พระธรรมทูตไทย เบิกทางสู่อารยธรรมใหม่

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พระธรรมทูตไทย
เบิกทางสู่อารยธรรมใหม่1

ท่านสพรหมจารีผู้จะปฏิบัติศาสนกิจเป็นพระธรรมทูตทุกท่าน

วันนี้ผมได้รับมอบโอกาส ให้มาพบปะพูดคุยกับทุกท่านในที่นี้ ในรายการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย การมาวันนี้คิดว่าเป็นการมาแบบสบายๆ อาจจะเป็นการคุยกันโดยผมพูดข้างเดียว หรือถ้ามีเวลาพอก็คุยแบบสนทนาถามตอบกัน สุดแต่โอกาส ตัวผมเองก็ไม่ได้มีอะไรมากที่จะพูดในที่นี้ ตัวเองก็ยังไม่ได้เป็นพระธรรมทูตโดยแท้จริง แม้ว่าจะเคยไปสอนไปบรรยายในต่างประเทศก็ไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นพระธรรมทูต อาจจะถือว่าเป็นพระธรรมทูตอย่างไม่เป็นทางการ และที่ไปมาก็เป็นช่วงเวลาที่ไม่ยาวนัก ทั้งเวลานั้นก็ผ่านไปนานแล้ว สิ่งที่เคยคิดเคยสังเกตไว้บางทีก็ลืมๆ ไป มาถึงตอนนี้ก็นึกออกบ้างนึกไม่ออกบ้าง เพราะฉะนั้นจึงบอกว่ามาคุยกัน คือพูดเท่าที่นึกได้

- ๑ -
คุณสมบัติและหน้าที่ของพระธรรมทูต

เริ่มต้นก็มานึกถึงฐานะของพระธรรมทูตก่อน เป็นธรรมดาว่า เราจะเป็นอะไร ทำหน้าที่อะไร ก็ต้องมีคุณสมบัติของผู้ที่จะทำหน้าที่เช่นนั้น สำหรับพระธรรมทูตนั้นต้องมีคุณสมบัติต่างๆ ที่ผมอยากจะย้ำ คือ

มีภูมิปัญญาที่มั่นใจและรู้ว่าเขาต้องการอะไร

ข้อที่ ๑ ต้องมั่นใจในคุณค่า ความดีงาม ความประเสริฐของพระพุทธศาสนา หรือแคบเข้ามาจะเรียกว่าพุทธธรรมก็ได้ ข้อนี้สำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าเมื่อเป็นพระธรรมทูต จะไปเผยแผ่ธรรม ก็ต้องมีความมั่นใจในธรรมที่ตนจะนำไปเผยแพร่ จะต้องมั่นใจว่าพระพุทธศาสนามีอะไรดีที่จะให้แก่โลก โดยเฉพาะแก่แผ่นดินที่เราจะไปทำงาน ซึ่งเท่าที่ผมเข้าใจ คงจะไปยังประเทศตะวันตกมาก เช่น ประเทศอเมริกาเป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงต้องมั่นใจว่า พระพุทธศาสนามีอะไรที่จะให้แก่ประเทศอเมริกา และเราต้องมีดีแน่ๆ ถ้ามองเห็นว่า เรามีดีที่จะให้แล้ว เราจะสามารถเป็นผู้ให้ อันนี้แหละจะเป็นฐานรองรับที่ทำให้เกิดความมั่นใจ แต่ถ้าเรามองตนเองว่าเป็นผู้ด้อยแล้วจะไปรับเอา ถ้าอย่างนี้ก็รู้สึกว่าชักจะง่อนแง่นตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะฉะนั้นข้อนี้คิดว่าสำคัญมาก

เมื่อมั่นใจในความจริง ความดีงาม และคุณค่าของพระพุทธศาสนาหรือพุทธธรรมแล้ว ความรู้อีกด้านหนึ่งนอกเหนือจากความรู้เกี่ยวกับพุทธธรรม ก็คือความรู้เกี่ยวกับสภาพสังคมที่เราจะไป ซึ่งโยงไปหาสภาพของโลกทั้งหมดในปัจจุบัน โดยเฉพาะถ้าเราไปประเทศที่เจริญมากอย่างอเมริกา สองอย่างที่ว่านั้นจะโยงกันได้ง่าย เพราะว่าสภาพปัญหาของโลกปัจจุบันนี้ ถือว่าประเทศอเมริกาเป็นผู้นำ หรือเป็นตัวแทนของความเป็นไปในโลกนี้ สภาพของสังคมอเมริกัน จึงแสดงถึงสภาพของโลกปัจจุบันที่เป็นอยู่ หรือมีแนวโน้มที่จะเป็นหรือจะถูกผลกระทบ เราต้องมีความรู้เข้าใจว่าเวลานี้โลกมีปัญหาอะไร มีความต้องการอะไรที่พระพุทธศาสนาจะไปสนองได้ อันนี้จะโยงกัน

การที่เราเห็นคุณค่าของพระศาสนาว่าพระพุทธศาสนามีอะไรจะให้ ย่อมโยงไปสู่คำถามต่อไปว่า จะให้อะไรอย่างไร ซึ่งต้องสัมพันธ์กับความต้องการของเขาว่า เวลานี้โลกกำลังต้องการอะไร การที่เขาต้องการก็เพราะเขาประสบปัญหา มีความขาดแคลนอะไรอยู่ ยิ่งประเทศผู้นำอย่างอเมริกานี่เราต้องเข้าใจชัดว่าเขาเป็นผู้นำของโลก เขามีปัญหาอะไร เขาขาดอะไร เขาต้องการอะไร เราจะนำเอาสิ่งที่เขาขาดแคลนนั้น ซึ่งมีอยู่ในพุทธธรรม ไปให้แก่เขา

ความเข้าใจสภาพสังคมอเมริกันมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้รวมไปถึงอารยธรรมตะวันตกทั้งหมดด้วย ทั้งปัจจุบันตามสภาพที่ปรากฏอยู่แล้ว และสืบสาวลงไปถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้เขาเป็นมาอย่างนั้น ขอย้ำว่าต้องเข้าถึงเหตุปัจจัยของเขาเลยทีเดียว ไม่ใช่อยู่แค่สภาพที่เป็นปัญหา การรู้แค่ความต้องการปัจจุบันยังไม่พอ เราต้องเข้าถึงเหตุปัจจัยว่า เพราะอะไร จึงทำให้เขามาประสบปัญหาอย่างที่เป็นอยู่

ลองมองดูทางตะวันตก ฝรั่งอย่างอเมริกัน เมื่อเขาจะส่งคนของเขามาทำงานในประเทศไทย เขาศึกษาสังคมของเราอย่างจริงจังมาก มหาวิทยาลัยต่างๆ มีการตั้งคณะวิชาหรือโครงการต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับงานที่เขาจะส่งคนไปทำในต่างประเทศ

ในยุคที่ดินแดนแถบที่เรียกว่า อาเซียอาคเนย์ หรืออาเซียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังมีปัญหามาก เช่น ยุคสงครามเวียดนาม สงครามในลาว และในเขมร ตอนนั้นจะเห็นชัดว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศอเมริกา ตั้งภาควิชา ตลอดจนโครงการ Southeast Asian Studies กันเยอะไปหมด เพราะอะไร เพราะว่าฐานทางวิชาการต้องมารองรับการเมือง การศึกษาของเขาไม่ได้พรากจากเรื่องการบ้านการเมือง เมื่อความต้องการทางการเมืองมีขึ้นมา ว่าจะต้องส่งคนมาทำงานในประเทศเหล่านี้ และจะต้องปฏิบัติงานโดยสัมพันธ์กับประเทศทางอาเซียอาคเนย์ให้ได้ผลดี เขาก็ต้องวางฐานทางวิชาการให้คนของเขาได้ศึกษาค้นคว้าให้มีความชำนาญรู้เรื่องประเทศเหล่านั้นจริงจัง และคนของเขานอกจากเรียนที่โน่นก็ยังส่งเข้ามาเรียนที่นี่ เข้ามาวิจัยกันใหญ่

แม้แต่คนไทยที่ไปเรียนที่เมืองเขา เขาก็อาจจะสนับสนุนให้ทำเรื่องวิจัยเกี่ยวกับประเทศของเราและสังคมของเรา เพื่อว่าเขาจะได้ข้อมูลเพิ่มเติม ตลอดจนข้อคิดความเห็นของพวกเราที่มีต่อประเทศหรืออารยธรรมของตนเอง จนกระทั่งบางทีเขามีความรู้เกี่ยวกับประเทศของเราดียิ่งกว่าคนไทย เราพูดกันว่ามหาวิทยาลัยบางแห่งในอเมริกามีความชำนาญพิเศษในเรื่องของประเทศในย่านนี้ รวมทั้งประเทศไทยเราลึกซึ้งมาก ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยคอร์เนล ก็มีการศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยลงลึกละเอียดทีเดียว ต่อไปแม้แต่คนไทยจะเรียนประวัติศาสตร์ประเทศไทย ก็อาจจะต้องไปเรียนที่ประเทศอเมริกา คนไทยอาจจะได้ปริญญาทางด้านประวัติศาสตร์ที่ชำนาญพิเศษเกี่ยวกับประเทศไทย จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล อย่างนี้เป็นต้น

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นว่า ประเทศฝ่ายเขา เมื่อมีใครจะมาทำงานที่เรา เขาจะต้องเรียนรู้เข้าใจเราอย่างลงลึก มองในทางกลับกัน เมื่อคนไทยเราจะไปเรียนหรือจะไปทำงานในประเทศของเขา เราจะต้องเข้าใจสังคมของเขาให้ดีที่สุด แต่น่าเสียดายว่าเราไม่ได้เอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ เราไม่ได้เตรียมคนของเราถึงขนาดนั้น ถึงเวลาเราก็ไปเลย ทั้งที่ยังไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับสังคมของเขาสักนิด แสดงว่าเราทำงานกันผิวเผินหรือไม่ก็เลื่อนลอย

ขอย้อนไปพูดว่า แม้แต่ในวงการศึกษาทั่วไป คนของเราที่ไปเรียนในประเทศอเมริกา สิ่งหนึ่งที่รัฐโดยเฉพาะผู้รับผิดชอบในทางการศึกษา ควรมีนโยบาย ก็คือ คนของเรานั้น นอกจากไปเรียนวิชาของเขา รับเอาวิชาที่เขารู้เหนือกว่าเราแล้ว เราต้องไปศึกษาสังคมอเมริกันด้วย วิเคราะห์วิจัยสังคมของเขาออกมาให้ถึงขนาดที่ว่ารู้เห็นในส่วนที่เขาเองยังมองไม่เห็น เหมือนอย่างเขามาศึกษาบ้านเมืองเราแล้วเห็นส่วนที่เราไม่เห็น เพราะเขาเป็นคนนอก สิ่งที่ต่างจากเขา เขาจะเห็นชัด เราก็เหมือนกัน ถ้ามีความตั้งใจ มีแนวความคิด และมีหลักในการพิจารณาแยกแยะ เราอาจจะเห็นอะไรต่างๆ ที่คนของเขาไม่เห็น แล้วเราจะใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงานของเราได้

นักเรียนของเรา เราส่งไปเรียนต่างประเทศปีหนึ่งมากมาย และส่งกันมานานหลายสิบปี แต่น่าเสียดายว่า ไปเรียนในวิชานั้นๆ ได้วิชาชำนาญพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องของยุคสมัยมา พอเสร็จแล้ว ไม่ค่อยรู้สังคมของเขาเลย จึงมีความรู้จำกัด แคบมาก ยิ่งกว่านั้นก็คือ เราไปเรียนวิชาที่เขาใช้ในสังคมของเขาโดยไม่รู้สังคมของเขา และเอากลับมาใช้กับประเทศของเราซึ่งมีสภาพแวดล้อมต่างจากเขา จึงใช้กับสังคมของเราไม่ค่อยได้ วิชาการต่างๆ ที่เรียนกันมาจากต่างประเทศ เป็นหมันเสียมาก

ยิ่งกว่านั้นอีก ฝรั่งเลยได้โอกาสจากคนไทย คือ เวลาเราไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทำปริญญาชั้นสูง โดยเฉพาะปริญญาเอก ก็เป็นธรรมดาจะต้องมีการทำวิทยานิพนธ์ เวลาทำวิทยานิพนธ์นั้น จะเป็นทางด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรืออะไรก็ตาม เราก็มักจะทำในหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวกับประเทศของเรา ฝรั่งชอบ เพราะถ้าฝรั่งจะมาศึกษาเรื่องของเรา และส่งคนของเขามา ค่าวิจัยแพงมาก คนของเขากินเปลือง ต้องลงทุนสูง ใช้เงินของเขา คิดเทียบเป็นเงินไทยแพงมาก แต่ทีนี้คนของเราไปศึกษาที่ประเทศของเขา เอาเงินไปให้เขาแล้ว ยังจะเอาความรู้ไปให้เขาอีก คือ วิจัยเรื่องของประเทศเราให้แก่เขา เขาประหยัดเงินเยอะ เขาก็ชอบ เขาก็สนับสนุน เราก็กลับมาค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศของเรา วิเคราะห์สังคมของเราไปให้เขา แถมยังได้ความคิดเห็นของพวกเราที่มองตัวเองอีกด้วย เขาก็ได้โดยไม่ต้องลงทุนเลย ฝรั่งก็ยิ่งชอบใจ นี้เป็นการที่เราเสียเปรียบทั้ง ๒ ด้าน

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์วิจัยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับสังคมของเรานี้ไม่ใช่ว่าจะเสีย คือเราได้ผล แต่ข้อเสียอยู่ที่ว่า เราไม่ได้วางนโยบายที่พร้อมทั้ง ๒ ด้าน คือเมื่อเราจะทำงานในสังคมของเรา คนของเราต้องรู้สังคมของตัวเองอย่างเต็มที่ จุดที่หนึ่งเราจะต้องตั้งไว้เลยว่า ต้องให้คนของเราส่วนหนึ่ง รู้จักสังคมของตัวเองให้เต็มที่ อันนี้เรายอมรับให้วิจัยสังคมของตัวเอง แต่อีกส่วนหนึ่งเราต้องวางไว้พร้อมกัน ต้องให้ไปศึกษาเขา ให้เข้าใจสังคมอเมริกันอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน เอาสองส่วนนี้มาประกอบกัน เอามาเป็นส่วนร่วมเพื่อทำให้เกิดความสมบูรณ์ที่สุด จะช่วยเหลือสังคมของตนเองได้ดี อันนี้เป็นข้อสังเกต กลายเป็นพูดถึงเรื่องการศึกษาของประเทศชาติทั้งหมดกว้างๆ

หันกลับมาเรื่องของเรา เราจะไปทำงานในสังคมอเมริกัน เราก็ต้องเข้าใจสังคมของเขา ต้องเข้าใจอารยธรรมตะวันตกทั้งหมด เมื่อได้ความรู้ ๒ ด้าน คือความรู้ถึงหลักของเราเองในพระพุทธศาสนา หรือในพระพุทธธรรม และความรู้เรื่องของเขาด้วย ก็เท่ากับว่ารู้เขารู้เรา จะเป็นฐานทำให้เกิดความมั่นใจในการทำงาน

ตั้งมั่นในแบบแผนหนักแน่นไม่หวั่นไหว

ข้อที่ ๒ นอกเหนือจากด้านภูมิปัญญาแล้ว เรื่องความประพฤติก็สำคัญแน่นอน พระนั้นมีหลักอยู่แล้ว คือมีวินัย เรื่องแบบแผนความประพฤติของเรานี้ เมื่อเราไปอยู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เจริญอย่างอเมริกา ถ้าเราไม่มีความมั่นใจในตัวเองตั้งแต่ต้น จะรู้สึกว่า เราชักจะหวั่นไหวง่าย หวั่นไหวทั้งสภาพแวดล้อมที่ล่อเรา คือความสะดวกสบายต่างๆ และอีกอย่างหนึ่ง คือ ความรู้สึกคล้ายๆ ว่า เราไปอยู่ในประเทศที่เจริญ เขาไม่ได้ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เราทำอย่างนี้ มีระเบียบวินัยแบบแผนความประพฤติของพระอย่างนี้ ไม่สอดคล้องกับประเทศที่เจริญแล้ว รู้สึกตัวเองชักจะหวั่นไหว พาลจะเขวจากแนวทางความประพฤติของพระ อันนี้ก็เป็นจุดอ่อนสำคัญอย่างหนึ่ง

ในทางที่ถูกต้องเราต้องมีความมั่นใจในวินัยของพระสงฆ์ ซึ่งมีความผสมผสานกับวัฒนธรรมไทย เราต้องยืนหยัดในการที่จะประพฤติตามหลักพระวินัยของเรา ลองนึกถึงพวกคนยิว (Jews) ยิวนี่เป็นชาติที่มีอิทธิพลอย่างยิ่ง ครอบงำสังคมอเมริกันมากในทางเศรษฐกิจ ว่ากันว่าโรงพยาบาลเอกชนทุกโรงในนิวยอร์คเป็นของยิว และยิวก็มีอิทธิพลทางการเมืองอย่างมากมาย เพราะฉะนั้น ยิวรบกันกับพวกอาหรับ ยิวแค่ ๓ ล้าน รบกับอาหรับตั้งมากมาย ยิวยังเอาชนะได้

ยกตัวอย่าง เมื่อยิวรบกับประเทศอียิปต์ประเทศเดียว ๘๐ ล้านคน หลายปีมาแล้ว เขาเรียกกันว่าสงคราม ๗ วัน ตอนนั้น นัสเซอร์ (Gamal Abdel Nasser) แห่งอียิปต์ (Egypt) เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ อียิปต์นับถือเหลือเกิน พอนัสเซอร์มีกำลังเข้มแข็ง ก็คิดว่าเราจะต้องแก้แค้น ต้องทำลายประเทศอิสราเอล (Israel) ลงให้ได้เพราะพร้อมที่สุดแล้ว อาจจะไม่มีระยะใดสมัยใดที่พร้อมเท่านั้นสำหรับยุคสมัยใหม่ ก็ตกลงว่าจะทำสงครามบุกยิว กะว่าถล่มคราวนี้ให้ล่มจมหายไปเลย แต่พออียิปต์จะเอาเครื่องบินขึ้นไปรบ ยังไม่ทันเอาเครื่องบินขึ้นเลย ยิวถึงตัวถล่มสนามบินอียิปต์หมดแล้ว ไม่มีสนามบินจะขึ้น ๗ วันเท่านั้น อียิปต์ยอมแพ้ อียิปต์ตอนนั้นมีพลเมือง ประมาณ ๘๐ ล้าน ยิวมี ๓ ล้านคน สงครามคราวอื่นก็มีมาเรื่อยๆ แต่ยิวที่แสนเล็กสามารถที่จะรอดตัวอยู่ได้ท่ามกลางภัยอันตรายที่คุกคามตลอดเวลา

ไม่ต้องพูดถึงการสร้างความเข้มแข็งภายใน เช่น คนยิวจะมีการฝึกฝนอย่างดีมาก ชนิดที่ว่า ไม่ว่าหญิงหรือชาย ทุกคน เมื่อมีเหตุจำเป็นเกิดขึ้น จะทำทุกอย่างได้ทันที เขาถือว่าคนยิวทุกคน ขึ้นรถ ขับรถได้ ลงเรือ ขับเรือได้ ขึ้นเครื่องบิน ขับเครี่องบินได้ ทำอะไรได้ทุกอย่างพร้อมหมด เพราะฉะนั้น ๑ ต่อ ๑๐ นี่ไม่กลัว แต่อันนี้เป็นส่วนของเรื่องภายใน อีกส่วนหนึ่งที่น่าสังเกตภายนอกก็คือ คนยิวรักชาติของตัวเองมาก ไม่ว่าจะไปอยู่ในดินแดนไหนก็ตาม เขามีความยึดมั่นในชนชาติของเขา รวมทั้งศาสนาด้วย ฉะนั้น พวกยิวนี้ถ้ามองด้วยสายตาของคนภายนอกจะเห็นว่า เขายึดถือในข้อปฏิบัติตลอดจนถือสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมของเขาอย่างเคร่งครัดมาก จนดูเหมือนเป็นเรื่องของความเหลวไหลงมงาย แต่ไม่เห็นเขาจะไปหวั่นใจเลย เขามีความมั่นใจ เขาปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ หลักระเบียบของวัฒนธรรมของเขาอย่างมั่นคง เขาก็สามารถสร้างเกียรติภูมิหรือศักดิ์ศรีของเขาขึ้นมาได้ นี่เป็นตัวอย่างที่ให้เห็นว่าเราควรมีความมั่นใจในตัวเอง

คนไทยเราหรือชาวพุทธนี้ ไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเอง เรื่องของรูปแบบ เช่นวัฒนธรรม ที่แสดงออกภายนอก คนไทยไปอยู่ในต่างประเทศแล้วรักษาไม่ค่อยอยู่ คนไทยชาวพุทธนี้ในแง่หนึ่งก็เป็นคนที่มีลักษณะประสานกลมกลืน ปรับตัวได้เก่ง แต่อีกด้านหนึ่งขาดความมั่นใจในตัวเอง ต่างจากหลายประเทศอื่นที่เขามั่นคงมากในเรื่องของวัฒนธรรมและรูปแบบภายนอกต่างๆ ดังยิวนี้เป็นตัวอย่าง การแต่งตัวหรืออะไรก็ตามที่เป็นสัญลักษณ์ของเขา เขาไม่หวั่นใจว่าใครจะมองอย่างไร เขารักษาของเขาได้

จะดูชนชาติชาวอื่นบ้างก็ได้ เช่น เดี๋ยวนี้ชาวมุสลิม (Muslim) กำลังเข้าไปในอเมริกามาก จากสุเหร่าหรือมัสยิด (mosque) ที่มีจำนวนแค่อาจจะเป็นร้อยเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ขณะนี้มัสยิดในอเมริกาเพิ่มขึ้นมาก มีจำนวนเป็นหมื่น เข้าใจว่าขณะนี้คนอเมริกันกำลังหวั่นใจเรื่องนี้มาก ดังมีข่าวสารบทความต่างๆ ออกมาทางวิทยุเป็นต้น ค่อนข้างบ่อย อาจเป็นเพราะว่า ประชากรมุสลิมเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว แต่ประชากรเพิ่มก็ยังไม่เท่าไร ที่สำคัญก็คือลักษณะทางสังคมและกิจกรรมต่างๆ

คนมุสลิมจับกลุ่มกันอย่างมั่นคงเข้มแข็งมาก แล้วก็มีลักษณะอย่างที่ว่า คือ เขามีข้อวัตรปฏิบัติและรูปแบบวัฒนธรรมที่เขายืนหยัด ยึดมั่นเหลือเกิน ซึ่งมีทั้งผลดี และผลร้าย ถ้ามีเวลาจะได้พูดต่อไป ผลดี คือ เขาสามารถรักษาหมู่คณะของตัวเองไว้ได้แล้วก็ก้าวไปด้วยกันอย่างมีพลัง แต่ในแง่ไม่ดีก็คือ ความโน้มเอียงในทางที่จะแบ่งแยกขัดแย้งและทำลาย ในระยะที่แล้วมามีปัญหาเกี่ยวกับมุสลิมเยอะ โดยเฉพาะกลุ่มฟันดาเมนตาลลิสต์ (fundamentalists) ซึ่งไปดำเนินการก่อการร้าย วางระเบิดที่ World Trade Center เมื่อวันที่ ๒๖ ก.พ. ๒๕๓๖ (๑๙๙๓) ทำให้คนตาย ๖ คน บาดเจ็บกว่า ๑,๐๐๐ คน แล้วก็จะไปทำลายอาคารสำคัญอื่นๆ ในนิวยอร์คอีกเยอะ เช่น ตึกสหประชาชาติ เป็นต้น แต่พอดีจับได้ก่อน เป็นปัญหามาก

เวลานี้วิทยุอเมริกัน อย่าง V.O.A. ออกบทความเกี่ยวกับเรื่องศาสนาอิสลามถี่ขึ้น ซึ่งแต่ก่อนเขาไม่ค่อยสนใจ อันนี้เราจะต้องสังเกต เพราะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสังคมอเมริกัน มองกว้างออกไปอีก ตอนนี้โป๊ปหรือสันตะปาปา (Pope) พูดออกมาว่า ก่อนจะถึงปี ค.ศ. ๒๐๐๐ นี้ คนมุสลิมจะมีจำนวนมากกว่าชาวคาทอลิกทั้งโลกเป็นครั้งแรก แสดงว่าโป๊ปก็มองความสำคัญของเรื่องนี้อยู่ อันนี้เป็นเรื่องของสถานการณ์ศาสนาซึ่งมีเรื่องให้พูดเยอะเหมือนกัน แต่พูดออกไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจะเลยไป

ขอย้อนกลับมา ในแง่นี้ก็หมายความว่า ให้เรามีความมั่นใจในศีล คือ ในระเบียบวินัยของเรา อย่าไปหวั่นไหวง่ายๆ ถ้าเรารู้สึกว่าส่วนไหนในระเบียบแบบแผนข้อปฏิบัติของเราจะไม่สอดคล้องกับสังคมของเขา อาจจะทำให้ขัดขวางการปฏิบัติงาน ก็ต้องมองด้วยปัญญาจริงๆ ไม่ใช่มองด้วยความหวั่นใจ หรือหวั่นไหวไปตามความรู้สึก ต้องพิจารณาว่าเรื่องนี้เราจะปรับตัว หรือจะทำอย่างไรดี และอย่าเริ่มด้วยบุคคล ต้องปรึกษากับหมู่คณะให้ไปด้วยกัน นี้เป็นหลักของการทำงาน ในสังคมที่เขาเจริญเขาทำอย่างนี้ทั้งนั้น

ถ้าเรารู้สึกตัวขึ้นมาว่าข้อปฏิบัติอย่างนี้จะขัดขวางเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานแล้วชักจะหวั่นไหว อันนั้นอาจจะเป็นการคิดในแง่ส่วนตัวของตนเอง ถ้าคิดในแง่ตัวเองอย่างเดียวก็ไม่ถูกต้อง นอกจากจะแสดงถึงความไม่มั่นคงแล้วยังก่อให้เกิดความขัดแย้งในหมู่คณะของเราด้วย จึงต้องปรึกษาหารือกัน เวลานี้ในประเทศอเมริกา เราก็ตั้งสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา (The Council of Thai Bhikkhus in the U.S.A.) ขึ้นมาแล้ว เมื่อมีเรื่องแบบนี้ วัดทั้งหลายก็ต้องปรึกษากัน ให้ไปด้วยกัน

มีข้อที่ควรทราบตระหนักในเรื่องนี้ว่า รูปแบบที่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีเฉพาะชุมชน หรือสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์และเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชนหรือสังคมนั้น มีความหมายหรือสื่อความหมายต่างกันอย่างน้อยเป็น ๒ แบบใหญ่ๆ คือ

แบบที่หนึ่ง เป็นการใช้สิ่งเหล่านี้สำหรับยึดถือในการรวมพวก ทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่พวกตน และแยกตัวต่างหากจากคนพวกอื่น บางพวกใช้เพียงเพื่อเป็นเครื่องรักษาชุมชนหรือกลุ่มของตัวไว้ให้คงอยู่ได้ แต่บางพวกก็ถือรุนแรงจนมีความหมายที่เด่นชัดในแง่การแบ่งแยกกับคนพวกอื่น อาจถึงกับใช้ยกตัวขึ้นและกีดกันกั้นคนพวกอื่น

ส่วนแบบที่สอง รูปแบบเหล่านั้นเป็นเพียงสิ่งที่แสดงลักษณะการดำเนินชีวิตที่เหมาะกับวิถีทางและจุดมุ่งหมายที่เป็นอุดมคติ เช่น ความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ความเสียสละ การกำจัดกิเลส การไม่ยึดติดถือมั่นในทางทรัพย์และอำนาจ การสละสถานะความสำคัญของตนเอง ตลอดจนการไม่ยึดติดในขอบเขตที่จำกัดก่อความแบ่งแยกใดๆ เป็นต้น ซึ่งตรงข้ามกับแบบที่หนึ่ง

มนุษย์ส่วนใหญ่ยึดถือรูปแบบชุมชนในความหมายแบบที่ ๑ แต่ของพระสงฆ์เราเป็นการปฏิบัติเพื่อความหมายในแบบที่ ๒ ที่ทวนกระแสกับแบบที่ ๑

ตอนที่มีการประชุมกันตั้งสมัชชาสงฆ์ไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ นั้น วัดไทยเพิ่งมีในอเมริกาไม่กี่แห่ง วัดแรกตั้งที่ลอสแองเจลีส (Los Angeles) ก่อน ต่อมาในปี ๒๕๑๘-๒๕๑๙ ก็มีวัดอื่นๆ เกิดผุดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในเมืองนิวยอร์ค (New York) วอชิงตันดีซี (Washington D.C.) และในเมืองเดนเวอร์ (Denver) รัฐโคโลราโด

เวลานั้น วัดใหม่ๆ เหล่านี้ ต่างก็พบกับประสบการณ์และปัญหาต่างๆ ซึ่งทำให้เป็นห่วงกันว่า ในสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไป และในวัฒนธรรมที่ต่างออกไป วัดทั้งหลายอยู่ห่างกัน อาจจะทำให้มีการปรับตัวไม่สม่ำเสมอกัน ถ้าไม่มีความร่วมใจกันก็จะประสบปัญหา ก็เลยคิดตั้งองค์กรร่วมกันที่จะเป็นที่ร่วมกันคิดพิจารณาแก้ปัญหาและร่วมกันทำงาน จึงนัดประชุมกัน แล้วก็ตั้งสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกาขึ้น โดยมีจุดหมายอย่างที่กล่าวมานี้

ต่อมาวัดไทยในอเมริกาก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วมาก จนกระทั่งปัจจุบัน ได้ทราบว่าเกิน ๕๐ วัด นับว่าเป็นประเทศพุทธศาสนาเถรวาทที่มีจำนวนวัดเพิ่มมากเร็วที่สุด แต่ก่อนนั้นตอนก่อนช่วง พ.ศ. ๒๕๒๐ ลังกายังนำเราอยู่ แต่หลังจากนั้นแล้วลังกาตามไม่ติดเลย พม่าก็ไกลเรามาก แต่เมื่อมีวัดมากก็มีปัญหา เรื่องนี้แหละที่ว่าจะให้มีข้อปฏิบัติที่สม่ำเสมอและพรักพร้อมกันได้อย่างไร

แม้แต่ในยุค พ.ศ. ๒๕๒๐ ตอนแรกๆ นั้น ก็มีข้อวิตกกังวลเรื่องนี้กัน เช่นในวัดบางวัดก็เริ่มมีพระขับรถเอง เสียงติฉินนินทาก็แพร่กระจายไป เพราะมีญาติโยมเดินทางไปในอเมริกา โดยเฉพาะญาติโยมที่ไปจากเมืองไทย เขาไปหลายรัฐ เที่ยวแบบทัวร์บ้าง ลูกหลานพาไปเที่ยวบ้าง ไปเมืองนี้ เยี่ยมวัดนี้แล้ว ก็ไปเมืองโน้น เยี่ยมวัดโน้น เมื่อไปเห็นสภาพวัดหนึ่งอย่างนี้แล้ว ก็เที่ยวเอาไปเล่าอีกวัดหนึ่งที่เมืองอื่น ตลอดจนกลับไปเล่าในเมืองไทย ถ้าไม่ชอบใจ ก็เอาไปติเตียน ฉะนั้น พระที่อื่นก็จะได้ยินได้ฟัง เช่น มีญาติโยมคณะหนึ่งจากเมืองไทยไปอเมริกา บางท่านไปทางนิวยอร์คก่อน บางท่านก็ไปทางแคลิฟอร์เนียก่อน ได้ยินว่ามีวัด พอไปถึงก็ไปไหว้พระ เสร็จแล้วไปทราบจากญาติมิตรคนไทยที่อยู่ในเมืองนั้นเล่าว่า พระวัดนี้เป็นอย่างไรๆ พอได้ยินอย่างนี้แล้วโยมคนนั้นก็เดินทางต่อไป ชิคาโกบ้าง ไปวอชิงตันดีซีบ้าง ไปโคโลราโดบ้าง ไปที่ไหนก็เอาไปเล่าตลอด เสียงก็ไปทั่ว เสียงที่เป็นการติเตียนก็แพร่ไปมาก

ยิ่งญาติโยมที่ไปจากเมืองไทยด้วยแล้ว ไปเห็นพระทำอะไรที่ไม่เหมือนในเมืองไทย ยิ่งสะดุดความรู้สึกมาก ก็เอาไปเล่าและพูดว่าติเตียน กลับมาเมืองไทยก็มาเล่าที่เมืองไทยต่อ ภาพในทางลบก็เกิดขึ้นมากเหมือนกัน เป็นข้อที่ต้องคิดพิจารณา

อย่างที่ว่าแล้ว ตอนนั้นผมก็ไม่ได้เป็นพระธรรมทูต แต่ไปบรรยายที่สวอร์ทมอร์ คอลเลจ (Swarthmore College) แล้วทางวัดที่นิวยอร์ค ท่านทราบก็ไปนิมนต์มาในงานต่างๆ ที่วัด เสร็จแล้ว บอกว่าจะมีประชุมก็เลยขอนิมนต์ให้เข้าประชุมด้วย

นี่ก็เล่าความเป็นมาเพื่อให้เห็นว่า ได้มีความเพียรพยายามมานานแล้วที่จะหาทางทำให้การทำงานต่างแดนในอเมริกาเป็นไปด้วยดี ด้วยการประสานร่วมมือกัน ซึ่งถ้าเป็นไปได้จะดีมาก แต่อย่างน้อย ถ้าจะเคลื่อนก็ให้เคลื่อนไปด้วยกัน และมีความมั่นใจในหลักของตน แม้ว่าข้อปฏิบัติต่างๆ จะดูแปลกไปบ้างก็อย่าเพิ่งไปหวั่นไหว ไม่ต้องกลัว คนกลุ่มอื่นเขามีอะไรต่ออะไรแปลกประหลาดกว่าเยอะ เขายังดำรงอยู่ได้ อย่างชาวมุสลิมนี่ เขาทำอะไรแปลกๆ ต่อสายตาของคนภายนอก แต่เขาก็ยืนหยัดอยู่ได้ คนเกาหลีและคนประเทศอะไรต่างๆ เขาก็ยืนหยัดในแบบแผนของเขา และรวมตัวกันได้เข้มแข็ง

ขอพูดนอกเรื่องอีกอย่างหนึ่ง คือคนไทยเรานี่จะทำงานเป็นคนๆ เวลาไปอยู่เมืองนอกเราอาจมีความเก่ง คนไทยก็เก่งมิใช่น้อย แต่เก่งเฉพาะคน รวมกลุ่มกันไปไม่ได้ คนไทยตั้งสมาคมไทยขึ้นในเมืองใหญ่ๆ อยู่ไม่ได้กี่ปีก็ล้ม ต้องแยกเป็นชมรมย่อยๆ อย่างในกรุงนิวยอร์ค สมาคมไทยมีแล้วก็ล้มไปนานแล้ว แม้จะพยายามฟื้นก็ไม่สำเร็จ แต่มีชมรมย่อยเยอะ เช่น ชมรมจุฬาฯ ชมรมเกษตร ชมรมธรรมศาสตร์ ชมรมชาวเหนือ ชมรมทักษิณ ชมรมอีสาน เป็นต้น ที่เมืองชิคาโก ก็คล้ายกัน ตั้งสมาคมไทยขึ้นก็ล้มแล้วล้มอีก ฟื้นก็ไม่ขึ้น มีคนไทยทำงานด้วยกัน เช่น เพื่อนกันร่วมกันทำกิจการร้านอาหาร พอตั้งมาได้สักปีก็ทะเลาะกัน แล้วก็เลิกแยกกัน

เมื่อเราไปอยู่ต่างประเทศ ความแตกต่างจะเห็นได้ชัด เพราะมีคนหลายชาติ อย่างคนเกาหลีนี่เขารวมกันแน่น เขาทำงานร่วมกัน และก้าวไปด้วยดี เพราะฉะนั้นกิจการของชาวเกาหลีจึงก้าวไปอย่างรวดเร็วมาก เมื่อเทียบกับเขา คนไทยเราก็ไปอยู่นาน แต่เราไม่ก้าวไปเท่าที่ควร นี่ก็เป็นลักษณะของคนไทยซึ่งน่าสังเกต ที่ว่ามานี้เป็นการพูดนอกเรื่องออกไปอีก เพื่อให้เห็นว่าคนไทยเรามีลักษณะอย่างนี้ เมื่อไปทำงานพระธรรมทูตจะต้องเข้าใจปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ถ้ามีอะไรที่พอช่วยได้ก็ช่วยไป นี่เป็นเรื่องของข้อประพฤติปฏิบัติ คือเรื่องวินัยและเรื่องรูปแบบเช่นวัฒนธรรม ซึ่งจะต้องมีความมั่นใจแล้วก็ขยับไปด้วยกัน

ข้อที่ ๓ ส่วนทางด้านจิตใจก็ต้องมีความมั่นคง สังคมอย่างอเมริกันนั้น เป็นสังคมที่เจริญทางวัตถุ แต่มีปัญหาทางจิตใจอย่างสูงแล้วก็มีความต้องการในเรื่องสมาธิ เป็นต้น จนฝรั่งเกิดนิยมเรื่องสมาธิ ถึงกับเห่อกันไปเลย เพราะฉะนั้นเวลามีคนตะวันออกไป ถ้ามีลักษณะเป็นนักบวช เช่นเป็นโยคี ฝรั่งก็ตื่นมาหา ถึงกับมีผู้พูดทำนองว่า พวกเรานี้ไปเมืองฝรั่งไม่ต้องอะไรหรอก ไปแต่งตัวเป็นโยคีสักหน่อยเดี๋ยวก็หากินได้

อย่างพวกโยคีอินเดียนี่ ไปอยู่ในอเมริกา บางคนอายุแค่ ๑๐ กว่า เป็นมหาฤษี ประสบความสำเร็จถึงขั้นที่ว่าเวลาพูดต้องใช้สนามกีฬาใหญ่ๆ คนหนุ่มสาวไปฟังล้นหลาม เมืองฝรั่งอะไรๆ ก็เป็นเงินเป็นทอง ไปฟังทีหนึ่งก็ต้องเสียค่าผ่านประตู เก็บเงินได้มาก รวยเหลือเกิน โยคีคนหนึ่งถึงกับตั้งเป็นเมืองเลย มีเครื่องบินส่วนตัว มีรถรอลส์รอยซ์ (Rolls-Royce) หลายคัน จนกระทั่งทางการอเมริกันชักจะหวาด เอาไว้ไม่ได้ เกิดเป็นคดีขึ้นโรงขึ้นศาล ถือว่าเป็นการคุกคามความมั่นคงของอเมริกา ในที่สุดก็หาทางขับไล่กลับประเทศอินเดียไป แต่กิจการของคนตะวันออกไปประสบความสำเร็จมากมาย มีทั้งจริงทั้งหลอก เข้าไปประเทศอเมริกามาก

คนฝรั่งนี่มองในแง่หนึ่งก็หลอกง่าย เขาเก่งทางด้านวัตถุ แต่ทางด้านจิตใจยังล้าหลัง บางอย่างก็ตกต่ำมาก ทางด้านจิตใจของเราจึงมีความสำคัญ เราต้องมีความมั่นคงทางจิตใจ มีคุณธรรม มีอะไรดีที่ให้เขาเห็นทางด้านจิตใจ

รวมความที่ผมพูดมาเกี่ยวกับคุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้ สรุปแล้วก็เป็นเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง แต่ไปพูดเรื่องปัญญาความรู้เสียก่อน ในแง่ของความมั่นใจในคุณค่า ความจริง ความดีงามของพุทธธรรมเป็นต้น จากนั้นจึงพูดถึงข้อปฏิบัติด้านศีล แล้วก็มาถึงเรื่องของด้านจิตใจ คือสมาธิ เป็นอันลงในศีล สมาธิ ปัญญา นี้เอง ก็ถือว่า พูดเป็นหลักการไว้

ทำงานเพื่อชุมชนไทย และเพื่อถิ่นที่ไป
เพื่อทั้งโลก แต่ไม่ทิ้งสังคมไทย

ทีนี้ต่อไปก็มามองถึงการทำหน้าที่ ว่าการเป็นพระธรรมทูตในต่างแดน น่าจะมีบทบาทอย่างไรบ้าง ในการพูดวันนี้ ผมเอาประเทศอเมริกาเป็นตัวอย่าง อาจจะใช้ไม่ได้กับทุกประเทศ แต่เวลานี้พระธรรมทูตไทยไปประเทศอเมริกาคงจะมากที่สุด เพราะฉะนั้นก็เลยพูดเอาอเมริกาเป็นตัวอย่างไว้

พระไทยเราไปต่างประเทศอย่างอเมริกานี้ บทบาทที่หนึ่ง เราไปอยู่ที่วัดไทย วัดไทยทำหน้าที่อะไร วัดไทยนี้เรามองในแง่ว่าเป็นศูนย์กลางของชุมชนไทยก่อน ส่วนเรื่องการทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่คนเจ้าถิ่น คือคนอเมริกันนั้น เป็นเรื่องรอง เทียบกันแล้วยังทำน้อยนิดเดียวหรือแทบไม่ได้ทำเลย บางวัดเข้าลักษณะที่พูดได้ว่า วัดของคนไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย วัดไทยของเรามีลักษณะเป็นอย่างนั้นมาก เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่เราจะต้องไม่มองข้าม ก็คือคนไทยด้วยกัน

วัดของเราเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นศูนย์กลางของชุมชนไทย หน้าที่ข้อแรกคือบทบาทที่อยู่ในมืออยู่แล้ว ถ้าเรายังทำไม่ได้ ก็น่าเสียดาย อย่าไปมองข้าม อันนี้เป็นบทบาทพื้นฐาน ต้องทำให้สำเร็จ คือบทบาทในฐานะที่วัดไทยเป็นศูนย์รวมจิตใจ และเป็นศูนย์กลางของชุมชนไทย การเป็นศูนย์กลางของชุมชนไทยก็หมายถึงเรื่องวัฒนธรรมไทยด้วย คนไทยที่ไปอยู่ที่นั่น โดยส่วนใหญ่ก็เป็นพุทธศาสนิกชน แต่เป็นพุทธศาสนิกชนแบบไทยที่มีพื้นฐานจากวัฒนธรรมไทย เมื่อเราไปที่นั่น เราก็ต้องสนองความต้องการทางด้านวัฒนธรรมไทยมาก ดังนั้นวัดไทยทั้งหลายจะมีกิจกรรมต่างๆ ทางด้านวัฒนธรรม เช่น การทำบุญทำกุศลต่างๆ งานวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา งานประเพณี เช่น สงกรานต์ เป็นต้น และมีการสอนภาษาไทยแก่เด็ก ถึงกับมีการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในเมืองไทย อย่างคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้ร่วมมือสนับสนุนศาสนกิจของวัดหลายวัดในอเมริกา เดี๋ยวนี้แพร่ไปมาก

วัดใหญ่ในหลายรัฐหลายเมือง มีการร่วมมือกัน แต่ละปีมีการส่งครูอาจารย์ จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปสอน หลายท่านคงทราบ สอนแล้วมีการสอบวัดผล ให้ประกาศนียบัตรจากเมืองไทยรับรอง หมายความว่า เด็กเหล่านี้ ถ้ากลับมาอยู่เมืองไทย ไม่ต้องห่วง ได้ใบประกาศนียบัตรแล้ว สามารถมาเรียนต่อได้ตามชั้นนั้นๆ กิจการได้ขยายไปมาก แต่ละปีทางคณะครุศาสตร์ก็จะมีอาจารย์ผู้ใหญ่ไปดูแล เป็นกิจกรรมซึ่งพัฒนามาจากโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ซึ่งสอนทั้งเรื่องของพระพุทธศาสนา และภาษาไทย ตลอดจนวัฒนธรรมไทย มีการสอนขับร้อง ดนตรี การรำอะไรต่างๆ แบบไทยด้วย รวมความว่า บทบาทแรก คือบทบาทในฐานะที่เป็นศูนย์รวมจิตใจและศูนย์กลางของชุมชนไทย โดยมีเรื่องวัฒนธรรมไทยและภาษาไทยเป็นแกน เป็นงานที่จำเป็น จะทิ้งไม่ได้

บทบาทที่สอง คือ เป็นแหล่งเผยแผ่พุทธธรรม ข้อนี้คล้ายกับว่าเป็นจุดหมายที่แท้จริง คือเราตั้งอันนี้เป็นหลักการใหญ่ ทั้งๆ ที่ว่าในทางปฏิบัติ ยังทำกันไม่เท่าไร อาจจะเป็นสิ่งที่เรียกว่าอยู่ในอุดมคติ การเผยแผ่พุทธธรรมก็คือเผยแพร่แก่คนเจ้าถิ่นนั่นเอง คนอเมริกันนั้นในสายตาของเราคือคนต่างชาติ แต่ที่จริงนั้น เขาเป็นเจ้าถิ่น ทำอย่างไรเราจะเผยแพร่ธรรมแก่คนเจ้าถิ่นให้ได้ผล เรื่องนี้เป็นหัวข้อใหญ่ที่ต้องพูดกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม มีข้อพิจารณาระยะยาวอย่างหนึ่งว่า พระพุทธศาสนาจะประดิษฐานมั่นคงในดินแดนใด จะต้องให้เป็นพระพุทธศาสนาของสังคมนั้น ของคนชาตินั้นต่อไป เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจะฝังรากในอเมริกาอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อคนอเมริกันได้มาเป็นชาวพุทธ มาบวชเป็นพระ และมาเป็นผู้ดำเนินกิจการเผยแผ่ต่อไป เหมือนอย่างพระพุทธศาสนามาเมืองไทย ถ้าตราบใดยังเป็นของพระอินเดียอยู่ ตราบนั้น ก็ยังเป็นของต่างชาติ ยังไม่ฝังรากลง ที่ฝังรากลงในประเทศไทยก็เพราะว่าพระพุทธศาสนาเป็นของคนไทยแล้ว คนไทยเราบวช เราเรียน เราเป็นพุทธศาสนิกชน พระพุทธศาสนาก็เป็นของคนไทย อันนี้ก็เหมือนกัน เราไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในอเมริกา เราจะประสบความสำเร็จจริงไม่ได้ ถ้าเรายังไม่สามารถทำให้พุทธศาสนาเป็นของคนอเมริกัน การเป็นพระธรรมทูตเป็นการบอกอยู่ในตัวแล้วว่าเราทำหน้าที่เป็นสื่อนำเอาธรรมไปให้แก่เขา ให้เขารับเอาเป็นของเขาไป อันนี้พูดทิ้งไว้ก่อนเพราะเป็นหัวข้อใหญ่

ทีนี้บทบาทที่สาม คำว่าทูตนี้ มองดูให้ดี ทูตไปทำงานในประเทศอื่น แต่ทำแทนประเทศของตัว และเพื่อผลประโยชน์ให้ประเทศของตัว อันนี้เราอาจจะมองข้าม เช่น เอกอัครราชทูตไทย ไปประจำอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ทูตไทยทำงานเพื่ออะไร ก็ไปทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศไทย แสดงว่าผลประโยชน์ในที่สุดมันย้อนกลับมาสู่ประเทศของเรา อันนี้เป็นเรื่องของกิจการที่เรียกว่าทูตในทางบ้านเมือง

