จิตวิทยาเพื่อการพัฒนาคน ตามแนวธรรมชาติ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จิตวิทยาเพื่อการพัฒนาคน
ตามแนวธรรมชาติ1

ขออำนวยพรท่านองคมนตรี ท่านผู้หญิงในฐานะประธานในพิธี ท่านนายกสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย ท่านผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน

วันนี้ อาตมภาพได้รับนิมนต์มาให้พูดในเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการพัฒนาคนในยุคสารสนเทศ คือยุคปัจจุบันนี้ เนื่องจากมีเวลาพูดจำกัด จึงคิดว่าจะต้องเร่งรีบเข้าสู่ประเด็นที่เป็นหัวข้อของการประชุม

หัวข้อที่ให้พูดนี้เป็นเรื่องสัมพันธ์กับกาล กับยุคสมัย คือเป็นการพัฒนาคนสำหรับสภาวการณ์ปัจจุบัน แต่ในการพูดนั้นคิดว่าคงต้องแยกเป็น ๒ ส่วน ตอนแรกจะพูดถึงหลักการทั่วไป แต่จะพูดสั้นๆ และในตอนที่สองจึงพูดเรื่องการพัฒนาคนสำหรับสภาวการณ์ปัจจุบันที่เรียกว่ายุคสารสนเทศ

ในด้านหลักการนั้น ในตอนต้นขอทำความเข้าใจกันก่อนว่า คำว่า จิตวิทยา ก็ดี คำว่า ศาสนา ก็ดี เป็นคำพูดในระบบความคิดปัจจุบันซึ่งเป็นแนวคิดที่พูดได้ว่าเป็นแบบตะวันตก คือแนวความคิดแบบชำนาญพิเศษหรือแยกส่วน หมายความว่าเรานิยมจัดแบ่งวิชาการเป็นต้น ออกเป็นเรื่องๆ ด้านๆ เฉพาะไป เรามีเรื่องจิตวิทยา เรามีเรื่องจริยธรรม เรามีเรื่องศาสนา แม้แต่คำว่าศาสนาเองที่ใช้กันอยู่ ก็เป็นศาสนาในความหมายของตะวันตก

ในความเป็นจริงนั้นวิชาการเหล่านี้เราคงแยกจำเพาะไม่ได้ เพราะเรื่องของชีวิตมนุษย์ ตลอดจนเรื่องของโลกทั้งหมด เป็นสิ่งที่โยงถึงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว แต่เราพูดแยกออกไปเพื่อความสะดวกในทางระบบความคิด แต่ในเชิงปฏิบัติการและการนำเข้าสู่ความเป็นจริงจะต้องเอามาโยงสัมพันธ์กันให้ได้

สำหรับเรื่องจิตวิทยา ศาสนา และจริยธรรมนั้น เวลานี้บางทีเมื่อใช้กันไปเราก็ติดในความหมายเฉพาะอย่างเฉพาะด้าน แล้วก็เกิดปัญหาคือการโยงกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นในที่นี้อาตมภาพจะหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำเหล่านี้ คือจะพูดกันตามสภาพความเป็นจริงเลย หมายความว่าไม่ต้องไปแยกว่าจิตวิทยา หรือศาสนา หรืออะไรทั้งนั้น แต่จะพูดถึงการพัฒนาคน

การพัฒนาคนเป็นระบบแห่งบูรณาการ

คนนั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ซึ่งเราเรียกในภาษาปัจจุบันว่าเป็นองค์รวม การดำเนินชีวิตของเขานั้นแยกออกได้เป็นหลายด้าน แต่ทุกด้านนั้นมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ด้านต่างๆ เหล่านี้มีอะไรบ้าง ขอแยกอย่างง่ายๆ ว่ามีด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านความรู้ความคิดที่เรียกว่าปัญญา ชีวิตทั้งสามด้านนี้มีความสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถแยกออกจากกันได้

พฤติกรรมของเรา คือการแสดงออกและการเคลื่อนไหว ทางกาย และทางวาจา โดยสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมก็มีทั้งสิ่งแวดล้อมทางสังคมคือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และสิ่งแวดล้อมทางกายภาพหรือทางวัตถุ เริ่มตั้งแต่ปัจจัยสี่ คือสิ่งบริโภค และเครื่องใช้สอยต่างๆ จนกระทั่งถึงธรรมชาติแวดล้อมอย่างที่เราเรียกกันในสมัยปัจจุบัน ตลอดจนการทำมาหาเลี้ยงชีพ เราเคลื่อนไหวไปด้วยพฤติกรรมในเรื่องเหล่านี้ นี่ด้านหนึ่ง

ขอให้มองต่อไปว่าพฤติกรรมนั้นมาจากไหน ในการที่จะมีพฤติกรรม ไม่ว่าทางกาย หรือทางวาจา เรามีความตั้งใจทุกครั้งว่าเราจะทำอะไร เราจะพูดอะไร นอกจากมีความตั้งใจแล้วลึกลงไปก็มีแรงจูงใจ ว่าอยากจะได้อะไร เช่นต้องการผลประโยชน์ หรืออาจจะมีแรงจูงใจในทางโกรธ ในทางเคียดแค้น เมื่อเรามีแรงจูงใจอย่างไรเราก็ตั้งใจโดยสอดคล้องกับแรงจูงใจนั้น แล้วก็แสดงออกทางพฤติกรรมด้วยกายและวาจา นอกจากนั้นความรู้สึก หรือสภาพอารมณ์ รวมทั้งคุณธรรมและบาปอกุศล เช่น ความรัก ความชอบใจ ความเกลียดชัง ความเครียด ความริษยา ความน้อยใจ ความซาบซึ้งใจ ความหวาดกลัว อะไรต่างๆ เหล่านี้ก็มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมทั้งนั้น ถ้ามีความรักก็จะมีพฤติกรรมอย่างหนึ่ง ถ้ามีความเกลียดชังก็มีพฤติกรรมอย่างหนึ่ง

แม้ว่าถ้าเราต้องการมีพฤติกรรมภายนอกอย่างหนึ่งที่เรียกว่าพึงประสงค์ในทางสังคม เช่นไม่ให้ทำร้ายผู้อื่น แต่ถ้าในใจของเรามีสภาพจิตไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมตามข้อกำหนดของสังคมนั้น สังคมกำหนดว่าไม่ให้ทำร้ายกัน ไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น แต่ในใจของเรามีความโกรธแค้นอยู่ พฤติกรรมนั้นเราก็จะทำด้วยความฝืนใจ ถึงแม้พฤติกรรมจะดี แต่จิตใจก็เป็นทุกข์ แต่ในทางตรงข้าม ถ้าจิตใจของเราดี แทนที่จะโกรธจะเกลียด ก็มีความรัก พฤติกรรมที่จะไม่ทำร้ายกันนั้นก็สอดคล้องกัน เป็นไปเองโดยไม่ต้องมีการบังคับภายนอก นอกจากนั้นในจิตใจก็ยังมีความสุขด้วยที่ได้ทำพฤติกรรมนั้น และพฤติกรรมที่มีความสุขเป็นฐานที่ตั้งก็จะมีความมั่นคง ตรงกันข้าม ถ้าพฤติกรรมนั้นทำด้วยจิตใจที่เป็นทุกข์ฝืนใจก็จะไม่มั่นคง นี่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจกับพฤติกรรม

ในทางกลับกัน จิตใจก็อาศัยพฤติกรรม เช่น เมื่อได้ทำพฤติกรรมที่เคยชินหรือถูกใจก็ชอบใจสบายใจ หรือพฤติกรรมของตนดำเนินไปได้ตามต้องการ จิตใจก็จะมีความสุข แต่ถ้าพฤติกรรมถูกขัดขวางปิดกั้น ก็ไม่ชอบใจ อาจจะโกรธ หรือเกิดความทุกข์

นอกจากนั้นพฤติกรรมก็ต้องอาศัยปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การที่เราจะแสดงพฤติกรรมอะไรออกมานั้นเราต้องมีความรู้ความเข้าใจอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น มองเห็นความมุ่งหมาย และมีความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผลว่าเพื่อผลที่ต้องการอันนี้จะต้องทำพฤติกรรมใดอย่างไร เรามีปัญญาแค่ไหน เราก็ทำพฤติกรรมได้ภายในขอบเขตของปัญญานั้น ถ้าปัญญามีน้อย พฤติกรรมก็อาจตื้นเขิน ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ถ้ามีความรู้เข้าใจมีปัญญามากก็สามารถวางแผนพฤติกรรมได้ละเอียดลออและได้ผลมาก เพราะฉะนั้นปัญญาก็สัมพันธ์กับพฤติกรรม แยกกันไม่ได้

พร้อมกันนั้นปัญญาก็ส่งผลต่อจิตใจด้วย เช่นถ้าเราไปเจออะไร เราไม่มีความรู้ เราไปเจอสถานการณ์หนึ่งแล้วเราไม่รู้ว่าในสถานการณ์นี้เราจะต้องทำอะไร สิ่งที่เราพบอยู่นั้นคืออะไร เป็นอย่างไร เราจะต้องปฏิบัติต่อมันอย่างไร เพียงแค่นี้จิตใจก็อึดอัด จิตใจของเราจะมีปัญหา มีความติดขัดบีบคั้น เรียกว่าเป็นทุกข์ คือประสบปัญหา แต่พอมีปัญญารู้ว่า อันนี้คืออะไร เป็นอย่างไร จะปฏิบัติต่อมันอย่างไร ก็โล่ง จิตใจก็โปร่งสบายเกิดความสุข หรือว่าเราเจอกับคนอื่น เห็นหน้าเขาบึ้ง แม้แต่อาจจะเป็นเพื่อนกันใกล้ชิด เคยพูดจากันดี เคยแสดงอาการยิ้มย่องผ่องใส มาวันหนึ่งเจอไม่พูดด้วยเสียแล้ว หน้าตาบูดบึ้ง เราก็คิดว่า เอ๊ะคุณทำไมมาโกรธฉันล่ะ ฉันก็โกรธเป็นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นฉันก็บึ้งได้ จิตใจเราก็มีความโกรธไม่สบาย แต่ถ้าเราเกิดนึกคิดขึ้นมาหรือเราเกิดรู้ขึ้นมาว่า อ๋อ เพื่อนของเรานี้มีปัญหาค้างใจ วันนี้ที่บ้านเขามีเรื่องทะเลาะกัน หรือว่าเขาไม่มีเงินใช้ หรือมีปัญหากดดันในจิตใจอย่างใดอย่างหนึ่ง พอปัญญาของเรารู้หรือมีแนวความคิดนี้ขึ้นมาก็เปลี่ยนสภาพจิตจากความโกรธไปเป็นความสงสาร ดังนั้นปัญญาก็มีอิทธิพลเปลี่ยนจิตใจ

ทีนี้ปัญญาก็เหมือนกัน ต้องพึ่งอาศัยพฤติกรรม ก่อนจะได้ปัญญาเราต้องทำพฤติกรรมในการหาข้อมูล เป็นต้น ถ้าเราไม่รู้จักหาข้อมูล ไม่รู้จักเคลื่อนไหวกายวาจา ไม่รู้จักพูดจา ไม่รู้จักเข้าหาคน ไม่รู้จักสอบถาม พูดไม่เป็น ตั้งคำถามไม่เป็น เราก็ไม่ได้ข้อมูล ไม่ได้ข้อแนะนำ เป็นต้น ที่ดี ไม่ได้แนวความคิดอะไรต่างๆ ปัญญาก็ไม่พัฒนา แต่ถ้ารู้จักมีพฤติกรรมกายวาจาที่ดีก็จะช่วยให้เราได้ปัญญา

ปัญญานั้นก็ต้องอาศัยจิตใจด้วย ถ้าจิตใจของเรามีความเพียร มีความขยันอดทน ใจสู้ เจอปัญหาไม่ถอย เราพยายามคิด การขบคิดของเราก็ทำให้เกิดปัญญา ถ้าเราท้อถอย ใจไม่สู้ ไม่พยายามคิด ปัญญาก็ไม่เกิด นอกจากเพียรพยายามคิดแล้ว จิตใจที่แน่วแน่มีสมาธิก็ทำให้ความคิดชัดเจน เจาะลึกได้ง่าย เพราะฉะนั้นสภาพจิตก็เป็นฐานที่จะให้ปัญญาทำงานและพัฒนาได้ด้วยดี

นี้เป็นตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาซึ่งไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ตัวอย่างที่มองเห็นง่ายๆ ก็เช่นว่า เราต้องการให้คนมีพฤติกรรมที่เป็นไปตามเหตุตามผล คือให้เป็นพฤติกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา แต่พฤติกรรมนั้นจะเป็นไปตามเหตุผลของปัญญาได้ก็ต้องอาศัยความเข้มแข็งของจิตใจมาช่วย อย่างที่พูดว่ารู้จักควบคุมจิตใจของตนเอง การควบคุมบังคับจิตใจของตนเองก็อยู่เบื้องหลังการดำรงรักษาพฤติกรรมนั้น แต่ถ้าสามารถทำให้จิตใจเป็นสุขด้วยพฤติกรรมนั้นก็อาจจะไม่ต้องควบคุม ความเข้มแข็งของจิตใจก็ใช้น้อยลง เพราะด้านความสุขมาช่วยแล้ว

บางทีเราพูดว่าเราไม่ต้องการให้คนทำอะไรตามอารมณ์ อารมณ์ก็เป็นสภาพของจิตใจ ที่เราบอกว่าให้ทำตามเหตุผลก็คือเราต้องการให้พฤติกรรมนั้นไม่เป็นไปเพียงตามสภาพความอ่อนไหวของจิตใจ แต่ให้เป็นไปตามปัญญา คือให้ปัญญาบอกจิตใจให้ควบคุมพฤติกรรมไว้ นี่ก็แสดงถึงความสัมพันธ์กันระหว่างพฤติกรรมและจิตใจและปัญญาอยู่แล้ว ในกรณีนี้ปัญญามองเห็นเหตุผลและรู้ว่าพฤติกรรมควรจะเป็นอย่างไร แต่การที่จะให้พฤติกรรมเป็นไปได้ต้องเกิดจากความตั้งใจและการสั่งบังคับของจิตใจ แต่จิตใจนั้นมีความเป็นไปได้ทั้งสองฝ่าย คือทั้งอาจจะมีความหวั่นไหว อ่อนเอนไปตามอารมณ์ หรืออาจจะมีความเข้มแข็ง เราก็จะต้องพัฒนาความเข้มแข็งขึ้นมาให้ข่มหรือบังคับหรือสลายเจ้าความอ่อนไหวไปให้ได้ แต่ถ้าเรามีปัญญาดีจริงๆ ชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว มันก็ทำให้การใช้พลังทางจิตใจนี้น้อยลงไปอีก เพราะฉะนั้นการพัฒนาทั้ง ๓ ด้านนี้จึงต้องดำเนินไปด้วยกัน โดยเฉพาะตัวที่สำคัญที่สุดในขั้นสุดท้ายก็คือปัญญา ซึ่งท่านถือว่าเป็นตัวปลดปล่อย ทำให้พฤติกรรมได้รับการนำไปในทางที่ถูกต้อง และเป็นตัวปลดปล่อยจิตให้เป็นอิสระด้วย

เรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นว่าไม่เหมือนกับคำว่าจริยธรรม ตามที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพราะคำว่า จริยธรรมจะเน้นที่พฤติกรรม ยิ่งสมัยก่อนโน้นจะเน้นที่พฤติกรรมเชิงสังคม มาสมัยนี้จึงขยายไปสู่สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติต่างๆ ด้วย ดังที่มีจริยธรรมแบบใหม่ๆ ขึ้นมารวมทั้งจริยธรรมทางธุรกิจ ซึ่งเป็นการมองออกไปข้างนอก แต่แท้จริงแล้วชีวิตของคนเรานี้มีด้านต่างๆ อย่างที่กล่าวมา ซึ่งไม่สามารถแยกจากกันออกไปได้

ในสังคมไทยเราเมื่อเริ่มใช้คำว่าจริยธรรมใหม่ๆ เมื่อสัก ๓๐ ปีก่อน มีการพูดถึงการพัฒนาจริยธรรมเป็นต้น ในการประชุมสัมมนาและการประชุมทางวิชาการต่างๆ ต่อมาสักระยะหนึ่งเราก็มาคิดกันว่า จริยธรรมนี้เป็นเรื่องที่เน้นทางด้านพฤติกรรมโดยเฉพาะทางสังคม คงไม่เพียงพอ จะต้องมีเรื่องทางจิตใจด้วย ต่อมาเราก็มีความโน้มเอียงที่จะเพิ่มคำว่าคุณธรรมเข้าไป การประชุมในสมัยต่อมาแทบทุกครั้ง ถ้ามีการพิจารณาเรื่องจริยธรรมก็จะมีคำว่าคุณธรรมเติมเข้าไปด้วย นี้ก็หมายความว่าเอาเรื่องจิตใจเพิ่มเข้าไป เพราะเห็นว่าพฤติกรรมไม่พอ ต้องเอาจิตใจด้วย เราจึงมีการสัมมนาหรือมีการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาจริยธรรมและคุณธรรม

เวลานี้ในทางวิชาการและในราชการอย่างในการทำแผน ๘ ก็ตาม แผนปฏิรูปทางการศึกษาก็ตาม เราจะพูดควบกันไปหมดว่าจริยธรรมและคุณธรรม แต่ความจริงนั้นถ้าว่าไปแล้วมันก็ยังไม่ครบ มันก็ยังเป็นความคิดแบบแยกส่วนที่ไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนาคนให้ได้ผลอยู่นั่นเอง เพราะแม้ว่าจะพูดถึงด้านจิตใจแล้วไปเอาคุณธรรมมามันก็ไม่ครบ เพราะในจิตใจของเราไม่ได้มีเฉพาะเรื่องคุณธรรมที่ตรงข้ามกับความชั่วเท่านั้น แต่มันมีเรื่องความสุขความทุกข์ด้วยซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก

ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าความสุขเป็นเรื่องใหญ่ เป็นที่อาศัยของจริยธรรมที่เราพูดกันนี้ คือพฤติกรรมต้องอาศัยความสุขด้วย เราจึงไม่พูดแยกกัน อย่างในเรื่องของการกระทำที่เราเรียกว่าปฏิบัติธรรม ซึ่งภาษาสมัยนี้พูดแคบเข้ามาแล้ว ถ้าเราจะปฏิบัติให้เกิดสมาธิ อะไรเป็นปัจจัยสำคัญ ท่านบอกว่าสุขเป็นบรรทัดฐานของสมาธิ ถ้าไม่มีสุขแล้วสมาธิก็ยากที่จะเกิด จะเกิดสมาธิได้ต้องมีความสุข

สภาพจิตที่พระพุทธเจ้าตรัสอยู่เสมอในกระบวนการปฏิบัติให้เกิดสมาธิและปัญญาคือ ปราโมทย์ ความเบิกบานใจ แล้วก็มี ปีติ ความอิ่มใจ ปัสสัทธิ ความสงบเย็นผ่อนคลายกายใจ แล้วก็ สุข พอสุขแล้วสมาธิก็ตามมา พอสมาธิมาก็ทำให้จิตได้ดุลยภาพเหมาะแก่การใช้งาน พอใช้งานจะใช้ไปทางไหนดี ก็ใช้ทางปัญญา เพราะฉะนั้นในวงการพระพุทธศาสนาจะพูดถึงศัพท์ที่แสดงความสัมพันธ์ในเรื่องเหล่านี้ ขอใช้คำบาลีเลยว่า สุขิโน จิตฺตํ สมาธิยติ แปลว่า ผู้เป็นสุขจิตย่อมเป็นสมาธิ จากนั้น สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า ผู้มีจิตเป็นสมาธิย่อมเกิดปัญญารู้ชัดตามที่มันเป็น หมายความว่ามันเป็นองค์ประกอบที่เป็นปัจจัยแก่กันและกัน แยกกันไม่ได้

เพราะฉะนั้น ที่เราพูดว่าพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมนี้ ต่อไปเราก็จะรู้ว่าไม่พอ แล้วก็จะต้องไปเพิ่มว่า “การประชุมพัฒนาจริยธรรม คุณธรรมและความสุข” และต่อไปเราก็จะค้นพบว่ามันก็ไม่พออยู่นั่นแหละเพราะมันขาดองค์ประกอบด้านปัญญา แล้วเราก็คงจะต้องเติมว่า “การประชุมพัฒนาจริยธรรม คุณธรรม ความสุข และปัญญา” อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งคงจะจบยาก ทางที่ดีน่าจะมาดูกันที่หลักการให้ชัดให้ตรงตามความจริงของธรรมชาติว่า เรื่องของชีวิตนั้นเป็นองค์รวมซึ่งมีองค์ประกอบต่างๆ เข้ามาประสานสัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กันและกัน ไม่อาจจะแยกขาดออกจากกันโดยเด็ดขาดได้ เราพูดคำศัพท์เหล่านั้นเพียงเพื่อความสะดวกทางระบบความคิดในการที่จะศึกษา จะได้รู้ตำแหน่งความสัมพันธ์ของมัน แล้วก็จัดความสัมพันธ์ในกระบวนการพัฒนาของมันให้ถูกต้อง แต่รวมแล้วพูดง่ายๆ ว่ามี ๓ ด้าน คือ ด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านปัญญา นี้คือเรื่องของการดำเนินชีวิตของมนุษย์เราที่เป็นอยู่ตลอดเวลา

