ธรรมกับไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ธรรมกับไทย
ในสถานการณ์ปัจจุบัน1

บัดนี้มาถึงโอกาสสำหรับการบรรยายพิเศษที่มีชื่อเรื่องว่า “ธรรมะกับสถานการณ์ปัจจุบัน” ซึ่งเป็นหัวข้อที่ประธานกองทุนมูลนิธิการศึกษาเพื่อสันติภาพได้กำหนดขึ้น โดยปรารภเกี่ยวกับสภาพสังคมในปัจจุบัน

สังคมเป็นอย่างไร
จึงแทบไม่มีใครพูดถึงในแง่ดี

เมื่อพูดถึงสถานการณ์ปัจจุบัน เวลานี้แทบจะไม่มีใครพูดในแง่ดีเลย มีแต่พูดในแง่ของความเสื่อมโทรม เรื่องของปัญหา เรื่องของความน่าเป็นห่วง น่าหนักใจทั้งนั้น โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงสังคมไทยเราเอง ก็จะพูดกันถึงลักษณะที่ไม่น่าสบายใจเป็นพิเศษ

ความจริง สภาพที่เสื่อมโทรมและมีปัญหานั้นได้มีไปทั่วโลก ไม่ใช่มีเฉพาะประเทศไทย เพราะสภาพของสังคมไทยและโลกทั้งหมด ปัจจุบันกำลังอยู่ในภาวะที่เรียกว่า เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งเป็นคำที่องค์การสหประชาชาติประกาศออกมา เท่ากับเป็นที่ยอมรับอยู่แล้วว่าเวลานี้สถานการณ์ของโลกอยู่ในภาวะเป็นปัญหา ไม่น่าพอใจ และจะต้องแก้ปัญหาการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนให้ยั่งยืน แต่ทำอย่างไรจะให้ยั่งยืนได้ก็ยังไม่ยุติ

สังคมไทยปัจจุบันนี้มีปัญหาอยู่มาก ยกตัวอย่างตามที่ได้ทราบจากสื่อมวลชน เช่น เมื่อ 2-3 วันมานี้ได้ฟังวิทยุกระจายเสียงเกี่ยวกับปัญหาโรคเอดส์ว่า ประเทศไทยได้มีคนติดโรคเอดส์มากนำหน้าประเทศอื่นทั้งหลาย ถึงแม้สถิติจะไม่เป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ก็คงเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย รองลงไปได้แก่ประเทศกัมพูชาและอินเดียตามลำดับ

โรคเอดส์เป็นปัญหาที่น่าหนักใจ เพราะว่าบัดนี้ได้กลายมาเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนในสังคมไทย สถิติบอกว่าคนไทยตายด้วยโรคเอดส์ชั่วโมงละ 4 คน ทางภาคเหนือบางท่านพูดว่าตายเหมือนใบไม้ร่วง นี่ปี 2539 ยังตายมากขนาดนี้ ถ้าถึงปี 2540 จะตายมากขนาดไหน เมื่อ 3-4 ปี ก่อน ประเทศไทยมีการตายด้วยอุบัติเหตุเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงภาวะที่คนไทยขาดวินัย มีความประมาท ขาดสติ คือขาดธรรมมาก แต่บัดนี้โรคเอดส์ได้นำหน้าเหนืออุบัติเหตุไปแล้ว

นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่หนักมาก คือเรื่องยาเสพติด ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดที่ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก กรมตำรวจได้ออกสถิติมาเมื่อเร็วๆ นี้ว่าในช่วงเวลา 9 เดือนนับจากเดือนมกราคม 2539 ตำรวจจับกุมผู้ทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเฉพาะยาม้าได้เกินกว่า 35,000 ราย นับจำนวนเม็ดได้ 24,000,000 เม็ด เทียบกับปี 2538 ในช่วงเวลา 9 เดือนเดียวกัน คือมกราคม ถึงกันยายน 2538 คดีเกี่ยวกับยาม้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 161 น่ากลัวมาก

ยาม้า เดี๋ยวนี้เรียกว่า ยาบ้า เป็นการแสดงถึงความรุนแรง และโทษก็เพิ่มขึ้นเป็นประหารชีวิตแล้ว เมื่อไม่กี่วันนี้ได้ยินข่าวจากวิทยุกระจายเสียงว่าในเรือนจำมีผู้ต้องโทษที่เกี่ยวกับยาเสพติดเป็นจำนวนร้อยละ 38 ซึ่งนับว่าสูงมาก สถิติเหล่านี้เอามาแสดงพอเป็นสังเขป

นอกจากนี้ยังมีเรื่องโสเภณีที่ว่าประเทศไทยกลายเป็นแดนธุรกิจบริการทางเพศ เมื่อปี 2535 หนังสือสารานุกรมฉบับหนึ่งของออกฟอร์ด (“prostitution,” Oxford Illustrated Encyclopedia of Peoples and Cultures, 1992) ได้พูดถึงกรุงเทพฯ ว่ามีโสเภณีจำนวน 200,000 คน ปี 2539 ข้อมูลจากมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กเสนอไว้ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2539 และในหนังสือความฝันของแผ่นดินไทย ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีโสเภณีเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี จำนวน 30,000 - 60,000 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่แสดงถึงภาวะของสังคมที่เรียกว่าเสื่อมโทรม

ยังมีสถิติอื่นๆ ที่แสดงถึงภาวะที่ไม่พึงปรารถนาอีกมาก เช่น เงินนอกระบบที่แพร่สะพัดในสังคมไทย ซึ่งมีประมาณ 800,000,000,000 บาท ในเงินจำนวนดังกล่าวมีส่วนที่เกี่ยวกับระบบโสเภณีหรือธุรกิจบริการทางเพศ ประมาณ 400,000,000,000 - 500,000,000,000 บาท รองลงมาเป็นด้านการพนัน ประมาณ 100,000,000,000 บาท และรองลงมาอีกได้แก่ด้านยาเสพติด ซึ่งดูคล้ายกับว่ามีไม่มากนัก แต่อาจจะไปแฝงอยู่กับด้านอื่น เช่น โสเภณี และการพนัน เป็นต้น

ถ้ามองกว้างออกไปถึงธรรมชาติแวดล้อม คนไทยทำให้ป่าลดน้อยลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 20 เศรษฐกิจของประเทศไทยที่พูดกันว่าค่อนข้างตกต่ำ ในอดีตเคยเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วถึงขั้นเป็น “เสือ”มาแล้ว แต่ที่ว่าเจริญนั้นส่วนใหญ่เป็นธุรกิจแบบขายทุนเก่า คือไม่ใช่ธุรกิจแบบใช้ปัญญาสร้างสรรค์ ถ้าเป็นธุรกิจแบบขายต้นทุนเก่าก็ไม่น่าภูมิใจและไม่มั่นคง เศรษฐกิจที่ดีแท้ต้องเกิดจากการสร้างสรรค์ด้วยปัญญา เศรษฐกิจขายทุนเก่า เช่น ขายทรัพยากรที่มีอยู่ ขายที่ดิน ขายแรงงานราคาถูก พอแรงงานราคาไม่ถูกแล้ว กิจการบางอย่างจากต่างประเทศก็หนีไปลงทุนในประเทศอื่นที่มีค่าแรงถูกกว่า ตลอดจนขายแม้กระทั่งตัวคน เศรษฐกิจแบบนี้ไม่ปลอดภัยและไม่ยั่งยืน แต่น่าอดสูใจ

ในด้านการเมือง เวลานี้ก็พูดกันมากเรื่องปฏิรูปการเมือง ที่ต้องปฏิรูปการเมือง ก็เพราะว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยในปัจจุบันยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ยังมีปัญหาต่างๆ มากในทุกระดับ แต่สำหรับพระสงฆ์เราถือกันว่าไม่อยากให้พูดเรื่องการเมือง ทางคณะสงฆ์ก็มีประกาศไม่ให้พระพูดเรื่องการเมือง แต่ที่ห้ามไม่ให้พระสงฆ์พูดเรื่องการเมืองนั้นหมายถึงพูดในแง่ของการเข้าเป็นฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ ที่เรียกว่าเล่นการเมือง แต่พระสงฆ์มีหน้าที่พูดการเมืองในแง่ของธรรม คือหลักการเมืองการปกครองว่า ทำอย่างไรการเมืองจึงจะเป็นไปด้วยดี การปกครองมีหลักการอย่างไร คนที่เข้ามาเล่นการเมืองควรมีคุณธรรมอย่างนั้นอย่างนี้ ในแง่นี้พระสงฆ์พูดได้ และเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ด้วย

รวมความว่าที่พูดมานี้ได้ปรารภเรื่องสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นว่าไม่น่าพอใจ เมื่อไม่น่าพอใจแล้ว จะนำธรรมมาใช้เพื่อช่วยแก้ไขสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างไร

สังคมเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์
คนต้องขึ้นสู่ความเป็นโลกัตถจารี

ในแง่ธรรมะ ไม่ว่าสถานการณ์จะเสื่อมโทรม น่ากลัวและเลวร้ายเพียงใดก็ตาม ท่านถือว่าจะต้องเอาประโยชน์จากมันให้ได้ ตามหลักพระพุทธศาสนาคงจะได้ยินว่า คนที่ประสบสิ่งเลวร้ายที่สุด ถ้ารู้จักใช้ปัญญาพิจารณาก็สามารถหาประโยชน์จากมันได้ อย่าว่าแต่เรื่องที่ไม่น่าพอใจเลย แม้แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือความตาย ทางพระถือว่าแม้ในวาระสุดท้ายของชีวิตก็ยังสามารถเอาประโยชน์จากความตายมาใช้ในทางปัญญาทำให้บรรลุธรรมสูงสุด และเข้าถึงประโยชน์สูงสุดของชีวิตได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปหมดหวัง อย่าไปท้อใจ มองในแง่ธรรมแล้วต้องทำใจได้ วางใจให้ถูก และต้องมองด้วยปัญญา หมายถึงมองตามความเป็นจริง เช่นมองตามเหตุปัจจัย และรักษาจิตของตนให้เป็นอิสระได้ อย่างน้อยก็เห็นความเป็นอนิจจังของสังคม

การที่อะไรๆ เปลี่ยนแปลงไปนั้น ไม่ใช่ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเลื่อนลอย แต่ต้องมีเหตุปัจจัยที่ทำให้มันเปลี่ยนแปลงไป ถ้ามันเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมโทรม ก็ต้องมีเหตุปัจจัยที่ไม่ดีที่จะทำให้เกิดความเสื่อมโทรมนั้น ถ้าต้องการให้สังคมมีความเจริญงอกงาม ก็ต้องพยายามแก้ไขเหตุปัจจัยที่ไม่ดี และสร้างสรรค์เหตุปัจจัยที่ดีขึ้นมาแทน ฉะนั้นอย่าไปมัวเศร้าเสียใจหรือท้อใจอยู่ จิตใจจะหดหู่ ไม่มีประโยชน์ ต้องทำใจให้สบายและเป็นอิสระ

แต่ถ้ามองเป็นอิสระแล้วนอนสบาย ก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน เป็นการตกอยู่ในความประมาท เมื่อทำใจให้เป็นอิสระแล้วต่อจากนั้นจะต้องพิจารณาด้วยปัญญาอันแท้จริง ที่ไม่มีกิเลสเข้าไปครอบงำหรือปรุงแต่งที่จะทำให้ผิดพลาดหรือบิดเบือนไป เมื่อมองตามความเป็นจริงหรือตามเหตุปัจจัยก็จะทำให้แก้ปัญหาได้

เหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นนั้น ในแง่ดีก็เป็นเครื่องเตือนสติที่ทำให้ตื่นตัวรีบลุกขึ้นมาค้นหาเหตุปัจจัยและแก้ไขต่อไป เพราะถ้าหากไม่มีเหตุร้ายปรากฏก็อาจจะหลงเพลินกันต่อไป ฉะนั้นธรรมจึงเป็นประโยชน์แก่คนเราตั้งแต่ต้นเริ่มตั้งแต่สอนว่า เมื่อประสบกับสถานการณ์ที่เลวร้าย เราจะต้องหาทางเอาประโยชน์จากมันให้ได้ และต้องใช้หลัก 2 ประการ คือ

1. ใช้ปัญญาวิเคราะห์วิจัยให้รู้เท่าทัน มองเห็นความจริงหยั่งถึงเหตุปัจจัยในสิ่งทั้งหลาย

2. มีสติเตือนตัวให้ลุกขึ้นมาเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยไม่ประมาท

เมื่อทำได้อย่างนี้ก็จะรักษาอิสรภาพของชีวิตไว้ได้ และสามารถทำกิจเพื่อสังคมสำเร็จ

ข้อสำคัญที่ขอย้ำคือ จะต้องระวังตัวเองไม่ให้ตกไปในที่สุด 2 อย่างของคน 2 พวกคือ

1. พวกที่เห็นสภาพสังคมเลวร้ายไม่น่าปรารถนาแล้ว ก็มีความโน้มเอียงที่จะปลีกตัวหลบลี้หนีไปเสีย

2. พวกที่เห็นสภาพสังคมว่าเลวร้าย แก้ไขไม่ได้แล้ว ก็เลยปล่อยมันไปตามยถากรรม ไม่อยากแก้ไขอะไร เลยอยู่ไปวันๆ

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาต้องใช้ทางสายกลาง คือทางแห่งปัญญา โดยเริ่มต้นก็ต้องให้จิตใจของตัวเองตั้งหลักได้ว่า ในท่ามกลางสภาพที่เลวร้ายอย่างนี้เราจะต้องมีชีวิตที่ดีงามได้ พร้อมกันนั้นก็ไม่ทิ้งความเพียรพยายามที่จะแก้ไขปัญหาของสังคม

สำหรับตัวเองนั้นในทางพระพุทธศาสนามีหลักไว้ให้แล้วว่า ชีวิตของแต่ละคนต้องพัฒนาให้ถึงจุดสูงสุด จนบรรลุธรรมที่เรียกว่า นิพพาน คือ จิตหลุดพ้นเป็นอิสระ ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร จะเลวร้ายแค่ไหนเราก็ยืนอยู่ในหลักแห่งการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนนี้ และพยายามทำจิตใจให้เป็นอิสระ ในสภาพที่เลวร้ายนั้นถ้าใครรักษาจิตของตนให้เป็นอิสระได้ ก็แสดงว่ามีความสามารถจริงๆ อันนี้เป็นบททดสอบอย่างหนึ่ง

ภาวะสูงสุดของชีวิตจิตใจคือสันติภายใน ไม่ว่าภายนอกจะวุ่นวายเดือดร้อนอย่างไรก็รักษาใจให้มีสันติได้ พร้อมกันนั้นภายนอกก็ถือคติว่าจะต้องช่วยโลกให้เข้าถึงสันติด้วย ในจิตใจมีสันติสงบไว้ชั้นหนึ่งแล้ว ก็ก้าวไปสู่การแก้ปัญหาของโลกที่ไม่มีสันติได้ ถ้าแต่ละคนทำสันติให้เกิดในใจของตัวเองได้แล้ว ก็เป็นส่วนร่วมที่จะสร้างสันติของโลก อย่างน้อยสันติก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว โดยเริ่มต้นที่จิตใจของเราคนหนึ่ง แล้วมันจึงจะขยายออกไป ทำให้โลกเข้าสู่สันติด้วย

ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็ตรงตามคติพระพุทธศาสนาที่ว่า คนยิ่งพัฒนาตนได้มากเท่าไร ก็ยิ่งพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อโลกได้มากเท่านั้น คือจะช่วยให้โลกบรรลุจุดหมายด้วยการบำเพ็ญกิจตามอุดมคติที่ว่า “พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ” ซึ่งแปลว่า (ผู้พัฒนาตนดีแล้วทำกิจ) เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ชนจำนวนมาก และเพื่อเห็นแก่ความสงบสุขของโลกทั้งหมด ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ องค์ประธานก็ได้กล่าวไว้ในพิธีเปิดงานเมื่อเช้านี้ โดยที่ท่านเน้นคำว่า โลกานุกัมปะ

คำว่า โลกานุกัมปะ หรือ โลกานุกัมปา แปลว่า น้ำใจเกื้อกูลแก่โลก หรือความเห็นแก่ประโยชน์สุขของชาวโลก มาจากคำว่า โลก ซึ่งในที่นี้หมายถึงสังคมมนุษย์ทั้งหมด กับคำว่า อนุกัมปา ซึ่งแปลว่า ความมีใจอ่อนโยนไวต่อสุขทุกข์ของผู้อื่น หรือความหวังดีปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข หมายความว่ามีจิตใจประกอบด้วยเมตตา คือความรัก ความปรารถนาดี อยากจะสร้างสรรค์ความสุขให้แก่เพื่อนมนุษย์ และกรุณา คือความปรารถนาที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ของสังคม ยุคนี้เรากำลังต้องการโลกานุกัมปะ ซึ่งเป็นหลักการของพระพุทธศาสนา มาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์ ถ้าโลกานุกัมปะกับโลกาภิวัตน์ประสานกันได้ ก็จะช่วยให้โลกนี้มีสันติสุขขึ้นได้

คติ “โลกานุกัมปะ” นี้จะต้องยกขึ้นมาย้ำเน้นให้ทันกับยุคปัจจุบันที่เป็นยุคโลกาภิวัตน์ คือ สภาพความเจริญของโลกแผ่ขยายทั่วไป มีอิทธิพลครอบคลุมและครอบงำทั้งโลก เช่น ข่าวสารข้อมูลที่แพร่ไปทั่วโลก ระบบธุรกิจแบบแข่งขันหาผลประโยชน์ที่แผ่ขยายไปทั่วโลก เทคโนโลยีต่างๆ ที่ยอมรับกันไปทั่วโลก ปัญหายาเสพติดที่ระบาดไปทั่วโลก ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คุกคามไปทั่วโลก ยุคโลกาภิวัตน์มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี ส่วนที่เป็นปัญหานั้นมีมากมาย ตามติดมากับความเจริญแทบทุกอย่าง การที่คนทั้งหลายบ่นว่าพูดกันถึงปัญหาต่างๆ ก็เป็นเครื่องฟ้องว่า ยุคโลกาภิวัตน์ยังเป็นสภาพที่ไม่พึงประสงค์

