พระพุทธศาสนาในอาเซีย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

๑.
พระพุทธศาสนาในกัมพูชา

 

ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา หรือที่เรียกกันสามัญว่าประเทศเขมรในบัดนี้ เมื่อหลายพันปีมาแล้ว ได้เป็นส่วนหนึ่งแห่งถิ่นฐานที่ชนชาติมอญ-เขมรอาศัยอยู่ ชนชาติมอญ-เขมรนั้น นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า อพยพมาจากอินเดีย ผ่านเข้ามาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรอินโดจีน หรือมาจากทิศตะวันออกของคาบสมุทรอินโดจีนอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วได้กระจายกันอยู่ทั่วๆ ไป ผสมพันธุ์กับชนเจ้าถิ่นในที่นั้น และต่อมาได้มีอํานาจครอบครองดินแดนในคาบสมุทรอินโดจีนทั้งหมด เมื่อมีชนพวกอื่นอพยพเข้ามาในดินแดนนี้อีก ชนชาติมอญ-เขมรก็ผสมผสานกับชนเหล่านั้น ทั้งในทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอารยธรรม มีความเจริญเพิ่มขึ้นโดยลําดับ ต่อมาเมื่อประมาณสองพันปีล่วงแล้ว ได้มีนักแสวงโชคและพ่อค้าชาวชมพูทวีปเดินทางมาหาโชคลาภและค้าขายในดินแดนแถบนี้ ชาวอินเดียเหล่านี้ได้นําเอาวัฒนธรรมของตนมาเผยแผ่ พร้อมทั้งได้แต่งงานกับชนเจ้าถิ่นด้วย ทําให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางประวัติศาสตร์ซึ่งนับว่าเป็นความเจริญขึ้นอีกขั้นหนึ่ง

ในช่วงเวลาใกล้กันนี้ พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงส่งศาสนทูตมี พระโสณะ และ พระอุตตระ เป็นหัวหน้า มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ เมื่อกาลเวลาผ่านไปพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท ก็คงแพร่หลายไปในหมู่ประชาชนโดยลําดับ คู่ขนานไปกับความเจริญของฝ่ายบ้านเมืองที่เกิดจากการผสมผสานในทางการติดต่อค้าขาย และวัฒนธรรมอารยธรรมความเจริญทางฝ่ายบ้านเมืองที่ว่านั้นก็คือ การเกิดเป็นอาณาจักรใหญ่ๆ ขึ้น ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

สําหรับดินแดนที่เป็นประเทศกัมพูชา ในบัดนี้ ก็ได้มีประวัติสืบเนื่องมาตามลําดับสมัย ซึ่งจัดได้เป็น ๔ ยุค คือ ยุคฟูนัน ยุคเจนละ ยุคมหานคร และยุคหลังมหานคร จะบรรยายเฉพาะเหตุการณ์สําคัญและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาดังต่อไปนี้

๑. ยุคฟูนัน (Funan หรือ Founan)
หรือยุคอาณาจักรพนม หรือยุคก่อนเขมร
(ค.ศต. ๑ - ๖ ตรงกับประมาณ พ.ศ. ๖๐๐ ถึง ๑๑๐๐)

“ฟูนัน” หรือ “ฟูนาน” เป็นคําจีน เรียกกันอย่างนี้เพราะทราบเรื่องราวจากหลักฐานฝ่ายจีน ปราชญ์สันนิษฐานว่า ฟูนัน เพี้ยนไปจากคําเขมรว่า “พนม” ซึ่งแปลว่า ภูเขา ตํานานเล่าว่า พราหมณ์ชาวชมพูทวีปชื่อ เกาณฑินยะ (รูปสันสกฤต; ตรงกับบาลีว่า โกณฑัญญะ) ได้มาสมรสกับราชินีหรือสตรีหัวหน้าเผ่าชนแห่งท้องถิ่นนี้ (ศิลาจารึกว่าสมสู่กับนางนาค ชื่อ โสมา ผู้เป็นธิดาของพญานาค) และได้เป็นต้นวงศ์กษัตริย์แห่งฟูนัน อาณาจักรฟูนันตั้งราชธานีที่เมืองวยาธปุระ และแผ่อํานาจออกไปอย่างกว้างขวาง มีอาณาเขตครอบคลุมภาคใต้ของประเทศกัมพูชาปัจจุบันและแคว้นโคชินจีน (ได้แก่ ดินแดนส่วนล่างสุด ประมาณ ๑ ใน ๔ ของเวียดนามใต้ มีเมืองไซ่ง่อนเป็นศูนย์กลาง) ทั้งหมด และปกครองเมืองขึ้นชื่ออาณาจักรเจนละ ซึ่งมีอาณาเขตต่อฟูนันขึ้นไปทางเหนือ ตรงกับกัมพูชาภาคเหนือและลาวภาคใต้ในปัจจุบัน อาณาจักรที่เจริญร่วมสมัยกับฟูนัน คือ อาณาจักรจัมปาของพวกจาม ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกและทางเหนือของ ฟูนัน (ตรงกับภาคเหนือของเวียดนามใต้ในปัจจุบัน)

เดิมชนพื้นเมืองของฟูนันเป็นชนชาติมลายู นับถือโลกธาตุและผีสางเทวดา เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าสู่สุวรรณภูมิแล้ว ก็คงเผยแผ่ไปในหมู่ประชาชนชาวฟูนันกว้างออกไปตามลําดับ แต่ในราชสํานักและชนชั้นสูงปรากฏว่านับถือศาสนาฮินดูนิกายไศวะ (นับถือพระอิศวร) เป็นหลัก และอาจจะนับถือพุทธศาสนาปะปนอยู่ด้วย ชาวอินเดียได้นําแบบแผนการปกครอง ศิลปะ การช่าง และวิทยาการต่างๆ เข้ามาสร้างความเจริญแก่ฟูนัน ทําให้ฟูนันมีอารยธรรมคล้ายคลึงกับอินเดียในสมัยนั้น

ในตอนปลายยุค ดูเหมือนว่าพระมหากษัตริย์จะหันมานับถือพุทธศาสนามากขึ้น ดังเอกสารฝ่ายจีนในราชวงศ์ชี้ทางภาคใต้ (พ.ศต. ๑๑) ว่า กษัตริย์ฟูนัน พระนามเกาณฑินยะชัยวรมัน (เกาจินจูเชเยปาโม สวรรคต พ.ศ. ๑๐๕๗) เมื่อก่อนนี้ทรงนับถือศาสนาพราหมณ์ ต่อมาทรงนับถือพุทธศาสนา และในรัชกาลนี้มีพระภิกษุอินเดียรูปหนึ่งชื่อ นาคเสน (นาคาเสียง) เดินทางไปยังประเทศจีน ได้แวะที่ฟูนันก่อน และได้ทูลพระเจ้ากรุงจีนว่า ประเทศฟูนันนับถือศาสนาฮินดูนิกายไศวะ (เคารพพระอิศวร) แต่พุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรือง มีภิกษุสามเณรมาก ที่สําคัญกว่านั้นก็คือในรัชกาลเดียวกันนี้ได้มีพระภิกษุชาวฟูนันรูปหนึ่ง สร้างเกียรติให้แก่ฟูนันไว้ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาระหว่างประเทศ กล่าวคือพระภิกษุชาวฟูนันชื่อ สังฆปาละ (เรียกในตํานานว่า พระติปิฏกะ สังฆปาละ แห่งฟูนัน, เรียกตามสําเนียงจีนว่า เสงโปโล, เรียกเป็นภาษาจีนสําเนียงญี่ปุ่นว่า โซโย หรือโซกุย) (เกิดราว พ.ศ. ๑๐๐๒ มรณภาพ พ.ศ. ๑๐๖๗) เป็นผู้เชี่ยวชาญในพระอภิธรรม ได้เดินทางไปยังกวางตุ้ง และได้ศึกษาเพิ่มเติมจากพระภิกษุอินเดียชื่อคุณภัทร มีความรู้แตกฉานในธรรมวินัยและภาษาต่างๆ พร้อมทั้งมีจริยาวัตรอันงาม เป็นที่เลื่อมใสของพระเจ้าจักรพรรดิบู่ตี่ (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๐๔๖ - ๑๐๙๒) ทรงถวายสถานที่ ๕ แห่งให้เป็นที่พํานัก และทรงอาราธนาให้ท่านแปลคัมภีร์พุทธศาสนาจํานวนมากเป็นภาษาจีน ผลงานแปลของท่านสละสลวยและถูกต้องดี ในบรรดางานแปลเหล่านี้ มีคัมภีร์สําคัญที่ได้รับความสนใจจากนักปราชญ์ภาษาบาลีเป็นอันมาก คือ คัมภีร์ “วิมุตติมรรค” (รจนาโดยพระอุปติสสเถระ มีเนื้อความคล้ายกันมากกับคัมภีร์วิสุทธิมรรค แต่เป็นคัมภีร์ที่แต่งก่อนและย่อกว่า บัดนี้มีฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว) ตํานานเล่าต่อไปว่า ท่านได้รับเกียรติจากพระเจ้าจักรพรรดิบู่ตี่ให้เป็นผู้อนุศาสน์ธรรมในราชสํานัก ท่านได้เปลี่ยนแปลงธรรมเนียมประเพณีของประชาชนหลายอย่าง ท่านเป็นอยู่ง่ายๆ ไม่สะสม และได้นําปัจจัยที่ผู้ศรัทธาถวายไปสร้างวัดชื่อ “อารัทธวิริยาราม” ท่านถึงมรณภาพเมื่ออายุได้ ๖๕ ปี นอกจากท่านสังฆปาละแล้วยังมีพระเถระชาวฟูนันอีกท่านหนึ่งเดินทางไปเมืองจีนในระยะเวลาใกล้ๆ กัน คือ ท่านมัณฑาระ ซึ่งได้รับอาราธนาให้แปลคัมภีร์บางเล่มร่วมกับท่านสังฆปาละด้วย แต่ท่านผู้นี้ไม่ชํานาญภาษาจีนเพียงพอ ผลงานจึงไม่ดีเด่นและไม่ได้รับยกย่อง

ใน พ.ศ. ๑๐๕๗ พระเจ้ารุทรวรมัน ขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า และได้ทรงประกาศถวายพระองค์เป็นอุบาสก ทรงมีพระเกศธาตุเส้นหนึ่งไว้เป็นที่สักการะบูชา พระเจ้ารุทรวรมันเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายที่ปรากฏนามของฟูนัน ในระยะเวลานี้อาณาจักรเจนละซึ่งเป็นเมืองขึ้นของฟูนัน ได้มีอํานาจมากขึ้น ตั้งตัวเป็นอิสระ และต่อมาใน พ.ศ. ๑๑๗๐ ก็ได้ยกทัพมาโจมตีรวมฟูนันเข้าเป็นส่วนหนึ่งแห่งอาณาจักรเจนละ

ปราชญ์บางท่านให้ความเห็นว่า หลักฐานต่างๆ เท่าที่มี แสดงว่าพระพุทธศาสนาที่นับถือในยุคฟูนันเป็นแบบเถรวาท เช่น ศิลาจารึกต่างๆ มีข้อความเป็นแบบเถรวาท คัมภีร์วิมุตติมรรคที่พระสังฆปาละแปลก็เป็นของฝ่ายเถรวาท และเวลานั้นพุทธศาสนาฝ่ายมหายานยังไม่มาสู่ฟูนัน หากความเห็นนี้ถูกต้อง ก็คงจะต้องสรุปความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในฟูนันว่า เบื้องแรก พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทเจริญแพร่หลายอยู่ก่อน ต่อมา ศาสนาฮินดูนิกายไศวะได้แผ่เข้ามาทางชนชั้นปกครองที่เป็นเชื้อสายอินเดียและชาวอินเดียที่มาติดต่อเกี่ยวข้องกับชนชั้นปกครอง ทําให้ศาสนาฮินดูเฟื่องฟูมากในราชสํานักตลอดระยะแรกๆ ต่อมาเมื่อความตื่นตัวจางลงแล้ว จึงได้หันมาสนใจกับพระพุทธศาสนาที่เป็นของมีอยู่แต่เดิม ศาสนาฮินดูกับพระพุทธศาสนาก็ได้เจริญรุ่งเรืองอยู่คู่เคียงกันตลอดมาจนสิ้นยุค

๒. ยุคเจนละ (Chenla)
(ครึ่งหลังของ ค.ศต. ๖ - ค.ศ. ๘๐๒ หรือ พ.ศต. ๑๑ - พ.ศ. ๑๓๔๕)

อาณาจักรเจนละ ตั้งอยู่ถัดอาณาจักรฟูนันขึ้นไปทางเหนือ และอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอาณาจักรจัมปา ตรงกับภาคใต้ของลาวและภาคเหนือของกัมพูชาในปัจจุบัน มีศิลาจารึกบอกความไว้ว่า วงศ์กษัตริย์ของเจนละสืบเชื้อสายมาจากฤาษีกัมพูสวยัมภูวะ สมสู่กับเทพธิดาเมรา จึงได้ชื่อว่า “กัมพูชา” (กัมพู + ช = ผู้เกิดจากกัมพู) และจึงถือว่ายุคของกัมพูชาหรือเขมรเริ่มต้น แท้จริงในสมัยของเจนละ เจนละเป็นเมืองขึ้นของฟูนันมาก่อน จนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๑ จึงมีกําลังเข้มแข็งขึ้น เริ่มตั้งตัวเป็นอิสระด้วยการเลิกถวายเครื่องราชบรรณาการแก่กษัตริย์ฟูนัน และในที่สุดได้รบชนะพวกฟูนันที่ยกทัพมาปราบ ณ นครจัมปาศักดิ์ จึงถือเป็นการเริ่มต้นยุคอาณาจักรเจนละ

พระเจ้าภววรมันขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์ในราว พ.ศ. ๑๐๙๓ กษัตริย์เจนละในระยะต้นนี้คงจะนับถือศาสนาฮินดูนิกายไศวะเป็นหลัก เพราะปรากฏว่าพระเจ้าภววรมันได้ทรงสร้างเทวาลัยอุทิศพระศิวภัทเรศวร และประดิษฐานศิวลึงค์องค์หนึ่งในตอนปลายรัชกาล และกษัตริย์พระองค์ที่ ๒ (พระเจ้ามเหนทรวรมัน นามเดิมว่าเจ้าชายจิตรเสน) เมื่อพิชิตศึกฟูนันสําเร็จอีก ก็ได้ทรงประดิษฐานศิวลึงค์ถวายแด่พระอิศวรเป็นการฉลองชัยชนะ กษัตริย์พระองค์ที่ ๓ ของเจนละพระนามว่า อีศานวรมันที่ ๑ ทรงมีอํานาจเข้มแข็งมาก ได้ทรงปราบอาณาจักรฟูนันรวมเข้าเป็นดินแดนในอาณาจักรเจนละโดยสิ้นเชิงใน พ.ศ. ๑๑๗๐ และขยายอาณาเขตออกไปแทบทุกทิศ โดยเฉพาะทางด้านตะวันตกแผ่มาถึงจังหวัดจันทบุรีปัจจุบัน บางตํารากล่าวว่า ศาสนาฮินดู ลัทธิหริหระเกิดขึ้นในรัชกาลนี้ และได้มีการเบียดเบียนพระพุทธศาสนาอย่างมากมายจนแทบจะสูญสิ้น

ต่อมาในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ มีกษัตริย์ผู้เข้มแข็งอีกพระองค์หนึ่งพระนามว่า ชัยวรมันที่ ๑ (ครองราชย์ประมาณ พ.ศ. ๑๑๙๓ - ๑๒๕๖) ทรงขยายอาณาเขตไปจนจดอาณาจักรน่านเจ้า ในรัชกาลนี้มีหลักฐานแสดงว่าพระพุทธศาสนายังเจริญรุ่งเรืองอยู่ (หรืออาจกลับเจริญขึ้นมาอีก) คือ มีศิลาจารึกที่วัดไพรเวียร ใกล้เมืองวยาธปุระ เมื่อ พ.ศ. ๑๒๐๗ กล่าวถึงกษัตริย์สององค์พี่น้องนามว่า รัตนภานุ และ รัตนสิงหะ ได้ทรงผนวช พระเจ้าชัยวรมันที่ ๑ ได้ทรงมีพระบัญชาให้สร้างวัดถวายและให้รักษาวัดนั้นให้ยั่งยืน เรื่องนี้ชาวบ้านยังเล่าสืบๆ กันมา และถือเป็นประเพณีที่จะปฏิบัติตามพระราชบัญชาให้รักษาวัดนั้น

อนึ่ง หลวงจีนอี้จิง ซึ่งได้จาริกไปอินเดียและเดินทางผ่านทะเลใต้ (ออกจาริกจนกลับถึงจีน พ.ศ. ๑๒๑๔ - ๑๒๓๘) ได้เขียนบันทึกไว้ว่า ในประเทศฟูนัน (ตอนนี้เท่ากับพูดว่าเจนละนั่นเอง) พุทธศาสนารุ่งเรืองมาก มีวัดทั่วไปทุกแห่ง มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์อยู่ใกล้กันกับวัดพุทธศาสนา ทั้งสองศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ประชาชนทั่วไปนิยมบวชในพุทธศาสนา แม้พวกเจ้านายก็บวชเช่นเดียวกัน

ต่อมาหลังรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันไม่นาน อาณาจักรเจนละก็แตกแยกออกเป็น ๒ ส่วน กลายเป็นเจนละบกหรือเจนละเหนือฝ่ายหนึ่ง กับเจนละน้ำหรือเจนละใต้อีกฝ่ายหนึ่ง ในตอนปลายยุค เจนละน้ำจะตกอยู่ใต้อิทธิพลของชวา หลังจากแยกกันออกมาประมาณ ๑ ศตวรรษ ยุคเจนละก็สิ้นสุดลงด้วยสาเหตุขัดแย้งกับอาณาจักรชวา กล่าวคือในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๔ กษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทรแห่งชวา ได้ยกทัพเรือมาตีเจนละ จับพระเจ้ามหิปติวรมัน แห่งเจนละน้ำตัดพระเศียร ส่วนพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ซึ่งขึ้นครองราชย์สืบต่อมา ก็ได้ย้ายเมืองหลวงไปตั้งอาณาจักรใหม่ที่อื่น ยุคเจนละจึงสิ้นสุดลง

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ตามหลักฐานในทางโบราณคดี มีรูปพระโพธิสัตว์ต่างๆ เป็นต้น แสดงว่าพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานคงจะเผยแผ่เข้ามาในแถบอาเซียตะวันออกเฉียงใต้ในระยะใกล้ พ.ศต. ๑๔ นี้เอง โดยอิทธิพลจากอาณาจักรศรีวิชัย และเมื่อเข้ามาแล้วก็ได้แพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว เพราะมีลักษณะคล้ายกับศาสนาพราหมณ์ และเพราะได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากพระมหากษัตริย์ ดังจะเห็นได้ในยุคต่อไป นอกจากนั้น แม้พุทธศาสนาลัทธิตันตระก็ได้ติดตามเข้ามาอีกในเวลาหลังจากนั้นไม่นาน และได้เป็นที่มาแหล่งหนึ่งแห่งประเพณีของประเทศ แต่ไม่สู้มีอิทธิพลกว้างขวางมากนัก

๓. ยุคพระนคร หรือยุคมหานคร (Angkor)
(พ.ศ. ๑๓๔๕ - ๑๙๗๕)

ยุคพระนคร หมายถึงยุคที่นครวัด นครธม (ตั้งอยู่ใกล้ทะเลสาบและอยู่ทางเหนือของเมืองเสียมราฐหรือเสียมราบ) เป็นเมืองหลวงของกัมพูชา เป็นยุคที่อารยธรรมขอมเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด เป็นมหาอาณาจักรยิ่งใหญ่ มีศิลปะโดยเฉพาะสถาปัตยกรรมที่เป็นแบบฉบับ

ในยุคนี้ พุทธศาสนาฝ่ายมหายานเจริญรุ่งเรืองคู่เคียงกับศาสนาฮินดูและผสมผสานเข้าด้วยกัน ปราสาทราชฐานต่างๆ ล้วนสร้างอุทิศถวายในพุทธศาสนามหายานและศาสนาฮินดู ข้อความในศิลาจารึกที่พบก็แสดงถึงอิทธิพลคําสอนของมหายานอย่างชัดเจน และมีคติฝ่ายฮินดูแฝงอยู่ด้วย ส่วนพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทคงเป็นที่นับถืออยู่ในหมู่ประชาชนทั่วไป แต่ไม่ได้รับความเชิดชูจากราชสํานัก อาจพูดสั้นๆ ว่า พุทธศาสนาเถรวาทอยู่กับประชาชน พุทธศาสนามหายานและฮินดูอยู่กับราชสํานัก แต่ทั้งสามลัทธิศาสนาอยู่ร่วมกันโดยสงบสุข

ยุคพระนครเริ่มต้นเมื่อหลังจากที่กษัตริย์ชวายกทัพมาโจมตีเจนละ จับพระเจ้ามหิปติวรมันตัดเศียรแล้ว เจ้าชายเขมรซึ่งได้เสด็จไปประทับอยู่ในชวา จะด้วยถูกนําตัวไปอ่อนน้อมหรือด้วยเหตุอื่นใดก็ตาม ต่อมาก็ได้เสด็จกลับมาขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๑๓๔๕ เป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ทรงย้ายเมืองหลวงไปตั้งใกล้กับบริเวณที่ต่อมาเป็นนครวัด ประกาศเป็นอิสระจากชวา ปราบปรามรวมเจนละ ๒ ภาคเข้าด้วยกัน ทรงนับถือศาสนาฮินดูลัทธิหริหระ คือ นับถือพระนารายณ์กับพระอิศวรรวมกัน และทรงเริ่มตั้งลัทธิ “เทวราช" (คงจะปรุงแต่งจากแนวความคิดที่ได้มาจากชวา) ประกอบพิธีบูชาอันประกาศถึงการที่ทรงได้รับมอบพระราชอํานาจจากองค์พระผู้เป็นเจ้า โดยมีศิวลึงค์เป็นสัญลักษณ์ที่เคารพบูชา ทําให้เกิดเป็นธรรมเนียมของกษัตริย์เขมรโบราณปฏิบัติสืบต่อกันมา

นอกจากนั้น ปราชญ์บางท่านกล่าวว่า ในยุคนี้มีสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทําให้พุทธศาสนาฝ่ายมหายานกับศาสนาฮินดูผสมผสานกันแน่นแฟ้น คือ การที่ได้เกิดมีธรรมเนียมถือศาสนาคนละอย่างเป็นคู่สลับกันระหว่างพระราชากับปุโรหิต กล่าวคือ ถ้าราชาถือพราหมณ์ ปุโรหิตถือพุทธ ถ้าราชาถือพุทธ ปุโรหิตถือพราหมณ์ เป็นประเพณีสืบต่อกันมาหลายร้อยปี

อย่างไรก็ดี ธรรมเนียมข้อนี้ยังไม่พบหลักฐานยืนยันเพียงพอ แต่ที่น่าจะมีหลักฐานชัดเจนมากกว่าก็คือลัทธิเทวราชได้เกิดขึ้นพร้อมกับการตั้งต้นตําแหน่งพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าพิธีประจําราชสํานัก (ทํานองพระราชครู) ซึ่งสืบทอดฐานะตามสายตระกูล อันได้แก่ตระกูล “ศิวไกวัลย์” ศิวไกวัลย์ คือ พราหมณ์ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ทรงตั้งให้เป็นเจ้าพิธีประจําลัทธิเทวราชคนแรก พราหมณ์ตําแหน่งนี้มีหน้าที่ประกอบพิธีบูชาเทวราช และประกอบพระราชพิธีราชาภิเษก เป็นต้น

ในสมัยต่อมาปรากฏว่าพวกตระกูลศิวไกวัลย์นี้มีทรัพย์สมบัติอํานาจเกียรติยศ และอิทธิพลอย่างมากมาย สามารถสร้างเมือง หรือนัยหนึ่งนิคมศาสนาของตนเอง และสามารถเกณฑ์แรงงานประชาชนได้ด้วย นับว่ามีความยิ่งใหญ่มาก จะเป็นรองก็แต่องค์มหากษัตริย์เองเท่านั้น ความรุ่งเรืองของศาสนาฮินดูในรูปนี้มองได้ว่าเป็นการผูกขาดแบบหนึ่ง และในเวลาเดียวกันก็มีผลเสียเป็นเครื่องแบ่งแยกศาสนาฮินดูจากประชาชนและจํากัดตัวเองให้แคบ

ศิวลึงค์ที่เป็นสัญลักษณ์ของลัทธิเทวราชนั้น ประดิษฐานอยู่ในเทวาลัยซึ่งสร้างขึ้นบนยอดภูเขากลางพระนคร เป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์พระเป็นเจ้า ซึ่งสถิตอยู่บนภูเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และมหากษัตริย์ก็คือพระเป็นเจ้าที่ทรงสําแดงพระองค์ในโลกนี้ มหากษัตริย์จึงเป็นทั้งราชาและเทพเจ้าในคราวเดียวกัน เมื่อยังทรงพระชนม์อยู่ ก็ประทับในปราสาทไม้ แต่เมื่อสวรรคตแล้วพระสรีรศพจะถูกนําไปประดิษฐานในปราสาทที่เป็นเทวาลัย เท่ากับว่าได้ทรงบรรลุสภาวะเดิมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับองค์พระเป็นเจ้า

ต่อมาเมื่อมีการสร้างนครวัดและนครธมขึ้น แผนผังเมืองก็ยิ่งมีรูปร่างเป็นแบบจําลองภาพศูนย์กลางจักรวาลโดยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น คือมีเทวาลัยที่ประดิษฐานศิวลึงค์เป็นศูนย์กลาง สร้างขึ้นบนฐานสูงใหญ่ที่ก่อลดหลั่นเป็นชั้นเชิงเรียวสอบขึ้นไปอย่างรูปปิระมิด (ให้มีความหมายเท่ากับตั้งอยู่บนภูเขา) ส่วนด้านนอกก็มีคูเมืองกว้างใหญ่ล้อมรอบเสมือนทะเลรอบเขาพระสุเมรุ และมีกําแพงใหญ่รอบเมืองเสมือนเป็นเทือกเขาใหญ่รายล้อมขุนเขานั้น ถ้ากษัตริย์ผู้สร้างนับถือพระวิษณุ ก็ประดิษฐานรูปพระวิษณุแทนศิวลึงค์ ถ้านับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็ประดิษฐานพระพุทธรูปและรูปพระโพธิสัตว์โลเกศวร (ได้แก่ พระอวโลกิเตศวร นั่นเอง) แทน และรูปพระพักตร์ของพระเป็นเจ้าก็ดี พระพุทธเจ้าก็ดี พระโพธิสัตว์ก็ดี ย่อมเหมือนกับพระพักตร์ของกษัตริย์ผู้สร้างนั้นด้วย เพราะพระเป็นเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ ก็คือกษัตริย์องค์นั้นนั่นเอง

ในระยะสองศตวรรษแรกแห่งยุคพระนคร กษัตริย์เขมรแม้จะทรงคุ้มครองส่งเสริมลัทธิศาสนาทั้งสาม คือ ศาสนาฮินดูนิกายไศวะ นิกายไวษณพ และพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน แต่ก็ทรงยึดมั่นหนักแน่นในลัทธิไศวะ หลักฐานที่แสดงถึงการส่งเสริมพระพุทธศาสนาในระหว่างนั้นก็มีอยู่หลายอย่าง เช่น พระเจ้ายโศวรมัน ที่ ๑ (พ.ศ. ๑๔๓๒ - ๑๔๕๑) ทรงสร้าง “เสาคตาศรม” ไว้ในพระพุทธศาสนา เป็นคู่กับพราหมณาศรมสําหรับฝ่ายพราหมณ์ พระสงฆ์ที่เชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนาก็ได้รับความยกย่อง แม้ว่าจะได้เกียรติเป็นรองอาจารย์ในศาสนาพราหมณ์อยู่บ้าง

ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ (พ.ศ. ๑๕๑๑ - ๑๕๔๔) ปุโรหิตชื่อกีรติบัณฑิตซึ่งเคยนับถือไศวะมาก่อน ได้หันมานับถือพุทธศาสนา และได้พยายามส่งเสริมสนับสนุนพระพุทธศาสนาอย่างแข็งขัน ท่านได้นําเอาคัมภีร์พุทธศาสนาเข้ามาจากต่างประเทศเป็นอันมาก ในวันสําคัญๆ ท่านจะนําพระพุทธรูปมาสรงน้ำเป็นพิธีใหญ่โต ครั้นถึงรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๕๔๕ - ๑๕๙๓) กระแสศรัทธาก็เปลี่ยนมาเดินข้างพระพุทธศาสนา พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ เป็นโอรสของพระเจ้าศรีธรรมราช กษัตริย์แห่งตามพรลิงคะ ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ ณ บริเวณเมืองนครศรีธรรมราชหรือไชยา และเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนา พระองค์มีเชื้อสายราชวงศ์กัมพูชาโดยทางพระราชมารดาซึ่งเป็นเจ้าหญิงเขมร ทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้าในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน จึงทรงหันมาสนับสนุนพระพุทธศาสนานิกายนี้มากขึ้น

ในรัชกาลนี้ อาณาจักรเขมรแผ่ขยายอาณาเขตจากจันทบุรีออกไปทางตะวันตกตลอดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจดประเทศพม่า ทําให้อาณาจักรทวาราวดี ศูนย์กลางพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ซึ่งได้เคยอยู่ในอํานาจของอาณาจักรฟูนัน และได้รับเอกราชเมื่ออาณาจักรฟูนันสลาย (กลาง พ.ศต. ๑๑) ต้องกลับสิ้นอิสรภาพอีกครั้งหนึ่ง (มีศิลาจารึกที่นักประวัติศาสตร์ไม่ค่อยเชื่อถือกล่าวว่า ทวาราวดีตกเป็นของอาณาจักรเขมรตั้งแต่รัชกาลพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ เมื่อกลาง พ.ศต. ๑๕) และใต้ลงไปก็ได้อาณาจักรตามพรลิงคะ ส่วนทางเหนือ ด้านลุ่มแม่น้ำโขง หลักฐานบางแห่งว่า แผ่ไปถึงเมืองเชียงแสน แต่นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่าคงถึงเพียงเมืองหลวงพระบาง ศิลาจารึกใน พ.ศ. ๑๕๖๕ ซึ่งเป็นของในรัชกาลนี้ พบที่เมืองลพบุรีบอกความว่า มีภิกษุสงฆ์ทั้งฝ่ายมหายานและฝ่ายเถรวาทอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ครั้นสิ้นรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ แล้ว กษัตริย์องค์ต่อมาซึ่งเป็นโอรสของพระองค์ กลับเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา กระแสศรัทธาและความอุปถัมภ์บํารุงจึงเบนไปทางศาสนาฮินดูอีก แต่ช่วงต่อมานี้ เขมรวุ่นวายกับความไม่สงบภายในเป็นอันมาก

ทางด้านประเทศพม่า ใน พ.ศ. ๑๕๘๗ พระเจ้าอนุรุทธมหาราชหรืออโนรธามังช่อ ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พุกาม ทรงเรืองอํานาจ ยกทัพลงมาตีเมืองสะเทิมแห่งอาณาจักรมอญได้ใน พ.ศ. ๑๖๐๐ รวมแผ่นดินพม่าเข้าเป็นอันเดียว ทรงรับนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบของมอญแห่งสะเทิม และได้แผ่ขยายอาณาเขตออกมาทางตะวันออก เข้าครอบครองประเทศล้านนา ตลอดลงมาถึงเมืองลพบุรีและทวาราวดี (ความที่ว่านี้เป็นมติของปราชญ์ไทย แต่นักประวัติศาสตร์ฝ่ายตะวันตกกล่าวว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ปราบปรามได้ลพบุรีแล้ว แผ่อํานาจตามชนมอญที่อพยพร่นถอยมาจนถึงเขตอาณาจักรมอญเมืองสะเทิมในพม่าจะรุกรานเข้าไปอีก แต่ถูกทัพของพระเจ้าอนุรุทธมหาราชตีแตกล่าทัพกลับมา เขตแดนระหว่างเขมรกับพุกามจึงหยุดอยู่เพียงนั้น คือ ลพบุรีและทวาราวดียังคงเป็นของเขมร หาเป็นของพุกามไม่) อํานาจของพระเจ้าอนุรุทธแผ่ไปถึงที่ใด พุทธศาสนาเถรวาทแบบพุกามก็แผ่ไปถึงที่นั้น

ในระหว่างนี้ ชนเผ่าไทยได้อพยพลงมาจากจีนภาคใต้เข้ามาอยู่ในล้านนาและล้านช้างมากขึ้น แล้วเลื่อนต่อลงมาในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เข้าแทรกกลางแยกระหว่างมอญพม่ากับเขมร และตกอยู่ใต้อํานาจของอาณาจักรทั้งสองนั้นตามแต่ถิ่นแดนที่ตนเข้าไปตั้งถิ่นฐาน ส่วนทางด้านตะวันออก ชนเผ่าอันนัมซึ่งรับพระพุทธศาสนาแบบมหายานและวัฒนธรรมต่างๆ จากจีน และได้ตั้งตัวเป็นอิสระจากจีนสําเร็จ สถาปนาอาณาจักรนามเวียด (ต่อมาเป็นเวียดนาม) ขึ้นทางเหนือของอาณาจักรจัมปา เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๔๘๒ ก็กําลังมีอํานาจเข้มแข็งมากขึ้น กําลังเป็นคู่สงครามกับจัมปา อํานาจใหม่ทั้งสองที่กําลังก่อขึ้นทางตะวันตก (ไทย) และทางตะวันออก (เวียดนาม) จะมาเป็นเครื่องบั่นรอนอาณาจักรเขมรลงในกาลต่อไป

ต่อมาลุ พ.ศ. ๑๖๕๖ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ขึ้นครองราชย์ ทรงได้นามว่าเป็นกษัตริย์ผู้มีอํานาจเข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์เขมร ที่เป็นเช่นนี้เพราะเวลานั้น ทางด้านการปกครองก็เข้มแข็งด้วยอาศัยระบบเทวราชเป็นเครื่องรวบรวมและควบคุมกําลังไพร่พลได้เต็มที่ ทางด้านเศรษฐกิจบ้านเมืองก็อุดมสมบูรณ์ด้วยระบบชลประทานที่จัดไว้อย่างดี ประกอบกับองค์กษัตริย์เองก็เป็นนักรบที่เกรียงไกรจึงทรงแผ่ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางถึงไทยภาคเหนือ ภาคกลางจดพม่า ภาคใต้ถึงอ่าวบ้านดอน (สุราษฎร์ธานี) ทางตะวันออกจดขอบปากแม่น้ำแดงในแคว้นตังเกี๋ย ทรงปราบอาณาจักรจัมปาลงและยึดครองไว้ได้ประมาณ ๔ ปี กษัตริย์องค์นี้ทรงนับถือศาสนาฮินดูหนักไปทางด้านลัทธิไวษณพ และได้ทรงผสมผสานลัทธิไศวะกับไวษณวะเข้าด้วยกันจนกลมกลืนถึงขั้นที่เรียกได้ว่า เกิดเป็นลัทธิวิษณุราชขึ้นแทนลัทธิเทวราช ทรงสร้างนครวัดอันได้ชื่อว่าเป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก (สิ่งก่อสร้างอื่นที่มีขนาดทัดเทียมคือ ปราสาทบันไทชมาร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ณ เชิงเขาดงเร็กในเขมรเอง และมหาเจดีย์ปรมพุทธะ-Borobudur ในชวา) มีวิษณุเทวาลัยที่ประดิษฐานเทวรูปทองคําแห่งพระวิษณุเทพทรงครุฑตั้งอยู่ศูนย์กลาง บริเวณทั้งหมดมีเนื้อที่ถึง ๘๕๐x๑,๐๐๐ เมตร คูล้อมรอบกว้างถึง ๒๐๐ เมตร อย่างไรก็ดี ตอนปลายรัชกาล ทัพที่พระองค์ส่งไปรบตังเกี๋ยประสบความพินาศย่อยยับ งานก่อสร้างอันมโหฬารและนโยบายรบอันบ้าบิ่นของพระองค์ ทําให้อาณาจักรเขมรเมื่อสิ้นรัชกาลของพระองค์แล้ว ต้องจมสู่ห้วงแห่งความทุกข์ยากไปเป็นเวลานาน ส่วนพระองค์เองเมื่อสวรรคตแล้วก็ได้รับเฉลิมพระนามาภิไธยว่าพระบรมวิษณุโลก

อาณาจักรเขมรรุ่งเรืองขึ้นอีกเป็นครั้งสุดท้ายในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์พระองค์นี้ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนในนิกายมหายานที่มีศรัทธาแรงกล้า ทรงมีสิทธิขึ้นครองราชย์สืบแทนพระราชบิดาตั้งแต่ พ.ศ. ๑๗๐๓ แต่อนุชาองค์หนึ่งของพระองค์ขึ้นครองราชบัลลังก์เสียก่อน ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน จึงไม่ทรงประสงค์ให้เกิดสงครามกลางเมืองอันจะให้เกิดความเดือดร้อน จึงทรงหลีกทางให้ และเสด็จลี้ภัยไปอยู่ในอาณาจักรจัมปา ต่อมาใน พ.ศ. ๑๗๒๐ กษัตริย์จามแห่งนครจัมปายกกองทัพเรือเข้าจู่โจมเขมรโดยไม่ทันรู้ตัว ยึดเมืองหลวงได้ ทําลายนครวัดลง กษัตริย์เขมรสวรรคตในระหว่างเกิดเหตุร้าย บ้านเมืองเกิดจลาจลวุ่นวาย เจ้าชัยวรมันจึงเสด็จกลับมา ทรงตีทัพจามแตกพ่ายกลับไป จัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อยแล้ว ขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๑๗๒๔ เมื่อปราบศึกภายในแล้ว ก็ทรงยกทัพไปปราบอาณาจักรจัมปายึดเอาเป็นเมืองประเทศราช นอกจากนั้น ยังทรงแผ่อาณาเขตออกไปอีกทั้งทางทิศเหนือและทิศอื่นๆ จนอาณาจักรเขมรสมัยนั้นมีเนื้อที่กว้างใหญ่กว่าในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒

ในด้านศาสนาทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจนเจริญแพร่หลาย ทําให้การบูชาพระศิวะและพระวิษณุเสื่อมลงไป ทรงตั้งลัทธิพุทธราชขึ้นมาแทนลัทธิเทวราช และได้ทรงสร้างนครธม (แปลว่ามหานคร) ขึ้นเป็นราชธานี โดยมีพุทธวิหารบายนที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ (พุทธราช) ตั้งอยู่เป็นศูนย์กลาง ยอดวิหารหรือปราสาทบายนเป็นปรางค์ทอง มีเศียรพระโลเกศวร (ได้แก่พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร) ๔ พักตร์ กําลังอมยิ้ม หันมองทั้งสี่ทิศเหมือนดังพระพรหม รูปและพักตร์ของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ก็คือรูปและพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันนั่นเอง เพราะพุทธราชก็คือราชาผู้เป็นพระพุทธเจ้า หรือพระเจ้าชัยวรมันเป็นทั้งพระราชาและพระพุทธเจ้า ทั้งนี้คงเป็นด้วยพระเจ้าชัยวรมันทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า จนรู้สึกพระองค์ว่าทรงเป็นพระพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนม์อยู่ ทอดพระเนตรตรวจตราประชาสัตว์ แผ่พระเมตตากรุณาออกไปคุ้มครองตลอดทั่วทุกทิศแห่งผืนแผ่นดิน รอบวิหารบายนนั้นมีเศียรสี่พักตร์เช่นนี้แต่ขนาดเล็กลงมา อยู่บนยอดซุ้มประตูและปรางค์ทั้งหลายที่รายรอบทั้งชั้นในและชั้นนอก รวมประมาณ ๕๐ เศียร คูล้อมเมืองวัดโดยรอบยาวประมาณ ๑๒ กิโลเมตร

นอกจากนครธมและปราสาทบายนนี้แล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ยังทรงสร้างวิหารปราสาทอีกหลายแห่ง เช่น ปราสาทตาพรหม (อุทิศราชมารดา จัดให้เป็นวิหารสําหรับอยู่อาศัยและเป็นสถานศึกษาของภิกษุสงฆ์) ปราสาทชัยศรี หรือปราสาทพระขรรค์ (อุทิศเป็นที่ประดิษฐานรูปราชบิดา) เป็นต้น ทรงสร้างพระพุทธรูปเป็นศิริมงคลแก่ราชอาณาจักรเรียกชื่อว่า “พระชัยพุทธมหานาถ” ประดิษฐานไว้ในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ (ในเขตไทยมีที่ลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี สิงห์บุรี เป็นต้น) และให้แห่อัญเชิญมาทําพิธีสนานพร้อมกันที่ปราสาทพระขรรค์ชัยศรีในเดือน ๙ ทุกปี นอกจากนี้ ทรงสร้างถนนสายใหญ่มากมาย มีถนนไปสู่กรุงจามและสู่เมืองพิมาย เป็นต้น ระหว่างทางก็ทรงสร้างอัคคิศาลาเป็นที่พักคนเดินทาง ๑๒๑ แห่ง โรงพยาบาล ๑๐๒ แห่ง พร้อมด้วยยา พยาบาล ผู้แจกอาหาร สวนบ่อ และสระน้ำ ทรงขยายระบบชลประทานให้กว้างขวางออกไปอีก งานสร้างวัด (วิหาร) และสิ่งสาธารณูปโภคเหล่านี้ สันนิษฐานว่าคงทรงดําเนินตามพระจริยาวัตรของพระเจ้าอโศกมหาราช

มีเหตุการณ์สําคัญอย่างหนึ่งในรัชกาลนี้ที่ช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางศาสนาในกัมพูชาสมัยต่อๆ มา คือ ตอนต้นของรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นี้ ตรงกับตอนปลายของรัชกาลพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราชแห่งประเทศลังกา เวลานั้นพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทในลังกาได้รับการฟื้นฟูและอุปถัมภ์บํารุง เจริญรุ่งเรืองขึ้นทั้งการศึกษาและการปฏิบัติ เป็นที่เลื่องลือทั่วไป มีภิกษุสามเณรจากประเทศต่างๆ ไปศึกษาเล่าเรียนจนกลายเป็นศูนย์กลางใหญ่แห่งพุทธศาสนศึกษา

อยู่มาใน พ.ศ. ๑๗๓๓ พระภิกษุมอญรูปหนึ่งชื่อ ฉปตะ ซึ่งเดินทางจากพม่าติดตามพระมหาเถระมอญท่านหนึ่งไปยังลังกาตั้งแต่ครั้งเป็นสามเณร ได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ ๑๐ ปี และอุปสมบท แล้วเดินทางกลับมายังประเทศพม่า ดําเนินงานอบรมสั่งสอนและให้การอุปสมบทตามแบบที่รับมาจากลังกา ทําให้ชาวพุทธพม่าตื่นตัวในการศึกษาปฏิบัติขึ้นอีกพร้อมกับทําให้พระสงฆ์พม่าแตกแยกนิกายออกไป ในการเดินทางกลับมานั้น พระฉปตะได้นําพระภิกษุชาวต่างชาติร่วมเดินทางมาด้วย ๔ รูป ในจํานวนนี้รูปหนึ่งชื่อ ตามลินทะ เป็นผู้ที่นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเป็นโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ พระตามลินทะจะเดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาในกัมพูชาหรือไม่ก็ตามที แต่พุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาที่เข้ามาใหม่นี้ก็ได้รับความนิยมจากประชาชนแพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็ว ทั่วคาบสมุทรอินโดจีนตอนกลาง และรวมถึงอาณาจักรเขมรทั้งหมดด้วยในที่สุด

พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สวรรคตประมาณ พ.ศ. ๑๗๖๑ และได้รับเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “มหาปรมเสาคต” (เท่ากับ มหาบรมสุคต ซึ่งมาจากพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า คือ พระสุคต) แต่นั้นมาอาณาจักรเขมรก็อ่อนแอทรุดโทรมลงโดยลําดับ แม้กระเตื้องขึ้นบางคราวก็ไม่กลับคืนสู่ฐานะอันยิ่งใหญ่อีกต่อไปเลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะสาเหตุสําคัญ ๒ อย่าง คือ สงครามแผ่อํานาจและการก่อสร้างที่เกินขนาดอันควร ปราชญ์มักกล่าวหากษัตริย์ ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ และพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ว่า ความกระหายอํานาจและความยิ่งใหญ่ของพระองค์ ทําให้ทรงก่อสงครามรุกรานอันใหญ่โต และทําการก่อสร้างที่ฟุ่มเฟือยเกินประมาณ ทั้งสองอย่างนี้ทําให้ต้องเก็บภาษีแพง เกณฑ์แรงงานคนมาก ต้องระดมคนมาไว้ดูแลรักษาและบํารุงบําเรอในปราสาทราชฐาน สิ้นเปลืองทั้งกําลังคน กําลังทรัพย์ ประชาชนก็กะปลกกะเปลี้ยลงและค่อยๆ พอกพูนความไม่พอใจในสภาพบ้านเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงอาการเครียด ก็พอดีทางเมืองไทยเข้มแข็งขึ้นมา คอยเข้ามากระหน่ำอยู่เรื่อยๆ จนอับปางแก้ไขไม่ฟื้น

อย่างไรก็ดี นักปราชญ์ก็อัศจรรย์ใจในงานก่อสร้างนครวัดนครธมเป็นต้นของเขมรว่า ผลงานยิ่งใหญ่ล้ำเลิศเช่นนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร จากการค้นคว้าทําให้ลงความเห็นว่า เป็นด้วยมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นรากฐาน กล่าวคือระบบการชลประทานที่ดีเลิศ ซึ่งสืบกันมาตั้งแต่ยุคฟูนันอันนับเป็นของในถิ่นเอง มิใช่รับจากอารยธรรมอินเดีย

ด้วยระบบชลประทานนี้ชาวเขมรสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้เต็มที่ มิให้มีทั้งปัญหาขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำมากเกินไป มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่น แห่งหนึ่งจุน้ำถึง ๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตร มีลําคลอง คูระบายน้ำออกไปตามไร่นา หมู่บ้าน ให้ใช้ได้ทุกเวลาตามปรารถนา ทํานาได้ปีหนึ่งถึง ๓-๔ ครั้ง ภาพถ่ายทางอากาศทําให้เห็นระบบชลประทานเช่นนี้กว้างขวางเป็นเนื้อที่ถึง ๓๒.๒๙ ล้านไร่

กษัตริย์เขมรมีพระราชภารกิจสําคัญประการแรกคือจะต้องทรงบําเพ็ญพระราชกรณีย์เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาราษฎร์ โดยเฉพาะคืองานชลประทานนี้ให้สัมฤทธิ์ผลด้วยดีก่อน จึงจะทรงเริ่มงานสร้างปราสาทศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ได้ อาศัยเศรษฐกิจที่มั่นคงนี้เป็นฐาน ลัทธิเทวราช (หรือจะเป็นวิษณุราชหรือพุทธราชก็ตาม ก็มีสาระอย่างเดียวกัน) จึงมีประสิทธิภาพโดยทําหน้าที่เป็นเครื่องมือสําหรับจัดสรรและเกณฑ์แรงงานราษฎรให้ได้ผลเต็มที่ ช่วยให้เกิดกําลังเข้มแข็งบริบูรณ์

โดยนัยนี้ กษัตริย์จึงเป็นทั้งสัญลักษณ์แทนอํานาจของพระผู้เป็นเจ้าที่เป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล และเป็นสัญลักษณ์แห่งการสร้างสรรค์บันดาลความรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ลัทธิเทวราช (รวมทั้งวิษณุราช และพุทธราช) อิงอยู่กับศาสนาฮินดูและพุทธศาสนามหายาน ซึ่งไม่มีฐานทางด้านประชาชน เมื่อพุทธศาสนาเถรวาทเข้ามา ลัทธินั้นจึงเสื่อมไปโดยเร็ว

ในด้านศาสนาโดยตรง เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สวรรคตแล้ว พวกไศวะก็แสดงปฏิกิริยาต่อพระพุทธศาสนา โดยเอาพระพุทธรูปองค์ใหญ่ในพุทธวิหารบายนทิ้งลงหลุมเสีย แล้วนําศิวลึงค์ขึ้นประดิษฐานแทน แม้ในที่อื่นๆ ก็ได้ทําลายวัดและพระพุทธรูปหลายแห่ง เอาศิวลึงค์ตั้งแทนพระโลเกศวรทั้งหมด ส่วนรูปพระโลเกศวรจตุรพักตร์บนปรางค์และซุ้มประตูในนครธม พวกไศวะก็เปลี่ยนความนับถือเสียว่าเป็นรูปพระศิวะ ล้างลัทธิพุทธราชลงทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าศาสนาเดิมเหล่านี้ (ไศวะ ไวษณพ และมหายาน) จะแย่งความเคารพกันในรูปใดแบบใด อวสานของทั้งสามลัทธิก็กําลังใกล้เข้ามา เพราะพุทธศาสนาแบบเถรวาทแพร่หลายมีกําลังมากขึ้นทุกที ศาสนาเดิมทั้งสามลัทธินั้น แม้จะเจริญรุ่งเรืองในอาณาจักรเขมรมานานหลายศตวรรษแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงศาสนาของราชสํานัก ขุนนาง และคนชั้นสูง พัวพันอยู่กับเรื่องฐานันดรศักดิ์และพิธีกรรมอันโอ่อ่าสิ้นเปลือง มีหน้าที่หลัก คือ การยกย่องรับรองเทวฐานะของกษัตริย์และเจ้านายด้วยการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น รวมไปถึงการรับประกอบพิธีกรรมโดยเรียกค่าตอบแทนราคาแพง นับว่าเป็นการจํากัดตัวอยู่ในวงแคบ แม้จะเกี่ยวข้องกับประชาชนก็เป็นแบบที่เรียกว่ายื่นลงมาจากเบื้องบน ไม่เข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง ไม่กลมกลืนแทรกเข้าไปในความรู้สึกนึกคิดและการดําเนินชีวิตประจําวันของประชาชน และยังแยกเจ้านายกับประชาชนออกจากกันเสียอีกด้วย

สําหรับชาวบ้านโดยทั่วไป ศาสนาของเขาก็คือความเกี่ยวข้องกับผีสางเทวดาและการบูชาบรรพบุรุษ และคงจะมีพุทธศาสนาแบบเถรวาทที่สืบมาแต่โบราณเจือปนอยู่จางๆ นับว่าเป็นช่องว่างอย่างใหญ่หลวง ครั้นพุทธศาสนาแบบเถรวาทจากลังกาซึ่งได้ขัดเกลาใหม่ให้ชัดเจน และกําลังมีเรี่ยวแรงแห่งความสดชื่นกระตือรือร้นเผยแผ่เข้ามา ประชาชนชาวเขมรก็ยอมรับนับถือทั่วไปอย่างรวดเร็ว

ลักษณะสําคัญของเถรวาทที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างดีในเวลานั้น มีผู้เขียนสรุปไว้ว่า เป็นศาสนาแบบง่ายๆ พื้นๆ ไม่ต้องมีคณะนักบวชไว้คอยดูแลรักษาศาสนสถานที่สูงค่าใหญ่โตหรือไว้ประกอบพิธีกรรมที่โอ่อ่าหรูหรา ผู้เผยแผ่ศาสนาก็เป็นพระที่เคร่งครัด เป็นอยู่ง่ายๆ หลีกเร้นอยู่สงบ บําเพ็ญสมาธิภาวนา เสียสละไม่มีทรัพย์สมบัติ ติดต่อเกี่ยวข้องอยู่ใกล้ชิดกับประชาชน อบรมสั่งสอนประชาชนด้วยตนเองโดยตรงด้วยเมตตากรุณา ไม่มีการเกณฑ์แรงงานมาก่อสร้างศาสนสถานอันใหญ่โต นอกจากนั้น พวกเด็กหนุ่มต้องการศึกษาเล่าเรียนก็มาอยู่กับพระในวัดชั่วระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งต่างจากราชการหรือศาสนาเดิมที่ไม่มีโรงเรียนสอนให้เลย ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาเถรวาทจึงแพร่หลายกว้างขวางรวดเร็ว และเมื่อประชาชนจํานวนมากนับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทนี้แล้ว การเชื่อถือเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ตามแบบศาสนาฮินดูนิกายไศวะก็ดี ไวษณพก็ดี พุทธศาสนามหายานก็ดี ก็เสื่อมไปเอง ความเป็นเทวราชที่กษัตริย์เป็นเทพเจ้าหรือพระพุทธเจ้าลงมาเกิดก็สิ้นสุดลง แรงชักจูงที่จะบันดาลใจให้ประชาชนมาลงแรงทําการใหญ่ อย่างการสร้างปราสาทหินก็ไม่มีฐานที่ตั้ง พวกพราหมณ์ก็เสื่อมอํานาจไปจากราชสํานัก และมีจํานวนลดน้อยลง ราชพิธีที่พราหมณ์ประกอบก็กลายเป็นของสักว่าทําๆ กันไป ไม่สู้มีความหมายเท่าใด

ส่วนพราหมณ์เมื่อออกจากวังหรือเทวาลัยของตนแล้ว ก็ไม่มีฐานอยู่ในหมู่ประชาชน อีกทั้งระบบวรรณะที่จะช่วยรองรับในสังคมอย่างในอินเดียก็ไม่มี ศาสนาเดิมจึงหมดไปรวดเร็วเหลือเกิน ถึงขั้นที่เรียกว่าสูญสิ้นทีเดียว แม้จะมามีอิทธิพลต่อประเพณีการปกครองและราชพิธีต่างๆ ในราชสํานักไทยสมัยอยุธยาไม่น้อย แต่ประชาชนทั่วไปก็ไม่รู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับตน

นอกจากนั้น สภาวะนี้อาจมีผลต่อการสงครามกับประเทศไทยด้วย กล่าวคือ ชาวกัมพูชาสมัยนั้นอาจจะไม่สู้กระตือรือร้นที่จะต่อต้านข้าศึก เพราะชัยชนะของไทยซึ่งเป็นชาวพุทธฝ่ายเถรวาทย่อมจะอํานวยประโยชน์แก่ประชาชน ทําให้ไม่ถูกเกณฑ์แรงงาน เป็นอิสระ และมีโอกาสได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้น มีหลักฐานว่ากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ใน พ.ศ. ๑๘๓๙ พระราชทานที่ดินสร้างวัดพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ศิลาจารึกในสมัยนี้ก็เปลี่ยนมาเป็นภาษาบาลี และต่อมาเทวสถานต่างๆ ของฮินดู ก็กลายมาเป็นวัดพุทธศาสนา

เมื่อเจาตากวนเดินทางมาในคณะทูตจีนถึงเมืองพระนครใน พ.ศ. ๑๘๓๙ เขาเขียนเล่าว่า ทุกคนบูชาพระพุทธเจ้า และพูดถึง จูกู (คือ เจ้ากู ซึ่งหมายถึงพระภิกษุสงฆ์เถรวาท) พร้อมทั้งบรรยายลักษณะการครองผ้า การดําเนินชีวิตและสภาพวัด เขาบอกว่า พวกเจ้านายชอบมาปรึกษาหารือกับพวกจูกูในเรื่องต่างๆ หลักฐานนี้แสดงว่าเวลานั้นพุทธศาสนาแบบเถรวาทจะต้องได้กลายเป็นศาสนาหลักของอาณาจักรเขมรไปแล้ว และเมื่อถึง พ.ศ. ๑๘๘๐ กษัตริย์กัมพูชาพร้อมทั้งราชสํานักทั้งหมดคงจะได้กลายเป็นพุทธศาสนิกชนฝ่ายเถรวาทแล้วทั้งหมด เพราะมีหลักฐานปรากฏถึงขั้นที่ว่า ทรงเจ้ากี้เจ้าการเป็นธุระที่จะให้กษัตริย์ลาวที่เคยลี้ภัยอยู่ในเขมร (เจ้าฟ้างุ้ม) เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี

ย้อนกล่าวทางด้านการเมือง หลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สวรรคตแล้ว พอถึง พ.ศ. ๑๗๖๓ กองทัพเขมรต้องยกกลับจากจัมปา พวกจามก็เป็นอิสระขึ้น หลักฐานบางแห่งว่า แคว้นตามพรลิงคะก็ตั้งตัวเป็นเป็นอิสระขึ้นด้วย พร้อมกันนี้คนไทยก็มีอํานาจเข้มแข็งขึ้น พ.ศ. ๑๘๐๐ ก็ตั้งอาณาจักรสุโขทัยสําเร็จเป็นอิสระจากขอม เหนือขึ้นไปก็มีอาณาจักรลานนาไทย ตั้งขึ้นเป็นอิสระเช่นเดียวกัน ส่วนทางด้านพม่า อาณาจักรพุกามก็พอดีประสบปัญหาจากพวกมงโกลที่กําลังแผ่อํานาจลงมา จนถึงต้องสูญเสียอิสรภาพแก่กุบไลข่านใน พ.ศ. ๑๘๓๐ ระหว่างนี้อาณาจักรไทยก็รุ่งเรืองขึ้นโดยลําดับ ส่วนทางด้านอาณาจักรจัมปาคู่สงครามเดิมของเขมร ก็กําลังตั้งตัวขึ้นใหม่ และต้องหันความสนใจไปทางเวียดนามคู่ศึกอีกด้านหนึ่ง ซึ่งกําลังแผ่อํานาจลงมาจากทางเหนือ จึงเป็นการเปิดโอกาสช่วยให้กัมพูชาอยู่สงบในขณะที่มีกําลังลดน้อยลง เมื่อต้องอยู่สงบและมีพลังอํานาจจํากัดลงเช่นนี้ กัมพูชาก็ไม่สามารถระดมกําลังไปในด้านการก่อสร้างปราสาทหินใหญ่โตและการทําสงครามล่าดินแดน จึงหันมาสนใจส่งเสริมในด้านวิชาการ ทําให้การศึกษาเฟื่องฟูขึ้นระยะหนึ่ง ผู้คงแก่เรียนได้รับการยกย่องมีเกียรติยศสูง นักปราชญ์ราชบัณฑิตมีจํานวนเพิ่มมากขึ้นมากมาย และเป็นผู้มีอํานาจควบคุมบริหารกิจการของประเทศ

ต่อมาอาณาจักรไทยที่อยุธยาเรืองอํานาจขึ้น โดยยกทัพมาตีกัมพูชา ยึดนครธมได้หลายครั้ง คือใน พ.ศ. ๑๘๙๖ (ปราชญ์ตะวันตกลงความเห็นว่า พ.ศ. ๑๙๑๒) ยึดครองอยู่ ๖ ปี พ.ศ. ๑๙๓๒ ยึดครองอยู่เพียงชั่วคราว และใน พ.ศ. ๑๙๗๕ เป็นที่สุด การพ่ายแพ้ครั้งหลังนี้ทําให้กัมพูชาอ่อนแอลงเป็นอย่างมาก เพราะเกิดเรื่องวุ่นวายภายใน แย่งราชสมบัติกัน เป็นสงครามกลางเมือง ผู้คนล้มตายมาก กษัตริย์องค์ใหม่ได้ทิ้งเมืองนครธมไปตั้งราชธานีใหม่ที่เมืองศรีสันธอร์ แล้วย้ายต่อไปยังกรุงพนมเปญเป็นอันสิ้นสุดยุคพระนคร จากนั้นนครวัดนครธมก็ถูกปล่อยรกร้าง หมู่ไม้งอกงามรุกล้นเข้ามากลายเป็นเมืองลับหายอยู่กลางป่าดง จนถึง พ.ศ. ๒๔๐๔ จึงมีชาวฝรั่งเศสไปพบ และเริ่มมีการศึกษาค้นคว้า ตลอดจนการขุดแต่งบํารุงรักษาตามทางแห่งศิลปโบราณคดีสืบต่อมา

๔. ยุคหลังพระนคร (พ.ศ. ๑๙๗๕ ถึงปัจจุบัน)

ยุคหลังนี้กัมพูชามีกําลังเข้มแข็งมาบ้างในระยะแรกๆ แต่เพราะการสงครามกับอาณาจักรไทยก็ต้องกลับสิ้นอํานาจลงอีก กลายเป็นเมืองขึ้นของไทย ในแผ่นดินพระนเรศวรมหาราช ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๓๗ ถึง ๒๑๖๑ ครั้นได้เอกราชกลับคืนแล้ว ก็พอดีถึงระยะที่เวียดนามมีอํานาจมากขึ้น เพราะเวียดนามคู่สงครามกับจัมปาได้ปราบปรามจัมปาสําเร็จเด็ดขาด รวมจัมปาเข้าเป็นดินแดนของเวียดนามแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๑๔ พอถึงกลาง พ.ศต. ๒๒ ก็ได้ช่องที่กัมพูชาเปิดให้ จึงเข้ามาร่วมวงสงครามในภาคตะวันตกนับแต่นั้นมา กัมพูชาก็มีแต่อ่อนแอเสื่อมโทรมลง เพราะสงครามกับไทยบ้าง สงครามกับเวียดนามบ้าง แย่งชิงราชสมบัติทําสงครามภายในกันเองบ้าง ดึงไทยและเวียดนามเข้าไปกลายเป็นเวทีสงครามของสองประเทศนั้นบ้าง เป็นกันชนระหว่างสองประเทศนั้นบ้าง ตกเป็นเมืองขึ้นของไทยบ้าง ของเวียดนามบ้าง ของทั้งสองประเทศในเวลาเดียวกันบ้าง มีการย้ายเมืองหลวงหลายครั้ง จนกระทั่งถึงใกล้สิ้น พ.ศต. ๒๔ ฝรั่งเศสเริ่มเข้ามามีบทบาทในอินโดจีน ต่อมาไม่นานกัมพูชาก็กลายเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๔๐๖ และกลายเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๔๑๐ ตราบถึง พ.ศ. ๒๔๙๗ จึงได้เอกราชกลับคืนและเรียกชื่อประเทศว่า พระราชอาณาจักรกัมพูชา มีเมืองหลวงชื่อ พนมเปญ มีกษัตริย์ครองราชย์มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๓ พระนามว่า “พระเจ้านโรดมสีหนุ”

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๘ พระเจ้านโรดมสีหนุสละราชสมบัติให้พระเจ้านโรดมสุรามฤตราชบิดาขึ้นครองราชย์สืบแทน แล้วพระองค์เองตั้งพรรคการเมืองชื่อ สังคมราษฎร์นิยม และได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ถือนโยบายตั้งตนเป็นกลาง เมื่อพระเจ้านโรดมสุรามฤตสวรรคตแล้วใน พ.ศ. ๒๕๐๓ เจ้านโรดมสีหนุทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ แต่มิได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ในด้านศาสนาถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจําชาติอย่างเป็นทางการ เจ้านโรดมสีหนุผนวชเป็นพระภิกษุ ๒ ครั้ง ใน พ.ศ ๒๔๙๐ และ พ.ศ. ๒๕๐๖ ทรงคิดตั้งทฤษฎีพุทธสังคมนิยมของเขมรขึ้น เพื่อให้เป็นลัทธิการเมืองหรือระบอบการปกครองอย่างใหม่ซึ่งยึดพุทธธรรมเป็นหลักในการบริหารประเทศ หรืออีกนัยหนึ่งสร้างลัทธิสังคมนิยมแบบใหม่ที่มีคําสอนในพระพุทธศาสนาเป็นรากฐาน

อย่างไรก็ดี อาณาจักรกัมพูชาในสมัยใหม่นี้อยู่ในยุคที่อาเซียอาคเนย์เป็นเวทีการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเป็นที่แข่งขันแย่งอํานาจกันระหว่างค่ายโลกเสรีกับค่ายคอมมิวนิสม์ จึงประสบปัญหามากมายทั้งในด้านกิจการระหว่างประเทศ และความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องอาณาเขต เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเวียดนามคู่ศึกในอดีต ครั้นถึง พ.ศ. ๒๕๑๓ เจ้านโรดมสีหนุถูกปฏิวัติสิ้นอํานาจ ลัทธิพุทธสังคมนิยมก็เป็นหมันลง คณะผู้ยึดอํานาจประกาศเปลี่ยนราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นสาธารณรัฐเขมร มีประธานาธิบดีคนแรกชื่อ นายพลลอนนอล รัฐบาลใหม่ประกาศย้ำว่ายังถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจําชาติ และถือเป็นหน้าที่ที่จะปกป้องคุ้มครองทะนุบํารุงพระพุทธศาสนา แต่จะมุ่งส่งเสริมให้เข้มแข็งในระดับที่เป็นสถาบันสากลระหว่างประเทศ ส่วนคณะสงฆ์ก็ได้ประกาศท่าทีมิให้พระภิกษุเข้ายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

พระพุทธศาสนาในประเทศกัมพูชาหลังยุคพระนครแล้ว คล้ายกันมากกับพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ทั้งในด้านสังฆมณฑลและวัฒนธรรมประเพณี เช่น มีวัดและพระภิกษุสามเณรจํานวนมากมาย พระสงฆ์ได้รับความเคารพอย่างสูงจากประชาชน ทําหน้าที่เป็นครูอาจารย์ มีประเพณีให้เด็กและคนหนุ่มอยู่วัด เป็นศิษย์วัดหรือบวชเป็นภิกษุสามเณร เป็นต้น ทั้งนี้เพราะส่วนมากเป็นคติที่เผยแพร่หรือนําเอาไปจากประเทศไทย เหมือนกับเป็นการตอบแทนการที่ไทยเคยได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมของขอมในกาลก่อน ดังตัวอย่างราชสํานักไทยปัจจุบันใช้ราชาศัพท์ภาษาเขมรและราชสํานักเขมรใช้ราชาศัพท์ภาษาไทย พระสงฆ์ก็มี ๒ นิกาย คือ มหานิกาย และธรรมยุติ เหมือนในประเทศไทย ทั้งนี้เกิดจากการที่สมด็จพระสุคันธาธิบดี (ปาน) ไปศึกษาปริยัติธรรมที่กรุงเทพมหานครในประเทศไทย ได้เล่าเรียนแบบแผนของคณะธรรมยุต แล้วนําระบอบธรรมยุติกนิกายไปตั้งในพระราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๗ และทรงเป็นประมุขสงฆ์องค์แรกแห่งคณะธรรมยุติกนิกายในเขมร

ประชากรเขมรใน พ.ศ. ๒๕๑๓ มีจํานวนทั้งสิ้นประมาณ ๗,๐๐๐,๐๐๐ คน เป็นพุทธศาสนิกชนร้อยละ ๙๐ มีวัดรวม ๓,๓๖๙ วัด (แบ่งเป็นวัดมหานิกาย ๓,๒๓๐ วัด วัดธรรมยุติ ๑๓๙ วัด) มีภิกษุสามเณรทั้งหมด ๖๕,๐๖๓ รูป (แบ่งเป็นมหานิกาย ๖๒,๖๗๘ รูป ธรรมยุต ๒,๓๘๕ รูป) การปกครองคณะสงฆ์ ๒ คณะนี้ แยกจากกันเด็ดขาด แต่ละคณะมีประมุขของตนเองไม่ขึ้นต่อกัน ถ้ามีกิจอันเนื่องด้วยประโยชน์สุขร่วมกัน ประมุขสองฝ่ายอาจทําประกาศเป็นแถลงการณ์ร่วมได้ ประมุขสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย เรียกว่า “สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดีสังฆนายก คณะมหานิกาย” ประมุขสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต เรียกว่า “สมเด็จพระสุธัมมาธิบดีสังฆนายก คณะธรรมยุตติกนิกาย”

ต่อมาเมื่อพระราชอาณาจักรกัมพูชาเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐเขมรแล้ว ประธานาธิบดีลอนนอลได้ประกาศถวายเกียรติยกย่องพระสังฆนายกทั้งสององค์นั้นขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๑๕

ในด้านศาสนศึกษา นับว่าได้รับแบบแผนและอิทธิพลไปจากประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่มาตั้งแต่เบื้องต้น กล่าวคือ สมเด็จพระมหาสังฆราชเที่ยง เมื่อครั้งยังเยาว์ได้ทรงรับการศึกษาพระพุทธศาสนาที่กรุงเทพฯ จนจบประโยคสูงสุด ต่อมาพระมหาวิมลธรรม (ทอง) ศิษย์ของสมเด็จพระสังฆราชเที่ยง ก็ได้เดินทางไปศึกษาที่กรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน และได้กลับมาจัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกในกัมพูชา โรงเรียนบาลีแห่งแรกตั้งที่นครวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๗ ย้ายมาตั้งที่กรุงพนมเปญ เรียกชื่อว่า “ศาลาบาลีชั้นสูง” ระยะหลังได้เจริญขึ้นมาและเปลี่ยนชื่อใหม่อีกว่า “พุทธิกวิทยาลัย” และมีมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาที่เจ้านโรดมสีหนุทรงตั้งขึ้น เรียกว่า “มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาพระสีหนุราช” เริ่มดําเนินการสอนในชั้นปริญญาตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ ปริญญาโท เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ และจะให้ปริญญาเอกต่อไปด้วย ใน พ.ศ. ๒๕๑๕ มีพระภิกษุเรียนปริญญาตรี ๑๕๐ รูป กําลังเรียนปริญญาโท ๕๔ รูป

ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๔ มีพระภิกษุเขมรจํานวนมากเดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี และมหาวิทยาลัยสงฆ์ในประเทศไทย พํานักอยู่ตามวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ แต่หลังจากเขมรตัดสัมพันธไมตรีกับประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๕๐๔ แล้ว ความนิยมนี้ก็จําต้องหยุดชะงักไป อนึ่ง ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ กัมพูชาได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกสําเร็จเสร็จสิ้น และได้ประกอบพิธีสมโภชเป็นทางราชการในปีต่อมา พระไตรปิฎกชุดนี้มีทั้งภาษาบาลีและคําแปลภาษาเขมรรวมอยู่ด้วยกัน เริ่มจัดทําตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๒ มีจํานวนชุดละ ๑๐๐ เล่ม แบ่งเป็นพระวินัย ๑๓ เล่ม พระสูตร ๖๓ เล่ม พระอภิธรรม ๓๔ เล่ม

ท่ามกลางสังคมสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ได้มีสภาพการณ์ทางพระศาสนาที่น่าเป็นห่วงหลายอย่าง โดยเฉพาะในถิ่นที่เจริญขึ้นเป็นสังคมเมือง เด็กหนุ่มสาวรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก แม้รัฐจะจัดให้มีการสอนพุทธศาสนาในทุกระดับ เด็กก็เติบโตขึ้นแบบตะวันตก มีความสัมพันธ์กับวัดและพระสงฆ์น้อยเหลือเกิน การบวชเรียนยังมีแต่ในหมู่เด็กชนบท ส่วนในเมืองเด็กไปบวชเรียนหาได้ยาก แม้แต่ที่บวชระยะสั้นก็มีน้อยคน ยิ่งกว่านั้น ในตัวเมืองพระสงฆ์เลิกบิณฑบาตแล้ว พระเณรที่เรียนหนังสือต้องอาศัยนิตยภัตเป็นอยู่ กิจการทางพระพุทธศาสนาโดยทั่วไปมุ่งในด้านสังคมมากกว่าคุณค่าทางจิตใจ การปฏิบัติในทางสมาธิภาวนาเสื่อมจากความสนใจ ศาสนศึกษาเน้นด้านเหตุผล เลิกละความเชื่องมงายต่างๆ ก็จริง แต่ผู้เรียนมักมุ่งได้ปริญญา ประกาศนียบัตร และความก้าวหน้าในสังคม มากกว่างานค้นคว้าวิจัยและการยกระดับภูมิธรรมทางจิตใจ ประชาชนทั่วไปเกิดความหวั่นไหว มีศรัทธาสั่นคลอน เริ่มไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของพระพุทธศาสนา เพราะหลักที่ยึดถือกันมาว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต้องอยู่ด้วยกันไม่อาจแยกได้ ก็ได้เกิดการแยกขึ้นแล้ว ทฤษฎีพุทธสังคมนิยมที่ว่าจะนําไปสู่สันติสุขที่แท้จริง ยังไม่ทันเผล็ดผลออกมา ก็มีอันเหี่ยวเฉาไปเสียก่อน ทําให้คนต้องตั้งความหวังจากหลักการ ทฤษฎี หรือระบบอื่นต่อไป

นับแต่กัมพูชาเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐเขมรใน พ.ศ. ๒๕๑๓ แล้ว บ้านเมืองก็ประสบปัญหาปั่นป่วนวุ่นวายด้วยการศึกสงครามโดยตลอด ทั้งกับเวียดมินห์ เวียดกง และเขมรแดง จนถึงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๘ ก็พ่ายแพ้ถูกเขมรแดงเข้ายึดครองทั้งหมด กองทัพคอมมิวนิสต์พร้อมด้วยวัยรุ่นปฏิวัติได้ดําเนินการจัดระเบียบบ้านเมืองใหม่ด้วยวิธีการอันพลันแล่นและรุนแรง สังหารผู้ไม่เห็นพ้องและทหารฝ่ายรัฐบาลอย่างไม่ปรานีปราศรัย สั่งให้ประชาชนอพยพออกจากเมืองทั้งหมด และให้ไปตั้งถิ่นฐานในป่า หักร้างถางพงบุกเบิกที่ทําไร่ไถนาหากินกันใหม่ สาธารณรัฐเขมรเปลี่ยนเป็น “ประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย” ใช้ระบบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสม์ ส่วนผลที่เกิดแก่พระพุทธศาสนาอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงนี้ ปรากฏแก่สายตาของชาวพุทธนอกกัมพูชา เสมือนจุดอวสานที่ปิดคลุมด้วยม่านสีดํา หรืออย่างน้อยเหมือนการเลื่อนฉากสีดํามาบังไว้

พระเถระผู้นําชาวพุทธเขมรที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เล่าแก่ที่ประชุม ณ ศาลาว่าการเมืองบอสตัน เมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ตอนหนึ่งว่า

“ดังที่ท่านก็ทราบอยู่แล้ว ประชาชนกัมพูชาเกินกว่า ๑ ใน ๓ ได้ถูกสังหารไปแล้ว ภายในเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านนี้ รวมทั้งพระภิกษุเกือบทั้งหมด ๘๐,๐๐๐ รูป”

ในเดือนมกราคม ๒๕๒๒ กองทัพของสภาปฏิวัติของประชาชนแห่งกัมพูชา ซึ่งเวียดนามหนุนหลังได้เข้ายึดครองกรุงพนมเปญ และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา” โดยมี เฮงสัมริน เป็นประธานาธิบดี กองทัพของรัฐบาลประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ได้ถอยร่นเข้าไปอยู่ในป่า และทําสงครามเพื่อชิงอํานาจคืน การต่อสู้ยังคงดําเนินอยู่ หาความสุขสงบมิได้จนบัดนี้

หนังสือประกอบ

วิริยปณฑิโต ภิกฺขุ (ปาง-ขัต). ปาฐกถาเรื่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในสาธารณรัฐเขมร. กรุงเทพฯ: หจก. ศิวพร, พ.ศ. ๒๕๑๔.

สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พ.ศ. ๒๔๙๘ - ๒๕๒๑), “กัมพูชา”, “เขมร”, “จัมปา", “เจนละ”.

Encyclopedia Americana. 1969 ed., s.v. “Angkor”, “Cambodia”, “Indochina”, “Southeast Asia”.

Encyclopaedia Britannica. 1968 ed., s.v. “Buddhism”, “Cambodia”, “Indian Art”.

Hall. D.G.E. A History of South-East Asia. New York: St. Martin's Press, 1970.

Harrison, Brian. South-East Asia, A Short History. London: Macmillan & Co., Ltd., 1963.

Mahasumedhadhipati, Somdech Phra (สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี). "The Governing of the Buddhist Order in Cambodia”. Visakha Puja 2519, Bangkok 1976, pp. 40-47.

Zago, Marcello. “Contemporary Khmer Buddhism”. In Buddhism in the Modern World. Edited by Heinrich Dumoulin and John C. Maraldo. New York: Macmillan Publishing Co., Inc., 1976.

๒.
พระพุทธศาสนาในเกาหลี

 

ประมาณ ๑,๖๐๐ ปีล่วงมาแล้ว เมื่อประเทศจีนแตกแยกเป็นก๊กต่างๆ รวมถึง ๑๖ แคว้น ครั้งนั้นคาบสมุทรเกาหลีประกอบด้วยอาณาจักรใหญ่ๆ ๓ แว่นแคว้น คือ โกคุริโอ ปีกเช และ ซิลลา อาณาจักรทั้งสามนี้ได้แก่งแย่งแข่งอำนาจและรบพุ่งกันเพื่อชิงความเป็นใหญ่ ในการนี้อาณาจักรโกคุริโอได้ดำเนินวิเทโศบายผูกสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรเจียนจิ้น อันเป็นหนึ่งในจำนวนอาณาจักรจีน ๑๖ แว่นแคว้น และได้รับความสนับสนุนในการรบกับแคว้นอื่น

ครั้งหนึ่ง อาณาจักรโกคุริโอ (เรียกอีกอย่างว่า โกมา) คงหวังจักกระชับสัมพันธไมตรีนั้นให้มั่นคงยิ่งขึ้น จึงได้ส่งราชทูตไปยังราชสำนักเจียนจิ้น ทูลขออาราธนาพระภิกษุสงฆ์ไปโปรดสัตว์ในอาณาจักรโกคุริโอ ท่านพระศาสนทุนซุนเตาได้เดินทางมาเผยแผ่พุทธธรรมในดินแดนที่เรียกในปัจจุบันว่า เกาหลี พร้อมด้วยพระคัมภีร์และพระพุทธรูป เป็นต้น อันเป็นวัตถุเคารพบูชาที่สำคัญของพระศาสนา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อพุทธศักราชล่วงได้ ๙๑๕ ปี นับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในเกาหลี

พุทธธรรมที่พระศาสนทูตได้นำเข้ามาเผยแผ่ได้แพร่หลายไปในหมู่ชนชาติเกาหลี และได้รับความเคารพนับถืออย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาเพียง ๒๐ ปี ก็ได้มีประจักษ์พยานแห่งการประดิษฐานมั่นคงของพระพุทธศาสนา โดยแสดงออกในรูปวัตถุ แม้เพียงในนครหลวงแห่งเดียวมีวัดพุทธศาสนาถึง ๙ วัด

เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าสู่อาณาจักรโกคุริโอได้ประมาณ ๑๓ ปีแล้ว ทางฝ่ายอาณาจักร ปีกเช (เรียกอีกอย่างว่า กุดารา) ก็ได้ต้อนรับพระภิกษุชาวอินเดียนามว่า มรนันทะ เข้าไปเผยแพร่พุทธธรรมในดินแดนของตนบ้าง พระพุทธศาสนาในอาณาจักรนี้ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างมากจนเป็นศาสนาประจำชาติ และได้ส่งพระศาสนทูตไปเผยแพร่ถึงประเทศญี่ปุ่น แต่กาลล่วงมา หลักคำสอนและการปฏิบัติได้หันเหไปกลายเป็นลัทธิแห่งแบบแผนพิธีกรรมต่างๆ ใส่ใจแต่ในการก่อสร้าง และการเผยแพร่ในดินแดนต่างถิ่น ครั้นอาณาจักรเสื่อมสลายลงในกาลต่อมา ก็คงเหลือแต่ศิลปวัตถุ เช่น พระพุทธรูป เจดีย์ และวัดวาอารามเป็นอนุสรณ์

ทางด้านอาณาจักรซิลลา (เรียกอีกอย่างว่า ชิราคิ) ผู้นำพระพุทธศาสนาเข้าไปมิใช่ผู้ปกครองบ้านเมืองเช่นกับสองอาณาจักรข้างต้น หากแต่เกิดจากความเลื่อมใสของประชาชนที่แผ่กระจายออกไปเป็นเหตุผลักดัน ตำนานกล่าวว่า พระภิกษุจีนนามว่า อาเต๋า ได้เดินทางมาจากอาณาจักรโกคุริโอและเผยแพร่พระพุทธศาสนาแก่ประชาชน เบื้องต้นผู้นับถือได้ถูกขัดขวางและบีบคั้นอย่างรุนแรง แต่ในที่สุดการใช้อำนาจก็พ่ายแพ้แก่ศรัทธาอันมั่นคง พระมหากษัตริย์ได้ตัดสินพระทัยหันมาสนับสนุนพระพุทธศาสนา จนกระทั่งถือเป็นศาสนาประจำชาติ ด้วยมองเห็นเป็นประโยชน์ในส่วนนโยบายปกครองบ้านเมือง เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองแก่ประเทศชาติ เพราะคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องให้การศึกษาแก่ประชาชน และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชน สร้างความสามัคคีพร้อมเพรียงขึ้นในชาติ

กาลต่อมา พุทธศักราชล่วงไป ๑,๒๐๐ ปี อาณาจักรซิลลาประสบชัยชนะ รวบรวมอาณาจักรทั้งสามเข้าเป็นอันเดียวกัน ข้อนี้เป็นเหตุให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างรากฐาน ที่จะยึดเหนี่ยวความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อความมั่นคงของรัฐ ด้วยให้มีภาษาพูดอันเดียวกัน และมีศาสนาสำหรับเป็นหลักศรัทธาและแนวความนึกคิดเป็นอย่างเดียวกัน แม้ภารกิจอันนี้ก็ได้อาศัยพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้เดินทางไปเยี่ยมเยียนสำนักและวัดสำคัญต่างๆ ทั่วทั้งสามอาณาจักรดั้งเดิม ได้รวบรวมนำเอาพระคัมภีร์และตำรับตำราต่างๆ มาจัดวางรูปเสียใหม่ ให้ประสานเข้าเป็นระบบแบบแผนอันเดียว

เมื่อบ้านเมืองรวมเป็นปึกแผ่นแล้ว พระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมก็รุ่งเรืองยิ่งขึ้น การศึกษาหลักธรรมแพร่หลายไปทั่ว ชาวพุทธต่างกลุ่มต่างหมู่ศึกษาธรรมจากแง่ต่างกัน ศึกษาหนักในด้านใดก็ยึดมั่นความเห็นไปในด้านนั้น เป็นเหตุให้แยกออกเป็นนิกายต่างๆ เป็นอันมาก เฉพาะที่สำคัญรวมได้ ๕ นิกาย เช่น นิกายที่ศึกษาเป็นพิเศษในเรื่องอรรถแห่งนิพพานก็แยกเป็นนิกายหนึ่ง ผู้ที่ศึกษาหนักในด้านวินัยก็แยกเป็นนิกายวินัย เป็นต้น

ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมต่างๆ ก็เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น พระภิกษุสงฆ์ได้มีส่วนในกิจการบ้านเมือง โดยช่วยเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคง ฝ่ายบ้านเมืองก็ช่วยถวายความอุปถัมภ์แก่พระภิกษุสงฆ์ เช่น ในการจารึกคัมภีร์ศาสนาเป็นจำนวนกว่าห้าหมื่นเล่ม เป็นต้น แม้การพิมพ์พระไตรปิฎก ๑๖,๐๐๐ หน้า ด้วยตัวพิมพ์ไม้แกะอันเป็นของใหม่ในประวัติศาสตร์ก็สำเร็จได้ด้วยราชูปถัมภ์ ความเจริญของพระพุทธศาสนาได้เป็นไปด้วยดี นับแต่แผ่นดินยังแยกเป็น ๓ อาณาจักร จนกระทั่งรวมกันได้ในอาณาจักรซิลลา

ต่อมาใน พ.ศ. ๑๔๗๘ อาณาจักรซิลลาพ่ายแพ้แก่หวั่งกอน ผู้ตั้งราชวงศ์ที่ซองโค (ปัจจุบันคือ กีซอง) และสถาปนาดินแดนเกาหลีในนามใหม่ว่า อาณาจักรโกริโอ (Koryo) อันเป็นที่มาแห่งคำว่า โกเรีย (Korea) หรือเกาหลีในปัจจุบัน ตลอดราชวงศ์นี้แผ่นดินไม่สู้มีความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองเท่าใด แต่กระนั้นพระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่อย่างมั่นคงตลอดเวลา ๔๕๗ ปี

เมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๑,๙๓๕ ปี แผ่นดินเกาหลีได้เปลี่ยนราชวงศ์ใหม่อีกวาระหนึ่ง ราชวงศ์โชซอนประสงค์จะเชิดชูลัทธิขงจื้อให้เป็นศาสนาประจำชาติ จึงกดขี่บีบคั้นพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จนทำให้พระสงฆ์ต้องปลีกตนหลบลี้อยู่โดยสงบตามเมืองบ้านนอก และป่าเขา ในระยะเวลานานถึง ๕๑๘ ปีของราชวงศ์นี้ ได้มีการรุกรานจากต่างประเทศคือ ชาวจีนและญี่ปุ่น แม้พระสงฆ์จะได้มีบทบาทในการป้องกันประเทศถึงกับออกช่วยรบพุ่ง และในยามสงบจะได้ช่วยเหลือในสังคมสงเคราะห์ต่างๆ เป็นการช่วยบ้านเมืองอย่างมาก แต่ก็หาได้ทำให้ราชวงศ์หันมาอุ้มชูพระศาสนาอย่างจริงจังไม่ ช่วยได้เพียงลดการบีบคั้นกดขี่ให้น้อยลงเท่านั้น ตลอดจนราชวงศ์นี้มีกษัตริย์อยู่เพียง ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าเซซอง ผู้ประดิษฐ์อักษรเกาหลี และกษัตริย์เซโจเท่านั้น ที่ได้ทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนา โดยจัดให้มีการแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาจากภาษาจีนเป็นภาษาเกาหลี กษัตริย์อื่นนอกนั้น ทั้งก่อนและภายหลัง ล้วนแต่ทรงบีบคั้นพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น พระภิกษุสงฆ์จึงเพียงแต่ทำหน้าที่รักษาหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมไว้ ให้เป็นมรดกตกทอดถึงชนรุ่นหลังเท่านั้น

ใน พ.ศ. ๒๔๕๓ แผ่นดินเกาหลีใต้ตกเป็นส่วนหนึ่งของ ประเทศญี่ปุ่น ราชวงศ์เกาหลีสิ้นอำนาจลงโดยสิ้นเชิง ญี่ปุ่นได้ออกระเบียบข้อบังคับควบคุมวัดวาอาราม และได้พยายามก่อสร้างความเสื่อมโทรมให้เกิดขึ้นแก่คณะสงฆ์ เช่น ส่งเสริมให้พระสงฆ์มีครอบครัวและดำรงชีวิตเหมือนอย่างฆราวาส ทั้งนี้เพื่อจะทำลายความรู้สึกชาตินิยมที่วัดช่วยรักษาไว้ให้หมดสิ้นไป อันเป็นนโยบายกลืนชาติอย่างหนึ่ง

ตอนปลายสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพโซเวียตและกองทัพสหรัฐฯ ได้เคลื่อนเข้ามาในดินแดนเกาหลีในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ โซเวียตเข้าทางเหนือ สหรัฐเข้าทางใต้ การปกครองของญี่ปุ่นได้สิ้นสุดลง และแผ่นดินเกาเหลีได้ถูกแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ แต่นั้นมา

ทางฝ่ายเกาหลีใต้ ทันทีที่ได้รับเอกราช ชาวพุทธโดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ก็เริ่มเคลื่อนไหวในการที่จะชำระกิจการคณะสงฆ์ให้บริสุทธิ์ พระภิกษุและภิกษุณี (เรียกตามที่ชาวเกาหลีเรียกเอง) จำนวนพันได้นัดประชุมใหญ่ และได้ลงมติที่เป็นข้อสำคัญๆ คือ ให้ยกเลิกข้อบังคับต่างๆ อันขัดแย้งต่อพระพุทธศาสนา ซึ่งได้ตราขึ้นในสมัยญี่ปุ่นยึดครองเสียทั้งหมด ให้ยกเลิกตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ รวมทั้งตำแหน่งสูงสุดที่ติดมาแต่สมัยญี่ปุ่นยึดครอง ให้ผู้ดำรงตำแหน่งเหล่านั้นลาออกทั้งหมด ให้คณะสงฆ์มีการปกครองของตนเองและมีสำนักงานอยู่ในนครหลวง ในจังหวัดต่างๆ ให้มีสภาบริหารของตนเอง ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของสำนักงานใหญ่ในพระนครหลวงอีกต่อหนึ่ง สำนักงานใหญ่นี้ได้จัดประชุมใหญ่อีกใน พ.ศ. ๒๔๘๙ และได้ตราธรรมนูญปกครองคณะสงฆ์ฉบับใหม่ขึ้น สำหรับเป็นหลักบริหารการคณะสงฆ์ทั้งปวง การชำระการคณะสงฆ์ให้บริสุทธิ์นั้นได้ทำกันอย่างเอาจริงเอาจัง กว่าจะทำให้คณะสงฆ์เกาหลีเป็นคณะสงฆ์ที่บริสุทธิ์ เป็นพระถือพรหมจรรย์ไม่มีครอบครัวได้ ก็ต้องมีการต่อสู้กัน ถึงล้มตายไปก็มี การชำระคณะสงฆ์ให้บริสุทธิ์นี้ได้กินเวลายาวนานและสำเร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๐๕

ปัจจุบัน คณะสงฆ์เกาหลีเป็นคณะสงฆ์ที่ก้าวหน้าเท่าทันต่อเหตุการณ์ ตื่นตัวในทุกด้าน พร้อมที่จะปรับปรุงตนเพื่อความเจริญมั่นคงของพระศาสนา กิจการด้านที่พระสงฆ์เกาหลีสนใจและทำกันอย่างเข้มแข็งจริงจังที่สุดนั้น ไม่มีด้านใดเกินกว่าเรื่องการศึกษา ซึ่งก็เป็นการสอดคล้องตรงกันกับฝ่ายบ้านเมือง การศึกษาภาคบังคับในเกาหลีเพิ่งมีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ แต่ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ มีสถิติคนอ่านออกเขียนได้ถึง ๙๕% มีมหาวิทยาลัยที่ประกอบด้วยคณะ ๖ คณะขึ้นไปรวม ๒๐ มหาวิทยาลัย มีวิทยาลัยต่างๆ อิสระอีก ๔๘ แห่ง ทั้งที่เกาหลีมีดินแดนเพียง ๑๔ จังหวัด มีพลเมืองสำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ประมาณ ๒๒,๕๐๐,๐๐๐ คน

มีตัวเลขสถิติเกี่ยวกับจำนวนวัด พระสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนในเกาหลีที่น่าสนใจ ดังนี้

วัดภิกษุประมาณ ๑,๔๐๐ วัด

วัดภิกษุณีประมาณ๓๐๐ วัด

รวมประมาณ ๑,๗๐๐ วัด

ภิกษุและสามเณร ๘,๙๒๕ รูป

ภิกษุณีและสามเณรี ๓,๓๒๖ รูป

รวมทั้งสิ้น ๑๒,๒๕๑ รูป

อุบาสก ๒,๖๕๘,๕๘๒ คน

อุบาสิกา ๑,๒๒๗,๙๑๐ คน

รวมทั้งสิ้น ๓,๘๘๖,๔๙๒ คน

ในจำนวนพลเมืองเกาหลี ๒๒ ล้าน ๕ แสนคนนั้น ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา และในบรรดาพุทธศาสนิกชนเหล่านี้ ผู้ที่เป็นอุบาสกอุบาสิกาหมายถึงศาสนิกชนที่มีศรัทธามาก เป็นสมาชิกแห่งองค์การพระพุทธศาสนาด้วย

การบริหารการคณะสงฆ์ของเกาหลี มีพระสังฆราชเป็นประมุขและมีระบบงานประกอบด้วยสังฆสมาคมซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้แทนพระสงฆ์ ๕๐ รูปอย่างหนึ่ง คณะกรรมาธิการสอดส่องตรวจตรารักษาระเบียบวินัยและความสงบเรียบร้อยคณะหนึ่ง และพระภิกษุผู้บริหารกิจการทั่วไปของพระศาสนา ซึ่งมีพระเถระผู้ดำรงตำแหน่งเทียบได้กับสังฆนายกเป็นประธานอีกคณะหนึ่ง

ในการบริหารการพระศาสนาทั้งปวงนี้ คณะสงฆ์มีวัดที่เป็นสำนักงานใหญ่รวมไว้ในที่เดียว คือ วัดโชเคซา พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งบริหารแต่เดิมจะอยู่วัดใดก็ตาม เมื่อได้เป็นพระสังฆนายกและสังฆมนตรีแล้ว จะต้องย้ายมาอยู่ประจำสำนักงาน ณ วัดโชเคซา นี้ทั้งหมด

ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชจัดเป็นตำแหน่งพิเศษ เป็นประมุขที่เคารพบูชาของชาวพุทธ มิได้มีหน้าที่บริหารงานโดยตรง ทรงมีสิทธิพิเศษจะประทับ ณ วัดใดก็ได้ และจะทรงย้ายไปประทับ ณ วัดใดเมื่อใดก็ได้ตามพระประสงค์ ไม่ถือว่าทรงสังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ สมเด็จพระสังฆราชลีชุงดัม ประทับ ณ วัดโทเซิ่น อยู่บนภูเขาในกรุงโซล มีทางเดินจากเชิงเขาขึ้นไปถึงวัดยาว ๒ กิโลเมตร

ในด้านการปกครองภิกษุณี แต่ละวัดมีภิกษุณีเจ้าอาวาส และเจ้าอาวาสทุกวัดขึ้นต่อองค์การปกครองของคณะสงฆ์ทั้งหมด โดยนัยนี้ การปกครองทั้งฝ่ายภิกษุและฝ่ายภิกษุณีจึงรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ในด้านการศึกษา นอกจากมีโรงเรียนปริยัติธรรมสำหรับสอนพระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร และสามเณรีแล้ว คณะสงฆ์เกาหลียังมีสถานศึกษาฝ่ายสามัญระดับต่างๆ ที่เปิดรับนักศึกษาชายหญิงโดยทั่วไปด้วย สถาบันเหล่านี้มีคฤหัสถ์เป็นผู้บริหาร แต่อยู่ในความควบคุมดูแลของคณะกรรมาธิการฝ่ายการศึกษาของคณะในความควบคุมดูแลของคณะกรรมาธิการฝ่ายการศึกษาของคณะสงฆ์ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ สถานศึกษาเหล่านี้แยกประเภทได้ดังนี้

มหาวิทยาลัยและวิทยาลัย ๓ แห่ง

โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ๑๑ แห่ง

โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ๑๖ แห่ง

โรงเรียนประถมศึกษา ๓ แห่ง

โรงเรียนอนุบาล ๗ แห่ง

มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาอันเก่าแก่ของเกาหลี มีชื่อว่า “ดงกุก” ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ ปัจจุบันมีนักศึกษาชายหญิงประมาณ ๖,๐๐๐ คนเศษ มีภิกษุสามเณรศึกษาอยู่ (โดยเฉพาะในวิทยาลัยพุทธศาสนา) ประมาณ ๖๐ รูป ภิกษุณี ๗ รูป มหาวิทยาลัยดงกุกประกอบด้วยวิทยาลัยต่างๆ ๖ วิทยาลัย และมีสาขาวิชา ๒๗ สาขา

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ คณะสงฆ์เกาหลีได้เริ่มตั้งโครงการแปลและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับเกาหลี เรียก “ศูนย์แปลพระไตรปิฎกเกาหลี" อยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยดงกุก มีคณะกรรมการแปล ๖๕ คน ตามโครงการนี้จะตีพิมพ์พระไตรปิฎกแปลเป็นเล่ม ออกเดือนละ ๑ เล่ม รวมทั้งสิ้น ๒๔๐ เล่ม ภายในเวลาทั้งหมดประมาณ ๔๕ ปี

ปัจจุบันพระพุทธศาสนาในเกาหลีเป็นแบบนิกายเซน เจือด้วยความเชื่อในพระอมิตาภะพุทธเจ้าบ้าง พระเมตไตรยโพธิสัตว์บ้าง.

