กรณีเงื่อนงำ: พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร? (ฉบับตัดสั้น)

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ฝรั่งแม้จะเน้นข้อมูลที่แม่นยำ ก็ยังพลาดเยอะ

ตอนนี้มีการพูดกันถึงเรื่องที่ว่า ท่านผู้ที่เขียนเรื่องนี้เป็นผู้มีการศึกษา จบจากเมืองฝรั่ง ซึ่งบางทีคนไทยเราก็มองไปในแง่ว่า ถ้าจบการศึกษาจากเมืองฝรั่งละก็น่าเชื่อน่าฟัง จนกระทั่งกลายเป็นว่า เวลานี้ก็ชอบอวดดีกรีกัน ได้ดีกรีนั้นดีกรีนี้มา ถ้าได้ดีกรีจากเมืองฝรั่ง พูดแล้วน่าเชื่อเป็นหลักเป็นฐาน

ที่จริงเราก็ยอมรับอยู่ว่า ฝรั่งเขามีวัฒนธรรมทางวิชาการมา ค่อนข้างแน่นแฟ้น ซึ่งมองได้ทั้งสองขั้น คือทั้งขั้นข้อมูล และขั้นวิเคราะห์วิจารณ์

คนไทยเรามักจะมองข้ามขั้นข้อมูลไปเสีย แล้วตื่นนิยมในแง่การตีความ วิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ ว่าเขาเก่ง ก็เลยมักจะนึกว่า ถ้าเราทำการวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ และตีความ เริ่มด้วยการมีเสรีภาพในการวิจารณ์และตีความนี่ เราจะเหมือนฝรั่ง ชักจะโก้

แต่ที่จริงฝรั่งเขาเน้นข้อมูลก่อน ต้องหาข้อมูลให้แม่นยำ และพร้อมที่สุดก่อน เราจะเห็นว่าฝรั่งนี่อุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเล เดินทางไปสุดขั้วโลกเพื่อจะหาข้อมูลนิดเดียวให้รู้จริงเกี่ยวกับนกชนิดหนึ่ง ว่ามันมีชีวิตอยู่อย่างไร เป็นพันธุ์ไหนกันแน่ ต้องเดินทาง บุกป่าฝ่าดงฝ่าอันตรายเพื่อไปหาข้อมูลนิดเดียว เกี่ยวกับพืช เกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ เมื่อได้ข้อมูลเรียบร้อยจนกระทั่งแน่ใจแล้ว เขาจึงจะลงข้อสรุปเพื่อการวิจารณ์ สันนิษฐาน หรือตีความ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ อย่างที่บอกว่า ถ้าข้อมูลผิดพลาดแล้วมันเสียหมด

แม้แต่ฝรั่ง ที่ว่ามีวัฒนธรรมทางวิชาการที่เอาจริงเอาจังตั้งแต่เรื่องข้อมูลอย่างนี้ ก็ยังพลาดเยอะ โดยเฉพาะฝรั่งเขียนเรื่องเกี่ยวกับตะวันออก เช่นเรื่องเมืองไทยนี่ ผิดพลาดเยอะ เรื่องพระพุทธศาสนาก็ผิดเยอะ ถ้าเราไปเชื่อฝรั่งเขียนเรื่องเมืองไทยและพุทธศาสนาโดยไม่ตรวจสอบให้ดี ก็จะยุ่ง จะยกตัวอย่างให้ฟัง

อย่าง World Book Encyclopedia ที่ลงใน CD-ROM ของฝรั่งขายไปทั่วโลก มีชื่อเสียงมาก เอาฉบับล่าสุดปี ๒๐๐๐ เลย เขียนเรื่องเมืองไทยในหัวข้อ Thailand แกก็พูดไปๆ จนถึงเรื่องเครื่องแต่งกาย ตอนหนึ่งลงภาพให้ดูเสียด้วย บอกว่าเป็น traditional Thai clothing คือเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวตามประเพณีของคนไทย หรือเป็น costume of Thailand เลยทีเดียว แต่ดูแล้วถ้าเป็นคนในเมืองไทย ก็คงเป็นชาวเขา