การพัฒนาคนเป็นปฏิบัติการตามธรรมชาติ

ทีนี้ก็มามองถึงธรรมชาติของมนุษย์ให้ลึกเข้าไปอีก มีคำถามว่าเราก็ดำเนินชีวิตด้วยพฤติกรรม จิตใจและปัญญาอยู่อย่างนี้แล้ว เมื่อจะพัฒนาคนก็ต้องพัฒนา ๓ ด้าน คือพัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา แต่ทำไมเราจะต้องพัฒนามันด้วย เรื่องนี้ก็โยงไปถึงธรรมชาติของมนุษย์ว่า มนุษย์นี้ทางธรรมถือว่าเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ทำไมจึงว่าเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก เราลองเทียบกับสัตว์ชนิดอื่น

สัตว์โดยทั่วๆ ไปนั้นเราพูดแบบคร่าวๆ หรือพูดแบบกว้างๆ ว่าเป็นสัตว์ที่ไม่ต้องฝึก เพราะอะไร เพราะว่ามันอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ ไม่ใช่ว่าไม่ต้องฝึกเลย มันมีการเรียนรู้บ้างแต่เพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่มันอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดมาแล้วหรือคลอดออกมาแล้วมันจึงใช้เวลาไม่นานในการที่จะเรียนรู้แล้วก็ดำรงชีวิตอยู่ได้ สัตว์บางชนิดคลอดออกมาประเดี๋ยวเดียวก็เดินได้ มันก็อยู่รอดได้ เริ่มดำเนินชีวิตได้ เพราะฉะนั้นเราจึงพูดแบบคร่าวๆ โดยเปรียบเทียบกับมนุษย์ว่ามันเป็นสัตว์ที่ไม่ต้องฝึก คือไม่ต้องเรียนรู้ไม่ต้องฝึกหัดพัฒนา อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ

ส่วนมนุษย์นี้เป็นสัตว์พิเศษ คือเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ถ้าไม่ฝึก คือไม่เรียนรู้ไม่ฝึกหัดพัฒนาแล้วจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ อยู่ไม่รอด และไม่สามารถมีชีวิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ามนุษย์เกิดมาแล้วต้องอาศัยพ่อแม่เป็นต้น เลี้ยงดูอุ้มชู ซึ่งใช้เวลานานหลายปี บางทีเป็นสิบๆ ปีกว่าที่จะดำเนินชีวิตได้ เพราะอาศัยสัญชาตญาณได้น้อยที่สุด แต่เขาต้องอาศัยการฝึก ลองพิจารณาดูว่าในระหว่างที่พ่อแม่เป็นต้น เลี้ยงดูนั้น ตัวเขาเองทำอะไร ตัวเขาเองก็ไม่ได้อยู่เปล่าๆ เขาเรียนอยู่ตลอดเวลา ช่วงเวลาระยะแรกเรามักจะมองไปที่คนอื่นว่าเลี้ยง แต่เจ้าตัวล่ะ เจ้าตัวก็เรียน เลี้ยงจึงคู่กับเรียน เมื่อคนอื่นเขาเลี้ยง ในขณะที่พ่อแม่เลี้ยง เด็กก็เรียน เรียนก็คือเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา

ทุกอย่างที่มนุษย์ได้มาในการดำเนินชีวิตเราต้องเรียนรู้ ต้องฝึกหัด ต้องพัฒนาขึ้นมาทั้งสิ้น เราไม่ได้มันมาเปล่าๆเหมือนสัตว์ชนิดอื่น เราต้องเรียน เราต้องฝึกหัดแม้แต่การกิน การนั่ง การนอน การขับถ่าย การเดิน การพูด ทุกอย่างต้องได้มาจากการฝึกหัดทั้งหมด เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงเป็นสัตว์พิเศษตรงนี้ ตรงที่ว่าดำเนินชีวิตได้ด้วยการเรียนรู้ หรือการที่ต้องฝึกหัดพัฒนา ที่เรียกว่าสิกขา หรือการศึกษา

การที่ต้องเรียนต้องฝึกจึงอยู่รอดได้หรือจึงดำเนินชีวิตอยู่ได้นี้ มองในแง่หนึ่งก็เป็นข้อด้อยของมนุษย์ แต่มองอีกทีก็เป็นข้อดีของมนุษย์ เพราะการเป็นสัตว์ที่ต้องฝึกนี้มีความหมายทางบวกว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ส่วนสัตว์ชนิดอื่นนั้นเป็นสัตว์ที่ฝึกไม่ได้ คือไม่ใช่ฝึกไม่ได้เลย แต่มันฝึกได้น้อยเหลือเกิน เพียงพอให้ดำเนินชีวิตเบื้องต้น เรียนรู้นิดหน่อย แล้วต่อจากนั้นก็ฝึกอีกไม่ได้ ถ้าฝึกได้บ้างต่อจากนี้ก็ต้องให้มนุษย์ฝึกให้ ตัวมันเองฝึกตัวไม่ได้ เช่น ช้าง ม้า ลิง เป็นต้น คนก็เอามาฝึก ให้ทำโน่นทำนี่ เอามันมาใช้งานหรือเล่นละครสัตว์เป็นต้น แต่ก็ได้แค่ในขอบเขตนิดหน่อย ต่อจากนั้นมันก็อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ มันเกิดมาอย่างไรก็ตายไปอย่างนั้น แต่ส่วนมนุษย์นี้เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ คือเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาได้ และฝึกได้อย่างแทบไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นเมื่อมนุษย์เริ่มฝึกหัดพัฒนาแล้วก็งอกงามดีงามยิ่งขึ้นๆ จนทิ้งสัตว์ชนิดอื่นไปหมด

มนุษย์สามารถถ่ายทอดภูมิธรรมภูมิปัญญากันต่อมา อารยธรรมและวัฒนธรรมที่สะสมมาจากรุ่นของบรรพบุรุษไม่รู้กี่ร้อยกี่พันปีมาแล้วมนุษย์สามารถเรียนได้ในเวลาอันรวดเร็ว และยังสามารถพัฒนาต่อไปอีกด้วยการฝึกฝนตนเอง มนุษย์สามารถสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ทางวัตถุให้เกิดมีเทคโนโลยี สร้างโลกของมนุษย์ขึ้นมาต่างหากจากโลกของธรรมชาติ สามารถที่จะทำแม้แต่คอมพิวเตอร์ สร้างดาวเทียม สร้างยานอวกาศ อะไรต่างๆ สามารถพัฒนาภูมิปัญญาจนกระทั่งกลายเป็นบุคคลที่วิเศษสุด ประเสริฐเลิศล้ำเป็นพุทธะได้ เพราะฉะนั้นเราก็จึงตั้งพุทธะนี้เป็นตัวแบบไว้เพื่อเตือนให้มนุษย์รู้ตัวว่า เราเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ที่พัฒนาได้ ถ้าไม่ยอมหยุดในการฝึกฝนพัฒนา ก็จะเป็นได้กระทั่งพุทธะ ซึ่งถือว่าเลิศประเสริฐกว่าเทวดาตลอดจนพระพรหมทั้งหมด

มนุษย์นั้นถ้ายังไม่ฝึกจะด้อยกว่าสัตว์ทุกชนิด แต่ถ้าฝึกแล้วจะประเสริฐเหนือกว่าเทพกว่าพรหมทั้งหลายทั้งหมด แม้แต่เทพและพรหมก็ต้องกลับมานมัสการนอบน้อมเคารพบูชามนุษย์ที่ฝึกแล้ว การระลึกถึงองค์พุทธะเป็นการให้กำลังใจแก่มนุษย์เพื่อจะระลึกถึงศักยภาพของตนในความเป็นสัตว์ที่พัฒนาได้

รวมความว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่จะมีชีวิตที่ดีงามได้ด้วยการศึกษาคือต้องเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา ความจริงข้อนี้จะต้องถือเป็นหลักประจำภาวะของมนุษย์ เราจำเป็นจะต้องพัฒนามนุษย์เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่อยู่รอดได้ด้วยการฝึกฝนพัฒนา และยิ่งฝึกฝนพัฒนาก็ยิ่งเจริญงอกงามบรรลุความดีเลิศ ชีวิตจะประเสริฐยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ หลักการนี้เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับธรรมชาติของมนุษย์

ที่ว่ามานี้เป็นการพูดถึงหลักการทั่วไป แต่เรื่องไม่จบเท่านั้น กล่าวคือการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้นเป็นการได้สัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยดังที่เราเรียกว่าเป็นสังคม เพราะฉะนั้น เพื่อจะช่วยให้มนุษย์แต่ละคนพัฒนาไปได้อย่างดี มนุษย์จึงมาช่วยเหลือกัน โดยสร้างระบบการอยู่ร่วมกันหรือระบบความสัมพันธ์ ที่เรียกว่าระบบสังคม ให้ดี ให้เป็นสังคมที่เกื้อกูล

การจัดสรรระบบสังคมแห่งความเป็นอยู่ร่วมกันให้ดี ให้กลับมาช่วยเกื้อหนุนการพัฒนาของแต่ละคนนี้ก็เป็นหลักสำคัญยิ่งในทางพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้ในทางพระพุทธศาสนาท่านจึงแยกเรื่องของการพัฒนามนุษย์เป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเรียกว่าธรรม คือเรื่องพฤติกรรมพร้อมทั้งจิตใจและปัญญาของแต่ละคน ที่เราจะต้องฝึกฝนพัฒนา และอีกส่วนหนึ่งคือการจัดระบบสังคมมนุษย์ให้เป็นระบบที่ดีงาม ที่เอื้อเกื้อหนุนและนำทางการพัฒนาของแต่ละคน ซึ่งเรียกว่าวินัย

วินัยไม่ได้มีความหมายแคบแค่ระเบียบ แต่หมายถึงการจัดระเบียบชีวิตและระบบแบบแผนการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ สาระสำคัญก็คือเป็นการจัดระบบความสัมพันธ์ในหมู่มนุษย์นี้ให้เอื้อ เกื้อหนุน และช่วยนำทางการพัฒนาของแต่ละคน ให้แต่ละคนพัฒนาความสามารถของตนไปด้วยดี เพราะฉะนั้นเราจึงเรียกระบบสังคมนี้ว่าสังคมแห่งกัลยาณมิตร หมายความว่าเราพยายามให้คนมาเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน มาเกื้อหนุนซึ่งกันและกันในการที่แต่ละคนจะได้มีชีวิตที่พัฒนายิ่งขึ้นไป โดยที่ภายในแต่ละคนก็พัฒนาพฤติกรรม พร้อมทั้งจิตใจและปัญญาของตนขึ้นไป แล้วสองส่วนนี้ก็จะเข้ามาประสานกัน คือเราจะมีสังคมดีงามซึ่งประกอบด้วยบุคคลผู้มีชีวิตที่ดีงาม ที่ประกอบด้วยพฤติกรรม จิตใจและปัญญาที่พัฒนาแล้วนี้ หรือพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า เราจะมีสังคมดีงามที่เกื้อหนุนต่อการที่แต่ละบุคคลจะพัฒนาตนให้เป็นส่วนร่วมของสังคมที่ดีงาม

ชีวิตที่ดำเนินไปด้วยดีเราเรียกว่าเป็นมรรค ซึ่งแปลว่าทางหรือทางดำเนินชีวิต มรรคหรือทางดำเนินชีวิตอันดีงาม ที่มีพฤติกรรมพร้อมทั้งจิตใจและปัญญาที่ดำเนินไปด้วยดีนี้ เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาที่เรียกว่าสิกขา ซึ่งแปลว่าศึกษา คือการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา สิกขาหรือการศึกษานี้มีสามด้านจึงเรียกว่าไตรสิกขา คือประกอบด้วยการฝึกด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจและด้านปัญญา การฝึกหัดพัฒนาด้านพฤติกรรมเรียกว่าศีล การฝึกหัดพัฒนาในด้านจิตใจเรียกว่าสมาธิ (เพราะเอาสมาธิเป็นแกนในการฝึกทางจิตใจ ทั้งในด้านคุณธรรมความดีงาม ทั้งในด้านสมรรถภาพความเข้มแข็งของจิตใจ และในด้านความสุข) และการฝึกหัดพัฒนาด้านความรู้ความเข้าใจเรียกว่าปัญญา สามส่วนนี้แยกออกจากกันไม่ได้ เมื่อเราฝึกหัดพัฒนาสามด้านนี้ชีวิตก็ดีขึ้นทั้งสามด้านไปด้วยกัน คือเมื่อสิกขาเดินหน้า มรรคาก็ดีงามยิ่งขึ้นไป ขอพูดถึงหลักการกว้างๆ ไว้เท่านี้ก่อน ต่อจากนี้ก็ขอเข้ามาสู่เรื่องของยุคสมัย

คุณภาพคนไทยที่ต้องพัฒนาให้ทันยุคสมัย

เรามาถึงยุคสมัยนี้ที่เรียกว่ายุคสารสนเทศ คำถามก็เกิดขึ้นว่า ในท่ามกลางสภาพปัจจุบันที่เรียกว่ายุคสารสนเทศนี้ เราจะพัฒนาคนอย่างไรโดยใช้หลักการแห่งไตรสิกขานั้นเพื่อให้ได้ชีวิตที่ดีงาม ให้คนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ดีในสภาพอย่างนี้ สามารถแก้ปัญหาได้ สามารถสร้างสรรค์ได้

ยุคสารสนเทศนี้ เป็นยุคที่มีความหมายพ่วงเข้ามาว่าเป็นยุคโลกาภิวัตน์ด้วย ที่จริงสารสนเทศนี่แหละเป็นปัจจัยสำคัญของสภาพโลกาภิวัตน์ เนื่องจากสารสนเทศหรือข้อมูลข่าวสารนี้แพร่กระจายอย่างฉับไวไปทั่วโลก แต่เบื้องหลังของการที่สารสนเทศจะทำให้เกิดสภาพโลกาภิวัตน์นั้น ตัวอุปกรณ์หรือปัจจัยสำคัญที่ทำให้สารสนเทศนั้นแผ่ไปทั่วก็คือเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางด้านสารสนเทศที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ไอที เพราะฉะนั้นที่จริงเทคโนโลยีทั้งหลายนี้แหละเป็นตัวการสำคัญของสภาพโลกาภิวัตน์ มนุษย์ในยุคนี้ที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศก็สัมพันธ์กับเทคโนโลยีด้วย

ทีนี้หันไปดูทางด้านระบบสังคมบ้าง ระบบสังคมก็ใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเครื่องมือ ระบบสังคมที่เด่นปัจจุบันนี้คือระบบการแข่งขัน ซึ่งเป็นเรื่องของธุรกิจ อยู่ในด้านเศรษฐกิจ เวลานี้ระบบแข่งขันได้ครอบงำสังคมและกลายเป็นโลกาภิวัตน์ที่อยู่เบื้องหลังของเทคโนโลยีและสารสนเทศด้วยซ้ำ หมายความว่าระบบแข่งขันนี้กลับมาใช้สารสนเทศเป็นเครื่องมือ และนอกจากระบบแข่งขันที่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจแล้ว ก็มีสภาพจิตใจของคนที่สอดคล้องกันที่จะช่วยให้ระบบการแข่งขันดำเนินไปอย่างดีด้วย คือค่านิยมบริโภค ค่านิยมบริโภคก็ได้แผ่ไปครอบงำมนุษย์ในยุคปัจจุบันและกลายเป็นโลกาภิวัตน์อย่างหนึ่ง จนกระทั่งเราเรียกสังคมยุคนี้ว่าเป็นสังคมบริโภคนิยม ซึ่งแสดงว่าค่านิยมบริโภคได้แพร่หลายไปทั่ว และได้ครอบงำจิตใจคนอย่างกว้างขวาง

ถ้าเราเอาสภาพที่มองผิวเผินแค่นี้เป็นแนวทางในการพิจารณา เราก็ต้องพัฒนาคนให้มาอยู่ได้ด้วยดีในสภาพเหล่านี้ เช่นให้มาอยู่กับสภาพโลกาภิวัตน์แบบนี้ โดยปฏิบัติต่อสารสนเทศอย่างถูกต้อง ใช้มันอย่างถูกต้อง หรือรับมือกับมันอย่างถูกต้อง ปฏิบัติต่อเทคโนโลยีถูกต้อง และเผชิญกับบริโภคนิยมได้อย่างดี สามารถอยู่ในระบบแข่งขันได้อย่างผู้ชนะเป็นต้น อันนี้เป็นการพิจารณาเพียงขั้นต้นที่ผิวเผินซึ่งไม่จำเป็นจะต้องถูกต้อง แต่อย่างน้อยเราก็จะต้องทำให้ได้ เพราะถ้าจะทำอะไรที่ดีกว่าก็ต้องอยู่รอดก่อน

เมื่อวางสภาพปัจจุบันให้เห็นรูปร่างอย่างนี้แล้ว ก็มาดูว่าเราจะพัฒนาคนอย่างไร ถ้าจะให้คนอยู่ได้อย่างดีและประสบความสำเร็จในสังคมแห่งระบบแข่งขันซึ่งเป็นระบบที่จะต้องเอาชนะกัน อย่างน้อยก็ต้องการความเข้มแข็ง ทีนี้เราก็หันมามองดูในสังคมไทยของเรา ขอพูดในวงแคบเอาแค่สังคมไทยก่อน ที่จริงจะต้องพูดกันทั้งโลกมนุษย์ในปัจจุบัน แต่ขอพูดถึงสังคมไทยเป็นตัวอย่าง ก็มีปัญหาว่าในสภาพของโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขันกันนี้ เราพร้อมที่จะเข้าไปอยู่ร่วมเผชิญและต่อสู้ได้อย่างดีหรือไม่ เราสามารถเอาชนะได้ไหม อย่างน้อยไม่ให้ถูกเขาครอบงำ

ถ้าถามว่าคนของเรามีความเข้มแข็งพอไหม ก็ขอยกตัวอย่างขึ้นมาแสดงว่าคนไทยของเรานี้อาจจะมีความไม่ค่อยพร้อม มีภาวะที่ค่อนข้างอ่อนแอ เนื่องจากมีปัจจัยที่ทำให้คนไทยค่อนข้างอ่อนแออย่างน้อย ๔ ประการด้วยกัน ซึ่งเราจะต้องรู้ตัวและรับมือกับมันให้ถูก และถ้าเป็นไปได้ก็แก้ไขปรับปรุงให้กลายเป็นดี

ทำไมคนไทยจึงมีแนวโน้มที่จะอ่อนแอ ความหมายอย่างหนึ่งของความอ่อนแอ ก็คือการที่ไม่ค่อยสู้ปัญหา และเห็นแก่ความสะดวกสบาย เห็นแก่ความง่าย ถ้าเป็นเรื่องยากก็คอยหลีกเลี่ยงไม่ค่อยสู้ และอีกอย่างหนึ่งก็แสดงออกที่นิสัยชอบบริโภคชอบเสพ เพราะว่าการชอบเสพชอบบริโภคนั้นก็คือการที่ชอบรับการบำรุงบำเรอปรนเปรอ การชอบรับการบำรุงบำเรอปรนเปรอก็มีความหมายแฝงมาในตัวว่าต้องการมีความสุขโดยไม่ต้องทำอะไร หมายความว่ามีอะไรมาปรนเปรอช่วยให้เราสบาย เราจะได้ไม่ต้องทำอะไร นั่นคือความสุข คนที่เป็นอย่างนี้ก็หมายความว่าถ้าต้องทำอะไรก็เป็นทุกข์ คนที่หวังความสุขจากการเสพการบริโภคโดยมีความสุขจากการบำรุงบำเรอปรนเปรอจะกลัวการกระทำ ฉะนั้นถ้าจะต้องทำอะไรก็จะฝืนใจมีความทุกข์ สภาพอย่างนี้เราเรียกว่าเป็นความอ่อนแอ

ความอ่อนแอของคนไทยนี้มีปัจจัยเกื้อหนุนจากภูมิหลังที่เป็นมา ซึ่งในที่นี้ขอนำเสนอว่ามี ๔ ประการ

ประการที่ ๑ ก็คือ สภาพภูมิศาสตร์ที่มีธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ดังที่เราพูดกันว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” สภาพความเป็นอยู่เช่นนี้ทำให้เรามีความโน้มเอียงในทางที่ชอบความสะดวกสบาย ไม่อยากเจอปัญหา ไม่อยากทำอะไรที่ต้องเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก ชอบหันไปหาอะไรที่ง่ายๆ นี้เป็นประการที่หนึ่ง

ที่จริง “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” นี่แสนจะดี แต่เราพูดในแง่ของอิทธิพลที่ว่ามันอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาต่อชีวิตคนหรือต่อการพัฒนามนุษย์ได้ เพราะว่าธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นปุถุชนนั้นจะขึ้นต่อปัจจัยภายนอกมาก คือมนุษย์นั้นถ้าถูกทุกข์บีบคั้นถูกภัยคุกคามก็จะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย เพราะฉะนั้น มนุษย์ที่เกิดในดินแดนที่มีความขัดสน ยากลำบาก ธรรมชาติแร้นแค้น ก็จะต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดและทำให้เกิดความเข้มแข็ง ส่วนมนุษย์ที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สะดวกสบายก็มีความโน้มเอียงที่จะเห็นแก่ความง่ายสะดวกสบาย จึงไม่ดิ้นรนและชอบนอนเสวยสุข อันนี้เราพูดกันในขั้นต้นก่อน เพราะฉะนั้น สภาพแวดล้อมของธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เป็นอยู่สบายของไทย จึงเป็นอิทธิพลที่อาจจะทำให้เกิดความอ่อนแอได้

