วัฒนธรรมกับการพัฒนา: ปาฐกถาพิเศษ ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ปาฐกถาพิเศษ ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน

วัฒนธรรม กับ การพัฒนา1

ขอถวายพระพรสมเด็จบพิตรผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ

วันนี้เป็นวโรกาสอันเป็นมงคลยิ่ง ที่ทางราชการ และราษฎรผู้มีกุศลเจตนา ได้พร้อมใจกันจัดงานฉลอง ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน เป็นการระลึกถึงคุณงามความดี ที่ท่านพระยาอนุมานราชธนนั้นได้บำเพ็ญไว้แก่สังคมไทย และแก่มวลมนุษยชาติ ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าอย่างสูง เป็นการประกาศเกียรติคุณของท่านให้ปรากฏ และพร้อมกันนั้นก็เป็นอุบายที่จะเผยแพร่ผลงานของท่าน ให้ได้รับความเอาใจใส่ศึกษาค้นคว้า เพื่อจะได้นำความรู้จากผลงานของท่านนั้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมต่อไป การจัดงานนี้ นอกจากเป็นการแสดงออก ซึ่งกตัญญูกตเวทิตาธรรม คือ การระลึกถึง สำนึกในคุณความดีของท่านผู้ได้ทำคุณประโยชน์ไว้ แล้วกระทำการแสดงออกซึ่งน้ำใจตอบแทนประการใดประการหนึ่งแล้ว ก็เป็นการบูชาปูชนียบุคคล ซึ่งนับว่าเป็นมงคลอันสูงสุดประการหนึ่ง ตามหลักพระพุทธศาสนาที่ว่า "ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ" การบูชาบุคคลผู้ควรบูชา เป็นมงคลอันอุดม

ยิ่งสมเด็จบพิตรได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดงานฉลอง ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน ครั้งนี้ ก็ยิ่งเพิ่มความเป็นมงคลให้ภิญโญ เพราะเป็นการส่งเสริมสนับสนุน ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานนี้เกิดความปีติปลาบปลื้มยินดี มีกำลังใจในการที่จะทำงานยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้นก็ทำให้คนทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญของผลงานของพระยาอนุมานราชธน และอาจจะเป็นเหตุให้มีการกล่าวขวัญถึงงานนี้ในทางที่ดีงามเป็นมงคล และทำให้มีการร่วมมือสนับสนุนในกิจกรรมนี้มากยิ่งขึ้น นับว่าเป็น กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่เป็นกุศล เพิ่มความเป็นมงคลให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน กับ ทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนา

อีกประการหนึ่ง การฉลองนี้ก็มาสอดคล้องกับการที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า UNESCO ได้มีมติประกาศยกย่องพระยาอนุมานราชธน เป็นบุคคลที่มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก แม้การจัดงานครั้งนี้ ก็นับว่าเป็นการประกาศเกียรติคุณที่ UNESCO ได้ยอมรับนั้นด้วย

ผลงานของท่านพระยาอนุมานราชธนนั้น มีคุณค่าเป็นอย่างสูง ได้รับความยอมรับยกย่อง ทั้งในทางภาษาศาสตร์ วรรณคดี ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปโบราณคดี ศาสนา และมานุษยวิทยา เป็นต้น แต่ที่ท่านได้รับการประกาศยกย่องเป็นพิเศษจาก UNESCO นั้น ก็คือ ด้านวัฒนธรรม ซึ่งท่านมีความเชี่ยวชาญโดดเด่นเป็นพิเศษ ความจริง คำว่า "วัฒนธรรม" ก็มีความหมายกว้าง อาจจะครอบคลุมงานส่วนใหญ่ของท่าน แม้ในสาขาวิชาอื่นๆ ก็ได้ เพราะเหตุว่า คำว่า "วัฒนธรรม" นั้น หมายถึง ผลรวมแห่งการสั่งสมสิ่งสร้างสรรค์ และภูมิธรรมภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาของสังคมนั้นๆ วิทยาการต่างๆ ทุกสาขาที่กล่าวมาแล้ว เมื่อกลมกลืนเข้าสู่วิถีชีวิตของประชาชนแล้ว ก็จัดเข้าในวัฒนธรรมได้ทั้งสิ้น

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า งานฉลอง ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธนนี้ ประจวบพอดีกับที่สหประชาชาติได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ซึ่งเป็นองค์การเดียวกับที่ได้ประกาศยกย่องท่าน เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลกนั้น โดยได้ประกาศกำหนดให้ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นปีเริ่มต้นทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาวัฒนธรรม ซึ่งทศวรรษนี้จะจบลงในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ การประกาศเช่นนี้ก็เป็นเครื่องแสดงถึงความที่โลกได้มองเห็นความสำคัญของวัฒนธรรม ที่จะต้องเข้ามามีบทบาทเด่นชัดในการสร้างสันติสุขและ อิสรภาพของมวลมนุษย์

การที่ทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาวัฒนธรรมเริ่มต้นพอดี ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ นี้ ก็ทำให้ ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน มีความหมายและมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น ในเวลาเดียวกัน การที่ ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธนมาบรรจบพอดีในปีนี้ ก็ทำให้ทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนานั้น มีความหมายเป็นจริงเป็นจังยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน อย่างน้อยในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย ทั้งนี้เพราะเหตุว่า พระยาอนุมานราชธนนั้นเป็นแหล่งใหญ่ที่ได้ช่วยเตรียมข้อมูลความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยไว้ และทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนานั้น โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทย ก็มาเอาข้อมูลความรู้ความเข้าใจที่ท่านได้รวบรวมโดยแสดงและเขียนไว้นั้น ไปใช้ปฏิบัติเพื่อสร้างสรรค์สันติสุขของสังคมต่อไป

เราจำเป็นจะต้องมีวัตถุดิบ หรือแหล่งของสิ่งที่จะใช้ แต่วัตถุดิบหรือแหล่งของสิ่งที่จะใช้นั้น จะเกิดคุณค่ามีชีวิตชีวา ก็ต่อเมื่อมีการนำไปใช้ เหมือนกับที่พระยาอนุมานราชธนได้เตรียมแหล่งข้อมูลวัฒนธรรมไว้ เสร็จแล้วทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาก็นำเอาข้อมูลที่ท่านรวบรวมนั้นไปใช้ให้เกิดคุณค่าต่อไป

ในทางกลับกัน การที่เราจะทำอะไรให้เกิดคุณค่าเป็นประโยชน์ได้ ก็จำต้องมีวัตถุดิบมีข้อมูลที่จะใช้ ทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนา จะทำงานให้สำเร็จผล ก็จะได้อาศัยสิ่งที่พระยาอนุมานราชธนท่านได้เตรียมไว้ให้นี้

ความผิดพลาดของการพัฒนาในยุคที่ผ่านมา

การที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้กำหนดตั้งทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาขึ้นมา โดยให้ความสำคัญแก่วัฒนธรรม ถึงกับวางวัตถุประสงค์ข้อที่ ๑ ไว้ว่า ให้มีการเน้นความสำคัญของมิติด้านวัฒนธรรมในการพัฒนา การกำหนดขึ้นเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการตื่นตัวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วไปในช่วงนี้ โลกปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ได้มีหมู่คนจำนวนมากที่ห่วงใยอนาคต ของมนุษยชาติ พากันวิตกกังวลเกี่ยวกับอารยธรรมของมวลมนุษย์ว่า จะมีความเจริญสืบต่อไปได้หรือไม่ หรือว่าจะถึงความเสื่อมโทรมสูญสลาย คนเหล่านี้ได้มองเห็นความผิดพลาดและผลร้ายของการพัฒนาที่ผ่านมา และกำลังหาทางออกกันอยู่ การที่ทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาได้ถูกกำหนดขึ้นมาโดยองค์การสหประชาชาติเช่นนี้ เป็นเพียงการสำทับความสำคัญและย้ำถึงการตระหนักในความผิดพลาด และผลร้ายของการพัฒนานั้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง บางคนถึงกับเรียกช่วงเวลานี้ว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ หรือจุดเปลี่ยน ซึ่งโลกนี้อาจจะต้องออกจากยุคพัฒนาแบบเก่าไปเข้าสู่ยุคพัฒนาแบบใหม่ ที่อาจจะเรียกชื่ออย่างหนึ่งอย่างใดสุดแต่จะคิดขึ้นมาให้เหมาะสม

สำหรับแนวทางการพัฒนาที่ผ่านมาซึ่งได้เกิดความผิดพลาดขึ้นนั้น โดยมากจะชี้และเน้นย้ำกันในแง่ที่ว่า เป็นการมุ่งความเจริญทางวัตถุ การขยายตัวเจริญเติบโตด้านปริมาณการเพิ่มพูนของตัวเลข ด้วยการพัฒนาที่เน้นหนักด้านเศรษฐกิจ โดยให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าบทบาทตัวเอก โลกปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้รู้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และองค์การโลกคือสหประชาชาติ ได้ตระหนักถึงความผิดพลาดและผลร้ายของการพัฒนาแบบนั้นว่า แม้จะประสบความสำเร็จ มีคุณค่า เป็นประโยชน์ แก้ปัญหาให้แก่มนุษย์ได้มากมายก็จริง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาใหม่จากการพัฒนานั้นก็มีความร้ายแรงเป็นอันมาก จนกระทั่งทำให้รู้สึกกันว่า ความเจริญนั้นได้มาถึงจุดติดตันแล้ว ถ้าขืนดำเนินต่อไปในทิศทางนั้น มนุษยชาติอาจจะถึงกับประสบความพินาศสูญสิ้นไปก็ได้

กล่าวโดยสรุป ในเวลาที่จำกัด ก็ขอกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาแบบที่ผ่านมา2

ก. ในวงกว้างที่สุดก็คือ ทางด้านธรรมชาติแวดล้อม การพัฒนาในยุคที่ผ่านมานั้นได้สร้างมลภาวะขึ้นเป็นอันมาก ก่อให้เกิดภาวะดินเสีย น้ำเสีย อากาศเสีย ทรัพยากรร่อยหรอ เช่น ป่าถูกทำลาย ทั้งโดยมนุษย์ตัดโค่นเองและโดยมลพิษที่เกิดจากมนุษย์ เช่นมีฝนน้ำกรด ปลาหมดไปทีละทะเลๆ พืชและสัตว์สูญพันธ์ุไปปีละนับพันชนิด ดินพัง ชั้นของบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นอันตราย ระบบนิเวศกำลังพังทลาย จากมลพิษและสารเคมีต่างๆ

ข. ในด้านสังคม ปัญหาสังคมก็มากขึ้น มีการเบียดเบียนกัน เอารัดเอาเปรียบกัน ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมขยายกว้างขึ้น มีความยากจนแร้นแค้นที่แก้ไม่ตก ปัญหาเยาวชน อบายมุข ความเสื่อมจากศีลธรรม อาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มระหว่างประเทศ สงครามใหญ่ๆ เกิดขึ้นทั่วไป โดยเฉพาะกำลังมีความหวาดกลัวสงครามนิวเคลียร์

ค. ในขอบเขตที่ใกล้เข้ามาชิดตัว คือ ชีวิตของมนุษย์เอง ก็ปรากฏว่ามีปัญหาเพิ่มขึ้นทั้งทางกายและทางใจ

ในทางกาย ก็มีโรคร้ายแรงที่เกิดจากสภาพจิตใจเสื่อมโทรมบ้าง เกิดจากธรรมชาติแวดล้อมเสียเป็นพิษ และเกิดจากสารเคมีบ้าง เกิดจากความวิปริตทางสังคม เช่นความผิดเพี้ยนทางศีลธรรมและวัฒนธรรมบ้าง ดังจะเห็นได้จากโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษในประเทศที่พัฒนาแล้ว โรคมะเร็ง โรคตับอักเสบ โรคแพ้อากาศ ตลอดจนโรคเอดส์

