พุทธศาสนากับสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พระพุทธศาสนากับประชาธิปไตย

 

ท่านสหธรรมิกและท่านสาธุชนทั้งหลาย

การพูดเรื่องพุทธศาสนากับประชาธิปไตยในวันนี้ ท่านผู้ดำเนินรายการ1 ได้วางแนวการพูดไว้กว้างๆ ส่วนหนึ่งแล้ว สำหรับอาตมภาพเห็นว่าแนวของเรื่องกว้างขวางมาก จำเป็นจะต้องจำกัดให้อยู่ในขอบเขตที่สัมพันธ์กับเวลาที่จะเป็นโอกาสให้พูดได้ นอกจากแนวที่ท่านผู้ดำเนินรายการได้พูดไปแล้ว อาตมภาพอยากจะจำกัดแนวของตนเองให้ชัดเข้าไปอีก เพื่อจะให้เห็นว่าเราจะนำพุทธศาสนาเข้ามาสัมพันธ์กับประชาธิปไตยได้อย่างไร

พระพุทธศาสนา ๒ แง่

ในเรื่องพุทธศาสนากับประชาธิปไตยนั้น เห็นว่าจะพูดได้เป็น ๒ แนวทางด้วยกัน ในแง่หนึ่งคือพูดในด้านศาสนธรรมได้แก่ตัวหลักศาสนาหรือคำสอน โดยพูดให้เห็นว่าหลักธรรมในพระพุทธศาสนามีส่วนที่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยหรือขัดแย้งกัน จะสนับสนุนหรือจะทำลายล้างการปกครองแบบประชาธิปไตย อันนี้เป็นแนวหนึ่ง อีกแนวหนึ่งเป็นการพูดในแง่ของสถาบัน คือ พูดในแง่ที่ว่าการปกครองคณะสงฆ์เป็นต้น ที่วางไว้ตามแบบแผนของพระธรรมวินัยนั้น เป็นไปได้โดยสอดคล้องกลมกลืนกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างไร มีคติอะไรที่จะนำมาใช้ได้บ้าง สำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนกระทั่งว่า ระบบการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นของพระพุทธศาสนานั้นจะดำรงอยู่ได้ด้วยดีหรือไม่ ในท่ามกลางการปกครองระบอบประชาธิปไตยนี้ นี้เป็นแนวทางกว้างๆ ที่เราจะพูดได้ ๒ อย่าง สำหรับวันนี้เวลามีจำกัด เพราะฉะนั้นอาตมภาพก็คงจะพูดเฉพาะในด้านเดียวคือ ในแง่ที่หนึ่ง ได้แก่ศาสนธรรม กล่าวคือหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ว่าหลักพระพุทธศาสนานั้นมีส่วนเกื้อกูล หรือจะนำมาช่วยสร้างสรรค์ให้คนอยู่ในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยได้อย่างไร

ประชาธิปไตย ๒ แง่

ทีนี้ในแง่ของประชาธิปไตยบ้าง ประชาธิปไตยนั้นก็อาจจะพูดได้ ๒ แง่เช่นเดียวกัน แง่ที่ ๑ คือรูปแบบ ได้แก่รูปแบบการปกครองที่วางไว้ว่า ในการปกครองระบบประชาธิปไตยนั้น อาจจะมีการปกครองระบบประชาธิปไตยแบบโดยตรง ซึ่งคนทุกคนได้มาร่วมกันดำเนินการปกครองเอง มีการออกกฎหมาย ทำการลงมติในเรื่องอะไรต่ออะไรโดยออกเสียงเองทุกๆ คน ซึ่งในสมัยนี้หาได้ยากแล้ว หรืออาจจะเป็นประชาธิปไตยโดยผ่านตัวแทนอย่างที่ใช้กันส่วนมากในปัจจุบันนี้ ตลอดจนกระทั่งรูปแบบการปกครองในระบบประชาธิปไตยที่แบ่งอำนาจต่างๆ เป็นอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ตลอดจนองค์การส่วนย่อยๆ ลงไปต่างๆ อันนี้ถือว่าเป็นรูปแบบ ทีนี้แง่ที่ ๒ ก็คือ ประชาธิปไตยในด้านเนื้อหาสาระ เนื้อหาสาระของประชาธิปไตยนั้นก็คือ พื้นฐานของจิตใจ แนวความคิดและพฤติกรรมต่างๆ ที่จะทำให้คนเราสามารถสร้างระบบการปกครองประชาธิปไตยขึ้นมาได้ ตลอดจนรักษาระบบการปกครองแบบนี้ไว้ และทำให้ระบบการปกครองเกิดผลดีสมความมุ่งหมาย อาตมภาพจะพยายามจำกัดตนเองโดยพูดในแง่ที่ ๒ คือสาระของประชาธิปไตย ไม่พูดถึงรูปแบบ ที่ไม่พูดถึงนั้นก็เพราะมีเหตุผลว่า ประการที่หนึ่ง เรื่องรูปแบบหรือระบบประชาธิปไตยก็มีผู้ที่เชี่ยวชาญเฉพาะอยู่แล้ว ขอปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้ชำนาญการนั้น อีกประการหนึ่ง ในแง่ของสาระก็เข้ากันได้ดีกับพระพุทธศาสนาที่จะพูดในแง่ศาสนาธรรม ถ้าจะพูดถึงรูปแบบหรือระบบการปกครอง ก็น่าจะพูดในแง่สถาบัน ส่วนการพูดในแง่สาระของประชาธิปไตย ก็คือพูดในแง่ของหลักคำสอนได้แก่ ศาสนธรรม

ประชาธิปไตยในแง่เนื้อหาสาระ กล่าวคือเรื่องพื้นฐานทางด้านจิตใจ แนวความคิดนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะว่ารูปแบบของการปกครองประชาธิปไตยที่ได้วางกันไว้เป็นระบบการต่างๆนั้น ความจริงมันเป็นเพียงวิธีการหรือเป็นโครงรูป ซึ่งได้พยายามคิดประดิษฐ์กันขึ้นมาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ว่า ทำอย่างไรจะให้ประชาธิปไตยเป็นไปได้เป็นอยู่ได้ ความจริงมันไม่ใช่ตัวประชาธิปไตยหรอก มันเป็นเพียงวิธีการที่จะให้ประชาธิปไตยแสดงตัวออกมา หรือจะให้ประชาธิปไตยดำรงอยู่ได้เท่านั้นเอง มนุษย์เราเท่าที่คิดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็คิดรูปแบบประชาธิปไตยกันมาได้เพียงเท่านี้ คือคิดเท่าที่สมองจะคิดได้ จนกระทั่งมาแบ่งมีอำนาจ ๓ อย่างเป็น นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ มีการเลือกตั้งอะไรต่างๆ ก็เป็นเพียงรูปแบบเท่าที่คิดกันขึ้นมาได้ รูปแบบเหล่านี้ย่อมเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลสมัย ตามเหตุปัจจัยแวดล้อม คือ เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น กาลสมัย และเหตุปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ตลอดจนความคิดของมนุษย์เองด้วย ถ้าหากมนุษย์เข้าใจในเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยดีแล้ว เขาก็อาจจะปรับปรุงแก้ไขระบบประชาธิปไตยที่วางเป็นรูปแบบการปกครอง นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการอะไรนี้ ทำให้มันผิดแปลกไปจากนี้ก็ได้ ต่อไปถ้าคนหัวดีเกิดขึ้นอาจแบ่งอำนาจ ๓ อย่างนี้ใหม่ไม่เป็น ๓ อย่างก็ได้ อาจละลดลงเป็น ๒ หรือเพิ่มเป็น ๔ อะไรก็ได้ เป็นเรื่องของการที่จะรักษาสาระของประชาธิปไตยไว้ให้ได้เท่านั้น

เพราะฉะนั้น เรื่องสำคัญที่สุดก็คือ เนื้อหาสาระของประชาธิปไตย หากว่าเราเข้าใจสาระของประชาธิปไตยแล้ว ถ้าเราต้องการจะมีประชาธิปไตย เราก็คงจะพยายามวางรูปแบบอะไรต่ออะไรได้และทำได้ดีที่สุด แต่ถ้าเราไม่เข้าใจสาระของประชาธิปไตย เราก็คงได้แค่ไปลอกแบบเขามา และเราอาจจะลอกแบบมาชนิดที่ไม่เหมาะสมกับตัวเราก็ได้ แต่ถ้าเราเข้าใจสาระของประชาธิปไตยดีแล้ว แม้เราจะไปลอกเขา เราก็คงไม่ลอกแบบมาทั้งดุ้น คงเอามาคิดปรับปรุงให้เหมะสมกับสภาพของเราเอง ยิ่งกว่านั้น เราอาจจะแก้ไขปรับปรุงระบบประชาธิปไตยของเราให้ดีกว่าที่เขามีก็ได้ คืออะไรที่เขามีอยู่แล้วแต่ไม่ดี เราก็แก้ไขเสีย เราทำทีหลังน่าจะได้ระบบประชาธิปไตยที่ดีกว่าเขา เป็นอันว่าในที่นี้จะพูดถึงเรื่องประชาธิปไตยในแง่ของสาระหรือเนื้อหา ซึ่งสัมพันธ์กับพุทธศาสนาในแง่ของศาสนธรรมหรือหลักคำสอน

ทีนี้ก่อนจะพูดในเนื้อเรื่อง จะขอพูดถึงความหมายของประชาธิปไตยสักเล็กน้อย ความหมายที่พูดกันอยู่ทั่วไปมีอยู่ว่า ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน หรือจะเติมให้ได้เนื้อความเต็มที่ในภาษาไทยให้ได้เนื้อหาและความหมายเต็มที่ตามหลักก็ว่า “การปกครองซึ่งประชาชน ของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” หรือจะเติมต่อไปอีกก็ได้ว่า “การปกครองแบบที่จะทำให้สาระแห่งชีวิตของทุกคนปรากฏผลงอกงามออกมาเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และให้ผลประโยชน์แก่ส่วนรวมทุกอย่างนั้นสะท้อนกลับไปเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของทุกๆ คน” อันนี้เป็นความหมายของประชาธิปไตยที่พอจะเข้าใจกันอยู่โดยย่อ เมื่อทำความเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว ก็มาพิจารณาต่อไปว่า ประชาธิปไตยดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่การยกเอาขึ้นมาเป็นหัวข้อให้พูดนี้ก็เท่ากับเป็นการยอมรับกันอยู่แล้วว่าระบบประชาธิปไตยดี เพราะฉะนั้นในที่นี้จะไม่ต้องไปวิจารณ์เทียบกับระบบการปกครองอื่นๆ ว่าดีหรือเลวกว่าอย่างไร ถือเป็นการยอมรับแล้วว่าเป็นระบบการปกครองที่ดี

คุณภาพของประชาธิปไตย

ทีนี้หันมาดูประชาธิปไตย อาตมภาพคิดว่า ตัวประชาธิปไตยเองก็น่าจะแบ่งออกไปได้อีก คือเป็นประชาธิปไตยที่ดี ประชาธิปไตยที่พอใช้ และประชาธิปไตยอย่างเลว หมายความว่าคุณภาพของประชาธิปไตยก็มีอยู่ด้วยเป็นชั้นๆ ทีนี้คุณภาพของประชาธิปไตยจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับวิธีการ เช่น รูปแบบที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อควบคุมให้เนื้อหาสาระของประชาธิปไตยดำรงอยู่และเป็นไปได้นี้อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งก็คือคุณภาพของผู้ปกครอง เราบอกว่าประชาธิปไตยนี้เป็นการปกครองของประชาชน หมายความว่าประชาชนปกครองตนเองและปกครองกันเอง ในเมื่อประชาชนปกครองตนเองและปกครองกันเอง คุณภาพของประชาธิปไตยก็ย่อมขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชนนั่นเอง หมายความว่า ถ้าประชาชนมีคุณภาพดี เราก็จะได้ระบบประชาธิปไตยที่มีคุณภาพดี ถ้าคุณภาพของประชาชนไม่ดี ก็จะได้ระบบประชาธิปไตยที่ไม่ดีด้วย อันนี้เป็นการแบ่งประชาธิปไตยในแง่คุณภาพได้เป็นขั้นๆ ตามคุณภาพของรูปแบบและคุณภาพของประชาชน

ทีนี้ คุณภาพของประชาธิปไตยในแง่คุณภาพของประชาชนจะดูได้อย่างไร เราคงจะต้องดูว่าประชาชนปกครองตนเองได้ไหม พร้อมหรือไม่ที่จะปกครองตนเอง และจะปกครองตนเองได้ดีแค่ไหน เพียงไร เพราะถ้าต้องการได้การปกครองที่ดี ก็ต้องมีผู้ปกครองที่ดี ประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชนโดยประชาชน จะได้ประชาธิปไตยที่ดี ก็ต้องมีประชาชนชนิดคุณภาพดี ประชาชนก็คือบุคคลทุกคนแต่ละคนๆ มาประกอบกันเข้า ถ้าจะได้ประชาชนที่มีคุณภาพดี ก็ต้องทำแต่ละบุคคลทุกๆ คนให้มีคุณภาพดี เมื่อบุคคลทุกคนโดยเฉลี่ยมีคุณภาพดี ก็ได้ประชาชนที่มีคุณภาพดี แล้วก็ได้ประชาธิปไตยชนิดดี แต่ถ้าประชาชนไม่มีคุณภาพดี ผู้ปกครองคือประชาชนเป็นเสียเองแล้ว จะเป็นอย่างไรและจะโทษใคร หันมาดูในแง่นี้ เราจะต้องพิจารณาประชาชนโดยสัมพันธ์กับหลักการเนื้อหาสาระของประชาธิปไตย ว่าประชาชนเข้าถึงเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยหรือไม่ เริ่มด้วยมาพิจารณากันถึงหลักการสำคัญของประชาธิปไตย หลักการที่สำคัญของประชาธิปไตยคงจะมีหลายอย่าง ขอยกเอาที่เด่นๆ สักอย่างก็พอ หลักการข้อที่เด่นมาก เห็นจะได้แก่เสรีภาพ เพราะรู้สึกว่าจะเป็นเรื่องที่ขึ้นปากเหลือเกิน เป็นที่นิยมชมชื่นกันมาก

เสรีภาพกับการปกครองตนเอง

พูดกันแบบประชาชนแบบชาวบ้านธรรมดา เสรีภาพก็คือ การทำอะไรได้ตามใจชอบ ตลอดถึงไม่อยากทำก็ไม่ต้องทำด้วย หมายความว่าอยากจะทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ต้องทำ อะไรชอบใจก็ทำ อะไรไม่ชอบใจก็ไม่ต้องทำ ทีนี้เสรีภาพซึ่งเป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย ก็มาสัมพันธ์กับหลักการสำคัญอีกอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยด้วยกัน กล่าวคือการปกครองตนเองและปกครองกันเอง การปกครองตนเองนี้เป็นสิ่งสำคัญเป็นความหมายอีกด้านหนึ่งของประชาธิปไตย ในเมื่อเรามีเสรีภาพแล้ว เราก็มีความรับผิดชอบอีกด้านหนึ่ง คือการปกครองตนเอง การปกครองตนเอง พูดง่ายๆ ก็คือการรู้จักควบคุมตนเอง ให้ทำได้ในสิ่งที่ควรทำ และให้งดเว้นได้จากการกระทำที่ไม่ควรกระทำ หรือที่ควรจะงดเว้น นั่นคือมี ๒ อย่างเป็นของคู่กัน จะเอาอย่างเดียวไม่ได้

เท่าที่เป็นมารู้สึกว่า เราจะหันไปมองหันไปนิยมชมชื่นในด้านหนึ่งมาก คือ ในด้านเสรีภาพ ทีนี้ ถ้าหันไปมองและมัวหลงเพลินในด้านนั้นมากเกินไป ก็อาจจะทำให้เผลอลืมไปอีกด้านหนึ่งว่า เราจะต้องมีการปกครองตนเองด้วย การปกครองตัวเองนี้เป็นเรื่องสำคัญ อย่างที่บอกแล้วว่าเป็นคู่กันกับเสรีภาพ ความจริงการปกครองตนเองได้ก็คือ ความสามารถในการใช้เสรีภาพ เสรีภาพนั้นเป็นอุปกรณ์ หรือเป็นวิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมาย เสรีภาพไม่ใช่จุดหมายในตัวของมันเอง เสรีภาพในฐานะที่เป็นอุปกรณ์ของประชาธิปไตย ก็คือเสรีภาพที่จะอยู่ในสังคมในสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งตนมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ปรับปรุง มิใช่ร่วมทำลาย ลึกเข้าไปกว่านั้นก็คือ เสรีภาพในการแสวงหาและนำชีวิตให้เข้าถึงสิ่งดีงามที่ชีวิตควรจะได้ และที่ตื้นที่สุดซึ่งควรเป็นความสำนึกแต่เบื้องต้น คือเสรีภาพในการแก้ไขปรับปรุงชีวิต หรือเสรีภาพในการแก้ไขปรับปรุงตนให้มีคุณภาพดี เพื่อให้เป็นบุคคลชนิดที่จะมาเป็นองค์ประกอบหรือเป็นส่วนร่วมที่ดีของสังคมประชาธิปไตย

ในสังคมประชาธิปไตย คนต้องมีเสรีภาพ เสรีภาพที่ต้องการคือเสรีภาพในการทำชีวิตให้ดีและใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ ในการทำชีวิตของตนให้เจริญงอกงาม และเกื้อกูลแก่สังคม ไม่ใช่เสรีภาพในการสร้างสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย หรือในการทำลายล้าง เมื่อมีเสรีภาพแล้วก็ต้องสามารถใช้เสรีภาพนั้นให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ด้วย หรือมีเสรีภาพแล้วก็ต้องใช้เสรีภาพเป็นด้วย เสรีภาพจึงเป็นคู่กับความสามารถหรือความรู้จักใช้เสรีภาพ เหมือนอุปกรณ์เป็นคู่กับการรู้จักใช้อุปกรณ์ ถ้ามีอุปกรณ์แล้วไม่รู้จักใช้ ก็ทำให้เกิดโทษได้ โดยใช้ผิด ไม่เกิดผลตามวัตถุประสงค์ เสรีภาพที่เป็นอุปกรณ์ของประชาธิปไตย เมื่อใช้ผิดก็กลายเป็นเครื่องมือสร้างอนาธิปไตย ประเทศที่สร้างประชาธิปไตยไม่สำเร็จ สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ก็เพราะประชาชนขาดความสามารถในการใช้เสรีภาพ ความสามารถหรือความรู้จักใช้เสรีภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ ความสามารถในการใช้เสรีภาพให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์นี่แหละ คือการปกครองตนเองได้ เสรีภาพจึงเป็นคู่กับการปกครองตนเองได้ นอกจากนั้น อีกแง่หนึ่ง เสรีภาพหมายถึงเสรีภาพในการที่จะปกครองตนเองด้วย เมื่อต้องการประชาธิปไตย ก็ต้องรู้จักปกครองตนเองและรู้จักใช้เสรีภาพเพื่อปกครองตนเองให้ถูกต้องตามแบบประชาธิปไตย

ในเมื่อการปกครองตนเองได้หมายถึงความสามารถในการใช้เสรีภาพแล้ว ย้อนกลับมามองดูความหมายของประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง ก็จะเห็นว่า ประชาธิปไตยในความหมายด้านหนึ่งก็คือการใช้เสรีภาพของคนที่สามารถปกครองตนเองได้ หมู่ชนใดไม่สามารถปกครองตนเองได้ แม้เพียงให้มีระเบียบวินัยในการดำเนินชีวิตร่วมกันด้านนอก คือขั้นศีล เช่น ปลูกต้นไม้ไว้ในที่สาธารณะ ก็รักษาไว้เป็นของกลางไม่ได้ พากันเหยียบย่ำเด็ดดึงถอนทิ้งเสียหมด เล่นกีฬาก็ไม่รู้แพ้รู้ชนะ ไม่รักษากติกาของส่วนรวม เอาแต่สนุกสนาน เห็นแก่ตัว มีงานร่วมกันทำไม่ได้ ขึ้นรถเข้าโรงมหรสพจัดเรียงรอลำดับกันไม่ได้ หมู่ชนนั้นจะอ้างตนว่ามีประชาธิปไตยได้อย่างไร ถึงจะร้องบอกว่าตนมีประชาธิปไตยก็จะเป็นได้เพียงประชาธิปไตยที่ไร้เดียงสา

มองไปอีกด้านหนึ่ง มีข้อที่น่าพิจารณาว่า เสรีภาพนี้ทำไมเราจึงนิยมชมชื่นกันมาก พูดและเอ่ยอ้างกันนัก จนกระทั่งลืมนึกถึงการปกครองตนเอง อาจจะเป็นเพราะว่าเราเคยถูกผู้อื่นปกครองหรือปล่อยให้ผู้อื่นปกครองมา เมื่อผู้อื่นเขาปกครอง เขาก็เอาเสรีภาพของเราไปจัดการ เขาให้เราได้ใช้เสรีภาพบ้าง ไม่ได้ใช้บ้าง จนกระทั่งเราเกิดความไม่พอใจขึ้น เราก็เรียกร้องเอาเสรีภาพกลับคืนมา เมื่อเสรีภาพกลับคืนมาแล้ว เราก็เพลิดเพลินกับการได้เสรีภาพนั้น แต่ลืมไปว่าอีกด้านหนึ่ง เมื่อเราเลิกให้เขาปกครองแล้ว เราจะต้องปกครองตนเองต่อไป ทำอย่างไรจึงจะปกครองตนเองได้ นี้เป็นเรื่องสำคัญมาก

เพราะฉะนั้นในเรื่องเสรีภาพนี้ เมื่อเราได้มาแล้ว ก็เป็นช่องทาง เท่ากับมีโอกาสที่จะปกครองตนเองอยู่กับตัวแล้ว ไม่ต้องมานิยมชมชื่นอะไรกันนัก สิ่งที่ต้องถามตัวเองก็คือ เราจะทำตัวอย่างไรดี คือทำตัวอย่างไรจึงจะทำให้การปกครองตนเองและการปกครองกันเองได้ผลดี เราปกครองอย่างไร หรือทำตัวกันอย่างไร จึงจะสามารถใช้เสรีภาพให้เกิดดอกออกผลเป็นประโยชน์ เป็นช่องทางอำนวยประโยชน์แก่ส่วนรวม คือแก่ชีวิตทุกๆ คนที่อยู่ร่วมกันต่อไป สิ่งที่จะต้องคิดจึงอยู่ที่ว่า เราจะต้องปกครองตนเองแล้วนะ และปัญหาก็อยู่ที่ว่าเราแต่ละคนๆ จะต้องทำอะไรกันบ้าง ที่ว่าจะต้องทำอะไร ก็คือว่า เราจะต้องทำอย่างไร จึงจะปกครองตนเองได้ เริ่มตั้งแต่จะต้องทำตนให้พร้อมที่จะปกครองตนเองได้เป็นต้นไป เมื่อจะทำคนให้พร้อมที่จะปกครองตนเองได้ ก็ต้องสร้างคุณภาพของคนขึ้นมา เมื่อพูดมาถึงนี่ก็เป็นอันว่าเป็นเรื่องของความรับผิดชอบ คือความรับผิดชอบของบุคคลในการกระทำ เมื่อพูดมาถึงตรงนี้แล้วก็เป็นอันเข้ามาถึงหลักของพระพุทธศาสนา

หลักการปกครองตนเอง: พุทธศาสนากับประชาธิปไตย

ถ้าพูดถึงสาระของประชาธิปไตยที่จะทำให้คนมีคุณภาพพร้อมที่จะปกครองตนเองได้แล้ว เราก็พูดได้ว่าหลักธรรมทุกอย่างในทางพระพุทธศาสนา เป็นหลักประชาธิปไตย เพราะเป็นเรื่องของการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ และให้รู้จักปกครองตนเองได้ แต่จะต้องมองให้ถูกแง่และปฏิบัติให้ถูกตามหลักนั้น หลักธรรมนั้นมีไว้ให้ทุกคนปฏิบัติ คือต้องมองหลักธรรมจากความรับผิดชอบของตนเอง ไม่ใช่เรียกร้องจากผู้อื่น ถ้ามองในแง่นี้แล้ว หลักธรรมทุกอย่างเป็นเรื่องของการที่จะให้เกิดประชาธิปไตย เช่น คารวะ แปลว่า ความเคารพ หมายถึงการมองเห็นคุณค่าและความสำคัญของผู้อื่น ตลอดจนความคิดเห็นของเขา เป็นต้น มองจากแง่ความรับผิดชอบของเราทุกคน จะต้องปฏิบัติความเคารพในความคิดเห็นและคุณค่าของผู้อื่นนั้น นี้เป็นหลักการที่สนับสนุนประชาธิปไตย แต่ถ้าเรามองในแง่เรียกร้องจากผู้อื่นแล้ว ความเคารพก็กลายเป็นเครื่องส่งเสริมลัทธิการเมืองที่ตรงกันข้าม คือเป็นการเรียกร้องความเคารพจากผู้อื่น ซึ่งอันที่จริงก็คือการปฏิบัติผิดหลักพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้น การที่จะนำหลักพุทธศาสนาเข้ามาใช้ในประชาธิปไตย เบื้องต้นต้องมองจากแง่ให้ถูกเสียก่อน คือว่าจะต้องนำธรรมมาใช้ให้ถูกต้องตามหลัก ธรรมที่ใช้ถูกหลักก็คือ มองจากความรับผิดชอบของตน ว่าเป็นหลักที่ต้องปฏิบัติกันทุกคน ถึงแม้หลักธรรมอื่นๆ ก็เหมือนกัน เช่น ขันติ ความอดทนที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น โสวจัสสตา ความเป็นผู้ว่าง่าย พูดกันง่าย หมายความว่า ยอมรับฟังเหตุผลความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นต้น ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็คือแนวทางแห่งประชาธิปไตย แต่ถ้าไปเรียกร้องสิ่งเหล่านี้จากผู้อื่น ก็เป็นลัทธิการปกครองที่ตรงกันข้าม ตอนนี้ยังมีหลักธรรมที่จะต้องพูดโดยตรงที่จะทำให้บุคคลปกครองตนเองได้ตามหลักของประชาธิปไตย แต่เวลาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นจะเอาไปไว้พูดตอนต่อไป

ธรรมาธิปไตยกับประชาธิปไตย

บัดนี้ ถึงวาระที่ ๒ ในการพูด ความจริงเวลาพูดรู้สึกว่าจะจำกัดมากเหลือเกิน ในคราวที่แล้วนี้อาตมภาพพูดไป เรียกว่าเพิ่งจะอารัมภบทเริ่มเข้าหัวข้อธรรมเท่านั้นเองก็หมดเวลาเสียแล้ว ยังมีเรื่องจะพูดอีกมากในราวสักครึ่งหนึ่งได้ ก็ไม่อาจจะพูดให้จบเพราะว่าเวลาเหลือน้อย และเผอิญได้ฟังท่านผู้ร่วมอภิปรายนี้ พูดถึงแง่ต่างๆ ก็เกิดมีข้อขัดแย้งระหว่างผู้อภิปรายด้วยกันขึ้น เพราะฉะนั้น แม้จะมีปัญหาจากที่ประชุมนี้มากมายหลายข้อ ก็จะขอโอกาสท่าน โดยเห็นว่าข้อขัดแย้งระหว่างผู้อภิปรายเอง อาจจะมีความสำคัญมากก็ได้ โดยจะขอตอบสั้นๆ ในบางแง่

เมื่อกี้นี้พูดถึงเรื่องประชาธิปไตยที่ดีก็คือ การใช้เสรีภาพของคนที่สามารถปกครองตนเองได้ ทีนี้คนอะไรจะปกครองตนเองได้ อันนี้เป็นปัญหาสำคัญในขั้นต่อไป คนที่จะปกครองตนเองได้ก็คือคนที่รู้จักวินิจฉัย และกระทำการต่างๆ ด้วยปัญญา ด้วยเหตุผล เอาหลัก เอาธรรม เอาความจริงความถูกต้อง คือไม่ถือเอาตนเป็นประมาณ และอีกอย่างหนึ่งคือไม่ได้ถือเอาการล่อการชักจูงของผู้อื่นเป็นประมาณ อันนี้ก็คือเข้าหลักอธิปไตย ๓ นั่นเอง แต่เท่าที่พูดๆ กันรู้สึกว่า ยังมีการสับสนอยู่บ้าง

ความจริงอธิปไตย ๓ ประการนี้ เป็นหลักสำหรับปรับปรุงคุณภาพของบุคคล เมื่อคนประกอบด้วยอธิปไตยที่ถูกต้องดีที่สุดในหลักทั้งสามนี้ กล่าวคือมีธรรมาธิปไตยแล้ว เราจึงจะเอาคนที่ประกอบด้วยธรรมาธิปไตย แล้วนั้นไปดำเนินกิจการต่างๆ ของส่วนรวมต่อไป เช่นว่าต้องการประชาธิปไตยก็ต้องให้แต่ละคนมีธรรมาธิปไตย คือต้องให้แต่ละคนเป็นธรรมาธิปไตยแล้วไปปกครองกัน การปกครองจึงจะเป็นประชาธิปไตยที่ดี หรือประชาธิปไตยที่แท้จริง พูดอีกนัยหนึ่งว่า ในระบบประชาธิปไตย เรามีเสรีภาพที่จะปกครองตนเอง เมื่อต้องการประชาธิปไตยก็ต้องใช้เสรีภาพเพื่อปกครองตนเองให้ถูกต้องตามแบบประชาธิปไตยโดยทำตนให้เป็นธรรมาธิปไตย

อัตตาธิปไตยคืออย่างไร คือการที่วินิจฉัยและตัดสินกระทำการต่างๆ ด้วยคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของตนบ้าง ฐานะของตนบ้าง หรืออะไรต่างๆ ที่สัมพันธ์กับตนเป็นประมาณ พวกที่ ๒ คือ โลกาธิปไตย ถือเอาเสียงชักจูง หรือเสียงนิยมของข้างมากของชาวโลก ในขณะนั้นๆ เป็นประมาณ หมายความว่า คนที่ถืออัตตาธิปไตยนั้น จะถือเอาประโยชน์เอาเกียรติเอาฐานะของตนเป็นหลักแล้วก็ไปตัดสิน หรือกระทำการต่างๆ เช่น ออกเสียง เป็นต้น ไปตามนั้น ส่วนพวกโลกาธิปไตย คือพวกมากลากไป ซึ่งในขณะนี้เราจะเห็นได้มาก คนไม่เป็นตัวของตัวเอง คือไม่ได้พิจารณาใช้เหตุผลตัดสิน แต่เป็นไปตามที่คนข้างมากเขานิยม พวกมากในหมู่คณะของตนฮือฮากันไปอย่างไร กลัวเขาจะว่าตัวเองก็ว่าไปตามอย่างนั้น อันนี้ไม่ถูกต้อง ไม่ดีพอ

ธรรมาธิปไตยคืออย่างไร ธรรมาธิปไตยคือถือธรรม ถือหลักการ เอาการที่ถูกต้องเป็นประมาณ ถือตามความดีงาม นั่นคือการพิจารณาตัดสินด้วยสติปัญญา หมายความว่าให้แต่ละคนนี้ ถือหลักการพิจารณาตัดสิน และกระทำการต่างๆ ด้วยอาศัยสติปัญญาบริสุทธิ์ พิจารณาว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด ดีที่สุดเท่าที่มองเห็นด้วยการค้นคว้ารับฟังแสวงหาความจริงอย่างถึงที่สุด ด้วยการคิดถึงที่สุด และอย่างจริงใจที่สุด เท่าไรก็เท่านั้น เช่น หลักกาลามสูตรก็อยู่ในข้อธรรมาธิปไตยนี้ ตามหลักนี้เมื่อเขาจะแสดงออก จะวินิจฉัยกระทำการอะไรต่างๆ ก็หมายความว่า สิ่งนั้นได้เกิดจากสุดยอดแห่งปัญญาของเขา สุดยอดแห่งคุณธรรมของเขาเท่าที่มี ในเมื่อแต่ละคนมีแนวในการวินิจฉัยตัดสินความและกระทำการต่างๆ โดยยึดถือสติปัญญาที่วินิจฉัยโดยบริสุทธิ์ใจ มุ่งเอาความถูกต้องเป็นประมาณเช่นนี้แล้ว มาทำให้เกิดเสียงข้างมาก ก็จะมีทางเป็นไปได้มากที่สุดว่า จะได้เสียงข้างมากที่ดี

เพราะฉะนั้นจะต้องแยกให้ถูกว่า อธิปไตย ๓ อย่างนี้ เป็นหลักกำกับความประพฤติและแนวความคิดจิตใจของบุคคลที่จะมาใช้ หรือมาอยู่ในระบบอีกทีหนี่ง คือเมื่อพูดถึงธรรมาธิปไตยก็หมายความว่าให้แต่ละคนพยายามทำตนให้เป็นธรรมาธิปไตย และคนที่เป็นธรรมาธิปไตยนั้น จะมาดำเนินการปกครองระบบใดรูปใดก็ตาม ก็ได้การปกครองที่ดีที่สุดของระบบนั้นรูปนั้น ถ้าเป็นประชาธิปไตยเราก็จะได้เสียงข้างมากที่ดี ได้ประชาธิปไตยที่ดี ทุกคนจึงต้องเป็นธรรมาธิปไตย อันนี้ขอทำความเข้าใจเพียงเท่านี้ก่อน

ประชาธิปไตยกับพฤติกรรมของชาวพุทธ

ทีนี้ ที่บางท่านพูดเมื่อกี้นี้ว่า ถ้าจะให้วินิจฉัยว่าพุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ก็ให้วินิจฉัยโดยพฤติกรรมของผู้ที่เรียกตนว่าเป็นชาวพุทธ อันนี้จะขอแย้งเล็กน้อย การวินิจฉัยด้วยพฤติกรรมนั้น จริงอยู่ในส่วนหนึ่งอาจจะถูก แต่ไม่ถูกเสมอไป การวินิจฉัยผลุนผลัน อาจเป็นการตื้นเกินไป พฤติกรรมของหมู่ชนอาจมีความซับซ้อน เหมือนอย่างในประเทศไทยเรานี้ เราบอกว่า เรามีประชาธิปไตยมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ ถ้าถามประชาชนเมื่อสักสิบปีมาแล้ว แกก็บอกว่าแกอยู่ในประเทศประชาธิปไตย แต่พฤติกรรมของแกเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ อันนี้ไม่แน่ เพราะว่ามันเป็นอุดมการณ์ที่เราพยายามจะเข้าถึง ไม่จำเป็นว่าเรารับพุทธศาสนามาแล้วทุกคนจะเข้าถึงพุทธศาสนาทั้งหมด เราอาจจะได้รับมาในรูปที่เราเห็นว่าดีกว่าสิ่งที่เรามีอยู่ หรือเราอาจจะชอบในบางแง่ แล้วเราก็ประพฤติปฏิบัติตามในแง่นั้นๆ บ้าง ในด้านที่เราเห็นหรือเท่าที่เข้าใจบ้าง จุดหมายที่ดีงาม ถ้าไม่แกล้งเฉย เราก็พยายามดำเนินให้เข้าถึงต่อไป อันนี้ก็เป็นแง่ต่างๆ ซึ่งขอแย้งในข้อที่ว่าจะเอาพฤติกรรมของคนมาวินิจฉัยไม่ได้เสมอไป

และที่พูดว่า พุทธศาสนาจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร หรือจะสอดคล้องสนับสนุนประชาธิปไตยได้อย่างไร ในเมื่อพุทธศาสนาสอนหลักธรรมเกี่ยวกับการปกครอง เช่น ทศพิธราชธรรม เป็นต้น ก็เพื่อใช้ในระบบการปกครองแบบราชาธิปไตยหรือเผด็จการ ก็ดี ว่าพุทธศาสนาอยู่ในเมืองไทยมาตลอด ๗๐๐ ปี เมืองไทยก็ปกครองด้วยระบบเผด็จการตลอดมา ก็ดี การพูดเช่นนี้เกิดจากความเข้าใจแคบและสับสน จะพูดชี้แจงสั้นๆ เช่น

๑. ในสมัยพุทธกาล ชมพูทวีปก็คล้ายกับพวกกรีก ประเทศที่ปกครองแบบราชาธิปไตยก็มี ปกครองแบบประชาธิปไตยที่สมัยนั้นเรียกว่าแบบสามัคคีธรรมก็มี หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ก็มีสำหรับทั้ง ๒ แบบ เช่น ทศพิธราชธรรมสำหรับผู้ปกครองในระบอบราชาธิปไตย อปริหานิยธรรมสำหรับพวกที่ใช้ระบบสามัคคีธรรม ในแง่ของการทำหน้าที่และรับผิดชอบฝ่ายศาสนา ก็ต้องสั่งสอนเพื่อผลในทางปฏิบัติ สำหรับสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ให้ดีที่สุด ในเมื่อราชาธิปไตยรุ่งเรืองอยู่ จะรอให้ราชาธิปไตยหมดสิ้นไปก่อนแล้วจึงค่อยสั่งสอนได้หรือ ก็ต้องสอนผู้ปกครองในระบอบราชาธิปไตยให้ปกครองอย่างดีที่สุด เท่าที่ผู้ปกครองนั้นจะสามารถเบนวัตถุประสงค์ของการปกครองออกไป ในทางที่เป็นไปเพื่อผลดีหรือประโยชน์สุขแก่ประชาชนให้มากที่สุด ในเวลาเดียวกัน สำหรับระบอบสามัคคีธรรมที่ยังมีรอดอยู่ ก็ต้องสอนย้ำถึงวิธีการที่จะดำรงรักษาระบอบนั้นไว้ให้ยั่งยืน และให้บังเกิดผลดีตามวัตถุประสงค์มากที่สุด นี้คือสิ่งที่ดีที่สุดที่พระพุทธเจ้าจะทำได้ในฐานะที่เป็นนักปฏิบัติ ส่วนว่าระบบที่พระองค์เองต้องการเป็นอย่างไรนั้น ก็ให้ดูระบบที่อยู่ในความรับผิดชอบและอำนาจจัดดำเนินการของพระองค์เอง คือดูที่ระบบการปกครองคณะสงฆ์ตามธรรมวินัย ต้องแยกพิจารณาให้ถูกอย่างนี้

๒. ที่ว่าพุทธศาสนาอยู่เมืองไทยมา ๗๐๐ ปี เมืองไทยก็ปกครองด้วยระบบเผด็จการตลอดมา พุทธศาสนาจึงต้องมีหลักการเป็นแบบเผด็จการหรือไม่สนับสนุนประชาธิปไตย อะไรทำนองนี้ นับว่าเป็นการพูดอย่างคลุมเครือและสับสน หรือพูดอย่างเหมา ข้ามขั้นตอนและขาดการวิเคราะห์ เช่น

  • สับสนในเรื่องขอบเขตอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบ พุทธศาสนาไม่ใช่ผู้จัดการปกครองเอง และมิใช่สถาบันที่จะต้องทำหน้าที่นั้นแก่รัฐ ยิ่งกว่านั้น พุทธศาสนาถูกรับเข้ามาในรัฐที่เขามีระบบการปกครองของเขาเองอยู่แล้ว สิ่งที่พุทธศาสนาจะทำได้ในกรณีเช่นนี้ อาจจะเป็นการทำหน้าที่แบบนักปฏิบัติ คือ สอนให้ผู้ปกครองปกครองอย่างดีที่สุด ในแง่ที่เป็นผลดีออกมาให้แก่ประชาชนให้มากที่สุด หรืออาจช่วยเป็นตัวผ่อนเบาถ่วงดุลความแรงร้ายในระบบ หรือเสริมสร้างระบบซ้อนหรือระบบควบคู่ไว้เป็นทางเลือก หรือเป็นมุมแปรสำหรับให้พร้อมที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนระบอบ หรืออย่างน้อยอาจเป็นที่เก็บเชื้อไว้ให้ประชาธิปไตยมีโอกาสก่อตัวหรืองอกงามขึ้นได้ต่อไป
    อย่างในทางตะวันตก ทั้งที่ทัศนะเกี่ยวกับการปกครองของพลาโต อริสโตเติล และโคลสธีนิส เป็นต้น ในเรื่องประชาธิปไตยก็มีอยู่ แต่ประเทศตะวันตกหลังยุคกรีกก็มีแต่การปกครองแบบราชาธิปไตยตลอดเวลายาวนาน นี่ย่อมไม่ได้เป็นการแสดงว่าคำสอนของปราชญ์เหล่านั้นสนับสนุนราชาธิปไตยหรือขัดขวางประชาธิปไตยแต่อย่างใด ถ้าบันไดมีอยู่และใช้พาดปีนขึ้นตึกได้ แต่เราไม่ได้ใช้บันไดนั้นพาด หรือพาดแต่ไม่ปีนขึ้นบันไดนั้น ย่อมไม่หมายความว่าบันไดนั้นขัดขวางเราไม่ให้ขึ้นตึก หรือว่ามันสนับสนุนให้เราอยู่บนพื้นล่าง
  • อีกอย่างหนึ่ง ต้องมองให้ถูกว่า ไม่ใช่พุทธศาสนาเป็นตัวทำเป็นตัวบันดาล หรือเป็นตัวก่ออิทธิพลต่อสิ่งอื่นฝ่ายเดียว ถึงสิ่งอื่นก็ก่ออิทธิพลต่อสิ่งอื่นได้ และต่อพุทธศาสนาได้เหมือนกัน คำสอนในพระพุทธศาสนาจึงอาจถูกแบ่งส่วนเลือกเอามาบ้าง ถูกตีความบ้าง ให้เป็นไปในทางใดทางหนึ่ง หรือแม้แต่ขาดการศึกษา ขาดการชี้แจงแนะนำสั่งสอนที่สม่ำเสมอต่อเนื่องและทั่วถึง จึงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือไม่เพียงพอ ดังนี้เป็นต้น

ข้อสำคัญ เมื่อเกิดความสำนึกแล้ว รู้ว่าต้องการอะไร และมีโอกาสก็ศึกษาเสียให้รู้ชัดว่าหลักการที่แท้จริงเป็นอย่างไร มีอะไรที่จะเอามาใช้แก้ปัญหาที่ประสบอยู่ และเพิ่มพูนปัญญาความสามารถในการสร้างสรรค์ผลสำเร็จที่ต้องการให้เกิดขึ้นได้ ก็ทำสิ่งนั้น ที่มาพูดกันนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อมาดูว่า อ๋อนี่เข้ากันได้นะ เท่านั้น แต่เรามีปัญหาต้องการประชาธิปไตย แต่ก็ยังไม่เข้าถึงจริง จึงมาหาเครื่องช่วยแก้ปัญหาว่าอันนี้จะเอามาช่วยได้หรือไม่

สัมฤทธิผลของประชาธิปไตย

นอกจากอธิปไตยแล้ว จะขอพูดสั้นๆ เรื่องประชาธิปไตยอีกเล็กน้อย

ประชาธิปไตยนี้ มันเป็นเรื่องการปกครองร่วมกัน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน เพราะฉะนั้น เราจะเอาแต่ใจตัวเองไม่ได้ เหมือนอย่างคนเดินทางไปร่วมกัน ถ้าเป็นแบบเผด็จการ เมื่อคนเดินทางด้วยกันมากๆ ผู้นำก็จะบังคับเอาว่าจะต้องเดินทางไปให้ได้อย่างนั้นอย่างนี้ โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงผู้เดินทางว่าใครจะอ่อนแอ ใครจะเดินไหว เดินไม่ไหวก็อาจจะปล่อยให้ตายไป เราไปให้ถึงที่หมายให้เร็วที่สุด แต่ถ้าเป็นประชาธิปไตยก็หมายความว่าเราจะต้องคำนึงถึงทุกคน เราจะเดินทางไปได้ดีต้องอาศัยความพร้อมเพรียงกัน หากว่าคนไหนอ่อนแอ เราก็อาจจะไปช่วยจูงช่วยอุ้ม ซึ่งแม้จะไปถึงที่หมายช้าหน่อย แต่ก็ทำให้ทุกคนเดินทางไปด้วยความสบายและถึงที่หมายโดยทั่วถึงกันทุกคน

ประชาธิปไตยนั้น เป็นกึ่งกลางระหว่างเผด็จการหรือว่าการบีบบังคับ กับอนาธิปไตย คือไม่มีการปกครองเลย ถ้าหากว่าเราไม่มีความพร้อมเพรียง ไม่มีความประสานความร่วมมือกันแล้ว ประชาธิปไตยก็จะกลายเป็นภาวะที่ไม่มีการปกครองนั้นเอง อันนี้จะเทียบง่ายๆ เหมือนอย่างนิทานเรื่อง “นกกระจาบ” นั่นแหละ นกกระจาบที่มันบินลงมากินข้าวในนาแล้ว นายพรานเอาตาข่ายไปดักคลุมมันไว้ทั้งหมด ถ้ามันเป็นประชาธิปไตย คือ พยายามที่จะร่วมมือกัน มันบินไปด้วยกัน พร้อมเพรียงกัน มันก็พาตัวรอดภัยไปได้ทั้งหมด แต่ถ้ามันถือประชาธิปไตยที่ว่าต่างตัวต่างคนพยายามจะยื้อแย่งผลประโยชน์กัน เกี่ยงกัน ที่จะเอาก็แย่งกัน ที่จะทำก็เกี่ยงกัน บอกว่าอยากมีเสรีภาพ แต่ใช้เสรีภาพเพื่อแย่งกัน ใช้เสรีภาพเพื่อเกี่ยงกัน ผลที่สุดมันก็ตายไปด้วยกันนั่นเอง

เสรีภาพเป็นองค์ประกอบและเป็นอุปกรณ์สำคัญของประชาธิปไตย เป็นช่องทางให้ส่วนที่ดีที่สุดแห่งภูมิปัญญาของทุกคนถูกนำออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ บุคคลจึงต้องใช้เสรีภาพอย่างมีเหตุผลเพื่อแสดงสิ่งที่เกิดจากภูมิปัญญา แต่ถ้าคนใช้เสรีภาพเพียงเพื่อเป็นทางระบายอารมณ์ เสรีภาพก็เป็นเพียงช่องทางสนองตัณหา และย่อมนำมาซึ่งความล้มเหลวของประชาธิปไตย

เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยจะดีหรือไม่ อยู่ที่ว่าเราจะทำสาระของประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ มีความพร้อมเพรียงสามัคคีกัน รู้จักใช้เสรีภาพ รู้จักปกครองตนเอง เป็นต้น ถ้าทำไม่ได้ ประชาธิปไตยก็เป็นประชาธิปไตยขั้นเลว เป็นประชาธิปไตยแบบนกกระจาบ ซึ่งนำไปสู่หายนะได้เช่นเดียวกัน เรื่องสาระของประชาธิปไตยนั้นยังมีอยู่อีกมากมาย ไม่มีโอกาสที่จะพูดในที่นี้ เพราะว่าเวลาหมด เพราะฉะนั้น ขอยุติเพียงเท่านี้ฯ

พระพุทธศาสนากับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง

วันนี้อาตมารู้สึกเป็นสิริมงคลที่ได้มีโอกาสมาแสดงธรรมกถาในสถานที่นี้ ซึ่งมีผู้ใฝ่รู้ทางวิชาการและใฝ่ความรู้ทางธรรม เรื่องที่จะพูดในวันนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เกี่ยวกับหลักธรรม นับว่าเราได้มาพูดกันถึงเรื่องที่เป็นสิริมงคล และสังคมปัจจุบันก็เป็นสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงมีสภาพน่าสนใจ จึงเป็นข้อน่ายินดีที่กำหนดให้พูดในเรื่องพระพุทธศาสนากับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ความหมายของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ความจริงสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นเรื่องธรรมดา คือสังคมย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตลอดทุกเวลา เราเชื่อในหลักพุทธศาสนา คือ หลักอนิจจัง ความไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายที่เป็นสังขารก็ย่อมมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ถึงจะไม่ตั้งหัวข้อว่า สังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง สังคมนั้นก็ย่อมกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นธรรมดา แต่การที่มาเน้นใส่คำว่า กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าไปในที่นี้ ย่อมมีความหมายเพิ่มเติมเป็นพิเศษนอกเหนือจากปกติอีก คือตามปกติการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามกระแสของหลักอนิจจังนั้น อาจเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องกันไปตามปกติของสิ่งนั้นก็ได้ คือ สิ่งทั้งหลายดำเนินไปตามทิศทางของมันเอง แล้วก็เปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย ถ้าพูดอย่างภาษาชาวโลกกว้างๆ การเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ บางทีเราถือว่าเป็นการอยู่นิ่งได้เหมือนกัน เหมือนอย่างเรานั่งอยู่ในสถานที่นี้ ตลอดเวลาก็มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย แต่ในภาษาพูดกว้างๆ เราถือว่านั่งอยู่นิ่งๆ ซึ่งความจริงก็ไม่นิ่ง เพราะในร่างกายทุกส่วน ทั้งทางกายและทางจิตใจมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

คำว่า สังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง ในที่นี้ ย่อมมีความหมายเป็นพิเศษ ในแง่ที่ว่ามันไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลงตามปกติ แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงในอัตราความเร็วที่สูงกว่าปกติ และมีเหตุปัจจัยพิเศษเข้ามาช่วยเร่งในการเปลี่ยนแปลงนั้น ตลอดจนกระทั่งว่ามันอาจจะเปลี่ยนแปลงทิศทางของความเปลี่ยนแปลงนั้นอีกก็ได้ เพราะฉะนั้น ที่พูดว่าสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงในที่นี้ จึงหมายถึง สังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากการที่สิ่งทั้งหลายไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามปกติ มีการเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบในโครงสร้าง หรือมีเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ดูผิดรูปผิดร่างไปจากเดิม ซึ่งในปัจจุบันนี้ เราถือว่าสังคมไทยเรากำลังอยู่ในยุคของความเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้ คือไม่ใช่เวลาเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ แต่มีความเปลี่ยนแปลงพิเศษ ถึงอาจจะเปลี่ยนแปลงทิศทางไปก็ได้

เมื่อพูดถึงพระพุทธศาสนากับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงเราอาจจะพูดได้หลายแง่ จะพูดในแง่ที่พระพุทธศาสนามีความเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมนั้นอย่างไร คือช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างไรหรือไม่ และช่วยในทางดีหรือทางเสีย หรืออาจจะพูดในแง่ที่ว่าเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปนั้นมันจะเกิดผลกระทบกระเทือนต่อพระพุทธศาสนาอย่างไร พระพุทธศาสนาจะเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงไป เพราะความเปลี่ยนแปลงของสังคมนั้น อาจจะพูดในแง่นี้ก็ได้ หรืออาจจะพูดในแง่ที่ว่าในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปนั้น พระพุทธศาสนาควรมีบทบาทอย่างไร พระพุทธศาสนาควรช่วยสังคมอย่างไรบ้าง ในระยะที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้ รวมความว่าอาจจะพูดได้หลายแง่ แต่จะให้พูดในแง่ไหนบ้างก็แล้วแต่เวลาและโอกาสจะมีให้ นอกจากนั้น ในการพูดทั้งหมดนี้พูดได้ ๒ แง่ คือ พูดในแง่หลักธรรมของพุทธศาสนาก็ได้ คือ พูดว่า คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น มีส่วนช่วยสังคมที่เปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร เราจะประยุกต์ใช้ได้อย่างไร อย่างนี้ก็ได้ หรือ อาจพูดในแง่ว่าในสภาพที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลง พระสงฆ์วัดวาอารามจะทำอะไรกันได้บ้าง อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรพูดถึงทั้งสิ้น แต่เป็นเรื่องใหญ่ อาจจะพูดได้ไม่หมดในเวลาที่กำหนดให้เพียงเท่านี้

พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง

เมื่อพูดเรื่องพระพุทธศาสนา กับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงจะพูดในแง่ใดก็ตาม ก็มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า พระพุทธศาสนานั้น เหมาะที่จะเอามาพูดเอามาเกี่ยวข้องกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะมีลักษณะของพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่งที่เข้ากันได้กับเรื่องนี้ คือ พระพุทธศาสนานั้น เกิดขึ้นในระยะที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลง และการที่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นก็เป็นความเพียรพยายามที่จะแก้ปัญหาของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง

พระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ในระยะที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างไร อันนี้เราควรที่จะย้อนกลับไปพิจารณาถึงประวัติศาสตร์ ความเป็นมาตั้งแต่พุทธกาล ในที่นี้เรามีเวลาพอสมควร จะลองหันกลับไปดูภาพในอดีตกันสักเล็กน้อยก็ได้ พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นประมาณ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ปัจจุบันนี้ก็ พ.ศ. ๒๕๑๗ แล้ว บวกเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญศาสนกิจทั้งหมด ๔๕ พรรษาเข้าไปเป็นการเริ่มต้นพระพุทธศาสนา ก็เป็นเวลาถึง ๒,๕๖๒ ปี แดนอุบัติแห่งพระพุทธศาสนาก็คือชมพูทวีป ชมพูทวีประยะนั้นกำลังมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ซึ่งเราเรียกได้ว่าเป็นสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง ชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล ก็เป็นสมัยที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงเช่นกัน จึงพูดได้ว่า พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในระยะที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลง ทีนี้ลองมาพิจารณาสภาพและวิธีปฏิบัติของพระพุทธศาสนาต่อสังคมชมพูทวีปสมัยโบราณเมื่อ ๒ พันกว่าปีมาแล้ว ที่ว่ากำลังเปลี่ยนแปลงนั้น ว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ลองสำรวจเป็นแง่ๆ

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ด้านที่ ๑ มองในแง่ของการเมือง ในสมัยพุทธกาลนั้น ชมพูทวีปส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ก็คือชมพูทวีปภาคเหนือ หรืออินเดียภาคเหนือในปัจจุบัน ในตอนนั้น อินเดียยังแบ่งแยกออกเป็นหลายแว่นแคว้นเหลือเกิน ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนามี ๑๖ แคว้นด้วยกัน2 เช่น แคว้นอังคะ มคธ กาสี โกศล วัชชี มัลละ เป็นต้น แคว้นเหล่านี้ได้มีการต่อสู้ แย่งชิงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งถึงสมัยพุทธกาลจริงๆ แล้ว มีแคว้นที่ยิ่งใหญ่เหลืออยู่ไม่กี่แคว้น ที่มีอำนาจมากจริงๆ ก็คือ ๑.แคว้นมคธ ๒.โกศล ๓.วัชชี ๔.วังสะ ๕.อวันตี

ในบรรดาแคว้นเหล่านี้ เมื่อว่าโดยระบบการปกครองจะแบ่งออกได้ ๒ ประเภท พวกหนึ่งปกครองด้วยระบบราชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือมีพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้นำ และปกครองด้วยอำนาจที่สมบูรณ์เด็ดขาด ประเทศที่มีการปกครองแบบนี้ ได้แก่ รัฐมคธ เมืองราชคฤห์เป็นเมืองหลวง มีพระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้ปกครอง ต่อมาก็แคว้นโกศล มีเมืองสาวัตถีเป็นเมืองหลวง มีพระเจ้าแผ่นดินชื่อปเสนทิโกศล ต่อไปก็แคว้นวังสะ มีเมืองโกสัมพีเป็นเมืองหลวง พระเจ้าแผ่นดินชื่ออุเทน ต่อไปก็แคว้นอวันตี มีเมืองหลวงชื่ออุชเชนี มีพระเจ้าแผ่นดินชื่อว่าพระเจ้าจัณฑปัชโชต บรรดาแคว้นทั้ง ๔ นั้น ที่ใหญ่จริงๆ ก็เพียงสองแคว้น คือแคว้นมคธ กับโกศล ซึ่งกำลังเรืองอำนาจมากขึ้น ส่วนระบบการปกครองอีกแบบหนึ่ง ก็คือระบบสามัคคีธรรม ซึ่งถ้าเทียบกับปัจจุบันก็เป็นประชาธิปไตยแบบหนึ่ง ประเทศที่ปกครองแบบนี้ที่ใหญ่จริงๆ ในขณะนั้นก็เหลือเพียงวัชชีแควันเดียว ซึ่งมีกรุงเวสาลีหรือไพศาลีเป็นเมืองหลวง แคว้นสามัคคีธรรมหรือประชาธิปไตยนอกจากนั้นกำลังสูญสิ้นอำนาจไป เช่นแคว้นศากยะ ตอนพุทธกาลก็ยอมรับอำนาจของแคว้นโกศลแล้ว และต่อมายังไม่ทันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ก็ถูกแคว้นโกศลโดยพระเจ้าวิฑูฑภะยกกองทัพไปปราบเสียหายหมด อีกแคว้นหนึ่งคือมัลละ ตอนนั้นก็มีอำนาจเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

สภาพทางการเมืองในสมัยนั้นชี้ให้เห็นว่า ในครั้งพุทธกาลกำลังมีการขยายอำนาจ ประเทศต่างๆ กำลังขยายดินแดน สู้รบกันเพื่อจะทำให้ประเทศของตนเป็นประเทศที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลที่สุด ถ้าเป็นไปได้ก็รวบประเทศอื่นเข้ามาอยู่ในอำนาจทั้งหมด รวมแล้วก็มีระบบการปกครองอยู่ ๒ ประเภท ดังที่กล่าวมาแล้ว

ที่น่าสนใจก็คือ การปกครองของวัชชี รวมถึงแคว้นศากยะและพวกมัลละ ซึ่งมีการปกครองแบบสามัคคีธรรม หรือที่เทียบกับสมัยนี้ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบหนึ่งหรือระดับหนึ่ง จะพูดให้เห็นลักษณะบางอย่างที่ว่าประชาธิปไตยอย่างไร คือประเทศเหล่านี้มีการปกครองโดยมีการประชุมพิจารณาตัดสินกรณียกิจของแว่นแคว้น เขามีสภาหรือที่ประชุมเรียกว่า สัณฐาคาร สัณฐาคารเป็นที่ประชุมของของรัฐ เวลามีเรื่องราวกิจการรัฐเกิดขึ้น พวกชนผู้มีหน้าที่ปกครองจะต้องมาประชุมที่สถานที่นั้นมาพิจารณาร่วมกันลงมติตัดสินใจว่าทำอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงขอพระราชธิดาของเจ้าศากยะมาเป็นพระมเหสี เพื่อจะได้เป็นญาติกับพระพุทธเจ้า พวกศากยะทั้งหลายก็ยกเรื่องนี้เข้าไปพิจารณาในสัณฐาคาร มีการประชุมพิจารณาว่าจะทำอย่างไร และลงมติตัดสินถือเอาตามเสียงที่ประชุม หรืออย่างแคว้นมัลละตอนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน อย่างพวกกษัตริย์มัลละก็จะพากันไปประชุมที่สัณฐาคาร พิจารณากันว่าในการปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้นจะจัดงานพระสรีรศพอย่างไรกัน เป็นการเตรียมการล่วงหน้า และตอนที่พระอานนท์ไปแจ้งข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็ได้ไปแจ้งที่สัณฐาคาร ในขณะที่เจ้ามัลละกำลังประชุมกันอยู่ แม้แคว้นวัชชีก็มีผู้นำ หรือหัวหน้าหรือผู้ทำหน้าที่ผู้ปกครองในเวลาหนึ่งๆ บริหารร่วมกัน ถึง ๗,๗๐๗ องค์ ผลัดเปลี่ยนกันเป็นประมุขตามวาระ เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้น พวกนี้ก็ต้องมาประชุมพร้อมกันที่สัณฐาคาร เพื่อจะได้พิจารณาตกลงว่าจะปฏิบัติอย่างไร ในแต่ละกรณี

ในการแย่งชิงอำนาจขยายอาณาเขตนั้น ปรากฏรูปการณ์ว่าฝ่ายสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีความเข้มแข็งกว่า และกำลังจะปราบปรามรวมเอาพวกประชาธิปไตยเข้าไว้ในอำนาจได้มากยิ่งขึ้น โดยลำดับ คงเหลือวัชชีเป็นแคว้นสามัคคีธรรมเพียงแคว้นเดียวที่ยังมีอำนาจมากอยู่ นอกนั้นได้ไปตกอยู่ในอำนาจของฝ่ายสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกือบหมดสิ้นแล้ว แคว้นวัชชีนี้ยังดำรงอยู่ได้เพราะเป็นแคว้นที่เข้มแข็งมาก มีสามัคคีธรรมอย่างสูง พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นมาท่ามกลางสภาพทางการเมืองอย่างนี้ ในฐานะที่ทรงเป็นนักปฏิบัติ เป็นนักศาสนา ไม่ใช่เป็นเพียงนักปรัชญา พระองค์ก็จะต้องทรงเกี่ยวข้อง ในการที่จะให้ประชาชนตั้งแต่ชั้นต่ำสุดคือยากจนที่สุด จนกระทั่งพระราชามหากษัตริย์ มีความเป็นอยู่อย่างผาสุก มีความประพฤติดีงาม มีศีลธรรม ดำเนินกิจการให้บังเกิดผลดีงามทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาก็จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับคนเหล่านั้น ให้มีการนำธรรมไปใช้ในการดำเนินชีวิตและกิจการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการปกครองด้วย ทีนี้พระพุทธเจ้าจะทรงเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องลองพิจารณากันดู

สรุปว่าในด้านที่ ๑ เป็นการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองแคว้นต่างๆ กำลังแย่งชิงอำนาจกันเหลือแคว้นน้อยลงไปตามลำดับ แคว้นไหนมีอำนาจมาก ก็จะรวมแคว้นอื่นเข้ามาอยู่ในอาณาเขตของตน และในสภาพการณ์เช่นนี้ การปกครองแบบประชาธิปไตยก็กำลังจะหมดไป

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การศึกษาและสังคม

ด้านที่ ๒ คือด้านเศรษฐกิจ ในสมัยพุทธกาลนั้น เมื่อมีการแผ่อำนาจโดยการแย่งชิงดินแดนกัน การค้าขายก็ปรากฏว่าได้เจริญเติบโตตามไปด้วย มีการค้าขายในระหว่างเมืองต่างๆ อย่างกว้างขวางแต่ว่าการค้าขายเหล่านี้ที่เด่นชัดก็คือ เรื่องของสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น ผ้าผ่อนแพรพรรณอย่างดี เพชรนิลจินดา เป็นต้น จะเห็นได้จากหลักฐานสมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระเยาว์ เป็นพระกุมารทรงเสวยความสุขสำราญโดยใช้ผ้าจากแคว้นกาสีซึ่งถือว่าเป็นผ้าที่ดีที่สุด หรืออย่างเรื่องกามนิต ชาวกรุงอุชเชนีในแคว้นอวันตีไปราชกิจกับราชทูต แล้วได้เดินทางเกี่ยวกับการค้าขายไปยังเมืองโกสัมพีในแคว้นวังสะของพระเจ้าอุเทน อย่างนี้เป็นต้น เป็นตัวอย่างแห่งการค้าขายระหว่างแว่นแคว้นต่างๆ

ในเมื่อการค้าขายเจริญเติบโตขึ้นอย่างนี้ การเงินก็มีอิทธิพลมากขึ้น คนอีกประเภทหนึ่งก็มีอิทธิพลมากขึ้นโดยลำดับขึ้น คือ พวกเศรษฐี คหบดี ซึ่งมีอิทธิพลเข้าไปแม้แต่ในวงการของนักปกครอง คือมีอิทธิพลแพร่เข้าไปในราชสำนัก สามารถมีเสียงดังแก่นักปกครองได้ จะเห็นได้ว่าเศรษฐีมีความเป็นอยู่ดีเกือบจะกล่าวได้ว่า ไม่แพ้พระราชา และแคว้นไหนมีเศรษฐีมากก็มีชื่อเสียงมาก ถึงกับแคว้นที่มีเศรษฐีน้อยต้องขอเศรษฐีจากแคว้นอื่นไปอยู่ในแคว้นของตนก็มี ตัวอย่างเช่นคัมภีร์เล่าเรื่องแคว้นโกศลของพระเจ้าปเสนทิโกศล เห็นว่า แคว้นมคธมีเศรษฐีมากถึง ๕ คน ก็เลยขอเศรษฐีชื่อเมณฑกะให้ไปอยู่ในแคว้นของตนบ้าง จะได้ช่วยให้แคว้นของตัวรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ท่านเศรษฐีเมณฑกะก็คือปู่ของของนางวิสาขา มหาอุบาสิกา ซึ่งมีชื่อเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่พุทธศาสนิกชน

พวกเศรษฐีนอกจากมีอิทธิพลในทางการเมืองแล้ว ก็ยังมีสิทธิในการปกครองด้วย คือในวงการค้าขายมีกลุ่มชนต่างๆ คนมีอาชีพค้าขายเหล่านี้ ถ้ามีกรณีพิพาทกันก็ให้เศรษฐีเป็นผู้ตัดสิน คล้ายๆ ว่าเศรษฐีเป็นผู้ควบคุมดูแลตัดสินใจสายกิจการการพาณิชย์ทั้งหมดทีเดียว เศรษฐีมีส่วนเกี่ยวข้องรับผิดชอบในกิจการของรัฐ จึงต้องไปเฝ้าพระราชา วันหนึ่ง ๕ ครั้ง อย่างนี้เป็นต้น แสดงถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางการเมือง การปกครองเป็นอย่างดี นี้เป็นสภาพทางเศรษฐกิจ

ด้านที่ ๓ ในทางสังคม สภาพทางสังคมนี้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจด้วยคือ ความอยู่ดีกินดีของชนบางชั้นที่ร่ำรวยมั่งมีขึ้น ได้แก่ เจ้านาย นักปกครอง เศรษฐีทั้งหลาย ท่านเหล่านี้ก็อยู่กันอย่างสบาย มีปราสาทอยู่ อย่างพระพุทธเจ้าของเราสมัยเป็นพระราชกุมาร ก็มีปราสาท ๓ ฤดู ถึงพวกเศรษฐีอื่นๆ ก็มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย ฟุ้งเฟ้อ ได้รับความสำราญ ได้รับความปรนเปรอเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาศัยการค้าขาย เศรษฐกิจที่รุ่งเรืองขึ้นมานั้น

จากสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ก็มีเรื่องอื่นที่ควรพิจารณาพ่วงเข้ามาด้วย คือเรื่องของพวกพราหมณ์ซึ่งเป็นปัญญาชน หรือนักวิชาการในสมัยนั้น พวกพราหมณ์ในสมัยพุทธกาล ปรากฏว่าไม่ทำหน้าที่ของปัญญาชนหรือวิชาการเท่าไร กลับหันมามัวเมาฟุ้งเฟ้อในเรื่องลาภสักการะมาก เพลิดเพลินวุ่นวายอยู่กับพิธีการต่างๆ ชอบความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย แสวงหาผลประโยชน์จากนักปกครอง โดยหันไปเอาใจนักปกครอง เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตน แทนที่จะเอาใจใส่ในความเป็นอยู่ทั่วๆไปของประชาชน พวกพราหมณ์นั้นไปบอกนักปกครองคือ พระราชามหากษัตริย์ว่าจะทำพิธีกรรมอย่างไรจึงจะได้ไปเกิดในสวรรค์ หรือรบชนะข้าศึกในสงคราม อะไรทำนองนี้เป็นต้น จึงเกิดบัญญัติพิธีกรรมขึ้นมากมาย มีการบูชายัญ เช่นอัศวเมธ เป็นต้น อันนี้ก็มาจากเหตุที่ว่าพราหมณ์ไปเอาใจนักปกครองต่างๆ เพื่อผลตอบแทนของตนเอง เพราะว่าเมื่อพระราชามหากษัตริย์นักปกครองเชื่อถือทำตามอย่างที่ตนสอนให้แล้ว ก็จะต้องให้ผลตอบแทนแก่ตนอย่างมากมาย

สภาพของพราหมณ์ซึ่งเป็นนักวิชาการ และเป็นนักบวชด้วย ในสมัยพุทธกาล จึงเป็นภาวะของการเพลิดเพลินอยู่กับพิธีกรรมและลุ่มหลงอยู่กับลาภสักการะ มีความอยู่ฟุ้งเฟ้อ แล้วนอกจากนี้ยังผูกขาดการศึกษาด้วย คือ พราหมณ์ในฐานะนักวิชาการ ได้ควบคุมการศึกษาไว้ในมือทั้งหมด มีการสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมากำหนดว่า หนังสือตำรับตำราชั้นสูงสุดได้แก่พระเวทนั้น คนอื่นจะเรียนไม่ได้ นอกจากคนวรรณะพราหมณ์ หรือรองลงไปอย่างพวกกษัตริย์เท่านั้น ถ้าเป็นคนชั้นต่ำอย่างพวกศูทรไม่มีโอกาสจะเรียนได้เลย ต่อมาถึงกับวางหลักเกณฑ์อย่างเข้มงวดที่สุด กำหนดว่าพวกศูทรนั้นเพียงแต่ได้ยินได้ฟังการสาธยายพระเวทนี้ จะต้องเอาตะกั่วมาหลอมแล้วกรอกหู หรือถ้าเอาคำในพระเวทมาสาธยายก็จะต้องตัดลิ้นเสีย หรือถ้าเรียนพระเวทท่านว่าให้ผ่าร่างกายเป็น ๒ ซึก นี้ถือได้ว่าเป็นการผูกขาดการศึกษาไม่ให้ประชาชนทั่วไปมีโอกาสรู้เท่าเทียมกับพวกพราหมณ์

ส่วนสภาพทั่วไปในด้านประชาชนชาวชนบท ชาวไร่ชาวนาในสมัยนั้น นับว่ามีความเป็นอยู่สุขสบายพอสมควร คือ อยู่กันด้วยความสุขความพอใจ เพราะไม่ถูกแทรกแซงจากภายนอก คือพวกในเมืองไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว พวกชาวนานี้ก็มีที่ดิน ที่ตัวเองมีกรรรมสิทธิ์ร่วมกันในหมู่บ้านหนึ่งๆ ในเขตหนึ่งๆ โดยที่ดินนั้นเป็นของหลวง ของพระเจ้าแผ่นดินแต่ผู้เดียว ไม่มีใครมาแทรกแซงเป็นเจ้าของขึ้นต่างหากออกไป และก็มีหัวหน้าที่ตนเองเลือกขึ้นมา ใครจะมาติดต่อก็ติดต่อกับหัวหน้าที่พวกตัวเองเลือกตั้งขึ้นมานั้น จึงอยู่ด้วยกันอย่างสุขสบาย มีความพอใจในความเป็นอยู่ของตัวเอง อย่างไรก็ตาม เค้าของความเดือดร้อนก็ได้เริ่มมีขึ้น เพราะว่าเมื่อมีสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ การรบราฆ่าฟันกันย่อมเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า เดือดร้อนไปถึงชาวไร่ชาวนาและชาวชนบทด้วย

เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นนั้น จะเห็นว่าตามประวัติเล่าไว้ว่า พระพุทธเจ้าทรงอยู่ในท่ามกลางความสุขสำราญ ได้รับการบำรุงปรนเปรอทุกอย่างทุกประการ จะต้องการอะไรก็ได้ตามปรารถนา แต่พระองค์กลับทรงเบื่อหน่าย ก็เพราะทรงเห็นความเป็นอยู่ของประชาชน ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินออกไปสำรวจ ได้ทรงเห็นเทวทูตทั้ง ๔ หรือนิมิต ๔ อย่าง ความจริง สิ่งทั้ง ๔ นี้คือ ภาพที่ท่านแสดงเป็นสัญลักษณ์ ให้เห็นถึงปัญหาชีวิตและความทุกข์ยากของมวลมนุษย์นั้นเอง พระพุทธเจ้าทรงเห็นสภาพความเดือดร้อนของคนทั่วไป โดยเฉพาะที่เป็นเฉพาะหน้าก็คือ ความเป็นอยู่ของประชาชนชาวแว่นแคว้นของพระองค์แล้ว พระองค์ก็ไม่อาจที่จะประมาทเพลิดเพลินมัวเมาในราชสมบัติได้ ทรงเห็นว่าความสุขที่พระองค์ได้รับอยู่ไม่มีความหมาย จึงได้ทรงเสียสละความสุขนั้นออกไปดำรงชีวิตอย่างที่เรียกว่า ขัดสนยากแค้นที่สุด แสวงหาอาหารตามแต่จะได้ มุ่งแต่จะหาวิธีการมาช่วยมนุษย์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์เท่านั้น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วก็เสด็จกลับเข้ามาสั่งสอนประชาชนอีก ทรงเข้ามาในตัวบ้านตัวเมือง เกี่ยงข้องกับคนทุกชั้นตั้งแต่พระราชามหากษัตริย์ลงไป ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในด้านนักปกครองนั้น พระองค์ทรงเกี่ยวข้องตั้งแต่ระยะเริ่มต้นทีเดียว คือ ระยะที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา ในแคว้นมคธ ตอนที่เข้าแคว้นมคธก็โปรดพระเจ้าพิมพิสารก่อน ในเมื่อพระพุทธเจ้าทรงเข้ามาสั่งสอนเพื่อช่วยเหลือประชาชนทั้งหมดทุกชั้นอย่างนี้ ถ้าต้องการทราบว่า พระพุทธศาสนาได้ช่วยและมีทัศนะในการช่วยอย่างไร ก็ลองแยกออกพิจารณาตามที่ได้พูดไปเมื่อกี้นี้แล้วคือ แยกเป็นเรื่องๆ เริ่มตั้งแต่เรื่องการเมือง เป็นต้นไป

พระพุทธศาสนากับการเมือง

ในด้านการเมืองนั้น อย่างที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า เขากำลังพยายามขยายอาณาเขตรวมแว่นแคว้นต่างๆ เข้าด้วยกัน และมีระบบ ๒ ระบบเป็นคู่แข่งขันกัน คือ ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือราชาธิปไตยฝ่ายหนึ่ง กับระบบสามัคคีธรรมหรือระบบประชาธิปไตยฝ่ายหนึ่ง ใน 2 ระบบนี้มีเค้าให้เห็นแล้วว่า ระบบประชาธิปไตยจะไปไม่ไหวและก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ แคว้นวัชชีนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปได้ไม่นานเท่าไร ก็ถูกแคว้นมคธโดยพระเจ้าอชาตศัตรูส่งวัสสการพราหมณ์ เข้ามายุแหย่จนกระทั่งแตกความสามัคคี แล้วส่งกองทัพเข้ามารุกราน แคว้นวัชชีก็พินาศ เรื่องนี้มีมาในวรรณคดีไทยด้วย คือ สามัคคีเภทคำฉันท์ พวกวัชชีหมดก็หมายความว่าระบบประชาธิปไตยสูญสิ้น เหลือแต่ระบบราชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเดียว พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพุทธกิจอยู่ในสังคมสมัยนั้น ทรงคาดการณ์เห็นอยู่แล้วว่า ถึงอย่างไรระบบประชาธปไตยนั้น ก็จะไปไม่ถึงที่สุด จะต้องถูกล้มล้างโดยระบบราชาธิปไตย หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์แน่นอน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ประการที่ ๑ ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบบของผู้ต้องการมีอำนาจอยู่แล้ว คือจุดมุ่งหมายอยู่ที่อำนาจและจะเผยแผ่อำนาจออกไป ส่วนระบบสามัคคีธรรมหรือประชาธิปไตยสมัยโบราณ มุ่งแต่ว่าจะจัดการปกครองอย่างไรประชาชนถึงจะอยู่ดีกินดี มีความผาสุกในบ้านเมือง ก็มุ่งไปเท่านั้น

ประการที่ ๒ ระบบประชาธิปไตย หรือสามัคคีธรรม อยู่ได้ด้วยความสามัคคี คือต้องมีความพร้อมเพรียงกันร่วมแรงร่วมใจกัน แล้วก็มีปัจจัยที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งคือ ระเบียบวินัย เป็นเครื่องดำรงรักษาความสามัคคี เมื่อใดไม่มีระเบียบวินัย เมื่อไรความสามัคคีหมดไป ระบบสามัคคีธรรมหรือประชาธิปไตยแบบสมัยโบราณนั้นก็ต้องพังพินาศ