ประการที่ ๒ ก็คือ สภาพการรับเทคโนโลยีของคนไทย ซึ่งมีความหมายต่างจากตะวันตกมาก เทคโนโลยีเกิดขึ้นในสังคมตะวันตกนั้นมีความหมายต่อฝรั่งต่างจากสังคมไทย เพราะเทคโนโลยีที่เกิดในสังคมตะวันตกนั้นเกิดจากฝีมือของเขาเอง คือ เกิดจากความเพียรพยายามของเขาสร้างสรรค์ขึ้นมา โดยมีความหมายที่โยงไปถึงภูมิหลังต่างๆ มากมาย

ภูมิหลังอะไรที่ผลักดันสังคมตะวันตกในการที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีมาถึงปัจจุบัน ขอให้มองดูว่า เทคโนโลยีเกิดขึ้นมาด้วยอาศัยปัจจัยอะไรบ้าง

ปัจจัยที่หนึ่ง คือความรู้ทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ได้เจริญมาพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยี เมื่อมีความรู้วิทยาศาสตร์ก็ทำให้เราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้ เมื่อเทคโนโลยีเจริญขึ้นมาก็ทำให้เราพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยิ่งขึ้นไป ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่นกล้องดูดาว เราต้องการความรู้ทางดาราศาสตร์ ตอนแรกเราดูด้วยตาเปล่าก็เห็นดาวในขอบเขตจำกัด แต่ต่อมาเรามีความรู้วิทยาศาสตร์ในเรื่องแสง ก็ประดิษฐ์กล้องดูดาวขึ้นมา พอมีเทคโนโลยีคือกล้องดูดาวแล้ว ความรู้ทางดาราศาสตร์ก็พัฒนายิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีจึงเกื้อกูลอุดหนุนซึ่งกันและกัน

ทีนี้ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้น วิทยาศาสตร์ที่เจริญมาเป็นร้อยๆ ปีกว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีมาถึงขั้นนี้ได้นั้น ก็ได้ปลูกฝังทัศนคติและความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ลงเป็นนิสัยใจคอของมนุษย์ด้วย กล่าวคือลักษณะจิตใจที่เรียกว่าจิตใจวิทยาศาสตร์ ซึ่งแสดงออกมาสู่วิถีชีวิตของคนเป็นวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ คือความมีจิตใจใฝ่รู้ ความนิยมเหตุผล การชอบพิสูจน์ทดลอง การที่พยายามเข้าถึงความจริงของสิ่งต่างๆ อย่างไม่ยอมหยุดยั้ง ถ้าไม่เข้าถึงความจริงไม่ยอมหยุด จิตใจอย่างนี้เราเรียกกันง่ายๆ ว่าความใฝ่รู้ ซึ่งกว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีมาถึงปัจจุบันได้ฝรั่งก็ได้ผลพ่วงอันนี้ คือได้จิตใจที่ใฝ่รู้ซึ่งฝังลึกลงไปมาก

ต่อไปปัจจัยอีกอย่างหนึ่งคืออะไร เทคโนโลยีคู่กับวิทยาศาสตร์ พร้อมกันนั้นเทคโนโลยีก็คู่กับอุตสาหกรรม การที่เทคโนโลยีจะเจริญมาได้ถึงปัจจุบันนี้ ต้องอาศัยโรงงานอุตสาหกรรมผลิตและพัฒนา พร้อมกันนั้นอุตสาหกรรมก็อาศัยเทคโนโลยี การสร้างโรงงานอุตสาหกรรมก็ดี เครื่องมือของอุตสาหกรรมก็ดี ต้องใช้เทคโนโลยี เสร็จแล้วโรงงานอุตสาหกรรมนั้นก็พัฒนาเทคโนโลยีให้เจริญขึ้นไปอีก ถ้าเราไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม เทคโนโลยีที่เราใช้ก็คงไม่มี เราจะมีไมโครโฟนอย่างนี้ เราจะมีเครื่องบันทึกเสียงอย่างนี้ ก็ต้องอาศัยโรงงานอุตสาหกรรมด้วย

ทีนี้อุตสาหกรรมเกิดขึ้นมาอย่างไร อุตสาหกรรมก็เกิดจากการที่มีความทุกข์ยากจากสภาพแวดล้อม เช่น ธรรมชาติที่บีบคั้น และความแร้นแค้นขาดแคลนที่ฝรั่งเรียกว่า scarcity แล้วด้วยความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะความขาดแคลนนั้น คนก็ตั้งใจขยันหมั่นเพียรทำการทำงาน อย่างที่เรียกว่ามีจริยธรรมในการทำงาน (work ethic) เช่นมีความรักงาน ขยัน สู้งาน และมีความสันโดษ เป็นอยู่ง่าย ไม่เห็นแก่ความสุขสำราญบำรุงบำเรอ ตั้งใจทำงานอย่างเดียว ได้เงินได้กำไรก็เอามาสะสมระดมทุนเข้าไป มุ่งหน้าแต่ทำงานทำการ อุตสาหกรรมก็เจริญมาจนกระทั่งผลิตเทคโนโลยีได้ประณีตซับซ้อนยิ่งขึ้นๆ ซึ่งกว่าจะเจริญถึงขั้นนี้ได้ก็ใช้เวลาเป็นร้อยๆ ปี และตลอดเวลาอันยาวนานนั้น ทัศนคติความรู้สึกนึกคิดและวิถีชีวิตแบบอุตสาหกรรมหรือชีวิตแห่งความเพียรในการผลิตก็ได้ฝังลึกอยู่ตัวลงตัวแน่นสนิท กลายเป็นวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ที่ฝังลงไปในจิตใจ ซึ่งทำให้ฝรั่งได้นิสัยที่ขยันขันแข็ง หมั่นเพียร ชอบผลิต ชอบทำ ที่เรียกว่า สู้สิ่งยาก

เพราะฉะนั้น การที่เทคโนโลยีเกิดขึ้นในสังคมฝรั่ง และพัฒนามาได้ถึงบัดนี้นั้น จึงหมายถึงภูมิหลังแห่งความเพียรพยายามในการสร้างสรรค์ ที่เกิดจากวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้เขาได้นิสัยใจคอแห่งความใฝ่รู้และสู้สิ่งยาก แต่พอมาถึงสังคมไทยนี่มันไม่มีอย่างนี้

สังคมไทยเราเจอกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เมื่อประมาณร้อยปีมานี้เมื่อมันเข้ามาพร้อมกับฝรั่ง เราเรียกฝรั่งว่าชาวอารยประเทศ เราชอบและอยากได้ความเจริญอย่างฝรั่งที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามา เทคโนโลยีนั้นเป็นเครื่องหมายสำคัญของความเจริญก้าวหน้า เช่น กล้องถ่ายรูป เครื่องพิมพ์ เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น ทีนี้เทคโนโลยีที่เข้ามานี้สำหรับคนไทยก็คือเทคโนโลยีสำเร็จรูปที่ฝรั่งสร้างเสร็จมาแล้ว หนึ่งละ มันสำเร็จรูปแล้วเราไม่ต้องทำ สอง เทคโนโลยีที่เข้ามากับฝรั่งเป็นเทคโนโลยีประเภทบริโภคคือเครื่องใช้สอยที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบาย ส่วนเทคโนโลยีในการผลิตก็อยู่ที่ประเทศของเขา เพราะฉะนั้นคนไทยก็เจอกับเทคโนโลยีสำเร็จรูปประเภทบริโภคที่มาเสริมซ้ำความสะดวกสบายที่เรามีอยู่แล้ว ในน้ำมีปลาในนามีข้าวอยู่แล้ว แถมยังได้เทคโนโลยีมาเสริมความสะดวกสบายเพิ่มเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นคนไทยจึงมองเทคโนโลยีในความหมายว่าเป็นเครื่องบำรุงบำเรออำนวยความสะดวกสบาย และโดยนัยนี้เทคโนโลยีก็มีความหมายสำหรับคนไทยต่างกับฝรั่งมาก แล้วมันก็ยิ่งเสริมซ้ำความอ่อนแอให้แก่เรา

เป็นอันว่า จากภูมิหลังที่กล่าวมานี้ คนไทยเรานอกจากไม่ได้เหตุปัจจัยที่จะปลูกฝังความใฝ่รู้ และสู้สิ่งยากแล้ว เรายังมีทัศนคติ หรือท่าทีการมองเทคโนโลยีในเชิงเสพเชิงบริโภคมากกว่าในเชิงผลิตด้วย คือ เรามองเทคโนโลยีในความหมายว่าเป็นเครื่องเสริมเพิ่มความสะดวกสบายมากกว่าจะมองในความหมายว่าเป็นเครื่องช่วยทำการสร้างสรรค์

เมื่อมองความหมายของอุตสาหกรรม อุตสาหกรรม ก็จะมีความหมายสำหรับคนไทยในแง่ที่ว่าเป็นระบบและกระบวนการผลิตสิ่งเสพสิ่งบริโภคมาเสริมเพิ่มความสะดวกสบาย หรือบำรุงบำเรอเราให้เสพสุขได้มากขึ้น เราไม่มองอย่างฝรั่งที่เขาสร้างศัพท์เรียกอุตสาหกรรมว่า industry คือความขยันหมั่นเพียรในการผลิต หรือการเพียรพยายามสร้างสรรค์ทำให้เกิดมีสิ่งใหม่ๆ โดยไม่ยอมแพ้แก่ความเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก ตรงกับที่เรามาบัญญัติเป็นศัพท์ในภาษาไทยว่า อุตสาหกรรม ซึ่งแปลว่าการกระทำด้วยอุตสาหะ แต่เราใช้คำนี้โดยไม่รู้สึกตระหนักถึงความหมายที่แท้ของมันเลย

พัฒนาอย่างมีดุลยภาพให้โตเต็มคน

ต่อไปประการที่ ๓ คือ วัฒนธรรมน้ำใจ วัฒนธรรมน้ำใจซึ่งหมายถึงการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่พร้อมที่จะช่วยเหลือกัน แต่เมื่อมองพลิกกลับอีกด้านหนึ่งก็กลายเป็นหมายถึงการที่มุ่งหวังความช่วยเหลือจากกันได้ ทีนี้คนนั้นเมื่อหวังพึ่งกันได้ หวังความช่วยเหลือจากคนอื่นได้ ก็ทำให้เกิดแนวโน้มที่จะไม่ขยันหมั่นเพียร ไม่ต่อสู้ ไม่ดิ้นรน แต่ชอบนึกว่า ถ้าเราขาดแคลนยากลำบาก หรือเราขัดสนขึ้นมา ก็ไปหาผู้ใหญ่คนนั้นไปหาเพื่อนคนนี้ได้ พอหวังอย่างนี้ได้ก็ทำให้ไม่ต้องกระตือรือร้นขวนขวาย จึงเป็นปัจจัยที่นำมาสู่ความอ่อนแออีกอย่างหนึ่ง ตรงข้ามกับสังคมตะวันตกที่มีวัฒนธรรมแบบตัวใครตัวมัน เต็มไปด้วยการแข่งขันดิ้นรนต่อสู้ ถ้าเธอไม่ช่วยตัวเองก็ไม่มีใครเอาด้วย เธอก็ไม่รอด เธอจะตาย การที่หวังพึ่งคนอื่นไม่ได้ก็ทำให้ต้องดิ้นรนขวนขวายต่อสู้ ก็ทำให้เข้มแข็ง อันนี้เป็นผลพ่วงในด้านลบ วัฒนธรรมน้ำใจนั้นดี แต่ในด้านเสียถ้าไม่ระวัง ผลร้ายก็มี

เรื่องนี้ถ้าพูดในทางธรรมก็เป็นเพราะการที่คนไทยปฏิบัติธรรมไม่ครบถ้วน เราเอาหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาใช้ ธรรมในทางพระพุทธศาสนานั้นตามปกติจะมีเป็นชุดๆ เช่นมี ๔ ข้อ มี ๕ ข้อ มี ๗ ข้อ ธรรมเหล่านี้ ถ้าเอามาใช้ไม่ครบชุดก็จะเกิดปัญหา เพราะมันเป็นระบบดุลยภาพหรือระบบบูรณาการ ธรรมหมวดที่เกี่ยวกับระบบน้ำใจนี้เราเรียกว่าพรหมวิหารซึ่งมี ๔ ข้อ ต้องปฏิบัติทั้งชุด แต่คนไทยเอามาใช้ไม่ค่อยครบ สี่ข้อมีอะไรบ้าง

พรหมวิหาร ๔ แปลว่าธรรมประจำใจของพรหม ๔ ประการ พรหมก็คือมนุษย์ในฐานะเป็นผู้ที่ร่วมสร้างสรรค์อภิบาลบำรุงโลกหรือสังคมให้ดำรงอยู่ได้ด้วยดี หมายความว่าพระพุทธศาสนาได้เปลี่ยนความหมายของพรหมจากแนวทัศนะของพราหมณ์ที่ถือว่ามีเทพเจ้าสูงสุดคือพระพรหมเป็นผู้สร้างสรรค์อภิบาลโลก พระพุทธศาสนาบอกว่าอย่าไปมัวรอพระพรหมให้มาสร้างโลกแล้วมนุษย์ก็อยู่กันอย่างไม่มีความรับผิดชอบจนกระทั่งทำลายโลกเสีย แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มนุษย์ทุกคนนี้เป็นพรหมเสียเอง โดยมีคุณสมบัติประจำใจสี่ประการที่เรียกว่าพรหมวิหารนั้น เมื่อมนุษย์ทำตัวเป็นพรหม ก็จะทำหน้าที่เป็นส่วนร่วมในการสร้างโลก คือสร้างสรรค์สังคม และบำรุงเลี้ยงโลกไว้ให้อยู่ด้วยดี

มนุษย์ในฐานะที่เป็นพรหมนั้นต้องมีธรรม ๔ ข้อ คือ หนึ่ง เมตตา สอง กรุณา สาม มุทิตา สี่ อุเบกขา ซึ่งจะต้องใช้ต่อเพื่อนมนุษย์ให้ถูกต้องตามสถานการณ์ที่เขาประสบ และมีความหมายสอดคล้องกับสถานการณ์ที่ต้องใช้ คือ

สถานการณ์ที่ ๑ เมื่อเพื่อนมนุษย์อยู่เป็นปกติ เราก็มี เมตตา คือมีไมตรี ปรารถนาดีต่อเขา ต้องการให้เขาเป็นสุข

สถานการณ์ที่ ๒ เมื่อเขาตกต่ำลง คือเปลี่ยนจากปกติเป็นตกต่ำลงได้แก่ ตกทุกข์เดือดร้อน เราก็มี กรุณา คือพลอยหวั่นใจในทุกข์ของเขา พยายามช่วยเหลือปลดเปลื้องให้พ้นจากทุกข์นั้น

เมตตากับกรุณาต่างกันมาก บางทีคนไทยเราก็แยกไม่ถูกว่าเมตตากับกรุณาต่างกันอย่างไร ความหมายจะชัดเมื่อมองตามสถานการณ์ คือสถานการณ์ที่หนึ่งเขาอยู่ปกติเราใช้เมตตาเป็นมิตร สถานการณ์ที่สองเขาตกต่ำเดือดร้อนเราใช้กรุณาช่วยเหลือ

สถานการณ์ที่ ๓ ข้อนี้คนไทยมักจะไม่ค่อยพูดถึง เรามักใช้กันแค่เมตตาและกรุณาเป็นหลัก และคนไทยก็มีจริงๆ เมตตากรุณานี้เรามีมากและใช้มาก สถานการณ์ที่ ๓ คือคนอื่นขึ้นสูง เช่นได้ดีมีสุข หรือทำอะไรถูกต้องดีงามแล้ว เราก็มี มุทิตา พลอยยินดีด้วย และช่วยส่งเสริมสนับสนุน ข้อที่ ๓ นี้เราชักจะขาดแล้ว

ต่อไปสถานการณ์ที่ ๔ ข้อนี้ยากหน่อย เพราะตอนนี้มันไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์แล้ว

ขอทำความเข้าใจว่า มนุษย์เรานี้ไม่ได้อยู่เฉพาะระหว่างมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น ในโลกนี้เพียงมนุษย์มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเท่านั้นยังไม่พอที่จะดำรงรักษาสังคมให้ดำรงอยู่ด้วยดี เพราะว่าเบื้องหลังโลกมนุษย์หรือเบื้องหลังสังคมมนุษย์นั้นมีสิ่งที่เป็นฐานรองรับอยู่คือความเป็นจริงแห่งกฎธรรมชาติ ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ได้แก่สิ่งที่ท่านเรียกว่า ธรรม อันได้แก่หลักการแห่งความถูกต้อง และความเป็นจริงตามเหตุปัจจัย ตลอดจนหลักการที่มนุษย์จัดตั้งวางขึ้นไว้โดยใช้ความรู้ในความจริงของกฎธรรมชาติ มาบัญญัติเป็นหลักการที่เรียกว่าเป็นกฎหมาย เป็นระเบียบ เป็นกติกาสังคมเพื่อจะดำรงรักษาสังคมของตนไว้ หลักการเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะรองรับสังคมมนุษย์ไว้ เพียงมนุษย์สัมพันธ์กันดีใน ๓ ข้อแรกยังไม่เพียงพอ ต้องรักษาข้อที่ ๔ ด้วย

เพราะฉะนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยการช่วยเหลือสนับสนุนกัน ในเรื่องของเมตตาก็ดี กรุณาก็ดี มุทิตาก็ดีนี้ จะต้องหยุดทันทีเมื่อการช่วยเหลือสนับสนุนกันนั้นจะไปละเมิดหรือกระทบก่อความเสียหายต่อหลักการแห่งความเป็นจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ไม่ว่าจะเป็นหลักการที่อยู่ในธรรมชาติก็ตาม หลักการที่มนุษย์บัญญัติขึ้นเป็นกติกาสังคมก็ตาม ความสัมพันธ์นั้นต้องหยุด ข้อนี้เรียกว่า อุเบกขา ซึ่งเป็นการปฏิบัติเพื่อรักษาหลักการไว้

ข้อที่ ๔ คืออุเบกขานี้คนไทยไม่ค่อยรู้จัก อุเบกขาคนไทยนึกแค่ว่าเฉย ทางพระท่านว่า ถ้าเฉยโดยไม่รู้เรื่อง เรียกว่าเฉยโง่ เป็นอกุศล การเฉยต้องประกอบด้วยปัญญา อุเบกขานี้สำคัญที่สุดเพราะใช้ปัญญา สามข้อแรกใช้แค่ความรู้สึก หมายความว่า เมตตา กรุณา และมุทิตา หนักในทางความรู้สึก คือให้มนุษย์มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน ยามปกติก็มีเมตตารู้สึกเป็นมิตร ในยามเขาตกทุกข์เดือดร้อนก็กรุณารู้สึกสงสาร ในยามที่เขาประสบความสำเร็จก็รู้สึกพลอยยินดีด้วย แต่ข้อที่สี่นี้ต้องใช้ความรู้คือปัญญา เช่น ต้องรู้ว่าอะไรถูกต้อง อะไรผิด อะไรเป็นธรรม อะไรเป็นหลักการ ถ้าไม่รู้ไม่มีปัญญาแล้วรักษาความถูกต้องไม่ได้ รักษาธรรมไม่ได้ เพราะฉะนั้นข้อที่สี่คืออุเบกขาจึงคุมทั้งหมด เพราะเป็นตัวรักษาดุล

เป็นอันว่าการปฏิบัติในสามข้อแรกจะต้องไม่ให้ไปละเมิดตัวหลักการคือตัวธรรม โดยให้ตัวที่สี่คืออุเบกขารักษาธรรมนั้นไว้ “เฉย” หมายความว่าฉันหยุด ไม่เอากับคุณแล้วนะ กฎต้องเป็นกฎ นี่คืออุเบกขามาแล้ว ต่อจากนี้ก็ว่าไปตามกฎ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมหรือชอบธรรม

ในการเลี้ยงลูก เรื่องนี้สำคัญที่สุด พ่อแม่ไทยมักเลี้ยงลูกโดยใช้ธรรมชุดนี้ไม่ครบสี่ข้อ ทำให้เลี้ยงลูกไม่โต เพราะฉะนั้นจึงขอเน้นเรื่องนี้เพราะการพัฒนาคนในครอบครัวคือการเลี้ยงดูลูกนี้เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง พ่อแม่ไทยนั้นมีเมตตากรุณาและมุทิตาครบดีมาก หาได้ยากในโลกนี้ แต่ข้อที่ ๔ คือ อุเบกขาก็ขาดอย่างยิ่งเหมือนกัน

พรหมวิหาร ๔ ในการเลี้ยงดูลูกเป็นอย่างไร เริ่มด้วย

๑. เมื่อลูกอยู่เป็นปกติ พ่อแม่ก็มีเมตตา คือมีความรักใคร่ให้ความอบอุ่น แสดงความปรารถนาดี เลี้ยงให้เจริญเติบโต

๒. เมื่อลูกเกิดความเดือดร้อนเป็นทุกข์ เจ็บไข้ได้ป่วยหรือมีปัญหา พ่อแม่ก็กรุณา พยายามหาทางปลดเปลื้องทุกข์ของเขา ช่วยเหลือเต็มที่โดยมองทุกข์ของลูกเหมือนเป็นทุกข์ของตัวเอง บางทีลูกทุกข์เท่านี้แม่ทุกข์ยิ่งกว่านั้นอีก ขวนขวายช่วยเหลือหาทางแก้ไข