แต่ทูตในทางธรรม ที่เรียกว่าธรรมทูตนั้น ไม่ได้มีความหมายเหมือนกันทีเดียวกับทูตทางบ้านเมือง เพราะเราไม่ใช่ระบบผลประโยชน์ เราเป็นทูตของพระธรรม เราทำตามหลักการของพระพุทธเจ้าว่า จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย จาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขของคนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก จุดหมายกว้างเป็นสากล เราทำไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ประเทศเราเท่านั้น อันนี้ต่างกันหน่อย แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามก็มีแง่ที่ว่าเป็นประโยชน์บางอย่าง ชนิดที่ไม่ใช่เป็นเรื่องผลประโยชน์ในทางโลกที่แย่งชิงกัน คือเราไม่ได้ทำเหมือนชาวโลก เราไม่ได้ไปเอาผลประโยชน์จากประเทศของเขามาให้แก่ตัว แต่เราได้ประโยชน์ในทางที่จะทำให้เกิดความเจริญงอกงามที่ไม่ได้เป็นผลเสียแก่ใครๆ ไม่ใช่ระบบแย่งชิงผลประโยชน์ แต่หมายความว่า เมื่อเราไปเป็นพระธรรมทูต นอกจากจะเอาธรรม ความดีงาม และประโยชน์สุขไปให้แก่ดินแดนที่เราไปเป็นทูตแล้ว เราก็ควรจะนำคุณค่าประโยชน์สิ่งที่ดีงามกลับคืนมาให้แก่ประเทศของตนเองด้วย

ในแง่หนึ่ง พระธรรมทูตก็เป็นสื่อกลางระหว่างพระพุทธศาสนาหรือพุทธธรรม กับสังคมหรือดินแดนนั้นๆ ในเมื่อเป็นสื่อกลาง ด้านหนึ่งเราก็เอาธรรมไปให้แก่เขาเพื่อประโยชน์สุขของเขา แต่พร้อมกันนั้น เราก็คำนึงถึงประโยชน์สุขของสังคมไทย และพุทธศาสนาในประเทศไทยด้วย เช่นเราอาจจะได้แง่คิดข้อสังเกตอะไรที่ดีเป็นความรู้ที่จะกลับมาช่วยพัฒนาสังคมไทย พัฒนากิจการพระพุทธศาสนาในประเทศไทย เราก็คำนึงไว้ด้วย อย่าทิ้ง

ประโยชน์แบบนี้ไม่ใช่ผลประโยชน์แบบทางโลก ต่างจากทูตในทางโลก ซึ่งต้องการผลประโยชน์ให้ประเทศของตนจนกระทั่งแม้แต่บางทีไปทำร้ายประเทศอื่นๆ ก็มี ดังที่เราจะเห็นง่ายๆ เช่น การที่ต้องส่งทูตกลับกันบ่อยๆ อย่างทูตอเมริกันไปอยู่ในรัสเซียก็ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศอเมริกา บางครั้งมีการลักลอบหาข้อมูล จนกระทั่งกลายเป็นจารชนไป ทางฝ่ายรัสเซียก็ทำกับอเมริกาทำนองเดียวกัน บางทีบุคคลในวงการทูตจึงกลายเป็นจารชน และถูกประเทศเจ้าถิ่นจับได้ แล้วขับไล่ออกมา เกิดปัญหาระหว่างประเทศ มีการทำกันถึงขนาดที่ว่า เอาเครื่องดักฟังไปฝังไว้ในกำแพงอาคารของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อจะลักลอบเอาข้อมูลของอีกฝ่ายหนึ่งมาให้แก่ประเทศของตน เขาทำกันรุนแรง นั่นทูตทางโลก แต่ทูตทางธรรมเราไม่ได้ทำอย่างนั้น เราไปเพื่อประโยชน์ของทั้ง ๒ ฝ่าย เพราะฉะนั้น เราก็หาความรู้และแง่คิดอะไรต่างๆ เพื่อจะมาช่วยเกื้อกูลแก่สังคมไทยและพระพุทธศาสนาในสังคมไทยด้วย บทบาทอันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน

แต่รวมความว่า ในการที่จะทำหน้าที่ทั้งหมดนี้ให้ได้ผลดี ก็ต้องกลับมาสู่หลักการในหัวข้อแรกที่พูดไว้แล้วคือ ต้องมีความมั่นใจในตัวเอง ว่าเรามีอะไรดีที่จะให้แก่เขา ถ้ายังนึกไม่ออกว่ามีอะไรจะไปให้แก่เขา ก็ยังไม่น่าจะไป ถ้าจะเอากันแบบอุดมคติ ต้องมั่นใจจริงๆ ว่าที่เราไปนี้เรามีอะไรดีที่จะให้แก่เขา แต่อย่ามองแบบหลงตนเอง บางทีเรานึกว่าตัวเองมีอะไรดีให้แก่เขา แต่มองแบบหลงตัวเองก็พลาดเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงบอกว่าต้องไปด้วยปัญญา โดยมีความภูมิใจ มั่นใจ อันเกิดจากปัญญาที่รู้ความจริง ทั้งรู้หลักพุทธธรรม และรู้สภาพถิ่นที่จะไป ความรู้เข้าใจสภาพสังคมของเขาอย่างดีจะทำให้เราไม่หลงตัวเอง และไม่หลงไปตามเขา พร้อมทั้งทำงานเพื่อประโยชน์แก่เขาอย่างได้ผลดี

- ๒ -
ความติดตันของอารยธรรมปัจจุบัน

เมื่อกี้ได้พูดแล้วว่าเมื่อเราจะไปก็ให้รู้สภาพสังคมตะวันตก ที่จริงปัญหาต่างๆ ของโลก เวลานี้ก็ได้ทำให้มีความโน้มเอียงอยู่แล้วในฝ่ายของสังคมตะวันตก เช่นอเมริกา ที่จะหันมาสนใจพระพุทธศาสนา หรือสนใจกว้างๆ ในแนวคิดของศาสนาตะวันออกดังที่ได้เป็นมาหลายปีแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะปัญหาของอารยธรรมตะวันตกเองที่เจริญกันมาถึงจุดติดตันแล้วกลายเป็นประสบปัญหามากมาย ก็เลยพากันคิดหาทางออก เมื่อคิดแล้วคิดอีกคิดกันต่างๆ นานา ก็มองมาทางตะวันออกด้วย

แนวคิดตะวันออกนั้นตรงข้ามกับตะวันตกอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือตะวันตกเน้นเรื่องวัตถุนิยมสูง ส่วนทางด้านตะวันออกนี่จะหนักทางจิตนิยม เน้นเรื่องทางด้านจิตใจ หรือนามธรรม อันนี้เป็นจุดที่ทำให้ตะวันตกสะดุดใจ แล้วก็เลยทำให้สนใจด้วย เมื่อเขาหันมาสนใจทางนี้เขาก็จะอยากรู้อยากได้ อย่างที่บอกเมื่อกี้ เช่นพวกโยคีนำวิธีปฏิบัติสมาธิไปจากอินเดียก็เลยสร้างความตื่นตัวและแม้กระทั่งความตื่นเต้นและความนิยมได้ง่าย แต่ถ้าเราวิเคราะห์ดูจะเห็นว่าความสนใจนั้นมี ๒ ด้าน คือ ๑. เรื่องจิตใจ ๒. เรื่องภูมิปัญญา

มองมนุษย์แยกจากธรรมชาติ
วิทยาศาสตร์มุ่งพิชิตเป็นเจ้านาย

ในด้านภูมิปัญญาก็เป็นเรื่องใหญ่ การที่ตะวันตกหันมาสนใจพระพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้ เหตุผลหนึ่งก็เพราะเห็นว่าพุทธศาสนาอาจจะมีคำตอบให้แก่เขา โดยเฉพาะในเรื่องรากฐานทางความคิดที่ต่างจากตะวันตก เช่นเรื่องที่กำลังเป็นปัญหามากอย่างหนึ่งก็คือ ตะวันตกมีแนวความคิดมาแต่เดิมที่ถือว่ามนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ อันนี้เรียกได้ว่าเป็นรากฐานทางความคิดของอารยธรรมตะวันตก ปรัชญาตะวันตกทั้งหมด ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว ตั้งแต่โสคราตีส เพลโต อริสโตเติล มาถึงศาสนาคริสต์ ตลอดจนนักคิดนักปราชญ์ฝรั่งทั้งหลายทั้งหมดสอนแบบเดียวกันว่า ให้มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติแวดล้อม

เมื่อมองมนุษย์เป็นต่างหากจากธรรมชาติแล้ว ก็ให้มองว่ามนุษย์จะต้องครอบครองธรรมชาติ โดยเป็นนาย เป็นผู้พิชิต เป็นผู้จัดการกับธรรมชาติ เอาธรรมชาติมารับใช้สนองความต้องการของตน อันนี้เป็นแนวคิดที่ตะวันตกเคยภูมิใจมานักหนาว่า ได้ทำให้ตะวันตกเจริญก้าวหน้ามาจนปัจจุบัน โดยเฉพาะในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ในเรื่องนี้ พระพุทธศาสนาและศาสนาตะวันออกสอนว่า คนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และมีแนวความคิดทั่วไปให้คนอยู่อย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่ได้คิดจะไปรุกรานเอาชนะธรรมชาติ

ครั้นมาถึงบัดนี้ เมื่อแนวความคิดของตะวันตกที่ภูมิใจนักว่าได้นำตะวันตกให้สามารถสร้างสรรค์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญมาถึงจุดหนึ่ง ก็กลับเป็นเหตุให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ทางตะวันตกถือว่า เป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน คนตะวันตกเองก็เลยกลับมองว่า จากรากฐานความคิดอันนี้เอง ที่มองมนุษย์ต่างหากจากธรรมชาติ และให้มนุษย์ครอบครองธรรมชาตินี่แหละ จึงทำให้มนุษย์สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นโดยไปเบียดเบียนข่มเหงรังแกธรรมชาติเพื่อจัดการเอาทรัพยากรมาใช้ โดยไม่ได้ยั้งคิด แล้วก็เกิดภัยอันตรายอันเกิดจากธรรมชาติ

สรุปว่า ความคิดที่เคยภูมิใจนั้นเป็นความหลงผิด เข้าใจผิด เขาก็เลยผิดหวังกับแนวความคิดเดิมนั้น จึงกลายเป็นว่ารากฐานความคิดของตะวันตกนั้นพังหมด ทำให้มนุษย์มาติดตันอยู่ที่นี่ ความรู้สึกที่รุนแรงนี้ จึงทำให้ฝรั่งหันมาสนใจศาสนาตะวันออก โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาของเราที่สอนว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราควรจะอยู่ร่วมกันด้วยดีอย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ เขาก็เลยสนใจว่า พระพุทธศาสนาอาจจะเสนอคำตอบให้แก่ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งรวมไปถึงการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษยชาติด้วย และเมื่อมองในแง่ของความถูกความผิดก็เท่ากับว่านี่แหละคือปรัชญาที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ตอนนี้ฝรั่งก็มาสนใจทางออกในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ในแนวของพระพุทธศาสนามากขึ้น นี่เป็นตัวอย่างของการที่ฝรั่งหันมาสนใจพระพุทธศาสนา ซึ่งเกี่ยวกับปัญหาที่กำลังเป็นเรื่องใหญ่มาก

มีหนังสือบางเล่มถึงกับขุดบรรพบุรุษมาพูด โดยเขาเล่าตามประวัติศาสตร์ว่า บรรพบุรุษของเขา ตั้งแต่ทางปรัชญา เริ่มด้วยโสคราตีส เพลโต อริสโตเติ้ล มาจนกระทั่งศาสนาคริสต์ ตลอดถึงนักประวัติศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ แม้แต่นักจิตวิทยาทั้งหลายที่เป็นชาวตะวันตกทั้งหมด มีความคิดที่จะรุกรานธรรมชาติอย่างไรๆ เต็มไปหมด เขาเอาวาทะมาแสดงให้เห็นว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ฉะนั้นเวลานี้ ตำราในทางสิ่งแวดล้อมของตะวันตกจะเน้นกันนักว่า ต่อไปนี้จะต้องมองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ซึ่งในสายตาของคนตะวันออก เมื่อไม่รู้ภูมิหลังของคนตะวันตกไปอ่านเข้าก็จะแปลกใจว่า เอ! จะต้องพูดทำไม ชีวิตมนุษย์ก็เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว นี่แหละเพราะภูมิหลังของเขาเป็นอย่างนั้น เขามองแยกมาตลอด เขาจึงต้องมาย้ำกันในปัจจุบันว่าต้องมองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

ศาสนาคริสต์ก็สอนว่า พระผู้เป็นเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมา แล้วจึงสร้างสัตว์ทั้งหลายให้มาเป็นอาหารของมนุษย์ และสร้างธรรมชาติแวดล้อมต่างๆ ให้อยู่ภายใต้การครอบครองของมนุษย์ ให้มนุษย์มี dominion คือมีอำนาจครอบครองเหนือพืชพรรณสิงสาราสัตว์ตลอดธรรมชาติทั้งหมด ฝรั่งบางพวกถึงกับติเตียนศาสนาคริสต์ว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้อารยธรรมตะวันตกเป็นอย่างนี้ เพราะทำให้มนุษย์แตกแยกจากธรรมชาติ โดยมีความเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าสร้างธรรมชาติมาให้เป็นของสำหรับมนุษย์จะไปจัดการ แม้แต่สัตว์ก็ให้เป็นอาหาร มีฐานะแค่นั้น ส่วนมนุษย์มีฐานะพิเศษ เป็นคนที่สร้างขึ้นในรูปแบบอย่างที่เขาเรียกว่าในฉายาของพระผู้เป็นเจ้า

ในฝ่ายฝรั่งตอนนี้ก็เถียงกันเอง พวกหนึ่งก็บอกว่า ศาสนาคริสต์ เป็นตัวการอย่างที่เล่ามานี้ แต่บางคนก็เถียงเข้าข้างศาสนาคริสต์ว่า ที่จริง ศาสนาคริสต์มิใช่ถึงอย่างนั้นหรอก ศาสนาคริสต์สอนให้มนุษย์เป็นผู้มีอำนาจครอบครองจัดการกับธรรมชาติก็จริง แต่หมายความว่าพระเจ้าสร้างธรรมชาติไว้แล้ว ก็ทรงมอบหมายให้มนุษย์ดูแลธรรมชาตินั้นไว้แทนพระองค์ เป็นการแก้ต่างให้ศาสนาคริสต์ เท่ากับบอกว่า พระผู้เป็นเจ้าสร้างสมบัติของพระองค์ไว้แล้ว ก็ทรงมอบให้มนุษย์เป็นผู้ดูแลสมบัติของพระองค์ให้ดี ไม่ใช่ไปจัดการทำลาย นี่ก็เป็นทางออกของเขา ขอยกตัวอย่างคนที่เถียงแบบนี้ เช่น นาย Al Gore ที่เป็นรองประธานาธิบดีอเมริกันปัจจุบัน นาย Al Gore เป็น environmentalist คือเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย

Al Gore ได้แต่งหนังสือขึ้นมาเป็นเล่มเลยว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม ชื่อว่า Earth in the Balance ตอนหนึ่งแกพูดถึงเรื่องที่เล่ามานี้ เพราะว่าคนในสังคมของแกเองติเตียนศาสนาคริสต์ แกก็ออกมาแก้ต่างในแง่ว่า ที่พระเจ้าให้มนุษย์ครอบครองธรรมชาตินั้น หมายถึง ให้ครอบครองในฐานะเป็นผู้ดูแลแทนพระเจ้า เพราะฉะนั้น Al Gore จึงว่าศาสนาคริสต์สอนไม่ผิด แต่ท่านผู้นี้ก็ยอมรับว่า สถาบันศาสนาคริสต์และบาทหลวง ตลอดจนนักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ทั้งหลาย สอนให้คนจัดการกับธรรมชาติตามใจชอบจริงๆ ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่าสถาบันศาสนาคริสต์และพวกบาทหลวงทั้งหลาย ตกอยู่ใต้อิทธิพลของปรัชญากรีก และหลงผิดไปตามปรัชญากรีกนั้น Al Gore ยอมรับว่าอารยธรรมตะวันตกโดยรวมแล้ว สอนอย่างนั้น คือสอนให้มนุษย์พิชิตธรรมชาติเพื่อเอามาจัดการตามชอบใจ จึงเป็นเหตุนำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน แกติเตียนองค์กรศาสนาคริสต์ สถาบันศาสนาคริสต์ พวกบาทหลวง พวกนักสอนศาสนาว่าไปอยู่ใต้อิทธิพลปรัชญากรีก ก็เลยไปตีความและสอนศาสนาคริสต์ตามแบบปรัชญากรีก ที่ให้มนุษย์จัดการกับธรรมชาติตามชอบใจ เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ เรื่องนี้ฝรั่งเถียงกันเอง แต่รวมความแล้ว ถึงอย่างไรปรัชญาตะวันตกก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ทุกคนยอมรับ นี้ก็ด้านหนึ่ง

ขอยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ฝรั่งหันมาสนใจพุทธศาสนา คือ แนวคิดตะวันตกในยุคที่ผ่านมานี้เป็นแนวความคิดที่เขาสรุปด้วยศัพท์ว่า reductionism หรือ reductionistic view ซึ่งเป็นแนวทัศนะแบบแยกส่วนหรือแบ่งซอย คือมองธรรมชาติในลักษณะที่แยกเป็นชิ้นส่วน ทำให้เกิดลักษณะทางวิชาการแบบที่เรียกว่า specialization คือความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง วิทยาการต่างๆ ในสังคมตะวันตก ซึ่งหมายถึงอารยธรรมปัจจุบันของมนุษย์ทั้งหมด อันอยู่ภายใต้ครอบงำของอารยธรรมตะวันตกมีลักษณะเป็นแนวนี้ทั้งหมด คือมีลักษณะเป็นการศึกษาแบบแยกส่วน เพื่อความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง จะลงลึกดิ่งกันไปเป็นด้านๆ โดยการแยกวิชาการออกเป็นสาขาต่างๆ แล้วแต่ละสาขานั้นก็แยกซอยออกไปให้ชำนาญพิเศษในแต่ละเรื่อง เช่นวิชาแพทย์ เรียนการรักษาคน ต่อมาก็แยกคนเป็นส่วนๆ ให้ผู้เชี่ยวชาญรักษาแต่ละส่วนของร่างกาย ให้มีหมอเฉพาะทาง เป็นหมอตา หมอหู หมอจมูก หมอหัวใจ หมอปอด แล้วก็แบ่งซอยไปอีกจนกระทั่งรักษาเป็นชิ้นส่วนเฉพาะไปเลย

วิชาการที่แยกซอยอย่างนี้ แต่ละสายก็เก่งมากจนกระทั่งคิดว่า ตัวเองนี่แหละรู้ปัญหาและเข้าใจวิธีแก้ปัญหาของโลกอย่างแท้จริง เช่น นักเศรษฐศาสตร์ก็บอกว่า ปัญหาของโลกทั้งหมดทุกอย่างตั้งอยู่บนฐานของปัญหาเศรษฐกิจ เกิดจากเศรษฐกิจเท่านั้น ถ้าแก้เศรษฐกิจได้อย่างเดียวแล้วทุกอย่างดีเอง โลกก็จะเรียบร้อย พวกนักเศรษฐศาสตร์มองแบบนั้น ส่วนนักวิชาการพวกอื่นก็จะมองไปอีกอย่าง แต่ในที่สุดก็แก้ไม่ได้ จนกระทั่งเมื่อไวๆ นี้เองจึงเกิดสำนึกรู้ความจริงว่า โอ้ ไม่ถูกต้องแล้วที่จะไปใช้ความชำนาญพิเศษเฉพาะทางเป็นตัวแก้ปัญหาของโลก การทำอย่างนั้นผิดพลาดมาก ฝรั่งก็เลยหันมาสนใจแนวความคิดที่เรียกว่า holism หรือ holistic view คือแนวความคิดแบบองค์รวม

องค์รวม หมายความว่าสิ่งทั้งหลายสัมพันธ์กันเป็นระบบ คือ ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งๆ ต่างหากจากกัน แต่เป็นส่วนย่อยที่มาสัมพันธ์กันเข้าอย่างเป็นระบบ แม้แต่ในระดับความคิด ปัจจุบันฝรั่งก็ยังหันมาสนใจว่าต้องคิดแบบเป็นระบบ ดังที่มีคำว่า “systems thinking” เป็นต้น ขึ้นมา นี่เป็นแนวโน้มใหม่ในทางวิชาการ อะไรต่างๆ เดี๋ยวนี้ต้องเป็นระบบหมด แนวคิดแบบองค์รวมก็ดี แนวคิดแบบเป็นระบบก็ดี หรือแนวคิดแบบบูรณาการ (integration) ก็ดี ทั้งหมดนี้พวกเดียวกัน อยู่ในสายของแนวความคิดใหม่ เวลานี้ความสนใจในแนวคิดแบบองค์รวมหรือ holism นี้ กำลังเฟื่อง คนไทยเราก็พลอยตื่นตามไปด้วย

พระพุทธศาสนามองโลกนี้และธรรมชาติทั้งหมด เป็นระบบความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยต่างๆ แม้แต่ชีวิตของเรานี้ก็ประกอบด้วยกายกับใจ คือรูปธรรมและนามธรรมที่แยกย่อยออกไปเป็นองค์ประกอบส่วนย่อย และองค์ประกอบเหล่านั้นก็มาประชุมกันโดยมีความสัมพันธ์อิงอาศัยกันและส่งผลกระทบต่อกัน หลักการนี้ก็ไปสะดุดความคิดและก่อความสนใจแก่คนตะวันตกในยุคที่ผิดหวังกับแนวความคิดแบบแยกส่วน และเห็นว่าแนวความคิดแบบพุทธศาสนานี้ เป็นการมองสิ่งทั้งหลายเป็นระบบที่สัมพันธ์กันทั้งหมด อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของเหตุผลที่ว่าทำไมตะวันตกจึงหันมาสนใจพุทธศาสนา ในที่นี้จะไม่พูดถึงด้านจิตใจเพราะได้พูดไปบ้างแล้ว ตอนนี้พูดถึงแต่ด้านภูมิปัญญาดังที่ได้ยกมาเป็นตัวอย่างให้ฟัง เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็จะเป็นทางที่จะช่วยให้ไปสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับฝรั่งได้ถูกต้อง จับจุดเขาได้ดีขึ้น

มองมนุษย์ด้วยกันแยกเป็นฝ่าย
ศาสนายิ่งซ้ำให้คนรวมกันไม่ได้

หันมาดูอีกด้านหนึ่ง คือเรื่องทางด้านศาสนา ซึ่งโยงไปหาเรื่องจิตใจด้วย ศาสนาตะวันตกนั้น มีประวัติเต็มไปด้วยสงคราม อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ฝรั่งยกย่องพระพุทธศาสนามานานแล้ว เช่นนักปรัชญาอังกฤษคนหนึ่งที่หัวรุนแรงมาก ชื่อนายเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ (Bertrand Russell) พูดไว้ว่า ในบรรดาศาสนาทั้งหลายนั้นเขาเห็นพุทธศาสนาดีที่สุด เพราะมีเรื่อง persecution คือการกำราบปราบปรามข่มเหงรังแกผู้ที่ไม่นับถือเหมือนตนน้อยที่สุด เป็นที่รู้กันในประวัติศาสตร์ว่า ไม่มีสงครามที่เกิดจากพระพุทธศาสนาโดยตรง ต่างจากศาสนาตะวันตก คือศาสนาคริสต์ และอิสลาม ที่เต็มไปด้วยประวัติของการรบราฆ่าฟันเพราะเรื่องศาสนาโดยตรง ตั้งแต่สงครามที่ใหญ่และยืดเยื้อเป็นร้อยปีอย่างสงครามครูเสดส์ (Crusades) จนถึงสงครามย่อย ตั้งแต่อดีตมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ปัญหาติดตันของโลกที่ใหญ่ที่สุด พูดได้ว่ามี ๒ อย่าง ซึ่งเป็นปัญหาที่แทบจะหาทางออกไม่ได้เลยสำหรับอารยธรรมของมนุษย์ที่มีแนวคิดของตะวันตกเป็นผู้นำ คือ

๑. ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่พูดไปแล้วเมื่อกี้ ซึ่งเป็นจุดติดตันถึงขั้นที่ว่ามนุษย์จะต้องพินาศไปเพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ยังหาทางออกไม่ได้

๒. ปัญหาการแบ่งแยกขัดแย้งและสงครามในหมู่มนุษย์ ทั้งๆ ที่ว่าเวลานี้โลกติดต่อถึงกันหมด ด้วยระบบเทคโนโลยีสื่อสาร และการคมนาคม ทำให้โลกแคบเข้าเป็นอันเดียวกันโดยทางสภาพแวดล้อมด้านวัตถุ แต่สภาพชีวิตทางด้านจิตใจของมนุษย์เหมือนกับเดินสวนทางกับด้านรูปธรรม สภาพรูปธรรมภายนอกรวมถึงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว แต่จิตใจคนยิ่งแบ่งแยก มีความขัดแยังกันมากขึ้น เวลานี้มนุษย์ทำสงครามกันหนักยิ่งขึ้น ด้วยการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ ผิวพรรณ และลัทธิศาสนา ประเทศเดียวกันก็ทำสงครามล้างเผ่ากัน ฆ่าฟันกันโหดเหี้ยมทารุณอย่างยิ่ง ร้ายยิ่งกว่าเมื่อตอนโลกแบ่งแยกเป็น ๒ ค่ายระหว่างอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ กับประชาธิปไตย

ตอนที่สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ กับเสรีประชาธิปไตย แบ่งกันเป็น ๒ ค่าย ก็น่ากลัวมาก โดยเฉพาะมีสงครามนิวเคลียร์เป็นตัวคุกคามอยู่ แต่สงครามนิวเคลียร์ก็ไม่เกิดจริงสักที คือ ได้แต่กลัวว่าจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ (nuclear war) แต่ไม่เกิดจริง เพราะทั้ง ๒ ฝ่าย ต่างก็กลัวสงครามนิวเคลียร์ ก็เลยไม่ทำให้เกิดสงคราม แต่พอหมด ๒ ค่าย เหมือนกับเหลือค่ายเดียวแล้ว เขาเรียกว่าสงครามเย็นสิ้นสุดลง ฝ่ายโซเวียตรัสเซียล่มสลายไปแล้ว คอมมิวนิสต์ก็ทลายไปแล้ว อิทธิพลของฝ่ายเสรีประชาธิปไตยก็แผ่ไปทั่วโลก แต่แทนที่มนุษย์จะมีสันติสุขอยู่กันได้สบายขึ้น กลับรบกันหนักขึ้น คราวนี้เป็นสงครามจริงๆ ฆ่ากันอย่างหนัก ในประเทศเดียวกันก็ล้างเผ่ากันอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ด้วยสาเหตุความต่างลัทธิศาสนา และการแบ่งแยกเผ่าพันธุ์ อันนี้ก็เป็นจุดตายของมนุษย์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งยังหาทางออกไม่ได้ แสดงว่าการพัฒนามนุษย์สวนทางกับการพัฒนาวัตถุภายนอก

สรุปว่าสองปัญหานี่ยังแก้ไม่ตก คือ

๑. ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม เนื่องจากธรรมชาติถูกเบียดเบียน

๒. การยึดติดกับเชื้อชาติ ผิวพรรณ ศาสนา ที่เป็นเหตุให้มนุษย์แบ่งแยกขัดแย้งกัน

เมื่อกี้นี้พูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมไปทีหนึ่งแล้ว ทีนี้หันมาพูดถึงเรื่องของการแบ่งแยกในหมู่มนุษย์ พระพุทธศาสนามีคำสอนที่ให้หลักเมตตาสากล ศาสนาโดยทั่วไปก็สอนเมตตา สอนความรัก แต่มักจำกัดความรักนั้นไว้สำหรับคนในศาสนาเดียวกัน ต่างจากพระพุทธศาสนาที่สอนว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าอยู่ที่ไหน นับถือศาสนาใด ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ไม่เคยมีการแบ่งแยก ฉะนั้นจึงพูดได้เต็มปากด้วยความมั่นใจว่า พระพุทธศาสนาสอนเมตตาที่เป็นสากล ไม่จำกัดแบ่งแยก อันนี้จึงเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ว่า ถ้านับถือธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว การรบราฆ่าฟันแบ่งแยกกันจะหมดไปได้

นอกจากมีหลักเมตตาสากลแล้ว หลักการใหญ่และคำสอนปลีกย่อยทั่วไปก็มีความเป็นสากล นำไปสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมนุษยชาติสอดคล้องกันทั้งหมด เช่น หลักมัจฉริยะ ๕ ที่สอนว่า เมื่อเราพัฒนาคนไปจะค่อยๆ หมดความรู้สึกหวงแหนกีดกัน ที่เรียกว่ามัจฉริยะ ๕ คือมีมัจฉริยะ ๕ น้อยลงๆ ไม่ใช่มากขึ้น อริยบุคคล หรืออารยชนในความหมายของพระพุทธศาสนา คือคนที่หมดมัจฉริยะ ๕ ดังจะเห็นว่า อริยบุคคลชั้นแรก ได้แก่พระโสดาบัน มีคุณสมบัติอย่างหนึ่ง คือไม่มีมัจฉริยะ ๕

เราพิจารณาคุณสมบัติของพระโสดาบันได้หลายอย่าง เช่น มองดูในแง่สังโยชน์ ว่าท่านละสังโยชน์ ๓ เบื้องต้นได้หมดแล้ว คือละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้ และในจำพวกอกุศลธรรมย่อยๆ ที่ท่านละได้ก็มีมัจฉริยะ ๕ อยู่ด้วย พระโสดาบันละมัจฉริยะได้หมดทั้ง ๕ ถ้าหมดมัจฉริยะ ๕ แล้ว มนุษย์ไม่มีทางรบกัน มนุษย์จะรวมกันได้ ไม่มีการแบ่งแยกแน่นอน

อย่างน้อยก็เป็นที่ชัดเจนว่าพระพุทธศาสนาพัฒนาคนในแนวทางที่จะให้รวมกันได้ ต่างจากหลายลัทธิศาสนาที่ยิ่งนับถือก็ยิ่งทำให้คนยิ่งยึดมั่นในการแบ่งแยก คือตอนแรกคนยังมีความรู้สึกแบ่งแยกกันน้อย แต่พอมานับถือศาสนานั้นเข้าและปฏิบัติตามคำสอน ก็ยิ่งคิดตั้งใจแยกตัวแบ่งพวกออกไป ทำให้แบ่งกันแยกกันชัดยิ่งขึ้นๆ เป็นการรวมคนเพื่อแยกกลุ่ม ส่วนในพระพุทธศาสนาคนเข้ามาโดยยังมีกิเลสที่อยากจะแยก แต่พอเข้ามานับถือแล้วพุทธศาสนาจะสอนให้คนแบ่งแยกน้อยลงๆ จนเลิกแบ่งมารวมกันหมด เป็นการรวมคนจากกลุ่มย่อยสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด จุดหมายของเราคือ พัฒนาคน ให้ลดละกิเลสที่จะแบ่งแยกขัดแย้งกันให้น้อยลงๆ จนกระทั่ง ถ้าเป็นพระโสดาบันก็ไม่มีมัจฉริยะ ๕ เหลืออยู่เลย คือ

๑. อาวาสมัจฉริยะ “หวงถิ่น” คือหวงแหนกีดกันกันด้วยเรื่องที่อยู่อาศัย ที่อยู่อาศัยนี้มองกว้างออกไปก็คือประเทศถิ่นดินแดน คนเราก็หวงถิ่น หวงที่อยู่อาศัย และแม้แต่ประเทศของตน ว่านี่เป็นถิ่นของฉันที่ฉันอยู่ แกอยู่ไม่ได้ ติดที่อยู่อาศัย เห็นแก่ประเทศของตัวเท่านั้น จนกระทั่งเบียดเบียนข่มเหงพวกถิ่นอื่น แดนอื่น ตามประสาปุถุชน แต่ถ้าจะพัฒนาคนให้ทันกับกระแสโลกาภิวัตน์ ก็ต้องละอาวาสมัจฉริยะ ทำให้เป็นอาวาสสากลให้ได้

๒. กุลมัจฉริยะ “หวงเผ่าพันธุ์” คือความหวงแหนกีดกันในเรื่องพวกพ้องตระกูลวงศ์ หรือพวกพ้องเผ่าพันธุ์ คำว่า “กุล” นี้ อย่างในสมัยนาลันทามหาวิหาร ไม่ใช่มีความหมายว่า เป็นเพียงวงศ์ตระกูล เพราะพระสงฆ์ก็เป็นกุลเหมือนกัน แต่หมายถึงว่าเป็นคณะหนึ่ง เป็นกลุ่มหนึ่ง ในชุมชนหรือหมู่มนุษย์ที่แบ่งกันเป็นส่วนๆ การแบ่งจะต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในด้านความเป็นอยู่หรือกิจการเป็นต้นอย่างบริสุทธิ์ ไม่ใช่กลายเป็นการยึดถือด้วยกิเลสที่ทำให้แบ่งแยกแก่งแย่งและชิงชังกัน

๓. ลาภมัจฉริยะ “หวงลาภผล” คือหวงแหนกีดกันกันด้วยเรื่องลาภหรือผลประโยชน์ ผลประโยชน์เป็นเรื่องใหญ่มากที่ทำให้มนุษย์แบ่งพวก แบ่งแยก และแก่งแย่งกัน พระโสดาบันละลาภมัจฉริยะได้หมด ใครอยากได้อะไรก็ให้ได้ ไม่หวงแหน และมีความสุขในการให้

๔. วรรณมัจฉริยะ “หวงชั้นวรรณะ” คือความหวงแหนกีดกันกันด้วยเรื่องผิวพรรณชั้นวรรณะ การแบ่งชั้นวรรณะในสังคม เช่นในอินเดียที่แบ่งเป็น กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ก็ดี การแบ่งพวกกันเป็นผิวขาว ผิวดำอย่างในอเมริกา ก็ดี เราไม่มี ในพระพุทธศาสนามีแต่สอนให้เลิกให้ละ

๕. ธรรมมัจฉริยะ “หวงธรรม” คือความหวงแหนกีดกันกันในเรื่องภูมิธรรม ภูมิปัญญา รวมทั้งความสำเร็จในการสร้างสรรค์ต่างๆ และอารยธรรม ผลสำเร็จในการสร้างสรรค์นี้ก็เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้คนดูถูกดูแคลนกัน แล้วก็แบ่งแยกกัน หวงแหนกัน กีดกันกัน คอยระวังไว้ไม่ให้พวกชาติอื่นรู้อย่างเรา หรือทำได้อย่างเรา ผลสำเร็จทางอารยธรรม วัฒนธรรม การสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่องของความก้าวหน้าทางสติปัญญา ภูมิธรรมภูมิปัญญาต่างๆ เหล่านี้อยู่ในข้อสุดท้ายนี้ทั้งหมด ความหมายจึงกว้างมาก มนุษย์ที่พัฒนาแล้วในที่สุดจะมาตันในข้อสุดท้าย มาแบ่งแยกแก่งแย่งหวงแหนกันอีก แต่ในพระพุทธศาสนาท่านสอนให้ละได้หมด

ทั้งนี้ แน่นอนว่า สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเจตน์จำนงหรือความตั้งจิตตั้งใจและความโน้มเอียงที่เป็นพื้นฐานอยู่ในใจ ถ้าคนมีความตั้งใจคิดที่จะสมานประสานเข้ากันให้ได้ การอยู่ร่วมรวมกันก็ดำเนินไปในแนวทางสู่ความสำเร็จ แต่ถ้าในใจมีแต่ความคิดจะแบ่งแยก คิดแต่ว่าจะเอาแต่พวกตัวไว้ และหาทางให้พวกอื่นหมดไป ถ้าอย่างนี้สันติสุขและสามัคคีในหมู่มนุษย์ก็ไม่มีทางสำเร็จ

พระพุทธศาสนาสอนให้คนมีเมตตาที่สากลจริงๆ ทำให้คนรวมกันได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะถือว่าทุกคนเป็นคนเสมอกัน ถ้าใช้ถ้อยคำตามภาษาสามัญก็พูดได้เลยว่า ถ้าโลกไม่มาปฏิบัติตามหลักธรรมอย่างที่พระพุทธศาสนาสอน (คือไม่ปฏิบัติตามหลักความจริงของธรรมชาติ) ปัญหาของโลกนี้ไม่มีทางแก้ ขณะนี้ปัญหาเรื่องนี้แผ่ขยายไปมาก ไหนๆ พูดแล้วก็เลยคิดว่าเดี๋ยวจะยกตัวอย่างให้ฟัง

คำสอนของพระพุทธศาสนาในเรื่องนี้ มีความหมายลึกซึ้งลงไปอีก ไม่ใช่แค่เมตตาสากลเท่านั้น จริยธรรมทั้งหมดก็เป็นสากล จริยธรรมเป็นสากลได้เพราะมีสัจจธรรมคือความจริงตามธรรมดาธรรมชาติเป็นฐาน สัจจธรรมคือความจริงนี่แหละคือสากลที่แท้จริง เพราะเป็นของกลางและเป็นอย่างนั้นเหมือนกันไปทั่วทุกหนทุกแห่ง อะไรก็ตามที่จะเป็นสากลได้ก็ต้องเป็นไปตามสัจจธรรม คือเป็นความจริงตามธรรมดาธรรมชาติ มนุษย์จะอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุขอย่างแท้จริง อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็ต้องมีจริยธรรมที่ให้ความเสมอกันเป็นสากล จริยธรรมสากลจะมีไม่ได้ถ้าไม่เป็นไปตามสัจจธรรมที่เป็นสากล เพราะจริยธรรมต้องสัมพันธ์กับสัจจธรรม ดังนั้นข้อกำหนดหรือหลักความประพฤติปฏิบัติของมนุษย์จะต้องตั้งอยู่บนฐานของตัวสัจจธรรมจริงๆ พระพุทธศาสนาสอนสัจจธรรมคือความจริงที่เป็นสากลก่อนแล้ว จึงมาถึงจริยธรรม เช่น เมตตาที่เป็นสากลได้

เมื่อโลกต้องการความเป็นสากล
ทำไมศาสนาสนองความต้องการนั้นไม่ได้

ขอยกตัวอย่าง วันหนึ่งผมเปิดวิทยุตอนตี ๒ ผู้สอนศาสนาหนึ่ง กำลังเผยแพร่อยู่ วันนั้นพอดีสอนเรื่องสวรรค์ ท่านผู้นั้นบอกว่าพระเจ้าของเราเป็นเจ้าของสวรรค์ ใครจะทำอะไรอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าพระเจ้าของเราไม่เปิดประตูสวรรค์ให้ ก็ไม่มีใครจะเข้าสวรรค์ได้ เอาแค่สรุปความแค่นี้แหละ ลองคิดดูสิ นี่คือทัศนะของศาสนา นี่คือหลักที่เขาถือว่าเป็นสัจจธรรม พระเจ้าองค์นั้นเป็นเจ้าของสวรรค์ ใครทำอะไรมาถ้าพระเจ้าของเราไม่เปิดประตูสวรรค์ให้ก็เข้าสวรรค์ไม่ได้ คุณจะทำดีก็ทำไป แต่ถ้าพระเจ้าของเราไม่โปรด คุณก็ขึ้นสวรรค์ไม่ได้

ตอนนั้นพอดีผมกำลังจะไปอเมริกา พอเดินทางไปทางโน้น ไปถึงเมืองหนึ่งพบแม่เด็กไทยคนหนึ่งถามว่าจะอธิบายให้ลูกฟังอย่างไรดี ลูกไปเรียนที่โรงเรียนฝรั่ง ครูก็สอนซึ่งลูกเอามาบอก ครูบอกว่า นี่เธอ ถ้าเธอไม่นับถือพระผู้เป็นเจ้า เธอไปสวรรค์ไม่ได้ นี้เป็นคำสอนที่ผมยกให้ฟังเป็นตัวอย่างเท่านั้น เขาสอนกันเป็นธรรมดาอย่างนั้นมาแต่ไหนแต่ไร จึงได้รบกันมาไม่หยุดตั้งแต่อดีตจนบัดนี้

ทั้ง ๒ ศาสนานี้ถือหลักการมีพระเจ้าด้วยกันทั้งคู่ แต่คนละพระเจ้า แล้วทั้ง ๒ ศาสนานี้ก็ต้องทะเลาะกันแน่นอน เพราะพระเจ้าของฝ่ายนี้ ก็บอกว่าเป็นเจ้าของสวรรค์ ถ้าเธอไม่ยอมรับนับถือพระเจ้านี้ล่ะก็ พระเจ้าท่านจะไม่เปิดสวรรค์ให้ แล้วเธอก็เข้าสวรรค์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนของพระเจ้าโน้นทำดีอย่างไรก็ขึ้นสวรรค์ไม่ได้ ถึงขึ้นมาก็เข้าสวรรค์ไม่ได้ ทีนี้อีกฝ่ายหนึ่ง ทางฝ่ายพระเจ้าโน้นก็บอกว่า ฉันสิ เป็นผู้ให้ไปสวรรค์ได้ เธอจะทำอย่างไรก็ทำไป ถ้าไม่นับถือฉัน ฉันไม่ให้ไปสวรรค์ ถ้าอย่างนี้จะเป็นอย่างไร ก็ต้องรบกันเท่านั้นเอง นี่เป็นเรื่องปัญหาระหว่าง ๒ ศาสนา ยกมาให้ฟังเป็นตัวอย่าง ศาสนาอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าสอนเรื่องพระเจ้ากันแบบนี้ ก็ต้องเป็นเหตุให้เกิดสงครามรบราฆ่าฟันกัน

ยิ่งกว่านั้น เขาสอนกันถึงขนาดที่ว่า ถ้าเราไม่นับถือพระเจ้าของเขา หรือนับถือศาสนาอื่น เราก็เป็นคนของซาตาน ในศาสนาคริสต์แต่เดิมเขาสอนอย่างนี้ ถ้าใครไม่นับถือศาสนาคริสต์ก็เป็นคนของซาตาน เป็นคนบาป เมื่อเป็นคนบาปร้าย เป็นคนของซาตาน ก็ต้องถูกกำจัด ใครไปฆ่าแล้วกลับได้บุญด้วยซ้ำ

แม้แต่ตอนที่คาทอลิกกับโปรเตสแตนท์ แยกกัน โปรเตสแตนท์แตกออกมา ทางฝ่ายคาทอลิกก็ถือว่าโปรเตสแตนท์เป็นพวกที่ทรยศต่อพระเจ้า คือถูกซาตานหลอกไป เมื่อเป็นอย่างนั้นก็จะต้องถูกกำจัด ดังนั้น ในประวัติศาสตร์ยุโรปตอนนั้น คาทอลิกกับโปรเตสแตนท์จึงรบราฆ่าฟันกัน อย่างล้างบ้านล้างบาง

แม้สงครามครูเสดส์ระหว่างอิสลามกับคริสต์ก็เช่นกัน อิสลามก็ถือว่าผู้ใดไม่นับถือพระเจ้าของตน ผู้นั้นก็เป็นคนบาปที่จะต้องกำจัด และผู้ที่ไปกำจัดก็ได้บุญ เพราะไปช่วยทำลายศัตรูของพระเจ้า เรียกว่าทำเพื่อพระเจ้า จะเห็นได้ชัดว่าถ้าศาสนาต่างๆ ยังยึดถืออยู่อย่างนี้ จะแก้ปัญหาในโลกได้อย่างไร ไม่ต้องมองอะไรมากหรอก แค่นี้ก็ไปไม่รอดแล้ว

ฉะนั้น ศาสนาแทนที่จะทำให้โลกรวมกันอยู่ในสันติสุข ก็ทำไม่ได้ แต่กลับทำให้เกิดการรบราฆ่าฟันกัน เราจะทำอย่างไร ดูเหมือนจะไม่มีทางออก ทำอย่างไรจะให้ศาสนาต่างๆ ยอมรับกัน โดยสอนให้มองมนุษย์ทุกคนเป็นมนุษย์ ไม่ใช่มองมนุษย์พวกอื่นว่าเป็นคนบาป เป็นคนของซาตานอะไรทำนองนั้น ก็มีความพยายามบ้างเหมือนกัน อย่างฝ่ายคาทอลิก ก็ได้มีการประชุมใหญ่ที่เรียกว่าสังคายนาวาติกัน ภาษาอังกฤษว่า Vatican Council II ใน พ.ศ. ๒๕๐๕ (๑๙๖๒) ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการเผยแผ่ศาสนา โดยให้ใช้วิธีการใหม่ที่เรียกว่า dialog ซึ่งเขาแปลว่าศาสนสัมพันธ์

ตามนโยบายศาสนสัมพันธ์นี้ ให้เปลี่ยนวิธีการเผยแผ่จากการรุกรานรุนแรงด่าว่าโจมตี มาเป็นการประสานกลมกลืน ซึ่งในประเทศไทยก็ปรับเปลี่ยนใหม่ด้วย โดยเลิกใช้วิธีรุนแรง นอกจากว่าที่ไหนพูดรุนแรงได้ผลก็พูดต่อไป แต่ถ้าเป็นที่ทั่วไปหรือที่ไหนไม่ควรพูดรุนแรงก็ใช้วิธีกลมกลืนประสาน ทำให้ดูภายนอกกลมเกลียวกันดี แต่เนื้อในก็มีการแฝงเอา dialog มาเป็นอุบายในการที่จะกลืนอีกฝ่ายหนึ่ง ถึงกับสร้างหลักที่จะกลืนในทางทฤษฎี เช่น สอนใหม่ว่า พุทธศาสนากับคริสต์ศาสนาไม่ใช่อื่นไกล อันเดียวกัน เสร็จแล้วก็บอกว่าพระพุทธเจ้าเป็นประกาศก ที่พระผู้เป็นเจ้าส่งมา เขาบอกว่าส่งมาเพื่อทำหน้าที่เตรียมคนไว้รอรับพระเยซู หน้าที่ของพระพุทธเจ้ามีแค่นั้นเอง แล้วบอกว่ากฎอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาทนี้ พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงมอบให้พระพุทธเจ้ามาสั่งสอน

ที่เล่าให้ฟังอย่างนี้มีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรพิมพ์ไว้อย่างชัดเจน ในที่สุดก็คือจะเอาพระพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของคริสต์ศาสนา เป็นส่วนย่อยแบบเดียวกับที่ฮินดูเคยใช้วิธีเอาพระพุทธเจ้าเป็นนารายณ์อวตาร พระพุทธเจ้าก็กลายเป็นเพียงอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ เช่นเดียวกับที่จะให้พระพุทธเจ้ากลายเป็นประกาศกที่พระเจ้าส่งมาเพียงเพื่อทำหน้าที่เตรียมถางทางไว้รับพระเยซู ผู้เป็นบุตรของพระเจ้าที่แท้จริงที่จะลงมาเท่านั้นเอง นี่คือการประสานกลมกลืนกัน มีอะไรอยู่เบื้องหลัง

สากลเป็นสภาพธรรมดาอยู่แล้ว
เมื่อว่าไปตามธรรมดา สันติภาพสากลก็ตามมาเอง

พระพุทธศาสนานั้น มีหลักการที่ชัดเจน คือสอนความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่าพระองค์เป็นผู้ผูกขาดหรือตั้งความจริงขึ้นมา แต่พระองค์ตรัสว่า “อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ” ตถาคตทั้งหลายจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ความจริงก็มีอยู่เป็นหลักธรรมดา เป็นธรรมนิยามว่า สังขารทั้งปวงเป็นอนิจจัง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา บางแห่งก็ตรัสหลักความจริงของธรรมชาตินี้ตามแนวปฏิจจสมุปบาท ทั้งหมดนั้นก็มีสาระสำคัญว่า หลักความจริงในธรรมชาติมีอยู่ตามธรรมดา พระองค์มาค้นพบความจริงนั้นแล้ว ก็ทรงนำมาแสดง ชี้แจง เปิดเผย อธิบาย ทำให้เข้าใจได้ง่าย เรียกว่าพระองค์ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร เป็นผู้ค้นพบทางและเป็นผู้ชี้ทางให้ เมื่อแต่ละคนรู้เห็นทางที่พระองค์ชี้นั้นแล้วปฏิบัติดำเนินตามไปก็ได้เห็นธรรมนั้น เมื่อเราได้เข้าถึงธรรมด้วยตนเองแล้ว ก็เหมือนกับว่าพระองค์หมดหน้าที่