ทีนี้เมื่อระบบ ๒ ระบบมาแข่งขัน ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กำลังขยายตัว เพราะต้องการอำนาจ กำลังใช้อำนาจนั้นมากที่สุดกำลังรุกรานเพื่อขยายดินแดนและก็ใช้วิธีการที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียความสามัคคีอีกด้วย วิธีการที่ทำให้เสียสามัคคีก็คือการไปยุแหย่ การยุแหย่นั้นทำได้หลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือใช้คนในประเทศนั้นเองที่เห็นแก่ผลประโยชน์ โดยเอาลาภสักการะเอาผลประโยชน์ทางวัตถุไปให้ พอคนในแคว้นสามัคคีธรรมหรือประชาธิปไตยนั้นเห็นแก่ลาภเห็นแก่ผลประโยชน์ ไม่ช้าก็จะแก่งแย่งกัน แล้วสภาพอย่างนี้ก็เกิดขึ้นในแคว้นวัชชีจริงๆ โดยที่ว่าพระเจ้าอชาตศัตรูส่งวัสสการพราหมณ์เข้าไปยุแหย่ ในไม่ช้าพวกนักปกครองของวัชชีก็แตกแยกความสามัคคีกันหมด พอแตกความสามัคคีไม่พร้อมเพรียงกันแล้วทุกอย่างก็รวนเร ปรวนแปร กำลังก็หมดไป แต่ตรงข้าม ถ้าหากแคว้นวัชชีที่ปกครองด้วยสามัคคีธรรมนั้น ยังมีระเบียบวินัย มีความพร้อมเพรียงกันเป็นอย่างดีแล้ว ถึงแคว้นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างมคธจะยกกองทัพไปรุกราน ก็ไม่อาจเอาชนะได้

ในการเกี่ยวข้องกับระบบทั้งสองนั้น พระพุทธเจ้าทรงพยายามช่วยทุกฝ่าย เพื่อให้เขาดำรงรักษาความเรียบร้อยสงบสุขของประเทศไว้ จึงเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนหลักธรรมเพื่อช่วยการปกครองทั้ง ๒ แบบ สำหรับระบอบราชาธิปไตยทรงสั่งสอนเพื่อให้การครองราชสมบัติขยายความหมายออกไปกลายเป็นการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนมากที่สุด ให้อำนาจกลายเป็นเครื่องมือสร้างประโยชน์สุขแก่ราษฎร หรือผู้อยู่ในปกครองให้มากที่สุด สำหรับระบอบสามัคคีธรรมทรงสั่งสอนเพื่อให้การปกครองระบอบนั้นดำเนินไปอย่างได้ผลดีที่สุด และดำรงอยู่ได้ยืนนานที่สุด

สำหรับระบบสามัคคีธรรม จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนหลักอปริหานิยธรรมไว้ ๗ ประการ เริ่มตั้งแต่ให้ประชุมกันเนืองนิตย์ คือประชุมกันอย่างสม่ำเสมอ เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม เมื่อมีกิจที่กระทำเป็นของส่วนรวมก็พร้อมเพรียงกันทำ ให้ยึดมั่นในวัชชีธรรมไม่ล้มล้าง ถ้าเรียกอย่างในปัจจุบันก็คือ ให้ยึดมั่นในหลักรัฐธรรมนูญอะไรทำนองนี้ เทียบกันได้ ในสมัยนั้นเรียกว่าหลักวัชชีธรรม จะอ่านทวนอปริหานิยธรรมให้ฟังก็ได้คือ

๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่ควรกระทำ

๓. ถือปฏิบัติมั่นในวัชชีธรรม ไม่ล้มล้างบัญญัติที่บัญญัติไว้แล้ว ไม่บัญญัติใหม่ในหลักที่ยังไม่บัญญัติ

๔. เคารพ นับถือ รับฟังคำของผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ

๕. ป้องกัน ให้ความอารักขาแก่สตรี กุลสตรีทั้งหลาย ให้มีความเป็นอยู่ดี มิให้ถูกข่มเหงรังแก

๖. เคารพ บูชา สักการะเจดียสถาน ปูชนียสถาน หรืออนุสาวรีย์

๗. ให้ความอารักขาแก่ผู้บริสุทธิ์ ผู้เป็นหลักความประพฤติและหลักใจของประชาชน ได้แก่นักบวชทั้งหลาย ซึ่งกล่าวในที่นั้นเรียกว่าพระอรหันต์

นี้เป็นหลักอปริหานิยธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสำหรับพวกวัชชี ถ้าพวกวัชชียังยึดหลักเหล่านี้อยู่ ก็มีความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน เมื่อมีความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ก็ยังมีความมั่นคงเข้มแข็งไม่มีทางเสื่อม ใครๆ เอาชนะไม่ได้ ซึ่งก็ปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นจริง ในระยะที่พวกวัชชีมีความสามัคคีพร้อมเพรียงกันอยู่อย่างนี้ พวกมคธก็ไม่กล้ายกทัพไปตี ทั้งๆ ที่มีกองทัพมากมายมหาศาล จนต้องใช้วิธีให้เกิดความแตกแยกสามัคคีกันก่อน จึงยกทัพไปรุกราน จึงได้รับผลสำเร็จสมปรารถนา นี้เป็นแง่ของระบบประชาธิปไตย หรือแม้สามัคคีธรรมแบบสมัยโบราณ ซึ่งเป็นหลักสำคัญก็คือ อยู่ได้ด้วยความสามัคคี และความมีระเบียบวินัย ซึ่งจะมั่นคงได้ก็เพราะอาศัยความไม่เห็นแก่อามิส แต่เห็นแก่ธรรม เห็นแก่ความถูกต้องดีงามและประโยชน์สุขส่วนรวม เป็นฐานรองรับอีกชั้นหนึ่ง

ทีนี้ อีกระบบหนึ่งคือ ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระพุทธเจ้าทรงมองเห็นแล้วว่า ระบบนี้จะต้องชนะในระยะยาว พระองค์จึงสอนหลักธรรมเป็นอุดมคติไว้สำหรับพระราชาหรือผู้ปกครองสูงสุด เป็นธรรมสำหรับพระเจ้าจักรพรรดิ เรียกว่า จักรวรรดิวัตร มี ๑๒ หัวข้อด้วยกัน จักรวรรดิวัตรเป็นหลักที่บอกว่า นักปกครองในระบบราชาธิปไตย ผู้มีอำนาจที่สุด รุ่งเรืองที่สุด ควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร และควรปกครองอย่างไร ซึ่งในที่นี้จะสรุปมาให้ฟังรวมได้ ๕ ข้อคือ:-

๑. พระจักรพรรดินั้นเป็นธรรมาธิปไตย คือถือธรรมเป็นใหญ่ เคารพบูชาธรรม

๒. จัดการรักษา คุ้มครองป้องกัน และทะนุบำรุงแก่ชนทุกหมู่เหล่าในแว่นแคว้น ซึ่งในที่นี้แบ่งไว้ ๗ ประเภทด้วยกัน ตลอดจนสัตว์ป่า อันควรสงวนพันธุ์

๓. ไม่ให้มีการกระทำที่ผิดธรรมขึ้นในแว่นแคว้นของตน คือ ป้องกันและกำจัดการกระทำที่ผิดธรรมในแว่นแคว้น

๔. แบ่งปันและเฉลี่ยทรัพย์ให้แก่ผู้ไม่มีทรัพย์ หมายความว่า ไม่ให้มีผู้ยากจนในแว่นแคว้น

๕. ปรึกษาไต่ถามสมณพราหมณ์ หมายความว่า ต้องแสวงหาปัญญาอยู่เสมอ โดยหาที่ปรึกษาที่ดี บริสุทธิ์ มีคุณธรรม

นี้เป็นหลักสำคัญ สำหรับระบบราชาธิปไตย ชนิดที่เป็นอุดมคติ คือเป็นจักรพรรดิ มีข้อควรย้ำ ๓ ข้อด้วยกันคือ:-

๑. ตนเองต้องตั้งมั่นในธรรม และต้องสร้างเสริมความเป็นธรรมและความชอบธรรมให้มีขึ้นในแว่นแคว้น

๒. ต้องไม่ให้มีความยากจน ต้องคอยเอาใจใส่หาทางให้คนไม่มีทรัพย์ได้รับการแบ่งปัน และเพิ่มพูนทรัพย์แก่ผู้ยากไร้ขัดสน

๓. ต้องแสวงปัญญา ไม่กระทำการโดยความเห็นเฉพาะผู้เดียวถึงแม้จะเป็นจักรพรรดิสูงสุดก็ต้องหาที่ปรึกษา และต้องคัดเลือกที่ปรึกษานักวิชาการที่ดี มีปัญญา บริสุทธิ์ สุจริต มีคุณธรรมจริงๆ ต้องหมั่นศึกษา ไต่ถามหารือ แสวงหาปัญญาให้มากขึ้น เพื่อวินิจฉัยว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร

ข้อสังเกตเกี่ยวกับหลักธรรมสำหรับการปกครองที่ดี

ในที่นี้ มีข้อสังเกตที่ขอตั้งไว้ให้พิจารณาสัก ๓ ข้อ เพื่อให้เข้าใจหลักการ และความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา เกี่ยวกับคำสอนในด้านการปกครองชัดเจนยิ่งขึ้น คือ

๑. ในหลักธรรมสำหรับระบบราชาธิปไตยนั้น ถ้าพิจารณาจะสังเกตเห็นคติหรือแนวคิดของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการปกครองระบบนี้ว่า มีเนื้อหาสาระที่เน้นในเรื่องใด และผิดแผกแตกต่างจากคติ หรือแนวความคิดเดิมในสมัยนั้นอย่างไร

ตามคติเดิม โดยเฉพาะตามแนวคิดของพราหมณ์หรือฮินดูสมัยต่อมาสอนเรื่องการปกครอง โดยมุ่งไปแต่ในเรื่องความยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ พูดถึงแต่อำนาจ วิธีแสวงหาและรักษาอำนาจความมั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ อิสริยยศและบริวารยศ จนบางทีไม่คำนึงถึงจริยธรรมหรือคุณธรรม เอาความยิ่งใหญ่ของผู้ปกครองไปไว้ที่ความมีอำนาจ จนดูเหมือนจะถือว่า ความมีอำนาจเป็นจุดหมายในตัวของมันเอง หรืออำนาจเป็นจุดหมายของความเป็นกษัตริย์

แต่ตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอน จะเห็นว่า พระพุทธศาสนาได้เบนจุดสนใจของการปกครองออกจากความมีอำนาจ หรือความยิ่งใหญ่ด้วยอำนาจ มายังความสงบสุขของประเทศชาติ หรือความอยู่ดีของราษฎร สอนให้ใช้อำนาจหรือความยิ่งใหญ่นั้น เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน อำนาจหรือความยิ่งใหญ่มิใช่จุดหมาย แต่กลายเป็นอุปกรณ์ สำหรับใช้สร้างสรรค์ประโยชน์สุข หรืออีกนัยหนึ่ง ความยิ่งใหญ่ของผู้ปกครองมิใช่อยู่ที่อำนาจ แต่อยู่ที่การปฏิบัติหน้าที่บำเพ็ญกรณียกิจ เพื่อประเทศชาติและราษฎร

คติเรื่องนี้ปรากฏผลในทางปฏิบัติให้เห็นสืบต่อมาจนทำให้บางทีรู้สึกกันว่า ในแง่ของการปกครอง พระพุทธศาสนาห่วงประโยชน์สุขของประชาราษฎร์มากกว่าความมั่งคงแห่งอำนาจของผู้ปกครอง ถึงกับมีผู้กล่าวหาพระพุทธศาสนาว่า เป็นต้นเหตุ แห่งความอ่อนแอและความเสื่อมของอำนาจรัฐบางรัฐ เพราะพุทธศาสนาได้ทำให้กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ กลายเป็นผู้มีหทัยอ่อนโยนด้วยความเมตตากรุณา แทนที่จะแข็งกร้าวและทำการทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจไว้ อาจเป็นได้ว่า พระพุทธศาสนาคำนึงถึงสวัสดิภาพและความสงบสุขของประชาชนที่เป็นอยู่ในเวลานั้นๆ ยิ่งกว่าจะยอมสละสวัสดิภาพและสันติสุขนั้น เพื่อแลกกับความมั่นคงของการปกครองที่มีความหมายเพียงการครองอำนาจของบุคคล หรือการมีชื่อยิ่งใหญ่อยู่ในประวัติศาสตร์ และเห็นว่าการปกครองที่มั่นคงเข้มแข็งยั่งยืนนาน แต่ปราศจากความร่มเย็นเป็นสุขของพลเมือง ก็ไม่มีความหมายอะไร

๒. หลักธรรมอีกหมวดหนึ่ง สำหรับผู้ปกครองในระบอบราชาธิปไตยซึ่งได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ และยกมาอ้างกันบ่อย ยิ่งกว่าจักรวรรดิวัตรเสียอีก หลักธรรมนั้นคือ ทศพิธราชธรรม ความจริงทศพิธราชธรรมเป็นหลักธรรมสำคัญมากเหมือนกัน แต่ที่ไม่ยกมาอ้างในที่นี้ เพราะต้องการเน้นจักรวรรดิวัตรให้เด่นชัดขึ้นมา ทศพิธราชธรรมเป็นคุณสมบัติส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ที่ดี หรือคุณธรรมประจำตัวของนักปกครองที่ดี มากกว่าจะเป็นหลักการปฏิบัติหน้าที่ หรือการกำหนดพระราชกรณียกิจที่จะพึงบำเพ็ญ และความหมายของศัพท์เองก็บ่งไว้อย่างนั้น

แหล่งที่มาสามัญของทศพิธราชธรรมก็คือคัมภีร์ชาดก การยกธรรมหมวดนี้มาอ้างในการสอน ก็เป็นไปในรูปของการเตือนในฐานะคุณธรรมที่พึงมีโดยถูกต้องตามประเพณี มากกว่าจะมีการย้ำเน้นและขยายความเป็นพิเศษ

ส่วนจักรวรรดิวัตรนี้มาในพระสูตรที่ตรัสจำเพาะ และมิใช่เป็นเพียงคุณสมบัติส่วนพระองค์ แต่เป็นกำหนดพระราชกรณียกิจที่จะต้องทรงปฏิบัติในการทำหน้าที่ของการปกครองอย่างแท้จริง เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับรัฐ หรือผู้ปกครองกับราษฎร แม้ประมุขของรัฐในระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่พึงปฏิบัติผิดไปจากนี้

๓. ในหลักธรรมสำหรับระบบทั้งสอง คือทั้งระบบราชาธิปไตยและระบบสามัคคีธรรมนั้น มีข้อที่แสดงถึงสาระสำคัญที่เหมือนกันซึ่งควรสังเกตเป็นพิเศษอย่างหนึ่ง คือธรรมข้อแรกในอปริหานิยธรรมว่า หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ กับวัตรข้อสุดท้ายในจักรวรรดิวัตรว่าปรึกษาไถ่ถามสมณพราหมณ์ สาระสำคัญที่เหมือนกันก็คือ มุ่งให้มีการปรึกษาหารือ การแสวงปัญญา สำหรับระบบสามัคคีธรรมนั้น เป็นธรรมดาว่าต้องใช้สติปัญญาช่วยกันอยู่แล้ว จึงเน้นเพียงให้หมั่นประชุมกันสม่ำเสมอโดยพร้อมเพรียงกัน แต่ในระบบราชาธิปไตยที่บริหารวินิจฉัยสั่งการด้วยอำนาจสิทธิขาดแต่ผู้เดียว โอกาสที่จะใช้สติปัญญาร่วมกันเช่นนั้นอาจถูกตัดออกไปโดยสิ้นเชิง

พระพุทธเจ้าทรงถือเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ จึงทรงกำหนดให้มีการชดเชยหรือเติมเต็มให้มีสาระสำคัญข้อนี้เหมือนกันจนได้ในทั้งสองระบบ การกำหนดหลักปฏิบัติข้อนี้ไว้ในระบบราชาธิปไตยนอกจากมีความมุ่งหมายในด้านสติปัญญา ให้มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นเหตุผลต่างๆ แล้ว ยังมีความมุ่งหมายในด้านความประพฤติที่เป็นพื้นฐานของการใช้อำนาจอีกด้วย คือให้มีทางที่จะควบคุมเหนี่ยวรั้งผู้ปกครองด้วยคำเตือน คำแนะนำ คำเสนอแนะต่างๆ มิให้ลุ่มหลงเพลิดเพลินจนใช้อำนาจผิดวัตถุประสงค์ นอกจากนั้น ข้อที่เน้นอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในระบบราชาธิปไตย แม้จะกำหนดให้มีที่ปรึกษาอย่างนี้ แต่เพราะที่ปรึกษาเหล่านั้นผู้ปกครองเลือกเองผู้เดียว และเลือกแล้วผู้ปกครองผู้เดียวรับฟังและตัดสิน อาจเป็นได้ว่าจะมีที่ปรึกษาชนิดเห็นแก่ผลประโยชน์ชักจูงให้ไขว้เขวผิดทาง หรือเป็นแต่คนประจบป้อยอทำให้เสียการ พระพุทธเจ้าจึงทรงย้ำมากถึงคุณสมบัติของที่ปรึกษานั้นว่า จะต้องเป็นผู้ควรแก่การเคารพนับถือจริงๆ เป็นสมณพราหมณ์ (สมัยนี้ว่านักวิชาการ) ที่ไม่ประมาท ไม่มัวเมา ฝึกอบรมตนอยู่เสมอ สงบระงับ ดับกิเลส ไม่ทะเยอทะยาน เป็นผู้บริสุทธิ์ ให้ความรู้ความคิดเห็นที่เชื่อถือได้จริง ไม่มีสิ่งใดเคลือบแฝง

เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าทรงวางหลักธรรมไว้ทั้ง ๒ แบบ หมายความว่า สำหรับระบบประชาธิปไตยก็วางไว้ สำหรับระบบราชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็วางไว้ แล้วก็ได้ผล เพราะต่อมาระบบประชาธิปไตย หรือสามัคคีธรรมก็หมดไปจริงๆ เพียงหลังพุทธกาลไม่นานแคว้นวัชชีก็พินาศ เพราะการรุกรานของแคว้นมคธ และต่อมาพวกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยกันก็รบพุ่งกัน จนกระทั่งเหลือแคว้นยิ่งใหญ่อยู่แคว้นเดียว แคว้นโกศลก็หายไป แคว้นวังสะที่มีเมืองโกสัมพีเป็นเมืองหลวงก็หายไป หายไปเมื่อไรไม่ทราบ แคว้นอวันตีที่มีเมืองอุชเชนีเป็นเมืองหลวงก็หายไป หายไปเมื่อไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน เหลืออยู่แต่แคว้นมคธ มาถึงสมัยพระเจ้าอโศก พระเจ้าอโศกก็ขึ้นครองราชย์แห่งแคว้นมคธเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งชมพูทวีป ทรงดำเนินตามปฏิปทาแห่งจักรวรรดิวัตรที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ ถ้าเราสำรวจก็จะเห็นว่า พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงพยายามที่จะดำเนินตามอุดมคติแห่งจักรวรรดิวัตร พยายามทำพระองค์ให้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิที่ดี และพระมหากษัตริย์รุ่นหลังก็พยายามดำเนินตามรอยหลายองค์ เช่น พระเจ้ากนิษกมหาราช พระเจ้าหรรษวัฒน์ หรือนอกอินเดียออกไป ในญี่ปุ่น ก็เจ้าชายโชโตกุ ที่เขาเรียกว่า พระเจ้าอโศกแห่งแดนอาทิตย์อุทัย และในประเทศไทยที่ดำเนินตามรอยนี้ ก็คือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อันนี้ก็เป็นการพยายามที่จะนำเอาอุดมคติในแบบกษัตริย์ที่ดีที่สุด หรือระบบการปกครองโดยบุคคลคนเดียวที่ดีที่สุดมาใช้นั่นเอง

รวมความว่าในท่ามกลางสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะในด้านการเมืองอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงเตรียมคำสอนไว้ช่วยเหลือเกื้อกูล พยายามที่จะให้ประชาชนอยู่ดีมีความสุข ประชาชนจะอยู่ดีมีความสุขได้อย่างไร ตัวประกอบสำคัญอันหนึ่งคือการปกครอง ถ้าไม่สามารถให้นักปกครองปกครองได้ดีแล้ว ถึงอย่างไรประชาชนก็จะมีความสุขอย่างแท้จริงไม่ได้ ฉะนั้น ภารกิจสำคัญประการหนึ่งของพระพุทธศาสนาก็คือ จะต้องช่วยแนะนำในการปกครองด้วย แนะนำผู้นำในทางการปกครองให้ประพฤติชอบด้วย แต่พระพุทธศาสนาต้องการจะให้คำสอนใช้ได้ในทางปฏิบัติ จึงไม่จำกัดตัวอยู่ในรูปใดรูปหนึ่งแต่อย่างเดียว ว่าจะสอนเฉพาะระบบราชาธิปไตย หรือเฉพาะระบบประชาธิปไตย เพราะระบบทั้งสองนี้ยังมีอยู่ เขายังปกครองกันอยู่ เขาจะปกครองแบบไหนก็ตาม ก็ต้องให้เขาประพฤติปฏิบัติได้ให้เขาอยู่กันอย่างดีที่สุด

การปกครองคณะสงฆ์

เป็นอันว่าระบบสามัคคีธรรม หรือระบบประชาธิปไตยนั้น ในไม่ช้าก็ล้มไป เหลือแต่ระบบราชาธิปไตย ทีนี้ระบบประชาธิปไตย หรือสามัคคีธรรมนั้น จะเหลืออยู่ที่ไหนในสมัยโบราณ ก็มาเหลืออยู่ในคณะสงฆ์ เพราะระบบคณะสงฆ์นั้นเป็นระบบที่เรียกได้ว่า เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เป็นประชาธิปไตยอย่างไร ขอให้สำรวจดูเพียงย่นย่อ

ในตอนแรกนั้น พระพุทธเจ้าในฐานะทรงเป็นธรรมราชา คือ เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นพระราชาแห่งธรรม เป็นผู้ค้นพบ และประดิษฐานธรรม ทรงเป็นผู้ริเริ่มในการวางระเบียบแบบแผนต่างๆ บัญญัติวินัย ประกาศหลักธรรมคำสอนต่างๆ ขึ้นไว้ให้ถือเป็นแบบ ต่อมาพระองค์ก็มอบอำนาจให้สงฆ์ปกครองกันเอง ในการที่สงฆ์ปกครองกันเองนั้น ก็ให้ถือพระธรรมวินัยเป็นศาสดา ไม่ทรงตั้งแม้แต่พระภิกษุที่จะเป็นผู้นำ หรือหัวหน้าสงฆ์ เรื่องนี้จะเห็นได้ชัดในมหาปรินิพพานสูตร ตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระพุทธองค์ตรัสว่า “โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต, โส โว มมจฺจเยน สตฺถา” ความว่า “ดูกรอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงไว้ ได้บัญญัติไว้ แก่เธอทั้งหลาย ในเวลาที่เราล่วงลับไป ธรรมและวินัยนั้นแหละ จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย” อันนี้ได้ใช้เป็นหลักมาจริงๆ ในทางปกครอง

เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไม่นาน ก็มีเรื่องราวปรากฏเป็นเครื่องยืนยันถึงการปกครองระบบนี้ ตัวอย่างก็เรื่องวัสสการพราหมณ์ อีกนั่นแหละ วัสสการพราหมณ์คนสำคัญแห่งแคว้นมคธนี้ ในคราวหนึ่งหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ได้ไปพบกับพระอานนท์เข้า วัสสการพราหมณ์ก็ซักถามว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว มีภิกษุสักองค์ไหมที่พระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งไว้ บอกว่า เมื่อเราล่วงลับไปแล้วให้พระภิกษุรูปนี้เป็นที่พึ่งที่อาศัยของเธอทั้งหลาย ให้ถือปฏิบัติตามองค์นี้ พระอานนท์ตอบว่า ไม่มี วัสสการพราหมณ์ก็ถามต่อไปว่า แล้วก็มีพระสักรูปไหมที่พระเถระจำนวนมากด้วยกันร่วมใจกันตั้งไว้ให้เป็นหัวหน้าของพระภิกษุทั้งหลาย ท่านก็ตอบไปว่า ไม่มี วัสสการพราหมณ์ก็ถามว่า เมื่อไม่มีบุคคลที่เป็นที่พึ่งอาศัยเป็นหลักอย่างนี้ จะได้อะไรเป็นเหตุแห่งการเป็นอยู่โดยสามัคคีโดยธรรมกันเล่า พระอานนท์ตอบว่า มีธรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัย หมายความว่าหลักธรรมวินัยนั้นเองเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งที่อาศัยของพระภิกษุทั้งหลาย ในฝ่ายวินัยก็ได้แก่สิกขาบท หรือข้อบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ในที่ประชุมสงฆ์ ถึงวันอุโบสถ พระสงฆ์ทุกรูปที่อยู่ในเขตหนึ่งๆ ก็ต้องไปประชุมกัน องค์หนึ่งก็สวด เป็นการซักซ้อมสำรวจกัน ถ้าปรากฏว่าองค์ไหนล่วงละเมิดผิดบัญญัติ พระภิกษุทั้งหลายก็จะสั่งให้พระภิกษุองค์ที่ละเมิดนั้น ปฏิบัติตามโทษที่บัญญัติไว้ ในการที่ให้ปฏิบัติอย่างนี้ ท่านบอกว่า พระภิกษุทั้งหลายไม่ได้เป็นผู้สั่งให้ทำ ธรรมวินัยเป็นผู้สั่ง ถึงที่มีการลงโทษนั้น ก็มิใช่บุคคลลงโทษ มิใช่ภิกษุทั้งหลายลงโทษ แต่ว่าธรรมวินัยหรือระเบียบแบบแผนหลักการนั้นลงโทษเขาเอง อันนี้เป็นหลักการปกครอง

แล้วก็ไม่ใช่จะไม่มีภิกษุเป็นหลัก พระพุทธเจ้าได้ตรัสหลักเอาไว้ว่า ถ้าภิกษุองค์ใดก็ตามมีคุณสมบัติ ๑๐ ประการ ก็ให้ภิกษุทั้งหลายยึดถือภิกษุองค์นั้นเป็นแนวประพฤติปฏิบัติได้ เชื่อฟังคำได้ ถือว่าภิกษุรูปใดก็ตามที่ประกอบด้วยคุณสมบัติอย่างนั้น เป็นผู้ที่ควรแก่การเคารพนับถือยึดเอาเป็นหลัก3 นี้คือการปกครองคณะสงฆ์ในแบบเดิม เพราะฉะนั้น ในคณะสงฆ์แบบเดิม จึงไม่มีเจ้าอาวาส เจ้าคณะอะไรต่อมิอะไร แต่มีอุปัชฌาย์ อาจารย์ และระบบการถือนิสัยที่ปฏิบัติกันอย่างจริงจัง

นี้เป็นเรื่องในสมัยพุทธกาลที่มีการปกครองแบบเดิมแท้ๆ คือ แบบภิกษุทั้งหลายร่วมกันปกครอง แต่มาในสมัยหลังได้มีความเปลี่ยนแปลงภายในคณะสงฆ์บ้าง ความเปลี่ยนแปลงภายนอกบ้าง ทำให้รูปการปกครองเปลี่ยนไป เช่น ภิกษุทั้งหลายอยู่กันเหมือนอย่างไม่มีอุปัชฌาย์อาจารย์ ไม่มีการถือนิสัยอย่างจริงจัง เป็นต้น ขาดระเบียบวินัย จึงต้องมีแบบแผนการปกครองเพิ่มขึ้นใหม่ อย่างในประเทศไทยปัจจุบัน เป็นรูปแบบของตนโดยเฉพาะ ตามรูปแบบพระราชบัญญัติคณะสงฆ์

รวมความเท่าที่กล่าวมานี้ มีระบบการปกครองต่างๆ จะเป็นระบบประชาธิปไตย หรือระบบราชาธิปไตยก็ตาม ก็มีหลักสำคัญอยู่อย่างหนึ่งคือ ต้องการธรรมทั้งสิ้น หมายความว่า ต้องยึดเอาธรรมเป็นหลัก อย่างในหลักของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในหลักจักรวรรดิวัตร ข้อหนึ่งก็คือ ให้พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นธรรมาธิปไตย คือถือธรรมเป็นใหญ่ ทีนี้มาในหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย พวกวัชชีก็จะต้องยึดถือวัชชีธรรม วัชชีธรรมถ้าเทียบกับสมัยนี้ก็ได้แก่ รัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นหลัก หรือในคณะสงฆ์ก็ต้องถือพระธรรมวินัยเป็นหลัก เวลาเกิดมีการประพฤติผิดลงโทษ ที่ว่าช่วยกันลงโทษนั้น ท่านว่ามิใช่ภิกษุทั้งหลายลงโทษ แต่เป็นธรรมลงโทษ คือหลักการนั้นลงโทษผู้ทำผิดเอง ตกลงว่าในระบบประชาธิปไตยนี้ ก็ถือธรรมเป็นหลักเหมือนกันทั้ง ๒ ระบบ จึงต้องเป็นธรรมาธิปไตยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบราชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยก็ตาม แต่ทีนี้ มีปัญหาว่า ระบบไหนในบรรดาระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับประชาธิปไตย อันไหนจะช่วยให้เข้าถึงธรรมหรือธรรมาธิปไตยได้ดีกว่ากัน

ธรรมาธิปไตยกับระบบการปกครอง

เมื่อพูดถึงธรรมาธิปไตย ก็มาถึงเรื่องอธิปไตย ๓ ในพระพุทธศาสนาที่ควรยกขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่งคือ ในพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าตรัสแสดงอธิปไตยไว้ ๓ อย่าง

๑. อัตตาธิปไตย ถือตน ถือฐานะ ศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ ตลอดจนผลประโยชน์ของตนเป็นใหญ่

๒. โลกาธิปไตย ถือความนิยมของโลกเป็นใหญ่ หวั่นไหวไปตามเสียงนินทาสรรเสริญ

๓. ธรรมาธิปไตย ถือธรรม คือ ความจริง ความถูกต้องดีงามเป็นใหญ่

อธิปไตย ๓ เป็นคนละเรื่องกับระบบการปกครอง ระวังอย่าเอาไปสับสนกัน อธิปไตย ๓ เป็นหลักธรรม เป็นข้อปฏิบัติ อยู่ที่ตัวของทุกๆ คนแต่ละคนปฏิบัติ แต่ละคนเป็นอัตตาธิปไตยได้ เป็นโลกาธิปไตยได้ เป็นธรรมาธิปไตยได้ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบการปกครองไหนก็ตาม

อัตตาธิปไตย ถือตนเป็นใหญ่ ใช้ในทางดีก็ได้ ในทางเสียก็ได้ เพราะคิดถึงฐานะ จะรักษาศักดิ์ศรี เกียรติภูมิของตน อาจทำให้เกิดหิริละอายใจ ไม่กล้าทำความชั่วบางอย่าง หรืออาจทำให้เกิดความเพียรพยายามทำการต่างๆ อย่างที่ว่า เขาแค่นั้นยังทำได้ เราแค่นี้เหตุใดจะทำไม่ได้ แต่ในทางเสียก็มีโทษมาก เพราะจะรักษาศักดิ์ศรี รักษาฐานะของตนไว้เลยทำอะไรได้ทุกอย่าง ใครๆ จะเดือดร้อนมากมายเท่าไร อะไรๆ จะพินาศย่อยยับบ้างไม่คำนึง หรือเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ที่ตนจะได้อย่างเดียวละทิ้งธรรม ไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ความดีงาม ความสมควร จะเอาให้ตัวได้อย่างเดียว อัตตาธิปไตยจึงไม่ปลอดภัย

โลกาธิปไตย ถือโลกเป็นใหญ่ ให้ผลดีก็ได้ ให้ผลเสียก็ได้ ในทางดีกลัวจะถูกติฉินนินทา หรือเสียความเคารพนับถือของหมู่ชน อาจทำให้เกิดโอตตัปปะ เกรงกลัวไม่กล้าทำความชั่วบางอย่าง หรืออาจทำให้กระตือรือร้นกุลีกุจอทำกรรมดีบางอย่าง แต่ในทางเสีย อาจทำให้ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีหลักการที่แน่นอน อาจทำการเพียงเพื่อเอาใจหมู่ชนบ้าง หาความนิยมบ้าง ไม่กล้าทำการอย่างที่แน่ใจว่าดีงาม เพราะกลัวเสียความนิยม หรือกลัวการกล่าวว่าต่างๆ บ้าง เมื่อใดห่างจากเสียงหมู่ชนที่จะควบคุมก็ทำความชั่วร้ายได้ โลกาธิปไตยจึงไม่ปลอดภัย

ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ ถือเอาตามที่ได้ศึกษาและพิจารณาอย่างดีที่สุด จนเต็มขีดแห่งสติปัญญาของตนจะมองเห็นได้โดยบริสุทธิ์ใจที่สุด และอย่างใจกว้างที่สุด รับฟังข้อเท็จจริง ความคิดเห็นและเหตุผลต่างๆ อย่างเที่ยงธรรมที่สุดแล้ว เห็นว่าอะไรจริงถูกต้องดีงาม ตัดสินไปตามนั้น ผลดีจะได้แค่ไหนย่อมแล้วแต่ว่าจะมีสติปัญญาเท่าใด ได้รับข้อเท็จจริงมาเพียงใด มีอุบายวิธีแสวงหาความจริงแน่นอนเท่าใด ข้อสำคัญต้องศึกษาเรื่อยไป ใช้ปัญญาเต็มที่ และมีความบริสุทธิ์ใจ อย่างน้อยก็ต้องถือตามหลักการ ตามกติกา เคารพกฎ ระเบียบเป็นต้น ที่วางเป็นหลักไว้

ปัญหามีอยู่ว่า ทำอย่างไรเราถึงจะรู้ว่า อะไรเป็นธรรม เป็นความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม จะได้พูดกันต่อไป แต่หลักสำคัญก็คือว่า จะต้องพยายามให้เป็นธรรมาธิปไตย ธรรมาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องของคน หมายความว่า แต่ละคนจะเป็นอัตตาธิปไตยก็ได้ เป็นโลกาธิปไตยก็ได้ เป็นธรรมาธิปไตยก็ได้ ในระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดถึงระดับพระเจ้าจักรพรรดิ ท่านก็มุ่งให้เป็นธรรมาธิปไตยคือ มุ่งให้พระเจ้าแผ่นดิน หรือพระเจ้าจักรพรรดินั้น เป็นธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ ทีนี้ธรรมาธิปไตย ก็ต้องเป็นหลักของประชาธิปไตยเหมือนกัน ในการปกครองระบบประชาธิปไตยนั้น เราก็หวังให้ประชาชนทุกๆ คน ถือธรรมเป็นใหญ่ คือ ทุกๆ คนถือความจริง ความถูกต้อง ความดีงามเป็นหลัก แล้วพิจารณาวินิจฉัยกระทำการไปตามนั้น

ในระบบการปกครอง ๒ อย่างนี้ อย่างไหนจะดีกว่ากัน ถ้าเป็นระบบราชาธิปไตย ราชาธิปไตยที่เป็นอัตตาธิปไตยก็ไม่ดี ประชาธิปไตยที่เป็นอัตตาธิปไตยก็คงไม่ดีเหมือนกัน ประชาธิปไตยที่ทุกคนเป็นอัตตาธิปไตยกันหมด คือ แต่ละคนต่างก็เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน เอาผลประโยชน์ส่วนตนเป็นเกณฑ์ทั้งสิ้น ผลที่สุดประชาธิปไตยก็อยู่ไม่ได้ ก็จะเป็นไปในรูปที่เขาเรียกว่า อนาธิปไตย เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยที่เป็นอัตตาธิปไตยก็คงไม่ดีไปกว่าราชาธิปไตยที่เป็นอัตตาธิปไตยเหมือนกัน

บางคนเข้าใจสับสน ระหว่างหลักธรรมกับระบบ หรือระหว่างเนื้อหาสาระกับรูปแบบ จึงแย้งว่า ประชาธิปไตย ถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ก็ต้องตรงกับโลกาธิปไตยสิ เพราะโลกาธิปไตยก็ถือเสียงนิยมของโลกคือคนทั่วไปเป็นใหญ่เหมือนกัน เพราะเข้าใจผิดอย่างนี้ จึงต้องย้ำว่า อธิปไตย ๓ จะเป็นอัตตาธิปไตยก็ตาม โลกาธิปไตยก็ตาม ธรรมาธิปไตยก็ตาม เป็นข้อปฏิบัติของบุคคล เป็นพื้นฐานของคนที่จะไปออกเสียง ส่วนประชาธิปไตยเป็นระบบ เป็นช่องทางที่จะมาเก็บเอาเสียง (ความคิดเห็น ความต้องการ) ของคนไปใช้ทำการ

ประชาธิปไตยถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่ เพราะต้องการจะทำอะไรๆ ให้ถูกต้องดีที่สุด เป็นประโยชน์ที่สุด โดยสอดคล้องกับความเป็นจริง และเชื่อใจว่าคนที่มาออกเสียงนั้น ให้เสียงที่เป็นจริงจากใจของตนๆ เมื่อคนส่วนมากยืนยันอย่างไร ย่อมน่าเชื่อถืออย่างนั้นมากที่สุด

ส่วนโลกาธิปไตย เป็นเรื่องของคนที่ออกเสียง เวลาจะให้เสียงไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาให้ชัดเจนถ่องแท้ว่าอะไรจริง อะไรถูกต้องดีงาม หรือรู้ว่าอะไรจริง ถูกต้องดีงามแล้ว ไม่ว่าไปตามนั้น กลับมานึกว่าคนเขาว่ากันอย่างไร พรรคพวกเขาจะเอาอย่างไร ส่วนมากเขาเลือกอันไหน แล้วไม่ว่าไปตามความจริงใจของตนนั้น กลับว่าไปตามที่เขาว่ากันนิยมกัน ไม่มีหลักของตัว ประชาธิปไตยที่ดีย่อมไม่ต้องการโลกาธิปไตยแน่ แต่ต้องการธรรมาธิปไตย คือ ต้องการให้คนที่ออกเสียงทุกคน ยึดถือธรรม ใช้ปัญญาและพูด (ให้เสียง) ออกมาจากใจจริง

พูดสั้นๆ ว่า ประชาธิปไตยที่ดีเกิดจากธรรมาธิปไตย และประชาธิปไตยที่ดีช่วยให้ได้ธรรมาธิปไตยหรือ ประชาธิปไตยที่ดีเป็นของคนมีธรรมาธิปไตย จะได้ประชาธิปไตยที่ดี คนต้องมีธรรมาธิปไตย

จะพิสูจน์ดูก็ได้

ก. เสียงข้างมากเป็นอย่างนี้ เพราะถูกใจเขา สะดวกเขา เขาจะได้ พอดีมาตรงที่เขาชอบใจกันอย่างนี้

ข. เสียงข้างมากเป็นอย่างนี้ เพราะที่นี้เขาว่ากันอย่างนี้ เขานิยมกันอย่างนี้ กำลังตื่นอันนี้กันอยู่

ค. เสียงข้างมากเป็นอย่างนี้ เพราะแต่ละคนๆ เขาพิจารณากันแล้วเห็นว่าอย่างนี้ถูกต้องเป็นประโยชน์จริง เสียงมาลงกันอย่างนี้

ทั้ง ๓ ข้อนี้ ประโยคท่อนแรกเป็นเรื่องของประชาธิปไตย ท่อนหลังเป็นอธิปไตย ๓ ข้อละอย่างๆ ถ้าได้อย่างข้อแรก ก็เป็นประชาธิปไตยแบบอัตตาธิปไตย ได้อย่างข้อสอง ก็เป็นประชาธิปไตยแบบโลกาธิปไตย ได้อย่างข้อท้าย เป็นประชาธิปไตยแบบธรรมาธิปไตย แล้วประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามหลักการ จะคือข้อไหน ก็ต้องถือเอาข้อสุดท้าย คือประชาธิปไตยที่เป็นธรรมาธิปไตยนั่นเอง

คนที่เป็นโลกาธิปไตย ถ้าไปทำหน้าที่ปกครอง บริหาร หรือรับผิดชอบงานสาธารณะ ก็จะมุ่งหน้าเอาอกเอาใจประชาชน ด้วยการกระทำอย่างที่เรียกว่า หาเสียงหรือหาคะแนนนิยม อะไรๆ ก็อ้างประชาชนจนพร่ำเพรื่อ ถ้าจะใช้คำแรงก็ว่าประจบประชาชนบ้าง เอาประชาชนบังหน้าบ้าง จะทำก็นึกถึงแต่ความนิยมที่จะได้ ถ้าเห็นว่าจะได้คะแนนนิยมก็ทำ ถ้าเห็นว่าจะไม่ได้ความนิยม หรือกระทบกระเทือนความนิยม แม้สิ่งนั้นจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขที่แท้จริงของประชาชน ก็ไม่กล้าหรือไม่ยอมทำ

ส่วนคนที่เป็นธรรมาธิปไตย แม้จะมุ่งหน้าทำการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง และยอมตามเสียงส่วนใหญ่ หรือยอมตามเสียงของประชาชน แต่ก็ไม่ทำการแบบประจบเอาใจหาคะแนนนิยม หรือแม้แต่ง้อประชาชน ปฏิบัติไปตามเหตุผลและความสุจริตใจ ในเมื่อพิจารณาเห็นชัดด้วยสติปัญญาแล้วว่า การใดเป็นไปเพื่อผลดีแก่ประชาชนอย่างแน่นอน ก็พยายามทำการนั้น การใดอาจให้ได้รับความนิยม แต่เห็นชัดด้วยปัญญาว่าจะไม่เป็นไปเพื่อผลดีแก่ประชาชนอย่างแท้จริง ก็จะไม่ทำการนั้น หากประชาชนไม่เห็นด้วย ก็จะต้องชี้แจงเหตุผลกันก่อน หากประชาชนยังยืนยันไม่เห็นชอบ ก็ยอมตามประชาชนได้ แต่ก็ต้องประกาศความเห็นโดยสุจริตใจของตนไว้ว่า เป็นอย่างไร หากขัดฝืนต่อสำนึกแห่งธรรมจนเกินไป ก็อาจยอมสละฐานะนั้นจากตน โดยไม่ห่วงในผลประโยชน์ส่วนตัวที่เกี่ยวเนื่องอยู่

แบบอย่างนี้จะเห็นได้จากจริยาวัตรของพระอานนท์ ในคราวประชุมสังคายนา เมื่อถูกที่ประชุมคือสงฆ์ลงมติปรับความผิดแก่การกระทำของท่าน ท่านเห็นอยู่ว่าการกระทำของท่านเป็นไปโดยชอบด้วยเจตนามุ่งความดีงามแท้จริง ท่านจึงชี้แจงเหตุผลและความมุ่งหมายแห่งการกระทำทั้งหมดของท่านแก่ที่ประชุม พร้อมทั้งยอมปฏิบัติตามมติของที่ประชุมด้วย โดยประกาศให้ชัดแจ้งทั้งในส่วนความเห็นของตนว่า มองเห็นความบริสุทธิ์แห่งการกระทำอย่างไร และการยอมปฏิบัติตามมติที่ประชุมเพราะเป็นสังฆมติอย่างไร การแสดงเหตุผลแห่งการกระทำที่บริสุทธิ์ของตน ก็เป็นการปฏิบัติตามธรรม การยอมปฏิบัติตามสังฆมติ ก็เป็นการปฏิบัติตามธรรม นี้เป็นคติแห่งประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐาน

ในสังคมใด หากนักปกครอง นักบริหาร นักการเมืองเป็นต้น ยังยึดถือโลกาธิปไตย เป็นแต่เพียงผู้แสวงหาความนิยมจากเสียงของประชาชน และประชาชนยังเพลิดเพลินชื่นชมอยู่กับนักปกครอง นักบริหาร นักการเมือง เป็นต้น แบบโลกาธิปไตย ที่คอยเฝ้าตามประจบตน ดังเด็กที่ชอบพะเน้าพะนอ ไม่รู้จักคิดวินิจฉัยแยกเอาบุคคลประเภทธรรมาธิปไตยขึ้นมาเป็นตัวชูในกิจการ เหมือนกับว่าจะไม่ยอมเป็นผู้ใหญ่ที่คิดการเองได้ ถ้าการณ์เป็นไปเช่นนี้ ประชาธิปไตยจะยังไม่พัฒนาสมบูรณ์ขึ้นได้ในสังคมนั้น

ทีนี้ ปัญหาก็มีอย่างเดียวว่า ประชาธิปไตยอย่างดีที่สุด คือ ประชาธิปไตยที่เป็นธรรมาธิปไตย กับราชาธิปไตยที่ดีที่สุด คือ ราชาธิปไตยที่เป็นธรรมาธิปไตย อันไหนจะดีกว่ากัน ตามความเชื่อในปัจจุบันก็ว่า ประชาธิปไตยที่เป็นธรรมาธิปไตยดีกว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ก็บอกว่าคนๆ เดียวถึงแม้จะมีความรู้ดีขนาดไหน มีสติปัญญาดีขนาดไหน มีคุณธรรมขนาดไหน ก็อาจจะมีข้อบกพร่องได้ ในด้านความรู้ก็อาจจะรู้ไม่ถ้วนถี่ ไม่สามารถที่จะรู้ไปทุกซอกทุกมุม ไม่รู้ปัญหาของประชาชนทุกหย่อมหญ้า หรือในด้านคุณธรรมก็อาจจะมีความบกพร่องบ้างนิดๆ หน่อยๆ หรืออาจไม่มั่นคงสม่ำเสมอตลอดไปทุกเวลา เพราะฉะนั้น ราชาธิปไตยที่เป็นธรรมาธิปไตยก็ดีหรอก แต่ก็ไม่ดีพอ ประชาธิปไตยที่เป็นธรรมาธิปไตยดีกว่า คือ หลายหัวดีกว่าหัวเดียว หลายหัวในที่นี้หมายถึงหลายหัวของคนดี คนดีหลายหัวมาร่วมกันปกครองดีกว่า คือเอาสติปัญญาของคนหลายคนมาร่วมกันปกครอง แต่ในที่นี้ หมายความว่าทุกๆ คนดีขนาดคนเดียวอย่างดีที่ว่าเมื่อกี้ หรือว่าดีกว่า เมื่อหลายๆ คนดีรวมกันแล้ว จึงต้องดีกว่าคนเดียว ที่ว่าเก่งในราชาธิปไตยนั้น ก็หวังกันว่าอย่างนี้ ถือว่าถ้าระบบประชาธิปไตยจะดีกว่าระบบอื่น ก็ดีเพราะอย่างนี้ คือเพราะเหตุที่ว่า จะเป็นระบบที่ช่วยให้คนเราเข้าถึงธรรมาธิปไตยที่ดีที่สุดนั่นเอง

แต่อย่างไรก็ตามเป็นอันว่า ระบบการปกครองอันใดก็ตามที่ว่าดีที่สุดนั้นจะต้องเป็นธรรมาธิปไตยทั้งสิ้น ถ้าหากว่าเป็นอัตตาธิปไตยในประชาธิปไตยคือ ทุกคนเห็นแก่ตน ไม่มองเห็นประโยชน์สุขของส่วนรวม ไม่คำนึงถึงความถูกต้องดีงามหรือหลักการ แต่ละคนเอาผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้งอย่างนี้ ผลที่สุดก็เข้าลักษณะพวกวัชชีที่แตกไปแล้ว คือ ต้องแก่งแย่งกัน แล้วประชาธิปไตยก็เป็นประชาธิปไตยอยู่ไม่ได้ ประชาธิปไตยจะเป็นประชาธิปไตยที่ดี ก็ต้องให้ทุกคนเป็นธรรมาธิปไตย คือได้แต่ละคนๆ ที่เป็นธรรมาธิปไตย ถือธรรมความจริง ความถูกต้องดีงามเป็นหลักนี้แหละไปช่วยกันปกครอง ก็จะได้หลายหัวดีกว่าหัวเดียว คือ หลายคนมาเสริมกันแก้ข้อบกพร่องของผู้ปกครองคนเดียวได้ ไม่ใช่หลายๆ คนชั่วร้ายมารวมกันช่วยกันเสริมความชั่วร้าย แต่หลายๆ คนนั้นมีสติปัญญา มีคุณธรรมด้วยกันทั้งนั้น ก็จะช่วยกันทำให้ได้ความถูกต้องดีงามที่แท้จริง แต่มันมีปัญหาอยู่ว่า ทำอย่างไรจะให้คนทุกคนเข้าถึงธรรมาธิปไตยได้ คือทำอย่างไรจึงจะให้คนที่จะไปร่วมกันปกครองนี้เป็นธรรมาธิปไตย ปัญหาก็มีอยู่แค่นี้

การสร้างธรรมาธิปไตยให้เป็นรากฐานของประชาธิปไตย

ธรรมาธิปไตยนั้น เป็นทางสายกลางระหว่างอัตตาธิปไตยกับโลกาธิปไตย อัตตาธิปไตยนั้นถือตนเองเป็นหลัก ยึดตนเองเป็นใหญ่ เอาฐานะของตน เอาผลประโยชน์ของตนเป็นเครื่องวัด โลกาธิปไตยก็ถือเอาค่านิยมของโลก คำติเตียน สรรเสริญเป็นหลัก ธรรมาธิปไตยเป็นทางสายกลาง คือเอาความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เป็นหลักเกณฑ์ แน่นอนว่าเราต้องการให้ได้ธรรมาธิปไตย และประชาธิปไตยจะไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยที่ดี ถ้าหากไม่ถึงธรรมาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยที่เป็นอัตตาธิปไตยนั้นไม่ดีไปกว่าราชาธิปไตยที่เป็นอัตตาธิปไตย คือนำไปสู่ความพินาศเช่นเดียวกัน

ทีนี้ เมื่อต้องการธรรมาธิปไตย ก็มีปัญหาว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนเข้าถึงธรรมาธิปไตย เมื่อกี้นี้ ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เราบอกให้คนที่เป็นผู้ปกครองคนเดียวนั้น เป็นธรรมาธิปไตย แต่มาในระบบประชาธิปไตยนี่ เราจะต้องให้ทุกๆ คน ประชาชนทุกคน หรือถ้าไม่ได้ทุกคน ก็ให้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นธรรมาธิปไตย เพราะประชาชนทุกคนจะไปช่วยกันปกครอง แล้วก็ต้องเป็นคนดีทั้งนั้นจึงจะช่วยกันปกครองได้

ทีนี้ ปัญหาก็มีอยู่ว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนส่วนใหญ่หรือทุกคนถ้าเป็นไปได้ เป็นคนดี เป็นคนถือธรรมาธิปไตย เป็นปัญหาที่ยาก แม้แต่จะรู้ว่า อะไรคือธรรม อะไรคือความจริง อะไรคือความถูกต้อง อะไรคือความดีงาม ก็ยาก ทุกคนจะช่วยกันปกครองแล้ว แต่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นธรรม เป็นความถูกต้อง เป็นความดีงาม แล้วจะไปร่วมกันปกครองได้อย่างไร จึงจะต้องมีวิธีการที่จะให้คนซึ่งมาร่วมกันปกครอง คือประชาชนทั้งหลาย เป็นผู้รู้จักธรรม เป็นธรรมาธิปไตย

จะเป็นธรรมาธิปไตย ก็ต้องเริ่มตั้งแต่รู้ว่าอะไรเป็นธรรม ความรู้เกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยปัญญา จะให้มีปัญญาก็ต้องให้มีการศึกษา ฉะนั้นจะต้องเริ่มตั้งแต่ให้การศึกษา เพื่อจะให้คนมีปัญญาเกิดขึ้น จะได้รู้จักเลือก รู้จักวินิจฉัยว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรเป็นประโยชน์สุขต่อส่วนรวม มีปัญญามากขึ้นเขาก็รู้จักแยกมากขึ้น เรียกว่ารู้ทางเลือกมากขึ้น เมื่อรู้ทางเลือกมากขึ้น เราก็หวังว่าเขาจะเลือกเอาทางที่ดี แต่ก็มีปัญหาอีกเหมือนกัน เมื่อให้การศึกษาไปแล้วก็เกิดปัญญา ปัญญาทำให้รู้ ให้รู้จักแยก รู้จักทางเลือกมากขึ้น แต่คนที่รู้แล้ว รู้ว่าทางไหนดีทางไหนชั่ว อาจจะไปเลือกทางชั่วก็ได้ จะไปเลือกทางชั่วเพราะอะไร เพราะทางชั่วนั้นมันมาเสริมประโยชน์ส่วนตน มันมาเสริมฐานะของตนเอง เราอาจจะเว้นไม่เอาทางดี มาเอาทางเสีย เพราะทางเสียนั้นมันทำให้เราได้รับผลประโยชน์ ส่วนทางดีนั้นเป็นประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมก็จริง แต่มันเสียผลประโยชน์ของเรา เราก็อาจจะไม่เอา กลายเป็นว่าการศึกษาสร้าง แต่ปัญญาก็ไม่พอ นี้ก็เป็นปัญหาขึ้นมาอีก จะต้องทำอย่างไรต่อไป การศึกษาทำให้เกิดปัญญา ทำให้รู้มากเข้า รู้ทางเลือกมากขึ้น รู้จักแยกแยะมากขึ้น รู้จักวินิจฉัยได้ดีขึ้น แต่ทำอย่างไรจะทำให้เขาวินิจฉัยเลือกเอาทางที่ดีอย่างเดียว คือยึดในธรรมาธิปไตย เพราะว่าเมื่อเขารู้แล้วว่าอะไรเป็นธรรม แต่เขาไม่เป็นธรรมาธิปไตย เขาไม่ยึดฝ่ายธรรม เขายึดเอาฝ่ายสนองประโยชน์ตน เขาก็เป็นอัตตาธิปไตยตามเดิม อันนี้จะทำอย่างไร

ตามหลักพระพุทธศาสนาบอกว่า การศึกษาจะให้ครบ ได้ผลสมบูรณ์ต้องมีองค์ประกอบของการศึกษา ถึง ๓ อย่าง คือ

๑. ต้องมีระเบียบวินัย ระเบียบวินัยเป็นเครื่องฝึกคนให้อยู่ในแนวทางที่ดี ควบคุมและคอยต้อนบุคคลให้พยายามเลือกแต่แนวทางที่ดี โดยประการแรกก็ไปปิดกั้นโอกาสที่เขาจะเลือกทางชั่ว คนเราถ้ามีโอกาสก็อาจจะหันไปเลือกทางชั่วได้ง่าย เพราะมันสนองผลประโยชน์ส่วนตัว จึงต้องเอาระเบียบวินัยเป็นเครื่องปิดกั้นไม่ให้คนหันไปเลือกทางชั่ว พร้อมกันนั้นก็สร้างสภาพแวดล้อมและระบบต่างๆ ให้เกื้อกูลแก่การที่เขาจะทำในทางที่ดี หรือที่จะควบคุมความประพฤติของเขา ให้ดำเนินไปในทางที่ดี ระเบียบวินัย หรือระบบการดำเนินชีวิตการทำงานเป็นความสำคัญเบื้องต้น ได้แก่สิ่งที่เราเรียกว่า ศีล เพราะฉะนั้น องค์ประกอบของการศึกษาขั้นหนึ่งก็คือศีล ซึ่งจำเป็นต้องมีมาด้วยในการที่จะสร้างปัญญา

๒. นอกจากศีลแล้ว จะต้องพยายามสร้างสติ ความรู้จักยั้งคิด และการรู้จักกระตุ้นเตือนตนเองให้สำนึกถึงความรับผิดชอบ หน้าที่ และความดีต่างๆ ที่จะต้องทำต่อไป พยายามสร้างความพากเพียรที่จะให้ดำเนินรุดหน้าไปในความดี ส่งเสริมกำลังใจในการที่จะทำสิ่งที่ดีงาม เร้าให้มีจิตฝักใฝ่ขวนขวายทำในสิ่งที่เป็นอุดมคติ ให้เขายึดมั่นทำอยู่ในสิ่งนั้นเสมอๆ จนเกิดความคุ้นเคยกับการเลือกในทางที่ดี มั่นคง เข้มแข็ง แน่วแน่ในทางที่ดี เป็นทางอีกด้านหนึ่ง เรียกว่า เป็นทางของกำลังจิตใจ ทำให้เข้มแข็ง มั่นคง แน่วแน่ ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สมาธิ

๓. ปัญญา ข้อนี้เป็นตัวสำคัญแน่นอน เพราะตอนแรกบอกแล้วว่า จะรู้ว่าอะไรเป็นธรรมก็จะต้องมีปัญญา

จะมีปัญญาก็ต้องศึกษา แต่ศึกษารู้มีปัญญาแล้วมีทางเลือก อาจจะเลือกทางไม่ดีเพราะเห็นแก่ตนก็ได้ จึงต้องมีระเบียบวินัย มีศีล แล้วมีการสร้างกำลังจิตกำลังใจ ความเข้มแข็งแน่วแน่มั่นคง เช่น ความมีอุดมคติ ความมีน้ำใจนักกีฬา มีฉันทะ มีความเพียรพยายามรับผิดชอบ รอบคอบ มีสติ เป็นต้น ที่เรียกว่า สมาธิ

เพราะฉะนั้น การศึกษาที่พรั่งพร้อมที่จะให้เกิดประชาธิปไตย ก็ต้องมี ๓ องค์ ดังที่กล่าวแล้วคือ มีทั้งศีล มีทั้งสมาธิ มีทั้งปัญญา ครบทั้ง ไตรสิกขา ถ้าหากว่าการศึกษา ไม่มีระเบียบวินัย ไม่มีศีลในเบื้องต้น ไม่มีสมาธิค้ำประกัน ถึงจะให้ปัญญา ก็ไม่แน่นอน เพราะคนรู้ทางเลือกมากขึ้น เขาเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นอัตตาธิปไตย ทั้งๆ ที่รู้ว่าอันนี้เป็นธรรม ก็ไม่เอา เพราะเสียประโยชน์ส่วนตัว จึงไปเลือกเอาทางที่ไม่ดี ไม่ชอบ แต่มันให้ประโยชน์แก่ตน เพราะฉะนั้น การศึกษาที่ขาดศีล ขาดระเบียบวินัย ขาดสมาธิ ขาดการสร้างจิตใจที่เข้มแข็งมั่นคง จึงไม่อาจจะเป็นพื้นฐานที่ดีของการสร้างประชาธิปไตยได้

นี้เป็นแง่ของพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย ซึ่งโดยเนื้อแท้ก็คือหลักการที่นำมาใช้ในคณะสงฆ์นั้นเอง ระบบความเป็นอยู่ในสงฆ์นั้น ถ้าเราวิเคราะห์ออกไปก็คือหลักประชาธิปไตย ที่ยึดถือธรรมาธิปไตยอย่างเคร่งครัด เบื้องต้นพระสงฆ์จะต้องมีระเบียบวินัย หรือศีล เป็นเครื่องปิดกั้นโอกาสที่จะทำความชั่วและเปิดโอกาสในการที่จะทำความดีอยู่เสมอ แล้วให้มีสมาธิ คือฝึกจิตให้มีสติ มีวิริยะ เข้มแข็งมั่นคงในการที่จะกระทำความดี และสร้างปัญญาในขั้นสูงสุดที่จะทำให้ผู้นั้นรู้ในตัวธรรม คือตัวความจริง ตัวสิ่งที่ดีงาม เพื่อจะทำให้ถูกต้องได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป เมื่อใดองค์ประกอบของการศึกษาแบบนี้บกพร่องไป ประชาธิปไตยก็อยู่ไม่ได้ จะเห็นว่าในระบบของคณะสงฆ์เองในสมัยต่อๆ มา เมื่อการศึกษาย่อหย่อนลงไป เมื่อระเบียบวินัยย่อหย่อนลงไป ก็ต้องมีการปกครองแบบอื่นเข้ามาแทน หรือมาเสริมการปกครองตามธรรมวินัย ต้องมีการตั้งหัวหน้าอะไรต่อมิอะไรแบบข้างนอก ซึ่งวิวัฒนาการมาจนกระทั่งทุกวันนี้

นี้เป็นการพูดเรื่องธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งท่านเอามาแก้ปัญหาในระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงของสังคมในชมพูทวีป แล้วมันก็มาใช้ได้ในสังคมปัจจุบัน ไม่ล้าสมัย หากเรามองดูคติในพุทธกาลให้ดีแล้ว จะสามารถนำเอาแง่คิดต่างๆ มาใช้ประโยชน์ได้ไม่น้อยทีเดียว แม้ในด้านอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน อย่างเช่น หลักของประชาธิปไตย ในเรื่องความเสมอภาค เสรีภาพ ภราดรภาพ เป็นต้น ยกตัวอย่าง เรื่องของความเสมอภาค พระพุทธศาสนาบอกว่า คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน ไม่เท่ากันอย่างไร ร่างกายไม่แข็งแรงบ้าง แข็งแรงบ้าง มีสติปัญญาที่เป็นพื้นมาน้อยบ้าง มากบ้าง สวยงามบ้าง ขี้ริ้วบ้าง ผิวดำบ้าง ผิวขาวบ้าง ผิวเหลืองบ้าง อะไรทำนองนี้ เรียกว่าไม่เท่ากัน แต่มันเท่ากันโดยความเป็นมนุษย์ อันนี้เป็นความเท่ากัน นอกจากเท่ากันในความเป็นมนุษย์ ก็ยังมีความเท่ากันต่อกฎธรรมชาติอีก คือ มนุษย์ทุกคนอยู่ในกฎธรรมชาติอย่างเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นคนชั้นไหน จะเป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ ศูทร ชนมั่งมีร่ำรวย ยากจน ก็ตกอยู่ในกฎธรรมชาติอย่างเดียวกัน กฎธรรมชาตินี้ไม่เลือกหน้าใคร เสมอกันหมด เช่น กฎแห่งกรรมก็เสมอกันทุกคน กฎธรรมชาติในแง่อื่นๆ ทั้งหลาย เช่น ความเกิดแก่เจ็บตายอะไรนี้ก็เหมือนกัน ทุกคนมีฐานะเท่ากันสำหรับกฎธรรมชาติ

เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงประกาศความเสมอภาคของมนุษย์ในแง่นี้ และเสมอภาคไม่ใช่เฉพาะมนุษย์เท่านั้น เทวดาก็เสมอภาคกับมนุษย์ด้วย พระพรหมก็เสมอกับมนุษย์ เทวดากี่ชั้นๆ ก็เสมอกับมนุษย์ในแง่นี้ คือ ต้องตกอยู่ในกฎธรรมชาติเหมือนกัน เทวดามีความไม่ดีอยู่ก็กลับไปตกนรกเหมือนกัน เราทำดีเราก็ไปเกิดเป็นเทวดาได้ อย่างนี้เป็นต้น นี้เป็นความเสมอภาค

ทีนี้ ในแง่เสรีภาพ มนุษย์ทุกคนก็มีเสรีภาพที่จะแก้ไขปรับปรุงชีวิตของตนเอง ปรุงแต่งชะตากรรมของตนเองได้ โดยพื้นฐานของธรรมชาติ หมายความว่า ตัวคนแต่ละคนนี้ จะปรุงแต่งชีวิตของตนให้มันประเสริฐก็ได้ ให้มันเลวก็ได้ ในทางเลวทรามจะให้เลวทรามเทียบเสมอสัตว์นรกก็ได้ หรือในทางที่ดีจะให้ประเสริฐจนกระทั่งเทวดาหรือพระพรหมจะต้องบูชาก็ได้ พระพุทธเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นมนุษย์นี้แหละ แต่ทรงฝึกพระองค์เองจนกระทั่งถือว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แม้แต่คำสอนในทางพระพุทธศาสนา เราทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะพิสูจน์ ที่จะทดลอง หรือจะดูว่ามีความถูกต้องแค่ไหน เพียงไร พิจารณาได้ด้วยเหตุผล อย่างนี้ก็เป็นพื้นฐานของพระพุทธศาสนา

ในเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตย แต่โดยแก่นแท้แล้ว ก็ต้องมาอยู่ที่ตัวของการปกครองเองคือ การปกครองซึ่งเราจะต้องเป็นธรรมาธิปไตย แม้จะเป็นประชาธิปไตย ก็ต้องเป็นประชาธิปไตยที่ทุกคนเป็นธรรมาธิปไตย ธรรมาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการศึกษาที่มีองค์ประกอบพร้อม คือ มีองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการ หรือไตรสิกขาครบถ้วน มีทั้งศีล ทั้งสมาธิ และปัญญา อันนี้เป็นการพูดในแง่การเมือง

ปัญญาชนกับการแก้ปัญหาสังคม

ทีนี้ จะพูดต่อไปในแง่ของสังคมบ้าง หวนกลับไปที่พูดถึงเมื่อกี้นี้ บอกว่าสมณพราหมณ์ หรือปัญญาชนในสมัยพุทธกาล เริ่มมีชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อ ไม่ทำหน้าที่ของตนเอง คือ ไม่ช่วยแนะนำนักปกครอง ในแง่ที่จะทำอย่างไรจึงจะปกครองได้ดี อย่างไรถึงจะให้ประชาชนผาสุก อะไรอย่างนี้ กลับมาเมามัวในลาภสักการะ เพลิดเพลินในพิธีกรรม ตลอดจนเอาใจนักปกครอง เพื่อสนองประโยชน์ส่วนตน เรื่องนี้มีเล่าในพระไตรปิฎก หาอ่านได้ใน พราหมณธรรมิกสูตร4 ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเล่าความเป็นมาของพราหมณ์ว่า พวกพราหมณ์นี้เดิมก็เป็นคนดี ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เพื่อประโยชน์สุขทั้งในชีวิตของตนเองและทั้งในชีวิตของผู้อื่น มีความเป็นอยู่อย่างสันโดษ ต่อมาภายหลังจึงเกิดความฟุ้งเฟ้อ มัวเมาเพลิดเพลินในลาภสักการะขึ้น ทำให้คลาดเคลื่อนจากแนวทางการประพฤติการปฏิบัติเดิม แง่คิดสำคัญในเรื่องของสมณพราหมณ์หรือปัญญาชนก็คือ หน้าที่ของพราหมณ์หรือปัญญาชนนั้น ซึ่งสรุปได้ดังนี้

๑. เป็นผู้แนะนำชี้ทางแก่นักปกครองในเรื่องการปกครองที่ดี วิธีที่จะสงเคราะห์ประชาชนให้อยู่ดีมีความผาสุก ตัวอย่างนี้มีในพระสูตร เช่น กูฏทันตสูตร ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า นักปกครองจะปกครองอย่างไรจึงจะให้ประชาชนมีความผาสุก

๒. ปัญญาชนหรือสมณพราหมณ์ ควรประพฤติตัวเป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะคนประเภทนี้ควรมีความสันโดษ มีความเป็นอยู่ง่ายๆ ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่มัวเมาในความสุข ความสำราญ ไม่แสวงหาความปรนเปรอทางวัตถุ เหตุผลก็คือ

  1.  เมื่อมีความเป็นอยู่ง่ายๆ ไม่ฟุ้งเฟ้อ มีความสันโดษแล้ว พวกปัญญาชนจะได้อุทิศเวลาในการค้นคว้าแสวงหาปัญญาได้เต็มที่ ถ้าหากว่าปัญญาชนไม่สันโดษ มัวแต่แสวงหาความสุขสำราญแล้ว ก็จะใช้เวลาไปในด้านที่ไม่ทำให้มีความเจริญก้าวหน้าทางสติปัญญาเท่าที่ควร และความประพฤติเสื่อมเสีย การทำหน้าที่ไม่สุจริตก็จะเกิดตามมา
  2. เพื่อเป็นตัวอย่าง พวกปัญญาชนหรือสมณพราหมณ์นี้ เป็นแบบอย่างแห่งความประพฤติ เพราะเป็นผู้แนะนำผู้อื่นในสิ่งที่ดีงาม ก็ต้องทำในสิ่งที่ดีงามให้เป็นแบบอย่างไว้ เพราะฉะนั้นความประพฤติในทางไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เพลิดเพลิน ไม่มัวเมา จึงเป็นหลักปฏิบัติสำคัญของปัญญาชนทั้งหลาย

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนพวกปัญญาชน ซึ่งเป็นพราหมณ์ในสมัยนั้นในแบบนี้ ส่วนทางด้านพระองค์เอง เพื่อจะให้ได้ผลในทางปฏิบัติ ก็ทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้น คณะสงฆ์นั้น นอกจากมองในแง่จิตใจที่จะทำให้บรรลุคุณธรรมสูงขึ้นไปในขั้นอริยบุคคลจนกระทั่งถึงพระอรหันต์แล้ว ถ้าเรามองในแง่สังคมก็จะเห็นวัตถุประสงค์ได้ดังนี้

๑. พระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาอย่างเต็มที่ ดังได้กล่าวแล้วว่า พราหมณ์ในสมัยนั้นผูกขาดการศึกษาหมดแล้ว ถ้าจะเรียนขั้นสูงอย่างเรียนพระเวท คนวรรณะต่ำอย่างพวกศูทรเรียนไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมา ประกาศว่าใครๆ บวชได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในวรรณะไหน กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร บวชมาแล้วเท่ากัน แล้วก็มีโอกาสเล่าเรียน ศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัยได้สูงสุดเท่ากัน เป็นการเปิดโอกาสในทางการศึกษาให้กว้างขวางทั่วถึง

๒. เป็นการสร้างกลุ่มอิสระขึ้น ถ้ามองในแง่สังคม ขอให้ลองช่วยกันพิจารณาว่าจะเป็นอย่างที่ว่านี้หรือไม่ คือ พระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมาเป็นกลุ่มอิสระ มีความเป็นอยู่และมีโอกาสปฏิบัติตามอุดมคติได้เต็มที่ พระพุทธเจ้าตรัสอุดมคติไว้แก่พระสงฆ์ เช่น ในการส่งพระสาวกออกไปประกาศพระศาสนา ก็ตรัสว่า พวกเธอทั้งหลายจงจาริกไปสู่สถานจาริกต่างๆ เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล และเพื่อความสุขแก่ชนจำนวนมาก เมื่อตรัสอุดมคติไว้ให้อย่างนี้ การที่จะให้บุคคลผู้ดำเนินตามพระองค์ปฏิบัติได้ตามอุดมคตินั้น ก็จะต้องสร้างสภาพชีวิตขึ้นมาแบบหนึ่ง ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงกระทำโดยตั้งเป็นคณะสงฆ์ คณะสงฆ์นี้เป็นกลุ่มอิสระ มีสภาพชีวิตอะไรๆ เป็นของตนเองต่างหากจากชุมชน ต่างหากจากสังคมโดยทั่วไป ซึ่งจะเป็นเครื่องรักษาตนเอง ไม่ให้ถูกบีบคั้นจากสังคมที่เป็นอยู่ จนกระทั่งถูกสังคมนั้นกลืนกลับเข้าไปสู่สภาพเดิม อันนี้เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมา พระองค์จะสอนอย่างไรก็ตาม ผลที่สุดผู้ที่ต้องการทำอย่างนั้น แต่อยู่ในสภาพสังคมอย่างนั้น ถูกสภาพสังคมอย่างนั้นบีบคั้น ในสภาพความเป็นอยู่ต่างๆ ผลที่สุดก็ถูกกลืนกลับเข้าไป นี่เป็นเรื่องธรรมดา

เมื่อพระพุทธองค์ทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมาแล้ว ก็ทรงประกาศธรรมเปิดรับชนทุกชั้น โดยเฉพาะจะเห็นว่า มีพวกชนชั้นสูงจำนวนมากมาย ทั้งพวกพราหมณ์ พวกเศรษฐี พวกคหบดี เจ้านาย กษัตริย์ จำนวนมากออกบวชตามพระองค์ คนเหล่านี้ยอมเสียสละความสุขความสำราญออกมาปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุคุณพิเศษต่างๆ แล้วจาริกไปสั่งสอนประชาชน ไปอยู่ตามชนบท ไปอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ในสมัยโบราณบางทีหมู่บ้านหนึ่งอาจจะมีองค์หนึ่ง และพระท่านไม่อยู่ประจำที่ ปีนี้องค์นี้มาอยู่ ปีหน้าท่านก็จาริกจากไป องค์อื่นก็มาอยู่แทน อะไรทำนองนี้ ทีนี้ คติที่จะได้จากลักษณะการปฏิบัติงานของพระสงฆ์ ผู้ไปปฏิบัติศาสนกิจในแง่ที่จาริกไปเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนนี้ ควรตั้งเป็นข้อสังเกตดังนี้

ประการที่ ๑ พระสงฆ์ตามอุดมคติที่พระพุทธเจ้าสอนไว้นี้ ท่านเสียสละจริงๆ หมายความว่า ท่านเคยเป็นเศรษฐี เคยเป็นเจ้านาย ก็เลิกเป็น เสียสละกันจริงๆ ไม่ต้องการความสุขความสำราญกันอีกเลย ออกจาริกไปอยู่กับประชาชนตามบ้านนอก ตามชนบท ไม่เห็นกับความสุข เสียสละแล้วไม่คิดกลับมาหาความสุขอีก

ประการที่ ๒ ในการที่ท่านทำอย่างนั้น ท่านมีความสุขความพอใจด้วย ความสุข ความพอใจ ในการกระทำอย่างนั้น ก็สำคัญเหมือนกัน คือเป็นสภาพจิตใจที่พร้อมที่จะให้อยู่ในความประพฤติปฏิบัตินั้นได้ตลอดไป คือไม่ได้ทำด้วยอุดมการณ์ที่ร้อนแรงชั่วครู่ชั่วยาม ถ้ากระทำด้วยอุดมการณ์ ด้วยแรงปลุกที่ร้อนแรงชั่วครู่ชั่วยาม อาจจะใช้กำลังออกไปทำอะไรก็ได้ แต่มันได้ชั่วระยะหนึ่ง ถ้ามีสภาพจิตใจไม่พร้อม ไม่มีความสุขความพอใจในการทำอย่างนั้นจริง แล้วก็ไม่คิดว่าตัวเองจะมีความสุขในการที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างนั้นต่อไปในกาลภายหน้า ผลที่สุดก็จะหวนกลับเข้ามาสู่ชีวิตอย่างเดิม แล้วก็จะถูกกลืนเข้าไปในสังคมเดิมตามเดิม ข้อสำคัญถ้าหากว่าจะกระทำงาน เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ก็จะต้องสร้างสภาพจิตใจที่พร้อมเสียก่อน คือ ถ้าจะเสียสละ ก็ต้องอยู่อย่างมีความสุขในการเสียสละนั้นด้วย

ประการที่ ๓ เป็นการไปอย่างมีระเบียบวินัยและเป็นอยู่อย่างมีระเบียบวินัย คือพระภิกษุทั้งหมดนั้นมาอยู่ในคณะสงฆ์ที่มีศีล มีระเบียบวินัยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว มีความประพฤติดีงาม เหมาะสมสอดคล้องกับอุดมคติและหลักธรรมที่ตนนำไปประกาศ แม้จะอยู่ในพื้นที่ถิ่นฐานต่างๆ กัน ก็มีหลักการ มีความประพฤติเข้าแนวเดียวกัน ซึ่งอันนี้ทำให้มีหลักการ สร้างความเชื่อถือและความเคารพนับถือได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นชีวิตที่ได้ด้านหนึ่ง ขาดด้านหนึ่ง อาจจะเสียสละไป แต่อาจปฏิบัติตนไม่น่าเลื่อมใส ไม่น่าเชื่อถือ หรืออาจจะขัดต่อวัฒนธรรมของประชาชน ทำให้ไม่เป็นที่นับถือ อย่างนี้เป็นต้น

พระพุทธศาสนาจะเป็นผู้นำทางหรือเป็นผู้ปะทะหน้ากับความเปลี่ยนแปลง

นี้เป็นแง่คิดต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำขึ้นแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่า การตั้งคณะสงฆ์ก็คือการแก้ปัญหาสังคมอย่างหนึ่งในสมัยนั้น เป็นเรื่องของสังคมในสมัยพุทธกาล ซึ่งเป็นสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง พระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์ ประกาศหลักธรรมในท่ามกลางสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง ก็เพื่อแก้ปัญหาของสังคมในสมัยนั้น

