พระพุทธศาสนากับการบริจาคอวัยวะ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พระพุทธศาสนา
กับ
การบริจาคอวัยวะ1

บริจาคอวัยวะเป็นบุญสูงใหญ่

ผู้อำนวยการฯ : มีข้อห้ามในศาสนาพุทธหรือไม่เกี่ยวกับเรื่อง การบริจาคอวัยวะ

พระธรรมปิฎก : ตามปกติ ไม่มีข้อห้าม มีแต่จะสนับสนุน เพราะการบริจาคอวัยวะเป็นการเสียสละเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ต้องการให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ และมีความสุข การบริจาคจึงเป็นหลักธรรมที่สำคัญของพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็น “ทศพิศราชธรรม” ก็ดี การบำเพ็ญ “บารมี” ของพระพุทธเจ้าเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ก็ดี ก็มีการบริจาคเป็นคุณธรรมข้อแรก

การบริจาคนี้ เป็นการให้ เรียกว่า “ทาน” คือการให้เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยเฉพาะในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ ซึ่งเรียกว่า “ทานบารมี” นั้น การบริจาคอวัยวะเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นความดีที่จำเป็นต้องทำเลยทีเดียว เพราะการก้าวไปสู่โพธิญาณ ต้องมีความเข้มแข็งของจิตใจในการเสียสละเพื่อความดี ทั้งนี้ทานที่เป็นบารมี แบ่งเป็น ๓ ขั้น เช่นเดียวกับบารมีอื่นๆ คือ

ทานบารมี ระดับสามัญ คือการบริจาคทรัพย์สินเงินทองของนอกกาย ถึงจะมากมายแค่ไหนก็อยู่ในระดับนี้

ทานอุปบารมี คือ ทานบารมีระดับรองหรือจวนสูงสุด ได้แก่ความเสียสละทำความดีถึงขั้นสามารถบริจาคอวัยวะเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้

ทานปรมัตถบารมี คือ ทานบารมีขั้นสูงสุด ได้แก่ การบริจาคชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น หรือเพื่อรักษาธรรม

แน่นอนว่า การบริจาคอวัยวะนั้นเป็นคุณธรรมสำคัญ และเป็นบุญมากตามหลักพระพุทธศาสนา นอกจากเป็นบารมีขั้นทานอุปบารมีแล้ว ยังโยงไปหาหลักสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “มหาบริจาค” คือการบริจาคใหญ่ ซึ่งพระโพธิสัตว์จะต้องปฏิบัติอีก ๕ ประการ คือ บริจาคทรัพย์ บริจาคราชสมบัติ บริจาคอวัยวะและนัยน์ตา บริจาคตัวเองหรือบริจาคชีวิต และบริจาคบุตรภรรยา

บริจาคบุตรและภรรยานั้น คนสมัยใหม่อาจจะมองในทางที่ไม่ค่อยดี แต่ต้องเข้าใจว่าการบริจาคบุตรภรรยานี้ไม่ใช่ไปมองในแง่ทอดทิ้งบุตรภรรยา แต่มองในแง่ที่สามารถสละความหวงแหนยึดถือทางจิตใจ อย่างคนทั่วไปที่เมื่อมีความยึดถือผูกพันด้วยความรัก ก็มักจะมีความเอนเอียงเป็นอย่างน้อย ผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ คือพระโพธิสัตว์นั้นจิตใจจะต้องตรงต่อธรรม สามารถรักษาความถูกต้องโดยไม่เห็นแก่อะไรทั้งสิ้น จึงต้องสละความยึดถือแม้แต่ลูกเมียได้ แต่การจะสละบุตรภรรยาคือยอมให้เขาไปกับใครนั้น มีข้อแม้ว่าต้องให้เขายินดีพอใจหรือเต็มใจด้วย ถ้าเขาไม่พอใจก็ไม่บริจาค ท่านมีเงื่อนไขไว้แล้ว

หันกลับมาเรื่องการบริจาคอวัยวะ เป็นอันว่าพระโพธิสัตว์จะเป็นพระพุทธเจ้าได้จำเป็นต้องบำเพ็ญมหาบริจาค ซึ่งมีการบริจาคอวัยวะ บริจาคนัยน์ตา บริจาคชีวิตรวมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นจึงเป็นการแน่นอนอยู่แล้วว่าไม่มีการห้าม นอกจากจะทำด้วยโมหะและโดยไม่มีเหตุผล ส่วนการทำอย่างมีเหตุผล คือมีจิตเมตตากรุณา ต้องการเสียสละให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นนี้ ท่านสนับสนุน

