พุทธบริษัทกับพระธรรมวินัย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

บทสนทนาธรรมระหว่าง
พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
กับ ดร. ระวี ภาวิไล

พุทธบริษัท กับ พระธรรมวินัย

(อาจารย์ระวี) ในการที่กระผมจะเริ่มต้นการสนทนา กระผมก็ใคร่จะขอกระทำความเข้าใจทั้งต่อท่านผู้ที่มาร่วมฟังและทั้งต่อท่านเจ้าคุณซึ่งเป็นผู้ที่กระผมเคารพนับถือเป็นส่วนตัวตลอดมา และได้คุ้นเคยกับท่านมาเป็นระยะเวลายาวนาน สิ่งซึ่งกระผมใคร่จะกล่าวถึงก็คือว่า การประชุมในวันนี้เราได้ตระหนักดีถึงความสับสนความไม่เข้าใจถ่องแท้ถึงเรื่องเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ซึ่งบ้านเมืองของเราได้ถือเอาเป็นศาสนาประจำชาติ และได้มีเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์เกิดขึ้น กระผมขอกราบเรียนว่าข้อสังเกตโดยส่วนตัวของผมนั้น ก็คือว่าผู้คนส่วนใหญ่ในบ้านเมืองที่ถือตัวว่าเป็นชาวพุทธนั้นรู้สึกว่ายังไม่มีความเข้าใจหลายประการเพียงพอในเรื่องของ พระธรรมวินัย ในพระพุทธศาสนา ดังนั้นการวินิจฉัยเรื่องราวและการตัดสินใจต่างๆ ที่จะมีผลเป็นอย่างไรในสังคมนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความคิดความเห็นของคนและโดยเฉพาะผู้มีสิทธิ์มีส่วนในการบริหารบ้านเมือง ถ้าหากว่าไม่ประกอบด้วยความเข้าใจในพระพุทธศาสนาในพระธรรมวินัยเพียงพอแล้ว การตัดสินใจต่างๆ ก็อาจจะไม่เป็นการตัดสินที่ถูกต้องได้

ในการประชุมในวันนี้กระผมหวังว่าแม้ในระยะเวลาสั้นๆ นี้ ด้วยความกรุณาของพระคุณเจ้าท่านเจ้าคุณพระเทพเวที อย่างน้อยผู้ที่เข้าร่วมประชุมนี้ก็อาจจะได้เห็นแง่มุมที่ถูกต้องในปัญหาทั้งหมด ที่กำลังเป็นเรื่องสับสนเป็นเรื่องขัดแย้งในบ้านเมืองของเราในการแถลงหรือว่าออกประกาศออกไปนั้น กระผมก็ได้มีรายการที่แสดงเอาไว้ว่าจะมีอะไรอยู่บ้างแล้ว แต่ก็จะมีข้อซึ่งไม่ได้อยู่ในนั้นและควรจะเพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งกระผมก็ขอนำเอาเข้ามาในระหว่างการอภิปรายนี้ด้วย กระผมมีความปรารถนาจะให้บรรยากาศของการสนทนาครั้งนี้เป็นบรรยากาศซึ่งเอื้อเฟื้อต่อกันและกันในทางจิตใจ และเอื้อเฟื้ออำนวยให้เราได้เจริญปัญญา ที่เราจะได้ร่วมกันแสวงหาความรู้ความเข้าใจเพราะเหตุว่าความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเท่านั้นที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องได้

กระผมขอกราบเรียนกับพระคุณเจ้าว่าความรู้ความเข้าใจในส่วนตัวของกระผมในเรื่องพระธรรมวินัยนั้นก็ยังอ่อนอยู่มาก แม้ว่าได้มีความสนใจเป็นส่วนตัวที่ได้ศึกษามาเป็นระยะเวลายาวนานในชีวิตก็ตาม เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่ามีข้อคิดความเห็นใดที่กระผมได้แสดงออกไปในที่นี้บกพร่อง ขาดตกบกพร่องหรือผิดไปก็ขอพระคุณเจ้าอย่าได้เกรงใจ และได้กรุณาแก้ไขโดยทันทีเพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่มาร่วมรายการทั้งหลาย และเพื่อประโยชน์แก่ส่วนตัวของกระผมด้วย แล้วก็ถ้าพระคุณเจ้ามีความประสงค์จะแสดงความคิดเห็นใดๆ ซึ่งแม้ไม่ได้อยู่ในคำถามแต่พระคุณเจ้าเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่การเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ ดังที่เรารู้อยู่แล้วนั้น ก็ขอพระคุณเจ้าได้โปรดเมตตาให้ความรู้ความเข้าใจนั้นแก่ที่ประชุมนี้ด้วย

ในขั้นต้นนี้ กระผมก็ขอเข้าไปสู่เรื่องและผมก็ยังจะขออนุญาตอีกสักเล็กน้อยเพื่อจะแสดงความคิดเห็นในส่วนตัวของผมในเรื่องกว้างๆ เกี่ยวกับเรื่องของศาสนา และเรื่องของการที่บ้านเมืองใดจะถือเอาศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะเข้ามาเป็นศาสนาประจำชาตินั้น กระผมคิดว่าน่าจะมีเงื่อนไขประการใดบ้าง ตามความหมายที่ครอบคลุมกว้างขวางที่สุด ศาสนา คือระบบคำสอนที่ชี้นำการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุดเพื่อดำเนินชีวิตที่ดีงามตามความคิดของผู้ริเริ่มสอนซึ่งเรียกกันว่า ศาสดา หลักศาสนาจะอาศัยรากฐานความเชื่อหรือความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ของชีวิตและโลก ไม่ว่าจะประกาศความเชื่อหรือความรู้ความเข้าใจนั้นชัดแจ้งหรือไม่อย่างไร เมื่อมนุษย์แตกต่างกันหลากหลายด้วยประสบการณ์สภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพและทางสังคม ก็เป็นธรรมดาที่โลกทัศน์ชีวทัศน์ของผู้คนประกอบกับสติปัญญาที่ได้พัฒนามาแตกต่างกันย่อมทำให้เกิดศาสนาขึ้นมากมายหลายรูปแบบในโลก

พระศาสดาของศาสนาพุทธนั้นทรงประกาศความรู้จริงแจ้งชัดในเรื่องโลกและชีวิต ที่เรียกว่าการตรัสรู้ หรือโพธิญาณ ในขณะเดียวกันการประกาศอันนี้ก็เป็นการเปิดเผยถึงศักยภาพภายในของมนุษย์ที่จะสามารถพัฒนาขึ้นเป็นความรู้ อันจะนำไปใช้เป็นรากฐานของการประพฤติปฏิบัติสำหรับชีวิตที่ดีงามถึงสุดยอดได้ คำสอนทางศาสนาพุทธนั้นเจาะจงถึงแต่ละบุคคลไม่เพียงแต่ในฐานะเป็นมนุษย์ แต่ในฐานะที่เป็นสัตว์ร่วมโลกที่เกิดมาร่วมรับรู้ทุกข์สุข เกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นเดียวกับสัตว์โลกอื่นทั้งปวง พระพุทธเจ้าจึงสอนให้มีเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน และให้พัฒนาจิตใจและสติปัญญาเพื่อละความเศร้าหมองและดับความทุกข์อย่างสิ้นเชิง บทบาทสำคัญของพุทธบริษัทแต่ละคน คือการกระทำตามหน้าที่ความเป็นมนุษย์โดยไม่มีการแบ่งแยกเพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติ ท้องถิ่น และวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ เราแต่ละคนที่เกิดมาก็ได้ถูกกำหนดโดยท้องถิ่นด้วยให้เป็นพลเมืองของประเทศชาติ มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมืองที่ตนอาศัยเกิด แต่ละคนจึงไม่เป็นเพียงพลโลกแต่ต้องเป็นพลเมืองด้วย หมายความว่าต้องมีทั้ง ชาติ และ ศาสนา ซึ่งถ้าจะจำแนกอย่างกว้างๆ แล้วอาจจะกล่าวได้ว่าชาติเป็นสถาบัน เป็นที่พึ่งทางกายและศาสนาเป็นสถาบันที่พึ่งทางใจ บุคคลเดียวกันเป็นทั้งพลเมืองของประเทศชาติและส่วนใหญ่ก็ถือตนเป็นศาสนิกของศาสนาด้วย

พระพุทธเจ้าได้ทรงอุบัติขึ้นประกาศพระสัทธรรมและเสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานก่อนประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยจะเริ่มต้นขึ้นหลายศตวรรษ การที่ชนชาติไทยนี้จะรวบรวมกันสร้างประเทศขึ้นเป็นปึกแผ่น และผู้ปกครองของประเทศจะนิยมยินดีรับและถือเอาศาสนาพุทธเป็นศาสนาของชาติหรือประจำชาตินั้น จะโดยมุ่งประโยชน์ใดก็ตามเป็นที่แน่นอนว่า ไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎกเป็นพระพุทธพยากรณ์หรือพระพุทธบัญญัติหรือพระพุทธานุญาตไว้ ว่าสมควรตรากฎหมายกำหนดรูปแบบการปกครองและประเพณีปฏิบัติของพุทธบริษัทที่ถูกต้องอย่างไร เป็นหน้าที่ของผู้บริหารบ้านเมืองที่จะต้องมีสติปัญญาวิจารณญาณเพียงพอที่จะตราตัวบทกฎหมายให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัย และเป็นการรักษาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์ไว้ด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็ควรที่จะสำนึกในหน้าที่ที่จะต้องเกื้อกูลพระศาสนาให้รุ่งเรือง สนับสนุนให้มีการศึกษาปฏิบัติธรรมวินัยอย่างถูกต้อง ไม่วิปริต มิใช่ว่าเอาแต่จะใช้ประโยชน์จากศรัทธาในพระศาสนาของผู้คน แล้วปล่อยให้เกิดความเสื่อมโทรมขึ้นในวงการต่างๆ ของพระศาสนา ดังที่เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์อยู่ไม่น้อย กระผมขอเริ่มอย่างนี้แล้วก็ขอเริ่มกราบเรียนถามพระคุณเจ้า ท่านพระคุณเจ้ามีข้อวิจารณ์อะไรสิ่งที่กระผมได้พูดไปก็นิมนต์ ถ้าไม่มีกระผมก็ขอเข้าสู่คำถามที่กระผมจะถาม ก็คือว่า คำว่าธรรมวินัย พระธรรมวินัย นี้ ในขณะนี้ได้พูดกันมาก กระผมก็ใคร่กราบเรียนขอความกรุณาพระคุณเจ้าได้เริ่มต้นโดยการให้ความหมายของธรรมะและวินัยในพระพุทธศาสนาเพื่อประโยชน์เป็นพื้นฐานของการที่จะได้สนทนากันต่อไป ขออาราธนาพระคุณเจ้า

พระเทพเวที ท่านศาสนิกและท่านสาธุชนทั้งหลาย เริ่มแรกอาตมภาพขออนุโมทนาท่านอาจารย์ระวี ภาวิไล ในนามของธรรมสถานที่ได้จัดการสนทนาครั้งนี้ขึ้น โดยมีกุศลเจตนาตามที่ท่านได้พูดไว้ว่าต้องการให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนี้เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะทำให้เราสามารถคิดวินิจฉัยสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้อง แล้วก็สามารถแก้ปัญหาได้ถูกต้องดังที่ท่านได้กล่าวมาแล้ว ปัญหาในปัจจุบันของเรานี้ก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง คือการที่เราอยู่ในโลกและมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ได้สัมผัสกับปัญหาต่างๆ แต่คนจำนวนมากไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านั้น หรือไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ เมื่อไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอก็ทำให้คิดปรุงแต่งไปมากมายและก็จะทำให้เกิดความสับสนไขว้เขว การคิดวินิจฉัยต่างๆ ก็ผิดพลาดไปจากทางที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นความรู้ความเข้าใจถูกต้องนี้จึงเป็นความจำเป็นอันดับแรก ในหลักพระพุทธศาสนาก็ถือว่า ความรู้ความเข้าใจถูกต้องคือสัมมาทิฏฐินั้นเป็นองค์มรรคข้อแรกที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์แก้ปัญหาได้สำเร็จ หรือนำไปให้ถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา

ทีนี้ความรู้ความเข้าใจถูกต้องนี้ในตอนแรกเราก็มุ่งที่ความรู้ความเข้าใจถูกต้องต่อสถานการณ์และเรื่องราวที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ มีส่วนที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งอยู่ในปัญหานี้ซึ่งพูดถึงกันอยู่บ่อยๆ ก็คือเรื่อง ธรรมวินัย เพราะฉะนั้นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อปัญหาและสถานการณ์ปัจจุบันนี้ จึงเป็นเรื่องที่โยงมาหาความรู้ความเข้าใจพระธรรมวินัยด้วย เพราะฉะนั้นท่านอาจารย์ระวี ภาวิไล ก็เลยยกเรื่องนี้ขึ้นมาถามก่อนเพราะเป็นเรื่องหลักหรือประเด็นสำคัญ แต่ในตอนแรกนี้ขอให้ทำความเข้าใจกันไว้ว่า ที่เรามาพบปะกันวันนี้นั้นจุดมุ่งหมายสำคัญก็มุ่งเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจถูกต้องนี้ เพราะฉะนั้นสาระสำคัญที่ท่านอาจารย์ระวี ภาวิไล ได้พูดมาจึงนำมายกขึ้นตั้งเป็นเป้าหมายของการประชุมหรือสนทนาครั้งนี้ได้เลย

ทีนี้เรื่องธรรมวินัยนี้เป็นศัพท์ทางพระ คำว่าธรรมวินัยก็คือชื่อของพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระศาสนาของพระองค์ก็เรียกสั้นๆ อย่างหนึ่งว่า ธรรมวินัยนี้ ธรรมวินัยนี้ ก็คือธรรมวินัยที่พระองค์ได้ประกาศสั่งสอน ถ้าแปลกันอย่างง่ายๆ ที่สุดก็คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง คำสั่งสอนหรือธรรมวินัยนี้ก็มาจากคำสองคำรวมเข้าด้วยกัน คือคำว่า ธรรมะ กับคำว่า วินัย คำว่า ธรรมะ ก็คือหลักธรรมคำสอนหรือหลักการของพระพุทธเจ้า นี่แปลกันอย่างง่ายๆ และ วินัย ก็คือระเบียบแบบแผนกฎเกณฑ์รูปแบบต่างๆ ที่ตั้งขึ้นโดยอาศัยหลักธรรมคำสอนนั้น และเพื่อทำให้คำสอนหรือหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้นั้นเกิดผลเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา แล้วก็เป็นเครื่องเกื้อกูลแก่การนำเข้าสู่จุดมุ่งหมายของธรรมะคำสั่งสอนของพระองค์

ถ้าพูดถึง ธรรมะ นี้คนทั่วไปเข้าใจง่ายกว่า คือได้ยินอยู่เสมอว่าคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ วินัย นั้นเป็นระเบียบแบบแผนเป็นเรื่องรูปแบบ โดยมากจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระสงฆ์เพราะว่าวินัยนั้นเกิดขึ้นคู่กับสงฆ์ วินัยเป็นระเบียบแบบแผนกฎเกณฑ์กติกาของสังคม ตั้งขึ้นมาโดยความจำเป็นที่ว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงตั้งสงฆ์ขึ้นมาแล้ว ก็ต้องมีแบบแผนความเป็นอยู่ ต้องมีกฎเกณฑ์สำหรับการอยู่ร่วมกันและการทำกิจการร่วมกัน เมื่อเกิดมีพระสงฆ์ก็เกิดมีวินัย และในวินัยนั้นก็ได้มีข้อบัญญัติต่างๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ เรามักจะเรียกสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติขึ้นมาเป็นกฎเกณฑ์ต่างๆ ในวินัยว่าเป็น พุทธบัญญัติ มิให้ภิกษุทำความผิดอันนั้นอันนี้ เช่นว่า ภิกษุไปฆ่าสัตว์ เป็นความผิดทางวินัยก็จะบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดสถานนั้นสถานนี้ ถ้าไปฆ่ามนุษย์ก็จะบัญญัติอีกว่าเป็นความผิดที่หนักขึ้นไปจนกระทั่งขาดจากความเป็นพระ เป็นต้น ระเบียบแบบแผนต่างๆ ที่ตั้งขึ้นอย่างนี้ตลอดจนกฎเกณฑ์ในการเป็นอยู่ร่วมกันของพระสงฆ์ ระเบียบระบบการจัดกิจการของสงฆ์เช่นการประชุม การทำสังฆกรรม เมื่อมีงานของส่วนรวมเกิดขึ้น เช่นต้องการจะแต่งตั้งพระภิกษุรูปหนึ่งให้รับผิดชอบดูแลเรื่องลาภผลที่ได้มา เช่นมีการนิมนต์พระไปฉัน ก็จะมีพระภิกษุที่เป็นเจ้าหน้าที่จัดทำเป็นผู้นิมนต์พระ สงฆ์ก็จะตั้งขึ้นโดยประชุมกันแล้วก็แต่งตั้งพระภิกษุขึ้นรูปหนึ่งให้เป็นผู้ทำหน้าที่นี้ เรียกว่า ภัตตุเทศก์ หรือเมื่อมีพวกผ้าจีวรเครื่องนุ่งห่มเกิดขึ้นสงฆ์ก็มาประชุมกันตกลงกันแต่งตั้ง (ท่านใช้คำว่า สมมติ คำว่า สมมติก็คือแต่งตั้ง) แต่งตั้งให้พระภิกษุรูปนั้นรูปนี้เป็นผู้ทำหน้าที่เก็บรักษาและแจกจ่ายจีวรอย่างนี้เป็นต้น หรือว่าระเบียบเกี่ยวกับการบวชการรับคนเข้ามาสู่พระศาสนานี้จะทำอย่างไรอย่างนี้เป็นต้น ล้วนแต่เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์กติกาการจัดระเบียบระบบของสังคมหรือการอยู่ร่วมกันให้เป็นไปได้ด้วยดี ทั้งหมดนี่เรียกว่าวินัย ธรรมและวินัยสองอย่างนี้รวมกันเข้าเป็นตัวพระพุทธศาสนา

ทีนี้สิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้เป็นธรรมะนั้นก็เกิดจากการที่พระองค์ได้ค้นพบสัจธรรม สัจธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระพุทธองค์จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตามความจริงก็คงอยู่ตามธรรมดาของมัน เช่นว่ากฎเกณฑ์แห่งเหตุปัจจัยที่เราเรียกว่า อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท หรือเรื่องพระไตรลักษณ์เป็นต้น อันนี้เป็นหลักธรรมดาธรรมชาติมีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าเพียงแต่ทรงค้นพบ เมื่อค้นพบแล้วก็นำมาเปิดเผยแสดงชี้แจงทำให้เข้าใจง่ายขึ้น ธรรมะแท้จริงก็คือตัวธรรมะที่เป็นธรรมชาติเป็นของที่มีอยู่ตามธรรมดาของมัน แต่ธรรมะอีกความหมายหนึ่งก็คือ เมื่อพระพุทธเจ้าค้นพบสัจธรรมนั้นแล้ว พระองค์เอามาแสดง คำสอนของพระองค์ที่แสดงถึงตัวสัจธรรมนั้นก็เรียกว่าธรรมะเหมือนกัน เพราะฉะนั้นธรรมะ ในความหมายสองอย่างนี้จะต้องเข้าใจแยกกันให้ถูกต้อง ทีนี้คำว่าธรรมะ ในคำว่าธรรมวินัยนี้ก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ค้นพบสัจธรรมแล้วนำมาประกาศเปิดเผยไว้ ส่วนวินัยนั้นก็เป็นเหมือนเปลือกหรือเป็นรูปแบบ เป็นเครื่องหุ้มห่อเพราะว่าธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือหลักการที่พระองค์ประกาศไว้นั้นถ้าไม่มีกลุ่มบุคคลไม่มีสถาบันไม่มีองค์กรที่จะช่วยดูแลรักษาทำหน้าที่ศึกษาปฏิบัติ นำสืบต่อกันมาตลอดจนทำการเผยแพร่ ไม่ช้าไม่นานคำสอนนั้นก็อาจจะหมดสูญหายสิ้นไปได้ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นจะต้องมีการจัดตั้งรูปแบบและระบบขึ้นมาเพื่อจะธำรงรักษาธรรมะคำสอนของพระองค์ไว้ให้อยู่ในสภาพที่ถูกต้อง ให้มั่นคงบริสุทธิ์ตลอดไป เพราะฉะนั้น สองสิ่งนี้จึงเป็นคู่กัน ดังที่กล่าวมาแล้วว่าวินัยนั้นเกิดขึ้นเพื่อรักษาสงฆ์ให้คงอยู่ เป็นสิ่งที่คู่กับสงฆ์ และสงฆ์ก็คือชุมชนผู้ทำหน้าที่ที่จะศึกษาปฏิบัติและเผยแพร่ สืบต่อคำสอนหรือธรรมะนั้นสืบต่อไป นี้เป็นการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมะกับวินัยซึ่งโยงไปถึงคำว่าสงฆ์ด้วย

ทีนี้อย่างที่อาตมาบอกแล้วว่าธรรมะนั้น ในที่นี้หมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แสดงสัจธรรมอีกทีหนึ่ง ไม่ได้หมายถึงตัวสัจธรรมเอง แล้วก็วินัยก็คือกฎเกณฑ์กติกาที่เป็นมาตรฐานในการจัดตั้งให้เป็นระบบรูปแบบนี้ ในระยะยาวเราก็จะต้องรักษากฎเกณฑ์ระเบียบต่างๆ เหล่านี้ไว้ มิฉะนั้นเราจะไม่รู้ว่ารูปแบบหรือระบบของสงฆ์เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นก็เลยมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาพระธรรมกับวินัยนี้ไว้ ก็คือรักษาทั้งสิ่งที่เป็นตัวคำสอน และรักษาระเบียบกฎเกณฑ์กติกาที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เพื่อให้รักษาหลักการอันนั้นไว้อีกทีด้วย ต้องรักษาทั้งสองอย่าง

ทีนี้ในการที่จะรักษานั้นก็มีวิธีการ วิธีการก็คือว่าการที่จะนำคำสอนสืบๆ ต่อกันมา ตอนแรกก็ต้องมีการประมวลธรรมะคือคำสอนของพระองค์ และประมวลวินัยกฎเกณฑ์กติกาที่พระพุทธเจ้าบัญญัติวางไว้นั้นเอามาทำให้เป็นหมวดเป็นหมู่รักษาไว้ให้ได้มั่นคง พอพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ก็มีการประมวลคำสอนและระเบียบบัญญัติของพระองค์ขึ้นไว้ การกระทำอย่างนี้เราเรียกว่า การสังคายนา ดังที่ปรากฏว่า หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๓ เดือน ก็มีการสังคายนาครั้งที่หนึ่ง รวบรวมคำสอนทั้งสิ่งที่เรียกว่าพุทธพจน์คือคำสอนของพระองค์ และพุทธบัญญัติคือสิ่งที่พระองค์ตราไว้เป็นระเบียบแบบแผนก็รวมเข้าไว้ ซึ่งต่อมาเราเรียกประมวลคำสอนและระเบียบต่างๆ นี้ว่า พระไตรปิฎก มีการจัดหมวดหมู่ขึ้นมา พระธรรมวินัยก็เลยปรากฏในรูปของสิ่งที่เรียกว่า พระไตรปิฎก พระไตรปิฎกก็คือที่บรรจุไว้ซึ่งพระธรรมวินัยนั่นเอง

ในการจัดหมวดหมู่นั้นตามประเพณีเราจะบอกว่า พระไตรปิฎกประกอบด้วย หนึ่ง พระวินัยปิฎก สอง พระสุตตันตปิฎก สาม พระอภิธรรมปิฎก พระวินัยปิฎกเรียกง่ายๆ ว่า พระวินัย ก็คือวินัยดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ประการที่สองพระสุตตันตปิฎกเรียกสั้นๆ ก็ว่า พระสูตร ประการที่สามพระอภิธรรมปิฎกเรียกสั้นๆ ว่า พระอภิธรรม ข้อที่สองกับสาม คือพระสุตตันตปิฎก ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่าพระสูตร กับพระอภิธรรมปิฎกหรือพระอภิธรรมนั้น ถ้าเรียกรวมกันก็คือธรรมะนั่นเอง หมายความว่าสองปิฎกหลังนั้นเป็นที่ประมวลของธรรมะ ตกลงว่าพระไตรปิฎกก็เป็นที่ประมวลและรักษาไว้ซึ่งพระธรรมวินัย เราก็ใช้พระไตรปิฎกนี้ที่ท่านสังคายนาขึ้นไว้นี้ เป็นมาตรฐานในการที่จะตรวจสอบหลักธรรมคำสั่งสอนและพระวินัยของพระศาสนานี้ แล้วก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะรักษาคำสั่งสอน ทั้งหลักการและรูปแบบกฎเกณฑ์ หรือธรรมวินัยที่อยู่ในพระไตรปิฎกนี้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ อย่างที่อาตมาได้กล่าวเบื้องต้นไว้แล้วว่า เราต้องแยกให้ถูกระหว่างสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ซึ่งเป็นคำสอนที่แสดงถึงสัจธรรมกับตัวธรรมะที่เป็นสัจธรรม ธรรมะที่เป็นสัจธรรมนั้นเป็นความจริงอยู่ตามธรรมดาของมันเองอย่างที่บอกแล้วว่า ตถาคตคือพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ธรรมะคือสัจธรรมก็เป็นอยู่ของมันอย่างนั้นเอง แต่ทีนี้คนทั้งหลายไม่สามารถล่วงรู้ถึงสัจธรรมได้ ทำยังไงจึงจะล่วงรู้ถึงสัจธรรมได้ ทั้งๆ ที่สัจธรรมมีอยู่แต่คนก็ไม่รู้ ก็เลยมีบุคคลที่มีปัญญามาค้นพบก็คือพระพุทธเจ้านี้ค้นพบและก็มาสั่งสอนสัจธรรมเอาไว้ ก็ปรากฏเป็นคำสอนสัจธรรม ซึ่งเรียกว่าธรรมเหมือนกัน

สำหรับธรรมะในความหมายที่หนึ่งคือสัจธรรมนั้น ไม่มีใครไปทำอะไรมันได้ มันอยู่ตามปกติของมันเช่นว่า ไม่มีใครไปสามารถดัดแปลงแก้ไขอะไรต่างๆ มันเป็นยังไงก็เป็นอย่างนั้น เรียกว่าเป็นภาวะที่เป็นอย่างนั้นเอง แต่คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เราเรียกว่าธรรมะในความหมายที่สองนี้ มันเป็นสิ่งที่ปรากฏแก่เราโดยการถ่ายทอดด้วย ภาษา เป็นต้น เป็นสิ่งที่จะต้องอาศัยที่บรรจุ อาศัยบุคคลมากล่าวมาสอนกันต่อไป สิ่งนี้แหละเป็นสิ่งที่เราจะต้องระวังว่าเป็นตัวเดิมที่ตรงกับพระพุทธเจ้าสอนไว้หรือไม่ ถ้าหากว่ามีการดัดแปลงแก้ไขไปก็หมายความว่า คำสอนที่จะทำให้รู้ถึงสัจธรรมนั้นคลาดเคลื่อนไปแล้ว คำสอนนั้นก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่แสดงถึงสัจธรรมอีกต่อไป

ก็เหมือนกับว่าเราต้องการจะเดินทาง เราเดินทางไปสู่จุดหมายแห่งหนึ่ง ทางที่ไปสู่จุดหมายนั้นมีอยู่แต่เราไม่รู้ว่าจะไปได้ยังไง ก็มีคนหนึ่งที่มีความรู้ซึ่งเป็นผู้ชำนาญทางเรียกได้ว่าเป็นมัคคุเทศก์ ท่านผู้นี้จะช่วยให้คนอื่นได้รู้ ได้เดินทางได้ถูกต้อง ก็มาเขียนหนังสือคู่มือการเดินทางไว้ พร้อมทั้งเขียนแผนที่ไว้ด้วย ความรู้ในหนังสือคู่มือการเดินทางฉบับนี้พร้อมทั้งแผนที่ที่ท่านผู้นี้เขียนไว้นั้นซึ่งเป็นความรู้ที่ถูกต้อง เพราะว่าท่านรู้จริงแล้วก็เขียนไว้แล้วก็เขียนด้วยใจบริสุทธิ์ ต้องการให้ผู้อื่นได้รับความรู้ความเข้าใจจะได้เดินทางไปถูกต้อง ทีนี้ทางมันมีอยู่ของมันเอง ไม่มีใครไปแก้ไข แต่ว่าหนังสือคู่มือเดินทางและแผนที่นี้นะถ้าไม่ระวังให้ดีก็อาจจะมีคนมาดัดแปลงแก้ไข แล้วก็อาจจะเขียนแผนที่ใหม่หรือทำการลบเครื่องหมายอะไรต่างๆ ของเดิมขีดเส้นใหม่อะไรต่างๆ แล้วผลจะเป็นยังไง ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น มันจะเกิดปัญหาก็คือ หนังสือคู่มือการเดินทางเล่มนี้พร้อมทั้งแผนที่นั้นจะไม่สามารถนำเราไปสู่จุดหมายปลายทางได้ เพราะฉะนั้นเราจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาคู่มือเดินทางนี้ให้อยู่ในสภาพความรู้เดิมที่บริสุทธิ์ ตามที่ท่านผู้รู้ทางค้นพบทางชำนาญทางได้เขียนแสดงไว้ อันนี้อาตมาก็เลยพูดถึงความหมายของธรรมวินัยไว้และก็พูดถึงความสำคัญในการที่จะต้องรักษาเอาไว้ด้วย ขอเจริญพรเพียงเท่านี้ก่อน ถ้าพูดยังไม่ชัดเจนในแง่ใด ก็ขอได้กรุณาซักในรายละเอียดต่อไปด้วย

(อาจารย์ระวี) ขอบพระคุณครับ มีอีกคำหนึ่งที่เป็นชื่อการสนทนาของเราในวันนี้ คือ พุทธบริษัท พุทธบริษัทนี้ตามที่กระผมเข้าใจว่ามีอยู่ในสมัยพระพุทธกาลนั้นมี ๔ ด้วยกันคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ถ้าหากว่าจะจำแนกเป็นสองก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นฝ่ายสงฆ์และเป็นฝ่ายฆราวาส กระผมอยากจะตั้งข้อสังเกตว่าเราฝ่ายที่เป็นฆราวาสนั้นน่ะ เวลาเราจะศึกษาพระพุทธศาสนาและปฏิบัติพระพุทธศาสนาส่วนใหญ่ฆราวาสทั้งหลายก็ดูจะสนใจแต่ทางด้านพระธรรม คือส่วนซึ่งเรียกว่าเป็นความจริงในชีวิตที่เราจะนำมาประพฤติปฏิบัติ และถ้าหากว่าจะมีส่วนวินัยอยู่บ้างก็เห็นจะเป็นส่วนง่ายๆ ที่เรียกว่าง่ายๆ ก็คือ เป็นหลักที่จำได้ง่ายเป็นต้นว่า ศีลห้า ศีลแปด เป็นต้นเท่านั้นเอง กระผมอยากจะตั้งข้อสังเกตว่า พระวินัยในกรณีของฝ่ายสงฆ์นั้นน่ะมีจำนวนมาก ซึ่งทำให้รู้สึกว่าบทบาทของพุทธบริษัทฝ่ายสงฆ์นี้ได้ทรงมอบหมายเป็นพิเศษกว่าบทบาทของอุบาสก อุบาสิกา หรือฝ่ายฆราวาส ซึ่งดูจะหย่อนให้มากทีเดียว จึงทำให้เมื่อมาพูดกันถึงเรื่องของสงฆ์ละเมิดพระวินัยอะไรเหล่านี้นี่ เราก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจและเห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงอะไรต่างๆ เพียงพอ กระผมก็อยากจะให้พระคุณเจ้าได้แสดงชี้ให้เห็นความแตกต่างของวินัยของพระกับของฆราวาสที่เป็นพุทธบริษัท ว่าทำไมจึงแตกต่างกันอย่างมาก และให้เราเข้าใจในเรื่องเป็นพื้นที่จะได้เป็นฐานของความเข้าใจต่อๆ ไปในการสนทนานี้ ขอนิมนต์พระคุณเจ้า

(พระเทพเวที) เจริญพร ตอนต้นก็คงจะต้องพูดถึงความหมายของคำว่าพุทธบริษัทเล็กน้อย พุทธบริษัท ก็มาจากคำว่า พุทธะ กับ บริษัท คำว่าพุทธะก็ทราบกันดีอยู่แล้วก็คือ พระพุทธเจ้า ในที่นี้ก็คือของพระพุทธเจ้า และคำว่าบริษัท คำว่าบริษัทเดี๋ยวนี้เรามาใช้กันในความหมายทางธุรกิจไปก็เลยทำให้งง ก็อาจจะสับสนนิดหน่อย ที่จริงคำว่าบริษัทนี้ก็แปลว่าชุมชน กลุ่มชนหรือหมู่ชนนั่นเอง ทีนี้หมู่ชนหรือชุมชนในพระพุทธศาสนาหรือที่เป็นชุมชนของพระพุทธเจ้านี้ พระองค์ตรัสไว้ว่ามี ๔ หมู่ชน หรือ ๔ บริษัท เรียกว่าพุทธบริษัท ๔ หรือเรียกง่ายๆ ว่าบริษัท ๔ ภาษาบาลีเรียกว่า พุทธปริสา ๔ คำว่าบริษัทนี้เป็นสันสกฤต บริษัท ๔ นี้ก็มี ๑. ภิกษุ เป็นชุมชนที่หนึ่งหรือบริษัทที่หนึ่ง ๒. ภิกษุณี เป็นบริษัทที่สอง ๓. อุบาสก อีกบริษัทหนึ่ง และสุดท้าย ๔. อุบาสิกาอีกบริษัทหนึ่ง ภิกษุกับภิกษุณีนั้นอยู่ในประเภทเดียวกันคือผู้ที่บวชแล้ว เราเรียกชื่อรวมกันว่าบรรพชิต แล้วก็อุบาสกอุบาสิกานั้นเป็นชาวบ้านยังไม่ได้บวช เราก็เรียกชื่อรวมกันว่าคฤหัสถ์ แปลว่าผู้อยู่ครองเรือนหรือผู้อยู่ในเรือนนั่นเอง ก็เป็นอันว่าเมื่อรวมเข้าแล้วโดยย่อพุทธบริษัท ๔ ก็เหลือ ๒ เป็นบรรพชิตกับคฤหัสถ์ คือผู้ที่บวชแล้วกับผู้ที่ยังครองเรือน

ทีนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าพระศาสนาของพระองค์นั้นมีธรรมะกับวินัย อันนี้ก็ขอย้อนไป อยากจะโยงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างธรรมวินัยกับพุทธบริษัท ๔ ให้เห็นถึงหน้าที่ของพุทธบริษัททั้งสี่ต่อพระธรรมวินัย เมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานพระองค์ได้ตรัสว่า “ธรรมและวินัยใดที่เราได้แสดงแล้วและบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลายเมื่อเราล่วงลับไปแล้วธรรมและวินัยนั้นจะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย” อันนี้ก็ถือว่าพระพุทธเจ้าตรัสถึงมาตรฐานสัจธรรมในพระพุทธศาสนา ว่าเมื่อพระองค์นิพพานแล้วก็ให้ถือว่า พระธรรมวินัยนี้เป็นพระศาสดา นี้เป็นความหมายหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าพระองค์ไม่ได้ตั้งบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดไว้เลยให้สืบต่อเป็นศาสดาแทนพระองค์ นี่ก็คือให้เราถือหลักการนั้นเอง พูดง่ายๆ ว่าชาวพุทธนี้ถือหลักการรวมทั้งรูปแบบระบบที่พระพุทธเจ้าจัดตั้งไว้โดยอิงอาศัยหลักการนั้น อันนี้เป็นศาสดาของชาวพุทธที่เราจะต้องนับถือเคารพให้ความสำคัญช่วยกันดำรงรักษาสืบต่อไว้

อีกอันหนึ่งที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างพุทธบริษัทก็คือว่า เหตุปรารภอย่างหนึ่งในการที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานหรือไม่ ในการที่พระองค์จะต้องทำหน้าที่ต่อไปหรือไม่หรือจะหยุดเลิกวางมือได้เสียที อันนี้ก็คือเรื่องของพุทธบริษัทกับธรรมวินัยนี้ พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า ตราบใดที่บริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา นี้ ยังไม่มีความรู้ชำนาญแตกฉานในพระธรรมวินัยคำสั่งสอนของพระองค์จนกระทั่งสามารถที่จะแก้ไขชี้แจงลัทธิภายนอกที่ปลอมปนเข้ามาได้ ถ้ายังไม่มีความสามารถถึงขนาดนี้พระองค์จะยังไม่ปรินิพพาน ตอนที่พระองค์จะปรินิพพานนั้น ก็มีเรื่องเล่าไว้ทำนองว่ามารได้มาทูลอาราธนา แล้วก็กราบทูลถึงเงื่อนไขนี้ว่าบัดนี้สมบูรณ์แล้ว พระองค์ก็ได้ทรงพิจารณาเห็นว่าในเวลานั้นบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา และไม่เฉพาะแต่เพียงคร่าวๆ บริษัท ๔ เท่านั้นยังแยกแยะออกไปอีกว่าในบริษัท ๔ นี้แต่ละบริษัท คือ ภิกษุ ทั้งภิกษุที่เป็นเถระ ทั้งภิกษุที่เป็นมัชฌิมะ คือปานกลาง และภิกษุที่เป็นนวกะคือผู้ใหม่ หมายความว่า ทั้งพระผู้ใหญ่ ปานกลาง และพระผู้น้อย ทั้งหมดจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในธรรมวินัย และภิกษุณีก็เช่นเดียวกัน ทั้งเถรี ทั้งมัชฌิมา ทั้งนวกา ทั้งผู้ใหญ่ ผู้น้อย ปานกลาง แล้วก็ทั้งอุบาสกที่มีครอบครัวและไม่มีครอบครัว และก็อุบาสิกาที่มีครอบครัวและไม่มีครอบครัว ทั้งหมดนั้นจะต้องมีคุณสมบัติดังที่กล่าวมานี้ เมื่อพุทธบริษัททั้ง ๔ ครบถ้วนเหล่านี้มีความรู้ความชำนาญในคำสอนของพระองค์ จนปฏิบัติเองได้ถูกต้องและสามารถที่จะกล่าวแก้ไขป้องกันคำสอนธรรมวินัยจากการที่จะนำเอาคำสอนอื่นๆ เข้ามาแทรกได้แล้วพระองค์จึงจะปรินิพพาน และเมื่อพระองค์ได้ตรวจสอบเห็นว่าเป็นอย่างนั้นแล้วพระองค์ก็ได้ตัดสินพระทัยว่าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน

อันนี้ก็แสดงว่า พระพุทธเจ้าได้ฝากพระธรรมวินัยไว้ทั้งให้เป็นศาสดาของชาวพุทธ แล้วก็ฝากไว้ให้เป็นสิ่งที่เราจะต้องมีภาระรับผิดชอบในการที่จะศึกษาเล่าเรียนให้มีความรู้ความเข้าใจถูกต้องแล้วก็ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันไป พร้อมทั้งรักษาไว้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ที่สุด นี้ก็เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของพุทธศาสนิกชนหรือพุทธบริษัทต่อธรรมวินัย ทีนี้ธรรมวินัยนั้นเมื่อกี้ได้ให้ความหมายไปแล้ว ในส่วนธรรมะนั้นก็เป็นหลักความจริงพร้อมทั้งความดีงามที่แสดงไว้โดยอิงอาศัยความจริงนั้นเพื่อเข้าถึงความจริงนั้น แต่ในส่วนวินัยนี้เราเน้นไปที่พระภิกษุ เพราะเหตุใดจึงเน้นไปที่พระภิกษุ เพราะว่าพระภิกษุนั้นเป็นผู้ที่มุ่งหน้าปฏิบัติเพื่อจะเข้าถึงอุดมคติของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เรียกว่าตัดห่วงตัดกังวลอะไรต่างๆ ภายนอกมาหมด ทุ่มเทเอาจริง เพราะว่าในเมื่อสมัครเข้ามาแล้วมาเป็นกลุ่มชนที่จะประพฤติปฏิบัติตามระบบของพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ถือว่าจะต้องประพฤติตามระบบและรูปแบบที่พระองค์วางไว้ เพราะว่าเขาสมัครใจเข้ามาแล้ว อันนี้ก็เป็นธรรมดาว่าวินัยนั้นจะต้องเน้นสำหรับผู้ที่ตั้งใจสละความกังวล สละห่วงใยพันธะในทางโลกออกมาแล้ว มาเข้าสู่แนวทางการปฏิบัติเพื่อฝึกเข้าสู่จุดหมายของพระศาสนาอย่างแท้จริง

สำหรับคนทั่วไปที่เราเรียกว่าชาวบ้านนั้น เขาก็มีความเลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน แต่ยังไม่สามารถที่จะทุ่มเทได้โดยสมบูรณ์ ไม่สามารถอุทิศตัวได้เต็มที่ยังมีห่วงมีกังวลมีครอบครัว มีภาระในการทำมาหาเลี้ยงชีพต่างๆ เป็นต้น ในแง่นี้แล้วเราก็ถือว่าเขายังไม่ได้สมัครใจเข้ามา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจะไม่ได้บัญญัติวินัยเป็นข้อบังคับไว้ เพราะวินัยนี้เป็นเรื่องของการบังคับแต่เป็นข้อบังคับสำหรับคนที่สมัครใจ คือเราจะให้ข้อบังคับแก่ใครก็เป็นการบังคับที่ว่าเขาสมัครใจรับ คือพระพุทธเจ้าที่จริงก็ไม่ไปบังคับใครนั่นเอง เป็นแต่เพียงพระองค์บัญญัติระบบรูปแบบระเบียบไว้อย่างนี้แล้ว ถ้าเขาตกลงยินยอมเพราะเห็นชอบเขาก็สมัครเข้ามาแล้วก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ถ้าเขายังไม่พร้อมเขาก็ไม่สมัครเข้ามา เพราะฉะนั้นวินัยนี้ก็ไม่ไปผูกพันบังคับเขาได้ อันนี้ก็เป็นลักษณะของหลักการของพระพุทธศาสนาที่ว่าไม่ไปบังคับใคร อย่างไรก็ตามพระพุทธเจ้าก็วางหลักเกณฑ์ไว้เหมือนกันในการที่จะเป็นคนดีที่ชื่อว่าเข้ามาสู่พระพุทธศาสนา พระองค์ก็วางภาคปฏิบัติไว้เป็นพื้นฐาน อย่างที่เรารู้จักกันเรียกว่าศีล ๕ ที่จริงถ้าว่าตามหลักแท้ๆ แล้วเรียกว่า สิกขาบท ๕ สิกขาบท ๕ ก็คือข้อฝึกหัด ข้อฝึกหัดเพื่อให้เรามีชีวิตที่พัฒนาขึ้นไปในคุณความดียิ่งขึ้นไป พื้นฐานนี้ก็มี ๕ ข้อด้วยกัน มีข้อละเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว อันนี้ก็เท่ากับว่าเหมือนเป็นวินัยของคฤหัสถ์ แต่พระองค์ได้ตรัสข้อปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์ไว้อีก เช่นว่ากุศลกรรมบถ ๑๐ การเว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ เข้าสู่กุศลกรรมบถ ๑๐ อันนี้ท่านก็ถือกันว่าเป็นวินัยของคฤหัสถ์เหมือนกัน สำหรับอุบาสกอุบาสิกา นอกจากถือศีล ๕ แล้วก็ควรจะเข้าสู่หลักที่เรียกว่ากุศลกรรมบถ ๑๐ ประการด้วย และนอกเหนือจากนี้พระพุทธเจ้ายังได้เคยตรัสแสดงคำสอนไว้สำหรับคฤหัสถ์อีกอย่างที่เราเรียกกันว่า สิงคาโลวาทะ หรือว่า สิงคาลกสูตร อันนี้ก็เป็นหลักเกี่ยวกับข้อปฏิบัติของคฤหัสถ์หลายประการ จนกระทั่งถึงเรื่องอบายมุข ๖ ทิศ ๖ อะไรต่างๆ การคบมิตรอะไรต่างๆ นี้ท่านก็ให้ถือว่าเป็นวินัยของคฤหัสถ์เช่นเดียวกัน