๓.
พระพุทธศาสนาในจีน

 

ตามตำนานฝ่ายจีนเล่าไว้ว่า พระพุทธศาสนาได้เผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศจีนตั้งแต่ ๒๑๗ ปีก่อน ค.ศ. (คือราว พ.ศ. ๓๒๖) แต่ตามที่ปรากฏหลักฐานในทางราชการ ค้นได้ว่าเมื่อ ค.ศ. ๖๕ (พ.ศ. ๖๐๘) พระจักรพรรดิมิ่งตี่ แห่งราชวงศ์ฮั่น ทรงส่งคณะทูต ๑๘ คนไปสืบศาสนา ณ เมืองโขตาน (ปัจจุบันอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลซินเกียงในประเทศจีน ในสมัยโบราณ โขตานเคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอินเดีย และพระพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่โขตานตั้งแต่ ๒๑๗ ปี ก่อนคริสต์ศักราช) หลังจากนั้น ๒ ปี คณะทูตก็ได้กลับมายังประเทศจีน พร้อมด้วยพระภิกษุ ๒ รูป คือ พระกาศยปะมาตังคะ กับ พระธรรมรักษะ และ คัมภีร์พระพุทธศาสนาส่วนหนึ่ง พระภิกษุทั้ง ๒ รูปได้มาพำนักอยู่ ณ วัดม้าขาว แห่งนครโลยาง (ลกเอี๋ยง) และได้แปลพระคัมภีร์เป็นภาษาจีนหลายคัมภีร์

ในสมัยราชวงศ์ฮั่น นับแต่นั้นมา (ค.ศ. ๖๕ - ๒๒๐) แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะได้รับความเคารพเลื่อมใสและการอุปถัมภ์บำรุง แต่ก็ยังเสียเปรียบและถูกต่อต้านจากอิทธิพลของลัทธิศาสนาเดิมของจีน (คือ ขงจื้อและเต๋า) จนกระทั่งถึงปลายราชวงศ์นี้ จึงมีปราชญ์ผู้สามารถ เช่น โม่วจื้อ แสดงหลักธรรมของพระพุทธศาสนาให้เห็นความลึกซึ้งจริงแท้เหนือกว่าลัทธิศาสนาเดิมของถิ่น กับได้อาศัยความประพฤติอันบริสุทธิ์ของพระสงฆ์เป็นเครื่องจูงศรัทธา พระพุทธศาสนาก็ได้รับความนิยมเลื่อมใสยิ่งกว่าลัทธิศาสนาอื่นๆ ครั้นถึงสมัยราชวงศ์เว (หรือ วุยก๊กในสมัยสามก๊ก) ในคริสต์ศตวรรษที่ ๔ พระพุทธศาสนาก็ได้เป็นศาสนาประจำชาติของจีน ตั้งแต่รัชกาลของพระจักรพรรดิพระองค์แรก ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๔ และ ๕ นี่เอง พระภิกษุผู้ทรงเกียรติคุณเป็นปราชญ์หลายท่าน เช่น กุมารชีวะ เป็นต้น ได้เดินทางเข้ามาจากอาเซียกลางและอินเดีย ช่วยแปลพระคัมภีร์ รจนาอรรถกถา และเผยแพร่สั่งสอนธรรมแก่ประชาชนอย่างแพร่หลายกว้างขวาง ลัทธิอมิตาภะก็ได้เข้ามาเผยแพร่ในสมัยนี้ด้วย

เหตุการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่งคือ พระโพธิธรรม ได้นำพระพุทธศาสนานิกาย ฉาน (บาลีว่า ฌาน, สํสกฤตว่า ธยาน, ญี่ปุ่นว่า เซน) เข้ามาเผยแพร่เมื่อประมาณ ค.ศ. ๕๒๖

พระพุทธศาสนาในประเทศจีนได้เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก โดยได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากราชวงศ์ถังและราชวงศ์ต่อๆ มาโดยลำดับ แต่ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ได้มีผู้นำลัทธิลามะ (พระพุทธศาสนานิกายหนึ่งแบบในทิเบต) เข้ามาเผยแพร่ในจีนเหนือ และทางฝ่ายอาณาจักรได้สนับสนุนลัทธินั้น ต่อนั้นมาพิธีกรรมต่างๆ ก็เจริญแพร่หลายออกหน้า ส่วนศาสนธรรมที่แท้ก็เลือนรางจืดจางไปจากความสนใจ

 

ลำดับเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาในประเทศจีน

๑. สมัยราชวงศ์ฮั่น (พ.ศ. ๓๔๒ - ๗๖๓)

พ.ศ. ๔๒๓

พระเจ้าบู่ตี่ ทรงได้รับรายงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในอาณาจักรกุษาณ (อินเดียตะวันตกเฉียงเหนือ)

พ.ศ. ๖๐๘

พระเจ้ามิ่งตี่ หรือ เม่งตี่ ทรงส่งทูต ๑๘ คนไปสืบศาสนาในปัจจิมทิศ ทูตกลับมาพร้อมด้วย พระกาศยปะมาตังคะ ใน พ.ศ. ๖๑๐ ทรงสร้างวัดถวายชื่อวัดแปะเบ๊ยี่ (วัดม้าขาว) พระกาศยปะมาตังคะ แปล “พระสูตรพุทธวจนะ ๔๒ บท” เป็นสูตรแรก

พ.ศ. ๖๙๘

พระเจ้าฮ่วงตี่ โปรดให้หล่อพระพุทธรูปครั้งแรก (เป็นพระพุทธรูปทองแดง)

พ.ศ. ๗๓๔

ในสมัย พระเจ้าเฮี่ยนตี่ พระพุทธศาสนาเริ่มแพร่หลายเข้าสู่ภาคใต้ของจีน และมีปราชญ์ชื่อ โม่วจื้อ เขียนคำบรรยายแสดงหลักธรรมเปรียบเทียบกับลัทธิเต๋า เป็นข้อเขียนแสดงหลักธรรมเรื่องแรกของชาวจีน

 

๒. สมัยสามก๊ก (พ.ศ. ๗๖๓ - ๘๐๘)

พ.ศ. ๘๐๐

ในรัชกาล พระเจ้าฮุ่ยตี่ มีการแปลคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร ในปีต่อมา (๘๐๑) มีการอุปสมบทพระภิกษุจีนรูปแรก (ก่อนหน้านี้ราชการห้ามชาวจีนอุปสมบท พระเจ้าโจผี เป็นผู้ทรงยกเลิกข้อห้ามนี้)

 

๓. สมัยราชวงศ์จิ้น (พ.ศ. ๘๐๘ - ๙๖๓)

พ.ศ. ๘๕๓

ในรัชกาล พระเจ้าไว่ตี่ มีพระภิกษุชาวอาเซียกลางชื่อโฟเถอเตง จาริกมายังนครโลยาง นำหลักธรรมนิกายมนตรยานเข้ามาเผยแพร่ และมีการบวชภิกษุณีรูปแรกของจีน

พ.ศ. ๙๑๕

ในรัชกาล พระเจ้าเฮาบูตี่ ประเทศเกาหลีส่งทูตมาขอพระพุทธรูปและพระคัมภีร์ เป็นแรกเริ่มที่พระพุทธศาสนาแพร่เข้าสู่เกาหลี

พ.ศ. ๙๓๔

มีพระภิกษุชื่อ ฮุ่ยเอี้ยง เริ่มประกาศหลักธรรมในนิกายสุขาวดี ณ ภูเขาโลซาน

พ.ศ. ๙๔๒

ในรัชกาล พระเจ้าอ่านตี่ หลวงจีนฟาเหียน (ฮวบเฮี้ยน) ออกจาริกไปสืบศาสนาในชมพูทวีป

พ.ศ. ๙๔๔

พระกุมารชีวะ จากแคว้นกุฉะหรือกูจา มาถึงนครเชียงอาน ปฏิบัติศาสนกิจอยู่จนถึงมรณภาพ ใน พ.ศ. ๙๕๖

๔. สมัยราชวงศ์เหนือและใต้ (พ.ศ. ๙๖๓ - ๑๑๒๔)

ประกอบด้วยราชวงศ์ สุง หรือ ส่อง ชี้ เลี้ยง และ ตั้น ในภาคใต้ กับเผ่าทั้ง ๕ ในภาคเหนือ

พ.ศ. ๙๖๒ - ๙๙๐

ในระหว่างการรุกรบโจมตีระหว่างแคว้น ได้มีการประหารพระสงฆ์ ทำลายพระพุทธรูปและพระคัมภีร์อย่างร้ายแรงหลายครั้ง เริ่มแต่ที่นครเชียงอานเป็นต้นไป

พ.ศ. ๙๘๔

มีอุบาสกเผาตนเป็นพุทธบูชาครั้งแรก

อนึ่ง นับแต่ พ.ศ. ๙๔๕ เป็นต้นมา ได้มีการตั้งพระสงฆ์ให้มีตำแหน่งในทางราชการ เป็นเหตุให้พระสงฆ์เข้ายุ่งเกี่ยวพัวพันกับกิจการบ้านเมืองไปด้วย

พ.ศ. ๑๐๓๘

รัชกาลพระเจ้าเม่งตี่ มีการสร้างถ้ำพระพุทธรูป โดยสลักภูเขาทั้งลูกเป็นถ้ำ ทำเป็นพระพุทธรูปและเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา เป็นแบบฉบับของพุทธศิลป์ต่อมา

พ.ศ. ๑๐๕๓

ในรัชกาล พระเจ้าบู่ตี่ ได้สถิติตามการสำรวจว่ามีวัด ๑๓,๐๐๐ วัดเศษ ในนครโลยาง มีภิกษุและภิกษุณี ๒,๐๐๐,๐๐๐ รูปเศษ พระชาวต่างประเทศ ๓,๐๐๐ รูปเศษ

พ.ศ. ๑๐๕๕

พระเจ้าบู่ตี่ ทรงเสวยเจและขอให้พระสงฆ์เลิกฉันเนื้อสัตว์ ทำให้เกิดประเพณีพระสงฆ์จีนถือมังสวิรัติจนถึงทุกวันนี้

พระเจ้าบู่ตี่ ซึ่งครองราชย์แต่ พ.ศ. ๑๐๔๖ ถึง ๑๐๙๒ ทรงมีพระราชศรัทธาในพระศาสนาอย่างแรงกล้า และทรงพยายามดำเนินนโยบายทำนุบำรุงพระศาสนาอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช ทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาเจริญก้าวหน้า มีการก่อสร้างวัดวาอารามที่สวยงามใหญ่โต และเกิดประเพณีทางพุทธศาสนาแบบจีนหลายอย่าง

พ.ศ. ๑๐๖๓ หรือ ๑๐๖๙

พระโพธิธรรม จาริกจากอินเดีย ถึงนครโลยางแล้วขึ้นไปอยู่จำพรรษาในภาคเหนือ ตั้งพุทธศาสนานิกาย ฉาน หรือ ธยาน (ญี่ปุ่นเรียก เซน) และเป็นปฐมประมุขแห่งนิกายนั้น

พ.ศ. ๑๐๙๖

ในรัชกาลพระเจ้าง่วนตี่ พระภิกษุอินเดียชื่อปรมิตร จาริกมาเผยแพร่นิกายธรรมลักษณ์ และในระยะเดียวกัน พระพุทธศาสนาได้แพร่จากเกาหลีเข้าสู่ญี่ปุ่น

พ.ศ. ๑๑๑๘ - ๑๑๒๓

รัชกาลพระเจ้าซวนตี่ เป็นระยะเวลาแห่งการทำลายล้างพระพุทธศาสนา เริ่มแต่ในแคว้นจิว ให้ยกเลิกพระพุทธศาสนาและลัทธิเต๋า ต่อมาแคว้นจิวยกทัพเข้ามาโจมตีแคว้นชี้ได้ แล้วทำลายพระพุทธศาสนา ด้วยการบังคับให้พระสงฆ์ลาสิกขา ๒,๐๐๐,๐๐๐ รูป ยึดวัด ๔๐,๐๐๐ วัด ทำลายพระพุทธรูป เอาทองคำและทองแดงไปทำทองแท่งและเหรียญกษาปณ์ ท้ายสุดจึงอนุญาตให้มีการนับถือพระพุทธศาสนาและลัทธิเต๋าใหม่อีก แต่ให้ถือภิกษุเป็นโพธิสัตว์แต่งตัวอย่างสามัญชน ไม่ต้องครองจีวร

กล่าวโดยสรุป ระยะเวลาประมาณ ๓๖๐ ปีที่ประเทศมีแต่ความแตกแยกระส่ำระสาย รบราฆ่าฟันกัน นับแต่สิ้นราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมานี้ กลับเป็นระยะเวลาที่พระพุทธศาสนาเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยทำหน้าที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และเสริมสร้างศิลปวัฒนธรรมของจีน ตลอดจนคงเป็นพลังช่วยให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติในที่สุด ดังจะเห็นได้ในสมัยต่อไป

 

๕. สมัยราชวงศ์ซุย (พ.ศ. ๑๑๒๔ - ๑๑๖๑)

พ.ศ. ๑๑๒๔

พระเจ้าบุ่นตี่ ทรงรวบรวมประเทศจีนทั้งภาคเหนือและภาคใต้ทั้งหมดเข้าได้เป็นอันเดียวกัน พระองค์มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ครั้นขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ได้ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา โปรดให้พระสงฆ์กลับครองจีวรตามเดิม ทรงแต่งตั้งประมุขสงฆ์ และโปรดให้สร้างวัดขึ้นใหม่ทั่วประเทศโดยเฉพาะ ณ ภูเขาแห่งที่สวยงาม กับให้มีที่นาประจำสำหรับบำรุงวัด ให้ทำสารบาญรายชื่อพระสูตรรวบรวมพระไตรปิฎกขึ้นให้เรียบร้อย

 

๖. สมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑ - ๑๔๕๐)

พ.ศ. ๑๑๖๓

พระเจ้าเกาโจ มีพระบรมราชโองการกำหนดเดือน ๑ เดือน ๕ เดือน ๙ ตลอดเดือนและวันที่ ๑, ๘, ๑๔-๑๕, ๑๘, ๒๓-๒๔, ๒๘-๒๙-๓๐ ของทุกเดือนเป็นวันอุโบสถ ห้ามการประหารชีวิต ตกปลา ล่าสัตว์ ตามวินัยของมหายาน ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติธรรมของชาวพุทธจีนมาจนปัจจุบัน และในปีต่อมาก็ได้ทรงสละพระราชวังเดิมให้เป็นวัด

พ.ศ. ๑๑๗๒

ในรัชกาลพระเจ้าถังไทจง พระถังซัมจั๋ง (บางทีเรียก หลวงจีนเหี้ยนจัง หรือยวนฉาง) ออกจาริกไปสืบศาสนาในชมพูทวีป กลับมาถึงจีนใน พ.ศ. ๑๑๘๘ ทรงอาราธนาให้สถิต ณ เมืองโลยาง ทรงอุปถัมภ์ในการแปลพระสูตรมากมายที่นำมาจากอินเดีย พระถังซัมจั๋งได้เขียนบันทึกการเดินทางชื่อ “บันทึกแคว้นตะวันตก” ไว้ อันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างมากมาย และได้ปฏิบัติศาสนกิจต่อมาจนถึงมรณภาพใน พ.ศ. ๑๒๐๘ ในรัชกาลพระเจ้าเกาจง

พ.ศ. ๑๑๘๕

พระเจ้าถังไทจง โปรดเกล้าฯ ยกพระราชธิดาบุ่นเซ้ง ให้อภิเษกสมรสกับกษัตริย์ทิเบต เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาแพร่เข้าสู่ประเทศทิเบต พระนางบุ่นเซ้งทรงริเริ่มสร้างอักษรทิเบตขึ้นตามแบบอักษรอินเดียที่ใช้เขียนภาษาสันสกฤต และทรงสร้างสรรค์ความเจริญแก่ทิเบตเป็นอันมาก จนชาวทิเบตยกย่องเป็นพระแม่เจ้าตราบถึงปัจจุบัน

พ.ศ. ๑๒๑๔

ในรัชกาลพระเจ้าเกาจง หลวงจีนเต่าซวนผู้ริเริ่มนิกายวินัย ได้ถึงมรณภาพและในปีเดียวกัน หลวงจีนอี้จิง (งี่เจ๋ง) ออกจาริกไปอินเดีย และพักที่สุมาตราหลายปี กลับถึงจีนใน พ.ศ. ๑๒๓๘ พระนางบูเจ็กเทียน เสด็จไปรับถึงนอกประตูวัง หลวงจีนอี้จิงพูดได้หลายภาษา แปลคัมภีร์พระวินัยและพระสูตร และประพันธ์หนังสือเรื่อง “ประวัติสงฆ์จีนจาริกไปอินเดีย” และ “พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาในเกาะแถบทะเลใต้” ท่านถึงมรณภาพใน พ.ศ. ๑๒๕๕

พ.ศ. ๑๒๑๘

หลวงจีนเว่ยหล่างหรือฮุยเหนิง ได้รับตำแหน่งเป็นประมุของค์ที่ ๖ ของนิกายเซน และถึงมรณภาพใน พ.ศ. ๑๒๕๕ (ปีเดียวกับหลวงจีนอี้จิง)

พ.ศ. ๑๒๕๒

พระเจ้าตงจง โปรดให้มีการสอบคัดเลือกผู้ที่จะบวชเป็นครั้งแรก และต่อมาใน พ.ศ. ๑๒๕๘ พระเจ้าเฮียนจงก็โปรดให้พระที่ไม่ศึกษาปริยัติธรรมลาสิกขา ๑๒,๐๐๐ รูป เพราะมีผู้บวชเพื่อหลีกเลี่ยงการงานมาก และทรงห้ามการสร้างวัดหล่อพระพุทธรูปและคัดพิมพ์พระสูตรโดยไม่ได้รับอนุญาต (ต่อมาใน พ.ศ. ๑๓๐๒ ผู้จะบวชจะต้องสวดพระสูตรได้ ๑,๐๐๐ หน้า หรือเสียค่าบวชให้หลวง ๑๐๐,๐๐๐ อีแปะ)

พ.ศ. ๑๒๖๐

โปรดให้ต้อนรับ พระศุภกรสิงห์ แห่งนิกายมนตรยาน ซึ่งจาริกมาจากอินเดีย เข้ามาพำนักในพระราชวัง ทรงแต่งตั้งเป็นประมุขสงฆ์ หลังจากนี้ก็มีพระวัชรโพธิ และพระอโมฆวัชระ เป็นกำลังสืบงานเผยแพร่ต่อมาอีก เป็นเหตุให้นิกายมนตรยานเริ่มเจริญแพร่หลาย

พ.ศ. ๑๓๗๔

ในรัชกาลพระเจ้าบุ่นจง มีเหตุการณ์น่าสนใจคือ มีรับสั่งให้ภิกษุและภิกษุณีที่บวชโดยไม่ได้รับอนุญาตจากราชการยื่นคำขอใหม่ ในการนั้นมีผู้ยื่นคำขอถึง ๗๐๐,๐๐๐ รูปเศษ และต่อมาใน พ.ศ. ๑๓๘๑ โปรดให้ทุกวัดมีโบสถ์บูชาพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นประเพณีมาจนบัดนี้

พ.ศ. ๑๓๘๕

ได้เริ่มมีการทำลายล้างพระพุทธศาสนา โดย พระเจ้าบู่จง ผู้ทรงเลื่อมใสลัทธิเต๋า ทรงแต่งตั้งนักบวชเต๋าเป็นเสนาบดี แล้ววางแผนทำลาย โดยเริ่มให้มีการโต้วาทะหน้าพระที่นั่งระหว่างพระภิกษุกับนักบวชเต๋า ใน พ.ศ. ๑๓๘๙ แต่ฝ่ายเต๋าปราชัย ไม่สมพระทัยจึงทรงจัดการเองโดยพลการ คือ ให้ภิกษุและภิกษุณีลาสิกขา ๒๖๐,๐๐๐ รูป ริบที่ดินของสงฆ์ ยุบวัด หลอมพระพุทธรูป เผาคัมภีร์ เป็นต้น เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมแต่นั้นมาอีกหลายร้อยปี (การทำลายล้างหยุดเมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน โดยใน พ.ศ. ๑๓๙๑ พระเจ้าซวนจงทรงห้ามการทำลายวัด นำประมุขลัทธิเต๋ากับพวกก่อการไปประหารชีวิต และให้มีการบวชพระได้อีกโดยสอบความรู้ ออกบัตรอนุญาตอุปสมบทให้ และให้มีการปฏิสังขรณ์วัดเฉพาะวัดใหญ่ๆ)

 

๗. สมัยห้าราชวงศ์ หรือ หงอโต้ว (พ.ศ. ๑๔๕๐ - ๑๕๐๓)

พ.ศ. ๑๔๕๙

มีพระรูปหนึ่ง ลักษณะอ้วนร่าเริงจาริกเผยแพร่พระศาสนา ครั้นถึงมรณภาพมีผู้เชื่อว่าท่านเป็น พระเมตไตรย์โพธิสัตว์ ทำให้เกิดความนิยมสร้างรูปของท่านเป็น พระอ้วน สมบูรณ์ ร่าเริง ถือถุงย่ามใบหนึ่ง ไว้ที่หน้าวัดจีน ถือเป็นพระที่ให้ความสุข ความมั่งมี และให้บุตร

พ.ศ. ๑๔๙๙

มีการทำลายพระพุทธศาสนาครั้งใหญ่อีก โดย พระเจ้าซีจง แห่งแคว้นจิว ทรงกวดขันการบวช ยึดและยุบวัดที่ไม่มีพระบรมราชโองการให้สร้าง หลอมพระพุทธรูปตามวัดเอาไปทำเงินตรา และบังคับราษฎรให้ขายพระพุทธรูปและเครื่องบูชาที่เป็นทองแดงให้แก่ราชการทั้งหมด

๘. สมัยราชวงศ์สุง หรือ ซ้อง (พ.ศ. ๑๕๐๓ - ๑๘๒๓)

พ.ศ. ๑๕๐๔

พระเจ้าเกาโจ้ว เริ่มทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา เช่น โปรดให้สร้างวัด ณ สถานที่ที่เคยมีการรบใหญ่ ทรงส่งราชทูตไปอาราธนาพระสูตรจากเกาหลีและอินเดีย และใน พ.ศ. ๑๕๑๖ โปรดให้แกะไม้แผ่นพิมพ์พระไตรปิฎกรวม ๑๓๐,๐๐๐ แผ่น หลังจากนั้นมาได้มีผู้มีคุณสมบัติบวชมากขึ้น การศึกษาธรรมวินัยเจริญขึ้น มีพระจาริกมาจากอินเดีย และพระจีนจาริกไปอินเดียมากขึ้น ปรับปรุงประเพณีพิธีกรรม และส่งเสริมการปฏิบัติธรรม ปรากฏว่า ใน พ.ศ. ๑๕๗๘ (รัชกาลพระเจ้ายินจง) มีภิกษุ ๓๘๐,๐๐๐ รูป ภิกษุณี ๔๘,๐๐๐ รูป

พ.ศ. ๑๖๑๒

ราชการเริ่มหารายได้จากการบวชพระ โดยการขายบัตรอุปสมบท ทำให้การบวชเป็นการซื้อขาย คนมีศรัทธาแต่ไม่มีเงินไม่มีโอกาสบวช เป็นเหตุหนึ่งแห่งความเสื่อมของการศึกษาธรรมวินัย ต่อมาใน พ.ศ. ๑๖๘๙ ถึงกับให้พระภิกษุต้องเสียภาษีทุกรูป เว้นแต่อายุครบ ๖๐ ปีหรือพิการ และใน พ.ศ. ๑๖๙๕ ก็ให้นำผลประโยชน์จากที่นาสวนของวัดไปบำรุงโรงเรียนหลวงแทน

พ.ศ. ๑๖๖๑

พระเจ้าฮุยจง ทรงเลื่อมใสลัทธิเต๋ามาก และทรงบีบคั้นพระพุทธศาสนา โปรดให้ทุกอำเภอมีศาลเจ้าของเต๋า เปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาให้เข้าลัทธิเต๋า เช่น เรียกพระนามพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ เป็น "เซียน” เปลี่ยนชื่อวัดเป็นศาลเจ้า ถวายเครื่องครองพระพุทธรูปเป็นแบบเต๋า เป็นต้น จนถึง พ.ศ. ๑๖๖๕ จึงโปรดให้พระพุทธศาสนาคืนสู่ฐานะเดิม คืนนาสวนที่ยึดไปให้แก่วัด และในที่สุด พ.ศ. ๑๖๖๘ ก็ให้เลิกนับถือลัทธิเต๋า

พ.ศ. ๑๖๘๗

ในรัชกาลพระเจ้าเกาจง พระฮวบฮุ้น เรียบเรียงหนังสือ "ศัพท์พุทธศาสนา” ขึ้น เป็นประโยชน์ในการศึกษามาก และใช้กันแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน (ก่อนหน้านี้เคยมีพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิเรียบเรียงหนังสือสำคัญคล้ายกันขึ้นมาแล้วหลายคราว เรียกชื่อว่า “การออกเสียงและความหมายของศัพท์ในพระไตรปิฎก” คือ ใน พ.ศ. ๑๓๕๑ จำนวน ๑๐๓ เล่ม ใน พ.ศ. ๑๔๘๓ จำนวน ๔๘๐ เล่ม และใน พ.ศ. ๑๕๑๒ เรียก “ศัพท์ในพระไตรปิฎก” ๖๖๐ เล่ม)

โดยสรุป ในราชวงศ์นี้ กษัตริย์และนักปราชญ์ราชบัณฑิตมีศรัทธาในพระศาสนาดี พระพุทธศาสนาฟื้นฟูขึ้นมาพอสมควร แต่เพราะราชการมัวพะวงกับการหารายได้แม้จากวัด เพื่อใช้ในการป้องกันราชวงศ์จากอริราชศัตรู ความเจริญจึงไม่มีเท่าที่ควร

 

๙. สมัยราชวงศ์หงวน หรือ หยวน (พ.ศ. ๑๘๒๓ - ๑๙๑๑)

พ.ศ. ๑๘๐๒ - ๑๘๓๗

รัชกาลพระเจ้าซีโจ้ว หรือ กุบไลข่าน ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา เช่น โปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกขึ้นใหม่ ยกเลิกเก็บภาษีวัด เป็นต้น โดยเฉพาะทรงส่งเสริมพระลามะเป็นพิเศษ โดยมุ่งผลทางการปกครองเป็นสำคัญ จึงไม่สู้เป็นผลดีแก่พระศาสนาเท่าใดนัก แม้กษัตริย์พระองค์ต่อๆ มาในราชวงศ์หงวน ก็ยึดถือนโยบายอย่างนี้

 

๑๐. สมัยราชวงศ์หมิง หรือ เหม็ง (พ.ศ. ๑๙๑๑ - ๒๑๘๗)

พ.ศ. ๑๙๑๑ - ๑๙๔๓

รัชกาลพระเจ้าไท่โจ้ว หรือ ฮุ่งวู หรือ ฮั่งบู๊ พระมหากษัตริย์เคยผนวชมาก่อน จึงทรงอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาให้กลับเจริญมั่นคงขึ้นอีกมาก

พ.ศ. ๒๐๖๙ - ๒๑๐๙

รัชกาลพระเจ้าซีจง กษัตริย์องค์นี้เลื่อมใสลัทธิเต๋ามาก และเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาจึงถูกทำลายครั้งใหญ่อีก เริ่มแต่ทำลายพระพุทธรูป ทำลายวัด ให้นักบวชเต๋าเข้าอยู่ในวัด วัดถูกแปลงเป็นสำนักเต๋า ภิกษุครองจีวรแบบเต๋า พิธีกรรมพุทธกับเต๋าปะปนกันไปหมด

พ.ศ. ๒๑๔๔ - ๒๑๘๖

คริสต์ศาสนาซึ่งเริ่มเข้ามาเผยแพร่ที่มาเก๊า ตั้งแต่ขึ้นต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในราชสำนัก และได้ช่วยถ่ายทอดวิชาการสมัยใหม่แก่จีน ในสมัยราชวงศ์เช็งต่อไปเป็นอันมาก

 

๑๑. สมัยราชวงศ์ชิง หรือ เช็ง (พ.ศ. ๒๑๘๗ - ๒๔๕๕)

พ.ศ. ๒๑๘๗ - ๒๓๓๘

เมื่อราชวงศ์เช็ง ซึ่งเป็นเผ่าแมนจู ขึ้นครองมหาอาณาจักรจีน ก็ได้บังคับให้ประชาชนไว้ผมเปีย แทนไว้ผมยาว และให้แต่งกายแบบแมนจู มีชาวจีนที่ขัดขืนถูกประหารชีวิตไปนับล้าน ในครึ่งแรกของราชวงศ์นี้ มีกษัตริย์ยิ่งด้วยบุญญาธิการ ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าคังฮี และ พระเจ้าเคียงล้ง ทรงเป็นนักรบที่เก่งกาจ เป็นนักปกครองที่สามารถ ส่งเสริมวรรณกรรมการศึกษา วิชาการต่างๆ แต่ในทางพระพุทธศาสนา กลับทรงกวดขันการบวช ต้องให้ได้รับอนุญาตจากทางการก่อน ห้ามสร้างวัดใหม่หรือขยายเขตวัดเก่า ส่วนในทางวิชาการทรงช่วยสนับสนุนบ้าง เช่น ให้รวบรวมพระไตรปิฎกถวายวัดทุกวัด ให้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาแมนจูเรีย ทรงอุปถัมภ์บำรุงเฉพาะพระลามะเท่านั้น

พ.ศ. ๒๓๙๗

เกิดขบถผมยาวของพวกนับถือคริสต์ศาสนานานถึง ๑๕ ปี ทำให้วัดและพระคัมภีร์ในภาคใต้ถูกทำลายเกือบหมดสิ้น

พ.ศ. ๒๔๐๙ - ๒๔๕๕

ข้าราชการผู้ใหญ่คนหนึ่งชื่อ ยางวานฮุย ได้ขวนขวายฟื้นฟูการศึกษาพุทธศาสนา และเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปยังต่างประเทศ ช่วยให้สถานการณ์พระพุทธศาสนาซึ่งกำลังเสื่อมโทรมดีขึ้นบ้าง

พ.ศ. ๒๔๔๗

ราชการปรับปรุงระบบการปกครองใหม่ตามแบบตะวันตก ให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง ทำให้คนที่คิดร้ายได้โอกาสเข้ายึดวัดและนาสวน โดยอ้างว่าจะดัดแปลงเป็นโรงเรียน วัดถูกทำลายไปมากมาย

พ.ศ. ๒๔๕๑

มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และเป็นปีเดียวกับที่ พระเจ้ากวงซู้ และ พระนางซูสีไทเฮา เสด็จสวรรคต

โดยสรุป พระพุทธศาสนาในจีนเจริญถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์ถัง หลังจากนั้นก็เสื่อมโทรมลง กลับฟื้นฟูทรงตัวขึ้นได้ในสมัยราชวงศ์สุง หรือ ซ้อง ก็เสื่อมโทรมลงอีกนับแต่สมัยราชวงศ์หงวนของมงโกลเป็นต้นมา มีแต่พระเจ้าไท่โจ้ว ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เหม็งองค์เดียว ที่บำรุงพระพุทธศาสนาจริงจัง เพราะเคยผนวชมาก่อน นอกนั้น ยกย่องพระพุทธศาสนาบางคราวเพียงเพื่อผลในการปกครอง โดยเฉพาะเอาใจพระลามะเพื่อครอบครองทิเบตไว้โดยง่าย เป็นเหตุให้การศึกษาธรรมวินัยเสื่อมโทรมอย่างยิ่ง มีแต่ความเชื่อถือทางไสยศาสตร์และพิธีกรรมอ้อนวอน หนำซ้ำกษัตริย์บางองค์ยังเลื่อมใสลัทธิเต๋าแล้วทำลายพระพุทธศาสนาอีก พระพุทธศาสนาเสื่อมถึงขั้นที่วัดใหญ่พระต้องทำนาและอาศัยค่าเช่านาเป็นอยู่ ส่วนวัดเล็กก็อาศัยการให้เช่ากุฏิบ้าง ประกอบพิธีกงเต๊กบ้าง ไม่มีกำลังบำรุงให้ศึกษาธรรมวินัยได้ จนถึงปลายราชวงศ์เช็ง จึงมีข้าราชการบางท่านช่วยฟื้นฟูประคับประคองไว้บางส่วน

๑๒. สมัยสาธารณรัฐ (พ.ศ. ๒๔๕๕ เป็นต้นมา)

พ.ศ. ๒๔๕๕

กษัตริย์แมนจูองค์สุดท้ายซึ่งยังเป็นพระกุมารสละราชสมบัติ จีนประกาศตั้งเป็น สาธารณรัฐตงฮั้ว หรือ สาธารณรัฐจีน

พ.ศ. ๒๔๖๕

เฟงยูเซียง ผู้นับถือคริสต์ศาสนาและมีสมญาว่า “นายพลคริสต์” ได้เป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลโฮนาน ท่านผู้นี้ได้สั่งทำลายวัดพระพุทธศาสนาและสำนักเต๋าในโฮนานลงทั้งหมด วัดแปะเบ๊ยี่ ที่สร้างครั้งพระพุทธศาสนาแรกเข้าสู่ประเทศจีน ก็ได้ถูกทำลายลงในครั้งนี้ด้วย

กล่าวโดยสรุป สถานการณ์พระพุทธศาสนานับแต่ตั้งสาธารณรัฐจีนจนตลอดสมัยก๊กมินตั๋งหรือจีนคณะชาติ ไม่ดีขึ้นกว่าสมัยราชวงศ์เช็งของแมนจู แม้ว่าจะมีอิสรภาพดีขึ้น รัฐไม่เป็นปฏิปักษ์รุนแรง แต่ก็ไม่สู้อุดหนุนอะไรนัก โดยเฉพาะแนวความคิด ลัทธิมาร์กซิสม์ ได้แพร่หลายออกไปมาก มีการโจมตีวิพากษ์วิจารณ์พระพุทธศาสนา สนับสนุนการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา และเอาสถานที่วัดไปใช้ในกิจการบ้านเมือง บุคคลสำคัญที่ช่วยกู้ฐานะพระพุทธศาสนาไว้ได้บางส่วน คือ พระอาจารย์ไทซี หรือ ไท้สู (พ.ศ. ๒๔๓๒ - ๒๔๙๐)

พ.ศ. ๒๔๖๕

เนื่องจากสถานการณ์ด้านพระพุทธศาสนาเสื่อมทรามลง และมีการเบียดเบียนพระพุทธศาสนามาก พระอาจารย์ไท้สูจึงดำเนินการปฏิรูปพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่แม้ว่าจะมีกำลังเพียงเล็กน้อย เริ่มด้วยการตั้งวิทยาลัยสงฆ์ขึ้นที่ วูชัง เอ้หมึง เสฉวน และหลิ่งนาน เพื่อฝึกผู้นำทางพระพุทธศาสนาให้พระสงฆ์รู้วิชาทั้งธรรมวินัยและวิชาการสมัยใหม่ของตะวันตก แล้วดำเนินงานทางการศึกษา การเผยแผ่และการบำเพ็ญประโยชน์ จนถึงจัดตั้งพุทธสมาคมแห่งประเทศจีน สำเร็จใน พ.ศ. ๒๔๗๒ การประกาศพระศาสนาในแนวใหม่ของท่าน ทำให้ปัญญาชนเข้าใจพระพุทธศาสนาดีขึ้น ท่านได้ติดต่อกับพุทธศาสนิกต่างประเทศ ส่งนักศึกษาไปเล่าเรียนในลังกา ไทย และญี่ปุ่น เข้าถึงกิจการของรัฐระดับชาติ แสดงให้รัฐมองเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนาในการประสานชนต่างเชื้อชาติ ๕ สายของจีนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นต้น ทำให้มีการยอมรับอิสรภาพของศาสนาเพิ่มขึ้น มีการออกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์สินของวัดและหยุดยั้งการยึดเอาทรัพย์สมบัติของวัดไปใช้ในกิจการภายนอก

พ.ศ. ๒๔๗๓

มีสถิติแสดงว่า ในประเทศจีนมีพระและชี (จีนว่า ภิกษุ และ ภิกษุณี) ๗๓๘,๐๐๐ รูป และวัด ๒๖๗,๐๐๐ วัด

 

๑๓. สมัยสาธารณรัฐประชาชนจีน (พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นต้นมา)

คอมมูนิสต์ ได้เข้าครองอำนาจในประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ สถานการณ์พระพุทธศาสนาในระยะหลังจากนี้ ไม่สู้เป็นที่รู้กระจ่างชัด ในที่นี้จะกล่าวตามแนวที่ เคนเนธ เฉิน แสดงไว้ในหนังสือ “พระพุทธศาสนาในประเทศจีน”

ในฐานะที่ชาวคอมมูนิสต์นับถือลัทธิมาร์กซ์ อันเป็นลัทธิหนึ่งต่างหาก และมีพื้นฐานคำสอนขัดแย้งกับศาสนาทั้งหลาย จึงมิได้ต้องการให้มีพระพุทธศาสนาอยู่ร่วมด้วย แต่เบื้องต้นเห็นว่า พระพุทธศาสนาแม้จะเสื่อมลงแล้ว แต่ก็มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งในหมู่ประชาชน จึงยังไม่เห็นเป็นโอกาสที่จะเกี่ยวข้อง โดยใช้มาตรการตรงหรือแสดงออกชัดเจน เริ่มแรกจึงให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาก่อน แต่ย้ำเสรีภาพในการที่จะไม่เชื่อและยอมให้มีการตีความเสรีภาพนี้ ไปในแง่สิทธิที่จะต่อต้านความเชื่อถือทางศาสนา

พ.ศ. ๒๔๙๓

ออกประกาศข้อกำหนดว่า พระสงฆ์เป็นกาฝากสังคม พร้อมกันนั้นก็สร้างความรู้สึกให้มีการแบ่งแยกชาวบ้านกับพระสงฆ์ และพระสงฆ์ทั่วไปกับพระผู้บริหารว่าเป็นคนต่างชนชั้นกัน

พ.ศ. ๒๔๙๔

เพิกถอนสิทธิของวัดในการยึดครองที่ดิน เป็นการบีบรัดในด้านการดำรงชีพ เท่ากับบังคับโดยอ้อมให้พระภิกษุและภิกษุณีสึก ส่วนผู้ที่ไม่สึกก็ต้องประกอบอาชีพ เช่น ทำนา ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อม ปลูกชา สอนโรงเรียน เป็นต้น พร้อมกันนั้นก็พยายามกล่อมเกลาให้ละเลิกความเชื่อถือในลัทธิคำสอนอันนอกเหนือจากลัทธิมาร์กซิสม์

พ.ศ. ๒๔๙๖

เมื่อจำนวนพระสงฆ์ลดน้อยและอ่อนกำลังลง จึงตั้ง “พุทธสมาคมแห่งประเทศจีน” ขึ้นในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม โดยวัตถุประสงค์ว่า เพื่อผนึกชาวพุทธทั้งปวงภายใต้การนำของรัฐบาลประชาชน เพื่อแสดงความรักต่อปิตุภูมิและรักษาสันติภาพของโลก แล้วจำแนกวัตถุประสงค์ออกเป็น ๔ ข้อ คือ เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างรัฐกับพุทธศาสนิกชน เพื่อฝึกพุทธบุคลากร เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรมของพระพุทธศาสนา และส่งเสริมความร่วมมือทางพุทธศาสนากับนานาชาติ

ทั้งนี้ผู้เขียนหนังสือ “พระพุทธศาสนาในจีน” นั้น สรุปว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงก็เพื่อเป็นศูนย์สำหรับให้รัฐบาลสอดส่องดูแลและควบคุมพุทธศาสนิกชนทั้งหมดได้ และเป็นช่องทางที่รัฐจะได้เป็นผู้แทนของชาวพุทธในกิจการระหว่างชาติ นอกจากนั้น เพื่อสนองนโยบายนี้ก็ได้ออกนิตยสารรายเดือนชื่อ “พุทธศาสนาสมัยใหม่” (Modern Buddhism) ส่วนในด้านแนวความคิด ก็มุ่งให้หันเหจากหลักเมตตากรุณาไปสู่หลักความขัดแย้งและการต่อสู้

นอกจากนี้ รัฐได้ทำการทะนุบำรุง ดูแลรักษาวัดและศิลปกรรมสวยงามในที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่ถือว่าเป็นผลงานของประชาชน แต่ต่อมาปรากฏว่าศิลปวัตถุและศาสนสถานต่างๆ ได้ถูกพวกเรดการ์ดทำลายลงเสียเป็นจำนวนมาก

พระพุทธศาสนาในจีนได้เสื่อมโทรมลง ตลอดเวลายาวนานในยุคหลังๆ เพราะประสบความบีบคั้นต่างๆ และความอ่อนแอภายใน โดยเฉพาะในด้านการศึกษาปฏิบัติธรรมวินัย การทำหน้าที่ต่อประชาชน และการหันเหไปหาลัทธิพิธีต่างๆ สภาพเหล่านี้แม้คอมมูนิสต์ไม่เข้าครองถ้าไม่มีการทำลายต่อให้ถึงดับสูญเสียก่อน ก็จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงจนได้ เช่นที่ท่านไท้สูได้ริเริ่มขึ้นเป็นต้น แม้พระมหากษัตริย์ในปางก่อนก็ได้ทรงกระทำแล้วหลายครั้งหลายคราว สิ่งที่ยังค้างวินิจฉัยมีอย่างเดียวคือ ที่ทำอย่างนั้นๆ เป็นการปรับปรุงเพื่อฟื้นฟู หรือเป็นการทำลาย หรือเป็นการปรับปรุงเพื่อทำลาย ซึ่งจะต้องพิสูจน์กันต่อไป

เนื่องจากจีนเป็นศูนย์กลางสำคัญแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนามาตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่ในยุคหลังนี้ ชาวพุทธภายนอกไม่มีโอกาสทราบข่าวความเป็นไปเท่าที่ควร เมื่อไม่ทราบข่าวทางศาสนาโดยตรง จึงขอนำเหตุการณ์ฝ่ายบ้านเมือง ซึ่งเป็นเรื่องของชาติโดยส่วนรวมมาลงไว้ พอเป็นทางประกอบการพิจารณา สำหรับสันนิษฐานภาวการณ์ทางพระศาสนาในประเทศนั้น

หลังจาก พ.ศ. ๒๔๙๖ แล้ว มีเหตุการณ์น่าสนใจในสาธารณรัฐประชาชนจีนเกิดขึ้นอีกหลายอย่าง ได้รวบรวมจากหนังสือเหตุการณ์ประจำปี และเอกสารบางเรื่องที่องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดพิมพ์ แสดงไว้เฉพาะที่สำคัญและควรแก่การพิจารณา ดังนี้

พ.ศ. ๒๕๐๒

นับแต่ปี ๒๔๙๙ เป็นต้นมา ได้เริ่มมีข่าวเกี่ยวกับความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศทิเบต จนกระทั่งมีการจลาจลร้ายแรงในแคว้นขาม เพราะชาวทิเบตโกรธแค้นในการที่ชาวจีนหลายแสนคนอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐาน และมีการนำเอาเยาวชนทิเบตไปยังประเทศจีนเพื่อการฝึกอบรมชั้นสูง ต่อมาได้มีการจลาจลเกิดขึ้นใน กรุงลาซา นครหลวงของทิเบต เพราะจีนจะจับองค์ ทะไลลามะ ประมุขของพระพุทธศาสนานิกายลามะ และประมุขของประเทศทิเบต ทำให้พระองค์เสด็จหนีออกจากประเทศทิเบตมาลี้ภัยอยู่ในประเทศอินเดีย เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๐๒ แต่นั้นมารัฐบาลทิเบตก็สลายตัว มีคณะกรรมการคณะหนึ่งขึ้นมาบริหาร โดยมีปันเชนลามะเป็นประมุข

พ.ศ. ๒๕๑๑

นับแต่ราว พ.ศ. ๒๕๐๖ จีนได้กลับกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อโซเวียต โดยถือว่าโซเวียตเป็นพวกลัทธิแก้ ซึ่งเป็นศัตรูที่ร้ายแรงของจีน พอๆ กับจักรวรรดินิยมอเมริกัน หลิวเซ่าฉี ซึ่งได้สืบตำแหน่งจากเหมาเจ๋อตงเป็นประธานแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๐๒ เป็นต้นมา ได้มีความขัดแย้งแข่งอำนาจกับเหมาเจ๋อตงและหลินเปียว โดยร่วมกับเลขาธิการพรรคชื่อ เตงเฉียวปิง ต่อต้านนโยบายของผู้นำทั้งสองท่านนั้นอย่างลับๆ มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๕ และมีสหภาพกรรมกรเป็นที่มั่น ครั้นถึง พ.ศ. ๒๕๐๙ วารสารของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมูนิสต์จีนได้ประณาม หลิวเซ่าฉี ว่าเป็นพวกลัทธิแก้ฝ่ายกฏุมพี จากนั้นพวกเรดการ์ด ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเหมาเจ๋อตง ได้ดำเนินการปฏิวัติทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่ ตลอดระยะเวลานั้น หลิวเซ่าฉีถูกกักขังอยู่ในบ้าน และถูกเรียกว่าครุสชอพแห่งประเทศจีน ครั้นถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๑ หลิวเซ่าฉีก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งประมุขของรัฐ จากตำแหน่งทุกตำแหน่งในพรรคคอมมูนิสต์และขับออกจากพรรค หายตัวไปในที่สุด ส่วนสหภาพกรรมกรก็ได้สลายตัวไปในระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรมนั้นด้วย (ตั้งขึ้นใหม่อีกเมื่อการปฏิวัติทางวัฒนธรรมสิ้นสุดแล้ว)

พ.ศ. ๒๕๑๔

หลินเปียว รัฐมนตรีกลาโหมและผู้นำฝ่ายทหาร ซึ่งได้ร่วมกับเหมาเจ๋อตงในการต่อสู้กับหลิวเซ่าฉีมาแต่ต้น ได้มีความสำคัญยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรมระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๙ ถึง ๒๕๑๒ ซึ่งเริ่มขึ้นเพื่อต่อสู้กับความคิดแบบกฏุมพี และเป็นกำลังอำนาจเพื่อสนับสนุนเหมาเจ๋อตง คณะกรรมการปฏิวัตินี้เป็นไตรภาคี ประกอบด้วยกองทัพบก พรรคคอมมูนิสต์ และพวกเรดการ์ด (ผู้พิทักษ์แดงประกอบด้วยเยาวชนชายหญิง) ในการนี้หลินเปียวมีบทบาทสำคัญยิ่ง โดยได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้บัญชาการสูงสุดของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในเดือนสิงหาคม ๒๕๐๙ และได้เป็นทายาททางการเมืองของประธานเหมาเจ๋อตงแทนหลิวเซ่าฉี ครั้นถึงวันที่ ๔ กันยายน ปีเดียวกัน ก็เป็นหัวหน้าเรดการ์ด พวกเรดการ์ดนอกจากทำลายอำนาจฝ่ายหลิวเซ่าฉีแล้ว ยังปรากฏว่าได้ทำลายศิลปวัตถุ โบราณสถาน วัดวาอาราม เป็นอันมากด้วย แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด

ด้วยเหตุการณ์นี้ หลินเปียว และผู้นำฝ่ายทหารได้เรืองอำนาจมากจนจะกลายเป็นผู้ครอบงำพรรคคอมมูนิสต์ ความยิ่งใหญ่ของหลินเปียวปรากฏอยู่จนถึงเดือนกันยายน ๒๕๑๔ ก็กลับหายเงียบไป ในระยะนี้ (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๕) จีนได้หันไปมีความสัมพันธ์กับสหรัฐ ต่อมาภายหลังจึงมีการเปิดเผยว่า หลินเปียวได้คบคิดวางแผนสังหารประธานเหมาเจ๋อตง และสถาปนาระบบเผด็จการทหาร แต่แผนไม่สำเร็จ จึงขึ้นเครื่องบินหนีไปรัสเซีย แต่เครื่องบินตกถึงแก่กรรมในระหว่างทางที่ประเทศมองโกเลีย

นับแต่นั้นมา ก็มิได้มีการแต่งตั้งทายาทการเมืองของเหมาเจ๋อตงอีก จนท่านประธานเหมาสิ้นชีวิตใน พ.ศ. ๒๕๑๙

นับแต่ พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นต้นมา เติ้งเสี่ยวผิงได้มีอำนาจมากขึ้นและได้จัดดำเนินโครงการปรับปรุงเศรษฐกิจให้ทันสมัยตามนโยบายการค้าแบบเสรี ต่อมา อุดมการณ์และโครงสร้างการเมืองแบบเหมาก็ถูกหยุดเลิก นอกจากนโยบายทางเศรษฐกิจและการเมืองจะหันเหมาในทางเสรีมากขึ้นแล้ว การบังคับควบคุมความเชื่อถือและกิจกรรมทางศาสนาก็ผ่อนคลายความเข้มงวดลงด้วย สภาวการณ์ทางศาสนาจึงเริ่มกลับฟื้นตัวขึ้นในที่ทั่วๆ ไป

๔.
พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น

 

ชาวต่างประเทศที่เดินทางไปในประเทศญี่ปุ่น และได้มีโอกาสพบปะกับชาวญี่ปุ่นจำนวนมากตามสถานที่ต่างๆ นั้น คงได้พบพระญี่ปุ่นรวมอยู่ในจำนวนผู้คนเหล่านั้นด้วย แต่อาจจะไม่ทราบว่าตนได้พบพระญี่ปุ่นแล้วก็ได้ หรือแม้ผู้ที่ติดต่อกับชาวญี่ปุ่นที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในฐานะนักธุรกิจ นักศึกษา เป็นต้น ก็อาจจะไม่ทราบว่าชาวญี่ปุ่นเหล่านั้น บางคนเป็นพระนักบวชในพระพุทธศาสนา ทั้งนี้เพราะพระญี่ปุ่นบางนิกายมีความเป็นอยู่เหมือนชาวบ้านดำเนินชีวิตปะปนอยู่ในสังคม ประกอบสัมมาชีพเหมือนประชาชนอื่นๆ เรื่องนี้จึงนับว่าเป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาแบบญี่ปุ่น ในที่นี้จะได้เล่าเรื่องความเป็นมา และสภาวการณ์ของพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นสู่กันฟังเป็นการประดับความรู้

พระพุทธศาสนาเข้าสู่ญี่ปุ่น

หนังสือประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นสมัยโบราณ ชื่อ “นิฮอนโชกิ” บันทึกไว้ว่า พุทธศาสนาได้เข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๑๐๙๕ อันเป็นปีที่ ๑๓ ในรัชสมัยของพระเจ้าจักรพรรดิกิมเมอิ ซึ่งทรงเป็นจักรพรรดิ (มิกาโด) พระองค์ที่ ๒๙ ของญี่ปุ่น นี้เป็นบันทึกของราชการ แต่ตามข้อเท็จจริง พุทธศาสนาคงจะได้มาถึงญี่ปุ่นก่อนหน้านั้นแล้ว

ครั้งนั้น แผ่นดินเกาหลียังแบ่งแยกกันเป็น ๓ แว่นแคว้น แคว้นหนึ่งอยู่ฝ่ายเหนือ ชื่อ โกมา (เรียกอีกอย่างว่า โกคุเรียว) อีกสองแคว้นอยู่ฝ่ายใต้ คือ ชิราคิ (หรือซิลลา) อยู่ด้านตะวันออกแคว้นหนึ่ง กับ กุดารา (หรือปีกเช) อยู่ด้านตะวันตกอีกแควันหนึ่ง สมัยนั้นชนชาวเกาหลีคงจะได้ข้ามทะเลญี่ปุ่น นำพระพุทธศาสนามาเผยแพร่แก่ชาวญี่ปุ่นในเกาะกิวชิวภาคเหนือบ้างแล้ว ก่อนที่จะได้มีการรับรู้เป็นทางราชการ

ตามบันทึกของราชการ เล่าว่า กษัตริย์เซเมโอ แห่งแคว้นกุดาราได้ทรงส่งราชทูตชื่อ นูริชิชิเกอิ มายังราชสำนักญี่ปุ่น ทรงมอบให้ราชทูตนำพระพุทธรูปทองเหลืองหุ้มทองคำ ๑ องค์ ราชธัชและคัมภีร์พระสูตรต่างๆ พร้อมด้วยพระราชสาส์นฉบับหนึ่ง เข้าเฝ้าทูลถวายแด่พระเจ้าจักรพรรดิ ในพระราชสาสน์นั้น พระเจ้าเซเมโอทรงพรรณนาคุณแห่งพระสัทธรรม แสดงอานิสงส์แห่งการบูชาพระพุทธรูป แถลงความเป็นมาแห่งพระพุทธศาสนา นับแต่เผยแพร่ออกจากชมพูทวีปเข้าสู่ประเทศจีนไปถึงเกาหลี และประกาศพระราชประสงค์ว่า ได้ทรงส่งราชทูตมาครั้งนี้ เพื่อเผยแพร่พระสัทธรรมให้ปรากฏกว้างขวางไกลออกไป สมตามพุทธทำนายว่า พระธรรมวินัยจักแพร่หลายมาทางทิศตะวันออก เหตุการณ์ครั้งนี้ นับว่าเป็นการนำพระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในทางราชการ

นิฮอนโชกิเล่าต่อไปว่า พระจักรพรรดิกิมเมอิทรงพอพระทัยอย่างยิ่งถึงกับตรัสว่า “เรายังไม่เคยได้สดับคำสอนอันวิเศษอัศจรรย์อย่างนี้มาก่อนเลย... เราไม่เคยได้เห็นสิ่งใดมีความงดงาม ผ่องใส น่าอิ่มใจ เหมือนดังพระพักตร์ของพระพุทธรูปนี้เลย”

จากนั้น พระองค์ได้ตรัสขอความเห็นจากบรรดาข้าราชสำนัก ท่านโซคา-โน-อินาเม สมุหนายก กราบทูลถวายความเห็นว่า พระพุทธศาสนาจะต้องเจริญรุ่งเรืองด้วยดีในประเทศญี่ปุ่น เช่นเดียวกับที่เคยเป็นมาแล้วในประเทศอื่นๆ แต่ท่านโมโนโนเบโนโอโกชิ สมุหกลาโหม และท่านนากาโตมิ-โน-กามาโก เสนาบดีฝ่ายศาสนพิธีในลัทธิชินโต ได้แสดงความเห็นคัดค้านอย่างรุนแรงว่า พระจักรพรรดิญี่ปุ่นได้ทรงบูชาเทพเจ้าประจำชาติมาแต่บรรพกาล หากมีสิ่งผิดแปลกเข้ามาในบ้านเมือง ก็จักก่อความพิโรธแก่เทพเจ้าประจำชาติที่ทรงพิทักษ์รักษาบ้านเมือง

เมื่อเกิดมีความเห็นขัดแย้งกันเช่นนี้ พระจักรพรรดิจึงได้ทรงตัดสินว่าให้ทั้งสองศาสนาคงอยู่ร่วมกัน และได้พระราชทานพระพุทธรูปแก่โซคา-โน-อินาเม ให้นำไปสักการบูชาเป็นการส่วนตัว เหตุการณ์ครั้งนี้ได้เป็นสาเหตุให้เกิดความบาดหมางระหว่างตระกูลทั้งสองสืบมาเป็นเวลาเกือบ ๔๐ ปี

พระจักรพรรดิพระองค์ถัดมาพระนามว่า บิดัทสุ เป็นโอรสของพระเจ้ากิมเมอิ เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๑๑๕ มิได้ทรงใส่พระทัยในพระพุทธศาสนา เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว พระจักรพรรดิโยเมอิ ซึ่งเป็นพระอนุชา ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นมิกาโดองค์ที่ ๓๑ พระเจ้าโยเมอิทรงเป็นพระจักรพรรดิพระองค์แรก ที่ทรงประกาศความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แต่เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ไม่นานก็ประชวรหนัก เป็นเหตุให้ประชาชนเศร้าโศกมาก ได้พากันแสวงหาพระไปสวดถวายเพื่อให้หายประชวร และในครั้งนี้เองได้มีบุรุษผู้หนึ่งชื่อ กุรัตสุกุริ-โน-ตะสุนะ ออกบวชเป็นพระภิกษุเพื่อมาสาธยายมนต์ถวายพระจักรพรรดิ นับเป็นชายญี่ปุ่นคนแรกที่ได้บวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อประชวรหนักลงอีก พระจักรพรรดิมีพระประสงค์ให้สร้างพระรูปพระพุทธเจ้ายากุชินโยไร (พระไภษัชยคุรุ) พระนางซุยโก ซึ่งเป็นกนิฏฐภคินีได้ทรงรับภาระในการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ แต่พระจักรพรรดิได้สวรรคตก่อนที่การสร้างพระพุทธรูปจะสำเร็จ

พระพุทธศาสนารุ่งเรืองในญี่ปุ่น

เมื่อพระเจ้าโยเมอิสวรรคตแล้ว ตระกูลโซคาได้อัญเชิญ พระเจ้าซุซุน ขึ้นครองราชย์ แต่พระองค์ครองราชย์ได้เพียง ๕ ปี ก็ถูกปลงพระชนม์เสีย เมื่อ พ.ศ. ๑๑๓๕

ครั้งนั้นเป็นยามวิกฤติ ขุนนางจึงได้อัญเชิญพระนางซุยโกมเหสีของพระเจ้าบิดัทสุ และเป็นพระกนิฏฐภคินีของพระเจ้าโยเมอิ ขึ้นครองราชย์เป็นมิกาโดพระองค์ที่ ๓๓ นับเป็นพระจักรพรรดินีพระองค์แรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

พระจักรพรรดินีซุยโก ได้ทรงสถาปนา เจ้าชายโชโตกุ โอรสของพระเจ้าโยเมอิ พระชนมายุ ๑๙ พรรษาเป็นมกุฎราชกุมาร และเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินมีสิทธิขาดในการว่าราชการทั้งปวง และเจ้าชายพระองค์นี้เอง ที่ได้ทรงวางรากฐานการปกครองของประเทศญี่ปุ่น สร้างสรรค์วัฒนธรรมและเชิดชูพระพุทธศาสนา ทำประเทศญี่ปุ่นให้เจริญก้าวหน้าอย่างพิเศษ ตลอดระยะเวลาที่ทรงบริหารราชการแผ่นดินอยู่ ๓๐ ปี เจ้าชายได้ทรงตั้งโรงเรียน ประกาศธรรมนูญปกครองอาณาจักร ทรงส่งราชทูตและนักศึกษาไปศึกษาวิชาการจากประเทศจีน ทรงเร่งรัดการอุตสาหกรรม ส่งเสริมการรักษาพยาบาลคนเจ็บไข้ สงเคราะห์คนกำพร้าและคนทุพลภาพ ส่งเสริมการขนส่ง และการสื่อสาร การคุ้มครองสัตว์ และโปรดให้รวบรวมประวัติศาสตร์ประเทศญี่ปุ่นขึ้นไว้

ในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๑๑๓๗ พระองค์ได้ประกาศพระจักรพรรดิราชโองการเชิดชูพระไตรรัตน์ คราวนี้พระพุทธศาสนาก็ประดิษฐานมั่นคงในญี่ปุ่น ความขัดแย้งระหว่างตระกูลโซคากับตระกูลโมโนโนเบได้ยุติลง ประชาชนญี่ปุ่นรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในฐานะพุทธศาสนิกชนข้าราชการทหารและพลเรือนทั้งปวง ต่างแข่งขันกันสร้างวัดพุทธศาสนา เพื่อแสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรมแด่พระจักรพรรดิและบรรพบุรุษ และได้สร้างสำนักปฏิบัติธรรมขึ้นเป็นอันมาก

อนึ่ง งานสร้างพระรูปพระพุทธเจ้ายากุชินโยไรที่ได้เริ่มขึ้นแต่ครั้งพระจักรพรรดิโยเมอิประชวรหนักนั้น ก็คงดำเนินต่อมา จนสำเร็จบริบูรณ์ใน พ.ศ. ๑๑๕๐ อันเป็นปีที่ ๑๕ ในรัชกาลแห่งพระจักรพรรดินีซุยโก และได้ประดิษฐานพระพุทธรูปพระองค์นี้ไว้ในวัดที่โปรดให้สร้างขึ้น ณ เมืองนารา เป็นวัดที่มีโครงสร้างเป็นไม้ล้วนเก่าแก่ที่สุดในโลก มีชื่อว่า โฮริจิ แปลว่าวัดสัทธรรมไพโรจน์ สร้างเสร็จใน พ.ศ. ๑๑๓๙ และวัดทั้งปวงที่ราชการจัดให้สร้างขึ้นในคราวแรก ก็ได้นามว่า โฮริวจิ หรือ โฮโกจิ ทั้งสิ้น ยิ่งกว่านั้น ยุคสมัยนี้ยังได้ชื่อว่า ยุคโฮโก ซึ่งแปลว่า ยุคที่สัทธรรมไพโรจน์ อีกด้วย

ในวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๑๑๔๗ เจ้าชายโชโตกุ ได้ทรงประกาศ “ธรรมนูญ ๑๗ มาตรา” ธรรมนูญนี้ได้ประกาศหลักสามัคคีธรรมของสังคม ซึ่งเกิดมีขึ้นได้ด้วยอาศัยการเคารพเชื่อถือพระรัตนตรัย อันเป็นเครื่องกำจัดความชั่วร้ายและความประพฤติผิดนานา พร้อมทั้งบัญญัติความสัมพันธ์ระหว่างพระจักรพรรดิกับประชาชน และหลักปฏิบัติสำหรับข้าราชการทั้งปวง

ในปี พ.ศ. ๑๑๔๙ เจ้าชายโชโตกุ ได้ทรงแสดงเทศนาใน โชมังเคียวสูตร และ โฮเกเกียวสูตร หน้าพระที่นั่ง เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นการแสดงเทศนาเกี่ยวกับพระสูตรในประเทศญี่ปุ่น และพระองค์ได้โปรดให้จารึกเทศนาต่างๆ ลงเป็นลายลักษณ์อักษร ได้ทรงส่งนักปราชญ์เป็นราชทูตไปยังราชสำนักของจีน เพื่อการติดต่อทางวัฒนธรรม ได้นำเอาตำราและคัมภีร์พุทธศาสนา รวมทั้งอรรถกถาต่างๆ เข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่น แม้เจ้าชายเองก็ได้ทรงแต่งคัมภีร์อรรถกถาแสดงหลักธรรมตามแนวศรัทธา และทรรศนะของพระองค์เองไว้ด้วย

ก็แลพระพุทธศาสนาอย่างที่เจ้าชายโชโตกุ ทรงนับถือปฏิบัติครั้งนั้นมีชื่อเรียกเป็นพิเศษว่า เอกยาน เป็นคำสอนแบบเชื่อมประสานระหว่างมหายานกับหินยาน มีธรรมกายเป็นวัตถุประสงค์ ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างพระสงฆ์และคฤหัสถ์ มุ่งการปฏิบัติธรรมรวมอยู่ในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องสละเหย้าเรือนหรืออยู่ในป่าเขาอันวิเวก แนวความเชื่อถือและปฏิบัติธรรมของเจ้าชายโชโตกุนี้ นับว่าเป็นที่มาอย่างหนึ่งแห่งวิวัฒนาการของพระพุทธศาสนาแบบญี่ปุ่นอันมีลักษณะพิเศษจำเพาะตน

เจ้าชายโชโตกุสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๑๑๖๕ คราวนั้นบันทึกทางประวัติศาสตร์เล่าว่า “บรรดาประชาชนทั้งปวงมีความโศกเศร้าเสียใจยิ่งนัก เปรียบเหมือนมารดาบิดาผู้ชราที่ต้องสูญเสียบุตรคนเดียวของตน หรือเหมือนบุตรน้อยที่บิดามารดาผู้การุณมาพลัดพรากไป เหมือนฟ้าและดินสะท้านทะลาย หรือเดือนและตะวันดับแสงลงฉะนั้น”

ณ อาคารหนึ่งในวัดโฮริวจิ ชาวญี่ปุ่นได้สร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งขนาดเท่าองค์เจ้าชายโชโตกุ ประดิษฐานไว้เป็นอนุสรณ์แห่งคุณความดีของพระองค์

หลังจากเจ้าชายโชโตกุสิ้นพระชนม์แล้ว ตระกูลโซคาได้มีกำลังเข้มแข็งยิ่งขึ้น จนถึงปี พ.ศ. ๑๑๘๖ ก็ได้กำจัดเชื้อสายของเจ้าชายโชโตกุลงหมดสิ้น แต่หลังจากนั้นได้เพียง ๒ ปี ทางฝ่ายพระเจ้าจักรพรรดิก็ได้กำจัดขุนนางทรยศยึดอำนาจกลับคืนมาได้ นับแต่กาลนั้นมาพระพุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการศึกษาและการปฏิบัติธรรม ประเพณี พิธีกรรม และวันสำคัญต่างๆ ทางพระพุทธศาสนาก็เกิดมีขึ้น และได้กลายเป็นส่วนสำคัญแห่งวัฒนธรรมของชนชาติญี่ปุ่นสืบมา

ยุคเมืองนาราเป็นราชธานี

แต่เดิมมา ประเทศญี่ปุ่นมิได้ยึดถือจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเป็นเมืองหลวงแน่นอนลงไป คงได้ย้ายไปมาอยู่ในระหว่างจังหวัดสำคัญทั้งห้า คือ ยามาโต ยามาชิโร เซทซุ กาวาชิ และ อิซูมิ หรือ ออตสุ ณ ทะเลสาบบิวา การเคลื่อนย้ายเมืองหลวงบ่อยๆ เช่นนี้ เป็นเหตุก่อความเดือดร้อนแก่ชนประเภทกรรมกร ที่ต้องถูกเรียกตัวมาทำงานก่อสร้างอยู่บ่อยๆ และให้บังเกิดความไม่สะดวกหลายประการ ครั้นถึงรัชสมัยแห่งพระจักรพรรดินีเงียมเมียว พุทธศักราชล่วงได้ ๑๒๕๓ ปี ทางราชการจึงได้เลือกเอาเมืองนาราเป็นราชธานีถาวร และเมืองนารานี้ได้เป็นที่สถิตแห่งพระจักรพรรดิสืบมาเป็นเวลาค่อนศตวรรษ เป็นดินแดนที่สงบสุข เป็นยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปะ วรรณคดี และศาสนา

กล่าวในฝ่ายพระศาสนา นับแต่เจ้าชายโชโตกุได้ทรงดำเนินวิเทโศบายติดต่อกับประเทศจีน และแลกเปลี่ยนราชทูตกันระหว่างราชสำนักทั้งสองเป็นต้นมา จำนวนนักศึกษา นักปราชญ์ ที่ได้ไปศึกษาในประเทศจีนนำเอาวิชาการทางศาสนาและวัฒนาธรรมกลับมาสู่ประเทศญี่ปุ่น ก็เพิ่มมากขึ้น บางท่านได้ไปศึกษาอยู่ถึง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง แล้วนำเอาคำสอนของพระพุทธศาสนานิกายต่างๆ ที่รุ่งเรืองอยู่ในประเทศจีนสมัยนั้น มาเผยแพร่ในประเทศญี่ปุ่น ยังผลให้พระพุทธศาสนาในยุคกรุงนารามีส่วนแบ่งย่อยออกเป็นหลายนิกาย เฉพาะที่ยอมรับทางราชการในรัชสมัยแห่งพระจักรพรรดินี โกเกน มีถึง ๖ นิกาย เรียกกันว่า “นานโต-โรกุชู” หรือนิกายทั้งหกแห่งราชธานีใต้ (คือ นารา) ดังรายชื่อต่อไปนี้

๑. นิกายซานรอน (คือ นิกายมาธยมิกะ) เริ่มนำเข้ามาทางเกาหลีเมื่อ พ.ศ. ๑๑๖๘ แต่ได้เจริญแพร่หลายด้วยอาศัยการศึกษาโดยตรงจากประเทศจีน เริ่มแต่ พ.ศ. ๑๒๔๕ มีคำสอนมุ่งในศูนย์ตา ไม่ใส่ใจต่อความเป็นไปของชาวโลก

๒. นิกายฮอสโซ (คือ นิกายโยคาจาร) เริ่มนำเข้ามาโดยท่านโดโช ซึ่งได้ไปศึกษาในประเทศจีนแต่ พ.ศ. ๑๑๙๖ ท่านผู้นำแห่งนิกายนี้ส่งเสริมงานสังคมสงเคราะห์เป็นอย่างมาก เมื่อถึงมรณภาพในปี พ.ศ. ๑๒๔๓ บรรดาสานุศิษย์ได้กระทำฌาปนกิจศพของท่านตามคำสั่ง นับเป็นการฌาปนกิจศพครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น และได้รับความนิยมต่อมา เพราะเป็นการอนุโลมเข้าได้กับหลักธรรมส่วนหนึ่ง และเป็นการตัดทอนความสิ้นเปลือง นำเอาส่วนที่จะพึงเป็นรายจ่ายไปใช้สร้างอารามใหญ่ๆ ได้

๓. นิกายเคงอน (คือ นิกายอวตัมสกะ) นับเป็นวิวัฒนาการสืบมาแต่สองนิกายข้างต้น นำเข้ามาโดยตรงจากประเทศจีน เริ่มปรากฏโฉมหน้าใน พ.ศ. ๑๒๖๕ และถือว่าได้เริ่มประวัติในประเทศญี่ปุ่น เมื่อท่านชินโจแสดงคำสอนใน พ.ศ. ๑๒๘๓ นิกายนี้แสดงหลักเอกยาน และเป็นนิกายเดียวแห่งยุคนารา ที่ยังคงอยู่รอดถึงสมัยหลังต่อมา โดยได้พัฒนามาเป็นนิกายเทนได และชินงอน

๔. นิกายริตสุ (คือ นิกายวินัย) อันนับเนื่องในฝ่ายหินยาน ได้ประดิษฐานลงในญี่ปุ่น เมื่อท่านงันจินเดินทางจากประเทศจีนมาถึงแผ่นดินญี่ปุ่นใน พ.ศ. ๑๒๙๗ และได้เริ่มประกอบพิธีอุปสมบทภิกษุ ๘๐ รูป กับสามเณร ๔๔๐ รูป ทั้งได้ถวายโพธิสัตวศีลแด่พระจักรพรรดิและพระจักรพรรดินีโกเกนด้วย ณ วัดโตไดจิ ในกรุงนารา นิกายนี้สอนให้เว้นจากการกินเนื้อสัตว์ และให้เคร่งครัดในศีลวัตร ตลอดจนมารยาทต่างๆ ในการรับประทานอาหาร การประชุม และการเดินถนน เป็นต้น ซึ่งได้ตกทอดสืบมาในวัฒนธรรมญี่ปุ่นแม้ถึงสมัยปัจจุบัน

๕. นิกายกุชา (คือ นิกายสรวาสติวาทิน หรือ อภิธรรมโกษศาสตร์) และ

๖. นิกายโจจิตสุ (คือ เสาตรานตริกะ หรือ สัตยสัทธิศาสตร์)

ทั้งสองนิกายท้ายนี้เป็นฝ่ายหินยาน และมีชื่อปรากฏเป็นที่ยอมรับในยุคกรุงนาราด้วย แต่ไม่สู้จะเป็นที่นิยมนับถือยั่งยืน

เมื่อครั้งรัชสมัยพระจักรพรรดินีซุยโก ที่เจ้าชายโชโตกุทรงว่าราชการแผ่นดินนั้น พระองค์ได้โปรดให้สร้าง วัดชิเตนโนจิ ขึ้น ซึ่งแปลว่า วัดท้าวจาตุมหาราช เพื่อพิทักษ์รักษาประเทศชาติ และในรัชสมัยของพระจักรพรรดิองค์ต่อๆ มา ทางราชการได้แต่งตั้งตำแหน่งโกกุชิ หรือ อนุศาสนาจารย์ของชาติ ขึ้นไว้ประจำในทุกจังหวัด เพื่อช่วยแนะนำสั่งสอนประชาชนในทางจิตใจ การกระทำเหล่านี้นับว่าเป็นรัฐประศาสโนบาย ช่วยให้ประเทศชาติรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีพระจักรพรรดิเป็นศูนย์รวมจิตใจ ครั้นมาถึงรัชสมัยพระเจ้าจักรพรรดิโชมุ มิกาโดองค์ที่ ๔๕ ซึ่งครองกรุงนารานี้ พระองค์ได้ประกาศพระจักรพรรดิราชโองการฉบับหนึ่งในปี พ.ศ. ๑๒๘๔ บัญญัติให้สร้างวัดของราชการประจำจังหวัดขึ้นทั่วประเทศ คราวนั้นก็ได้เกิดมี วัดโตไดจิ ขึ้นในกรุงนารา เป็นที่ประดิษฐานพระรูปพระมหาไวโรจนพุทธะ สูง ๕๓ ฟุตครึ่ง และในจังหวัดต่างๆ ทั้ง ๖๔ จังหวัดทั่วญี่ปุ่นก็มีวัดประจำแต่ละจังหวัดเรียกว่า โกกุบุนนจิ (วัดของราชการสำหรับภิกษุ) และ โกกุบุนนิจิ (วัดของราชการสำหรับภิกษุณี) มีพระพุทธรูปแห่งพระศากยมุนีพุทธประดิษฐาน ทุกแห่งสูง ๑๖ ฟุต การสร้างวัดเหล่านี้เป็นผลงานร่วมกันแห่งพระจักรพรรดิกับประชาชน และให้พระสงฆ์ที่อยู่ประจำในวัดเหล่านี้ได้ศึกษาเล่าเรียนพระสูตร พร้อมทั้งอบรมสั่งสอนให้การศึกษาแก่ประชาชน การบริหารประเทศชาติอาศัยพุทธธรรมเป็นเครื่องนำทาง วัฒนธรรมของชาติก็ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอันมาก จนมีชื่อบัญญัติเรียกยุคนี้ไว้เป็นพิเศษว่า เตมเปียว แปลว่า มีสันติทั่วทั้งฟ้าและดิน

ต่อมา พระจักรพรรดิโชมุ มีพระประสงค์จะทรงศึกษาและปฏิบัติธรรมให้ยิ่งขึ้นไป จึงได้ทรงสละราชสมบัติ และให้พระราชธิดาพระองค์เดียวขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระจักรพรรดินีโกเกน เป็นมิกาโดพระองค์ที่ ๔๖ พระจักรพรรดินีได้ทรงเจริญรอยตามพระราชบิดา และต่อมาได้ออกผนวชเป็นพระภิกษุณี ให้พระจักรพรรดิจุนนินขึ้นครองราชย์แทน แต่พระจักรพรรดินีโกเกนผนวชอยู่ได้เพียงระยะเวลาหนึ่ง ก็ทรงลาเพศกลับขึ้นครองราชย์ใหม่ เป็นมิกาโดองค์ที่ ๔๘ ทรงพระนามใหม่ว่า พระจักรพรรดินีโชโตกุ พระนางได้ทรงพระดำริว่า ควรจะมีมนตรีที่เป็นพระภิกษุช่วยราชการอยู่ด้วย จึงได้ทรงสถาปนา พระภิกษุโดเกียว ขึ้นเป็น ดะโชไดจินเซนจิ แปลว่า พระภิกษุมุขมนตรี

ข้อที่พระจักรพรรดินีทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและส่งเสริมการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่งนี้ ได้เป็นเหตุให้คนบาปจำนวนมากผู้มุ่งหวังเพียงชื่อเสียงและลาภสักการะ เข้าอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ชักนำความเสื่อมโทรมเข้ามาสู่วงการคณะสงฆ์และเศรษฐกิจของแผ่นดิน นับเป็นสาเหตุของความเสื่อมสลายแห่งนาราราชธานี และให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงการแผ่นดินใหม่ พร้อมทั้งการโยกย้ายราชธานีไปตั้ง ณ นครเกียวโต

ยุคเมืองเฮอันเป็นราชธานี

สมัยที่นาราเป็นเมืองหลวงนั้น พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองมาก และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการแบ่งแยกออกเป็นนิกายต่างๆ ราชการและประชาชนสร้างวัดไว้กลางใจเมือง ชีวิตพระสงฆ์ก็ใกล้ชิดเกี่ยวข้องกับฆราวาสมากยิ่งขึ้น เวลาผ่านไป พระสงฆ์ก็ยิ่งเข้าไปมีส่วนพัวพันกับกิจการบ้านเมืองและความเป็นอยู่ของชาวบ้านมากยิ่งขึ้น จนดูท่าทีจะครอบงำบงการราชการแผ่นดินเสียเอง ข้อนี้เป็นเหตุให้ชีวิตของพระสงฆ์เหินห่างจากธรรมปฏิบัติมากขึ้น และเป็นเหตุให้พระเจ้าจักรพรรดิทรงหาทางลิดรอนอำนาจของวัด ปลดเปลื้องพระองค์ให้พ้นจากอิทธิพลของพระสงฆ์

ฉะนั้น ในปี พ.ศ. ๑๓๓๗ พระจักรพรรดิกัมมุ มิกาโดพระองค์ที่ ๕๐ จึงได้โปรดให้ย้ายเมืองหลวงไปตั้ง ณ เมืองเฮอัน ซึ่งแปลว่า ราชธานีแห่งสันติ หรือที่เรียกในปัจจุบันว่า เกียวโต นครแห่งนี้ได้เป็นราชธานีของพระจักรพรรดิสืบมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๑๒ นับเป็นเวลาถึง ๑๐๗๕ ปี อีกนัยหนึ่งเรียกชื่อยุคนี้ว่า ยุคฟูจิวาระ ตามชื่อตระกูลขุนนางตระกูลใหญ่ตระกูลแรก ที่ได้เรืองอำนาจขึ้นหลังรัชกาลพระจักรพรรดิกัมมุ และได้ครอบงำการแผ่นดินทั้งปวง ทำให้พระจักรพรรดิเป็นดุจหุ่นที่ชักนำไปได้ตามความพอใจของตน

เมื่อพระจักรพรรดิย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงเฮอันหรือเกียวโตแล้ว พุทธศาสนาทั้ง ๖ นิกายสมัยกรุงนารา ก็ได้อับเฉา และเสื่อมลง เพราะไม่ได้รับความส่งเสริม ทั้งมีนิกายอื่นอันได้รับพระจักรพรรดิราชูปถัมภ์เกิดขึ้นแทนที่อีกด้วย

พระจักรพรรดิกัมมุ ได้ทรงประกาศพระโองการต่างๆ เร่งรัดให้พระสงฆ์ดำรงมั่นในศาสนศึกษา และสมณปฏิบัติ ทรงสร้างวัดใหม่หลายแห่ง แต่ได้โปรดให้ตรากฎหมายบังคับว่า ผู้ใดสร้างวัด จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตเสียก่อน กับได้ทรงอาราธนาพระภิกษุผู้มั่นคงในการศึกษา และปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าเขา ห่างไกลจากสังคม ให้มาอบรมสั่งสอนธรรมในเมืองหลวง แต่พระภิกษุสำคัญชั้นหัวหน้า ๒ รูปที่ได้รับอาราธนา พร้อมทั้งบรรดาศิษย์ หาได้เข้ามาอยู่ในตัวเมืองไม่ กลับไปตั้งสำนักอยู่บนภูเขาใกล้เมือง คือ ท่านไซโจ ตั้งสำนัก ณ ภูเขาฮิเออิ และ ท่านกุไก ตั้งสำนัก ณ ภูเขาโกยา ทั้งสองท่านได้รับพระจักรพรรดิราชูปถัมภ์ให้เดินทางไปประเทศจีนพร้อมกัน และต่างก็ได้ศึกษามิกเกียว หรือพระพุทธศาสนาแบบวิศิษฎคูฬหธรรมมาจากประเทศจีน แต่เมื่อกลับสู่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว ในภายหลังได้แบ่งแยกออกจากกัน ต่างตั้งพุทธศาสนาแบบใหม่ขึ้นท่านละนิกาย คือ

