ศาสนาและเยาวชน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ศาสนาและเยาวชน1

สภาพความสนใจต่อศาสนาและจริยธรรม

เราบ่นกันมานานแล้วว่า เยาวชนไม่ค่อยสนใจศาสนาและจริยธรรม ความจริงก็ไม่ใช่เฉพาะเยาวชนเท่านั้น ที่ดูเหมือนว่าไม่สนใจศาสนาและจริยธรรม แต่คนจำนวนมากทั่วๆ ไปทีเดียว ก็เป็นอย่างนั้น บางทีการที่เยาวชนไม่สนใจศาสนาและจริยธรรมนั้น เหตุอย่างหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ใหญ่นั่นเองไม่สนใจ เด็กจึงไม่สนใจไปด้วย เพราะฉะนั้น สภาพความไม่สนใจศาสนาและจริยธรรมนี้ จึงนับว่าเป็นสภาพปัญหาทั่วไปของสังคม

จะอย่างไรก็ตาม ในเวลานี้ได้มองเห็นกันว่า ผู้ที่รับผิดชอบสังคม เช่นในวงการศึกษาเป็นต้น ได้หันมาให้ความสนใจ เอาใจใส่เรื่องศาสนาและจริยธรรมกันมากขึ้น โดยเฉพาะในระยะสัก ๑๐-๒๐ ปีมานี้ มีการพูดกันถึงเรื่องปัญหาศาสนาและจริยธรรม และได้มีความคิดกันในแง่ที่ว่า จะต้องให้การศึกษาที่เน้นหนักเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม หันไปทางไหน กระทรวง ทบวง กรม อะไรก็ตาม ที่รับผิดชอบในด้านการศึกษาในปัจจุบันนี้ ผู้บริหารเมื่อพูดในที่ประชุมก็มักจะต้องเน้นเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม แสดงว่าเดี๋ยวนี้เราเห็นความสำคัญของเรื่องนี้กันมาก เหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นความสำคัญขึ้นมา อาจจะเป็นเพราะเวลานี้มีปัญหาเกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรมมาก หมายความว่า มีความขาดแคลน หรือบกพร่องย่อหย่อนในเรื่องเหล่านี้มาก

นี้เป็นประการหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่ง ที่ไม่ควรจะมองข้ามก็คือ สภาพความเจริญทางวัตถุ และการพัฒนาต่างๆ ที่เราเน้นในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีอะไรต่างๆ เหล่านี้ ได้ดำเนินมายาวนาน จนถึงจุดที่รู้สึกว่าชักจะติดตัน ก็จึงมีคนอย่างน้อยบางกลุ่มเริ่มมีความรู้สึกเบื่อ และผิดหวังต่อความเจริญทางวัตถุเหล่านั้น เห็นว่าไม่สามารถจะสนองความต้องการของชีวิตได้อย่างแท้จริง ไม่สามารถจะให้ความสุขที่แท้จริงแก่ชีวิต คนเหล่านี้ได้หันมาสนใจทางศาสนาและจริยธรรม กระแสความเคลื่อนไหว หรือแนวโน้มแบบนี้ปรากฏขึ้นโดยทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่เริ่มมาแต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่เป็นผู้นำในการพัฒนานั่นเอง

เพราะฉะนั้น มองในแง่หนึ่งก็เป็นนิมิตที่ดีว่า ได้มีการสนใจในเรื่องศาสนาและจริยธรรมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าว่าโดยทั่วไป เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว กระแสความตื่นเต้น ความเพลิดเพลินลุ่มหลงมัวเมาในทางวัตถุก็ยังมากอยู่นั่นเอง ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่เราจะมีความประมาท หรือพอใจว่า เดี๋ยวนี้คนหันมาสนใจศาสนาและจริยธรรมกันมาก เพราะเมื่อมองโดยเทียบอัตราส่วนแล้ว ก็ยังนับว่าน้อยอยู่นั่นเอง

คุณค่าหรือความจำเป็นของศาสนาและจริยธรรม

ความจริงนั้น ศาสนาและจริยธรรมเป็นปัจจัยแวดล้อมชีวิตและสังคม ที่ช่วยหล่อเลี้ยงรักษาชีวิตและสังคมของมนุษย์ไว้ เป็นสิ่งที่แผ่ซึมซ่านทั่วไปหมด ปกคลุมการดำเนินชีวิตและกิจกรรมของมนุษย์ทุกด้าน เป็นแกนนำและกำกับทั้งชีวิตของบุคคล และการอยู่ร่วมกันในสังคมให้เป็นไปด้วยดี

ความสำคัญของศาสนาและจริยธรรมนั้น อุปมาอย่างหนึ่งก็เหมือนกับเรื่องน้ำและอากาศ น้ำและอากาศนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วๆ ไป เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิต อันนี้เป็นความจริงที่ทุกคนยอมรับแน่นอน เพราะว่าถ้าขาดน้ำวันเดียวคนก็แทบจะตาย ยิ่งถ้าขาดอากาศด้วยแล้ว ประเดี๋ยวเดียว สักอึดใจสองอึดใจ ก็อาจจะตาย ดีไม่ดีถ้าฟื้นไม่ทัน ถึงจะไม่ตายก็อาจเป็นอัมพาตไปเสียก่อน เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ศาสนาและจริยธรรมก็เหมือนกัน ทำนองเดียวกับน้ำและอากาศนี้แหละ เป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปในสังคม หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์และสังคมของเราอยู่โดยไม่รู้ตัว

แต่สิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง ที่สำคัญอย่างยิ่งนี้ บางทีมนุษย์ก็ไม่เห็นความสำคัญ น้ำและอากาศนั้น แม้จะมีความจำเป็นแก่ชีวิต เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ในแง่ของตัวความจริง แต่ในแง่ความรู้สึกของมนุษย์แล้ว ก็ไม่ค่อยเห็นความสำคัญ มนุษย์จะไม่เห็นคุณค่าของอากาศบริสุทธิ์ ไม่เห็นคุณค่าของน้ำบริสุทธิ์มากเท่าไรนัก จนกว่าจะเกิดปัญหาขึ้นกับสิ่งเหล่านี้ เมื่อไรเกิดการขาดแคลน หรือสิ่งเหล่านี้เกิดความเน่าเสียวิปริตขึ้นมา เป็นพิษเป็นภัยอันตราย มนุษย์จึงจะเริ่มรู้สึกตัวและเห็นคุณค่าของมัน

อย่างไรก็ตาม แม้แต่ในสภาพที่อากาศเริ่มจะไม่บริสุทธิ์ น้ำเริ่มจะเสียนี้ คนจำนวนมากก็ยังไม่รู้ตัวอยู่นั่นแหละ ยังหลงระเริงเพลิดเพลินอยู่กับสิ่งที่ปลุกเร้า สนองความต้องการทางเนื้อหนัง และทะยานหาความสุขต่างๆ เพราะเหตุที่มัวเพลิดเพลินมัวเมากันอยู่นั้น ก็เลยอยู่ท่ามกลางอากาศที่ไม่บริสุทธิ์ อยู่ใกล้กับน้ำที่ไม่บริสุทธิ์ได้ โดยไม่สำนึกไม่ตระหนักในภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ชีวิต

อันนี้ก็เหมือนกัน ถึงแม้ว่าสภาพความขาดแคลนทางศาสนาและจริยธรรมจะเกิดมีขึ้น แต่เพราะความตื่นเต้นหลงมัวเมาในความสุขทางด้านวัตถุเป็นต้น ก็ทำให้คนอยู่ท่ามกลางสภาพเหล่านั้น โดยไม่ตระหนักถึงภัยอันตราย แล้วก็ไม่คิดที่จะพยายามแก้ไข แต่เมื่อไรขาดแคลนจริงๆ อย่างน้ำและอากาศนี้ ถึงขนาดที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว คนจะรู้สึกตัว แล้วก็เรียกร้องหา แสดงความต้องการกันอย่างเต็มที่ ตอนนั้นแหละ น้ำและอากาศจะมีคุณค่าอย่างที่สุด เหมือนอย่างคนที่เดินทางไปไกลๆ ในทะเลทราย เป็นต้น แล้วไม่มีน้ำจะกิน ถึงตอนนั้น น้ำนิดเดียวก็มีค่ามากที่สุด พยายามขวนขวายดิ้นรนหาจนสุดความสามารถ เพื่อจะให้ได้มาซึ่งน้ำ อากาศก็เช่นเดียวกัน นี้เป็นเรื่องของสิ่งที่มีคุณค่า จำเป็นต่อชีวิตที่คนไม่ค่อยรู้สึกตัว

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างมีอยู่อย่างหนึ่งระหว่างน้ำและอากาศกับศาสนาและจริยธรรม กล่าวคือ ในเรื่องน้ำและอากาศนั้น คนขาดไปแล้ว ก็รู้ว่าตัวนี้ขาดอะไร และต้องการอะไร อันนี้เป็นข้อดีอย่างหนึ่ง คือเขารู้ว่าเขาขาดน้ำ ต้องการน้ำ เขาขาดอากาศ ต้องการอากาศ แต่ศาสนาและจริยธรรมนี้ มีลักษณะที่ประณีตเป็นนามธรรมมาก จนกระทั่งว่า แม้คนจะขาดสิ่งเหล่านี้ ถึงจะมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่รู้ว่าขาดอะไร ไม่รู้ว่าตัวต้องการอะไร ก็เลยเป็นปัญหามาก ทำให้ต้องมาสร้างความรู้ความเข้าใจ ชี้แจงกันเพื่อให้ตระหนักเห็นในคุณค่าและความสำคัญ เป็นเรื่องของการที่จะต้องให้การศึกษามาชี้แจง จึงต้องมาจัดการสัมมนากันขึ้น ถ้าหากว่าคนเห็นง่ายๆ ถึงความจำเป็นของมัน เหมือนอย่างน้ำและอากาศ เราก็คงไม่ต้องมาจัดประชุมอย่างนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เสียเวลาและแรงงานอย่างมากมาย นี้ก็เป็นเรื่องของศาสนาและจริยธรรม ที่ว่ามีความจำเป็นสำหรับชีวิตและสังคมเป็นอย่างมากเปรียบประหนึ่งน้ำและอากาศ

เวลานี้มนุษย์เราเริ่มจะมีปัญหากับน้ำและอากาศมากขึ้น เดี๋ยวนี้น้ำเปล่าเราต้องซื้อแล้ว มีราคาขวดละ ๓-๕ บาท สมัยก่อนคนนึกไม่ถึง ถอยหลังไปสัก ๕๐ ปี ใครจะไปนึกว่าคนในสมัยปัจจุบันนี้จะต้องซื้อน้ำเปล่าๆ รับประทาน ต่อไปในภายหน้า อีก ๑๐๐-๒๐๐ ปี เป็นไปได้ไหมที่คนจะต้องซื้ออากาศบริสุทธิ์มาหายใจ อาจจะต้องซื้ออากาศบริสุทธิ์เป็นถุงๆ แล้วก็แขวนคอเดินไปในที่ต่างๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าจะพิจารณา

เรื่องศาสนาและจริยธรรมก็เหมือนกัน คนปัจจุบันนี้เจริญทางวัตถุ ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปมาก เราก็ตื่นเต้นกันไป ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว จะก่อให้เกิดพิษภัยอะไร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ถ้าไม่รู้เท่าทัน ไม่รู้จักใช้ ไม่รู้จักควบคุมให้ดีก็อาจจะเป็นโทษ ในด้านวัตถุก็ก่อให้เกิดน้ำเสีย อากาศเสีย เป็นต้น เป็นภัยอันตรายแก่ร่างกาย และในเวลาเดียวกัน ด้านนามธรรม เมื่อไม่รู้จักใช้ ไม่รู้จักควบคุม เทคโนโลยี และความเจริญทางเศรษฐกิจต่างๆ ก็มาก่อให้เกิดปัญหาแก่ศาสนาและจริยธรรม เราต้องมองพร้อมกันไปทั้งสองอย่าง

ทีนี้ องค์กรต่างๆ ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับศาสนาและจริยธรรม ก็จะต้องมีบทบาทในการที่จะเพียรพยายามทำให้มนุษย์ทั้งหลายตระหนักรู้ในความสำคัญ และความจำเป็นของศาสนาและจริยธรรม และพยายามที่จะแสดงคุณค่า เผยแผ่ ให้คนทั้งหลายยอมรับเอาศาสนาและจริยธรรมไปใช้ประโยชน์ หรือที่จะพัฒนาคนให้มีศาสนาและจริยธรรม โดยเฉพาะก็คือบทบาทในด้านการศึกษา

ปัญหาที่เผชิญหน้ามนุษย์ในยุคพัฒนา

ปัจจุบันนี้เป็นที่ยอมรับกันมากว่า สังคมที่พัฒนานี้มีปัญหามากมาย แล้วก็เป็นปัญหาใหญ่ๆ ที่อาจจะนำมนุษยชาติไปสู่ความสูญสิ้น ปัญหาเหล่านั้น มักจะแบ่งกันได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ตามองค์ประกอบใหญ่ ๓ ส่วน เราเรียกว่า เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับองค์ประกอบของการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษยชาติ องค์ประกอบของการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์มี ๓ ประการ คือ

  1. ตัวมนุษย์เอง
  2. สังคม และ
  3. ธรรมชาติ

ตัวมนุษย์นี้บางทีก็เรียกว่าชีวิต จัดเป็นองค์ประกอบที่หนึ่ง องค์ประกอบที่สองได้แก่สังคม และองค์ประกอบที่สามก็คือธรรมชาติแวดล้อม ตัวมนุษย์เองหรือชีวิตนั้น ซอยออกไปอีกเป็น ๒ ส่วน คือ กาย กับ ใจ องค์ประกอบ ๓ อย่างทั้งหมดนี้ เดี๋ยวนี้เป็นที่ยอมรับกันมากว่า จะต้องให้ความเอาใจใส่ โดยคอยระวังให้ทั้ง ๓ อย่างนี้มีความประสานกลมกลืนในทางที่เกื้อกูลต่อกัน มีความสมดุล มีความพอดีในลักษณะต่างๆ ซึ่งจะทำให้โลกมนุษย์หรือมนุษยชาตินี้ ดำรงอยู่ได้ด้วยดี แต่ก่อนนี้เราได้ละทิ้งไม่เห็นความสำคัญขององค์ประกอบบางอย่าง เช่น ตัวมนุษย์เอง เราก็อาจจะให้ความสำคัญแก่ร่างกาย ไม่ให้ความสำคัญแก่จิตใจ จึงถือว่าขาดความสมดุลไป คือจะต้องมองโดยรวมทั้งหมด แต่เท่าที่เป็นมา เรามององค์ประกอบไม่ครบทั้งหมด เอาแค่ชีวิตกับสังคม ส่วนธรรมชาติแวดล้อมถูกปล่อยปละละเลย ถูกมองข้ามไปนาน

ปัจจุบันนี้ ธรรมชาติแวดล้อมกำลังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับโลกมนุษย์ ขณะนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังตื่นกลัวกันมากว่า ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ กำลังจะถึงขีดที่อาจจะทำให้มนุษยชาติสูญสิ้นไปก็ได้ เวลานี้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมมาก อากาศเสีย น้ำเสีย ดินเสีย อุณหภูมิของโลกร้อนยิ่งขึ้น เพราะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก ทำให้อุณหภูมิในบรรยากาศสูง และต่อไปก็จะทำให้น้ำในทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้น น้ำทะเลนั้นเป็นมวลใหญ่เหลือเกิน เมื่อเป็นมวลใหญ่มาก อุณหภูมิสูงขึ้นนิดหน่อย ขยายตัวส่วนละนิดละหน่อย รวมเข้าก็เป็นปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้นอย่างมากมาย ทีนี้ก็เกรงกันว่า น้ำที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นในมหาสมุทรปัจจุบันนี้ กำลังมีระดับสูงขึ้นทุกปี ซึ่งถ้าสูงขึ้นในลักษณะ และในอัตราส่วนนี้ ในไม่ช้า น้ำจะท่วมประเทศต่างๆ ที่อยู่แถบชายฝั่งทะเล ต่อไปอาจจะมีน้ำท่วมโลก ไม่เฉพาะว่าน้ำในมหาสมุทร เมื่อมีอุณหภูมิสูงขึ้น จะขยายตัวเท่านั้น อุณหภูมิในบรรยากาศที่สูงขึ้นนั้นก็ยังไปละลายน้ำแข็งที่ขั้วโลกอีก น้ำแข็งที่ขั้วโลกนั้นมีปริมาณมหาศาล เมื่อละลายมาแล้ว ก็มีส่วนที่จะช่วยท่วมโลกได้เช่นเดียวกัน

