ค่านิยมแบบพุทธ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พระธรรมเทศนา
อโมฆชีวีกถา1

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

ยงฺกิญฺจิ ยิฏฺํ ว หุตํ ว โลเก
สํวจฺฉรํ ยเชถ ปุญฺญเปกฺโข
สพฺพํปิ ตํ น จตุภาคเมติ
อภิวาทนา อุชุคเตสุ เสยฺโยติ ฯ

บัดนี้ จักแสดงพระธรรมเทศนาในอโมฆชีวีกถา พรรณนาการมีชีวิตอยู่อย่างมีค่า เพื่อประดับปัญญาบารมี เพิ่มพูนกุศลบุญราศี ส่วนธรรมสวนมัย เนื่องในการที่ชุมนุมปริทัศน์เสวนา มีคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นประธาน ร่วมกันบำเพ็ญกุศลสัตตมวาร คือทำบุญ ๗ วัน เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่นายโกมล คีมทอง ผู้เป็นศิษย์และมิตรสหายของตน ซึ่งได้เสียชีวิตไปเพราะถูกประทุษร้ายขณะบำเพ็ญกุศลกรณีย์ จัดเป็นส่วนมิตรพลีและสังคหธรรม ตามสมควรแก่ฐานนิยม

นายโกมล คีมทอง ผู้ล่วงลับไปแล้วนี้ มีชีวประวัติตามที่ทราบมาว่าเป็นคนดี มีคุณธรรม ได้ดำเนินชีวิตให้เป็นประโยชน์ ควรแก่การยกย่องสรรเสริญผู้หนึ่ง กรณียกิจทั้งหลายที่นายโกมล คีมทอง ได้บำเพ็ญไว้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ อันเป็นเครื่องแสดงว่า ตนได้เป็นผู้ที่มีความคิดหวัง และได้ขวนขวายในการสร้างประโยชน์และความเจริญก้าวหน้าแก่สังคมส่วนรวมนั้น มีหลายประการ เช่น การที่ได้เข้าร่วมและเป็นกำลังสำคัญในกิจการของชุมนุมปริทัศน์เสวนา แต่เมื่อครั้งยังเป็นนิสิตผู้ศึกษาในคณะครุศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย2 และได้มีโอกาสช่วยเหลือกิจการของสถาบันแห่งนั้นตามฐานะของผู้ศึกษา มีการจัดทำหนังสืออนุสรณ์ของคณะเป็นต้น ครั้นสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาเป็นครุศาสตร์บัณฑิตแล้ว ก็ยิ่งใส่ใจขวนขวายในกิจการของส่วนรวมเพิ่มขึ้นต่อมา เช่น การช่วยเหลือในงานของชุมนุมศึกษิตเสวนา และการได้รับมอบหมายให้เป็นบรรณกรหนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ เป็นต้น และที่สำคัญยิ่งอันเกี่ยวเนื่องมาถึงการสูญเสียชีวิตของตนด้วยก็คือ การที่ได้มีศรัทธายอมเสียสละความสุขสำราญและผลประโยชน์ที่จะพึงได้แก่ตนในเมืองหลวงอันเป็นถิ่นเจริญ ปลีกตนไปบำเพ็ญประโยชน์สั่งสอนเด็กชาวบ้านถิ่นห่างไกล ณ โรงเรียนเหมืองห้วยในเขา ตำบลบ้านส้อง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ตั้งใจอบรมสั่งสอนเด็กนักเรียน กับทั้งสนใจศึกษาศิลปวัฒนธรรมไทยในท้องถิ่นนั้นๆ หาทางส่งเสริมตามกำลังความสามารถของตน ตลอดมาจนถึงวาระสุดท้ายที่ถูกประทุษร้ายถึงแก่สูญเสียชีวิต ประวัติของนายโกมล คีมทอง ทั้งนี้ แสดงถึงอัธยาศัยของเธอที่เป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในทางที่ดีงาม เป็นผู้มีอุดมคติ เป็นผู้ประกอบด้วยความเสียสละ และประพฤติตนให้เป็นไปตามอุดมคตินั้นได้อย่างมั่นคงจริงจัง บุคคลผู้ดำรงอยู่ในคุณธรรม และเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์เช่นนี้ เมื่อต้องมาสิ้นชีวิตลง ก็ย่อมเป็นเหตุก่อให้เกิดความเศร้าโศกเสียดายอาลัยถึงแก่ญาติมิตรทั้งหลายเป็นธรรมดา ยิ่งมาสิ้นชีวิตลงในขณะที่ยังมีวัยหนุ่มแน่นและในขณะที่กำลังบำเพ็ญประโยชน์อยู่เช่นนั้น ก็น่าที่จะยิ่งให้เกิดความอาลัยเสียดายมากขึ้นได้เป็นธรรมดา เพราะนอกจากการจากไปนั้นจะเป็นการพรากคนดีมีประโยชน์ไปเสียแล้ว ยังเป็นการตัดรอนประโยชน์ทั้งหลายที่หวังว่าจะพึงได้จากการมีชีวิตอยู่ต่อไปของบุคคลผู้นั้นอีกด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในทางธรรม ลำพังการเศร้าโศกอาลัยเสียดายถึงผู้ที่ตายไปแล้ว ย่อมไม่เป็นทางก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ผู้อยู่และผู้จากไป เพราะไม่ช่วยให้ผู้ล่วงลับไปแล้วกลับคืนเป็นขึ้นมา และจะกลับเป็นโทษแก่ผู้ที่ยังอยู่ ทำจิตใจให้เศร้าหมองขุ่นมัวเป็นทุกข์ ทำปัญญาให้อับเฉาด้วย การระลึกถึงผู้ตายนั้นจะบังเกิดประโยชน์ต่อเมื่อรู้จักพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการ ทำให้เกิดความไม่ประมาทและกำลังใจเข้มแข็งในการบำเพ็ญกุศลกรณีย์แก่ผู้ยังมีชีวิตอยู่ และธำรงรักษาสืบต่อคุณความดีของผู้ล่วงลับจากไป