บริจาคอวัยวะคนตาย บุญได้แก่ใคร

ผู้อำนวยการฯ : ถ้าถามว่าการบริจาคอวัยวะนั้นได้บุญหรือไม่ และใครเป็นคนได้ อย่างเช่นคนหนึ่งแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้ แต่เสียชีวิตในภาวะที่ไม่สามารถบริจาคได้ กับอีกคนหนึ่งไม่ได้แสดงความจำนงบริจาค แต่เสียชีวิตด้วยภาวะสมองตายแล้วญาติได้ตัดสินใจบริจาค ลักษณะนี้ไม่ทราบว่าใครจะเป็นคนได้บุญ หรือได้บุญมากน้อยอย่างไร

พระธรรมปิฎก : ในแง่นี้ต้องแยกออกเป็น ๒ ประเด็น ประเด็นที่หนึ่งคือ “เป็นบุญหรือไม่?” ซึ่งตอบได้เลยว่าเป็นบุญอยู่แล้ว ดังที่พระโพธิสัตว์ท่านบริจาค และเป็นบุญชั้นสูงถึงขั้นเรียกว่าบารมีเลยทีเดียว แต่สำหรับคนทั่วไปจะมีความตั้งใจที่จะบรรลุโพธิญาณหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเราไม่ได้มีความตั้งใจไม่ได้ตั้งปณิธานอย่างนี้ ก็ไม่เรียกว่าเป็นบารมี แต่เป็นบุญซึ่งจัดว่าเป็นบุญอันยิ่งใหญ่เลยทีเดียว เพราะเป็นบุญที่ทำได้ยาก ต้องมีความเสียสละจริงๆ เป็นอันว่าได้บุญแน่นอน เพราะเกิดจากเจตนาที่เสียสละให้ด้วยความกรุณาปรารถนาดีต่อผู้อื่นอันใหญ่หลวง

ส่วนที่ว่า “ใครจะเป็นผู้ได้บุญ?” นั้น ตอบง่ายๆ ว่าใครเป็นผู้บริจาค คนนั้นก็ได้ เพราะมันอยู่ที่เจตนาของผู้นั้น ในกรณีที่เป็นคนที่ตายไปแล้วและญาติบริจาค ก็เลยกลายเป็นว่าคนที่ตายไปแล้วไม่ได้รับ เพราะว่าไม่ได้เจตนา ในแง่นี้ต้องพูดอีกขั้นหนึ่ง คือญาติที่บริจาคนั้นต้องอุทิศกุศลไปให้เขาอีกทีหนึ่ง ในทางธรรมถือว่าถ้าบริจาคในขณะที่ตัวยังเป็นอยู่ก็จะเป็นบุญชั้นสูง

ผู้อำนวยการฯ : คนที่ได้รับอวัยวะไปแล้ว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ เขาจะได้รับผลบุญนั้นหรือไม่ เพราะทางศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ ไม่ได้บอกชื่อของคนที่บริจาคให้ ผู้ที่รับอวัยวะไปจะอธิษฐานอย่างไรดี

พระธรรมปิฎก : แม้จะไม่ระบุชื่อผู้ที่เราอุทิศส่วนกุศลให้ เพียงแต่ตั้งใจว่าอุทิศให้แก่เจ้าของอวัยวะที่บริจาคให้เรา หรือที่เราได้รับบริจาคนี้ก็พอแล้ว

บริจาคอวัยวะแล้ว เกิดใหม่ร่างกายยิ่งดี

ผู้อำนวยการฯ : ปัญหาที่เราเจอ ในการทำการประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ คือ บางคนก็ยังมีความเชื่อว่า ถ้าให้อวัยวะเขาไปแล้วในชาตินี้ เกิดมาชาติหน้าจะมีอวัยวะไม่ครบ

พระธรรมปิฎก : อันนี้ไม่จริงเลย มีแง่พิจารณา ๒ อย่างด้วยกัน

๑. ในแง่หลักฐานทางคัมภีร์แสดงว่า พระพุทธเจ้า เมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ทรงบริจาคนัยน์ตา ก็เป็นเหตุให้พระองค์ทรงได้สมันตจักษุ คือเป็นพระเนตรหรือดวงตาที่เป็นพิเศษสุดของพระพุทธเจ้า ซึ่งเราแปลว่าเป็นดวงตาซึ่งมองเห็นโดยรอบ ไม่ใช่ดวงตาที่เป็นวัตถุอย่างเดียว แต่หมายถึงดวงตาทางปัญญาด้วย ในแง่พระคัมภีร์ก็สนับสนุนชัดเจนว่าชาติหน้ามีแต่ผลดี