แต่อย่างไรก็ตามอย่างที่บอกแล้วว่าพระพุทธศาสนาไม่เป็นศาสนาแห่งการบังคับ เพราะฉะนั้นก็เลยไม่มีระบบการบังคับ เมื่อเขาไม่ได้ขอสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกในชุมชนที่พระองค์ตั้งขึ้นและวางระเบียบกำกับไว้ พระองค์ก็ไม่ไปกำหนดความผิดและการลงโทษทางวินัยที่จะบังคับแก่เขา ก็ให้เป็นเรื่องของการที่จะได้รับผลดีผลชั่วของกรรมดีหรือกรรมชั่วตามกฎแห่งกรรมอย่างเดียว อย่างไรก็ตามสำหรับพุทธศาสนิกชนที่เป็นคฤหัสถ์นั้นถ้าว่าตามแนวทางพุทธศาสนาแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าให้นัยะให้แนวทางไว้แล้ว ชุมชนคฤหัสถ์ก็ควรจะตกลงกันเองแล้วก็วางระบบระเบียบที่เรียกว่าวินัยกันขึ้นสำหรับหมู่พวกตนได้ จากพื้นฐานอย่างน้อยที่สุดศีล ๕ แล้วจะเอาอะไรมาเพิ่มให้เหมาะสมกับยุคสมัยตามคำสอนของพระองค์ก็สามารถจัดตั้งขึ้นมาได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่อาตมาเท่าที่สังเกตดูก็มีความรู้สึกอยู่ว่า ในหมู่ชาวพุทธนี่ไม่ค่อยเอาใจใส่ในเรื่องวินัย คือไปมุ่งแต่ตัวธรรมะ แล้วในแง่ของธรรมะนั้นก็เป็นเรื่องของความเป็นอิสระเสรีเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าเราใช้สติปัญญาของเราเองในการที่จะพินิจพิจารณาในการที่จะเชื่อถือ และในการที่จะเลือกนำมาใช้นำมาปฏิบัติ แต่วินัยเมื่อเกิดมีขึ้นแล้วก็เป็นข้อตกลงของสังคมอย่างที่อาตมาบอกว่าในหมู่สงฆ์ สงฆ์ก็คือสังคมหนึ่งหรือชุมชนหนึ่ง วินัยก็เป็นเรื่องกฎเกณฑ์ของสังคมนั้นที่วางบัญญัติไว้ให้คนในสังคมนั้นมีความประพฤติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทีนี้สำหรับคฤหัสถ์ ถ้าหากว่าได้กำหนดสิ่งที่เรียกว่าวินัย คือระเบียบแบบแผนขึ้นไว้ เราก็จะมีสังคมชาวพุทธที่มีระบบของตนเองด้วยเช่นเดียวกัน อันนี้ก็เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าชี้แนะแนวทางในเรื่องวินัยของคฤหัสถ์ไว้ แต่ในการที่จะปฏิบัติในการที่จะนำมาวางก็เท่ากับว่ามีความยืดหยุ่นที่ชาวพุทธในยุคสมัยต่างๆ สามารถนำมาจัดวางให้เหมาะสมกับยุคสมัยหรือกาลเทศะของตนได้ ขอเจริญพรเท่านี้ก่อน

(อาจารย์ระวี) สำหรับวินัยของพระสงฆ์ซึ่งกระผมได้วินิจฉัยจากที่พระคุณเจ้าได้กรุณาชี้แจงมานี้น่ะ ก็หมายความถึงว่าเป็นวินัยของกระบวนการผู้ที่มีหน้าที่โดยเฉพาะที่จะจรรโลงพระธรรมวินัยหรือพระพุทธศาสนาให้อยู่ไปอยู่ยั่งยืนสถาพรไป เพราะฉะนั้นการที่พระสงฆ์จะต้องยึดถือพระธรรมวินัยเป็นวินัยเป็นข้อสำคัญนี้ก็เป็นความจำเป็นมากใช่ไหมครับ

(พระเทพเวที) เจริญพร วินัยนี้ก็คือสิ่งที่จะรักษาให้สงฆ์คงอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าสงฆ์สำคัญ วินัยก็สำคัญ คือ วินัยเป็นตัวที่ทำให้สงฆ์ดำรงอยู่ และให้สงฆ์อยู่ในระบบและรูปแบบที่เป็นไปตามพุทธประสงค์นั่นเอง

(อาจารย์ระวี) ทีนี้ขอมาถึงเรื่อง อุดมคติสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา ในความคิดของกระผมนั้นพระพุทธศาสนาได้แสดงถึงศักยภาพภายในของมนุษย์ที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ระดับชีวิตที่สูงมาก แต่ว่าการที่จะกระทำเช่นนั้นได้คงจะไม่ใช่สิ่งที่กระทำได้โดยง่าย โดยปราศจากความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในคำสอนของพระพุทธเจ้า ตามที่กระผมเข้าใจนั้นจุดหมายสูงสุดก็คือ การบรรลุอรหัตตผลของบุคคล หรือว่าการบรรลุถึงภูมิธรรมในขั้นที่ว่าจะพ้นจาก จะเรียกว่าความหลงผิดเข้าใจผิดในธรรมชาติของชีวิต ของโลก แล้วก็อยู่บนทางเดียวที่ไปสู่ความเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์ กระผมขอเรียกอย่างนั้น อุดมคติอันนี้เป็นเรื่องสำคัญในพระพุทธศาสนาใช่ไหมครับ กระผมกราบเรียนถามอันนี้ก็คือว่า เรื่องนี้ไปเกี่ยวข้องกับที่ว่า เมื่อใดบุคคลเริ่มรู้ที่เรียกว่ารู้ประจักษ์ธรรมได้ดวงตาเห็นธรรมอย่างที่เราเรียกกันก็อยู่ในระดับที่เหนือความเป็นมนุษย์ปุถุชนทั่วไป แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะได้สืบเนื่องมาจนถึงการที่มีการกล่าวอ้างถึงการได้บรรลุในธรรมอันนี้ของบุคคล ที่จริงมีบ่อยๆ จะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม เรื่องนี้กระผมก็อยากจะให้พระคุณเจ้าได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า สิ่งที่เรามาใช้เรียกว่า อุตริมนุสธรรม นี้น่ะหมายความอย่างไรและก็เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กระผมได้กราบเรียนถามมานี้อย่างไร

(พระเทพเวที) เจริญพร ก่อนที่จะไปถึงเรื่องอุดมคติของการปฏิบัติตามหลักธรรมวินัยหรืออุดมคติของพระพุทธศาสนา ก็อยากจะย้อนกลับไปพูดถึงเรื่องพระภิกษุสงฆ์กับคฤหัสถ์ในพระพุทธศาสนาอีกนิดหนึ่งว่า ผู้ที่เข้ามาบวชในพุทธศาสนานี้เราเรียกว่าเป็นภิกษุ ถ้าเป็นผู้หญิงก็ภิกษุณี ซึ่งบัดนี้ในประเทศไทยก็เหลือแต่ภิกษุ ทีนี้ภิกษุหรือผู้เป็นนักบวชในพระพุทธศาสนานั้นก็ควรสังเกตไว้ด้วยว่าแตกต่างจากนักบวชในศาสนาอื่นๆ จำนวนมากอย่างไร เวลามองภาพนักบวชโดยมากมักจะมองว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของศาสนา ถ้ามองอย่างนั้นแล้วจะเป็นภาพที่ผิด พระภิกษุในพุทธศาสนาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของศาสนา ถ้าว่าถึงความหมายที่แท้จริงตามหลักการ อาตมาได้บอกแล้วเมื่อกี้นี้ว่าภิกษุก็คือผู้ที่สละความห่วงกังวลอะไรต่างๆ ภายนอกมา แล้วก็มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนา ทุ่มเทอุทิศตัวอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้ามาสู่ธรรมวินัยที่มาบวชเป็นภิกษุนี้ ก็คือผู้ที่ตั้งใจเข้ามารับการฝึกหัดอบรม ที่เราเรียกว่า สิกขา คือเข้ามารับการศึกษาอย่างเต็มที่นั่นเอง เราจะเห็นความแตกต่างว่าในศาสนาบางศาสนานั้น ผู้ที่เข้ามาเป็นนักบวชก็คือผู้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเทพเจ้าสูงสุดหรืออะไรทำนองนั้น เขาถูกเลือกเข้ามาให้มาทำหน้าที่แทนพระผู้เป็นเจ้าในโลกมนุษย์ แต่ในพระพุทธศาสนา พระภิกษุ สามเณรกับชาวบ้านหรืออุบาสกอุบาสิกามีฐานะเท่ากันในแง่ความสัมพันธ์กับตัวสัจธรรม แต่ภิกษุ ภิกษุณีอุทิศตัวมากกว่าโดยสละเข้ามาเพื่อตั้งใจฝึกฝนอบรมอย่างจริงจังที่จะเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้ามาสู่เพศภิกษุนี่ ไม่ใช่คนที่ฝึกอบรมเสร็จบริบูรณ์แล้ว แต่เป็นคนที่ตั้งใจสมัครใจที่จะทุ่มเทอุทิศตัวให้กับการฝึกฝนอบรมอย่างจริงจัง ให้กับการศึกษาหรือสิกขาอย่างจริงจังก็เข้ามา เพราะฉะนั้นในแง่หนึ่งแล้วอุบาสกอุบาสิกาก็มีสิทธิในจุดหมายของพระพุทธศาสนาเท่ากับพระภิกษุสามเณรเหมือนกัน ถ้าหากว่าปฏิบัติชอบ แต่เขามีห่วงกังวลมีเรื่องที่เป็นอุปสรรคมากกว่า ถ้าว่าไปแล้วก็คือว่าพระภิกษุสามเณรมีสิ่งอำนวย มีโอกาสมาก แต่จะใช้โอกาสนั้นหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คฤหัสถ์มีสิ่งห่วงกังวลและสิ่งที่เป็นอุปสรรคกีดขวางมากกว่า แต่ทั้งสองฝ่ายนั้นมีสิทธิในการเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาเหมือนกัน ทีนี้ในหลักของพระพุทธศาสนานั้นถือว่าเมื่อใดก็ตามมีกุศลเจตนาถึงกับยอมสละสิ่งห่วงกังวลในทางโลก ความสุขสำราญในทางโลกมาได้ มุ่งมั่นอุทิศตนฝึกฝนอบรมตน ถ้าเป็นผู้ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนแล้วเราก็ให้ความเคารพถึงจะยังไม่บรรลุผลสำเร็จในการปฏิบัติ ก็ถือว่าเป็นบุคคลที่น่าเคารพบูชา

ในเมื่อพระภิกษุเป็นผู้ทุ่มเทอุทิศตนในการปฏิบัติฝึกฝนอบรมศึกษาเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายพระพุทธศาสนา ส่วนอุบาสกอุบาสิกาแม้จะไม่ทุ่มเทตนแต่ก็มีความเพียรพยายามเหมือนกันที่จะเข้าถึงจุดหมายพุทธศาสนาและจะปฏิบัติไปตามกำลัง ตกลงว่าทุกฝ่ายนี้ก็มีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน คือการเข้าถึงอุดมคติของพระพุทธศาสนา

ทีนี้อะไรเล่าคืออุดมคติของพุทธศาสนา อุดมคติของพระพุทธศาสนานั้น ในขั้นสูงสุดก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าได้แก่ พระนิพพาน แต่ก่อนที่จะถึงนิพพานนั้นก็หมายความว่าเราสามารถมีความเจริญมีพัฒนาการขึ้นไปได้ในระดับต่างๆ โดยลำดับ การเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาที่ว่าเป็นขั้นสูงสุดที่บรรลุนิพพานแท้จริงก็คือความเป็นพระอรหันต์อย่างที่เรียกว่าอรหัตตผล ก่อนที่จะถึงขั้นสูงสุดนั้นก็มีขั้นในระหว่างตามลำดับขึ้นมา รองลงไปจากความเป็นพระอรหันต์ก็เป็นพระอนาคามี ถัดลงมาจากพระอนาคามีก็เป็นพระสกทาคามี ถัดลงมาจากพระสกทาคามีก็เป็นพระโสดาบัน แล้วถัดลงมาก็จะเป็นปุถุชน ปุถุชนก็ยังมีกัลยาณปุถุชน คือปุถุชนที่เป็นกัลยาณชนเป็นคนดีงามมีกัลยาณธรรม แล้วต่อจากนั้นก็จะมีปุถุชนชนิดที่หยาบมากเรียกว่า อันธพาลปุถุชน ไปตามลำดับ นี้ก็หมายความว่า การปฏิบัติเพื่อเข้าสู่อุดมคติของพระพุทธศาสนานี้มีความเจริญเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป

จะเห็นว่าในสมัยพุทธกาลมีคฤหัสถ์จำนวนมากที่ได้เป็นพระโสดาบัน อย่างนางวิสาขาเป็นต้น เป็นผู้นำในทางสังคมสงเคราะห์เป็นที่เคารพนับถือในสังคม อนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็เป็นโสดาบันเป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตครองเรือนอยู่ตามปกติและก็เป็นเศรษฐีได้ด้วย หรือบางคนเป็นคนยากไร้ก็มีก็เป็นโสดาบันได้ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีหรือคนมั่งมียากจนก็มีสิทธิเท่ากันในอุดมคติของพระพุทธศาสนาในระดับสูง ถ้าเป็นพระอรหันต์เราจะเห็นว่า ส่วนมากจะเป็นพระภิกษุ ทีนี้ความเข้าถึงหรือภาวะที่เป็นอุดมคติของพระพุทธศาสนาที่ว่าเป็นขั้นตอนต่างๆ ไปจนบรรลุจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนานี้ เราเรียกในความหมายหนึ่งว่า เป็นธรรมะที่เหนือกว่ามนุษย์สามัญ ธรรมะที่เหนือกว่ามนุษย์สามัญนี้ คือมนุษย์สามัญปกติจะไม่สามารถได้ไม่สามารถถึง สิ่งเหล่านี้เรามีศัพท์เฉพาะพิเศษเรียกว่า อุตริมนุสธรรม อุตริ แปลว่ายิ่งหรือเหนือ มนุส ก็คือ มนุษย์ แล้วก็ ธรรมะ ก็คือ ธรรม ก็คือธรรมะที่เป็นภาวะอันเหนือหรือเกินวิสัยมนุษย์สามัญหรือสูงกว่าภาวะสภาพของมนุษย์สามัญเท่านั้นเอง

อนึ่ง ตั้งแต่พระอรหันต์ลงมาจนกระทั่งเป็นโสดาบันเราเรียกรวมๆ ว่าเป็น พระอริยบุคคล หมายความว่าจะเป็นพระอรหันต์ก็ตาม อนาคามีก็ตาม สกทาคามีก็ตาม โสดาบันก็ตาม เราเรียกชื่อรวมๆ ไม่ระบุชั้นว่าเป็นอริยบุคคล นอกจากความเป็นพระอริยบุคคลนี้แล้วแม้แต่ธรรมะอื่นๆ ที่ต้องมีการฝึกอบรมฝึกฝนพัฒนาตนเป็นพิเศษเพื่อเข้าถึง เช่นการได้สมาธิการได้ฌานสมาบัติอะไรต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่เรียกว่าอุตริมนุสธรรมเหมือนกัน คือธรรมที่เหนือกว่าสามัญมนุษย์หรือเหนือกว่ามนุษย์สามัญ อันนี้ก็คือความหมายของสิ่งที่เรียกว่าอุตริมนุสธรรม เจริญพร

(อาจารย์ระวี) ครับ ทีนี้กระผมก็ได้ทราบว่ามีพระพุทธบัญญัติเกี่ยวกับการที่ภิกษุจะกล่าวอวดอ้างว่าตนมีอุตริมนุสธรรมนี้มีบทลงโทษหรือว่าอะไรไว้อย่างค่อนข้างจะแรง

(พระเทพเวที) เจริญพร อุตริมนุสธรรมนี้เป็นจุดหมายเป็นอุดมคติของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นจะต้องถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ถ้าหากว่ามีการหลอกลวงกันขึ้นในเรื่องเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นการทำลายสิ่งที่เป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา ซึ่งก็หมายถึงการทำลายตัวพระศาสนา และเนื่องด้วยอุตริมนุสธรรมหรืออุดมคติเหล่านี้เป็นคุณค่าทางจิตใจหรือจะเรียกว่าคุณค่าทางจิตวิญญาณอย่างสูงสุดที่พระพุทธศาสนามีให้แก่มนุษย์ อันเป็นเรื่องของจิตวิญญาณขั้นสูงสุดที่มนุษย์จะสามารถเข้าถึงได้ ถ้าใครเอาสิ่งเหล่านี้มาหลอกลวงก็เท่ากับว่าเป็นผู้ที่ไปทำร้ายต่อจิตวิญญาณของมนุษย์นั่นเอง เพราะในเมื่อเราถือว่าจิตวิญญาณของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญเราก็ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีการหลอกลวงอวดสิ่งที่เรียกว่า อุตริมนุสธรรม ถ้าไม่มีจริงพระพุทธเจ้าจึงถือว่าเป็นโทษเป็นความผิดที่ร้ายแรงมาก ถึงกับทรงบัญญัติไว้ในพระวินัยเป็นความผิดสถานหนักในระดับเดียวกับการฆ่ามนุษย์ ในระดับเดียวกับการลักทรัพย์

แต่ที่จริงพระองค์ถือว่าร้ายแรงกว่าด้วยซ้ำ เพราะพระองค์ตรัสไว้ในพระวินัยในสิกขาบทที่บัญญัติเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ ว่ามหาโจรมีอยู่ ๕ จำพวกในโลกนี้ มหาโจรพวกที่หนึ่งก็คือพวกที่คุมสมัครพรรคพวกไปปล้นชาวบ้านชาวเมืองในที่ต่างๆ ทำความเดือดร้อนแก่มนุษย์เป็นอันมาก ต่อจากนั้นก็บรรยายมหาโจรที่สอง ที่สาม ที่สี่ และสุดท้ายมหาโจรที่ห้าก็คือภิกษุผู้อวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริงในตน พระองค์ตรัสว่า ข้อที่ห้านี้คือยอดมหาโจร ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงมาก เพราะเป็นการหลอกลวงชาวโลก ทั้งนี้เพราะคุณค่าที่พุทธศาสนาจะมีให้แก่มนุษย์ก็มีอยู่ที่อันนี้ เขาเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้หลอกลวงมนุษย์ เพราะฉะนั้นก็ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่สุดสำหรับพระภิกษุ จึงเป็นอาบัติที่เรียกว่า ปาราชิก ถ้าผู้ใดอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริงในตน ก็เป็นปาราชิกขาดจากความเป็นพระภิกษุตั้งแต่ขณะที่อวดและคนที่ฟังรู้ความนั้น ไม่ว่าเขาจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม อันนี้ก็เป็นความผิดที่ร้ายแรงสำหรับภิกษุอย่างหนึ่งใน ๔ ข้อ ข้อที่หนึ่งคือ ร่วมประเวณี ข้อที่สองคือ ลักทรัพย์ ข้อที่สาม ฆ่ามนุษย์ ข้อที่สี่ก็คือ อวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริงในตน แต่ว่าแม้มีจริงในตนพระองค์ก็ทรงบัญญัติไว้อีกเป็นอาบัติที่เล็กน้อยลงไปว่า ถ้าภิกษุอวด ที่จริงท่านไม่ใช้คำว่าอวดหรอก ท่านใช้คำว่าบอก ถ้าภิกษุบอกอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบันถึงมีจริงก็เป็นอาบัติหรือความผิดที่เรียกว่า ปาจิตตีย์ เจริญพร

(อาจารย์ระวี) เห็นจะต้องกราบเรียนขอให้แสดงความหมายของคำว่าอนุปสัมบันให้ชัดเจนซะเลยในที่นี้

(พระเทพเวที) เจริญพร อนุปสัมบัน นี้เป็นศัพท์ของพระวินัย แปลว่าผู้ไม่ได้อุปสมบทนั่นเองเรารู้จักคำว่าอุปสมบทกันดี ผู้อุปสมบทแล้วก็เรียกว่า อุปสัมบัน ถ้าไม่อุปสมบทก็เรียกว่า อนุปสัมบัน แต่ในพระวินัยปิฎกท่านบัญญัติให้คำจำกัดความไว้จำเพาะทีเดียวว่า "เว้นจากภิกษุและภิกษุณีแล้ว บุคคลอื่นชื่อว่าเป็นอนุปสัมบัน ทั้งสิ้น" อันนี้คือความหมายที่เป็นไปตามพระธรรมวินัย พระวินัยนี้เหมือนกฎหมาย เราจะเห็นว่าพระวินัยนี้มีลักษณะที่เป็นแบบแผนอย่างเดียวกับกฎหมาย จนกระทั่งมีผู้กล่าวว่ากฎหมายของเราได้อาศัยพระวินัยเป็นแบบมากทีเดียว คือลักษณะของวินัยนั้นจะต้องมีการให้คำจำกัดความมีการบอกความหมายอะไรต่ออะไรไว้ชัดเจนไม่ให้ดิ้นได้ อย่างพระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทนี้ไว้แล้วว่า ภิกษุบอกอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบันถ้ามีจริงเป็นปาจิตตีย์แล้วก็จะมีคำอธิบายต่อไปเลยว่า คำว่าภิกษุคืออย่างนั้นๆ คำว่าบอกคืออย่างนั้นๆ คำว่าอุตริมนุสธรรมคืออย่างนั้น แล้วก็คำว่า อนุปสัมบันคืออย่างนั้นๆ อันนี้ก็คือความหมายของอนุปสัมบันที่อาตมภาพยกมาจากพระวินัยปิฎกเป็นเรื่องของตัวบทกฎหมายของพระนั่นเอง เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ว่า พระพุทธเจ้าวางแบบของกฎหมายไว้แล้ว คือ ไม่สามารถจะให้ดิ้นไปอย่างอื่นได้ เจริญพร

(อาจารย์ระวี) เพราะฉะนั้นการที่ได้มีผู้ที่กล่าวว่าอนุปสัมบันมีความหมายอื่นก็เป็นการขัดแย้งกับพระวินัยซึ่งพระพุทธเจ้าได้วางเอาไว้

(พระเทพเวที) เจริญพร อันนี้มีเรื่องที่จะต้องพูดหลายแง่หลายมุมแม้แต่ในกฎหมายปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน อย่างเมื่อเราตราพระราชบัญญัติขึ้นมา เช่น กฎหมายแพ่ง มีคำว่านิติบุคคล เขาก็จะต้องให้ความหมายคำจำกัดความของคำว่านิติบุคคลคืออะไรตามกฎหมายนั้น เพื่อจะไม่ให้ตีความเป็นอย่างอื่น ถ้าตีความอย่างอื่นก็จะขัดต่อตัวบัญญัติทันที ตัวบัญญัตินี้จึงมีความชัดเจนขั้นหนึ่ง แล้วถ้ายังไม่ชัดเจนจึงจะมีการตีความ และการตีความนั้นก็จะต้องเป็นไปอย่างมีแบบแผนเป็นรูปธรรม เช่นมีคณะบุคคลซึ่งตั้งขึ้นถูกต้องตามกฎหมายมาประชุมกันลงมติตีความให้ แต่จุดสำคัญก็คือการมีบัญญัติกับการตีความนี่เป็นปัญหาคนละชั้น อันนี้จะต้องแยกให้ถูก ปัญหาในระดับบัญญัติกับปัญหาในระดับตีความเป็นคนละเรื่องกัน ตอนนี้มีการทำให้สับสนระหว่างบัญญัติกับการตีความก็ต้องพูดกันตรงๆ คือปัญหาของท่านโพธิรักษ์นั่นเอง คือท่านตีความคำว่าอนุปสัมบันโดยท่านให้ความหมายขึ้นมาใหม่ซึ่งไม่เป็นไปตามพระวินัยปิฎก ท่านบอกว่าอนุปสัมบันคือคนที่ยังมีภูมิธรรมไม่ถึงขั้น เพราะฉะนั้นเมื่อยังมีภูมิธรรมไม่ถึงขั้นจึงจะอวดไม่ได้ แต่ถ้ามีภูมิธรรมถึงขั้นก็อวดได้ เพราะฉะนั้นจะบอกอุตริมนุสธรรมแก่คฤหัสถ์ก็ได้ ถ้าคฤหัสถ์คนนั้นมีภูมิธรรมถึงขั้น กลายเป็นว่าได้เกิดมีความหมายขึ้นมาใหม่ หมายความว่าตอนนี้กลายเป็นว่าอาจจะบอกอุตริมนุสธรรมแก่คฤหัสถ์ก็ได้ถ้าผู้นั้นมีภูมิธรรมถึงขั้น แล้วทีนี้เราจะเอายังไง จะเอาความหมายที่บัญญัติไว้ในพระวินัยปิฎก หรือจะเอาความหมายที่ท่านโพธิรักษ์บัญญัติ

วินัย นั้นเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เป็นเรื่องของระเบียบแบบแผนต้องมีความชัดเจน และคำจำกัดความนี้ก็มีอยู่แล้วในวินัย อาตมาก็เลยยกตัวอย่างเทียบให้เห็น เหมือนอย่างกับในปัจจุบันนี้มีกฎหมายแพ่งตอนหนึ่งพูดถึงเรื่อง มูลนิธิ อันนี้อาตมาเขียนไว้ในหนังสือแล้ว บอกว่าในตราสารของมูลนิธินั้นก็จะต้องมีการกำหนดไว้ บอกว่ามูลนิธินั้นถ้าหากว่าเกิดการสิ้นสุดหรือล้มลงไปทรัพย์สินจะต้องเป็นของ นิติบุคคล อันใดอันหนึ่ง นี่กฎหมายตราไว้อย่างนี้ ทีนี้ยกตัวอย่างว่า มีคนๆ หนึ่งมาร่วมกับพวกตั้งมูลนิธิขึ้นมาแล้วก็กำหนดไว้ในตราสาร บอกว่าเมื่อมูลนิธิของเขาชื่อนั้นสิ้นสุดลง ให้ทรัพย์สินทั้งหมดของมูลนิธิตกเป็นของนางสาว ข. นางสาว ข. เป็นลูกสาวของคนที่ตั้งมูลนิธินั้นซึ่งอาจจะเป็น นาย ก. ทีนี้ทางเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายก็บอกว่าไม่ได้ กฎหมายบัญญัติไว้แล้วว่าจะต้องให้ทรัพย์สินนั้นเป็นของนิติบุคคล กฎหมายแพ่งตราไว้แล้วนิติบุคคลคืออะไร มีความหมายชัดเจนว่าต้องเป็นอย่างนั้นๆ นาย ก. ก็อ้างว่าลูกสาวฉัน คือ นางสาว ข. นี่เป็นนิติบุคคล ทำไมจะไม่เป็นนิติบุคคล ฉันเปิดพจนานุกรมดูแล้ว นิติแปลว่า แบบแผน ลูกสาวฉันนี่เป็นคนมีแบบแผน คือว่าตื่นเช้าก็ตรงเวลา ๖ โมงเช้า แล้วตื่นเช้าเสร็จก็ไปรับประทานอาหารเช้า รับประทานอาหารเช้าเสร็จก็ไปโรงเรียน ไปโรงเรียนเสร็จแล้ว เรียนหนังสือตามเวลา เข้าตามเวลา ออกตามเวลา กลับบ้านตามเวลา กลับมาถึงบ้านแล้วรับประทานอาหารเย็น อ่านหนังสือ เข้านอนตามเวลา เป็นคนมีแบบแผน เพราะฉะนั้นลูกสาวฉันเป็นนิติบุคคลเหมือนกัน คุณจะต้องยอมให้ฉันกำหนดไว้ในตราสารว่า เมื่อมูลนิธิสิ้นสุดลงแล้วก็ให้ทรัพย์สินนี้ตกเป็นของนางสาว ข. ผู้เป็นบุตรของฉันอะไรทำนองนี้

ถ้าอาตมายกตัวอย่างแบบนี้ท่านจะเห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล คือว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่เพราะเหตุที่ชาวพุทธจำนวนมากไม่รู้เรื่องพุทธศาสนา พอเอาเรื่องอนุปสัมบันเข้ามาแล้วก็งง เลยไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรกัน ไม่สามารถเข้าใจได้ ความจริงในแง่พระภิกษุแล้วมองเห็นการกระทำนี้เป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระที่จะไปตีความอนุปสัมบันเป็นผู้มีภูมิธรรมไม่ถึงขั้นอะไรทำนองนั้น อาตมาขอยกตัวอย่างอีกคำหนึ่ง เช่นในรัฐธรรมนูญของเรานี้แหละ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ก็มีหมวดที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ชนชาวไทยมีสิทธิเสรีภาพต่างๆ เช่น มีสิทธิและเสรีภาพในทางการเมือง เป็นต้น ทีนี้ชนชาวไทยคือใครล่ะ สมมติว่ามีคนๆ หนึ่งบอกว่า ชนชาวไทยนั้นก็มาจากชนชาวไท “ไท” เปิดพจนานุกรมดูแล้วแปลว่า คนที่เป็นใหญ่เป็นอิสระในตัวไม่เป็นทาส ทีนี้คนอเมริกัน คนลาว คนเขมร คนสเปน หรืออะไรต่างๆ เข้ามาในประเทศไทยก็มาอ้างตัวเพื่อจะมีสิทธิในการเลือกตั้งเป็นต้น บอกว่าฉันเป็นคนไทย อ้าว! เป็นคนไทยได้ยังไง ก็ฉันเป็น “คนไทย” เพราะฉันเป็นไท เป็นคนใหญ่โต เป็นคนมีอิสระในตัวไม่ได้เป็นทาสของใคร เพราะฉะนั้นต้องให้ฉันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ อย่างนี้เป็นต้นจะทำได้หรือไม่ หรือว่าอีกคนหนึ่งไปติดคุกติดตารางมาหรืออยู่ในปกครองของคนอื่น เจ้าหน้าที่อาจจะบอกว่าคุณนี่ไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพราะคุณไม่เป็นชาวไทย เพราะคุณไม่มีอิสระในตัวอะไรทำนองนี้ ถ้าตีความอย่างนี้ก็คงยุ่ง กฎหมายคงไม่เปิดทางให้ตีความอย่างนี้ กฎหมายต้องมีความแน่นอน อาตมาว่าถ้ายกตัวอย่างในเรื่องสามัญอย่างนี้แล้วคนก็เข้าใจ แต่เพราะว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นหลักธรรมหลักวินัยเป็นภาษาบาลี ญาติโยมฟังแล้วก็งง พอพูดขึ้นมาก็เห็นเป็นเรื่องแปลกเป็นเรื่องที่ฟังชอบกล ฉงนสนเท่ห์ น่าฟังน่าสนใจ ความจริงนั้นเป็นสิ่งที่เหลวไหลไร้สาระ อันนี้ก็เป็นตัวอย่าง

แล้วยังบางท่านบอกว่าเรื่องภาษาบาลีก็ไม่สำคัญอะไรหรอก มันก็เป็นเรื่องภาษาเท่านั้นข้อสำคัญขอให้ปฏิบัติดีก็แล้วกันอะไรต่างๆ เหล่านี้ ความจริงนั้นความสำคัญมีอยู่ เพราะว่าภาษาบาลีในที่นี้ไม่ใช่เป็นภาษาเฉยๆ แต่ในภาษาบาลีนั้นบรรจุไว้ซึ่งหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าหากว่าเราไม่รู้ไม่เข้าใจความหมายที่ถูกต้อง ไม่รู้ไม่เข้าใจหลักเกณฑ์ของภาษา ไม่ใช้ภาษาด้วยความซื่อตรง มีความเบี่ยงเบน หรือมีการใช้ภาษาเป็นเครื่องหลอกลวง หรือใช้ในทางใดทางหนึ่งที่ไม่ซื่อตรงแล้ว มันก็เกิดปัญหาขึ้นมา หมายความว่าอาจจะทำดีอะไรต่างๆ ก็ไม่ว่าหรอกแต่ถ้ามีการหลอกลวงไม่ซื่อตรง แม้แต่แกล้งใช้ภาษาให้ผิด กล่าวถ้อยคำให้คนเข้าใจผิด มันก็กลายเป็นการทำร้ายทำชั่วอีกด้านหนึ่งที่อาจจะร้ายแรงกว่า คนเราโดยมากก็มีความดีกันไม่มากก็น้อย แต่เราจะเอาความดีนั้นมาเป็นเหตุอ้างสำหรับหักล้างความชั่วอีกอันหนึ่งที่ตนกระทำไม่ได้ โดยเฉพาะความชั่วที่ยิ่งใหญ่กว่าสำคัญกว่า คนทำผิดทำชั่วต่างๆ นี่มักจะอ้างเรื่อย ฉันเป็นคนดีฉันทำอย่างนั้นอย่างนี้แต่ทำไมท่านมาลงโทษฉัน ก็ขอให้เรามาทำความเข้าใจกันให้ถูกต้องว่าตัวประเด็นนั้นมันอยู่ที่ไหน อาตมาก็เลยพูดโยงเข้ามาถึงเรื่องความสำคัญของภาษา เป็นเรื่องของปัญหาที่เกี่ยวกับภาษาที่บรรจุไว้ซึ่งธรรมวินัย แล้วมันก็โยงไปถึงเรื่องตัวบัญญัติ เรื่องของการตีความ

สำหรับปัญหาที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้มันไม่ใช่ปัญหาในระดับการตีความ แต่เป็นปัญหาในระดับตัวบัญญัติ หลายท่านงงเข้าใจว่าเป็นปัญหาในระดับการตีความ ซึ่งไม่ใช่เลย การตีความนั้นเป็นเรื่องรองลงไป ในพระพุทธศาสนานี้เราให้อิสระเสรีภาพอย่างมากที่สุดในการตีความ เราจะไม่มายุ่งกันมากนักในเรื่องการตีความ แต่เราจะระวังบ้างก็ขอให้มีความซื่อตรงในการตีความ และให้การตีความนั้นมีหลักฐานมีที่อ้างอิง มีระบบที่จะเชื่อมโยงกันสอดคล้องกับคำสอนส่วนรวมเป็นต้น อันนั้นก็เป็นเรื่องที่จะพูดกันไป แต่ในแง่ของตัวบัญญัติแล้วอย่างที่ว่ามานี้ เช่นว่าอะไรคือนิติบุคคล อย่างนี้ในกฎหมายไม่ใช่เรื่องของการตีความแต่เป็นเรื่องของการบัญญัติ แต่บุคคลเอาตัวบัญญัตินั้นไปตีความซ้อนขึ้นมาแล้วเอาการตีความของตนเองเป็นตัวที่ถูกต้อง แล้วลบล้างบัญญัติเสียเลย อย่างนี้ก็เป็นการสับสนระหว่างบัญญัติกับการตีความ อันนี้ก็เป็นเรื่องทำนองเดียวกัน คือมีพุทธบัญญัติไว้แล้วในพระวินัยปิฎกบอกไว้เสร็จว่า ตัวบทของกฎหมายเป็นอย่างไร แล้วคำไขก็มีต่อจากแม่บทไว้แล้วให้ความหมายของทุกศัพท์ไว้เรียบร้อย เมื่อไม่ถือตามนั้นไปบัญญัติอย่างอื่นมันก็กลายเป็นการบัญญัติใหม่ลบล้างบัญญัติของพระพุทธเจ้า หรือการคัดค้านบัญญัติของพระพุทธเจ้านั่นเอง เมื่อเป็นอย่างนี้มันก็ต้องเกิดความสับสนแน่นอน นี้เป็นเพียงกรณีตัวอย่าง อาตมาขออธิบายเท่านี้ก่อน ถ้ายังมีสิ่งที่ไม่ชัดเจนอะไรก็ขอให้ช่วยกรุณาแจกแจง

(อาจารย์ระวี) ในเรื่องนี้ก็คงจะเป็นที่ชัดเจนสำหรับที่ประชุมนี้ว่า ปัญหาส่วนหนึ่งนั้นเกิดขึ้นจากการที่สาธารณชนหรือชาวพุทธโดยทั่วไปไม่เข้าใจภาษาของพระพุทธศาสนา แล้วพระโพธิรักษ์ก็ได้อาศัยสิ่งที่สาธารณชนไม่เข้าใจนั้นใช้ประโยชน์ในการเปลี่ยนแปลงความหมายโดยใช้ถ้อยคำให้ความหมายใหม่เสียแก่ศัพท์ในพระพุทธศาสนา อันนี้เป็นตัวอย่างของสิ่งที่ท่านเจ้าคุณได้ให้คำเรียกไว้และก็ได้มีการนำเอาไปใช้กันมากในปัจจุบันว่า ทำให้พระธรรมวินัยวิปริต จะใช่หรือไม่ใช่ครับ

(พระเทพเวที) เจริญพร เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วพุทธศาสนิกชนก็ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวปัญหาอีกนิดหน่อย อาตมาอยากจะให้ความหมายเกี่ยวกับเรื่องของปัญหาว่า ปัญหาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร เพื่อโยงมาสู่ปัญหาที่กำลังประสบกันอยู่ในปัจจุบัน ปัญหาในพระพุทธศาสนานั้นขอกล่าวแยกว่าโดยสรุปแล้วมี ๒ ประเภทด้วยกัน ปัญหาประเภทที่หนึ่งคือ ปัญหาเกี่ยวกับตัวพระศาสนาเอง ปัญหาประเภทที่สองคือ ปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนในศาสนา อันนี้ขอให้แยกให้ถูก ปัญหาเกี่ยวกับตัวพระศาสนาเองนั้นก็คือตัวหลักของพระธรรมวินัย ตัวหลักการตลอดจนระเบียบกฎเกณฑ์ระบบต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาซึ่งวางไว้เป็นแบบแผนแล้ว ปัญหาต่อตัวพระศาสนาก็คือปัญหาต่อตัวพระธรรมวินัย หมายความว่าพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าพระองค์ทรงสั่งสอนไว้แล้วแก่พระสาวก พระสาวกก็ประมวลไว้ในพระไตรปิฎกนำสืบๆ กันมา ก็พยายามรักษากันไว้ ถือเป็นมาตรฐาน ถ้าหากว่ามีการไปลบล้างพุทธบัญญัติ เช่นไปคัดค้านไม่ยอมเชื่อถือตามพุทธบัญญัตินั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นพุทธพจน์ว่าอย่างนี้ก็ว่าไปเสียอีกอย่างหนึ่ง หรือพระวินัยบัญญัติไว้อย่างนี้ก็ไปบัญญัติขึ้นมาใหม่เสียอีกอย่างหนึ่ง หรือลบล้างหักล้างคัดค้านบัญญัติของพระพุทธเจ้า การกระทำอย่างนี้เรียกว่าเป็นปัญหาต่อตัวพระศาสนาเป็นปัญหาต่อตัวพุทธพจน์และตัวบัญญัติเอง นี้เป็นปัญหาขั้นที่หนึ่ง ทีนี้ในขั้นที่สองเป็นปัญหาต่อตัวพระศาสนาเหมือนกันแต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการตีความ อาจจะมีคนบางคนมีเจตนาไม่สุจริตต้องการเอาคำสอนภายนอกหรือคำสอนความคิดเห็นของตัวเองมาเป็นหลักตั้ง แล้วก็ตีความพุทธพจน์พุทธบัญญัติให้เข้ากับความคิดเห็นของตนเอง อันนี้เป็นปัญหาขั้นที่สองในระดับการตีความ แต่ปัญหาในพุทธศาสนานั้นที่เป็นปัญหาต่อตัวพระศาสนาโดยส่วนใหญ่เป็นปัญหาระดับที่หนึ่งคือเป็นปัญหาต่อตัวบัญญัติเอง ต่อตัวพุทธพจน์เอง ที่มีการลบล้างดัดแปลงแก้ไขคัดค้านอะไรต่างๆ ขึ้นมาไม่ตรงตามพุทธพจน์หรือพุทธบัญญัติ ส่วนเรื่องการตีความอาตมาได้บอกแล้วว่าในพุทธศาสนาเราให้อิสระเสรีภาพมาก แต่อย่างไรก็ตามรวมความก็คือมันเป็นปัญหาต่อตัวพระศาสนา เป็นปัญหาต่อตัวหลักการต่อตัวบัญญัติที่เป็นพระธรรมวินัยเองอันนี้อันที่หนึ่ง

ทีนี้สอง ปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนในศาสนา คือว่าพระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หรือบริษัท ๔ และโดยเฉพาะพระภิกษุนี้แหละเป็นตัวสำคัญ ถ้าพระภิกษุไม่ประพฤติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ประพฤติตามพระวินัยล่วงละเมิดพระวินัย พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้อย่างนี้ ไม่ให้ทำอย่างนี้ก็ไปละเมิดไม่ปฏิบัติตาม เมื่อทำอย่างนี้ก็เป็นปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนในศาสนา ถ้ามีการประพฤติล่วงละเมิดพระวินัยกันมากๆ ก็เป็นความเสื่อมโทรมอย่างหนึ่งในพระศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากเหมือนกันที่จะต้องแก้ไข แต่ว่าตอนแรกเราต้องทำความเข้าใจว่ามีปัญหา ๒ ระดับอย่างนี้

ทีนี้ขอให้มองดูว่าปัญหาสองระดับนี้ต่างกันอย่างไร ปัญหาระดับหนึ่ง ปัญหาต่อตัวพระศาสนาเองที่มีการลบล้างดัดแปลงพุทธพจน์พุทธบัญญัติเป็นต้น เป็นเรื่องที่ถือว่าสำคัญอันดับหนึ่ง เพราะอะไร เพราะว่าตัวธรรมวินัยนั้นเป็นมาตรฐานของคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เราจะใช้เป็นเครื่องวัดเครื่องตรวจสอบตลอดกาล ว่าพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้ ถ้าตราบใดตัวบัญญัติยังอยู่ พุทธพจน์ยังอยู่ เราก็ยังมีแม่บทมีมาตรฐานไว้วัดไว้ตรวจสอบต่อไป อันนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าหากว่าตัวบัญญัติตัวพุทธพจน์ถูกดัดแปลงแก้ไขไปแล้ว ต่อไปเราจะไม่มีมาตรฐานที่ถูกต้องมาเป็นเครื่องตรวจสอบวัดได้เลย แล้วถ้าหากว่าเครื่องตรวจสอบหรือมาตรฐานนั้นผิด สิ่งที่เราใช้เป็นมาตรฐานอาจจะไม่ใช่พุทธศาสนาต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