อีกรายหนึ่ง Infopedia ฉบับ ค.ศ. ๑๙๙๔ ตอนนี้อาจจะเลิกทำขายแล้ว เป็น CD-ROM จำพวก Encyclopedia เหมือนกัน เขียนเรื่องเมืองไทย และเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ก็ลงภาพประกอบภาพหนึ่ง บอกว่า Thailand Buddhist Temple ว่าเป็น วัดพุทธศาสนาของไทย แต่ดูแล้วเป็นศาลพระภูมิ นี่เป็นอย่างนี้

Encyclopedia อีกชุดหนึ่ง ตอนนี้นึกไม่ออกว่าชุดไหน ลงภาพวัดแจ้ง แต่บรรยายภาพว่า วัดโพธิ์ จะต้องขอเวลาตรวจสอบย้อนหลังหลายปี ว่าเป็นฉบับใด

ฝรั่งเขียนเรื่องเมืองไทย แกผิดพลาดเยอะ คนไทยควรแจ้งให้แกทราบ ขนาดคนที่พยายามหาข้อมูลให้ชัดเจน ก็ยังพลาด

ทีนี้ถ้าข้อมูลผิดพลาดอย่างนี้ เวลาไปตีความสันนิษฐานจะเป็นอย่างไร พูดถึงเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวคนไทยตามประเพณี แต่กลายเป็นรูปชาวเขาอย่างนั้น คนผู้ชายนอกจากใส่กางเกงแบบชาวเขาแล้วยังแถมสะพายย่ามอีกด้วย ทีนี้ถ้ามีการสันนิษฐานตีความวิจารณ์ว่าคนไทยมีวัฒนธรรมเป็นอย่างไร มีความเจริญระดับไหน เมื่อข้อมูลผิดอย่างนั้นแล้ว พอตีความสันนิษฐาน ก็ย่อมจะพลาดไปหมดใช่ไหม มันไม่เป็นความจริงไปได้เลย

ในการมองฝรั่ง น่าสังเกตว่า พวกเราจำนวนมาก แทนที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมทางวิชาการของเขา แล้วเอามาใช้ประโยชน์ให้ได้ เพื่อความเจริญปัญญาแก่ตนเอง และร่วมสร้างเสริมภูมิปัญญาให้แก่โลก กลับจะคอยรอรับจากฝรั่ง และเชื่อตามฝรั่งไปง่ายๆ อะไรที่ฝรั่งพูด ก็ตื่นเต้นยอมรับยกย่องถือตาม ถ้าอย่างนี้ ในกรณีที่เล่าให้ฟังเมื่อกี้ว่า เคยมี encyclopedia ฉบับหนึ่งลงรูปวัดแจ้ง แล้วเขียนบรรยายภาพว่าวัดโพธิ์ ถ้าวันหนึ่งคนไปกันที่วัดแจ้ง พอมีคนพูดว่า เรามาถึงวัดแจ้ง คนที่อ่าน encyclopedia นั้นมา ก็เถียงว่าไม่ใช่ ที่นี่ไม่ใช่วัดแจ้ง เอนไซโคลปีเดียของฝรั่งบอกว่าวัดโพธิ์ ถ้าขืนเชื่อฝรั่งกันง่ายๆ ต่อไปคงต้องเปลี่ยนชื่อวัดแจ้ง เป็นวัดโพธิ์

ฉะนั้น สองอย่างนี้ต้องสัมพันธ์กัน ข้อมูลต้องถูกต้องแม่นยำ ชัดเจนและเพียงพอ การวิจัย วิจารณ์ และสันนิษฐาน ตีความ ตลอดจนวินิจฉัย จึงจะฟังได้ ก็เลยจะขอนำเข้าสู่เรื่องนี้

จะขอยกตัวอย่างเรื่องข้อมูล การเข้าใจข้อมูล และการนำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาด

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.