๑. นิกายเทนได ของท่าน ไซโจ ตั้งชื่อตามภูเขาเทียนไทในประเทศจีนที่ท่านไซโจไปศึกษาอยู่ นิกายนี้ได้ฟื้นฟูหลักธรรมเอกยานขึ้นแสดงใหม่ให้ชัดเจนและมีหลักฐานมั่นคงยิ่งขึ้น และท่านไซโจได้เป็นบุคคลแรกที่ทำให้พุทธศาสนามหายานในญี่ปุ่น มีอิสระในการจัดพิธีให้ศีลและอุปสมบท ไม่ต้องขึ้นต่อฝ่ายหินยานนิกายเดิมในนาราต่อไป

๒. นิกายชินงอน (คือ นิกายมันตระ แปลตามตัวว่า พระวจนะ ที่แท้) ของท่านกุไก หรือ โกโบไดชิ สั่งสอนแข่งขันกับนิกายเทนได ในเรื่องมิกเกียว หรือ วิศิษฎคูฬหธรรม ยึดคัมภีร์มหาไวโรจนสูตรเป็นหลัก และแสดงคำสอนที่ประสานเข้าได้กับลัทธิชินโต ถึงกับเปลี่ยนวัดชินโตมาเป็นวัดพุทธศาสนานิกายชินงอนได้หลายแห่ง สอนว่าพระไวโรจนพุทธะซึ่งเป็นที่เคารพสูงสุดของนิกายนี้ เป็นองค์เดียวกับพระสุริยเทวี (พระอะมะเตระสุ-โอมิกามิ) ของลัทธิชินโต หลักมิกเกียวทำให้นิกายนี้มีข้อกำหนดให้ประกอบพิธีกรรมหลายอย่างเป็นการเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่มีองค์คุณตามเงื่อนไข เรื่องนี้เองได้เป็นสาเหตุสำคัญให้นิกายชินงอนต้องแยกย่อยสาขาออกไป จนมีจำนวนถึง ๗๐ สาขาในที่สุด หลักธรรมมิกเกียวนี้ได้เจริญรุ่งเรืองตลอดยุคเฮอัน เพราะทำตนให้สอดคล้องเป็นประโยชน์แก่กิจการของรัฐ แก่สังคมและปัจเจกชน และสนองความต้องการของมนุษย์ได้ ด้วยวิธียอมลดตนลงจากหลักคำสอนและการปฏิบัติดั้งเดิมที่ลึกซึ้ง กลายเป็นคำสอนแบบง่ายๆ ที่มีหลักสำคัญอยู่เพียงแค่การสวดอ้อนวอนขอผลประโยชน์ ตามวิธีการของผู้เชื่อถือในโชคเคราะห์ต่างๆ

ในทางราชการ ปรากฏว่าพระจักรพรรดิทั้งหลายรวมทั้งพวกตระกูลขุนนาง ได้มีความเลื่อมใสและส่งเสริมพระพุทธศาสนาอย่างมาก นับแต่พระจักรพรรดิพระองค์ที่ ๕๙ ถึงพระองค์ที่ ๗๗ เกือบทุกพระองค์ได้เคยอุปสมบทเป็นพระภิกษุ

เมื่อครั้งที่นาราเป็นราชธานีนั้น พระพุทธศาสนากับลัทธิชินโตเริ่มกลมกลืนเข้ากันได้บ้างแล้ว ครั้นถึงยุคกรุงเฮอันนี้ โดยเฉพาะนับแต่กลางยุคเป็นต้นมา ทั้งสองศาสนาก็ผสมผสานเข้ากันเป็นอย่างดี เทพเจ้าเก่าๆ ในลัทธิชินโตมีสร้อยพระนามเพิ่มขึ้นว่า เป็นพระโพธิสัตว์ และเรียกชื่อว่าเป็น “งองเง็น” ซึ่งแปลว่า “รูปกายชั่วคราว (ของพระพุทธเจ้า) ที่สำแดงพระองค์ในโลกนี้” ถือกันว่าพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ได้มาสำแดงพระองค์ในประเทศญี่ปุ่น โดยปรากฏรูปเป็นเทพเจ้าของญี่ปุ่น เพื่อช่วยนำประชาชนไปสู่อริยมรรค พระเทวีอะมะเตระสุ-โอมิ-กามิ ซึ่งถือว่าเป็นผู้สร้างประเทศญี่ปุ่น ก็พลอยถูกเชื่อว่าเป็นอวตารของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ไปด้วย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาทั้งสองนี้ ได้กลายเป็นความแตกแยกกันอีกครั้งหนึ่ง เพราะนโยบายการปกครองของประเทศในสมัยพระจักรพรรดิเมอิจิ ดังจะกล่าวต่อไป

มีข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ ในสมัยที่ผ่านมาชาวญี่ปุ่นมีความนับถือในวัฒนธรรมจีน มองเห็นสิ่งต่างๆ ที่มาจากจีนว่าเป็นของดีน่านิยมยกย่อง และถือเป็นแบบอย่าง แต่ครั้นถึงกลางยุคเฮอันนี้ ญี่ปุ่นได้มองเห็นว่าตนสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองแล้ว จึงยกเลิกความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศจีน คงไว้แต่การติดต่ออย่างไม่เป็นทางการในด้านการศึกษาและการค้าบางส่วน และพระพุทธศาสนาในยุคนี้ ก็ได้พัฒนามาถึงขั้นเป็นพุทธศาสนาแบบของญี่ปุ่นเองแท้ๆ แล้วด้วย

ตอนนี้ ควรจะเล่าเหตุการณ์ฝ่ายบ้านเมืองประกอบไว้ด้วย เพราะเป็นส่วนสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ที่ทำให้การพระศาสนาเปลี่ยนแปลงไปต่างๆ ทั้งในทางเจริญและทางเสื่อม กล่าวคือ หลังจากรัชกาลพระจักรพรรดิกัมมุแล้ว อำนาจในการว่าราชการแผ่นดินได้ค่อยๆ ตกไปอยู่ในความบงการของตระกูลขุนนางใหญ่ที่ชื่อว่า ฟูจิวาระ จนหมดสิ้น พระจักรพรรดิทรงอำนาจแต่ในนาม เช่น พระจักรพรรดิอภิเษกกับกุลสตรีในตระกูลฟูจิวาระ พระโอรสก็จะได้รับการศึกษาอบรมในตระกูลฟูจิวาระ เมื่อพระจักรพรรดิทรงหาทางดึงอำนาจว่าราชการแผ่นดินกลับมา ก็จะทรงถูกบีบคั้นจากตระกูลฟูจิวาระให้สละราชสมบัติออกผนวชเสีย เมื่อพระโอรสขึ้นครองราชย์ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ เสนาบดีตระกูลฟูจิวาระก็จะดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ครั้นพระจักรพรรดิทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว ตระกูลฟูจิวาระก็จะเข้าดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีว่าราชการต่อไป หากพระจักรพรรดิหาทางดึงอำนาจกลับคืน ก็จะถูกบีบคั้นให้สละราชสมบัติอีก เป็นไปในทำนองนี้ ตลอดสมัยที่ตระกูลฟูจิวาระปกครองมีจักรพรรดิ ๑๕ พระองค์เป็นจักรพรรดิทรงพระเยาว์ ต้องมีผู้สำเร็จราชการรวม ๗ พระองค์ และพระจักรพรรดิที่ต้องสละราชสมบัติ ๘ พระองค์

บรรดาพระจักรพรรดิที่สละราชสมบัติออกผนวชนั้น หลายพระองค์ทรงหาทางยึดอำนาจกลับคืน หรือดำรงพระราชอำนาจบางส่วนไว้ทั้งที่ได้ออกผนวชแล้ว ข้อนี้เป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้พระสงฆ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบ้านเมืองมากขึ้น จนถึงในระยะปลายสมัยฟูจิวาระ วัดของนิกายเทนไดบนภูเขาฮิเออิมีกองทัพพระถืออาวุธไว้ป้องกันตนเอง และบางคราวก็ยกทัพลงมาในเมืองเกียวโต เพื่อข่มขู่ทางราชการด้วย สภาพของพุทธศาสนาจึงกลับคืนสู่สภาพที่คล้ายกับสมัยกรุงนาราตอนปลายอีกครั้งหนึ่ง

กล่าวโดยทั่วไป สมัยฟูจิวาระหรือเฮอันนี้เป็นยุคที่สงบสุข และเจริญก้าวหน้าในด้านวัฒนธรรม ศิลปวรรณคดี และพุทธศาสนาก็รุ่งเรือง แต่ผู้ปกครองใส่ใจเฉพาะการภายในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ ละเลยกิจการในจังหวัดรอบนอกปล่อยให้หละหลวม การต่างๆ เป็นไปในทางชักจูงระบบการปกครองแบบทหารให้เกิดขึ้น และในปลายสมัยนี้ เมื่อพระจักรพรรดิกำลังพยายามดึงพระราชอำนาจคืนอยู่ ก็มีตระกูลขุนนางฝ่ายทหารสองตระกูลมาช่วยสนับสนุน เป็นเหตุให้ตระกูลฟูจิวาระสิ้นอำนาจลง แต่แล้วตระกูลขุนนางฝ่ายทหารทั้งสองนั้น คือ ตระกูลมินาโมโต กับ ตระกูลไทรา ก็รบพุ่งแย่งชิงอำนาจกันเอง เพื่อเป็นผู้ควบคุมราชการแผ่นดินต่อๆ มา

พระพุทธศาสนายุคกามากุระ

ในปี พ.ศ. ๑๗๒๘ ขุนพลชื่อ โยริโมโต แห่งตระกูล มินาโมโต ได้ชิงอำนาจจากตระกูลไทราได้สิ้นเชิง พอถึง พ.ศ. ๑๗๓๕ ก็ย้ายศูนย์บัญชาการงานแผ่นดินมายังเมืองกามากุระ ได้รับสถาปนาจากพระจักรพรรดิให้เป็น โชกุน ผู้มีอำนาจสิทธิขาดในการป้องกันและดูแลความสงบสุขของมหาอาณาจักรทั้งสิ้น โยริโมโตได้จัดการแผ่นดินอย่างทั่วถึง จัดให้มีตำแหน่งทหารและผู้ปกครองประจำทุกจังหวัด และจัดให้อยู่ภายในความควบคุมจากศูนย์กลางอย่างรัดกุม ทำให้การแผ่นดินเนื่องถึงกันหมด ให้เกิดความรู้สึกว่า ทุกส่วนเป็นดินแดนของมหาอาณาจักรญี่ปุ่นร่วมกัน แม้พระเจ้าจักรพรรดิจะยังคงอยู่ และประทับ ณ นครเกียวโตตามเดิม แต่อำนาจการปกครองทั้งปวง อยู่ในความบัญชาของตระกูลขุนพลที่กามากุระสิ้น

ในระยะที่มีการรบพุ่งแย่งชิงอำนาจกันนั้น เกียวโตและนาราถูกไฟเผาผลาญ วัดต่างๆ ถูกไฟไหม้ไปมาก รวมทั้งวัดใหญ่ๆ ที่สำคัญ เช่น วัดโตไดจิในนาราและโตจิในเกียวโตด้วย ประชาชนได้ประสบภาวะยุคเข็ญ โรคระบาด สงครามกลางเมือง ไฟที่เผาผลาญบ้านเมือง และความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม แม้ในหมู่พระสงฆ์ก็มีกองทัพไว้ป้องกันตัว และเข้าไปพัวพันในการช่วงชิงอำนาจกับเขาด้วย

เฉพาะในฝ่ายพระสงฆ์ สภาวการณ์นี้สัมพันธ์กับสมัยเฮอัน คือเมื่อท่านไซโจตั้งนิกายเทนไดขึ้น ณ ภูเขาฮิเออินั้น ท่านได้ประกาศการประกอบพิธีรับศีล และอุปสมบทแบบมหายาน เป็นอิสระจากนิกายริตสุ หรือนิกายวินัยแห่งวัดโตไดจิ ก็แต่ศีลฝ่ายมหายานนี้ มีลักษณะยืดหยุ่นได้ ขึ้นต่อคุณธรรมในจิตใจ และการยับยั้งบังคับจิตใจตนเอง มิใช่ศีลตามแบบแผนที่รักษาสืบๆ กันมาเป็นประเพณี กล่าวคือ ผู้ปฏิบัติพึงตัดสินด้วยตนเองว่าจะปฏิบัติเคร่งครัด หรือผ่อนผันเพียงใด การรักษาศีลแบบนี้จึงเป็นไปได้ทั้งในทางที่เคร่งตึงจัด และในทางที่หย่อนยาน ครั้นเวลาล่วงมาถึงกลางยุคเฮอัน ความเข้าใจที่เป็นพื้นฐานในการรักษาศีลนี้ก็เลือนลางไป กลายเป็นเครื่องที่ยกมาอ้างสำหรับการประพฤติย่อหย่อนเสื่อมทราม ชีวิตพระสงฆ์จึงได้เหินห่างจากธรรมวินัยไปมาก

เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ทำให้ประชาชนคิดถึงคำทำนายในคัมภีร์ว่า เมื่อสิ้นยุคสัทธรรมลางเลือน ซึ่งยังคงมีปฏิบัติธรรมได้ แต่ไม่มีปฏิเวธธรรม อันเป็นยุคที่ ๒ แล้วก็จะถึงยุคสุดท้าย คือ ยุคสัทธรรมอันตรธาน ซึ่งสัทธรรมเหลือแต่ชื่อ และจะสูญไปเมื่อสิ้นยุค ประชาชนคิดว่ายุคสุดท้ายนี้กำลังมาถึงแล้ว เหตุการณ์บ้านเมืองและกระแสความคิดเหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดพุทธศาสนาแบบต่างๆ ขึ้นในยุคกามากุระอีก เป็นส่วนฟื้นฟูและปรับปรุง สมกับลักษณะเหตุการณ์และจิตใจของผู้คนในยุคนั้นรวม ๓ นิกาย คือ นิกายสุขาวดี (โจโด) นิกายเซน และ นิกายนิจิเรน

๑. นิกายสุขาวดี ที่จริง แนวความคิดเรื่องแดนสุขาวดีของพระอมิตาภพุทธเจ้านั้น ปรากฏรูปร่างให้เห็นแล้วตั้งแต่สมัยพุทธศาสนาเริ่มเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น เช่น ในคำสอนของเจ้าชายโชโตกุ และในสมัยนาราก็ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นจนเป็นหลักความเชื่ออย่างหนึ่งต่างหาก และขยายตัวมากขึ้นเรื่อยมาตลอดสมัยเฮอัน จะเห็นได้ว่าปราชญ์ทั้งหลายในนิกายซานรอนก็ดี ฮอสโซก็ดี เทนไดก็ดี และนิกายอื่นๆ ก็ดี ล้วนปรารถนาไปเกิดในแดนสุขาวดี สวรรค์ทิศตะวันตกของพระอมิตาภพุทธเจ้าทั้งนั้น เพราะแนวคิดเรื่องนี้ปรากฏอยู่แล้วในคัมภีร์ โฮเกเกียว คือ สัทธรรมปุณฑริกสูตร ซึ่งได้นำเข้ามาในญี่ปุ่นแต่ยุคต้นแรกมีพุทธศาสนาในญี่ปุ่น และเป็นคัมภีร์ที่เจ้าชายโชโตกุทรงเลื่อมใสมาก แต่เท่าที่เป็นมาทั้งหมด ไม่ได้ทำให้เกิดข้อปฏิบัติจำเพาะขึ้นมาถึงเป็นนิกายอันใดอันหนึ่ง

ครั้นถึงสมัยกามากุระนี้ ท่าน โฮเนน จึงได้ตั้งนิกาย โจโด ขึ้น ท่านโฮเนนได้ศึกษา ณ ภูเขาฮิเออิอันเป็นศูนย์กลางของนิกายเทนได และที่หลายสำนักในนครนารา แต่มิได้รับความพอใจ เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาในใจได้หมดสิ้น วันหนึ่งในปี พ.ศ. ๑๗๑๘ โฮเนนอายุได้ ๔๒ ปี เมื่ออ่านคัมภีร์อรรถกถาแห่งอมิตายุรธยานสูตร ได้พบข้อความตอนหนึ่งว่า “หากบุคคลนึกถึงและออกพระนามพระอมิตาภพุทธเจ้าโดยมิต้องคำนึงถึงอากัปกิริยาและกาลเวลาแล้ว ถ้าปฏิบัติได้สม่ำเสมอ ย่อมเรียกได้ว่าเป็นสัมมากัมมันตะ เพราะต้องด้วยปฏิญญาแห่งพระอมิตาภพุทธเจ้า”

โฮเนนเห็นปลอดโปร่งว่า ข้อความนี้แก้ปัญหาได้สิ้นทุกอย่าง และได้ละเลิกข้อปฏิบัติอย่างอื่นทั้งหมด กระทำแต่เนมบุตสุ (คำญี่ปุ่น = นโมพุทฺธสฺส) เพียงอย่างเดียว แล้วลงจากภูเขาฮิเออิ สร้างอาศรมที่โยชิมิสุในเกียวโต เริ่มเผยแพร่คำสอนนิกายโจโดนี้ และได้รับความนิยมนับถืออย่างรวดเร็ว แต่พร้อมกันนั้น ก็ถูกคัดค้านขัดขวางอย่างรุนแรงจากรอบด้าน เพราะคำสอนนี้อาจให้เกิดความเข้าใจผิดไปถึงว่า ใครก็ตามแม้ทำบาปอย่างมากมาย เมื่อกระทำเนมบุตสุ คือ ออกพระนามพระอมิตาภพุทธเจ้าเสมอแล้ว ก็จะได้รับพระมหากรุณาให้ไปสู่สวรรค์แดนสุขาวดีเพื่อบรรลุสัจธรรม ณ ที่นั้นได้ ในที่สุด โฮเนนถูกเนรเทศไปอยู่ในถิ่นห่างไกลเป็นเวลาสี่ปี จึงได้รับอนุญาตให้กลับมา และได้ถึงแก่มรณภาพที่โอตานิเมื่ออายุ ๗๙ ปี สานุศิษย์ได้สร้างวัดอุทิศให้ ณ ที่มรณภาพของท่าน ชื่อวัดชิโอนิน ในเกียวโต เป็นศูนย์กลางของนิกายโจโดสืบมา

เมื่อท่านโฮเนนถึงมรณภาพแล้ว ศิษย์ผู้ใหญ่หลายท่านได้ประกาศคำสอนแตกต่างกันออกไป จนเกิดเป็นนิกายย่อย ๆ เพิ่มขึ้นอีก แต่ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะนิกายย่อยที่สำคัญที่สุด ซึ่งได้ขยายตัวออกไปจนเป็นนิกายสำคัญอีกนิกายหนึ่งต่างหาก นิกายนี้คือ นิกายโจโดชิน (แปลว่า นิกายสุขาวดีที่แท้จริง) หรือที่นิยมเรียกกันว่า นิกายชิน ซึ่งท่าน ชินแรน เป็นผู้ตั้ง

ท่านชินแรนศึกษานิกายเทนได ณ ภูเขาฮิเออิ แล้วมาอยู่กับท่านโฮเนน ๖ ปี แล้วถูกเนรเทศไปอยู่ที่เอชิโง และใช้ชีวิตบั้นปลายเมื่อพ้นเนรเทศแล้วที่เมืองเกียวโต นับแต่ถูกเนรเทศเป็นต้นมา ท่านชินแรนได้ยึดคติธรรมของท่านว่า “ฮิโซ ฮิโซกุ” แปลว่า “ไม่มีพระ ไม่มีฆราวาส” ท่านเองก็มีครอบครัว และบุตรหลานได้เป็นผู้สืบคำสอนทำการเผยแพร่ต่อมาด้วย ท่านสอนว่า การกระทำของมนุษย์ทางไตรทวาร ถึงจะดีเพียงใด ทำด้วยความพากเพียรเพียงใด ก็ยังไม่พ้นจากความแปดเปื้อนด้วยกิเลส ไม่อาจนำมาซึ่งโพธิได้ จำต้องอาศัยพลังแห่งพระมหากรุณาธิคุณของพระอมิตาภพุทธเจ้าเป็นเครื่องบันดาล ศาสนิกจึงต้องมีศรัทธาเชื่อมั่นในพระองค์เป็นข้อสำคัญที่สุด และเป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยให้หลุดพ้นได้ พระในนิกายนี้มีครอบครัวได้ ฉันเนื้อสัตว์ได้ และดำเนินชีวิตอย่างฆราวาสท่ามกลางสังคม

ณ ที่ฝังศพของท่านชินแรน ต่อมาได้เกิดมีวัดชื่อว่า “ฮองอันจิ” เป็นศูนย์กลางของนิกายชิน และวัดนี้เอง ต่อมาก็ถูกแบ่งออกตามนโยบายของรัฐบาลกลายเป็น ๒ วัด ชื่อ ฮิงะชิ-ฮองอันจิ (ฮองอันจิตะวันออก) และ นิชิ-ฮองอันจิ (ฮองอันจิตะวันตก) เป็นศูนย์กลางแห่งสาขาใหญ่ทั้งสองของนิกายชินสมัยต่อมา

นิกายย่อยที่ขอกล่าวถึงสักเล็กน้อย คือ นิกายจิ ที่ตั้งโดย ท่านอิปเปน (พ.ศ. ๑๗๘๒ - ๑๘๓๒) ซึ่งเป็นรุ่นศิษย์ของศิษย์ของท่านโฮเนน สอนว่า การกล่าวเนมบุตสุนั้น ย่อมทำให้ไม่มีความรู้สึกว่า “เรา” ว่า “เขา” เกิดขึ้น และแสดงออกซึ่งความรู้สึกเป็นบรมสุขทางจิตด้วยการฟ้อนรำ จึงเรียกว่า นิกายยุเงียวฮา หรือ ยุยะกุ-เนมบุตสุ (เนมบุตสุฟ้อนรำ) และที่เรียกว่า นิกายจิ (แปลว่า กาลนิกาย) ก็เพราะสอนว่าในเวลากล่าวเนมบุตสุนั้น ให้ทำใจว่าทุกๆ ขณะเป็นเวลาที่จะละทิ้งชีวิตนี้ไป นิกายนี้มีวัดโชโจโกจิ ณ ฟูจิซาวา ใกล้กามากุระ เป็นศูนย์กลาง

นิกายสุขาวดีทั้งหลายนี้ มีที่เคารพคือพระอมิตาภพุทธเจ้าและท่านผู้ตั้งนิกายสาขานั้นๆ สามัญชนส่วนมากนิยมนับถือนิกายนี้ เพราะมีข้อปฏิบัติที่ทำตามได้ง่าย

๒. นิกายเซน หรือ ธฺยาน เกิดขึ้นจากความคิดที่จะฟื้นฟูพระศาสนา ปรับปรุงความประพฤติปฏิบัติให้กลับคืนสู่สภาพเดิมอย่างในสมัยพุทธกาล มุ่งปลุกพุทธภาวะอันมีอยู่แล้วในบุคคลทุกคนให้ฟื้นขึ้น ในบรรดาท่านที่พากเพียรเพื่อการนี้สามารถแบ่งได้เป็น ๒ พวก คือ พวกหนึ่งมุ่งต่อต้านศีลแบบมหายานแห่งภูเขาฮิเออิที่ตนเห็นว่าได้เสื่อมโทรมลงแล้ว และอีกพวกหนึ่งหาวิธีปรับปรุงชีวิตพระสงฆ์ ให้เป็นของศักดิ์สิทธิ์น่าเคารพขึ้น ด้วยข้อปฏิบัติและคำสอนของพุทธศาสนานิกายฉานหรือเซนที่นำมาจากประเทศจีน ท่านเหล่านี้ บางท่านก็มีความเชื่อในคำสอนเรื่องแดนสุขาวดี บางท่านเป็นผู้ต่อต้านนิกายโจโดอย่างรุนแรง ในที่นี้ จะกล่าวถึงบุคคลสำคัญในนิกายนี้เพียง ๒ ท่าน คือ

ท่านโยไซ (พ.ศ. ๑๖๘๔ - ๑๗๕๘) ได้ศึกษานิกายเทนไดและมิกเกียวที่ภูเขาฮิเออิ และได้เดินทางไปประเทศจีน นำเอานิกายรินไซเซนมาเผยแพร่ ท่านได้สอนเซนไปพร้อมๆ กับมิกเกียวและเทนไดด้วย ท่านได้สร้างวัดของนิกายนี้ที่เกาะกิวชิว ที่กามากุระ และที่เกียวโต วัดที่เกียวโตชื่อ เกนนินจิ ได้เป็นศูนย์กลางของนิกาย รินไซเซน สาขาเกนนินจิสืบมา

ท่านโดเงน (พ.ศ. ๑๗๔๓ - ๑๗๙๖) ได้ศึกษา ณ ภูเขาฮิเออิเช่นกัน เคยพบกับท่านโยไซ และต่อมาได้เดินทางไปประเทศจีนศึกษานิกายเซน กลับมาอยู่ที่วัดเกนนินจิ และตอนท้ายได้ตั้งวัด เออิเฮอิจิ ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์กลางของนิกาย โซโตเซน

นิกายเซนได้เจริญแพร่หลาย มีปราชญ์สั่งสอนต่อมามาก บางท่านได้รับสถาปนาจากพระจักรพรรดิเป็นโกกุชิ ซึ่งแปลว่า พระอาจารย์แห่งแว่นแคว้น หลายท่านได้ไปศึกษาในประเทศจีน และพระสงฆ์จีนที่เดินทางเข้ามาช่วยสั่งสอนก็มีตำแหน่งเกียรติยศที่พระจักรพรรดิพระราชทานแก่พระนิกายเซน เรียกว่า “เซนจิ” เกิดขึ้น ปราชญ์ในนิกายเซนเหล่านี้ได้นำเอาศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ของจีน เข้ามาในญี่ปุ่นหลายอย่าง เช่น วรรณคดีจีน การคัดลายมืออย่างจีน การจัดดอกไม้ พิธีน้ำชา การวาดภาพด้วยหมึกดำ เป็นต้น ซึ่งได้แพร่หลายไปพร้อมๆ กับนิกายเซน

นิกายเซนเคารพบูชาพระศากยมุนีพุทธเจ้าพร้อมทั้งปราชญ์ผู้ตั้งและผู้เป็นอาจารย์ต่อๆ มาในสายแห่งนิกายของตน มีคำสอนว่า ทุกคนและทุกสิ่งมีธาตุแห่งพุทธะ หรือพุทธภาวะแฝงอยู่ในตนแล้ว การที่จะบรรลุถึงโพธิจึงต้องอาศัยการเกิดญาณบรรลุแจ่มแจ้งฉับพลันขึ้นในตนเอง ด้วยวิธีการอย่างใดก็ได้ สุดแต่อาจารย์จะใช้ตามที่เห็นเหมาะเป็นการถ่ายทอดโพธิโดยตรง ไม่ต้องอาศัยคัมภีร์ ในระบบการศึกษาอบรมสอนให้ปฏิบัติเข้มงวดในด้านระเบียบวินัยทางกาย และการฝึกอบรมจิตใจด้วยฌานหรือธยาน อันเป็นที่มาแห่งชื่อของนิกายนี้ เพราะเหตุที่สอนให้ดำรงชีวิตอย่างง่ายๆ แต่เป็นผู้เพ่งพินิจและฝึกอบรมทั้งกายและจิตใจให้มีระเบียบวินัยเช่นนี้ นิกายเซนจึงแพร่หลาย และเป็นข้อปฏิบัติที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงตลอดถึงพระเจ้าจักรพรรดิ โดยเฉพาะในหมู่นักรบหรือพวกซามูไรนั้นนับถือเป็นพิเศษ และคำสอนกับข้อปฏิบัติในนิกายนี้ ก็ได้เป็นที่มาอย่างสำคัญของลัทธิบูชิโด รวมทั้งยูโด และเกนโด การจัดสวนญี่ปุ่น และละครที่เรียกว่า “โน” เป็นต้น

๓. นิกายนิจิเรน ท่านนิจิเรน (พ.ศ. ๑๗๖๕ - ๑๘๒๕) ผู้ตั้งนิกายนี้ ได้ศึกษาที่กามากุระแล้วเดินทางไปภูเขาฮิเออิ นารา และภูเขาโกยา ท่านได้เริ่มประกาศคำสอนแก่ประชาชนที่เมืองกามากุระ โดยการประณามนิกายอื่นๆ อย่างรุนแรง เช่น ว่าการกล่าวเนมบุตสุ (ของนิกายสุขาวดี) เป็นทางไปสู่นรก เซนไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำสอนของเทวดา มาร และ อสุรกาย ชินงอนเป็นเพียงกองแห่งพิธีกรรมเหลวไหลที่จะนำประเทศชาติไปสู่หายนะ นิกายริตสุ (นิกายวินัย) ไม่ช่วยให้ประชาชนมีการศึกษาและเป็นผู้มีคุณประโยชน์แก่รัฐได้เลย มีแต่จะทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้ทรยศ นำความเสื่อมมาให้แก่ประเทศชาติ พึงเคารพในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตรเพียงอย่างเดียว พึงเพ่งพินิจในวาทะว่า “นะมุเมียว โฮเรงเงเกียว” (นโม สทฺธมฺมปุณฺฑรีกสุตฺตสฺส) เมื่อกล่าวคำนี้ออกมาพร้อมด้วยความตระหนักใจว่า ตนเองมีพุทธภาวะอยู่ในตัว ก็จะกำจัดสักกายทิฏฐิอันเป็นอุปสรรคแล้วบรรลุซึ่งโพธิได้

การที่ท่านนิจิเรนโจมตีนิกายอื่นอย่างเผ็ดร้อนรุนแรงนี้ เป็นเหตุให้ท่านถูกเนรเทศไปอยู่อิซูและเกาะซาโด แต่ท่านหาหยุดยั้งไม่ กลับทำความพากเพียรเผยแพร่คำสอนมากยิ่งขึ้น เมื่อพ้นการเนรเทศแล้ว ก็มาสร้างวัดกุออนจิ อยู่ ณ ภูเขามิโนบุ ทำเป็นศูนย์กลางนิกาย คำสอนของท่านแพร่ไปทั่วญี่ปุ่น โดยเฉพาะในหมู่สามัญชน

นิกายนิจิเรนมีวัตถุเคารพบูชา คือ “มอนจิ-มันดาระ” (มณฑลแห่งอักษร) และรูปปราชญ์ผู้ตั้งนิกายกับอาจารย์ในภายหลังแห่งสำนักของตนๆ

พระพุทธศาสนาในยุคต่อๆ มา

การปกครองของโชกุนในยุคกามากุระนั้น มิใช่จะราบรื่นดีนัก เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานนัก อำนาจก็ตกไปอยู่ในกำมือของผู้สำเร็จราชการ และโชกุนก็กลายเป็นเพียงหุ่นเชิด เช่นกับที่พระจักรพรรดิเคยเป็นมาแล้ว และในตอนท้ายเมื่อความเสื่อมโทรมของราชการมีมากขึ้น ทั้งถูกภัยธรรมชาติคือข้าวยากหมากแพงเข้าซ้ำเติม ประชาชนก็ลดความนิยมนับถือในผู้บริหารการแผ่นดินที่กามากุระ ในที่สุดพระจักรพรรดิที่เกียวโตก็ทรงขัดแย้งกับระบบโชกุนที่กามากุระ เกิดการรบพุ่งกันอย่างรุนแรง แล้วระบบโชกุนที่กามากุระก็ถูกกำจัดลง อำนาจกลับคืนไปอยู่กับพระจักรพรรดิตามเดิม

แต่อยู่มาไม่นาน ก็มีขุนพลชื่อ อะชิกางะ ประกาศตนเป็นโชกุนขึ้นที่เกียวโตใน พ.ศ. ๑๘๗๘ พระจักรพรรดิหนีไปยึดเอาตำบลโยชิโนเป็นเมืองหลวง ฝ่ายโชกุนก็ประกาศตั้งจักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นที่เกียวโต กลายเป็นจักรพรรดิ ๒ พระองค์ ครองวังหลวงใต้ (ที่โยชิโน) และวังหลวงเหนือ (ที่เกียวโต) ตามลำดับ ราชการทั้ง ๒ แห่งนี้ ต่างก็ใช้กิจการทางศาสนาให้เป็นประโยชน์แก่ตน จึงชักนำให้พระสงฆ์และวัดวาอารามต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองและการสงคราม แยกตนไม่ออก เหตุการณ์เป็นเช่นนี้อยู่ถึง ๕๖ ปี วังหลวงใต้ที่โยชิโนจึงสิ้นอำนาจ คงมีจักรพรรดิแต่พระองค์เดียวที่เกียวโตตามเดิม

นับแต่อะชิกางะประกาศตนเป็นโชกุนแล้ว ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ เรียกว่า ยุคอะชิกางะ เป็นยุคที่โชกุนบริหารราชการอยู่ที่เกียวโต ในระยะประมาณ ๑๕๐ ปีแรกที่โชกุนตระกูลนี้ ยังคงดำรงอำนาจบริหารการแผ่นดินด้วยดี พุทธศาสนานิกายเซนได้เจริญแพร่หลายเป็นอันมาก พระเซนเดินทางไปมาระหว่างจีนและญี่ปุ่น โชกุนก็สร้างวัดวาอารามเพิ่มขึ้น ศิลปวรรณคดีรุ่งเรืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน ละครที่เรียกว่า “โน” ได้มีขึ้น นักวาดภาพฝีมือเยี่ยมเกิดขึ้น พิธีน้ำชาและการจัดดอกไม้ได้รับความนิยมแพร่หลายในหมู่ประชาชน พระเซนศึกษาเชี่ยวชาญไม่เฉพาะคำสอนในนิกายเซนเท่านั้น แต่รวมถึงวรรณคดีจีนและลัทธิขงจื้อด้วย บรรยากาศในวัดก็ร่มรื่นเยือกเย็นด้วยวิธีการจัดสวนญี่ปุ่น วัดเซนกลายเป็นศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมของชาติ ในขณะเดียวกัน นิกายชิน และนิจิเรน ก็เผยแพร่คำสอนของตนกว้างขวางออกไปทั่วประเทศญี่ปุ่น

แต่แล้ว ต่อมาอำนาจของโชกุนก็เสื่อมลง ข้าราชการผู้ใดมีความสามารถหาพรรคพวกได้มา ก็ตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่เป็นผู้พิทักษ์ของโชกุน ครอบงำโชกุนไว้ในอำนาจ และบริหารการแผ่นดินตามชอบใจตน นอกเมืองหลวงออกไปพวกขุนศึกก็ตั้งตนเป็นอิสระขึ้นในจังหวัดต่างๆ คนไหนมีกำลังและสามารถในการรบ ก็แผ่ขยายอำนาจออกไปยึดครองพื้นที่กว้างขวางขึ้น วัดต่างๆ ก็ต้องตั้งกองทัพขึ้นรักษาตนเองโดยเฉพาะ พระนิกายชินที่มีครอบครัวได้ก็มีการสืบทอดตำแหน่งและทรัพย์สมบัติทางสายโลหิต มีความเป็นอยู่แบบขุนนางศักดินา ระยะนี้เป็นระยะเวลาแห่งการรบพุ่งหาความสงบมิได้ จนในที่สุดขุนนางคนหนึ่งในต่างจังหวัดชื่อ โนบุนางะ พร้อมด้วยผู้ช่วยชื่อ ฮิเดโยชิ ได้แผ่อำนาจยึดครองจังหวัดต่างๆ แล้วยกทัพเข้ายึดครองเกียวโตได้ ญี่ปุ่นจึงเริ่มรวมเข้าได้โดยมีศูนย์กลางการปกครองแห่งเดียวอีกครั้งหนึ่ง

ในระยะเดียวกันนี้ ชาวตะวันตกชาติแรก คือ โปรตุเกส พร้อมทั้งนักสอนศาสนาคริสต์นิกายเยซูอิตก็เข้ามาถึงญี่ปุ่น และได้รับการต้อนรับอย่างดี โนบุนางะได้สนับสนุนและคุ้มครองนักสอนศาสนาเหล่านี้ คริสต์ศาสนาจึงเผยแพร่กว้างขวางออกไปโดยรวดเร็ว ส่วนในด้านพุทธศาสนา พระเคยเข้ากับฝ่ายตรงข้ามของโนบุนางะ เมื่อโนบุนางะปราบฝ่ายตรงข้ามได้แล้ว ก็ยกทัพบุกภูเขาฮิเออิ ได้ฆ่าฟันพระล้มตายไปมาก และเผาวัดเสียประมาณ ๓,๐๐๐ วัด แต่ที่โอซากามีวัดที่เข้มแข็งแห่งหนึ่ง ซึ่งโนบุนางะล้อมอยู่นานก็ไม่สามารถเข้ายึดได้ จนต้องให้พระจักรพรรดิเป็นสื่อสงบศึกทั้งสองฝ่าย

เมื่อสิ้นโนบุนางะแล้ว ฮิเดโยชิ ได้สืบทอดอำนาจต่อมา และปราบปรามผู้แข็งอำนาจต่างๆ ได้จนหมดสิ้น ตอนแรกๆ ฮิเดโยชิไม่รู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อคริสต์ศาสนา แต่ต่อมาเขาได้ระแวงในพฤติการณ์ต่าง ๆ ว่านักบวชเหล่านี้จะเป็นสื่อสำหรับให้ชาวตะวันตกเข้ายึดครองญี่ปุ่น เขาจึงเริ่มกำจัดและบีบคั้นนักสอนศาสนาเหล่านี้ ต่อมาชาวสเปนได้มาถึงญี่ปุ่นพร้อมด้วยนักสอนศาสนาคริสต์นิกายฟรานซิสกัน นักบวชโปรตุเกสกับสเปนได้ขัดแย้งวิวาทกัน ฟ้องร้องต่อมหาจักรพรรดิ ครั้งหนึ่งมีนายเรือสเปนคนหนึ่งต้องการให้ชาวญี่ปุ่นยำเกรงอำนาจแห่งประเทศของตน จึงพูดว่า “พระมหากษัตริย์คาทอลิคทรงส่งพระคุณเจ้าเหล่านี้มาเผยแพร่พระศาสนา เพื่อเปลี่ยนศาสนาชาวเมืองเสียก่อน แล้วจึงจะร่วมมือกับนายทัพของพระมหากษัตริย์เจ้า ช่วยให้ยึดครองแผ่นดินได้โดยง่ายในภายหลัง”

คำกล่าวนี้ เพิ่มความระแวงสงสัยแก่ฮิเดโยชิมากขึ้น จึงทำการกำจัดและกวาดล้างนักสอนศาสนา พร้อมทั้งคนที่เปลี่ยนไปนับถือคริสต์เป็นการใหญ่ยิ่งขึ้น แต่การนี้ยังไม่ถึงที่สุด ก็พอดีฮิเดโยชิสิ้นบุญเสียก่อน

เมื่อฮิเดโยชิสิ้นบุญนั้น มีการรบระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีและจีนค้างอยู่ อิเยยะสุ ซึ่งขึ้นครองอำนาจต่อมา ได้ทำการสงบศึก และใน พ.ศ. ๒๑๓๓ ได้ย้ายศูนย์บริหารการแผ่นดินไปอยู่ที่เมือง เยโด (ต่อมาเมื่อพระจักรพรรดิย้ายมาประทับในปี พ.ศ. ๒๔๑๒ แล้ว เรียกชื่อใหม่ว่า โตเกียว แปลว่า ราชธานีตะวันออก และบางทีเรียกเกียวโตว่า ไซเกียว แปลว่า ราชธานีตะวันตก) นับเป็นการเริ่มยุคใหม่ เรียกว่า ยุคโตกุงาวะ ระยะนี้ ชนชาติฮอลันดาและอังกฤษได้เริ่มเข้ามาติดต่อค้าขาย แต่ชาวอังกฤษมาดำเนินกิจการอยู่เพียง ๑๐ ปี ก็เลิกล้มกิจการไป คงเหลือแต่ฮอลันดา ในตอนเริ่มครองอำนาจ อิเยยะสุไม่มีความรังเกียจในคริสต์ศาสนา แต่ต่อมาได้คิดเห็นว่า คณะสอนศาสนาของสเปนและโปรตุเกส เป็นกลไกทางการเมืองที่เป็นอันตราย ชาวอังกฤษคนหนึ่งได้อธิบายให้อิเยยะสุทราบความแตกต่างระหว่างโปรเตสแตนท์กับโรมันคาทอลิค และเล่าถึงการที่ประเทศโปรเตสแตนท์ในยุโรปขับไล่นักบวชคาทอลิคออกจากประเทศ นอกจากนี้ นักบวชเยซูอิตของโปรตุเกสก็พยายามใส่ความนักบวชฟรานซิสกันของสเปน และขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นขับไล่พวกฟรานซิสกันออกจากประเทศ ฝ่ายพวกสเปนก็แนะนำให้ขับไล่ชาวฮอลันดาออกไป ในที่สุดอิเยยะสุก็เริ่มทำการกำจัดนักบวชและศาสนิกแห่งคริสต์ศาสนาอย่างรุนแรง มีการประหารชีวิตและให้สละศาสนาเป็นต้น อิเยยะสุสนับสนุนการติดต่อกับตะวันตกในด้านการค้า แต่ไม่สนับสนุนในด้านกิจการของนักสอนศาสนา

เมื่อสิ้นบุญอิเยยะสุ ในปี ๒๑๕๙ แล้ว ผู้สืบตำแหน่งโชกุนต่อๆ มา ได้ดำเนินการกำจัดศาสนาคริสต์ถึงขั้นสุดท้าย โดยประกาศห้ามชาวญี่ปุ่นนับถือศาสนาคริสต์หรือติดต่อกับนักสอนศาสนา กำหนดโทษเผาทั้งเป็น และริบทรัพย์สมบัติ

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๑๖๗ ก็ออกคำสั่งขับชาวสเปนออกจากประเทศทั้งหมด ต่อมาอีก ๑๒ ปี ได้ห้ามชาวญี่ปุ่นออกไปต่างประเทศและห้ามสร้างเรือขนาดใหญ่พอที่ข้ามสมุทรได้ จากนั้นก็ตัดการติดต่อกับโปรตุเกส จนในที่สุดญี่ปุ่นก็ตัดขาดจากโลกภายนอกอยู่อย่างโดดเดี่ยว จะมีชาวต่างประเทศบ้างก็เฉพาะชาวฮอลันดาจำนวนเล็กน้อยที่ถูกจำกัดที่อยู่ และดำเนินกิจการภายในเงื่อนไขที่กำหนดให้

ด้านภายใน พระจักรพรรดิทรงมีกองทัพของโชกุนจัดไว้พิทักษ์อย่างกวดขัน ไม่ปรากฏพระองค์ให้ใครเห็น และคนเข้าเฝ้าไม่ได้ เว้นแต่ข้าราชสำนักชั้นสูง ทรงมีหน้าที่เพียงเป็นสื่อกลางระหว่างบรรพบุรุษในสวรรค์กับไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ไม่ทรงมีส่วนในการปกครองประเทศ และมีกฎหมายตอนหนึ่งบัญญัติว่า ถ้าพระจักรพรรดิทรงเขลาไปติดต่อกับศัตรูของโชกุน ให้โชกุนถอดพระองค์และตั้งผู้อื่นขึ้นเป็นพระจักรพรรดิแทนได้ นอกจากนั้น โชกุนได้ตั้งตำแหน่งไดเมียวหรือขุนศึกขึ้นไว้ทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นเครื่องถ่วงอำนาจกันและกัน และบัญญัติให้ไดเมียวต้องมาเมืองเยโดปีละ ๑ ครั้ง เพื่อดำรงอำนาจของรัฐบาลกลางให้คงอยู่

ในด้านพุทธศาสนา เมื่อรัฐบาลโชกุนกำจัดชาวคริสต์นั้น ก็ได้บังคับให้ประชาชนมีสังกัดเป็นดันกา หรือทายกของวัดใดวัดหนึ่งในพุทธศาสนา และให้จัดการเรื่องการเกิด แต่งงาน การตาย และพิธีศพที่วัดนั้น ในเวลาเดียวกัน ก็ได้ดำเนินการลิดรอนอำนาจของวัด ให้อยู่ในความควบคุมของรัฐบาลด้วยวิธีการต่างๆ เช่น แยกอำนาจของนิกายแต่ละนิกายออกไป ให้มีศูนย์กลางหรือสำนักงานใหญ่แยกเป็น ๒ แห่ง ที่เยโดแห่งหนึ่ง และเกียวโตแห่งหนึ่ง อาทิ นิกายชินก็ให้มี วัดฮิกาชิ ฮองอันจิ ขึ้นแข่งกับ นิชิ ฮองอันจิ เป็นต้น วัดได้กลายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับโชกุน ที่จะใช้ประโยชน์ในการปกครองบ้านเมือง ยุคนี้จึงเป็นยุคหยุดชะงักของกิจการศาสนา พระสงฆ์ก็พอใจหยุดนิ่งอยู่ในความคุ้มครองและความปลอดภัยที่ได้จากรัฐ จะสนใจศึกษาค้นคว้าธรรมก็เฉพาะในเรื่องนิกายของตน และเป็นครูสอนเขียนอ่านและคิดเลขให้แก่เด็กชาวบ้านชาวตลาดที่วัด กับสอนหลักศีลธรรมทั่วๆ ไป เช่น ความขยัน การประหยัด เป็นต้น ประชาชนทั่วไปแสวงหาความสุขตามโลกียวิสัยและสนใจแต่เรื่องการค้าขาย วัดก็ปล่อยให้ความเชื่อถือในเรื่องเหลวไหลเกิดมีขึ้น เพียงเพื่อชักคนเข้าวัด และหาผลประโยชน์ ลัทธิขงจื้อซึ่งพระเซนนำเข้ามา ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นแทนที่พุทธศาสนา เพราะลัทธินี้มีประโยชน์ในการช่วยรักษารูปสังคมสมัยนั้นไว้ จึงได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลเป็นอย่างดี

ในสมัยนี้มีนิกายเซนเกิดขึ้นใหม่สาขาหนึ่ง คือ สาขาโอบากุ ซึ่งท่านอิงเงนนำเข้ามา เป็นนิกายที่นำเอาเนมบุตสุมาใช้ด้วย และดำเนินงานสงเคราะห์คนยากจนและขาดแคลน กับได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับโอบากุสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๒๒๔

ในปี พ.ศ. ๒๓๙๖ นายพลอเมริกันชื่อเปอรี ได้นำกองเรือมาสำแดงอานุภาพแก่ชาวญี่ปุ่น เป็นเหตุให้โชกุนต้องเลิกนโยบายอยู่โดดเดี่ยว และเริ่มยุคใหม่แห่งการติดต่อกับชาวต่างประเทศ เหตุแวดล้อมต่างๆ ทำให้ประชาชนเสื่อมความนิยมในโชกุน และมีความรู้สึกว่า สภาพเหตุการณ์ควรแก่การมีศูนย์ร่วมอำนาจแห่งเดียวซึ่งควรจะได้แก่พระจักรพรรดิ ในที่สุด โชกุน ขุนศึก และซามูไรทั้งหลายก็ยอมสละตำแหน่งและอำนาจถวายแก่พระจักรพรรดิ เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ เป็นการสิ้นยุคโชกุน และขึ้นยุคใหม่สมัยพระจักรพรรดิเมอิจิ เรียกว่ายุคเมอิจิ และย้ายเมืองหลวงสู่เยโด เรียกชื่อใหม่ว่าโตเกียว แต่นั้นมาญี่ปุ่นก็ได้ปรับปรุงกิจการทุกด้านของประเทศ ให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมประเทศตะวันตก

พระพุทธศาสนา ซึ่งได้หยุดชะงักความเจริญก้าวหน้าเสมือนเป็นอัมพาตเรื่อยมาตลอดยุคโตกุงาวะ เพราะเหตุนโยบายการปกครองของประเทศบีบคั้นโดยอ้อม ไม่ให้พระสงฆ์มีความคิดริเริ่มใดๆ นั้น ครั้นถึงยุคเมอิจิสภาพการณ์ก็ยิ่งเสื่อมทรุดลง บ้านเมืองหันไปเชิดชูลัทธิชินโต เพราะลัทธิชินโตสอนยกย่องพระจักรพรรดิ ให้เป็นอวตารของเทพเจ้า เป็นปูชนียบุคคลของประชาชน นับเป็นคำสอนที่เป็นประโยชน์แก่การปกครอง ลัทธิชินโตจึงได้แตกแยกกับพุทธศาสนา พิธีกรรม ความเชื่อถือและวัตถุที่เคารพในพุทธศาสนาถูกยกเลิกหมดไปจากราชสำนักของพระจักรพรรดิ ห้ามตั้งนิกายใหม่ ห้ามสร้างวัดเพิ่มขึ้นอีก เกิดมีนโยบายล้มล้างพุทธศาสนาขึ้น ศาสนาคริสต์เริ่มเผยแพร่ออกได้อีก พร้อมกับการต้อนรับวัฒนธรรมตะวันตก

อนึ่ง เมื่อพุทธศาสนาชะงักความเจริญอยู่ ครั้นถึงยุคเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ก็ตื่นตัวไม่ทัน การศึกษาสมัยใหม่ในฝ่ายประชาชนได้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว พระสงฆ์ซึ่งสมัยหนึ่งเคยเป็นผู้นำประชาชนทางการศึกษา ทำหน้าที่เป็นครู อาจารย์ ในทุกด้าน ก็ถูกทอดทิ้งให้ล้าหลัง มิได้รับฐานะและความเคารพนับถือมากเท่าสมัยเดิม พวกปัญญาชนในเมืองใหญ่ไม่เคยมาใกล้วัด จะเข้าวัดก็ต่อเมื่อมีพิธีศพ น้อยคนนักจะมาฟังเทศนาเพื่อแก้ปัญหาชีวิต

ครั้นการศึกษาสมัยใหม่เจริญมากขึ้น พุทธศาสนาก็ถูกยกขึ้นมาศึกษาในแง่วิชาการ และวัฒนธรรม ในฐานะเป็นปรัชญาตะวันออก นักศึกษาที่ไปเรียนต่อในยุโรป นำเอาความรู้วิชาภาษาบาลีและสันสกฤตเข้ามาพร้อมกับวิชาการอื่นๆ พระสงฆ์จึงเริ่มงานการศึกษาและวิจัยอย่างกว้างขวาง ตามวิธีการสมัยใหม่ แสวงหาตำรับตำราและคัมภีร์พุทธศาสนาภาษาต่างๆ มาไว้พร้อมบริบูรณ์ แต่งานค้นคว้าวิจัยเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ในขอบเขตเป็นการศึกษาเพื่อความรอบรู้ เพื่อความเป็นนักปราชญ์และในแง่วิชาการเท่านั้น พระสงฆ์นิกายต่างๆ ยังคงทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์อย่างโบราณ ทำการสาธยายพระสูตรตามแบบนิกายของตน และจัดพิธีกรรมประจำปีสำหรับประชาชนที่มาชุมชนในงานประเพณี ชาวญี่ปุ่นยังรอด้วยความหวังว่า เมื่อใดจักถึงเวลาที่มีผู้สามารถนำเอาพุทธศาสนาก้าวออกมาสู่ฐานะอันเป็นที่ยอมรับในอารยธรรมสมัยใหม่อีกครั้งหนึ่ง

สภาพปัจจุบัน

ฐานะของพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่นปัจจุบัน อาจมองเห็นได้จากตัวเลขสถิติเปรียบเทียบกับศาสนาอื่นๆ กล่าวคือ ในจำนวนประชาชนญี่ปุ่นจำนวน ๙๗,๑๘๖,๐๐๐ คน ใน พ.ศ. ๒๕๐๗ มีสถิติทางศาสนาของกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น ดังนี้

ศาสนา จำนวนศาสนิก จำนวนพระ
หรือนักบวช
วัด/โบสถ์/
ศาสนสถาน
ชินโต ๗๙,๖๘๙,๐๐๐ ๒๐๕,๘๑๒ ๗๙,๗๑๕
พุทธ ๗๓,๗๕๗,๐๐๐ ๙๕๑,๔๖๖ ๗๖,๕๓๖
คริสต์ ๗๕๒,๐๐๐ ๑๖,๘๖๒ ๓,๑๕๔
ศาสนาอื่นๆ ๕,๓๔๓,๐๐๐ ๑๘,๒๒๐ ๖๗๐

 

พึงสังเกตว่า ตัวเลขชาวพุทธกับชินโตนั้นมักจะซ้ำบุคคลกัน คือบุคคลเดียวนับถือสองศาสนา อีกประการหนึ่ง ถ้าเทียบกับสถิติใน พ.ศ. ๒๕๐๖ ตัวเลขศาสนิกชินโตลดลงจาก ๘๐ ล้านมาเป็น ๗๙ ล้าน ของพุทธเพิ่มจาก ๖๙ ล้านมาเป็น ๗๓ ล้าน ของคริสต์เพิ่มจาก ๗๑๒,๐๐๐ เป็น ๗๕๒,๐๐๐ คน ศาสนาอื่นๆ คงเดิม

ในจำนวนพุทธศาสนิกชน ๗๓ ล้านคนเศษนั้น แบ่งออกได้เป็นหลายนิกาย และชาวญี่ปุ่นเป็นนักคิดก้าวหน้า ชอบตั้งนิกายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเสมอ เมื่อสมัยเมอิจิ ญี่ปุ่นมีนิกายใหญ่ ๑๓ นิกาย กับนิกายสาขาอีก ๕๖ สาขา ตัวเลขนี้คงที่ตลอดสมัยเมอิจิ เพราะถูกบีบรัดด้วยนโยบายของประเทศ ครั้นถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลมีนโยบายรวบอำนาจ ตัวเลขยิ่งลดลงเหลือ ๑๓ นิกาย ๒๘ สาขา หลังสงครามแล้วกิจการทางศาสนาเป็นอิสระ จึงเริ่มเกิดนิกายต่างๆ แยกออกไปเป็นอันมาก นิกายที่แยกสาขามากที่สุด คือ นิจิเรน ชินงอน เทนได และ โจโด สาเหตุการแตกแยกในสมัยหลังๆ นี้ ส่วนมากเป็นเรื่องการเงิน หาใช่เรื่องหลักธรรมในนิกายไม่

ตามสถิติของกระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ มีกลุ่มชาวพุทธทั้งที่เป็นนิกาย สาขา และสาขาย่อยๆ ต่างๆ รวมทั้งหมด ๒๓๔ หน่วย ในที่นี้จะแสดงเฉพาะที่สำคัญๆ คือ

 

อนุนิกาย
สำคัญ
วัดใหญ่ วัดสาขา พระสงฆ์ ศาสนิก
ก. นิกายเกิดยุคกรุงนารา
๑. ฮอนโซ ๔๓ ๓๐ ๖๗๔ ๕๒,๔๘๐
๒. เคงอน - ๕๑ ๒๓ ๕๑๒ ๕๓,๘๐๐
๓. ริตสุ - ๒๓ ๑๔ ๔๗ ๓๓,๒๐๔
ข. นิกายเกิดยุคกรุงเฮอัน
๑. เทนได ๔,๐๘๑ ๕๓๑ ๕,๘๕๔ ๗๘๐,๐๙๑
๒. ชินงอน ๑๑,๓๙๙ ๒,๖๑๙ ๑๖,๗๐๒ ๓,๐๓๒,๗๔๓
ค. นิกายเกิดสมัยกามากุระ
๑. โจโด ๕,๘๑๖ ๓๓๕ ๗,๒๕๗ ๓,๕๔๒,๘๖๒
๒. ชิน (โจโดชิน) ๑๐ ๒๑,๘๕๙ ๗๐๘ ๓๔,๐๓๘ ๑๔,๓๐๗,๓๘๔
๓. จิ - ๔๒๔ - ๕๙๐ ๔๓,๗๙๙
๔. ยุซุเนมบุตสุ - ๓๕๔ ๓๑ ๖๐,๐๐๐
๕. รินไซ (เซน) ๕,๐๒๘ ๑๘ ๕,๑๒๗ ๒,๓๖๒,๔๖๖
๖. โซโต (เซน) - ๑๔,๙๑๔ - ๑๕,๘๓๖ ๖,๗๕๘,๘๑๘
๗. นิจิเรน ๕,๗๔๑ ๖๗๖ ๗,๕๗๗ ๒,๒๘๐,๑๘๖
ง. นิกายเกิดสมัยโตกุงาวะ
๑. โอบากุ (เซน) ๕๔๗ ๗๑๒ ๑๑๑,๖๐๔

 

นอกจากนี้ ยังมีสาขาที่ไม่จัดเข้าในตัวเลขข้างบนอีกเป็นจำนวนมาก เช่น นิกายนิจิเรนยังมีวัดใหญ่ วัดสาขาอีกเกิน ๑๐๐ แห่ง และมีศาสนิกที่ขึ้นต่อวัดเหล่านั้นอีกจำนวนเกินล้านคน เมื่อรวมรายใหญ่และปลีกย่อยด้วยกันทั้งหมดแล้ว จึงได้ตัวเลขนิกายและสาขา รวม ๒๓๔ หน่วย และศาสนิกเกือบ ๘๐ ล้านคน ดังกล่าวแล้วข้างต้น

ในระยะหลังๆ นี้ ได้มีนักการศาสนามากท่าน พยายามเชื่อมประสานพุทธศาสนานิกายต่างๆ เข้าด้วยกัน มีการประชุมองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกครั้งที่ ๒ ที่โตเกียว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ จากนั้นในญี่ปุ่นเอง ก็เกิดการเคลื่อนไหวในด้านนี้เป็นอันมาก เช่น เกิดพุทธศาสนิกสมาพันธ์สากลฝ่ายญี่ปุ่น (Japan Chapter of the World Federation of Buddhists) ยุวพุทธศาสนิกสมาพันธ์แห่งญี่ปุ่น (AIl-Japan Young Buddhists Federation) และสันนิบาตพุทธสตรีสมาคมแห่งญี่ปุ่น (League of the All-Japan Buddhist Women's Associations)

องค์การสื่อสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธที่ใหม่สุด เห็นจะได้แก่พุทธศาสนิกสมาพันธ์แห่งญี่ปุ่น (Japan Buddhist Federation) ซึ่งท่าน ไตโอะ ซาซากิ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๐๐ มีสำนักงานอยู่ที่วัดซุกิจิ ฮองวันจิ ในนครโตเกียว มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในบรรดานิกายและกลุ่มชาวพุทธทั้งปวงในญี่ปุ่น และวางแผนการผนึกกำลังชาวพุทธในการดำเนินการเพื่อความก้าวหน้า แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างชาติ และเสริมสร้างสันติสุขของชาวโลก ด้วยอาศัยหลักอิสรภาพตามแนวพุทธศาสนา ออกนิตยสารรายเดือนชื่อ เซน-บุตสุ-นิวส์ สถิติพิมพ์ ๑๐,๐๐๐ ฉบับ ปัจจุบันมีผู้เข้าสังกัดแล้ว ๕๗ นิกาย พุทธสมาคมประจำมณฑล ๓๔ แห่ง กับกลุ่มและสมาคมพุทธศาสนาอื่นๆ ๒๐ หน่วย ตามสถิติที่องค์การนี้จัดทำไว้ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ ว่าปัจจุบันญี่ปุ่นมีพุทธศาสนิกชน ๘๐ ล้านคน มีพระภิกษุ ๑๘๐,๐๐๐ รูป ภิกษุณี ๕,๐๐๐ รูป วัดและโบสถ์ ๘๐,๐๐๐ แห่ง มีพุทธศาสนสถานในต่างประเทศ คือ

  1. ในสหรัฐ ๗๐ แห่ง
  2. ในบราซิล ๓๐ แห่ง
  3. ในแคนาดา ๑๐ แห่ง
  4. ในอินเดีย ๖ แห่ง
  5. ในเยอรมนี ๑ แห่ง

กิจการทางพุทธศาสนา ที่เด่นและรุดหน้าที่สุดของญี่ปุ่น เห็นจะได้แก่การศึกษานิกายต่างๆ ได้มีมหาวิทยาลัยของตนเอง พร้อมทั้งวิทยาลัย โรงเรียนประถม ตลอดจนโรงเรียนอนุบาลเป็นอันมาก

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ๗๓ แห่ง มหาวิทยาลัยประชาภิบาล ๓๕ แห่ง และมหาวิทยาลัยเอกชน ๒๐๙ แห่ง มีนักศึกษา ๙๓๗,๖๐๐ คน ในจำนวนนี้ มีมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาซึ่งจัดเข้าในประเภทมหาวิทยาลัยเอกชน คือ

ชื่อมหาวิทยาลัย ที่ตั้ง นิกายเจ้าของ จำนวน
คณะ
จำนวน
นักศึกษา
ประเภท
๑. โกมาซาวา โตเกียว โซโตเซน ๗,๐๐๐ สหศึกษา
๒. โตโย " กึ่งพุทธ ๑๐,๐๐๐ "
๓. ไตโช " โจโด, ชินงอน
เทนได
๑,๕๐๐ "
๔. ริชโช " นิจิเรน ๗,๐๐๐ "
๕. มุสะชิโน " ชิน (ยังไม่ทราบ) สตรี
๖. ชุชิอิน เกียวโต ชินงอน ๕๐ สหศึกษา
๗. บุกเกียว " โจโด ๑,๐๐๐ "
๘. ริวโกกุ " ชิน ๗,๐๐๐ "
๙. สตรีแห่งเกียวโต " " ๒,๗๕๔ สตรี
๑๐. โอตานี " " ๑,๘๐๐ สหศึกษา
๑๑. ฮานาโซโน " รินไซเซน ๔๕๐ "
๑๒. ไอชิงะกุอิน นาโกยา โซโตเซน (ยังไม่ทราบ) "
๑๓. โดโฮ " ชิน (ยังไม่ทราบ) "
๑๔. สตรีโอตานี โอซากา " (ยังไม่ทราบ) สตรี
๑๕. สตรีโซไอ " (ยังไม่ทราบ) "
๑๖. โกยาซัน โกยาซัน ชินงอน (ยังไม่ทราบ) "

 

ในมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเหล่านี้มีส่วนที่ขาดไม่ได้คือ คณะหรือแผนกวิชาพุทธศาสนา เฉพาะใน ๑๐ มหาวิทยาลัยที่ให้ตัวเลขไว้ข้างบนนั้น มีตัวเลขนักศึกษาในคณะหรือแผนกวิชาพุทธศาสนารวมอยู่ด้วยประมาณ ๔,๒๔๐ คน ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนมากเป็นพระและนักบวช

ในจำนวน ๑๖ มหาวิทยาลัยนี้ มหาวิทยาลัยที่เป็นสหศึกษา มักมีนักศึกษาเป็นชายมากกว่าหญิง คือมีหญิงเพียงราว ๑๐-๒๐% และมหาวิทยาลัยที่มีคณะเดียวควรเรียกว่าเป็นวิทยาลัยมากกว่ามหาวิทยาลัย และวิทยาลัยเหล่านี้ มักมีบัณฑิตวิทยาลัย มีจูเนียร์คอลเลจ ไฮสคูล มิดเดิลสคูล ตลอดจนโรงเรียนประถมศึกษาของตนเอง ตามตัวเลขของ Japan Buddhist Federation มีสถาบันขั้นบัณฑิตวิทยาลัยของชาวพุทธ ๗ แห่ง วิทยาลัยนอกจากที่เขียนไว้ข้างบนอีก ๓๓ แห่ง ไฮสคูล ๑๐๘ แห่ง โรงเรียนฝึกอบรมยุวพุทธ ๑๖ แห่ง ส่วนโรงเรียนประถม และมัธยมต้นอื่นๆ ไม่ได้แสดงตัวเลขไว้ ซึ่งคงมีมากพอสมควร

ในด้านความเป็นอยู่ของพระสงฆ์นั้น แต่เดิมมา เว้นนิกายชินเสียแล้ว พระนิกายอื่นๆ ล้วนประพฤติพรหมจรรย์ปราศจากครอบครัวทั้งสิ้น แต่นับจากยุคเมอิจิเป็นต้นมา ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์เปลี่ยนแปลงไป เพราะรัฐไม่อุ้มชูเหมือนแต่ก่อน ครั้นถึงสมัยปัจจุบันจึงปรากฏว่าพระส่วนมากมีครอบครัวได้ จะมีถือพรหมจรรย์อยู่เฉพาะพระชั้นเจ้าอาวาสและชั้นอาจารย์ผู้ฝึกอบรมในนิกายเทนได ชินงอน และเซนเท่านั้น ยิ่งกว่านั้น ตำแหน่งของพระยังสืบทอดเป็นมรดกแก่บุตรคนโต หรือคนรองๆ ได้ด้วย เว้นแต่ในนิกายชินงอนและเซน ซึ่งจะมอบตำแหน่งให้แก่ศิษย์คนใดคนหนึ่งที่อาจารย์เห็นเหมาะสม

โซกะ งักไก

เมื่อพูดถึงพุทธศาสนาในญี่ปุ่นยุคปัจจุบัน ถ้าไม่กล่าวถึง โซกะ งักไก เสียแล้ว ก็ดูจะขาดความสมบูรณ์ไป เพราะ โซกะ งักไก เป็นบทบาทสำคัญของพุทธศาสนาในญี่ปุ่น ซึ่งมีท่าทีว่าจะเป็นผู้กำหนดอนาคตของพุทธศาสนาในญี่ปุ่น และอาจจะถึงกับกำหนดอนาคตของชาติญี่ปุ่นต่อไปก็ได้

ขอย้อนไปกล่าวถึงประวัติของพุทธศาสนานิกายนิจิเรนสักเล็กน้อย เมื่อท่านนิจิเรนตั้งนิกายชื่อนี้ขึ้นในยุคกามากุระนั้น ญี่ปุ่นกำลังวุ่นวายด้วยสงครามกลางเมือง และพระสงฆ์เองก็มีกองทัพของตนไว้ป้องกันรักษาวัด ท่านนิจิเรนซึ่งรับการศึกษามาอย่างดี เป็นปราชญ์สำคัญรู้ธรรมลึกซึ้งท่านหนึ่ง แต่คิดค้นหาทางที่จะให้คนทั้งหลาย แม้ที่เขลาที่สุดเข้าถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนาได้ด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด จึงได้นำเอาวิธีการที่ตนคิดค้นได้ คือ “นะมุ เมียวโฮ เรงเง เกียว” ออกเผยแพร่ในหมู่ประชาชน ว่าเป็นวิธีเดียวที่จะช่วยมนุษย์ให้หลุดพ้นได้ ทั้งได้ประณามนิกายอื่นๆ ทั้งปวง ว่าเป็นคำสอนที่ผิดพลาดนอกรีตนอกรอย นำมาซึ่งหายนะ กล่าวโจมตีและประณามอย่างเผ็ดร้อนรุนแรง และเสนอต่อรัฐบาลขอให้เลิกนับถือนิกายอื่นๆ เสียทั้งหมด แล้วหันมานับถือคำสอนอย่างเดียวกันอันถูกต้อง คือ นิกายที่ท่านตั้งขึ้นใหม่ เพื่อสันติสุขของประเทศชาติ คราวนั้นท่านนิจิเรนถูกรัฐบาลตัดสินประหารชีวิต แต่พอดีขณะจะทำการประหารได้เกิดมีอุกกาบาตลูกใหญ่ปรากฏในท้องฟ้า ทำให้เพชฌฆาตตกใจหนีไป จึงได้รับเพลาโทษลงเป็นการถูกปล่อยเกาะ เมื่อพ้นโทษแล้วท่านยังได้ประสบเหตุการณ์ร้าย คือ สาวกในนิกายของตนถูกบีบบังคับกำจัดอีก จึงได้เขียน ไดโงฮอนซอน ขึ้นเป็นอักษรจีน เขียนเป็นแผนภาพแสดงสากลจักรวาล จัดลำดับพระพุทธเจ้าทุกพระองค์เป็นวงล้อมรอบแผ่ขยายออกไปโดยลำดับจากพระองค์ที่เป็นศูนย์กลาง คือพระเจ้าแห่งคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตรซึ่งสถิตเป็นประธาน แผนภาพอักษรนี้จารึกอยู่ในม้วนคัมภีร์พร้อมด้วยคำว่า “นะมุ เมียวโฮ เรงเง เกียว” มอนชิมันดาระ คือ มณฑลแห่งอักษรนี้ได้เป็นวัตถุที่เคารพของนิกายนิจิเรน แทนวัตถุเคารพอื่นๆ ทั้งปวงสืบมา และท่านนิจิเรนยังได้ทำนายไว้ด้วยว่า ในกาลข้างหน้า คนญี่ปุ่นทั้งประเทศ และชาวโลกทั้งโลกจักรับนับถือคำสอนของท่านเป็นทางรอดพ้นสืบไป

เมื่อท่านนิจิเรนถึงมรณภาพแล้ว ศิษย์ได้แยกกันออกไป ตั้งเป็นนิกายย่อย ๆ เพิ่มขึ้น มีศิษย์ท่านหนึ่งชื่อ นิกโก ได้ไปสร้างวัดอยู่ ณ เชิงเขาฟูจิ ชื่อ วัดไตเซกิ และเรียกชื่อนิกายของตนว่า นิจิเรนโชชุ แปลว่า นิจิเรนที่แท้

นิกายนิจิเรนได้อับเฉาตลอดยุคโตกุงาวะ ครั้นถึงสมัยเมอิจิ จึงได้กลับแพร่หลายมากขึ้นในหมู่คนยากจน ครั้นถึง พ.ศ.๒๔๗๓ ได้มีครูใหญ่โรงเรียนประถมคนหนึ่ง ชื่อ นายสุเนสะ บุโร มะกิงุจิ ตั้งสมาคมชื่อ “โซกะ เกียว อิกุ งักไก” ขึ้น แปลว่า “สมาคมการศึกษาสร้างสรรค์คุณค่า” มีวัตถุประสงค์ทำงานค้นคว้าวิจัยทางการศึกษา แต่ในปีต่อมา นายมะกิงุจิ ได้เข้านับถือนิกายนิจิเรนโชชุ จึงได้เริ่มกิจการทางศาสนาขึ้นในสมาคมของตน จำนวนสมาชิกได้เพิ่มขึ้นโดยรวดเร็ว ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ มีผู้ร่วมพิธีเพียง ๖๐ คน แต่ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ มีสมาชิกถึง ๓,๐๐๐ คน พอดีเกิดสงครามโลก รัฐบาลจึงขอร้องให้นายมะกิงุจิรวมตัวเข้ากับนิกายอื่นๆ ที่ยอมรับลัทธิชินโต และสนับสนุนการทำสงครามตามนโยบายสร้างวงไพบูลย์แห่งอาเซีย รัฐบาลขอให้ทุกบ้านมี กามิดานะ คือ หิ้งบูชาเทพเจ้าแห่งลัทธิชินโตไว้ประจำ และให้ถือลัทธิชินโตเป็นศาสนาราชการของจักรวรรดิญี่ปุ่น นายมะกิงุจิได้ปฏิเสธไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล จึงถูกจับขังคุกพร้อมกับศิษย์ ๒๒ คน ตัวนายมะกิงุจิเอง ได้เป็นโรคขาดอาหารถึงแก่กรรมระหว่างคุมขัง เมื่อสิ้นหัวหน้า ศิษย์หลายคนก็ได้ยอมสละทิ้งความเชื่อถือ และได้รับการปลดปล่อย แต่นายโจเซ อิโตดะ ศิษย์คนสนิทที่สุดของมะกิงุจิไม่ยอมเลิกล้มความเชื่อถือและได้รับการปลดปล่อยใน พ.ศ. ๒๔๘๘

เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงแล้ว ฐานะของพระจักพรรดิก็เปลี่ยนไป มีประกาศของพระจักรพรรดิว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างพระจักรพรรดิกับประชาชน มิใช่การถือตามระบบความคิดที่ผิดว่า พระจักรพรรดิเป็นเทพเจ้า” ครั้นแล้วลัทธิชินโตก็เสื่อม พุทธศาสนิกนิกายอื่นๆ ก็อับเฉา เพราะมีมลทินในข้อที่ร่วมสนับสนุนการทำสงคราม

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ นายโตดะซึ่งพ้นโทษแล้วได้รวมพวกตั้งสมาคมขึ้นใหม่ ชื่อ “โซกะ งักไก” แปลว่า “สมาคมสร้างสรรค์คุณค่า” และนำเอาพิธีนำคนเข้านิกายที่เรียกว่า “ชากุบุกุ” ของท่านนิจิเรนมาใช้ จำนวนสมาชิกได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ มีสมาชิก ๗๕๐,๐๐๐ คน เมื่อนายโตดะถึงแก่กรรมใน พ.ศ. ๒๕๐๑ แล้ว นายไดสะกุ อิเกดะ ได้เป็นประธานสมาคมคนที่ ๓ สืบมา เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๐๙ สมาคมนี้ได้แสดงจำนวนศาสนิกในนิกายของตนว่ามีสมาชิกทั้งหมด ๖,๑๐๐,๐๐๐ ครอบครัว นับเป็นจำนวนบุคคลได้เกินกว่า ๑๕ ล้านคน หรือประมาณ ๑๕% ของจำนวนประชากรญี่ปุ่นทั้งหมด และในจำนวนนี้มีคนหนุ่มสาวประมาณ ๓ ล้านคน เป็นคนหนุ่มสาวที่มีบทบาทอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ คน

การที่จำนวนศาสนิกผู้สังกัดองค์การนี้เพิ่มขึ้นโดยรวดเร็วอย่างยิ่งนั้น น่าจะเป็นด้วยมีหลักคำสอนที่ปฏิบัติได้โดยง่ายอย่างหนึ่ง และรู้จักใช้วิธีการอันฉลาดแนบเนียนในการเผยแพร่อีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือ หลักคำสอนของนิกายนี้ มิใช่สิ่งที่จะพึงต้องทำความเข้าใจด้วยการพินิจเหตุผลหรือศึกษาค้นคว้าด้วยสติปัญญาอันลึกซึ้งแต่ประการใด เพียงแต่มีศรัทธามั่นคงในไดโงฮอนซอน และกล่าวคำนมัสการว่า นะมุ เมียวโฮ เรงเง เกียว ด้วยจิตเชื่อมั่นแน่วแน่เพียงอย่างเดียว

ในฝ่ายวิธีการเผยแผ่นั้น นิกายนิจิเรนสาขานี้ประกาศว่า จุดมุ่งหมายของตนได้แก่ โกเซน-รุฟุ คือความหลุดพ้นของมนุษยชาติ และการสร้างสังคมอันสงบสุขให้เกิดขึ้น ด้วยอาศัยการเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่แท้จริง จะช่วยเหลือคนมีทุกข์ทั่วโลก และนำสันติมาสู่มวลมนุษย์ เมื่อผู้ใดเข้ามาร่วมศรัทธาในไดโงฮอนซอน ผู้นั้นก็จะพ้นจากความยากจน ถ้าตกงานก็มีงานทำ ถ้าชีวิตครอบครัวระส่ำระสาย ก็จะกลายเป็นราบรื่น หากมีโรคภัย ก็จะกลับฟื้นหาย จะพ้นทุกข์ประสบความสุขแท้จริง ศิษย์ของนิกาย (คือสมาคม) นี้ จะคอยแสวงหาสมาชิกมาเข้าสังกัดใหม่ คอยสงเคราะห์ชักนำคนตามครอบครัวที่มีคนตายใหม่ ๆ คนที่มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ หรือเวลามีภัยธรรมชาติ ด้วยวิธีการนี้ นิกายนี้จึงแพร่หลายไปรวดเร็ว โดยเฉพาะในหมู่ประชาชนที่มีฐานะค่อนข้างยากจน และคนชั้นกลาง พวกเจ้าของร้านค้าย่อย กรรมกร ลูกจ้าง ซึ่งองค์การอื่นๆ เหลียวแลไม่ค่อยถึง

วิธีนำคนเข้าสู่นิกายนิจิเรนสาขานี้ เรียกว่า ชากุบุกุ แปลง่ายๆ ว่า “ทำลายแล้วครอบครอง” หมายความว่าทำให้มองเห็นข้อผิดพลาดในหลักคำสอนที่นับถืออยู่เก่า แล้วทำลายความเชื่อในคำสอนนั้นเสีย เปลี่ยนมารับนับถือนิกายนิจิเรนแทน ในทางปฏิบัติ ศิษย์นิกายนี้มักมีอารมณ์เชื่อมั่นรุนแรง จนถึงกลายเป็นการบังคับ และใช้กำลังกาย เช่น ทำลายแท่นบูชาในศาสนาเดิมของผู้เข้านิกาย เป็นต้น ถึงกับประธานสมาคมต้องออกประกาศว่า ชากุบุกุ มิใช่การบีบบังคับ เพราะการเข้านับถือศาสนาจะเกิดขึ้นด้วยการใช้กำลังบังคับหาได้ไม่ แต่ ชากุบุกุ หมายถึงการทำลายอกุศลธรรมในดวงจิต ด้วยอาศัยพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์ วิธีเข้านิกายที่ทำตามปกติก็คือ ทำลายรูปเคารพในศาสนาหรือนิกายเดิมของตน ละทิ้งเทพเจ้าเก่าๆ ที่ตนนับถือ แล้วไปเข้าพิธีในวัดใกล้ๆ ประมาณ ๒๕ นาที พร้อมทั้งรับมอบ โงฮอนซอน (คือ มอนชิมันดาระ) มาตั้งบูชาที่บ้านของตน สวดบูชา สัทธรรมปุณฑริกสูตร (คือ นะมุ เมียวโฮ เรงเง เกียว) ทุกวัน เช้า ๕ ครั้ง ค่ำ ๓ ครั้ง

การบริหารขององค์การหรือสมาคมนี้ ไม่ใช่วิธีเลือกตั้ง แต่ใช้วิธีแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ ยึดเอาศรัทธาและความเข้าใจซึ้งในหลักของนิกายเป็นหลักพิจารณาคุณสมบัติ สมาชิกรวมกันได้เป็นอันหนึ่งอันเดียว มีแนวความคิดเห็นเป็นอย่างเดียวกัน ไม่มีการโต้แย้ง บุคคลเป็นเพียงส่วนประกอบของส่วนรวม การกระทำของหมู่เป็นสิ่งสำคัญ บุคคลมีความหมายเพียงช่วยร่วมให้เกิดการกระทำของหมู่ หมู่จะผนึกกำลังกันได้เข้มแข็งมั่นคง ด้วยมีศรัทธาเป็นฐานและเป็นจุดศูนย์รวม “ตราบใดศรัทธายังคงอยู่ โซกาก็จะคงอยู่ตลอดไป"

วิธีรวมกำลังส่วนใหญ่ของนิกายนี้ อาศัยระบบการบริหารของนิกายทั่วประเทศ ซึ่งชาวตะวันตกบางคนเรียกว่าเป็นการสร้างรัฐซ้อนขึ้นในรัฐ กล่าวคือ ศาสนิกนิกายนี้ประมาณ ๒๐-๓๐ ครอบครัว รวมกันเป็นกลุ่มเรียกว่า Squad กลุ่มอย่างนี้ ๖ กลุ่มรวมกันเป็นหมวดเรียกว่า Company ๑๐ คัมปะนีรวมกันเป็นย่านหนึ่งเรียกว่า District หลายดิสตริครวมกันเป็นภาคหนึ่ง เรียกว่า Regional Chapter ในปี ๒๕๐๙ ทั่วญี่ปุ่นมีภาคอย่างนี้ ๑,๗๘๙ ภาค หน่วยย่อยเหล่านี้ มีการประชุมกันเป็นประจำเพื่อเล่าและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางศาสนาซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งเตรียมการชากุบุกุสำหรับสมาชิกใหม่ ในด้านกิจกรรมสำหรับเยาวชนได้จัดให้มีการสอนธรรมภาคฤดูร้อน แจกตำราเกี่ยวกับหลักธรรมของนิจิเรน และจัดการสอบประจำปี เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ มีสมาชิกเข้าสอบ ๒ ล้านคน เมื่อสอบได้ ก็ได้รับคุณวุฒิตามลำดับชั้น นอกจากนี้ ยังจัดให้มีกิจกรรมด้านกีฬาและวัฒนธรรมอย่างอื่นๆ เช่น มีวงดนตรีของตน เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ประกอบด้วยระเบียบวินัยเป็นอย่างดี

ความสำคัญของพระพุทธศาสนานิกายนิจิเรนสาขานี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ปัจจุบัน โซกะ งักไก กำลังมีบทบาทสำคัญอย่างมากในทางการเมืองของญี่ปุ่น กล่าวคือ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นพรรคหนึ่งชื่อ พรรคโกเมอิโต ซึ่งแปลว่า พรรควิสุทธิรัฐ กล่าวได้ว่า พรรคการเมืองนี้เป็นของโซกะ งักไก นายฮิโรชิ โฮโจ เลขาธิการพรรคนี้เป็นบุคคลชั้นหัวหน้าในโซกะ งักไก นโยบายของพรรคนี้ดำเนินไปตามคติของโซกะ งักไก โดยประกาศหลักการของตนว่า เป็นประชาธิปไตยแบบพุทธศาสนา เป็นสังคมนิยมของมวลมนุษย์ เป็นลัทธิเอกภาพของปวงชนชาวโลก และเป็นหลักสากลเอกชาติพันธุ์ กับถือตนว่ามีนโยบายเดินสายกลาง มุ่งปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์ ปัจจุบันพรรคนี้ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนเป็นพรรคที่มีอิทธิพลยิ่งใหญ่เป็นอันดับที่สามของญี่ปุ่น คือรองจากพรรคลิเบอรัล ดีโมแครต และพรรคโซเชียลลิสต์ และยังวางแผนว่าจะเพิ่มจำนวนเสียงในรัฐสภาขึ้นเรื่อยๆ จนให้ได้ที่นั่ง ๑ ใน ๕ ของรัฐสภาแล้ว ก็จะเป็นผู้บันดาลมติของรัฐบาลได้

ศาสนิกของโซกะ งักไก มิได้มีเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่กำลังแพร่ขยายตัวในต่างประเทศด้วย ในฮาไว เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๐๙ มีสมาชิก ๑,๓๔๕ ครอบครัว ในสหรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๓ มีสมาชิก ๒๕๐ ครอบครัว ครั้นถึง พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้เพิ่มขึ้นเป็น ๑๕,๐๐๐ ครอบครัว ในอเมริกาใต้ ปี ๒๕๐๓ มี ๖๐ ครอบครัว ครั้นถึงปี ๒๕๐๙ จำนวนเพิ่มขึ้นเป็น ๑,๐๐๐ ครอบครัว นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่ในประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี และในยุโรปด้วย ในญี่ปุ่นเอง ขณะนี้บุคคลชั้นผู้บริหารของโซกะ งักไก รู้สึกพอใจในจำนวนศาสนิกที่มีอยู่แล้ว จึงไม่เร่งรัดในเรื่องการหาสมาชิกใหม่ แต่หันมากวดขันมากขึ้นในด้านการเลือกเฟ้นตัวบุคคลที่จะรับเข้ามาเป็นสมาชิก

ขณะนี้ มีชาวต่างประเทศและแม้ชาวญี่ปุ่นเองจำนวนไม่น้อย กำลังเฝ้ามองด้วยความหวั่นใจและห่วงใยในหลักการ วิธีการ และความเป็นไปของโซกะ งักไก คนเหล่านี้กำลังคิดถึงกาลข้างหน้า ตามคำพูดของนายอิเกดะผู้เป็นประธานสมาคมโซกะ งักไกที่ว่า “จุดหมายของนิจิเรนโชชุ และโซกะ งักไกนี้ มิใช่จะคับแคบเล็กน้อยเพียงแค่เป็นศาสนาประจำชาติ หรือมีอำนาจในทางการเมืองเท่านั้น แต่จักอาศัยสารธรรมของพระมหาปราชญ์นิจิเรน เป็นพลังบันดาลให้มนุษยชาติทั้งมวล มีโงฮอนซอนร่วมกัน” เมื่อมองจากจุดนี้ออกไป ก็อาจทำให้ต้องคิดคาดคะเนถึงกาลข้างหน้าว่า โซกะ งักไก จักมีส่วนร่วมในการบันดาลอนาคตของญี่ปุ่นหรือแม้ของโลก ต่อไปอย่างไร

หนังสือและเอกสารประกอบการเขียน

๑. บันทึกการเดินทางเยี่ยมเยียน สถาบันการศึกษาชั้นสูงทางพระพุทธศาสนาในสิงคโปร์ ลังกา มาเลเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี และฮ่องกง ของผู้แทนสถาบันการศึกษาชั้นสูงทางพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ในความอุปถัมภ์ของ พสล. พ.ศ. ๒๕๑๐ ของพระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต

๒. A History of Japanese Buddhism โดย Shinsho Hanayama, CIIB Press, Tokyo,1960.

๓. Japan Handbook 1967, Rengo Press, Tokyo.

๔. The New Face of Buddha โดย Jerrold Schecter, John Weatherhill, Inc., Tokyo, 1967.

๕. Mahayana Buddhism, A Brief Outline โดย Beatrice Lane Suzuki, George Allen and Unwin, 1959.

๖. Encyclopaedia of Religion and Religions โดย Royston Pike, George Allen and Unwin, 1951.

๗. Encyclopaedia Britannica, 1959, Vols, 12-13 (หัวข้อเรื่อง Japan และ Korea)

๘. เอกสารของ Japan Buddhist Federation, 1968.

๙. รายชื่อวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาในญี่ปุ่น รวบรวมโดย Dr. Richard A. Gard.