๒. ในแง่เหตุผล ที่เข้าใจกันว่าบริจาคอวัยวะไปแล้ว เกิดมาอวัยวะจะบกพร่อง เหตุผลที่ถูกต้องไม่ใช่อย่างนั้น เราต้องมองว่าชีวิตที่เกิดมานี้ จิตใจเป็นส่วนสำคัญในการปรุงแต่งสร้างสรรค์ อย่างเราเป็นอยู่ทุกวันนี้ ถ้าเรามีเมตตาคิดดีปรารถนาดีต่อผู้อื่น ยิ้มแย้มแจ่มใส ต่อไปหน้าตาเราจะถูกปรุงแต่งให้แจ่มใสเบิกบาน ในทางกลับกันถ้าเราคิดร้ายต่อผู้อื่น มักโกรธ อยากจะทำร้ายรังแกเขาอยู่เรื่อย หน้าตาก็จะบึ้งตึง เครียด หรือถึงกับดูโหดเหี้ยม นี้เป็นผลมาจากสภาพจิตที่เคยชินในชีวิตประจำวัน แม้แต่ในชาติปัจจุบันนี้เอง

ทีนี้ชีวิตที่จะเกิดต่อไป ก็จะต้องอาศัยจิตที่มีความสามารถในการปรุงแต่ง ขอให้คิดง่ายๆ ว่า คนที่จะบริจาคอวัยวะให้คนอื่น ก็คือปรารถนาดีต่อเขา อยากให้เขาพ้นจากความทุกข์ หายเจ็บป่วย อยากให้เขาเป็นสุข จิตอย่างนี้ในตอนคิดก็เป็นจิตที่ดี คือจิตใจยินดีเบิกบาน คิดถึงความสุขความดีงามความเจริญ จิตก็จะสะสมความโน้มเอียงและพัฒนาความสามารถในด้านนี้

ถ้าคิดบ่อยๆ จิตก็จะยิ่งมีความสามารถและมีความโน้มเอียงไปในทางที่จะปรุงแต่งให้ดี และคุณสมบัตินี้ก็จะฝังอยู่เป็นสมรรถภาพของจิต เพราะฉะนั้น ในการบริจาคเราจึงต้องทำจิตใจให้ผ่องใส ให้ประกอบด้วยคุณธรรม มีเมตตา ปรารถนาดี และอันนี้แหละที่จะทำให้เราได้บุญมาก

ตรงกันข้ามกับคนที่คิดร้ายอยู่เสมอ คิดแต่จะโกรธ คิดแต่จะรังแกสัตว์ อยากจะทำร้ายคนโน้นคนนี้ คนที่คิดทำร้ายเขานั้น จิตจะคิดจะนึกถึงการบุบสลาย ความเจ็บปวด อาการมีเลือดไหล สภาพแตกหัก แหว่งวิ่น บกพร่อง ขาดหาย และการสูญเสียที่ร้ายๆ ไม่ดีทั้งนั้น และเมื่อคิดอยู่เสมอจิตก็มีความโน้มเอียงที่จะคิดในแง่นี้ และก็จะพัฒนาความสามารถที่จะคิดไปในทางที่ไม่ดี ในการทำลาย ในการแตกสลาย คิดถึงชีวิต คิดถึงคนเมื่อไร ก็จะมองเห็นแต่รูปร่างไม่ดี บุบสลาย แขนขาด ขาขาด เจ็บปวดทรมาน นานเข้าบ่อยเข้า คนอย่างนี้ก็จะหมดความสามารถในการปรุงแต่งในทางที่ดี

คนที่ทำร้ายคนอื่น ชอบรังแกข่มเหงคนอื่น หรือคิดร้ายอยู่เสมอ เมื่อไปเกิดใหม่ก็จะมีปัญหาเรื่องความบกพร่องของอวัยวะ มักเจ็บป่วยประสบอันตรายอะไรต่างๆ เพราะว่าจิตสะสมความโน้มเอียงและพัฒนาความสามารถในทางไม่ดีจนฝังลึก เรียกว่าลงร่องอย่างนั้น แล้วมันก็ปรุงแต่งชีวิตร่างกายของตัวให้เป็นไปในทางนั้น หรือได้อย่างนั้น แค่นั้น