จุดสำคัญที่พึงสังเกตก็คือ พระพุทธศาสนาสอนหลักการของความจริงตามธรรมชาติว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน การกระทำดีเป็นเหตุให้เกิดผลดี การกระทำชั่วเป็นเหตุให้เกิดผลชั่ว การกระทำดีเป็นเหตุให้ไปสวรรค์ การกระทำชั่วเป็นเหตุให้ไปนรก การกระทำดี เป็นเหตุในตัวของมันเอง ทำให้ผู้กระทำได้ไปสวรรค์โดยไม่ต้องมีคนมาส่งไปสวรรค์อีก การทำชั่วก็เป็นเหตุให้ไปนรก โดยไม่ต้องมีใครมาลงโทษซ้ำอีก เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่มีหน้าที่มาคอยส่งใครขึ้นสวรรค์ ไม่มีหน้าที่มาตัดสินโทษส่งใครไปนรกอีก

ในศาสนาต่างๆ ที่มีพระเจ้า การทำดีทำชั่วจะไม่จบในตัวเองตามเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ การทำดีทำชั่วยังไม่เป็นเหตุให้ไปสวรรค์ หรือนรก แต่ต้องมีผู้มาตัดสิน มาเป็นผู้ให้รางวัลและลงโทษอีกทีหนึ่ง คือเอาลัทธิของมนุษย์ไปใช้กับธรรมชาติ ลัทธิของมนุษย์เป็นบัญญัติ เป็นสมมติ เหมือนอย่างเรามีผู้พิพากษาเข้ามาตัดสินลงโทษอีกทีแล้วส่งคนที่ถูกตัดสินไปเข้าคุก ลัทธิศาสนาต่างๆ จึงมีผู้พิพากษา แล้วคนก็เอาผู้พิพากษามาอ้างเพื่อทะเลาะกัน

พระพุทธศาสนาถือหลักของเหตุผล ที่เป็นเรื่องของความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ตามธรรมดาของธรรมชาติ จึงไม่มีเรื่องการให้รางวัลและลงโทษ ต่างจากศาสนาทั้งหลายที่มีพระเจ้า มีการให้รางวัลและการลงโทษ โดยมีผู้ตัดสินเหนือขึ้นไปต่างหากจากตัวการทำความดี และความชั่ว พอทำความดีความชั่วแล้ว ก็ยังไม่เป็นอันว่าจะไปนรกหรือสวรรค์ ต้องมีการโปรดปรานของพระเจ้าอีกชั้นหนึ่ง พระเจ้าต้องมาตัดสินว่าจะให้คนนี้ไปสวรรค์หรือนรก ถ้าเกิดทำดีแต่พระเจ้าไม่โปรดปรานก็ไปสวรรค์ไม่ได้ หรือตรงข้ามถ้าทำความชั่วแล้วพระเจ้าเกิดโปรดปรานจะว่าอย่างไร กลายเป็นว่ามีเรื่องการโปรดปรานซ้อนขึ้นมา มันไม่ได้อยู่แค่เหตุปัจจัยโดยตัวของมันเอง แต่ต้องมีผู้ที่มาตัดสินอีกทีหนึ่ง นี่คือความต่างกันในขั้นพื้นฐานระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาเทวนิยมทั้งหลาย

พระพุทธศาสนาสอนว่า การทำดีเป็นเหตุของผลดี ความดีเป็นเหตุให้ได้ไปสวรรค์โดยตัวของมันเอง การทำชั่วเป็นเหตุให้ไปนรกโดยตัวของมันเอง ความจริงนี้จึงเป็นสากล เป็นของกลาง ไม่จำกัดว่าจะเป็นคนกลุ่มไหนพวกไหน เมื่อทำดีก็ไปสวรรค์ เมื่อทำชั่วก็ไปนรก ไม่ต้องมีใครมาตัดสินเรา เมื่อไม่ต้องบอกว่าพระเจ้าองค์ไหนมาตัดสิน การแบ่งแยกก็ไม่เกิดขึ้น

ถ้าไม่สอนเป็นกลางๆ ตามเหตุตามผลตรงไปตรงมาตามธรรมชาติ แม้จะบอกว่าสอนความจริง ก็ไม่เป็นความจริงที่สากล คำสอนที่ว่าทำดีไปสวรรค์ ทำชั่วไปนรก กลายเป็นความจริงสำหรับคนกลุ่มนี้พวกนี้ คนกลุ่มนี้นับถือศาสนานี้ทำดีจึงไปสวรรค์ได้ แต่ไม่เป็นความจริงสำหรับคนพวกโน้น เพราะคนพวกโน้นนับถือศาสนาโน้น ถึงทำดีก็ไปสวรรค์ไม่ได้ (อาจจะต้องไปนรกด้วยซ้ำ)

ทีนี้เมื่อสอนถึงเรื่องความเป็นมนุษย์ พระพุทธศาสนาก็สอนตามความจริงของธรรมชาติอีก เราจึงพูดถึงมนุษย์ว่าเป็นมนุษย์เป็นกลางๆ ทุกคน เป็นชีวิตหนึ่งที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อมนุษย์ทุกคนเป็นมนุษย์ การฆ่ามนุษย์ก็ไม่ดีทั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนหลักความจริงตามธรรมชาติว่า ทุกคนรักสุขเกลียดทุกข์ ทุกคนหวั่นเกรงต่อความตาย เพราะฉะนั้น ไม่ควรฆ่ากัน ไม่ควรเบียดเบียนกัน

ว่าโดยสรุป พระพุทธศาสนาแสดงหลักการไปตามความจริงที่เป็นธรรมดาของธรรมชาติ จึงมีความเป็นสากลอยู่ในตัวเอง คือเป็นกลางๆ ตามธรรมดาของธรรมชาติ ไม่ขึ้นต่อใครๆ ที่ไหนพวกใด และจึงไม่ทำให้เกิดการแบ่งแยก แต่กลับทำให้มนุษย์รวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ โดยเหตุผลสำคัญ คือ

๑. แสดงหลักเหตุผลที่เป็นกลางๆ ตามความจริงของกฎธรรมชาติว่า ผลดีหรือผลร้าย เกิดจากเหตุปัจจัยคือการกระทำที่ดีหรือชั่วนั่นเองโดยตรง การทำดีเป็นเหตุให้ไปสวรรค์ การทำชั่วเป็นเหตุให้ไปนรก โดยไม่ต้องมีเทพเจ้ามาตัดสินลงโทษหรือให้รางวัลซ้อนเข้าไปอีก ใครจะนับถือศาสนาไหนหรือนับถือเทพเจ้าองค์ใด ก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติเดียวกันนั้น ไม่ทำให้แบ่งแยกหรือทะเลาะกันว่า นับถือเทพเจ้าองค์นี้เป็นพวกนี้ จึงจะไปสวรรค์ได้ ถ้าไม่มานับถือเทพเจ้าองค์นี้จะต้องไปนรก

๒. มองมนุษย์เป็นมนุษย์เหมือนกันหมด การทำร้าย ฆ่าฟันเบียดเบียนมนุษย์ ไม่ว่าคนใด ก็ไม่ดี เป็นบาปทั้งนั้น มนุษย์จึงควรช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั่วทั้งหมด ดังที่เรียกว่าสอนเมตตาที่เป็นสากล ไม่แบ่งแยกว่าถ้าเป็นคนของเทพเจ้าองค์นี้ นับถือศาสนานี้จึงควรช่วย ถ้าเป็นคนของเทพเจ้าอื่นหรือนับถือศาสนาอื่น เป็นคนบาป เป็นคนของซาตาน ต้องถูกกำจัด ฆ่าแล้วได้บุญ

ไม่ต้องคิดอะไรมาก มองดูง่ายๆ ก็เห็นได้ชัดเจนว่า ถ้าตราบใดคนยังเถียงกันอยู่ว่า เทพเจ้าของใครจะให้ไปสวรรค์ได้ หรือถือว่ามนุษย์พวกไหนเป็นคนของเทพ พวกไหนเป็นคนของซาตาน การรบราฆ่าฟันและสงครามก็ไม่มีทางหมดไปได้ และสันติสุขของโลกก็ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ตราบนั้น การถือหลักความจริงตามธรรมดาธรรมชาติอย่างพระพุทธศาสนา เป็นทางเดียวที่จะทำให้โลกนี้มีสันติ แต่ถ้ามองในแง่แบ่งเขาแบ่งเรา ได้เปรียบเสียเปรียบ ชาวพุทธก็แย่หน่อย เพราะชาวพุทธฆ่าใครก็บาปทั้งนั้น แต่เขาฆ่าชาวพุทธเขาบอกว่าได้บุญ

ขอสรุปอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าศาสนาทั้งหลายจะช่วยให้โลกมีสันติสุขได้ โดยศาสนาไม่เป็นตัวเหตุเสียเองที่จะทำให้คนแบ่งแยกรบราฆ่าฟันทำสงครามกัน ศาสนาทุกศาสนาจะต้องถือหลักหรือยอมรับความเป็นสากล ๓ ประการต่อไปนี้ คือ

๑. ความจริงที่เป็นสากล เช่นเมื่อสอนว่า การทำดีเป็นเหตุให้ไปสวรรค์ การทำชั่วเป็นเหตุให้ไปนรก ก็ต้องเป็นจริงสำหรับมนุษย์ทุกคนทุกหนแห่ง ไม่ว่านับถือลัทธิศาสนาใด ไม่ใช่จริงสำหรับผู้นับถือศาสนานี้ แต่ไม่จริงสำหรับผู้นับถือศาสนาอื่น

๒. ความเป็นมนุษย์ที่สากล คือ ถือว่ามนุษย์ทุกคนทุกหนทุกแห่งไม่ว่านับถือศาสนาไหน ก็เป็นมนุษย์เสมอกัน การฆ่ามนุษย์เป็นบาป ไม่ดีทั้งนั้น ไม่ใช่สอนว่า มนุษย์ที่นับถืออย่างนี้เป็นมนุษย์ของฉัน ห้ามฆ่า แต่มนุษย์ที่ไม่นับถืออย่างฉัน ฆ่าได้ไม่บาป

๓. เมตตาที่เป็นสากล คือจะต้องสอนให้รักใคร่มีไมตรีต่อมนุษย์ทุกคนโดยไม่จำกัดว่าเป็นกลุ่มไหนพวกใด นับถือศาสนาใด ไม่ใช่ให้เมตตารักคนพวกนี้ กลุ่มนี้ นับถือศาสนานี้ แต่ให้เกลียดชังคนพวกอื่น นับถืออย่างอื่น

ถ้าศาสนาทุกศาสนายอมรับหลักสากล ๓ ประการนี้ไม่ได้ โลกไม่มีทางสงบจากความขัดแย้งและสงคราม

ปัจจุบันนี้ แม้แต่จะพูดกันตรงไปตรงมาอย่างเปิดเผยในเรื่องเหล่านี้ ก็พูดกันไม่ได้ ต้องหลบเลี่ยงอ้อมแอ้มๆ กันไปว่า ทุกศาสนาก็สอนให้เป็นคนดีเหมือนกัน เมื่อไม่ซื่อตรงต่อความเป็นจริงกันอย่างนี้ มัวแต่หลบปัญหากันอยู่ จะแก้ปัญหาได้อย่างไร

พระพุทธศาสนาสอนหลักสากล ๓ ประการนี้ เป็นหลักพื้นฐานสามัญเป็นปกติธรรมดาตลอดมาอยู่แล้ว

รวมความก็คือ พระพุทธศาสนามีคำตอบให้หมดสำหรับโลกปัจจุบันที่ติดตัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือปัญหาการแบ่งแยกในหมู่มนุษย์

- ๓ -
สภาพโทรมของสังคมอเมริกัน

อยากจะพูดให้ละเอียดลงไปอีก เมื่อไปอยู่ในประเทศอย่างอเมริกา สิ่งหนึ่งที่ควรทำเพื่อให้ได้ผลตามวัตถุประสงค์ก็คือ การคอยติดตามให้เกิดความรู้เท่าทันต่อสภาพสังคม ปัญหา และความเคลื่อนไหวต่างๆ ในประเทศนั้น ซึ่งที่จริงเราก็ควรจะต้องรู้เข้าใจเป็นธรรมดาอยู่แล้ว และการเข้าใจจะเป็นผลดีต่อส่วนรวมของเราด้วย อย่างน้อยสำหรับนำมาเป็นข้อคิดพิจารณาในการปรับปรุงสังคมของเรา เพราะคนของเราเวลานี้นิยมวัฒนธรรมตะวันตก จนไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไม่รู้ว่ามันดีมันร้ายอย่างไร ทั้งๆ ที่ว่าสังคมตะวันตกเวลานี้ก็ยอบแยบเต็มทีแล้ว แทนที่เราจะตามเขาด้วยความรู้เท่าทันแล้วเอามาแยกแยะว่าส่วนใดดี ส่วนใดเสีย เรากลับไปตามเขาเมื่อ ๑๐-๒๐ ปีก่อน ในแนวทางที่พาเขามาสู่การประสบปัญหาในปัจจุบัน เราเดินทีหลังเขา แทนที่เราจะได้เปรียบเขา เรากลับไปซ้ำรอยแย่อย่างเขา นับว่าเป็นการดูถูกตัวเอง คือเป็นการดูถูกตัวเองอยู่ในตัวว่าไม่สามารถได้ประโยชน์จากการติดตาม

ถ้าเราตามเขา เราควรจะได้เห็นว่า เวลานี้เขาเดินทางนี้มาแล้ว เขาเป็นอย่างไร เขาติดอะไร เขาคิดถึงตัวเองอย่างไร เราจะได้นำเอามาใช้เป็นบทเรียน เพื่อเดินทางหลีกเลี่ยงไม่ให้พบสิ่งที่เสียหาย เอาแต่สิ่งที่ดีๆ แต่เรากลับไปเพลินนิยมตามอย่างเขาเรื่อยเปื่อย ไม่รู้แม้แต่ว่า เวลานี้เขามองสภาพของตัวของเขาเองอย่างไร ในด้านนี้พระมีหน้าที่อยู่แล้วในฐานะเป็นผู้นำทางจิตใจและทางปัญญา จะต้องนำประชาชนให้ได้ประโยชน์แก่สังคม ทั้งประโยชน์ในการไปทำงานให้แก่ที่นั้น และประโยชน์ในการแก้ไขปรับปรุงสังคมของเราเอง

ความหวั่นใจว่าใกล้สิ้นยุคอเมริกา

สังคมอเมริกันขณะนี้ อยู่ในภาวะที่เป็นปัญหาอย่างหนัก คนอเมริกันกำลังมีความหวั่นวิตกมาก ภายในก็สูญเสียความมั่นใจ ภายนอกก็สูญเสียความยิ่งใหญ่ และความเป็นผู้นำในเวทีโลก ความเป็นผู้นำและความยิ่งใหญ่ในทางเศรษฐกิจก็เสียไปแล้ว เพราะเวลานี้สู้เยอรมันและญี่ปุ่นไม่ได้ ทางสังคมและทางจิตใจก็ตกต่ำ สังคมอเมริกันกำลังมีปัญหารุมล้อมตัวทั่วไปหมด เพราะฉะนั้นเวลานี้คนอเมริกันจึงแสดงความหวั่นวิตกออกมามากมายในเอกสารและหนังสือต่างๆ เป็นการคร่ำครวญถึงความเสื่อมของสังคมของตน มีหนังสือจำนวนมากที่ออกมาตอนนี้ พูดถึงความล่มสลายของอารยธรรมอเมริกัน และการพยายามหาทางว่าจะทำอย่างไรจึงจะฟื้นฟูกอบกู้ฐานะกลับคืนมาได้ หนังสือหลายเล่มมีชื่อทำนองนี้ว่า “The End of the American Century” “How the American Century Ends” “Is America on the Way Down?”

ในเรื่อง “Is America on the Way Down?” ซึ่งเป็นข้อเขียนของผู้ทำงานวิจัยที่เตรียมจะพิมพ์ออกมาเป็นเล่มหนังสือ ผู้เขียนที่ทำการวิจัยนั้นบรรยายสรุปสภาพสังคมอเมริกันที่เสื่อมว่าแย่อย่างไร และลงความเห็นว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาจะกลายเป็นประเทศโลกที่สามภายในปี ๒๐๒๐ คือ อีก ๒๕ ปีข้างหน้า ไม่มีทางเลี่ยง นี้เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความหวั่นหวาดของคนอเมริกัน

เมื่อผมไปอเมริกาคราวที่แล้ว คนอเมริกันบ้าง คนไทยบ้าง ที่มีการศึกษา ก็พูดถึงเรื่องเหล่านี้ในทางที่ว่านั้น ถึงกับว่าไม่มีทางเลี่ยง สังคมอเมริกันจะต้องล่มสลายแน่นอน เวลานี้สภาพต่างๆ เดินลงไปอย่างนั้นทั้งนั้น ความไม่มั่นใจในสภาพของประเทศอเมริกานี้ ได้ทำให้คนอเมริกันหาทางฟื้นฟูกู้ฐานะ บางทีก็ได้แต่ปลอบใจตัวเองไว้

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูข้างนอกอย่างผิวเผิน คนก็จะมองว่าประเทศอเมริกายังรุ่งเรืองยิ่งใหญ่ ข้อนี้เปรียบเหมือนยักษ์ใหญ่ แม้จะผอมโซและเจ็บป่วย แต่ร่างกายเนื้อหนังก็ยังมากกว่าคนแคระ ขาของยักษ์ที่ผอมและเจ็บป่วย ก็ยังใหญ่กว่าตัวคนแคระหลายเท่า เพราะฉะนั้น คนที่ไม่รู้จำนวนมากก็ยังมองว่าประเทศอเมริกานี้ยิ่งใหญ่น่าภูมิใจ แท้ที่จริงจะแย่อยู่แล้ว เหมือนยักษ์ที่ผอมโซเจ็บป่วย ที่พวกคนแคระมองเห็นแต่ความใหญ่โต เพราะฉะนั้น อย่าไปหลงใหลในความเจริญของเขา สังคมอเมริกันกำลังมีปัญหามาก จะยกตัวอย่างให้ฟัง2

เมื่อเบ้าหลอมแตกไป จะเอาอะไรมาสร้างรูปร่างใหม่

คนอเมริกันมีความภูมิใจในสังคมของตนว่า เป็นสังคม melting pot แปลว่า เบ้าหลอม หมายความว่า คนอเมริกันมาจากชนชาติต่างๆ มากมาย เช่น หลายประเทศในยุโรป แม้จะนับถือศาสนาเดียวกัน แม้จะเป็นคริสต์ด้วยกัน แต่ต่างนิกายกัน ซึ่งเคยรบราฆ่าฟันเบียดเบียนกันมากในยุโรป พอมาอยู่อเมริกาก็อยู่รวมกันได้ ประเทศอเมริกาเป็นเบ้าหลอมรวมให้คนทุกชนชาติมาอยู่ด้วยกัน มาช่วยสร้างสรรค์สังคมอเมริกัน ถึงกับว่าคนชาติอื่นก็สรรเสริญ เช่น นางมากาเร็ต แทชเชอร์ (Margaret H. Thatcher) นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนก่อน ได้พูดสรรเสริญสังคมอเมริกันว่า เป็นแบบอย่างที่หาใครทำไม่ได้ คือเป็นสังคมที่สามารถรวมชนชาติต่างๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว อยู่รวมกัน สร้างสรรค์ประเทศชาติร่วมกันได้

ที่จริงคนไทยน่าจะภูมิใจกว่า เมืองไทยเป็นเบ้าหลอมดีกว่าอเมริกาอีก อเมริกันสู้ไม่ได้ แต่ฝรั่งไม่รู้

อเมริกันภูมิใจในวัฒนธรรมเบ้าหลอมนี้มาก แต่ปัจจุบันนี้อเมริกันสูญเสียฐานะที่เป็น melting pot นั้นไปแล้ว อเมริกันตอนนี้ไม่สามารถเรียกสังคมของตนว่าเป็น melting pot อีกต่อไป เพราะไม่สามารถหลอมชนต่างเชื้อชาติให้รวมกันเป็นอันเดียวได้ แม้แต่พวกที่มีมาแต่เดิมซึ่งทำท่าว่าจะรวมกันได้ก็ไม่รวมกันจริง ตอนนี้กลับแตกแยกกันชัดเจนยิ่งขึ้น พวกเก่าที่ยังรวมกันไม่เสร็จ คือคนผิวขาวกับผิวดำ ตอนนี้แยกห่างกันมากขึ้น หนังสือที่ออกมาใหม่ๆ ระยะใกล้ๆ นี้ พากันลงความเห็นว่าหมดหวัง นับวันมีแต่จะแตกแยกกันมากยิ่งขึ้น ทวงสิทธิกันมากขึ้น

เวลานี้คนผิวดำทวงสิทธิ เช่น มีพวกที่ตั้งแนวคิดใหม่ทางการศึกษา เรียกว่า Postmodern Education ซึ่งมองว่า ประวัติศาสตร์อเมริกา เป็นประวัติศาสตร์ของคนผิวขาว พวกผิวขาวกดขี่เอาเปรียบถือว่าพวกตนเป็นผู้สร้างสรรค์สังคมอเมริกัน ดังที่ปรากฏว่าในประวัติศาสตร์ของชาติ บุคคลสำคัญๆ ที่มีชื่อว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ประเทศชาตินั้น มีแต่คนผิวขาวเป็นส่วนใหญ่ คนผิวดำมีน้อยเหลือเกิน ทั้งๆ ที่ตามความเป็นจริงคนผิวดำมีส่วนสร้างสรรค์อย่างมากมาย เพราะฉะนั้น ต้องปรับปรุงการศึกษาใหม่ ในโรงเรียนจะต้องเรียนประวัติบุคคลสำคัญซึ่งเป็นคนดำมากขึ้น ต้องเรียนรู้บทบาทและความเป็นไปของคนผิวดำมากขึ้น นี่เป็นตัวอย่าง พวกผิวขาวก็หวั่นใจ ออกหนังสือมาพยายามแก้กันอยู่

ตอนนี้ไม่ใช่แค่นั้นแล้ว พวกผิวแดงคืออินเดียนแดง พวกเจ้าถิ่นเดิม ที่เรียกว่า Native Americans ก็ทวงสิทธิมากขึ้น นอกจากนั้น พวกอเมริกันเชื้อสายสเปนก็มีจำนวนมากขึ้นทุกที เป็นกลุ่มใหญ่ เมื่อปีที่แล้วก็มีการเรียกร้องให้เอาภาษาสแปนิช (Spanish) ขึ้นเป็นภาษาราชการอเมริกันด้วย มาถึงตอนนี้ก็มีคนเอเชียอพยพเข้าไปมากขึ้น คนผิวเหลืองก็ชักจะเป็นกลุ่มน้อยที่ใหญ่ขึ้นมาอีก คนอเมริกันก็หวั่นหวาดคนเอเชีย เพราะมีความขยันกว่า เนื่องจากคนอเมริกันยุคนี้นิสัยเสื่อมลง คนเอเชียเข้าไปใหม่กำลังขยันขันแข็ง พวกฝรั่งก็แพ้คนผิวเหลืองจากเอเชีย ในแง่ความขยันหมั่นเพียร และแม้กระทั่งในการศึกษาเล่าเรียน มีเรื่องมีราวมาก เช่นบางคราวคนจากเวียดนามกับคนอเมริกันเก่าเกิดปัญหากัน เอาเรือประมงตามไล่ยิงกันในทะเล

เรื่องเกิดขึ้นว่า คนเวียดนามเข้าไปอยู่ในอเมริกา ทำการประมงแข่งกับพวกคนผิวขาว คนเวียดนามขยันกว่าและรู้จักประหยัดอดออมกว่า คนอเมริกันรุ่นใหม่เคยตัวกับความสบายก็ทำตามปกติของเขา มีการแบ่งงานกันทำ ภาชนะบรรจุปลาก็ไปซื้อจากพวกอื่นมา จึงใช้ทุนสูงกว่า แล้วก็ออกหาปลาตามเวลา ส่วนคนเวียดนาม ภาชนะบรรจุปลาก็ทำเอง ประหยัดต้นทุน ออกเรือหาปลาก่อนคนผิวขาวและกลับทีหลัง ก็ได้ปลามากกว่า และขายได้ถูกกว่า จึงประสบความสำเร็จกว่าคนผิวขาว ในที่สุด พวกผิวขาวทนไม่ไหว เอาเรือไล่ยิงกันกลางทะเล นี่เป็นตัวอย่าง

อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่เมืองลอสแองเจลีส (Los Angeles) ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ. ๒๕๓๕ มีเหตุการณ์ใหญ่รุนแรงที่ลือลั่นไปทั่วโลก คือ คนผิวดำ โกรธแค้นคนผิวขาว แล้วก่อการจลาจล ถึงขั้นที่เรียกว่าเผาเมือง ระหว่างเหตุการณ์ใหญ่นั้นก็มีเหตุการณ์ย่อยแทรก เช่น คนผิวดำมีความเกลียดชังคนผิวเหลือง โดยเฉพาะพวกเชื้อสายเกาหลีที่ขยัน และสามัคคีกัน ซึ่งประสบความสำเร็จในการค้าขาย พอเกิดการจลาจล พวกคนผิวดำบางพวกก็พากันเข้าปล้นร้านของคนเกาหลี คนเกาหลีก็เอาปืนมายิง จัดการกันเอง อย่างบ้านป่าเมืองเถื่อน

ในทางสติปัญญา ปรากฏว่า ด้วยความขยันส่งผลมาทางปัญญาหรืออะไรก็ตาม คนเชื้อสายเอเชียคือพวกผิวเหลืองเรียนเก่งกว่าคนผิวขาว เวลานี้ในมหาวิทยาลัยต่างๆ คนที่เรียนสำเร็จระดับหนึ่ง คือคนสายเอเชีย พวกอเมริกันผิวขาวระดับสอง พวกผิวดำอยู่รั้งท้าย เรื่องนี้ก็สร้างความหวั่นไหวและหวั่นหวาดประการหนึ่งในสังคมอเมริกันปัจจุบัน

ในเรื่องของความแตกพวกแยกผิว ตอนนี้ สังคมอเมริกันมี ๕ พวก คือ

๑. พวกผิวขาว (white Americans)

๒. พวกผิวดำ (black Americans หรือ African Americans)

๓. พวกสแปนิช (Hispanic Americans หรือ Hispanics)

๔. พวกผิวเหลืองเอเชียน (Asian Americans)

๕. พวกเนติฟอเมริกัน หรืออินเดียนแดง (Native Americans หรือ American Indians)

นี่คือปัญหาความแตกแยกที่ทำให้สังคมอเมริกันปัจจุบันไม่เป็นเบ้าหลอม (melting pot) แล้ว ศัพท์นี้เลิกใช้ได้แล้ว เวลานี้เขาพยายามกันแต่เพียงว่า ทำอย่างไรจะให้สังคมอเมริกันเป็นโมเสก (mosaic) ภาวะที่เป็นโมเสก คือเป็นเหมือนกระเบื้องชิ้นเล็กๆ สีต่างๆ มาเรียงกันเข้าระเบียบก็นับว่ายังดี ยังสวยงามเป็นเครื่องประดับได้ ให้อเมริกาเป็นโมเสกได้ก็ยังดี แต่ขณะนี้กำลังวิตกว่า แม้แต่เป็นโมเสกก็ไม่ได้ หนังสือขายดีอย่างของนาย Alvin Toffler และ John Naisbitt ซึ่งกำลังมีชื่อโด่งดังในวงการนักเขียนทำนายอนาคต (ไม่นานมานี้ มีนักธุรกิจไทยไปเชิญนาย Alvin Toffler มาพูด ต้องจ่ายเงินมหาศาล ค่าผ่านประตูเข้าฟังแพงเหลือเกิน คนละเป็นหมื่น) นักเขียนเหล่านี้เขียนหนังสือบอกว่า เวลานี้อเมริกาเป็นได้แค่จานสลัด หมายความว่า ชนชาติต่างๆ มาอยู่ในอเมริกาปะปนกันสับสน ไม่กลมกลืนกัน เหมือนกับผักชนิดต่างๆ มาคลุกเคล้ากันในจานอย่างไม่มีระเบียบ

เรื่องเก่า: ทิ้งคนแก่อยู่กับความเงียบเหงา

ตัวอย่างที่แสดงความเสื่อมสลายของสังคมอเมริกันนี้ ขอยกมาให้ดูอีกสักเรื่องหนึ่ง คือความล่มสลายของสถาบันครอบครัว ครอบครัวเป็นสังคมส่วนย่อย เป็นแกนและเป็นฐานของสังคม ถ้าในสังคมใดระบบครอบครัวเสีย ก็เรียกว่ารากฐานของสังคมผุพัง ปัจจุบันสังคมอเมริกันกำลังอยู่ในสภาพนี้ เมื่อสถาบันครอบครัวเสียแล้ว ความเสื่อมสลายของสังคมก็ตามมา

เราได้ยินกันมานานแล้วว่า คนแก่ในอเมริกานั้นน่าสงสารมาก แต่อันนั้นเป็นเรื่องเก่าแล้ว เวลานี้มีสิ่งที่เลวร้ายกว่านั้นอีก พูดถึงคนแก่ในประเทศอเมริกานั้น และแม้ในประเทศฝรั่งทั่วไป จัดว่าเป็นคนมีความทุกข์มาก ชีวิตเหงา ว้าเหว่ อยู่โดดเดี่ยว เพราะว่าลูกหลานเวลาโตขึ้นก็แยกออกไป ซึ่งเป็นธรรมเนียมประเพณีของเขาอย่างนั้น จึงไม่มีความผูกพันกันมาก เวลาคริสต์มาสปีหนึ่งก็มาพบพร้อมกันทีหนึ่ง ในยามปกติก็ต่างคนต่างไป

เริ่มต้นลูกอายุแค่ ๑๗-๑๘ พ่อแม่ก็ให้ออกจากบ้านแล้ว แทบจะไล่เลย ต้องไปหากินเอาเอง แม้แต่การศึกษาลูกก็ต้องไปหาเงินมาเรียนเอง พ่อแม่เขาไม่ค่อยเอาด้วย ช่วยน้อย เด็กโตแล้วก็ต้องเลี้ยงตัวเอง ซึ่งมองในแง่หนึ่งก็ทำให้คนเข้มแข็งดี แต่เอาในแง่เสียก่อน แง่เสียก็คือไม่มีความผูกพันทางจิตใจ เมื่อลูกออกไปตั้งแต่ยังวัยรุ่น ไปหากินเอง ไปสร้างเนื้อสร้างตัวเอง แม้แต่ในตอนที่ยังอยู่กับพ่อแม่ เวลาฤดูร้อน คือ summer พวกเด็กหยุดเรียนก็ออกหางานทำ อย่างลูกของวุฒิสมาชิก เอ็ดเวิร์ด เคนเนดี้ (Edward M. Kennedy) ที่เป็นน้องของ จอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy) ขนาดเป็นลูกของวุฒิสมาชิกที่ร่ำรวยใหญ่โต เวลาโรงเรียนปิด ก็ออกขายหนังสือพิมพ์ ลองคิดดูเมืองไทยทำได้ไหม แต่เด็กอเมริกันเขาภูมิใจ เขาถือว่าได้สร้างเนื้อสร้างตัว ได้ทำเงินด้วยลำแข้งของเขาเอง ถึงเขาจะเป็นลูกผู้ใหญ่ผู้โต แต่เวลาโรงเรียนปิดเขาก็ไปขายหนังสือพิมพ์ หาเงินหาทองด้วยตนเอง

พอลูกออกไปแล้ว พ่อแม่ก็อยู่กันตามลำพังสองตายาย พอแก่ตัวเข้าก็อยู่กันแค่ ๒ คน ว้าเหว่ ยิ่งบางทีฝ่ายหนึ่งตาย อายุสั้นกว่า ก็เหลืออยู่ฝ่ายเดียว ยิ่งเหงา เวลาบ่ายๆ เย็นๆ ก็ออกจากบ้านไปเที่ยวนั่งตามสวนสาธารณะ เราผ่านไปก็เห็นคนแก่ฝรั่งมานั่งกันตามม้านั่งริมถนนข้างทางที่เป็นสวนสาธารณะหรือ park เพราะแกเหงา ว้าเหว่เต็มที ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) เคยมีคนแก่ที่เหงามาก ลงแจ้งความในหนังสือพิมพ์หาคนมาฟังแกพูด โดยให้เงินค่าจ้างฟังเป็นชั่วโมงๆ ละเท่านั้นเท่านี้ เป็นตัวอย่างความเหงาของฝรั่งที่สูงอายุ ธรรมดาคนแก่นี่อยากจะพูด ชอบเล่าระบายเรื่องเก่าๆ เมื่อไม่มีคนฟัง ก็เลยจ้างให้คนมาฟัง คนไทยเราไปอยู่เมืองอเมริกา ก็ไปผูกมิตรสัมพันธ์กับพวกฝรั่งบ้านใกล้ๆ บางคนพอเขารู้จักดี โทรศัพท์มาหาไม่หยุด จะพูดเล่าโน่น เล่านี่ คนไทยก็รำคาญ เด็กไทยไปอยู่กับคนแก่อเมริกันนี่ฝรั่งรักเหลือเกิน เพราะคนไทยเรารู้จักเอาใจคนแก่ ฝรั่งไม่มีการเกื้อกูลกันขนาดนั้น อย่างน้อยโดยวัฒนธรรมที่มีน้ำใจเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วเราดีกว่าเขามาก ฝรั่งจึงรักเหลือเกิน บางทียกมรดกให้เลย

ฝรั่งอยู่คนเดียวก็ว้าเหว่ ไม่มีอะไรก็ต้องเลี้ยงหมาเลี้ยงแมว ฉะนั้น เราจะเห็นว่า ในสังคมอเมริกัน ทีวีจะมีโฆษณาอาหารหมาอาหารแมวเยอะไปหมด เมืองไทยเราต่อไปก็อาจจะเป็นอย่างนั้น เพราะในสังคมที่เป็นระบบแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์ คนไม่มีเวลาเอาใจใส่กัน คนแก่เหงาก็อยู่กับหมากับแมวเป็นเพื่อน บางรายก็อยู่คนเดียว แบบนี้บางทีตายก็ไม่มีใครรู้ เวลาเช้าคนส่งหนังสือพิมพ์เอาหนังสือพิมพ์มาส่ง เขาก็วางไว้ในที่จัดให้ใส่หนังสือพิมพ์ ไม่เจอกันหรอก แต่มาทิ้งหนังสือพิมพ์หลายวัน ฉบับวันก่อนก็ยังอยู่ ไม่มีใครเอาไป มาอีกวันก็ยังอยู่ เอ.. ๒-๓-๔ วันแล้ว เป็นอย่างไร สงสัย ไปตามตำรวจมาดู พังประตูเข้าไป นอนตายแล้ว! บางรายพังเข้าไปปรากฏว่าหมาที่อยู่ด้วยกินศพไปครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะหมาไม่มีอะไรจะกินเลยกินศพเจ้าของ อะไรอย่างนี้ สังคมอเมริกันตัวใครตัวมัน คนโดดเดี่ยว เหงา ว้าเหว่ ไม่อบอุ่นเหมือนในสังคมไทย คนแก่อเมริกัน อาจจะเลือกไปอยู่ใน nursing home คือ บ้านคนชรา ไปให้พวกพยาบาลเลี้ยงดูแล เป็นกิจการอย่างหนึ่งของคนอเมริกัน สังคมไทยก็กำลังจะเดินไปทางนี้ เดี๋ยวนี้ก็มีบ้านพักคนชรา ต่อไปก็คงเป็นกิจการขึ้น ความผูกพันในครอบครัวก็น้อยลง

เรื่องใหม่: เด็กกลายเป็นคู่เวรกับพ่อแม่

เดี๋ยวนี้ยิ่งหนักขึ้นไปอีก คือพ่อแม่ที่อยู่กับลูก ตัวเองอยู่ในวัยทำการทำงาน แม้จะรักลูกมาก แต่เพราะวุ่นวายกับธุรกิจการงาน ก็เกิดปัญหาทางจิตใจ แล้วมาระบายกับลูก กลายเป็นปัญหาในสังคมอเมริกันมาก คือการกระทำที่เรียกว่า child abuse หมายถึงการทำร้ายเด็ก มีการทุบตีทารุณและทำการรุนแรงต่างๆ รัฐบาลจะหาทางออกในการแก้ปัญหา ก็ต้องออกกฎหมายมาป้องกันพ่อแม่ทำร้ายลูก พอออกกฎหมายมาก็กลายเป็นดาบ ๒ คม เพราะมันไม่ได้แก้ปัญหาที่ตัวมนุษย์แต่ไปแก้ปัญหาที่รูปแบบหรือแบบแผนภายนอก ก็ใช้ไม่ได้ผลจริง เอาสิ ! ออกกฎหมายมากำหนดว่า พ่อแม่ทำร้ายเด็ก แล้วจะต้องถูกจับลงโทษ กฎหมายนี้กลับมีผลในทางลบ ก็ยุ่งอีก ปัจจุบันสังคมอเมริกันกำลังประสบปัญหาหนักคือ พ่อแม่ตีเด็กไม่ได้ ว่ากล่าวอะไรต้องระวัง ลูกอาจไปฟ้องตำรวจให้จับพ่อแม่ หรือว่าลูกไม่ฟ้องเอง ลูกไปโรงเรียนไปเล่าให้ครูฟัง ครูโทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจ ตำรวจก็มาจับพ่อแม่ไปขัง แล้วทีนี้จะทำอย่างไร พ่อแม่จะว่าอะไรลูกก็ไม่ได้ ถ้าลูกนั้นดื้อก็จบกัน

ผมไปคราวก่อนญาติโยมที่นั่นก็เล่าปัญหาให้ฟัง คนเอเชียไปเจอกฎหมายแบบนั้นเข้าก็พลอยเจอปัญหาด้วย คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า คนทางอาเซียครอบครัวหนึ่งไปอเมริกาใหม่ๆ ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ ลูกก็เล็กๆ ไปโรงเรียน ก็ยังพูดไม่ค่อยได้เหมือนกัน คราวหนึ่ง ลูกมีโรคอะไรขึ้นมาที่ผิวหนังบริเวณคอ แล้วเกิดอาการอักเสบ หรือเป็นแผลหรือเป็นผื่นคันอะไรทำนองนั้น แล้วพ่อเอายามาใส่ ผิวหนังลอก ก็ยิ่งดูน่าเกลียด พอเด็กไปโรงเรียน ครูเห็นเข้าก็ถาม เด็กก็พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง เขาถามตอนหนึ่งว่าใครทำ เด็กก็ตอบในความหมายว่าพ่อมาช่วยรักษาใส่ยาให้ แต่พูดไม่เป็นก็บอกว่าพ่อทำ เท่านั้นแหละ ครูโทรศัพท์ไปบอกตำรวจ ตำรวจก็มาจับพ่อไปเข้าคุก พ่อก็พูดกับตำรวจไม่รู้เรื่อง แกตรอมใจอย่างไรไม่รู้เลยผูกคอตายในคุก นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าอีกกรณีหนึ่ง

ครั้งล่าสุด คุณหมอที่นิมนต์ผมไปอเมริกาเล่าให้ฟังตอนมาด้วยกันในรถว่า หมอไทยครอบครัวหนึ่ง เป็นหมอทั้งสามีและภรรยา ก็มีคลินิก มีกิจการของตัวเอง หมอคู่นี้มีลูก ๒ คน ลูกคนเล็กดื้อมาก วันหนึ่งแกเห็นว่าลูกดื้อจัด ก็จำกัดที่ลูกไม่ให้ออกจากบ้าน ขังลูกให้อยู่ชั้นบนบ้าน แต่เมืองอเมริกา เทคโนโลยีเจริญมาก ไปตรงไหนแม้แต่ในห้องน้ำก็มีโทรศัพท์ ชั้นบนเขาก็มีโทรศัพท์ เด็กก็คว้าโทรศัพท์แจ้งตำรวจ ว่าพ่อแม่ทำลายอิสรภาพ (บางท่านว่าเด็กเขียนข้อความใส่กระดาษทิ้งลงไปทางหน้าต่าง เพื่อนบ้านเก็บกระดาษชิ้นนั้นได้ โทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจ) ตำรวจก็มาจับเอาพ่อแม่ไปขัง ประกันตัวออกมาได้ พอประกันตัวออกมาแล้ว หมอพ่อแม่คู่นั้นหายตัวไปเลย จนบัดนี้ยังหาตัวไม่เจอ แกหนีภัยจากการถูกดำเนินคดี

ก่อนปัญหานี้จะเด่นขึ้นมา เรื่องเด็กในอเมริกาก็มีปัญหาที่หนักอยู่แล้ว คือ เมื่อสังคมอเมริกันมั่งคั่งพรั่งพร้อม กลายเป็นสังคมบริโภค ก็เกิดมีสถิติขึ้นสูงว่าเด็กวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวฆ่าตัวตายมาก เป็นเรื่องที่สังคมอเมริกันทั้งตกใจและทั้งงุนงง

นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นเรื่องของสังคมอเมริกัน ที่กำลังเป็นปัญหา ระบบครอบครัวเสื่อมสลาย ซึ่งมีความรุนแรงมาก รวมทั้งการเอาเสรีภาพไปใช้ในทางที่ผิด เช่น เด็กประถมไปโรงเรียน เอาปืนไปยิงที่โรงเรียน อาชญากรรมวัยรุ่นเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ เช่น ในช่วง พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๓๔ (๑๙๘๖-๑๙๙๑) สถิติฆ่ากันตายของเด็กวัยรุ่นอายุ ๑๔-๒๔ ปี เพิ่มขึ้น ๖๒ เปอร์เซนต์ และเจาะแคบลงไป เด็กในช่วงอายุ ๑๔-๑๗ ปี ฆ่ากันตายเพิ่มขึ้นถึง ๑๒๔ เปอร์เซนต์ การที่เด็กนักเรียนพกปืนไปโรงเรียนกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เด็กฆ่าเด็กเพื่อเอาเสื้อผ้าและเครื่องประดับ เป็นต้น นักสังคมวิทยาบางคนกล่าวว่าเหตุให้เป็นเช่นนี้คือปัญหาความวิปริตในระบบครอบครัว

มีเรื่องที่คนไทยก็ควรสังวร เช่น เมื่อฤดูใบไม้ร่วงปี ๒๕๓๖ (๑๙๙๓) ที่เมืองมอเรน รัฐโอไฮโอ (Moraine, Ohio) เด็กชายอายุ ๕ ขวบ ดูหนังการ์ตูนเรื่องที่นิยมในเอ็มทีวี (MTV = Music Television) เด็กตัวเอกในการ์ตูนพูดว่าเล่นไฟสนุกดี หลังจากดูทีวีแล้ว เด็กชายนั้นก็เอาไฟจุดเผาเตียงนอน ไฟไหม้บ้านและน้องสาวของเด็กนั้นอายุ ๒ ขวบถูกไฟครอกตาย

ยาเสพติดก็แพร่หลายมาก จนหนังสือฝรั่งบางเล่มพูดว่า ถนนหนทางกลายเป็นสนามต่อสู้สงครามยาเสพติด แม้ประเทศไทยเราก็ทำท่าจะตามอย่างไปด้วย ล้วนแล้วแต่น่ากลัวทั้งนั้น ฉะนั้น พวกเขาเองจึงบอกว่า สังคมอเมริกันจะตั้งอยู่ไม่ไหว

แม้แต่อาหารด่วนตามร้านที่นิยมกัน ก็ต้องระวังไว้บ้าง เมื่อต้นปี ๒๕๓๖ (๑๙๙๓) ช่วงระหว่าง ๑๓ มกราคม - ๒๐ กุมภาพันธ์ ในรัฐวอชิงตัน ได้เกิดกรณีคนกินแฮมเบเกอร์ (hamburgers) ที่ร้านแจ็คอินเดอะบอกซ์ (Jack-in-the-Box) แล้วท้องร่วง เด็กตายไป ๔ คน และคนป่วยราว ๓๐๐ คน สืบสวนได้ความว่า มีเชื้ออีโคไล (e-coli) ปะปนในแฮมเบเกอร์ ที่ผู้ผลิตนำมาส่ง

เมื่อยุคอุตสาหะผ่านพ้น
คนก็เลิกขยันหมั่นเพียร

ความเจริญในบัดนี้เป็นผลจากบุญเก่าที่ยังต่อเนื่องเป็นกระแสสืบต่อมา เรียกว่าเป็นสังคมที่กินบุญเก่า คนอเมริกันที่เจริญมาได้ทุกวันนี้ เพราะว่าคนรุ่นเก่าสู้กับความยากลำบาก มีความขยันหมั่นเพียร เขาเองก็บอกว่าสังคมตะวันตกเจริญมาได้เพราะจริยธรรมการทำงาน (work ethic) ที่สร้างสรรค์ระบบอุตสาหกรรมขึ้นมา คือ หลักความสันโดษ คนไทยเราไม่ได้ศึกษาเลยว่าสังคมอเมริกันเขาสร้างตัวมาได้อย่างไร สังคมอเมริกัน รวมทั้งสังคมตะวันตกทั่วไป สร้างตัวมาได้ด้วยความสันโดษ แต่ไม่ใช่แค่สันโดษเฉยๆ นะ สันโดษคือการที่เราพอใจในวัตถุบำรุงบำเรอความสุขเท่าที่มี ไม่หลงหมกมุ่นกับการหาความสุขสำราญทางวัตถุ เราพอใจในวัตถุตามมีตามได้ แล้วเราจะได้เอาแรงงาน เวลา และความคิดของเราไปใช้ในการสร้างสรรค์ ทำกิจหน้าที่ นี้คือหลักของสันโดษ เราไปมองดูสังคมอเมริกัน เขาปฏิบัติตามหลักนี้มาตลอด เขาจึงสร้างสังคมโดยเฉพาะระบบอุตสาหกรรมมาได้สำเร็จ

น่าเสียดายที่คนของเรามักมองสันโดษแค่ชั้นเดียว เพราะเราไม่มองตามพระพุทธเจ้า สันโดษคืออะไร คือความพอใจในปัจจัย ๔ ตามมีตามได้ หรือความพอใจในวัตถุบำรุงบำเรอความสุขตามมีตามได้ เราหยุดแค่นี้ แต่ทำไมท่านจึงให้สันโดษ อันนี้เราไม่พิจารณา การที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สันโดษ คือพอใจในวัตถุบำรุงบำเรอความสุขตามมีตามได้นั้น ก็เพื่อให้เราไม่มัวไปวุ่นวายกับการคิดหาวัตถุมาเสพ ฉะนั้น เราก็ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน และประหยัดความคิดไว้ได้ ถ้าคนไหนไม่สันโดษ เขาก็คิดอยู่แต่ว่า วันนี้จะหาอะไรมาเสพบำเรอความสุข พรุ่งนี้จะไปสนุกที่ไหน หมกมุ่นอยู่กับการหาสิ่งเหล่านี้ เวลา แรงงาน และความคิดหมดไปกับการวุ่นวายหาสิ่งเสพ หน้าที่การงานก็ไม่เป็นอันทำ ส่วนคนที่สันโดษถูกต้องก็ออมเวลา แรงงาน และความคิดไว้ แล้วเอาเวลา แรงงาน และความคิด ที่ออมไว้ได้นั้นมาใช้ในการทำกิจหน้าที่ และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามเป็นคุณประโยชน์ ก็เกิดความเจริญก้าวหน้า สันโดษของพระพุทธเจ้าท่านมุ่งอย่างนี้