ส่วนในทางจิตใจ ก็มีปัญหามากมาย จิตใจของคนในประเทศที่พัฒนาแล้วมีความเร่าร้อนกระวนกระวาย แม้วัตถุจะพรั่งพร้อม แต่ก็ไม่มีความสุข บังเกิดความเหงา ความว้าเหว่ ความรู้สึกแปลกแยก แม้เจริญมาก แต่โรคจิตก็ยิ่งเพิ่มมาก จำนวนคนฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวนคนฆ่าตัวตายจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นพิเศษ

เมื่อพิจารณาทบทวนวิถีทางของการพัฒนาที่ผ่านมา ในที่สุดก็มามองหากันว่า ในกระบวนการพัฒนานั้นจะได้ขาดแคลนองค์ประกอบหรือปัจจัยอะไรไป ปัจจัยอะไรขาดหายไปในกระบวนการพัฒนา แล้วก็เริ่มมองเห็นความสำคัญของปัจจัยอื่นๆ ที่จะต้องนำเข้ามาร่วมในกระบวนการพัฒนาด้วย เพื่อจะให้การพัฒนาของมนุษย์นั้นหลีกพ้นจากความผิดพลาด และทำให้การพัฒนาได้ผลสมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์

สำหรับองค์การโลกหรือสหประชาชาติ การพิจารณานี้ได้นำมาสู่ข้อยุติ คือการมองเห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่มีความหมายกว้างขวางซึ่งขาดไป ถูกละเลยทอดทิ้ง ถูกมองข้ามไป ไม่ถูกนำเข้ามาร่วมในกระบวนการพัฒนา ก็คือ วัฒนธรรม จึงทำให้มีมติประกาศกำหนด ทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาวัฒนธรรม ขึ้นมา โดยมีการเน้นถึงกับว่า การพัฒนาในทศวรรษใหม่ จะให้วัฒนธรรมเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ให้คุณค่าของมนุษย์และวัฒนธรรม กลับมาเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ให้คำนึงถึงปัจจัยด้านมนุษย์ ในการกำหนดวิถีดำเนินการเพื่อการพัฒนา ให้คุณค่าทางวัฒนธรรมรวมอยู่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม นี่ก็เท่ากับว่าได้มีการเปลี่ยนแนวทางใหม่สำหรับการพัฒนา และเปลี่ยนแปลงกระบวนการพัฒนาเสียใหม่ด้วย

ทำไมการพัฒนาจึงต้องเน้นปัจจัยด้านวัฒนธรรม

เมื่อพูดมาถึงอย่างนี้ ก็ควรจะต้องชี้แจงให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ทำไมจึงต้องมาเน้นปัจจัยด้านวัฒนธรรม ถึงกับเอาวัฒนธรรมเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา จะขอย้อนกลับไปกล่าวถึงความหมายของวัฒนธรรมอีกครั้งหนึ่ง

วัฒนธรรม เป็นผลรวมของการสั่งสมสิ่งสร้างสรรค์และภูมิธรรมภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาของสังคมนั้นๆ

ถ้าจะขยายความก็อาจจะบอกว่า วัฒนธรรมนั้น รวมไปถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ทั้งหมดของสังคม ตั้งต้นแต่ภายในจิตใจของคน มีค่านิยม คุณค่าทางจิตใจ คุณธรรม ลักษณะนิสัย แนวความคิด และสติปัญญา ออกมาจนถึงท่าทีและวิธีปฏิบัติของมนุษย์ต่อร่างกายและจิตใจของตน ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ตลอดจนความรู้ความเข้าใจท่าทีการมองและการปฏิบัติของมนุษย์ต่อธรรมชาติแวดล้อม

ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย วัฒนธรรมเป็นการสั่งสมประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ภูมิธรรม ภูมิปัญญาทั้งหมด ที่ได้ช่วยให้มนุษย์ในสังคมนั้นๆ อยู่รอดและเจริญสืบต่อมาได้ และเป็นอยู่อย่างที่เป็นในบัดนี้

ขอพูดให้สั้นอีกครั้งหนึ่งว่า วัฒนธรรมก็คือ ประสบการณ์ ความรู้ความสามารถที่สังคมนั้นมีอยู่ หรือเนื้อตัวทั้งหมดของสังคมนั้นเอง ถ้าพูดในภาษาของพระพุทธศาสนา โดยเทียบกับตัวบุคคลแต่ละคน ก็คล้ายๆ กับคำว่า "บุพเพกตบุญญตา คือความเป็นผู้มีบุญอันทำไว้ในกาลก่อน" หมายความว่า ได้สร้างสรรค์คุณความดี ทำสิ่งที่มีคุณค่าไว้แก่ตนเป็นทุน เท่าไรก็เท่านั้น บางทีก็อาจจะไม่เฉพาะมีบุญอันทำไว้ในกาลก่อนเท่านั้น แต่รวมถึงมีบาปที่ทำไว้ในกาลก่อนด้วย แต่กรณีนี้เน้นในแง่บุญว่า ทำบุญไว้มากน้อยแค่ไหน และเป็นบุญแบบไหนประเภทใด

ถ้าเข้าใจคำว่า "วัฒนธรรม" ในความหมายอย่างนี้แล้ว ก็คงจะเข้าใจต่อไปอีกได้ง่ายขึ้นว่า การพัฒนาในสังคมมนุษย์ที่มุ่งเอาแต่ด้านเศรษฐกิจ โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพระเอกอย่างเดียว โดยตัดขาดปัจจัยด้านวัฒนธรรมออกไปเสียแล้ว จะเกิดผลอย่างไร

ข้อที่ ๑ ในเมื่อวัฒนธรรมเป็นเนื้อเป็นตัว เป็นประสบการณ์ความรู้ความสามารถเท่าที่เรามีอยู่ ถึงเราจะละเลยไม่เอาใจใส่ มองข้ามมันไป มันก็อยู่กับตัวเราและอยู่รอบตัวเรา ถึงเราจะไม่ใช้มัน มันก็ต้องแสดงตัวโผล่ออกมาจนได้ มันจะต้องแสดงฤทธิ์ แผลงฤทธิ์ออกมา มีผลแสดงออกมากับตัวเรานั่นเอง ที่ทำที่พูดที่คิด เรามีเท่าไร ก็แสดงออกมาได้เท่านั้น เรามีอย่างไร ก็แสดงออกมาได้อย่างนั้น นั่นแหละคือตัวเราที่แท้จริง ส่วนการที่เราแสดงด้วยตามอย่างเขานั้น ก็เป็นเพียงการพยายามแสดงเท่านั้น บางทีจะกลายเป็นการ เสแสร้งหรือหลงลวงตัวเองด้วยซ้ำ มันไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง แต่เป็นเปลือกหุ้มหรือของภายนอกตัว ซึ่งถ้ายังไม่ได้ปรับให้เข้ากันดีกับเนื้อตัวที่อยู่ข้างใน ถึงจะชอบและพยายามทำตัวให้เป็นอย่างนั้น ก็จะเก้งก้างแข็งขืนไม่สนิทสนมกลมกลืน ใช้การได้ไม่เต็มที่

อนึ่ง เพราะการที่เราไม่เอาใจใส่ ไม่ใช้ ปล่อยปละละเลยมันนี่แหละ เราก็จึงไม่ได้ปฏิบัติต่อมัน ไม่ได้จัดการกับมันให้ถูกต้องด้วย แล้วทีนี้ เพราะการที่เราปล่อยปละละเลย ไม่ได้จัดการกับมันให้ถูกต้องนั่นแหละ แทนที่มันจะให้คุณ ก็เลยกลายเป็นตัวการก่อให้เกิดโทษไปเสีย โทษหรือผลร้ายที่จะเกิดจากการปล่อยปละละเลยวัฒนธรรมนั้นพูดง่ายๆ ก็คือ

ประการที่หนึ่ง อย่างน้อยมันก็กลายเป็นตัวถ่วง ตัวเกะกะกีดขวางในกระบวนการพัฒนา และเป็นตัวสร้างความขัดแย้ง เช่น ทำให้เกิดภาวะขัดแย้งในจิตใจของคนที่ดำเนินงานพัฒนา การมีค่านิยมและนิสัยขัดกับการทำงานอย่างใหม่เป็นต้น

ประการที่สอง เพราะเหตุที่วัฒนธรรมเนื่องอยู่กับชีวิต ความเป็นอยู่ที่เป็นจริงและสืบต่อมา มันติดอยู่กับเนื้อตัวของประชาชน เมื่อเราละเลยวัฒนธรรม แทนที่เราจะได้ประโยชน์จากวัฒนธรรม ได้ประโยชน์จากความสามารถและประสบการณ์เก่า เอามาช่วยนำทางหรือควบคุมการพัฒนา ให้การพัฒนานั้นเข้ากับชีวิตและสังคมของเราเอง อย่างสอดคล้องและเอื้อประโยชน์ที่สุด คือ ให้การพัฒนาเศรษฐกิจและการใช้เทคโนโลยี เข้ากับพื้นเพวิถีชีวิตของตนเอง สนองความต้องการที่แท้จริง ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและอุดมคติแห่งสังคมของตนอย่างกลมกลืน ก็กลับมีผลในทางตรงข้าม เพราะว่า เมื่อไม่มีวัฒนธรรมนั้นมาช่วยเป็นตัวเชื่อมประสาน กำหนดขอบเขต คุมและคานการพัฒนาวัตถุไว้ การพัฒนาวัตถุที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็พุ่งแล่นไปตามลำพัง หนักเอียงไปทางเดียว กลายเป็นการกระทำที่ไม่รู้จักขอบเขตและไม่มีเครื่องเหนี่ยวรั้ง ทำให้เกิดการปรับตัวไม่ทันเป็นต้น จนเกิดโทษขึ้นแก่ชีวิตและสังคมเอง

ประการที่สาม ทางฝ่ายวัฒนธรรมนั้นเอง เมื่อถูกละเลยทอดทิ้ง และไม่นำมาใช้ ไม่จัดการอะไรๆ ก็เกิดปัญหาขึ้นในตัวของมันเอง คือเกิดความหมดชีวิตชีวา วัฒนธรรมเสียความต่อเนื่องก็เกิดความเคว้งคว้างระส่ำระสาย คุณค่าที่เป็นประเพณีเดิมก็เสื่อมสลายหรือถูกทำลายไป ภูมิธรรมภูมิปัญญาบางส่วนบางเรื่องก็ค่อยๆ เลือนลางหายไป บางอย่างก็เคลื่อนคลาดวิปริตผิดเพี้ยนไป บางอย่างก็กลายเป็นสิ่งที่อาจจะเรียกว่าเป็นขยะของวัฒนธรรม มรดกทางวัฒนธรรมที่เหลือมา ก็อยู่ในสภาพที่บกพร่องวิกลวิการ ไม่สมบูรณ์ เอกลักษณ์ไม่ชัดเจน สังคมสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ความดำรงอยู่ของสังคมก็คลอนแคลน แล้วโทษก็เกิดขึ้นแก่สังคมอีกนั่นแหละ

พูดง่ายๆ ก็คือ เสียประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย วัฒนธรรมที่สืบมาก็เสื่อมสลาย การพัฒนาใหม่ก็ไม่สมบูรณ์ นี้เป็นโทษ ๓ ประการที่รวมอยู่ในข้อที่ ๑

ข้อที่ ๒ การพัฒนาที่ละเลยวัฒนธรรมก่อผลเสียหายที่พูดถึงกันบ่อยที่สุดก็คือ มีความเจริญแต่ด้านวัตถุ มีความเติบขยายด้านปริมาณ แต่จิตใจไม่พัฒนาด้วย เกิดความเสื่อมโทรมทางจิตใจ มุ่งแต่เศรษฐกิจ ไม่คำนึงถึงคุณค่าทางจิตใจ ทำให้เกิดความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยและการบริโภคที่เป็นโทษ ยิ่งผลิตมากคนยิ่งจนมาก ยิ่งเศรษฐกิจเจริญปัญหาเศรษฐกิจยิ่งเพิ่ม พร้อมนั้นก็ทำลายคุณค่าของความเป็นมนุษย์ คนเสื่อมโทรมจากศีลธรรม จริยธรรมถูกละเลย ภัยอันตรายของมนุษย์ยิ่งมากขึ้นจนถึงขั้นที่ว่า ทั้งโลกธรรมชาติและโลกมนุษย์กำลังเสี่ยงต่อความพินาศสูญสิ้น

