ปี ๔๙ ใช้ให้ครบสี่เท้า ต้องก้าวหน้าแน่

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ปี ๔๙ ใช้ให้ครบสี่เท้า ต้องก้าวหน้าแน่

 

เจริญสุขสวัสดี ผู้ดู-ผู้ฟัง ทุกท่าน ทุกคน

เวลานี้คนไทยแทบจะทุกคนกำลังมีใจรวมกันอยู่อย่างหนึ่ง แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้น คงจะเป็นคนทั่วทั้งโลกนี้ กำลังมีใจรวมกันในเรื่องหนึ่ง

เรื่องที่ว่านี้ก็คือ เรื่องกาลเวลา ที่ปีเก่ากำลังจะสิ้นสุดไป แล้วปีใหม่ก็จะก้าวเข้ามา

ใจรวมกันนี้เป็นเรื่องที่ดี เรียกว่าความสามัคคี แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าทำอย่างไรเราจะใช้ความสามัคคีนี้ให้ได้ผลเป็นประโยชน์ แต่เอาละ ถึงอย่างไรก็ตาม แค่สามัคคีก็ดีไปขั้นหนึ่งแล้ว

ตอนนี้คนก็จะสามัคคี มีใจรวมกันตอนส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ทำให้ได้สนุกสนานบันเทิง จัดงานกันทั่วไปหมด

ตอนนี้ได้ยินศัพท์ฝรั่ง มีการใช้คำว่า เคานต์ดาวน์ (Countdown) แต่ก่อนนี้ไม่ค่อยได้ยินหรือแทบไม่ได้ยินเลย มาปีนี้ได้ยินบ่อย อันนี้ก็เป็นส่วนที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง เรียกว่า เป็นเรื่องของกระแสของสังคม

แต่เมื่อพูดโดยรวม ก็เป็นเรื่องของความสนุกสนานบันเทิง เป็นเรื่องที่ว่า เราจะมีความสุขกัน

การมีความสุขนั้นก็เป็นเรื่องที่ดี ถ้าพูดตามภาษาพระ ก็เรียกว่า เป็นสิริมงคล

โดยเฉพาะปีใหม่ที่จะถึงนี้ คือปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ ถ้าพูดแบบฝรั่งก็ปี 2006 แต่เราไม่เรียกตามแบบฝรั่ง

น่าสังเกตว่า ตั้งแต่ปีฝรั่งขึ้นเลข 2000 มานี้ คนไทยหันไปนิยมใช้เลขศักราชแบบฝรั่งกันมาก แต่ขึ้นปีใหม่คราวนี้เสียง หรือตัวเลขของพุทธศักราชแบบไทยเรารู้สึกว่าจะมีความหมายเข้าหูถูกใจคนไทยดีกว่า เพราะว่าเลข 2006 นี่ฟังดูก็อย่างนั้นๆ บางคนที่ถือโชคลางมาก อาจถึงกับกลัวเลข 6 - หก แต่ถ้าพูดว่า ๒๕๔๙ คนไทยมากหลายชอบใจเพราะไปติดเลข ๙ - เก้า

ตอนนี้ได้ยินเยอะ ดูหนังสือพิมพ์เมื่อวานนี้ ได้เห็นภาพต่างๆ ก็มีเรื่องเกี่ยวกับเก้าๆ โดยถือเป็นเรื่องของพิธีมงคล ที่เกี่ยวกับการขึ้นปีใหม่ ๒๕๔๙

ก็หมายความว่า คนไทยเรานี้เป็นคนที่ค่อนข้างถือโชคลางกัน พอเห็นเลขเก้าก็ชอบ พอบอกว่าขึ้นปีใหม่ ๒๕๔๙ ก็ดีใจว่า ปีใหม่ปีนี้ดีนะ เป็นปีดี เป็นปีสี่สิบเก้า เราจะได้มีความเจริญก้าวหน้า

การมองอย่างนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องของการถือโชคลาง แต่เมื่อเป็นการมองในแง่ดี ก็ดีเหมือนกัน

แล้วเราก็ถือโอกาสอวยชัยให้พรกันด้วย ก็เลยกลายเป็นเรื่องสิริมงคล เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องความดีความงามอย่างหนึ่ง แม้จะเป็นเรื่องโชคลาง ก็เอาเป็นว่าเราก้าวไปสู่ปีที่ดี ปี ๒๕๔๙ แล้ว เราก็อวยชัยให้พรกันในเบื้องต้นว่า ขอให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

มี “สี่เท้า” ปี “๔๙” ไปดีแน่

 

อย่างไรก็ตาม จะเอาแค่นั้นคงไม่พอ เพราะว่าเพียงคิดจะให้ตัวเลขมีความหมายดีๆ แต่ถ้าเราไม่ทำอะไร แล้วมันจะก้าวไปได้อย่างไร ตัวเลขอย่างเดียวเป็น “เก้า” แต่ถ้าเราไม่ “ก้าว” ไป มันจะไปได้หรือเปล่า เพราะฉะนั้น ต้องคิดให้ดีๆ

แล้วเรื่องโชคลางนี้ บางทีก็เอาไปประสานบรรจบกับเรื่องของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ อย่างที่พบในหนังสือพิมพ์เมื่อวานนี้ ก็อ้างปีใหม่ ๔๙ นี่แหละ บอกว่าจะมีพิธีมงคล เอาพระมาทำพิธี ตั้ง ๙,๙๙๙ องค์ นี่ก็เป็นเรื่องของความเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ที่เราจะต้องวางใจให้ถูกต้อง

รวมแล้ว เรื่องเหล่านี้ก็เป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับสังคมไทยของเราว่า เรามีความเชื่อถือในเรื่องของโชคลางและเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มาก

โชคลางนั้น ก็เป็นเรื่องของการที่เราไปยอมว่าแล้วแต่มันจะเป็นไป คล้ายกับลัทธิที่ว่าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย หรือเป็นการเชื่อต่ออำนาจภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้

ถ้าเป็นเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ก็ดูเฉียดๆ กันอยู่กับพระพุทธศาสนา บางทีเราบอกว่าเป็นพุทธศาสนา แต่เมื่อ วิเคราะห์กันดูแล้วก็ยังน่าสงสัย น่าแคลงใจอยู่ อย่างที่ชอบเอามาพูดกันนั้น มันมักจะไปเข้าทางของลัทธิหวังผลดลบันดาล ซึ่งต้องระวังให้หนัก

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เมื่อมาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ในเรื่องของปีใหม่ ๒๕๔๙ นี้ ชาวพุทธเราก็ต้องเข้าใจ และวางใจให้ถูก

อย่างที่ว่าไปแล้ว เรื่องฤทธิ์เรื่องปาฏิหาริย์นั้น คนไทยเราชอบมาก แต่ถึงจะมองในแง่ดี ก็ต้องวิเคราะห์ตัวเองให้ชัดและต้องรู้ด้วยว่าอย่าติดอยู่แค่นั้น

พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้เรามาเถียงกันว่าอิทธิปาฏิหาริย์หรือฤทธิ์นี้ จริงหรือไม่จริง แต่ทรงสอนไว้ว่า ถึงจริง ก็ไม่หวังพึ่ง นี่แหละจุดสำคัญ คำสอนของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงนี้ คือเรายอมรับได้เลยว่าฤทธิ์มีจริง แต่ท่านไม่ให้มัวไปหวังพึ่งฤทธิ์นั้น

ท่านสอนหลักการใหญ่ไว้ ซึ่งเราก็จำกันได้ทุกคนว่า ให้รู้จักพึ่งตนเอง ก็ฤทธิ์เป็นของคนอื่น แล้วเราจะไปหวังพึ่งฤทธิ์ได้อย่างไร ถ้าเราหวังพึ่งฤทธิ์ มันก็แสดงว่าเราไม่ได้ปฏิบัติตามหลักของพระพุทธศาสนาที่แท้จริง