อันที่สอง คือพฤติกรรมของคนในศาสนาที่มีพระประพฤติผิดล่วงละเมิดธรรมวินัยกันต่างๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน อาตมภาพถือว่าเป็นยุคที่มีความเสื่อมโทรมมากจะต้องแก้ไขปรับปรุง อย่างที่เรียกว่ามีพระประพฤติเดรัจฉานวิชาอะไรต่างๆ นี่ เราบ่นกันเรื่องนี้มานาน เราก็ติเตียนว่าองค์การปกครองคณะสงฆ์นี้อ่อนแอย่อหย่อนอะไรต่างๆ เราต้องการให้มีการแก้ไขปรับปรุง แต่ในเวลาเดียวกันเราต้องตระหนักรู้เข้าใจว่าระดับของปัญหาอยู่ที่ไหน ปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนในศาสนาแม้จะประพฤติผิดพลาดอย่างไร แต่ตราบใดที่ยังไม่ไปลบล้างตัวบทบัญญัติตัวธรรมวินัยที่เป็นมาตรฐานแล้ว เราก็ยังมีตัวมาตรฐานไว้วัดไว้ตรวจสอบอยู่ เมื่อไรการปกครองสงฆ์เข้มแข็งขึ้นมา เมื่อไรชาวพุทธมีความเข้มแข็งขึ้นมาแล้ว เราก็สามารถปรับพฤติกรรมของบุคคลในศาสนาให้เข้าสู่มาตรฐานนั้นได้อีก เพราะมาตรฐานยังอยู่ เพราะฉะนั้นจะต้องมีความเข้าใจให้ถูกต้องว่าเรื่องปัญหาในพระศาสนาเป็นอย่างไร ทีนี้ในปัจจุบันเรื่องที่เรามีกันมากในพระพุทธศาสนาก็คือปัญหาข้อที่สองเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนในศาสนา เราวิตกห่วงใยกันมานักหนา และเราก็ติเตียนองค์กรปกครองสงฆ์อย่างที่ว่ามาแล้ว แต่ในขณะนี้มันก็เกิดมีปัญหาระดับที่หนึ่งซ้อนขึ้นมาอีก คือมีปัญหาระดับสองอยู่แล้วผู้ที่สร้างปัญหาระดับหนึ่งก็สร้างปัญหาระดับสองด้วย คือไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัยบางอย่างบางประการหรือหลายอย่างหลายประการ และยังก้าวเข้ามาสู่การคัดค้านพุทธบัญญัติตั้งบัญญัติใหม่เองที่ไม่ตรงกับพุทธบัญญัติ เหมือนกับมาดัดแปลงพุทธบัญญัติด้วย จึงถือว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษเป็นทั้งสองระดับในเวลาเดียวกัน นี่ก็เป็นเรื่องของปัญหาที่ควรจะทำความเข้าใจ

การสอนและการแสดงหลักการของท่านโพธิรักษ์ในเรื่องต่างๆ เช่น พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ในพระวินัยว่า ภิกษุบอกอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบัน ถ้าตนมีจริง ก็เป็นความผิดที่เรียกว่า ปาจิตตีย์ แต่ท่านโพธิรักษ์บอกว่า ภิกษุถ้ามีอุตริมนุสธรรมควรจะต้องอวด ในพระวินัยปิฎกบัญญัติความหมายให้คำจำกัดความของคำว่าอนุปสัมบันไว้อย่างหนึ่ง ท่านโพธิรักษ์กลับแสดงความหมายของอนุปสัมบันไปเสียอีกอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่าเมื่อพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ยังไม่ได้ตรัสรู้ แต่ท่านโพธิรักษ์ว่าท่านจะเป็นทั้งพระโพธิสัตว์และเป็นอรหันต์ คือ เป็นทั้งพระโพธิสัตว์และเป็นผู้ตรัสรู้แล้วด้วยในเวลาเดียวกัน พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระอรหันต์ไม่เกิดอีกเป็นผู้ไม่มีภพใหม่อีก แต่ท่านโพธิรักษ์สอนว่าพระอรหันต์เกิดใหม่อีกก็ได้ ดังนี้เป็นต้น การสอนและแสดงหลักการอย่างนี้เป็นการบัญญัติขึ้นใหม่ของท่านโพธิรักษ์เอง ซึ่งไม่เป็นไปตามพุทธพจน์และพุทธบัญญัติ เห็นได้ว่าเป็นการไม่ยอมรับ คัดค้าน และล้มล้างหลักการหรือหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแก่ตัวพระธรรมวินัย เป็นปัญหาในระดับที่หนึ่ง ส่วนตัวการกระทำผิดหรือละเมิดพระวินัย จะเป็นการอวดอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบันหรืออะไรก็ตาม โดยเฉพาะที่ทำบ่อยๆ เนืองๆ โดยไม่เห็นโทษหรือกลับเห็นเป็นดีไป เป็นปัญหาในระดับที่สอง

อีกอันหนึ่งที่เพิ่มเข้ามา ในแง่ที่ว่าพุทธบริษัททุกคนนอกจากเป็นชาวพุทธแล้ว ก็เป็นพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่งด้วย ไม่ว่าชาวบ้านหรือชาววัด แม้พระภิกษุก็ไม่หนีความเป็นพลเมืองของประเทศไปได้ เมื่อเป็นพลเมืองของประเทศก็ต้องอยู่ในความปกครองของประเทศ ประเทศชาตินั้นปกครองโดยมีระเบียบแบบแผนเรียกว่า กฎหมาย เพราะฉะนั้นพระภิกษุก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเหมือนกัน ทีนี้ทางบ้านเมืองก็ตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อปกครองสงฆ์ให้เรียบร้อย ตลอดจนกฎหมายอื่นที่ไม่ใช่การปกครองสงฆ์โดยตรง แต่พระภิกษุในฐานะพลเมืองก็ต้องขึ้นต่อกฎหมายเหล่านี้ด้วย หากส่วนใดมาบัญญัติไว้ในกฎหมายสงฆ์เขาก็อาจจะยกเว้นส่วนนั้นจากกฎหมายอื่นเอามาบัญญัติไว้เฉพาะในกฎหมายสงฆ์ เพราะฉะนั้นก็เลยมีข้อผูกมัดขึ้นมาอีกประการหนึ่งว่า พระภิกษุในฐานะเป็นพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่งก็ต้องเคารพเชื่อฟังกฎหมายของประเทศนั้นด้วย เมื่อมีการละเมิดกฎหมาย ภิกษุไปละเมิดกฎหมายของบ้านเมืองเข้าก็มีความผิด กฎหมายทางบ้านเมืองก็จัดการ ตกลงว่าพระภิกษุนี่สามารถจะมีปัญหาได้สามระดับ คือปัญหาระดับหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวกับตัวพุทธศาสนาโดยตรง ได้แก่ปัญหาการละเมิดกฎหมายของบ้านเมือง ต่อมาก็เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับพระศาสนาก็คือปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนในศาสนา แล้วขั้นแรกสูงสุดคือปัญหาต่อตัวพระศาสนาเอง พระภิกษุนี่สามารถทำความผิดได้ทั้งสามระดับ

สำหรับกรณีท่านโพธิรักษ์นี่ก็ต้องพูดกันตรงๆ ไม่ใช่จะมาว่ามาติเตียน คือท่านเป็นปัญหาทั้งสามระดับทีเดียวพร้อมกันหมด การเป็นปัญหาของท่านก็เป็นปัญหาอย่างที่เรียกว่าเบ็ดเสร็จ เช่นว่ากฎหมายปกครองสงฆ์ที่รัฐวางไว้ ฉันไม่ยอมรับโดยประการทั้งปวง ไม่ต้องพูดถึงว่าจะละเมิดมาตราไหนข้อไหนล่ะ ฉันไม่ยอมรับทั้งฉบับอะไรอย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ชาวพุทธจะต้องมีความเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าปัญหาเป็นอย่างนี้

ตอนนี้ก็เลยขอโอกาสชี้แจงเกี่ยวกับตัวอาตมภาพเอง อาตมภาพนี้ไม่ได้สนใจมากกับปัญหาเรื่องกฎหมาย เพราะเป็นเรื่องของทางการบ้านเมือง เขามีเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอ่อนแอไม่จัดการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง อาตมาก็คงไม่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง ทีนี้สอง ปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนในศาสนา ท่านจะไปละเมิดพระวินัยข้อนั้นข้อนี้ อันนี้มันก็ยังเป็นเรื่องเฉพาะตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ปกครองสงฆ์หรืออุปัชฌาย์อาจารย์ก็ควรจะต้องแก้ไขจัดการ อาตมาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง นอกจากไปรู้เห็นการต้องอาบัติหนักเข้าด้วยตนเอง ถ้าเราจะทำก็คือกระตุ้นบอกว่าท่านควรจะแก้ไขเสียให้ถูกต้องอะไรต่างๆ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของเรา อาตมภาพจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเรื่องสองเรื่องนี้ ทีนี้ส่วนที่เราจะต้องเกี่ยวข้องก็คือ ปัญหาระดับที่หนึ่ง คือปัญหาต่อตัวพระศาสนาเองที่ว่ามีการคัดค้านดัดแปลงตั้งบัญญัติเอาใหม่เกี่ยวกับหลักธรรมวินัยต่างๆ อันนี้เป็นเรื่องที่อาตมาถือว่าสำคัญ แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องของการลงโทษเหมือนอย่างการละเมิดกฎหมายและการทำผิดธรรมวินัยก็ตาม ที่อาตมาเข้ามาขีดเขียนเรื่องนี้ขึ้น ทำความเข้าใจเรื่องนี้ คือการที่เข้ามาสู่เรื่องนี้นั้นก็เพื่อความมุ่งหมายสำคัญคือเพื่อสร้างความเข้าใจ จุดมุ่งหมายอยู่ที่นี่ ซึ่งก็ตรงกับจุดมุ่งหมายของการสนทนาธรรมครั้งนี้ด้วย คืออยู่ที่การทำความเข้าใจกันให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ตัวปัญหาอยู่ที่ไหน ประเด็นของเรื่องคืออะไร จุดหมายอยู่ที่นี่ อาตมาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเรื่องนี้

เมื่อเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วก็ปรากฏว่า เวลานานไปเรื่องมันยืดยาวมาก็มีความเข้าใจผิด แม้แต่ต่อตัวอาตมาเองว่ามีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร ตลอดจนกระทั่งเข้าใจไปว่าเป็นอะไรกับใคร บางท่านแสดงออกคล้ายๆ จะเรียกอาตมาว่าเป็นพระของมหาเถรสมาคมก็มีอะไรทำนองนี้ มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงบอกว่า อาตมาพูดเป็นตัวแทนของมหาเถรสมาคม อันนี้ก็เป็นการให้ข่าวที่ผิดพลาด บางฉบับไปลงบอกว่าอาตมาชี้ทางให้คณะสงฆ์ และก็ยังมีบางฉบับบอกว่าหนังสือ แรงจูงใจในการเขียนกรณีสันติอโศก เป็นหนังสือที่ช่วยแจกแจงให้เข้าใจมติของการกสงฆ์ได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ก็เป็นเรื่องผิดอีก เพราะว่าหนังสือแรงจูงใจในการเขียนกรณีสันติอโศกเป็นบทสัมภาษณ์ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๓๑ แล้วการกสงฆ์เพิ่งตั้งขึ้นในเดือนธันวาคม แล้วเพิ่งมีมติเมื่อเร็วๆ นี้เอง หนังสือแรงจูงใจจะมาชี้แจงมติการกสงฆ์ได้อย่างไรนี้เป็นต้น การให้ข่าวเหล่านี้ชวนให้ประชาชนสับสนไขว้เขว นอกจากนั้นหนังสือพิมพ์บางฉบับลงบ่อยๆ ว่าอาตมาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ อย่างนี้ก็มี อาตมาก็ชี้แจงไปกับผู้สื่อข่าวบอกขอให้ไปช่วยแก้ข่าวให้ด้วย เขาก็เงียบไป แต่ก็ยังดีที่ว่าต่อมาไม่ลงว่าเป็นเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ ก็คงช่วยโดยที่ไม่ได้แก้ข่าวเก่าเป็นแต่ว่าทำข่าวใหม่ก็ไม่ใส่เจ้าอาวาสเข้าไป เพราะอาตมาไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์

ฐานะของอาตมาที่ทำงานครั้งนี้ก็ทำงานเป็นอิสระ คณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคมเคยตั้งให้อาตมาเข้าเป็นคณะทำงานของการกสงฆ์ด้วยและให้อยู่ร่วมในการกสงฆ์ด้วย ท่านคงเห็นว่าอาตมาคงจะมีความรู้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของปัญหาพระโพธิรักษ์นี้มากพอสมควร เพราะได้ขีดได้เขียนเรื่องนี้มาก็เลยตั้งให้อาตมาเข้าเป็น แต่อาตมาก็ได้ทำหนังสือกลับไป แจ้งต่อเลขาธิการมหาเถรสมาคม คืออธิบดีกรมศาสนาซึ่งมีหน้าที่โดยตำแหน่งว่า ให้นำความเข้ากราบเรียนต่อมหาเถรสมาคมว่าอาตมาทำงานเรื่องนี้เป็นอิสระโดยความริเริ่มของตนเอง และก็ทำมาก่อนอยู่แล้ว ก่อนที่คณะสงฆ์จะมาเอาจริงเอาจังในตอนขั้นสุดท้าย คือคณะสงฆ์ท่านก็บอกว่าท่านดำเนินเรื่องนี้มาไม่ได้หยุดเป็นสิบๆ ปี แต่อาตมามองเห็นในทรรศนะอาตมา ซึ่งอาตมาก็ว่าเรื่อยว่าท่านย่อหย่อนอ่อนแอ อันนี้ทรรศนะก็ไม่ตรงกัน ท่านก็บอกว่าท่านดำเนินงานเรื่อย และในที่สุดท่านก็ตั้งการกสงฆ์ขึ้นมาและตั้งอาตมาเข้าไปร่วมด้วย

อาตมาไม่ยอมรับ อาตมาก็ทำหนังสือกลับไปแจ้งว่า อาตมาขอตัวไม่รับเป็นไม่รับร่วมเป็นคณะทำงานของการกสงฆ์ เพราะว่า หนึ่งอาตมาได้ทำงานเป็นอิสระของตัวเอง มาโดยความริเริ่มของตนเอง ด้วยความรู้สึกรับผิดชอบต่อพระศาสนาในฐานะพระภิกษุรูปหนึ่งอยู่แล้ว ก็ขอทำงานเป็นอิสระต่อไป แล้วประการที่สองก็คือ ในเมื่อเรื่องมันเกิดอย่างนี้แล้วอาตมาได้เกิดความรู้สึกว่า ทางท่านพระโพธิรักษ์นี่ยังมีความเข้าใจต่ออาตมาไม่ค่อยถูกเท่าไร คือมามองเห็นอาตมาคล้ายๆ เป็นปรปักษ์ไป เมื่อท่านมีความรู้สึกอย่างนี้ ก็เป็นความรู้สึกที่ไม่ดี ซึ่งถ้าหากว่าเราเข้าไปเป็นผู้ทำงานในส่วนของคณะสงฆ์คล้ายๆ มีอำนาจหน้าที่แล้ว ก็เป็นการคล้ายๆ กับว่ามีกำลังมีอะไรหนุนอยู่ข้างหลังตัวเอง อาตมาทำงานอิสระลำพังตัวเองต่อไปดีกว่า เพราะฉะนั้นโดยเหตุผล ๒ ประการนี้ก็ขอตัว ไม่รับและก็ทำงานเป็นอิสระต่อไป เป็นแต่ว่าขอขอบคุณท่านที่ได้ให้เกียรติและก็พร้อมกันนั้นก็บอกว่าก็ยินดีให้ความร่วมมือถ้าท่านต้องการให้แสดงความคิดเห็นอะไร อาตมาได้บอกไปอย่างนั้น ซึ่งท่านก็ขอความร่วมมือขอให้ให้ความคิดเห็นเป็นบางครั้งบางคราว ก็เลยขอโอกาสชี้แจงให้ทราบด้วย อาตมาทำหนังสือชี้แจงไปถึงหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวผิดพลาดอะไรเหล่านี้บ้าง แต่ก็ไม่ทราบว่าทางหนังสือพิมพ์จะให้ความร่วมมือแค่ไหนเพียงไร อันนี้ก็เลยขอโอกาสพูดให้ทราบด้วย เจริญพร

(อาจารย์ระวี) กระผมคิดว่าข้อความที่พระคุณเจ้าได้กล่าวเพิ่มมามีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะให้สาธารณชนในบ้านเมืองนี้ได้เข้าใจว่าเรื่องราวที่ได้เป็นมานั้นเป็นอย่างไร กระผมเองนั้นรับอ่านหนังสือเล่มแรกที่พระคุณเจ้าได้แสดงความคิดเห็น คือเรื่อง กรณีสันติอโศก นี้เมื่อร่วมประมาณหนึ่งปีมาคือวันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมกันไปถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตให้แก่พระคุณเจ้า และเข้าใจว่าในวันนั้นเองเป็นวันที่สองของการที่หนังสือเล่มนั้นได้ออกมา วันแรกนั้นเข้าใจว่าเป็นวันที่ได้มีการเลือกตั้งเสร็จไปแล้ว กำลังนับคะแนนกันอยู่ นั่นคือเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วมา เมื่อกระผมได้อ่านหนังสือเล่มนั้นแล้วนี่ก็มีความคิดเกิดขึ้นในใจทันทีจากที่ได้อ่านว่า นี่เป็นหนังสือซึ่งได้วินิจฉัยเหตุการณ์พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกลางที่สุดและถูกต้องที่สุด แต่กระผมในฐานะที่เป็นปุถุชนมีกิเลสอยู่ กระผมก็พูดในใจกับตัวเองว่านี่คือหมัดเด็ด ก็ขอกล่าวในที่ประชุมนี้ แต่ว่าไม่ได้บอกแก่ใคร นอกจากบอกแก่ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดแถวนี้เท่านั้นเอง เพราะว่าถ้าหากว่าได้มีการบิดเบือนพระธรรมวินัยขึ้นแล้ว องค์กรที่มีหน้าที่ได้พยายามแล้วพยายามอีกที่จะแก้ไข แต่ก็ไม่สำเร็จ จะด้วยความยังไม่มีประสิทธิภาพพอเพียงก็ตาม หรือประสบปัญหาที่ท่านว่าเป็นปัญหาซับซ้อน เกี่ยวกับเส้นสายอิทธิพลอะไรก็ตาม ท่านทำไม่ได้มาปีแล้วปีเล่า กระผมก็คิดว่าตอนนี้ล่ะจะต้องมีผลล่ะ เพราะผมเชื่อว่าความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนั้น คือปัญญานั้นอย่างที่ผมได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ว่าปัญญาเป็นประดุจดังอาวุธ ผมได้ไปจำเอาคำคติอะไรเป็นคำโคลงอะไรบางอย่างแล้วก็จำมาตลอดมาว่า สิ่งซึ่งจะทำให้แก้ปัญหาได้นี้คือปัญญา

ถัดจากนั้นมาจนถึงบัดนี้ เนื่องจากการสืบเนื่องต่อมานั้น ท่านเจ้าคุณได้บอกเรื่องราวกล่าวถึงเรื่องนี้อีกหลายครั้งหลายหนในระหว่างปีที่ผ่านมานี้ เช่นในตอนท้ายของหนังสือเรื่อง “ทางออกของสังคมไทย” และ “แรงจูงใจในการเขียนกรณีสันติอโศก” ซึ่งเป็นคำให้สัมภาษณ์แก่ท่านอาจารย์ผู้หนึ่งในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และในตอนสุดท้ายที่ได้ออกมา เข้าใจว่าในวันที่มีการประชุมสงฆ์ที่พุทธมณฑลเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง กระผมได้ติดตามอ่านและรวมทั้งเอกสารอีกฉบับหนึ่งซึ่งยังไม่ได้ปรากฏในที่ไหน เป็นฉบับที่ได้เรียงพิมพ์แล้ว แต่ว่าพระคุณเจ้าได้เมตตาส่งมาให้กระผมอ่าน “เรื่องแนววิธีของพระโพธิรักษ์ ในการทำพระวินัยให้วิปริต” จากคำบรรยาย กระผมไม่ทราบว่าคำบรรยายที่ไหนแต่อันนี้ยังไม่ได้ตีพิมพ์ นี่ก็มีเอกสาร ๕ ชิ้นด้วยกัน ๕ ชิ้นนี้ถ้าผู้ใดได้อ่านแล้วจะไม่มีปัญหาที่จะมาต้องถามกันอีกว่าท่านทำอะไรอยู่ จะไม่มีปัญหามาถามว่าท่านเป็นพวกใคร ท่านร่วมกระทำการอันชาวบ้านกล่าวกันว่าขาดเมตตากับเขาด้วยหรืออะไรต่ออะไรเหล่านั้น ซึ่งอันนี้เป็นวิสัยคนไทย ถ้าผู้ใดเพลี่ยงพล้ำไปเริ่มแสดงให้เห็นว่าอยู่เป็นเบี้ยล่างแล้วก็มีความเมตตากรุณาเกิดขึ้นมา คล้ายๆ ว่าแหมไม่น่าจะทำอะไรอย่างนั้นเลย

เมื่อได้มีการคุยกันในวันนี้หรือสนทนากันในวันนี้ ท่านทั้งหลายก็ได้ทราบแล้วว่าเรื่องนั้นมีความสำคัญเพียงไร เรื่องนั้นร้ายแรงเพียงใดเป็นภัยแก่พระธรรมวินัยหรือพระพุทธศาสนาเพียงไร เพราะเหตุว่าผู้ใดก็ตามที่ได้วิปริต ผมไปเปิดปทานุกรมราชบัณฑิต แปลว่า ผิดจากทางที่ถูกต้อง เป็นการพยายามจะบอกให้ผู้ที่ได้เดินไปในทางที่ไม่ถูกต้องให้ท่านรู้และกลับมาเดินในทางที่ถูกต้องเสีย ท่านจะฟังหรือไม่อย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วผู้ที่มีส่วนที่จะกระทำในหน้าที่ต่างๆ นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งอย่างที่พระคุณเจ้าได้กล่าวมาแล้ว กระผมเห็นด้วยกับท่านอย่างเต็มที่ แล้วก็ได้ภาวนาว่ากระผมขออยู่เป็นฝ่ายท่าน แม้ท่านอาจไม่ชอบให้ใครมาเป็นฝักเป็นฝ่าย แต่ว่าผมเห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านได้กระทำทุกประการแล้วก็หวังว่าผู้คนในวงการชาวพุทธเราได้เข้าใจด้วย

แต่จะทำอย่างไรครับ เราได้ถูกละเลยในการที่จะมีการให้การศึกษาที่ถูกต้องในทางพระพุทธศาสนาในทุกแง่มุม ไม่ใช่เฉพาะกับคฤหัสถ์ แม้แต่บรรพชิตด้วย ความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องนี่กลายเป็นของหายาก แล้วถ้าหากว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงพระชนม์อยู่ท่านปรินิพพานไม่ลงหรอกครับ สถานการณ์ในบ้านเมืองนี้เป็นอย่างนี้ ท่านคงไม่ปรินิพพานหรอกครับ ผมขอกล่าวความคิดในใจแล้วก็ผสมผเสกับภาษิตหรือคำพังเพยที่ได้ยินได้ฟังมา มันผุดขึ้นมาในใจเองเมื่อสองสามวันนี้ ที่เขาว่า “วานรได้แก้ว” กระผมขอตีความหมายว่า วานรนั้นน่ะคงจะเห็นอะไรมันแวววาวๆ ก็คว้าเอามาว่าเป็นของน่าดูน่าชมก็เอามาเชยชม แล้วก็ไม่ยอมให้ใคร ถือว่าเป็นสมบัติของตน แต่ว่าจะรู้ความมุ่งหมายลึกซึ้งของคำว่าแก้วหรือไม่ คือถ้าหากกล่าวว่าแก้วมีหลายชนิด ชนิดที่มีค่าสูงมีคุณค่ามากมายเช่นเพชรก็มี หรือว่าแก้วสารพัดนึกอย่างที่กล่าวถึงในปรัมปราว่าเป็นสิ่งที่สามารถจะทำให้เกิดความสำเร็จอะไรก็ได้ทั้งนั้น และอันนี้พระพุทธศาสนาก็คือแก้วสารพัดนึกนั่น เราเชื่อว่าเรามีของดีตกทอดมาจากบรรพบุรุษ บรรพบุรุษของเราได้ยึดเอาแก้วนั้นมาไว้ถือว่าเป็นสมบัติของชาติ แล้วก็ถ่ายทอดต่อมาและก็เชิดชูกันต่อมา แต่เราเพียงแต่เชิดชูเท่านั้นกระมัง แล้วไม่ได้ศึกษาให้รู้ให้เข้าใจถึงการที่จะใช้แก้วนั้นให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตแก่สังคมของเรา

ถ้ากระผมจะพูดเลยไปว่า ดูตัวอย่างงบประมาณที่บ้านเมืองนี้ได้ให้แก่การศึกษาพระพุทธศาสนากี่ล้านบาทเป็นเรือนสิบล้านบาทหรืออะไรอย่างนั้น ท่านไปดูเถอะ แต่ว่างบประมาณที่ให้แก่การศึกษาเพื่อหากิน เพื่อสร้างฐานทางเศรษฐกิจหรืออะไรก็ตามเป็นหมื่นล้านใช่ไหม การเปรียบเทียบตัวเลขเพียงเท่านี้จะเห็นว่า เราเป็นอุปถัมภกยอยกพระพุทธศาสนาสืบทอดจากพระประสงค์ของรัชกาลที่หนึ่งท่านหรือเปล่า แล้วเราควรจะทำยังไงในเมื่อมันเกิดเหตุผู้ที่ควรจะตัดสินได้ ผู้ที่จะควรดำเนินการที่ถูกต้องได้ กลับได้ดำเนินการที่พลาดพลั้งซึ่งมีข้อได้ปรากฏ ผู้คนก็ถือเอามติต่างๆ ตามที่ได้ยินได้ฟังพูดสืบเนื่องกันมาบ้างแม้ว่าโดยปาก สมัยนี้นักวิชาการก็อ้างกาลามสูตรว่าอย่าเชื่ออย่างนั้น อย่าเชื่ออย่างนี้ แต่กระผมคิดว่าอันนั้นเป็นแต่เพียงด้วยปากเท่านั้น แต่ด้วยพฤติกรรมแล้วไม่ใช่หรอกครับ ก็ใครโน้มน้าวได้เก่งก็โน้มน้าวกันไป ก็เชื่อตามๆ กันไป แล้วก็เกิดเป็นปัญหา แต่ข้อสำคัญคือผู้ที่มีอำนาจที่จะตัดสินใจต่างๆ นานาตลอดมานั้นไม่กล้าตัดสินใจ จะเป็นเพราะอะไรก็ตาม ในขณะเดียวกันได้มีการไม่ให้รู้เห็นข่าวคราวกันในสังคมนี้ยิ่งขึ้น เมื่อไม่รู้อยู่แล้วยิ่งไม่รู้หนักขึ้นไปอีกๆ แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ปัญหานั้นแก้ไม่ได้ด้วยความไม่รู้ เราต้องแก้ปัญหาด้วยความรู้ แต่น่าเสียดายว่าความรู้ของเรานั้นน้อย กระผมมีความปรารถนาจะได้ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนั้นแผ่กระจายออกไป ในขั้นนี้กระผมจะขอกล่าวเพียงแค่นี้ก่อน เรายังพอมีเวลาที่จะขยายความอีก

ทีนี้ผมอยากจะย้อนกลับมาในเรื่องที่ท่านเจ้าคุณได้กล่าวถึงปัญหา ๒ ระดับกับพระศาสนา ปัญหาระดับหนึ่ง ก็คือที่ได้มีการแก้ไขหรือว่าทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในเนื้อหาของพระธรรมวินัยซึ่งเป็นภัยร้ายแรงต่อพระพุทธศาสนา ปัญหาระดับสอง ก็คือความย่อหย่อนในการประพฤติปฏิบัติของพุทธบริษัท ประกอบกับองค์กรของพุทธบริษัทไม่สามารถจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ สิ่งที่ผมคิดก็คือว่าปัญหาระดับที่หนึ่งนั้นน่ะเกิดขึ้นเพราะปัญหาระดับที่สองหรือเปล่า เพราะเหตุว่าในสังคมใดๆ นั้นน่ะเมื่อเกิดความบกพร่องขึ้นเป็นเวลานาน เกิดความประพฤติแตกต่างไปจากคำสอนก็ดี อันนี้ก็ไม่ใช่แต่สังคมศาสนานะ สังคมที่มีการปกครองต่างๆ ก็ดี ถ้าการปกครองนั้นย่อหย่อนเกิดโจรภัย เกิดทุพภิกขภัยแล้วแก้ไม่ได้ เกิดภัยต่างๆ ของคนเบียดเบียนกันและกันอะไรเหล่านี้แล้วองค์กรที่ปกครองแก้ไม่ได้ มันก็จะต้องเกิดผู้ที่คิดว่าตนเป็นอัศวินม้าขาวเสนอตัวมาแก้ เรื่องแบบนี้ต้องเกิดขึ้นเสมอถ้าหากสังคมมันรู้สึกทุพพลภาพลงไปๆ ในกรณีของพุทธศาสนาอย่างที่ได้มีการย่อหย่อนการปฏิบัติในปัจจุบันนี้ กระผมก็มองเห็นว่าการย่อหย่อนเหล่านี้มันเป็นเหตุให้วิจารณ์ได้ มันเป็นเหตุให้เกิดมีผู้คิดขึ้นมาว่าข้าพเจ้าจะต้องมาปฏิรูปปฏิวัติศาสนาอันนี้ระบบอันนี้ แล้วไม่ต้องกล่าวว่าเฉพาะพระโพธิรักษ์ ไม่มีพระโพธิรักษ์ก็จะมีท่านผู้อื่นอีกนั่นแหละมา ถ้าหากสภาพการณ์ยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง เราไม่ได้แก้ไขที่เหตุสำคัญ คือความย่อหย่อนความบกพร่อง จึงจะต้องรีบแก้ไขและแก้ไขอย่างไร ก็คงจะมีหลายทาง อย่างน้อยทางหนึ่งก็คือการให้การศึกษาที่ถูกต้องและการเข้มงวดในธรรมวินัย การเข้มงวดในวินัยของผู้ที่ควรจะแสดงเป็นผู้ที่มีวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ว่า ต้องเป็นผู้นำของสังคมนี้ ไม่ทราบว่าในเรื่องนี้พระคุณเจ้าจะมีข้อคิดเห็นอย่างไร

(พระเทพเวที) ปัญหาระดับที่สองนั้นเป็นช่องหรือเป็นโอกาสเป็นช่องทางที่ให้เกิดปัญหาระดับที่หนึ่งได้ง่ายๆ เพราะเมื่อความประพฤติของคนในศาสนานี้ผิดพลาดเบี่ยงเบนไปจากหลักการที่แท้จริงแล้ว คนที่จะมาแสดงหลักการอื่นก็ได้ช่องที่จะเข้ามาแสดงหรือประกาศหลักการใหม่นั้นได้ง่าย อันนี้อาตมาถือว่าเป็นช่องทางหรือเป็นโอกาสมากกว่า ทีนี้ในแง่ของการแก้ไข ประการที่หนึ่งก็เป็นเรื่องขององค์กรที่ทำหน้าที่ปกครองที่จะต้องมีความเข้มแข็งในการปรับปรุง เร่งเร้าให้มีการปฏิบัติหน้าที่ ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายปกครองคณะสงฆ์ อาตมภาพก็เป็นผู้หนึ่งที่เห็นว่าควรจะได้มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพราะว่ากฎหมายคณะสงฆ์ฉบับปัจจุบันนี้ในทรรศนะของอาตมานี้ โดยส่วนตัว ถือว่าเป็นตัวการที่ทำให้เกิดความอ่อนแอในการปกครองคณะสงฆ์ กฎหมายฉบับนี้ใช้มาเป็นเวลานานถึงเกือบ ๔๐ ปี เป็นเวลายาวนานมาก กฎหมายฉบับนี้ไม่มีประสิทธิภาพก็หมายความว่ามีเวลามากมายที่จะสร้างความไม่มีประสิทธิภาพหรือทำให้ความไร้ประสิทธิภาพนี้ก่อผลเสียแก่สังคม และเกิดผลเสียกับองค์การพระศาสนา ฉะนั้น อันที่หนึ่งก็คือการปรับปรุงการคณะสงฆ์โดยทั่วไปรวมทั้งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกฎหมายคณะสงฆ์

ประการที่สอง ก็คือสิ่งที่เป็นรากฐานยิ่งกว่านั้นซึ่งโยงไปถึงประการที่หนึ่งด้วย ก็คือการศึกษาปฏิบัติของภิกษุสามเณรเอง ในการศึกษาปฏิบัตินี้เราเริ่มต้นด้วยการศึกษา การเล่าเรียนรู้หลักธรรมวินัยนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก แม้แต่การปกครองคณะสงฆ์ที่เราจะปรับปรุงแก้ไขก็ต้องให้มาเน้นที่ว่า ผู้ปกครองคณะสงฆ์จะต้องให้ความสำคัญแก่การศึกษาด้วย หมายความว่าในขั้นสุดท้ายเราจะต้องลงมาที่รากฐาน คือการศึกษาของพระภิกษุสามเณร ปัจจุบันนี้เรามีปัญหามากว่าพระภิกษุสามเณรนี้บวชเข้ามาแล้วไม่ได้เล่าเรียนธรรมวินัย ไม่มีความรู้ด้านปริยัติก็มี ผู้ที่เข้ามาอาศัยเพศภิกษุเป็นช่องทางทำมาหาเลี้ยงชีพก็มีเป็นจำนวนมาก อาตมาว่าญาติโยมนี่ทราบกันดี มีทั้งเข้ามาโดยการบวชที่ถูกต้องและโดยการปลอมบวช ในกรุงเทพฯ ปัจจุบันนี้คนที่ปลอมบวชไม่ทราบมีเท่าไร คือไม่ได้บวชจริงอย่างถูกต้อง และยังมีคนที่บวชถูกต้องโดยที่ว่าไม่ได้รับการศึกษาเล่าเรียน บวชเข้ามาเป็นเพียงช่องทางแสวงหาการเลี้ยงชีพก็มีอีกมาก สิ่งเหล่านี้จะต้องแก้ไข

ที่ว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญก็หมายความว่า พระเณรเมื่อบวชเข้ามาแล้วจะต้องให้การศึกษาเล่าเรียน โดยเฉพาะในชนบทปัจจุบันนี้เราจะเห็นว่าการศึกษานี้อ่อนแอย่อหย่อนเสื่อมโทรมมาก แม้แต่ผู้ที่บวชเข้ามาตามประเพณีโดยไม่ได้มีเจตนาร้าย บวชเข้ามาแล้วก็ไม่ได้รับการศึกษาเล่าเรียน ไม่มีผู้ดูแลที่จะให้ได้รับการศึกษา ก็อยู่กันไปอย่างนั้นเองพอสักแต่ได้ชื่อว่าบวชแล้ว คำเดิมของเรามีคำว่า บวชเรียน แต่เดี๋ยวนี้คำว่า “เรียน” เหมือนกับหายไปเหลือแต่คำว่า บวช โบราณเขาเรียกว่า บวชเรียน หมายความว่าบวชแล้วก็ต้องเรียน แต่ปัจจุบันเหลือแค่บวช เอาแค่เป็นคนที่ได้บวชเสร็จไป แล้วก็กลับไปสู่ชีวิตในทางโลกต่อไปโดยไม่รับการศึกษาอบรม อันนี้เป็นปัญหาเป็นอย่างมาก เมื่อบวชเข้ามาแล้วไม่ได้รับการศึกษาอบรม ไม่รู้พระธรรมวินัย มันก็เป็นช่องทางของความเสื่อมเสียอเนกประการ ตัวเองก็ไม่สามารถประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องไม่เกิดผลประโยชน์แก่ชีวิตของตนเอง และไม่สามารถทำผลดีให้เกิดขึ้นแก่สังคม การบวชไม่เกิดคุณค่าแก่ชีวิตไม่เกิดคุณค่าแก่สังคมเท่าที่ควร

ประการที่สอง การที่ตนประพฤติเสื่อมเสียไม่ถูกต้อง ก็กลายเป็นเหตุเป็นปัจจัยเป็นส่วนร่วมที่ทำให้พระศาสนาและสังคมเสื่อมโทรมลงไป หรือซ้ำเติมให้เสื่อมโทรมหนักลงไปอีก

ต่อไปประการที่สาม เมื่อตัวเองประพฤติไม่ถูกต้องมีความย่อหย่อนประพฤติผิดพลาดจากพระธรรมวินัยอย่างที่ใช้คำว่า ประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย ก็กลายเป็นช่องทางเป็นโอกาสเป็นเหยื่อให้คนที่ไม่ประสงค์ดีหยิบยกเอาไปเป็นข้อโจมตีพระศาสนาได้ อันนี้ก็เป็นข้อเสียประการที่สองที่เกิดขึ้น ขณะนี้ในเมื่อการพระศาสนาเสื่อมโทรม มีพระประพฤติไม่ดีไม่มีการศึกษาเล่าเรียนมาก พระเหล่านี้ก็ตกเป็นเหยื่อคือว่าเพราะตัวเองประพฤติไม่ดี ก็ตกเป็นเหยื่อเขาก็เอาไปโจมตีพูดว่าพระพุทธศาสนาต่างๆ นานา ทำให้เห็นว่าพระศาสนานี้เสื่อมโทรมอย่างไร ซึ่งอาจจะทำการโจมตีโดยไม่มีความปรารถนาดีก็ได้ อย่างไรก็ตามถ้าโจมตีโดยปรารถนาดีต้องการให้มีการปรับปรุง อันนี้ก็ควรจะรับฟังเป็นอย่างมาก ในเวลาเดียวกันมีผู้ที่ยกขึ้นมาติเตียนด่าว่าโจมตีทั้งด้วยความปรารถนาดีและไม่ปรารถนาดี แต่รวมแล้วก็คือเป็นเหยื่อของการที่จะยกขึ้นมาติเตียน

ต่อไปประการที่สี่ ในเมื่อตนเองไม่มีความรู้ เมื่อเขาเอาตัวเป็นเหยื่อไปติเตียนพระศาสนา แล้วแสดงหลักคำสอนอื่นที่มิใช่พุทธศาสนา ตัวเองก็ไม่มีความรู้ไม่มีความสามารถที่จะไปกล่าวแก้ชี้แจงได้เป็นประการที่สี่

นี่โทษเกิดพอกพูนขึ้นมาถึงสี่ชั้น ตัวเองก็ไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้ประโยชน์แก่สังคม ทำให้พระศาสนาและสังคมเสื่อมลงไป และตัวเองกลายเป็นเหยื่อในการที่คนภายนอกจะมากล่าวร้าย และประการที่สี่ตัวเองก็ไม่มีแรงไม่มีสติปัญญาที่จะไปกล่าวแก้ชี้แจงได้ มีแต่ความเสียหาย เพราะฉะนั้น อาตมภาพจึงว่าจุดสำคัญมากก็คือการที่จะต้องให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร ผู้ที่เข้ามาบวชแล้วจะต้องเป็นการบวชเรียนที่แท้จริง ในหมู่ชาวพุทธปัจจุบันนี้ เป็นที่น่าเสียดายแม้แต่ญาติโยมทั้งหลายให้ลูกของตนบวชก็สักแต่ว่าบวชตามประเพณี ไม่ได้คำนึงว่าบวชเข้าไปแล้วจะได้ร่ำเรียนพระธรรมวินัยหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วสำหรับพระศาสนาก็เท่ากับว่าเราช่วยกันสร้างความเสื่อมหรือเรานั่นเอง ช่วยกันทำให้เสื่อม ทุกคนจะต้องรับผิดชอบต่อพระศาสนาร่วมกัน ถ้าลูกของฉันจะบวชฉันต้องหาทางให้เขาได้รับการศึกษาอบรมด้วย อันนี้จะต้องเป็นข้อที่กำหนดไว้ในใจประการแรก ในการที่จะให้ลูกบวชไม่ใช่สักแต่ว่าบวชเสร็จก็ได้บุญได้เข้าไปสู่ผ้าเหลือง บางทีดีไม่ดีก็ไปประพฤติเสียหายกลับเป็นบาปเสียด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้น เราอย่านึกว่าบวชลูกแล้วจะได้บุญเสมอไป เดี๋ยวนี้จะต้องบอกว่าเราบวชลูกอาจจะได้บาปมากก็ได้ เพราะฉะนั้น ทำไงจะให้บวชลูกแล้วได้บุญมาก ก็ต้องให้ลูกของเรานี้บวชเรียน ไม่ใช่บวชเฉยๆ ให้มีการศึกษาอบรมให้มีการฝึกฝนปฏิบัติ อันนี้ก็เป็นข้อที่ฝากไว้ ตกลงว่าในขั้นพื้นฐานแล้วจะต้องลงไปสู่การให้การศึกษาที่แท้จริง

อันนี้อาตมาอยากจะขอย้อนกลับไปถึงเรื่องที่ท่านอาจารย์พูดเมื่อกี้นี้หน่อยเกี่ยวกับความเมตตากรุณา ตามที่มีคำกล่าวคล้ายๆ ว่ามีการลงโทษท่านโพธิรักษ์โดยที่ว่าไม่มีความประนีประนอมไม่เมตตากรุณา อันนี้ก็เป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกชนควรจะทำความเข้าใจ ถ้าเรารู้เข้าใจเกี่ยวกับพระศาสนาแล้ว เรื่องเหล่านี้ก็ไม่ค่อยมีปัญหา เรื่องมีเมตตากรุณาหรือไม่บางทีก็เป็นปัญหาในจิตใจของคน แต่มีหลักอันหนึ่งที่เราจะวัดได้ก็คือว่า มหาเถรสมาคมหรือคณะสงฆ์นั้นไม่ได้เป็นเจ้าของพระศาสนา ไม่ได้เป็นเจ้าของพระธรรมวินัย พุทธบัญญัตินั้นเป็นของพระพุทธเจ้า พุทธบัญญัติว่ายังไงเมื่อทรงบัญญัติไว้อย่างไรอันนั้นก็เป็นหลักเป็นมาตรฐาน คณะสงฆ์หรือมหาเถรสมาคมมีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามพุทธบัญญัติ ถ้าหากว่าตัวมหาเถรสมาคมจะประนีประนอมโดยจะแสดงความเมตตากรุณา ไม่ปฏิบัติตามพุทธบัญญัติ ก็กลายเป็นว่า มหาเถรสมาคมนั้นก็เป็นผู้คัดค้านพุทธบัญญัตินั่นเอง ทำตัวเป็นเจ้าของศาสนา หรือเจ้าของธรรมวินัย เพราะฉะนั้นต้องดูขอบเขตของการปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง ขอบเขตของความเมตตากรุณาก็คือว่าปฏิบัติไปให้ถูกต้องตามหลักธรรมวินัยตามพุทธบัญญัตินั้น แต่ว่าปฏิบัติโดยที่มีความโอนอ่อน มีวิธีการที่ว่าไม่ได้ทำรุนแรง

ถ้าพิจารณาตามดูเรื่องให้ชัดเจนจะเห็นว่า การปฏิบัติต่อท่านโพธิรักษ์ในเรื่องนี้ แยกได้เป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องของการทำความผิดละเมิดวินัยและกฎหมาย ซึ่งมหาเถรสมาคมและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่เกี่ยวข้องจะพึงปฏิบัติไปตามพุทธบัญญัติในพระวินัย และพระราชบัญญัติของบ้านเมือง ความเมตตากรุณามีขอบเขตตามพระพุทธบัญญัติเป็นต้นดังได้กล่าวแล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการขอร้อง คือ ขอร้องว่าในเมื่อท่านไม่ยอมรับหลักการที่พระพุทธเจ้าวางไว้ และท่านจะวางหลักการของท่านเองใหม่ที่ต่างออกไปจากของพระพุทธเจ้า ท่านก็ควรจะแสดงความซื่อตรง ด้วยการสละรูปแบบที่เป็นของพระพุทธเจ้าเสีย แล้วออกไปใช้รูปแบบอย่างอื่นของท่านเอง ซึ่งการปฏิบัติอย่างนี้เป็นเรื่องของการให้ความเป็นธรรมแก่พระพุทธศาสนา และเป็นเรื่องของความเป็นธรรมตามที่ควรจะเป็นโดยทั่วไป ไม่ใช่เป็นการขาดความเมตตากรุณาแต่ประการใด อีกทั้งจะเป็นการใช้เสรีภาพกันอย่างถูกต้องและซื่อตรงโดยไม่มีเงื่อนงำแอบแฝง และไม่รุกรานตัดรอนผู้อื่น การที่ท่านโพธิรักษ์ยังปฏิบัติต่อพระพุทธศาสนาในลักษณะนี้เสียอีก คือ การอยู่ในรูปแบบของพระพุทธศาสนา แล้วใช้โอกาสนี้ดัดแปลงแก้ไขหลักการของพระพุทธศาสนา บัญญัติหลักการอะไรขึ้นใหม่แทนพุทธบัญญัติ อันนี้จะเป็นการเบียดเบียนต่อพระพุทธศาสนา เป็นการไม่ให้ความเป็นธรรมแก่พระพุทธศาสนาและคนที่นับถือพระพุทธศาสนา กลายเป็นเรื่องที่ท่านโพธิรักษ์นั่นแหละจะเป็นผู้ขาดเมตตากรุณา

