ปัญหาภิกษุณี: บททดสอบสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ทำไมในคัมภีร์ มีคำว่าผู้หญิงไม่ดีมากมาย

ถาม: ในพระไตรปิฎกมักจะกล่าวถึงผู้หญิงในแง่ที่ไม่ดีอยู่เสมอ

ตอบ: ก็ไม่เสมอหรอก คำติเตียนว่าผู้หญิงนั้นมีชุมนุมอยู่มากจริงๆ แห่งเดียวในกุณาลชาดก ซึ่งทั้งเรื่องเต็มไปด้วยคำด่าว่าผู้หญิง น่าสังเกตว่า กุณาลชาดก เป็นชาดกเรื่องเดียวในพระไตรปิฎกที่มีเนื้อความเป็นร้อยแก้ว เรื่องอื่นในพระไตรปิฎกปกติจะมีแต่ตัวคาถา เมื่ออรรถกถาจะอธิบายจึงเขียนเป็นร้อยแก้ว แต่กุณาลชาดกนี้แปลกที่ในพระไตรปิฎกก็ดำเนินเรื่องเป็นร้อยแก้ว จนกระทั่งถึงข้อความที่เป็นคำกล่าวว่าสตรีจึงจะเป็นคาถา ซึ่งว่ารุนแรง และเยอะแยะไปหมด ทีนี้เราก็ต้องรู้ภูมิหลังว่ากุณาลชาดกเกิดขึ้นมาอย่างไร ทำไมจึงมีคำติเตียนว่าสตรีมากมาย

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อครั้งที่เจ้าศากยะ กับเจ้าโกลิยะ จะทำสงครามกันเรื่องแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณี พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปและทรงระงับสงครามได้ด้วยพระดำรัสตรัสสอนต่างๆ เมื่อระงับสงครามลงได้ เจ้าทั้งสองฝ่ายก็สำนึกในพระคุณของพระพุทธเจ้า ก็เลยถวายเจ้าชายที่มารบฝ่ายละ ๒๕๐ คน ให้บวชเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เพราะถ้าพระพุทธเจ้าไม่เสด็จมา ทั้งสองฝ่ายก็คงฆ่ากันตายมากกว่านั้น ก็เหมือนกับว่าถวายชีวิตที่จะสูญเสียไปกับสงครามแด่พระพุทธเจ้า

ทีนี้พอบวชแล้ว ต่อมาก็ปรากฏว่า เจ้าชายหนุ่มๆ เหล่านี้ ซึ่งไม่ได้มาบวชด้วยความตั้งใจของตัวเอง แต่เป็นความตั้งใจเฉพาะหน้าที่จะมุ่งตอบแทนพระคุณของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ทีนี้ใจของตัวเองไม่พร้อม พอหายตื่นเต้น ก็คิดถึงแฟนล่ะสิ ยิ่งต่อมาบางองค์แฟนก็ส่งข่าวมาอีก พูดอย่างนั้นอย่างนี้ ใจก็ไม่เป็นสมาธิ วุ่นวายไปหมด ก็อยากสึกกันจำนวนมาก

พระพุทธเจ้าทรงปรารภเหตุการณ์นี้แล้วก็ทรงพระดำริว่าจะต้องช่วยภิกษุหนุ่มเหล่านั้น แล้วก็ทรงพิจารณาว่าจะแสดงธรรมเรื่องอะไรดี เพื่อจะให้ภิกษุเหล่านี้บรรเทาความเบื่อหน่ายในพรหมจรรย์

วันหนึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงพาภิกษุเหล่านี้เข้าป่าหิมพานต์ ไปชมนกชมไม้ ให้ได้บรรยากาศที่จะโน้มนำใจของภิกษุใหม่ไปในทางสงบรื่นรมย์ ตอนหนึ่งก็ได้เห็นฝูงนกดุเหว่าบินมา จึงทรงปรารภนกเหล่านั้นแล้วตรัสเล่าเรื่องพญานกกุณาลในอดีต เจ้ากุณาลนี้รูปร่างงดงามมาก และมีนกดุเหว่าที่เป็นภรรยาเยอะแยะ แต่เจ้านกกุณาลมักจะด่าพวกนกภรรยาเหล่านั้นด้วยคำหยาบคาย จนเป็นเรื่องปกติของมัน