สภาพของยุคโลกาภิวัตน์อย่างนี้ เท่ากับเร่งเร้าให้หวนกลับไปเอาคติเดิมแห่ง “โลกานุกัมปะ” นั้นมาเข้าคู่กัน หมายความว่า เมื่อถึงยุคโลกาภิวัตน์เราจะต้องกลับไปนำเอาหลักการของพระพุทธศาสนามาสร้างดุลยภาพ การนำเอาโลกานุกัมปะมาใช้ในยุคโลกาภิวัตน์ก็คือ การที่ทุกคนในยุคโลกาภิวัตน์มีอุดมคติแห่งโลกานุกัมปะอยู่ในใจของตน แล้วดำเนินชีวิตให้เกื้อหนุนต่อประโยชน์สุขของเพื่อนมนุษย์ และความดำรงอยู่ด้วยดีของโลก เรียกสั้นๆ ว่าเป็น “โลกัตถจารี” (ผู้ประพฤติประโยชน์แก่โลก หรือผู้ดำเนินชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่โลก)

จะแก้ปัญหาของสังคมไทย
ต้องสืบสาวให้รู้และแก้ให้ตรงกับเหตุปัจจัย

ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันจะมีวิธีแก้ไขได้อย่างไรนั้น จะต้องยอมรับก่อนว่า การแก้ปัญหาต้องเริ่มด้วยการรู้เหตุปัจจัย เหตุปัจจัยแห่งปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันมีมาก แต่พูดโดยย่อแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. เหตุปัจจัยในวงกว้างของส่วนรวม

2. เหตุปัจจัยในวงแคบของแต่ละคน

ประการแรก มองในวงกว้างของส่วนรวม ปัญหาของสังคมไทยปัจจุบันนี้มีมาก และเหตุปัจจัยก็มีมาก แต่ปัจจัยที่เป็นตัวการใหญ่อย่างหนึ่ง คือ คนไทยขาดจุดหมายรวมของชาติ หรือขาดอุดมการณ์ของสังคม คือขาดจุดหมายร่วมกัน ที่จะรวมใจและรวมความคิดของผู้คนในสังคมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน

เราอาจจะพูดว่าให้ทุกคนมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว แต่ก็พูดกันไปลอยๆ คำว่าประโยชน์ส่วนรวมนั้นไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะเอาอะไรและจะไปทางไหน ไม่รู้ว่ารับผิดชอบต่อสังคมที่จะเดินไปทิศทางไหน แม้แต่จุดหมายรวมอย่างหยาบ เช่น ในขณะที่โลกนี้อยู่ในยุคของการแข่งขัน แต่ละประเทศต้องพยายามเอาชนะผู้อื่น ญี่ปุ่นก็ต้องการที่จะเป็นที่หนึ่งในโลก อเมริกาก็ตั้งหน้าตั้งตารักษาความยิ่งใหญ่ของตนเอาไว้ให้ได้ มาเลเซียก็ตั้งเป้าจะเป็นอันดับหนึ่งด้านการศึกษาในเอเชียในปี 2543 ฯลฯ แต่ในประเทศไทย จุดหมายรวมซึ่งทุกคนมีจิตสำนึกตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องทำให้ได้มีบ้างไหม ประเทศไทยคิดหรือชวนกันคิดบ้างไหมว่าเราจะเป็นหนึ่งด้านไหนในเอเชียหรือในโลก

ถ้าเรามีจุดหมายที่ทุกคนตระหนักและมีจิตสำนึกคิดหมายใฝ่ฝันอยู่ตลอดเวลา ใจคนที่รวมเป็นอันเดียวนี้จะทำให้กิจกรรม พฤติกรรม ภูมิปัญญาต่างๆ มาระดมรวมกันเข้าทำให้เกิดผลสำเร็จได้ การสร้างสรรค์จะเกิดขึ้น และปัญหาต่างๆ มากมายจะเบาบางไปเอง โดยไม่ต้องหนักแรงสูญเสียเวลาในการแก้ไข เช่นในโรงเรียนเด็กทะเลาะกันวุ่นวาย ถ้ามัววุ่นแก้ปัญหาแต่ละอย่างก็ไม่รู้จักจบ แต่ถ้าให้มีกิจกรรมที่ทุกคนเห็นคุณค่า ร่วมใจกันที่จะสร้างสรรค์ขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง พอทุกคนมาใส่ใจทำกิจกรรมนี้จะปรากฏว่าปัญหาต่างๆ หายไปเอง สังคมก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อไม่มีจุดหมายรวมอันใหญ่ที่ทุกคนใส่ใจคิดหมายร่วมกันว่าจะทำให้ได้ แต่ละคนก็เลื่อนลอย แล้วก็มัวแต่ครุ่นคิดถึงประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่ กลายเป็นว่าเราไม่มีแรงที่จะไปแข่งขันกับสังคมอื่น ก็เลยต้องแข่งตีกันเอง

เวลานี้ สังคมไทยเปรียบเหมือนไก่ในเข่ง ในเทศกาลตรุษจีนเขาจะเอาไก่เป็ดใส่เข่งไปขึ้นเขียง เพื่อทำเป็นเครื่องไหว้เจ้าในวันตรุษจีน แล้วคนก็ได้กินด้วย ไก่ทั้งหลายแต่ละตัวในเข่ง มองไปทางไหนก็เห็นแต่พวกเดียวกัน แล้วก็กระทบกระทั่งกัน จิกตีกันวุ่นวาย จนกระทั่งในที่สุดก็ไปขึ้นเขียงตายไปด้วยกันทั้งหมด

สังคมที่ไม่มีจุดหมายรวมใหญ่ที่จะรวมสายตาให้มองไกลออกไปข้างนอกนั้น แต่ละคนก็จะจ้องมองแต่พวกตัวเอง มองกันไปมองกันมาก็มีแง่ที่จะกระทบกระทั่งกันแล้วก็ขัดแย้งทะเลาะวิวาทกันไป ในที่สุดก็จะมีสภาพเป็นอย่างนั้นเหมือนกันหมด ตั้งแต่ระดับใหญ่ที่สุดในประเทศลงมา จนถึงเล็กที่สุด จริงหรือไม่ขอให้พิจารณาดู

สังคมไทยขณะนี้ยอมรับหรือไม่ว่าเราขาดจุดหมายรวม ถ้าสังคมไทยมีจุดหมายร่วมก็จะรวมจิตใจของคนทั้งชาติไว้ด้วยกัน ความก้าวหน้าจะทำได้มาก ทั้งในแง่ที่เป็นการสร้างสรรค์ให้เกิดผลสำเร็จและในการแก้ปัญหาไปด้วยพร้อมในเวลาเดียวกัน และเมื่อมีงานสำคัญที่จะต้องทำร่วมกันแล้ว ปัญหาเล็กๆ ปลีกย่อยก็จะลดน้อยหายไปเอง เรียกว่าเป็นการแก้ปัญหาโดยไม่ต้องแก้ไข หรือแก้ไขด้วยการละลายปัญหา หมายความว่า ปัญหามีมากมาย เพราะคนไม่มีอะไรจะทำ ถ้ามัวแก้ปัญหาแต่ละอย่าง ก็จะวุ่นวายจมอยู่กับการแก้ปัญหานั่นแหละ ไม่รู้จักจบสิ้น แต่ถ้าเรามีกิจกรรมหรืองานสร้างสรรค์สักอย่างที่ทุกคนพร้อมใจกันทำ คนทั้งหลายก็จะมาใช้เวลาหมดไปกับการทำงานสร้างสรรค์จนลืมที่จะสร้างปัญหา เลยกลายเป็นว่าปัญหาหมดไปเอง โดยไม่ต้องแก้ไข

ประการที่สอง มองอย่างแคบที่ตัวคนแต่ละคน เมื่อมองในวงแคบจะเห็นว่าปัญหาต่างๆ มาจากตัวคนแต่ละคนนี่เอง และที่ตัวคนแต่ละคนนั้น ปัจจัยสำคัญที่สุดคือคุณภาพของคน คุณภาพของคนมีเท่าไรก็สร้างสังคมได้เท่านั้น คุณภาพของคนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ต้องพัฒนาคน อะไรเป็นตัวพัฒนาคนก็คือการศึกษา ปัจจุบันนี้ก็ยอมรับกันทั่วไปและเน้นกันมากในเรื่องการพัฒนาคน

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาคนนั้นยังมีปัญหาที่ว่า กระบวนการพัฒนาคนนั้นเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าจุดเน้นคือต้องพัฒนาคนเพื่อสร้างคุณภาพคน แต่เราจะพัฒนาคนที่จุดไหน คุณภาพของคนควรเป็นอย่างไรเป็นต้น ก่อนที่จะพัฒนาคนก็ควรจะรู้ว่าจะให้คนเป็นอย่างไร

สังคมไทยก็อยากจะบรรลุความสำเร็จในการแข่งขัน ซึ่งเป็นค่านิยมของยุคนี้คือการมีชัยชนะ คนที่จะมีชัยชนะได้ต้องมีความเข้มแข็ง ถ้าเราหันมามองดูคุณภาพของคนไทยที่อยู่ในระบบแข่งขันนี้ว่าจะสามารถเอาชนะได้หรือไม่ เช่นดูว่ามีความเข้มแข็งพอไหม เราก็จะมองเห็นจุดตัดสินได้พอสมควร

ถ้าคนไทยจะชนะการแข่งขันในเอเชียหรือในโลกก็ตาม คนไทยจะต้องมีคุณภาพข้อที่หนึ่ง คือต้องมีความเข้มแข็ง ปัจจุบันคนไทยมีความเข้มแข็งเพียงพอหรือไม่ เมื่อดูไปเรากลับมองเห็นในทางตรงข้ามว่าสังคมไทยในปัจจุบันกำลังอ่อนแอ และดูจะอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ ถ้าสังคมไทยอ่อนแอแล้วจะไปแข่งขันกับสังคมอื่นได้อย่างไร ฉะนั้นขณะนี้สิ่งที่จะต้องทำให้ได้คือ ต้องพัฒนาคนไทยให้มีความเข้มแข็งขึ้นมา

ถ้าขืนอยู่กับค่านิยมเสพบริโภคและชอบพึ่งอำนาจดลบันดาล
สังคมไทยจะก้าวไม่ไหว เพราะไม่มีแรงแม้แต่จะคลาน

สังคมของเรามีภูมิหลังที่เป็นเหตุปัจจัยแห่งความอ่อนแออยู่หลายประการ ตามธรรมดานั้นมนุษย์เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นหรือถูกภัยคุกคามก็จะลุกขึ้นมาดิ้นรนขวนขวายหาทางแก้ปัญหา จึงเป็นเหตุเร่งเร้าให้เข้มแข็ง แต่เมื่อสุขสบายก็มีแนวโน้มที่จะนอนเสวยสุข สังคมไทยนั้น โดยทั่วไปเป็นสังคมที่สะดวกสบาย ไม่ค่อยมีทุกข์ภัยบีบคั้นคุกคาม จึงเปิดโอกาสให้เพลิดเพลินผัดเพี้ยน ทำให้มีความโน้มเอียงที่จะเฉื่อยชาและนอนเสวยสุข แล้วก็อ่อนแอ ถ้าคนไทยไม่รู้จักระวังตัวก็จะตกอยู่ในความประมาท เมื่อประมาทก็ยิ่งอ่อนแอลงไปอีก

คนไทยมีภูมิหลังและสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยที่จะให้อ่อนแอ ซึ่งจะต้องตระหนักและพยายามระมัดระวังไม่ปล่อยตัวให้อ่อนแอไปตามสภาพแวดล้อมที่ให้โอกาสนั้น

สภาพแวดล้อมดีหรือสุขสบาย ที่ว่าให้โอกาสนั้น มีความหมายทางบวกก็ได้ ทางลบก็ได้ ในทางบวกก็คือ จะทำอะไรก็ทำได้ง่าย เพราะสภาพแวดล้อมช่วยหนุน และไม่มีเครื่องกีดขวาง หรือมีอุปสรรคน้อย ส่วนในทางลบก็คือ มันชวนให้ปล่อยตัวเพลิดเพลินผัดเพี้ยน ซึ่งเท่ากับทิ้งโอกาสนั้นเสียนั่นเอง กลายเป็นว่า เพราะมีโอกาสก็เลยตกอยู่ในความประมาท

คนประมาทก็คือคนที่ไม่รู้จักใช้โอกาสให้เกิดประโยชน์ แทนที่จะได้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ก็กลายเป็นว่าเอาโอกาสนั้นมาเป็นเครื่องเปิดช่องทางแห่งความเสื่อมและทุกข์ภัยให้แก่ตนเอง หรือแก่สังคมของตน

เพราะฉะนั้น สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยนี้จึงเป็นเครื่องมือวัดคุณภาพของคนไทยด้วยว่า คนของเรามีศักยภาพในการพัฒนาแค่ไหน เมื่อโอกาสดีมีอยู่อย่างชัดเจนแล้วเราก็ควรจะเอามันมาใช้ประโยชน์ เพราะถ้าเราใช้เป็น สภาพที่ดีนั้นก็กลายเป็นข้อได้เปรียบ แต่เท่าที่เป็นมาคนไทยโดยทั่วไปได้ปล่อยตัวให้เพลิดเพลินอยู่ภายใต้อิทธิพลหล่อหลอมชักจูงในทางลบของสภาพแวดล้อม คือ

1. สภาพอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติแวดล้อม เช่น ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ทำให้ไม่ต้องดิ้นรนต่อสู้

2. สภาพการพบและรับเอาเทคโนโลยีแบบสำเร็จรูป ที่ตนเองไม่ต้องผลิต ไม่ต้องเพียรพยายามสร้างสรรค์ กับทั้งเป็นเทคโนโลยีประเภทบริโภค ที่มาช่วยอำนวยความสะดวกให้ เพิ่มความสบายที่จะไม่ต้องดิ้นรนขวนขวาย

จากสภาพความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีแบบรับของสำเร็จรูปมาเพื่อเสพบริโภคนี้ ความหมายของเทคโนโลยีสำหรับคนไทย จึงแตกต่างจากชาวตะวันตก ซึ่งมองเทคโนโลยีในแง่ที่เป็นผลงานจากความเพียรพยายามสร้างสรรค์มาตลอดกาลเวลาเป็นร้อยๆ ปี โดยผ่านวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรม

วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ หมายถึง วิถีชีวิตแห่งความใฝ่รู้ ชอบศึกษา ค้นคว้าทดลอง คิดตามแนวเหตุผล ส่วนวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ก็หมายถึง วิถีชีวิตแห่งความขยันหมั่นเพียร (industry คืออุตสาหกรรมนั้น แปลว่า ความขยันหมั่นเพียร) ชอบผลิต คิดจะทำ รวมทั้งความอดทนสู้ยากบากบั่น ไม่ยอมแก่งานหนักและความเหน็ดเหนื่อย

ชาวตะวันตกสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาด้วยเรี่ยวแรงความคิดและฝีมือของตนเอง กว่าจะสร้างสำเร็จได้ก็ต้องพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และใช้วิธีการทางอุตสาหกรรม ไม่ใช่ได้มาเปล่าๆ ฉะนั้น จึงทำให้ชาวตะวันตกได้พัฒนาคุณสมบัติของตนมาบนภูมิหลังแห่งความเข้มแข็งและความใฝ่รู้

3. วัฒนธรรมน้ำใจ ซึ่งเมื่อใช้ผิดก็กลายมาหนุนระบบอุปถัมภ์ และทำให้เกิดความอ่อนแอ การที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะคนไทยส่วนใหญ่ปฏิบัติธรรมตามหลักพรหมวิหารไม่ครบ 4 ข้อ คือ ใช้เพียง ข้อ 1-2 ได้แก่ เมตตากับกรุณา ไม่ถึงข้อ 3-4 ได้แก่ มุทิตากับอุเบกขา แง่ดีคือทำให้คนทั่วไปในสังคมไทย เป็นคนมีน้ำใจพร้อมที่จะช่วยเหลือกัน แต่ในแง่เสียก็คือ เมื่อปฏิบัติไม่ถึงข้อ 4 คือ อุเบกขา ก็เสียดุล ทำให้คนจำนวนมากมีนิสัยชอบรอคอยความช่วยเหลือ ไม่ดิ้นรนขวนขวาย เพราะหวังพึ่งผู้อื่นได้ แล้วก็กลายเป็นคนอ่อนแอ

4. ลัทธิรอผลดลบันดาล กระแสความเชื่อในลัทธิศาสนาที่มาคู่กับสังคมไทยมี 2 สาย คือ ศาสนาแบบพึ่งตนเอง ได้แก่ พุทธศาสนา กับศาสนาแห่งการพึ่งอำนาจดลบันดาลของสิ่งเร้นลับ ได้แก่ ไสยศาสตร์ ลัทธิผีสางเทวดา เทพเจ้า คนไทยปัจจุบันมีแนวโน้มไปในทางนับถือลัทธิพึ่งอำนาจดลบันดาลมาก เมื่อหวังพึ่งอำนาจภายนอกให้มาช่วยเหลือ ก็แน่นอนว่าจะต้องอ่อนแอลงๆ เพราะไม่คิดพึ่งตนเอง และไม่พัฒนาสติปัญญาความสามารถ

5. ค่านิยมเสพบริโภค สังคมไทยนี้มีค่านิยมบริโภคมาก คือ ต้องการได้รับการบำรุงบำเรอเห็นแก่สะดวกสบายไม่อยากทำอะไร ไม่เป็นนักผลิต ไม่เป็นนักสร้างสรรค์ อย่างที่พูดในข้อก่อนว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่บริโภคเทคโนโลยี ไม่ใช่สังคมที่ผลิตเทคโนโลยี จึงเป็นผู้รับและผู้ตาม คือต้องคอยรอดูว่าใครเขาผลิตอะไรใหม่ๆ คอยตามดูตามฟังข่าวและตามรับ เมื่อเป็นผู้บริโภคก็ต้องซื้อ เขาก็ล่อให้ติดเหยื่อ เลยเป็นผู้รับ เป็นผู้ตาม และเป็นเหยื่อของประเทศผู้ผลิตเรื่อยไป

แม้แต่การนำเทคโนโลยีมาใช้ คนไทยก็ใช้เพื่อเสพมากกว่าเพื่อศึกษาและสร้างสรรค์ ดังจะเห็นได้ชัดเจนว่า เด็กและเยาวชนไทยดูโทรทัศน์เพื่อเสพมากกว่าเพื่อศึกษา ถ้าคุยกับเด็กๆ จะพบว่าเยาวชนไทยดูโทรทัศน์เพื่อเสพไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 แต่ดูเพื่อการศึกษาไม่ถึงร้อยละ 20 ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงควรแนะนำส่งเสริมให้เยาวชนไทยดูโทรทัศน์เพื่อการศึกษาให้มากขึ้น โดยในระยะแรกอาจเริ่มด้วยอัตราส่วนที่ดูเพื่อเสพร้อยละ 70 และดูเพื่อการศึกษาร้อยละ 30 แล้วค่อยพัฒนาการดูเพื่อการศึกษาให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เยาวชนไทยที่จะให้ความหวังแก่สังคมไทยได้ จะต้องเป็นคนประเภทที่มีความสุขจากการใช้เทคโนโลยีเพื่อทำการสร้างสรรค์ จะเห็นว่ามีคน 2 ประเภทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี คือ พวกหนึ่งหาความสุขจากการเสพเทคโนโลยี และอีกพวกหนึ่งหาความสุขจากการใช้เทคโนโลยีทำการสร้างสรรค์ ถ้าเยาวชนของเรามีนิสัยชอบหาความสุขจากการใช้เทคโนโลยีทำการสร้างสรรค์ ต่อไปประเทศไทยจะชนะทั้งในเวทีเอเชียและในเวทีโลก ถ้าเด็กไทยชอบหาความสุขจากการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างสรรค์แล้วต่อไปเขาจะเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีเองด้วย และจะมีความสำเร็จที่สูงยิ่งขึ้นไป

