ปัญหาวัดพระธรรมกาย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ปัญหาเรื่องวัดพระธรรมกาย

ได้ทราบว่าทางสื่อมวลชน บางท่านไปที่วัด บางท่านโทร.ไปขอนัดสัมภาษณ์ บางท่านขอถามทางโทรศัพท์ เกี่ยวกับปัญหาเรื่องวัดพระธรรมกาย พระธรรมปิฎกขออภัยด้วยที่อาพาธ ร่างกายไม่อำนวยให้ออกมาต้อนรับและตอบคำถาม

อย่างไรก็ตาม เรื่องทำนองนี้พระธรรมปิฎกได้พูดอยู่เสมอ และเป็นการพูดทั่วไปในทุกกรณี ไม่ใช่เฉพาะเรื่องวัดพระธรรมกาย เพราะเราจะต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการของพระพุทธศาสนาให้ชัด เพื่อปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนอย่างแท้จริง

โดยเฉพาะเวลานี้ ที่ประเทศชาติอยู่ในยามวิกฤตเศรษฐกิจ พระสงฆ์ควรเอาใจใส่ ช่วยแนะนำสั่งสอน ให้ประชาชนมีกำลังใจที่จะเผชิญทุกข์เฉพาะหน้า และมีสติปัญญาความสามารถที่จะแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมในระยะยาว

“กำลังใจ” นั้น หมายถึง กำลังใจที่จะทำ หรือที่จะเพียรพยายามเดินหน้า ฝ่าฟันปัญหา ไม่ใช่กำลังใจแบบกล่อมให้อยู่ด้วยความหวังว่าจะมีอำนาจวิเศษมาช่วยดลบันดาลอะไรให้

เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์

เรื่องฤทธิ์ หรืออิทธิปาฏิหาริย์นั้น มีหลักพุทธศาสนาชัดเจนอยู่แล้วว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ ไม่ว่าฤทธิ์นั้นจะทำได้จริงหรือไม่ ก็ไม่สรรเสริญทั้งนั้น เรื่องนี้ชาวพุทธควรจะชัดเจนที่สุด ไม่น่าจะมัวมาวุ่นกันอยู่อีก

การที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระมหาโมคคัลลานะว่าเป็นยอดของผู้มีฤทธิ์นั้น ไม่ได้ทรงยกย่องตัวอิทธิปาฏิหาริย์ แต่ทรงยกย่องตัวท่านผู้ใช้ฤทธิ์ด้วยเหตุผลอย่างอื่น โดยเฉพาะในการที่ท่านใช้ฤทธิ์ปราบความเมาฤทธิ์ เพราะยุคนั้นผู้คนเมาฤทธิ์กันเหลือเกิน

แต่ในทางตรงข้าม แทนที่จะใช้ฤทธิ์ปราบความเมาฤทธิ์ ถ้ามีการใช้ฤทธิ์เพื่อทำให้เกิดความเมาฤทธิ์ยิ่งขึ้น ก็จะกลายเป็นการก่อบาปอกุศลแก่ประชาชน ผิดหลักการของพระพุทธศาสนาไปไกล พระพุทธเจ้าและพระสาวกไม่ใช้ฤทธิ์บันดาลผลสนองความอยากให้แก่บุคคลผู้ใด แต่ท่านสอนให้ทุกคนเพียรพยายามทำเหตุที่จะให้ได้ผลนั้นด้วยสติปัญญาความสามารถ

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงยกย่องพระเทวทัตซึ่งเป็นผู้มีฤทธิ์มาก แต่เอาฤทธิ์ไปใช้ชักจูงผู้อื่นอย่างเช่นเจ้าชายอชาตศัตรู ให้มาเลื่อมใสหลงติดเป็นศิษย์บริวาร แทนที่จะเอาธรรมมาพูดจาให้เห็นความจริงกันด้วยปัญญา (ที่ท่านเรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์)

ที่ว่า “เมาฤทธิ์” ถ้าหมายถึงเจ้าตัวคนที่มีฤทธิ์ ก็คือ ภูมิใจ กระหยิ่มใจ ลำพองตัวว่ามีความวิเศษยิ่งใหญ่ บางทีก็ถึงกับสำคัญผิดว่าที่ตนมีฤทธิ์นั้นคือเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นพระอริยะแล้ว