จะกล่าวฝ่ายนกอีกตัวหนึ่งชื่อปุณมุข เป็นนกดุเหว่าขาว มีภรรยาเยอะเหมือนกัน แต่นกปุณมุขนี่ชอบพูดกับภรรยานกทั้งหลายด้วยคำไพเราะ ต่อมานกปุณมุขมาหานกกุณาล ก็ถูกนกกุณาลด่าถอยกลับไป

ต่อมามีเรื่องว่านกปุณมุขเจ็บไข้ พวกภรรยาพากันทิ้งไป กลายเป็นว่านกกุณาลผู้หยาบคายนี่แหละไปช่วยรักษาโรค และช่วยเฝ้าดูแลต่างๆ ตอนนี้นกกุณาลก็เลยติเตียนว่าพวกผู้หญิงต่างๆ นานาให้นกปุณมุขฟัง เล่าเป็นเรื่องเป็นราวว่าพวกผู้หญิงเสียหายอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีดีเลย

การที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าเรื่องนกกุณาลนี้ก็ทรงมีเป้าหมายเหมือนกับว่า คนที่มีราคะต้องให้กรรมฐานประเภทอสุภะ จะได้เป็นเครื่องชักจูงใจไปในภาวะที่ตรงข้าม จิตที่ไปติดไปยึดผูกพันอยู่ จะได้คลายออก นี่ก็เป็นอุบายวิธี

เรื่องเล่าต่อไปว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้จบ ภิกษุหนุ่มเหล่านั้นใจก็คลายความคิดถึงแฟนลง แล้วก็ประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป เรื่องก็เป็นอย่างนี้ นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่เต็มไปด้วยคำติเตียนว่าสตรี เป็นแหล่งที่หาได้ง่าย ที่ชุมนุมคำต่อว่าสตรี

ตอนที่รัชกาลที่ ๕ จะทรงพิมพ์ชาดก มีเรื่องเล่าว่าพระสนมองค์หนึ่ง จะให้เผาชาดกทิ้ง เพราะไม่พอใจว่าชาดกนี้ด่าผู้หญิงมากมาย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ชัดว่า เป็นการแก้ปัญหาความคิดถึงผูกพันที่เป็นเรื่องทางเพศระหว่างผู้หญิงผู้ชาย ทางฝ่ายหญิงก็เหมือนกัน เวลาภิกษุณีสาวๆ คิดถึงแฟนอยากสึก ภิกษุณีผู้ใหญ่ก็อาจจะเล่นงานผู้ชายเสียหนักก็ได้ แต่ไม่เป็นเรื่องบันทึกไว้ ส่วนกุณาลชาดกนี้เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเล่า แต่คำติเตียนนั้นไม่ใช่คำตรัสของพระองค์เอง แม้ว่าตามเรื่องจะบอกว่ากุณาลนั่นละต่อมาเป็นพระพุทธเจ้า ข้อสำคัญก็อยู่ที่เหตุปรารภในการตรัสแสดง ในกรณีอื่นก็อาจมีข้อปรารภอื่นอีก แต่นี่เป็นตัวอย่าง ว่าเป็นจุดสำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้เรามองเรื่องราวต่างๆ โดยมีแง่มุมที่พิจารณาให้ตรงเรื่องกัน

เป็นอันว่าเรื่องคำกล่าวว่าเหล่านี้ อยู่ในวิธีการอีกด้านหนึ่ง ซึ่งมีไว้สำหรับแก้ความฟุ้งซ่านจากราคะเกี่ยวกับการคิดถึงผู้หญิง หรือคนที่โกรธผู้หญิงมีเรื่องแค้นขึ้นมา อ่านสมใจแล้วจะได้ไม่ต้องไปฆ่าฟันทำร้ายกัน แต่อย่างที่ว่าแล้ว เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้านำมาตรัสเล่า ไม่ใช่คำตรัสของพระพุทธเจ้าเอง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.