๕.
พระพุทธศาสนาในทิเบต

 

เดิมนั้นชาวทิเบตนับถือคติผีสางเทวดาอย่างหนึ่งเรียกว่า ลัทธิบอนโป ต่อมา พระเจ้าสรองสันคัมโป (ประสูติ พ.ศ. ๑๑๖๐) กษัตริย์แห่งทิเบตได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเนปาลและเจ้าหญิงจีน ผู้นับถือพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาจึงได้เริ่มเผยแพร่เข้าสู่ประเทศทิเบต พระเจ้าสรองสันคัมโปได้ทรงส่งทูตชื่อ ทอนมิสัมโภตะ ไปศึกษาพระพุทธศาสนาและภาษาต่างๆ ในประเทศอินเดีย และได้ดัดแปลงอักษรอินเดียมาใช้เขียนภาษาทิเบต เป็นอุปกรณ์ในการนําพุทธธรรมเข้ามาสู่ประเทศด้วยการแปลคัมภีร์พุทธศาสนาภาษาสันสกฤตเป็นภาษาทิเบต เป็นต้น

อย่างไรก็ดี พระพุทธศาสนาในยุคแรกเริ่มนี้ ยังหาแพร่หลายกว้างขวางไม่ เพราะได้รับความต้านทานจากความเชื่อถือและลัทธิประเพณีเดิมของท้องถิ่น

กาลต่อมาถึงรัชกาลพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๕ นับแต่พระเจ้าสรองสันคัมโปนั้น (ตก พ.ศ. ๑๒๙๘ - ๑๓๔๐) พระองค์ได้ทรงอาราธนา พระศานตรักษิต แห่งมหาวิทยาลัยนาลันทามาเผยแพร่หลักพุทธธรรมที่แท้ในทิเบต แต่ประจวบเวลานั้น เกิดมีภัยธรรมชาติและโรคระบาด ประชาชนทั้งหลายจึงเห็นไปว่า เป็นอาเพศเพราะการนําลัทธิผิดแปลกเข้ามาสั่งสอน ถึงกับพระศานตรักษิตต้องกลับไปอินเดียครั้งหนึ่งก่อน แต่ท่านได้แก้ไขเหตุการณ์นี้ด้วยการแนะนําให้อาราธนา พระปัทมสัมภวะ ผู้สั่งสอนพระพุทธศาสนาแบบตันตระ เข้าไปทําการอันถูกอัธยาศัยของประชาชนจนเหตุการณ์สงบเรียบร้อยแล้ว พระศานตรักษิตจึงกลับคืนทิเบตอีกครั้งหนึ่ง แต่นั้นก็ได้ปฏิบัติศาสนกิจเผยแพร่พุทธธรรมที่แท้จริงและแปลคัมภีร์จนถึงมรณภาพในทิเบตนั้นเอง ส่วนการที่พระปัทมสัมภวะเข้าไปครั้งนั้น ก็เป็นต้นเค้าให้พระพุทธศาสนาแบบตันตระเข้าไปตั้งมั่นและเจริญในทิเบตต่อมา

กษัตริย์ทิเบตพระองค์ต่อๆ มา แทบทุกพระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา บางองค์ทรงเป็นปราชญ์ รอบรู้ธรรมลึกซึ้ง วรรณคดีพุทธศาสนาได้เจริญมากขึ้น เช่น มีการจัดทําพจนานุกรมภาษาสันสกฤตทิเบตฉบับแรกเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๓๕๗ มีการเขียนประวัติศาสตร์ทิเบตฉบับแรกในรัชกาล พระเจ้าราลปาเชน (พ.ศ. ๑๓๕๙ - ๑๓๘๑) เป็นต้น เฉพาะกษัตริย์องค์หลังนี้ทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้าถึงกับทรงสยายพระเกศารองเป็นอาสนะให้พระสงฆ์นั่งล้อมแสดงธรรมถวายแด่พระองค์ แต่ต่อมามีเหตุร้ายพระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ และกษัตริย์ผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนาขึ้นครองราชย์ ได้ทําลายวัด กําจัดเนรเทศพระสงฆ์เป็นต้น เป็นเหตุให้เกิดความเคียดแค้นอย่างมากจนถูกปลงพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๑๓๘๔ ครั้นแล้วพระสงฆ์ที่หลบลี้หนีภัยก็กลับคืนสู่ทิเบต คราวนี้อํานาจของพระสงฆ์กลับเข้มแข็งมั่นคงมากกว่าครั้งใดๆ ในกาลก่อน

กาลล่วงมาถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ พระอตีศะ หรือ ทีปังกรศรีชญาณ แห่งมหาวิทยาลัยวิกรมศีลาในแคว้นพิหาร ได้รับอาราธนาเข้าเผยแพร่พระพุทธศาสนาในทิเบต เหตุการณ์ครั้งนี้นับว่าเป็นการนําพระพุทธศาสนาจากอินเดียเข้าสู่ทิเบตคราวใหญ่ครั้งสุดท้าย อันทําให้พระพุทธศาสนาประดิษฐานมั่นคงเป็นศาสนาประจําชาติของทิเบต และมีนิกายต่างๆ แยกกระจายออกไป นิกายเก่าที่นับถือพระปัทมสัมภวะนั้นต่อมาได้มีชื่อกําหนดแยกจําเพาะออกไปว่า นิกายหมวกแดง ส่วนคําสอนของพระอตีศะเป็นแบบโยคาจารที่ผสมผสานคําสอนทั้งฝ่ายหีนยานและมหายานเข้าด้วยกัน บังคับพระสงฆ์ให้ถือพรหมจรรย์และไม่สนับสนุนไสยศาสตร์ต่างๆ ต่อมาได้มีนักปฏิรูปผู้ยิ่งใหญ่ของทิเบต ชื่อ ตสองขะปะ (เกิด พ.ศ. ๑๙๐๑) อาศัยหลักคําสอนนี้ตั้ง นิกายเกลุกปะ หรือ นิกายหมวกเหลือง ขึ้น และได้สะสางพระพุทธศาสนาให้หมดจดจากลัทธิพิธีต่างๆ ส่วนในด้านวรรณคดี ก็ได้มีการรวบรวมผลงานในด้านการแปลคัมภีร์เป็นภาษาทิเบตขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๙ โดยจัดแบ่งคัมภีร์แปลเหล่านั้นออกเป็น ๒ หมวด คือ หมวดพุทธพจน์มีผลงานแปล ๑๐๐ เล่ม กับหมวดอรรถวรรณนามีผลงานแปล ๒๒๕ เล่ม คัมภีร์เหล่านี้ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ เรียกกันว่า พระไตรปิฎก หรือคัมภีร์พระพุทธศาสนา ฉบับทิเบต

พระสงฆ์นิกายเกลุกปะนั้น ได้รับความยกย่องนับถือจากผู้ปกครองมงโกลว่าเป็นผู้นําทางจิตใจ และต่อมาถือว่าเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองด้วย คราวที่สําคัญก็คือในรัชกาลกษัตริย์มงโกล ชื่อ อัลตันข่าน พระองค์ได้พบประมุขสงฆ์องค์ที่ ๓ ของนิกายนี้ ชื่อ สอดนัมยาโส (พ.ศ. ๒๐๘๙ - ๒๑๓๐) กษัตริย์อัลตันข่านเกิดความเชื่อว่า ท่านประมุขสงฆ์ผู้นี้เป็นอาจารย์ของพระองค์ในชาติก่อนเมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็นกุบไลข่าน จึงเรียกท่านยาโสว่า ทะเล (ตรงกับคําที่ใช้เรียกของทิเบตบัดนี้ว่า ทะไล หรือ Dalai แปลเป็นไทยมีเสียงตรงกับคําเดิม คือแปลว่าทะเลนั่นเอง) แต่นั้นมาก็เรียกประมุขสงฆ์ว่า ทะไลลามะ ทั้งหมด

ทะไลลามะองค์ที่ ๕ (พ.ศ. ๒๑๕๘ - ๒๒๒๓) ได้รับมอบอํานาจจากผู้นํามงโกลให้ปกครองประเทศทิเบตทั้งหมด พระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมได้เจริญวิวัฒนาการสืบมาโดยลําดับ จนถึงสมัยทะไลลามะองค์ที่ ๗ (พ.ศ. ๒๓๕๑ - ๒๔๐๑) ก็เริ่มมีนักบวชคริสต์ศาสนาเดินทางเข้าไป ส่วนความสัมพันธ์กับประเทศอินเดียได้จางหายไป เพราะถึงยุคที่อินเดียถูกครอบครองจากภายนอก และคณะสงฆ์เดิมในอินเดียก็เสื่อมไป ทิเบตจึงเข้าสู่ยุคของการปิดประตูอยู่โดดเดี่ยว กับมีการแทรกแซงจากภายนอก ประสบความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตามเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์โลกยุคปัจจุบัน จนถึงจีนแดงได้เข้าครอบครองใน พ.ศ. ๒๔๙๔ ขณะนี้ทะไลลามะประมุขของทิเบตปัจจุบันเป็นพระองค์ที่ ๑๔ ทรงพํานักลี้ภัยอยู่ในประเทศอินเดีย ตั้งแต่ทรงเดินทางหลบหนีออกจากทิเบตใน พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นต้นมา

๖.
พระพุทธศาสนาในไทย

 

ความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย อาจแบ่งออกได้เป็น ๔ ยุค คือ

  1. ยุคเถรวาทแบบสมัยอโศก
  2. ยุคมหายาน
  3. ยุคเถรวาทแบบพุกาม
  4. ยุคเถรวาทแบบลังกาวงศ์

ยุคที่ ๑ เถรวาทแบบสมัยอโศก

พ.ศ. ๒๑๘

พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๓ ณ พระนครปาฏลีบุตร หลังจากเสร็จสิ้นการสังคายนาแล้ว ได้ทรงส่งพระสงฆ์ไปประกาศพระศาสนาในดินแดนต่างๆ รวม ๙ สาขา บรรดา ๙ สายนั้น พระโสณะ และ พระอุตตระ เป็นสายหนึ่ง (คัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถาแห่งพระวินัยปิฎกนับเป็นสายที่ ๘ แต่คัมภีร์ศาสนวงศ์นับย้อนเป็นสายที่ ๒) นําพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานใน อาณาจักรสุวรรณภูมิ ซึ่งสันนิษฐานกันว่าได้แก่ จังหวัดนครปฐม โดยมีโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ เช่น พระปฐมเจดีย์ เป็นต้น เป็นประจักษ์พยานอยู่จนบัดนี้ (พม่าว่าสุวรรณภูมิได้แก่ เมืองสะเทิม ในพม่าภาคใต้)

 

ยุคที่ ๒ มหายาน

พ.ศ. ๖๒๐

พระเจ้ากนิษกะมหาราช ทรงอุปถัมภ์สังคายนาครั้งที่ ๔ ของฝ่ายมหายาน ณ เมืองชลันธร และทรงส่งสมณทูตออกประกาศพระศาสนาในอาเซียกลางเป็นต้น คราวนั้นพระเจ้ามิ่งตี่ ทรงนําพระพุทธศาสนาจากอาเซียกลางเข้าไปเผยแพร่ในประเทศจีน และได้ทรงส่งทูตสันถวไมตรีมายัง ขุนหลวงเม้า กษัตริย์ไทยผู้ครองอาณาจักรอ้ายลาว คณะทูตได้นําพระพุทธศาสนาเข้ามาด้วย ทําให้หัวเมืองไทยทั้ง ๗๗ มีราษฎร ๕๑,๘๙๐ ครอบครัว หันมานับถือพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก

พ.ศ. ๑๓๐๐

กษัตริย์แห่งศรีวิชัย ในเกาะสุมาตราเรืองอํานาจ แผ่อาณาเขตเข้ามาถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี กษัตริย์ศรีวิชัยทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน จึงทําให้พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเผยแพร่เข้ามาในภาคใต้ของประเทศไทย ที่อยู่ในอาณาจักรของพระองค์ ดังมีเจดีย์พระธาตุไชยาและพระมหาธาตุนครศรีธรรมราชเป็นประจักษ์พยานถึงบัดนี้

พ.ศ. ๑๕๕๐

กษัตริย์กัมพูชา ราชวงศ์สุริยวรมัน เรืองอํานาจ แผ่อาณาเขตลงมาทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย และตั้งเมืองละโว้หรือลพบุรีเป็นเมืองหลวงเมืองหนึ่งสําหรับปกครองดินแดนแถบนี้ (จึงเรียกสมัยนี้ว่าสมัย ลพบุรี) กษัตริย์กัมพูชาทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งได้เผยแพร่ต่อขึ้นมาจากอาณาจักรศรีวิชัย แต่มหายานสมัยนี้ปนเปผสมกับศาสนาพราหมณ์มาก ประชาชนถิ่นนี้จึงได้รับพระพุทธศาสนาทั้งแบบเถรวาทที่สืบมาแต่เดิมกับมหายานและศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามาใหม่ ทําให้มีผู้นับถือทั้งสองแบบ และมีพระสงฆ์ทั้ง ๒ นิกาย ภาษาสันสกฤตก็เข้ามาเผยแพร่ มีอิทธิพลในภาษาและวรรณคดีไทยมากแต่บัดนั้น

 

ยุคที่ ๓ เถรวาทแบบพุกาม

พ.ศ. ๑๖๐๐

พระเจ้าอนุรุทธมหาราช หรืออโนรธามังช่อ กษัตริย์พุกามเรืองอํานาจขึ้น ทรงปราบรามัญรวมพม่าเข้าได้ทั้งหมด แล้วแผ่อาณาเขตเข้ามาถึงอาณาจักรล้านนา ล้านช้าง จรดลพบุรี และทวาราวดี พระเจ้าอนุรุทธทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ทรงทํานุบํารุงและเผยแพร่พระพุทธศาสนาด้วยพระราชศรัทธาอย่างแรงกล้า

ย้อนกล่าวถึงชนชาติไทยในจีน ถูกจีนรุกราน อพยพลงมาทางใต้ตามลําดับ หลังจากอาณาจักรอ้ายลาวสลายตัว ก็ได้มาตั้งอาณาจักรน่านเจ้า ครั้นถึงประมาณ พ.ศ. ๑๒๙๙ ขุนท้าวกวาโอรสขุนบรมแห่งอาณาจักรน่านเจ้า ได้มาตั้งอาณาจักรโยนก เชียงแสนในสุวรรณภูมิ กาลเวลาผ่านไปคนไทยก็กระจัดกระจายอยู่ทั่วภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน เมื่ออาณาจักรกัมพูชาเรืองอํานาจ คนไทยที่อยู่ในเขตล้านนาคือภาคพายัพได้รับอิทธิพลขอมน้อย แต่เมื่ออาณาจักรพุกามแผ่เข้ามาครอบงํา คนไทยในถิ่นนี้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาสืบๆ มาอยู่แล้ว ก็รับนับถือพระพุทธศาสนาแบบพุกามจนเจริญแพร่หลายขึ้นทั่วไปในฝ่ายเหนือ

 

ยุคที่ ๔ เถรวาทแบบลังกาวงศ์

พระพุทธศาสนาในยุคนี้ คือ แบบที่นับถือมาเป็นศาสนาประจําชาติของไทยจนถึงปัจจุบัน สําหรับยุคนี้ มีรายละเอียดที่ปรากฏในประวัติศาสตร์มากกว่ายุคก่อนๆ จึงแยกย่อยเป็นสมัยๆ ดังนี้

๑. สมัยสุโขทัย

พ.ศ. ๑๘๐๐

ระยะนี้ อาณาจักรพุกามและกัมพูชาเสื่อมอํานาจลงแล้ว คนไทยตั้งตัวเป็นอิสระขึ้นได้ ทางเหนือเกิดอาณาจักรล้านนา ใต้ลงมาเกิดอาณาจักรสุโขทัย

ย้อนกล่าวทางฝ่ายพระศาสนาในประเทศลังกา พ.ศ. ๑๖๙๖ พระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช ขึ้นครองราชย์ ทรงปราบทมิฬ ทําบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น ทรงอุปถัมภ์พระศาสนารวมพระสงฆ์เข้าเป็นนิกายเดียว และโปรดให้มีการสังคายนาครั้งที่ ๗ ขึ้น พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในลังกาทวีปทั้งการศึกษาและปฏิบัติ พระสงฆ์ประเทศต่างๆ เดินทางไปศึกษาธรรมวินัยและบวชแปลงใหม่ แล้วกลับไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ในประเทศของตน บ้างก็นิมนต์พระลังกามาด้วย สําหรับประเทศไทยพระสงฆ์ไทยและลังกาเช่นนี้ได้มาตั้งสํานักเผยแพร่อยู่ ณ เมือง นครศรีธรรมราช ได้รับความนับถืออย่างรวดเร็ว

พ.ศ. ๑๘๒๐

พ่อขุนรามคําแหง เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงสดับกิตติศัพท์ของพระสงฆ์ลังกาวงศ์แล้วอาราธนา พระมหาเถรสังฆราช จากนครศรีธรรมราชเข้ามาพํานัก ณ วัดอรัญญิก ในกรุงสุโขทัย พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ก็รุ่งเรืองแต่นั้นมา เบื้องต้นยังมีพระสงฆ์ ๒ พวก คือ คณะสงฆ์เดิมกับคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ แต่ในที่สุดได้รวมเข้ามาเป็นนิกายเดียวกัน ส่วนพระพุทธศาสนามหายานก็เสื่อมแล้วสูญไป ในรัชกาลนี้ได้นํา พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งสร้างในลังกาขึ้นมาจากนครศรีธรรมราชไว้ ณ กรุงสุโขทัยด้วย (ชินกาลมาลีปกรณ์ว่า ได้พระพุทธสิหิงค์มาใน พ.ศ. ๑๘๐๐ รัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์) ศิลปะแบบลังกาเริ่มเข้ามาแทนที่ศิลปะแบบมหายาน เช่น เจดีย์พระมหาธาตุนครศรีธรรมราชแปลงรูปเป็นสถูปแบบลังกา เป็นต้น

พ.ศ. ๑๘๙๗

พระเจ้าลิไท กษัตริย์องค์ที่ ๕ ขึ้นครองราชย์ ทรงอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชเมืองลังกานามว่า สุมนะ เข้ามาสู่สุโขทัย ใน พ.ศ. ๑๙๐๔ ครั้นออกพรรษาแล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จออกผนวชชั่วคราว ณ วัดอรัญญิก ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ เตภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง ทรงสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชนด้วยพระองค์เอง และเผดียงพระสงฆ์เข้าไปเรียนพระไตรปิฎกในมหาปราสาท โปรดให้พิมพ์จําลองพระพุทธบาท ทรงสร้างพระมหาธาตุ บรรจุพระสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากลังกา และปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์จากลังกาไว้หลังพระมหาธาตุนั้น กับทรงเริ่มจัดระเบียบคณะสงฆ์ โดยแบ่งคณะสงฆ์ออกเป็นสองฝ่าย คือ คามวาสี กับ อรัญวาสี

๒. สมัยลานนาไทย

สมัยลานนาไทยตรงกับสมัยสุโขทัย และคาบเกี่ยวเข้าไปในสมัยอยุธยาตอนต้น แต่แยกต่างหากเพื่อสะดวกแก่การกําหนด

พ.ศ. ๑๘๐๒ - ๑๘๕๓

พระเจ้าเม็งราย ครองราชย์ ณ เมืองเชียงใหม่ ทรงทํานุบํารุงพระพุทธศาสนา เช่น สร้างวัดเชียงมั่น เป็นต้น

พ.ศ. ๑๘๙๘ - ๑๙๒๘

ในรัชกาล พระเจ้ากือนา หรือตื้อนา หรือกือนาธรรมิราช พระองค์ทรงส่งราชทูตมายังพระเจ้าลิไท ทูลขออาราธนาพระสังฆราชสุมนเถร ไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาและนําพระบรมสารีริกธาตุไปยังล้านนา ประมาณ พ.ศ. ๑๙๑๓ เป็นการเริ่มต้นพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ในล้านนา กับมีการสร้างพระธาตุเจดีย์ที่วัดบุบผาราม (วัดสวนดอก เสร็จ พ.ศ. ๑๙๑๗) และพระธาตุดอยสุเทพ (เสร็จ พ.ศ. ๑๙๒๗) เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่นํามานั้น

พ.ศ. ๑๙๗๗1

ในรัชกาลพระเจ้าสามฝั่งแกน พระสถูปใหญ่เก่าแก่องค์หนึ่ง ณ เมืองเชียงราย ต้องอสนีบาตพังลง ได้พบพระแก้วมรกต

พ.ศ. ๑๙๗๘ – ๒๐๓๐2

ในรัชกาลพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์พระองค์นี้เคยทรงผนวชชั่วคราว ณ วัดป่าแดงเมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๐ ต่อมา พ.ศ. ๑๙๙๘ พระสงฆ์คณะหนึ่งได้รับพระบรมราชูปถัมภ์ไปศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศลังกา เมื่อกลับมาได้นําต้นพระศรีมหาโพธิ์มาด้วย จึงโปรดให้สร้างอารามถวายชื่อวัดโพธาราม หรือวัดเจ็ดยอด ครั้นถึง พ.ศ. ๒๐๒๐ โปรดอุปถัมภ์จัดการสังคายนาครั้งที่ ๑ ของประเทศไทย หรือนับต่อจากลังกาเป็นครั้งที่ ๘ ที่วัดโพธารามหรือวัดเจ็ดยอด ช่วงเวลาระยะนี้ (ประมาณแต่กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ จนสิ้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ส่วนใหญ่ในรัชกาล พระเมืองแก้ว พ.ศ. ๒๐๓๘ - ๒๐๖๘) เป็นระยะรุ่งเรืองแห่งวรรณคดีพระพุทธศาสนาของลานนาไทย มีพระสงฆ์เป็นนักปราชญ์คัมภีร์ภาษาบาลีขึ้นมาก เช่น พระสิริมังคลาจารย์ (แต่งมังคลัตถทีปนี เวสสันตรทีปนี จักกวาฬทีปนี สังขยาปกาสกฎีกา) พระญาณกิตติ (โยชนาวินัย โยชนาอภิธรรม เป็นต้น) พระรัตนปัญญา (วชิรสารัตถสังคหะ และ ชินกาลมาลีปกรณ์) พระโพธิรังษี (จามเทวีวงศ์) พระนันทาจารย์ (สารัตถสังคหะ) พระสุวรรณรังสี (ปฐมสมโพธิสังเขป) เป็นต้น สันนิษฐานกันว่า ปัญญาสชาดก ก็แต่งในยุคนี้

๓. สมัยอยุธยา

มีข้อสังเกตว่า เท่าที่พบหลักฐาน ความนับถือพระพุทธศาสนาในสมัยอยุธยา ไม่สู้โน้มไปในหลักธรรมชั้นสูงนัก โดยมากสนใจมุ่งไปแต่เรื่องการบุญการกุศล บํารุงพระสงฆ์ สร้างวัดวาอาราม ปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ พิธีกรรม งานฉลองงานนมัสการ เช่น ไหว้พระธาตุและพระพุทธบาท เป็นต้น การบําเพ็ญจิตภาวนาก็เน้นไปข้างความขลังศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ มีเรื่องไสยศาสตร์ อาถรรพณ์เข้ามาปะปนเป็นอันมาก อย่างน้อยก็เป็นลักษณะที่เด่นในปลายสมัย

ประวัติศาสตร์สมัยอยุธยานิยมแบ่งเป็น ๔ ตอน เพ่งในแง่ประวัติพระพุทธศาสนา มีอยู่ ๔ รัชกาลที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับกิจการพระศาสนาอย่างสําคัญ แบ่งได้ตอนละรัชกาลดังนี้

ก. อยุธยาตอนแรก (พ.ศ. ๑๘๙๓ - ๒๐๓๑)

พ.ศ. ๑๙๙๑ - ๒๐๓๑

ในรัชกาล สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์ทรงจัดการปกครองบ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยเข้มแข็ง แล้วทรงทํานุบํารุงพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ ดูเหมือนว่าจะทรงดําเนินตามอย่างพระเจ้าอโศกมหาราชและพระมหาธรรมราชาลิไท คือทรงสละราชสมบัติ ออกผนวช อยู่ ณ วัดจุฬามณีเป็นเวลา ๘ เดือน เมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๘ (พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า พ.ศ. ๒๐๐๘ นอกจากทรงผนวชเองแล้ว ใน พ.ศ. ๒๐๒๗ ยังโปรดให้พระราชโอรสกับพระราชนัดดาผนวชเป็นสามเณรด้วย ข้อนี้สันนิษฐานว่า เป็นต้นประเพณีบวชเรียนของเจ้านายและข้าราชการ เป็นต้น) ต่อมาโปรดให้ประชุมกวีแต่งหนังสือ มหาชาติคําหลวง ใน พ.ศ. ๒๐๒๕ และทรงกันที่ในพระบรมมหาราชวังส่วนหนึ่ง สถาปนาเป็นวัดชื่อ วัดพระศรีสรรเพชญ์

ข. อยุธยาตอนที่สอง (พ.ศ. ๒๐๓๔ - ๒๑๗๓)

พ.ศ. ๒๑๖๓ - ๒๑๗๑

รัชกาลพระเจ้าทรงธรรม พระองค์ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมชํานาญมาแต่ยังผนวช มีพระราชศรัทธาถึงเสด็จออกบอกหนังสือพระภิกษุสามเณรที่พระที่นั่งจอมทองสามหลังเนืองๆ (ข้อนี้เป็นหลักฐานว่า ประเพณีบอกหนังสือพระในพระบรมมหาราชวังได้มีมานานแล้ว) โปรดให้สร้างมณฑปสวมรอยพระพุทธบาทซึ่งมีผู้พบที่สระบุรี สร้างมณฑปสวมพระมงคลบพิตรที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงสร้างไว้แต่ พ.ศ. ๒๐๘๑ และโปรดให้ชุมนุมราชบัณฑิตแต่งกาพย์มหาชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๐ และโปรดให้สร้างพระไตรปิฎกไว้จบบริบูรณ์

สมัยอยุธยาตอนที่สองนี้ ปรากฏว่าความนิยมสร้างวัดมีมากขึ้นไม่จําเพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้น ผู้มีเงินมีฐานะพอ ก็มักสร้างวัดไว้ประจําตระกูล ไว้เก็บอัฐิบรรพบุรุษ และวัดเป็นสถานศึกษาจนมีคํากล่าวมาว่า “เมื่อบ้านเมืองดี เขาสร้างวัด ให้ลูกเล่น”

ค. อยุธยาตอนที่สาม (พ.ศ. ๒๑๗๓ - ๒๒๗๕)

พ.ศ. ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑

รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในรัชกาลนี้มีหลักฐานว่า ประเพณีการบวชเรียนคงจะได้รับความนิยมกันมามาก ปรากฏว่าในรัชกาลนี้ ผู้บวชได้รับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์อย่างดี ทําให้คนหลบเลี่ยงราชการบ้านเมืองไปบวชกันมาก ถึงกับต้องมีรับสั่งให้ออกหลวงสรศักดิ์ เป็นแม่กองประชุมสงฆ์สอบความรู้พระภิกษุสามเณร ผู้ที่หลบลี้บวช สอบได้ความชัดว่าไม่มีความรู้ในพระศาสนา ถูกบังคับให้ลาสิกขาเป็นจํานวนมาก นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่แสดงถึงการที่ผู้บวชแล้วเป็นผู้พ้นราชภัยเป็นต้น ดังปรากฏในรัชกาลนี้ว่า เมื่อประชวรจะสวรรคต พระเพทราชากับขุนหลวงสรศักดิ์ กําลังล้อมวังไว้เตรียมจะยึดอํานาจ พระองค์โปรดให้ช่วยชีวิตพวกข้าราชการฝ่ายในทั้งหลายไว้ด้วยการถวายพระราชวังเป็นวิสุงคามสีมา แล้วให้ประกอบพิธีอุปสมบทคนเหล่านั้น นําไปอยู่วัดเป็นอันพ้นภัย

เหตุการณ์สําคัญยิ่งในรัชกาลนี้คือ มีการติดต่อค้าขายกับชาวยุโรปมาก ชาวยุโรปเข้ามานอกจากเพื่อการค้าแล้ว ก็นํา คริสต์ศาสนา เข้ามาเผยแพร่ด้วย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีพระราชศรัทธามั่นในพระพุทธศาสนา แต่ก็ทรงให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา นอกจากจะทรงออกพระราชกฤษฎีกาอนุญาตให้ราษฎรนับถือศาสนาใดๆ ก็ได้แล้ว ยังทรงอุปถัมภ์ศาสนาอื่นๆ โดยเฉพาะคริสต์ศาสนาที่มากับชาวตะวันตกด้วย เช่น โปรดให้สร้างวัดเซนต์โยเซฟ ที่สถิตของสังฆนายกที่อยุธยา และสร้างวัดเซนต์เปาโลที่ลพบุรีและตะนาวศรี เป็นต้น

โดยเฉพาะเวลานั้นทรงมีสัมพันธไมตรีแน่นแฟ้นเป็นพิเศษกับพระเจ้าหลุยส์แห่งฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์และพวกบาทหลวงถึงกับคิดว่าพระองค์ทรงเลื่อมใสในคริสต์ศาสนา พระเจ้าหลุยส์ได้ทรงส่งเอกอัครราชทูตมาเจริญพระราชไมตรีและให้ทูลเชิญสมเด็จพระนารายณ์เข้ารีตด้วย ใน พ.ศ. ๒๒๒๘ สมเด็จพระนารายณ์ทรงผ่อนผันโดยพระปรีชาญาณว่า “หากพระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยให้พระองค์เข้ารีตเมื่อใด ก็จะบันดาลศรัทธาให้เกิดขึ้นในพระทัยของพระองค์เมื่อนั้น” นี้นับว่าเป็นเหตุการณ์สําคัญที่เกี่ยวกับกิจการพระศาสนาอย่างหนึ่ง เพราะมิฉะนั้น กิจการบ้านเมืองคงผันแปรไปมากมาย

ในสมัยอยุธยาตอนที่สามนี้ มีวรรณคดีพุทธศาสนาเหลือมาถึงปัจจุบันจํานวนมาก ส่วนใหญ่เป็นของแต่งในสมัยพระเจ้าปราสาททอง พระนารายณ์มหาราช และพระเพทราชา แต่ก็เป็นประเภทหนังสือแปล หรือแต่งเป็นภาษาไทย ไม่ปรากฏเป็นคัมภีร์ภาษามคธ

ง. อยุธยาตอนสี่ (พ.ศ. ๒๒๗๕ - ๒๓๑๐)

พ.ศ. ๒๒๗๕ - ๒๓๐๑

ในรัชกาล พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ การบวชเรียนกลายเป็นประเพณีถึงกับว่า ผู้ที่จะเป็นขุนนางมียศบรรดาศักดิ์ต้องเป็นผู้ได้บวชแล้วจึงจะทรงตั้ง ถึงเจ้านายในพระราชวงศ์ก็ผนวชทุกพระองค์เหมือนกัน สมัยนี้เกิดวรรณคดีทางพระศาสนาหลายเรื่อง ที่สําคัญ เช่น นันโทปนันทสูตร พระมาลัยคําหลวง ปุณโณวาทคําฉันท์ และพระราชปุจฉาถามคณะสงฆ์ เป็นต้น

ในระยะเดียวกันนี้ ทางด้านลังกาทวีป ศาสนวงศ์ได้สูญสิ้น ไม่มีพระภิกษุที่จะประกอบพิธีอุปสมบท พระเจ้ากีรติสิริราชสิงหะจึงทรงส่งคณะทูตมาใน พ.ศ. ๒๒๙๓ เพื่อขอพระสงฆ์ไทยไปอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวลังกา คณะสงฆ์ไทยมีพระอุบาลีเป็นหัวหน้า ได้เดินทางไปใน พ.ศ. ๒๒๙๖ พํานักอยู่ ณ วัดบุพพาราม ในเมืองแกนดี ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา และอุปสมบทกุลบุตรสืบศาสนวงศ์ในลังกาต่อมา ทําให้เกิดคณะสงฆ์ อุบาลีวงศ์ หรือ สยามวงศ์ หรือ สยามนิกาย อันเป็นคณะสงฆ์ใหญ่ที่สุดในลังกา

อนึ่ง ตอนปลายสมัยนี้ปรากฏหลักฐานว่า มีความเชื่อหมกมุ่นในเรื่องโชคลางและไสยศาสตร์มาก ซึ่งแสดงถึงความไม่สงบของเหตุการณ์บ้านเมือง และอาจจะเป็นสาเหตุของความอ่อนแอของชาติได้อย่างหนึ่ง ต่อมากรุงศรีอยุธยาก็ได้เสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐

๔. สมัยธนบุรีถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ถึง ร.๔)

พ.ศ. ๒๓๑๐

สมเด็จพระเจ้าตากสิน เสด็จขึ้นครองราชย์ ณ กรุงธนบุรี แม้จะเป็นระยะตั้งเมืองใหม่ แต่ก็ทรงเอาพระทัยใส่บํารุงกิจการพระศาสนาเท่าที่ทรงมีโอกาส ทรงสร้างวัดใหม่เฉพาะวัดบางยี่เรือเหนือ (วัดราชคฤห์) วัดเดียว แต่ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดเก่าบางวัด และจัดวัดต่างๆ ในกรุงขึ้นเป็นวัดหลวง อาราธนาพระภิกษุผู้รู้ธรรมมีศีลาจารวัตรเข้ามาตั้งเป็นราชาคณะ ช่วยรับภาระบํารุงพระศาสนา ทรงรวบรวมคัมภีร์พระไตรปิฎกจากหัวเมือง มาเลือกคัดจัดเป็นฉบับหลวง แต่ยังไม่ทันเรียบร้อยบริบูรณ์ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน ใน พ.ศ. ๒๓๑๙ โปรดให้จัดสร้าง สมุดภาพไตรภูมิ อันวิจิตรขนาดใหญ่คลี่ได้ยาวเกิน ๓๔ เมตร และทรงเริ่มฝึกวิปัสสนาในปีเดียวกันนี้ ต่อมา พ.ศ. ๒๓๒๒ กองทัพไทยได้อัญเชิญ พระแก้วมรกต มาแต่เมืองเวียงจันทน์ ตอนปลายรัชกาล ทรงใฝ่พระทัยในการบําเพ็ญกรรมฐานมาก และท้ายที่สุด ใน พ.ศ. ๒๓๒๕ มีเรื่องว่าทรงมีพระสติฟั่นเฟือน ถึงกับพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของพระสงฆ์ด้วยการให้ดําน้ำ และทรงเข้าพระทัยว่าพระองค์เป็นพระอริยบุคคลทรงให้พระสงฆ์กราบไหว้พระองค์ พระสงฆ์ที่ไม่ยอมทําตามก็ถูกลงโทษและเกิดเหตุวุ่นวายในกรุง จนสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกต้องมาระงับเรื่อง พระองค์ถูกสําเร็จโทษ เป็นอันสิ้นแผ่นดิน

พ.ศ. ๒๓๒๕

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จขึ้นครองราชย์ ต่อมาพระองค์ได้ทรงสร้างเมืองหลวงใหม่ทางฝั่งตะวันออก ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดหลายวัด มี วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง วัดสุทัศนเทพวราราม วัดสระเกศ และ วัดพระเชตุพนฯ เป็นต้น เจ้านายขุนนางข้าราชการก็พากันสร้างวัดขึ้นเป็นจํานวนมาก เช่น สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้าง วัดมหาธาตุฯ เป็นต้น ใน พ.ศ. ๒๓๓๑ โปรดให้ประชุมพระสงฆ์และราชบัณฑิตทําการ สังคายนาครั้งที่ ๙ ณ วัดมหาธาตุ เสร็จแล้วคัดลอกสร้างเป็นพระไตรปิฎกฉบับหลวง เรียกว่า ฉบับทองใหญ่ ต่อมาทรงสร้างเพิ่ม ๒ ฉบับ คือ ฉบับรองทอง และ ฉบับทองชุบ โปรดให้มีการสอนพระปริยัติธรรมในพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนตามวังเจ้านาย และบ้านข้าราชการผู้ใหญ่ ทรงตรา กฎหมายพระสงฆ์ เพื่อกวดขันความประพฤติของพระสงฆ์ ชําระพระศาสนาให้บริสุทธิ์ และทรงสืบต่อประเพณีพระราชปุจฉาถามคณะสงฆ์

พ.ศ. ๒๓๕๒

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๒ วัดที่ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ในรัชกาลนี้มีวัดอรุณราชวราราม วัดโมลีโลก วัดสุทัศน์ฯ เป็นต้น ใน พ.ศ. ๒๓๕๗ ทรงจัดส่งสมณทูต ๘ รูป ไปสืบสวนศาสนวงศ์ในลังกาทวีป ขากลับคณะได้นําหน่อ พระศรีมหาโพธิ์ มา ๖ ต้น โปรดให้นําไปปลูกที่นครศรีธรรมราช ๒ ต้น วัดมหาธาตุ ๑ ต้น วัดสุทัศน์เทพวราราม ๑ ต้น วัดสระเกศ ๑ ต้น และมีผู้ขอไปปลูกที่กลันตัน ๑ ต้น ทรงมีพระราชดําริกับด้วย สมเด็จพระสังฆราช (มี) ให้ทํา พิธีวิสาขบูชา เป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์เป็นนักขัตตฤกษ์ใหญ่ของปี ใน พ.ศ. ๒๓๖๐ และโปรดให้มีการสังคายนาสวดมนต์ ใน พ.ศ. ๒๓๖๓ ในรัชกาลนี้ สมเด็จพระสังฆราช (มี) ได้ ขยายหลักสูตรการเรียนภาษาบาลี จาก ๓ ชั้น (๓ ชั้น คือ เปรียญตรี-โท-เอก) เป็น ๙ ประโยค

พ.ศ. ๒๓๖๗

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๓ โปรดให้สร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงเพิ่มจํานวนขึ้นไว้อีกหลายฉบับครบถ้วนสมบูรณ์กว่าในรัชกาลก่อนๆ โปรดให้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย โดยเฉพาะในส่วนพระสูตรไว้มาก ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์พระอารามหลวง และทรงอุปการะอุดหนุนให้มีผู้สร้างปฏิสังขรณ์วัดวาอารามขึ้นเป็นจํานวนมากเป็นพิเศษกว่ารัชกาลก่อนๆ วัดที่สร้างในรัชกาลนี้คือ วัดเฉลิมพระเกียรติ วัดเทพธิดาราม วัดราชนัดดาราม แล้วโปรดให้รวบรวมตํารับตําราต่างๆ เช่น อักษรศาสตร์ แพทยศาสตร์ โบราณคดี เป็นต้น แล้วให้จารึกไว้ในพระอารามหลวงต่างๆ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคราราม วัดราชโอรส วัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นต้น ทรงส่งเสริมและขยายการบอกพระปริยัติธรรมในพระบรมมหาราชวังให้เข้มแข็งบริบูรณ์ยิ่งขึ้น โปรดให้จ้างอาจารย์บอกพระปริยัติธรรมทุกพระอารามหลวง พระราชทานอุปถัมภ์แก่พระภิกษุสามเณรที่สอบได้ตลอดไปถึงโยมบิดามารดา โปรดให้จ้างอาจารย์สอนหนังสือไทยแก่เด็ก นับเป็นการตั้งโรงเรียนหลวงครั้งแรก และทรงสืบต่อประเพณีมีพระราชปุจฉาถามคณะสงฆ์หลายเรื่อง

ในรัชกาลนี้ เจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อก่อนครองราชย์) ซึ่งได้ผนวชเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ และผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ (ในรัชกาลที่ ๒) ประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุ อันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช ทรงสอบได้เปรียญ ๕ ประโยค ได้ทรงเลื่อมใสในความเคร่งครัดวินัยของพระมอญชื่อ ซาย ฉายา พุทธวังโส (เป็นพระราชาคณะที่พระสุเมธาจารย์ อยู่วัดบวรมงคล) มีพระประสงค์จะประพฤติเคร่งครัดเช่นนั้น จึงเสด็จย้ายไปประทับ ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๒ ทรงอุปสมบทใหม่ แยกไปตั้งคณะ ธรรมยุติกา หรือ ธรรมยุติกนิกาย ขึ้น กําหนดด้วยการฝังลูกนิมิตผูกพัทธสีมาใหม่ของวัดสมอรายว่าเป็นการตั้งคณะธรรมยุตใน พ.ศ. ๒๓๗๖ จากนั้นได้เสด็จมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศ ตั้งเป็นศูนย์กลางของคณะธรรมยุติกาต่อมา

พ.ศ. ๒๓๙๔

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์พระชนม์ได้ ๔๗ พรรษา (ภายหลังจากผนวชอยู่ได้ ๒๗ พรรษา) การที่ได้ทรงผนวชอยู่นานนั้นเป็นประโยชน์แก่พระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างมาก เพราะได้ทรงมีโอกาสเสด็จไปในถิ่นต่างๆ เข้าถึงประชาชน ทรงทราบเหตุการณ์บ้านเมืองและข้อบกพร่องต่างๆ ทรงเรียนรู้เรื่องราวสถานการณ์ทั่วไปทันต่อเหตุการณ์ รู้ภาษาอังกฤษ รู้นิสัยใจคอของฝรั่ง ซึ่งจะต้องสัมพันธ์ในทางราชการต่อไป พระองค์ได้ทรงสร้างวัดใหม่ คือ วัดบรมนิวาส วัดโสมนัสวิหาร วัดปทุมวนาราม วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม และวัดมกุฏกษัตริยาราม กับทรงบูรณะพระปฐมเจดีย์ เป็นต้น ทรงโปรดให้มี “พิธีมาฆบูชา” ขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๓๙๔ ทรงสร้างพระไตรปิฎกฉบับล่องชาด ทรงอุปถัมภ์สงฆ์ญวน นับเป็นการให้ความรับรองเป็นทางการแก่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานขึ้นใหม่เป็นครั้งแรก

๕. สมัยปัจจุบัน (ร.๕ ถึงปัจจุบัน)

พ.ศ. ๒๔๑๑

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ต่อมาวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๑๖ ได้ทรงผนวชอยู่ ๑๕ วัน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงสร้างวัดขึ้นใหม่คือ วัดราชบพิธ วัดเทพศิรินทราวาส วัดเบญจมบพิตร วัดอัษฎางคนิมิตร วัดจุฑาทิศราชธรรมสภา และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ทรงปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุโดยพระราชทานทรัพย์ส่วนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เพิ่มสร้อยนามพระอารามว่า “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์” และทรงปฏิสังขรณ์วัดอื่นๆ หลายวัด ทรงสนพระทัยศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องเกี่ยวกับพระศาสนาไว้หลายเรื่อง ทรงส่งเสริมและโปรดริเริ่มการเกี่ยวกับหนังสือทางพระศาสนา เป็นเหตุให้เกิดหนังสืออันเป็นประโยชน์ในการศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก เช่น นวโกวาท การพิมพ์คัมภีร์อรรถกถา การแปลนิบาตชาดก เป็นต้น กิจการพระศาสนาที่ควรกําหนดเป็นพิเศษยังมีอีก ดังนี้

พ.ศ. ๒๔๑๔

ในคราวเสด็จไปต่างประเทศ เมื่อถึงประเทศอินเดียทรงแสวงหาศาสนวัตถุและรูปพระพุทธเจดีย์มาหลายอย่าง ทําให้นักศึกษาพุทธศาสนาเปลี่ยนวิถีจากลังกาหันไปสนใจเรื่องอินเดียแต่นี้สืบมา และในรัชกาลนี้ก็ได้พันธุ์พระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยาโดยตรงไม่ผ่านลังกา โปรดฯ ให้ปลูกไว้ ณ วัดเบญจมบพิตร และวัดอัษฎางคนิมิตร

ในปีเดียวกันนี้มีพระบรมราชโองการ “โปรดเกล้าฯ จะให้มีอาจารย์สอนหนังสือไทยและสอนเลขทุกๆ พระอาราม” เหตุการณ์นี้เป็นการเริ่มต้นการศึกษาแบบสมัยใหม่ในประเทศไทย โดยให้พระสงฆ์รับภาระช่วยการศึกษาของชาติ ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๒๗ โปรดให้จัดการตั้งโรงเรียนหลวงสําหรับราษฎรขึ้นตามวัด เริ่มที่ วัดมหรรณพาราม เป็นแห่งแรก ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๔๑ มีพระบรมราชโองการประกาศจัดการเล่าเรียนในหัวเมือง เป็นการประกาศเผดียงให้พระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร เอาใจใส่สั่งสอนธรรมแก่ประชาชน และฝึกสอนวิชาความรู้ต่างๆ แก่กุลบุตร ทรงอาราธนากรมหมื่นวชิรญาณวโรรสเจ้าคณะใหญ่ บังคับการพระอารามในหัวเมืองในส่วนการพระศาสนาและการศึกษา และทรงมอบหมายกรมหมื่นดํารงราชานุภาพเป็นเจ้าหน้าที่จัดการอนุกูลในฝ่ายกิจการของฆราวาส

พ.ศ. ๒๔๓๐

โปรดเกล้าฯ ประกาศตั้งกรมศึกษาธิการ สําหรับบังคับบัญชาการฝ่ายเล่าเรียนทั้งปวง ต่อมา พ.ศ. ๒๔๓๒ โปรดให้รวมกรมธรรมการสังฆการี กรมศึกษาธิการ กรมพยาบาล กรมแผนที่ และพิพิธภัณฑ์ เข้าในกรมธรรมการ และต่อมาวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งกรมธรรมการขึ้นเป็นกระทรวงธรรมการ พร้อมกับกระทรวงอื่นรวมเป็น ๑๐ กระทรวง การศึกษาทั้งฝ่ายชาติและพระศาสนาเนื่องอยู่ในนโยบายอันหนึ่งอันเดียวกัน

พ.ศ. ๒๔๓๑

โปรดให้พิมพ์หนังสือพระไตรปิฎกด้วยอักษรไทยจบละ ๓๙ เล่ม จํานวน ๑,๐๐๐ จบ เป็นครั้งแรกที่มีการพิมพ์ พระไตรปิฎกเป็นอักษรไทย เสร็จและฉลองใน พ.ศ. ๒๔๓๖ พร้อมกับงานรัชดาภิเษก กับโปรดให้แต่งและพิมพ์คัมภีร์เทศนา พระราชทานพระอารามหลวงและวัดราษฎร์ ทั้งในกรุงและหัวเมืองทั่วกัน ใน พ.ศ. ๒๔๓๑ นั้น

พ.ศ. ๒๔๓๒

โปรดให้ย้ายที่ราชบัณฑิตบอกพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร จากในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ออกมาจัดเป็นบาลีวิทยาลัยขึ้นที่วัดมหาธาตุ ขนานนามว่า “มหาธาตุวิทยาลัย” เป็นครั้งแรกที่ใช้นามวิทยาลัยในประเทศไทย และต่อมาในวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๔๓๙ เสด็จไปทรงวางศิลาฤกษ์สังฆเสนาสน์ราชวิทยาลัย ประกาศพระราชปรารภเปลี่ยนนามมหาธาตุวิทยาลัยเป็น “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” ให้เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรม และวิชาชั้นสูงต่อไป

พ.ศ. ๒๔๓๖

เสด็จไปทรงเปิด มหามกุฏราชวิทยาลัย ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงริเริ่มจัดตั้งขึ้น

พ.ศ. ๒๔๔๑

อุปราชอังกฤษผู้ปกครองประเทศอินเดีย ได้ส่งพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งขุดพบที่เมืองกบิลพัสดุ์ มาถวายถึงประเทศไทย โปรดให้บรรจุในพระสถูปบนยอดบรมบรรพต ภูเขาทอง วัดสระเกศ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒

พ.ศ. ๒๔๔๕

ณ วันที่ ๑๖ มิถุนายน มีพระบรมราชโองการประกาศ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ เพื่อให้ฝ่ายพุทธจักรมีการปกครองคู่กันกับฝ่ายพระราชอาณาจักรที่ได้ทรงแก้ไขขึ้นแล้ว พ.ร.บ. นี้เป็นผลสืบเนื่องจากประกาศจัดการเล่าเรียนในหัวเมืองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ โดยพระราชดําริว่า การจัดการตามประกาศฉบับนั้นได้ผลดี สมควรตั้งเป็นแบบแผนการปกครองคณะสงฆ์ให้มั่นคงเรียบร้อยได้

พ.ศ. ๒๔๕๓

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงพระปรีชาปราดเปรื่องในความรู้ทางพระศาสนามาก ถึงกับทรงเทศนาสั่งสอนอบรมข้าราชการด้วยพระองค์เอง และทรงพระราชนิพนธ์หนังสือแสดงคําสอนในพระพุทธศาสนาหลายเรื่อง เช่น เทศนาเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร แสดงคุณานุคุณ เป็นต้น

พ.ศ. ๒๔๕๖

โปรดให้ใช้ พุทธศักราช เป็นศักราชทางราชการแทนรัตนโกสินทร์ศก ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน

พ.ศ. ๒๔๖๒

โปรดให้เปลี่ยนเรียกกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ และย้ายกรมธรรมการออกไปรวมอยู่ในราชสํานักตามประเพณีเดิม นับเป็นการแยกการศึกษาฝ่ายบ้านเมืองให้เป็นต่างหากและต่างสังกัดกันด้วย

พ.ศ. ๒๔๕๔

สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงนําวิธีแปลโดยเขียนมาใช้ในการสอบบาลีสนามหลวงเป็นครั้งแรก เริ่มด้วยประโยค ๑-๒ และประกาศใช้เป็นทางการสําหรับทุกประโยคใน พ.ศ. ๒๔๕๘ ครบถึงประโยค ๙ ใน พ.ศ.๒๔๖๙ ทรงเริ่มการศึกษาพระปริยัติธรรมใหม่ขึ้นอีกหลักสูตรหนึ่ง เรียกว่า “นักธรรม” สอบครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม ๒๔๕๔ (ตอนแรกเรียก “องค์ของสามเณรรู้ธรรม”)

พ.ศ. ๒๔๕๙

โปรดให้ย้าย หอพระสมุดสําหรับพระนคร มาตั้งที่ตึกสังฆเสนาสน์ราชวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๔๖๒ - ๒๔๖๓

โปรดให้พิมพ์คัมภีร์อรรถกถาแห่งพระไตรปิฎกเพื่ออุทิศถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระพันปีหลวง และเนื่องในการบําเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส นอกจากนี้ พระบรมวงศานุวงศ์ยังได้ทรงบริจาคทรัพย์พิมพ์อรรถกถาชาดกและคัมภีร์อื่นๆ เช่น วิสุทธิมรรค และมิลินทปัญหา เป็นต้น ในโอกาสต่างๆ

พ.ศ. ๒๔๖๘

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ โปรดให้จัดพิมพ์ พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ จบละ ๔๕ เล่ม จํานวน ๑,๕๐๐ จบ เพื่ออุทิศถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไปในนานาประเทศประมาณ ๔๐๐ - ๔๕๐ จบ โปรดให้จัดงานฉลองในวันที่ ๒๕ - ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๓

ยังมีคัมภีร์อื่นๆ ที่พิมพ์ต่อๆ มาในรัชกาลนี้ คือ อภิธัมมัตถวิภาวินี และ ฎีกาวิสุทธิมรรค

พ.ศ. ๒๔๖๙

โปรดให้ย้ายกรมธรรมการกลับเข้ามารวมกับกระทรวงศึกษาธิการ และเปลี่ยนชื่อกระทรวงศึกษาธิการเป็น กระทรวงธรรมการ อย่างเดิม โดยมีพระราชดําริว่าการศึกษาไม่ควรแยกจากวัด

พ.ศ. ๒๔๗๑

กระทรวงธรรมการประกาศเพิ่มหลักสูตรทางด้านจริยศึกษาสําหรับนักเรียน

พ.ศ. ๒๔๗๒

โปรดให้ราชบัณฑิตยสภาเปิดการประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสําหรับเด็กในงานพระราชพิธีวิสาขบูชา หนังสือเล่มแรกที่ได้รับรางวัลคือ “ศาสนาคุณ” ของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ในปีนี้เริ่มเปิดโอกาสให้ฆราวาสเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม โดยแยกจากแผนกนักธรรมสําหรับพระภิกษุและสามเณร เรียกว่า “ธรรมศึกษา”

พ.ศ. ๒๔๗๕

คณะราษฎร์ได้ทําการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์ เป็นรัชกาลที่ ๘

พ.ศ. ๒๔๘๓

เริ่มงาน แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือแปลโดยอรรถ พิมพ์เป็นเล่มสมุด ๘๐ เล่ม เรียก “พระไตรปิฎกภาษาไทย” อย่างหนึ่ง กับแปลโดยสํานวนเทศนาพิมพ์ในใบลาน แบ่งเป็น ๑,๒๕๐ กัณฑ์ เรียก “พระไตรปิฏกเทศนาฉบับหลวง” อย่างหนึ่ง อย่างหลังสําเร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ แต่อย่างแรกค้างอยู่ และได้นํามาดําเนินงานต่อโดยจัดเป็นผลงานเนื่องในงานฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษใน พ.ศ. ๒๕๐๐ จํานวน ๒๕๐๐ จบ

พ.ศ. ๒๔๘๔

รัฐบาลสร้าง วัดพระศรีมหาธาตุ ขึ้นที่อําเภอบางเขน อาราธนาพระสงฆ์ทั้งสองนิกายไปอยู่ร่วมกัน เพื่อเริ่มรวมนิกายสงฆ์สองคณะเข้าเป็นอันเดียว แต่ต่อมาปรากฏว่าไม่สําเร็จ

พ.ศ. ๒๔๘๔

เปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการเป็น กระทรวงศึกษาธิการ และกรมธรรมการมีชื่อใหม่ว่า กรมการศาสนา ในปีเดียวกันนี้รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองคณะสงฆ์ให้สอดคล้องกับการปกครองฝ่ายบ้านเมือง

พ.ศ. ๒๔๘๘

มหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งขึ้นแต่ พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้ประกาศตั้งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ชื่อ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๘ และเปิดการศึกษาตั้งแต่วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๔๘๙ เป็นต้นมา ให้ปริญญาเรียกว่า ศาสนศาสตร์บัณฑิต

พ.ศ. ๒๔๘๙

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ถูกลอบปลงพระชนม์ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๙ สืบมา ในรัชกาลนี้ความสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นโดยลําดับในหมู่พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ มีสมาคมทางพุทธศาสนาเกิดขึ้นเป็นจํานวนมาก เช่น พุทธสมาคม ยุวพุทธิกสมาคม เป็นต้น แม้ในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่างๆ ก็ได้มีนิสิตนักศึกษาจัดตั้งกลุ่มหรือชุมนุมทางพระพุทธศาสนาในชื่อต่างๆ เกิดขึ้นมากมายหลายสถาบัน

พ.ศ. ๒๔๙๐

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งขึ้นแต่ พ.ศ. ๒๔๓๒ และได้ชื่อปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๙ ได้ประกาศตั้งเป็นมหาวิทยาลัยฝ่ายพระพุทธศาสนา ในวันที่ ๙ มกราคม ๒๔๙๐ และเปิดการศึกษาตั้งแต่วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๙๐ เป็นต้นมา ให้ปริญญาเรียกว่า พุทธศาสตร์บัณฑิต

พ.ศ. ๒๔๙๙

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เสด็จออกผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม และประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหารเป็นเวลา ๑๕ วัน จึงทรงลาผนวช

พ.ศ. ๒๕๐๐

มีงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ในวันที่ ๑๒-๑๘ พฤษภาคม ณ มณฑลพิธีสนามหลวง

พ.ศ. ๒๕๐๑

เริ่มเกิดมี โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ขึ้นเป็นแห่งแรก ณ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ต่อนั้นมา ก็ได้มีผู้นิยมจัดตั้งโรงเรียนประเภทนี้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว

พ.ศ. ๒๕๐๕

รัฐบาลออก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๕ เริ่มใช้บังคับตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๐๖ เป็นต้นไป โดยมีเหตุผลจะปรับปรุงการดําเนินกิจการคณะสงฆ์ ให้สมเด็จพระสังฆราชทรงบัญชาการคณะสงฆ์ทางมหาเถรสมาคมโดยตรง มิให้เป็นการแบ่งแยกอํานาจเพื่อถ่วงดุลย์แห่งอํานาจ อย่างใน พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔

พ.ศ. ๒๕๐๗

คณะสงฆ์ประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมตามที่ได้ปรับปรุงใหม่ หรือเรียกง่ายๆ ว่า บาลีแผนใหม่ เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม

พ.ศ. ๒๕๐๘

องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ได้มาตั้งสํานักงานใหญ่อยู่ในประเทศไทยตามกําหนดเวลา ๔ ปี ต่อมาในการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๙ ขององค์การเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ที่ประชุมได้มีมติให้สํานักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวรสืบไป

พ.ศ. ๒๕๐๙

ณ วันที่ ๑ สิงหาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จเป็นประธานทรงเปิดวัดพุทธปทีป ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นวัดไทยแห่งแรกในประเทศตะวันตก

พ.ศ. ๒๕๑๒

มหาเถรสมาคมออกคําสั่งเรื่องการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ ณ วันที่ ๑๖ พฤษภาคม และออกคําสั่งสภาการศึกษาของคณะสงฆ์ เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๑๒

พ.ศ. ๒๕๑๔

กระทรวงศึกษาธิการ โดยความเห็นชอบและร่วมมือของคณะสงฆ์ ได้จัดทํา หลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย และออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา พ.ศ. ๒๕๑๔ ณ วันที่ ๒๐ กรกฎาคม

พ.ศ. ๒๕๑๔

ณ วันที่ ๒๒ ธันวาคม กําเนิดวัดไทยแห่งแรกในสหรัฐอเมริกา ที่นครลอสแองเจลิส ในรัฐแคลิฟอร์เนีย มีชื่อเมื่อแรกตั้งว่า “ศูนย์พุทธศาสนาเถรวาท” (เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดไทยลอสแองเจลีส” เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๒๒) ระยะเวลานับแต่นี้เป็นต้นมา ได้มีพระสงฆ์ไทยเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในประเทศต่างๆ เป็นจํานวนมาก และมีวัดไทยเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ เฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา เพิ่มจํานวนขึ้นอย่างรวดเร็ว (ใน พ.ศ. ๒๕๒๗ มีวัดไทยในสหรัฐอเมริกา ประมาณ ๑๕ วัด ประเทศอื่นๆ ที่มีวัดไทย เช่น เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ มีชาวตะวันตกเดินทางมาศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยเป็นจํานวนมาก และส่วนหนึ่งได้บวชเป็นพระภิกษุบําเพ็ญสมณธรรมเจริญกรรมฐานอยู่ในถิ่นต่างๆ ถึงกับมีวัดหนึ่งที่เป็นสํานักของพระภิกษุชาวต่างประเทศโดยเฉพาะ คือ วัดป่านานาชาติ ในจังหวัดอุบลราชธานี (สาขาของวัดหนองป่าพง ที่พระโพธิญาณเถร หรืออาจารย์ชา เป็นเจ้าอาวาส)

พ.ศ. ๒๕๒๒

ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ พระโพธิญาณเถร หรือ อาจารย์ชา แห่งวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับนิมนต์จาก English Sangha Trust (มูลนิธิซึ่งชาวพุทธอังกฤษได้ตั้งขึ้นในกรุงลอนดอน เมื่อปี ๒๔๙๙ เพื่อประดิษฐานคณะสงฆ์ในประเทศอังกฤษ) ให้เดินทางไปยังประเทศอังกฤษ พระโพธิญาณเถรได้นําพระสุเมโธศิษย์ชาวอเมริกันไปด้วย และได้มอบหมายให้พระสุเมโธปฏิบัติศาสนกิจอยู่ในกรุงลอนดอน ต่อมาพระสุเมโธได้เป็นผู้นําในการตั้ง วัดป่าจิตตวิเวก หรือ Chithurst Forest Monastery ขึ้นเป็นวัดป่าวัดแรกในประเทศอังกฤษ ที่ West Sussex ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ การเผยแพร่พระพุทธศาสนาดําเนินไปด้วยดี ต่อมาในเดือนสิงหาคม ๒๕๒๗ ก็ได้ตั้งวัดแห่งใหม่ขึ้นเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่และปฏิบัติธรรมใกล้กรุงลอนดอนชื่อว่า วัดอมราวดี (Amaravati Buddhist Center) นอกจากนั้น ยังได้เปิดสํานักสาขาขึ้นที่ฮาร์นัม (Harnham) ในปี ๒๕๒๔ ที่เดวอน (Devon) ในปี ๒๕๒๖ ที่เวลลิงตัน ในนิวซีแลนด์ ในปี ๒๕๒๘ และจะเปิดต่อๆ ไปในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี่ เป็นต้น

ศิษย์อีกรูปหนึ่งของพระอาจารย์ชา ชื่อพระชาคโร เป็นชาวออสเตรเลีย ก็ได้ตั้งวัดป่าขึ้นที่เซอร์เพนไทน์ ในออสเตรเลียตะวันตก เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๒๖ ได้ชื่อว่าวัดโพธิญาณ โดยมีศูนย์งานเผยแผ่อยู่ที่พุทธสมาคม ในเมืองเพิร์ธ (Perth)

พ.ศ. ๒๕๒๕

มีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ในปีอันสําคัญนี้ ได้มีพิธีสมโภชพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑล เพื่อเปิดให้ประชาชนเข้านมัสการและชมสถานที่ ณ บริเวณพุทธมณฑล อําเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงประกอบพิธีเปิดป้ายพระนามพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑล (พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ สูง ๒,๕๐๐ กระเบียด) ณ วันอังคารที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๕ (พุทธมณฑลมีเนื้อที่ ๒,๕๐๐ ไร่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดําเนินไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พระพุทธมณฑล ณ ตําแหน่งฐานพระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๙๘)

พ.ศ. ๒๕๒๗

ในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๕ - ๒๕๐๘ ศาสนจักรคาทอลิกได้จัดประชุมใหญ่เรียกว่า สังคายนาวาติกัน ครั้งที่ ๒ (Vatican Council II) และได้มีประกาศฉบับหนึ่ง ซึ่งกําหนดท่าทีและแนวปฏิปักษ์ของศาสนาคริสต์ต่อศาสนาอื่นๆ โดยเปลี่ยนจากความเป็นปฏิปักษ์มาเป็นความกลมกลืน ต่อมาหน่วยงานเผยแพร่ของศาสนจักรคาทอลิกก็ได้จัดวาง นโยบายศาสนสัมพันธ์ แบบกล่อมและกลืนต่อพุทธศาสนา เมื่อเวลาผ่านไปเกือบ ๒๐ ปี ชาวพุทธบางกลุ่มในประเทศไทยจึงได้พบว่า นักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ได้ใช้อุบายปฏิบัติการต่างๆ ในการที่จะกล่อมและกลืนพระพุทธศาสนาไปแล้วเป็นอันมาก เช่น ปรุงแต่งทฤษฎีว่าพระพุทธเจ้าเป็นประกาศกของพระผู้เป็นเจ้า เป็นต้น ชาวพุทธเหล่านี้ได้ตื่นตัวขึ้น และเคลื่อนไหวในการที่จะปกป้องพระพุทธศาสนา ผลอย่างหนึ่งจากการเคลื่อนไหวนี้ คือ เป็นแรงผลักดันให้มีการจัดงาน สัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ในช่วงวิสาขบูชา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นต้นมา

พ.ศ. ๒๕๓๐

คณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุมปรึกษา เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ เห็นชอบด้วยในหลักการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชําระพระไตรปิฎกฉบับหลวง ทั้งภาษามคธและภาษาไทย เพื่อพิมพ์ขึ้นเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ตามพระดําริของสมเด็จพระสังฆราช งานตรวจชําระได้เริ่มดําเนินการในกลางปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เมื่อถึงพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐ ได้ตีพิมพ์ฉบับภาษามคธเสร็จ ๑ เล่ม ฉบับภาษาไทยเสร็จ ๓ เล่ม

ปัจจุบัน ผู้มีการศึกษาและชาวตะวันตกได้หันมาสนใจศึกษาปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนามากขึ้น และจากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองหรือการได้รับคําแนะนําอธิบายจากเอกชนบางกลุ่ม ก็ได้มีผู้หันมานับถือพระพุทธศาสนาโดยการตัดสินใจด้วยสติปัญญาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คราวละคนสองคนตามลําดับ อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนิกชนในระดับชาวบ้านทั่วไปโดยเฉพาะชาวชนบท ไม่เข้าถึงแหล่งการศึกษาเหล่านี้ และไม่มีกิจกรรมเผยแพร่พระพุทธศาสนาเข้าไปถึง จึงถูกดึงให้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นโดยทางการแต่งงานทีละรายสองรายบ้าง โดยการหันเหไปตามอามิสและเครื่องล่อต่างๆ เนื่องจากความยากจนและความขาดการศึกษาคราวละทั้งหมู่บ้านหรือทั้งกลุ่มบ้าง จํานวนประชาชนชาวพุทธในประเทศไทยจึงลดลงไปเรื่อยๆ

ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากร ๕๓,๕๖๕,๕๗๑ คน ในจํานวนนี้เป็นพุทธศาสนิกตามสถิติของทางการ ๕๐,๘๒๘,๐๒๔ คน หรือ ร้อยละ ๙๔.๘๘ % (ปี ๒๕๓๐)

๗.
พระพุทธศาสนาในเนปาล

 

เนปาลเป็นแดนชาติภูมิของพระพุทธเจ้า ดินแดนในอาณาเขตเนปาลเคยเป็นที่ตั้งของสถานที่สําคัญเกี่ยวกับพุทธประวัติ เช่น เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองเทวทหะ ตําบลลุมพินี เป็นต้น ความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในเนปาลสมัยแรกๆ ยังเลือนลางอยู่ เพิ่งจะปรากฏหลักฐานชัดเจนในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ในพุทธศตวรรษที่ ๓ ตํานานเล่าว่าพระเจ้าอโศกได้เสด็จมายังเนปาลครั้งแรกเพื่อปราบกบฏตั้งแต่ยังเป็นราชกุมาร ครั้นเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว คราวหนึ่งได้เสด็จมายังลุมพินี (ปัจจุบันเรียก รุมมินเด) เพื่อนมัสการสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าและได้ทรงประดิษฐานหลักศิลาจารึก ไว้เป็นอนุสรณ์ ณ ที่นั้นด้วย นอกจากนั้น พระราชธิดาองค์หนึ่งของพระเจ้าอโศก พระนามว่า จารุมตี ได้อภิเษกสมรสกับขุนนางเนปาลท่านหนึ่ง ได้สร้างสถูปและวัดไว้หลายแห่ง ยังปรากฏซากอยู่จนทุกวันนี้

ยุคที่ปรากฏเด่นชัดว่า มีการทะนุบํารุงและเผยแพร่พระพุทธศาสนาอย่างจริงจังในเนปาลนั้น นับแต่เริ่มรัชกาลพระเจ้าอังสุวรมัน ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ กษัตริย์พระองค์นี้ได้พระราชทานพระราชธิดาให้อภิเษกสมรสกับ พระเจ้าสรองสันคัมโป แห่งทิเบต ทําให้พระพุทธศาสนาเริ่มเผยแพร่ในทิเบต และปรากฏว่ามีบัณฑิตชาวเนปาลร่วมงานแปลพระคัมภีร์ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาทิเบตในราชสํานักทิเบตด้วย ต่อมาในสมัย พระศานตรักษิต (พุทธศตวรรษที่ ๑๔) ความสัมพันธ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมระหว่าง ๒ ประเทศนี้ ก็มั่นคงแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ครั้นต่อมา ถึงสมัยที่ชาวมุสลิมเข้ารุกรานแคว้นพิหารและเบงกอล พระภิกษุต้องหลบลี้หนีภัยเข้าไปอาศัยอยู่ในเนปาล ได้นําคัมภีร์มีค่าไปด้วยมากมาย คัมภีร์บางส่วนได้ถูกพาไปจนถึงทิเบต และได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดีจนถึงทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์ในช่วงกลางระหว่างสองตอนนี้ยังไม่มีผู้ศึกษากันโดยละเอียดชัดเจน แต่กล่าวทั่วๆ ไปได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเนปาลกับทิเบตใกล้ชิดแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเนปาลได้เป็นสะพานเชื่อมประสานวัฒนธรรมระหว่างดินแดนต่างๆ ที่อยู่สองฟากข้างภูเขาเทือกกลางของหิมาลัย เป็นเวลาหลายศตวรรษ ดังจะเห็นได้จากทางคมนาคมเชื่อมระหว่างอินเดียกับทิเบตผ่านเนปาล ที่มีมาแต่เดิม เป็นต้น

เมื่อมหาวิทยาลัย นาลันทา ถูกทําลายพินาศ และพระพุทธศาสนาเสื่อมสูญไปจากอินเดียแล้ว พระพุทธศาสนาในเนปาลก็เสื่อมลงด้วย คุณลักษณะพิเศษที่เป็นเครื่องหมายจําเพาะของพระพุทธศาสนา เช่น ชีวิตพระสงฆ์ในวัดวาอาราม การต่อต้านความถือวรรณะ การปลดเปลื้องความเชื่อถือไสยศาสตร์ต่างๆ เป็นต้น ก็เลือนจางหายไป ทําให้ขาดลักษณะเด่นที่ทําให้แตกต่างจากศาสนาอื่นๆ เนปาลได้กลายเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาแบบ ตันตระ และได้มีนิกายพุทธปรัชญาสํานักใหญ่ๆ เกิดขึ้น ๔ นิกาย คือ สวาภาวิกะ ไอศวริกะ การมิกะ และ ยาตริกะ แต่ละนิกายแตกนิกายย่อยออกไปอีกหลายสาขา นิกายต่างๆ เหล่านี้ แสดงให้เห็นความผสมผสานเข้าด้วยกันของสายความคิดทางปรัชญาหลายแบบหลายแนว เท่าที่มีเกิดขึ้นในอินเดียและทิเบต ด้วยอิทธิพลของศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนา

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการฟื้นฟูการศึกษาพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทขึ้นในเนปาล สมาคมแห่งหนึ่งชื่อ ธรรโมทัยสภา ได้อุปถัมภ์ให้พระภิกษุจากลังกา หรือพระภิกษุเนปาลที่ได้รับการศึกษาอบรมในลังกา ไปทํางานเผยแผ่อย่างจริงจัง และได้พิมพ์คําแปลพระสูตรจากภาษาบาลีเป็นภาษาถิ่นออกเผยแพร่หลายสูตร.

๘.
พระพุทธศาสนาในพม่า

 

ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนายุคแรกในพม่ายังเลือนลางอยู่ ตามตํานานฝ่ายลังกาและคัมภีร์อรรถกถาต่างๆ เล่าว่า พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงส่ง พระโสณะ กับ พระอุตตระ มาประกาศพระศาสนาใน สุวรรณภูมิ ปราชญ์บางท่านสันนิษฐานว่า สุวรรณภูมิได้แก่ นครปฐม ในประเทศไทย แต่บางท่านว่า ได้แก่ เมืองสะเทิม ในพม่าตอนใต้ อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่าพระพุทธศาสนาได้เจริญแพร่หลายในพม่ายุคแรกนี้

ยุคที่พอจะแน่ใจได้ว่าพระพุทธศาสนาได้แพร่เข้ามาในพม่าแล้ว ก็คือในพุทธศตวรรษที่ ๖ เพราะได้พบคําจารึกเป็นภาษาบาลีในพม่าภาคใต้ และ ตารนาถ นักประวัติศาสตร์ทิเบตก็ได้เล่าว่า มีการสั่งสอนพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทในพะโค พม่า และ อินโดจีน มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศก ต่อมาไม่นานศิษย์ของพระวสุพันธุ ได้นําพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเข้าไปเผยแพร่ ทําให้มหายานกับเถรวาทมีเคียงคู่กันมาในพม่าเป็นเวลาหลายศตวรรษ พระพุทธศาสนาซึ่งเผยแพร่เข้ามาในระยะที่ผ่านมานี้ คงเข้ามาโดยเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ และปรากฏว่ารุ่งเรืองอยู่ในอาณาจักรโบราณของพวก Pyus ที่เรียกว่าอาณาจักร ศรีเกษตร

เหตุการณ์สําคัญครั้งต่อมาคือ ใน พ.ศ. ๙๔๖ พระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อแปลอรรถกถาจากสิงหลเป็นมคธแล้ว ได้เดินทางออกจากลังกาและได้มาแวะที่เมืองสะเทิมของพม่า พร้อมกับนําเอาพระไตรปิฎกและคัมภีร์อรรถกถาต่างๆ มาที่นั่นด้วย เหตุการณ์ครั้งนี้คงจะเป็นเครื่องเร้าความสนใจให้มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในพม่าเข้มแข็งขึ้น หลังจากนั้นก็มีปราชญ์ภาษาบาลีเกิดในพม่าหลายคนเขียนตําราไวยากรณ์บาลีบ้างอภิธรรมบ้าง

มีหลักฐานซึ่งเชื่อได้ว่า ชาวมอญฮินดู หรือ ตะเลง ในเมืองพะโค (หงสาวดี) เมืองสะเทิม (สุธรรมวดี) และถิ่นใกล้เคียงที่เรียกรวมๆ ว่า รามัญประเทศ ได้นับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทรุ่งเรืองมาเป็นเวลานานพอสมควร พอถึงพุทธศตวรรษ ที่ ๑๖ ก็ปรากฏว่า เมืองสะเทิมได้กลายเป็นศูนย์กลางที่สําคัญยิ่งแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนาเถรวาทแล้ว ส่วนชนอีกเผ่าหนึ่ง คือ มรัมมะ หรือ พม่า (เผ่าทิเบต-ดราวิเดียน) ก็ได้มาตั้งอาณาจักรอันเรืองอํานาจของตนขึ้น มีเมืองหลวงอยู่ที่พุกามและเรียกชื่อประเทศของตนว่า พุกาม พวกมรัมมะนี้กักขฬะ ไร้การศึกษา นับถือพระพุทธศาสนาแบบ ตันตระ ที่เสื่อมทรามสืบมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ นั้นเอง พระเจ้าอนุรุทธ หรือ อโนรธามังช่อ ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งมรัมมะ (พ.ศ. ๑๕๘๘ - ๑๖๒๑) ได้มีพระตะเลงแห่งเมืองสะเทิมรูปหนึ่งชื่อ พระอรหัน หรือ ธรรมทรรศี สามารถเปลี่ยนพระทัยพระเจ้าอนุรุทธให้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทอันบริสุทธิ์ได้ พระเจ้าอนุรุทธได้ทรงร่วมกับพระธรรมทรรศีรอนลัทธิตันตระลง ทําพระพุทธศาสนาให้ประดิษฐานมั่นคงในพุกามประเทศ

รัชกาลพระเจ้าอนุรุทธนี้ เป็นยุคสําคัญยิ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาและชาติพม่า เมื่อพระองค์หันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทแล้ว ก็ทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้า ได้ทรงมีพระราชสาส์นไปขอคัมภีร์พระพุทธศาสนาจากกษัตริย์แห่งสะเทิม แต่กษัตริย์สะเทิมไม่ยินยอม พระองค์จึงกรีฑาทัพไปตีเมืองสะเทิมได้ ทรงนําพระไตรปิฎก ๓๐ จบ วัตถุเคารพบูชาอันศักดิ์สิทธิ์ กับพระภิกษุชาวตะเลงผู้รู้ธรรมแตกฉาน บรรทุก ๓๒ หลังช้างกลับมานครพุกาม เหตุการณ์ครั้งนี้ทําให้พม่ารวมเข้าเป็นอาณาจักรอันเดียว และพุกามผู้ชนะก็รับเอาวัฒนธรรมตะเลงเกือบทั้งหมดมาเป็นของตน ตั้งแต่ตัวอักษร ภาษา วรรณคดี และศาสนาเป็นต้นไป พระเจ้าอนุรุทธทรงแลกเปลี่ยนศาสนทูตกับลังกา ทรงนําพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์มาจากลังกา ๓ จบ และนํามาชําระสอบทานกับฉบับที่ได้จากเมืองสะเทิม ทรงอุปถัมภ์ศิลปกรรมต่างๆ การบําเพ็ญพระราชกรณียกิจของพระองค์ ทําให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของชนชาวพม่าทั่วทั้งประเทศ กษัตริย์พระองค์ต่อๆ มา ก็ได้เจริญรอยพระปฏิปทาในการทํานุบํารุงพระศาสนาเช่นเดียวกับพระองค์ ส่วนศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูก็เสื่อมหมดไป และในระหว่างสมัยที่พุกามรุ่งเรื่องนี้ พระภิกษุจํานวนมากได้เดินทางไปศึกษาในลังกาทวีป บางท่านไปศึกษาแล้วรับอุปสมบทใหม่กลับมาตั้งคณะสงฆ์เถรวาทคณะใหม่ๆ สายลังกา แยกออกไปก็มี เช่น พระจปฏะ ใน พ.ศ. ๑๗๒๕ ซึ่งทําให้มีการแข่งขันกันระหว่างสงฆ์ต่างคณะมาเป็นเวลาประมาณ ๓ ศตวรรษ

อาณาจักรพุกามได้สลายลงเพราะถูกทอดทิ้งหลังจากการรุกรานของ กุบไลข่าน ใน พ.ศ. ๑๘๓๑ หลังจากนี้แม้บ้านเมืองจะระส่ำระสายแต่พระพุทธศาสนาก็ยังคงเจริญรุ่งเรืองสืบมา จนถึงรัชกาล พระเจ้าธรรมเจดีย์ (พ.ศ. ๒๐๐๔ - ๒๐๓๕) สมัยนั้นในพม่ามีคณะสงฆ์เถรวาท ๖ คณะ (จากเขมร ๑ จากลังกา ๕) พระองค์ได้อาราธนาพระสงฆ์มาจากลังกา แล้วให้พระสงฆ์พม่าทั้งหมดอุปสมบทใหม่รวมเข้าเป็นนิกายเดียวกันแต่นั้นมา พระพุทธศาสนาก็ประดิษฐานมั่นคง และการศึกษาพระอภิธรรมได้รุ่งเรืองขึ้น

สองศตวรรษต่อมา ได้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในเรื่องการครองจีวรออกนอกวัด ทําให้พระสงฆ์แตกแยกเป็น ๒ พวก คือ ฝ่ายห่มคลุมพวกหนึ่ง กับฝ่ายลดไหล่ขวาพวกหนึ่ง พระมหากษัตริย์โปรดฝ่ายห่มคลุม และได้ทรงสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช ขึ้นปกครองสงฆ์เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในทางพระวินัย

ในพุทธศตวรรษที่ ๒๔ พระพุทธศาสนาในพม่ามั่นคงแข็งแรงดี จนมีพระสงฆ์จากลังกามารับอุปสมบทกรรมใหม่ไปตั้งคณะสงฆ์แบบพม่าขึ้นในประเทศของตน มีการแปลพระไตรปิฎกครั้งใหญ่ มีการสังคายนาครั้งที่ ๕ ในพระบรมราชูปถัมภ์ของ พระเจ้ามินดง ณ กรุงมันดะเล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ และจารึกพุทธพจน์ทั้ง ๓ ปิฎกลงในแผ่นหินอ่อน ๗๒๙ แผ่น ในระยะตั้งแต่นี้มีการเลือกตั้งสมเด็จพระสังฆราชอยู่ชั่วสมัยหนึ่ง

อังกฤษได้เข้ามาแสวงอาณานิคมและมีอํานาจในพม่าเริ่มแต่ พ.ศ. ๒๓๖๘ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าคือ พระเจ้าธีบอ แห่งราชวงศ์อลองพญาได้สิ้นวงศ์ลงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ ประเทศพม่าได้คืนสู่เอกราช เกิดเป็นสหภาพพม่าเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๙๒ (เซ็นต์สัญญาอิสรภาพ ๑๗ ตุลาคม ๒๔๙๑)

เมื่อพม่าเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐแล้ว ตําแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็เลิกล้มไป รัฐบาลได้แต่งตั้งประมุขขึ้นใหม่สําหรับนิกายสงฆ์ทั้งสามของพม่านิกายละ ๑ รูป ตลอดระยะเวลาเหล่านี้ มีพระภิกษุพม่าที่เป็นปราชญ์มีความรู้แตกฉาน รจนาหรือนิพนธ์ตํารับตําราพระพุทธศาสนาขึ้นเป็นจํานวนมาก รัฐบาลพม่าได้เป็นเจ้าภาพจัดการ ฉัฏฐสังคีติ คือสังคายนาครั้งที่ ๖ ขึ้นที่กรุงร่างกุ้ง เนื่องในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ถึง เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้อาราธนาพระสงฆ์และผู้แทนชาวพุทธในประเทศต่างๆ ไปร่วมศาสนกิจครั้งนี้เป็นจํานวนมาก และได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกพร้อมด้วยคัมภีร์อรรถกถา และปกรณ์พิเศษต่างๆ ขึ้นใหม่ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทําได้

(พุทธศักราชในเรื่องนี้นับแบบพม่า ถ้านับแบบไทยให้หักออก ๑ ปี ทุกแห่ง)

๙.
พระพุทธศาสนาในลาว

 

ชนชาติลาวมีความเป็นมาแต่เดิมเกี่ยวด้วยชาติวงศ์และการอพยพถิ่นฐานเป็นต้น จนถึงตั้งหลักแหล่งในดินแดนปัจจุบันเนื่องเป็นอันเดียวกันกับชนชาติไทย มีเรื่องราวที่ควรทราบโดยย่อว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๑๙๔ ชนชาติใหญ่พวกหนึ่ง ซึ่งเรียกตัวเองว่า ไท พวกพม่าเรียกว่า ฉาน พวกจีนเรียกว่า อ้ายลาว หรือ งายลาว ได้อพยพจากอาณาจักรอ้ายลาวลงมาทางใต้ ตั้งอาณาจักรใหม่ขึ้นเรียกว่า น่านเจ้า ต่อมาเจ้าไทยน่านเจ้าชื่อ ขุนบรม (ขุนลุง หรือขุนหลวง ก็ว่า) ได้ยกลงมาครอบครองแผ่นดินใต้ลงมาอีก และขยายอาณาเขตกว้างขวางออกไป ขุนบรมมีโอรส ๗ องค์ และได้ให้โอรสเหล่านั้นไปสร้างบ้านแปลงเมืองต่างๆ มีเมืองโยนก เมืองละโว้ เมืองพวน เป็นต้น โอรสองค์ที่หนึ่งชื่อ ขุนลอ ไปรบได้ เมืองชวา (ได้แก่ เมืองเช่า ต่อมาเรียกเชียงทอง หรือล้านช้าง และในที่สุดเป็นเมืองหลวงพระบาง) เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๒๙๐ เจ้าเมืองชวาได้สืบเชื้อสายสืบต่อกันมาโดยลําดับ เมื่ออาณาจักรเขมรเรืองอํานาจขึ้น เมืองชวาก็ตกอยู่ใต้อํานาจเขมรด้วยเช่นเดียวกับชนชาติไทยพวกอื่นที่อยู่ใกล้เคียง ครั้นถึง พ.ศ. ๑๗๙๖ อาณาจักรน่านเจ้าเสียแก่กุบไลข่าน คนไทยก็แผ่ซ่านกระจายลงมาทางใต้เพิ่มจํานวนมากขึ้น

ก. ยุคก่อตั้งและเจริญมั่นคง

เจ้าเมืองชวาองค์ที่ ๒๒ (บางแห่งว่าที่ ๓๕) นามว่า พญาสุวรรณคําผง ขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๘๕๙ ทรงมีโอรสพระนามว่า เจ้าผีฟ้า และเจ้าผีฟ้ามีโอรส ๖ องค์ องค์ที่หนึ่งชื่อ เจ้าฟ้างุ้ม ครั้งนั้นได้มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งทําให้เจ้าฟ้างุ้มพลัดพรากจากชาติภูมิ ไปพํานักอยู่ในอาณาจักรเขมรตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เวลานั้นพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นศาสนาหลักของอาณาจักรเขมรแล้ว เจ้าฟ้างุ้มทรงอาศัยอยู่กับพระภิกษุชื่อพระมหาปาสมันตเถระ เจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่ง เมื่อเจริญวัยขึ้น พระเถระได้นําไปฝากเป็นมหาดเล็กในราชสํานักของกษัตริย์เขมร (ปราชญ์สันนิษฐานว่าได้แก่พระเจ้าชัยวรมันปรเมศวร) เจ้าฟ้างุ้มรับราชการเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดิน ถึงกับทรงยกพระราชธิดานามว่า พระนางแก้วเกงยา หรือแก้วยอดฟ้า (เรียกว่า เจ้าหญิงคําหยาดบ้าง เรียกอย่างอื่นบ้างก็มี) ให้เป็นชายา

สมัยนั้น อาณาจักรเขมรกําลังเสื่อมอํานาจลง และใน พ.ศ. ๑๘๙๓ พระเจ้ารามาธิบดีที่ ๑ แห่งราชวงศ์อู่ทอง ได้ตั้งอาณาจักรไทยขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา แล้วเริ่มแผ่ขยายอํานาจออกไป กษัตริย์เขมรทรงเกรงการรุกรานของไทยอยุธยา จึงโปรดให้เจ้าฟ้างุ้มไปครองกรุงล้านช้าง เพื่อเป็นกําลังป้องกันไทยอยุธยาต่อไป เจ้าฟ้างุ้มขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๑๘๙๖ (หลังจากอาณาจักรไทยศรีอยุธยาตั้งขึ้นได้ ๓ ปี) ทรงเป็นวีรกษัตริย์สามารถรวบรวมหัวเมืองต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนเข้าเป็นอันเดียว มีอาณาเขตทางเหนือจดสิบสองปันนา ทางใต้จดอาณาจักรเขมร ตะวันตกจดอาณาจักรเชียงใหม่ สุโขทัย และอยุธยา ตะวันออกจดอันนัม และจัมปา เรียกได้ว่าทรงเป็นปฐมกษัตริย์ในประวัติศาสตร์แห่งอาณาจักรล้านช้าง (ก่อนหน้านี้มีแต่ตํานาน) และต่อมาตัวเมืองล้านช้างหรือเมืองหลวงของ อาณาจักรล้านช้าง ก็มีชื่อเป็นทางราชการว่า “กรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว"

ในด้านศาสนา แม้ว่าชาวล้านช้างจะได้รับนับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายานผ่านทางจีนมาแต่ครั้งยังอยู่ในอาณาจักรอ้ายลาวเช่นเดียวกับชาวไทยพวกอื่น ในสมัยของขุนหลวงเม้า (ลีเมา หรือลิวเมา ก็ว่า) เมื่อประมาณ พ.ศ. ๖๒๐ แล้วก็ตาม แต่เมื่อถึงสมัยอาณาจักรล้านช้างนี้ ความเชื่อถือนั้นคงจะได้เลือนลางจางหายไปแล้ว จึงปรากฏว่า ราษฎรทั่วไปนับถือผีสางเทวดาอันเป็นของพื้นเดิมแต่สมัยโบราณ ทําให้ต้องมีการประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้นใหม่ และในคราวนี้เป็นพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทที่นําเข้ามาจากอาณาจักรเขมร

เรื่องนำพระพุทธศาสนาเข้าสู่อาณาจักรล้านช้าง มีหลักฐานต่างกันเป็น ๒ อย่าง ฝ่ายหนึ่งว่า พระนางแก้วเกงยา มเหสีของพระเจ้าฟ้างุ้มทรงเป็นพุทธศาสนิกชนผู้เคร่งครัด ครั้นได้ทรงเห็นเจ้านายและราษฎรชาวล้านช้างนับถือผี พากันล้มช้างม้าวัวควายทําพลีกรรม ก็ทรงสังเวชพระทัย จึงทูลพระสวามีให้นําพระพุทธศาสนาจากกัมพูชาเข้าไปประดิษฐาน พระเจ้าฟ้างุ้มก็ทรงส่งทูตไปแจ้งความประสงค์แก่กัมพูชา พระเจ้าแผ่นดินเขมรจึงได้ทรงส่งคณะพระภิกษุสงฆ์ มีพระมหาปาสมันตเถระ ซึ่งเป็นอาจารย์ของพระเจ้าฟ้างุ้ม และพระมหาเทพลังกา เป็นหัวหน้าพร้อมด้วยนักปราชญ์ ช่าง และคนผู้แวดล้อมเป็นบริวารจํานวนมาก นําพระพุทธรูปปางห้ามญาติชื่อ “พระบาง" และพระไตรปิฎกกับทั้งศาสนวัตถุอื่นๆ ไปพระราชทานแก่พระเจ้าฟ้างุ้ม

ส่วนหลักฐานอีกฝ่ายหนึ่งว่า เมื่อพระเจ้าฟ้างุ้มครองราชย์แล้วไม่นาน ก็ปรากฏว่าทรงมีพระทัยโหดร้ายทารุณ ความทราบถึงกษัตริย์กัมพูชาผู้เป็นพระสสุระ (พ่อตา) จึงมีรับสั่งให้พระเจ้าฟ้างุ้มไปเฝ้า แล้วพระราชทานโอวาทให้ปกครองพสกนิกรตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ให้สมาทานศีล ๕ และส่งกลับล้านช้างพร้อมด้วยคณะพระภิกษุสงฆ์ที่กล่าวข้างต้น

สําหรับพระบางนั้นเป็นพระพุทธรูปที่กษัตริย์ลังกาได้ส่งมาถวายแก่พระเจ้าแผ่นดินเขมร เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเขมรพระราชทานแก่พระเจ้าฟ้างุ้มแล้ว ได้นําไปรักษาไว้ที่เมืองเวียงคําก่อน จนถึง พ.ศ. ๒๐๔๕ จึงอัญเชิญขึ้นไปไว้ที่เมืองเชียงทอง คือ เมืองชวาหรือล้านช้าง และต่อมาเมืองเชียงทองหรือล้านช้างก็เปลี่ยนเรียกชื่อตามพระบางนั้นว่า เมืองหลวงพระบาง บางทีเรียกอาณาจักรทั้งหมดว่า อาณาจักรหลวงพระบาง โดยนัยนี้จึงเห็นได้ว่า การสถาปนาอาณาจักรลาวดําเนินไปพร้อมกับการประดิษฐานพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท โดยมีพระบางเป็นศูนย์กลางที่รวมจิตใจของชาติ เป็นทั้งสัญลักษณ์ของพระศาสนาและเป็นสมบัติคู่เมือง