ในทางตรงข้าม จิตที่พัฒนาความสามารถในทางที่ดี เช่น เมื่อบริจาคอวัยวะ เราคิดถึงคนอื่นในทางที่ดีมีกรุณาธรรม การที่เราบริจาคอวัยวะให้เขานั้น ก็คือจะทำให้เขามีร่างกายมีอวัยวะสมบูรณ์ขึ้น พ้นจากความบกพร่อง ให้เขาหน้าตาผ่องใส ให้เขามีชีวิตอยู่กับครอบครัวญาติมิตรของเขาอย่างมีความสุข ความคิดอย่างนี้ ยิ่งจิตเราคิดบ่อยก็ยิ่งดี เมื่อเราคิดหรือนึกถึงบ่อยๆ จิตของเราก็จะมีความโน้มเอียง พร้อมทั้งพัฒนาความสามารถที่จะปรุงแต่งให้ดี

พอไปเกิดใหม่จิตจะปรุงแต่งอะไรก่อนล่ะ จิตก็ต้องปรุงแต่งชีวิตของตัวเองนั่นแหละ เมื่อจิตสะสมมามีความโน้มเอียง และมีความสามารถในทางที่ดีอย่างนั้น มีแต่ภาพของร่างกายและอวัยวะที่สวยงามสมบูรณ์ซึ่งได้สะสมไว้ มันก็จะปรุงแต่งชีวิตร่างกายรูปร่างหน้าตาให้ดี ให้งาม ให้สมบูรณ์ อันนี้ก็เป็นเหตุผลในเรื่องของกรรม คือหลักกรรมหรือกฎแห่งกรรมตามธรรมชาตินั่นเอง

ในเรื่องของกรรมนั้น เจตนา เป็นตัวการสำคัญในการปรุงแต่ง และจุดแรกเมื่อคนเกิดคือเริ่มชีวิตขึ้น ก็เป็นธรรมดาว่าจะต้องปรุงแต่งชีวิตของตนนั้นเอง มันไม่ปรุงแต่งที่ไหนอื่น มันก็ใช้ความสามารถนั้นปรุงแต่งชีวิตของตนเองนั่นแหละก่อนอื่น มันมีความโน้มเอียงและความสามารถอย่างไร ก็ปรุงแต่งอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นจึงแน่นอนว่า ไม่มีปัญหาในเรื่องการบริจาคอวัยวะ ไม่มีปัญหาขัดข้องทางพระพุทธศาสนาและเหตุผลตามกฎธรรมชาติ แต่มี เหตุผลในทางสนับสนุน

ช่วยญาติของผู้จากไป ให้ทำใจได้ถูกทาง

ผู้อำนวยการฯ : เรามีปัญหาอยู่ว่า แม้ว่าเจ้าตัวจะบริจาค แต่ในทางกฎหมายแล้วเราต้องขอจากญาติอีกครั้ง ซึ่งญาติเขาก็จะอยู่ในช่วงเศร้าโศก เราจะพูดอย่างไรให้เขาหายเศร้าโศกและเข้าใจถึงการบริจาคอวัยวะ และเข้าใจถึงหลักธรรมอันนี้ด้วย

พระธรรมปิฎก : ธรรมะก็มีหลายแง่

หนึ่ง หลักธรรมที่รู้กันทั่วไปในหมู่ชาวพุทธ คือ ให้รู้เท่าทันธรรมดาของชีวิต หรือธรรมดาของสังขาร หรือกฎธรรมชาติที่ว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีเกิดก็ต้องมีดับ มีเริ่มต้นก็ต้องมีสิ้นสุด เป็นธรรมดาอย่างนี้ และเราไม่สามารถกำหนดได้ว่า ใครจะมีจุดสิ้นสุดเมื่อไร แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเราต้องรู้เท่าทันและยอมรับความเป็นจริงอันนี้ อย่างน้อยก็ได้ผ่อนคลาย แม้จะไม่หายเศร้าโศกโดยสิ้นเชิง

นอกจากนั้นก็แนะนำให้เขาปลงอีกอย่างหนึ่ง คือให้คิดว่า คนที่เขาจากไปนั้นก็เป็นเรื่องของผลกรรมของแต่ละคน แต่ละคนมีกรรมเป็นของตนเอง

ส่วนอีกแง่หนึ่งก็คือ ในการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อคนตายนั้น เราจะไปเศร้าโศกอาลัยอยู่นั้นมันไม่เกิดประโยชน์อะไร เราก็ช่วยคนตายให้ฟื้นคืนมาไม่ได้ เราควรจะคิดถึงในแง่ที่ว่าเราจะทำอะไรให้เขาได้ ซึ่งตรงนี้ทางพระก็คือให้ทำบุญทำกุศล ถ้าเราเห็นว่าอะไรที่จะเป็นประโยชน์แก่เขา เราก็ทำและตั้งใจอุทิศให้เขา ก็จะไม่จมอยู่กับความเศร้าโศกหรือตันอยู่กับความคิดวนเวียน แต่มีอะไรก้าวไป และเราก็จะรู้สึกว่าเราก็ได้พยายามทำให้เขาอย่างดีที่สุดแล้ว เป็นการทำให้ความเศร้าโศกบรรเทาลง