ข้อที่ ๓ ในการพัฒนาที่ถูกต้อง เมื่อเอาปัจจัยด้านวัฒนธรรมเข้ามาร่วมด้วย ก็จะทำให้มีการสืบทอดต่อเนื่องทางด้านวัฒนธรรม ประสานเข้าด้วยกันกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่จำเป็นจะต้องเกิดมีขึ้น โดยวัฒนธรรมนั้นเอง ที่เรารักษาไว้และใช้ด้วยปัญญาอย่างมีโยนิโสมนสิการ จะเป็นตัวที่ช่วย ทำให้เกิดการสืบต่อและเปลี่ยนแปลงปรับตัวไปได้ด้วยดีโดยมีความประสานกลมกลืน เปรียบเหมือนชีวิตของบุคคลแต่ละคน ชีวิตนั้นจำเป็นจะต้องมีการสืบต่อ และพร้อมกันนั้นก็จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าหากว่าเราสามารถทำให้การสืบต่อจากเดิม กับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ นั้น เป็นไปได้อย่างประสานกลมกลืนสอดคล้องมีความสมดุล อันนั้นก็จะเป็นความเจริญงอกงามของชีวิต สังคมนี้ก็เช่นเดียวกัน จำเป็นจะต้องมีการสืบทอดต่อเนื่องจากอดีต แต่ในเวลาเดียวกันก็จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงโดยการรับสิ่งใหม่ๆ หรือทำสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ถ้าหากว่าสังคมนั้นสามารถทำให้การต่อเนื่องจากเก่า และการเปลี่ยนแปลงใหม่นี้ประสานกลมกลืนกันได้ดี สังคมนั้นก็จะดำรงอยู่ด้วยดีและมีความเจริญงอกงามต่อไป ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็จะมีทั้งการอนุรักษ์สืบทอดมรดกวัฒนธรรมนั้นไว้ และทำการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ได้ด้วยพร้อมๆ กัน

แต่การพัฒนาโลกที่ละเลยปัจจัยด้านวัฒนธรรม ทำให้การสืบต่อเก่ากับการเปลี่ยนแปลงใหม่เป็นคนละเรื่อง เป็นคนละชนิด เป็นคนละประเภท ไปกันไม่ได้ ก็เกิดความขัดแย้ง ได้อย่างหนึ่งก็ต้องสูญเสียอย่างหนึ่ง ถ้าจะเอามรดกวัฒนธรรมไว้ ก็ต้องเสียความเจริญอย่างใหม่ ถ้าจะเอาความเจริญ ก็ต้องเสียมรดกทางวัฒนธรรม กลายเป็นว่า จะเอาแต่เก่าก็หยุดนิ่งตาย จะเอาแต่ใหม่ก็เติบโตไปอย่างพิกลพิการ แม้จะเจริญก็เจริญอย่างไม่สมบูรณ์

ข้อที่ ๔ การพัฒนาที่ละเลยองค์ประกอบด้านวัฒนธรรม ทำให้ประชาชนไม่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาด้วย แต่ประชาชนจะมีความแปลกแยก เพราะการพัฒนาไม่เข้ากับพื้นเพภูมิหลังของตัวเขา ไม่เข้ากับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่สืบมาของเขา ไม่กลมกลืนกับสภาพจิตใจ คุณค่า และลักษณะนิสัย และไม่เปิดช่องให้เขาปรับตัวได้ ทำให้ประชาชนเป็นเพียงผู้คอยรอเสพผล และตื่นเต้นกับสิ่งที่ได้เห็นได้ยิน เป็นเพียงผู้บริโภคผลโดยไม่ได้ร่วมทำเหตุ เมื่อประชาชนไม่เข้ามามีส่วนร่วม การพัฒนาก็อำนวยผลที่เป็นสาระแท้จริงแก่ประชาชนไม่ได้

ข้อที่ ๕ การพัฒนาที่ละเลยวัฒนธรรม ทำให้เกิดความเจริญแบบแยกถิ่นแยกกลุ่ม และหนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างไม่สม่ำเสมอระหว่างเมืองกับชนบท ทำให้สังคมแตกแยก ตลอดจนทำลายวัฒนธรรมในที่สุด เพราะว่าวิธีการพัฒนาที่ไม่เอาวัฒนธรรมเข้ามาร่วมด้วย จะทำให้เกิดวิถีชีวิตคนละแบบที่ขัดกัน ถ้ารับความเจริญแบบใหม่ก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตไปเลย พวกที่มีวิถีชีวิตแบบเก่าตามวัฒนธรรมเดิมก็ต้องแยกอยู่ในท้องถิ่น พวกที่มีวิถีชีวิตแบบพัฒนาใหม่ก็แยกอยู่ในเมือง ทำให้การพัฒนาเมืองกับชนบทไม่ประสานสอดคล้อง ไม่เกื้อกูล ไม่สมดุลกัน ชนบทเหมือนมีกำแพงกั้นไม่ให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ชาวบ้านรู้สึกตัวว่าถูกกันออกไป

ในกรณีของสังคมไทย (และสังคมที่กำลังพัฒนาอีกจำนวนมาก ก็คงคล้ายกัน) การพัฒนามักถูกเข้าใจในความหมายว่า ทำให้เป็นเมือง หรือทำให้เป็นอย่างเมือง เฉพาะอย่างยิ่งทำให้เป็นอย่างเมืองฝรั่ง ดังนั้น เมื่อพัฒนาไปๆ ชนบทหรือชีวิตแบบชนบทก็หมดไปๆ กลายเป็นมีชีวิตแบบเมือง หรือชีวิตที่พยายามให้เป็นเหมือนเมืองฝรั่ง และที่ร้ายอย่างยิ่งก็คือ วิธีพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงปัจจัยด้านวัฒนธรรม ทำให้เกิดผลเสียทางวัฒนธรรมทั้งสองด้าน คือ วัฒนธรรมเดิมของตนเอง ก็ถูกละทิ้งไปเฉยๆ ไม่ได้รับการพัฒนาหรือปรับให้เหมาะสม และเอื้อประโยชน์ต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปใหม่ ในเวลาเดียวกัน ก็รับเอาวัฒนธรรมใหม่ที่ยังไม่ชัดเจนเข้าไป หรือรับเข้ามาแต่ส่วนที่ผิวเผินเป็นส่วนเปลือก ไม่ได้สาระเข้ามา และรับเข้ามาอย่างขัดเขิน ไม่ได้ปรับให้เข้าพอดีกับตนเอง กลายเป็นมีชีวิตแบบเมืองที่ครึ่งๆ กลางๆ หรือเป็นคนเถื่อนแต่ในอยู่ในเมือง พร้อมกับการสูญเสียวัฒนธรรมท้องถิ่น วัฒนธรรมเดิมก็สูญหาย วัฒนธรรมใหม่ก็ไม่ได้ ไม่ใช่ของจริง หรือไม่เหมาะกับตน สังคมสูญเสียเอกลักษณ์ และเสริมปัญหาของการพัฒนาแบบใหม่ที่มีปัญหาอยู่แล้ว ให้ปัญหาของการพัฒนาแบบใหม่นั้นรุนแรงยิ่งขึ้น

ข้อที่ ๖ เมื่อการพัฒนาละเลยวัฒนธรรม ก็จะทำให้องค์ประกอบต่างๆ ของชุมชนไม่สามารถประสานเกื้อกูลกัน แต่จะขัดแย้งกัน เพราะองค์ประกอบส่วนใดเข้าถึงหรือรับเอาการพัฒนาแบบใหม่ องค์ประกอบส่วนนั้น ก็ต้องละทิ้งตัดขาดแยกตัวออกมาจากวัฒนธรรมท้องถิ่น องค์ประกอบส่วนใด ยังอยู่ในวัฒนธรรมเดิม ก็ไม่เข้าสู่กระบวนการพัฒนา และเข้ากันไม่สนิทกับส่วนที่อยู่ฝ่ายพัฒนา ทำให้เกิดความระส่ำระสายแตกแยกทางวัฒนธรรม นำไปสู่ความแตกแยกของชุมชน และความเจริญขององค์ประกอบต่างๆ ของสังคมอย่างลักลั่นไม่สมดุลกัน ยิ่งพัฒนาไปๆ ชุมชนยิ่งแตกสลาย ตัวอย่างข้อนี้เช่น ในชุมชนไทยปัจจุบันในชนบท เรามีองค์ประกอบของชุมชน ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน ปัจจุบันนี้การพัฒนาแบบใหม่ ได้ทำให้องค์ประกอบสามอย่างนี้แปลกหน้าซึ่งกันและกัน ไม่สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้ ดังนี้เป็นต้น

ข้อที่ ๗ เมื่อการพัฒนาละเลยวัฒนธรรมเสียแล้ว ทรัพยากรทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นทรัพยากรส่วนใหญ่ของท้องถิ่น ทั้งด้านวัตถุ บุคคล และนามธรรม ก็ไม่สามารถถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในระบบวิธีพัฒนาแบบใหม่ กลายเป็นของที่สูญเสียเปล่าไร้ประโยชน์ พร้อมกันนั้น กระบวนการพัฒนาแบบใหม่ที่ผ่านมา ก็มีแต่ต้องใช้ทรัพยากรจากภายนอก การพัฒนาแบบนี้เท่าที่เป็นมาแล้ว จึงทำให้ท้องถิ่นพึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาขึ้นต่อภายนอกโดยสิ้นเชิง

รวมความในเรื่องการพัฒนาที่ละเลยวัฒนธรรม เมื่อพูดลึกลงไปก็คือ เมื่อไม่คำนึงถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวบุคคล ก็เป็นการพัฒนาที่นำไปสู่ความสูญเสียคุณภาพชีวิต ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

การพัฒนาในกรณีของสังคมไทย

สภาพปัญหาอย่างที่กล่าวมาแล้วนั้น เมื่อหันมามองใกล้ตัวแคบเข้ามา ก็ยิ่งเห็นได้ชัดเจนในสังคมไทยของเรานี้ เราประสบปัญหาอย่างที่โลกทั่วไปเขาประสบ แต่เราจะอยู่ในข้างที่แย่หรือข้างที่ด้อยกว่าทั่วไป หรือต่ำกว่าระดับเฉลี่ย เพราะปัญหาที่เขามีเราก็มีร่วมกับเขา แล้วเรายังมีปัญหาโดยเฉพาะของเราเองต่างหากที่ล้าหลังอยู่อีกด้วย ปัญหานั้นเกิดจากการที่เราอยู่ร่วมในโลก ที่มีวิธีพัฒนาที่ผิดพลาดอย่างนั้นส่วนหนึ่ง และเกิดจากการปฏิบัติผิดต่อตนเอง ต่อปัจจัยและองค์ประกอบของสังคมตนเองอีกส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมทั้งสิ้น

ถ้านับเอาความตื่นตัว ที่เป็นอยู่ในโลกปัจจุบันอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ว่าเป็นการตื่นตัวครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง แล้วย้อนกลับมาดูประเทศไทยตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ความเจริญยุคใหม่ เราก็เคยมีการตื่นตัวมาแล้วครั้งหนึ่งก่อนนี้ จึงนับว่าเรามีการตื่นตัวครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง

การตื่นตัวครั้งแรกนั้นก็คือ เมื่อหนึ่งศตวรรษมาแล้ว ในยุคของลัทธิอาณานิคม ประเทศตะวันตกได้เข้ามาแสวงหาเมืองขึ้น ทำให้เราตื่นตัวต้องรีบเร่งปรับปรุงประเทศให้เจริญทันสมัย อย่างที่เรียกว่า ให้เจริญเทียมบ่าเทียมไหล่อารยประเทศ เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้เราพยายามที่จะปรับปรุงประเทศในทุกด้าน เพื่อจะให้พ้นจากการที่เขาจะมาเอาเป็นอาณานิคม การปรับตัวครั้งนั้น ในตอนแรกก็ปรากฏว่าได้มุ่งให้มีการประสานสืบต่อทางวัฒนธรรมด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า เมื่อภัยจากการล่าอาณานิคมผ่านไปแล้ว เราได้ละทิ้งการประสานกลมกลืนทางวัฒนธรรมที่จะต่อเนื่องวัฒนธรรมเก่าเข้ากับความเจริญใหม่นั้นเสีย แล้วก็หันไปตามวัฒนธรรมตะวันตกเรื่อยมา จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น จนกระทั่งการเตลิดสู่การตามวัฒนธรรมตะวันตกนั้น ได้ทำให้เกิดภาวะขาดตอนทางวัฒนธรรม ขาดความสืบทอดต่อเนื่อง ภูมิธรรมภูมิปัญญาไทยเสื่อมหายไปมาก เราสูญเสียความสามารถในการเลือกรับปรับปรุงและดัดแปลง และขาดหลักในการตั้งรับความเจริญใหม่ที่เข้ามา ก็เลยกลายเป็นการเตลิดตามเขาไปอย่างไม่ลืมหูลืมตา

ผลเสียยิ่งใหญ่ จากการพัฒนาแบบรีบเร่งแล้วลืมที่จะเอาใจใส่ต่อความสืบเนื่องทางวัฒนธรรม ซึ่งได้กลายเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทยในปัจจุบัน และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอย่างเป็นแก่นสาร ก็คือ การที่องค์ประกอบต่างๆ ของสังคมไทยได้เจริญเติบโตอย่างลักลั่น และเกิดช่องว่าง ระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้นอย่างกว้างขวาง ทำให้องค์ประกอบของสังคมไม่อาจประสานกลมกลืนและเกื้อกูลกัน ทำให้สังคมที่เป็นองค์รวมขาดดุลยภาพ ไม่สามารถดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างพรักพร้อมราบรื่น

สภาพการพัฒนาของสังคมไทย ถ้าพูดให้เห็นง่ายๆ ก็คือ เราได้ออกมาเดินร่วมทางเดียวกับประเทศพัฒนาทั้งหลาย แต่เราไม่มีความเป็นตัวของตัวเองในการเดินร่วมทางนั้น เราได้พยายามเดินอย่างเขา แต่เราก็ไม่มีเหตุปัจจัยสั่งสมมาที่จะเป็นอย่างเดียวเหมือนกับเขา เราจึงประสบปัญหาในการเดินทางโดยมีความอ่อนเปลี้ยและแกว่งเกมาก

บัดนี้ เมื่อโลกตื่นตัว รู้ตระหนักถึงความผิดพลาดและผลร้ายของการพัฒนาที่ผ่านมา และตกลงที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีพัฒนา โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านวัฒนธรรม ถึงกับจะให้วัฒนธรรมเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เราก็พลอยตื่นตัวไปกับเขาด้วย ซึ่งนับได้ว่าเป็นการตื่นตัวครั้งที่สอง แต่สภาพที่ปรากฏอยู่ ก็คือ แม้แต่ในขณะนี้ เราก็ยังพยายามเดินอย่างเขา โดยไม่มีความเป็นตัวของตนเอง และก็ยังไม่สามารถเดินให้เหมือนเขาได้อย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันนั้น วัฒนธรรมของเราเอง เราก็ได้ละเลยทอดทิ้งไปมาก ทำให้ขาดความสืบเนื่อง วัฒนธรรมไม่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาให้สมดุล กับการพัฒนาด้านวัตถุ และวัฒนธรรมหลายส่วนของเดิมก็ได้เลือนลางหายไป ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ยิ่งกว่านั้น ความตระหนักรู้ถึงโทษภัยของการพัฒนานั้น เราก็ไม่ได้รู้เข้าใจและมองเห็นชัดเจนจริงจัง เพราะที่ว่าตื่นตัวนั้น เราก็เพียงตื่นตามเขาไปเท่านั้น คือ ได้เห็นประเทศพัฒนาแล้วเขาตื่นตัว เราก็พลอยจะตื่นตัวว่าไปตามเขา ไม่ได้แจ้งประจักษ์ตระหนักซึ้งกับใจของตนอย่างแท้จริง ทั้งที่ปัญหาการพัฒนาแต่ด้านวัตถุ เน้นหนักด้านเศรษฐกิจ โดยที่วัฒนธรรมไม่ได้รับการพัฒนาให้สมดุลกันนั้น เป็นปัญหาของเราหนักยิ่งกว่าเขา แต่เราก็ตามหลังเขาอีกตามเคยแม้ในเรื่องนี้ และน่ากลัวว่าจะเป็นการตามโดยไม่ได้คิดจะทำการแก้ไขปัญหา อย่างจริงจังเสียด้วย

สรุปว่า เมื่อมองในแง่ของประเทศไทย การที่เราได้มีความเป็นมาเช่นนี้ ทำให้เราจำเป็นจะต้องใส่ใจ คำนึงถึงวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นปัจจัยของการพัฒนา ให้มากเป็นพิเศษ พูดในแง่หนึ่ง ถ้าว่าฝรั่งเสียหลัก แต่เรานั้นแทบล้ม ถ้าว่าเขาเซ เราก็ถึงกับทรุด จะเอาของเขาเราก็ยังเอาไม่ได้ แต่ของเราเองเราก็ทิ้งไปเสียเกือบหมดแล้ว เพราะฉะนั้น สถานการณ์ของเรานี้ก็เป็นที่น่าวิตกมากอยู่

อย่างไรก็ตาม ที่ว่านี้เป็นการมองในแง่ร้าย เพื่อให้มีความไม่ประมาท แต่ถ้ามองในแง่ดี สถานการณ์ก็คงยังไม่เลวร้ายจนเกินไป การพัฒนาแบบที่ผ่านมาก็ไม่ใช่จะเสียทั้งหมด และมรดกวัฒนธรรมของเราเองก็มิใช่จะสูญไปทั้งหมด ส่วนดีที่มีอยู่ในวัฒนธรรมของเราที่เหลืออยู่นี้แหละ ถ้าหากว่าเราค้นให้ดีและรู้จักใช้ ก็อาจจะนำมาเป็นฐานที่จะทำให้เราสามารถพัฒนาตัวให้ดีขึ้นต่อไปได้ โดยสามารถปรับตัวเข้ากับความเจริญสมัยใหม่ ทั้งด้วยการพัฒนาตัวเอง คือปรับวัฒนธรรมของเราให้มีชีวิตชีวามีคุณค่าสมสมัย และด้วยการปรับการพัฒนาให้เข้ากับวัฒนธรรมของเราได้อย่างสมดุล ก็จะทำให้การพัฒนานั้นเป็นไปด้วยดี ผ่านพ้นยุคพัฒนาที่เต็มไปด้วยปัญหานี้ไปได้3

แนวทางการพัฒนาในยุคต่อไป

ต่อไปนี้ ขอข้ามไปสู่เรื่องแนวทางในการพัฒนาของยุคต่อไป เพราะที่แล้วมานั้นเป็นการกล่าวถึงโทษหรือผลร้ายที่เกิดขึ้น จึงยังต้องพิจารณาต่อไปว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราจะพัฒนาต่อไปกันอย่างไร

การใช้วัฒนธรรมเป็นปัจจัยร่วมในการพัฒนา และเป็นศูนย์กลางของการพัฒนานั้น หมายรวมถึงการพัฒนาที่ต้องพัฒนาวัฒนธรรมเองด้วย หมายความว่า จะต้องมีทั้งการพัฒนาวัฒนธรรมและการพัฒนาด้วยวัฒนธรรม หรือว่าทั้งพัฒนาวัฒนธรรมและใช้วัฒนธรรมในการพัฒนา แต่การที่จะนำวัฒนธรรมมาใช้ในการพัฒนานั้น จะต้องรู้จักวัฒนธรรมของเราเองให้ชัดเจนด้วยว่าเป็นอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร มีคุณค่าอยู่ที่ไหน ส่วนใดควรรักษา ส่วนใดควรแก้ไขปรับปรุง จะนำไปใช้อย่างไรจึงจะเกิดผลดี การพัฒนาในยุคที่ผ่านมานั้นขาดปัจจัยทางด้านวัฒนธรรมจึงผิดพลาด แต่ถ้าไม่มีโยนิโสมนสิการ แม้จะเอาวัฒนธรรมเข้ามาร่วมในการพัฒนา ก็อาจจะผิดพลาดได้อีก

การพัฒนาในยุคที่ผ่านมานั้น ที่ว่าผิดพลาดเกิดผลร้ายเป็นอันมาก เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วก็เป็นเพราะเป็นการพัฒนาที่ขาดดุลยภาพ คือเป็นไปอย่างไม่สมดุล หมายความว่า เป็นความเจริญอย่างกระจัดกระจาย ขาดความประสานกลมกลืนและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และนำไปสู่การเสียสมดุล สมดุลนั้น เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงอยู่ด้วยดีของชีวิต มนุษย์และสังคมของมนุษย์ เมื่อการพัฒนาแต่ละด้านไม่สมดุล ผลที่มารวมกันก็ไม่สมดุลด้วย หมายความว่า องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องในกระบวนการพัฒนา เมื่อไม่เข้ามาเกื้อกูลประสานสัมพันธ์กัน จะโดยถูกละเลยมองข้ามหรือโดยความไม่รู้ไม่เข้าใจก็ตาม ก็ทำให้องค์ประกอบที่ทำหน้าที่อยู่ พากระบวนการพัฒนาแล่นเตลิดไปข้างเดียว เอียงหรือเลยเถิด เกินพอดี สุดโต่ง สุดขั้ว องค์ประกอบที่ถูกละเลยในที่นี้ก็คือวัฒนธรรม ส่วนองค์ประกอบที่ถูกเชิดชูพากระบวนการพัฒนาแล่นดิ่งไป ก็คือการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเน้นบทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ จะต้องเน้นการพัฒนาให้ดำเนินไปอย่างประสานเกื้อกูลและให้เป็นไปอย่างสมดุล เลิกการกระทำที่เป็นการสุดโต่งสุดขั้วทั้งหลาย

ภาวะสมดุล หรือ ดุลยภาพ ที่จะสร้างขึ้นนี้ ขอกล่าวในที่นี้เพียงบางประการในเวลาที่จำกัด

๑. ภาวะสมดุล อย่างแรกที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ได้แก่ เรื่องที่พูดกันบ่อยที่สุดในระยะนี้ คือ ภาวะสมดุล ระหว่างการพัฒนาวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ หมายความว่า วัตถุอย่างเดียวก็จมหาย จิตใจอย่างเดียวก็เลื่อนลอย เราจะต้องปรับเปลี่ยนท่าที ไม่เอาแต่ความเจริญทางวัตถุและปริมาณ ไม่มุ่งแต่เศรษฐกิจโดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่จะต้องให้เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ประสานกลมกลืนกับวัฒนธรรม เฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคโนโลยีส่งเสริมวัฒนธรรม โดยเน้นด้านความงอกงามของจิตใจและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ พัฒนาวัฒนธรรมขึ้นมาเป็นตัวคุมและคาน ตลอดจนเป็นเครื่องนำทางความเจริญทางเศรษฐกิจและการใช้วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี ถ้าจะพูดแยกแยะก็ต้องว่า ในแง่ผล ให้มีความสมดุลระหว่างการพัฒนาวัตถุกับการพัฒนาจิตใจ ในแง่อุปกรณ์ ให้มีความประสานเกื้อกูลอย่างสมดุลระหว่างการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาเศรษฐกิจ กับการพัฒนาด้วยองค์ประกอบด้านวัฒนธรรมและการพัฒนาวัฒนธรรม