เหตุปัจจัยที่ทำให้สังคมไทยอ่อนแอ เมื่อกล่าวโดยสรุปมี 2 อย่าง คือ

1. การหวังพึ่งอำนาจดลบันดาล ซึ่งทำให้ไม่เพียรพยายามที่จะทำการให้สำเร็จด้วยตนเอง (ข้อนี้เกิดจากวัฒนธรรมน้ำใจที่เสียดุล และความเชื่อในลัทธิไสยศาสตร์ รออำนาจฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์)

2. การเห็นแก่สะดวกสบายและค่านิยมเสพบริโภค ชอบความโก้เก๋ เป็นต้น (ข้อนี้เกิดจากความเพลิดเพลินปล่อยตัวตามธรรมชาติแวดล้อมที่สะดวกสบาย ไม่มีภัยคุกคาม และเคยชินกับการเสพบริโภคเทคโนโลยีสำเร็จรูปที่สังคมอื่นผลิตเสร็จมาแล้ว)

เพื่อรับมือและแก้ไขเหตุปัจจัยดังกล่าวนี้ ผู้บริหารประเทศ นักการศึกษาและคณะสงฆ์จะต้องมาตกลงกำหนดเป็นแนวทางให้ชัดเจนว่า เราจะพัฒนาคนของเราอย่างไร และพร้อมกันนั้นก็จะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างด้วย ถ้าแก้ 2 ข้อนี้ไม่ได้สังคมไทยคงจะต้องย่ำอยู่กับที่ หรือไม่ก็ถอยหลัง

มัวรออำนาจดลบันดาลทำให้
พลเมืองก็ไม่พัฒนา ประชาธิปไตยก็ยิ่งถอยห่างไปไกล

เริ่มกันที่เรื่องแรก อำนาจเร้นลับ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีสาง เทวดา เจ้าพ่อ เจ้าแม่ ฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ ไสยศาสตร์ทั้งหลายนั้น ในทางพระพุทธศาสนาท่านไม่มายุ่งกับปัญหาว่ามีจริงเป็นจริงหรือไม่ เทวดามีจริงไหม ไสยศาสตร์มีผลจริงหรือไม่ พุทธศาสนาไม่เถียงเลย เสียเวลา เพราะถึงจะเถียงกันไป 5,000 ปีก็ไม่จบ ไม่มีใครชนะ ปัญหาในเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่ามีหรือไม่มี และจริงหรือไม่จริง

สาระสำคัญของลัทธิความเชื่อถือเทพเจ้า ผีสาง เทวดา ปาฏิหาริย์ หรือไสยศาสตร์ ก็คือ หวังอำนาจดลบันดาลจากภายนอกมาทำให้ หรือรอคอยความช่วยเหลือ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าการหวังพึ่งหรือรอความช่วยเหลือนั้นดีหรือมีโทษ ตรงนี้ต่างหาก ไม่ว่าอำนาจหรือฤทธิ์เดชนั้นจะมีจริงหรือไม่จริงก็ตาม ถ้าหวังพึ่งหรือรอความช่วยเหลือแล้วมีโทษ เกิดผลเสีย ถึงมีจริงก็ไม่ควรไปหวังพึ่ง

การหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลนี้พระพุทธศาสนาเห็นว่ามีโทษมาก ท่านจึงให้พึ่งตนเอง พระพุทธศาสนาไม่ปฏิเสธเทวดา ท่านสอนให้แผ่เมตตาและทำบุญอุทิศให้เทวดา พระสวดมนต์ก็ชุมนุมเทวดาคือเชิญเทวดาทุกหมู่เหล่ามาฟังธรรมด้วย แต่อย่าไปอ้อนวอนรอคอยความช่วยเหลือหรือหวังพึ่งเทวดา

พระพุทธเจ้าเป็นยอดของผู้มีฤทธิ์ ทรงปราบฤาษี โยคี ชฎิลที่อวดฤทธิ์ได้หมด แต่ขอให้ตรวจดูเถิด ตามประวัติการบำเพ็ญพุทธกิจตลอด 45 พรรษา พระพุทธเจ้าไม่เคยใช้ฤทธิ์บันดาลผลสำเร็จให้ใครเลยแม้แต่คนเดียว เพราะหลักพระพุทธศาสนาไม่ต้องการให้คนงอมืองอเท้าคอยรอหวังพึ่งผู้อื่น แต่ท่านสอนให้ทำการให้สำเร็จด้วยความเพียรของตน ฉะนั้นจึงบอกได้เลยว่าการหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลนั้นไม่ถูกต้อง ท่านไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีหรือไม่จริง แต่เมื่อรู้ว่าเป็นโทษ มีผลร้ายแล้ว ถึงมีจริงก็ไม่ควรหวังพึ่ง

พระพุทธศาสนาถือว่า การปฏิบัติให้ถูกต้องในเรื่องนี้เป็นข้อที่สำคัญมาก จึงมีหลักอยู่ในองค์ของอุบาสกอุบาสิกาว่าไม่ให้ถือมงคลตื่นข่าว ให้หวังผลสำเร็จจากการกระทำ และมั่นใจในการกระทำ มิฉะนั้นจะเป็นคนโอนเอนไม่มั่นใจในตัวเอง

การหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอกมี 2 อย่าง คือ อำนาจดลบันดาลจากสิ่งเร้นลับ กับอำนาจดลบันดาลจากคนด้วยกันที่มีทรัพย์มีอำนาจมากกว่า การหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากเบื้องบนภายนอกขัดกับหลักพระพุทธศาสนาในข้อที่สำคัญ 4 ประการ คือ

1. ขัดหลักการทำการให้สำเร็จด้วยความเพียรของตน คือ หลักกรรมวาท วิริยวาท

2. ขัดหลักการฝึกฝนพัฒนาตน คือ หลักไตรสิกขา

3. ขัดหลักเร่งทำการด้วยความไม่ประมาท โดยใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า “ขโณ โว มา อุปจฺจคา” เวลาแม้ขณะหนึ่ง อย่าให้ล่วงเลยท่านไปเสียเปล่า นี้คือ หลักอัปปมาทะ

4. ขัดหลักพึ่งตนเองและความเป็นอิสระ ซึ่งสอนย้ำนักว่าพึงทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนเองได้ เพื่อให้บรรลุจุดหมายแห่งความหลุดพ้นมีอิสรภาพที่แท้จริง คือ หลักพึ่งตนเอง และวิมุตติ

การหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลภายนอก จากมนุษย์ด้วยกันก็ตาม หรือจากสิ่งเร้นลับที่มองไม่เห็นก็ตาม ไม่เฉพาะขัดกับหลักพระพุทธศาสนาในแง่การพัฒนาชีวิตของบุคคลเท่านั้น แต่ยังมีผลร้ายในแง่สังคมด้วย กล่าวคือ ในแง่สังคมนั้น การที่คนมัวหวังพึ่งอำนาจจากภายนอกมาช่วยเหลือ จะทำให้เขามองข้ามเพื่อนมนุษย์ร่วมถิ่นร่วมชุมชนไปหมด เพราะว่าเมื่อคนต้องการผลประโยชน์หรือความสำเร็จ และผู้ที่จะให้ผลประโยชน์หรือบันดาลความสำเร็จแก่เขาอยู่ข้างนอก ไม่เกี่ยวกับเพื่อนมนุษย์ในชุมชนและท้องถิ่น เขาก็จะไม่ต้องคำนึงหรือใส่ใจถึงเพื่อนร่วมชุมชน

ดังนั้น ความหวังพึ่งอำนาจภายนอกนี้จึงทำให้คนไม่แสวงหาความร่วมมือจากเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ในชุมชนหรือในท้องถิ่นของตน ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตยที่ว่า การจะพัฒนากิจการใดให้สำเร็จ คนในชุมชนจะต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำ มนุษย์ที่อยู่ในชุมชนทุกคนจะต้องระดมศักยภาพความรู้ความสามารถมาช่วยกันแก้ปัญหา แต่ถ้าคนมัวหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลภายนอกมาช่วยเหลือ ก็ไม่ต้องหาความร่วมมือจากคนที่อยู่ในชุมชนด้วยกัน การพัฒนาประชาธิปไตยก็เป็นไปไม่ได้ ไม่มีทางสำเร็จ

ผู้นำที่ดี ไม่ใช่ผู้ที่คอยช่วยเหลือเขา
แต่ผู้นำที่ดี คือผู้ที่ทำให้เขาพึ่งตนเองได้

เราชอบพูดชอบแนะนำ หรือแม้แต่เรียกร้องให้คนไทยสามัคคี และร่วมมือร่วมใจกัน แต่คำพูดหรือการเรียกร้องนั้นดูจะเลื่อนลอย ถ้าเราไม่ลงลึกไปถึงการแก้ไขเหตุปัจจัยที่ทำให้คนไทยไม่ใส่ใจที่จะสามัคคีร่วมมือร่วมใจกัน เหตุปัจจัยที่ขัดขวางหรือทำให้คนไทยมองข้ามการที่จะสามัคคีและร่วมมือกันนั้นมีหลายอย่าง แต่เหตุปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือการหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลหรือความช่วยเหลือจากภายนอกที่ว่ามานี้

นอกจากแก้ไขกำจัดเหตุปัจจัยฝ่ายที่ขัดขวางความสามัคคีแล้ว ก็ควรสร้างเหตุปัจจัยที่จะทำให้คนต้องร่วมมือร่วมใจสามัคคีกันด้วย ถ้าใช้วิธีของพระพุทธเจ้าก็คือ จะต้องจัดตั้งวิถีชีวิตและระบบความเป็นอยู่แห่งการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งระบบกิจการที่จะต้องร่วมมือกันทำ

การช่วยเหลือจากนอกชุมชนนั้นทำได้ แต่ต้องเป็นความช่วยเหลือที่ทำให้สังคมแข็งแรง ต้องช่วยอย่างมีเหตุผล ไม่ให้ผิดธรรม คือ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม หลักการ กฎกติกา และความเป็นเหตุเป็นผล ถ้าช่วยไม่สมเหตุสมผล ผิดหลักธรรม หรือล่วงละเมิดกติกาของสังคม ก็ไม่ควรช่วยเหลือ เฉพาะอย่างยิ่งต้องระวังอย่าให้การช่วยหลือมาทำให้เกิดนิสัยหวังพึ่งคอยรอการดลบันดาล เพราะนิสัยหวังพึ่งคอยรอการดลบันดาลจะทำให้เป็นคนอ่อนแอ การช่วยเหลือจะสำเร็จผลด้วยการสร้างความเข้มแข็ง จึงต้องช่วยเพื่อให้เขาช่วยตัวเองได้ ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนว่าจะช่วยเขาแค่ไหน และเขาจะต้องทำเองเท่าใด ปัจจุบันนี้สังคมไทยไม่มีความชัดเจนในเรื่องการช่วยเหลือ อาจเป็นกันตั้งแต่รัฐบาลจนถึงชาวบ้าน ช่วยกันไปช่วยกันมา กลายเป็นว่าไปสร้างนิสัยให้ชาวบ้านเป็นนักรอคอยความช่วยเหลือ

จริงอยู่ ในสังคมต้องมีการช่วยเหลือกัน แต่การช่วยเหลือนั้นต้องชัดเจน เช่นระหว่างรัฐกับประชาชน ว่าจะช่วยในขอบเขตแค่ไหน ใครต้องทำอะไรบ้าง และมุ่งให้ช่วยตัวเองได้ต่อไป มิฉะนั้นก็จะคอยรอหรือตั้งหน้าขอความช่วยเหลืออยู่เรื่อยไป สังคมที่ช่วยเหลือกันเรื่อยเปื่อยแบบนี้ ถึงแม้จะมีทุนดี มีทรัพยากรมาก และมีโอกาสดี ก็จะเป็นสังคมที่ก้าวหน้าได้ยาก กลับจะแพ้สังคมที่ขัดสนทุกข์ยากซึ่งไม่มีใครช่วยเหลือ เมื่อเขาต้องพยายามช่วยตัวเอง เขาก็จะมีความเข้มแข็งมากขึ้น ดังนั้นถ้าการช่วยเหลือไม่ชัดเจนก็ไม่ควรด่วนช่วยเหลือ ที่ว่าชัดเจนคือต้องให้เห็นทางที่คนหรือชุมชนนั้นจะมีความเข้มแข็งขึ้นมา และช่วยเหลือตัวเองได้

การช่วยเหลือมี 2 แบบ คือ การช่วยเหลือให้เข้มแข็งขึ้น กับการช่วยเหลือให้อ่อนแอลง สังคมใดคอยแต่จะช่วยเหลือกันอยู่ จนกระทั่งกลายเป็นสภาพปกติของสังคมที่ว่าฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้คอยรับความช่วยเหลือ ถ้าอย่างนี้ ฝ่ายรับความช่วยเหลือก็จะรอความช่วยเหลืออยู่ตลอดไปไม่มีวันสิ้นสุด และจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้ให้กับผู้รับความช่วยเหลือ แล้วก็จะถ่วงกันเองให้สังคมหมดแรงหมดกำลัง สังคมที่จะเข้มแข็งได้จะต้องมีความเข้มแข็งทั้งสังคม แล้วเอาแรงกำลังมารวมกัน จึงจะแข่งขันกับสังคมอื่นได้

ว่าโดยสรุป การช่วยเหลือที่ถูกต้อง คือ

1. ช่วยเพื่อให้เขาเข้มแข็งขึ้นมาจนช่วยตัวเองได้

2. ช่วยโดยบอก แนะนำ หรือให้เขาคิดจนรู้ว่าเขาจะต้องทำอะไร และช่วยกันทำ

ถ้าอย่างนี้ จุดไหนที่ใดยังอ่อนแอ จุดนั้นที่นั้นก็จะเข้มแข็งขึ้นมาเช่นเดียวกับที่อื่น แล้วทั้งสังคมก็จะเข้มแข็ง ไม่มาถ่วงกันหรือพะวักพะวงกันอยู่

เรื่องนี้สัมพันธ์กับผู้บริหารด้วย บางครั้งประชาชนชอบอะไร ผู้บริหารก็จะตามไปเอาใจในสิ่งนั้น ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นอาจไม่ถูกต้อง กลายเป็นว่าการไปสนับสนุนตามใจประชาชนในสิ่งที่ประชาชนชอบนั้นเป็นเรื่องของการหาคะแนนนิยมไป ผลก็คือทำให้สังคมอ่อนแอลง

ถ้าผู้บริหารมีความสามารถจริง เป็นผู้นำที่แท้จริง ต้องสามารถนำประชาชนออกไปให้พ้นจากสิ่งผิดที่ประชาชนชอบให้ได้ ถ้าประชาชนติดอยู่กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผู้บริหารที่แท้จริงต้องสามารถนำประชาชนออกจากสิ่งที่ไม่ถูกต้องนั้น ผู้บริหารต้องมีความเข้มแข็ง มีจุดหมายชัดเจน และมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว สังคมไทยกำลังต้องการผู้นำที่เป็นตัวอย่างในความเข้มแข็ง ในการที่ไม่ต้องรอคอยหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลหรือรอความช่วยเหลือจากภายนอก แต่มีความมั่นใจในตัวเองโดยหวังผลจากการกระทำ

จะต้องระลึกไว้ให้มั่นว่า การเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา หมายถึงการนำสังคมให้ก้าวพ้นจากลัทธิขอผลดลบันดาลอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์และการรอความช่วยเหลือจากอำนาจโปรดปรานของเทพเจ้า ขึ้นมาสู่การอยู่กับความเป็นจริงของธรรม ที่มนุษย์สามารถสร้างสรรค์ผลที่ต้องการได้ด้วยปัญญาและความเพียรในการกระทำของตน

จะต้องจำไว้ให้แม่นว่า พระพุทธเจ้ามีคุณค่าและความหมาย มิใช่ในฐานะเป็นผู้ที่คอยให้ความช่วยเหลือ หรือนำผลที่ต้องการมาให้แก่ผู้อ้อนวอนปรารถนา แต่เสด็จมาสั่งสอนแนะนำให้เรารู้จักพัฒนาตัวเองให้เป็นที่พึ่งของตนได้ รู้จักใช้ปัญญาและความเพียรทำการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมที่ดีขึ้นมาให้ได้ด้วยการกระทำของเราเอง

แม้แต่จะปฏิบัติต่อเทวดา
ก็ต้องรู้ว่าทางสายกลางอยู่ตรงไหน

พระพุทธศาสนาให้ถือธรรมเป็นใหญ่ คือถือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม และหลักการเป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าเอาธรรมมาให้คนไทยแล้ว ทำไมคนไทยยังหวั่นไหว ไม่เอาธรรมเป็นใหญ่ พระพุทธศาสนาได้เปลี่ยนแนวความคิดของมนุษย์ในสังคมอินเดีย ซึ่งสังคมไทยควรจะได้บทเรียน

คนอินเดียถือเทพเป็นใหญ่ เทพสูงสุด อะไรจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่เทพจะดลบันดาล ก็เลยต้องบูชายัญเพื่อเอาใจเทพ ต่อมาพระพุทธเจ้ามาบอกว่า ธรรมนี่แหละยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่มีอะไรสูงไปกว่าธรรม ฉะนั้นเทพต้องไม่เหนือธรรม แต่ธรรมต้องเหนือเทพ เมื่อธรรมเหนือกว่าเทพแล้ว ถ้ามนุษย์ทำถูกตามธรรมก็ไม่ต้องกลัวเทพ เพราะธรรมเป็นใหญ่ เทพก็ต้องทำตามธรรม มนุษย์ไม่ได้ดูหมิ่นเทพ มนุษย์ก็ยังนับถือเทพเป็นผู้ใหญ่ในแง่ภูมิธรรม แต่ทั้งเทพและมนุษย์ถือร่วมกันคือถือธรรมเป็นใหญ่