กล่าวตามหลักธรรม คือ ความจริงของธรรมชาติ ชิวิตมนุษย์ย่อมมีความตายเป็นที่สุด หมายความว่าคนทุกคนต้องตายแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นคนสูงคนต่ำ คนมีคนจน คนฉลาดคนโง่ คนดีคนชั่ว และไม่สามารถชี้ขาดลงได้ว่าความตายนั้นจะมาถึงเมื่อใด ด้วยวิธีใด ดังนั้นข้อที่ว่าชีวิตของผู้ใดจะสั้น หรือยาว จึงไม่มีเครื่องกำหนด หาความแน่นอนมิได้ อย่างไรก็ตาม ความยาวหรือความสั้นของชีวิต มิใช่เป็นเครื่องวัดความดีงามและความมีค่าของชีวิตนั้น บุคคลบางคนอาจมีอายุยืนยาวดำรงชีวิตอยู่ได้นาน แต่เป็นชีวิตที่ว่างเปล่าไร้ค่า อย่างที่ทางพระศาสนา เรียกว่า โมฆชีวิต ส่วนบางคนมีอายุสั้น ชีวิตจบสิ้นลงก่อนกาลอันถือกันว่าสมควร แต่ได้ประกอบคุณงามความดีสร้างประโยชน์ไว้ ชีวิตที่ได้เกิดมีขึ้นครั้งหนึ่งแล้วนั้น แม้จะสั้น ก็มิได้ผ่านลอยหายไปเปล่า แต่ได้บันดาลผลอันดีขึ้นไว้ในชีวิตอื่นๆ ให้สืบเนื่องต่อไป ชีวิตเช่นนี้ ในทางพระศาสนา เรียกว่า เป็นชีวิตที่มีค่า เป็นสาระ ไม่ว่างเปล่า เป็นอโมฆชีวิต

เนื้อความที่ได้พรรณามา แสดงให้เห็นว่า ความยาวหรือความสั้นมิใช่ป็นเครื่องวัดคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต แต่ประโยชน์และผลดีต่างๆ ที่เกิดจากชีวิตนั้นต่างหากเป็นเครื่องวัดคุณค่าอย่างแท้จริง กล่าวอีกนัยหนึ่งว่าบุคคลจะดำรงชีวิตของเขาอยู่ในโลกได้ยืนนานเท่าใดไม่เป็นประมาณ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เขาได้ปฏิบัติต่อชีวิตหรือได้ใช้ชีวิตเท่าที่มีนั้นให้เกิดผลขึ้นบ้างอย่างไร ถ้าได้ดำรงชีวิตอยู่ในความดีงาม อาศัยชีวิตนั้นทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นแพร่หลายออกไป ก็ได้ชื่อว่าทำชีวิตให้มีค่า แต่ถ้าปล่อยชีวิตให้ล่วงเวลาไปเปล่า หรือทำชีวิตของตนให้เป็นเหตุถ่วง ขัดขวาง และทำลายความดีงามแห่งชีวิตทั้งหลาย ก็ชื่อว่ามีชีวิตอันไร้ค่า เหตุผลดังได้แสดงมานี้ ต้องด้วยพุทธพจน์ว่า

โย จ วสฺสสตํ ชีเว ทุสฺสีโล อสมาหิโต
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย สีลวนฺตสฺส ฌายิโน

แปลความว่า บุคคลใด ประพฤติชั่วร้าย ไม่มีความคิด ถึงจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ชีวิตของเขาหาประเสริฐไม่ ส่วนบุคคลใด มีศีล มีความคิด แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ก็เป็นชีวิตที่ประเสริฐกว่า

หรือพุทธภาษิตที่ว่า

โย จ วสฺสสตํ ชีเว กุสีโต หีนวีริโย
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย วิริยํ อารภโต ทฬฺหํ

แปลความว่า บุคคลใด เกียจคร้าน มีความเพียรทราม ถึงจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ชีวิตของเขาก็หาประเสริฐไม่ ส่วนบุคคลใด มุ่งหน้าทำความเพียรอย่างมั่นคง แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ก็เป็นชีวิตที่ประเสริฐกว่า ดังนี้เป็นต้น