๓. เมื่อลูกประสบความสำเร็จได้ดีมีสุข ทำดีงามถูกต้อง พ่อแม่ก็สนับสนุนส่งเสริม เช่น สอบได้หรือประสบความสำเร็จได้การได้งานทำ พ่อแม่ก็ส่งส่งเสริมสนับสนุน ข้อนี้ก็ปฏิบัติกันดี ไม่มีปัญหา

ทีนี้ต่อไปข้อ ๔. อุเบกขาปฏิบัติอย่างไร อุเบกขานี้ใช้เมื่อ

๑) ลูกจะต้องฝึกหัดรับผิดชอบทำอะไรๆ ให้เป็นด้วยตนเอง ตามหลักที่ว่าเมื่อลูกเติบโตแล้วเขาก็จะเป็นสมาชิกของสังคม เมื่อเขาอยู่ในโลกมนุษย์นั้น เขาไม่ได้อยู่กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างเดียว แต่เขาอยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตด้วย โลกและชีวิตนั้นเป็นไปตามความเป็นจริงแห่งกฎธรรมชาติ คือสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน มันไม่เข้าใครออกใคร จะเอาเมตตา กรุณา มุทิตา ไปใช้กับมันไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องเตรียมลูกให้พร้อมที่จะไปอยู่กับความเป็นจริงแห่งโลกและชีวิต เขามีอะไรจะต้องรับผิดชอบทำให้ได้ด้วยตนเอง เพื่อจะได้รับผิดชอบตนเองและรับผิดชอบชีวิตของตัวเองได้ก็ต้องหัดเขาไว้ ถึงตอนนี้พ่อแม่จะต้องใช้ปัญญา รู้จักดู รู้จักพิจารณา ไม่ใช่ว่ามีอะไรก็ไปทำแทนให้เขาหมด ถ้าเห็นว่าอะไรเป็นเรื่องที่เขาจะต้องฝึกรับผิดชอบทำให้เป็นแล้วต้องหัดเขาเลย เพราะนี่คือการรักลูกที่แท้จริง คือหัดให้เขาพึ่งตนเองได้และมีอิสรภาพ ไม่ใช่ไปมัวทำให้ลูกทำอะไรไม่เป็น ต้องขึ้นต่อพ่อแม่อยู่เรื่อย และต่อไปเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่ด้วย ลูกก็ต้องขึ้นกับคนอื่นๆ ต่อๆ ไป

บางทีถ้าเราใช้เมตตากรุณามุทิตาก็คือการขัดขวางการพัฒนาของลูก พ่อแม่ไทยนี่ไม่รู้ตัวก็เลยใช้ความรักของตัวเป็นเครื่องขัดขวางการพัฒนาของเด็ก อุเบกขาต่างหากเป็นตัวทำให้เด็กพัฒนา แต่ต้องเป็นอุเบกขาแท้ที่ใช้ปัญญา คือต้องพิจารณาว่าในสถานการณ์นี้เป็นเวลาที่ลูกของเราจะต้องหัดทำด้วยตัวเขาเอง

อุเบกขา แปลว่าคอยดูอยู่ใกล้ๆ หมายความว่าคอยดูแลเพื่อเปิดโอกาสให้เขาหัดรับผิดชอบและรู้จักพัฒนาตนเอง คือพิจารณาว่าอะไรที่เขาควรทำให้เป็นก็ให้เขาทำแล้วคอยดูอยู่ เพื่อว่าถ้าหากเขาเพลี่ยงพล้ำเราจะได้เข้าแก้ไขสถานการณ์ช่วยได้ทันที อุเบกขาก็คอยมองดูพร้อมอยู่ เราคอยมองดูด้วยอุเบกขาเสียแต่บัดนี้ ดีกว่าทำให้เขาและไม่ให้เขาทำจนกระทั่งเมื่อเราไม่อยู่แล้วเขาต้องไปดิ้นรนต่อสู้ด้วยตัวเองกับความเป็นจริงของโลกและชีวิต แล้วเราก็เลยไม่มีโอกาสไปช่วยเขา เพราะฉะนั้นตอนนี้ที่เรามีโอกาสอยู่กับเขารีบอุเบกขาซะ คือคอยดูให้เขาทำ เขาทำถูกหรือผิด ทำได้ดีหรือไม่ เราจะได้รู้เห็นและมีโอกาสแนะนำสั่งสอน ช่วยให้เขาทำได้ดี จนมีการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ ไม่ใช่รอให้พ่อแม่จากไปแล้วจึงให้เขาดิ้นรนต่อสู้กับชีวิตเอง ทำผิดทำถูก ทำไม่เป็น พ่อแม่ก็ไม่รู้ด้วยช่วยไม่ได้อีกต่อไป ถึงเวลานั้นเขาจะไปถูกอุเบกขาแห่งความเป็นจริงของโลกและชีวิตทำเอา เขาก็จะลำบาก ก็ต้องโทษพ่อแม่ที่ไม่ให้โอกาสเขาที่จะพัฒนาเพราะไปทำแทนเสียหมด จึงกลายเป็นการขัดขวางการพัฒนาของเด็ก

นี่ก็หนึ่งละ คือในกรณีที่เด็กจะต้องฝึกรับผิดชอบทำอะไรต่ออะไรให้เป็นด้วยตนเอง พ่อแม่จะต้องอุเบกขาคอยดู แล้วจะไปช่วยต่อเมื่อเพลี่ยงพล้ำ พร้อมที่จะช่วยตลอดเวลา นี่แหละคือการเปิดโอกาสให้เขาพัฒนาภายใต้การดูแลของเรา เท่ากับพ่อแม่ทำหน้าที่เลี้ยงดู โดยสมบูรณ์ คือ ทั้งเลี้ยงและดู เลี้ยง คือให้และทำให้เขา ดู คือดูให้เขาทำ แล้วลูกก็จะเจริญเติบโตอย่างเต็มตัว คือทั้งมีจิตใจอ่อนโยน มีน้ำใจ อบอุ่น ร่มเย็น นุ่มนวล พร้อมกันนั้นก็เข้มแข็ง รู้จักรับผิดชอบตนเอง และเป็นหลักให้แก่ผู้อื่นและแก่สังคมได้

๒) พ่อแม่จะอุเบกขาในกรณีที่ลูกจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของเขา หมายความว่า ลูกของเราก็เป็นบุคคลหนึ่งที่จะอยู่ในสังคม สังคมนั้นมีหลักการมีกฎเกณฑ์มีกติกา ซึ่งทุกคนจะต้องรับผิดชอบต่อตนเอง และเขาจะต้องร่วมรักษาสังคมและทำสังคมให้อยู่ในกติกาและหลักการนั้นด้วย จึงต้องฝึกกันตั้งแต่ในครอบครัว ครอบครัวจึงต้องมีวินัย ต้องมีกติกา ทำผิดเป็นผิด ทำถูกเป็นถูก กฎเป็นกฎ เด็กๆ ขัดแย้งหรือทะเลาะกัน ต้องเป็นไปตามกฎแห่งความเที่ยงธรรม เขาต้องรู้จักหัดรับผิดชอบต่อการกระทำและผลการกระทำของเขา การวางตัวเป็นกลางเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักการและกติกานี้ก็เรียกว่าอุเบกขาเหมือนกัน

๓) เมื่อลูกรับผิดชอบตนเองได้แล้ว เขาจบการศึกษาแล้ว มีงานมีการทำแล้ว มีครอบครัวของตนเองแล้ว ถือว่าเขารับผิดชอบตนเองได้แล้ว ตอนนี้พ่อแม่จะต้องไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงในชีวิตของเขา ได้แต่คอยดู และพร้อมที่จะช่วยเมื่อเขาพลาด ไม่ใช่ว่าอยากจะให้ลูกเป็นสุขแล้วเข้าไปจัดแจงในครอบครัวของเขา ลูกอยู่อย่างนี้ ทำอย่างนี้ ข้าวของนั้นวางที่นี่ ฯลฯ จนคู่ครองเขาอึดอัดกัน ทั้งอึดอัดระหว่างกัน และอึดอัดกับพ่อแม่ แล้วก็ไม่เป็นสุข เสียทั้งสองฝ่าย พ่อแม่เองก็จะรันทดใจว่าลูกทำไมไม่เห็นแก่ความรักของพ่อแม่ ไม่มองเห็นความปรารถนาดี แต่ที่จริงเป็นเพราะว่าพ่อแม่ไปแทรกแซงในชีวิตของเขา ไม่มีอุเบกขา

เพราะฉะนั้น โบราณจึงใช้คำว่าเลี้ยงดู ซึ่งหมายถึงต้องเลี้ยงและดู เลี้ยง หมายความว่าให้และช่วยทำให้เขา ได้แก่ข้อหนึ่งสองสามคือเมตตากรุณามุทิตา ดู คือข้อที่สี่ได้แก่อุเบกขา เอาแค่ดู อย่าไปแทรกแซง คือดูให้เขาพัฒนาและดูให้เขาทำเป็นต้น เป็นอันว่า มีทั้งทำให้เขาและดูให้เขาทำ จึงเรียกว่าเลี้ยงดู นี้คือหลักพรหมวิหารสี่

รวมแล้ว พรหมวิหาร ๔ ย่อลงเป็น ๒ ด้าน คือ สามข้อแรก เมตตากรุณามุทิตา เป็นชุดเดียวกันในด้านความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ส่วนข้อสี่คืออุเบกขาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับความเป็นจริงของโลกและชีวิตหรือตัวธรรม เพราะฉะนั้น อะไรที่คนควรจะรับผิดชอบต่อตัวเองหรือด้วยตนเองโดยเหตุโดยผลแล้ว มนุษย์ไม่ควรจะเข้าไปก้าวก่าย ต้องให้เขารู้จักทำเอง หรือให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามความเป็นเหตุเป็นผลของมันเอง

ทั้งหมดนี้จะต้องนำมาใช้ไม่ใช่เฉพาะในครอบครัว แต่ในสังคมทั้งหมดด้วย คนจะต้องรู้จักรับผิดชอบชีวิตของตนเอง เราจะช่วยเขาก็เมื่อมีเหตุผลสมควร เมตตากรุณามุทิตาจะต้องถูกควบคุมด้วยอุเบกขา มิฉะนั้นแล้วคนก็จะมัวหวังพึ่ง ถ้าหวังพึ่งแต่คนอื่น คอยรอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ไม่คิดขวนขวายทำการ ก็อ่อนแอ แต่ถ้ามีความสมดุลในระหว่างธรรมสี่ข้อนี้ คือเมตตากรุณาและมุทิตากับอุเบกขา คนก็จะพัฒนาไปอย่างมีดุลยภาพ และอยู่ในระบบบูรณาการ ไม่เอียงข้าง

เวลานี้ในสังคมทั้งหลายมีภาวะเสียดุลและเอียงกันมาก อย่างสังคมไทยเราก็หนักไปทางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คือคนไทยมีเมตตากรุณามาก มุทิตาก็อาจจะอ่อนไปด้วยซ้ำ ยิ่งอุเบกขาแล้วแทบไม่รู้จักเลย จึงทำให้คนไทยเรามีความโน้มเอียงในทางที่จะอ่อนแอหวังพึ่งกัน นอกจากนั้น ยังมีผลเสียตามมาอีกประการหนึ่งด้วย คือมักจะมีการช่วยเหลือกันจนกระทั่งมองข้ามกฎเกณฑ์กติกาและกฎหมาย กติกาสังคมถูกละเลยมองข้ามเพราะเห็นแก่กันระหว่างบุคคล รักษาหลักการไม่ได้ ความเป็นธรรมในสังคมก็เสีย ธรรมนี่แหละเป็นตัวรองรับสังคมในที่สุด เมื่อรักษาความเป็นธรรมไม่ได้ สังคมนั้นก็จะวิปลาส ปรวนแปร

เรื่องนี้ในสังคมบางสังคมอย่างสังคมฝรั่งจะเห็นว่ามีปัญหาภาวะเสียดุลในทางตรงกันข้าม คือเป็นสังคมที่อ่อนในด้านความสัมพันธ์ระหว่างคน คือเมตตากรุณามุทิตาอาจจะหย่อน โดยเฉพาะเมตตากรุณาน้อยเกินไป แต่เป็นสังคมที่หนักในอุเบกขาคือเอากฎเกณฑ์กติกาเป็นใหญ่ ถือว่าตัวใครตัวมัน ทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเอง ใครจะทำอะไรก็เป็นเรื่องของตัว ทำไปเถิด ถ้าแกไม่ผิดกฎหมายฉันไม่ว่าอะไร แต่ถ้าผิดกฎหมายก็โดนจัดการทันที ในสังคมเช่นนี้กฎหมายก็ศักดิ์สิทธิ์ และรักษาหลักการและความเป็นธรรมไว้ได้ และในการที่ต้องตัวใครตัวมันรับผิดชอบต่อกฎเกณฑ์กติกาก็ทำให้ทุกคนต้องต่อสู้ดิ้นรนขวนขวาย ก็เข้มแข็ง แต่ทำให้ขาดความอบอุ่น แห้งแล้ง จิตใจก็เครียด ไม่มีความสุขเท่าที่ควร ก็เสียไปอีกด้านหนึ่ง

เพราะฉะนั้น เราจึงต้องการการพัฒนามนุษย์อย่างมีดุลยภาพโดยใช้พรหมวิหารให้ครบสี่ข้อ ทั้งเมตตากรุณามุทิตาและอุเบกขา ตั้งแต่ครอบครัวไปจนกระทั่งทั่วสังคมใหญ่ทั้งหมด เรื่องนี้ขอพูดแทรกเข้ามาเท่านั้น ที่จริงกำลังพูดถึงเรื่องความเป็นมาของสังคมไทยที่เด่นในด้านความมีน้ำใจ ซึ่งเมื่อมองในแง่ของสังคมวิทยาก็มีลักษณะที่เรียกว่าเป็นสังคมที่หนักในระบบอุปถัมภ์ชนิดที่เลยเถิดไปจนทำให้เกิดผลเสีย ทำให้คนอ่อนแอและไม่สามารถรักษาหลักการ

เข้มแข็งเพื่อประชาธิปไตย ไม่ใช่เพียงเพื่อชนะแข่งขัน

ประการที่ ๔ องค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้คนไทยมีลักษณะโน้มเอียงในทางอ่อนแอ คือความเชื่อถือที่ผิดในทางศาสนา

ในสังคมไทยนี้ในแง่ของความเชื่อทางศาสนา มีลัทธิความเชื่อถืออยู่ ๒ สาย

สายหนึ่ง คือสายพึ่งตนเอง ได้แก่ระบบของพระพุทธศาสนา ซึ่งสอนให้พึ่งตนเอง ว่ามนุษย์จะต้องพยายามทำการให้สำเร็จด้วยความเพียรของตน

อีกสายหนึ่ง คือสายพึ่งอำนาจดลบันดาล ได้แก่ลัทธิผีสางเทวดา เจ้าพ่อเจ้าแม่ เทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และไสยศาสตร์

ความเชื่อทางศาสนา ๒ สายนี้อยู่คู่กันมาในสังคมไทย สายที่ ๒ คือความเชื่อสายศาสนาพราหมณ์ และผีสางเทวดานั้น มีมาในสังคมไทยนานมาก ซึ่งอาจจะพูดได้ว่ามีมาก่อนพระพุทธศาสนา เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาแล้วคนไทยก็นับถือคู่เคียงกัน บางครั้งสองสายนั้นก็เข้ามาก้าวก่ายปะปนแทรกแซงซึ่งกันและกัน บางยุคสมัยพระพุทธศาสนาก็เด่นกว่าและได้เป็นหลักของสังคม หลักพึ่งตนเองก็เด่นด้วย แต่บางยุคสมัยศาสนาผีสางเทวดาเทพเจ้าก็เด่นกว่า จนบางครั้งถึงกับเข้ามาครอบงำพระพุทธศาสนา

สำหรับสองสายนี้โดยหลักการก็เป็นที่ชัดเจนว่าพระพุทธศาสนาสอนหลักพึ่งตนเอง ให้เพียรพยายามทำการให้ตรงกับเหตุปัจจัย กรรมดีจะทำให้เกิดผลดี ส่วนกรรมชั่วก็ทำให้เกิดผลชั่ว ส่วนศาสนาสายผีสางเทวดาเทพเจ้ามีสาระสำคัญอันเดียวกันหมด ไม่ว่าจะเป็นไสยศาสตร์ การนับถือเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรืออิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ก็มีสาระอันเดียวกันที่ถือว่ามีอำนาจดลบันดาลยิ่งใหญ่อยู่ภายนอก ซึ่งมนุษย์จะมีความสัมพันธ์โดยหวังพึ่งและไปขอความช่วยเหลือด้วยการอ้อนวอนเป็นต้น

ในกรณีที่คนมีความอ่อนแออย่างที่ว่ามาแล้วใน ๓ ข้อต้น แล้วมาเจอทางเลือกสองทาง ทางหนึ่งต้องทำด้วยตนเอง กับทางหนึ่งไปขอความช่วยเหลือนี่ คนที่อ่อนแอจะเอาอันไหน ก็ตอบได้ว่าเขาก็จะเลือกเอาทางไปขออำนาจดลบันดาลมาช่วย ขอให้สังเกตว่า จะเป็นด้วยเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้เวลานี้ในสังคมไทยนี้ ลัทธิไสยศาสตร์ผีสางเทวดาเจ้าพ่อเจ้าแม่จึงกลาดเกลื่อนเหลือเกิน คือลัทธิหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอก มีปัญหาก็ยกให้เทวดาแก้ มีเรื่องจะต้องทำก็ถ่ายโอนภาระให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำแทน ทีนี้เมื่อไปหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลภายนอก ไม่พยายามทำเอง ก็ยิ่งอ่อนแอลง เพราะฉะนั้น ความเชื่อถือที่ผิดทางศาสนานี้จึงเป็นตัวซ้ำเติมเข้ามาเป็นข้อที่สี่

ขอพูดแทรกถึงเรื่องทัศนคติของพระพุทธศาสนาในเรื่องนี้ เพราะในยุคปัจจุบันนี้สังคมกำลังต้องการความชัดเจน เวลานี้สังคมไทยพร่ามัวมากในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ อาตมภาพเคยเสนอในที่ประชุมใหญ่ๆ อยู่เรื่อยๆ ว่าขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะต้องมีความชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ จะมีท่าทีอย่างไรต่อเรื่องเหล่านี้ ตั้งแต่ผู้บริหารประเทศมาจนกระทั่งนักการศึกษา รวมทั้งพระด้วย เวลานี้ความเชื่อทางไสยศาสตร์เป็นต้นนี่กลาดเกลื่อนไปหมด และถ้าเราไม่มีความชัดเจนว่ามันคืออะไร เราจะเอาอย่างไรกับมัน สังคมไทยก็จะส่ายเซ เปลี้ย และเคว้งคว้างเลื่อนลอย

เรื่องเทพเจ้า ผีสางเทวดา ตลอดจนอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อะไรพวกนี้ พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธ เออแปลกนะ ไม่มีการเถียงในเรื่องนี้ แต่ที่จริงท่านไม่เสียเวลาไปเถียง เพราะว่า

๑. ถ้าจะเถียงกันว่า เทวดามีหรือไม่มี ฤทธิ์ปาฏิหาริย์เป็นจริงหรือไม่ ให้เถียงกันพันปีก็ไม่จบ เชื่อไหม เถียงกันอีกห้าพันปีก็ไม่จบ เลยไม่ต้องปฏิบัติ เสียเวลาเปล่า

๒. เราสามารถปฏิบัติถูกต้องในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเถียง หรือที่จริงคือไม่ต้องไปรอคำตอบว่ามีหรือไม่มี จริงหรือไม่จริง

พระพุทธศาสนามีท่าทีที่ชัดเจนอย่างยิ่งในเรื่องนี้ เทวดาจะมีก็มีไป และแถมไม่ให้ลบหลู่ด้วย เทวดามีก็เป็นเพื่อนร่วมโลกกัน คนที่จะเป็นเทวดานี่ท่านบอกว่าต้องมีคุณธรรมค่อนข้างดี เพราะฉะนั้นเทวดาก็เหมือนญาติผู้ใหญ่ หรือเป็นคนที่น่าเคารพนับถือซึ่งเราควรมีท่าทีสัมพันธ์ที่ดี มีความเคารพนับถือ ไม่ลบหลู่ ชาวพุทธอยู่กับศาสนาอื่นเขานับถือเทวดาก็ให้เกียรติเขาได้ไม่มีปัญหา ท่านว่าให้ถือเป็นเพื่อนร่วมกฎธรรมชาติคือเกิดแก่เจ็บตาย จึงให้มีเมตตากรุณาต่อกัน ถ้าไปเจอหรือนึกถึงเทวดาก็แผ่เมตตาให้ท่าน ชาวพุทธทำบุญก็ยังอุทิศกุศลให้เทวดาเสียอีกด้วย แต่พระพุทธศาสนามีท่าทีในทางปฏิบัติชัดเจนมากซึ่งไม่ต้องขึ้นต่อการมีหรือไม่มี เป็นจริงหรือไม่เป็นจริงของเทวดา คือมันอยู่ที่ท่าทีที่ว่า ถึงมีก็ไม่หวังพึ่ง นี่ซิสำคัญที่สุด คือไม่ต้องไปรอ เขาจะเถียงกันว่ามีหรือไม่มี จริงหรือไม่จริง ให้เขาเถียงกันไปอีกพันปีก็ปล่อยเขาเถอะ แต่เราปฏิบัติได้เลย คือเราไม่หวังพึ่งสิ่งเหล่านี้ เพราะมันขัดต่อหลักการของพระพุทธศาสนา ๔ ประการด้วยกัน