๒. การพูดถึงความสมดุลระหว่างวัตถุกับจิตใจนั้น ก็ยังแคบไป ถ้าจะให้ชัด ต้องถามก่อนว่า การพัฒนานั้น พัฒนาเพื่อใคร ใครเป็นผู้รับผลของการพัฒนา ถ้าถามอย่างนี้ เราก็จะตอบได้ว่า การพัฒนานั้นเพื่อมนุษย์ เพื่อมนุษย์ที่มีทั้งกายและใจ ซึ่งมีชีวิตอยู่รวมกันเป็นสังคม ในท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อม ถ้าพูดอย่างนี้แล้วเราก็จะเห็นองค์ประกอบ ที่จะต้องเข้ามาสมดุลกันสามประการในระบบใหญ่แห่งความดำรงอยู่ของมนุษย์ องค์ประกอบใหญ่สามส่วนนั้น คือ

๑) มนุษย์ ซึ่งหมายถึงทั้งกายและใจ

๒) ธรรมชาติแวดล้อม หรือระบบนิเวศ

๓) สังคม

องค์ประกอบทั้งสามอย่างนี้ จะต้องประสานเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ดำเนินไปอย่างสมดุล

๓. ภาวะสมดุลระหว่างเก่ากับใหม่ คนจำนวนมากชอบแบ่งแยกระหว่างเก่ากับใหม่ และมักติดอยู่กับข้างใดข้างหนึ่ง จนบางทีแตกกันเป็นฝักฝ่าย เช่น พวกหนึ่งว่าของเก่าดี อีกพวกหนึ่งว่าของใหม่ดี พวกหนึ่งว่าคนโบราณโง่ คนปัจจุบันฉลาด อีกพวกหนึ่งว่าคนโบราณฉลาด คนสมัยนี้เขลารู้ไม่เท่าถึง การคิดเห็นและพูดอย่างนี้คงเป็นความยึดติดมากกว่า คือ ติดสมมติ แล้วเอาตัวผนวกเข้ากับข้างใดข้างหนึ่ง ถือมั่นโดยเอาตนเป็นที่ตั้งว่าของตนหรือข้างตนจะต้องดี ความจริงนั้น ของเก่าก็มีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย ของใหม่ก็มีทั้งส่วนเด่นและส่วนด้อย จึงช่วยให้มีความก้าวหน้าต่อมาได้ และจึงยังต้องแก้ไขปรับปรุงกันต่อไป ถ้าเป็นความจริงแท้ ก็มีแต่ความสมสมัย ตรงกับสภาพที่เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลง หรือไม่ก็เป็นภาวะที่เก่าเคยเป็นอย่างไร ใหม่ก็เป็นอย่างนั้น เท่ากับว่าไม่มีเก่าไม่มีใหม่

คนโบราณที่ฉลาดก็มี ที่โง่ก็มากมาย แม้คนทุกวันนี้ที่ฉลาดก็มาก ที่โง่ก็ถมเถไป แต่หลายอย่างที่สืบมาจากอดีต ไม่ใช่เรื่องของความฉลาดหรือโง่ แต่เป็นผลจากประสบการณ์ในการลองผิดลองถูกที่ยาวนาน กว่าจะได้ความรู้นั้นมาหรือทำสิ่งนั้น ทำอย่างนั้นได้ ก็ต้องผ่านกาลเวลาที่ยืดยาวยิ่ง ในกรณีที่ต้องอาศัยกาลเวลายาวนานเป็นเครื่องพิสูจน์นั้น คนในสมัยปัจจุบันหรือยุคใดยุคหนึ่งเพียงสมัยเดียว ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะเรียนรู้ผลได้ สังคมจึงไม่ควรสูญประโยชน์จากประสบการณ์เก่าๆ เหล่านี้ไปเสียเปล่า การรู้จักถือเอาประโยชน์จากประสบการณ์เช่นนั้น นับว่าเป็นความฉลาดอย่างหนึ่ง และในทางตรงข้าม ถ้าคนปัจจุบันละเลยมองข้ามประโยชน์นั้นไปเสีย ก็ต้องนับว่าเป็นความโง่เขลาอย่างหนึ่งของเขา

สังคมที่ไม่รู้จักใช้สิ่งเก่าที่ตนมีอยู่ให้เป็นประโยชน์ คือไม่รู้จักสืบต่อเก่าให้เข้ากับใหม่ ก็จะต้องนำสิ่งใหม่เข้ามาจากภายนอกทั้งดุ้น ซึ่งจะมีผลเสียอย่างน้อยสามประการ คือ ประการที่หนึ่ง จะหมดตัว ไม่มีอะไรเป็นของตนเอง ประการที่สอง จะไม่มีอะไรดีพิเศษแปลกจากสังคมอื่น เพราะรับของเขาเข้ามาอย่างไร ก็มีได้แค่นั้น ไม่สามารถทำให้มีคุณค่าต่างหรือเพิ่มขึ้นไป ประการที่สาม จะกลายเป็นสังคมที่ตามและพึ่งพาขึ้นต่อสังคมอื่นโดยสิ้นเชิง เพราะนอกจากจะต้องคอยรับเอาจากเขาแล้ว ก็เป็นไปไม่ได้ที่ตนจะทำสิ่งใหม่ ซึ่งมาจากสังคมอื่นได้ดีเท่าเจ้าตัวของเขา เพราะไม่มีทุนเดิมอย่างที่เขามี จึงจะกลายเป็นสังคมที่ไร้เกียรติภูมิ เป็นทาสของสังคมอื่น หรืออย่างน้อยก็เป็นลูกไล่ลูกตาม ส่วนสังคมที่เก่งกาจแท้ ก็คือ สังคมที่สามารถเอาประสบการณ์และความจัดเจนเก่าออกมาปรับรับจัดสรรสิ่งใหม่ให้กลืนกลายเข้าเป็นของตนเอง โดยมีคุณค่าแปลกเพิ่มจากสิ่งนั้นที่เขามีในสังคมอื่น นี้เป็นเรื่องเก่าของข้างใน กับใหม่จากข้างนอก

ในความเป็นจริงนั้น มีแต่กระบวนการแห่งการถ่ายทอดส่งต่อและสืบเนื่องไปเรื่อยๆ เป็นกระแสธารอันเดียวที่ไหลเนื่องไปไม่ขาดสาย ไม่อาจแบ่งแยกตัดตอนออกเป็นเก่าและเป็นใหม่ เก่ากับใหม่เป็นเพียงคำสมมติ สำหรับกำหนดหมายในการเรียนรู้ เพื่อคอยช่วยซ่อมเสริมกระแสธารแห่งการสืบทอดให้ไหลเนื่องต่อไป โดยมีความประณีตอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นกระแสธารสืบเนื่องตามลำดับแห่งกาลเวลา จากอดีตสู่ปัจจุบัน และสืบไปในอนาคต โดยมีลักษณะแห่งการสั่งสมในอดีต แล้วถ่ายทอดสิ่งที่สั่งสมไว้นั้นผ่านมาสู่ปัจจุบัน และส่งมอบให้สืบเนื่องต่อไปในอนาคต ให้รับเอาไปตัดแต่งเติมต่อปรับปรุงให้เหมาะสมดีที่สุดที่จะเจริญงอกงามมีผลดียิ่งขึ้นต่อไป ถ้าวัฒนธรรมขาดตอน แบ่งเป็นเก่ากับใหม่ขึ้นมาอย่างชัดเจน สังคมก็จะเป็นเหมือนบุคคลที่สูญเสียบุคลิกภาพ และขาดดุลยภาพที่จะดำรงอยู่และดำเนินต่อไปด้วยดี

พูดสั้นๆ ว่า จะต้องไม่มีการแบ่งแยกเป็นเก่ากับใหม่ จะมีแต่การสืบทอดต่อเนื่องจนกระทั่งแยกไม่ออกว่าเป็นเก่าหรือใหม่ เมื่อมีการสืบทอดต่อเนื่องอย่างแท้จริงแล้ว ก็จะมีความประสานกลมกลืน เราจะไม่แบ่งแยกกันเป็นเก่ากับใหม่ จะมีแต่การสั่งสมถ่ายทอดมา และสืบเนื่องต่อไป ซึ่งเป็นภาวะของการประสานสืบต่อกัน ระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ถ้าทำได้สำเร็จอย่างนี้ ก็เป็นการกลมกลืนประสานสมดุลอย่างหนึ่ง

๔. ภาวะสมดุลระหว่างความพึ่งตนเองได้กับการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เรามักจะพูดเพียงแง่ใดแง่หนึ่งว่า ให้พึ่งตนเองให้ได้ หรือให้ช่วยเหลือกัน แต่ตามความเป็นจริงนั้น เราจะพึ่งตนเองอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้ และจะพึ่งพาอาศัยแต่ผู้อื่นอย่างเดียวคอยให้เขาช่วยเหลือเท่านั้นก็เป็นไปไม่ได้ การที่จะพึ่งพาแต่คนอื่น หรือไม่ยอมพึ่งใครเลยนั้น เป็นสุดโต่งเกินไป ในเวลาที่สั้น ขอพูดเป็นอุปมา เหมือนกับชีวิตของเรานี้ ร่างกายของเราประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ มากมาย อวัยวะแต่ละอย่างต้อง พึ่งตัวเองได้ คือ มีความสมบูรณ์ในตัวของมัน สามารถทำหน้าที่ของตนเองและดำรงอยู่อย่างปกติ ในเวลาเดียวกันนั้นเอง อวัยวะทั้งหลายที่แต่ละอย่างทำงานได้เป็นปกติพึ่งตนเองได้นั้น ก็ประสานสัมพันธ์ อาศัยซึ่งกันและกัน เหมือนดังลิ้นกับฟันที่เราพูดถึงกันบ่อย ลิ้นต้องทำงานประสานกับฟัน ลิ้นต้องอาศัยฟัน ฟันต้องอาศัยลิ้น แต่ทั้งลิ้นและฟันต่างก็ต้องสมบูรณ์และทำหน้าที่ของมันได้เป็นปกติ เช่น ลิ้นดุนอาหารให้ ฟันจึงจะสามารถขบเคี้ยวได้สะดวก ฟันเคี้ยวให้แล้ว ลิ้นจึงจะลิ้มรสอาหารได้เต็มที่และจึงจะส่งอาหารลงคอให้กลืนได้โดยสะดวก ดังนี้เป็นต้น ถ้าอวัยวะแต่ละอย่างนั้นพึ่งตนเองไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหาไม่เฉพาะแก่ตนเองเท่านั้น แต่ระบบทั้งระบบจะเสียไปด้วย เพราะฉะนั้น จะต้องพึ่งตนเองได้ เมื่อพึ่งตนเองได้ก็สามารถพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันกับผู้อื่นอย่างประสานกลมกลืน

ในการที่พึ่งตนเองได้ และในการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอย่างถูกต้องนี้ ก็จะมีภาวะสองอย่างเกิดขึ้น คือ

ประการที่ ๑ การที่สามารถรับเอาสิ่งที่จะพึงได้จากส่วนอื่นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตน ในการที่จะพึ่งตนเองนั้น อวัยวะทุกส่วนจะต้องได้รับประโยชน์จากอวัยวะอื่น เช่น หัวใจก็จะต้องอาศัยแรงกระตุ้นบางอย่างจากสมอง เช่น ในการที่ร่างกายต้องการโลหิตมากหรือน้อย จะต้องสูบฉีดแรงขึ้นกว่าปกติหรือไม่ ส่วนทางฝ่ายสมองจะทำงานได้ ก็ต้องได้รับเลือดที่หัวใจสูบฉีดขึ้นไป โดยที่ว่าทั้งสมองและหัวใจก็ทำงานเป็นปกติ พึ่งตนเองได้ แล้วต่างก็อาศัยซึ่งกันและกัน หมายความว่า เมื่อพึ่งตนเองได้ก็สามารถรับส่วนที่พึงได้จากผู้อื่นมาใช้เป็นประโยชน์