เมื่อนึกในแง่ว่าเขาจากเราไปแล้ว แต่เราก็ไม่ได้ทอดทิ้งเขา มีอะไรทำเพื่อเขาได้ เราก็ทำให้ ตอนอยู่เราก็อาจจะช่วยแบบหนึ่ง เช่น ให้สิ่งของเงินทองเป็นต้น แต่เมื่อเขาสิ้นไปหรือจากไปแล้ว เราจะไปช่วยอย่างนั้นไม่ได้ เราช่วยได้แต่การอุทิศส่วนกุศล แม้แต่การบริจาคอวัยวะนี้เราก็ไม่ใช่บริจาคเพื่อตัวเรา แต่เราบริจาคเพื่อให้เป็นบุญกุศลสมตามเจตนาของผู้ตายครั้งสุดท้ายที่ผู้อยู่ควรเอาใจใส่ให้ความสำคัญ เรื่องของร่างกายนี้เมื่อชีวิตแตกดับตายไปแล้ว มันก็เป็นของเน่าเปื่อยผุพังไปตามธรรมดา ไม่มีคุณค่าสาระอะไร เป็นแค่ซากหรือเหมือนกับเศษวัตถุ มีแต่ว่าจะทำอย่างไรให้เป็นประโยชน์ ถ้ามีทางใช้ประโยชน์ที่เป็นบุญกุศลได้ ก็เป็นการดี

คนสมัยก่อนเขามีบทโคลงกลอนที่ว่า พวกโค กระบือ มันตายไปแล้วก็ยังเหลือเขา หรือหนัง ให้เอามาใช้ประโยชน์ได้ ส่วนมนุษย์นั้น ตายแล้วร่างกายทั้งหมดไม่มีประโยชน์อะไรเลย มีแต่จะเน่าเปื่อยอย่างเดียว โบราณเขาสอนไว้อย่างนี้ หลายคนจำกันได้ดีว่า

พฤษภกาสร      อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง      สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย      มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี      ประดับไว้ในโลกา

โคลงบทนี้คงจะยังจำกันได้ หมายความว่า โดยธรรมชาติที่รู้กัน ร่างกายของมนุษย์เรานี้ พอสิ้นชีวิตไปแล้วก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้น ถ้าทำให้เป็นประโยชน์ได้ก็กลับเป็นดี แสดงว่าตอนนี้เรานี่ก็ไม่ได้แพ้ช้าง ม้า วัว ควาย เราก็มีดีให้เหมือนกัน ถึงแม้ชีวิตเราแตกดับไปแล้ว ก็ยังฝากประโยชน์ไว้ พอตายร่างกายก็หมดความหมายทันที มันไม่เป็นของเราแล้ว จะหวงแหนไปทำไม พอเขาเอาไปเผามันก็หมดทุกอวัยวะไม่มีเหลือ

แต่ถ้าขืนคิดว่าบริจาคไปแล้ว เกิดมาใหม่ร่างกายจะบกพร่อง จะไม่มีอวัยวะนั้น คิดไปๆ ก็จะเกิดการยึดถือขึ้นมา แล้วก็จะกลายเป็นโทษ จิตจะเกิดเป็นอุปาทานขึ้นมา ยึดมั่นในภาพที่ขาดวิ่นบกพร่องนั้น ก็เป็นการปรุงแต่งที่ผิด กลายเป็นเสียเลย เพราะจะเอาภาพร้ายในอุปาทานนั้นไปปรุงแต่งใหม่ในทางที่ไม่ดี

จิตของเรานั้นคอยจะพัฒนาความสามารถในการปรุงแต่ง เมื่อเราย้ำคิดอย่างไร มันก็โน้มเอียงไปในทางอย่างนั้น

สำหรับญาติของผู้ตายนั้น พูดสั้นๆ รวบรัดว่า ไม่ควรครุ่นคิดอยู่กับเรื่องว่า “เป็น” หรือ “จะเป็น” อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ควรคิดในเรื่องว่าจะ “ทำ” อันนั้นอันนี้เพื่อผู้ตาย หรือจะทำอะไรเพื่อสนองเจตนาของผู้จากไป