ต้องขอโอกาสที่จะพูดถึงอาตมภาพเองด้วย เท่าที่อาตมภาพได้พูดเรื่องนี้มา เข้าใจว่าตัวเองนี่ไม่เคยได้กล่าวร้ายไม่ได้ใช้คำรุนแรง และก็ยอมรับความดี และพยายามพูดถึงความดีของสันติอโศกตามที่เขามี อาตมภาพนี้ในแง่หนึ่งนั้นก็พอใจในวัตรปฏิบัติบางประการของสันติอโศกมาหลายปีแล้ว แต่บางอย่างที่ว่าพอใจนั้นก็มีความห่วงกังวลไปด้วยในตัวเอง เป็นการกระทำที่จะมีปัญหาว่าตรงกับหลักการของพระพุทธศาสนาหรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องยืดยาวที่ต้องพูดอีกประเด็นหนึ่ง แต่สิ่งที่ต้องการขออย่างเดียวก็คือ ขอให้ซื่อตรงจริงใจ อย่ามาทำลายหลักการของพระพุทธศาสนา อย่างที่ว่าทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ขออย่างเดียวเท่านั้น

พอเราพูดถึงแต่ความดียอมรับความดีก็กลายเป็นว่าท่านโพธิรักษ์เอาไปอ้างอีก โอ้ฉันทำดีแล้วทำไมต้องมาลงโทษด้วย อันนี้ก็เป็นข้อน่าสังเกต ท้ายสุดถึงกับพูดว่าเมื่อฉันทำดีฉันก็ต้องถูกต้อง ถ้าธรรมวินัยใดไม่สอนให้คนทำดีธรรมวินัยนั้นก็ต้องผิด เพราะฉะนั้นธรรมวินัยนั้นก็ต้องแก้ไขอะไรทำนองนี้ อาตมภาพว่าเป็นวิธีการพูดโดยใช้ตรรกวิทยาซึ่งน่าเป็นห่วง บางทีพูดไปนี่ทำให้ประชาชนนึกไปว่าแม้แต่ธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าท่าจะไม่ได้เรื่องเสียแล้ว จะต้องแก้ไขเพราะว่าไม่สามารถทำให้คนทำดีได้

อันที่จริงเราต้องแยกประเด็นให้ถูก เกี่ยวกับการทำดีกับการทำชั่ว บางคนทำความดีอย่างหนึ่งแต่ทำความชั่วอีกอย่างหนึ่ง จะอ้างความดีอันนั้นมาลบล้างความชั่วอีกอันหนึ่งไม่ได้ อันนี้เป็นหลักการทั่วไปอยู่แล้ว บางคนทำความดีอย่างธรรมดาสามัญแต่เอามายกขึ้นเน้นย้ำปูให้เห็นให้เด่น พร้อมกันนั้นก็ทำความชั่วที่ร้ายแรงกว่าอย่างชนิดแฝงเร้น หรือบางทีก็อ้างว่าคนโน้นคนนี้เขาประพฤติผิดอย่างนั้นทำไมไม่จัดการ มาจัดการกับฉัน หลักการทั่วไปก็มีอยู่ว่า บุคคลจะอ้างความดีบางอย่างของตนหรืออ้างความผิดของคนอื่นมาเป็นเหตุสำหรับให้ตนพ้นจากความผิดที่ตนกระทำมิได้ อันนี้เป็นหลักอันหนึ่ง ข้อสำคัญก็คือตนได้กระทำความผิดหรือไม่ อันนี้เป็นปัญหา ถ้าพิจารณากันไปแล้วแม้แต่ความดีที่อ้างว่าทำนั้นเองก็เป็นเรื่องที่เป็นปัญหา เมื่อท่านโพธิรักษ์ท่านพูดถึงเรื่องว่า ท่านทำความดีแล้ว ทำไมต้องผิดด้วย ทำความดีผิดด้วยหรือ มันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน อาตมาก็เลยต้องเขียนเพิ่มเติมแทรกเข้าไปในหนังสือเล่มสุดท้าย “เพื่อความเข้าใจปัญหาพระโพธิรักษ์” ด้วย

ในเรื่องการทำความดี อาตมภาพก็อยากจะพูดกับพุทธศาสนิกชนด้วย ว่าเราทั้งหลายได้ใช้ โยนิโสมนสิการ กันเพียงพอไหม เราได้ใช้ความรู้ความเข้าใจพินิจพิจารณาใช้วิจารณญาณกับสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏไหม เมื่อเราเห็นสิ่งต่างๆ เกิดปรากฏขึ้นในสังคมนี้ จะเป็นการทำดีทำชั่วก็ตาม เราได้ใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองหรือเปล่าว่าการทำความดีนั้นเป็นความดีที่แท้จริงไหม มีคุณค่าต่อชีวิตและสังคมอย่างแท้จริงไหม ถ้าเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นความดีที่ตรงตามหลักการของพระพุทธศาสนาหรือเปล่าอย่างนี้เป็นต้น เป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณาไม่ใช่ว่าตื่นไปตามรูปแบบผิวเผินที่ปรากฏออกมาแล้วก็ว่ากันไป

อันนี้อาตมภาพมองว่าปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันนี้ เกิดจากเหตุปัจจัยนี้มากคือขาดโยนิโสมนสิการ ไม่ใช้วิจารณญาณในสิ่งที่ตนประสบพบเห็น ไม่ใช้ปัญญาพิจารณา ไม่สืบสวนค้นคว้า แต่พูดตามๆ กันไปหรือพูดหลงไปตามถ้อยคำที่เอาเขามาอ้างนิดๆ หน่อยๆ ก็ว่าไปอะไรทำนองนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นปัญหา ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้นั้น ต้องพูดว่ามันเป็นเครื่องฟ้องหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือฟ้องสภาพสังคมของเรา ซึ่งขณะนี้เราก้าวเข้าสู่สังคมในยุคสมัยแห่งข่าวสารข้อมูล แต่มนุษย์ในยุคนี้มีสติปัญญาที่จะดำรงชีวิตอยู่ด้วยดีในยุคแห่งข่าวสารข้อมูลหรือไม่ สามารถปฏิบัติตนอย่างถูกต้องต่อข่าวสารข้อมูลหรือเปล่า การปฏิบัติต่อปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นตัวพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า เราพร้อมที่จะพัฒนาสังคมของเราไปด้วยดีในยุคของข่าวสารข้อมูลนี้หรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและถ้าเห็นว่าเป็นปัญหาก็จะต้องช่วยกันแก้ไขปรับปรุงด้วย ขอเจริญพร

(อาจารย์ระวี) มีเรื่องที่กระผมอยากจะขอแสดงความเห็นบ้างเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน หลักการที่กระผมอยากจะกล่าวถึงก็คือว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ตราขึ้นแทนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เดิมซึ่งเข้าใจว่าเป็นฉบับ พ.ศ. ๒๔๘๔ การตราพระราชบัญญัติ ๒๕๐๕ นั้น เป็นการกำหนดระบอบการปกครองคณะสงฆ์ว่าจะปกครองกันแบบไหน และแบบที่เลือกนั้นก็สอดคล้องกับแนวทางของการปกครองในระยะนั้น ถ้าเราได้ทบทวนกันสักหน่อยก็จะรู้ว่า เป็นยุคที่เรียกว่าเผด็จการเฟื่องฟู มีการดำเนินการหลายประการซึ่งรวบอำนาจการปกครองไปไว้ที่องค์กรหรือแม้กระทั่งบุคคลคนเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์นี้ที่ออกมาก็เพื่อให้สอดคล้องกับการปกครองในสมัยนั้น แต่บ้านเมืองนี้ก็ได้พัฒนามาแก้ไขตัวเองมาเรื่อยๆ โดยคนในบ้านในเมืองรู้ว่าอะไรดีอะไรเหมาะสม แล้วในบัดนี้ เราเชื่อว่าเราต้องมาสู่ยุคของประชาธิปไตย จะมากหรือน้อยกี่ส่วนของใบก็ตามทีเถอะ เรายืนยันว่าเราเป็นประชาธิปไตย แต่ว่าพระราชบัญญัติของคณะสงฆ์เราก็ยังใช้รูปแบบเดิม คือรวบอำนาจการปกครองไว้กับองค์กรที่เรียกว่า มหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นรัฐบาลของคณะสงฆ์คือของพระนั่นเอง เพราะฉะนั้นโดยหลักการอันนี้ก็แน่นอนผู้ที่อยู่ในวงการคือฝ่ายสงฆ์เองทั้งหลายที่ได้ศึกษาและได้ถูกปกครองอยู่นั้นจะมีความกระวนกระวายว่า มันไม่เหมาะสมแก่ยุคแก่สมัย มันควรจะเปลี่ยนแปลง อันนี้กระผมขอนำเอาหลักการมาว่า

บ้านเมืองใดก็ตามถ้าหากว่าปรารถนาจะนำเอาพระศาสนาเข้ามาใช้ ก็ควรจะทำให้เหมาะสมกับยุคสมัยนั่นข้อหนึ่ง และอีกประการหนึ่งแนวทางการปกครองในสมัยพุทธกาลนั้น ก็เป็นแนวทางที่อยู่ในรูปแบบของประชาธิปไตยมากกว่าที่จะเป็นการรวบอำนาจอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องรีบพิจารณา เพราะว่าปรากฏการณ์โพธิรักษ์นี้หรือปรากฏการณ์สันติอโศกนี้ เป็นการท้าทายอย่างหนึ่ง ในบ้านเมืองใดถ้ารัฐมีปัญหามีประชากรไม่พอใจในระบอบการปกครอง ก็จะต้องมีผู้ตั้งตัวอย่างที่กระผมว่าไว้นี่มาเป็นผู้ท้าทาย ผู้ใดท้าทายอำนาจปกครองก็จะต้องถูกรัฐใช้อำนาจปราบปราม หากว่าฝ่ายปกครองเข้มแข็งก็ทำได้โดยเร็ว ถ้าไม่เข้มแข็งก็เป็นเรื่องยืดเยื้อ แม้ว่าผู้ที่กระทำวิปริตจากพระธรรมวินัยรายอื่นอาจมีอยู่อีก แต่ตราบใดยังไม่ท้าทายอำนาจที่ปกครองอยู่ก็ยังพอจะเอาตัวรอดไปได้นานพอใช้ และก็อาจอยู่ต่อไปอีกแม้ว่าผู้ที่ทั้งผิดทั้งท้าทายได้ถูกอำนาจปราบปรามไปแล้ว เพราะอีกไม่นานก็คงจะลืมกัน เพราะว่าเมื่อไม่มีใครมาท้าทายแล้วก็คงจะไม่ต้องมีการดำเนินการอะไร ทั้งๆ ที่ในแง่ของพระธรรมวินัยแท้ๆ นั้นกระผมก็ยังเห็นว่า มีความวิปริตอันเป็นภัยอันตรายอีกมากมายที่จะต้องแก้ไข

ในเรื่องนี้ก็มีท่านผู้ที่มาร่วมประชุมด้วยได้ส่งความคิดเห็นขึ้นมา กระผมก็ขอถ่ายทอดความคิดเห็นอันนั้น (แต่ด้วยเหตุที่กระผมไม่อยากจะให้เกิดความกระทบกระเทือนโดยไม่จำเป็น ในขั้นนี้กระผมก็จะขอละเว้นบางประโยคเสีย) คำถามก็คือ ในปัจจุบันนี้มีสถานที่ที่ได้มีการปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นมาอีกมากมายหลายสิบแห่ง อาจจะว่าหลายร้อยก็ได้ เป็นสถานที่เล็กๆ ก็เกิดมีมากมายแต่ไม่ค่อยดัง ที่มีความดังมากๆ ก็มีอยู่สองแห่ง (ผมว่าอาจจะมากกว่าสองก็ได้) ท่านยกตัวอย่างมาผมจะไม่กล่าวชื่อล่ะ กรุณากราบเรียนท่านเจ้าคุณขอการเปรียบเทียบว่า ก. ได้มีการศึกษาเล่าเรียนการปฏิบัติผิดแผกออกไปจากพระธรรมวินัยแตกต่างกันเพียงใด ข. ควรจะมีฝ่ายของศาสนา (อันนี้ก็คงจะหมายความถึงฝ่ายที่ปกครองคณะสงฆ์) เข้าไปชี้แจงแนะนำก่อนที่จะปล่อยปละละเลยตลอดมาเป็นเวลานาน ค. จนทำให้แต่ละคณะนึกคิดไปเองว่า ตนเองได้กระทำไปอย่างถูกต้องแล้ว และดำเนินต่อไปอีกจนมีผู้คนเข้าไปเลื่อมใสนับถือเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก ง. หรือจะปล่อยไว้ให้โตขึ้นใหญ่ขึ้นก่อนแล้วจึงมาแจ้งว่าคณะนั้นๆ ได้กระทำผิดธรรมวินัย ถ้าปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้จะกระทำให้เกิดการขัดแย้งโต้เถียงกันเองมากขึ้น ท่านผู้เสนอความคิดเห็นบอกว่าเป็นการสร้างศัตรูในด้านจิตใจของชาวพุทธ คำถามก็คือว่าแก้เสียแต่ต้นมือได้หรือไม่เพียงใด ถ้าท่านเจ้าคุณเห็นว่าสมควรจะตอบแค่ไหนเพียงใดก็สุดแต่พระคุณเจ้า

(พระเทพเวที) เจริญพร ก็เข้ากับเหตุผลที่อาตมภาพได้พูดเมื่อกี้นี้ คือว่าในที่สุดแล้วปัญหาอยู่ที่การศึกษา ขณะนี้ก็คือ การศึกษาพระธรรมวินัยนี้ย่อหย่อนมาก จึงเป็นทางให้เกิดความวิปริตผิดเพี้ยนต่างๆ อันนี้เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ มันเป็นเรื่องของสังคมวงกว้าง เป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เราควรจะวิเคราะห์ในวงกว้าง มันไม่ใช่เรื่องปัญหาของคณะสงฆ์อย่างเดียว อาตมาขออธิบายความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและปรากฏการณ์ทางสังคมนี้เล็กน้อย คือว่าสังคมของเรานี้ได้เปลี่ยนแปลงมาสู่การรับอารยธรรมตะวันตกประมาณหนึ่งศตวรรษมาแล้ว พอเรารับระบบของตะวันตกเข้ามา รับระบบการศึกษา ระบบการปกครอง ระบบการจัดการสังคม อะไรต่างๆ เข้ามาจากตะวันตก พร้อมกับการหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกด้วย ตอนนั้นประชาชนมีความตื่นเต้นชื่นชมต่ออารยธรรมตะวันตกมาก แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอันหนึ่งซึ่งเป็นที่น่าสังเกตก็คือว่า การแยกกันระหว่างสถาบันพระศาสนากับสังคมทั่วไป คือประชาชนทั่วไปหันความสนใจไปยังภายนอก หันความสนใจไปสู่สิ่งที่มาจากภายนอกสังคมของตน คือสังคมตะวันตก และก็ตื่นเต้นสนใจพยายามที่จะเข้าถึงความเจริญแบบนั้น ในเวลาเดียวกันเขาก็หันหลังให้กับวัฒนธรรมประเพณีและสถาบันเดิมที่มากับสังคมของตนเอง ส่วนในฝ่ายสถาบันศาสนาที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมประเพณีก็ไม่ได้ปรับปรุงตัวให้รับมือกับความเจริญสมัยใหม่ ไม่เป็นผู้นำประชาชนในการที่ว่าจะปฏิบัติต่อวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามาอย่างไร ก็หันมาพยายามที่จะรักษาตัวให้รอด พยายามที่จะยึดวิธีแนวปฏิบัติเดิมวัฒนธรรมประเพณีของตนเองให้เหนียวแน่นที่สุด พยายามรักษาไว้ก็เกิดความแข็งทื่อขึ้นมา

ต่อมาก็ปรากฏว่าสถาบันศาสนานี้ห่างไกลจากสังคมวงนอกจนกระทั่งถึงระยะหนึ่งแล้วพูดกันไม่รู้เรื่อง ภาษาที่พูดกัน พระหรือสถาบันวัดสถาบันศาสนาพูดอย่างหนึ่งชาวบ้านไม่เข้าใจ ชาวบ้านพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ความเปลี่ยนแปลงแม้แต่ทางจริยธรรมที่เกิดขึ้น พระไม่รู้สึกว่ามีความเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมรับผิดชอบ เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นมานาน จนกระทั่งเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดในปัจจุบัน กลายเป็นความเหินห่างแปลกแยกกันระหว่างสถาบันวัฒนธรรมประเพณี รวมทั้งสถาบันศาสนากับสังคมวงกว้างที่หันไปทางอารยธรรมตะวันตก อันนี้มันก็มาถึงจุดอย่างที่บอกเมื่อกี้คือว่า ชักพูดกันไม่รู้เรื่อง

ต่อมาก็มีปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมใหม่เกิดขึ้นคือว่า สังคมที่วิ่งตามความเจริญแบบตะวันตกนี้ได้เริ่มมีความผิดหวังเกิดขึ้นอย่างน้อยในบางส่วน คนจำนวนหนึ่งเริ่มเบื่อหน่าย ไม่รู้สึกว่าความเจริญสมัยใหม่นี้จะนำไปสู่ความสุขและความหมายที่แท้จริงของชีวิตได้ ที่จริงปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในสังคมตะวันตกเองด้วยและเริ่มขึ้นก่อนด้วยซ้ำ สังคมตะวันตกก็มีความผิดหวังในความเจริญทางวัตถุของตนเองและก็มีขบวนการต่างๆ เกิดขึ้น อย่างที่เราได้ยินแม้แต่ขบวนการฮิปปี้ แล้วก็ต่อด้วยขบวนการศาสนาตะวันออกมีเซน โยคะ วัชรญาณเข้าไป อย่างปัจจุบันนี้ตะวันตกก็สนใจศาสนาตะวันออก สนใจสมาธิอะไรต่ออะไรมาก สำหรับในสังคมไทยของเรานี้ ทั้งสภาพสังคมภายในที่มีความเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมโทรม คนไม่สมหวังต่อความเจริญนั้น แล้วก็อิทธิพลจากตะวันตกที่เข้ามาที่มีคนหันกลับมาสนใจคุณค่าทางศาสนาและจิตใจอีก ก็ทำให้คนในสังคมไทยจำนวนหนึ่งหวนกลับมาสนใจเรื่องคุณค่าทางจิตใจ หันมาสนใจข้อปฏิบัติทางศาสนา เช่น สนใจสมาธิ

ถ้าท่านหันหลังกลับไปเมื่อสามสิบปีที่แล้วมา คำว่า “สมาธิ” เป็นคำที่คร่ำครึมาก คำว่า “สมถะ” เป็นคำสำหรับล้อกัน คำว่า “วิปัสสนา” หมายถึงการนั่งทางในเห็นโน่นเห็นนี่ เป็นที่ดูถูกของประชาชน คนสมัยใหม่ไม่ยอมรับ มองสิ่งเหล่านี้ด้วยความรู้สึกที่เหยียดหยาม อันนั้นเป็นสภาพที่เป็นมาประมาณสามสิบสี่สิบปี แต่ปัจจุบันนี้มันกลับตรงกันข้าม คำว่าสมาธินี้กลับเฟื่องฟูขึ้นมามีความหมายที่ดีมีความรู้สึกได้รับความนิยม คนสามารถพูดถึงด้วยความภูมิใจว่าฉันนี่ไปนั่งสมาธิปฏิบัติสมาธิ อันนี้เป็นการหมุนกลับของสังคม พอสังคมชาวบ้านเริ่มมีการหมุนกลับหันมาสนใจทางศาสนา เขาก็หาแหล่งสถาบันที่จะสนองความต้องการ แต่มาถึงจุดนี้สถาบันศาสนาพูดกันไม่รู้เรื่องแล้ว ไม่สามารถจะสนองความต้องการของเขาได้ ก็ทำให้ประชาชนเกิดความเคว้งคว้าง ยิ่งกว่านั้น คนในสถาบันศาสนาเองจำนวนไม่น้อยซึ่งถูกมองว่าล้าหลังกลับไปชื่นชมใฝ่นิยมความเจริญแบบสมัยใหม่ ในขณะที่คนในสังคมภายนอกเขาเริ่มเบื่อหน่ายหรือหันกลับแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ ประชาชนจำนวนมากจึงต้องแสวงหาด้วยตนเอง แสวงหาค้นคว้าด้วยตนเอง มีคนหนึ่งกลุ่มหนึ่งพูดจาแสดงคำสอนที่น่าเชื่อถือมีอะไรแปลกๆ คนก็ไปฟังกัน จนกระทั่งเกิดเป็นกลุ่มเป็นก้อนกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ขึ้นมาซึ่งไม่ขึ้นไม่ฟังต่อองค์การคณะสงฆ์ จะเห็นว่ามีความแปลกแยกเกิดขึ้นในวงการพระศาสนาในเมืองไทย คนเหล่านี้ไม่มองที่สถาบันพระศาสนาเพื่อการแสวงหาสิ่งที่เป็นคุณค่าทางจิตใจหรือการปฏิบัติทางศาสนา เขาไม่ได้มองมาทางมหาเถรสมาคมว่าจะเอื้ออำนวยหลักการปฏิบัติเรื่องสมาธิหรืออะไรทำนองนี้ อันนี้เป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น ทำให้มีกลุ่มมีสำนักอะไรต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นแล้วขยายตัวขึ้นมา ในระยะยาวก็เกิดความขัดแย้งกันเองเพราะต่างคนต่างแสวงหาและในที่สุดก็กลับมาขัดแย้งกับสถาบันใหญ่เอง สถาบันใหญ่กลับตัวมาพูดจากับสังคมปัจจุบันนี้แทบไม่ทัน ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ นี่เป็นคำอธิบายเรื่องความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างหนึ่ง

เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้สถาบันพระศาสนานี้กลับมามีความหมายต่อสังคมได้ กลับมาทำหน้าที่ต่อสังคมได้ ขณะนี้เราพูดได้ว่าสถาบันพระศาสนาไม่มีบทบาทในการเป็นผู้ชี้นำทางแก่ชาวพุทธในการให้คุณค่าทางจิตใจหรือการปฏิบัติทางพระศาสนาใช่หรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องของความอ้างว้างของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง และเป็นความแปลกแยกในสังคมที่เราจะต้องแก้ไข เราต้องตระหนักในปัญหาให้ดี ถ้าเรายอมรับว่าในระยะยาวสงฆ์หรือพระภิกษุทั้งหลายนี้จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นผู้ชี้นำแสงสว่างทางปัญญา เป็นผู้นำทางจิตใจแล้ว เราจะต้องช่วยกันปรับปรุงหรือเร่งเร้าให้มีการปรับปรุงกิจการพระศาสนา โดยเฉพาะการศึกษานี้ ให้พระสงฆ์ทั้งหลายมีคุณภาพมีความสามารถที่จะกลับมาทำหน้าที่ต่อสังคมได้อีก เป็นหลักใจของประชาชน ถ้าหากว่าเราเดินกันในทิศทางนี้ อาตมภาพว่าจะเป็นการเดินในทิศทางที่ถูกต้อง แล้วมันอาจจะเป็นทางแก้ปัญหา

แต่จุดเริ่มอยู่ที่ไหน จุดเริ่มอยู่ที่ชาวพุทธทุกคน การที่อาตมภาพได้เขียนได้พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น ความประสงค์สำคัญก็อยู่ที่ต้องการทำความเข้าใจ ต้องการชี้แจงให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ปัญหาคืออะไร ประเด็นของเรื่องอยู่ที่ไหน ที่อาตมภาพเข้ามาเขียนเรื่องกรณีสันติอโศกนั้น ไม่ใช่เป็นการเริ่มต้นเรื่องนี้เลย หนังสือพิมพ์บางฉบับไปลงทำนองว่า หนังสือกรณีสันติอโศก เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ซึ่งผิดความจริงอย่างไกลลิบลับ เพราะเราเห็นกันอยู่แล้วว่า ก่อนการเลือกตั้งคราวที่แล้วนั้นมีหนังสือพิมพ์ลงเรื่องปัญหากรณีสันติอโศกที่ว่ากันไปว่ากันมาโจมตีกันไปโจมตีกันมา พูดได้ว่าด่ากันไปด่ากันมารุนแรงมาก อาตมามีความรู้สึกเมื่อได้อ่านสิ่งเหล่านั้นว่า นี่ทำไมเขาพูดกันไม่เป็นเหตุเป็นผล ทำไมต้องใช้คำรุนแรงแล้วก็ไม่เข้าประเด็น ก็มีความรู้สึกอยู่ว่าน่าจะต้องเขียนชี้แจงทำความเข้าใจ เรื่องการทำความเข้าใจนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ขณะนี้ประชาชนและสังคมของเรากำลังขาดสิ่งนี้ แต่ตัวอาตมภาพเองก็มีงานมากเหลือเกินไม่สามารถจะปลีกเวลามาได้ จนกระทั่งเห็นว่ามันมีปัญหาเกี่ยวกับความจริงเช่นความไม่ซื่อตรงต่อความจริงอะไรต่างๆ เข้ามาด้วย รวมทั้งการพูดไม่เป็นเหตุเป็นผล ในที่สุดก็จึงตัดสินใจเขียนกรณีสันติอโศกขึ้นมา

ในเมื่อเขาว่ากันไปนัวเนียตั้งยาวนานแล้ว ทำให้คนสับสนมาก อาตมาจึงเห็นว่าควรสร้างความเข้าใจให้ชัดเจน โดยเขียนหนังสือกรณีสันติอโศกนั้นซึ่งออกมาในเวลาสี่โมงเย็นวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันที่เสร็จสิ้นการเลือกตั้งไปแล้ว ถือว่าเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจโดยพยายามที่จะปลีกตัวจากเรื่องการเมือง เพราะปัญหาเรื่องนี้มันไปโยงใยกับเรื่องการเมืองเข้าด้วย เราพูดให้เขารู้สึกว่าเราไม่เกี่ยวข้องการเมืองนี้ยาก พอใครพูดเรื่องสันติอโศกขึ้นมาหลายคนจะระแวงว่ามีปัญหาการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่ และเพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องนี้จึงมีความซับซ้อนและยากที่จะพูด แต่อาตมภาพรู้สึกว่าเลี่ยงไม่ได้ถ้าเราจะรักษาพระธรรมวินัย และก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่เฉพาะตัวเองเท่านั้น แต่จะต้องเตือนต้องกระตุ้นเร่งเร้าพุทธศาสนิกชนให้มีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อพระศาสนา และก็เป็นการชี้แจงสร้างความเข้าใจแก่นักการเมืองที่อาจจะขึ้นมาครองอำนาจโดยมีเป้าหมายทางศาสนา อันนี้ก็เป็นโอกาสหนึ่งที่เราควรจะมากระตุ้นเตือนกันให้หันคืนต่อความมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อพระศาสนา อย่างที่พระพุทธเจ้าฝากพระศาสนาไว้ว่า พระองค์ต้องการให้ชาวพุทธทุกคนทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในพระศาสนาสามารถที่จะชี้แจงแก้ไขสิ่งที่เรียกว่า ปรัปวาท หรือคำสอนที่เป็นสิ่งนอกพระศาสนานี้ให้เข้าใจกันให้ถูกต้องได้ อันนี้ก็เป็นวัตถุประสงค์อย่างหนึ่ง ถือว่าเป็นการมากระตุ้นกันให้มีจิตสำนึกอันนี้ขึ้น ปลุกเร้าจิตสำนึกอันนี้ขึ้น

เมื่อเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองเข้าไปด้วย เขาก็อาจจะพุ่งเป้ามาที่เราอย่างหลีกไม่พ้น แต่เราก็ถือว่าเรามีใจที่ซื่อตรงต่อพระธรรมวินัยเป็นเกณฑ์ จุดหมายหลักของเราอยู่ที่นี่ เราก็มองไปด้วยแม้แต่นักการเมืองไม่ว่าเขาจะระแวงเราหรือไม่ หรือจะเห็นเราเป็นเครื่องกีดขวางหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เราหวังจากเขาก็คือ ถ้าเขาเห็นแก่พระศาสนาจริงๆ ก็อย่าเห็นแก่ประโยชน์ทางการเมืองของเขา ได้แค่นี้ก็เป็นพอแล้ว ถ้าเขาทำได้แค่นี้ เขาเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาพระศาสนาจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริงและรักพระศาสนาก็ให้เห็นแก่พระศาสนาเป็นอันดับหนึ่ง และประโยชน์ทางการเมืองก็เป็นเรื่องรองลงไปหรือว่าสละได้ (ที่จริงก็ควรสละได้นั่นเอง) ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ต้องมามีปากมีเสียงกันระแวงว่าท่านทำเรื่องนี้เกี่ยวกับการเมืองเข้าข้างโน้นข้างนี้ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่ามันเป็นปัญหาพระศาสนาหรือเปล่า ถ้าเป็น เราต้องแก้ จะกระทบการเมืองของใครเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ท่านไปว่ากันเองในแง่ของนักการเมือง ฉันทำหน้าที่พระศาสนาของฉันแล้ว อันนี้ก็ขอพูดไว้

อีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของการมองปัญหานี้ มีการพูดพยายามให้เป็นฝักเป็นฝ่ายตลอดจนใช้คำว่าฝ่ายของสันติอโศกกับฝ่ายของมหาเถรสมาคม มีการพูดโดยใช้คำว่า พระของสันติอโศก พระของมหาเถรสมาคม อันนี้อาตมภาพมองว่าเป็นการสร้างภาพที่ผิดพลาดมากจนกระทั่งว่าประชาชนมองข้อเท็จจริงไม่ออก อาตมภาพมองปัญหาเรื่องสันติอโศกหรือพระโพธิรักษ์นี้ว่าเป็นเพียงปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในพระศาสนา ในดินแดนประเทศไทย ในคณะสงฆ์ไทยที่กว้างขวางมาก เดี๋ยวก็มีปัญหาที่หย่อมโน้น เดี๋ยวก็มีปัญหาที่หย่อมนี้ เป็นปัญหาเล็กบ้างใหญ่บ้าง ปัญหาเรื่องเจ้าคุณอุดม เรื่องเครื่องราช ปัญหาเรื่องอาจารย์ซ่วน ปัญหาเรื่องพระโพธิรักษ์ เกิดขึ้นมาที่โน่นที่นี่บ้าง แม้จะมีลักษณะต่างกันมาก แต่ก็ล้วนเป็นปัญหา มีความสำคัญคนละแง่ละแบบ ซึ่งเราจะต้องแก้ไขทั้งนั้น เราไม่รู้สึกว่าจะต้องมาเป็นข้างฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ มันไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมีสันติอโศกฝ่ายหนึ่งมหาเถรสมาคมฝ่ายหนึ่ง มหาเถรสมาคมที่จริงแล้วไม่สามารถที่จะเป็นฝ่ายกับใครได้ เพราะเป็นเพียงองค์กรที่ทางบ้านเมืองได้ตั้งขึ้นตามกฎหมายให้มีหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ ถ้าปกครองไม่ดีก็ถือว่าตัวเองบกพร่องทำหน้าที่ย่อหย่อนอ่อนแอ ถ้าทำหน้าที่ได้ดีก็ถือว่าสามารถทำการคณะสงฆ์ให้เรียบร้อย พระสงฆ์ที่ถูกปกครองทั้งหมดก็พระไทยด้วยกัน มีดีมีชั่วแตกต่างกันไปมากมาย ที่ชอบมหาเถรสมาคมก็มี ไม่ชอบก็มาก ท่านถูกปกครองโดยมหาเถรสมาคม แต่จะไปเรียกท่านว่าเป็นพระมหาเถรสมาคมย่อมไม่ถูกต้อง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เป็นอันว่าอาตมามองปัญหาโพธิรักษ์เป็นเพียงปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในพระศาสนา ในวงการพระสงฆ์ไทย ที่เราจะต้องช่วยกันแก้ไขเท่านั้น ไม่มีเรื่องของฝ่าย ถ้ามีเรื่องของฝ่ายขึ้นมาแล้ว จะมองปัญหาผิดพลาดไปมากทีเดียว ก็ขอเสนอความเข้าใจอันนี้ไว้ด้วย

ทีนี้มาพูดถึงเรื่องกฎหมายคณะสงฆ์ด้วย จากตอนแรกของคำปรารภของท่านอาจารย์ระวีเมื่อกี้ ความจริงอาตมาได้บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า ตัวเองนี้ไม่อยากยุ่งด้วยกับปัญหากฎหมาย เพราะว่าประเด็นที่อาตมาเข้ามาเกี่ยวข้องขีดเขียนนั้นเป็นประเด็นเรื่องการรักษาพระธรรมวินัย ถือว่าเป็นพระภิกษุที่มีความรับผิดชอบต่อพระธรรมวินัยต่อพระศาสนา ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสฝากพระศาสนาไว้ ทีนี้เรื่องกฎหมายก็มาเกี่ยวข้องเพียงในแง่ของหลักความจริง หมายความว่า เรื่องกฎหมายก็เหมือนเรื่องอื่นๆ ในที่สุดก็หนีไม่พ้นเรื่องความจริง เนื่องจากได้มีการพูดถึงกฎหมายในแง่ต่างๆ เราจึงควรรู้ความจริงเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายนี้ไว้บ้าง เราจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมาย การดำเนินการตามกฎหมายเป็นเรื่องหนึ่ง การทำความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขณะนี้เรากำลังพูดกันในแง่การทำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย

กฎหมายคณะสงฆ์ฉบับปัจจุบันที่อาจารย์ระวี ภาวิไล ได้พูดว่าเป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นฉบับล่าสุดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อันนี้ก็เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นระยะเวลาในช่วงของการรวบอำนาจรัฐ ส่วนในทางสงฆ์ รัฐก็มีความเห็นว่าการปกครองคณะสงฆ์ไม่ควรใช้หลักกระจายอำนาจ ซึ่งเท่ากับบอกว่าควรจะใช้หลักรวมศูนย์อำนาจ ก็เลยแสดงเหตุผลไว้ในการตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับนี้และก็ตั้งกฎหมายคณะสงฆ์ฉบับนี้ขึ้นมา ซึ่งอาตมาก็บอกแต่ต้นแล้วว่า อาตมาเห็นว่าควรจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทีนี้กฎหมายฉบับนี้ก็ยังใช้อยู่ ตามหลักของกฎหมายข้อนี้ก็คือ ได้ตั้งองค์กรปกครองคณะสงฆ์ขึ้นมา เรียกว่า มหาเถรสมาคม ซึ่งมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน สมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุขของคณะสงฆ์ทั้งหมด ใช้อำนาจทั้งสามอย่างผ่านทางมหาเถรสมาคม อันนี้ขอให้เป็นที่สังเกต ตามปกตินั้นตามหลักกระจายอำนาจ ประมุขของรัฐคือ พระมหากษัตริย์อย่างในบ้านเมืองจะทรงใช้อำนาจ ๓ อย่างแยกกระจายออกไป ใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา ใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาล และใช้อำนาจตุลาการทางศาล

ทีนี้ในเมื่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับนี้บอกว่าไม่ควรใช้หลักกระจายอำนาจ ก็คือรวบอำนาจให้สมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุขใช้อำนาจทางเดียวคือ มหาเถรสมาคม มหาเถรสมาคมก็กลายเป็นองค์กรปกครองสงฆ์สูงสุด ใช้อำนาจทั้ง ๓ อย่างพร้อมไปในตัว คือมีทั้งอำนาจนิติบัญญัติตรากฎหมายคณะสงฆ์ เช่น กฎมหาเถรสมาคม คำสั่งมหาเถรสมาคม อะไรต่างๆ และใช้อำนาจบริหารปกครองคณะสงฆ์ มีเจ้าคณะต่างๆ ปกครองลดหลั่นกันไป เริ่มแต่เจ้าคณะหนซึ่งแบ่งเป็น เจ้าคณะหนกลาง หนเหนือ หนตะวันออก หนใต้ และมีเจ้าคณะภาค ๑๘ ภาค มีเจ้าคณะจังหวัด ๗๐ กว่าจังหวัด มีเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล ลงไปจนถึงเจ้าอาวาส และก็ใช้อำนาจตุลาการที่ทางพระเรียกว่า วินัยธร ทางมหาเถรสมาคมเช่นเดียวกัน มหาเถรสมาคมก็เป็นศาลสูงสุดเป็นศาลฎีกาอยู่ในตัวเสร็จหมดเลย เพราะฉะนั้นเป็นอันว่าขณะนี้องค์กรคณะสงฆ์ที่เรียกว่า มหาเถรสมาคมใช้อำนาจปกครองสงฆ์โดยสมบูรณ์รวบรัดเบ็ดเสร็จแห่งเดียว

บางท่านไปเข้าใจว่ามหาเถรสมาคมเป็นสมาคมชนิดหนึ่ง อันนี้เป็นความเข้าใจผิดพลาดอย่างมาก คำว่ามหาเถรสมาคมนี้เราจะต้องพูดถึงประวัติกันสักหน่อย เพราะคำว่ามหาเถรสมาคมนี้เกิดก่อนที่เรามีการใช้คำว่าสมาคมในความหมายที่เข้าใจกันในปัจจุบัน เช่น คำว่า สมาคมนักหนังสือพิมพ์ สมาคมนักเทนนิส อะไรต่างๆ สมาคมเดี๋ยวนี้มีเยอะแยะ คำว่าสมาคมที่ใช้กันอยู่นี้เกิดมาภายหลังมหาเถรสมาคมนานมาก และทำให้คนเข้าใจความหมายของมหาเถรสมาคมเขวไปด้วย เฉพาะตอนนี้ท่านทั้งหลายก็เข้าใจพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับปัจจุบันนี้ว่า เป็นพระราชบัญญัติรวบอำนาจให้ปกครองสูงสุดที่มหาเถรสมาคมแห่งเดียว โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน

ทีนี้ถอยหลังไปก่อน พ.ร.บ. ๒๕๐๕ ก็มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ใช้อยู่ก่อนเรียกว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์พุทธศักราช ๒๔๘๔ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ๒๔๘๔ นี้เกิดขึ้นในยุคที่เริ่มมีประชาธิปไตยในประเทศไทย ตอนนั้นเมื่อบ้านเมืองมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา แล้วก็เห็นว่าการปกครองคณะสงฆ์ก็ควรจะอนุวัตรตาม ควรจะเลียนแบบตั้งเค้าโครงรูปให้เหมือนกับการปกครองฝ่ายบ้านเมืองด้วย ก็จึงได้ดำเนินการตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับ ๒๔๘๔ ขึ้นมารับรูปแบบของการปกครอง จัดระบบเหมือนกับทางรัฐบาลเลย คือมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุข แต่สมเด็จพระสังฆราชนั้นใช้อำนาจแยกกระจายเป็น ๓ ทาง โดยใช้อำนาจนิติบัญญัติทางสังฆสภา ตอนนั้นมีสังฆสภา ซึ่งมีอำนาจตรากฎของคณะสงฆ์ อะไรต่างๆ ขึ้นมา แล้วใช้อำนาจที่สองคืออำนาจบริหารทางคณะสังฆมนตรี มีสังฆนายกเป็นประธานเทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรี แล้วใช้อำนาจที่สาม คืออำนาจตุลาการทางคณะวินัยธร ตกลงว่ามีสามฝ่าย คณะสังฆมนตรีก็แยกเป็นองค์การเหมือนกับที่คณะรัฐมนตรีมีรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ทางคณะสงฆ์ก็มี ๔ กระทรวง หรือ ๔ องค์การ ได้แก่ องค์การปกครอง องค์การศึกษา องค์การเผยแผ่ องค์การสาธารณูปการ ในการปกครองระดับภูมิภาคก็มีคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด คณะสงฆ์อำเภอ ซึ่งแยกออกไปเป็นองค์การต่างๆ เหล่านี้ครบถ้วนเหมือนกัน แล้วทางคณะวินัยธรก็มีคณะวินัยธรชั้นต่างๆ ขึ้นมา อันนี้ก็เรียกว่า เลียนแบบการปกครองของฝ่ายบ้านเมือง นี้ก็เป็นยุคประชาธิปไตย

ย้อนหลังไปอีก อาตมาเล่าย้อนหลังแทนที่จะเล่าแต่ต้นมา ย้อนหลังไปก่อนหน้ายุคประชาธิปไตย เราก็มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์มานานแล้ว เป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เรียกชื่อว่า พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ หรือเราเรียกกันง่ายๆ ว่า พ.ร.บ.สงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ใช้มาเป็นเวลานานจนถึงยุคประชาธิปไตยจึงเลิกไป กฎหมายคณะสงฆ์ฉบับนั้นก็มีมหาเถรสมาคม มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุขเหมือนกับฉบับปัจจุบัน ฉบับปัจจุบันนี้เป็นฉบับที่ย้อนกลับไปเอาฉบับเก่าสมัยรัชกาลที่ ๕ มาใช้อีกครั้งหนึ่ง เป็นแต่เพียงเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ลักษณะทั่วไปแล้วคล้ายๆ กัน พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ นั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่มีคำว่า มหาเถรสมาคม น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำว่า สมาคม ในประเทศไทย คำว่า “สมาคม” ในมหาเถรสมาคมนี้ จึงเกิดมีมานานแล้วตั้งแต่ ร.ศ. ๑๒๑ คือ พ.ศ. ๒๔๔๕ ก่อนที่เราจะมาใช้คำว่า “สมาคม” กันในปัจจุบันที่ทำให้เข้าใจไขว้เขวนี้ คำว่า “สมาคม” ในที่นี้ เป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์ ไม่ใช่สมาคมของคนที่มารวมกลุ่มกันทำกิจกรรมบางอย่าง อย่างที่เข้าใจกันในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นต้องแยกให้ถูก เป็นอันว่าเรามีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์กันมาตั้งแต่ก่อนยุคประชาธิปไตย