ประการที่ ๒ ในเวลาเดียวกันนั้น ก็จะมีส่วนที่ตนจะให้แก่ผู้อื่นด้วย หรือจะมีสิ่งที่ตนสามารถให้แก่ส่วนอื่น

เมื่อครบสองด้านอย่างนี้ก็จะเป็นภาวะที่สมบูรณ์ นี้คือภาวะที่พึ่งตนเองได้และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอย่างมีสมดุล

สรุปความว่า เมื่อแต่ละส่วนพึ่งตนเองได้ ทุกส่วนก็สามารถพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันไปอย่างสมดุล เมื่อทุกส่วนต่างก็พึ่งพาอาศัยโดยประสานสัมพันธ์กันดี ก็ช่วยให้แต่ละส่วนมีโอกาสพึ่งตนเองได้ เมื่อแต่ละส่วนพึ่งตนเองได้ ก็สามารถรับเอาสิ่งที่ตนพึงได้อย่างพอดีจากส่วนอื่น เมื่อได้รับสิ่งที่ตนพึงได้จากส่วนอื่นแล้ว ก็สามารถผลิตหรือสร้างสรรค์และมีสิ่งที่ตนจะพึงให้ตามควรแก่ส่วนอื่นๆ การที่แต่ละส่วนพึ่งตนเองได้ ในภาวะพึ่งพาอย่างพอดีกับส่วนอื่นๆ นี้ ก็ทำให้เกิดเป็นระบบแห่งความประสานกลมกลืน และเกื้อกูลกัน อันประกอบขึ้นเป็นองค์รวมที่สมดุล ซึ่งสามารถดำรงอยู่และเจริญงอกงามไปด้วยดีโดยสมบูรณ์ เหมือนกับว่า เมื่ออวัยวะทุกส่วนพึ่งตนเองได้ และทำหน้าที่โดยพึ่งพาอาศัยกัน แต่ละส่วนอาศัยสิ่งที่พึงได้จากส่วนอื่น และมีสิ่งที่ตนพึงให้แก่ส่วนอื่น ก็เกิดเป็นระบบแห่งร่างกายที่สมดุล เป็นชีวิตที่มีสุขภาพดี

ในการพึ่งตนและพึ่งพาอย่างถูกต้องนั้น ยังมีข้อที่พึงสำเหนียกอีกหลายอย่าง เช่นว่า การพึ่งเขา ก็เพื่อให้สามารถ พึ่งตนได้ การที่พึ่งตน ก็เพื่อให้สามารถพึ่งเขา และเป็นที่พึ่งแก่เขาได้ พึ่งตนได้ จึงพึ่งผู้อื่นได้ คือ จึงสามารถรับเอาส่วนที่พึงได้จากผู้อื่น จึงมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะพึ่งคนอื่น และจึงจะทำให้การพึ่งคนอื่นนั้นบังเกิดผลดี ดังนั้น การพึ่งพาที่ถูกต้อง จึงได้แก่ การพึ่งพาของผู้ที่พึ่งตัวเองได้ ในทางตรงข้าม เมื่อพึ่งตนไม่ได้ ก็ไม่สามารถพึ่งคนอื่นได้โดยชอบธรรม และให้เกิดผลดี และทำให้ผู้อื่นที่ควรจะได้อาศัยตน พลอยพึ่งตัวเขาเองไม่ได้ เมื่อแต่ละหน่วยย่อยพึ่งตัวเองไม่ได้ ก็ประกอบกันขึ้นเป็นระบบ และเป็นองค์รวมที่พึ่งตนเองไม่ได้ อีกเช่นเดียวกัน โดยนัยนี้ การพึ่งตน กับการพึ่งพา จึงมีความหมายเนื่องเป็นอันเดียวกัน

พระพุทธศาสนาสอนให้ทุกคนเป็น อัตตนาถะ คือ เป็นที่พึ่งของตนได้ หรือพึ่งตนได้ และเป็น ปรนาถะ คือ เป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ หรือมีสิ่งที่จะให้แก่คนอื่น พร้อมกันนั้น ก็สอนให้ทุกคนเป็น กัลยาณมิตตะ คือ มีมิตรดี เพื่อให้มีสิ่งที่จะได้รับจากคนอื่น ซึ่งจะเอามาใช้ในการพัฒนาตัวเอง ให้พึ่งตนได้ต่อไป ถ้าระบบนี้เป็นไปอย่างสมดุล ตนเองก็เจริญงอกงาม และพาคนอื่นให้เจริญงอกงามด้วย เป็นการร่วมเจริญงอกงามไปด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ไม่มีบุคคลที่จะเป็นกัลยาณมิตร คือ ไม่มีบุคคลผู้มีสิ่งที่จะให้แก่คนอื่น พระพุทธศาสนาก็สอนให้ใช้ โยนิโสมนสิการ คือ ความรู้จักคิด รู้จักพิจารณา หรือมนสิการโดยแยบคาย ซึ่งทำให้สามารถเลือกเค้นเฟ้นหา คุณค่าส่วนดีหรือประโยชน์ แม้จากสิ่งหรือบุคคลซึ่งไม่มีอะไรที่จะให้แก่คนอื่นได้ การมีโยนิโสมนสิการจึงเป็นการพึ่งตนเองได้ในระดับสูงสุด หรือเป็นการพึ่งตนที่ประเสริฐสุด เป็นการพึ่งคนอื่นหรือได้จากคนอื่นสิ่งอื่น ด้วยการพึ่งตนเองแท้ๆ หรือเป็นการพึ่งคนอื่นได้ โดยที่เขาไม่ต้องให้พึ่ง (เป็นการได้โดยไม่ต้องพึ่ง หรือพึ่งเขาโดยที่เขาไม่รู้ตัวว่าถูกพึ่งด้วยซ้ำ) และทำให้การพึ่งตนกับพึ่งคนอื่นมีความหมายเป็นอันเดียวกันอย่างแท้จริง หลักการนี้ พระพุทธศาสนาเรียกว่า "พึ่งตน คือ พึ่งธรรม และพึ่งธรรม คือ พึ่งตน"

ชนทุกหมู่เหล่าทุกระดับชั้นทุกชุมชนในสังคมนั้น จะต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา โดยต่างก็พึ่งตนเองได้ และต่างก็พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ต่างก็มีสิ่งที่ต้องรับจากคนอื่น และต่างก็มีสิ่งที่จะให้แก่คนอื่นด้วย แต่ละคนแต่ละกลุ่มทำทุกอย่างด้วยตนเองไม่ได้ ต้องได้บางอย่างจากคนอื่นกลุ่มอื่น แต่ก็พึ่งตนเองได้ ในการทำสิ่งที่คนอื่นกลุ่มอื่นจะต้องอาศัยตน เท่ากับว่าตนก็มีให้แก่คนอื่นและแก่ส่วนรวม

เพราะฉะนั้น จึงต้องรู้ต้องเข้าใจต้องยอมรับความสำคัญของคนทุกหมู่เหล่าทุกชั้นทุกระดับในสังคม และให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยในกระบวนการพัฒนานั้น โดยเฉพาะองค์ประกอบทุกส่วนของชุมชนจะต้องเกื้อกูลกัน ประสานสัมพันธ์ เพื่อให้ชุมชนนั้นพึ่งตนเองได้ ดังตัวอย่างที่กล่าวเมื่อกี้ คือ องค์ประกอบสามอย่างของชุนชนในชนบท ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน แต่ละอย่างจะต้องพึ่งตนเองได้ และต่างก็อาศัยซึ่งกันและกัน ประกอบขึ้นเป็นชุมชนที่พึ่งตนเองได้และสามารถทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่สังคมใหญ่ที่เป็นส่วนรวม

ข้อที่ ๕ ความสมดุลระหว่างสัจจธรรม จริยธรรม และบัญญัติธรรม ข้อนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ

สัจจธรรม คือความจริง ความแท้ ความเป็นอย่างนั้นเอง ความเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย หรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ

จริยธรรม คือหลักการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ซึ่งอิงอาศัยสอดคล้องกับสัจจธรรม และทำให้เราดำเนินเข้าถึงสัจจธรรม

บัญญัติธรรม คือกฎเกณฑ์ระเบียบแบบแผนที่สังคม กำหนดวางกันขึ้นโดยสมมติ เช่น กฎหมาย ขนบประเพณี เพื่อให้มีการอยู่ร่วมกันด้วยดี เป็นความเรียบร้อยดีงามของสังคมนั้น และเพื่อเป็นกรอบหรือเป็นเครื่องกำกับที่จะช่วยคุมให้คนดำรงอยู่ในจริยธรรม กล่าวคือ บัญญัติธรรมนั้นตามปกติจะกำหนดวางไว้เพื่อสนับสนุนการดำเนินตามจริยธรรม

วัฒนธรรมนั้นเนื่องอยู่ตลอดเวลากับธรรมสามประการนี้ สัจจธรรมเป็นรากฐาน เป็นสิ่งที่ให้ความหมาย และเป็นเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมและบัญญัติธรรม จึงเป็นแหล่งที่ให้ความหมายในขั้นสุดท้ายแก่วัฒนธรรมด้วย

วัฒนธรรมนั้นมีส่วนที่เป็นบัญญัติธรรมมาก และบัญญัติธรรมก็เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้สังคมแต่ละสังคมมีเอกลักษณ์ที่เป็นส่วนเฉพาะของตนเอง และเป็นเอกลักษณ์โดยสอดคล้องประสานกับจริยธรรม เช่น บัญญัติธรรมจะทำให้สังคมแต่ละสังคม มีรูปแบบของตนเองในการปฏิบัติตามจริยธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง พูดอีกอย่างหนึ่งว่า บัญญัติธรรมส่วนใหญ่ ก็คือ รูปแบบและลักษณะภายนอกแห่งการปฏิบัติตามจริยธรรมของสังคมนั้นๆ นั่นเอง

ในการที่จะทำให้สังคมมีความสมดุลนั้น จะต้องให้สัจจธรรม จริยธรรม และบัญญัติธรรมทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องและประสานเกื้อกูลซึ่งกันและกัน บัญญัติธรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมปรากฏตัวโดยมีลักษณะภายนอกและรูปแบบเป็นของตนเอง แต่ถ้าเราติดบัญญัติธรรมเกินไป วัฒนธรรมก็จะแข็งทื่อ กระด้าง ไม่มีการปรับปรุงตัว หยุดนิ่ง ไม่เจริญก้าวหน้า ไม่มีการพัฒนาวัฒนธรรม จึงต้องเอาความรู้ความเข้าใจในสัจจธรรมมาจัดสรรควบคุม เช่น การที่ต้องยอมรับอนิจจังซึ่งเป็นสัจจธรรมว่า สิ่งทั้งหลายต้องมีความเปลี่ยนแปลง ต้องรู้จักตัด รู้จักละ รู้จักปล่อย รู้จักสลัดทิ้ง และมีการปรับปรุงตัวเอง โดยยืนอยู่กับสัจจธรรม มุ่งเข้าหาสัจจธรรม และในเวลาเดียวกันก็ต้องรู้จักสาระของจริยธรรม เพื่อปรับบัญญัติธรรมเช่นกฎหมายเป็นต้น ให้ได้ผลจริงตามสาระและความมุ่งหมายของจริยธรรม ที่อิงอยู่กับและสอดคล้องกับสัจจธรรม นี้เป็นเรื่องของการประสานกลมกลืนระหว่างธรรมสามอย่าง

