความรู้เข้าใจในความเป็นจริงของระบบความสัมพันธ์ของธรรมชาติ จึงเป็นการศึกษาที่ยั่งยืน และถ้าทำได้ ก็จะเป็น การปฏิรูปการศึกษา ที่ถึงโคนถึงรากของอารยธรรม

1ปาฐกถาธรรม เนื่องในโอกาสวันสถาปนากรมวิชาการ ครบรอบ ๔๔ ปี วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๓๙ ณ ห้องประชุมชั้น ๒ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.