ถ้าเป็นคนอื่น เช่น บริวาร ก็อาจจะหลงไปว่า อาจารย์หรือท่านที่ตนนับถือเป็นพระอรหันต์เป็นพระอริยะ หรือเป็นผู้วิเศษ แล้วก็มาหมกมุ่นวุ่นวาย ตื่นเต้น ชื่นชมอยู่กับเรื่องฤทธิ์นั้น เพลิดเพลิน กระหยิ่มใจ หรือกล่อมใจ ด้วยความหวังว่าท่านผู้มีฤทธิ์จะมาช่วยเหลือดลบันดาล ขจัดปัดเป่าทุกข์ภัย หรือนำผลที่ปรารถนามาให้ เลยมัวรอความช่วยเหลือ หรือไม่ก็ย่อหย่อนเฉื่อยชาลงไปในการที่จะเร่งขวนขวายใช้กำลังความเพียรและสติปัญญาแก้ปัญหาและสร้างผลที่ต้องการให้สำเร็จ เรียกสั้นๆ ว่า ตกอยู่ในความประมาท

พระพุทธศาสนาสอนให้คน“หวังผลจากการกระทำ” และให้กระทำการที่ดีด้วยความเพียรพยายามโดยใช้สติปัญญา ไม่ใช่มัวกล่อมใจกันด้วยความหวังว่าจะมีอำนาจวิเศษมาดลบันดาลหรือหยิบยื่นให้ ยิ่งเวลานี้ถึงคราวจำเป็นจะต้องพัฒนาคนไทยให้เข้มแข็งมีคุณภาพ เพื่อจะมาสร้างประเทศชาติสังคมในระยะยาว จะต้องย้ำกันหนักให้หวังผลจากการกระทำ อย่าหวังผลจากการดลบันดาลโดยเด็ดขาด

เรื่องการทำบุญ

เรื่องบุญก็ต้องเข้าใจกันให้ชัด “บุญ” คือ สิ่งที่ชำระล้างบาปทุจริต ทำจิตใจให้สะอาดผ่องใส และเฟื่องฟูเจริญงอกงามขึ้นในความดีงามที่สูงขึ้นไป

ทาน คือ การให้ การบริจาค ที่ว่าเป็นบุญนั้น ก็เพราะมันกำจัดความเห็นแก่ตัวของเรา ช่วยทำให้สังคมมนุษย์เผื่อแผ่ช่วยเหลือกัน จะได้ไม่ต้องแย่งชิงเบียดเบียนกัน มีปัจจัย ๔ พออยู่อาศัยได้ แล้วจะได้ก้าวขึ้นไปทำความดีงามสร้างความเจริญอื่นๆ ที่สูงขึ้นไป ตลอดจนเป็นเครื่องสนับสนุนให้พระสงฆ์มีกำลังที่จะทำหน้าที่ของท่านในการศึกษา ปฏิบัติ และสั่งสอนประชาชนให้ทำความดีและมีปัญญายิ่งขึ้น โดยที่ท่านไม่ต้องมัวห่วงกังวลในด้านวัตถุ

บุญไม่ใช่แค่ทานเท่านั้น ยังมีบุญอย่างอื่นอีกมากมาย เช่น ความเชื่อหรือศรัทธาที่มีเหตุผล ไม่หลงงมงาย ความมีใจเมตตาอยากจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ การเอาใจใส่คิดจะปัดเป่าทุกข์ภัยแก่ผู้เดือดร้อนหรือยากไร้ ความมุ่งมั่นเพียรพยายามทำความดี ความมีสติที่จะดำเนินชีวิตโดยไม่ฟุ้งเฟ้อลุ่มหลงมัวเมา เป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท การมีปัญญาและแสวงหาความรู้ที่จะทำชีวิตให้ดีงามและสร้างสรรค์ประโยชน์สุขที่แท้จริงให้แก่สังคม เป็นต้น บุญอย่างนี้ สูงยิ่งกว่าทานขึ้นไปอีก และเป็นบุญที่สังคมของเรากำลังต้องการอย่างมาก เพื่อช่วยให้ชีวิตและสังคมดีงามมีความสุขที่แท้จริง