ฤทธิ์ปาฏิหาริย์เป็นเรื่องที่ต้องคอยให้คนอื่นบันดาลให้แล้วเราลองพิจารณาดูตัวเองซิว่า การที่เราต้องคอยให้คนอื่นบันดาลให้นั้น เราอ่อนแอหรือเปล่า ถ้าเราไม่ทำเอง ไม่เพียรพยายาม ไม่ใช้เรี่ยวแรงกำลังของตัว ถ้าเราทำให้เกิดความสำเร็จเองไม่ได้ จะกลายเป็นความอ่อนแอไหม

ฤทธิ์ปาฏิหาริย์นั้น เราจะต้องทำให้เกิดมีของเราเอง พระพุทธศาสนาท่านไม่ให้เรารอหวังพึ่งฤทธิ์ของคนอื่น แต่ท่านให้เราสร้างฤทธิ์ให้เกิดมีเป็นของตนเองขึ้นมา เพราะฉะนั้น จึงมีหลักธรรมสำหรับสร้างฤทธิ์ของตนเอง ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ชัดเจน

หลักธรรมข้อนี้ชาวพุทธทุกคนรู้จักกันทั้งนั้น แต่บางทีไม่ได้นึก

คำว่า “ฤทธิ์” ภาษาบาลีเรียกว่า อิทธิ ส่วน ฤทธิ์ เป็นคำสันสกฤต บางทีเราก็พูดควบกันเป็น “อิทธิฤทธิ์” คือบาลีว่า อิทธิ สันสกฤตว่าฤทธิ์ รวมกันเป็นอิทธิฤทธิ์ พูดซ้อนกัน เป็นคำซ้ำซ้อน บางทีก็เรียกว่าอิทธิปาฏิหาริย์ บางทีก็พูดว่าฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ก็คือคำเดียวกันนั่นเอง

เรื่องฤทธิ์เรื่องปาฏิหาริย์ ก็อย่างที่บอกแล้วว่าท่านไม่ได้ปฏิเสธ ท่านไม่ได้บอกว่าไม่จริง แต่ท่านบอกว่า ถึงจริง เราก็ไม่หวังพึ่ง ข้อสำคัญก็คือว่า เราจะต้องสร้างฤทธิ์ขึ้นมาเอง

ได้กล่าวแล้วว่า ฤทธิ์คืออิทธิ แล้วหลักธรรมอะไรที่สร้างฤทธิ์ หลักธรรมนี้ ถ้าเป็นนักเรียนพุทธศาสนา ต้องรู้จักกันทั่วหมด หลักธรรมสำหรับสร้างฤทธิ์ ก็คือ อิทธิบาท นั่นเอง

ในคำว่า “อิทธิบาท” นั้น อิทธิ ก็คือฤทธิ์ และฤทธิ์นั้น แปลว่าความสำเร็จก็ได้ ความรุ่งเรืองก็ได้ แล้ว บาท แปลว่าอะไร บาทก็บาทา บาทาก็คือเท้า เท้าก็คือเครื่องอุปกรณ์ที่จะก้าวไปให้ถึงจุดหมาย

เป็นอันว่า อิทธิบาท ก็คือเท้าที่จะก้าวไปสู่ฤทธิ์ หรือเท้าที่จะก้าวไปให้ถึงความสำเร็จ ให้เข้าถึงความรุ่งเรือง อิทธิบาท ๔ ก็คือสี่เท้าที่จะก้าวไปให้ถึงฤทธิ์

ถ้าใครปฏิบัติตามหลักอิทธิบาทสี่ ก็จะเป็นผู้มีฤทธิ์ และมีฤทธิ์ที่เราทำได้เอง ซึ่งก็จะสมชื่อปี ๒๕๔๙ ที่เราจะก้าวเข้าไป

นี่แหละ เรามีสองเท้าแล้ว ยังไม่ค่อยยอมก้าว ท่านเลยให้ซะสี่เท้า ตอนนี้มีอิทธิบาท ๔ บาทาสี่ มีสี่เท้า ท่านให้ตั้งสี่เท้าแล้ว ถ้ายังไม่ก้าว ก็เห็นจะแย่แล้วคราวนี้

เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ใช้เท้าสี่ของอิทธิบาทนี้ ก้าวกันไปซะที อิทธิบาท ๔ นี้ ถ้ามีแล้ว ก้าวแน่นอน ก้าวไปสู่ความสำเร็จ เรามี “สี่เท้า” ก็ได้ “๔๙” แน่

เอาแค่เลขดี เป็นมงคล เลยไม่พึ่งตน กลายเป็นคนประมาท

 

เป็นอันว่า จะต้องคิดกันให้ดี เราจะหวังแต่เพียงว่า ตัวเลข “๔๙” เป็นสิริมงคล เท่านั้น ไม่พอแน่ แต่เราต้องก้าวเองด้วย

ถึงแม้ถ้าเราอยู่เฉยๆ กาลเวลามันก็ก้าวไปตลอดเวลา จริงหรือไม่ กาลเวลานี่มันไม่เคยหยุดเลย ไม่ว่าเราจะหลับ จะตื่น จะนอน จะพัก จะอย่างไรก็ตาม กาลเวลาไม่เคยหยุดนิ่งเลย มันก้าวไปตลอดทุกเมื่อ ทุกขณะ

เมื่อกาลเวลาก้าวไปตลอดเวลา ถ้าเราหยุด เรานิ่ง เราก็กลายเป็นคนประมาท ไม่เจริญก้าวหน้า เพราะฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคนที่จะต้องก้าวไปข้างหน้า อย่างน้อยก็แข่งกับกาลเวลาให้ทันกาลเวลา และถ้าก้าวไปด้วยเท้าสี่ของอิทธิบาท ก็จะประสบความสำเร็จถึงขั้นอยู่เหนือกาลเวลาได้

เพราะฉะนั้น อย่ามัวปล่อยตัวเรื่อยเปื่อยไปตามกระแส ได้แค่หวังพึ่งอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ สิ่งดลบันดาลจากภายนอก แต่ขอให้เรามาสร้างฤทธิ์ของตนเอง ถ้าให้แน่ใจ ก็สร้างฤทธิ์โดยใช้อิทธิบาท ๔

เรื่องอิทธิบาท ๔ นี่ไม่จำเป็นต้องอธิบาย เพราะเป็นธรรมะที่ชาวพุทธทุกคนรู้จักกันดี เรียกว่าเป็นธรรมะง่ายๆ แม้แต่เด็กเล็กๆ ที่เรียนพุทธศาสนามา ก็ต้องจำได้ทุกคน เอาแต่เพียงหัวข้อก็แล้วกัน คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

ถ้าจะจำง่ายๆ ก็พูดให้เป็นคำคล้องจองกันหน่อยว่า

ข้อหนึ่ง ใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์

ข้อสอง เพียรขยันก้าวไป

ข้อสาม ใจมุ่งมั่นอุทิศตัว

ข้อสี่ ใช้หัวคิดพินิจการ คือไม่ทำแบบทุ่มทื่อ ต้องรู้จักใช้หัวคิดด้วย

อันนี้คือหลักอิทธิบาท ๔ แบบง่ายๆ เป็นภาษาไทย หรือจะใช้อีกชุดหนึ่งง่ายกว่านั้น ก็ได้ ว่า “ใจรัก พากเพียรทำ เอาจิตฝักใฝ่ ใช้ปัญญาสอบสวน

จะใช้ชุดไหนก็ได้ แต่รวมความก็คือ เป็นหลักธรรมง่ายๆ ที่รู้จักกันดี ซึ่งควรเอามาใช้กันเสียที

ตอนนี้ ถ้าเราใช้อิทธิบาท ก็เป็นอันว่าเรามีสี่เท้า ที่ก้าวไปสู่ความสำเร็จ ก้าวไปสู่ฤทธิ์ ก้าวไปสู่ความเจริญ ก้าวไปสู่ความรุ่งเรือง

ถ้าเป็นชีวิตบุคคล ชีวิตบุคคลนั้นก็เจริญรุ่งเรือง แล้วก็ไปรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนก็เจริญงอกงาม ไปรวมกันอีกเป็นประเทศชาติ ประเทศชาติก็เจริญก้าวหน้า ประสบความสำเร็จ

