การศึกษาทั่วไปเพื่อสร้างบัณฑิต

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พัฒนาทั้งให้เป็นคนไทยและให้เป็นคนที่สร้างสรรค์อารยธรรม

ในแง่จุดหมายระยะยาว การศึกษาจะต้องพัฒนาคนให้เป็นคนเต็มคน ผู้มีชีวิตที่สมบูรณ์ ให้เป็นบุคคลที่พัฒนาแล้ว ทั้งด้านพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ (รวมทั้งธรรมชาติ) หรือพฤติกรรมในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมคือเพื่อนมนุษย์ทั้งด้านจิตใจ และด้านปัญญา อย่างน้อยให้ได้คุณสมบัติเหล่านี้ในฉบับง่ายที่พูดได้สั้นๆ ว่า ให้เป็นคนที่ เก่ง ดี และ มีความสุข

ขอยกเป็นข้อสรุปว่า จะต้องผลิตคน ให้ได้คุณสมบัติทั้ง ๓ อย่าง คือ หนึ่ง เก่ง สอง ดี สาม มีความสุข ไม่ใช่ว่าจะเน้นเก่งอย่างเดียว เน้นเก่งไม่พอ ต้องดีด้วย แต่ดีก็ยังไม่พอ ต้องมีความสุขด้วย

เวลานี้แม้แต่เก่งเราก็ยังไม่ได้ อย่าไปนึกว่าเราเก่งแล้ว เดิมนั้นเน้นที่เก่ง แต่ต่อมาเราบอกว่าไม่ถูก ต้องมีดีด้วย เสร็จแล้วเราก็เพิ่มจุดเน้นว่าดีด้วยเหมือนกับว่าตัวเองเก่งแล้ว แต่หันไปดูที่ว่าเก่งนั้น เก่งพอที่จะเอาชนะในเวทีการแข่งขันโลกไหม ตอบได้เลยว่าเดี๋ยวนี้ก็ยังเก่งไม่พอ และดีก็ต้องเข้ามาเพื่อให้ความเก่งเป็นไปในทางสร้างสรรค์ แล้วเพื่อให้ความเก่งและความดีมั่นคงยั่งยืนก็ต้องมีความสุข เพราะถ้าไม่มีความสุข ความดีไม่มีทางยั่งยืน

ถ้าเด็กสำเร็จการศึกษาไปไม่มีความสุขเป็นคุณสมบัติในตัว ก็จะเป็นนักหาความสุข ก็จะเข้าระบบฝันอเมริกัน (American dream) ฝรั่งอเมริกันพัฒนาประเทศมาเป็นร้อยๆ ปี เขามีฝันอเมริกัน ซึ่งประการหนึ่งก็คือ การแสวงหาความสุข แต่เป็นความสุขที่อยู่ข้างนอก วัฒนธรรมของเขามีแนวความคิดหลักประการเดียว คือถือว่าความสุขอยู่ที่การเสพวัตถุ นึกว่ามีวัตถุพรั่งพร้อมแล้วก็มีความสุขที่สุด อย่างที่ว่าเมื่อสักครู่นี้

ทีนี้เมื่อเป็นนักแสวงหาความสุขก็ต้องกลายเป็นคนขาดความสุข คนที่หาความสุข คือคนที่ขาดความสุข สำเร็จการศึกษาไป ไม่มีความสุขในตัวเอง แต่เป็นผู้มีความสามารถในการหาความสุข ก็โลดแล่นไปในสังคมด้วยความหิวโหยกระหายความสุข เมื่อหิวโหยกระหายความสุข หาความสุขให้กับตนเอง ก็ต้องเบียดเบียนสังคม ก่อความเดือดร้อน เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างความสุขให้เป็นคุณสมบัติในใจของเขา

การศึกษาจะต้องทำหน้าที่นี้ให้ได้ คือ เมื่อเรียนอยู่ก็ต้องมีความสุขเป็นคุณสมบัติในใจ เมื่อเขามีความสุข ถ้าเขาเป็นคนเก่ง เมื่อออกไปในสังคม เขาไม่ต้องเบียดเบียนคนอื่นในการหาความสุข เขาก็สามารถระบายความสุขออกไป คนที่มีความทุกข์ก็ระบายทุกข์ คนที่มีความสุขก็ระบายความสุขให้แก่สังคม และใช้ความเก่งในการสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์สุขร่วมกันทั่วสังคม

เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างคนให้มีคุณสมบัติทั้ง ๓ คือ ทั้งเก่ง ดี และมีความสุข