อีกตัวอย่างหนึ่งคือเรื่อง ozone layer ชั้นโอโซนในบรรยากาศก็มีปัญหา ขณะนี้สารที่เราใช้กันในการฉีดให้อากาศหอม สดชื่นบ้าง หรือใช้ในการทำตู้เย็นบ้าง มันได้ลอยขึ้นไปในบรรยากาศเป็นจำนวนมากมาย แล้วก็ไปทำลายชั้นโอโซนนี้ทำให้เกิดช่องโหว่ขึ้นมา และทำให้รังสีอุลตราไวโอเล็ตลงมาถึงมนุษย์มากขึ้น อันจะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง และมีพิษมีภัยต่อสิ่งมีชีวิตเล็กๆ น้อยๆ เมื่อชีวิตเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้นตายไป ก็กระทบกระเทือนต่อชีวิตใหญ่ๆ เพราะในระบบนิเวศของโลกนี้ ชีวิตทุกประเภทอิงอาศัยกันหมด เมื่อชีวิตเล็กถูกกระทบกระเทือน มันก็ส่งผลกระทบกระเทือนมาถึงชีวิตใหญ่ๆ จนถึงมนุษย์ แล้วก็อาจจะนำไปสู่ความพินาศสูญสิ้นของมนุษย์ได้

ปัญหาเรื่องธรรมชาติแวดล้อมนี้ ปัจจุบันมีมากมาย นอกจากอากาศที่ว่ามาแล้ว ก็ยังมีเรื่องน้ำเสีย นอกจากน้ำเสียแล้วก็มีฝนน้ำกรด เพราะโรงงานอุตสาหกรรมที่ส่งควันขึ้นไปมีผลทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ฝนน้ำกรดขึ้นมา ทำลายป่า ทำลายน้ำทะเล ทำลายชีวิตในทะเลหมดไปเป็นทะเลๆ อะไรเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาใหญ่มาก ซึ่งในระยะยาวจะทำให้มนุษยชาติสูญสิ้น โลกนี้จะไม่อาจเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ได้ เพราะฉะนั้น ปัจจุบันนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงหันมาใส่ใจในเรื่องนี้มาก ถือว่าองค์ประกอบในด้านธรรมชาติแวดล้อม มีความสำคัญอย่างยิ่ง

หันมามองดูในทางสังคม สังคมมนุษย์เองก็มีปัญหามาก นอกจากปัญหาจำพวกอาชญากรรม ยาเสพติด พฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ความแปลกแยกทางวัฒนธรรม เป็นต้น แล้วก็มีความขัดแย้งกันมาก มีสงครามตลอดเวลา ไม่ได้หยุดรบกันเลย และที่น่ากลัวที่สุดก็คือสงครามนิวเคลียร์ ดังจะเห็นว่าเวลานี้ ประเทศที่พัฒนาแล้ว กลัวเรื่องสงครามนิวเคลียร์นี้เป็นอย่างยิ่ง

หันมาดูมนุษย์ที่ตัวชีวิต คือ กาย และใจ ของมนุษย์เอง ก็มีปัญหาทั้งกายและใจ ทางด้านร่างกายก็มีโรคภัยไข้เจ็บหลายอย่างที่น่ากลัวมาก ทั้งๆ ที่ว่ามนุษย์ก็เจริญด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถแก้ไขกำจัดโรคภัยไข้เจ็บกันได้มากมาย โรคระบาดหลายอย่างถูกกวาดเรียบไปหมดแล้วจากมนุษยโลก องค์การอนามัยโลกประกาศว่า โรคนี้ๆ หมดไปแล้ว ไม่ต้องกลัวต่อไป ใครจะเดินทางไปต่างประเทศแทบไม่ต้องฉีดวัคซีน ไม่ต้องปลูกฝี ไม่ต้องป้องกันไข้ทรพิษ เพราะหมดไปแล้วจากโลก อะไรทำนองนี้ นับว่าเป็นความสำเร็จของมนุษย์อย่างยิ่งใหญ่ แต่ในเวลาเดียวกัน มนุษย์กลับต้องเผชิญโรคภัยไข้เจ็บใหญ่ๆ ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และเพิ่มพูนขยายตัว ที่ยังไม่รู้ว่าจะแก้ไขได้อย่างไร เพราะเป็นปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาที่มีผลกระทบมาจากปัจจัยด้านอื่นๆ ทางด้านสังคมบ้าง ทางจิตใจบ้าง ภาวะทางจิตใจที่ไม่มีความสุข มีความเครียด ก็ก่อให้เกิดโรค ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดโรคหัวใจ และแม้แต่โรคมะเร็ง

ส่วนปัญหาทางสังคมก็มีผลต่อการเกิดโรคเหมือนกัน เช่น ทำให้เกิดโรคเอดส์ ซึ่งเป็นโรคที่กำลังมีปัญหาน่ากลัวมากที่สุดในปัจจุบัน มนุษย์เริ่มไม่แน่ใจว่า โรคเหล่านี้ หรือโรคใหม่อย่างอื่นที่มาในลักษณะนี้ อาจจะกวาดล้างมนุษย์ให้หมดไปจากโลกก็ได้ นี้ก็เป็นปัญหาทางด้านร่างกาย ในด้านปัญหาทางจิตใจ มนุษย์ในสมัยปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว กำลังมีปัญหาเรื่องความเครียดเป็นอย่างมาก โรคเครียดกำลังเป็นโรคใหญ่ที่ครอบงำประเทศที่พัฒนาแล้ว และโรคเครียดทางจิตใจนี้ ก็ส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างที่ว่ามาเมื่อกี้ ทำให้เป็นโรคมะเร็งก็ได้ ทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจก็ได้ แล้วก็ส่งผลในทางสังคม ทำให้มนุษย์เกิดความขัดแย้งกันง่าย เพราะว่าอารมณ์หงุดหงิด มีความกระทบกระทั่งตลอดเวลา นอกจากนั้น ยังทำให้มีปัญหาในการใช้เทคโนโลยี ทำให้ไม่มีความสุขุมรอบคอบ ไม่มีความใจเย็น จึงเกิดอุบัติเหตุทางเทคโนโลยีได้ง่าย เทคโนโลยียิ่งซับซ้อน มีประสิทธิภาพมากเท่าไร อุบัติเหตุที่เกิดจากเทคโนโลยีก็ยิ่งมีความร้ายแรงมากขึ้นเท่านั้น นี้ก็เป็นปัญหาที่โยงกันไปหมด

จิตใจของมนุษย์ปัจจุบันนี้มีปัญหา ไม่ค่อยมีความสุข มีความกระวนกระวาย มีความเครียด เสร็จแล้วก็มีโรคจิต โรคประสาทมาก แล้วก็ฆ่าตัวตายมาก จะเห็นว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว คนฆ่าตัวตายกันมากขึ้น แต่ก่อนนี้คนแก่ๆ อย่างในประเทศอเมริกาฆ่าตัวตายมาก เพราะว่าพอแก่แล้วก็เหงา ว้าเหว่ ไม่มีใครเอาใจใส่ดูแล นั้นก็เป็นปัญหามาระยะหนึ่งแล้ว แต่พอมาถึงปัจจุบันนี้ คนหนุ่มคนสาว เด็กวัยรุ่น เกิดเป็นโรคฆ่าตัวตายมาก มีสถิติฆ่าตัวตายสูง ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีสถิติการฆ่าตัวตายของเด็กวัยรุ่นที่สูงมาก กลายเป็นว่า คนในโลกนี้เจริญมากขึ้น เห็นโลกเจริญขึ้น กลับไม่อยากอยู่ในโลก เห็นโลกนี้ไม่น่าอยู่เสียแล้ว มีความทุกข์ คือจิตใจไม่สบาย อยากฆ่าตัวตาย ตกลงไม่ต้องให้อะไรมาทำร้าย ก็ฆ่าตัวตายเอง ทำลายตนเองก็ได้ เพราะฉะนั้น มนุษยชาติในยุคที่พัฒนาแล้วนี้ มีทางที่จะพินาศสูญสิ้นได้หลายอย่างหลายประการ

ศาสนาและจริยธรรมกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน

ในการที่ศาสนาและจริยธรรม จะทำบทบาทให้สำเร็จนั้น จุดสำคัญอย่างหนึ่งที่จะต้องให้ความสนใจมาก ก็คือ เรื่องเยาวชน เพราะเราก็ยอมรับกันอยู่แล้วว่าเยาวชนนั้นเป็นอนาคตของชาติ เป็นอนาคตของสังคม เด็กวันนี้ก็คือผู้ใหญ่ในวันหน้า คติอย่างนี้เรามีกันทั่วไป พูดกันบ่อยๆ ในทางพุทธศาสนาเองก็มีพุทธภาษิตอยู่บทหนึ่งว่า ปุตฺตา วตฺถุ มนุสฺสานํ "ปุตฺตา" ลูก หรือบุตรทั้งหลายนั้น แปลง่ายๆ ก็คือเด็กๆ นั่นเอง พุทธภาษิตนี้จึงขอแปลง่ายๆ ว่า "เด็กๆ เป็นผู้รองรับไว้ซึ่งมนุษยชาติ" หรือ "เด็กทั้งหลายคือผู้รองรับไว้ซึ่งมนุษยชาติ" อันนี้เราคงยอมรับกันว่า ถ้าไม่มีเด็กๆ แล้ว มนุษยชาติก็อยู่ไม่ได้ แต่ถ้าเด็กนั้นจะเป็นที่รองรับมนุษยชาติไว้ได้เป็นอย่างดี ก็ต้องให้เป็นเด็กที่มีคุณภาพ

การที่เด็กจะมีคุณภาพนั้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ จะต้องมีคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งมาจากบ่อเกิดที่สำคัญ คือหลักพระศาสนา ทีนี้ เมื่อศาสนาเห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชนแล้ว เราจะดำเนินการกันอย่างไร ในการที่จะทำให้เด็กและเยาวชนมีศาสนาและจริยธรรม เพื่อที่จะพัฒนาชีวิตให้เจริญเติบโตขึ้นในท่ามกลางบรรยากาศที่พรั่งพร้อมไปด้วยศาสนาและจริยธรรม โดยที่ว่าทั้งคนที่แวดล้อมและตัวเด็กนั้น ต่างก็เป็นคนมีศาสนาและจริยธรรมด้วยกัน

ในการพิจารณาเรื่องนี้ก็อาจจะมองได้หลายแง่ อย่างหนึ่งก็คือ มองดูว่าเราจะต้องทำอะไรบ้าง ในแง่ที่เกี่ยวกับเด็กนี้ในการที่จะทำให้มีศาสนาและจริยธรรม มีขอบเขตอะไรที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง เริ่มต้นคิดว่าต้องมองดูที่ตัวเด็กเองนั่นแหละ คือพิจารณาเด็ก โดยสัมพันธ์กับตัวของเด็กเอง จากนั้นก็พิจารณาตัวเด็กนั้น โดยสัมพันธ์กับชุมชนของเขา และสังคมประเทศไทยทั้งหมดนี้ แล้วก็พิจารณาเด็กนั้นโดยสัมพันธ์กับโลกทั้งโลก แล้วเราก็จะมองเห็นแง่ต่างๆ ที่ศาสนา และจริยธรรมจะเข้าไปเกี่ยวข้อง กล่าวคือ

เริ่มพิจารณาตั้งแต่ในแง่ที่หนึ่งว่า เด็กนั้นกับตัวเขาเอง หรือเยาวชนกับตัวของเขาเองนั้น ศาสนาจะมีอะไรให้แก่เขาบ้าง เราจะพัฒนาเด็กและเยาวชนขึ้นมาให้เป็นคนอย่างไร ให้เป็นคนที่มีบุคลิกภาพอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไร ทำอย่างไรจะให้เขามีชีวิตที่มีความสุข เป็นต้น นี้เป็นเรื่องในแง่ของเด็กกับตัวของเขาเอง หรือเยาวชนกับตัวของเขาเอง เป็นแง่ที่หนึ่งที่เราจะต้องสนใจ เป็นแง่พิจารณาว่า ศาสนาและจริยธรรมมีอะไรให้เขา และจะช่วยหล่อเลี้ยงพัฒนาชีวิตเขาอย่างไร

ทีนี้แง่ที่สอง ก็คือการพิจารณาตัวเด็กนั้นโดยสัมพันธ์กับสังคมไทย ขณะนี้เราพูดกันในประเทศไทย ก็กำหนดเอาสังคมไทย สังคมไทยนี้แยกย่อยออกไป อาจจะแบ่งง่ายๆ คร่าวๆ เป็น ๒ ระดับ คือ ระดับที่หนึ่ง ได้แก่ ตัวเด็กโดยสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่นของเขาเอง และระดับที่สองในวงกว้างออกไป เหนือขึ้นไป ได้แก่ เด็กนั้นโดยสัมพันธ์กับสังคมไทยทั้งหมด ข้อนี้หมายความว่า เราจะให้เด็กของเราเป็นคนที่บำเพ็ญประโยชน์ หรือมีคุณค่าต่อสังคมไทยอย่างไร มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนหรือสังคมของเขาอย่างไร รวมทั้งการแก้ปัญหาต่างๆ ในทางสังคมที่มีอยู่

อาจจะพูดได้ว่า สังคมปัจจุบันนี้มีปัญหามาก ปัญหาสังคมนั้น เป็นไปทั้งในด้านความเสื่อมโทรมย่อหย่อนอ่อนแอ เช่น การมีอบายมุขมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของยาเสพติด การพนัน และการประพฤติผิดวิปริตทางเพศเป็นต้น ตลอดจนการทุจริตคอรัปชั่นต่างๆ ซึ่งเป็นบรรยากาศที่เสื่อมโทรมในทางสังคมที่แวดล้อมตัวเด็กอยู่ ซึ่งเด็กจะต้องไปประสบเผชิญและอยู่ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ เราจะต้องพัฒนาตัวเด็กขึ้นไป เพื่อไม่ให้เป็นอย่างนั้น และเพื่อจะสร้างสรรค์สังคมใหม่ ให้เปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็นกระแสที่ไม่ดี หันมาเป็นแนวทางที่ถูกต้อง อันนี้ในด้านหนึ่ง คือ ความอ่อนแอ และเสื่อมโทรมที่เราเห็นกันทั่วไปและก็บ่นกันมาก

ส่วนอีกด้านหนึ่งก็คือปัญหาเกี่ยวกับความรุนแรง ได้แก่ การเบียดเบียน และการทำลาย ความขัดแย้งในทางสังคม การต่อสู้ การข่มเหง การเอารัดเอาเปรียบอะไรต่างๆ ตลอดจนทำลายกัน อันนี้ก็เป็นปัญหาของสังคมอีกด้านหนึ่ง ซึ่งก็มีมาก ปัญหาทั้งสองด้านนี้สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ความเสื่อมโทรมอ่อนแอ และการเบียดเบียนรุนแรงต่อกันและกัน เป็นปัจจัยที่อิงอาศัย ส่งเสริมหนุนซึ่งกันและกันให้ทวีเพิ่มพูนยิ่งขึ้น เราจะต้องมองดูศาสนาและจริยธรรมที่จะให้หรือจะนำมาพัฒนาตัวเด็ก โดยสัมพันธ์กับปัญหาสังคมนี้ ว่าจะช่วยทำให้เด็กของเราพัฒนาขึ้นมาในลักษณะที่แก้ปัญหาสังคมได้อย่างไร ให้เขาเป็นคนที่ช่วยแก้ปัญหาสังคม โดยที่ตัวเขาเองก็ไม่เป็นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมเหล่านั้น แต่เป็นผู้ที่จะไปช่วยพัฒนาสร้างสรรค์สังคมต่อไป

แง่ที่สามก็คือ มองตัวเด็กนั้นโดยสัมพันธ์กับโลกทั้งหมด เมื่อกี้นี้เรามองในแง่สังคมไทย คือมองในแง่ที่ว่าจะสร้างพลเมืองที่ดี หรือสมาชิกของสังคมไทยที่ดี ทีนี้ เด็กนั้นนอกจากเป็นพลเมืองก็เป็นพลโลกด้วย จึงต้องมองดูเด็กในฐานะที่เป็นพลโลก เราจะสร้างเด็กให้เป็นคนอย่างไร ให้เติบโตขึ้นเป็นคนที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของโลกมนุษย์ ของอารยธรรมของมนุษย์ มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์พัฒนาอารยธรรมของมนุษย์อย่างไร อันนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน เรามักจะมองจำกัดแคบในแง่ของสังคมไทยเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน โลกของเรานี้แคบมากแล้ว เราจะพิจารณาแค่นั้นไม่ได้ โดยเฉพาะในการที่จะให้ชาติของเรามีความพัฒนาเจริญก้าวหน้า เราจะต้องมองกว้างถึงสังคมโลกหรือประชาคมโลกทั้งหมด ในแง่ที่ว่าเรานี้มีอะไรที่จะให้แก่โลกบ้าง หรือมีส่วนร่วมอะไรในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลกมนุษย์ ชาติไทยเรานี้ได้สร้างสรรค์พัฒนาสังคมของตัวเองเรื่อยมา แล้วเราได้มีอะไรที่เป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ความเจริญแห่งอารยธรรมของมนุษยชาติบ้าง อันนี้ก็เป็นข้อที่ต้องคิดพิจารณา การสร้างสรรค์อารยธรรมของโลกนั้น ในปัจจุบันจะต้องเน้นการแก้ปัญหาเป็นสำคัญ เพราะเวลานี้โลกมนุษย์ที่ว่าเจริญมากมายนั้น ก็เจริญไปพร้อมกับปัญหาที่มากขึ้นด้วย