ทีนี้ สัจจธรรมนั้น โดยทั่วไปหรือตามปกติจะมีแหล่งที่มาที่สำคัญคือศาสนธรรม ซึ่งในกรณีของชาวพุทธในประเทศไทยนี้ก็คงจะหมายถึงพุทธธรรม ศาสนธรรมนั้น ส่วนหนึ่งเข้าอยู่ในวัฒนธรรมแล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งอยู่ข้างนอก ศาสนธรรมที่เข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมแล้ว ก็คือส่วนที่เราได้แปลความหมายเอามายึดเป็นความเชื่อถือ และเป็นข้อปฏิบัติในชีวิตร่วมกันของสังคมแล้ว คือ ได้ประยุกต์เข้าไปจนกลายเป็นองค์ประกอบที่รวมอยู่ในวัฒนธรรม หรือกลายเป็นส่วนประกอบในวิถีชีวิตของสังคมแล้ว แต่ศาสนธรรมอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ข้างนอกนั้นเป็นส่วนต่างหากซึ่งอยู่กับสถาบันอีกสถาบันหนึ่ง คือสถาบันศาสนา ในที่นี้ ขอพูดโดยรวบรัดว่า ศาสนธรรมยังมีอีกส่วนหนึ่งที่เป็นอิสระอยู่ต่างหากข้างนอกเพราะเหตุผลว่า

๑. ศาสนธรรมส่วนที่เข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมนั้น เป็นส่วนที่ประชาชนในสังคมนั้นแปลความหมาย เข้าใจ เชื่อถือ และประพฤติปฏิบัติกันอยู่ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับศาสนธรรมที่เป็นจริงก็ได้

๒. องค์ประกอบต่างๆ ในวัฒนธรรม เมื่อผ่านกาลเวลายาวนาน องค์ประกอบเหล่านั้นก็มีการคลาดเคลื่อน ไขว้เขว ผิดเพี้ยนไปตามปัจจัยต่างๆ

เพราะฉะนั้น ศาสนธรรมในวัฒนธรรม จึงอาจจะคลาดเคลื่อนไขว้เขวไป จึงต้องมีศาสนธรรมต้นแหล่งเป็นหลักอยู่ภายนอก เป็นตัวคงที่ เป็นหลักการเดิมซึ่งจะทำหน้าที่

ประการที่หนึ่ง เป็นหลักที่จะให้จุดมุ่งหมายและอุดมคติแก่วัฒนธรรม และเป็นตัวนำทางให้แก่วัฒนธรรม

ประการที่สอง ศาสนธรรมนั้นจะอำนวยสัจจธรรม ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่จะใช้ในการตรวจสอบ และคอยปรับวัฒนธรรมให้เข้าถึงอุดมคติ หรือให้เป็นไปในแนวทางของอุดมคติอยู่เสมอ

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของความสมดุลประการต่างๆ ที่เราจะต้องสร้างให้มีขึ้น ในการพัฒนาโดยใช้วัฒนธรรมตามที่ได้ตกลงกันว่าจะเริ่มขึ้นต่อแต่นี้ไป

ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกับการพัฒนา

ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม กับการพัฒนานั้น โดยสรุปก็คือ ในการที่สิ่งทั้งหลายจะดำรงอยู่ด้วยดี พร้อมที่จะเจริญงอกงามต่อไป องค์ประกอบของมันจะต้องประสานสัมพันธ์เกื้อกูลกันจนทำให้องค์รวมอยู่ในภาวะสมดุล วัฒนธรรมที่สืบมาจากเก่า กับการพัฒนาที่จะคืบหน้าต่อไป ก็จะต้องประสานสัมพันธ์เกื้อกูลกัน ปรับเข้ากันได้และสืบทอดต่อเนื่อง จนทำให้สังคมดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างมีดุลยภาพ ความเจริญงอกงามและประโยชน์สุขที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้นได้

หลักการทั่วไปในการพัฒนาที่ถูกต้อง ก็เป็นการทำให้สมดุล โดยคอยจัดคอยประคับประคองให้องค์ประกอบต่างๆ ดำเนินไปอย่างประสานสัมพันธ์เกื้อกูลกันอย่างมีความสมดุล ความสมดุล นั้นเรียกง่ายๆ ว่าความพอดี ความพอดีนั้นเป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนา พุทธธรรมสอนเรื่อง ความพอดีเป็นหลักใหญ่

ความพอดีของแต่ละส่วน ในการกระทำแต่ละอย่างแต่ละเรื่อง เช่น บริโภคอาหารแต่พอดี เป็นต้น ความพอดีอย่างนี้ทางพระเรียกว่า "มัตตา" เช่น ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคเรียกว่า "โภชเนมัตตัญญุตา"

ประการต่อไป ความพอดีระหว่างองค์ประกอบที่ต่างก็ทำหน้าที่ของตนๆ โดยประสานสัมพันธ์กันอย่างสมดุล และทำให้องค์รวมก็เกิดความสมดุลด้วย การที่องค์ประกอบทั้งหลายทำงานประสานสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ มีความสมดุลพอดีกัน หรือความได้สัดส่วนพอดีระหว่างองค์ประกอบ ตั้งแต่สองอย่างขึ้นไปนี้ ภาษาพระเรียกว่า "สมตา"

ประการที่สาม การที่ระบบทั้งหมดมีองค์ประกอบครบครันทำหน้าที่ได้พร้อมบริบูรณ์ มีความสมดุลพอดีที่จะให้สำเร็จผลบรรลุความมุ่งหมาย ความพอดีของระบบทั้งหมดอย่างนี้เรียกว่า "มัชฌิมา"

รวมแล้วมีความพอดี ๓ ประการ คือ "มัตตา" "สมตา" และ "มัชฌิมา" รวมเป็นระบบความคิดและการปฏิบัติที่สำคัญในพระพุทธศาสนา ในการพัฒนาต่อไปนี้เราเน้นที่ความพอดีทุกอย่าง คือทั้ง มัตตา สมตา และมัชฌิมา แต่ความพอดีทั้งสามอย่างนั้น ทุกอย่างต้องอาศัยปัญญา จึงจะรู้ได้ว่าแค่ไหนพอดี และจึงจะจัดให้พอดีได้ จะต้องใช้หลักความพอดีอย่างนี้ ในการพัฒนาวัฒนธรรมและใช้วัฒนธรรมในการพัฒนา

ในการพัฒนาวัฒนธรรมและใช้วัฒนธรรมในการพัฒนานั้น มีข้อสังเกตและข้อคิดบางอย่างเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ระหว่างวัฒนธรรมกับการพัฒนา ที่จะขอกล่าวไว้เล็กน้อย

ทั้งวัฒนธรรมและการพัฒนา ต่างก็เป็นเรื่องของความเจริญงอกงามด้วยกันทั้งนั้น ว่าที่จริง "วัฒน" ในวัฒนธรรม ก็คือคำเดียวกับ "พัฒนา" นั่นเอง ดังนั้น ถ้าแปลอย่างง่ายๆ วัฒนธรรม จึงหมายถึง สิ่งที่เป็นความเจริญงอกงาม ส่วน พัฒนาแปลว่า การทำให้เจริญงอกงาม ซึ่งขยายความได้ดังนี้

วัฒนธรรม คือ ผลรวมของทุกสิ่งซึ่งเป็นความเจริญงอกงามที่สังคมนั้นๆ ได้ทำไว้หรือได้สั่งสมมาจนถึงบัดนี้ พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ได้แก่ ผลรวมของความเจริญงอกงามเท่าที่มีมาถึงและมีอยู่ในปัจจุบัน

การพัฒนา คือ การสร้างสรรค์ปรับปรุงตัดแต่งเติมต่อ ให้สิ่งที่ได้สั่งสมมานั้นเจริญงอกงามสืบต่อไป พูดอีกนัยหนึ่งว่า การสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทำให้เกิดมีสิ่งใหม่ๆ เพิ่มพูนกลมกลืนเข้าในกระแสธารแห่งความเจริญ ที่ได้สั่งสมกันมาให้งอกงามสืบต่อไป

วัฒนธรรมเน้นส่วนที่สืบมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน การพัฒนา เน้นการทำต่อจากปัจจุบันที่จะสืบเนื่องไปในอนาคต วัฒนธรรมเป็นทุนจากเดิมเท่าที่มีอยู่ อันได้จัดเตรียมไว้ให้พร้อมสำหรับการที่จะก้าวเดินต่อไปในอนาคต ส่วนการพัฒนาเป็นการตัดแต่งเพิ่มขยาย จาก(ทุนที่มีอยู่ใน)ปัจจุบันให้เจริญงอกงามพรั่งพร้อมยิ่งขึ้นไปในอนาคต วัฒนธรรมหนักข้างอดีตถึงปัจจุบัน การพัฒนาโยงปัจจุบันไปหาอนาคต

วัฒนธรรม เป็นทั้งสิ่งที่ทำให้เจริญงอกงามสืบมา และเป็นเนื้อตัวของความเจริญงอกงามที่มีอยู่ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของความเจริญงอกงามต่อไป ตลอดจนเป็นเครื่องวัดระดับ ความเจริญงอกงามของสังคมนั้นๆ ส่วนการทำเนื้อตัวที่มีอยู่นั้นให้เจริญงอกงามต่อไปอีก ด้วยการดูดกลืนย่อยสิ่งใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา เรียกว่า การพัฒนา

วัฒนธรรม เป็นกระบวนการสร้างสรรค์สืบทอดต่อเนื่องจากอดีต สู่ปัจจุบัน เพื่อให้เจริญงอกงามต่อไปในอนาคต อย่างไม่ขาดตอน การที่วัฒนธรรมจะเจริญงอกงามสืบต่อไปในอนาคตด้วยดี จำต้องอาศัยการพัฒนา ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาวัฒนธรรม

การพัฒนานั้นมิใช่หมายเฉพาะการเสริมขยายเพิ่มพูนให้มากมายและเติบโตขึ้นเท่านั้น แต่หมายถึงการแก้ไขตัดทอน ขลิบแต่งให้ดีงามและเหมาะสมยิ่งขึ้นด้วย

การพัฒนาวัฒนธรรม หมายถึง การทำให้วัฒนธรรมได้รับการปรับปรุงและปรับตัวให้มีคุณค่าสมสมัย และบังเกิดคุณประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมอันเป็นจริง ที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน และกำลังก้าวเดินต่อไปในอนาคต

การพัฒนาด้วยวัฒนธรรม หรือการใช้วัฒนธรรมในการพัฒนา หมายถึง การนำเอาประสบการณ์ความจัดเจนและภูมิธรรมภูมิปัญญาที่ได้สั่งสมสืบกันไว้ในสังคมของตน ออกมาใช้เป็นเครื่องมือในการที่จะเผชิญ ต้อนรับ ปรับ ดัดแปลง และสร้างสรรค์ จัดทำสิ่งใหม่ๆ ให้เข้ากันและบังเกิดคุณค่า อำนวยประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง

สิ่งทั้งหลายที่เพิ่มพูนเติมต่อเข้ามาใหม่ด้วยการพัฒนานั้น เมื่อกลมกลืนเข้าในวิถีชีวิตของสังคมแล้ว ก็กลายเป็นส่วนประกอบอยู่ในวัฒนธรรมไปด้วย