ในเมื่อความยาวหรือความสั้นของชีวิต เป็นสิ่งไม่มีกำหนดแน่นอนเช่นนี้ บุคคลจึงควรปฏิบัติระมัดระวังในเรื่องที่เกี่ยวกับความสั้นหรือความยาวนั้น ด้วยความไม่ประมาทตามเหตุปัจจัย แต่ไม่พึงให้เกิดเป็นความหวาดหวั่นพรั่นกลัวมัวแต่วิตกกังวล เหมือนอย่างบุคคลบางคน ที่กลายเป็นก่อทุกข์เพิ่มขึ้นแก่ตน ยิ่งไปกว่าตัวความตายนั้นเสียอีกซ้ำไป พึงเอาใจใส่ขวนขวายให้มาก แต่ในฝ่ายการดำเนินชีวิต คือ ในข้อที่ว่าจะใช้ชีวิตของตนอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขที่มุ่งหมาย หรือจะสร้างคุณค่าเพิ่มพูนสาระให้เกิดมีขึ้นด้วยชีวิตของตนอย่างไร เพราะความขวนขวายใส่ใจอย่างนี้ เป็นทางที่มองเห็นเหตุผลซึ่งจะปฏิบัติได้ให้เห็นผลจริงจัง และสามารถทำได้แพร่หลายขยายกว้างขวางสืบเนื่องต่อๆ กันยิ่งๆ ขึ้นไปไม่มีที่สิ้นสุด ครั้นทำแล้ว ก็มีแต่คุณประโยชน์ ไม่เป็นความคับแคบ และไม่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ตรงข้ามกับเป็นความปลอดโปร่งทำจิตใจให้กว้างขวาง บังเกิดความแกล้วกล้าเข้มแข็งในการบำเพ็ญคุณประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้นไป และให้ได้รับความสุขที่เป็นอิสระเป็นไทแก่ตน จนเป็นผู้ที่เรียกได้ว่า พร้อมที่จะตายอยู่เสมอ บุคคลใดมั่นใจในคุณค่าแห่งชีวิตตนจนเป็นผู้พร้อมที่จะตายได้ทุกเวลา บุคคลนั้น อาจกล่าวได้ว่า เป็นผู้ปฏิบัติต่อชีวิตของตนอย่างถูกต้อง ตรงต่อคุณค่าและสาระของชีวิตนั้น แม้จะต้องสูญเสียชีวิตคือตายลงในเวลาใด ก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะความเศร้าโศกเสียดายในชีวิตของตน มีแต่คนอื่นๆ เท่านั้นที่กลับเศร้าโศกอาลัยเสียดายถึง เพราะคุณค่าอันเกิดแต่ชีวิตของเขานั้น ส่งผลดีงามขยายออกไปแก่ชีวิตอื่นๆ การสิ้นชีวิตไปจึงทำให้เกิดความรู้สึกสูญเสีย กลายเป็นความเศร้าโศกเสียดาย ตามวิสัยของปุถุชน

การประพฤติปฏิบัติตามวิถีที่ได้แสดงมานี้ กล่าวรวมความสั้นๆ ว่า เป็นการดำเนินชีวิตตามธรรม และมุ่งอุทิศต่อธรรม บุคคลผู้ดำเนินชีวิตด้วยจิตใจที่เจริญแก่กล้า ถึงขั้นเป็นผู้พร้อมที่จะตายเช่นนี้ ย่อมตระหนักชัดว่า ความตายเป็นคติธรรมดาของชีวิต เมื่อไม่ตายอย่างนี้ ก็ไม่แน่ว่าจะตายอย่างไหน ดังนั้น เมื่อทำการใดที่ได้พิจารณาว่าถูกต้องแล้ว ก็ดำเนินไปให้ถึงที่สุดโดยมั่นคง โดยนัยนี้ จึงเป็นผู้อุทิศชีวิตเพื่อธรรมได้ พึงเห็นเช่นอย่างพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงยอมสละพระชนม์ชีพเพื่อพระโพธิญาณ และผู้กล้าหาญที่ยอมอุทิศชีวิตเพื่อบูชาอุดมคติอันเป็นธรรม สมตามพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า

ธนํ จเช องฺควรสฺส เหตุ
องฺคํ จเช ชีวิตํ รกฺขมาโน
องฺคํ ธนํ ชีวิตณฺจาปิ สพฺพํ
จเช ธมฺมมนุสฺสรนฺโต

ซึ่งแปลความว่า บุคคลพึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ พึงยอมสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และพึงยอมสละทุกอย่างทั้งอวัยวะ ทรัพย์ และแม้ชีวิต ในเมื่อคำนึงถึงธรรม