ถ้าเป็นพระสันโดษ นอกจากเลี้ยงง่าย ไม่ทุจริต ไม่ประกอบมิจฉาชีพแล้ว ก็จะได้มีเวลา แรงงาน และความคิดที่จะมาใช้ในการปฏิบัติธรรมได้เต็มที่ พูดง่ายๆ ว่า สันโดษเพื่อขยัน ถ้าเราสันโดษลอยๆ เราก็ไม่มีจุดหมายเพื่อประหยัดเวลา แรงงาน ความคิดของเราเพื่อเอามาใช้ในการทำกิจหน้าที่ ก็กลายเป็นสันโดษที่สนับสนุนให้ขี้เกียจ สันโดษพอใจตามมีตามได้ เอาแค่นี้พอ ก็นอนเลย! สุขสบายแต่ขี้เกียจ ก็ไม่เจริญ เพราะฉะนั้น จะต้องสันโดษเพื่อสนับสนุนความขยัน จะได้ทำกิจหน้าที่ได้เต็มที่ เต็มแรง เต็มกำลัง เต็มเวลา

เรามาดูสังคมฝรั่ง เขามีจริยธรรมการทำงาน (work ethic) หลักการของเขาชัดมาก ในตอนที่เขาสร้างอุตสาหกรรมขึ้นมาเขาบอกว่า ให้อดใจไว้ ไม่ตามใจตัวในการที่จะแสวงหาความสุข ไม่บำรุงบำเรอตัวเอง ไม่ปรนเปรอตนในทางวัตถุ มุ่งแต่ทำงานหาเงินมาให้ได้มาก แล้วอดออม ไม่เอาเงินไปใช้หาความสุข แต่เอาเงินที่ได้นั้นไปลงทุนทำงานต่อไป การงานก็ยิ่งพัฒนา อุตสาหกรรมก็เกิดขึ้น คำว่า อุตสาหกรรม แปลมาจาก industry แปลว่า “ความขยัน” เพราะฉะนั้น ผู้บัญญัติศัพท์ภาษาไทยจึงเอาคำว่า “อุตสาหะ” มาแทน industry เพราะมันแปลว่า “ความขยัน” ยุคอุตสาหกรรมก็คือ ยุคคนขยันที่เพียรพยายามสร้างเนื้อสร้างตัว

ในสังคมตะวันตกนั้น คนรุ่นเก่าต้องผ่านความยากลำบากมามาก เพราะดินแดนของเขามีความขาดแคลนมาก อากาศแสนจะโหดร้ายทารุณ ถ้าไม่ขยันเร่งทำการงาน ไม่ปรับปรุงปัจจัย ๔ มีที่อยู่อาศัยเป็นต้น ก็ตาย! ฤดูกาลของเขาที่หนาวเย็น ไม่ยอมให้เขาอยู่ได้อย่างสบาย ฝรั่งเองก็บอกว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาพัฒนามาได้ก็คือ ความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหา เอาชนะ ให้ผ่านพ้น scarcity แปลว่า ความแร้นแค้นหรือขาดแคลน ในการพยายามเอาชนะความขาดแคลนนี้ เขาก็ใช้ความขยัน (industry) มาทำงานทำการ โดยมีจริยธรรมในการทำงาน (work ethic) ซึ่งเป็น Protestant ethic คือจริยธรรมในการทำงานตามแนวคิดแบบโปรเตสแตนต์ ซึ่งสอนให้เป็นคนอยู่สันโดษ ไม่บำรุงบำเรอตนเอง แต่ขยันหมั่นเพียรมุ่งมั่นทำการงานอย่างเดียว แนวความคิดนี้สืบมาจากอังกฤษ เป็นลัทธิในยุคที่นิกายโปรเตสแตนต์เกิดขึ้น ถือว่าเป็นต้นทางของการพัฒนาอุตสาหกรรม

คนอเมริกันก็เจริญพัฒนามาด้วยแนวคิดอันนี้ เขาจึงภูมิใจว่าสังคมของเขามีจริยธรรมในงาน (work ethic) สูง แต่มาถึงปัจจุบันนี้ สังคมของเขาผ่านพ้นจากความเป็นสังคมอุตสาหกรรม ที่เรียกว่า สังคมอุตสาหกรรม (industrial society) มาเป็นสังคมที่เรียกว่า สังคมผ่านพ้นอุตสาหกรรม (post-industrial society) ไปแล้ว ซึ่งหมายความว่า อุตสาหกรรมบรรลุผลสำเร็จด้วยดี สร้างสรรค์วัตถุพรั่งพร้อมแล้ว สังคมอเมริกันกลายเป็นสังคมที่มั่งคั่งพรั่งพร้อม (affluent society) เขาก็ภูมิใจ แล้วตอนนี้ เขาก็เรียกสังคมของเขาว่าเป็น สังคมบริโภค (consumer society) คือผ่านพ้นจากการเป็นสังคมอุตสาหกรรม ที่ขยันหมั่นเพียรสร้างเนื้อสร้างตัวอย่างนักผลิต มาเป็นสังคมของผู้เสวยผลและเสพสุข เพราะฉะนั้นตอนนี้สังคมอเมริกันไม่เป็นสังคมอุตสาหกรรม (industrial society) แล้ว แต่เป็นสังคมที่ผ่านพ้นอุตสาหกรรม (post-industrial society) และเป็นสังคมบริโภค (consumer society) หรือมิฉะนั้นก็เรียกตามความเจริญทางเทคโนโลยีว่าเป็นสังคมข่าวสารข้อมูล หรือสังคมสารสนเทศ (information society)

เมื่อสังคมอเมริกันพัฒนามาจนเป็นสังคมบริโภค (consumer society) แล้ว ผู้คนก็มีความมั่งคั่งพรั่งพร้อม คนรุ่นใหม่ก็สบาย ไม่ต้องผจญความยากลำบาก ก็เริ่มสำรวย หยิบโหย่ง ไม่ขยันทำงานทำการ ยิ่งเทคโนโลยีเจริญมากจนเป็นยุคกดปุ่ม จะทำอะไรก็กดปุ่มเอา ไม่ต้องใช้กล้ามเนื้อ ใช้แต่กล้ามนิ้ว คนก็เห็นแก่ความสะดวกสบาย ขี้เกียจลง เกิดปัญหาขึ้นใหม่ว่าคนรุ่นใหม่ไม่สู้ความยากลำบาก มีผลงานวิจัยออกมาว่า จริยธรรมในการทำงานของคนอเมริกันปัจจุบันเสื่อมลง และสังคมอเมริกันก็มีปัญหารุมเร้ามากขึ้น เหมือนอย่างที่หนังสือต่างๆ เขียนบรรยาย เช่นข้อเขียน Is America on the Way Down? (อเมริกากำลังอยู่บนทางลง คือกำลังเสื่อมหรืออย่างไร) ปัญหาของอเมริกันมีมากมาย พูดเดี๋ยวมากไปก็น่าเบื่อ

เป็นอันว่า ปัญหาในสังคมอเมริกันขณะนี้ มากเหลือเกิน จนกระทั่งทำให้สังคมของเขาเสื่อมทรามลง คนอเมริกันยุคใหม่ใช้แต่เครื่องทุ่นแรง และเครื่องแทนอินทรีย์ของตน จนเรี่ยวแรงและอินทรีย์เสื่อมลงเพราะไม่ค่อยได้ใช้และไม่ได้ฝึก เช่นจะคำนวณ ก็ใช้เครื่องคิดเลขมาช่วย สมองไม่ต้องฝึก เมื่อสมองไม่ฝึกแล้ว มาถึงตอนนี้ คนฝรั่งรุ่นใหม่ ก็คิดเลขไม่ค่อยเป็น เมื่อคนไปซื้อของตามร้าน ถ้าไม่มีเครื่องคิดเลข ฝรั่งก็คิดไม่ออก นี่คือโทษของการปฏิบัติผิดต่อเทคโนโลยี คือตกอยู่ในความประมาท จนต้องกลายเป็นผู้พึ่งพาขึ้นต่อเทคโนโลยี จึงต้องระวัง คนเรานี้ถ้าไม่ฝึกอินทรีย์ไว้ อินทรีย์ก็เสื่อมลง ก็ต้องอาศัยเทคโนโลยีอย่างเดียว ฝรั่งเขาใช้ศัพท์เรียกว่า technological dependence ถ้าอย่างนี้ก็จะมีฝรั่งเพียงจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนจำนวนน้อยที่ยังมีความเก่งกล้าสามารถ มีสติปัญญาสูง แต่คนส่วนใหญ่โดยทั่วไปกำลังเสื่อมทรามลงมาก คนที่เป็นห่วงสังคมจึงครุ่นคิดกังวลกันว่า ทำอย่างไรจึงจะฟื้นฟูสังคมอเมริกันขึ้นมาได้

อันนี้เป็นปัญหาในส่วนเฉพาะบางอย่าง แต่เรื่องที่ควรจะพูดลงไปให้ลึกละเอียดก็คือ สภาพทางด้านรากฐานความคิดที่ว่าทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ เช่น แก้ปัญหาสภาพแวดล้อมไม่ได้ ที่ยังติดตันกันอยู่ อันสืบเนื่องจากแนวความคิดที่ผิด ซึ่งทำให้อะไรต่างๆ พลอยผิดไปหมด อะไรที่เคยทำให้เขาเจริญ บัดนี้ อันนั้นเองกลายเป็นเหตุแห่งความเสื่อมของเขา

กฎหมาย: เครื่องธำรงที่กลายเป็นเครื่องทำร้ายสังคม

ก่อนจะพูดในเรื่องใหญ่ลงไปอีก ขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง เพื่อแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เคยเป็นปัจจัยแห่งความเจริญในยุคหนึ่ง อาจจะเปลี่ยนมาเป็นปัจจัยแห่งความเสื่อมก็ได้ สิ่งที่เคยใช้เพื่อสร้างสรรค์อาจจะเปลี่ยนมาถูกใช้เพื่อการทำลายก็ได้ เพราะฉะนั้น การมองสิ่งต่างๆ ต้องมองให้รอบคอบ ปัจจัยตัวเดียวกัน ที่ทำให้สังคมอเมริกันเจริญ แต่ถ้านำมาใช้ในประเทศไทย ปัจจัยตัวนั้น อาจจะทำให้สังคมไทยเสื่อมก็ได้ เพราะฉะนั้น ต้องระวังให้ดี ไม่ใช่คิดว่าอเมริกาเจริญ อะไรๆ ก็จะไปเอาจากประเทศอเมริกา เห็นเขามีอะไร นึกว่าเอามาใช้แล้วจะดี อาจจะผิดเต็มที่ เพราะขณะนี้แม้แต่ในสังคมอเมริกัน ปัจจัยตัวเดียวกันที่เคยสร้างสรรค์ความเจริญของสังคมของเขาในอดีต ก็กลับกลายเป็นสิ่งที่สร้างความเสื่อมแก่สังคมของเขาในปัจจุบัน

ยกตัวอย่างเช่นกฎหมาย สังคมอเมริกันนี้ ถือได้ว่าเป็นสังคมที่ยอดเยี่ยมในการเคารพกฎหมาย การที่จะเป็นแบบอย่างของสังคมประชาธิปไตยได้นั้นต้องเป็นสังคมที่เคารพกฎหมาย กฎหมายได้เป็นหลักในการสร้างสรรค์สังคมอเมริกันมา ทำให้ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ และอยู่ร่วมกันด้วยดี แต่ปัจจุบันนี้บางทีมันก็ไม่ช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยดีแล้ว แต่กลับทำลายการอยู่ร่วมกันด้วยดีนั้นเสีย

ขณะนี้ในเมืองอเมริกา มีการโฆษณาบริการทางกฎหมายของพวกทนายความ คล้ายๆ กับว่าจะบำเพ็ญประโยชน์แก่ประชาชน มีการขึ้นป้ายว่าจะให้บริการทางกฎหมายฟรี แต่ที่จริงไม่ใช่ฟรีอะไรหรอก ไม่ใช่บำเพ็ญประโยชน์หรอก ทำท่าจะบำเพ็ญประโยชน์แต่ที่จริงจะเอาผลประโยชน์ ที่ว่ารับใช้บริการทางกฎหมายฟรีนั้นก็คือว่า คุณมีเรื่องอะไรกับเพื่อนบ้าน มาหาฉันได้ มาปรึกษาดู ฉันจะช่วยพิจารณาหาทางตั้งเป็นคดีให้ แล้วจะได้ไปฟ้องศาล เพื่อเรียกค่าเสียหายจากเพื่อนบ้าน ที่ว่าเป็นการบริการฟรีก็คือ ฉันไม่เรียกค่าทนาย เป็นแต่เพียงว่า เวลาไปฟ้องแล้ว ถ้าชนะ ได้เงินมาก็แบ่งกันคนละครึ่งนะ แต่ถ้าแพ้ก็แล้วไป อย่างนี้ชาวบ้านก็ชอบใจสิ ค่าทนายแพงมาก เมื่อไม่เสียค่าทนาย ก็มีแต่ได้อย่างเดียว แต่ได้คนละครึ่ง ทนายเอาไปครึ่งหนึ่ง เราเอามาครึ่งหนึ่ง ถ้าแพ้ก็แล้วกันไป

สังคมอเมริกันนั้นเขาถือหลักการพิทักษ์สิทธิส่วนบุคคลมาก อันนี้ก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่รักษาสังคมของเขาไว้ เพราะฉะนั้น แต่ละคนจึงเอาใจใส่ดูแลป้องกันสิทธิของตัวเอง ทุกคนมีเสรีภาพ แต่เสรีภาพนั้นมีขอบเขตที่ว่าจะไปละเมิดสิทธิของคนอื่นไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีเสรีภาพด้วยกัน เพราะฉะนั้นเสรีภาพจะอยู่ได้ด้วยดีแต่ละฝ่ายก็ต้องมีวิธีพิทักษ์ปกป้องสิทธิของตัว และคนก็จะเอาใจใส่กับการปกป้องสิทธิของตัวมาก

วิธีป้องกันสิทธิก็มีทั้งทางกฎหมายและทางขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นวัฒนธรรม วิธีที่เด่นมากก็คือ ในสังคมอเมริกันคนจะมีการ “ซู” (sue) กันมาก “ซู” (sue) คือ เรียกร้องหรือฟ้องเรียกค่าเสียหาย ฝรั่งระวังผลประโยชน์ของตัวเองมาก สิทธิของฉันใครอย่ามารุกล้ำนะ ถ้ารุกล้ำก็ฟ้องเลย ฟ้องเรียกค่าเสียหาย เรียกว่า “ซู” (sue) เพราะฉะนั้น ลูกบ้านนี้ไปบ้านโน้น บ้านโน้นมีสระว่ายน้ำ ไม่ป้องกันดูแลสระน้ำให้ดี ลูกบ้านนี้ไปตกน้ำตาย ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายหนักเลย หรือหน้าบ้านเรานี่เกิดหิมะตกแล้วไม่กวาดหิมะให้เรียบร้อย หิมะนั้นละลาย แล้วมันเย็นอีกที กลายเป็นน้ำแข็ง มองไม่เห็น ลื่นมาก คนอื่นเดินมาหน้าบ้านเรา ล้ม ขาหัก หรือหัวแตก เขาจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเราผู้เป็นเจ้าของบ้าน หรือแม้แต่ว่าลูกบ้านนี้ ไปเล่นกับเพื่อนบ้านโน้น ไปกินข้าวบ้านโน้น กลับมาท้องเสีย บ้านนี้ก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบ้านโน้น

เคยมีเรื่องขำๆ ขนาดที่ว่า บ้านหนึ่งฟ้าผ่า ไปศาล ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากพระผู้เป็นเจ้า เพราะไม่รู้จะซูใคร ก็ซู God เลย ฝรั่งเป็นเมือง “ซู” (sue) ชอบฟ้องเรียกค่าเสียหาย เพราะฉะนั้นไปตามถนน ระวังให้ดี เห็นคนแก่ หรือคนล้ม อย่าไปเที่ยวช่วย ดีไม่ดี ถูกซู จะไม่มีเงินชดใช้ อย่างดีก็ไปบอกตำรวจ เพราะบางคนเขาหาโอกาสอยู่แล้ว เขาอาจจะหาว่าเราไปทำให้เขาขาหัก ก็เลยฟ้องเรียกค่าเสียหาย แต่ในเรื่องนี้เขาก็มีเหตุผลอยู่ด้วยเหมือนกัน เพราะว่าคนที่ไม่ได้เรียนรู้วิชามา เมื่อเห็นคนหกล้ม หรือโดนรถทับ แล้วขาหัก ถ้าไม่เรียนรู้วิธีช่วย เข้าไปช่วย อาจกลายเป็นซ้ำเติมให้เขาแย่ลงไปอีก จึงต้องมีวิธีการช่วย แต่ก็มีเรื่องของการหาผลประโยชน์ด้วย คือการหาโอกาสฟ้องเรียกค่าเสียหาย

กรณีการซูที่ลือลั่นล่าสุด เกิดขึ้นไม่นานมานี้ เมื่อคุณผู้หญิงคนหนึ่งขับรถไปและแวะซื้อกาแฟร้อนแก้วหนึ่ง (เมืองอเมริกาใช้แก้วกระดาษ) ที่ร้านแมคโดนัลด์ เนื่องจากกำลังขับรถอยู่ ซื้อแล้วก็วางแก้วกาแฟร้อนระหว่างขาและขับรถออกไป กาแฟร้อนมากเกิดหก ก็เลยลวกขาบาดเจ็บ คุณผู้หญิงนั้นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทฐานทำกาแฟร้อนเกินไปเป็นเหตุให้เธอบาดเจ็บ บริษัทแมคโดนัลด์แพ้คดี ต้องจ่าย คุณผู้หญิงนั้นได้เงินไปหลายล้าน

เรื่องการไปหาหมอเมืองโน้นก็เป็นธุรกิจเต็มที่ ไม่มีระบบคุณธรรมแบบคนไทย หมอก็ต้องมีประกันไว้ เพราะว่าถ้าหมอพลาด คนไข้เขามองหรือบางทีถึงกับจ้องอยู่แล้ว เขาก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายเลย บริษัทประกันก็ต้องชดใช้ให้ แต่บางคดีก็เป็นส่วนที่หมอจะต้องจ่ายเอง อย่างผมไปคราวที่แล้ว เจอหมอไทยคนหนึ่ง กำลังเดือดร้อนมาก ถูกฟ้องคดีคาอยู่กับศาล จะต้องจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่คนไข้ประมาณ ๑๐ ล้าน ยิ่งมาถึงตอนนี้ ก็หนักเข้าไปอีก หมออยู่ไม่ค่อยเป็นสุข เพราะมาถึงยุคที่คนหาผลประโยชน์จากกฎหมาย จึงร้ายยิ่งกว่าเดิม หมอเต็มไปด้วยความหวาดระแวง เพราะคนไข้คอยจ้องหาช่องอยู่ว่า ถ้าพลาดอะไรนิดเดียวก็จะฟ้องเรียกค่าเสียหายทันที

ในสภาพอย่างนี้ เพื่อนบ้านก็อยู่กันไม่เป็นสุข เพราะเต็มไปด้วยความหวาดระแวงกัน แทนที่จะมองกันด้วยความเป็นมิตรไมตรี คิดช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกัน ก็มามองหาช่องกันว่า เราจะได้ผลประโยชน์อย่างไรจากเพื่อนบ้าน โดยการไปฟ้องเรียกค่าเสียหาย พลาดกันนิดก็ไม่ได้ เลยทำให้ชีวิตไม่มีความสุข ก็เสียความมั่นคงทางด้านจิตใจ จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า กฎหมายนี่แหละซึ่งเป็นสิ่งที่เคยช่วยให้สังคมอเมริกันมีความมั่นคง แต่บัดนี้ มันกลับกลายเป็นตัวบั่นทอนความมั่นคง อาชีพทนายความเป็นอาชีพที่มีรายได้ดีที่สุดในอเมริกา ต่างกับในเมืองไทยที่แพทย์เป็นอาชีพที่มีรายได้มากที่สุด เมื่อรายได้ดี คนก็อยากเรียนกันมาก ก็ผลิตทนายความกันขึ้นมามากมาย และต่างคนต่างก็หาผลประโยชน์ ไปๆ มาๆ กลับมามีผลกระทบต่อสังคมอเมริกันอย่างที่ว่านี้

คราวที่แล้วนี้ ที่ผมไปอเมริกา มีภรรยาหมอไทยท่านหนึ่งไปหาหมอที่เป็นเพื่อนของสามี ซึ่งนับว่าเป็นผู้อยู่ในวงการหมอด้วยกัน จะผ่าตัดด้วยโรคอย่างหนึ่ง แต่หมอบอกว่าสงสัยจะมีอีกโรคหนึ่งด้วย แกก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นคุณหมอผ่าแล้ว ถ้าเจออีกเรื่องหนึ่งว่าเป็นปัญหาด้วย ก็ช่วยจัดการตัดเสียเลย เวลาเขาจะผ่า ก็ต้องมีการเซ็นยินยอม เพื่อการป้องกันตามกฎหมาย ตอนที่บอกว่าอีกอย่างหนึ่งนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นแน่หรือเปล่า ก็บอกเผื่อไว้ พอผ่าไปแล้ว หมอเจออีกโรคหนึ่งจริงๆ แต่หมอไม่กล้าทำ ต้องเย็บปิดท้องไว้ก่อน แล้วมาพูดกันใหม่ ถ้าตกลงว่าเอาอันนั้นออกด้วย ก็ผ่าใหม่ นี่ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ในสังคมที่พัฒนาเจริญแล้วเป็นอย่างนี้ สิ่งที่เคยเป็นปัจจัยแห่งความดีงามและความเจริญในยุคหนึ่ง เมื่อความวิปลาสเกิดขึ้น ก็เปลี่ยนความหมายกลับกลายเป็นเครื่องก่อความเดือดร้อนยากลำบาก

หนึ่งกับหนึ่งเป็นสอง กลายเป็นหนึ่งกับหนึ่งเป็นสูญ

อีกเรื่องหนึ่ง การมองปัจจัยตัวหนึ่ง โดยไม่มองตัวควบ หรือตัวประกอบของมันด้วย ก็ทำให้พลาดได้ ตามปกติในระบบของความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยนั้น ปัจจัยตัวหนึ่งจะเกิดผลได้ ต้องร่วมกับปัจจัยอื่นด้วย เพราะมันมีความสัมพันธ์กัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสันโดษไม่มากับความขยัน ก็พาลิ่วลงเลย เราจะสอนสันโดษอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูปัจจัยที่จะใช้ร่วมกันด้วย คือความขยัน เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ในหลักอริยวงศ์ ๔ คือ หนึ่ง ภิกษุสันโดษพอใจในจีวร สอง สันโดษในบิณฑบาต สาม สันโดษในเสนาสนะ และ สี่ คือ ยินดีในการเจริญกุศลและในการละอกุศล ข้อที่สี่นี้คือเป้าหมายของสันโดษ คือสันโดษในวัตถุเสพแล้ว ไม่ต้องวุ่นด้านวัตถุแล้ว ก็จะได้ระดมกำลังมาปฏิบัติในด้านเจริญกุศลและละอกุศลได้เต็มที่ นี่แสดงว่า สันโดษต้องมากับองค์ประกอบที่มารับช่วง คือความเพียร หมายความว่า สันโดษเพื่อหนุนความเพียร ธรรมต้องสัมพันธ์กัน ไม่ใช่ว่า ไปเอาธรรมะมาเป็นข้อๆ ลอยๆ แยกต่างหากจากกัน

คนอเมริกัน เวลานี้ก็สำนึกในเรื่องนี้เหมือนกัน แนวความคิดอย่างหนึ่งที่เขาถือว่า เป็นปัจจัยสร้างสรรค์ความเจริญของอเมริกัน คือลัทธิปัจเจกนิยม (individualism) สังคมอเมริกันเป็นสังคมที่ถือหลักปัจเจกนิยม (individualism) แนวความคิดนี้ เมื่อนำมาใช้ในทางเศรษฐกิจ มีความหมายว่า เมื่อปัจเจกชนแต่ละคน แสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนให้มากที่สุด ความเจริญก็จะเกิดขึ้นแก่สังคมไปเอง หมายความว่า เมื่อแต่ละคน ต่างคนต่างก็หาผลประโยชน์ สร้างเนื้อสร้างตัว หารายได้เพื่อตัวเองให้มากที่สุดแล้ว ประโยชน์จะเกิดขึ้นแก่สังคมเอง สังคมจะเจริญไปเอง ลัทธินี้เป็นปัจจัยนำมาซึ่งระบบการแข่งขัน (competition) ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหรือเป็นแกนของการสร้างความเจริญแก่สังคมอเมริกัน

แต่มาในปัจจุบันนี้ คนอเมริกันบางส่วนเริ่มสำนึกว่า สังคมของเขาไม่ได้เจริญเพราะปัจเจกนิยม (individualism) เท่านั้น แต่ต้องมีปัจจัยตัวอื่นมาประกอบด้วย มันจึงทำให้เจริญ เหตุที่คนอเมริกันเกิดความรู้สึกสำนึกในเรื่องนี้ก็เพราะว่า มาถึงตอนนี้สังคมอเมริกันไปเกี่ยวข้องกับสังคมอื่น ประเทศชาติอื่น แล้วก็มาประสบความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของตัวเอง ที่กลายเป็นสังคมบริโภคแล้วคนชักขี้เกียจ การที่แต่ละคนหาผลประโยชน์ของตัวให้ได้มากที่สุด แล้วทำให้สังคมเจริญขึ้นนั้น ก็คือ ลัทธิเห็นแก่ตัวนั่นเอง สังคมอเมริกันสนับสนุนความเห็นแก่ตัวให้แต่ละคนหาผลประโยชน์แก่ตนให้มากที่สุด และเข้าใจว่านี่แหละคือตัวเหตุของความเจริญ แต่เวลานี้บางคนมานึกได้ว่า การที่ลัทธิปัจเจกนิยมทำให้สังคมอเมริกันเจริญได้ก็เพราะที่จริงมันมีตัวควบ เป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้คนสร้างความเจริญได้ คือจริยธรรมการทำงาน (work ethic) นั่นเอง

ถ้าปัจเจกนิยม (individualism) ไม่มีจริยธรรมการทำงาน (work ethic) ควบอยู่ด้วย การหาผลประโยชน์ของตัวเองนั้น ถ้าไม่มาพร้อมกับความขยันหมั่นเพียรในการทำงาน ไม่มีความอดออม สู้งาน เป็นต้น แบบเก่า คนก็จะหาผลประโยชน์โดยวิธีอื่น เช่น โดยวิธีซู (sue) คือคอยหาช่องเล่นงานเพื่อนพ้อง หักหลังเพื่อนบ้าน ตลอดจนหากินบนหลังคนอื่น และทุจริตในรูปแบบต่างๆ หรือไม่ก็จะเป็นไปอีกทางหนึ่ง คือ พอตัวเองได้ผลประโยชน์ให้แก่ตนอยู่สบาย แล้วก็จะขี้เกียจไปเลย เพราะฉะนั้นการที่ลัทธิปัจเจกนิยม (individualism) สามารถเป็นปัจจัยสร้างความเจริญให้แก่สังคมอเมริกันได้ ก็เพราะมีตัวควบคือจริยธรรมการทำงาน (work ethic) มาด้วย

ครั้นมาถึงปัจจุบันนี้ ทั้งๆ ที่ลัทธิปัจเจกนิยม (individualism) ก็ยังคงอยู่ แต่เมื่อตัดจริยธรรมการทำงาน (work ethic) คือ นิสัยรักงานสู้งานออกไป ปัจเจกนิยม (individualism) นี้กลับไปพ่วงกับนิสัยบริโภคนิยม แล้วจะเกิดผลอย่างไร ผลก็คือความลุ่มหลงเพลิดเพลินเสพวัตถุ การจ้องหาผลประโยชน์จากผู้อื่น และความเกียจคร้านที่นำไปสู่ความเสื่อมเท่านั้นเอง ยกตัวอย่างเพียงแค่ปัจเจกนิยม (individualism) อย่างเดียว ก็มีแง่คิดมากพอแล้ว

ตอนนี้อเมริกันมาสมาคมกับประเทศอื่นๆ และสู้กันในเวทีโลก เช่นสู้กับญี่ปุ่น เขาเข้าใจว่า ในระบบแข่งขันแต่ละคนต้องหาผลประโยชน์ให้แก่ตัวให้มากที่สุด แล้วจะสร้างความเจริญขึ้นได้ และนึกว่านี่เป็นวิธีเดียวที่จะสร้างความเจริญให้แก่สังคม แต่พอหันไปดูญี่ปุ่น อเมริกันก็สะดุดใจว่าไม่อย่างนั้น ญี่ปุ่นนี่ใช้ระบบสามัคคี คนญี่ปุ่นร่วมงานกัน มีการเชื่อฟังกันมาก หัวหน้างานว่าอย่างไร ลูกน้องเอาตาม ใครไปทำงานในโรงงานไหน บริษัทไหน ก็รักโรงงาน และบริษัทของตัว อุทิศตัวให้แก่กิจการ ไม่ลาไม่จากไปไหน ถ้าใครออกจากงานที่หนึ่งจะไปหางานที่อื่นยาก เพราะคนอื่นเขามองว่าคงจะเป็นคนไม่ดีจึงต้องออกมา ระบบการทำงานของญี่ปุ่นนี้ ตรงกันข้ามกับอเมริกันเลย ไม่เป็นระบบแก่งแย่งสิทธิ แต่เป็นระบบร่วมมือกัน อเมริกันก็ได้คิดว่า โอ้! มันไม่ใช่ปัจเจกนิยม (individualism) แบบเราเท่านั้นนะที่จะสร้างความเจริญได้ ยังมีวิธีการอื่นอีก และพอไปสู้กับเขาแล้ว บางทีวิธีของตัวเองกลับสู้ไม่ได้

หนึ่งต่อด้วยอะไร จึงจะไปถึงสิบ

เรื่องนี้ให้แง่คิดแก่เราอย่างที่ว่าแล้ว คือ ปัจจัยที่จะใช้ในการสร้างสรรค์อะไรสักอย่างหนึ่งนั้น อย่ามองตัวเดียวแยกออกมา ต้องมองตัวควบ ตัวประสาน ตัวสัมพันธ์ หรือตัวประกอบอื่นด้วย ปัจจัยตัวเดียวกันนั้น เมื่อใช้ประกอบกับปัจจัยอีกตัวหนึ่ง ทำให้เกิดการสร้างสรรค์เจริญก้าวหน้า แต่พอปัจจัยตัวเดียวกันนั้นไปประกอบร่วมกับปัจจัยอีกตัวหนึ่ง ต่างออกไป กลับทำให้เกิดความเสื่อมไปเลย อย่างสันโดษก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราไม่ใช้สันโดษเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะไปร่วมกับปัจจัยอื่นเพื่อทำให้เกิดการสร้างสรรค์ แต่ใช้สันโดษล้วนๆ เฉพาะตัว ก็ไปหยุดอยู่ที่ความพอใจ แล้วก็สบาย พอแค่นี้ ก็ได้ความสุข แต่ผลตามมาก็ขี้เกียจเท่านั้นเอง นอนสบาย ไม่ต้องเอาอะไร แค่นี้เราสุขแล้ว พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนสันโดษแบบนี้

สันโดษมีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร ธรรมทุกข้อต้องมีความมุ่งหมาย บางคนตอบว่า สันโดษเพื่อจะได้มีความสุข ยังไม่เคยพบที่ไหนที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สันโดษเพื่อมีความสุข แต่สันโดษนั้นทำให้มีความสุขในตัวของมันเองทันทีเลย แต่สันโดษไม่ใช่เพื่อความสุข เวลาเราสันโดษแล้วเราก็สุขได้เลย เราจะพอใจในปัจจัย ๔ ที่มีน้อยๆ และเราก็มีความสุขในทันที สันโดษทำให้เราเป็นคนมีความสุขได้ง่าย แต่สันโดษไม่ใช่เพื่อความสุข ความสุขเป็นผลพลอยได้ที่เกิดตามมาเองจากสันโดษ แต่ไม่ใช่จุดหมายของสันโดษ

สันโดษอยู่ในกระบวนการปฏิบัติธรรม คือ เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในระบบความสัมพันธ์ สู่จุดหมายใหญ่อันเดียวกัน ฉะนั้น มันจึงต้องมีความมุ่งหมายเพื่อจะก้าวหน้าไปสู่ธรรมที่สูงขึ้นไป สันโดษเป็นปัจจัยตัวหนึ่งที่จะให้เราก้าวหน้าในการปฏิบัติ โดยที่มันไปสนับสนุนความเพียร หมายความว่า สันโดษเป็นตัวเอื้อให้เราเพียร เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสความไม่สันโดษ ไว้คู่กันด้วย

พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัส ‘สันโดษ’ ไว้ลอยๆ สันโดษต้องมีอะไรตามมาด้วย สันโดษสำหรับพระภิกษุก็ตามด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ ถ้าไม่มีตัวตาม เป็นสันโดษลอยๆ ใช้ไม่ได้ ถ้าตัวตามผิดไป เช่น ภิกษุไปสันโดษในกุศลธรรม ก็กลายเป็น ปมาทวิหารี (ผู้อยู่ด้วยความประมาท) ไปเลย

ในพระสูตรหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุแม้จะเป็นอริยบุคคล เช่น เป็นโสดาบัน ปฏิบัติธรรมได้บรรลุคุณธรรมวิเศษ แล้วมาพอใจว่าเรานี้ได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูงถึงขนาดนี้แล้วเกิดสันโดษขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุรูปนั้นเป็น ปมาทวิหารี แปลว่า ผู้อยู่ด้วยความประมาท เป็นผู้ที่จะเสื่อม ฉะนั้น สันโดษในกุศลธรรมจึงผิด พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัส มีแต่ตรัสว่า ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม

เป็นอันว่า สันโดษนั้น หนึ่ง ต้องมีตัวตามว่า สันโดษในอะไร ไม่ใช่ทิ้งไว้ด้วนๆ ลอยๆ สอง ต้องมีตัวควบว่าต้องมากับอะไรหรือต่อด้วยอะไร สาม ต้องมีจุดหมายว่าเพื่ออะไร

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ที่เราได้ตรัสรู้มานี้ ได้เห็นคุณของธรรมสองประการ คือ หนึ่ง ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย สอง การบำเพ็ญเพียรไม่ระย่อ

พุทธพจน์นี้มาในอังคุตตรนิกาย ตรัสแสดงไว้ให้เราจำตระหนักว่า พระองค์ได้ตรัสรู้ คือบรรลุโพธิญาณ เพราะไม่สันโดษตามด้วยคำว่า ในกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นอันว่า ธรรมที่ทำให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ หนึ่ง อสนฺตุฏฐิตา กุสเลสุ ธมฺเมสุ ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย สอง อปฺปฏิวาณิตา จ ปธานสฺมึ ความไม่ระย่อในการบำเพ็ญเพียร และพระองค์ได้บรรยายต่อไปว่า เรานั้น นั่งลงที่ควงโพธิ์ แล้วได้อธิษฐานจิตว่า ถ้ายังไม่ถึงธรรมที่จะพึงบรรลุได้ด้วยความเพียรของบุรุษตราบใด แม้เลือดเนื้อจะแห้งเหือดเหลือแต่เส้นเอ็น ก็จะไม่ลุกขึ้น นี่เป็นตัวอย่าง

พระพุทธเจ้าไม่เคยสันโดษเลยในเรื่องกุศลธรรม พระองค์เสด็จออกไปหาความรู้ แสวงหาผลสำเร็จในทางจิตใจ ไปบำเพ็ญสมาธิ ไปเข้าสำนักโยคะ ไปเข้าสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร ได้บรรลุถึงอากิญจัญญายตนสมาบัติ ไม่สันโดษ ไม่พอแค่นั้น เสด็จต่อไปยังสำนักอุททกดาบส รามบุตร ได้ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็ไม่สันโดษอีก เขาเชิญให้ทรงเป็นอาจารย์ร่วมสำนักด้วย ก็ไม่เอา พระองค์ยังไม่ถึงจุดหมาย ก็ไม่หยุด คิดค้นเพียงพยายามต่อไปจนกระทั่งตรัสรู้ จึงได้ตรัสยืนยันไว้ว่า ที่พระองค์ตรัสรู้นั้น เพราะไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย

ธรรม ๒ ข้อนี้มิใช่ตรัสไว้ในพระสูตรเท่านั้น แม้ในพระอภิธรรมปิฎกท่านก็แสดงไว้เป็นมาติกาหนึ่งในหมวดทุกมาติกาด้วย ฉะนั้น ความไม่สันโดษนี้ว่าไปแล้ว สำคัญยิ่งกว่าความสันโดษอีก แต่เราแทบจะไม่พูดกันเลย เราพูดถึงแต่สันโดษและเป็นสันโดษด้วนๆ

ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง เมื่อเราสันโดษในปัจจัย ๔ ตลอดจนในวัตถุบำรุงบำเรอทั้งหลายแล้ว เราก็ไม่สันโดษในกุศลธรรมได้เต็มที่ มันก็รับกันพอดี ความสันโดษกับความไม่สันโดษนี้ ประสานสอดคล้องกันอย่างยิ่ง เมื่อเราสันโดษในปัจจัย ๔ และในวัตถุบำรุงความสุขแล้ว เราก็มีเวลา แรงงาน และความคิด เหลือเฟือ เราก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นไปใช้ในการไม่สันโดษในกุศลธรรม ทำให้บำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ และเจริญก้าวหน้าในกุศลธรรมได้เต็มที่

ฉะนั้น เรื่องธรรมนี้ จะต้องวิเคราะห์กันให้ชัดไปเลย ในที่นี้ยกมาเพียงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ในสังคมอเมริกัน ลัทธิปัจเจกนิยม (individualism) ได้กลายมาเป็นปัญหา ซึ่งตอนนี้ฝรั่งเริ่มเห็นแล้ว ฝรั่งเริ่มเข้าใจอะไรต่ออะไรในระบบความสัมพันธ์แห่งปัจจัยต่างๆ มากขึ้น

เหตุหนึ่งที่ทำให้ฝรั่งสนใจในพระพุทธศาสนา คือการที่พระพุทธศาสนาสอนว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ฝรั่งไปติดในระบบความคิดแบบแบ่งซอย แยกส่วน จนกระทั่งในทางวิชาการก็ออกมาเป็นความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน (specialization) พอมองเห็นว่าแนวความคิดนี้ติดตัน แก้ปัญหาไม่ได้ ก็หันมาสนใจระบบองค์รวม แล้วก็มาเรียนรู้ว่าพระพุทธศาสนามองสิ่งทั้งหลายทุกอย่างอยู่ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นการประชุมเข้าขององค์ประกอบทั้งหลายที่เป็นปัจจัยอิงอาศัยส่งผลต่อกัน ฝรั่งก็มาชอบหลักนี้ แล้วก็ถือว่าเข้ากับแนวความคิดใหม่ของเขาที่มองอะไรเป็นระบบ ขณะนี้ฝรั่งมองอะไรแม้แต่เรื่องธุรกิจการจัดการ ก็ต้องใช้การคิดเป็นระบบ เรียกว่า systems thinking ซึ่งตอนนี้กำลังเฟื่องใหญ่

ภูมิปัญญาที่สร้างความเจริญน่าตื่นตาในเบื้องต้น
แต่นำสู่ความอับจนในเบื้องสุด

ขอย้อนถอยหลังไปอีก แนวความคิดของฝรั่งที่ถือว่าเป็นฐานของความเจริญของอเมริกัน ที่ขอยกมาเป็นตัวอย่างหนึ่ง ฝรั่งเรียกว่า frontier mentality อเมริกันภูมิใจนัก frontier แปลว่าพรมแดน mentality แปลว่า สภาพจิต รวมกันแปลเอาความว่า สภาพจิตแบบบุกฝ่าพรมแดน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมตะวันตกได้พัฒนามา จนทำให้ฝรั่งมีลักษณะนิสัยที่เขายอมรับเองว่าเป็น offensive คือ เป็นพวกรุกราน บุกฝ่าพรมแดน คือ ก้าวไปข้างหน้า ไปหาสิ่งที่ยังไม่พบ แนวความคิดนี้มีมาตั้งแต่ยุโรป เป็นฐานความเจริญอย่างหนึ่งของอารยธรรมตะวันตก

สภาพจิตแบบบุกฝ่าพรมแดน (frontier mentality) คือ แนวความคิดที่มองว่า ดูสิ โลกนี้ไกลออกไป ที่เรายังไปไม่ถึง มีทรัพยากรอีกมากมายที่สนองความต้องการของเราได้แต่เรายังไม่ได้ไปใช้ จงบุกฝ่ามันไป ไปข้างหน้า ไปค้นหา แล้วจะได้พบทรัพยากรที่มีมากมายอย่างไม่รู้จักหมดสิ้นนั้น แล้วเราจะได้นำมาใช้ประโยชน์ นอกจากนั้น ประเทศของเรานี้เจริญพัฒนาแล้ว บุกฝ่าไปข้างหน้า จะได้ไปเจอมนุษย์ทั้งหลายที่ยังล้าหลัง ด้อยความเจริญ แล้วเราจะได้ไปช่วยพัฒนามนุษย์พวกนั้นให้เจริญก้าวหน้าขึ้น แนวความคิดนี้เขาถือเป็นฐานของลัทธิอาณานิคมด้วย

ด้วยความคิดนี้จึงทำให้โคลัมบัส (Columbus) ดั้นด้นไปค้นหา ไปแสวงโชค ในดินแดนไกล บุกฝ่าไป จนกระทั่งไปค้นพบทวีปอเมริกา และในทำนองเดียวกันนี้ พวกลัทธิอาณานิคมก็มาล่า มาหาดินแดนทางอาเซีย

แนวความคิดซึ่งกลายเป็นลักษณะนิสัยของชาวตะวันตก ที่จะบุกฝ่าพรมแดน เพื่อไปพบสิ่งที่ยังไม่พบ และจะได้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างล้นเหลือในธรรมชาติ และจะไปทำให้คนที่ยังป่าเถื่อนไม่พัฒนา ได้เจริญตามขึ้นมาโดยเอาตัวฝรั่งเองเป็นหลักนี้ มาปรากฏเด่นที่อเมริกา คือ เมื่อพวกฝรั่งหนีภัยจากยุโรป ไปขึ้นที่อเมริกาด้วยเหตุที่ถูกบีบคั้น เช่น การหนีภัยศาสนาซึ่งเป็นเหตุปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาบุกฝ่าไป โดยรู้อยู่ว่าที่จะไปนี้ลำบากมาก เสี่ยงภัย จะตายหรือรอดยังไม่แน่ แต่ถ้าอยู่ตายแน่ เพราะฉะนั้นเสี่ยงภัยไปดีกว่า และบางพวกพอได้ยินว่าพวกที่ไปก่อนแล้วได้ไปพบอะไรต่ออะไรก็พากันเสี่ยงโชคกันไป เช่นไปขุดทอง พอไปแล้ว ก็ไปขึ้นฝั่งที่นิวยอร์ค (New York) บ้าง ที่บอสตัน (Boston) บ้าง ได้เห็นดินแดนอเมริกาที่กว้างใหญ่ไพศาล ไม่รู้ว่าจะไปถึงไหน ยังไม่เคยบุกฝ่าไปเลย เป็นสิ่งที่ท้าทายต่อแนวความคิดและลักษณะนิสัยของเขา

ประเทศอเมริกาเป็นดินแดนใหม่ เป็นโลกใหม่ เป็น New World แนวความคิดนี้ทำให้พวกนี้ไม่ท้อใจ ก็คิดว่า โอ้โฮ! มันจะต้องมีอะไรให้เราไปพบอีกเยอะแยะ อเมริกาเป็นดินแดนที่ยังต้องบุกฝ่าไป ทั้งในแง่ของธรรมชาติที่มีทรัพยากรไม่รู้ว่าเท่าไร ทั้งในแง่ของสภาพสังคม ที่เป็นสังคมใหม่ ไม่ตึงตัวด้วยกฎหมาย ระเบียบ วัฒนธรรม กติกาสังคมต่างๆ เหมือนอย่างในยุโรป ที่มีระบบสังคม และระบบการปกครองอะไรต่ออะไรตายตัวไปหมดแล้ว แก้ไขยาก ส่วนอเมริกานี้ทุกอย่างจะต้องมาวางเอาใหม่ทั้งหมด เพราะฉะนั้นมันจึงท้าทายต่อความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ พวกนี้ก็บุกไปทางตะวันตก เพราะขึ้นที่ฝั่งตะวันออก แนวความคิดนี้ได้พัฒนามาจนมีความหมายว่า การสร้างความเจริญของอเมริกาได้แก่การบุกฝ่าไปตะวันตก ดังมีคติที่คนอเมริกันจำแม่นว่า Go west young man และต่อด้วยคำว่า and grow up with the country.