หลักการที่ ๑ ของพระพุทธศาสนา คือหลักการกระทำให้สำเร็จด้วยความเพียรของตน ซึ่งเรียกว่าหลักกรรม พระพุทธเจ้าทรงเป็นกรรมวาที และวิริยวาที คือถือหลักการกระทำและถือหลักความเพียร เพราะฉะนั้นผู้นับถือพระพุทธศาสนาจะต้องทำการให้สำเร็จด้วยความเพียร ถ้าเราไปหวังพึ่งความช่วยเหลือจากอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก เราก็ไม่ทำการด้วยความเพียร

ความสัมพันธ์อย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดาแม้แต่ในหมู่มนุษย์เอง ไม่ต้องไปมองที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก อำนาจดลบันดาลภายนอกที่คนหวังพึ่งนั้นมี ๒ อย่าง คือ อำนาจภายนอกหรือความช่วยเหลือจากมนุษย์ด้วยกัน กับอำนาจภายนอกหรือความช่วยเหลือจากสิ่งลี้ลับ แต่ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ที่มีอำนาจช่วย หรือสิ่งเร้นลับช่วย การหวังพึ่งก็เป็นนิสัยเดียวกัน ถ้าหวังพึ่งอำนาจภายนอกจากมนุษย์ด้วยกัน เราก็หวังพึ่งผู้ใหญ่ หวังพึ่งผู้มีทรัพย์ผู้มีอำนาจ เราก็ไม่ทำงานทำการ แต่ที่ถูกนั้น แม้แต่อยู่ร่วมกันในโลกมนุษย์ เราก็ต้องทำการเองด้วยความเพียรอยู่แล้ว เราไม่ไปมัวรอพึ่งกัน ส่วนการที่จะช่วยเหลือนั้นก็ให้เป็นไปด้วยคุณธรรมของเขา ถ้าเขามีคุณธรรม เมื่อเขาเห็นคนดีมีทุกข์ เขาก็มาช่วยเหลือเอง นั้นเป็นเรื่องของคุณธรรม ไม่ใช่ไปหวังพึ่งไปมัวอ้อนวอนกันอยู่

ในระบบของมนุษย์ ถ้ามนุษย์ไปมัวหวังพึ่งกันอยู่ สังคมก็เสีย ผู้ใหญ่และคนมีทรัพย์มีอำนาจก็จะช่วยแต่คนที่มาไหว้วอน คนชั่วมาประจบก็ช่วย แต่คนดีที่ไม่มาเซ่นไหว้ ก็ไม่ช่วย ถ้าอย่างนี้สังคมก็วิบัติ ในการปฏิบัติต่ออำนาจภายนอกประเภทลี้ลับก็เช่นเดียวกัน ถ้ามัวไปหวังพึ่งกันอยู่ก็นิสัยเสียทั้งสองฝ่าย มนุษย์ที่ไปเซ่นก็อ่อนแอ เทวดาเป็นต้นก็เมาสินบน เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันก็ดี ความสัมพันธ์กับสิ่งลี้ลับอำนาจภายนอกก็ดี ก็แบบเดียวกันนั่นแหละ เราจะต้องวางความสัมพันธ์ให้ถูกต้อง ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำไป

ตกลงว่า หนึ่งขัดหลักทำการให้สำเร็จด้วยความเพียรของตนเอง

หลักการที่ ๒ นี่สำคัญมาก คือขัดหลักธรรมชาติของมนุษย์ที่ว่าจะมีชีวิตที่ดีงามได้ด้วยการฝึกฝนพัฒนา มนุษย์จะต้องพัฒนาตนเอง ถ้าเราไปหวังพึ่งผู้อื่น มัวรอหวังอำนาจช่วยเหลือจากภายนอกมาทำให้ เราก็ไม่ได้พัฒนาตัวเอง มีปัญหาก็โยนปัญหาไปให้เทวดาแก้ให้ ตัวเองไม่คิด ก็ไม่ได้พัฒนาตัวเอง เคยมีความสามารถมีปัญญาแค่ไหนก็หยุดอยู่แค่นั้น มัวแต่รอให้เทวดาทำให้ ตัวเองไม่ได้คิดแก้ปัญหา ไม่พัฒนา นี้เรียกว่าขัดหลักไตรสิกขา คือขัดหลักการพัฒนาตนของมนุษย์ ซึ่งเป็นหลักสำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนา

หลักการที่ ๓ คือหลักความไม่ประมาท ในขณะที่เราไปหวังพึ่งความช่วยเหลือของอำนาจบันดาลภายนอกนั้น เราก็รอเขา เวลานั้นเราก็ปล่อยผ่านไปไม่ได้ทำอะไร ท่านเรียกว่าตกอยู่ในความประมาท ไม่ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ หลักความไม่ประมาทเป็นหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเมื่อจะปรินิพพาน พระวาจาสุดท้ายของพระองค์ที่เรียกว่าปัจฉิมวาจาก็คือ จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม เพราะการพัฒนาตนของมนุษย์จะสำเร็จได้ด้วยความไม่ประมาท ถ้าปล่อยเวลาผ่านไป มัวรอให้เขาทำให้ ตัวเองไปนอนอยู่ ก็ผิดหลักความไม่ประมาท

หลักการที่ ๔ คือหลักพึ่งตนและความเป็นอิสระ ในพระพุทธศาสนา ธรรมที่ถืออย่างยิ่งก็คืออิสรภาพ และให้พึ่งตนเองได้ เมื่อพึ่งตนเองได้ก็ไม่ต้องคอยไปหวังพึ่งความช่วยเหลือจากคนอื่น ตนเองก็เป็นอิสระ จะพึ่งตนเองได้ก็ต้องรู้จักพึ่งตนและทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ คนที่พึ่งตน เมื่อพัฒนาตนไปก็พึ่งตนเองได้ เมื่อพึ่งตนเองได้ก็เป็นอิสระ องค์พระศาสดาเองที่มาสอนก็คือทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร มาช่วยแนะนำให้เขาพึ่งตนเองได้ คือมาสอนให้คนพัฒนาตนเองเพื่อเขาจะได้เป็นอย่างพระองค์ โดยไม่ต้องมาขึ้นกับพระองค์ ไม่ใช่ไปฝากชีวิตจิตใจไว้กับพระพุทธเจ้า

ในพระพุทธศาสนาก็มีหลักศรัทธา แต่ศรัทธานั้นเป็นเพียงเครื่องสร้างความสัมพันธ์ที่จะช่วยเกื้อหนุนเราในกระบวนการพัฒนาตัวเอง ให้ก้าวต่อไปจนเป็นอย่างพระองค์ ทุกคนเมื่อพัฒนาไปจนเป็นพระอรหันต์ก็เรียกว่าเป็นพุทธะทั้งนั้น พระอรหันต์ทุกองค์เป็นพุทธะก็คือเป็นอย่างพระพุทธเจ้า

ถ้าเราไปหวังพึ่ง เราก็ขึ้นต่อสิ่งที่เราไปขอความช่วยเหลือ ไม่เป็นตัวของตัวเอง สิ่งนั้นจะสำเร็จหรือไม่ก็ไม่ได้ด้วยตัวเรา แต่ต้องแล้วแต่ท่าน เราหมดอิสรภาพ

ในเมื่อการหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอกขัดต่อหลัก ๔ ประการนี้ จึงทำให้เราพูดว่า สิ่งเหล่านี้ถึงมีเราก็ไม่หวังพึ่ง นี้คือความเด็ดขาด แต่เราจะต้องมั่นในหลักการของพระพุทธศาสนา ๔ ประการนี้ที่จะต้องรักษาไว้ให้ได้ คือ

  1. การทำการให้สำเร็จด้วยความเพียรของตน
  2. การพัฒนาตนให้มีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป
  3. การเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท
  4. การพึ่งตนเองได้และเป็นอิสระ

จะพูดโยงรวมเป็นข้อความเดียวกันก็ได้ว่า เพียรพยายามทำการต่างๆ ในการที่จะพัฒนาชีวิตสู่ความดีงามยิ่งขึ้นไปอยู่ตลอดเวลา ด้วยความไม่ประมาท เพื่อทำตนให้เป็นที่พึ่งได้และมีอิสรภาพ

การไปหวังพึ่งสิ่งเหล่านั้นขัดต่อหลักการเหล่านี้ เราจึงไม่เอาไม่ใช้ เราไม่ต้องไปเถียงว่ามีหรือไม่มี เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าถ้าเมื่อไรรู้ว่ามันมีเราก็จะพึ่ง อะไรทำนองนี้ พระพุทธศาสนาไม่วุ่นวายกับเรื่องพวกนี้ ขอให้สังเกตว่าพระพุทธเจ้าของเราได้ชื่อว่าเป็นยอดของผู้มีฤทธิ์ใช่ไหม พระองค์ไม่ได้ปฏิเสธฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ซึ่งบางอย่างบางคนอาจจะรวมเอาไสยศาสตร์เข้ามาด้วย การที่พระพุทธเจ้าเป็นยอดของผู้มีฤทธิ์นี้ มีแต่เรื่องที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ในการประกาศพระศาสนา เนื่องจากเวลานั้นเขามีความเชื่อกันว่าใครเป็นอรหันต์ต้องมีฤทธิ์ พระพุทธเจ้าทรงใช้ฤทธิ์เพื่อปราบฤทธิ์ เพราะเมื่อทรงปราบพวกมีฤทธิ์เหล่านั้นลงได้ ให้เขาเห็นว่าพระองค์มีฤทธิ์เหนือกว่าแล้วเขาจึงยอมฟัง พอเขายอมฟังแล้วพระองค์ก็ไม่ทรงใช้ฤทธิ์อีกต่อไป แต่ในพุทธประวัติ ๔๕ พรรษาท่านเคยอ่านพบไหมว่าพระพุทธเจ้าเคยทรงบันดาลผลสำเร็จให้ใครด้วยฤทธิ์ของพระองค์ ไม่มี

ขอให้ระลึกตระหนักในหลักการของพระพุทธศาสนาและพระพุทธจริยาที่เป็นแบบอย่างอยู่เสมอว่า ขนาดพระพุทธเจ้าที่เป็นยอดของผู้มีฤทธิ์ ยังไม่เคยใช้ฤทธิ์บันดาลผลที่ปรารถนาให้แก่ผู้ใดทั้งสิ้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะถ้ามัวช่วยกันอย่างนั้นคนจะพลาดจากหลักและเขาจะหยุดพัฒนา หลักการของพระพุทธศาสนาชัดเจนมากในเรื่องนี้ ย้ำว่า หนึ่ง ทำการให้สำเร็จด้วยความเพียรของตน สอง เป็นมนุษย์ต้องพัฒนาตนจึงจะมีชีวิตที่ดีงามได้ และจึงจะเป็นผู้ประเสริฐจริง สาม ต้องไม่ประมาท และสี่ ต้องพึ่งตนเองได้เป็นอิสระ ฉะนั้นเราไม่ต้องมัวไปเถียงเรื่องเทวดามีไม่มี ฤทธิ์มีไม่มี เป็นจริงไม่เป็นจริง เพราะเรามีหลักการนี้อยู่แล้วว่า ถึงมีถึงเป็นจริงเราก็ไม่ไปหวังพึ่ง

เราสัมพันธ์กับเทวดาแบบเป็นมิตร มีความเคารพนับถือกันฉันเพื่อนร่วมโลก แม้แต่เวลาพระสวดมนต์ ก็ยังมีการชุมนุมเทวดาด้วย ชุมนุมเทวดาหมายความว่าอย่างไร ก่อนที่พระจะเจริญพุทธมนต์ในงานมงคล จะมีพระองค์หนึ่งตั้งพัดขึ้นมากล่าวคำชุมนุมเทวดา คือการบอกว่า ขณะนี้พระกำลังจะนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาสาธยาย เจริญพุทธมนต์นั้นมีความหมายสำคัญแต่เดิม คือการนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาสาธยาย คนฟังก็จะได้เรียนรู้ได้สดับและเตือนใจตนเองไปด้วย ทีนี้เราก็ใจกว้างไม่สงวนไม่จำกัดการฟังไว้แค่ในหมู่มนุษย์เท่านั้น แต่เราคิดถึงเทวดาด้วยว่า เทวดาท่านก็ยังต้องการธรรมไปพัฒนาตนเอง เพราะเรารู้อยู่ว่าเทวดาท่านยังมีกิเลสมากบ้างน้อยบ้าง ก็เชิญท่านมาฟังด้วย

ลองดูตำนานเทวดาหรือเทพนิยายสิ เทวดายกทัพไปรบกัน แย่งคู่ครองกัน ยังมีโลภะ โทสะมาก เพราะฉะนั้นเวลาเราสวดมนต์เราก็เผื่อแผ่ใจแก่เทวดาด้วย เราก็บอกว่าเราจะฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วนะ พระจะสวดให้ฟัง ต่อไปนี้เทวดาอยู่ไหนๆ ก็ขอเชิญมาฟังธรรมด้วย คนไม่รู้ก็นึกว่าพระชุมนุมเทวดานี่คงนับถือและอ้อนวอนเทวดาด้วย เปล่า ขอให้ดูคำลงท้ายที่ว่า ธมฺมสฺสวนกาโล อยมฺภทนฺตา ท่านว่าสามครั้งเลย แปลว่าท่านผู้เจริญทั้งหลาย บัดนี้ถึงเวลาฟังธรรมแล้ว นี่คือบอกเทวดาให้มาฟังธรรมด้วย ท่านจะได้เรียนรู้ ท่านจะได้พัฒนาปัญญา เอาธรรมไปใช้ในการพัฒนาชีวิตของท่าน ท่านจะได้มีคุณธรรมมากขึ้น เลิกรบราฆ่าฟันแย่งคู่ครองกัน อะไรทำนองนี้ นอกจากนั้น ชาวบ้านหรือคนทั่วไปที่ยังหวั่นหวาดอำนาจของเทวดาอยู่ ก็จะได้สบายใจว่าเทวดาก็มาฟังธรรมอยู่กับเราด้วย เป็นพวกเดียวกับเราแล้ว ไม่ต้องห่วงไม่ต้องกังวล จะได้ตั้งใจฟังธรรมในคำสวดมนต์ด้วยใจสงบเป็นสมาธิ เป็นอันว่าเรื่องนี้จะต้องเข้าใจคติพระพุทธศาสนาให้ดี

พระพุทธศาสนาถือหลักการว่าธรรมเหนือเทพ มนุษย์สมัยก่อนนี้อยู่กันในสังคมที่คนนับถือและกลัวอำนาจเทวดามาก พระพุทธศาสนาก็มาสอนว่า นี่นะ ถ้ามนุษย์ตั้งอยู่ในธรรมและยืนหยัดในธรรมแล้วก็ไม่ต้องกลัวเทวดา ถ้าเกิดเรื่องกันระหว่างมนุษย์กับเทวดาก็ให้ถือธรรมเป็นใหญ่ ถ้าเรามั่นใจว่าอยู่ในธรรมถูกต้องแล้วก็ไม่ต้องกลัวเทวดา เทวดาต้องแพ้ ดังที่มีเรื่องในตำนานพุทธศาสนาแบบนี้ไว้มากสำหรับให้กำลังใจแก่ชาวพุทธ เรื่องนี้พูดมามากแล้วเดี๋ยวจะกลายเป็นการเข้ามาสู่เรื่องของเกร็ดปลีกย่อยไป เวลายิ่งน้อยๆ อยู่ด้วย

เอาเป็นว่าหลักการของพระพุทธศาสนานั้นชัดเจน เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำคนของเราให้เข้มแข็งขึ้นมา สิ่งที่เป็นปัจจัยแห่งความอ่อนแอเหล่านี้ เราต้องรู้เท่าทัน และจะต้องปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง ที่สำคัญคือเราจะต้องพัฒนาคนให้เข้มแข็ง เมื่อเข้มแข็งจริงจึงจะยืนหยัดอยู่ได้ไม่ถูกครอบงำ และถ้าทำได้เราก็จะชนะการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม ระบบแข่งขันนี้จะต้องระลึกตระหนักกันไว้ว่าเป็นระบบที่เป็นภัยอันตรายต่อโลกมนุษย์ เพราะเป็นระบบที่นำมาซึ่งการแย่งชิงผลประโยชน์ และการเอารัดเอาเปรียบกันในสังคม พร้อมทั้งเป็นการล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติเพราะต้องการหาผลประโยชน์มาก ต้องคอยยุคนให้มีค่านิยมบริโภคเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์มากๆ ถ้าอยู่ในระบบแข่งขันแบบนี้ก็ไม่มีทางแก้ไขปัญหาของอารยธรรม

มนุษย์เราตอนนี้อยู่ในภาวะจำเป็นจำยอมต้องสู้ในการแข่งขัน มิฉะนั้นเขาก็จะครอบงำเรา เราต้องเข้มแข็งยืนหยัดไม่ให้เขาครอบงำและพยายามเอาชนะ แต่ถ้าเราชนะและเราขืนอยู่ในระบบแข่งขัน เราก็ร่วมในการทำลายโลกด้วย เพราะฉะนั้น เราต้องขึ้นเหนือการแข่งขัน มนุษย์ที่จะเหนือการแข่งขันต้องเข้มแข็งยิ่งกว่าคนที่ชนะการแข่งขันอีก ต้องเก่งกว่านั้นแล้วจึงมาแก้ปัญหาจากระบบแข่งขันอีกชั้นหนึ่ง เวลานี้ในโลกนี้ยังไม่มีใครทำได้ถึงขั้นนี้เลย ไม่ว่าอเมริกาหรือญี่ปุ่นก็ได้แค่คิดจะชนะในการแข่งขัน และแม้แต่จะเอาแค่นี้ก็แทบตายแล้ว ขนาดอเมริกาตอนนี้เพียงแค่ว่าทำอย่างไรจะชนะญี่ปุ่นก็แทบจะตายแล้ว จึงไม่มีทางที่จะให้เก่งกว่านั้น เพราะฉะนั้น ปัญหาสำคัญยิ่งสำหรับยุคปัจจุบัน ก็คือทำอย่างไรจะมีมนุษย์ที่เก่งจริง ที่ขึ้นไปเหนือการแข่งขัน แล้วมาแก้ปัญหาของระบบแข่งขัน

สำหรับสังคมไทยนี้ มีเรื่องหนึ่งที่น่าสังเกตซึ่งขอแทรกเข้ามา คือว่า ในขณะที่คนไทยเรามีแนวโน้มในการหวังพึ่งความช่วยเหลือจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นอำนาจดลบันดาลจากมนุษย์ด้วยกันหรือจากสิ่งลี้ลับก็ตามนี้ ก็มีปัญหาซ้อนเข้ามาอีกคือความไม่ชัดเจนแห่งขอบเขตของการที่จะช่วยเหลือและการที่จะต้องทำด้วยตนเอง ภาวะครึ่งๆ กลางๆ ไม่แน่นอนชัดเจนนี้จะยิ่งเพิ่มผลร้ายหนักขึ้นไปอีก สังคมที่เป็นอย่างนี้จะพัฒนาได้ยาก

ธรรมดามนุษย์นั้น ขอให้รู้เด็ดขาดกันไปเถอะว่าไม่มีใครช่วย จะต้องทำเอง แล้วเขาจะดิ้นสุดแรง เขาจะเข้มแข็ง เขาจะลุกขึ้นมาทำแล้วก็จะมีทางสำเร็จ แต่มนุษย์ที่ก้ำๆ กึ่งๆ ครึ่งๆ กลางๆ ไม่รู้แน่ลงไปว่าเขาจะช่วยเราแค่ไหน เขาจะช่วยไหมหนอ และไม่รู้ว่าตัวเราจะต้องทำแค่ไหน ไม่เด็ดขาดลงไปนี่ ก็จะรีๆ รอๆ หันรีหันขวาง แล้วก็อยู่อย่างนั้นแค่นั้นแหละ ไม่มุ่งมั่นทำอะไรให้จริงจังขึ้นมา ไปไม่ถึงไหน และจะไม่พัฒนา สังคมไทยกำลังอยู่ในภาวะนี้หรือเปล่า เช่น ชาวบ้านก็หวังพึ่งความช่วยเหลือจากภายนอก เช่นจากรัฐบาล จากนักการเมือง โดยไม่รู้ขอบเขตว่าเขาจะช่วยแค่ไหน ตัวเองจะต้องทำแค่ไหน ถ้าขืนเป็นอย่างนี้สังคมจะพัฒนาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความไม่ชัดเจนในขอบเขตของการช่วยเหลือและการที่ต้องทำนี้เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข

คนอยู่ในทะเลทราย เมื่อเขารู้แน่นอนว่าไม่มีใครช่วยต้องดิ้นเองก็ยังสู้ได้ เมื่อเขามุ่งมั่นทำไปอย่างเด็ดเดี่ยว ไม่รีรออะไรอยู่ เขาอาจจะพัฒนาแก้ทะเลทรายให้เป็นที่อุดมสมบูรณ์ก็ได้ แต่คนที่มัวแต่รีๆ รอๆ เก้ๆ กังๆ ครึ่งๆ กลางๆ อย่างนี้ จะไม่ไปไหนเลย แม้จะอยู่ในสภาพที่มีอะไรจะทำได้มากมาย ก็สูญเสียโอกาส ไม่ได้ประโยชน์