รัชกาลพระเจ้าฟ้างุ้มมากด้วยการศึกสงคราม ทําให้ราษฎรลาวซึ่งเป็นคนรักสงบมีนิสัยเรื่อยๆ สบายๆ พากันเบื่อหน่ายฝืนใจ จนในที่สุดถึง พ.ศ. ๑๙๑๖ อํามาตย์ทั้งหลายก็พร้อมใจกันขับพระองค์จากราชบัลลังก์แล้วอภิเษกพระราชโอรสชนมายุ ๑๗ พรรษาขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนามตามจํานวนชายฉกรรจ์ที่สํารวจได้ใน พ.ศ. ๑๙๑๙ ซึ่งมีอยู่ ๓๐๐,๐๐๐ คนว่า “พญาสามแสนไท ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงไทยแห่งศรีอยุธยา และทรงจัดระเบียบบ้านเมืองตามแบบแผนวิธีการที่ทรงได้รับจากประเทศไทยเป็นอันมาก

ในด้านพระศาสนา ทรงสร้างวัดและโรงเรียนพระปริยัติธรรม ในด้านการค้าขาย ล้านช้างก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมสําคัญแห่งหนึ่ง ทรงรักษาไมตรีกับไทยและเวียดนามเป็นอย่างดี รัชกาลนี้ได้ชื่อว่าเป็นสมัยแห่งการจัดสรรระเบียบบ้านเมืองและการสร้างความเข้มแข็งเป็นปึกแผ่นมั่นคง หลังจากรัชกาลนี้แล้ว อาณาจักรล้านช้างได้มีความสงบสุขตลอดมาเป็นเวลายาวนาน มีความเดือดร้อนจากการรุกรานของเวียดนามที่เป็นเพื่อนบ้านเป็นเหตุการณ์แทรกบ้างแต่เพียงเล็กน้อย และผ่านไปในชั่วระยะเวลาอันสั้น

กาลล่วงมาจนถึงรัชกาล พระเจ้าโพธิสารราช (พ.ศ. ๒๐๖๓ - ๒๐๙๐) กษัตริย์พระองค์นี้ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนผู้เคร่งครัด ได้ทรงพยายามชักจูงให้ประชาชนเลิกนับถือผีสางเทวดา ไสยศาสตร์ การทรงเจ้าเข้าผีต่างๆ เพื่อสถาปนาพระพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ ถึงกับทรงให้รื้อศาลเจ้าหลวง ศาลเจ้าผีเสื้อเมืองทรงเมืองเสีย แต่ประเพณีการนับถือผีได้ฝังแน่นในชีวิตจิตใจของประชาชนมาแต่โบราณแล้ว ยากที่จะถอนได้ ความเพียรพยายามของพระองค์จึงไม่ประสบผลสําเร็จ นอกจากนี้พระองค์ได้เสด็จไปประทับ ณ พระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่ที่นครเวียงจันทน์ ทําให้การค้าขายกับไทยและเวียดนามสะดวกและได้ผลดียิ่งขึ้น นับว่าทรงเป็นกษัตริย์ลาวองค์แรกที่เสด็จไปประทับที่เมืองนี้

ต่อมาตอนปลายรัชกาล กษัตริย์แห่งล้านนา ณ นครเชียงใหม่สวรรคต ขาดรัชทายาทสายตรงที่จะสืบราชสมบัติ จึงมีผู้อ้างสิทธิในราชสมบัติหลายพวก พระเจ้าโพธิสารราชก็ทรงอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ด้วย ในฐานที่พระราชมารดาของพระองค์เป็นเจ้าหญิงเชียงใหม่ ทรงยกกองทัพไปปราบผู้อ้างสิทธิอื่นๆ ได้หมดสิ้น เสร็จแล้วทางอาณาจักรล้านนาก็ได้ส่งคณะทูตมาทูลเชิญพระองค์ ให้ไปเสวยราชย์ ณ นครเชียงใหม่ พระเจ้าโพธิสารราชจึงโปรดให้โอรสชื่อ เจ้าเชษฐวังโส ไปครองอาณาจักรล้านนา แต่หลักฐานบางแห่งว่า พระเจ้าโพธิสารราชมีมเหสีเป็นเจ้าหญิงเชียงใหม่ ทางฝ่ายล้านนาจึงส่งทูตมาทูลขอโอรสของพระองค์คือ เจ้าเชษฐวังโส ชนมายุ ๑๒ พรรษา ไปครองราชย์ ณ นครเชียงใหม่

ต่อมา พ.ศ. ๒๐๙๐ พระเจ้าโพธิสารราชทรงประสบอุบัติเหตุในการล่าสัตว์เสด็จสวรรคต เกิดเหตุวุ่นวายเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติ เจ้าเชษฐวังโสจึงเสด็จกลับไปจัดเรื่องเมืองล้านช้างให้สงบ และได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ณ อาณาจักรนั้นใน พ.ศ. ๒๐๙๑ ทรงพระนามว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ไม่ยอมเสด็จกลับเชียงใหม่ปล่อยให้เจ้าไทยใหญ่ชื่อ เมกุฏิ ขึ้นครองล้านนาสืบต่อมา

พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ทรงเป็นมหาราชองค์ที่ ๒ ของลาว (องค์แรกคือพระเจ้าฟ้างุ้ม) ทรงเป็นวีรกษัตริย์ผู้ปรีชาสามารถในการศึกสงคราม และเป็นพุทธศาสนูปถัมภกที่มีศรัทธาแรงกล้า ได้ทรงสร้างวัดสําคัญหลายวัด และพระพุทธรูปสําคัญหลายองค์ ทรงส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ทําให้มีนักปราชญ์แต่งคัมภีร์ต่าง ๆ และมีวรรณคดีลาวเกิดขึ้นมากมายหลายเรื่อง

ในรัชกาลนี้ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกษัตริย์พม่ากําลังแผ่อํานาจมาทางตะวันออก พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงทรงผูกสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาอย่างแน่นแฟ้น ถึงกับได้มีพระราชสาส์นไปขอพระเทพกษัตรี ราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริโยทัย แต่พระเทพกษัตรีถูกกองทัพพม่าซุ่มแย่งตัวในระหว่างทาง และนําไปถวายแก่พระเจ้าหงสาวดี นอกจากนั้น กษัตริย์สองอาณาจักรได้ทรงสร้างเจดีย์ร่วมกัน เรียกว่า “พระธาตุศรีสองรัก อยู่ในเขตอําเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีพิธีทําบุญร่วมกันทุกปีในวันเพ็ญเดือนหก คําว่า “ศรี ในชื่อเจดีย์นั้นหมายถึง ศรีอยุธยา กับ ศรีสัตนาคนหุต

อนึ่ง ในคราวที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสด็จจากเชียงใหม่ มาครองราชย์ที่เมืองเชียงทองล้านช้างนั้น ได้ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดบุบผาราม เมืองเชียงใหม่ พร้อมด้วยพระพุทธรูปสําคัญอื่นๆ และสิ่งมีค่าต่างๆ มาไว้ที่เมืองหลวงพระบางด้วย ต่อมาพระองค์ย้ายราชธานีมาอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ เพื่อร่วมกับกรุงศรีอยุธยาต่อสู้ศึกพม่า จึงได้ทรงนําพระแก้วมรกตลงมาสร้างวัดประดิษฐานไว้ที่เมืองเวียงจันทน์ด้วย และได้ทรงสร้างพระธาตุหลวง อันเป็นสถาปัตยกรรมยอดเยี่ยมของลาวไว้เป็นเกียรติประวัติสืบมา

พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงประคับประคองนําราชอาณาจักรของพระองค์ให้พ้นภัยพิบัติไปได้จนตลอดรัชกาล แม้ลานนาไทยจะเสียแก่พม่าใน พ.ศ. ๒๑๐๑ และศรีอยุธยาเสียเมืองตามไปใน พ.ศ. ๒๑๐๗ แต่อาณาจักรลาวยังเป็นอิสระอยู่ อย่างไรก็ตาม หลังจากพระองค์สวรรคตใน พ.ศ. ๒๑๑๔ แล้ว พอถึง พ.ศ. ๒๑๑๗-๘ พระเจ้าหงสาวดีก็ยกทัพมาตีเอาลาวเป็นประเทศราชได้ และได้ทรงนําเอาโอรสองค์เดียวของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งประสูติในปีที่สวรรคตไปไว้เป็นประกันที่หงสาวดีด้วย ต่อจากนี้ แผ่นดินลาวมีเหตุวุ่นวายด้วยเรื่องราชสมบัติอีกหลายปี จนถึง พ.ศ. ๒๑๓๔ พระเถระเจ้าอาวาสวัดต่างๆ จึงได้ประชุมกันลงมติให้ส่งทูตไปอัญเชิญเจ้าชายหน่อแก้วโกเมน ซึ่งเป็นตัวประกันอยู่ในราชสํานักพม่ากลับมาครองราชย์ พอดีเวลานั้น พระเจ้าบุเรงนองสวรรคตแล้ว และพม่ากําลังอ่อนแอลง จึงได้รับความยินยอมด้วยดี เจ้าหน่อแก้วโกเมนขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๑๓๕ และประกาศอิสรภาพ ไม่ขึ้นแก่พม่าต่อไป

ต่อมาไม่นาน แผ่นดินลาวก็มีเหตุเดือดร้อนวุ่นวายภายในเกี่ยวด้วยเรื่องราชสมบัติ จน พระเจ้าสุริยวงศา ขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๑๘๐ จึงกลับสงบสุขอีก พระเจ้าสุริยวงศาเป็นกษัตริย์ปรีชาสามารถและเข้มแข็ง นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของลาว ตลอดรัชกาลอันยาวนานถึง ๕๕ ปี บ้านเมืองสงบเรียบร้อยทั้งภายในและภายนอก วัฒนธรรมรุ่งเรือง มีดนตรี สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม การช่างต่างๆ เจริญแพร่หลาย และมีสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรเพื่อนบ้านเป็นอย่างดี เว้นแต่สงครามพิชิตเชียงขวางใน พ.ศ. ๒๑๙๔ ซึ่งแม้เชียงขวางจะยอมแพ้ แต่ก็เป็นศัตรูกันต่อมาภายหลังเป็นเวลานาน จนตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสไปด้วยกัน

ข. ยุคแตกแยกทรุดโทรมและตั้งต้นใหม่

หลังจากสิ้นรัชกาลพระเจ้าสุริยวงศาใน พ.ศ. ๒๒๓๕ แล้ว อาณาจักรลาวก็เดือดร้อนวุ่นวายด้วยปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติ จนแตกแยกออกไปเป็น ๒ อาณาจักรคือ เมืองหลวงพระบาง กับ เมืองเวียงจันทน์ นอกจากนี้ แคว้นจําปาศักดิ์ซึ่งยังมิได้เป็นดินแดนในอาณาจักรลาวโดยตรง เป็นแต่ตกอยู่ในอํานาจครอบครองเป็นครั้งคราว ก็ได้ตั้งตัวเป็นอิสระด้วย

นักประวัติศาสตร์บางพวกนับแคว้นจําปาศักดิ์อิสระนี้เข้าอีก กล่าวว่า ลาวแตกแยกเป็น ๓ อาณาจักร ยิ่งกว่านั้น ถ้าถือเอาแผ่นดินลาวปัจจุบันเป็นหลักก็ยังมีราชอาณาจักรเล็กๆ อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งในเวลานั้นยังไม่เป็นดินแดนของลาว คือ แคว้นตรันนินห์ ของพวกพวน มีเมืองเชียงขวางเป็นราชธานี บางทีเรียกแคว้นเชียงขวางบ้าง เมืองพวนบ้าง เมืองพวนนี้บางคราวขึ้นกับเวียงจันทน์ บางคราวขึ้นกับหลวงพระบาง บางคราวขึ้นกับญวน บางคราวขึ้นกับไทย ญวน และหลวงพระบางพร้อมกัน จนในที่สุดตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส เมื่อลาวเป็นเอกราชแล้วจึงรวมอยู่ในราชอาณาจักรลาว

อาณาจักรทั้งสองคือหลวงพระบางกับเวียงจันทน์ ต่างก็ระแวงกันและคอยจ้องหาโอกาสแย่งชิงอํานาจกัน เป็นเหตุให้ยืมมือต่างประเทศมากําจัดกัน เป็นการชักศึกเข้าบ้าน เช่น ฝ่ายหนึ่งเข้ากับพม่า อีกฝ่ายหนึ่งเข้ากับไทย หรือฝ่ายหนึ่งเข้ากับไทย อีกฝ่ายหนึ่งเข้ากับญวน เป็นต้น จนในที่สุดเมื่อไทยสมัยพระเจ้าตากสิน ซึ่งเป็นพันธมิตรกับหลวงพระบาง กู้เอกราชจากพม่าได้แล้ว ก็ยกทัพมาตีเวียงจันทน์ซึ่งเป็นพันธมิตรของพม่า เข้ายึดครองได้ใน พ.ศ. ๒๓๒๑ และได้นําเอาพระแก้วมรกตไปยังอาณาจักรไทยด้วย อาณาจักรเวียงจันทน์สลายตัวลงเป็นดินแดนของไทยใน พ.ศ. ๒๓๗๑ ส่วนอาณาจักรหลวงพระบางซึ่งเป็นเมืองออกของไทยได้ส่งทูตไปอ่อนน้อมและมอบบรรณาการแก่เวียดนามใน พ.ศ. ๒๓๗๔ กลายเป็นข้ออ้างของฝรั่งเศสผู้เข้ายึดครองเวียดนามในสมัยต่อมา ที่จะเข้าครอบครองลาวต่อไปด้วย อาณาจักรลาวได้ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสโดยลําดับ เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๔๓๖ จนหมดสิ้นใน พ.ศ. ๒๔๔๗ ลาวถูกฝรั่งเศสครอบครองอยู่ ๔๕ ปี จึงได้เอกราชกลับคืนโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๙๒ มีชื่อเป็นทางการว่า "พระราชอาณาจักรลาว”

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์นี้ ได้มีเหตุต่างๆ ซึ่งทําให้ชนชาวลาวแตกแยกกันอีก เริ่มแต่เมื่อญี่ปุ่นบุกรุกเข้ามาครอบครองคาบสมุทรอินโดจีน แล้วถอนตัวออกไปใน พ.ศ. ๒๔๘๘ ชาวลาวได้แตกแยกกันในหลักการที่ว่า จะกลับมาอยู่กับฝรั่งเศส หรือว่าจะเรียกร้องเอกราชสมบูรณ์ เป็นเหตุให้เกิดลาวอิสระขึ้น ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๒ ฝรั่งเศสให้เอกราชบางส่วนแก่ลาว ทําให้ลาวอิสระแตกแยกกันออกไป พวกหนึ่งพอใจเท่านั้น อีกพวกหนึ่งยังไม่พอใจ พวกไม่พอใจได้ตั้งพรรคประเทดลาวขึ้น ซึ่งต่อมากลายเป็นขบวนการประเทดลาว และได้รับความสนับสนุนจากเวียดมินห์ ดําเนินการทําสงครามกองโจรต่อต้านฝรั่งเศส ครั้นฝรั่งเศสถอนตัวออกไปแล้ว เหตุการณ์วุ่นวายภายในก็เป็นเหตุชักนําชาติมหาอํานาจคือสหรัฐอเมริกากับโซเวียตรัสเซียเข้ามายุ่งเกี่ยว ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ ชาวลาวแตกแยกกันเป็น ๓ ฝ่าย มีฝ่ายขวา ฝ่ายกลาง และประเทดลาวซึ่งเป็นฝ่ายซ้าย ต่างรบราฆ่าฟันกันอย่างรุนแรง แม้จะได้มีความพยายามที่จะช่วยให้ฝ่ายต่างๆ สมัครสมานกันด้วยการตั้งรัฐบาลผสมเป็นต้น แต่ก็เป็นไปได้เพียงชั่วคราว แล้วสงครามก็ดําเนินต่อไปอีก จนในที่สุดแผ่นดินลาวกลายเป็นเวทีสงครามทั้งระหว่างคนลาวด้วยกัน และระหว่างชนต่างชาติที่เข้ามาสนับสนุนแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นต้นมา สภาพเช่นนี้คงไม่แตกต่างอะไรนักกับความเป็นไปในอดีต อาณาจักรลาวแม้ภายหลังได้รับเอกราชแล้ว จึงยังมีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวาย ขาดเสถียรภาพทางการเมือง ไม่มีความสงบสุขเพียงพอที่จะเป็นฐานสําหรับสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ ได้อย่างแท้จริง

พระพุทธศาสนาในอาณาจักรลาวมีลักษณะคล้ายกันมากกับพระพุทธศาสนาในประเทศไทย เพราะประเทศทั้งสองมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาตลอดประวัติศาสตร์ แม้ในตอนเริ่มแรก ลาวจะได้รับพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทจากเขมร ก็ชื่อว่ามีส่วนได้รับจากไทยอยู่ด้วย เพราะพระพุทธศาสนาเถรวาทเผยแพร่เข้าสู่เขมรโดยผ่านทางแผ่นดินไทย แบบถ่ายทอดไปเองอย่างไม่เป็นทางการ และหลังจากนั้นไม่นาน เมื่อเขมรเสื่อมอํานาจลงโดยลําดับ ทั้งลาวและเขมรต่างก็รับพระพุทธศาสนาจากไทยโดยตรง โดยเฉพาะลาวนั้นเป็นชนเชื้อชาติเดียวกับไทย มีสายเลือดสืบจากบรรพบุรุษเดียวกัน มีภาษาพูดคล้ายกัน ติดต่อกันง่าย เข้าใจกันทันที ยิ่งมามีเขตแดนติดต่อกัน และเหตุการณ์บ้านเมืองบังคับให้คลุกคลีไปมาหาสู่ถึงกันอยู่เสมอ พร้อมด้วยความรู้สึกว่าไทยเป็นประเทศใหญ่กว่า ได้รับความเจริญต่างๆ ก่อนกว่า เป็นเอกราชและมีความสงบเรียบร้อยมั่นคงมากกว่า ก็ยิ่งทําให้ลาวพร้อมที่จะเป็นฝ่ายรับจากไทย และทําให้การรับนั้นแทบจะเป็นการถ่ายทอดแบบอย่างเอาไปทีเดียว

ยิ่งกว่านั้น การถ่ายทอดยังเป็นไปชนิดตลอดเวลาอีกด้วย เพราะเท่าที่ผ่านมาคนในราชอาณาจักรลาวนิยมอ่านหนังสือไทย ฟังวิทยุไทย ชอบเพลงไทย ไปเที่ยวเมืองไทย และไปศึกษาต่อที่เมืองไทย โดยเฉพาะการติดต่อทางด้านของพระสงฆ์นั้น เป็นไปอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง และสนิทสนมแน่นแฟ้นจนแทบไม่รู้สึกถึงความแตกต่างเหลืออยู่เลย ด้วยเหตุนี้กิจการพระศาสนาด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ ศาสนศึกษา ระเบียบแบบแผนต่างๆ ตลอดจนแนวความคิด และวัตรปฏิบัติทั่วไปของพระสงฆ์ในราชอาณาจักรลาว จึงเหมือนหรือคล้ายคลึงกับในประเทศไทย

ในสมัยที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส พระพุทธศาสนาของลาวเสื่อมโทรมลงไปบ้าง เพราะไม่ได้รับการเอาใจใส่บํารุงส่งเสริมเท่าที่ควร แต่ประชาชนซึ่งมีศรัทธาแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว ได้ช่วยกันรักษาพระศาสนาให้คงอยู่ได้ตลอดมา เมื่อลาวได้รับเอกราชแล้ว แม้ว่าบ้านเมืองจะยังไม่สงบเรียบร้อยมั่นคง แต่ทางราชการก็ได้ร่วมกับประชาชนดําเนินการฟื้นฟูทํานุบํารุงพระศาสนาอย่างเต็มที่

รัฐธรรมนูญแห่งพระราชอาณาจักรลาว มาตรา ๗ บัญญัติว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจําชาติ และพระมหากษัตริย์เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก”

อีกแห่งหนึ่งบัญญัติว่า “คณะสงฆ์ลาว มีนิกายเดิมนิกายเดียว (หินยานแบบลังกาวงศ์)”

ในด้านการปกครองคณะสงฆ์ มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นองค์ประมุข ในระยะ พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นต้นมามีผู้บริหารประกอบด้วยพระสังฆนายกและสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง องค์การศึกษา องค์การเผยแผ่ และองค์การปฏิสังขรณ์ แต่ต่อมาภายหลัง ได้ยุบองค์การสงฆ์เหล่านั้น แล้วตั้งที่ปรึกษาสงฆ์ ๔ องค์ สําหรับสมเด็จพระสังฆราช ทําให้มีลักษณะคล้ายกับมหาเถรสมาคมในประเทศไทย

กฎหมายคณะสงฆ์ เรียกว่า “พระราชโองการแต่งตั้งระเบียบสงฆ์แห่งพระราชอาณาจักรลาว ฉบับเลขที่ ๑๖๐ ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ (ค.ศ. ๑๙๕๙)” ได้ระบุไว้ในมาตรา ๓ ว่า “บรรพชิตฝ่ายพระพุทธศาสนาคือภิกษุและสามเณรทั้งหลายในพระราชอาณาจักรลาวต้องอยู่ใต้พระบัญชา (มโนธรรมประมุข) ของสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งพํานักอยู่ในนครหลวงของประเทศ”

มาตรา ๑๙ ว่า “สมเด็จพระสังฆราชเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะแขวงทั้งหลายในพระราชอาณาจักร เป็นผู้เลือกจากจํานวนพระภิกษุซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้เสนอ การเลือกตั้งจะทําเป็นหนังสือใส่ซองปิด และประทับตราครั่ง โดยให้เจ้าแขวงทั้งหลายเป็นผู้นําส่งเสนอต่อท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการที่เป็นผู้จัดการเลือกตั้งนั้นก็ได้”

และมาตรา ๒๐ ว่า “การตั้งสมเด็จพระสังฆราชจะออกเป็นพระราชโองการตามคําเสนอของคณะรัฐบาล การมอบหน้าที่และการทูลถวายสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระราชภาระของพระเจ้าแผ่นดิน โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการเป็นผู้จัดการสนอง”

พระราชโองการฉบับเดียวกันนั้น กําหนดขั้นยศ (สมณศักดิ์) ของพระภิกษุเป็น ๖ ชั้น คือ ๑. พระยอดแก้ว (เทียบสมเด็จพระสังฆราช) ๒. พระลูกแก้ว (สมเด็จพระราชาคณะ) ๓. พระหลักคํา (พระราชาคณะ) ๔. พระครู ๕. พระซา ๖. พระสมเด็จ และกําหนดตําแหน่งสงฆ์เป็นชั้นๆ คือ ๑. สมเด็จพระสังฆราช ๒. เจ้าคณะแขวง (เทียบจังหวัดของไทย) ๓. เจ้าคณะเมือง (เทียบอําเภอ) ๔. เจ้าคณะตาแสง (เทียบตําบล) ๕. เจ้าอธิการวัด (เทียบเจ้าอาวาส)

ในด้านศาสนศึกษา พระเถระลาวส่วนมากได้รับการศึกษาจากประเทศไทย การจัดการศึกษาคณะสงฆ์ลาวจึงมักจัดตามแบบไทย คือมีการเรียนภาษาบาลี แบ่งชั้นเป็นประโยค ๓ ถึงประโยค ๙ เหมือนในประเทศไทย ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้มีการวางระบบตามดํารัสรัฐมนตรีกระทรวงธรรมการ (คือกฎกระทรวงธรรมการ) จัดการเรียนเป็นขั้นๆ คือ

๑. ชั้นประถมบาลี (แบ่งเป็นเตรียมประถม ประถมตรี ประถมโท ประถมเอก จบประถมเอกเท่ากับประโยค ๓)

๒. ชั้นมัธยมบาลี (แบ่งเป็นมัธยมตรี-โท-เอก เท่ากับประโยค ๔-๕-๖ ตามลําดับ)

๓. ชั้นอุดมบาลีบริบรูณ์ (มีชั้นเตรียมมหาวิทยาลัย แล้วเข้าโรงเรียนบาลีชั้นสูง แบ่งเป็น อุดมตรี-โท-เอก เท่ากับประโยค ๗-๘-๙ ตามลําดับ)

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้มีการปรับปรุงระบบการศึกษาใหม่อีกตามดํารัสรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ศิลปากร และ กีฬายุวชน ซึ่งจัดการเรียนเป็น ๓ ขั้น ให้ประสานกับการศึกษาของชาติสําหรับคฤหัสถ์ คือ

๑. ประถมศึกษา ๖ ปี (ตอนต้น ๓ ปี = การศึกษาภาคบังคับ และตอนปลาย ๓ ปี)

๒. มัธยมศึกษา ๔ ปี

๓. สถาบันการศึกษาพุทธศาสนา ๓ ปี การศึกษาขั้นประถมและมัธยมของพระสงฆ์อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงธรรมการ ส่วนขั้นสูงคือ สถาบันการศึกษาพุทธศาสนา อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ โดยนัยนี้การศึกษาของพระสงฆ์จึงเป็นการศึกษาส่วนหนึ่งของชาติ อยู่ในความรับผิดชอบและความอุปถัมภ์ของรัฐโดยสมบูรณ์

สําหรับสถาบันการศึกษาพุทธศาสนานั้น ตั้งอยู่ที่วัดองตื้อมหาวิหาร ผู้ที่เรียนจบสถาบันจะได้รับประกาศนียบัตรของกระทรวงศึกษาธิการ และมีสิทธิได้รับเรียกชื่อว่า “มหา” หลักสูตรวิชาที่เรียนมีทั้งพระปริยัติธรรมและวิชาการสมัยใหม่ เช่น ภาษาบาลี สันสกฤต ลาว ฝรั่งเศส อังกฤษ ศาสนา ปรัชญา จิตวิทยา ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมวิทยา การศึกษา สุขาภิบาล ตลอดจนโหราศาสตร์ ผู้ที่เรียนจบสถาบันแล้วจะต้องอยู่ปฏิบัติงานในภิกขุภาวะอย่างน้อย ๒ ปีจึงจะลาสิกขาได้ ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งการเปลี่ยนแปลงการศึกษา ได้มีการเพิ่มชั้นเตรียมสถาบันเข้ามาแทรกระหว่างมัธยม ๔ กับสถาบันปีที่ ๑ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเกี่ยวกับความพร้อมของตัวผู้เรียน ใน พ.ศ. ๒๕๑๐ มีสถิตินักเรียนที่สนใจ คือ ชั้นอุดมเอก (ป.๙) ๓๙ รูป เตรียมสถาบัน ๓๕ รูป สถาบันปีที่ ๑ มี ๑๐ รูป ปีที่ ๒ มี ๔ รูป ปีที่ ๓ ยังไม่มีผู้เรียนถึง

ในระยะที่ผ่านมา ได้มีพระสงฆ์ลาวไปศึกษาต่อในประเทศต่างๆ จํานวนมาก โดยเฉพาะในประเทศไทย รัฐบาลไทยได้อุปถัมภ์ทุนแก่พระภิกษุสามเณรจากราชอาณาจักรลาว เพื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ทุกปี ปีละหลายรูป และได้มีผู้ที่ศึกษาจบแล้วหลายรูปกลับไปทํางานเป็นกําลังสําคัญในวงการศึกษา และกิจการต่างๆ ของพระราชอาณาจักรลาว ทั้งฝ่ายพุทธจักร และอาณาจักร

การศึกษาแห่งชาติแบบสมัยใหม่ของลาว ยังนับว่าอยู่ในระยะเริ่มต้น การศึกษาภาคบังคับมีเพียง ๓ ปี คือ ประถมปีที่ ๓ และโรงเรียนในระดับภาคบังคับนี้แม้จะมีอยู่แพร่หลาย แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง ในท้องถิ่นห่างไกลยังต้องอาศัยพระในวัดต่างๆ ช่วยสอนเด็กพอให้อ่านออกเขียนได้ โดยทางรัฐบาลพยายามสนับสนุน เช่น ช่วยดําเนินการสอบให้ เป็นต้น ส่วนการศึกษาระดับอุดมหรือมหาวิทยาลัย ยิ่งนับว่าเป็นของใหม่มาก และมีเพียงแห่งเดียว คือ มหาวิทยาลัยศรีสว่างวงศ์ ที่ดงโดก ซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้นก่อน พ.ศ. ๒๕๑๐ ไม่กี่ปี มี ๓ คณะ คือ คณะวิชากฎหมาย การปกครอง เศรษฐกิจ การคลังการทูตหนึ่ง คณะวิชาการศึกษาหนึ่ง และคณะแพทยศาสตร์หนึ่ง มีนักศึกษาทั้งหมดประมาณ ๒๐๐ คน การสอนวิชาต่างๆ ในชั้นประถมตอนปลายขึ้นไปยังใช้ภาษาฝรั่งเศสมากกว่าภาษาลาว เพราะต้องพึ่งครูและตําราภาษาต่างประเทศมาก แม้ชาวลาวเองที่ได้ศึกษามาในชั้นสูงก็ไม่ถนัดภาษาลาว เพราะเรียนด้วยภาษาฝรั่งเศสมาแต่เดิม หรือไม่ก็มักเป็นผู้สําเร็จการศึกษาจากฝรั่งเศส เมื่อเทียบกับการศึกษาส่วนรวมของชาติเช่นนี้แล้ว ก็ต้องนับว่าการศึกษาฝ่ายสงฆ์เจริญก้าวหน้าพอสมควร

อนึ่ง ในการศึกษาของพระสงฆ์มีระเบียบที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ ทางการเมืองถือว่าทุกแขวงมีการศึกษาถึงขั้นมัธยมต้นแล้ว ภิกษุสามเณรที่จะเข้ามาศึกษาต่อในเวียงจันทน์ จะต้องเรียนจบชั้นมัธยมต้นก่อน เจ้าคณะแขวงและหัวหน้าฝ่ายการศึกษาประจําแขวงจึงจะออกหนังสืออนุญาตให้เข้ามาเรียนในเวียงจันทน์ได้ นับว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่พักในเมืองหลวงแออัด พระภิกษุสามเณรหาที่อยู่ที่เรียนไม่ได้อย่างหนึ่ง

ชาวลาวโดยทั่วไปเป็นพุทธศาสนิกชนผู้หนักแน่นในจารีตประเพณี มีความเคารพนับถือพระสงฆ์อย่างสูง แต่ความนับถือมีความเชื่อผีสางเทวดาปะปนอยู่มาก กล่าวได้ว่าพุทธศาสนากับความนับถือผีสางได้ผสมกลมกลืนกันอย่างสนิท ประเพณีการบวชเรียน การบวชแล้วสึกตามสมัครใจยังแพร่หลายอยู่ทั่วไป คือ เมื่อเด็กชายอายุ ๑๐ ปีบริบูรณ์แล้วจะบวชเป็นสามเณร เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ก็จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ

พระราชอาณาจักรลาวมีเนื้อที่ ๒๓๖,๘๐๐ ตร.กม. ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ มีประชากร ๓,๔๕๐,๐๐๐ คน ใน พ.ศ. ๒๕๑๕ มีวัด ๒,๑๐๘ วัด มีภิกษุสามเณร ๑๘,๒๒๔ รูป ในจํานวนนี้ประมาณร้อยละ ๘๑.๕ อายุระหว่าง ๑๐ ถึง ๒๕ ปี เฉพาะปี พ.ศ. ๒๕๑๕ นั้น มีผู้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ๘๒๒ รูป พระภิกษุลาสิกขา ๔๗๕ รูป มีผู้บรรพชาเป็นสามเณร ๑,๓๓๔ รูป สามเณรลาสิกขา ๗๗๑ รูป

อย่างไรก็ตาม ในด้านปัญหาพระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรลาวก็มีสภาพที่น่าเป็นห่วงหลายอย่าง อันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ กล่าวคือ แม้ว่าประชาชนทั่วไปจะยังมีศรัทธาหนักแน่นมั่นคงในพระศาสนาและคณะสงฆ์ การทําบุญให้ทาน รับศีล ฟังธรรม และเข้าวัดปฏิบัติธรรม ยังมีอยู่อย่างแพร่หลาย วัดและพระสงฆ์ได้รับการอุปถัมภ์บํารุงเป็นอย่างดี ชาวชนบทเชื่อฟังพระสงฆ์ยิ่งกว่าผู้ปกครองฝ่ายบ้านเมือง แต่ความเลื่อมใสและการแสดงศรัทธาเหล่านั้น โดยมากเป็นไปในรูปประเพณีและมีมากในคนรุ่นเก่า แต่ภาวะที่วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนกําลังเสื่อมลงไป ภิกษุสามเณรมักเป็นผู้บวชมาจากถิ่นชนบทที่ขาดการศึกษา บทบาทของพระสงฆ์ที่สัมพันธ์กับชุมชนเสื่อมถอยลง โดยมีครู แพทย์ พยาบาล ข้าราชการ ตลอดจนนักการเมืองเข้ามาเป็นผู้นําแทน ความเชื่อถือยําเกรงต่ออํานาจศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ก็ลดน้อยลง ในตัวเมืองการอุปถัมภ์บํารุงพระสงฆ์เบาบางลง

ได้มีพระสงฆ์ผู้นําบางรูปตื่นตัว คิดริเริ่มปรับปรุงฟื้นฟูกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้มีบทบาทเป็นประโยชน์แก่สังคมมากขึ้น เช่น เข้าร่วมในโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น โดยเฉพาะท่านที่มีแนวความคิดและการดําเนินงานที่ได้ผล มีผู้สนใจมากท่านหนึ่งคือ พระมหาปาลอานนฺโท แห่งวัดพุทธวงศาป่าหลวง นครเวียงจันทน์ ท่านผู้นี้มีแนวความคิดยึดถือการปฏิบัติธรรม รักษาแก่นของพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด พร้อมไปกับดําเนินกิจกรรมเพื่อประโยชน์แก่สังคมปัจจุบันด้วย ท่านเป็นนักเผยแผ่พร้อมกับเป็นนักกรรมฐาน ท่านมีชื่อเป็นที่รู้จักกันดีในวงงานเผยแผ่ ทางราชการก็ถวายความยอมรับในเวลาเดียวกัน ท่านได้ตั้งสํานักกรรมฐานหลายแห่งทั้งในลาว และภาคอีสานของไทย ตั้งโรงเรียนอภิธรรม ตั้งโรงเรียนสงเคราะห์เด็กกําพร้าอนาถา ตั้งโรงเรียนอบรมศีลธรรมพุทธยุวชนลาว (อ.ศ.พ.) (คล้ายกับโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในประเทศไทย) ซึ่งใน พ.ศ. ๒๕๑๐ มีอยู่ในที่ต่างๆ ประมาณ ๑๓ แห่ง และมีวัดพุทธวงศาป่าหลวงเป็นศูนย์กลาง ตั้งพุทธสมาคมชื่อ “มหาพุทธวงศา” (พ.ศ. ๒๕๐๔) ยุวพุทธิกสมาคมชื่อ “พุทธยุวชนวงศาลาว” (พ.ศ.๒๕๐๖) ซึ่งใน พ.ศ. ๒๕๑๕ มีสาขา ๑๘ แห่ง และได้ออกวารสาร จัดพิมพ์หนังสือเผยแผ่ธรรมต่างๆ ด้วย

ส่วนพระสงฆ์ทั่วไปก็เอาใจใส่งานเผยแผ่และสงเคราะห์มากขึ้น บางรูปเดินทางเข้าไปในชนบทห่างไกล พักแรมอบรมสั่งสอนหลายๆ วัน ขากลับออกมาก็พาเด็กลูกชาวบ้านไปอยู่วัดเรียนหนังสือด้วย บางท่านก็ช่วยสงเคราะห์ผู้ลี้ภัย วัดในเมืองก็สนใจเด็กในเมืองมากขึ้น ในการเผยแผ่ธรรมก็เน้นหลักธรรมเกี่ยวกับการบําเพ็ญประโยชน์มากขึ้น มีการร่วมมือกับกลุ่มศาสนาอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะกับพวกคาทอลิก ถึงกับมีกลุ่มศึกษาธรรมร่วมกันสนทนาธรรม และทําสมาธิภาวนาด้วยกันเป็นต้น ส่วนทางด้านรัฐบาลก็กําหนดให้วิชาศีลธรรมเป็นวิชาบังคับในโรงเรียน จัดรายการวิทยุเกี่ยวกับพุทธศาสนา ส่งเสริมการศึกษาประวัติศาสตร์และวรรณคดีลาว และในคราวฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ได้ตั้งโครงการพิมพ์พระไตรปิฎก ๘๐ เล่ม แต่ปรากฏว่าเมื่อพิมพ์ได้เพียง ๓ เล่ม ก็หยุดหายไป

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์บ้านเมืองของลาวได้ผันแปรต่อไปอีก และมีผลกระทบกระเทือนต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖ สงครามได้ยุติลงอย่างเป็นทางการ เพราะรัฐบาลของเจ้ามหาชีวิตกับขบวนการประเทดลาวได้ลงนามในสัญญาหยุดยิง ต่อจากนั้นก็ได้ตั้งรัฐบาลผสมขึ้น แบ่งกระทรวงกันครอง และขีดเส้นแบ่งพื้นที่ของประเทศออกเป็น ๒ เขต แยกปกครองคนละเขต

ต่อจากนั้น อํานาจของขบวนการประเทดลาวก็เพิ่มมากขึ้นโดยลําดับ จนฝ่ายขวาสูญเสียที่นั่งทั้งหมดในคณะรัฐบาลผสม ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๗ เหตุการณ์ตึงเครียดขึ้นโดยลําดับ จนถึงขั้นวิกฤติการณ์ ในปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๘ ขบวนการประเทดลาวก็กวาดล้างอํานาจของฝ่ายอื่นในรัฐบาลลงทั้งหมด พระเจ้าศรีสว่างวงศ์ กษัตริย์องค์สุดท้ายของลาวทรงสละราชสมบัติในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๘ และนายกรัฐมนตรีลาว เจ้าสุวรรณภูมาก็ลาออกจากตําแหน่งเช่นเดียวกัน ขบวนการประเทดลาวจึงเข้าควบคุมการบริหารประเทศทั้งหมด ครั้นถึงวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๑๘ ก็ประกาศเปลี่ยนสภาพพระราชอาณาจักรลาวเป็น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปกครองประเทศด้วยระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์สืบต่อไป

ระหว่างวิกฤติการณ์นี้และในเวลาต่อๆ มา นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามและประชาชนจํานวนมาก ได้อพยพหนีออกไปลี้ภัยในต่างประเทศ มีประเทศไทยเป็นต้น บ้านเมืองเต็มไปด้วยความวุ่นวายระส่ำระสาย กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาดูเหมือนจะหยุดชะงักลง และสภาพของพุทธศาสนาในลาวต่อจากนี้ เท่าที่เป็นข่าวเล็ดลอดออกมาถึงชาวพุทธในประเทศอื่นๆ ปรากฏเหมือนต้นไม้ใหญ่มีดอกใบสะพรั่งงาม ที่เขาปล่อยให้ยืนต้นอยู่เป็นอย่างดี เป็นแต่คอยดูแลระมัดระวังไว้ไม่ให้มีน้ำมาถึงได้ ไม่ว่าจากฟ้าหรือดิน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป และเหตุการณ์บ้านเมืองค่อยสงบลงแล้ว ก็ได้มีชาวไทยทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต เดินทางไปเยี่ยมเยียนและสังเกตสภาพบ้านเมืองของลาวเป็นครั้งคราว ส่วนทางฝ่ายลาวซึ่งได้ขาดการติดต่อทางด้านพระศาสนากับประเทศไทยมาเป็นเวลานาน ก็ได้มีคณะพระสงฆ์ลาวจํานวน ๗ รูป มีรองประธานพุทธศาสนาสัมพันธ์แห่งประเทศลาวเป็นหัวหน้า พร้อมด้วยคฤหัสถ์ ๓ คน ได้เดินทางมาเยี่ยมเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ถึง ๓ ธันวาคม ๒๕๓๐ โดยการอาราธนาของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมกับโครงการสันติภาพเพื่อการพัฒนา และคณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา คณะพระสงฆ์ลาวได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช ได้ไปเยี่ยมชมและพบปะสนทนากับพระเถรานุเถระฝ่ายไทย ณ วัดและสถาบันการศึกษาของพระสงฆ์หลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จึงหวังได้ว่าสภาวการณ์ที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คงจะเผยตัวให้ปรากฏแก่ชาวพุทธเพื่อนบ้านในประเทศไทยมากขึ้นตามลําดับ

โดยความเอื้อเฟื้อของเจ้าหน้าที่สถานทูตลาว ได้ทราบข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในลาวเมื่อสิ้นปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ดังนี้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวปัจจุบัน มีประชากร ๓,๘๐๐,๐๐๐ คน มีพระภิกษุสามเณร ๑๕,๖๓๔ รูป (แยกเป็นภิกษุ ๖,๐๐๐ รูป สามเณร ๙,๖๒๖ รูป) มีวัด ๒,๘๒๗ วัด (เฉพาะในนครเวียงจันทน์มี ๑,๒๑๒ วัด) ประมุขสงฆ์เรียกว่า ประธานองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์แห่งประเทศลาว มหาวิทยาลัยดงโดก ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยสร้างครู

หนังสือและเอกสารประกอบ

จํานงค์ ทองประเสริฐ. ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในเอเซียอาคเนย์. กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, พ.ศ. ๒๕๑๔.

ประยุทธ์ ปยุตฺโต. พระมหา. ข้อมูล ข้อสังเกต และความคิดเห็นที่ได้จากการเยี่ยมเยียนพระราชอาณาจักรลาว, พ.ศ. ๒๕๑๐. (โรเนียว)

สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พ.ศ. ๒๔๙๘-๒๕๒๑), “เชียงขวาง”, “เซ่า”, “ไทย”.

เสฐียรโกเศศ. เรื่องของชาติไทย. กรุงเทพฯ : สํานักพิมพ์บรรณาคาร, พ.ศ. ๒๕๑๕.

Hall, D.G.E. A History of Southeast Asia. New York: St. Martin's Press, 1970.

Zago, Marcello, “Buddhism in Contemporary Laos”. In Buddhism in the Modern World. Edited by Heinrich Dumoulin and John C. Maraldo, New York: Macmillan Publishing Co., Inc., 1976.

๑๐.
พระพุทธศาสนาในเวียดนาม

 

เพื่อความสะดวกในการศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนาในเวียดนาม ขอแบ่งดินแดนของประเทศเวียดนามปัจจุบันออกเป็น ๓ อาณาเขต (ตามแบบที่ฝรั่งเศสเคยแบ่งในสมัยที่เวียดนามเป็นอาณานิคม) คือ ตังเกี๋ย (Tongking ได้แก่ แผ่นดินกว้างตอนบน บริเวณลุ่มแม่น้ำแดง) อานัม (Annam ได้แก่ แผ่นดินแคบยาว ทอดตามฝั่งทะเลที่อยู่ตอนกลางระหว่างตังเกี๋ย กับ โคชินจีน) และ โคชินจีน (Cochin China ได้แก่ แผ่นดินส่วนล่างทั้งหมด บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง) อาณาเขตทั้งสามนี้ เทียบได้กับอาณาจักรต่างๆ ที่มีอยู่ในตอนเริ่มต้นประวัติศาสตร์ คือ ตังเกี๋ย และภาคเหนือของอานัม เป็นอาณาจักรอานัม ซึ่งได้เจริญต่อมาเป็นประเทศเวียดนาม

ทุกวันนี้ อานัมภาคใต้ เป็นอาณาจักร จัมปา ส่วนโคชินจีนเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร ฟูนัน ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน (ดู กัมพูชา) อาณาจักรอานัมมีอารยธรรมที่สืบสาวมาจากจีน ส่วนจัมปากับฟูนันมีอารยธรรมที่สืบสายมาจากอินเดีย

อาณาจักรของพวกอานัมนั้น กล่าวกันว่ามีอายุเก่าแก่เกือบ ๓,๐๐๐ ปีแล้ว แต่ไม่มีเรื่องราวเป็นหลักฐานชัดเจน จนถึงราว พ.ศ. ๓๓๗ จึงได้จัดตั้งกันขึ้นเป็นอาณาจักร นามเวียด (แปลว่า อาณาจักรฝ่ายทักษิณ) แต่ต่อมาใน พ.ศ. ๔๓๓ อาณาจักรนามเวียดได้ตกเป็นเมืองขึ้นของจีน และได้ถูกจีนครอบครองสืบมาช้านานกว่า ๑,๐๐๐ ปี ระหว่างระยะเวลานี้เรียกชื่อตามอย่างที่จีนเรียกว่า อนัม หรือ อานัม (แปลว่า สันติทักษิณ หรือปักษ์ใต้ที่สงบ) จากการที่ได้ตกอยู่ในอํานาจของจีนเป็นเวลานาน ศาสนาและวัฒนธรรมของชนชาติอานัม จึงเป็นอย่างจีนแทบทั้งสิ้น ครั้นถึง พ.ศ. ๑๔๘๒ ชาวอานัมกู้เอกราช ประกาศเป็นอิสระจากจีนได้สําเร็จ ต่อจากนั้นอาณาจักรอานัมหรือเวียดนามก็แผ่อํานาจขยายดินแดนลงมาทางใต้โดยลําดับ กลายเป็นคู่สงครามกับอาณาจักรจัมปา และเข้าครอบครองดินแดนของจัมปาจนหมดในที่สุด ดังเรื่องราวโดยย่อดังนี้

ก. อาณาจักรจัมปา

จัมปา คือ อาณาจักรของพวก จาม ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นชนชาติอินโดนีเซียพวกหนึ่ง เป็นชาวทะเล ชอบเดินเรือค้าขาย ทําการประมงและเป็นโจรสลัด พูดภาษาจาม ซึ่งเขียนด้วยอักษรอินเดีย แต่ภาษาวรรณคดีใช้สันสกฤต มีวัฒนธรรมคล้ายกับฟูนัน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอินเดียเช่นเดียวกัน เขตแดนของอาณาจักรจัมปานั้นกําหนดคร่าวๆ ตั้งแต่เมืองดานังหรือตูเรน (Da Nang หรือ Tourane อยู่ใต้เมืองเว้ลงไปเล็กน้อย) ลงไปถึงอ่าวคัมรันห์ (Cam Ranh) และลึกเข้าไปในแผ่นดินถึงเมืองสตรึงเตรงในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน อย่างไรก็ดี อาณาเขตนี้ไม่ตายตัว เช่น เมื่อตอนสิ้นราชวงศ์ถังใน พ.ศ. ๑๔๕๐ มีเขตแดนทางเหนือถึง Porte d'Annam หรือราวเส้นขนานที่ ๑๘ แต่ในสมัยหลังค่อยๆ หดลงมาจากทางเหนือตามลําดับจนหมดสิ้นแผ่นดินของตน อาณาจักรจัมปาประกอบด้วยแคว้นสําคัญ ๔ แคว้นคือ อมราวดี (ตรงกับ เมืองกวางนาม=Quang Nam ปัจจุบัน) วิชัย (ตรงกับเมืองบินห์ดินห์=Binh Dinh) เกาฐระ (ตรงกับเมืองนาตรัง=Nha Trang) และ ปัณฑุรังคะ (ตรงกับฟานรัง=Phan Rang) เกาฐระและปัณฑุรังคะเคยเป็นดินแดนของฟูนันมาก่อน และกลายมาเป็นของจัมปาเมื่อครั้งอาณาจักรฟูนันเสียแก่เจนละ (กัมพูชา) ในราว พ.ศ. ๑๑๐๐ (ดินแดนฟูนันที่เหลือจากนี้รวมทั้งโคชินจีนตอนล่างลงไป จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกัมพูชาสมัยโบราณ)

จัมปามีเรื่องราวปรากฏครั้งแรกในจดหมายเหตุของจีนว่า ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๗๓๕ ในระยะที่ราชวงศ์ฮั่นกําลังอ่อนแอ มีชื่อเรียกในภาษาจีนว่าอาณาจักรหลินอี้ (Lin-Yi) ตั้งเมืองหลวงอยู่ในบริเวณเมืองกวางนาม กษัตริย์จามยิ่งใหญ่พระองค์แรกที่ปรากฏนามคือ พระเจ้าภัทรวรมัน ซึ่งครองราชย์ในราว พ.ศ. ๙๒๐ ได้ทรงสร้างมีซอน (Mison) นครศักดิ์สิทธิ์ (อยู่ใกล้กวางนาม) และประดิษฐานเทวาลัยแห่งแรกพร้อมด้วยศิวลึงค์อุทิศแด่พระศิวภัทเรศวร เป็นหลักฐานแสดงอย่างชัดเจนว่า ศาสนาฮินดูนิกายไศวะเป็นศาสนาประจําชาติหรืออย่างน้อยก็เป็นศาสนาทางราชการของจัมปา

อาณาจักรจัมปามีกรณีพิพาทเรื่องดินแดนกับจีนอยู่เนืองๆ และมักยกทัพไปตีเมืองชายแดนของจีน (หมายถึงอานัมซึ่งเวลานั้นอยู่ในครอบครองของจีน) บ่อยๆ โดยเฉพาะที่ตังเกี๋ย เป็นเหตุให้จีนยกทัพมาตีเมืองหลวงซึ่งอยู่ในบริเวณเมืองเว้ปัจจุบันเป็นคราวใหญ่ถึง ๒ ครั้ง ใน พ.ศ. ๙๘๙ และ ๑๐๔๘ โดยเฉพาะครั้งแรกได้ทําลายเมืองพินาศย่อยยับ และขนทองคําบริสุทธิ์ไปประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปอนด์ และจดหมายเหตุจีนยังได้บันทึกไว้ด้วยว่า พวกจีนได้ขนเอาคัมภีร์พระพุทธศาสนาไปจากเมืองหลวงนั้นด้วย จํานวน ๑,๓๕๐ เล่ม ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงว่าพระพุทธศาสนาคงจะเจริญอยู่ในจัมปาแล้วในเวลานั้น นอกจากนี้ ยังมีพระพุทธรูปตระกูลศิลปะอมราวดี ซึ่งทําให้สันนิษฐานว่าพระพุทธศาสนาคงจะได้มาประดิษฐานในจัมปาก่อนพุทธศตวรรษที่ ๘

เมื่อราชวงศ์ถังขึ้นปกครองแผ่นดินจีนใน พ.ศ. ๑๑๖๑ จัมปาก็หันมาใช้นโยบายผูกมิตรแสดงความยอมรับอํานาจของจีน หยุดยกทัพไปโจมตีชายแดนจีน ในเวลาต่อจากนั้น จึงมีเหตุวุ่นวายทางการเมืองและการสงครามน้อยครั้ง ทําให้เกิดช่วงระยะแห่งความสงบและการสร้างสรรค์ มีผลงานทางด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมเกิดขึ้นมากที่มีซอนและที่ตราเกียว (Tra-kieu) ซึ่งส่วนมากสร้างในรัชกาลพระเจ้าประกาศธรรมวิกรันตวรมัน (พ.ศ. ๑๑๙๖ - ราว ๑๒๒๘) หลวงจีนอี้จิงซึ่งเดินทางสืบศาสนาไปกลับระหว่างจีนและอินเดีย ผ่านภูมิภาคนี้ในระหว่าง พ.ศ. ๑๒๑๔ - ๑๒๓๘ ได้เขียนบันทึกไว้ว่า หลินอี้เป็นประเทศหนึ่งที่นับถือพระพุทธศาสนา ตรงข้ามกับฟูนันซึ่งทําลายพุทธศาสนาลงเกือบหมดสิ้น (คงหมายถึงเฉพาะในรัชกาลหนึ่งหรือสมัยหนึ่ง ซึ่งตรงกับหรือใกล้ๆ กับเวลาที่ท่านอี้จิงเดินทางไป) ชาวพุทธจัมปาทั่วๆ ไปเป็นพวกที่นับถือนิกายอารยสัมมิตียะ แต่มีพวกที่นับถือนิกายสรวาสติวาทะอยู่บ้างเล็กน้อย อนึ่ง ในรัชกาลพระเจ้าวิกรันตวรมันนี้ จัมปาได้แผ่ขยายดินแดนลงไปทางทิศใต้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ระหว่าง พ.ศ. ๑๓๐๑ ถึง ๑๔๐๒ ราชวงศ์ใหม่ของจัมปาได้ย้ายศูนย์กลางของอาณาจักรออกจากอมราวดี (กวางนาม) ลงไปตั้งที่ปัณฑุรังคะ (ฟันรัง) และเกาฐระ (นาตรัง) ในเวลาเดียวกัน จีนก็เลิกเรียกจัมปาว่าหลินอี้ แต่เปลี่ยนเรียกชื่อใหม่ว่า ฮวนหวั่ง (Huan-wang) ราชวงศ์ใหม่นี้แสดงความนับถือลัทธิไศวะหนักแน่นยิ่งขึ้น และถือคติบูชาศิวลึงค์เด่นชัดยิ่งกว่าอาณาจักรเขมรเสียอีก มีการสร้าง มุขลึงค์ (แท่งหินศิวลึงค์ มีโลหะหุ้มแต่งเป็นรูปหน้าคน หน้าเดียวบ้างหลายหน้าบ้าง) ขึ้นเป็นอันมาก เป็นการแสดงให้เห็นชัดยิ่งขึ้นอีกว่าพระราชาคือพระศิวะ อย่างไรก็ดี เมื่อย้ายเมืองหลวงมาได้ไม่นาน ถึง พ.ศ. ๑๓๑๗ จัมปาก็ถูกชะวารุกรานอย่างหนัก ทําให้วิหารโพนครที่นาตรังถูกเผาพินาศลง และเทวรูปไม้ถูกขนเอาไป วิหารโพนครนี้เป็นที่สถิตของเจ้าแม่ภควดี ซึ่งไม่ปรากฏชัดว่าเริ่มแรกมีขึ้นเมื่อใด บางท่านสันนิษฐานว่าอาจเป็นเจ้าแม่ที่นับถือกันเป็นพื้นเมืองมาก่อนแต่สมัยโบราณ เมื่อพวกจามนับถือฮินดูแล้วก็เลยตั้งชื่อให้เป็นภาษาสันสกฤต เมื่อวิหารพินาศแล้ว พระเจ้าสัตยวรมันก็ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในเวลาใกล้กันนั้นเอง แต่ต่อมาอีกไม่ถึง ๒ ศตวรรษ คือ ใน พ.ศ. ๑๔๘๘ พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ ๒ แห่งอาณาจักรเขมร ก็ได้มาโจมตีจัมปาและยึดเอาเทวรูปทองคําของเจ้าแม่ภควดีนําไปเขมรด้วย ครั้นถึง พ.ศ. ๑๕๙๓ พระเจ้าปรเมศวรได้ทรงสร้างเทวรูปขึ้นใหม่อีกองค์หนึ่ง รวมพระศิวะกับพระภควดีเข้าด้วยกัน ถวายแก่วิหารโพนครนี้ เรียกชื่อว่า พระภควตีศวร ทําให้เห็นว่า เจ้าแม่ภควดีคงจะได้รับความนับถืออย่างเป็นพระอุมา

ประมาณ พ.ศ. ๑๔๑๘ พระเจ้าอินทรวรมันที่ ๒ ทรงย้ายศูนย์กลางของอาณาจักรขึ้นไปภาคเหนืออีก โดยทรงสร้างเมืองหลวงใหม่ชื่อ อินทรปุระ ในมณฑลกวางนาม (อมราวดี) และตั้งราชวงศ์ใหม่ พร้อมกันนั้น จีนก็เปลี่ยนเรียกชื่อจัมปาใหม่อีกเป็น จางเจิ้ง (Chang-cheng ตรงกับสันสกฤตว่า จัมปาปุระ) พระเจ้าอินทรวรมันที่ ๒ ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ถึงกับได้ทรงสร้างวัดใหญ่แห่งหนึ่งที่ดองเดือง (Dong-duong) อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของมีซอน อุทิศแก่พระลักษมินทรโลเกศวร (คือพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นั่นเอง ส่วนลักษมินทรเป็นพระนามของพระเจ้าอินทรวรมันที่ ๒ ก่อนขึ้นครองราชสมบัติ) ซึ่งถือกันว่าเป็นหลักฐานทางศิลปโบราณคดีแห่งแรกที่แสดงว่า พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเจริญอยู่ในจัมปา (พุทธศาสนาที่แพร่หลายในจัมปาก่อนหน้านี้ ปราชญ์เห็นว่าคงเป็นแบบเถรวาท) กษัตริย์องค์ต่อๆ มาในราชวงศ์อินทรวรมัน ล้วนทรงประกอบด้วยศรัทธาและทรงอุปถัมภ์กิจการทางศาสนาอย่างจริงจังยิ่งกว่ากษัตริย์ในสมัยก่อนๆ ทรงสร้างศาสนสถานใหม่ๆ และเอาพระทัยใส่ป้องกันศาสนสถานต่างๆ จากพวกโจรสลัด หากศาสนสถานถูกทําลายก็ทรงสร้างขึ้นใหม่ และชอบสร้างศิลาจารึกประกาศการทรงบริจาคสิ่งต่างๆ พระราชทานแก่วัดและเทวาลัยทั้งหลาย นอกจากนี้ยังได้รักษาสัมพันธไมตรีกับชะวาเป็นอย่างดี เป็นเหตุให้ศิลปะแบบชะวามีอิทธิพลต่อศิลปะของจัมปาในสมัยต่อๆ มาด้วย

ลุ พ.ศ. ๑๔๕๐ ราชวงศ์ถังในประเทศจีนสิ้นอํานาจลง พวกอานัมได้โอกาสกอบกู้เอกราชประกาศอิสรภาพสําเร็จ ตั้งเป็นอาณาจักรเรียกว่า ไดโคเวียด (ได้แก่ อานัมและตังเกี๋ย) สําเร็จใน พ.ศ. ๑๔๘๒ และได้กลายเป็นคู่ศึกประจําซึ่งนําจัมปาเข้าสู่ยุคแห่งความเสื่อมโทรมตลอดไปจนถึงสูญสิ้นในที่สุด นับแต่นี้ไปจัมปาต้องสาละวนอยู่กับการป้องกันและกอบกู้ตนเอง ดินแดนก็หดสั้นเข้าๆ ขาดพลังและความมั่งคั่ง ไม่สามารถสร้างศิลปวัตถุสถานที่ใหญ่โตงดงามเหมือนอย่างแต่ก่อนได้อีก ภาวะเช่นนี้เริ่มต้นใน พ.ศ. ๑๕๒๒ โดยมีเหตุอย่างหนึ่งทําให้จัมปาวิวาทกับพวกอานัม พวกอานัมได้โจมตีทําลายเมืองอินทรปุระพร้อมทั้งสังหารชีวิตกษัตริย์จามลง จัมปาต้องสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เมืองวิชัย (ตรงกับ Bing Dinh ปัจจุบัน แต่บางตําราว่าตรงกับเมือง Qui Nhon ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน) แม้จะย้ายกลับไปอยู่ที่เมืองอินทรปุระได้อีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ครั้นถึง พ.ศ. ๑๕๔๓ ก็ต้องทิ้งเมืองนั้นมาอยู่ที่เมืองวิชัยอีก ต่อจากนี้จัมปาต้องทําสงครามขับเคี่ยวกับอานัมบ้าง กับเขมรบ้าง อยู่เรื่อยๆ แทบไม่ว่างเว้น บางคราวตกเป็นเมืองขึ้นของเขมร บางคราวตกเป็นเมืองขึ้นและเสียดินแดนให้แก่อานัม อาณาจักรก็แคบเข้าๆ โดยลําดับ

มีช่วงเวลาสั้นๆ เพียงครั้งเดียวที่จัมปาได้เรืองอํานาจทางการเมืองขึ้นมาอย่างจริงจัง คือ ในสมัย พระเจ้าเชบองงา ซึ่งขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๑๙๐๓ นักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่สุดยอดของจัมปา และในเวลาเดียวกันก็เป็นรังสีสุดท้ายแห่งอาทิตย์อัสดง พระเจ้าเชบองงาเป็นกษัตริย์ที่เก่งกล้าเป็นพิเศษในการสงคราม ได้ตีเมืองต่างๆ ของจัมปากลับคืนมาได้ทั้งหมด และรุกเข้าไปในดินแดนของอานัม จนเข้าโจมตีถึงเมืองฮานอย ทําให้อานัมกลับเป็นฝ่ายหวาดผวาอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งพระเจ้าเชบองงาสวรรคตในการยุทธ์ทางทะเลใน พ.ศ. ๑๙๓๓ แต่พอสิ้นรัชกาลของพระองค์แล้วไม่นาน ดินแดนที่ได้มาก็ต้องสละคืนไปจนหมด

วาระสุดท้ายของจัมปามาถึงใน พ.ศ. ๒๐๑๔ ขณะที่จัมปาอ่อนเปลี้ยหลังจากเกิดเหตุวุ่นวายเป็นสงครามกลางเมืองในระยะเปลี่ยนแผ่นดินและถูกอานัมโจมตีครั้งหนึ่งแล้ว พวกอานัมก็โจมตีครั้งใหญ่อีก เข้าบุกยึดเมืองหลวง คนถูกสังหารไม่ต่ำกว่า ๖๐,๐๐๐ คน พวกอานัมกวาดต้อนเจ้านายในราชตระกูลและประชาชนไปเป็นเชลย ๓๐,๐๐๐ คน แล้วผนวกดินแดนทั้งหมดตลอดลงไปถึง Cap Varella เข้าในอาณาจักรอานัม ส่วนใต้ลงไปจากนั้น ปล่อยให้พวกจามครอบครอง มีอาณาจักรน้อยๆ ไปพลางก่อน

จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๒๖๓ กษัตริย์จามองค์สุดท้ายทนพวกอานัมบีบคั้นไม่ไหว ก็พาราษฎรส่วนมากของตนอพยพหนีเข้าไปอาศัยอยู่ในดินแดนเขมร อาณาจักรจัมปาก็สิ้นสุดลงโดยสิ้นเชิง และต่อมาวงศ์กษัตริย์จามก็สิ้นสุดลงโดยสิ้นเชิงเช่นกัน ในเมื่อเชื้อพระวงศ์องค์สุดท้ายของกษัตริย์จามสิ้นพระชนม์ลงเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ นี้ เมื่ออาณาจักรล่มแล้ว ชาวจามส่วนใหญ่ก็ถูกกลืนทั้งในทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันซึ่งอยู่ในท้องถิ่นที่เคยเป็นดินแดนของจามในอดีต คือ ชาวเวียดนามที่นับถือพุทธศาสนามหายานที่สัมพันธ์สืบเนื่องกับจีน และมีวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากจีน ส่วนชนชาติจามเองกลายมาเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม และเป็นชนส่วนน้อยเหลืออยู่ในปัจจุบัน ในเวียดนามภาคกลางและภาคใต้เพียงประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน (บางตําราว่า ๓๐,๐๐๐ - ๓๕,๐๐๐ คน) อาศัยอยู่ตามแถบภูเขาและหมู่บ้านห่างไกล ประกอบอาชีพทําไร่ทํานาและค้าขายของเล็กๆ น้อยๆ เป็นคนกลางระหว่างชาวเขากับชาวเวียดนาม ยังมีพูดภาษาจามอยู่บ้างเพียงบางส่วน กับอีกจํานวนหนึ่งประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา ยังรักษาธรรมเนียมดั้งเดิมที่ถือสายตระกูลข้างมารดาเป็นหลัก แต่พูดภาษาเขมร ทําอาชีพจักสานและค้าขาย นับถือศาสนาอิสลามเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี แม้ว่าอาณาจักรจัมปาจะสูญสลายไปแล้ว แต่วัฒนธรรมจามก็ได้มีส่วนอย่างสําคัญในการก่อร่างสร้างประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะอิทธิพลด้านศิลปะ ซึ่งแสดงออกชัดเจนในทางดนตรีของชาวเวียดนามปัจจุบัน ปราชญ์กล่าวว่า วัฒนธรรมจามนั้นเรายังรู้เรื่องกันน้อยนัก และยังให้ความสําคัญกันน้อยเกินไปสถาปัตยกรรมของจามมีเหลืออยู่จํานวนไม่มากมายนัก และไม่ใหญ่โตมโหฬาร ไม่วิจิตรพิสดารเหมือนอย่างเขมร สาเหตุหนึ่งที่เหลืออยู่ไม่มาก อาจเป็นเพราะเป็นสิ่งที่ก่อสร้างด้วยไม้ แม้ต่อมาจะทําแข็งแรงขึ้น ก็สร้างด้วยอิฐเป็นหลัก น้อยนักที่จะสร้างด้วยหิน ปราชญ์ยังเห็นความสําคัญของวัฒนธรรมจัมปา ถือว่าเป็นเรื่องที่ควรศึกษาอีกเป็นอันมาก และถือว่าเป็นวัฒนธรรมแบบชาวทะเลแห่งเดียวบนผืนแผ่นดินใหญ่ของทวีปอาเซีย

ข. เวียดนาม

๑) ยุคที่หนึ่ง (กู้เอกราชและรวมแผ่นดิน ครั้งที่ ๑)

เวียดนาม ประกอบด้วยคําว่า “เวียด” แปลว่า “ประชาชน” หรือชนชาติ และ “นาม” แปลว่า “ใต้” รวมกันจึงแปลว่า “ชนชาติฝ่ายใต้” หรือเมืองใต้ หรืออาณาจักรฝ่ายใต้ ชนชาตินี้กําเนิดมาอย่างไร นักประวัติศาสตร์ยังหายุติไม่ บ้างว่าเกิดจากคนพื้นเมืองในตังเกี๋ย ผสมกับชนชาติมองโกลอยด์พวกหนึ่งที่อพยพเข้ามาก่อนประวัติศาสตร์ บ้างว่าสืบเชื้อสายจากคนจีนที่อพยพเข้ามาผสมกับคนเผ่าไทยที่อาศัยอยู่เดิม บ้างก็แจงรายละเอียดออกไปว่า เป็นชาติพันธุ์ผสมก่อนประวัติศาสตร์ปนกันหลายชั้น ระหว่างพวกออสโตรอินโดนีเซียนแห่งคาบสมุทรอินโดจีน กับพวกมองโกลอยด์ที่อพยพลงมาจากทางเหนือ คือ ชนเผ่าไทยหรือเวียดแห่งจีนภาคใต้ ซึ่งต่อมาได้ถูกชนชาติจีนกลืนอีกต่อหนึ่ง หลักฐานทางโบราณคดียุคแรกที่สุดแสดงให้เห็นว่า ชนพวกนี้มีวัฒนธรรมแบบมงโกลผสมอินโดนีเซีย โดยได้รับอิทธิพลจากจีนอย่างลึกซึ้ง ภาษาเป็นเครือเดียวกับภาษาไทยจึงมีหลายระดับเสียง (ในภาษาไทยแสดงด้วยวรรณยุกต์) แต่มีรากจากภาษามอญเขมร คนเวียดนามแต่เดิมมานับถือผีสาง เทพารักษ์ ศาลเจ้า ศาลพระภูมิ เคารพบูชาวีรบุรุษของชาติ

ครั้นอาณาจักรเวียดนามถูกรวมเข้าเป็นดินแดนของจีนใน พ.ศ. ๔๓๓ แล้ว จีนได้ใช้นโยบายผนวกกลืน คือพยายามรวมเวียดนามเข้าในจีนทางเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม และการเมือง โดยจัดการปกครองเวียดนามอย่างมณฑลหนึ่งของจีน เร่งให้ชาวจีนอพยพเข้ามา จัดการศึกษาและธรรมเนียมการสอบแข่งขันเข้ารับราชการแบบจีน ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาราชการ ทําให้ภาษาจีนกลายเป็นภาษาของชนชั้นสูงและภาษาวรรณคดีของเวียดนาม เวียดนามใช้หนังสือจีน มีระบบการปกครอง ศาสนาปรัชญา วัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่ละม้ายคล้ายคลึงหรือสืบเนื่องมาจากจีน ศาสนาที่เวียดนามได้รับสืบทอดจากจีนคือ พุทธศาสนา เต๋า และ การบูชาบรรพชน (ลัทธิขงจื้อก็มีอิทธิพลมากเช่นเดียวกัน หลักฐานบางแห่งจึงกล่าวว่า ศาสนาทั้งสามที่สืบทอดจากจีนคือ พุทธ ขงจื้อ และเต๋า) ซึ่งได้เจริญคู่เคียงกันมา และค่อยๆ กลมกลืนกันเข้าจนเป็นลัทธิผสมอันหนึ่งอันเดียว

อย่างไรก็ตาม บรรดาศาสนาเหล่านี้ พระพุทธศาสนาได้มีอิทธิพลมากที่สุด เพราะปรับตัวเข้ากับลักษณะชนชาติเวียดนามได้ดีกว่า และมีวัดมีพระสงฆ์ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนเป็นศูนย์กลางของชุมชน พระพุทธศาสนาแม้จะเข้ามาจากจีน แต่เมื่อชาวเวียดนามรับนับถือแล้วกลับเป็นส่วนที่ช่วยสร้างเสริมความสํานึกในชาติของตน จึงปรากฏว่าวัดในชนบทได้กลายเป็นศูนย์กลางการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลจีนอยู่บ่อยๆ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจีนจึงพยายามจัดวางระบบควบคุมวัดและพุทธศาสนสถานอย่างเข้มงวด โดยแต่งตั้งให้พระสงฆ์ที่ปกครองมีฐานันดรศักดิ์ตามอย่างระบบการปกครองของจีน และถวายความอุปถัมภ์บํารุงพร้อมทั้งอภิสิทธิ์ต่างๆ วางข้อกําหนดให้พระสงฆ์สอบไล่ เสียภาษี เสียค่าธรรมเนียมต่างๆ แก่รัฐ เป็นต้น แต่กระนั้น การควบคุมก็ยังได้ผลแต่เพียงผิวเผิน อิทธิพลของฐานันดรศักดิ์ก็หาได้แข็งแรงไม่ สภาพเช่นนี้มิได้มีเฉพาะในยุคที่จีนปกครองเท่านั้น แม้เมื่อตกเป็นดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศสในสมัยหลัง ก็มีความเป็นไปคล้ายคลึงกัน

การที่จีนต้องการรวมเวียดนามเข้าเป็นดินแดนของตนนั้น ย่อมมีเหตุผลทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจผสมกัน คือ ในทางการเมือง เพื่อป้องกันมิให้มีอาณาจักรอันเจริญขึ้นมามีกําลังเข้มแข็งแข่งอํานาจเป็นอันตรายแก่ชายแดนภาคใต้ของตน และบางคราวต้องการให้มีประเทศกันชนระหว่างตนกับพวกที่จีนเรียกว่าฮวนนั้ง (ชาติป่าเถื่อน) ในอาเซียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในทางเศรษฐกิจ จีนต้องการได้ผลประโยชน์ทางการค้า เพราะเวียดนามเป็นด่านหน้าในเส้นทางพาณิชย์ระหว่างประเทศของตนกับประเทศอินเดียและประเทศอื่นๆ ตลอดไปถึงแถบเมดิเตอเรเนียน และอาศัยเส้นทางพาณิชย์นี้เอง นักสืบและนักเผยแพร่พระศาสนาจํานวนมาก จึงได้เดินทางไปมาระหว่างประเทศจีนและอินเดีย โดยแวะพักระหว่างทางในเวียดนาม เป็นระยะเวลาสั้นบ้างยาวบ้าง ทําให้เวียดนามได้มีโอกาสต้อนรับทั้งพระภิกษุอินเดียที่เดินทางไปจีน และพระภิกษุจีนที่เดินทางไปอินเดีย ได้รับฟังทั้งคําสอนฝ่ายมหายานและคําสอนฝ่ายเถรวาท

พระพุทธศาสนาเข้าสู่เวียดนามครั้งแรกเมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ถือเอาตามตํานานว่า เริ่มต้นประมาณ พ.ศ. ๗๓๒ โดยสันนิษฐานว่า ท่านเมียวโป (Meou-Po) ผู้เคยนับถือลัทธิเต๋าแล้วเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา ได้เดินทางจากประเทศจีนเข้ามาเผยแผ่เป็นครั้งแรก อย่างไรก็ดี เข้าใจว่าก่อนหน้านั้นได้มีพระสงฆ์อื่นหลายรูปเดินทางผ่านเข้ามาและกรุยทางไว้ให้แล้ว เช่น พระมหาชีวก พระกัลยาณรุจิ และ พระกังเซงโฮย (เข้าใจว่าเป็นชาวอินเดียทั้งสามท่าน) เป็นต้น ซึ่งเดินทางเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาใน พ.ศต. ๘ เช่นเดียวกับท่านเมียวโป พุทธศาสนาในเวียดนามระยะแรกนี้ มิได้มีความเจริญก้าวหน้าหรืองานเผยแพร่ที่เป็นการสําคัญแต่อย่างใด เพราะเวลานั้น จักรพรรดิจีนสนพระทัยแต่ในการประกาศคําสอนของขงจื้อ และไม่พอพระทัยที่จะเห็นใครนับถือพระพุทธศาสนา

จนกระทั่งต่อมาในช่วง พ.ศ. ๑๐๘๗ ถึง ๑๑๔๕ ได้มีขบวนการกู้อิสรภาพของชาวเวียดนามต่อสู้เพื่อเอกราชหลายครั้งหลายคราว ล้มเหลวบ้าง สําเร็จและตั้งตนเป็นอิสระได้ในระยะสั้นๆ บ้าง แม้ว่าในที่สุดจะต้องกลับตกอยู่ในอํานาจของจีนตามเดิม แต่ก็เป็นเครื่องปลุกจิตสํานึกในชาตินิยมของชาวเวียดนามให้แข็งกล้าขึ้น และในระยะนี้เองพระพุทธศาสนาก็ได้โอกาสที่จะเริ่มตั้งตัวขึ้นอย่างจริงจัง ท่านที่เป็นผู้นําในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งนี้ เป็นพระภิกษุชาวอินเดีย ชื่อ วินีตรุจิ ท่านศึกษาพระพุทธศาสนาในอินเดียภาคตะวันตกแล้วเดินทางไปยังประเทศจีน พอดีเป็นสมัยที่บ้านเมืองจีนกําลังข่มเหงพระพุทธศาสนา ท่านจึงเดินทางลงมาสู่ภาคใต้ของจีน ได้ศึกษาพุทธศาสนานิกายฉาน (คือ นิกายธยานะ ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า เซน) ที่นั่น แล้วเดินทางเข้ามาเผยแพร่คําสอนของ นิกายเธียน (Thien คําเวียดนาม ได้แก่ ธยานะ หรือ ฉาน หรือ เซน นั่นเอง) ในตังเกี๋ย เมื่อ พ.ศ. ๑๑๒๓ และได้รับความนับถือว่าเป็นสังฆราชแห่งนิกายเธียนที่หนึ่ง เมื่อท่านถึงมรณภาพแล้ว ศิษย์ชาวเวียดนามชื่อ ฝับเหียน ได้ดําเนินงานเผยแพร่พระพุทธธรรมสืบต่อมา จนได้รับความนับถือกว้างขวางมากขึ้นโดยลําดับ พอนับได้ว่าตั้งฐานมั่นคง เหตุการณ์ครั้งนี้เรียกกันว่าเป็นการประดิษฐาน นิกายเธียน หรือ ธยานะ ครั้งที่หนึ่ง3

ลุ พ.ศ.๑๑๖๑ ราชวงศ์ถังขึ้นครองแผ่นดินจีน ล่วงจากนั้น ๔ ปี ก็จัดระเบียบการปกครองดินแดนที่เคยเป็นอาณาจักรเวียดนามเดิมนั้นเสียใหม่ให้เข้มแข็งมั่นคงมีประสิทธิภาพ และเรียกชื่อใหม่ว่า “งันนัน” แปลว่า เมืองใต้ที่สงบ เป็นที่มาของคําว่า อานัม ซึ่งชาวตะวันตกใช้เรียกประเทศเวียดนามเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๘ ราชวงศ์ถังจัดการปกครองเวียดนามได้เรียบร้อยดี ทําให้เกิดสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองเป็นเวลายาวนานจนสิ้นสมัยของราชวงศ์นั้นใน พ.ศ. ๑๔๕๐ ตลอดเวลาเกือบ ๓ ศตวรรษนั้น มีชาวเวียดนามก่อการวุ่นวายเพื่อกู้เอกราชเพียง ๒-๓ ครั้ง และประสบความสําเร็จเพียงครั้งเดียวใน พ.ศ. ๑๓๓๔ ซึ่งตั้งตัวเป็นอิสระอยู่ได้ไม่กี่ปี ก็กลับตกอยู่ในอํานาจของจีนตามเดิม

ราชวงศ์ถังเป็นพุทธศาสนูปถัมภก พระพุทธศาสนานิกายเธียนในเวียดนามจึงได้รับการอุปถัมภ์ส่งเสริมเป็นอย่างดี และได้มีการประดิษฐาน นิกายเธียน หรือ ธยานะ ครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๑๓๖๓ โดยพระภิกษุว่อง่อนถ่อง (Vo-ngon-Thong)4 แต่นิกายเธียนที่ตั้งขึ้นคราวนี้ เป็นอีกสาขาหนึ่งต่างหากจากที่ท่านวินีตรุจิได้ประกาศไว้ในกาลก่อน ประเทศเวียดนามในสมัยนั้นมีสถูปเจดีย์ ๒๐ องค์ มีวัดมากหลายแห่ง และมีพระภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป พระเถรานุเถระมากหลายทรงเกียรติคุณว่าเป็นพหูสูต และทรงวินัยเคร่งครัด พระพุทธศาสนาเมื่อได้เจริญขึ้นเช่นนี้แล้ว ก็ได้เป็นพลังสร้างสรรค์บันดาลให้วัฒนธรรมของเวียดนามพัฒนาต่อไปจนมีรูปลักษณะเป็นของตน ก่อให้เกิดความสํานึกในทางชาตินิยมมากยิ่งขึ้น

ต่อมา พ.ศ. ๑๔๕๐ ราชวงศ์ถังสิ้นสุดลง จีนแตกแยกออกเป็นหลายอาณาจักรและอ่อนแอลง ชาวอานัมได้โอกาสจึงต่อสู้กู้อิสรภาพจนสําเร็จ ตั้งเป็นอาณาจักร ไดโคเวียด ใน พ.ศ. ๑๔๘๒ มีอาณาเขตเพียงตังเกี๋ยกับแคว้นอานัม ๓ แคว้น (Thanh-hoa, Nghe-an และ Ha Tinh คือลงมาถึงตอนเหนือเส้นขนานที่ ๑๘ หรือเลย Pote d'Annam ขึ้นไปเล็กน้อย) ส่วนใต้ลงไปจากนั้นเป็นอาณาจักรจัมปา เมื่อได้อิสรภาพแล้ว อาณาจักรนามเวียดก็เดือดร้อนวุ่นวายด้วยการชิงอํานาจภายในอยู่ประมาณ ๓๐ ปีจึงสงบ ตลอดระยะเวลานี้พระพุทธศาสนาในจีนถูกประหัตประหารอย่างรุนแรงต่อเมื่อราชวงศ์ดินห์ขึ้นครองอํานาจใน พ.ศ. ๑๕๑๒ แล้ว พระพุทธศาสนาจึงเริ่มเจริญขึ้นใหม่ กษัตริย์แทบทุกพระองค์ในราชวงศ์นี้ และราชวงศ์ต่อๆ มาอีก ๔ ราชวงศ์ (ดินห์, เล, ไล, ตรัน) จนถึง พ.ศ. ๑๙๕๗ ล้วนเป็นผู้มีศรัทธาในพระศาสนา ได้ทรงทํานุบํารุงพระสงฆ์และกิจการพระศาสนาเป็นอย่างดี พระสงฆ์เองก็ได้รับความเคารพนับถือจากประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นทั้งพระสงฆ์ทรงภูมิธรรม และนักปราชญ์ทรงวิทยาคุณ

ธรรมดาว่าชาวเวียดนามในครั้งนั้น มีความนิยมเหมือนอย่างชาวจีนในข้อที่ยกย่องเชิดชูท่านผู้รู้ กับทั้งกวี นักจริยศาสตร์ นักนิติศาสตร์ โหราจารย์และแพทย์ เมื่อชาวเวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมา ก็ต้องเรียนเขียนอ่านภาษาจีน แต่การเล่าเรียนนั้นจํากัดอยู่ในวงชนชั้นสูงจํานวนเล็กน้อยเท่านั้น หาขยายมาถึงประชาชนทั่วไปไม่ มีแต่พระภิกษุสงฆ์เท่านั้นที่ว่าเมื่อปรารถนาจะศึกษาค้นคว้าพระธรรม จึงจําต้องขวนขวายแสวงหาความรู้จากคัมภีร์ภาษาจีน ครั้นเวียดนามแยกจากจีนแล้ว จึงหานักปราชญ์ได้แต่พวกนักปราชญ์ขงจื้อ ปราชญ์เต๋าจํานวนน้อย และในหมู่พระสงฆ์เท่านั้น ทําให้พระสงฆ์เป็นบุคคลมีค่า ไปไหนก็ได้รับความเคารพนับถือทั่วแผ่นดิน การเผยแผ่พระธรรมก็เข้าถึงประชาชน ยิ่งได้รับราชูปถัมภ์เป็นเครื่องสนับสนุน พระพุทธศาสนาก็เจริญแพร่หลายทั่วไป กลายเป็นความเชื่อถือสําคัญของประชาชนในเวลาไม่นาน

อนึ่ง ในระยะ พ.ศ. ๑๕๑๑ - ๑๕๒๒ ทางราชการได้จัดตั้งองค์การปกครองคณะสงฆ์ขึ้น โดยรวมเอาคณะนักบวชเต๋ากับพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเข้าในระบบฐานันดรศักดิ์เดียวกัน พอดีเวลานั้น พระจักรพรรดิเวียดนามทรงสดับกิตติศัพท์ของพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ ง่อฉั่นหลู ว่าเป็นปราชญ์ลึกซึ้งสามารถในกวีนิพนธ์ และเชี่ยวชาญในการบําเพ็ญสมาธิแบบนิกายเธียน จึงโปรดให้อาราธนาท่านมาแสดงธรรมถวาย ทรงเลื่อมใส และสถาปนาท่านเป็นประมุขแห่งคณะสงฆ์ และในปีต่อมาได้โปรดแต่งตั้งพระเถระรูปนั้นเป็นที่ปรึกษาของพระจักรพรรดิ

ใน พ.ศ. ๑๕๒๕ เวียดนามเริ่มทําสงครามใหญ่ครั้งแรกกับอาณาจักรจัมปาและเป็นฝ่ายมีชัย ทําลายเมืองหลวงของจัมปาลงได้ แต่ในด้านพระศาสนา กิจการต่างๆ คงดําเนินไปตามปกติ แม้จะมีการเปลี่ยนราชวงศ์ พระพุทธศาสนาก็เจริญก้าวหน้าต่อมาด้วยดี กษัตริย์องค์ที่ ๒ แห่งราชวงศ์เล (พ.ศ. ๑๕๔๘ - ๑๕๕๑) ทรงส่งคณะทูตไปยังประเทศจีน ขอพระไตรปิฎกมา ๑ ชุด และทรงเพียรพยายามชักจูงประชาชนให้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแทนลัทธิผีสางเทพารักษ์และการบูชาบรรพชน แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า แม้ประชาชนจะยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา แต่ก็คงยึดถือข้อปฏิบัติตามลัทธิพื้นเมืองอย่างเหนียวแน่นตามเดิม ทําให้การนับถือพระพุทธศาสนาของชาวเวียดนาม ผสมปนเปแฝงอยู่กับลัทธิโบราณเหล่านั้นเรื่อยมา

ลุ พ.ศ. ๑๕๕๓ เวียดนามผลัดราชวงศ์ใหม่ ขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่งซึ่งเคยเป็นศิษย์ของภิกษุวันฮันห์ได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าไลไทโต๋ เป็นต้นราชวงศ์ไลอันยาวนานถึง ๒๑๕ ปี ช่วงเวลานี้เป็นทั้งยุคสมัยแห่งการขับเคี่ยวในการสงครามกับจัมปา ทําให้ได้ดินแดนมาเพิ่มพูน และเป็นยุคสมัยที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองถึงที่สุด เป็นศาสนาเดียวที่ได้รับการเคารพเทิดทูน พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ล้วนมีพระราชศรัทธาแรงกล้า นอกจากทรงพระราชทานราชูปถัมภ์แก่กิจการพระศาสนาโดยฐานะอัครศาสนูปถัมภกแล้ว ยังทรงสนิทสนมกับพระศาสนาเป็นการส่วนพระองค์ ด้วยการทรงปฏิบัติธรรมบําเพ็ญสมาธิและทรงคุ้นเคยกับพระภิกษุสงฆ์อีกส่วนหนึ่งด้วย

ในรัชสมัยของพระเจ้าไลไทโต๋เอง พระอาจารย์นิกายเธียนหลายท่าน เช่น ท่านวันฮันห์ เป็นต้น ได้ประกาศพุทธธรรมทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติให้รุ่งเรืองขึ้นเป็นอันมาก ในรัชกาลต่อมา พระเจ้าไลไทต๋อง (โอรสของพระเจ้าไลไทโต๋; พ.ศ. ๑๕๗๑ - ๑๕๘๘) ทรงทํานุบํารุงพระศาสนาอย่างมากมายกว้างขวาง เช่น โปรดให้สร้างวิหาร ๙๕ แห่ง และทรงสร้างวิหารเสาเดียวกลางสระน้ำในเมืองฮานอย ตามพระสุบินนิมิตที่ว่ามีผู้นําเสด็จพระองค์ไปทรงเยือนวังบัวของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ชาวเวียดนามเชื่อกันว่า พระองค์ได้บรรลุโพธิญาณแล้วด้วย

กษัตริย์องค์ต่อมาคือ พระเจ้าไลทันต๋อง (พ.ศ. ๑๕๙๗ - ๑๖๑๕) ปรากฏพระนามเด่นในทางพระมหากรุณา และทรงดําเนินตามพระจริยาวัตรของพระเจ้าอโศกมหาราช ในด้านการสงเคราะห์ประชาชน เช่น ทรงเอาพระทัยใส่เกี่ยวกับความทุกข์ยากเดือดร้อนของคนยากจนและผู้ต้องขัง ทรงห่วงใยคนเหล่านั้นเป็นพิเศษในฤดูหนาว โปรดให้แจกอาหารและเสื้อผ้าแก่คนยากจน และพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษบ่อยๆ

มีเหตุการณ์พิเศษอย่างหนึ่งก่อนพระองค์สวรรคต ๓ ปี คือ ใน พ.ศ. ๑๖๑๒ พระเจ้าไลทันต๋องทรงทําสงครามชนะจัมปา เสด็จกลับมาแล้วทรงแจกจ่ายเชลยสงครามให้เป็นข้าทาสแก่ขุนนางในราชสํานัก ขุนนางที่ได้รับเชลยไปนั้นท่านหนึ่งเป็นพระภิกษุ วันหนึ่ง เมื่อท่านไปกิจธุระภายนอกกลับมา ก็ต้องประหลาดใจที่ได้พบว่ามีผู้มาเขียนแก้ไขข้อความในคัมภีร์ต่างๆ ของท่าน เมื่อสอบถามไปได้ความว่า เป็นการกระทําของทาสคนหนึ่งที่ได้รับพระราชทานมา พระเจ้าไลทันต๋องทรงสดับข่าวจึงโปรดให้เรียกตัวทาสผู้นั้นไปทรงสอบถามข้อธรรมต่างๆ ปรากฏว่าทาสผู้นั้นเฉลยปัญหาได้เรียบร้อยสมบูรณ์เป็นที่น่าอัศจรรย์ ในที่สุดได้ความว่า ทาสผู้นั้นเป็นพระอาจารย์ชาวจีนชื่อ เถาเดือง ถูกจับมาในขณะที่ท่านออกจาริกประกาศธรรมในจัมปา จึงโปรดให้รับท่านเข้าในคณะสงฆ์เวียดนามและทรงอนุญาตให้ท่านเทศนาคําสอนได้ ท่านมีศิษย์จํานวนมาก และได้ประดิษฐานนิกายเธียนใหม่อีกสาขาหนึ่ง นับเป็นการประดิษฐานนิกายเธียนเป็นครั้งที่ ๓ พระเจ้าไลทันต๋องก็ทรงเป็นศิษย์ของท่านด้วย และเชื่อกันมาว่าพระองค์ได้ทรงบรรลุโพธิญาณ นิกายเถาเดือง (Thao Duong) นี้ ยังคงเหลืออยู่บ้างในปัจจุบัน แต่เป็นเพียงนิกายเล็กๆ นิกายหนึ่งเท่านั้น