แต่สังคมมีลักษณะธรรมดาอยู่อย่างหนึ่ง คือ เมื่อมันเปลี่ยนแปลงไประยะหนึ่งแล้วมันจะปรับตัวเข้ารูปเป็นอย่างหนึ่ง เมื่อปรับตัวเข้ารูปเป็นอย่างหนึ่งแล้ว สถาบันต่างๆ ที่อยู่ในสังคมนั้น ก็มักจะดำรงอยู่ในรูปที่เกาะกุมตัว เพื่อที่จะรักษารูปแบบเดิมไว้ เป็นแบบรักษาของเก่า ซึ่งสถาบันคณะสงฆ์ก็ไม่แตกต่างไปจากสภาพเช่นนั้น คือเมื่อสังคมปรับตัวเข้ารูปอย่างหนึ่งแล้ว สถาบันคณะสงฆ์ก็เปลี่ยนหน้าที่จากผู้ช่วยสังคมในระยะเปลี่ยนแปลง กลับมาเป็นสถาบันที่จะช่วยรักษาสภาพสังคมที่เป็นอยู่ให้คงที่ คือ กลายเป็นตัวรักษารูปแบบไป ในเมื่อสถาบันมีลักษณะในการที่จะพยายามรักษารูปแบบเดิมไว้แล้ว ต่อมาสังคมเปลี่ยนแปลงอีก ก็จะเกิดสภาพขัดขืนขึ้น สถาบันต่างๆ ที่อยู่ในสภาพสังคมที่ปรับตัวเข้ารูปแบบแล้ว จะพยายามขัดขวางความเปลี่ยนแปลง หรือไม่พยายามปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง หรือพยายามรักษาสิ่งต่างๆ ที่เป็นของเดิมเอาไว้ ในสภาพเช่นนี้ ก็จะทำให้เกิดการขัดกัน คือ สถาบันนั้นแทนที่จะมาคิดช่วยว่า เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป เราจะช่วยเขาอย่างไรให้เขาเปลี่ยนแปลงไปดี ก็กลับไปเป็นห่วงตัวเอง เป็นห่วงสถาบันของตัวเองว่า ทำอย่างไรจึงจะรักษารูปแบบคงสภาพเดิมไว้ได้ นี้เป็นประการที่หนึ่ง

ประการที่ ๒ ก็คือ เกิดการสับสนเพราะตัวเองไม่รู้ทิศทางของการเปลี่ยนแปลง และพะวงในการรักษารูปแบบอยู่ สังคมเปลี่ยนไปก็กำหนดไม่ถูก ผลที่สุด ก็เกิดความสับสน ปรับตัวเองไม่ถูก กำหนดบทบาทของตัวเองไม่ถูกว่า ในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ตนควรทำอย่างไร อันนี้จะว่าเป็นสภาพที่เกิดขึ้นแก่สถาบันพระพุทธศาสนาในปัจจุบันก็ว่าได้

เพราะฉะนั้น สภาพของพระพุทธศาสนา ถ้าจะพูดไปแล้ว ปัจจุบันกับสมัยพุทธกาลย่อมผิดกัน เพราะในสมัยพุทธกาลนั้น ท่านสร้างพระพุทธศาสนาขึ้นมาในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง เพื่อช่วยสังคมที่เปลี่ยนแปลงนั้นให้เป็นไปในทางที่ดีที่สุด แต่สภาพสถาบันพุทธศาสนาปัจจุบัน คือ สภาพของการรักษาสถานะเดิมหรือรูปแบบเดิม แล้วมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในภายนอกซึ่งเข้ามาขัดแย้ง ในสภาพเช่นนี้ จึงเกิดปัญหาสำคัญที่ว่า พระพุทธศาสนาจะดำรงตัว หรือปรับปรุงตัว มีบทบาทอย่างไรดีต่อไป กลับกลายเป็นปัญหาหนัก เดิมนั้นพระพุทธศาสนาเป็นฝ่ายที่จะช่วย หรือจะควบคุมการเปลี่ยนแปลง แต่ในปัจจุบันนี้ ถ้าหากว่าไม่รีบกำหนดให้ทัน พระพุทธศาสนาจะกลับเป็นตัวสภาพที่ขัดแย้งกับความเปลี่ยนแปลงเสียเอง

ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับว่า สมัยก่อนหรือครั้งพุทธกาลโน้น สังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง เป็นเสมือนกลุ่มชนเจ้าทุกข์กำลังเกิดเหตุการณ์อลเวงสับสนอยู่ พระพุทธศาสนาก็เข้ามาจากภายนอกมาช่วยแก้ไขเหตุการณ์ ชี้ช่องทางแก้ไขปลดเปลื้องตัว หรือเป็นผู้นำทางแก่กลุ่มชนนั้น แต่ปัจจุบันพระพุทธศาสนาได้เข้ามาอยู่ภายใน กลายเป็นคนในไปแล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์สับสนอลเวงขึ้นอีก ถ้าไม่รู้เท่าทัน ไม่กำหนดท่าทีหรือวางตัวให้ดี พระพุทธศาสนาอาจจะกลับกลายเป็นฝ่ายตั้งรับ เป็นคู่ต่อสู้ของความเปลี่ยนแปลง หรือเป็นเครื่องกีดขวางความเปลี่ยนแปลง เป็นเป้าที่จะสร้างปรปักษ์ขึ้นในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนั้น แทนที่จะเป็นผู้ช่วยนำทางสังคมให้ดำเนินไปด้วยดี ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง หรือช่วยแก้ไขให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีอีกครั้งหนึ่ง ในสภาพเช่นนี้เราจะทำอย่างไร ก็เป็นปัญหาปัจจุบัน ถ้าเราจะกำหนดให้ดีรีบปรับตัว ก็ต้องรีบกำหนดบทบาทหน้าที่ของตนเองให้ถูกต้อง ในสภาพสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปนี้

เก่า-ใหม่ ความงมงาย และความสับสน ระส่ำระสาย ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ในสภาพสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้ มักจะมีการแบ่งเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งเขาเรียกว่าพวกเก่า พวกหนึ่งที่นิยมการเปลี่ยนแปลงเขาเรียกว่าพวกใหม่ สถาบันพระศาสนาในสังคมที่เข้ารูปแบบนี้ก็มักถูกจัดเข้าในพวกเก่า ซึ่งอันนี้เป็นภาพที่มองเห็นโดยทั่วไป พวกที่ชอบการเปลี่ยนแปลงเรียกตัวเองว่าพวกใหม่ และเรียกพวกมากับสภาพเดิมว่าพวกเก่า ก็มีพวกใหม่กับพวกเก่าเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ภาพที่เด่นชัดในสมัยสังคมปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนแปลง ก็คือสภาพของเก่ากับของใหม่ ความจริงจะคนเก่า คนใหม่ก็ตาม มันก็เป็นความพยายามที่จะรักษาสภาพที่ดีหรือปรับตัวไปหาสภาพที่ดีให้ได้ แต่มีข้อควรสังเกตอย่างหนึ่งว่า คนเรามักจะทำอะไรให้พอดีได้ยาก คือ มักจะตกเข้าไปในสภาพเอียงสุดด้านใดด้านหนึ่ง ไปเป็นเก่าก็เอียงสุดไปข้างหนึ่ง เป็นใหม่ก็เอียงสุดไปข้างหนึ่ง และความเอียงสุดก็ออกมาในรูปของความคิดด้วย เป็นสิ่งที่เรียกว่าความงมงาย เช่นพวกใหม่ก็จะดูถูกติฉินนินทาพวกเก่าว่าเป็นพวกงมงาย งมงายกับของเก่า รักษาแต่ของเก่าไว้ไม่เข้าเรื่อง

ความจริงความงมงายมีอยู่ ๒ อย่าง คืองมงายในของเก่า กับงมงายในของใหม่ ทำไมถึงว่ามี ๒ อย่าง ใหม่หรือเก่าก็งมงายได้ทั้งนั้น คือ ความคิดที่ไม่ประกอบด้วยเหตุผล สักแต่ว่ายึดไว้ หรือแล่นไปตามที่พูดขึ้นมานิยมขึ้นมา อันใดว่าดีก็ว่าไปตามนั้น อะไรก็ตามที่สักแต่ว่าดีแล้วก็ฮือกันไปแล้วคิดทำไปตามนั้น เรียกว่าความงมงายทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้ถ้าไม่ระวังให้ดี มนุษย์ทั้งหลายซึ่งแบ่งกันเป็น ๒ พวก ก็จะตกไปในความงมงายทั้งหมด คือ งมงายในของเก่าอย่างหนึ่ง งมงายในของใหม่อย่างหนึ่ง ที่จะไม่ให้งมงายก็คือ อะไรไม่ว่าเก่าว่าใหม่ ชอบด้วยเหตุผล เป็นความดีงาม ต้องศึกษาให้ถ่องแท้ มันก็ย่อมมีทั้งส่วนดีและส่วนเสียอยู่ด้วยกัน ก็เลือกเอาส่วนที่ถูกต้อง นั้นก็คือเข้าสู่หลักธรรมเป็นธรรมาธิปไตย อันนี้คือข้อควรระวังในสังคมปัจจุบันที่กำลังมีความเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะมีความแบ่งแยกเป็นเก่ากับใหม่ มีความงมงายเกิดขึ้น เป็นความงมงายของคนเก่า กับความงมงายของคนใหม่ งมงายทั้ง ๒ อย่าง

ในสภาพสังคมปัจจุบันนี้ ในสภาพที่เปลี่ยนแปลงอย่างนี้ ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คือ การพูดถึงเสรีภาพและความเสมอภาค ในเมื่อปัจจุบันบอกว่าจะเปลี่ยนไปสู่ความเสรี ก็ต้องดูถูกและติฉินนินทาของเก่าว่าไม่มีเสรีภาพ เมื่อไม่เสรีก็อยู่ในอำนาจถูกกดขี่บีบคั้น เพราะฉะนั้นก็จะติฉินนินทาสภาพเก่าว่าถูกกดขี่ แล้วก็ว่าใหม่นี้จะทำให้พ้นจากสภาพถูกกดขี่ มนุษย์ก็จะอยู่ในคติที่ว่าเมื่อกี้นี้ คือ มักจะไปทางเอียงสุดข้างใดข้างหนึ่ง หาความพอดีได้ยาก เมื่อเก่าเอียงสุดข้างหนึ่ง พวกใหม่ถือว่าของเก่าถูกกดขี่ ก็จะช่วยให้พ้นจากการกดขี่ แต่การช่วยนั้นมีข้อควรระวัง คือ มันจะเพียงเพื่อผลัดกันกดขี่หรือไม่ ขออภัยถ้าจะใช้ศัพท์หยาบก็หมายความว่า เดิมท่านเคยเหยียบฉัน ต่อไปนี้ฉันขอเหยียบท่านบ้าง หมายความว่าผลัดกันเหยียบ ถ้าได้แค่นี้ มองในส่วนรวมกว้างๆ ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ทางสายกลางหรือทางที่เป็นกลางๆ ไม่เข้าใคร คือ ธรรมาธิปไตย พิจารณาว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรเป็นความบกพร่องที่ควรแก้ไข แล้วจัดเสียให้มันถูกต้องนั้นเป็นสิ่งที่ดี

ที่พูดกันมาก ย้ำกันนักในเรื่องเสรีภาพนั้น ก็เพราะความเปลี่ยนแปลงของสังคมครั้งนี้ มีจุดสำคัญอยู่ที่การได้พ้นจากสภาพที่เรียกว่า การกดขี่บีบคั้นหรือกักกันครอบงำที่กล่าวแล้ว คือ เป็นการเปลี่ยนแปลงจากความถูกกดขี่บีบคั้นไปสู่ความมีเสรีภาพ เมื่อสังคมมีเสรีภาพแล้ว ก็จะสามารถเดินมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ตนปรารถนาได้ โดยไม่มีใครมาปิดกั้นไว้ หรือบังคับให้ฝืนใจเดินไปในทิศทางที่ตนไม่ปรารถนา เรียกว่าจะได้ปฏิบัติตามอุดมการณ์ เดินไปให้บรรลุอุดมคติของตน พูดอย่างนี้ก็เหมือนกับยอมรับหรือทึกทักเอาว่า สังคมนี้มีอุดมการณ์ หรืออุดมคติของตนเองที่ชัดเจนอยู่ก่อนแล้ว แต่ถูกกักไว้ พอเปิดหรือหลุดออกได้ มีจุดมุ่งของตนเองอยู่แล้ว ก็แล่นรุดตรงไปหาในทันที

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ดูเหมือนการหาเป็นเช่นนั้นไม่ สังคมนี้มิได้มีอุดมการณ์หรืออุดมคติของตนมาก่อน บางคนหรือบางกลุ่มอาจมี แต่ก็เป็นของเฉพาะบุคคล หรือของกลุ่มชนนั้นเท่านั้น หาใช่จุดมุ่งที่เห็นร่วมกันไม่ หนำซ้ำหลายคนหลายกลุ่มยังมีจุดมุ่งต่างกัน พร้อมที่จะทะเลาะวิวาทกันต่อไป ยิ่งกว่านั้นจุดมุ่งที่มีบางทีก็เป็นของไปเที่ยวเก็บเอามา ตนเองก็ยังพร่ามัวอยู่ การที่ไม่มีจุดมุ่งชัดเจนร่วมกันเช่นนี้ จะเป็นเพราะถูกกักไว้หรืออยู่ในที่ครอบเสียนานจนลืมนึก หรือเพราะอะไรก็ตามที ครั้นอยากจะออกก็นึกแต่จะให้พ้นจากที่กัก หรือที่ครอบอย่างเดียว พอเปิดโล่งหลุดออกได้ก็ระส่ำระสายอลเวง บางคนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าที่อยู่มานั้น ถูกขังหรือครอบอยู่ ในภาวะเช่นนี้ ก็จะมีสภาพสับสนเกิดขึ้นได้หลายอย่าง เช่น อาการเก้ๆ กังๆ ไม่รู้จะไปทางไหนดี หันรีหันขวาง บางทีบางพวกถึงกับไม่แน่ใจว่าจะออกหรือเดินต่อไปดีหรือไม่ ห่วงหน้าพะวงหลัง หรือตัวกำลังเพลิดเพลินสนุกสนานอยู่ก็ขอเพลิดเพลินต่อไปก่อน บางทีจะไปเหมือนกัน แต่เห็นที่ไปไม่เหมือนกัน เลยหันมาทุ่มเถียงทะเลาะกัน บางพวกทั้งที่ยังเห็นทางไปไม่ชัด ก็แล่นเตลิดไป ไม่มีจุดแน่นอน และในภาวะที่สับสนอลเวงระส่ำระสายเช่นนี้ คนจำนวนมากโดยเฉพาะที่ใจร้อน ก็จะอยู่ในภาวะง่ายที่จะรับ หรือจับฉวยเอาความคิด จุดหมาย หรืออุดมการณ์อะไรที่ใครๆ เอามายื่นเสนอให้ เพียงแต่ให้ความคิด หรืออุดมการณ์นั้นมีเค้ามีแง่บางอย่างให้เห็นว่าดี หรือจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ โดยไม่ต้องพิจารณารายละเอียดกันให้รอบคอบ

ในภาวะเช่นนี้ งานสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งที่จะต้องทำเพื่อสังคมก็คือ การช่วยกันกำหนดจุดมุ่ง แนวทาง หรืออุดมการณ์ที่สังคมจะพึงเห็นชอบร่วมกันให้แน่นอนชัดเจน บุคคลและสถาบันทั้งหลายที่รับผิดชอบต่อประโยชน์สุขและความเรียบร้อยมั่นคงของสังคม จะต้องใส่ใจจริงจังในเรื่องนี้ มิฉะนั้นความแตกแยก ความวุ่นวาย ความหละหลวมคลอนแคลนจะดำเนินต่อไปในสังคม แทนการที่สังคมจะเดินหน้าไปด้วยความมั่นใจ

ทางสายกลางอยู่ที่ไหน

ตอนนี้ มีเรื่องควรทำความเข้าใจกันสักเล็กน้อย เป็นเรื่องแทรกเข้ามา คือ เรื่องของทางสายกลาง ซึ่งมีการเข้าใจผิดอยู่บ้าง ที่เข้าใจผิดก็คือ บางคนคิดว่าทางสายกลางนั้นคือทางที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง ๒ ข้าง ถ้าเขามีกันอยู่ ๒ ฝ่าย ก็วางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างไหน ไม่เข้าพวกเข้าฝ่ายใด ความเป็นกลางอย่างนี้เป็นคนละเรื่องกับทางสายกลาง ใช้ในคนละกรณี บางครั้งทางสายกลางก็มีลักษณะปรากฏดูเหมือนกับความเป็นกลางแบบนี้เหมือนกัน แต่ความจริงไม่ใช่อย่างเดียวกัน จะเป็นกลางแบบนี้ต้องรอให้มีพวกมีฝ่ายเกิดขึ้น เป็น ๒ พวก ๒ ฝ่ายจึงจะเป็นกลางได้ เมื่อไม่มีพวกมีฝ่าย ก็เลยไม่รู้จะไปเป็นกลางที่ไหน และในทางหลักการ หรือในทางความคิด ถ้าเป็นกลางแบบนี้ก็กลายเป็นไม่มีหลักของตัวเอง ต้องรอให้มี ๒ ฝ่ายก่อน เมื่อมี ๒ ฝ่ายแล้ว จึงจะเป็นกลางได้ และเป็นกลางคือแค่ไหนก็ต้องรอว่า ๒ ฝ่ายนั้นเขายึดถือปฏิบัติกันแค่ไหน แล้วความเป็นกลางก็ขยับไปตามให้อยู่กึ่งกลางเรื่อยๆ ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ใช่ทางสายกลางและไม่ใช่สิ่งที่ดี แต่กลายเป็นอาการหลักลอยไป ทางสายกลางที่พูดถึงนั้นไม่ใช่อย่างนี้ ทางสายกลางนั้นเป็นกลางเหมือนกัน ไม่เข้าใครออกใครเหมือนกัน แต่มีหลักแน่นอน คือเป็นกลางยืนตัวตามความเป็นจริง เป็นทางแห่งการใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นชัดว่า อะไรจริง อะไรถูกต้อง อะไรดีงาม อะไรสมควร จึงเรียกว่าเป็นทางแห่งปัญญา หรือถือปฏิบัติตามที่เป็นธรรมตามที่จริง ถูกต้องดีงามนั้น จึงเรียกว่าเป็นธรรมาธิปไตย

เพราะฉะนั้น ในสภาพของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้ มันก็มีการที่เขาพยายามหักกันให้เป็นตรงข้าม ดังที่กล่าวมานี้ เช่น มีเก่ามีใหม่ มีขวามีซ้าย มีผู้ถูกกดขี่อะไรทำนองนี้ ชนิดที่เป็นปฏิปักษ์ดึงเข้ามาหากันไม่ได้ ต้องหักล้างทำลายกันลงไปให้หมด และมนุษย์มักจะแล่นไปในการกระทำที่เอียงสุดเสมอ เมื่อกระทำไปในสภาพที่เอียงสุด ก็ตกอยู่ในวัฏฏจักร หรือสังสารวัฏฏ์ คือ หมุนเวียนเข้าสู่สภาพเดิมเรื่อยไป ผู้หนึ่งเคยถูกกดขี่ก็ผลัดขอกดขี่บ้าง หรือว่าเธอเคยเหยียบฉัน ฉันก็ขอเหยียบเธอบ้าง ก็กลับกัน หรือว่าฝ่ายนี้เหยียบมานานแล้ว ทางฝ่ายโน้นก็ขอขึ้นเหยียบแทนบ้าง ต่อไปอย่างนั้น หรือระหว่างใหม่กับเก่าก็มีแต่ความงมงาย พวกหนึ่งว่าเก่าต้องดี หรือพวกใหม่ก็ว่าอะไรเก่าไม่ดีทั้งนั้น ต้องใหม่ซิถึงจะดี ก็พวกงมงายทั้งสิ้น ไม่ว่าพวกเก่าหรือพวกใหม่ เป็นพวกงมงายคือเป็นพวกเอียงสุดทั้งสิ้น ทีนี้ในระยะที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นระยะที่เราจะต้องพยายามทำอะไรให้ดีที่สุด คือจะต้องคำนึงถึงความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ความเหมาะอยู่เสมอ เรียกว่าเป็นทางสายกลาง ทางสายกลางอยู่ที่ไหน ทางสายกลางก็คือ ทางที่เป็นกลางไม่เข้าใครออกใคร ได้แก่ทางแห่งปัญญา ทางปัญญาก็คือ การพิจารณา การศึกษา วิเคราะห์สิ่งต่างๆ ให้เห็นถ่องแท้ลงไปว่า อะไรดีอะไรไม่ดี เพื่อจะแก้ไขให้ถูกต้อง มิใช่เป็นเพียงการถือความประพฤติที่หักล้าง ตรงข้ามจากเดิม โดยแบ่งแยกว่าสภาพเดิมอย่างนั้น ต้องเปลี่ยนไปตรงข้ามอย่างโน้น สภาพเดิมอย่างไร ก็ให้ตรงกันข้ามกับสภาพที่เป็นมา เพียงเท่านี้มนุษย์ก็กลับเข้าไปสู่สภาพวงจรเดิมที่กล่าวมาแล้ว คือ เป็นพวกปฏิบัติการเอียงสุด ทำให้ดำเนินไปไม่ตลอด และเราก็แก้ปัญหาไม่ถูกต้อง

อาตมภาพได้พูดมาในเรื่องพระพุทธศาสนา กับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นเวลาพอสมควรแล้ว ซึ่งพูดไปมากก็ยากที่จะสรุป แต่โดยใจความแล้วก็มุ่งให้เห็นว่า พระพุทธศาสนานั้นเกิดขึ้นในสมัยที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลง และพระพุทธเจ้าก็ทรงประกาศพระศาสนา เพื่อช่วยแก้ปัญหาของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปในทางที่ดี ปัจจุบันนี้เรามาตกอยู่ในสภาพของสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง แต่สถาบันพระพุทธศาสนาของเราในปัจจุบันนี้ มันมีสภาพไม่เหมือนในสมัยพุทธกาล เพราะมันอยู่ในสภาพของสังคมที่มีมาแต่เดิม ไม่ใช่ของประกาศขึ้นใหม่อย่างสมัยพุทธกาล เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องมาช่วยกันคิดพิจารณาว่า ทำอย่างไรจึงจะดำรงพระพุทธศาสนาไว้ได้ในท่ามกลางสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปนี้อย่างหนึ่ง และทำอย่างไร จะเอาหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้น มาใช้ประโยชน์ช่วยเหลือนำทางให้สังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปนี้อย่างหนึ่ง อย่างน้อย จากคติที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำไว้ในชมพูทวีป ยุคที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลง เราก็น่าจะได้ข้อคิดมาใช้ประโยชน์ในปัจจุบันได้พอสมควร อาตมภาพก็พูดไปแต่เพียงแง่หนึ่งแง่เดียวนี้ เห็นว่าเป็นการสมควรแก่เวลา ขอยุติเพียงเท่านี้ ขออนุโมทนาต่อทุกๆ ท่านที่มานั่งฟังอยู่ในที่ประชุมนี้ ตลอดถึงสาธุชนทั้งหลายที่ฟังอยู่ในสถานที่ต่างๆ โดยทั่วกัน

เอกลักษณ์กับไตรลักษณ์

ขอเจริญพรท่านสาธุชนทั้งหลาย ทั้งท่านผู้จัดสัมมนาและท่านผู้ร่วมสัมมนาทุกท่าน

อาตมภาพมีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาร่วมแสดงความคิดเห็นในที่นี้ ในตอนแรกที่อาจารย์สุลักษณ์นิมนต์ไปนั้น อาตมภาพรู้สึกว่าหัวข้อที่สัมมนากันเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิชาการสมัยใหม่ เช่น สังคมวิทยาเป็นต้น ซึ่งอาตมภาพไม่สู้มีความรู้ จึงแจ้งมาขอให้ท่านพิจารณาใหม่ว่า อาตมภาพไม่ค่อยถนัด ท่านก็บอกว่าขอให้ลองพูดหน่อย เพราะเป็นการพูดแบบที่เรียกว่ากันเอง ที่ท่านนิมนต์มาในวันนี้นั้น ต้องการให้พูดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสัมมนาครั้งนี้ แต่ในสัมมนานั้น อาตมภาพไม่ได้ฟังมาตลอด ถ้ามุ่งไปในแง่เกี่ยวกับเรื่องที่ท่านผู้ร่วมสัมมนาได้พูดกันไปแล้ว ว่าอาตมภาพมีความคิดอย่างไร ในเมื่อไม่ได้ร่วมฟังมาตั้งแต่ต้น ก็คงแสดงความคิดเห็นอะไรได้ไม่มากนัก เพราะมาได้ฟังก็ตอนท้ายๆ เมื่อกี้นิดหน่อยเท่านั้น นอกจากนั้นก็ได้ยินได้ฟังต่ออีกทอดหนึ่งในบางส่วน เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความที่สัมมนากันมาแล้ว อาตมภาพก็รู้สึกว่าจะแสดงความคิดเห็นไม่สู้สะดวก เพราะฉะนั้น อาตมภาพจึงคิดว่าให้เป็นการแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่สัมมนาก็แล้วกัน คือการสัมมนานั้นแจ้งชื่อเรื่องไว้แน่นอนว่า “เอกลักษณ์ของสังคมไทยในอนาคต”

เรื่องเอกลักษณ์ในแง่อนาคตนี้ รู้สึกว่าเรามีข้อที่จะต้องพิจารณากันหลายอย่าง ตั้งต้นแต่ว่า เราจะต้องกำหนดกันให้ถูกต้องว่าเอกลักษณ์ของสังคมไทยเราที่เป็นอยู่นี้คืออะไรกันแน่ ในอดีตเป็นมาอย่างไร สืบต่อมาถึงปัจจุบันอย่างไร และในอนาคตเอกลักษณ์ของเราจะอยู่ในฐานะอย่างไร จะอยู่ได้หรือไม่ นอกจากนั้น ถ้าอยู่ ควรจะอยู่ในสภาพเช่นไร เมื่อเรากำหนดสภาพที่ว่าควรจะเป็นอย่างนั้นได้แล้ว เรายังต้องคิดอีกว่า เมื่อเราต้องการสภาพเอกลักษณ์ของเราให้เป็นอย่างนั้น เราจะต้องทำอะไรบ้าง คือจะรักษาไว้ได้อย่างไร หรือส่งเสริมให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการได้อย่างไร ซึ่งแต่ละข้อ แต่ละจุดเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ยากทั้งนั้น แม้แต่หัวข้อแรกว่าเอกลักษณ์ของสังคมไทยเราเอง ที่เป็นอยู่และเป็นมาคืออะไร อาตมภาพว่าเพียงหัวข้อนี้ก็กำหนดกันยากอยู่แล้ว เท่าที่อาตมภาพมาได้ฟังเฉพาะตอนท้ายนี้ ก็พอจะจับความได้ว่า ท่านที่มาร่วมสัมมนาก็ยอมรับว่า ยากที่จะกำหนดเหมือนกันแต่ละท่านมีทัศนะไปแต่ละแง่ๆ เท่าที่ท่านนั้นๆ คิดพิจารณาเห็นมา เห็นด้านสังคมบ้าง ด้านการปกครองบ้าง ด้านเกี่ยวกับศาสนาบ้าง เป็นเรื่องแต่ละด้านๆ ไป บางทีแม้แต่ด้านเดียวกันก็ไม่แน่ใจนักว่าจะลงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ เพราะฉะนั้นเริ่มแต่จุดแรกที่เราจะกำหนดว่าเอกลักษณ์ของเราคืออะไร ก็ไม่สู้ง่ายนัก

อาตมภาพเคยอ่านหนังสือของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่อง “ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่สมัยโบราณ” เคยเห็นพระองค์สรุปไว้ว่า ลักษณะของคนชาติไทยมีอยู่ ๓ อย่าง คือความรักอิสรภาพอย่างหนึ่ง ความปราศจากวิหิงสาอย่างหนึ่ง และความฉลาดในการประสานประโยชน์อย่างหนึ่ง ในฐานะที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเชี่ยวชาญในทางประวัติศาสตร์ พระองค์ก็ทรงพิจารณาจากพงศาวดารไทย ทรงพบว่ามีลักษณะ ๓ ประการอย่างนี้ แต่สำหรับท่านที่มาพิจารณาภายหลังจะเห็นด้วยหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง บางท่านอาจมองเห็นแง่อื่นอีก เช่น ความรักสนุกสนาน เป็นต้น ซึ่งบางอย่างก็อาจจะเข้ากันได้ หรือเป็นเพียงแง่หนึ่งของลักษณะที่พระองค์ท่านสรุปมาแล้วก็ได้

อย่างไรก็ตาม รู้สึกว่าอันนี้เป็นเอกลักษณ์ที่เป็นมาในอดีตทีนี้เราก็ต้องกำหนดว่า เอกลักษณ์เหล่านั้น ถ้าหากว่าเป็นเอกลักษณ์ในอดีต ปัจจุบันนี้เอกลักษณ์เหล่านี้ยังดำรงอยู่หรือไม่ และยังคงสภาพดีอยู่หรือไม่ นอกจากนี้เอกลักษณ์เหล่านั้นจะคงสภาพดีอยู่หรือไม่ก็ตาม เรายังพิจารณาต่อไปอีกว่า ควรจะให้คงสภาพอยู่หรือไม่ และถ้าหากเราต้องการให้มันคงอยู่ต่อไปในอนาคต เราจะมีวิธีการดำรงรักษาไว้อย่างไร และถ้าหากว่ามันได้เสื่อมหรือคลอนแคลนไปแล้ว เราจะมีวิธีการอย่างไร ที่จะทำให้มันกลับเข้มแข็งขึ้นมาใหม่ หรือถ้าหากเราต้องการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เรามีวิธีการเปลี่ยนอย่างไร อันนี้รู้สึกว่าเป็นเรื่องยากทั้งนั้น อาตมภาพเห็นจะไม่ขอมาพิจารณาร่วมด้วยในส่วนรายละเอียด แม้แต่ข้อที่ว่าเอกลักษณ์ของสังคมไทยคืออะไร เป็นอย่างไร อยากจะพูดแต่เพียงในแง่ของพระพุทธศาสนาในวงกว้างๆ เรื่องเอกลักษณ์ของเรานี้จะเป็นอย่างไรก็ตามไม่พูดถึง พิจารณาแต่เพียงว่าทำอย่างไรจึงจะมีเอกลักษณ์ที่พึงปรารถนาในอนาคต

พิจารณาในแง่พุทธศาสนา อาตมภาพเห็นว่ามันต้องเป็นเรื่องของการใช้ปัญญา คือต้องใช้วิธีการแห่งปัญญา เริ่มต้นตั้งแต่เราต้องเข้าใจตัวเราเอง ที่ต่อเนื่องมาจากอดีต ว่าลักษณะของชาติเราสืบมาจากอดีตนั้นเป็นอย่างไร แล้วพิจารณาโดยไม่ต้องเข้าข้างใครทั้งนั้น คือไม่พกเอาความคิดเห็น ความยึดมั่นของตนเป็นหลัก คิดแต่ในแง่ว่าอันใดควรอันใดเป็นประโยชน์ จะควรรักษาไว้ หรือควรจะส่งเสริมให้มีให้เป็นอย่างไร เป็นเรื่องของการที่เราจะต้องพิจารณาโดยใช้ปัญญาทั้งสิ้น อันนี้ว่าตามหลักพุทธศาสนาก็คือ เราจะต้องเข้าใจหลักอนัตตา

เรื่องหลักอนัตตานี้ อาตมภาพว่าปัจจุบันเราอาจจะมีความเข้าใจกันไม่ค่อยถูกนัก ที่จริงหลักอนัตตาเป็นหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนาทีเดียว ถ้าหากเราเข้าใจหลักนี้ให้ถูกต้องแล้ว เราก็ได้ชื่อว่าเข้าใจพุทธศาสนาด้วย ถ้าเรายังไม่เข้าใจหรือใช้ไม่ถูก ก็ยังชื่อว่าไม่เข้าใจหลักพระพุทธศาสนา บางท่านมีความคิดเห็นว่าถ้าสอนว่าสิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตาไม่ใช่ของตัวของเราอะไรอย่างนี้แล้ว เวลาเราจะใช้ของเช่นสิ่งสาธารณูปโภคหรือของที่เป็นประโยชน์ส่วนรวม เราก็ถือเป็นอนัตตาเสียหมด คิดว่าอันนี้ไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้น ไม่ต้องเอาใจใส่มัน เสร็จแล้วสิ่งของเหล่านั้นก็เสียหายไปถ้าคิดว่าอนัตตาเป็นไปในแง่อย่างนั้น อันนี้ถือว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงมาก ความจริงว่าตามหลักพุทธศาสนาแล้ว การรู้สึกอย่างนั้น ก็คือการยึดถือในอัตตาที่ร้ายแรงที่สุด หรือที่เสียหายที่สุด เพื่อความกระจ่าง เราอาจจะแบ่งการกระทำเกี่ยวกับเรื่องที่ยกตัวอย่างเมื่อกี้นี้เป็น ๓ แบบ คือแบบที่ ๑ การใช้โดยไม่ถือว่าไม่ใช่ของเรา เป็นของหลวง ใช้โดยไม่ต้องเอาใจใส่นี้แบบหนึ่ง แบบที่ ๒ ได้แก่ที่เรามักอบรมสั่งสอนกันบ่อยๆ ว่าให้ถือว่ามันเป็นของเรา ช่วยกันรักษาไว้ ส่วนแบบที่ ๓ เดี๋ยวค่อยกล่าวต่อไป

ทีนี้แบบที่ ๑ ที่บางท่านว่าเป็นแบบอนัตตานั้น ที่จริงเป็นแบบที่ยึดมั่นถือมั่นอัตตาอย่างร้ายแรงที่สุด การที่เราบอกว่าไม่ใช่ของเรานั้น ก็คือการที่เรายึดมั่นในตัวเราอย่างเต็มที่ เพราะมีการยึดมั่นในเราจึงมีผู้อื่น เมื่อมีตัวตนของเราก็มีตัวตนของผู้อื่นขึ้น มีการแบ่งแยก เราปฏิเสธตัวตนของผู้อื่นเสีย แล้วยึดมั่นสิ่งที่เป็นตัวตนของเราไว้อย่างเต็มที่ จึงเห็นไปว่าสิ่งใดที่ไม่สนองความต้องการ ไม่เป็นประโยชน์ที่เราจะได้ เราก็ไม่เอาด้วย เราก็ปัดไปเสียทั้งหมด เท่ากับบอกว่า อันไหนเป็นของตัวเรา ไม่ใช่ของหลวง เราจึงจะเอาใจใส่ อันนี้ถือว่าเป็นการยึดมั่นที่ร้ายแรงที่สุด เป็นความเห็นแก่ตัวที่จะต้องกำจัดในทางพุทธศาสนา

ขั้นที่ ๒ ที่ยึดถือว่าเป็นของเราร่วมกัน อันนี้นับว่าเป็นการลดความเห็นแก่ตัว ลดการยึดมั่นในอัตตาลงไป คือทำให้ความรู้สึกในอัตตาหรือตัวตนนั้นมันน้อยลงไป โดยขยายขอบเขตกว้างขวางเป็นการรู้สึกร่วมกันกับผู้อื่น อัตตาของตัวเองนั้นเกือบจะไม่มีแล้ว เป็นอันร่วมกันทั้งหมด เป็นการแผ่ไปในวงกว้าง แต่อันนี้ในทางพุทธศาสนายังไม่ถือเป็นวิธีแห่งปัญญา ไม่ใช่ถึงขั้นรู้หลักอนัตตาที่ถูกต้อง

ถ้าเราจะใช้ปัญญากันให้เต็มที่ ยกตัวอย่างที่ว่ามาแล้วในกรณีจะใช้สิ่งของสาธารณะเหล่านั้น เราจะพิจารณาโดยเป็นกลางได้หรือไม่ ว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร ทำขึ้นเพื่อประโยชน์อะไร ควรจะใช้อย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์แพร่หลายกว้างขวางอยู่ได้นาน จะได้ใช้กันต่อๆ ไป ถ้าหากเราพิจารณาเป็นกลางๆ อย่างนี้โดยไม่ต้องยึดถือตัวตน อันนี้จะเข้าหลักทางพุทธศาสนา แต่หมายถึงว่าเราจะต้องใช้ปัญญาอย่างมาก คนจะต้องดำรงชีวิตด้วยปัญญาจึงจะอยู่ได้ ข้อที่จะต้องพิจารณาก็คือ ถ้าหากว่าเราต้องการสังคมที่มีการใช้ปัญญาอย่างสูงสุดแล้ว เราควรจะไปกันให้ถึงขั้นนี้หรือไม่ ขั้นแรกเราอาจจะยังต้องสอนในแบบที่ว่านี้เป็นสิ่งของร่วมกันเป็นของเราด้วย อันนี้ก็ถือว่าเป็นการใจกว้างอยู่ แต่ก็ยังไม่พ้นจากอัตตา ต่อเมื่อใดได้ใช้ปัญญาโดยบริสุทธิ์ เห็นตัวเหตุตัวผลแท้ๆ เมื่อนั้นจึงเป็นจึงจะเป็นไปตามหลักอนัตตาแท้ๆ และทางพระพุทธศาสนาถือว่าแบบนี้เป็นที่ไว้ใจได้ เชื่อถือได้ เพราะว่าเป็นอิสระ เกิดจากความเข้าใจถูกต้อง ไม่ต้องขึ้นต่อการชักจูงภายนอก ถ้ายังต้องมีการอาศัยเครื่องชักจูงภายนอก จะให้ยึดว่าเราเป็นเราหรือเป็นอะไรก็ตาม การยึดถืออย่างนั้น ยังถือว่าเป็นไปโดยต้องอาศัยปัจจัยภายนอก ยังไม่ปลอดภัยแท้จริง ถ้าหากว่าเครื่องชักจูงหรือปัจจัยอันนั้นมันขาดหายไป หรือไม่เป็นที่ต้องการขึ้นมาเมื่อไร ก็เลิกล้มเป็นอันพลาดสูญเสียประโยชน์ไป เพราะฉะนั้น ในทางพุทธศาสนาจึงถือว่าอันนี้เป็นสิ่งสำคัญ แล้วอันนี้แหละเข้าในแนวแห่งโลกุตระ

ในการปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ หากเราเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นจริง พิจารณาโดยไม่เอาตัวตนเข้าจับ ทำโดยประการนี้ก็เข้าแนวแห่งโลกุตระ บางท่านอาจคิดว่าเป็นการดึงเอาโลกุตระลงมาให้ต่ำ ที่จริงโลกุตระก็เป็นเรื่องของคนที่ยังอยู่ในโลก แต่มีความหมายในแง่ที่ว่าเป็นอิสระจากโลก ไม่ติดโลก คำว่าโลกุตระนั้นแสดงลักษณะเด่น ๒ ประการคือ (๑) แสดงลักษณะของปัญญาความรู้ ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความจริง ประการที่ (๒) เป็นลักษณะของความเป็นอิสระ ความที่ไม่ผูกพันไม่ยึดติด เช่น อย่างประยุกต์ในกรณีเมื่อกี้ว่าจะใช้สิ่งของ ถ้าเราเข้าใจตามความเป็นจริง รู้ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์แล้ว อันนั้นเป็นเรื่องของปัญญา เมื่อเกิดจากปัญญาแล้วก็เป็นเรื่องของความเป็นอิสระ เพราะว่าไม่ต้องขึ้นต่อปัจจัยภายนอก อันนี้เป็นแนวทางแห่งโลกุตระ ที่จริงนั้นในทางพุทธศาสนาต้องการให้คนที่อยู่ในโลกนี้อยู่ได้อย่างไม่ติดโลก

แม้ในคณะสงฆ์เอง พระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้น เมื่อพระสงฆ์ได้รับการฝึกอบรมเป็นอย่างดีแล้ว ได้บรรลุโลกุตรธรรมแล้ว ท่านกลับมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมมากขึ้น โดยที่ความเห็นแก่ตัวจะหมดไป เราจะเห็นว่า คณะสงฆ์ในความหมายของพระพุทธศาสนาจะตั้งอยู่ได้ ก็เพราะว่าพระสงฆ์มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม บทบัญญัติในทางพระวินัยของคณะสงฆ์นั้น ถ้าเราศึกษาก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องของคนที่จะต้องอยู่ด้วยความเข้าใจ อยู่ด้วยปัญญา อยู่ด้วยความรู้สึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมทั้งนั้น ถ้าเมื่อใดสมาชิกในคณะสงฆ์ไม่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม คณะสงฆ์ก็เสื่อม อันนี้พระพุทธเจ้าทรงมุ่งอย่างนี้

โลกุตรธรรมนั้นทำให้คนตัดความผูกพันยึดติดในเรื่องตัวตนให้น้อยลงให้หมดไป แต่จะกระจายความรู้สึกนั้นไป ในแง่ของการเข้าใจว่าอะไรเป็นประโยชน์มิใช่ประโยชน์ที่แผ่กว้าง ที่จะช่วยมีส่วนรับผิดชอบต่อส่วนรวมให้มากขึ้น อันนี้ต้องถือว่า พระพุทธเจ้าทรงมุ่งจะให้ใช้โลกุตรธรรมเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตได้ทั่วไป มิใช่ต้องการให้ไปยึดว่า เมื่อเราจะไปโลกุตระแล้วจะต้องไม่เกี่ยวข้องอะไรในโลกนี้ ที่จริงพระอริยบุคคลตั้งแต่ชั้นโสดาบันไปจนถึงชั้นอนาคามี มีมากมายเหลือเกินที่เป็นคฤหัสถ์ ท่านเหล่านี้ก็ล้วนแต่บรรลุโลกุตรธรรมแล้วทั้งนั้น เมื่อบรรลุแล้วก็สามารถบำเพ็ญประโยชน์ได้มากขึ้น เพราะว่าหมดความเห็นแก่ตัวไป อันนี้เป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจ

เรื่องของเอกลักษณ์นี้ก็เหมือนกัน อาตมภาพเห็นว่าเราจะต้องเข้าใจตามหลักอนัตตา คือพิจารณาตามแง่ของมัน ที่มันเป็นโดยสภาพของมันเอง ไม่ใช่เอาตัวเราเข้าจับ การที่เอาตัวเราเข้าจับก็คือการที่เรายึดมั่นอะไรสักอย่างหนึ่งว่าเป็นของตัวเรา โดยผูกมัดขึ้นมาด้วยวิธีการแบบใดแบบหนึ่ง ชอบใจถูกใจสนองความต้องการส่วนตัวอะไรอย่างหนึ่ง ทีนี้ความยึดมั่นเหล่านั้น ย่อมแตกต่างกันไป และขัดแย้งซึ่งกันและกัน เมื่อว่าตามหลักอนัตตา ตัวของเอกลักษณ์เอง เราก็เห็นได้ว่า มันไม่มีตัวตนของมันเอง ที่ว่าไม่มีตัวตนของมันเอง ก็เพราะมันประกอบขึ้นจากเหตุปัจจัยมาปรุงแต่งให้มันมีรูปร่างลักษณะอย่างนั้น การที่ว่ามันไม่มีตัวตนนั่นแหละมันจึงเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าหากว่าสิ่งทั้งหลายมันมีตัวตนของมันเองแล้ว มันแน่นอนแล้วจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงปรับปรุงได้อย่างไร สิ่งทั้งหลายมันไม่มีตัวตนของมันเอง มันเป็นของปรุงแต่งขึ้นต่อเหตุปัจจัยที่จะให้เป็น เพราะฉะนั้นมันจึงแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ มันจึงปรุงแต่งได้ เจริญได้ เสื่อมได้ แล้วแต่เราจะสร้างเหตุปัจจัยให้มันหรือปล่อยให้เหตุปัจจัยอะไรเกิดขึ้นแก่มัน มันไม่มีตัวตนของมันแท้ๆ ถ้าเราต้องการให้มันปรากฏรูปลักษณะในทางที่เราปรารถนาอย่างไร เราก็สร้างเหตุปัจจัยขึ้นมาให้มันเป็นอย่างนั้น อันนี้ถือว่าเป็นไปตามหลักอนัตตา หรือการนำความรู้ในหลักอนัตตามาใช้ประโยชน์

ทีนี้ที่ต้องระลึกไว้อย่างสำคัญก็คือ ความเป็นอนัตตาในทางพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่สำหรับมายึดมั่น คือไม่ใช่มายึดมั่นว่าอันนี้ไม่ใช่ตัวตนของเราอะไรอย่างนั้น อนัตตาเป็นเรื่องสำหรับรู้ คือ รู้ว่าเรื่องของมันเป็นอย่างไร เมื่อรู้แล้วก็นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ คือจะปฏิบัติกับมันอย่างไร หรือจะใช้ประโยชน์กับมันอย่างไรต่อไป เช่นเมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งหลายนี้มันไม่มีตัวตนของมันเอง มันประกอบขึ้นจากเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งให้เป็นอย่างนั้น เพราะอาศัยเหตุปัจจัย มันจึงเปลี่ยนแปลงได้แก้ไขได้ให้มันเป็นไปต่างๆ ได้ เมื่อรู้ว่ามันจะเป็นไปได้ก็เพราะจะต้องทำเหตุปัจจัยให้มันเป็นอย่างนั้นแล้ว เราก็หาเหตุปัจจัยของมันว่าจะต้องทำเหตุปัจจัยอะไร มันจึงจะเป็นอย่างนั้นขึ้นมาอย่างนี้จึงจะเรียกว่าเข้าใจหลักอนัตตา และรู้จักถือเอาประโยชน์จากหลักอนัตตา

อีกประการหนึ่ง อนัตตาสอนให้เราเตือนใจตัวไว้ว่า อันสิ่งทั้งหลายมันไม่มีตัวตนของมันเอง ฉะนั้นมันอาจจะสูญสลายตัวที่เป็นอยู่อย่างนั้นไปเมื่อไรก็ได้ หากว่าเราต้องการให้รูปลักษณะนั้นปรากฏอยู่ เราก็ต้องหาทางสร้างเหตุปัจจัยอุดหนุนให้มันคงรูปอย่างนั้นอยู่ เราจะประมาทมิได้ มันเป็นเรื่องของหลักอนัตตาทั้งนั้น เป็นเรื่องของการรู้สภาวะของสิ่งทั้งหลายแล้วนำมาใช้ปฏิบัติให้ถูกต้อง อาตมภาพคิดว่า การที่เราจะรักษาเอกลักษณ์ของเราไว้ได้หรือจะดำรงส่งเสริมให้มีขึ้นอย่างไรนั้น เรื่องแรกเราจะต้องเข้าใจไตรลักษณ์ก่อน คือเอกลักษณ์จะอยู่ได้ด้วยเข้าใจไตรลักษณ์แล้วก็นำความรู้ในหลักไตรลักษณ์นั้นมาใช้ด้วยปัญญาของเรา เราต้องรู้ว่าสิ่งหลายเป็นอนิจจัง คือมันไม่คงที่ เมื่อมันไม่คงที่มันก็แปรปรากฏสภาพออกมาในรูปของการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะเจริญก็ได้ อาจจะเสื่อมก็ได้ ทีนี้เราต้องการให้มันเจริญ มันจะเป็นไปได้อย่างไร

ความเจริญหรือเสื่อมนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่เกิดขึ้นลอยๆ แต่เกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุปัจจัย ถ้าเราต้องการให้มันเป็นไปในทางที่เราต้องการ เราก็ต้องสร้างเหตุปัจจัยให้เป็นไปในทางที่เราต้องการนั้น สิ่งทั้งหลายเป็นทุกขัง เพราะมีสภาพที่ถูกบีบคั้นด้วยความเกิดและด้วยความสลายตัว เรารู้อยู่แล้วว่าสิ่งทั้งหลายนี้มันดำรงอยู่ ดำเนินไปพร้อมกับที่ถูกบีบคั้นด้วยความเกิดสลายอย่างนี้ มีปัจจัยต่างๆ คอยขัดแย้งอยู่ เราก็ต้องพยายามระมัดระวังไม่ประมาทอยู่เสมอ และในขั้นสุดท้าย เพราะสิ่งทั้งหลายมันไม่มีตัวตนของมันเองที่ต่างหากจากส่วนประกอบ ฉะนั้นเราจะต้องการอย่างไร ให้มันปรากฏ ลักษณะรูปร่างอย่างไร เราก็ต้องพยายามทำปัจจัยปรุงแต่งมันให้เป็นอย่างนั้น

ในเรื่องเอกลักษณ์นี้ก็เหมือนกัน เราก็ดูสภาวะของมันว่าเราต้องการให้มันอยู่ในสภาพอย่างไร ในกรณีนี้เราคิดในแง่ที่เกี่ยวเนื่องกับคนไทยว่า เอกลักษณ์ของชาติไทยเป็นอย่างไร และเอกลักษณ์นั้นต่อไปถ้าจะให้เป็นประโยชน์ต่อคนไทยดีที่สุด จะต้องมีรูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร เราก็พิจารณาโดยไม่ต้องเอาตัวตนเข้าไปจับเอาความถูกผิดประโยชน์มิใช่ประโยชน์ขึ้นมาจับเป็นส่วนรวม เมื่อเห็นว่ามันควรจะเป็นอย่างไรแล้ว เราก็สร้างเหตุปัจจัยให้มันเป็นอย่างนั้นขึ้นมา อันนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องของการใช้วิธีการแห่งปัญญา คือเราจะต้องไม่เอาตัวตนที่เรายึดมั่นถือมั่นขึ้นไปจับ คือไม่ยึดมั่น ถือมั่นด้วยโมหะ ที่ว่ายึดมั่นถือมั่นด้วยโมหะนั้นก็คือ การที่ว่าเราเอาความยึดมั่นของบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งบ้าง หรือว่ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งบ้าง หรือจะโดยเหตุแฝงซ่อนอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง มาจับมันมาเคลือบมัน แล้วมันก็จะปรากฏขึ้นในรูปที่เรามองอย่างนั้น

ฉะนั้นเรื่องของเอกลักษณ์อาตมภาพว่า ถ้าเราพิจารณาตามสภาพที่มันเป็นจริง แล้วจัดการปรุงแต่งแก้ไขมันโดยวิถีทางแห่งปัญญาแล้วมันก็จะเป็นไปในแนวที่เราต้องการ เสร็จแล้วจึงจะเกิดประโยชน์ขึ้นได้ ส่วนที่ว่าเอกลักษณ์คืออะไร เป็นอย่างนั้น อาตมภาพไม่ขอร่วมพิจารณาในโอกาสนี้ เพียงแต่กล่าวว่าถ้าหากเราเข้าใจวิธีการอย่างนี้แล้ว เอกลักษณ์อันใดก็ตามอยู่ได้ทั้งนั้น เราสามารถดำรงรักษาปรับปรุงส่งเสริมให้มันมีขึ้นได้อย่างนั้น

เป็นอันว่าอาตมภาพขอย้ำในเรื่องที่ว่า เราจะต้องเข้าใจหลักความจริงในสภาวะของสิ่งทั้งหลาย แม้แต่เอกลักษณ์ของชาติเราเอง เราก็ต้องไม่คิดในแง่ที่จับความยึดมั่นความต้องการของเราเป็นเกณฑ์ เราต้องคิดว่ามันจะอยู่ดีต่อไปเป็นประโยชน์ที่สุดได้อย่างไร แล้วก็จับอยู่ที่แง่นั้น พยายามมองตามสภาวะของมันจริงๆ พยายามคิดหาเหตุปัจจัยที่จะสร้างให้มันเป็นอย่างนั้น มันจึงจะเป็นไปได้ตามที่เราต้องการ แต่ถ้าเราจะเอาความยึดมั่นของตัวเราของฝ่ายหนึ่งเข้าจับแล้วก็เกิดความไม่มั่นคงขึ้น

อย่างไรก็ดี ถ้าว่าถึงปุถุชนแล้วความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับตัวเองหรือความคิดเห็นของตัวเองนั้นตัดได้ยาก ความยึดติดมันก็จะต้องมีเข้าไป ถึงอย่างไรก็ตามในเมื่อเรายึดหลักกลางที่ว่า ถือเอาตามสภาพที่เป็นจริงของมันแล้ว ความรู้สึกยึดมั่นของเรามันก็คลายลง อย่างน้อยมันก็จะแสดงผลออกมาไม่ได้เต็มที่ อันนี้เป็นทัศนะของอาตมภาพซึ่งเห็นว่า สิ่งทั้งหลายอยู่ในกฎแห่งไตรลักษณ์ทั้งนั้น แม้แต่เอกลักษณ์ของเราเองก็เปลี่ยนแปลงไปได้ แล้วมันก็ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้และก็เป็นอนัตตาด้วย ดังนั้นเมื่อเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของมันเองแล้ว ถ้าเราไม่ระวัง ประมาท มันก็สูญสลายตัวไปได้ ถ้าเราต้องการให้มันคงอยู่ในสภาพอย่างไร เราก็ต้องพยายามสร้างเหตุปัจจัยให้มันปรากฏตัวออกมาในรูปลักษณะอย่างนั้น

อีกอย่างหนึ่งที่อาตมภาพเห็นว่าสำคัญ คือนอกจากเราจะพิจารณาในแง่ของเอกลักษณ์ที่เป็นส่วนรวมของชาติไทยแล้ว เราจะต้องพิจารณาเอกลักษณ์ของเราแต่ละคนด้วย ไม่ใช่ว่าพัฒนาแต่เอกลักษณ์ส่วนรวมไป ผลที่สุดตัวคนแต่ละคนเองชีวิตหมดความหมาย อันนั้นก็จะกลายเป็นผลเสียขึ้นก็ได้ ทางพระพุทธศาสนานั้นย้ำความสำคัญให้พระสงฆ์มีการฝึกอบรมตนเอง อบรมชีวิตในทางจิตใจเตรียมไว้ให้พร้อม ที่จะมีปัญญาอยู่ได้ในสภาพสังคมอย่างใดๆ ก็ตามที่จะปรุงแต่งสร้างสรรค์ขึ้น

เพราะฉะนั้น นอกจากเราจะคำนึงถึงเอกลักษณ์ส่วนรวมของชาติไทยในอนาคตแล้ว เราจะต้องให้เกิดความกลมกลืนภายในขึ้นด้วย คือเอกลักษณ์ที่ดีที่แท้จริงของชาติ จะต้องเป็นผลรวมของเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล ที่เขาทำให้มันมีขึ้นแก่ตนด้วยความพร้อมของเขาเอง เอกลักษณ์ของส่วนรวม ที่แต่ละคนมีชีวิตที่มีความหมาย ด้วยความพร้อมของเขาเอง จึงจะเป็นเอกลักษณ์ที่มีคุณค่า ควรสร้างขึ้น

ปัจจุบันนี้เราจะเห็นว่าสังคมก้าวหน้าไปทุกทีๆ โลกนั้นกว้างขวางยิ่งขึ้น คนไปไหนมาไหนได้มากมายกว้างขวาง ได้มีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ มากขึ้น แต่ในเวลาเดียวกันเราก็รู้สึกว่าโลกสำหรับบุคคลแต่ละคนนั้นมันแคบลง ตัวคนแต่ละคนนั้นถูกจำกัดให้มีความรู้สึกคับแคบลงไปทุกที แทนที่ว่าสังคมกว้างขวางขึ้น ไปไหนได้ไกลขึ้น ได้สัมพันธ์กับคนมากขึ้น จะได้เกิดความรู้สึกกว้างขวางขึ้นกลับตรงข้าม คือ ในบุคคลแต่ละคนนั้น เรากลับแคบลงไปทุกทีๆ แล้วก็ทำให้เกิดความว้าวุ่นขึ้นมาทุกอย่าง

เพราะฉะนั้น ในแง่นี้ทางพระพุทธศาสนาจึงว่า เราจะละทิ้งชีวิตภายในของบุคคลแต่ละคนเสียมิได้ ในขณะที่เราพยายามเสริมสร้างหรือรักษาเอกลักษณ์ที่เป็นส่วนรวมของชาตินั้น ซึ่งพร้อมที่จะดำรงชีวิตอยู่ในเอกลักษณ์เช่นนั้น เราก็ต้องพยายามสร้างให้เกิดมีขึ้นด้วย

อาตมภาพเห็นว่าการฝึกฝนอบรมในทางจิตใจนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก พระพุทธศาสนาจึงให้วิถีแห่งปัญญาไว้ คือการที่บุคคลแต่ละคนรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง มีจิตใจที่เป็นอิสระ ถอนความยึดมั่นในเรื่องตัวตนได้ นี้จะเป็นจุดเริ่มแรกที่ทำลายความเห็นแก่ตัว ทำลายความยึดมั่นในทิฐิอันจะเป็นเหตุให้เกิดความวิวาทอะไรต่างๆ ขึ้น เมื่อรู้จักพิจารณาสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง มีชีวิตภายในที่อยู่ด้วยปัญญาแล้ว ก็จะสามารถเข้าอยู่ในสภาพสังคมชนิดใดก็ตามที่เราตกลงจะสร้างขึ้นได้ คือจะต้องให้การศึกษาที่ถูกต้องแท้จริงแก่บุคคลแต่ละคน ให้พร้อมที่จะอยู่ในสภาพสังคมที่เราจะสร้างขึ้นต่อไป เพราะฉะนั้น เราจะต้องทำไปพร้อมกันทั้งสองอย่างคือทั้งในแง่ของส่วนรวม และในแง่ของบุคคลแต่ละคน

ถ้าว่าถึงเกี่ยวกับการสัมมนานี้เอง แม้ว่าอาตมภาพจะไม่ได้มาร่วมฟังการสัมมนาแต่ต้น แต่ก็ได้รับทราบต่อจากท่านผู้อื่นบ้าง จึงพอจะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสัมมนานี้ไว้บ้าง เมื่อว่าในแง่ของการริเริ่มแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นการทำด้วยกุศลเจตนามุ่งประโยชน์เพื่อส่วนรวม กิจกรรมที่มุ่งประโยชน์เพื่อส่วนรวมเช่นนี้ย่อมเป็นการกระทำที่ปลุกหรือว่าก่อให้เกิดความขวนขวายในทางที่ดีงามขึ้น อันนี้เป็นข้อที่ควรอนุโมทนา

สำหรับเรื่องของท่านที่บรรยายมาแล้ว เช่นอาตมภาพได้อ่านจากเอกสารของท่านอาจารย์ ม.ล.บุญเหลือในวันแรก ก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ อาตมภาพคิดว่า ถ้าหากคนรุ่นเก่าจะเขียนเรื่องที่ท่านได้ทราบในกาลก่อนๆ ไว้บ้าง ก็จะเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง คนรุ่นหลังอย่างอาตมภาพนี้ก็สนใจอยากจะรู้เรื่องเก่าๆ อย่างนั้นไว้ เพราะสิ่งเหล่านั้น ต่อไปเราจะหาไม่ได้ คนที่เกิดก่อนเล่าเรื่องที่ตนพบมาเอาไว้ คนรุ่นหลังก็จะได้ใช้ประโยชน์ต่อไป แม้แต่การที่เราจะกำหนดว่า เอกลักษณ์ของเราคืออะไร เราก็ต้องพิจารณาส่วนอดีตด้วย แต่บางทีเราก็ค้นหากันไม่ค่อยได้ ว่าอดีตของเราเป็นมาอย่างไร ทีนี้ ถ้าท่านที่อยู่ในรุ่นเก่ากว่า จะเขียนเล่าเรื่องที่ท่านได้เคยเห็นเคยพบเท่าที่ผ่านมา ก็จะเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังๆ ต่อไป

การสัมมนาเรื่องเอกลักษณ์ของชาติในอนาคต เป็นเรื่องเกี่ยวพันกับกาลทั้งสาม เพราะการเสริมสร้างรักษาเอกลักษณ์ของชาติ เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีมาในอดีต ซึ่งเป็นมาถึงปัจจุบัน และจะดำเนินต่อไปในอนาคต การพูดถึงเรื่องนี้ น่าจะเป็นการแสดงว่าท่านทั้งหลายที่มาร่วมสัมมนาได้มีความเห็นชอบร่วมกันว่า เราจะดำเนินไปสู่อนาคตโดยก้าวไปจากฐานที่เรายืนอยู่ในปัจจุบัน คือ จากฐานของเราเอง ด้วยกำลังและย่างเท้าของตน ซึ่งเป็นวิธีที่มั่นคงแน่นอนและน่าภูมิใจที่สุด ส่วนในอนาคตเราจะนำตัวเราไปอย่างไร จะตกเติมเสริมแต่งเมื่อประสบสิ่งใหม่อย่างไร ก็เริ่มก่อออกไปจากฐานเดิมอันนี้

อย่างไรก็ดี มีข้อควรพิจารณาว่า สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏสภาพให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน โดยสืบเนื่องมาแต่อดีตนั้น เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยท่าที และวิธีการอย่างเดียวกันทั้งหมด หาได้ไม่ เพราะสิ่งเหล่านั้น จะเป็นรูปธรรมก็ดี นามธรรมก็ดี แม้ที่เป็นสถาบันย่อมมีเบื้องหลังต่างๆ กัน บางอย่างรอดตัวอยู่ถึงปัจจุบันโดยรักษาชีวิตชีวา รักษาคุณค่าและความหมายเดิมของมันไว้ได้ เปลี่ยนแปลงแต่รูปภายนอกที่ถูกสิ่งอื่นๆ กระทบกระเทือน บางอย่างก็พอกพูนรูปร่างมีสิ่งใหม่ๆ เข้าผสมกลายรูปไป บางอย่างก็คงรูปอยู่ได้อย่างเดิม ที่ถึงกับแตกหน่อกิ่งก้านขยายกว้างขวางมีชีวิตชีวา คุณค่า ความหมายต่างๆ เจริญเติบโตผิดแปลกออกไปก็มี ในเวลาเดียวกันก็มีสิ่งหลายอย่างที่คงเหลืออยู่ในสภาพที่เป็นเพียงซากของอดีต ซากของอดีตนี้เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาธรรมดาของสิ่งที่เป็นซากนั้น ชีวิตชีวา คุณค่า และความหมายเดิมของมัน ย่อมสูญสิ้นหมดไปแล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่จึงอาจเป็นเพียงสภาพที่เกะกะ กีดขวาง ไร้ค่า ไร้ประโยชน์ หรือบางทีอาจจะมีความหมายอย่างอื่นเกิดขึ้นมาแทน และความหมายนี้อาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้

ที่กล่าวนี้เป็นเครื่องเตือนสติว่า ถ้าจะมองหาคุณค่า และความหมายที่แท้จริงของสิ่งนั้นแล้ว จะต้องไม่หลงผิดฉวยเอาลักษณะอาการต่างๆ ที่มองเห็นหรือปรากฏอยู่ในปัจจุบันเป็นคุณค่าและความหมายที่แท้จริงของมัน แต่จะต้องศึกษาสืบสวนค้นคว้าให้ลึกซึ้งลงไปในอดีตจริงๆ ข้อนี้ขอย้ำว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะดูเหมือนปัจจุบัน เรามักจะเข้าใจผิวเผินกันอย่างนี้มาก

นอกจากนี้เมื่อรู้เข้าใจแล้ว ยังจะต้องพิจารณาตัดสินอีกว่า จะพอใจในความหมายใหม่ที่เกิดขึ้นในซากนั้น หรือว่าจะดึงเอาคุณค่าและความหมายเดิมกลับมาใส่คืนให้แก่ซากนั้นอีก หรือจะว่าเอาไว้แต่คุณค่าและความหมายเดิม มาสร้างร่างสวมให้ใหม่ หรือจะรักษาซากเอาไว้ มาสร้างคุณค่าและความหมายใส่ลงไปใหม่ ตลอดถึงว่าหรือจะทำลายซากนั้นเสียเลย นับเป็นข้อควรพิจารณาทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับอดีตโดยทั่วไป และเรื่องของเอกลักษณ์ที่สัมมนากันมา

นี้เป็นข้อคิดอย่างหนึ่งอาตมภาพคิดว่า ยังไม่มีอะไรที่จะแสดงความคิดเห็นเป็นพิเศษจากนี้ แต่ก็อยากจะขอยกพุทธภาษิตขึ้นมาบทหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าจะใช้กับการที่เราจะมีเอกลักษณ์อะไรก็ตามได้ทุกอย่าง คือพระพุทธเจ้าตรัสว่า ปญฺญาชีวึ ชีวิตมาหุเสฎฐํ แปลว่า ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาว่าประเสริฐที่สุด อันนี้เป็นชีวิตที่ต้องการในทางพุทธศาสนา คือ ชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา ในเมื่อชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาประเสริฐ เราก็ต้องหาทางสร้างสติปัญญาให้เกิดมีขึ้น ปัญญานั้นก็คือความรู้สภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ซึ่งทำให้รู้ดีรู้ชั่ว รู้ถูกรู้ผิด รู้เหตุรู้ผล ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เมื่อรู้อย่างนี้แล้วคนจะมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถทำสิ่งทั้งหลายได้ในแนวทางที่ถูกต้อง ช่วยกันคิดช่วยกันทำได้ ไม่ต้องคอยบงการให้ทำ หรือว่าจะต้องคอยชักจูงให้ทำกันอยู่เสมอ และเราก็จะเข้าถึงจุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาด้วย

ว่าโดยสรุป หลักและวิธีในเรื่องนี้ก็คือพระพุทธศาสนาถือว่าเราจะมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาก็ต้องรู้สภาวะของสิ่งทั้งหลาย รู้สภาวะของสิ่งทั้งหลายก็คือ รู้หลักไตรลักษณ์ เราจะให้เอกลักษณ์ของเราอยู่ได้และเป็นไปอย่างไรนั้น เราควรเข้าใจไตรลักษณ์ให้ดี และนำความรู้นั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ อันนี้เป็นทัศนะของอาตมภาพในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งอาจจะเป็นพุทธศาสนาในความเห็นของอาตมภาพก็ได้ อาตมภาพขอแสดงความคิดเห็นไว้เพียงเท่านี้

เกณฑ์วินิจฉัย
ความหมายและคุณค่า
ของพุทธธรรม

ขอเจริญพร ท่านอาจารย์คณบดี ท่านประธานกรรมการมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป ท่านรองประธานโครงการตำราฯ และท่านสาธุชนทั้งหลาย

อาตมภาพรู้สึกเป็นสิริมงคล ที่ได้มีโอกาสมากล่าวธรรมกถาในที่ประชุมนี้ ซึ่งประกอบด้วยท่านผู้ใฝ่ธรรมและวิทยาการทั้งหลาย ในการกล่าวธรรมกถานี้ ถือว่าได้มีส่วนร่วมอุทิศกุศลแด่ท่านนาคะประทีปหรือท่านพระสารประเสริฐ ซึ่งได้มีการจัดงานนิทรรศการ เพื่อเจาะจงต่อท่านในโอกาสนี้ด้วย สำหรับคุณงามความดีที่ท่านพระสารประเสริฐหรือนาคะประทีปได้บำเพ็ญไว้ อันเป็นคุณประโยชน์แก่วิชาการ ทำให้เกิดความก้าวหน้าเป็นอย่างไรนั้น ก็เป็นที่ประจักษ์แก่ท่านทั้งหลายอยู่แล้ว ทั้งในส่วนตนเองและที่ได้ยินได้ฟังจากคำสดุดีในที่ประชุมนี้

สำหรับเรื่องที่ท่านได้นิมนต์อาตมภาพมาแสดงในวันนี้คือ เรื่องพุทธธรรมนั้น เป็นเรื่องที่มีความกว้างขวางพิสดาร มีรายละเอียดมาก จะนำมากล่าวในที่นี้ให้หมดคงเป็นไปได้ หรือจะพูดแต่เพียงส่วนหนึ่งส่วนใดก็จะกลายเป็นการจำกัดลงแคบเกินไป ไม่เพียงพอแก่ชื่อเรื่องที่ตั้งเอาไว้ว่าพุทธธรรม ซึ่งเป็นคำกลางๆ มีความหมายมาก อีกประการหนึ่งถ้าจะนำมากล่าวโดยสรุป คือนำมาแสดงเป็นหัวข้อว่า หลักพุทธธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบและนำมาสั่งสอนมีอะไรๆ บ้าง ก็คงจะเป็นเรื่องซ้ำซาก เพราะท่านทั้งหลายคงเคยได้ยินได้ฟังมาในโอกาสต่างๆ เป็นอันมาก อาตมภาพจึงมานึกดู เห็นว่า ในสมัยปัจจุบันนี้ พอจะกล่าวได้ว่า มีความเข้าใจและสนใจในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นพอสมควรในหมู่ท่านที่เป็นนักวิชาการทั้งหลายในวงวิทยาการสาขาต่างๆ อาจจะเป็นเรื่องทางสังคมวิทยาบ้าง ทางการศึกษาบ้าง ทางการปกครองบ้าง เป็นต้น จะเห็นได้ว่า นักวิชาการในสาขาต่างๆเหล่านั้น เมื่อมาศึกษาพระพุทธศาสนา ย่อมตีความหลักธรรมไปตามพื้นฐานทางวิชาการในสาขาที่ตนได้ฝึกฝนอบรมมา และในแง่ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในสาขาวิชานั้นๆ

เมื่อความสนใจในทางพระพุทธศาสนาสมัยปัจจุบัน เป็นไปในรูปเช่นนี้ อาตมภาพจึงคิดเห็นว่า เราควรมีแนววิธีอะไรบางประการที่จะช่วยในการศึกษาพุทธธรรม เพื่อให้การวินิจฉัยความหมายและคุณค่าของหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นไปด้วยความแน่ใจ ให้เกิดความชัดเจนและความถูกต้องสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะว่าการตีความหรือวินิจฉัยความหมายต่างๆ นั้น หากว่าทำไปไม่ถูกต้อง อาจจะเป็นอันตรายได้มาก ดังจะเห็นได้ในปัจจุบันนี้ เท่าที่นักวิชาการลางท่านตีความหมายไปต่างๆ นั้น อาตมภาพเห็นว่า บางคราวก็เป็นโทษไม่น้อย

ทีนี้เราจะมีแนววิธีศึกษาอย่างไร ที่จะเป็นเครื่องช่วยในการตีความหมาย และวินิจฉัยคุณค่าของพุทธธรรมนั้น ให้เป็นไปโดยถูกต้อง ในข้อนี้อาตมภาพคิดว่า เราควรพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะพื้นฐานบางประการของหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ความเข้าใจในลักษณะพื้นฐานบางประการของหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนานั้น จะเป็นเครื่องประกอบช่วยให้การวินิจฉัยความหมายของหลักธรรมต่างๆ ชัดเจนและได้ความหมายที่ถูกต้องยิ่งขึ้น หลักแนวและวิธีต่างๆ ที่อาตมภาพจะนำมาเสนอในที่นี้ อาจเรียกว่าเป็น “เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม” ก็ได้ อาจจะไม่ใช่ชื่อที่ถูกต้องทีเดียว แต่ว่าพอใช้ได้ไปก่อน ในการศึกษาพุทธธรรม เมื่อเรามีหลักเกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าเช่นนี้แล้ว อาตมภาพก็มีความเชื่อมากขึ้นว่า เราจะได้ความหมายของหลักพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องชัดเจนสมบูรณ์ขึ้น

ในปัจจุบัน เท่าที่เราได้ยินได้ฟังบุคคลทางท่านแสดงธรรมในโอกาสต่างๆ นั้น บางคราวท่านนำมากล่าวในทางที่อาจให้เกิดโทษ เช่น เมื่อพูดถึงหลักธรรม ในแง่ของสังคมวิทยา ในแง่ของเศรษฐศาสตร์ ในแง่ของการปกครองหรือรัฐศาสตร์ เป็นต้น ความหมายที่นำมาพูดบางทีก็เป็นเพียงภาพที่เกิดจากความเข้าใจไขว้เขว โดยประมวลเอาประสบการณ์เกี่ยวกับความเป็นอยู่ หรือการดำรงชีวิตของบุคคลบางกลุ่มบางพวก มาสร้างความหมายขึ้นในทางที่ทำให้เห็นว่าพุทธธรรมนั้น บางครั้งก็ก่อให้เกิดโทษภัย แต่ในความเข้าใจเช่นนั้น ไม่ได้เกิดจากการศึกษาค้นคว้าโดยถูกวิธี

เพื่อให้เห็นชัดเจนในความหมายเช่นนี้ จะขอยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น หลักธรรมข้อสันโดษ มีการกลายความหมายไปถึงกับว่า เป็นการปลีกตัวอออกไปอยู่โดเดี่ยวไม่เกี่ยวข้องกับใครๆ ก็มี หลักธรรมเรื่องการทำบุญมองในแง่ของสังคมวิทยา บางท่านเห็นไปว่า เห็นการขัดขวางต่อการพัฒนาประเทศก็มี ดังนี้เป็นต้น ความหมายที่ยกขึ้นอ้างนั้นคลาดเคลื่อน เกิดจากการมองผาดเผิน โดยถือเอาประสบการณ์ของตนเองจากคนบางกลุ่มบางพวกเป็นประมาณ มิได้เกิดจากความเข้าใจด้วยการศึกษาอย่างถ่องแท้ เมื่อนำทัศนะเช่นนั้นมาแสดงก็เกิดโทษได้ ๒ ชั้น ประการที่๑ ความเข้าใจผิดพลาดนั้น มีโทษมีพิษร้ายอยู่ในตัวแล้ว ประการที่ ๒ การนำมาแสดงโดยการพูดการเขียนเป็นต้น จะเพิ่มโทษพิษภัยมากขึ้นอีกเป็นซ้ำสอง เพราะจะต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ความเข้าใจนั้นในทางที่เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ ทำให้ผู้อื่นพลอยเข้าใจผิด และเห็นผิดไปด้วย

สำหรับความเข้าใจเช่นนี้ อาตมภาพเห็นว่า เราพอจะเปรียบเทียบได้กับความเข้าใจเรื่องบางเรื่องของคนบางพวกในปัจจุบันนี้เอง แม้แต่เรื่องที่เรากำลังพูดกันแพร่หลาย อย่างเช่น เรื่องประชาธิปไตย ในความเข้าใจของชาวบ้าน บางคนอาจจะนึกว่า ประชาธิปไตยหมายถึงการทำอะไรๆ ได้ตามความชอบใจ บางคนอาจจะคิดว่าได้แก่การเดินขบวน การสไตร๊ค์ เป็นต้น หรือ บางคนอาจจะเข้าใจว่าหมายถึงรัฐธรรมนูญที่เขียนเป็นเล่มสมุดวางอยู่บนพานที่อนุสาวรีย์ นี่คือความเข้าใจความหมายของประชาธิปไตยของคนบางคน ซึ่งท่านทั้งหลายที่มีการศึกษาได้รอบรู้ในทางวิชาการย่อมปฏิเสธทันทีว่า นี้เป็นความเข้าใจไม่ถูกต้อง อันนี้ฉันใด แม้ความเข้าใจของบางท่านที่นำเอาหลักธรรมต่างๆ มาแสดงทางวิชาการในข้อเขียนต่างๆ นั้น บางทีก็เป็นเพียงความเข้าใจเช่นว่านี้ คือความเข้าใจที่เกิดจากการเห็นภาพเพียงบางส่วนและพฤติการณ์ของคนบางกลุ่มบางประเภท แล้วนำมาสรุปเอาว่า เป็นความหมายของหลักธรรมนั้น