ทาน การบริจาค จะมีความหมายเป็นบุญแท้จริงก็เพราะเป็นตัวหนุนให้คนก้าวไปในบุญที่สูงขึ้นไปนี้ หรือมีบุญอย่างสูงเหล่านี้มาต่อให้ก้าวสูงขึ้นไป

เรื่องสิ่งก่อสร้างใหญ่โต

เรื่องการก่อสร้างสิ่งใหญ่โต ก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังให้มาก ต้องจับหลักให้ได้ก่อนว่าอะไรเป็นตัวงานพระศาสนาที่แท้ เมื่อจับตัวงานหลักได้แล้ว เรื่องอื่นๆ ก็เอามาสนองงานหลักนั้น

งานหลักของพระพุทธศาสนา ก็คือ ไตรสิกขา หรือการศึกษาฝึกหัดพัฒนาพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาให้เจริญงอกงามดียิ่งขึ้น ไตรสิกขาเป็นงานของชีวิต เป็นหน้าที่ของทุกคน โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่จะต้องฝึกอบรมพัฒนาตนเอง และช่วยแนะนำสั่งสอนให้ประชาชนพัฒนาตัวเขาขึ้นไป จึงมีงานการศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่ธรรมเป็นศาสนกิจ

ส่วนการสร้างอาคารเป็นต้น ก็เพราะความจำเป็นในการใช้งาน เพื่อมาสนองงานศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่สั่งสอนธรรมนี้ จึงมีหลักปฏิบัติว่า นอกจากดูกำลังทรัพย์เป็นต้นแล้ว ควรสร้างตามความจำเป็นในการใช้งาน เพื่อสนองงาน ให้คุณค่ามาอยู่ที่ตัวงานแห่งไตรสิกขานั้น ไม่ใช่ให้คุณค่าเขวไปอยู่ที่สิ่งก่อสร้าง แม้คุณค่าทางศิลปะ เป็นต้น ก็ต้องมาเป็นเครื่องหนุนตัวงานหลักนั้น ถ้าจับตัวหลักนี้ไม่ได้ ไม่นานก็จะเพี้ยนกันไปหมด

ส่วนการก่อสร้างสิ่งใหญ่โตสวยงามในความหมายทำนองเป็นอนุสรณ์สถาน ก็มีคติไว้ช่วยตรวจสอบดังนี้

๑. ควรจะเกิดจากการรวมใจ และพร้อมใจกันของชาวพุทธ ทั่วกันหมดทั้งโลก หรือทั้งประเทศ แล้วเลือกสร้างไว้ในที่เดียว จะได้เป็นศูนย์กลางจริงๆ ถ้าไม่อย่างนั้น ใครมีกำลังก็สร้างขึ้นมา ต่อไปก็จะมีการสร้างแข่งกันที่โน่น ที่นี่ แล้วก็เป็นของพวกนั้น ของพวกนี้ ฝ่ายโน้น ฝ่ายนี้ แทนที่จะเป็นศูนย์รวมให้เกิดความสามัคคี ก็กลับก่อความแตกแยก แทนที่จะมาหนุนความสำคัญของพระศาสนาเป็นส่วนรวม ก็จะเป็นการเสริมความยิ่งใหญ่ของบุคคลหรือของหมู่พวกไป

๒. การสร้างวัตถุ ไม่ต้องพูดถึงที่ใหญ่โต แม้แต่ที่ใช้งานสนองหลักไตรสิกขาทั่วๆ ไป คติชาวพุทธแต่เดิม ถือเป็นเรื่องของคฤหัสถ์ คือญาติโยมชาวบ้านที่จะเป็นธุระจัดทำ เพราะจัดเป็นปัจจัย ๔ ข้อที่ ๓ (เสนาสนะ) เพื่อมาหนุนให้พระมีกำลังทำงานศึกษา-ปฏิบัติ-เผยแผ่ธรรม ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น โดยไม่ต้องห่วงกังวลด้านวัตถุ ยิ่งของใหญ่โตด้วยแล้ว ก็ควรจะเป็นเครื่องแสดงศรัทธา โดยให้เป็นความดำริริเริ่มและเป็นภาระของพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ที่จะทำขึ้น เพราะเห็นคุณค่าของพระรัตนตรัยที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตและสังคมของเขา ส่วนพระสงฆ์ก็ตั้งหน้าตั้งตาศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม ดำรงธรรม เผยแผ่ธรรมไปให้ผลเกิดขึ้นที่ชีวิตของคน