การดำรงธรรมอยู่ได้ แม้ถึงต้องสละชีวิตนี้ ดูอย่างสามัญเหมือนว่าเป็นสิ่งทำได้ยากยิ่งนัก แต่ข้อสำคัญ ในเมื่อจิตใจเจริญถึงขั้นพร้อมแล้วดังได้กล่าวมา ก็ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาไปได้เช่นเดียวกัน อีกประการหนึ่งในชีวิตประจำวันตามเหตุการณ์ที่ปรากฏเห็นกันอยู่ทุกๆ วันนี้เอง หากจะฉุกคิดสังเกตสักเล็กน้อย ก็จะเห็นได้ว่าคนทั้งหลายพากันยอมเสียสละชีวิตของตนให้แก่สิ่งที่ไม่เป็นสาระ คือ อธรรม อยู่เป็นจำนวนมากมายทุกๆ วัน บ้างก็ยอมสละชีวิตเพื่อความโลภ บ้างก็สละเพื่อโทสะ บ้างก็สละเพื่อโมหะ นับเป็นข่าวเป็นเหตุการณ์ที่ปรากฎให้เห็นให้ได้ยินอยู่เป็นประจำ เมื่อมนุษย์ยอมสละชีวิตให้แก่สิ่งไร้สาระต่างๆ โดยไม่สมเหตุผลได้ถึงเช่นนี้ เหตุไฉนจึงจะยอมสละเพื่อธรรมอันเป็นสาระและเป็นการสละอย่างมีเหตุผลไม่ได้เล่า

เท่าที่ได้บรรยายมา มุ่งแสดงให้เห็นปฏิปทาสำหรับดำเนินชีวิตให้เป็นสาระมีคุณค่าควรแก่การมีชีวิตอยู่ นับว่าเป็นปฏิปทาสำหรับผู้มีปัญญาหรือจะต้องดำเนินด้วยปัญญา เพราะด้วยอาศัยปัญญานั่นแลบุคคลจึงจะกำหนดแยกได้ว่า สิ่งใดเป็นสาระ สิ่งใดไม่เป็นสาระ สิ่งใดมีคุณค่า สิ่งใดไร้คุณค่า สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดไม่เป็นประโยชน์ บุคคลใดดำเนินชีวิตด้วยปัญญาเช่นนี้ พระพุทธศาสนายกย่องเรียกบุคคลนั้นว่าบัณฑิต คำว่าบัณฑิตแปลตามหลักทางพระพุทธศาสนาว่า ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา คือ รู้จักใช้ปัญญากำหนดแยกสาระและอสาระเป็นต้นแล้ว ดำเนินชีวิตของตนให้พ้นจากอสาระ และให้ประกอบด้วยสาระได้จริงอย่างนั้น ข้อนี้สมด้วยพุทธพจน์ที่แสดงความหมายของความเป็นบัณฑิตไว้ ดังบาลีว่า

อตฺตหิตํ ปรหิตํ อุภยหิตํ สพฺพโลกหิตเมว จินฺตยมาโน จินฺเตติเอวํ โข ภิกฺขุ ปณฺฑิโต มหาปญฺโ โหติ

แปลความว่า เมื่อจะคิด ก็คิดการที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน เกื้อกูลแก่ผู้อื่น เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งหมดทีเดียว อย่างนี้แล ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก

ตามนัยพุทธภาษิตนี้ พึงสังเกตว่า พระพุทธศาสนา กำหนดความหมายของความเป็นบัณฑิต ด้วยวิธีการดำเนินชีวิต เริ่มแต่ใช้ความคิดเป็นต้นไป กล่าวคือ ตัดสินด้วยความประพฤติปฏิบัติ มิใช่ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญทางวิชาการ แม้ความหมายของความเป็นบัณฑิตที่เข้าใจกันในปัจจุบัน คือการสำเร็จการศึกษาขั้นสูง ได้รับปริญญาอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น หากกำหนดด้วยหลักพระพุทธศาสนา ย่อมถือได้ว่า เป็นเพียงเครื่องหมายที่แสดงถึงการที่บุคคลนั้นได้ตระเตรียมตนเองให้ได้รับความรู้ ความชำนิชำนาญ และการฝึกหัดอบรมต่างๆไว้ เพื่อดำเนินชีวิตให้เป็นบัณฑิตต่อไป กล่าวสั้นๆว่า เป็นการทำตนให้พร้อมที่จะเป็นบัณฑิต ต่อเมื่อใด นำความรู้ความสามารถที่ได้ฝึกอบรมมานั้นไปใช้ปฏิบัติในการดำเนินชีวิต ให้เกิดผลเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น เมื่อนั้น จึงจะเรียกชื่อได้ว่าเป็นบัณฑิตแท้จริง