หลังรัชสมัยพระเจ้าไลทันต๋องแล้ว ราชการเริ่มให้มีการสอบคัดเลือกคนเข้าเป็นขุนนาง ทําให้ลัทธิขงจื้อเข้ามามีบทบาทในหมู่ปัญญาชนของประเทศ แต่ยังไม่กระทบกระเทือนต่อพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด จักรพรรดิ ๓ องค์สุดท้ายของราชวงศ์ไลทรงสนพระทัยในการบําเพ็ญสมาธิตามแบบนิกายเธียนมาก พระองค์สุดท้ายถึงกับทรงสละราชสมบัติให้แก่พระราชธิดาแล้วเสด็จออกผนวช พระราชธิดาทรงถวายราชอํานาจนั้นแก่ตรันคานห์ผู้เป็นพระสวามี จึงเปลี่ยนแผ่นดินจากราชวงศ์ไลมาเป็นราชวงศ์ตรันแต่บัดนั้น ในสมัยของราชวงศ์นี้ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาอ่อนกําลังลงและลัทธิขงจื๊อเจริญก้าวหน้ามากขึ้น แต่จําเพาะองค์พระมหากษัตริย์เองยังทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า พระเจ้าตรันคานห์นอกจากทรงอุปถัมภ์บํารุงทางวัตถุอย่างมากมายแล้ว ยังได้ทรงนิพนธ์ศาสนปกรณ์ไว้ด้วย ๒ เรื่อง ว่าด้วยการบําเพ็ญสมาธิเรื่องหนึ่ง และว่าด้วยหลักธรรมทั่วไปเรื่องหนึ่ง ส่วนนัดดาของพระองค์ เมื่อครองราชย์ได้ ๑๕ ปีแล้ว ก็ได้สละราชสมบัติออกผนวชอยู่ ณ วัดแห่งหนึ่งบนภูเขา ทรงบําเพ็ญสมาธิและสั่งสอนศิษย์จํานวนมาก ชาวเวียดนามเหนือถือว่าพระองค์เป็นปฐมสังฆราชแห่ง นิกายตรึ๊กลัม (นิกายป่าไผ่ หรือนิกายเวฬุวัน)

เท่าที่เป็นมาถึงสิ้นราชวงศ์ตรันนี้จะเห็นว่า พระพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองคือ นิกายเธียน หรือ ธยานะ การที่พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ผนวช ก็แสดงถึงความนิยมในการบวชที่ได้มีอย่างแพร่หลายขึ้นไปถึงระดับเจ้านายพระราชวงศ์ นอกจากนั้น ยังปรากฏว่าได้มีวัดประจําทั่วทุกหมู่บ้าน แสดงถึงความนับถือที่แผ่กระจายทั่วไปในหมู่ราษฎร

๒) ยุคชาติทรุด-ศาสน์โทรม

ลุ พ.ศ. ๑๙๕๗ เวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของจีนอีก แม้จะเสียอํานาจเป็นเวลาสั้นๆ เพียง ๑๗ ปี แต่ก็ได้ทําให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมลงไปมาก เพราะอิทธิพลของกษัตริย์ราชวงศ์หมิงที่ครองจีนอยู่ในเวลานั้น ได้ทําให้ลัทธิขงจื้อและเต๋าเจริญเติบโตแข็งแรงขึ้น ในเวลาเดียวกันพุทธศาสนาแบบตันตระของทิเบตก็หลั่งไหลเข้ามา พร้อมกันนั้น ทางการจีนได้ให้ทําลายวัด และกวาดยึดเอาคัมภีร์พุทธศาสนาไปทั้งหมด เวียดนามได้เอกราชคืนมาใน พ.ศ. ๑๙๗๔ แต่สถานการณ์ด้านพระศาสนาไม่ดีขึ้น เพราะกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่ไม่เกื้อกูลแก่พระพุทธศาสนา ทรงจัดการสอบความรู้พระสงฆ์ให้ผู้สอบตกลาสิกขาไป และจัดวางวิธีการบีบคั้นต่างๆ เข้าแทรกแซงในกิจการของสงฆ์และห้ามสร้างวัดเพิ่มใหม่ พระพุทธศาสนายังได้รับความอุปถัมภ์บํารุงจากประชาชนก็จริง แต่ได้เสื่อมโทรมลงกลายเป็นหลักความเชื่อที่ผสมปนเปด้วยลัทธิภายนอก มิใช่พุทธธรรมบริสุทธิ์ดังเดิม และในช่วงนี้เอง พุทธศาสนานิกายตินห์โด (คือ นิกายสุขาวดี นับถือพระอมิตาภะ ที่ญี่ปุ่นเรียกนิกายชิน) ก็เผยแพร่จากจีนเข้าสู่เวียดนาม นิกายนี้ส่วนใหญ่นับถือปฏิบัติกันในวงคฤหัสถ์ และมักแพร่หลายออกไปในยามที่ขาดแคลนพระภิกษุผู้ทรงความรู้ในนิกายเธียน พระภิกษุจีนชื่อวาน-เถ หว่า-เธือง (พ.ศ. ๒๐๗๕ - ๒๑๕๕) ได้ผสมผสานคําสอนในนิกายเธียนกับตินห์โดเข้าด้วยกัน เกิดเป็นพระพุทธศาสนาแบบหนึ่งที่ถือปฏิบัติกันอยู่ตามโรงเจดีย์ (Chua หรือ Pagoda) ทั้งหลายในปัจจุบัน

ทางด้านการเมือง สงครามระหว่างเวียดนามกับจัมปา ได้เกิดขึ้นเป็นระยะเรื่อยมา โดยมากเวียดนามเป็นฝ่ายชนะหรือได้เปรียบ และผนวกดินแดนของจัมปาเข้ามาโดยลําดับ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๐๑๔ พระเจ้าเลทันต๋องก็ทรงรวมเอาอาณาจักรจัมปาเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของเวียดนามได้สําเร็จ ปล่อยแต่แคว้นปัณฑุรังคะข้างใต้ให้เป็นอาณาจักรน้อยๆ ของจัมปาไปพลางก่อน ซึ่งจะไม่มีพิษภัยอันตรายใดๆ แก่เวียดนามเหลืออยู่อีก และเวียดนามจะได้ค่อยๆ บีบค่อยๆ กลืนจดหมดสิ้นต่อไป

ครั้นสิ้นรัชกาลพระเจ้าเลทันต๋องแล้ว กษัตริย์องค์ต่อๆ มาล้วนอ่อนแอ เกิดการแย่งชิงอํานาจภายในกันเป็นเวลานาน จนในที่สุดถึง พ.ศ. ๒๐๗๖ เวียดนามก็แตกแยกออกเป็น ๒ อาณาจักร เป็นอาณาจักรฝ่ายเหนือที่พวกตระกูลตรินห์ (Trinh) ครองอํานาจ เรียกง่ายๆ ว่าแคว้นตังเกี๋ย กับอาณาจักรฝ่ายใต้ของราชวงศ์เหงียน (Nguyen) เรียกง่ายๆ ว่าแคว้นอานัม นักประวัติศาสตร์ตะวันตกมักเรียกว่าแควันตังเกี๋ยกับแคว้นโคชินจีน แบ่งเขตแดนกันที่ประมาณเส้นขนานที่ ๑๘ ซึ่งต่อมาฝ่ายใต้สร้างกําแพงใหญ่ไว้กั้นการรุกรานของฝ่ายเหนือ แคว้นทั้งสองต่างแข่งอํานาจกัน และขับเคี่ยวทําสงครามเพื่อกําจัดกันเรื่อยมาตลอดเวลาราว ๒๗๐ ปี จนรวมกันเข้าเป็นหนึ่งได้อีกใน พ.ศ. ๒๓๔๕ ระหว่างนั้น นอกจากแข่งอํานาจระหว่างเวียดนามด้วยกันแล้ว อาณาจักรฝ่ายใต้ยังแผ่อํานาจลงไปทางใต้โดยลําดับอีกด้วย ทําให้อาณาจักรน้อยๆ ของพวกจามที่เหลืออยู่ สลายลงโดยสิ้นเชิงใน พ.ศ. ๒๒๖๓

ในระยะเดียวกัน อาณาจักรเขมรซึ่งกําลังเสื่อมอํานาจก็ประสบชะตาร้ายที่คล้ายคลึงกัน โดยค่อยๆ สูญเสียดินแดนให้แก่เวียดนามทีละน้อยๆ ด้วยวิธีการที่เวียดนามเคยใช้กับจัมปามาก่อน กล่าวคือ เริ่มแรกจะมีชาวเวียดนามลี้ภัยบ้าง อพยพบ้าง เร่ร่อนบ้าง แทรกเข้าไปอยู่เป็นหย่อมตามชายแดนของเขมร ต่อมามีจํานวนมากขึ้นก็รวมเข้าเป็นกลุ่มก้อน กลายเป็นเขตที่ขึ้นต่อเวียดนาม เมื่อเขมรเข้าเกี่ยวข้องในเขตนั้น เวียดนามก็ถือเหตุว่าเขมรรุกล้ำดินแดนแล้วยกทัพไปโจมตี โดยวิธีนี้ถึงปี พ.ศ. ๒๒๒๘ เขตไซ่ง่อน (ศูนย์กลางของโคชินจีน) ซึ่งเคยเป็นดินแดนของเจนละน้ำแห่งอาณาจักรกัมพูชา ก็ถูกผนวกเข้าเป็นดินแดนของเวียดนาม ถึงพ.ศ. ๒๒๕๗ อาณาจักรเวียดนามภาคใต้ของราชวงศ์เหงียน ก็ขยายลงไปสุดแหลมโคชินจีนถึงเมือง Ha Tien เพราะความเป็นมาดังกล่าวนี้ จึงมีชาวเขมรอยู่ในภาคใต้ของเวียดนามปัจจุบัน (แคว้นโคชินจีน) ประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งส่วนมากนับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาท ยิ่งกว่านั้น ใน พ.ศ. ๒๓๐๓ ระยะที่ไทยกําลังถูกพม่าคุกคามก่อนกรุงแตก เวียดนามยังไปตีได้ถึงจัมปาศักดิ์ ซึ่งเวลานั้นเป็นของเขมรอีกด้วย เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกแล้วและพระยาตากกําลังกู้เอกราชอยู่ เวียดนามได้ก้าวก่ายกิจการของไทย โดยได้สนับสนุนก๊กกรมหมื่นเทพพิพิธ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศไทย และต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ได้ทรงยกทัพมาตีถึงเมือง Ha Tien นับแต่นั้นมา เวียดนามกับไทยก็มีเหตุขัดแย้งกันเรื่อยมาเกี่ยวกับกรณีประเทศกัมพูชา จนกระทั่งเวียดนามและกัมพูชาตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในที่สุด

ในระยะ ๒๗๐ ปีแห่งการแตกแยกเป็น ๒ อาณาจักรนั้น พระพุทธศาสนาได้กลายเป็นเหมือนเครื่องมือสําหรับแสวงหากําลังสนับสนุนของทั้งสองฝ่าย ด้วยเหตุที่ประชาชนมีความผูกพันกับพระศาสนาอย่างลึกซึ้ง ทั้งอาณาจักรเหนือ (พวกตรินห์) และอาณาจักรใต้ (ราชวงศ์เหงียน) จึงต่างแข่งกันแสดงศรัทธาทํานุบํารุงพระศาสนา มีการสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามเป็นการใหญ่ และบรรยากาศก็เอื้ออํานวยให้มีสาขาใหม่ๆ ของนิกายเธียนเกิดเพิ่มขึ้นมาอีก ต่อมาตอนปลายยุค ในอาณาจักรใต้ได้เกิดกบฏชิงอํานาจจากราชวงศ์เหงียนได้ รัชทายาทชื่อเจ้าชายเหงียนอันห์ชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา หลบหนีไปได้ด้วยความช่วยเหลือของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง และต่อมาระหว่าง พ.ศ.๒๓๒๘ ถึง ๒๓๓๐ เจ้าชายเหงียนอันห์ได้เสด็จมาลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย สมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้นําทหารอาสาสมัครชาวเวียดนามออกช่วยต่อสู้กับพม่าเป็นความดีความชอบแก่ราชการไทย ทางด้านเวียดนาม พวกกบฏได้ขึ้นครองอาณาจักรฝ่ายใต้ และยังสามารถรุกรบขึ้นไปทางเหนือจนถึงฮานอย ปราบพวกตรินห์ลงได้หมดสิ้นใน พ.ศ. ๒๓๓๑ แล้วสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิครองแผ่นดินเวียดนามทั้งหมด

แต่ในขณะที่พวกอดีตกบฏกําลังรุกรบพัวพันอยู่ทางเหนือนั้นเอง เจ้าชายเหงียนอันห์ก็ได้โอกาสกลับมาสู่เวียดนาม และอาศัยกําลังทหารพร้อมทั้งยุทโธปกรณ์ของฝรั่งเศสที่บาทหลวงผู้เคยช่วยเหลือพระองค์ในคราวก่อนจัดมาสนับสนุน เจ้าชายเหงียนอันห์ก็ทรงทําสงครามชิงอํานาจคืนจากพวกกบฏจนสําเร็จ รวมแผ่นดินเวียดนามเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๔๓๕ ทรงนามว่า พระจักรพรรดิเกียลอง (Gia Long ไทยเรียกพระเจ้าเวียดนามยาลอง)

ราชวงค์เหงียนตั้งแต่พระเจ้าเกียลองเป็นต้นไป ได้ส่งเสริมพระพุทธศาสนาในแง่ที่เป็นเครื่องรวมแรงรวมใจคนให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในชาติ พระสงฆ์เพียงแต่คอยดูแลรักษาวัดของทางราชการไว้ และประกอบพิธีกรรมต่างๆ ให้ตามความต้องการของชาวบ้านก็เป็นการเพียงพอ พระสงฆ์ตามวัดต่างๆ จึงประพฤติย่อหย่อนลงโดยทั่วไป และความเข้าใจหลักธรรมก็เสื่อมถอยลง ประชาชนนับถือพระเจ้าอย่างเป็นเทพเบื้องบนที่คอยทรงประทานผลที่ปรารถนาแก่ผู้เซ่นสรวงบูชา

ส่วนทางด้านศาสนาอื่น ศาสนาที่ได้รับสิทธิพิเศษดําเนินการเผยแพร่ได้ตามสะดวกอยู่ระยะหนึ่งก็คือคริสต์ศาสนา ทั้งนี้ เพราะพระเจ้าเกียลองทรงได้รับความช่วยเหลือจากบาทหลวงฝรั่งเศสดังกล่าวแล้ว จึงโปรดประทานอุปถัมภ์เป็นการตอบแทน ถึงกับได้รับสั่งกําชับแก่ผู้สืบราชสมบัติก่อนเสด็จสวรรคตว่า จะต้องมิให้มีการบีบบังคับข่มเหงแก่ศาสนาทั้งสามที่ได้ประดิษฐานแล้วในแผ่นดินของพระองค์ กล่าวคือ ขงจื้อ พุทธศาสนา และศาสนาคริสต์ อย่างไรก็ดี พระโอรสที่ขึ้นครองราชย์ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๖๓ คือพระเจ้ามินห์ มาง (Minh Mang) เป็นผู้นับถือขงจื้ออย่างเคร่งครัดและทรงนิยมวัฒนธรรมจีน (โอรสองค์โตของพระเจ้าเกียลอง ซึ่งได้รับความอุปถัมภ์จากบาทหลวงและได้รับการศึกษาในฝรั่งเศส ได้สิ้นพระชนม์ก่อนพระราชบิดา) ทรงเกลียดชัง “มนุษย์ป่าเถื่อนจากตะวันตก” จึงหาได้ทรงปฏิบัติตามคําสั่งของพระราชบิดาไม่ กลับทรงตัดสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส และหันกลับไปใช้นโยบายกําราบศาสนาคริสต์ที่กษัตริย์ปางก่อนเคยใช้มาแล้ว

ชาวตะวันตกได้เริ่มเดินทางเข้ามาติดต่อกับเวียดนามในวิถีทางแห่งการค้าขาย และการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ในสมัยที่เวียดนามยังแบ่งแยกเป็น ๒ อาณาจักรคือ ตังเกี๋ย กับ อานัม เริ่มด้วยพวกโปรตุเกส ติดตามด้วยพวกฮอลันดา และฝรั่งเศส ตลอดจนสเปน และอังกฤษ นักเผยแผ่ศาสนานั้น ติดตามมากับพ่อค้าบ้าง เป็นมิชชันนารีแต่มาในรูปของพ่อค้าบ้าง พวกพ่อค้าและนักสอนศาสนาชาวตะวันตกต่างชาติกันเหล่านี้ ขัดแย้งแย่งชิงกันเองในด้านการค้าขายบ้าง วิวาทขัดขวางกันเองในการทํางานเผยแผ่ศาสนาบ้าง บางคราวได้รับความร่วมมือต้อนรับจากเจ้าถิ่น บางคราวก็มีเหตุทะเลาะวิวาทกัน ทําให้การดําเนินงานล้มลุกคลุกคลาน บางพวกก็ละเลิกความเพียรไปเลย บางพวกก็ยักเยื้องหาวิธีตั้งตัวใหม่อยู่เรื่อยๆ เฉพาะในตอนแรกนั้นถูกต่อต้านจากอาณาจักรตังเกี๋ย แต่ประสบความต้อนรับจากอาณาจักรฝ่ายใต้

ในระยะนี้เอง (ปลาย พ.ศต. ๒๒) นักสอนศาสนาชาวโปรตุเกสและชาวฝรั่งเศส ได้ประดิษฐ์วิธีเขียนภาษาเวียดนามด้วยอักษรโรมันขึ้นและได้รับความนิยม ทําให้ชาวเวียดนามเลิกใช้อักษรจีน และใช้อักษรโรมันเขียนภาษาของตนมาจนบัดนี้ อย่างไรก็ดี มิตรภาพระหว่างชาวตะวันตกกับอาณาจักรใต้ เป็นความสัมพันธ์ทางการเมือง เกิดจากคํามั่นสัญญาช่วยเหลือทางกําลังอาวุธยุทโธปกรณ์ เมื่อไม่ได้การช่วยเหลือนั้นสมประสงค์มิตรภาพก็สิ้นสุดลง ความสัมพันธ์ในทางช่วยเหลือกันจึงดําเนินไปได้ชั่วคราวราวครึ่งศตวรรษเท่านั้น จากนั้นราชวงศ์เหงียนก็กลับกลายเป็นปฏิปักษ์กับชาวตะวันตก และตามปกติการเมือง การค้า การทหาร และการเผยแผ่ศาสนาของชาวตะวันตกที่เข้ามาเหล่านั้น มักพันกันอยู่แยกไม่ค่อยออก เมื่อต้อนรับอย่างหนึ่งก็หมายถึงต้อนรับอย่างอื่นด้วย เมื่อปฏิเสธอย่างหนึ่งก็หมายถึงปฏิเสธอย่างอื่นด้วย อาณาจักรใต้จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาคริสต์ด้วย และเริ่มกําจัดศาสนิกและกิจกรรมของศาสนาคริสต์เป็นการใหญ่ แล้วการค้าขายกับตะวันตกก็หยุดชะงักไป

จนกระทั่ง พระเจ้าเกียลอง ขึ้นครองราชย์ การค้าขายและการเผยแผ่ศาสนาตลอดไปถึงการเมืองและการทหารของชาวตะวันตก (คราวก่อนโปรตุเกสเป็นหลัก คราวนี้ฝรั่งเศสเป็นหลัก) ในประเทศเวียดนามจึงกลับฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อีกระยะหนึ่งในช่วงรัชกาลของพระองค์ แต่เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว พระโอรสหันกลับไปใช้นโยบายปราบปรามศาสนาคริสต์ดังกล่าวแล้ว ต่อมาถึงรัชกาลพระนัดดา การปราบปรามยิ่งรุนแรงหนักลงไปอีก

จนในที่สุด ถึงรัชกาลพระปนัดดา ซึ่งเป็นผู้รอบรู้ในลัทธิขงจื้อ พระองค์ประสงค์จะปิดประเทศให้พ้นจากอิทธิพลของชาวยุโรปโดยสิ้นเชิง จึงทําการประหัตประหารขั้นเด็ดขาด มีการออกประกาศขับไล่ชุมชนคริสต์ ทําลายหมู่บ้านชาวคริสต์ริบที่ดินไปจัดสรรแบ่งใหม่ ให้ตีตราศาสนิกคริสต์ทุกคนที่แก้มซ้ายว่าเป็นคนนอกศาสนา ที่แก้มขวาตีชื่อตําบลที่ขับไล่ให้ไปอยู่ พร้อมนั้นก็ปราบปรามนักสอนศาสนาอย่างรุนแรง การขัดแย้งระหว่างราชวงศ์เหงียนกับนักสอนศาสนาชาวยุโรปที่มีเรื่อยมาเป็นระยะๆ นี้ ทําให้นักสอนศาสนาเสียชีวิตไปหลายคน และชาวคริสต์ญวนล้มตายไปจํานวนมากมาย ซึ่งในสายตาของราชวงศ์เหงียนอาจมองกลับอีกด้านหนึ่งว่า เป็นการกําจัดชาวยุโรปและพรรคพวกของชาวยุโรป (นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า ชาวญวนคริสต์ถูกสังหารระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๐ ถึง ๒๔๐๑ รวมประมาณ ๑๓๐,๐๐๐ คน)

อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า การดําเนินนโยบายเช่นนี้ เป็นการกระทําที่ไม่ฉลาด เพราะเวลานั้นฝรั่งเศสกําลังหาข้ออ้างที่จะเข้าแทรกแซงภายในและยึดดินแดนของเวียดนามอยู่แล้ว ยิ่งกว่านั้นฝรั่งเศสต้องการเร่งทําการเพราะกําลังแข่งอํานาจอยู่กับอังกฤษ เมื่อเวียดนามดําเนินการเช่นนี้ ฝรั่งเศสก็นําเรือรบมาคุกคาม ขู่ และทําลายป้อมหรือเมืองตามชายฝั่ง ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถึง พ.ศ. ๒๔๐๒ ฝรั่งเศสก็ยึดเมืองไซ่ง่อน ถึง พ.ศ. ๒๔๐๕ กษัตริย์เวียดนามก็ต้องทําสัญญายกแคว้นทางตะวันออกของโคชินจีนให้ฝรั่งเศส ต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามจํานวนมาก ต้องเปิดโอกาสให้ชาวคาทอลิคดําเนินงานโดยเสรี และเปิดเมืองค้าขายกับฝรั่งเศส จากนั้นเหตุที่เป็นข้ออ้างอื่นๆ ก็ตามมาอีก

จนถึง พ.ศ. ๒๔๒๖ เวียดนามก็ตกเป็นดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศส ในช่วงที่ฝรั่งเศสปกครองอยู่ ๗๑ ปี ชาวเวียดนามได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านบ่อยครั้ง และความรู้สึกในทางชาตินิยมก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ฝรั่งเศสก็ปราบปรามอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน ฝรั่งเศสใช้นโยบายแบ่งแยกปกครองโดยจัดแบ่งเวียดนามออกเป็น ๓ มณฑล คือ ตังเกี๋ย อานัม โคชินจีน และนําเอา ๓ มลฑลนี้ไปรวมกับกัมพูชา และลาว เป็น ๕ มณฑลปกครองรวมเป็นอันเดียว เรียกว่า อินโดจีนของฝรั่งเศส เฉพาะโคชินจีนเป็นเมืองขึ้นโดยสมบูรณ์ ฝรั่งเศสปกครองดูแลเองโดยตรง ส่วนอีก ๔ มณฑลยังมีกษัตริย์ของตนเอง (อานัมกับตังเกี๋ยมีกษัตริย์องค์เดียวกัน)

เมื่อฝรั่งเศสปกครอง พระพุทธศาสนายิ่งเสื่อมโทรมหนักลงไปอีก ฝรั่งเศสส่งเสริมคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิค พร้อมกันนั้น ก็จํากัดและลิดรอนความเจริญเติบโตของพระพุทธศาสนา ฝรั่งเศสนําเอาบาทหลวงคาทอลิคมาพร้อมกับนักปกครองอาณานิคม ขนมปัง และเหล้าองุ่นแดง เมื่อฝรั่งเศสเป็นนายแล้ว ชาวคาทอลิคก็พลอยมีอํานาจคุกคามบั่นรอนพุทธศาสนาได้อย่างออกหน้าออกตา ชาวพุทธเวียดนามจึงถือสืบๆ มาว่า พวกคาทอลิคเป็นก้ามปูที่หนีบเอาเวียดนามไปให้ปู คือประเทศฝรั่งเศสครอบครอง ในโคชินจีนที่ขึ้นต่อฝรั่งเศสโดยตรงนั้น ผู้ที่จะมีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนของมณฑลไปประจําที่ปารีสก็ดี ผู้ที่จะเป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตรก็ดี ต้องมีสัญชาติฝรั่งเศส และผู้ที่โอนสัญชาติเป็นฝรั่งเศสได้ ก็ต้องนับถือคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิค ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีชาวพุทธใดจะเป็นข้าราชการผู้ใหญ่หรือเป็นผู้ที่จะมีสิทธิ์มีเสียงทําการอะไรในแผ่นดินได้ พุทธศาสนาจึงถูกปล่อยปละละเลยอย่างมาก

นอกจากนั้น ฝรั่งเศสยังวางกฎเกณฑ์บีบคั้นตัดรอนต่างๆ นานา เช่น จํากัดจํานวนพระภิกษุในวัดแต่ละวัด ห้ามสร้างวัดใหม่เว้นแต่ได้รับอนุญาต จํากัดสิทธิของคณะสงฆ์ที่จะรับทานบริจาคและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศ เป็นต้น พระภิกษุผู้เคร่งครัดและตั้งใจปฏิบัติศาสนกิจ เมื่อมองไม่เห็นทางก้าวหน้าของพระศาสนา ก็ปลีกตัวออกไปหาที่วิเวกอยู่สงัด พระศาสนาขาดผู้เอาใจใส่ดูแลควบคุม ก็ยิ่งอํานวยโอกาสแก่ผู้ที่บวชเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ศาสนธรรมก็ยิ่งเลอะเลือน กลายเป็นลัทธิผสมปนเปไปด้วยตันตระ ไสยศาสตร์ ความเชื่อผีสางเทพารักษ์ต่างๆ ลัทธิผสมใหม่ๆ เหล่านี้โดยเฉพาะพวกหัวเหาและเกาได๋5ได้เจริญเติบโตขึ้นในเขตโคชินจีนอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับนิกายโรมันคาทอลิค ส่วนพระพุทธศาสนานั้นก็เสื่อมโทรมลีบเรียวลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งว่าเมื่อตอนกลาง พ.ศต. ๒๕ ได้มีการคาดหมายกันทั่วไปว่า พระพุทธศาสนาในเวียดนามจะอันตรธานไปโดยสิ้นเชิง

๓) ยุคกอบกู้-ฟูแล้วกลับยุบ

พระพุทธศาสนายุคนี้ เริ่มต้นในระยะที่งานกู้อิสรภาพของชาวเวียดนามกําลังก่อรูปเป็นขบวนการที่เหนียวแน่นมั่นคง และแพร่ออกทั่วไปอย่างกว้างขวาง กิจการทางพระพุทธศาสนาในระยะนี้พัวพันกับการเมืองมากจนยากที่จะแยกออกพูดต่างหาก ทั้งนี้ เพราะการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในระยะนี้ ในด้านหนึ่งก็หมายถึงการกอบกู้ตนให้พ้นจากอํานาจการเมืองของต่างชาติที่เข้ามาครอบงําและบีบคั้นบั่นรอนอยู่นั่นเอง อีกอย่างหนึ่งวัดเป็นศูนย์กลางที่รวมใจและที่พึ่งแห่งสําคัญของประชาชน เมื่อประชาชนต้องการรวมกําลังกันต่อสู้อํานาจเหนือตน ก็ยึดเอาวัดเป็นที่ก่อตัวบ้างเป็นที่คุ้มครองตัวบ้าง นอกจากนั้น นักการเมืองฝ่ายต่างๆ ก็พยายามใช้วัดและพระศาสนาให้เป็นประโยชน์แก่ตน สภาพเช่นนี้ ทําให้สถาบันพุทธศาสนาจําเป็นต้องปรับปรุงและฟื้นฟูตนเอง แต่ในเวลาเดียวกันก็ล่อแหลมต่อการที่จะเสียหลัก ก้าวเลยขอบเขต และอาจกลายเป็นความเสื่อมยิ่งขึ้นไปอีก ความเป็นไปของพระพุทธศาสนาในเวียดนามยุคนี้ มีทั้งการปรับปรุง การต่อสู้ และความปั่นป่วน สับสนวุ่นวายคล้ายกันกับประวัติศาสตร์ฝ่ายบ้านเมือง

เมื่อชาวเวียดนามลุกขึ้นต่อสู้ และถูกปราบปรามอย่างรุนแรงราบคาบไปเป็นระยะๆ ความรู้สึกชาตินิยมกลับแข็งกล้ายิ่งขึ้น และความชํานาญจัดเจนในการต่อสู้ก็เพิ่มขึ้น จนกระทั่งในตอนกลาง พ.ศต. ๒๕ การต่อสู้เป็นไปในรูปขบวนการที่มีข่ายงานกว้างขวาง มีหลักการสําหรับยึดเหนี่ยวให้เกาะกุมกันเหนียวแน่น นอกจากนั้น การที่ฝรั่งเศสแบ่งแยกเวียดนามปกครองเป็นส่วนๆ ก็ได้ทําให้เกิดขบวนการกู้ชาติที่มีลักษณะแตกต่างกันขึ้นด้วย และเรื่องนี้ส่งผลถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวียดนามต่อมาอีกนาน เฉพาะในเวลานั้น ผลที่ต่างกันคือ ในเวียดนามภาคเหนือ เหตุปัจจัยต่างๆ ได้หนุนให้ลัทธิคอมมิวนิสม์มีกําลังเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ จนการต่อสู้กู้ชาติในภาคนี้เป็นขบวนการของชาตินิยมคอมมิวนิสม์ ส่วนในเวียดนามภาคใต้ขบวนการเป็นชาตินิยมแบบกึ่งศาสนา เช่น ขบวนการของลัทธิเกาได๋ และลัทธิหัวเหา เป็นต้น

ในระยะนี้เองที่พระพุทธศาสนาซึ่งกําลังมีทีท่าว่าจะเสื่อมลงถึงขั้นดับสูญ ก็กลับรู้สึกตัวตื่นขึ้น แล้วเร่งฟื้นฟูปรับปรุงตนเอง ปัจจัยสําคัญอย่างหนึ่งที่ทําให้เกิดการฟื้นฟูคือ เวลานั้นพระอาจารย์ไทซี หรือไท้สู กําลังดําเนินงานกอบกู้ฐานะของพระพุทธศาสนาในประเทศจีนทั้งในด้านการศึกษาและการบําเพ็ญสาธารณประโยชน์ ชาวพุทธเวียดนามได้เห็นแบบอย่างเช่นนั้นก็เกิดกําลังใจคิดริเริ่มทําในบ้านเมืองของตนบ้าง งานฟื้นฟูเริ่มขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๓ โดยชาวพุทธระดับปัญญาชนซึ่งต้องการให้คนเข้าใจคําสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้อง และแปลความหมายให้ทันกับสังคมสมัยใหม่ การตื่นตัวและปรับปรุงนี้เป็นไปทั่วทั้ง ๓ ภาคของเวียดนาม และมีการร่วมมือประสานงานถึงกัน แต่ระยะแรกงานก้าวหน้าไปล่าช้า

จนถึงปี ๒๔๗๔ จึงได้มีการจัดตั้ง สมาคมพุทธศาสนศึกษาแห่งโคชินจีน (Cochinchina Buddhist Study Society หรือ ฮอยนามไกเหียนจูผัดฮอค) ขึ้นที่เมืองไซ่ง่อน และต่อมาก็มีสมาคมประเภทเดียวกันเกิดขึ้นที่เมืองเว้ (เวียดนามกลาง หรืออานัม) ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ และที่เมืองฮานอย (เวียดนามเหนือ หรือตังเกี๋ย) ใน พ.ศ.๒๔๗๗ ทุกสมาคมมีสมาชิกทั้งฝ่ายพระภิกษุและคฤหัสถ์ การฟื้นฟูมุ่งเน้นงานสําคัญ ๒ ด้าน คือ การศึกษา และสังคมสงเคราะห์ โดยให้มีการปรับปรุงสภาพภายในวัด กวดขันวินัยของพระสงฆ์ ให้การศึกษาแก่พระสงฆ์รุ่นใหม่ให้เป็นผู้พรั่งพร้อมทั้งด้านศรัทธาในพระศาสนาและมีความรอบรู้ ส่งพระจํานวนหนึ่งไปศึกษาในประเทศจีน ไทย และญี่ปุ่น จัดพิมพ์วารสารเผยแผ่และผลงานแปลจากพระไตรปิฎกทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานเป็นภาษาเวียดนามอักษรโรมัน โดยเลิกใช้อักษรจีน กําจัดความเชื่อถืองมงายต่างๆ

ส่วนในด้านสังคมสงเคราะห์ ชาวพุทธก็จัดตั้งโรงพยาบาล สถานเลี้ยงดูเด็กเล็ก สถานสงเคราะห์เด็กกําพร้า และโรงเรียนระดับต่างๆ มอบให้แม่ชีซึ่งในอดีตเคยอยู่แต่ในวัดเงียบๆ ออกมาทํางานบําเพ็ญประโยชน์ในโรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ และโรงเรียนเหล่านั้น ในเวลาเดียวกันก็ส่งเสริมให้เยาวชนผู้ได้รับการศึกษาสมัยใหม่ตามแบบตะวันตก ได้มีโอกาสเรียนรู้พระพุทธศาสนา และเป็นสื่อถ่ายทอดพุทธธรรมไปยังเยาวชนด้วยกัน จนถึงขั้นมีการจัดตั้งองค์การพุทธเยาวชนหรือยุวพุทธิกะแห่งแรกขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ มีกิจกรรมต่างๆ เช่น ออกวารสารเผยแผ่ชื่อเวียนอาม เป็นต้น ขบวนการเยาวชนนี้เจริญสืบต่อมาและเป็นปัจจัยสําคัญให้มีการตั้งโรงเรียนประถมและมัธยมเรียกว่า “โรงเรียนโพธิ” ขึ้น ในทุกจังหวัดของเวียดนามใต้

มีข้อควรสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับกิจกรรมพระพุทธศาสนาในระยะนี้ กล่าวคือ พระพุทธศาสนา นิกายเธียน ที่เคยรุ่งเรืองในอดีตอันยาวนานได้เสื่อมลงไปดังกล่าวแล้วข้างต้น ครั้นถึงเวลานี้ นิกายตินห์โด (คือ นิกายสุขาวดี หรือพระอมิตาภะ ที่ญี่ปุ่นเรียก ว่านิกายชิน) ได้เจริญขึ้นแทนที่ อีกประการหนึ่ง ทางด้านการเมือง ขบวนการชาตินิยมต่างๆ ได้เจริญเข้มแข็งและแพร่ไปทั่วแล้ว การใช้วิธีปราบปรามเพียงอย่างเดียวไม่อาจทําได้สําเร็จ รัฐบาลฝรั่งเศสจึงต้องยักเยื้องใช้วิธีการต่างๆ ทั้งแบบรุนแรงและสงบ สุดแต่จะเห็นว่าวิธีใดจะได้ผลดีเป็นกรณีๆ ไป เมื่อชาวพุทธเวียดนามจัดตั้งองค์การและกิจการต่างๆ ขึ้นมานี้ แทนที่ฝรั่งเศสจะกําราบ กลับยอมรับ และเข้าสนับสนุนเป็นทางการ ทั้งนี้เพื่อจะได้มีโอกาสเข้าดูแลควบคุมกิจการภายในได้ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม อีกประการหนึ่ง ก็เป็นวิธีการที่จะแสวงหาความนิยมจากประชาชน และหากเป็นไปได้ก็จะส่งเสริมให้ประชาชนมัววุ่นอยู่กับพรตพิธีต่างๆ เสีย จิตใจจะได้ห่างจากความคิดความรู้สึกเกี่ยวกับการต่อสู้กู้ชาติ

งานฟื้นฟูพุทธศาสนาในเวียดนาม ต้องหยุดชะงักลงชั่วคราวระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ ถึง ๒๔๘๘ รัฐบาลฝรั่งเศสที่ปกครองอินโดจีน หยุดสู้รบ และยอมร่วมมือกับญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๔๘๓ ญี่ปุ่นยึดครองเวียดนามและใช้ภาคเหนือเป็นฐานสู้รบในจีนภาคใต้ ใช้ภาคใต้ของเวียดนามเป็นฐานโจมตีมลายูและพม่า นักชาตินิยมเวียดนามได้รับความสนับสนุนจากสัมพันธมิตรมีจีนเป็นต้น ดําเนินงานใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น

ในช่วงนี้ขบวนการชาตินิยมฝ่ายคอมมิวนิสต์มี โฮจิมินห์ เป็นผู้นํา ได้ตั้งคณะเวียดมินห์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๘๔ และมีกําลังเข้มแข็งขึ้นโดยลําดับ ต่อมาถึงเดือนมีนาคม ๒๔๘๘ ญี่ปุ่นซึ่งจวนเจียนจะแพ้สงครามอยู่แล้ว กลับหันมากําจัดรัฐบาลอินโดจีนของฝรั่งเศส จัดการให้เวียดนามประกาศอิสรภาพ ยก จักรพรรดิเบาได๋ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์เหงียน เป็นผู้ปกครองประเทศเอกราชใหม่นี้ แต่พวกเวียดมินห์ไม่ยอมรับ และพวกชาตินิยมฝ่ายกษัตริย์เบาได๋ก็กลายเป็นผู้ด่างพร้อยเพราะร่วมมือกับญี่ปุ่น ทําให้เสียความนิยมไป จึงครองราชย์อยู่ได้เพียง ๕ เดือน ก็ถูกเวียดมินห์โค่นอํานาจ

กษัตริย์หรือจักรพรรดิเบาได๋สละราชสมบัติแล้ว แล้วพวกเวียดมินห์ก็ตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามขึ้นในเดือนกันยายน ๒๔๘๘ นั้นเอง ต่อมาไม่นาน ฝรั่งเศสก็หวนกลับมาอีก ด้วยความช่วยเหลือทางทหารของอังกฤษ เข้าครองอํานาจในเวียดนามภาคใต้ เมื่อต้นปี ๒๔๘๙ แต่ในเวียดนามเหนือ รัฐบาลของเวียดมินห์ยังครอบครองอยู่

ในปลายปี ๒๔๘๙ นั่นเอง สงครามอันยืดเยื้อระหว่างฝรั่งเศสกับเวียดมินห์ก็เริ่มขึ้น ในตอนต้นของสงคราม ฝรั่งเศสครอบครองเมืองใหญ่ทุกเมือง ส่วนเวียดมินห์มีกําลังอยู่ในชนบท ถึงปี ๒๔๙๑ ฝรั่งเศสปล่อยให้มีการตั้งรัฐบาลสํารองขึ้นปกครองเวียดนามทั้งหมด โดยมีอดีตกษัตริย์เบาได๋เป็นประมุข

ต่อมาอีก ๒ ปี สหรัฐและอังกฤษก็ได้รับรองเวียดนามใหม่นี้ด้วย และข้อนี้เป็นเหตุชักนําให้สหรัฐเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องในเวียดนาม เพราะต้องช่วยเหลือฝรั่งเศสในการสู้รบกับเวียดมินห์ สงครามแตกหักใน พ.ศ. ๒๔๙๗ เมื่อเวียดมินห์ยึดค่ายเดียนเบียนฟูของฝรั่งเศสได้ สงครามก็ยุติลง ฝรั่งเศสเซ็นสัญญาสงบศึกในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๙๗ เวียดนามได้อิสรภาพพร้อมกับแยกเป็น ๒ ประเทศคือ เวียดนามเหนือ และ เวียดนามใต้ แบ่งเขตกันที่เส้นขนานที่ ๑๗ ในเวียดนามเหนือ โฮจิมินห์ซึ่งเป็นผู้นําต่อมาจนตลอดชีวิต เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจแก้ไขความเสียหายจากสงคราม โดยได้รับความช่วยเหลือจากจีนและโซเวียต

ส่วนทางด้านเวียดนามใต้ก็ได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากสหรัฐ แต่การเมืองไม่มั่นคง มีกลุ่มอํานาจต่างๆ เช่น หัวเหา เกาได๋ คาทอลิค บินห์ซูเยน เป็นต้น พยายามยื้อแย่งความเป็นใหญ่กัน นอกจากนั้น ผู้นําคือกษัตริย์เบาได๋ก็ครองอํานาจอยู่ต่อมาได้อีกเพียง ๑ ปี ทั้งนี้เพราะในปลายปี ๒๔๙๗ นั้นเอง โงดินห์เดียมยึดอํานาจได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วกำราบพรรคคอมมิวนิสต์ พร้อมทั้งทําลายอํานาจของนิกายศาสนากึ่งการเมืองต่างๆ คือ หัวเหา เกาได๋ และบินห์ซูเยน และจัดให้มีการลงคะแนนเสียงล้มเลิกระบบกษัตริย์เสียในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๘ แล้วสถาปนา สาธารณรัฐเวียดนาม (ใต้) ขึ้น โดยมีโงดินห์เดียม เป็นประธานาธิบดีคนแรก ครองอํานาจสืบต่อมา

ทางด้านพระศาสนา เมื่อสงครามโลกยุกติลงใน พ.ศ. ๒๔๘๘ แล้ว แต่บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย ยังมีอิทธิพลของต่างชาติครอบงําอยู่ ขบวนการชาตินิยมต่างๆ จึงยังคงดําเนินงานกันต่อไป ชาวเวียดนามทุกคนจะถูกชักชวนให้เข้าร่วมขบวนการด้วย ในสภาพเช่นนี้ศาสนิกชนและองค์การศาสนาทั้งหลาย จึงมีโอกาสเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องกับการเมืองได้มาก ดังนั้น เมื่อเวียดมินห์โค่นอํานาจรัฐบาลของจักรพรรดิเบาได๋ที่ญี่ปุ่นจัดตั้งขึ้น แล้วตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นแทนนั้น ได้มีกลุ่มหรือองค์การต่างๆ เกิดขึ้นมาก เช่น สมาคมสตรีกอบกู้ปิตุภูมิ เยาวชนกอบกู้ปิตุภูมิ ชาวคาทอลิคกอบกู้ปิตุภูมิ ชาวพุทธกอบกู้ปิตุภูมิ เป็นต้น ภิกษุกลุ่มหนึ่งก็ได้ตั้งองค์การพุทธศาสนิกเพื่อต่อต้านลัทธิอาณานิคมขึ้นต่อต้านฝรั่งเศสในระยะนั้น องค์การนี้สลายตัวไปเอง เมื่อเวียดนามได้อิสรภาพจากฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๔๙๗

ในด้านงานเผยแผ่ ก็มีวารสารใหม่ๆ ของชาวพุทธเกิดขึ้น ซึ่งเน้นการประยุกต์ธรรมเข้ากับการดําเนินชีวิตสมัยใหม่บ้าง เน้นชาตินิยมและการบําเพ็ญสาธารณประโยชน์บ้าง พร้อมกันนั้นก็ให้ข้อคิดแสดงทัศนะทางการเมืองไปด้วย ในด้านสาธารณูปการและสังคมสงเคราะห์ มีการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์วัดที่ถูกทําลาย รื้อฟื้นงานสถานสงเคราะห์เด็กกําพร้า โรงเรียน และช่วยเหลือผู้ประสบภัยสงคราม เป็นต้น ในด้านการศึกษาก็มีการส่งพระภิกษุไปเล่าเรียนในประเทศอินเดีย ลังกา และประเทศตะวันตก

ใน พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้มีการประชุมใหญ่ระดับชาติของชาวพุทธทั่วประเทศที่เมืองเว้ มีพระภิกษุและคฤหัสถ์ซึ่งเป็นผู้แทนของคณะสงฆ์และพุทธสมาคมทั้งหกในภาคทั้งสาม (เหนือ-กลาง-ใต้) ของเวียดนามมาร่วมประชุมราว ๕๐ คน ที่ประชุมมีมติที่สําคัญ คือ ประกาศรวมองค์การทั้งหกนั้นเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียว และตั้งสมาคมมวลพุทธบริษัทเวียดนามขึ้น นอกจากนั้น ให้มีการจัดระเบียบคณะสงฆ์ใหม่ วางมาตรฐานเกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรม การสอนพุทธศาสนาแก่ผู้ใหญ่ การก่อตั้งขบวนการพุทธเยาวชน และตกลงร่วมมือสนับสนุนองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยผลของการประชุมชาวพุทธทั่วโลกที่กรุงโคลอมโบ ใน พ.ศ. ๒๔๙๓

ปีต่อมาคือใน พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปยังที่ประชุมใหญ่ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ณ นครโตเกียว โดยหยุดพักประดิษฐานให้ประชาชนนมัสการที่เมืองไซ่ง่อน ๒๔ ชั่วโมง ปรากฏว่ามีชาวเวียดนามไปนมัสการถึง ๕๐,๐๐๐ คน เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเครื่องเร้าศรัทธาชาวพุทธ ทําให้เกิดความรู้สึกร่วมใจกันและกระตือรือร้นในทางพระศาสนามากยิ่งขึ้น

อนึ่ง พุทธสมาคมสากลเวียดนามได้ออกวารสารฉบับหนึ่ง เพื่อประกาศแนวนโยบายชาตินิยมและบําเพ็ญประโยชน์เรียกชื่อว่า “Vietnamese Buddhism” กิจการด้านต่างๆ ของพุทธศาสนาทั้งด้านสังคมสงเคราะห์ โรงเรียนปริยัติธรรม โรงเรียนราษฎร์ของชาวพุทธ และองค์การเยาวชนทั้งหลาย ได้เจริญรุ่งเรือง และเพิ่มขยายมากขึ้น นับเป็นความก้าวหน้าอย่างมาก จนกระทั่งเกิดอุปสรรคใหม่ขึ้นอีก คือ การที่ประเทศแบ่งแยกออกเป็นเวียดนามเหนือ เวียดนามใต้ ใน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งทําให้สมาคมมวลพุทธบริษัทเวียดนามหรือสหภาพชาวพุทธเวียดนามพลอยแตกออกเป็น ๒ ส่วนไปด้วย และกิจการต่างๆ ก็อ่อนกําลังลง

เมื่อประเทศแบ่งแยกออกไปแล้ว ในเวียดนามเหนือ เวียดมินห์ปกครอง พระพุทธศาสนาก็อยู่ใต้ความควบคุมของระบบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ส่วนในเวียดนามใต้ หลังจากเกิดเป็นประเทศใหม่ได้เพียง ๑ ปี ก็เปลี่ยนการปกครองจากระบบมีกษัตริย์เป็นสาธารณรัฐ โงดินห์เดียมขึ้นครองอํานาจเป็นประธานาธิบดี ยุคแห่งความทุกข์ยากเดือดร้อนของชาวพุทธก็กลับเริ่มต้นใหม่อีก

๔) ยุควิกฤติการณ์ชาวพุทธ ถึงวิกฤติการณ์รวมประเทศ
(พ.ศ. ๒๕๐๖ ถึงปัจจุบัน)

การปกครองประเทศเวียดนามใต้ ในสมัยของประธานาธิบดีโงดินห์เดียมนั้น มักเรียกกันว่า การปกครองของ ตระกูลโง เพราะเป็นการผูกขาดอํานาจอยู่ในหมู่พี่น้องของประธานาธิบดีโงดินห์เดียมเท่านั้น พี่น้องกลุ่มนี้เป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค มีจํานวน ๖ คน คือ

บาทหลวงโงดินห์ถึก อาร์ชบิชอพ (ในเมืองไทยชาวคาทอลิคใช้คําแปลอย่างไม่เป็นทางการว่า อัครสังฆราช หรือ อัครมหาสังฆราช) แห่งเมืองเว้

ประธานาธิบดีโงดินห์เดียม โงดินห์ข่อย (ถูกเวียดมินห์ สังหารเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘)

โงดินห์คาน ผู้ปกครองเวียดนามภาคกลาง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเว้

โงดินห์นู เจ้าของกองกําลังพิเศษ ซึ่งเขามีอํานาจสั่งการได้โดยอิสระและฉับไว และ

โงดินห์เหลียน เอกอัครราชทูตเวียดนามประจําประเทศอังกฤษ

โงดินห์เดียม เป็นชาวคาทอลิคผู้เคร่งครัด ถือพรหมจรรย์ครองตนเป็นโสด แม้จะเป็นประธานาธิบดี ก็มิใช่ผู้มีอํานาจอย่างแท้จริง โงดินห์นู น้องชายเป็นผู้กุมอํานาจอยู่หลังฉาก เป็นทั้งผู้วางแผนนโยบายและผู้บงการปฏิบัติการต่างๆ ของรัฐบาล ภรรยาของโงดินห์นู ซึ่งเรียกกันว่า มาดามนู ทําหน้าที่เป็นสตรีหมายเลข ๑ ของเวียดนาม และร่วมกับสามีในการวางแผนและบงการกิจการต่างๆ ของรัฐบาล ดําเนินการปกครองแบบเมาอํานาจ สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนมากขึ้นโดยลําดับ จนเป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงเป็นวิกฤติการณ์ขึ้นในที่สุด

ภาวการณ์ทางศาสนาในเวียดนามใต้ที่ควรทราบ คือ บรรดาประชากรประมาณ ๑๖ ล้านคน มีชาวพุทธประมาณ ๑๒ ล้านคน หรือราวร้อยละ ๘๐ แบ่งเป็นผู้นับถือมหายานด้วยศรัทธาแรงกล้าราวร้อยละ ๓๕ ถึง ๔๐ เป็นชาวพุทธในนามราวร้อยละ ๔๐ ในจํานวนชาวพุทธ ๑๒ ล้านคนนั้นมีผู้นับถือนิกายเถรวาทราว ๒ ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่แถบชายแดนด้านที่ต่อกับเขมร นอกจากนั้นเป็นฝ่ายมหายาน ชาวคาทอลิคมีจํานวนประมาณ ๑.๗ ล้านคน หรือราวร้อยละ ๑๐ ของประชากรทั้งหมด ประชากรที่เหลือจากข้างต้นคือราวร้อยละ ๑๐ หรือ ๑๕ นับถือลัทธิหัวเหา เกาได๋ และนิกายอื่นๆ (แต่พวกหัวเหาว่าตนมีศาสนิกถึง ๒ ล้านคน และพวกเกาได๋ว่ามี ๑-๒ ล้านคน) วัดพุทธศาสนาทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาทมีจํานวน ๖,๐๗๙ วัด มีภิกษุ ภิกษุณี และแม่ชีทั้งสองนิกาย ๒๓,๒๓๑ รูป (สองตัวเลขท้ายเป็นสถิติ พ.ศ. ๒๕๑๑)6

ประธานาธิบดีโงดินห์เดียม นายโงดินห์นู และมาดามนู เป็นคาทอลิคประเภทคลั่งศาสนา นอกจากส่งเสริมนิกายคาทอลิคและพยายามดัดแปลงวัฒนธรรมประเพณีของเวียดนามให้เป็นอย่างประเทศคาทอลิคในตะวันตกแล้ว ยังดูถูกเหยียดหยามและบีบคั้นข่มเหงพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีเดิมของชาติด้วย มาดามนูเคยกล่าวแก่ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งใน พ.ศ. ๒๕๐๕ ว่า “พุทธศาสนาในเวียดนามนั้นอ่อนแอ เวียดนามจึงอาจเปลี่ยนเป็นประเทศคาทอลิคได้เป็นอย่างดี”

ในปลายปีเดียวกันนั้น พระภิกษุเวียดนามรูปหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์แก่นิตยสาร ‘Life’ ของอเมริกาว่า “ถ้าคุณอยากมั่งคั่งร่ำรวย ถ้าคุณอยากเป็นข้าราชการตําแหน่งสูง คุณต้องเป็นคาทอลิค”

ชาวเวียดนามคนหนึ่งพูดต่อว่าชาวอเมริกันแก่นักหนังสือพิมพ์อเมริกันว่า “ตลอดเวลาที่พวกฝรั่งเศสยึดครอง ก็ไม่เคยเอาจักรพรรดิคาทอลิคมาตั้งบนราชบัลลังก์เวียดนามได้สําเร็จเลย แต่พอถึงสมัยเดียม พวกคุณชาวอเมริกันได้เอาจักรพรรดิคาทอลิคมาให้แก่เราองค์หนึ่ง”

ถ้อยคําเหล่านี้ พอจะสะท้อนให้เห็นพฤติการณ์ของรัฐบาลโงดินห์เดียม และสภาพความเป็นไปในทางพระศาสนาสมัยนั้นได้ดีพอสมควร นอกจากพฤติการณ์ทั่วๆ ไปแล้ว ก็ได้มีเหตุการณ์สําคัญบางอย่างช่วยเพิ่มความกดดัน และความตึงเครียดขึ้นด้วย เช่น เมื่อประธานาธิบดีโงดินห์เดียมขึ้นครองอํานาจใหม่ๆ ได้มีชาวเวียดนามเหนืออพยพมาขอลี้ภัยในเวียดนามใต้ประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ คน คนเหล่านี้เป็นคาทอลิคร้อยละ ๘๐ คราวนั้นได้เกิดข้อติฉินว่า ประธานาธิบดีมีความลําเอียงในการให้ความช่วยเหลือปันส่วนอาหาร และจัดสรรที่ดินแก่ผู้ลี้ภัยชาวคาทอลิคดีกว่าชาวพุทธ และระแวงกันว่าท่านเดียมจะใช้ผู้ลี้ภัยเป็นเครื่องกุมอํานาจการเมืองให้มั่น และสถาปนารัฐคาทอลิคขึ้นในเวียดนามใต้

ความรู้สึกชาตินิยมที่เคยทําให้ชาวคาทอลิคกับชาวพุทธผนึกกําลังกันต่อสู้ฝรั่งเศสและโฮจิมินห์ ได้จืดจางหายไป มีความไม่ไว้วางใจกัน ความแตกแยก และชิงชังกันก่อตัวพอกพูนขึ้นมาแทนที่ ความกดดันและตึงเครียดทวีขึ้น จนในที่สุดก็เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่เรียกว่า “วิกฤติการณ์ชาวพุทธ” ขึ้นในปลายปี พ.ศ ๒๕๐๖ ซึ่งก่อความตื่นเต้นหวั่นไหวสะเทือนใจคนทั่วโลก และทําให้ระบอบตระกูลโงโค่นล้มลงในที่สุด นาย Jerrold Schecter หัวหน้าสํานักงานที่โตเกียวของหนังสือไทม์ไลฟ์ ได้เขียนเล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสือพระพักตร์ใหม่ของพระพุทธเจ้า (The New Face of Buddha) อย่างยืดยาวถึง ๑๐๘ หน้า

จุดก่อตัวของเหตุการณ์เริ่มต้นในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๖ ในวันนั้นอาร์ชบิชชอพโงดินห์ถึก ได้จัดงานฉลองใหญ่โตที่เมืองดาลัท ในโอกาสที่ท่านเป็นบาทหลวงมาครบรอบปีที่ ๒๕ ในงานนี้ มีการประดับธงศาสนจักรคาทอลิคแห่งกรุงวางติกัน โดยมิได้ประดับธงชาติเวียดนามไว้เคียงคู่ด้วย ต่อมาอีก ๒ วัน ชาวพุทธที่เมืองเว้เตรียมจัดงานวิสาขบูชาซึ่งจะมีขึ้นในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ ๘ พฤษภาคม และได้นําธงฉัพพรรณรังสีอันเป็นเครื่องหมายของพระพุทธศาสนาขึ้นประดับ แต่ตํารวจเมืองเว้ได้เข้าสั่งห้ามและฉีกทึ้งธงบางส่วนที่นําขึ้นประดับแล้วลงมา ชาวพุทธได้ประท้วงต่อเจ้าเมืองซึ่งเป็นชาวพุทธ เจ้าเมืองได้สั่งห้ามตํารวจไม่ให้เก็บธงอีก และยังได้รับรองแก่ชาวพุทธอีกด้วยว่า ทางการอนุญาตให้ขบวนพิธีวิสาขบูชาตามประเพณีของชาวพุทธเคลื่อนไปตามท้องถนนเมืองเว้ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นได้ตามกําหนดการที่วางไว้

ต่อมานายโงตรองเฮียว รัฐมนตรีกิจการพลเรือนของรัฐบาลเวียดนามได้ชี้แจงแก่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศถึงเหตุผลที่ตํารวจห้ามมิให้ชาวพุทธประดับธงพระพุทธศาสนาว่า ประธานาธิบดีโงดินห์เดียมได้ออกคําสั่งไว้เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๐๕ ว่า ในการชักหรือประดับธงต่างๆ จะต้องให้มีธงชาติของสาธารณรัฐเวียดนามอยู่ในฐานะเด่นเป็นสําคัญยิ่งกว่าธงอื่นใด ครั้นถึงวันฉลองชีวิตบาทหลวงของท่านโงดินห์ถึก ท่านประธานาธิบดีได้ไปร่วมงานฉลองด้วย และเมื่อท่านเห็นธงวาติกันประดับอยู่อย่างเดียวโดยไม่มีธงชาติร่วมอยู่ด้วย ท่านรู้สึกตกใจมาก ครั้นกลับมาถึงเมืองไซ่ง่อนแล้ว ท่านก็รีบส่งบันทึกเตือนความจําเกี่ยวกับคําสั่งเรื่องการประดับธงไปยังข้าราชการทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่แขวงเว้ได้รับบันทึกนั้นในวันที่ ๗ พฤษภาคม ก่อนวันวิสาขบูชาเพียง ๑ วันพอดี จึงได้ดําเนินการไปอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม ดร.อีริค วุลฟ์ หัวหน้าแผนกจิตเวชศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมัน ซึ่งขณะนั้นไปปฏิบัติงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยเว้ ได้ให้ความเห็นว่า ประธานาธิบดีโงดินห์เดียมห้ามชาวพุทธประดับธงศาสนาในวันนั้น เพราะไม่พอใจที่ พระถิช ตรีกวาง ประธานพุทธสมาคมแห่งเวียดนามกลาง มิได้ส่งโทรเลขอวยพรไปยังบาทหลวงโงดินห์ถึก ในการฉลองครบรอบปีที่ ๒๕ แห่งชีวิตบาทหลวงของท่าน

ตามกําหนดการพิธีวิสาขบูชา วันที่ ๘ พฤษภาคม พระถิช เธียนเขียดมหาเถระ ประมุขสงฆ์เวียดนาม (ประธานสมาคมมวลพุทธบริษัทเวียดนาม) จะกล่าวสัมโมทนียกถาทางสถานีวิทยุเมืองเว้ในตอนค่ำ แต่เมื่อเริ่มต้นงานในตอนเช้า ก็เกิดเหตุเสียก่อน กล่าวคือ ในเวลา ๑๐.๐๐ น. เจ้าเมืองได้กล่าวสุนทรพจน์สั้นๆ จากนั้นพระภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวสัมโมทนียกถาแก่ประชาชนที่มาชุมนุมประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน ท่านได้กล่าวพาดพิงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ชาวพุทธมิได้ต่อต้านรัฐบาล แต่ก็ไม่อาจทนต่อปฏิบัติการด้านศาสนาอย่างที่เป็นอยู่นั้นต่อไปได้อีก ท่านเรียกร้องขอให้มีอิสรภาพทางศาสนาโดยสมบูรณ์ พระภิกษุอีกรูปหนึ่งได้ตะโกนคํานัดแล้วก็มีธง ๑๕ ผืนชูขึ้น พร้อมกับคําประกาศก้องว่า “เสรีภาพทางศาสนา ผู้ต่อต้านศาสนาจงพินาศ พุทธศาสน์อยู่นิรันดร์” ทันใดนั้นรัฐบาลก็โต้ตอบโดยให้ระงับรายการกล่าวสัมโมทนียกถาทางวิทยุของประมุขสงฆ์ในตอนค่ำ ให้มีรายการเกี่ยวกับพุทธศาสนาอย่างอื่นแทน ส่วนการพูดให้เลื่อนออกไป (โดยไม่มีกําหนด)

ประชาชนประมาณ ๓,๐๐๐ คน ได้มาชุมนุมเดินขบวนอย่างสงบนอกสถานีวิทยุกระจายเสียงเมืองเว้ ต่อมาราว ๒๒ น. เศษ รัฐบาลได้ส่งรถถังและยานเกราะมาต้านประชาชน รถถังและกองทหารได้แล่นตะลุยพร้อมกับยิงปืนเข้าไปที่ฝูงชน ทําให้คนแตกกระจายออกไป ปรากฏว่ามีคนตาย ๙ คน ในจํานวนนี้เป็นเด็ก ๖ คน รัฐบาลแถลงว่าผู้ก่อการร้ายเวียดกงขว้างระเบิดเข้าไปกลางที่ชุมนุม แต่ผู้เห็นเหตุการณ์ก็ดี ภาพถ่ายที่ ดร.วุลฟ์ และแพทย์เยอรมันอีกคนหนึ่งถ่ายไว้ในตอนเกิดเหตุการณ์ก็ดี ยืนยันเป็นหลักฐานว่าคนทั้งเก้าตายเพราะกระสุนปืนจากรถถังและยานเกราะบ้าง ถูกรถเหล่านั้นบดขยี้บ้าง

ต่อมาในวันที่ ๑๕ คณะชาวพุทธทั้งพระและคฤหัสถ์ได้เข้าพบประธานาธิบดีและยื่นข้อเรียกร้อง ๕ ข้อคือ

๑. ขอให้ยกเลิกคําสั่งของประธานาธิบดีที่ห้ามมิให้ชักและประดับธงอันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา

๒. ขอให้ชาวพุทธและชาวคาทอลิคมีความเสมอภาคกันตามกฎหมาย

๓. ขอให้รัฐบาลเลิกการแกล้งจับกุมชาวพุทธ

๔. ขอให้มีเสรีภาพในการปฏิบัติและเผยแพร่คําสอนทางพระพุทธศาสนา

๕. ขอให้จ่ายค่าเสียหายแก่ครอบครัวของชาวพุทธที่ถูกสังหารในวันที่ ๘ พฤษภาคม และดําเนินการแก่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการกระทําความผิดตามตัวบทกฎหมาย

ประธานาธิบดีได้พูดโต้แย้งทํานองที่ถือว่า ข้อเรียกร้องเหล่านั้นเป็นคํากล่าวหาต่อรัฐบาล และชี้แจงว่ารัฐบาลไม่ได้ทําความผิดหรือสิ่งเสียหายใดๆ ตามคํากล่าวหาเหล่านั้น ชาวพุทธจึงไม่ได้รับความพอใจ

ครั้นถึงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พระภิกษุและแม่ชีราว ๔๐๐ รูป ได้นั่งอดอาหารประท้วงที่หน้าตึกรัฐสภา รัฐบาลก็ตอบโต้ด้วยการปลดเจ้าเมือง (ชาวพุทธ) นายกเทศมนตรี และผู้แทนรัฐบาลที่เมืองเว้ นอกจากนั้น ประธานาธิบดียังแกล้งลบหลู่ทําให้สมาคมมวลพุทธบริษัทเวียดนามเสียหน้า โดยไปประกอบพิธีเปิดวัดใหม่ให้แก่คณะชาวพุทธนิกายโคซอนมอนที่เมืองไซ่ง่อนอีกด้วย นิกายโคซอนมอนนี้ ให้พระสงฆ์แต่งงานมีครอบครัวได้ และสมาคมมวลพุทธบริษัทเวียดนามไม่รับรอง ประธานาธิบดีจึงมีแผนการจะยกนิกายนี้ขึ้น และจะให้นิกายนี้เป็นตัวแทนชาวพุทธเวียดนามในองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกแทนสมาคมมวลพุทธบริษัทเวียดนาม แผนการนี้เป็นยุทธวิธีของโงดินห์เดียม ที่จะทําให้ตําแหน่งผู้นําชาวพุทธกระจายออกไป เกิดมีคู่แข่งกันเอง ทําให้ชาวพุทธแตกแยกกัน และทําให้สมาคมมวลพุทธบริษัทเวียดนามเสื่อมจากความเชื่อถือหรือถึงกับหมดความหมายไป แต่ประธานาธิบดีลืมคิดไปว่าบัดนี้เหตุการณ์ได้ขยายกว้างขวางออกไปเลยเขตวัดเสียแล้ว

ในวันที่ ๓ มิถุนายน นักเรียน นักศึกษา ๓,๕๐๐ คนได้ชุมนุมหน้าทําเนียบประธานาธิบดีประท้วงการเดียดฉันท์ทางศาสนา แต่รัฐบาลได้ส่งทหารเข้าขับไล่จับผู้ชุมนุมไปขังคุก ๓๘ คน มีผู้บาดเจ็บเข้ารักษาในโรงพยาบาล ๖๗ คน พร้อมนั้นก็ประกาศกฎอัยการศึก ห้ามชุมนุม ห้ามออกจากบ้าน เอาทหารเข้าคุมเมืองเว้ และล้อมวัดตูดาม ซึ่งเป็นวัดสําคัญของเมืองเว้ไว้ กั้นรั้วลวดหนาม ตัดน้ำไฟไม่ให้เข้าทั้งหมด และตรวจค้นผู้ที่จะผ่านเข้าออกทุกคน แล้วติดป้ายประกาศว่า พวกนักโกหกหลอกลวง พวกต่างชาติ และพวกเวียดกง เป็นผู้ก่อความวุ่นวายทั้งหมด จากนั้นรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการพิเศษสมทบต่างกระทรวงขึ้น มีรองประธานาธิบดีเป็นประธาน เพื่อให้พบปะเจรจากับคณะกรรมการนานานิกายของฝ่ายชาวพุทธ แต่ในเวลาเดียวกัน หน่วยราชการและกองทหารก็แจกใบปลิวประณามพระถิช ตรีกวาง นายกพุทธสมาคมเวียดนามกลางว่า ทําอุบายเชิญประชาชนมาสวดมนต์ แล้วจัดการเดินขบวนที่รุนแรงขึ้นแทน

พอถึงวันที่ ๘ มิถุนายน มาดามนูก็เริ่มออกโรง โดยทําการแถลงการณ์ประณามชาวพุทธว่าเป็นพวกสงวนท่า ไม่ขวนขวายช่วยต่อสู้คอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นศัตรูของประเทศ เป็นพวกที่มีพฤติกรรมอันส่อถึงเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นพวกหลงผิด ถูกเขาใช้เป็นเครื่องมือ ทางด้านสหรัฐสถานทูตอเมริกันได้พยายามเร่งเร้าให้ประธานาธิบดีหาทางออมชอมกับชาวพุทธเสีย ถึงกับกล่าวว่าถ้ารัฐบาลไม่ดําเนินการยุติวิกฤติการณ์ รัฐบาลสหรัฐก็จําเป็นจะต้องปลีกตัวจากนโยบายของรัฐบาลเวียดนามและประกาศให้ประชาชนทราบว่าสหรัฐไม่เห็นด้วยกับนโยบายนั้น แต่รัฐบาลเวียดนามก็ยังดึงดันอยู่ต่อไป ก่อนจะถึงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๓ วัน ประธานาธิบดีได้รับแจ้งล่วงหน้าว่าจะมีพระภิกษุเผาตัวตาย เพื่อเรียกร้องขอความเสมอภาคในการปฏิบัติการทางศาสนา แต่ประธานาธิบดีก็ไม่ยอมผันผ่อนอ่อนข้อใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยเห็นว่าเป็นแต่เพียงคําขู่ ซึ่งพระสงฆ์คงจะไม่ทําจริง

ครั้นถึงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๐๖ ขณะที่พระภิกษุและแม่ชีประมาณ ๑ พันรูป ได้ประกอบพิธีสวดมนต์อุทิศกุศลแก่ผู้เสียชีวิตในวันวิสาขบูชา แล้วเดินไปตามถนนในเมืองไซ่ง่อน พอถึงหน้าสถานทูตเขมร พระภิกษุถิช กวางดึ๊ก อายุ ๗๒ ปี ก็เผาตนเองถึงแก่มรณภาพ ชาวพุทธได้นําศพของท่านไปตั้งบําเพ็ญกุศลที่วัดซาลอยซึ่งเป็นศูนย์กลางของชาวพุทธในเมืองไซ่ง่อน วัดต่างๆ ชักธงศาสนาครึ่งเสาเป็นการไว้อาลัยแก่ท่าน ทางรัฐบาลก็ได้ส่งทหารและตํารวจมาล้อมวัดซาลอยไว้ การเผาตัวของท่านถิช กวางดึ๊กนี้ ก่อความสะเทือนใจแก่ชาวพุทธเวียดนามทั่วทั้งหมด จูงให้เกิดอารมณ์ร่วม แม้ชาวพุทธที่ต่างนิกายกัน และชาวพุทธแต่เพียงในนาม หรือชาวพุทธวงนอก ก็หันมาเอาใจใส่การที่ศาสนาของตนถูกข่มเหงรังแก เกิดความเห็นอกเห็นใจกันและมีจิตใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

การเผาตัวของพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกเวียดนามในเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นข่าวตื่นเต้นอย่างยิ่ง ทําให้วิกฤติการณ์ในเวียดนามกลายเป็นจุดสนใจของคนทั่วโลก และมีผู้วิพากย์วิจารณ์เรื่องการเผาตัวนั้นต่างๆ นานา ในที่นี้จะละเว้นความเห็นของชาวพุทธเอง พูดถึงแต่ทัศนะของคนภายนอกบางคนเป็นตัวอย่าง นาย Schecter ผู้แต่งหนังสือ “พระพักตร์ใหม่ของพระพุทธเจ้า” และศาสตราจารย์ Paul Mus แห่งมหาวิทยาลัยเยล (ในหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นชื่อ The Yomiuri ฉบับ ๓๑ ส.ค. ๑๙๖๓) ผู้เคยอยู่ในเวียดนามถึง ๒๗ ปี ได้แสดงความคิดเห็นมีสาระสําคัญว่า การเผาตัวของพระได้เคยมีมาในประเพณีทางศาสนาของฝ่ายมหายานอยู่แล้ว เมื่อพระถิช กวางดึ๊กเผาตัวถึงแก่มรณภาพ ชาวพุทธมหายานจึงยอมรับการกระทํานั้นได้ทันที และนับถือว่าเป็นการพลีชีวิตเพื่อพระศาสนาของท่านผู้สําเร็จ ส่วนในด้านผลทางการเมือง การกระทํานี้แสดงถึงความทุกข์ของชาวพุทธที่รุนแรงและสยดสยองถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นเครื่องรวมใจให้มหาชนเกิดความเคียดแค้นชิงชังต่อรัฐบาลของโงดินห์เดียมอย่างพร้อมเพรียงกัน และเร้าใจให้ชาวพุทธเวียดนามเกิดความสํานึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เกิดกําลังใจและความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวที่จะต่อต้านรัฐบาลโงดินห์เดียม ดังเช่นข้าราชการพลเรือนเวียดนามคนหนึ่งที่พูดว่า

“พวกเราอยู่กันมาใต้ระบอบแห่งความหวาดผวา แต่เมื่อเกิดเหตุกับท่านกวางดึ๊กแล้ว ผมไม่กลัวมันอีกต่อไป”

การเผาตัวเป็นการหลีกเลี่ยงการทําร้ายผู้อื่นของผู้ยึดมั่นในหลักการไม่เบียดเบียน เป็นการสละชีวิตของตนเองเพื่อรักษาชีวิตของผู้อื่น ทั้งฝ่ายตนเองและฝ่ายผู้ทําร้าย คือรักษาชีวิตผู้อื่นในฝ่ายของตนด้วยการแจ้งแก่ฝ่ายผู้ทําร้ายว่า พวกตนจะไม่เป็นภัยอันตรายที่พวกเขาจะต้องกําจัด และรักษาชีวิตของฝ่ายผู้ทําร้ายด้วยการเตือนฝ่ายพวกตนในยามที่ทุกคนกําลังนึกถึงการแก้แค้น ไม่ให้ไปทําร้ายเขา เป็นการระงับการนองเลือดโดยเอาชีวิตของตนเข้าแลก นอกจากนั้น ตามปกติคนทั่วไปและผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ มักจะรู้ว่าเหตุการณ์ร้ายแรงก็ต่อเมื่อเกิดการนองเลือดขึ้นแล้ว การเผาตัวเป็นการแจ้งให้ทราบถึงความรุนแรงของสถานการณ์ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องรับผิดชอบตื่นตระหนัก แล้วรีบป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดการพินาศสูญเสียต่อไป เป็นการเสียสละตนเองเพื่อรักษาชีวิตผู้อื่นอีกเช่นเดียวกัน เป็นความรับผิดชอบทางศีลธรรมอย่างสูงสุด

เมื่อพระถิช กวางดึ๊ก เผาตัวถึงมรณภาพแล้ว คณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้น ได้พบปะกับชาวพุทธ เพื่อเร่งทําความตกลงออมชอมกัน และในตอนเช้าวันที่ ๑๘ มิถุนายน ซึ่งเป็นวันกําหนดพิธีเผาศพท่านกวางดึ๊ก ทั้งสองฝ่ายก็ตกลงกันได้ในข้อเรียกร้อง ๕ ข้อของชาวพุทธ ทางฝ่ายรัฐบาลขอแก้ข้อความว่า “ชดใช้ค่าเสียหาย" เป็นว่า “รัฐบาลจะช่วยเหลือผู้ประสบอันตราย” และตกลงแต่งตั้งคณะกรรมการอีกคณะหนึ่งสําหรับสอบสวนตามข้อกล่าวหาของชาวพุทธที่ว่า รัฐบาลข่มเหงรังแกชาวพุทธ แล้วลงนามในแถลงการณ์ร่วม

ประธานาธิบดีได้ลงนามโดยเขียนกํากับไว้ว่า “ประเด็นต่างๆ ที่ปรากฏในแถลงการณ์ร่วมนี้ ข้าพเจ้าได้เห็นชอบด้วยในหลักการมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว” ซึ่งความจริงท่านได้บิดพลิ้วและดึงดันมาโดยตลอด ฝ่ายชาวพุทธยอมตกลงเลื่อนกําหนดงานเผาศพออกไป เพื่อจะได้มีเวลาแจ้งข่าวการตกลงกันนี้ให้ประชาชนทราบทั่วถึงกันเสียก่อน เมื่อถึงพิธีสําคัญซึ่งเป็นตอนที่คนจะเกิดอารมณ์รุนแรง ความตึงเครียดจะได้ผ่อนคลายลง แต่ไปประกาศเลื่อนงานเอาในเวลาที่ประชาชนมาชุมนุมกันแล้ว ฝูงชนซึ่งมีจํานวนถึง ๑๐,๐๐๐ คนไม่ยอมฟังแม้แต่พระที่ขึ้นไปประกาศ เกิดความสับสนวุ่นวาย ประชาชนและนักเรียนนักศึกษาพากันเอาก้อนหินขว้างปาตํารวจที่เอาลวดหนามมาล้อมกั้นตามถนน ตํารวจจึงระงับการเดินขบวน จับนักศึกษาไป ๒๐๐ คน และมีเด็กหนุ่มคนหนึ่งถูกยิงที่ศีรษะถึงแก่ความตาย

ตอนนี้ผู้นําชาวพุทธเกิดแตกแยกกัน พระหนุ่มเลือดร้อนโกรธเคืองไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนข้อความในแถลงการณ์ร่วมจาก “ชดใช้ค่าเสียหาย” เป็น “รัฐบาลจะช่วยเหลือผู้ประสบอันตราย” อย่างไรก็ตาม ในวันรุ่งขึ้นก็ได้มีพิธีเผาศพท่านกวางดึ๊กโดยมีตํารวจ ๗,๐๐๐ คนมาคอยกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมขบวนศพ เสร็จพิธีศพแล้ว ปรากฏว่ามีหัวใจของท่านกวางดึ๊กเกรียมดํา แต่ไม่ไหม้ อยู่ในกองเถ้าถ่านด้วย ชาวพุทธจึงนําเอาไปประดิษฐานไว้บนแท่นบูชาในวัดซาลอย หัวใจนี้กลายเป็นเครื่องดึงความสนใจให้คนมาวัดซาลอยกันมากมายขึ้นอีก และทําให้เหตุการณ์วันเผาตัวพร้อมทั้งการกระทําของท่านกวางดึ๊กคงอยู่ในจิตสํานึกของประชาชนต่อไป อีกทั้งข่าวเรื่องปาฏิหาริย์หัวใจไม่ไหม้นี้ก็แพร่กระจายไปทั่วประเทศ เพิ่มพลังแก่กรณีนี้มากขึ้นไปอีก

แม้ว่าจะได้มีการตกลงกันดังกล่าวแล้ว แต่เหตุการณ์ที่ยากที่จะยุติลงได้ เพราะโงดินห์นูและมาดามนู ซึ่งเป็นตัวการชักใยรัฐบาลในการต่อต้านชาวพุทธ มีความตั้งใจที่จะบดขยี้ชาวพุทธให้ได้ โงดินห์นูมีแผนการณ์ว่าจะทําให้การประท้วงของชาวพุทธสงบเงียบลง หาทางให้ประชาชนคลายความสนับสนุนลงก่อน แล้วจึงลงมือ

เฉพาะตัวประธานาธิบดีนั้น ตอนแรกก็มีท่าทีเอนเอียงไปในทางที่จะยอมรับคําแนะนําของสถานทูตอเมริกันและการเร่งเร้าของที่ปรึกษาใกล้ชิดบางคนให้ประนีประนอมออมชอมกับชาวพุทธ แต่โงดินห์นูและมาดามนูไม่ยอมฟังเสียงทั้งสิ้น เขาทั้งสองถือว่า พวกชาวพุทธเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกคอมมิวนิสต์แทรกซึมและเป็นผู้ต้องการโค่นล้มการปกครองของตระกูลโง โงดินห์นูวางแผนอยู่เรื่อยๆ ตามความคิดของเขา และคอยเวลาดําเนินการ ถึงตอนนี้โงดินห์นูเรียกพระว่า พวกกบฏ และกล่าวคําเยาะเย้ยต่างๆ เขาเขียนบทวิจารณ์เหตุการณ์ครั้งนี้ออกเผยแพร่ต่อกันเป็นชุด เวลาพูดถึงการเผาตัวของท่านกวางดึ๊ก เขาใช้คําเรียกว่า “การย่างเนื้อสดของชาวพุทธ นูให้สัมภาษณ์แก่นาย Schecter ว่า

“ประวัติความดีความชอบของพวกชาวพุทธมีเพียงอย่างเดียวคือ การย่างเนื้อสดของกวางดึ๊ก พวกเหล่านี้ไม่ได้ทําอะไรให้เกิดความเจริญก้าวหน้าแก่ประเทศชาติเลย ไม่ว่าทางสติปัญญา ทางการสู้รบ หรือทางเศรษฐกิจก็ตาม พวกชาวพุทธเป็นได้อย่างเดียวคือตัวอุปสรรค พวกนี้ไม่ได้มีส่วนช่วยอะไรเลย”

ส่วนมาดามนูนั้นถึงกับกล่าวว่า “ถ้ามีพระย่างเนื้อสดตัวเองอีก ฉันจะตบมือให้” คําพูดของนางจึงเป็นการโหมกระพือไฟให้ลุกโพลงยิ่งขึ้น โงดินห์นูบอกกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่า “แถลงการณ์ร่วมของรัฐบาลนั้น เป็นอันแก้ไขปัญหาหมดทุกอย่างแล้ว ไม่มีเหตุผลใดๆ อีกที่พวกชาวพุทธจะดําเนินขบวนการผิดกฎหมายต่อไป ถ้ารัฐบาลนี้ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยได้ รัฐบาลที่เข้ามาใหม่ก็จะบดขยี้พวกชาวพุทธ เพราะเดี๋ยวนี้ ทุกคนต่อต้านชาวพุทธทั้งนั้น ทุกคนไม่เห็นด้วยกับพระ ๕-๖ องค์ที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของใครเลย”

แต่สถานการณ์ที่แท้จริงกลายเป็นว่า รัฐบาลยังไม่ได้ปล่อยคนอีกจํานวนมากที่ถูกจับตั้งแต่คราวเดินขบวน รัฐบาลยังจับผู้นําชาวพุทธตามพอใจ และห้ามมิให้ชาวพุทธไปประกอบพิธีที่วัดในชนบท พระเถระประมุขสงฆ์มีหนังสือแจ้งเรื่องนี้ไปยังประธานาธิบดีๆ ก็ปฏิเสธ จึงมีการบอกแจ้งให้รู้กันว่า ข้อตกลงล้มเหลว รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง เมื่อเป็นเช่นนี้ การเดินขบวนของชาวพุทธก็เริ่มต้นอีกในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม เหตุการณ์วุ่นวาย การประท้วง และการปราบปรามดําเนินต่อไปอีก

พึงสังเกตว่าในตอนนี้ศาสนจักรโรมันคาทอลิคได้ประกาศแล้วว่า ไม่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการของรัฐบาลโงดินห์เดียมในการบีบคั้นชาวพุทธ เพราะองค์สันตะปาปาที่กรุงโรมทรงละอายต่อการกระทําของรัฐบาลนั้น แม้วงการคาทอลิคในเวียดนามเองก็แยกตัวไม่เกี่ยวข้อง บาทหลวงท่านหนึ่งกล่าวว่า “การต่อสู้ของชาวพุทธ ไม่ได้มุ่งต่อต้านศาสนจักรคาทอลิค หากแต่ต่อต้านรัฐบาลที่บังเอิญมีชาวคาทอลิคร่วมอยู่ด้วยเท่านั้นเอง”

ต่อมาถึงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม รองประธานาธิบดีได้แจ้งให้ความมั่นใจแก่ชาวพุทธว่า รัฐบาลมีความปรารถนาอย่างจริงจังที่จะออมชอมกับชาวพุทธ และจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนคําร้องทุกข์ต่างๆ ของชาวพุทธ ตอนนี้ทุกอย่างทําท่าจะเรียบร้อย เจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกันถึงกับแจ้งให้ผู้สื่อข่าวมั่นใจว่า ทุกคนลงกันได้แล้วตามนโยบายประนีประนอม

แต่แล้วโดยไม่มีใครคาดคิด ในวันที่ ๓ สิงหาคม มาดามนูแต่งตัวชุดสีจีวรพระทั้งชุด ขึ้นกล่าวคําปราศรัยหน้าศาลากลางจังหวัดในเมืองไซ่ง่อน โจมตีชาวพุทธอย่างรุนแรงที่สุดตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤติการณ์ นางกล่าวว่า “การก่อกวนของชาวพุทธ เป็นการทรยศที่ต่ำช้าเลวทราม ชาวพุทธทํามายาหลอกลวงว่าตนถูกโจมตี จะหลอกลวงได้ก็แต่คนที่อยากถูกหลอกลวงเท่านั้น การกระทําของชาวพุทธ ลดเกียรติของพุทธศาสนาลงให้เป็นเพียงลัทธิมายาสาไถย หรือลัทธิลวงโลก พวกชาวพุทธนําเอากโลบายที่น่ารังเกียจที่สุดของพวกคอมมิวนิสต์มาใช้”

วาทะของมาดามนูครั้งนี้ทําให้ชาวพุทธเคลื่อนไหวอีก และทําให้ผู้นําชาวพุทธเชื่อแน่ว่า การทําท่าจะประนีประนอมของรัฐบาลเป็นเพียงหลุมพรางให้การประท้วงของชาวพุทธอ่อนกําลังลงเท่านั้น การชุมนุมประท้วง การเดินขบวน และการใช้กําลังทหารปราบปรามดําเนินต่อไปอีก และมีการเผาตัวเพิ่มขึ้นด้วย ในช่วงระหว่างวันที่ ๔-๑๖ สิงหาคม ถึง ๔ ราย เป็นภิกษุ ๒ รูป (อายุ ๒๔ และ ๗๑ ปี) สามเณร ๑ รูป (อายุ ๑๙ ปี) และชีสาว ๑ รูป (อายุ ๒๐ ปี) ไม่นับนักศึกษาสาวอายุ ๑๘ ปี แห่งมหาวิทยาลัยเว้อีก ๑ รายที่ใช้ขวานสับข้อมือของตนประท้วงทารุณกรรมของรัฐบาล และได้ถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา

โงดินห์นูลงมือทําการขั้นต่อไปด้วยวิธีจู่โจมทําลายแบบสายฟ้าแลบ ในตอนเที่ยงคืนของวันที่ ๒๐ ต่อกับวันที่ ๒๑ สิงหาคม กองกําลังพิเศษของเขาได้เคลื่อนมายังวัดซาลอย บุกข้ามรั้วลวดหนามเข้าไป พังประตูกุฏิพระและเรือนแม่ชี ฉุดกระชากลากตัว และใช้ปืนขู่บังคับเอาตัวไปขึ้นรถ เสียงปืนดังก้องสลับด้วยเสียงพระร้องตะโกน เสียงหวีดร้องของแม่ชี ต่อด้วยเสียงตึงตังโครมครามของประตูหน้าต่างสิ่งของเครื่องใช้ที่ถูกทหารทุบทําลายดังแซงขึ้นมากลบเสียงตะโกนและเสียงหวีดร้อง นอกจากวัดซาลอยแล้ว รัฐบาลได้ดําเนินการล้อมจับอย่างทารุณเช่นนี้ที่วัดอื่นในเมืองไซ่ง่อนอีก ๕ วัด ส่วนที่เว้ รัฐบาลส่งกองทหารเข้ายึดเมือง และบุกเข้าโจมตีวัดตูดาม ประชาชนตื่นตระหนกตกใจพากันวิ่งออกมาอลหม่านในท้องถนน ฉวยได้หม้อบ้างกะทะบ้าง ตีบอกกันเป็นสัญญาณแจ้งอันตราย ประธานาธิบดีประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ พอรุ่งเช้าราษฎร ๕ พันคนก็เดินประท้วงไปตามท้องถนน ทหารยิงปืนไล่และลากคนเดินขบวนขึ้นรถไป ตามเมืองต่างๆ เช่น ดานัง ควินอน กวางตรี เป็นต้น มีชาวพุทธเดินขบวนกันทั่วไป และทหารก็เข้าจับกุมทุกแห่ง

ในวันที่ ๒๑ สิงหาคม กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นชอบด้วยกับปฏิบัติการในทางกดขี่บีบคั้นของรัฐบาลเวียดนามใต้ และกล่าวโทษรัฐบาลเวียดนามใต้ที่มิได้ปฏิบัติตามคําขอร้องของสหรัฐฯ ที่ให้ประนีประนอมกัน ในระยะเดียวกันนั้น ประธานาธิบดีเคนเนดีก็สั่งองค์การซีไอเอ ให้หยุดเลิกการอุดหนุนแก่กองกําลังพิเศษของโงดินห์นู ทั้งในด้านทุนและอาวุธ

