การศึกษาทางเลือก: สู่วิวัฒน์หรือวิบัติ ในยุคโลกไร้พรมแดน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

โลกปัจจุบันไม่มีคำตอบให้ แต่คำตอบนั้นหาได้ที่ในบ้าน และในหัวใจของทุกคน

ขอย้อนกลับมากล่าวถึงสังคมที่เจริญก้าวหน้ากันอีก เป็นการปิดท้ายให้เห็นว่าขณะนี้โลกในแง่สันติภาพเป็นอย่างไร

สังคมอเมริกันที่ถือกันว่าเจริญพัฒนามากที่สุดนั้น ในแง่ดีก็มีส่วนที่ควรศึกษามาก แต่ในแง่ร้ายก็เป็นสังคมที่ง่อนแง่นมากทีเดียว ขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งซึ่งเล่าไว้บ่อย มีคุณผู้หญิงท่านหนึ่งชื่อ มิชซิสลีน วี. เชนนี่ (Lynne V. Cheney) เป็นอดีตประธานกองทุนแห่งชาติเพื่อมนุษยศาสตร์ โดยได้ดำรงตำแหน่งอยู่ ๖ ปี สามีเป็นอดีตรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ชื่อว่า ริชชาร์ด เชนนี่ (Richard Cheney) คุณผู้หญิงท่านนี้ได้แต่งหนังสือขึ้นมา ๓-๔ เล่ม เล่มหนึ่งชื่อ Telling the Truth 1 กล่าวถึงสภาพสังคมอเมริกันปัจจุบันที่น่าเป็นห่วงว่า จะแก้ไขได้อย่างไร เรื่องนี้เอามาเทียบแล้ว อาจจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับประเทศของเรา

ในหนังสือนั้นตอนหนึ่ง มิสซิส เชนนี่ เล่าว่า ที่เมืองฟิลาเดลเฟียด้านใต้ในปี ๑๙๙๔ (พ.ศ. ๒๕๓๗) วันหนึ่งมีคนขับรถเข็นไอศครีมเข้าไปขายในชุมชนหนึ่ง เด็กวัยรุ่นอายุ ๑๖ ปี คนหนึ่งเข้ามาขอเงินคนขายไอศครีม คนขายไม่ให้ เด็กก็โกรธ ควักปืนออกมายิง (เด็กวัยรุ่นในอเมริกาใช้ปืนกันมาก) คนขายไอศครีมล้มลงแล้วก็ตาย เมื่อเสียงปืนดังออกไป เด็กวัยรุ่นในชุมชนก็ออกมามุงดูแล้วก็สนุก พากันร้องเพลงแรพที่แต่งขึ้นมาเองเดี๋ยวนั้น (rap เป็นเพลงประเภทหนึ่งที่ใช้ดนตรีประกอบคำพูดไม่ใช่ร้องเป็นทำนอง) ตั้งชื่อเพลงว่า “เดคิลมิสเตอร์ซอฟตี้” (“They Killed Mr. Softee”) เพราะขายไอศครีมยี่ห้อมิสเตอร์ซอฟตี้ เด็กเหล่านั้นร้องเพลงกันสนุกสนาน พอดีมีคนขับรถไอศครีมอีกคันหนึ่งขับรถเข้าไปเห็นเหตุการณ์ก็ตกใจกลัว เด็กเหล่านั้นก็เข้ามาขอไอศครีมกันเหมือนกับไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เขาเขียนบอกไว้ว่าเด็กเหล่านี้เห็นคนตายเหมือนดูแมวตาย

หนังสืออีกเล่มหนึ่งก็เขียนปรารภสภาพสังคมอเมริกันที่ปัญหาอาชญากรรมเป็นเรื่องใหญ่โตมากขึ้นๆ โดยเฉพาะตั้งแต่ปี ๑๙๘๘ (๒๕๓๑) เป็นต้นมา จนในที่สุดกลายเป็นปัญหาที่เด่นนำปัญหาอื่นๆ และที่เขาตระหนกตกใจกันมาก ก็คือ อาชญากรรมเด็กวัยรุ่นที่ฆ่ากันตายมากขึ้น ซึ่งมีลักษณะที่น่าตกใจหลายอย่าง 2 ขอรวมกับของผู้เขียนคนก่อนมาสรุปเป็น ๔ ประการ