แง่พิจารณาในการที่ศาสนาจะแก้ปัญหา และพัฒนาเยาวชน

ตกลงว่า องค์ประกอบ ๓ ประการของการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษยชาติ ขณะนี้มีภัยร้ายแรงทั้งหมด สามารถที่จะนำมนุษย์ไปสู่ความสูญสิ้นได้ทั้งนั้น ทั้งชีวิตด้านกายและใจ ก็มีปัญหามาก ด้านสังคมก็มีปัญหามาก ด้านธรรมชาติแวดล้อมก็กำลังเป็นปัญหาใหญ่ อย่างที่กล่าวมา เรื่องราวเหล่านี้ ผู้ทำงานเกี่ยวกับศาสนาและจริยธรรมจะต้องมอง คือจะต้องเข้าใจ และจะต้องรู้สึกว่าตนมีส่วนร่วม มีความเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจะต้องเข้าไปจับจุดให้ถูกว่า เมื่อมองปัญหาเหล่านี้ในแง่ศาสนาและจริยธรรม จุดเกี่ยวข้องของเราอยู่ในแง่มุมไหน เราจะเข้าไปสัมพันธ์กับเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีอย่างไร คือไม่มองที่จะแก้ปัญหาโดยลำพังตัวของศาสนาและจริยธรรมอย่างเดียว แต่จะต้องมองโดยความสัมพันธ์กับกิจกรรมด้านอื่นของมนุษย์ด้วย คือเราจะต้องไปสัมพันธ์กับเรื่องเศรษฐกิจ เราจะต้องไปสัมพันธ์กับเรื่องทางด้านจิตวิทยา ตลอดจนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศาสนาและจริยธรรมต้องเข้าไปเกี่ยวข้องหมด แม้แต่การที่ว่าจะผลิตเทคโนโลยีกันอย่างไร จะใช้เทคโนโลยีกันอย่างไร ก็เป็นปัญหาทางจริยธรรมทั้งนั้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่กล่าวมาจึงเป็นเรื่องที่ศาสนาและจริยธรรมจะต้องเกี่ยวข้องทั้งหมด เป็นอันว่า เราจะต้องพิจารณาเรื่องการสร้างสรรค์และพัฒนาเด็กและเยาวชนนี้

ในแง่ที่หนึ่ง คือ มองที่ตัวเด็กเอง โดยสัมพันธ์กับตัวของเขาเอง อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า เราจะให้เด็กเป็นคนที่มีบุคลิกภาพอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไร มีความสุขได้อย่างไร

ในแง่ที่สอง มองเด็กนั้นโดยสัมพันธ์กับสังคมไทย เริ่มตั้งแต่ชุมชนท้องถิ่นขึ้นมาจนถึงสังคมไทยทั้งประเทศ ว่าเราจะให้เด็กและเยาวชนเป็นคนอย่างไร จึงจะพร้อมที่จะไปเป็นประโยชน์ในการพัฒนาสังคมไทยให้เจริญรุ่งเรือง เด็กและเยาวชนที่จะมาพัฒนาสังคมไทยต่อไปนี้ ควรจะมีคุณสมบัติหรือคุณภาพอย่างไร นี้ก็เป็นหน้าที่ของศาสนาและจริยธรรมที่จะต้องพิจารณา

ในแง่สุดท้าย ก็คือ มองในฐานะที่เยาวชนนั้นจะเติบโตเป็นพลโลก ว่าเขาจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาโลก พัฒนาอารยธรรมมนุษย์อย่างไร ซึ่งอาจจะมองในแง่ที่ว่าเป็นคนไทยที่จะไปมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก การมองทั้งหมดที่พูดนี้ เป็นการมองในแง่เทศะ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะเอาเป็นจุดตั้งได้ ในการพิจารณาว่าเราจะพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างไร แต่ยังมีแง่ที่สองที่จะต้องพิจารณาอีกคือ ในแง่กาละ ซึ่งจะต้องพิจารณาควบคู่เคียงกันไปกับการมองทางด้านเทศะ ในแง่กาละนั้น แยกได้ ๒ ด้านคร่าวๆ คือ

แง่ที่ ๑. กาละที่เป็นเรื่องสามัญตลอดเวลา หมายความว่า เป็นเรื่องตลอดกาลนั่นเอง คือเราจะให้เด็กเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อย่างไร เป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพอย่างนี้ๆ ซึ่งอยู่ได้ในทุกกาลสมัย ตามหลักการยืนตัวที่ว่า ในฐานะที่เป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคใด กาลใด สมัยใด ก็จะต้องเป็นคนที่มีคุณภาพอย่างนี้ อันนี้เรียกว่า พิจารณาในแง่กาละที่เป็นกลางๆ เป็นเรื่องของกาลเวลาใดก็ได้ ไม่ขึ้นต่อยุคสมัย เป็นพื้นฐานยืนตัวในด้านกาลเวลา

แง่ที่ ๒. กาละที่เป็นของจำเพาะยุคสมัย เฉพาะกาล หรือเฉพาะสถานการณ์ หมายความว่า สังคมไทยเวลานี้ มนุษยโลกในเวลานี้มีสภาพอย่างไร มีสถานการณ์ที่เป็นปัญหาอย่างไร ต้องการคุณสมบัติอะไรเป็นพิเศษ ขาดแคลนคุณธรรมและจริยธรรมอะไร มีความบกพร่องเกี่ยวกับศาสนาทางด้านไหนเป็นพิเศษ ซึ่งจะต้องเสริมสร้างเพิ่มเติมในด้านนั้นๆ จุดเน้นอยู่ที่ไหน ในเฉพาะกาลสมัยนั้น แง่นี้ก็เป็นเรื่องสำคัญมากเช่นเดียวกัน

รวมความว่า จะต้องพิจารณาทั้งสองอย่างควบคู่กันไป คือจะต้องมองดูเด็กแง่ที่หนึ่ง ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งจะอยู่ในยุคใด สมัยใดก็ได้ มองว่าเขาจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้อย่างไร และในแง่ที่ ๒ มองว่าเฉพาะในยุคสมัยนี้นั้น ปัญหาเป็นอย่างไร แล้วพิจารณาการที่จะพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยสัมพันธ์กับปัญหานั้น และการแก้ปัญหานั้น แล้วอันนี้จะโยงกลับไปหาเทศะเมื่อกี้นี้อีก เช่นว่า ในแง่เฉพาะกาลสมัย สังคมไทยในเวลานี้เป็นปัญหาอย่างไร จะต้องเน้นอะไร และในด้านปัญหาของโลกทั้งหมด ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร จะต้องเน้นในแง่ไหนอย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นแง่พิจารณา ซึ่งเราจะต้องหยิบยกขึ้นมาพูดกันในการหาหนทางที่จะสร้างพัฒนาเยาวชน ถ้าเราได้แง่พิจารณาอย่างนี้แล้ว ก็จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ลักษณะปัญหาในการพัฒนาของสังคมไทย

อนึ่ง ในเรื่องของกาลเวลานี้ ขอยกตัวอย่างสักหน่อย คือ เมื่อกี้ได้บอกแล้วว่า เราพิจารณาปัญหาศาสนาและจริยธรรมของเด็กและเยาวชนนั้น ในแง่ที่ ๑ คือในแง่ของเวลาที่เป็นกลางๆ ยืนตัวอยู่ทุกยุคทุกสมัย และในแง่ที่สองว่า เฉพาะยุค เฉพาะสมัย ทีนี้ เราจะพิจารณาอย่างกว้างๆ ว่าสังคมไทยของเรานี้ ในแง่เฉพาะยุคสมัยปัจจุบันนี้มีปัญหาอย่างไร สภาพของสังคมไทยในปัจจุบันนี้ ในแง่หนึ่ง อาจจะมองได้โดยเทียบกับวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ทั้งหมด ในสังคมที่พัฒนาแล้ว บางทีเขาแบ่งระยะเวลาการพัฒนาของมนุษย์เป็น ๔ ยุคสมัย

ยุคที่ ๑ คือ ยุคบุพกาล เป็นยุคที่มนุษย์ยังไม่รู้จักทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการสร้างสรรค์ของตนเอง ต้องอาศัยธรรมชาติ โดยไปเที่ยวหาเก็บอาหารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ คือพืชพันธุ์ธัญญาหารที่มันขึ้นเอง เก็บเอาข้าวเอาผลไม้ต่างๆ มา แล้วก็เที่ยววิ่งล่าสัตว์ จับสัตว์มากินเป็นอาหาร ต่อมาเจริญขึ้นก็เป็นยุคที่ ๒

ยุคที่ ๒ คือ ยุคเกษตรกรรม มนุษย์เริ่มรู้จักทำมาหากิน ปลูกข้าวปลูกต้นไม้ของตนเอง และจับสัตว์มาเลี้ยง เป็นการรู้จักทำของของตนเอง โดยเรียนรู้ธรรมชาติ แล้วก็ดำเนินชีวิต ปฏิบัติจัดทำกิจกรรมต่างๆ ในการดำเนินชีวิตของตนให้สอดคล้องกับวิถีของธรรมชาติ แล้วสิ่งต่างๆ ก็เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ตามความต้องการของมนุษย์ เหมือนกับว่ามนุษย์ทำสิ่งของต่างๆ เป็นของตนเองได้ มีอาหารเป็นของตนเอง โดยที่ว่าปลูกพืชเอง แล้วก็เลี้ยงสัตว์เอง สภาพนี้เป็นยุคเกษตรกรรม ในยุคเกษตรกรรมนี้ นอกจากทำมาหากินเองแล้ว ยังนำมาแลกเปลี่ยน ค้าขายกันด้วย ทำให้สังคมมนุษย์เจริญขึ้นมามาก

ยุคที่ ๓ คือ ยุคอุตสาหกรรม เมื่อมนุษย์เจริญขึ้นไปอีกโดยรู้จักสร้างเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ผลิตของกินของใช้ได้ทีละมากๆ ผลิตเครื่องมือที่ใช้ในการทำมาหาเลี้ยงชีพ และดำเนินชีวิตให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ก็เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นยุคที่เทคโนโลยีเจริญมากขึ้น ในยุคเกษตรกรรมก็มีเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน แต่พอถึงยุคอุตสาหกรรมก็มีเทคโนโลยีขั้นพัฒนา ตอนนี้ความสำคัญหรือบทบาทของเทคโนโลยีมากขึ้นเป็นอย่างยิ่ง แล้วต่อมาในปัจจุบันนี้ สังคมก็เจริญพัฒนามากขึ้นไปอีก จนก้าวขึ้นไปสู่ยุคใหม่ ที่เขาเรียกว่า ยุคข่าวสารข้อมูล

ยุคที่ ๔ คือ ยุคข่าวสารข้อมูล หรือยุคสารสนเทศ แล้วแต่จะบัญญัติศัพท์กันไป ยุคนี้เป็นยุคที่กำลังเริ่มเด่นขึ้นมา ถือว่ามนุษย์กำลังก้าวพ้นยุคอุตสาหกรรม หรือผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรมไปแล้ว

นี้เป็นเรื่องการแบ่งยุคสมัยของประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในประเทศไทยของเรานี้ ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแท้จริง คือเราไม่ได้ก้าวมาตามลำดับอย่างนั้น เรามาอยู่ในยุคเกษตรกรรมและยังไม่ทันจะก้าวพ้นยุคเกษตรกรรมเลย ระบบอุตสาหกรรมก็เข้ามาจากต่างประเทศ เราก็อยากจะรับเอาอุตสาหกรรมเข้ามาไว้ โดยที่คนไทยส่วนมากก็ยังดำเนินชีวิตแบบเกษตรกรรมอยู่ แล้วทีนี้ขณะที่ยุคอุตสาหกรรมก็ยังไม่ทันตั้งตัวได้ คนไทยเรายังไม่ได้ทำสังคมของตนให้เป็นสังคมอุตสาหกรรมสักหน่อย ก็พอดียุคข่าวสารข้อมูลเข้ามาอีก คอมพิวเตอร์เข้ามา ทีวี ดาวเทียม ข่าวสารข้อมูลต่างๆ แพร่สะพัดไปหมด พอระบบข่าวสารข้อมูลมาถึง คนไทยก็จะเอาอีก ตกลงยุคเกษตรกรรมก็ยังไม่ผ่าน ยุคอุตสาหกรรมก็ยังไม่ถึง ยุคข่าวสารข้อมูลก็มาอีก ปะทะกัน ๓ ยุคเลย คนไทยเรานี้อยู่หมดทั้ง ๓ ยุค

ดังนั้น เราจะต้องรู้จักสังคมไทยในลักษณะที่ต่างจากสังคมอื่น สังคมไทยเป็นสังคมที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งไม่เหมือนกับสังคมที่พัฒนาแล้ว การแก้ปัญหาของสังคมไทยนั้น จะไปเอาอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น อเมริกา ไม่ได้ เพราะสังคมไทยมีลักษณะเฉพาะของตนเอง ที่เป็นสังคมซึ่งคล้ายกับว่ามีทั้งยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรม และยุคข่าวสารข้อมูลอยู่ด้วยกัน มีความซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง เราจะต้องมีความเข้าใจในปัญหา และเหตุปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ให้ถูกต้อง

ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ จะยกตัวอย่างว่าเรามีปัญหาในยุคเกษตรกรรมอย่างไร สังคมยุคเกษตรกรรมของคนไทยขณะนี้ ส่วนมากอยู่ในชนบท โดยที่ชาวชนบทส่วนมากเป็นชาวนาถึง ๗๕-๘๐% แต่เราก็มีปัญหา เช่นว่า เวลานี้ ชาวชนบทรวมทั้งเด็กและเยาวชน พากันอพยพออกจากภาคเกษตรกรรมในชนบท เข้ามาหางานทำในภาคอุตสาหกรรมในกรุง ทำให้ชนบทและภาคเกษตรกรรมขาดแรงงานที่จะพัฒนาตนเอง เราต้องการให้ประเทศไทยได้พัฒนา แต่ในขณะที่ประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นชนบท ชนบทนั้นก็ขาดแรงงานที่มีคุณภาพ แล้วจะพัฒนาตัวเองได้อย่างไร เมื่อคนที่มีคุณภาพในชนบทเข้ามาทำงานในกรุงหมด ชนบทก็ขาดแคลนแรงงาน มีแต่คนแก่ และเด็กเล็กๆ ชนบทก็พัฒนาได้ยาก เพราะไม่มีปัจจัยที่สำคัญ คือ แรงงานที่จะทำ

การพัฒนาด้านเกษตรกรรมของเรานี้ นอกจากจะมีปัญหาเรื่องแรงงาน ที่ออกจากถิ่นฐานไป แล้วก็อ่อนแอ เหลือแต่แรงงานที่ไร้คุณภาพแล้ว ก็ยังมีปัญหาทางด้านค่านิยมของคนอีกด้วย ในสังคมไทยโดยทั่วไป คนค่อนข้างจะดูถูกอาชีพเกษตรกรรม ชาวไร่ชาวนาต้องการที่จะไปดำเนินชีวิตแบบอื่น เด็กโตขึ้นมาแล้วก็ดูถูกอาชีพของพ่อแม่ ไม่อยากทำนาทำไร่เหมือนอย่างพ่อแม่ แต่ต้องการอพยพเข้าไปอยู่ในเมือง ทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างอื่นที่หวังว่าจะทำให้เป็นผู้มีฐานะ เป็นนักธุรกิจ เป็นคนมีหน้ามีตาอยู่ในกรุง นี้เป็นเรื่องของค่านิยม

อย่างไรก็ตาม ค่านิยมเกี่ยวกับอาชีพนี้ อิงอยู่กับค่านิยมนับถือฐานะทางเศรษฐกิจด้วย ดังนั้น ถ้าทำให้อาชีพเกษตรกรรมมีรายได้ดี การดูถูกอาชีพเกษตรกรรมก็จะผ่อนเบาลง ในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพ ก็ปรากฏว่ามีลักษณะที่เป็นแนวโน้มในทางที่พึ่งตนเองไม่ได้ จะพาชีวิตและสังคมของตนเองไปสู่ภาวะที่หมดอิสรภาพ คนไทยนี้มีลักษณะที่รับง่าย รับเก่ง เข้าถึงเทคโนโลยีได้เร็ว เทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาเท่าไรรับหมด ในภาคเกษตรกรรมในชนบท เทคโนโลยีก็เข้าไปถึง

เพราะฉะนั้น ปัจจุบันนี้ เราจะทำงานด้านเกษตรกรรมด้วยเครื่องมือทางเทคโนโลยีกันอย่างมาก เดี๋ยวนี้จะหาควายก็หาได้ยากเต็มทีแล้ว ไปต่างจังหวัด บางจังหวัดมองไม่เห็นเลยสักตัว รถวิ่งไปตลอดตั้งหลายชั่วโมง ไม่มีควายเหลือให้เห็นเลย หมายความว่า เดี๋ยวนี้เราหันมาใช้ควายเหล็ก เอารถไถอะไรต่างๆ มาใช้แทนควายแทบหมดแล้ว ข้อสำคัญคือ เทคโนโลยีนั้นเราก็ผลิตเองไม่ได้ จึงนำไปสู่ภาวะพึ่งพาเป็นประการที่ ๑ คือ พึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอก

ประการที่ ๒ เมื่อใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเรายังต้องอาศัยนำเข้ามาจากต่างประเทศ นอกจากนั้น เราก็นิยมใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยวิทยาศาตร์ ซึ่งก็ผลิตส่งเข้ามาจากภายนอกสังคมของตนเอง นอกท้องถิ่นของตน ล้วนแต่เป็นการที่ต้องพึ่งพาอาศัยภายนอกไปหมด ยิ่งกว่านั้นยังต้องใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหนู ยาฆ่าปู ยาฆ่าหญ้า อะไรต่างๆ อีก เป็นการใช้สารเคมีที่ต้องนำเข้ามาจากภายนอกสังคมของตนทั้งสิ้น เพราะเป็นผลิตผลที่เกิดจากเทคโนโลยี ซึ่งตนเองไม่มีและไม่รู้จักผลิต เมื่อไม่มีก็ต้องไปซื้อหามาใช้ เป็นการพึ่งพาผลิตผลจากภายนอก ยิ่งกว่านั้น เมื่อไม่มีเงินพอที่จะซื้อก็ต้องไปกู้ยืมทุนจากภายนอกสังคมของตนอีก กลายเป็นการพึ่งพาในด้านทุนดำเนินกิจการ หรือทางด้านทุนทรัพย์ด้วย รวมความว่า เป็นลักษณะของการดำเนินกิจกรรมและการดำเนินชีวิตในแบบพึ่งพา ซึ่งจะนำสังคมไปสู่ความหมดอิสรภาพ ไม่เป็นสังคมที่ผลิตเทคโนโลยีและสิ่งต่างๆ เป็นของตนเอง ต้องพึ่งพาอาศัยขึ้นต่อภายนอก เกษตรกรรมในสภาพอย่างนี้เป็นเกษตรกรรมที่มีความหวังน้อย มีความหวังที่ค่อนข้างเลือนลาง เพราะฉะนั้น เราจะต้องแก้ไข และจะต้องรู้ตระหนักว่า ปัญหาเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับศาสนาและจริยธรรมด้วย อย่ามองแค่เพียงว่าเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น ที่จริงศาสนาและจริยธรรมเป็นตัวแกนสำคัญของเรื่องทีเดียว เช่น ในเรื่องค่านิยมเป็นต้น ซึ่งมีอิทธิพลต่อเรื่องเหล่านี้อย่างมาก

จะขอยกตัวอย่างเช่นว่า ทำไมเทคโนโลยีจึงเข้าไปในชนบท และเข้าไปในลักษณะไหนบ้าง เทคโนโลยีเข้าไปในชนบท ในลักษณะใหญ่ ๒ ประการ คือ

๑. ในด้านการผลิต อย่างที่ได้กล่าวมา ซึ่งเป็นการผลิตที่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก เป็นเทคโนโลยีที่ขึ้นต่อผู้อื่น

๒. ในด้านการเสพหรือบริโภค คือ ใช้เทคโนโลยีเพื่อการบำรุงบำเรอชีวิต เพื่อความหรูหราฟุ่มเฟือย เช่น เห็นเขามีรถเครื่อง ก็ต้องมีบ้าง ตอนนี้เขามีรถปิคอัพ ก็ต้องมีบ้าง และมีโดยมุ่งเพื่อโก้เก๋มากกว่าจะมองถึงประโยชน์ในการใช้สอย หากยังไม่มีทุนทรัพย์พอ ก็กู้หนี้ยืมสินมา พอใครมีทีวี มีวีดีโอ มีสิ่งฟุ่มเฟือยหรูหราอะไร ก็ต้องมีกันให้หมด ต้องแข่งกันมี แต่เมื่อได้มาแล้วก็ไม่ได้ใช้หาข่าวสารข้อมูล ไม่ได้หาความรู้ อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในสังคมไทย คือ สิ่งที่เป็นเครื่องมือสื่อสารข้อมูลเข้าไปถึงประชาชน แต่ไม่สื่อสารเข้าไป สื่อสารไม่นำสารแต่กลับไปสื่อไร้สาร

สาร ก็คือ สาระ คำว่าสื่อสาร หมายความว่า นำพาสิ่งที่เป็นสาระเข้าไป คือนำข้อมูลความรู้ต่างๆ หมายความว่า เรามีเทคโนโลยี มีทีวี มีวีดีโอนี่ วัตถุประสงค์ที่แท้จริงก็เพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิต ด้วยการสร้างสรรค์ความรู้ ทำให้เกิดสติปัญญา และการได้แบบอย่างต่างๆ ที่จะเอามาใช้พัฒนาชีวิตและสังคมของตนเอง แต่เราซื้อหาสิ่งที่เป็นเครื่องมือสื่อสารที่เป็นเทคโนโลยีเหล่านี้ไป โดยที่ไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ทางการสื่อสาร แต่ใช้เพื่อการบันเทิง สนุกสนานรื่นรมย์ มัวเมา แม้แต่การพนัน โดยใช้ทีวีเล่นมวยตู้เป็นต้น เสร็จแล้วสิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ชีวิตของคนในสังคม โดยเฉพาะในชนบทไม่พัฒนา ทำให้มีลักษณะพึ่งพายิ่งขึ้น

ตกลงว่า เทคโนโลยีเข้าถึงประชาชนในชนบทในลักษณะการผลิตที่เป็นการพึ่งพา แล้วก็สนองค่านิยมบริโภคในลักษณะที่นำเอาความสนุกสนานบันเทิง ความฟุ้งเฟ้อหรูหราเข้าไป ไม่ได้นำเอาความรู้ หรือสาระที่จะใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตเข้าไป ถ้าอย่างนี้ มันก็ล้วนแต่เป็นปัญหาทั้งสิ้น

ถ้าชุมชนชนบทอยู่ในสภาพอย่างนี้ ก็จะเป็นชุมชนที่หมดอิสรภาพ ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ต้องพึ่งผู้อื่น ขึ้นต่อผู้อื่นทั้งหมดเรื่อยไป ภาคเกษตรกรรมและภาคชนบททั้งหมดก็จะไปไม่รอด ไม่สามารถจะพัฒนาให้ได้ผล รากฐานสำคัญของปัญหานี้ คือ ความขาดแคลนบกพร่อง หรือความผิดพลาดทางศาสนาและจริยธรรม ทำอย่างไรเราจะแก้ค่านิยมเกี่ยวกับความฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อหรูหรา ค่านิยมบริโภคให้เบาบางลงได้

ทำไมเราจึงหาสิ่งฟุ่มเฟือยกันนัก บางทีเราก็หาเพียงเพราะว่าเพื่อนเขามีกัน ฉันไม่มีแล้วจะน้อยหน้าเขาเป็นต้น ซึ่งเป็นค่านิยมของการอวดโก้ ซึ่งทำให้คิดแข่งกันว่า ถ้าใครมีของใหม่สุดหรือแพงที่สุด คนนั้นโก้กว่าเขาอะไรทำนองนี้ ซึ่งเป็นปัญหาทางจริยธรรม โยงไปถึงการไม่มีนิสัยรักงาน หรือการที่ไม่มีค่านิยมในการผลิต ซึ่งก็ล้วนเป็นปัญหาทางด้านจริยธรรมทั้งสิ้น เราจะต้องมองปัญหาเหล่านี้โดยสัมพันธ์กับศาสนาและจริยธรรม

ดังนั้น ผู้ที่มีความรับผิดชอบทางฝ่ายศาสนาและจริยธรรม จะต้องมองถึงบทบาทของตนเองว่า ควรจะเข้าไปทำอะไร หรือจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาอย่างไร นี้เป็นตัวอย่างในภาคเกษตรกรรม

ปัญหาที่รอหน้าการพัฒนาอุตสาหกรรม

ทีนี้ ข้อที่สอง ในภาคอุตสาหกรรม เมื่อจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เรามีปัญหาอย่างไร เราอยากเข้าถึงยุคอุตสาหกรรม อยากเจริญตามฝรั่ง เวลาเรามองภาพของความเจริญ ภาพความเจริญที่เรามองนั้น เป็นความเจริญแบบเอาฝรั่งเป็นแบบอย่าง เอานิวยอร์คบ้าง เอาชิคาโกบ้าง เป็นตัวอย่าง เดี๋ยวนี้ก็อาจจะมองญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างบ้าง การที่เราจะเจริญตามฝรั่งนั้น เราเข้าใจความหมายของคำว่าเจริญอย่างไร ความเข้าใจคำว่า เจริญ ในจิตใจของแต่ละคน เป็นตัวตัดสินแนวทางในการพัฒนาประเทศ และเป็นตัวตัดสินยุคอุตสาหกรรมของเราว่าจะไปได้ดีหรือไม่ ความหมายของคำว่า เจริญ ที่อยู่ในใจของคนไทยส่วนมากเป็นอย่างไร

คำว่า เจริญ นั้น ดังได้กล่าวแล้วว่า เรามองภาพของประเทศทางตะวันตกเป็นตัวอย่าง มองความเจริญที่ฝรั่ง เมื่อเอาฝรั่งเป็นตัวอย่าง เป็นแบบของความเจริญ แล้วเรามองว่า เจริญนี้คืออย่างไร ที่ว่าเจริญอย่างฝรั่ง หรือเจริญอย่างตะวันตกนั้น เวลาเรามองภาพความเจริญ พวกที่ ๑ จะบอกว่า ถ้าเรามีกินมีใช้เหมือนกับฝรั่ง ก็คือเราเจริญ เจริญ คือ มีกินมีใช้อย่างฝรั่ง หมายความว่า ฝรั่งมีอะไรเราก็มีบ้าง เขามีทีวี เราก็มีทีวี เขามีรถยนต์หรูหรา เราก็มี เขามีตึกใหญ่ๆ เราก็มี เขามีอะไรเราก็มีหมด เรามีกินมีใช้อย่างฝรั่ง นี้เป็นความหมายของคำว่าเจริญแบบที่ ๑

ต่อไปพวกที่ ๒ ในบางประเทศ ความเจริญมีความหมายอย่างนี้ คือ ที่ว่าเจริญอย่างฝรั่ง ก็คือ ทำได้อย่างฝรั่ง ฝรั่งทำอะไรได้ ฉันก็ทำได้หมด ฝรั่งทำทีวี ทำคอมพิวเตอร์ได้ ฉันก็ทำได้ ฝรั่งทำอะไรมา ฉันทำเป็นหมด อย่างนี้เป็นความหมายของความเจริญแบบที่ ๒

ทีนี้ คนไทยส่วนใหญ่มองภาพของความเจริญอย่างไร ถ้ามองว่าเจริญอย่างฝรั่ง คือมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง ฝรั่งมีอะไร ใช้อะไร ฉันก็มี ฉันก็ได้ใช้อย่างนั้น ก็เป็นความหมายแบบที่ ๑ ความหมายของความเจริญแบบนี้ เรียกว่าเป็นความหมายของความเจริญแบบนักบริโภค นักบริโภคจะต้องมองอย่างนี้ ส่วนพวกที่สอง มองว่าฝรั่งทำอะไรมา ฉันก็ต้องทำได้อย่างนั้น ฉันทำได้อย่างฝรั่ง เรียกว่าเป็นความหมายของความเจริญแบบนักผลิต

ประเทศที่เขามองความหมายของคำว่า เจริญแบบนักผลิต จะสามารถสร้างสรรค์ประเทศในระบบอุตสาหกรรมได้ ถ้าเราจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม จะต้องทำให้ประชาชนมองความหมายของความเจริญอย่างนักผลิต แต่ถ้าประชาชนทั่วไปมีภาพของความเจริญในความหมายของนักบริโภค ก็ยากที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมได้ ถ้าไม่สามารถแก้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของความเจริญอย่างนี้จากจิตใจของประชาชนแล้ว ก็ยากที่จะพัฒนาให้สำเร็จได้ เพราะประชาชนจะไม่มีค่านิยมในการผลิต มีแต่ค่านิยมในการบริโภค

การมีค่านิยมในการผลิตนี้ เป็นตัวกำหนดที่สำคัญ เป็นรากฐานที่จะสร้างสรรค์อุตสาหกรรมให้สำเร็จได้ มิฉะนั้นแล้ว เราจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม โดยเป็นเพียงแหล่งหาผลประโยชน์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นเหยื่อของเขาเท่านั้นเอง ถ้าเป็นอย่างนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็จะมาใช้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งเขาไม่ต้องการผลิตในประเทศของเขาแล้ว เพราะถ้าผลิตในประเทศของเขาจะก่อปัญหา ทำให้ธรรมชาติในประเทศของเขาเสียเป็นต้น ตลอดจนกระทั่งว่า  แรงงานของเขานั้น มีคุณภาพสูง และสถานที่จำกัด จะได้เอาแรงงานและสถานที่นั้นไปใช้ผลิตเทคโนโลยีในระดับที่สูงกว่า ซึ่งเรียกว่า ไฮเทค ได้ แล้วก็เอาเทคโนโลยีในระดับต่ำ หรืออุตสาหกรรมระดับล่างมาให้ประเทศกำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนาผลิต ซึ่งก็เท่ากับกลายเป็นเหยื่อ เป็นแหล่งหาผลประโยชน์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว

ดังนั้น เราจะต้องแก้ปัญหานี้ให้ถูก ซึ่งจะเห็นได้ว่า ศาสนาและจริยธรรมจะต้องมีบทบาทเป็นหลักทีเดียว ในการแก้ปัญหาสังคมไทยในยุคอุตสาหกรรมนี้ นอกจากนั้นแล้ว การที่จะพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม จะต้องมีการพัฒนาในทางวิชาการอย่างสูง เพราะการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น อาศัยความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยเฉพาะความชำนาญพิเศษ กล่าวคือยุคอุตสาหกรรมนั้น เขาเรียกกันว่า เป็นยุคแห่ง specialization เป็นยุคที่คนจะต้องมีความรู้ความชำนาญพิเศษในแต่ละแขนง การพัฒนาด้านวิชาการแต่ละแขนงนั่นแหละ จะนำมาซึ่งความเจริญทางด้านอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมสำเร็จได้ด้วยสิ่งนี้

ทีนี้ การพัฒนาความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านทางวิชาการนี้ เกิดขึ้นได้ด้วยอะไร รากฐานสำคัญคือความใฝ่รู้ ต้องมีความใฝ่รู้จึงจะสามารถพัฒนาวิชาการขึ้นมาได้ ประเทศที่พัฒนาได้สำเร็จ ล้วนมีคนที่มีความใฝ่รู้เป็นหลักอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง แต่ในสังคมไทยเรากำลังมีปัญหาหนักในเรื่องของภาวะขาดความใฝ่รู้ เด็กนักเรียนเข้าเรียนแต่ไม่มีความใฝ่รู้ เรียนโดยไม่อยากรู้ เพียงแต่เรียนไปตามที่ครูอาจารย์มาบอกให้ ห้องสมุดไม่อยากใช้ หนังสือไม่อยากค้น ไม่อยากอ่าน เมื่อไม่มีความใฝ่รู้แล้วจะพัฒนาทางด้านวิชาการได้อย่างไร เรียนสำเร็จมาก็ไม่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ พอไปทำงานก็ไม่มีนิสัยรักงาน จะทำงานก็ทำไปอย่างนั้น ทำไปแกนๆ ให้ได้เงินเดือนผ่านๆ ไป ชอบแต่ความสนุกสนานเพลิดเพลิน

เมื่อเป็นอย่างนี้ อุตสาหกรรมก็ล้มเหลว กลายเป็นอุตสาหกรรมแบบพึ่งพา ไม่เป็นอิสระ นำไปสู่ความหมดอิสรภาพ จึงนับว่าเป็นปัญหาของศาสนาและจริยธรรม ซึ่งมีความสัมพันธ์กับปัญหานี้มากกว่าวิชาการอื่นใด เพราะเป็นปัจจัยหรือเป็นตัวแกนที่จะเข้าไปสอดแทรกในเรื่องเศรษฐกิจ ในเรื่องของเทคโนโลยี ตลอดจนวิทยาศาสตร์ทั้งหมด ถ้าเราพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยไม่มีพื้นฐานด้านจริยธรรม เช่น ค่านิยมที่ถูกต้อง และความใฝ่รู้เป็นต้นนี้แล้ว การพัฒนานั้นจะสำเร็จได้อย่างไร จะเรียนวิทยาศาสตร์กันไปสักเท่าใดก็ไม่สำเร็จ

พร้อมหรือไม่ที่จะก้าวสู่ยุคข่าวสารข้อมูล

ต่อไป ประการที่ ๓ ในฐานะที่ประเทศไทยก็อยากจะเข้าไปสู่ยุคข่าวสารข้อมูลด้วย ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีทางด้านข่าวสารข้อมูลก็เข้ามามากมายแล้ว เรามีเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งได้ใช้ไปในลักษณะที่เป็นสื่อไร้สารกันไม่น้อย ข่าวสารข้อมูลก็หลั่งไหลแพร่ไปมากมาย กระทั่งถ้าจะพูดเป็นสำนวน หรือภาพพจน์ อาจกล่าวได้ว่า คนถูกข่าวสารข้อมูลท่วมทับจนสำลัก ข่าวสารข้อมูลที่มากมายนี้ เพราะเหตุที่มีการเผยแพร่โดยไม่รู้จักจัดสรรบ้าง จัดทำขึ้นด้วยเจตนาที่ไม่มุ่งสาระหรือความจริงบ้าง ไม่รู้จักสรรหา ไม่ได้จัดทำอย่างมีคุณค่า หรือผู้รับไม่รู้จักเลือก ก็กลายเป็นขยะข้อมูล ขณะนี้ในสังคมที่พัฒนาแล้วจะมีปัญหาเรื่องขยะข้อมูล คนไม่สามารถรับข้อมูลได้ทัน เพราะข่าวสารข้อมูลมากมายเหลือเกิน