ยุคนี้ เขาบอกว่าเป็นยุคแห่งการแข่งขัน เราก็ไม่ต้องกลัวการแข่งขันนั้น ถ้ามีอิทธิบาท ๔ นี้ ก็ต้องมีชัยชนะในการแข่งขัน ประสบความสำเร็จแน่

เพราะฉะนั้น ปีใหม่ที่จะมาถึง จึงเป็นเครื่องเตือนใจอยู่ในตัวแล้วว่า กาลเวลานั้นก้าวไปแล้วนะ มันกำลังจะทิ้งปีเก่า และก้าวเข้าสู่ปีใหม่ แล้วมันจะไม่รอเราเลยเป็นอันขาด เพราะฉะนั้น เราจะหยุด เราจะนิ่งไม่ได้ เราจะต้องก้าว

อันนี้คือคติที่เหนือกว่าการเอาแค่เลข ๙ เป็นสิริมงคล และที่จริง นี่ก็คือการทำให้ตัวเลข “๙” ที่หมายถึง “ก้าว” นั้น มีผลที่แท้ขึ้นมา ด้วยการที่เราก้าวไปจริงๆ

เป็นอันว่า ขั้นที่หนึ่ง ไม่หยุด ไม่นิ่ง ไม่เฉย แต่ต้องก้าวไป พร้อมกับ คู่กับ หรือแข่งกับกาลเวลานั้น

ย้ำว่า ขั้นที่หนึ่ง คือ ไม่หยุด แต่ก้าวไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะก้าวไป ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเราจะประสบความสำเร็จ ตอนนี้ก็ต้องระวังอีก

ถึงแม้ออกเดินจะก้าวไป แต่บางคนอ่อนแอ ไม่ได้พัฒนาตัว ไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อม แล้วจะก้าวไปได้อย่างไร ก็ไม่มีกำลังจะก้าวไป ก้าวไปไม่ไหว

เพราะฉะนั้น ขั้นที่สอง ไม่ว่าจะก้าวไปเป็นส่วนตัว หรือ ก้าวไปเป็นชุมชน เป็นสังคม เป็นประเทศชาติก็ตาม ถ้าจะก้าวไป ก็ต้องแข็งแรง มีกำลังพอที่จะก้าว

ทีนี้ ถ้าในเนื้อตัวอ่อนเปลี้ย ไม่มีแรง แต่ชอบอวด ชอบโก้ เอาอะไรต่ออะไรมาประดับตกแต่งตัวเสียแพรวพราว หรือแบกหิ้วของที่ยืมคนอื่นเขามาจนพะรุงพะรัง แล้วทำท่าว่าก้าวไปๆ เมื่อเนื้อตัวมันไม่ได้แข็งแรงจริง มีแต่ของที่พอกเอาไว้ข้างนอก ก็เลยกลายเป็นว่าสิ่งที่พอกเอาไว้ข้างนอกนั้น ที่เป็นภาระรุงรัง เลยทำให้ตัวเองยิ่งยอบแยบ ดีไม่ดีก็จะทรุด จะเซ หรือว่าจะไปป่วยไข้กลางทาง จะไปไม่ไหว หรือจะล้มไปเลย

เพราะฉะนั้น คนที่จะก้าวไป จึงต้องเตรียมตัวให้พร้อม จะต้องพัฒนาตน ทำตนให้แข็งแรง ให้เป็นคนที่มีคุณภาพ

อย่างสังคมไทยนี้ ก็ต้องดูว่า คนไทยเรามีความเข้มแข็ง มีความพร้อม มีสติปัญญาความสามารถเพียงพอไหมที่จะก้าวไปในการแข่งขัน เป็นต้น ในระดับโลก หรือระหว่างประเทศ เรามีความพร้อมหรือเปล่า

ถ้าคิดจะก้าวไป ก็ต้องมีความพร้อม เตรียมตัวให้พร้อม เสริมสร้างพัฒนาคุณสมบัติที่ดี คือสติปัญญาความสามารถ เป็นต้น ให้เกิดมีขึ้นมา ไม่ใช่ก้าวไปโดยเอาอะไรต่ออะไรมาพอก แต่เป็นของคนอื่นทั้งนั้น ถ้าอย่างนั้นก็ไปไม่ไหวเหมือนกัน อันนี้เป็นประการที่สอง

ต่อไป ขั้นที่สาม ต้องมีปัญญาด้วย เริ่มตั้งแต่ต้องมีปัญญารู้ว่าเราจะก้าวไปไหน ต้องมีจุดหมายที่ชัดเจน ต้องรู้ว่าข้างทางทั้งสองด้านที่จะไปนั้น จะต้องเจออะไร มีอะไรกีดขวาง มีอุปสรรคอะไรบ้างที่เราจะต้องแก้ไข ดูให้รอบด้าน สถานการณ์ ปัญหาอะไรต่างๆ ที่เราจะต้องพบ ต้องมีความสามารถในการที่จะบุกฝ่าแก้ปัญหาข้างหน้า แล้วไปให้บรรลุจุดหมายให้ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องใช้ธรรมสำคัญคือปัญญา

การที่จะก้าวไปให้ถึงจุดหมายนี่ แม้จะมีกำลังพรั่งพร้อมแล้ว ถ้าก้าวไม่เป็น ก้าวไม่ถูก ไม่รู้ทิศทาง ไม่ได้ตั้งจุดหมายไว้ให้ดี ก็ก้าวผิดที่ อาจจะลงหลุมลงเหวไปเลย

อย่างบางสังคม โดยเฉพาะสังคมไทยนี่แหละ น่าสังเกตว่าขาดจุดหมายที่ชัดเจน ไม่มีจุดหมายรวมของสังคม ใช่หรือเปล่า ขอให้เราช่วยกันพิจารณาดู

ช่วงต่อปีเก่า-ปีใหม่ เป็นเวลาที่เราจะมาสำรวจตรวจสอบตัวเอง ถ้ามันขาดมันพร่องอะไร ก็เตรียมปรับปรุงแก้ไข ขจัดปัญหา มาพัฒนาทำตัวให้พร้อมจริงๆ แล้วปีใหม่ก็จะเป็นเวลาที่เรามาตั้งตัว ออกเดิน ให้ปี ๔๙ เป็นปีแห่งการก้าวหน้าที่แท้จริง ตกลงว่า

หนึ่ง: ต้องก้าวไป ไม่ใช่หยุดนิ่ง ไม่ใช่แค่คอยรอ

สอง: ในการก้าวไปนั้น ต้องมีกำลัง มีความพร้อม มีสติปัญญาความสามารถ เป็นต้น ที่จะก้าวไปได้ โดยที่พลังในการ ก้าวนั้น อยู่ในเนื้อในตัวของตัวเอง ไม่ใช่ไปเที่ยวเอาอะไรต่ออะไร มาพอกอวดโก้กันไป หรือเป็นเพียงของฉาบฉวยล่อตาทั้งนั้น

คนไทยเรามีค่านิยมเด่นอันหนึ่ง คือชอบโก้ อันนี้ต้องระวังมาก ถ้าทำอะไร เอาดีแค่มาอวดโก้กันเท่านั้น ก็จะเป็น อันตราย ต่อไป

สาม: อย่างที่บอกแล้วก็คือ ต้องรู้จุดหมาย แล้วก็ไปให้ถึงจุดหมาย โดยไม่ตกหลุมตกเหวในระหว่างทางเสียก่อน

ถ้าได้แค่นี้ ก็ถือว่า การก้าวไปในปี ๒๕๔๙ นี้ จะเป็นการก้าวที่แท้จริง จะประสบความสำเร็จ

แต่อย่าลืมว่าทั้งหมดนี้ต้องใช้อิทธิบาท เอาสี่เท้านี่ก้าวไป ก็จะประสบความสำเร็จแน่นอน

แค่สี่เท้า ก็ก้าวไปถึง นี่ติดล้อด้วย เลยช่วยให้เร็วและถึงด้วยกัน

 