เพราะฉะนั้น จะต้องถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหากเรามีความหวังดีต่อประเทศชาติ เราจะต้องสำนึกว่า หลักธรรมในทางพุทธศาสนาที่อยู่ในความเชื่อถือของประชาชน เป็นสิ่งที่เราจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น ถ้าเราเป็นนักสังคมวิทยา เรารู้เห็นอยู่ว่าคนในสังคมของเรา มีความเชื่อถือในหลักธรรมต่างๆ เช่น สันโดษ เป็นต้น ถ้าเรามีความประสงค์ดีคิดจะช่วยสังคมให้เดินไปสู่ความเจริญก้าวหน้า เราไม่มีทางเลี่ยงที่จะไม่เกี่ยวข้องกับความเชื่อถือเหล่านั้น เมื่อเราจะเกี่ยวข้อง ก็จำเป็นอยู่เองที่เราจะต้องพยายามศึกษาทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ถ้าเราไม่พยายามศึกษาทำความเข้าใจให้ถูกต้องถ่องแท้ เราจะหาจุดเริ่มต้นแห่งการแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะไม่มีจุดเชื่อมต่อระหว่างปัญหากับทางที่จะดำเนินไปสู่การแก้ปัญหา พูดง่ายๆ ว่าเราไม่เข้าใจปัญหา และไม่เข้าใจสังคมที่เราจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นอาตมภาพจึงนำเรื่องนี้มาแสดงในที่นี้

ทีนี้ แนวที่เรียกว่าเป็นหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรมมีอย่างไร อาตมภาพจะเสนอไว้สัก ๒-๓ หรือ ๔-๕ หัวข้อ ตามแต่เวลาจะอำนวย

๑. ธรรมเป็นอุปกรณ์ เปรียบเหมือนยานพาหนะ

ข้อที่หนึ่งในการศึกษาพุทธธรรม จะต้องทำความเข้าใจไว้ก่อนว่า หลักธรรมในพระพุทธศาสนามีความหมายเหมือนกับอุปกรณ์หรือยานพาหนะ สำหรับนำไปสู่จุดมุ่งหมาย นี้เป็นการพูดตามพุทธวจนะที่มีอยู่ว่า “ธรรมทั้งหลายเปรียบเสมือนแพ แพนั้นมีไว้สำหรับใช้ข้ามฟาก ไม่ใช่สำหรับยึดถือเกาะติดเอาไว้” พุทธพจน์นี้ควรจะตระหนักกันให้มากในการที่จะศึกษาหลักธรรมต่างๆ จากพุทธพจน์นี้ เราตีความหมายได้ ๒ แง่ด้วยกัน ประการที่๑ ในแง่ของคุณค่าและความหมาย จะต้องเข้าใจว่าคุณค่าของหลักธรรมต่างๆ นั้นอยู่ที่ความเป็นอุปกรณ์ คือ เป็นเครื่องมือหรือสิ่งสำหรับใช้ประโยชน์ ประการที่ ๒ ความเป็นอุปกรณ์นั้น จะต้องสัมพันธ์กับจุดหมายในการที่จะนำธรรมต่างๆ มาใช้ จากนี้จะเกิดความเข้าใจชัดและกว้างออกไปในแง่การปฏิบัติว่า การปฏิบัติต่อธรรมะทั้งหลายนั้น ถ้าเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง ก็คือการที่จะต้องใช้ประโยชน์ ถ้าเป็นการปฏิบัติที่ผิดก็คือการยึดเกาะติดในธรรมะนั้น โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เริ่มตั้งแต่การนำมาถกเถียงกันเปล่าๆ การปฏิบัติอย่างเลื่อนลอย ไร้จุดหมาย ไร้ความสัมพันธ์ จนถึงการยึดถือในข้อปฏิบัตินั้นๆ ด้วยโมหะอย่างเหนียวแน่น

ที่ว่าธรรมะเป็นอุปกรณ์นำไปสู่จุดมุ่งหมายนั้นสำคัญอย่างไร ธรรมะทั้งปวงมีความสัมพันธ์เนื่องถึงกัน ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงความหมายของพุทธธรรม ธรรมแต่ละหัวข้อย่อมมีคุณค่าในตัวของมันเอง ตามตำแหน่งที่อยู่ในความสัมพันธ์นั้น คือ มีคุณค่าตามตำแหน่งที่มันสัมพันธ์กับธรรมะข้ออื่นๆ ในกระบวนการปฏิบัติ การปฏิบัติธรรมเป็นการปฏิบัติต่อเนื่อง ท่านเปรียบไว้ว่า เหมือนกับการไปสู่จุดมุ่งหมายแห่งหนึ่งด้วยรถเจ็ดผลัดเป็นต้น อันนี้มีแสดงไว้ในพระไตรปิฎก หมายความว่าการปฏิบัติธรรมแต่ละข้อๆ นั้น มีจุดหมายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติธรรมข้ออื่นๆ ต่อไป และจุดหมายในที่นี้ต้องแน่นอนชัดเจน ชี้เฉพาะได้ ไม่ใช่จุดหมายที่พร่าๆ ใครๆ อาจจะบอกเมื่อปฏิบัติธรรมสักข้อหนึ่ง ว่าปฏิบัติธรรมะข้อนั้นเพื่อพระนิพพาน อย่างนี้ใครๆ ก็พูดได้เพราะเป็นกำปั้นทุบดิน แต่เป็นการตั้งเป้าหมายที่พร่าเกินไป ความจริงหลักธรรมแต่ละข้อย่อมมีจุดหมายของมันโดยเฉพาะแต่ละข้อแต่ละตอนไปว่า ธรรมะข้อนี้เป็นไปเพื่ออะไร เช่น ถ้าจะปฏิบัติศีล ก็มีข้อมุ่งหมายว่าศีลนั้นเพื่ออะไร

ถ้าหากเราไม่ปฏิบัติธรรมโดยมีความมุ่งหมายแล้ว การปฏิบัติธรรมะก็เป็นไปโดยเลื่อนลอย ขาดความสัมพันธ์กับธรรมะข้ออื่นๆ จะเห็นได้ง่ายๆ อีกอย่างหนึ่ง ยกธรรมะที่เกี่ยวข้องกับชาวโลกมากหน่อย หรือพูดถึงกันบ่อยๆ คือ ข้อสันโดษนั่นเอง สันโดษเป็นธรรมะที่ปฏิบัติเพื่อจุดมุ่งหมายอะไร สำหรับคนทั่วไป ถ้าไม่ตระหนักถึงจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติสันโดษ ก็จะเห็นชัดเจนว่าเป็นการปฏิบัติลอยๆ ไม่สัมพันธ์กับหลักธรรมข้ออื่นๆ เขา อาจจะสร้างภาพที่ผิดพลาดขึ้นมา บอกตัวเองหรือทำให้คนอื่นเข้าใจเป็นภาพที่เลือนราง คล้ายกับจะให้เห็นว่าเป็นการปฏิบัติอย่างมีจุดมุ่งหมาย โดยเฉพาะมักจะให้เห็นว่าการปฏิบัติธรรมะข้อสันโดษนั้น ก็เพื่อให้มีความสุข จากนั้นอาจจะสร้างภาพต่อไปว่า คนที่มีสันโดษถ้าเป็นพระก็เป็นพระที่เรียบร้อย เฉยๆ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร อะไรทำนองนี้ ผลที่สุด ในแง่หนึ่ง ก็ทำให้ธรรมะขาดชีวิตชีวา แต่ข้อสำคัญก็คือ ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ที่ต้องการหรือที่สมควรจะได้

ทีนี้ สันโดษมีความมุ่งหมายอย่างไร ท่านแสดงไว้ในที่ทุกแห่ง แต่อาจจะไม่เฉลียวใจ เช่น สำหรับพระภิกษุ คำแสดงความหมายสันโดษของพระพุทธเจ้าบอกว่า “พระภิกษุสันโดษในปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จะไปไหนก็ไปได้ง่ายๆ เอง เหมือนกับนกที่มีแต่ปีกบินไป” อันนี้มีหมายความส่ออยู่ในตัว ถึงการปฏิบัติสันโดษอย่างมีมุ่งหมาย มีความมุ่งหมายอย่างไร ก็หมายความว่า ในกรณีนี้ พระภิกษุนั้นเมื่อมีความสันโดษแล้ว ก็ไม่มีความห่วงกังวลในทางวัตถุ จะไปไหนต่อไหนก็ไปได้โดยสะดวก เหมือนนกที่มีแต่ปีกบินไป แล้วจะเข้ากับจุดหมายอย่างไร เข้าในแง่อุดมคติที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพระสาวกไว้แต่เริ่มแรกทีเดียวว่า ให้ภิกษุทั้งหลายจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มนุษย์ทั้งหลาย พอมีหลักธรรมเรื่องสันโดษเข้ามา มันก็เข้ากับจุดมุ่งหมายตามอุดมคตินี้ว่า เมื่อพระภิกษุมีความสันโดษ ไม่มีความห่วงกังวลในทางวัตถุแล้ว ท่านจะไปทำหน้าที่ประกาศพระศาสนา ท่านจะไปไหนมาไหน ก็สะดวกสบาย ทำหน้าที่ได้เต็มที่ ได้ใจความว่าไม่มีห่วงกังวลในทางวัตถุ ทุ่มเทเวลาและกำลังงานให้แก่การบำเพ็ญสมณธรรมและปฏิบัติศาสนกิจได้เต็มที่

นี้ก็เป็นตัวอย่างอีกอันหนึ่งของการปฏิบัติธรรมอย่างมีจุดมุ่งหมาย ไม่ใช่การปฏิบัติอย่างเลื่อนลอย ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ก็จะได้เพียงการสร้างภาพว่า คนสันโดษเป็นแต่เพียงผู้ที่อยู่เงียบๆ ไม่เอาเรื่องเอาราวกับใคร ผลที่สุดธรรมะต่างๆ ก็จะขาดลอยจากกันไม่มีชีวิตชีวา ขาดการเชื่อม ขาดการประสาน ที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่สูงใหญ่ยิ่งๆ ขึ้นไป นี้เป็นแง่ที่หนึ่ง

นอกจากนั้น เมื่อเข้าใจความหมายของสันโดษว่ามีจุดมุ่งหมายอย่างใดแล้ว เรายังจะรู้อีกว่า ทำไมหลักธรรมข้อสันโดษจึงไม่ขัดกับหลักธรรมข้อไม่สันโดษ เพราะความไม่สันโดษเป็นหลักสำคัญอันหนึ่งทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงเน้นไว้ว่าที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้น เพราะพระองค์ไม่ทรงสันโดษ อาจจะทำให้เกิดความสงสัย ว่าเอ๊ะ ทำไมจึงสอนความไม่สันโดษด้วย ดูเป็นขัดกันไป ความจริงถ้าเรารู้ว่าหลักธรรมแต่ละข้อมีจุดมุ่งหมายอย่างไรแล้ว เราจะเห็นความไม่ขัดกันในทันที สำหรับพระภิกษุนั้น เพราะว่ามีความสันโดษในปัจจัย ๔ ท่านก็หมดความกังวลที่จะหาความเพลิดเพลิน ความปรนเปรอทางวัตถุ พระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนธรรมข้อไม่สันโดษไว้ บอกว่าไมให้สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย พระองค์ตรัสไว้ทีเดียวว่าที่ได้ตรัสรู้นั้น ทรงมองเห็นคุณค่าของธรรมะ ๒ ประการคือ ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย และการทำความเพียรอย่างไม่รู้จักย่อท้อ

จากพุทธพจน์นี้จะเห็นว่า ความไม่สันโดษมีขอบเขตของมัน คือ ใช้ในกุศลธรรมอันได้แก่คุณธรรมและการปฏิบัติกิจที่ดีงาม พระพุทธเจ้าไม่ได้เคยทรงหยุดยั้ง ไม่เคยพอพระทัยเลยในผลสำเร็จของพระองค์ พระองค์เสด็จไปเรียน ไปปฏิบัติธรรมอยู่ในสำนักดาบส ฤาษี หรือพวกโยคีต่างๆ เรียนจบและแสดงความสามารถจนกระทั่งอาจารย์พอใจ เชิญให้อยู่ร่วมสำนักเพื่อให้ทำการสอนต่อไป พระองค์ก็หาได้ทรงพอพระทัยไม่ ยังไม่สำเร็จผลที่มุ่งหมาย พระองค์จึงได้ออกจากสำนักดาบสเหล่านั้นไป แล้วแสวงหาธรรมด้วยพระองค์เอง จนสำเร็จ

หลักธรรมทั้ง ๒ ประการคือ สันโดษก็ดี ไม่สันโดษก็ดี ย่อมมีความประสานกัน มิได้ขัดกันเลย มีแต่ส่งเสริมกันด้วยซ้ำ เพราะเมื่อสันโดษแล้วพระภิกษุนั้นก็ตัดห่วงตัดกังวลในทางที่จะปรนเปรอตนเองในทางวัตถุได้ สามารถบำเพ็ญความไม่สันโดษในกุศลธรรมได้เต็มที่ คือมุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรม พยายามให้ถึงผลสำเร็จที่มุ่งหมาย เพราะฉะนั้น อาศัยหลักธรรมข้อสันโดษเราก็ตัดความโลภ ความห่วงกังวล ที่จะเหนี่ยวรั้งขัดขวางเราไม่ให้ทำกิจหน้าที่ของตนได้เต็มที่ เป็นการทำตัวให้พร้อมและคล่องตัว เมื่อมีความพร้อมคล่องตัวดีแล้วก็ปฏิบัติธรรมข้อไม่สันโดษ หลักธรรมข้อไม่สันโดษนั้น ก็นำมาใช้ในการสร้างนิสัยใฝ่สัมฤทธิ์และการแสวงหาความดีเลิศต่อไป อันนี้จึงเป็นหลักธรรมที่ประสานกลมกลืนกัน นี้เป็นเพียงตัวอย่างอันหนึ่ง จะขอผ่านไปก่อนสู่หลักเกณฑ์ประการที่ ๒

๒. ธรรมมีทั้งแง่ลบและแง่บวก

เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรมข้อที่สองนี้ มีส่วนพัวพันถึงธรรมะในแง่ที่เป็นอุปกรณ์ด้วย เกณฑ์ข้อที่สองนี้ก็คือลักษณะที่นิยมเรียกในภาษาสมัยปัจจุบันว่าแง่ลบและแง่บวก หรือจะใช้ภาษาทางพระพุทธศาสนาว่า หลักธรรมต่างๆ มีทั้งแง่ปหาน และแง่ภาวนา เพื่อความสะดวกจะใช้ภาษาของคนสมัยใหม่คือแง่ลบและแง่บวก

หลักธรรมต่างๆ มีความหมายทั้งแง่ลบและแง่บวก ที่เป็นเช่นนั้นเพราะมันสัมพันธ์กับการเป็นอุปกรณ์ที่จะนำไปสู่จุดหมาย ความเป็นอุปกรณ์ที่จะนำไปสู่จุดหมาย ทำให้มันมีลักษณะเป็น ๒ ด้าน คือในแง่ลบมีความหมายเป็นอุปกรณ์ หรือเครื่องมือสำหรับกำจัดสิ่งที่ไม่ดีไม่งามหรือไม่ต้องการ และในแง่บวกก็คือว่า มันจะช่วยให้เราเข้าไปสู่จุดหมายหรือใกล้เข้าไปสู่จุดหมายได้มากขึ้นโดยนัยนี้ ธรรมะแต่ละข้อ ก็จะมีทั้งแง่ลบและแง่บวก อยู่ในตัวของมันเอง

ทีนี้การสอนในปัจจุบันอาจเป็นไปได้ว่า เราเน้นในแง่ลบมากเกินไปจนเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้น อย่างพวกฝรั่งบางคนได้เขียนหนังสือไว้แสดงให้เห็นว่า หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนามีความหมายในทางลบอย่างเดียว เช่นให้ปฏิบัติศีลงดเว้นจากการเบียดเบียน แล้วก็ไม่แนะนำว่าควรจะทำอย่างไรต่อไปเป็นต้น อันนี้อาจจะเป็นความบกพร่องของเราด้วยผสมกัน คือเราเองศึกษาและสั่งสอนพุทธธรรมไม่ครบทุกแง่ทุกมุม เช่น เวลาสอนเรื่อง ฆราวาสธรรม มีธรรมะข้อหนึ่งเรียกว่าทมะ เราก็สอนว่า ทมะนั้นได้แก่การข่มใจ เมื่อได้ยินได้ฟังคำที่จะทำให้เกิดความโกรธ ความเกลียด เราก็ข่มใจหักห้ามใจได้ไม่ให้โกรธ ไม่ให้เกลียด เมื่อสอนเรื่องอุเบกขา เราก็สอนว่าเฉยๆ ไม่ยินดียินร้าย แม้แต่เรื่องสันโดษก็เช่นเดียวกัน อาตมภาพพูดเรื่องสันโดษมาแล้ว ก็จะลองเอาเรื่องสันโดษมาพูดอีก ในแง่ที่ว่าจะมีความหมายทั้งในแง่ลบแง่บวกอย่างไร

ความหมายในแง่ลบของสันโดษก็คือ การช่วยกำจัดความโลภทำให้ไม่เกิดความรุ่มร้อนกระวนกระวายใจในการที่ว่าได้ไม่รู้จักพอนั้นด้วย ทีนี้ในแง่บวก สันโดษก็คือช่วยให้เรามีเวลามีโอกาสและพลังงานสำหรับทำกิจทำหน้าที่มากขึ้น และมีความสุข ความพอใจ ซึ่งสืบเนื่องมาจากความภาคภูมิใจในผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง สำหรับพระภิกษุความหมายอาจจะเน้นจำกัดลงไปอีก คือในแง่ลบ หมายถึงการตัดความกระวนกระวายใจหรือความกังวล ในการที่จะแสวงหาวัตถุมาปรนเปรอตนเอง ในแง่บวก หมายถึงว่า เมื่อจะบำเพ็ญสมณธรรมก็ดี หรือเมื่อจะทำตามอุดมคติในการประกาศพระพุทธศาสนา จาริกไปในสถานที่ต่างๆ เพื่อบำเพ็ญประโยชน์สั่งสอนประชาชนก็ดี ก็สำเร็จโดยง่าย ทำได้ปลอดโปร่ง พูดอย่างในภาษาสมัยใหม่ก็คือทำให้เกิดความคล่องตัว

ถึงหลักธรรมอื่นๆ ก็มีความหมายทั้ง ๒ แง่เหมือนกัน อย่างเช่นศีล ศีลนั้นตามแบบเดิมท่านวางไว้เป็น ๒ ตอน ศีลเต็มรูปอย่างที่มาในกรรมบทมี ๒ ตอน ตอนต้นบอกว่า ละปาณาติบาต ละการฆ่าเบียดเบียนสัตว์ แล้วตอนท้ายจะมีข้อความตามบาลีว่า สพฺพปาณภูตหิตานุกมฺปี ซึ่งแปลว่า อนุเคราะห์ประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง อันนี้เป็นแง่บวก แต่เวลาที่ท่านเขียนเป็นข้อสั้นๆ ท่านยกมาแต่หัวข้อตอนต้นซึ่งเป็นแง่ลบมาตั้ง ผู้ที่ศึกษาไม่ได้ศึกษาโดยตลอดก็เข้าใจว่า ศีลนั้นมีแง่ลบอย่างเดียว จนกระทั่งสมัยหลังนี้เกิดมีวิวัฒนาการขึ้นในสายของไทยเราโดยเฉพาะมีการแยกออกเป็น ๒ อย่าง เป็นศีลอย่างหนึ่ง ธรรมอย่างหนึ่ง จนถึงกับวางเป็นหลักสูตรแบบเรียน เรียกว่าวิชาศีลธรรม ความจริงศีลก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมนั่นเอง

ตัวอย่างอีกอันหนึ่งคือไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์ก็มีความหมายทั้งในแง่ลบและแง่บวก เช่น หลักอนิจจัง หลักอนิจจังความไม่เที่ยงนั้น เป็นเพียงการแสดงสภาวะของสิ่งทั้งหลาย เวลาจะนำมาประยุกต์ใช้ชีวิตประจำวันของเรา เรามักสอนกันในแง่ที่ว่าจะช่วยปลอบใจให้หายความทุกข์โศก เช่น เมื่อเกิดการพลัดพรากสูญเสียขึ้น เราจะปลอบใจกันว่า อันนี้อนิจจังไม่เที่ยง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงแตกสลายไปเป็นธรรมดา จะเศร้าโศกไปก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด นี่ก็เป็นลักษณะที่ดี คือช่วยหยุดยั้งความซูบโทรมทางจิตและการกระทำที่จะทำให้สูญเสียพลังงานไปเปล่า แต่เรามักจะหยุดกันแค่นี้ ไม่ได้นึกถึงขั้นต่อไปว่าในแง่บวกจะทำอย่างไร บางคราวก็เลยทำให้เกิดผลเสีย คือปล่อยสิ่งต่างๆ ไป ตามเรื่องตามราว ไม่คิดแก้ไขปรับปรุง จึงต้องคำนึงถึงแง่บวกด้วย

ในแง่บวกอนิจจังก็สอนให้ปรารภต่อไปว่า การที่สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปนั้น มันจะเปลี่ยนแปลงตามเหตุ ตามปัจจัย หาได้เปลี่ยนแปลงไปลอยๆ ไม่ ในเมื่อเราต้องการผลที่ดี เราก็ต้องทำเหตุทำปัจจัย เพื่อให้ได้ผลที่ดีนั้น เมื่อเราไม่ต้องการผลที่ไม่ดี เราก็ต้องรู้ ตามความเป็นจริงว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยนำไปสู่ผลที่ไม่ดี แล้วก็พยายามหลีกเลี่ยงแก้ไขเหตุปัจจัยไม่ดีนั้นเสีย พระพุทธศาสนาถือหลักว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ อันนี้ก็เข้ากับหลักอนิจจังนั่นเอง และฝึกได้จนถึงขั้นที่ยอดเยี่ยมประเสริฐเลิศกว่าเทวดาและพรหมทั้งหลาย แม้เทวดาและพรหมก็ต้องบูชา อันนี้ก็เป็นไปตามหลักอนิจจังเหมือนกัน

ขอยกตัวอย่างอีกสักข้อหนึ่งคือ ทมะ ที่พูดถึงเมื่อกี้นี้ ทมะที่ชอบแปลกันว่า ความข่มใจนั้น ในแง่ลบก็เหมือนอย่างที่พูดกันบ่อยๆ ตามตัวอย่างว่า ได้ยินคำที่จะทำให้เกิดความโกรธก็หักใจเสียได้ไม่โกรธเป็นต้น เราชอบมองความหมายของทมะในแง่ลบก็เพราะไปแปลว่าความข่มใจ ถ้าว่าตามศัพท์แล้ว ควรแปลว่าการฝึกหัดหรือการดัดจึงจะถูก ถ้าแปลตรงความหมายของศัพท์แล้ว ควรแปลว่า การฝึกหัดหรือการดัดจึงจะถูก ถ้าแปลตรงความหมายของศัพท์แล้วจะมองเห็นความหมายในแง่บวกง่ายขึ้น

ทีนี้แง่บวกจะมีความหมายอย่างไร ในแง่บวกก็คือสามารถบังคับควบคุมจิตใจของตนเองให้ทำได้ ในสิ่งที่ปัญญาบอกให้รู้ว่าควรทำ เมื่อปัญญาบอกให้รู้ว่าอันนี้ถูกต้องเป็นไปโดยชอบด้วยเหตุผลแล้ว เราสามารถควบคุมบังคับตนเองให้ทำในสิ่งนั้นได้ อันนี้ชื่อว่าเป็นทมะเหมือนกัน และเป็นธรรมะที่สำคัญมากในการฝึกหัด ดัดนิสัยปรับตัวและปรับปรุงตัว

ขอยกตัวอย่างในทางปฏิบัติว่า ทมะนั้นมีคุณค่าในทางบวกทางลบอย่างไร เช่นว่าเด็กไปยืนอยู่ที่ถนนรับประทานขนม หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่อยู่ในกระดาษห่อหรือถุงพลาสติก เมื่อแกรับประทานอาหารเสร็จแล้วก็เป็นธรรมดาที่จะต้องทิ้งถุงพลาสติกหรือกระดาษที่ห่อของนั้น เมื่อจะทิ้งนั้นวิธีง่ายที่สุดก็คือทิ้งตรงที่ยืนนั้น ยืนที่ใดก็ทิ้งที่นั้น อันนี้เป็นความสะดวกและเป็นความปรารถนาที่ใกล้ตัวที่สุด แต่ว่าเมื่อเด็กจะทิ้งนั้น ถ้าเขามีความรับผิดชอบอยู่บ้าง เขาจะนึกขึ้นมาได้ว่า การทิ้ง ณ ที่นั้นเป็นการไม่ถูกต้อง ที่จะให้ถูกต้องนั้นก็คือว่าทิ้งที่ถังขยะซึ่งอาจจะอยู่ห่างจากตัวเขาถึง ๑๐ เมตร ก็ได้ เมื่อเขารู้อย่างนี้แล้ว ก็ถึงตอนสำคัญที่ว่าเขาจะพ่ายแพ้แก่อำนาจกิเลสหรือชนะกิเลส ถ้าหากว่าปัญญาที่พิจารณาเหตุผลได้บอกเขาแล้วว่า ที่ถูก ต้องไปทิ้งในที่ทิ้งขยะที่จัดไว้ให้แล้ว ถ้าเขามีทมะ เขาจะสามารถบังคับตัวเองให้เดินไปทิ้งที่ขยะได้ นี้คือ ทมะที่ใช้ในแง่บวก คือการบังคับควบคุมตนเองได้ ให้ทำในสิ่งที่ปัญญาบอกแล้วว่า เป็นการถูกต้องด้วยเหตุผล ถ้าเราไม่มีทมะเราก็ไม่สามารถควบคุมตนให้อยู่ในเหตุผล5 เราก็พ่ายแพ้ต่อกิเลส คือความเกียจคร้าน ปรารถนาความสะดวกเฉพาะหน้าได้แก่ความเห็นแก่ตัวนั่นเอง อันนี้เป็นตัวอย่างในการมองธรรมะให้ครบทั้งแง่ลบแง่บวก

๓. ธรรมในแง่สาระและรูปแบบ

อาตมภาพจะขอผ่านต่อไปถึงอีกหลักหนึ่งในการวินิจฉัยความหมายและคุณค่าของธรรมะ อันนี้คือเรื่องสาระและรูปแบบ สาระหมายถึงเนื้อหาหรือตัวแท้จริงของหลักธรรม ส่วนรูปแบบนั้นก็คือ โครงร่างสำหรับยึด หรือให้เนื้อหาสาระไปเกาะตัวอยู่ ตลอดถึงเปลือกสำหรับหุ้มให้หลักหรือเนื้อแท้นั้นคงอยู่ได้ ช่วยให้เนื้อหาสาระคงตัวอยู่ได้เป็นระยะเวลายาวนาน ทั้งสองสิ่งนี้สำคัญทั้งคู่ โดยปรกตินั้นคนจะคิดเนื้อหาขึ้นก่อน พอคิดเนื้อหาสาระขึ้นแล้วก็ต้องสร้างรูปแบบขึ้นมา เพื่อช่วยยึดเอาสาระไว้ให้อยู่ในรูปในแบบที่ต้องการ แต่เนื้อหาสาระนั้นเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว มันจะเจริญขึ้นไประยะหนึ่ง เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว ความคิดในเรื่องเนื้อหาสาระจะถึงจุดอิ่มตัวแล้วจะหยุด เมื่อเนื้อหาสาระหยุดแล้ว รูปแบบนั้นจะเกาะกุมตัวกันเข้าจนเป็นรูปร่างที่แน่นอน พอได้รูปร่างแน่นอนแล้ว รูปแบบมักจะกลายเป็นสิ่งที่แข็งทื่อ แล้วก็ไม่สะดวกแก่การปรับตัว เมื่อถึงตอนนั้นรูปแบบก็มักจะมีทั้งคุณและโทษ นอกจากจะบรรจุเอาเนื้อหาไว้แล้ว จะมีโทษโดยเป็นกรอบกั้นไม่ให้เจริญก้าวหน้าต่อไป สิ่งทั้งหลายมักจะเป็นไปอย่างนี้แทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสถาบันระบอบระบบพิธีกรรมหรือแม้แต่ในรูปของความคิดก็ตาม หลักธรรมก็ไม่ใช่เรื่องยกเว้นในข้อนี้

ขอยกตัวอย่างในเรื่องพิธีกรรม เพื่อจะให้เห็นความหมายง่ายๆ พิธีกรรมในทางพระพุทธศาสนามีมากมาย พิธีกรรมส่วนหนึ่งเรียกว่า สังฆกรรม คือกิจที่ทำโดยที่ประชุมสงฆ์ จะนำมาเป็นตัวอย่างเพื่อชี้แจ้งในเรื่องนี้เฉพาะเรื่องการอุปสมบท พิธีอุปสมบทนั้น เป็นพิธีที่รู้จักและเข้าใจกันทั่วไป เห็นง่าย เพราะฉะนั้นอาตมาก็จะใช้เป็นเครื่องมืออธิบายว่าเนื้อหากับรูปแบบต่างกันอย่างไรแล้วจะเกิดการขัดกันหรือมีโทษมีภัยแก่กันหรือไม่ พิธีอุปสมบทมีเนื้อหาอย่างไร เนื้อหาของมัน หรือสาระสำคัญก็คือ เป็นวิธีการที่จะรับบุคคลเข้าสู่ชุมชนสงฆ์อย่างมีระเบียบแบบแผนรัดกุมที่สุด ตามหลักการที่ถือสงฆ์เป็นใหญ่โดยให้อำนาจเป็นของส่วนรวม เมื่อมีสาระเช่นนี้ก็ต้องสร้างรูปแบบขึ้นมา อย่างที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า พิธีอุปสมบท

รูปแบบที่มีมากับเนื้อหาเดิมก็คือว่า เพื่อจะให้การรับบุคคลเข้ามาสู่คณะสงฆ์เป็นไปอย่างรัดกุมที่สุด ก็ดำเนินการเป็นขั้นๆ ขั้นเริ่มแรกก็คือมีอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์ก็คือ ผู้รับบุคคลเข้ามาเสนอต่อสงฆ์ และรับรองแก่สงฆ์ว่าจะช่วยปกครองดูแลความประพฤติ ฝึกอบรมและให้การศึกษาชั่วระยะหนึ่งอย่างน้อย ๕ ปี จนกว่าบุคคลนั้นจะปกครองตนได้ เมื่ออุปัชฌาย์รับบุคคลเข้ามาและรับรองจะทำหน้าที่อย่างนี้ นำบุคคลนั้นเข้าเสนอต่อสงฆ์ ก็มีการประชุมสงฆ์ พระภิกษุที่มีสิทธิในบริเวณนั้นก็เข้ามาประชุมกัน บุคคลผู้นั้นก็ขออนุญาตต่อพระสงฆ์ คือที่ประชุมนั้นว่าจะอุปสมบท โดยมีท่านผู้นั้นเป็นอุปัชฌาย์ คล้ายๆ เป็นผู้ประกันและรับรองที่จะดูแลความประพฤติต่อไป สงฆ์ก็จะพิจารณาคุณสมบัติของบุคคลนั้นว่าสมควรที่จะรับเข้าสู่หมู่คณะหรือไม่ เพื่อการนี้ในที่ประชุมนั้นก็จะมีท่านผู้หนึ่งที่มีความรู้ความสามารถเข้าใจในทางพระวินัย ขออนุญาตต่อสงฆ์ทำหน้าที่เป็นผู้ซักถามขึ้น ซึ่งเรียกว่าคู่สวดในปัจจุบัน เมื่อสอบถามแล้วก็แจ้งต่อสงฆ์ว่าเท่าที่ได้สอบถามมาเกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคคลผู้นี้ แล้วได้ความอย่างนั้นๆ สงฆ์คือที่ประชุมนั้นจะเห็นเป็นอย่างไร สงฆ์ก็พิจารณาเมื่อเห็นว่าถูกต้อง มีคุณสมบัติครบถ้วนสมควรจะรับได้ก็ให้มีมติเป็นเอกฉันท์ การอุปสมบทก็เกิดขึ้น อันนี้คือรูปแบบที่คุมสาระเอาไว้

ทีนี้รูปแบบเช่นนี้ก็มีมาตามลำดับกาลเวลาจนถึงปัจจุบัน ปัญหาก็มีว่ารูปแบบยังคงอยู่จริง แต่สาระที่อยู่ในรูปแบบนั้น ยังคงอยู่หรือไม่ ถ้ายังคงอยู่จริง ยังอยู่เต็มตามรูปแบบหรือไม่ ตลอดถึงว่ามีความเข้าใจหรือตระหนักในสาระนั้นๆ กันหรือไม่ สำหรับบางท่านหรือแม้ในหมู่พระภิกษุเอง ก็อาจมีผู้ไม่เข้าใจเนื้อหาสาระของพิธีอุปสมบทนี้ เมื่อเห็นรูปแบบที่ปรากฏอยู่อาจจะเข้าใจไปว่า เป็นการนำบุคคลผู้หนึ่งซึ่งเป็นคฤหัสถ์ เข้ามาสู่พิธีแล้วพระก็สวด คงจะเป็นการเสกกัน เสกไปเสกมา บุคคลนั้นก็กลายจากคฤหัสถ์เป็นพระไปอะไรทำนองนั้น อันนี้ก็คือ รูปแบบที่มีมานั้นอาจจะทำให้เกิดการเข้าใจไขว้เขวขึ้นได้ นี้เป็นตัวอย่างในเรื่องพิธีกรรม

แม้เรื่องอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน สถาบันต่างๆ ระบบระบอบอะไรต่างๆ นี้จะมีมาใน ๒ ลักษณะ คือรูปแบบกับเนื้อหาสาระ ถ้าหากไม่มีความเข้าใจในเนื้อหาสาระอย่างแท้จริงแล้ว คนก็อาจจะติดในรูปแบบ เข้าใจว่าเมื่อระบอบอย่างนั้นแล้ว สิ่งที่ต้องการจะสำเร็จสมประสงค์ทันที ความเข้าใจอย่างนี้ ก็คงจะไม่ต่างจากความเข้าใจของคนโบราณซึ่งเราเคยกล่าวหาเขาว่าเป็นผู้งมงาย อย่างเช่นในสมัยที่พระพุทธเจ้าอุบัติ พระองค์ได้ทรงเลิกพิธีกรรมของพราหมณ์เป็นอันมาก ทรงติเตียนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ประกอบด้วยสาระ ไม่มีเหตุผล เช่นพิธีบูชายัญ ทำให้งมงายจนยึดถือว่า เมื่อทำตามแบบแผนครบถ้วนตามข้อกำหนดอย่างนั้นๆ แล้ว ผลสำเร็จที่ต้องการก็จะมีขึ้นเอง โดยเราไม่ต้องทำอะไรเลย นี้ก็คือเรื่องของพิธีกรรมหรือการติดในรูปแบบ แม้แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราติดอยู่ในรูปแบบต่างๆ จะเป็นสถาบันหรืออะไรก็ตาม ความเข้าใจยึดถือแบบนี้ ก็คงจะไม่ต่างกับความเข้าใจของคนสมัยโบราณ ที่เราประณามว่าเป็นคนงมงายนั้นแต่ประการใดเลย

เรื่องของรูปแบบในแง่ของสถาบัน ระบบ ระบอบอะไรนี้ อาตมภาพจะขอผ่านไปก่อน จะผ่านมาถึงในแง่ของความคิด ความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับหลักธรรม ก็มีรูปแบบเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นคำว่าบุญนี้ ก็มีทั้งเนื้อหาและรูปแบบ เมื่อพูดถึงเรื่องบุญ คนจำนวนมากทีเดียว อาจจะนึกถึงว่าเป็นสภาวะอะไรสักอย่างหนึ่ง มีอำนาจพิเศษเสมือนหนึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้เกิดผลดีได้ บางคนอาจจะถึงเอาความหมายนี้ไปสัมพันธ์กับการไปเกิดบนสวรรค์ อันนี้เป็นความเข้าใจที่ถือเป็นรูปแบบไปแล้ว จากรูปแบบความคิดก็จะขยายต่อไปสู่รูปแบบของการกระทำ เมื่อพูดว่าทำบุญ คนจำนวนไม่น้อยก็จะคิดถึงรูปแบบที่ว่า เอาอาหารไปถวายพระที่วัดในพิธีที่เรียกว่าทำบุญ หรืออาจคิดเลยไปอีกจนกระทั่งว่า ถ้าหากจะทำบุญให้ได้ผลมากก็ต้องสร้างวัดวาอาราม สร้างโบสถ์วิหารเป็นต้น เมื่อสร้างโบสถ์สร้างวิหารแล้วก็ถือว่าได้กุศลแรง อันนี้เป็นวิวัฒนาการในการสร้างรูปแบบเสียแล้ว ฝ่ายหนึ่งก็จะเกิดความยึดติดในรูปแบบเช่นนี้ เพราะถือว่าถ้าจะทำบุญให้ได้ผลมาก ก็จะไปสัมพันธ์กับความหมายที่ว่าจะได้ไปเกิดใหม่มีทรัพย์สินเงินทองมาก หรือไปเกิดในสวรรค์ ก็ต้องสร้างโบสถ์สร้างวิหาร สร้างศาลาการเปรียญในวัด อีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไร ในแง่ของสังคมหรือในแง่ของชีวิตที่จะต้องเป็นอยู่จริงในปัจจุบัน ก็เลยเกิดความขัดแย้งกันขึ้น นี่ก็เพราะไม่เข้าใจในเรื่องสาระและรูปแบบนั่นเอง ถ้าเข้าใจเรื่องนี้แล้ว ก็จะหนทางนำไปสู่การประสานกันและการแก้ไขได้

ทีนี้รูปแบบอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมจึงถือว่าการสร้างโบสถ์สร้างวิหารขึ้นในวัดวาอารามได้บุญมาก การที่เราเกิดความเข้าใจขึ้นมาเช่นนี้เป็นเพราะอะไร ขอให้นึกย้อนดูถึงสภาพสมัยเก่า ในสมัยก่อนนี้วัดวาอารามเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นศูนย์กลางแห่งชีวิตจิตใจของสังคม การศึกษาเล่าเรียนและกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนก็มีขึ้นที่วัดวาอาราม สิ่งก่อสร้างในวัดวาอารามนั้นก็เป็นสมบัติของส่วนรวม ไม่เป็นของผู้หนึ่งผู้ใดทั้งสิ้น สร้างขึ้นมาแล้วก็เป็นของกลาง เช่น กฏิหลังหนึ่ง สร้างขึ้นมาแล้วก็ไม่ได้เป็นของใครทั้งนั้น ทุกคนในชุมชนนั้นสามารถจะไปบวชและไปใช้กุฏิหลังนั้นอยู่ เมื่อตัวเองสึกแล้วก็มีคนอื่นหมุนเวียนกันใช้ต่อไป หรือว่าถ้าตัวเองไม่ได้ใช้ ลูกหลานของตนก็ใช้ได้ไม่เป็นสมบัติของใครโดยเฉพาะ หรืออย่างศาลาการเปรียญ ภิกษุสงฆ์ก็ได้ใช้เป็นสถานที่เล่าเรียน จะเป็นลูกใครหลานใครหรือตัวบุคคลผู้นั้นเองก็ไม่จำเป็นต้องระบุลงไป ส่วนชาวบ้านก็จะใช้เป็นที่ชุมนุมในกิจกรรมต่างๆ เช่น การฟังธรรมตลอดถึงการบำเพ็ญกุศลและการชุมนุมอื่นๆ วัดและสิ่งก่อสร้างในวัดจึงเป็นศูนย์กลางและเป็นสมบัติของชุมชน เพราะฉะนั้นเมื่อคิดว่าจะสร้างอะไรในชุมนุมชนนั้นเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม จะมีอะไรดีไปกว่าการสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นในวัดอาราม การสร้างกุฏิหลังหนึ่ง ก็คือการสร้างสาธารณประโยชน์ให้คนที่อยู่ในชุมชนนั้น ได้เข้ามาใช้ประโยชน์โดยเป็นตัวเองบ้างลูกหลานตัวเองบ้าง เป็นสมบัติของคนในสังคมนั้น สร้างศาลาขึ้นมาก็เป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของสังคมนั้นทั้งหมด

ฉะนั้น ความหมายที่ว่า เมื่อสร้างสิ่งก่อสร้างในวัดแล้วจะประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องระบุ เป็นความหมายที่เข้าใจกันอยู่ในตัวโดยไม่ต้องยกขึ้นมาพูดถึงอีก ไม่ต้องยกขึ้นมาตั้งเป็นคำถามด้วยซ้ำไป ความเข้าใจในเรื่องบุญจึงถ่ายทอดมาในรูปแบบที่ว่า ทำบุญคือสร้างสิ่งก่อสร้างในวัดวาอารามถือว่าได้บุญมาก อาจจะถือเป็นอุดมคติว่าช่วยให้ได้ไปเกิดในสวรรค์ หรืออะไรก็ตามแต่ ความหมายนั้นมันพ่วงไปในตัวเสร็จในแง่ที่ว่าเป็นสาธารณประโยชน์

แต่ในสมัยต่อมาเมื่อสภาพของสังคมเปลี่ยนไป สังคมของวัดวาอารามและสังคมภายนอกแยกออกจากกัน บทบาทที่วัดเป็นศูนย์กลางของสังคมในแง่ต่างๆ ก็ลดน้อยลงไปตามลำดับ เมื่อบทบาทลดน้อยลงไปเช่นนี้แล้วก็เกิดความวิปริตขึ้นมา ความคิดความเข้าใจก็แบ่งแยกออกเป็น ๒ ด้าน ฝ่ายหนึ่งก็เกิดความยึดมั่นโดยนำเอาความหมายในแง่ที่ว่า ทำบุญคือการสร้างสิ่งก่อสร้างภายในวัดแล้วจะได้บุญมาก ไปสัมพันธ์ผูกไว้กับความหมายที่ไกลตัว ไกลชีวิตออกไปทุกที เพราะความหมายและคุณค่าที่เกี่ยวกับสังคมและชีวิตปัจจุบันนั้นมันชักจะหลุดลอยออกไป เหลือแต่ความหมายที่ผูกพันกับชาติหน้าหรือสวรรค์ จากนั้นการพูดหรือการโฆษณาในแง่นั้นก็ยิ่งทวีและเน้นมากขึ้นตามลำดับ ส่วนคนอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่สามารถจะเข้าใจความหมายในแง่นี้ได้ จึงแยกตัวออกไปตั้งข้อกล่าวหาว่า การทำบุญเช่นนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่ส่วนรวม เป็นการถ่วงสังคมเป็นต้น ถ้าหากไม่สามารถนำความเข้าใจนั้นมาสู่จุดเริ่มต้น หาจุดที่จะเชื่อมต่อได้แล้ว การแก้ปัญหาจะเป็นไปได้ยาก

ขอยกตัวอย่างอีกสักข้อหนึ่ง คือเรื่องสมาธิ สมาธิก็มีทั้งในแง่เนื้อหาและรูปแบบ พอพูดถึงคำว่าสมาธิ โดยมากคนก็นึกถึงรูปแบบของการที่จะไปนั่งเงียบๆ หลับตาอะไรทำนองนั้น แต่ความหมายของสมาธิตัวจริงของมันในแง่ของเนื้อหาสาระ ก็คือ ความตั้งมั่นแห่งจิตใจหรือมีจิตใจแน่วแน่มั่นคง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในรูปของการนั่งเช่นนั้น จริงอยู่ รูปแบบที่นั่งสมาธิเช่นนั้น เป็นสิ่งสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งจะต้องนำไปพูดเป็นเรื่องหนึ่งต่างหากทีเดียว แต่รูปแบบที่สร้างขึ้นมานั้น ก็กลับเป็นเครื่องจำกัดสาระและทำให้เกิดความไขว้เขวผิดพลาดได้เช่นเดียวกัน

ความจริงสมาธินั้นมีได้แม้แต่ในเรื่องของชีวิตประจำวัน เช่นตัวอย่างที่ยกมาแล้ว ในเรื่องของเด็กที่ทิ้งถุงพลาสติกนั่นเอง ในการปฏิบัติธรรมข้อทมะก็ต้องมีการฝึกสมาธิอยู่ในตัว หรือจะพูดให้กว้างว่านั้นก็ได้ว่า เด็กที่จะเอาห่อของไปทิ้งในที่ทิ้งขยะนั้น เขาจะปฏิบัติพร้อมกัน ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อเด็กคิดว่าเขารับประทานของเสร็จแล้ว จะทิ้งถุงพลาสติกหรือห่อของนั้น เขามีสติระลึกขึ้นได้ว่าการทิ้งตรงที่ยืนนั้นเป็นการกระทำที่ผิด ในกรณีนี้สติก็เป็นข้อหนึ่งในหมวดสมาธิ การที่เขารู้ว่าการทิ้งเรื่อยเปื่อยโดยไม่ระมัดระวังเป็นความผิด อันนี้คือเขารู้ศีลเมื่อเขารู้คือมีปัญญาพิจารณาเห็นคุณค่าและโทษของมันว่า การกระทำที่ปล่อยไปตามความเห็นแก่ตน เห็นแก่ความสะดวกสบายนี้ไม่ดีไม่งาม เขาก็จะพยายามงดเว้นไม่ทำ เมื่อเขาพยายามงดเว้นจากการกระทำผิดคือเขาไม่ทิ้งในที่นั้นก็คือ เขาปฏิบัติไปตามศีลและเมื่อเขาระดมพลังจิตใจในการที่จะพยายามเอาชนะความเกียจคร้านของตนเอง เดินไปสู่ที่ที่จัดไว้นั้น ก็เป็นการใช้พลังสมาธิ และความเพียรพยายามเดินไปก็เป็นเรื่องของความเพียร ซึ่งอยู่ในหมวดสมาธิเช่นเดียวกัน อันนี้เป็นเรื่องที่ใช้อยู่เป็นประจำ เป็นเรื่องของเนื้อหาสาระที่มีความหมายกว้าง แต่เมื่อเราคิดเนื้อหาขึ้นมาในระยะหนึ่งแล้วรูปแบบก็จะก่อตัวขึ้นมาได้ตามลำดับ จนถึงจุดที่ว่ารูปแบบนั้นแข็งทื่อ ยากแก่การปรับ และทำให้เนื้อหาสาระคลาดเคลื่อนหรือคับแคบจนเกินไปด้วย อันนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง

ส่วนหลักธรรมอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน จะเป็นเรื่องสันโดษ โลกียะ โลกุตระ เรื่องวิปัสสนาเป็นต้น ก็จะมีความหมายในแง่เนื้อหาสาระและรูปแบบเช่นเดียวกัน และความเข้าใจในแง่รูปแบบนั้นก็จะทำให้เกิดความไขว้เขวในการเข้าใจเนื้อหาไปได้เป็นอย่างมาก เหมือนอย่างที่อาตมภาพได้พูดไปแล้ว ในวันนี้อาตมภาพคิดว่าคงจะไม่มีเวลาแสดงหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยความหมายและคุณค่าของหลักพุทธธรรมให้ยาวอีกต่อไปเท่าไร เพราะในขณะนี้เวลาก็ใกล้จะหมด

๔. ธรรมในแง่การเข้าถึงการวางท่าที

ข้อที่ควรจะพูดถึงต่อจากเรื่องที่แล้วคือ การเข้าถึงกับการวางท่าที อันนี้จะพูดให้สั้นที่สุด ความสับสนในการเข้าถึงกับการวางท่าทีนี้ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้มนุษย์สับสนมากในเรื่องของศาสนาและก็มีความสับสนในการดำรงชีวิตด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็เรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น นรก สวรรค์ คำถามเกี่ยวกับเทพเจ้า เรื่องเดียวกับโลกนี้ว่ามีที่สิ้นสุดไม่มีที่สิ้นสุด ที่เราเรียกว่าปัญญาทางอภิปรัชญา ปาฏิหาริย์ต่างๆ เหล่านี้พวกหนึ่ง กับเรื่องข้อปฏิบัติต่างๆ เหล่านี้อีกพวกหนึ่ง เราจะต้องมีหลักการวางตัวต่อมัน คือพวกหนึ่งเป็นสิ่งที่เราพึงเผชิญด้วยความพยายามเข้าถึง อีกพวกหนึ่งพึงเผชิญด้วยความตระหนักในการวางท่าที ถ้าเราไม่สามารถแยก ๒ อย่างนี้ออกจากกันแล้ว จะเกิดโทษและเกิดความสับสนในการปฏิบัติและความเข้าใจเป็นอย่างมาก

สำหรับพระพุทธศาสนานั้น วางหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน จะขอลัดให้สั้นว่า สำหรับธรรมะทั่วๆ ไปนั้น ก็ยังชัดแจ้งอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องที่เราจะต้องนำปฏิบัติ ธรรมะทั้งหลายอุปมาเหมือนแพ มีไว้สำหรับใช้ข้ามฝาก ทีนี้ในเรื่องบางอย่าง เอาง่ายๆ เช่นเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เราควรจะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร พระพุทธศาสนานั้นวางหลักไว้ชัดเจนแล้วว่า สำหรับสิ่งเหล่านี้ให้ใช้วิธีวางท่าที การวางท่าทีเป็นอย่างไร เรื่องบางอย่าง เช่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ อะไรเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะพิสูจน์ออกมาได้ให้เห็นชัดเจน ทั้งในแง่ยอมรับและปฏิเสธโดยสิ้นเชิง สิ่งเหล่านี้มีโอกาสให้คลุมเครืออยู่ตลอดไปหรือเป็นสิ่งลับๆ ล่อๆ ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้โดยสิ้นเชิงและฝ่ายที่ยืนยันก็ไม่สามารถที่จะชี้แจงให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมรับได้ แน่นอนเช่นเดียวกัน คือทั้งสองฝ่ายจะเอาชนะกันเด็ดขาดไม่ได้ ในเมื่อเป็นเช่นนี้ พระพุทธศาสนาให้ใช้วิธีวางท่าที

การวางท่าทีเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องลอยๆ เป็นการทำอย่างมีเหตุผลชัดเจนที่สุด วางท่าทีอย่างไร เรามองเห็นด้วยเหตุผลทันทีว่า การเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ นั้น ขัดต่อหลักการพึ่งตนเอง ทำให้เรามัวแต่หวังพึ่งพาอาศัย คอยหวังพึ่งอำนาจจากภายนอก ทำให้หวังผลสนองในทางลัด เช่น เราหวังผลสำเร็จในกิจบางอย่าง ถ้าเราไปหวังในสิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิปาฏิหาริย์แล้ว เราก็อาจจะต้องนั่งนอนรอเพื่อให้สิ่งนั้นบันดาลผลขึ้นมา ทำให้เราขาดความเพียรพยายามในการที่จะลงมือปฏิบัติโดยทางเหตุผลที่มองเห็นประจักษ์แก่ตนเอง ในทางหลักธรรมนั้น ให้พึ่งตนเอง ประพฤติปฏิบัติในทางที่เป็นเหตุเป็นผลในสิ่งที่มองเห็น พยายามให้เป็นผลสำเร็จขึ้นมาด้วยการกระทำของตนตามสามัญวิสัยหรือความเพียรของมนุษย์ การมัวเชื่อคอยหวังในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ ย่อมทำให้เราไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ และก็ทำให้เรามีจิตใจหวังพึ่งผู้อื่นอยู่เรื่อยไป เป็นผลเสียในการปฏิบัติธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงควรคิดตัดสินใจอย่างเด็ดขาดลงไปว่า เมื่อจะปฏิบัติตามพระพุทธศาสนา ก็ต้องถือหลักของการปฏิบัติด้วยการลงมือกระทำโดยความพากเพียรพยายาม ไม่ใช่มัวแต่ไปหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ ไม่ต้องพูดถึงว่าเมื่อสิ่งนั้นไม่เป็นจริง แม้เป็นจริงก็ไม่อยากพึ่ง ต้องเป็นอย่างนี้ นี่คือท่าทีของพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้า แม้จะมีคำสอนบันทึกไว้ว่า ทรงเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เป็นอย่างยิ่ง ทำได้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่พระองค์ก็ทรงติเตียนอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และทรงปรับอาบัติแก่พระภิกษุที่แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ด้วย เพราะเป็นการชักนำให้ประชาชนเกิดความไขว้เขว ไม่ทำให้เขาเพียรพยายามทำในสิ่งที่ควรทำ ให้สำเร็จด้วยเรี่ยวแรงของตนเอง จุดหมายที่สูงสุดนั้นจะบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรของตนเอง หาสำเร็จด้วยการพึ่งสิ่งที่อยู่ภายนอกไม่ เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้แม้สมมติหรือเป็นจริงก็เฉออกไปนอกทางของความเพียรพยายาม จึงให้วางท่าทีลงไปว่าไม่ควรจะหวังพึ่ง พระพุทธเจ้าทรงติเตียนอิทธิปาฏิหาริย์ไว้ ไม่ทรงสรรเสริญ ทรงสอนว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์คือ การสั่งสอนให้เห็นจริงเห็นจังด้วยปัญญาจนนำไปปฏิบัติได้เอง เป็นสิ่งที่ประเสริฐกว่า ดังนี้เป็นต้น

๕. ธรรมที่คงตัวและธรรมที่ปรับได้

ตอนนี้มีอีก ๒ ข้อที่เป็นข้อสั้นๆ คือ ธรรมมะที่คงตัวกับธรรมะที่ปรับได้ ธรรมะที่คงตัวหมายถึงหลักธรรมประเภทที่แสดงหลักความจริงที่ปรับได้ ธรรมะที่คงตัวหมายถึงหลักธรรมประเภทที่แสดงหลักความจริงอันแน่นอนตายตัว หรือใช้ได้ตลอดทุกกาลทุกสมัย ธรรมที่ปรับได้หมายถึงหลักธรรมที่พึงปรับหรือนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมตามสภาพแวดล้อม สองอย่างนี้ถ้าไม่รู้จักแยกก็เกิดความไขว้เขวได้มาก เช่น มีผู้พูดว่า พระพุทธศาสนาตั้งนานมาสองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว ตอนนี้ควรจะปรับปรุงแก้ไขหรืออะไรทำนองนี้ อันนี้ก็เป็นเพราะไม่เข้าใจระหว่างธรรมะที่คงตัวกับธรรมะที่ปรับได้

ธรรมะที่คงตัวนั้น มีทั้งในแง่สัจธรรมและในแง่จริยธรรม ในแง่ของสัจธรรมก็คือ หลักที่แสดงภาวะของสิ่งทั้งหลาย อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะอุบัติขึ้นหรือไม่อุบัติขึ้นก็ตาม สิ่งทั้งหลายก็เป็นอย่างนั้นๆ เช่นหลักไตรลักษณ์ว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีความคงที่ มีความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้และไม่มีตัวตนของมันเอง และหลักปฏิจจสมุปทาทที่แสดงความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นต้น พวกนี้เรียกว่าธรรมะที่คงตัวในแง่จริยธรรม ก็ได้แก่หลักจริยธรรมที่เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์โดยตรง ตราบใดที่คนยังเป็นคน หลักจริยธรรมสำหรับความเป็นคนก็ยังคงตัว คนนั้นไม่เหมือนกัน คือเป็นคนเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน ในกรณีที่เป็นคนไม่เหมือนกัน หรือเป็นคนแต่อยู่ในสภาพแวดล้อมต่างกัน ก็มีธรรมมะที่ปรับได้สำหรับแต่ละคน และธรรมะสำหรับให้คนไปเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม สถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน อันนี้ก็เป็นธรรมะที่ถูกปรับ ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมสถานการณ์นั้นๆ

๖. ธรรมที่เป็นกุศลกับอกุศลเป็นปัจจัยกันได้

อีกข้อหนึ่งคือ ความเป็นปัจจัยระหว่างกุศลกับอกุศล หมายความว่า ความดีเป็นปัจจัยของความชั่วได้และความชั่วก็เป็นปัจจัยของความดีได้ อันนี้ไม่ได้ขัดกันกับหลักธรรมที่ว่าทำกรรมดีได้ผลดี และทำกรรมชั่วได้ผลชั่วแต่กลับเป็นหลักสนับสนุน แต่เราไม่ค่อยได้คิดกัน กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล ความดีย่อมปัจจัยแก่ความชั่วได้ ความชั่วย่อมเป็นปัจจัยแก่ความดีได้ และไม่มีความชั่วใดที่ไม่เป็นปัจจัยให้แก่ความดี

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ อันนี้เป็นไปตามหลัก เป็นเรื่องของสัจธรรมทีเดียว หลักธรรมที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนั้น เป็นเรื่องของหลักธรรมประเภทเหตุ เช่นอย่างเรื่องพืช ปลูกพืชเม็ดมะม่วงก็ออกมาเป็นมะม่วง แต่เรื่องของปัจจัย ความดีเป็นปัจจัยให้แก่ความชั่วได้ เป็นปัจจัยหมายถึงเป็นตัวสนับสนุน คือความชั่วนั้นมันมีอยู่ แต่ว่ามันคอยโอกาส เมื่อมันได้โอกาสมันจึงแสดงผลออกมา จะยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าความดีเป็นปัจจัยแก่ความชั่วได้อย่างไร เช่นผู้ที่ทำความดีได้รับคำยกย่องสรรเสริญ ก็เกิดความพึงพอใจในคุณความดีของตนเอง เกิดมานะแล้ว อาจจะเป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกดูถูกผู้อื่นขึ้นได้ อันนี้เรียกว่า ความดีเป็นปัจจัยให้เกิดความชั่ว หรือความชั่วเป็นปัจจัยให้เกิดความดี เช่นพระเจ้าอโศกมหาราชยกทัพไปรบราฆ่าฟัน ฆ่าคนมากมาย เสร็จแล้วความชั่วนั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดความสำนึกสลดพระทัย หันมาทำความดีทางศาสนาได้ แม้แต่ความสลดใจที่ทำให้นึกถึงความดี ก็เป็นไปตามหลักที่ว่าความชั่วเป็นปัจจัยแก่ความดี

หลักข้อนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาเช่นเดียวกัน เพราะเราจะต้องรู้จักแยก เช่น เมื่อเราได้ประสบผลสำเร็จอันหนึ่ง มันอาจจะเป็นการได้ผลสำเร็จที่ดีโดยวิธีการที่ชั่วก็ได้ ดังนี้เป็นต้น และถ้าหากเราไม่มีสติระมัดระวังแล้ว ไม่รีบแก้ไขด้วยความตระหนักว่า ผลสำเร็จที่ดีนี้เราได้มาด้วยวิธีการที่ชั่ว หรือวิธีการที่ดี แต่มีส่วนชั่วแฝงเร้นอยู่หรือเราได้อาศัยความชั่วนั้นเป็นโอกาส ถ้าเราไม่ตระหนักแล้วเราอาจจะไม่คิดแก้ไข ความชั่วนั้นก็อาจจะขยายตัวขึ้นมาเป็นโทษแก่เราก็ได้ นี้ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน อาตมภาพไม่มีเวลาที่จะพูดขยายในเรื่องนี้ต่อไป แต่ว่าอันนี้ก็คือเรื่องของการที่จะต้องใช้สติสัมปชัญญะให้มาก

๗. กิจกรรมสนองตัณหากับกิจกรรมทางปัญญา

จะขอผ่านไปถึงข้อสุดท้าย คือเรื่องกิจกรรมทางตัณหาและกิจกรรมทางปัญญา อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องรู้จักแยกเช่นเดียวกัน เมื่อเรากระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมา มันจะเป็นไปในรูปของกิจกรรมที่สนองตัณหาหรือกิจกรรมในทางปัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง หลักข้อนี้ใช้สำหรับวินิจฉัยการกระทำต่างๆ ทุกอย่างแม้กระทั่งปัญหาในปัจจุบันที่ว่า เราควรจะรับสิ่งที่เป็นผลผลิตของเทคโนโลยีหรือประยุกตวิทยาแค่ไหนเพียงไร เมื่อวินิจฉัยตามหลักพุทธธรรมข้อนี้ก็หมายความว่า เทคโนโลยีใดเป็นไปเพื่อกิจกรรมสนองตัณหา คือเป็นการมุ่งที่จะปรนเปรอทางวัตถุ มีวัตถุประสงค์ปรนเปรอกามสุข เป็นเครื่องมือของความเห็นแก่ตัวแล้ว ก็ไม่ถูกต้อง แต่ถ้าเป็นไปเพื่อกิจกรรมทางปัญญา เป็นไปในทางช่วยให้การดำเนินชีวิตของมนุษย์เกิดความสะดวกสบายโดยช่วยในทางกิจหน้าที่ เกื้อกูลแก่การดำรงอยู่ร่วมกัน ช่วยมนุษย์ในการแสวงหาชีวิตที่ดีงาม ก็พิจารณารับได้

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สรุปเข้าสู่หลักพุทธศาสนา ที่เรียกว่าวิภัชชวาทอย่างเดียว พระพุทธศาสนานั้นเป็นคำสอนที่มีชื่อจำกัดอย่างหนึ่งว่า วิภัชชวาท พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระองค์เองว่า วิภัชชวาที คือผู้ที่สอนจำแนกแยกแยะหรือวิเคราะห์แจกแจงออกไป ในแต่ละส่วนแต่ละอย่าง แม้แต่ในสิ่งที่รวมกัน ปนกันอยู่ มีสิ่งใดถูกต้อง สิ่งใดดี จริงหรือไม่จริง ต้องแยกออกไปได้ชัดเจน ไม่ใช่ว่าคลุมๆ

อาตมภาพได้พูดเรื่องนี้มาพอสมควร บางข้ออาจจะพิสดารไปบ้าง บางข้ออาจจะรวบรัดไปบ้าง แต่รวมแล้วทำให้เวลาเกินไปกว่าที่กำหนดไว้ อาตมภาพได้แสดงธรรมกถาในเรื่องที่พอจะกล่าวได้ว่า เป็นหลักเกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรมมาเป็นเวลาพอสมควร หากการแสดงปาฐกถามีประโยชน์อยู่บ้างพอจะถือได้ว่าเป็นความดี ก็ขอร่วมอุทิศกุศลจากความดีและประโยชน์นี้ แก่ท่านพระสารประเสริฐหรือนาคะประทีป ซึ่งได้บำเพ็ญคุณประโยชน์ไว้แก่วงวิชาการในทางภาษา ทั้งภาษาบาลีและภาษาที่เกี่ยวข้อง ตลอดถึงวรรณกรรมในประเทศไทยเรานี้เป็นอย่างมาก

ขออนุโมทนาและขออำนวยพรแด่ท่านผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดงานนี้ ที่ได้มีกุศลเจตนามองเห็นคุณงามความดีของท่านพระสารประเสริฐ (นาคะประทีป) กับทั้งท่านเสฐียรโกเศศ ผู้ร่วมงานกับท่านนาคะประทีป ซึ่งคณะกรรมการนี้ได้เคยจัดงานอุทิศแด่ท่านเป็นส่วนหนึ่งต่างหากแล้ว การที่ท่านทั้งหลายมีกุศลเจตนาจัดงานเช่นนี้ขึ้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการแสดงออกซึ่งธรรมะคือ กตัญญูกตเวทิตาส่วนหนึ่ง แสดงว่าท่านทั้งหลายมีจิตใจอันละเอียดอ่อน และประกอบด้วยสติปัญญา สามารถมองเห็นคุณค่าแห่งการกระทำของผู้อื่น ที่ดีงามและเป็นประโยชน์ แล้วช่วยขวนขวายเกื้อหนุนให้ผลงานที่เกิดจากการกระทำนั้น ดำรงอยู่ยั่งยืน อำนวยประโยชน์แก่หมู่ชนกว้างขวางยิ่งขึ้นไป ขออำนาจคุณพระรัตนตรัยและกุศลเจตนานั้น จงเป็นพลวปัจจัยให้ท่านทั้งหลายประสบจตุรพิธพร และบรรลุผลสำเร็จอันชอบธรรมสมปรารถนาทุกประการ

ทำอย่างไรจึงจะให้เชื่อเรื่องกรรม

แยกออกไปพิมพ์เป็นเรื่องเดี่ยวในชื่อ "ทำอย่างไรจะให้เชื่อเรื่องกรรม"

สันโดษ

ในการปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติจำต้องเข้าใจความหมายของธรรมที่ตนปฏิบัติอย่างถ่องแท้ ต้องรู้แนวทางหรือวิธีปฏิบัติ และที่สำคัญยิ่งคือต้องรู้จุดหมายของธรรมข้อนั้น ที่สัมพันธ์กับธรรมข้ออื่นด้วย มิฉะนั้น จะเป็นการปฏิบัติอย่างเลื่อนลอย ไร้ผลผิดพลาด กลายเป็นความงมงาย และกลับเป็นโทษได้ เช่นเดียวกับการกระทำอย่างอื่น ที่ไร้จุดหมายทั้งหลาย ซ้ำยังเป็นเหตุให้มีผู้มองพระพุทธศาสนาไปในทางที่ผิดอีกด้วย โดยเหตุนี้ก่อนจะปฏิบัติธรรมข้อใด น่าจะได้ศึกษาความหมาย แนวการปฏิบัติและจุดหมายของธรรมข้อนั้นให้เห็นชัดเสียก่อน

ในที่นี้ จะแสดงการศึกษาธรรมแบบวิเคราะห์ไว้สักข้อหนึ่ง คือเรื่อง “สันโดษ” ตามที่ปรากฏในหลักฐานทางตำรา

ความหมาย

ความสันโดษนี้ ศัพท์บาลีเป็นสนฺตุฎฐี แต่ที่ใช้สนฺโตโสมีบ้างน้อยแห่ง โดยพยัญชนะ คำว่าสนฺตุฎฐี หรือ สันโดษ แปลได้ดังนี้

๑. ความยินดีพร้อม คือความพอใจ

๒. ความยินดีในของของตน

๓. ความยินดีโดยชอบธรรม

รวมความหมายในทางธรรมว่า สันโดษ คือความยินดีในของที่ตนมี ซึ่งได้มาโดยชอบธรรม หรือความพอใจ มีความสุขได้ด้วยสิ่งที่ได้มาเป็นของตน ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตนเองโดยทางชอบธรรม

วัตถุประสงค์

ก. วัตถุประสงค์ทั่วไป

การประพฤติสันโดษ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครื่องสนับสนุนการดำเนินตามอริยมรรค คือ การศึกษาปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธศาสนา ที่จะให้บรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุด คือวิมุตติ (ความหลุดพ้น, ความมีจิตใจเป็นอิสระ) หรือนิพพาน ความดับกิเลสและทุกข์ได้สิ้นเชิง)

ข. วัตถุประสงค์เฉพาะ

เพื่อให้จิตใจปลอดโปร่ง มั่นคง ปราศจากความติดข้องในสิ่งเย้ายวน ปราศจากความครุ่นคิดกังวลในการที่จะหาทางบำรุงบำเรอปรนเปรอตนเอง จะได้นำเวลาความคิดและแรงงานมาทุ่มเทอุทิศให้แก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนได้เต็มที่

หลักการ

- มีความเป็นอยู่ทางด้านวัตถุคือปัจจัย ๔ แค่พอดี คือพอสะดวกสบาย พอเกื้อกูลแก่สุขภาพ แก่การดำเนินชีวิตที่ดีงาม และแก่การปฏิบัติกิจหน้าที่ของตน ไม่ใช่เพื่อ โก้ ฟุ้งเฟ้อ หรูหรา แข่งโอ่อ่ากว่ากัน

- แสวงหาปัจจัย ๔ ด้วยความขยันหมั่นเพียรอย่างจริงจัง โดยทางที่ถูกต้อง ชอบธรรม ซึ่งเหมาะสมกับภาวะและฐานะของตน ไม่ขัดหรือเสียหายต่อการปฏิบัติหน้าที่ และสามารถนึกถึงสิ่งที่ตนได้มานั้นด้วยความเอิบอิ่มภูมิใจ

- พอใจและมีความสุขได้ด้วยสิ่งที่ตนหามาได้ เป็นผลสำเร็จของตนเอง ทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง ตั้งมั่น สงบ ไม่กระวนกระวาย

- เอาเวลา ความคิด และแรงงานมาอุทิศให้แก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยเต็มที่ พยายามแก้ไข ปรับปรุง ทำงานให้ก้าวหน้า ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่พล่าเวลาและความคิดให้เสียไปด้วยความฟุ้งเฟ้อ ความปรนปรือ และไม่ให้จิตใจถูกรบกวนด้วยสิ่งเหล่านี้

คำว่าภาวะและฐานะของตนนั้น เช่น เป็นบรรพชิต หรือเป็นคฤหัสถ์เป็นต้น ซึ่งมีขอบเขตแห่งการดำเนินชีวิต การประพฤติปฏิบัติ และการหาเลี้ยงชีพแตกต่างกันไปตามระเบียบวินัย ขนบธรรมเนียมและประเพณีของสังคม เป็นต้น

ขอบเขต

ปัจจัย ๔ เป็นขอบเขตของสันโดษ หมายความว่า สันโดษเป็นธรรมที่จำกัดไว้ให้ใช้กับปัจจัย ๔ คือ ให้ใช้สันโดษกับสิ่งที่เป็นเครื่องอาศัยเลี้ยงชีวิตด้านวัตถุเท่านั้น ไม่กินความถึงความดีงามและหน้าที่การงาน เป็นต้น6

กรณีที่สอนไม่ไห้สันโดษ

พระพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงสอนให้มีความสันโดษในเรื่องทุกอย่าง ในบางกรณีกลับทรงสอนไม่ให้สันโดษ และความไม่สันโดษนี้ นับว่าเป็นคุณธรรมสำคัญอย่างหนึ่งด้วย เช่นที่ได้ตรัสไว้ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เราได้รู้ชัดคุณของธรรม ๒ ประการ คือ ความเป็นผู้ไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย อย่างหนึ่ง และความไม่รู้จักระย่อในการทำความเพียร อย่างหนึ่ง”7

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ก็เพราะอาศัยธรรม ๒ อย่างนี้ เช่น เพราะยังไม่ทรงพอพระทัยในความรู้และคุณพิเศษที่ได้ในสำนักของอาฬารดาบส และอุททกดาบส จึงทรงแสวงธรรมและบำเพ็ญเพียรต่อมา และเพราะไม่ทรงท้อถอย จึงบรรลุโพธิญาณได้

อีกแห่งหนึ่ง ตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ย่อมบรรลุความยิ่งใหญ่ และความไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย ชั่วเวลาไม่นานเลย คือ เป็นผู้มากด้วยความสว่างแห่งญาณ ๑ เป็นผู้มากด้วยการประกอบการเพียร ๑ เป็นผู้มากด้วยความเบิกบานใจ (มีปีติและปราโมทย์) ๑ เป็นผู้มากด้วยความไม่สันโดษ (ในกุศลธรรมทั้งหลาย) ๑ เป็นผู้ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ๑ และมุ่งมั่นพยายามทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ๑”8

อนึ่ง ตามหลักฐานนี้ คุณธรรมคือความไม่สันโดษ ก็มีขอบเขตด้วยเหมือนกัน คือ จำกัดให้ใช้กับกุศลธรรมทั้งหลาย อันได้แก่สิ่งที่เป็นความดีงาม ถูกต้อง ชอบด้วยเหตุผล เกิดจากปัญญา สิ่งที่ตัดรอนความชั่ว ทำให้ชีวิตจิตใจเจริญงอกงาม ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น

พูดสรุปได้ว่า ท่านสันโดษในปัจจัย ๔ แต่ไม่ให้สันโดษในกุศลธรรม หรือสันโดษในการแสวงวัตถุ แต่ไม่ให้สันโดษในการทำสิ่งที่ดี

บุคคลที่ต้องสันโดษ

สันโดษ เป็นธรรมที่ท่านเน้นพิเศษสำหรับบรรพชิต ตามหลักฐานในพระไตรปิฎก ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสอนสันโดษไว้มากมายหลายแห่ง พบแต่ที่ตรัสสอนแก่พระภิกษุเท่านั้น ไม่พบที่ตรัสสอนคฤหัสถ์โดยเฉพาะเลย มีพบ ๒-๓ แห่งเท่านั้นที่ไม่ระบุชัดว่าตรัสแก่พระภิกษุ คือตรัสเป็นข้อธรรมกลางๆ ในมงคลสูตร9 ว่าเป็นอุดมมงคลอย่างหนึ่ง และในธรรมบท10 ว่าเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง แม้ที่กำหนดว่าเป็นลักษณะตัดสินธรรมวินัยอย่างหนึ่งใน ๘ ประการ ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นหลักกลางๆ ก็ตรัสแก่พระภิกษุณี คือพระนางมหาปชาบดีโคตมี11

การที่พระพุทธเจ้ามุ่งตรัสสอนสันโดษแก่พระภิกษุเป็นพิเศษนั้น เป็นเพราะการออกบวชเป็นพระภิกษุมีความหมายที่จะทำความเพียร บำเพ็ญข้อปฏิบัติทางจิตใจและแจกจ่ายธรรมทานโดยเฉพาะ จึงต้องพยายามตัดกังวลและสิ่งเย้ายวนทางวัตถุให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อใช้เวลาและแรงงานให้เกื้อกูลแก่การบำเพ็ญ สมณธรรมมีสมาธิเป็นต้น และการเทศนาสั่งสอนธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่ของพระภิกษุ

ถึงแม้สันโดษจะเป็นธรรมที่มุ่งเน้นพิเศษสำหรับบรรพชิตแต่คฤหัสถ์ก็ควรประพฤติ โดยทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตให้ถูกต้อง แล้วปฏิบัติตามหลักการ คือ ตัดความกังวลฟุ้งเฟ้อและการปรนปรือตนเอง มุ่งมั่นใฝ่ใจการปฏิบัติหน้าที่การงานของตน

ธรรมควบประสาน

ในการปฏิบัติธรรมข้อหนึ่งๆ มิใช่ว่าผู้ปฏิบัติจะมุ่งบำเพ็ญ คุณธรรมข้อนั้นโดยลำพังอย่างเดียว ตามปกติมักมีธรรมที่ควรปฏิบัติควบคู่ประสานกัน เพื่อเสริมและเพิ่มกำลังแก่กันด้วย พระพุทธเจ้าจึงมักตรัสธรรมเป็นหมวดๆ มีจำนวนต่างๆ กัน และธรรมบางข้อมักมาคู่กันเสมอ ไม่ว่าในหมวดธรรมใดๆ เช่น เมื่อสอนศรัทธาแล้วก็จะต้องสอนปัญญาด้วย เพื่อไม่ให้กลายเป็นความงมงาย เป็นต้น

สำหรับธรรมข้อสันโดษนี้ ก็มีธรรมควบประสาน ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ด้วยกันเกือบทุกครั้งอย่างหนึ่ง คือความเพียร พยายาม หรือวิริยารัมภะ ที่แปลกันว่า การปรารภความเพียร ถือเอาความหมายง่ายๆ ว่า การระดมความเพียรหรือตั้งหน้าตั้งตาเพียรพยายามปฏิบัติหน้าที่ ไม่หยุดยั้ง หลักฐานในเรื่องนี้พึงดู นาถกรณธรรม ๑๐ กถาวัตถุ ๑๐ และธรรมหมวดอื่นๆ ตามที่มาทั้งหลายซึ่งอ้างไว้แล้วข้างต้น

ลักษณะของผู้สันโดษ

- เป็นผู้แสวงหาเครื่องเลี้ยงชีพด้วยความเพียรและปัญญาเท่าที่เหมาะสมกับภาวะของตน และเป็นการชอบธรรม

- ไม่อยากได้ของผู้อื่น หรือของที่ไม่ชอบธรรม ไม่ทำการทุจริตเพราะปากท้อง และผลประโยชน์ส่วนตัว

- เมื่อหามาได้ และใช้สอยสิ่งเหล่านั้น ก็ไม่ติด ไม่หมกมุ่นมัวเมา ไม่กลายเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น

- เมื่อไม่ได้ เมื่อสุดวิสัยไม่สำเร็จ ก็ไม่เดือดร้อนกระวนกระวาย ไม่ยอมให้ความผิดหวังครอบงำ ยังคงปฏิบัติหน้าที่การงานของตนต่อไปได้ และพยายามทำใจให้ผ่องใสสงบเป็นปกติ

- ไม่ถือเอาสิ่งที่ตนหาได้ สมบัติของตน หรือผลสำเร็จของตน มาเป็นเหตุยกตนข่มผู้อื่น

- หาความสุขได้จากสิ่งที่เป็นของตน หรือเป็นสิทธิของตน สามารถดำรงชีวิตที่มีความสุขในฐานะที่ตนเข้าถึงในขณะนั้นๆ