ท่อนแรก Go west young man แปลว่าเจ้าหนุ่ม จงมุ่งหน้าไปตะวันตก ท่านที่เกิดนานๆ แล้วคงได้ดูหนังคาวบอย (cowboy) ซึ่งก็เป็นเรื่องของแนวคิดนี้แหละ ที่ทำให้เขาบุกลึกเข้าไป มุ่งหน้าไปตะวันตก ไปเรื่อย จนกระทั่งถึงแคลิฟอร์เนีย (California) แล้วก็ต่อด้วยท่อนที่สอง and grow up with the country แปลว่า แล้วจงทำบ้านนอกขอกนาให้เจริญขึ้นมาพร้อมกับตัวเจ้า อันนี้แหละ คือแนวความคิดที่เป็นคติในการสร้างสรรค์ประเทศอเมริกา ที่ชนชาตินี้ภาคภูมิใจนัก และเมื่อเขาได้สร้างประเทศอเมริกาให้เจริญทั่วผืนแผ่นดินแล้ว ก็บุกฝ่าพรมแดนไปในอวกาศคือ space อีก ซึ่งก็มาจากความคิดแบบฝ่าพรมแดน (frontier) อีกเหมือนกัน เป็นอันว่า แนวความคิดนี้ได้เป็นฐานในการสร้างสรรค์สังคมอเมริกันมาเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม หลักการอย่างหนึ่งในแนวความคิดนี้ก็คือ การถือว่าทรัพยากรในธรรมชาติมีล้นเหลือไม่รู้จักหมดสิ้น ซึ่งทำให้อเมริกากลายเป็นสังคมที่บริโภคอย่างไม่อั้น และใช้อะไรต่ออะไรอย่างไม่ปรานีเลย สังคมอเมริกันนั้นฟุ่มเฟือยมาก เขาโกนหนวดครั้งหนึ่ง นักสถิติเคยคำนวณออกมา ต้องใช้น้ำกี่แกลลอนๆ คือใช้น้ำมากเหลือเกิน เพราะฝรั่งอเมริกันเปิดก๊อกน้ำไว้ก็โกนหนวดไป แกไม่ปิดน้ำนั้น เปิดทิ้งไว้จนกระทั่งโกนเสร็จแล้วจึงปิดน้ำ แม้กระทั่งส้วมชักโครกที่มาจากสังคมฝรั่งก็ใช้น้ำทีละเป็นถังเลย ที่จริงส้วมชักโครกเวลานี้ จะใช้อย่างนั้นไม่ได้แล้ว เพราะธรรมชาติแวดล้อมที่เป็นทรัพยากร มันไม่อนุญาต แต่สังคมอเมริกันได้สร้างนิสัยนี้มาจนเคยแล้ว พวกเราก็ตามเขา เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นตัวก่อปัญหา เวลานี้แนวคิดฝ่าพรมแดน (frontier) กลายเป็นตัวการสำคัญที่เป็นปัจจัยของการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ฝรั่งเองจึงบอกว่าจะต้องเปลี่ยนแนวความคิดใหม่

ปัจจัยในการสร้างสรรค์สังคมอเมริกันอย่างหนึ่งที่พูดไปแล้ว ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ลึกและมีมายาวนานกว่านั้น คือ แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ ซึ่งได้บอกแล้วว่า เป็นรากฐานของอารยธรรมตะวันตกทั้งหมด ที่เจริญมาโดยเฉพาะในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สองพันกว่าปีแล้วที่ตะวันตกได้ยึดถือแนวความคิดนี้มา และฝรั่งก็ภูมิใจ ถึงกับเขียนไว้ในหัวข้อประวัติศาสตร์แห่งวิทยาศาสตร์คือ history of science ในหนังสือสารานุกรมบริแทนนิกา (Encyclopaedia Britannica) คุยไว้ว่า ในอดีตกาลนานมาแล้ว สังคมตะวันออกเจริญในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่าตะวันตก แต่ด้วยแนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ ก็ทำให้ตะวันตกเจริญล้ำหน้าตะวันออกไปได้ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะจัดการกับโลกแห่งธรรมชาติ จุดนี้แหละที่เขาภูมิใจมาก

นักคิดของเขา ตั้งแต่โสคราตีส (Socrates) เพลโต (Plato) อริสโตเติล (Aristotle) จนถึงเดส์คาร์ตส์ (Descartes) แม้กระทั่งฟรอยด์ (Freud) ทุกคนมีความคิดแบบนี้ บางคนพูดถึงขนาดว่า เมื่อเราพัฒนาวิทยาศาสตร์มากขึ้นต่อไป ความเจริญทางวิทยาศาสตร์จะทำให้เราเอาธรรมชาติมาอยู่ในกำมือของเรา แล้วเราก็จะสามารถปั้นมันให้เป็นรูปร่างอะไรก็ได้ตามที่เราต้องการ ความคิดของตะวันตกมีความใฝ่ฝันถึงขนาดนี้ แต่เวลานี้ความคิดนี้อับจนแล้ว

อย่างไรก็ตาม แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาตินี้ ก็เป็นฐานของอารยธรรมตะวันตก และเป็นตัวเอื้อต่อแนวความคิดฝ่าพรมแดน (frontier) นั้นด้วย และยังมีแนวความคิดอีกอย่างหนึ่ง ที่เข้ามาประสาน ซึ่งควรจะจำไว้ คือแนวความคิดที่เป็นฐานของเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมของตะวันตก

วิทยาศาสตร์เป็นความรู้ และเป็นการหาความรู้ล้วนๆ เมื่อได้ความรู้แล้วก็เอามาพัฒนาเทคโนโลยี เทคโนโลยีจึงอยู่บนฐานวิทยาศาสตร์ แล้วเทคโนโลยีนี้ก็มาทำให้เกิดความเจริญทางอุตสาหกรรม โดยนำมาใช้ในการผลิตสิ่งบริโภคต่างๆ กระบวนการทางเศรษฐกิจทั้งหลายจึงอาศัยเทคโนโลยีที่นำมาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมให้เจริญขึ้นมา

อุตสาหกรรมเจริญเพื่ออะไร ก็เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ คือมีจุดหมายในที่สุดเพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จะได้มั่งคั่งพรั่งพร้อมนั่นเอง ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีเพื่ออะไร ก็เพื่อมนุษย์จะได้มีกินมีใช้ มีบริโภคเต็มที่ แนวความคิดนี้ก็ไปรับกับแนวความคิดที่ว่า เมื่อมนุษย์มีกินมีใช้ มีบริโภค มีสิ่งเสพเต็มที่บริบูรณ์มากที่สุด มนุษย์จะมีความสุขมากที่สุด มนุษย์จึงมีความมุ่งหมายใฝ่ฝันว่า เมื่อวิทยาศาสตร์เจริญ มนุษย์เอาชนะธรรมชาติได้เรียบร้อยแล้ว มนุษย์จะมีความสุขสมบูรณ์ เพราะมนุษย์จะมีกิน มีใช้ มีเสพบริบูรณ์มากที่สุด

ฐานความคิดที่แฝงอยู่ในเรื่องนี้ก็คือ ความเชื่อที่ว่ามนุษย์จะมีความสุขมากที่สุด เมื่อเสพมากที่สุด ความคิดนี้ก็มาเป็นฐานทางด้านเศรษฐกิจว่า เสพมากที่สุดคือสุขมากที่สุด จะเสพมากที่สุดเพื่อสุขมากที่สุดก็ต้องมีเสพให้มากที่สุด จะมีเสพได้มากที่สุดก็ด้วยอาศัยอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจะเจริญได้ก็ต้องอาศัยเทคโนโลยี เทคโนโลยีจะพัฒนาได้ ก็ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมา ก็ทำให้ชนะธรรมชาติโดยใช้เทคโนโลยีจัดการผ่านกระบวนการอุตสาหกรรม พอจัดการกับธรรมชาติได้ตามใจชอบเราก็มีวัตถุมาเสพได้มากที่สุด แล้วก็จะสุขมากที่สุด การที่จะมีวัตถุเสพก็ด้วยอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีไปเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ ตกลงว่าแนวความคิดทั้งหมดนี้ก็มาประสานกันตรงที่ทำลายธรรมชาติ คือ

หนึ่ง... แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ ก็ทำลายธรรมชาติ สอง... แนวความคิดว่า เสพมากที่สุด จะสุขมากที่สุด ก็นำไปสู่การทำลายธรรมชาติ กล่าวคือ คนเราพิชิตธรรมชาติ เพื่ออะไร ก็เพื่อจะได้เอาธรรมชาติมาผลิตเป็นวัตถุสิ่งเสพบริโภค แล้วมนุษย์ก็เสพให้มากที่สุดเพื่อจะมีความสุขมากที่สุด ฉะนั้น แนวความคิดสองอย่างนี้จึงมาบรรจบกัน อารยธรรมตะวันตกก็เจริญมาด้วยความภูมิใจมากที่สุดอันนี้ที่ว่า เมื่อเราชนะธรรมชาติ เราจะมีสิ่งเสพบริโภคมากที่สุด แล้วเราก็จะมีความสุขมากที่สุด แต่เมื่อมาถึงเวลานี้ แนวความคิดสองอย่างนี้กลับมาเป็นภัยอันตราย แล้วจะแก้อย่างไร ปัญหานี้นำมาสู่การติดตันอีกครั้งหนึ่งซึ่งจะพูดต่อไป

ตอนนี้ขอสรุปความอีกทีหนึ่งว่า ตะวันตกเจริญมาด้วยอุตสาหกรรม ด้วยความมุ่งหมายที่จะได้พัฒนาทางเศรษฐกิจ เพื่อจะมีสิ่งเสพบริโภคให้มากที่สุด เมื่อมนุษย์มีพฤติกรรมอย่างนี้ก็ทำลายธรรมชาติ ธรรมชาติแวดล้อมก็อยู่ไม่ได้ จึงมาถึงจุดตันที่ว่า ถ้าเรามีสิ่งเสพให้มากที่สุด และบริโภคมากที่สุด ธรรมชาติก็อยู่ไม่ได้ และถ้าธรรมชาติอยู่ไม่ได้ ผลเสียก็เกิดแก่เรา มนุษย์ก็จะอยู่ไม่ได้ด้วย แต่ในทางกลับกัน ถ้าเรายอมให้ธรรมชาติอยู่ดี เราก็ไม่สามารถบริโภคให้มากที่สุด และเราก็จะไม่สามารถมีความสุขมากที่สุด เมื่อเป็นอย่างนี้จะทำอย่างไร ก็เกิดปัญหาติดตัน เรียกว่า ปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออก ฝรั่งเรียกว่า dilemma คือ ถ้าเราพิชิตธรรมชาติ ธรรมชาติก็พินาศ ถ้าธรรมชาติพินาศ เราก็พินาศด้วย ถ้าเราจะสุขมากที่สุด ธรรมชาติก็อยู่ไม่ได้ แต่ถ้าเราจะยอมให้ธรรมชาติอยู่ได้ เราก็ไม่สามารถมีสุขมากที่สุด เพราะเราจะไม่มีสิ่งเสพบริโภคมากที่สุด

สรุปอีกทีว่า ถ้าเราจะเสพมากที่สุด เพื่อสุขมากที่สุด ธรรมชาติก็อยู่ไม่ได้ แล้วเราก็อยู่ไม่ได้ด้วย แต่ถ้าเรายอมให้ธรรมชาติอยู่ เราก็ไม่สามารถสุขที่สุด เพราะเราไม่มีสิ่งที่จะบริโภคให้มากที่สุด ตันทั้งสองทาง พูดสั้นๆ ว่า ถ้าเราจะสุขมากที่สุด ธรรมชาติก็พินาศ และเราก็พินาศด้วย แต่ถ้าเรายอมให้ธรรมชาติอยู่ เราก็ไม่สามารถมีความสุขมากที่สุด ที่ว่าเขาแก้ปัญหาไม่ได้ ก็เพราะมันมาจนที่ตรงนี้

เมื่ออับจนจะแก้ปัญหาด้วยวิธีจำใจ
ก็ยิ่งติดตันทั้งข้างนอกข้างใน

มนุษย์จะทำอย่างไรในเมื่อมาเจอปัญหาอย่างนี้ ความจำเป็นทำให้เราจะต้องยอมให้ธรรมชาติอยู่ แต่เราก็จะต้องฝืนใจตัวเองที่จะยอมตัวไม่สามารถจะมีความสุขมากที่สุด โดยยอมอดความสุขลงไปบ้าง เมื่อเป็นอย่างนี้ก็กลายเป็นลัทธิจำใจ คือจำใจยอมให้ธรรมชาติอยู่ หรือจำใจรักษาธรรมชาติ เพื่อให้ตัวเราอยู่ได้ และจำใจยอมอดไม่สามารถมีความสุขมากที่สุด เกิดเป็นลัทธิประนีประนอม ซึ่งเป็นเรื่องของแนวคิดตะวันตก ที่ไปสุดจบลงที่การประนีประนอม อารยธรรมของเขามาได้แค่นั้น เราต้องแยกให้ถูก

อารยธรรมตะวันตกมีจุดยุติที่การประนีประนอม อันนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่ง ที่ทำให้ตะวันตกหันมาสนใจตะวันออก เพราะตะวันออกมีสิ่งที่เรียกว่า harmony คือความกลมกลืนประสานสอดคล้อง ซึ่งต่างจากฝรั่งที่ไปได้แค่ compromise ที่เราแปลกันว่าการประนีประนอม

การประนีประนอม (compromise) คือการที่ทั้งสองฝ่าย ต่างก็ต้องยอมเสียบ้าง เพื่อได้บางอย่าง หรือเพื่อต่างก็ได้ด้วยกันต่างฝ่ายต่างก็ต้องยอมเสียบ้าง ทีนี้ปัจจุบันมนุษย์ก็มาถึงจุดที่ต้องประนีประนอมกับธรรมชาติ คือ เพื่อให้ธรรมชาติอยู่ได้ มนุษย์ต้องยอมอดความสุขบ้าง ส่วนธรรมชาตินั้น ก็ต้องยอมให้มนุษย์บ้าง เมื่อประนีประนอมกันอย่างนี้ก็พอจะอยู่กันไปได้ ก็เลยเกิดเป็นจริยธรรมสภาพแวดล้อมที่ตั้งอยู่บนหลักการแห่งการประนีประนอมนี้

ระยะนี้สังคมตะวันตกกำลังให้ความสำคัญแก่จริยธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะจริยธรรมด้านสิ่งแวดล้อม ถามว่าเพราะอะไร ก็เพราะมาประสบปัญหาที่ทำให้จำใจจะต้องเอาจริยธรรมมาใช้ และจริยธรรมของตะวันตกก็เป็นจริยธรรมแบบจำใจ เรามาดูประวัติศาสตร์จริยธรรมตะวันตกกันนิดหนึ่ง

จริยธรรมตะวันตกได้ถูกวิทยาศาสตร์ทำลายสถานะโค่นลงจากบัลลังก์ไปครั้งหนึ่งแล้ว จนกระทั่งแทบจะหมดความหมาย โดยถูกวิทยาศาสตร์หาว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่เป็นความจริง เรื่องเป็นอย่างไร

ในยุคที่แล้วมานี้ โลกเป็นโลกที่เจริญด้วยวิทยาศาสตร์ นิยมวิทยาศาสตร์ หรือถึงกับคลั่งวิทยาศาสตร์ โดยที่วิทยาศาสตร์ได้เจริญขึ้นมาในระยะ ๒๐๐ ถึง ๓๐๐ กว่าปีนี้อย่างมาก และในช่วงเวลานั้น มนุษย์มีความภูมิใจในวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง จนกระทั่งวิทยาศาสตร์มีสถานะสูงสุด ด้วยเหตุผลสำคัญ ๒ ประการ คือ หนึ่ง...วิทยาศาสตร์เป็นความหวังและความฝันอันสูงสุดของมนุษยชาติว่าจะนำมนุษย์ไปสู่ความสุขสมบูรณ์ สอง...วิทยาศาสตร์ได้ก้าวเข้ามาเป็นมาตรฐานสำหรับวัดความจริงทุกสิ่งทุกอย่าง อะไรไม่เป็นวิทยาศาสตร์ใช้ไม่ได้ แม้แต่เดี๋ยวนี้ ในสังคมไทยคนก็ยังคิดอย่างนี้มาก แต่เวลานี้ ในสังคมตะวันตก วิทยาศาสตร์กำลังจะหมดฐานะเป็นมาตรฐานวัดความจริง คือวัดได้บางส่วน ไม่ถึงที่สุด

ศตวรรษที่ ๑๙ ของตะวันตก เขาเรียกว่าเป็นยุคแห่ง scientism แปลว่า ลัทธินิยมวิทยาศาสตร์ คือเป็นสมัยของการนิยมวิทยาศาสตร์ ถ้าใช้คำแรงก็เรียกว่ายุคคลั่งวิทยาศาสตร์ คนตื่นวิทยาศาสตร์เหลือเกิน จนกระทั่งวิชาการทั้งหลาย ต้องพยายามปรับตัวให้เป็นวิทยาศาสตร์กันไปทั่ว หมายความว่า วิชาการที่เคยเจริญมาในสมัยก่อน พอวิทยาศาสตร์เกิดขึ้น พวกนั้นด้อย เลยต้องพยายามทำตัวให้เป็นวิทยาศาสตร์ อย่างวิชาการเมืองการปกครอง มีมาตั้งแต่สมัยโสคราตีส เพลโต อริสโตเติล แต่พอมาถึงยุควิทยาศาสตร์เจริญ เขาไม่ยอมรับวิชาเหล่านี้ว่าเป็นศาสตร์ วิชารัฐศาสตร์พึ่งมาเป็นสังคมศาสตร์ เมื่อวิทยาศาสตร์เกิดแล้ว เพราะฉะนั้นสังคมศาสตร์จึงเพิ่งเกิดหลังวิทยาศาสตร์เมื่อ ๒๐๐ ปีมานี้ ทั้งๆ ที่ตัววิชาเดิมนั้น เกิดมาก่อนวิทยาศาสตร์เป็นพันปี

ในการพยายามทำตัวให้เป็นวิทยาศาสตร์ วิชาการต่างๆ ต้องใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ (scientific method) มาศึกษา เช่นศึกษาสังคมด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์จึงเป็นสังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ก็ต้องใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ แล้วก็ภูมิใจนักหนาว่าฉันเป็นวิทยาศาสตร์ ปลอดจากเรื่องคุณค่า (value-free) ที่เป็นเรื่องของจิตใจคิดหมายเอาเอง ไม่เป็นจริง แม้แต่จิตวิทยา ซึ่งเป็นวิชาทางจิตใจแท้ๆ ยังต้องปรับตัวให้เป็นวิทยาศาสตร์ด้วย โดยใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ รวมความว่าในยุคที่แล้วมานี้ โลกคลั่งวิทยาศาสตร์มาก โดยฝันว่า มนุษย์จะอุดมสมบูรณ์พูนสุขด้วยวิทยาศาสตร์ และใช้วิทยาศาสตร์เป็นมาตรฐานวัดความจริง วิชาการใดไม่เป็นวิทยาศาสตร์ วิชาการนั้นก็ด้อย จึงมีวิชาการต่างๆ ที่กลายเป็นสังคมศาสตร์ขึ้นมาด้วยการพยายามทำตัวให้เป็นวิทยาศาสตร์

ทีนี้หันมาดูจริยธรรมบ้าง จริยธรรมในที่นี้คือ ethics ซึ่งหมายถึงคำสอนหรือหลักปฏิบัติในทางความประพฤติ หรือพฤติกรรมของมนุษย์ แต่เดิมนั้นจริยธรรมของตะวันตก เป็นจริยธรรมแบบเทวบัญชา คือเป็นคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า (เช่นเป็น commandment) พระผู้เป็นเจ้าสั่งมาทุกอย่างว่าต้องเว้นหรือต้องทำอย่างนี้ๆ ถ้าเธอฝ่าฝืน ฉันจะลงโทษ ถ้าเธอทำตาม ฉันจะให้รางวัล เรียกว่าเป็นระบบลงโทษและให้รางวัล เมื่อวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นมาแล้ว ก็บอกว่าไม่จริงหรอก มีที่ไหน พระผู้เป็นเจ้ามาสั่ง มาบัญชา ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่เป็นเหตุผล จริยธรรมก็หมดความหมายไปเลย

จากนั้นวิทยาศาสตร์ก็ทำให้คนมองจริยธรรมในความหมายใหม่ว่า จริยธรรมเป็นเพียงบัญญัติของสังคมมนุษย์เท่านั้นเอง คือเป็นเรื่องที่มนุษย์ตกลงกัน จะว่าอย่างไรก็ได้แล้วแต่ยอมรับกัน สิ่งนี้สังคมนี้ว่าดี แต่สังคมนั้นว่าไม่ดี สิ่งที่สังคมนั้นว่าไม่ดี สังคมนี้ว่าดี เป็นเรื่องที่มนุษย์ติ๊งต่างหรือสมมุติกันขึ้นทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จริยธรรมจึงไม่ใช่ของจริง ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ จากนั้นจริยธรรมก็หมดความหมาย เพราะไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ ก็ด้อยฐานะลงไป ไม่ว่าจะเป็นเทวบัญชาก็ตาม หรือมาเป็นสิ่งที่มนุษย์สมมุติบัญญัติขึ้นก็ตาม ก็คือไม่เป็นวิทยาศาสตร์ จึงไม่มีฐานะสำคัญอะไรอีก ฉะนั้น จริยธรรมก็หลงเหลืออยู่ในปรัชญาและศาสนาต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาไม่ให้ความสำคัญเท่าไรนัก

เวลาผ่านมาจนกระทั่งถึงยุคหลังนี้ มนุษย์ในสังคมตะวันตกได้ประสบปัญหาทางด้านจิตใจ และทางด้านสังคม แล้วก็มองเห็นว่าความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ มนุษย์เริ่มสำนึกตัวว่า ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถแก้ปัญหาของมนุษยชาติได้ ไม่สามารถสร้างสรรค์ให้สำเร็จความใฝ่ฝันในความอุดมสมบูรณ์พูนสุขของโลกมนุษย์ แต่บางทีกลับทำให้เกิดปัญหามากมายหลายอย่างที่ไม่เคยเกิดมีด้วย ตอนนี้คนชักผิดหวังกับวิทยาศาสตร์ ปัญหาทางสังคมก็แก้ไม่ได้ ปัญหาทางจิตใจก็แก้ไม่ได้

เลิกเอียงสุดข้างนอก ระวังจะมาเอียงสุดข้างใน

ยิ่งกว่านั้น ในด้านภูมิปัญญาที่ว่าเป็นมาตรฐานวัดความจริง ก็ชักไม่เป็นจริงอีกแล้ว แนวความคิดแยกส่วน (reductionism) ก็มาจากวิทยาศาสตร์ การถือความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน (specialization) ทางวิชาการ ก็มาจากการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ แนวความคิดแบบนี้ ไม่ทำให้แก้ปัญหาของมนุษย์ได้ ไปๆ มาๆ นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำก็บอกว่า วิทยาศาสตร์ไม่สามารถนำมนุษย์เข้าถึงความจริงได้ นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำในยุคควอนตัม (quantum) หรือยุคทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ (Einstein's theories of relativity) ได้พัฒนาความคิดกันมาถึงยุคนี้ที่เรียกว่า new physics

พวกนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักฟิสิกส์รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นผู้นำในวงการวิทยาศาสตร์ บอกว่าวิทยาศาสตร์ไม่สามารถนำมนุษย์เข้าถึงความจริงได้ จะเข้าถึงได้ก็เพียงเงาของความจริงเท่านั้น ในที่สุดวิทยาศาสตร์ก็บอกว่า การหาความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าเป็นการหาความจริงแบบปรวิสัย (objective) ไม่ขึ้นต่อสภาพจิตของมนุษย์ ไม่ขึ้นต่อการแปลความตีความหมายของคนนั้น ที่แท้ก็ไม่จริง เพราะการที่จะมองสิ่งต่างๆ จนเกิดเป็นความรู้ขึ้นนั้น สิ่งที่ถูกรู้นั้นถูกมนุษย์ตีความหมายโดยไม่รู้ตัว เพราะมันผ่านกระบวนการของจิตใจมนุษย์ทั้งนั้น เลยกลายเป็นว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่เป็นปรวิสัย (objective) จริง ไม่พ้นจากความเป็นอัตวิสัย (subjective) วิทยาศาสตร์ที่ภูมิใจกันมาตั้งเป็นร้อยๆ ปีว่าเป็นปรวิสัย (objective) มาถูกนักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังๆ บอกว่าไม่ใช่ ทำให้มองเห็นต่อไปอีกว่ามนุษย์จะเข้าถึงความจริงโดยสมบูรณ์ไม่ได้ถ้าไม่เข้าใจเรื่องจิตด้วย ตอนนี้จึงมาถึงยุคที่นักวิทยาศาสตร์ก็เกิดการแตกแยกกันหรือสับสน บางพวกก็มาถึงจุดที่หันมาศึกษาเรื่องจิตใจ

มองดูแง่หนึ่งก็เป็นการสวนทางกันและน่าขำ ในยุคที่ผ่านมาพวกนักจิตวิทยาได้พยายามไปเป็นวิทยาศาสตร์ ถึงขนาดที่ยุคหนึ่งบอกว่า จิตใจนี่ไม่รู้จะดูได้อย่างไร มองไม่รู้ ก็เลยเอาจิตวิทยาเป็นศาสตร์แห่งพฤติกรรมไปเลย จิตวิทยาตามตัวอักษร แปลว่าวิชาว่าด้วยจิตใจ แต่ไปๆ มาๆ เรื่องจิตทำไมกลายเป็นเรื่องพฤติกรรมไป นี่คือจิตวิทยาสมัยใหม่ แต่ตอนนี้ที่น่าแปลกก็คือ นักวิทยาศาสตร์ใหม่ฝ่ายฟิสิกส์ที่เป็นฝ่ายรูปธรรมเอง กลับมาสนใจศึกษาเรื่องจิต ขณะที่นักจิตวิทยาหันไปศึกษาเรื่องรูปธรรม

ตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์ถามกันว่า จิต (consciousness) คืออะไร จิตใจ (mind) คืออะไร คอมพิวเตอร์ (computer) มีจิตใจ (mind) ได้หรือไม่ มีการพิมพ์หนังสือออกมาเป็นเล่มๆ เพียงเพื่อหาคำตอบว่า คอมพิวเตอร์นี้ ต่อไปจะพัฒนาให้มีจิตได้หรือเปล่า เพราะตอนนี้คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่พัฒนาก้าวหน้าไปมากถึงกับมี artificial intelligence ที่เรียกว่า ปัญญาประดิษฐ์ สามารถคิดเหตุผลเอง จนกระทั่งต่อไปอาจจะเป็นคู่แข่งกับมนุษย์ก็ได้ แต่มันจะมีจิตได้หรือเปล่า นักวิทยาศาสตร์บางคนหันมาศึกษาเรื่องนี้และพยายามทำวิจัย บางทีก็เขียนหนังสือเป็นเล่มโตๆ เพื่อตอบเรื่องนี้ แล้วก็มีหนังสือที่หาคำตอบเรื่องจิตใจ (consciousness หรือ mind) ซึ่งขณะนี้กลายเป็นปัญหาของวิทยาศาสตร์ เพราะเขามองว่า วิทยาศาสตร์จะเข้าถึงความจริงแท้ของธรรมชาติไม่ได้ ถ้าไม่ศึกษาเรื่องจิตใจ เพราะในที่สุดแล้ว จิตใจเป็นผู้ที่ศึกษาวัตถุหรือรูปธรรม ถ้าไม่รู้ตัวผู้ศึกษาแล้วจะไปเข้าใจสิ่งที่ถูกศึกษาได้อย่างไร

ไปๆ มาๆ ก็ไปไม่ไกล วิทยาศาสตร์ก็ย้อนกลับมาที่จุดตั้งต้นอีก เพราะฉะนั้น ยุคนี้จึงเป็นยุคที่เขาเรียกว่า “จุดหักเลี้ยว” (turning point) มีหนังสือบางเล่มที่ขายดิบขายดี (bestseller) เช่น Turning Point ของนายฟริตจอฟ คาปรา (Fritjof Capra) ซึ่งเคยขายดีมากในยุคหนึ่ง นับว่าเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่จะมีการหักเลี้ยวของอารยธรรมมนุษย์ มีการสนใจและเปลี่ยนแปลงแปลกใหม่ เช่น ตะวันตกหันมาสนใจตะวันออก วิทยาศาสตร์เสื่อมฐานะลงไปจากการเป็นมาตรฐานวัดความจริง นักวิทยาศาสตร์หันมาศึกษาเรื่องจิต ดังนี้เป็นต้น

เวลานี้ โลกตะวันตกหันมาสนใจเรื่องทางด้านจิตใจ และแสวงหาภูมิปัญญาใหม่กันมาก เป็นเรื่องหนึ่งที่เราจะต้องติดตามและรู้เท่าทัน เมื่อเราไปทำงานในสังคมตะวันตก ขณะที่ฝรั่งกำลังมีแนวโน้มอย่างนี้ จะต้องเข้าใจด้วยถึงปกติวิสัยอย่างหนึ่งที่ว่า มนุษย์นั้นมีความโน้มเอียงในทางตีกลับตรงกันข้าม คือ เมื่อเอียงไปสุดข้างหนึ่งแล้วก็มักจะกลับเอียงไปสุดทางอีกข้างหนึ่ง เพราะฉะนั้นเวลาไปอเมริกาได้เห็นพวกฝรั่งมาสนใจเรื่องจิตใจหรือเรื่องนามธรรมมาก จึงไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องไปภูมิใจอะไรมาก คนของเราบางทีไปดีใจภูมิใจ แล้วก็ไปหลงตาม และไปสนองแนวโน้มของเขา ซึ่งอาจจะผิดก็ได้ จึงต้องมีสติระวังไว้ ฝรั่งเขากำลังจะไปเอียงสุดอีกข้างหนึ่งที่ตรงข้ามกับสภาพเดิมของเขา

เมื่อตะวันตกดิ้นหาทางออกใหม่
ตะวันออกจะไปช่วยได้จริงหรือ

ในสมัยโบราณก็มีมาแล้ว มนุษย์เป็นอย่างนี้มาเรื่อย สมัยหนึ่งมีความโน้มเอียงสุดโต่งทางวัตถุ แล้วอีกสมัยหนึ่งก็มาสุดโต่งทางจิต สังคมอเมริกันก็มีปรากฏการณ์ส่อแสดงสภาพอย่างนี้มานานแล้วเหมือนกัน ตั้งแต่เกิดพวกฮิปปี้ (hippies) ในช่วงทศวรรษ 1960s (พ.ศ. ๒๕๐๐ เศษ) ฮิปปี้นี้เกิดจากสังคมอเมริกันที่หลงเพลินพัฒนาวัตถุอย่างมาก เหมือนอย่างสังคมไทยเราขณะนี้ คนอเมริกันก็ใฝ่ฝันในวิทยาศาสตร์และการพัฒนาวัตถุว่า ความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุจะทำให้เขามีชีวิตที่สุขสมบูรณ์ แต่พอมาถึงอีกยุคหนึ่งเมื่อมีความเจริญพรั่งพร้อมพอสมควร ในระยะ ค.ศ. 1960s ฝรั่งมาถึงยุคกดปุ่มแล้ว เขาเริ่มเห็นว่า ถึงจะพัฒนาไปอีกเท่าไร ดีกว่านี้เท่าไร ก็เห็นชัดว่ามนุษย์จะไม่มีความสุขที่แท้จริง จิตใจก็ไม่ดี สังคมก็เสื่อมโทรม ปัญหาหลักๆ ของมนุษย์ก็แก้ไม่ได้ มนุษย์เริ่มผิดหวัง ก็ทำให้เกิดสภาพที่เป็นปฏิกิริยาของคนรุ่นใหม่ ต่อสังคมอเมริกัน เกิดมีคนที่เรียกว่า บุปผาชน คือพวกฮิปปี้ขึ้นมา

พวกฮิปปี้เห็นว่า พ่อแม่ของเรานี่ไม่ได้เรื่อง ต้องขยันหมั่นเพียร ทำการทำงานกันไม่ลืมหูลืมตาเพียงเพื่อจะสร้างวัตถุสิ่งของมาเสพให้มีความสุข มีโทรทัศน์ วิทยุ ตู้เย็น พัดลม ฯลฯ แต่ก็ไม่เห็นมีความสุขจริงเลย แล้วยังต้องอยู่ในกรอบของสังคม มีวัฒนธรรมที่บีบบังคับตัวเอง ไม่เห็นจะมีความสุขเลย การที่เราต้องแต่งชุดสากล แต่งตัวอย่างเป็นระเบียบ ต้องรีดเสื้อผ้าอย่างดี มานั่งในห้องแอร์ทำงานทำการหรือวางท่ากันเคร่งเครียดนี้ จะดีอะไร เราไม่ต้องแต่งตัวเลย ไม่ต้องอาบน้ำ ไม่ต้องหวีผม ไม่ต้องรีดเสื้อผ้า นุ่งห่มอะไรก็ได้ ปล่อยตัวตามสบาย นอนกลางดิน กินกลางทราย อยากทำอะไรก็ทำ ไม่อยากทำอะไรก็ไม่ทำ จะแก้ผ้าก็ได้ จะมีความสุขมากกว่า พวกนี้ก็เลยปฏิเสธสังคม ออกไปเป็นฮิปปี้ คราวนี้ไม่เอาเรื่องอะไรทั้งนั้น ปฏิเสธทุกอย่าง มองเห็นว่า คนรุ่นพ่อแม่ เป็นพวกหัวเก่า คนรุ่นใหม่เจริญทันสมัยต้องทิ้งสังคมไปเลย ไปหาความสุขตามสบาย ไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ของสังคมบีบบังคับ อยากจะสืบพันธุ์ก็สืบพันธุ์ อยากจะนอนที่ไหนก็นอน เสื้อผ้า แต่งก็ได้ ไม่แต่งก็ได้ แล้วก็ท่องเที่ยวเร่ร่อนไป มั่วสุมกันเป็นแห่งๆ พาลัทธิของตัวเผยแพร่มาจนถึงทางตะวันออก มาในอินเดีย มาในเนปาล มาสร้างนิคมฮิปปี้กันขึ้น เป็นที่น่าเกลียดสำหรับคนตะวันออก

ต่อมาอีกระยะหนึ่งสังคมฝรั่งก็ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังมีความโน้มเอียงทางด้านจิตใจมาก มีความสนใจในการแก้ปัญหาทางจิตใจ ชอบเรื่องสมาธิ เช่น นิกายเซ็นที่สอนเน้นในเรื่องสมาธิ ฝรั่งก็ชอบมาก เซ็นขึ้นมากจนกลายเป็นแฟชั่น แล้วต่อมาโยคะเข้าไป โยคะก็เฟื่องเหมือนกัน ต่อมาทิเบตแตก พวกลามะเข้าไปเป็นอาจารย์สอนธรรมะ เรียกว่ารินโปเช ก็สอนเน้นเรื่องสมาธิ พุทธศาสนาแบบทิเบตก็เฟื่องขึ้นไปแข่งกับเซ็น ตอนนี้ ทางอเมริกา การฝึกปฏิบัติแบบทิเบตขึ้นมาก เขาเคยอ้างว่า ศูนย์และสำนักของเขา ได้มีจำนวนเพิ่มมากจนกระทั่ง บัดนี้ กลายเป็นคู่แข่งกับเซ็น ฝรั่งก็มาสนใจ จนกระทั่งมีการตั้งเป็นสถาบันการศึกษา เช่นตัวอย่างหนึ่ง คือ สถาบันนาโรปา (Naropa Institute) ที่เมืองโบลเดอร์ (Boulder) รัฐโคโลราโด (Colorado)

สถาบัน Naropa นี้สอนเรื่องของสมาธิ จิตวิทยา แนวความคิดแบบองค์รวม (holism) ตลอดจนเรื่องของการรักษาโรคตามแนวความคิดแบบองค์รวม มีฝรั่งไปศึกษาพอสมควร เขาเปิดเป็นหลักสูตร แต่ก่อนให้ปริญญาตรี ต่อมามีปริญญาโท (เวลานี้ ทั้งผู้บริหารและอาจารย์ในสถาบันนาโรปา เป็นฝรั่งแทบทั้งหมดแล้ว) กรณีนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ให้เห็นว่าตะวันตกได้หันมาสนใจการศึกษาความคิดและวิชาการของตะวันออก พวกทิเบตนี่ก็เก่ง มีการตั้งสำนักพิมพ์ เช่นสำนักพิมพ์ Shambhala ซึ่งมีกิจการเจริญก้าวหน้าจนต่อมาตั้งงานส่วนหนึ่งเป็นสำนักพิมพ์ New Science Library ผลิตหนังสือดีๆ ออกมาขาย เขาต้องประสบความสำเร็จพอสมควรจึงไปได้ หนังสือของเขาก็ทำอย่างดี อีกสำนักพิมพ์หนึ่งซึ่งก็ประสบความสำเร็จมากเหมือนกัน คือ Wisdom Publications อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เราควรจะติดตาม

ส่วนทางฝ่ายเถรวาทนั้นนับว่าล้าหลังมาก ตามไม่ติดเลย เมื่อเทียบกับฝ่ายมหายาน ตั้งแต่เซ็นเฟื่อง เราก็ล้าหลัง ตามไม่ทัน เมื่อทิเบตมาอีก เรายิ่งไม่ทันเขาเลย ทีนี้ มีข้อสังเกตว่า ทางฝ่ายมหายานนั้น คนมหายานจากตะวันออก ที่เป็นชาวอาเซียเอง เป็นผู้นำเข้าไปตะวันตก เช่นอย่างของเซ็น ซูซูกิ (D.T. Suzuki) ซึ่งเป็นอาจารย์เซ็นผู้มีชื่อเสียงมาก ได้ไปสอนข้อปฏิบัติสมาธิ (meditation) แบบเซ็นในอเมริกา แต่เถรวาทนี่ ฝรั่งมาเอาไป ขอให้สังเกตดู ฝรั่งเข้ามาศึกษาในประเทศศรีลังกาบ้าง มาประเทศพม่าบ้าง มาประเทศไทยบ้าง แล้วเขาเอากลับไปสอน พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทที่เข้าไปในตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกา จึงแทบไม่เป็นผลงานของคนเอเชียเลย

จริงอยู่ พระลังกาก็มีไปบ้าง แต่ไม่มาก ฝรั่งเข้ามาและมีบทบาทด้านนี้มากกว่า ฝรั่งบางคนมาเป็นพระผู้ใหญ่ในศรีลังกาก็มี หลายท่านคงได้ยินชื่อ ท่านญาณติโลกะ (Nyanatiloka) ในหลักสูตรพุทธศาสตร์บัณฑิต เคยใช้หนังสือ The Word of the Buddha ในชั้นปีที่ ๒ (ได้ทราบว่าปัจจุบันก็ยังใช้อยู่) หนังสือเล่มนี้ก็เป็นผลงานของท่านญาณติโลกะ ซึ่งเป็นชาวเยอรมัน ต่อมาก็มีท่านญาณโปนิกะ (Nyanaponika) ซึ่งเป็นลูกศิษย์ใหญ่ที่สำคัญของท่านญาณติโลกะ แต่งตำราเยอะ ก็เป็นชาวเยอรมัน แล้วก็มีพระญาณโมลี (Nyanamoli) มาอยู่ในศรีลังกา ก็เป็นพระอังกฤษ ได้แปลหนังสือ คัมภีร์ ทั้งพระไตรปิฎก และอรรถกถาเป็นต้นมากมาย เช่นแปลวิสุทธิมรรคเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้มีตำราพระพุทธศาสนาออกมามาก แม้แต่สำนักพิมพ์หนังสือพระพุทธศาสนาที่สำคัญของศรีลังกา คือ Wheel Publications เวลานี้ก็มีพระฝรั่งเป็นผู้ดำเนินงาน ในพม่าก็มีฝรั่งที่ไปศึกษาในสำนักกรรมฐาน ฝึกปฏิบัติวิปัสสนาแล้วนำไปสอน

แม้แต่ที่เมืองไทยเราก็มีชาวตะวันตกเข้ามาเรียนแล้วเอาไปสอนในประเทศของเขาเอง เช่น นายโจเซฟ โกลด์สทีน (Joseph Goldstein) และ นายแจ๊ค คอร์นฟีลด์ (Jack Kornfield) เป็นต้น สองท่านนี้เคยมาเมืองไทยแล้วบวชในสำนักหลวงพ่อชา หลังจากศึกษาปฏิบัติแล้วก็กลับไปอเมริกา แล้วก็ไปสึก ไปตั้งสำนักกรรมฐาน มีสำนักวิปัสสนาที่เมืองบาร์รี (Barre) ในรัฐแมสสาจูเซตส์ (Massachusetts) เรียกว่า Insight Meditation Society (สมาคมวิปัสสนา) ผมเคยไปเยี่ยม เมื่อปี ๒๕๒๔ มีการรับคนเข้าปฏิบัติเป็นช่วงฝึก (course) ช่วงหนึ่งประมาณ ๑๕ วัน ตอนที่ผมไปนั้น มีสัก ๗๕-๘๐ คน เป็นคนหนุ่มๆ สาวๆ ชาวอเมริกันทั้งนั้น แสดงว่า เขาก้าวหน้าไปพอสมควร ไม่ทราบว่าแจ๊ค คอร์นฟีลด์ ตอนนี้มาอยู่ที่แคลิฟอร์เนียหรือเปล่า ผมไม่ได้ติดตาม แต่เขาเคยไปสอนที่สถาบันนาโรปา (Naropa Institute) ที่โคโลราโด ด้วย นั่นก็เป็นเรื่องของฝรั่ง แต่มีข้อสังเกตว่าท่านเหล่านี้มาบวชเป็นพระ กลับไปแล้วก็สึก เป็นอาจารย์สอนในเพศคฤหัสถ์

ครั้นต่อมาตอนหลังนี้ ที่สำนักอาจารย์ชา ท่านส่งไปเป็นพระเลย เริ่มที่อังกฤษ ท่านสุเมโธไปตั้งวัดจิตตวิเวก (Cittaviveka) ที่ชิตเฮอร์สท์ (Chithurst) ต่อมาก็ได้ขยายไปในแผ่นดินใหญ่ของยุโรป ที่อังกฤษมี ๔ สาขา หรือจะเพิ่มเป็น ๕ แล้วก็ไม่ทราบ แล้วก็ขยายไปที่สวิตเซอร์แลนด์ก็มี ที่อิตาลีก็มี ส่วนที่อเมริกา กำลังเข้าไป มีที่ดินแล้วเหนือเมืองซานฟรานซิสโก (San Francisco) ขึ้นไป จะสร้างในไม่ช้านี้ อย่างนี้ก็พอจะเรียกได้ว่าเป็นพระสงฆ์จากเมืองไทยเข้าไป แต่ก็เป็นพระฝรั่งนั่นแหละไป

ขอย้อนกลับมาเรื่องที่ว่า ฝรั่งเอียงสุด ก็อย่างที่พูดแล้วว่า เขามาสนใจเรื่องจิตใจ ชอบสมาธิ ทีนี้บางพวกก็ไปไกล จนกระทั่งไปสนใจเรื่องลึกลับ เรื่องไสยศาสตร์ เรื่องของโหราศาสตร์ เวลานี้ถ้าไปอเมริกาจะเห็นหนังสือโหราศาสตร์เยอะ แต่เขาก็เถียงกันเองคือมีทั้งพวกเชื่อและพวกไม่เชื่อ ทำให้เราเห็นถึงความสับสนหรือระส่ำระสายของสังคมของเขาได้ในแง่หนึ่ง และเพราะความเอียงสุดทางจิตก็ไปสนใจเรื่องลึกลับ จนกระทั่งถึงเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และการสนองความต้องการทางจิตใจที่เราอาจจะแปลกใจว่า พวกนี้เป็นปกติดีหรือเปล่า มีลัทธิอะไรต่ออะไรแปลกๆ ใหม่ๆ เกิดขึ้นในอเมริกามากในระยะที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น New Age

ในยุคสมัยใหม่นี้ มีศาสนาใหม่ๆ เกิดขึ้น เป็น new religions เยอะ ศาสนาใหม่ที่เกิดในอเมริกาเหล่านี้ มีทั้งศาสนาที่แตกแยกจากศาสนาของตะวันตกเอง มีทั้งการพัฒนาตัวเองขึ้นเป็นศาสนาตะวันตก ในรูปแบบใหม่ๆ ของศาสนาตะวันออกที่เข้าไป มีทั้งพวกตะวันออกที่เข้าไปเอง แล้วตั้งสำนักเป็นศาสนาใหม่ มีการปะปนผสมผสาน เช่น อย่างพวกสำนักของคาทอลิก ก็นำเอาวิธีปฏิบัติกรรมฐานของพระพุทธศาสนาไปใช้ บางสำนักมีกิจวัตรประจำวัน ที่รวมเอาการเจริญสมาธิ (meditation) ใส่ไว้ด้วย

มีการศึกษาพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นในระดับปริญญาสูงๆ ถึงปริญญาเอก แม้ในระดับปริญญาตรีก็มีมากขึ้น โดยจัดเป็นวิชาเลือก เดี๋ยวนี้จัดกันทั่วไป แล้วก็มีฝรั่งเข้ามาศึกษาหลายแบบ บางพวกมาศึกษาเพื่อรู้ความจริง ด้วยความสนใจจริงๆ เพราะเห็นประโยชน์แล้ว อยากจะศึกษายิ่งๆ ขึ้นไป บางพวกก็ศึกษาอย่างเป็นแฟชั่น คือเห็นว่า ผู้คนเขาสนใจ ก็สนใจบ้าง บางพวกก็ศึกษาเพื่อให้รู้ว่า สังคมของเขาเป็นอะไร ทำไมจึงมาสนใจสิ่งเหล่านี้ และสิ่งที่กำลังสนใจใหม่นี่เป็นอย่างไร บางพวกก็มาศึกษาเพื่อจะเอาไปใช้ในพวกของเขา เช่น ชาวคริสต์ ที่เข้ามาศึกษา เพื่อจะได้เอาแบบแผนวิธีการของเราไปใช้ ฉะนั้น เราจึงควรจะรู้ว่าเขาศึกษาไปทำไม

เป็นอันว่า เวลานี้ฝรั่งมาศึกษาเรื่องพุทธศาสนามากขึ้น แต่จุดที่ต้องการชี้เป็นข้อสังเกตก็คือ การมีแนวโน้มที่จะเป็นลัทธิเอียงสุด ซึ่งต้องระวังให้มาก คนจะไปเพลินสนองความต้องการทางด้านจิตใจแล้วลุ่มหลงหมกมุ่นจนเกินไป กลายเป็นลัทธิลึกลับ และศาสนาใหม่ๆ แปลกๆ บางพวกเตลิดไปจนถึงกับมีการฆ่าตัวตายหมู่ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็ได้มีขึ้นแล้ว อย่างสำนักแปลกประหลาดของนายจิม โจนส์ (Jim Jones ผู้นำสำนัก People's Temple Church) ในอเมริกา ตอนหนึ่งพากันไปที่สำนักในป่าที่โจนสทาวน์ ประเทศไกอานา (Guyana) อเมริกาใต้ แล้วจิมโจนส์ก็ให้พวกศิษย์ดื่มยาพิษ กลายเป็นการฆ่าตัวตายครั้งใหญ่เกือบพันคน (๙๑๓ คน)

เรื่องที่ว่านั้น แม้จะนานมาแล้ว ตั้งแต่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ (๑๙๗๘) แต่ก็เป็นตัวอย่างแสดงแนวโน้มของจิตใจและสังคม ดังที่ต่อมาก็มีเกิดขึ้นอีกเป็นระยะๆ อย่างที่เท็กซัส ปีที่แล้วนี้เอง ใกล้เมืองเวโก (Waco) ก็เกิดปัญหาที่สำนักลัทธิบรานช์ เดวิเดียน (Branch Davidian cult) ของเดวิด โกเรช (David Koresh) ซึ่งเรียกตัวเองว่าพระเยซูคริสต์ และอ้างว่าตนแปลคัมภีร์ตอนหนึ่งว่าด้วยคำเตือนเกี่ยวกับวันสิ้นโลก ตำรวจจะเข้าค้นอาวุธจึงล้อมอยู่ ๕๑ วัน ในที่สุดตำรวจสูบแก๊สน้ำตาเข้าไปในอาคาร โกเรชสั่งเผาสำนักของตนและทำการฆ่าตัวตายหมู่อย่างน้อย ๗๔ คน เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๓๖ (๑๙๙๓)

เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๓๗ (๑๙๙๔) ที่สวิตเซอร์แลนด์ ลัทธิหนึ่ง เจ้าสำนักชื่อ Luc Jouret ก็มีการฆ่าตัวตายและฆ่ากันตายหมู่ เจ้าหน้าที่พบศพครั้งแรก ๔๘ ศพ ต่อมาพบว่าตายในคานาดาอีก ๒ ศพ รวมเป็น ๕๐ ศพ ส่วนที่ญี่ปุ่นตอนนี้ก็มีลัทธิศาสนาใหม่ ซึ่งเป็นที่สงสัยว่า ได้เอาแก๊สพิษไปปล่อยตามสถานีรถไฟ เป็นต้น ฆ่าคนโดยมีความคิดว่าจะถึงวันสิ้นโลกแล้ว รีบตายกันเสียก่อน เดี๋ยวไปถึงวันสิ้นโลกแล้วจะลำบาก อะไรต่างๆ เหล่านี้ แสดงถึงความวิปริตผันผวนทางจิตใจที่มีมาก

สภาพจิตของฝรั่งเวลานี้เราจะต้องเข้าใจเท่าทันว่า ตกอยู่ในสภาพที่ไม่มั่นคง เนื่องจากเขาขาดความมั่นใจในสังคมของตนเอง นอกจากผิดหวังจากความเจริญที่สร้างสรรค์มาแล้ว สังคมของเขาก็มีความเสื่อมลงไปในหลายๆ ด้าน รวมทั้งการสูญเสียความเป็นผู้นำและความยิ่งใหญ่ในเวทีโลก อารยธรรมก็เสื่อมลง ชักจะหมดความหวัง พร้อมกันนั้นสภาพจิตใจก็เคว้งคว้าง ขาดสิ่งยึดเหนี่ยว ในท่ามกลางสภาพเช่นนี้ ตัวเราเองจะต้องมั่นใจในหลักการของตน และจะต้องมีความชัดเจน มิฉะนั้น จะไปพลอยสนองตอบตามเขาไปด้วยแล้วก็อาจจะผิดพลาดไปได้ เช่นอาจจะชักนำเขาไปในทางที่เหลวไหลก็ได้ หรือบางทีกลับไปหาผลประโยชน์จากฝรั่งที่เขากำลังคลั่งไคล้ ก็ผิดเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ปัจจุบันนี้จึงเป็นยุคที่จะต้องนำเอามัชฌิมาปฏิปทา มาแสดงให้ชัดเจน เราเองจะต้องมีความมั่นใจและชัดเจนในมัชฌิมาปฏิปทาของตน