เมื่อเรามีอิทธิบาท ๔ ที่จะก้าวไปให้ประสบความสำเร็จด้วยดี ที่เรียกว่ามีสี่เท้าพร้อมแล้ว ก็จะต้องพิจารณาว่า เราจะก้าวไปในการทำอะไร

ขอยกตัวอย่างสักชุดหนึ่ง อันนี้เป็นเพียงตัวอย่าง เพราะเรื่องที่จะทำนั้นพูดได้หลายด้าน และเราสามารถทำการต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความเจริญงอกงามได้ทุกระดับ ทั้งระดับบุคคลเป็นส่วนตัว ทั้งระดับชุมชน ทั้งระดับประเทศชาติ พร้อมทั้งเกื้อกูลระดับโลกไปด้วย

ข้อที่หนึ่ง คือ “ถิ่น” หรือที่อยู่ ที่ทำกิน ถิ่นอาศัย รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม หลักพระพุทธศาสนาสอนว่าให้เราอยู่ในถิ่นที่เหมาะ

ถ้าพูดเฉพาะตัวเอง แค่บ้าน หรือครอบครัว ก็คือที่อยู่อาศัย ถ้าเป็นชุมชนก็หมายถึงท้องถิ่นทั้งหมด แล้วขยายออกไป ก็ได้แก่ประเทศชาติของเรา ตลอดจนสิ่งแวดล้อมทั้งโลก ที่ต้องให้เป็นถิ่นเป็นที่อยู่ที่เหมาะที่ดีที่น่าอยู่อาศัย

ถ้ามันยังไม่เหมาะ ยังไม่ดี ก็ต้องทำและช่วยกันทำให้เป็นท้องถิ่นดินแดนสภาพแวดล้อม ที่เหมาะสมน่าอยู่น่าอาศัย

ถิ่นที่เหมาะเป็นอย่างไร ก็คือเป็นถิ่นที่ดี เป็นถิ่นเป็นดินแดนที่สงบปลอดภัย สะอาดเรียบร้อย มีความมั่นคง แล้วก็มี ธรรมชาติดี มีสิ่งแวดล้อมที่รื่นรมย์ น่าอยู่น่าอาศัย โดยเราช่วยกันดูแลรักษาและช่วยกันทำให้มันเป็นอย่างนั้น

ถ้าเป็นที่ทำมาหากิน ก็ให้เป็นที่อุดมสมบูรณ์ และรักษาความอุดมสมบูรณ์นั้นไว้ให้ได้ ไม่ใช่ว่าเอาแต่ขุดเอาแต่ตัด จ้องหาแต่ประโยชน์คอยเก็บผลให้ตัว ไม่ซ่อมไม่เสริมไม่อนุรักษ์ไม่บำรุง จนถิ่นจนดินน้ำกระทั่งฟ้า หมดชีวิตชีวา เหลือแต่ความแห้งแล้ง โทรมเฉา แล้วตัวเราเองนั่นแหละที่จะเดือดร้อน

อันนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่จำเป็น ถ้าเราขาดที่อยู่อาศัย ท้องถิ่น สภาพแวดล้อมที่ดีที่งามแล้ว มันก็ไม่น่าอยู่ และไม่เกื้อหนุนต่อชีวิต ต่อการงาน และการที่จะสร้างสรรค์ความเจริญอย่างอื่นต่อไป ทางพระเรียกว่าไม่เป็น “สัปปายะ

เพราะฉะนั้น จะต้องทำถิ่นที่อยู่อาศัยประเทศชาติ บ้านเมืองของตนให้ดี ให้งาม ให้เรียบร้อย สงบ มั่นคง ปลอดภัย น่ารื่นรมย์ใจ

ไม่ใช่มัวแต่รบราฆ่าฟันกัน มีโจรผู้ร้ายมากมาย เต็มไปด้วยการเบียดเบียนแย่งชิงซึ่งกันและกัน ปล่อยให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ มีแต่ขยะ มีแต่ควันพิษ อย่างนั้นก็คือเสื่อม จะต้องคิดแก้ไขกัน ทำให้ดี

ถ้าถิ่นที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม ประเทศชาติบ้านเมืองของเรา เรียบร้อย น่ารื่นรมย์ น่าอยู่อาศัย จิตใจเราก็จะมีความสุข และถ้าไม่มัวเพลินประมาท เราก็จะสามารถก้าวไปในการพัฒนา

เมื่อด้านวัตถุสิ่งแวดล้อมดี ก็ต่อไป

ข้อที่สอง คือ “คน” หมายถึงผู้ที่เราคบหา คือคนที่เราเอามาหรือออกไปเกี่ยวข้อง เช่นอยู่ร่วมหรือทำการงานด้วย ก็ให้เป็นคนดี

ถ้าเป็นเด็ก ก็ให้รู้จักคบหาเพื่อนที่ดี รู้จักที่จะเรียนรู้รับเอาประโยชน์จากคุณพ่อคุณแม่ จากครูอาจารย์ จากสื่อมวลชน จากการดูการฟังทีวี การใช้อินเทอร์เน็ต (Internet) อะไรต่างๆ เรียกว่ารู้จักใช้ไอที (IT) รู้จักใช้รู้จักสื่อสารกับสิ่งแวดล้อมทางสังคมต่างๆ ให้ได้ประโยชน์ ให้ได้สิ่งที่มีคุณค่า ในทุกระดับ ก็ขยายขึ้นไปอย่างนี้แหละ

ถึงในระดับของผู้บริหารประเทศชาติ ก็ต้องมีข้าราชการที่ดี มีที่ปรึกษาที่ดี มีนักการเมืองที่ดี มีผู้บริหารทุกระดับชั้น ข้าราชการทุกระดับชั้น ที่ดี ซื่อตรง ขยันหมั่นเพียร ตั้งใจทำงาน เพื่อประเทศชาติ ถ้าผู้นำผู้บริหารประเทศชาติ เลือกหาคนทำงานที่มีความสามารถ มีคนที่ดีแวดล้อม ก็เรียกว่า คบคนดี

ถ้าผู้นำคบคนดี ก็มีหวังที่ประเทศชาติจะเจริญรุ่งเรืองงอกงาม

เป็นอันว่า ตั้งแต่ในบ้าน แต่ละบุคคล เริ่มต้นแต่เด็ก ก็ต้องรู้จักฝึกที่จะคบหาคนดี มีเพื่อนที่ดี และเพื่อนที่ดีนี่ทางพระท่านไม่ได้จำกัดเฉพาะเพื่อนที่มีวัยเดียวกัน แม้แต่พ่อ แม่ ครู อาจารย์ ท่านก็เรียกว่าเป็นเพื่อน ในชื่อว่า “กัลยาณมิตร”

เราต้องรู้จักคบหา ให้ได้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี ซึ่งก็จะช่วยให้เจริญก้าวหน้าไป จึงเป็นองค์ประกอบที่จะต้องสร้างสรรค์ ในการเตรียมก้าวไปให้ได้ผลดี

ข้อที่สาม คือ “บุญ” หมายถึง คุณงามความดี หรือ ความดีงามความสามารถ หรือคุณสมบัติทั้งหลาย พร้อมทั้ง ปัจจัยอันพ่วงมา ที่เป็นต้นทุนหรือเป็นความพร้อมในตัวเอง คุณสมบัติในตัวพร้อมทั้งทุนติดพ่วงนี้ ท่านเรียกว่าบุญ

บุญนั้นมีมากมาย เช่น ความรู้ความสามารถ ความรู้จักเจรจาปราศรัย ความมีกิริยาท่าทางนุ่มนวลงดงาม ความมีคุณธรรมต่างๆ ความขยันหมั่นเพียร ความรับผิดชอบ ความมีวินัย ความมีศีล ความมีสติ สมาธิ ฯลฯ ความมีร่างกายดี มีครอบครัวดี จนไปสิ้นสุดที่ปัญญา