ถ้าจะหาข่าวสารข้อมูลที่มีสาระจริงๆ มาใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาสังคม จะต้องรู้จักเลือกสิ่งที่มีสาระมีแก่นสาร เป็นความรู้จริงมีประโยชน์ แต่ในปัจจุบันนี้ ถ้าไม่มีการพัฒนาในด้านข่าวสารข้อมูล ก็จะทำให้เกิดขยะข้อมูลมากมาย และคนก็จะได้รับข่าวสารที่เป็นขยะเหล่านี้ไป แล้วใช้ประโยชน์ไม่ได้ หรือแม้กระทั่งเกิดเป็นโทษแก่ชีวิต เดี๋ยวนี้ก็เป็นปัญหามาก ในเรื่องการผลิตขยะข้อมูล

ทีนี้ เมื่อผู้ผลิตสร้างขยะข้อมูลมาก ถ้าฝ่ายผู้รับไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้พัฒนาคุณภาพให้เป็นผู้ที่รู้จักรับและเลือกข่าวสารข้อมูล ก็มีปัญหาอีก แม้แต่เมื่อเขาสร้างข้อมูลและข่าวสารดีๆ มาแล้ว แต่ถ้าคนรับไม่รู้จักรับ ก็รับเอาข่าวสารข้อมูลที่ดีๆ นั้นไม่ได้ กลับไปรับเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ไม่เป็นสาระ แล้วใช้ข้อมูลนั้นไปในทางส่งเสริมค่านิยมฟุ้งเฟ้อหรูหรา มุ่งจะบริโภคอย่างเดียว รับและคัดเลือกข้อมูลไม่เป็น ไม่สามารถเข้าถึงข่าวสารข้อมูล

นี่ก็คือการไม่รู้จักหาความรู้ความจริง ซึ่งความใฝ่รู้ก็มามีบทบาทอีก เพราะเมื่อไม่มีความใฝ่รู้ ก็ใช้การสื่อสารไปในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการแสวงหาความรู้ ไม่รู้จักคิด ชอบมองอะไรพร่าๆ ตื่นตูม ทำให้เกิดข่าวลือได้ง่ายและสับสน ก็เป็นปัญหาอีก เพราะไม่มีความรู้จริง และขาดความคิดที่ชัดเจน เวลามีปัญหา เกิดเรื่องราวต่างๆ ขึ้นแก่สังคม ก็มองอะไรพร่าไปหมด จับประเด็นปัญหาไม่ได้ นอกจากนั้น เมื่อจะไปถ่ายทอดความรู้ ความคิดเห็น ความต้องการของตนแก่ผู้อื่น ก็ขาดความสามารถในการถ่ายทอดและสื่อสารข้อมูลเหล่านั้น ไม่สามารถสื่อความคิด ถ่ายทอดแสดงออกถึงความต้องการของตนให้ชัดเจน ให้ผู้อื่นเข้าใจได้ เหล่านี้เป็นปัญหาในยุคข่าวสารข้อมูล ซึ่งทำให้ไม่สามารถอาศัยข่าวสารข้อมูลมาสร้างปัญญา ที่จะแก้ไขปัญหาหรือคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ การเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลก็เป็นการเข้าไปอย่างที่เรียกว่า ขาดพื้นฐานที่มั่นคง แล้วจะทำให้เกิดโทษแก่ชีวิตและสังคมเป็นอันมาก

เมื่อยุคข่าวสารข้อมูลเข้ามาถึง เราจะทำอย่างไรเพื่อเตรียมเยาวชนให้เป็นผู้พร้อมที่จะเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลได้อย่างดีมีคุณค่า สามารถนำข่าวสารข้อมูลมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาชีวิตและสังคมของเรา นี้เป็นปัญหาสำคัญ

ตกลงว่าประเทศไทยเรากำลังรับยุคทั้ง ๓ คือ ยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรม และยุคข่าวสารข้อมูลไปพร้อมๆ กัน แล้วเราก็มีปัญหาทุกอย่างของทุกยุคสมัยไปพร้อมกันด้วย เพราะฉะนั้น ศาสนาและจริยธรรมจะต้องหาทางเข้ามาแก้ไข เข้าไปสอดแทรก เข้าไปมีบทบาทโดยจับแง่จับมุมของตนเองให้ได้ว่า เรามีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับปัญหาเหล่านี้อย่างไร แง่มุมของเราที่จะแก้นั้นอยู่ที่ตรงจุดไหน จะร่วมมือกับผู้อื่นและกิจกรรมอื่นๆ ในสังคมอย่างไรในการแก้ปัญหาสังคมเหล่านี้ พร้อมทั้งในการที่จะพัฒนาสร้างสรรค์สังคมต่อไป

ทีนี้ สิ่งหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญมาก ในยุคทั้ง ๓ ที่บรรจบกันในปัจจุบันนี้ ก็คือ เทคโนโลยี ซึ่งแม้แต่ตามปกติก็เป็นตัวการสำคัญที่มีบทบาทอยู่แล้วทั้ง ๓ ยุค ดังที่อาตมากล่าวเมื่อครู่ ประเทศของเราในปัจจุบัน ในแง่ที่เป็นยุคเกษตรกรรมก็อาศัยเทคโนโลยี มีเทคโนโลยีใช้มากกว่าฝรั่งในยุคเกษตรกรรมของเขาด้วยซ้ำ ยุคอุตสาหกรรมนี้แน่นอนย่อมมีเทคโนโลยีเป็นเจ้าบทบาทใหญ่ ส่วนในยุคข่าวสารข้อมูลก็อาศัยเทคโนโลยีเป็นตัวแสดงที่สำคัญ แต่เป็นเทคโนโลยีคนละประเภท

สำหรับเทคโนโลยีทั้ง ๓ ประเภทนี้ เราจะใช้ศาสนาและจริยธรรมเข้าไปสัมพันธ์กับมันอย่างไร อย่างน้อยทำอย่างไรจึงจะให้มีเทคโนโลยีในลักษณะที่ยังคงมีอิสรภาพของตนเอง ไม่มีลักษณะพึ่งพาขึ้นต่อสังคมอื่น เช่น จะต้องไม่เป็นผู้ที่เพียงแต่คอยรับเอาเทคโนโลยีมาใช้เท่านั้น จะต้องมีความสามารถในการผลิตเทคโนโลยีด้วย หรือจะมีหนทางอย่างไรที่ตัวเองจะนำสังคมไปให้พ้นจากสภาพของการพึ่งพาผู้อื่นได้ ก็จะต้องมาช่วยกันคิด เหล่านี้เป็นปัญหาทั้งหมด ทุกแง่ ทุกด้าน ผู้ที่มองศาสนาและจริยธรรมนั้น จะต้องนำปัญหาเหล่านี้ทั้งหมดมาพิจารณา

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาเยาวชน

ย้อนกลับมายังหัวข้อต่างๆ ที่พูดไปแล้ว อาตมาได้เริ่มการมองศาสนาและจริยธรรมที่เยาวชนโดยสัมพันธ์กับตัวเด็กเอง นี่เป็นจุดเริ่มแรกก่อน การที่เราจะมองเด็กโดยสัมพันธ์กับสังคมไทย หรือสังคมโลกก็ตาม โดยสัมพันธ์กับกาลสมัยใดก็ตาม จุดแรกต้องเริ่มที่ตัวเด็กเองว่า เราจะเอาอย่างไรกับเด็ก ศาสนาและจริยธรรมมีคุณค่าอะไรที่จะให้แก่เด็ก เราจะสร้างเด็กให้มีบุคลิกภาพอย่างไร ให้เขาใช้ชีวิตอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะทำคนให้มีความสุข ไม่เป็นปัญหาแก่ตัวของเขาเอง ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังสังคม ดังที่กล่าวมาแล้ว เหล่านี้เป็นเรื่องของตัวเด็กเอง ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐาน คือ หน้าที่หรือบทบาทชั้นแรกชั้นต้นของศาสนาและจริยธรรม ที่จะต้องสร้างเยาวชนให้เป็นคนมีคุณภาพ เป็นคนซึ่งพร้อมที่จะอยู่ได้อย่างดีในทุกยุคทุกสมัย และเป็นที่ต้องการของสังคมทุกยุคทุกสมัย ในเวลาที่พูดถึงตัวเด็กเองนี้ การมองจะสัมพันธ์กับกาลเวลาด้วยในแง่ที่ว่า ไม่ต้องขึ้นกับกาลเวลาในยุคสมัยใด เพราะเด็กที่มีคุณภาพที่ดีอย่างแท้จริงนั้น ถ้าเราผลิตขึ้นมาได้ ก็เป็นเด็กที่อยู่ในยุคสมัยใดก็ได้

ในเรื่องนี้เพื่อความรวบรัด จะขอนำหลักธรรมของพระพุทธเจ้ามาแสดงไว้ หลักธรรมที่เราจะนำมาใช้พัฒนาเยาวชนโดยสัมพันธ์กับตัวของเขาเอง หรือชีวิตของเด็กเองนั้น ได้แก่ หลักธรรมชุดที่เรียกว่า รุ่งอรุณของการศึกษา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “แสงเงินแสงทองของชีวิตที่รุ่งเรือง” อาตมาจะต้องขอเน้นย้ำถึงหลักธรรมชุดนี้บ่อยๆ ที่เรียกว่า แสงเงินแสงทองของชีวิตที่รุ่งเรืองหรือของชีวิตที่ดีงามนี้ ก็เพราะว่าในพระพุทธศาสนาท่านเรียกชีวิตที่ดีงามว่า “มรรค” พระพุทธเจ้าตรัสว่า มรรค คือการดำเนินชีวิตที่ดีงามนี้ มีสิ่งที่เป็นตัวนำมาก่อน สิ่งที่นำหน้ามาก่อนที่จะเข้าถึงการดำเนินชีวิตที่ดีงามนี้ ท่านเปรียบเหมือนแสงเงินแสงทอง หรือแสงอรุณ ท่านกล่าวว่า เมื่อพระอาทิตย์จะอุทัยขึ้นมา ย่อมมีแสงเงินแสงทองขึ้นมาก่อน ฉันใด ก่อนที่มรรคจะเกิดขึ้น ก็จะมีธรรม ๗ ประการนำหน้ามาก่อน ฉันนั้น ดังนั้น ธรรม ๗ ประการนั้นจึงเป็นรุ่งอรุณของชีวิตที่ดีงาม หรือชีวิตที่รุ่งเรือง

โดยทั่วไปนั้นเรามักจะมองแต่มรรค คือมองว่า หลักธรรมภาคปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา หรือการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ก็คือมรรค แต่ทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงมรรคนั้น ทำอย่างไรมรรคจะเกิดขึ้น เราไม่ค่อยมอง ทั้งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้ว และทรงเน้นไว้บ่อยๆ ด้วยว่า มีธรรมอยู่ ๗ ประการที่เป็นแสงอรุณของมรรค หรือเป็นตัวชักนำเข้าสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง บางทีก็เรียกว่า รุ่งอรุณของการศึกษา

ทำไมจึงเรียกว่ารุ่งอรุณของการศึกษา เพราะสิกขา หรือการศึกษา ก็คือการทำให้คนสามารถดำเนินชีวิตที่ดีนั่นเอง ดังนั้น จึงโยงสิกขากับมรรคเข้าหากันว่า การศึกษาก็คือการฝึกฝนอบรม หรือการพัฒนาคนให้สามารถดำเนินชีวิตตามมรรค

สิกขาสัมพันธ์กับมรรค เราจะเห็นว่า สิกขาก็มี ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มรรคมีองค์ ๘ ประการ ก็สรุปได้เป็น ๓ เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เหมือนกัน ทำไมจึงซ้ำกัน ก็เพราะว่า ๒ อย่างนี้ ต้องอาศัยกัน มรรคคือการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงาม จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ต้องมีการฝึกให้มีการดำเนินชีวิตอย่างนั้น การฝึกให้มีการดำเนินชีวิตอย่างนั้น คือ สิกขา สิกขาก็คือ การฝึกคนให้สามารถดำเนินชีวิตให้ถูกต้องดีงามตามมรรค สิกขา มีศีล สมาธิ ปัญญา มรรคก็รวมลงในศีล สมาธิ ปัญญา

ดังนั้น ธรรมที่เป็นรุ่งอรุณของมรรค ก็เป็นรุ่งอรุณของสิกขา คือเป็นรุ่งอรุณของการศึกษาด้วย ด้วยเหตุผลดังกล่าว ธรรมหมวดนี้จึงเรียกว่า รุ่งอรุณของการศึกษาก็ได้ เป็นแสงเงินแสงทองของชีวิตที่รุ่งเรืองดีงามก็ได้ เราจะต้องเห็นความสำคัญของหลักธรรมที่เป็นรุ่งอรุณนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้ารุ่งอรุณนี้ปรากฏขึ้นมาแล้ว ไม่ต้องไปเพียรพยายาม มรรคก็จะเกิดขึ้นเอง เหมือนดังแสงเงินแสงทองที่เกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นหลักประกันว่าในไม่ช้า พระอาทิตย์ก็จะต้องขึ้นมา มันเป็นบุพนิมิต ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเพียรพยายาม หากเราสร้างองค์ประกอบหรือหลักธรรม ๗ ประการนี้ขึ้นมาได้แล้ว มรรคจะตามมาเอง แต่เราได้สร้างหรือเปล่า เราจะมุ่งเอาแต่มรรค โดยไม่สร้างองค์ประกอบที่เป็นรุ่งอรุณของมรรค หรือแสงเงินแสงทองของมรรคก่อน แล้วจะสำเร็จได้อย่างไร พระพุทธเจ้าทรงย้ำที่หลักธรรม ซึ่งเป็นแสงเงินแสงทองของมรรค อันมี ๗ ประการด้วยกัน

รุ่งอรุณของการศึกษา

รุ่งอรุณของการศึกษา หรือแสงเงินแสงทองของชีวิตที่รุ่งเรืองดีงาม มี ๗ ประการ คือ

๑. รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้ และแบบอย่างที่ดี ข้อนี้เป็นจุดเริ่มต้น เยาวชนที่จะเติบโตไปสู่ชีวิตที่ดีงาม สามารถพัฒนาชีวิตของเขาเองก็ดี พัฒนาสังคมก็ดี จะต้องเป็นคนที่รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี เด็กที่จะเติบโตและรุ่งเรืองขึ้นมาได้ จะต้องอาศัยปัจจัยแวดล้อม โดยเฉพาะในทางสังคม

การรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดีนี้เป็นจุดเชื่อมต่ออย่างถูกต้อง ในการสัมพันธ์กับสังคม เมื่อสัมพันธ์อย่างถูกต้อง ก็ทำให้เกิดการพัฒนาแก่ชีวิต การสัมพันธ์กับสังคม จะทำให้การพัฒนาชีวิตสำเร็จผลได้ ก็ต่อเมื่อเด็กรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้ และแบบอย่างที่ดี เขาจะเริ่มเป็นผู้กระทำ ไม่เป็นแค่เพียงผู้รับ หรือเป็นผู้ถูกกระทำเท่านั้น เพราะสิ่งแวดล้อมภายนอกทางสังคมนั้นมีทั้งดีทั้งชั่ว เด็กพร้อมที่จะรับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกเหล่านั้น เมื่ออิทธิพลของสิ่งแวดล้อมทางสังคมเข้ามา ถ้าเด็กไม่มีการกระทำของตัวเอง เด็กก็จะเป็นเพียงผู้ถูกกระทำ ก็อาจจะถูกปัจจัยแวดล้อมที่ไม่ดีมาหล่อหลอม ทำให้เกิดผลเสียขึ้น

เด็กที่จะพัฒนาตัวเองได้ จุดเริ่มก็คือ การที่เด็กนั้นเริ่มสัมพันธ์กับปัจจัยแวดล้อมทางสังคมเป็น การรู้จักสัมพันธ์เป็นก็คือ เขารู้จักทำ มีการกระทำของตนเอง ซึ่งเริ่มด้วยการเลือกหาแหล่งความรู้ และได้แบบอย่างที่ดี ฉะนั้น ถ้าเด็กจะทำอะไรก็ตาม เช่น จะดูโทรทัศน์ ถ้าแกมีหลักนี้ ก็ดูโทรทัศน์เป็น รู้จักเลือกหาว่ารายการไหนที่จะได้ประโยชน์ จะได้ความรู้มาสร้างสรรค์ชีวิตของตนเอง พัฒนาตนเอง และรู้จักเลือกแบบอย่างที่ดี พอเรียนหนังสือก็รู้จักใช้ห้องสมุด รู้จักอ่านหนังสือ รู้จักพิจารณาว่า หนังสือไหนควรอ่านเพื่อจะได้ความรู้ อย่างนี้เรียกว่า รุ่งอรุณของการศึกษา เป็นจุดที่การพัฒนาชีวิตเริ่มต้น