- มีความภูมิใจในผลสำเร็จที่เกิดจากเรี่ยวแรงกำลังงานของตน มีความอดทน สามารถรอคอยผลสำเร็จที่จะพึงเกิดขึ้นจากการกระทำของตน

- มีความรักและภักดีในหน้าที่การงานของตน มุ่งหน้าปฏิบัติหน้าที่การงานให้ก้าวหน้า และบรรลุความสำเร็จ

อาการแปลกปลอมหรือสันโดษเทียมและความหมายที่คลาดเคลื่อน

การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกับความเป็นไปอย่างอื่นส่วนมาก คือมีความไขว้เขว ความเข้าใจผิด และการหลอกลวงได้ สันโดษก็เป็นธรรมข้อหนึ่ง ที่มีสภาพความประพฤติชั่วบางอย่างมาคล้ายคลึงเข้า โดยอาการภายนอก ความชั่วที่ดูเผินๆ คล้ายสันโดษนี้ คือความเกียจคร้าน เฉื่อยชา ไม่เอาธุระ ความเพิกเฉยต่างๆ

การวินิจฉัยอาการแปลกปลอม หรือลวงนี้ กระทำได้ไม่ยาก ข้อตัดสินที่เด็ดขาด คือพิจารณาว่าผู้นั้นมุ่งหน้ากระทำสิ่งที่ดีงาม ปฏิบัติหน้าที่การงานของตนหรือไม่ ถ้าไม่ ก็พึงวินิจฉัยว่าเป็นความเกียจคร้านเฉื่อยชา

ความหมายคลาดเคลื่อนของสันโดษที่ใช้กันมากในปัจจุบัน คือการปลีกตัวจากสังคมไปอยู่สงบเงียบ หรือการไม่ชอบยุ่งเกี่ยวกับใคร ซึ่งใกล้กับความหมายของคำว่า “วิเวก”

ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ (ธรรมที่พึงกำจัดด้วยสันโดษ)

๑. การเบียดเบียนกันเพราะความอยากได้ของผู้อื่น

๒. การทุจริต เพราะอยากได้ แต่ไม่อยากทำ หรืออยากได้เร็วโดยทางลัด ไม่อาจรอคอยผลสำเร็จที่จะพึงเกิดจากการกระทำของตนเอง

๓. ความฟุ้งเฟ้อ สำรวย การใช้ชีวิตอย่างโก้หรู ฟุ่มเฟือย แต่ไม่ชอบทำการงาน

๔. ความทอดทิ้ง ละเลย ไม่เอาใจใส่ในหน้าที่การงาน ตลอดถึงการทุจริตต่อหน้าที่

๕. ความเกียจคร้าน เฉื่อยชา

๖. ความเดือดร้อนใจ ความกระวนกระวาย รุ่มร้อน หาความสุขไม่ได้เพราะไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ มีความไม่พอใจอยู่ตลอดเวลา

ผลได้พิเศษ

ผลพลอยได้พิเศษ นอกเหนือจากที่เป็นวัตถุประสงค์เฉพาะของธรรมข้อนี้ มีหลายอย่าง เช่น

๑. สิ่งที่ตนมีอยู่และแสวงหามาเพื่อสร้างความสุขความสะดวกสบายแก่ตน ก็ให้ความสุขได้จริง

๒. ป้องกันความทุจริต ที่จะเกิดจากความอยากได้โดยไม่อยากทำ การได้ไม่รู้จักพอ และการอยากได้ของของผู้อื่น ทำให้สังคมสงบสุขไปด้วย

๓. ทำให้มุ่งปฏิบัติกิจหน้าที่ของตน ทำให้เกิดความก้าวหน้าทั้งส่วนตัว และความเจริญของประเทศ

๔. ป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดจากความฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อของประชาชน ทำให้เวลาความคิดและแรงงานเกิดผลงอกเงยมากขึ้น

สันโดษประยุกต์

สันโดษนี้ เมื่อนำไปประยุกต์ใช้ในทางสังคมระดับชาติ ก็อาจแปลความหมายเป็นความพอใจในผลิตผลของประเทศของตน ความภาคภูมิใจในสิ่งที่เป็นของชาติของตน และความร่วมใจกันสร้างสรรค์ผลสำเร็จให้เป็นสมบัติของชาติของตนเอง ด้วยความพากเพียร และอดทน

ในที่นี้ จะไม่วิจารณ์ว่า การประยุกต์สันโดษมาใช้ในกรณีนี้เป็นสิ่งควรทำหรือไม่อย่างไร เป็นแต่พูดให้เห็นว่าเป็นไปได้ในรูปเช่นนี้ และถ้าคนในชาติใดเป็นคนสันโดษตรงตามความหมายของธรรม ผลที่ปรากฏออกมาเป็นส่วนรวมของชาตินั้น ก็จะเป็นเช่นนี้

ปัจจุบันนี้ น่าจะได้มีการศึกษาข้อธรรมต่างๆ ที่ชวนไขว้เขว เช่น สันโดษนี้ และเรื่องทาน ศีล กรรมเป็นต้น ในรูปวิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจชัดเจน เป็นการป้องกันภัยที่จะเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การเข้าใจโดยสักว่าถือตามๆ กันมา และการตีความให้เข้ากับประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงหลัก อันก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติธรรม และทำให้มองหลักธรรมในทางที่ผิด ซึ่งเป็นความเสียหายแก่พระศาสนาและสังคมเป็นอย่างยิ่ง

วรรณะ

การแบ่งชั้นกันในหมู่ประชาชนเป็นลักษณะที่มีอยู่ในสังคมทั่วไป ไม่ว่าในยุคสมัย หรือถิ่นฐานใด แต่การแบ่งชนชั้นที่มีชื่อว่า วรรณะ เป็นลักษณะพิเศษของสังคมอินเดียโดยเฉพาะ ซึ่งหาเทียบไม่ได้ในสังคมอื่น

วรรณะ คือระบบการแบ่งชนชั้นในสังคม ตามหลักศาสนาพราหมณ์ ซึ่งถือเอาชาติกำเนิดเป็นเกณฑ์ บุคคลเกิดในวรรณะใด ย่อมได้รับสิทธิและแนวทางดำเนินชีวิตตามที่หลักคำสอนในศาสนาพราหมณ์ชี้และขีดวงให้ไว้สำหรับวรรณะนั้น แน่นอนตามตัวชั่วชีวิตของตน

ชาวอินเดีย ได้เชื่อถือและประพฤติปฏิบัติเคร่งครัดตามคำสอนและจารีตเกี่ยวกับวรรณะมาเป็นเวลากว่าพันปี กระทั่งการถือวรรณะนั้น ไม่เพียงแต่แพร่หลายแทรกอยู่เป็นลักษณะสามัญในสังคมอินเดียทุกระดับเท่านั้น แต่ยังมีการถือซับซ้อนแบ่งย่อยซอยออกไป ทำให้จำนวนวรรณะเพิ่มพูนขึ้นตามยุคสมัย จนเกือบจะนับไม่ถ้วนอีกด้วย และความเชื่อถือนั้นฝังลึกเหนียวแน่นจนกระทั่งว่า แม้ชาวอินเดียที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นแล้ว เช่น เป็นมุสลิม สิกข์ และคริสต์ เป็นต้น ก็ยังมีความยึดถือวรรณะแฝงติดไป พลอยให้มีการแบ่งชั้นทำนองคล้ายกันในหมู่ศาสนิกนั้นๆ อีกด้วย

เหตุเกิดวรรณะ

ก. ตามตำนาน

๑) ทฤษฎีเกี่ยวกับลำดับยุค

การแบ่งกาลเวลาตามหลักศาสนาพราหมณ์ เป็นสิ่งเนื่องด้วยองค์พระเป็นเจ้าผู้สร้าง คือพระพรหม วันคืนหนึ่งเต็มๆ ของพระผู้สร้าง ทั้งข้างสว่างคือกลางวันและข้างมืดคือกลางคืน มีชื่อเรียกเฉพาะว่า กัป หรือกัลป์หนึ่ง เทียบมาตราเวลาของมนุษย์ได้ ๘,๖๔๐,๐๐๐,๐๐๐ ปี กำหนดเอากัปหรือกัลป์นี้เป็นหลัก แบ่งซอยออกเป็นมาตราเวลาได้ ดังนี้

๑ กัลป์ = ๒ อรรธกัลป์

๑ อรรธกัลป์ = ๑,๐๐๐ มหายุค หรือ มันวันตระ

๑ มหายุค = ๔ ยุค

ยุคทั้ง ๔ นั้นคือ

๑. กฤตยุค เทียบมาตราเวลามนุษย์ได้ ๑,๔๔๐,๐๐๐ ปี

๒. เตรตยุค เทียบมาตราเวลามนุษย์ได้ ๑,๐๗๐,๐๐๐ ปี

๓. ทวาปรยุค เทียบมาตราเวลามนุษย์ได้ ๗๒๐,๐๐๐ ปี

๔. กลียุค เทียบมาตราเวลามนุษย์ได้ ๓๕๐,๐๐๕ ปี

แต่ละยุคเริ่มต้นด้วยสนธยา และสิ้นสุดลงด้วยสนธยามศะเป็นช่วงต่อระหว่างยุค และเมื่อครบ ๔ ยุค เป็นมหายุคหนึ่งนั้น โลกจะสิ้นสุดลงด้วยลยะ กลับคืนเข้าสู่หทัยแห่งพรหมครั้งหนึ่ง

กำเนิดแห่งหมู่ชนในวรรณะทั้ง ๔ เป็นไปตามความเจริญและความเสื่อมที่เกิดขึ้นในยุคทั้ง ๔ กล่าวคือ ในยุคต้นที่เรียก กฤตยุค หรือสัตยยุคนั้น เป็นยุคที่โลกเจริญที่สุด เรียกว่าเป็นยุคทอง มนุษย์ที่เกิดในยุคนี้มีวรรณะเดียว คือ หังสะ มีสีขาวกาลล่วงมา โลกนี้เสื่อมลง ความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมปรากฏในหมู่มนุษย์มากขึ้นโดยลำดับ มนุษย์วรรณะต่างๆ จึงเกิดขึ้นตามกันมา

- มนุษย์พวกที่เกิดสืบมาแต่วรรณะเดิมในยุคที่ ๑ ได้แก่ มนุษย์วรรณะพราหมณ์

- มนุษย์พวกที่เกิดสืบมาแต่เตรตยุคหรือไตรดายุคที่ ๒ ได้แก่มนุษย์วรรรณะกษัตริย์

- มนุษย์พวกที่เกิดสืบมาแต่ทวาปรยุคที่ ๓ ได้แก่ มนุษย์วรรณะไวศยะหรือแพศย์

- ส่วนมนุษย์ที่เกิดในยุคปัจจุบัน คือกลียุค ได้แก่พวก ศูทรและวรรณะอันต่ำต้อยทั้งหลาย

๒) ทฤษฎีองคาพยพของพระผู้สร้าง

คัมภีร์ฤคเวทกล่าวถึงกำเนิดของวรรณะต่างๆ ว่าพระพรหมได้ทรงสร้างมนุษย์ในวรรณะทั้ง ๔ จากอวัยวะต่างๆ ของพระองค์ดังนี้

๑. ทรงสร้างพราหมณ์จากพระโอษฐ์

๒. ทรงสร้างราชันย์หรือกษัตริย์จากพระพาหา

๓. ทรงสร้างไวศยะหรือแพศย์จากพระโสณิ

๔. ทรงสร้างศูทรจากพระบาท

ข. สันนิษฐานตามหลักวิชา

คำว่า “วรรณะ” แปลว่า “สีผิว” ทำให้สันนิษฐานว่า การแบ่งชั้นคนในระยะแรกคงถือตามสีผิว พราหมณ์ซึ่งเป็นวรรณะสูงสุดเดิมคงเป็นพวกผิวขาวทั้งสิ้น แต่อาศัยกาลเวลาที่ล่วงมานานมีการผสมระคนกันในทางเชื้อชาติบ้าง สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และความเป็นอยู่เป็นองค์ประกอบบ้าง สีผิวจึงไม่เป็นเครื่องกำหนดที่แน่นอน

คำอีกคำหนึ่งที่คู่กันมากับคำว่า “วรรณะ” ก็คือคำว่า “ชาติ” แปลว่า “กำเนิด” ซึ่งหมายความเล็งไปถึงเชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์ พิจารณาในแง่นี้ การแบ่งชนชั้นคงเกิดจากการแบ่งแยกพวกหมู่กันตามเผ่าพันธุ์ด้วย ปราชญ์สันนิษฐานว่า พวกนักบวช นักรบและพ่อค้า เผ่าอารยัน ได้กลายมาเป็นคนวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์และแพศย์ พวกทาสของอารยันได้กลายมาเป็นวรรณะศูทร ส่วนพวกเจ้าถิ่นชมพูทวีปแต่เดิม และชนเผ่าล้าหลังอื่นๆ เป็นพวกนอกวรรณะก่อน และค่อยๆ ถูกจัดรวมเข้าในวรรณะต่ำๆ

ในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ มีความหมายแสดงไว้ว่า วรรณะ พราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์ เป็นอารยะ (บาลีว่า อริยะ) ส่วนวรรณะศูทรและนอกนั้น เป็นอนารยะ (บาลีเป็นอนริยะ)

การแบ่งชั้นตามระบบวรรณะของสังคมอินเดียนี้ เป็นเครื่องมือสงวนและจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพและกิจการทั้งหลายต่างกับในสังคมอื่นซึ่งส่วนมากการประกอบอาชีพ และฐานะทางเศรษฐกิจอันเนื่องด้วยอาชีพ เป็นเครื่องแบ่งชนชั้น

ระบบความเชื่อและการปฏิบัติเกี่ยวกับวรรณะ

ถือกันว่า พระมนู เป็นผู้วางระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องวรรณะไว้ ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับวรรณะนั้นมีละเอียดหยุมหยิมมาก ขอยกตัวอย่างแสดงไว้พอเป็นที่สังเกต

วรรณะ ๓ พวกแรกเรียกว่าเป็น ทวิชะ เพราะเกิดได้ ๒ ครั้ง (โดยกำเนิดจากครรภ์มารดาครั้งหนึ่ง และโดยพิธีคล้องสายยัชโญปวีตอีกครั้งหนึ่ง) ส่วนศูทรและคนนอกนั้นเป็นพวกเกิดได้ครั้งเดียว ไม่มีสิทธิในยัชโญปวีต พวกทวิชะมีสิทธิเรียนพระเวทได้ ประกอบยัญพิธีตามคัมภีร์พระเวทได้ ดำเนินชีวิตตามหลัก อาศรม ๔ (คือพรหมจารี คฤหัสถ์ วานปรัสถ์ และสันยาสี)ได้ ส่วนพวกศูทรและพวกนอกจากนี้ ไม่มีสิทธิเหล่านี้เลย

วรรณะทั้ง ๔ และพวกนอกวรรณะทั้งหลาย ยังแบ่งย่อยซอยออกไปอีกมากมายตามอาชีพเล็กๆ น้อยๆ และรังเกียจกันเองต่อๆ ไป ตามวรรณะปลีกย่อยเหล่านั้น เช่น พวกจัณฑาล ก็มีการแบ่งชั้นกันและรังเกียจกันตามชั้นที่แบ่งนั้นๆ เป็นต้น ทำให้ทุกหน่วยย่อยของสังคมอินเดียเป็นสังคมที่ปิดตัว แยกขาดจากกันเสร็จไปเป็นหน่วยๆ

ในด้านความสัมพันธ์ทางสังคม วรรณะทั้ง ๔ ถูกห้ามไม่ให้คบหากัน โดยเฉพาะไม่แต่งงานกัน ไม่กินอาหารร่วมกัน คนวรรณะสูงไม่กินอาหารที่คนวรรณะต่ำปรุง หรือแม้แต่แตะต้อง ถ้ามีเหตุจำเป็นให้ต้องเกี่ยวข้องกัน เช่น ใช้ของสาธารณูปโภคมีสระน้ำเดียวกัน เป็นต้น ก็ให้แบ่งเขตกันใช้ หรือปันระยะที่จะต้องอยู่ห่างจากกัน เช่น วรรณะนั้นห่างจากวรรณะนี้ ๙๖ ก้าว ๔๐ ก้าว ๑๕ ก้าว ๑๒ ก้าว เป็นต้น

การประกอบพิธีกรรมต่างๆ ก็มีรายละเอียดของการปฏิบัติต่างกันออกไป เช่น ในหมู่วรรณะสูงด้วยกันเองใช้คาถาบูชายัญต่างกัน สายยัชโญปวีตทำด้วยวัสดุต่างชนิดกัน วิธีกราบไหว้ต่างกัน โดยอาการโค้ง การแบมือ และเหยียดมือ เป็นต้น สีประจำวรรณะก็กำหนดไว้ให้แปลกกันคือ สีขาวสำหรับวรรณะพราหมณ์ สีแดงสำหรับวรรณะกษัตริย์ สีเหลืองสำหรับวรรณะแพศย์ สีดำสำหรับวรรณะศูทร ฐานะความเป็นอยู่ก็ต่างกัน เช่น คนจัณฑาล ถึงจะมั่งมีเงินทองก็ไม่มีสิทธิสร้างบ้าน ๒ ชั้น การลงโทษในความผิดอย่างเดียวกันก็ต่างกัน เช่น คนวรรณะต่ำฆ่าพราหมณ์ จะต้องถูกลงโทษด้วยวิธีทรมานจนตาย แต่พราหมณ์ฆ่าศูทรมีค่าเท่ากับฆ่าแมว จิ้งจก นก กบ

ชนชาติอื่นก็อาจถูกจัดเข้าระบบวรรณะได้ตามฐานะ เช่น พวกโมกุลหรือมุขุ่ล ที่เป็นนักปกครองชาวมุสลิม และชาวอังกฤษก็อาจถูกจัดเข้าเป็นวรรณะกษัตริย์พวกหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น

ปัจจุบัน วรรณะของชาวอินเดีย ได้แยกย่อยออกไปจนมีจำนวนประมาณ ๓,๐๐๐ วรรณะ และเกิน ๒๕,๐๐๐ อนุวรรณะ และยังมีวรรณะใหม่ๆ เกิดเพิ่มอยู่เรื่อยๆ บางวรรณะมีสมาชิกจำนวนล้าน แต่บางวรรณะมีเพียงจำนวนร้อย

ผลดี-ผลเสีย

ระบบวรรณะเกิดขึ้นเพราะชนเผ่าอารยันต้องการสงวนอภิสิทธิต่างๆ และครอบครองความมีอำนาจ ความยิ่งใหญ่ไว้ให้แก่เผ่าของตน แต่ระบบวรรณะนั้นมีผลเสียมากมายหลายอย่าง ผลเสียบางอย่างเลวร้ายจนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าผลดี ขอยกตัวอย่างผลดีผลเสียพอให้เห็นดังนี้

- ทำให้เกิดการผูกขาดอาชีพ และจำกัดอยู่เฉพาะถิ่นหนึ่งๆ ขยายออกไปไม่ได้ ไม่มีความขยายตัวก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ

- ทำให้เกิดความแตกแยกกัน แม้มีอาชีพใกล้เคียงกันก็ร่วมมือกันไม่ได้ แม้อยู่ในวรรณะเดียวกัน ก็แบ่งย่อยกันออกไปอีก รังเกียจกันเอง รวมกำลังกันไม่ได้

- ทำให้ไม่มีความคิดริเริ่มใหม่ๆ เพราะผู้คิดอะไรแปลกใหม่ ถูกรังเกียจว่านอกลู่นอกทาง ถูกประณาม และถูกลดฐานะในสังคมวรรณะ

- ทำให้เกิดความชำนาญพิเศษในกลุ่มอาชีพ เพราะถ่ายทอดต่อกันมาในหมู่ชนหนึ่งๆ โดยเฉพาะเป็นเวลายาวนาน

- ทำให้เกิดการยึดมั่นในความเชื่อถือ ประเพณีและจารีตต่างๆ อย่างเหนียวแน่น ปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่หรืออิทธิพลจากภายนอกไม่ได้ ทำให้ประเทศอินเดียและศาสนาฮินดูอยู่รอดได้สืบมา ไม่กลมกลืนไปกับระบบอื่นๆ จากภายนอก

ความยึดมั่นในข้อปฏิบัติเกี่ยวกับวรรณะของอินเดียนั้น เหนียวแน่นลึกซึ้ง จนกล่าวได้ว่าถ้าไม่หาระบบอื่นมาเตรียมพร้อมที่จะแทนที่ให้ก่อนแล้ว การเลิกระบบวรรณะในอินเดียจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี อาจถึงทำให้ชาติอินเดียแตกสลายย่อยยับก็ได้

ทัศนะและวิธีปฏิบัติของพระพุทธศาสนาในเรื่องวรรณะ

ก. ในทางทฤษฎี (หลักกรรมแทนหลักพรหมนิรมิต)

๑) ต่อต้านและหักล้างความเชื่อถือในเรื่องวรรณะ ด้วยการเสนอทฤษฎีวิวัฒนาการของโลกและสังคม โดยการกระทำของมนุษย์ แทนทฤษฎีการสร้างโลก และบันดาลความเป็นไปในสังคมโดยพระผู้เป็นเจ้า

๒) มิให้ถือชาติกำเนิดเป็นเครื่องแบ่งแยกและวัดความสูงต่ำของมนุษย์ ให้ถือคุณธรรม ความสามารถ และความประพฤติปฏิบัติ เป็นเครื่องแบ่งแยกวัดความทรามและความประเสริฐของมนุษย์

๓) สอนให้ตระหนักว่า วรรณะไม่สามารถกีดกั้น จำกัดขอบเขตความสามารถของมนุษย์ บุคคลทุกคนไม่ว่าเกิดในวรรณะใดก็มีความเป็นมนุษย์เท่ากัน และสามารถทำตนให้ดีเลวได้จนถึงที่สุดเท่าๆ กัน ควรได้รับสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกันในการที่จะเลือกทางชีวิตและการปฏิบัติของตนเอง

ข.ในทางปฏิบัติ

๑) ตั้งคณะสงฆ์อันเป็นสังคมปราศจากวรรณะ และรับคนจากทุกวรรณะเข้ามาสู่ความมีฐานะและสิทธิที่เท่าเทียมกัน และวางระบบสังคมพุทธบริษัทที่จะช่วยค้ำจุนสังคมปราศจากวรรณะไว้

๒) บัญญัติความหมายและสร้างความรู้สึกใหม่ๆ ให้กับถ้อยคำต่างๆ ที่แสดงความแบ่งแยกชนชั้นเท่าที่มีใช้อยู่ในสมัยนั้น ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่จะวัดคนด้วยคุณธรรม มิใช่ชาติกำเนิด เช่น คำว่า อริยะ หรือ อารยะ คำว่า พราหมณ์ จัณฑาล เป็นต้น

ตัวอย่างคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับวรรณะ

ก. ตัวอย่างพระสูตร

๑) วาเสฎฐสูตร (ม.ม.๑๓/๗๐๗/๖๔๔; ขุ.ธ. ๒๕/๓๘๑/๔๕๐) เป็นคำสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับมาณพวรรณะพราหมณ์ ๒ คน ว่าด้วยเหตุผลหรือคุณสมบัติที่จะให้ได้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์

มาณพทั้ง ๒ คือ วาเสฏฐะ และภารทวาชะ โต้เถียงกันว่าในบรรดาคุณสมบัติ ๒ ฝ่ายของพราหมณ์คือ ชาติกำเนิดที่บริสุทธิ์ เป็นอุภโตสุชาติตลอด ๗ ชั่วคน กับศีลและวัตร อย่างไหนจะสำคัญกว่ากัน และอย่างไหนเป็นคุณสมบัติที่ตัดสินความเป็นพราหมณ์ได้เด็ดขาด มาณพทั้ง ๒ มีความเห็นคนละอย่าง ตกลงกันไม่ได้ พอดีได้ยินกิตติศัพท์ของพระพุทธเจ้าและทราบว่าพระองค์เสด็จมาถึงถิ่นนั้น จึงชวนกันไปเฝ้าทูลขอความเห็น จากคำสนทนาครั้งนั้น สรุปพุทธมติได้ดังนี้

ในหมู่มนุษย์ ไม่มีความแตกต่างที่เสร็จสิ้นมาจากชาติกำเนิดเหมือนอย่างพืชและสัตว์ที่ต่างชนิดต่างพันธุ์กัน ความแตกต่างในหมู่มนุษย์เกิดจากสมัญญา คือชื่อที่สมมติให้แตกต่างกันไป เช่นการแยกพวกตามประเภทของอาชีพที่ประกอบ ครั้นความยึดถือในเรื่องชื่อและโคตรฝังแน่นกันมานาน ก็เกินเลยไปถึงกับถือว่าพราหมณ์หรือเป็นอย่างนั้นๆ แต่ความจริงแล้ว มนุษย์จะเป็นอย่างไรๆ ไปตามชาติกำเนิดก็หาไม่ แต่เป็นเพราะกรรม ที่เห็นง่ายๆ ก็คือการงานอาชีพที่ทำ เช่น ทำนา เป็นกสิกร ค้าขายเป็นพ่อค้า ลักของเป็นโจร เป็นต้น ชาวโลกย่อมเป็นไปตามกรรม ถ้าจะตัดสินความเป็นพราหมณ์นั้น ก็ต้องตัดสินด้วยกรรม ไม่ใช่ด้วยชาติกำเนิด ถ้าจะยกให้ว่าพราหมณ์เป็นคนสูงสุด ประเสริฐสุด ก็ต้องกำหนดคุณธรรมที่ถือว่าดีเลิศประเสริฐสุดเป็นเครื่องวัด และบ่งไว้ว่า นั้นคือคุณสมบัติของพราหมณ์ ใครก็ตามที่ประกอบด้วยคุณธรรมนั้น มีคุณสมบัติของพราหมณ์นั้น มีคุณสมบัติถูกต้องตามนั้น ก็เป็นพราหมณ์ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะมีชาติกำเนิดมาอย่างไร พราหมณ์อย่างนี้จึงจะถือว่าเป็นบุคคลสูง เลิศ ประเสริฐแท้จริง

๒) อัคคัญญสูตร (ที.ปา.๑๑/๕๑/๘๗) เป็นคำสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับมาณพวรรณะพราหมณ์ ๒ คน ว่าด้วยปัญหาว่าวรรณะไหนจะประเสริฐกว่ากัน การสนทนานั้นปรารภคำกล่าวของพราหมณ์ทั้งหลายที่ยกย่องแต่วรรณะพราหมณ์ว่าเป็นวรรณะขาว เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม เป็นทายาทของพระพรหมเป็นวรรณะที่ประเสริฐสุด และประณามว่าคนพวกอื่นเป็นวรรณะดำต่ำทราม

พุทธมติในเรื่องนี้มีว่า พวกพราหมณ์ไม่ระลึกถึงความหลังของตนเอง เห็นกันอยู่ชัดแจ้งว่าพราหมณ์ก็เกิดมาโดยวิถีทางอย่างเดียวกับคนสามัญทั้งหลายอื่น หาได้เกิดจากโอษฐ์พระพรหมใดๆไม่ ความจริงคนในวรรณะทั้ง ๔ วรรณะไหนก็ตาม ก็ปรากฏว่ามีคนดีบ้างคนชั่วบ้างด้วยกันทั้งนั้น เมื่อประพฤติชั่ว จะเป็นคนในวรรณะไหน ก็เป็นคนชั่ว เมื่อประพฤติดี จะอยู่ในวรรณะไหนก็เป็นคนดี ถ้าจะถือเป็นพวกดำ (ต่ำ เลว) พวกขาว (สูง เลิศ) ก็ต้องถือตามธรรมดำ ธรรมขาว ไม่ใช่วรรณะดำ วรรณะขาว ใครประพฤติธรรมดำ (ความชั่ว) ก็เป็นพวกดำ ใครประพฤติธรรมขาว (ความดี) ก็เป็นพวกขาว ประพฤติเมื่อใด เป็นเมื่อนั้น ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐ ความประเสริฐเป็นไปโดยธรรม ความประเสริฐเป็นเพราะธรรม จึงชื่อว่าความเป็นคนประเสริฐนั้นเกิดจากธรรม ธรรมเป็นผู้สร้างผู้บันดาลคนนั้น จึงเป็นธรรมนิรมิต ธรรมทายาท ซึ่งใครๆ ก็เป็นได้และเป็นเมื่อไรก็ได้ ไม่ใช่พรหมนิรมิตหรือพรหมทายาท ซึ่งต้องเป็นมาก่อนเกิด และแก้ไขไม่ได้ คนใดในวรรณะ ๔ ประพฤติธรรม สิ้นกิเสสาสวะ คนนั้นประเสริฐสุดในหมู่ชนทั้ง ๔ วรรณะ เพราะวัดกันด้วยธรรม

จากนั้น ตรัสเล่าถึงความเป็นไปของโลกและสังคมที่วิวัฒนาการมาตามความคิดความนิยมและการกระทำของมนุษย์ ซึ่งรวมเรียกว่ากรรม ให้เห็นการเกิดขึ้นของวรรณะทั้ง ๔ ตามหน้าที่ที่ปฏิบัติ การแบ่งงาน การเลือกทางดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสังคม สรุปว่า ถ้าจะถือชาติถือโคตรตระกูลกัน ก็ยกให้กษัตริย์สูงสุด แต่ถ้าจะถือหลักการแท้ๆ ต้องยึดธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสินผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติเป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์ตลอดถึงเทวดา

๓) เตวิชชสูตร (ที.สี.๙/๓๖๕/๒๙๕) เป็นคำสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับมาณพพราหมณ์ ๒ คนชุดเดิม ว่าด้วยหนทางไป สู่ความเข้าร่วมกับพรหม ปรารภคำอวดอ้างของพราหมณ์ว่า ไตรเพทเป็นทางเข้าสู่ความเข้ารวมกับพรหม ในเรื่องนี้มีพุทธมติว่า พราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญไตรเพท ไม่เคยเห็นพรหมประจักษ์กับตน และมีความเป็นอยู่การดำเนินชีวิตคนละอย่างกับพรหมในอุดมคติที่คิดไว้จึงไม่มีทางไปรวมกันได้จริง ถ้าจะไปอยู่ร่วมกับพรหม ตนรู้หลักว่าพรหมมีชีวิตจิตใจอย่างไร ก็ต้องทำชีวิตจิตใจให้เหมือนพรหมตั้งแต่บัดนี้ เมื่อตนเหมือนพรหมหรือ เป็นพรหมอยู่แล้วเดี๋ยวนี้ ก็ไม่ต้องพูดถึงปัญหาว่าตายแล้วจะไปอยู่ร่วมกับพรหมหรือไม่

ข. ตัวอย่างพุทธพจน์เกี่ยวกับวรรณะ

“วาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดอาศัยโครักขกรรมเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นชาวนา, ผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยศิลปะต่างๆ ผู้นั้นเป็นศิลปิน, ผู้ใดอาศัยการค้าขายเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นพ่อค้า, ผู้ใดอาศัยการลักทรัพย์เลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นโจร, ฯลฯ ผู้ใดปกครองบ้านเมือง ผู้นั้นเป็นราชา ไม่ใช่พราหมณ์”

“เรามิได้เรียกคนว่าเป็นพราหมณ์ด้วยการที่เกิดจากท้องมารดา, เราเรียกคนที่ไม่มีกิเลสต่างหาก ว่าเป็นพราหมณ์”

บุคคลจะเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หาไม่ จะมิใช่พราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หาไม่ จะชื่อว่าพราหมณ์ ก็เพราะกรรม ไม่ใช่พราหมณ์ก็เพราะกรรม เป็นชาวนาก็เพราะกรรม เป็นศิลปินก็เพราะกรรม เป็นพ่อค้าก็เพราะกรรม เป็นคนรับใช้ก็เพราะกรรม เป็นโจรก็เพราะกรรม ฯลฯ เป็นราชาก็เพราะกรรม (คืออาชีพ การงาน การกระทำ ความคิดอ่าน ความเชื่อถือ ค่านิยม การปลูกฝัง สั่งสมฝึกอบรมตนมา) บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในกรรมวิบาก ย่อมเห็นกรรมนั้นแจ้งชัดตามเป็นจริงว่า โลกเป็นไปเพราะกรรม หมู่สัตว์เป็นไปตามกรรม สัตว์โลกถูกผูกยึดกันไว้ด้วยกรรม เหมือนลิ่มสลักของรถที่กำลังแล่นไป ฉะนั้น” (ม.ม.๑๓/๗๐๗/๖๔๔; ขุ.สุ.๒๕/๓๘๒/๔๕๓)

“คนมิใช่เป็นอารยะ เพราะการที่เบียดเบียนชีวิตทั้งหลายได้ แต่เรียกว่าเป็นอารยะ เพราะไม่เบียดเบียนชีวิตทั้งปวงต่างหาก” (ขุ.ธ.๒๕/๒๙/๕๐)

“เราจะเรียกคนว่าประเสริฐ เพราะความเป็นผู้เกิดในตระกูลสูงก็หาไม่, เพราะความเป็นผู้มีวรรณะใหญ่โตก็หาไม่, เพราะความเป็นผู้มีโภคะมากมายก็หาไม่; แท้จริงบุคคลบางคน ทั้งที่เกิดในตระกูลสูง ก็ยังชอบเบียดเบียน ฆ่าฟัน ชอบลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบคาย พูดเพ้อเจ้อ เป็นคนละโมบ คิดร้ายต่อผู้อื่น เป็นผู้มีมิจฉาทิฐิ” (ม.ม.๑๓/๖๔๔/๖๑๒)

“วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย นับว่าเป็นสมณศากยบุตรทั้งสิ้น” (องฺ.อฏฐก. ๒๓/๑๐๙/๒๐๕)

“บรรดาวรรณะทั้ง ๔ นี้ ผู้ใดเป็นภิกษุสิ้นกิเลสาสวะแล้วอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่จะต้องทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่จะต้องทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว ลุถึงประโยชน์ตนแล้ว หมดเครื่องผูกมัดไว้ในภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้จบถ้วน ผู้นั้นแล เรียกได้ว่า เป็นผู้เลิศกว่า วรรณะทั้งหมดนั้น” (ที.ปา. ๑๑/๗๑/๑๐๗)

การศึกษาพระพุทธศาสนา โดยวิธีการเปรียบเทียบกับศาสนาพราหมณ์

เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นให้ท่ามกลางสังคมที่เชื่อถือ และดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาพราหมณ์ และหลักคำสอนจำนวนมากในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นด้วยความมุ่งหมายที่จะแก้ไขความเชื่อถือตามหลักศาสนาพราหมณ์ ดังนั้น การศึกษาพระพุทธศาสนาโดยวิธีเปรียบเทียบกับคำสอนในศาสนาพราหมณ์ จึงช่วยให้เข้าใจคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเมื่อพิจารณาในแง่ประวัติศาสตร์ การศึกษาในแง่นี้ก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง

หลักศาสนาพราหมณ์ข้อสำคัญที่ควรนำมาศึกษาเปรียบเทียบ คือ

๑. พระเวท

๒. คำสอนเกี่ยวกับ พรหม อาตมัน และปัญหาอภิปรัชญาต่างๆ

๓. ยัญ

๔. ตบะ

๕. วรรณะ

๖. ความเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

ก่อนศึกษา ควรทำความเข้าใจกันไว้ก่อนว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนคัดค้าน หักล้างหรือแก้ไขหลักการต่างๆ เหล่านี้ พระองค์คงจะมิได้ทรงมองภาพของหลักการเหล่านี้ในรูปที่รวมยอดเป็นศาสนาหนึ่งอย่างที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน คือ มิได้ทรงมุ่งหมายว่าจะหักล้างหรือทำลายศาสนาหนึ่ง ที่เรียกว่าศาสนาพราหมณ์แล้วตั้งศาสนาขึ้นมาใหม่อีกศาสนาหนึ่งที่ชื่อว่าพระพุทธศาสนา ในความหมายอย่างที่เข้าใจกันทุกวันนี้ แต่ได้ทรงพิจารณาเห็นว่าหลักความเชื่อถือและการประพฤติปฏิบัติต่างๆ ที่พราหมณ์สั่งสอนกันมาและประชาชนพากันยึดถือตามนั้น มีความผิดพลาดเลอะเลือนหรือบกพร่องอย่างไรๆ แล้วทรงมีพระประสงค์จะให้พราหมณ์เหล่านั้น และประชาชนทั้งปวงได้ทำความเข้าใจใหม่ให้ถูกต้องและเข้าถึงความจริงแท้ จึงได้ทรงสั่งสอนชี้ข้อผิดพลาดบกพร่องเลอะเลือนนั้นให้ แนะนำให้เลิกเชื่อถือปฏิบัติ หรือแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่แล้วแต่กรณี ทรงประกาศสิ่งที่เรียกว่าธรรม คือหลักแห่งความจริง และความดี และทรงประพฤติปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่าง

เมื่อมีผู้เห็นตามและทำตามมากขึ้น ก็ปรากฏรูปเด่นชัดขึ้นโดยลำดับ กลายเป็นสถาบันใหญ่โตขึ้น ผู้ศึกษาในภายหลังก็ประมวลเอาความเชื่อถือและลัทธิที่ยึดถือปฏิบัติกันมาตามสายเดิมรวมเข้า แยกเรียกเป็นศาสนาหนึ่ง เมื่อของเดิมรวมตัวเข้าด้วยกันกำหนดรูปเป็นอันหนึ่งแล้ว หลักคำสอนและการปฏิบัติใหม่ที่ขัดแย้งกันไม่ได้ ก็กลายเป็นอีกอันหนึ่ง

การศึกษาแบบเปรียบเทียบนี้ นอกจากจะช่วยให้เข้าใจพระพุทธศาสนาดีขึ้นแล้ว ยังเป็นวิธีหนึ่งที่จะรักษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไว้ให้ถูกต้องบริสุทธิ์ ตรงตามความหมายเดิมด้วย ทั้งนี้ เพราะคำเรียกชื่อหลักธรรมและข้อปฏิบัติต่างๆ ใน พระพุทธศาสนา คล้ายกันหรือตรงกันกับในศาสนาพราหมณ์อยู่เป็นอันมาก แต่ความหมายแตกต่างกัน ถ้าไม่ตระหนักถึงความแตกต่างกัน และไม่ค่อยระมัดระวังไว้ ในระยะยาว ความเข้าใจและการประพฤติปฏิบัติอาจเลือนรางกลับไปเป็นอย่างเดิม เหมือนเมื่อก่อนพระพุทธเจ้าอุบัติก็ได้ และแทนที่จะเป็นการปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา ก็กลายเป็นยึดถือศาสนาพราหมณ์ไปโดยไม่รู้ตัว

ฐานะของเวทในศาสนาพราหมณ์

๑. มันตระทั้งหลาย มีกำเนิดจากองค์พระเป็นเจ้าผู้สูงสุดโดยตรงมิใช่วิสัยที่มนุษย์จะแต่งขึ้น (อเปารุเษยะ) ฤษีปางก่อนได้สดับมาจากองค์พระเป็นเจ้า จึงเรียกว่า “ศฺรุติ”

๒. เป็นความรู้ที่จำเป็นเพื่อการเข้าถึงพรหม อันเป็นจุดหมายสูงสุดของศาสนาพราหมณ์

๓. เป็นความจริงแท้แน่นอน นิรันดร ไม่อาจทำลายได้ เป็นของศักดิ์สิทธิ์ ยั่งยืนยิ่งกว่าเทพเจ้าทั้งหลาย จะต้องเชื่อถือเป็นจริงโดยส่วนเดียว

๔. เป็นความรู้อย่างสูงสุด เป็นลัทธิจำกัดเฉพาะชนวรรณะสูงเท่านั้นที่จะสดับเล่าเรียน โดยใช้ภาษาพระเวทอันศักดิ์สิทธิ์ หรือ ที่วิวัฒน์สืบมาเป็นภาษาสันสกฤต เป็นสื่อถ่ายทอด

ท่าทีของพระพุทธศาสนาต่อคัมภีร์พระเวท

๑. มันตระทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ฤษีในปางก่อนร้อยกรองแต่งขึ้นมิใช่เกิดจากพรหม

๒. การรู้พระเวท ไม่ทำให้เข้าถึงพรหมได้ เพราะแม้แต่ฤษียุคแรกที่แต่งมันตระเองก็ไม่เคยเห็นพรหม การเข้าถึงสัจธรรมอันเป็นจุดหมายของศาสนา ไม่จำเป็นต้องอาศัยการศึกษาพระเวท

๓. มิใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่จะต้องเชื่อถือตายตัวโดยไม่มีเหตุผลสุตะทั้งหลายแม้พุทธพจน์เองก็เป็นสิ่งสำหรับนำมาศึกษาพิจารณาไตร่ตรอง เป็นทางให้เกิดปัญญา และรู้แจ้งสัจธรรม มิใช่สิ่งสำหรับต้องเชื่อ

๔. คนทุกชั้นวรรณะมีสิทธิเสมอกันในการสดับสุตะ หรือศึกษาเล่าเรียนคำสอนในศาสนา และสามารถเข้าถึงสัจธรรมได้ ในการสั่งสอนก็ให้ใช้ภาษาสามัญของประชาชน ไม่ให้มีการผูกขาดความรู้

๕. นำคำว่า “เวท” และ “ไตรเพท” (สันสกฤต : ตฺริยา วิทฺยา; บาลี : เตวิชฺชา) มาใช้ในความหมายใหม่ หมายถึงความรู้แจ้งประจักษ์แก่ตน (มิใช่ในคัมภึร์) ซึ่งเกิดจากการเพียรพยายามคิดค้นฝึกฝนปฏิบัติ คำแสดงคุณลักษณะของพราหมณ์ ผู้ศึกษาเชี่ยวชาญเจนจบพระเวท เช่น เวทานฺตคะ (ผู้ถึงที่สุดแห่งเวท, บาลี : เวทนฺตคู) เวทปารคะ (ผู้ถึงฝั่งแห่งเวท, บาลี: เวทปารคู) ถูกนำมาใช้ในความหมายใหม่ หมายถึงบุคคลผู้ตรัสรู้ เข้าถึงสัจธรรมด้วยการฝึกอบรมทางปัญญา โดยมิได้เกี่ยวข้องกับคัมภีร์พระเวทแต่อย่างใด

พรหม อาตมัน และปัญหาอภิปรัชญา

ความหมายในศาสนาพราหมณ์

๑. มีเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดองค์หนึ่ง ซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิม เป็นต้นกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่างเป็นผู้สร้างเทวดา มนุษย์ สัตว์และสิ่งทั้งหลาย แรกทีเดียวเรียกเทพองค์นี้ว่า ประชาบดี ในสมัยต่อมาเรียกว่าพรหม

๒. ในสมัยต่อมา (ยุคอุปนิษัท) พราหมณ์ได้พัฒนาหลักศาสนาของตนให้เป็นปรัชญา โดยสอนว่าเบื้องหลังพรหมหรือพระผู้เป็นเจ้านั้น มีดวงชีวะ หรือสภาวะที่เป็นแก่นแท้ของสิ่งทั้งปวงอยู่อย่างหนึ่ง เป็นภาวะที่สากล เป็นอันหนึ่งอันเดียวแทรกซึม อยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีรูปร่าง มองไม่เห็น ไม่มีต้นกำเนิดไม่เกิดไม่ตาย มีอยู่ได้เองเป็นนิรันดร เป็นแดนเกิดของสิ่งทั้งปวง และเป็นที่กลับไปรวมอยู่ของสิ่งทั้งปวง ตอนแรกพรหมก็เกิดจากภาวะนี้ก่อน ภาวะนี้เรียกว่าพรหมันหรือปรมาตมัน (อาตมันใหญ่) ดวงชีพของบุคคลแต่ละคนก็คืออาตมัน แต่ละอาตมันซึ่งเป็นส่วนย่อยๆ แยกออกไปจากอาตมันใหญ่ คือ ปรมาตมัน หรือพรหมนั่นเอง

๓. ในที่สุด อาตมันแต่ละบุคคลจะต้องกลับไปรวมกับพรหมันนั้น การ (ทำให้อาตมันกลับ) เข้ารวมกับพรหมัน (บาลีเรียกพรหมสหัพยตา) เป็นจุดหมายสูงสุดของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู

๔. เนื่องด้วยพรหม พรหมัน อาตมันก็ดี การถือกำเนิดของสิ่งทั้งหลายจากพรหมันและจากพรหมก็ดี การที่อาตมันจะเข้าอยู่ร่วมกับพรหมก็ดี เป็นหลักสำคัญของศาสนาพราหมณ์ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องมองไม่เห็น พิสูจน์ไม่ได้โดยทางประสาทสัมผัส พราหมณ์จึงพยายามคิดค้นหาสาเหตุและข้อถกเถียงต่างๆ มาบรรยายสภาวะของสิ่งเหล่านี้กันอย่างมากมาย ทำให้ศาสนาพราหมณ์ โดยเฉพาะยุคที่เป็นฮินดู มีคำสอนเกี่ยวกับปัญหาทางอภิปรัชญาเป็นอันมาก

ท่าทีของพระพุทธศาสนาต่อพรหม อาตมันและปัญหาอภิปรัชญา

๑. เทพเจ้ายิ่งใหญ่ผู้สร้างสิ่งทั้งปวงไม่มี มีแต่กฎแห่งเหตุและผลอันเป็นกฎธรรมชาติ

๒. อาตมันไม่มี มีแต่กระบวนการแห่งชีวิตที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติแห่งเหตุนั้น เมื่ออาตมันไม่มี เรื่องพรหมันและการเข้าร่วมกับพรหมันก็ไม่ต้องพูดถึง

๓. ปัญหาอภิปรัชญาเรื่องพรหม พรหมัน อาตมัน นั้นไร้ประโยชน์ไม่เกี่ยวกับชีวิตจริง จะรู้ปัญหาเหล่านั้นหรือไม่ ก็ไม่ช่วยแก้ปัญหาที่มนุษย์ประสบอยู่ในชีวิตจริงได้

๔. เรื่องที่จะต้องสนใจเกี่ยวข้องกับทุกคนโดยตรง ก็คือการแก้ปัญหาที่มีอยู่ในชีวิตจริง ทำชีวิตนี้ให้มีความสุข มีคุณค่าอย่างแท้จริง แทนที่จะไปวุ่นวายเรื่องเข้าร่วมอยู่กับพรหม ควรมาสนใจแก้ไขปรับปรุงเรื่องชีวิตนี้ ถ้าจะอยู่ร่วมกับพรหม ก็ควรเป็นพรหมเสียในชีวิตนี้ทีเดียว

๕. ใช้คำว่า “พรหม” ในความหมายใหม่ ให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณธรรมและปฏิบัติได้จริงในชีวิตนี้

  • ก. ถือเอาความหมายในแง่ที่เป็นจุดหมายสูงสุด หรือภาวะอันประเสริฐสุด นำคำว่า พรหม มาใช้เรียกบุคคลผู้บรรลุคุณธรรมชั้นสูงระดับหนึ่ง หมายความว่า เป็นผู้ประเสริฐ หรือใช้เรียกตัวคุณธรรมที่ประเสริฐ ดีงาม สูงส่งเป็นอุดมคติ เช่น พรหมวิหาร เป็นต้น
  • ข. ถือว่าพรหมที่เป็นตัวบุคคลนั้น หมายถึงสัตว์โลกประเภทหนึ่งแต่เป็นชั้นสูง ถึงจะมีอายุยืนยาวหน่อย แต่ก็ต้องเกิด ต้องตายเหมือนสัตว์อื่นๆ ไม่ใช่เป็นผู้สร้างโลกบันดาลชีวิต มนุษย์ฝึกอบรมตนดีแล้ว ยังประเสริฐกว่าพรหมและพรหมจะเคารพบูชา
  • ค. หมายถึงบิดามารดา ในฐานะเป็นผู้ให้กำเนิดแก่บุตรธิดาและประกอบด้วยคุณธรรมต่อบุตรธิดา

ตบะ

เมื่อความเชื่อถือในศาสนาพราหมณ์ยังอยู่ในขั้นความนับถือเทพเจ้าประจำส่วนต่างๆ ของธรรมชาติ ตลอดถึงมีเทพเจ้าสูงสุด คือพระพรหม เป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง (กำหนดคร่าวๆ ในยุคสังหิตาและพราหมณะ) ในระยะนี้ ข้อปฏิบัติทางศาสนายังจัดอยู่ในขั้นของพิธีกรรม ที่เรียกว่า ยัญ อันได้แก่การเซ่นสรวงสังเวยบูชาเทพเจ้า เพื่อผลตอบแทนคือโภคสมบัติ ยศ อำนาจ ตลอดจนการไปเกิดในสวรรค์

ครั้นถึงยุคอุปนิษัท ซึ่งศาสนาพราหมณ์เริ่มวิวัฒน์มาถึงชั้นมีหลักปรัชญา มีคำสอนเรื่องพรหมันและอาตมันแล้ว ความเปลี่ยนแปลงในทางข้อปฏิบัติทางศาสนาก็เริ่มปรากฏขึ้นด้วยในยุคนี้พราหมณ์ถือว่า การทำให้อาตมันกลับคืนไปรวมกับพรหมเป็นจุดหมายสูงสุดของศาสนา ข้อปฏิบัติสำคัญทางศาสนาจึงได้แก่วิธีการที่จะทำให้อาตมันกลับไปอยู่ร่วมกับพรหมัน วิธีการที่ได้พยายามคิดทำกันขึ้นเพื่อให้สำเร็จผลตามความมุ่งหมายข้อนี้ ได้แก่ข้อปฏิบัติที่เรียกว่า ตบะอย่างหนึ่ง กับโยคะอย่างหนึ่ง ในระยะจะถึงพุทธกาลนั้น ปรากฏว่า ตบะ เป็นข้อปฏิบัติที่แพร่หลายมากในชมพูทวีป และเมื่อถึงยุคของตบะ ยัญก็สูญเสียความเป็นเอก กลายเป็นสิ่งที่มีขอบเขตความสัมฤทธิ์ผลจำกัด บันดาลความสำเร็จได้แต่เพียงในทางโลก ไม่ถึงจุดหมายสูงสุดของศาสนา

ความหมายของตบะ

ตบะ เกิดจากแนวความคิดทางปรัชญาที่ว่า ชีวิตมีส่วนประกอบหรือพลังที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัว ๒ ฝ่าย คือ อาตมัน หรือชีวะ (Soul) อันเป็นสิ่งบริสุทธิ์ เป็นส่วนแห่งพรหม ที่มาถูกปกคลุมบดบัง กักขังอยู่ในร่างกายฝ่ายหนึ่ง กับสรีระ หรือรูปวัตถุ ที่เป็นของไม่บริสุทธิ์ไม่แท้จริงไม่ยั่งยืน อีกฝ่ายหนึ่ง หรือพลังฝ่ายสูงซึ่งอาจจะเป็นทิพยอำนาจอันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระผู้เป็นเจ้า ที่จะนำไปสู่ความบริสุทธิ์ฝ่ายหนึ่ง กับพลังฝ่ายต่ำที่ทำให้ชีวิตเศร้าหมอง ต้องทนทุกข์ เพราะอำนาจความปรารถนาต่างๆ ผ่ายหนึ่ง การที่อาตมันถูกกักขังอยู่ หรือการขัดแย้งกันของพลัง ๒ ฝ่าย ทำให้มนุษย์ผู้ตกอยู่ในความมืดบอด ต้องประสบความทุกข์และวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ไม่สามารถรู้ความจริงและไม่อาจคืนเข้ารวมกับพรหมันได้

ตบะ (บาลี-ตป, สันสกฤต-ตปสฺ) แปลว่าความร้อน หรือความแผดเผา การที่นำมาใช้เป็นชื่อเรียกข้อปฏิบัตินี้ คงอาศัยแนวความคิดว่าเมื่อข่มขี่บีบคั้นทรมานร่างกายมากขึ้น จะเป็นการอัดกำลังภายใน เร่งระดมความร้อนหรือเดชของจิตให้ทวีขึ้นๆ ไป จนถึงจุดเครียดหรือขีดระเบิดอันมีพลังสูงสุด โดยนัยนี้ จึงหมายถึงการบีบคั้น ทรมานร่างกายให้เกิดความเร่าร้อน ด้วยความสมัครใจทำแก่ตนเองโดยถือว่า

- เป็นการข่มร่างกาย ทอนกำลัง ไม่ยอมให้กายเป็นนายบังคับหรือชักจูงให้ทำการต่างๆ เพื่อสนองความต้องการทั้งหลาย ทำให้กายหมดอำนาจครอบงำ อาตมันจะได้บริสุทธิ์เป็นอิสระ หลุดพ้นจากพันธนาการ เข้าร่วมกับพรหมันได้

- เป็นการข่มกิเลส กำราบความปรารถนาฝ่ายต่ำ ที่ทำให้จิตอ่อนแอ ตกอยู่ในอำนาจความเย้ายวนต่างๆ ทำให้เอาชนะตนเองได้ เป็นนายเหนือตน ทำให้จิตเข้มแข็ง มีพลังอำนาจมากขึ้น จนหลุดพ้นเป็นอิสระ หรือบังคับสิ่งต่างๆไห้เป็นไปได้ตามต้องการ

อาจให้ความหมายสั้นๆ ได้ว่าตบะ คือพิธีย่างกิเลส หรือพิธีข่มกิเลสโดยทรมานตัว หรือการข่มกายเพื่อเพิ่มพลังจิตหรือการข่มความต้องการตามธรรมชาติ เพื่อมีอำนาจเหนือธรรมชาติหรือการบำเพ็ญเพียรข่มบังคับทรมานร่างกาย ให้พ้นจากความเป็นทาสของความต้องการตามธรรมชาติ และกลับมีอำนาจวิเศษพ้นวิสัยธรรมดา หรือวิธีการเพื่อเข้าถึงจุดหมายอันสูงในทางจิตด้วยการข่มความปรารถนาทางร่างกายที่เป็นธรรมดาวิสัยของโลก

ความมุ่งหมายและความสำคัญของตบะ

ก. อิทธิปาฏิหาริย์: คัมภีร์พระเวทยุคแรกๆ เช่น ในฤคเวท กล่าวถึงบุคคลหรือนักบวชประเภทหนึ่ง เรียกชื่อว่า พวกมุนี และวรตฺย (นักพรต) ซึ่งเป็นผู้บำเพ็ญข้อปฏิบัติประเภทตบะมีฤทธิ์มาก เช่น เหาะได้เป็นต้น แต่บุคคลเหล่านี้อยู่นอกวงศาสนาพราหมณ์ (เพราะศาสนาพราหมณ์ยุคแรกๆ มีความมุ่งหมายจำกัดเพียงขั้นความสุขความรื่นรมย์ทางโลก ซึ่งขึ้นอยู่กับเทพเจ้าผู้รับเครื่องเซ่นสรวงจากยัญพิธีต่างๆ) แม้ในสมัยหลังๆ เมื่อมีคำสอนทางปรัชญาและมีการบำเพ็ญตบะแพร่หลายแล้ว การได้ฤทธิ์ก็ยังคงเป็นความมุ่งหมายอย่างหนึ่งของการบำเพ็ญตบะ เช่น เพื่อรักษาโรค ไล่ผี ทำให้อายุยืนยาว และทำปาฏิหาริย์ต่างๆ ซึ่งจัดว่าเป็นวัตถุประสงค์ในทางโลก

ข. โมกษะ: ตั้งแต่ยุคอุปนิษัทเป็นต้นมา หลักปรัชญาเกี่ยวกับ อาตมัน พรหมัน และการทำให้อาตมันเข้าร่วมกับพรหมันเป็นเหตุให้ตบะเข้ามีความสำคัญในศาสนาพราหมณ์มากขึ้นโดยลำดับ กลายเป็นวิธีการที่จะให้บรรลุจุดหมายสูงสุดของศาสนาคือ โมกษะ ให้อาตมันหลุดพ้นจากความผูกพันและวงจำกัดของรูปวัตถุอันต่ำทราม เข้ารวมกับพรหมัน ที่เป็นสิ่งสัมบูรณ์ พ้นจากสังสารวัฏโดยสิ้นเชิง จุดหมายข้อนี้เป็นวัตถุประสงค์ที่แท้ของตบะตามหลักปรัชญาของพราหมณ์ หรือฮินดู จัดเป็นวัตถุประสงค์ทางศาสนาโดยตรง

ความสำคัญของตบะที่ทวีขึ้นในศาสนาพราหมณ์ยุคหลังหรือฮินดู จะเห็นได้จากการจัดหลักอาศรม ๔ ซึ่งมีขึ้นในระยะประมาณระหว่างพุทธกาลถึงพุทธศตวรรษที่ ๔ ในระยะนี้ การดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาพราหมณ์ได้วิวัฒน์มาถึงขั้นที่ บุคคลทุกคนในวรรณะสูงทั้ง ๓ จะต้องดำรงชีวิตในชาติหนึ่งนี้ให้ครบ ๔ ขั้น หรือตอน ที่เรียกว่าอาศรม ๔ คือ

๑. พรหมจรรย์ (บุคคลเป็น พรหมจารี) ระยะถือพรหมจรรย์ คือ วัยรุ่น เป็นระยะศึกษาเล่าเรียนสาระของพระเวทยัญพิธีและวิชาการอื่นๆ อยู่กับคุรุ เป็นเวลาอย่างน้อย ๑๒ ปี

๒. คฤหัสถย์ (บุคคลเป็น คฤหัสถ์) ระยะครองเรือน เริ่มแต่แต่งงาน ทำหน้าที่ให้กำเนิดบุตรธิดา ประกอบยัญพิธีและรับผิดชอบต่อชุมชน

๓. วานปรัสถย์ (บุคคลเป็น วานปรัสถ์) ระยะออกไปอยู่ป่าเมื่ออายุประมาณ ๔๐ หรือได้เห็นลูกของลูกแล้ว พำนักอยู่ในอาศรมบำเพ็ญตบะ และข้อปฏิบัติอื่นๆ ทางศาสนาอย่างเคร่งครัด

๔. สันนยาสะ (บุคคลเป็น สันนยาสี) ระยะสละสมบัติทุกอย่าง เหลือแต่ผ้านุ่งกับภาชนะขอทานและหม้อน้ำออกจากอาศรม เลิกประกอบพิธีกรรมและข้อปฏิบัติทุกอย่าง ออกจาริกขอภิกษาเร่ร่อนไป ไม่ต้องเสพสังคม พิจารณาเห็นความเสื่อมโทรมปฏิกูลระคนด้วยทุกข์ของร่างกาย ให้จิตใจสงบระงับ ครั้นสรีระแตกดับสลายเป็นวัตถุธาตุ อาตมันจักได้คืนเข้าสู่พรหมัน

ตามหลักอาศรม ๔ นี้ จะเห็นได้ว่า ตบะได้กลายเป็นข้อปฏิบัติที่จำเป็น หรือเกือบจะเป็นข้อบังคับสำหรับผู้ถือศาสนาพราหมณ์ทุกคนไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม หลักอาศรม ๔ นี้ ในทางปฏิบัติ ไม่ปรากฏว่าชาวฮินดูได้ถือตามกันอย่างเคร่งครัดจริงจังแต่อย่างใด

ความเชื่อในตบะมีมากและแรงกล้าเพียงใด จะเห็นได้จากวรรณคดีพราหมณ์หลายแห่ง เช่นที่กล่าวว่า พระพรหมทรงสร้างและธำรงโลกไว้ด้วยอำนาจตบะ พระอินทร์ได้แดนสวรรค์ก็ด้วยตบะ ฤษีได้อำนาจวิเศษดุจเทพเจ้าก็ด้วยตบะ ฤษีเป็นอันมากบำเพ็ญตบะมีฤทธานุภาพมากจนเทพเจ้าต้องประหวั่นพรั่นพรึงสะท้านด้วยความหวาดกลัว และต้องหาทางสกัดยับยั้ง อสูรบางตนบำเพ็ญตบะ ได้ฤทธิ์จนแม้แต่พระอิศวรก็ทรงเดือดร้อน บำเพ็ญตบะเข้าแล้ว แม้คนสามัญก็มีฤทธิ์ได้ ตบะเป็นเครื่องเบิกทางไปสู่พลังอำนาจทุกอย่าง ไม่มีสิ่งใดเกินอำนาจของตบะ ตบะเป็นเครื่องสั่งสมบุญ ทำให้เข้าถึงสวรรค์ จะบริสุทธิ์ บรรลุโมกษะ พ้นจากสังสารวัฏ ก็ด้วยตบะ

ตัวอย่างวิธีบำเพ็ญตบะ

ตบะ มีความสำคัญดังกล่าวมาแล้ว วิธีบำเพ็ญตบะแบบต่างๆ จึงได้เกิดมีเพิ่มขึ้นอย่างมากมายในประวัติศาสตร์ศาสนาของชาวฮินดู ในที่นี้จะแสดงตัวอย่างวิธีบำเพ็ญตบะ เพื่อให้มองเห็นภาพชัดเจนขึ้น ผู้บำเพ็ญตบะนั้น ในภาษาบาลีเรียก ตาปส หรือ ตปสฺสี สันสกฤตว่า ตปสฺวี ตปัสสีหรือตปัสวีทั้งหลายมีชื่อเรียกต่างกันไปตามประเภทหรือวิธีแห่งตบะที่บำเพ็ญ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

- ชลาศยี พวกถือแช่ตัวในน้ำแค่เอว คราวละหลายวันหรือหลายสัปดาห์

- พหูทกะ พวกถืออาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ให้ได้มากแห่งที่สุด โดยย้ายที่อาบไปเรื่อยๆ

- ศังกุศี พวกถือนอนบนเตียงหนามคราวละนานๆ ทุกๆ วัน

- ภูมิกา พวกถือนอนบนพื้นดิน ไม่ยอมใช้เตียงหรือเครื่องปูลาด

- กุฏิลกา พวกถืออริยาบถงอตัว ไม่ยอมยืน นั่ง นอน ในท่าตัวตรง

- นิษฉลี พวกถือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ยืนหรือนั่งนิ่งในท่าและที่เดียวเป็นเวลาแรมปีจนนกมาทำรังในผมได้หรือเถาวัลย์ขึ้นพันขา หรือจอมปลวกขึ้นที่เท้า

- ขฑาศรี พวกถือไม่นอน ยันตัวตรงอยู่ตลอดทุกเวลา

- ปัญฉตปัสวี พวกถือนั่งกลางแดด พร้อมทั้งก่อไฟอีก ๔ กองไว้ล้อมตัวทั้ง ๔ ทิศ

- นีฉศิรสิ พวกถือห้อยศีรษะ โดยเอาเท้าเหนี่ยวกิ่งไม้ไว้อย่างค้างคาว

- นขิมุษฏ พวกถือกำมือไว้จนเล็บงอกแทงเข้าไปในอุ้งมือ

- อูรธวมุขี พวกถือแหงนหน้าขึ้นฟ้าจนคอแข็งค้าง

- อูรธวพาหุ พวกถือยกแขนคาไว้จนแข็งค้าง

- ฉหินนกา พวกถือทำร้ายร่างกายตนเอง เช่น บีบรัดอวัยวะบางอย่างจนเป็นง่อย เป็นต้น

บางพวกถือรับประทานอาหารจำกัดเฉพาะเป็นอย่างๆ และมีชื่อเรียกตามประเภทอาหารนั้นๆ เช่น ถือกินแต่ผลไม้ ถือกินแต่รากไม้ ถือกินสมุนไพร ถือกินนม ถือกินวันละไม่เกิน ๘ คำ ถือกินตามจันทร์ขึ้นจันทร์แรม ถือเที่ยวหากินตามป่าช้า ถือกินอาหารผสมมูลโค ปัสสาวะ หรือแม้แต่อุจจาระมนุษย์ เป็นต้น

เพียงแค่สมัยพุทธกาล การบำเพ็ญตบะก็แพร่หลายดาษดื่นและมีมากมายพิสดาร ทั้งแบบเบาและรุนแรง แทบจะนับจำนวนไม่ถ้วนอยู่แล้ว มีเล่าไว้ในพระไตรปิฎกหลายแห่ง เช่น ในมหาสีหนาทสูตร (ที.สี. ๙/๒๖๖/๒๑๐; ที.ปา. ๑๑/๒๓/๔๒; ม.มู.๑๒/๑๗๘/๑๕๖) เป็นต้น จะขอสรุปมาแสดงเป็นตัวอย่าง

- การถือเปลือยกาย และไม่คำนึงถึงมรรยาท

- การถือข้อกำหนดไม่ยอมรับภิกษาในกรณีต่างๆ เช่น ไม่รับภิกษาที่คนยืนคร่อมธรณีประตูให้ หรือหญิงมีครรภ์ให้ เป็นต้น

- การถือไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุราเมรัยเครื่องดอง

- การถือจำนวนเรือนที่รับภิกษา และจำนวนคำของอาหารที่รับประทาน

- การถือกินอาหารที่เก็บค้างไว้ตามจำนวนวันที่กำหนด

- การถือกินอาหารจำกัดเป็นอย่างๆ เช่น กินแต่ข้างฟ่าง กินแต่กากข้าว กินแต่รำ กินแต่กำยาน กินแต่หญ้า กินแต่โคมัย (มูลโค) กินแต่เหง้าและผลไม้ป่า กินแต่ผลไม้หล่น เป็นต้น

- การถือผ้านุ่งห่ม เช่น ใช้ผ้าป่าน ใช้ผ้าห่อศพ ใช้ผ้าเปลือกไม้ ใช้หนังเสือ เป็นต้น

- การถือถอนผมและหนวด

- การถือเกี่ยวกับอิริยาบถ เช่น ยืนอย่างเดียว ถือเขย่งเท้า ถือนอนบนหนาม เป็นต้น

- การถือพยายามอาบน้ำให้ครบวันละ ๓ ครั้ง การถือย่างและบ่มกาย

- การถือปล่อยให้ธุลีหมักหมมกายเป็นแรมปี จนเป็นสะเก็ดดำอย่างตอตะโก

- การถือเกลียดบาป ระวังตัวแจทุกขณะเคลื่อนไหว แม้แต่ในหยดน้ำกลัวจะทำให้มีสัตว์ตาย

- การถือวัตรในความสงัด เที่ยวหลบหนีซ่อนเวลาคนผ่านไม่ให้พบเห็น

- การถือวัตรกินโคมัย และมูตรกรีสของตนเอง

- การถืออาบแดด อาบน้ำค้าง ทนหนาวหิมะ ทนความกลัวในป่า

- การถืออุเบกขาทำเฉย ใครจะถ่มน้ำลาย ปัสสาวะรด เป็นต้น ไม่ถือ

ตบะ เป็นข้อปฏิบัติทางศาสนาที่ยึดถือฝังแน่นในหมู่ชนอินเดีย นิยมกันทั้งในหมู่นักบวชสายพระเวทคือพราหมณ์ทั้งหลาย และนักบวชสายไม่นับถือพระเวท เช่น นิครนถ์ เป็นต้น และยังมีแพร่หลายหาดูได้ไม่ยากในประเทศอินเดียปัจจุบัน ความยึดถือ ฝังแน่นในการบำเพ็ญตบะนี้ น่าจะเป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่อธิบายถึงเหตุผลที่พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ในประเทศอินเดียไม่ได้และเหตุผลที่ว่า ทำไมชีวิตและสภาพสังคมอินเดียจึงเป็นอยู่อย่างที่ปรากฏทุกวันนี้

ตบะในทัศนะของพุทธศาสนา

เนื่องด้วยตบะเป็นข้อปฏิบัติที่นิยมบำเพ็ญแพร่หลายมากในสังคมอินเดียระยะที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติ และคนมีความเชื่อถือกันอย่างแรงกล้าในอำนาจของตบะ ที่จะอำนวยผลสำเร็จอย่างกว้างขวางแทบจะไม่มีขีดจำกัด จนถึงจุดหมายสูงสุดของศาสนา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชาแล้ว จะทรงทดลองข้อปฏิบัติที่เชื่อถือให้เห็นความจริง จึงได้ทรงทดลองบำเพ็ญตบะเหล่านี้ด้วย และเพื่อให้ตัดสินใจได้เด็ดขาด ก็ทรงบำเพ็ญอย่างยิ่งยวด ชนิดที่ไม่มีใครจะทำได้เกินไปกว่านั้น เช่น ในเรื่องการอดอาหารและการกลั้นลมหายใจเป็นต้น และทรงบำเพ็ญอยู่นานถึง ๖ ปี อันเป็นระยะเวลาที่เรียกว่าทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ในที่สุดแห่งการพิสูจน์ทรงเห็นว่าเป็นสิ่งไร้ผล ไม่ช่วยให้เกิดผลสำเร็จอันพึงปรารถนาที่แท้จริงได้เลย ทัศนะของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับตบะ พอสรุปได้ดังนี้

ก. ตบะ จัดเป็นอัตตกิลมถานุโยค ซึ่งแปลว่า การมัวประกอบความลำบากแก่ตน หรือการนำเอาความเดือดร้อนลำบากมาใส่ตนหรือการทำตนให้ลำบากเดือดร้อนเปล่าๆ ไม่ใช่ทางให้หมดความทุกข์แต่เป็นการทำให้เกิดทุกข์ ไม่เป็นอริยะหรืออารยะ และไร้ประโยชน์เป็นความประพฤติเอียงสุดข้างหนึ่ง ตรงข้ามกับกามสุขัลลิกานุโยค (ความหมกมุ่นมัวเมาในกามสุข)

ข. พระพุทธเจ้านอกจากไม่ทรงสนับสนุนแล้ว ยังทรงประณามการบำเพ็ญตบะแบบนี้ ตรัสว่ามีแต่ผลเสีย ตนเองก็ทุกข์ทรมานผลดีอะไรก็ไม่ได้ จุดหมายที่ต้องการก็ไม่บรรลุ ทำให้จิตใจไม่สงบ และตรัสว่าลำพังการบำเพ็ญตบะอย่างเดียว ยังนับว่าห่างไกลจากความเป็นสมณะหรือเป็นพราหมณ์ในความหมายของพระพุทธศาสนา การบำเพ็ญตบะไม่ช่วยลดกิเลสในใจ ผู้บำเพ็ญจำนวนมากยังมีความยึดมั่นในตบะของตน มัวเมาในตบะนั้น เห็นเป็นความเด่นยกตนข่มผู้อื่น บางทีก็มัวเมาในลาภสักการะบ้าง หวังให้ได้รับความเคารพนับถือจากชนชั้นต่างๆ ด้วยการบำเพ็ญตบะนั้นบ้าง บางทีมุ่งคิดแต่จะละสิ่งหนึ่งกลับไปติดหลงใหลสิ่งอื่นอีกด้านหนึ่ง นอกจากนี้ ถึงแม้ผู้บำเพ็ญตบะจะได้บรรลุผลสำเร็จที่ดีงามบางอย่างขึ้นมา ด้วยการบำเพ็ญคุณธรรมบางประการ ก็ยังมีข้อเสีย เป็นผู้น่าตำหนิในข้อที่มาทำตนให้ทุกข์ทรมานเปล่าๆ โดยไม่สมควรและไม่จำเป็นอยู่นั่นเอง

ค. หลักความประพฤติในทางพระพุทธศาสนา สอนให้ละการกระทำที่เอียงสุดทั้งสองข้าง ถือทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ในมัชฌิมาปฏิปทานี้ สำหรับบรรพชิต ซึ่งเป็นผู้สมัครใจยอมสละความสุขอย่างชาวบ้าน เพื่อมุ่งประโยชน์สุขที่สูงที่ยิ่งขึ้นไป ความประพฤติในแนวของตบะก็ยังต้องอยู่ในขอบเขตของความพอดี สมที่จะให้เข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา ตบะในพระพุทธศาสนาจึงมีความหมายใหม่ ซึ่งมีข้อควรสังเกตและวิธีใช้พอประมวลได้ดังนี้

- หมายถึงการเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ตัดความกังวลในการแสวงหาสิ่งปรนปรือความสุขแห่ตนเองให้เหลือน้อยที่สุด ให้เหลือเพียงเท่าที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตที่มีคุณภาพและไม่ให้เป็นการสร้างความทุกข์ทรมานทับถมตน คือ บริโภคใช้สอยสิ่งทั้งหลายตามความหมายส่วนแท้หรือความหมายต้น (คุณค่าแท้) ไม่ใช่เพื่อความหมายส่วนเกินหรือความหมายรอง (คุณค่าเทียม) เช่นรับประทานอาหารเพื่อบำรุงร่างกายให้มีกำลัง ไม่ใช่เพื่อมุ่งเอร็ดอร่อยสนุกสนาน ใช้ที่อยู่อาศัยเพื่อพักพิงและคุ้มภัย มิใช่เพื่อมุ่งอวดโก้สำแดงศักดิ์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อจะได้มุ่งอุทิศเวลาและกำลังงานให้แก่การปฏิบัติหน้าที่ของตน ซึ่งได้แก่การบำเพ็ญสมณธรรม ฝึกอบรมจิตและจาริกเทศนา พูดสั้นๆ ว่าเป็นอยู่ง่าย ให้ความคิดสูง หรือให้เกิดความพอดีระหว่างการดำรงชีวิตกับการปฏิบัติหน้าที่

- ในการปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา ก็มีข้องดเว้นบางอย่าง และการควบคุมความประพฤติบางอย่าง แต่ข้อปฏิบัติเหล่านี้อยู่ในขอบเขตมิให้เป็นการทรมานร่างกายและไม่มีความมุ่งหมายที่จะบีบคั้นร่างกายเพื่อให้จิตหลุดพ้นบริสุทธิ์ เพราะหลักปรัชญาอย่างนั้น ไม่มีในพระพุทธศาสนาข้องดเว้นต่างๆ เท่าที่มีในพุทธศาสนามุ่งเพียงเพื่อการฝึกความมีระเบียบวินัย การมีวินัยในตนเอง รู้จักควบคุมบังคับใจตนเอง เป็นการขัดเกลาในทางความประพฤติเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งมั่นคง และความประณีตแห่งจิตใจและบุคลิกภาพ

- ในความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ นั้น พระพุทธศาสนาเน้นหนักในเรื่องความระมัดระวังเอาใจใส่บำรุงรักษาสุขภาพของร่างกายเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าการปฏิบัติธรรมจะได้ผลดี ต้องอาศัยร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ จะเห็นได้จากข้อกำหนด และบทบัญญัติมากมายในวินัยปิฎก ที่เกี่ยวกับการบริหารร่างกาย การรักษาความสะอาดเครื่องนุ่งห่มและที่อยู่อาศัย การพักผ่อน การรับประทานอาหาร เป็นต้น ในการปฏิบัติตามบทบัญญัติเหล่านี้ พระภิกษุจะต้องฝึกหัดควบคุมตนเองให้มีระเบียบ เมื่อถือว่าการปฏิบัติควบคุมตนในเรื่องเช่นนี้เป็นตบะ ก็นับว่าเป็นตบะที่ตรงข้ามกับแบบทรมานตน

ในแง่การปฏิบัติธรรม พระพุทธศาสนาสอนให้หมั่นพิจารณาและรู้เท่าทันในธรรมชาติของร่างกายที่เกิดจากส่วนประกอบต่างๆ มีความเป็นปฏิกูล อ่อนแอ ง่ายต่อการแตกสลาย ดำเนินไปสู่ความทรุดโทรม เป็นของชั่วคราว ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดความมัวเมา และจะได้ไม่ประมาท เร่งขวนขวาย เพียรพยายามปฏิบัติหน้าที่ ใช้ประโยชน์จากชีวิตเพื่อความดีงามให้ได้มากที่สุด