คุณสมบัติเหล่านี้จะต้องสร้างให้มีขึ้นในตนเอง ต้องฝึกฝนต้องพัฒนาขึ้นไป เป็นทุนดีที่ต้องเตรียมไว้ตลอดเวลา เตรียมให้พร้อมตั้งแต่ต้น

เมื่อเตรียมขึ้นมาไว้ให้มีในตัวอยู่ก่อนพร้อมแล้ว ก็เรียกว่าเป็น “ปุพเพกตปุญญตา” แปลว่า มีบุญที่ทำไว้ก่อนแล้ว คือ มีทุนดีที่ได้เตรียมให้พร้อมไว้แต่ต้นแล้ว พอมีสถานการณ์ที่จะต้องใช้ขึ้นมา เราก็พร้อมที่จะเอามาใช้ เอามารับมือ หรือปฏิบัติการได้ทันที

แต่คนที่ไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้สร้างทุนดีเตรียมพร้อมไว้ ไม่มีปัญญา ไม่ได้รับการศึกษา เป็นต้น พอเจอสถานการณ์ที่ต้องทำ ต้องปฏิบัติขึ้นมา ก็ไม่พร้อมที่จะทำ ก็ติดขัด

ถ้าคนไม่มีทุน และประเทศชาติขาดทรัพยากรมนุษย์ที่ดี ก็พัฒนายาก เพราะฉะนั้น เราจึงต้องมีการศึกษาให้เด็กเล่าเรียนกันไว้แต่ต้น ตั้งแต่วัยเด็กวัยเล็ก นี่เพราะอะไร ก็เพราะว่า จะให้เขาเป็นผู้มีทุนดีได้เตรียมไว้

ข้อที่สี่ คือ “ตั้งตัว” หรือตั้งตัวแน่วไป หมายความว่า พอมีกำลังคน มีถิ่น มีทุนดีพร้อมแล้ว ทีนี้ก็ตั้งตัวเดินหน้าก้าวไปในทางให้แน่วเลย คือตั้งตัวก้าวหน้าแน่วสู่จุดหมาย

คนเรานี้ จุดหมายของตัวเองหรือของชีวิตเป็นอย่างไร จุดหมายของชุมชนเป็นอย่างไร จุดหมายของสังคมประเทศชาติเป็นอย่างไร มันต้องมี

เราต้องสำรวจว่า ชีวิตของเรานี่มีจุดหมายชัดเจนไหม ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ ต้องตั้งไว้ทั้งจุดหมายระยะยาว และจุดหมายระยะสั้น หรือจุดหมายเฉพาะหน้า

อย่างน้อยจุดหมายสำหรับปี ๒๕๔๙ นี่ที่เด่นชัดที่สุด คืออะไร จะต้องทำอะไรให้สำเร็จให้ได้ ก็ตั้งไว้ แล้วก็ตั้งตนให้แน่วแน่มุ่งหน้าสู่จุดหมายนั้น ให้บรรลุผลให้ได้ และไม่ไขว้ ไม่เขว ไม่แฉลบ ไม่เถลไม่ไถลออกไปนอกทาง

ข้อสี่นี้สำคัญมาก เพราะว่าในยุคปัจจุบันนี้ มีสิ่งล่อเร้าเย้ายวนมาก เด็กๆ มักจะถูกสิ่งล่อเร้าเย้ายวน จูงให้ไถลไถเถ ถ้าไม่เขวออกไปจากทาง ก็มักเฉหรือแชเชือน ฉะนั้น เราจะต้องมุ่งมั่นแน่วแน่ในการเดินทางไปสู่จุดหมาย

ข้อนี้ท่านเรียกว่า “ตั้งตนไว้ชอบ” หรือ “ตั้งตนให้ถูกวิถี” เป็นคำบาลีว่า “อัตตสัมมาปณิธิ

สี่ข้อนี้ ถ้าทำได้อย่างที่ว่ามา ก็จะพบความสำเร็จก้าวหน้าได้อย่างแน่นอน ไม่เฉพาะในระดับบุคคล แม้แต่ในระดับประเทศชาติก็เช่นเดียวกัน

อย่างที่กล่าวแล้วว่า ประเทศชาติ สังคม จะต้องมีจุดหมายรวมไว้ อย่างประเทศที่เขาบรรลุเป้าหมาย กลายเป็นประเทศยิ่งใหญ่ เป็นมหาอำนาจขึ้นมาได้ เขาก็ต้องมีจุดหมายรวมของคนในชาติ เช่น ในบางประเทศก็มีชาตินิยมที่แรงกล้า

แต่สำหรับเรา ก็ต้องมาคิดกันว่าจุดหมายอะไรจะดีที่สุด ซึ่งเป็นจุดหมายที่เป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์ที่แท้จริง ที่เป็นคุณทั้งแก่ประเทศของตนเอง แก่สังคมของตนเอง แล้วก็เกื้อกูลต่อโลก ไม่ไปเบียดเบียนคนอื่นด้วย แต่ต้องมีจุดหมาย ไม่ใช่อยู่กันไปวันๆ เรื่อยๆ เปื่อยๆ เคว้งคว้างเลื่อนลอย

ทั้งเท้า ทั้งล้อ ก็เพื่อให้ถึงจุดหมาย โดยใช้เรี่ยวแรงของตัว

 

ก็เอาละ รวมความว่า ทุกระดับจะต้องมีจุดหมาย แล้วก็ตั้งตัวแน่วแน่ ดำเนินก้าวหน้าไปให้ถึงจุดหมายนั้น ธรรมะ ๔ ข้อนี้ ขอทวนอีกครั้งหนึ่ง ก็คือ

๑. ปฏิรูปเทสวาสะ “อยู่ในถิ่นที่เหมาะ” ถ้าถิ่นนั้นมันยังไม่เหมาะ เช่น บ้านเมืองยังไม่ดีไม่เรียบร้อย ก็ต้องทำให้มันเหมาะ ต้องช่วยกันทำให้มันดีให้ได้ ใครอยู่บ้านของตัว บ้านของเรายังไม่ดี ยังไม่น่าอยู่อาศัย ยังไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง ก็แก้ไขปรับปรุง ทำให้เรียบร้อยจนกว่ามันจะดี โดยเฉพาะชุมชนแต่ละท้องถิ่น ต้องทำให้เป็นถิ่นที่เหมาะให้ได้

๒. สัปปุริสูปัสสยะ “เสาะเสวนาคนดี” นี่ก็ทุกระดับ ตั้งแต่นักเรียนไปจนกระทั่งผู้บริหารประเทศชาติ ต้องมีคนที่แวดล้อม ที่มาร่วมงาน มารับใช้ มาทำงานทำการ ที่ดีงาม ที่ซื่อตรง ที่จริงใจ มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ประเทศชาติ เป็นต้น

๓. ปุพเพกตปุญญตา “มีทุนที่เตรียมพร้อมไว้” เรียกว่า เป็นคนมีบุญ แต่จะมีบุญได้ ก็ต้องบำเพ็ญคุณความดีไว้ก่อน เฉพาะอย่างยิ่งก็สร้างตัวด้วยการศึกษา คือสิกขานี้แหละ ให้เป็นคนที่พัฒนาแล้ว ทั้งชีวิตด้านนอก ด้านความประพฤติ ด้านจิตใจ และ ด้านปัญญา

๔. อัตตสัมมาปณิธิ “ตั้งตนแน่วในวิถี” เป็นขั้นที่ดำเนินชีวิต ดำเนินงาน และบริหารกิจการ ให้ก้าวหน้าไปสู่จุดหมาย โดยก้าวไปถูกทาง มุ่งมั่น แน่วแน่ ไม่พร่า ไม่มัว ไม่ส่าย ไม่เฉ ไม่สับสน

ธรรมะ ๔ ข้อนี้ ชาวพุทธจำนวนมากรู้จักดี เรียกว่า จักร ๔ หรือจตุจักร แปลว่า “สี่ล้อ