เมื่อไปแล้ว เราทำงานเป็นพระธรรมทูต มีบทบาทอย่างที่กล่าวมาทั้งสามประการ ในด้านหนึ่ง เราอาจจะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยถือโอกาสวิจัยสังคมและศาสนาตะวันตกเสียเลย เพราะเราได้ไปอยู่ใกล้ ได้เห็น ได้ยินอะไรๆ ตลอดเวลา ถ้าเราไม่ตั้งจุด และไม่ตั้งใจไว้ก่อน เราอาจจะปล่อยสิ่งที่ควรจะได้ให้สูญเสียไปเปล่า ทั้งๆ ที่ไปอยู่ที่นั่น แต่เวลาก็ผ่านไปอย่างนั้นเอง โดยไม่ได้สังเกตว่า มีอะไรเกิดขึ้นในสังคมของเขา

ถ้าเราตั้งข้อสังเกต และศึกษาด้วยปัญญาที่วิเคราะห์วิจัย จะได้อะไรมากมาย เราจะเห็นภาพที่โยงกันได้ จากเหตุการณ์หนึ่งในสังคมของเขาจะมีปัจจัยที่ไปโยงกับเรื่องอื่น จนทำให้เราจับได้ว่า อ้อ! สังคมของเขามีภาพรวมเป็นอย่างนี้ จับจุดได้แล้วเราก็วางรูปสภาพสังคมตะวันตกขึ้นมา แล้วก็โยงเข้ามาหาสภาพอารยธรรมทั้งหมดของโลก แล้วเราก็อาจจะเห็นทางชัดขึ้นว่า จะนำหลักพระพุทธศาสนาไปช่วยแก้ไขปัญหา และสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติได้อย่างไร แล้วก็โยงอีกทีหนึ่งมาที่สังคมไทยของเราเอง ว่าเป็นไปอย่างไร ภายใต้กระแสของโลก

- ๔ -
แนวทางวางฐานเพื่อสร้างสรรค์อารยธรรมที่แท้

อะไรทำให้ฝรั่งเจริญก้าวหน้า
ทำไมคนไทยนับถือพุทธศาสนาไม่เจริญ

พระผู้เข้าอบรม - มีคนพูดว่า คนไทยนับถือพุทธศาสนาทำไมเมืองไทยจึงไม่พัฒนา อยู่ในสภาพอย่างนี้ แต่ฝรั่งนับถืออย่างอื่นกลับเจริญไปไกล?3

พระธรรมปิฎก - เรื่องนี้มีแง่พิจารณาหลายอย่าง แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะเข้ามาในสังคมไทยแล้ว แต่ในด้านหลักการและลักษณะของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก พระพุทธศาสนาไม่มีการบังคับศรัทธา การนับถือเป็นไปโดยเสรี ให้ใช้ปัญญาพิจารณา และไม่ถูกผูกมัดด้วยข้อกำหนดตายตัวทั้งในด้านความเชื่อและการปฏิบัติ (อย่างที่ฝรั่งว่าพุทธศาสนาไม่มี dogma) คนจะเข้าถึงพระพุทธศาสนาได้เพียงใดก็อยู่ที่การศึกษา หลักการและลักษณะนี้ ทำให้คนที่เรียกว่านับถือพระพุทธศาสนายังอาจจะอยู่ห่างไกลจากตัวจริงของพระพุทธศาสนามาก ระดับของคนที่นับถือก็ห่างกันได้มาก และชาวพุทธก็ยังอาจจะนับถืออะไรอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลมากยิ่งกว่าตัวพระพุทธศาสนาเอง เพราะฉะนั้น

ประการแรก ไม่ใช่ว่าคนไทยเราจะเข้าถึงแนวทางของพระพุทธศาสนากันทั้งหมดและทุกสมัย เราอาจจะพยายามเข้าถึงพุทธศาสนา และในบรรดาชาวไทยทั้งหมดนั้น บางส่วนอาจจะเข้าถึงบ้าง แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าถึง ในบางยุคสมัยคนอาจเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนามากหน่อย แต่บางยุคสมัยก็อาจจะเหินห่างมาก โดยเฉพาะ

ประการที่สอง เพราะไม่บังคับความเชื่อนี่แหละ คนไทยจึงไม่ได้นับถือเฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่อาจจะนับถือลัทธิศาสนาอย่างอื่นๆ ไปพร้อมๆ กันด้วย เช่น ศาสนาพราหมณ์ ไสยศาสตร์ และลัทธิผีสางเทวดา ลัทธิความเชื่อเหล่านั้น จึงเข้ามามีอิทธิพลด้วย บางอย่างก็ถึงกับก้าวล่วงล้ำเข้ามาปะปนในพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำ และก็อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนทั่วไปอยู่ใต้อิทธิพล จึงไม่ได้หมายความว่าพระพุทธศาสนาเป็นปัจจัยหลักที่ชักนำชะตากรรมของสังคมไทยอย่างแท้จริง เรียกว่าคนไทยยังอยู่ใต้อิทธิพลของแนวความคิดและความเชื่ออย่างอื่นอีกมาก มองในทางกลับกัน อาจจะพูดใหม่อีกอย่างหนึ่งว่า พระพุทธศาสนาช่วยมาได้แค่นี้ หรืออาจจะตั้งคำถามใหม่ว่า ทำไมพระพุทธศาสนาจึงช่วยมาได้เพียงแค่นี้ และ

ประการที่สาม ยังมีองค์ประกอบและปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทางลัทธิศาสนาหรือความเชื่ออีก เช่นปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมเป็นต้น

สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ดีมีสุขท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติแวดล้อม ก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับปุถุชน หมายความว่า มนุษย์ปุถุชนจะดิ้นรนขวนขวายต่อเมื่อมีทุกข์บีบคั้นหรือภัยคุกคาม ในแง่นี้จะเห็นได้ว่า ในอารยธรรมตะวันตกนั้น ปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ความเจริญก็คือการถูกทุกข์บีบคั้นและภัยคุกคาม กล่าวคือ ความขาดแคลนปัจจัยสี่และความบีบคั้นของภัยธรรมชาติ เช่นความหนาวเย็น ที่รุนแรงถึงขนาดที่ว่าถ้าไม่ได้แก้ไขป้องกันแล้ว ชีวิตจะอยู่ไม่ได้

สำหรับเมืองไทยเรานี้เราอาจจะผัดผ่อนได้ เช่นว่า เอ้อ..บ้านเราฝาผุแตก แต่เรายังไม่มีเวลา ยังไม่ซ่อมนะ เอาไว้เดือนหน้า พอถึงเดือนหน้าเราก็ผัดต่อไปอีก เอาไว้อีกเดือนหนึ่ง เดือนหน้าจึงจะซ่อม แล้วก็เดือนหน้าๆๆ จนกระทั่งครบปีก็ยังไม่ได้ซ่อม แต่ในประเทศฝรั่ง จะผัดเพี้ยนไม่ได้เลย อีกสองเดือนฤดูหนาวจะมา เดือนหน้าถ้าไม่ซ่อมจะหนาวตาย ภัยธรรมชาติที่รุนแรงและความขาดแคลนเนื่องจากธรรมชาติที่ไม่อุดมสมบูรณ์นี้เป็นอันตรายที่บีบคั้นทำให้เขาไม่ประมาท หรือมัวประมาทอยู่ไม่ได้ คือจำเป็นต้องไม่ประมาท ต่างจากของเราที่สุขสบายอุดมสมบูรณ์ ถ้าเป็นมนุษย์ปุถุชนที่ไม่พัฒนาพอ ปัจจัยตัวเอื้อต่างๆ จะนำไปสู่ความประมาท เช่น ทำให้นอนเสพเสวยความสุข และชอบผัดเพี้ยนเรื่อยไป เดี๋ยวก็ได้ เมื่อโน้นก็ได้ เมื่อนี้ก็ได้ นี่ก็คือลัทธิแห่งความประมาทนั่นเอง ตรงนี้แหละที่อาจจะตั้งคำถามว่า ทำไมผู้ที่ทำหน้าที่สอนพระพุทธศาสนาจึงไม่ช่วยพัฒนาคนไทยให้พ้นจากลัทธิแห่งความประมาทนี้ไปได้

นอกจากนั้น ยังมีความบีบคั้นทางอื่นอีก โดยเฉพาะทางจิตใจ และทางปัญญา สังคมตะวันตกนั้นเป็นสังคมที่ผ่านประวัติแห่งการบีบคั้นทางปัญญามาอย่างมาก พวกเราก็เรียนประวัติศาสตร์กันมา อย่างในสมัยกลางของยุโรป ศาสนาคริสต์มีอำนาจครอบงำยุโรปทั้งทวีป โดยมีวาติกันเป็นศูนย์กลาง โป๊ป (Pope) ที่แปลว่าสันตะปาปา เป็นผู้สวมมงกุฏให้กษัตริย์ของประเทศทั้งหลายทั่วไปหมด ฉะนั้น ถ้ามีกษัตริย์องค์ไหนเกิดเรื่องขัดแย้งไม่เชื่อฟัง โป๊ปสามารถสั่งลงโทษ เช่น เมื่อปี ๑๖๑๙ (ค.ศ. ๑๐๗๖) โป๊ป เกรกอรี ที่ ๗ (Pope Gregory VII) สั่งลงโทษคว่ำบาตรพระเจ้าเฮนรีที่ ๔ (Henry IV) กษัตริย์เยอรมันและเป็นจักรพรรดิโรมันด้วย พระเจ้าเฮนรีที่ ๔ ต้องเดินทางข้ามเทือกเขาแอลป์ส์ (Alps) มาขอขมาโทษโป๊ป และต้องยืนพระบาทเปล่าหนาวสั่นและอดอาหารอยู่กลางหิมะ ๓ วัน โป๊ปจึงยกโทษให้

ในยุคนั้น คำสอนในศาสนาคริสต์ ใครจะเถียงไม่ได้ สงสัยไม่ได้ สงสัยพระเจ้าไม่ได้ ถ้าพูดขึ้นมาทำนองนี้นิดหน่อยก็ถูกจับขึ้นศาล ซึ่งทางองค์กรศาสนาคริสต์และบ้านเมืองได้ร่วมกันตั้งขึ้น เรียกว่า Inquisition แปลว่า ศาลไต่สวนศรัทธา ไม่ว่าจะสงสัยในองค์พระเจ้าหรือสงสัยคำสอนในพระคัมภีร์ไบเบิล (Bible) ก็จับขึ้นศาลได้เลย และถ้าไม่ละความเชื่อหรือความสงสัยนั้น ก็ถูกเผาทั้งเป็น ในประเทศสเปนคนถูกเผาตายเป็นหมื่น

กาลิเลโอนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญในประวัติศาสตร์ก็โดนด้วย เพราะเขาไปสอนเรื่องว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล แต่พระอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง เท่านี้แหละถือว่าขัดแย้งกับคำสอนในพระคัมภีร์ ถูกจับขึ้นศาลเลย แล้วก็ถูกตัดสินจะให้ดื่มยาพิษ แต่กาลิเลโอยอมบอกว่า ตัวเองหลงผิดไป ก็เลยรอด แสดงว่ากาลิเลโอนี่ไม่มั่นจริงในแนวความคิด กรณีของกาลิเลโอก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการที่ศาสนาคริสต์บีบคั้นปิดกั้นทำให้คนไม่สามารถใช้ความคิดเหตุผลสงสัยถกเถียงปัญหาเกี่ยวกับความจริงของโลกและชีวิต แต่ธรรมชาติของมนุษย์นั้นยิ่งบีบก็ยิ่งดิ้น เพราะฉะนั้น มนุษย์พวกหนึ่ง อย่างพวกกาลิเลโอนี้ ก็ยิ่งรวมตัวกันแสวงปัญญา ถกเถียงหาความรู้ ทำให้เกิดการพัฒนาทางปัญญา

รวมความว่า ในตะวันตกยุคก่อนโน้น การดิ้นรนเพื่อจะให้พ้นจากการบีบคั้นทางความคิดความเชื่อ ทำให้เกิดการใฝ่แสวงปัญญา ต่างจากในสังคมของเราที่ไม่มีการบีบคั้นทางปัญญา เลยเกิดภาวะเรื่อยเปื่อย ใครจะคิดอย่างไร ใครจะสงสัยอะไรก็ไม่ว่า ก็ปล่อย เลยขี้เกียจคิดขี้เกียจพูด พูดไปก็ไม่เห็นใครสนใจ มีคนมาฟังไม่กี่คน แต่ฝรั่งเขาไม่อย่างนั้น พอพูดแสดงความสงสัย เขาจับเลย กลายเป็นการกระตุ้นเร้าให้พวกที่อยากรู้ยิ่งอยากมาฟัง ยิ่งลักลอบทำเป็นการลับก็ยิ่งเอาจริงเอาจัง ฝรั่งก็แสวงปัญญากันจริงจังยาวนานจนกระทั่งเกิดเป็นนิสัยใฝ่รู้ขึ้น จากการดิ้นรนให้พ้นจากการบีบคั้นทางปัญญานี่แหละ ในที่สุดก็มาผุดโพล่งออก เกิดเป็นยุคคืนชีพ (Renaissance) และตามมาด้วยยุคปฏิรูป (Reformation) การฟื้นฟูทางปัญญาจึงเกิดขึ้นในยุโรป เพราะการดิ้นรน จึงทำให้ฝรั่งมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายอย่างรุนแรง ต่างจากของเราที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงอะไร ก็อยู่กันมาเรื่อยๆ สบายๆ จนจะมีนิสัยผัดเพี้ยน ปล่อยปละละเลย เรื่อยเปื่อย เฉื่อยชา ตกอยู่ในความประมาท

พูดได้ว่า ถ้าเราไม่พัฒนาคนให้ดีพอ คือไม่สามารถทำให้คนอยู่ด้วยความไม่ประมาทที่แท้ ตามหลักของพระพุทธเจ้า สังคมไทยจะเจริญในทางสร้างสรรค์ได้ยาก

ความไม่ประมาทที่แท้ ก็คือ การเร่งรัดแก้ไข ป้องกันความเสื่อม และสร้างสรรค์ความเจริญด้วยสติปัญญา ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาคนให้อยู่ด้วยความไม่ประมาทที่แท้ คนก็จะตกไปอยู่ใต้อำนาจกิเลสของปุถุชน คือ ต้องมีทุกข์บีบคั้นหรือภัยคุกคามจึงจะดิ้นรนขวนขวาย เมื่อไรสุขสบายประสบความสำเร็จก็จะนอนหรือนิ่งเฉยเฉื่อยชา และมัวเมาหลงเพลิดเพลินในความสุข แล้วก็จะผัดผ่อนอะไรต่างๆ ไปเรื่อยๆ ยิ่งเรามาใช้สันโดษในความหมายว่า พอใจในสิ่งที่มีอยู่ จะได้สบายมีความสุข ก็ไปกันได้ดีเลย นี้ก็คือลัทธิแห่งความประมาทนั่นเอง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าผู้ใดสันโดษในกุศลธรรม ผู้นั้นก็เป็นผู้ประมาท พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้สันโดษในกุศลธรรม คือการสร้างสรรค์บำเพ็ญกิจกรณีย์สิ่งที่ดีงาม พระองค์สอนให้สันโดษในวัตถุสิ่งเสพเท่านั้น เพราะถ้าคนไม่สันโดษในวัตถุสิ่งเสพ มัวแต่วุ่นวายหาความสุขมาบำรุงบำเรอตัวเอง เขาจะเอาเวลา แรงงาน และความคิดที่ไหนมาใส่ใจทำหน้าที่กิจการงานและสร้างสรรค์ความดีงาม แต่ถ้าเราสันโดษในวัตถุสิ่งเสพ เราก็มีเวลาแรงงานและความคิดเหลือเฟือที่จะเอาไปทุ่มอุทิศให้แก่การทำหน้าที่การงานและการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ถ้าเราสันโดษในวัตถุสิ่งเสพ พร้อมกับไม่สันโดษในกุศลธรรมตามที่พระพุทธเจ้าสอน ก็จะเกิดความเจริญในทางสร้างสรรค์อย่างแน่นอน แต่นี่คนไทยอยู่สุขสบายแล้วยังแถมสันโดษในกุศลธรรมอีกด้วย ก็ไม่ดิ้นรนขวนขวาย ไม่เร่งรัดตัวเอง กลายเป็นคนปล่อยปละละเลย เฉื่อยชา

เป็นอันว่า สังคมตะวันตกนี่ดีอย่าง ที่เขามีตัวเร่งทำให้คนไม่ประมาท ทั้งโดยธรรมชาติแวดล้อมที่ทารุณ และโดยการบีบคั้นกันเองในหมู่มนุษย์ เข้าหลักที่ว่าคนถูกทุกข์บีบคั้นและภัยคุกคามจึงลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย

แรงบีบคั้นที่ทำให้ไม่ประมาทเร่งสร้างสรรค์
แต่ความไม่ประมาทนั้น ยังต้องถามว่าเป็นอย่างแท้หรือเทียม

ยิ่งกว่านั้น ฝรั่งยังมีทุกข์บีบคั้นและภัยคุกคามที่มนุษย์สร้างขึ้นเองซ้อนเข้าไปอีก จึงยิ่งทำให้เขาดิ้นรนขวนขวายสร้างสรรค์พัฒนาในความหมายแบบของเขามากยิ่งขึ้น อาจจะพูดได้ว่า ฝรั่งคุ้นเคยหรือชินมากับระบบทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามนี้กระทั่งเขาพัฒนามันขึ้นมาเป็นวิถีชีวิตในสังคมของเขา หรือเป็นวัฒนธรรมของเขาเลยทีเดียว ดังจะเห็นได้ว่า ในยุคเศรษฐกิจรุ่งเรืองที่ผ่านมานี้เขาใช้ระบบแข่งขัน โดยเฉพาะคนอเมริกันนั้นถือการแข่งขัน (competition) เป็นหัวใจของการสร้างความเจริญ โดยที่เขาเชิดชูลัทธิปัจเจกนิยม (individualism) ซึ่งแสดงออกมาเด่นทางด้านการแข่งขัน รวมทั้งวิถีชีวิตแบบตัวใครตัวมัน

การแข่งขันนี้ อเมริกันถือว่าขาดไม่ได้ในการสร้างความเจริญ แต่การแข่งขันนั้น มองในแง่ของธรรม ก็คือการที่คนมาบีบคั้นกันเองให้นิ่งเฉยเฉื่อยชาอยู่ไม่ได้ เพราะระบบแข่งขันนั้น คือลัทธิตัวใครตัวมัน ใครดีใครได้ ใครแข็งก็อยู่ ใครอ่อนก็ไป ถ้าใครไม่ดิ้นรนไม่ขวนขวาย คนนั้นก็ตาย ไม่มีใครช่วย ฉะนั้น ต้องพึ่งตัว ต้องดิ้นรนขวนขวายเอาเอง จึงเท่ากับมีภัยคุกคามทำให้ต้องดิ้นอยู่ตลอดเวลา เขาจึงสร้างสรรค์ความเจริญมาได้ ระบบแข่งขันก็ดีตรงนี้ คือดีสำหรับมนุษย์ที่ยังมีกิเลส ซึ่งไม่สามารถที่จะไม่ประมาทด้วยสติปัญญา จึงเรียกระบบแข่งขันนี้ว่าระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์

อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าต้องการให้เราพัฒนาคนให้ไม่ประมาทด้วยสติปัญญา คือ โดยที่มีสติตามระลึกเท่าทัน ตื่นตัวต่อเหตุการณ์ มีอะไรเกิดขึ้นเป็นไปที่จะมีผลกระทบต่อชีวิต ต่อสังคม ต่อพระศาสนา ก็ไม่นิ่งเฉยเฉื่อยชา ไม่ปล่อยปละละเลย แต่จับเอามาตรวจมาดูว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้ว จะมีผลดี หรือผลร้าย ถ้าจะเป็นผลเสีย จะก่อให้เกิดความเสื่อม ก็รีบแก้ไขป้องกัน อันไหนจะทำให้เกิดความเจริญก็รีบจัดรีบทำ สติทำหน้าที่ คอยระลึก คอยนึก คอยจับ เอามาดูอยู่เรื่อย ปัญญาก็พิจารณาวิเคราะห์เรื่องราวและสืบสาวหาเหตุปัจจัย หาเหตุหาผล แล้วก็ทำไปตามเหตุปัจจัยนั้น โดยไม่ต้องรอให้มีทุกข์มาบีบคั้นหรือภัยมาคุกคาม ถ้าเราอยู่ได้อย่างนี้ เรียกว่าอยู่ด้วยความไม่ประมาท คือไม่ต้องรอให้ทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามจึงมาเร่ง แต่ทีนี้มนุษย์เราทั่วๆ ไป ทำได้ไหมถึงขนาดนี้ เท่าที่เห็นกันอยู่ โดยมากก็จะอยู่ในวงจรของปุถุชนที่ว่า พอมีสุข สำเร็จ ได้ดีแล้ว ก็นอนเสวยผล ลุ่มหลงเพลิดเพลิน มัวเมา เฉื่อยชา ผัดผ่อน พอถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ก็ลุกขึ้นมาดิ้นรนขวนขวายกันที ฉะนั้น มนุษย์ก็เลยหนีไม่พ้นจากวงจรของความเสื่อมและความเจริญ

พระพุทธเจ้าทรงสอนหลักความไม่ประมาทไว้โดยทรงเน้นว่า เป็นหลักธรรมสำคัญที่สุด ทั้งเปรียบกับรอยเท้าช้าง และเป็นปัจฉิมวาจา จึงเป็นตัวคุมทั้งหมด ปฏิบัติธรรมไปอย่างไรๆ ในที่สุดก็มาจนที่ตรงนี้ คือ หลักธรรมต่างๆ นั้นมีไว้มากมาย เพื่อช่วยคนให้พ้นความชั่ว มาสู่ความดี ท่านอุตส่าห์สอนธรรมมามากมายให้คนปฏิบัติจนพ้นจากความชั่วมาสู่ความดี แต่พอคนนั้นมาสู่ความดีแล้ว เจริญแล้ว สำเร็จแล้ว หรือมีความสุขแล้ว ก็มาตกหลุมแห่งความประมาทเสีย คือ ยินดี พอใจ เพลิดเพลิน เลยหยุดเพียร พักผ่อน นอนเสวยผล กลายเป็นนิ่งเฉยเฉื่อยชา หรือนอนใจ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนความไม่ประมาทควบไว้อีกที เพื่อให้คนที่ปฏิบัติธรรม เมื่อประสบความสำเร็จแล้ว ดีแล้ว สุขแล้ว จะได้ไม่ตกหลุม จะได้ไม่เสื่อมลงอีก ท่านเอาความไม่ประมาทมารั้งท้ายคุมไว้อีกที ฉะนั้น ความไม่ประมาทจึงเป็นธรรมสำคัญอย่างยิ่ง แต่มีปัญหาว่า มนุษย์จะไปถึงจุดนี้ได้หรือไม่

นี่คือบทพิสูจน์มนุษยชาติ ว่ามนุษย์เรานี้โดยส่วนรวมที่เรียกว่าสังคม จะสามารถพัฒนาไปถึงขั้นนี้ได้ไหม คือขั้นที่อยู่ได้ด้วยความไม่ประมาท สามารถสร้างสรรค์ความเจริญขึ้นมา แล้วรักษาความเจริญนั้นไว้ได้ และทำให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปโดยไม่เสื่อม ด้วยความไม่ประมาท หรือจะต้องตกอยู่ใต้วงจรของการที่ว่า ต้องถูกทุกข์บีบคั้น ภัยคุกคาม จึงดิ้นรนขวนขวาย แล้วเมื่อประสบความสำเร็จ สุขแล้ว ดีแล้ว ก็หลงมัวเมาเพลิดเพลินผัดเพี้ยนมัวเสวยผล นอนใจ แล้วก็เสื่อมอีก เลยต้องใช้ระบบแข่งขันที่เป็นระบบกิเลสมาบีบคั้นแทน

เป็นอันว่า ฝรั่งใช้กิเลสของมนุษย์มาเป็นอุปกรณ์สร้างระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์ คือการแข่งขันขึ้นมา แล้วการแข่งขันนั้นก็เป็นตัวเร่งตัวบีบคั้นให้ทุกคนดิ้นรนขวนขวายช่วยตัวเอง พร้อมกันนั้นก็ให้มีปัจจัยตัวอื่นในสังคมมนุษย์มาหนุนอีก เช่น การไม่ช่วยเหลือกัน การอยู่แบบตัวใครตัวมัน และเอาหลักการของสังคมตลอดจนกฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ มาบีบมากำกับ ถ้าใครไม่ทำ กฎหมายกฎเกณฑ์กติกาจะบีบให้แย่เอง ทุนคนต้องช่วยเหลือตัวเอง ก็เลยต้องดิ้นรนขวนขวายตลอดเวลา

ฉะนั้น ในแง่นี้ ถ้าเราไม่สามารถสร้างความไม่ประมาทที่แท้ขึ้นมา คือ ไม่สามารถพัฒนาคนให้มีความไม่ประมาทที่แท้ได้ การใช้ระบบแข่งขันก็อาจจะดีกว่าที่จะปล่อยคนไทยไว้อย่างนี้ เพราะมันจะบีบเค้นให้คนไม่ประมาท แม้ว่าจะเป็นความไม่ประมาทอย่างเทียมด้วยแรงบีบก็ตาม ขอให้พิจารณาว่าระหว่างการบีบให้ดิ้น กับปล่อยให้ประมาท อย่างไหนจะดีกว่ากัน ขอให้เลือกว่าจะเอาอย่างไหน

ไทยสบายๆ แต่ตกอยู่ในความประมาท
ฝรั่งไม่ประมาทแต่ไม่แท้ ก็ไปสู่ความพินาศ

อย่างไรก็ตาม จะต้องรู้ตระหนักไว้ว่า ระบบแข่งขัน ที่อาศัยกิเลสมนุษย์ เป็นระบบทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ไม่ใช่ความไม่ประมาทที่แท้จริงนี้ มีผลเสียมาก เพราะมันเป็นระบบที่เอากิเลสของมนุษย์มาปลุกเร้า และเป็นไปเพื่อสนองกิเลส คือ ทุกคนดิ้นรนเพื่อตัวเอง ไม่ใช่เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ดิ้นรนเร่งทำเพื่อให้ตัวรอด เพื่อให้ตัวอยู่ดี เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น จึงพยายามกอบโกยเอาเปรียบให้ได้มากที่สุด จึงต้องตั้งกติกากันขึ้น เพื่อจะมากีดกั้นป้องกันไม่ให้รุกล้ำสิทธิ์กัน สังคมตะวันตกเป็นอย่างนี้ คือ ในแง่หนึ่งเขาสนับสนุนความเห็นแก่ตัว และพร้อมกันนั้นเขาก็สร้างกติกากฎหมายและหลักการต่างๆ ของสังคมขึ้นมาเพื่อป้องกันการรุกล้ำสิทธิ์กัน การพัฒนาในทิศทางนี้จึงได้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าสิทธิมนุษยชน (human rights) ที่ตะวันตกเขาภูมิใจนักหนา สิทธิมนุษยชนเกิดมีขึ้นเพราะสังคมตะวันตกเป็นมาอย่างนี้ ทั้งนี้รวมทั้งกฎเกณฑ์กติกา และกฎหมายต่างๆ ซึ่งตะวันตกชำนาญมาก

แม้ว่าสังคมตะวันตกจะใช้ระบบแข่งขัน ซึ่งเป็นระบบทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามแบบประดิษฐ์ของมนุษย์เอง มาเร่งรัดคนให้กระตือรือร้นขวนขวาย มีความไม่ประมาทชนิดเทียมแล้วสร้างความเจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้ แต่มันก็มีผลร้ายในเบื้องปลาย คือ ทำให้คนมุ่งที่จะเอาแต่ตัวเองรอด เพื่อความอยู่ดีมีความสุขสมบูรณ์ของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น และไม่คำนึงถึงธรรมชาติแวดล้อม ในที่สุด เมื่อแต่ละคนมุ่งหาประโยชน์ส่วนตน สังคมก็มากไปด้วยการเบียดเบียนกัน และธรรมชาติแวดล้อมก็เสื่อมโทรม ทรัพยากรธรรมชาติก็ร่อยหรอ ฉะนั้น ระบบแข่งขันจึงไม่ปลอดภัย และโดยนัยนี้ ระบบที่ดีที่สุด จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องเป็นระบบแห่งความไม่ประมาทที่แท้ ซึ่งเป็นไปด้วยสติปัญญา

เมื่อเราใช้สติปัญญาแล้ว มันก็คลุมหมด ปิดช่องเสียไม่ให้มี มีแต่ส่วนที่ดี แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเราทำอย่างไรจะพัฒนาคนให้อยู่ด้วยธรรม คือความไม่ประมาทนี้ได้ และการพัฒนาคนให้ถึงขั้นที่อยู่ด้วยความไม่ประมาทแท้ด้วยสติปัญญานี้ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือไม่ (อย่างน้อยที่เห็นอยู่ คือ ในสังคมไทยนี่เอง ที่มีพระพุทธศาสนาซึ่งสอนหลักความไม่ประมาท แต่คนดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความประมาท และยิ่งกว่านั้น น่าสังเกตว่า เราไม่ค่อยสอนกันด้วยในเรื่องความไม่ประมาทนี้)

ตามหลักความไม่ประมาท สิ่งที่เราจะต้องทำให้ได้ก็คือ หนึ่ง ทำให้คนเจริญงอกงามอยู่ในความดีงาม มีความร่มเย็นเป็นสุข สอง เมื่อดีงาม ร่มเย็นเป็นสุขแล้วให้ไม่ประมาท เร่งสร้างสรรค์เพื่อให้เจริญก้าวหน้าต่อไป โดยไม่ผัดเพี้ยน ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่เพลิดเพลินมัวเมาตกหลุมความประมาท

เมื่อสำรวจตรวจดูสภาพสังคม จุดอ่อนของสังคมไทยน่าจะได้แก่ความประมาท คนไทยเรานี้ประสบความสำเร็จพอสมควรในการดำรงอยู่ด้วยดี สังคมของเรามีความร่มเย็นเป็นสุข แต่แล้วก็เฉื่อยชาเพราะว่าไม่เอาหลักความไม่ประมาทมาใช้ คนไทยไม่ค่อยเห็นความสำคัญของหลักความไม่ประมาทเลย ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสเตือนไว้นักหนา ไม่รู้กี่แห่ง

ความไม่ประมาทเป็นเหมือนกับรอยเท้าช้าง ธรรมทุกอย่างรวมลงได้ในความไม่ประมาททั้งหมด เหมือนรอยเท้าสัตว์บกทุกชนิดรวมลงได้ในรอยเท้าช้าง ธรรมทั้งหลายมากมายจะกี่อย่างก็ตาม ไม่ว่าเราจะเรียนจะรู้จะจำมาเท่าไร ถ้าประมาทเสียอย่างเดียว ธรรมเหล่านั้นก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้รับการปฏิบัติ แต่ในทางตรงข้าม ธรรมกี่อย่างก็ตาม แม้เรียนเพียงน้อยข้อ แต่ถ้าไม่ประมาทเสียอย่างเดียว มีกี่ข้อก็ได้รับการปฏิบัติทั้งหมด เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นความสำคัญของความไม่ประมาท และรวมความว่า ความไม่ประมาทเป็นบทพิสูจน์การพัฒนามนุษยชาติ ว่ามนุษย์จะไปรอดไหมโดยสังคมส่วนรวม

เป็นอันว่า ตอนนี้ ถ้าเทียบกันในแง่นี้ สังคมตะวันตกอยู่ด้วยความไม่ประมาทเทียมตามระบบแข่งขัน ที่ทำให้สร้างความเจริญทางวัตถุได้สำเร็จผลอย่างดี ส่วนสังคมไทยของเรา ได้ประสบความสำเร็จในความดีงามอยู่สุขสบายพอสมควร แต่ตกหลุมความประมาท อาจจะเป็นอย่างนี้ ขอตั้งสมมุติฐานหรือข้อสังเกตให้ไปพิจารณากัน

สรุปจุดเน้นตอนนี้ว่า เกณฑ์วัดการพัฒนามนุษย์คือ สำหรับมนุษย์ที่ยังไม่พัฒนา ต้องบีบเค้นจุดไฟลนจึงจะไม่ประมาท (ไม่ประมาทเทียม) สำหรับมนุษย์ที่พัฒนาแล้ว ใช้สติปัญญาเร่งรัดตัวเองได้ จึงไม่ประมาท (ไม่ประมาทแท้)

เวลานี้ฝรั่ง โดยเฉพาะอเมริกัน ก็ยังหาทางออกไม่ได้ เขายังไม่เห็นต้นตอของปัญหา หรือยังไม่เห็นโทษภัยแห่งฐานความคิดความเชื่อของตนด้วยซ้ำ เขายังคิดว่า ระบบแข่งขัน (competition) เท่านั้นที่จะทำให้เกิดความเจริญ ตอนนี้สังคมอเมริกันเสื่อมลง เขาก็บอกว่า เป็นเพราะอเมริกันสูญเสียความพร้อมและความสามารถในการแข่งขัน แสดงว่าอเมริกันนี่ยังคิดอยู่ในแง่ของตัวเองอย่างเดียวเท่านั้น เพราะถือว่าตนประสบความสำเร็จมาด้วยการแข่งขัน เวลานี้ พอตัวเองเสื่อมลง ก็มองได้แค่ว่าเป็นเพราะคนของตนสูญเสีย competitiveness คือความพร้อมที่จะแข่งขัน หรือคุณสมบัติในการแข่งขัน หมายความว่า คนอเมริกันในยุคปัจจุบัน ไม่มีคุณสมบัติในการแข่งขัน เช่น ขาดจริยธรรมการทำงาน (work ethic) ขาดสันโดษ ไม่ขยันหมั่นเพียร เป็นคนสำรวยหยิบโหย่ง เป็นต้น เพราะฉะนั้นก็เลยบอกว่าเราจะต้องแก้ไขกู้ฐานะความเป็นผู้นำ และความยิ่งใหญ่กลับมา ด้วยการที่จะต้องทำให้คนอเมริกันกลับมีความพร้อมที่จะแข่งขัน (competitiveness) ก็ได้แค่นี้แหละ วนเวียนอยู่แค่การถือว่าตนจะฟื้นตัวได้ก็ต้องให้แข่งขัน (competition) เก่ง

ในเวทีโลกเวลานี้จะเห็นได้ชัดว่า มีคำว่าแข่งขันนี้ใช้ทั่วไปหมด โดยเฉพาะการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เวลานี้ถือกันว่าโลกเป็นเวทีของการแข่งขัน ประเทศชาติต่างๆ ก็คิดถึงแต่การที่จะแข่งขันกัน เมืองไทยเราก็พลอยรับเอาลัทธินี้เข้ามาด้วย และพูดกันเกร่อถึงการพยายามแข่งขันให้สู้เขาได้ เมื่อมองในแง่นี้ก็เป็นการเอาแต่ตัวของแต่ละประเทศ แต่ในการแก้ปัญหาของโลก ระบบการแข่งขันแบบนี้ไม่มีทางแก้ปัญหาได้สำเร็จ มีแต่จะทำให้โลกพินาศ เพราะในที่สุด มันจะกลับมาซ้ำเติมปัญหาที่ว่ามาทั้งหมด เช่นทำให้ปัญหาธรรมชาติแวดล้อมแก้ไม่ได้ เพราะว่าเมื่อต่างคนต่างแข่งขันหาผลประโยชน์ หรือว่าต่างคนต่างคิดแบ่งแยกกัน มันก็แก้ไม่ได้ มนุษย์จึงมาถึงจุดติดตัน

ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้มองเห็นปัญหาโทษภัยของแนวความคิดบางอย่าง แต่เขาก็หนีไม่พ้นจากแนวความคิดนั้นเองอีกด้านหนึ่งที่มองไม่เห็น เหมือนอย่างอเมริกันที่มองเห็นว่า ความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติผิด แต่ก็มองไม่ออกว่าจะหาทางออกอื่นได้อย่างไร ก็ต้องมาใช้วิธีการสร้างความเจริญด้วยการแข่งขัน (competition) อีก ซึ่งก็อยู่ในลัทธิเดียวกัน คือการหาผลประโยชน์ด้วยการทำลายธรรมชาติ ก็วนไปวนมา เพราะฉะนั้นจึงบอกว่าติดตัน

พระพุทธศาสนานี้ ในความคิดของผม ท่านอื่นจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ผมมั่นใจว่า เป็นคำตอบ เรามีคำตอบให้อย่างแน่นอน ยกตัวอย่างจริยธรรมก็เช่นเดียวกัน จริยธรรมตะวันตกที่พูดเมื่อกี้ก็มาติดตันที่จริยธรรมแห่งการจำใจ อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ถ้ามนุษย์จะสุขที่สุด ธรรมชาติต้องพินาศ และมนุษย์ก็พินาศด้วย แต่ถ้ายอมให้ธรรมชาติอยู่ มนุษย์ก็ไม่สามารถสุขที่สุด แต่ก็จำเป็นต้องประนีประนอมด้วยการยอมให้ธรรมชาติอยู่ได้โดยมนุษย์ยอมอดยอมขาดความสุขบ้าง ซึ่งก็คือจะต้องอยู่ด้วยความจำใจ เพราะฉะนั้น เวลานี้แม้เขาจะให้ความสำคัญแก่จริยธรรม แต่ก็ได้แค่จริยธรรมแห่งความจำใจด้วยการประนีประนอม

ขัดแย้ง จำใจ ไม่ยั่งยืน
คือความติดตันของความเจริญยุคปัจจุบัน

เมื่อกี้นี้ได้พูดไปแล้วว่า จริยธรรมตะวันตกเป็นจริยธรรมแบบเทวบัญชา แล้วต่อมาก็เป็นจริยธรรมที่ถือว่ามนุษย์ปรุงแต่งสมมุติกันขึ้นเอง ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ ครั้นถึงปัจจุบันนี้เมื่อมาประสบปัญหาทางจิตใจและทางสังคม ก็เริ่มเห็นความสำคัญของจริยธรรมขึ้นมาอีก แต่ก็ยังไม่มากนัก จนกระทั่งมาประสบปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเข้า ฝรั่งจึงได้หวนกลับไปให้ความสำคัญแก่จริยธรรมอย่างเต็มที่ เวลานี้จริยธรรม คือ ethics จึงได้กลับมามีความสำคัญมากในสังคมตะวันตก เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งทำให้เกิดมีจริยธรรมสิ่งแวดล้อม (environmental ethics) ซึ่งก็เป็นจริยธรรมแห่งความจำใจอยู่นั่นเอง เช่นบอกว่า มนุษย์ต้องมี restraint (ตรงกับ สังวร หรือ สัญญมะ) คือ ต้องมีการควบคุมยับยั้งตนเองในการที่จะปฏิบัติต่อธรรมชาติ โดยไม่เอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ตามใจชอบ เป็นต้น

ในเวลาเดียวกัน จริยธรรมก็ฟื้นฟู เฟื่องขึ้น ในด้านอื่นๆ ทางฝ่ายสังคมด้วย อย่างในมหาวิทยาลัยต่างๆ เวลานี้ก็มีการกลับมาศึกษาจริยธรรม เช่นมี จริยธรรมธุรกิจ (business ethics) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ทำอย่างไรจะดำเนินธุรกิจโดยไม่ส่งผลให้เกิดการทำลายสภาพแวดล้อม เพราะการแข่งขันกันมากในทางธุรกิจ จะทำให้ทุกคนต่างก็หาผลประโยชน์ แล้วก็ลงท้ายด้วยการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ฉะนั้น จริยธรรมสิ่งแวดล้อม (environmental ethics) จึงมีอิทธิพลออกไปจนถึงวงการทางสังคม ทำให้การศึกษาในมหาวิทยาลัยเกิดมีจริยธรรมธุรกิจ (business ethics) ขึ้นด้วย จริยธรรมก็กลับฟื้นฟูมีความสำคัญขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อจริยธรรมของตะวันตกเป็นจริยธรรมแบบจำใจ ฝืนใจ มันก็ไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ไม่มีหลักประกัน เพราะเมื่อมนุษย์ฝืนใจก็ทุกข์ จึงคอยหาทางเลี่ยงจริยธรรมแบบที่ว่าตลอดเวลา ฉะนั้น จึงบอกว่าติดตันไม่มีทางออก ส่วนจริยธรรมของพระพุทธศาสนานั้น ไม่เป็นจริยธรรมแห่งการประนีประนอม ไม่ใช่จริยธรรมแบบที่ว่าทั้งสองฝ่ายต่างต้องยอมเสียบ้าง เพื่อต่างก็ได้บ้างด้วยกัน แต่เป็นจริยธรรมที่ต่างก็ประสานประโยชน์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งในที่สุดจะทำให้องค์ประกอบทั้ง ๓ ส่วนในอารยธรรมของมนุษยชาติอยู่ร่วมกันและเจริญงอกงามไปด้วยกันได้ด้วยดี คือ

๑. ชีวิตมนุษย์

๒. สังคม และ

๓. สิ่งแวดล้อม

ขณะนี้ องค์ประกอบทั้งสาม ตกอยู่ในกระบวนการพัฒนาของมนุษย์ ที่เรียกว่า unsustainable คือเป็นวิธีการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งทำให้ผลประโยชน์ของทั้งสามอย่างขัดแย้งกันไปหมด คือ ถ้าบุคคลได้สังคมก็สูญเสีย ถ้าจะให้สังคมได้บุคคลต้องยอมสละ ดังนั้นเพื่อบุคคล สังคมต้องยอมเสีย หรือเพื่อสังคม บุคคลต้องยอมเสีย ต่อมาระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ถ้ามนุษย์ได้ธรรมชาติก็สูญเสีย ถ้าธรรมชาติได้มนุษย์ก็สูญเสีย ขัดกันหมด ระบบนี้จึงนำมาซึ่งจริยธรรมแบบจำใจ

ที่นี้ในทางพุทธศาสนานั้น เราบอกว่า คนนี้พัฒนาได้ เมื่อพัฒนาคนแล้ว ทุกอย่างที่เกี่ยวกับคนจะเปลี่ยนไป พอคนเปลี่ยนไปแล้ว เราจะทำให้สามอย่างนี้มาประสานประโยชน์กัน จนกระทั่งกลายเป็นว่า บุคคลได้ก็ดีแก่สังคมด้วย สังคมได้ก็ดีแก่บุคคลด้วย มนุษย์ได้ก็ดีแก่ธรรมชาติด้วย ธรรมชาติได้ก็ดีแก่มนุษย์ด้วย การพัฒนาจะต้องมาถึงจุดนี้ จึงจะเป็น sustainable ที่แปลกันว่ายั่งยืน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ามนุษย์จะทำได้ไหม

ถ้ามองในแง่ของปรัชญาตะวันตกตอนนี้ การพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) นั้นเห็นว่าไม่มีทาง ตันหมด เพราะแนวคิดของเขาแฝงความขัดแย้งไว้ตลอดหมดทั้งสาย และมาลงที่จริยธรรมแห่งความจำใจ ซึ่งเป็นไปตามแนวความคิดที่เริ่มตั้งแต่มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ และให้มนุษย์พิชิตธรรมชาติ แล้วจัดการกับธรรมชาติตามชอบใจ เพื่อเอามาสนองความต้องการของตนที่จะเสพให้มากที่สุด เพื่อจะได้สุขมากที่สุด ต่างจากแนวคิดของพระพุทธศาสนาที่ว่า ให้สิ่งที่ดีแก่บุคคลก็ดีแก่สังคมด้วย ให้สิ่งที่ดีแก่สังคมก็ดีแก่บุคคลด้วย ให้สิ่งที่ดีแก่มนุษย์ก็ดีแก่ธรรมชาติด้วย ให้สิ่งที่ดีแก่ธรรมชาติก็ดีแก่มนุษย์ด้วย ถ้าถึงจุดนี้ได้ องค์ประกอบทั้งสามก็ประสานประโยชน์กันได้ และกลายเป็นเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ก็แก้ปัญหามนุษย์ได้ นี่คือความสำเร็จของอารยธรรม อันนี้แหละ เป็นบทสุดท้ายที่จะพิสูจน์ว่าการพัฒนามนุษย์จะทำได้แค่ไหน เป็นจุดสุดยอด เราไม่ไปยุ่งกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ด้วยซ้ำ

เอาเป็นว่า จุดศูนย์รวมทั้งหมดในการแก้ปัญหาของมนุษยชาตินี้ เราบอกว่าพระพุทธศาสนามีคำตอบให้

ความเจริญที่แท้ เริ่มจากคนตั้งต้นพัฒนาอย่างถูกทาง

พระผู้เข้าอบรม - ที่ได้กราบเรียนถามไปเมื่อกี้นะครับ ก็พอสรุปได้ด้วยตัวเองว่า เป็นสุข แล้วก็อย่าเฉื่อยชา นี่ก็คงพอใช้ได้นะครับ

พระธรรมปิฎก - อันนั้นแหละ คือความไม่ประมาทละ

พระผู้เข้าอบรม - ครับผม

พระธรรมปิฎก - พอสุขแล้ว เฉื่อยชา คือประมาท

พระผู้เข้าอบรม - ครับ ทีนี้ มีอยู่อีกคำหนึ่งที่เกล้ากระผมมีความสนใจ แล้วก็อยากจะให้ชัดเจนมากๆ อาจจะเป็นส่วนตัวนะครับ ทุกท่านอาจจะชัดเจนหมดแล้วก็ได้นะครับ คำนี้เป็นคำที่คาใจ หรือว่ายังไม่ค่อยชัดเจนใจของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปนะครับ คือ คำว่า สันโดษ เพราะว่าตัวนี้ ถ้าไม่เข้าใจความหมายอย่างชัดเจน ก็อาจจะนำมาซึ่งความเสื่อมหรือความไม่พัฒนาสำหรับตัวเองและสังคมได้

ทีนี้ เกล้ากระผมก็อยากจะขอความคิดเห็นจากพระเดชพระคุณนะครับว่า เกล้ากระผมจะขอสรุปคำนิยามของคำว่าสันโดษนะครับ คือ สันโดษนี้มีส่วนส่งเสริมให้มีสภาพคล่องและไม่คล่องได้ในการพัฒนาร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการนำมาใช้ สรุปเป็นคำนิยามในลักษณะอย่างนี้ ไม่ทราบว่าจะถูกต้องหรือไม่ครับ

พระธรรมปิฎก - อันนี้เป็นนิยามเชิงความมุ่งหมาย คือพูดถึงการนำไปใช้ประโยชน์ ส่วนนิยามในตัวความหมายของมันเองจะต้องให้ใกล้ศัพท์กว่านี้อีกหน่อย จึงขอถือโอกาสพูดเรื่องนี้ต่อจากเมื่อกี้ เมื่อกี้ยังไม่จบ เพราะเพิ่งตอบไปแง่เดียวว่า พุทธศาสนาจะเป็นเหตุให้สังคมไทยไม่เจริญ หรือทำให้คนไทยขี้เกียจอะไรทำนองนี้ แต่ยังไม่จบเท่านั้น