ยกตัวอย่างในอินเดียยุคพระพุทธศาสนารุ่งเรืองมาก พระเจ้าอโศกมหาราชเลื่อมใสธรรมแล้ว ก็สร้างมหาวิหารมากมายถวายแก่พระศาสนา มหาวิหารก็คือวัดใหญ่ๆ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษาของพระสงฆ์และประชาชนนั่นเอง ถ้าเป็นยุคประชาธิปไตย ประชาชนก็ต้องรู้จักสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันทำ

๓. ทุนที่ใช้สร้างเหมือนกับมาจากส่วนเหลือใช้ คือ ยุคสมัยนั้น สังคมมั่งคั่งมีเงินทองมาก และบุคคลที่สร้างอย่างพระเจ้าอโศกมหาราชก็มั่งคั่งล้นเหลือ การใช้เงินทองในการก่อสร้างนี้ ต้องไม่เป็นเหตุตัดรอนหรือเบียดแบ่งแย่งยุบการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขด้านอื่น แต่กลับไปหนุนกัน และเน้นที่คุณค่าทางจิตใจ ไม่ใช่เน้นที่ราคาของวัตถุ

๔. การสร้างสิ่งใหญ่โต ที่จะเป็นอนุสรณ์สถาน มีไว้ที่เดียว หรือน้อยแห่ง นอกจากสิ้นเปลืองทีเดียว และยิ่งทำให้มีความสำคัญมาก ก่อความสามัคคีได้จริงแล้ว ตามปกติในพระศาสนา ก็จะสร้างไว้ในที่เกี่ยวกับองค์พระศาสดา คือ พระพุทธเจ้า เกี่ยวกับเหตุการณ์ในพุทธประวัติ หรือเป็นเหตุการณ์ใหญ่ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา อย่างพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงสร้างมหาสถูป และประดิษฐานหลักศิลาจารึกไว้ ณ ที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน ทรงสร้างอุทิศถวายพระพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงสร้างขึ้นเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของพระองค์เอง จึงมีคุณค่าแห่งศรัทธาและน้ำใจบริสุทธ์ที่มุ่งเพื่อธรรมอย่างแท้จริง

เรื่องการระดมทุน

แน่นอนว่า เมื่อพูดตามหลักการ ถ้าจะมีการใช้ทุนก็ต้องมุ่งเพื่อสนองงานหลัก คือการเจริญไตรสิกขา หรือพูดอย่างคำสมัยใหม่ว่า ต้องใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพคน ยิ่งเวลานี้ เศรษฐกิจฝืดเคือง ผู้คนเดือดร้อน ก็ต้องตัดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย นอกจากใช้จ่ายอย่างประหยัดโดยทั่วไปแล้ว ก็ต้องเน้นการสร้างคน เพื่อสร้างชาติระยะยาว

ถ้าพูดในแง่ของคนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทุน ก็มีหลักการว่า คติพระพุทธศาสนามุ่งให้แผ่ขยายประโยชน์สุขออกไปแก่พหูชน เพราะฉะนั้น ตั้งแต่แรกเกิดพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงทรงส่งพระสาวกจาริกออกไปยังถิ่นของประชาชน เป็นการไปเพื่อเขา นำเอาธรรมและประโยชน์สุขไปให้แก่เขาให้ทั่วถึง ไปอยู่กับเขา ไม่กลัวความห่างไกลกันดาร ทั่วทุกถิ่นแดน

แม้เมื่อสอนคติธรรมแก่ผู้ปกครองบ้านเมือง พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนหลักจักรวรรดิวัตร ให้ธรรมิกราชอำนวยอารักขาบำรุงคุ้มครองแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า จนถึงชาวชนบท หมู่ชนชายแดน ตลอดจน เนื้อ นก สัตว์บก สัตว์บินทั้งหมด

การคำนึงถึงประโยชน์สุขของมหาชนลงไปจนถึงที่สุดนี้แหละ เป็นคุณสมบัติของมหาบุรุษในความหมายของพระพุทธศาสนา ดังที่เรียกว่า พระคุณแห่งมหากรุณา หาใช่ความใหญ่โตโอ่อ่ามั่งคั่งหรือความยิ่งใหญ่แห่งทรัพย์และอำนาจแต่ประการใดไม่