จักร ๔ นี่ก็มาต่ออิทธิบาท ๔ คือ สี่ล้อ มารับช่วงต่อ สี่เท้า

อิทธิบาท ๔ นั้นแปลว่า “สี่เท้าที่ก้าวไปสู่ความสำเร็จ” แต่ ถึงตอนนี้เรามีจักร ๔ กลายเป็นสี่ล้อที่แล่นลิ่วไปเลย เมื่อกี้มีแค่เท้า แต่ตอนนี้ติดล้อแล้ว

เราไปด้วยเท้านั้นหนักแรง ใช้เวลามาก และไปได้เฉพาะตัว ถ้ามีข้าวของก็แบกหามพะรุงพะรัง แต่ถ้าไปด้วยรถมีล้อ ก็ทั้งเร็ว ออมแรง แถมพาคนพาของที่จัดให้ดีไปได้อีกด้วย

ได้แค่สี่เท้า เราก็ก้าวไปถึงความสำเร็จแล้ว แต่ตอนนี้ไม่ใช่แค่ก้าวเท่านั้น เราได้จักรสี่นี่ติดล้อเลย ถ้าเป็นประเทศชาติ ก็ก้าวหน้าไปแข่งขันในระดับโลกได้สบาย ไปถึงความสำเร็จได้ไม่ต้องห่วง

วันนี้ ที่เราเตรียมจะก้าวไปในปีใหม่ ๒๕๔๙ นั้น เราเตรียมพร้อม ทั้งเท้า ทั้งล้อเลย

เท้านั้นท่านให้สี่เลย เรามีแค่สองเท้ายังไม่ค่อยก้าว ท่านแถมให้อีกสองเท้า เป็นอิทธิบาท ๔ได้สี่เท้าที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จ แล้วก็ติดล้ออีกสี่ล้อ อย่างนี้ก็ก้าวหน้าไปได้แน่

ถ้าเราใช้สี่เท้าของอิทธิบาท และติดสี่ล้อของจตุจักร ก็เข้าหลักที่ว่าเราทำตนให้พร้อมที่จะ “พึ่งตนเองได้” ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

จะพึ่งตน ต้องมีตนที่พึ่งได้

 

ได้พูดแต่ต้นแล้วว่า เราต้องพึ่งตนเอง ไม่ใช่ไปมัวหวังพึ่งอำนาจภายนอก อย่างที่ว่า การไปรอโชคจากเลข ๙ ของปี ๔๙ ก็ไม่พอ หรือจะมัวไปหวังพึ่งอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์การดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหน เมื่อต้องรอเขาทำให้ ก็ไม่ปลอดภัย ไม่แน่จริง เพราะฉะนั้น เราจะต้องก้าวไปด้วยตัวเองให้ได้

การก้าวไปด้วยตัวเอง ก็คือการพึ่งตนเอง แต่ที่ว่าพึ่งตนเองนี่จะพึ่งได้ยังไง คนที่จะพึ่งตนเอง ก็ต้องมีตนที่พึ่งได้

อันนี้สำคัญมากนะ ต้องถามตัวเองว่า ฉันจะพึ่งตน แต่ เอ! แล้วนี่น่ะ ฉันมีตนที่พึ่งได้หรือเปล่า?

ถ้าคุณจะพึ่งตน แต่คุณมีตนที่พึ่งไม่ได้ เช่นว่าไปตกน้ำ แล้วว่ายน้ำไม่เป็น ก็คือมีตนที่พึ่งไม่ได้ แล้วจะพึ่งตนได้อย่างไร ก็จมน้ำตายน่ะซี

เพราะฉะนั้น ในหลักพึ่งตนนั้น ท่านจึงบอกต่อไปว่า เมื่อตกลงว่าเราจะพึ่งตน ก็ให้ถามตัวเองว่า เรามีตนที่พึ่งได้หรือยัง แล้วถ้าเรามีตนที่ยังพึ่งไม่ได้ จะทำอย่างไร อ๋อ! ก็ต้องฝึกศึกษาพัฒนาตนนั้นขึ้นไป เพื่อทำตนนั้นให้เป็นที่พึ่งได้ ตอนนี้แหละจึงจะมาถึงพระพุทธศาสนา

ตรงนี้เป็นจุดสำคัญมาก ฉะนั้นต้องทำให้ครบ ๓ ขั้นตอนคือ

ขั้นที่ ๑ มองตามหลักความจริงที่มีอยู่ว่า ในที่สุดแล้วนี่ ที่พึ่งที่แท้ก็คือตัวเรานี่แหละ ไม่ว่าใครจะช่วย จะให้เราพึ่งแค่ไหน พ่อแม่จะรักเราแค่ไหน จะทำให้เราหมดทุกอย่างแค่ไหน ในที่สุด แม้แต่เอาข้าวใส่ปากให้แล้ว ถ้าเรายังไม่ยอมเคี้ยว ไม่ยอมพึ่งตน มันก็ไปไม่รอด

เอาอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ไม่ได้ฝึก ไม่ได้หัดว่ายน้ำไว้ แล้วไปตกน้ำ ว่ายน้ำไม่เป็น เรียกว่าพึ่งตนไม่ได้ ก็ลำบาก ถึงใครจะไปช่วยอย่างไร ก็สู้ตัวเองว่ายน้ำเป็นไม่ได้

ในที่สุด ลึกเข้าไปถึงจิตใจของตัวเอง ที่เรามีทุกข์ มีอะไรต่างๆ ในที่สุดเราก็ต้องอยู่กับจิตใจของตัวเอง ต้องพึ่งตัวเองให้ได้ ต้องแก้ทุกข์ในใจให้สำเร็จ ใครก็ทำแทนให้ไม่ได้ แม้แต่พระพุทธเจ้าจะช่วยได้ ก็แค่สอนให้เรามีปัญญา ที่จะเอามาแก้ปัญหาให้ตัวเราเอง

ฉะนั้น เราจะต้องพัฒนาตัวเรา ทั้งด้านร่างกาย วาจา จิตใจ โดยเฉพาะปัญญาให้พร้อม ถ้าเรามีปัญญาพร้อมแล้ว เราจะพึ่งตนได้อย่างแท้จริง มีปัญหาข้างนอกก็แก้ได้ มีปัญหาในจิตใจของตัวเองก็แก้ได้ มีทุกข์เกิดขึ้นก็แก้ได้

แต่คนอื่นมาช่วย มาแนะนำอะไรต่างๆ ถ้าเราไม่เกิดปัญญา ไม่ยอมเข้าใจ ก็ไปไม่ไหว

ด้วยเหตุนี้แหละ ในที่สุดท่านจึงบอกความจริงไว้ว่า “ตนนี้แหละ เป็นที่พึ่งของตน” แต่ทีนี้

ขั้นที่ ๒ เมื่อความจริงบอกว่า ที่พึ่งที่แท้คือตัวเอง ตนนี้แหละเป็นที่พึ่งของตน เราก็จะต้องพึ่งตน

แต่อย่างที่บอกแล้วว่า “จะพึ่งตน ก็ต้องมีตนที่พึ่งได้” ถึงตอนนี้ ก็ต้องถาม ต้องสำรวจตรวจสอบและพิจารณาตัวเองว่า เรามีตนที่พึ่งได้หรือไม่ ตรงนี้เป็นขั้นตอนสำคัญ ถ้ามีตนที่ยังพึ่งไม่ได้ ก็จะได้เร่งทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ มีตนที่ยังพึ่งไม่ได้ในเรื่องใด ก็เอาใจใส่มุ่งหน้าไป ก้าวไปทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ในเรื่องนั้น

ขั้นที่ ๓ ทีนี้ก็ถึงตอนสำคัญ คือ ทำอย่างไรจึงจะมีตนที่พึ่งได้ อ๋อ! เราจะมีตนที่พึ่งได้ ก็ต้องฝึกศึกษาพัฒนาตนนั้นขึ้นไป อันนี้แหละเป็นหลักใหญ่ที่สุด