ส่วนชาวพุทธนั้น เมื่อถูกบั่นรอนทําลายอย่างนี้ ก็ลงดําเนินงานใต้ดินต่อไป โดยมีพลังประชาชนซึ่งบัดนี้มีจิตใจรวมเป็นอันเดียวกันแล้ว เป็นเครื่องสนับสนุน ข้าราชการเวียดนามก็กล้าแสดงออกประท้วงการกระทําของรัฐบาล เริ่มด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศยื่นใบลาออก และโกนศีรษะประท้วง เอกอัครราชทูตเวียดนามใต้ประจําสหรัฐฯ และผู้สังเกตการณ์พิเศษของเวียดนามใต้ประจําองค์การสหประชาชาติ (บิดามารดาของมาดามนู) ลาออกจากตําแหน่ง เจ้าหน้าที่สถานทูตเวียดนามใต้ในสหรัฐฯ ลาออกทั้งคณะ นักศึกษาและนักเรียนทั้งในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่างๆ นัดหยุดเรียนบ้าง เดินขบวนบ้าง ชุมนุมประท้วงบ้าง จนตํารวจต้องไปคุมโรงเรียนทุกแห่ง นักศึกษาถูกจับไปอีกเกิน ๓,๐๐๐ คน นักการทูตและชาวพุทธในประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น พม่า เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ลังกา อินเดีย อินโดนีเซีย ทูตไทยในอินเดีย เคลื่อนไหวแสดงความเห็นอกเห็นใจชาวพุทธเวียดนามใต้ และเรียกร้องให้รัฐบาลโงดินห์เดียมยุติการประหัตประหารชาวพุทธเสีย มีพระภิกษุเผาตัวถึงมรณภาพอีก ๒ รูป ในวันที่ ๕ และ ๒๗ ตุลาคม รวมกับเก่าเป็น ๗ รูป

องค์การสหประชาชาติตั้งคณะผู้แทนมาสอบสวนข้อเท็จจริงที่เวียดนามใต้ และจะอภิปรายเรื่องนี้ ทางด้านรัฐบาลโงดินห์เดียม แม้จะมีกําลังอาวุธ แต่ก็อ่อนเปลี้ยในด้านกําลังสนับสนุนจากประชาชน เมื่อเหตุการณ์สุกงอมแล้ว แต่โงดินห์เดียมและโงดินห์นูก็ยังสร้างแต่ความกดดันให้ตึงเครียดอยู่ต่อไป รัฐบาลอเมริกันจึงไม่ขัดข้องที่คณะทหารเวียดนามจะทําการรัฐประหาร ครั้นแล้วในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ คณะทหารมีนายพลเดือง วัน มินห์ เป็นผู้นํา ก็ได้ยึดอํานาจรัฐบาลเวียดนามใต้ โค่นล้มประธานาธิบดีโงดินห์เดียมลง ทั้งโงดินห์เดียมและโงดินห์นูหนีไปหลบซ่อน แต่ถูกจับได้และถูกสังหารที่ภายในท้ายรถบรรทุกทหารในตําบลโซลอน แห่งนครไซ่ง่อน ระบอบตระกูลโงก็ถึงอวสานแต่บัดนั้น

วิกฤติการณ์ครั้งนี้ทําให้พระพุทธศาสนาสัมพันธ์กับลัทธิชาตินิยมมากขึ้น เอกสารของสหพุทธจักรเวียดนามถึงกับกล่าวว่า การต่อสู้เพื่อโค่นล้มระบอบโงดินห์เดียม ประสบความสําเร็จไม่แต่เพียงเคลื่อนกําลังชาวพุทธเข้าปกป้องพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังได้ปลุกสํานึกชาตินิยมของมวลชนขึ้นด้วย พระพุทธศาสนากับชาตินิยมเกี่ยวพันกลมกลืนกันในความรู้สึกของชาวพุทธทุกคน จนยากที่จะแยกออกจากกันได้

ส่วนผลระยะยาวต่อกิจการพระพุทธศาสนาในเวียดนามใต้ก็มีมากเช่นเดียวกัน กล่าวคือ นอกจากทําให้ชาวพุทธตื่นตัวขึ้น หันมาเอาใจใส่ศาสนาของตน มีจิตใจรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และรีบเร่งฟื้นฟูปรับปรุงกิจการของตนแล้ว ยังทําให้พระสงฆ์เข้าไปพัวพันในการเมืองอย่างลึกซึ้งอีกด้วย ทั้งนี้เพราะวิกฤติการณ์นี้ แม้ตอนเริ่มต้นจะเป็นเรื่องทางศาสนา หรือการต่อสู้เพื่อพระศาสนา แต่การต่อสู้ได้ดําเนินไปเป็นเวลานาน ต้องขับเคี่ยวกับอํานาจการเมือง ในที่สุดก็เลยกลายเป็นวิกฤติการณ์และการต่อสู้ทางการเมือง พระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้นําของชาวพุทธ ไม่แต่เพียงจะถูกการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังได้ผ่านประสบการณ์ในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างมากมายอีกด้วย

นอกจากนั้น ในการต่อสู้ ชาวพุทธเป็นฝ่ายได้รับความสนับสนุนและความนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พระสงฆ์จึงมีอํานาจทางการเมืองมากขึ้นด้วย ยิ่งได้เป็นฝ่ายชนะในวิกฤติการณ์เข้าอีก ชาวพุทธก็กลายเป็นพลังใหญ่ในทางการเมืองไปทีเดียว เสียงของพระสงฆ์กลายเป็นเสียงหนักแน่นที่นักการเมืองผู้ยังต้องอาศัยความสนับสนุนจากประชาชนจะต้องรับฟัง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดมีปัญหาใหม่ขึ้นในวงการพระศาสนาว่า เมื่องานสําเร็จแล้ว พระสงฆ์ผู้นําเหล่านั้นจะรู้ตัวรีบกลับเข้าในหลักเขตของตน มุ่งดําเนินงานด้านฟื้นฟูปรับปรุงกิจการพระศาสนาให้เต็มที่ต่อไป หรือจะติดในอํานาจและเพลิดเพลินในการใช้ความจัดเจนทางการเมือง ก้าวเลยขอบเขตของตนต่อไป และเข้าไปแทรกแซงวุ่นวายในด้านการเมืองเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งหากเป็นอย่างนัยหลังก็อาจเป็นอันตรายได้มากทั้งแก่ตนเอง แก่พระศาสนา และแก่ประเทศชาติ เพราะในเวลานั้นประเทศเวียดนามใต้กําลังอยู่ในสภาพที่ไม่เป็นปกติสุข มีคู่ต่อสู้ทางการเมืองที่กําลังขับเคี่ยวกันอยู่แล้ว คือฝ่ายรัฐบาลกับเวียดกง และทั้งสองฝ่ายนี้มีกําลังทหารสําหรับใช้อาวุธสู้รบกันด้วย ถ้าพระสงฆ์นําชาวพุทธเข้าไปร่วมเวที ตนเองปราศจากกําลังทหารและอาวุธ จะสู้เพื่อเข้าครองอํานาจเองก็ไม่ใช่ ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจและความชํานาญเพียงพอก็ยิ่งจะทําให้เกิดความสับสนวุ่นวายมากขึ้น หรืออาจกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปได้โดยง่าย

เมื่อรัฐบาลโงดินห์เดียมล้มลงแล้ว รัฐบาลทหารขึ้นครองอํานาจแทน ชาวพุทธกลายเป็นพลังใหญ่ทางการเมืองถัดจากทหารและเวียดกง พระสงฆ์ต้องการจะฟื้นฟูปรับปรุงกิจการพระศาสนารวมชาวพุทธให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และจัดตั้งองค์การกลางชาวพุทธที่มีระบบงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงตกลงจัดให้มีการประชุมใหญ่ขึ้นที่วัดซาลอยในไซ่ง่อนระหว่างวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๐๖ ถึง ๓ มกราคม ๒๕๐๗ เรียกชื่อว่า "การประชุมใหญ่เพื่อรวมชาวพุทธเวียดนาม” รัฐบาลทหารซึ่งต้องการความสนับสนุนจากชาวพุทธก็ถวายความเห็นชอบเป็นอย่างดี สมาคมมวลพุทธบริษัทเวียดนาม (มหายาน) คณะสงฆ์เถรวาท และองค์การพุทธศาสนาอื่นๆ ในเวียดนามใต้ได้มาประชุมพิจารณาปรึกษาหารือร่วมกัน ผลการประชุมที่สําคัญคือ การรวมพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาทในเวียดนามใต้เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรียกว่า “สหพุทธจักรเวียดนาม” (The Unified Buddhist Church of Vietnam ย่อว่า UBCVN)7 เป็นองค์การที่มีระบบการบริหารและหน่วยงานต่างๆ ที่จะดําเนินกิจการพระพุทธศาสนาให้ได้ผลดีที่สุดในสังคมปัจจุบัน และรัฐบาลก็ได้ถวายที่ดินเป็นที่ตั้งองค์การใหม่นี้ ณ ชานกรุงไซ่ง่อน สํานักงานที่สร้างเสร็จแล้วคือ เวียนหว่าเด๋า (Vien Hoa Dao = สภาบริหารกลาง)

กิจการของสหพุทธจักรเวียดนาม เป็นไปตามกฎบัตรซึ่งมีบทบัญญัติ ๑๐ หมวด รวม ๓๖ มาตรา (ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมเป็น ๓๗ มาตรา) ตามกฎบัตรนี้ สหพุทธจักรเวียดนามมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุข และดําเนินงานโดยสภา ๒ สภา คือ สภาสูงสุดของคณะสงฆ์ (Vien Tang Thong - The Supreme Council of the Sangha) สภาบริหารกลาง (Vien Hoa Dao-the Cetral Executive Council) มีสาระสําคัญที่ควรทราบคือ

๑. สภาสูงสุดของคณะสงฆ์ มีอํานาจหน้าที่ทั้งด้านนิติบัญญัติ ด้านวินัยธร (ตุลาการ) และควบคุมดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในคณะสงฆ์ ประกอบด้วยหน่วยงาน ๒ อย่างคือ

๑) มหาเถรสมาคม (Assembly of Elders) ประกอบด้วย พระทรงสมณศักดิ์ชั้นสูง และพระมหาเถระอายุ ๔๐ ปี พรรษา ๒๐ ขึ้นไป จากนิกายทั้งสอง (มหายานและเถรวาท) ซึ่งสภาบริหารกลางพิจารณานํากราบทูลเสนอสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง จํานวนอย่างน้อย ๖๐ รูป ดํารงตําแหน่งไม่กําหนดวาระสิ้นสุด

๒) สํานักงานเลขาธิการ ประกอบด้วยเลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งจากพระมหาเถระที่เป็นสมาชิกของมหาเถรสมาคม

สมเด็จพระสังฆราชซึ่งทรงเป็นทั้งประมุขของสหพุทธจักรเวียดนาม นายกสภาสูงสุดของคณะสงฆ์ และประธานมหาเถรสมาคมนั้น มหาเถรสมาคมเลือกตั้งจากมหาเถระที่เป็นสมาชิกของมหาเถรสมาคมซึ่งมีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ดํารงตําแหน่งวาระละ ๓ ปี สมเด็จพระสังฆราชที่จะดํารงตําแหน่งสืบต่อไป ทรงสังกัดต่างนิกายหมุนเวียนกันไป และให้มีผู้ช่วยสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง ซึ่งมหาเถรสมาคมเลือกตั้งจากมหาเถระที่เป็นสมาชิกมหาเถรสมาคม ซึ่งมีคุณสมบัติอย่างเดียวกับสมเด็จพระสังฆราช แต่ต้องสังกัดนิกายต่างจากสมเด็จพระสังฆราช

๒. สภาบริหารกลาง ซึ่งสภาสูงสุดของคณะสงฆ์กราบทูลเสนอสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง มีอํานาจหน้าที่อํานวยการ ประสานงานกิจการทั้งหลายของสหพุทธจักรเวียดนาม โดยเฉพาะกิจการของสถาบันพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับรัฐและประชาชนทั่วไป ประกอบด้วย

  • ประธาน
  • รองประธาน ๒ ท่าน
  • อธิบดีทบวงการทุกทบวงการ
  • เลขาธิการ
  • เหรัญญิก

ประธานสภาบริหารกลาง ทําหน้าที่เป็นผู้แทนของสหพุทธจักรเวียดนามในกิจการทั่วไป ทุกตําแหน่งในสภาบริหารกลางมีวาระ ๒ ปี ผู้ดํารงตําแหน่งจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็ได้

ใน พ.ศ. ๒๕๐๘ ทบวงการต่างๆ มีจํานวน ๙ ทบวงการ (ทบวงการหนึ่งแบ่งย่อยออกไปเป็นบริการ) คือ

๑) ทบวงการคณะสงฆ์มี ๔ บริการ (ควบคุมดูแลพระภิกษุ ภิกษุณี แม่ชี ทั้งฝ่ายมหายาน และเถรวาท)

๒) ทบวงการเผยแผ่ มี ๓ บริการ

๓) ทบวงการศึกษา มี ๒ บริการ

๔) ทบวงการสังคมสงเคราะห์ มี ๓ บริการ

๕) ทบวงการวัฒนธรรม มี ๓ บริการ

๖) ทบวงการเยาวชน มี ๕ บริการ (บริการองค์การยุวพุทธิกะ, บริการนักเรียน นักศึกษาชาวพุทธ, บริการวัยรุ่น, บริการอาสาสมัครยุวพุทธ, บริการลูกเสือชาวพุทธ)

๗) ทบวงการศาสนสมบัติ มี ๒ บริการ

๘) ทบวงการนวกรรม มี ๒ บริการ (การก่อสร้างและปฏิสังขรณ์เกี่ยวกับศาสนา สังคม และวัฒนธรรม)

๙) ทบวงการคฤหัสถชน มี ๓ บริการ (บริการคฤหัสถ์อุตรนิกาย บริการคฤหัสถ์ทักษิณนิกาย บริการพุทธสมาคมฝ่ายคฤหัสถ์)

การบริหารงานในส่วนท้องถิ่น แบ่งเป็นภาค (๘ ภาค) จังหวัด (๕๒ จังหวัด) อําเภอ (๒๕๘ อําเภอ) และตําบล (๒,๑๙๑ ตําบล) มีเจ้าคณะภาค คณะกรรมการศาสนกิจจังหวัด คณะกรรมการศาสนกิจอําเภอ และคณะกรรมการศาสนกิจตําบล รับผิดชอบตามลําดับ สําหรับระดับจังหวัดและอําเภอนั้น คณะกรรมการมีรูปร่างเลียนแบบสภาบริหารกลาง คือ มีผู้แทนรับผิดชอบงานของแต่ละทบวงการร่วมอยู่ในคณะกรรมการด้วย แต่คณะกรรมการศาสนกิจตําบล มีเพียงประธาน รองประธาน เลขานุการ และผู้ช่วยเหรัญญิกและผู้ช่วย กับที่ปรึกษา ๔ ท่านเท่านั้น คณะกรรมการศาสนกิจ ๓ ระดับนี้ เท่ากับเป็นสภาบริหารกลางในท้องถิ่น ทําหน้าที่เป็นสาขาของทบวงทั้ง ๙ ในระดับจังหวัด อําเภอ และ ตําบล ส่วนกิจการของชาวพุทธเวียดนามในต่างประเทศ ก็มีหน่วยงานพิเศษรับผิดชอบต่างหากออกไป เรียกว่า กองการต่างประเทศ มีสํานักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส แบ่งส่วนงานเป็น ๑๑ แผนก ตามจํานวนประเทศที่เกี่ยวข้อง คือ ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น อินเดีย อังกฤษ สหรัฐฯ ประเทศไทย ลาว กัมพูชา สวิสฯ และแคนาดา

เมื่อพิจารณาดูระบบงานที่จัดวางไว้นี้ พอจะเห็นได้ว่า ผู้ตรากฎบัตรคงจะได้ศึกษาเปรียบเทียบระบบการปกครองคณะสงฆ์ในประเทศต่างๆ เป็นอย่างดีแล้ว จึงปรับปรุงวางรูปขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับความมุ่งหมายเฉพาะและสภาพของเวียดนาม (ดูเหมือนว่าจะมีส่วนประกอบแบบไทยและเกาหลีผสมอยู่มาก) นับว่าเป็นระบบที่ก้าวหน้าพอสมควร มีขอบข่ายงานกว้างขวางยิ่งกว่าระบบของประเทศพุทธศาสนาอื่นๆ หากจัดได้เต็มรูปก็จะทําให้กิจการพระศาสนาในเวียดนามมีลักษณะคล้ายเป็นรัฐอิสระ ตั้งขึ้นเป็นเอกเทศในท่ามกลางรัฐใหม่คือประเทศเวียดนามใต้

ลักษณะเช่นนี้มักมีคติเป็น ๒ คือ เป็นระบบที่ร่วมประสานกับรัฐ หรือไม่ก็กลายเป็นระบบที่แข่งอํานาจกับรัฐ ระบบตามกฎบัตรนี้ ดูเผินๆ ก็มีโครงสร้างแนวเดียวกับระบบการปกครองคณะสงฆ์ในประเทศไทย และยังมีส่วนประกอบเพิ่มเติมพิเศษออกไป ซึ่งจะนับว่าเป็นความก้าวหน้าต่อไปอีกก็ได้ แต่เมื่อพิจารณาสภาพแวดล้อมรอบด้านแล้ว จะเห็นว่ามีข้อแตกต่างสําคัญบางอย่าง ซึ่งโดยทั่วไปอาจจะถือว่าเป็นจุดอ่อนก็ได้ คือ

ประการที่หนึ่ง ระบบในประเทศไทยเป็นการจัดตั้งโดยอํานาจรัฐ ฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐตราขึ้นเป็นตัวบทกฎหมาย ทําให้กิจการพระศาสนาที่มีลักษณะเข้าข่ายต้องถูกรวมเข้าอยู่ในระบบทั้งหมด ไม่มีข้อยกเว้น ไม่ขึ้นต่อมีความสมัครใจหรือไม่ แต่ระบบของเวียดนามตามกฎบัตรนี้ ชาวพุทธคณะต่างๆ ตกลงร่วมใจกันจัดตั้งขึ้นเอง คณะใดสมัครใจและยอมรับก็เข้าร่วม คณะใดไม่สมัครใจ ไม่ยอมรับ ก็ไม่เข้าร่วม และไม่อาจบังคับได้ (และความจริงก็ปรากฏว่าคณะชาวพุทธเวียดนามบางพวกไม่เข้าร่วมระบบของสหพุทธจักรนี้ก็มี) อย่างไรก็ดี ระบบนี้ถ้าทุกคณะพร้อมใจกันเข้าร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งหมด (ซึ่งเป็นไปได้ยาก) หรือสามารถทําให้ปวงชนยอมรับนับถือจริงจัง ก็อาจกลับมีอํานาจเข้มแข็งยิ่งกว่าที่รัฐจะจัดตั้งให้

ประการที่สอง ระบบตามกฎบัตรนี้ ไม่ได้ระบุชัดถึงช่องทางสื่อหรือวิธีปฏิบัติสําหรับสัมพันธ์ หรือร่วมมือประสานงานกับรัฐ โอกาสที่จะเกิดความไม่เข้าใจกัน ขัดแย้งกัน หรือแข่งอํานาจกันกับรัฐจึงอาจเกิดขึ้นได้ง่าย ต่างกับระบบของคณะสงฆ์ไทย ซึ่งมีช่องทางเช่นนั้นมากมายตลอดทั้งระบบ ตั้งแต่ตําแหน่งประมุขของคณะสงฆ์ ซึ่งรัฐเป็นผู้รับรองด้วยการที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และในด้านการดําเนินงานก็มีส่วนราชการที่ตั้งขึ้นเพื่อทําหน้าที่นี้โดยเฉพาะ คือ กรมการศาสนาซึ่งเป็นสื่อกลางระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์และเป็นไวยาวัจกรของคณะสงฆ์

ประการที่สาม ระบบของคณะสงฆ์เวียดนามใต้ ขาดประสบการณ์ ขาดความเคยชิน หรืออย่างน้อยขาดประเพณีที่ต่อเนื่อง เกี่ยวกับการดําเนินงานและการวางตัวในท่ามกลางระบบของรัฐ ต่างกับระบบคณะสงฆ์ไทย ซึ่งมีประเพณีด้านนี้สืบเนื่องมาโดยตลอด จนความสัมพันธ์แทบทุกอย่างเข้ารูปลงตัว เกิดเป็นขนบธรรมเนียมต่างๆ เชื่อมโยงกันเป็นสายทั่วไปหมด สภาพเช่นนี้มีทั้งแง่ดีและแง่เสีย อย่างน้อยเรื่องที่ริเริ่มใหม่มักเข้ากับสภาวการณ์ปัจจุบันดีกว่า แต่มีโอกาสที่จะกระทบกระทั่ง ทําให้เกิดความระแวงหรือความไม่เข้าใจกันได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตาม คงจะต้องยอมรับว่า ภายในตัวระบบเอง การจัดโครงสร้างนับว่าดีมาก เอื้อต่อการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ สมกับเป็นระบบนี้ได้ปรับปรุงขึ้นจากระบบของประเทศอื่นๆ ที่มีอยู่ก่อน

ใน พ.ศ. ๒๕๐๖ ขณะที่กําลังต่อสู้กับรัฐบาลโงดินห์เดียม ชาวพุทธได้จัดตั้งคณะกรรมการผสมนานานิกายเพื่อพิทักษ์พระพุทธศาสนาขึ้น ซึ่งได้ทําหน้าที่ต่างๆ เช่น เจรจากับฝ่ายรัฐบาล เป็นต้น คณะกรรมการผสมผสานนานานิกายนั้นประกอบด้วยผู้แทนกลุ่มชาวพุทธเกือบทุกกลุ่มทุกคณะ แต่เมื่อจัดตั้งกันขึ้นใหม่เป็นสหพุทธจักรเวียดนาม ซึ่งเป็นองค์การที่มีระบบงานและกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัวมากขึ้น ชาวพุทธหัวเก่าบางกลุ่มและวัดบางวัดก็ไม่เข้าร่วมสหพุทธจักรเวียดนาม จึงรวมชาวพุทธไว้ไม่ได้หมดสิ้น แต่กระนั้นก็ตาม สหพุทธจักรก็เป็นองค์การใหญ่ มีอํานาจแผ่ไปในระดับต่างๆ อย่างกว้างขวางพอสมควร เช่น ในท้องถิ่นหลายแห่ง ก่อนจะตั้งพระภิกษุเข้าดํารงตําแหน่งใดๆ จําเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของสหพุทธจักรเวียดนามประจําท้องถิ่นนั้นก่อน เป็นต้น แต่กิจการที่เข้มแข็งมีอิทธิพลมากก็คือ งานด้านประชาชนในเมืองใหญ่ๆ ได้แก่ องค์การของฝ่ายคฤหัสถ์ งานสาธารณประโยชน์และขบวนการเยาวชน ดังจะเห็นได้จากสถิติกิจการใน พ.ศ. ๒๕๑๓ - ๒๕๑๔ เท่าที่ควรทราบ คือ

ทบวงการศึกษา มีมหาวิทยาลัย ๑ แห่ง (มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาวันฮันห์) สถาบันศึกษาพุทธศาสนาชั้นสูง ๑ แห่ง สถาบันพุทธศาสตร์ระดับปริญญาโท ๒ แห่ง สถาบันพุทธศาสตร์ระดับปริญญาตรี ๑๒ แห่ง โรงเรียนมัธยม ๖๕ แห่ง โรงเรียนประถม ๖๒ แห่ง โรงเรียนอนุบาล ๑๑ แห่ง สถาบันพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ๑ แห่ง สถาบันภิกษุณีและแม่ชี ๔ แห่ง

ทบวงการสังคมสงเคราะห์ มีสถานสงเคราะห์เด็กกําพร้า ๑๙ แห่ง (เด็ก ๔,๗๘๐ คน) สถานรับเลี้ยงและดูแลเด็ก ๒๔๔ แห่ง สถานสงเคราะห์เด็กกําพร้าและเลี้ยงดูแลเด็ก ๕๓ แห่ง คลีนิค ๖ แห่ง โอสถสถาน ๗๒ แห่ง

ทบวงการเยาวชน มีองค์การเยาวชนหลายแห่ง คือ องค์การยุวพุทธิกะ (เกีย ดินห์ ผัด ตู) องค์การลูกเสือชาวพุทธ องค์การนักเรียนมัธยมชาวพุทธ องค์การนิสิตนักศึกษาชาวพุทธ องค์การยุวพุทธอาสาสมัครบําเพ็ญประโยชน์ รวมมีสมาชิก ๒๖๗,๐๐๐ คน โดยเฉพาะองค์การยุวพุทธิกะซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นองค์การที่มีโครงสร้างดีมาก มีพื้นฐานด้านการศึกษาและการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาที่เข้มแข็งมั่นคง มีผู้นําและนักการศึกษากว่า ๑๕,๐๐๐ คน มีสมาชิก ๑๗๘,๒๐๘ คน สหพุทธจักรเวียดนามสามารถกล่าวอ้างว่า องค์การเยาวชนของตน เป็นขบวนการเยาวชนที่ใหญ่ที่สุด และมีการจัดตั้งดีที่สุดในเวียดนาม

ทบวงการคฤหัสถชน มีหลายองค์การ เช่น องค์การกรรมกรชาวพุทธ องค์การพ่อค้าย่อยชาวพุทธ สหพันธ์ลูกจ้างและข้าราชการ สมาคมครูชาวพุทธ สมาคมผู้ขับรถรับจ้างโดยสารชาวพุทธ พุทธิกสตรีสมาคม สมาคมเภสัชกรชาวพุทธ สมาคมนักเขียนและจิตรกรชาวพุทธ สมาคมกุลีชาวพุทธ สมาคมรถสามล้อมชาวพุทธ สมาคมสามล้อเครื่องชาวพุทธ เป็นต้น

มหาวิทยาลัยวันฮันห์ ตั้งขึ้นโดยสหพุทธจักรเวียดนาม และได้รับการรับรองจากรัฐบาลเวียดนาม เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๐๗ ปัจจุบันมี ๔ คณะ คือ คณะพุทธศาสตร์และบูรพาวิทยา คณะอักษรศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะภาษาศาสตร์ เฉพาะคณะพุทธศาสตร์และบูรพาวิทยา แบ่งเป็น ๙ ภาควิชา คือ ภาควิชาพุทธปรัชญา วรรณคดีพุทธศาสนา พุทธศาสนประวัติ พุทธศาสนาทั่วไป พุทธศาสนาในเวียดนาม ปรัชญาตะวันออก ปรัชญาอินเดีย ปรัชญาจีน และปรัชญาตะวันตก

มหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ มีคณาจารย์ ๖๘ ท่าน นักศึกษา ๑,๙๓๘ คน (คณะพุทธศาสตร์ ๒๑๖ อักษรศาสตร์ ๑๙๒ สังคมศาสตร์ ๑,๑๙๐ ศูนย์ภาษาซึ่งต่อมาเป็นคณะภาษาศาสตร์ ๓๔๐) เป็นชาย ๑,๓๕๑ คน หญิง ๕๘๑ คน นักศึกษาต่างประเทศ ๒๕ คน และมหาวิทยาลัยมีศูนย์ฝึกสมาธิสําหรับอาจารย์และนักศึกษา ซึ่งส่วนมากใช้วิธีอานาปานสติ

นอกจากมหาวิทยาลัยวันฮันห์และสถานศึกษาอื่นๆ ที่กล่าวแล้ว ยังมีโรงเรียนเยาวชนเพื่อสังคมสงเคราะห์ ซึ่งผลิตนักสังคมสงเคราะห์ออกไปช่วยชาวไร่ชาวนาในชนบท แก้ปัญหาเกี่ยวกับงานฟื้นฟูและพัฒนา ดําเนินงานพัฒนาท้องถิ่น ตลอดจนทํางานบรรเทาทุกข์ในเขตที่ประสบความเสียหายจากสงครามและภัยธรรมชาติ และวิทยาลัยนักเผยแผ่แห่งชาติ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๔ ทําหน้าที่ผลิตอนุศาสนาจารย์ให้แก่ทหาร องค์การและสมาคมต่างๆ ของชาวพุทธ โดยเฉพาะขบวนการทั้งหลายของเยาวชน เช่น ลูกเสือ และเนตรนารี เป็นต้น

ทางสหพุทธจักรเวียดนามประสบปัญหาความขาดแคลนอนุศาสนาจารย์ เพราะพระสงฆ์ผู้ฝึกอบรมมีจํานวนจํากัด และอุปกรณ์ในการฝึกอบรมมีไม่เพียงพอ จึงผลิตอนุศาสนาจารย์ไม่ทันกับความต้องการขององค์การและสมาคมทั้งหลาย หน่วยงานอนุศาสนาจารย์นี้เป็นกองกําลังสําคัญ เป็นฐานปฏิบัติการปลุกเร้าและโฆษณาของผู้นําชาวพุทธ ชาวพุทธได้ขอตั้งหน่วยนี้ขึ้นตั้งแต่สมัยโงดินห์เดียมแต่ไม่สําเร็จ ครั้นโงดินห์เดียมล้มแล้วจึงเริ่มดําเนินงานได้ อนุศาสนาจารย์เหล่านี้ทําหน้าที่สั่งสอนอบรมธรรม สวดอวยพรแก่ทหารผู้ไปสงครามและประกอบพิธีบําเพ็ญกุศลอุทิศผู้เสียชีวิต นอกจากนั้นทางหน่วยมีโครงการที่จะพัฒนาบทบาทของอนุศาสนาจารย์ ในการยกระดับมาตรฐานการครองชีพของครอบครัวทหารด้วย โดยจะช่วยจัดให้มีสหกรณ์ขายปัจจัย ๔ ในราคาถูกแก่ครอบครัวทหาร ช่วยจัดสรรที่อยู่อาศัย และบริการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ส่วนในด้านการเผยแผ่ทางเอกสาร สหพุทธจักรเวียดนามออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ๓ ฉบับ (สถิติจําหน่าย ๘๐,๐๐๐ ฉบับ) นิตยสารรายเดือน ๓ ฉบับ (สถิติจําหน่าย ๑๒๐,๐๐๐ ฉบับ) วารสารอื่นอีก ๒๕ ฉบับ (สถิติจําหน่าย ๔๐๐,๐๐๐ ฉบับ)

ด้วยระบบที่จัดวางไว้เป็นอย่างดี และกิจการที่ดําเนินไปอย่างเข้มแข็งเช่นนี้ ผู้นําชาวพุทธเวียดนามเชื่อว่า หลักพุทธศาสนาจะเป็นทางเลือกของเวียดนามใต้แทนลัทธิการเมืองของเวียดกง และชาวเวียดนามใต้จะสู้กับคอมมิวนิสต์ได้

อย่างไรก็ดี พระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้นําของชาวพุทธมีจุดอ่อนสําคัญ คือ ความไม่พร้อมที่จะเข้าสวมบทบาทรับภาระหน้าที่ที่มาถึงนี้ได้ เพราะขาดพื้นฐานทางการศึกษา ด้วยว่า ตลอดเวลาเกือบ ๑๐๐ ปีที่ฝรั่งเศสยึดครองเวียดนาม ประชาชนทั่วไปถูกปล่อยปละละเลยไม่ได้รับการศึกษา พระสงฆ์ที่เป็นผู้นําชาวพุทธล้วนมาจากตระกูลชาวไร่ชาวนา ได้ศึกษาเล่าเรียนบ้างก็แต่เพียงความรู้ในแบบแผนเก่าๆ ที่สืบมาตามประเพณี น้อยองค์นักที่จะพูดภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ ได้ มียกเว้นแต่ภาษาญี่ปุ่นซึ่งบางรูปได้ไปเล่าเรียนในสมัยใหม่นี้เอง ในวงการเมืองถือว่าพระสงฆ์เป็นกลุ่มชนผู้ด้อยหรือไร้การศึกษา มีลักษณะเด่นคือกลัวและดูถูกวัฒนธรรมจากภายนอก แต่มีกําลังอิทธิพลอยู่ในหมู่ราษฎร

ในด้านความไม่พร้อมทางการศึกษานี้ เอกสารของสหพุทธจักรเวียดนามเองก็ยอมรับอย่างชัดแจ้ง โดยกล่าว (เอกสารหน้า ๒๑) ว่า

“หลังจากการปฏิวัติวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๑๙๖๓ ซึ่งโค่นล้มระบอบของประธานาธิบดีโงดินห์เดียมลงได้แล้ว พระพุทธศาสนาก็มีเกียรติฐานะเลื่อนเด่นขึ้นถึงจุดสูงสุด และชักนําให้ปัญญาชน นักศึกษา ตลอดถึงเยาวชนจํานวนมากหันมาสนใจ อย่างไรก็ดี เมื่อถึงตอนนี้ พระพุทธศาสนากลับยังไม่พร้อมที่จะฉลองศรัทธาอันแรงกล้านั้นให้บริบูรณ์ได้ พระภิกษุส่วนใหญ่มิได้รับการฝึกฝนมาเพื่อแบกภารกิจใหม่ของพระพุทธศาสนา ท่านได้รับการฝึกสอนมาสําหรับจะสวดมนตร์ นั่งสมาธิ และแสดงพระธรรมเทศนา จึงบังเกิดความอึดอัดกระอักกระอ่วนใจที่จะเข้าสวมรับบทบาทเป็นผู้นําที่มีความรับผิดชอบอันเขาจับยัดเยียดให้อย่างฉับพลันทันใด ในเมื่อความต้องการผู้นําที่รับผิดชอบกําลังเร่งร้อน พระภิกษุและคฤหัสถ์ที่มีความสามารถและประสบการณ์เพียงพอกลับมีจํานวนเพียงเล็กน้อย ....

เพราะฉะนั้น การขาดแคลนบุคคลผู้มีคุณสมบัติจึงเป็นภาวะที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้นําชาวพุทธจําใจต้องจับเอาคนที่มีความสามารถด้อยสักหน่อยมาใช้งาน แม้เขาจะเป็นชาวพุทธแต่เพียงโดยคําเอ่ยอ้างหาใช่เป็นชาวพุทธที่แท้จริงไม่ ยิ่งกว่านั้น ใน พ.ศ. ๒๕๐๗ และ ๒๕๐๘ พวกคนเก่าของพรรคคานเหลาเดิมของโงดินห์นูที่หลงเหลืออยู่ก็ได้กลับเริ่มต้นทํางานเก่าที่พวกเขาเคยคุ้นอีก ทําให้เกิดความลําบากยุ่งยากอย่างมากมายแก่สหพุทธจักรเวียดนาม ซึ่งยังเป็นองค์การใหม่อยู่ สหพุทธจักรต้องผจญกับการลอบทําลาย การแก้แค้น และความพยายามที่จะหวนคืนสู่อํานาจของคนพวกนี้ ซึ่งเพียงเรื่องนี้อย่างเดียวก็สิ้นเปลืองพละกําลังมากอยู่แล้ว มิหนําซ้ำยังมีพวกนักฉวยโอกาสเล็ดลอดเข้ามา แทรกอยู่ในกลุ่มบริษัทบริวารของผู้นําสหพุทธจักร แล้วแสวงหาผลประโยชน์จากอิทธิพลของสหพุทธจักรอีกด้วย อิทธิพลที่นักฉวยโอกาสเหล่านี้มีต่อพระสงฆ์ นับได้ว่าเป็นสาเหตุสําคัญแห่งความผิดพลาดหลายอย่างของพระภิกษุเหล่านั้น”

บรรดาผู้นําชาวพุทธทั้งหลายนั้น มีผู้นําสองท่านที่ควรทราบ เพราะดํารงตําแหน่งสําคัญในคณะสงฆ์เวียดนาม เป็นผู้มีบทบาทสําคัญในการโค่นล้มรัฐบาลโงดินห์เดียม และเป็นตัวจักรสําคัญที่ทําให้เกิดความเจริญและความเสื่อมแก่สหพุทธจักรเวียดนามในสมัยต่อๆ มา ท่านแรกคือ พระถิช ตรีกวาง แห่งเมืองเว้ เดิมดํารงตําแหน่งประธานพุทธสมาคมแห่งเวียดนามกลาง ต่อมาเมื่อจัดตั้งสหพุทธจักรเวียดนามแล้ว ได้เปลี่ยนมาดํารงตําแหน่งเลขาธิการสภาสูงสุดของคณะสงฆ์ นักข่าวต่างประเทศถือว่าท่านเป็นพระหัวรุนแรงหรือพวกเลือดนักสู้

ท่านที่สองคือ พระถิช ทัมเจา แห่งเมืองไซ่ง่อน ดํารงตําแหน่งประธานสภาบริหารกลางของสหพุทธจักรเวียดนาม เป็นผู้ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างสุดแรงแต่มีนิสัยน้อมไปในทางประนีประนอมชอบการเจรจา นักสื่อข่าวต่างประเทศถือว่าท่านเป็นพวกรู้จักผ่อนปรน หรือพวกอะลุ้มอล่วย พระถิช ตรีกวาง กับ พระถิช ทัมเจา นี้ได้เริ่มขัดแย้งกันตั้งแต่สมัยต่อสู้กับรัฐบาลโงดินห์เดียม ต่อมาภายหลัง ท่านทั้งสองได้ขัดแย้งและแตกแยกกันรุนแรงยิ่งขึ้นจนเป็นเหตุอย่างหนึ่งให้สหพุทธจักรเวียดนามอ่อนแอลง

หันกลับไปมองด้านเหตุการณ์ของประเทศ เมื่อโค่นล้มรัฐบาลโงดินห์เดียมลงได้ใน พ.ศ. ๒๕๐๖ แล้ว นายพลเดือง วันมินห์ (มินห์ใหญ่) ปกครองอยู่ได้ไม่นาน คณะทหารเห็นว่ารัฐบาลมีท่าทีจะเป็นกลางมากเกินไป การปราบคอมมิวนิสต์จะไม่ได้ผลดี จึงทํารัฐประหาร แล้ว นายพลเหงียน คานห์ ขึ้นครองอํานาจ ส่วนทางด้านพุทธศาสนา พระสงฆ์ที่เป็นผู้นําชาวพุทธก็มีกําลังอํานาจมาก เกียรติฐานะของพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ดีเด่น ชาวพุทธก็รวมกําลังกันสนับสนุน ขบวนการต่างๆ เช่น องค์การเยาวชนที่เป็นฐานกําลัง พร้อมจะปฏิบัติการตามคําสั่งก็มีมาก ผู้นําในวงการภายนอกก็หันมาสนใจ รัฐบาลทหารที่เข้ามาใหม่ก็ต้องเอาใจ พระก็สามารถพูดเสียงดังเข้าไปถึงกลางเวทีการเมือง ถึงแม้จุดหมายหลักคือการโค่นรัฐบาลร้ายจะเสร็จสิ้นแล้ว แต่พระสงฆ์เหล่านั้นยังพอใจที่จะใช้อํานาจทางการเมืองต่อไป แม้ว่าท่านจะไม่ต้องการเข้าไปเป็นรัฐบาลเอง แต่ท่านก็ต้องการให้คณะสงฆ์มีเสียงในรัฐบาล หรือรัฐบาลต้องรับฟังคณะสงฆ์ ทํานองว่าให้พระสงฆ์เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล ต้องการให้พระสงฆ์มีอํานาจอย่างเดียวกับที่รัฐบาลเดียมเคยให้แก่คณะนักบวชและศาสนิกคาทอลิค ต้องการให้คนที่คณะสงฆ์เลือกหรือเห็นเหมาะสมเข้าไปดํารงตําแหน่งในรัฐบาล ต้องการให้รัฐอุปถัมภ์พระพุทธศาสนามากขึ้น และต้องการให้เยาวชนชาวพุทธมีสิทธิ มีส่วนในชะตากรรมของสังคมเวียดนามมากขึ้น

ดังนั้น พอถึงปลายปี ๒๕๐๗ พระสงฆ์ก็เริ่มบทบาททางการเมืองอีก โดยร้องว่ามีคนของโงดินห์เดียมหลงเหลืออยู่ในคณะรัฐบาลมาก แล้วใช้อิทธิพลบีบให้รัฐบาลแก้ไขเสีย ฝ่ายพวกคาทอลิกกลัวว่ารัฐบาลจะสนับสนุนชาวพุทธมากเกินไป จึงประท้วงขึ้น ต่อมาเกิดการปะทะระหว่างชาวพุทธกับชาวคริสต์ มีคนตายจากความวุ่นวายเหล่านี้ราว ๓๐ คน บาดเจ็บหลายร้อยคน

จากนั้น พระถิช ตรีกวางวางแผนตั้งองค์การการเมืองของชาวพุทธ ต่อมาอาศัยฐานทางฝ่ายนักศึกษาก็เกิดสภาประชาชนเพื่อการกู้ชาติขึ้น เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กองกําลังปฏิวัติของประชาชน เป็นขั้นตอนที่จะตั้งพรรคการเมืองของคฤหัสถ์ชาวพุทธต่อไป มีคติพรรคว่า “ชําระรัฐบาล เอาพวกคานเหลา (องค์การลับของโงดินห์เดียมและโงดินห์นู) ออกไป”

จากนั้นนักศึกษาก็ก่อความวุ่นวาย มีการเข้ายึดสถานีวิทยุกระจายเสียงเป็นต้น พวกเวียดกงได้โอกาสเข้าแทรก เปลี่ยนการเดินขบวนจากการชําระรัฐบาล เป็นการเดินขบวนต่อต้านสงคราม รัฐบาลต้องประกาศกฎอัยการศึกระงับเหตุวุ่นวาย สภาประชาชนเพื่อการกู้ชาติก็เสื่อมความเชื่อถือลง ส่วนนายพลเหงียนคานท์ก็ต้องลาออก ปฏิรูปคณะรัฐบาลใหม่ให้นายทหารใหญ่ ๓ คนร่วมกันปกครอง แต่ไม่ทันนานพระและนักศึกษาก็บีบว่าควรให้รัฐบาลพลเรือนปกครองประเทศ ทหารไปรบไม่ต้องยุ่งการเมือง จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ได้ นายตรันวันเฮือง อดีตนายกเทศมนตรีไซ่ง่อน ที่ชาวพุทธนิยมรักใคร่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ทันถึงเดือน พระและนักศึกษาก็ขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรีเฮือง หาว่าคณะรัฐบาลของเฮืองมีแต่นักวิชาการอ่อนแอเกินไป และต่อมาว่าเฮืองใช้กลวิธีอย่างเดียวกับโงดินห์เดียม มีนโยบายชั่วร้ายต่อพุทธศาสนาจะแยกการเมืองออกจากศาสนา จากนั้นก็เกิดเหตุวุ่นวายใหม่อีก ในที่สุดพวกทหารหนุ่ม “ยังเตอร์กส์” ก็ยึดอํานาจโค่นรัฐบาลพลเรือนของเฮืองลง ตั้งรัฐบาลใหม่ การขัดแย้ง บีบคั้น จากชาวพุทธ ความวุ่นวายและการเปลี่ยนรัฐบาลดําเนินต่อไปอีก จนในที่สุด วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๐๘ นายพลเหงียนเกากี แม่ทัพอากาศก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี รวบอํานาจไว้กับฝ่ายทหารทั้งหมด เป็นการตั้งต้นใหม่ สรุปรวมตั้งแต่โค่นโงดินห์เดียมลงถึงนายพลเหงียนเกากีขึ้นปกครอง มีการเปลี่ยนรัฐบาลภายในเวลา ๑ ปี ๘ เดือน ถึง ๙ ครั้ง

ความวุ่นวายของบ้านเมือง และการขาดเสถียรภาพของรัฐบาลตลอดเวลาต่อเนื่องกันนานๆ ทําให้สังคมเวียดนามใต้มีสภาพอ่อนแอเรรวน ขาดแรงต้านทานและง่ายต่อการแทรกแซงจากภายนอก ฝ่ายผู้นําชาวพุทธแม้จะมีกําลังอิทธิพลมาก สามารถบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ แต่เมื่อเหตุการณ์บานออกไป ตนเองก็ไม่อาจควบคุมได้ เมื่อตั้งขบวนการทางการเมืองของตนขึ้นมา ขบวนการนั้นก็เกิดขึ้นจริงๆ และออกโรงมีบทบาทใช้อํานาจได้จริง แต่แล้วพองานขยายออกไปก็เกินความสามารถของตนที่จะจัดรูปคุมร่างไว้ได้ เลยควบคุมไม่อยู่ กลายเป็นเกิดผลเสียขึ้นแทน พวกที่ได้ผลประโยชน์เป็นชิ้นเป็นอันจากสภาพเช่นนี้ก็คือพวกเวียดกง ส่วนพระผู้นําชาวพุทธ ก็ได้รับภาพที่เขาตราให้ว่า ถึงจะมีอํานาจ ก็ใช้อํานาจได้แต่ในแง่ลบ ชอบวิพากย์วิจารณ์โดยไม่มีความรับผิดชอบ ดีแต่ต่อต้านรัฐบาล มิได้สร้างสรรค์อะไรที่เป็นสาระ นอกจากนั้น ความแตกแยกขัดแย้งระหว่างผู้นําชาวพุทธเอง คือ พระถิช ตรีกวาง กับ พระถิช ทัมเจา ก็กว้างขวางรุนแรงมากขึ้น พระถิช ตรีกวาง ยังมุ่งแต่จะเดินหน้าไปด้วยวิธีรุนแรง ออกโรงโจ่งแจ้ง ใช้พลังหมู่เข้าว่า ส่วนพระถิช ทัมเจา ต้องการทํางานแบบเดินแผน โดยรู้จักใช้วิธีผ่อนปรน และการเจรจาเป็นทางเดิน ในเวลาเดียวกันชาวพุทธคฤหัสถ์ เริ่มเบื่อต่อบทบาทของพระสงฆ์เหล่านี้ เห็นว่าพระชักจะซุ่มซ่ามเลยเถิด เจ้ากี้เจ้าการในเรื่องการเมือง ทําอะไรวุ่นๆ ไม่เข้าเรื่อง จึงขอให้พระชลอๆ ลงบ้าง ผ่อนด้านการเมืองลง ขอให้หันมาสร้างเสริมกิจการภายในองค์การของตนให้เข้มแข็งมั่นคง วัดต่างๆ ทั่วเวียดนามใต้จึงหันมาใส่ใจดําเนินงานด้านการศึกษาและการเผยแผ่ธรรมมากขึ้น

ความสงบคงอยู่ได้ไม่นาน พอถึงเดือนมีนาคม ๒๕๐๙ พระผู้นําก็เริ่มขัดแย้งกับนายพลเหงียนเกากี นายพลเหงียนเกากีปลดนายพลผู้บัญชาการกองทัพที่ ๑ ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวพุทธ สหพุทธจักรเวียดนามก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จัดการเลือกตั้ง และให้นายพลทั้งหลายกลับไปทําหน้าที่ทางทหาร ชาวพุทธหัวรุนแรงมี พระถิช ตรีกวาง เป็นผู้นํา เริ่มบีบรัฐบาลอย่างหนัก และเพราะความมั่นใจในพละกำลังของตนจึงใช้วิธีรุนแรงแต่เริ่มต้น ต่างกับสมัยต่อสู้กับโงดินห์เดียม ซึ่งใช้วิธีนุ่มนวลก่อน เมื่อได้กําลังฝูงชนสนับสนุนแล้วจึงกล้าปะทะเต็มที่ แต่ทางฝ่ายนายพลเหงียนเกากี ก็มั่นใจในกําลังและวิธีการของตนเช่นเดียวกัน จึงไม่ยอมอ่อนข้อให้ และได้ตอบโต้อย่างรุนแรง วิกฤติการณ์ชาวพุทธแห่ง พ.ศ. ๒๕๐๙ จึงเกิดขึ้นย้อนรอยวิกฤติการณ์ชาวพุทธแห่ง พ.ศ. ๒๕๐๖ เพื่อนํากําลังอํานาจการเมืองของพระสงฆ์ที่ได้เกิดขึ้นและตั้งอยู่แล้ว ไปสู่ความดับให้ครบกระบวนแห่งคติธรรมดา วิธีการบีบคั้นรัฐบาลก็คล้ายกับวิธีการที่เคยใช้มาแล้ว เช่น นักศึกษาเคลื่อนขบวนไปยึดสถานีวิทยุกระจายเสียงที่เมืองเว้ แต่คราวนี้ดูแรกเริ่มเหมือนว่ารัฐบาลน่าจะสั่นคลอนมาก เพราะราชการเมืองเว้ เมืองดานัง และเมืองฮอยอัน รวมทั้งกองทัพที่ ๑ เข้าด้วยกับฝ่ายพระ และทําท่าว่าจะเป็นขบถต่อรัฐบาล เมื่อนักศึกษาเข้ายึดสถานีวิทยุเมืองเว้ ทหารที่รักษาการณ์ก็เปิดทางให้เหมือนอย่างรู้กัน

ฝ่ายนายพลกีเริ่มต้นตอบสนองด้วยวิธีนุ่มนวลใจเย็น มีการเจรจากับพระถิช ทัมเจาซึ่งเป็นพระฝ่ายนิยมผ่อนปรนและตกลงตามข้อเรียกร้อง ๑๐ ข้อของชาวพุทธ ซึ่งเป็นเรื่องทางการเมืองทั้งสิ้น ไม่มีเรื่องทางศาสนาเลย เช่น

ข้อที่ ๑ ว่า คณะทหารผู้อํานวยการปกครองพึงแถลงอย่างชัดแจ้งว่า ตนปฏิบัติหน้าที่เพียงชั่วคราว และจะถอนตัวออกไปในทันทีที่มีการเลือกตั้งรัฐสภา

ข้อ ๓ ว่า คณะทหารผู้อํานวยการปกครอง พึงแต่งตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายเลือกตั้งและจัดเตรียมการอื่นๆ เพื่อให้มีการเลือกตั้ง

ข้อ ๔ ว่า รัฐบาลพึงดําเนินการทุกวิถีทางที่จําเป็นเพื่อมิให้มีพวกคอมมิวนิสต์ และพวกนิยมความเป็นกลางแทรกซึมเข้ามาในตําแหน่งต่างๆ แห่งสภาที่ได้รับการเลือกตั้งนั้น

ข้อ ๖ ว่า พึงส่งเสริมให้มีการก่อตั้งพรรคการเมือง

ข้อ ๑๐ ว่า ประชาชาติพึงร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อปราบลัทธิคอมมิวนิสต์และฟื้นฟูสันติภาพ

อย่างไรก็ดี พอชาวพุทธเงียบลง นายพลกีก็เริ่มรุกทันที เริ่มด้วยใช้กําลังทหารเข้ายึดกองทัพ ๑ ที่เข้ากับชาวพุทธ ยึดสถานีวิทยุกลับคืน ยึดเมืองดานัง ยึดวัดสําคัญของเมืองนั้น เมื่อชาวพุทธต่อต้าน ทหารก็ปราบปรามอย่างเฉียบขาด มีคนตาย ๘๐ บาดเจ็บ ๓๐๐ คน ทหารรัฐบาลต้องปราบทั้งทหารฝ่ายขบถและทัพเด็กลูกเสือเป็นต้น ต่อจากดานัง ทหารรัฐบาลก็เข้ายึดเมืองเว้คืน เด็กๆ และนักศึกษาได้เผาหนังสือเกือบทั้งหมดในห้องสมุดยูซิส และเผาสถานกงสุลอเมริกัน

เมื่อชาวพุทธเพลี่ยงพล้ำลงกลายเป็นเบี้ยล่าง และจะหมดทางสู้แล้ว ก็หันกลับไปใช้วิธีการเก่าอีกให้เห็นว่ารัฐบาลกดขี่ประหัตประหาร คือ การเผาตัวตาย และเดินขบวน เริ่มแต่วันที่ ๒๙ พฤษภาคม มีผู้เผาตัวถึงแก่กรรมทั้งหมด ๙ ราย มีทั้งภิกษุณี พระภิกษุ สามเณร และนักศึกษาสาว แต่คราวนี้เสียงตอบสนองของประชาชนที่มีต่อการเผาตัวมีน้อยมาก คนทั่วไปไม่สู้รู้สึกสะเทือนใจหรือเห็นใจเท่าใด ทั้งนี้เพราะไม่เห็นสาเหตุสมกับการกระทํา ในที่สุดทหารรัฐบาลก็ยึดเมืองเว้ได้ และต่อมาก็เข้ายึดสํานักงานสภาบริหารกลางของสหพุทธจักรเวียดนาม (เวียนหว่าเด๋า) ที่เมืองไซ่ง่อนสําเร็จ วิกฤติการณ์ก็สิ้นสุดลงในวันที่ ๒๓ มิถุนายน

จากนั้นนายกรัฐมนตรีเหงียนเกากีก็มีสาสน์ไปกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช เพื่อชี้แจงให้เห็นว่า รัฐบาลมิได้มีเจตนากดขี่บีบคั้นพระศาสนาแต่อย่างใดเลย แต่ดําเนินการทุกอย่างไปเพื่อฟื้นฟูพลังอํานาจของชาติและความเป็นปึกแผ่นในการต่อสู้กับพวกคอมมิวนิสต์ ด้วยปรารถนาจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ เขายินดีจะชดใช้ค่าเสียหายแก่วัดและบ้านเรือนราษฎรที่เสียหาย และขอให้พระสงฆ์เลิกการกระทําที่เป็นการต่อต้านรัฐบาล ตามข้อความตอนท้ายในสาสน์ว่า

“(ยุติ) การกระทําต่างๆ ซึ่งไม่แต่เพียงจะกระทบกระเทือนต่อพลังของชาติ และความสามารถในการต่อสู้ของประชาชนทั้งมวลเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายต่อพระศาสนาอีกด้วย ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงเจริญด้วยสุขภาพพลานามัยจรรโลงพระบวรพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองสืบไป”

ผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ได้สังเกตและศึกษาเหตุการณ์โดยตลอด ได้ชี้สาเหตุแห่งความพ่ายแพ้หรือล้มเหลวแห่งการต่อสู้ของพระผู้นําเหล่านี้ว่า นอกจากท่านจะเก็งความแข็งแกร่งเหนียวแน่นของนายพลกีผิดและรู้ไม่ทันอุบายของเขาแล้ว สิ่งสําคัญที่สุดก็คือ เหตุผลในการกระทําทั้งนี้ไม่สามารถทําให้ประชาชนส่วนใหญ่พลอยเห็นดีเห็นชอบและเร้าใจเขาให้เกิดอารมณ์ร่วมเข้ามารวมพลังสนับสนุนอย่างพร้อมเพรียงได้ ต่างจากเหตุการณ์ใน พ.ศ.๒๕๐๖ สมัยโค่นโงดินห์เดียม ครั้งนั้นเหตุเริ่มแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระศาสนา แต่ผู้บริหารประเทศดื้อรั้นไม่แก้ไขด้วยดี จึงบานปลายออกไปกลายเป็นการต่อสู้ทางการเมือง ส่วนเหตุการณ์คราวหลังนี้เป็นกรณีทางการเมืองอย่างโจ่งแจ้งมาแต่ต้น ต่อเมื่อเห็นว่าจะสู้เขาไม่ไหว จึงพยายามแปรรูปให้เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องพระศาสนา

นอกจากนั้น พระผู้นําก็แตกแยกขัดแย้งกันอย่างรุนแรง พระถิช ตรีกวางระดมกําลังคนเข้าต่อสู้ ส่วนพระถิช ทัมเจาต้องการเจรจาประนีประนอม เมื่อการต่อสู้พ่ายแพ้ลงแล้ว พระถิช ตรีกวางก็กลายเป็นพระสิ้นฤทธิ์ หรือจ๋องไป ส่วนพระถิช ทัมเจาเมื่อพระถิช ตรีกวางหมดทางไป กําลังจะพ่ายแพ้แน่นอนอยู่แล้ว ก็วิพากษ์วิจารณ์ตําหนิพระถิช ตรีกวางอย่างเปิดเผย และถึงกับกล่าวว่า พระถิช ตรีกวางไม่มีสิทธิที่จะเข้ามายุ่มย่ามในกิจการของสภาบริหารกลาง (เวียนหว่าเด๋า)

อย่างไรก็ตาม แม้ชาวพุทธหัวรุนแรงจะไม่ประสบความสําเร็จตามจุดมุ่งหมายของตน แต่ผลต่อบ้านเมืองก็มีอยู่บ้าง คือ ช่วยเร่งรัดกําหนดเวลา ทําให้นายพลกีต้องรักษาสัญญาที่จะจัดให้มีการเลือกตั้ง ส่วนพวกชาวพุทธหัวรุนแรงเองนอกจากจะไม่มีโอกาสใช้อิทธิพลของตนหมุนการเลือกตั้งให้เป็นไปดังใจหวังแล้ว ก็ยังไม่ได้มีส่วนร่วมมือช่วยสนับสนุนการเลือกตั้งอีกด้วย เมื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาถึงในวันที่ ๑๑ กันยายน สหพุทธจักรเวียดนามบอยคอตต์การเลือกตั้งและชักจูงคนของตนไม่ให้ไปลงคะแนนเสียง แต่เสียงของพระหัวรุนแรงก็ไม่สู้มีใครทําตาม ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ทหารได้ที่นั่ง ๒๐ ที่ ผู้แทนที่สหพุทธจักรเวียดนามคัดตัวไว้ไม่ได้ที่นั่งเลย มีแต่ชาวพุทธในนามได้ ๓๔ ที่ ชาวคาทอลิคได้ ๓๐ ที่ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าชาวคาทอลิคมีการจัดตั้งและเดินแผนงานได้ผลเป็นอย่างดี เมื่อสรุปผลการเลือกตั้งแล้ว นายพลกีกล่าวแก่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่า เขาเชื่อว่า เรื่องที่ชาวพุทธเป็นพลังการเมืองกลุ่มหนึ่งในเวียดนามใต้นั้น เป็นอันปิดฉากจบสิ้นกันเสียที ที่พยายามจะโค่นกี ก็พ่ายแพ้ยับเยิน ที่ภายในพวกตนเองก็แตกแยกกันจนกะปลกกะเปลี้ย

อย่างไรก็ดี นักหนังสือพิมพ์อย่างนายเชคเตอร์เชื่อว่า พลังที่แท้จริงของชาวพุทธหาได้หมดสิ้นไปไม่ พลังที่เป็นหมันหมดความหมายไปคือ พลังนักต่อสู้แบบออกโรงปาวๆ เต้นร้องระดมพลังหมู่กลางฝูงชนเท่านั้น เรียกอีกอย่างว่า ยุคหลวงพี่ระดมพลกลางท้องถนน (monks and mobs in the street) นั้น หมดสมัยเสียแล้ว แต่ฐานะของวัดและพระสงฆ์ในแต่ละชุมชนยังคงอยู่ พลังหลักอันเกิดจากการที่พระธํารงรักษาสาระที่เป็นเอกลักษณ์แห่งความเป็นพระแบบพุทธของตนไว้ได้มั่น แล้วถ่ายทอดกระแสปัญญาญาณและอิทธิพลแห่งคุณธรรมออกมาสู่สังคม รวมกับพลังชาวพุทธคฤหัสถ์ที่มีวิจารณญาณ โดยมีประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวพุทธเป็นพลังมวลชนรองรับอยู่เบื้องล่าง พลังดังกล่าวนี้ ยังเป็นอํานาจสําคัญยิ่งใหญ่ที่ฝ่ายบ้านเมืองยังต้องใส่ใจหรือต้องพึ่งอาศัย การที่นายพลเหงียนเกากีรีบส่งสาส์นมากราบทูลสมเด็จพระสังฆราชแห่งสหพุทธจักรเวียดนาม (และถึงพระถิช ทัมเจาด้วย) เมื่อวิกฤติการณ์สิ้นสุดลงเป็นเครื่องยืนยันความที่ว่ามานี้อยู่โดยนัย

บทส่งท้าย:

ก่อนกล่าวถึงเหตุการณ์ต่อไป ควรทราบสภาพบางอย่างของพระพุทธศาสนาในสังคมเวียดนามใต้ หรือสาธารณรัฐเวียดนามเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย หมู่บ้านเวียดนามเกือบทุกหมู่ มีศูนย์กลางชุมชนอยู่ ๒ แห่ง คือ

๑. ศาลเจ้า หรือโรงบูชาเทพารักษ์ที่เรียกว่า ดินห์ (Dinh) เป็นศาลาประชาคม หรือที่ชุมนุมของชาวบ้าน และเป็นที่บูชาเทพารักษ์ประจําหมู่บ้าน

๒. ศาลเจดีย์ หรือโรงเจดีย์ หรือหอเจดีย์ ที่เรียกว่า จัว (Chua = Pagoda) เป็นที่บูชาพระพุทธเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนา และเป็นที่ประกอบพิธีบูชาหรืองานเทศกาลทางพระพุทธศาสนา เช่น พิธีวัน ๑ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และงานทําบุญศราทธ์กลางเดือน ๗ เป็นต้น พระพุทธศาสนาอย่างที่นับถือปฏิบัติตามศาลเจดีย์เหล่านั้น เป็นรูปผสมระหว่างนิกายเธียน (เซน) กับตินห์โด (ชิน) หรือเป็นศาสนาแบบชาวบ้าน ไม่สู้มีเนื้อหาหลักธรรมลึกซึ้งอะไร คือ เป็นลัทธิบูชาพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ พระอรหันต์ หรือปูชนียบุคคลของจีน เช่น พระกวาน อาม (กวนอิม = พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ที่จีนแปลงไปเป็นสตรี) พระวานธู (พระมัญชุศรีโพธิสัตว์) พระโฟเหียน (พระโพธิสัตว์สมันตภัทร) พระคาเดียป (พระกัสสป) เป็นต้น ในศาลเจดีย์หลายแห่งอาจมีพระสงฆ์อยู่บ้าง ๒-๓ รูป ตามปกติลัทธิผสมที่ว่ามานี้ (เธียน + ตินห์โด) มีอุบาสกอยู่ประเภทหนึ่งสําหรับเป็นพิธีกรและทําหน้าที่อื่นๆ ทางศาสนา เรียกว่า คูสี (Cu-si) (คงจะคล้ายกับพระพิธีกรในนิกายชินของญี่ปุ่นกระมัง)

นอกจากศาสนสถาน ๒ อย่างนี้แล้ว บางหมู่บ้านอาจมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในลัทธิขงจื้อ เรียกว่า เมียว (Mieu) ซึ่งสร้างอุทิศแด่ปราชญ์ในลัทธิขงจื้อเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งด้วย ส่วนวัดทางพระพุทธศาสนาขนาดใหญ่ๆ มีอยู่ไม่สู้มาก และหลายวัดเป็นของนิกายเธียน วัดเธียนเหล่านี้เป็นแหล่งให้การศึกษาธรรมวินัย และเป็นที่ฝึกสอนสมาธิแก่พระสงฆ์นิกายเธียนสาขาเก่าๆ ที่เหลืออยู่ มีสาขาเดียวคือ สาขาเถาเดือง (นิกายเธียนที่ ๓) ซึ่งปัจจุบันเป็นสาขาเล็กเหลือเกิน นอกนั้นเป็นสาขาที่เกิดภายหลัง (อย่างเก่าที่สุดคือ ตรึ๊กลัม เริ่ม พ.ศ. ๑๘๒๑ นอกนั้นเริ่มกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ เป็นต้นมา) อีกราว ๖-๗ สาขา สมณศักดิ์ของพระสงฆ์แบ่งเป็นชั้นๆ ตามแบบที่มีมาแต่โบราณ ผู้ที่จะเลื่อนชั้นสมณศักดิ์ได้ต้องผ่านการสอบไล่โดยรัฐเป็นผู้ควบคุม สมณศักดิ์เหล่านี้เมื่อเวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสแล้ว ก็หมดความศักดิ์สิทธิ์เป็นสักว่ามี ต่อเมื่อตั้งสหพุทธจักรเวียดนามขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๐๗ แล้ว สภาสูงสุดของคณะสงฆ์จึงฟื้นฟูระบบสอบตั้งสมณศักดิ์ขึ้นใหม่ ให้มีการสอบอย่างเคร่งครัด พระสมณศักดิ์สูงสุดเรียกว่า หว่าเธือง ร่วมกันทําหน้าที่เป็นสภาสูงสุดของคณะสงฆ์ (เวียนถังธอง) คณะพระหว่าเธืองนี้ ทําหน้าที่สอบพระภิกษุ ราว ๗๕๐ รูป และจะต้องร่วมอยู่ในพิธีสอบเลื่อนตําแหน่งพระสมณศักดิ์ชั้นต่ำลงมา แต่ก่อนนี้วรรณคดีหรือคัมภีร์ต่างๆ ที่พระสงฆ์เวียดนามเรียนและสวดสาธยาย ส่วนมากเป็นภาษาจีน มีภาษาสันสกฤตที่เขียนด้วยอักษรจีนบ้างเพียงเล็กน้อย สําหรับใช้ในพิธีกรรมต่างๆ แต่เมื่อตั้งสหพุทธจักรเวียดนามขึ้นแล้ว ได้มีวรรณคดีพุทธศาสนาภาษาเวียดนามเกิดขึ้นมากมาย

พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในเวียดนามนั้น แต่เดิมจํากัดอยู่แต่ในชนกลุ่มน้อย เชื้อสายเขมร ซึ่งอยู่ในแถบโคชินจีนส่วนล่างที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเขมร เมื่อครั้งที่ฝรั่งเศสปกครองและจัดให้โคชินจีนเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินโดจีนของฝรั่งเศส วัดและพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทเชื้อสายเขมรเหล่านี้ ขึ้นตรงต่อประมุขสงฆ์ในกัมพูชา แต่เมื่อเวียดนามได้เอกราชแล้ว คณะสงฆ์เถรวาทในเวียดนามก็แยกตัวออกมาจากการปกครองของคณะสงฆ์เขมร และจัดการปกครองขึ้นใหม่เป็นระบบของตนเอง เมื่อมีการฟื้นฟูปรับปรุงกิจการพระพุทธศาสนา มีการจัดตั้งสมาคมและกลุ่มศึกษาพุทธศาสนากันขึ้นในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ชาวเวียดนามได้เริ่มหันมาสนใจคําสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้าที่สืบทอดมาในฝ่ายเถรวาท ครั้นต่อมามีการจัดตั้งองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๙๓ ชาวเวียดนามมีโอกาสติดต่อสัมพันธ์กับประเทศเถรวาทมากขึ้น ความสนใจนั้นก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีก พระพุทธศาสนาในฝ่ายเถรวาทในเวียดนามจึงเจริญขยายตัวออก มีการสร้างวัดเถรวาทใหม่ๆ ขึ้นในภาคใต้ของเวียดนามอีกหลายวัด โดยศูนย์กลางของคณะสงฆ์เถรวาทตั้งอยู่ที่วัดเชตวัน ในกรุงไซง่อน

ครั้นเมื่อชาวพุทธจัดตั้งสหพุทธจักรเวียดนามขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๐๗ แล้ว คณะสงฆ์และชาวพุทธฝ่ายเถรวาท ก็มีสิทธิมีเสียงในกิจการพุทธศาสนาของเวียดนามใต้เท่าเทียมกันกับฝ่ายมหายาน สาเหตุที่ทําให้พุทธศาสนาเถรวาทในเวียดนามมีเกียรติเชิดหน้าชูตามากขึ้นเช่นนี้ นอกจากเป็นเพราะความต้องการที่จะรวมกําลังสร้างความสามัคคีในหมู่ชาวพุทธต่างหมู่ต่างคณะ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งเป็นปึกแผ่นมั่นคงแก่พระศาสนา และจะได้ช่วยกันสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าและประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมต่อไปแล้ว ก็เป็นเพราะพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเป็นแหล่งที่ธํารงไว้ซึ่งคําสั่งสอนดั้งเดิมแท้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งชาวพุทธเวียดนามสมัยใหม่มองเห็นคุณค่าว่า เป็นหลักธรรมอันทันสมัยแสดงให้เห็นความประเสริฐเลิศล้ำของพระพุทธศาสนา

ดังปรากฏว่า ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของงานฟื้นฟูพระพุทธศาสนาของชาวพุทธเวียดนามสมัยใหม่ ได้แก่ การแสดงหลักความคิดว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวที่มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ พุทธศาสนาไม่แต่เพียงสอดคล้องเข้ากันได้กับสิ่งที่วิทยาการสมัยใหม่ค้นพบเท่านั้น แต่ยังแสดงสัจธรรมเลยหน้าการค้นพบของวิทยาศาสตร์อีกด้วย หลักความคิดที่กล่าวมานี้ก็ดี การแปลความหมายหลักธรรมในแง่ที่พึงนํามาใช้ในการดําเนินชีวิตสมัยปัจจุบันและเป็นเครื่องปฏิรูปสังคมก็ดี ได้ปรากฏในวรรณกรรมใหม่ของชาวพุทธเวียดนาม เช่นเดียวกับที่มีดื่นในข้อเขียนสมัยปัจจุบันของฝ่ายเถรวาท โดยเฉพาะในลังกาและพม่า แสดงว่าเป็นแนวโน้มเดียวกัน และเป็นความจริงแน่นอนว่า เวียดนามเป็นฝ่ายรับเอาความคิดริเริ่มเหล่านี้ไม่มากก็น้อยมาจากประเทศเถรวาทเหล่านั้น

ตามปกติชาวพุทธฝ่ายมหายานยึดถือกันเรื่อยมาตลอดเวลาหลายศตวรรษแล้วว่า ปรัชญาธรรมของฝ่ายตนเท่านั้นดีเด่นเป็นเลิศ การที่นิกายทั้งสองซึ่งมีสายความคิดสายประเพณีแตกต่างจนแยกห่างกันไปไกลกลับมาตีความหลักธรรมสอดคล้องต้องกันได้อย่างกว้างขวาง และฝ่ายมหายานยอมยกคําสอนของฝ่ายเถรวาทออกนําหน้าได้เช่นนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ใจอยู่ นับว่าความเคลื่อนไหวของคนหัวใหม่ที่แปลความหมายหลักธรรมให้เข้ากับกาลสมัยนี้ ได้ช่วยให้พระพุทธศาสนาต่างแบบต่างนิกายกัน โอนอ่อนเข้ามาใกล้ชิดกัน ถึงขนาดที่คิดว่าเมื่อ ๒๐-๓๐ ปีมาแล้วคงเป็นไปไม่ได้ ท่านผู้รู้ในเรื่องนี้กล่าวว่า (Buddhism in the Modern World, p.192) “แน่ทีเดียว เหตุผลประการหนึ่ง ได้แก่ ความจริงที่ว่า คําสอนของพระพุทธศาสนาแบบเดิม (เถรวาท) เหมาะกันกับความคิดในสมัยของพวกเรา ยิ่งกว่าคําสอนของมหายานที่สืบๆ กันมา เป็นอันมาก” ความเป็นไปเช่นนี้กลายเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของเวียดนาม คือ เป็นประเทศในอาเซียประเทศเดียวในปัจจุบันที่พระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาทดํารงอยู่คู่เคียงกัน และศาสนิกแห่งนิกายทั้งสองได้มีโอกาสดําเนินงานร่วมกันในสหพุทธจักรเวียดนาม

พระพุทธศาสนาในเวียดนามสมัยได้เอกราชจากฝรั่งเศสแล้ว มีความพัวพันกับเหตุการณ์ฝ่ายบ้านเมืองมาก ดังที่ได้เห็นมาแล้วโดยลําดับ เพื่อความเข้าใจชัด จึงยกเอาเหตุการณ์บ้านเมืองมาพิจารณาประกอบด้วย คราวนี้ควรหันมามองดูความเป็นไปทางบ้านเมืองอีกครั้งหนึ่ง ความเป็นไปตอนนี้โดยทั่วไปก็เป็นเรื่องสงครามแทบทั้งสิ้น และสงครามเวียดนามสมัยใหม่นี้สหรัฐฯ ได้เข้ามาร่วมแสดงบทบาทด้วยอย่างมากมาย ขอทบทวนเพื่อเชื่อมโยงเหตุการณ์ว่า สหรัฐฯ ถูกชักเข้ามามีบทบาทในเวียดนามเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ เริ่มด้วยประธานาธิบดีทรูแมน ส่งคณะที่ปรึกษาทางทหาร ๓๕ คน มาช่วยเหลือฝรั่งเศสซึ่งกําลังรบกับ เวียด มินห์ เมื่อฝรั่งเศสแพ้ที่เดียนเบียนฟู เวียดนามได้เอกราช แบ่งเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ แล้วฝรั่งเศสถอนตัวออกไป สหรัฐฯ ก็ต้องเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น โดยช่วยเวียดนามใต้ฟื้นฟูประเทศ ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์และประธานาธิบดีเคนเนดีได้ส่งที่ปรึกษาพลเรือน และต่อมาส่งที่ปรึกษาทางทหารมาช่วยฝึกคนเวียดนามใต้ ทางฝ่ายเวียดนามเหนือ โฮจิมินห์ก็ไปเซ็นสัญญาช่วยเหลือกับจีนและโซเวียตใน พ.ศ. ๒๔๙๘ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เกิดขบถชาวนาต่อต้านโครงการนารวมในเวียดนามเหนือ รัฐบาลใช้กําลังทหารปราบราบคาบ พอถึงปี ๒๕๐๒ ก็เกิดมีพวกเวียดกงขึ้นก่อความไม่สงบต่างๆ ในเวียดนามใต้ เพื่อดําเนินงานตามแผนของเวียดนามเหนือที่จะรวมเวียดนามเข้าด้วยกัน

ปีต่อมา ๒๕๐๓ พวกคอมมิวนิสต์ในภาคใต้ก็จัดตั้งขบวนการขึ้นมาเรียกว่า แนวร่วมปลดแอกแห่งชาติ (NLF) ทําให้เวียดนามใต้มีภาระในการต่อสู้ป้องกันมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาปี ๒๕๐๖ ได้เกิดวิกฤติการณ์ชาวพุทธครั้งที่ ๑ ขึ้น เพราะรัฐบาลบีบคั้นประหัตประหารชาวพุทธด้วยความเดียดฉันท์ทางศาสนา รัฐบาลถูกรัฐประหาร ประธานาธิบดีโงดินห์เดียมถูกสังหาร รัฐบาลที่ตั้งขึ้นต่อจากนี้ถึง พ.ศ. ๒๕๐๘ ขาดเสถียรภาพ ถูกเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ และมีเหตุวุ่นวายจากกลุ่มที่บีบคั้นรัฐบาลมากโดยเฉพาะจากชาวพุทธ ระหว่างนี้ที่ปรึกษาทางทหารของสหรัฐฯ ในเวียดนามใต้ได้เพิ่มขึ้นถึง ๑๕,๐๐๐ คนแล้วตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๖

พอถึง พ.ศ. ๒๕๐๗ เรือพิฆาตลําหนึ่งของสหรัฐฯ ถูกเรือตอร์ปิโดของเวียดนามเหนือโจมตีในอ่าวตังเกี๋ย ประธานาธิบดีจอห์นสันจึงส่งทหารสหรัฐฯ โจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายสําคัญๆ ในเวียดนามเหนือเป็นการแก้ลํา ทําให้ปีต่อมาคือ พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นปีที่กําลังทหารสหรัฐฯ เริ่มออกโรงรบเองด้วยการทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือและปฏิบัติการรบในเวียดนามใต้ ในปีเดียวกันนี้ นายพลเหงียนเกากีแม่ทัพอากาศได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีนายพลเหงียนวันเทียวเป็นประมุขรัฐ รัฐบาลได้เกิดความขัดแย้งกับชาวพุทธอย่างรุนแรง กลายเป็นวิกฤติการณ์ชาวพุทธครั้งที่ ๒ นายพลเหงียนเกากีสามารถปราบปรามเหตุวุ่นวายและการกบฏให้ราบคาบ พร้อมทั้งกําจัดขบวนการฝ่ายรุนแรงของชาวพุทธลงได้ด้วย จึงเกิดมีรัฐบาลที่เข้มแข็งมั่นคงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อปราบการจลาจลวุ่นวายภายในลงได้แล้ว นายพลเหงียนเกากีก็พยายามสร้างระบบการเมืองให้มีเสถียรภาพ โดยยึดเอาระบบการเมืองเกาหลีใต้ของประธานาธิบดีปาร์ก จงฮี เป็นแบบอย่าง ในสิ้นปี ๒๕๐๙ กําลังทหารอากาศสหรัฐฯ ในเวียดนามมีถึง ๑๘๔,๐๐๐ คน

ถึง พ.ศ. ๒๕๑๐ มีการเลือกตั้งทั่วไป นายพลเหงียนวันเทียวได้เป็นประธานาธิบดี นายพลเหงียนเกากีเป็นรองประธานาธิบดี เมื่อกําลังทหารสหรัฐฯ ปฏิบัติการในเวียดนามมากขึ้น ได้เกิดปฏิกิริยาจากประชาชนในสหรัฐฯ เอง บีบให้มีการจํากัดกําลังทหารสหรัฐฯ ในเวียดนามไม่ให้เกิน ๕๕๐,๐๐๐ คน และในสิ้นปี ๒๕๑๑ ทหารสหรัฐฯ ในเวียดนามได้มีจํานวนเกือบถึง ๕๒๕,๐๐๐ คน ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๒ โฮจิมินห์ ประมุขของเวียดนามเหนือถึงแก่กรรมลง แต่การสู้รบหาเพลาลงไม่ เวียดนามใต้บอบช้ำลงทั่วไป เพราะเป็นเวทีการแทรกซึมและสงครามกองโจร ตลอดเวลานี้องค์การชาวพุทธได้ช่วยเหลือประเทศชาติด้วยงานด้านสันติ คือการสังคมสงเคราะห์ต่างๆ มีช่วยเหลือผู้ประสบภัยสงคราม ทั้งทหารและพลเรือน สงเคราะห์เด็กกําพร้า เป็นต้น

ในปีถัดมาประธานาธิบดีนิกสันแห่งสหรัฐฯ ต้องส่งทหารเข้าไปปฏิบัติการในเขมร เพื่อตัดเส้นทางแทรกซึมและขนส่งจากเวียดนามเหนือ หลังจากนั้นกําลังส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ถูกถอนกลับ ปีต่อมา ประธานาธิบดีเหงียนวันเทียว ได้รับการเลือกตั้งดํารงตําแหน่งต่ออีก ๔ ปี แต่ปีนี้รัฐสภาสหรัฐฯ ลงมติห้ามไม่ให้ใช้ทหารสหรัฐฯ ปฏิบัติการรบภาคพื้นดิน ให้ใช้ได้แต่กําลังทางอากาศ ทัพเวียดนามใต้ต้องช่วยตัวเองมากขึ้น และในปีเดียวกันนี้ ทัพเวียดนามใต้ซึ่งเข้าไปปฏิบัติการตัดทางขนส่งลําเลียงของเวียดนามเหนือในลาว ทํางานไม่สําเร็จ ถูกไล่ถอยกลับมา ใน พ.ศ. ๒๕๑๕ ประธานาธิบดีนิกสันจึงสั่งทิ้งระเบิดเมืองท่าสําคัญของเวียดนามเหนือ บริเวณฮานอย ไฮฟองอย่างหนัก เพื่อบีบให้เวียดนามเหนือยอมเจรจาตกลง พอถึงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๑๖ ผู้แทนเวียดนามเหนือ เวียดนามใต้ สหรัฐฯ และแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติก็ตกลงกันได้โดยลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่ปารีส ยุติสงครามอันได้ชื่อว่ายืดเยื้อยาวนานที่สุดในประวัติของประเทศสหรัฐอเมริกา

แม้สงครามจะยุติ เวียดนามใต้ก็คงประสบปัญหาหนัก เพราะเป็นเวทีสงคราม มัววุ่นวายในการต่อสู้ป้องกันตัว เป็นฝ่ายรับ สะสมความเสียหายไว้มากมาย จะสร้างเสริมความมั่นคงปลอดภัยช่วยตัวเองไหวหรือไม่ ชาวนาหลายล้านคนเป็นผู้ยากไร้ ขาดแคลนที่ดิน ประชาชนในเมืองใหญ่จํานวนมากก็ยากจน ไม่มีงานทํา ทําให้ราษฎรทั่วไปมีความร่วมใจกับรัฐบาลน้อย ยิ่งกว่านั้นเวียดนามใต้มีคนหลายพวก กลุ่มอิทธิพลต่างๆ ทางการเมือง ก็ช่วยลดความเข้มแข็งของบ้านเมืองลงไปอีก ความรู้สึกต่อต้านประธานาธิบดีเทียวทวีขึ้นโดยลําดับ

จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๗ ความวุ่นวายภายในก็เกิดขึ้นอีก พวกชาวคาทอลิค ชาวพุทธ และพวกหัวรุนแรงทางการเมืองอื่นๆ พากันเดินขบวนอย่างกว้างขวางในเมืองไซ่ง่อน ประจวบเวลาใกล้ๆ นั้น ประธานาธิบดีนิกสันผู้สนับสนุนประธานาธิบดีเทียว ก็ลาออก รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดทอนความช่วยเหลือแก่เวียดนามใต้ เวียดนามใต้จึงต้องลดกําลังป้องกันลงอีก ตรงข้ามกับเวียดนามเหนือซึ่งเป็นฝ่ายรุก ปฏิบัติการรบนอกดินแดนของตน พอยุติสงครามก็รีบใช้โอกาสนั้นระดมกําลังคนหนุ่มกลับคืนจากกองทัพกลับไปบูรณะฟื้นฟูประเทศของตน สร้างซ่อมถนนหนทาง โรงงานอุตสาหกรรมที่เสียหายจากการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ฟื้นฟูการชลประทานและสร้างเสริมการเกษตรในเขตอุดมสมบูรณ์แถบลุ่มแม่น้ำแดง ผลิตผลการเกษตรก็เพิ่มพูนขึ้นมาก พร้อมกันนั้นก็ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ คือ โซเวียต (ช่วย ๑ ใน ๒ ส่วน) จีน (ช่วย ๑ ใน ๓) และประเทศคอมมิวนิสต์อื่นในยุโรปตะวันออก (ช่วยส่วนที่เหลือ) และส่งกําลังอีกส่วนหนึ่งประมาณ ๒ แสนคนเข้ามาในเวียดนามใต้ สร้างเส้นทางแทรกซึมและลําเลียง ส่วนสนธิสัญญาสันติภาพใน พ.ศ. ๒๕๑๖ ก็เป็นเพียงการกระทําโดยนิตินัย และได้ผลเล็กน้อยชั่วระยะสั้นๆ

ในปีต่อมาคือ พ.ศ. ๒๕๑๘ สงครามเต็มขนาดก็ดําเนินต่อไป ฝ่ายเวียดนามเหนือยึดเมืองใหญ่ๆ ของเวียดนามใต้ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พอถึงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๑๘ กองทัพเวียดกง และเวียนนามเหนือ ก็เคลื่อนเข้ายึดเมืองไซ่ง่อนได้ ในขณะที่ชาวไซ่ง่อนจํานวนมากกําลังสนุกสนานรื่นเริงอยู่ในบาร์และไนท์คลับต่างๆ โดยไม่รู้ตัวว่าอิสรภาพสิ้นสุดแล้ว ตนเองจะกลายเป็นผู้ไร้สมบัติพัสถาน หรือถึงกับไร้แผ่นดินที่จะอยู่ภายในไม่กี่วันเวลาข้างหน้า

เมื่อคอมมิวนิสต์ได้ชัยชนะแล้วก็ตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นปกครองเวียดนามใต้ ในวันที่ ๖ มิถุนายน และต่อมาได้ประกาศให้ วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๑๙ เป็นวันรวมประเทศเวียดนามเป็นทางการ โดยมีฮานอยเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เมืองไซ่ง่อน เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองโฮจิมินห์

สงครามเวียดนามอันยาวนานที่สิ้นสุดลงแล้ว ได้พรากชีวิตชาวเวียดนามไป ๑,๓๐๐,๐๐๐ คน ชาวอเมริกัน ๕๖,๐๐๐ คน พร้อมด้วยเงินช่วยเหลือของสหรัฐฯ ๑๔๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ เหรียญอเมริกัน หรือราว ๕,๘๒๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ชาวเวียดนามอพยพลี้ภัยออกจากประเทศของตนทั้งทางเรือและเครื่องบินในระยะต้นๆ เกินกว่า ๑๔๐,๐๐๐ คน ส่วนมากเดินทางไปสู่สหรัฐฯ และรัฐสภาสหรัฐฯ ก็ได้อนุมัติเงิน ๔๐๕,๐๐๐,๐๐๐ เหรียญอเมริกัน เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวอินโดจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเวียดนาม ให้ตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯ ชาวเวียดนามจํานวนมากมายยังคงเสี่ยงภัยหลบหนีออกจากประเทศของตนอยู่ต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ชาวญวนอพยพยังตกค้างอยู่ในค่ายสงเคราะห์ผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ อีกเกินแสนคน และจํานวนใหม่ก็ยังเพิ่มเติมมาอยู่เรื่อยๆ ก่อให้เกิดความหวั่นวิตกในกิจการระหว่างประเทศ เป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของโลกปัจจุบัน

เมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์ยึดครองเวียดนามใต้แล้ว ก็ดําเนินการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเวียดนามใต้เสียใหม่ สั่งห้ามตําราประวัติศาสตร์ที่เขียนจากทัศนะแบบอเมริกัน จัดการสัมมนาให้การศึกษาอบรมใหม่แก่ข้าราชการและทหารเวียดนามใต้ทุกคน ขับไล่ชาวต่างประเทศออกไปทั้งหมด แม้แต่ผู้ที่แต่งงานกับชาวเวียดนาม รัฐชวนหรือบีบให้ราษฎรในเมืองออกไปตั้งหลักแหล่งทําไร่ไถนาในชนบท แต่ไม่ถึงกับใช้วิธีบังคับรุนแรงอย่างในกัมพูชา ตั้งนักการเมืองชาวเหนือเข้าดํารงตําแหน่งในรัฐบาลท้องถิ่นแห่งภาคใต้ ส่วนพระสงฆ์ วัดวาอาราม และสถาบันต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา ไม่สู้มีข่าวคราวปรากฏออกมาภายนอก มีเสียงกล่าวว่า จะถูกปล่อยให้เป็นเหมือนต้นไม้ที่ยืนต้นตายไปเอง แต่อย่างน้อยก็คงต้องแปลงรูปไปตามอย่างระบบของฝ่ายที่ชนะ ประวัติพุทธศาสนาในเวียดนามจึงเป็นอันตัดตอนได้ว่าจบสิ้นไปอีกยุคหนึ่ง

แม้สงครามจะยุติแล้ว แต่ความทุกข์ยากของชาวเวียดนามภาคใต้ยังไม่สิ้น ผืนแผ่นดินเวียดนามภาคใต้นั้นตกอยู่ในสภาพน่าเศร้า เป็นเหมือนคนที่เนื้อตัวเต็มไปด้วยบาดแผล มีหลุมระเบิดบ้างเศษหินเศษโลหะจากกระสุนปืนและระเบิดเป็นต้นกระจายไปทั่วบ้าง ป่าไม้ที่ถูกทําลายมีแต่ซากหรือเป็นตอดําบ้าง ล้วนไม่อํานวยแก่การใช้ประโยชน์ในเกษตรกรรม ประชาชนเวียดนามปัจจุบันเผชิญอยู่กับความทุกข์ยากแสนสาหัสภายใน และ ส่วนหนึ่งก็ออกไปเผชิญชะตากรรมจากการอพยพลี้ภัยด้วยการระเหระหนในท้องทะเล อย่างไรก็ดี สิ่งที่ประเทศทั้งหลายสนใจเป็นพิเศษก็คือ เมื่อการต่อสู้ภายในเวียดนามเองผ่านพ้นไปแล้ว ความขัดแย้ง การพิพาท และการต่อสู้ช่วงชิงดินแดนระหว่าง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม กับจีน และกัมพูชา คู่ศึกคู่ สงครามเก่าในอดีต ก็เริ่มตั้งต้นขึ้นอีก ดังจะซ้ำรอยเดิม หมุนวงจรประวัติศาสตร์ให้เคลื่อนต่อไปใหม่

ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามที่รวมกันแล้วมีเนื้อที่ ๑๒๘,๓๐๒ ตารางไมล์ หรือ ๓๓๒,๕๕๙ ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ ๔๗,๘๗๕,๐๐๐ คน.