- คำว่าตบะ นำมาประยุกต์ใช้ในพระพุทธศาสนาในความหมายใหม่หลายอย่าง เช่น :-

  • หมายถึงอินทรียสังวร คือ การสำรวมอินทรีย์ ควบคุมความรู้สึกที่เป็นปฏิกิริยาต่อการรับรู้ทางอายตนะต่างๆ ให้เป็นไปแต่ในทางดีงาม ไม่ให้กิเลสเข้าครอบงำ
  • หมายถึงความเพียร คือความเพียรพยายามที่จะกำจัดความชั่ว ตรงกับความหมายว่าเพียรเผากิเลส หรือความเพียรในการปฏิบัติหน้าที่
  • หมายถึงขันติ คือความอดทน ซึ่งได้แก่ ความเข้มแข็งทนทานที่ทำให้ดำรงตนอยู่ในมรรคาอันนำไปสู่จุดหมายของตนอย่างแน่วแน่มั่นคง สามารถผ่านอุปสรรคสิ่งบีบคั้นทุกอย่างไปได้จนบรรลุถึงความสำเร็จ
  • หมายถึงอธิจิต คือการฝึกจิตอย่างสูง หรือข้อปฏิบัติทั้งหลายในฝ่ายสมาธิ

ตบะในความหมายเหล่านี้ และความหมายอื่นๆ เท่าที่ใช้ในพระพุทธศาสนา โดยใจความสำคัญก็รวมอยู่ในข้อสุดท้าย คือ อธิจิต ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในทางร่างกาย ตบะทางพระพุทธศาสนาต้องการให้ฝึกฝนในขั้นละ และควบคุม ไม่เลยไปถึงการเพิ่มความบีบคั้น ส่วนในทางจิต มุ่งในด้านเพิ่ม คือฝึกฝนอบรมจิตใจด้วยการเสริมสร้างคุณธรรมให้เพิ่มพูนขึ้นไป เช่นสร้างเสริม สติ สมาธิ วิริยะ เมตตา กรุณา เป็นต้น

พระพุทธเจ้าเคยตรัสเปรียบว่า เมื่อคนต่อเรือข้ามแม่น้ำคือวัฏสงสาร ตบะเปรียบเหมือนการตัดไม้เอาท่อนซุงมาลิดกิ่งใบถากเกลาขัดชำระแต่ภายนอกให้เรียบร้อย แต่ไม่ขุดข้างในปล่อยลงน้ำ ก็ใช้เป็นเรือแล่นข้ามไปไม่ได้ ถ้าจะใช้เป็นเรือข้ามไปให้สำเร็จ ก็ต้องไม่หยุดอยู่เพียงแค่การถากเกลาข้างนอก ต้องฝึกอบรมความประพฤติบ่มใจ อันเปรียบได้กับการขุด และติดอุปกรณ์เช่นหางเสือ เป็นต้น ให้เรียบร้อยด้วย

ง. พระพุทธศาสนามิได้ประณามเฉพาะแต่การบำเพ็ญตบะ เพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุด คือ โมกษะหรือความหลุดพ้นเท่านั้นแต่ประณามการบำเพ็ญตบะเพื่อให้เกิดอิทธิปาฏิหาริย์ด้วย เพราะพระพุทธศาสนาไม่ให้เกียรติอันสูงแก่อิทธิปาฏิหาริย์ และสอนว่าอิทธิปาฏิหาริย์เป็นผลพลอยได้ในระหว่างการปฏิบัติธรรมเพื่อความตรัสรู้ มิใช่สิ่งสำคัญหรือจำเป็น

จ. มีข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาอยู่หมวดหนึ่ง ซึ่งความเข้มงวดจนใกล้เคียงกับคำว่าตบะในความหมายเดิมของศาสนาพราหมณ์ ได้แก่ธุดงค์ ซึ่งมีอยู่ ๑๓ ข้อ อย่างไรก็ดี ธุดงค์เหล่านี้ไม่จัดเข้าเป็นบทบัญญัติในวินัย เป็นเรื่องสมัครใจทำตามอัธยาศัยสันนิษฐานว่า พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้เพื่อบุคคลบางประเภท ที่มีอัธยาศัยโน้มเอียงไปในทางความประพฤติเข้มงวด หรือผู้ต้องการทดลองฝึกการบังคับตนเองให้เข้มงวดเป็นพิเศษในบางโอกาส หรือเพื่อสนองความต้องการของสาวกประเภทหนึ่ง (ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก) ที่เคยบำเพ็ญตบะมาก่อนนับถือพระพุทธศาสนาและยังมีความโน้มเอียงตามนิสัยเดิมอยู่บ้าง แต่ไม่ให้เลยขอบเขตออกไปจนเข้ารูปตบะอย่างของเดิม และให้เลือกถือได้ ไม่จัดเข้าในวินัย

การถือธุดงค์ส่วนมากจะทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคม โดยเฉพาะระหว่างพระภิกษุผู้ถือ กับพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์น้อยลง และระหว่างพระภิกษุที่ถือธุดงค์มักเป็นผู้มีอัธยาศัยโน้มเอียงไปในลักษณะนี้หรืออย่างน้อยก็ต้องการจะให้เป็นเช่นนั้นชั่วคราว ส่วนข้อปฏิบัติประเภทควบคุมความประพฤติให้มีระเบียบวินัยและความเป็นอยู่ให้ง่ายๆ ซึ่งใช้เป็นบทบัญญัติสำหรับภิกษุทุกรูปเสมอกันนั้น เป็นไปตามคติแห่งเนกขัมมะ ไม่ใช่เรื่องของตบะ

ข้อปฏิบัติตามคติแห่งเนกขัมมะ นอกจากจะมีความมุ่งหมายเพื่อขัดเกลาความประพฤติ ฝึกตนให้มีความเข้มแข็งมั่นคง ทำจิตใจและบุคลิกภาพประณีตขึ้น เกิดความพร้อมและเหมาะสมสำหรับการปฏิบัติธรรมขั้นสูงขึ้นไปแล้ว ยังมีความมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ทางสังคมของพระภิกษุ ตามคติแห่งพุทธพจน์ว่า “จงจาริกไปเพื่อประโยชน์แห่งพหูชน” ด้วย

ตามบทบัญญัติในพระวินัย ชีวิตของพระสงฆ์จะต้องอาศัยปัจจัย ๔ ที่ชาวบ้านถวาย ความเป็นอยู่จะต้องผูกพันกับชาวบ้านตลอดไป ในฐานะที่มิได้หาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง และชีวิตขึ้นอยู่กับชาวบ้าน ความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ทำตนให้เขาเลี้ยงง่าย จึงเป็นหลักการครองชีพที่สำคัญ ที่จะทำให้ไม่เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ไม่เป็นภาระแก่เขามากนัก และรักษาศรัทธาของเขาไว้ได้ ในเวลาเดียวกัน ตนเองก็ไม่ฟุ้งซ่านวุ่นวายด้วยเรื่องการหาความสุขความปรนปรือ ปลอดโปร่งใจ ไม่มีความห่วงกังวลกับเรื่องส่วนตัว หันไปเอาใจใส่อุทิศเวลาและกำลังงานให้แก่การกระทำหน้าที่ คือ การปฏิบัติและสั่งสอนธรรมได้เต็มที่ นอกจากนี้ ก็จะได้ไม่ติดถิ่นติดที่ ไม่มีความรู้สึกจำกัดคับแคบว่าตนผูกมัดอยู่กับผู้ใดผู้หนึ่ง แต่เป็นบุคคลกลางๆ ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ของพหูชนทั่วไป

นี้คือผลที่ประสงค์ของความประพฤติเคร่งครัดของพระสงฆ์ และเพื่อให้ได้ผลในทางปฏิบัติแน่นอนยิ่งขึ้น จึงกำหนดหลักธรรมข้อสันโดษกำกับไว้ด้วย โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน

โดยที่ตบะเป็นข้อปฏิบัตินอกวงศาสนาพราหมณ์มาแต่เดิมดังกล่าวแล้วข้างต้น ดังนั้น แม้ในสมัยต่อมาศาสนาฮินดูจะรับเอาตบะเข้าเป็นส่วนหนึ่งในศาสนาของตนแล้วก็ตาม แต่นักบวชนอกศาสนาพราหมณ์ที่บำเพ็ญตบะมาแต่โบราณ ก็ยังคงยึดถือตบะอยู่เช่นเดิม ดังจะเห็นได้ในหมู่นิครนถ์คือนักบวชในศาสนาไชนะซึ่งบำเพ็ญตบะด้วยวิธีการที่จัดว่ารุนแรงที่สุดพวกหนึ่งมาจนถึงทุกวันนี้

โยคะ
ปรัชญาฮินดู ๖ สาขา

การอุบัติแห่งพระพุทธศาสนา และศาสนาไชนะ (ในภาษาไทยนิยมเรียกว่าศาสนาเชน) ซึ่งเป็นศาสนาคัดค้านพระเวท ในศตวรรษที่ ๖ ก่อน ค.ศ. ได้เป็นเหตุให้มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมากมายในศาสนาพราหมณ์ทั้งในด้านหลักธรรมและความประพฤติปฏิบัติ นับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของศาสนาพราหมณ์ซึ่งปราชญ์บางท่านตัดตอนเรียกยุคก่อนถอยหลังจากนี้ไปว่าศาสนาพราหมณ์ หรือศาสนาพระเวทและยุคต่อแต่นี้ไปว่า ศาสนาฮินดู การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็คือ การเกิดขึ้นแห่งระบบปรัชญาสำคัญ ๖ สาขา ที่เรียกว่า ษัฑ ทรรศนะ (The Six Systems of Hindu Philosophy) คือ

คู่ที่ ๑ :

๑. สางขยะ ระบบปรัชญาปฏิเสธพระเป็นเจ้า แสดงทฤษฎีทวินิยม ยอมรับมูลการณ์ ทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายวัตถุ และความสัมพันธ์แห่งมูลสัจ ๒ ฝ่ายนี้ตามหลักวิวัฒนาการ ตั้งขึ้นโดยฤษีกบิล ประมาณ ๖๐๐ ปี ก่อนคริสต์ศักราช หลักคำสอนปรากฏในคัมภีร์สางขยการิกา (โดยอิศวรกฤษณะในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๕) และสางขยสูตร (ของฤษีกบิลเอง แต่เป็นของรวบรวมขึ้นภายหลังราว ค.ศ. ๑๔๐๐)

๒. โยคะ ระบบปรัชญายอมรับพระเป็นเจ้า อิงทฤษฎีของสางขยะ แต่เน้นภาคปฏิบัติในการฝึกจิต ตั้งโดยปตัญชลี ประมาณระหว่างศตวรรษที่ ๒ ก่อน ค.ศ. ถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๓

คู่ที่ ๒ :

๓. นยายะ ระบบปรัชญาซึ่งเดิมอาจไม่มีพระเป็นเจ้าแต่ต่อมานับถือพระเป็นเจ้า แสดงทฤษฎีแห่งญาณวิทยา ส่วนใหญ่เป็นหลักแห่งตรรกศาสตร์ บางทีจึงเรียกว่าตรรกวิทยาบ้าง วาทวิทยาบ้าง ตั้งโดยท่านเคาตมะ หรือโคตมะ ประมาณระหว่าง ๔๕๐ ปีก่อน ค.ศ. ถึง ค.ศ. ๑๐๐ หลักคำสอนปรากฏในคัมภีร์ นยายสูตร ของท่านเคาตมะเอง

๔. ไวเศษิกะ ระบบปรัชญา ซึ่งเดิมไม่มีพระเป็นเจ้าแต่ต่อมานับถือพระเป็นเจ้า แสดงทฤษฎีวิเคราะห์สภาวธรรมต่างๆ ในธรรมชาติ แยกออกเป็นส่วนย่อยที่ละเอียดที่สุดจนถึงวิเศษะในปรมาณู ถือหลักตรรกศาสตร์ตามแนวของนยายะ ตั้งโดยท่านกณาท ประมาณระหว่าง ๒๕๐ ปีก่อน ค.ศ. ถึง ค.ศ. ๑๐๐ หลักคำสอนปรากฏในคัมภีร์ไวเศษิกสูตร ของท่านกณาทเอง

คู่ที่ ๓ :

๕. มีมางสา หรือ ปูรวมีมางสา ระบบปรัชญาเชิดชูพระเวท แสดงความหมาย ความสำคัญ หลักและวิธีการในการประกอบพิธีกรรมแห่งพระเวทให้ถูกต้องตั้งโดยท่านไชมินิ ประมาณ ๒๐๐ ปีก่อน ค.ศ. หลักคำสอนปรากฏในคัมภีร์ มีมางสาสูตร ของท่านไชมินิเอง

๖. เวทานตะ หรือ อุตตรมีมางสา ระบบปรัชญาเชิดชูพระเวทสืบต่อคำสอนแห่งอุปนิษัท สำแดงหลักปรัชญาที่เป็นแก่นแท้ลึกซึ้งและเป็นยอดสุดแห่งพระเวท ตั้งโดยท่านพาทรายณะ (บางท่านว่าเป็นคนเดียวกับวยาส ผู้รวบรวมพระเวทและมหาภารตะ)ประมาณ ๒๕๐ ปีก่อน ค.ศ. ถึง ค.ศ. ๔๕๐ หลักคำสอนปรากฏในคัมภีร์เวทานตสูตร หรือพรหมฺสูตรของท่านพาทรายณะเอง

วิวัฒนาการของศาสนาพราหมณ์ยุคหลัง หรือฮินดูนี้ แสดงชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงในหลักสำคัญของศาสนา ทั้งในด้านที่รับเอาความคิดและข้อปฏิบัตินอกวงศาสนาพราหมณ์เข้ามาเสริมตนและในด้านที่พัฒนาตัวเองโดยขยายแนวความคิดเดิมออกไปและสร้างฐานรองรับความประพฤติปฏิบัติที่อยู่ให้มั่นคง

พระพุทธศาสนากับโยคะ

ตามที่กล่าวมานี้จะเห็นว่า ในปรัชญา ๖ สาขานั้น (ที่ถูกเรียกทรรศนะทั้ง ๖) สางขยะอย่างเดียวมีมาก่อนพระพุทธศาสนานอกจากนั้นเกิดขึ้นภายหลัง แต่ตามหลักฐานปรากฎว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชาแล้ว ได้ทรงบำเพ็ญโยคะอยู่ระยะหนึ่งจากนั้นจึงได้ทรงบำเพ็ญตบะอันเป็นทุกรกิริยา แล้วเปลี่ยนมาทรงดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา จึงได้ตรัสรู้ เพื่อความชัดเจนในเรื่องนี้ จะได้ชี้แจงความเป็นมาขอโยคะเพิ่มเติมเล็กน้อย

โยคะที่จัดเป็นระบบปรัชญาสาขาหนึ่ง อย่างที่กล่าวข้างต้นนั้น กำหนดเอาการที่ท่านปตัญชลีประมวลหลักแห่งโยคะร้อยกรองไว้เป็นคัมภีร์ที่เรียกว่าโยคสูตรเป็นสำคัญ แต่ความจริง แนวความคิดเรื่องโยคะนี้ ได้มีมาก่อนหน้านั้นเป็นเวลานาน แต่มิได้แยกเป็นระบบปรัชญาสาขาหนึ่งโดยเฉพาะ บางท่านถือว่ายาชญวัลกยะ ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอุปนิษัท เป็นผู้เริ่มต้นปรัชญาสาขานี้ แต่เมื่อสืบไกลลงไปอีก โยคะยังมีต้นความคิดมาก่อนหน้านั้น

โยคะ ก็เช่นเดียวกับตบะ ในแง่ที่ว่า มิใช่เป็นหลักความคิดและการปฏิบัติในศาสนาพราหมณ์มาแต่เดิม สันนิษฐานกันว่าโยคะมีมูลเค้าอยู่ในชมพูทวีปก่อนชนเผ่าอารยันอพยพเข้ามาปรากฏหลักฐานว่า ข้อปฏิบัติบางอย่างของโยคะมีอยู่ในยุคอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุด้วย และในสมัยโบราณทีเดียวนั้น อาจจะเป็นพิธีกรรมประเภทไสยศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากความรู้สึกเชื่อถือโยคะในแง่คาถาอาคมและความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ยังคงเป็นอยู่แม้ในสมัยปัจจุบัน ในสมัยพุทธกาล โยคะจัดได้ว่าเป็นสาขาหนึ่งของสางขยะ เจ้าชายสิทธัตถะก็ได้ทรงศึกษาโยคะกับอาจารย์ในลัทธิสางขยะตามเรื่องที่มีมาในคัมภีร์ว่า เมื่อเสด็จออกบรรพชาแล้ว ได้ทรงไปศึกษากับอาฬารดาบส กาลามโคตร ได้อากิญจัญญายตนฌานสิ้นความรู้ของอาจารย์แล้ว ทรงได้ศึกษาต่อกับอุททกดาบส รามบุตรบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน สิ้นความรู้ของอาจารย์แล้วทรงตระหนักว่ายังมิใช่ทางตรัสรู้ จึงได้เสด็จปลีกพระองค์ไปศึกษาค้นคว้าธรรมโดยลำพังต่อไป ภายหลังพุทธกาล ทั้งสางขยะและโยคะ ได้ยอมรับถูกรวมเข้าไว้ในวงของศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู และกลายเป็นระบบปรัชญาแต่ละสาขาอย่างที่ได้แสดงไว้ข้างต้น

เพราะเหตุที่ฮินดูรับเอาลัทธิทั้งสองนี้ และลัทธิอื่นๆ เข้ามารวมในศาสนาของตน จึงปรากฏว่า ศาสนาฮินดูอย่างที่เรียกกันในปัจจุบัน ประกอบด้วยระบบความคิดต่างๆ ซึ่งขัดแย้งกันเองอย่างมากมาย ถึงตรงข้ามกันก็มี แต่ก็ยังจัดเป็นฮินดูอยู่นั่นเองและปราชญ์ฮินดูถือว่าระบบที่ขัดแย้งกันเหล่านี้เป็นเครื่องประกอบเสริมกัน แม้แต่พระพุทธศาสนา ชาวฮินดูก็ได้พยายามผนวกเข้าไว้ในศาสนาฮินดูด้วย ดังเรื่องพุทธาวตารในนารายณ์ ๑๐ ปาง เป็นต้น ราธกฤษณัน นักปรัชญาอินเดียคนสำคัญของยุคปัจจุบันก็พยายามกล่าวย้ำเพื่อให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาฮินดู แต่นักปราชญ์คนสำคัญของอินเดียอีกท่านหนึ่งคือ เนห์รู ไม่ยอมรับและได้พยายามแสดงความเห็นตรงข้ามในเรื่องนี้มีข้อคิดอย่างหนึ่งว่า ผู้ถือสัจธรรมควรจะมีความจริงใจและแน่นอน เมื่อเห็นชัดเจนว่า ระบบความคิดหรือข้อปฏิบัติใดผิดพลาดก่อให้เกิดความเสียหายแล้ว ก็ควรแก้ไขละเลิกตัดไปเสีย มุ่งผลในทางปฏิบัติกันจริงๆ ไม่ใช่ไปเที่ยวเก็บมารวมๆ เอาไว้โดยความเสียดาย หรือเพื่อไว้คอยยกตัวขึ้นรับสมอ้างไปทุกด้านหรือเพราะเอาแน่อะไรไม่ได้ ก็ปล่อยให้คลุมๆ เครือๆ ไว้เรื่อยๆ ไปอย่างนั้น

ทฤษฎีสังเขปแห่งสางขยะ-โยคะ

กล่าวได้ว่า สางขยะกับโยคะเป็นระบบปรัชญาคู่แฝด เป็นเครื่องประกอบของกันและกัน สางขยะเป็นฐานทางฝ่ายทฤษฎีหรืออภิปรัชญา โยคะเป็นภาคปฏิบัติ หรือการแสดงระบบความคิดนั้นออกเป็นการกระทำ เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลตามทฤษฎีที่วางไว้

สางขยะเป็นระบบปรัชญาที่เก่าแก่ที่สุดในสาขาทั้ง ๖ พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ เคยทรงศึกษาสางขยะ และปฏิบัติโยคะที่รวมอยู่กับสางขยะในสมัยนั้น ปรัชญาสางขยะอย่างที่รู้จักกันทุกวันนี้ เป็นหลักที่วิวัฒน์เพิ่มขึ้นในสมัยหลัง และได้รับอิทธิพลย้อนกลับมาจากพระพุทธศาสนา ส่วนปรัชญาโยคะที่แยกจัดเป็นระบบปรัชญาสาขาหนึ่ง ตามทฤษฎีที่ท่านปตัญชลีเขียนขึ้นในสมัยหลัง ก็ปรากฏว่ามีความอ้างถึงทัศนะฝ่ายพระพุทธศาสนายุคต่อๆ มาด้วยเช่นกัน

โดยสรุป ปรัชญาสางขยะสอนว่า โลกนี้มีมูลการณ์ ๒ อย่างคือ ฝ่ายจิต กับฝ่ายวัตถุ การเกี่ยวข้องระหว่างมูลการณ์ ๒ อย่างนี้ทำให้เกิดวิวัฒนาการปรากฏรูปเป็นต่างๆ ในธรรมชาติ หรือเป็นโลกอย่างที่เห็นอยู่นี้ พูดให้เข้าใจง่ายๆ เป็น ๓ ข้อ คือ

๑. ปุรุษ คือมูลการณ์ฝ่ายจิต เป็นตัวอัตตาหรือตัวชีวะ เป็นตัวรู้หรือตัวเห็น เที่ยง คงที่ เป็นสภาวะบริสุทธิ์เฉยนิ่ง ไม่มีกิริยาใดๆ บุรุษที่อยู่ในแต่ละบุคคล เรียกว่า ปุคคลชีพ แต่ละบุรุษเป็นมูลสภาวะอยู่ในตัว ไม่มีมูลการณ์อะไรอีกที่บุรุษจะต้องไปรวมเข้าด้วยอย่างในลัทธิที่เชื่อพรหมัน

๒. ประกฤติ คือมูลการณ์ฝ่ายวัตถุ ไร้ชีพไร้ความรู้ เป็นตัวถูกเห็นหรือถูกรู้ เป็นมูลสภาวะของโลก มีองค์ประกอบที่เรียกว่า “คุณ” ๓ อย่าง คือ สัตตวะ (ส่วนสุกใส หรือภาวะแห่งความดีและความสุข ช่วยให้เกิดญาณคือความรู้) รชัส (ส่วนฟุ้ง หรือภาวะแห่งกิเลสและความทุกข์ที่เป็นดุจธุลีฟุ้งขึ้น บีบรัดยั่วเร้าให้เกิดกรรมหรือการกระทำต่างๆ) ตมัส (ส่วนมืด หรือภาวะแห่งโมหะ คือความหลงมืดบอดที่ครอบคลุมสัตว์และสิ่งทั้งหลายไว้ หน่วงและกีดขวางต่อความรู้แจ้ง)

ประกฤติ เป็นภาวะปกติโดยลำพังตัวเมื่อไม่มีบุรุษเกี่ยวข้อง องค์ประกอบคือคุณทั้ง ๓ (สัตตวะ รชัส ตมัส) ย่อมอยู่ในภาวะสมดุล สงบนิ่ง ไม่มีกิริยาใดๆ แต่เมื่อบุรุษพัวพันกับประกฤติ (ผู้เห็นพัวพันกับสิ่งที่ถูกเห็น หรือภาวะที่รู้สัมพันธ์กับภาวะที่ถูกรู้) จึงเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในประกฤติ ปรากฏรูปเป็นต่างๆ ทุกอย่างเท่าที่มองเห็นในโลกหรือในธรรมชาติทั้งหมด ผิดแผกกันไปตามอัตราส่วนของการเพิ่มขยายแห่งคุณทั้ง ๓ นั้น ตามความเป็นจริง จึงไม่มีสิ่งใดใหม่แท้ มีแต่การแปรรูปของสิ่งที่มีอยู่แล้วตามปกติ

ความสัมพันธ์ระหว่างมูลการณ์ทั้ง ๒ คือ บุรุษ กับประกฤติจึงเป็นที่มาของปวัตตนาการ คือความเป็นไปหรือวิวัฒนาการของสิ่งทั้งหลายโดยแสดงลำดับได้ดังนี้

ก. อุบัติการณ์ บังเกิดเป็นภาวะอันสุขุม ซึ่งคงสภาพเป็นปกติซับซ้อนอยู่ภายใน ยังไม่แสดงออกให้ปรากฏเป็นเอกเทศได้แก่ (นับต่อจากบุรุษและประกฤติ)

๓) มหัต ภาวะที่เติบใหญ่ บางทีเรียกพุทธิ คือภาวะแห่งความตื่น ความตระหนักรู้

๔) อหังการ เป็นภาวะที่จำกัดความเติบใหญ่และความรู้ให้อยู่ในขอบเขต

๕-๙) ตันมาตร ๕ อันวิวัฒน์ออกมาจากฝ่ายตมคุณ คือ

- วรรณะ (สี) หรือรูป

- สัททะ (เสียง)

- คันธะ (กลิ่น)

- รสะ (รส)

- ผัสสะ (ความกระทบถูกต้องตัว)

ข. ปรากฏการณ์ บังเกิดเป็นสภาพที่สำแดงภาวะโดยเอกเทศ ปฏิสนธิเป็นปุคคลชีพ คือ เป็นมนุษย์และดิรัจฉาน เป็นต้น แต่ยังไม่มีพฤติการณ์ได้แก่

๑๐) มนัส คือ ใจ เป็นวิการคือการผันแปรทางฝ่ายสัตตวคุณ เป็นหัวหน้าในข้อต่อไปทั้งหมด มีลักษณะพิเศษให้รู้สึกตรึกตรองและปรารถนา ไม่มีผัสสะเอง ต้องอาศัยอินทรีย์เป็นสื่อ

๑๑-๑๕) ญาเณนทรีย์ ๕ เป็นวิการทางฝ่ายสัตตวคุณ คือ

- จักขุนทรีย์ (ตา)

- โสตินทรีย์ (หู)

- ฆานินทรีย์ (จมูก)

- กายินทรีย์ (กายหรือตัว)

๑๖-๒๐) ภูต หรือ มหาภูต หรือ สถุลภูต ๕ เป็นวิการทางฝ่ายตมคุณ เป็นที่อาศัยแห่งคุณทั้งหลาย คือ

- ปฐวี (ดิน) เป็นที่ปรากฏ คันธะ

- อาโป (น้ำ) เป็นที่ปรากฏ รสะ

- เตโช (ไฟ) เป็นที่ปรากฏ วรรณะ หรือ รูป

- วายุ (ลม) เป็นที่ปรากฏ ผัสสะ

- อากาศ (ช่องว่าง) เป็นที่ปรากฏ สัททะ

๒๑-๒๕) กรรเมนทรีย์ คืออวัยวะเพื่อประกอบกรรม ๕ เป็นวิการของฝ่ายสัตตวคุณ คือ

- ปาก

- ขา

- แขน

- ลำไส้

- คุยหฐาน

มูลการณ์ อุบติการณ์ และปรากฏการณ์ ๒๕ ข้อนั้น แต่ละอย่างเป็นสิ่งมีลักษณะเฉพาะตัว เรียกชื่อว่าเป็น ตัตตวะ หนึ่งๆ จึงรวมมี ตัตตวะ ๒๕

ค. พฤติการณ์ คือ พฤติกรรมของตัตตวะ ๒๕ นั้น ที่ปรากฏโดยปุคคลชีพ สำแดงภาวคุณ (ความดี ความชั่ว ความรู้ เป็นต้น ตามอำนาจคุณ ๓) ประสบสุขทุกข์วนเวียนเป็นวัฏสงสาร

โดยนัยนี้ อาตมัน หรือตัวตนที่แท้ของบุคคล จึงได้แก่บุรุษอันบริสุทธิ์เป็นอมฤต ต่างหากจากร่างกาย จิตใจ และตัวตนที่เข้าใจโดยสามัญ แต่เพราะเหตุที่มาเกลือกกลั้วพัวพันกับร่างกายเพราะมีรชคุณกับตมคุณ เป็นส่วนประกอบข้างมาก อาตมันนั้นจึงเอาตัวไปไขว้เขวปะปนกับกาย หลงผิดว่าอาตมันเป็นอันเดียวกับกาย ทำให้ต้องประสบชาติ มรณะ โศก ทุกข์ ทั้งหลายในโลกเรียกว่าตกอยู่ในพันธนาการ

จุดหมายสูงสุดของสางขยะ จึงได้แก่ การแยกบุรุษออกจากความสัมพันธ์กับประกฤติ (มิใช่การไปรวมเข้ากับชีวะอันสูงสุดอย่างใดอย่างหนึ่ง) ซึ่งกระทำได้โดยความรู้ชัดที่ทำให้อาตมันกำหนดเห็นความต่างของตนจากโลกฝ่ายวัตถุที่มีคติแห่งความวิวัฒน์และวินาศ เมื่อรู้ชัดเช่นนี้แล้ว ประกฤติหรือโลกฝ่ายวัตถุก็หมดอำนาจผูกพัน แต่ความรู้ชัดนี้จะเกิดได้ต้องอาศัยความรู้จักอาตมันหรือบุรุษนั้น วิถีทางที่จะให้เกิดความรู้นี้ ก็คือการเพิ่มพลังฝ่ายดี อันได้แก่สัตตวคุณให้มากขึ้น โยคะที่เป็นหลักปฏิบัติเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายนี้ จึงหมายถึงการเพียรเสริมสร้างสัดส่วนฝ่ายสัตตวคุณให้มากขึ้น

ในด้านทฤษฏี โยคะยอมรับนับถือตามหลักตัตตวะ ๒๕ ของสางขยะ แปลกแต่เพิ่มอิศวร คือพระเป็นเจ้า หรือ God เข้ามาเป็นตัตตวะที่ ๒๖ พระเป็นเจ้า ในความหมายของโยคะ ไม่ใช่พระผู้สร้างผู้ให้รางวัลหรือลงโทษ เป็นเพียงบุรุษหรืออาตมันหนึ่ง แต่เป็นบุรุษที่สมบูรณ์ เป็นสัพพัญญู สัพพาภิภู เป็นอารมณ์ สำหรับเพ่งอย่างหนึ่งในการบำเพ็ญโยคะ อย่างไรก็ดี มีความเชื่อส่วนหนึ่งว่า อิศวรนี้เป็นตัวการชักนำให้เกิดความพัวพันและความแยกระหว่างบุรุษกับประกฤติ ที่เป็นเหตุให้เกิดความวิวัฒน์และวินาศของโลก ในสมัยต่อๆ มา เมื่อปรัชญาสาขาอื่นๆ ของฮินดูได้ยอมรับเอาหลักปฏิบัติของโยคะไปใช้แล้ว จุดหมายของการปฏิบัติโยคะก็เปลี่ยนไปตามหลักปรัชญานั้นๆ เช่น ในสาขาเวทานตะ การทำให้ชีวาตมันเข้ารวมกับปรมาตมันโดยสมบูรณ์ จัดเป็นจุดหมายสูงสุดของโยคะ

ปรัชญาสางขยะ พร้อมด้วยโยคะอันเป็นส่วนเสริมนี้ ได้มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อปรัชญาฮินดู ดังปรากฏกระแสความคิดและหลักธรรมที่รับถ่ายทอดสืบมาในคัมภีร์ มนูธรรมศาสตร์ มหาภารตะ ปุราณะ ภควัทคีตา และปรัชญาสาขาย่อยๆ ในยุคหลังๆ ของฮินดูแทบทุกสาขา ตลอดจนศิลปะ เวชศาสตร์ และวิทยาการอื่นๆ

หลักปฏิบัติของโยคะ

ผู้ปรารถนาความรู้ในอาตมันหรือบุรุษ จะต้องระงับพฤติกรรมทางร่างกาย การรับรู้ทางอินทรีย์ภายนอก และพฤติกรรมของจิตทั้งหมด ให้เหลือแต่ตัวความรู้อันบริสุทธิ์ที่เป็นตัวบุรุษเพียงอย่างเดียว จึงจักทราบชัดว่าอาตมันหรือบุรุษเป็นอิสระอยู่เหนือและต่างหากจากร่างกาย จิตใจ อารมณ์และความรู้สึกที่พัวพันทั้งปวง จะไม่ไขว้เขวหลงผิดยึดเอาสิ่งที่พัวพันนั้นเป็นอาตมันต่อไป การปฏิบัติตามหลักของโยคะ (แปลตามตัวอักษรว่า ประกอบคือประกอบจิตเข้ากับอารมณ์ที่เพ่งในภายใน) จึงหมายถึง วิธีการที่จะทำให้จิตสงบนิ่ง ระงับจากพฤติกรรมและการรับรู้ทั้งหมด กำหนดแน่วแน่ผูกอยู่กับอารมณ์ที่เพ่งอย่างเดียวในภายใน จนเกิดภาวะที่เรียกว่าสมาธิ ข้อปฏิบัติเช่นนี้เป็นการทำให้กระแสความคิดปราศไปจากรชคุณและตมคุณ บริสุทธิ์ขึ้นโดยลำดับ และพลังฝ่ายสัตตวคุณเพิ่มขึ้นจนเหลือแต่สัตตวคุณอย่างเดียว ทำให้มองเห็นบุรุษแจ่มชัดเพราะปราศจากสิ่งมัวหมองเคลือบคลุม จนในที่สุดจะถึงภารกิจสุดท้ายอย่างเดียว คือสัตตวคุณนั้นกำหนดรู้ความต่างของตนจากบุรุษ ดุจผู้มองเห็นเงาของตนในกระจกเงา และกำหนดรู้ได้ว่าเงานั้นมิใช่ตน เมื่อนั้นความบริสุทธิ์แห่งสัตตวคุณจะเสมอด้วยความบริสุทธิ์แห่งบุรุษ เมื่อขจัดความหลงผิดขั้นสุดท้ายที่ทำให้เข้าใจไขว้เขวระหว่างเงากับตนแล้วก็บรรลุถือไกวัลย์คือ ภาวะที่บุรุษผ่องแผ้วแยกพ้นจากความพัวพัน อันเป็นจุดหมายสูงสุดของสางขยะและโยคะ

หลักปฏิบัติแห่งโยคะ ที่ปรากฏในสมัยพุทธกาล และที่ท่านปตัญชลีประมวลแสดงไว้ในโยคสูตร ถือว่าเป็นโยคะอย่างเลิศเรียกว่า ราชโยคะ เป็นโยคะแบบแท้จริงและสูงสุด มุ่งการฝึกจิตเป็นสำคัญ ในภายหลังได้มีโยคะแบบอื่นๆ เกิดเพิ่มขึ้นหลายอย่าง ซึ่งมีวิธีการเบื้องต้นและผลที่ต้องการบางอย่างในระหว่างแปลกออกไป กล่าวเฉพาะที่สำคัญคือ

๑. กรรมโยคะ วิถีแห่งความหลุดพ้นด้วยการกระทำอันไม่มีความผูกพัน

๒. ภักติโยคะ วิถีแห่งความหลุดพ้นด้วยความภักดีในองค์พระเป็นเจ้า

๓. ชญาณโยคะ วิถีแห่งความหลุดพ้นด้วยความรู้แจ้งในองค์บรมสัตย์

๔. มันตรโยคะ วิถีแห่งความหลุดพ้นด้วยอาศัยมนตร์ ในการบูชาเทพเจ้าด้วยความจงรักภักดี

๕. ลยโยคะ วิถีแห่งความหลุดพ้นด้วยอาศัยความรู้ในจักร กล่าวคือศูนย์รวมอำนาจจิตที่อยู่ในส่วนต่างๆ แห่งร่างกาย

๖. หฐโยคะ วิถีแห่งความหลุดพ้นด้วยการฝึกฝนทางร่างกาย

๗. ราชโยคะ วิถีแห่งความหลุดพ้นด้วยการฝึกฝนทางฝ่ายจิต

โยคะ ๓ อย่างแรก เป็นส่วนสำคัญแห่งหลักธรรมในภควัทคีตา ซึ่งเป็นคัมภีร์ยอดสุดของฮินดูยุคหลัง (แต่งหลังโยคสูตรของปตัญชลี; ตามคัมภีร์นี้ โยคะหมายถึงการเข้ารวมกับพระเป็นเจ้า) โยคะ ๔ อย่างหลังได้เป็นหลักใหญ่ในลัทธิตันตระ

หฐโยคะ เป็นโยคะที่อาจเกิดภายหลังอย่างอื่นๆ และเป็นแบบที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วโลกในสมัยปัจจุบัน ถึงกับเมื่อพูดถึงคำว่า โยคะ คนทั่วไปก็หมายถึงหฐโยคะนี้ คนจำนวนมากนำ หฐโยคะไปฝึกหัดมิใช่เพื่อประโยชน์ในทางศาสนาโดยตรง หากแต่มุ่งประโยชน์ทางการบริหารทรวดทรง เสริมสุขภาพ ทำให้ความคิดปลอดโปร่งและรักษาโรคเป็นต้น คัมภีร์หฐโยคะบางคัมภีร์ปรากฏว่า เป็นของในสายพระพุทธศาสนา

ลยโยคะ แสดงหลักทางสรีรวิทยาของคนซึ่งนำไปใช้ในหฐโยคะด้วย ควรกล่าวถึงในที่นี้เล็กน้อย หลักนั้นสอนว่า ที่ปลายล่างสุดของกระดูกสันหลัง มีพลังหญิงเรียกว่ากุณฑลินีและที่ขม่อมมีศูนย์พลังจิตซึ่งจัดเป็นเพศชายเรียกสหัสรระ เป็นรูปดอกบัวพันกลีบ ระหว่างศูนย์ทั้งสองนี้ มีเส้นเชื่อมแล่นผ่านสันหลังขึ้นไป เรียกว่า สุษุมนะ โดยมีศูนย์พลังจิตที่เรียกว่าจักร อยู่ระหว่าง ๖ แห่ง ในการปฏิบัติโยคีจะต้องนำเอาพลังกุณฑลินีแล่นตามเส้นสุษุมนะ ผ่านจักรทั้ง ๖ ขึ้นไปจนบรรลุจุดร่วมกับพลังสหัสรระจึงจะบรรลุโมกษะ เข้ารวมกับองค์พระเป็นเจ้า โยคีเจริญพลังจิตอย่างแรงกล้า จนสามารถควบคุมระบบประสาทอัตบาลได้ บังคับจังหวะการเต้นของหัวใจได้ ไม่ต้องกินอาหารและน้ำคราวละหลายๆ วัน ไม่ต้องหายใจได้นานๆ ความรู้ในเรื่องจักรช่วยในการรักษาโรค เช่น แก้ปวดฟันโดยนวดซี่โครง บรรเทาหืดโดยกดเบาๆ ที่กกหู เป็นต้น ถึงแม้จะมีการอวดอ้างความวิเศษของโยคะเกินความจริงไปบ้าง แต่ก็ปรากฏหลักฐานเป็นที่ยอมรับกันเป็นอันมากว่าโยคีบางคนสามารถควบคุมร่างกายได้อย่างพิเศษเกินสามัญ

ในการฝึกโยคะแต่ละแบบ มีขั้นตอนของการปฏิบัติที่เรียกว่า “ภูมิ” หลายขั้นต่างๆ กันไป (เช่นราชโยคะ ๑๕ ภูมิ, มันตรโยคะ ๑๖ ภูมิ, ภักติโยคะ ๙ ภูมิ, ลยโยคะ ๑๐ ภูมิ เป็นต้น) แต่จัดว่าเป็นหลักทั่วไปมีอยู่ ๘ ภูมิ นอกนั้นเป็นการขยายหรือย่นย่อจากภูมิทั้ง ๘ นี้ ภูมิ ๘ นั้นคือ

๑. ยมะ การสำรวมตน โดย

ก. อหิงสา เว้นจากการทำร้ายสิ่งมีชีวิต

ข. สัตยะ มีสัจจะทั้งกาย วจี และมโนทวาร

ค. อัสเตยะ เว้นจากอทินนาทาน

ง. พรหมจรรย์ ถือเป็นพรหมจารี

จ. อปริเคราะห์ ไม่ครอบครองถือสมบัติ

๒. นิยมะ การฝึกนิสัย โดย

ก. เศาจะ ชำระร่างกายด้วยการอาบน้ำ กินอาหารสะอาด เป็นต้น และชำระจิตโดยปลูกฝังความรู้สึก ความคิดที่ดี

ข. สันโดษ ยินดีตามที่ได้ ไม่เห็นแก่สะดวกสบาย

ค. ตบะ บำเพ็ญตบะ มีทนร้อนหนาว เป็นต้น

ง. สวาธยายะ ท่องบ่นพระคัมภีร์

จ. อิศวรประณิธาน ใส่ใจกำหนดรำลึกถึงองค์พระเป็นเจ้าและยอมมอบตนต่อพระองค์

๓. อาสนะ การดำรงร่างกายในท่าที่เอื้อแก่สุขภาพและเกื้อกูลแก่สมาธิ ท่ามีมากมาย (ทฤษฎีว่ามีถึง ๘,๔๐๐,๐๐๐ ท่า) แต่ที่นิยมกันมากที่สุด คือท่าดอกบัว (ปัทมาสนะ)

๔. ปราณยามะ การควบคุมลมหายใจ เพื่อทำกายและจิตให้มั่นคง สามารถหยุดหายใจได้นานๆ และยึดภาวะแห่งสมาธิให้ยาวออกไป หลักปฏิบัติสำคัญมี ๓ ส่วน คือ

๑. ปูรกะ ประจุเข้า

๒. กุมภกะ เก็บขังไว้ดุจกายเป็นหม้อ

๓. เรจกะ ถ่ายออก

ทั้งนี้ มีจังหวะและปริมาณตามรายละเอียดที่สอนไว้

๕. ปรัตยาหาร การเหนี่ยวรั้งอินทรีย์ เว้นจากการรับรู้อารมณ์ที่ยั่วยวนใจทางอินทรีย์ทั้งหลาย ข่มบังคับให้อยู่กับใจดุจเต่าหดอวัยวะ

๖. ธารณา การเพ่งหรือตั้งจิตแน่วแน่อยู่กับอารมณ์อันเดียว เช่น เพ่งจุดกึ่งระหว่างคิ้วทั้งสอง เพ่งเทวรูป หรือดวงจันทร์ เป็นต้น

๗. ธยาน ภาวะแห่งฌาน ที่จิตแน่วแน่อยู่กับอารมณ์อันเดียวแล้ว แต่กระแสจิตยังแล่นวนอยู่กับอารมณ์ที่เพ่งนั้น มีอาการส่ายชะงักดุจกระแสน้ำหยุดชั่วขณะแล้วไหลต่อไป สามารถรู้แจ้งภาวะแห่งอารมณ์ที่เพ่ง มองเห็นอาตมันเป็นเบื้องต้นแล้ว แต่ยังเลื่อนลอยหายไปได้อีก

๘. สมาธิ ภาวะที่จิตแน่วแน่อยู่กับอารมณ์ที่แพ่งโดยสมบูรณ์ จิตดื่มด่ำซึมซาบเข้าไปในอารมณ์นั้นอย่างลึกซึ้ง จนกลมกลืนเข้ารวมในอารมณ์นั้นหมดความตระหนักรู้ในตัวเอง เทียบศัพท์ฝ่ายตะวันตกว่าเป็น Trance และเป็น Superconsciousness แบ่งได้เป็น ๒ ตอน คือ

๑. สวิกัลป, สัมปรัชญาต ภาวะแห่งสมาธิที่มีความตระหนักรู้ในภาวะที่ยังเป็น ๒ ฝ่าย ระหว่างผู้เห็นกับสิ่งที่ถูกเห็น

๒. นิรวิกัลป, อสัมปรัชญาต ภาวะแห่งสมาธิที่ปราศจากภาวะอันเป็น ๒ สิ้นความตระหนักรู้ ในความต่างระหว่างผู้เห็นกับสิ่งที่ถูกเห็นโดยสิ้นเชิง

หลักปฏิบัติทั้ง ๘ ภูมินี้ ปรัชญาสาขาเวทานตะ ได้รับมาปฏิบัติโดยสมบูรณ์ สำหรับเวทานตะ ภาวะแห่งสมาธิขั้นสุดท้ายก็คือ การที่ชีวาตมันได้เข้ารวมกับปรมาตมัน ละลายกลมกลืนไปในปรมาตมัน ดุจเกลือละลายในน้ำ ฉะนั้น

ในแง่การใช้ประโยชน์ กล่าวโดยสรุปจะเห็นได้จากความที่กล่าวมาโดยลำดับว่า ผู้บำเพ็ญโยคะโดยทั่วไป มุ่งหวังผลต่างกันเป็น ๒ ประการคือ เพื่อบรรลุโมกษะอันเป็นจุดหมายสูงสุดอย่างหนึ่งและเพื่อพลังอำนาจพิเศษ ตั้งต้นแต่พลังทางสุขภาพขึ้นไปจนถึงความมีอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ อย่างหนึ่ง

สางขยะและโยคะในทัศนะของพระพุทธศาสนา

๑. สางขยะปรัชญาจัดเป็นสัสสตวาทอย่างหนึ่งซึ่งถือว่ามีอัตตา และอัตตาหรืออาตมันนั้นก็ดี โลกก็ดี เป็นของเที่ยงเป็นทฤษฎีที่แล่นไปปลายสุดข้างหนึ่ง ตรงข้ามกับพวกวัตถุนิยมที่เป็นอุจเฉทวาท และขัดกับหลักอนัตตา

๒. จุดหมายสูงสุดของสางขยะและโยคะ แต่เดิมที่ให้บุรุษแยกพ้นจากความเกลือกกลั้วพัวพันกับประกฤติก็ดี หรือโยคะที่นำมาใช้ในปรัชญาเวทานตะ เพื่อให้อาตมันเข้ารวมกับปรมาตมันก็ดี ยังเป็นความหลงผิดขั้นสุดท้าย ที่จบลงด้วยการยึดถือและติดในอัตตาอีกในที่สุด หาหลุดพ้นแท้จริงไม่

๓. หลักปฏิบัติแห่งโยคะ กล่าวโดยทั่วไป มีส่วนที่เข้ากันได้ประยุกต์ได้หรือสัมพันธ์กันกับพระพุทธศาสนามากพอสมควร แต่มีข้อแตกต่างและข้อที่ถือว่าเป็นความบกพร่องเฉพาะอย่างสำคัญดังนี้

- การปฏิบัติขั้นสุดท้ายของโยคะ จบลงด้วยสมาธิ ที่ทำให้สำนึกแห่งจิตดื่มด่ำซึมซาบกลมกลืนเข้าไปในสิ่งที่เป็นอารมณ์แห่งการเพ่ง ตรงกับภาวะที่ศัพท์ฝ่ายตะวันตกเรียกว่า เป็น Mystic อย่างหนึ่ง เทียบทางพระพุทธศาสนาว่าอยู่ในขั้นของ ฌานสมาบัติ ซึ่งเป็นคุณวิเศษชั้นสูงและมีประโยชน์มาก ทำให้เกิดความสุขอย่างสูง สงบ ระงับกิเลสชั่วคราว และอาจใช้เป็นฐานของการปฏิบัติขั้นต่อไปได้ แต่อาจกลายเป็นโทษ ในเมื่อเข้าใจผิดว่าเป็นจุดหมายสูงสุด และหลงติดความน่าพึงพอใจของภาวะอันนี้ จัดเป็นภาวะที่หยุดนิ่ง ตัน และถลำเลยผิดไปอย่างหนึ่ง โทษข้อนี้นั่นเองที่เป็นเหตุให้พระโพธิสัตว์เสด็จหลีกออกจากสำนักของอาฬารดาบสและอุททกดาบส ในเมื่อได้บรรลุภูมิธรรมสูงสุดในสำนักของอาจารย์ทั้งสองท่านนั้นแล้ว

- การปฏิบัติขั้นสุดท้ายของโยคะนี้ สิ้นสุดลงด้วยสมาธิ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสมถะ เป็นความสำเร็จเพียงขั้นหนึ่งของการปฏิบัติธรรม สมาธิที่ได้นี้ จะต้องนำไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติขั้นปัญญา ที่เรียกว่าวิปัสสนาต่อไป จึงจะเข้าถึงจุดหมายสูงสุดได้ และสมาธิที่ต้องการในการเจริญวิปัสสนาต่อไปนั้น จึงจะเข้าถึงจุดหมายสูงสุดได้และสมาธิที่ต้องการในการเจริญวิปัสสนาต่อไปนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นมาถึงขั้นได้ฌานสมาบัติอย่างนี้ ยิ่งกว่านั้นถ้าได้ฌาณสมาบัติถึงขั้นที่จิตซึมซาบกลมกลืนเข้าไปในอารมณ์ที่เพ่ง กลายเป็นความหยุดนิ่งอย่างนั้นแล้ว กลับกลายเป็นความติดตัวก้าวหน้าต่อไปไม่ได้ ต้องย้อนถอยกลับมาสู่ภาวะ ที่จิตมีความตระหนักรู้มีสติชัด ทำงานได้ก่อน แล้วน้อมไปในทางวิปัสสนา ใช้ปัญญาพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายต่อไป จึงจะบังเกิดผลสำเร็จในขั้นสูงสุด คือวิมุตติที่แท้จริง สมาธิที่เป็นจุดจบของโยคะ จึงต้องให้ย้อนกลับมาเป็นจุดตั้งต้นอีกตอนหนึ่งในพระพุทธศาสนา กล่าวอีกนัยหนึ่งว่าฌานก็ดี สมาธิในฌานก็ดี มิใช่จุดหมายในตัว แต่เป็นเพียงวิธีการหนึ่ง ประโยชน์ที่ประสงค์ในการบำเพ็ญฌาณอยู่ที่จะทำจิตให้อยู่ในสภาพที่เรียกว่า "นุ่มนวลควรแก่การงาน" แล้วน้อมเอาจิตนั้นไปใช้ประโยชน์ทางปัญญาตามวิธีการที่เรียกชื่อว่า วิปัสสนา ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่มีรายละเอียดแตกต่างออกไปเป็นอีกระบบหนึ่งต่างหาก

- โดยที่ฌาน และสมาธิในฌาน มิใช่จุดหมาย พุทธธรรมจึงแนะนำวิธีการนำสมาธินั้นไปใช้ในด้านต่างๆ เพื่อให้สมาธิบังเกิดประโยชน์อย่างมากที่สุด ตามที่ปรากฏในหลักฐานทางคัมภีร์อย่างน้อย ๔ อย่าง คือ เพื่อเป็นเครื่องพักผ่อนกายและจิตหาความสุขยามว่าง เพื่อความมีสติสัมปชัญญะ เพื่อญาณทัศนะและเพื่อเตรียมจิตให้พร้อมในการกำจัดอาสวะ

๔. คำว่า “โยคะ” ที่นำมาใช้ในพระพุทธศาสนาตามความหมายในลัทธิเดิมมีที่ใช้น้อย ส่วนมากใช้ในความหมายต่อไปนี้ คือ

๑. กิเลสที่ผูกมัดจิตไม่ให้เป็นอิสระ

๒. ความเพียร การประกอบ การลงมือปฏิบัติ

๓. การใช้ความคิด ความพินิจพิจารณา การคิดสืบค้นหรือการใช้ปัญญา

ภาคผนวก

 

ความคิดเกี่ยวกับการพระศาสนาที่ได้ไปเห็นมา
(พ.ศ. ๒๕๑๕)

พระมหาชาย อาภากโร
สัมภาษณ์ พระศรีวิสุทธิโมลี

นำเรื่อง

เมื่อปลายเดือนมีนาคม ๒๕๑๕ พระสงฆ์ไทย ๓ รูปได้ออกเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามคำอาราธนาของแผนกพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนีย มลรัฐเพนน์ซิลเวเนีย และกระทรวงการต่างประเทศของอเมริกา พระสงฆ์ทั้ง ๓ รูปนั้นคือ พระธรรมคุณาภรณ์12 เลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระเทพวรเวที13 เจ้าคณะภาค ๓ และพระศรีวิสุทธิโมลี14 รองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยเฉพาะท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิโมลีนั้น ได้ปฏิบัติศาสนกิจสำคัญ คือเป็นผู้บรรยายวิชาพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทย ในโครงการพิเศษของมหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนีย เป็นเวลา ๑ เดือนเศษด้วย

เมื่อคณะของท่านทั้ง ๓ เดินทางกลับถึงประเทศไทยในต้นเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ข้าพเจ้าได้ขอโอกาสเรียนสัมภาษณ์ท่านเจ้าคุณพระศรีวิสุทธิโมลีเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านได้ไปปฏิบัติในอเมริกา และความคิดของท่านต่อสิ่งที่ได้เห็นได้ปฏิบัติมาในประเทศนั้น

แรกทีเดียวเรื่อง “ความคิดเกี่ยวกับการพระศาสนาที่ได้ไปเห็นมา” นี้ ตีพิมพ์ในนิตยสารรายเดือน พุทธจักร ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งข้าพเจ้าเป็นประธานคณะผู้จัดทำอยู่ และได้ลงพิมพ์ติดต่อกันตั้งแต่ฉบับประจำเดือน กรกฎาคม-ตุลาคม ๒๕๑๕

ในการตีพิมพ์ครั้งนี้ได้คงเนื้อหาทั้งหมดไว้เหมือนเดิม เป็นแต่ได้พยายามแก้คำที่สะกดผิดกับลดคำภาษาต่างประเทศลง ให้เหลือแต่ที่เป็นชื่อเฉพาะเท่าที่จำเป็น อย่างไรก็ตามหากจะมีสิ่งขาดตกบกพร่องอยู่บ้าง ข้าพเจ้าก็หวังว่าจะได้รับการอภัย และคำแนะนำจากท่านด้วยไมตรี

พระมหาชาย อาภากโร15


ความคิดเกี่ยวกับการพระศาสนาที่ได้ไปเห็นมา
(พ.ศ. ๒๕๑๕)

ในฐานะที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่สำคัญในสหรัฐเมริกา และอีกหลายประเทศในยุโรป เป็นเวลานานพอสมควร กระผมใคร่จะขอเรียนถามถึงภารกิจที่ได้ปฏิบัติมาว่ามีอะไรบ้างที่สำคัญๆ

พระศรีวิสุทธิโมลี: งานที่ทำมี ๒ อย่าง อย่างแรกเป็นการปฏิบัติงานตามคำนิมนต์ของแผนกพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนีย ซึ่งนิมนต์ไปสอนพุทธศาสนาในโครงการพิเศษช่วงสั้นในระยะ ๖ สัปดาห์ อย่างที่ ๒ เป็นการไปชมกิจการของมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อดูงานเกี่ยวกับการศึกษา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาและเกี่ยวกับเอเชียอาคเนย์ ตามคำนิมนต์ของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกา ที่สำคัญก็มีอยู่ ๒ อย่างเท่านี้ คณะที่ไปประกอบไปด้วยท่านเจ้าคุณพระธรรมคุณาภรณ์ เลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นหัวหน้าคณะ ท่านเจ้าคุณพระเทพวรเวที เจ้าคณะ ๓ ภาค และเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ และผมเป็นรูปที่สาม

 

การสอนพระพุทธศาสนาแก่นักศึกษาในมหาวิยาลัยเพนน์ซิลเวเนียเป็นอย่างไรบ้างครับ มีนักศึกษามากไหม นักศึกษาพวกนี้มีพื้นฐานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามาก่อนหรือไม่อย่างไร ระหว่างที่เรียนพวกเขาสนใจกันมากน้อยแค่ไหน และได้ประเมินผลไหมครับว่าได้ผลเพียงใด

พระศรีฯ : การสอนที่นั่นเป็นโครงการพิเศษ ระยะสั้น เขามุ่งให้นักเรียนชาวอเมริกันได้รู้จักวัฒนธรรม และความรู้สึกนึกคิดของคนในประเทศอื่น หรือดินแดนอื่น ที่มีพื้นฐานมีความเป็นมาที่ต่างจากเขา และเขาต้องการได้รับความรู้นี้โดยตรง ที่เขามุ่งมายังประเทศไทยในโครงการนี้ จุดสำคัญก็มุ่งไปที่วัฒนธรรมและวัฒนธรรมไทยนั้น เขารู้ว่ามีพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานสำคัญ เขาจึงต้องการรู้พระพุทธศาสนาด้วย แต่เพื่อจะให้รู้พระพุทธศาสนาโดยตรง เขาก็เลยนิมนต์พระไปสอน

ในการไปสอนนี้เขาขอให้มุ่งไปที่จุดสำคัญ ๒ ข้อด้วยกัน คือเรื่องพระพุทธศาสนาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับวัฒนธรรมไทย การสอนมีเวลาเพียง ๖ สัปดาห์ ใน ๖ สัปดาห์นี้ก็ยังมีระยะเวลาที่สอนแต่ละกลุ่มสั้นมาก เพราะเขาปล่อยเวลาให้หมดไปในการตระเตรียมเสียบ้าง เหลือเวลาสอนจริงๆ เพียง ๕ สัปดาห์ในแต่ละสัปดาห์ก็มีเวลาสอนจริงๆ เพียง ๕ วัน เว้นวันอาทิตย์และวันจันทร์ นอกจากนี้ยังแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มอีกด้วย กลุ่มที่มาเรียนวันไหนก็มาเรียนเฉพาะวันนั้น รวมแล้วแต่ละกลุ่มมีเวลาเรียนเพียง ๕ วัน ยิ่งกว่านั้นในเวลาเรียน ๕ วันนี้ยังถูกตัดให้สั้นลงไปอีก เพราะในสัปดาห์แรกเขาเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าฟังก่อน เป็นระยะพิเศษ สัปดาห์แรกจึงผ่านไปโดยที่เป็นเรื่องของคนทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้นที่จับกลุ่มแท้ๆ จึงเหลือเวลาเรียนเพียงกลุ่มละ ๔ ชั่วโมง ในเวลาเพียงเล็กน้อยนี้ การที่จะสอนอะไรให้มากจึงเป็นไปไม่ได้ ก็ได้แค่เรื่องทั่วๆ ไป แต่การที่เราจะสอนไปได้มากแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของคนที่มาฟังด้วย

ตอนแรกโครงการนี้ เขามุ่งสำหรับนักเรียนเป็นพิเศษ คือ นักเรียนที่เตรียมจะเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นสุดท้ายของไฮสกูล (High School) โดยให้โรงเรียนต่างๆ ในเขตเมืองฟิลาเดลเฟียส่งนักเรียนมา แล้วเขาก็จัดเป็นกลุ่มขึ้น เป็นกลุ่มเรียนวันอังคาร กลุ่มเรียนวันพุธ ไปจนถึงกลุ่มเรียนวันศุกร์ กลุ่มไหนเรียนวันอะไรก็มาเฉพาะวันนั้น แต่ละกลุ่มก็ไม่ใหญ่นัก กลุ่มละประมาณ ๑๕ ถึง ๒๐ คน รวมแล้วมีสักร้อยคนเท่านั้นเองไม่มากมายนักและเขาก็ไม่ต้องการให้มีกลุ่มที่ใหญ่เกินไป เพื่อจะให้ได้ผลเต็มที่ นักเรียนเหล่านี้เป็นผู้ที่โรงเรียนคัดเลือกมาเอง เพื่อให้นำความรู้กลับไปเผยแพร่อีกทีหนึ่ง ส่วนมากมีครูนำมา เป็นอันว่าเขามุ่งไปที่นักเรียนก่อนเข้ามหาวิทยาลัยก่อน ต่อจากนี้ก็มีพวกนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัย พวกนี้เขาจัดให้เป็นพิเศษในวันเสาร์

พื้นฐานของผู้ที่มาศึกษา โดยที่พวกนี้ส่วนมากยังเป็นนักเรียนในการคัดเลือกทางผู้จัดเป็นผู้คัดเลือกเอง โดยร่วมมือกับโรงเรียน ดังนั้นจะให้ได้ผู้ศึกษาที่มีพื้นฐานดีมาพอสมควรจึงเป็นไปได้ยากก็สุดแต่ว่าเขามีวิธีคัดเลือกกันอย่างไร และดูเหมือนจะเป็นเรื่องของแต่ละโรงเรียนมากกว่า ปรากฏว่านักเรียนบางคนไม่มีพื้นฐานเลย ไม่รู้เรื่องมาก่อนก็มี แต่บางคนก็มีพื้นฐานอยู่บ้าง ข้อนี้อาจเกี่ยวกับความเป็นอยู่ทางครอบครัวก็ได้ คือถ้าเป็นครอบครัวที่มีความเกี่ยวข้องกับทางตะวันออกหรือมีความสนใจอยู่เองบ้างก็อาจจะพอมีพื้น แต่บางคนไม่มีเลย กล่าวโดยทั่วไปส่วนมากไม่มีพื้น

เพราะฉะนั้นเวลาสอนจึงจำเป็นต้องพูดตั้งแต่เริ่ม แนะนำให้รู้จักพุทธศาสนามาแต่ต้นๆ เลยทีเดียว บางคนไม่รู้แม้กระทั่งว่าเมืองไทยนี่เป็นประเทศอะไร แม้จะบอกว่าอยู่ในเอเชียอาคเนย์แล้วก็ยังถามว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนหรืออย่างไร หรือบางคนก็ถามว่า ประเทศไทยอยู่ใต้การปกครองของประเทศจีนหรืออย่างไร เหล่านี้เป็นต้น นี่ก็แสดงว่าเขามีพื้นฐานน้อยเต็มที มีแต่พวกนักศึกษาวิทยาลัยเท่านั้นที่มีพื้นฐานดีมากทีเดียว คือเขารู้หลักทั่วไปในพระพุทธศาสนา เช่นเรื่องมรรค ๘ อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท เป็นต้นดีอยู่แล้ว แต่พวกนี้ก็มีน้อยคน ที่ได้เรื่องจริงๆ ดูเหมือนจะมีเพียง ๒-๓ คน เวลาถามปัญหา พวกนี้ก็มักจะเจาะจงถามเฉพาะเรื่องที่ค้างเป็นปัญหาอยู่ในใจ ซึ่งเกิดจากการอ่าน การศึกษามาก่อนเท่านั้น พวกนักศึกษาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยนั้น ประสบความลำบากที่จะมาฟัง เพราะระยะนั้นเป็นเวลาที่วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยกำลังสอบ บางคนมาได้ครั้งสองครั้งก็จำต้องหยุด เพราะการสอบหรือเพราะเหตุอื่นๆ ก็มี ที่มาครบทุกครั้งมีเพียงคนเดียวเท่านั้น นับว่าไม่มากเลย

เวลาเราพูดว่าฝรั่งสนใจพุทธศาสนามากนั่นเราพูดเป็นหน่วยรวมทั่วๆ ไป แต่ถ้าเจาะจงลงเฉพาะถิ่นจะเห็นคนที่สนใจจริงๆ ไม่มาก คือที่ถึงกับลงมือศึกษาค้นคว้าปฏิบัติเป็นการเป็นงาน ไม่ใช่เพียงอยากรู้อยากเห็นนั้น มีมากเท่าไร และความสนใจนั้นยังกระจายออกไปอีก แล้วแต่เราจะเพ่งในด้านไหน

ในด้านความสนใจของผู้เรียนนั้น โดยทั่วไปเมื่อเริ่มเรียนไปแล้วสักอาทิตย์หนึ่ง ก็มักแสดงความสนใจมากขึ้น แต่เนื่องจากเวลาสอนมีน้อย จะบรรยายให้ครบเรื่องที่เราต้องการก็แทบจะไม่พอ และที่น้อยลงไปกว่านั้นก็คือ เวลาบรรยายในแต่ละครั้งเขากำจัดให้เพียงชั่วโมงเดียวแต่พอบรรยายเข้าจริงๆ เลยเวลาไปทุกที เมื่อรวมทั้งเวลาบรรยายและเวลาถามปัญหาแล้ว ตกคราวละชั่วโมงครึ่ง แต่อันนี้เขาก็ไม่ว่า เพราะเรื่องมันยังค้างอยู่ และเขาพอใจ นักเรียนก็ถามปัญหากันไม่หยุด

สำหรับพวกนักเรียนไฮสกูล ที่ชอบถามปัญหามากก็มีอยู่เหมือนกัน แต่ก็เป็นบางโรงเรียนและบางคน นักเรียนจำนวนมากยังเป็นคนอายอยู่นั่นแหละ ทั้งๆ ที่เราเคยได้ยินว่าฝรั่งไม่ค่อยอาย ถามปัญหาเก่ง แต่พอไปเจอเข้าจริงๆ นักเรียนเหล่านี้ที่อายไม่กล้าถามปัญหาก็มี นี่อาจเป็นเรื่องระหว่างพวกนักเรียนเองก็ได้ เนื่องจากมาจากคนละกลุ่มคนละโรงเรียน เวลาถามปัญหาอาจจะสงวนภูมิกันบ้างก็ได้

เรื่องที่ว่านักเรียนมีความสนใจมากน้อยเพียงไรนั้น ก็ได้ลองสังเกตดูจากความรู้สึกของคนฝ่ายเขา นอกจากดูท่าทีทั่วไปและการถามปัญหาของนักเรียนแล้ว ทางด้านหนังสือพิมพ์ฟิลาเดลเฟียเดลินิวส์ฉบับวันเสาร์ที่ ๖ พ.ค. ๑๕ -เขาลงข่าวว่า “Most of the kids are enthusiastic over the program.”

หนังสือพิมพ์ที่มาสัมภาษณ์ไปลงข่าวระหว่างสอนอยู่มี ๓ ฉบับ นอกจากนั้นก็มีโทรทัศน์ช่อง ๓ ของเมืองฟิลาเดลเฟีย มาถ่ายภาพไปออกเผยแพร่ครั้งหนึ่ง

 

ท่านเจ้าคุณอาจารย์บอกว่าแบ่งการสอนออกเป็น ๒ อย่าง กระผมอยากทราบว่า การสอนส่วนที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนาสอนได้จบไหม ในเวลาอันจำกัดเพียงเท่านั้น

พระศรีฯ: ผมพยายามประมวลเรื่องก่อนว่าจะพูดอะไรบ้างในเวลาอันจำกัดนี้ เช่นตอนแรกพูดเรื่องประวัติความเป็นมาทั่วๆ ไปของพุทธศาสนา จนกระทั่งเข้ามาสัมพันธ์กับชาติไทยและวัฒนธรรมไทย ตอนหลังจึงพูดถึงหลักพุทธศาสนาทั่วไป ถ้ามีเวลาอีกก็พูดในแง่การเปรียบเทียบ เฉพาะหัวข้อที่เป็นจุดเด่นๆ เนื่องจากนักศึกษามี ๒ พวก คือนักเรียนก่อนเข้ามหาวิทยาลัยกับนักศึกษามหาวิทยาลัย การบรรยายก็แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ถ้าเป็นประเภทแรกก็ใช้วิธีดังที่กล่าวมาแล้ว สำหรับพวกหลังซึ่งมีพื้นดีแล้วก็เปลี่ยนเรื่องเสีย ไปพูดจำเพาะหัวข้อที่สำคัญ ที่เราต้องการให้เขารู้เห็นเป็นพิเศษ อีกอย่างหนึ่งก็มุ่งไปที่การสนทนา บางทีแทนที่เราจะไปให้เขาถาม ก็ถามเขาเสียบ้าง วิธีนี้ดี ทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับชีวิตจิตใจและสังคมอเมริกัน

จากการคุยกับเขา บางทีเขาก็ถามคำถามแปลกๆ ที่เขาติดใจอยู่ เช่น นักศึกษาหญิงบางคนติดใจอยู่ว่า ทำไมพระพุทธศาสนาจึงไม่ค่อยในเกียรติแก่ผู้หญิงเท่าที่ควร เขายกตัวอย่างเรื่องภิกษุณี ซึ่งแม้จะมีพรรษามากกว่า ก็ต้องทำความเคารพแก่ภิกษุก่อน เป็นต้น คำถาม เช่นนี้แสดงว่าเขามีความรู้ในรายละเอียดดีทีเดียว แต่คำถามอย่างนี้ตัวผู้หญิงนั้นเองก็ไม่กล้าถาม ฝากเพื่อนผู้ชายถาม ส่วนคำถามที่เราถามเขาก็มีมาก เพราะที่ไปนี้เราอยากเรียนจากเขาด้วย ส่วนที่เขาจะเรียนจากเรานั้นก็ปล่อยให้เขาเป็นส่วนหนึ่ง ที่ว่าเราอยากเรียนจากเขานั้นก็ไม่เชิงทีเดียว ความจริงอยากเรียนตัวเขาตรงๆ เลย คือเราต้องการรู้ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ของเขา เช่น ความรู้สึกนึกคิดต่อสภาพสังคมของเขา ต่อศาสนาของเขา ข้อนี้ถ้ามีโอกาสผมก็ถามเขา เรียนรู้จากเขา เมื่อได้พบศึกษาได้พบครูอาจารย์ของเขา ก็พยายามถามเรื่องเหล่านี้ ทำให้ได้ความรู้จากการนี้มากอยู่ นี่เป็นเรื่องที่ผมเห็นว่าได้ประโยชน์ ถ้ามีเวลาศึกษาเรื่องนี้ได้นานๆ ก็จะดี

 

ที่ได้คุยกับเขาแล้ว ส่วนมากเขามีความเห็นอย่างไรครับ

พระศรีฯ: ความเห็นส่วนมากเป็นไปในทางที่ไม่ค่อยดี คนรุ่นใหม่ของเขามีท่าทีไปในทางละทิ้งศาสนาเดิมของตน ข้อนี้รู้สึกว่าเสียงจะลงกัน จริงอยู่ ผมมีเวลาในประเทศอเมริกาน้อย จะถือความรู้ของผมเป็นเครื่องตัดสินทีเดียวยังไม่ได้ ทั้งผมเองก็ได้เกี่ยวข้องกับคนยังไม่มากนัก แต่ในระยะเวลาเท่านี้ก็ได้หาโอกาสอยู่เสมอ ใครเข้ามาเกี่ยวข้องก็สอบถาม ทำให้ได้ความคิดเห็นของคนในระดับต่างๆ ทั้งหนุ่มสาวทั้งคนแก่ ทั้งนักศึกษาและครูอาจารย์ความเห็นพอจะรวมลงได้ว่า คนรุ่นใหม่ของเขาผละจากศาสนามาก ที่เราเคยทราบในเมืองไทยว่าคนฝรั่งในเมืองฝรั่งไปโบสถ์ในวันอาทิตย์กันมากนั้น เวลาไปถามฝรั่งเข้าจริงๆ เขากลับบอกว่าไม่ค่อยมีใครไปกันแล้ว คนหนุ่มๆ สาวๆ เท่าที่ถามดู ก็ปรากฏว่าไม่ค่อยจะนับถือศาสนา (หมายถึงศาสนาเดิมของเขา)

 

กระผมเคยทราบจากหนังสือพิมพ์และนิตยสารบางฉบับว่า คนหนุ่มสาวของเขาส่วนมากไม่นับถือศาสนาอะไรเลย ถ้าถามว่านับถือศาสนาอะไร เขาจะบอกว่าไม่นับถือ แต่เขานับถือเหตุผลของตัวเอง กระผมคิดว่าข้อนี้อาจเป็นเพราะสังคมของเขาเป็นวัตถุนิยมเกินไป หรือไม่ก็เป็นเพราะว่าเขาอาจจะยังไม่พบศาสนาที่จะสนองความต้องการของเขาได้ ท่านเจ้าคุณอาจารย์มีความเห็นอย่างไรครับ?