ปี ๒๕๔๙ เป็นปีที่เราจะต้องใช้หลักนี้ให้เต็มที่ เพราะหลักพระศาสนาที่สอนกันตลอดเวลา ก็ว่าให้พึ่งตน หลักอะไรๆ ที่เราพูดกันเวลานี้ อย่างการพัฒนาต่างๆ ก็มาลงตรงว่าให้พึ่งตน

ทั้งที่รู้กันอยู่ว่าจะต้องพึ่งตน แต่คนจำนวนมากก็ไม่พยายามหรือไม่ยอมพึ่งตน อย่างหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ พระราชทานไว้ ก็เป็นหลักพึ่งตนเอง แต่สังคมไทยยังมีคน ๒ จำพวกนี้มากเกินไป คือ

- คนพวกหนึ่งไม่รู้จักพอ

- คนอีกพวกหนึ่งไม่รู้จักทำให้พอ

จึงเป็นอุปสรรคใหญ่ซึ่งขัดขวางเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะพึ่งตนเองได้ และคนก็ไม่รู้จักพึ่งตนที่จะให้เกิดมีเศรษฐกิจที่พอเพียง เพราะเป็นคนซึ่งมีตนที่พึ่งไม่ได้

เราย้ำกันตลอดเวลาว่าให้พึ่งตนเอง แต่ในภาคปฏิบัติไม่ใช่อยู่แค่นั้น ต้องมาถึงขั้นตอนที่ว่า จะพึ่งตนนั้น ก็ต้องมีตนที่พึ่งได้ และจะมีตนที่พึ่งได้ ก็ต้องฝึกศึกษาพัฒนาตนนั้นขึ้นไป นี่คือเข้าสู่กระบวนการที่จะทำตนนั้นให้เป็นที่พึ่งได้ และนี้ก็คือพระพุทธศาสนาทั้งหมด

ขอให้เข้าใจว่า พระพุทธศาสนาทั้งหมด คือกระบวนการทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ไม่ใช่ติดอยู่แค่ “ให้พึ่งตน”

ที่ว่านี้หมายถึงพุทธศาสนาภาคปฏิบัติ ดังจะเห็นว่า มรรค ก็คือข้อปฏิบัติหรือการดำเนินชีวิตในทางของการพึ่งตน ไตรสิกขา ก็คือการฝึกศึกษาที่จะทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ เช่นที่ตรัสไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่ปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน เป็นผู้มีตนเป็นที่พึ่ง

การฝึกศึกษาพัฒนาตนเพื่อให้คนมีตนที่พึ่งได้ นี่แหละ เป็นการปฏิบัติธรรมที่แท้จริง เพราะว่า ถ้าสอนแค่ให้พึ่งตน แต่เขามีตนที่ยังพึ่งไม่ได้แล้ว เขาจะไปพึ่งตนได้อย่างไร

คนจำนวนมากบอกว่าพึ่งตนๆ ไปเจอคนตกน้ำ เขาว่ายน้ำไม่เป็น ก็บอกเขาว่า “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ” ตนเป็นที่พึ่งของตนนะ แล้วคนว่ายน้ำไม่เป็น จะทำไงล่ะ แกก็ตายเท่านั้น

เพราะฉะนั้น อย่าเอาแค่บอกให้พึ่งตน ต้องรู้ว่า ตนเป็นที่พึ่งของตนนั้นเป็นหลักความจริง แล้วต้องโยงไปยังหลักที่เชื่อมต่อสู่การปฏิบัติที่ว่า ต้องมีตนที่พึ่งได้ จากนั้นก็จะบ่งชี้ไปยังสิ่งที่ต้องทำ คือ จะมีตนที่พึ่งได้ ก็ต้องฝึกศึกษาพัฒนาตนนั้นขึ้นไป

ถ้าเข้าใจแล้วปฏิบัติตามนี้ เราก็จะมีตนที่พึ่งได้ในทุกระดับ เริ่มตั้งแต่ระดับบุคคลในส่วนตัว ก็ถามว่า เราพึ่งตนเองได้ไหม เรา มีตนที่พึ่งได้หรือเปล่า

เด็กทุกคนต้องถามตัวเองว่า เรามีตนที่พึ่งได้ไหม หรือว่าเรามีตนที่พึ่งได้หรือยัง การที่คุณพ่อคุณแม่ให้เราเล่าเรียนศึกษาอะไรต่างๆ นี่ ก็เพื่อให้เรามีตนที่พึ่งได้ เพราะตอนนี้หนูยังมีตนที่พึ่งไม่ได้ ก็เลยต้องมาจัดการต่างๆ เพื่อทำตนให้เป็นที่พึ่งให้ได้

ขยายจากมีตนที่พึ่งได้ในระดับบุคคล ต่อไปก็มีตนที่พึ่งได้ในระดับชุมชน แต่ละชุมชนก็ต้องมีตนที่พึ่งได้เหมือนกัน ก็ต้องให้มีการฝึกศึกษาหรือปฏิบัติการต่างๆ ที่จะพัฒนาชุมชนนั้นขึ้นไป

ต่อไป มีตนที่พึ่งได้ในระดับประเทศชาติ ซึ่งก็เช่นเดียวกัน คือต้องพัฒนาประเทศชาติ และแกนของการพัฒนาประเทศชาตินั้น ก็คือการพัฒนาคน หรือพัฒนาคุณภาพของคน ของพลเมือง หรือทรัพยากรมนุษย์ ให้มีสติปัญญา มีความสามารถ มีคุณสมบัติทุกอย่างที่พึงประสงค์ แล้วเราก็จึงจะมีตนที่พึ่งได้ คือ สามารถพึ่งตนในระดับชาติได้อย่างแท้จริง

ปี ๔๙ ถ้ามีสี่ล้อมาแถมสี่เท้า ไทยจะก้าวหน้าเป็นผู้นำเขาแน่

 

ปีใหม่ ๒๕๔๙ นี้ ก็อย่างที่กล่าวแล้ว เป็นปีที่เราจะต้องก้าว ไม่ใช่หยุดอยู่กับที่ และต้องออกแรงก้าวจริงๆ ไม่ใช่แค่รอตัวเลข โชคลางให้ช่วยพาเราก้าวไป โดยตัวเองไม่ทำอะไร แต่ต้องย่างเท้าก้าวไป แล้วก็ต้องมีกำลังที่จะก้าว แล้วก็ต้องก้าวไปโดยมีสติปัญญา รู้ว่าจะก้าวไปไหน รู้ว่ามีภัยอันตรายอุปสรรคอยู่ตรงไหน มีหลุม มีเหวอยู่ตรงไหน จะต้องไม่ตกหลุม ไม่ตกเหวนั้น

ในการก้าวนั้น จะให้ดี ก็ต้องสามารถใช้ทั้งสี่เท้า ของอิทธิบาท แล้วก็ทั้งสี่ล้อ ของจตุจักรนี้ เพื่อที่จะก้าวไปอย่างมี ประสิทธิภาพ ให้บรรลุผลสมความมุ่งหมาย โดยที่ระหว่างนั้น กระบวนการก้าวไปนี้ ก็จะทำให้เรามีความสามารถในการพึ่งตน เพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา

เป็นอันว่า การพัฒนาที่ดีที่สุดก็คือ การพัฒนาความสามารถในการพึ่งตนเอง ซึ่งก็คือการทำให้ตัวเรามีตนที่พึ่งได้

คนไทยจะต้องใช้หลักที่ว่ามานี้ให้เต็มที่ในปี ๒๕๔๙ ถ้าต้องการให้ปี ๒๕๔๙ เป็นปีแห่งความก้าวหน้าไป ก็จะต้องไม่ลืมหลักนี้เป็นอันขาด เราจะไปมัวหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลภายนอกอยู่ไม่ได้

ถึงเวลามานานแล้ว ที่จะต้องตื่นกันขึ้นมา คนไทยจมอยู่ในลัทธิถือโชคลางและการหวังผลดลบันดาลมานานนักหนา แล้วก็พึ่งตนไม่ได้ ไม่ก้าวไปไหน เพราะฉะนั้น มาปลุกกันให้ตื่นเสียทีเถิด มาชวนกันก้าวไปในการสร้างตัวให้มีตนที่พึ่งได้