อาตมาเล่าอีกนิดหนึ่งว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์นี้เป็นเรื่องประเพณีการปกครองของประเทศไทย ที่เรามีพระศาสนาคู่กับบ้านเมือง มีพุทธจักรกับอาณาจักร เรามีอาณาจักรและก็มีพุทธจักร เมื่อทางบ้านเมืองจัดการปกครองแบบสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่รับระบบตะวันตกเข้ามาแล้ว เริ่มมีพระราชบัญญัติขึ้นแล้ว ก็เลยมีพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ขึ้นมาเพื่อให้มีการปกครองฝ่ายคณะสงฆ์คู่กับบ้านเมืองไปด้วย พระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์นี้ ถ้าเทียบกับบ้านเมืองก็เท่ากับเป็นธรรมนูญการปกครองคณะสงฆ์นั่นเอง ควบคู่กับฝ่ายอาณาจักรที่มีรัฐธรรมนูญ ฝ่ายพุทธจักรมี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ขณะที่ฝ่ายบ้านเมืองตอนนั้นยังไม่มีรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ พระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดเป็นสมบูรณาญาสิทธิราช เรื่องนี้ก็ดำเนินมาจนกระทั่งถึงสมัยประชาธิปไตยจึงเกิดมีรัฐธรรมนูญขึ้นมา ฝ่ายบ้านเมืองจึงมีกฎหมายสูงสุดปกครองรัฐขึ้นมาควบคู่กับฝ่ายคณะสงฆ์ กฎหมายคณะสงฆ์ก็เป็นกฎหมายย่อยอันหนึ่งอิงอาศัยกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น อันนี้ก็เป็นเรื่องประเพณีการปกครองที่เราควรจะทราบกัน แต่ปัจจุบันนี้เมื่อเราไม่ค่อยทราบประวัติเรื่องราวเหล่านี้ก็ทำให้มีปัญหาเช่นว่า ปัจจุบันนี้มีผู้ท้วง เช่น บอกว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์นี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้คนไม่มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา อันนี้บางคนก็ถึงกับบอกว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์นี้จะต้องเป็นโมฆะ บางท่านก็เคยให้ความคิดเห็นมาที่อาตมา เขียนจดหมายมาแต่ไม่บอกชื่อว่าเป็นใคร คือถ้าบอกชื่อว่าเป็นใคร เราจะได้มีโอกาสพูดจาทำความเข้าใจ ก็เขียนมาเป็นเหมือนบัตรสนเท่ห์อธิบายซะเยอะแยะ แล้วก็บอกว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ใช้ไม่ได้ทำโดยคนปัญญาอ่อน ซึ่งอาตมาก็ไม่เกี่ยว เพราะอาตมาไม่ได้ไปมีส่วนร่วมทำ พ.ร.บ. นั้นด้วย ท่านผู้นั้นบอกว่า ตามปกติพระราชบัญญัติต่างๆ หรือกฎหมายที่เขาออกมาน่ะ เขาจะต้องให้คำจำกัดความ ถ้อยคำต่างๆ ที่ใช้ เช่นว่า คณะสงฆ์ ที่ว่าคณะสงฆ์ไทยคือใคร ก็ไม่ได้ให้คำจำกัดความไว้ พระภิกษุคือใครก็ไม่ได้ให้คำจำกัดความไว้ แล้วกฎหมายฉบับนี้จะไปใช้แก่ใคร จะใช้อำนาจปกครองแก่ใครไม่ชัดเจน เพราะฉะนั้นก็ใช้ไม่ได้ ท่านว่าอย่างนี้ นี่ก็เป็นข้อสังเกตเหมือนกัน ก็น่าพิจารณาว่า ทำไมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์จึงมีความบกพร่อง อันนี้อาจจะเป็นความจริงก็ได้

แต่เมื่อพิจารณาในอีกแง่หนึ่งเกี่ยวกับประเพณีการปกครองที่บอกว่า เป็นการปกครองฝ่ายรัฐคู่กับฝ่ายคณะสงฆ์หรือว่าพุทธจักรคู่กับอาณาจักร เรามีการปกครองมานานจนเป็นประเพณี กลายเป็นสิ่งที่ว่าเป็นประเพณีซึ่งเป็นสิ่งที่รู้ร่วมกัน เพราะว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับปัจจุบันนี้ก็สืบต่อมาจากพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับก่อน สืบต่อกันมาตามลำดับตั้งแต่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ แล้ว ถ้าหากว่าเราจะเข้าใจคำว่า “คณะสงฆ์ไทยคือใคร” อะไรต่างๆ เหล่านี้เราก็คงต้องไปยืนตามประเพณีที่เป็นมา ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราก็คงจะต้องทำความเข้าใจว่า กฎหมายคณะสงฆ์ฉบับปัจจุบันนี้เป็นโมฆะจริงหรือไม่ แต่ถ้าเราเข้าใจประเพณีการปกครองที่เป็นมาเราอาจจะมีแง่ของการพิจารณาเพิ่มขึ้น

ทีนี้ถ้าเราหวนกลับไปดูกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ปรากฏว่ามีลักษณะเช่นเดียวกัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้อาตมาว่าถ้าใครจะท้วงขึ้นมาก็คงแบบเดียวกับกฎหมายคณะสงฆ์ เพราะว่าคำต่างๆ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ไม่ได้ให้คำจำกัดความไว้ คำที่เป็นหลักคือคำว่า “ประเทศไทย” เช่น มีบัญญัติไว้ทำนองว่าประเทศไทยนี้เป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ “ประเทศไทยคืออะไร” ก็ไม่มีคำจำกัดความไว้ หรือมีพูดถึงเกี่ยวกับชนชาวไทยมากมาย เช่น หมวดหนึ่งจะพูดถึง สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย แล้วก็พูดไปมากมายเสร็จแล้ว “ชนชาวไทย” ก็ไม่มีคำจำกัดความว่าได้แก่ใคร ไม่เหมือนอย่างกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พูดถึงนิติบุคคลก็ต้องมีคำจำกัดความนิติบุคคลด้วย แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่มีคำจำกัดความ บางคนก็อาจจะท้วงขึ้นมาว่า เอ๊ะ ! ในเมื่อเป็นเช่นนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี่จะใช้แก่ใครเพราะชนชาวไทยก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร ประเทศไทยก็ไม่รู้ว่าประเทศไหน ก็ลองพิจารณากันดู ตกลงว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ดี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ก็ดี เป็นกฎหมายสูงสุดของทั้งฝ่ายบ้านเมืองและฝ่ายคณะสงฆ์ หรือฝ่ายพุทธจักรกับอาณาจักร และก็มีลักษณะร่วมกันอย่างที่อาตมาว่ามา แต่ถ้าหากว่ากฎหมายคณะสงฆ์จะเป็นโมฆะด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ก็แล้วแต่ อาตมาก็คงไม่เกี่ยวข้อง และพวกเราก็ไม่เกี่ยวข้องเท่าไร สิ่งหนึ่งที่ควรจะทำก็คือ ถ้ากฎหมายคณะสงฆ์นี้เป็นโมฆะจริงก็ควรจะให้รับรู้กันเสีย พระสงฆ์ทั่วไปก็จะได้รู้ว่า ควรจะปฏิบัติตนอย่างไร มิฉะนั้นเราก็จะอยู่ในสภาพคลุมเครือกันเรื่อยไป อันนี้อาตมาก็ขอฝากไว้อันหนึ่งด้วย เจริญพร

(อาจารย์ระวี) ตอนนี้กระผมคิดว่าเวลาล่วงเลยมามากพอประมาณ เวลาที่ผ่านมา ๒ ชั่วโมง ๔๕ นาทีแล้ว ยังมีปัญหาที่ผมได้เตรียมไว้ถาม และปัญหาที่ท่านผู้ร่วมการประชุมส่งขึ้นมาก็ยังมี กระผมจะขอถามสิ่งที่กระผมคิดว่ามีความสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบันเสียก่อน คือเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ ได้มีการประชุมการกสงฆ์ที่พุทธมณฑล การกสงฆ์นี้ก็เห็นว่าเป็นคณะทำงานว่าด้วยเรื่องสันติอโศกนี่โดยเฉพาะ แล้วก็มีการเสนอผลสรุปของการกสงฆ์ซึ่งวันนั้นสมเด็จพระสังฆราชทรงไปประชุมและกล่าวปิดการประชุมด้วย มีมติการกสงฆ์เป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับกรณีสันติอโศกให้มหาเถรสมาคมใช้อำนาจอะไรต่างๆ กระผมจะมาถึงประเด็นที่จะตั้งคำถามถามก็คือว่า ในระหว่างนั้นที่ว่าวันที่จะมีการนำเอาผลสรุปอันนี้เข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคม เพื่อมหาเถรสมาคมจะได้ออกคำสั่งให้พระโพธิรักษ์ลาสิกขา แต่ว่าในวันที่ ๙ มิถุนายนนี่ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ไปพบเจรจากับพระโพธิรักษ์ และก็ได้มีการออกบันทึกการตกลงในการเจรจา ข้อความในบันทึกเป็นอย่างนี้

“บันทึกการตกลงในการเจรจาวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๒ จากการเจรจาตกลงของนายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการกับคณะสงฆ์ชาวอโศก เพื่อเห็นแก่ความสงบสุขเรียบร้อยของชาติบ้านเมืองและพระพุทธศาสนา คณะสันติอโศกยินยอมจะเปลี่ยนรูปแบบการแต่งกายจากพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาคณะสงฆ์ไทยเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง โดยจะสวมเสื้อแขนกระบอกและครองผ้าโดยไม่มีจีวรและรูปแบบที่เหมือนพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ไทย และจะไม่ใช้คำเรียกตัวเองว่า พระภิกษุสงฆ์ นักบวช นักพรต อีกต่อไปตั้งแต่วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๒ เวลา ๑๖.๐๐ น. คณะสันติอโศกจะปฏิบัติธรรมตามแนวความเชื่อถือที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของชาติบ้านเมืองและกฎเกณฑ์ของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และขอให้ทางกระทรวงศึกษาธิการให้ความร่วมมือในการแก้ไขตราสารและข้อบังคับของมูลนิธิและสมาคมในกิจการของชาวอโศกที่มีอยู่ โดยในวัตถุประสงค์ที่มีไว้เพื่อพระพุทธศาสนา ให้เปลี่ยนเป็น เพื่อศาสนา ต่อไป จากการปฏิบัติธรรมตามแนวความเชื่อถือดังกล่าวจะอยู่ในความดูแลของมูลนิธิธรรมสันติ กองทัพธรรมมูลนิธิ สมาคมผู้ปฏิบัติธรรม และธรรมทัศน์สมาคม นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ ได้รับทราบข้อตกลงดังกล่าวและจะนำไปเรียน นายมานะ รัตนโกเศศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเรียนเสนอมหาเถรสมาคมต่อไป จึงลงนามบันทึกไว้ร่วมกัน ก็มีลายเซ็นของพระโพธิรักษ์ นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ พันตำรวจโทรุ่งโรจน์ เรืองฤทธิ์ เป็นพยาน นายจรวย หนูคง เป็นพยาน” อันนี้เป็นสำเนาซีล็อกซ์ที่ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์

ต่อมาปรากฏว่าในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ตอนบ่ายก็ได้มีการประชุมมหาเถรสมาคม มีคำสั่งมหาเถรสมาคมเรื่องให้พระโพธิรักษ์ โพธิรกฺขิโต หรือพระโพธิรักษ์สละสมณเพศ

“ด้วยมหาเถรสมาคมได้พิจารณาตามรายงานและมติอันเป็นเอกฉันท์ของคณะการกสงฆ์เกี่ยวกับกรณีสันติอโศกโดยรอบคอบแล้ว ได้มีมติวินิจฉัยว่า พระรัก โพธิรกฺขิโต หรือพระโพธิรักษ์ มีพฤติกรรมอวดอุตริมนุสธรรม แสดงตนเป็นพระอริยบุคคลระดับต่างๆ บางครั้งก็ว่าเป็นพระอรหันต์ พระโพธิสัตว์ จนถึงกับเป็นพระสารีบุตรเถระมาเกิดใหม่ นับว่าเป็นผู้ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ นอกจากนั้นปรากฏหลักฐานว่าพระโพธิรักษ์ประพฤติตนในลักษณะบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา โดยการประพฤติให้วิปริตจากพระธรรมวินัย และทำพระธรรมวินัยให้วิปริต บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติขึ้น เพิกถอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว ตั้งข้อกำหนดต่างๆ ขึ้นปฏิบัติตามความพอใจของตน ที่มีปัญหาคือ บทบัญญัติที่ขัดแย้งกับพระธรรมวินัย ไม่ยอมรับกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์อันตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญภายใต้พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพฤติกรรมหลายประการที่เป็นการทำลายวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาติ ทั้งไม่สังกัดวัดใดวัดหนึ่ง ซึ่งในสถานะของความเป็นพระภิกษุนั้นจะต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยกฎหมายจารีตแห่งสงฆ์ การกระทำของพระรัก โพธิรกฺขิโต หรือพระโพธิรักษ์ได้สร้างความแตกแยกขึ้นในหมู่ประชาชนพุทธบริษัทมาเป็นเวลานาน แม้ว่าทางคณะสงฆ์จะให้โอกาสตักเตือนโดยวิธีการต่างๆ เพื่อให้เกิดความสำนึกกลับใจโดยการแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบตามพระธรรมวินัยซึ่งตั้งอยู่ในฐานะขององค์พระศาสดา แต่พระรัก โพธิรกฺขิโต หรือพระโพธิรักษ์ หาได้สำนึกผิดแต่ประการใดไม่ ยังคงทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อพระรัตนตรัยด้วยวิธีการต่างๆ อยู่เสมอ จึงไม่สมควรที่จะดำรงอยู่ในภาวะแห่งพระภิกษุอีกต่อไป ฉะนั้น เพื่อเทิดทูนและป้องกันพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติไทยไม่ให้มัวหมองและถูกบ่อนทำลาย และเพื่อความสามัคคีของพุทธศาสนิกชนที่มีความเคารพนับถือพระรัตนตรัยอย่างจริงใจ ตลอดจนเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมืองตลอดกาลนาน อาศัยอำนาจความในมาตรา ๑๘ และมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มหาเถรสมาคมจึงมีคำสั่งให้พระรัก โพธิรกฺขิโต หรือพระโพธิรักษ์ สละสมณเพศพ้นจากความเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาตั้งแต่วันที่ออกคำสั่งนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๒ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม”

กระผมได้ทราบจากหนังสือพิมพ์ว่า คุณชัยภักดิ์ เลขานุการรัฐมนตรีศึกษาธิการและเข้าใจว่ามีพระเถระบางรูปได้ไปด้วยกันยังสำนักสันติอโศก และก็ได้มีการเจรจานำเอาคำสั่งนี้ไปให้เซ็นแต่พระโพธิรักษ์ไม่ยอมเซ็นแล้วก็มีข่าวสับสน ข่าวสับสนนั้นก็คือว่าเดิมมาทางทีวีก็พูดให้สาธารณชนเข้าใจว่าพระโพธิรักษ์ยอมสึก แต่พระโพธิรักษ์ด้วยการปฏิเสธนั้นก็ไม่ยอมสึก ดังนั้น ผมก็อยากทราบว่าเรื่องเป็นยังไง และในการประชุมครั้งนี้ผมเองก็ยังเรียกท่านว่าพระโพธิรักษ์ เพราะว่าตามกฎหมายแล้วท่านยังไม่ได้สึก แต่ผมเข้าใจว่าการที่ท่านได้เปลี่ยนรูปแบบการแต่งตัวไปเป็นไม่เหมือนพระ คือจะว่าเป็นคฤหัสถ์นั้นก็ดูจะเป็นการผิดพระธรรมวินัยอีกซ้ำซ้อนซ้อนเข้าไปเป็นเรื่องใหม่อีก แล้วก็ดูจะเป็นการยุ่งยากมาก กระผมอยากจะกราบเรียนถามพระคุณเจ้าว่า ในเรื่องทั้งหมดนี้มีสิ่งใดที่จะทำให้ที่ประชุมนี้มีความเข้าใจถูกต้องในเรื่องหลายประการอันที่ว่าทางฝ่ายบ้านเมืองเข้าไป กระผมมองเห็นว่าเป็นการข้ามขั้นตอนที่น่าจะได้กระทำตามที่ประกาศมหาเถรสมาคม เข้าใจว่าจะต้องส่งคำสั่งมหาเถรสมาคมไปถึงพระโพธิรักษ์ก่อนแล้วจึงเป็นเรื่องของทางกระทรวงศึกษาหรือทางบ้านเมืองจะได้ดำเนินการต่อไป ขอกราบเรียนให้ความกระจ่างในเหตุการณ์อันนี้ด้วย ว่าเรื่องเป็นยังไงมายังไง และเมื่อปัญหามาถึงอย่างนี้แล้ว ไม่ทราบว่าพระคุณเจ้าจะมีข้อแนะนำอย่างไรหรือไม่ ขออาราธนา

(พระเทพเวที) เจริญพร เข้าใจว่าปัญหานี้เป็นเรื่องที่สาธุชนทั้งหลายกำลังสนใจกันมาก เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด แต่ก่อนที่จะตอบปัญหานี้อาตมาติดใจอยู่นิด เมื่อกี้พูดเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา ก่อนที่จะพูดให้ญาติโยมฟังเรื่องปัญหานี้ก็เลยขอพูดเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนานิดหน่อย คือหลายท่านอ้างว่าพระโพธิรักษ์มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา เพราะฉะนั้นการไปทำอย่างนี้เป็นการลิดรอนเสรีภาพในการนับถือศาสนา อาตมาอยากจะทำความเข้าใจนิดหนึ่งคือ พูดกันรวบรัดว่าเสรีภาพในการนับถือศาสนาก็บ่งชัดอยู่แล้วว่าเสรีภาพในการนับถือ หมายความว่าเราจะเลือกนับถือศาสนาใดหรือเลือกไม่นับถือก็ได้ คือถ้าเราชอบใจศาสนานี้เราก็นับถือศาสนานี้ เราไม่ชอบใจเราก็ไม่นับถือ แต่ทีนี้ถ้าเราเกิดนับถือล่ะ ถ้าเราเกิดนับถือก็คือว่า เรายอมรับหลักการระบบกฎเกณฑ์ต่างๆ ของศาสนานั้นใช่ไหม เมื่อเราพอใจตกลงนับถือเราก็ต้องปฏิบัติตามหลักการกฎเกณฑ์ของศาสนานั้น อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา ต่อมาเราเกิดไม่ชอบใจขึ้นมาอีกเราก็มีเสรีภาพโดยสมบูรณ์ที่จะเลิกนับถือศาสนานั้น อันนี้เรียกว่าเสรีภาพในการนับถือศาสนา อันนี้คนไม่เข้าใจมันกลายเป็นว่าเสรีภาพในการนับถือศาสนาคือการมีเสรีภาพที่จะทำกับศาสนานั้นอย่างไรก็ได้ด้วย อันนี้มันจะไกลเกินไป จนกลายเป็นว่ามีเสรีภาพที่จะแก้ไขดัดแปลงตลอดจนทำลายศาสนาก็ได้ด้วย จึงต้องพูดกันให้ชัดว่า เสรีภาพในการนับถือศาสนาไม่ใช่เสรีภาพในการทำกับศาสนาอย่างไรก็ได้ อันนี้คงจะต้องทำให้ชัดขึ้นมา นี้ก็เป็นประเด็นหนึ่ง

ทีนี้หันมาสู่เรื่องที่ท่านอาจารย์ระวี ท่านได้พูดไว้ซึ่งเป็นเหตุการณ์ล่าสุด อันนี้จะเป็นข้อชี้อย่างหนึ่งให้เห็นว่า ในที่สุดแล้วสิ่งที่เราเรียกว่ากรณีสันติอโศกนั้น ที่แท้จริงแล้วเป็นเพียงกรณีพระโพธิรักษ์เท่านั้น เป็นปัญหาพระโพธิรักษ์เท่านั้นเอง จุดของปัญหาไม่ได้มุ่งไปที่สันติอโศก เรายอมรับว่าคณะสันติอโศกหลายคนมีเจตนาดีความตั้งใจดีที่จะประพฤติความดี แต่อาตมามีเครื่องหมายคำถามอยู่ว่า เป็นการทำความดีที่ถูกต้องตามหลักการของพระพุทธศาสนาแค่ไหน ซึ่งเราจะต้องมาทำความเข้าใจกันต่อไป อาตมาก็อาจจะต้องเขียนอีกเพื่อชี้แจงว่าหลักพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร และทางสันติอโศกก็มีสิทธิที่จะทำความเข้าใจกับเราเหมือนกันว่าที่เขานับถือนั้นถูกอย่างไร แต่สิ่งที่เราต้องการก็คือทำความเข้าใจกับชาวสันติอโศก ผู้ที่มีความปรารถนาดีตั้งใจดีก็ทำความดีต่อไป แต่ว่าจะต้องเรียนรู้ศึกษาให้เข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อให้การปฏิบัตินั้นไม่ไปสู่ทางที่ผิดพลาดได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ค้างอยู่ ทีนี้กลับมาสู่ตัวปัญหา ก็เป็นอันว่าเป็นปัญหาพระโพธิรักษ์หรือกรณีพระโพธิรักษ์เท่านั้น และมันโยงไปถึงชาวสันติอโศกอื่นบ้างก็เพราะว่า เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ว่ามันเกี่ยวกับการบวชที่โยงไปหาท่านเหล่านั้น โดยที่เป็นไปตามพระธรรมวินัยเท่านั้นหรือเป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น แต่ว่าตัวปัญหาก็คือตัวท่านโพธิรักษ์เอง

ทีนี้เรื่องที่ท่านอาจารย์ระวี ภาวิไล ถามอาตมภาพมานี้ อาตมภาพก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบแทนมหาเถรสมาคมได้ ท่านจะตอบว่ายังไงก็เป็นเรื่องของท่าน แต่อาตมาจะตอบในฐานะผู้ทำงานอิสระมองตามเหตุการณ์และมองตามหลักการที่เป็นไป เราก็จะได้ความทำนองนี้ว่า มหาเถรสมาคมได้มีมติเห็นชอบกับมติของการกสงฆ์ไปแล้ว อันนี้ทุกท่านทราบดี การกสงฆ์มีมติเสนอขึ้นมาต่อมหาเถรสมาคม ๔ ข้อ ข้อที่ ๑. ก็คือเรื่องการออกคำสั่งให้พระโพธิรักษ์ลาสิกขาหรือสละสมณเพศ ทีนี้มหาเถรสมาคมต้องการให้มีความรอบคอบว่าตนมีอำนาจในการที่จะออกคำสั่งนี้จริงหรือไม่ตามกฎหมาย จึงขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเสียก่อน ก็เป็นอันว่าการปฏิบัติในการออกคำสั่งที่เป็นไปตามมติการกสงฆ์ก็เพียงรอเวลาให้ได้รับมติวินิจฉัยจากคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนเท่านั้น เรื่องก็เป็นมาเป็นอย่างนี้ ทีนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ประชุมกัน ในระหว่างที่กำลังรอมติคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ หรือแม้แต่รู้มติของกรรมการกฤษฎีกาแล้วก็เป็นการรู้แน่นอนว่า เมื่อคณะสงฆ์ประชุมอีกครั้งก็คือจะต้องออกคำสั่ง เพราะได้มีมติเห็นชอบตามมติการกสงฆ์ไปแล้ว ในระหว่างนี้คุณชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ ซึ่งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็มีความหวังดีต่อท่านโพธิรักษ์ ก็จึงได้ไปเจรจากับท่านโพธิรักษ์ขอให้ยอมสึกเสียเองเถิด อย่าให้ต้องเป็นไปตามคำสั่งของมหาเถรสมาคมเลย อันนี้เราถือว่าเป็นความปรารถนาดีของคุณชัยภักดิ์ ไปเจรจากันมาได้ความมาอย่างไรก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว แต่เสียงที่ออกมาเป็นข่าวสู่สาธารณชนประชาชนจำนวนมากเข้าใจเป็นว่าท่านโพธิรักษ์ยอมลาสิกขา จะยอมลาสิกขาหรือยอมสึกละสมณเพศให้เป็นไปตามที่มหาเถรสมาคมจะออกคำสั่งอยู่แล้ว แต่อันนั้นกลายเป็นความเข้าใจผิดของประชาชนบางท่านหรือหลายท่านทีเดียว เป็นความเข้าใจที่ผิดเพราะว่าไม่ได้มีการสึกเกิดขึ้น หรือการที่โพธิรักษ์เจรจาแล้วเรียกว่ามีคล้าย ๆ ข้อตกลงกับคุณชัยภักดิ์นั้นก็ไม่ได้มีเรื่องการสึก แม้จะมีข้อความแวดล้อมมากมายเช่นการเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกายอะไรต่ออะไร แต่ประเด็นสำคัญคือไม่ได้สึก อันนี้ก็จะต้องพูดถึงการสึกหรือการลาสิกขาตามพระวินัย

การปฏิบัติตามพระวินัยเพื่อให้การลาสิกขาหรือการสละสมณเพศมีผลสมบูรณ์นั้นจะต้องทำดังนี้ คือ ผู้ที่ลาสิกขาหรือสละสมณเพศนั้นจะต้องกล่าววาจาแสดงเจตนาในการลาสิกขานั้นออกมาให้บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งที่รู้ความรับทราบเป็นพยาน อันนี้คือการลาสิกขาตามพระวินัย ถ้าทำอย่างนี้แล้วจะมีผลสมบูรณ์ตามพระวินัย ทีนี้ท่านโพธิรักษ์ไม่ยอมปฏิบัติข้อนี้ แต่เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย เมื่อเปลี่ยนเครื่องแต่งกายก็กลายเป็นว่าท่านยังเป็นพระภิกษุแต่ไปแต่งกายอย่างอื่น เมื่อท่านเป็นพระภิกษุไปแต่งกายอย่างอื่นมันก็เป็นปัญหาพระวินัยเกิดขึ้นอีก คือพระวินัยนี้บอกไว้ว่าภิกษุแต่งกายอย่างคฤหัสถ์เป็นความผิดทางวินัยเรียกว่า ทุกกฏ ถ้าหากพระภิกษุทั้งที่ยังไม่ละสมณเพศไปแต่งกายอย่างนักบวชนอกศาสนาเป็นอาบัติแรงยิ่งขึ้นเรียกว่า ถุลลัจจัย อันนี้ก็กลายเป็นเรื่องอีกอย่างหนึ่ง ทีนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเมื่อสละเครื่องแต่งกายแบบพระภิกษุไปแล้วก็ขาดสิ่งที่เรียกว่า ไตรจีวร พระภิกษุนั้นมีเครื่องแบบของตัวเองเรียกว่าไตรจีวร ไตรจีวรนี้เวลาบวชพระกรรมวาจาจารย์จะต้องสวดซักซ้อมถามว่าท่านมีจีวรครบแล้วหรือ บริบูรณ์หรือคือมีไตรจีวรครบสามไหม ถ้าครบสามจึงบวชได้ แม้แต่จะบวชก็ต้องมีครบสาม เมื่อบวชมาแล้วพระภิกษุก็มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องแบบของตนหรือไตรจีวรนี้ ถ้าเมื่อสละเครื่องแต่งกายนี้ไปแต่งกายอย่างอื่นไม่ใช่ไตรจีวร ก็มีไตรจีวรไม่ครบก็จะขาดการรักษาวินัยที่เกี่ยวกับจีวรนี้ไป ก็เป็นปัญหาอีก กลายเป็นความบกพร่องที่ไม่อาจรักษาพระวินัยได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่เราเรียกกันว่าศีล ๒๒๗ เอาล่ะเป็นอันว่าเมื่อท่านโพธิรักษ์ไม่ลาสิกขาแล้วไปเปลี่ยนเครื่องแต่งกายใหม่ มันก็กลายเป็นปัญหาทางพระวินัยขึ้นอีก

ทีนี้มหาเถรสมาคมในฐานะองค์กรปกครองคณะสงฆ์ก็มีหน้าที่ตามหลักการที่จะต้องให้พระภิกษุประพฤติตามพระวินัย เมื่อเรื่องเป็นอย่างนี้ คณะสงฆ์จะยอมให้พระโพธิรักษ์เปลี่ยนเครื่องแบบไปแต่งกายคฤหัสถ์ได้หรือ ถ้าหากว่ายอมตามนั้นก็กลายเป็นว่าคณะสงฆ์ยินยอมหรือสนับสนุนให้มีพระภิกษุรูปหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งปฏิบัติผิดพระวินัยใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นมันเป็นสิ่งเป็นไปได้หรือไม่ที่คณะสงฆ์หรือมหาเถรสมาคมจะปฏิบัติตามคำเจรจาหรือจะเรียกว่าข้อตกลงอันนั้น ซึ่งคณะสงฆ์เองก็ไม่ได้ตั้งใคร ไม่ได้มอบหมายอำนาจให้ใครไป เป็นเพียงเจตนาดีความหวังดีของท่านผู้นั้นอันหนึ่ง อันนี้ก็เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่อาตมาก็ยังไม่ได้ยินมหาเถรสมาคมตอบชี้แจงอย่างนี้ แต่อาตมามองในฐานะคนนอกเป็นอิสระซึ่งมหาเถรสมาคมก็เคยขอความร่วมมือในการให้ความคิดเห็นซึ่งก็ได้ถวายความร่วมมือ แต่ประเด็นนี้ก็ไม่ได้พูดกันจริงจัง ซึ่งในแง่ของมหาเถรสมาคมเองท่านจะพูดยังไงก็เป็นเรื่องของท่าน แต่อาตมาวินิจฉัยตามหลักการและเหตุการณ์ก็จะได้อย่างนี้ ขอเจริญพร

(อาจารย์ระวี) กระผมขอตั้งข้อสังเกตอย่างที่กระผมได้กราบเรียนมาแล้วว่า ความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัยของเราผู้คนในบ้านเมืองนี้ค่อนข้างจะน้อย และโดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และจำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย กระผมคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นคือพูดง่ายๆ ว่ากระผมต้องกราบเรียนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า พระโพธิรักษ์ไม่ต้องการสึกแต่ใช้วิธีการพูดและการกระทำที่ทำให้คุณชัยภักดิ์เข้าใจผิดว่าการกระทำเหล่านั้นที่จะทำไปตามข้อตกลงนั้นเป็นการสึก ซึ่งคุณชัยภักดิ์หรือแม้ผมเองสมมติว่าไปอยู่ในสถานะนั้นก็อาจจะหลงไปได้เหมือนกัน เพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ มีแต่ความปรารถนาดี และนี่ก็คือเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ผมก็มองเห็นว่าเป็นตัวอย่างของเรื่องที่เกิดขึ้นเรื่องเดียวในหลายๆ เรื่องที่เราไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นอีกมากมายที่ทำให้การแก้ไขปัญหานี้มันไม่ยุติ

แล้วข้อนี้ทำให้เกิดความรู้สึกว่าการกระทำความดีของพระโพธิรักษ์นั้นมีจุดมุ่งหมายอะไรกันแน่ เพราะว่ายิ่งนับวันที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ซึ่งก็แสดงสิ่งที่ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านก็เรียกว่าเล่ห์กลต่างๆ มากขึ้นๆ เป็นที่ปรากฏมากขึ้นๆ สิ่งนี้ทำให้เกิดความรู้สึกในข้อที่ว่ามีความสุจริตใจต่อพระศาสนาอย่างไรกันแน่ ถ้าจะพูดอีกอย่างหนึ่งคือว่าท่านน่าจะปรารถนาตั้งตนเป็นศาสดาแต่ว่าท่านมองเห็นว่า วิธีการเผยแพร่ลัทธิที่ท่านประสงค์นั้นในขั้นต้นนั้น ถ้าหากอยู่ในรูปแบบของสงฆ์ในพุทธศาสนาก็จะมีผู้เชื่อถือได้ง่าย อันนี้ก็เป็นข้อที่ได้มีการหยิบยกขึ้นมาแสดง เพราะแม้โดยถ้อยคำของพระโพธิรักษ์เองนั้นเมื่อไปขอบวชก็ได้เล่าให้แก่สานุศิษย์ฟังว่า เพราะเป็นฆราวาสไปพูดเขาหาว่าเอาคนบ้ามาพูด ก็จำเป็นจะต้องบวชเพื่อให้ได้เครื่องแบบของพระสงฆ์ แล้วทีนี้ไปพูดเขาก็เชื่อกันแล้ว ก็ได้เป็นการเริ่มต้นที่สำคัญ นั่นก็คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นต้นมา สิ่งที่กระผมพูดไปหยกๆ นี้มันไม่ได้เป็นเรื่องของการเตรียมมาพูดนึกมาว่าจะสรุปอย่างนี้แล้วมาหาเหตุต่างๆ แต่ท่านผู้ร่วมฟังคงจะเห็นเหตุผลที่ค่อยๆ แสดงปรากฏเปิดเผยมาเป็นขั้นๆ มันเป็นอย่างนั้น แต่ว่าทำไมท่านทำได้ พูดตรงๆ ก็คือให้ท่านหลอกได้ เพราะเราคือคนที่สนใจพระศาสนามีน้ำใจบริสุทธิ์ที่จะปฏิบัติธรรม เรื่องมันก็เป็นอย่างนี้ล่ะครับ

กระผมจำเป็นต้องมาสู่ข้อสรุปนี้เพียงเท่านี้

บทสัมภาษณ์
พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

ภาคผนวก
บทเรียนและท่าทีของชาวพุทธต่อกรณีสันติอโศก

เกี่ยวกับกรณีสันติอโศก มีประเด็นที่อยากจะเรียนถาม ก็คือว่า การแก้ไขดัดแปลงพระธรรมวินัย กับการตีความพระธรรมวินัย ซึ่งมีมาแล้วตั้งแต่ภายหลังสังคายนา ก็มีการขยายความในแต่ละชั้นมา อย่างในอรรถกถาฎีกาต่างๆ เรามีเส้นแบ่งอะไรที่จะมาแบ่งว่า อันนี้คือ การตีความพระธรรมวินัย และ อันนี้เป็นเรื่องของการบิดเบือนความ หรือกระทําพระธรรมวินัยให้วิปริต ขอนมัสการกราบเรียนถามท่านครับ

(พระเทพเวที) อันนี้ที่จริงเป็นเรื่องง่าย ข้อความในคําถามก็ชัดเจนอยู่แล้ว ขอยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่น เมื่อเห็นพุทธศาสนสุภาษิตว่า “บุคคลย่อมล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร” (วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ) แล้วเกิดการถกเถียงกันว่า ทุกข์ที่ล่วงพ้นนั้นหมายถึงความทุกข์ธรรมดาสามัญ เช่น ความยากจน เป็นต้น หรือหมายถึงความทุกข์ในการเวียนว่ายตายเกิด หรือหมายถึงความทุกข์ทุกชนิด และที่ว่าล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียรนั้น มีความเพียรพยายามอย่างเดียวก็พ้นทุกข์ได้ หรือว่าต้องเพียรพยายามไปกับการมีธรรมอื่นๆ อย่างนี้เรียกว่าเกิดปัญหาในการตีความ แต่ถ้ารู้อยู่ว่าพุทธศาสนสุภาษิตว่าอย่างนั้นแล้วไปพูดเอาเองใหม่โดยแกล้งทําให้คลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนไป เช่น บอกว่า “บุคคลถึงจะไม่มีความเพียร แต่อ้อนวอนพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ ก็ล่วงพ้นความทุกข์ได้” หรือพูดว่า “บุคคลย่อมล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพลินเพลิด” อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าเป็นการบิดเบือนหรือทําให้วิปริต

การขยายความในอรรถกถาฎีกานั้น นอกจากท่านจะระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่ให้มีการบิดเบือนหรือทําให้วิปริตผิดเพี้ยนแล้ว ท่านยังพยายามหลีกเลี่ยงการตีความอีกด้วย คือท่านพยายามอธิบายโดยเพียงชี้แจงคําแปลของศัพท์บ้าง นําคําอธิบายที่เล่าเรียนถ่ายทอดต่อกันมาลงไว้ให้ดูบ้าง นําพุทธพจน์ซึ่งตรัสไว้ในที่อื่นมายืนยันหรือย้ำเสริมกันให้ชัดเจนบ้าง แม้แต่เมื่อจะต้องตีความ ท่านก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เป็นการตีความตามความเห็นส่วนตัว ท่านพยายามแสดงหลักฐาน และนํามติหรือความเห็นจากที่ต่างๆ มาให้ดูด้วย หรือไม่ก็เขียนเชิงเสนอแนะ หรือบอกให้รู้ว่าเป็นความเห็นส่วนตัว เราจึงเคารพนับถือท่านแม้ว่าในหลายแห่งหลายกรณีเราจะไม่เห็นด้วยกับท่าน อย่างไรก็ตามกรณีของท่านโพธิรักษ์นี้ไม่เข้าขั้นของการตีความ จึงขอตัดตอนผ่านเรื่องการตีความนี้ไป ไม่ต้องอธิบายกันให้ยืดยาว

บางคนมาพูดเรื่องกรณีโพธิรักษ์ โดยไม่ได้ศึกษาเรื่องให้ชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร เลยทำให้คนอื่นพลอยสับสนยิ่งขึ้น อย่าง อาจารย์แสง จันทร์งาม ที่เขียนบทความลง มติชน เมื่อไม่นานมานี้ ก็เหมือนกับไม่ได้ศึกษาเรื่องให้ดี ข้อเขียนของท่านเกี่ยวกับเรื่องการตีความพระธรรมวินัย ถึงแม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อท่านโพธิรักษ์ แต่ก็เป็นไปในลักษณะที่ทำให้ผู้อ่านหลายคนเข้าใจไขว้เขวว่า การกระทำของโพธิรักษ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตีความพระธรรมวินัย ความจริงนั้นถึงจะให้ชัดเจนว่าเป็นการตีความหรือไม่ จะต้องยกของจริงที่พระโพธิรักษ์ได้กระทำมาให้ผู้อ่านดูตรงๆ ไม่ใช่เพียงเขียนนำความคิดของผู้อ่านโดยวิธีเลียบเคียง (ยิ่งกว่านั้นความเข้าใจของอาจารย์แสง จันทร์งาม เกี่ยวกับการตีความพระธรรมวินัยยังมีปมอีกหลายอย่าง ซึ่งควรจะต้องเอามาคลี่คลายให้ชัดแจ้งเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแก่พระศาสนาในกาลภายหน้า) การกระทำของท่านโพธิรักษ์ต่อพระธรรมวินัยไม่เข้าขั้นเป็นการตีความพระธรรมวินัยด้วยเหตุผลใหญ่ ๒ ประการ

๑. หลักการและคำอธิบายธรรมต่างๆ ท่านโพธิรักษ์ท่านอ้างว่าท่านรู้เองด้วยญาณ ซึ่งเป็นการชัดอยู่แล้วว่า ท่านเองยืนยันว่าเป็นความรู้ส่วนตัว เฉพาะตัวด้วยตัวของท่าน ไม่ใช่เป็นการตีความ คือ ท่านเองก็ไม่ยอมให้ถือว่า การกระทำของท่านเป็นการตีความ ปัญหาของท่านโพธิรักษ์จึงต้องพูดในแง่ว่าเป็นญาณจริงหรือญาณเท็จ เป็นความหลงผิดหรือว่าเป็นการอ้างเอาเองลอยๆ

๒. โดยข้อเท็จจริงและโดยหลักการของพระธรรมวินัย สิ่งที่ท่านโพธิรักษ์กระทําไม่ใช่เป็นการตีความ ไม่อยู่ในขั้นเป็นการตีความ

พูดเฉพาะในแง่ที่ ๒ คือโดยข้อเท็จจริงและโดยหลักการของพระธรรมวินัย เรื่องของท่านโพธิรักษ์นี้ จุดที่ว่าทําพระธรรมวินัยให้วิปริตนั้น มี ๒ ตอน ตอนที่หนึ่ง ก็คือตอนที่เรียกว่า ยังไม่ถึงขั้นตีความ ส่วนตอนที่สองเป็นขั้นที่เรียกว่า เลยการตีความไปแล้ว พูดอย่างนี้เหมือนกับเป็นสํานวน

ที่ว่าเป็นเรื่องยังไม่ถึงขั้นตีความนั้น เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในระดับถ้อยคํา ถ้อยคําที่เราใช้พูดกันในภาษาธรรมดาๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะทําให้เราสื่อความหมายกันได้ว่าอะไรเป็นอะไร ถ้าหากว่ามีการจับถ้อยคําผิดพลาด คนหนึ่งพูดเรื่องหนึ่ง แต่อีกคนไปพูดอีกเรื่องหนึ่ง อันนี้เป็นเรื่องของความไขว้เขวในถ้อยคําเอง ยังไม่ใช่เรื่องของการตีความ เช่น เขากําลังพูดถึง “โลกปัจจุบัน” อีกคนหนึ่งได้ยิน นึกว่าพูดถึง “โรคปัจจุบัน” หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เช่นว่า เรากําลังพูดกันถึงเรื่อง “จีนแคะ” อีกคนหนึ่งเข้าใจว่ากําลังพูดถึง “คนแคระ” อย่างนี้เป็นเรื่องของความผิดพลาดเกี่ยวกับถ้อยคําธรรมดา คือสําคัญผิดหรือจับความผิดไป เรื่องของท่านโพธิรักษ์เป็นปัญหาในขั้นนี้ ไม่ใช่เรื่องของการตีความ

การกระทําของท่านโพธิรักษ์ที่ว่าไม่ใช่เรื่องหลักการตีความนั้น ถ้าจะพูดกันให้เข้าใจง่ายๆ ก็เป็นอย่างที่ว่ามานี้ อย่างไรก็ดี เพื่อให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นจะขยายความออกไปอีกเล็กน้อย

เป็นธรรมดาของภาษาย่อมมี ไวยากรณ์ ไวยากรณ์ก็คือ ระเบียบของภาษาซึ่งมีมาคู่กับภาษาตั้งแต่ภาษานั้นเกิดขึ้น คนที่ใช้ภาษาจะต้องพูดให้ถูกไวยากรณ์ด้วย มิฉะนั้นถึงแม้จะพูดถ้อยคําต่างๆ ได้ แต่ก็พูดกันไม่รู้เรื่องหรือเข้าใจกันผิด เช่น พูดภาษาไทยแต่โยงลําดับถ้อยคําอย่างภาษาอังกฤษ แทนที่จะพูดว่า “แมวดํานั้นผอมมาก” กลับไปพูดว่า “นั้นดําแมวมากผอม” ก็คงเข้าใจกันผิดพลาดสับสน

ในบางภาษา ไวยากรณ์มีกฎเกณฑ์ซับซ้อนมาก ในภาษาเช่นนั้น การพูดและเขียนให้ถูกไวยากรณ์ยิ่งมีความสําคัญมากขึ้น ภาษาบาลีเป็นภาษาหนึ่งที่มีไวยากรณ์มาก และไวยากรณ์หลายอย่างของภาษาบาลีคล้ายกับภาษาอังกฤษ คนไทยปัจจุบันจํานวนมากพอจะรู้ภาษาอังกฤษ จึงจะยกตัวอย่างภาษาอังกฤษมาเทียบให้ดู

ภาษาอังกฤษนี่เราจะเห็นชัดว่ามีไวยากรณ์ ยกตัวอย่างคํากริยา run แปลว่า วิ่ง ถ้าเป็น past tense กลายเป็น ran ถ้าหากว่าเป็น present participle ก็มีการเติม ing ยังซ้อน n เข้าไปอีกเป็น running

ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษมีสิ่งที่เรียกว่า suffix หรือ ปัจจัย ซึ่งเมื่อเติมเข้าไปแล้วจะทําให้คํานั้นเปลี่ยนรูปและทําหน้าที่ต่างกันในประโยค เช่นคําว่า poor แปลว่า ยากจน เป็นคุณศัพท์ พอเป็นคํานามแล้ว รูปคําอาจจะเปลี่ยนเป็น poverty แปลว่า ความยากจน ศัพท์อื่นๆ ในทํานองนี้มีอยู่ทั่วไปหมด ภาษาบาลีก็เช่นเดียวกัน จะเป็นทํานองนี้