หลักธรรมนี้ เรียกว่า กัลยาณมิตตตา พ่อแม่ ครูอาจารย์ สื่อสารมวลชน และผู้ใหญ่ทั่วไป มีหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร โดยเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดี และช่วยจัดสรรสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่เด็ก แต่การที่กัลยาณมิตรจะมาคอยจัดสภาพแวดล้อมให้ ซึ่งรวมไปถึงการคอยช่วยบอกช่วยเลือกว่า หนังสือเล่มนี้ดี รายการโทรทัศน์นี้ดี แค่นี้ยังไม่พอ ยังไม่เข้าถึงเนื้อตัวของการศึกษา เด็กยังต้องพึ่งพาขึ้นต่อปัจจัยภายนอก พ่อแม่และครูอาจารย์ เป็นต้น จะต้องก้าวต่อไปให้ถึงขั้นที่ชี้แนะให้เด็กรู้จักเลือก รู้จักหากัลยาณมิตรด้วยตนเอง คือ รู้จักคบคน รู้จักเลือกหนังสือ รู้จักเลือกรายการโทรทัศน์ รู้จักรับเอาตัวอย่างที่ดีด้วยตนเอง ต้องถึงขั้นนี้จึงจะมั่นใจและไว้ใจได้ เด็กจะไม่มีแต่กัลยาณมิตรเท่านั้น แต่จะมีกัลยาณมิตตตาด้วย และนี่แหละคือการศึกษาที่แท้จริงได้เริ่มต้นแล้ว เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา

๒. รู้จักจัดระเบียบชีวิต และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม คือ ความมีวินัยนั่นเอง ในความมีวินัยนี้ จุดสำคัญที่ควรจะเน้นก็คือ การรู้จักจัดระเบียบชีวิตของตน และรู้จักจัดระเบียบความสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือการอยู่ร่วมกับผู้อื่น วินัยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นตัวเอื้ออำนวยให้เรามีโอกาส มีเวลาที่จะพัฒนาชีวิตของเราได้สะดวกขึ้น

ถ้าชีวิตไม่เป็นระเบียบ สับสน ก็ต้องมัวแต่วุ่นวายติดขัด ไม่ปลอดโปร่ง และไม่รู้จะเอาเวลาที่ไหนมาใช้ประโยชน์ ชีวิตที่จัดระเบียบได้ดีแล้ว เป็นชีวิตซึ่งพร้อมที่จะรับการพัฒนาโอกาสของมนุษย์ในแต่ละวัน เช่น เวลา และความคล่องตัว เกิดจากการรู้จักจัดระเบียบชีวิตของแต่ละคนนั้น ถ้าจัดระเบียบเป็นแล้ว ก็มีเวลาให้ไปทำโน่นทำนี่ได้ประโยชน์เป็นอันมาก ในทางสังคมก็เช่นเดียวกัน ถ้าจัดระเบียบในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นไม่เป็น ก็จะสับสนวุ่นวาย มัวแต่ยุ่งอยู่กับปัญหา เช่นความขัดแย้ง ก็เลยไม่เป็นอันทำอะไร ไม่มีเวลาที่จะใช้โอกาสของชีวิตในการที่จะพัฒนาตน ในการแสวงหาความรู้ เป็นต้น แต่ถ้าจัดระเบียบในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นไว้ดี ก็จะเอื้ออำนวยให้เรามีโอกาสที่จะแสวงหา และทำสิ่งต่างๆ ที่จะพัฒนาชีวิตของตนเองได้

กฎเกณฑ์และกติกาต่างๆ ของสังคม ตั้งแต่ศีล ๕ ลงมาจนถึงวินัยของข้าราชการ ระเบียบในห้องเรียน และกติกาในสนามกีฬา ว่าโดยความมุ่งหมายที่ถูกต้องแท้จริง ก็มุ่งเพื่อให้คนอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน มีความสัมพันธ์ต่อกัน ทั้งในเรื่องทั่วๆ ไป และในเฉพาะแต่ละเรื่อง อย่างสงบราบรื่น ไม่เบียดเบียนข่มเหง แก่งแย่งเอารัดเอาเปรียบกัน การอยู่ร่วมและกิจกรรมนั้นๆ จะได้ดำเนินไปด้วยดี บรรลุผลตามวัตถุประสงค์

ดังนั้น การจัดระเบียบชีวิต และระเบียบการอยู่ร่วมในสังคม จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ท่านจึงจัดเป็นอันดับ ๒ เรียกง่ายๆ ว่า ชีวิตมีวินัย ซึ่งในที่นี้ให้เข้าใจว่า เป็นการจัดระเบียบของชีวิต และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้ชีวิตนั้นมีเวลาและโอกาส เป็นชีวิตที่มีสภาพความเป็นอยู่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาตนเอง นี้ก็คือหลักธรรมที่เรียกว่า สีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีล แปลให้เป็นภาษาสมัยใหม่ว่า การจัดระเบียบชีวิตและจัดระเบียบการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี

๓. มีแรงจูงใจที่ถูกต้อง คือใฝ่รู้และใฝ่สร้างสรรค์ คนเราที่จะพัฒนาชีวิตไปได้ จะต้องมีแรงจูงใจ ไม่ว่าจะเรียนหนังสือ หรือจะทำอะไรสักอย่างก็ต้องมีแรงจูงใจ คือมีความอยากมีความปรารถนา เช่น นักเรียนอยากได้ประกาศนียบัตร อยากได้งานที่ดีทำ อยากมีเงินเดือนดี จึงเข้าเรียนหนังสือ จึงเลือกเรียน เลือกวิชา เลือกอาชีพ ที่ตนคิดว่าจะทำให้ได้เงินดี แต่นี่เป็นความอยากหรือความปรารถนาที่หยาบๆ ตื้นๆ ลึกลงไปกว่านั้น ถ้าเด็กมีความใฝ่รู้ อยากรู้ความจริงของสิ่งต่างๆ และอยากรู้วิชาการนั้นๆ เช่น อยากรู้กฎทางวิทยาศาสตร์ อยากรู้ความจริงของเรื่องราวนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร เขาก็จะต้องตั้งใจอ่านหนังสือค้นคว้าตำรับตำรา ตั้งใจทดลองสิ่งต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดความรู้ แรงจูงใจจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ท่านจัดไว้เป็นอันดับที่ ๓ คือต้องมีแรงจูงใจที่ถูกต้อง

แรงจูงใจที่ถูกต้อง ที่จะทำให้มนุษย์พัฒนาตนเองได้ คือ แรงจูงใจที่เรียกว่า ฉันทะ ได้แก่ ความใฝ่รู้ และใฝ่สร้างสรรค์ หรือใฝ่ทำ ต้องการทำ ไม่ใช่ต้องการเสพ ความใฝ่สร้างสรรค์นี้ ถ้าเอามาใช้ในการผลิตต่างๆ ทางด้านอุตสาหกรรม ก็คือ ความใฝ่ผลิต ถ้าใช้ในทางที่ดีงามทั่วๆ ไป ก็คือ ความต้องการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ทำประโยชน์ให้เกิดมีเป็นจริงขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับแรงจูงใจที่ผิด คือความใฝ่เสพ หรือความใฝ่หาสิ่งบำรุงปรนเปรอ ซึ่งไม่ต้องการความรู้อะไร ไม่ต้องการทำงานอะไร แต่อยากได้สิ่งต่างๆ มาบำรุงบำเรอ หู ตา จมูก ปาก ลิ้น โดยไม่ต้องทำ ถ้าเราไปสอนชาวบ้านให้อยากได้สิ่งฟุ่มเฟือยหรูหรา ก็เท่ากับว่าเราไปสนับสนุนส่งเสริมแรงจูงใจใฝ่เสพ ทำให้เขาไม่อยากทำงาน ไม่อยากผลิต คิดแต่จะหาทางลัด เพื่อให้ได้สิ่งบำรุงบำเรอมา แล้วจะทำให้เกิดปัญหาต่อการพัฒนาอย่างที่เป็นอยู่เวลานี้

ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง ได้แก่แรงจูงใจใฝ่รู้ ใฝ่ทำ ใฝ่ผลิต และใฝ่สร้างสรรค์ แรงจูงใจใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์นี้ เป็นอาการแสดงออกของการรักความจริง รักความดีงาม ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นเร้าให้มีการใช้ปัญญา และริเริ่มลงมือทำ เช่น อยากมีสังคมที่ดีงาม ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้ว่า สังคมอย่างไรเป็นสังคมที่ดี แล้วก็มองเห็นว่า สังคมที่ดีนั้นจะต้องเป็นสังคมที่เรียบร้อย มีความสงบสุข ประชาชนมีสุขภาพ มีอนามัยดี เมื่ออยากจะมีสังคมที่ดีงามอย่างนั้น เราก็ต้องสร้างสรรค์จัดทำ ต้องทำงาน ซึ่งเป็นปัจจัยโดยตรงที่จะทำให้เกิดผลที่ต้องการ แรงจูงใจแบบนี้จึงทำให้เขาพยายามที่จะทำ และเป็นผู้ผลิตขึ้นมา แต่ถ้ามีแรงจูงใจใฝ่เสพ ก็จะทำให้ไม่อยากทำงาน หรือถ้าจะทำก็เป็นเพราะเงื่อนไข คือต้องทำจึงจะได้เงิน ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็จะหลีกเลี่ยงการทำงาน เพราะไม่อยากทำ ทำด้วยความจำใจ และหาทางลัดกู้หนี้ยืมสิน ถ้าลักขโมยได้ก็เอา เพื่อจะได้สิ่งเสพมา เพื่อมีเงินไปซื้อของ

เพราะฉะนั้น การพัฒนาที่มีส่วนส่งเสริมแรงจูงใจใฝ่เสพ กระตุ้นเร้าตัณหา จึงเป็นการพัฒนาที่ผิดพลาด ผิดจุด เนื่องจากการสร้างแรงจูงใจที่ผิด การศึกษาเล่าเรียน และการพัฒนาชีวิต พัฒนาสังคมจะสำเร็จได้ ต้องมีแรงจูงใจที่ถูกต้อง สังคมที่พัฒนาแล้ว เริ่มต้นการพัฒนาของเขาด้วยแรงจูงใจใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ และใฝ่ทำนี้ และสร้างค่านิยมผลิตขึ้นมาได้ จึงได้สร้างความเจริญ พัฒนาอุตสาหกรรมได้สำเร็จ คนมีฉันทะนั้น เห็นอะไรไม่ดี ไม่เรียบร้อย ไม่สมบูรณ์ ก็อยากทำให้ดี ให้เรียบร้อย ให้สมบูรณ์ มีแรงกระตุ้นเตือนจากภายในให้ออกไปทำ ไม่ต้องรอให้ใครคอยบอกคอยสั่ง และไม่มองหาผลตอบแทนแก่ตน นอกจากความสำเร็จของงาน ทำเพื่อเห็นแก่ความถูกต้องดีงาม หรือความเรียบร้อยสมบูรณ์นั้นล้วนๆ แท้ๆ ยิ่งกว่านั้น เมื่อผลได้ส่วนตัวขัดกับหลักการหรือความถูกต้องชอบธรรม ฉันทะจะทำให้ยอมสละผลได้หรือผลประโยชน์ส่วนตัว และยึดถือหรือปฏิบัติไปตามหลักการหรือตามความถูกต้องชอบธรรมนั้น แรงจูงใจที่เรียกว่าฉันทะนี้ จึงจำเป็นยิ่งสำหรับการสร้างสรรค์พัฒนาสังคมประชาธิปไตย ถ้าไม่สามารถสร้างฉันทะให้เกิดขึ้น การพัฒนาประชาธิปไตยจะไม่มีทางสำเร็จ การมีแรงจูงใจที่ถูกต้องนี้ เรียกทางพระว่า ฉันทสัมปทา แปลว่า ความถึงพร้อมด้วยฉันทะ มิใช่ถึงพร้อมด้วยตัณหา

๔. พัฒนาศักยภาพของตนให้เต็มที่ พระพุทธศาสนาถือว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ คือพัฒนาได้ ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า มีศักยภาพ มนุษย์แต่ละคนมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาให้สมบูรณ์ ทั้งศักยภาพเฉพาะตัว คือ มีความถนัดจัดเจนของตนเอง ถ้าไม่พัฒนา ไม่ฝึกฝนขึ้นมา ก็ไม่มีโอกาสแสดงออก ไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และศักยภาพของมนุษย์ คือ มีความเป็นสัตว์ประเสริฐที่สามารถเข้าถึงปรีชาญาณ ความดีงาม และอิสรภาพที่สมบูรณ์ ดังนั้น จึงต้องพัฒนาศักยภาพนั้นขึ้นมา โดยมีความเชื่อมั่นตามหลักการที่ว่า มนุษย์สามารถพัฒนาตนได้จนเป็นสัตว์ที่ประเสริฐอย่างยิ่ง แม้แต่จะเป็นพุทธะก็ได้ เป็นผู้ที่เทวดา มาร ตลอดจนพระพรหม เคารพบูชาก็ได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้มนุษย์ฝึกฝนตนเอง เรียกว่า พัฒนาศักยภาพของตนจนสมบูรณ์

หลักประการที่ ๔ คือ การพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สมบูรณ์นี้ นอกจากทำให้มีการศึกษาตามหลักการทั่วไปแล้ว ก็ทำให้ต้องค้นหาว่าตนเองมีความถนัด มีความสามารถด้านไหน แล้วก็พัฒนาตนขึ้นไปให้เต็มที่แห่งศักยภาพนั้น หลักการข้อนี้ เรียกทางภาษาพระว่า อัตตสัมปทา แปลว่า การทำตนให้ถึงพร้อม

๕. มีทัศนคติ และค่านิยมที่ดี หลักข้อนี้สำคัญมาก เพราะชีวิตและสังคมจะดำเนินไปอย่างไร จะเป็นไปตามทัศนคติ และค่านิยม คนในสังคมมีค่านิยมอย่างไร ก็หันเหวิถีของสังคมไปอย่างนั้น เช่น ในการมองภาพความเจริญ ถ้าคนในสังคมมีค่านิยมในการผลิต ก็มองภาพความเจริญอย่างนักผลิตว่า เจริญอย่างเขา คือ ทำได้อย่างเขา ถ้ามีค่านิยมบริโภค ก็มองภาพความเจริญแบบนักบริโภคว่า เจริญอย่างเขา คือมีกินมีใช้อย่างเขา เราต้องการสร้างค่านิยม และทัศนคติที่ถูกต้อง ทัศนคติและค่านิยมที่ถูกต้องเริ่มด้วยอะไร ทัศนคติและค่านิยมที่ถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา เริ่มด้วยการมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นท่าทีของจิตใจที่นำมาซึ่งปัญญา และการกระทำตามเหตุตามผล เพราะเชื่อการกระทำที่เป็นไปตามกระบวนการของเหตุผลว่า ทำเหตุอย่างไร ผลเกิดอย่างนั้น ซึ่งก็คือหลักกรรมในพระพุทธศาสนา หลักกรรมนี้ใช้กับชีวิตของคนทั่วไป พื้นฐานกว่านั้นก็คือ หลักปฏิจจสมุปบาทซึ่งมองลึกลงไปอีก แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นกระบวนการของเหตุปัจจัยทั้งนั้น

ทัศนคติในพระพุทธศาสนา เป็นทัศนคติที่มองสิ่งต่างๆ ตามเหตุปัจจัย พอเจออะไร ก็มองตามเหตุปัจจัยทันทีว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร สืบสาวหาเหตุแล้วโยงไปหาผล เยาวชนควรมีทัศนคติแบบนี้ และควรได้รับการพัฒนาให้มีทัศนคติแบบนี้ เพราะถ้าเราไม่มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย เราก็จะมองแบบนักเสพ แต่ถ้ามองแบบสืบสาวหาเหตุปัจจัย ก็จะนำไปสู่การกระทำ นำไปสู่การผลิต นำไปสู่การสร้างสรรค์ได้ เพราะว่าในการที่ได้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จขึ้นมานั้น สิ่งที่ทำขึ้นมาเราเรียกว่าเป็นผลผลิต ผลผลิตเกิดจากอะไร ก็เกิดจากเหตุปัจจัยที่ว่าทำมาอย่างไร คนที่มองตามเหตุปัจจัย พอเห็นผลิตผลอย่างหนึ่ง ก็มองว่าผลผลิตนี้ทำมาอย่างไร ไม่มองเพียงว่า จะเอามาเสพอย่างไร มาใช้อย่างไร มีแล้วโก้หรู ไม่มองอย่างนั้น สังคมที่มองผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เข้ามาจากภายนอกประเทศ ว่าอันนั้นสวยอันนี้โก้ แล้วอยากใช้ อยากมี จบแค่นั้น ก็เป็นนักบำรุงบำเรอหรือนักเสพอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นนักผลิตมอง จะมองด้วยทัศนคติตามเหตุปัจจัย เขาจะมองว่า ผลผลิตนี้แปลก เขาทำขึ้นมาได้อย่างไร เราจะต้องหาเหตุปัจจัยของมัน พอมองอย่างนี้ กระบวนการคิดก็เริ่มต้นอย่างถูกต้อง และนำไปสู่การพัฒนาทันที ทัศนคติพื้นฐานของพระพุทธศาสนา คือ ทัศนคติมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย อย่างนี้ เราเคยสอนกันบ้างหรือเปล่า อันนี้เป็นการสร้างสรรค์เยาวชนในขั้นรากฐานทีเดียว