พร้อมกันนั้นในกระบวนการนี้ก็ต้องสร้างคุณสมบัติที่เน้นเป็นพิเศษ ซึ่งจะต้องทำให้ได้ สำหรับกาละและเทศะที่เป็นอยู่เฉพาะหน้า คือ ความใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก หรือขยายให้เต็มว่า ใฝ่รู้ (วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์) ใฝ่สร้างสรรค์ (วัฒนธรรมเทคโนโลยี ในความหมายที่แท้) และ บากบั่นสู้สิ่งยาก (วัฒนธรรมอุตสาหกรรม) อย่างน้อยเพื่ออยู่ได้ดีในสภาพโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน และเอาชนะการแข่งขันให้ได้

ทั้งนี้ จะต้องระลึกตลอดเวลาว่า การศึกษาจะต้องให้คนก้าวไปไกลกว่านั้น คือมิใช่เพียงพัฒนาเขาให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เพื่อหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มผลผลิตเป็นต้นเท่านั้น แต่จะต้องพัฒนาเขาในฐานะเป็นตัวคน ให้เป็นบัณฑิต ผู้มีชีวิตที่ดีงามเป็นอยู่ด้วยปัญญาอย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต มีจิตโปร่งใส เป็นสุข

ความรู้เท่าทันนั้น รวมทั้งรู้ข้อดีข้อเสีย ส่วนดีส่วนด้อย ของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม ที่พูดถึงไปแล้วนั้นด้วย เพื่อก้าวไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริงของโลก อันอยู่สูงไกลเกินกว่าที่ระบบการแข่งขันของโลกปัจจุบันจะเอื้อมถึง เพื่อจะสร้างสรรค์อารยธรรมที่ยั่งยืนของมนุษยชาติให้สำเร็จได้ต่อไป

ในส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องของระบบการพัฒนาคน เช่นว่า ทำไมสังคมไทยเราจึงสร้างคนมาได้แบบนี้ ให้มีระบบน้ำใจ ระบบวัฒนธรรมช่วยเหลือเกื้อกูล แล้วระบบนี้มีคุณมีโทษ มีข้อดีและข้อบกพร่องอย่างไร เราผิดหรือ หรือเราเพียงแต่ไม่ครบ บางทีเราคิดว่าเราผิด เรานึกว่าสังคมฝรั่งดี เพราะสังคมฝรั่งตัวใครตัวมัน ทำให้คนเข้มแข็ง ดังนี้เป็นต้น ยังมีอะไรที่ควรจะพูดอีกมาก

ในที่นี้จะเพียงตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเรามองว่าสิ่งหนึ่งดี สิ่งหนึ่งไม่ดี สิ่งหนึ่งถูก สิ่งหนึ่งผิด เราอาจจะพลาด เพราะการมองเพียงสิ่งหนึ่งดีหรือไม่ดียังไม่พอ สิ่งหนึ่งไม่ดี แต่อีกด้านหนึ่งอาจจะดี ทำอย่างไรจึงจะสมบูรณ์ ต้องเติมให้เต็ม นี้เป็นจุดสำคัญ โดยมากวิธีคิดของคนออกมา ๒ อย่าง เป็นสุดขั้ว คือ ผิดกับถูก พอสิ่งนี้ผิด ไม่เอาแล้ว พอถือว่าผิด อีกสิ่งหนึ่งต้องถูก คิดว่าสิ่งโน้นถูกสมบูรณ์แล้ว แต่เปล่า สิ่งนั้นถูกก็ไม่จริง สิ่งที่ผิดก็ไม่จริง ว่าโดยสมบูรณ์ไม่เต็มทั้งคู่ ฉะนั้นต้องมีวิธีคิดเพื่อที่จะทำให้เกิดองค์รวมที่สมบูรณ์ ในที่นี้หมดเวลาพูด เพราะฉะนั้นจึงขอฝากไว้เป็นแง่คิดต่อไป

เรื่องวิชาศึกษาทั่วไปเป็นเรื่องสำคัญดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ท่านที่ดำเนินการเกี่ยวกับวิชาการนี้สำคัญมาก มีความรับผิดชอบสูง เพราะอย่างที่ว่าเมื่อสักครู่นี้ว่า คนที่จะสำเร็จวิชาศึกษาทั่วไปนั้นเป็นบัณฑิต คนที่จะสอนบัณฑิตได้ต้องเป็นนักปราชญ์

ขออนุโมทนาทุกท่านที่มาประชุม ขอให้การประชุมนี้ ซึ่งมีเป้าหมายเป็นกุศล เป็นความดีงาม จงสัมฤทธิ์ผลด้วยดี เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่สังคมและมวลมนุษยชาติ ขอทุกท่านจงประสบจตุรพิธพรชัยโดยทั่วกัน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.