เพื่อความเข้าใจปัญหาโพธิรักษ์ (ฉบับย่อ-เพิ่มเติม)

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

๓. การแยกศัพท์และแสดงรากศัพท์ต่างๆ ของท่านโพธิรักษ์นี้ มองได้ว่าเป็นการกระทำอย่างขาดความรับผิดชอบ และไม่มีหลักมีเกณฑ์อะไรทั้งสิ้น สุดแต่จะมองเห็นตัวอักษรที่พอจะดึงเข้าหาคำอธิบายที่ตนต้องการได้ ก็นึกเอาพูดเอา แม้แต่ในกรณีที่รากศัพท์อย่างนั้นไม่มี ก็ว่าเอาเอง แปลเอาเอง แล้วก็อธิบายไปอธิบายมาให้ได้ความหมายที่ตนต้องการ ซึ่งผู้ที่รู้ภาษาย่อมเห็นได้ชัดเจนว่า คำอธิบายอย่างนั้นเป็นการกระทำที่เหลวไหลเป็นไปไม่ได้น่าขบขัน เพราะนอกจากจะผิดความหมายแล้ว ยังเกิดความขัดกันเองในทางภาษาจนสับสนวุ่นวายไปหมด แต่ท่านโพธิรักษ์อาศัยการที่คนฟังบางพวกไม่รู้เรื่องภาษา และไม่ติดตามสืบค้นต่อไป จึงสั่งสอนอธิบายไปตามพอใจ เช่นท่านโพธิรักษ์ เห็นคำว่า "นิรุทฺธา" ซึ่งแปลว่า ดับแล้ว ก็แยกศัพท์ว่ามาจาก นิร (ไม่มี) + อุทธ (อยู่เหนือ หรือเบื้องบน) จึงแปลว่า ไม่มีอะไรจะอยู่เหนือ การแปลอย่างนี้ นอกจากความหมายจะผิดแล้ว ก็จะเกิดความขัดแย้งในตัวภาษาเองอย่างมากมาย เพราะ นิรุทฺธ ที่แท้จริง เป็นคำที่มีรากศัพท์เดียวกับนิโรธ และนิรุชฺฌติ เป็นต้น แต่เปลี่ยนรูปไปตามหน้าที่ในประโยค เมื่อแยกศัพท์และแปลอย่างท่านโพธิรักษ์ คำเหล่านี้ซึ่งอาจจะมาในข้อความเดียวกัน ก็กลายเป็นคนละเรื่องคนละราวกันไป ไม่ต่างกับคนไม่รู้ภาษาอังกฤษที่ไปพบคำว่า demonstration แล้วก็แยกศัพท์เองว่า มาจาก demon (ผี) + stration (เข้าใจเอาเองว่า stration คือ station ที่แปลว่า สถานี) แล้วก็แปล demonstration ว่า สถานีผี แล้วคำว่า demonstration นั้นก็เลยขัดกันกับคำว่า demonstrate, demonstrable, demonstrative เป็นต้น ซึ่งเป็นคำชุดเดียวกัน มาจากรากศัพท์เดียวกัน ยุ่งไปหมด

ท่านที่อ่านดูตัวอย่างการแยกศัพท์และแปลคำภาษาอังกฤษ ซึ่งยกมาเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบในที่นี้ คงจะเห็นได้ว่า การกระทำอย่างนั้นเป็นเรื่องเหลวไหลน่าขบขันเหลือเกินอย่างแทบไม่น่าเป็นไปได้ แต่สิ่งที่ท่านโพธิรักษ์กระทำต่อศัพท์ธรรมต่างๆ ยังเหลวไหลเลื่อนลอยยิ่งกว่านั้นไปอีก

