การศึกษาทางเลือก: สู่วิวัฒน์หรือวิบัติ ในยุคโลกไร้พรมแดน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ถ้ายังไม่เข้าใจความหมายที่แท้ของชุมชนและสังคม คนก็จะใช้ชุมชนและสังคมนั่นแหละเป็นที่ทำลายสันติภาพ

หันกลับมากล่าวถึงเรื่องที่ว่า เราจะสร้างชุมชนและองค์กรขึ้นมาอย่างไร เพื่ออะไร

ได้กล่าวแล้วว่า ในแง่หนึ่ง เรามีชุมชนหรือองค์กรขึ้นมาเพื่อสร้างโอกาสให้แก่บุคคล ที่เขาจะได้บอกแจ้งความต้องการของเขา และได้สิ่งที่เขาต้องการ เรามีความเข้าใจเบื้องต้นว่า มนุษย์หวังประโยชน์จากการเข้าไปอยู่และคงยังอยู่ร่วมสังคม ดังนั้นสังคมจึงมีอยู่เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทุกคน โดยที่แต่ละคนต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อความดำรงอยู่ของตน และเพื่อให้สังคมอย่างนี้ดำรงอยู่ได้ด้วยดีจึงต้องสร้างสังคมให้เป็นระบบแห่งการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

ที่ว่ามานี้เป็นการมองตามสภาพจิตพื้นฐานโดยทั่วไป รวมความว่า การที่เราอยู่ร่วมสังคม ก็เพราะว่าเราต้องการผลประโยชน์จากสังคม เพื่อว่าเราจะได้อาศัยผู้อื่นแล้วได้ผลประโยชน์ที่ต้องการ แต่ถ้าพิจารณาต่อไปอีก เมื่อมนุษย์เริ่มพัฒนาขึ้น มนุษย์จะเรียนรู้ว่า ประโยชน์ที่แท้จริงของเขาไม่ใช่แค่เพียงผลประโยชน์ในการมีสิ่งเสพบริโภค และชีวิตที่ดีงามมีความสุขก็ไม่ใช่อยู่แค่การเสพบริโภค ชีวิตที่ดีและความสุขอยู่ที่สิ่งที่ประณีตกว่านั้น และการที่เขาจะพัฒนาสู่ชีวิตที่ดีงามนั้นได้ต้องอาศัยชุมชนหรือสังคมที่มีสภาพเอื้อ

การจัดตั้งชุมชนและสังคมตลอดจนองค์กรต่างๆ มีประโยชน์สำคัญในแง่นี้ คือช่วยให้บุคคลมีโอกาสในการศึกษาหรือในการพัฒนาตนด้วยวิธีพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน หรืออาศัยสภาพและบรรยากาศในสังคมนั้นมาเป็นตัวเอื้อ อย่างน้อยเป็นสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุน นี้คือประโยชน์แท้จริงที่ต้องการ

ถ้ามนุษย์มองชุมชนหรือสังคมในความหมายอย่างนี้ ก็จะสัมพันธ์กับการศึกษา ซึ่งก็จะสอดคล้องกับธรรมชาติแห่งศักยภาพของมนุษย์ที่กล่าวไว้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์แห่งการเรียนรู้ เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึก และเป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา

มนุษย์ไม่ต้องการเพียงเสพ แต่ต้องการชีวิตที่ดีงาม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการศึกษาเรียนรู้สร้างสรรค์ และชุมชนหรือสังคมเป็นแหล่งที่เอื้อโอกาสนี้แก่เขา เพราะฉะนั้นในความหมายนี้ ชุมชนหรือสังคม ก็คือสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการศึกษาหรือพัฒนาตนของมนุษย์แต่ละคนนั่นเอง และจะต้องให้ทุกคนเข้าใจว่า เราอาศัยสังคมแล้วสังคมจะช่วยให้เราพัฒนาตัวเราได้อย่างไร ถ้าเราไม่มีสังคมที่มีสันติสุข แต่ละคนก็จะไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาตัวได้ดี เพราะในสังคมที่ดีก็จะมีกัลยาณมิตร และปัจจัยต่างๆ ที่ช่วยเอื้อให้เราเข้าถึงชีวิตที่ดี ที่สมบูรณ์ ดังนั้น ชุมชนที่ดีจึงมีลักษณะที่เอื้อต่อการศึกษาหรือการพัฒนาชีวิตของบุคคล

ทำไมเราจึงมีการจัดระบบการปกครองให้สังคมมีสันติภาพ ให้คนอยู่กันสงบเรียบร้อย ก็เพื่อว่าแต่ละคนจะได้มีโอกาสพัฒนาชีวิตของตนไปสู่ความสมบูรณ์นั่นเอง ชุมชนที่แท้จึงเป็นชุมชนแห่งการศึกษา

ปัจจุบันนี้มีการพูดกันถึงการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ หรือสังคมแห่งการศึกษา แสดงว่าเราเริ่มมองเห็นความหมายที่แท้จริงของชุมชนและสังคม ที่มีขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การสร้างโอกาสแห่งการศึกษา คือการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนของมนุษย์ เพื่อให้ชีวิตแต่ละชีวิตเข้าถึงความสมบูรณ์ และเมื่อแต่ละคนพัฒนาชีวิตของตนให้ดีงามสมบูรณ์ยิ่งขึ้น มีศักยภาพที่ได้พัฒนาแล้ว มีสติปัญญาเพิ่มขึ้น ก็เอาศักยภาพของแต่ละคนนั้นมาร่วมสร้างสรรค์สังคมอีก

โดยนัยนี้ การจัดตั้งชุมชนและองค์กรต่างๆ จึงมีความหมายที่พัฒนาสูงขึ้นเป็น ๒ ระดับ คือ

ระดับที่ ๑ เป็นขั้นพื้นฐานที่เรายังไม่ปรารถนาแท้จริง คือการที่ชุมชนนั้นเป็นแหล่งเอื้อโอกาสให้มนุษย์สามารถสนองความต้องการในทางผลประโยชน์ของตน รวมทั้งประโยชน์ในแง่ความมั่นคงปลอดภัยของชีวิต

ชุมชนในความหมายขั้นนี้ แม้จะทำให้คนมารวมกัน แต่แล้วแต่ละชุมชนก็จะแบ่งแยกกับชุมชนอื่น แล้วทะเลาะกัน แย่งชิงผลประโยชน์กัน บางครั้งชุมชนก็เป็นเพียงการรวมกลุ่มกันเพื่อรวมกำลังในการต่อสู้หรือเพื่อปกป้องกลุ่มพวกของตน พร้อมกันนั้น ภายในชุมชนนั้นๆ เอง บุคคลก็มักเครียดและมีความโน้มเอียงที่จะทะเลาะวิวาทกัน เพราะความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์

ระดับที่ ๒ เราสร้างชุมชนหรือสังคมขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งเอื้อโอกาสต่อการที่แต่ละคนจะได้พัฒนาชีวิตขึ้นสู่ความดีงามและความสมบูรณ์ คือเป็นชุมชนแห่งการศึกษา

ถ้าจะให้ชีวิตของบุคคลเข้าถึงสันติ และให้โลกมีสันติภาพแท้จริง มนุษย์จะอยู่แค่ความหมายของชุมชนในระดับที่ ๑ เท่านั้นไม่ได้ แต่จะต้องพัฒนามนุษย์นั้นให้สามารถสร้างสรรค์ชุมชนและสังคมขึ้นจนถึงระดับของความหมายที่สอง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.