ข้อต่อไปก็คือว่า คนไทยเรานี้ อาจจะมีการใช้ธรรมบางข้อไม่ถูก หรือไม่เป็นธัมมานุธัมมปฏิบัติ เมื่อใช้ไม่ถูกต้อง เอาธรรมมาใช้ผิด มันก็เกิดโทษ แม้แต่กุศลธรรมเมื่อใช้ผิดก็เกิดโทษ และอีกอย่างหนึ่ง ตามหลักอภิธรรมบอกไว้แล้วว่า กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลก็ได้ บางทีชาวพุทธเราก็ใช้กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลกันเสียมาก ไม่ว่าจะใช้ผิดหรือใช้ไม่ครบ ก็เสียหายทั้งนั้น ใช้ผิดกับใช้ไม่ครบนั้น เป็นคนละอย่างกัน ที่ว่าใช้ไม่ครบ เช่น ใช้ไม่ครบชุดของมัน ไม่ครบถ้วนตามระบบองค์รวม ใช้เว้าๆ แหว่งๆ มีตัวอย่างเยอะ จะพูดกันเรื่องนี้ก็ยังว่ากันได้อีกมาก ตอนนี้ ก็เลยต้องขอยกเอาเรื่องสันโดษที่พูดแล้วข้างต้นมาพูดเสริมอีก

เรื่องสันโดษนี้ ก็เป็นตัวอย่างของการใช้ธรรมที่ไม่ครบถ้วนกระบวนการ สันโดษนั้นไม่ใช่จบแค่ความหมาย ความหมายว่าตามศัพท์ ก็แปลว่า ความพอใจ อันนี้แปลโดยพยัญชนะ แต่มันไม่ใช่คำจำกัดความทางวิชาการ ทีนี้เราแปลให้กว้างออก ความสันโดษก็คือ ความพอใจในสิ่งที่ตนมีตนได้ จากนั้นก็ขยายความออกไปอีกในเชิงวัตถุว่า สันโดษ คือความพอใจในสิ่งที่ได้มาเป็นของตน ด้วยความเพียรพยายามอันชอบธรรม นี่เป็นคำจำกัดความที่กว้างขึ้นไปอีก เพราะบอกกำกับไว้ว่า ในการที่จะสันโดษนั้นจะต้องขยันหมั่นเพียรด้วย และได้มาโดยชอบธรรมด้วย เพราะสันโดษนี้มุ่งกำจัดทุจริตด้วย กล่าวคือ ถ้าไม่สันโดษในของตนก็ไปยินดีในของคนอื่น แล้วก็ไปลักขโมยของเขา แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำจำกัดความหรือความหมาย

สันโดษไม่จบเท่านั้น เพราะธรรมนั้น เป็นระบบแห่งความสัมพันธ์ ธรรมทั้งหลายมีความสัมพันธ์ส่งผลต่อกันในระบบองค์รวม เพื่อนำไปสู่จุดหมายรวมอันเดียวกัน คือการบรรลุพระนิพพาน คือเพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ในเมื่อธรรมทุกข้อส่งผลไปรวมกัน ธรรมทุกข้อก็ต้องสัมพันธ์ส่งผลต่อกัน ธรรมข้อย่อยก็ต้องสอดคล้องกับหลักการข้อใหญ่ จึงเรียกว่า ธัมมานุธัมมปฏิบัติ ที่แปลกันมาว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ซึ่งอรรถกถาท่านอธิบายว่า ธรรมน้อยต้องคล้อยแก่ธรรมใหญ่ ซึ่งเป็นหลักการปฏิบัติเพื่อเจริญก้าวหน้าสู่จุดหมายของพระพุทธศาสนา

ถ้าปฏิบัติสันโดษแล้วนอนสบายเป็นสุข มันก็ไม่สอดคล้องกับธรรมที่เป็นหลักการใหญ่ หลักการใหญ่คือการที่จะก้าวไปให้ถึงจุดหมาย ถ้าสันโดษแล้วนอนสบาย มันก็ไม่ก้าว สันโดษจะต้องสัมพันธ์กับธรรมอื่นๆ เพื่อให้ก้าวไปสู่จุดหมายใหญ่ ในระบบองค์รวมทั้งหมด เพราะฉะนั้น ธรรมย่อยๆ จึงสัมพันธ์กัน เมื่อกี้จึงพูดถึงความหมายหลายแง่

ในแง่ความหมาย เราอาจจะพูดสั้นหรือพูดยาวก็ได้ อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่า สันโดษคือความพอใจ สันโดษคือความพอใจในสิ่งที่ตนมีตนได้ สันโดษคือความพอใจตามมีตามได้ในสิ่งที่เป็นของตน ตลอดจนว่าสันโดษคือความพอใจในสิ่งที่ได้มาเป็นของตนด้วยความเพียรพยายามอันชอบธรรม

ที่ให้ความหมายมาทั้งหมดก็อย่างนี้ แต่ยังไม่จบเท่านั้น ในระบบความสัมพันธ์ต้องมีต่อ สันโดษต้องมีคำตามด้วยว่า สันโดษในอะไร นี่แหละ ตอนนี้ที่สำคัญมาก ในพระสูตรมีไหมที่พระพุทธเจ้าตรัสทิ้งไว้ลอยๆ นอกจากในคาถาเท่านั้นที่ตรัสลอยๆ เช่น สนฺตุฏฐี ปรมํ ธนํ แต่ถ้าตรัสในร้อยแก้วเป็นพระสูตร เป็นคำสอน ต้องตามมาด้วยคำต่อตามว่า สันโดษในจีวร...ในบิณฑบาต...ในเสนาสนะ ตามมีตามได้ และท้ายสุดจะมีธรรมอื่นมารับอีก เช่น ในอริยวงศ์ ๔ ข้อที่ ๔ ว่ายินดีในการเจริญกุศลธรรม และพอใจในการละอกุศลธรรม แสดงว่ายังต้องตามมาอีกว่า สันโดษแล้วต่อด้วยอะไร ซึ่งก็จะเห็นว่าสันโดษ ๓ ข้อต้นมาสอดคล้องกับข้อที่ ๔ นี้ โดยส่งผลมาสู่เป้าหมายที่ต้องการในข้อที่ ๔ ซึ่งมาปิดท้าย

เพียงแค่หลักอริยวงศ์ ๔ นี้ ก็ให้ความชัดเจนแล้วในเรื่องขอบเขตและความมุ่งหมายของสันโดษ ในระบบความสัมพันธ์ขององค์ธรรมต่างๆ ต้องขอย้ำว่า สองอย่างนี้สำคัญมาก คือ สันโดษในอะไร และ สันโดษแล้วต่อด้วยอะไร (=สันโดษแล้วจะต้องทำอะไรต่อไป) แต่ตอนนี้เอาแค่นี้ก่อนว่า สันโดษในอะไร

สันโดษท่านบอกคำต่อตามไว้เสร็จแล้วว่า สันโดษด้วยวัตถุปัจจัยบำรุงชีวิต ถ้าเป็นคฤหัสถ์เราก็ขยายความหมายว่าพอใจในวัตถุบำรุงบำเรอปรนเปรอความสุข มีความสุขได้ง่ายด้วยวัตถุสิ่งเสพตามมีตามได้ ไม่ต้องวุ่นวายทะเยอทะยานมักมากในสิ่งเสพเหล่านั้น

เมื่อเราสันโดษในสิ่งเสพสิ่งบริโภคอย่างนี้แล้ว พระพุทธเจ้าก็ตรัสธรรมไว้อีกคู่กันกับความสันโดษในวัตถุบำรุงบำเรอ คือตรัส ความไม่สันโดษ ไว้เป็นหลักธรรมเหมือนกัน แต่ก็มีคำต่อตามว่า ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ทิ้งลอยๆ ถ้าพูดว่าไม่สันโดษเฉยๆ ก็ผิดอีก ความไม่สันโดษในกุศลธรรม ขอให้ไปดูเถอะ ตรัสไว้มากมาย แต่เราไม่เอามาสอนกัน

ความไม่สันโดษในกุศลธรรมนี้ พระพุทธเจ้าตรัสถึงขนาดว่า ที่เราได้บรรลุโพธิญาณนี้ ได้เห็นคุณของธรรมสองประการ คือ ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย และความไม่ระย่อในการบำเพ็ญเพียร อย่างที่ได้พูดมาข้างต้นแล้ว พระพุทธเจ้าจึงเป็นตัวอย่างของการไม่สันโดษในกุศลธรรม

เป็นอันว่า ประสานสอดคล้องกันเลย คือสันโดษในวัตถุสิ่งเสพ กับไม่สันโดษในกุศลธรรม ฉะนั้น เราจะหยุดแค่ความสันโดษไม่ได้ ต้องต่อไปที่ความไม่สันโดษด้วย แล้วทีนี้ความสันโดษมาเอื้อต่อความไม่สันโดษและความเพียรอย่างไร

เมื่อเราสันโดษในวัตถุบำรุงบำเรอ เราก็ไม่เสียเวลาไปกับการขวนขวายหาสิ่งเหล่านี้ คนที่ไม่สันโดษ อยากจะหาวัตถุบำรุงบำเรอตัว หาอาหารดีๆ กินเอร็ดอร่อย คิดจะหาความสุขจากการเสพการบริโภค แกก็เสียเวลาไปในการวุ่นวายหาสิ่งเหล่านี้ แล้วแกก็เสียแรงงานด้วย แรงงานของแกก็หมดไปกับการหาสิ่งเหล่านี้ ความคิดอีกล่ะก็มัวแต่หมกมุ่นครุ่นคิดว่า เอ...พรุ่งนี้เราจะไปกินที่ไหนให้อร่อยให้โก้ จะไปกินอะไรให้เลิศรส คิดแต่เรื่องเหล่านี้ เวลา แรงงาน และความคิดหมดไปกับเรื่องเหล่านี้ ไม่เป็นอันทำการทำงานหรือสร้างสรรค์อะไร ถ้าหมกมุ่นวุ่นวายเรื่องนี้มากนัก ก็เสียงานไปเลย หรือถ้าหนักนักก็ต้องทุจริต

ในทางตรงข้าม พอเราสันโดษในวัตถุสิ่งเสพ เราก็สงวนเวลา แรงงาน และความคิด ไว้ได้ทั้งหมด แล้วเราก็เอา เวลา แรงงาน และความคิดนั้นมาทุ่มให้กับความเพียรพยายามในการปฏิบัติกิจหน้าที่การงานและการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม คือ ความไม่สันโดษในกุศลธรรม ก็ทำหน้าที่และสิ่งดีงามได้เต็มที่ สอดคล้องกันหมด

ขอสรุปจุดเน้นว่า สันโดษในวัตถุสิ่งเสพ และสันโดษแล้วต่อด้วยความเพียร หมายความว่า สันโดษ ทำให้สุขง่ายด้วยปัจจัยน้อย จะได้ไม่กระวนกระวาย จิตใจจะได้พร้อม แล้วสงวนเวลา แรงงาน และความคิดไว้ เพื่อเอาไปทุ่มเทอุทิศให้กับการเพียรพยายามพัฒนากุศลธรรม ทำกิจหน้าที่ สร้างสรรค์สิ่งดีงามและประโยชน์สุขให้ยิ่งขึ้นไป

นี่แหละคือหลักในการพิจารณาธรรม เป็นหลักการครอบคลุมที่ใช้ได้ทั่วไป งานสำคัญต้องเริ่มตั้งแต่เรื่องของปัญญา คือด้านความรู้ เราต้องให้ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาที่สูงขึ้นไปแก่มนุษย์ยุคปัจจุบัน ยิ่งไปในสังคมตะวันตก เราต้องมีอะไรที่จะให้แก่เขาในสิ่งที่ลึกซึ้งได้ ไม่ใช่อยู่แค่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ แม้จะสอนสิ่งเล็กน้อย ก็ต้องมาจากฐานความมั่นใจในหลักการใหญ่ด้วย คือต้องมีหลักการใหญ่ที่เรามั่นใจอยู่ เป็นที่รองรับ เมื่อพูดถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นขั้นเอาไปประยุกต์ และเราจะต้องไปประยุกต์ให้เข้ากับสังคมนั้น ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ไม่ใช่สูตรสำเร็จ เพราะในสังคมเวลานี้ ก็ไม่มีสูตรสำเร็จอะไรทั้งสิ้น

ที่จริง เพราะติดในสูตรสำเร็จนี่แหละ มันจึงยุ่ง ฝรั่งมีสูตรสำเร็จที่มาจากฐานความคิดที่ผิด ปัญหาของยุคปัจจุบันจึงเกิดขึ้น และสูตรสำเร็จเหล่านั้น ก็กำลังถูกยกเลิกไปตามๆ กัน ตอนนี้งานอย่างหนึ่งของเราก็คือจะต้องไปสร้างสูตรใหม่ให้แก่เขา โดยนำเอาหลักการของธรรมไปประยุกต์ให้เข้ากับสภาพสังคมและปัญหาของเขา ตลอดจนเหตุปัจจัยของเขา ฉะนั้น ในขั้นประยุกต์ การแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ก็ว่ากันไป เช่น ในเรื่องเศรษฐกิจว่าจะเอาอย่างไร เศรษฐกิจปัจจุบันมีจุดอ่อน บกพร่องอย่างไร ลัทธิทุนนิยมจะแก้ปัญหาของโลกได้หรือไม่ มันก่อให้เกิดปัญหาอย่างไร เพราะอะไร ในเรื่องรัฐศาสตร์จะเอาอย่างไร ต้องไปชี้ให้เขาได้

แสงสว่างช่วยส่องทางไปข้างหน้า
แต่แสงสีอาจพาให้หลงวน

ส่วนเรื่องเฉพาะตัวในทางจิตใจของเขาก็ต้องโยงมาประสานบรรจบว่า คุณต้องมีจิตใจดีด้วยนะ คุณยังไม่มีสมาธิ เอ้า! ฉันสอนสมาธิให้ แต่ไม่ใช่หยุดแค่นี้ สมาธิถ้าสอนไม่ดีก็เป็นตัวกล่อมอีก

ถ้าพระพุทธเจ้าต้องการแค่สมาธิ พระองค์ก็ไม่ต้องออกมาจากสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุททกดาบส รามบุตร ถ้าเอาแค่สมาธิแล้วแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ ก็ไม่ต้องมีพระพุทธเจ้า เพราะโยคี ฤษี ดาบสก่อนพุทธกาลเขาได้ฌานสมาบัติกันเยอะแยะ เรื่องสมาธินี่เขามีกันมาก่อนพุทธกาลแล้ว เราบอกว่าธรรมไม่ได้จบแค่ปัญหาจิตใจนะ คุณจะมาเอาแค่ทำจิตใจสบายเท่านั้นไม่ได้ ดีไม่ดีจะหลอกตัวเอง เพราะพวกที่สบายใจแล้วนี่อาจจะได้แค่วิธีหนีปัญหาอย่างหนึ่ง พอหลบเข้ามาอยู่ข้างในทำใจได้ก็เพลินเฉื่อยชาไม่จัดการแก้ไข ทั้งๆ ที่ปัญหามีในโลกวุ่นวายมากมายไม่ได้หายไปไหน

ปัญหานั้นมีข้อดีอย่างหนึ่ง คือมันบีบคนให้ดิ้น และถ้าเราปฏิบัติต่อมันได้ถูกต้อง ก็เป็นเวทีพัฒนาคนพัฒนาปัญญา แต่พอเราทำใจได้ สบายเสียแล้ว ทีนี้ก็เฉื่อย เท่ากับหลบปัญหา ปัญหาข้างนอกเลยปล่อยทิ้ง ไม่แก้ นี่คือประมาทแล้ว ฉะนั้น สมาธินั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนไว้เป็นหลักการส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของพระพุทธศาสนา อย่างในวิสุทธิมรรคก็บอกไว้แล้วว่า สมาธิ มีอัสสาทะอย่างไร มีอาทีนวะอย่างไร อาทีนวะคือโทษของสมาธิได้แก่ทำให้เกิดความขี้เกียจ พอได้สมาธิแล้ว สุข สงบ ใจสบายแล้ว หรือทำใจได้แล้ว ฉันสบายแล้ว ปัญหาอย่างไรข้างนอก ช่างมัน ไม่แก้ ฉะนั้น สมาธิก็เป็นตัวกล่อมได้ จึงบอกว่าระวังนะ ฝรั่งจะหลง เอียงสุดไปอีก และเราก็อย่าไปทำให้ฝรั่งหลง แต่ต้องไปปลุกให้ความรู้ที่ถูกต้อง

สมาธินั้น เป็นส่วนหนึ่งของระบบการฝึกฝนพัฒนาคน ที่เรียกว่าไตรสิกขา ต้องใช้เพื่อทำคนให้ก้าวต่อไป เป็นเครื่องเสริมกำลังคนที่จะก้าวไปข้างหน้า ถ้าใช้เพียงเป็นเครื่องกล่อมใจ ทำให้สุขใจหลบปัญหาไปได้คราวหนึ่งๆ ก็กลายเป็นทำให้ประมาท ดึงรั้งไว้ไม่ให้ก้าวต่อไปในกุศลธรรม ผิดหลักการของพระพุทธศาสนา

แม้ในด้านปัญญาก็เช่นกัน วิปัสสนาต้องทำให้คนปฏิบัติต่อโลกและชีวิตอย่างถูกต้อง เข้าถึงความจริงของสิ่งต่างๆ จนกระทั่งมีจิตหลุดพ้นจริง วิปัสสนาเป็นหลักการใหญ่ของเรา แต่ต้องให้เป็นวิปัสสนาที่ถูก ซึ่งทำให้มนุษย์อยู่กับความเป็นจริง ไม่ใช่ไปอยู่กับสภาพที่กล่อมตัวเอง ถ้าสุขด้วยวิปัสสนา หรือแม้แต่ปลงอนิจจังแล้วสบายใจ หายทุกข์ แต่หยุดแก้ปัญหาแก้ทุกข์ต่อไป ก็กลายเป็นประมาทอีก

ตัวกล่อมหรือเครื่องกล่อมนั้น มิใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์และใช้ไม่ได้เสียเลย แต่ต้องรู้จักใช้ และมีขอบเขตที่ถูกต้อง เหมือนอย่างคนเป็นโรคนอนไม่หลับหรือมีอาการไม่ปกติทางประสาท เราก็อาจจะต้องใช้ยานอนหลับหรือยากล่อมประสาทช่วย แต่เป็นการใช้เพื่อแก้ไขภาวะผิดปกติ เฉพาะกรณีๆ และชั่วคราว เมื่อผ่านภาวะผิดปกตินั้นไปแล้วก็ไม่ควรใช้ ถ้าขืนใช้ในภาวะปกติทั่วไป ก็กลายเป็นโทษ อย่างน้อย การที่ต้องพึ่งพาขึ้นต่อมัน จึงจะอยู่ดีได้ ก็ไม่ถูกต้องแล้ว เครื่องกล่อมทางด้านจิตใจและปัญญาก็เช่นเดียวกัน จะต้องรู้จักใช้ภายในขอบเขตของการแก้ปัญหาเฉพาะชั่วคราว พอให้ได้พักหรือช่วยให้พ้นออกมาจากสิ่งร้ายอย่างอื่น เมื่อตั้งตัวได้แล้วจะได้เดินหน้าต่อไป ข้อตัดสินสำคัญคือ อย่าให้เป็นเหตุนำไปสู่ความประมาท เช่น นอนใจ เพลิน ผัดเพี้ยน เป็นต้น

เครื่องกล่อมและระบบกล่อมมนุษย์มีอยู่เยอะ มนุษย์มากมายนับถือลัทธิผีสางเทวดา เอาการดลบันดาลของเทพเจ้ามาเป็นเครื่องกล่อมใจ คิดว่าหรือบอกตัวเองว่ามีเทพเจ้าคอยช่วยแล้วก็สบาย ไม่ต้องเดือดร้อนหายทุกข์ไปที ก็อุ่นใจ แล้วก็นอนใจ พอพ้นจากลัทธิดลบันดาล มาได้สมาธิ ก็กล่อมใจตัวเองอีก สบายไปที ไม่ต้องทำอะไร มนุษย์นี่ติดการกล่อมได้เยอะ แม้แต่ความดีและผลสำเร็จก็กลายเป็นเครื่องกล่อมอีก พอสบายใจแล้วก็นอนใจ ตกลงก็หนีความประมาทไม่พ้น ไปติดที่ความประมาทนั่นแหละ

จะทำอย่างไรให้ไม่ประมาท ก็เอาหลักใหญ่นี่แหละ ไปประยุกต์ได้หมด คืออยู่ด้วยสติไม่ประมาท หมั่นใช้สติปัญญาพิจารณาชีวิตสังคมว่า อะไรเกิดขึ้น มันเป็นอย่างไร เป็นไปอย่างไร มีผลอย่างไร เกิดปัญหาอะไร เอาสติไปจับมาตรวจดู แล้วใช้ปัญญาสืบสาว ก็ได้เรื่องได้ราว ข้อย่อยเราไม่ต้องพูดกันนะ เอาแต่หลักการใหญ่ไป ไม่ว่าจะปฏิบัติอะไร ถ้าทำให้ประมาทก็ไปไม่รอด

เวลานี้สังคมไทยประมาทหรือเปล่า มีบางท่านออกเสียงดังมาชัดเลยว่า “ประมาท” ผมก็เห็นด้วยว่า สังคมไทยประมาท และยังไปติดในสิ่งกล่อมเยอะหมด ยิ่งกล่อมก็ยิ่งประมาท ก็เลยติดพันอยู่นั่นแหละ ไม่คิดแก้ปัญหา และไม่คิดศึกษาด้วย สบายใจแล้วฉันอยู่ได้ เอาสิ่งเสพสิ่งบำรุงบำเรอมากล่อมบ้าง เอาสุราและการพนันมากล่อมบ้าง เอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาปลอบใจบ้าง เอาสมาธิมากล่อมใจบ้าง อะไรก็ตาม ทำให้เกิดความประมาท ต้องรีบตื่นทันทีว่า ผิดแล้ว อะไรก็ตามที่ทำให้เกิดความประมาท ต้องถือว่าผิดหลักพระพุทธศาสนา แม้มันจะดี

เมื่อกี้พูดถึงเรื่องสันโดษ พอพูดไป ก็เลยออกไปเรื่องอื่น เอาเรื่องความสันโดษก็พอแล้ว เป็นอันว่า ธรรมแต่ละข้อต้องสัมพันธ์กับองค์ธรรมอื่นด้วย

เครื่องกล่อมและปลอบใจ ต้องรู้จักใช้
เอาพอได้พักตั้งตัว เพื่อเดินหน้ากันต่อไป

พระผู้เข้าอบรม - การมีวัดไทย ช่วยทำให้เกิดประโยชน์อย่างไร4

พระธรรมปิฎก - บางอย่างคิดว่าตอบไปในเรื่องที่พูดมาแล้ว แต่เมื่อพูดถึงการทำประโยชน์อะไรนี่ ก็ทำมาก ต้องยอมรับสิ่งที่ท่านทำมา เช่นการเป็นศูนย์กลางของชุมชนไทย ซึ่งทำให้คนไทยรวมกันได้ในระดับหนึ่ง แม้ว่าคนไทยจะมีลักษณะที่บอกเมื่อกี้ว่าไม่ค่อยรวมตัวกัน แต่ก็ยังรวมได้ดีขึ้นเยอะ นอกจากนั้นก็เป็นศูนย์กลางกิจกรรม และเป็นศูนย์กลางรักษาวัฒนธรรมไทย รวมทั้งการสอนภาษาไทย ซึ่งทำให้เด็กไทยรุ่นใหม่ในอเมริกาได้รู้จักภาษาไทย ได้รู้จักเมืองไทย ได้รู้จักวัฒนธรรมไทย รู้จักกราบไหว้ เข้ามาใกล้ชิดพระศาสนา อันนี้นับว่าเป็นประโยชน์ที่ช่วยได้มาก แต่ก็อยู่ที่พระเรานี่แหละ ว่าจะมีความขยันหมั่นเพียรและตั้งใจแค่ไหน แต่เราต้องยอมรับว่าหลายวัดท่านทำได้ดี ก็ต้องให้กำลังใจกัน ส่วนที่เสียก็มีบ้าง

ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งก็คือทางจิตใจ เมื่อวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนแล้ว ก็ช่วยคนไทยได้หลายอย่าง โดยเฉพาะคนไทยไปอยู่ในสังคมฝรั่ง ก็มีปัญหาเยอะ โดยมากจะไม่ค่อยมีความสุขเท่าไรนัก อาจจะพูดว่า แม้จะสุขกายก็ไม่ค่อยสุขใจ การอยู่ในประเทศอย่างอเมริกานั้น ทั้งๆ ที่เป็นประเทศที่ฟุ่มเฟือย มั่งคั่งพรั่งพร้อม แสนสุขสบายและสะดวกทุกอย่าง แต่ใจไม่ค่อยเป็นสุขเท่าไร

ตอนแรกไปใหม่ๆ ก็วุ่นกับการหาเงินหาทอง มีความขยันหมั่นเพียรจนกระทั่งตั้งตัวได้ แต่พอมีเงินมีทองใช้พอสมควร ก็เริ่มได้คิดว่า เราต้องการอะไรแน่ อยู่ในสังคมฝรั่งไม่อบอุ่น จิตใจเริ่มว้าเหว่ คิดถึงบ้าน เพราะฉะนั้น คนไทยส่วนมาก พอเป็นผู้ใหญ่หน่อย จะบอกว่า อยากจะกลับมาตายในประเทศไทย คือสุดท้ายก็อยากกลับประเทศไทย

ทั้งๆ ที่อยู่ที่โน่นก็มีฐานะดีแล้ว แต่มีปัญหาทางจิตใจที่ว่า ไม่อบอุ่น อยู่ที่นั่นเหมือนกับตัวอยู่โดดเดี่ยว เพราะ หนึ่ง...สังคมของเขาเป็นสังคมตัวใครตัวมัน มีแต่การดิ้นรนแข่งขัน ความมีน้ำใจต่อกันหาได้ยาก สอง...ตัวนี่ไปจากสังคมที่มีลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์แบบมีน้ำใจต่อกันดี เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือ เมื่อไปอยู่ในสังคมแบบตัวใครตัวมัน ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกที่ขัดและตัดกันอย่างแรง ความรู้สึกเหงา ว้าเหว่ ขาดความอบอุ่นก็ยิ่งเด่น สาม...สังคมอเมริกันถึงอย่างไรก็ยังมีความรู้สึกเหยียดผิว ยังมีความรู้สึกเข้ากันไม่ได้ เป็นความรู้สึกในทางที่ไม่ดี และเมื่อทำงานไป ถึงเราจะเก่งอย่างไร ถ้าไม่เปลี่ยนสัญชาติ เขาก็ไม่ยอมให้พวกเราต่างชาติขึ้นไปสู่ตำแหน่งสูงๆ เช่น เป็นหัวหน้าในบางหน่วยงาน คนไทยเราไปอยู่เมืองนอก เก่งกันเยอะ แต่เราก็ไม่สามารถจะก้าวหน้าถึงที่สุดได้ และในแง่ของความสัมพันธ์ที่ว่าเมื่อกี้ ไปไหนคนฝรั่งเขาจะมองดูด้วยสายตาที่ยังไม่กลมกลืนกัน เพราะฉะนั้น ความรู้สึกไม่สบายใจ จึงยังมีอยู่

เมื่อมีวัดไทยขึ้นมา ก็ช่วยทางจิตใจของคนไทยที่นั่นได้หลายทาง บางท่านเพียงได้มาวัดไทย พบสภาพแวดล้อมของวัฒนธรรมไทยก็สบายใจ บางท่านก็มาพบพระสนทนา หรืออาจปรึกษาไถ่ถาม บางท่านสบายเมื่อได้พบปะสังสรรค์กับคนไทยด้วยกัน วัดก็สนองความต้องการทางจิตใจ ช่วยให้สบายใจ ความรู้สึกอย่างนี้อาจจะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้บางท่านมาสนใจเข้ากรรมฐาน แต่อันนี้คือจุดที่จะต้องเตือนพวกเราว่า ระวังอย่าจูงเขาเลยเถิด หรือพาเขวออกนอกทาง เพราะพระบางองค์ไปแล้วก็มุ่งจะแสวงหาผลประโยชน์

ขอเล่าสักนิดหนึ่ง ตอนที่ลาวแตก หลายปีมาแล้ว ก็มีพระและชาวบ้านหนีภัยไปอเมริกาและประเทศต่างๆ เยอะ สำหรับที่อเมริกาก็มีพระลาวไปอยู่ในเมืองต่างๆ หลายแห่ง ท่านหนึ่งไปอยู่ที่เมือง New York ปรากฏว่าเป็นเจ้าคณะแขวงเก่า เจ้าคณะแขวงในลาวก็คือ เจ้าคณะจังหวัด ท่านมีบุคคลิกลักษณะดี และเป็นผู้ใหญ่ด้วย พอดีเราไปอยู่ที่นั่น ก็ได้เห็นพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของท่าน ซึ่งเราคิดว่าคงจะเป็นสภาพชีวิตทำนองเดียวกับตอนอยู่เมืองของท่าน เช่น ที่วัดไทยที่นั่น เราเห็นของต่างๆ ที่อยู่ตามบ้าน ฝากท่านองค์นี้มาอยู่ที่วัดเยอะหมด มีทั้งของเล็กของใหญ่ หลายประเภท แล้วก็ได้ทราบว่า ที่มาอย่างนี้ ก็เพราะว่า เวลาท่านไปตามบ้านญาติโยม ซึ่งอาจจะไปในกิจนิมนต์ เช่นไปในงานทำบุญ ของเหล่านั้นก็ตามมากับท่าน

เรื่องจะเป็นทำนองนี้ว่า เมื่อสนทนากับเจ้าของบ้านก็มีการทักทายกัน โดยที่ทางเจ้าของบ้านอาจจะเริ่มว่า ทำไมผม/ดิฉันตอนนี้โชคไม่ดี มีแต่เรื่องไม่สบายใจ หรือท่านอาจจะเริ่มขึ้นเองอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ผลปลายออกมาอย่างเดียวกัน คือ ท่านจะถามว่า เอ้อ บ้านนี้มีวัตถุลักษณะอย่างนี้ไหม สีดำๆ รูปร่างกลมๆ อะไรนี่น่ะ แล้วเขาก็จะถามว่า เอ๊ะ เป็นอย่างไรล่ะครับ ท่านก็จะบอกว่ามันไม่ถูกชะตากับเจ้าของบ้าน ทีนี้เขาก็เดือดร้อนสินะ หากันใหญ่เลยว่าวัตถุรูปร่างอย่างนั้น สีอย่างนั้น คืออะไร? ควานหาในบ้านเอามาให้ดู อันนี้ใช่ไหมครับ ก็บอกไม่ใช่ ไปหามาอีก อันโน้นใช่ไหม...ไม่ใช่ อันนี้ใช่ไหม...ไม่ใช่ จนกระทั่งถึงอันหนึ่งท่านก็บอกว่าอันนี้แหละ แล้วผมจะทำอย่างไรล่ะครับ ก็บอกว่า ไม่ได้ ต้องเอาออกไปนอกบ้าน

ของเหล่านั้น ถ้าเป็นของที่ทิ้งได้ก็ทิ้งไป แต่บางทีบางอย่างก็ฝากท่านไป ท่านก็เอาไปเก็บไว้ที่วัด เพราะไม่รู้จะไว้ที่ไหน แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ มันเป็นทางหาลาภหาผล บางทีไปตรงกับของมีค่าที่บรรพบุรุษเขาให้มา บางทีเป็นเหรียญพระก็มี เป็นสายสร้อยทองก็มี บางรายเขาเสียดายเต็มที แต่ตอนนั้นเขายอมให้มาเพราะเขากำลังกลัวเคราะห์ร้ายแม้จะสองจิตสองใจ ต่อมาตัดสินใจใหม่ ตามมาที่วัดขอคืนไปก็มี และของบางอย่างที่มีค่าทางวัดก็ให้ญาติโยมมาประมูลกันไป อีกอย่างหนึ่ง เวลาอยู่วัดก็โทรศัพท์เรื่อย เช่นมีการปรึกษาว่าสามีหนี จะทำเสน่ห์อย่างไรเขาจึงจะกลับมาอยู่ด้วย อะไรทำนองนี้

อีกองค์หนึ่ง ไปอยู่ทางด้านรัฐแคลิฟอร์เนีย (California) ก็มีกิตติศัพท์เล่าลือกันว่า เวลาไปไหน เดี๋ยวก็ชี้บอกว่า โอ้! คุณนี่ แต่ก่อนเป็นลูกสาวฉันในชาติโน้น พอไปเจออีกคนหนึ่งก็บอกว่าในชาติก่อนเคยเป็นนั่นเป็นนี่กัน และอ้างตัวว่าเป็นพระระดับลูกแก้วหรือแถวๆ นั้น ไม่รู้เป็นจริงหรือเปล่า

นี่แหละทำให้เรามานึกกันว่า เอ อย่างนี้กระมังที่เป็นเหตุให้คอมมูนิสต์เขาไม่เอาไว้ เพราะว่าพระลาวไปกันขนาดนี้จึงทำให้พวกคนรุ่นใหม่เบื่อหน่ายเต็มที สภาพพุทธศาสนาในลาวก่อนแตกคงจะเป็นอย่างนี้กระมัง เคยได้ยินข่าวว่า ตอนที่ลาวแดงรบชนะเข้าเมืองครองเมืองแล้ว ได้เอาพระที่มีชื่อว่าขลังๆ มา ให้ขึ้นนั่งบนตอไม้ แล้วก็ทดสอบความขลังโดยเอาปืนอาก้า (AK = Avtomat Kalashnikov)) ยิงรัวเลย นี่ก็เรื่องหนึ่งที่ต้องระวังและเป็นเครื่องเตือนสติ

หลังจากลาวแดงยึดเมืองลาวได้แล้ว ลาวกับไทยขาดการติดต่อกันไปนาน แต่เวลานี้มีสัมพันธ์กันอีกแล้ว พระจากเมืองลาวเข้ามาเรียนต่อในเมืองไทยอีก เมื่อสองสามเดือนก่อนผมไปพูดที่แห่งหนึ่ง พบพระที่ไปฟัง ๒ รูป นึกว่าพระไทย พอถามดูปรากฏว่าเป็นพระลาว ก็เลยถือโอกาสถามสภาพการพระศาสนาในลาว พระนี้มาเรียนชั้นปริญญาตรี ท่านเล่าว่า ในลาวเวลานี้พระต้องเอาแต่ด้านธรรม จะทำไสยศาสตร์และหมอดูเป็นต้นไม่ได้เลย องค์ไหนทำจะถูกจับสึก แม้แต่เพียงเขาเห็นทำท่ายื่นมือมาจะดูลายมือกันก็จับเลย เรื่องนี้ใครมีเวลาและโอกาส น่าจะสอบถามหาความรู้ประกอบการศึกษาไว้ด้วย

คนไทยที่ไปอยู่อเมริกาในสภาพสังคมแบบนั้น และมีสภาพจิตว้าเหว่อย่างนี้ หลายคนจะถูกจูงง่าย ดังที่ปรากฏว่าคนไทยที่ไปอยู่เมืองนอกหลายคนจะติดเรื่องโหร เรื่องการทำนายทายทัก เรื่องไสยศาสตร์ได้ง่าย และติดกันเยอะด้วย เพราะชีวิตเสี่ยงโชคเสี่ยงภัยและมีปัญหาทางจิตใจ เช่นว้าเหว่ ฉะนั้น พระเราจะต้องตั้งจิตเป็นกุศลไว้ให้มั่นว่าจะไม่ไปหาผลประโยชน์จากญาติโยม เป็นแต่เพียงไปช่วย แต่ไม่ใช่หมายความว่าจะไม่ให้ใช้สิ่งเหล่านี้เสียเลย วัตถุมงคลใช้เป็นก็มีประโยชน์ แต่ใช้อย่างไร ต้องใช้เพื่อดึงคนขึ้น ไม่ใช่ใช้เพื่อหาผลประโยชน์จากเขา และไม่ใช้เพื่อดึงเขาให้หมกจมอยู่ แต่ใช้เพื่อเป็นสื่อนำเขาขึ้นมา ถ้าใช้อย่างนี้ก็จะไม่มีปัญหา เพราะเรื่องอย่างนี้ เป็นเครื่องปลอบประโลมใจ บำรุงขวัญ ก็ต้องมีอยู่ แต่เอาแค่เป็นจุดพบและเป็นจุดผ่าน อย่าใช้เป็นเครื่องมือของโลภะ โทสะ โมหะ

พระผู้เข้าอบรม - ถ้าเราใช้เพื่อจะดึงเขาขึ้นมาด้วย แล้วก็เพื่อหาผลประโยชน์ด้วยเนี่ย ผิดไหมครับ

พระธรรมปิฎก - อย่างนั้นเจตนาก็ไม่ค่อยดี มีโลภะผสม เป็นโลภสัมปยุตต์

พระผู้เข้าอบรม - คือ ดึงเขาขึ้นมาด้วย ช่วยเขาด้วยในด้านจิตใจ เราก็ทำในทางที่ถูก แต่ถ้าเขาให้ ก็รับไว้

พระธรรมปิฎก - อันนั้น เราอย่าไปนึกในแง่หาผลประโยชน์ ให้เป็นเรื่องของศรัทธาเขาสิ หมายความว่า พระช่วยแก้ปัญหาให้ญาติโยม เขาจะบำรุงพระศาสนาก็เป็นเรื่องศรัทธาของเขา เราอย่าไปนึกในแง่ผลประโยชน์ส่วนตน ข้อสำคัญ คือ หนึ่ง... เราไม่มุ่ง เราไม่เพ่ง ไม่จ้องจะหาประโยชน์จากเขา สอง... เรามุ่งในแง่ประโยชน์ส่วนรวม ถ้าเขามาศรัทธาบำรุง ก็ว่าไปตามศรัทธา แต่เราพยายามมุ่งให้เป็นประโยชน์ของวัดหรือของพระศาสนาเป็นหลัก คือเน้นในแง่ประโยชน์ส่วนรวม เพื่อมาบำรุงการพระศาสนา เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของศรัทธา ถ้าตราบใดที่ยังบำรุงพระศาสนาด้วยศรัทธา ก็มีทางพัฒนาจิตใจในทางคุณธรรมขึ้นมา เป็นทางเจริญงอกงาม คืออย่าให้หมก ให้ติด ให้จมอยู่ อย่าดึงเขาให้จมเท่านั้นเอง เห็นจะพอไหวนะ

เมื่อมองธรรมแยกกระจาย ไม่อยู่ในระบบความสัมพันธ์
ความเข้าใจก็ผิด การปฏิบัติก็พลาด ผลคือความเสียหาย

ที่จริง ยังมีอีกอย่างหนึ่ง คือ การใช้ธรรมไม่ครบองค์รวม อันนี้ก็สำคัญที่จะทำให้เห็นว่า ทำไมจึงใช้ธรรมกันผิด จะพูดอีกสักเรื่องหนึ่งได้ไหม จะทนผมไหวหรือเปล่า

พระผู้เข้าอบรม - ไหวครับ

พระธรรมปิฎก - ขอพูดอีกสักตัวอย่างหนึ่งให้เห็นว่า ธรรมนั้นถ้าใช้ไม่ครบองค์รวมก็จะมีปัญหา แม้แต่ธรรมที่เป็นกุศลก็เกิดโทษได้ เพราะอาจจะเป็นปัจจัยแก่อกุศล

ในประเทศไทยเรานี้ ในการสอนศีลธรรมเมื่อระยะ ๑๐ กว่าปีมาแล้ว ได้มีแนวโน้มของกระทรวงศึกษาธิการ โดยนักวิชาการ ที่จบมาจากตะวันตก คิดกันใหญ่ ว่าเราจะต้องสอนจริยธรรมสากล หลักศีลธรรมที่สอนกันอยู่นั้นอิงพระพุทธศาสนา จะเอาหลักพุทธศาสนามาสอนไม่ได้ เพราะประเทศไทยมีหลายศาสนา เราต้องเป็นกลาง ต้องใช้จริยธรรมสากล จากแนวโน้มนี้ต่อมาก็ปรากฏว่า วิชาศีลธรรมได้หมดไปจากหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ วิชาพุทธศาสนาก็หมดไป แล้วมีวิชาจริยธรรมเข้ามา ซึ่งพยายามจะให้เป็นจริยธรรมสากล

มีการประชุมกันในเรื่องนี้ ผมเคยเข้าประชุมด้วย เขาคิดกันถึงขนาดที่ว่า ข้อธรรมต่างๆ ที่เป็นบาลีไม่ควรใช้ เพราะมาจากพุทธศาสนา ไม่เป็นกลาง ไม่เป็นสากล ในที่ประชุมพิจารณากันว่าจะใช้ศัพท์จริยธรรมเป็นภาษาไทยให้หมด เช่น สตินี่เป็นคำบาลี ไม่ควรใช้ ต้องหาคำไทยมาแทน จะเอาอะไรดี สัจจะก็ไม่ได้ เป็นคำบาลี ต้องเอาคำไทยว่าความจริง เมตตา ไม่ได้ เป็นคำบาลี ต้องใช้ความรัก จริยธรรมสากลคิดกันขนาดนี้ ในที่ประชุมนั้นผมขอชี้แจงว่า ไม่ได้แล้ว จะไปกันใหญ่ หนึ่ง... คำเหล่านี้มาจากพุทธศาสนาก็จริง แต่มันกลายเป็นคำไทยแล้ว มันเป็นคำสามัญ เป็นคำไทยธรรมดา สอง... คำเหล่านี้เป็นบัญญัติ (concept) ที่มีความหมายกว้างขวางมาก เราไม่สามารถหาคำไทยมาแทนเท่ากันได้ อย่างคำว่า “สติ” คำเดียว ถ้าแปลเป็นไทยแม้แต่สองบรรทัดก็ยังไม่ได้ความหมายเท่าสติคำเดียว เนื่องจากคำเหล่านี้มีความหมายลึกซึ้ง ครอบคลุม กินความกว้าง เราจะไปเที่ยวเปลี่ยนตามใจชอบไม่ได้ ตอนนั้นไปกันถึงขนาดนั้น

ที่หย่อนกว่านั้นก็คือ เลือกข้อธรรมมาใช้ เริ่มด้วยไปทำบัญชีหัวข้อธรรมมาว่ามีอะไรบ้าง แล้วก็มาเลือกกันดูว่า ข้อไหนเป็นจริยธรรมที่เป็นสากล คือชาติไหนๆ ก็ยอมรับทั้งนั้น เช่นว่า เมตตา เอาไหม เมตตานี่ใช้ได้ ก็เอาเมตตามาใส่ลงไป กรุณาเอาไหม เอ้า! ใช้ได้ อุเบกขา เอ้ย! อย่าเพิ่ง เอาไว้ก่อน ความรับผิดชอบ นี่สำคัญ เอาไว้ เมื่อเลือกธรรมแบบนี้มาแล้ว ก็จัดเป็นหลักสูตร นี่คือ เลือกธรรมเป็นข้อๆ มา ที่เห็นว่าจะใช้ในหลักสูตร แล้วก็สอนกันแบบนี้ นี่คือจริยธรรมในระยะที่ผ่านมา ซึ่งทำให้หลักธรรมกระจัดกระจายหมด ไม่เป็นหมวดหมู่

ที่จริงในสังคมไทยก็มีแนวโน้มนี้อยู่แล้ว คือปฏิบัติธรรมกันไม่ครบชุด เช่น เมตตา กรุณา เราพูดกันบ่อย ส่วนมุทิตา ชักจะเลือนไป ไม่ค่อยพูดถึง แต่อุเบกขา ไม่เอาเลย ซ้ำยังหลงเข้าใจผิดด้วย เพราะไม่เข้าใจว่าอุเบกขาคืออะไร หลักธรรมพลัดกันแตกกระจัดกระจายหลุดออกไปจากชุดของมันหมด

เราไม่สังเกตหรือว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนธรรมเป็นหมวดๆ เป็นชุดๆ การที่สอนเป็นชุดนั้นมีความหมาย นั่นคือระบบองค์รวมที่ฝรั่งกำลังตื่นแตกกัน เพราะว่าหัวข้อธรรมเหล่านั้น เป็นองค์ประกอบของส่วนรวมที่สมบูรณ์ ถ้าขาดอันใดอันหนึ่งไปแล้วระบบก็ไม่สมบูรณ์ หมายความว่า ธรรม แต่ละหมวดๆ นั้นเป็นระบบดุลยภาพ เมื่อปฏิบัติครบแล้ว มันจะดุลซึ่งกันและกันให้พอดี เกิดความพอดีขึ้นมาในชุดของมันที่เป็นระบบนั้น นี่คือระบบองค์รวม เพราะฉะนั้น ธรรมต้องปฏิบัติครบชุด ถ้าแยกออกมาเป็นข้อๆ กระจายหลุดจากกันแล้วจะเกิดปัญหา ยกตัวอย่างง่ายๆ

หลักธรรมที่เราคุ้นกันนักหนา คือ พรหมวิหาร ๔ นี้ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากของการปฏิบัติธรรมไม่ครบชุด ทำให้ไม่เกิดดุลยภาพในองค์รวม เรามี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไว้ใช้ปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ โดยเป็นท่าทีของจิตใจต่อเพื่อนมนุษย์ ที่ครบถ้วนบริบูรณ์

มนุษย์นั้นจะตกอยู่ในสถานการณ์ ๔ อย่าง ซึ่งเราจะต้องปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องตามสถานการณ์นั้นๆ ถ้าปฏิบัติผิดสถานการณ์ ธรรมนั้นแม้จะเป็นกุศล ก็อาจจะพลาด ทำให้เกิดผลเสียได้

สถานการณ์ที่ ๑ เพื่อนมนุษย์ของเรา เป็นอยู่ปกติไม่ได้เดือดร้อน ไม่มีภัยอันตราย ไม่มีปัญหาอะไร เราก็มีท่าทีของธรรมข้อที่หนึ่ง คือเมตตา ซึ่งได้แก่ความรัก ความอยากให้เขาเป็นสุข ความปรารถนาดี ความเป็นมิตร เมตตาก็มาจากรากศัพท์เดียวกับมิตรนั่นเอง

ต่อมา สถานการณ์ที่ ๒ เขาตกต่ำลง เดือดร้อน เป็นทุกข์ มีปัญหา เราก็ต้องย้ายจากเมตตา ไปกรุณา คือพลอยหวั่นใจ หวั่นไหวในความทุกข์ของเขา คิดจะหาทางปลดเปลื้องเขาให้พ้นจากทุกข์

ต่อมาสถานการณ์ที่ ๓ เขาขึ้นสูง ได้ดี มีความสุข ประสบความสำเร็จ ทำอะไรๆ ถูกทางแล้ว เราก็ย้ายมาสู่คุณธรรมข้อที่สาม คือมุทิตา หมายความว่าพลอยยินดีด้วย ส่งเสริมสนับสนุน

นี่ผ่านมา ๓ สถานการณ์แล้ว ในหมู่คนไทยเรา ปรากฏว่าหลายคนแยกไม่ออกแม้แต่เมตตากับกรุณา ว่าต่างกันอย่างไร ธรรมหมวดนี้เป็นธรรมที่แสดงออกต่อคนอื่น คือ ต่อเพื่อนมนุษย์ จึงกำหนดความแตกต่างได้ด้วยการปฏิบัติในความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นนั้น ตามสถานการณ์ที่เกิดกับเขา ฉะนั้น วิธีแยกความหมาย ก็ดูที่สถานการณ์ที่เกิดแก่เขา คือ สถานการณ์ที่เขาเป็นปกติเราก็มีเมตตา สถานการณ์ที่เขาตกต่ำเป็นทุกข์เราก็มีกรุณา สถานการณ์ที่เขาขึ้นสูงประสบความสำเร็จเราก็มีมุทิตา มนุษย์ทั่วไปจะตกอยู่ใน ๓ สถานการณ์นี้ เราก็มีครบแล้ว ปฏิบัติให้ถูกสถานการณ์ สามอย่างนี้ แล้วมีสถานการณ์อะไรอีก สามอย่างก็น่าจะครบแล้ว คนถ้าไม่ปกติก็ต้องเดือดร้อน เป็นทุกข์ หรือมิฉะนั้น ก็ได้ดีมีสุข แล้วจะมีสถานการณ์อะไรอีก ทำไมพระพุทธเจ้ายังตรัสข้อที่ ๔ อีก สถานการณ์อะไร

พระผู้เข้าอบรม - เป็นกลาง..อุเบกขาน่ะครับ

พระธรรมปิฎก - เป็นกลางน่ะ มันเป็นท่าทีแล้ว เอาสถานการณ์ของเขาสิ

พระผู้เข้าอบรม - ...วางเฉย...!