ถ้อยคำที่ยกมาให้ดูนี้ เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยที่ยกมาจากหนังสือ "ทางเอก" ซึ่งเป็นหนังสือสำคัญ ที่เรียกได้ว่าเป็นแบบหรือเป็นตำราของท่านโพธิรักษ์ เป็นหนังสือชุดปกแข็ง แบ่งเป็น ๓ เล่ม รวมจำนวนหน้าหนากว่า ๑,๕๐๐ หน้า (ตัวอย่างที่ยกมาอยู่ในภาค ๒ หน้า ๓, ๑๔๔ และ ๕๖๔ ตามลำดับ) ในหนังสือชุดนี้เต็มไปด้วยการอธิบายคำศัพท์และหลักธรรม อย่างผิดเพี้ยนสับสนในทำนองที่กล่าวมาแล้วนี้ คำศัพท์สำคัญๆ ทั้งหลายในทางธรรม เช่น อรหันต์ อรหัตตผล สันติ อริยะ สัญญา อุเบกขา อุโบสถ ถูกนำมาแยกให้วิปริตอย่างไร้ความรับผิดชอบเหมือนเล่นสนุก การกระทำของท่านโพธิรักษ์จึงมิใช่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่จะปล่อยผ่านไปได้ เพราะจะมีผลกระทบกระเทือนต่อพระศาสนา และความรู้ความเข้าใจของประชาชนได้อย่างมาก

ข้อสงสัยที่ยังไม่อาจเฉลยได้แจ่มแจ้ง คือ ทำไมท่านโพธิรักษ์จึงทำเช่นนี้ อาจจะเป็นการแสดงเพื่อให้เห็นว่า ท่านรู้ศัพท์ธรรมลึกซึ้ง สามารถแยกแยะคำบาลีออกไปได้จนถึงรากศัพท์ จะได้ทำให้คำสอนของท่านดูขลังน่าเชื่อถือสำหรับคนบางพวก หรือว่าท่านหลงตัวไป ทำไปด้วยจิตฟุ้งซ่านประกอบกับความไม่รู้ หรือว่าท่านจะมีเจตนาทำคำสอนในพระพุทธศาสนาให้เลอะเลือนสับสน ซึ่งทั้งนี้คงจะทิ้งไว้ให้วิญญูชนพิจารณากันต่อไป

หลักฐานที่ท่านโพธิรักษ์ใช้อ้างในขั้นสุดท้าย เพื่อยืนยันคำสอนของท่าน และคงเป็นสิ่งเลื่อนลอยอันเดียวที่ท่านจะอ้างได้ ในเมื่อท่านไม่มีหลักเกณฑ์อย่างอื่น คืออ้างว่าท่านรู้เองด้วยญาณ แต่เมื่อพิสูจน์ในแง่ภาษาก็เห็นได้ชัดว่าญาณของท่านนั้นเป็นญาณที่ผิด และในแง่หลักธรรม ญาณของท่านก็ไม่ตรงกับญาณของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นหลักการของพระพุทธศาสนา

อย่างไรก็ตาม ที่พูดว่าญาณนั้น ก็เป็นการพูดไปตามคำอ้างของท่านโพธิรักษ์เท่านั้น ความจริง สิ่งที่ท่านโพธิรักษ์อ้างนั้นไม่ใช่เป็นญาณอะไรที่ไหนเลย แต่เป็นเพียงความผิดเพี้ยนและความไม่รู้ในเรื่องถ้อยคำธรรมดาสามัญ ซึ่งส่วนมากแม้แต่ชาวบ้านทั่วไปถ้าพูดภาษานั้นก็รู้เข้าใจกัน ดังนั้น จึงเป็นการอ้างญาณในเรื่องสามัญที่ไม่ต้องรู้ด้วยญาณ ครั้นอ้างแล้วก็ปรากฏว่าความรู้แม้แต่ในเรื่องสามัญที่อ้างนั้นผิด ก็เลยกลับเป็นเครื่องยืนยันว่าความรู้ของท่านนั้นไม่ใช่ญาณ และท่านก็ไม่มีญาณ แล้วความก็ส่อต่อไปอีกว่า คำอวดอ้างของท่านโพธิรักษ์ นอกจากจะไม่เป็นจริงแล้ว ยังเป็นเครื่องฟ้องถึงเจตนาให้ต้องตั้งข้อสงสัยว่า ท่านอวดอ้างสิ่งที่ไม่ใช่ญาณ ว่าเป็นญาณ และอวดอ้างญาณที่ท่านไม่มีขึ้นมาสร้างความวิปริตผิดเพี้ยนเพื่ออะไร

