พุทธศาสน์กับการแนะแนว

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

รอยต่อ : จุดตรวจที่มองเห็นง่าย

อีกด้านหนึ่งของชีวิตของเขา ที่จะต้องตรวจดูด้วย ซึ่งมักจะปรากฏให้เห็นได้ง่ายกว่า เป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างองค์ประกอบภายในกับความเป็นไปภายนอก มักเป็นพฤติกรรมที่ปรากฏให้คนอื่นเห็นได้ คือ ความมีวินัยในชีวิต และในการอยู่ร่วมสังคม

วินัย คือการจัดระเบียบชีวิตของตนให้มีลำดับ ให้มีจังหวะในความเป็นอยู่และทำการต่างๆ โดยเฉพาะในกิจกรรมประจำวัน เช่น การจัดลำดับเวลาและทำเป็นเวลา เป็นต้น ทำให้การดำเนินชีวิตไม่สับสน และมีช่องมีจังหวะมีโอกาสที่จะทำอะไรต่างๆ ได้มากขึ้น

กว้างออกไป วินัย คือการจัดสรรและรักษาระเบียบในการอยู่ร่วมในสังคม โดยจัดวางและรักษากฎเกณฑ์และกติกาของหมู่คณะและแบบแผนของสังคมส่วนรวม ทำให้ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ล่วงละเมิด ไม่เอาเปรียบกัน ทำให้การอยู่ร่วมกันไม่วุ่นวาย ไม่สับสน แล้วแต่ละคนก็จะมีโอกาสดำเนินชีวิตของตน และทำกิจกรรมต่างๆ ได้สะดวก คล่องตัว ตามวัตถุประสงค์ ภายในกฎเกณฑ์และกติกานั้น โดยไม่ต้องหวั่นหวาดระแวงการขัดขวางบีบคั้นกลั่นแกล้งกัน

คนที่มีวินัยตามความหมายที่ถูกต้อง ก็จะมีโอกาสดำเนินชีวิตที่ดีงาม และทำการพัฒนาตนได้สะดวก และได้มากที่สุด เพราะสภาพชีวิตของตนและสภาพสังคมที่เป็นระเบียบเรียบร้อยช่วยเอื้ออำนวย เป็นผู้รักษาประโยชน์ของตน และช่วยรักษาประโยชน์ร่วมกันของสังคมพร้อมไปด้วย

ถ้าไม่มีวินัย ชีวิตก็จะสับสนยุ่งเหยิง และสังคมก็จะวุ่นวาย ระส่ำระสาย ทำลายโอกาสในการที่จะดำเนินชีวิตที่ดีงามและโอกาสในการพัฒนาตนของทุกคน จึงต้องดูความมีวินัยเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งด้วย

ความขาดวินัย หรือความไม่มีศีล แสดงถึงการขาดความสามารถที่จะบังคับควบคุมกายวาจา หรือพฤติกรรมเคลื่อนไหว การแสดงออกต่างๆ ของตน พูดสั้นๆ ว่า ไม่สามารถบังคับควบคุมตนเอง จึงเป็นความบกพร่องที่ควรเอาใจใส่ตรวจดูแต่เบื้องต้น เพราะว่าในด้านภายใน เขาก็จะไม่สามารถจัดสรรควบคุมให้องค์ประกอบต่างๆ ที่กล่าวถึงแล้วทำงานให้ได้ผลดี และด้านภายนอก พฤติกรรมของเขาก็จะเป็นภัยอันตราย หรือก่อผลเสียหายต่อสังคม

ความขาดวินัย อาจจะแสดงออกชัดเจน เป็นพฤติกรรมที่ทำลายความเป็นระเบียบและสงบเรียบร้อยของสังคม การละเมิดกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งจะเป็นเครื่องฟ้องถึงความคลาดเขวออกจากวิถีชีวิตที่ดีงาม และจากแนวทางของการศึกษาพัฒนาตน ความมีวินัยจึงเป็นเรื่องที่จะต้องเอาใจใส่ในระดับพื้นฐาน

เป็นอันว่า เท่าที่พูดมานี้ เป็นจุดพื้นฐานที่จะต้องพิจารณา เมื่อฟังคนมาปรับทุกข์ มาระบายปัญหา หรือออกไปมองและออกไปช่วยแก้ปัญหา ถ้าเรามีหลักเหล่านี้อยู่ เราก็ใช้เป็นตัวตรวจสอบได้ว่าเขาขาดอะไรหรือเปล่า แล้วก็พยายามที่จะช่วยให้เขาสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา เพราะว่าองค์ประกอบเหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐาน ในการดำรงชีวิตอยู่ด้วยดีของมนุษย์ เป็นปัจจัยพื้นฐานในการศึกษาพัฒนาตนของมนุษย์ และเป็นปัจจัยพื้นฐานในการแก้ปัญหา ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้วจะแก้ปัญหาได้ยาก ส่วนข้อพิจารณาอื่นๆ เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมากมายก็ค่อยๆ ว่ากันไป แต่อันนี้ต้องวางเป็นพื้นฐานไว้ก่อน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.