หนังสือและเอกสารประกอบ

Buddhism in the Modern World. Edited by Heinrich Dumoulin and John C. Maraldo, New York: Macmillan Publishing Co., Inc., 1967.

Encyclopedia Americana. 1969 ed., sv.“Vietnam.”

Encyclopaedia Britannica. 1968 ed., sv.“Vietnam”

Hall, D.G.E. A History of South-East Asia. New York: St. Martin's Press, 1970.

Schecter, Jerrold. The New Face of Buddha. Tokyo: John Weatherhill, Inc., 1976.

Vien Hoa-Dao. The Unified Buddhist Church of Vietnam. Cholon: Vien Hoa-Dao, Chu An-QUANG 243, Su Van-Hauh, approx.1972.

เอกสารของคณะผู้แทนองค์การ พ.ส.ล. แห่งเวียดนามใต้ เสนอต่อที่ประชุมเรื่องการศึกษาชั้นสูงทางพระพุทธศาสนา ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ณ สํานักงานใหญ่ พ.ส.ล. ในกรุงเทพฯ วันที่ ๖-๑๐ พฤษภาคม ๒๕๑๑.

๑๑.
พระพุทธศาสนาในศรีลังกา

 

ประวัติศาสตร์ลังกาเริ่มต้นพร้อมกับพุทธศักราช คัมภีร์มหาวงศ์ ซึ่งเป็นพงศาวดารและตํานานพระพุทธศาสนาของลังกา เล่าว่า เจ้าชายวิชัย โอรสของพระเจ้าสีหพาหุ กษัตริย์แห่งลาฬประเทศในชมพูทวีป (อยู่ในเขตแคว้นเบงกอล) ได้เสด็จโดยทางเรือพร้อมด้วยบริวารเจ็ดร้อยขึ้นสู่เกาะลังกา ณ ถิ่นที่เรียกว่า ตัมพปัณณิ ในวันเดียวกับที่พระบรมศาสดาเสด็จสู่ปรินิพพาน เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ชนเผ่าสิงหลเข้าสู่ลังกา และพระเจ้าวิชัยเป็นกษัตริย์องค์แรกของลังกาทวีป ในการเสด็จเข้าครองลังกาทวีป เจ้าชายวิชัยคงจะได้นําพระพุทธศาสนาเข้ามาด้วย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าแพร่หลายอย่างใด

ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในลังกาทวีปที่แท้จริงเริ่มต้นในรัชกาลพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ (พ.ศ. ๒๓๖ - ๒๗๖) ผู้ครองราชย์ ณ เมืองอนุราธปุระ กษัตริย์พระองค์นี้ทรงมีไมตรีสนิทสนมกับพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งชมพูทวีป พระเจ้าอโศกทรงส่งพระมหินทเถระ พร้อมด้วยคณะ (พระภิกษุ ๔ รูป สามเณร ๑ รูป อุบาสก ๑ คน) มาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในลังกาทวีป คณะศาสนทูตได้รับการต้อนรับจากพระมหากษัตริย์และประชาชนลังกาอย่างดียิ่ง พระพุทธศาสนาแพร่หลายอย่างรวดเร็ว มีผู้อุปสมบทมากมาย

พระนางอนุฬาเทวีมเหสีและสตรีบริวารจํานวนมากปรารถนาจะอุปสมบทบ้าง พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะจึงทรงส่งคณะทูตไปสู่ราชสํานักของพระเจ้าอโศก ทูลขอพระสังฆมิตตาเถรี และกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ ด้านทักษิณมาสู่ลังกาทวีป

การอัญเชิญกิ่งพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยามาในครั้งนี้ นับเป็นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาและชนชาติลังกา พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะโปรดให้ปลูกกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ไว้ ณ พระนครอนุราธปุระ ต้นโพธิ์นี้ปัจจุบันเป็นต้นไม้ประวัติศาสตร์ที่มีอายุมากที่สุดในโลก สิ่งสําคัญนอกจากนี้คือ ได้ทรงสร้าง มหาวิหาร และ ถูปาราม อันเป็นเจดีย์องค์แรกของลังกาไว้ ณ พระนครเดียวกัน

หลังรัชกาลพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะแล้ว ลังกาทวีปตกอยู่ในความครอบครองของกษัตริย์ทมิฬ และกษัตริย์ต่างชาติอื่นๆ อยู่เกือบศตวรรษ ต่อมา พระเจ้าทุฏฐคามณี (พ.ศ. ๓๘๒ - ๔๐๖) ทรงกู้ราชบัลลังก์คืนได้ พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้าได้ทรงสร้าง โลหปราสาท ๗ ชั้น เป็นโรงอุโบสถของมหาวิหาร และ มหาสถูป หรือเจดีย์รุวันเวลี ณ พระนครอนุราธปุระ

ยุคสําคัญอีกยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาของลังกา คือรัชกาลพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย (พ.ศ. ๔๓๙ และ พ.ศ. ๔๕๔ - ๔๖๖) เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์ไม่นาน พวกทมิฬชิงอํานาจได้และเข้าครองอนุราธปุระอยู่ ๑๔ ปี ระหว่างนี้ประเทศเกิดยุคเข็ญถึงต้องกินเนื้อมนุษย์ พระมหาเถระทั้งหลายจํานวน ๕๐๐ รูป เกรงพระศาสนาจะสูญสิ้นจึงประชุมกันที่ อลุวิหาร ณ มาตเล ทําการจารึกพุทธพจน์ลงในใบลานเป็นครั้งแรก (ไทยนับเหตุการณ์นี้เป็น สังคายนาครั้งที่ ๕ แต่วงการทั่วไปนับเป็น ครั้งที่ ๔) พระเจ้าวัฏฏคามณีอภัยทรงเที่ยวหนีซุกซ่อนอยู่ แต่ในที่สุดทรงเอาชนะทมิฬได้ แล้วได้ทรงสร้าง อภัยคีรีวิหาร ถวายแด่พระมหาติสสเถระผู้มีอุปการคุณแก่พระองค์และพวกขุนพลในคราวตกยาก

การข้อนี้ได้กลายเป็นเหตุให้คณะสงฆ์ลังกาแตกแยกออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายมหาวิหาร ซึ่งเป็นผู้ยึดมั่นในคําสอนและแบบแผนประเพณีดั้งเดิม กับ ฝ่ายอภัยคีรีวิหาร ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพวกนิกายธรรมรุจิ มีความคิดเห็นเป็นอิสระ ต้อนรับทัศนะใหม่ๆ จากต่างประเทศ ศึกษาทั้งเรื่องฝ่ายเถรวาทและมหายาน อภัยคีรีวิหารนี้ ต่อมาได้กลายเป็นศูนย์กลางสําคัญยิ่งของพระพุทธศาสนาอยู่สมัยหนึ่ง

ประวัติศาสตร์ยุคต่อมา มีความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งเกี่ยวพันกับคณะสงฆ์อีกเป็นอันมาก ถึงกับทําให้มหาวิหารที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งรกร้างไปคราวหนึ่ง แต่อิทธิพลอันมั่นคงลึกซึ้งก็เป็นเหตุให้ต้องมีการสร้างขึ้นใหม่ ส่วนอภัยคีรีวิหารก็ยังเป็นศูนย์กลางสําคัญแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนาต่อมา

ในรัชกาล พระเจ้าสิริเมฆวรรณ เมื่อครองราชย์มาได้ ๙ ปี (พ.ศ. ๘๕๔) ได้มีการอัญเชิญ พระทาฐธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากทันตปุระในกลิงครัฐมายังลังกาทวีป พระราชาโปรดให้รักษาไว้ภายในพระนคร และนําออกให้ประชาชนนมัสการที่อภัยคีรีวิหารเป็นประจําทุกปี (เมืองที่ตั้งวิหารพระทันตธาตุนี้ ปัจจุบันเรียกว่า เมืองแกนดี พระทันตธาตุเป็นศูนย์รวมจิตใจที่สําคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาวลังกาตลอดมาจนปัจจุบัน) ครั้นถึงรัชกาล พระเจ้ามหานาม (พ.ศ. ๙๕๓ – ๙๗๕) พระพุทธโฆษาจารย์ อรรถกถาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ได้เดินทางจากชมพูทวีปมาพํานัก ณ มหาวิหาร และแปลอรรถกถาภาษาสิงหลกลับเป็นภาษามคธ

หลวงจีนฟาเหียน ซึ่งเดินทางมาในกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๐ เล่าไว้ว่า อภัยคีรีวิหารมีพระภิกษุ ๕ พันรูป ส่วนมหาวิหารมีพระภิกษุ ๓ พันรูป ช่วงเวลาระยะนี้นับว่าลังกาได้กลายเป็นศูนย์กลางสําคัญแห่งหนึ่งของพุทธศาสนา วัดต่างๆ มีชื่อเสียงว่าเป็นศูนย์กลางการศึกษา ทําให้มีปราชญ์จากแดนไกลมาเล่าเรียนค้นคว้า

ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ การศึกษาอภิธรรมได้รับความนิยมและรุ่งเรืองขึ้น ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ลังกาย้ายเมืองหลวงจากอนุราธปุระมาอยู่ที่ โปโลนนรุวะ หรือ ปุรัตถิปุระ เพราะเหตุผลในทางยุทธศาสตร์เป็นสําคัญ จากนี้ศูนย์กลางวัฒนธรรมก็เปลี่ยนมารวมอยู่ที่เมืองหลวงใหม่ อนุราธปุระกลายเป็นเมืองเก่า มีความหมายไปทางศักดิ์สิทธิ์ เรื่องของมหาวิหาร อภัยคีรีวิหาร เป็นต้น ก็จางเลือนลง

ตอนต้นสมัยเมืองหลวงใหม่นี้ เกิดนิยมยกย่องพระพวกปังสุกูลิกะ (ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร) กันขึ้น ทํานองเป็นปฏิกิริยาต่อชีวิตที่สุขสบายมั่งมีของพระสงฆ์สมัยนั้น และต่อมาได้มีความนิยมนับถือข้อปฏิบัติในศาสนาพราหมณ์มากขึ้น มีการสร้างเทวรูป เทวสถาน และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์

กล่าวโดยสรุป ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึง ๑๗ เป็นยุคที่ลังกาเดือดร้อนวุ่นวายเพราะการรุกรานจากอินเดียบ้าง ความไม่สงบภายในบ้าง ในระหว่างยุคนี้เองที่ภิกษุณีสงฆ์สูญสิ้น และพระภิกษุสงฆ์เสื่อม จนกระทั่งเมื่อพระเจ้าวิชัยพาหุที่ ๑ ทรงมีพระราชประสงค์จะฟื้นฟูศาสนาใน พ.ศ. ๑๖๐๙ ทรงหาพระภิกษุที่อุปสมบทถูกต้องได้แทบไม่ครบ ๕ รูป และต้องทรงอาราธนาพระสงฆ์จากพม่าตอนใต้มากระทําอุปสมบทกรรมในลังกา

ต่อมาถึงสมัยแห่งมหาราชที่สําคัญที่สุดพระองค์หนึ่งของลังกา คือ พระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๑ (พ.ศ. ๑๖๙๗ - ๑๗๓๐) ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าวิชัยพาหุที่ ๑ พระองค์ทรงเป็นทั้งนักรบและนักปกครองที่สามารถ ทรงจัดการปกครองได้เรียบร้อย จัดการชลประทานและการเกษตรได้ดี กล่าวกันว่าพระองค์มีดํารัสว่า จะไม่ยอมให้หยาดน้ำฝนแม้น้อยหนึ่งไหลลงคืนสู่ทะเลโดยมิได้ทําให้บังเกิดประโยชน์แก่ประชาชน

ในด้านการพระศาสนา ทรงชําระการพระศาสนาให้บริสุทธิ์ ยังคณะสงฆ์ให้รวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อีกครั้งหนึ่ง พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชปกครองสงฆ์ทั้งประเทศเป็นครั้งแรก ทรงสร้างวัดวาอาราม เป็นยุคที่มีศิลปกรรมงดงาม และลังกาได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา ปรากฏเกียรติคุณแพร่ไปทั่ว มีพระสงฆ์และปราชญ์เดินทางจากประเทศใกล้เคียงมาศึกษาพระพุทธศาสนาในลังกา แล้วนําไปเผยแพร่ในประเทศของตนเป็นอันมาก พระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองอยู่ระยะหนึ่ง แต่ภายหลังรัชกาลนี้แล้ว พวกทมิฬจากอินเดียก็มารุกรานอีกและได้เข้าตั้งถิ่นฐานมั่นคงขยายอาณาเขตออกเรื่อยๆ อาณาจักรสิงหลต้องถอยร่นลงทางใต้ ต้องย้ายเมืองหลวงอยู่บ่อยๆ ทําให้พระพุทธศาสนาเจริญได้ยาก นอกจากจะเพียงธํารงรักษาความมั่นคงเข้มแข็งไว้เท่านั้น เหตุการณ์สําคัญครั้งหนึ่งคือ ใน พ.ศ. ๒๐๑๙ พระภิกษุคณะหนึ่งจากพม่าได้มารับอุปสมบทกรรมที่ลังกา และนําคัมภีร์ภาษาบาลีเท่าที่มีอยู่ไปยังพม่าโดยครบถ้วน

ระหว่างที่ลังกาอ่อนแอเพราะการต่อสู้แข่งอํานาจระหว่างคนสองเผ่าอยู่นี้ พอถึงประมาณ พ.ศ. ๒๐๕๐ ชนชาติโปรตุเกสก็เข้ามารุกรานซ้ำเติม ชนชาติโปรตุเกสเข้ามาค้าขาย พร้อมกันนั้นก็แสวงประโยชน์จากความขัดแย้งของชนสองเผ่านั้น เข้าครอบครองดินแดนบางส่วนไว้ได้ และพยายามบีบบังคับประชาชนที่อยู่ในยึดครองให้เปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิก คราวหนึ่งถึงกับยึดอํานาจกษัตริย์ลังกาได้ สถานการณ์พระพุทธศาสนาได้เสื่อมทรามลง ถึงกับว่าต้องนําพระสงฆ์จากพม่ามาประกอบอุปสมบทกรรมอีกครั้งหนึ่ง

ในระยะนี้ ชาวฮอลันดาได้ประกอบการค้าขายมีอํานาจมากขึ้นในดินแดนแถบนี้ ลังกาจึงต้อนรับชาวฮอลันดาเพื่อให้เข้ามาช่วยขับไล่โปรตุเกสจนสําเร็จใน พ.ศ. ๒๒๐๐ แต่แล้วฮอลันดาก็ครอบครองดินแดนส่วนที่ตนยึดไว้ได้ เข้าแทนที่โปรตุเกส ฮอลันดาพยายามประดิษฐานคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนท์ และห้ามกันพระพุทธศาสนา แต่ไม่สําเร็จ กษัตริย์ลังกาได้รับคําแนะนําจาก พระสรณังกร เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๔ (ไทยนับ ๒๒๙๓ ตรงกับรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ให้ส่งคณะทูตไปยังประเทศไทย แล้วนําพระภิกษุคณะหนึ่งจํานวน ๑๐ รูป มี พระอุบาลี เป็นหัวหน้า มาประกอบอุปสมบทกรรม ณ เมืองแกนดี มีผู้เข้ารับการอุปสมบทถึงสามพันคน พระสรณังกรซึ่งได้รับการอุปสมบทใหม่คราวนี้ได้รับสถาปนาจากพระมหากษัตริย์ให้เป็น สมเด็จพระสังฆราช เป็นการประดิษฐานคณะสงฆ์ อุบาลีวงศ์ หรือ สยามวงศ์ หรือ สยามนิกาย ในลังกาทวีป

ฮอลันดาครองอํานาจอยู่ไม่นานก็เสื่อมลง อังกฤษได้เข้าครองอํานาจแทนในแถบชายทะเลเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๐ และอีก ๑๙ ปีต่อมาอํานาจปกครองของอังฤษก็ขยายออกไปทั่วลังกาทวีป โดยอังกฤษรบชนะกษัตริย์แห่งแกนดี และกระทําสนธิสัญญารับประกันสิทธิของฝ่ายลังกาและการคุ้มครองพระศาสนา ต่อมา พ.ศ. ๒๓๖๒ เกิดกบฏรุนแรงขึ้น ครั้นอังกฤษปราบกบฏสําเร็จ และดัดแปลงข้อความในสนธิสัญญาเสียใหม่ วงศ์กษัตริย์ลังกาแต่โบราณก็ถึงอวสานลง

เมื่อลังกาทวีปตกอยู่ในปกครองของอังกฤษระยะแรก คณะสงฆ์ได้อิสรภาพมากขึ้น เนื่องมาแต่สนธิสัญญาให้ความคุ้มครองแก่พระพุทธศาสนาดังกล่าวแล้ว ได้มีพระสงฆ์หลายคณะไปรับอุปสมบทกรรมใหม่ในพม่า กลับมาตั้งศูนย์กลางสืบอุปสมบทวงศ์ของตน อิสรภาพของพระพุทธศาสนาเป็นไปได้ประมาณกึ่งศตวรรษเท่านั้น รัฐบาลก็ถูกบีบจากคริสต์ศาสนาให้ยกเลิกความเกี่ยวข้องทุกประการในกิจการพระพุทธศาสนา บาทหลวงคริสเตียนได้ดําเนินการเผยแพร่ศาสนาของตนและต่อต้านพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ ถึงกับโจมตีพระพุทธศาสนาในที่สาธารณะ นับว่าพระพุทธศาสนาได้รับภยันตรายเป็นอันมากจากขบวนการต่อต้านและทําลายพระพุทธศาสนาที่รัฐบาลต่างชาติสนับสนุน เป็นเวลากว่า ๓๐๐ ปี ข้อนี้เป็นเหตุสําคัญให้ชาวลังกาดิ้นรนต่อสู้แสวงอิสรภาพ เพื่อนําศาสนาประจําชาติของตนกลับคืนมา ลังกาได้อิสรภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ (นับแบบไทย ๒๔๙๐) การโจมตีบีบกดจากผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา ก่อปฏิกิริยากระตุ้นให้เกิดการฟื้นฟูในพระพุทธศาสนา และทําให้เกิดความเข้มแข็งกระตือรือร้นและความเอาจริงเอาจังในการคุ้มครองรักษาศาสนาวัฒนธรรมประจําชาติของตนยิ่งขึ้น ซึ่งอาการเช่นนี้ เป็นไปอยู่จนถึงทุกวันนี้

คณะสงฆ์ในลังกาปัจจุบันมี ๓ นิกายคือ สยามวงศ์ หรือ อุบาลีวงศ์ อมรปุระนิกาย และ รามัญวงศ์ ข้อแตกต่างกันมีเพียงเล็กน้อย และเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ คือ เกิดจากการที่ว่า อุปสมบทวงศ์สืบมาจากสายไทยหรือพม่า.

 

_____________

หมายเหตุ: (พ.ศ. ในเรื่องนี้นับอย่างลังกา ถ้านับอย่างไทย ให้หักออก ๑ ปี ทุกแห่ง)

 

 

๑๒.
พระพุทธศาสนาในอาเซียกลาง

 

อาเซียกลางหรือลุ่มแม่น้ำตาริม (Tarim) เป็นแหล่งชุมนุมศิลปกรรมวัตถุเคารพบูชาในพระพุทธศาสนา ได้เคยเป็นทั้งศูนย์กลางและเป็นเส้นทางเผยแพร่สายสําคัญของพระพุทธศาสนาเป็นเวลาหลายศตวรรษ พระพุทธศาสนาจากอินเดียเผยแพร่เข้าสู่ประเทศจีน ก็โดยอาศัยเส้นทางสายนี้เป็นส่วนใหญ่ อาเซียกลางเป็นชุมทางพาณิชย์ที่สําคัญระหว่างจีน อินเดีย และประเทศอื่นๆ หลายประเทศ จึงเป็นที่บรรจบของวัฒนธรรมหลายพวกหลายแบบ และมีอนุสรณ์แห่งพระพุทธศาสนาในอดีตมากมายหลายอย่าง มีทั้งวัดวาอาราม ถ้ำ สถูป จิตรกรรม ประติมากรรม คัมภีร์ และเอกสารจดหมายเหตุต่างๆ เป็นภาษาบาลีบ้าง สันสกฤตบ้าง โขตานบ้าง จีนบ้าง ตลอดจนภาษาอื่นๆ หลายภาษา

ศูนย์กลางสําคัญที่สุดของพระพุทธศาสนาในอาเซียกลาง คือ กุฉะ หรือ กูจา และพระภิกษุที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ พระกุมารชีวะ แห่งพุทธศตวรรษที่ ๙ ท่านผู้นี้ได้ศึกษาวรรณคดีพระพุทธศาสนาที่กัษมีระเป็นเวลาหลายปีจนแตกฉาน เมื่อกลับมาอยู่ที่กูจา ก็ปรากฏเกียรติคุณเป็นปราชญ์ พอดีสมัยนั้น เกิดกรณีพิพาทระหว่างจีนกับกูจา พระกุมารชีวะถูกจีนจับไปเป็นเชลย และได้ปฏิบัติศาสนกิจอยู่ในประเทศจีนเป็นเวลา ๑๕ ปี จนถึงมรณภาพ ณ ประเทศนั้น ท่านได้สั่งสอนพุทธปรัชญาและแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาเป็นภาษาจีนเป็นอันมาก เป็นบุคคลสําคัญที่สุดท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาของประเทศจีน

๑๓.
พระพุทธศาสนาในอาฟกานิสถาน

 

เดิมนั้น อาฟกานิสถานนับได้ว่าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของชมพูทวีป พระพุทธศาสนาได้เผยแพร่เข้ามาในดินแดนแถบนี้ตั้งแต่สมัยที่เป็นส่วนหนึ่งแห่งพระราชอาณาจักรของพระเจ้าอโศกมหาราช ต่อมาดินแดนนี้อยู่ในการปกครองของอาณาจักรกุษาณ และได้กลายเป็นศูนย์กลางสําคัญของ ศิลปคันธาระ ดังจะเห็นได้จากซากโบราณวัตถุที่เบแกรม และพามิยาน

๑๔.
พระพุทธศาสนาในอินเดีย

 

ยุคที่ ๑ การรักษาความมั่นคงในสังฆมณฑล

ยุคที่ ๒ พระพุทธศาสนารุ่งเรืองทั่วชมพูทวีปและแผ่ออกต่างประเทศ

ยุคที่ ๓ พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแยกตัวออกไปและเจริญรุ่งเรือง

ยุคที่ ๔ ศูนย์กลางการศึกษา วัฒนธรรม และผสมผสานกับศาสนาฮินดู

ยุคที่ ๕ ความเจริญที่อ่อนแอ ความเสื่อมโทรมและสูญสิ้นจากประเทศอินเดีย สมัยปัจจุบัน เหตุที่พระพุทธศาสนาเสื่อมสูญจากอินเดีย

พระพุทธศาสนาในอินเดียสมัยพุทธกาล เป็นเรื่องเนื่องอยู่ในพุทธประวัติจึงงดไว้ ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะความเป็นมาภายหลังพุทธปรินิพพาน ถ้าแบ่งกว้างๆ ความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในอินเดียจะปรากฏเป็นสมัยๆ ดังนี้

๑. พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทรุ่งเรือง พ.ศ. ๑ ถึง ๕๐๐

๒. พุทธศาสนาฝ่ายมหายานรุ่งเรือง พ.ศ. ๕๐๐ ถึง ๑๐๐๐

๓. พุทธศาสนาแบบตันตระรุ่งเรือง พ.ศ. ๑๐๐๐ ถึง ๑๕๐๐

๔. ตันตระแบบเสื่อมโทรมจนถึงพุทธศาสนาสูญสิ้น พ.ศ. ๑๕๐๐ ถึง ๑๗๐๐

เพื่อความสะดวกในการศึกษา อาจแบ่งประวัติพระพุทธศาสนาในอินเดียเป็น ๕ ยุค คือ

 

ยุคที่ ๑ การรักษาความมั่นคงภายในสังฆมณฑล
(นับแต่พุทธปรินิพพาน ถึงก่อนพระเจ้าอโศกมหาราช
หรือประมาณ พ.ศ. ๑ ถึง ๒๐๐ เศษ)

พ.ศ. ๑

หลังจากพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน มีการสังคายนาครั้งที่ ๑ ณ เมืองราชคฤห์ แต่เมื่อสังคายนาเสร็จสิ้นแล้ว พระสงฆ์หมู่หนึ่งมี พระปุราณะ เป็นหัวหน้า ไม่ยอมรับการสังคายนานั้น

พ.ศ. ๑๐๐

ภิกษุพวกวัชชีบุตร ถือปฏิบัติวัตถุ ๑๐ ประการ คลาดเคลื่อนจากธรรมวินัย เป็นเหตุให้มีการ สังคายนาครั้งที่ ๒ ณ เมืองเวสาลี แต่พระสงฆ์พวกที่ถือผิดมีจํานวนมากกว่า ได้แยกไปทําสังคายนาของตนต่างหากเรียกว่า มหาสังคีติ และได้ชื่อว่าเป็น มหาสังฆิกะ คือพวกสงฆ์ฝ่ายมาก เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเริ่มแยกออกเป็น ๒ นิกายใหญ่ คือ ฝ่ายเถรวาท ที่ถือเคร่งครัดตามหลักธรรมวินัยเดิมซึ่งกําหนดไว้ในการสังคายนาครั้งที่ ๑ กับ ฝ่ายอาจริยวาท ที่ถือตามคําสอนและความหมายที่อาจารย์รุ่นหลังสอนต่อมา แต่การแตกแยกยังไม่ปรากฏชัดถึงขาดออกจากกัน

 

ยุคที่ ๒ พระพุทธศาสนารุ่งเรืองทั่วชมพูทวีป และแผ่ออกต่างประเทศ
(จักรวรรดิพุทธที่ ๑ ของพระเจ้าอโศกมหาราช ถึงจักรวรรดิพุทธที่ ๒
ของพระเจ้ากนิษกะ ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐ ถึง ๕๐๐)

พ.ศ. ๒๑๘

พระเจ้าอโศกมหาราช ขึ้นครองราชย์ ณ นครปาฏลีบุตร ทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนา และทํานุบํารุงพระสงฆ์อย่างมากมาย เป็นเหตุให้เดียรถีย์และผู้เห็นแก่ลาภสักการะเข้ามาบวชในพระศาสนาจํานวนมาก แสดงธรรมวินัยเคลื่อนคลาดแตกแยกออกไปมากมาย เฉพาะนิกายใหญ่มีถึง ๑๘ นิกาย พระเจ้าอโศกจึงทรงจัดการชําระการพระศาสนา ทรงอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธานจัดทํา สังคายนาครั้งที่ ๓ ณ พระนครปาฏลีบุตร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖ ทรงสร้างมหาวิหาร ๘๔,๐๐๐ แห่ง จัดทําศิลาจารึกประกาศธรรมตามนโยบาย ธรรมวิชัย ทั่วมหาอาณาจักร ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาคุ้มครองอุปถัมภ์ทุกศาสนา ทรงส่งสมณทูต ๙ สายไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา ทั้งในแคว้นที่อยู่ในพระราชอํานาจและในต่างประเทศห่างไกล ศิลปกรรมเจริญรุ่งเรือง เริ่มมีสถาปัตยกรรมที่ทําด้วยศิลาแพร่หลายในชมพูทวีปเป็นครั้งแรก

พ.ศ. ๓๕๙

ปุษยมิตร พราหมณ์ผู้เป็นมหาอํามาตย์ ได้วางแผนทรยศปลงพระชนม์ พระเจ้าพฤหทรัตถ์ กษัตริย์ชาวพุทธองค์สุดท้ายเชื้อสายพระเจ้าอโศกมหาราชในราชวงศ์เมารยะ แล้วขึ้นครองราชย์ ณ นครปาฏลีบุตรแทนเป็น ราชวงศ์ศุงคะ อันเป็นฝ่ายพราหมณ์ (วงศ์ศุงคะครองอํานาจอยู่ประมาณ ๑๑๑ ปี) ทําพิธีอัศวเมธ และกวาดล้างพระพุทธศาสนาด้วยการเผาวัดวาอารามฆ่าพระสงฆ์ และให้รางวัลค่าศีรษะแก่ผู้ฆ่าชาวพุทธได้ทุกราย แต่การกวาดล้างของพระเจ้าปุษยมิตรไม่สําเร็จ เพราะพระพุทธศาสนาแพร่หลายมั่นคงในศรัทธาของประชาชนแล้ว ประกอบกับราชาผู้ครองอาณาจักรอื่นๆ ซึ่งตั้งตัวขึ้นในสมัยเมื่อจักรวรรดิของพระเจ้าอโศกมหาราชกําลังสลายตัว ได้ทรงเลื่อมใสและทํานุบํารุงพระพุทธศาสนา ที่สําคัญได้แก่ พระเจ้ามิลินท์ หรือ Menander (พ.ศ. ๓๖๘ - ๓๙๓ หรือประมาณ พ.ศ. ๕๐๐) กษัตริย์เชื้อชาติกรีก หรือ โยนก ครองนครสาคละในอาณาจักรบากเตรีย (แถบแควันคันธาระและปัญจาบตะวันตกเฉียงเหนือของชมพูทวีป) พระองค์ทรงเป็นปราชญ์ ได้โต้ตอบปัญหาธรรมกับ พระนาคเสน แล้วทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ตามเรื่องที่ปรากฏในมิลินทปัญหา พระพุทธศาสนาได้รับการทํานุบํารุงรุ่งเรือง ศิลปกรรมกรีกผสมอินเดียที่เรียกว่าแบบคันธาระ ก็เริ่มเกิดมีขึ้นด้วยอาศัยศรัทธาในพระพุทธศาสนา ปราชญ์สันนิษฐานว่า เป็นยุคแรกที่มีการสร้างพระพุทธรูป

ส่วนทางทิศตะวันตกและทิศใต้ลงมา คือ ในภาคกลางของอินเดียทั้งหมด ก็มีอาณาจักรที่ตั้งตัวเป็นอิสระขึ้นและรุ่งเรืองต่อมา คือ อาณาจักรของกษัตริย์ ราชวงศ์ศาตวาหนะ หรือ ศาลิวาหนะ แห่งอานธระซึ่งมีศูนย์กลางความเจริญอยู่ที่เมือง อมราวดี (อมราวดีเป็นราชธานีเก่า ต่อมาย้ายไปสู่เมืองประดิษฐาน) อาณาจักรนี้เริ่มก่อตัวขึ้นในปลายราชวงศ์เมารยะ ตอนที่จักรวรรดิอันสืบมาแต่พระเจ้าอโศกมหาราชกําลังจะสลาย ได้รบชนะกษัตริย์แห่งมคธเมื่อ พ.ศ. ๔๕๕ และมีอํานาจรุ่งเรืองอยู่ต่อมาประมาณ ๓ ศตวรรษ (ระยะรุ่งเรืองคือประมาณ พ.ศ. ๔๐๐ ถึง ๗๐๐ ซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์กุษาณในยุคที่ ๓) กษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์นี้เป็นมิตรกับพระพุทธศาสนา และหลายพระองค์ทรงทํานุบํารุงพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง เป็นยุคที่ประชาชนนิยมสร้างและบูชาสถูปเจดีย์ มีวัดวาอารามมาก และศิลปวัฒนธรรมรุ่งเรืองยุคหนึ่ง ถิ่นสําคัญทางพระพุทธศาสนาที่ได้รับบรมราชูปถัมภ์จากกษัตริย์วงศ์นี้ คือ สาญจิ อมราวดี นาคารชุนโกณฑะ เป็นต้น

 

ยุคที่ ๓ พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแยกตัวออกไป
และเจริญรุ่งเรือง
(จักรวรรดิพุทธที่ ๒ ของพระเจ้ากนิษกะมหาราช
แห่งราชวงศ์กุษาณ ประมาณ พ.ศ. ๕๐๐ ถึง ๗๐๐)

พ.ศ. ๕๑๓

กษัตริย์ราชวงศ์กุษาณ รบชนะกษัตริย์กรีกและกษัตริย์ราชวงศ์ศกะ เข้าครองอํานาจในอินเดียภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ทรงเลื่อมใสศรัทธาและทํานุบํารุงพระพุทธศาสนา (ชนเผ่ากุษาณเป็นชาติพันธุ์มองโกล เดิมอยู่ในอาเซียกลาง ถูกพวกฮั่นรุกราน จึงอพยพมาเข้าครอบครองดินแดนแถบนี้และแผ่อํานาจออกจนเป็นมหาอาณาจักร มีอาณาเขตเทียบปัจจุบันคือ บางส่วนของเปอร์เซีย โขตานในอาเซียกลาง อาฟกานิสถาน ปากีสถานตะวันตกเกือบทั้งหมด แคว้นกัษมีระ หรือแคชเมียร์ แคว้นปัญจาบ ลงมาทางตะวันออกจนถึงเมืองพาราณสี รวมมีขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของจักรวรรดิของพระเจ้าอโศกมหาราช ตอนแรกราชวงศ์กุษาณตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองกาบุล แล้วย้ายมายังปุรุษปุระ หรือ Peshawar และท้ายสุดย้ายมายังมถุรา ในยุคเดียวกันนี้มหาอาณาจักรที่รุ่งเรืองในอินเดียภาคกลางก็คือ อานธระของราชวงศ์ศาตวาหนะ ซึ่งทํานุบํารุงพระพุทธศาสนามากเหมือนกัน)

พ.ศ. ๖๒๑

พระเจ้ากนิษกะ กษัตริย์พระองค์ที่ ๓ ในราชวงศ์กุษาณ ขึ้นครองราชย์ ณ เมืองปุรุษปุระ เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในชมพูทวีปภายหลังสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีพระราชศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ทรงอุปถัมภ์การ สังคายนาครั้งที่ ๔ ของฝ่ายมหายาน ร้อยกรองพระไตรปิฎกฉบับภาษาสันสกฤต มหายานแยกตัวออกไปอย่างชัดเจนและเจริญรุ่งเรืองแพร่หลาย มีพระสงฆ์และชาวพุทธสําคัญเป็นปราชญ์ เป็นที่ปรึกษา เป็นกวีในราชสํานัก ทรงส่งสมณทูตไปประกาศพระศาสนาในอาเซียกลาง ซึ่งทําให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายไปยัง จีน เกาหลี มองโกเลีย และญี่ปุ่น ในสมัยต่อมาทรงสร้างสถูปและวัดวาอารามเป็นอันมาก และ เป็นสมัยที่ศิลปะแบบคันธาระเจริญถึงขีดสุด

อาณาจักรกุษาณรุ่งเรืองและเป็นสะพานเชื่อมระหว่างอารยธรรมอินเดีย จีน กับ โรมัน หรือตะวันออกกับตะวันตกอยู่ประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ ในตอนปลายยุคได้ค่อยสูญเสียดินแดนให้แก่เผ่าชนฝ่ายพราหมณ์ตามลําดับ จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๙ ก็สูญสิ้นวงศ์ และมีอาณาจักรคุปตะของวงศ์กษัตริย์ฝ่ายพราหมณ์รุ่งเรืองขึ้นแทน

 

ยุคที่ ๔ ศูนย์กลางการศึกษา วัฒนธรรม
และการผสมผสานกับศาสนาฮินดู
(ยุคทองของอินเดียในสมัยอาณาจักรฮินดู-พุทธของคุปตะ จักรวรรดิพุทธที่ ๓ ของพระเจ้าหรรษวรรธนะ อาณาจักรพุทธของราชวงศ์ไมตรกะประมาณ พ.ศ. ๘๐๐ ถึง ๑๒๕๐)

พ.ศ. ๘๐๐

เมื่อราชวงศ์กุษาณเสื่อมอํานาจลงแล้ว อาณาจักรคุปตะได้ตั้งตัวขึ้นทางแคว้นมคธ (หรือพิหารในปัจจุบัน) เบื้องต้นมีราชธานีอยู่ที่เมืองปาฏลีบุตร แต่ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ได้แผ่อํานาจออกไปทางตะวันตกจนมีอาณาเขตจดทะเลทั้งสองด้าน คือ ทางทิศตะวันออกจดอ่าวเบงกอลบริเวณบังคลาเทศ และเมืองกัลกัตตา ทิศตะวันตกจดทะเลอาหรับที่แหลมคุชรัต ทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศเหนือ ลึกเข้าไปในแคว้นราชาสถานบางส่วน ปัญจาบบางส่วน และอุตตรประเทศส่วนใหญ่ ทิศใต้จดเทือกเขาวินธัย รวมอาณาเขตทั้งหมดประมาณ ๑ ใน ๓ ของจักรวรรดิของพระเจ้าอโศก ในรัชกาลนี้ได้ย้ายราชธานีไปอยู่ที่ เมืองอโยธยา กษัตริย์วงศ์นี้ครองอํานาจอยู่ได้ประมาณ ๒ ศตวรรษ ถึงแม้จะเป็นวงศ์กษัตริย์ฮินดู แต่แทบทุกพระองค์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา และมีหลายพระองค์ที่เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา

มีข้อสังเกตว่า ราชวงศ์กุษาณเป็นชนชาติอื่นที่เข้ามาครองอำนาจในอินเดีย และได้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างมาก ในปลายยุคเมื่อกุษาณเสื่อมอํานาจลงแล้ว ชนเผ่าต่างๆ ที่จะตั้งตัวเป็นใหญ่จึงถือเอาการนับถือพระพุทธศาสนาว่าเป็นเรื่องคนต่างชาติไปด้วย และผนวกเอาความเป็นฮินดูเข้ากับความเป็นอินเดีย ศาสนาฮินดูจึงมีความหมายสําหรับการเป็นชาตินิยม และทําให้พระพุทธศาสนาเสียเปรียบมาก แต่เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาได้ประดิษฐานมั่นคง ประชาชนนับถือแพร่หลายทั่วไปหมดแล้ว วัดซึ่งเป็นสถาบันพระพุทธศาสนามีฐานะเป็นสถาบันการศึกษาอยู่ในตัว และเป็นสิ่งที่เนื่องอยู่กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ปกครอง แม้จะเป็นชาวฮินดูก็บํารุงวัดวาอารามในฐานะเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐ บางทีก็มีมเหสีเป็นชาวพุทธ หรือไม่ก็มีที่ปรึกษาราชการเป็นชาวพุทธ เช่น กษัตริย์องค์ที่ ๒ (สมุทรคุปต์) มีท่านวสุพันธุเป็นที่ปรึกษาวางระบบการบริหารราชการเป็นต้น อย่างไรก็ดี การที่ศาสนาฮินดูเป็นหลักของราชวงศ์นี้ ก็เป็นหตุให้พระพุทธศาสนาเริ่มมีการประนีประนอมในทางหลักธรรมกับศาสนาฮินดูมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนับว่าเป็นสาเหตุแห่งความเสื่อมของพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง

สมัยคุปตะนี้ เป็นยุคที่รุ่งเรืองด้วยศิลปวิทยาการ วรรณคดีสันสกฤตได้เจริญถึงขีดสุด มีกวีสําคัญ เช่น กาลิทาส เป็นต้น มีการรวบรวมคัมภีร์ธรรมศาสตร์ ร้อยกรองคัมภีร์ มหาภารตะ รามยณะ และปุราณะ มีนักดาราศาสตร์คนสําคัญชื่อ อารยภัฏ นักคณิตศาสตร์สําคัญชื่อ วราหะมิหิระ ศัลยแพทย์ชื่อ สุศรุตะ ศิลปกรรมต่างๆ เจริญก้าวหน้าฝีมือยอดเยี่ยม ศาสนาฮินดูก็ปรับปรุงตัวขึ้นมาในรูปใหม่ วัดในพระพุทธศาสนากลายเป็นมหาวิหาร เป็นสถาบันการศึกษาอย่างที่เรียกว่า มหาวิทยาลัย มหาวิหารที่กําลังก่อตัวมีชื่อเสียงเด่นขึ้นมาเป็นพิเศษในยุคนี้ คือ นาลันทา

ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของยุคนี้ คือ การที่พระสงฆ์และนักจาริกออกเดินทางไปมาระหว่างอินเดียกับอาณาจักรต่างๆ ในอาเซียกลาง นําคัมภีร์พุทธศาสนาหรือพระสารีริกธาตุไปบ้าง มีผู้มาแปลคัมภีร์ไปบ้าง ปราชญ์อินเดียไปอยู่ในราชสํานักต่างๆ บ้าง มหาวิหารต่างๆ โดยเฉพาะนาลันทา ได้เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่วัฒนธรรมระหว่างประเทศในยุคนี้ และทําให้พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแพร่หลายมั่นคงทั่วอาเซียตะวันออก นักจาริกสําคัญที่ปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์ยุคนี้ คือ หลวงจีนฟาเหียน ซึ่งจาริกอยู่ในอินเดียประมาณ พ.ศ. ๙๐๐

พ.ศ. ๑๐๐๐

ชนเผ่า หูณะ หรือ ฮั่นขาว มีมิหิรกุละเป็นหัวหน้า ได้เข้ารุกรานอินเดีย ยึดครองคันธาระและกัษมีระไว้ได้ พวกหูณะนับถือศาสนาฮินดูนิกายไศวะ ได้ทําลายวัดวาอาราม กําจัดพระภิกษุสงฆ์ โดยเฉพาะ ตักกสิลา อันเป็นศูนย์กลางการศึกษาวัฒนธรรมและพระพุทธศาสนาในภาคนี้ ได้ถูกทําลายพินาศหมดในคราวนี้ พวกหูณะนี้รุกรานต่อเข้ามาอีกจนถึงโกสัมพี แต่จะยึดอาณาจักรคุปตะเลยกว่านี้เข้ามาไม่ได้ ถึงกระนั้นก็ทําให้คุปตะต้องอ่อนแอลง พวกหูณะครองอํานาจอยู่ได้ประมาณ ๕๐ ปีจึงถูกกษัตริย์คุปตะปราบปรามลงได้ พวกหูณะที่คงอยู่ในอินเดียได้รับเอาวัฒนธรรมอินเดียและกลายเป็นอินเดียไป ส่วนราชวงศ์คุปตะแม้จะกู้อํานาจคืนมาได้ แต่รุ่งเรืองอยู่ต่อมาอีกไม่นานก็ต้องสิ้นอํานาจ

พ.ศ. ๑๑๐๐

พระเจ้าหรรษะ แห่งราชวงศ์วรรธนะ แห่งวรรณะแพศย์ได้กําจัดอํานาจกษัตริย์คุปตะแห่งวรรณะพราหมณ์ลงได้ และขึ้นครองราชย์เป็นมหาราชที่ยิ่งใหญ่ มีอาณาเขตคลุมอินเดียภาคเหนือส่วนใหญ่ คือ ตั้งแต่ใกล้อ่าวเบงกอลไปจนถึงเมืองวลภี ของกษัตริย์วงศ์ไมตรกะ (ได้นามว่าจักรพรรดิแห่งอาณาจักรทั้ง ๕ คือ ปัญจาบ กโนช เคาฑะ หรือเบงกอล มีถิลาหรือพิหาร และโอริสสา) ตั้งราชธานีอยู่ ณ เมืองกานยกุพชะ หรือ กโนช หรือ กเนาช์ (Kanauj) พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเป็นอย่างมาก ได้ทรงทํานุบํารุงมหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นอย่างดี ทรงส่งเสริมศิลปะ วรรณคดี และวิทยาการ เป็นยุคสั้นๆ ที่อารยธรรมอินเดียเจริญถึงที่สุดอีกครั้งหนึ่ง แต่พระพุทธศาสนาในยุคนี้ได้เริ่มกลายรูปเป็นแบบตันตระไปแล้ว และเข้ากันกับศาสนาฮินดูได้สนิทรวมทั้งใช้วรรณคดีสันสกฤตด้วย ส่วนพวกฮินดูแม้จะได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้าหรรษะ แต่ก็ขัดเคืองในการที่พระองค์ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างมากมายถึงกับวางแผนปลงพระชนม์ คราวแรกถูกจับได้ แต่ต่อมาพระเจ้าหรรษะก็ถูกลอบปลงพระชนม์สําเร็จในที่สุด ในยุคนี้มีนักจาริกสําคัญเดินทางมาอีกท่านหนึ่ง คือ หลวงจีนเหี้ยนจัง หรือ ยวนฉาง หรือ พระถังซัมจั๋ง ซึ่งได้เขียนจดหมายเหตุไว้อันเป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก

นาลันทามหาวิหาร หรือมหาวิทยาลัยนาลันทาในยุคนี้ มีอาจารย์และศิษย์พํานักอยู่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน ศึกษาหลักธรรมฝ่ายมหายานเป็นวิชาบังคับ นอกจากนั้น มีวิชาหลักธรรมฝ่ายหีนยาน นิรุกติศาสตร์ ตรรกศาสตร์ ปรัชญา แพทยศาสตร์ ศิลปะ ไตรเพท เป็นต้น มีนักศึกษาทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ทั้งมหายาน หีนยาน ทั้งพุทธ มิใช่พุทธ ทั้งชาวอินเดียและชาวต่างประเทศ มีการสอบคัดเลือกเข้าศึกษา มีห้องสมุด และอาคารต่างๆ ที่ใหญ่โต วิจิตรด้วยศิลปกรรมอันประณีตมากมาย

พ.ศ. ๙๕๐ – ๑๒๕๐

ในช่วงเวลานี้มีอาณาจักรเล็กแห่งหนึ่ง ของกษัตริย์ราชวงศ์ไมตรกะ ซึ่งตั้งราชธานีอยู่ ณ เมืองวลภี (อยู่บนแหลมคุชรัต ฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอินเดีย) กษัตริย์ราชวงศ์นี้ตลอดสายได้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ประจําของมหาวิหารแห่งหนึ่ง เรียกว่า วลภี หรือ ทุฑฑา (เรียกเต็มว่า ทุฑฑาวิหารมณฑล แปลว่า กลุ่มวัดของพระนางทุฑฑา ซึ่งเป็นเจ้าหญิงที่ได้ทรงเริ่มสร้างวัดนี้) วลภี เป็นมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาที่เด่นฝ่ายหีนยาน เป็นสถาบันการศึกษาที่มีเกียรติคุณเคียงคู่หรือเป็นคู่แข่งกับนาลันทาที่เด่นฝ่ายมหายาน แต่ได้ถูกทําลายหมดสิ้น เมื่อทัพของชาวมุสลิมเข้ารุกรานประมาณ พ.ศ. ๑๓๕๐ ถึง ๑๔๐๐

 

ยุคที่ ๕ ความเจริญที่อ่อนแอ ความเสื่อมโทรม
และสูญสิ้นจากประเทศอินเดีย
(อาณาจักรพุทธของราชวงศ์ปาละ พระพุทธศาสนาแบบตันตระ และการรุกรานของทัพเตอร์กมุสลิม ประมาณ พ.ศ. ๑๒๕๐ - ๑๗๐๐)

พ.ศ. ๑๒๕๐

หลังจากพระเจ้าหรรษวรรธนะสวรรคตแล้ว ชมพูทวีปได้ระส่ำระสายรวมกันไม่ติดอยู่ประมาณ ๑ ศตวรรษ จากนั้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มีคนวรรณศูทร ตั้ง ราชวงศ์ปาละ ขึ้นครองอาณาจักรเล็กๆ แห่งหนึ่ง มีอาณาเขตเทียบตามชื่อปัจจุบัน ได้แก่ แคว้นพิหาร และเบงกอล กษัตริย์ราชวงศ์นี้เป็นพุทธมามกะ ได้ทรงทํานุบํารุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะได้ทรงทํานุบํารุงมหาวิทยาลัยนาลันทา และมหาวิหารต่างๆ และทรงสร้างมหาวิทยาลัยใหม่ๆ ของราชวงศ์ปาละเองขึ้นอีกหลายแห่ง คือ โอทันตปุระ วิกรมศิลา โสมปุระ และ ชคัททละ หรือ วาเรนทรี สถาบันเหล่านี้ยังคงทําหน้าที่เป็นศูนย์กลางการศึกษา และเผยแพร่วัฒนธรรมระหว่างชาติต่อมาได้เป็นอย่างดี เช่น กษัตริย์แห่งศรีวิชัย พระองค์หนึ่งได้ทรงสร้างวัดถวายที่นาลันทา เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๓๕๐ พระศานตรักษิต และ ปัทมสัมภวะ ได้เดินทางจากนาลันทาไปเผยแพร่พุทธศาสนาในทิเบตในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ และ พระอตีศะ ได้เดินทางจากมหาวิทยาลัยวิกรมศิลาไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในทิเบต ในพุทธตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้น สําหรับวิกรมศิลานั้นในระยะหลังปรากฏว่า ได้เจริญรุ่งเรืองล้ำหน้านาลันทาออกไปอีก

อย่างไรก็ดี สถาบันพุทธศาสนาเหล่านี้ แม้จะมีจํานวนมากขึ้น และได้รับการอุปถัมภ์บํารุงอย่างดี แต่ในสมัยนี้ได้หันมาเน้นการศึกษาพระพุทธศาสนาแบบตันตระอย่างเดียว และพระพุทธศาสนาที่เจริญในยุคนี้ก็เป็นแบบตันตระที่กลายรูปออกไปใกล้เคียงกับตันตระของฮินดูเข้าทุกที อันเป็นความเจริญที่อ่อนแอ และนําไปสู่ความเสื่อมในที่สุด

พ.ศ. ๑๓๐๐

ศังกราจารย์ นักบวชฮินดูนิกายไศวะผู้แสดงปรัชญาเวทานตะ ได้นําเอาหลักธรรมและหลักปรัชญาในพระพุทธศาสนาไปปรับปรุงออกใหม่เป็นคําสอนในศาสนาฮินดู เที่ยวสั่งสอนและโต้วาทะไปในถิ่นต่างๆ และนําเอาคติแห่งการตั้งคณะสงฆ์และวัดในพระพุทธศาสนาไปจัดตั้งคณะนักบวชสันยาสีและวัดฮินดูขึ้น เผยแพร่คําสอนและสงเคราะห์ประชาชน ทําให้ศาสนาฮินดูเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาซึ่งกําลังตกอยู่ในสภาพที่หลงลืมหน้าที่ และมีความคิดเห็นคลาดเคลื่อนออกไป จึงอยู่ในสภาพเสียเปรียบ และเร่งความเสื่อมโทรมให้เร็วยิ่งขึ้น

พ.ศ. ๑๕๐๐

พุทธศาสนาแบบตันตระแต่นี้ไป ได้กลายรูปไปในทางเสื่อมโทรมยิ่งขึ้น หลงหมกมุ่นในเรื่องไสยศาสตร์ มนตร์ ยันตร์ การแสดงทางเพศอันอุจาดอนาจารต่างๆ จนแยกไม่ออกจากตันตระตามลัทธิศักติของฮินดู และเผยแพร่ลัทธินี้ออกไปยังทิเบตและเนปาลเป็นต้นด้วย สภาพเช่นนี้ดําเนินไปจนถึงอวสานของพระพุทธศาสนาใน พ.ศ. ๑๗๐๐

พ.ศ. ๑๗๐๐

ในขณะที่อินเดียกําลังอ่อนแอ ไม่สามารถรวมกําลังกันเป็นอาณาจักรใหญ่ๆ ได้นี้ กองทัพเตอร์กมุสลิม ก็ได้ยกเข้ารุกรานผ่านตั้งแต่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือเข้ามาตามลําดับจนเกือบทั่วทั้งชมพูทวีป ทุกแห่งที่ผ่านไป ทัพเตอร์กมุสลิมฆ่าพระสงฆ์ เผาวัด ทําลายสิ่งก่อสร้างทางศาสนาทุกอย่าง ตลอดจนหอสมุดและคัมภีร์ต่างๆ ทั้งหมด บางแห่งแม้แต่ซากก็ไม่ให้เหลือ พระสงฆ์บางส่วนที่หนีทัน ได้ลี้ภัยไปอยู่ในเนปาลและทิเบต กล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาซึ่งอ่อนกําลังอยู่แล้ว ได้สูญสิ้นไปจากประเทศอินเดียแต่บัดนั้น ส่วนศาสนาฮินดู แม้จะถูกทําลายล้างเหมือนกันแต่เพราะสภาพต่างกัน เช่น นักบวชฮินดูบางพวกอยู่ในบ้านเรือน แต่งตัวไม่ต่างจากชาวบ้านทั่วไป ไม่เป็นสังเกตที่จะแยกออกต่างหาก จึงหลงเหลืออยู่เป็นเชื้อให้ศาสนาฮินดูฟื้นตัวขึ้นภายหลังได้อีก

ต่อแต่นี้ไปเป็นยุคของ อาณาจักรมุสลิม ซึ่งยาวนานประมาณ ๕๐๐ ปี ในยุคนี้ระยะเวลาที่รวมอํานาจได้มากที่สุด คือ จักรวรรดิโมกุล หรือ มุขุล ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๖๙ ถึง ๒๓๒๗ และระยะที่รุ่งเรืองที่สุดคือรัชกาลของอักบาร์มหาราช (พ.ศ. ๒๐๙๙ - ๒๑๔๘) ซึ่งเป็นกษัตริย์มุสลิมที่ผ่อนปรน ให้โอกาสในการนับถือศาสนา

 

สมัยปัจจุบัน

ใน พ.ศ. ๒๐๔๑ ชาวยุโรป ได้เริ่มเข้ามาติดต่อทําการค้าขายกับอินเดีย เริ่มด้วยชาวโปรตุเกสก่อน ต่อจากนั้นชาวฮอลันดา และชาวอังกฤษได้เข้ามาติดต่อบ้างตามลําดับ ชมพูทวีปได้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗ และได้เอกราชคืนเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๙๐ โดยแบ่งแยกออกเป็น ๒ ประเทศ คือ อินเดีย กับ ปากีสถาน

ในยุคที่อินเดียเป็นอาณานิคมนั้น ชาวยุโรปได้นําคริสต์ศาสนาเข้าไปเผยแพร่ แต่ได้ผลไม่มากนัก เมื่อชาวอินเดียตื่นตัวในเรื่องชาตินิยม ก็ตื่นตัวในเรื่องศาสนาของตนด้วย ทําให้มีขบวนการปรับปรุงส่งเสริมในศาสนาฮินดู ประชาชนยังคงนับถือเชื่อมั่นในศาสนาฮินดูอย่างแน่นแฟ้น ตามสถิติเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ ชาวอินเดียนับถือศาสนาฮินดู ร้อยละ ๘๓.๕ อิสลาม ๑๐.๗ คริสต์ ๒.๔ สิกข์ ๑.๘ และ เชน ๐.๕ สําหรับพระพุทธศาสนานั้นได้ถูกชาวอินเดียลืมสนิท ตลอดระยะเวลาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึง ๒๔ แม้จะเชื่อถือประพฤติปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาอยู่หลายอย่าง ก็เป็นไปโดยไม่รู้ตัวเพราะได้ถูกนําไปผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของฮินดู หรือดัดแปลงให้กลายเป็นฮินดูไปแล้ว เช่น การบูชาพระพุทธาวตาร ในฐานะที่พระพุทธเจ้าเป็นอวตารของพระนารายณ์ เป็นต้น เมื่อชาวอินเดียพูดถึงหรือได้ยินได้ฟังเรื่องพระพุทธศาสนา ก็รู้สึกเหมือนเป็นเรื่องคนต่างถิ่น ที่เหลือเป็นชาวพุทธแท้ก็มีเพียงเป็นกลุ่มๆ อยู่ใน กัษมีระ อัสสัม และจิตตะกอง เท่านั้น

การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย เพิ่งจะมีขึ้นไม่นานมานี้ และส่วนมากเป็นการริเริ่มหรือเกิดจากการกระตุ้นของชาวยุโรปและอเมริกัน ที่ได้ศึกษาเรื่องราวแล้วมีความเลื่อมใส ซึ่งจะลําดับเหตุการณ์สําคัญได้ดังนี้

พ.ศ. ๒๓๙๕

นายพล เซอร์ อเลกซานเดอร์ คันนิ่งแฮม นักโบราณคดีอินเดียและนักสํารวจ ได้ดําเนินการขุดค้นโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ ในทางพระพุทธศาสนา แสดงให้โลกและชาวอินเดียได้ตื่นเต้นมองเห็นความยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนาในประวัติศาสตร์ เช่น เรื่องพระเจ้าอโศกและนาลันทา เป็นต้น

พ.ศ. ๒๔๒๒

เซอร์ เอดวิน อาร์โนลด์ ชาวอังกฤษประพันธ์เรื่อง “ประทีปแห่งทวีปอาเซีย” หรือ “The Light of Asia” เป็นหนังสือพุทธประวัติที่ไพเราะลึกซึ้ง ทําให้คนอินเดียและชาวตะวันตกสนใจพระพุทธศาสนาเป็นจํานวนมาก ที่เปลี่ยนศาสนามานับถือก็มี

พ.ศ. ๒๔๒๔

ที. ดับลิว รีส เดวิดส์ กับภรรยาและคณะ ร่วมกันตั้ง สมาคมบาลีปกรณ์ (The Pali Text Society) ขึ้นที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ สําหรับดําเนินงานพิมพ์พระไตรปิฎกและคัมภีร์พระพุทธศาสนาต่างๆ นับเป็นก้าวสําคัญในการศึกษาภาษาบาลีและพระพุทธศาสนาในสมัยปัจจุบัน ในช่วงเวลาระยะนี้ การศึกษาค้นคว้าภาษาบาลีและพระพุทธศาสนาในหมู่ชาวตะวันตกได้ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เช่น มีการพิมพ์พจนานุกรมภาษาบาลี-อังกฤษของชิลเดอร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ พิมพ์อรรถกถาชาดกด้วยอักษรโรมันครบชุด ใน พ.ศ. ๒๔๒๐ - ๒๔๔๐ พิมพ์และแปลคัมภีร์ทีปวงศ์ พ.ศ. ๒๔๒๑ พิมพ์บาลีวินัยปิฎกครบชุด พ.ศ. ๒๔๒๒ - ๒๔๒๖ พิมพ์มิลินทปัญหา พ.ศ. ๒๔๒๓ พิมพ์บาลี สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก และอรรถกถาเล่มสําคัญๆ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๒๗ ถึง ๒๔๖๘ พร้อมกับเริ่มงานพิมพ์พระไตรปิฎกแปลตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.๒๔๒๔ เป็นต้นมา ส่วนในฝ่ายคัมภีร์สันสกฤตของมหายานก็มีความก้าวหน้าอย่างมากมายไม่แพ้กัน กล่าวได้ว่า ปัจจุบัน คัมภีร์และตํารับตําราศึกษาภาษาบาลีสันสกฤตและพระพุทธศาสนาที่เป็นภาษาอังกฤษมีพรั่งพร้อมบริบูรณ์กว่าในภาษาใดๆ

พ.ศ. ๒๔๓๕

มีการตั้ง สมาคมพุทธศาสนปกรณ์ (The Buddhist Text Society) ณ เมืองกัลกัตตา นับว่าเป็นการตื่นตัวในหมู่ปราชญ์อินเดียอันเกิดจากแรงกระตุ้นที่ได้เห็นชาวยุโรปศึกษาค้นคว้ากันอย่างเข้มแข็งจริงจัง ในช่วงเวลาต่อนี้มา ปราชญ์อินเดียได้เริ่มศึกษาค้นคว้าพระพุทธศาสนา ทั้งในด้านหลักธรรมและประวัติศาสตร์มากขึ้นโดยลําดับ เมื่อรัฐบาลอินเดียได้เอกราชแล้ว รัฐบาลแห่งแคว้นพิหารได้ตั้ง นวนาลันทามหาวิหาร หรือ สถาบันวิจัยและศึกษาพระพุทธศาสนาและภาษาบาลีแห่งนาลันทาขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ ณ สถานที่ใกล้กับที่ตั้งของมหาวิทยาลัยนาลันทาเดิม แม้สถาบันการศึกษาชั้นสูงแห่งอื่นๆ ก็มีการสอนวิชาพระพุทธศาสนาบ้าง ภาษาบาลีบ้าง หลายแห่ง

พ.ศ. ๒๔๓๔

อนาคาริก ธรรมปาละ ชาวลังกา (เดิมชื่อ เดวิด เหมวิตรเน) เกิดในตระกูลผู้ดีชาวลังกาที่เปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาแล้ว ได้รับคําสั่งสอนจากครูอเมริกันชื่อ พันเอกออคคอตต์ ให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มีความเข้าใจในสถานการณ์ต่างๆ และมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนา จึงใช้ชื่อใหม่อันแสดงจุดมุ่งหมายของตน ได้ไปนมัสการสังเวชนียสถานต่างๆ ในประเทศอินเดีย ได้เห็นพุทธคยาอันเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ถูกปล่อยปละละเลย และอยู่ในความยึดครองของนักบวชฮินดูแล้ว ไปปฏิญาณตนต่อหน้าต้นโพธิ์ตรัสรู้ว่า จะขอเสียสละพลีชีวิตของตน เพื่อกู้ปูชนียสถานของพระพุทธศาสนาให้พ้นจากสภาพที่ถูกทอดทิ้งให้จงได้ ในปีนี้เอง อนาคาริก ธรรมปาละ ได้เริ่มตั้ง มหาโพธิสมาคม แห่งแรกที่พุทธคยา จากนั้นได้ทํางานอย่างเด็ดเดี่ยวจริงจังเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ได้เดินทางไปในประเทศต่างๆ เผยแพร่พุทธธรรม และขอความช่วยเหลือ ความพยายามของท่านผู้นี้ทําให้เกิดความตื่นตัวและการร่วมมือเป็นอันมาก โดยเฉพาะจากคนอเมริกัน มหาโพธิสมาคมได้ขยายตัวมีสาขาตั้งขึ้นในเมืองสําคัญต่างๆ ทั่วประเทศอินเดีย ท่านได้อุปสมบทในวัยชรา ณ ประเทศลังกาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ และถึงมรณภาพในปีนั้นเอง เมื่อถึงแก่มรณภาพ ได้เปล่งวาจาว่า ขอเกิดใหม่อีก ๒๘ ครั้ง เพื่อเผยแพร่พุทธธรรม ความเพียรพยายามของท่านทําให้พุทธคยาหลุดพ้นจากการครอบครองและเบียดเบียนของนักบวชฮินดู กลับคืนเป็นกรรมสิทธิ์ของพุทธศาสนิกชนสมความมุ่งหมาย ทําให้ฐานะของพระพุทธศาสนาฟื้นตัว และชาวพุทธเริ่มดําเนินงานเพื่อพระศาสนาได้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

พ.ศ. ๒๔๙๙

รัฐบาลอินเดียได้จัดงานฉลอง “พุทธชยันตี” ในโอกาสครบรอบ ๒๕ พุทธศตวรรษ (อินเดียนับศักราชอย่างลังกา เร็วกว่าประเทศไทย ๑ ปี) ก่อนจัดงานฉลองนั้นรัฐบาลอินเดียได้ทําการบูรณะสังเวชนียสถานทั้งสี่และสถานที่สําคัญทางพระพุทธศาสนาทุกแห่งเป็นการใหญ่ พร้อมกับสร้างที่พักสําหรับผู้จาริกแสวงบุญไว้ครบทุกแห่ง และจัดพิมพ์หนังสือสําคัญเป็นอนุสรณ์แห่งพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย

ในปีเดียวกันนี้ ดร. อัมเบดการ์ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนแรกของอินเดีย ซึ่งเป็นผู้นําคนวรรณะศูทร ได้เปลี่ยนศาสนาจากฮินดู ปฏิญาณตนเป็นพุทธศาสนิก ทําให้คนวรรณะศูทรหันมานับถือพระพุทธศาสนาเป็นจํานวนล้านคน ท่านผู้นี้ได้ดําเนินการต่างๆ เพื่อยกฐานะคนวรรณะศูทรทั้งทางสังคมและการศึกษา ด้วยอาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านการศึกษา ได้ตั้งวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาพุทธศาสนาเพื่อสอนวิชาการต่างๆ มากมายหลายแห่ง เช่น สิทธารถวิทยาลัยทางนิติศาสตร์ เป็นต้น ท่านได้รับความเคารพเทิดทูนบูชาจากคนวรรณะศูทรดุจเป็นพระโพธิสัตว์หรือยิ่งเทพเจ้า ท่านผู้นี้ถึงมรณกรรมใน พ.ศ. ๒๔๙๙ นั่นเอง

ปัจจุบัน พุทธศาสนิกชนประเทศต่างๆ เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานเป็นจํานวนมากทุกปี บางประเทศก็สร้างวัดตามแบบของชาติของตนไว้ ณ สังเวชนียสถานนั้นๆ สําหรับประเทศไทย รัฐบาลได้ดําเนินการสร้างวัดไว้แห่งหนึ่งที่พุทธคยา เรียกว่า “วัดไทยพุทธคยา” หรือ Wat Thai Buddhagaya เริ่มสร้างตามคําขอร้องของรัฐบาลอินเดียในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ และส่งพระสงฆ์ไทยไปอยู่ประจํา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นต้นมา

 

เหตุที่พระพุทธศาสนาเสื่อมสูญจากอินเดีย

การศึกษาเรื่องนี้ ยังได้หลักฐานไม่ชัดแจ้งสมบูรณ์ แต่เท่าที่ปราชญ์สันนิษฐานกันไว้ พอประมวลได้ดังนี้

๑. คณะสงฆ์อ่อนแอเสื่อมโทรมลง

พระสงฆ์แต่เดิมดํารงมั่นในศาสนปฏิบัติ มีศีลาจารวัตร รักษาระเบียบวินัย มีความเสียสละ เที่ยวจาริกสั่งสอนประชาชน บําเพ็ญศาสนกิจเพื่อประโยชน์แก่พหูชน คนจึงเลื่อมใสศรัทธาในพระศาสนา พระมหากษัตริย์ ขุนนาง เศรษฐี คหบดี พากันถวายความอุปถัมภ์บํารุง สร้างวัดวาอารามใหญ่โตถวาย ที่ถึงกลับกลายเป็นมหาวิทยาลัยก็มี พระสงฆ์มีความเป็นอยู่สุขสบาย ตั้งใจศึกษาปฏิบัติและอบรมสั่งสอนประชาชน ไม่ละเลยทอดทิ้งหน้าที่อันถูกต้องต่อพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ พระศาสนาก็รุ่งเรือง แต่ต่อมาเพราะชีวิตที่ได้รับการบํารุงสุขสบายนั้นก็ติดและลุ่มหลง ลืมหน้าที่ที่แท้จริง เป็นเหตุให้

- ติดถิ่น ติดที่ เพลิดเพลินในลาภสักการะและความสุขสบาย นึกถึงแต่เรื่องของตนเอง และปัจจัยเครื่องอาศัยของตนเอง ทอดทิ้งหน้าที่ต่อประชาชน

- วุ่นวายอยู่กับพิธีกรรม และงานฉลองอันสนุกสนานต่างๆ จนความเข้าใจเรื่องบุญกุศลแคบลงเป็นเรื่องรับเข้าหรือเอาฝ่ายเดียว

- ศึกษาเล่าเรียนลึกซึ้งลงไปแล้ว มัวหลงเพลินกับการถกเถียงปัญหาทางปรัชญาประเภท อันตคาหิกทิฏฐิ จนลืมศาสนกิจสามัญในระหว่างพุทธบริษัท

- มีความประพฤติปฏิบัติย่อหย่อนลง เพราะเพลิดเพลินในความสุขสบาย และแตกสามัคคีแยกเป็นพวกเป็นนิกาย เพราะถือรั้นรังเกียจกันตกลงกันไม่ได้

- เห็นแก่ความง่าย ตามใจตนเอง ตามใจคน ปล่อยให้เรื่องไสยศาสตร์เรื่องลึกลับอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ พอกพูนมากขึ้น ตนเองก็เพลิดเพลินมัวเมาในเรื่องเหล่านั้น และทําให้ประชาชนจมดิ่งลง แทนที่จะมีเหตุผลยิ่งขึ้น เข้มแข็ง มีปัญญาและพึ่งตนได้มากขึ้น ก็กลับอ่อนแอต้องคอยหวังพึ่งปัจจัยภายนอกมากยิ่งขึ้น และทําให้พระพุทธศาสนามีสภาพคล้ายคลึงกับศาสนาอื่นๆ มากมาย เช่น ที่แปรรูปไปเป็น ตันตระ แบบเสื่อมโทรม จนเหมือนกับตันตระของฮินดู และหมดลักษณะพิเศษของตนเอง

๒. ศาสนาฮินดูต่อต้านบีบคั้น

คําสอนของพระพุทธศาสนาขัดแย้งและทําลายความเชื่อถือเดิมในศาสนาพราหมณ์มากมายหลายอย่าง เป็นเหตุให้ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูในสมัยต่อมา พยายามหาทางลิดรอนพระพุทธศาสนาโดยวิธีต่างๆ ข้อที่ควรศึกษาในเรื่องนี้มีดังนี้

- พระพุทธศาสนาสอนว่าทุกคนมีความเสมอภาค ควรมีสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกัน ไม่จํากัดด้วยวรรณะ และให้ทุกคนศึกษาเล่าเรียนในพระธรรมวินัยเหมือนกันหมด คําสอนนี้กระทบกระเทือนฐานะของพราหมณ์ทั้งหลาย ซึ่งถือว่าตนเป็นวรรณะสูงสุด มีสิทธิพิเศษต่างๆ และเคยผูกขาดการศึกษาไว้ โดยปกติพราหมณ์เป็นคนชั้นสูง มีอํานาจและอิทธิมาก เช่น เป็นปุโรหิตของพระราชา เป็นต้น แต่พระพุทธศาสนาแพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไป ตราบใดที่ประชาชนยังมีศรัทธามั่นคง พระสงฆ์ยังเป็นที่พึ่งของประชาชนและทําหน้าที่ต่อประชาชนอย่างถูกต้อง พวกพราหมณ์ก็ไม่กล้าทําอันตราย หรือทําก็ไม่สําเร็จ ยิ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์อยู่ด้วย พระพุทธศาสนาก็ยิ่งมั่นคง จะสังเกตเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ที่เป็นพุทธมามกะ ทุกพระองค์ทรงให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา อุปถัมภ์ทุกๆ ศาสนา เช่น พระเจ้าอโศก กนิษกะ หรรษวรรธนะ เป็นต้น แต่พราหมณ์จะไม่พอใจในการอุปถัมภ์พุทธศาสนา เช่น ปุษยมิตร ทําลายวงศ์กษัตริย์พุทธขึ้นครองราชย์ แล้วกําจัดพุทธศาสนา พวกพราหมณ์ข้าราชการของพระเจ้าหรรษวรรธนะ ริษยาการทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ถึงกับวางแผนปลงพระชนม์ เป็นต้น ในสมัยที่พราหมณ์ขึ้นเป็นกษัตริย์แม้จะไม่กล้ากําจัดพระพุทธศาสนา แต่ก็ทําให้พระพุทธศาสนาต้องยอมประนีประนอมคําสอนกับฮินดู จนกลายเป็นเหมือนกันและถูกกลืนไปในที่สุด

- พวกพราหมณ์ใช้ศาสนาฮินดูเป็นหลักของลัทธิชาตินิยม โดยผนวกความเป็นคนอินเดียเข้ากับความเป็นฮินดู ซึ่งจะสังเกตเห็นว่ากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดียเป็นพุทธมามกะ และมักจะเป็นเชื้อสายชนต่างชาติ ที่เห็นชัดเจนคือ พระเจ้ากนิษกะทรงเป็นชนเชื้อสายมงโกลในเผ่ากุษาณ ชาวอินเดียที่จะกําจัดราชวงศ์กุษาณในสมัยต่อมา ใช้ลัทธิชาตินิยมเป็นเครื่องรวมกําลังและการที่กษัตริย์วงศ์นี้นับถือพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า พระพุทธศาสนาจึงถูกเพ่งมองในฐานะศาสนาของคนต่างชาติด้วย แม้ในเรื่องนี้พระเจ้าอโศกมหาราชก็เช่นกัน มีปราชญ์สันนิษฐานว่า พระองค์มีพระมารดาเป็นชนชาติกรีก พวกพราหมณ์ได้พยายามกําจัดราชวงศ์นี้พร้อมทั้งพระพุทธศาสนา พระเจ้าอโศกแม้จะเป็นกษัตริย์ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่ไม่ปรากฏเกียรติคุณในประวัติศาสตร์ของชาวฮินดูเลย ต่อเมื่อชาวยุโรปมาขุดค้นศึกษา พระนามของพระเจ้าอโศกจึงปรากฏขึ้นมา และชาวอินเดียเองจึงพลอยยอมรับ นอกจากนี้ แม้พระพุทธเจ้าเองก็มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะทรงเป็นชนเผ่ามงโกล ซึ่งย่อมไม่เป็นที่พึงพอใจของพราหมณ์

- ปราชญ์ฮินดูพยายามนําเอาหลักการในพระพุทธศาสนาไปปรับปรุงหลักธรรมของตนเองให้ออกรูปใหม่บ้าง นําไปทําตามอย่างบ้าง เพื่อให้มีกําลังเทียบเคียงกันได้ และให้ดูคล้ายคลึงเหมือนกัน กลืนกันจนไม่จําเป็นจะต้องมีพระพุทธศาสนาอยู่ต่างหาก และเมื่อฝ่ายพุทธศาสนาอ่อนแอก็กลืนได้ง่าย เช่น ศังกราจารย์ นําหลักในพุทธปรัชญาไปแปลงรูปเป็นปรัชญาเวทานตะของตน และสร้างวัดฮินดู ตั้งคณะนักบวชสันยาสีเลียนแบบคณะสงฆ์ เป็นต้น แม้องค์พระพุทธเจ้าเอง ก็กลายเป็นอวตารของพระนารายณ์ไป

๓. ชนชาติมุสลิมเข้ารุกรานและทําลาย

ในระยะที่คณะสงฆ์กําลังอ่อนแอลงนั้น ก็พอดีกองทัพชนชาติอาหรับและเตอร์กเข้ารุกรานเป็นระลอกๆ และทําลายพระพุทธศาสนาลงจนหมด เช่น ทําลายมหาวิทยาลัยวลภีลงในราว พ.ศ. ๑๓๕๐ - ๑๔๐๐ และทําลายหมดทุกแห่งใน พ.ศ. ๑๗๐๐ เป็นต้น โดยวิธี

- ฆ่าพระสงฆ์ เช่นที่นาลันทา นักประวัติศาสตร์มุสลิมเองบันทึกไว้ว่า พระถูกฆ่าประมาณหมื่นรูป คือไม่ให้เหลือเลยทุกแห่ง

- ทําลายสถาบันและสิ่งก่อสร้างโดยเผาผลาญวัดวาอาราม และมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาทุกแห่ง บางแห่งแม้แต่ซากก็ไม่ให้เหลือ

- เผาคัมภีร์และตํารับตําราพระพุทธศาสนา เช่น ที่หอสมุดของนาลันทา เผาอยู่แรมเดือน

การทําลายครั้งนี้ทําให้คณะสงฆ์สลายตัว และตั้งไม่ติดอีกเลย ระบบของพระพุทธศาสนานั้นดํารงอยู่ในรูปสถาบัน ซึ่งปันเป็นพุทธบริษัท ๒ ฝ่าย ปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละฝ่ายต่อกันโดยฝ่ายพระสงฆ์เป็นผู้นําในทางจิตใจ มีความเป็นอยู่และที่อยู่ต่างหากชัดเจน กําจัดได้ง่าย เมื่อหมดพระสงฆ์ หมดผู้นํา พุทธศาสนิกก็ถูกบังคับบ้าง ถูกชักจูงบ้าง กลายเป็นมุสลิมหรือฮินดูไป ฝ่ายฮินดูถึงจะถูกกําจัดพร้อมกัน แต่เพราะนักบวชฮินดูมีหลายแบบ บางพวกอยู่บ้านมีครอบครัว มีความเป็นอยู่ไม่ต่างจากคนทั่วไป ก็เหลือรอดอยู่ได้ง่าย ขณะนั้นหลักการทั่วไปของพระพุทธศาสนากับฮินดูคล้ายคลึงกัน หรือผสมผสานกันมากแล้ว เมื่อฝ่ายฮินดูเหลืออยู่ ก็ชักไปเข้าฮินดูโดยง่าย ไม่มีใครขัดขวาง วัดพุทธศาสนาที่หลงเหลืออยู่ก็ถูกพราหมณ์เข้าครองกลายเป็นวัดฮินดู ชาวพุทธที่เหลือก็ถูกกลืนช้าๆ เข้าสู่สังคมแห่งวรรณะของฮินดู

ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้สูญสิ้นไปจากประเทศอินเดีย เพราะสิ่งที่พระพุทธศาสนาสร้างขึ้นแล้วในประเทศอินเดีย ก็ยังคงอยู่ในประเทศอินเดีย ในรูปศิลปะ โบราณคดี วัฒนธรรมต่างๆ ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนในด้านหลักธรรมก็เป็นเครื่องปรับปรุงขัดเกลา และเป็นแบบอย่างที่ทําให้ศาสนาฮินดูซึ่งเจริญมาถึงปัจจุบันกลายรูปไปในทางที่ประณีตขึ้น เช่น เลิกการบูชายัญ มีหลักศีลธรรมเด่นชัดขึ้น มีหลักปรัชญาที่ลึกซึ้งขึ้นด้วยวิธีดึงเอามาจากพระพุทธศาสนาเท่าที่เป็นประโยชน์แก่ตน ดังนี้ เป็นต้น

คํานําสํานักพิมพ์

 

หนังสือ “พระพุทธศาสนาในอาเซีย” เล่มนี้ เป็นหนังสือวิชาการที่อ่านเพลิดเพลิน มีเนื้อหาสนุกสนานเข้มข้น (เช่น เรื่อง พุทธศาสนาในเวียดนาม เป็นต้น) กล่าวได้ว่า เรื่องราวในประวัติศาสตร์นั้น บางทีก็มีความรุนแรง มีความสะเทือนใจยิ่งกว่านิยายเป็นอันมาก การศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ย่อมทําให้เห็นภาพอดีต อันวิญญูชนผู้ฉลาดพึงนํามาเป็นอุทาหรณ์และอนุสติเตือนใจสําหรับการดํารงชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบัน

"พระพุทธศาสนาในอาเซีย" เคยได้รับการตีพิมพ์มาแล้ว ๕ ครั้ง คือ

ครั้งแรก มิถุนายน ๒๕๑๕ ในวาระงานออกเมรุพระศพ สมเด็จพระสังฆราชอุฏฐายีมหาเถระ

ครั้งที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๑๗ ในงานอนุสรณ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (คณะกรรมการนิสิตจัดพิมพ์)

ครั้งที่ ๓ มีนาคม ๒๕๑๘ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระทีฆทัสสีมุนีวงศ์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร

ครั้งที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๓๑ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดพิมพ์เผยแพร่ และแจกในงานปลงศพคุณแม่ชุนกี อารยางกูร

ในการพิมพ์ครั้งที่ ๔ ท่านผู้แต่งได้บันทึกความเป็นมาของหนังสือ อันมีสาระสําคัญ ดังนี้

“หนังสือพระพุทธศาสนาในอาเซียนี้ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ๑๖ ปีมาแล้ว เดิมเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ เพราะเขียนขึ้นด้วยความมุ่งหมายเพียงจะให้เป็นความรู้รอบตัวๆ พอให้พระภิกษุสามเณร โดยเฉพาะที่เป็นนิสิต นักศึกษา และนักเรียน สนใจและรู้จักพระพุทธศาสนาในดินแดนอื่นๆ บ้าง ส่วนที่มีเนื้อหามากสักหน่อย ก็คือพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับตนเองที่ควรรู้จักให้มากกว่าที่อื่น แต่กระนั้นก็ได้เขียนอย่างเป็นกาลานุกรม (chronology) เพื่อให้ย่นย่อและรวบรัดที่สุด

ในการพิมพ์ครั้งต่อๆ มา ได้พิจารณาเห็นว่าเรื่องที่เขียนไว้เดิมนั้นมีเนื้อหาสาระน้อยเกินไป จึงได้ขยายเพิ่มรายละเอียดลงไปมากขึ้น โดยเฉพาะในการพิมพ์ครั้งที่ ๓ ได้เขียนเพิ่มความเป็นมาแบบกาลานุกรม ลงในเรื่องประเทศจีน ทําให้  “พระพุทธศาสนาในประเทศจีน” ยาวขึ้นอีกมาก

ในการพิมพ์ครั้งที่ ๔ นี้ ได้นําเรื่องที่พิมพ์แล้ว และเตรียมไว้พิมพ์สําหรับโอกาสอื่นๆ มาแทนที่เรื่องเก่าๆ ในหนังสือนี้หลายเรื่อง คือ “พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น” จากหนังสือเล่มเล็กๆ ซึ่งพิมพ์ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ “พระพุทธศาสนาในกัมพูชา” “พระพุทธศาสนาในลาว” และ “พระพุทธศาสนาในเวียดนาม” จากต้นฉบับที่เขียนไว้สําหรับสารานุกรมพระพุทธศาสนา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ เนื่องจากเรื่องทั้งสี่นี้มีความยาวเป็นอันมาก จึงทําให้หนังสือขยายหนาออกไปกว่าเดิมหลายส่วน และที่สําคัญไม่น้อยก็คือ ได้ทําให้เรื่องต่างๆ ในเล่มมีปริมาณของเนื้อหายาวสั้น มากน้อย กว่ากันมาก จนดูไม่ได้สัดส่วนสมดุลกันเลย โดยเฉพาะเรื่อง “พระพุทธศาสนาในอาเซียกลาง” และ “พระพุทธศาสนาในอาฟกานิสถาน” ยังคงสั้นมาก มีลักษณะเป็นเพียงความรู้รอบตัว และเรื่อง “พระพุทธศาสนาในเกาหลี” ที่เขียนไว้ค่อนข้างยาวใน “พุทธจักร” ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ ก็ยังไม่ได้ปรับปรุง และนํามาแทนที่เรื่องที่มีชื่อเดียวกันในหนังสือนี้.....”

แม้ว่า “พระพุทธศาสนาในอาเซีย” จะได้รับการตีพิมพ์มาแล้วถึง ๕ ครั้ง ครั้งที่ ๕ ธรรมสภาจัดพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ถ้าเทียบดูเวลาจะเห็นได้ว่า ระยะเวลานับจากการพิมพ์ครั้งสุดท้ายนั้นจนถึงปัจจุบันนี้ ผ่านมาเกือบสิบห้าปีแล้ว และยังไม่มีการตีพิมพ์ขึ้นใหม่อีกเลย

ธรรมสภา ตระหนักถึงคุณค่าของหนังสือ “พระพุทธศาสนาในอาเซีย” ประสงค์จะได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานเปี่ยมคุณภาพอีกเล่มหนึ่งของพระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) จึงได้กราบนมัสการขออนุญาตพระเดชพระคุณฯ ตีพิมพ์ “พระพุทธศาสนาในอาเซีย” ขึ้นอีกครั้ง ซึ่งท่านก็มีเมตตาอนุญาตให้ตีพิมพ์ได้ตามความประสงค์ โดยเป็นการให้เปล่าเหมือนดังผลงานเล่มอื่นๆ ของท่าน

ในการพิมพ์ครั้งนี้ ธรรมสภา ได้จัดทําอย่างประณีต แทรกภาพน่าสนใจเข้ากับเนื้อหาประกอบไว้ตลอดเล่ม เป็นการเพิ่มคุณค่าให้แก่หนังสือเล่มนี้มากยิ่งขึ้น

ธรรมสภาหวังว่า หนังสือ “พุทธศาสนาในอาเซีย” คงจะได้สําเร็จประโยชน์ในการให้ความรู้ในทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา และให้แง่คิดอันควรพินิจแก่ผู้สนใจโดยทั่วกัน

ด้วยความสุจริตหวังดี
ธรรมสภาปรารถนาให้โลกได้พบความสงบสุข

1บางท่านว่า พ.ศ. ๑๙๗๙
2บางท่านว่า พ.ศ.๑๙๗๕-๒๐๓๑
3นิกายเธียนที่ ๑ นี้ ได้สูญสิ้นไปนานแล้วตั้งแต่ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ แต่ท่านวินีตรุจิ ยังเป็นที่เคารพนับถืออยู่ในวัดหลายแห่งแม้ในปัจจุบัน
4นิกายว่อง่อนถ่องนี้ สูญสิ้นไปแล้ว ไม่มีอยู่ในปัจจุบัน
5เกาได๋ เป็นลัทธกึ่งการเมือง ผสมผสานกันระหว่างพุทธศาสนา เต๋า ขงจื๊อ และคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิค เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ โดยผู้ตั้งลัทธิสั่งสอนว่าศาสนาทุกศาสนามีทั้งข้อดีและข้อเสีย เขาจึงรวบรวมเอาเฉพาะส่วนดีของศาสนาเหล่านั้นมาสั่งสอน ลัทธินี้ถือพระพุทธเจ้า ขงจื๊อ พระเยซูและเล่าจื๊อเป็นกึ่งเทพเจ้า และรวมเอาบุคคลต่างๆ เช่น วิคเตอร์ ฮิวโก โจนออฟอาร์ค และซุนยัตเซน เป็นต้น มาเป็นนักบุญ เป็นลัทธิสำคัญที่ทำให้เกิดชาตินิยมของชาวเวียดนาม มีการจัดตั้ิงอย่างพรรคการเมือง มีโป๊ปและคณะนักบวชของตนเอง ดำเนินการต่อต้านฝรั่งเศสและต่อมาต่อต้านโงดินห์เดียม ใน พ.ศ. ๒๔๙๗ มีศาสนิกราว ๑๕๐,๐๐๐ คนแต่ใน พ.ศ. ๒๕๐๙ ประมาณว่ามีสาวก ๑ ถึง ๒ ล้านคน

หัวเหา (ออกเสียงที่ถูกเป็น หว่าเหา) เป็นลัทธิอิสระของพวกหัวรุนแรงแต่อิงพระพุทธศาสนา เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ผู้ตั้งเป็นชายหนุ่มขี้โรคและมักถูกคนเรียกว่าเป็นหมอผีและเป็นพระเสียสติ มีหลักการและคำสอนอย่างง่ายๆ เชื่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์ในการรักษาโรคและอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ เข้าถึงชาวนาและคนยากจนได้ดี พวกหัวเหามีกองทัพของตนเอง ต่อต้านทั้งฝรั่งเศสและโงดินห์เดียม เมื่อโงดินห์เดียมขึ้นครองอำนาจแล้ว ได้จับแม่ทัพของหัวเหาประหารชีวิตเสียใน พ.ศ. ๒๕๐๗ ลัทธินี้อ้างว่าตนมีศาสนิกถึง ๒ ล้านคน ทั้งหัวเหาและเกาได๋ จำกัดตัวอยู่ในเวียดนามภาคใต้ โดยเฉพาะแถบโคชินจีนเป็นส่วนมาก เช่นเดียวกับคาทอลิค

6หนังสือ Buddhism in Modern World แสดงสถิติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ว่าประชากรเวียดนามใต้มี ๑๔ ล้านคนเป็นพวกหัวเหา ๒.๕ ล้าน เกาได๋ ๒ ล้าน โรมันคาทอลิค ๒.๒ ล้าน โปรเตสแตนท์ ๐.๔ ล้าน ชาวเขานับถือศาสนาพื้นบ้าน ๑ ล้าน ชาวบ้านที่ไม่เป็นคริสต์หรือเกาได๋ เรียกตัวเองว่าเป็นพุทธ รวมมีชาวพุทธได้ไม่ถึง ๖ ล้านคน มีแนวโน้มจะเลิกนับถือลัทธิผสมพุทธ ขงจื้อ เต๋า และถือเอาพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
7พึงสังเกตวัตถุประสงค์ของสหพุทธจักรฯ ซึ่งระบุไว้เป็นมาตรา ๔ ของกฎบัตรว่า “สหพุทธจักรเวียดนามมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแห่งพระพุทธศาสนาทั้งสองนิกายในเวียดนาม และเพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่มนุษยชาติและประชาชนด้วยการสั่งสอนและปฏิบัติธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.