ในสังคมไทย ชาวพุทธให้เกียรติเทวดา เช่น เวลาทำบุญก็แผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้แก่เทวดาด้วย เวลาสวดมนต์ก็เชิญเทวดามาฟังธรรมด้วย แต่ถือธรรมเป็นใหญ่ ถ้าเกิดกรณีพิพาทระหว่างมนุษย์กับเทวดา เมื่อมนุษย์ได้พิจารณาแล้วว่าตนทำถูกต้องตามธรรม ก็ไม่ต้องกลัวเทวดา เพราะเทวดาต้องยอมแก่ธรรม

ฉะนั้น ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาต้องถือธรรมเป็นใหญ่ ธรรมเป็นสรณะที่พึ่งสูงสุดที่แท้จริงในสากลโลก ไม่มีอะไรเหนือธรรม มนุษย์ต้องทำการเพื่อธรรม ปัจจุบันนี้เรากำลังสร้างแผ่นดินธรรม ไม่ใช่สร้างแผ่นดินให้กับเทพ ถ้าเทพดีมีธรรมจะต้องมาร่วมมือหรือส่งเสริมมนุษย์ในการสร้างแผ่นดินธรรม แต่มนุษย์ต้องทำ ไม่ใช่รอให้เทพมาทำให้ ความสัมพันธ์กับเทพจะต้องให้ชัดเจนว่า สัมพันธ์ในสถานะไหน และใครมีบทบาทอย่างไร

เพื่อความชัดเจนในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดาตามประเพณีของชาวพุทธ ขอพูดเติมไว้อีกหน่อยว่า

คติทางพุทธศาสนาถือว่า เทวดาหรือเทพทั้งหลายนั้นก็เป็นเพื่อนร่วมโลกกับมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายอื่น ซึ่งเป็นธรรมดาที่ควรมีเมตตาไมตรีต่อกัน และเมื่อว่าโดยเฉลี่ย เทพจะมีภูมิธรรมค่อนไปในทางสูงกว่ามนุษย์ อย่างน้อยแม้จะมิได้มีภูมิธรรมภูมิปัญญาสูงก็ไปเกิดด้วยความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นชาวพุทธจึงมีความสัมพันธ์กับเทวดา โดยปฏิบัติต่อท่าน ดังนี้

1. นอกจากมีเมตตาไมตรีเผื่อแผ่กุศลความดีให้เทวดาแล้ว ก็เคารพนับถือ หรือให้เกียรติเทวดาทั้งหลาย เหมือนปฏิบัติต่อมนุษย์ผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ หรือเป็นผู้มีคุณความดี

2. เอาคุณธรรมความดีของเทวดามาเป็นที่ระลึกหรือเป็นเครื่องเตือนสติ ให้บำเพ็ญความดีหรือบุญกุศลยิ่งขึ้นไป ดังเช่นข้อปฏิบัติที่เรียกว่า เทวตานุสติ ซึ่งแปลว่าตรองระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดาที่มีอยู่ในตน

3. ไม่ว่าจะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม ท่านผู้ใดฝึกฝนพัฒนาตนดีแล้ว เราก็ยกย่องเชิดชูไว้เป็นแบบอย่างของสังคม เพื่อให้เป็นเครื่องแสดงว่าสังคมของเราเป็นสังคมที่เชิดชูความดี และเชิดชูคนดี อันจะเป็นเครื่องรักษาสังคมนั้นเองให้อยู่ในสันติสุขได้ยั่งยืนมั่นคง

แต่การที่จะอ้อนวอนหรือรอคอยความช่วยเหลือจากเทวดา หวังพึ่งเทวดา คอยประจบเอาใจเทวดาให้โปรดปรานนั้น ไม่ใช่วิถีทางของชาวพุทธ เช่นเดียวกับในหมู่มนุษย์ การที่จะมัวรอคอยความช่วยเหลือ หรือหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลของท่านผู้ใหญ่ คอยไปประจบเอาใจท่านให้ทำอะไรให้ โดยไม่เพียรพยายามทำกิจหน้าที่ของตน ก็ย่อมไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมใดๆ ของอารยชน

หลักการในเรื่องนี้มีอยู่ว่า ถ้าผู้ใหญ่เป็นคนดี ก็ย่อมช่วยเหลือคนที่ทำความดี ด้วยความดีของท่านเอง โดยไม่ต้องรอให้ใครไปอ้อนวอนเอาอกเอาใจ ทั้งนี้ เพราะทุกคนมีหลักยึดถือร่วมกัน คือธรรม และจึงปฏิบัติไปตามธรรม

ประเทศเป็นประชาธิปไตย
ประชาชนต้องถือธรรมเป็นใหญ่

เป็นอันว่าต้องเอาธรรมเป็นใหญ่ ต้องเชิดชูธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เราถือธรรมเป็นใหญ่ เราเคารพธรรม” และพระองค์ได้ตรัสถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นจักรพรรดิว่าเป็น ธรรมาธิปไตย คือ ถือธรรมเป็นใหญ่ ถือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม และถือหลักการเป็นใหญ่

คำว่า “อธิปไตย” นั้น เวลานี้ต้องแยกว่ามีการใช้ใน 2 ความหมาย คือ

1. ความหมายที่บัญญัติกันในสมัยปัจจุบัน หมายถึงระบอบการปกครองที่ใครเป็นใหญ่หรือเป็นเจ้าของอำนาจ เช่น ราชาธิปไตย ได้แก่ระบอบการปกครองที่องค์ราชาหรือพระมหากษัตริย์เป็นใหญ่ เป็นเจ้าของอำนาจตัดสินใจ อภิชนาธิปไตย ได้แก่ระบอบการปกครองที่กลุ่มคนชั้นสูงเป็นใหญ่ ประชาธิปไตย ได้แก่ ระบอบการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ เป็นเจ้าของอำนาจตัดสินใจ คือ เป็นเรื่องของรูปแบบหรือระบบแห่งกิจการของสังคม

2. ความหมายเดิมซึ่งใช้ในหลักธรรม หมายถึงคุณสมบัติหรือลักษณะท่าทีแห่งจิตใจและการปฏิบัติของบุคคล ที่จะยึดถืออะไรเป็นใหญ่ ให้ความสำคัญสูงสุดแก่สิ่งใด เอาอะไรเป็นเกณฑ์ เป็นมาตรฐานในการตัดสินใจ และในการปฏิบัติจัดทำกิจการต่างๆ ซึ่งโดยทั่วไปมี 3 อย่าง คือ

1) อัตตาธิปไตย ถือตนเป็นใหญ่ เอาความพอใจชอบใจ ผลประโยชน์ เกียรติหรือศักดิ์ศรีของตนเป็นเกณฑ์ อย่างดีก็เอาความเคารพตัวเองเป็นใหญ่

2) โลกาธิปไตย ถือโลกเป็นใหญ่ คือเอาความนิยมหรือกระแสสังคม เสียงชื่นชมยกย่อง การที่จะหลีกเลี่ยงคำนินทา หาแต่คำสรรเสริญ การจะได้รับคะแนนนิยมเป็นเกณฑ์

3) ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ คือยึดถือหลักการ เอาความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ความเป็นไปตามเหตุผล กฎกติกา และกฎหมายที่วางเป็นหลักไว้ เป็นเกณฑ์ตัดสิน

ใน 3 ข้อนี้ คุณสมบัติ ลักษณะท่าที หรือเกณฑ์ตัดสินใจที่ดีที่สุด คือ ธรรมาธิปไตย

อธิปไตยใน 2 ความหมายนี้มาบรรจบกันตรงที่ว่า ในระบบการปกครองใดๆ ก็ตาม บุคคลที่เป็นผู้ปกครองหรือเป็นเจ้าของอำนาจตัดสินใจนั้น เป็นหัวใจที่จะทำให้การปกครองเกิดผลดีหรือผลร้าย ให้การปกครองนั้นบรรลุวัตถุประสงค์แห่งการปกครองหรือไม่ ฉะนั้น ผู้ที่ปกครอง หรือเจ้าของอำนาจปกครอง ไม่ว่าในระบบใดก็ตาม ควรจะต้องเป็นธรรมาธิปไตย เช่น

ในระบอบราชาธิปไตย องค์ราชาต้องเป็นธรรมาธิปไตย ถ้าองค์ราชาเป็นธรรมาธิปไตย ราชาธิปไตยนั้นก็เป็นราชาธิปไตยที่ดีที่สุดในจำพวกราชาธิปไตยด้วยกัน

ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนแต่ละคนต้องเป็นธรรมาธิปไตย ถ้าในสังคมใดประชาชนเป็นธรรมาธิปไตยกันมากที่สุด ประชาธิปไตยของสังคมนั้นก็เป็นประชาธิปไตยที่ดีที่สุดในบรรดาประชาธิปไตยทั้งหลาย

ถ้าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุดในบรรดาระบอบการปกครองทั้งหมด ประชาธิปไตยของสังคมใด มีประชาชนที่เป็นธรรมาธิปไตยมากที่สุด เราก็จะได้ระบอบการปกครองที่ดีซึ่งเป็นที่สุดของที่สุด

ต้องย้ำว่า เวลานี้เรามีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ประชาชนเป็นผู้ปกครอง หรือเป็นเจ้าของอำนาจในการปกครอง ดังนั้น ประชาชนแต่ละคนจึงต้องเป็นธรรมาธิปไตย คือถือธรรมเป็นใหญ่ หมายความว่า ถือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ถือหลักการและกฎกติกาเป็นใหญ่ เมื่อคนเป็นธรรมาธิปไตย สังคมจึงจะเป็นประชาธิปไตยได้ และระบอบประชาธิปไตยจึงจะสำเร็จ ทำอย่างไรจึงจะให้คนไทยเป็นธรรมาธิปไตย เพราะปัจจุบันนี้สังคมไทยยังหาคนที่เป็นธรรมาธิปไตยได้ยาก คือ ยังมัวหวังพึ่งเทพเจ้าหรือสิ่งดลบันดาลภายนอกทั้งหลาย ยังไม่มั่นใจในธรรม

คนไทยต้องเป็นไท ซึ่งแปลว่า อิสระ คือเป็นใหญ่ในตัวเอง ไทยจะเป็นไทได้ไทยต้องชูธรรม ถ้าไทยชูธรรมไทยจะเป็นไทได้แท้จริง หากไทยไม่ชูธรรม ไทยก็อาจจะกลายเป็นทาส อย่างน้อยก็เป็นทาสทางวัฒนธรรม เป็นทาสที่รอรับความช่วยเหลือ เป็นทาสในระบบแข่งขัน เป็นทาสทางเศรษฐกิจ เป็นทาสของผู้ผลิต โดยเป็นนักบริโภค ที่ต้องถูกเขาบันดาล ต้องถูกเขากำหนด ไทยก็จะไม่เป็นอิสระแท้จริง

ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องมีความชัดเจนในหลักการของพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นพุทธศาสนิกชนจะต้องถือธรรมเป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าเองก็ทรงถือธรรมเป็นใหญ่ ไม่มีอะไรใหญ่กว่าธรรม

คนที่ถือธรรมเป็นใหญ่ คือเป็นธรรมาธิปไตยนั้น มีลักษณะสำคัญ คือ

    1. เป็นคนมีหลักการ ไม่เลื่อนลอยไหลไปตามกระแส เอาความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ความเป็นไปตามเหตุผล และกฎกติกาเป็นเกณฑ์ตัดสิน
    2. ใช้ปัญญาและพัฒนาปัญญาอยู่เสมอ เพื่อให้รู้เท่าทันข้อมูลความเป็นไปตามเป็นจริง และเพื่อให้รู้เข้าใจ เข้าถึงหลักการ ความจริงความถูกต้องดีงาม และเหตุผลในเรื่องนั้นๆ เพื่อให้สามารถรักษาหลักการ ความจริง ความถูกต้องไว้ได้
    3. มีความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ สุจริตใจในการใช้ปัญญาพิจารณาตัดสินใจ ไม่เอนเอียงไปด้วยอคติ
    4. รักธรรม รักความจริงความถูกต้องดีงาม ทำอะไรก็มุ่งจะให้ถึงธรรมและเป็นไปตามธรรม มุ่งให้ได้ความจริง มุ่งให้เกิดความถูกต้องดีงาม จนข้ามพ้นความยึดถือในตัวตนไปได้ ให้ธรรมเป็นใหญ่เหนือแม้แต่เกียรติและศักดิ์ศรีของตน และเพราะรักธรรมมุ่งให้เกิดความเป็นธรรมนั้น จึงเป็นคนที่พูดด้วยง่าย รับฟังข้อมูลและเหตุผล ไม่ดื้อรั้นในทิฏฐิ

ใน 4 ข้อนี้ ข้อสุดท้ายเป็นตัวตัดสินความเป็นธรรมาธิปไตย แต่ในการปฏิบัติ จะขาด 3 ข้อแรกก็ไม่ได้ ต้องมีไว้ครบทั้งหมด

ประเทศชาติไม่มีทางพัฒนา
ถ้าประชาชนไม่มีคุณภาพ

เวลานี้มีคนพูดเป็นคติในเรื่องเทพเรื่องไสยว่า “ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่” นั้นก็ถูกต้อง ไม่ได้ปฏิเสธ พุทธศาสนิกชนไม่ใช่แค่ไม่ลบหลู่ แต่ถึงกับแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้แก่เทวดาด้วยซ้ำไป คำว่า “ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่” ถูกต้องแล้ว แต่จะต้องเติมต่อให้เต็มว่า “ถึงเชื่อก็ต้องเรียนรู้” และ “ถึงไม่ลบหลู่ก็ไม่รอความช่วยเหลือ”

มนุษย์ต้องไม่รอคอยความช่วยเหลือจากเทวดา แต่ต้องรีบทำการตามเหตุปัจจัยให้เต็มความสามารถ มิฉะนั้นมนุษย์ก็จะไม่พัฒนา พระพุทธศาสนาสอนเรื่องนี้ไว้ชัดเจน ถ้ามนุษย์ไม่เพียรพยายามทำการให้สำเร็จ ก็คือไม่พัฒนาตัวเอง แล้วก็จะจมอยู่อย่างนี้ ไม่ไปไหน แต่ถ้าเราสู้ปัญหา เจอปัญหาไม่โยนไปให้เทวดาแก้ ตัวเองพยายามคิดแก้ การคิดแก้นั้นก็จะทำให้เกิดปัญญา กว่าจะแก้ปัญหาได้สำเร็จ ตัวเองก็ได้พัฒนาไปมาก ปัญญาก็เกิดขึ้นมาก ถ้าเรายังคิดไม่สำเร็จ ลูกของเราก็มาคิดต่อ ลูกคิดไม่สำเร็จ หลานก็มาคิดต่อ สังคมก็มีการพัฒนา สังคมที่จะพัฒนามาได้ก็เพราะเจอปัญหาแล้วพยายามดิ้นรนหาทางแก้ไขกันมา

ในการพัฒนาสังคมไทยตามหลักพระพุทธศาสนา ขอสรุปจุดเน้นที่การพัฒนาคนให้มีคุณสมบัติพื้นฐานดังนี้

1. ถือหลักทำการให้สำเร็จด้วยความเพียรพยายาม ที่เรียกว่า หลักกรรม

2. ถือหลักเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาชีวิตให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยไป ทั้งทางพฤติกรรม ทางจิตใจ และทางปัญญา ที่เรียกว่า หลักไตรสิกขา

3. ถือหลักทำการทั้งหลายอย่างเร่งรัดไม่รอเวลาด้วยความไม่ประมาท ที่เรียกว่า หลักอัปปมาท

4. ถือหลักทำตนให้เป็นที่พึ่งเพื่อพึ่งตนเองได้และเป็นอิสระ ที่เรียกว่า หลักอิสรภาพแห่งการพึ่งตนได้

หลักการดังกล่าวมานี้ ชาวพุทธต้องถือปฏิบัติอย่างจริงจังมั่นคง และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในสังคมต้องพยายามช่วยกันแก้ปัญหา การช่วยกันแก้ปัญหาจะทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้นมาเอง

เลิกความอ่อนแอของนักเสพบริโภค และเร่งพัฒนาความเข้มแข็งทางปัญญา
สังคมไทยจึงจะก้าวไปทันและนำเขาได้

เรื่องที่สอง ค่านิยมเสพบริโภค หมายถึงการเห็นแก่ความง่าย สะดวกสบาย เป็นนักเสพบริโภค เอาแต่สนุกสนาน รวมไปถึงค่านิยมที่ชอบโก้เก๋ เอาพฤติกรรมเสพบริโภคมาอวดกัน ไม่เป็นนักผลิต ไม่ขยันอดทน ไม่สู้งาน

เมื่อคนไทยไม่เป็นนักผลิต สังคมไทยก็ไม่เข้มแข็ง โดยเฉพาะเมื่อมองอย่างเปรียบเทียบกันในระบบแข่งขัน ขณะที่สังคมไทยเป็นสังคมที่บริโภคเทคโนโลยี ไม่ใช่สังคมที่ผลิตเทคโนโลยี สังคมไทยก็ย่อมเสียเปรียบ เพราะเป็นผู้รับ เป็นผู้ตาม และเป็นเหยื่อของสังคมที่เป็นผู้ผลิต เป็นฝ่ายถูกกระทำ ถูกกำหนด หมดความเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีอิสรภาพ

ยิ่งกว่านั้น เมื่อรับเอาเทคโนโลยีมาแล้ว เรายังนำมาใช้เพื่อการเสพ มากกว่าใช้เพื่อการศึกษาและสร้างสรรค์ และไม่รู้จักหาความสุขจากการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ต้องเป็นการแก้ระยะยาวและแก้ให้ถึงเนื้อตัวหัวใจของการศึกษา หมายความว่า การศึกษาจะต้องพัฒนาคนขึ้นมาเป็นนักศึกษาและนักสร้างสรรค์ ไม่ใช่ให้มาเป็นนักเสพนักบริโภค ซึ่งก็คือกลายเป็นคนไม่มีการศึกษา เวลานี้เมืองไทยเต็มไปด้วยนักเสพนักบริโภค หานักศึกษาและนักสร้างสรรค์ได้ยาก

สาระของการศึกษาก็คือการพัฒนาคน ที่ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงจากผู้เป็นอยู่เพียงเสพบริโภคมาเป็นผู้มีชีวิตที่รู้จักศึกษา เมื่อมองในแง่นี้ก็กลายเป็นว่า ในสังคมไทย การศึกษายังไม่ได้เริ่มต้นเลย เพราะสังคมไทยยังคงเป็นเพียงสังคมของนักเสพนักบริโภค ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ในการสร้างสังคมให้เข้มแข็งนั้น ความเข้มแข็งแบ่งออกได้ 3 ระดับ คือ