ในภาษาอังกฤษเราจะพบตัวอย่างในเรื่องนี้มากมาย โดยเฉพาะเรื่องปัจจัยที่ทําให้รูปศัพท์เปลี่ยนไปยกตัวอย่างเช่น คําว่า demonstrate แปลว่า สาธิต หรือแสดง นี่เป็นคํากิริยา พอเปลี่ยนเป็นคุณศัพท์ เป็น demonstrable แปลว่า สามารถเอามาแสดง หรือสาธิตได้ demonstrative ก็เป็นคุณศัพท์อีกรูปแบบหนึ่ง แปลว่า ซึ่งเป็นเครื่องแสดงเป็นเครื่องสาธิต พอเป็น demonstration กลายเป็นคํานาม หมายถึง การแสดงหรือการสาธิต

อย่างเช่นคําว่า friend (เพื่อน) พอเติม ship เข้าไป ship ตัวนี้เป็น suffix กลายเป็น friendship แปลว่า มิตรภาพหรือความเป็นมิตร wise แปลว่า ฉลาด พอเปลี่ยนรูปเป็นคํานามลง dom กลายเป็น wisdom, King พระราชาเติม dom เป็น Kingdom แปลว่า ราชอาณาจักร อะไรอย่างนี้ นี่เป็นตัวอย่างของภาษาที่มีไวยากรณ์แบบนี้

ภาษาบาลีก็คล้ายกัน ถ้าคนจะใช้ภาษาประเภทนี้ก็ต้องรู้หลักไวยากรณ์ของเขา ถ้าเกิดไม่เข้าใจ ตัวเองอยู่ในภาษาไทย เคยเห็นแต่ภาษาไทย นึกเป็นคําๆ คํานั้นมีความหมายแต่ละตัว พอไปเห็น friendship ก็นึกว่า friend แปลว่า เพื่อน และ ship ศัพท์ง่ายๆ ก็แปลว่าเรือ พอเห็น friendship ก็เลยแปลว่า เรือของเพื่อน แล้วจะเป็นยังไง friendship แปลว่ามิตรภาพ หรือความเป็นมิตรนี้ พอเราเข้าใจเป็น “เรือของเพื่อน” ก็พูดกันคนละเรื่อง ไปคนละเรื่อง ฉะนั้น การเข้าใจผิดแบบนี้ไม่ใช่เรื่องการตีความ

อีกตัวอย่าง อาตมาขอยกง่ายๆ เช่น capacity แปลว่า ความจุ หรือ ความสามารถในตัวบุคคล รูปนี้เป็นคํานาม ถ้าเป็นคุณศัพท์เป็น capacious จะเห็นว่ามันต่างกันที่ตัว suffix คือ ปัจจัย capacious แปลว่า จุมาก capacity ก็แปลว่า ความจุ คนที่ไม่รู้หลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ พอมาเห็น capacity ก็นึกเป็นภาษาไทย แยกเป็นตัวๆ ก็ cap (หมวก) a (หนึ่ง) city (เมือง) เพราะตัวไม่รู้เรื่องปัจจัย คือ suffix เลยไม่รู้เรื่อง จะแปลยังไงดีหนอ ก็คิดเอาเอง รวมคําแปลว่า “เมืองหนึ่งที่ผลิตหมวก” ก็แล้วกัน ก็สร้างความหมายขึ้นมาใหม่ capacity ก็กลายเป็น cap-a-city และก็กลายเป็นว่า “เมืองที่ผลิตหมวกเมืองหนึ่ง” มันก็ไปคนละเรื่องกับความหมายเดิมที่แปลว่า ความจุ คนละทิศกันเลย

นี่คือปัญหาเดียวกับท่านโพธิรักษ์ ท่านทํากับศัพท์บาลี ศัพท์ธรรมะ อย่างนี้คือ เห็นศัพท์บาลีอะไรมาก็แยกศัพท์ ก็คงไปเปิดพจนานุกรมบาลีโดยแยกศัพท์ออกทีละตัวที่อยู่ในนั้น แยกกันหมด หนังสือชื่อ “ทางเอก” ของท่าน เป็นหนังสือที่อาจจะเรียกว่าเป็นตําราของสันติอโศกก็คงได้ เป็นหนังสือ ๓ เล่มใหญ่ ปกแข็งทั้งชุดหนาเกิน ๑,๕๐๐ หน้าเต็มไปด้วยคําอธิบายแบบเอาศัพท์ธรรมะ พระอรหันต์ อรหัตตผล อุโบสถ สันติ อะไรต่ออะไรมาเที่ยวแยกอย่างนี้ แยกแล้วมันไม่เข้าเรื่องเลย ผิดไวยากรณ์ทั้งหมด

อย่างคําว่า demonstration อาจจะมาในประโยคเดียวกับ demonstrate, demonstrable ก็ได้ เพราะเป็นศัพท์เกี่ยวกับเรื่องที่กําลังพูดเรื่องเดียวกัน เวลาไปทําหน้าที่คุณศัพท์ ก็เป็น demonstrable บ้าง demonstrative บ้าง พอเปลี่ยนเป็นคํานามก็เป็น demonstration อาจมาในประโยคเดียวกันหรือข้อความเดียวกัน เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน ทีนี่ถ้าคนไปแยกศัพท์อย่างนั้น ศัพท์เดียวกันมันกลายเป็นคนละเรื่องไป อย่าง demonstration ที่อาตมายกตัวอย่างให้เห็น ถ้าเป็นท่านโพธิรักษ์มาอธิบายก็อาจจะมาแยกศัพท์เป็น demon แปลว่า ผี stration นี่ท่านอาจจะไม่เคยเห็นท่านอาจจะนึกให้ใกล้ที่สุดคือ station ก็แปลว่า สถานี demonstration ก็กลายเป็น demonstation ก็แปลว่า “สถานีผี” “การสาธิต” กลายเป็น “สถานีผี” ไป แล้วจะไปรู้เรื่องกันได้อย่างไร คนละเรื่อง

นอกจากคนละเรื่องแล้ว มันก็ขัดกันในตัว ในประโยคเดียวกัน หรือข้อความเดียวกันที่เขาพูด demonstration บ้าง demonstrate บ้าง demonstrable บ้าง คนฟังเข้าใจเป็นคนละอันไป แล้วเข้ากันไม่ได้เลย กลายเป็นว่าเรื่องเดียวกัน แต่พูดกันคนละเรื่องไปเสียหมด

อันนี้ก็เช่นเดียวกัน อย่างศัพท์บาลี นุรุทฺธา นิรุทฺธะ (ดับแล้ว) พอเป็นคํานามก็เป็น นิโรธะ (ความดับ ดับทุกข์) พอเป็นคํากิริยา เป็น นิรชฺฌติ ถ้าเป็น past tense เป็น นิรุชฺฌิ ถ้าเป็นบุรุษที่ ๑ บุรุษที่ ๒ บุรุษที่ ๓ ก็จะแยกกันหมด รูปคําก็แตกต่างกันไป คําศัพท์เหล่านี้เมื่อมาอยู่ในประโยคเดียวกัน ก็เปลี่ยนรูปไปตามหน้าที่ในประโยค แต่โพธิรักษ์ เพราะความไม่รู้ภาษาบาลี เห็นแต่ศัพท์ที่ออกมาใช้ซึ่งเปลี่ยนรูปไปต่างๆ แล้ว พอเห็นศัพท์ธรรมะที่มาจากบาลีท่านก็แยกเอาเองเช่น นิรุทฺธะ ท่านคงอาศัยเคยเห็นเล็กๆ น้อยๆ ในการแยกศัพท์ก็คิดว่า นิรุทฺธะ มาจาก นิร+อุทธ พอแยกกันได้อย่างนี้ก็ไปเปิดพจนานุกรม นิร = ไม่มี อุทธ แปลว่า ข้างบน ในบาลีมี อุทธ แปลว่า ข้างบน ซึ่งใช้ในรูปนี้ไม่ได้ต้องเป็น นิรุทธัง แต่ในบาลีที่ท่านยกมาเป็น นิรุทธา ท่านก็แยก นิร ไม่มี อุทธ ข้างบน นิรุทธะ ก็แปลว่า ไม่มีใครอยู่เหนือ แต่ที่จริง นิรุทธะ เป็นศัพท์เดียวกันมาจาก รากเดียวกับ นิโรธะ และนิรุชฺฌติ ซึ่งแปลว่า ดับหรือไม่เกิดขึ้น ความหมายก็เลยขัดกันไปหมด แบบเดียวกับ demonstration เมื่อแปลว่าสถานีผี ก็ไปขัดกับ demonstrate, demonstrable, demonstration อะไรแบบนี้

อีกตัวอย่างหนึ่ง พหูสูต กับ พาหุสัจจะ พหูสูตเป็นศัพท์ธรรมะที่ท่านโพธิรักษ์พบเห็นในหนังสือธรรมะทั่วไป แม้แต่ในนวโกวาทก็มีพหูสูต คือผู้ที่ได้เล่าเรียนสดับมาก ทีนี้ที่ท่านโพธิรักษ์ก็ไปเห็นอีกแห่งหนึ่งมีคําว่า พาหุสัจจะ ซึ่งคํานี้ก็แปลว่า ความเป็นผู้ได้สดับมาก พอพระโพธิรักษ์ไปเห็น พหูสูต มีรูปร่างต่างจาก พาหุสัจจะ ท่านก็พูดเอาเองโดยไม่รู้ศัพท์ คือพหูสูตนี่เป็นคุณศัพท์ คนที่เป็นพหูสูตก็หมายความว่า คนผู้ได้สดับมากหรือผู้ที่มีสุตะมาก พอเปลี่ยนเป็นคํานาม เขาจะเติม suffix คือปัจจัยในภาษาบาลี ลง ณฺย ปัจจัย พหุสฺสุต ในบาลี หรือ พหูสูต ในภาษาไทยพอเติม suffix เข้าไป กลายเป็น พาหุสัจจะ แปลว่า ความเป็นพหูสูต นั่นเอง ความเป็นพหูสูตก็คือ ความเป็นผู้ได้ศึกษาสดับมาก ซึ่งคําทั้งสองนี้มันอาจจะมาในประโยคเดียวกัน หรืออาจจะมาในข้อความที่ต่อเนื่องกัน เช่น พูดถึงคนนี้ว่าเป็นพหูสูต และต่อมา ด้วยความเป็นพหูสูต คือ พาหุสัจจะของเขา คนก็นับถือเขา อะไรอย่างนี้ก็ไปเรื่อยๆ

ความที่พระโพธิรักษ์ไม่รู้เรื่องหลักภาษาอะไรเหล่านี้ ศัพท์นี้มายังไงท่านก็นึกเอาเอง เห็น พหูสูต อ้อ! พหูในภาษาไทยก็มีใช้อยู่ เช่น ในคําว่า พหูพจน์ แปลว่า มาก แล้ว สูต แปลว่า สุตะ รวมกันก็แปลว่า มีสุตะมาก เอออันนี้ก็พอได้ แปลว่า ร่ำเรียนมาก มีความรู้มาก ทีนี้พอไปเห็น พาหุสัจจะ ท่านก็นึกว่า พาหุสัจจะ จะเขียน พหุสัจจะก็ได้ ท่านก็เขียนบอกไว้ในหนังสือ แล้วเดาตามแบบของท่าน พหุ แปลว่า มาก สัจจะแปลว่า ความจริง โอ้! ถ้าอย่างนั้น ก็ต้องแปลว่ามีสัจจะมาก ท่านก็บอกว่า โอ้ย! พหูสูต กับ พาหุสัจจะ นี่ไม่เหมือนกัน คือ ท่านไม่รู้ว่ามันต่างกันโดยหน้าที่ในประโยค แต่ท่านนึกว่าต่างกันในความหมาย ท่านก็นึกว่า พหูสูต มีสุตะมาก ได้ร่ำเรียนสดับฟังมาก พาหุสัจจะมีสัจจะมาก ก็อธิบายเลย พหูสูต คือได้เรียนรู้มากแต่ยังไม่เข้าถึงความจริง ไม่ถึงสัจจะ แต่ถ้าพาหุสัจจะแล้ว ก็รู้มากจนกระทั่งเข้าถึงความจริงแจ้งในสัจจะ อะไรทํานองนี้ แล้วก็ยกตัวอย่างว่า พหูสูตร ก็อย่าง พระอานนท์ นี่เป็นพหูสูตได้ แต่ถ้าพาหุสัจจะก็ต้องอย่างพระสารีบุตร ว่าอย่างนั้น เอาละซิ มันก็ยุ่งเพราะที่จริง พหูสูต กับพาหุสัจจะ มันต่างกันในแง่ไวยากรณ์เป็นคําคุณศัพท์กับคํานามเท่านั้น

อย่างในมงคลสูตรที่ว่าด้วยมงคล ๓๘ ประการ มีข้อหนึ่งว่า พาหุสจฺจญฺจ สิปฺปญฺจ....เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ แปลว่า พาหุสัจจะ และศิลปะเป็นอุดมมงคล ในข้อความนี้ พาหุสัจจะคือความเป็นผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก และสิปปะคือมีศิลปวิทยาการ ก็เป็นเรื่องของชาวบ้าน ชาวบ้านก็มีพาหุสัจจะ คือ ได้เล่าเรียนวิชาการต่างๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่ถึงสัจจะเป็นพระอรหันต์อะไร อย่างที่ท่านโพธิรักษ์เข้าใจเลย เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการที่ หนึ่ง ถ้อยคําที่เข้าใจผิดก็ทําให้เรื่องราวสับสน กลายเป็นพูดกันคนละเรื่องละราว สอง ความหมายของธรรมะก็แปรไปหมด กลายเป็นว่าธรรมะนี้ผิดพลาดคลาดเคลื่อน พาหุสัจจะกลายเป็นเรื่องของพระอรหันต์ไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องของคนธรรมดา พระอรหันต์ไม่เป็นพหูสูต พหูสูตก็ต้องอย่างพระอานนท์หรือต่ำกว่านั้น อะไรอย่างนี้ซึ่งไม่ถูกต้องเลย นี้เป็นความคลาดเคลื่อน อย่างนี้ไม่ใช่เรื่องการตีความเป็นอันขาด ไม่มีทางเป็นเรื่องการตีความพระธรรมวินัย แต่เป็นเรื่องถ้อยคําในภาษาธรรมดา แล้วท่านทําอย่างนี้กับศัพท์ธรรมะมากมาย เที่ยวแปลแยกศัพท์เอาตามสบาย พอแยกแล้วเอามาจับแปลผิด มันก็กลายเป็นว่าถ้อยคํานั้นสื่อความหมายไปคนละเรื่อง ยิ่งเป็นเรื่องนามธรรมก็ยิ่งห่างไกลออกไปในแง่ของสัจจะ และคนอ่านเพราะเหตุที่เป็นนามธรรม ถ้าไม่เคยศึกษามา ก็ไม่รู้ ก็หลงไปตามง่ายๆ นึกว่ามันเป็นอย่างนั้น ตามที่ท่านอธิบาย คือนึกว่าแปลอย่างนั้นจริงๆ เหมือนพาหุสัจจะ นึกว่า สัจจะ อ้อ! แปลว่าสัจธรรมเห็นชัดๆ อะไรอย่างนี้ มันไม่ใช่เรื่องการตีความ แต่คนที่พูดไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ ไม่ได้รู้เรื่องว่าท่านทําอะไร ไม่เคยมาดูว่างานของท่านที่เราพูดถึงมันเป็นยังไงก็นึกเอาจากภาพที่มองเห็นได้ยินคร่าวๆ เผินๆ ว่าเป็นการตีความ นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เป็นปัญหาของเรื่องนี้ นี่ประเด็นที่หนึ่ง ไม่ถึงขั้นการตีความ คือ เป็นเพียงเรื่องถ้อยคําและเรื่องของภาษาที่เข้าใจผิดคําผิดความ

เรื่องนี้อาตมาได้เขียนส่งไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันแล้ว ต่อมา คุณสุนัย เศรษฐบุญสร้าง ได้เขียนไปตอบโต้ชี้แจงลงในมติชนเช่นเดียวกัน แต่ที่คุณสุนัยเขียนทั้งหมดยืดยาว ปรากฏว่าไม่ได้ตอบเรื่องที่อาตมายกขึ้นมาพูดเลย อาตมาพูดเรื่องหนึ่ง คุณสุนัยไปอธิบายอีกเรื่องหนึ่ง เช่น แทนที่จะชี้แจงให้เห็นว่า ท่านโพธิรักษ์เข้าใจความหมายของพหูสูตกับพาหุสัจจะถูกต้องอย่างไรก็ไม่ชี้แจง (ที่จริงไม่มีใครจะสามารถชี้แจงให้คําอธิบายของท่านโพธิรักษ์ในเรื่องนี้ให้กลายเป็นถูกต้องขึ้นมาได้) ก็ไปยกเอาสิ่งที่คล้ายๆ เป็นหลักวิชาสูงๆ ลึกซึ้งมาพูด จนคนอ่านอาจจะหลงประเด็นไปเลย ไม่รู้ว่าอาตมาพูดเรื่องอะไร เช่น คุณสุนัยกล่าวว่าไวยากรณ์บาลีเป็นของแต่งขึ้นภายหลัง เป็นทํานองจะให้เห็นว่าไวยากรณ์ไม่สําคัญ ไม่ต้องเชื่อถือไวยากรณ์ แต่ที่จริงก็คือ คุณสุนัยเข้าใจผิดระหว่าง ไวยากรณ์ กับ ตําราไวยากรณ์ ไวยากรณ์ซึ่งเป็นระเบียบของภาษานั้นมีมาแต่เดิมคู่กับภาษา ทําให้ภาษาเป็นภาษาที่คนพูดกันได้รู้เรื่อง ไวยากรณ์ที่ว่าแต่งขึ้นภายหลังนั้นหมายถึง ตําราไวยากรณ์ต่างหาก คือ นักภาษาประมวลไวยากรณ์ในภาษาบาลีออกมา จัดเรียบเรียงเป็นตําราไวยากรณ์ขึ้นภายหลัง เป็นคนละเรื่องกัน

ประเด็นที่สอง เลยการตีความไปแล้ว ก็คือ พุทธพจน์ หรือพุทธบัญญัติ ที่มีอยู่ชัดเจน แต่ท่านไม่ยอมรับและก็กลายเป็นว่า ท่านเหมือนกับบัญญัติธรรมวินัยขึ้นมาใหม่ ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ เรื่องที่เกิดเป็นปัญหากับท่านเอง คําว่า “อนุปสัมบัน” วินัยบัญญัติว่า ภิกษุอวดอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบัน ถ้ามีจริงต้องอาบัติปาจิตตีย์ คือ มันเป็นเรื่องของวินัยบัญญัติ วินัยนี่จะมีลักษณะเป็นรูปธรรมและจะต้องมีความชัดเจนตายตัวเหมือนกฎหมาย ในวินัยท่านไม่ได้พูดไว้ลอยๆ พอท่านบอกว่า ภิกษุอวดอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบัน ถ้ามีจริงเป็นปาจิตตีย์ พอตัวบทออกมาอย่างนี้ ข้อความต่อมาก็จะให้คำจำกัดความว่า “ภิกษุ” คือผู้ที่อย่างนั้นๆ “บอก” คือ อย่างนั้นๆ แม้แต่กิริยาบอก ท่านก็ให้คําจํากัดความ “อุตริมนุสธรรม” คืออย่างนั้นๆ และ “อนุปสัมบัน” คืออย่างนั้นๆ ทีนี้คําว่า อนุปสัมบัน ในพระวินัยปิฎกก็ให้คําจํากัดความไว้เสร็จว่า บุคคลอื่นเว้นภิกษุและภิกษุณีเสีย ชื่อว่าอนุปสัมบัน ซึ่งไม่ต้องดิ้น เพราะว่าวินัยจะต้องบัญญัติให้ชัดเจนเหมือนกฎหมายไม่ให้ดิ้นได้

ทีนี้ทั้งที่วินัยปิฎกว่าอย่างนี้ แต่ท่านโพธิรักษ์กลับพูดว่า อนุปสัมบันไม่ใช่มีความหมายอย่างนี้ อนุปสัมบันหมายถึงผู้ที่ยังมีภูมิธรรมไม่ถึงขั้น อุปสัมบันคือผู้มีภูมิธรรมถึงขั้น เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์ถ้ามีภูมิธรรมถึงขั้นแล้ว ก็ไม่เป็นอนุปสัมบัน กลายเป็นอุปสัมบันไป นี่คือการไม่ยอมรับพุทธบัญญัติ ไม่ใช่เรื่องการตีความ กรณีอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องสําหรับตีความ แต่เป็นเรื่องที่ว่าวินัยปิฎกกําหนดไว้ชัดเจนแล้วเพราะเป็นเรื่องวินัย ถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องสําหรับตีความได้ เราก็ไม่ต้องทําอะไรแล้ว ดิ้นไปได้ทุกอย่าง เช่นวินัยบัญญัติว่า ภิกษุลักทรัพย์ถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้เป็นอาบัติปาราชิก ถ้าเกิดจะตีความให้เป็นว่าถือเอาด้วยใจ หรือไม่ได้ให้ด้วยใจ ก็เป็นอาบัติปาราชิก ก็จบกัน อย่างนั้นก็หมายความว่า ไปเห็นของเขาชอบใจ จินตนาการไปว่าได้เอาของนั้นมาก็เป็นปาราชิก หรือ เขามอบถวายทําการยกให้ เขาให้ด้วยกายแล้ว แต่ใจเขายังไม่ได้ให้ก็เป็นปาราชิก อย่างนี้คงพิสูจน์กันยากเต็มที ยุ่งวุ่นวายไปหมด

เรื่องที่เป็นรูปธรรม เป็นวินัย ถ้าเอาไปตีความ และยิ่งตัวบทก็กําหนดไว้แล้ว วินัยเองก็บอกเอาไว้แล้ว ยังจะไปตีความ อย่างนี้ก็ตีความกันไปหมด วินัยบัญญัติว่าภิกษุฆ่ามนุษย์ต้องอาบัติปาราชิก สมมติว่าภิกษุองค์หนึ่งไปฆ่ามนุษย์เข้าจริงๆ บอกว่าโอ้ย! มนุษย์ในทางธรรมไม่ใช่หมายถึงเพียงแต่รูปกาย ต้องมีคุณธรรมสูง นายคนนี้มีคุณธรรมไม่ถึงระดับมนุษย์หรอก ฉันฆ่าได้ เพราะฉะนั้นไม่เป็นอาบัติปาราชิก มนุษย์แปลว่า บุคคลที่มีคุณธรรมสูง เพราะฉะนั้น คนนี้ฉันถือว่าไม่ใช่คน ฉันฆ่าได้ ไปลักทรัพย์ใครก็บอกว่า ทรัพย์มี ๒ อย่าง คือ ทรัพย์สามัญ กับ อริยทรัพย์ ทรัพย์ก็ตีความเป็นอริยทรัพย์อีก ฉันลักทรัพย์ธรรมดา ไม่ได้ลักอริยทรัพย์ เพราะฉะนั้นฉันไม่เป็นปาราชิก ทีนี้ก็ยุ่งไปใหญ่ ไม่ต้องพูดกันแล้วใช่ไหม หลักเกณฑ์ต่างๆ เป็นอันไม่มี วินัยต้องเป็นวินัย วินัยเป็นบทบัญญัติที่เป็นรูปธรรมเป็นกฎเกณฑ์เหมือนตัวบทกฎหมาย

อย่างในกฎหมายไทย เช่น กฎหมายแพ่ง เมื่อพูดถึงนิติบุคคลเขาก็ต้องบัญญัติไว้ว่า นิติบุคคลคืออะไร มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถเอาไปดําเนินคดีหรือดําเนินการอะไรได้ สมมติว่ามีคนหนึ่งเอาเรื่องทางกฎหมายนี้ไปตีความเอาเองโดยไม่ฟังที่เขาบัญญัติไว้ พอพูดถึงนิติบุคคล ก็เปิดพจนานุกรมเอาเลย อาตมาเคยยกตัวอย่างในหนังสือที่เขียนไปแล้ว นิติบุคคล พอเปิดพจนานุกรม บุคคล คือ คนที่เกิดมาแล้วคนหนึ่ง แล้วก็ นิติ แปลว่าแบบแผน นิติบุคคล ก็คือ คนที่มีแบบแผน เป็นอันว่าตีความเอาตามที่ต้องการได้ล่ะ ทีนี้ต้องการจะให้ทรัพย์สินแก่ใครสักคนหนึ่ง กฎหมายเขาบอกว่าจะต้องให้แก่นิติบุคคล เอ้อ! เราให้กับลูกของเราดีกว่า แล้วก็พูดเองซิทีนี้ ลูกของฉันก็เป็นคนมีแบบแผน อย่างที่อาตมายกตัวอย่าง ลูกของฉันตื่นนอนตามเวลา ไปโรงเรียนตามเวลา ไปเรียนหนังสือตามระเบียบของโรงเรียน กลับจากโรงเรียนตามเวลา กลับมาถึงบ้านกินข้าวเย็น เข้านอนตามเวลา เป็นคนมีแบบแผน เพราะฉะนั้นลูกของฉันเป็นนิติบุคคล ฉันก็ให้ทรัพย์กับลูกฉันได้จบกันก็ไม่ต้องพูดกันอีกแล้ว

กรณีโพธิรักษ์ไม่ใช่เรื่องการตีความ แต่ไปเอาเรื่องที่เขากําหนดชัดเจนอยู่แล้วในพระไตรปิฎก แล้วก็มาเที่ยวพูดเอาใหม่บัญญัติเอาใหม่ให้เข้ากับความมุ่งหมายของตัว ในกรณีนี้มันไม่ใช่เรื่องการตีความ แต่เป็นเรื่องของการไม่ยอมรับพุทธบัญญัติที่มีไว้ชัดเจนอยู่แล้ว และก็กลายเป็นการคัดค้านพุทธบัญญัติ ในกรณีของวินัย มันเป็นเรื่องของการบัญญัติใหม่กลายเป็นว่า ท่านโพธิรักษ์บัญญัติความหมายใหม่เข้าไปว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สรุปแล้ว สองเรื่องที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เรื่องของการตีความเลย พอจะชัดไหมสําหรับเส้นแบ่งของการตีความ

อาจเป็นไปได้ว่า คนที่เข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะไม่รู้ภาษาบาลี พออ่านผ่านๆ อย่างที่ท่านพูดว่า ดูๆ มันน่าจะเป็นไปได้ เพราะความไม่รู้หลักไวยากรณ์ของภาษา

(พระเทพเวที) ก็เหมือน demonstration กลายเป็น สถานีผี มองดูก็เป็นไปได้ เข้าทีใช่ไหม capacity เมืองหนึ่งที่ผลิตหมวก เอ้อ! คนนี้พูดเข้าที

แต่ที่ร้ายไปกว่านั้น อาตมาไม่ได้มองแค่นั้น อาตมามองถึงความไม่ซื่อตรง นี่สําคัญที่สุด การที่อาตมาเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องโพธิรักษ์ เริ่มจากการที่มีความรู้สึกเกิดขึ้นจากการอ่านข้อเขียนของท่าน แล้วเกิดความรู้สึกว่า ไม่ซื่อตรง ความรู้สึกที่เป็นจุดเริ่มสําคัญคือ เรามีความรู้สึกว่าถ้าไม่ซื่อตรงอย่างนี้แล้ว มาใช้ความไม่ซื่อตรงกับธรรมวินัยนี้จะเป็นความเสียหายอย่างยิ่ง และการที่ท่านทํากับพระธรรมวินัย แปลแยกศัพท์เอาเอง อาตมายิ่งมีความรู้สึกในเรื่องความไม่ซื่อตรงนี้มากขึ้น เช่นว่ามันเป็นไปได้ยังไงที่ท่านจะไม่รู้ว่าท่านไม่รู้ เมื่อท่านแยกศัพท์บาลีออกไปนั้น การกระทําอย่างนี้มันเป็นเรื่องรู้อยู่กับตัวเองเลยว่า เราไม่รู้หลักภาษาที่จะแยกได้เมื่อทําทั้งๆ ที่รู้ตัวอยู่ว่าไม่รู้แล้วทําไปได้อย่างสบายใจอย่างไม่รู้สึกละอายเลย มันเป็นความไม่ซื่อตรงอย่างยิ่ง สําหรับอาตมาถือว่าเป็นข้อที่น่ารังเกียจมาก ร้ายยิ่งกว่าตัวการกระทํานั้นอีก

เวลาท่านอธิบาย ท่านแสดงเหมือนกับว่า ทําได้คล่องเต็มที่เลย ศัพท์อะไรมาฉันแยกได้หมด โดยที่ว่าผิดถูกไม่ต้องคํานึง แล้วก็หันเหความหมายไปได้ มันก็พาไปจนได้แหละ ลงคนจะอธิบาย มันก็พูดไปให้เข้าในจุดที่ตัวเองต้องการ จะถูกไม่ถูกไม่รู้ คือถ้าคนมีวิธีพูด มันมีเป้าอยู่แล้ว มันทําให้คนฟังที่ไม่รู้เรื่อง เห็นเป็น เอ้อ! เข้าทีๆ ได้หมด เพราะฉะนั้นประเด็นเรื่องความไม่ซื่อตรง จึงถือเป็นเรื่องสําคัญมาก

มีการมองว่าในการทํางานครั้งนี้ของท่าน จับจุดพระธรรมวินัยเป็นสําคัญ โดยลืมมองทางด้านสังคม เศรษฐกิจ บางคนวิจารณ์เลยไปอีกว่า พระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านั้น กําหนดในปริบทสังคมในช่วงสองพันกว่าปีมาแล้ว เพราะฉะนั้นในปัจจุบันถ้ามีอะไรที่จะต้องปรับเพื่อให้สอดคล้องก็ควรปรับ ขอกราบนมัสการถามท่านว่ามีความคิดเห็นต่อเรื่องเหล่านี้อย่างไร

(พระเทพเวที) เรื่องมองในแง่สังคมที่จริงก็พูดอยู่เสมอ เพราะว่าเรื่องนี้อาตมาพูดอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะเรื่องความเสื่อมโทรมของการพระศาสนาโดยสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เราพูดมานานแล้ว แต่จะต้องชัดเจนว่าขณะนี้เรากําลังพูดเรื่องอะไร ไม่ใช่มองอย่างพร่ามัวสับสน เมื่อพูดเรื่องใด เราก็ต้องเจาะเรื่องนั้นให้ชัด จุดไหนคนยังไม่เข้าใจ เราเน้นที่จุดนั้น โดยเฉพาะจุดที่เป็นแกนกลางของเรื่อง เฉพาะในกรณีนี้เรื่องอะไรที่ใหญ่ที่สุด เป็นแกนของเรื่อง ก็คือเรื่องหลักการของพระพุทธศาสนาก็ต้องเน้นจุดหลักการของพระศาสนา ถ้าหลักการหมดไปแล้วพระศาสนาก็ไม่มี ส่วนเรื่องปริบทสังคมอะไรต่ออะไร เป็นเรื่องเก่าที่เราพูดอยู่เสมอในกรณีต่างๆ ทั่วไป แม้แต่ในกรณีนี้อาตมาก็พูดอยู่ แต่ยังไม่ถึงเวลาแจกแจง เพราะแม้แต่จุดแกนคนก็ยังพร่าสับสน ที่จริงนั้นเพราะว่ามีความเสื่อมโทรมของกิจการพระศาสนา ความย่อหย่อนอ่อนแอในวงการคณะสงฆ์ มีสภาพขาดการศึกษา จึงทําให้มีปัญหาอย่างนี้ขึ้น ทําให้แก้ไขได้ยากก็พูดอยู่ แต่ถือว่าเป็นเรื่องปริบท เราจะต้องจี้ให้ถูกว่าตัวประเด็นอยู่ที่ไหน เพราะเรามองในแง่ว่า คนจับประเด็นของเรื่องไม่ถูก จึงต้องย้ำตัวประเด็นไม่ใช่ไม่มองแง่อื่น พูดสั้นๆ ว่า จุดกลางของเรื่องก็ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไรแล้วทําเป็นว่าจะพูดเรื่องปริบท เพราะอย่างนี้แหละเรื่องมันถึงได้วุ่น

ถ้าจะพูดถึงในแง่อื่น ก็ต้องเน้นในตอนที่จะแก้ปัญหา ตอนแรกต้องทําความเข้าใจแกนของเรื่องก่อน ตอนแก้ปัญหาจะมองเหตุปัจจัยให้ทั่วเราจึงมาพูดเรื่องปริบท ส่วนเรื่องหลักพระธรรมวินัยที่ว่าจะปรับไม่ปรับ อันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง นั่นแหละคือเรื่องการตีความ คนที่พูดอย่างนี้ ก็เพราะไปเข้าใจผิดในเรื่องการตีความ สําหรับขั้นการตีความที่จะให้เข้ากับปริบทของสังคมปัจจุบันนั้นจะต้องเข้าใจว่า เราจะทําอย่างนั้นได้ ก็ต้องมีตัวหลักการที่แน่นอนไว้ก่อน ถ้าเราไม่สามารถรักษาหลักการ (พระธรรมวินัย) นี้ไว้ได้แล้ว ทุกอย่างก็เคลื่อนคลาด จะไปพูดว่า ไม่เห็นความสําคัญของตัวหลักการนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องยึดตัวพระธรรมวินัยนี้ไว้ก่อน คือการรักษาตัวพระศาสนาไว้ อันนี้เป็นสิ่งสําคัญอันดับแรก นี่กลับไม่เห็นความสําคัญ และนี่ก็คือความสับสนกันและแยกไม่ออกระหว่างตัวหลักการที่แท้ ซึ่งจะต้องดํารงรักษาไว้ กับการนําเอาหลักการนั้นมาให้ความหมายแก่สังคมหรือปัญหาปัจจุบัน เขาจะเอาสองอันเป็นอันเดียว ก็กลายไปเป็นการแก้หลักการของพระศาสนา แก้ธรรมวินัยให้เข้ากับสังคมปัจจุบันอย่างนี้พระพุทธศาสนาก็หมดสิ้นโดยวิธีการอย่างนี้ไม่มีเหลือ นี่เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไม่รู้จักแยกเอง

เพราะฉะนั้น ต้องแยกเป็น ๒ ประเด็น ขณะนี้ในกรณีโพธิรักษ์ต้องจับให้ได้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ปัญหาอยู่ที่ต้องการรักษาหลักการของพระธรรมวินัย หรือรักษาตัวพระพุทธศาสนาไว้ให้ได้ ส่วนการปรับใช้เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ถ้าเรารักษาตัวจริงไม่ได้ การที่จะนํามาใช้ประโยชน์ก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าพระพุทธศาสนามีประโยชน์มีความหมายจริง ก็จะปรับใช้ได้เรื่อย หากพระพุทธศาสนาไม่มีประโยชน์จริงหรือไม่เป็นสัจธรรม ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประเด็นจะเปลี่ยนไปเป็นว่าจะยังเอาไว้หรือจะทิ้งไปเสียเลย

อีกอย่างหนึ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความไม่ซื่อตรง เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเท็จหรือความจริง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรมขั้นพื้นฐานทีเดียว ถ้าเขารู้อยู่กับตัวว่าหลักการของพระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นอย่างนั้น แต่เขาก็จะพูดให้เป็นอย่างนั้นเพื่อสนองความต้องการส่วนตัวของเขา หรือเพื่อสนองอุดมการณ์ของกลุ่มของเขาก็ตาม อย่างนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องการตีความ และไม่ใช่เรื่องการปรับใช้ให้เหมาะกับปริบทของสังคม แต่เป็นเรื่องของความไม่ซื่อตรงและเป็นการบิดเบือนหรือหลอกลวง ถ้าเขาเห็นว่าหลักการของพระพุทธศาสนาไม่จริงไม่ถูกต้อง เขาก็ควรพูดแสดงความเห็นออกตรงๆ อย่างนั้น

เรื่องนี้จะพูดชี้แจงไปก็จะยืดยาวมาก ขอพูดสั้น ๆ ว่า

๑. จะต้องว่ากันตรงไปตรงมา และว่ากันให้ชัดในแต่ละเรื่องแต่ละแง่ โดยเฉพาะจะต้องทําจุดแกนกลางของเรื่องให้ชัดเจนก่อน แล้วโยงไปหาเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจึงจะไม่พร่ามัวสับสน และไม่สร้างความผิดพลาดซ้อนขึ้นมาอีก

๒. อาตมามองปัญหาโพธิรักษ์เป็นเพียงบทแทรกและเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของปัญหาในสังคมของยุคสมัย ถ้ามองในแง่ภาพรวมของปัญหาสังคม และเศรษฐกิจ อาตมาจะไม่ให้ความสําคัญมากนัก เราจะเอาไปพูดแทรกบ้าง ในเรื่องปัญหาสังคมวงกว้างนี่ เราพูดอยู่แล้วอีกทีหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่เป็นเรื่องเด่นใหญ่โตที่เราจะเอาปัญหาวงกว้างลงมาพ่วงตาม ความสําคัญเฉพาะของปัญหานี้อยู่ที่เรื่อง พระธรรมวินัย เป้าของเราอยู่ที่นั่น จึงมุ่งทําความเข้าใจกันในเรื่องนี้ให้ชัดเจน

๓. อาตมากลับมองว่า ความสําคัญของปัญหาโพธิรักษ์ในแง่สังคม อยู่ที่ท่าทีและการปฏิบัติของสังคมต่อปัญหานี้เอง โดยเฉพาะความสําเร็จหรือความล้มเหลวของการศึกษาในการเตรียมคนให้พร้อมที่จะแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคม เราประสบปัญหากับคนในระดับที่เรียกว่า ปัญญาชน ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้นกลับเป็นพวกที่พร่ามัวสับสนเสียเอง ซึ่งนอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้วยังพาคนอื่นให้สับสนยิ่งขึ้น สภาพที่ปรากฏชัดคือ ความไม่ตรงไปตรงมาต่อการพิจารณาปัญหา การไม่มุ่งสู่จุดประเด็น และการไม่ทําความชัดเจนในแต่ละเรื่องแต่ละแง่ ให้กระจ่างแจ้งเป็นเรื่องๆ เป็นแง่ๆ ไป เมื่อแต่ละเรื่องแต่ละแง่ไม่ชัดเจนแล้วเอามาโยงกันก็กลายเป็นความสับสนคลุมเครือ ทําให้แก้ปัญหาของชีวิตและสังคมไม่ได้ ในการที่จะแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมกันต่อไป จะต้องฝึกคนให้คิดให้ชัดพูดให้ชัดตรงเรื่องและชัดเจนในแต่ละเรื่องแต่ละแง่ เมื่อแต่ละเรื่องแต่ละแง่ชัดเจนแล้วจับมาโยงกัน ก็ไม่สับสนคลุมเครือ การแก้ปัญหาจึงจะสําเร็จด้วยดี

ก่อนหน้าที่จะมีการเคลื่อนไหวกรณีสันติอโศก กลุ่มสันติอโศกเคยถูกจัดอยู่ในกลุ่มพุทธใหม่ อย่างเช่นสํานักสวนโมกข์ของอาจารย์พุทธทาส สํานักวัดพระธรรมกาย อะไรต่างๆ วันดีคืนดี ก็มีหนังสือ มีอะไรต่างๆ ออกมาวิพากษ์สันติอโศก แยกออกมาว่านี่ไม่ใช่พุทธใหม่ นี่กลายเป็นกลุ่มที่กําลังทําผิดพระธรรมวินัย แล้วก็ดําเนินการอย่างเป็นขั้นตอน พอเราหันกลับมามองด้านพุทธศาสนิก ซึ่งแน่นอนการรับรู้ไม่มากนัก ปัญหาประการหนึ่งที่เกิดขึ้นมาก็คือความสับสน ปัจจุบันก็ต้องมาแก้ไขกันเรื่องความสับสน คําถามก็คือ มีทางใดไหมที่ว่า ถ้าเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นอีก จะมีทางป้องกันไม่ให้เกิดความแปรปรวนอย่างนี้ หรือให้น้อยลง หรือไม่ปล่อยให้ปัญหาลุกลาม

(พระเทพเวที) อย่างนี้เราต้องมองปัญหาหลายชั้น แน่นอนล่ะในแง่ของการแก้ไขปัญหาพื้นฐาน ก็คือต้องแก้ไขแต่ต้นมือ ไม่ใช่ปล่อยให้เรื่องลุกลามมา ซึ่งการที่เป็นอย่างนี้ เราก็ย่อมโทษคณะสงฆ์ด้วย ในแง่ความย่อหย่อนอ่อนแอในด้านการปกครอง การพยายามหลีกหลบปัญหาโดยคิดไปว่า เรื่องที่เกิดขึ้น เดี๋ยวมันจะเงียบหายไปเอง อะไรเหล่านี้ จนกระทั่งเรื่องบานปลายลุกลาม อันนั้นก็เป็นด้านหนึ่งในแง่ของการแก้ปัญหาตามหลักธรรมดา เป็นเรื่องพื้นฐาน

ทีนี้ในแง่ระยะยาว มันส่อถึงเรื่องระดับความเข้าใจของประชาชน แม้ในหมู่ชาวพุทธ ในแง่ของความรู้ความเข้าใจ ในแง่ของทัศนคติอะไรต่างๆ แล้วก็พื้นฐานกว่านั้น แม้แต่ในหมู่พระสงฆ์เอง ในเรื่องการศึกษา สิ่งเหล่านี้มันพันไปหมด ว่าเฉพาะในแง่ของความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เราจะเห็นได้ว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจน้อย เมื่อเรื่องเกิดขึ้นมาแล้ว ก็สับสนไม่สามารถแยกประเด็นได้ ไม่สามารถจับจุดของปัญหาได้ ทําให้สับสนไขว้เขวมาก แล้วในแง่ของทัศนคติก็คือว่า ชาวพุทธเรามีปัญหาอันหนึ่งที่อาตมาย้ำอยู่เสมอ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับเรื่องสังคมนี้มาก ก็คือท่าทีของการที่เห็นการวางเฉยเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง คือเมื่อมีอะไรเกิดขึ้น ถ้าหากว่าเฉยไม่เอาเรื่องเอาราวก็ถือว่า มีกิเลสน้อย ซึ่งเป็นการผิดหลักการของพระพุทธศาสนามาก

เราจะเห็นว่า พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างของการมีท่าทีที่ว่า ให้เอาใจใส่ในความสําคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งจะต้องแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์และส่วนรวม ต้องพยายามคิดแก้ไข ตื่นตัวลุกขึ้นมาแก้ไขอย่างหลักอปริหานิยกรรม ก็เป็นตัวอย่างของการที่ว่า มีเรื่องแล้วต้องมาประชุมกันช่วยกันคิดแก้ปัญหา หรือว่าพระอรหันต์ทั้งหลาย เวลามีเรื่องมีปัญหาแก่พระธรรมวินัย กระทบกระเทือนพระธรรมวินัย ท่านจะไม่อยู่นิ่งเฉย จะเป็นผู้เริ่มต้น พระอรหันต์จะเป็นผู้เริ่มต้นในการที่จะยกเรื่องขึ้นมาพิจารณาในการแก้ปัญหา ในการสังคายนา พระอรหันต์ก็ทําเป็นตัวอย่างมาแล้ว

แต่ในยุคนี้มองได้ว่า ชาวพุทธไทยเราน่าจะมีทัศนคติที่คลาดเคลื่อนจากหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนาคือ ไปมองเห็นการเฉยเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งการเฉยนี้อาจจะเป็นการเฉยด้วยความไม่รู้ที่ทางพระเรียกว่า อัญญานุเบกขา ไม่ใช่เฉยพร้อมที่จะปฏิบัติซึ่งเป็นอุเบกขาที่แท้จริง เฉยโดยธรรมด้วยปัญญา เฉยด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจความเป็นจริงและพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาในจังหวะของมัน อันนี้เป็นเรื่องของทัศนคติ

พื้นฐานไปกว่านั้นก็คือ พระสงฆ์เอง อาตมาได้พูดอยู่เสมอว่า สภาพการพระศาสนาที่ผ่านมาเสื่อมโทรม จะต้องเร่งแก้ไขปรับปรุงรากฐานของปัญหาก็คือ สภาพที่ขาดการศึกษา พระเณรจํานวนมากบวชเข้ามาแล้วไม่ได้เล่าเรียนธรรมวินัย การจัดการศึกษาไม่ค่อยได้มีการเร่งรัดเอาใจใส่กันอย่างจริงจัง