นอกจากนั้น มนุษย์ที่หวังความช่วยเหลือจากคนอื่นก็ได้แต่มองออกไปข้างนอก จุดสนใจก็มาอยู่ที่ตัวเอง เพราะหวังพึ่งความช่วยเหลือให้แก่ตนเอง และจุดสัมพันธ์ก็อยู่ที่อำนาจภายนอกที่ตนหวังว่าจะมาช่วยนั้น ก็เลยไม่ได้มองดูเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เลยไม่มีความโน้มเอียงที่จะแสวงหาความช่วยเหลือหรือร่วมมือกันภายในชุมชนของตน เพราะความสนใจมุ่งมาที่ตัวเอง และความสัมพันธ์กับสิ่งหรืออำนาจจากภายนอกที่จะเป็นแหล่งแห่งความช่วยเหลือนั้น เลยมองข้ามเพื่อนร่วมชุมชนของตนไป

ในทางตรงข้าม ถ้าไม่มีแหล่งช่วยเหลือจากภายนอก ความสนใจของคนจะขยายออกไปสู่ผู้ที่อยู่ร่วมกัน เขาจะมองดูสุขทุกข์ของกันและกัน และจะแสวงหาความร่วมมือจากกันและกัน การร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันก็จะเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่เป็นการช่วยเฉพาะตัวเองเท่านั้น

หลักการพึ่งตนเองก็คือทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ การทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ก็คือการที่มนุษย์จะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นด้วย เพื่อให้ตนเองเป็นผู้ที่สมควรและสามารถรับเอาประโยชน์จากผู้อื่น นี้คือหลักการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ไม่ใช่อยู่ๆ จะบอกว่าพึ่งตนเอง พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนเฉยๆ ว่าให้พึ่งตนเอง แต่ในการที่จะพึ่งตนเองนั้นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือจะต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ หมายความว่า พึ่งตนด้วยการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ อันนี้สิสำคัญกว่า เพราะการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ก็คือการที่ต้องรู้จักพัฒนาตนเองด้วยการสร้างเสริมคุณสมบัติความดีงามความสามารถขึ้นในตนเอง พร้อมไปด้วยกันกับการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์ ดังจะเห็นได้ว่า ในหลักการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้นั้น มีข้อปฏิบัติอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ในชุมชนหรือในหมู่พวกของเรามีธุระการงานอะไรที่จะต้องช่วยเหลือกัน ก็พร้อมที่จะช่วยจัดช่วยทำ เริ่มแต่คอยมองคอยถามว่ามีอะไรต้องช่วยกันทำบ้าง อย่างนี้ถือว่าเป็นการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้อย่างหนึ่ง

เมื่อมนุษย์ไม่หวังความช่วยเหลือจากภายนอก เวลามีอะไรเกิดขึ้น เขาก็จะมีความสนใจในหมู่คนที่อยู่ด้วยกัน และในการที่จะมาร่วมมือช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหา เพราะการที่จะให้ตัวรอดจะต้องอาศัยผู้อื่นด้วย ในเวลาเดียวกันเขาก็จะมองเห็นสุขทุกข์ของผู้อื่นแล้วก็จะเกิดความช่วยเหลือและร่วมมือกัน แต่การไปหวังพึ่งอำนาจภายนอกช่วยเหลือ แม้แต่อำนาจภายนอกจากมนุษย์ด้วยกันที่ยิ่งใหญ่อยู่ข้างนอก จะทำให้มนุษย์ไม่คิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง และไม่ช่วยกันแก้ปัญหา เมื่อเป็นอย่างนี้ก็จะเป็นปัญหาแก่การพัฒนาประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยนั้นเกิดจากการที่มนุษย์ต้องใช้ปัญญา ด้วยการระดมความคิดที่จะมาช่วยกันร่วมกันทำให้สำเร็จ การช่วยกันคิดแก้ปัญหาของชุมชนหรือของสังคมของตนเอง และการเอาสติปัญญามาร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์และแก้ปัญหา จะไม่เกิดขึ้น เพราะมองข้ามพวกพ้องผองเพื่อนไปหวังพึ่งแต่ภายนอก สังคมแบบนี้จะพัฒนาประชาธิปไตยได้ยาก นี้ก็เป็นปัญหาที่เราจะต้องแก้ไข

ต้องข้ามพ้นยากล่อมและสิ่งเสพติด
ชีวิตและสังคมจึงจะไปรอด

ขอแทรกเข้ามาอีกเกี่ยวกับเรื่องการทำคนของเราให้เข้มแข็ง คือจากความโน้มเอียงที่ชอบความง่ายและความสะดวกสบายนี้ คนที่ประสบปัญหาเจอความทุกข์ บางทีแทนที่จะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย ก็อาจจะใช้อะไรบางอย่างมาเป็นสิ่งแก้ปัญหาชั่วคราว หรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้ตัวสบายไปพลางก่อน หรือแม้แต่เอามาช่วยให้หลบปัญหา หลบทุกข์ไปได้ชั่วคราว ฉะนั้นหลักที่ว่าไปตามธรรมชาติของมนุษย์ว่า เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามจะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวายแล้วจะเข้มแข็งนั้น ยังมีข้อยกเว้น เนื่องจากมีตัวแปรเป็นเงื่อนไขแทรกเข้ามา ตัวแปรนี้คือสิ่งที่จะใช้เป็นเครื่องผ่อนคลาย เป็นทางออกชั่วคราว หรือทำให้เพลินๆ ทำให้หลบทุกข์ลืมปัญหาไปได้ แม้แต่คราวหนึ่งทีหนึ่ง ซึ่งขอใช้คำรวมง่ายๆ ว่า สิ่งกล่อม

อารยธรรมยังไปไม่ไกล มนุษย์ยังต้องอาศัยสิ่งกล่อม

สิ่งกล่อมมีมากมายหลายอย่างและหลายระดับ ตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียด บางอย่างก็มีแต่โทษ บางอย่างก็มีประโยชน์ไม่น้อยถ้ารู้จักใช้แต่พอดี แม้แต่หลักปฏิบัติบางอย่างในทางพระศาสนาบางทีก็ถูกนำมาใช้ในทางที่อาจจะเกิดโทษโดยไม่รู้ตัว เพราะคนที่มีทุกข์มีปัญหาจิตใจ ก็หาทางแก้ปัญหาด้วยการนำหลักปฏิบัตินั้นๆ มาใช้ทำจิตใจให้สบาย

สิ่งกล่อมในขั้นที่หยาบมากซึ่งมีแต่โทษเป็นอันตรายก็เช่น สุรา ยาเสพติด และการพนัน ซึ่งเป็นทางเลี่ยงหลบจากความทุกข์และช่วยให้ลืมปัญหาในเมื่อไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอ โดยเฉพาะการพนัน อาจเป็นเพราะอยากจะได้ผลสำเร็จ แต่ไม่สู้ที่จะทำงานหนัก จึงคิดเอาเฉพาะหน้าง่ายๆ โดยหวังลาภลอย และหลายครั้งจะเอาไปโยงกับเรื่องอำนาจดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไปหวังพึ่งอำนาจดลบันดาล จึงไปเล่นการพนันพร้อมกับบนบานไปด้วย เรียกว่าเป็นการหวังลาภลอยจากสิ่งเลื่อนลอย นับว่าเป็นทางออกจากการที่จะต้องทำด้วยความเพียรพยายามที่หนักและยากลำบาก พร้อมทั้งเป็นสิ่งกล่อมด้วย คือกล่อมใจให้สบาย ลืมทุกข์หลบปัญหาไปได้ทีหนึ่งๆ เช่นเดียวกับยาเสพติด ซึ่งเป็นทางออกอย่างหนึ่งของคนที่มีความทุกข์ ซึ่งไปพึ่งยาเสพติดเพราะใจของเขาไม่มีความสุข จึงเอาสิ่งเสพติดมาช่วยให้ลืมความทุกข์ และหวังจะได้สุขจากการเสพนั้น

สิ่งกล่อมสำคัญทางนามธรรม ซึ่งแพร่หลายและมีอิทธิพลอย่างยิ่ง ก็คือ ความเชื่อต่ออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พูดไปแล้วนั่นเอง ความเชื่อนี้เป็นเครื่องปลอบประโลมใจในยามทุกข์ ทำให้เกิดความหวังในความสุขความสำเร็จ และทำให้เกิดความอบอุ่นใจ แต่ก็ทำให้เกิดความโน้มเอียงในทางที่จะหวังพึ่งและรอคอยความช่วยเหลืออย่างที่กล่าวมาแล้ว อย่างน้อยก็เป็นเครื่องกล่อมใจ ทำให้เกิดความเบาใจสบายใจ แล้วก็เลยไม่เร่งรัดไม่กระตือรือร้นที่จะทำการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ เหมือนเด็กน้อยในอ้อมอกพ่อแม่ หรือเหมือนนกกระจอกเทศที่หนีภัยเอาหัวไปซุกทราย บอกตัวเองว่าปลอดภัย โดยที่ภัยนั้นก็ยังมีอยู่ และปล่อยให้ภัยอันตรายหรือปัญหานั้นพัฒนาตัวเพิ่มมากและรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น จึงต้องระวังมาก ถ้าใช้ไม่เป็นก็เป็นโทษมาก

ในบางสังคมผู้คนแม้จะมีทุกข์บีบคั้นมาก เช่นยากจนแร้นแค้น แต่มีความเชื่อในศาสนาแบบหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้เป็นเครื่องกล่อมใจ สิ่งกล่อมทางความเชื่อด้านจิตใจนี้ ก็สลายภาวะบีบเร่ง คนก็ไม่ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย ไม่กระตือรือร้นบุกฝ่าไป สังคมแบบนี้ น่าจะยกเอาอินเดียเป็นตัวอย่างได้

เรายอมรับว่ามนุษย์ปุถุชนทั่วไปยังมีปัญหาจิตใจ จึงต้องอาศัยสิ่งกล่อมช่วยบ้าง อย่างน้อยเพื่อเป็นเครื่องพักผ่อนหย่อนใจคลายกังวล พอให้เพลินๆ หลบเรื่องร้อน ลืมเรื่องรัด ทำให้สดชื่น ฟื้นกำลัง เพิ่มความมีชีวิตชีวาบ้างเป็นบางครั้งบางคราว สิ่งกล่อมอย่างสามัญ ก็คือการบันเทิง ดนตรี และกีฬา ตลอดจนวรรณคดี ซึ่งถ้ารู้จักเลือกและรู้จักใช้ก็เป็นประโยชน์ไม่น้อย นอกจากเป็นสิ่งกล่อมแล้ว ยังอาจใช้เป็นสื่อที่จะนำขึ้นสู่สิ่งที่ดีงามสูงส่งหรือประเสริฐยิ่งขึ้นไป แม้แต่นำสู่ความเข้าใจธรรม ต่างจากสุรายาเสพติดและการพนันที่เป็นอันตรายมาก แทบว่าจะมีแต่โทษอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม สิ่งกล่อมทุกอย่าง สามารถก่อโทษได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะ ถ้าไปติดในสิ่งกล่อมเมื่อใดก็เสียทันที จึงต้องระวังใช้สิ่งกล่อมเพียงเพื่อแก้ปัญหาชั่วคราว หรือช่วยให้สดชื่น หายแห้งแล้ง หายเหน็ดเหนื่อย ทำให้กระชุ่มกระชวยมีพลังแล้วก็ทำงานการเดินหน้าต่อไป เหมือนอย่างคนที่มีปัญหาถึงกับนอนไม่หลับ ก็อาจต้องใช้ยากล่อมประสาทช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ยากล่อมประสาทก็ถือว่ามีประโยชน์ แต่อย่าอยู่ใต้อำนาจยากล่อมประสาท หมายความว่าอย่ากลายเป็นทาสของมันจนกระทั่งต้องนอนหลับด้วยยากล่อมประสาทตลอดไป ถ้าถึงขั้นนั้นก็แย่หน่อย แต่ถ้าใช้ชั่วคราวก็พอได้

แม้แต่ข้อปฏิบัติดีงามอย่างสูงลึกซึ้งทางจิตใจ ก็เอามาใช้เป็นสิ่งกล่อมได้ จัดเป็นสิ่งกล่อมอย่างประณีต เช่นสมาธิ เวลามีปัญหาจิตใจ ไม่สบายใจ มานั่งสมาธิก็สบาย หลบปัญหาไปได้ มีความสุข ก็เลยเกิดความโน้มเอียงว่า ถ้าไม่สบายใจมีปัญหาก็มานั่งสมาธิสบายไป ต่อไปพอเจอปัญหาข้างนอกก็ไม่เอาละ ฉันหลบทุกข์มาอยู่ในสมาธิ หาความสุขได้ ก็เลยไม่แก้ปัญหา ถ้าอย่างนี้สมาธิก็กลายเป็นสิ่งกล่อม จึงต้องระวังมากเหมือนกัน

ในเมื่อมนุษย์ปุถุชนยังต้องอาศัยสิ่งกล่อม และสิ่งกล่อมอาจก่อให้เกิดโทษได้มาก การปฏิบัติให้ถูกต้องต่อสิ่งกล่อมจึงมีความสำคัญมาก เพื่อความเข้าใจง่ายในเรื่องนี้ อาจแบ่งบทบาทของสิ่งกล่อมเป็น ๓ ขั้น คือ

๑. ขั้นผ่อนคลาย คือ ใช้เพื่อพักกายพักใจ เพื่อผ่อนคลาย เพื่อฟื้นฟู ทำให้หายเหน็ดเหนื่อย หายล้า หายเปลี้ย ทำให้สดชื่นมีกำลังสบายขึ้น พร้อมที่จะก้าวเดินต่อไป

๒. ขั้นกล่อม คือ ทำให้เพลิน ทำให้เคลิบเคลิ้ม ปล่อยตัวปล่อยจิตปล่อยใจไปกับความเพลิดเพลิน

๓. ขั้นเสพติด คือ เกิดความลุ่มหลงหมกมุ่น สยบ หรือมัวเมา ต้องอาศัยเป็นเครื่องช่วยให้ลืมปัญหา หรือเป็นที่หลบทุกข์ ตลอดจนต้องพึ่งพาขึ้นต่อมันในการที่จะมีความสุข

ถ้ายังจะใช้สิ่งกล่อม ก็ควรใช้อยู่ในขอบเขตของขั้นที่ ๑ คือขั้นผ่อนคลายเท่านั้น เพราะถ้าเลยขอบเขตเข้าสู่ขั้นที่ ๒ และ ๓ ก็จะกลายเป็นความประมาท และหยุดการพัฒนา

อนึ่ง ที่ว่าข้อปฏิบัติดีงาม เช่น สมาธิ ก็อาจกลายเป็นสิ่งกล่อม และอาจเกิดโทษได้เมื่อใช้ผิด เรื่องนี้จะระวังอย่างไร หลักการในเรื่องนี้มีอย่างไร ขอชี้แจงว่า สมาธิก็เช่นเดียวกับข้อปฏิบัติอื่นในพระพุทธศาสนา ข้อปฏิบัติทุกข้อในพระพุทธศาสนาอยู่ในระบบไตรสิกขา ไตรสิกขาก็คือระบบการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ตามหลักการแห่งธรรมชาติของมนุษย์เอง ที่ว่าเป็นสัตว์ที่ต้องเรียนรู้จึงจะอยู่ดีมีชีวิตที่เลิศได้ มนุษย์จะต้องพัฒนาไปข้างหน้า จนกว่าจะถึงจุดหมายสูงสุดเป็นชีวิตที่ดีงามแท้จริง ถ้ายังไม่ถึงแล้วหยุดไม่ได้ ถ้าเอาอะไรมาทำให้หยุดก็แสดงว่าพลาดผิดแล้ว เพราะฉะนั้น สมาธิที่ใช้ในลักษณะเป็นสิ่งกล่อม ทำให้สบายเป็นสุขได้อย่างนี้ เป็นเพียงการหลบทุกข์ลืมปัญหาทำให้หยุดไม่พัฒนา ก็ต้องผิด

สมาธิที่แท้จริงนั้นเป็นองค์ประกอบของไตรสิกขา อยู่ในกระบวนการพัฒนา เพราะฉะนั้นมันจะต้องเป็นปัจจัยส่งต่อในการที่จะทำให้เดินหน้าต่อไป ด้วยเหตุนี้ในระบบไตรสิกขาท่านจึงวางเป็นกระบวนการไว้ว่า ให้พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา ไปจนตลอด สมาธิต้องเพื่อปัญญา สมาธิถ้าไม่ใช้เพื่อปัญญาต้องผิด อย่างน้อยก็ยังพร่อง เป็นเรื่องที่วินิจฉัยได้ง่ายๆ

ธรรมทุกข้อพูดได้ด้วยหลักการนี้ ถ้าธรรมข้อไหนปฏิบัติแล้วทำให้หยุด แม้แต่ทำให้สบายมีความสุขได้ก็ต้องผิดหรือยังพร่อง คือได้ผลเพียงข้างเดียวหรือส่วนเดียวและเสียดุล เช่น ปลงอนิจจังได้ก็สบายไปที หรือปลงกรรมเก่าว่าเป็นกรรมของเราก็ต้องปล่อยไปตามกรรม เลยกลายเป็นทำกรรมใหม่ที่ร้ายแรงคือความประมาทโดยไม่รู้ตัว รวมความว่า ธรรมทุกข้อจะต้องถามและตอบได้ว่ามันส่งผลสืบทอดไปยังข้อปฏิบัติอื่นให้ไปสู่จุดหมายอย่างไร เมื่อเป็นอย่างนั้นจึงจะอยู่ในระบบหรือกระบวนการของไตรสิกขา

ต้องรู้จักออมแรงออมเวลา การพัฒนาจึงจะได้ผล

ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่งของข้อปฏิบัติที่ต้องส่งผลสืบทอดต่อไปในกระบวนการของไตรสิกขา คือสันโดษ ถ้าสันโดษแล้วสุขสบายแล้วนอน ก็ขี้เกียจ เป็นอันว่าจบกัน แสดงว่าผิด สันโดษนี่ก็เป็นธรรมสำคัญที่ปฏิบัติผิดกันมาก ไหนๆ พูดถึงแล้วก็พูดเสียเลย

สันโดษนี่คนไทยเดี๋ยวนี้เข้าใจผิดกันมาก ถามเด็กๆ หนุ่มๆ ว่าสันโดษคืออะไร ก็มักตอบว่าคือไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับใคร ปลีกตัวไปอยู่คนเดียว อันนี้ผิดไปลิบแล้ว ความหมายคลาดเคลื่อนหมด สันโดษคือความพอใจในสิ่งที่มีเป็นของตน มีอะไรมาเป็นของตนก็ยินดีพอใจเกิดความสุขได้ในสิ่งที่ตนมีอยู่ ไม่ทะเยอทะยานร่านรนหาสิ่งที่ตนยังไม่มีไม่ได้ หมายความว่ามีสุขได้ด้วยสิ่งที่ตนมี หรือมองอีกแง่หนึ่งก็คือเป็นสุขง่ายด้วยวัตถุน้อย แม้จะมีวัตถุเสพน้อยก็มีความสุขได้

อย่างไรก็ตาม ข้อที่ต้องระวังที่สุด ก็คือจะต้องทราบว่าความสุขไม่ใช่วัตถุประสงค์ของสันโดษ ความสุขเป็นเพียงผลพลอยได้ที่มีมาเองของสันโดษ เมื่อสันโดษก็สุขเลยทันที เพราะว่าเกิดความพอใจในวัตถุนั้นก็มีความสุขแล้ว เรามีวัตถุแค่ไหนเราก็มีความสุขได้ทันทีในเมื่อเรามีความพอใจในวัตถุนั้น แต่ในการปฏิบัติตามระบบไตรสิกขาซึ่งเป็นเครื่องพัฒนาคน จะอยู่แค่นั้นไม่ได้ จะต้องถามว่า สันโดษเพื่ออะไร หรือถามให้ตรงยิ่งกว่านั้นว่าเพื่อให้พัฒนาต่อไปอย่างไร คือมันจะต้องส่งผลต่อไปยังการปฏิบัติอื่นข้างหน้า จึงต้องถามว่าจะส่งผลอย่างไร

การที่เราสันโดษคือพอใจในวัตถุที่มีที่ได้นั้นจะเกิดผลอะไรขึ้นมา เราจะได้อะไร เราก็สงวนเวลา แรงงาน และความคิดไว้ได้สิ ลองดูว่าคนไม่สันโดษเป็นอย่างไร คนไม่สันโดษก็ไม่พอใจด้วยสิ่งที่มีเป็นของตน เขาจะมองหาแต่ สิ่งที่ยังไม่มี ยังไม่ได้ ที่ยังไม่เป็นของตน ฉันจะสุขได้ต้องได้อันนั้นต้องได้อันนี้ สิ่ง (วัตถุเสพ) ที่ตนมีไม่สามารถทำให้ตนมีความสุข ความสุขอยู่กับสิ่งที่ยังไม่ได้ไม่มี เพราะฉะนั้น ในแง่วัตถุเสพนี่เขาไม่เจอความสุขความพอใจสักที เพราะความสุขของเขาอยู่กับสิ่งที่ยังไม่มียังไม่ได้ตลอดไป