บริจาคอวัยวะ จะทำใจอย่างไร ให้เกิดใหม่ยิ่งงาม

ขอเพิ่มอีกหน่อย เรื่องบริจาคอวัยวะแล้วเกิดชาติหน้าจะไม่มีอวัยวะนั้น เรื่องนี้ไม่ต้องมองไกลให้ยาก ดูง่ายๆ ที่ว่ามนุษย์เป็นไปตามกรรม คือเจตนาที่ตัวเองทำนั้น สิ่งเดียวกันเรื่องเดียวกัน คนวางใจถูกทางหรือวางใจผิดพลาด จิตปรุงแต่งยึดมั่นต่างกัน ผลก็ไปคนละทาง

อย่างเรื่องที่เล่าว่า คนผู้หนึ่ง ขณะกำลังจะสิ้นชีวิตจิตประหวัดมาคิดห่วง ใจติดข้องอยู่กับเสื้อผ้าของตัว เลยเกิดมาเป็นเล็นหรือสัตว์เล็กเกาะติดอยู่ที่เสื้อผ้านั้น แต่อีกคนหนึ่ง เอาเสื้อผ้าของตัวมากมายออกแจกจ่ายบริจาคออกไป ใจคิดไปถึงความดีที่ทำ และมองเห็นความสุขของคนทั้งหลายที่ได้รับเสื้อผ้านั้นไป แล้วเกิดความปลาบปลื้มใจ เมื่อตายใจระลึกถึงการสละบริจาคนี้ จิตเป็นกุศล ได้ไปเกิดในสุคติในภพภูมิอันสูง

คนหนึ่งหวงแหนเงินทอง เอาเงินทองไปฝังไว้ เวลาตายใจห่วงติดข้อง เลยไปเกิดเป็นงู หรือสัตว์อะไรที่ไปอยู่เฝ้าขุมทรัพย์นั้น แต่อีกคนหนึ่งเอาเงินของตัวมากมายบริจาคสละออกไป เวลาตายใจนึกถึงความดี และประโยชน์ที่ได้ทำอย่างนั้น จิตปีติผ่องใสเป็นกุศล กลับตรงข้าม ไปเกิดอย่างดีอย่างสูง นี่แหละเป็นตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ ว่าอยู่ที่จิตวางถูกทาง ปรุงแต่งให้ถูกต้อง อย่าไปยึดถือผิดๆ ถ้าปฏิบัติถูกต้องตามทางธรรมแล้วดีแน่นอน ทำไมจะไปห่วงใยเอาใจผูกติดกับร่างกายอวัยวะที่มันตายไปแล้ว ซึ่งก็จะเอาไปทิ้งไปเผาอยู่แล้ว พระโพธิสัตว์นั้นแม้แต่ร่างกาย อวัยวะขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ท่านยังสละได้ไม่ติดข้อง ใจของท่านกว้างขวางออกไปอยู่กับความดี และมองถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น

เรื่องของชีวิตที่แท้ก็อยู่ที่ปัจจัยที่ประกอบจิต คือถ้าจะไม่ให้ไปในทางชั่วร้ายตกต่ำเสียหาย ก็ต้องมีคุณสมบัติที่ดี โดยเฉพาะคุณธรรม เพราะฉะนั้นตามหลักพระพุทธศาสนาจึงเห็นได้ชัดเจน ถ้าเราไปคิดผิดเชื่อผิด ก็จะเป็นโทษกับตัวเอง ถ้าเราเชื่อตามหลักพระพุทธศาสนา เราก็มองและยึดเอาพระโพธิสัตว์เป็นแบบอย่างของเรา

เมื่อพระพุทธเจ้าของเราเป็นพระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญบารมีนั้น ในทานอุปบารมีก็ทรงบริจาคอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะดวงตา จึงได้มาสำเร็จโพธิญาณอย่างนี้ เราก็เลื่อมใสศรัทธาในพระคุณของพระองค์ นึกถึงพระองค์เมื่อใดเราก็ซาบซึ้งในพระคุณ แล้วจิตใจของเราก็สดใส เบิกบาน เกิดปีติ อิ่มใจ เราก็จะทำอย่างนั้นบ้าง

พระพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญบารมีอย่างนั้นได้ ทำมหาบริจาคได้นั้นก็เพราะมีมหากรุณา ทรงมีพระทัยปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ไม่เห็นแก่พระองค์ เพราะฉะนั้นจิตของพระองค์จึงโน้มเอียงไปในทางที่ดี คิดในเรื่องดีๆ ต่อผู้อื่น เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ในเวลาบริจาคถ้าเราทำจิตใจให้ได้อย่างนั้น ก็ไม่มีโทษ มีแต่ดี