พระศรีฯ: ก็คงสิ่งนี้แหละที่เป็นจุดสำคัญ สังคมของเขานั้นคล้ายกับมันได้มาถึงจุดหนึ่งที่เหตุปัจจัยต่างๆ มาประมวลกันเข้า ถึงขั้นที่จะทำให้เขาแสวงหาสิ่งใหม่ ที่แปลกจากที่เขามีอยู่แล้วแต่เดิม คล้ายๆ กับว่า อะไรที่เขามีอยู่เดิม เขากำลังจะเบื่อหมดที่ว่านี้ไม่เฉพาะแต่ด้านศาสนาเท่านั้น แม้ในด้านความเจริญทางเทคโนโลยีต่างๆ ก็เหมือนกัน อะไรที่เขามีอยู่เดิม เขาเกิดความรู้สึกอยากจะผละหนีเพื่อไปแสวงหาสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นของแปลกใหม่ ซึ่งเขาก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นอะไร อันนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เขาหันมาสนใจศาสนาทางตะวันออก

ตัวอย่างเช่น นักศึกษาหนุ่มคนที่มาฟังผมเป็นประจำแต่เดิมเขานับถือศาสนายิว แต่เขาสนใจศึกษาศาสนาฝ่ายตะวันออก เขาบอกว่าพ่อแม่ผู้ใหญ่ของเขาแปลกใจว่า ทำไมเขาจึงมาสนใจเรียนเรื่องศาสนา เพราะว่าเด็กหนุ่มๆ ควรจะเรียนวิชาที่จะไปทำมาหากินมากกว่า แต่เขาสนใจศึกษามิใช่ว่าสนใจแบบที่จะไปโบสถ์เข้าวัดของเขานะ ด้านนั้นเขาไม่เอาเลย กลับพูดไปในทางไม่ดีเสียอีก เช่นบอกว่า ศาสนาเดิมของเขามีจุดบกพร่อง เป็นต้นว่า พระมัวแต่แสวงหาผลประโยชน์กิจกรรมในโบสถ์ก็จัดไปในทางที่จะมุ่งแสวงหาแต่ผลประโยชน์ ซึ่งเขาไม่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงเลย เขาจึงมาสนใจศาสนาทางตะวันออก ต้องการมองในด้านเหตุผลต่างๆ และเขามองเห็นแง่ดีในศาสนาตะวันออก ซึ่งเขาต้องการจะศึกษาต่อไป เท่าที่มองเห็นแล้ว เขารู้สึกว่ามีสิ่งที่น่าจะดีกว่า เช่นประการแรกที่ทำให้เขารังเกียจศาสนาฝ่ายตะวันตกก็คือ เรื่องการพัวพันกับศึกสงครามในอดีต แต่ว่าศาสนาฝ่ายตะวันออกไม่เป็นอย่างนั้น นี่ก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เขาเกิดความสนใจและอยากศึกษาต่อไป ด้านอื่นๆ ก็มีเช่นด้านเหตุผล เป็นต้น

อย่างไรก็ตามพูดได้ว่า นี่เป็นระยะที่พวกเขากำลังไขว่คว้าแสวงหาอยู่ เราเองก็อย่าเพิ่งด่วนประกาศว่าเขาชอบเราแล้ว ชอบศึกษาน่ะเขาชอบแน่ แต่ว่าเขาจะเอาหรือยัง อย่าเพิ่งพูดดีกว่า ในชั้นนี้เป็นแต่เพียงเขาเห็นแนวทาง ว่ามันมีเค้าว่าจะดีตรงกับที่เขาต้องการเท่านั้น

 

ว่าเฉพาะการศึกษาด้านพุทธศาสนาในมหาวิทยาต่างๆ เท่าที่ได้ เห็นมาอย่างไรบ้างครับ คนหนุ่มสาวของเขามีปฏิกิริยาต่อพุทธศาสนาอย่างไร

พระศรีฯ: ข้อนี้ผมอยากวกกลับไปที่นักเรียนที่มาเรียนกับผมก่อน ว่าเขาสนใจจุดไหนมาก โดยสรุปพวกนี้จะเพ่งคำถามมาที่ ๓ เรื่องด้วยกันคือ (๑) เรื่องหลักทางปรัชญา (๒)เรื่องสมถะและวิปัสสนา (๓) เรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการสงคราม เราจะเห็นว่าพวกฝรั่งมีความสนใจสงครามเวียดนามมากยิ่งกว่าคนในประเทศไทยเสียอีก ดังนั้น เขาจึงชอบถามเรื่องอย่างนี้อยู่เรื่อย เช่นถามว่า พระไทยเข้ายุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ หรือว่าท่านเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการที่พระในเวียดนามเผาตัว ปัญหาทำนองนี้เขาถามบ่อย แสดงว่าเรื่องที่เกี่ยวกับสถานการณ์ของโลก เรื่องทางการเมือง เขาสนใจกันมาก แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะคนของเขามารบราฆ่าฟันอยู่ทางนี้มาก ประเทศไทยอยู่ใกล้ๆ เสียอีกกลับสนใจน้อยกว่าเขา

เรื่องทั้ง ๓ ที่กล่าวมา เป็นจุดสนใจของนักเรียนที่มาเรียนกับผม แต่รู้สึกว่าจุดสนใจทั้ง ๓ อย่างนี้จะเหมือนๆ กัน สำหรับคนในถิ่นอื่นทั่วไปในอเมริกา ยกตัวอย่างเช่น ความสนใจในเรื่องกรรมฐาน นอกจากเขาแสดงความอยากรู้ให้เห็นในเวลาบรรยายให้ฟังในห้องเรียนแล้ว บางทีผมเดินผ่านไปตามทาง เขามองเห็นเขาก็เดินมาหาเอง แล้วถามว่า ท่านเป็นพระในพุทธศาสนาใช่ไหม ท่านสอน Meditation (สมาธิหรือวิปัสสนา) หรือเปล่า ข้าพเจ้ากำลังปฏิบัติอยู่และอยากรู้ว่าท่านพักอยู่ที่ไหน เผื่อจะได้เรียนรู้จากท่านเพิ่มขึ้น บางทีก็ระล่ำระลักเข้าบอกว่า ข้าพเจ้าปฏิบัติไปถึงขั้นนั้นๆ แล้ว เกิดความรู้สึกหรือเห็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้วต่อไปจะทำอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น คล้ายๆ กับว่ามีบุคคลที่สนใจเรื่องนี้อยู่มาก ข้อนี้เป็นเรื่องที่เราน่าจะตั้งข้อสังเกตว่า คนรุ่นใหม่ของเขากำลังแสวงหาทางออกกันอยู่ นี่ก็เป็นเรื่องที่จะพูดถึงกันต่อไปว่า Meditation เท่าที่เขาสนใจศึกษากันอยู่ในอเมริกานั้น มีข้อสังเกตอะไรบ้าง

ทีนี้หันไปพูดถึงปัญหาที่ถามแต่แรก เกี่ยวกับการศึกษาพระพุทธศาสนาในอเมริกา ผมเองก็ได้ดูมาไม่ทั่ว แต่ก็จะขอพูดเท่าที่ได้เห็นก่อน ในขั้นไฮสกูลของเขา เท่าที่ได้ถามนักเรียนบ้าง ผู้ใหญ่บ้าง ปรากฏว่าเขาได้มีการเล่าเรียนทางศาสนาอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่การศึกษาแบบเจาะจงเฉพาะเรื่องของเขา อาจศึกษาเป็นเรื่องกว้างๆให้รู้ว่า ในโลกนี้มีคนที่นับถือศาสนาอื่น มีความคิดที่แตกต่างออกไปอย่างไร

ในขั้นมหาวิทยาลัย การศึกษาศาสนาในระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นชั้นต้นๆ มีอยู่ทั่วๆ ไป ในชั้นนี้อาจจะมีสักรายวิชาหนึ่งที่จำเป็นต้องศึกษา อาจจะมาในรูปของวิชาศาสนาเปรียบเทียบก็ได้ พอให้มีพื้นฐานก่อน หลังจากนั้นแล้วจะให้เลือกเรียน ใครต้องการเรียนเป็นพิเศษ ก็อาจเลือกเรียนเพิ่มได้แม้ในขั้นปริญญาตรีนั่นเอง ในขั้นปริญญาโทเป็นขั้นที่เลือกเรียนเป็นพิเศษ เพื่อเรียนจำเพาะมากขึ้น

ส่วนในขั้นปริญญาเอกมีอยู่มหาวิทยาลัยหนึ่ง ที่สอนถึงขั้นให้ปริญญาเอกในสาขาพุทธศาสนาโดยตรง เรียกว่า Doctor of Philosophy in Buddhist Studies หรือ Ph.D. in Buddhist Studies คือที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ซึ่งก็ได้ไปเยี่ยมมาด้วย เขาเปิดสอนเป็นโครงการหนึ่งเลยเรียกว่า Buddhist Studies Program (โครงการศึกษาพระพุทธศาสนา) และเขียนไว้ในเอกสารของเขาว่าเขาเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่งของโลก ส่วนในมหาวิทยาลัยอื่นเคยได้ยินไปก่อนว่า ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียก็สอนพุทธศาสนาถึงขั้นปริญญาเอกเหมือนกัน

ที่ไปดูก็ได้ตั้งจุดไว้ที่สองแห่งนี้แหละที่วิสคอนซิน ไปแล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ และได้ทราบที่วิสคอนซินนี้เอง ว่าที่โคลัมเบียไม่ได้สอนถึงปริญญาเอกเสียแล้ว เขาบอกว่า ตั้งขึ้นมาแล้วกำลังไม่พอ เลยดำเนินการไปไม่ไหว นี่ทราบที่วิสคอนซินอย่างนี้ แต่พอไปถึงโคลัมเบียเข้าจริงๆ เขาบอกว่ายังสอนถึงขั้นปริญญาเอกอยู่ เป็นแต่ว่าไม่ได้ให้ชื่อปริญญาว่า Ph.D. in Buddhist Studies ตรงๆ เขาเอาไปรวมไว้กับวิชา South East Asia Studies เขาอ้างเหตุผลว่า ไม่ต้องการให้ชื่อมันแคบเพียงพุทธศาสนาเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อนักศึกษาของเขาเมื่อจบออกไปแล้ว เวลาหาการงานทำจะได้ไม่เกิดความรู้สึกจำกัดเกินไป

เป็นอันว่าเขาสอนพุทธศาสนาถึงขั้นปริญญาเอกเหมือนกัน แต่รวมอยู่กับกลุ่มวิชาอื่น เท่าที่ได้พบก็รู้สึกว่าเขาพยายามขยายการศึกษาด้านนี้ให้มากขึ้น ส่วนที่ฮาวาร์ด เป็นต้น ก็มีวิธีการจัดแตกต่างออกไปตามแบบของตนๆ แต่ว่าโดยทั่วไปก็คล้ายกับที่โคลัมเบีย คือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอื่น นี่เป็นภาพกว้างๆ ของการศึกษาพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยอเมริกัน

ว่าถึงแนวโน้ม เราอาจจะเห็นได้จากกิจกรรมของเขา และจากพวกครูอาจารย์ของเขาด้วย ส่วนจากนักศึกษานั้น เราทราบเท่าที่เราเกี่ยวข้องเป็นการแน่นอนเท่านั้น แน่ละว่าเขาสนใจทางพุทธศาสนาหรือศาสนาทางตะวันออกอยู่แล้ว แต่เราอยากจะถามฝ่ายครูบาอาจารย์และดูการจัดกิจกรรมของเขาบ้าง อันนี้จะชี้ให้เห็นว่า ต่อไปการศึกษาด้านนี้จะมีแนวโน้มไปในทิศทางที่เพิ่มมากขึ้น หรือลดน้อยลง เท่าที่ได้ถามจากครูอาจารย์เช่นอาจารย์สแวเรอร์ (Swearer) ซึ่งสอนพระพุทธศาสนาอยู่ที่สวอร์ทมอร์คอลเลจ (Swarthmore College) ในรัฐเพนน์ซิลเวเนียนั้นเอง และได้สอนที่มหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนียด้วย เขามีความเห็นว่าความสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาจะเป็นไปในทางเพิ่มมากขึ้น มีเหตุผลประกอบว่าคนอเมริกันไม่ค่อยสนใจศาสนาของเขา คือว่ามีการผละหนีเกิดขึ้น นอกจากนี้เขายังบอกว่าอาจารย์ที่รู้ศาสนาทางฝ่ายตะวันออกจะหางานง่ายในอเมริกา นี่ก็ช่วยย้ำเหตุผลนี้ พอไปถึงมหาวิทยาลัยคอลเกต (Colgate) ได้คุยกับอาจารย์มอร์แกน (Morgan) ซึ่งสอนพุทธศาสนาอยู่ที่นั่น ก็ได้ถามเรื่องเดิมอีกและได้คำตอบว่า ความสนใจพุทธศาสนาจะเป็นไปในทางเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน นี่เป็นทัศนะของฝ่ายครูอาจารย์ ครูอาจารย์เหล่านี้ตัวเขาเองอาจจะไม่เป็นชาวพุทธ แต่เขาสอนพุทธศาสนาเขามีงานเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง จึงน่าจะพอฟังได้

 

การศึกษาพระพุทธศาสนาในระดับมหาวิทยาลัยที่นั่น ถ้าเทียบกับทางเมืองไทย ท่านเจ้าคุณอาจารย์เห็นว่าเป็นอย่างไรครับ

พระศรีฯ: ควรแยกออกเป็นหลายประเด็น คนไทยเราอยู่ในเมืองไทย พุทธศาสนาเป็นของไทยจึงเป็นของดาดๆ พื้นๆ ไม่เกิดความสะกิดใจ นี่อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งคนไทยเราอาจจะมีความประมาทแฝงอยู่ภายใน คือไม่ใช่ความประมาทเด่นชัด แต่มันทำให้คนไทยรู้สึกว่าพุทธศาสนาอยู่ใกล้ๆ นี้เอง เรียนเมื่อไรก็ได้ ความรู้สึกอย่างนี้ ทำให้ความอยากจะศึกษาไม่ได้รับการเร่งเร้า ก็เลยปล่อยเรื่อยๆ แต่นี่ไม่ใช่หมายความว่าเราเกิดความรู้สึกผละหนีจากพุทธศาสนา นี่เป็นข้อที่แปลก ถ้าเราไปทางอเมริกาเราจะพบว่า นักศึกษาไทยมีความสนใจเรื่องพระเรื่องศาสนาของตนมาก แต่บางทีก็ไม่ค่อยมีความรู้สึกในทางไม่ดี อาจจะมีอยู่บ้าง ที่เกิดความรู้สึกในทางไม่ดีไม่งามในบางแง่บางประการ แต่โดยส่วนใหญ่ยังมีความรักพระพุทธศาสนามาก แต่ความรู้สึกเด่นชัดที่จะศึกษาว่าหลักธรรมในพุทธศาสนาเป็นอย่างไร ปรัชญาเป็นอย่างไร และการปฏิบัติเป็นอย่างไร ไม่ค่อยมี คล้ายๆกับมีความรู้สึกว่า เมื่อไรก็ได้ ส่วนคนอเมริกานั้นมีแรงกระตุ้นทางด้านอื่นมาด้วย เขาเบื่ออันอื่นมาแล้ว เขากำลังวิ่งหา เมื่อมาพบเขาก็ยึดเอาศึกษาเอา ด้วยความอยากรู้ นี่ก็เป็นเหตุอันหนึ่ง ที่ทำให้ความรู้สึกในด้านการศึกษาพุทธศาสนาของเรากับของเขาต่างกัน ทางโน้นถ้าเขาจะศึกษาเขาก็เอาจริงจังกว่า แต่ของเรานั้นเป็นไปแบบเนือยๆ นี่เป็นข้อสังเกตอย่างหนึ่ง

ผมได้พูดมาแล้ว ถึงความสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาของนักศึกษาอเมริกัน จากการที่ได้สอบถามจากเขา ทีนี้อยากจะพูดถึงความสนใจในแง่กิจกรรมเพราะกิจกรรมต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่จะใช้เป็นเครื่องสันนิษฐานได้บ้าง เช่น การจัดชั้นสอนการปฏิบัติธรรม มีการเชิญผู้ทรงวุฒิที่เขาพิจารณาเห็นสมควรไปสอนจัดเป็นชั้น สอนกันเป็นโครงการพิเศษขึ้น กิจกรรมเช่นนี้มีขึ้นในระยะนี้ เพราะเหตุที่นักศึกษามีความสนใจ ครูอาจารย์ที่มีความคิดริเริ่ม ก็จัดกิจกรรมพิเศษระยะสั้นๆ หรือจัดเป็นรายวิชาขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง นักศึกษาที่จะเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้ก็ได้จากการรับสมัคร อาจารย์ที่เชิญมา อาจจะเป็นอาจารย์เซ็นจากญี่ปุ่นสักคนหนึ่ง และอาจารย์ฝ่ายเถรวาทอีกสักคนหนึ่ง คนหนึ่งสอนและฝึกภาคปฏิบัติ เสร็จแล้วอีกคนหนึ่งก็สอนและฝึกต่อ อย่างนี้ก็มี เป็นโครงการฝึกคราวละอย่างเดียวก็มี ถ้าการจัดกิจกรรมนั้นประสบผลสำเร็จ นักศึกษาที่เสร็จจากการฝึกไปแล้ว ก็จะนำความรู้ไปเผยแพร่ต่อ อย่างเช่นที่มหาวิทยาลัย ซึ่งอาจารย์มอร์แกนทำอยู่เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีความสนใจใคร่ศึกษาพุทธศาสนามากขึ้น

 

กระผมได้ทราบจากหนังสือบางเล่มว่า พุทธศาสนาแบบมหายานได้รับความนิยมมากในอเมริกา ระหว่างที่อยู่ที่นั่น ท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้พบปะสนทนากับพระฝ่ายมหายานบ้างไหม การไปสร้างวัดและเผยแพร่ในประเทศอเมริกานั้น ทางเขามีวัตถุประสงค์อย่างไร

พระศรีฯ: ได้พบ แต่ไม่มีเวลาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอะไร แต่ก็พอทราบกิจการทั่วไป ฝ่ายเถรวาท ถ้าจะเปรียบเทียบกับฝ่ายมหายานโดยเฉพาะนิกายเซ็นแล้ว ความแพร่หลายในอเมริกายังน้อยมาก อาจจะเป็นด้วยเหตุหลายอย่าง อย่างแรกก็คือ กาลเวลาที่เข้าไป ทางมหายานโดยเฉพาะเซ็นนั้น เขาได้เกี่ยวข้องและเผยแพร่มาก่อน มีช่วงเวลานานกว่า ในขณะนี้ทราบว่า มีวัดญี่ปุ่นหรือสำนักพุทธศาสนาฝ่ายญี่ปุ่นเกิน ๒๐๐ แห่ง (ยังได้ตัวเลขไม่แน่นอน) ส่วนฝ่ายเถรวาทมีวัดลังกาอยู่ที่กรุงวอชิงตัน เขาเรียกพุทธวิหาร (Buddhist Vihara) ผมได้พบกับเจ้าอาวาส ท่านบอกว่า ของท่านเป็นวัดเถรวาทวัดเดียวในอเมริกา ที่ชิคาโกก็มีวัดญี่ปุ่น คนไทยที่นั่นก็ไปทำบุญที่วัดญี่ปุ่น ที่นิวยอร์คก็ได้พบกับพระในวัดญี่ปุ่น แต่ก็ไม่มีเวลาได้คุยอะไรกันลึกซึ้ง ได้พูดกันแต่เรื่องกิจการทั่วไปว่าเขามีการสอนอะไรบ้าง เช่นอย่างในด้านเยาวชน เขาก็มีโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ แต่ดูเหมือนว่า เขามุ่งไปที่ลูกหลานของชาวพุทธของเขาที่นั่นเป็นสำคัญ

เพราะฉะนั้น ถ้าเทียบกันระหว่างวัดฝ่ายเถรวาทกับวัดมหายาน คงแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะในด้านการเผยแพร่ เพราะมีความแตกต่างกันในเรื่องกาลเวลาและคนที่อพยพเข้าไป ฝ่ายมหายานที่เข้มแข็งนั้น มีอยู่หลายนิกาย นอกจากเซ็นแล้วก็มีนิกายชิน นิจิเรน โดยเฉพาะสาขาโซกะงะไก เป็นต้น นอกจากนั้น อาจารย์ที่สอนพุทธศาสนาในระดับสูงตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่วนมากก็เป็นอาจารย์จากญี่ปุ่น ข้อนี้ยืนยันความที่ว่า มหายานในอเมริกาเข้มพอสมควร เช่นใน มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ซึ่งสอนพุทธศาสนาถึงขั้นปริญญาเอกนั้น หัวหน้าแผนกวิชานี้ก็เป็นชาวญี่ปุ่น ที่โคลัมเบียและฮาวาร์ด ก็อาจารย์ญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน

 

ถ้าเช่นนั้นจะเป็นไปได้ไหมครับว่า พุทธศาสนาที่สอนกันนั้นจะสอนเน้นหนักไปทางฝ่ายมหายาน

พระศรีฯ: ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น ถ้าจะมีพวกที่สนใจทางฝ่ายเถรวาทก็คงจะมีพวกฝรั่งเอง ซึ่งได้ไปเรียนมาจากประเทศที่นับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาท พวกนี้เวลาสอนอาจวางตัวเป็นกลางๆ สอนทั้งเถรวาทและมหายาน ส่วนอาจารย์ชาวญี่ปุ่น ถึงจะสอนได้ทั้งมหายานและเถรวาท แต่โดยพื้นฐานเขาเป็นมหายาน ก็อาจเป็นเหตุให้สอนหนักไปในทางมหายานมากกว่า

 

ระหว่างที่อยู่ในอเมริกา ท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับคนไทยและคนอเมริกันที่สำคัญๆ บ้างไหมครับ คนเหล่านั้นเขามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรต่อพระพุทธศาสนา และวัดไทยในประเทศนั้น

พระศรีฯ: การไปครั้งนี้ แม้จะได้รับนิมนต์จากฝ่ายอเมริกา แต่ในด้านความเป็นอยู่ประจำวันเรียกได้ว่า ได้รับความอุปถัมภ์ส่วนใหญ่จากคนไทยในอเมริกา เพราะว่าคนไทยที่นั่นมีมาก และการเป็นแขกรับนิมนต์นของกระทรวงต่างประเทศอเมริกานั้น ก็ได้บอกความประสงค์เขาไว้ว่า ต้องการดูงานเกี่ยวกับการศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างหนึ่ง กับอยากพบปะกับคนไทย โดยเฉพาะนักศึกษาไทยในอเมริกาอีกอย่างหนึ่งด้วย เพราะฉะนั้นเวลาไปแต่ละแห่ง เขาจึงพยายามแจ้งให้คนไทยในที่นั้นๆ ทราบและคนไทยเองเมื่อทราบข่าวแล้วก็แจ้งต่อๆ กันไป ดังนั้นทุกแห่งที่ไป ไม่ว่าเมืองเล็กเมืองใหญ่ก็ได้พบคนไทยทั้งนั้น บางแห่งแม้ไม่ได้ติดต่อไปก่อน แต่พอไปถึง บังเอิญมีคนไทยมาพบเข้าก็ไปบอกต่อๆ กัน

ว่าโดยทั่วไปคนไทยที่ได้พบนั้นดีใจมากที่ได้เห็นพระ และมีการแสดงออกที่เห็นได้ชัด ถ้าคิดดูอาจเป็นด้วยว่า เมื่ออยู่เมืองไทยบางคนมีความใกล้ชิดกับพระกับพุทธศาสนา จนกลายเป็นจำเจไป บางคนไม่ได้ใกล้ชิดก็ไม่เกิดความรู้สึกพิเศษอะไรขึ้น แต่พอไปอยู่ต่างแดน ทั้งคนที่เคยใกล้ชิดมากและคนที่ใกล้ชิดน้อยกลับเกิดความรู้สึกคิดถึงพระ คิดถึงพุทธศาสนามากกว่าธรรมดา ฉะนั้นบางคนตอนอยู่เมืองไทยอาจจะไม่ค่อยได้พบพระบ่อยนัก ไม่ค่อยได้ไปวัด แต่เวลาไปอยู่ที่นั่นแล้วอยากจะมาพบ และเป็นเหตุให้ได้คุยกับพระมากขึ้น เลยเป็นเหตุให้บางคนหันมาสนใจทางพระโดยเริ่มจากที่ประเทศอเมริกา

คนไทยที่ได้พบแล้วมีความดีใจ ได้จัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพิธีทางพระพุทธศาสนา เช่น ทำบุญทำทานก็มากเป็นพิเศษ คงจะพอกล่าวได้ว่า คนไทยยังมีความรู้สึกผูกพันมากต่อพระพุทธศาสนา เหตุปัจจัยก็อาจมีหลายอย่าง ประการแรกเพราะท่านเหล่านี้เป็นคนไทยเมื่ออยู่ห่างไกลก็คิดถึงบ้าน อีกประการหนึ่ง ในความเป็นคนไทยนั้นมีสิ่งที่ฝังรากแน่นเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมอยู่อย่างหนึ่ง คือพระพุทธศาสนา ตอนที่อยู่ในเมืองไทยความรู้สึกนี้ไม่เด่นชัด แต่พอไปอยู่ห่างไกลความรู้สึกนี้ก็ปรากฏเด่นชัดขึ้นมา การได้เห็นพระ ก็เท่ากับได้เห็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศของตัวเอง ทำให้นึกถึงบ้านเกิดเมืองนอน ได้ยินพระสวดมนต์เข้าบางทีก็น้ำตาไหล เพราะคิดถึงบ้าน นี่เป็นเหตุผลข้อหนึ่งที่สนับสนุนว่า พระพุทธศาสนานั้นเกี่ยวข้องกับความเป็นไทยมาก

กิจกรรมที่คนไทยทำเมื่อได้พบพระนั้น ก็เป็นแบบไทยๆ โดยทั่วไป อาจกล่าวได้ว่าเป็นไปโดยอัตโนมัติ เมื่อพบพระแล้วคนไทยอยากทำบุญ นิมนต์พระไปฉันที่บ้าน ไปเทศน์ให้ฟังกิจกรรมเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีไทย เขาทำกิจกรรมเหล่านี้ ก็เท่ากับเขาแสดงความเป็นไทยให้ปรากฏในต่างถิ่น นอกจากนั้น กิจกรรมเช่นนี้ยังมีผลในทางสังคม ทำให้คนได้มารวมกันมาพบปะกันในบรรยากาศแบบไทยๆ ส่วนความสนใจอันเกี่ยวกับด้านความคิดด้านปรัชญา หรือหลักธรรมทางพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ซึ่งก็มีเหมือนกัน บางทีเรื่องที่เขาสนใจมาสนทนาด้วยเรื่องของพระพุทธศาสนา ซึ่งเกี่ยวกับวิชาที่เขาเรียนอยู่ เช่นเรื่องอิทธิพลของพุทธศาสนาในทางรัฐศาสตร์ หรือทางสังคมเป็นต้น ซึ่งเขาสนใจเป็นพิเศษอยู่แล้ว เขาก็ตามมาสนทนา ส่วนบางท่านเป็นผู้สนใจอยู่เองแล้ว ทั้งในด้านหลักธรรมและการปฏิบัติ ก็สนใจมาซักถาม มีครอบครัวแพทย์ครอบครัวหนึ่ง อยู่ที่เมืองชิคาโก พอทราบว่าพระสงฆ์จะเดินทางผ่านไปที่นั่น ก็ขอนิมนต์ให้ไปพักที่บ้าน และเป็นตัวตั้งตัวตีในการรวบรวมคนไทยมาทำบุญร่วมกัน เจ้าของครอบครัวเองก็สนใจหลักธรรมของพุทธศาสนา มีตำรับตำราทางพุทธศาสนาที่เป็นภาษาอังกฤษอยู่ในบ้านมาก ยิ่งกว่านั้น ทั้งสามีและภรรยายังสนใจในการบำเพ็ญสมาธิด้วย ถึงขนาดมีห้องปฏิบัติกรรมฐานไว้ในบ้าน นักศึกษาคนอื่นๆ ที่สนใจอย่างนี้ก็มีเหมือนกัน แต่เนื่องจากทุกคนมีหน้าที่การงานประจำอยู่แล้ว การที่จะหาเวลามาสนใจศึกษาอย่างจริงจังจึงเป็นไปได้ยาก ข้อนี้ก็เหมือนๆ กับในเมืองไทยนั่นเอง

 

นักศึกษาไทยในอเมริกาได้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อศึกษาทางพระพุทธศาสนาบ้างไหม?

พระศรีฯ: มีเหมือนกัน อย่างเช่น กลุ่มที่กำลังกันเพื่อจะสร้างวัดไทยในอเมริกาเป็นต้น แต่เป็นการรวมกลุ่มเพื่อวัตถุประสงค์กว้างๆ เพื่อหาพระไปอยู่สนองความต้องการของคนไทยประการหนึ่งกับเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาด้วยอีกประการหนึ่ง อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์จำเพาะเพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนาโดยตรง เป็นเพียงรูปกรรมการที่คิดจะตั้งวัด อยากหาพระไปอยู่ ส่วนกลุ่มที่ศึกษาพระพุทธศาสนาจริงๆ มักจะเป็นกลุ่มที่รวมกันกับฝรั่ง เนื่องมาจากแม้จะมีคนไทยในบางเมืองมาก แต่คนที่สนใจทางพุทธปรัชญาจริงๆ อาจมีน้อย ไม่มีกำลังพอจะรวมกลุ่มกันได้ จึงร่วมงานกับฝรั่ง อย่างเช่น ทางเมืองนิวยอร์คก็ทราบว่ามีกลุ่มศึกษาพระพุทธศาสนาซึ่งมีทั้งฝ่ายไทย ฝ่ายฝรั่ง

 

นักศึกษาไทยมีความเห็นอย่างไรต่อการสร้างวัดไทยในอเมริกา เขาดีใจตื่นเต้นกัน เฉพาะในตอนแรก แล้วต่อไปเขารู้สึกเฉยๆ อย่างนั้นหรือเปล่าครับ?

พระศรีฯ: ข้อนี้ขอให้ทำความเข้าใจกันก่อน บางคนเข้าใจว่าคณะผมสามรูปที่ไปนี้ ไปเรื่องสร้างวัด พอพบก็มักถามเรื่องนี้แม้คนไทยที่อยู่เมืองไทยเอง บางทีก็อาจเข้าใจผิด ความจริงไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องการสร้างวัด ส่วนเรื่องการสร้างวัดเป็นอย่างไรนั้น ท่านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงอาจทราบดี ที่ผมพอจะพูดได้บ้างก็ในฐานะผู้อยู่วงนอก เท่าที่รู้เท่าที่เห็นคิดว่าการที่คนไทยจะดีอกดีใจกันชั่วคราวหรือตลอดไปนั้น อยู่ที่วิธการดำเนินงานของวัดหรือของผู้ที่จะเอาพระไปอยู่หรือส่งไปอยู่เป็นสำคัญถ้าทำได้ก็อาจจะเป็นหลักได้ผลจริงๆ แต่ถ้าดำเนินการไม่ดี อาจจะเป็นเหตุให้คนไทยผิดหวังกันมาก ถึงกับผละหนีไปได้เหมือนกัน เพราะคนไทยในอเมริกาหวังไว้มากเหมือนกันว่า พระมาอยู่แล้วเขาจะได้อะไรบ้าง จะมีความสุขกายสบายใจ เป็นต้น สรุปก็คือเขาหวังในทางที่ดีไว้มาก แต่ถ้าการดำเนินงานปรากฏผลตรงกันข้าม เขาก็ย่อมผิดหวังมากและก็อาจถึงล้มละลายไปได้ เรื่องนี้ขึ้นอยู่ที่การดำเนินงาน

 

โดยทั่วไป นักศึกษาไทยมีความเห็นด้วยกับหลักการที่จะมีวัดในอเมริกาไหม และความรู้สึกประเภทไม่เห็นด้วยมีหรือเปล่า?

พระศรีฯ: มีการขวนขวายกันไม่น้อยในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในเมืองที่มีคนไทยอยู่มาก เช่นเมืองลอสแองเจลิส ก็ถึงขนาดเริ่มกันเป็นรูปเป็นร่างแล้ว มีสถานที่ มีอาคาร แม้จะยังไม่เป็นวัดแต่คนไทยที่นั่นก็เรียกกันว่าวัด ที่วอชิงตันก็มีกลุ่มคนไทยที่ตั้งกันเป็นคณะกรรมการ โดยมีวัตถุประสงค์จะสร้างวัดเหมือนกันทางนิวยอร์คก็รู้สึกว่า จะเริ่มมีความรู้สึกเรื่องนี้ เนื่องจากโดยทั่วๆ ไปพระเป็นเครื่องสนองความต้องการทางจิตใจและทางวัฒนธรรมได้มาก เพราะนอกจากจะเป็นไปตามความรู้สึกแบบไทยๆ เราแล้ว สภาพชีวิตในอเมริกายิ่งช่วยทำให้เกิดความรู้สึกในเรื่องนี้แรงกว่าเก่าอีกเป็นอันมากด้วย

ส่วนความรู้สึกที่ไม่เห็นด้วยนั้น ถึงจะมีก็เป็นความไม่เห็นด้วยในรายละเอียด เช่นว่าสร้างวัดขึ้นแล้วจะนิมนต์พระอย่างไรมาอยู่ วัดควรมีกิจกรรมอะไร ควรทำงานกับคนไทยอย่างไร จะสนองความต้องการแบบไหน และควรมีความสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ ในเรื่องอะไร ปัญหาเหล่านี้อาจจะก่อให้เกิดความไม่เห็นร่วมกันได้ ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยเลยในการมีวัด ก็อาจมีได้แต่ไม่ได้พบ และย่อมมีผู้เห็นแปลกไปได้บ้าง ในการไประยะสั้นอย่างนี้ ก็ไม่สามารถสำรวจได้ และถึงมีก็อาจเป็นเพียงเรื่องธรรมดาในเมื่อมีคนอยู่กันมากมาย

 

ระหว่างที่อยู่ในอเมริกา ท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้สังเกตความเป็นไปของศาสนาอื่นๆ นอกจากพระพุทธศาสนาบ้างไหม ว่าศาสนาเหล่านั้นมีสถานะอย่างไรในสังคมถ้าเปรียบเทียบกับสถานะของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ท่านเจ้าคุณอาจารย์เห็นว่าเป็นอย่างไร?

พระศรีฯ: ตามที่ได้สังเกตในปัจจุบันนี้ ผมรู้สึกว่าในเมืองไทยเรา ความสนใจทางศาสนาเฉลี่ยแล้วมีมากขึ้น แต่ในอเมริกาไม่เป็นอย่างนั้น เนื่องจากมีการผละหนีจากศาสนาของตนเองดังที่กล่าวมาแล้ว ข้อนี้ไม่ว่าจะคุยกับคนระดับไหนๆ ก็มีความเห็นเป็นอย่างนี้ อย่างเด็กหนุ่มๆ สาวๆ ของเขาเท่าที่ได้พบปะสนทนากัน คนหนึ่งพูดอย่างเต็มปากว่าพ่อแม่เขานับถือโปรเตสแตนท์ แต่เขาไม่มีศาสนา เขายินดีจะพูดอย่างนี้ อีกคนหนึ่งเป็นนักเรียนที่มาเรียนกับผม บอกว่าสาเหตุที่จะเรียนพระพุทธศาสนาก็เพราะไม่พอใจในศาสนาเดิม เมื่อฟังจากครูบาอาจารย์ฝ่ายเขา ก็มีความเห็นลงกันว่า เด็กๆ ของเขาไม่มีความพอใจในศาสนาและสภาพทางสังคมของตน นี่ก็แสดงว่าสถานะของศาสนาในอเมริกากำลังสั่นคลอน นอกจากนี้สภาพที่เห็นทั่วๆไป ตามถนนหนทางก็ช่วยย้ำให้เห็นชัดขึ้นว่า ศาสนาน่าจะเสื่อมอิทธิพลในสังคมของเขาเป็นอย่างมากแล้ว เช่น พวกฮิปปี้ก็ดี พวกหริกฤษณะก็ดี เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ฟ้องอยู่ในตัวแล้ว ว่าเขาไม่ได้ยึดหลักศาสนาอันมีมาแต่เดิมของเขา นี่นับว่าเป็นปฏิกิริยาที่คนรุ่นใหม่มีต่อสภาพสังคมและศาสนาของตน

 

มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับพระทางฝ่ายคริสต์ไหมครับ

พระศรีฯ: พบที่ฮาวาร์ด ที่นั่นเป็นสามเณราลัย คือโรงเรียนฝึกคนให้เป็นพระโดยเฉพาะ เป็นโรงเรียนของพระ และก็มีวัตถุประสงค์เพื่อจะผลิตพระ เท่าที่ได้ดูกิจการของเขา รู้สึกว่าจะเป็นไปในทางที่เสื่อมลงหรืออ่อนกำลังลง เพราะเขาบอกให้ทราบว่าในปัจจุบันต้องมีการผ่อนผันในทางวินัยกันมาก เช่น แต่ก่อนมีระเบียบไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปในบริเวณที่พัก แต่ปัจจุบันนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาไป แต่ก่อนนักเรียนจะออกไปข้างนอกในวันธรรมดาไม่ได้ นอกจากวันที่ปล่อย แต่เดี๋ยวนี้ออกไปได้เป็นของธรรมดาไป เหล่านี้เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ที่จะมาเรียนบวชเป็นพระก็น้อยลง เขาพูดให้ฟังอย่างนี้ อีกอย่างหนึ่ง สถาบันโรงเรียน หรือวิทยาลัยต่างๆ แต่ก่อนเป็นสถาบันที่วัดบริหารโดยเฉพาะ แต่เดี๋ยวนี้ปล่อยมือเป็นของฆราวาสโดยสิ้นเชิง อย่างนี้ก็มีมาก การเรียนของวิทยาลัยประเภทผลิตพระเหล่านี้ เขาก็เน้นหนักไปในวิชาที่เกี่ยวกับศาสนา เช่น เทววิทยา และมีการฝีกฝนกันเป็นพิเศษ รวมความแล้วก็คือฝึกให้ชินต่อระเบียบวินัยและความคิดในทางศาสนานั่นเอง

 

ได้ทราบว่าคณะของท่านเจ้าคุณอาจารย์มีโอกาสได้เข้าเยี่ยมพระสันตะปาปาที่กรุงโรมระหว่างการเดินทางกลับด้วย การเข้าเยี่ยมพระสันตะปาปาคราวนี้มีอะไรน่าสนใจไหมครับ

พระศรีฯ: ระหว่างที่เดินทางเยี่ยมชมกิจการของมหาวิทยาลัยต่างๆในอเมริกานั้น ได้ทราบว่าคณะของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช) ซึ่งได้ออกเดินทางไปดูการพระศาสนาในต่างประเทศ มีกำหนดจะเข้าเยี่ยมพระสันตะปาปาที่กรุงโรมในวันที่ ๖ มิถุนายน คณะของผมได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยในอเมริกาว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯมีบัญชาให้ไปสมทบกับท่าน และให้เข้าเยี่ยมเยียนพระสันตะปาปาด้วย แต่ในระหว่างทางไม่มีโอกาสได้บรรจบกัน คณะของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่กรุงโรมในวันที่ ๕ มิถุนายน รุ่งขึ้นวันที่ ๖ จะได้เยี่ยมเยียนพร้อมกันตามบัญชา แต่ครั้น คณะของผมเดินทางมาจวนจะถึงอิตาลีแล้ว ตอนนั้นพักอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ก็พอดีได้ทราบข่าวว่าคณะของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เปลี่ยนกำหนดการจะเข้าเยี่ยมเยียนพระสันตะปาปาจากวันที่ ๖ เป็นวันที่ ๕ มิถุนายน คณะของผมเลยไปไม่ทันเข้าเยี่ยมด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายสำนักวาติกันคงจะดำริให้ความเอื้อเฟื้อสักอย่างหนึ่ง จึงปรากฏว่าเมื่อไปถึงแล้ว ตอนหนึ่งของท่านบิชอพ ป.คาเร็ตโตได้นัดนิมนต์ให้คณะของผมเข้าเยี่ยมองค์พระสันตะปาปาในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ ๖ แต่ก็เป็นการเยี่ยมชั่วเวลาเพียงนิดหน่อย เนื่องจากองค์พระสันตะปาปามีรายการที่จะให้ประชาชนเฝ้าอยู่แล้วในห้องประชุมใหญ่ เมื่อพบประชาชนเสร็จแล้วเสด็จออกจากห้องประชุมนั้น มายังห้องประชุมพิเศษซึ่งเป็นที่ที่คาร์ดินาล หรือบิชอพจากต่างประเทศจะเข้าเฝ้า คณะของผมก็ได้พบพระองค์พระสันตะปาปาในห้องนั้น และใช้เวลาราวสัก ๕-๖ นาทีเท่านั้น ไม่ได้สนทนาปราศรัยอะไรกันมากไปกว่าการทักทายกันตามธรรมเนียม

รายการที่น่าสนใจในวาติกันและกรุงโรมนอกจากนี้ก็คือ การสัมมนาร่วมกับนักบวชคาทอลิกชั้นผู้ใหญ่ ที่ศูนย์ศาสนสัมพันธ์แห่งโลก และการเยี่ยมชมวัดเซนต์เบเนดิคโต และวัดเซนต์สคอลาสติกาบนภูเขาที่ Subiaco อันเป็นสำนักปฏิบัติสำคัญในการฝึกอบรมพระคริสต์มาแต่สมัยโบราณ เฉพาะการสัมมนานั้นมีคาร์ดินัล บิชอพและพระอื่นๆ ร่วมด้วย ได้ฟังคำถามต่างๆ ของท่านนักบวชเหล่านั้น ทำให้ย้ำถึงความรู้ที่ว่า ขณะนี้ทางสำนักวาติกันหรือวงการคริสต์ศาสนาโดยเฉพาะนิกายคาทอลิกนี้ กำลังให้ความสำคัญแก่นโยบายประสานสัมพันธ์กับศาสนาอื่นๆ เป็นอย่างมาก และความประสานนี้จะเป็นไปได้ในด้านความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างสถาบัน ระหว่างบุคคล และความกลมกลืนในทางหลักธรรม นอกจากนี้เห็นได้ว่า ท่านเหล่านั้นสนใจเรื่องเยาวชนกันมาก ผมติดใจคำถามของท่านรูปหนึ่งที่ถามว่า “ในประเทศตะวันตกคนรุ่นใหม่ไม่นำพาศาสนา ในประเทศไทยประสบปัญหานี้หรือไม่” การสัมมนานี้ว่าจะมี ๒ วัน กะไว้ว่าวันหลังจะถามปัญหาเขาหลายอย่าง พอดีต้องงดรายการเสียเพราะเวลาไม่พอ

 

กระผมอยากจะกลับไปยังเรื่องที่อเมริกาอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากการเสร็จงานสอนอันเป็นหน้าที่ประการแรกแล้ว ทางกระทรวงการต่างประเทศเขามีความประสงค์อย่างไร จึงนิมนต์ให้ไปดูงานในมหาวิทยาลัยของเขาต่ออีก?

พระศรีฯ: ที่จริงทางฝ่ายเขาตามใจเราทุกอย่าง เราอยากดูอะไรเขาก็จัดการให้ แม้เราจะไม่ดูงานการศึกษาก็ได้ แถมเขายังแนะนำด้วยซ้ำว่าควรไปดูที่สำคัญ เช่น แกรนด์แคนยอน น้ำตกไนแอการา เป็นต้น ซึ่งเป็นสถานที่น่าเที่ยว แต่ทางคณะก็ได้ยืนยันที่จะดูเรื่องการศึกษา ฝ่ายเขาบอกว่าควรจะไปให้น้อยๆ แห่ง เพราะเวลามีน้อย จะได้ใช้เวลาแห่งละมากๆ เวลารวมแล้วเรามี ๑๔ วัน เขาบอกว่าควรไปสัก ๔ แห่ง แต่เรากำหนดไว้ประมาณ ๘ แห่งหรือ ๑๐ แห่งแต่อีก ๒ แห่งอยู่ไกลคนละฟากมหาสมุทร คืออยู่ฝั่งตะวันตก จึงตัดออกไปเสียทั้ง ๒ แห่ง คือมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตันกับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบอร์คเล่ แต่มหาวิทยาลัยที่กำหนดไว้ทางฝ่ายตะวันออกเราไม่ตัดเลย

งานที่ดูในระยะนี้มุ่งไปที่การศึกษา ปิดรายการด้วยการแวะน้ำตกไนแอการาและข้ามฝั่งแคนาดา เพราะเราอยากดูสภาพบ้านเมืองของแคนาดาบ้าง นอกจากนี้เรื่องของการศึกษาและการพบปะกับคนไทยทั้งนั้น เฉพาะการศึกษาเราย้ำให้เขาพาไปดูมหาวิทยาลัยที่สอนพระพุทธศาสนา และเรื่องทางฝ่ายเอเชียอาคเนย์ เขาก็พยายามจัดให้ตามนั้น ให้พบกับครูอาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านนี้ มหาวิทยาลัยที่ได้ไปดูมาก็มี มหาวิทยาลัยนอร์ทเธอร์นอิลลินอยส์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มหาวิทยาลัยคอลเกต มหาวิทยาลัยเหล่านี้บางแห่งมีการสอนภาษาไทยกันเป็นล่ำเป็นสันด้วยมีอาจารย์ที่พูดภาษาไทยได้แห่งละหลายๆ คน

นอกจากงานการศึกษาในอเมริกา ตอนเดินทางกลับไม่ได้ดูอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นล่ำเป็นสันเลย ที่จริงทางผู้จัดเขาอยากให้ดูงานในสถานที่สำคัญๆ ที่ผ่านในยุโรปเหมือนกัน แต่คณะเรามีเวลาน้อย เพราะงานทางมหาจุฬาฯ ก็เป็นเรื่องที่ต้องรีบกลับมาจัดทำ มีเวลาเดินทางผ่านยุโรปตอนกลับเพียง ๑๘ วัน โดยแวะประเทศต่างๆ เพียง ๑๐ ประเทศ ระหว่างนี้ก็ได้เพ่งความสนใจไปในด้านพุทธศาสนา เช่นตอนผ่านอังกฤษ ก็ได้แวะพักที่วัดพุทธประทีปในลอนดอน ผ่านเยอรมันก็แวะพักวัดลังกาในกรุงเบอร์ลิน ที่ฮัมบูร์ก ไปพักที่สถานปฏิบัติธรรมที่โรเซนเบอร์ก

 

เท่าที่ได้พบเห็นสิ่งต่างๆ ในการเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจคราวนี้ท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้ข้อคิดอย่างไรบ้างครับ โดยเฉพาะกระผมอยากเรียนถามถึงการที่พระเราไปสร้างวัดอยู่ในต่างประเทศ เช่น ยุโรป อเมริกา เป็นต้น ท่านเจ้าคุณอาจารย์มีความเห็นอย่างไรบ้างครับ

พระศรีฯ: ประสบการณ์เท่าที่ได้รับ จากการเห็นเองและการซักถามจากผู้ที่ทำงานอยู่ หรือผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อน ทั้งในวัดนอกวัด ก็เหมือนอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เรื่องนี้อยู่ที่การวางแผนงาน การตระเตรียมว่าพร้อมดีแค่ไหนเพียงไร วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เป็นเรื่องสำคัญ เราจะตั้งวัตถุประสงค์ไว้เพื่อเผยแผ่ศาสนาให้แก่ชาวต่างประเทศ หรือเพื่อสงเคราะห์แก่คนไทยก็ตาม ดีทั้งนั้น แต่ควรจะมีเป้าหมายไว้แจ้งชัด เพื่อเราจะได้วางโครงงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงนั้น ไม่ใช่ทำพร่าๆ ไป โดยเฉพาะเรื่องบุคคล ถ้าหากเราไม่วางเป้าหมายไว้ก่อน ก็จะทำให้เราเลือกบุคคลได้ไม่ตรงตามเป้าหมายเลย การวางเป้าหมายจึงเป็นเรื่องสำคัญ แม้จะเป็นเป้าหมายเพียงเพื่อสนองความต้องการของคนไทยในต่างประเทศอย่างเดียว ถ้าทำได้ตามนั้นก็นับว่าไม่เลว

 

ท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้สังเกตเห็นสิ่งที่เป็นปัญหาหรือข้อขัดแย้งในเรื่องนี้บ้างไหมครับ

พระศรีฯ : คิดว่าปัญหาหรือข้อขัดแย้งก็อยู่ที่การวางเป้าหมาย วางโครงการและคัดเลือกบุคคลที่จะไปทำงานนี้แหละ ถ้าเราเตรียมเรื่องเหล่านี้ไม่พร้อม ถึงเราจะสร้างวัดใหญ่โตสักเท่าไร หากหาพระไปอยู่ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่ได้เตรียมกันอย่างเพียงพอแล้ว ก็จะกลายเป็นปัญหาที่แก้กันไม่รู้จบ และผลที่ต้องการก็เกิดขึ้นได้ยาก ซ้ำร้ายอาจจะกลายเป็นตรงข้ามไปก็ได้

เท่าที่ทำอยู่เวลานี้เป็นเพียงระยะเริ่มต้นเท่านั้น อาจจะมองดูยากและสับสนก็ได้ ยังไม่พอที่จะบอกได้ว่าจะออกมาในรูปไหน แต่อย่างไรก็ตามมีข้อที่พอจะพูดได้เป็นกลางๆ ว่า เราควรจะรู้สถานการณ์ทางโน้นให้ดีก่อน แล้วมาวางแผนวางโครงการและเตรียมบุคคลให้พร้อมเหมาะกับงาน ถ้าทำได้อย่างนี้ก็คงจะเป็นไปได้ดี แต่ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องราว แล้วแต่จะมีอะไรเป็นปัญหาเกิดขึ้นเป็นคราวๆ ก็มาหาทางแก้กันที แบบนี้ความหวังก็เห็นจะเลื่อนลอยอยู่ สรุปแล้วก็คือ เรื่องการบริหารนั่นแหละที่อาจจะเป็นปัญหา

 

จากการที่ได้ไปปฏิบัติศาสนกิจและดูงาน ตลอดจนได้มีการพบปะกับบุคคลต่างๆ ในอเมริกาแล้วนี้ ท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้ความคิดหรือมองเห็นลู่ทางอะไรบ้าง ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่องานในมหาวิทยาลัยของเราหรือแม้ที่จะเป็นประโยชน์ในวงกว้างๆ ต่อการพระศาสนาในประเทศของเราบ้าง?

พระศรีฯ: ประโยชน์ที่คิดว่าจะเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยของเรานั้นคงจะเป็นเรื่องกว้างๆ คือเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขา ความสัมพันธ์นี้ เมื่อได้เริ่มไว้แล้วก็ควรจะมีสืบต่อไป ซึ่งอาจจะเป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่าย ส่วนความคิดความเห็นในด้านนโยบายก็ดี ในด้านการปรับปรุงงานสร้างความเจริญก้าวหน้าก็ดีก็มีอยู่บ้าง แต่ที่สำคัญก็คือ เราต้องการเรียนรู้บทเรียนจากเขาและเอาความคิดเห็นที่ได้นี้มาใช้ ก่อนจะไปก็มีความคิดเห็นอยู่บ้างแล้วในเรื่องเหล่านี้ เช่นเรื่องความเข้าใจที่เรามีต่อชาวตะวันตกความรู้สึกต่อเขา ทัศนะต่อความเจริญของเขาอะไรทำนองนี้ อาจจะถือว่าเป็นการไปตรวจสอบความคิดเห็นเหล่านี้ด้วยก็ได้

ในแง่ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อได้ไปเห็นมาแล้วรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่มาช่วยย้ำความคิดเห็นเดิมของผมได้มาก เช่นในด้านการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าของเขา เรายอมรับว่าเขาประสบผลสำเร็จจนเราเองก็อยากจะเอาอย่างเขาบ้าง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจับสาเหตุของความเจริญก้าวหน้าของเขาได้ไหม และเราควรจะเอาอย่างแค่ไหน เพียงไร ที่กล่าวนี้หมายรวมถึงเรื่องทั่วๆ ไป ไม่เฉพาะกิจการด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น

ว่าเฉพาะการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้านั้น คนไทยเราส่วนมากเห็นว่า การใฝ่หาความสะดวกสบายทางวัตถุ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เขาสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าได้สำเร็จ ข้อนี้ผมนึกมานานแล้วว่าน่าจะไม่ใช่ และเท่าที่ได้เห็นมาก็ช่วยย้ำความรู้สึกนี้ว่า จะต้องไม่ใช่ความใฝ่แสวงความสุขทางวัตถุนี้แน่นอนที่เป็นต้นเหตุแท้จริงของความเจริญก้าวหน้าของเขา ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ตั้งแต่ก่อนจะไปแล้วว่าน่าจะเป็นความรักความใฝ่ใจ กระตือรือร้นในการใฝ่หาความจริงหรือสัจธรรมต่างหาก ที่ทำให้ฝรั่งสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าได้สำเร็จ และเท่าที่เห็นมารู้สึกว่าจะเป็นเช่นนั้น คือไม่ใช่ความอยากได้ทางวัตถุเป็นเหตุ ความอยากได้ทางวัตถุนั้นไม่ใช่ตัวแท้ของความสร้างสรรค์ เป็นเพียงตัวประกอบทำให้หาทางสนองความต้องการทางลัด สร้างความเจริญแบบเทียมๆ ไม่ใช่แก่นของความเจริญก้าวหน้า มันเป็นตัวนำให้ฝรั่งมาประสบปัญหาอย่างในปัจจุบันมากกว่า

เรามองดูประเทศไทยในปัจจุบันก็ได้ เราอยากเจริญอย่างฝรั่งเขาแต่สภาพที่ปรากฏในด้านศิลปวิทยาการต่างๆ เรามิได้เจริญอย่างเขา เพราะเราขาดความกระตือรือร้นในการแสวงหาความจริง แต่ในด้านความสะดวกสบายซึ่งสนองความอยากได้ทางวัตถุนั้น เรามีทันเขา แถมอาจจะล้ำหน้าเขาแล้วด้วยซ้ำ เช่น การมีสถานบริการด้านความสำเริงสำราญ มีไนต์คลับ มีบาร์ มากมายเป็นต้น เหล่านี้เป็นการใฝ่ทะยานทางวัตถุบำรุงบำเรอ ถ้าหากมีแต่สิ่งนี้เป็นตัวเร่งอย่างเดียว ความเจริญมันก็ออกมาในรูปที่เราเห็นกันอยู่นี้ เพราะเมื่อมีแต่เพียงความอยากได้ความสะดวกสบายก็หาทางลัดที่จะให้ได้สิ่งนั้นมาปรนปรือ เพราะจุดหมายมันอยู่ที่สิ่งนั้นเสียแล้ว

สำหรับประเทศไทยเรา จะได้สิ่งสนองความสะดวกสบายเหล่านั้นมาได้อย่างไร เราเห็นประเทศอื่นเขามีสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วเราก็พยายามไปเอาและคอยรับเอาของที่คนอื่นมีอยู่แล้วมา โดยไม่พยายามสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง ส่วนวิธีการที่จะได้สิ่งเหล่านั้นมาเราไม่ได้คำนึงถึง จะเป็นทางดีหรือชั่วไม่ใส่ใจ ยิ่งลัดยิ่งดี เมื่อเป็นอย่างนี้ความเจริญอันเป็นแก่นสารจริงๆ ก็เลยไม่มี เพราะจุดหมายไปอยู่ที่ความมั่งมีทางวัตถุเสียแล้ว ผมเห็นว่า ที่ฝรั่งเขาเจริญขึ้นมาก็เพราะเขามีความต้องการค้นคว้า อยากรู้ความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งต่างๆ เป็นเหตุให้เกิดวิทยาการต่างๆ ขึ้น วิทยาการเหล่านี้ก็ถูกนำไปสร้างความเจริญทางวัตถุ เอามาสนองความต้องการได้ ความต้องการความสุขความสะดวกสบายทางวัตถุ ก็มีอยู่เป็นพื้นๆ อย่างสามัญ แต่ตอนที่เป็นพิษเป็นภัยก็คือ ตอนที่ความต้องการปรนเปรอทางวัตถุมันแรงล้ำหน้าขึ้นมา สนองไม่ทันจึงหาทางลัดกัน อันนี้แหละทำให้เกิดปัญหาทางสังคมทั้งในเมืองไทยและเมืองฝรั่งปัจจุบัน

ลักษณะนิสัยอยากรู้ความจริงหรือความใฝ่รู้ของฝรั่งนี้เราจะเห็นได้แม้แต่พวกฝรั่งที่เข้ามาในเมืองไทย เพราะฉะนั้น แม้ว่าในปัจจุบันนี้สังคมฝรั่งจะมีเค้าของความเสื่อมอยู่ก็ตาม แต่ก็ยังมีข้อดีอยู่ตรงที่เขายังมีเชื้อแห่งความใฝ่รู้ความจริงเหลืออยู่ การที่เขามาศึกษาเรื่องของเรา จะเป็นทางศาสนาหรือทางอื่นใดก็ตามแสดงว่าเขามีทางแก้ปัญหาของเขาได้ และจะกลับเจริญได้อีก ผมได้คิดเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ก่อนไปและเมื่อไปเห็นแล้วก็ยังยืนยันความคิดนี้อยู่ไม่ได้เปลี่ยน

 

นิสัยในการใฝ่หาความจริงนี้ ท่านเจ้าคุณอาจารย์คิดว่าเกิดมาจากอะไร เกิดจากระบบในสังคมของเขา หรือมีสิ่งผลักดันมาจากทางอื่นสำหรับคนไทยเรา มีทางที่จะสร้างความใฝ่รู้ความจริงอย่างเขาได้ไหม ที่เรียนถามเช่นนี้ เพราะเท่าที่สังเกตดู ระบบการศึกษาของเราก็เลียนแบบมาจากเขา เมื่อเราจัดระบบการศึกษาเหมือนเขา เราก็น่าจะสร้างคนที่มีลักษณะใกล้เคียงกับเขาได้ คือเป็นคนที่มีธาตุแห่งการใฝ่รู้ความจริงอย่างเขาบ้าง แต่กลับกลายเป็นว่าคนของเราส่วนมากมีความต้องการวัตถุที่สนองความอยากมากขึ้นๆ โดยยังขาดธาตุแห่งความใฝ่รู้อยู่เหมือนเดิมนั่นเอง ท่านเจ้าคุณอาจารย์คิดว่าเป็นเพราะอะไร

พระศรีฯ : ที่ว่าเราเลียนแบบจากเขานี้น่าจะเป็นเพียงว่า เราตื่นเต้นต่อความเจริญที่ปรากฏเห็นได้ง่ายๆ เป็นเปลือกนอกของเขา คือความเจริญทางวัตถุต่างๆ เราเลยพยายามจะเลียนแบบความเจริญนั้น โดยมิพักต้องสืบสาวดูว่า ความเจริญของเขามีสาเหตุจริงๆ มาจากลักษณะพิเศษอะไรในตัวเขา ความตื่นเต้นนี้ยังไม่หมดไป เราจึงเลียนแบบได้แต่เพียงผิวเผิน ต่อเมื่อใดความตื่นเต้นนี้หมดไป เราอาจจะเบื่อและหันหลังมามองเหตุผลจริงๆ ก็ได้ ส่วนเหตุปัจจัยที่ทำให้เขามีธาตุแห่งความใฝ่รู้นั้นอาจมีหลายทาง ซึ่งน่าจะศึกษากันนานพอสมควร แต่ว่าอย่างน้อยเรื่องทางศาสนาก็น่าจะเป็นเหตุหนึ่งด้วย

เหตุผลในเรื่องนี้ก็คือ การที่ศาสนาทำให้ฝรั่งในสมัยก่อนไม่ค่อยมีเสรีภาพ ถูกบีบบังคับทางความคิดมากอีกอย่างหนึ่งในทางธรรมชาติเขาก็ถูกบีบคั้นอยู่ไม่น้อย ตามธรรมดาคนเรานั้นยิ่งถูกบีบก็ยิ่งดิ้นรนหาทางออก อันนี้แหละทำให้เขาพยายามสร้างความเจริญขึ้นมาได้ เพื่อที่ตัวเองจะพ้นจากความความทุกข์ความบีบคั้นในด้านนั้นๆ ที่ว่าเขาถูกบีบในทางความคิดทางสติปัญญานั้นจะเห็นได้ เช่น ศาสนาของเขาสอนให้เขายอมรับความจริงบางอย่างโดยไม่ต้องคิด และเมื่อสถาบันศาสนามีอำนาจ ก็มีการลงโทษผู้ไม่เชื่อฟัง หรือคิดแปลกออกไปจากคำสอนของศาสนาของเขารุนแรง มันบีบคนที่อยากรู้ความจริงให้ต้องดิ้นรนให้มาก ทั้งในด้านการคิดค้นและการพิสูจน์ความจริง ประวัติศาสตร์อันนี้ได้สร้างผลขึ้นมาในระยะยาว คือการบีบบังคับนั้น บางทีก็กลับเป็นผลดีส่วนหนึ่ง ในสร้างคนในระยะยาวได้ เรื่องนี้แม้แต่ในประเทศที่นับถือพุทธศาสนาเหมือนกับเราก็เป็นเช่นเดียวกัน ดินแดนไหนคนถูกบีบบังคับมากก็มีการดิ้นรนมาก ฝรั่งถูกบีบบังคับทางความคิดมามาก ส่วนเรานั้นใครจะคิดอะไรในทางสัจธรรมก็คิดไป ไม่มีใครเอาใจใส่ตามค้น ทางศาสนาก็ไม่ก็ว่าอะไร ไม่ทำร้ายไม่ขัดขวาง ผลของมันก็เรื่อยๆ ไปอย่างนั้นเองไม่ถูกบีบให้เด่นขึ้นมา ไม่ช้าก็เลือนรางหายไป นี่เป็นข้อสันนิษฐานของผม

นอกจากเรื่องที่กล่าวมาแล้วนี้ ยังมีส่วนที่ควรจะพิจารณาอยู่อีกเกี่ยวกับสภาพทางสังคมของเขาในปัจจุบัน และเกี่ยวกับความเจริญทางวัตถุต่างๆ ซึ่งในที่สุดเราก็จะเห็นว่าไปไม่รอด ทั้งนี้ไม่เฉพาะแต่ในอเมริกาเท่านั้น แม้ประเทศอื่นๆ ก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน คือเมื่อความเจริญทางวัตถุก้าวไปถึงจุดหนึ่งแล้วคนก็เกิดความรู้สึกเอือมระอาต่อความเจริญนั้น เหมือนคนที่กินขนมหวานหรือกินลูกกวาดจนกระทั่งท้องอืด แล้วก็เกิดอาการเหม็นเบื่อ ยิ่งกว่านั้นของที่กินลงไปแล้วนั้นเป็นพิษเอาเสียอีกด้วย นี่กำลังเป็นสภาพที่มองเห็นอยู่ทั่วไปในสังคมอเมริกา ซึ่งขณะนี้สับสนอลเวงและขาดหลักยึดเหนี่ยว คนของเขาก็ยอมรับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าศึกษา เพราะมันจะมาสัมพันธ์กับการพัฒนาการสร้างสรรค์ต่างๆ และจะช่วยให้เกิดความคิดทางศาสนาได้ด้วย ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เราน่าจะคุยกันได้เป็นเรื่องยาวเรื่องหนึ่งอีกทีเดียว

 

กระผมติดใจในคำของท่านเจ้าคุณอาจารย์ที่ว่า ศาสนาของฝรั่งมีส่วนทำให้เขาต้องดิ้นรนหาทางออก อันเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่สังคมของเขาได้สำเร็จ กับที่ว่าการบีบบังคับจากทางศาสนาช่วยสร้างคนในระยะยาวนั้นหมายความว่า เวลานี้คนของเขาสามารถแหวกออกมาจากกรอบของศาสนาได้แล้วใช่ไหม และเมื่อหลุดออกมาแล้วอย่างนี้ แปลว่า ศาสนา ในแง่หลักคำสอน จะไม่มีความหมายอีกต่อไปแล้วหรืออย่างไร

พระศรีฯ: ข้อนี้ต้องทำความเข้าใจเรื่องความหมายของคำว่า ศาสนาก่อน คำว่า ศาสนาของฝ่ายตะวันตก เขามีลักษณะเป็นแบบที่จะต้องเชื่อคำสอนตามที่มีอยู่ในคัมภีร์ หรือตามที่สถาบันหรือองค์การศาสนาเป็นผู้บอก ซึ่งอ้างว่าเป็นดำรัส หรือเป็นคำสั่งของเทพเบื้องบน เมื่อเข้าใจความหมายในแง่ของคนตะวันตกแล้วก็ต่อเรื่องของเราไปได้ คือเราจะไม่ตีความว่าศาสนาตามแบบของเรา

เราจะเห็นได้ถึงประวัติความดิ้นรนในทางความคิดของฝรั่งในขณะนี้ แม้เราจะไม่มีโอกาสพูดกันถึงประวัติศาสตร์โดยพิสดารแต่ก็พอจำกันได้คร่าวๆ อย่างเช่น ในสมัยกลาง องค์การศาสนาของเขามีอำนาจมากถึงขนาดตั้งศาลพิพากษาตัดสินศรัทธา ถ้าหากใครพูดหรือแสดงความคิดเห็นขัดแย้งต่อคำสอนในคัมภีร์อาจถูกจับตัวขึ้นขึ้นศาลพิพากษาอย่างแรง ต้องถูกประหารชีวิตด้วยวิธีการที่โหดร้ายก็ได้ ด้านความขัดแย้งในศาสนาก็จะเห็นว่าเขามีอยู่บ่อยๆ คนที่นับถือศาสนาเดียวกัน แต่ต่างนิกายกัน ก็มักมีการบีบคั้นขัดแย้งกันอย่างรุนแรง และการขัดแย้งกันอย่างรุนแรงก็ทำให้มีการดิ้นรนมาก เราจะเห็นว่า แม้คนที่อพยพไปอยู่ในอเมริกา ในยุคแรกๆ ก็มีสาเหตุสำคัญอันหนึ่ง คือหนีภัยความบีบคั้นศาสนาของคนต่างนิกายกัน เพราะเหตุที่ถูกบีบคั้นมามาก ชนชาตินี้จึงร่ำร้องหาความเสมอภาคและเชิดชูเสรีภาพยิ่งนัก

ในเรื่องความบีบคั้นในทางความคิดนี้ ฝรั่งได้รับมานาน เราจะเห็นประวัติของการดิ้นรนนี้ ซึ่งเป็นมาตลอดตั้งแต่ในสมัยกลางพวกนักดาราศาสตร์บางคนที่แหวกวงล้อมออกมาก็ถูกบีบคั้นอย่างที่ว่านี้ การบีบคั้นจึงเป็นเหตุให้เขาพยายามดิ้นรนให้มาก ซึ่งบางครั้งก็ชนะ บางครั้งก็แพ้ แต่ในที่สุดมันก็ทำให้เกิดผลผลิตทางความคิดต่างๆขึ้นมา

ที่ว่าความบีบคั้นทางศาสนาช่วยสร้างคนในระยะยาว ก็มีความหมายอย่างที่ว่ามานี้เอง คือทำให้เขาดิ้นรนคิดหาความจริงที่แท้ ใช้เวลาคิดค้นต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานๆ ในระยะยาวก็กลายเป็นนิสัยใฝ่รู้ใฝ่แสวงหาความจริง เท่ากับเป็นการสร้างคนทางปัญญานั่นเอง

นี้ก็ถือได้ว่าความดิ้นรนเพื่อให้พ้นจากการบีบบังคับทางศาสนา เป็นทางหนึ่งที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่พูดนี้มิได้หมายความว่าศาสนาของเขาหมดความหมายไปโดยสิ้นเชิง เพราะเมื่อคนดิ้นรนออกไปมาก มีความคิดเห็นผิดแผกออกไป ศาสนาของเขาก็พยายามปรับตัวให้คำสอนของตนมีเหตุผลในทางปรัชญามากขึ้น เพื่อให้มีความหมายอยู่ต่อไป แต่ถึงอย่างนั้น ปัจจุบันนี้คนของเขาเองก็บอกว่า ศาสนาของเขามีความหมายสำหรับพวกเขาน้อยเหลือเกิน

 

ท่านเจ้าคุณอาจารย์พูดถึงความเจริญทางวัตถุในสังคมฝรั่งโดยเฉพาะในอเมริกา ซึ่งท่านเจ้าคุณอาจารย์ไปเห็นมา ว่าจะไปไม่รอดนั้น ทำให้นึกว่า นี่แปลว่าความเจริญทางวัตถุกับความเจริญทางจิตใจคือศีลธรรมและศาสนา จะเคียงคู่กันไปไม่ตลอดหรืออย่างไร เพราะเท่าที่ทราบสังคมของประเทศที่เจริญทางวัตถุมากๆ อย่างเช่นอเมริกา เยอรมัน และญี่ปุ่น เป็นต้น ก็ทำให้รู้สึกว่าจะเป็นเช่นนั้น ในข้อนี้ท่านเจ้าคุณอาจารย์เห็นว่าเป็นอย่างไรครับ

พระศรีฯ: ผมอยากจะเชื่อมเรื่องนี้เข้ากับเรื่องการมองความเจริญของประเทศฝ่ายตะวันตก เช่นอย่าง อเมริกา เราจะเห็นว่าตัวเหตุหรือสิ่งชักนำให้มาสู่ความเจริญ ถ้ามองเผินๆ ก็ดูคล้ายจะเป็นการแสวงหาสิ่งปรนปรือมาสนองความต้องการทางวัตถุ แต่ในความเห็นของผม ตัวนี้ไม่ใช่ตัวเหตุแท้จริงของความเจริญ สิ่งที่ลึกซึ้งเข้าไปกว่านั้นก็คือ ความใฝ่รู้แก่นแท้ความจริงของสิ่งต่างๆ หรือความต้องการเข้าถึงตัวความจริงของสิ่งต่างๆ ลักษณะอันนี้ผมพูดมาแล้วในตอนก่อน

แต่ธรรมชาติของมนุษย์ย่อมมีการแสวงหาความปรนปรือทางวัตถุด้วย เพราะฉะนั้นแรงผลักดันของความเจริญจึงมี ๒ อย่าง คือ ๑.) ความใฝ่รู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งเป็นที่มาของวิทยาการต่างๆ ข้อนี้เรียกได้ว่าสนองความต้องการทางปัญญา ๒.) การปรนปรือสนองความต้องการทางวัตถุ ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่าการสนองความต้องการทางตัณหา ทั้งสองอย่างนี้เป็นแรงผลักดันที่ทำให้คนสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ถ้าหากมีเฉพาะอย่างหลังคือความต้องการทางวัตถุอย่างเดียว ไม่มีความใฝ่รู้ความจริงทางสติปัญญาเป็นตัวแกนอยู่ข้างใน ก็จะไม่นำไปสู่ความเจริญอย่างแท้จริง คือจะกลายเป็นเรื่องของการหาทางลัด ในการหาทางสนองความต้องการทางวัตถุ ถ้าไม่กลายเป็นการทำทุจริตต่างๆ อย่างดีก็จะได้แค่เป็นความพยายามของคนขี้เกียจ และผลที่สุดมันก็ไปไม่รอด

ขณะนี้ผมเห็นว่า ความเจริญของฝรั่งที่เกี่ยวด้วยตัวแรง ๒ อย่างนี้ ได้มาประสบความผันผวนหรือจุดชะงักอยู่ทั้งสองอย่างในแง่ความใฝ่รู้ทางสติปัญญา คือการคิดค้นเพื่อเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลายนั้น เขาได้พยายามมาช้านาน เช่นการดิ้นรนให้หลุดพ้นจากความบีบคั้นทางศาสนาเป็นต้น ในระยะเวลาแห่งการขัดแย้งและดิ้นรนอันยาวนานนั้น ในทางศาสนาเองก็พยายามปรับตัวให้ความคิดเกี่ยวกับเรื่องสัจธรรมของตน เป็นเรื่องมีเหตุมีผลมากขึ้น จึงปรากฏว่าคริสต์ศาสนาเองก็ได้พัฒนามาในรูปเป็นปรัชญา แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังไม่สนองความต้องการได้อย่างแท้จริง บางพวกก็แหวกวงแยกตัวออกไปจนกระทั่งเป็นปฏิปักษ์ก็มี ดังเช่นที่บางคนประกาศว่าพระเจ้าตายแล้ว อะไรทำนองนั้น ไม่อยากจะเกี่ยวข้องกับศาสนาเลย

จนถึงเวลานี้ทางวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาแล้วมากมาย แต่ปรากฏว่าการค้นพบต่างๆ ที่มีมาแล้วยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางปัญญา ให้เขาเข้าถึงความจริงเป็นที่พอใจได้ และยังมองไม่เห็นความหมาย หรือคุณค่าและสาระที่แท้จริงของชีวิตว่ามันคืออะไรกันแน่ เมื่อมองจากสายวัฒนธรรมอารยธรรมของเขาเองที่มีมา จึงรู้สึกคล้ายๆ กับว่ามันมาถึงจุดที่ไม่สามารถสนองความต้องการได้ มองไม่เห็นจุดหมาย เขาก็เลยเริ่มมองไปทางอื่นบ้าง บางพวกก็มาสนใจทางฝ่ายตะวันออก ว่าทางฝ่ายนี้อาจจะมีอะไรดีๆ ที่หาไม่ได้ในฝ่ายของเขา หรือที่ของเขามาสนใจเราและนับว่าเป็นความผันผวนทางสติปัญญาอย่างหนึ่ง

ในด้านการสนองความต้องการทางวัตถุก็มาถึงจุดผันผวนอันหนึ่งเหมือนกัน คือจุดที่เขาเริ่มมองเห็นว่าวัตถุต่างๆที่สร้างสรรค์ขึ้นมา ไม่สามารถให้ความสุขหรือความหมายที่แท้จริงแก่ชีวิตได้ มันก็เกิดปฏิกิริยา การมีปฏิกิริยาย่อมแสดงออกในรูปต่างๆ มากมาย เช่นเห็นว่า สิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นมานั้นไม่มีความหมายอะไร กลับไปหาธรรมชาติปล่อยตัวไปตามสบายดีกว่า ในเมื่อการสนองความต้องการทางวัตถุก็มองไม่เห็นจุดที่จะให้ความหมายแท้จริงอะไรได้ และความต้องการทางปัญญาก็ยังสนองไม่สำเร็จ คนก็เกิดผิดหวัง หาที่ยึดไม่ได้ ก็เคว้งคว้าง เพราะฉะนั้น บางพวกก็หันมาทางตะวันออก เช่นมาสนใจสมาธิ เป็นต้น ซึ่งเขาคิดว่าจะเป็นทางให้ค้นพบความหมายที่แท้จริงของชีวิตได้หรือบางพวกไม่เจอวิธีนี้ ก็หาทางออกของตนเองไปโดยวิธีอื่นๆ เช่น ปล่อยตัวไปตามธรรมชาติ ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรกับใคร บ้างก็เห็นว่า สถาบันหรือสิ่งทั้งหลายที่สร้างสรรค์ขึ้นมาทั้งหมด ไม่มีความหมาย ทำลายเลิกล้มไปเสียเลยดีกว่า แสดงอาการปฏิเสธสังคมของตน เรียกว่าเป็นปฏิกิริยาที่ออกมาในรูปต่างๆ แต่จะเป็นรูปใดก็ตาม ก็คือปฏิกิริยานั่นเอง

อีกอย่างหนึ่ง เราจะเห็นว่ามนุษย์ได้ทำการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ มา ก็เพื่อหาความสะดวกสบายให้แก่ตนเอง จนกระทั่งรู้สึกกันว่า มนุษย์จะหลุดพ้นจากการบีบคั้นของธรรมชาติ และกลับเป็นนายบังคับบัญชาธรรมชาติได้ตามพอใจ แต่ครั้นแล้วในที่สุด สิ่งที่สร้างขึ้นนั้นกลายเป็นพิษภัยแก่ธรรมชาติ แล้วย้อนกลับมาเป็นพิษภัยแก่ตัวมนุษย์เอง เช่นที่เราเรียกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเสียเป็นต้น กลายเป็นคล้ายๆ กับว่ามนุษย์สร้างสรรค์ความเจริญขึ้นมาเพื่อทำลายตัวเอง นี่ก็ถือได้ว่าเป็นจุดผันผวนทางสังคมอย่างหนึ่ง

สิ่งเหล่านี้ระดมกันเข้ามา ทำให้มนุษย์ที่ว่าเจริญแล้วนั้นเกิดความไม่แน่ใจเกี่ยวกับการสร้างสรรค์อารยธรรมของตน ในเมื่อไม่แน่ใจในแนวทางที่จะเดินไปข้างหน้าก็เกิดเป็นความผันผวนทางจิตใจขึ้นมา จึงมีปฏิกิริยาในรูปต่างๆ ผสมกันเข้าไป ความชั่วร้ายทางสังคมต่างๆ ก็เกิดจากปฏิกิริยาเหล่านี้ด้วย เพราะการที่ไม่มีหลักยึดเหนี่ยว ไม่เข้าใจในความหมายที่แท้จริงของชีวิต ก็หาความสุขแบบคนคิดสั้น เอาแต่สิ่งที่เห็นเฉพาะหน้า ที่ตนเข้าใจว่าจะสนองความต้องการได้ไปก่อน หรือไม่ก็หาทางออกด้วยวิธีการที่เข้าใจเอาในตอนแรกเพียงว่า จะช่วยในตนเองมีความสุขก็แล้วกัน แต่ในขั้นต่อไปมันกลายเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความเสียหายทางสังคม เช่นอย่างคนที่หันไปหายาเสพติด คนที่ติดยาเสพติดนั้นตอนแรกอาจเป็นเพียงหาทางแก้ความผันผวนในทางจิตใจเท่านั้น แต่เมื่อติดยาเสพติดแล้ว มันกลายเป็นนำไปสู่อาชญากรรมและความเลวร้ายอื่นๆ เลยกลายเป็นปัญหาประดังกันขึ้นมา อันนี้ก็มองได้หลายอย่าง

ผมว่าปัญหาที่เกิดในอเมริกาก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนปัญหาที่เกิดในประเทศไทย เพราะสังคมมีพื้นฐานต่างกัน และสั่งสมมาคนละอย่าง สำหรับประเทศไทยเมื่อเป็นสังคมเจริญขึ้นแล้ว ความเสียหายทางศีลธรรมจรรยา อาจจะเหมือนความเสียหายในอเมริกา หรือไม่เหมือนก็ได้

 

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าในสังคมที่พัฒนาทางวัตถุอย่างเต็มที่แล้ว ระบบต่างๆ เช่น ระบบทางเศรษฐกิจและการปกครองเป็นต้น ทำให้คนในสังคมต่างคนต่างอยู่ แบบที่เรียกว่าตัวใครตัวมัน สภาพเช่นนี้มองดูแล้วก็ทำให้เชื่อว่าความเจริญทางวัตถุได้หนีห่างจากความเจริญทางศีลธรรมออกไปมาก ชนิดที่จะไม่มีวันตามกันทันเลย กระผมอยากจะขอความเห็นท่านเจ้าคุณอาจารย์ในเรื่องนี้

พระศรีฯ: ข้อนี้ก็มีส่วนถูก เพราะในระบบอย่างนี้มีการแข่งขันกันมาก คนแสวงหาวิธีการจะเอาเปรียบกันมาก สิ่งเหล่านี้มีจุดหมายเดียวกันคือการแสวงหาวัตถุมาปรนปรือความต้องการของตน การแข่งขันแย่งชิงนั้นย่อมแน่นอนว่าจะเป็นเหตุแห่งความเสื่อมเสียทางศีลธรรมจรรยา นอกจากนั้น เมื่อมีวัตถุและวิธีบำรุงบำเรอปรนเปรอตนมาก คนวุ่นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่มีใจไม่มีเวลาที่จะเอาใจใส่ผู้อื่น เช่นแม้แต่โทรทัศน์ เมื่อไม่รู้จักใช้ ก็สามารถทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ลดลงไปได้มาก ตั้งต้นในครอบครัว อันนี้ก็ย่อมขึ้นอยู่กับหลักปรัชญาหรือความคิดพื้นฐานด้วยเหมือนกัน เพราะมันไปสัมพันธ์กับแนวความคิดความเข้าใจของมนุษย์ เกี่ยวกับเสรีภาพ และความเสมอภาค หมายความว่าการที่เขาจะมาแข่งขันอย่างนี้ มีเหตุมาจากความเข้าใจในเรื่องเสรีภาพและสมภาพด้วย และแนวความเข้าใจในเรื่องนี้ จะไปสัมพันธ์กับเรื่องการแสวงหาความเจริญทางปัญญาอีกต่อหนึ่ง เช่น การที่เขาแสวงหาทางออกจากการบีบคั้นทางศาสนาเดิมนั้น เขารู้สึกว่าเป็นการแสวงหาเสรีภาพอย่างหนึ่งด้วย