ยังมีข้อที่พึงสังเกตอีกประการหนึ่งในเรื่องความเป็นบัณฑิตนี้ กล่าวคือ การปฏิบัติ หรือการดำเนินชีวิตนั้น ระบุชัดลงไปว่าให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตน แก่บุคคลอื่นๆ และแก่ชาวโลกทั้งปวง ว่าโดยความหมายประโยชน์ทุกประการเหล่านี้ มีสาระเป็นอย่างเดียวกันต่างแต่ขอบเขตความกว้างขวางมากน้อยกว่ากันเท่านั้น ประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนย่อมเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่นและแก่โลกด้วย ประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่นและแก่โลก ก็เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนด้วย เพราะคำว่าประโยชน์ในที่นี้ มิได้หมายถึงผลประโยชน์อย่างที่เข้าใจกันโดยสามัญโดยเฉพาะประโยชน์ตน ย่อมหมายถึงความเจริญงอกงาม ความมีค่าความเป็นสาระแห่งชีวิตของตน การบำเพ็ญประโยชน์ตน ก็คือการทำชีวิตของตนให้เจริญงอกงาม ให้มีค่า เป็นสาระมากขึ้น และการทำชีวิตของตนให้เจริญงอกงามมีค่า เป็นสาระ ก็คือการเสริมสร้างคุณธรรมต่างๆ ขึ้นในตน อันรวมถึงการบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น และแก่โลกด้วย โดยนัยนี้ การบำเพ็ญประโยชน์ตน จึงมิใช่เป็นการขัดต่อการบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นและแก่โลก แต่มีความหมายสอดคล้องประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียว เริ่มต้นแต่การทำตนให้พร้อมที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี มิให้เกิดความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและบุคคลอื่นและพร้อมที่จะบำเพ็ญประโยชน์กว้างขวางยิ่งๆ ขึ้นไปโดยลำดับ

การบำเพ็ญประโยชน์ตน ด้วยการทำชีวิตให้มีค่า เป็นสาระ อันเป็นการเกื้อกูลแก่ผู้อื่นและแก่โลกไปด้วยพร้อมกันนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงตัวอย่างไว้ โดยทรงสอนให้สร้างคุณธรรม ๕ ประการขึ้นในตน คือ ศรัทธา ๑ ศีล ๑ สุตะ ๑ จาคะ ๑ ปัญญา ๑ จะแสดงความหมายของธรรมเหล่านี้แต่โดยย่อต่อไป

  1. ศรัทธา ได้แก่ ความเชื่อ ความเลื่อมใส ความใฝ่นิยมในคุณค่าที่พิจารณาเห็นแล้วว่าเป็นความดีงามอันควรยึดถือ สำหรับมนุษย์ปุถุชน ศรัทธาย่อมเป็นพื้นฐานขั้นแรกของจิตใจ ที่จะบันดาลความประพฤติปฏิบัติในขั้นต่อๆ ไปให้หมุนไปตาม และเป็นกำลังอันแรงที่จะชักจูงบุคคลให้กระทำการต่างๆ อย่างแข็งขันจริงจัง ศรัทธามีความสำคัญเช่นนี้ พระพุทธศาสนาจึงสอนให้บุคคลปลูกศรัทธาขึ้นในตนและบำรุงศรัทธานั้นให้งอกงาม แต่ศรัทธาที่มุ่งหมายในพระพุทธศาสนานี้ประสงค์เอาความเชื่อในสิ่งที่พิจารณาเห็นจริงแล้วด้วยเหตุผล มิใช่เชื่องมงาย ตามปกติจิตใจของปุถุชนย่อมจะเชื่อถือผูกพันหรือยึดมั่นอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความเชื่อโดยมีเหตุผลจะช่วยให้บุคคลปลอดภัยจากความหลงผิด หรือมีโอกาสถอนตนพ้นจากความเชื่อถือที่ผิด ดำเนินเข้าสู่ทางที่ถูก บังเกิดความเจริญงอกงามแห่งชีวิตจิตใจได้
  2. ศีล ได้แก่ ความประพฤติสุจริต ความราบรื่นกลมกลืนแห่งความประพฤติทางกายและวาจา การไม่เบียดเบียน ไม่ก่อความเดือดร้อน ไม่ล่วงละเมิดสิทธิที่ตกลงกำหนดไว้โดยชอบธรรมของกัน ความอยู่ร่วมกันด้วยดีกับผู้อื่นในสังคม ตลอดถึงการฝึกหัดอบรมขัดเกลาความประพฤติของผู้ต้องการคุณธรรมที่ยิ่งๆ ขึ้นไป ศีลนอกจากเป็นคุณธรรมเพื่อความอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคมแล้ว ยังเป็นเครื่องทำสภาพชีวิตให้อยู่ในภาวะอันเหมาะสมที่จะเป็นที่รองรับคุณธรรมอย่างอื่นๆ และเป็นเครื่องปรับชีวิตให้เข้าสู่แนวทางที่จะเจริญก้าวหน้าต่อไปอีกด้วย
  3. สุตะ ได้แก่ ความรู้ที่เกิดจากการได้ยินได้ฟังและการศึกษาเล่าเรียน ความรู้ย่อมเป็นอุปกรณ์สำคัญในการดำรงชีวิตและการประกอบกิจทุกอย่างของมนุษย์ เริ่มแต่การประกอบอาชีพเป็นต้นไป ตลอดถึงการที่จะช่วยเหลือตนเองและเกื้อกูลแก่ผู้อื่นในกิจทุกอย่าง
  4. จาคะ ได้แก่ ความสละได้ ปล่อยได้ ความเผื่อแผ่ ความเสียสละ หมายถึงความมีจิตใจไม่คับแคบ ไม่สยบยึดติด สามารถวางใจเป็นอิสระ เผื่อแผ่ แบ่งปัน หรือปล่อยให้แก่ผู้อื่นได้ คุณธรรมข้อนี้มีความสำคัญยิ่งในหลายระดับ เริ่มแต่การที่จะทำให้บุคคลปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องต่อสิ่งอำนวยความสุขแก่ชีวิตที่ตนเองสร้างขึ้นมา สามารถใช้สิ่งเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตได้ตามวัตถุประสงค์ของมัน โดยไม่กลับตกไปเป็นทาสของสิ่งต่างๆ ที่ตนสร้างขึ้นมาเอง ไม่เกิดความหมกมุ่นมัวเมา สามารถเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยจิตใจที่กว้างขวางปลอดโปร่ง กระจายความสุขให้แพร่หลายออกไป
  5. ปัญญา ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจในสภาวะของสิ่งทั้งหลาย สามารถแยกแยะสืบสาวความสัมพันธ์โดยทางเหตุผล สามารถวินิจฉัยระหว่างดี ชั่ว คุณ โทษ เป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์ และรู้ที่จะจัดการให้เหมาะสมถูกต้องในเรื่องนั้นๆ ปัญญาเป็นคุณธรรมกลั่นกรองและบอกทางให้แก่คุณธรรมอย่างอื่นๆ ทั้งหมด เช่นในการที่จะใช้สุตะ คือความรู้ วิชาการที่ได้เล่าเรียน ให้เกิดเป็นประโยชน์ หรือปรุงแต่งความรู้ใหม่ๆ เป็นต้น