พระเณรบวชเข้ามาแล้ว หนึ่ง ความรู้สึกมีส่วนร่วมในพระศาสนา เป็นเจ้าของศาสนา มีความรักต่อพระศาสนาก็ไม่ค่อยมี มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในวงการพระศาสนา เช่น อย่างกรณีโพธิรักษ์นี้ ก็ไม่รู้ไม่สนใจ สอง ความตระหนักในหน้าที่ของตนต่อชีวิตของตน ต่อวัดของตน ต่อพระศาสนา ต่อประชาชนไม่ค่อยมี ความรู้ตระหนักในหน้าที่ หน้าที่ของเราต่อประชาชนคืออะไร การให้ความรู้ความเข้าใจให้ธรรมะไม่ค่อยมี และอาจเข้าใจผิด ถึงกับว่า ตนนี้พอบวชมาเป็นผู้รับทานที่ชาวบ้านถวาย และเมื่อเขาถวาย เขาก็ได้บุญไป มองแค่นี้ไม่คิดว่าตนมีหน้าที่ในการให้ธรรม เป็นผู้นําทางจิตใจ และเป็นผู้นําทางปัญญาของประชาชน ถ้าอย่างนี้แล้วก็เป็นความเสื่อมในความตระหนักในหน้าที่ เราได้เห็นว่ามีการขาดอันนี้มาก แล้วก็สามการไม่มีจิตสํานึกในความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ต่อหน้าที่เหล่านี้ ปัจจุบันนี้ก็ค่อนข้างชัดอยู่แล้วว่า สภาพนี้เกิดขึ้นทั่วๆ ไป ฉะนั้นมันจึงเป็นปัจจัยพื้นฐาน เป็นโอกาสที่จะให้ช่องแก่การขยายตัวของปัญหา

ทีนี้สิ่งเหล่านี้เกิดจากอะไร ก็เกิดจากการให้การศึกษาที่ผิดพลาดหรือย่อหย่อนอ่อนแอ ตลอดจนการไร้การศึกษา บวชเข้ามาแล้วไม่ได้เล่าเรียน ในแง่การให้การศึกษาที่ผิดพลาด ปัญหาอยู่ที่หลักสูตรน่าจะบกพร่องที่ไม่สามารถสร้างจิตสํานึกอะไรต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมาได้ นอกจากนั้นสภาพความย่อหย่อนในทางการศึกษานี้ ยังส่งผลสะท้อนตามมาอีก คือ

หนึ่ง เมื่อตัวเองไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัย บวชเข้ามาแล้วก็ไม่รู้ว่า ตัวเองจะต้องปฏิบัติอะไรยังไง ไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด เมื่อไม่มีความรู้ที่จะเป็นตัวนําในการประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็ปฏิบัติไม่ถูก ไปปฏิบัติผิด เมื่อปฏิบัติผิดพลาดไป ก็เกิดความเสื่อมเสียแก่ส่วนรวม ตนเองก็ไม่ได้ประโยชน์จากธรรมวินัยจากพระศาสนา

สอง นอกจากตัวเองไม่ได้รับประโยชน์จากพระศาสนาและไม่สามารถเอาพระศาสนามาทําประโยชน์แก่สังคมได้แล้ว นอกจากนั้น เมื่อตัวเองประพฤติผิดพลาดเสื่อมเสียแล้ว ต่อมาคนที่ไม่รู้จักพระพุทธศาสนาหรือบุคคลภายนอกมาเห็นความเสื่อมนี้ก็ยกขึ้นโจมตี ในการยกขึ้นมาโจมตีนั้น ก็จะมีผู้โจมตีด้วยหวังดีบ้าง ผู้โจมตีโดยไม่หวังดีบ้าง ผู้โจมตีโดยไม่หวังดี ก็มองในแง่ว่า เอามาเป็นเครื่องมือในการที่จะสนองประโยชน์ของเขา สนองความมุ่งหมาย ไม่ว่าจะเป็นการทําตัวของเขาให้เด่นขึ้น เชิดชูหมู่ของเขาเองขึ้นก็ตาม หรือว่าจะทําลายประการใดประการหนึ่งก็ตาม ก็ทําได้ และสิ่งที่เขาหยิบยกขึ้นมาเป็นเครื่องโจมตีนั้น ก็เป็นสภาพที่เป็นจริงเสียด้วย เมื่อเขาโจมตี คนก็เห็นตามว่าเป็นอย่างนั้น ก็กลายเป็นเหยื่อของการโจมตี

สาม พอเขาโจมตีแล้ว ตัวไม่มีการศึกษา ไม่มีความรู้ทางธรรมวินัย ตัวเองก็ไม่สามารถไปตอบชี้แจงเขาได้ เพราะไม่มีความรู้ที่จะชี้แจง ก็เป็นผลเสียซับซ้อน

สี่ ต่อมาบุคคลกลุ่มนั้นนอกจากจะโจมตีแล้ว เขายังแสดงหลักคําสอนอะไรของเขาที่ผิดพลาดขึ้นมาด้วย เมื่อพระเณรไม่มีการศึกษา ก็ไม่รู้อีกที่จะไปวินิจฉัยว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิดก็กลายเป็นผลเสียประการต่อมา คือไม่สามารถไปแก้ไขสิ่งผิดพลาดที่เกิดขึ้นในพระศาสนา เป็นความเสียหายสืบต่อกันเป็นทอดๆ เต็มไปหมด อันนี้ก็คือสภาพที่เป็นอยู่ ถ้าเราจะมองในแง่การแก้ปัญหา เราจะต้องมองในวงกว้างขึ้น

นอกจากปัญหาภายในคณะสงฆ์อย่างที่ท่านให้ความเห็นมาแล้ว พุทธบริษัทอื่นๆ นอกจากพระสงฆ์ โดยเฉพาะพุทธศาสนิกไทยเรา มีปัญหาอะไร หรือว่ามีส่วนที่ทําให้เกิดปัญหาเหล่านี้ด้วยใช่หรือไม่

(พระเทพเวที) ในแง่มองมุมกว้างเกี่ยวกับสังคมไทยทั่วไป อาตมามองดูว่า ประชาชนตลอดจนกระทั่งผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมนี้ ทั้งที่เป็นผู้นําทางสติปัญญา และผู้นําในทางการเมือง ได้เกี่ยวข้องและมีความรู้ความเข้าใจกับเรื่องนี้อย่างไร และก็ได้มองเห็นว่า คนไม่ค่อยเข้าใจเรื่องดี ทําให้มองภาพสะท้อนไปได้หลายอย่าง คือ เรามองว่าประชาชนทั่วไปในระดับหนึ่ง ก็ไม่มีแนววิธีปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูล กลายเป็นตัวตื่นเต้นตัวกระโดดโลดเต้นไปตามข่าวสารข้อมูลที่มากระทบเข้าถึงตัว โดยไม่เป็นเจ้านายของข่าวสารข้อมูล ที่จะเป็นผู้สามารถที่จะไปพินิจพิจารณาสืบสาวและสืบค้นหาความจริงในสิ่งที่เป็นข่าวสารข้อมูลนั้น ลักษณะอย่างนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะว่าในเวลานี้เรากําลังก้าวเข้าสู่ยุคที่เรียกว่าข่าวสารข้อมูล ถึงแม้ประเทศไทยจะยังไม่ได้มีความเจริญอะไรมากในด้านนี้ แต่ก็กําลังตามเขาในเรื่องเหล่านี้

ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วกําลังก้าวเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูล เรากําลังรับยุคนี้ด้วยท่าทีและความไม่พร้อม ท่าทีที่ไม่ถูกต้องและสภาพจิตใจและปัญญาที่ไม่พร้อม คือมีลักษณะของการตื่นเต้นตามข้อมูลเท่านั้น ไม่ใช่ลักษณะที่ว่าเป็นผู้สามารถที่จะไตร่ตรองรับข้อมูลอย่างเป็นเจ้าเป็นนายของข้อมูล ที่จะรู้เข้าใจเท่านั้น และนําไปใช้ประโยชน์ได้ถูกต้อง ทั่วๆ ไปก็เป็นอย่างนี้

คราวนี้เองในแง่ของคนที่รับผิดชอบในทางสังคม แม้แต่ในระดับของปัญญาชน คนระดับนี้ก็รับรู้ข่าวสารข้อมูล โดยมีลักษณะคล้ายประชาชนเข้าไปอีก คือ ไม่ได้มีการสืบสวนค้นคว้าหาความจริงในเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อจะแสดงออกว่า ตนมีความรับผิดชอบต่อสังคม การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่อีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นพื้นฐานที่สําคัญกว่านั้นก็คือ การแสดงออกอย่างมีความรับผิดชอบและอย่างได้ผล การที่จะได้ผลอย่างที่ว่าและมีความรับผิดชอบก็คือ การที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจเรื่องนั้นเป็นอย่างดี ในขั้นที่หนึ่ง เราอาจจะรับข่าวสารข้อมูลจากสื่อมวลชนเป็นต้น แต่แค่นี้พอหรือ สําหรับจะรับผิดชอบต่อสังคมและจะแสดงออก เมื่อถึงขั้นจะแสดงออก เราจะต้องศึกษาเรื่องนั้นให้ชัดเจน ใครว่ายังไง อันนี้ มีเหตุ มีผล มีเรื่องราวเป็นมายังไง ถ้าเป็นปัญหาเกี่ยวกับธรรมวินัย ธรรมวินัยคืออะไร เป็นอย่างไร ปัญหาที่เกิดแก่ธรรมวินัย คือปัญหาอย่างไร ที่ท่านโพธิรักษ์ทําอย่างนี้เป็นยังไงจึงเรียกว่าเป็นปัญหาธรรมวินัย คนเหล่านี้โดยมาก แม้แต่ผู้ที่เรียกตนเองว่าปัญญาชน เท่าที่เห็นยังไม่ได้ศึกษาเรื่องราวก็พูดออกไป เป็นการทําให้ประชาชนยิ่งสับสนไขว้เขวมากขึ้น แล้วกลายเป็นตัวนําประชาชนไปในทางที่ผิดพลาด

อันนี้ คือสภาพสังคมในวงกว้าง ทําให้เห็นว่า เราเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลกันอย่างไร ถ้าก้าวหน้าไปในลักษณะนี้แล้วจะไปรอดหรือ จะนําสังคมไปได้ด้วยดีอย่างไร อันนี้ก็เป็นเครื่องโยงไปถึงการศึกษาของคนและประชาชนตลอดจนกระทั่งการสร้างปัญญาชนต่อไปด้วยว่า เราควรจะให้การศึกษาแก่ปัญญาชนอย่างไร เพื่อสร้างคนให้พร้อมที่จะมาดําเนินชีวิตอย่างถูกต้อง และสามารถนําสังคมของตนเองในยุคของข่าวสารข้อมูล นี้ก็เป็นข้อพิจารณาต่างๆ ที่เราต้องมอง เพราะว่านักศึกษาและปัญญาชนต่างๆ เวลาพูดถึงเรื่องของวิชาการสมัยใหม่ อาจจะต้องพยายามศึกษาเรื่องให้ชัดเจนหน่อย แต่เวลามองเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา อาจจะเห็นเป็นเรื่องเก่าๆ บางคนอาจจะนึกว่าเป็นเรื่องล้าหลัง เป็นเรื่องไม่สลักสําคัญนัก จะพูดอะไรก็ได้ โดยนึกเอาว่า อาจจะเป็นอย่างนั้น โดยไม่ต้องไปศึกษาให้เข้าใจ

สมัยหนึ่ง ในขณะที่เรากําลังก้าวเข้าสู่ยุคของความเจริญและเราตามฝรั่งมาก เราเห็นวัฒนธรรมอะไรต่ออะไรของเราเป็นเรื่องล้าหลัง เป็นเรื่องเก่าๆ จะเห็นชัดว่า คนที่ถือว่าเป็นผู้ที่สมัยใหม่ มีสติปัญญาเป็นผู้นํา เป็นปัญญาชนในสมัยนั้น ถ้าพูดถึงเรื่องศาสนาในลักษณะที่งกๆ เงิ่นๆ ผิดๆ พลาดๆ ให้มันวิปริตผิดเพี้ยนแล้วรู้สึกโก้ มันเคยมีอย่างนี้น่ะ คือถ้าพูดเรื่องศาสนา เรื่องเก่าๆ ของตัวเองแล้ว เพราะฉันเป็นคนมีความรู้แบบสมัยใหม่ทันต่อโลกตะวันตกอะไรนี่ เพราะเอาความหมายของความเจริญไปผนวกเข้ากับความเป็นสิ่งที่มาจากตะวันตก ถ้าเป็นเรื่องเหล่านั้น พูดออกมาด้วยความรู้สึกโก้ว่าฉันรู้ แต่ถ้าพูดถึงสิ่งที่เป็นเรื่องของตัวเอง เรื่องในประเทศ เรื่องศาสนา ถ้าแสดงว่าไม่รู้นี่โก้ พูดออกมาโดยผิดๆ พลาดๆ งกๆ เงิ่นๆ ทําให้มันเพี้ยนไปบ้างนี้โก้ดี

แต่ถ้าเป็นฝ่ายคนในวัฒนธรรมเดิมของไทย ถ้าไปพูดเรื่องสมัยใหม่แล้วจะต้องระวังตัว พูดผิดๆ พลาดๆ นิดหน่อย แล้วถูกดูถูกดูหมิ่นใช่ไหม แล้วจะเอาเรื่องของตัวเองที่รู้ดีไปพูดเขาก็ไม่ให้เกียรติ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ทันสมัยใช่ไหม อย่างนี้เป็นต้น สภาพอย่างนี้อาจจะหลงเหลืออยู่บ้างเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขกันต่อไป รวมแล้วก็เป็นเรื่องของการที่ว่าจะเตรียมคนให้พร้อมสําหรับการก้าวไปสู่สังคมในยุคของข่าวสารข้อมูลอย่างไร ให้เป็นการก้าวไปด้วยดี นําสังคมไปในทางที่จะแก้ปัญหาได้หรือสร้างสรรค์ให้ก้าวหน้าไปในทางที่ถูกต้องต่อไป

กรณีสื่อมวลชน เพราะว่าบทบาทของสื่อมวลชนช่วงเหตุการณ์เรื่องสันติอโศกนี้ สื่อมวลชนเข้ามามีบทบาทค่อนข้างสูงและเป็นบทบาทที่กระทบต่อสังคมในวงกว้าง ตามทรรศนะของท่านแล้ว มองว่า บทบาทของสื่อมวลชนต่อการพระศาสนา ควรจะมีบทบาทอย่างไร แล้วถ้าสรุปจากเหตุการณ์ครั้งนี้ มีอะไรไหมที่คิดว่าสื่อมวลชนจะต้องปรับปรุงบทบาทของตนเอง

(พระเทพเวที) สื่อมวลชนก็มีอย่างหนึ่ง คือความรู้สึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง การทําหน้าที่ให้ถูกต้องให้ได้ผลดีแก่สังคม ความรู้สึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน รวมไปถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ความรับผิดชอบต่อประชาชน ถ้ามีจิตสํานึกนี้อยู่เสมอ หนักแน่นในจิตสํานึกนี้เด่นขึ้นมา ก็จะทําหน้าที่ได้ดีขึ้น มีเรื่องที่พึงระวังในแง่หนึ่งก็คือ เรื่องผลประโยชน์จากการขายข่าว อย่าเป็นเพียงแต่ให้ได้ข่าวตื่นเต้นมาล่อใจคนซื้อ ในแง่หนึ่งเราก็เห็นใจ แต่ก็เป็นลักษณะที่มีอยู่เรื่อย เราควรจะทําอย่างไรให้ตัวจิตสํานึกในการทําหน้าที่มันเด่นขึ้นมาเป็นตัวคุมการหาผลประโยชน์ ถ้าทําได้อย่างนั้น มันก็จะดีขึ้น อย่างน้อยก็จะเป็นตัวยั้งให้การหาผลประโยชน์จากข่าวนั้นไม่ถึงกับเกิดผลเสียหาย คือว่า เอาล่ะ ในแง่ของการขายข่าวตื่นเต้น ถ้าความตื่นเต้นนั้นไม่เสียหายก็ขายได้ดีขึ้น และไม่กระทบผลประโยชน์ของส่วนรวม อันนี้เป็นเรื่องสําคัญ คือถ้ามีความรู้สึกตระหนักในความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และต่อสังคม ต่อประชาชน ก็ทําให้มีความระมัดระวังในการเสนอข่าวให้เป็นไปด้วยความเข้าใจถ่องแท้ถูกต้อง และก็เป็นทางของการใช้ปัญญาพินิจพิจารณาเรื่องให้รอบคอบขึ้น

นอกจากนั้น เมื่อไปสัมภาษณ์ก็มักจะไปสอบถามเพียงหาถ้อยคําที่จะจี้ความสนใจเท่านั้น เพื่อให้คนตื่นเต้น แต่ไม่เข้าถึงความจริงเลย หมายความว่า เมื่อเข้าไปหาบุคคลหรือแหล่งข่าวก็ต้องซักต้องล้วงเอาความจริงให้ได้ข้อมูล ให้ได้เหตุได้ผลเพื่อเป็นทางเจริญปัญญาของประชาชนด้วย เพราะว่าสื่อมวลชนมีบทบาทในการให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างสําคัญยิ่งในปัจจุบัน การให้การศึกษา ก็หมายถึง การที่จะช่วยเป็นทางพัฒนาปัญญาของประชาชน ให้ประชาชนได้ช่องได้โอกาสที่จะได้ใช้ปัญญาพิจารณา โดยมีข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน ตรงประเด็น เข้าถึงแก่นของปัญหา

ในแง่ของพุทธศาสนิกเอง เมื่อจําเป็นต้องรับข่าวสารทุกวัน เมื่อกี้ท่านได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับการเป็นเจ้านายของข่าวสารข้อมูลแล้วส่วนหนึ่ง อยากให้ท่านแจงให้เป็นรูปธรรมเพิ่มเติมสักนิดว่า ท่าทีต่อการรับข่าวสารข้อมูลควรจะเป็นอย่างไร

(พระเทพเวที) หนึ่งก็คือ รู้เท่าทันต่อการนําเสนอข่าว ถ้าเป็นเรื่องตื่นเต้น ก็ไม่โวยวายไป ตามรู้ทันว่านี่เป็นการเขียนข่าวให้ตื่นเต้น คนมักมีลักษณะตื่นตูม พอเขาเสนอข่าวตื่นเต้นมาตัวก็ตื่นตูมไปเลย แล้วก็เอาข่าวนี้ไปพูดไปขยายอีก คือ มีลักษณะของการรับข่าว ๒ อย่าง คือ หนึ่งรับแล้วตื่นตูมไปตาม สองรับเอามาเป็นข้อมูลในการพินิจพิจารณาใช้ปัญญา โดยระงับการแพร่กระจายความตื่นเต้นออก แต่หันกลับมาคุมความตื่นเต้นแล้วก็พิจารณาหาข้อเท็จจริงและสืบสาวราวเรื่อง

ขั้นต่อไปคือ การที่ว่าไม่หยุดอยู่แค่ข่าวสารข้อมูลที่มาจากสื่อมวลชน แต่จะหาความรู้ความเข้าใจอะไรที่นอกเหนือจากนั้นต่อไป นอกจากนั้นก็คือ ถ้าหากว่าเราจะต้องมีการแสดงออก ก็ต้องมีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้นในการที่จะหาความจริงให้ได้ชัดเจนมากกว่านั้น เราจะหาได้อย่างไร ถึงตอนนี้เราไม่โทษแต่ประชาชน หรือแม้แต่ปัญญาชน เราต้องโทษแหล่งที่ควรจะเป็นผู้ให้ข่าวสารข้อมูลด้วย

อาตมามองว่า ทางสถาบันสงฆ์เอง ไม่ได้มีความพร้อมที่จะให้ข่าวสารข้อมูล เมื่อเขาต้องการความรู้ความเข้าใจ เราก็ต้องพร้อมที่จะให้ข้อมูล เมื่อเรื่องเกิดขึ้น รู้อยู่แล้วว่าคนสนใจ ก็ต้องมีข้อมูลที่พร้อม รีบออกข่าวสารให้ นี้ก็เป็นอีกด้านหนึ่งคือมองกลับมาทางสถาบันสงฆ์ ก็มีความไม่พร้อมในการแก้ปัญหา ความไม่พร้อมในเรื่องของการให้ความรู้ความเข้าใจ การให้ข่าวสารข้อมูล ทําให้เห็นว่า คณะสงฆ์ยิ่งมีความไม่พร้อมในการที่จะดําเนินไปด้วยดีในยุคข่าวสารข้อมูลนี้ เป็นความบกพร่องมาก รวมแล้วก็ซึ่งกันและกัน คือฝ่ายสนองให้ก็ควรที่จะมีให้ แต่ถ้าฝ่ายสนองไม่มีให้ ฝ่ายผู้ที่รับนี่ก็ควรจะต้องเพียรพยายามหาข้อมูลและใช้สติปัญญาให้มาก

อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะพูดก็คือเรื่อง การปฏิบัติต่อปัญหา ซึ่งแสดงถึงความพร้อมที่เกิดจากการศึกษาด้วย ก็อย่างที่ว่ามาแล้ว คือความพร่าและจับเรื่องปะปนมัวๆ ไม่แยกให้ชัดเป็นอันๆ ว่า เรากําลังพูดถึงจุดไหนก็ต้องให้ชัดในจุดนั้น อย่างที่อาตมามองผู้วิจารณ์ที่ว่าทําไมอาตมามองแต่เรื่องธรรมวินัย ไม่มองเรื่องอื่น เรากําลังพูดเรื่องอะไร เราก็ต้องให้ชัดในเรื่องนั้น แล้วเราจะก้าวไปสู่แง่ไหน เราก็พูดในแง่นั้น ให้ชัดเป็นเรื่องๆ ไป แล้วจึงโยงกันอีกทีหนึ่ง และโยงกันให้รอบไปเลย ไม่ใช่พูดเรื่องนี้ออกไปเรื่องโน้น ทําให้พร่าทําให้สับสนซึ่งเป็นกันมาก ไม่ใช่เฉพาะปัญหาในเรื่องนี้เท่านั้น

อาตมากําลังมองว่า ปัญญาชนของเราผู้มีการศึกษาขณะนี้ กําลังมีปัญหามากในเรื่องนี้ คือพูดจับประเด็นไม่อยู่ในเรื่อง พูดไม่ตรงเรื่อง ไม่พูดในแง่นั้นๆ ให้ชัดเป็นอย่างๆ ไป พอจี้เรื่องนี้ ออกไปเรื่องโน้นที ออกไปเรื่องนั้นที แล้วก็สับสน เป็นความสับสนที่เริ่มต้นจากความสับสนในทางความคิดของตนเอง อันนี้ก็เป็นลักษณะหนึ่งที่แสดงถึงความไม่พร้อมในการที่จะก้าวไปในยุคข่าวสารข้อมูล ไม่พร้อมที่จะนําสังคมไปได้ด้วยดี อาตมาอาจจะมองในแง่ร้ายเกินไปก็ได้ แต่เป็นข้อสังเกตอันหนึ่ง

อาจคาดได้ว่า การดําเนินกิจกรรมของโพธิรักษ์ในอนาคต ก็คงจะทําในลักษณะของการอ้างอิงพระพุทธศาสนา โดยอาจตั้งกลุ่มของตนต่างหาก แต่ยังอิงพระพุทธศาสนาเหมือนเดิม ผมมีความรู้สึกว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาอีกชั้นหนึ่งขึ้นมา

(พระเทพเวที) ก็อาจจะเป็นปัญหาอีกลักษณะหนึ่ง แต่เรายังไม่ชัดเจนว่า เรื่องจะดําเนินไปอย่างไร แม้แต่การสึกของท่านโพธิรักษ์ ก็ยังเป็นปัญหาในแง่กฎหมาย การพิจารณาคดีของทางบ้านเมืองก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะจบสิ้นลงในรูปไหน อย่างไรก็ตามสําหรับตัวท่านโพธิรักษ์นั้น อาตมามีความเชื่อน้อยกว่าลูกศิษย์ในสันติอโศก คืออาตมามีความเชื่อในศิษย์ของสันติอโศกหลายคนว่า เป็นคนมีความตั้งใจจริงในการทําความดี แต่สําหรับท่านโพธิรักษ์ มีเหตุให้สงสัยในความไม่ซื่อตรงหลายอย่าง คนที่ตั้งใจทําดีนั้น ถ้าไม่มีความรู้เข้าใจหลักที่จะเท่าทันเขา และถ้ามีลักษณะจิตใจแบบที่ต้องพึ่งพา ก็จะถูกชักจูงหรือแม้กระทั่งกลายเป็นเครื่องมือของคนฉลาดที่ไม่ซื่อตรงไปได้ง่ายๆ

ทีนี้ ทําอย่างไรจึงจะให้คนเหล่านี้เป็นอิสระขึ้นมา เมื่อมองว่าท่านโพธิรักษ์สอนพระธรรมวินัยผิด ไม่ใช่หลักการของพระพุทธศาสนา ก็มีปัญหาว่า ทำอย่างไรจะให้คนเหล่านี้ ซึ่งมีความปรารถนาดี ตั้งใจดี หันมาดําเนินในแนวทางที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา ในแง่นี้คําตอบก็คือ จะต้องให้การศึกษา ปัญหาก็คือ หนึ่ง ตัวเขาเองจะยอมรับฟังผู้อื่นหรือศึกษาอย่างเป็นกลางๆ หรือไม่ ถ้าหากเขาเปิดใจศึกษาให้เห็นตามที่พระพุทธเจ้าสอนแท้ๆ โดยไม่ใช่เพียงจะเอามาประกอบบัญญัติของท่านโพธิรักษ์ ก็เป็นสิ่งที่ดี สอง ใครจะให้การศึกษาอีก อันนี้ก็เป็นปัญหา อาตมาก็พูดมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ขณะนี้เรากําลังอยู่ในภาวะเสื่อมโทรมของการพระศาสนา ภาวะเสื่อมโทรมมันเป็นทั้งเหตุต้นตอ และมันก็เป็นตัวการในปัจจุบันที่จะทําให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้ยาก ถ้าไม่มีความเสื่อมโทรม ปัญหาอย่างโพธิรักษ์ก็ไม่เกิดขึ้น ซึ่งอันนี้อาตมาก็ย้ำอยู่เสมอ

เมื่ออยู่ในภาวะเสื่อมโทรม การที่จะให้การศึกษาอะไรต่ออะไรก็เป็นไปได้ยาก เราก็เลยมีปัญหาต้องคิดกันต่อไปมาก แต่ด้านหนึ่งที่เราจะต้องแก้ปัญหา ก็คือ การเร่งรัดปรับปรุงการพระศาสนาทั่วไป โดยเฉพาะปัญหาการให้การศึกษาแก่ภิกษุ สามเณร อันนี้อาตมาถือว่าเป็นรากฐานที่สําคัญ ส่วนที่เน้นต่อมา ถึงแม้จะไม่เกิดปัญหาสันติอโศกก็พูดอยู่เสมอ นั่นคือ การศึกษาของประชาชน อย่างไรก็ตามที่สําคัญอย่างยิ่งก็คือ เรื่องการศึกษาของภิกษุสามเณร ซึ่งทําอย่างไรจะให้ได้ผล ในแง่ที่ว่า ทําอย่างไรจะให้ภิกษุสามเณรมีความรู้สึกเป็นส่วนร่วมในพระศาสนา เป็นเจ้าของศาสนา รักพระศาสนา รู้ตระหนักในหน้าที่ของตนต่อประชาชน ต่อวัด ต่อพระศาสนา มีความรู้สึกที่จะรับผิดชอบ แล้วก็มีความรู้ที่จะประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้อง สามารถเอาพระศาสนามาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตน แก่สังคม และสามารถที่จะแสดงตัวให้มีคุณค่าเป็นผู้นําในสังคมได้ ตลอดจนกระทั่งว่า มีอะไรเสียหายเกิดขึ้น ก็พร้อมที่จะร่วมในการแก้ปัญหา ในการชี้แจงแก้ไข ทําความเข้าใจ เป็นต้น อันนี้เป็นปัญหาที่ต้องเร่งรัดจัดทําต่อไป

ทราบว่า ท่านเป็นประธานร่างนโยบายและแผนการศึกษาของสงฆ์ กระผมขอกราบเรียนถามถึงหลักการสําคัญที่จะเป็นแนวทางในการปรับปรุงการศึกษาของพระสงฆ์และสามเณร

(พระเทพเวที) ก็พูดได้หลายแง่ แต่ข้อแรกที่สุดก็คือ เราจะแก้ไขปัญหาโดยยอมรับความจริงของสภาพที่เป็นอยู่ด้วย ในความหมายนี้ก็คือเราต้องดูว่า สภาพการศึกษาของพระสงฆ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร เกิดจากเงื่อนไขทางสังคมของไทยอย่างไร

การศึกษาของพระสงฆ์นี้ โดยหลักการของพระศาสนาก็เพื่อให้พระสงฆ์มีความรู้ที่จะประพฤติดี ปฏิบัติชอบ เป็นศาสนทายาทที่ดีสืบต่อพระศาสนาได้ มีความรู้และนําไปปฏิบัติถูกต้อง แล้วก็สามารถเอาไปเผยแผ่สั่งสอนประชาชน เป็นพระเณรที่ดีมีความสามารถนั่นเอง อันนี้เป็นหลักการ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมืองไทยเรามีลักษณะเฉพาะของสังคมไทยที่ได้เอาพระพุทธศาสนามาใช้ประโยชน์ เอาสถาบันสงฆ์มาใช้ประโยชน์ เป็นช่องทางให้การศึกษาแก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้พร้อมที่จะรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคมของตน เราจึงได้มีประเพณีบวชเรียนขึ้นมา แม้จะเป็นการบวชชั่วคราวเพียงว่าให้เป็น “คนสุก” จะได้พร้อมที่จะไปมีครอบครัวได้ พร้อมที่จะไปรับราชการได้ ในประวัติศาสตร์บางยุคถึงกับกําหนดว่า ถ้าไม่ได้บวชเรียนมาก่อน จะไม่รับเข้าราชการ อย่างเช่นในสมัยพระเจ้าบรมโกศ อันนี้ก็คือว่าประเทศไทยเราได้เอาพระพุทธศาสนามาใช้ประโยชน์ ในด้านการให้การศึกษาแก่ประชาชน ซึ่งมองในแง่ดีก็เป็นการดีที่ได้ทําประโยชน์เพื่อสังคม พระพุทธศาสนาก็มีความมุ่งหมายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่สังคม แต่ในระยะยาวมันทําให้เกิดประเพณีการบวชและการสึกตามสมัครใจ แล้วก็เป็นการบวชระยะสั้น การบวชกลายเป็นการเตรียมคนเข้าสู่สังคม ผู้บวชไม่มีความมุ่งหมายที่จะอุทิศตัวให้กับพระศาสนาโดยเฉพาะการบวชที่เป็นไปโดยไม่ได้รู้ เพราะบวชแต่เด็กบวชแต่เล็ก บวชตั้งแต่เป็นเณร เณรเล็กๆ ก็ไม่รู้ว่าบวชนี่เพื่อความมุ่งหมายอะไร เพียงแต่รู้ว่าจะได้เรียนหนังสือ หรือจะได้ไปอยู่วัดก็เพียงเท่านี้

ทีนี้ปัญหาสังคมมันซับซ้อนกว่านั้นอีก เมื่อสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไป วัดที่เคยเป็นสถาบันศูนย์กลางการศึกษาของทวยราษฎร์ หรือของประชาชน ถูกปฏิเสธหรือถูกบอกเลิกให้ทําหน้าที่ให้การศึกษาแก่ประชาชน ตอนแรกรัฐก็อาศัยวัดมาช่วยให้การศึกษาแก่ประชาชน ต่อมาก็แยกอย่างชัดเจน ถือว่ารัฐรับผิดชอบต่อการศึกษาของประชาชนอย่างเด็ดขาด ทางรัฐถือว่าการศึกษาของพระก็เป็นเรื่องของพระไม่เกี่ยวกับรัฐ พระจะให้การศึกษาอะไร ก็ถือคล้ายๆ ว่า พระต้องให้การศึกษาสําหรับพระภิกษุสามเณรที่จะอยู่สืบพระศาสนาเท่านั้น ก็มองแค่นั้น

เมื่อเป็นเรื่องของพระ รัฐไม่เกี่ยวแล้ว ต่อจากนั้นก็ไม่มองอีกเลยว่า พระจะดําเนินการศึกษาอย่างไร ทีนี้ปัญหามันก็เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพราะว่าปัจจัยเก่ามันยังอยู่ และเพราะรัฐทํางานของตัวเองไม่สําเร็จ เมื่อรัฐหันมาเป็นผู้รับผิดชอบการศึกษาด้วยตนเอง ก็มีหน้าที่ให้การศึกษาแก่ประชาชนให้ทั่วถึง ให้เด็กๆ ได้รับการศึกษาทั่วประเทศ มีการประกาศการศึกษาภาคบังคับ แต่ในความเป็นจริงก็คือว่า ในช่วงระยะเวลาที่กว่าจะทําให้การศึกษาภาคบังคับสําเร็จผลมันนานเหลือเกิน ในระหว่างนั้น ก็มีปัญหามากเกี่ยวกับประชาชนที่ด้อยโอกาสไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาของรัฐได้ เรามีปัญหาเรื่องความไม่เสมอภาคแห่งโอกาสทางการศึกษานี้เป็นอย่างแรงมาก ตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน กลายเป็นว่าคนที่ด้อยโอกาสในทางภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะชาวชนบทที่อยู่ห่างไกลตลาด ห่างไกลตัวเมือง และคนที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจคือ ยากจน คนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาของรัฐได้ การศึกษาโดยมากจะอยู่ในเมือง ทีนี้ความด้อยโอกาสในทางภูมิศาสตร์และทางเศรษฐกิจ มักจะไปรวมอยู่ที่คนกลุ่มเดียว คือ ชาวนา เพราะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศประมาณ ๗๕ เปอร์เซนต์ ฉะนั้นพวกชาวนา ลูกชาวนาก็ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาของรัฐ

ขณะเดียวกัน การศึกษาสมัยใหม่ได้ไปกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความรู้สึกตลอดจนเกิดค่านิยมว่า เราจะก้าวหน้าในสังคมได้ เลื่อนฐานะในสังคมได้ จะต้องได้เล่าเรียนหนังสือ การศึกษากลายความหมายเป็นเครื่องมือเลื่อนฐานะในสังคม เมื่อชาวเมืองหรือคนที่เข้าถึงการศึกษาของรัฐมีค่านิยมนี้ ใช้การศึกษาเพื่อเลื่อนฐานะทางสังคม ชาวบ้านเขาก็เกิดความกระหายบ้าง ชาวนาก็ต้องการเลื่อนสถานะเหมือนกันแต่ทําอย่างไรจะให้ลูกของตนเลื่อนฐานะในสังคมได้ ก็ไม่สามารถ เพราะว่าตัวอยู่ห่างไกลและก็ไม่มีทุนทรัพย์ เมื่อเข้าถึงการศึกษาของรัฐไม่ได้ ในที่สุดก็นึกถึงการศึกษาระบบประเพณี นักถึงวัด นึกถึงพระ วัดแม้จะถูกรัฐทอดทิ้ง ไม่ถือว่ามีบทบาททางการศึกษามวลชนต่อไปแล้ว แต่วัดก็ยังคงดําเนินการศึกษาตามแบบประเพณี มีการให้การศึกษาอยู่บ้าง เพราะฉะนั้นชาวนาก็เอาลูกของตัวเองไปฝากวัด ให้อยู่วัด ไปเรียนหนังสือกับหลวงพ่อ หลวงพี่ เช่น ให้เรียนนักธรรม จึงยังพอมีทางให้ได้รับการศึกษาบ้าง

เมื่อเวลาผ่านไป สภาพที่ว่ามานี้ก็ทําให้วัดกลายเป็นแหล่งการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสในสังคม เปลี่ยนฐานะจากเดิมที่เป็นผู้ให้การศึกษาแก่มวลชนมาเป็นผู้ให้การศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม สภาพอย่างนี้ได้เป็นไปอย่างมาก โดยที่รัฐไม่รู้ตัวเลยว่า เด็กที่ออกจากโรงเรียน ไม่ได้เข้าโรงเรียนของรัฐแล้วไปอยู่ที่ไหน ก็นึกว่าไปอยู่ในท้องนา ที่จริงส่วนหนึ่งที่เขาจะเล่าเรียนนี่ เขาเข้ามาอยู่วัด จนกระทั่งผ่านมาระยะหนึ่งวัดในกรุงเทพฯ ทั้งหมดกลายเป็นชุมชนชนบทไปแล้ว ปัจจุบันนี้ถ้าไม่นับคนกรุงเทพฯ ที่เข้าไปบวชชั่วคราวสามเดือน หนึ่งเดือน พระที่อยู่ประจําวัดในกรุงเทพฯ เกือบทั้งหมดจะเป็นชาวชนบทเสีย ๙๐ กว่าเปอร์เซนต์ เป็นชาวชนบทเข้ามาบวชตามวิถีของการศึกษา นี่ก็เป็นปัญหาของสังคมไทยที่เข้ามากระทบต่อพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ปัญหาของพระศาสนาเอง

ขณะที่วัดไปเอื้อประโยชน์แก่สังคม ในแง่ที่ไปผ่อนคลายปัญหาความไม่เสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา โดยไปให้การศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคมนี้ ก็ปรากฏว่ากลายเป็นการสร้างความอ่อนแอแก่คณะสงฆ์เอง วัดก็อ่อนแอลง เพราะคนเหล่านี้ได้รับการศึกษาไปแล้ว ก็ออกไปอยู่ในรัฐ อยู่ในสังคม นี่คือสาเหตุหนึ่งของความอ่อนแอของพระศาสนา ในขณะเดียวกัน รัฐก็ไม่นึกว่า คณะสงฆ์ก็มีการจัดการศึกษาสําหรับประชาชนเหมือนกัน ก็เลยทอดทิ้งไม่เหลียวแล ไม่ดูว่าพระจัดการศึกษากันอย่างไร ลูกชาวนายากจนห่างไกลเข้าไปอยู่ในวัดแล้วได้รับการศึกษากันอย่างไร ปัญหาก็เลยยิ่งสะสมหมักหมมมาเรื่อย เด็กชาวนาชนบทเข้าไปวัดแล้วก็ไม่ได้รับการศึกษาที่ดี วัดและพระศาสนาเองก็อ่อนแอลงไปเรื่อยๆ และชนบทก็ยิ่งล้าหลังเสื่อมโทรมลงไปทุกที นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่า เราจะต้องยอมรับความจริง

ยิ่งกว่านั้น คนจํานวนมากที่มีโอกาสเหนือกว่าในสังคม โดยเฉพาะคนในเมืองซึ่งเข้าถึงการศึกษาของรัฐ และได้รับประโยชน์จากการศึกษาในระบบนั้น ในการสนองค่านิยมที่ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือเลื่อนสถานะในสังคม คนเหล่านี้ด้วยความไม่รู้ก็พากันกล่าวหาติเตียนพระเณรชาวชนบทเหล่านั้น ตลอดจนคนที่สึกมาทํามาหาเลี้ยงชีพ หาความก้าวหน้าในสังคมตามค่านิยมสมัยใหม่นั้น โดยกล่าวหาติเตียนว่าพระเณรและผู้ที่สึกออกมาเหล่านั้นอาศัยวัดเป็นที่เล่าเรียนหนังสือ แอบอิงศาสนา เอาเปรียบชาวบ้าน แต่ว่าที่จริงเมื่อวิเคราะห์สังคมไทยกันให้ชัดเจนก็จะเห็นได้ว่า คนในเมืองและคนที่มีโอกาสเหนือกว่าซึ่งเป็นผู้ติเตียนนั่นแหละเป็นผู้ที่เอาเปรียบ ถ้าพูดด้วยสํานวนของฝ่ายซ้ายก็คงจะต้องเรียกว่าเป็นพวกที่มีทรรศนะแบบกดขี่ แต่ถ้าว่าโดยสาระก็คือ คนในเมืองและคนที่ได้เปรียบเหล่านี้ไม่รู้จักสังคมไทยของตนเอง (เห็นได้ชัดว่า ท่านโพธิรักษ์และลูกศิษย์ของท่านในสันติอโศกก็มีทรรศนะแบบนี้ ดังที่ท่านพูดโจมตีพระเณรเหล่านี้บ่อยๆ ทั้งนี้ก็เพราะการขาดความรู้ความเข้าใจในสังคมของตน) การพูดด่าว่าติเตียนสาดไปเช่นนี้ เป็นการกระทําที่เกิดจากความไม่รู้และขาดกรุณา ซึ่งไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหา มีแต่จะทําให้ปัญหาสับสนซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะจะทําให้แก้ปัญหาผิดที่ไม่ถูกจุดและเลี่ยงหลบสาเหตุ เป็นการซ้ำเติมชาวชนบท โดยเฉพาะชาวบ้านที่ยากไร้ ให้ย่ำแย่ลงไปอีก

ถ้าจะปฏิบัติกันให้ถูกต้องและแก้ปัญหาให้สําเร็จ ทุกคนในสังคมนี้โดยเฉพาะคนในเมืองและคนฐานะดีกว่าที่ได้เปรียบ ควรมองเรื่องนี้ด้วยความรู้สึกที่มีส่วนรับผิดชอบว่าเป็นปัญหาของสังคมไทยของเราร่วมกัน พร้อมทั้งมองชาวชนบทเหล่านั้น ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะที่เป็นพระเณรหรือที่สึกออกมา ด้วยความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกัน ตั้งใจและร่วมมือร่วมใจที่จะแก้ปัญหาให้ตรงตามเหตุปัจจัย และถูกต้องเหมาะสมกับบทบาทหน้าที่และส่วนร่วมของตน จริงอยู่ในสภาพเช่นนี้ย่อมมีคนส่วนหนึ่งฉวยโอกาสเข้าไปใช้เพศภิกษุเป็นช่องทางเล่าเรียนวิชาชีพเพื่อเอาไปทํามาหากินโดยตรงด้วยความจงใจจริงๆ แต่เราต้องแยกให้ถูกไม่ใช่ตีขลุมกราดไป

ขณะนี้สิ่งที่เราต้องการเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ เราจะให้การศึกษาตามอุดมคติของพระศาสนา ตามหลักการที่จะสร้างพระภิกษุที่ดี และมีความสามารถที่จะสืบต่อพระศาสนาได้ แต่ในเวลาเดียวกัน เราไม่สามารถปฏิเสธความจริงของสังคม ขณะที่เราให้การศึกษาไป สมมติว่าเราไม่ยอมรับว่า เรากําลังให้การศึกษาแก่ภิกษุสามเณรในฐานะเป็นพลเมืองชาวชนบท สมมติว่าเราตัดข้อคํานึงอันนี้ออกไป แต่ชาวบ้านในชนบทก็ยังให้ลูกหลานมาบวชอยู่ แล้วเราจะแก้ปัญหาอย่างไร การไม่ยอมรับความจริงก็เท่ากับเป็นการสร้างปัญหาให้มากยิ่งขึ้นอีก ฉะนั้น แนวทางใหม่ของเราก็คือ การยอมรับความจริงเอาทั้งหลักการของพระศาสนา และยอมรับสภาพความเป็นจริง ถ้ามันเป็นสภาพความจริงที่เราไม่ชอบ ก็ต้องค่อยๆ หาทางหันเหทิศทางไป พร้อมกับการแก้ไขเหตุปัจจัยในสังคม แต่จะต้องยอมรับความจริงก่อน