จากทัศนคติที่มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย ก็นำไปสู่ทัศนตคิหรือท่าทีแห่งการเรียนรู้ ซึ่งต่อเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ชีวิตในแต่ละวันของคนเรานี้ เต็มไปด้วยประสบการณ์ที่เข้ามาทั้งทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้แก่ สิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ลิ้มรส ฯลฯ ชีวิตของเราแต่ละวันนี้ อยู่กับอารมณ์ทั้ง ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ การรับรู้อารมณ์ หรือประสบการณ์เหล่านี้ เป็นชีวิตส่วนใหญ่ของเราในแต่ละวัน แต่คนส่วนใหญ่ที่ต้องประสบกับอารมณ์ทั้ง ๖ เหล่านี้ มีท่าทีต่อมันอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปุถุชนที่ไม่ได้สดับ ไม่ได้เรียนรู้ จะมีท่าทีแบบยินดียินร้าย ในพุทธศาสนานั้น เราจะได้ยินคำนี้อยู่เสมอ บอกว่า ปุถุชนผู้มิได้สดับ เมื่อรับฟังเสียงด้วยหู ได้เห็นรูปด้วยตา ก็เกิดความยินดี หรือไม่ก็ยินร้าย เรียกอีกสำนวนหนึ่งว่า ไม่ชอบ ก็ชัง ไม่ติดใจ ก็ขัดใจ ได้แค่นั้น ความรู้หายไปแล้ว ต่อจากนั้นก็มีแต่การคิดปรุงแต่งไปตามอัตวิสัยว่าจะรัก จะเกลียด จะอยากเอา อยากได้ หรืออยากทุบ อยากทำลาย เป็นต้น ทัศนคติอย่างนี้นำไปสู่แรงจูงใจใฝ่เสพ และนำไปสู่ค่านิยมบริโภค ซึ่งสัมพันธ์กันหมด

แต่ถ้ามีการเรียนรู้อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ส่วนอริยสาวกผู้ที่ได้เรียนรู้แล้ว ผู้ได้สดับ (สุตฺวา อริยสาวโก) มองเห็นรูปด้วยตา ได้ยินเสียงด้วยหูแล้ว ไม่เป็นไปตามความยินดียินร้าย แต่จะมีสติสัมปชัญญะรับรู้ กำหนดรู้สิ่งนั้นๆ ตามความเป็นจริง คือมองว่า มันคืออะไร มันเป็นมาอย่างไร เป็นไปอย่างไร เกิดจากอะไร ดังที่กล่าวเมื่อครู่นี้

ดังนั้น ทัศนคติที่มองสิ่งต่างๆ ตามเหตุปัจจัย จึงเป็นทัศนคติที่มองสิ่งทั้งหลายเป็นการเรียนรู้ คือมองโดยสัมพันธ์กับคุณค่าต่อชีวิต ว่าจะเอาความรู้จากสิ่งนั้นมาใช้พัฒนาชีวิตของตนได้อย่างไร และใช้กับสังคมได้อย่างไร ทัศนคติแบบการเรียนรู้ หรือท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายแบบเรียนรู้นี้ เป็นการศึกษาที่เริ่มต้น ถ้าไม่ถึงจุดนี้ก็ไม่ถือว่าการศึกษาได้เริ่มต้น การศึกษาเริ่มต้นที่ท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายที่เป็นประสบการณ์ ถ้าเปลี่ยนทัศนคติจากการยินดียินร้ายมาเป็นการเรียนรู้ ก็หมายถึงว่า การศึกษาได้เริ่มต้นแล้ว และอันนี้เป็นจุดบรรจบระหว่างการศึกษากับจริยธรรมและศาสนาด้วย

ดังนั้น การศึกษากับจริยธรรม จึงไม่ได้อยู่ห่างกันเลย มันอยู่ด้วยกันที่นี่ พระพุทธศาสนาก็สอนจุดเริ่มต้นที่นี่ ว่าให้มีทัศนคติแบบมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย แล้วนำไปสู่การมีท่าทีแห่งการเรียนรู้ต่อสิ่งทั้งหลาย ซึ่งนำไปสู่ค่านิยมที่สมเหตุสมผลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมอะไรก็แล้วแต่ ล้วนเป็นไปตามกระบวนการอันเดียวกัน หลักข้อนี้เรียกว่า ทิฏฐิสัมปทา แปลว่า การทำทิฏฐิให้ถึงพร้อม

๖. มีความกระตือรือร้นขวนขวาย ไม่ประมาท เราอยู่ในโลกแห่งสภาวธรรมที่พระพุทธศาสนาบอกว่า เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง โลกนี้เป็นสังขาร สิ่งทั้งหลายเกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง มีแต่การเปลี่ยนแปลง ไม่หยุดนิ่ง เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เป็นอนิจจัง เมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้แน่นอน โดยเฉพาะชีวิตของเรานี้จะเอาแน่อะไรไม่ได้ พรุ่งนี้จะอยู่หรือไม่ แล้ววันต่อไปจะเป็นอย่างไร จะอยู่ดีมีสุข หรือทุกข์อย่างไร จะเจ็บไข้ได้ป่วยหรือไม่ เราไม่รู้แท้แน่นอน

เพราะฉะนั้น เราจะประมาทมิได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา คือเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ฉะนั้น จะต้องยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ในเมื่อสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อไร เราจะต้องไม่ประมาทตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น จิตสำนึกต่อความเปลี่ยนแปลงจึงนำไปสู่ความไม่ประมาท คือ ความกระตือรือร้นขวนขวาย ไม่อยู่นิ่งเฉย ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงไปเปล่า มีอะไรเกิดขึ้นที่อาจจะเป็นเหตุแห่งความเสื่อม ก็ไม่อยู่นิ่ง ต้องรู้เท่าทัน ต้องป้องกันแก้ไข อะไรที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นทางมาแห่งความสุขความเจริญ ก็ต้องรีบสร้างสรรค์ จะรอช้าอยู่มิได้ จะทอดทิ้งปล่อยปละละเลยมิได้ ท่าทีนี้เรียกว่ามีจิตสำนึกต่อความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นไปพร้อมกับความไม่ประมาท จิตสำนึกต่อความเปลี่ยนแปลงนี้ นำไปสู่จิตสำนึกต่อกาลเวลา ผู้ที่มองเห็นความสำคัญของความเปลี่ยนแปลง ก็จะเห็นความสำคัญของกาลเวลา เพราะกาลเวลานั้นเป็นสิ่งที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลง และความเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปตามกาลเวลา ดังนั้น เมื่อเราไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร เมื่อไร ก็จำต้องเห็นความสำคัญของกาลเวลา

พระพุทธศาสนาสอนมาก ในเรื่องความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง และความสำคัญของกาลเวลา ดังเช่นพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า อโมฆํ ทิวสํ กยิรา อปฺเปน พหุเกน วา มีใจความว่า เวลาแต่ละวัน อย่าให้ผ่านไปเปล่า ให้ได้อะไรบ้าง ไม่มากก็น้อย นี่เป็นข้อเตือนใจให้ทุกคนพิจารณา ถ้าทุกคนคิดอย่างนี้ทุกวันก็จะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย ไม่ทางกายก็ทางใจ ลองคิดพิจารณาตนเองว่า วันนี้เราทำอะไรที่เป็นประโยชน์แล้วหรือยัง ทำทุกวันๆ สะสมขึ้นไป แม้แต่บรรพชิต ท่านก็สอนให้พิจารณาทุกวันว่า กถมฺภูตสฺส เม รตฺตินฺทิวา วีติปตนฺตีติ ปพฺพชิเตน อภิณฺหํ ปจฺจเวกฺขิตพฺพํ บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า วันเวลาของเราผ่านไปอย่างไร นี้เป็นเรื่องความสำคัญของกาลเวลา ที่ท่านให้มีจิตสำนึกต่อกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะทำให้เรามีความไม่ประมาท

มีข้อที่จะต้องสังเกตว่า พระพุทธศาสนาสอนเรื่องความเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปด้วยกันกับหลักความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความไม่เที่ยงนี้ไม่ได้เป็นไปอย่างเลื่อนลอย แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย หลักการนี้สำคัญมาก เราจะไปจบอยู่แค่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้ พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนแค่นั้น ไม่ได้บอกว่าสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงเรื่อยเปื่อยไป แล้วเราก็เลยหมดทางแก้ไข จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้จบสิ้นกัน ไม่ต้องทำอะไร พอสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป เรากำหนดไม่ได้ ก็เลยไม่รู้ว่าจะทำอะไรอย่างไร แต่พระพุทธเจ้าสอนต่อไปว่า ที่ว่าไม่เที่ยงและเปลี่ยนแปลงไปนั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเลื่อนลอย มันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งเข้ากับทัศนคติของการมองสิ่งต่างๆ ตามเหตุปัจจัย เข้ากับแรงจูงใจใฝ่รู้ ที่ทำให้ศึกษาเหตุปัจจัย เพื่อให้รู้ว่าเหตุปัจจัยนั้นคืออะไร สัมพันธ์กันไปหมด ข้อสำคัญคือมันนำไปสู่การที่ทำให้เราต้องศึกษาค้นคว้าหาเหตุปัจจัยของความเปลี่ยนแปลงนั้น ความเปลี่ยนแปลงลักษณะหนึ่งที่ดีที่เราต้องการ เราเรียกว่า ความเจริญ ความเปลี่ยนแปลงอีกลักษณะหนึ่งที่ไม่ดีเราไม่ต้องการ เราเรียกว่า ความเสื่อม เมื่อเราต้องการความเจริญ เราก็ต้องพยายามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ด้วยการสร้างสรรค์เหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีที่เราชอบนั้น ถ้าการเปลี่ยนแปลงอะไรจะเป็นไปในทางที่ไม่ดี ที่เราเรียกว่า ความเสื่อม ซึ่งเราไม่ชอบ เราก็ศึกษาเหตุปัจจัยของมัน แล้วป้องกันกำจัดเสีย

ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ไม่ประมาท เพื่อจะได้รู้เท่าทัน ตื่นตัวต่อสิ่งที่เกิดขึ้น อะไรเกิดขึ้นเป็นสัญญาณ เป็นนิมิตหมายที่จะเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อม ก็รีบค้นหาให้รู้แล้วป้องกันแก้ไข อะไรเกิดขึ้นเป็นสัญญาณ เป็นนิมิตหมายที่จะนำไปสู่ความสุข ความเจริญ ก็ให้รีบสร้างเสริมขึ้นมา พัฒนาขึ้นมา การปฏิบัติอย่างนี้คือหลักธรรมที่เรียกว่า อัปปมาทสัมปทา แปลว่า ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท เป็นหลักที่สำคัญมาก พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในรุ่งอรุณของการศึกษาเป็นหลักที่ ๖ เป็นเครื่องชี้บ่งว่า คนที่อยู่ในพระพุทธศาสนาจะต้องเป็นคนที่กระตือรือร้นตลอดเวลา ไม่ใช่คนเฉื่อยชา

๗. รู้จักคิดพิจารณาให้เกิดปัญญาที่จะรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เมื่อรู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เราจึงจะปฏิบัติต่อมันได้ถูกต้อง

การที่มีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะเราปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายไม่ถูกต้อง ปฏิบัติไม่ถูกต้องก็เพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร มันเป็นไปอย่างไร มีคุณหรือมีโทษอย่างไร ทำให้ไม่รู้ว่า เราจะปฏิบัติต่อมันอย่างไร ดังนั้น จึงต้องรู้จักสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้จักโลก รู้จักชีวิต รู้จักปัญหา รู้จักเหตุของปัญหา เมื่อรู้แล้ว ก็ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นได้ถูกต้อง นี่แหละคือการแก้ปัญหา แก้ทุกข์ ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยสติปัญญาที่รู้ที่เข้าใจสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ได้ถูกต้อง

การที่จะมีปัญญานั้น สิ่งหนึ่งที่จะต้องสร้างขึ้นให้เป็นตัวนำมาซึ่งปัญญา ก็คือการรู้จักคิด รู้จักพิจารณา ที่สมัยนี้เน้นกันนักหนาในวงการศึกษา เรียกว่า การคิดเป็น ทางพระเรียกว่า โยนิโสมนสิการ แปลว่าการทำในใจโดยแยบคาย หรือการรู้จักคิด คิดเป็น คิดวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น แยกแยะมันออกไปให้เห็นชัดว่า ส่วนใดเป็นส่วนดี ส่วนใดเป็นส่วนเสีย ส่วนไหนเป็นเหตุปัจจัยของความเจริญ ส่วนไหนเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อม พร้อมกันนั้นก็รู้จักคิดสืบสาวตามกระบวนการของเหตุปัจจัยว่า สิ่งนี้เรื่องนี้เป็นมาอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

การคิดพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้องจะทำให้เกิดปัญญา และเกิดคุณธรรม ความดีงาม เช่น พบเห็นคนที่แต่งตัวกะรุ่งกะริ่ง ถ้าเราไม่มีโยนิโสมนสิการ มองไม่เป็น จิตใจก็เกิดความรู้สึกดูถูกเหยียดหยาม รังเกียจ แต่ถ้าทำใจเป็น มีโยนิโสมนสิการ เมื่อมองแล้วก็เกิดความสงสารคิดอยากช่วยเหลือ หรือถ้าคิดไปในทางปัญญา โดยสืบสาวหาเหตุปัจจัยว่า คนนี้ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ สภาพสังคมเป็นอย่างไร มีเหตุปัจจัยอะไรทำให้เขามีสภาพอย่างนี้ ครอบครัวของเขาเป็นอย่างไร ก็นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจ และการที่จะแก้ไขปัญหาสังคม

ทั้งหมดนี้จะเป็นไปอย่างไรก็อยู่ที่โยนิโสมนสิการ คนเรานี้มองสิ่งทั้งหลายอันเดียวกัน แต่คนหนึ่งมองด้วยความรู้สึกและความเข้าใจอย่างหนึ่ง ได้ผลไปอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งมองด้วยความรู้สึกและความเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง ได้ผลไปอีกอย่างหนึ่ง หรือคนเดียวกันนี่แหละ มองสิ่งเดียวกัน แต่ต่างเวลา มีท่าทีของจิตใจต่างกัน ก็ได้รับผลไม่เหมือนกัน ดังนั้น ท่าทีของจิตใจในการมองสิ่งต่างๆ ให้รู้จักคิดรู้จักพิจารณานี้ เป็นสิ่งที่จะต้องฝึกกันขึ้นให้มองให้เป็น คิดให้เป็น ให้คิดแล้วได้ปัญญา และได้คุณธรรม ข้อนี้เรียกว่า โยนิโสมนสิการสัมปทา แปลว่า ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ เป็นหลักสำคัญประการที่ ๗

หลักข้อที่ ๗ คือ การรู้จักคิดพิจารณานี้ มีจุดใช้งานที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง คือ เอามาใช้ทำงาน ควบคู่หรือต่อเนื่องกับหลักข้อที่ ๑ คือ การรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้ และแบบอย่างที่ดี เช่น เมื่อเรารู้จักเลือกรายการวิทยุ รายการทีวีที่ดี ว่าอันไหนจะมีคุณค่าเป็นประโยชน์แล้ว ในเวลาที่ฟังและดูรายการนั้น ก็ต้องดูเป็นและฟังเป็นอีกด้วย คือดูแล้วฟังแล้วรู้จักคิดพิจารณา จึงจะได้ประโยชน์ ได้ปัญญาจากสิ่งที่ดูหรือฟังนั้น หรือเมื่อจะอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เริ่มแรกตามหลักข้อที่ ๑ เด็กรู้จักเลือกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือสารคดีมีประโยชน์ ไม่ใช่หนังสือที่ทำให้คิดเพ้อฝันไป ไม่ได้ประโยชน์ไร้สาระ

เมื่อเลือกหนังสือมาอ่านได้แล้ว ก็มาถึงหลักข้อ ๗ นี้ คือ ต้องอ่านเป็น รู้จักคิดรู้จักพิจารณา คือตอนนี้โยนิโสมนสิการจะทำให้ได้ผลต่างกัน คนหนึ่งอ่านแล้วได้ความรู้ตามข้อมูลที่หนังสือบอก อีกคนหนึ่ง อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน โดยมีโยนิโสมนสิการมากขึ้น อ่านแล้วได้ความเข้าใจลึกซึ้งว่า คนเขียนนั้นเขาคิดอย่างไร อีกคนหนึ่งมาอ่านแล้วได้ปัญญามากขึ้นไปกว่านั้นอีก สามารถเชื่อมโยงกับความรู้อื่นๆ สร้างสรรค์ความรู้ใหม่ นำไปสู่การประดิษฐ์การสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ

โยนิโสมนสิการนี้ เป็นปัจจัยตัวสำคัญที่สุดในการพัฒนาชีวิตของคน และจะทำให้คนมีอิสรภาพพึ่งตนเองได้ ตอนแรกเราเริ่มด้วยการเกี่ยวข้องกับสังคม หรือปัจจัยภายนอก รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้ และแบบอย่างที่ดี ซึ่งเป็นตอนที่เรายังต้องพึ่งปัจจัยภายนอก เพื่อเป็นช่องทางนำไปสู่การเริ่มรู้จักทำด้วยตนเอง แต่เมื่อใดเรามีโยนิโสมนสิการ คิดเองเป็นแล้ว เราก็จะมีอิสรภาพ เราจะมีปัญญาของตนเอง ได้ความคิด และมีการกระทำจากความริเริ่มของตนเอง ที่เกิดจากตนเอง และสามารถพึ่งตนเอง หลัก ๗ ประการนี้ เรียกว่า ธรรมที่เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา หรือเป็นประดุจแสงเงินแสงทองของชีวิตที่รุ่งเรืองดีงาม ซึ่งเราจะต้องสร้างเสริมให้เกิดขึ้นแก่ตัวเด็ก หรือพูดให้ถูกกว่านั้นว่า จะต้องช่วยให้เด็กพัฒนา ให้มีขึ้นในตัวของเขาเอง และการที่จะช่วยให้เด็กและเยาวชนพัฒนาตัวของเขาขึ้นมาได้อย่างนี้ ก็คือการที่ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องจะต้องเป็นกัลยาณมิตรให้แก่เด็กนั่นเอง และอันนี้แหละคือการทำหน้าที่อย่างถูกต้องของครู ของพ่อแม่ ของสื่อมวลชน และของสังคมทั้งหมด ธรรมที่เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา ๗ ประการนี้ ขอสรุปเป็นหัวข้ออีกครั้งหนึ่ง เพื่อกำหนดจดจำได้ง่าย คือ

  1. รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี
  2. มีชีวิตและอยู่ร่วมสังคมเป็นระเบียบด้วยวินัย
  3. พร้อมด้วยแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์
  4. มุ่งมั่นพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ
  5. ปรับทัศนคติและค่านิยมให้สมแนวเหตุผล
  6. มีสติกระตือรือร้นตื่นตัวทุกเวลา
  7. แก้ปัญหาและพึ่งพาตนได้ด้วยความรู้คิด

เท่าที่ได้พูดมา ในธรรมที่เป็นหลักสำคัญทั้งหมดนี้เป็นแง่ที่ ๑ คือแง่ที่ว่า เรามองเยาวชนโดยสัมพันธ์กับตัวเด็กเองว่า เราจะสร้างเสริมให้เขามีคุณสมบัติอะไรบ้าง ซึ่งก็มี ๗ ประการที่กล่าวมา ถ้ามีหลัก ๗ ประการนี้แล้ว มรรคจะมาเอง ชีวิตที่ดีจะมาเอง เพราะฉะนั้น เราอย่าไปมัวพูดกันมากนักเกี่ยวกับเรื่องมรรค มรรคนั้นสำคัญอย่างยิ่ง ไม่มีมรรคแล้วไปถึงจุดหมายไม่ได้ แต่ก่อนที่เราจะเข้าสู่มรรคได้นั้น เราจะต้องนึกถึงรุ่งอรุณของมรรค ที่จะนำเข้าสู่มรรคก่อน ธรรม ๗ ประการนี้ คือ สิ่งที่จะนำไปสู่มรรค

ขอให้กลับมาเน้นเรื่องรุ่งอรุณของการศึกษา หรือแสงเงินแสงทองของมรรคานี้ ธรรมหมวดนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้บ่อย ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๙ มหาวารวรรค สังยุตตนิกายในตอนต้นๆ ตรัสแล้วตรัสอีกว่า ธรรมแต่ละข้อนี้เป็นรุ่งอรุณทั้งสิ้น เกิดขึ้นมาแต่ละอย่างก็นำไปสู่การศึกษาทั้งหมด จึงขอให้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น

หลังจากสร้างสรรค์ตัวเด็กที่เป็นแกนขึ้นมาแล้ว ต่อไปนี้ เราจะมาพิจารณาตัวเด็กโดยสัมพันธ์กับสังคมไทย ตั้งแต่ชุมชนท้องถิ่นของเขาเป็นต้นมา แล้วก็พิจารณาให้สัมพันธ์กับโลก และอารยธรรมทั้งหมด ในแง่ที่ว่าเขาเป็นพลโลก ว่าจะทำให้เขาเป็นคนมีคุณภาพอย่างไร และสัมพันธ์กับสถานการณ์เฉพาะยุคสมัยว่า ยุคสมัยนี้ประเทศไทยมีปัญหาอะไรเด่นเป็นพิเศษ มุ่งต้องการสร้างความเจริญก้าวหน้าด้านไหน เราจะมีกิจกรรมในสังคมอะไรมากเป็นพิเศษที่จะต้องเกี่ยวข้อง แล้วก็พิจารณาให้สัมพันธ์กับสถานการณ์เฉพาะหน้าของยุคสมัยนั้น เหล่านี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันต่อไป

พัฒนาจากความเป็นผู้ตาม-ผู้รับ สู่ความเป็นผู้นำ-ผู้ให้

พอดีเวลาก็จะหมด อาตมาจะขอย้ำไว้แต่เพียงส่วนที่เป็นเรื่องของตัวชีวิตเด็กเองนี้เป็นจุดเริ่มต้น ส่วนหัวข้อต่อไปจะเป็นอย่างไรนั้น จะขอข้ามไปก่อน ทั้งในด้านที่เกี่ยวกับสังคมไทย ในด้านที่เกี่ยวกับสังคมโลก และในด้านที่เกี่ยวกับสถานการณ์ของยุคสมัย แต่สิ่งที่จะพูดไว้อย่างหนึ่งก่อนที่จะจบนี้ คือ คนในสังคมไทยในระยะเวลาที่ผ่านมานี้ มีลักษณะหนึ่งซึ่งเป็นที่น่าสังเกต คือ เรามีลักษณะเป็นผู้ตาม หมายความว่า เป็นผู้มีความนิยมวัฒนธรรมตะวันตกมาก เห็นความเจริญของตะวันตกเป็นแบบอย่าง เห็นเขามีอะไรก็จะพยายามตามอย่างนั้น (แต่ตามบริโภค ไม่ใช่ตามผลิต)

แล้วพร้อมกับลักษณะที่เป็นผู้ตามนี้ ก็มีลักษณะอีกอย่างหนึ่งพ่วงมาด้วยที่ไม่ค่อยมองกัน คือ ลักษณะของการเป็นผู้รับ ตามและรับ เป็นลักษณะของคนในสังคมไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ใช่หรือเปล่า เราต้องคิดดู ตามเขา เขามีอะไรก็ตาม เขาชอบอะไรก็ตาม เขามีค่านิยมอะไรก็ตาม (ยกเว้นค่านิยมผลิต) เขามีอะไรเกิดขึ้นก็รับเอามา และรับเอาอย่างนักบริโภค ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ต้องยอมรับว่าพลาด ต่อไปนี้เราจะต้องเน้นการสร้างสรรค์สังคมของเรา โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า จะหันเหเบนจากการเป็นผู้ตามและผู้รับ มุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์พัฒนาเยาวชนของเรา ให้เป็นผู้มีลักษณะแห่งความเป็นผู้นำและผู้ให้ ที่ว่าเป็นผู้นำและผู้ให้นั้น เรามองเรื่องนี้โดยสัมพันธ์กับสังคมมนุษย์ทั้งหมด คือทั้งโลกว่า ในประชาคมโลกนี้ทำอย่างไรคนในสังคมไทยเราจึงจะเป็นผู้นำ จะนำด้านใดด้านหนึ่ง วิชาการด้านใดด้านหนึ่ง หรือแนวความคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง อะไรก็ตาม ต้องนำเขาได้บ้าง ต้องมีอะไรที่จะให้เขาบ้าง และต้องเป็นผู้ให้อะไรแก่เขาได้บ้าง อย่างที่เรียกว่า เป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลกมนุษย์ เราจะต้องมาพิจารณาตัวเราเองให้มาก

เท่าที่ผ่านมา สังคมไทยได้มีส่วนอะไรบ้าง ในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก ในการทำให้โลกเจริญขึ้นมา ถ้าโลกที่แล้วมาเจริญผิด ก็ดีไป เราจะได้ไปช่วยแก้ไข ตอนนี้เป็นโอกาสของเราว่า เราจะช่วยแก้ไขปัญหาของโลก มีส่วนร่วมสร้างสรรค์พัฒนาสังคมของโลกในทางที่ดีงาม ถ้าเราไม่มีจุดมุ่งหมาย หรือเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว เราจะพัฒนาสังคมไปอย่างเลื่อนลอย สะเปะสะปะ เราจะต้องมีความมุ่งมั่นสักอย่างหนึ่ง จะต้องเป็นสังคมที่พัฒนาโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน และพยายามสร้างจิตสำนึกในแนวนั้นขึ้นมา ให้เป็นจิตสำนึกของสังคมและของชาติ เมื่อพิจารณาดูลักษณะสังคมของไทย ถ้าเรายอมรับว่าเราเป็นผู้ตาม และผู้รับแล้ว ก็ขอให้เรามาสร้างจิตสำนึกกันใหม่ มากระตุ้นเร้ากันว่า เราจะต้องพยายามเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ ต่อไปเยาวชนของเราจะต้องมีบุคลิกภาพ แนวความคิด จิตใจ และลักษณะของความเป็นผู้นำ และเป็นผู้ให้ เริ่มตั้งแต่ในชุมชนเล็กๆ ให้มีลักษณะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้ความร่วมแรง ร่วมงาน ร่วมมือ ร่วมใจ ซึ่งขณะนี้เรากำลังเป็นปัญหาในเรื่องเหล่านี้ ความมีน้ำใจกำลังจะหมดไป การร่วมมือร่วมใจ ร่วมงานกันไม่มี ทำกิจการและกิจกรรมร่วมกันไม่ได้ รวมทั้งการร่วมสุขร่วมทุกข์ กว้างออกไป ก็มีความคิด มีสติปัญญา มีความเจริญทางวิชาการ เป็นต้น เรียกสั้นๆ ว่า มีภูมิธรรมภูมิปัญญาที่จะนำเขา ที่จะให้แก่ผู้อื่นจนถึงชุมชนโลก ดังที่บอกเมื่อครู่ว่า ชาติไทยของเรามีอะไรเป็นส่วนร่วมที่จะให้แก่อารยธรรมของมนุษย์บ้าง เพื่อว่าเราจะได้มีความภูมิใจในสังคมของตนเองขึ้นมาได้บ้าง ไม่ใช่มีแต่ความรู้สึกเป็นผู้ตาม ซึ่งในจิตสำนึกลึกๆ นั้นก็คือความเป็นผู้ด้อย ในความเป็นผู้ตาม และผู้รับนั้น ในส่วนลึกของจิตใจจะมีความเป็นผู้ด้อยอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความภูมิใจในตัวเองอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น จะต้องพยายามเปลี่ยนแนวทางของชีวิตและสังคมกันใหม่ สร้างจิตสำนึกกันใหม่ เพื่อให้ชีวิตของเด็กและเยาวชนนั้นพัฒนาสู่ความสมบูรณ์

ตามที่อาตมากล่าวมาทั้งหมดนี้ เมื่อสรุปแล้วก็รวมอยู่ที่การสร้างสรรค์ชีวิตเพื่อให้เข้าถึงองค์ประกอบ ๓ ประการของชีวิตที่สมบูรณ์ เมื่อใดเราพัฒนาชีวิตให้ประกอบด้วยองค์ ๓ แล้ว ก็จะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ องค์ ๓ คืออะไรบ้าง ในการที่จะพัฒนาตัวเด็กให้มีรุ่งอรุณของการศึกษา ตลอดจนดำเนินชีวิตตามมรรคนั้น เราต้องการให้เข้าถึงองค์ ๓ ประการนี้ ซึ่งประกอบกันเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ กล่าวคือ

๑. ในการพัฒนาคนนั้น แก่นแท้ก็คือการพัฒนาปัญญาให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ปัญญาที่รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ในขั้นสูงสุดก็คือรู้สัจจธรรม นี่คือเป้าหมายในการพัฒนา คือมีปัญญารู้สัจจธรรม เป็นเป้าหมายใหญ่ เป็นองค์ประกอบใหญ่

๒. เมื่อรู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงแล้ว เราก็ปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นได้ถูกต้อง สภาพที่เป็นปัญหาก็เพราะเราปฏิบัติไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่รู้ว่ามันคืออะไร ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติต่อมันอย่างไร เมื่อเรารู้จักชีวิตรู้จักโลกตามความเป็นจริง เราก็ปฏิบัติต่อชีวิต และต่อโลกอย่างถูกต้อง การปฏิบัติต่อชีวิต หรือดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง และปฏิบัติต่อโลกอย่างถูกต้อง หรือต่อประสบการณ์ถูกต้อง นี้คือ จริยธรรม

๓. เมื่อเราปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้อง หรือดำเนินชีวิตถูกต้อง ปฏิบัติต่อโลก ต่อประสบการณ์ทั้งหลายถูกต้อง ก็นำไปสู่ผล คือการแก้ปัญหาได้สำเร็จ เป็นอันว่า เริ่มแรกรู้จักสิ่งต่างๆ ถูกต้อง แล้วปฏิบัติได้ถูกต้อง นำสู่ผลเบื้องปลาย คือ แก้ปัญหาได้ เมื่อแก้ปัญหาได้ ก็มีความสุขในระดับขั้นต่างๆ จนถึงภาวะอันสูงสุด หมดปัญหาหมดความทุกข์ ถึงภาวะที่สิ่งทั้งหลายไม่เกิดเป็นปัญหา ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้น ก็เกิดความเป็นอิสรภาพ สันติสุขก็เกิดขึ้นเป็นองค์ประกอบองค์ที่ ๓ โดยสรุป องค์ประกอบ ๓ ประการคือ

  1. มีปัญญารู้สัจจธรรม จึงทำให้
  2. มีการปฏิบัติที่เป็นจริยธรรม แล้วก็
  3. เข้าถึงอิสรภาพ มีสันติสุข

นี้คือองค์ประกอบของชีวิตที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของการสร้างสรรค์พัฒนาเยาวชน นี้คือสิ่งที่อาตมาได้นำมาเสนอในวันนี้ ซึ่งส่วนมากได้เน้นในแง่ที่หนึ่ง คือมองเยาวชนโดยสัมพันธ์กับตัวของเขาเอง เน้นที่การพัฒนาชีวิตของเขาว่า จะให้เขาเป็นคนอย่างไร มีบุคลิกภาพอย่างไร มีคุณสมบัติอะไร ไปสู่จุดหมายอะไรของชีวิต ทั้งนี้โดยคำนึงถึงพระพุทธพจน์ที่ว่า ปุตฺตา วตฺถุ มนุสฺสานํ เด็กทั้งหลายเป็นที่รองรับไว้ซึ่งมนุษยชาติ

การที่เราทั้งหลายมองเห็นความสำคัญของเยาวชนนี้ นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ดังที่ได้มีกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมจริยธรรมของเด็กและเยาวชนในวันนี้ ขอให้กิจกรรมในวันนี้ จงนำไปสู่กิจกรรมสืบเนื่องที่เป็นความเจริญยิ่งขึ้นต่อไป คือการปฏิบัติหรือลงมือทำ โดยอิงอาศัยการช่วยกันคิดพิจารณา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในทางสร้างสรรค์ ขอเอาใจช่วยให้การประชุมสัมมนาครั้งนี้ สำเร็จลุล่วงเกิดผลประโยชน์ สมความมุ่งหมาย และขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พร ให้ทุกท่านประสบจตุรพิธพรชัย มีความร่มเย็นเป็นสุข พรั่งพร้อมด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา ในการบำเพ็ญประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านให้สำเร็จ โดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ

ศาสนาและเยาวชน2

ท่านพระเถรานุเถระที่เคารพนับถือทุกท่าน

ขออำนวยพรท่านผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาทุกท่าน

อาตมภาพขออนุโมทนา ในการที่คณะอนุกรรมการ ส่งเสริมศาสนาและจริยธรรม ในคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ ได้จัดการสัมมนาครั้งนี้ขึ้น โดยความร่วมมือของ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นับว่าเป็นการแสดงออกอีกครั้งหนึ่ง ที่บ่งบอกถึงการเห็นความสำคัญของศาสนาและจริยธรรม โดยสัมพันธ์กับเรื่องเยาวชน

1ปาฐกถาธรรมในการสัมมนาเรื่อง 'การส่งเสริมศาสนาและจริยธรรมแก่เยาวชน' วันพุธที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๒ เวลา ๑๐.๓๐-๑๒.๐๐ น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
2ปาฐกถาธรรม ในการสัมมนาเรื่อง "การส่งเสริมศาสนาและจริยธรรมแก่เยาวชน" วันพุธที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๒ เวลา ๑๐.๓๐-๑๒.๐๐ น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.