คุณธรรม ๕ ประการ เป็นสิ่งที่ทำชีวิตให้เจริญงอกงาม มีค่า และเป็นสาระ ผู้เสริมสร้างคุณธรรมเหล่านี้ขึ้นในตน จึงชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ตน และมองเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ตนเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เกื้อกูลก่อประโยชน์ผู้อื่นไปด้วยพร้อมกัน ยิ่งบำเพ็ญมากขึ้นเท่าใดก็ยิ่งขยายออกไปเป็นประโยชน์ผู้อื่นมากเท่านั้น หาขัดแย้งกันไม่ บุคคลผู้บำเพ็ญประโยชน์ตนอยู่อย่างนี้ ย่อมประสบความสุขโดยตนเองด้วย ทำความสุขให้เกิดแก่ผู้อื่นด้วย เพราะคุณธรรมเหล่านี้ เป็นตัวสร้างความสุขที่แท้จริงหรือเป็นตัวการที่ทำบุคคลให้พร้อมที่จะรับความสุขได้ ไม่เหมือนทรัพย์สมบัติและวัตถุต่างๆ ที่เป็นอามิสภายนอก ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งให้ความสะดวกสบายหรือเป็นเครื่องประกอบเสริมความสุข มากกว่าจะให้ตัวความสุขที่แท้จริง ความสะดวกสบายต่างๆ นั้น เป็นเครื่องอำนวยโอกาสสำหรับความสุข แต่ไม่ใช่ตัวความสุขเอง และจึงไม่ใช่เครื่องวัดความสุขของคนได้เสมอไป บุคคลผู้มีเหตุแห่งความสุขในภายใน เมื่อได้อาศัยความสะดวกสบายเข้าประกอบ ก็ได้เสวยความสุขเพียบพร้อม แต่บางคนดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ก็หามีความสุขไม่ โดยนัยนี้ บางคนผู้อยู่ในถิ่นห่างไกลจึงมีความสุขได้ยิ่งกว่าบางคนผู้อยู่ในถิ่นซึ่งนับว่าเจริญ บางคนผู้มีศรัทธาในอุดมคติ ยอมเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนไปบำเพ็ญประโยชน์ด้วยความเหนื่อยยากอดทน จึงมีความสุขได้ยิ่งกว่าบางคนผู้อยู่ท่ามกลางการบำรุงบำเรอ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมทั้งเหล่าพระสาวก จึงสามารถตรัสยืนยันได้ว่า ทรงมีความสุขยิ่งกว่าท่านผู้ดำรงอยู่ในอิสริยยศ สมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยความปรนเปรอ ไม่ว่าท่านใดๆ กล่าวได้ว่าคุณธรรมเช่นอย่างธรรม ๕ ประการนี้มีในบุคคลใด บุคคลนั้นก็มีจิตใจอยู่ในสภาพที่พร้อมจะเสวยความสุข คุณธรรมอย่างนี้ มีในสังคมใด สังคมนั้น ก็ย่อมอยู่ในสภาพซึ่งพร้อมที่จะอำนวยความสุขแก่สมาชิกทุกคนในสังคม