การระดมทุนควรมุ่งเพื่อดำเนินการแผ่ขยายประโยชน์สุขไปให้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวางทั่วถึง โดยคำนึงให้มากถึงชาวบ้านหรือเพื่อนมนุษย์อีกมากมาย ที่ยังทุกข์ยากเดือดร้อนหรือยากไร้ ทั้งใกล้และไกล มิใช่เอามากองรวมจมไว้ที่เดียวให้ดูเด่น ยิ่งใหญ่ ตื่นตา ตื่นใจ แล้วพลอยทำให้พหูชนถูกมองข้าม เลือนลืมไป และทรัพย์นั้นไม่ออกผลเป็นประโยชน์สุขแก่ประชาชน

สำหรับประเทศชาติยามนี้ จะต้องเน้นย้ำเป็นพิเศษให้พระสงฆ์มีความเข้มแข็ง ยืนหยัดในหลักการที่จะดำรงรักษาธรรมไว้ให้แก่โลก โดยไม่ยอมแก่ลาภสักการะและความสุขสบายส่วนตน จะต้องมุ่งมั่นปฏิบัติตามคติแห่งพระพุทธประสงค์ ที่ให้พระสงฆ์บำเพ็ญกิจสั่งสอนธรรม นำประชาชนให้ก้าวไปในไตรสิกขา เพื่อประโยชน์และความสุขแก่พหูชน ด้วยเมตตาการุณย์แก่ชาวโลกทั้งหมด

เรื่องอย่างนี้ อยากให้ประชาชนรู้จักเรียนรู้ ศึกษาหลักการของพระศาสนา แล้วรู้จักพินิจพิจารณาใช้ปัญญาวินิจฉัยได้ด้วยตนเอง ความเจริญของประชาชนในพระศาสนาและความเจริญของพระพุทธศาสนาในหมู่ประชาชนจึงจะเกิดขึ้นได้

การระดมทุนควรมุ่งเพื่อดำเนินการแผ่ขยายประโยชน์สุขไปให้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวางทั่วถึง โดยคำนึงให้มากถึงชาวบ้านหรือเพื่อนมนุษย์อีกมากมาย ที่ยังทุกข์ยากเดือดร้อนหรือยากไร้ ทั้งใกล้และไกล มิใช่เอามากองรวมจมไว้ที่เดียวให้ดูเด่น ยิ่งใหญ่ ตื่นตา ตื่นใจ แล้วพลอยทำให้พหูชนถูกมองข้าม เลือนลืมไป และทรัพย์นั้นไม่ออกผลเป็นประโยชน์สุขแก่ประชาชน

อนุโมทนา

 

คุณปรีชา ก้อนทอง พร้อมทั้งครอบครัว และญาติมิตร มีจิตศรัทธาและมีน้ำใจเกื้อกูล ได้แสดงมุทิตาจิตแก่อาตมภาพ ด้วยการพิมพ์บันทึกเรื่อง “ปัญหาวัดพระธรรมกาย” ถวายสำหรับแจกเป็นธรรมบรรณาการ ในโอกาสวันคล้ายวันเกิด ๑๒ มกราคม ๒๕๔๒ อาตมภาพขออนุโมทนาในมุทิตาธรรม

การพิมพ์หนังสือถวายเป็นมุทิตาสักการะครั้งนี้ ถือว่าเป็นการปรารภโอกาสที่เกิดมีตามกาล เพื่อบำเพ็ญธรรมทาน ให้หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลาย อำนวยประโยชน์สุขแก่มหาชนกว้างขวางออกไป

ขอคุณพระรัตนตรัยและธรรมทานบุญกิริยาที่ได้บำเพ็ญแล้วนี้ จงเป็นปัจจัยอำนวยจตุรพิธพรชัย พร้อมทั้งสรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล แก่ คุณปรีชา ก้อนทอง และครอบครัว พร้อมด้วยญาติมิตรและส่งเสริมให้พุทธธรรมดำรงมั่นเจริญแพร่หลาย เพื่อประโยชน์สุขและความเกษมศานติ์ของประชาชนทั่วกัน ทุกเมื่อ

 

พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต)
๕ มกราคม ๒๕๔๒

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.