1. ความเข้มแข็งทางพฤติกรรม

2. ความเข้มแข็งทางจิตใจ

3. ความเข้มแข็งทางปัญญา

คนส่วนใหญ่จะมองแค่ภายนอก คือดูแค่ความเข้มแข็งทางพฤติกรรม เช่น การแสดงออกทางร่างกาย และทางวาจา ความเข้มแข็งทางพฤติกรรมไม่ใช่ความก้าวร้าวแข็งกระด้าง ความเข้มแข็งทางพฤติกรรมที่ยอมรับได้ คือความขยันขันแข็งจริงจังในการทำงาน แต่ถึงกระนั้น ถ้ามีแต่อาการเข้มแข็งทางพฤติกรรมอย่างเดียวก็ยังไม่ใช่ความเข้มแข็งที่แท้จริง ความเข้มแข็งที่แท้ต้องเกิดจากฐานภายใน คือ ทางจิตใจและปัญญา เช่น การไม่เป็นผู้คอยรอความช่วยเหลือจากภายนอก แต่มีกำลังใจเข้มแข็งมุ่งมั่นตั้งใจเด็ดเดี่ยว พยายามทำการทั้งหลายให้สำเร็จด้วยตนเอง โดยใช้ปัญญาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา เมื่อเป็นดังนี้ก็จะเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง สามารถฟื้นตัวและแม้แต่ขึ้นไปนำเขาได้

ผู้นำที่แท้จริง คือผู้นำทางปัญญา สังคมไทยจะต้องเลือกเอาว่าจะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ หรือเป็นผู้นำทางปัญญา ถ้าคิดแค่จะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจก็ต้องพูดว่า มีวิสัยทัศน์แคบ ยุคนี้เป็นยุคของโลกแห่งข่าวสารข้อมูล ชัยชนะที่แท้จริงอยู่ที่ปัญญา และปัญญานี้จะเป็นตัวผันเงินอีกทีหนึ่ง ถ้าไม่ชนะทางปัญญาจะชนะจริงไม่ได้ แม้แต่เงินเองก็ต้องเอามาทำให้เป็นปัจจัยแห่งปัญญาให้ได้

ปัจจุบันนี้ที่สำคัญที่สุด คือ สังคมไทยให้ความสำคัญแก่ปัญญาน้อยอย่างยิ่ง แทบจะพูดได้ว่าเป็นสังคมที่ไม่นิยมปัญญา เอาแต่ผลประโยชน์ นิยมแต่เงิน อยากจะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่เป็นผู้นำที่แท้จริง และนำไม่สำเร็จ อย่ามัวภูมิใจกับเศรษฐกิจกลวงใน เศรษฐกิจขายทุนเก่า เศรษฐกิจตามกระแส ที่พลอยฟู่ฟ่าไปตามสถานการณ์ โดยไม่มีความสามารถอยู่ในตัวเอง เศรษฐกิจจะมีคุณค่าและเข้มแข็งจริง ต่อเมื่อเอามาใช้เป็นฐานของการพัฒนาให้เกิดความสามารถขึ้นมาในตัวของเรา โดยเฉพาะจะต้องเอาเศรษฐกิจมาทำให้เป็นปัจจัยแห่งปัญญาให้ได้ สังคมไทยจึงจะพัฒนา และปัญญาจะมาเป็นหลักประกันให้แก่เงินตราต่อไป เวลานี้สังคมไทยให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อพัฒนาปัญญาน้อยเหลือเกิน

การให้ความสำคัญแก่เศรษฐกิจนั้นถูกต้อง แต่มีสิ่งที่สำคัญกว่านั้น เศรษฐกิจและเงินนั้นเป็นปัจจัย ไม่ใช่จุดหมาย ปัจจัย หมายความว่า เป็นเครื่องสนับสนุนให้เข้าถึงซึ่งสิ่งที่ดีงามกว่านั้น การพัฒนาของมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่เงินตรา แต่ก็ต้องมีวัตถุเป็นเครื่องอาศัย ทางพระพุทธศาสนาเรียกย้ำว่าเป็นปัจจัย เราขาดมันไม่ได้ แต่มันก็เป็นแค่ปัจจัย ซึ่งจะต้องเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ และให้เป็นปัจจัยแก่ความเข้มแข็งทางปัญญาให้ได้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ปญฺญา ว ธเนน เสยฺโย” แปลว่า ปัญญานี่แหละประเสริฐกว่าทรัพย์ ในยุคปัจจุบันจะต้องเน้นหลักนี้ให้มาก และยังมีพุทธศาสนสุภาษิตอีกข้อหนึ่งว่า “วิชฺชา อุปฺปตตํ เสฏฺฐา” แปลความว่า ในบรรดาสิ่งที่งอกขึ้นมา วิชาประเสริฐสุด บรรดาสิ่งทั้งหลายจะงอกเท่าไรก็ไม่ประเสริฐเท่ากับวิชางอก คือปัญญาเจริญแข็งกล้า แก้ปัญหาลุล่วง และคิดการสำเร็จ คนไทยมองชาวตะวันตกว่าเจริญอย่างไรก็มองไม่ถูก นึกว่าชาวตะวันตกถือลัทธิทุนนิยม ต้องการผลประโยชน์มาก ก็เลยสร้างความเจริญได้สำเร็จ

ฝรั่งว่าอย่างไร ก็ฟังให้รู้ไว้
แต่ต้องวิเคราะห์วิจัยให้เลยจากที่ฝรั่งติดตันออกไป

ชาวตะวันตกโดยเฉพาะคนอเมริกันถือว่า ระบบแข่งขันเป็นพลังยิ่งใหญ่ที่สร้างความสำเร็จให้กับสังคมของเขา หมายความว่าเขาถือลัทธิปัจเจกชนนิยม ที่เน้นการหาผลประโยชน์ส่วนตัว โดยถือว่าเมื่อแต่ละคนพยายามพากเพียรหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองให้มากแล้ว โดยส่วนรวมสังคมก็จะเจริญเอง แต่นี่เป็นผลข้างปลาย เราจะต้องมองลึกลงไปว่าเหตุปัจจัยอะไรที่อยู่เบื้องหลังความเจริญของชาวตะวันตก ซึ่งแฝงลึกอยู่ในภูมิหลังตลอดเวลาที่ผ่านมาเป็นร้อยๆ ปี ภูมิหลังนี้จะเห็นได้ในวัฒนธรรมที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมา เช่น วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมอุตสาหกรรม อันนี้ต่างหากที่เป็นพลังพื้นฐานอันแท้จริง

จะเห็นว่าชาวตะวันตก โดยเฉพาะคนอเมริกันนั้น มีความภูมิใจในจริยธรรมแห่งการทำงาน (work ethic) ซึ่งหมายถึงความขยันขันแข็งเพียรพยายามสู้ความยากลำบาก มุ่งหน้าทำงาน ทั้งอดทั้งออม ไม่ท้อถอย อันนี้ต่างหากที่เป็นแกนขับดันให้ลัทธิผลประโยชน์เป็นไปในทางที่ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าได้ ถ้าไม่มีภูมิหลังอันนี้ที่ลึกซึ้งซ้อนอยู่ชาวตะวันตกก็ไปไม่รอด เพราะลัทธิมุ่งผลประโยชน์ระบบตัวใครตัวมันแข่งขันกันนี้ ถ้าขาดภูมิหลังดังกล่าวมาเป็นฐานให้แล้ว ก็จะมีแต่การหาทางเอาเปรียบกัน

ปัจจุบันนี้สังคมตะวันตกก็กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เสียงบ่นว่ากันเองหนาหูว่า จริยธรรมแห่งการทำงาน (work ethic) ของคนอเมริกันเสื่อมหาย คนรุ่นใหม่สำรวยเห็นแก่ความสะดวกสบาย และอีกด้านหนึ่ง การหาผลประโยชน์ก็เบนไปในทางที่จะเอาให้ง่าย อย่างไม่ซื่อ เช่น เอากฎหมายมาเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ โดยหาเรื่องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเพื่อนบ้าน ฟ้องแพทย์ที่รักษาพยาบาลผิดพลาด เรียกค่าเสียหายมากๆ เป็นต้น

ปัจจุบันมีชาวตะวันตกบางคนเขียนหนังสือว่าลัทธิปัจเจกชนนิยม (individualism) ที่เขาภูมิใจว่าเป็นตัวสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่สังคมของเขาด้วยการหนุนระบบแข่งขันนั้น ไม่ใช่เป็นวิธีเดียวที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้า เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น จะเห็นว่าลัทธิทุนนิยมแบบอเมริกันกับแบบญี่ปุ่นไม่เหมือนกัน วิธีทำงานของญี่ปุ่นกับอเมริกันก็ไม่เหมือนกัน ญี่ปุ่นนั้น แทนที่จะเป็นปัจเจกชนนิยม กลับมีความจงรักภักดีต่อส่วนรวม อุทิศตนเพื่อส่วนรวม ร่วมมือกัน ไม่ทอดทิ้งกัน ถ้าใครทอดทิ้งพวกจะถูกประณาม ไม่มีใครรับเข้าทำงานอีก อเมริกันคิดว่าวิธีสร้างความเจริญแบบสังคมของตนนั้นดี แต่เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นก็ชักจะเกิดความไม่แน่ใจขึ้นมา

แท้จริงนั้น สังคมอเมริกันเจริญได้เพราะมีปัจจัยภูมิหลัง คือจริยธรรมในการทำงานดังกล่าวแล้วพ่วงอยู่ ซึ่งทำให้ลัทธิปัจเจกชนนิยมออกผลมาในทางบวก เวลามองเหตุปัจจัย ต้องสืบสาวให้ได้ครบ อย่าตกไปอยู่ใต้ลัทธิเหตุเดียวผลเดียว

ปัจจัยอย่างหนึ่งไปประสานกับปัจจัยตัวหนึ่ง ทำให้เกิดผลบวก แต่ปัจจัยตัวเดียวกันนั้นเองไปประกอบเข้ากับปัจจัยอีกตัวหนึ่ง กลับทำให้เกิดผลลบ เหมือนอย่างในสังคมไทย ถ้าวัฒนธรรมน้ำใจไปพ่วงกับลัทธิหวังพึ่งความช่วยเหลือจากภายนอก ก็จะทำให้สังคมไทยอ่อนแอ แต่ถ้าวัฒนธรรมน้ำใจนั้นไปประสานกับนิสัยสู้ปัญหา ก็จะทำให้เกิดความสามัคคีร่วมมือกันในการสร้างสรรค์ความก้าวหน้า ซึ่งจะช่วยให้สังคมไทยมีความเข้มแข็งขึ้น

ชาวตะวันตกมีแนวคิดหนักไปในทางที่เป็นลัทธิเหตุเดียวผลเดียว คือไปมองว่าผลนี้เกิดจากเหตุนั้น แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น มันเป็นระบบแห่งเหตุปัจจัย คือผลมาจากเหตุพร้อมทั้งปัจจัยต่างๆ ที่พร้อมถึงที่ เช่น ต้นมะม่วงต้นหนึ่งจะงอกงามขึ้นมาได้ ไม่ใช่เกิดจากเมล็ดมะม่วงแต่เพียงอย่างเดียว เมล็ดมะม่วงเป็นเหตุ แต่มีเพียงเมล็ดมะม่วงต้นมะม่วงจะงอกไม่ได้ จะต้องมี ดิน น้ำ ปุ๋ย ออกซิเจน อุณหภูมิที่พอเหมาะ เป็นต้น เมื่อเหตุปัจจัยพรั่งพร้อมแล้วต้นมะม่วงจึงงอกงามขึ้นมาได้

ถอนตัวขึ้นมาจากปลักเลนแห่งลัทธิรอผลดลบันดาล
แล้วลืมตาขึ้นมา มองให้กว้าง-คิดให้ไกล-ใฝ่ให้สูง

เหตุปัจจัยแห่งความอ่อนแอที่สังคมไทยจะต้องแก้ไขมีหลายอย่าง ข้อที่ต้องย้ำก็คือ อย่าให้สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยมามีอิทธิพลชักจูงให้เป็นคนที่เห็นแก่ความง่าย เอาแต่สะดวกสบาย ไม่ทนต่อความเหนื่อยยาก และตกอยู่ในความประมาท อย่าเป็นคนมีชีวิตแห่งการรอคอยความช่วยเหลือ หรือเป็นนักอ้อนวอนหวังพึ่งอำนาจดลบันดาล และอย่าเป็นเพียงนักเสพนักบริโภค ต้องเป็นนักผลิต หรือถ้าจะให้ดีจริงก็เป็นนักสร้างสรรค์

นักตื่นอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ นักรออำนาจศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาล นักหวังพึ่งไสยศาสตร์ นักโอนภาระให้เทวดา นักโยนปัญหาให้เทพเจ้าช่วยแก้ ฯลฯ เหล่านี้ ไม่ว่าผลที่เขาหวังจะสำเร็จหรือไม่ แต่ในระหว่างนั้น เขาก็ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเปล่า ในตัวเขาเองไม่มีอะไรดีขึ้นเลย ถ้าในระหว่างนั้นเขาไม่มัวรอความช่วยเหลือแบบนี้ แต่ขวนขวายคิดหาทางทำเรื่อยไป ไม่ว่าผลภายนอกที่ต้องการจะสำเร็จหรือไม่ แต่ภายในตัวของเขาเอง เขาก็ได้แล้วมากมาย คือสติปัญญาความสามารถเป็นต้นที่พัฒนาขึ้นมา ซึ่งเป็นการได้ที่แท้จริง อันอาจมีคุณค่ามากยิ่งกว่าผลภายนอกที่เขาต้องการจะได้นั้นด้วยซ้ำ

นักรอผลดลบันดาล หรือนักหวังพึ่งความช่วยเหลือจากภายนอก กับนักเสพนักบริโภคนั้นไปกันได้ดี และมักจะมารวมอยู่ในคนเดียวกัน ทั้งสองพวกนั้นมีลักษณะร่วมกันคือไม่อยากทำ และไม่เพียรพยายามที่จะทำ เรียกได้ว่ามีชีวิตอยู่ในวิถีแห่งความเสื่อม และพาให้สังคมเสื่อมไปด้วย โดยเหตุที่ว่า

1. เพราะไม่ทำ ไม่พยายามที่จะทำ คอยแต่รับแต่เอา จะให้เขาทำให้ ก็ย่อมอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ

2. เมื่อไม่ทำ ไม่เพียรพยายามจะทำ ก็จมอยู่กับความหวังและความฝัน เวลาผ่านไป ไม่มีอะไรดีขึ้น ไม่มีการพัฒนา

คนไทยมากมายมัวแต่หมกมุ่นเพ้อฝันและกล่อมใจตัวอยู่กับการหวังพึ่งอำนาจดลบันดาล รอคอยให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผู้วิเศษมาช่วยเสกช่วยทำให้ เวลามากมายได้ถูกพล่าผลาญหมดไปเปล่า เพราะมัวแต่รออยู่อย่างนั้น สิ่งที่ควรทำก็ไม่ได้ทำ ชีวิตก็อ่อนแอลง สังคมก็โทรมไปทุกที ถ้าขืนเป็นกันอยู่อย่างนี้ สังคมไทยจะถูกถ่วงให้จมลงไปเรื่อยๆ

พอกันเสียที กับลัทธิรอผลดลบันดาล คอยฤทธิ์ปาฏิหาริย์มาช่วยเหลือ แต่ควรจะตื่นและลุกขึ้นมาบุกฝ่าก้าวไป ด้วยการพัฒนาความเข้มแข็งและความสามารถที่จะทำการให้สำเร็จด้วยความเพียรพยายามที่ทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ให้เกิดปาฏิหาริย์แห่งความสำเร็จที่ทำขึ้นด้วยตนเอง

นอกจากนี้ เพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้น คนไทยจะต้องมองกว้าง-คิดไกล-ใฝ่สูง ใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก

ถ้าสังคมไทยจะพัฒนา คนไทยจะต้องมองให้กว้าง อย่ามองแคบแบบไก่ในเข่ง อย่ามองแต่สังคมของตนเอง แล้วก็กระทบกระทั่งกันอยู่แค่นี้ไม่ไปไหน ต้องมองกว้างออกไปให้ทั่วโลกว่าเวลานี้โลกเขาเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไร เรามีสถานะอย่างไรในประชาคมโลก เราได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของโลกอย่างไรบ้างไหม เราจะทำอะไร เราจะไปทางไหนในโลกที่เป็นอย่างนี้

ต้องคิดให้ไกล ย้อนไปให้ถึงเหตุปัจจัยในอดีต และมองไปในอนาคตให้เห็นว่า จากเหตุปัจจัยในปัจจุบันอย่างนี้ ต่อไปโลกจะเป็นอย่างไร สังคมของเราควรมีเป้าหมายที่จะเป็นอย่างไร และจะต้องทำเหตุปัจจัยอะไรในปัจจุบันเพื่อจะให้เป็นอย่างนั้น

และใฝ่สูง คือใฝ่ในจุดหมายอันสูงส่ง ซึ่งเป็นจุดหมายแห่งการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม มุ่งสร้างสังคมที่ดีงามและชีวิตที่ดีงาม ไม่ใช่ใฝ่ต่ำ เพียงจะหาลาภยศผลประโยชน์ส่วนตัว คำว่า “ใฝ่สูง” นี้ คนไทยมักจะใช้ในทางที่ผิด โดยคิดว่าอยากมีทรัพย์อยากมีอำนาจมาก ซึ่งเป็นการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว แต่ใฝ่สูงที่แท้จริงคือ ใฝ่ในจุดหมายอันสูงส่ง ต้องการทำสิ่งที่ดีงาม ต้องการให้สังคมไทยมีสันติสุข เป็นสังคมที่มีแต่ความร่มเย็น มีความดีงาม

ระวัง! การศึกษาที่แท้เพื่อพัฒนาคนไทย
หรือการศึกษาเทียมเพื่อลดคุณภาพคนไทย

คติว่า “มองกว้าง-คิดไกล-ใฝ่สูง” นั้น บางท่านเอาไปเปลี่ยนเป็นคำว่า “มองกว้าง-คิดไกล-ใฝ่ดี” หรือ “มองกว้าง-คิดไกล-ใฝ่รู้” ไม่ต้องเปลี่ยนหรอก เพราะเปลี่ยนแล้วจะรู้สึกเบาลง ไม่ค่อยเร้าใจและเสียพลังลงไป อย่างหลังนั้นท่านที่เปลี่ยนคงจะเอาจากอีกชุดหนึ่งมาผสมเข้า คือชุดที่ว่า “ใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก” คำว่า “สู้สิ่งยาก” บางท่านไม่ค่อยเต็มใจจะรับ เพราะเข้าใจไปว่าการศึกษาเป็นเรื่องของการพยายามทำให้ง่าย ชวนให้เด็กสนใจ ตรงนี้แหละระวังจะพลาด