เฉพาะหน้าตอนนี้ เราเพียงแต่ว่า ทำจิตใจให้ดี โดยเริ่มต้นด้วยจิตใจที่สบายผ่องใสเบิกบาน แต่อย่าหยุดแค่นั้น

ถ้าไปหยุดอยู่แค่ว่าปี ๔๙ เป็นเลขดีนะ เป็นสิริมงคล แค่นั้น แล้วปล่อยเรื่อยเปื่อย เอาแต่รอโชครอลาภลอยมา ก็เคว้งคว้างไร้ความหมาย กลายเป็นคนประมาท เข้าคติที่ว่า “ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย” เพราะฉะนั้น จะรอโชคไม่ได้ ต้องก้าวไปด้วยตนเอง

วันนี้เรามาพูดกันถึงเรื่องปีใหม่ แล้วทุกคนก็มีใจร่วมกันว่า กำลังจะทิ้งปีเก่า-ไปขึ้นปีใหม่ แต่ปีเก่านั้น อย่าทิ้งร้ายนะ ต้องทิ้งให้ดีด้วย คือทิ้งให้มันมีความหมายในเชิงที่เป็นคุณเป็นประโยชน์

ที่จริงนั้น ปีเก่านี่ดี เป็นประโยชน์มาก คือเป็นทุนดีของเรา ที่จะทำให้เราก้าวไปได้ในปี ๔๙ ถ้าเราไม่มีปี ๔๘ ที่ดี เราจะก้าวไปสู่ปี ๔๙ ให้ดีได้ยาก ฉะนั้นเราจึงต้องทำปี ๔๘ ให้ดี แต่ตอนนี้ปี ๔๘ กำลังจะหมดสิ้นไป และเราก็จะทำอะไรกับมันไม่ได้อีก ประโยชน์ที่จะได้จากมันก็คือว่า ถ้ามันไม่ดี ก็ให้เป็นบทเรียน อย่างน้อยก็เป็นเครื่องเตือนสติแก่เรา ในการที่จะได้เตรียมการก้าวไปในปี ๔๙ ให้ดีที่สุด

ก็ขอให้กำลังใจสนับสนุนแก่ทุกท่าน ในการที่จะสร้างความพร้อม เพื่อที่จะก้าวไปในปี ๒๕๔๙ โดยที่จะต้องมีความตระหนักรู้ด้วยว่า เวลานี้ ไม่ใช่ว่าตัวเราเท่านั้นที่จะก้าวไป แต่เคียงข้างตัวเรานั้น กาลเวลาก็กำลังก้าวไปอยู่ด้วย และมันก้าวไปแน่นอนจริงจัง ไม่มีการหยุดยั้งอย่างใดเลย ตัวเรานี้ต่างหากที่บางที่ก็เผลอประมาท

ขอให้คำนึงไว้ถึงคำพระที่ว่า -- อายุสังขาร ใช่จะประมาท ไปตามสัตว์ผู้ยืน นั่ง นอน หรือเดินอยู่ ก็หาไม่ ... วัยย่อมเสื่อมลงเรื่อยไป ทุกหลับตา ทุกลืมตา

ว่ากันตามจริง ตัวแท้ก็คือกาลเวลานั้นแหละที่ก้าวไป ซึ่งทำให้เกิด ปีเก่า-ปีใหม่

ทีนี้ พอรู้ตระหนักถึงความจริงนั้นแล้ว เมื่อกาลเวลาก้าวไป เราก็จะก้าวด้วย เราจะก้าวให้ทันกาลเวลานั้น หรือก้าวอย่างดีที่สุด ให้ประสบความดีงาม และลุถึงความสำเร็จ

จะสำเร็จได้อย่างไร ก็สำเร็จด้วยการใช้หลักที่ว่ามาแล้ว กล่าวคือ “ในเมื่อตนนั่นแหละคือที่พึ่งที่แท้ เราก็จะพึ่งตน แต่ถ้าเราจะพึ่งตน เราก็ต้องมีตนที่พึ่งได้ และเราจะมีตนที่พึ่งได้ เราก็ต้องฝึกศึกษาพัฒนาตนนั้นขึ้นไป”

แล้วทีนี้ เมื่อจะฝึกศึกษาพัฒนาตนขึ้นไปนั้น เราจะใช้หลักอิทธิบาท ๔ ก็ได้ คือใช้เท้าทั้งสี่นั้น พาตัวก้าวไปสู่ความสำเร็จ

แล้วจะให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ก็ใช้หลักจตุจักรติดสี่ล้อเข้าไปอีก ก็จะก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วเลย และบรรลุจุดหมายแน่นอน

วันนี้ขณะนี้ก็ถือว่าเป็นเวลาดีงาม เป็นสิริมงคล เพราะเรามาพูดกันในเรื่องที่ดีงาม คือมาพูดธรรมะกัน เราก็ทำให้กาลเวลานี้ ซึ่งที่จริงเป็นของกลางๆ กลายเป็นกาลเวลาที่ดี เป็นสิริมงคล จึงเป็นการเริ่มต้นที่ดี

ต่อจากนี้ไป เมื่อได้เริ่มต้นดีแล้ว ก็จะเดินหน้าไปอย่างดี อย่างมีประสิทธิภาพ ก้าวไปสู่ความเจริญงอกงาม สู่ความสำเร็จ สมหมาย

ในโอกาสนี้ ที่ถือว่าเป็นสิริมงคลแล้ว ก็ขอให้เราทั้งหลายมาทำปีใหม่ให้เป็นสิริมงคลสมตามที่ถือนั้น ด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรมที่กล่าวมา

ดังที่ในวันนี้ อาตมาได้นำเอาธรรมะของพระพุทธเจ้า มาแสดงไว้หลายหมวดหลายตอน ท่านทั้งหลายสามารถเลือกใช้ได้ แต่คนไหนทำได้ครบทั้งหมด ก็นับว่าดีที่สุด

เพราะฉะนั้น ก็คงต้องแข่งกันหน่อย คือ ไม่ใช่แค่เลือกใช้ แต่จะทำให้ครบ ถ้าคนไหนทำได้ครบ หรือแม้แต่ช่วยกันทำให้ครบ ก็จะช่วยตัวเอง และช่วยสังคมประเทศชาติ ให้พึ่งตนได้ และให้ก้าวไปในปี ๒๕๔๙ สู่ความเจริญงอกงาม และความสำเร็จลุจุดหมายได้อย่างแน่นอน

ในโอกาสแห่งมงคลกาล ที่จะก้าวขึ้นสู่ปีใหม่ ๒๕๔๙ นี้ ขอตั้งกัลยาณจิต ส่งเสริมกำลังใจของท่านทั้งหลาย ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย อวยชัยให้พร

รตนัตตยานุภาเวนะ รตนัตตยะเตชะสา ด้วยเดชานุภาพคุณพระรัตนตรัย พร้อมทั้งบุญกุศลคุณความดีที่เราทั้งหลายได้บำเพ็ญสั่งสมกันมา และที่ตั้งใจจะทำข้างหน้าต่อไป จงเป็นพลัง อำนวยให้ทุกท่านประสบจตุรพิธพรชัย เจริญก้าวหน้าในการศึกษาเล่าเรียน ในอาชีพการงาน ในการสร้างสรรค์ชีวิต ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และเกื้อหนุนโลกนี้ให้ก้าวหน้าไปในสันติสุข ตลอดกาลยั่งยืนนานทุกเมื่อ เทอญ...

หมายเหตุ: คำบรรยายนี้ เป็นธรรมกถาอวยพรปีใหม่ ๒๕๔๙ ซึ่ง ทีวีสีช่อง ๗ ถ่ายที่วัดญาณเวศกวัน ๒๔ ธ.ค. ๒๕๔๘

 ถอดเทป - ด้วยความเอื้อเฟื้อของสหปฏิบัติฯ (โดย โกศล จึงเสถียรทรัพย์ และ คริษฐ์ อยู่แก้ว)

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.