สรุปว่า หลักการก็คือการที่จะให้จิตโน้มเอียงไปในทางที่ดี เก็บภาพดีๆ ประทับใจไว้ เมื่อเราเป็นปุถุชน ยังอยู่ในขั้นปรุงแต่งก็ปรุงแต่งจิตใจให้ดี โดยเฉพาะปรุงแต่งด้วยเมตตากรุณา เมื่อบริจาคช่วยเขาด้วยใจเมตตากรุณา ใจอยากให้เขามีความสุข อยากให้เขาสมบูรณ์ อยากให้เขางดงาม ก็จะเกิดภาพเป้าหมายที่ดีประทับใจไว้ พอเกิดใหม่จิตก็จะปรุงแต่งชีวิตร่างกายให้ดีให้งามตามภาพเป้าหมายที่สะสมไว้นั้น

เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จึงไม่ต้องเป็นห่วง แต่ที่จริงนั้นเราจะต้องฝึกไว้ด้วยซ้ำ เป็นเรื่องที่ท่านสอนให้เราฝึก ให้เราหัดบริจาค โดยทำใจให้ถูกและทำด้วยปัญญา เวลาบริจาค ถ้ามัวคิดว่าเราจะได้บุญลอยๆ เราคิดไม่ออกว่าบุญนั้นหมายถึงอะไร ก็จะได้ผลน้อย จิตจะตัน จะไม่อิ่มเอิบเบิกบาน

เพราะฉะนั้น เวลาบริจาคเราจะต้องคิดว่า นี่เราจะช่วยให้เขามีความสุขนะ เช่น ถ้าให้เงิน ก็พิจารณาทำใจว่า คนนี้เขาได้เงินไปแล้ว เขามีลูก เขาจะไปช่วยให้ลูกเขามีความสุข ลูกของเขาจะได้ศึกษาเล่าเรียน เจริญงอกงาม เราคิดอย่างนี้เรียกว่าคิดด้วยเมตตากรุณา พอคิดอย่างนี้แล้วจิตก็จะพัฒนาความสามารถในการปรุงแต่งเองโดยที่เราไม่ต้องรู้ตัว

สรุปอีกที คนที่กลัวว่าบริจาคอวัยวะแล้วเกิดใหม่จะขาดอวัยวะไปนั้น ก็เหมือนกับคนที่มีเสื้อผ้าแล้วหวงแหน กลัวว่าถ้าบริจาคเสื้อผ้าไปแล้ว เกิดมาชาติหน้าจะไม่มีเสื้อผ้าใส่ ซึ่งเป็นความคิดความเชื่อที่เหลวไหล

เมื่อเราตายไป ร่างกายอวัยวะทั้งหมดนี้ ก็ทิ้งไปเลิกใช้แล้ว กลายเป็นอดีต ไม่ใช่ของเราอีกต่อไป ไม่ต้องมัวอาลัยอาวรณ์อีก เกิดชาติหน้าต้องไปสร้างกันใหม่ เรื่องสำคัญที่ควรต้องทำก็คือ เตรียมความสามารถเอาไว้ เพื่อจะได้ปรุงแต่งสร้างเรือนร่างใหม่ให้สมบูรณ์สวยงามสดใส ทุนที่เราจะต้องเตรียมไปใช้ในการสร้างเรือนร่างชีวิตใหม่ที่ดีงาม ก็คือบุญกุศล

“บุญ” ก็คือคุณสมบัติต่างๆ ที่ดีงาม ที่เราได้ฝึกฝนสะสมพัฒนาสร้างขึ้นมา และประกอบอยู่กับจิตของเรา เป็นความโน้มเอียง ความเคยชิน ความชำนาญ ความสามารถเป็นต้น และเราก็จะอาศัยบุญนี้แหละในการสร้างชีวิตร่างกายของเราต่อไป ที่พูดว่า “บุญบันดาล” นั้น เป็นเพียงสำนวนภาษา ไม่มีอะไรข้างนอกจะมาบันดาลปุบปับให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้อย่างนี้ แต่จิตของเราใช้บุญที่เป็นทุนสะสมของตัวเองนี่แหละปรุงแต่งสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์ขึ้นมา เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปกลัวหรอก ขอให้ทำใจให้ถูกต้อง และทำด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง จะเป็นการฝึกตัวเองของเราไปด้วย และพัฒนาความสามารถในการคิดปรุงแต่งในทางสร้างสรรค์ ให้เกิดผลดีงามที่ต้องการ ฉะนั้นรวมแล้วก็คือไม่มีปัญหา