การศึกษาที่ดีต้องช่วยให้เด็กพัฒนาอย่างมีดุลยภาพ เพราะคนเรามีชีวิตที่มีความสัมพันธ์ 2 ด้าน ด้านหนึ่ง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน อีกด้านหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่ไปเกี่ยวข้องกับความเป็นจริงของโลกและชีวิต เช่น กฎธรรมชาติแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย

การที่มนุษย์คนใดก็ตามจะพัฒนาได้ดี เขาจะต้องมีความสัมพันธ์อย่างถูกต้องกับความเป็นจริงของโลกและชีวิต คือจะต้องสามารถมีชีวิตอยู่กับความเป็นจริงนั้นอย่างได้ผล ความเป็นจริงของโลกและชีวิตนั้นมันไม่เข้าใครออกใคร ทุกคนจะต้องรู้และรับผิดชอบตัวเองให้ได้ และมนุษย์เองก็ต้องมาช่วยกันท่ามกลางความเป็นจริงนั้นอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น พ่อแม่และครูจะมัวแต่ให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็กอย่างเดียวไม่ได้ การศึกษาแค่นั้นยังไม่เพียงพอ เป็นเพียงด้านหนึ่งของชีวิต เราจะต้องให้เด็กรู้จักสัมพันธ์กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตภายนอกอย่างได้ผลดีด้วย ถ้าเด็กไม่เข้มแข็ง คือไม่พัฒนาตัวให้รับผิดชอบชีวิตของตนเองได้แล้ว เขาจะอยู่ในโลกนี้อย่างดีไม่ได้ ฉะนั้นถ้าพ่อแม่และครูไปช่วยเหลือเด็กมากเกินไป ก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดี แต่เขาจะอ่อนแอ อยู่ในโลกไม่ไหว ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีความสัมพันธ์สองด้านอย่างมีดุลยภาพ

การสู้สิ่งยากและสู้ปัญหา เป็นคุณสมบัติที่จำเป็น ถ้าไม่อยากให้คนไทยเป็นผู้พ่ายแพ้หรือถูกครอบงำในโลกแห่งการแข่งขัน และถ้าไม่อยากให้เด็กของเรากลายเป็นคนเจ้าทุกข์ระทมเศร้า เป็นโรคจิตหรือหันไปพึ่งยาบ้าหรือฆ่าตัวตายง่ายๆ ในสภาพแวดล้อมที่มิใช่ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” อีกต่อไป

ในโลกยุคนี้ เมื่อเด็กออกไปอยู่ในสังคม เขาจะได้พบเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกสบายมากมาย นี่เป็นด้านหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่ง ในเวลาเดียวกันนั้น สังคมที่เจริญด้วยเทคโนโลยีก็มีความซับซ้อนที่ทุกคนจะต้องเข้มแข็งสามารถเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในรูปแบบที่หลากหลาย ถ้าเด็กมีแนวโน้มไปในทางอ่อนแอเห็นแก่ความสะดวกสบาย เมื่อไปพบกับระบบสังคมที่ซับซ้อน เช่นเทคโนโลยีที่ช่วยให้สะดวกสบายนั้นก็ไม่ได้มาง่ายๆ เปล่าๆ แต่ต้องมีเงินหาซื้อ เป็นต้น เมื่อเผชิญกับระบบสังคมที่ซับซ้อนนี้ คนที่อ่อนแอก็สู้ไม่ได้ แล้วเด็กพวกนี้ก็จะมีปัญหา

ฉะนั้นจึงต้องสร้างพลังบุกฝ่า และแรงใจที่จะก้าวไปข้างหน้า ให้เด็กมีความเข้มแข็ง สู้สิ่งที่ยาก เมื่อเด็กเป็นคนเข้มแข็ง ไม่กลัวความยาก ก็จะกลายเป็นคนที่มีความสุขได้ง่าย ในสังคมที่ซับซ้อนนี้คนอ่อนแอจะเหลือโอกาสที่จะมีความสุขได้น้อย แต่คนที่เข้มแข็งจะยิ่งมีโอกาสแห่งความสุขได้มาก

ความสุขแบ่งออกได้หลายระดับ คือ ความสุขทางพฤติกรรม ความสุขทางจิตใจ และความสุขทางปัญญา คนไทยที่เป็นนักเสพเห็นแก่บริโภค ก็จะได้เพียงความสุขทางพฤติกรรมที่อ่อนแอ ที่ง่ายๆ สะดวก พอเจออะไรยากก็เบื่อหน่าย ท้อใจ ถ้าไม่หันไปพึ่งยาอียาบ้า หรือหาเครื่องกล่อมใจในผับในบาร์ ก็เลยไปหาความสุขทางจิตโดยการนั่งสมาธิแบบหนีโลก กลายเป็นฤาษีสมัยใหม่ หรือโยคีธุรกิจ เวลานี้มีการใช้สมาธิอย่างไม่ถูกต้อง คือใช้สมาธิแบบเป็นยากล่อมกันมาก พระพุทธศาสนาสอนให้ก้าวไปถึงความสุขทางปัญญา ซึ่งเป็นความสุขอย่างอิสระ ที่จะเป็นฐานของความสุขทางพฤติกรรมและความสุขทางจิตใจอย่างแท้จริง

เหตุปัจจัยตัวแท้ที่จะทำให้คนเข้มแข็งสามารถแก้ปัญหาของสังคมได้ คือการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นสาระของการพัฒนาคน แต่ก็ต้องให้เป็นการศึกษาแท้ที่ถูกต้องจึงจะพัฒนาคนได้

ปัจจุบันมีปัญหาซ้อนขึ้นมาคือ ยุคนี้กิจการแทบทุกอย่างของมนุษย์กำลังจะกลายเป็นธุรกิจไปหมด สังคมนี้กำลังเป็นสังคมยุคธุรกิจ แม้แต่การแพทย์ก็เป็นธุรกิจไปมากแล้ว เวลานี้การศึกษาก็เริ่มจะเป็นธุรกิจขึ้นมาด้วย คนไทยต้องคิดให้ดีว่าจะเอาการศึกษาเป็นธุรกิจหรือไม่ ต่อไปอาจเป็นได้ว่าจะเป็นยุคแห่งการต่อสู้ระหว่างการศึกษาเพื่อธุรกิจ กับการศึกษาเพื่อชีวิต คนไทยจะเลือกเอาอย่างไหน

การศึกษาเพื่อธุรกิจ หมายความว่า การศึกษาที่เป็นธุรกิจและดำเนินงานเพื่อสนองรับใช้ระบบผลประโยชน์ของธุรกิจ ซึ่งสนใจแต่เงินตรา ไม่ได้มุ่งพัฒนาตัวคน ส่วนการศึกษาเพื่อชีวิตหมายถึงการศึกษาที่เป็นการพัฒนาคนเพื่อให้คนมีชีวิตแห่งความดีงามและการสร้างสรรค์ สังคมไทยปัจจุบันนี้จะจัดการศึกษาเพื่อชีวิตหรือจัดการศึกษาเพื่อธุรกิจ ก็ต้องพิจารณาให้ดี เพราะเป็นเรื่องสำคัญว่าเราจะพัฒนาคนไทยกันจริงหรือไม่

ยังมีอีกคู่หนึ่ง คือ การศึกษาเพื่อเพิ่มผลผลิต กับการศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิต การศึกษาเพื่อเพิ่มผลผลิตนั้น มองเศรษฐกิจเป็นจุดหมาย ก็สนใจในการพัฒนาคน แต่พัฒนาคนนั้นในฐานะเป็นทรัพยากรที่จะมาเป็นทุนหนุนเสริมเศรษฐกิจ ส่วนการศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิต มองเศรษฐกิจเป็นปัจจัย ที่จะให้คนที่พัฒนาแล้วสร้างขึ้นมาเพื่อนำไปเป็นเครื่องเกื้อหนุนในการสร้างสรรค์ชีวิต สังคม และโลกที่ดีที่งามมีความเกษมสุข

ปัจจุบันนี้ประเทศไทยกำลังกระจายอำนาจทางการเมืองออกไป การเมืองในที่นี้หมายถึงการเมืองแบบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยคือประชาชนปกครอง ประชาธิปไตยจะมีคุณภาพดีหรือไม่ก็อยู่ที่คุณภาพของประชาชน เพราะประชาชนเป็นผู้ปกครอง คุณภาพของประชาชนก็อยู่ที่การศึกษา ถ้ากระจายอำนาจทางการเมืองออกไปก็ต้องกระจายการศึกษาออกไปให้เป็นฐานของการเมืองที่ดีด้วย ถ้ากระจายการศึกษาไม่ได้ผลดี การกระจายอำนาจทางการเมืองก็เลื่อนลอยและเสี่ยงภัย แทนที่จะได้ก็จะกลายเป็นเสีย

บทบาทสำคัญของพ่อแม่
แน่แท้คือการช่วยให้ลูกศึกษา

การศึกษาเริ่มต้นที่บ้าน คือในครอบครัว เพราะการศึกษาคือการเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตให้ได้ผลดี เด็กเกิดมาต้องเรียนรู้วิธีที่จะดำเนินชีวิตที่ดี นี่คือการศึกษาเริ่มต้น และการเริ่มเรียนให้รู้จักที่จะดำเนินชีวิตนี้เด็กอาศัยพ่อแม่ก่อนใคร ทางพระพุทธศาสนาจึงเรียกบิดามารดาว่าเป็นบูรพาจารย์ คือ ครูต้น หรืออาจารย์ต้น การศึกษาเริ่มต้นในบ้านคือการเลี้ยงดูลูก การเลี้ยงดูลูกที่ถูกต้องจึงเป็นการช่วยให้เด็กเรียนรู้ คือให้เด็กฝึกตัวให้รู้จักดำเนินชีวิตได้ดี ดังนั้น การเลี้ยงดูของพ่อแม่จึงควบคู่ไปด้วยกันกับการเรียนรู้ของลูก พูดสั้นๆ ว่า เลี้ยงคู่กับเรียน

ที่จริงนั้น ถึงพ่อแม่จะไม่ตั้งใจ เด็กก็ได้เรียนรู้เองอยู่แล้ว คือเรียนวิธีกิน วิธีดื่ม วิธีขับถ่าย วิธีนั่ง วิธีนอน วิธียืน วิธีเดิน และวิธีพูด เป็นต้น เพราะเป็นความจำเป็นในการที่จะมีชีวิตอยู่ เรียกว่า “เรียนรู้เพียงเพื่ออยู่รอด” แต่ทำอย่างไรจะให้การเรียนนั้นเป็นไปอย่างมีจุดหมายและได้ผล ผู้เลี้ยงจึงต้องรู้วิธีเลี้ยงเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างได้ผล ให้เป็นการ “เรียนรู้เพื่อชีวิตที่ดี” หรือเป็น “การศึกษาเพื่อชีวิตที่ดีงามและสร้างสรรค์” ฉะนั้นจึงต้องตระหนักรู้และตั้งใจว่าจะให้การเลี้ยงคู่กับการเรียน

ปัญหาครอบครัวปัจจุบันคือ พ่อแม่เลี้ยงลูกไม่เป็น และรักลูกไม่เป็น รู้กันอยู่ว่าพ่อแม่ต้องใกล้ชิดและแสดงความรักความอบอุ่นแก่ลูกให้มาก แต่ก็ต้องระวัง ถ้าพ่อแม่แสดงความรักด้วยการบำรุงบำเรอทางวัตถุมากๆ จะทำให้ลูกเป็นนักเสพนักบริโภค เลยไม่มีการพัฒนาอย่างจริงจัง แทนที่จะเป็นคุณกลับกลายเป็นโทษ การแสดงความรักของพ่อแม่ต่อลูกจึงต้องแสดงให้ถูกต้อง เรียกว่าเลี้ยงลูกให้ถูกทาง ในสังคมไทยปัจจุบันนี้ควรจะยอมรับกันว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ได้เลี้ยงลูกให้เป็นนักเสพนักบริโภค ขาดความรู้ความสามารถที่จะพัฒนาลูกให้เป็นนักศึกษาและนักสร้างสรรค์ และยิ่งกว่านั้น ยังถูกเทคโนโลยีข่าวสารโดยเฉพาะโทรทัศน์ยึดครองดินแดนของตนไปเสียด้วย

ก่อนจะพูดเรื่องนี้ต่อไป ขอแทรกหลักการสำคัญไว้หน่อยเพื่อความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของพ่อแม่ในการเลี้ยงลูก

ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า พ่อแม่มีบทบาทในการเลี้ยงลูก ซึ่งแสดงออกในสถานะ 3 อย่าง คือ

1. เป็นพรหม คือเป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้สร้างชีวิตของลูก และเป็นผู้อภิบาลให้ลูกเจริญเติบโต ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ และให้ลูกพัฒนาอย่างมีดุลยภาพ คือทั้งมีความรักความอบอุ่นความอ่อนโยน ประกอบด้วยเมตตา ไมตรี เป็นมิตร พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล (บทบาทแห่งเมตตา กรุณา มุทิตา) และทั้งมีความเข้มแข็ง หนักแน่น อยู่กับความเป็นจริง เป็นคนมีเหตุผล พร้อมที่จะรับผิดชอบชีวิตของตนเอง และเป็นหลักให้แก่ผู้อื่นได้ (บทบาทแห่งอุเบกขา) ซึ่งเป็นการเตรียมลูกให้พร้อมที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม คือโลกมนุษย์ที่ดีงามมีสันติสุข

2. เป็นบูรพาจารย์ คือเป็นครูอาจารย์คนแรก ที่ฝึกสอนให้ลูกรู้จักวิธีดำเนินชีวิต ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน มีการกินอยู่หลับนอน เดิน พูด รู้จักสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด คุณธรรม ทัศนคติ ความรู้ความเข้าใจต่อสิ่งแวดล้อม พูดสั้นๆ ว่า ช่วยให้ลูกพัฒนาทั้งทางพฤติกรรม ทางจิตใจ และทางปัญญา

3. เป็นอาหุไนยบุคคล หรือที่คนไทยนิยมพูดว่า เป็นพระอรหันต์ของลูก คือมีความจริงใจ สุจริตใจ บริสุทธิ์ใจ ต่อลูก รักลูกด้วยใจจริง สม่ำเสมอ ยั่งยืนตลอดไป ไม่ถือสาความผิดพลาดของลูกต่อตัวท่าน พร้อมที่จะให้อภัย มีคุณธรรมความดีเป็นแบบอย่างให้ เป็นผู้ควรแก่ความเคารพนับถือและการบูชาพระคุณ

บทบาทในฐานะเหล่านี้ได้พูดไว้ที่อื่นมากมายยืดยาวแล้ว ในที่นี้ขอสรุปไว้แค่นี้ก่อน แต่มีบทบาทที่เป็นคุณของพ่อแม่อีกอย่างหนึ่ง ที่อยากจะย้ำไว้ที่นี่ คือบทบาทที่พระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า “เป็นผู้แสดงโลกแก่ลูก” หรือเป็นผู้นำเสนอโลกนี้แก่ลูก (บาลีใช้คำว่า “โลกสฺส ทสฺเสตาโร”)

พอลูกลืมตาดูโลก
พ่อแม่ก็เริ่มแสดงบทบาทแรก

เด็กๆ เป็นผู้เข้ามาหรือออกมาสู่โลกใหม่ๆ เขายังไม่รู้จักโลก ไม่รู้จักสิ่งแวดล้อม และยังไม่มีความคิดว่าจะเอาอย่างไรกับโลก ตอนนี้แหละที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อเด็ก “ลืมตาดูโลก” เขาจะมองเห็นโลกอย่างไร รู้สึกต่อโลกอย่างไร และนึกคิดตั้งใจว่าจะสัมพันธ์กับโลกหรือปฏิบัติต่อโลกอย่างไร ก็อยู่ที่คนแรกที่ใกล้ชิดจะแสดงหรือนำเสนอโลกนั้นแก่เขา และเมื่อเขารู้จักโลกนี้ มองโลกนี้ มีความรู้สึกและตั้งใจต่อโลกนี้อย่างไรแล้ว ทัศนคติและเจตจำนงนั้นก็จะมีอิทธิพลกำกับบทบาทของเขาต่อโลกนี้ไปจนตลอดชีวิต

พ่อแม่เป็นมนุษย์คนแรกที่เด็กรู้จัก อยู่ใกล้ชิดกับเขามากที่สุด และเอาใจใส่เขาอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้น ตามปกติพ่อแม่จึงเป็นผู้ทำบทบาทนี้ต่อลูก คือเป็นผู้เปิดฉากแสดงหรือนำเสนอโลกนี้แก่ลูก บทบาทของพ่อแม่ข้อนี้มีความสำคัญยิ่งที่จะกำหนดวิถีชีวิตของลูกและชะตากรรมที่เขาจะมีส่วนสร้างให้แก่สังคม พ่อแม่จึงจะต้องระลึกตระหนักไว้ให้ดี และต้องพยายามนำเสนอโลกแก่ลูกให้ดีที่สุด

ว่าโดยย่อ การนำเสนอโลกแก่ลูกหรือแก่เด็กๆ นั้น จะมีอิทธิพลสำคัญในการหล่อหลอม หรือชักจูงในเรื่องที่สำคัญ 3 อย่าง คือ

1. การมองโลกมนุษย์ คือการรู้จัก รู้สึก นึกคิด มองเห็น เข้าใจ และ มีทัศนคติต่อเพื่อนมนุษย์ ในทางบวกว่าเป็นเพื่อนร่วมโลก ที่จะมีความรัก มีไมตรี เป็นมิตร เป็นผู้ที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน หรือในทางลบว่าเป็นปฏิปักษ์หรือเป็นศัตรู ที่จะต้องต่อสู้แย่งชิงกัน ทำลายล้างห้ำหั่นกันให้แหลกลาญลงไปข้างใดข้างหนึ่ง

2. การมองโลกแห่งสิ่งแวดล้อม คือทัศนคติต่อโลกแห่งธรรมชาติ ต่อโลกแห่งวัตถุ หรือสิ่งสร้างสรรค์และปัจจัยเครื่องอาศัยเป็นอยู่ของมนุษย์ รวมทั้งโลกแห่งเทคโนโลยี ในทางบวก เช่น มองเห็นโลกเป็นดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาล ที่น่าอัศจรรย์น่าเรียนรู้น่าศึกษา มีความงดงาม ที่จะออกไปชื่นชมและร่วมสร้างสรรค์ หรือในทางลบ มองเห็นโลกเป็นแหล่งแห่งสิ่งที่เราอยากจะได้อยากจะเอา เป็นเวทีแห่งการต่อสู้ช่วงชิง ที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งเสพบริโภคที่จะมาบำรุงบำเรอตัวเองให้มีความสุขมากที่สุด หรือในทางแห่งปัญญาที่จะมองตามความเป็นจริง ให้รู้เข้าใจ มองเห็นเหตุผลในสิ่งต่างๆ พร้อมที่จะไปช่วยแก้ไขปัญหาหรือสิ่งเลวร้าย และสร้างสรรค์พัฒนาสิ่งที่ดีงามเป็นคุณ