ประการที่ ๑ เปอร์เซ็นต์ที่เด็กฆ่ากันตายสูงกว่าเดิม ๔ เท่า คือ ๔๐๐% ในช่วง ๓๐ ปี

ประการที่ ๒ เปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นนี้สวนทางกับอัตราเพิ่มของประชากรในระดับวัยต่างๆ

มีคำอธิบายว่า ในประเทศอเมริกานี้ประชากรเพิ่มมากในระดับของผู้สูงอายุหรือคนแก่ในช่วงอายุ ๗๐-๘๐ ปี แต่คนวัยรุ่นหรือหนุ่มสาวมีอัตราการเพิ่มลดลง เมื่อจำนวนการเพิ่มของการฆ่ากันตายของเด็กวัยรุ่นสูงขึ้นในขณะที่อัตราการเพิ่มประชากรวัยรุ่นลดน้อยลง ก็แสดงว่าการฆ่ากันนั้นเพิ่มทวีคูณ

ประการที่ ๓ เด็กฆ่าคนหรือฆ่ากันโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย คือไม่ได้คำนึงว่าเป็นใคร อาจจะยิงสาดไปทั้งกลุ่มโดยไม่ได้เจาะจงใคร ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้คนมาก

ประการที่ ๔ ยิ่งกว่านั้น นอกจากเป็นการฆ่าส่งๆ ไปอย่างนั้นเอง เมื่อฆ่าแล้วก็ไม่มีความรู้สึกผิดชอบเสียใจอะไรทั้งสิ้น (บางทีเห็นเป็นสนุกเสียอีก)

ผู้เขียนวิเคราะห์ว่า ประชาชนในสังคมอเมริกันกลายเป็นคนที่ชินชาต่อความรุนแรงเสียแล้ว อาจจะเป็นเพราะได้เห็นรายการรุนแรงต่างๆ ในทีวี เป็นต้น มากเกินไป จนเกิดความสับสนระหว่างสิ่งบันเทิงกับความเป็นจริง อเมริกาจะเป็นประเทศที่คนมองเห็นอะไรเกิดขึ้นก็เป็นเหมือนรายการโชว์เท่านั้น เพราะตั้งแต่เด็กเกิดมาก็เห็นภาพการฆ่าฟันกันตื่นเต้นสยองขวัญ จนชินชาเป็นธรรมดาไปแล้ว เลยแยกไม่ออกระหว่างความเป็นจริงในชีวิตกับภาพโชว์ในโทรทัศน์ สังคมอเมริกันในทัศนะของคนอเมริกันขณะนี้ไปไกลอย่างนี้แล้ว นี่คือตัวอย่างอิทธิพลของการที่โทรทัศน์ได้นำเสนอโลกนี้แก่ลูก

ขณะที่ไอที คือเทคโนโลยีข่าวสารข้อมูลเจริญก้าวหน้ามีบทบาทเด่นและมีอิทธิพลมากขึ้นๆ แต่สถาบันครอบครัวกลับเสื่อมโทรมลงทุกที โดยเฉพาะในสังคมอเมริกานั้น ระบบครอบครัวมาถึงขั้นที่คนอเมริกันเรียกว่าสลาย และในบรรดาปัญหาหลายอย่างหลายด้านของปัญหาครอบครัวนั้น ปมใหญ่ที่ฟ้องออกมาก็คือ ความสัมพันธ์ด้วยความรักเมตตาระหว่างพ่อแม่กับลูก และญาติพี่น้อง ที่แห้งแล้งลงไป จนแทบสูญสิ้น ดังที่เกิดปัญหาการทารุณเด็ก (child abuse) กันมาก