ดังนั้น บทบาทการศึกษาของวัดต่อไปในระยะนี้ ก็คือ การที่จะต้องให้ได้ทั้ง หนึ่ง สนองความต้องการของพระศาสนาให้มีคนดี พระดีมีความสามารถเผยแผ่พระศาสนา สอง เพื่อประโยชน์ต่อสังคม สนองความต้องการของสังคม ทั้งในแง่หลักการที่ว่า จะให้พระเณรมีความสามารถที่จะไปสั่งสอนประชาชนเพื่อให้เกิดศีลธรรมอันดีมีจริยธรรม แล้วพร้อมกันนั้นก็ได้ประโยชน์อีกด้านหนึ่งต่อสังคมในแง่ที่ว่า เป็นการช่วยแบ่งเบาปัญหาการศึกษาของรัฐในด้านโอกาสทางการศึกษาเพื่อช่วยเหลือชาวชนบท สาม สนองความต้องการของบุคคล คือมองในแง่ตัวของภิกษุสามเณรเอง ไม่ใช่เอาแต่พระศาสนาและสังคมเท่านั้น เราต้องยอมรับความต้องการของเขาด้วย แต่ข้อที่ต้องระลึกและคํานึงอยู่เสมอก็คือ ทําอย่างไรจะหันเหให้มาสู่เป้าหมายในทางที่เป็นไปตามหลักการให้มากที่สุด นี่คือหลักการในการวางนโยบายและแผนการศึกษา

จุดที่เราเน้นก็คือ ขณะนี้พระเณรจํานวนมากบวชเข้ามา แต่ไม่ได้เรียน มีแต่บวช แต่ไม่ได้เรียน กลายเป็นไม่มีการบวชเรียนเหมือนอย่างประเพณีไทย ซึ่งถือว่าต้องบวชเรียน ฉะนั้น การศึกษาของพระส่วนใหญ่ในชนบท เราจะเน้นการศึกษาพื้นฐานจะเรียกว่าภาคบังคับก็ได้ ผู้ที่บวชเข้ามาแล้วจะต้องมีการศึกษาเล่าเรียนระดับหนึ่งที่พอสมควร อย่างน้อยรับผิดชอบตนเองได้ในพระศาสนา มีความรู้ที่จะปฏิบัติตนให้ถูกต้อง การศึกษาในระดับพื้นฐานนี้จะต้องแผ่ไปทั่วประเทศทั้งสังฆมณฑล นั่นเป็นการจัดการศึกษาในแนวราบ

อีกด้านหนึ่ง ก็คือการศึกษาในระดับแนวดิ่ง หรือแนวตั้ง คือการเชิดชูยกฐานะการศึกษาของพระสงฆ์ให้สูงขึ้น เพราะในขณะที่การศึกษาทั่วไปเสื่อมโทรมนั้น ฐานะของพระภิกษุในทางการศึกษา ซึ่งหมายรวมถึงฐานะทางสังคมก็ทรุดลงไปเหมือนกัน การศึกษาของพระสงฆ์ไม่ได้รับการปรับปรุงหลักสูตร การศึกษาจัดไปตามระบบประเพณี มีนักธรรมตรี โท เอก มีเปรียญ ๓ ถึง ๙ ประโยค ผู้ที่ได้เปรียญ ๙ ประโยค แม้จะสูงสุดแล้ว ซึ่งแต่ก่อนถือว่าเป็นผู้มีการศึกษาสูง แต่เดี๋ยวนี้มีความหมายน้อย แล้วระดับก็ต่ำลงมาเยอะ จนกระทั่งไม่ค่อยมีฐานะทางสังคมที่จะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นผู้นําในทางสติปัญญาได้ พระจะทํางานของตัวเองให้สําเร็จได้ จะต้องมีความเป็นผู้นําทางปัญญาด้วย ฉะนั้นเราจะต้องยกย่องเชิดชูฐานะนี้ขึ้นไป ก็เป็นภาระอีกประการหนึ่ง

นโยบายด้านนี้ก็คือ ยกฐานะทางการศึกษาของพระให้ดีขึ้น ให้สามารถเป็นผู้นําทางสังคม แต่ในเรื่องฐานะนี้ สําหรับทางสังคมจะต้องมองในแง่รูปธรรมด้วยว่า เป็นที่ยอมรับในทางตัวบทกฎหมายแค่ไหน ฉะนั้นในปัจจุบัน ระดับการศึกษาสูงสุดของพระคือเปรียญ ๙ ประโยคนั้น แต่ก่อนถือว่าสูงสุดแล้ว เดี๋ยวนี้เหลือแค่ปริญญาตรี ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ยอมรับถึงขั้นนี้ด้วยซ้ำ และเมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้น ก็ไม่ยอมรับอย่างเป็นทางการ และก็สามารถให้การศึกษาแค่ปริญญาตรีเท่านั้น ปัจจุบันจึงได้มีการออก พ.ร.บ. รับรองให้เปรียญ ๙ และผู้ที่สําเร็จจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้เป็นปริญญาตรี แต่เพียงเท่านี้ย่อมไม่พอในการเป็นผู้นําทางปัญญา

ยิ่งขณะนี้ในต่างประเทศ วงการศึกษาของเขากว้างขวางขึ้น โดยมีการจัดการศึกษาถึงปริญญาโท ปริญญาเอกทางบาลี ทางภาษาตะวันออก และทางพระพุทธศาสนา แม้แต่มหาวิทยาลัยในประเทศ อย่างเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาปรัชญา ก็เปิดสาขาพุทธปรัชญาถึงปริญญาเอก ภาควิชาภาษาตะวันออกก็มีสาขาวิชาบาลีถึงปริญญาโท แล้วก็มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชาศาสนาเปรียบเทียบ ก็มีถึงปริญญาโท ทราบว่าพยายามเปิดปริญญาเอกอยู่ สรุปว่าแม้แต่การศึกษาที่ยอมรับกันในสังคมเป็นรูปธรรม การศึกษาของพระสงฆ์ก็ด้อย เพราะฉะนั้น ในแง่หนึ่งจึงจะต้องเชิดชูยกฐานะในด้านรูปธรรมให้มีฐานะสูงขึ้น สนับสนุนมหาวิทยาลัยสงฆ์ให้ดําเนินการศึกษาขั้นสูง ถึงขั้นปริญญาเอก ยกฐานะเปรียญ ๙ รวมทั้งปรับปรุงหลักสูตรด้วย ซึ่งทั้งหมดก็อยู่ในแผนนโยบายแล้ว

เหล่านี้เป็นเรื่องฐานะทางสังคมซึ่งแม้จะเป็นเรื่องสมมติ แต่ในแง่ของส่วนรวมก็มีความสําคัญในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สาระที่แท้จริงต้องอยู่ที่เนื้อตัวของการศึกษาเองที่ว่า ทําอย่างไรจะให้พระมีคุณค่าภายในและเป็นผู้นําทางปัญญาที่แท้จริง โดยเฉพาะในเรื่องการพระศาสนา โดยให้เรียนวิชาทางพระธรรมวินัยเป็นหลักเป็นแกน แล้วก็เสริมด้วยวิชาความรู้อื่น พระภิกษุสามเณรเหล่านี้ เรายอมรับความจริงว่า โดยมากมาจากชนบท ไม่มีพื้นการศึกษามาก่อน ก็จะต้องมีการให้ความรู้ประกอบหรือความรู้สําหรับเป็นเครื่องมือในการที่จะถ่ายทอด หรือสื่อความรู้ทางพระศาสนาแก่ประชาชนด้วย

ทีนี้ในการจัดหลักสูตรเหล่านี้ก็มีความหมายเป็นสองนัย ถ้าผู้เข้าใจนโยบายนี้ยึดมั่นในหลักการ ก็จะโน้มไปในทางที่จะเอาวิชาการสมัยใหม่มาเป็นเครื่องมือ หรือเป็นอุปกรณ์แก่วิชาการทางพระศาสนา แต่ถ้าไม่ระวังให้ดี วิชาเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเพียงการให้ความรู้แก่พระเณรที่มาด้วยความต้องการสถานะทางสังคม มาใช้วัดเป็นช่องทางการศึกษา มุ่งมาเรียนเพื่อนําไปใช้ประกอบอาชีพเท่านั้น มันก็ได้ทั้ง ๒ แง่ ซึ่งก็อยู่ที่การเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้องตามนโยบาย และผู้ที่เข้าใจหลักการจะต้องพยายามให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ แต่ในยุคอย่างนี้ถือว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่เราต้องยอมรับความจริง เราจะต้องดําเนินการต่างๆ ด้วยความรู้ความเข้าใจ

อีกด้านหนึ่งก็คือว่า ในยุคนี้สังคมได้เปลี่ยนแปลงใหม่อีก คือคนสมัยใหม่ได้เริ่มหันกลับมาสนใจคุณค่าทางจิตใจ หันมาสนใจพระศาสนามากขึ้น ผิดกับเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีที่แล้วมา ตอนนั้นสังคมไทยกําลังก้าวไปสู่การตามตะวันตกอย่างเต็มที่ มีความหวังกับความสุขตามความเจริญแบบตะวันตก เมื่อมองดูสังคมขณะนั้นคนมีความแปลกแยกสูง คือ สังคมไทยส่วนหนึ่งถูกแบ่งเป็นสังคมแบบเดิม แบบประเพณี โดยมีสังคมสงฆ์เป็นตัวแทน ตอนนั้น เรื่องราวทางด้านพระศาสนาจะถูกละเลยโดยคนรุ่นใหม่ เขาจะไม่มองเห็นความหมาย แต่เห็นเป็นเรื่องคร่ำครึล้าสมัย คําว่า “สมาธิ” นี่พูดขึ้นมาแล้วคนไม่มีความรู้สึกที่ดี มีความรู้สึกดูถูก หรืออย่างคําว่า “วิปัสสนา” ก็หมายถึงการนั่งทางในเห็นหวยเบอร์ คนสมัยใหม่พูดถึงคําเหล่านี้ด้วยความดูถูกเห็นว่าคร่ำครึ คนไม่ค่อยกล้าพูดถึงคําเหล่านี้ นั่นเป็นภาพเมื่อ ๓๐-๔๐ ปี มาแล้ว เพราะฉะนั้นคนจะแบ่งเป็น ๒ ภาค พวกคนสมัยใหม่ตามตะวันตก แล้วก็คนที่นิยมแบบเก่า คณะสงฆ์นี่ก็คล้ายๆ เป็นตัวแทนที่พยายามจะรักษาระบบเดิมไว้ กลัวมันจะสาบสูญไป คนสองพวกนี้แปลกแยกจากกันจนกระทั่งคณะสงฆ์พูดกับคนสมัยใหม่ไม่รู้เรื่อง ใช้คนละภาษา สื่อกันไม่ได้

ต่อมาในปัจจุบันนี้สังคมเปลี่ยนแปลงไปอีก สังคมในระดับโลกโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความผิดหวังกับความเจริญทางวัตถุมาก คนส่วนหนึ่งก็หันมาค้นคว้าทางจิตใจ หันมาสนใจศาสนา โดยเฉพาะศาสนาทางตะวันออก คําว่า “สมาธิ วิปัสสนา” เลยกลายเป็นคํานิยมขึ้น มีความหมายในทางเป็นที่น่าภูมิใจ ใครนั่งสมาธิ โอ้โฮ! คนนั้นเก่ง น่าสนใจ อยากจะถามว่า ทําอย่างไร อะไรทํานองนี้ กระแสมันพลิกกลับ

ทีนี้ประเทศไทยที่ตามตะวันตกอยู่แล้ว พอตะวันตกหันมาสนใจสมาธิ สนใจศาสนา ก็เอาบ้าง กอปรกับตนเองก็ประสบกับความผิดหวังด้านวัตถุบ้างเหมือนกัน ก็ได้เหตุปัจจัย ๒ เหตุ ทั้งทางตะวันตกด้วย ทั้งตัวเองก็ประสบปัญหาความผิดหวังทางวัตถุด้วย ก็เลยหันมาสนใจพระพุทธศาสนาและธรรมะกัน ทีนี้ก็มีคนหนุ่มเข้ามาบวชมากขึ้น และจํานวนหนึ่งไม่น้อยจะบวชแบบสละโลกจริงๆ ซึ่งเป็นนิมิตดี แต่คณะสงฆ์ไม่เคยเหลียวแลและไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ จึงไม่ได้ตระเตรียมการศึกษาไว้ต้อนรับคนเหล่านี้ เพราะฉะนั้น นโยบายใหม่ก็ต้องเตรียมการศึกษาสําหรับคนที่เข้ามาบวชในแบบใหม่นี้ด้วย ซึ่งไม่ใช่แบบประเพณีเดิม คือบวชมาตั้งแต่เป็นเณรอย่างลูกชาวนา เพื่อเป็นช่องทางการศึกษา คนสมัยใหม่พวกนี้เข้ามาเพราะเบื่อหน่ายต่อสภาพชีวิตสังคมปัจจุบัน มีการศึกษาพอสมควร แล้วจึงมาบวช เราอาจจะเตรียมระบบเพื่อสนองความต้องการของคนเหล่านี้อีกส่วนหนึ่ง เหล่านี้เป็นนโยบายใหม่ทางการศึกษาที่จะปรับปรุง ก็ว่ามาเสียยึดยาวพอสมควร

ในฐานะของพวกกระผม ซึ่งเป็นฝ่ายคฤหัสถ์ จะมีบทบาทเข้าไปช่วยสนับสนุนและส่งเสริมทางด้านการศึกษาแก่พระเณรได้อย่างไรครับ ขอนมัสการกราบเรียนถาม

(พระเทพเวที) หนึ่ง ก็คือ ความรู้ ความเข้าใจ ปัญหาของยุคปัจจุบันเป็นปัญหาที่เริ่มมาจากความรู้ความเข้าใจ คือคนไทยรวมทั้งปัญญาชนไม่เข้าใจสังคมของตนเอง อันนี้เป็นปัญหามากอย่างเรื่องศาสนา มักเข้าใจเป็นเรื่องศาสนาแยกขาดไป ไม่มองว่าที่จริงมันเป็นปัญหาของสังคมโดยส่วนรวม เหมือนเรื่องพระเณร ลูกชาวนาที่เข้ามาบวชเพื่ออาศัยเป็นช่องทางการศึกษา มันเป็นปัญหาของสังคมไทยมากกว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับพระศาสนาด้วยซ้ำ มันไม่ใช่ปัญหาในแง่ศาสนาแท้ๆ เลย ถ้ามองในแง่ศาสนา มันกลับเป็นตัวที่ทําให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อพระศาสนา เป็นตัวเอื้อประโยชน์แก่สังคม แต่สังคมกลับไม่ยอมรับแล้วก็ผลักดันให้มันกลายเป็นปัญหา แล้วคนในระดับที่รับผิดชอบสังคม ไม่รับรู้ ไม่เข้าใจ และการไม่รู้เรื่องศาสนาโดยทั่วไป ก็ทําให้เกิดปัญหานี้ด้วย เพราะฉะนั้นก็ได้พยายามพูดมานาน เพื่อจะให้คนระดับที่มีการศึกษาเป็นปัญญาชน โดยเฉพาะในวงการศึกษาได้รู้เข้าใจเรื่องนี้ ในระยะ ๒-๓ ปีนี้ ก็มีผู้เข้าใจขึ้นบ้าง ในวงการผู้ที่รับผิดชอบทางการศึกษา ก็มีแนวโน้มบางอย่างที่เข้าใจและอาจมีแนวโน้มที่จะจัดให้การศึกษาแก่พระเณรได้ถูกต้อง

ทีนี้ในแง่สื่อมวลชนก็คือ สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ว่าสถาบันสงฆ์คืออะไร ทําหน้าที่อะไรอยู่ในปัจจุบัน มีบทบาทอย่างไรต่อสังคม เพราะประชาชนสมัยใหม่มุ่งหวังแต่บทบาททางศาสนาว่า ศาสนาจะทําอย่างไร แต่ศาสนาขณะนี้ไม่ได้ทําหน้าที่เฉพาะในแง่ศาสนา มันทําหน้าที่ในด้านการศึกษา ในด้านปัญหาสังคมทั่วไปด้วย แม้แต่มองในแง่สังคมสงเคราะห์ มันก็มีบทบาทเป็นสถาบันที่กําลังทํางานสังคมสงเคราะห์อยู่อย่างกว้างขวางที่สุด ชนิดที่ตัวเองก็ไม่รู้ว่ากําลังทํา

กระผมยังมองไม่เห็นชัดนักว่า เราจะแก้ปัญหาการศึกษาของพระเณรชนบทได้อย่างไร เพราะมีความรู้สึกว่าวัดก็มีจํานวนมาก พระเณรก็มีนับแสนรูป อยากนมัสการกราบเรียนถาม ขอให้ท่านช่วยแจงให้เป็นรูปธรรมสักนิดว่า เราจะแก้ปัญหาการศึกษาของพระเณรในชนบทได้อย่างไร

(พระเทพเวที) ก็เพียงแต่คณะสงฆ์เอาใจใส่ในแง่การศึกษาขึ้นมา ก็จะได้ผลเลยทันที คือขณะนี้เราเน้นกันในแง่การก่อสร้าง ถือเป็นเครื่องวัดความเจริญของวัด วัดในชนบทเสนอผลงานแต่ละครั้ง ก็มีแต่การสร้างโบสถ์ วิหาร สร้างศาลา เห็นว่าสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา เป็นการพัฒนาวัดให้เจริญก้าวหน้า โดยไม่มองด้านการศึกษา ทีนี้ถ้าเราเปลี่ยนแนวโน้มให้มาเน้นด้านการศึกษา มันก็จะได้ผลทันที เพราะระบบการปกครองสงฆ์อันที่จริงยังมีอยู่ ไม่ถึงกับสลายตัว แม้ว่ามันจะมีปัญหามากแล้วก็ตาม พระ เจ้าอาวาส ในชนบทไม่ค่อยมีการศึกษาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงทําให้มีตัวถ่วงการศึกษาอยู่ แต่อย่างน้อยการที่ให้ความเอาใจใส่สนใจมากขึ้น ก็เป็นแนวโน้มที่จะทําให้ดําเนินไปสู่การแก้ปัญหาได้ อย่างน้อย พระ เจ้าอาวาส ในชนบทจะต้องหันมาเน้นเรื่องการศึกษาขึ้นมา พระเมื่อบวชเข้ามาจะต้องให้มีการศึกษา พระผู้ใหญ่จะต้องถามว่าที่วัดมีการศึกษาอย่างไร มีพระเณรเท่าไหร่ กําลังเรียนอะไรกัน แค่นี้ มันก็เริ่มแล้ว

ด้านประชาชนที่ทําบุญกันในเมืองไทยนี้ทําบุญโดยมองว่า อยากได้บุญมากก็ไปสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างพระพุทธรูป เอาแต่การก่อสร้าง นี่เป็นความเบี่ยงเบนและความผิดเพี้ยนมาก เดี๋ยวนี้มองการทําบุญแต่รูปแบบนี้กันทั้งนั้น ถ้าเราถอยหลังไปตั้งแต่รัชกาลที่หนึ่ง การทําบุญตอนนั้นเน้นเรื่องการศึกษามาก จนกระทั่งในหลวงนําเอาราชบัณฑิตมาสอนพระในวังให้มีการศึกษาเล่าเรียน การถวายปัจจัยเกี่ยวกับการศึกษาถือว่าได้บุญมาก ประเพณีนี้สืบเนื่องมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ ก็ยังคงมีอยู่ ยังมีเรื่องเล่าสนุกๆ กันว่า พระเณรมาเรียนในวัง พระองค์ต้องเสด็จไปเสด็จมาผ่าน บางทีเสด็จไปพบพระที่เรียนหนังสือหยุดพักมาเตะตะกร้อกัน มีผู้กราบทูลในหลวง ในหลวงก็ตรัสว่า เจ้ากูจะเล่นบ้างก็ช่างเจ้ากูเถอะ เป็นเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่แสดงถึงการเอาใจใส่ต่อการศึกษา ซึ่งประเพณีเหล่านี้ไม่รู้หันเหเลือนรางไปได้อย่างไร ดังนั้นยุคนี้จึงต้องฟื้นฟู

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็คือ การปรับปรุงระบบการปกครองคณะสงฆ์ การปกครองระบบที่เป็นอยู่นี้ย่อหย่อนอ่อนแอมาก สิ่งที่สําคัญก็คือตัวกฎหมายคณะสงฆ์ หรือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ถ้าขืนปล่อยให้อยู่ในสภาพนี้การแก้ไขปรับปรุงพระศาสนาก็เป็นไปได้ยาก

ตามความเห็นของท่าน เกี่ยวกับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นั้น ท่านคิดว่า ควรปรับปรุงในส่วนไหน หรือว่ายกร่างกันใหม่ทั้งฉบับเลย

(พระเทพเวที) จุดสําคัญก็คือว่า ให้มันได้งานได้การ อาตมาไม่ได้ถือสำคัญว่าจะต้องให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ให้มันได้งานได้การแล้วกัน คือเราอย่าไปสนใจว่า จะไปเอาพระราชบัญญัติ ๒๔๘๔ มาหรือฉบับไหนมา บางคนก็ไปแง้มๆ เอาบางมาตรา เราต้องคํานึงว่า จุดหมายของเราคืออะไร คือต้องการให้ได้งานได้การแล้วก็เน้นการศึกษา เพราะฉะนั้น เมื่อรู้จุดมุ่งหมายนี้แล้ว เราก็ร่างหรือแก้ไขให้เป็นไปตามเป้าหมาย คือเราเอาเป้าสิ่งที่ต้องการก่อน ไม่ใช่ไปติดระบบรูปแบบว่ามันควรจะเป็นยังไง ทีนี้ระบบรูปแบบก็มาตามความต้องการ ทําอย่างไรจะให้ได้การศึกษา ได้งานได้การ

ปัญหาปัจจุบันอยู่ที่ มีแต่มหาเถรสมาคมเป็นศูนย์รวมอํานาจที่เดียว ไม่มีมือเท้า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์กําหนดให้มีแต่มหาเถรสมาคมเป็นศูนย์รวมอํานาจทั้ง อํานาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ไม่กระจายอํานาจ นอกจากไม่กระจายอํานาจแล้ว ผู้ที่เป็นกรรมการของมหาเถรสมาคมก็ยังอยู่ในวัยที่ไม่เอื้อต่อการทํางาน และที่สําคัญก็คือว่า ไม่มีแขนขา ไม่มีองค์กรที่จะมารับช่วง ก็เท่ากับทําให้เหมือนเป็นอัมพาต เพราะฉะนั้น ถ้ายังให้มหาเถรสมาคมอยู่ในลักษณะนี้ ก็จะต้องให้มีองค์กรที่ทํางานรับช่วงชัดเจน กฎหมายคณะสงฆ์ฉบับปัจจุบันนี้ กําหนดให้มหาเถรสมาคมเป็นศูนย์รวมอํานาจทั้ง ๓ และบอกว่ามหาเถรสมาคมจะตั้งอนุกรรมการขึ้นมาทํางานอะไรก็ได้ แต่ไม่บังคับ มหาเถรสมาคมก็เลยเพลินๆ ไปหรือเห็นว่าไม่จําเป็นต้องตั้ง ก็เลยปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น

เท่ากับว่าจริงๆ แล้ว อาจจะไม่แก้กฎหมายก็ได้ใช่ไหมครับ เพียงแต่ใช้วิธีการอีกวิธีหนึ่ง นั่นคือ การตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาทํางานรับช่วงต่างๆ

(พระเทพเวที) เราหวังไม่ได้ ถ้ากฎหมายไม่ช่วย เพราะท่านไม่ตั้ง และในทางปฏิบัติที่เป็นอยู่ มันก็เป็นอย่างนั้น ทั้งๆ ที่กฎหมายให้ตั้งได้ ท่านก็ไม่ตั้ง หรือตั้งก็ตั้งในเรื่องที่มันไม่ใช่ตัวงานตัวการ และวิธีตั้งก็ไม่ได้ผล เพราะท่านไปเอาตัวบุคคลในมหาเถรสมาคมเป็นอนุกรรมการกันเอง เพราะฉะนั้นกฎหมายจะต้องช่วยในเรื่องเหล่านี้ คือ ถ้ายังจะยึดเอากฎหมายเก่า ก็ต้องแก้ไขปรับปรุงกําหนดลงไปเลยว่า ต้องมีคณะอนุกรรมการหรือคณะกรรมการต่อไปนี้ เช่น คณะกรรมการการศึกษา คณะกรรมการเผยแพร่ คณะกรรมการวัฒนธรรมและเยาวชน หรืออะไรก็แล้วแต่ เอาว่าให้กฎหมายกําหนดเข้ามาว่า “ต้องมี” และกําหนดคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็นกรรมการเหล่านั้นว่าจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้...อะไรแบบนี้ คือให้เป็นเรื่อง “ต้อง” และการงานก็จะเกิดมีขึ้น ให้มหาเถรสมาคมเป็นผู้กําหนดนโยบายหรืออนุมัติเรื่องต่างๆ ก็ยังดี นี่ก็เป็นแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งกฎหมายนี้เมื่อจะแก้ไข ก็ต้องไปแก้กันที่รัฐสภา กฎหมายคณะสงฆ์เป็นกฎหมายปกครองคณะสงฆ์ เป็นกฎหมายของบ้านเมือง ไม่ใช่กฎหมายของคณะสงฆ์เอง

อย่างไรก็ตาม มหาเถรสมาคมริเริ่มได้ แต่ก็ต้องให้กระทรวงศึกษาธิการไปดําเนินการ คือ เวลาดําเนินการจริง เป็นเรื่องของรัฐ รัฐถ้าจะเอื้อเฟื้อก็ต้องมาถามคณะสงฆ์ว่าต้องการอย่างไร เราจะเห็นว่า การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ที่ผ่านมา ก็มีกระแสที่ทําท่าจะแรงเหมือนกัน มีรัฐมนตรีหลายท่านที่ทําท่าเอาจริงเอาจังแล้วก็เงียบๆ กันไป เพราะว่าทางรัฐจะทําอะไรก็ต้องคํานึงถึงทางคณะสงฆ์ด้วย ซึ่งตามปกติก็คงต้องไปขอความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม ปัญหาก็เลยอยู่ที่มหาเถรสมาคมเอง คล้ายๆ ว่า ทางฝ่ายอื่นๆ ก็อยากให้แก้ แต่มหาเถรสมาคมนั่นเองแหละที่ไม่อยากแก้ เรื่องก็เลยยาก ทีนี้ก็อยู่ที่รัฐเองด้วย ถ้าทางผู้ปกครองบริหารบ้านเมืองมีความเข้าใจเรื่องพระศาสนา ก็จะแก้ไขง่ายขึ้น ปัญหาขณะนี้ก็คือ ความไม่รู้ไม่เข้าใจ ฝ่ายบริหารบ้านเมืองก็ไม่ค่อยรู้เรื่องพระศาสนา ดังนั้น เขาก็ไม่รู้ว่าจะทําอย่างไรจึงจะดี เลยสรุปเอาว่า เรื่องของพระ .....พระก็ทํากันไป แทนที่จะมองเห็นจุดที่ควรจะแก้ไข ผิดกับยุคก่อนนี้ ที่พระเจ้าแผ่นดินท่านเป็นผู้ที่รู้เข้าใจเรื่องของพระศาสนาเป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นก็รู้จุดว่าจะแก้ไขอย่างไร บางทีก็เอื้อมมือมาแก้ไขเสียเอง เกี่ยวกับ พ.ร.บ.สงฆ์ฉบับปัจจุบัน เนื่องจากจอมพลสฤษดิ์เป็นเผด็จการ แกก็จัดการเองเสียเลย แต่เข้าใจว่า จะต้องมีพระที่เข้าไปร่วมคิดกับจอมพลสฤษดิ์

สมมุติว่า พ.ร.บ. คณะสงฆ์แก้ไม่ได้ จะก่อผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาภายในคณะสงฆ์มากน้อยขนาดไหน

(พระเทพเวที) มันก็มีตัวเอื้อน้อยลง การทํางานก็ยากขึ้น จะต้องทํากันด้วยความยากลําบาก และทําอย่างอ้อมไปอ้อมมาได้ผลไม่เต็มที่ อย่างเดี๋ยวนี้ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ยังไม่ได้แก้ไข ก็ต้องมี พ.ร.บ. เฉพาะเรื่องอย่างอื่นขึ้นมา เช่น พ.ร.บ. รับรองวิทยฐานะ ซึ่งก็มาช่วยเป็นตัวเอื้อต่อการปรับปรุงทางการศึกษาขึ้นบ้าง แต่พร้อมกันนั้นมันก็ทําให้ความเป็นเอกภาพในคณะสงฆ์อาจจะกระทบกระเทือนไปบ้าง

สมมุติว่า เราจะนําปัญหาต่างๆ ภายในคณะสงฆ์ ในลักษณะมาจัดลําดับ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการปกครอง ปัญหาการศึกษา ปัญหาพระประพฤตินอกพระธรรมวินัย หรือปัญหาการเกิดสํานักต่างๆ ขึ้นมา หากมาจัดลําดับก่อนหน้าหลังแล้ว ท่านคิดว่าปัญหาอะไรเป็นอันดับหนึ่ง สอง สาม

(พระเทพเวที) ก็ต้องมองเป็นปัญหาระยะสั้น ปัญหาระยะยาว และทําคู่กันไป ปัญหาระยะยาวก็คือ การศึกษาของพระภิกษุสามเณร ซึ่งต้องตั้งใจดําเนินการแก้ไขปรับปรุง และพร้อมกันนั้น ก็ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นเป็นเรื่องๆ ไป อย่างเช่น ปัญหาทางการปกครอง ในเมื่อเรามีองค์กรปกครอง เราก็ควรกระตุ้นให้ทําหน้าที่ให้แข็งขัน พระที่ทําเด่นในปัญหานอกรีตนอกรอย พอการปกครองแข็งขึ้น ก็จะเริ่มแก้ปัญหาอย่างได้ผลทันที เราคงไม่ต้องถึงกับมาเรียงปัญหาระยะสั้น ระยะยาว ขอให้ทําให้ถูกแง่เท่านั้นเอง โดยเฉพาะการศึกษาจะเป็นรากฐานของการแก้ปัญหาทั้งหมด คือถ้าเราไม่แก้ปัญหาด้านการศึกษาแล้ว การแก้ปัญหาช่วงสั้นๆ ก็จะไม่ได้ผลจริง คือต้องแก้กันอยู่นั่นแหละ การปกครองก็ต้องจับต้องลงโทษกันอยู่เรื่อยไป เพราะเป็นการใช้อํานาจและไม่ได้แก้ที่ตัวคน

ทีนี้สําหรับคณะสงฆ์ที่ผ่านมาในแง่หนึ่งคือ ไม่มีนโยบาย แต่ไปมุ่งในแง่ปกครอง เน้นในแง่ที่ว่าจะลงโทษอะไรต่ออะไร ซึ่งก็ไม่ได้ผล เพราะว่าการพระศาสนานั้นอยู่ได้ด้วยพระคุณ การแก้ปัญหาระยะยาวต้องแก้ด้วยพระคุณ เพราะไม่มีอํานาจที่จะไปจัดการอะไร ต้องอาศัยบ้านเมือง ถ้ารัฐไม่ร่วมเสียอย่างก็ลําบาก ทีนี้ตัวเองไปมุ่งในแง่การปกครอง จะลงโทษอย่างเดียวก็ไม่ได้ผล มีแต่ความขัดแย้ง จิตใจก็ไม่กลมกลืน ไม่สมานกัน การแก้ปัญหาของพระต้องแก้ที่ตัวคน ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างปัญหาการปกครองที่สัมพันธ์กับการศึกษา แม้แต่ในวัด อย่างการศึกษาระบบประเพณีนักธรรมบาลี คณะสงฆ์ต้องการให้พระเณรเรียนในระบบนี้ แต่พระเณรเบื่อระบบนี้ ต้องการเรียนอย่างอื่นที่สนองความต้องการของตัวเอง ซึ่งระบบเหล่านั้น คณะสงฆ์ไม่ต้องการ บางวัดก็ขัดขืนเอาโทษกับพระเณรที่ลักลอบหนีไปเรียน ก็เกิดความขัดแย้งกันขึ้น สิ่งที่พระเณรต้องการ คณะสงฆ์ไม่เอา ส่วนที่คณะสงฆ์จะให้รับเอา พระเณรไม่ต้องการ เกิดความขัดแย้งกันขนานใหญ่ พอเจ้าอาวาสจะให้พระเณรเรียนในระบบของคณะสงฆ์ ก็ต้องบังคับ ก็ฝืนใจแล้วความเป็นปฏิปักษ์ก็เกิดขึ้น พระเณรต้องการเรียนสิ่งที่คณะสงฆ์ห้ามเมื่อขืนไปเรียนก็อาจจะถูกไล่ออกจากวัด ก็ฝืนใจกันขัดใจกัน พระเณรไม่มีความรู้สึกที่ดีต่อเจ้าอาวาส เห็นเจ้าอาวาสเป็นศัตรู ไม่ได้เห็นเป็นผู้ที่มีพระคุณ แค่นี้การปกครองก็เสีย

การศึกษาในระบบของวัดแต่โบราณนั้น เราเรียกเจ้าอาวาสเป็นอาจารย์ เดี๋ยวนี้ก็ยังเรียกอยู่ มันเป็นหลักฐานที่แสดงว่า เจ้าอาวาสนั้นเป็นอาจารย์ เป็นผู้สอนให้ความรู้และการศึกษาอบรม อุปัชฌาย์อาจารย์เป็นผู้มีพระคุณแก่ศิษย์ ให้การศึกษาให้ชีวิต เมื่อเขาออกไปจากวัดแล้ว ไปทํามาหาเลี้ยงชีพ เขาก็สํานึกพระคุณว่า เราได้ชีวิตดีงามเจริญก้าวหน้า เพราะวัด เพราะหลวงพ่อ แล้วก็มีความผูกพันกันทางจิตใจ อยู่ในวัดก็เป็นอาจารย์เป็นครู ออกจากวัดไปแล้วก็มีความผูกพันกับวัด กับพระเจ้าอาวาส อุปัชฌาย์ อันนี้ก็เป็นนโยบายอันหนึ่งในแผนการศึกษา คือจะต้องให้เจ้าอาวาส หรือพระที่เป็นผู้ปกครอง เป็นผู้มีพระคุณแก่ภิกษุสามเณรในแง่ของการศึกษา ไม่ใช่มาเป็นปฏิปักษ์ทางการศึกษา ซึ่งส่งผลให้มีปัญหาแก่การปกครองอีกชั้นหนึ่ง

ท่านมีอะไรจะเสนอแนะเป็นพิเศษที่จะฝากไว้แก่พุทธศาสนิก หลังจากที่ต้องเผชิญกับความสับสนกรณีสันติอโศก

(พระเทพเวที) ตอนนี้ไม่ได้นึกเฉพาะว่าฝากอะไร แต่มันก็รวมอยู่ในเรื่องที่พูดมาแล้ว คือว่าตามหลักพุทธศาสนาจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เข้ามา โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นปัญหาต่างๆ โดย โยนิโสมนสิการ การใช้สติปัญญาใคร่ครวญพิจารณาสืบสาวหาเหตุผลแยกแยะเรื่องราวนั้นๆ ให้เห็นเหตุปัจจัยชัดเจน มีความรู้จริงในเรื่องนั้นๆ อันนี้เป็นหลักการสําคัญในการที่เราจะดําเนินไปสู่การแก้ปัญหาได้ สมัยนี้มักเน้นคําว่า “การคิดเป็น” การศึกษาก็พยายามเน้นเรื่อง “การคิดเป็น” ในทางพุทธศาสนาก็เน้นอยู่แล้ว คือให้มีโยนิโสมนสิการ การไม่ตื่นตูมไป การพยายามศึกษาค้นคว้าเรื่องราวให้ชัดเจน การมีความตื่นตัวกับปัญหาที่เกิดขึ้นและร่วมกันในการแก้ปัญหา การมองพระศาสนาว่าเรามีส่วนร่วมด้วย เป็นเจ้าของร่วมกัน โดยเฉพาะก็คือ ต้องมองเรื่องที่เกิดขึ้นว่าเป็นปัญหาของพระศาสนา ไม่ใช่มองไปเป็นเรื่องตัวบุคคลหรือว่าเรื่องของกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ แต่ต้องมองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกระทบกระเทือนพระศาสนาอย่างไร จะทํายังไงให้หมดปัญหา การมองต้องมองแบบการแก้ปัญหาของพระศาสนา ไม่ใช่คอยดูว่าเรื่องจะจบลงอย่างไร กลุ่มนั้นเป็นอย่างไร คนนั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่มองอย่างนั้น

การมองอย่างนั้น เป็นท่าทีที่ไม่ถูกต้อง ปฏิบัติไม่ถูกต้อง เราจะต้องมองว่านี่เป็นปัญหาของพระศาสนา เราจะแก้ปัญหาอย่างไรเพื่อให้พระศาสนาหมดปัญหา ไม่มีความกระทบกระเทือน คือมองว่า เรื่องยุติ ปัญหาจบหรือเปล่า ปัญหาที่เรียกว่าเสร็จสิ้นก็คือว่า ปัญหาของพระศาสนาหมดไป ไม่มีสิ่งที่จะกระทบกระเทือนพระศาสนา ถ้าอย่างนั้นเราเรียกว่า แก้ปัญหาพระศาสนา เพราะฉะนั้นให้มองไปที่ตัวพระศาสนา ไม่ใช่มองไปที่คนกลุ่มนั้น ว่าจบลงในเงื่อนไขแบบไหน ถ้ามองอย่างนั้นแล้วก็เป็นท่าทีที่ไม่ถูกต้อง ตอนนี้คนมักมองในแง่นี้ มองไปที่ตัวบุคคลนั้นจะเป็นยังไง กลุ่มนั้นจะเป็นยังไง แม้แต่มองว่าใครจะชนะใครจะแพ้ก็ยังมี อย่างนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาของสังคม ถ้าเรามีจิตใจอย่างนี้ สังคมก็ลําบาก ต้องมองว่าตัวปัญหานี้เป็นปัญหาที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน เป็นเรื่องที่เราจะให้ความสําคัญที่แท้จริง คือตัวพระศาสนาว่าเป็นอย่างไร ดูว่าพระศาสนาเป็นอย่างไร และปัญหาของพระศาสนาหมดไปหรือไม่ ถ้ามองได้อย่างนี้แล้วมันจะเป็นจิตใจที่ถูกต้อง มีจิตใจที่กว้างขวางพอที่จะรับผิดชอบต่อสังคม ต่อพระศาสนา

อีกประการหนึ่ง นึกขึ้นมาได้ คือว่า การที่คนไม่ได้ศึกษาเรื่องราวอย่างจริงจัง เช่น เรื่องของการประพฤติปฏิบัติ เราก็มองว่า สันติอโศกนี่ก็ดี ประพฤติปฏิบัติเคร่งครัด ถืออย่างนั้นถืออย่างนี้ แต่ว่าในแง่ของชาวพุทธจะต้องวิเคราะห์เลยว่า สันติอโศกประพฤติอย่างไรที่ว่าเคร่งครัด ทําอะไรบ้าง แล้วการเคร่งครัดอย่างนั้นมันเข้าหลักการของพระพุทธศาสนาแค่ไหน พระพุทธศาสนายอมรับไหม เอามาวิเคราะห์กันอย่างจริงจัง ว่าการปฏิบัติถือเคร่งครัดอย่างนี้ ในแง่หลักการพระพุทธศาสนาเห็นเป็นยังไง ถูกต้องแค่ไหน อันนี้รู้สึกว่าไม่ค่อยจะมองกันอย่างจริงจัง หรือวิเคราะห์อะไรกันเลย มีแต่เอ้อ เขาปฏิบัติดีนี่ จบแค่นั้นเอง ไม่เคยวิเคราะห์ว่า เป็นความดีจริงตามหลักการของพระพุทธศาสนาแค่ไหนเพียงไร แล้วก็ในแง่ของผลดีต่อชีวิตและสังคมเป็นยังไง เคยวิเคราะห์หรือเปล่า อันนี้ก็คือความที่ว่าสัมผัสเรื่องอย่างผิวเผินแล้วก็ไม่ได้พิจารณาไตร่ตรองอย่างแท้จริงในการขบคิดเพื่อแก้ปัญหา อันนี้ก็เป็นอันหนึ่งที่เป็นลักษณะของปัญหาในสังคมปัจจุบัน

แม้แต่ผู้ที่ได้ชื่อว่ามีการศึกษาก็มีลักษณะอย่างนี้ด้วย เมื่อได้สดับฟังข่าวสารจากสื่อมวลชนแล้วก็ไม่ได้วิเคราะห์ลึกซึ้งลงไป ไม่ตามหาความจริงก็พูดแสดงความเห็นออกมา อันที่จริงยังต้องมีการวิเคราะห์อีกหลายอย่าง ขบวนการสันติอโศกนั้น เมื่อเป็นเรื่องที่เด่นขึ้นมาในการพิจารณาแล้วก็สามารถวิเคราะห์โยงต่อไปได้หลายเรื่อง วิเคราะห์ในแง่จิตวิทยา ในแง่ของการจัดกลุ่มอะไรต่างๆ จะวิเคราะห์โยงจากเรื่องสันติอโศกไปหาสังคมก็ได้ อย่างที่พูดตอนต้นแล้วว่า ปัญหาสันติอโศกเกิดขึ้นเพราะมีสภาพความเสื่อมโทรมอยู่แล้ว ทั้งความเสื่อมโทรมทางด้านพระศาสนา และความเสื่อมโทรมของสภาพสังคมทั่วไป สภาพอะไรบ้างที่เอื้อต่อการเกิดกรณีสันติอโศก หรือแม้แต่การเกิดขบวนการอะไรต่างๆ เป็นเรื่องที่หยิบมาวิเคราะห์ได้เยอะ

ก็ขอฝากไว้ให้พิจารณา

คำปรารภ

พุทธบริษัทกับพระธรรมวินัย นี้ เป็นสนทนาพิเศษในหัวเรื่องเดียวกัน โดย ท่านพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) กับ ดร.ระวี ภาวิไล ซึ่งจัดขึ้นที่ ธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๓๒ ซึ่งทางนิตยสารสมาธิได้นำลงพิมพ์ติดต่อกันตั้งแต่ฉบับที่ ๔๐ จนจบบริบูรณ์ในฉบับที่ ๔๒

เนื้อหาของการสนทนาเป็นการแจกแจงรายละเอียด เพื่อสร้างความกระจ่างชัดในกรณีสันติอโศก ซึ่งถือเป็นเรื่องเด่นเรื่องหนึ่ง ที่อยู่ในความสนใจของพุทธศาสนิกชนไทย

สำหรับในภาคผนวก ก็เป็นบทสัมภาษณ์ท่านพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) โดยบรรณาธิการนิตยสารสมาธิ เกี่ยวกับ "บทเรียนและท่าทีของชาวพุทธต่อกรณีสันติอโศก" ซึ่งถือเป็นการขยายความจากเรื่องพุทธบริษัทกับพระธรรมวินัย โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการตีความพระธรรมวินัย

ทางสำนักพิมพ์ปัญญา ขอกราบขอบพระคุณ ท่านพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) และ อาจารย์ ระวี ภาวิไล ที่ได้กรุณาอนุญาตให้ทางสำนักพิมพ์ปัญญาได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ พร้อมได้กรุณาตรวจแก้ไขเพิ่มเติม ทําให้ต้นฉบับสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้คงจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยคลายความสับสนในหมู่พุทธศาสนิกให้กระจ่าง และเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจกรณีสันติอโศกต่อไป

สำนักพิมพ์ปัญญา

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.