3. เจตจำนงต่อโลก คือความคิดความตั้งใจ หรือความตั้งจิตคิดหมายของเด็ก ทั้งต่อโลกมนุษย์ และโลกแห่งสิ่งแวดล้อม ว่าจะเอาอย่างไรกับโลก จะปฏิบัติต่อโลกหรือมีความสัมพันธ์กับโลกนั้นอย่างไร เขาจะออกไปทำอะไรกับโลก หรือเอาอะไรจากโลก เป็นต้น เช่นในทางบวกว่าจะออกไปร่วมอยู่ร่วมสร้างสรรค์ หรือในทางลบว่าจะออกไปต่อสู้ห้ำหั่นชิงชัย ฯลฯ

เริ่มต้นตั้งแต่ข้อแรก พ่อแม่ คือมนุษย์ชายหญิงที่อยู่ใกล้ชิดกับลูกตลอดเวลานั้น ก็คือตัวแทนของมนุษย์หมดทั้งโลก ซึ่งรวมแล้วก็มีเพียง 2 คน คือหญิงกับชาย พ่อแม่ในฐานะมนุษย์ชายหญิงที่ใกล้ชิดลูกมากที่สุดนี้ กำลังทำหน้าที่ในบทบาทที่สำคัญยิ่ง คือการก่อร่างสร้างทัศนคติของเด็กต่อโลกมนุษย์ หรือต่อมนุษย์หญิงชายทั่วทั้งโลก

ตอนนี้ข้ออุ่นใจก็เกิดขึ้นว่า โดยทุนเดิมตามธรรมชาติที่พ่อแม่มีความรักต่อลูก ท่าทีความรู้สึกและการปฏิบัติต่อลูก แม้โดยไม่รู้ตัว หรือไม่ได้ตั้งใจ ก็จึงเป็นไปในทางแห่งความมีเมตตากรุณา นำเด็กให้มีความรู้สึกที่ดีงาม คือท่าทีแห่งมิตรไมตรี ความรักความอบอุ่น และการเอื้อเฟื้อเกื้อกูล

เมื่อพ่อแม่มีลูกคนอื่นๆ พ่อแม่ก็จะนำให้ลูกมีความรู้สึกต่อลูกคนอื่นๆ นั้นว่าเป็นพี่เป็นน้อง และให้ความเป็นพี่เป็นน้อง มีความหมายในแง่ของความรักความผูกพัน พ่วงมาในตัว (เราจึงใช้คำว่าพี่น้องในความหมายที่แสดงถึงความรักความอบอุ่นช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกัน) ต่อมาพ่อแม่ก็แนะนำแสดงญาติมิตรอื่นๆ เช่น ลุง ป้า น้า อา โดยพ่วงมากับความรู้สึกและทัศนคติที่ดี กว่าเด็กจะโตขึ้นมา พ่อแม่ที่เป็นตัวแทนของมนุษยชาติคู่นี้ ก็ได้ชักนำให้ลูกเกิดมีทัศนคติพื้นฐานต่อเพื่อนมนุษย์ในทางที่ดีเป็นมิตร มีไมตรีขึ้นแล้ว นี้เป็นตัวอย่างของการทำบทบาทของพ่อแม่ในการแสดงโลกหรือนำเสนอโลกนี้แก่ลูก

ทางสองแพร่งแห่งชะตากรรมของโลก
เลี้ยงลูกเพื่อสร้างโลก หรือสร้างลูกไปล้างโลก

ตรงนี้ขอแทรกเข้ามาว่า แนวคิดเกี่ยวกับทัศนคติต่อโลกและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์แบบนี้ ต่างจากแนวคิดสายใหญ่ของตะวันตก โดยเฉพาะลัทธิดาร์วินเชิงสังคม (Social Darwinism) ที่เคยเป็นแนวคิดกระแสหลักของสังคมอเมริกัน และยังมีอิทธิพลหล่อหลอมภูมิธรรมภูมิปัญญาของฝรั่งมาจนปัจจุบัน เช่น ความนิยมระบบแข่งขันเป็นต้น

แนวคิดตะวันตกแบบนี้มองโลกมนุษย์ทำนองเดียวกับโลกของสัตว์ป่าในธรรมชาติ ที่มีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ตามหลักการที่ว่าใครดีใครอยู่ ใครแข็งใครรอด (natural selection; the survival of the fittest) แต่พุทธศาสนาไม่มองอย่างนั้น เรามองว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่แตกต่างเหนือหรือสูงขึ้นไปกว่าสัตว์ป่า พูดสั้นๆ ว่ามนุษย์มีศักยภาพที่จะทำให้โลกคือสังคมมนุษย์เป็นเวทีแห่งการแข่งขันต่อสู้ แบบใครดีใครอยู่ ใครแข็งใครรอดอย่างสัตว์ป่าก็ได้ หรือจะสร้างสรรค์โลกนี้ให้เป็นโลกคือสังคมแห่งการเกื้อกูลส่งเสริมและสร้างสรรค์ให้มีสันติสุขก็ได้

ยิ่งกว่านั้น เหนือกว่าการเมตตาอาทรเกื้อกูลกันแล้ว มนุษย์ยังสามารถพัฒนาให้สมบูรณ์จนถึงขั้นที่ว่า ทั้งที่ช่วยเหลือเอื้ออาทรกันอย่างนี้ ก็ยังเข้มแข็ง ไม่อ่อนแอ ตั้งอยู่ในหลักการ รักษาธรรมไว้ได้ และมีความไม่ประมาท

ถึงตอนนี้ก็ขอย้อนกลับมาที่เก่า ตอนที่พูดว่าเวลานี้พ่อแม่ไทยจำนวนมาก ได้ตกอยู่ในความประมาท ปล่อยให้ไอที โดยเฉพาะทีวีเข้ามาชิงเอาดินแดนหรืออาณาจักรในครอบครองของตน คือบ้านหรือครอบครัวไปเสียแล้ว ทีวีเป็นต้นนั้น ก็มาทำบทบาทในการนำเสนอโลกแก่เด็กๆ แทนพ่อแม่

บ้านและครอบครัวเป็นดินแดนในความครอบครองของพ่อแม่ แต่ปัจจุบัน เมื่อพ่อแม่ส่วนใหญ่เสียอำนาจครอบครองดินแดนนี้ให้แก่โทรทัศน์ไปแล้ว ลูกก็ไปอยู่กับโทรทัศน์และไปเข้าข้างโทรทัศน์กันหมด เมื่อโทรทัศน์มาทำหน้าที่แทนพ่อแม่ในการนำเสนอโลกแก่ลูก เด็กๆ ก็หันไปตามอย่างเลียนแบบสิ่งที่พบเห็นในโทรทัศน์ แล้วมีโลกทัศน์และชีวทัศน์หันเหไปตามอิทธิพลชักจูงของโทรทัศน์นั้น

ตามปกตินั้น พ่อแม่ทำหน้าที่นำเสนอโลกแก่ลูก หรือฉายภาพโลกให้ลูกดูอย่างมีความมุ่งหมายในด้านความดีงาม ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำให้รู้จักสิ่งที่พบเห็น หรือเล่านิทานเก่าๆ ให้ลูกฟังอย่างพ่อแม่สมัยก่อน อย่างน้อย เพราะความที่มีเมตตารักลูกอยู่โดยธรรมชาติ แม้ไม่รู้ตัวและไม่ตั้งใจ ก็นำเสนอโลกและชักจูงลูกไปในทางของความรู้สึกที่ดีงาม

แต่โทรทัศน์ไม่ได้รักลูกและไม่มีเจตจำนงที่ดีอย่างพ่อแม่นั้น จะเห็นอยู่เสมอว่า โทรทัศน์นำเสนอโลกแห่งความดุร้ายเหี้ยมโหด การทำลายกัน การแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์กัน เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เด็กรุ่นใหม่จะเติบโตขึ้นด้วยชีวิตจิตใจแบบไหน และจะนำพาสังคมไปทางใด นี่คือปัญหาโดยตรงของการศึกษา ถ้ายังคิดไม่ออก วัฒนธรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ก็ช่วยเราอยู่แล้ว โดยเตือนว่า ถ้าจะให้ลูกเติบโตขึ้นมาอย่างดี พ่อแม่จะต้องรักษาดินแดนในความครอบครองของตนไว้ หรือเอากลับคืนมาให้ได้ โดยการเข้าไปมีส่วนร่วมกับลูกในการดูโทรทัศน์เป็นต้น เพื่อชักนำลูกให้รู้จักดูรู้จักฟังรู้จักคิดและก้าวไปในวิถีแห่งการพัฒนาที่ถูกต้อง

ถ้าพ่อแม่นำเสนอโลกแก่ลูกอย่างผิดพลาด หรือปล่อยให้ทีวีมานำเสนอโลกแก่ลูกออกนอกลู่นอกทางไปแล้ว เมื่อลูกไปถึงโรงเรียนก็อาจจะสายเกินไป เพราะทัศนคติของลูกได้หันเหเสียไปแล้ว เช่นมองเพื่อนมนุษย์ไม่เป็นเพื่อนมนุษย์ ไม่มองอย่างเป็นมิตรมีไมตรี แต่มองเพื่อนมนุษย์เป็นศัตรูคู่แข่ง มองโลกเป็นดินแดนที่จะต้องไปแย่งชิงหาผลประโยชน์และสิ่งเสพกัน แทนที่จะมองเป็นดินแดนที่น่าออกไปศึกษาเรียนรู้ และคิดร่วมมือกันสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นจึงต้องระลึกตระหนักไว้ถึงความหมายที่แท้และความสำคัญของการศึกษา โดยเฉพาะบทบาทที่สำคัญในการให้การศึกษาแก่ลูก หรือพูดให้ถูกต้องว่าบทบาทในการ “ช่วยให้ลูกศึกษา”

การศึกษาเริ่มต้น เมื่อคนเริ่มรู้จักใช้อินทรีย์

การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนเริ่มรู้จักใช้อินทรีย์ อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นทางรับรู้ติดต่อกับโลกภายนอก มนุษย์จะดำเนินชีวิตอยู่ได้ต้องมีสื่อติดต่อคือ อินทรีย์ ซึ่งทำหน้าที่ 2 อย่าง

1. ใช้เสพ เช่น ตาดูสิ่งสวยงาม หูฟังเสียงไพเราะ ลิ้นลิ้มรสอร่อย เป็นต้น

2. ใช้เรียนรู้ เช่น ตาดูว่าคืออะไร เป็นอย่างไร สัมพันธ์กับสิ่งอื่นอย่างไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เป็นต้น ซึ่งเรียกว่า ศึกษา

ถ้ามนุษย์ใช้อินทรีย์เพียงเพื่อเสพ ก็ถือว่าการศึกษายังไม่เริ่มต้น มนุษย์ก็จะไม่ต่างจากสัตว์ชนิดอื่น ซึ่งก็มีอินทรีย์ไว้เสพ การเสพนั้นไม่นำไปสู่การพัฒนา แต่เมื่อใดมนุษย์ใช้อินทรีย์คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อการเรียนรู้ ก็หมายถึงว่าการศึกษาได้เริ่มขึ้นแล้ว เพราะการพัฒนา เช่น ความงอกงามของปัญญาจะเริ่มขึ้นในทันที ฉะนั้นจึงต้องฝึกเด็กให้หัดใช้อินทรีย์เพื่อการเรียนรู้ เพื่อให้การศึกษาเริ่มต้น และให้เขาก้าวไปในวิถีแห่งการพัฒนาชีวิตของตน ให้เป็นชีวิตที่เป็นอยู่อย่างดี ไม่ใช่เรียนรู้เพียงเพราะจำเป็นที่จะให้อยู่รอด หรือเพียงเพราะเป็นเงื่อนไขที่จะให้ได้เสพบริโภค

ถ้าเด็กใช้อินทรีย์เพื่อเสพ เขาก็จะมัววุ่นอยู่กับการหาสิ่งที่ชอบ และมีความสุขจากการเสพสิ่งที่ชอบใจ เมื่อพบสิ่งที่ไม่ชอบใจก็จะเป็นทุกข์ สุขและทุกข์ก็จะวนเวียนอยู่กับการพบกับสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจอย่างนี้ตลอดไป ซึ่งหมายถึงการที่จะต้องได้รับการบำรุงบำเรอโดยไม่อยากทำอะไร ความสุขมีความหมายพ่วงมา คือการที่สบายไม่ต้องทำอะไร และการกระทำก็กลายเป็นความทุกข์

มนุษย์ที่ใฝ่เสพนั้น มองในแง่ของตัวเขาเองก็จะอ่อนแอลง และต้องทนทุกข์จากการที่ต้องทำอะไรๆ เพราะฝืนใจ เมื่อมองในแง่สังคม การที่จะเสพก็ต้องเอาให้ได้ จึงทำให้ต้องแย่งชิงกัน มือและสมองก็จะมารับใช้ความใฝ่เสพ ดังนั้น สังคมจึงเต็มไปด้วยการแย่งชิงเบียดเบียนและทำลายกัน

ในทางตรงข้าม เมื่อมนุษย์เริ่มใช้อินทรีย์เพื่อการเรียนรู้ คือเพื่อการศึกษา เขาจะเริ่มพัฒนาทันที ความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น ปัญญาเจริญขึ้น ทัศนคติหรือท่าทีต่อสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไป ความหมายของสุขทุกข์ ก็เปลี่ยนไป ความสุขจะพัฒนามากขึ้น ความทุกข์จะน้อยลง เริ่มตั้งแต่ว่าการเรียนรู้ไม่ขึ้นต่อสิ่งชอบใจไม่ชอบใจ สิ่งชอบใจก็เป็นประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ สิ่งไม่ชอบใจก็เป็นประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ สิ่งที่ไม่ชอบใจเป็นปัญหาบางครั้งกลับเป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้มาก ความสุขของเขาเกิดจากการได้เรียนรู้ เมื่อได้สนองความใฝ่รู้เขาก็มีความสุข ฉะนั้นเขาจึงมีความสุขได้ทั้งจากสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ

โดยนัยนี้ คนที่พัฒนาจากการใช้อินทรีย์เพื่อเสพ ขึ้นมาสู่การใช้อินทรีย์เพื่อการเรียนรู้ ก็จะพ้นจากอำนาจครอบงำของความรู้สึก (ฝ่ายตัณหา) ขึ้นมาสู่ความปลอดโปร่งชื่นบานแห่งความรู้ความเข้าใจ (ฝ่ายปัญญา) เรียกว่า พ้นจากสังสารวัฏแห่งความสุขและความทุกข์เพราะชอบใจและไม่ชอบใจ ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ได้พบ เขาจะมองเป็นประสบการณ์ที่จะได้เรียนรู้ ไม่ใช่มองแค่เพียงชอบใจหรือไม่ชอบใจ เมื่อมองในแง่ของการเรียนรู้ก็จะพัฒนาความใฝ่รู้ให้มากขึ้น พอเกิดความใฝ่รู้ก็จะได้ความสุขจากการเรียนรู้ เพราะได้สนองความต้องการคือความใฝ่รู้นั้น

การศึกษาก้าวต่อไป ทำให้คนเข้มแข็ง
และความสุขอย่างใหม่ก็เพิ่มขึ้นมา

ต่อจากนั้น กระบวนการพัฒนาของชีวิตก็จะเดินหน้าต่อไปอีก กล่าวคือ เมื่อได้เรียนรู้ ก็จะทำให้แยกได้ระหว่างสิ่งที่ดีกับสิ่งที่ยังไม่ดี ระหว่างสิ่งที่สมบูรณ์กับสิ่งที่ยังไม่สมบูรณ์ ระหว่างสิ่งที่อยู่ในภาวะที่ควรจะเป็นกับสิ่งที่ยังไม่เข้าถึงภาวะที่ควรจะเป็น พอแยกได้อย่างนั้นแล้ว เขาก็อยากให้สิ่งนั้นอยู่ในภาวะที่ดี ที่สมบูรณ์ ที่ควรจะเป็น ถึงตอนนี้ก็จะเกิดความอยากหรือความต้องการชนิดใหม่ คือต้องการให้มันดี ให้มันสมบูรณ์ หรือความอยากให้มันดี ที่เรียกง่ายๆ ว่าใฝ่ดี

เมื่ออยากให้มันดี แต่มันยังไม่ดี ก็อยากทำให้มันดี ความอยากทำให้มันดีนี้เรียกว่า ความใฝ่สร้างสรรค์ เมื่ออยากทำให้มันดี ก็พยายามที่จะทำ เมื่อทำด้วยความต้องการที่จะทำ เขาก็จะมีความสุขจากการกระทำ และเมื่อทำให้ดีได้ก็จะยิ่งมีความสุข เรียกว่า ความสุขจากการสร้างสรรค์ ตรงนี้แหละเป็นเป้าหมายของการศึกษา คือ ความใฝ่สร้างสรรค์ และการมีความสุขจากการทำการสร้างสรรค์ ซึ่งหมายถึงการพัฒนาคนให้เกิดความต้องการทำให้ดี และการมีความสุขจากการกระทำที่สนองความต้องการนั้น

จะเห็นว่า ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการต่อเนื่องกัน จากความเป็นนักศึกษาก็พัฒนาต่อมาเป็นนักสร้างสรรค์ และเด็กจะมีความสุขจากการกระทำ เมื่อกระบวนการศึกษาเดินมาถึงขั้นนี้ ก็เหมือนรถเรือที่เดินเครื่องได้ที่และเข้าทิศเข้าทางดีแล้ว เรียกว่าวางใจได้ เพียงแต่คอยดูและคอยเกื้อหนุนไป

จากการกระทำหรือการสร้างสรรค์นั้น เด็กก็จะยิ่งศึกษา ยิ่งเรียนรู้ ยิ่งพัฒนา พร้อมทั้งมีความเข้มแข็งมากขึ้น เขาจะใช้มือและสมองเพื่อการสร้างสรรค์ ขอให้สังเกตดูเถิด คนที่ใช้อินทรีย์เพื่อการเรียนรู้ก็จะใช้มือและสมองเพื่อการสร้างสรรค์ ส่วนคนที่ใช้อินทรีย์เพื่อเสพก็จะใช้มือและสมองเพื่อการแย่งชิงเบียดเบียนกัน นี่เป็นจุดสำคัญที่สังคมไทยจะต้องให้การศึกษาที่ถูกต้อง