หนังสือ The Day America Told the Truth บันทึกไว้ว่า คนที่เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ในอเมริกาทุก ๑ ใน ๖ คน เคยถูกทำการทารุณทางร่างกายในวัยเด็ก และทุก ๑ ใน ๗ คน สารภาพว่าเมื่อเป็นเด็กเคยถูกทำการทารุณทางเพศ 3 คนที่ทำการทารุณนั้นส่วนมากก็คือคนใกล้ชิด เริ่มแต่พ่อแม่ของเด็กเอง

ประธานรัฐสภาอเมริกัน คือนาย Newt Gingrich ได้เขียนหนังสือชื่อ To Renew America บรรยายถึงสภาพเสื่อมโทรมด้านต่างๆ ของสังคมอเมริกันที่จะต้องแก้ไขฟื้นฟู ข้อความตอนหนึ่งที่เขาเขียนไว้ ใช้เป็นคำสรุปแสดงสภาพสังคมอเมริกันได้อย่างดี คือตอนที่ว่า

“ไม่มีอารยธรรมใดจะคงอยู่รอดไปได้นาน เมื่อเด็กหญิงอายุ ๑๒ ขวบก็มีลูก เด็กอายุ ๑๕ ก็ฆ่ากันตาย เด็กอายุ ๑๗ เป็นโรคเอดส์ตาย เด็กอายุ ๑๘ อ่านใบประกาศนียบัตรที่ตัวได้มาไม่ออก” 4

ถ้าสังคมมีสภาพเช่นนี้ จะหวังให้มีสันติภาพย่อมไม่อาจเป็นไปได้ โดยเฉพาะลักษณะสำคัญของสังคมอเมริกันที่เป็นอยู่นี้ ก็คือภาวะขาดสันติภายใน ที่ในจิตใจคนมีความเครียดความเร่าร้อนกระวนกระวาย ความกดดัน และความทุกข์ รวมไปถึงความหิวกระหายวัตถุและความก้าวร้าว ขาดไมตรีต่อเพื่อนมนุษย์

สังคมอเมริกันที่สามารถรักษาสันติภายนอก คือสันติภาพของสังคมมาได้เป็นเวลายาวนาน ด้วยการจัดตั้งวางระบบโดยมีกฎเกณฑ์กติกาเช่นรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ที่มั่นคง ดังที่คนอเมริกันภูมิใจในสังคมของตนว่า มีหลักการแห่งการปกครองกันด้วยกฎกติกา คือ the rule of law นั้น สภาพปัญหาในปัจจุบันเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ในขณะที่สังคมมีความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุและความก้าวหน้าต่างๆ ภายนอกนั้น ในจิตใจของคน กลับมีความเครียดความทุกข์ความเดือดร้อนวุ่นวายมากขึ้น และบัดนี้สภาพขาดสันติภายในนี้ ได้รุนแรงมากถึงจุดที่ท่วมท้น จนทำนบหรือเขื่อนคือกฎกติกาที่เคยรักษาสันติภาพของสังคมไว้จะรักษาไม่อยู่ และทำนบหรือเขื่อนนั้นกำลังจะพังทลายลง

จะต้องพิจารณากันให้ดี และยอมรับกันตามเป็นจริงว่า ภาวะของสังคมอเมริกันเป็นอย่างที่กล่าวมานั้นหรือไม่ ถ้าหากเป็นอย่างนั้น ภาวะของสังคมอเมริกันในฐานะที่เป็นตัวแทน เป็นผู้นำ และเป็นแบบอย่างแห่งวิธีการพัฒนาของโลกในปัจจุบัน ก็มิใช่คำตอบ แต่เป็นได้เพียงบทเรียน กับทั้งเป็นเครื่องเตือนสติให้รู้ตัวว่า วิถีแห่งการสร้างความเจริญก้าวหน้าในโลกปัจจุบัน ไม่อาจนำโลกไปสู่สันติภาพได้ จำเป็นจะต้องคิดหาและหันไปดำเนินการพัฒนาชีวิตพัฒนาสังคมกันในแนวทางใหม่