คนตายเมื่อสมองตาย จะว่าอย่างไร

ผู้อำนวยการฯ : ในช่วง ๓๐ – ๔๐ ปีที่ผ่านมานี้ วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ได้เจริญก้าวหน้ามาก ก็เลยมีการบัญญัติคำใหม่ คือคำว่า “สมองตาย” หมายความว่าสมองได้สูญเสียการทำงานอย่างถาวร เพราะว่าสมองได้ถูกทำลายจนไม่สามารถจะแก้ไขหรือฟื้นขึ้นมาโดยวิธีการรักษาใดๆ ทั้งสิ้น ในการรักษาทางการแพทย์คือคนๆ นั้นได้เสียชีวิตแล้ว ในแง่พระพุทธศาสนามีอะไรที่จะพูดเชื่อมโยงกับตรงนี้ได้

พระธรรมปิฎก : ตอบง่ายๆ คือทางพระเราเอาที่จิต เพราะว่าคนเรามีชีวิตประกอบด้วยจิตและกาย ทีนี้ตัวที่จะตัดสินว่าสิ้นชีวิตนั้น กายเราก็เห็นอยู่ แต่ส่วนสำคัญคือจิตเรามองไม่เห็น แต่จิตนั้นก็อาศัยกายนี้อยู่ ถ้าจิตดับครั้งสุดท้ายในภพนี้หรือในชีวิตนี้ ก็เป็นอันว่าสิ้นแล้ว

ฉะนั้นก็อย่างที่ว่าแล้ว ในทางร่างกายที่ตาเรามองเห็นนั้น เราจะกำหนดอย่างไร เพราะว่าจุติจิตเราก็มองไม่เห็น ก็เลยเป็นเรื่องของคนในยุคนั้นๆ ว่าจะกำหนดอย่างไรให้แน่ใจ คนโบราณกำหนดที่ลมหายใจ หัวใจเต้นหรือไม่ ถ้ายังไม่แน่ใจก็ต้องพยายามปล่อยรอก่อนจนแน่ใจ จึงก็เป็นเรื่องของคนในยุคนั้นๆ ว่าจะดูแค่ไหน

ปัจจุบันก็เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ด้านการแพทย์ ที่จะต้องพัฒนาความสามารถ ที่จะพิสูจน์เรื่องของการสิ้นชีวิตนี้ เพื่อจะให้โยงไปประสานกับการวินิจฉัยที่ว่า จิตดวงสุดท้ายในภพนี้ได้ดับแล้ว

เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้อาตมาวินิจฉัยว่าสมองตายใช้วินิจฉัยได้หรือไม่ อาตมาก็ตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า ถ้าสมองตายนี้หมายถึงว่าจุติจิตไปแล้ว ก็ใช้ได้ ก็จบกัน

แต่ทีนี้ทางการแพทย์นั้นเราแน่ใจได้แค่ไหน เท่าที่รู้นั้น ปัจจุบันนี้เราอาจจะแน่ใจ แต่ต่อไปก็อาจจะไม่แน่ขึ้นมาอีก เพราะว่าเรื่องความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้น เป็นการพยายามค้นหาความจริง เมื่อยังไม่ถึงตัวแท้ ก็ต้องพัฒนากันไปเรื่อยๆ

แต่บอกได้ว่า ในทางพระพุทธศาสนา เราตอบชัดลงไปว่า กำหนดด้วยจุติจิตหรือจิตสุดท้ายในภพนี้ได้ดับไป

ผู้อำนวยการฯ : แพทย์ควรปฏิบัติตัวอย่างไรกับผู้บริจาคอวัยวะ

พระธรรมปิฎก : เขาบริจาค เขาเป็นผู้เสียสละ เป็นผู้มีคุณธรรม เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมองว่าเราต้องยกย่องให้เกียรติ และอีกประการหนึ่ง ถือว่าเขาเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม ช่วยให้เพื่อนมนุษย์อยู่ดี หายโรค หายภัย และเป็นอยู่ดีขึ้น เขาได้ทำบุญ เราจึงควรจะแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่งในการที่ยอมรับหรือเห็นคุณค่า ซาบซึ้ง ในประโยชน์ที่เขาได้ทำไปแล้ว การปฏิบัติต่อกันตามระเบียบหรือธรรมเนียมของสังคมนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเรามีจิตดี ทำด้วยใจที่ถึงกันแล้ว การปฏิบัติที่แสดงออกก็จะดีจริงๆ

ผู้อำนวยการฯ : ในนามของศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ขอกราบนมัสการขอบพระคุณท่านที่ได้ให้ข้อคิดต่างๆ เกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะตามหลักพระพุทธศาสนา ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ ก็จะนำไปเผยแพร่และปฏิบัติตามต่อไป

1พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) ให้สัมภาษณ์แก่ นายแพทย์วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ที่วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๒ เวลา ๑๔.๐๐ น.
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.