ที่ว่าความเจริญทางวัตถุกับความเจริญทางจิตใจ คือศีลธรรมหรือศาสนาจะเคียงคู่ไปด้วยกันไม่ได้หรืออย่างไรนั้น อันนี้ เวลาเรานึกถึงความเจริญ เรามักนึกถึงความเจริญของประเทศทางตะวันตกหรือถึงจะมีประเทศตะวันออกปนอยู่บ้าง ก็เป็นแบบตะวันตกอยู่นั่นเอง คือเจริญโดยนำแบบอย่างของตะวันตกมาใช้จึงจัดเข้าในความเจริญแบบตะวันตกทั้งหมด

ทีนี้ในสังคมตะวันตกความหมายของศาสนาของเขาในแง่ของการสนองความต้องการทางปัญญา ได้เสื่อมคลายมานานแล้ว จนถึงกับได้พูดไว้แล้วว่า การดิ้นรนให้หลุดพ้นจากอิทธิพลความบีบคั้นทางปัญญาของศาสนานั่นเอง เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งแห่งความเจริญของเขา

อาจมีผู้แย้งในตอนนี้ว่า ที่ศาสนากับความเจริญทางวัตถุแยกกันนั้นเป็นเรื่องทางสติปัญญาหรือสัจธรรม ไม่ใช่เรื่องทางศีลธรรมจรรยา อันนี้ก็ตอบได้เลยว่า หลักทางสติปัญญาหรือสัจธรรมเป็นฐานของหลักศีลธรรมจรรยา เมื่อศีลธรรมจรรยาขาดรากฐานก็คลอนแคลน มีความหมายน้อย เมื่อมองในแง่นี้ เรื่องจึงอาจจะไม่เป็นอย่างที่ว่าไว้ คือไม่ใช่ความเจริญทางวัตถุกับความเจริญทางจิตใจ จะเกี่ยวคู่กันไปไม่ได้ แต่กลับเป็นว่า ความเจริญทางวัตถุกับความเจริญทางจิตใจไม่ได้เคียงคู่มาด้วยกันแต่แรกแล้ว นี่ก็เป็นการพูดและมองในอีกแง่หนึ่ง

อีกแง่หนึ่ง ในระบบของสังคมที่มีการแข่งขันแย่งชิงกันมากนั้น ย่อมทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันง่าย ทั้งผู้ได้เปรียบและผู้เสียเปรียบ ต่างก็ต้องการสนองความต้องการฝ่ายตัณหาด้วยกันทั้งคู่ ผู้ได้เปรียบมีโอกาสหาวัตถุมาปรนปรือความสุขความต้องการของตนได้ง่าย ส่วนผู้เสียเปรียบก็ย่อมดิ้นรนด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อแสวงหาโอกาสที่จะได้วัตถุมาปรนปรือตนบ้าง แรงผลักดันของความต้องการสนองตัณหาก็มีช่องทางแสดงบทบาทได้มากในบุคคลทั้งสองฝ่าย จึงต้องมีเครื่องมือ สำหรับมาช่วยปรับความเข้าใจระหว่างกันให้เฉลี่ยโอกาสและเฉลี่ยวัตถุแก่กันในจังหวะต่างๆ และเหนี่ยวรั้งการกระทำในการที่จะใช้โอกาสเพื่อสนองตัณหา ให้อยู่ในขอบเขตที่พอเหมาะพอดี เครื่องมือเช่นนี้อาจมีหลายอย่าง แต่ตามปกติก็มีหลักศีลธรรมจรรยาเป็นอย่างหนึ่งละ และเป็นอย่างสำคัญด้วย แต่หลักศีลธรรมจรรยาจะทำหน้าที่ได้ผล จะต้องมีอำนาจในการเหนี่ยวรั้งและควบคุมสูง การที่ศีลธรรมจรรยาจะมีอำนาจเหนี่ยวรั้งควบคุมสูง ก็ต้องมีอำนาจสนองความต้องการทางปัญญาสูงด้วย จึงจะไปช่วยคุมการสนองความต้องการทางตัณหาได้ เช่นการที่จะยอมรับความหมายและขอบเขตของเสรีภาพเป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในกรณีนี้

แต่ในขณะเดียวกัน ปรากฏว่าอำนาจสนองความต้องการทางปัญญาของศาสนาของทางตะวันตกนั้นอ่อน หรือไม่มีเหลืออยู่แล้ว อำนาจเหนี่ยวรั้งหรือควบคุมทางศีลธรรมจรรยา จึงอ่อนมากหรือไม่ได้ผลเลย เพราะไม่มีรากฐาน เมื่อเป็นเช่นนี้แรงผลักดันในการสนองตัณหา จึงทำให้เขาใช้และแสวงหาโอกาสในรูปต่างๆ ที่ถือกันว่าขาดศีลธรรมจรรยา ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องไม่ลืมว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต่างจากสัตว์อื่น ในแง่ที่ว่าเป็นสัตว์มีปัญญาด้วย มนุษย์มิใช่แต่ต้องสนองความต้องการทางปัญญาเท่านั้น แต่ยังสนองความต้องการทางตัณหาของเขา จะต้องมีการสนองความต้องการทางปัญญาเป็นฐานรองรับให้ด้วยในกรณีนี้

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ความหมายและขอบเขตของเสรีภาพ หรือความเป็นอิสระเสรี ซึ่งจะเป็นกรอบคุมหรือเป็นช่องทางของการใช้โอกาส เมื่อพึ่งศาสนาเพื่อสนองความต้องการทางปัญญาในเรื่องนี้ไม่ได้ มนุษย์ก็คิดสร้างความหมายของความเป็นอิสระเสรีขึ้นมาเอง เพื่อเป็นทางออกในการใช้โอกาสสนองตัณหาของตน มองในแง่หนึ่งเราจะเห็นได้ว่าสัตว์ทั้งหลายก็มีเสรีภาพของมันอยู่เหมือนกัน และในบางคราวมนุษย์ที่สร้างสรรค์แบบแผนความเป็นอยู่และสิ่งอำนวยความสะดวกสบายขึ้นมาควบคุมบีบรัดตนเองนี้ ก็อาจมองเสรีภาพไปในรูปที่ตรงกับสัตว์เข้าก็ได้ หรืออาจจะชอบเสรีภาพแบบสัตว์ขึ้นมาสักคราว และการสนองความต้องการทางปัญญาเกี่ยวกับเสรีภาพนี้เป็นฐานลึกซึ้งที่ส่งผลออกมาทางปัญหาศีลธรรมจรรยาอย่างสำคัญ

ทีนี้หันมาดูเราเอง ในเมื่อเราเดินตามแบบของตะวันตก โดยนำระบบของเขามาใช้ ก็หมายความว่า เราพยายามดำเนินตามสายความเข้าใจในเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค เป็นต้นอย่างเขา ในเมื่อเราไปถือเอาแบบอย่างเขา ปัญหาก็ย่อมเกิดอย่างเขาได้ แต่ความหมายของสมภาพเสรีภาพนั้น ก็ยังเป็นที่สงสัยว่าหมายเอาแค่ไหนเพียงไร และเราควรจะเชื่อตะวันตกหรือไม่ด้วย ผมว่าเรื่องนี้มันต้องเกี่ยวพันกันทั้งหมด

 

ในสังคมที่พัฒนาการทางวัตถุขึ้นถึงขีดสุดแล้วนั้น ศาสนาจะกลับคืนมามีบทบาทอย่างเดิมได้อีกไหม

พระศรีฯ: มันก็อยู่ที่ฐานทั้ง ๒ ที่กล่าวแล้วนั่นแหละ คือการใฝ่รู้ความจริง และการสนองความต้องการทางวัตถุ ในการสร้างสรรค์ความเจริญก็ดี ในการประพฤติตามหลักศีลธรรมจรรยาก็ดี อย่างหลังต้องอาศัยอย่างแรกเป็นพื้นฐาน แต่ปัญหามีว่า ทำไมอำนาจทางศาสนาของเขาจึงไม่มีผลบังคับทางศีลธรรมจรรยา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า อำนาจบังคับในทางสัจธรรมไม่มี คือสนองความต้องการทางปัญญาของคนไม่ได้ ในเมื่อเขาเห็นว่าหลักเดิมไม่ถูกต้องแล้ว อำนาจบังคับทางศีลธรรมก็สูญเสียไปด้วย ถ้าเขาไม่เชื่อว่าพระเจ้าจะลงโทษได้จริง อำนาจควบคุมทางศีลธรรมจรรยาก็ไม่มีความหมาย เพราะฉะนั้นฐานที่แท้จริงมันต้องอยู่ที่เรื่องสัจธรรมหรือการสนองความต้องการทางปัญญานี้ก่อน เราเห็นว่าสังคมตะวันตกนั้นแยกตัวทางสติปัญญาออกจากศาสนามากแล้ว อำนาจควบคุมทางศีลธรรมจรรยาของศาสนานั้นจึงอ่อนไปด้วย เมื่อเสียทั้งสองฐาน บทบาทก็ย่อมสูญหรือเสื่อมลง

การที่จะให้ศาสนากลับมามีบทบาทได้ ก็จะต้องมาในรูปที่สามารถสนองความต้องการทางปัญญาได้ก่อน ให้เขายอมรับในทางปัญญาว่า สิ่งที่ศาสนาสอนนั้นเป็นหลักสัจธรรมแท้จริง ในเมื่อเป็นหลักสัจธรรมแท้จริง คำสอนตามระเบียบศีลธรรมจรรยาก็ย่อมเป็นไปตามหลักความจริงนั้นได้ คนก็ต้องยอมรับ แต่ขณะนี้คนกำลังเคว้งคว้างทางปัญญา ไม่เห็นว่าศาสนาจะให้ความจริงได้ หลักศีลธรรมจรรยาก็หมดความหมายไป เมื่ออำนาจควบคุมของศีลธรรมจรรยาหมดไป คนก็แล่นไปในทางสนองความต้องการทางวัตถุเท่านั้น แล้วเขาก็หันไปหาหลักเสรีภาพ เสมอภาคที่เขาคิดขึ้นมา คนก็แข่งขันกันไปในแนวความคิดนั้น แต่เรื่องเสรีภาพ เสมอภาค ที่เขาคิดกันขึ้นมานี้ ก็ยังเป็นที่สงสัยในเรื่องความหมาย ว่าถูกต้องหรือไม่แค่ไหนเพียงใด

 

เรื่องนี้ท่านเจ้าคุณอาจารย์คิดว่าจะทำให้เราในประเทศไทย โดยเฉพาะองค์การศาสนาได้บทเรียนอะไรบ้าง

พระศรีฯ: บทเรียนก็อยู่ที่เราต้องเข้าใจเขาก่อน คือต้องศึกษาถึงความเป็นมา และสาเหตุที่ทำให้เกิดสภาพปัจจุบันของเขา ทั้งในรูปที่เป็นปัญหาและในรูปที่ดีงาม แล้วเอาความรู้ในเรื่องเหล่านี้แหละมาเป็นบทเรียนของเรา ผมเห็นว่าเราไม่ควรแต่คิดจะตามอย่างเขา เพราะเห็นว่าเขาเจริญเท่านั้น ทุกวันนี้กล่าวได้ว่าเรากำลังพยายามเอาอย่างเขา ที่จริงเราควรศึกษาว่าอะไรเป็นความเจริญอะไรเป็นความเสื่อม และควรแยกแยะไปถึงว่า อะไรที่เป็นตัวสาเหตุของภาวะนั้นๆ สรุปก็คือ เราควรศึกษาตามความเป็นจริง ไม่ใช่ศึกษาในรูปของการที่จะเอาอย่าง

 

กระผมว่า เวลานี้พวกเราที่ศึกษาเขานั้นคงไม่ได้ศึกษาลึกลงไปขนาดนั้นเท่าใดนักหรอก อย่างดีเวลาเราพัฒนา เราก็หวังแต่จะให้เจริญขึ้นมาอย่างในทางวัตถุ และสักหนึ่งเราอาจจะประสบผลสำเร็จในการพัฒนา คือสามารถสร้างสรรค์ความเจริญทางวัตถุได้สำเร็จ แต่เมื่อถึงวันนั้นศาสนาของเราอาจถูกละเลยและหมดหมายไปแล้วก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ เราควรจะคิดการอะไรเพื่อเผชิญกับปัญหาในอนาคตได้แล้วหรือยัง

พระศรีฯ: ก็อย่างว่านั่นแหละถ้าเราเอาอย่างเขาก็มีทางจะเป็นเหมือนเขา แต่ทีนี้ถ้าเราเห็นในตอนนี้ว่าเขาซึ่งทำไปก่อน ไปเจอปัญหาเข้า เรามาทำตามเขาทีหลังยังไปเจอปัญหาเดียวกันนั้นอีก มันก็เหมือนกับเราเห็นคนที่เดินข้างหน้าเราเดินชนต้นไม้ ถ้าเรายังไปชนเหมือนอย่างเขาอีก แสดงว่าเราตาบอดหรือไม่ก็โง่มาก แทนที่จะได้บทเรียนจากเขาบ้าง เราเดินทีหลังน่าจะไปได้ดีกว่า

ผมว่าเรื่องนี้เราต้องศึกษาความจริงอย่างที่ว่านั่นแหละ คือศึกษาดูสภาพ ดูปัญหาของเขาว่าอะไรเป็นเหตุ แม้แต่ความหมายของหลักการบางอย่างที่เราอยากจะเอาอย่างเขา เช่นเรื่องเสรีภาพ เสมอภาค ซึ่งเป็นตัวการใหญ่ที่จะผลักดันการกระทำของมนุษย์เรา ก็ควรได้ศึกษาดูให้ดีหมายความว่าอย่างไร อย่างที่ฝรั่งเขาว่าไว้นั้นถูกต้องหรือยัง โดยมากเรารู้สึกว่าสิ่งที่ฝรั่งคิดนั้นถูก เราจึงศึกษาเพียงเพื่อจะคิดตามเขาทำตามเขาเท่านั้น ไม่ได้สงสัยว่าที่เขาคิดนั้นถูกหรือผิด ผมยังนึกอยู่ว่าสิ่งนี้ควรจะได้นำมาพินิจพิจารณาดู

เช่นในเรื่องเสรีภาพ เสมอภาคนั้น มองบางแง่มนุษย์เราอาจจะมีไม่เท่าสัตว์ก็ได้ เราจะเห็นว่าสัตว์มีความเสมอภาคมันเสมอกันหมด มีเสรีภาพ จะทำอะไรก็ได้ จะฆ่ากันรังแกกันก็ได้ แนวความคิดของคนในเรื่องนี้ก็ไม่แน่ บางคราวอาจจะไปสู่จุดนี้ก็ได้ คือคนมองไปมองมา อาจจะเห็นว่าตนมีเสรีภาพเสมอภาค ไม่เท่าสัตว์ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็อาจกลับไปสู่ความเป็นสัตว์อย่างเดิม ผมไม่แน่ใจว่าเวลานี้มีแนวโน้มไปในรูปนั้นหรือไม่ เพราะฉะนั้นผมว่าไม่ควรจะไปศึกษาเพียงเพื่อตามอย่างเขาเท่านั้น แต่ควรศึกษาว่าที่เขาคิดนั้นถูกหรือผิดด้วย

อีกอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับพื้นฐานในการสร้างความเจริญ ในเมื่อคนมาจากพื้นฐานไม่เหมือนกัน จะทำแบบเดียวกันแท้ๆ มันทำไม่ได้ เหมือนอย่างการเดินของสัตว์ ๒ ชนิด ซึ่งได้สั่งสมมาคนละอย่าง ก็ย่อมไม่เหมือนกัน เช่นการไปของเสือกับการไปของงูย่อมไม่เหมือนกัน อาจจะไปสู่จุดหมายเดียวกัน แต่ว่าวิธีการที่จะไปจะเหมือนกันทีเดียวไม่ได้ ไทยเรากับฝ่ายตะวันตกมีการสั่งสมทางพื้นฐานวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน เราจะไปเอาอย่างเขาทันทีและจะทำให้เหมือนเขาทีเดียวย่อมไม่ได้ ในเมื่อทำอย่างเขาก็ไม่ได้ ของตัวเองก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะไม่ได้นำมาใช้มัวแต่จะไปเอาอย่างเขามาใช้ เป็นอันของเดิมเราก็ทิ้ง ของเขาที่เราเอามาก็ใช้ไม่ได้ดี เพราะเรากับเขามันคนละพื้นฐานกัน เลยเอาดีอะไรจริงไม่ได้ วิธีนี้จึงไปไม่รอด

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าจะว่าโดยพื้นฐานทั่วไปแล้ว พื้นฐานของทางตะวันตกหนักไปในทางวัตถุนิยมมาก ส่วนทางตะวันออกหนักไปในทางจิตนิยม ในแง่นี้ควรพิจารณาว่า จะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการสร้างสรรค์ความเจริญได้หรือไม่ ในทางตะวันตกนั้นเขามีระบบแข่งขันกันมาก ซึ่งเป็นลักษณะของวัตถุนิยม ทีนี้ถ้าหากเราจะสร้างความเจริญของเรา โดยวิธีเลียนแบบนำเอาระบบของเขามาใช้ มันก็ไม่เข้ากับพื้นฐานของเรา วิธีการของเราจึงควรน้อมไปในทางจิตนิยมมากกว่า จิตนิยมเป็นเรื่องของอุดมคติ เราอาจจะไปสู่ความเจริญตามจุดหมายที่ฝรั่งต้องการโดยใช้วิธีการไม่เหมือนกับฝรั่ง ฝรั่งอาจจะใช้วิธีแข่งขัน แต่ระบบตะวันออกของเราอาจจะต้องใช้วิธีการอุดมคติ

 

กระผมเห็นว่าในประเทศไทยของเรา ปัญหาเรื่องเอาอย่างเขานั้น คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งๆ ที่เราก็รู้ว่าเขาเดินไปชนต้นไม้ก่อนแล้วแต่เวลานี้พวกเราดูจะพอใจที่เดินไปชนอย่างเขาด้วยซ้ำ ปัญหาเรื่องการพัฒนาของเราคงหนีร่องนี้ไปไม่พ้นแน่ ถ้าเช่นนั้นกระผมเห็นว่าเราน่าจะหามาตรการอะไรสักอย่างเหนี่ยวรั้งไว้บ้างแล้วกระมัง เป็นแต่ว่ามาตรการนั้นจะเป็นอย่างไร ในข้อนี้ท่านเจ้าคุณอาจารย์เห็นว่าอย่างไรครับ

พระศรีฯ: ถ้าเราประสบปัญหาเช่นนี้ ผมว่ามันจะแรงกว่าเขาเสียอีก คือว่าที่เขาเดินไปชนอะไรต่ออะไรนั้น เขาก็ยังเดินไปตามทางของเขา ส่วนเรานี่ไม่ใช่เดินทางของเรา เพราะไปเอาอย่างเขา ไปเดินตามเขาในทางซึ่งตัวไม่เคยเดิน แถมยังไม่ระวัง สักแต่ว่าเดินตามเขาเห็นเป็นเพลิน แล้วก็เดินเปะปะไปอย่างนั้น ก็มีหวังว่าจะเจอทุกข์หนักยิ่งกว่าเขาอย่างแน่นอน ของเขานั้นอย่างน้อยเขาก็ยังมีหลักเป็นตัวของตัวเองอยู่ ถ้าประสบปัญหาย่อมจะได้บทเรียนและหาวิธีแก้ตามแบบของเขาได้

เพราะฉะนั้นผมว่าฝรั่งเขายังไม่หมดหวัง ถึงอย่างไรความใฝ่รู้สัจธรรมอันเป็นแก่นแท้ของเขาก็ยังมีอยู่ ปัญหาที่ปรากฏในขณะนี้คือความผันผวนต่างๆ ซึ่งในส่วนลึกแท้เขา เขาต้องการจะแก้ไขแม้จะมีปฏิกิริยาที่แสดงออกมาในรูปความวิปริตต่างๆ บ้าง แต่ส่วนหนึ่งของเขาก็หาทางออกอยู่ และเขาอาจจะสำเร็จก็ได้ เพราะเขามีพื้นฐานของตนเองที่สร้างมาอันนั้นอยู่

ส่วนของเรา เราไม่มีพื้นฐานอย่างนั้น แล้วเราไปเอาอย่างในรูปแบบภายนอกเขา เราก็หนักเท่านั้นแหละ เพราะได้แต่ประสบปัญหา และเกิดความทุกข์อย่างนั้น อย่างเดียว โดยไม่มีพื้นฐานที่จะมาแก้ไข เพราะฉะนั้นผมว่าถ้าเราเอาอย่างฝรั่ง หากฝรั่งประสบทุกข์แค่นี้ เราจะต้องประสบทุกข์แรงกว่าเขาอีกหลายเท่า เขาอาจจะเพียงเจ็บ แต่เราอาจจะแหลกเหลวหรือตายไปเลย

ทีนี้ปัญหาเรื่องการเหนี่ยวรั้งสังคมของเรานั้น มีอยู่หลายด้าน เราจะต้องแก้หลายๆ จุด แล้วแต่เราจะเริ่มอันไหนก่อนคือเราควรพิจารณาว่า

๑) อันไหนเป็นปัญหาสำคัญ

๒) เราถนัดและสามารถจะทำอันไหนได้ก่อน

อย่างไรก็ตาม แก่นแท้ก็คือปัญหาว่า เรามีพื้นฐานความจริงที่เรามั่นใจที่สุดไหม

อย่างในกรณีพระพุทธศาสนา เราจะต้องตอบตัวเองก่อนว่า เรามั่นใจไหมในตัวสัจธรรมของศาสนาของเรา ถ้าเรามั่นใจอยู่ มันก็มีทางเป็นไปได้ เพราะว่าจุดสุดท้ายมันจะต้องยันอยู่ที่อันนี้ ถ้าไม่มีพื้นฐานตัวสัจธรรมยืนอยู่ มันก็โคลงเคลง ไปไม่รอด เพราะฉะนั้นเราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อน ว่าเรามีพื้นฐานที่แน่นอนหรือยัง แล้วก็จะมีทางเหนี่ยวรั้งได้ แก้ปัญหาได้ จุดแรกจึงต้องถามคำถามนี้ก่อน

 

แต่คิดว่าอย่างน้อยเราก็เชื่อว่าศาสนาของเรามีสัจธรรมอยู่มากมากกว่าที่ฝรั่งมีด้วยซ้ำ

พระศรีฯ: อย่างนั้นก็ยังดี แต่ถ้าเป็นไปได้ ควรจะมั่นใจเด็ดขาดลงไปเลย ซึ่งจะเป็นกำลังที่แข็งแรงในการที่จะทำอะไรลงไป เพราะพลังตัวนี้จะเป็นตัวหนุนให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคงและมีพื้นฐานที่แน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าเรามุ่งไปที่ศาสนา องค์การศาสนาควรจะมีความมั่นใจในเรื่องนี้ก่อน แล้วต่อจากนั้นเราก็จะเริ่มคิดแก้ปัญหาได้ โดยอิงฐานอันนี้ไว้

 

ถ้าเช่นนั้น องค์การศาสนาในบ้านเรา ก็ควรจะเริ่มทำการในเรื่องนี้กันอย่างจริงจังได้แล้วกระมัง

พระศรีฯ: สำหรับทางศาสนาของเรายังมีข้อดีอยู่ ที่เราไม่เป็นตัวไปบีบบังคับในด้านความคิด ที่ติดใจมนุษย์มาแต่เดิมไม่เหมือนศาสนาทางโน้น (ทางตะวันตก) เขา นี่ก็เป็นข้อดีอันหนึ่ง แต่ในเวลาเดียวกัน เท่าที่เป็นมา การไม่มีเครื่องบีบบังคับก็เป็นเหตุให้คนทางฝ่ายเราไม่ค่อยดิ้นรนมากเหมือนกัน เมื่อไม่มีเหตุบีบบังคับจากภายในเราก็เลยปล่อยกันมา ขาดความกระตือรือร้นจนต้องมีการเทียบเคียง หรือมีปัญหาจากภายนอกเข้ามาบีบ จึงเริ่มมีทางที่เราจะกลับไปนำเอาสัจธรรม หรือของจริงแท้ของเราออกมาใช้ประโยชน์ คือคนเราโดยมากจะคิดทำอะไรจริงจังก็ต่อเมื่อตัวเองประสบปัญหา แต่ก่อนศาสนาของเรามีอยู่ แต่มันไม่ทำให้เกิดปัญหา เราจึงเฉยๆ ทีนี้ต่อมาเราประสบปัญหา ปัญหานี้ถึงแม้จะเกิดจากภายนอกก็เป็นเหตุให้เราหันมาคิดหาประโยชน์กันอาจจะเป็นนิมิตที่ดีก็ได้ ในทางศาสนานั้นในเมื่อเรามีความมั่นใจแล้ว หน้าที่เบื้องต้นก็คือ แสดงความจริงให้ปรากฏ

ขณะนี้เราเห็นว่าพวกเราโน้มไปทางด้านการเอาอย่างทางตะวันตกมาก ทีนี้เมื่อเราเห็นว่าการเอาอย่างเขาเรื่อยไปนี้เป็นภัย เราก็ต้องหาทางดึงพวกเรากลับมา แต่จะนำกลับมาได้อย่างไร การจะนำเขากลับมาให้ได้อย่างแท้จริงก็ต้องให้เขาเห็นว่า จุดที่ตัวเขาจะกลับมาหานี้มันดีกว่า คือมันต้องให้ได้เห็นความสูงเด่นหรือความยอมรับทางปัญญาเสียก่อน อันนี้สำคัญมาก ถ้าเราสามารถแสดงให้เขาเห็นจริงว่าในทางปัญญาเราเหนือกว่าเขาแล้ว เขาต้องกลับมาแน่ ถ้าเราไม่สามารถแสดงอันนี้ให้เห็นเด่นชัดแล้ว เราก็ดึงคนที่ไปก็ตามอย่างเขากลับมาได้ยาก ถึงกลับมาก็เป็นเพียงผิวเผิน อย่างไรก็ตาม ที่ว่านี้ มีเงื่อนไขว่าจะต้องสร้างนิสัยแห่งความใฝ่รู้ขึ้นมาให้ได้ด้วย

ในขณะนี้ถึงแม้ถ้าเรามองเห็น เข้าใจ และยอมรับอย่างนี้แล้ว มันก็อาจจะกินเวลามาก เพราะเราปล่อยเรื่องไปเสียนาน เราจึงจำต้องมีวิธีแก้ปัญหาระยะสั้นระยะยาว ปัญหาระยะยาวเราจะต้องมุ่งไปที่เรื่องสัจธรรม ที่จะสนองความต้องการทางปัญญาได้แน่นอน ส่วนปัญหาเฉพาะหน้านั้นเกี่ยวกับเรื่องการปรับตัวเข้ากับความเจริญของเรา โดยที่เราตระหนักถึงภัยของเขา อันไหนที่เราเห็นว่าท่าจะไม่ดี เราก็หลีกเลี่ยงเสีย เราต้องพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างถูกต้องเหมาะสมในการที่คนของเราจะไปเดินตามอย่างความเจริญของเขา ถ้าเรารู้อยู่ว่าถึงอย่างไรคนของเราก็จะไปเดินตามเขาแน่ๆ แต่เราไม่เข้ายุ่งเกี่ยวด้วย คนของเราก็จะเดินไปแบบที่ไม่มีหลักของตัวเองเลย ซึ่งย่อมจะเป็นภัยมากกว่าเจ้าของเดิมเขาเสียอีก

ฉะนั้นในระยะแก้ปัญหาเฉพาะหน้านี้ เราจึงต้องหาทางช่วยพวกเราที่จะไปเดินตามเขาก่อน เราจึงจำต้องเข้าไปเกี่ยวข้องเพื่อจะได้มีทางช่วยแนะทางให้เขา ช่วยเหนี่ยวรั้งหรือช่วยป้องกันภัยบางอย่างให้ การเข้าไปช่วยนี้ไม่ใช่การห้ามไม่ให้เขาไปเอาอย่างตะวันตกมา แต่เป็นการช่วยให้เขาเอาอย่างโดยไม่เป็นภัย ส่วนระยะยาวเราจะต้องหันกลับมาที่จุดหลักของเรา จะต้องสนองความต้องการทางปัญญาของเขาให้ได้ เมื่อเขาพอใจในสิ่งนี้แล้ว ระบบศีลธรรมจรรยาก็จะตามมาได้ เพราะว่าระบบศีลธรรมจรรยาต้องอิงสัจธรรม ถ้าพื้นฐานสัจธรรมหรือความจริงไม่มีแล้วศีลธรรมจรรยาดำรงอยู่ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะเอากฎเกณฑ์อะไรเป็นหลักว่า ศีลธรรมจรรยานั้นจะให้ได้ผลอย่างไร

บทสัมภาษณ์พระราชวรมุนี16
(ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

 

อาจารย์เชื่อวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์หรือไม่ และวิทยาศาสตร์หาคำตอบให้ชีวิตได้จริงหรือ

พระราชวรมุนี: พูดได้หลายแง่หลายมุม พูดกว้างๆ วิทยาศาสตร์เป็นวิธีที่ดี แต่ต้องพิจารณาว่ามีขอบเขตแค่ไหน วิทยาศาสตร์ที่ผ่านมาหนักไปทางวัตถุ และค้นคว้าความจริงเพียงบางแง่บางด้าน วิทยาศาสตร์ไม่สามารถให้คำตอบได้หมด เมื่อวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถให้คำตอบแก่ชีวิต มนุษย์จึงต้องมีศาสนามีปรัชญาอย่างน้อยคนที่ไม่เชื่อศาสนาก็ยังหันไปในทางปรัชญาเพื่อหาคำตอบคล้ายๆ หวังว่าวันหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่าความคิดทางปรัชญาจะพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งการพิสูจน์ค้นคว้าตามระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์นั้น จะใช้วิธีการทดสอบทางประสาททั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้นและผิวหนัง ซึ่งตามหลักในพุทธศาสนาแล้วยังขาดความสามารถที่จะรับรู้ทางจิตได้อีกประการหนึ่ง ซึ่งการรับรู้ทางจิตนี้จะเกิดขึ้นประจักษ์ชัดแจ้งได้ก็แต่ในมนุษย์เฉพาะตัวแต่ละคน และไม่ขึ้นกับประสาททั้ง ๕ ส่วนนี้เองที่วิทยาศาสตร์เข้าไม่ถึงและหาคำตอบให้ไม่ได้ หรือยังตอบให้ชัดไม่ได้ แม้ว่าจะมีความพยายามอย่างมากที่จะวัดออกมาเช่นคลื่นสมองก็ตาม เหล่านี้คือข้อจำกัดของวิทยาศาสตร์ เราจะอยู่กับวิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ คำถามที่ว่าเชื่อไหมก็ตอบว่า เชื่อได้แต่ต้องรู้ขอบเขตว่ามันไม่หมดแค่นั้น

 

และทัศนะของอาจารย์นั้นพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่

พระราชวรมุนี: พุทธศาสนามีจุดหมายที่จะแก้ปัญหาชีวิตทั้งหมดซึ่งต่างกับวิทยาศาสตร์ดังที่กล่าวมาแล้ว คือมักมุ่งหาความจริงในเรื่องของวัตถุ และหาความจริงได้เฉพาะบางแง่อย่างมีข้อจำกัด แต่แนวความคิดบางอย่างอาจไปด้วยกันได้ เช่นต้องไม่เชื่อง่ายๆ ตามที่เพียงได้ยินได้ฟัง ต้องมีการทดลองสอบสวน นี่เป็นแง่ที่ลงกัน แต่ก็มีส่วนที่อาจไม่เหมือนกัน และไม่อาจรู้ว่าต่อไปวิทยาศาสตร์จะเหมือนกับพุทธศาสนาหรือเปล่า

สำหรับอาจารย์แล้ว ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อยู่ที่ไหน และอะไรคือนิยามของศักดิ์ศรีในทัศนะของพุทธ

พระราชวรมุนี: ถ้าว่าที่ตัวของแนวความคิดอาตมาว่า เรื่องศักดิ์ศรีเป็นแนวความคิดแบบตะวันตก ฝรั่งใช้คำว่า Dignity ในทางพุทธคล้ายกับไม่มีแนวความคิดนี้ หรือในทางตะวันออกไม่ได้เน้น ถ้าเราเอา Dignity มามองในแง่ฝรั่ง วัฒนธรรมฝรั่งเป็นวัฒนธรรมที่เน้นอัตตา ให้เข้าถึงอัตตา มีการขยายอัตตา ในทางพุทธฯ เป็นไปในรูปที่ว่าให้ทำลาย ถอน หรือบรรเทาความยึดมั่นในอัตตา ถ้าพยายามจับความคิดนี้มาใส่ในพุทธฯ ตัว Dignity อาจจะอยู่ที่ความหลุดพ้น หรือความอิสระมีความสมบูรณ์ในตัวเองชีวิตไม่ต้องไปขึ้นกับการยึดถือศักดิ์ศรี แต่ศักดิ์ศรีคือความสมบูรณ์ในตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องมาแสวงหาศักดิ์ศรี หรือพุทธฯ ต้องการให้ชีวิตอิสระเหนือการแสวงหาศักดิ์ศรี ถ้ามองในแง่นี้เหมือนกับเอาธรรมเป็นศักดิ์ศรี ความคิดเรื่องศักดิ์ศรีมันสัมพันธ์ในบางแง่ของความคิดที่ว่า อัตตาธิปไตย โลกาธิปไตย ธรรมาธิปไตย ในทางปฏิบัติก็ยอมรับว่าอัตตาธิปไตยเป็นทางทำความดีได้แง่หนึ่งเมื่อยึดอัตตาหรือศักดิ์ศรีเป็นใหญ่ แต่ในความดีแท้ต้องเอาธรรมเป็นใหญ่

อย่างไรก็ตาม ศักดิ์ศรีเป็นคำสมัยใหม่ เมื่อจะเทียบกัน เราอาจโยงเข้าหาหลักพุทธศาสนาได้หลายอย่าง เช่นเราบอกได้ว่าพุทธศาสนาถือว่าคนทุกคนต้องเป็นไปตามกรรมนิยามและธรรมนิยามเสมอกันหมด ตั้งต้นแต่ต้องเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกันทุกคน ตามกฎแห่งกรรม ถือว่าไม่มีการแบ่งแยกคนให้สูงต่ำกว่ากันด้วยวรรณะชาติกำเนิด กรรมคือการกระทำความประพฤติคุณธรรมจึงจะเป็นเครื่องวัดคน นี่จะถือว่าเป็นเกณฑ์วัดศักดิ์ศรีก็ได้ หรือจะพูดอีกแง่หนึ่ง พุทธศาสนาบอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้หรือพัฒนาได้ หรือว่าเป็นสัตว์ที่มีศักยภาพสูง ทุกคนควรได้รับฐานะและโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพของตน ใครก็ตามไม่ว่าคนไหนเมื่อได้พัฒนาตนดีแล้ว ก็ประเสริฐเยี่ยมได้ อาจจะยิ่งกว่าเทพเจ้าและพรหม ถ้าว่าในแง่นี้ ศักดิ์ศรีก็อยู่ที่การพัฒนาตน หรืออยู่ที่การที่พึงมีสิทธิในการฝึกปรือศักยภาพของตน

 

อาจารย์เชื่อไหมว่าการแบ่งแรงงานสมองกับแรงงานทางร่างกายจะมีทางลดช่องว่างหรือมีทางหมดไปหรือไม่

พระราชวรมุนี: อาตมาว่าเป็นเรื่องของความพยายามแบ่ง ชอบแบ่งแยก อาจเป็นว่ามีความโน้มเอียงอย่างหนึ่ง คือมีความพยายามจะแบ่งอะไรต่อมิอะไรออกจากกัน ถ้ามองอีกแง่หนึ่งต้องมีความแตกต่างที่จะมาเสริมกัน สังคมหรือโลกมนุษย์ไม่สามารถมีลักษณะอย่างเดียวทั้งหมด ต้องมีลักษณะแตกต่างซึ่งจะกลมกลืนและประสานกันเกิดความเป็นหนึ่งที่สมบูรณ์ นี่น่าจะมามองในแง่นี้ด้วย อย่างการใช้แรงงานกายและแรงงานสมอง ถ้าจะมองดูความแตกต่างมันก็แตกต่าง แต่สังคมมนุษย์ต้องอาศัยทั้งสองส่วน สมมติว่าในลัทธิที่ต้องการเอาพวกแรงงานกายมาปกครอง เราก็ต้องเลือกผู้ที่มีแรงงานกายที่มีสมองเหมือนกันแล้ว ผู้ใช้แรงงานก็อาจจะกลายเป็นผู้ปกครองใช้สมองอย่างเดียวไป ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะสามารถนำความแตกต่างนี้มาเสริมกันได้ไหม ในแง่ของการฝึกอบรมต่างยอมรับว่าการปกครองในบางครั้งต้องอาศัยความจัดเจน อาศัยประสบการณ์ ผู้ที่มาทางแรงงานกายเราก็ต้องเห็นคุณค่าในแง่ที่เขารอบรู้ความเป็นอยู่ของผู้คนดี แต่เขาอาจขาดในเรื่องความสามารถเรื่องความคิดในการปกครอง ซึ่งหากเขาขาดส่วนเสริมนี้จากที่อื่น เขาอาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้มีทางไหมที่จะนำสิ่งเหล่านี้มาประสานกัน ผู้ที่ศึกษามาทางสมองก็ต้องยอมรับจุดบกพร่องของตนเองว่า ตนเองมีความขาดแคลนอะไรบ้าง อันที่จริงชีวิตมนุษย์นี้สั้น อาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องเวลาของการฝึกอบรม จุดนี้อาจเป็นสาเหตุให้เกิดความคิดที่จะแบ่งหน้าที่สมองและแรงงานกายออก แต่ทว่าอย่างไรจึงจะให้เป็นการส่งเสริมกันอย่างแท้จริง นำความแตกต่างมาประกอบกันเป็นความสมบูรณ์

 

การแบ่งหน้าที่แรงงานสมองกับแรงงานกาย ถ้ามองในอดีต โดยเฉพาะบทบาทของฝ่ายพุทธฯ ในสมัยพุทธกาล มีความพยายามในรูปไหนบ้างครับ

พระราชวรมุนี: ในทางประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเกิดมาท่ามกลางศาสนาพราหมณ์ หลักสำคัญอย่างหนึ่งของศาสนาพราหมณ์ก็คือการแบ่งวรรณะ ซึ่งในแง่หนึ่งก็คือการแบ่งแรงงาน ปัญญาชนก็คือพวกพราหมณ์ที่ใช้แรงสมอง ส่วนพวกที่ใช้แรงงานกายอย่างเดียวทั้งชีวิตก็คือพวกศูทร นี้เป็นการแบ่งที่ตายตัวด้วยชาติกำเนิด พุทธศาสนายอมรับการแบ่งแรงงานโดยดูในแง่ความถนัด และความสามารถที่แท้ แต่ไม่ให้ถือเป็นเรื่องตายตัว เปิดโอกาสให้เปลี่ยนแปลงหน้าที่กันได้ ทั้งนี้เพราะพราหมณ์แสวงประโยชน์จากการแบ่งวรรณะ คือการแบ่งงานทำให้ตนเองได้รับประโยชน์ พราหมณ์เลยผูกขาดถือเอาชาติกำเนิดมาเป็นเครื่องบีบคั้นจำกัดคนอื่นในทางสังคม นอกจากนี้แล้วพุทธศาสนาไม่ได้ถือเอาเป็นเครื่องวัดความสูงต่ำ ว่าแรงงานสมองจะสูงกว่าแรงงานกาย แต่ถือเอาพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตเป็นเครื่องวัด คนที่มีสมองดีแต่ทำชั่ว พุทธฯก็ถือเป็นคนพาล ตรงข้ามคนที่ใช้แรงงานกายแต่ดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง พุทธฯถือว่าเป็นบัณฑิต เป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ความหมายปัญญาก็ดูจะไม่เหมือนกัน ในแง่ความสามารถทำสิ่งที่ตนต้องการให้สำเร็จกับการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ซึ่งพุทธฯ มุ่งเอาความหมายอย่างหลัง เพื่อประโยชน์ที่แท้แก่ชีวิตของสังคมเป็นเกณฑ์

 

อาจารย์รู้สึกอย่างไรกับทัศนะที่มองชีวิตพระสงฆ์องค์เจ้า ด้วยเกณฑ์วินิจฉัยทางเศรษฐกิจของปัญญาชนปัจจุบัน ว่าเป็นพวกเอาเปรียบแรงงานส่วนเกิน

พระราชวรมุนี: เราต้องเรียนรู้ชุมชนแบบเดิมให้กระจ่างเสียก่อนจึงจะว่าได้ ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไปมาก และความรู้สึกของปัญญาชนเช่นนี้เท่ากับยอมรับว่าการใช้แรงงานกายเป็นของต่ำ พวกทำงานทางสมองเป็นพวกสูง ซึ่งทางพุทธศาสนาไม่ได้วัดเช่นนี้ แต่ดูที่การดำเนินชีวิตที่ดีงามถูกต้อง และทัศนะของปัญญาชนที่มองพระเช่นว่านี้ มันเป็นทัศนะตะวันตก คือมองพระไปเป็นแบบพระในสังคมฝรั่ง ซึ่งเป็นคนอีกพวกหนึ่งในสังคม แต่การแบ่งแยกอย่างชัดเจนเช่นนี้ไม่มีในสังคมไทย ระบบพระของไทยเป็นระบบถ่ายเท ไม่ใช่ชุมชนที่แยกตัวจากสังคม พระไทยอยู่เป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน พระก็คือญาติพี่น้องลูกหลานของคนในชุมชน และในด้านแรงงานพระก็ไม่ได้แบ่งแยกตัวว่าเป็นพวกแรงงานประเภทไหน ในด้านแรงงานกายพระก็ทำ เช่น แต่เดิมมาการก่อสร้างวัดซึ่งเป็นสาธารณสถาน และเป็นศูนย์กลางของชุมชน พระก็ทำเอง จะเห็นได้แม้แต่เดี๋ยวนี้ไปบ้านนอกก็ยังเห็นพระสร้างวัดซ่อมวัดกันเอง หรือจะว่าพระเป็นผู้ใช้แรงงานสมองก็ไม่ชัดเจนพอ มีก็เป็นเพียงครูบาอาจารย์และความจัดเจนในศิลปวิทยาการบางแขนง เรื่องนี้ต้องศึกษาไม่ควรด่วนตีความเช่นนี้ เราอาจจะสรุปจากในประวัติศาสตร์มีพระมาสัมพันธ์กับเจ้านาย แต่อาตมาว่านี่เป็นการศึกษาด้านเดียว แม้แต่พระที่มีความสัมพันธ์กับเจ้านายนั้น ท่านก็สัมพันธ์กับชาวบ้านด้วย ไม่ได้ห่างจากชาวบ้าน มองอีกแง่หนึ่ง ทัศนะนั้นเองอาจเป็นเกณฑ์วินิจฉัยว่าปัญญาชนปัจจุบันที่ว่าอย่างนั้น เป็นคนไม่รู้จักสังคมไทย

 

การแบ่งแรงงานกายและแรงงานสมองในปัจจุบัน เป็นอย่างไรบ้างครับ

พระราชวรมุนี: มีลักษณะเหินห่างได้ง่าย คือถ้าจะถือว่าพระเป็นปัญญาชนในสมัยโบราณ ชีวิตของพระมิได้แยกจากชาวบ้านต้องทำตัวให้ชาวบ้านเคารพ ต้องอาศัยอาหารบิณฑบาตจากชาวบ้านได้มากได้น้อยแล้วแต่ชาวบ้านจะให้ ถ้าชาวบ้านไม่ให้ก็อยู่ไม่ได้ ต่างกับปัญญาชนปัจจุบันที่กินเงินเดือนหลวง ซึ่งไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับชาวบ้านผู้ใช้แรงงานกาย และแยกชีวิตออกมาเป็นอีกพวกหนึ่งในสังคม ซึ่งพระทำไม่ได้ วินัยนั้นบังคับพระต้องใกล้ชิดชาวบ้าน และต้องพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งอาตมาว่าวิธีนี้กลับเป็นวิธีสำคัญที่ใช้ควบคุมปัญญาชนในตัว เรามักมองไม่เห็นคุณค่าของการบิณฑบาต หาว่าให้ชาวบ้านเลี้ยง ไปเบียดเบียนเขาดูไปอีกที นอกจากเป็นการควบคุมที่ดีแล้ว กลับจะบริโภคน้อยลง คิดให้ดีมันตรงข้ามกับความคิดเดี๋ยวนี้ ถ้าอาศัยเงินเดือน นอกจากห่างชาวบ้าน ชาวบ้านควบคุมไม่ได้ และอาจดูถูกชาวบ้านแล้ว อาตมาว่าจะไม่มีขอบเขต และจะมากกว่าการแบ่งจากชาวบ้านคนละเล็กละน้อย ซึ่งเขาพอใจจะให้ด้วย

 

ถ้าระบบมันเลว คนที่ทำงานให้กับระบบที่เลวจะต้องมีความรับผิดชอบทางจริยธรรมหรือไม่ ตัวอย่างเช่น ธนาคารเอาเปรียบชาวบ้าน ถ้าเราเข้าไปทำ จะผิดไหมในแง่ของพุทธศาสนา

พระราชวรมุนี: ต้องรับผิดชอบ นี่เป็นหลักธรรมดา ทีนี้เราจะเอาอะไรมาว่าผิดไม่ผิดนั้นน่าจะต้องศึกษา อาตมาว่าไม่เฉพาะธนาคาร แต่อาจมีอัตราส่วนมากน้อยกว่ากัน ปัจจุบันไม่ว่าจะทำอะไรก็ดูเหมือนว่ามีทางจะเอาเปรียบกันได้ง่าย และมีแนวโน้มว่าจะทำอะไรก็หาทางเอาเปรียบ ถ้าสังคมเป็นแบบนี้ เราจะวางตัวอย่างไรและรับผิดชอบแค่ไหน หลักกลางคือต้องรับผิดชอบบ้างและพยายามหันเห โดยพยายามยับยั้งและพยายามแก้ไข แต่ถ้ามีหนทางก็ควรไปทำที่อื่น และถ้าไม่มีทางอื่น ก็ต้องอาศัยงานนั้นเป็นแหล่งสำหรับศึกษา เพื่อทำความเข้าใจมูลเหตุ สาเหตุและองค์ประกอบในการเอาเปรียบ และดูว่าจะแก้ไขอย่างไร ก็จะเป็นส่วนที่มีประโยชน์ ปัญหาของมนุษย์ไม่ใช่อยู่แค่ผิดหรือไม่ผิด แต่ส่วนมากทีเดียวเป็นการเลือกระหว่างผิดมากถูกน้อย หรือผิดน้อยถูกมาก ข้อสำคัญอยู่ที่จะประมาทปล่อยไปตามที่ผิดหรือจะแก้ไขสิ่งผิด เสริมรักษาส่วนที่ถูก

 

ปัญหาของมนุษย์ยุคนี้คือ การเอาเปรียบกันในสังคมนั้นซับซ้อนและระบบของการเอาเปรียบนั้นใหญ่จนไม่อาจแก้ไขได้ที่ตัวมันเองเสียแล้ว นอกจากนี้ตัวของงานในระบบเองยังทำลายมนุษย์คนที่เข้าไปทำงานไม่ว่าจะตั้งใจดีอย่างไร ก็มักถูกดูดกลืนในเวลาไม่นานนัก เห็นกันมากในหมู่นักกิจกรรมตามมหาวิทยาลัย เมื่อจบแล้วไม่น้อยกลับเข้าไปทำงานให้ระบบที่ครั้งหนึ่งเคยโจมตีและทำไม่นานก็ค่อยๆ หมดกำลังถูกกลืนไป

พระราชวรมุนี: ถ้าอย่างนั้นก็เป็นข้อเตือนสติพวกที่กำลังเป็นนักกิจกรรมอยู่ในปัจจุบันว่า ความไม่กลมกลืนในการดำรงชีวิตกับหลักการที่ใช้ยึดถือในเบื้องต้น นี่คือจุดบกพร่องที่ควรแก้ไขในตัวเอง การที่พูดถึงจุดบกพร่องไม่ดีไม่ควรในสังคม และพูดถึงหลักการความดีงามความยุติธรรมที่ตนยึด เสร็จแล้วก็ไปไม่รอด อย่างนี้ก็ไม่มีความหมายอะไร เขาควรแก้ไขตัวเองในทางปฏิบัติ อย่างน้อยต้องแก้ได้ที่ตัวเอง เอาตัวเองรอดจากทางที่รู้ชัดว่าไม่ควรเดิน แสดงว่าตัวเองยังอ่อน ยังไม่มั่นคงในหลักการแท้ แล้วจะไปว่าคนอื่นทำไม ถ้าเป็นอย่างนี้ก็แสดงว่าการด่าว่ากันไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง แต่จะต้องทำให้ตนเองเป็นส่วนประกอบที่แก้ไขแล้ว และชักชวนคนอื่นๆ ให้ช่วยกันแก้ไข

 

เมื่อพูดถึงปัญหาและการแก้ปัญหาในสังคม อยากเรียนถามอาจารย์ว่า การปฏิวัติที่ปัญญาชนเคยเชื่อ หรือยังเชื่ออยู่ว่าจะแก้ปัญหาได้นั้น อาจารย์มีทัศนะอย่างไรบ้างครับ

พระราชวรมุนี: บางทีการปฏิวัติก็ไม่เป็นการแก้ปัญหาโดยตัวของมันเอง แต่เป็นเพียงตัวผลักดันหรือเป็นตัวช่วยเปิดช่องให้แก่การกระทำหรือพลังอย่างอื่นที่รอโอกาสอยู่ บางทีก็ได้ผลดี บางทีกลับเลวลง การปฏิวัติไม่ใช่เรื่องที่จบสิ้นในตัว เป็นเพียงปัจจัยเป็นส่วนประกอบใหญ่เข้าไปให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และผลักดันส่วนอื่นให้กระทำต่อ ถ้าหากว่ามีความพร้อมบางอย่างสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่ดี การปฏิวัติอาจจะเป็นตัวให้เกิดผลที่ดีตามมา แต่ถ้าไม่พร้อมก็อาจให้ช่องกับความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ อันนี้ต้องดูตัวประกอบอื่นๆ ด้วย ไม่เพียงตัวการปฏิวัติอย่างเดียว เพราะบางครั้งการปฏิวัติเองก็เกิดจากความอ่อนแอ คืออับสติปัญญามองไม่เห็นทางที่ดีกว่านั้น ก็ใช้ความรุนแรง บางทีก็สนองความต้องการบางอย่าง แต่บางครั้งก็ไม่มีทางออกอื่น แม้เขาจะอ่อนแอบ้างก็ต้องเห็นใจ แต่ต้องระวังและรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องจบสิ้นในตัว เพียงแต่ให้ช่องแก่การกระทำอื่นๆ พูดถึงการปฏิวัติแล้ว ก็มีคนเคยถามว่าพระพุทธเจ้าเป็นนักปฏิวัติหรือไม่ จึงเกิดปัญหาในเรื่องถ้อยคำว่าจะต้องทำแค่ไหนถึงเรียกว่าการปฏิวัติ บางคนว่าปฏิวัติ บางคนว่าปฏิรูป

 

ปัญหาความเบื่อ ความเหงาความเซ็ง เป็นปัญหาใหญ่ของคนในสังคม อาจารย์มีวิธีอะไรในการแก้ปัญหานี้ พูดจากประสบการณ์ในการทำงานของอาจารย์ก็ได้ครับ

พระราชวรมุนี: ความเบื่อความเหงาของชีวิตอาตมาก็คงต้องมี แต่บางทีงานก็ไม่อนุญาตให้มีความเบื่อความเหงา เมื่อมันมีอะไรต้องทำอยู่เรื่อยๆ ก็ไม่มีเวลาเพียงพอ แต่บางทีก็อาจเบื่อในงานนั้นเอง แต่ก็แก้ด้วยงานนั่นเอง ต้องทำงานนั้นให้ก้าวหน้าต่อไป ความเบื่อที่งานก็มักเกิดจากการค้นคว้าที่ติดขัดอย่างที่มันไม่ควรจะเป็น ความเสียเวลาทำให้เกิดความเบื่อ หรือสิ่งที่เราคิดมันไม่ปรุโปร่งไม่เข้าใจพอ หรือไม่เกิดผลดีงานไม่เป็นประโยชน์อย่างที่เราต้องการก็ทำให้เบื่อ แต่โดยตัวงานก็ไม่อนุญาตให้เรานั่งเบื่อ ก็ต้องทำต่อไป แต่ถ้าว่าไปตามทฤษฎีแล้ว ความเบื่อแก้ได้หลายวิธี แทนที่มานั่งเบื่อหน่าย ก็จับเอาความเบื่อหน่ายมาเป็นข้อมูลในการศึกษาพิจารณาว่าเป็นเพราะเหตุปัจจัยจากอะไร ความรู้สึกเบื่อจะค่อยๆ หมดไป เพราะใช้เป็นเรื่องการศึกษาทางปัญญา นี่มันแง่หนึ่ง

อีกอย่างหนึ่ง ความเบื่อหน่ายก็เป็นนิวรณ์ ซึ่งเป็นคู่ปรปักษ์กับสมาธิ ดังนั้นว่าตามหลักก็ต้องใช้สมาธิ ใช้เวลาเบื่อมาพักใจด้วยวิธีแบบสมาธิ เช่นนั่งกำหนดลมหายใจไปสบายๆ ถือเป็นการพักใจไปในตัว แต่อาตมาคิดว่า โดยปกติถ้าเราได้ทำอะไรที่ถือว่าเป็นประโยชน์เป็นสิ่งดีงาม ก็เกิดปีติอิ่มใจ แก้ความเบื่อหน่ายได้ แต่วิธีเฉพาะหน้าก็ต้องพักใจโดยวิธีสมาธิ ที่จริงตามคติทางพุทธนั้นชีวิตมันสั้น งานที่คิดว่าจะทำที่มีประโยชน์ที่ดีงามมักจะไม่มีเวลาพอจะทำ เราแน่ใจว่าทำไม่ทันแน่ ถึงตายก็คงไม่เสร็จ ปัญหาอยู่ที่ว่าจะต้องเลือกทำ

 

แล้วความเหงาละครับ

พระราชวรมุนี: อาตมาก็คงต้องมี แต่ว่ามีได้ยาก สาเหตุหนึ่งคืองานมันทำให้ต้องหาโอกาสที่จะอยู่เงียบๆ เพราะงานมันเรียกร้องให้ทำอยู่เฉพาะ ความเหงาโดยทั่วไปเกิดจากคนต้องมาอยู่โดดเดี่ยว เกิดว่างานของเราต้องการลักษณะของการอยู่คนเดียว กลับเป็นว่าเราต้องชอบความเงียบ กลายเป็นว่าเรามีปัญหาว่าไม่มีเวลาอยู่คนเดียวเสียอีก เป็นอย่างนั้นไป ถ้าจะสรุปวิธีแก้ก็อาจจะต้องมีงานที่ต้องทำอยู่คนเดียว

 

วรรณกรรมมีความสำคัญอย่างไรกับชีวิตที่ดี

พระราชวรมุนี: ตามหลักพุทธศาสนา อาตมาว่าเข้าหลัก ปรโตโฆษะ และกัลยาณมิตร วรรณกรรมก็คือเสียงจากผู้อื่น เป็นความคิดคำบอกเล่า ประสบการณ์จากแห่งอื่นที่เราได้รับมาพิจารณา ถ้าเป็นวรรณกรรมก็ต้องคิดว่ามันเป็นปรโตโฆษะที่ดีหรือไม่ เกื้อกูลต่อปัญญาอย่างไร เกิดกุศลธรรมหรือไม่ แต่มันสัมพันธ์กันทั้งสองส่วน คือไม่เฉพาะตัววรรณกรรมเอง แต่อยู่ที่ตัวผู้อ่านวรรณกรรมว่ามีความคิดของตัวเองหรือไม่ ที่เรียกว่ามีโยนิโสมนสิการ สำหรับผู้ที่มีโยนิโสมนสิการรู้จักเลือกถือประโยชน์ วรรณกรรมนี่จะเป็นวรรณกรรมอะไรก็ได้ นี่เป็นด้านภายใน แต่พูดอย่างกว้างๆ คนส่วนใหญ่ต้องอาศัยแหล่งความรู้ความเข้าใจจากที่อื่น ขึ้นต่ออิทธิพลจากภายนอกมาก ชีวิตที่ดีของเขาจะมาจากปรโตโฆษะมาก แล้ววรรณกรรมมักเป็นแหล่งใหญ่ของปรโตโฆษะแต่ไม่ใช่แหล่งเดียว

 

ทางพุทธศาสนามีเกณฑ์อะไรวัดปรโตโฆษะว่าดีหรือไม่อย่างไรครับ

พระราชวรมุนี: ใช้หลักสัมมาทิฐิ หมายความว่าปรโตโฆษะเป็นปัจจัยของสัมมาทิฐิหรือมิจฉาทิฐิ สัมมาทิฐิก็มี ๒ ระดับ คือ ระดับโลกุตระ หมายถึงเข้าใจถึงความจริงตามสภาวะ และโลกียะ คือระดับจริยธรรม เรื่องของการดำเนินชีวิตที่ดีงามเรื่องของกรรม เรื่องของการรับผิดชอบในการกระทำของตน ถ้าวัดตามหลักนี้วรรณกรรมที่ดีจะก่อให้เข้าถึงความจริง ปัญญาที่แท้ หรือให้เกิดชีวิตที่ดีงาม ให้เกื้อกูลต่อความเป็นอยู่ของชีวิตมนุษย์ในสังคม พูดง่ายๆ ว่า ช่วยให้เกิดปัญญาและกุศลธรรม

 

และวรรณกรรมด้านหนังสือพิมพ์ในเมืองไทยเป็นอย่างไรบ้างในทัศนะของอาจารย์

พระราชวรมุนี: นี่หมายถึงวรรณกรรมที่เป็นสื่อมวลชนใช่ไหม อาตมาว่าเดี๋ยวนี้มีปัญหามาก อย่างน้อยก็ต้องยอมรับความจริงว่ามุ่งไปในด้านผลประโยชน์มาก ทางหนังสือพิมพ์ก็คงต้องยอมรับตนเอง คงไม่หาว่าคนอื่นมาด่าว่า เขาอาจจะแก้ตัวว่าถูกบีบคั้นจากทางสังคม แต่เขามีความพยายามเพียงไรที่จะหันกระแสหรือมุ่งไปในทางดีงามให้มาก หรือพยายามควบคุมตัวเองในการแสวงหาผลประโยชน์ ถ้ามีการควบคุมก็ยังมีการใช้ธรรมบ้าง คือเราพิจารณาว่าให้เกิดสติปัญญา ความคิด รู้จักใช้วิจารณญาณ ส่งเสริมให้คนคิด และพิจารณาในแง่คุณธรรมว่าส่งเสริมความดีงาม เช่น พิจารณาว่าสังคมปัจจุบันขาดคุณธรรมตัวนี้ เราก็จะตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมคุณธรรมตัวนี้ ถ้าเป้าหมายส่วนนี้อยู่บ้าง ก็จะเป็นการสร้างสมดุลให้แก่การแสวงหาผลประโยชน์ที่ยังมีอยู่ แต่ถ้าคิดทุ่มเทแต่จะหาผลประโยชน์ฝ่ายเดียว ก็นับว่าอันตรายมาก

 

ในทัศนะของอาจารย์อะไรคือความผิดพลาดที่สำคัญของปัญญาชนในเมืองไทยขณะนี้

พระราชวรมุนี: คงเป็นเรื่องของความไม่รู้และห่างเหิน ความไม่รู้เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องหลักของปัญญาชนก็คือความรู้ เรื่องของปัญญาแต่ขณะนี้เราก็เรียนมาแบบตะวันตก ถึงแม้ไม่ไปนอก เราก็เรียนมาแบบตะวันตกตั้งแต่เด็ก มันก็เข้าเนื้อเข้าสมองลึกพอสมควร ทีนี้ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับสังคมที่เราต้องเกี่ยวข้องโดยตรง คือสังคมไทยนั้นก็มีน้อยและห่าง ความห่างก็มาพร้อมด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจสังคม เวลาจะแก้ปัญหาของสังคมไม่ว่าอะไร เราต้องเอาความรู้เข้าไปเกี่ยวข้อง ดังนั้นหากขาดความเข้าใจในสังคม ชีวิต แม้กระทั่งจิตใจของคนไทยแล้ว จะทำอะไรก็จะขาดความสมบูรณ์ และผิดพลาดได้ง่าย จุดแรกก็คือ ความไม่รู้ไม่เข้าใจ ทีนี้เมื่อห่างออกมาแล้ว เวลากลับไปศึกษามันยาก มีอะไรบางอย่างมาแบ่งแยก เพราะบางทีเรากลายเป็นคนตะวันตกไปเกือบเต็มตัว เดี๋ยวนี้ เรากลับเห็นพวกฝรั่งมาศึกษาสังคมไทยอย่างจริงๆ จังๆ กันมาก ในขณะเดียวกันปัญญาชนไทยเองศึกษาสังคมไทยไม่สะดวกเท่าฝรั่ง เพราะบางทีเกี่ยวกับความรู้สึกแยกตัวเองโดยธรรมชาติของมนุษย์ ฝรั่งจากต่างสังคมจะกลับเข้าศึกษาชีวิตชาวบ้านได้ง่ายกว่าปัญญาชนไทยเสียอีก

 

มันเป็นการหนีตัวเองหรือเปล่าครับ เพราะคนที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตกในเนื้อหาสาระสอนเป็นนัยอยู่ว่า ตะวันออกใช้ไม่ได้ ล้าสมัย ต้องไปทางตะวันตก ในขณะที่ตัวเองในส่วนที่เป็นอยู่ไม่ใช่ส่วนที่คิดนะครับ ในส่วนที่เป็นยังเป็นตะวันออก ดังนั้นจึงพยายามปฏิเสธ พยายามหนีตัวเอง ยิ่งเวลาจะกลับเข้าไปสัมพันธ์กับชาวบ้าน พระสงฆ์องค์เจ้าซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมเก่ากลับเข้าไปไม่ได้

พระราชวรมุนี: ในทางจิตวิทยาจะวิเคราะห์อย่างไรต้องคิดดูอีกที แต่ในแง่ผลปรากฏจะออกมาในรูปนั้น เข้าไปสัมพันธ์ยากซึ่งพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมเดิมของเราเองด้วย คือสภาพมันแยกแล้ว กลับอาศัยพื้นทางวัฒนธรรมเดิมเพิ่มความแบ่งแยกออกไป เป็นการใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมในทางลบ

 

อยากถามความคิดเห็นจากอาจารย์เป็นข้อสุดท้าย คือสังคมทุนนิยมมีอะไรดีกว่าสังคมคอมมิวนิสต์ และสังคมคอมมิวนิสต์มีอะไรดีกว่าสังคมทุนนิยม

พระราชวรมุนี: ว่าที่จริงปัญหานี้เขาไม่นิยมถามพระไทย แต่พระประเทศอื่นก็อีกเรื่องหนึ่ง และพระไทยก็มักไม่ค่อยจะนิยมตอบ ทีนี้เกิดถาม ถ้าจะตอบจะว่าอย่างไรดี เพราะยังไม่มีโอกาสได้เรียนได้อ่านได้ศึกษาเรื่องนี้มากพอที่จะตอบจนเป็นที่พอใจของตนเองได้ แต่ว่ามันก็มีแง่คิด สมมุติว่าเราแยกว่าทุนนิยมอันหนึ่ง คอมมิวนิสต์อันหนึ่ง พุทธศาสนาอันหนึ่ง เราก็คงบอกว่าพุทธศาสนาดีกว่าถ้าทำได้ตามแนวนี้ แต่ก็มีข้อน่าคิดคือ ทุนนิยมก็ดี คอมมิวนิสต์ก็ดี เขาก็จัดกันเป็นงานเป็นการเอามาใช้กันจริงจัง ได้ปรากฏเห็นผลออกมาในระดับสังคมแล้ว ทีนี้พุทธฯ ล่ะได้ทำอะไรให้ปรากฏเป็นชิ้นเป็นอันเห็นผลบ้าง ได้แต่ว่าของเราดีๆ ทีนี้ถ้าเขาถามมาแล้วพุทธฯ จะว่าอย่างไร เขาคงมองว่าชาวพุทธก็ได้แต่พูด ควรทำอะไรมาให้เห็นกันบ้างซิ ว่าจะจัดสังคมแบบพุทธแล้วจะเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงได้แง่คิดที่ว่า ชาวพุทธควรจะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ว่าการปกครองหรือระบบเศรษฐกิจถ้าดำเนินไปโดยอาศัยหลักพุทธฯ แล้วจะได้ผลอย่างนี้นะอย่างนั้นนะ อาตมาว่านี่ควรจะทำ การที่จะไปพูดว่าทุนนิยมหรือคอมมิวนิสต์อะไรดีกว่าอะไร ก็ได้แต่ไปฝักใฝ่อยู่ข้างใดข้างหนึ่งหรือไม่ก็ได้แค่วาทะ ถ้าเรามองเป็นกลางๆ ว่าอะไรเขาไม่ดี ก็น่าจะเสนออะไรที่ดีกว่านั้น ดังนั้นบทบาทของฝ่ายพุทธฯ ที่ควรทำ จึงควรแสดงหลักการของตนให้ชัดออกมา นี่เป็นเพียงข้อเสนอ ถ้าจะให้วิจารณ์โดยตรง ก็บอกได้ว่าอาตมาเองยังไม่รู้เห็นทั้งสองฝ่ายชัดเจนพอที่จะให้คำตอบที่เป็นที่น่าพอใจของตนเองได้

 

คิดว่าการสัมภาษณ์พูดคุยครั้งนี้ได้เนื้อหาสาระมีประโยชน์ต่อสติปัญญาของพวกผมมากพอสมควร คิดว่าการสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการคงยุติเพียงเท่านี้ สุดท้ายขอกราบพระคุณอาจารย์ที่สละเวลาและช่วยเสนอหลักและแง่คิดโดยเฉพาะในหลายแง่มุมที่พวกเราได้ละเลยหรือมองไม่เห็นความสำคัญ คงเป็นอย่างที่อาจารย์ว่า วัฒนธรรมฝรั่งมันเข้าเนื้อเข้ากระดูกพวกผมเสียแล้ว และหวังว่าปาจารยสารคงได้รับความกรุณาจากอาจารย์อีกในโอกาสข้างหน้า

พระราชวรมุนี: ไม่เป็นไร ขออนุโมทนาเจริญพร

ที่มา

๑. พระพุทธศาสนากับประชาธิปไตย
จากรายการอภิปราย จัดโดยทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ ณ หอประชุม กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๑๗
พิมพ์ครั้งแรก ร.ร.พุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดยานนาวา พ.ศ. ๒๕๑๘

๒. พระพุทธศาสนากับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง
ปาฐกถา แสดง ณ หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๑๗
พิมพ์ครั้งแรก ร.ร.พุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดยานนาวา พ.ศ. ๒๕๑๘
พิมพ์ครั้งที่สอง มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๒๑

๓. เอกลักษณ์กับไตรลักษณ์
พิมพ์ครั้งแรก สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๑๘

๔. เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม
พิมพ์ครั้งแรก จุลสารมูลนิธิโกมลคีมทอง พ.ศ. ๒๕๑๗
พิมพ์ครั้งที่สอง ใน ปรัชญาการศึกษาไทย สำนักพิมพ์เคล็ดไทย พ.ศ. ๒๕๑๘

อนุโมทนา

หนังสือ “พุทธศาสนากับสังคมไทย” ซึ่งสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง จัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้ขาดคราวไปนานแล้ว บัดนี้ ทางสำนักพิมพ์ได้แจ้งความประสงค์ขอพิมพ์เผยแพร่ใหม่เป็นครั้งที่ ๒ ผู้เรียบเรียงยินดีอนุญาตด้วยความเต็มใจ เพราะเป็นการช่วยกันส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในทางพระพุทธศาสนาและวิชาการทั่วไป ดังที่เคยปฏิบัติมา

ในการพิมพ์ครั้งนี้ ได้คงเนื้อหาไว้ตามเดิมแทบทั้งหมด เพียงแต่ปรับปรุงถ้อยคำบางแห่งให้สละสลวย และกลมกลืนยิ่งขึ้น เว้นแต่ในบทว่าด้วย “ทำอย่างไรจะให้เชื่อเรื่องกรรม” ซึ่งได้แทรกเสริมคำอธิบายเพิ่มเข้าเล็กน้อย

สิทธิในการพิมพ์ครั้งนี้ ขอมอบให้กับที่เคยปฏิบัติมาแล้วในทุกกรณี และขออนุโมทนาต่อสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทองที่ได้มีกุศลเจตนาจัดพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นเผยแพร่ใหม่อีก ขอกุศลกิจที่ร่วมบำเพ็ญนี้ จงอำนวยผลเพื่อความเจริญงอกงามแห่งสัมมาทัศนะ และประโยชน์สุขของพหูชน ตลอดกาลนาน

พระเทพเวที
๑ กรกฎาคม ๒๕๓๒

คำนำ

ในปีพ.ศ. ๒๕๒๕ มูลนิธิโกมลคีมทองได้จัดพิมพ์หนังสือ “ปรัชญาการศึกษาไทย” (เรียกให้ตรงแท้ว่า “ปรัชญาการศึกษาสำหรับไทย”) ขึ้นใหม่เป็นครั้งที่ ๒

“ปรัชญาการศึกษาไทย” ที่พิมพ์ใหม่ครั้งที่ ๒ นั้น มีเนื้อหาหลายส่วนต่างจากสำนักพิมพ์เคล็ดไทยได้จัดพิมพ์เป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. ๒๕๑๘ เพราะได้นำคำบรรยายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาเฉพาะในด้านศาสนธรรมเพิ่มเข้า ทำให้เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เพิ่มใหม่ และเข้ากับชื่อหนังสือว่า “ปรัชญาการศึกษาไทย” มากยิ่งขึ้น

เหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่ให้เป็นเช่นนั้นก็คือ ทางมูลนิธิโกมลคีมทอง ประสงค์จะขยายการพิมพ์งานของผู้เรียบเรียงออกไปให้ครบถ้วนยิ่งขึ้น โดยรวบรวมบทความและคำบรรยายต่างๆ มาให้ได้จำนวนมาก แล้วแยกประเภทจัดพิมพ์เป็นชุด ตั้งใจไว้ว่าให้มี ๓ เล่ม คือปรัชญาการศึกษาไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ แต่ก็มีเนื้อหาส่วนมากมาจากบทความและคำบรรยายที่รวบรวมเข้ามาใหม่ อันเกี่ยวด้วยพุทธศาสนากับสังคม

หนังสือเล่มนี้ ก็เช่นเดียวกับปรัชญาการศึกษาไทยที่ได้พิมพ์มาแล้ว คือประมวลคำบรรยายและบทความต่างๆ ซึ่งได้แสดงเขียนไว้ในต่างแหล่งต่างที่ มิใช่เป็นผลงานวิชาการ ที่มุ่งเขียนขึ้นให้ครอบคลุมเรื่องพุทธศาสนากับสังคมอย่างแท้จริง เพียงแต่เป็นการประมวลความรู้ความคิดเห็นบางส่วนของผู้เรียบเรียงที่จัดเข้าประเภทนี้ และผู้รวบรวมได้ตั้งชื่อใกล้เคียงกับหนังสือ “พุทธศาสนากับสังคม” ซึ่งผู้เรียบเรียงได้ตกลงรับปากกับผู้อาราธนาไว้นานแล้ว แต่ยังไม่ได้มีโอกาสที่จะลงมือเขียน

ขออนุโมทนาต่อคุณดุษฎี อังสุเมธางกูร ที่ได้ขวนขวาย รวบรวมบทความและคำบรรยายของผู้เรียบเรียงมาประมวลและจัดแยกประเภท ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้หนังสือปรัชญาการศึกษาไทยขยายออกมาเป็นหนังสือชุดที่มีสามเล่ม ขออนุโมทนาต่อคุณมนัส แต้ ซึ่งเป็นผู้จัดดำเนินการในด้านพิมพ์ให้หนังสือสำเร็จออกมาเป็นรูปเล่ม และขออนุโมทนาต่อคุณชลธีร์ ธรรมวรางกูร ซึ่งได้ช่วยพิมพ์ดีดต้นฉบับแต่ครั้งเดิมของเรื่องส่วนมากที่ได้รวบรวมพิมพ์อยู่ในหนังสือนี้

งานของผู้เรียบเรียงที่ออกมาเป็นหนังสือนี้ ก็เช่นเดียวกับหนังสืออื่นทั้งหมดเท่าที่เคยได้พิมพ์มา ขอยกให้เป็นธรรมทานโดยสิ้นเชิง แก่ผู้ขอนำไปจัดพิมพ์ในครั้งนั้นๆ สุดแต่จะดำเนินการเผยแพร่อย่างไร ให้ได้ผลตามกุศลเจตนาที่จะบังเกิดประโยชน์ในทางที่จะก่อกุศลธรรมและส่งเสริมวิชาการ สำหรับการพิมพ์ครั้งนี้ ขออนุโมทนาต่อมูลนิธิโกมลคีมทองที่ได้มีกุศลฉันทะดำเนินการพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นเผยแพร่ อันสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิในการบำเพ็ญประโยชน์ ขอกุศลกรรมร่วมกันนี้ จงอำนวยผลเพื่อประโยชน์สุขแก่สังคมและชีวิตของสรรพสัตว์สืบไป

พระราชวรมุนี
๒๒ กรกฎาคม ๒๕๒๖

1คือ ดร. ทินพันธุ์ นาคตะ
2แคว้น ๑๖ คือ อังคะ มคธ กาสี โกศล วัชชี มัลละ เจตี วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ และกัมโพชะ
3ดู โคปกโมคคัลลานสูตร, ม.อุ. ๑๔/๑๐๕/๘๙
4ขุ.สุ. ๒๕/๓๒๒/๓๘๑
5อรรถกถาก็ยังกำกับความหมายไว้ว่า ทมะเป็นเรื่องของปัญญา (ดู สํ.อ. ๑/๓๙๑: สุตต.อ. ๑/๓๒๓)
6ข้อความแต่เริ่มต้นบทความ ถึงตอนนี้ และแม้ต่อจากนี้ไป พึงดูหลักฐานตามที่มาต่อไปนี้คือ ที.สี. ๙/๑๐๑/๘๑: ม.มู. ๑๒/๒๒/๒๓; องฺ.อฏฐก. ๒๓/๑๒๐/๒๓๖; องฺ.ทสก. ๒๔/๑๘/๓๐; ๒๔/๗๐/๑๔๐;  ๒๔/๘๓/๑๖๔; องฺ.เอก. ๒๐/๖๒/๑๓; องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๒๘/๓๕; ๒๑/๑๙๘/๒๘๕; ม.ม. ๑๓/๓๒๐/๓๑๗; องฺ.ทสก. ๒๔/๓๐/๗๑; ขุ.ธ. ๒๕/๑๐/๑๓ ฯลฯ.
7องฺ.ทุก. ๒๐/๒๕๑/๖๔; อภิ.สํ. ๓๔/๑๕/๘.
8อง.ฉกฺก ๒๒/๓๕๑/๔๘๒.
9ขุ.สุ. ๒๕/๓๑๘/๓๗๗ (ตอบปัญหาเทวดา. อรรถกถาคือ ขุทฺทก.อ. ๑๗๒; สุตฺต.อ. ๒/๑๒๕ ว่ามงคลสันโดษนี้จัดเข้าเป็นข้อปฏิบัติเมื่อออกบวชแล้ว)
10ขุ.ธ.๒๕/๒๔/๔๒ (เฉพาะแห่งนี้ อรรถกถาเล่าเรื่องประกอบว่าตรัสแก่ คฤหัสถ์คือพระเจ้าโกศล)
11วิน.ย. ๗/๕๒๓/๓๓๑; อง.อฏฺฐก. ๒๓/๑๔๓/๒๘๙
12ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมคุณาภรณ์ วัดสระเกศ
13ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมปัญญาบดี วัดปากน้ำ
14ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพเวที วัดพระพิเรนทร์
15ปัจจุบันลาสิกขาแล้วและไปศึกษาต่อจบปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา
16ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพเวที
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.