แท้จริงนั้น คนอเมริกันเองก็รู้ตัวดีถึงภาวะง่อนแง่นเสื่อมโทรมแห่งสังคมของตน และคนอเมริกันที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบ ก็ห่วงกังวลต่ออนาคตของชาติและอารยธรรมของเขามาก ดังที่มีหนังสือและข้อเขียนต่างๆ ที่บรรยายสภาพปัญหา ขบคิดพิจารณาสถานการณ์ และเสนอข้อคิดเห็นในการหาทางออกต่างๆ อย่างเช่นหนังสือที่อ้างข้างต้นนั้น ตีพิมพ์กันออกมามากมาย แต่คนในสังคมอื่นอันห่างไกลจากเขาต่างหาก ที่มัวยึดติดในภาพบางอย่างที่ตัวสร้างไว้ให้แก่สังคมอเมริกัน แล้วตั้งความหวังที่เลื่อนลอยจากภาพที่ผิดพลาดนั้น โดยไม่รู้เท่าทันในความเป็นจริง

ถึงเวลาที่จะต้องตื่นขึ้นมาจากความหลับและความหลงใหล แล้วรับรู้ความเป็นจริง เพื่อชวนกันเดินหน้าไปในหนทางที่มีแสงสว่างแห่งปัญญา ซึ่งจะนำโลกมนุษย์ไปสู่สันติสุขได้แท้จริง

ในที่สุดนี้ขอย้ำถึงการย้อนกลับลงไปสู่จุดย่อยที่เล็กที่สุด คือจะต้องระลึกอยู่เสมอว่า รากฐานของสังคมก็คือการศึกษาในครอบครัว ที่มีพ่อแม่เป็นผู้เริ่มต้น นี่คือหัวใจของชุมชน และนี่คือหน้าที่พื้นฐานที่พ่อแม่จะต้องทำ คือการเลี้ยงดูด้วยการช่วยให้ลูกศึกษาอย่างถูกต้อง โดยทำหน้าที่ตามบทบาทที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้ครบถ้วน คือ

๑. เป็นพระพรหม ผู้สร้างชีวิตของลูก ด้วยการแสดงโลกแก่ลูก โดยนำเสนอโลกนี้แก่ลูกอย่างถูกต้อง อันจะเป็นพื้นฐานสำหรับเตรียมลูกให้พร้อมที่จะเข้าสู่สังคม พร้อมกันนั้นก็เลี้ยงลูกด้วยคุณธรรมให้ครบ ๔ ประการ (พรหมวิหาร ๔) โดยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมนุษย์ด้วยกันอย่างสมดุลกับความสัมพันธ์กับความเป็นจริงของโลกและชีวิต
๒. เป็นบูรพาจารย์ ทำหน้าที่เป็นครูอาจารย์คนแรก ผู้สอนความรู้พื้นฐานในการดำเนินชีวิต
๓. เป็นอาหุไนยบุคคล หรือพระอรหันต์ของลูก โดยมีความสุจริต บริสุทธิ์ใจต่อลูก และเป็นตัวอย่างในทางคุณธรรมความดี ควรแก่การเคารพบูชาของลูก

ถ้าพ่อแม่ทำได้อย่างนี้ ก็พูดได้ว่าชุมชนพื้นฐานของเราเข้มแข็ง เป็นที่มั่นใจได้ แต่เราได้เข้าสู่ทางกันหรือยัง สังคมตะวันตกเช่นอเมริกาเป็นบทเรียนให้แล้ว เราน่าจะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ และรีบตื่นตัวขึ้นมา นำการศึกษาเข้าสู่ทิศทางที่ถูกต้อง

1Lynne V. Cheney, Telling the Truth (New York: Simon & Schuster, 1995), pp. 204-5.
2James Q. Wilson, “Crime,” What to Do About (New York: HarperCollins Publishers, Inc., 1995), pp. 285–6.
3James Patterson and Peter Kim, The Day America Told the Truth (New York: Penguin Books USA Inc., 1992), p. 125.
4Newt Gingrich, To Renew America (New York: HarperCollins Publishers, Inc., 1995), p.8.
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.