ชีวิตในสังคมสมัยใหม่ ที่รุ่งเรืองด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเกลื่อนกล่นด้วยกิจกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ก็เป็นวัฒนธรรมแบบหนึ่งด้วยเช่นเดียวกัน หากเป็นความรุ่งเรืองด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพัฒนาเศรษฐกิจในความหมายที่แท้จริง เราก็อาจจะพูดว่า สังคมปัจจุบันนี้มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมเทคโนโลยี และวัฒนธรรมแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า แม้โลกปัจจุบันจะเจริญด้วยวิทยาศาสตร์ แต่คนสมัยใหม่ก็มิได้มีจิตใจแบบวิทยาศาสตร์ ท่าทีแห่งการมองโลกและชีวิตของเขายังเต็มไปด้วยลักษณะแห่งความเลื่อนลอย หรือไม่ก็เป็นไสยศาสตร์ แม้โลกปัจจุบันจะก้าวหน้าไปไกลด้วยเทคโนโลยี และได้ใช้เทคโนโลยีนั้นในการสร้างความเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่การใช้เทคโนโลยีและการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ก็ได้เป็นไปเพียงเพื่อเสริมสร้างความพรั่งพร้อมทางวัตถุ และสนองค่านิยมบริโภค ไม่ได้ใช้เพื่อคุณค่าแท้ของมันในการที่จะเสริมสร้างคุณภาพชีวิต จึงส่งผลให้เกิดความสูญเสียคุณภาพชีวิต และการทำลายดุลยภาพแห่งระบบการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์ อันประกอบด้วยชีวิต ทั้งกายใจ สังคม และธรรมชาติแวดล้อม เกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ผิดพลาด เราจึงมีเพียงวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมเทคโนโลยี และวัฒนธรรมแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเทียมๆ ซึ่งก็คือไม่ใช่วัฒนธรรมนั่นเอง เพราะไม่เป็นความเจริญงอกงามที่แท้จริงเลย สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เมื่อพูดอย่างรวบรัดที่สุด ก็คือ เพราะเราไม่ได้พัฒนาวัฒนธรรม และไม่ได้ใช้วัฒนธรรมในการพัฒนา วัฒนธรรมกับการพัฒนาจึงไม่มาประสานบรรจบกัน บังเกิดเป็นการพัฒนาที่ไร้วัฒนธรรม และวัฒนธรรมเองก็ขาดตอนอุดตันเกิดความหมักหมม เป็นดุจน้ำนิ่งที่เน่าเสีย

ในเมื่อวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพัฒนาเศรษฐกิจ มีบทบาทโดดเด่นในโลกยุคปัจจุบัน เราจึงจะต้องให้ความสนใจต่อมันให้มาก โดยโยงมันเข้ามาประสานบรรจบกับวัฒนธรรม ด้วยการพัฒนาอย่างถูกต้อง คือ ให้เป็นการพัฒนาที่ประสานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เข้ากับวัฒนธรรม ให้ภูมิธรรมภูมิปัญญาที่มีอยู่ออกมาเสริมหนุน และกล่อมเกลาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ให้กลมกลืนเข้าสู่วิถีชีวิตของประชาชนอย่างมีคุณค่าที่เกื้อกูล และเสริมวัฒนธรรมให้อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในทางที่จะนำมนุษยชาติสู่สันติสุขและอิสรภาพที่แท้จริง

พระยาอนุมานราชธนกับงานทางด้านวัฒนธรรม

เป็นอันว่า ในการที่จะข้ามพ้นยุคพัฒนาที่ผิดพลาดมีปัญหาและทำการพัฒนาในแนวทางใหม่ เราจะต้องทั้งพัฒนาวัฒนธรรมและพัฒนาด้วยวัฒนธรรม เมื่อเราพัฒนาวัฒนธรรมและพัฒนาด้วยวัฒนธรรมนั้น เราก็จะมีวัฒนธรรมในการพัฒนาเกิดขึ้นด้วย แต่ก่อนที่เราจะพัฒนาวัฒนธรรมและใช้วัฒนธรรมในการพัฒนา เราก็จะต้องรู้จักและเข้าใจวัฒนธรรมของเราให้เพียงพอ

ท่านพระยาอนุมานราชธน ได้สร้างผลงานทางด้านวัฒนธรรมไว้มากมาย มีความโดดเด่น จนกระทั่งองค์การ UNESCO ได้ประกาศยกย่องแล้ว และเราก็กำลังจัดฉลองอยู่ในบัดนี้ ผลงานของท่านนั้นเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจวัฒนธรรม แม้ว่าผลงานของท่านจะเป็นแหล่งข้อมูลและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรม ไม่ใช่ตัววัฒนธรรมเอง เพราะว่าตัววัฒนธรรมที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ชีวิตของประชาชน แต่เราก็สามารถเอาข้อมูลความรู้ความเข้าใจ จากผลงานของท่านพระยาอนุมานราชธนนี้ไปเป็นฐาน หรือจุดตั้งต้นในการศึกษาตรวจสอบ ตัววัฒนธรรมที่ชีวิตของประชาชน แล้วจากนั้นเราก็จึงเอามาปฏิบัติการในการพัฒนาต่อไป ให้สำเร็จผลตามวัตถุประสงค์

ท่านพระยาอนุมานราชธนนั้น นอกจากได้สะสมรวบรวมข้อมูล สร้างผลงานทางวัฒนธรรมไว้แล้ว ก็ยังมีข้อที่น่าสังเกต เกี่ยวกับทัศนะและลักษณะการทำงานของท่านด้วยว่า ในการทำงานทางด้านวัฒนธรรมของท่านนั้น ท่านเป็นผู้ที่ได้พยายามเชื่อมต่อสายธารแห่งวัฒนธรรม มิให้หยุดนิ่งอยู่ แต่ให้สืบต่อไปโดยไม่ขาดตอน น่าสังเกตว่า แม้ท่านจะศึกษาเรื่องวัฒนธรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของอดีต แต่ท่านก็เป็นผู้ที่ไม่หลงติดอยู่ในอดีต ไม่จมอยู่ในอดีต ท่านศึกษาอดีตโดยเรียนรู้อดีตเพื่อนำอดีตมาใช้ประโยชน์ มิใช่เพื่อหลงจมอยู่ในอดีตนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงพร้อมที่จะรับความเปลี่ยนแปลง ท่านถือและยอมรับว่าจะต้องมีสิ่งใหม่ จะต้องมีการปรับตัวและปรับปรุงกันเรื่อยไป ท่านไม่คับแคบอยู่แต่เฉพาะด้านของตน แต่ยอมรับความสำคัญขององค์ความรู้และวิทยาการด้านอื่นๆ ที่จะต้องมาเชื่อมโยงประสานกันในการที่จะทำความเจริญของสังคมมนุษย์ให้สำเร็จ

พระยาอนุมานราชธนสนใจศิลปวัฒนธรรมทุกระดับ โดยเฉพาะท่านเน้นวัฒนธรรมระดับล่าง ที่เรียกว่าวัฒนธรรมชาวบ้าน หรือเรื่องพื้นบ้าน การที่ท่านทำเช่นนี้ก็คงจะเป็นเพราะว่า ท่านมุ่งจะช่วยรักษาสิ่งเหล่านั้นไว้มิให้สูญหาย เพราะวัฒนธรรมระดับล่างนั้นมีโอกาสที่จะสูญหายไปได้ง่าย พูดอย่างง่ายๆ ก็ว่า พระยาอนุมานราชธนได้ช่วยรักษาสิ่งดีๆ ของเราไว้ ทำให้เมืองไทยมีของดีๆ หลายอย่างเหลือไว้อวดชาวต่างประเทศ

ในด้านชีวิตส่วนตัว ท่านก็มีชีวิตที่เป็นแบบอย่างได้ ท่านมีคุณธรรมสำคัญที่พึงเน้นไว้ในที่นี้ คือความเป็นครู ได้ทราบตามประวัติว่า ท่านรักความเป็นครู ตั้งใจทำหน้าที่ของครู โดยที่มิใช่ตั้งใจเฉพาะทำงานในการสอนเท่านั้น แต่เอาใจใส่ต่อความเจริญงอกงามของศิษย์ที่มารับประโยชน์จากความเป็นครูของท่านด้วย และท่านก็ทำตัวเองให้เป็นครูที่น่าเคารพรัก ซึ่งศิษย์ก็เคารพรักท่านจริง เพราะฉะนั้น จึงนับว่าท่านเป็นผู้มีคุณสมบัติของความเป็นครูที่แท้จริง และในส่วนทั่วไปก็มีชีวิตส่วนตัวที่เป็นแบบอย่างโดยอาศัยความขยันหมั่นเพียร สุจริตและไมตรีธรรม ส่วนในแง่ผลงาน สิ่งที่ท่านสั่งสมสร้างสรรค์ไว้ก็เป็นสมบัติของสังคมต่อไป ถ้าจะพูดอย่างรวบรัดที่สุดก็อาจกล่าวว่า พระยาอนุมานราชธนนั้น ชีวิตก็เป็นแบบอย่างได้ ผลงานก็กลายเป็นสมบัติของสังคม หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ในการสร้างผลงานทางวัฒนธรรมนั้น ตัวท่านเองก็ดำรงอยู่ในวัฒนธรรมหรือมีวัฒนธรรมด้วย

โดยเฉพาะในยุคที่ผ่านมา ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ละเลย ทอดทิ้งวัฒนธรรมของตน เป็นช่วงที่มรดกที่ดีงามล้ำค่ามีโอกาสสูญหายไปได้มาก พระยาอนุมานราชธนได้ช่วยเก็บรักษา รวบรวมข้อมูลความรู้นี้ไว้ให้เรา แม้สมมติว่าท่านทำไว้เพียงเท่านี้ ก็ยังเป็นคุณูปการต่อสังคมไทยอย่างยิ่งยวดอยู่แล้ว โดยไม่ต้องคำนึงถึงคุณธรรมและงานอื่นที่ท่านได้กระทำ

อย่างน้อย พระยาอนุมานราชธนก็ได้ช่วยรักษาวัฒนธรรมส่วนหนึ่งไว้ให้แล้ว ต่อนี้ไปก็อยู่ที่เราจะเอาไปใช้อย่างไร โดยเฉพาะในการเข้าสู่ยุคใหม่ของการพัฒนา ที่จะมีการพัฒนาด้วยจิตสำนึกแบบใหม่ ซึ่งจะใช้วัฒนธรรมเป็นองค์ร่วม หรือเป็นศูนย์กลางของการพัฒนานั้น อันสหประชาชาติได้ตกลงประกาศไว้ว่าจะเริ่มจากปีนี้เป็นต้นไป ถ้าเราสามารถทำได้อย่างนั้น นั่นแหละคือการฉลอง ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธนที่แท้จริง คือการทำให้ชีวิตและงานของท่านยังคงมีชีวิตชีวาอยู่ยืนนาน ด้วยการทำให้ชีวิตและผลงานของ ท่านมีคุณค่าเป็นประโยชน์แก่สังคมต่อไป และการกระทำเช่นนี้แล ก็คือสิ่งที่เรียกว่าเป็นการบูชาด้วยการปฏิบัติ หรือ ปฏิบัติบูชา ที่พระพุทธศาสนานิยมสรรเสริญว่าเป็นการบูชาอันสูงสุด ก็ขอให้ความมุ่งหวังดังที่กล่าวมานี้จงสัมฤทธิ์ผล เพื่อประโยชน์สุขของประชาชาวโลกสืบไป ตลอดกาลนาน

ขอถวายพระพร

คำกราบบังคมทูล
สมเด็จฯ พระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
ของ
ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง ประธานคณะกรรมการจัดฉลอง
๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน

ขอพระราชทานกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้า นายเอกวิทย์ ณ ถลาง เลขานุการคณะกรรมการฉลอง ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน และ เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ขอพระราชทานกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองพระบาท เพื่ออาราธนาพระเทพเวที ศรีวิศาลปาพจนรจิต ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร แสดงธรรมกถาต่อหน้าพระพักตร์ ณ วโรกาสอันเป็นมิ่งมงคลนี้

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

บัดนี้ ได้เวลาอันเป็นอุดมฤกษ์แล้ว กระผมขอกราบอาราธนาพระคุณเจ้า ได้โปรดแสดงธรรมกถาเกี่ยวกับพระยาอนุมานราชธนตามกาละต่อไป ขอกราบอาราธนา

1ปาฐกถาพิเศษ ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน เมื่อ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๓๑ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ
2เนื้อความที่ละเอียดกว่านี้ ดูใน “อารยธรรมไทย : ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา” ขององค์ปาฐกเดียวกัน (สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, ธ.ค. ๒๕๓๑)
3ปัญหาการพัฒนาในสังคมไทย ดูรายละเอียดใน “อารยธรรมไทย : ทางเลือกออกจากยุคพัฒนา” ขององค์ปาฐกเดียวกัน (สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, ธ.ค. ๒๕๓๑)
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.