ก่อนจะผ่านไป จะต้องย้ำความสำคัญของ “ความอยากทำให้มันดี” นี้ไว้ว่า คุณสมบัติข้อนี้เป็นตราประทับรับรองคุณภาพของคนในขั้นพื้นฐานเลยทีเดียว หมายความว่า เมื่อใครมีคุณสมบัติข้อนี้ ที่เรียกเป็นศัพท์วิชาการว่า “ฉันทะ” ก็เรียกได้ว่าเป็นคนมีคุณภาพ

ความอยากทำให้มันดีนี้ เป็นทั้งหลักประกันสำหรับตัวบุคคลนั้นเองว่า จากคุณสมบัติข้อนี้เป็นจุดเริ่ม คุณสมบัติอื่นๆ ก็จะเกิดขึ้นตามมา และเป็นตราประกันคุณภาพให้แก่สังคมว่า ถ้าคนมีความอยากทำให้มันดีนี้แล้ว ไม่ว่าเขาจะไปทำงานชิ้นใด ตลอดจนทำสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใด ก็จะเป็นงานและเป็นสินค้าแห่งคุณภาพ ถ้าคนไทยมีคุณภาพด้วยคุณสมบัติข้อนี้กันมากๆ สังคมไทยจะเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ในทันที

สรุปว่า การใช้อินทรีย์เป็นเรื่องสำคัญมาก คือเป็นจุดตัดสินในตัวคนว่าการศึกษาจะเริ่มต้นหรือยัง คนผู้อยู่ในขั้นที่ไม่มีการศึกษาก็จะเป็นนักเสพ เมื่อเป็นนักเสพก็จะเป็นนักเสาะ ในความหมาย 2 อย่าง คือ เสาะหาสิ่งมาเสพ เห็นแก่การบริโภค มุ่งหาแต่การบำรุงบำเรอ และใจเสาะ เพราะอ่อนแอเปราะบาง เอาแต่เสพ ไม่สู้งาน ไม่อยากทำอะไร ถ้าต้องทำก็คือทุกข์ แล้วก็จมอยู่แค่นั้น ไม่พัฒนา ตรงข้ามกับนักศึกษาที่จะก้าวต่อไปเป็นนักสร้างสรรค์ ที่อยากทำอะไรๆ ให้มันดีและมีความสุขจากการกระทำ

คนที่ใฝ่สร้างสรรค์ อยากทำอะไรๆ ให้ดี พอพบคนก็อยากให้เขามีหน้าตาดี มีร่างกายสมบูรณ์ ความอยากให้มันดีที่มีต่อคนด้วยกันนี้เรียกว่า เมตตา ต่อจากนั้นก็อยากทำให้สังคมดีงามเรียบร้อยมีความสุข ความอยากให้มันดีหรือตั้งใจดีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนี้ จะทำให้มีความสุขชนิดที่ประสานระหว่างตนกับคนอื่น คือตนเองก็มีความสุขจากการกระทำของตน พร้อมกันนั้นการกระทำที่ทำให้ตนเองเป็นสุขนั้นก็เป็นการช่วยเหลือสร้างสรรค์ซึ่งทำให้คนอื่นเป็นสุขด้วย

คนที่มีความใฝ่สร้างสรรค์จะคิดอยู่ตลอดเวลา ที่จะหาทางทำให้โลกหรือสังคมนี้มีแต่สิ่งที่ดีงาม ความปรารถนาดีตั้งใจดีนั้นจะทำให้ตัวเองมีความสุขใจ และพยายามที่จะทำการนั้นให้สำเร็จ เพื่อให้เกิดความสุขแก่ผู้อื่น การมีความคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เพื่อนมนุษย์มีความสุข คือความพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลนี้ ก็เป็นความเจริญงอกงามอีกขั้นหนึ่งในการศึกษาที่แท้จริง

หัวข้อต่อไปนี้ต้องพูดสั้นๆ เพราะเวลาจะเกินไปมาก

การศึกษาเริ่มต้น เมื่อคนเริ่มรู้จักดำเนินชีวิตด้วยปัญญา

ลักษณะของคนมีการศึกษา คือ เป็นผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญาจึงเป็นเครื่องแสดงว่าคนผู้นั้นเริ่มมีการศึกษา ถ้าใครไม่ดำเนินชีวิตด้วยปัญญาก็แสดงว่ายังไม่มีการศึกษา

การดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ต้องเริ่มฝึกกันตั้งแต่ในชีวิตประจำวัน เช่น การกิน การนอน การเล่น เป็นต้น พูดสั้นๆ ว่า ให้ฝึกการดำเนินชีวิตด้วยปัญญาเริ่มตั้งแต่การกินอยู่ประจำวัน จะกินอาหารก็รู้จักกินด้วยปัญญา ถ้ามนุษย์รู้จักบริโภคปัจจัย 4 เริ่มแต่กินอาหารด้วยปัญญา การศึกษาก็เริ่มต้น คือกินด้วยความรู้เข้าใจในวัตถุประสงค์ของการกินว่ากินเพื่ออะไร ไม่ใช่กินแบบขาดสติหลงเพลินเรื่อยๆ เปื่อยๆ ไปตามรสอร่อย แต่มีความตระหนักรู้ว่ากินเพื่อบำรุงร่างกายให้เจริญเติบโต กินเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง หรือกินเพื่อคุณภาพชีวิต

เมื่อกินด้วยความรู้เข้าใจมีปัญญาแล้ว ความรู้หรือปัญญานั้นก็จะมาจำกัดขอบเขตของการกินให้พอดี ทั้งในแง่ปริมาณของอาหาร และประเภทของอาหาร เพื่อให้การกินเกิดประโยชน์แก่ชีวิตมากที่สุด นี้คือศีลที่เรียกว่า “โภชเนมัตตัญญุตา” แปลว่า ความรู้จักประมาณในการบริโภค คือรู้จักกินให้พอดี

การกินพอดี ซึ่งเป็นการกินด้วยปัญญา จะพ่วงมาด้วยด้วยท่าทีแห่งการมองอาหารในความหมายว่าเป็นปัจจัย การมองอาหาร มองสิ่งของเครื่องใช้ มองวัตถุ มองเทคโนโลยี มองเงินทอง และมองเศรษฐกิจเป็น ปัจจัย คือเป็นเครื่องเกื้อหนุนชีวิตที่ดีงาม ไม่ใช่มองเป็นจุดหมาย จะมีผลสืบเนื่องในเชิงสร้างสรรค์อีกหลายอย่างกว้างไกล อย่างน้อยก็จะเป็นการบริโภคที่มีความมั่นใจด้วยปัญญา คนที่บริโภคด้วยปัญญารู้ว่าตนทำถูกต้องตรงตามความจริงแล้วจึงมีความมั่นใจด้วยปัญญา และจะไม่หวั่นไหวต่อค่านิยมโก๋เก๋ ใครจะชอบไปกินอาหารปรุงแต่งอย่างไรก็รู้ทัน ไม่สนใจ เพราะตนเองมั่นคงด้วยปัญญา นี้คือการศึกษาได้เริ่มต้นแล้ว และเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องการ

ปัจจุบัน การกินอาหาร และการเสพบริโภคเทคโนโลยีต่างๆ ได้หวั่นไหวไปตามค่านิยม ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ถูกเขาใช้เป็นเครื่องมือล่อเหยื่อหาผลประโยชน์กันได้เต็มที่ เพราะเป็นการบริโภคอย่างขาดปัญญา

การศึกษาได้ผล เมื่อคนเริ่มรู้วิชาจัดการ

การศึกษาทำให้เกิดความรู้ และนำเอาความรู้ไปใช้ประโยชน์ คือนำไปใช้จัดการกับสิ่งต่างๆ เริ่มตั้งแต่จัดการกับชีวิตของตนเองให้ได้ผลดี เช่นจัดการชีวิตประจำวันให้ชีวิตของตนมีระเบียบในการเป็นอยู่ และในการใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด การจัดการกับชีวิตของตนเองและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องใกล้ตัวนี้ เป็นวิชาจัดการขั้นพื้นฐาน

การจัดการขั้นพื้นฐานกับชีวิตของตนเองและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดโอกาสในการพัฒนาชีวิตและสร้างสรรค์สิ่งดีงามนี้ เรียกว่า วินัย พูดสั้นๆ ว่า “วินัย” คือ การจัดการขั้นพื้นฐาน หรือความสามารถในการจัดการ คนที่มีการศึกษาจะต้องมีวินัย คือความสามารถในการจัดการขั้นพื้นฐานนี้

คำว่า “วินัย” แปลว่า การนำไปให้วิเศษ ชีวิตคนจะวิเศษในทางประเสริฐได้ เพราะรู้จักจัดการกับชีวิตของตนเองด้วยการมีวินัย คือรู้จักจัดระบบระเบียบพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของตนให้เป็นอยู่อย่างได้ผลดี วินัยจัดการกับชีวิตของตัวเองและสภาพแวดล้อมโดยให้โอกาสแก่ผู้อื่นด้วย เช่น คนมีวินัยจัดการกับพฤติกรรมของตนในการเดินทางบนท้องถนน ทำให้การจราจรเรียบร้อยดี เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและแก่เพื่อนมนุษย์ไปด้วยพร้อมกัน

การศึกษาจบสมบูรณ์ เมื่อประโยชน์ตนถึงที่หมาย
กลายเป็นประโยชน์สุขของสังคม

มนุษย์เมื่ออยู่ในสังคมก็มีความจำเป็นต้องเลี้ยงชีวิตของตนให้อยู่รอด เขาจึงต้องแสวงหาปัจจัย 4 มาบริโภค แต่เมื่อต้องครุ่นคิด มัววุ่นกับการเสพบริโภคอยู่ตลอดเวลา ต่อไปก็จะเคยชิน ใจหมกมุ่นกับการเสพ ถ้าไม่ตระหนักรู้ในวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการเสพบริโภค ก็จะไม่พัฒนาตัวเอง และจะกลายเป็นนักเสพวัตถุ พร้อมกันนั้นก็จะเกิดความโน้มเอียงของจิตใจและความคิดในทางที่มุ่งจะได้จะเอาเพื่อตัว แล้วสังคมก็จะเสียดุล เกิดการแย่งชิงเบียดเบียนกัน ฉะนั้นการศึกษาจะต้องเข้ามาแก้ไขสร้างดุลยภาพขึ้น คือการศึกษาทำให้มนุษย์รู้ตระหนักว่า ชีวิตที่ดีมิใช่มีแต่การที่มุ่งจะได้จะเอาอย่างเดียว แต่ต้องรู้จักให้ด้วย โลกจึงจะมีดุลยภาพทรงตัวอยู่ได้

การศึกษาในแง่นี้ เป็นการพัฒนาคนไม่ให้คิดจะเอาหรือหวังแต่จะได้เพียงอย่างเดียว แต่ทำให้คิดถึงการให้ด้วย เมื่อคนรู้จักที่จะให้ ก็จะมีการฝึกการให้ และความสุขจากการให้ก็จะเกิดขึ้น คนเราฝึกเรื่องอะไรก็จะได้ความสุขจากเรื่องนั้น ฝึกเรียนรู้หรือศึกษาก็ได้ความสุขจากการศึกษา ฝึกสร้างสรรค์ก็จะได้ความสุขจากการสร้างสรรค์ ฝึกการให้ก็จะได้ความสุขจากการให้ ซึ่งเป็นความสุขที่ประณีตมาก

เมื่อฝึกให้แล้ว ต่อไปก็จะเป็นนักให้ที่ชอบให้ความสุขแก่ผู้อื่น โดยจะไม่เป็นนักขอ หรือนักรอรับ คนเรานั้นถ้าเป็นนักขอหรือนักรอรับก็จะเป็นคนอ่อนแอ ถ้าเป็นนักเอานักได้ก็จะทำให้สังคมเบียดเบียนกันเกิดความเดือดร้อน แต่ถ้าเป็นนักให้ก็จะเป็นคนเข้มแข็ง เพราะก่อนให้จะต้องมีอะไรที่จะให้ ซึ่งจะต้องสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ก่อน

ความพร้อมที่จะให้หรือช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เป็นพัฒนาการสำคัญขั้นหนึ่งในการศึกษา ซึ่งจะเกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาคนที่ดำเนินไปอย่างประสานกลมกลืน ซึ่งในที่นี้หมายถึงการพัฒนาความต้องการใหม่ อันได้แก่ ความต้องการให้คนอื่นมีความสุข (ที่เรียกว่าเมตตา) และการให้หรือการช่วยเหลือเกื้อกูล ก็คือการสนองความต้องการที่ว่านั่นเอง

เมื่อการให้หรือการช่วยคนอื่นเป็นการสนองความต้องการของตน การให้หรือการช่วยเหลือนั้นก็ทำให้เกิดความสุข เมื่อคนพัฒนาถึงขั้นนี้ก็จึงมีความสุขชนิดใหม่ คือความสุขจากการให้หรือทำให้ผู้อื่นเป็นสุข

เมื่อการศึกษาดำเนินมาถึงขั้นนี้ ก็จะเริ่มมีการประสานกลมกลืนและเกื้อหนุนกัน ระหว่างประโยชน์ของตนกับประโยชน์ของผู้อื่น ซึ่งหมายถึงพัฒนาการของความสุขที่มาประสานกันด้วยการศึกษา ซึ่งหมายถึงการช่วยให้มนุษย์สามารถสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้มีสันติสุข

การศึกษาจะเป็นการศึกษาที่สมบูรณ์ไม่ได้ ถ้ายังไม่ช่วยให้มนุษย์สามารถพัฒนาประโยชน์ตนกับประโยชน์ของสังคมให้พ้นจากความขัดแย้งกัน เข้ามาสู่ความประสานเกื้อหนุนกัน

การศึกษาที่แท้ทำให้คนพัฒนาต่อไปอีก โดยเปลี่ยนคนจากผู้แสวงหาความสุขมาเป็นผู้มีความสุข จนกระทั่งความสุขกลายเป็นคุณสมบัติประจำตัวของเขา ที่มีอยู่ภายในตัวตลอดเวลา เมื่อถึงตอนนี้บุคคลนั้นก็เป็นผู้ที่เราเรียกว่า “ผู้ไม่มีอะไรจะต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป” คนที่พัฒนามาถึงขั้นนี้ จึงเรียกว่าเป็นผู้บรรลุจุดหมายของการศึกษา หรือจบการศึกษา

คนที่จบการศึกษาหรือพัฒนาตนสมบูรณ์ ผู้มีความสุขเป็นคุณสมบัติอยู่ในตัวเองนี้แหละ คือผู้ที่จะปฏิบัติตามอุดมคติแห่งโลกานุกัมปะที่กล่าวแล้วข้างต้นได้อย่างแท้จริง คือผู้บรรลุจุดหมายแห่งชีวิตของตน ที่มีชีวิตอยู่เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่พหูชน ด้วยน้ำใจเกื้อกูลแก่โลกทั้งหมด ตามคติของพระอรหันต์ที่ว่า “พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ” และนี้แหละคือสัมฤทธิ์ผลของการศึกษาที่แท้จริง

สรุปการศึกษาพื้นฐานสำคัญ ที่เป็นจุดสังเกตการเริ่มต้นของการศึกษา 5 ประการ คือ

1. ฝึกดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เริ่มแต่ฝึกบริโภคหรือกินด้วยปัญญา เพื่อสร้างความมั่นใจและความถูกต้องชอบธรรมขั้นพื้นฐาน

2. ฝึกการใช้อินทรีย์เพื่อเรียนรู้หรือเพื่อศึกษา ซึ่งจะทำให้เป็นนักศึกษาที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นนักศึกษาแต่เพียงชื่อหรือแค่รูปแบบ ซึ่งแท้ที่จริงเป็นเพียงนักเสพหรือนักบริโภค

3. ฝึกการใช้มือและสมองเพื่อการสร้างสรรค์ ไม่ใช่เพื่อการแย่งชิงและเบียดเบียนทำลายกัน

4. ฝึกใช้ความรู้หรือปัญญามาจัดสรรจัดการระบบระเบียบการดำเนินชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า วินัย

5. ฝึกเป็นนักให้ ผู้รู้จักหาความสุขจากการให้ เป็นผู้ให้ความสุข และสร้างสรรค์โลกนี้ให้มีความสุข ที่จะก้าวไปสู่การประสานประโยชน์สุขของบุคคลและสังคมให้กลมกลืนและเกื้อหนุนกัน

การศึกษาที่ถูกต้องจะทำให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงามและสังคมดีมีสันติสุข พร้อมกันนั้นธรรมชาติแวดล้อมก็จะอยู่ได้ด้วยดี ซึ่งจะสำเร็จได้ต่อเมื่อมนุษย์พัฒนามาถึงขั้นที่สามารถประสานประโยชน์ตนกับประโยชน์ของสังคมเข้ามาให้เกื้อหนุนกันได้ ดังกล่าวแล้วข้างต้น

แน่นอนว่าในระดับของพัฒนาการขั้นนี้ มนุษย์จะไม่เป็นเพียงนักเสพนักบริโภคที่ลุ่มหลงมัวเมา ผู้แย่งชิงเบียดเบียนกันเองในสังคม พร้อมทั้งทำลายทรัพยากรธรรมชาติและก่อให้เกิดมลภาวะมากมาย

มนุษย์ผู้มีการศึกษาจะสร้างสรรค์ระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ให้ดีพร้อมทั้ง 3 ประการ คือ ชีวิตที่ดีงาม สังคมที่มีสันติสุข และโลกที่รื่นรมย์น่าอยู่อาศัย ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการศึกษา

วันนี้อาตมาได้ใช้เวลาของที่ประชุมมามากแล้ว ขอยุติการบรรยายพิเศษเรื่อง “ธรรมกับไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน” ไว้เพียงเท่านี้

ขออนุโมทนาโยมญาติมิตรที่ได้มาร่วมพิธีครั้งนี้ด้วยน้ำใจศรัทธามาร่วมส่งเสริมกองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพ เพื่อสนองวัตถุประสงค์ที่กว้างขวาง คือเพื่อความดีงาม ความร่มเย็นเป็นสุขของชีวิตและสังคม ทั้งสังคมไทย และสังคมโลก คือมนุษยชาติทั้งหมด ในโอกาสนี้ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยอวยชัยให้พรแก่ทุกท่าน โดยเฉพาะในวันขึ้นปีใหม่ 2540 ที่กำลังจะมาถึง ขอให้ทุกท่านเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ พร้อมทั้งปฏิภาณธนสารสมบัติทุกประการ จงดำเนินชีวิตประกอบกิจหน้าที่การงานให้บรรลุความก้าวหน้าและความสำเร็จ เพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ชีวิตของตนเองและสังคมส่วนรวม มีความร่มเย็นเป็นสุขในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกันทุกท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

1บรรยายพิเศษในงานทอดผ้าป่าสามัคคีกองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพ ณ หอประชุมพุทธมณฑล วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2539
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.