เมื่อไม่สามารถมีความสุขจากวัตถุที่มีที่ได้แล้ว จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อไม่สันโดษและความสุขไปอยู่กับสิ่งที่ยังไม่มียังไม่ได้ เขาก็ต้องใช้เวลาและแรงงานมากในการที่จะโลดแล่นแสวงหาสิ่งเสพ เวลาก็หมดไปแรงงานก็หมดไปในการหาสิ่งเหล่านี้ ยิ่งกว่านั้นในด้านความคิด ก็ครุ่นคิดแต่ว่าทำอย่างไรจะได้อันนั้น จะไปหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอที่ไหน ความคิดก็หมดไปกับเรื่องนั้น เพราะฉะนั้น ทั้งความคิดทั้งเวลาและแรงงานที่จะเอามาใช้กับการทำหน้าที่การงานทำการสร้างสรรค์ก็หมดไป

นอกจากนั้น เมื่อเวลาไม่พอที่จะไปหาสิ่งเสพก็ต้องเบียดบังเวลาทำงานทำการ ต่อไปสิ่งที่จะเสพนั้นต้องได้มาด้วยเงินทองเป็นต้น เมื่อเงินทองไม่พอก็ต้องทุจริตเพื่อจะเอาไปใช้จ่ายหาสิ่งเสพ และเพราะความสุขอยู่กับสิ่งเสพ ใจก็ไม่อยู่กับงาน ก็เลยทำงานด้วยความทุกข์ความจำใจ การทำงานกลายเป็นความทุกข์ทรมาน ไม่มีความสุข เป็นอันว่าคนไม่สันโดษเสียหมดทุกด้าน สุขจากวัตถุก็ยังไม่ได้ ทำการงานก็ทุกข์ทรมาน เสร็จแล้วยังมีปัญหาเรื่องเบียดบังเวลาทำงาน และเรื่องทุจริตอีกด้วย

ในทางตรงข้าม พอมีความสันโดษ วัตถุเสพมีเท่าใดก็สุขได้ทันที

๑. ความสุขจากวัตถุก็มีแล้ว

๒. เวลา แรงงาน และความคิดก็สงวนไว้ได้มากมาย แล้วก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นไปทุ่มเทให้กับการงานที่ต้องการจะทำ การทำงานสร้างสรรค์ก็มีเวลา แรงงานและความคิดที่จะทำได้เต็มที่ ก็เลยมีการทำสิ่งที่ดีงาม และการสร้างสรรค์ได้มากมาย

๓. เมื่อไม่กระวนกระวายที่จะพล่านหาสิ่งเสพ ใจก็อยู่กับงานและรักงาน ก็มีความสุขในการทำงานอีก

เป็นอันว่า เมื่อสันโดษแล้วก็ได้หมด สุขจากวัตถุก็ได้ สุขจากการทำงานก็ได้ แล้วยังทำงานได้ผลดีด้วย เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงสอนให้สันโดษ แต่ต้องมีตัวตาม ใครไปพูดถึงสันโดษเฉยๆ ใช้ไม่ได้ พระพุทธศาสนาไม่ใช่สอนแค่ว่าสันโดษ แต่สันโดษต้องมีตัวตาม คือสันโดษในวัตถุสิ่งเสพ แล้วก็ให้ไม่สันโดษในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามที่เรียกว่ากุศลธรรม

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยความไม่สันโดษ พระพุทธเจ้าเป็นยอดของคนไม่สันโดษ ถ้าพูดอย่างนี้ญาติโยมบางทีอาจจะสงสัยว่าทำไมพระว่าอย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองว่า ที่เราตรัสรู้มานี้ได้เห็นคุณของธรรม ๒ ประการคือ

  1. ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย
  2. ความเพียรไม่ระย่อ

หมายความว่า ลงได้เห็นว่าอะไรเป็นเหตุผลดีงามแล้วพระองค์ไม่มีหยุดเลย พระองค์ไม่สันโดษในกุศลธรรม และสอนให้ทุกคนไม่สันโดษในกุศลธรรม เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาจึงสอนทั้งสันโดษและไม่สันโดษ สันโดษในสิ่งเสพแล้วก็ไม่สันโดษในกุศลธรรม

ในด้านสิ่งดีงามหรือการสร้างสรรค์แล้วท่านไม่ให้สันโดษ ถ้าสันโดษเมื่อไรท่านเรียกว่าประมาท แม้แต่เป็นอริยบุคคลแล้วมาเกิดความสันโดษเช่นพอใจในคุณธรรมความดีที่ทำได้สำเร็จ พระพุทธเจ้าตรัสว่านี่เธอประมาทแล้ว ในเรื่องสิ่งดีงามที่เป็นเรื่องของการพัฒนามนุษย์แล้วจะหยุดไม่ได้ตราบเท่าที่ยังไม่ถึงจุดหมาย

เมื่อไม่สันโดษในกุศลธรรมคือในสิ่งสร้างสรรค์ที่ดีงาม ก็มารับกันกับสันโดษในสิ่งเสพ พอเราสันโดษในสิ่งเสพ เราก็ไปไม่สันโดษในกุศลธรรมหรือในการสร้างสรรค์สิ่งดีงามได้เต็มที่ หลักการมันหนุนกันอย่างนี้ แต่เราไม่ค่อยจับหลักกัน คือหลักเรื่ององค์ธรรมหรือข้อปฏิบัติทุกข้ออยู่ในระบบไตรสิกขา ต้องส่งผลต่อกันในการเดินหน้าสู่จุดหมาย ไม่ใช่หยุดอยู่

เป็นอันว่า ตอบคำถามได้แล้วว่าสันโดษเพื่ออะไร สันโดษส่งผลต่อ สู่การเดินหน้าในการปฏิบัติต่อไปอย่างไร สันโดษเพื่อออมแรงออมเวลาและออมความคิดไว้ จะได้เอาแรงงาน เวลาและความคิดนั้นไปทุ่มเทอุทิศให้แก่การเพียรพยายามทำการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามยิ่งขึ้นไปได้อย่างเต็มที่

ที่ว่ามานี้เป็นการยกตัวอย่าง แต่เดี๋ยวจะไปกันใหญ่ ตกลงว่าตอนนี้สิ่งที่ต้องการก็คือจะให้คนมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะแง่คิดที่ว่าจะแก้ปัญหาเรื่องความอ่อนแออย่างไร ซึ่งจะต้องพูดกันอีก

เร่งรัดพัฒนาด้วยระบบสร้างความเครียด กับระบบสติปัญญา

ก่อนจะผ่านไป ขอย้อนกลับมาพูดเรื่องสิ่งกล่อมอีกหน่อย ได้พูดแล้วว่าตามธรรมดาของมนุษย์ทั่วไป เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นหรือภัยคุกคาม จึงจะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย แล้วก็ทำให้เจริญเข้มแข็งขึ้นมา แต่เมื่อพรั่งพร้อมสุขสบายก็มีความโน้มเอียงที่จะเฉื่อยชาเกียจคร้านและนอนเสวยสุข แล้วก็อ่อนแอและเสื่อมลง เพราะธรรมดาวิสัยของมนุษย์ปุถุชนที่หมุนเวียนไปตามกิเลสอย่างนี้ ชีวิตและสังคมมนุษย์จึงวนเวียนอยู่ในวงจรแห่งความเจริญและความเสื่อมกันเรื่อยตลอดมา การพัฒนาคนที่จะถึงขั้นที่นับได้ว่าได้ผลจริงบรรลุความสำเร็จ จะต้องทำให้คนมีความดีงามความสามารถพอที่จะหลุดพ้นขึ้นอยู่เหนือวงจรนี้ได้

พระพุทธศาสนาเน้นเรื่องการพัฒนาคนให้ถึงระดับนี้เป็นอย่างมาก และถือเอาคุณสมบัติขั้นนี้เป็นเกณฑ์วัดการพัฒนาของคนอย่างหนึ่ง คือการที่มนุษย์สามารถสร้างสรรค์ความดีงามและความเจริญได้เรื่อยไป หมายความว่าสามารถทำการสร้างสรรค์หรือมีความกระตือรือร้นขวนขวายเพียรพยายามทำการต่างๆ ได้โดยไม่ต้องรอให้ถูกทุกข์บีบคั้นหรือถูกภัยคุกคาม และเมื่อมีความสุขความพรั่งพร้อมประสบความสำเร็จแล้ว ก็ไม่ติด ไม่หลงเพลิน ไม่มัวเมา ไม่เฉื่อยชาแล้วกลายเป็นเพียงผู้เสพเสวยผล แต่ยังคงมีความเข้มแข็งและเพียรพยายามใฝ่ทำการสร้างสรรค์ต่อไป สามารถทำการต่างๆ ด้วยความรู้เท่าทันเหตุปัจจัยทั้งหลายอย่างสม่ำเสมอ ท่านเรียกภาวะนี้ว่าความไม่ประมาท

ความไม่ประมาท ในที่นี้ หมายถึงความไม่ประมาทแท้ด้วยสติปัญญา คือมีสติตามทันสถานการณ์ คอยนึกคอยระลึก คอยสำรวจ คอยจับเอาทุกสิ่งทุกอย่างทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นไป อันจะส่งผลกระทบต่อชีวิตต่อสังคมเป็นต้น เอามาส่งให้ปัญญาพิจารณาตรวจตราวิเคราะห์วิจัยสืบสาวค้นคว้า ว่าอันใดจะทำให้เกิดความเสื่อม อันใดจะช่วยให้เกิดความเจริญ แล้วหาวิธีที่จะป้องกันกำจัดแก้ไขเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม และสร้างสรรค์ส่งเสริมเร่งทำเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเจริญงอกงาม โดยไม่ผัดเพี้ยนไม่ละเลยไม่นิ่งเฉยเฉื่อยชา พระพุทธศาสนารับรองว่า ถ้ามนุษย์ไม่ประมาทอย่างแท้จริงด้วยสติปัญญาอย่างนี้ สังคมจะมีแต่ความเจริญอย่างเดียวไม่มีเสื่อม

สังคมตะวันตกมีภูมิหลังแห่งการถูกทุกข์บีบคั้นและถูกภัยคุกคาม จึงดิ้นรนต่อสู้เข้มแข็ง มีความเพียรพยายามทำการต่างๆ สามารถพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้เกิดความเจริญอย่างที่เป็นอยู่นี้ขึ้นมาได้ (จุดเริ่มของอุตสาหกรรม ฝรั่งก็ยอมรับว่า คือ scarcity) และโดยสอดคล้องกับภูมิหลังนี้ ชาวตะวันตกก็มีวัฒนธรรมแห่งระบบแข่งขัน ซึ่งเป็นระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์ ที่บีบคนให้เครียด และต้องเร่งรัดตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าไม่ดิ้น ก็อยู่ไม่รอด ถ้าไม่เหนือเขา ก็ต้องหมดสภาพไป ความเครียด (stress หรือ tension) หรือภาวะบีบเร่ง จึงเป็นปัจจัยสำคัญอยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์ความเจริญของสังคมตะวันตก แต่เมื่อเวลาผ่านไปถึงบัดนี้ก็ปรากฏผลร้ายสะสมรุนแรงขึ้นๆ ว่า ความเครียดและภาวะบีบเร่งนี้ ได้กลายเป็นสาเหตุแห่งความเสื่อมสลายหรือความวิบัติทั้งของชีวิตและสังคม เสื่อมโทรมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

ลักษณะการสร้างความเจริญของชาวตะวันตกนี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นความไม่ประมาทอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ความไม่ประมาทที่แท้ เป็นเพียงความไม่ประมาทเทียม เพราะไม่เกิดจากคุณสมบัติที่พัฒนาขึ้นในตัวคนจากสติปัญญาแท้จริง แต่เกิดจากแรงบีบคั้นของปัจจัยภายนอก ที่ทำให้เกิดความเครียด ซึ่งเป็นภาวะบีบเร่งทางจิต เช่น ความกลัวแพ้ ความกลัวว่าตัวจะอยู่ไม่รอด กลัวเขาจะขึ้นหน้าเหนือตัว เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดความทุกข์มาก และจะเห็นได้ว่าพอมาถึงปัจจุบัน เมื่อสังคมเกิดความพรั่งพร้อมทางวัตถุมากขึ้น มีเทคโนโลยีสะดวกสบายมากขึ้น ทั้งที่ระบบแข่งขันก็ยังครอบงำสังคมอยู่ คนก็เริ่มอ่อนแอเฉื่อยชาลง ดังที่มีวรรณกรรมใหม่ๆ ออกมามากมายโอดครวญว่าคนรุ่นใหม่ในสังคมอเมริกันสำรวย หยิบโหย่ง ใจเสาะเปราะบาง ไม่สู้งาน ขาด work ethic และเกิดความขัดแย้งในจิตใจของคนรุ่นใหม่นั้นเองที่ตนชอบสะดวกสบาย เห็นแก่ความง่ายมากขึ้น แต่ระบบสังคมซับซ้อนต้องการความเข้มแข็งยิ่งขึ้น เลยยิ่งทำให้คนมีความทุกข์มากขึ้น พร้อมกับที่สังคมก็ยิ่งเสื่อมโทรมลงไป

ส่วนในสังคมไทย เมื่อสภาพแวดล้อมอุดมสมบูรณ์แล้วยังแถมมีเทคโนโลยีประเภทบริโภคมาเสริมความสุขสบาย ถ้าเห็นแก่ความสุขสบาย ชอบง่าย ไม่สู้ปัญหา ไม่ทนต่อความยากลำบาก ชอบผัดเพี้ยน และหมกมุ่นเพลิดเพลิน ก็ตกอยู่ในความประมาทอย่างที่กล่าวมาแล้ว

พระพุทธศาสนาสอนความไม่ประมาทที่แท้ด้วยสติปัญญา ซึ่งเกิดจากการพัฒนาคน นอกจากใช้สติสำรวจและใช้ปัญญาวิเคราะห์วิจัยเพื่อทำการให้ตรงกับเหตุปัจจัยแล้ว พระพุทธศาสนาก็ใช้ภาวะบีบเร่งด้วย แต่ไม่ใช่เป็นภาวะบีบเร่งทางจิต ท่านให้ใช้ภาวะบีบเร่งทางปัญญา คือการมองเห็น และรู้เข้าใจความจริงแห่งความเปลี่ยนแปลง ความเป็นอนิจจัง ภาวะเกิดดับ และความไม่คงอยู่ยั่งยืนของชีวิตและสิ่งทั้งหลายโยงมาสู่การใช้เวลาให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ภาวะบีบเร่งทางปัญญานี้ไม่ทำให้เกิดความเครียดกังวล ความขุ่นมัวเศร้าหมองใจหรือความเป็นทุกข์ แต่เป็นความปลอดโปร่งใจสว่างด้วยปัญญา คำสอนเช่นนี้มีมาก เช่น “คนเรานี้มีอายุอยู่ได้ไม่นาน จะต้องไปภพหน้า ควรทำความดี ควรดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ คนที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายเป็นไม่มี คนที่มีชีวิตยืนยาวก็อยู่ได้แค่ ๑๐๐ ปี จะเกินไปบ้างก็เพียงเล็กน้อย…พึงดำเนินชีวิตดังมีไฟไหม้อยู่บนศีรษะ” (๑๕/๔๔๐-๒)

สุขของคนมีการศึกษา
กับสุขของคนด้อยพัฒนา

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาคน ซึ่งควรพูดไว้ด้วย ก็คือเรื่องความสุข ความสุขเป็นเรื่องใหญ่มาก ในการศึกษาคือการพัฒนาคนที่ถูกต้อง การศึกษาที่แท้เริ่มเมื่อไรคนก็เริ่มมีมิติใหม่ของความสุขและมีความสุขเพิ่มขึ้นในทันที การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนมีความสุข ซึ่งเป็นความสุขชนิดใหม่และเป็นความสุขที่เป็นอิสระแก่ตนเองยิ่งขึ้น

มนุษย์ที่ยังไม่พัฒนาคือยังไม่มีการศึกษานั้น ก็มีตาหูจมูกลิ้นกายและใจเกิดขึ้นมากับตัว และเขาก็ใช้ตาหูจมูกลิ้นกายใจนั้นในการสื่อสารกับโลกภายนอก แต่โดยส่วนใหญ่เขาจะใช้ตาหูจมูกลิ้นกายนั้นในการเสพหาความสุข เพราะฉะนั้นแหล่งความสุขของมนุษย์ที่ยังไม่มีการศึกษาจึงมาจากการเสพด้วยตาหูจมูกลิ้นกาย แต่พอมนุษย์เริ่มมีการศึกษา ตาหูจมูกลิ้นกายที่เขาใช้ในการเสพหาความสุขชุดเดียวกันนี่แหละ เขาก็เอาไปใช้เป็นจุดเริ่มของการศึกษา การศึกษาเริ่มที่ไหน ก็เริ่มที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจของเรานี่เอง

ตาหูจมูกลิ้นกายใจของเราทำหน้าที่กี่อย่าง ตอบว่าทำหน้าที่ ๒ อย่าง

๑. ทำหน้าที่รับรู้ ดู เห็น ฟัง ว่าอะไรเป็นอะไร ว่าเป็นสีเขียว ดำ แดง เหลือง รูปร่างยาวกลมแบนเหลี่ยม เสียงไพเราะ เสียงไม่ไพเราะ เสียงนกเสียงกา เป็นต้น นี่ด้านหนึ่ง

๒. อีกด้านหนึ่ง ตาหูจมูกลิ้นกายนั้นทำหน้าที่รู้สึก ซึ่งเป็นด้านที่ไม่ค่อยนึกกัน

ที่จริงด้านรู้สึกนี้แหละมีอิทธิพลต่อชีวิตของคนมากกว่าด้านรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ด้านรู้กับด้านรู้สึกมาพร้อมกันที่ตาหูจมูกลิ้นกายของเรา แต่มนุษย์ทั่วไปจะตกอยู่ใต้อำนาจของด้านรู้สึก ตาดูหูฟังพอรู้สึกสบายก็ชอบใจ ไม่สบายก็ไม่ชอบใจ พอชอบใจก็คิดจะเอาจะได้จะอย่างโน้นอย่างนี้ แล้วก็มีพฤติกรรมสนองตามความรู้สึกนั้น เมื่อชอบใจจะเอา ก็ทำก็พูดเพื่อให้ได้มา ถ้าไม่สบายก็ไม่ชอบใจ แล้วก็หาทางเลี่ยงหลบหนีกำจัด เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ก็จะเกิดวงจรแห่งปฏิกิริยาต่อความรู้สึกทางตาหูจมูกลิ้นกาย คือเมื่อได้เจอสิ่งที่ชอบใจก็เป็นสุข เมื่อเจอสิ่งที่ไม่ชอบใจก็เป็นทุกข์ สำหรับมนุษย์ที่ใช้ตาหูจมูกลิ้นกายในการเสพนี่ ความสุขความทุกข์ของเขาจะวนเวียนอยู่กับความชอบใจไม่ชอบใจ คือ ชอบใจก็สุข ไม่ชอบใจก็ทุกข์

ทีนี้ พอมนุษย์เริ่มใช้ตาหูจมูก เป็นต้น ในการเรียนรู้ นั่นคือเริ่มการศึกษา มนุษย์จะดูรู้เห็นว่าอะไรเป็นอะไร เป็นอย่างไร เป็นมาอย่างไร เป็นเพราะอะไร ฯลฯ พอเริ่มเรียนรู้ คือไม่ใช่รู้เฉยๆ แต่เรียนรู้คือเอาประโยชน์จากสิ่งที่รู้ เพื่อเอามาใช้ในการดำเนินชีวิตที่จะทำอะไรอย่างไร เป็นต้น เมื่อเราเรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้น เราเอาประโยชน์มาได้ เราได้ความรู้ได้ประโยชน์ การได้ความรู้นั้นสนองความต้องการของเรา ก็ทำให้เราเป็นสุข

ตอนแรกเรามีความต้องการเสพ เมื่อเราสนองความต้องการเสพเราก็สุขจากเสพ แต่เมื่อเราต้องการรู้ เราสนองความต้องการในการรู้ เราก็สุขจากการสนองความต้องการรู้นั้น เราก็สุขจากการเรียนรู้ ต่อมาเราพัฒนาความต้องการรู้นี้เป็นความอยากรู้มากขึ้นๆ จนกลายเป็นความใฝ่รู้ คราวนี้พอได้สนองความต้องการในการใฝ่รู้ก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นจากความใฝ่รู้นั้น

ความสุขจากการเรียนรู้นี่เป็นอิสระจากความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะการเรียนรู้นั้น เรียนรู้ได้ทั้งสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ การเรียนรู้นั้นไม่ขึ้นต่อความชอบใจและไม่ชอบใจ สิ่งที่ชอบใจก็ได้เรียนรู้ สิ่งที่ไม่ชอบใจก็ได้เรียนรู้ เขาจึงเริ่มเป็นอิสระ เริ่มสามารถมีความสุขที่ไม่ขึ้นต่อสิ่งเสพ และไม่ขึ้นต่อความชอบใจและไม่ชอบใจ เขามีแหล่งแห่งความสุขเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง

สำหรับคนพวกที่อาศัยความสุขจากสิ่งเสพ สุขทุกข์ของเขาก็วนเวียนอยู่กับสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจอย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือถ้าเจอสิ่งที่ชอบใจก็สุข เจอสิ่งไม่ชอบใจก็ทุกข์ แต่พอสุขจากการเรียนรู้ ทั้งสิ่งที่ชอบใจและสิ่งที่ไม่ชอบใจก็ทำให้เขาสุขได้ทั้งนั้น เพราะเขาได้เรียนรู้ บางทีสิ่งไม่ชอบใจเขาเรียนรู้ได้มากกว่าสิ่งที่ชอบใจเสียอีก ตอนนี้ยิ่งดีใหญ่เพราะมีความสุขชนิดใหม่ นี่คือสิ่งที่ได้มาพร้อมกับการเริ่มต้นของการศึกษา การศึกษาเริ่มเมื่อไรคนก็เริ่มมีมิติใหม่แห่งความสุข เริ่มมีความสุขใหม่มาถ่วงดุล ความสุขจากชอบใจไม่ชอบใจเริ่มมีอำนาจต่อชีวิตของเขาน้อยลง หมายความว่า นอกจากความสุขจากเสพแล้วเขายังมีความสุขจากการเรียนรู้เพิ่มเข้ามาอีก พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า พอเริ่มพัฒนา คนก็มีความสุขจากการศึกษา เพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากความสุขจากการเสพ

ต่อไปการศึกษานำความสุขอะไรมาให้อีก ตอบว่า ต่อจากความสุขจากการเรียนรู้ การศึกษาก็นำมาซึ่งความสุขจากการกระทำ หรือพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า ต่อจากสุขจากการศึกษา ก็มีความสุขจากการสร้างสรรค์ อันนี้สำคัญมาก ไม่ใช่เฉพาะสุขจากการเรียนรู้แต่มีสุขจากการทำด้วย

คนพวกที่สุขจากเสพก็คือสุขจากการที่ไม่ต้องทำอะไร อันนี้เป็นตัวก่อปัญหาร้ายที่สุด คนที่หาความสุขจากการเสพ ก็คือคนที่ต้องการได้รับการปรนเปรอบำรุงบำเรอ จะได้สบาย ไม่ต้องทำอะไร สำหรับคนประเภทนักเสพนี้ การกระทำคือความทุกข์ ส่วนมนุษย์ที่มีการศึกษาจะมีความสุขจากการกระทำ

ขอให้พิจารณาว่าคนเราเรียนรู้เพื่ออะไร ก็เพื่อจะทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จ เพราะการเรียนรู้ทำให้เกิดปัญญา ซึ่งช่วยให้ทำอะไรได้ เมื่อคนต้องการผลอย่างใดอย่างหนึ่ง การที่เขาจะทำสิ่งนั้นได้ เขาจะต้องรู้ การที่จะรู้สัมพันธ์กับการที่จะทำ ทำเพื่ออะไร ก็เพื่อสนองความต้องการให้สิ่งนั้นเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในภาวะที่ดีที่พึงปรารถนา เรียกง่ายๆ ว่า ความอยากให้มันดี ซึ่งเมื่อพัฒนาขึ้นไปก็เรียกว่าเป็นความใฝ่ดี เจออะไรต่ออะไรก็อยากให้มันดีไปหมด เมื่ออยากให้มันดี ก็อยากทำให้มันดี เมื่ออยากทำให้มันดี ก็ลงมือทำด้วยความต้องการซึ่งทำให้มีความสุขในการกระทำ

ว่าตามธรรมชาติ การเรียนรู้กับความอยากทำให้มันดีหรือความใฝ่สร้างสรรค์นี้ มีความสัมพันธ์เป็นปัจจัยสืบต่อกัน กล่าวคือเมื่อเรียนรู้ ก็เกิดความรู้หรือได้ความรู้ เมื่อความรู้เกิดขึ้น ก็ทำให้แยกได้โดยมองเห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งที่อยู่ในภาวะที่ดีที่สมบูรณ์ ที่ควรจะเป็น กับอีกสิ่งหนึ่งในประเภทเดียวกันที่อยู่ในภาวะที่ไม่ดีไม่สมบูรณ์ที่ไม่ควรจะเป็น เช่น เห็นต้นไม้ที่ใบแห้งเหี่ยวเฉา กับต้นไม้ที่มีใบดกเขียวขจี พอเกิดความรู้แยกต่างอย่างนี้แล้ว ก็จะเกิดความอยากให้สิ่งที่ไม่ดีไม่สมบูรณ์ ซึ่งอยู่ในภาวะที่ไม่ควรจะเป็นนั้น เปลี่ยนไปสู่ภาวะที่ควรจะเป็นที่ดีที่สมบูรณ์ เรียกว่าเกิดความอยากให้มันดี เมื่อความอยากให้มันดีเกิดขึ้นแล้ว ก็จะตามมาด้วยความอยากทำให้มันดี ที่เรียกว่าความใฝ่สร้างสรรค์ ซึ่งทำให้คนเข้าไปรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยเป็นต้น เพื่อทำให้ต้นไม้ที่เหี่ยวเฉา กลายเป็นต้นไม้ที่งอกงามใบเขียวสะพรั่งขึ้นมา

อีกประการหนึ่ง ทุนในเรื่องความใฝ่ดีนี่คนเรามีกันอยู่แล้วทุกคน เช่น เมื่อนึกถึงอวัยวะร่างกายของเราอย่างมือพร้อมทั้งนิ้วห้านิ้วนี้ เราก็อยากให้มันดีให้มันสมบูรณ์ หน้าตาของเราๆ ก็อยากให้มันงดงามหมดจดสมบูรณ์ ทีนี้ถ้าเราแผ่ขยายความปรารถนาดีหรือความอยากให้มันดีนี้ออกไป พอเราไปสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับอะไรเราก็อยากให้มันดีไปหมด เรามานั่งที่นี่เราก็อยากให้สถานที่เรียบร้อยสวยงาม อยากให้มันสะอาด ไม่ว่าจะไปเจออะไรก็อยากให้มันดี ไปเจอคนก็อยากให้เขาหน้าตาอิ่มเอิบผ่องใส แข็งแรงสมบูรณ์ (ความอยากให้มันดีนี้ถ้ามีต่อคนเรียกว่าเมตตา นี่ตัวเดียวกัน)

เมื่ออยากให้มันดีก็เลยอยากทำให้มันดี เมื่ออยากทำให้มันดีแล้ว พอลงมือทำตามนั้น เราก็ได้สนองความต้องการที่จะทำให้มันดี เราก็เลยสุขจากการทำให้มันดี ความอยากทำให้มันดีนี้เรียกว่าใฝ่สร้างสรรค์ เมื่อทำตามนั้น ก็เกิดความสุขจากการสนองความใฝ่สร้างสรรค์ แล้วความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์ก็มาประสานกันและหนุนกันยิ่งขึ้น พร้อมกับที่ทำให้ยิ่งมีความสุขมากขึ้น

ความใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์นี้ทางพระเรียกว่าฉันทะ สองตัวนี้เป็นคู่ตรงข้ามกับความต้องการเสพที่เรียกว่าตัณหา ซึ่งมีอยู่ตลอดเวลาไม่ต้องพัฒนา แต่ความต้องการเสพนี้ตันเพราะไปเจอทุกข์จากการต้องทำแล้วก็ติดอยู่แค่นั้น ทุกข์สุขก็วนเวียนอยู่กับความชอบใจไม่ชอบใจ ทีนี้พอเราสร้างฉันทะขึ้นมาก็มีความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ ทำให้ต้องสนองความใฝ่รู้และความใฝ่สร้างสรรค์ ก็เดินหน้าไปได้ ความสุขก็เพิ่มขึ้น ทั้งสุขจากการเรียนรู้หรือสุขจากการศึกษา และสุขในการกระทำหรือในการสร้างสรรค์ ชีวิตและสังคมก็ก้าวไปสู่ความเจริญงอกงาม

อนึ่ง มนุษย์มองวัตถุเป็นสองแบบ พวกหนึ่งมองวัตถุเสพเป็นจุดหมายโดยเห็นว่าความสุขหรือชีวิตที่ดีอยู่ที่การมีสิ่งเสพ เราต้องมีมันให้พรั่งพร้อมแล้วเราจะสบาย จะได้ไม่ต้องทำอะไรอย่างที่ว่าเมื่อกี้ แต่เมื่อเรามีความสุขจากการศึกษา และมีความสุขจากการสนองความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ เราจะมองวัตถุเสพทั้งหลายเป็นปัจจัย

ทำไมพระพุทธศาสนาเรียกวัตถุเสพบริโภคว่าเป็นปัจจัย ปัจจัยคือเครื่องเกื้อหนุน ที่จะช่วยให้เราทำสิ่งดีงามที่เราต้องการ เราพยายามจะทำสิ่งที่ต้องการที่ดีงามยิ่งขึ้นไป เราจะพัฒนาชีวิตให้ดีงามยิ่งขึ้นไปอีก วัตถุเสพและเทคโนโลยีทั้งหลายก็มาเป็นปัจจัยเครื่องเกื้อหนุนให้เราทำได้ตามประสงค์ ยิ่งมันมาเราก็ยิ่งทำได้สะดวก เราก็ยิ่งทำใหญ่ เพราะเรามีความสุขจากการทำ แต่มนุษย์พวกที่หาสุขจากเสพหรือพวกนักเสพจะจบแค่นั้น เพราะจุดหมายของเขาอยู่ที่วัตถุเสพ เมื่อมีพรั่งพร้อมแล้วก็ไม่ต้องทำอะไร มันตันแค่นั้น เวลานี้อารยธรรมมาถึงจุดนี้แล้ว

สังคมบริโภคก็คือสังคมที่มุ่งหมายความสุขจากการเสพ เมื่ออารยธรรมเจริญมาถึงจุดนี้วัตถุเสพก็จะกลายเป็นจุดหมายของชีวิต แล้วอารยธรรมก็จะตันที่นี่ เพราะฉะนั้นจะต้องรีบแก้ไขให้มนุษย์มีความสุขจากการสร้างสรรค์

ในเวลาที่หมดแล้วนี้ขอฝากนิดหนึ่งว่า ความสุขนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องพูดกันมาก มีความสำคัญต่อสิ่งที่เราเรียกในปัจจุบันว่าจริยธรรมเป็นอย่างยิ่ง พระพุทธศาสนาถือว่าสุขเป็นบรรทัดฐานของสมาธิ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหรือข้อธรรมสำคัญในกระบวนการพัฒนาจิตใจ เมื่อคนมาสัมพันธ์กับเทคโนโลยีจะต้องพัฒนาเขาให้มีท่าทีที่หนึ่งคือให้มองเทคโนโลยีเป็นปัจจัยแห่งการสร้างสรรค์ ไม่ใช่มองเป็นเครื่องบำรุงบำเรอ เทคโนโลยีนั้นมีทั้งความหมายเชิงบำรุงบำเรอเป็นเครื่องเสริมเพิ่มความสุขจากการเสพ และอีกด้านหนึ่งมันเป็นปัจจัยแห่งการสร้างสรรค์ที่สนองความต้องการให้เกิดความสุขจากการทำได้สำเร็จ มนุษย์ในบางสังคมมีความโน้มเอียงในการหาความสุขจากการเสพเทคโนโลยี ก็จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการเสพบำเรอ แต่มนุษย์ในบางสังคมอาจจะมีความโน้มเอียงในทางหาความสุขจากการสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี

สองอย่างนี้ให้ดูได้ที่เด็ก ถ้าเด็กคนไหนหาความสุขจากการเสพเทคโนโลยี จะเป็นที่น่าหนักใจ พ่อแม่จะเดือดร้อน ชีวิตของเขาจะไปดีได้ยาก แต่ถ้าเด็กคนไหนหาความสุขจากการสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี พ่อแม่จะเริ่มสบายใจได้ และเขาจะช่วยสร้างสรรค์สังคมของเราให้เข้มแข็ง เวลานี้ต้องรีบแก้ไข เด็กของเรากำลังโน้มไปในทางหาความสุขจากการเสพเทคโนโลยี ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเสพบำเรอ สังคมนี้เรียกร้องเทคโนโลยีประเภทเสพบำเรอ ไม่เรียกร้องเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและสร้างสรรค์ เน้นเทคโนโลยีเพื่อการเสพบำเรอ ไม่มุ่งหาเทคโนโลยีเพื่อการผลิต เราต้องเรียกร้องเทคโนโลยีเพื่อการผลิตและการสร้างสรรค์ให้มาก

แม้แต่เทคโนโลยีชิ้นเดียวกันบางทีก็ใช้ได้ทั้งสองแง่ แล้วแต่จะเน้น เช่น รถยนต์ที่ใช้เพื่อการเสพบำเรอ กับใช้เพื่อการสร้างสรรค์ เราจะต้องเน้นในแง่การใช้เพื่อสร้างสรรค์ นี่คือการสัมพันธ์กับเทคโนโลยี ซึ่งอย่างน้อยจะต้องมองมันเป็นปัจจัยแห่งการสร้างสรรค์

ขอเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับความสุข ว่าเรื่องนี้เป็นแกนกลางของการศึกษาทีเดียว คือเมื่อมีการศึกษาคนจะเริ่มเข้าสู่มิติใหม่แห่งความสุข ซึ่งเป็นความสุขที่เป็นอิสระอยู่กับตน ไม่ต้องขึ้นกับสิ่งเสพ มนุษย์ที่หาความสุขจากสิ่งเสพจะต้องไปขึ้นต่อวัตถุเสพนั้น ไม่เป็นอิสระแก่ตนเอง สูญเสียอิสรภาพ ความสุขในชีวิตของตนไม่เป็นไท เพราะต้องไปขึ้นต่อมัน แต่พอเรามีความสุขจากการเรียนรู้และจากการสร้างสรรค์ ความสุขก็มาอยู่ที่ตัวเอง การศึกษาจะต้องช่วยให้เกิดภาวะนี้ ถ้าการศึกษาไม่ช่วยให้เกิดความสุขประเภทนี้ก็แสดงว่าการศึกษาไม่ถูกต้อง

ถ้าการศึกษาไปสนองเป้าหมายในการหาความสุขจากสิ่งเสพ การศึกษาก็จะมีลักษณะเป็นการพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอสุข การศึกษาในสังคมกำลังมีสภาพอย่างนี้ และความหมายของการศึกษาก็เพี้ยนไปกลายเป็นว่าการศึกษาคือการพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข แต่ถ้าเป็นการศึกษาที่ถูกต้อง จะทำให้มีการพัฒนาด้านในไปด้วยเป็นคู่กันอย่างสมดุล คือพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขด้วย เช่น พัฒนาความสุขจากการเรียนรู้ หรือความสุขจากการศึกษา และความสุขจากการสร้างสรรค์ ซึ่งเกิดขึ้นภายในตนเอง เป็นความเจริญงอกงามของชีวิต และทำให้มนุษย์เป็นอิสระมากยิ่งขึ้น ความสุขแบบนี้นอกจากเป็นผลดีแก่ชีวิตของตนเองแล้วก็เกื้อกูลแก่ผู้อื่นด้วย ทำให้ไม่ต้องมีการแย่งชิงเบียดเบียนกัน แต่เป็นการเกื้อหนุนสังคมและทำลายธรรมชาติแวดล้อมน้อย

ความสุขที่จะได้จากการพัฒนาคนอย่างถูกต้องหรือการศึกษาที่แท้ ยังมีอีกหลายอย่าง เพราะคนยิ่งพัฒนาขึ้นไป ความสุขก็ยิ่งพัฒนาขึ้นด้วย ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ คือความสุขนั้นทั้งมากขึ้นและประณีตขึ้นด้วย แต่ในที่นี้ได้แค่พูดไว้เป็นตัวอย่าง เพราะเวลาจำกัด

ก่อนจบขอเน้นว่า การศึกษาจะต้องระวังไม่ให้กลายเป็นการผลิตนักหาความสุข แต่การศึกษาจะต้องผลิตผู้มีความสุขหรือผลิตนักสร้างสรรค์ความสุข และในที่สุดจะต้องผลิตนักให้ความสุข เวลานี้เรากำลังผลิตนักหาความสุขมากกว่านักให้ความสุข ถ้าการศึกษาดำเนินไปด้วยดีอย่างถูกต้องและประสบความสำเร็จจริง จะต้องเป็นการศึกษาที่ผลิตนักให้ความสุข

บัดนี้หมดเวลาไปแล้ว ยังมีเรื่องที่ควรพูดเกี่ยวกับสารสนเทศอีกมาก เช่นว่าเราจะปฏิบัติต่อมันอย่างไรจึงจะถูกต้อง แต่ขอพูดไว้นิดหนึ่งในเวลาที่จำกัดที่สุด

สารสนเทศเป็นสิ่งแวดล้อมสำคัญสำหรับยุคสมัยปัจจุบัน หลักการในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะกับสารสนเทศนี้มี ๒ อย่าง โดยสัมพันธ์กับ หนึ่ง ปัจจัยภายใน สอง ปัจจัยภายนอก ผู้ที่รับผิดชอบต่อสังคมโดยเฉพาะนักการศึกษาที่สัมพันธ์กับเด็กจะต้องทำสองอย่างพร้อมกัน คือ ทำหน้าที่จัดสรรปัจจัยภายนอกด้วย และช่วยพัฒนาปัจจัยภายในให้แก่เด็กด้วย

ด้านปัจจัยภายนอกทำอย่างไร ก็คือจัดสรรสภาพแวดล้อมเช่นสารสนเทศที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก หมายความว่าสังคมทั้งหมด รวมทั้งสื่อมวลชนหรือใครก็ตามที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ จะต้องจัดสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก นี่ด้านที่หนึ่ง

ทีนี้สอง พร้อมกันนั้นก็ต้องเสริมปัจจัยภายในตัวเด็กด้วย เราจะไปหวังไม่ได้ว่าเด็กออกไปสู่สังคมและชีวิตในโลกกว้างแล้วแกจะไปพบแต่สิ่งที่ดี เด็กจะต้องไปอยู่ท่ามกลางความเป็นจริงซึ่งมีทั้งดีทั้งร้าย เราจึงต้องช่วยเด็กให้พัฒนาปัจจัยภายใน เพื่อให้เขาเจริญเติบโตอย่างแท้จริง และช่วยตัวเองได้ การพัฒนาปัจจัยภายในก็คือการพัฒนาความสามารถที่เด็กจะเอาประโยชน์ได้จากประสบการณ์ทุกอย่างแม้แต่สิ่งที่เลวที่สุด สารสนเทศหรือข่าวสารข้อมูลอะไรแม้แต่ที่เลวร้ายที่สุด ตั้งแต่คำด่า เด็กต้องหัดคิดพิจารณาหาเอาประโยชน์ได้ ไม่ใช่ไปมัวแต่รับรู้แบบชอบใจไม่ชอบใจ ทางพระท่านให้ระวังนัก คือ พอใช้ตาหูจมูกลิ้นกายใจรับรู้อะไรมันก็ไปตกที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจทันที ซึ่งผิด การศึกษาไม่เกิด แต่ต้องรับรู้แบบโยนิโสมนสิการ คือ

  1. รับรู้แบบมองหาความจริง ให้เห็นความจริง
  2. มองให้เห็นประโยชน์ เอาประโยชน์ให้ได้

การสัมพันธ์เชิงรับรู้ต่อสิ่งต่างๆ มีหลักสองอย่างนี้ คือ หนึ่ง ให้ถึงความจริง สอง ให้เห็นประโยชน์และเอาประโยชน์จากมันให้ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องพัฒนาให้เด็กมีความสามารถถึงขั้นที่ว่าเอาประโยชน์ได้จากสิ่งที่เลวที่สุด ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว เด็กจะออกไปเจอข่าวสารข้อมูลหรือสิ่งแวดล้อมอย่างไรเราก็ไม่กลัว

บัดนี้เลยเวลาไปแล้ว ขอถือว่าวันนี้ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาคน โดยหลักการใหญ่ที่สัมพันธ์กับยุคสมัย เพื่อให้สังคมไทยของเราอยู่รอดปลอดภัยด้วยดีและมีความเจริญก้าวหน้าด้วยการพัฒนาคน ขออนุโมทนาทุกท่านในที่ประชุม และขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ทุกท่าน

อนุโมทนา

จิตวิทยาเพื่อการพัฒนาคน ตามแนวธรรมชาติ นี้ เป็นปาฐกถานำในการประชุมวิชาการของสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมรอยัลออร์คิดเชอราตัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๓๙ มีชื่อเรื่อง ตามที่กำหนดไว้เดิมว่า “จิตวิทยาและศาสนาเพื่อการพัฒนาคนในยุคสารสนเทศ” ต่อมานายกสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย คือ ดร. ชุมพร ยงกิตติกุล ได้แจ้งความประสงค์ที่จะนำบทปาฐกถาดังกล่าวไปพิมพ์เผยแพร่ และได้ส่งบทคัดลอกจากแถบบันทึกเสียงไปให้ตรวจแก้ ด้วยความมุ่งหวังที่จะตีพิมพ์ให้เสร็จทันวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๔๐ ผู้เรียบเรียงได้ตรวจชำระต้นฉบับ โดยได้ปรับปรุงถ้อยคำสำนวน จัดย่อหน้าวรรคตอน และตั้งหัวข้อ ตลอดจนได้เพิ่มเติมเนื้อความแทรกเข้ามาอีกตามสมควร เพื่อให้ได้สาระและมีความชัดเจนมากขึ้น กับทั้งได้ตั้งชื่อเรื่องใหม่ให้สอดคล้องกับเนื้อหาของหนังสือ

ขออนุโมทนากุศลเจตนาของนายกสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการของสมาคมฯ ในการบำเพ็ญกุศลกิจทางวิชาการครั้งนี้ อันจะเป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่สังคมให้ขยายกว้างขวางยิ่งขึ้นไป

พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต)
๑๘ ธันวาคม ๒๕๓๙

1ปาฐกถานำ ในการประชุมวิชาการของสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมรอยัลออร์คิดเชอราตัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๓๙ (เดิมมีชื่อเรื่องว่า “จิตวิทยา และศาสนาเพื่อการพัฒนาคนในยุคสารสนเทศ” ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ให้สอดคล้องกับเนื้อหามากขึ้น)
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.