เมื่อเป็นเช่นนี้ ขบวนการที่ถือวัตรปฏิบัติต่างๆ ที่ท่านถือว่าเคร่งว่าดีนั้น จะเป็นเพียงการกระทำบังหน้าเพื่อใช้ชื่อของพระพุทธศาสนาหรือไม่ ว่าที่จริง วัตรปฏิบัติเหล่านั้นสามารถถือได้ โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับหลักธรรมในระดับลึกซึ้งอะไร ดังนั้น ในเมื่อหลักธรรมของท่านไม่ตรงกับพระพุทธศาสนาแล้ว ถ้าท่านมีความสุจริตใจ ก็น่าจะดำเนินขบวนการถือวัตรปฏิบัติของท่านเองต่างหากออกไป โดยไม่ต้องใช้ชื่อว่าพระพุทธศาสนา และในเมื่อญาณที่ท่านอ้างไม่ตรงกับญาณของพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็น่าจะแสดงความซื่อตรงโดยแยกไปตั้งลัทธิของท่านเองขึ้นมาใหม่ โดยไม่ต้องอาศัยรูปแบบของพระพุทธศาสนาแต่อย่างใดเลย

ตามที่กล่าวมานี้ ย่อมเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ปัญหาท่านโพธิรักษ์ หาใช่เป็นปัญหาในระดับการตีความพระธรรมวินัยแต่อย่างใดไม่ แต่เป็นการทำให้เกิดความสับสนไขว้เขวหลงทางไปเสียก่อนที่จะมีการตีความ เมื่อสิ่งที่จะนำมาตีความถูกทำให้เคลื่อนคลาดวิบัติไปเสียก่อนแล้ว ถ้าหากจะมีการตีความกันต่อไป การตีความซึ่งตั้งอยู่บนฐานที่คลาดเคลื่อนไปแล้ว ย่อมมีแต่จะวิปริตผิดพลาดยิ่งขึ้นไปอีก ไม่มีทางจะเป็นการตีความที่ถูกต้องได้ เมื่อท่านโพธิรักษ์อธิบายถ้อยคำคลาดเคลื่อนไปหมดแล้ว หลักธรรมที่ท่านอธิบายก็พลอยผิดพลาดไปด้วยทั้งหมด

ปัญหาท่านโพธิรักษ์ในกรณีนี้ มิใช่เป็นเพียงปัญหาการกระทำผิดต่อพระธรรมวินัยหรือต่อพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่เป็นปัญหาในขั้นจริยธรรมพื้นฐานทีเดียว เพราะว่า เมื่อท่านโพธิรักษ์กระทำการแยกแยะแปลคำศัพท์ทางธรรมอย่างที่กล่าวมาแล้วนั้น หากท่านมีสติสัมปชัญญะเป็นปกติ ท่านย่อมแจ้งแก่ใจอยู่ว่า ท่านไม่มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ท่านกำลังกระทำ การที่ท่านทำตามอำเภอใจอย่างเต็มที่ในสิ่งที่รู้อยู่ว่าไม่เป็นจริงอย่างนั้น ย่อมเป็นความไม่ซื่อตรงเป็นอย่างยิ่ง ปัญหาท่านโพธิรักษ์ในกรณีนี้ จึงมิใช่เป็นปัญหาการตีความพระธรรมวินัย แต่เป็นปัญหาความไม่จริงใจในการกระทำของตน เป็นปัญหาความไม่ซื่อตรงทั้งต่อพระศาสนาและต่อประชาชน จึงได้เคยกล่าวไว้ว่า ปัญหาท่านโพธิรักษ์ ไม่ใช่เป็นกรณีระหว่างท่านโพธิรักษ์กับมหาเถรสมาคม หรือกับผู้รักษากฎหมายของบ้านเมือง แต่เป็นกรณีระหว่างท่านโพธิรักษ์์กับผู้รักความจริงทุกคน

จึงต้องวิงวอนขอร้องว่า หากท่านโพธิรักษ์ยังมีคุณธรรมความดีงามอยู่ในจิตใจ หรือท่านได้กระทำการที่ผ่านมาด้วยความเห็นผิดเป็นชอบ ก็ขอได้โปรดเห็นแก่พระพุทธศาสนา เห็นแก่ประชาชน และเห็นแก่ความดำรงอยู่ตามเป็นจริงของพระธรรมวินัย โปรดยอมรับความผิดพลาดที่ได้กระทำไปแล้ว การพูดเลี่ยงหลบไปได้ต่างๆ นั้น แม้จะเป็นความเก่งกาจในด้านหนึ่งก็จริง แต่หาใช่เป็นความดีงามอย่างใดไม่ ในทางตรงข้าม มีแต่จะแสดงถึงความไม่ซื่อตรงและการขาดความจริงยิ่งขึ้นไปทุกที

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.