พระธรรมปิฎก - วางเฉยนี่เราวางเฉย แต่เขาเป็นอย่างไร เราจึงวางเฉย คือ มีอุเบกขา

พระผู้เข้าอบรม - อุเบกขา เมื่อเขาได้รับความทุกข์...

พระธรรมปิฎก - ได้ทุกข์เราก็กรุณาสิ สถานการณ์ที่ ๔ อะไร

พระผู้เข้าอบรม - เขาไม่สุขไม่ทุกข์...เขาได้ทุกข์จากผลกรรมที่เขาทำของเขาเอง ในข้อที่เราไม่สามารถจะช่วยได้...

พระธรรมปิฎก - ใกล้เข้าไปแล้ว...

พระผู้เข้าอบรม - ตกต่ำสุดจนไม่สามารถที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องได้...

พระธรรมปิฎก - ใกล้เข้าไปแล้ว...

พระผู้เข้าอบรม - แล้วแต่ยถากรรม...

พระธรรมปิฎก - นี่แหละ...อาจารย์ผู้ใหญ่มีชื่อเสียงมากของไทยท่านหนึ่งเอาอันนี้ไปพูดในการปาฐกถา ท่านบอกว่า พระพุทธศาสนาสอนให้คนวางอุเบกขา กรรมของใครกรรมของมัน เห็นคนตกต่ำยากจน ก็บอกว่า โอ้! เป็นกรรมของเขาเอง เขาก็รับผลของกรรมของเขาไป ก็เลยไม่มีใครช่วยเหลือกัน สังคมไทยก็เลยแย่ นี่แหละ ที่ท่านมหาพูดอย่างนี้ อุเบกขาก็โดนตีด้วย

ฝรั่งคนหนึ่งเขียนหนังสือ Buddhism and Society เป็นหนังสือหนาใช้ศึกษาในมหาวิทยาลัยของฝรั่งบางแห่งด้วย เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในพม่า ฝรั่งคนนี้ไปเอากรณีศึกษา (case study) มาด้วย เขายกตัวอย่างในเมืองพม่ามาเรื่องหนึ่ง จริงหรือไม่จริงผมก็ยังสงสัย...แต่ฝรั่งคนนี้ยกตัวอย่างมาเล่าว่า เขาไปที่ชนบทแห่งหนึ่ง มีคนตกน้ำแล้วไม่มีใครช่วย เพราะคนพม่าบอกว่าเป็นกรรมของเขา แล้วก็ให้วางอุเบกขา ได้สองหลักคือ หนึ่ง หลักกรรม ว่าเป็นกรรมของเขา สอง อุเบกขา วางเฉย ไม่ช่วย ฝรั่งคนนี้ก็เลยบอกว่า นี่เห็นไหม พุทธศาสนาทำให้คนเป็นอย่างนี้ เขาตี หนึ่ง…หลักกรรม สอง...หลักอุเบกขา โยงกันว่า คนพุทธอุเบกขาเพราะเห็นว่าเป็นกรรมของเขา เลยไม่ช่วยกัน เพราะฉะนั้นสังคมก็เลยตกต่ำเดือดร้อนอย่างนี้ เขาได้ทีก็ตีแพะไล่เลย เป็นการบอกไปด้วยว่าในสังคมของเขา ไม่อย่างนี้หรอก ของเขานี่ต้องช่วยกันสุดฤทธิ์เลย ฉะนั้น สังคมฝรั่งจึงได้เจริญขึ้นมา เขาว่าอย่างนั้น เอาล่ะสิ อย่างนี้จะแก้อย่างไรล่ะ

พระผู้เข้าอบรม - ปกติ...คนที่จะช่วย ถ้าว่ายน้ำไม่เป็น ถ้าลงไปบางทีก็ตาย...

พระธรรมปิฎก - ก็ไม่รู้ละ ในที่นี้เขาว่า ที่ไม่ช่วย เพราะอ้างหลักกรรมกับอุเบกขา ไม่ใช่อ้างเรื่องว่ายน้ำเป็นหรือไม่เป็น เขาตีหลักกรรมกับอุเบกขาแล้ว ก็กลายเป็นว่า เห็นคนจนก็ว่านี่เป็นกรรมของเขา ไปเห็นคนพิการ ก็ว่ากรรมของเขา เพราะฉะนั้นก็ให้เขารับกรรมไป เราก็อุเบกขา ใช่ไหม

พระผู้เข้าอบรม - อุเบกขาจะใช้...ก็หมายความว่า สุดวิสัยก่อน...(หัวเราะ)

พระธรรมปิฎก - นี่แหละ...สุดวิสัยคือแค่ไหน เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน สถานการณ์ที่ ๔ ตกลงว่ายังไม่ชัด ทีนี้ ขอให้พิจารณาเรื่องนี้ดู คือ

พระพุทธเจ้าทรงวางหลักจริยธรรมบนฐานแห่งสัจจธรรมนะ จริยธรรมในพระพุทธศาสนาจึงไม่เป็นของบัญญัติตามชอบใจของศาสนาหรือของคนผู้ใดกลุ่มใด พระพุทธเจ้าไม่ได้วางหลักธรรมเอาเองว่า อย่างนี้ดี อย่างนั้นไม่ดี เธอทำผิด ฉันไม่ชอบใจ ต้องลงโทษ เธอทำดี ฉันโปรดปราน ให้รางวัล อย่างนี้ไม่มี

พระพุทธศาสนาสอนว่า ธรรมเป็นธรรมดาของธรรมชาติ สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เรียกว่าเป็นกฎธรรมชาติ พระพุทธเจ้าทรงสอนจริยธรรมไปตามกฎธรรมชาติ คือตามความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้ จริยธรรมที่พระองค์สอน ตั้งอยู่บนฐานแห่งสัจจธรรมคือความจริงตามธรรมชาติ ฉะนั้น จริยธรรมจึงเป็นความจริงด้วย ไม่ใช่เป็นของบัญญัติเอาตามชอบใจ ของสังคมนี้ว่าดี สังคมโน้นว่าไม่ดี อย่างที่ฝรั่งว่า ของเราไม่ใช่อย่างนั้น

เป็นอันว่า หลักพรหมวิหารก็ต้องตั้งอยู่บนฐานของสัจจธรรม เราจะมองพรหมวิหารได้ครบทุกสถานการณ์ เมื่อเรามองครบระบบของธรรมชาติทั้งหมด คือมองให้ตรงตามธรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้นจะต้องมองไปให้ถึงตัวธรรม

ในระบบสัมพันธ์ที่พอดีเพื่อให้สังคมนี้ยั่งยืน
ต้องให้มนุษย์อยู่กันดี โดยที่ธรรมก็ดำรงอยู่ได้

เริ่มแรก พรหมวิหารเป็นธรรมที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เราชัดเจนแล้วว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ มนุษย์จะอยู่ร่วมกันด้วยดี ก็ต้องมี เมตตา กรุณา มุทิตา ถ้ามนุษย์อยู่ด้วยกัน โดยมีน้ำใจเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันตามสถานการณ์ทั้งสาม ด้วยคุณธรรมทั้งสามข้อนี้แล้ว โลกมนุษย์ก็อยู่ด้วยดี แต่แค่นี้พอที่จะให้อยู่ด้วยดีจริงหรือ? ขอให้ดูต่อไป

โลกมนุษย์นี้ ไม่ได้อยู่ตามลำพัง ภายใต้โลกมนุษย์นี้ มีสิ่งที่เป็นฐานรองรับอยู่ คือความจริงของสัจจธรรม หรือธรรมที่เป็นหลักการของธรรมชาติ ได้แก่ความเป็นจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือหลักการแห่งความจริง ความถูกต้องดีงาม ธรรมคือความเป็นจริงของกฎธรรมชาตินี้ ครอบคลุมและควบคุมธรรมชาติทั้งหลาย รวมทั้งโลกมนุษย์ไว้ทั้งหมด โลกมนุษย์ตั้งอยู่บนฐานของความเป็นจริงของธรรมนั้นซึ่งใหญ่กว่า ฉะนั้นความสัมพันธ์ในหมู่มนุษย์นี้ จะต้องไม่ไปกระทบกระเทือนหรือทำลายธรรม แต่จะต้องให้สอดคล้องกับธรรม โลกมนุษย์จึงจะเป็นไปได้ด้วยดี ฉะนั้น เราจึงมิใช่มีหน้าที่แต่เพียงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีในหมู่มนุษย์เท่านั้น แต่เราจะต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับตัวธรรมที่เป็นกฎธรรมชาตินี้ด้วย

ทีนี้หมู่มนุษย์จะปฏิบัติต่อกันด้วยดี จะเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าไปทำผิดต่อธรรม ทำให้เสียธรรมเข้าเมื่อไร โลกมนุษย์นั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อใดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในข้อหนึ่งก็ตาม ข้อสองก็ตาม ข้อสามก็ตาม ไปส่งผลกระทบทำความเสียหายต่อตัวธรรมเข้า นี่คือสถานการณ์ที่ ๔ ซึ่งจะต้องอุเบกขา ได้แก่สถานการณ์ที่ว่าถ้าขวนขวายในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ก็จะไปกระทบต่อตัวธรรม จะทำให้ระบบของธรรมคลาดเคลื่อนเสียหาย จึงต้องหยุดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไว้ก่อน เพื่อรักษาธรรมไว้ เพราะฉะนั้น ในกรณีเช่นนั้น เมตตา กรุณา มุทิตา จะออกโรงไม่ได้ และจะต้องมาถึงอุเบกขา

ขอยกตัวอย่าง เด็กคนหนึ่งไปลักขโมยของเขา ประสบความสำเร็จได้เงินมา ๕,๐๐๐ บาท ถ้าเราถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ ๓ เราก็มุทิตา ดีใจด้วย ส่งเสริมเลย แต่ถ้าทำอย่างนั้นก็กระทบต่อธรรมทำให้ธรรมเสียหาย หรือผู้พิพากษาพิจารณาคดี รู้ว่าจำเลยนี้ทำความผิดจริง ไปฆ่าเขาตาย แต่เมื่อคิดว่าจำเลยจะต้องตกทุกข์ได้ยากไปติดคุก ก็สงสาร อยากจะปลดเปลื้องทุกข์ของเขา นึกว่าเป็นสถานการณ์ที่ ๒ ก็เลยกรุณา แต่กรุณาในที่นี้ แสดงออกไปก็เข้าสถานการณ์ที่ ๔ ผิดธรรมทันที ทำให้เสียความเป็นธรรม ทำให้เสียหลักการแห่งความถูกต้องดีงาม จึงต้องเปลี่ยนเป็นอุเบกขา

เป็นอันว่า ถ้าการสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จะเป็นสถานการณ์ที่หนึ่งก็ตาม สองก็ตาม สามก็ตาม ไปกระทบต่อธรรมเข้าเมื่อไร ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต้องหยุด แล้วเข้าเป็นสถานการณ์ที่สี่ เราก็วางอุเบกขาต่อคนนั้น คือ เฉยต่อเขา ไม่เอาแล้ว ฉันไม่ดีใจต่อเธอ ไม่สนับสนุนเธอ ฉันไม่ช่วยเธอแล้ว เธอทำอย่างนี้ฉันไม่เอาด้วยกับเธอละ เราเฉย วางใจเป็นกลางต่อเขา เพื่อให้ธรรมมาจัดการ

เราวางอุเบกขาต่อคน คือ เฉย หยุดขวนขวาย ไม่ช่วยเหลือเขา เพื่อจะได้ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงธรรม การปฏิบัติตามธรรมจะได้ดำเนินไป กฎต้องเป็นกฎ ธรรมต้องเป็นธรรม ใครมีหน้าที่ปฏิบัติตามธรรมก็มาจัดการไปตามธรรมนั้น พูดสั้นๆ ว่า เพื่อปฏิบัติตามธรรม จึงต้องยกเว้นสถานการณ์ที่ ๑,๒,๓ เสีย ข้อหนึ่ง สอง สาม ออกแสดงไม่ได้ เพื่อให้ข้อ ๔ มา ฉะนั้น อุเบกขา ตัวมันจึงแปลว่า เข้าไปมองดู หรือคอยมองดูอยู่ใกล้ๆ ให้เขาได้รับผลถูกต้องตามธรรม และแสดงถึงปัญญาด้วย เพราะว่า ๓ ข้อแรกความเด่นอยู่ที่ความรู้สึก พอสถานการณ์มาก็แสดงได้ทันที แทบไม่ต้องใช้ปัญญาเลย แต่ข้อที่ ๔ จะแสดงได้ ต้องมีปัญญา ต้องรู้ว่าอะไรถูกต้อง อะไรผิด อะไรเป็นธรรม อะไรไม่เป็นธรรม อะไรเป็นบาปเป็นบุญ เหตุผลเป็นอย่างไร

นี่แหละ สถานการณ์ที่ ๔ ที่เรามาอธิบายกันว่า ให้เป็นไปตามกรรม เป็นอย่างนี้ คือเป็นสถานการณ์ที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ หรือระหว่างบุคคลจะไปกระทบต่อธรรมเข้า หมายความว่า กรรมของเขาจะต้องถูกตัดสินด้วยธรรม หรือต้องบังเกิดผลตามธรรม เพราะถ้ากระทบต่อธรรมแล้วเรายังขืนเข้าไปวุ่นวายแทรกแซง ฐานของสังคมมนุษย์ก็เสีย ธรรมที่รองรับโลกมนุษย์อยู่ก็วิปลาส และโลกมนุษย์เองก็จะอยู่ไม่ได้ ฉะนั้น จึงต้องหยุดความสัมพันธ์กับคนเพื่อรักษาธรรม

พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ครบว่าจะอยู่แค่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เท่านั้นไม่พอ ต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับตัวธรรมด้วย โลกมนุษย์จึงจะอยู่ได้ ถ้าเราปฏิบัติธรรมไม่ครบชุด ก็ยุ่งและเกิดโทษ เมตตากรุณา กลับทำให้เกิดปัญหา เสียความยุติธรรม เสียความชอบธรรม ทำให้หลักการของสังคมตั้งอยู่ไม่ได้ สังคมก็วุ่นวายปั่นป่วน พระพุทธเจ้าจึงทรงเรียกธรรมหมวดนี้ว่า พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมเครื่องอยู่ของพระพรหม คือ ธรรมประจำใจของผู้สร้างสรรค์อภิบาลโลก

ในศาสนาพราหมณ์นั้นเขาถือว่า พรหมเป็นผู้สร้างโลก พอสิ้นกัปป์หนึ่งโลกทลาย พระพรหมก็สร้างโลกใหม่อีกทีหนึ่ง แล้วโลกก็อยู่ไปอีกกัปป์หนึ่ง ทีนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสอนเราให้ไม่ต้องรอพระพรหมที่เป็นเทวดาที่จะมาสร้างโลก แต่ทรงสอนให้มนุษย์ทุกคนนี่แหละเป็นพรหม คือมาช่วยกันเป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้อภิบาลโลก หล่อเลี้ยงบำรุงรักษาให้โลกตั้งอยู่ได้ด้วยดี เมื่อเราปฏิบัติตามธรรม ๔ ข้อนี้เราทุกคนก็เป็นพรหม คือเป็นผู้ที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ อภิบาลรักษาบำรุงโลก

พระพุทธเจ้าต้องการให้ทุกคนเป็นพรหม เบื้องแรกให้มารดาบิดาเป็นพรหมก่อน ต่อมาให้มนุษย์ทุกคนเป็นพรหม เมื่อเราปฏิบัติตามธรรม ๔ ข้อนี้ครบถ้วนดี โลกมนุษย์คือสังคมก็อยู่ได้ โลกอยู่ได้ เพราะทุกคนร่วมกันสร้างสรรค์อภิบาล ไม่มีปัญหาเลย แต่เวลานี้เกิดความผิดพลาดมีปัญหา เพราะสังคมเอียง เสียดุลในการปฏิบัติธรรม ๔ ข้อนี้

พรหมวิหาร ๔ ข้อนี้ ถ้าเราจัดเป็นพวกเป็นฝ่าย จะเหลือ ๒ เท่านั้น คือ ข้อ ๑ ถึง ๓ ได้แก่เมตตา กรุณา มุทิตา เป็นธรรมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ หรือคนต่อคน ส่วนข้อที่ ๔ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในกรณีที่เกี่ยวกับธรรม หรือพูดรวบรัดว่า เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรม จึงเป็น ๒ ฝ่าย คือมนุษย์กับมนุษย์ฝ่ายหนึ่ง และมนุษย์กับธรรมอีกฝ่ายหนึ่ง หรือคนกับคน และคนกับธรรม จะเห็นว่าในหมู่มนุษย์การปฏิบัติระหว่าง ๒ ฝ่ายนี้ มีการเอียงสุดได้

ในสังคมบางสังคม มนุษย์มีการเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน มีน้ำใจต่อกันอย่างดี เด่นในเมตตา กรุณา ตลอดจนมุทิตามาก แต่สังคมนั้นอ่อนในอุเบกขา สังคมประเภทนี้เป็นอย่างไร ในแง่ดี ก็จะมีความรู้สึกอบอุ่น แช่มชื่นด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ มีการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันดี แต่ในแง่เสีย คนจะช่วยเหลือกันเป็นเรื่องส่วนตัวจนกระทั่งมองข้ามหลักการ มองข้ามกฎเกณฑ์กติกา มองข้ามความเป็นธรรมและความชอบธรรม พอมีอะไรเกิดขึ้นก็คิดว่าจะไปหาเพื่อนไปหาผู้ใหญ่ให้ช่วย เสร็จแล้ว กฎเกณฑ์ กติกา กฎหมาย ไม่เอาเลย เลี่ยงหมดเลย สังคมนี้ก็เสียดุล สังคมอย่างนี้ระยะยาวก็จะเสื่อม เพราะว่าอ่อนในอุเบกขา เรียกว่าเอียงสุดไปในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เอาแต่จะช่วยเหลือกันระหว่างบุคคล

ส่วนในบางสังคม ความสัมพันธ์จะเด่นในอุเบกขา คือเอาแต่กฎเกณฑ์ กติกา และหลักการ ตลอดจนกฎหมาย สังคมมีกติกาวางไว้แล้ว หลักการมีอยู่แล้ว ทุกคนต้องปฏิบัติตามนั้น ตัวใครตัวมัน ถ้าแกผิดฉันฟัน แต่ระหว่างนั้น ไม่มีน้ำใจต่อกัน ไม่ช่วยเหลือกัน ทุกคนดิ้นรนขวนขวายเอาเอง ทุกคนช่วยตัวเอง และพึ่งตนเอง สังคมแบบนี้ก็แห้งแล้งน้ำใจ ขาดความอบอุ่น มีความเครียดสูง คนเป็นโรคจิตโรคประสาทกันมาก

จากหลักที่พูดมานี้ ก็ลองมาพิจารณาดูว่าเวลานี้สังคมเป็นอย่างไร สังคมไทยของเรานี้เอียงไหม จะเห็นได้ว่า สังคมไทยของเรา เอียงมาในทางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในข้อที่ ๑ และ ๒ มาก ข้อที่ ๓ ก็ยังหย่อน แต่ข้อที่ ๑ ที่ ๒ หนัก จนกระทั่งแสดงออกมาทางถ้อยคำที่ใช้ในสังคมของเรา คือ คำว่า เมตตา กรุณา นี้เราพูดกันเรื่อย เป็นศัพท์สามัญ แต่มุทิตาพูดน้อยลง อุเบกขาไม่พูดเลย แสดงว่า ธรรมเสียดุลแล้ว

ทีนี้ หันไปดูสังคมฝรั่งบ้าง เรื่องเมตตา กรุณา มุทิตานี้ เอาน้อย แต่อุเบกขามาแรง ทุกคนต้องอยู่กับหลักการ ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายก็แล้วกัน ถ้าทำผิดก็โดน ถ้าทำถูกแกไปได้ กฎเป็นกฎ ไม่เอาใครทั้งนั้น สังคมอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน เพราะรักษาความเที่ยงธรรมไว้ได้ รักษากฎเกณฑ์กติกาของสังคมได้ แต่แห้งแล้งและเครียดอย่างที่ว่า ก็เสียดุลอีก

สังคมที่มีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์สูงนั้น นอกจากเสียความเป็นธรรม รักษากฎเกณฑ์กติกาและหลักการไว้ไม่ค่อยได้แล้ว ในระยะยาว คนจะหวังพึ่งกันมากเกินไป คนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีนิสัยชอบหวังพึ่งผู้อื่น คอยรับความช่วยเหลือจากคนอื่น โดยคิดว่าไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวจนลงเราก็ไปขอยืมเพื่อนได้ ไม่เป็นไร เดี๋ยวแม่เรา ญาติเรา ผู้ใหญ่ของเราก็ช่วยเราได้ เลยไม่ดิ้นรนขวนขวาย ก็เลยเฉื่อยชา เกียจคร้าน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา จึงทำให้คนโน้มเอียงไปในทางประมาท เฉื่อยชา สังคมก็จะเสื่อมหรืออืดอาด

ส่วนสังคมที่หนักในอุเบกขา เอาแต่กฎเกณฑ์กติกา ไม่เอาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ก็แห้งแล้งอย่างที่ว่า แต่ก็เป็นเครื่องบีบคั้นและเร่งรัดคนให้กระตือรือร้นขวนขวาย สร้างสรรค์ความเจริญได้ ทุกคนจะดิ้นรนขยันตัวเป็นเกลียว เพราะฉะนั้น จึงทำให้สร้างความเจริญก้าวหน้าได้ดี แต่ถ้าแห้งแล้งและเครียดเกินไปก็อาจจะถึงจุดเดือด คนจะเกิดความโกรธ มีโทสะว่า อะไรกัน มันไม่ช่วยเหลือกันบ้างเลยเชียวหรือ คนจะโกรธแค้น จนกระทั่งว่าหลักการกติกาเหล่านี้ เราไม่เอากับมันแล้ว ทำลายมันเลย หลักการของสังคมก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น ถ้าเอียงสุดจนเกินไป ในที่สุดก็อยู่ไม่ได้ทั้งคู่ จึงต้องปฏิบัติให้พอดี ซึ่งอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะรักษาดุลยภาพระหว่างธรรม ๔ ข้อนี้ไว้ ซึ่งแยกเป็น ๒ ฝ่าย คือเมตตา กรุณา มุทิตา ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และอุเบกขาในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรม เพราะฉะนั้น ธรรมจึงเป็นชุดและต้องปฏิบัติให้ครบ เวลานี้เราปฏิบัติธรรมกัน แม้แต่ในชุดพรหมวิหารนี้ก็วุ่น ธรรมที่มาในสังคมไทย แตกกระจัดกระจายเป็นข้อๆ ไปหมด ยิ่งไปเรียนในโรงเรียน ยิ่งไปเรียนแบบจริยธรรมสากล ก็เลยไปกันใหญ่

ถึงเวลาที่ต้องมองหลักให้ชัดปฏิบัติให้ครบ
เพื่อนำมวลมนุษย์หลุดทางตันสู่อารยธรรมที่แท้

เป็นอันว่า เมตตา กรุณา ถึงแม้จะดี แต่ถ้าปฏิบัติผิด ก็เกิดโทษ นอกจากนั้นฝรั่งยังเอาไปติเตียนอีกด้วย เช่นในหนังสือของอัลเบิร์ต ชไวเซอร์ (Albert Schweitzer) ซึ่งเป็นนักปราชญ์สำคัญคนหนึ่งของตะวันตก มีชื่ออยู่ในสารานุกรม (encyclopaedia) ใหญ่ๆ แทบทุกชุด ท่านผู้นี้เป็นหมอสอนศาสนา และมีอิทธิพลมาก คราวหนึ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะตั้งคณะรัฐประศาสนศาสตร์ขึ้น ก็มีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอินเดียน่า ซึ่งส่งอาจารย์ทางโน้นมาช่วย

ศาสตราจารย์คนหนึ่งชื่อโรเบิร์ต แอล ซัตตัน (Robert L. Sutton) ได้มาสอนวิชารัฐประศาสนศาสตร์ และได้แต่งหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งดูเหมือนจะชื่อว่า Public Administration in Thailand แปลว่า รัฐประศาสนศาสตร์ในประเทศไทย เขาวิเคราะห์ประเทศไทยและสังคมไทยแล้วก็บอกว่า ปัจจัยที่ขัดขวางการพัฒนาของสังคมไทยคือ หนึ่ง สถาบันกษัตริย์ สอง พุทธศาสนา แล้วเขาก็แจกแจงวิเคราะห์ว่าพุทธศาสนาเป็นเหตุปัจจัยให้สังคมไทยไม่พัฒนาอย่างไร ตอนนั้น ชาวพุทธเราส่วนหนึ่งก็ลุกขึ้นมาด่าซัตตันเป็นการใหญ่ (ต่อมาคณะรัฐประศาสนศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ได้โอนไปรวมกับส่วนงานการศึกษาอื่นๆ ตั้งขึ้นเป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คือ NIDA ในปัจจุบัน)

ในข้อความที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนานั้น ตอนหนึ่ง โรเบิร์ต แอล ซัตตัน ได้อ้างอัลเบิร์ต ชไวเซอร์ ที่เขียนไว้ว่า พุทธศาสนาสอนให้คนทำความดี แต่การทำความดีของพุทธศาสนาคืออย่างไร? คือเว้นจากความชั่ว เช่น เว้นจากปาณาติบาต เว้นจากอทินนาทาน ฯลฯ แค่นี้คือทำความดี พุทธศาสนาสอนให้ทำความดี ก็แค่เว้นจากความชั่ว เว้นความชั่วก็คือทำดีแล้ว และในทำนองเดียวกัน พุทธศาสนาสอนให้คนช่วยเหลือกันโดยแผ่เมตตา คือตั้งความปรารถนาดีให้เพื่อนมนุษย์มีความสุข สรุปว่า พุทธศาสนาสอนความดีแบบ passive ไม่ active คือ สอนความดีแบบอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร เจริญเมตตา ก็แค่ตั้งใจดีนอนแผ่อยู่ในมุ้ง แค่นี้ก็ทำดีแล้ว เลยไม่ช่วยให้คนออกไปดำเนินการสร้างสรรค์ในสังคม โรเบิร์ต แอล ซัตตัน ก็โจมตีพุทธศาสนาตามอัลเบิร์ต ชไวเซอร์ เข้าไป แล้วหนังสือพวกนี้มีอิทธิพล นักวิชาการไทยเราเชื่อไม่น้อย นี่ผมเอามาเล่าเป็นตัวอย่างเท่านั้น

เรื่องกรรม เรื่องอุเบกขา เรื่องเมตตา และอะไรๆ หลายเรื่อง โดนฝรั่งตี แล้วนักวิชาการไทยก็ตี แม้แต่ดอกเตอร์คนหนึ่งที่เป็นลูกหรือลูกสะใภ้หรือหลานคนหนึ่งของท่านผู้ใหญ่อดีตคนวัดที่มีชื่อเสียงมาก ก็ยังเขียนติเตียนไว้ว่า เพราะคนภาคอีสานถือหลักอนิจจังตามคำสอนของพระพุทธศาสนาจึงทำให้มีชีวิตแบบอยู่ไปวันๆ แล้วก็เลยไม่เจริญ ไม่สามารถพัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้าได้ นี่ขนาดคนที่อยู่ในเชื้อสายยังว่าอย่างนี้ ฉะนั้น เราจะต้องไม่ประมาทให้หนักทีเดียว เพราะคนของเรา แม้แต่พระเอง ถ้าเข้าใจธรรมไม่รอบคอบแล้ว อาจจะเป็นปัญหาได้อย่างหนัก ในวงวิชาการนั้น เรายังไม่ได้ไปสัมผัสอีกมาก คนที่เข้าใจกันได้ดีกับเราก็เยอะ แต่คนที่ยังไม่เข้าใจก็มากอยู่ จะต้องตื่นตัวรู้เท่าทัน โดยเฉพาะตัวเราเองจะต้องเข้าใจธรรมให้ชัดเจน ชนิดโยงกันได้ทั้งระบบ

เมื่อวานนี้ นักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นนักธุรกิจใหญ่คนหนึ่ง พูดในการสัมมนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาสัก ๒ วันแล้ว เขาเอาเทปมาออกวิทยุ ท่านผู้นี้มีชื่อเสียงมาก เคยเป็นรัฐมนตรี ได้ต่อว่าคุณหมอประเวศ วะสี และอาจารย์เสน่ห์ จามริก ที่มีความคิดเห็นเชิงว่า การพัฒนาชนบท อย่าไปเน้นการพัฒนาวัตถุมากเกินไป ให้เห็นความสำคัญของจิตใจ ตลอดจนให้พัฒนาสังคมในแนวคิดที่เรียกว่า เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ อะไรทำนองนี้ ผมจำความทั้งหมดไม่ได้ ต่อมาท่านผู้ใหญ่ทางเศรษฐกิจท่านนี้ ขึ้นมาพูดว่า แนวคิดของคุณหมอประเวศ วะสี และอาจารย์เสน่ห์ จามริก นี่ เหมือนพระเทศน์ เชย! ใช้ไม่ได้ นี่ก็แสดงว่าเขามองว่า หนึ่ง...พระนี่ ความคิดใช้ไม่ได้ เชย สอง...ใครคิดอย่างพระ ก็เชย ใช้ไม่ได้ นี่คือนักเศรษฐกิจของสังคมไทย ยังมีปัญหามากสำหรับคนไทยเรา ต้องแก้กันอีกมาก

ผมมองว่า นักเศรษฐกิจแบบนี้ ตามไม่ทันความคิดตะวันตกด้วย ความคิดของเขาเป็นความคิดตะวันตกที่ล้าสมัย ตามลัทธิเศรษฐกิจของฝรั่งที่กำลังจะผ่านพ้นไปแล้ว

ต่อจากนั้นมีนักการเมืองอีกคนหนึ่งเป็น ส.ส. ขึ้นมาพูดว่า เขาเห็นด้วยกับท่านอดีตรัฐมนตรีผู้นั้น เห็นมาด้วยตั้ง ๒๐ กว่าปีแล้ว เลยย้ำหนักเข้าไปอีก เราก็เลยมองว่า เอ้อ! นักการเมืองของเราได้แค่นี้หรือ ถ้าอย่างนี้เราจะพัฒนาประเทศกันอย่างไร ความคิดของคนในระดับผู้นำของสังคมไทย ที่เป็นนักการเมือง และนักเศรษฐกิจ ยังอยู่แค่นี้ เขาไม่รู้ว่าแนวคิดตะวันตกเวลานี้มาถึงจุดติดตันอย่างไร เราจะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาของโลกอย่างไร ความคิดในระยะสั้น และระยะยาวเป็นอย่างไร เขามองไม่เห็น นี่แหละเป็นเรื่องที่เราจะต้องมีความรู้ตระหนักเท่าทัน

เป็นอันว่า ธรรมนั้นจะต้องปฏิบัติให้ครบชุดองค์รวมอย่างที่ว่าแล้ว เพราะมันมีความประสานสัมพันธ์กันและเติมเต็มแก่กัน ถ้าขาดชุดแล้ว ชีวิตและสังคมมนุษย์ก็จะเอียง เสียหลัก เสียดุล เกิดผลเสีย ธรรมที่เป็นกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลได้อย่างไร ธรรมที่เป็นอกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลได้อย่างไร จะใช้อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล เช่น ใช้ตัณหาเป็นปัจจัยแก่ฉันทะได้อย่างไร ดังนี้เป็นต้น จะต้องวิเคราะห์กันให้ชัด จะได้ไม่พลาด เป็นการช่วยสังคมของเรา และแก้ความเห็นผิด โดยเฉพาะของคนที่เป็นผู้นำทางปัญญา

ถ้าเราไม่สามารถแก้ปัญหาถึงระดับนี้ เราก็จะแก้ปัญหาของสังคมไม่ได้สมบูรณ์ เพราะคนเหล่านั้นเป็นผู้นำอยู่ ถ้าผู้นำหลงผิด ก็จะพาสังคมไปในทางที่ผิดพลาด

เวลานี้สังคมไทยก็ยังตามสังคมฝรั่งอยู่แบบตื่นเต้น ไม่ค่อยรู้เท่าทัน เช่นตื่น Alvin Toffler และ Michael Hammer มากเกินไป เราเพียงแต่รู้ทันและเอามาใช้ประโยชน์ให้ถูกที่ก็พอแล้ว และเราน่าจะมีอะไรให้แก่เขาบ้าง ไม่ใช่จะต้องไปตื่นเต้นอยู่เรื่อยกับการที่เขามีอะไรต่ออะไรมาแปลกๆ ใหม่ๆ ภายในวังวนแห่งเก่า

เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงในระบบความสัมพันธ์ใหญ่
อารยธรรมเก่าก็เปลี่ยนไปเป็นอารยธรรมใหม่

ที่พูดมาทั้งหมดวันนี้ ได้โยงไปหาหลักธรรมง่ายๆ เพียง ๒-๓ อย่างเท่านั้น แต่ที่จริงหลักธรรมเพียงแค่นี้ก็เพียงพอที่จะสร้างอารยธรรมใหม่ได้แล้ว

ที่ว่าจะสร้างอารยธรรมใหม่นั้น ในที่นี้ ไม่ใช่ว่าจะต้องสร้างขึ้นใหม่โดยสิ้นเชิง แต่หมายถึงการเปลี่ยนจากอารยธรรมปัจจุบันที่ไม่ถูกต้อง ให้กลายเป็นอารยธรรมที่แท้ที่ถูกต้อง เพียงแค่นี้ก็กลายเป็นอารยธรรมใหม่

ทำไมจึงว่าอารยธรรมปัจจุบันไม่เป็นอารยธรรมที่แท้ อารยธรรม แปลว่า ธรรมอันประเสริฐ ธรรมที่ทำมนุษย์ให้ประเสริฐ หรือ ธรรมของมนุษย์ผู้ประเสริฐ หมายถึงเรื่องราวความเป็นไปและสิ่งต่างๆ ที่เกิดมีขึ้น ที่เป็นการสร้างสรรค์ให้มนุษย์เจริญงอกงามขึ้นเป็นผู้ประเสริฐ แต่อารยธรรมปัจจุบันไม่เป็นไปตามความหมายนี้ ตรงข้าม กลับเป็นอย่างที่ฝรั่งจำนวนมากได้ผิดหวังและพูดว่า เป็นอารยธรรมที่จะนำโลกไปสู่ความพินาศ เมื่อเป็นอย่างนั้นก็เป็นอารยธรรมจริงแท้ไม่ได้

ที่จริงจะเรียกว่าอารยธรรมก็ไม่ถูกมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพราะเราแปลคำว่าอารยธรรมจากคำฝรั่งที่ว่า civilization ซึ่งมีความหมายว่าเป็นการทำให้เป็นคนเมือง หรือการเจริญขึ้นเป็นชาวเมือง คนแต่ก่อนมองว่าการเปลี่ยนจากคนอยู่ป่ามาเป็นคนอยู่เมือง เป็นความเจริญ แต่ที่จริงคนเมืองอาจไม่ประเสริฐก็ได้ ดังที่เวลานี้ก็ชักเป็นที่สงสัยมากขึ้นๆ ว่า ชีวิตเมืองและสังคมเมืองดีงามจริงแน่หรือ ตามความหมายนี้ civilization ตรงกับคำว่า “นาครธรรม” มากกว่า และคำหลังนี้ก็เคยมีผู้ใช้มาแล้ว

อารยธรรมที่ไม่แท้หรือนาครธรรมปัจจุบันนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะไร้คุณค่าเสียทีเดียว ประโยชน์ก็มีไม่น้อย แต่เพราะมันเจริญมาบนฐานที่ผิดอย่างแหว่งวิ่นและเอียงไปข้างเดียว จึงสะสมโทษไว้มากขึ้นๆ จนในที่สุด ส่วนที่เป็นโทษก็รุนแรงจนท่วมท้นส่วนที่ดี เมื่อโทษแรงนักก็จะกลายเป็นความพินาศ

ได้พูดเมื่อกี้ว่าหลักธรรมง่ายๆ ไม่กี่อย่างที่นำมาอธิบายวันนี้ก็เพียงพอที่จะเปลี่ยนนาครธรรมหรืออารยธรรมเทียมให้กลายเป็นอารยธรรมที่แท้ขึ้นมาใหม่ได้

ทำไมหลักธรรมง่ายๆ ไม่กี่อย่างจึงเปลี่ยนอารยธรรมได้ ตอบว่า เพราะมันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สังคม และธรรมชาติแวดล้อม เมื่อความเปลี่ยนแปลงในระบบความสัมพันธ์นี้เกิดขึ้น ย่อมหมายถึงความเปลี่ยนแปลงของอารยธรรม (ในกรณีนี้ คือการเปลี่ยนแปลงจากอารยธรรมเทียมหรือนาครธรรมไปเป็นอารยธรรมที่แท้)

ไม่ต้องพูดถึงสัจจธรรม เช่นหลักการที่ว่าสิ่งทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์อยู่ในระบบความสัมพันธ์อันเดียวกันแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นหลักขั้นพื้นฐาน เอาแค่หลักธรรมขั้นปฏิบัติการที่แก้โดยปรับเปลี่ยนให้บูรณาการเข้าสู่ระบบดุลยภาพก็พอ

ในการสร้างสรรค์ความเจริญ ฝรั่งเริ่มต้นทุนนิยมและยุคอุตสาหกรรมด้วยปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งคือ “สันโดษ” แต่สันโดษของฝรั่งเป็นสันโดษเทียม คือ ไม่ใช่เป็นการอิ่มพอในการเสพวัตถุด้วยความพอใจเองอย่างเป็นธรรมชาติ โดยมุ่งให้สามารถสงวนเวลาแรงงานและความคิดไว้เพื่อนำไปอุทิศให้แก่การสร้างสรรค์สิ่งดีงาม แต่เป็นการยอมอดยอมงดการเสพวัตถุในบัดนี้ ด้วยอาศัยแรงศรัทธาทางศาสนามากดข่มหรือชดเชยไว้ (ตามแนวคิดแบบ Protestant ethic) ซึ่งไปๆ มาๆ ก็แปรไปเป็นการข่มใจทนรอด้วยความหวังที่จะไปเสพให้มากที่สุดในกาลข้างหน้า โดยสงวนเวลาแรงงานและความคิดนั้นไปทุ่มให้กับการแสวงหาและผลิตวัตถุมาไว้เสพต่อไปในอนาคต

ผลเสียของสันโดษเทียมแบบฝรั่ง คือ ในด้านชีวิตจิตใจก็กลายเป็นการจำใจ ฝืนใจ เพราะใจจริงคือต้องการจะเสพให้มากที่สุด แต่อาศัยศรัทธามาช่วยข่มหรือชดเชยไว้ หรือเพราะหวังผลที่อยู่ข้างหน้าจึงต้องรอไปก่อน และในแง่ธรรมชาติแวดล้อม ในเมื่อเป้าหมายในความหวังคือการจะได้เสพบริโภคอย่างเต็มที่ ผลสำเร็จก็คือการล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาตินั่นเอง ส่วนในด้านสังคมก็ไม่ช่วยให้ลดปัญหาการเบียดเบียนแย่งชิงกันในระยะยาว

ส่วนสันโดษของคนไทย (พิจารณาจากความเข้าใจในปัจจุบัน ซึ่งจะเกิดจากการถือผิดสืบกันมา หรือคลาดเคลื่อนภายหลังเนื่องจากขาดการศึกษาก็ตาม) ก็เป็นสันโดษเทียมอีกแบบหนึ่ง คือเป็นสันโดษแบบด้วนๆ ลอยๆ ไม่มีจุดหมายต่อเนื่องไปว่าจะเอาเวลา แรงงานและความคิดที่สงวนไว้ได้ ไปใช้ทำอะไรต่อไป ไม่เชื่อมต่อสู่ความเพียรพยายาม กลายเป็นเพียงความสันโดษที่ทำให้นอนเสวยความสุขอยู่เฉยๆ เสี่ยงต่อการที่จะทำให้เกียจคร้านเฉื่อยชาตกอยู่ในความประมาท

เมื่อปรับแก้ให้ถูกต้องเป็นสันโดษที่แท้ ก็จะเกิดดุลยภาพ และการประสานประโยชน์ ทั้งของชีวิตกายใจของบุคคล ความสงบสุขของสังคม และการอนุรักษ์ธรรมชาติแวดล้อม เพราะความอิ่มพอต่อวัตถุ เป็นความพึงพอใจที่ทำให้ตนเองมีความสุข พร้อมกันนั้นก็มีจุดหมายที่จะนำเอาเวลา แรงงาน และความคิดที่สงวนไว้ได้ไปใช้สร้างสรรค์ความดีงามและประโยชน์สุขที่เกื้อกูลต่อสังคม กับทั้งในเวลาเดียวกันก็ไม่ต้องมีการเบียดเบียนเอาจากธรรมชาติเพื่อมาสนองความหวังเสพสุขในกาลข้างหน้า มนุษย์จะมีความสุขโดยไม่ต้องผลาญทรัพยากรธรรมชาติ และพร้อมกันนั้นก็มีความพร้อมมากยิ่งขึ้นในการเพียรพยายามสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้ดีงาม

ความไม่ประมาทของตะวันตกก็เช่นเดียวกัน เป็นความไม่ประมาทเทียม ซึ่งเกิดจากแรงบีบคั้นของระบบการแข่งขัน ที่เรียกว่าระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์ ไม่ใช่เกิดจากสติปัญญาแท้จริง แรงบีบคั้นนั้นยิ่งก่อปฏิกิริยา ให้ความเห็นแก่ตัวหรือความต้องการสนองความต้องการของตนรุนแรงยิ่งขึ้น การหาทางอยู่รอดและแสวงผลประโยชน์ของตนเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยที่ชีวิตจิตใจยิ่งเครียด การเบียดเบียนกันในสังคมยิ่งรุนแรง และธรรมชาติแวดล้อมยิ่งถูกทำลายรวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้นตามอัตราการแข่งขันหาผลประโยชน์กันในสังคม

ส่วนสังคมไทยก็ดังที่กล่าวแล้วว่า ไปในทางตรงข้าม คือตกอยู่ในความประมาท

เมื่อพัฒนาคนด้วยการศึกษาอย่างถูกต้อง ก็จะมีการปรับแก้ให้เป็นความไม่ประมาทแท้ ที่เกิดจากสติปัญญา ซึ่งจะเป็นความไม่ประมาทที่เป็นไปเพื่อผลในทางสร้างสรรค์อย่างแท้จริง โดยที่สติปัญญาจะนำกิจกรรมของมนุษย์ให้ดำเนินไปเพื่อผลดีที่ต้องการ ภายในขอบเขตที่ไม่ส่งผลกระทบในทางร้ายต่อชีวิต สังคม และธรรมชาติแวดล้อม

เมื่อธรรมได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องประสานกันครบองค์เป็นระบบอย่างมีดุลยภาพดังตัวอย่างนี้ ผลดีก็เกิดขึ้นแก่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง คือทั้งชีวิต สังคม และธรรมชาติแวดล้อม อย่างกลมกลืนและเกื้อกูลกัน โดยสัมพันธ์กับการพัฒนาคน ไม่เกิดภาวะที่ต้องขัดขืนจำยอมหรือต้องประนีประนอม

ธรรมปฏิบัติอย่างหนึ่ง ที่เป็นเรื่องพื้นๆ เบื้องต้น แต่มีความสำคัญยิ่งในการสร้างสรรค์อารยธรรมที่แท้ ก็คือ โภชเนมัตตัญญุตา คือ ความรู้จักประมาณในการบริโภค พูดง่ายๆ ว่ากินพอดี ซึ่งหมายถึงกินหรือบริโภคตลอดจนใช้สอยสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญา ธรรมปฏิบัติหรือการดำเนินชีวิตอย่างนี้ เกิดจากการทำงานประสานกันของพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ในระบบการพัฒนาคนหรือการศึกษาแท้ที่เรียกว่าสิกขา ๓ (คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง) แล้วแสดงผลออกมาเป็นการประสานประโยชน์ของชีวิต สังคม และธรรมชาติแวดล้อม ที่จะดำรงอยู่อย่างกลมกลืนและเกื้อกูลกัน

แม้ว่าตะวันตกจะมีคำว่า moderation ซึ่งใช้เป็นคำแปลของ มัตตัญญุตา แต่ก็หาได้มีความหมายตามระบบองค์รวมที่มีปัจจัยอันเกี่ยวข้องมาบูรณาการกันอย่างมีดุลยภาพดังที่กล่าวนี้ไม่

พูดได้ไม่เกินความจริงว่า ถ้าไม่สามารถพัฒนามนุษย์ให้มีโภชเนมัตตัญญุตา ในความหมายที่กล่าวข้างต้น ก็ไม่สามารถแก้ไขอารยธรรมปัจจุบันให้เป็นอารยธรรมใหม่ที่แท้ได้ และอารยธรรมปัจจุบันนั้นก็จะนำมนุษยชาติไปสู่ความพินาศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

การพัฒนามนุษย์ให้ลดละมัจฉริยะทั้ง ๕ ก็จะทำให้เกิดความเป็นสากลที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้มนุษย์ทั้งโลกอยู่ร่วมกันได้โดยสันติสุข พร้อมกันนั้น มนุษย์ที่พัฒนาตนให้มีพรหมวิหาร ๔ ก็จะสร้างสรรค์อภิบาลโลก ทำให้สังคมดำรงอยู่อย่างมั่นคงสวัสดี บนฐานแห่งความสัมพันธ์อย่างสมดุลทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ

ศักยภาพที่แท้จริงของมนุษย์ไม่ใช่การเอาชนะธรรมชาติ แต่เหนือกว่านั้น คือ ความสามารถที่จะทำให้ชีวิต สังคม และธรรมชาติ ดำเนินไปด้วยดี อย่างเกื้อกูลแก่กันและกันมากยิ่งขึ้นๆ เบียดเบียนกันน้อยลงๆ จนกระทั่งเป็นโลกที่เป็นสุขไร้การเบียดเบียน อารยธรรมที่เป็นเช่นนี้นั่นแหละคืออารยธรรมที่แท้ ซึ่งเกิดจากการแก้ไขปรับปรุงอารยธรรมปัจจุบันที่อยู่ในแนวทางของตะวันตก ไปเป็นอารยธรรมใหม่

สำหรับวันนี้เห็นจะพอสมควรแล้ว ส่วนเรื่องธรรมวินัย คงต้องเอาไว้ก่อน นี่ก็มากมายแล้ว ท่านมหาสมชัยก็บอกแล้วว่าควรจะจบเสียที

พระผู้เข้าอบรม - ไม่เป็นไรครับ พวกเกล้าฯ ยินดีที่จะรับฟังครับ

พระธรรมปิฎก - ก็คิดว่าพอสมควรแล้ว ถ้าอย่างนั้น มีโอกาสข้างหน้าค่อยคุยกันใหม่ ขออนุโมทนาทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง ขอทุกท่านจงประสบสุขสวัสดี มีความเจริญงอกงามทั่วกัน

1คำบรรยายในการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ จัดโดย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมกับสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา และกองงานพระธรรมทูตสายต่างประเทศ มหาเถรสมาคม ที่พุทธฆณฑล ณ วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๓๘ เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๘.๐๐ น.
2สภาพสังคมอเมริกันปัจจุบัน ได้บรรยายไว้อีกส่วนหนึ่งแล้ว ในหนังสือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” พ.ศ.๒๕๓๘
3เสียงที่บันทึกฟังไม่ชัด เดาว่าคำถามทำนองนี้
4คำถามที่บันทึกเสียงไว้ ฟังไม่ชัด เดาเอาว่าเป็นทำนองนี้
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.