ประโยชน์ตนที่ถูกต้องแท้จริง ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ผู้อื่นและประโยชน์แก่โลกด้วยอย่างนี้ จึงควรที่จะหาทางส่งเสริมกันให้มีจิตยินดีและแกล้วกล้าอาจหาญ ในการบำเพ็ญประโยชน์ดังที่แสดงมา เพื่อประโยชน์สุขและความดีงามอันร่วมกัน และที่ทุกคนมีส่วนได้รับอยู่ด้วย ในทางพระศาสนาก็มีพุทธภาษิตสนับสนุนการกระทำอย่างนี้ ดังคาถาที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบทข้างต้นว่า

ยงฺกิญฺจิ ยิฏฺํ ว หุตํ ว โลเก
สํวจฺฉรํ ยเชถ ปุญฺญเปกฺโข
สพฺพํปิ ตํ น จตุภาคเมติ
อภิวามนา อุชุคเตสุ เสยฺโย ดังนี้

แปลความว่า บุคคลผู้ต้องการทำบุญ จะพึงบำเพ็ญทาน หรือประกอบพิธีบูชาอย่างใดก็ตามในโลก ตลอดกาลทั้งปี การที่ประกอบทั้งสิ้นนั้น หามีค่าเท่าหนึ่งในสี่ส่วนของการอภิวาทน้อมเศียรให้แก่ผู้ดำเนินชีวิตตรงไม่ การอภิวาทนั้นแลประเสริฐกว่า และอีกคาถาหนึ่งว่า

มาเส มาเส สหสฺเสน โย ยเชถ สตํ สมํ
เอกญฺจ ภาวิตตฺตานํ มุหุตฺตมปิ ปูชเย
สาเยว ปูชนา เสยฺโย ยญฺเจ วสฺสสตํ หุตํ

แปลความว่า บุคคลใด พึงประกอบพิธีบูชา โดยสม่ำเสมอ ด้วยใช้ทรัพย์จำนวนพันทุกๆ เดือน ถ้วนเวลาตั้งร้อยปี พิธีบูชานั้นก็หาประเสริฐไม่ ส่วนผู้ใดพึงบูชาผู้ฝึกอบรมตนแล้วสักคนเดียว แม้ชั่วเวลาหนหนึ่ง การบูชานั้นแลประเสริฐกว่า พิธีบูชาตั้งร้อยปีจะมีความหมายอะไร

พุทธภาษิตในธรรมบท ๒ คาถานี้ มีความหมายสำคัญที่ควรตระหนักอย่างพิเศษ เพราะนอกจากเป็นคำสอนทางจริยธรรมอย่างคำสอนในที่อื่นๆแล้ว ยังเป็นการกระทำดังที่เรียกในภาษาปัจจุบันได้ว่า การกำหนดค่านิยมใหม่ให้แก่สังคมด้วย ด้วยว่าสังคมครั้งก่อนและในสมัยพุทธกาลนั้น นิยมยกย่องการประกอบการบูชาและพิธีกรรมทางศาสนาเป็นอย่างมาก การประกอบพิธีเหล่านี้ล้วนมุ่งหวังผลประโยชน์ตอบแทนอันเป็นส่วนตน คือ ทรัพย์ ยศ อำนาจ และกามสุขต่างๆ นักบวชสมัยนั้น ได้ยักเยื้องแบบแผนพิธีกรรมต่างๆ เหล่านี้ออกไปให้วิจิตรพิสดารเป็นอันมาก จนผู้ที่พิจารณาด้วยปัญญาจะมองเห็นได้ว่าเป็นสิ่งงมงายไร้เหตุผล เป็นสีลัพพตปรามาสขั้นหยาบชัดแจ้ง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติแล้วได้ทรงสั่งสอนมุ่งหมายหักล้างความนิยมในการเช่นนี้ เป็นข้อสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง โดยได้ทรงกำหนดให้บำเพ็ญทาน คือ การให้เพื่อกำจัดโลภะ และเพื่อช่วยเหลือสงเคราะห์กันในสังคมขึ้นมาแทน และทานนี้ได้เป็นคำสอนหลักใหญ่ ปรากฏมากที่สุดในพุทธศาสนาข้อหนึ่ง แต่กระนั้น ตามพุทธภาษิต ๒ คาถานี้ทำให้เห็นเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า พระองค์ทรงสอนให้ถือว่าการยกย่องเคารพบูชาคนดี เป็นการกระทำที่สำคัญ มีค่ายิ่งขึ้นไปกว่าทานนั้นเสียอีก

บุคคลผู้ดำเนินชีวิตตรงหรือผู้ฝึกอบรมตนแล้วตามพุทธภาษิตข้างต้น อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึงพระอรหันต์ แต่ข้อนั้นเป็นการอธิบายความหมายขั้นสูงสุด เล็งถึงบุคคลในอุดมคติ ในที่นี้พึงถือเอาความหมาย กำหนดแต่ใจความโดยอนุโลมว่า หมายถึงผู้มีความประพฤติสะอาดบริสุทธิ์ ดำรงคุณธรรมยึดถือเป็นแบบอย่างได้ ความมุ่งหมายของพุทธภาษิตทั้งสองนี้ อยู่ตรงที่ทรงสอนย้ำอย่างหนักแน่นให้สังคมหันมาใส่ใจยกย่อง เชิดชู ส่งเสริมคนดี และให้ถือเอาความสุจริตและคุณธรรมเป็นเครื่องวัดคุณค่าของบุคคล มิใช่วัดด้วยอาการภายนอกมีทรัพย์ ยศ และอำนาจ เป็นต้น หากสังคมยึดถือได้เช่นนี้ ก็จักเป็นความดีงามและนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่สังคมนั้นเอง พร้อมทั้งแก่บุคคลทุกคนผู้เป็นส่วนประกอบแห่งสังคมนั้นชั่วกาลนาน

เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาถึงชีวประวัติของ นายโกมล คีมทอง ตามนัยแห่งหลักธรรมที่ได้แสดงมา ทำให้ได้ความคิดเห็นว่า เธอเป็นผู้ควรแก่นามว่าบัณฑิตได้ผู้หนึ่ง ทั้งนี้ โดยทั้งสองสถาน คือ สถานแรกเป็นไปตามความกำหนดนิยมในหมู่ชาวโลกว่าเป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญา เป็นครุศาสตร์บัณฑิต อันถือโดยทางธรรมว่าเป็นผู้ได้สั่งสมความรู้ความสามารถอันเป็นอุปกรณ์ไว้พร้อมเพื่อความเป็นบัณฑิตต่อไป ในสถานที่สอง เธอเป็นบัณฑิตโดยชอบตามหลักธรรม เมื่อได้นำความรู้ความสามารถนั้นมาใช้ในการดำเนินชีวิต บำเพ็ญกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ ทำชีวิตของตนให้เจริญงอกงามด้วยคุณค่าและสาระ บังเกิดผลในทางปฏิบัติอันนับได้ว่าเป็นทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์แก่ชาวโลกทุกประการ แม้จะดำรงชีวิตอยู่ได้ไม่นาน แต่ก็ได้ทำชีวิตเท่าที่ตนมีนั้นให้มีค่าเป็นแก่นสาร เป็นอโมฆชีวิต คือชีวิตที่ไม่ว่างเปล่า อันใครๆ ไม่พึงติเตียนว่า ใช้ประโยชน์แห่งชีวิตไม่คุ้มเวลา แม้ชีวิตจะสั้น ก็ใช้ได้คุ้มค่า ไม่ควรที่ใครจะต้องเป็นห่วง แต่กลับเป็นเครื่องตักเตือนผู้ยังอยู่เสียอีกซ้ำไป ให้ห่วงใยแก่เวลาที่ล่วงไปว่า ชีวิตของตนได้บังเกิดคุณค่ามีความหมายอย่างใดบ้างหรือยัง

นายโกมล คีมทอง เป็นบุคคลหนึ่งในฝ่ายที่รียกว่าคนรุ่นใหม่ เมื่อเธอได้บำเพ็ญคุณความดีไว้ ชีวิตของเธอจึงมีคุณค่าพิเศษอีกอย่างหนึ่ง สำหรับคนรุ่นใหม่ด้วยกันโดยเฉพาะ กล่าวคือ เป็นประจักษ์พยานหรือตัวแทนที่ยืนยันถึงความดีงามที่มีอยู่ในหมู่คนรุ่นใหม่ และโดยนัยนี้ จึงอาจกล่าวได้ต่อไปอีกว่า การสูญเสียชีวิตของเธอ เป็นการเสียสละเพื่อเกียรติแห่งคนรุ่นใหม่นี้ส่วนหนึ่ง โดยเหตุผลนี้ หากคนรุ่นใหม่จะมองเห็นคุณค่าแห่งการกระทำของเธอ และช่วยกันรักษาความดีนั้นไว้ ก็คงจะเป็นความสมควรยิ่งอย่างหนึ่ง และจะเป็นวิธีการทำให้การสูญเสียชีวิตของเธอไม่เป็นเหตุการณ์ว่างเปล่า แต่กลับเป็นพลังบันดาลผลที่ยั่งยืนสืบไป และเป็นการช่วยทำชีวิตของเธอให้เป็นเสมือนยังคงอยู่เป็นอมตะด้วย

ความจริงตัวธรรมะนั่นเองเป็นสิ่งอมตะ ดังนั้น ผู้ใดดำรงชีวิตอยู่ในธรรม ทำชีวิตให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรม ชีวิตของผู้นั้นย่อมกลายเป็นอมตะไปด้วย แต่ความเป็นอมตะเช่นนี้ เป็นความอมตะโดยสภาพ ไม่เป็นของปรากฏผลในหมู่มนุษย์ มนุษย์จะทำความเป็นอมตะนี้ให้ปรากฏผลเป็นประโยชน์แก่พวกตนได้ ก็ด้วยช่วยกันทำให้เป็นไปอย่างในกรณีของนายโกมล คีมทองนี้ หากประวัติการเสียสละบำเพ็ญกุศลกรณี และการสูญเสียชีวิตของเธอจะเป็นเหตุปลูกศรัทธาในความดี และเป็นพลังผลักดันจิตใจของมิตรสหายและผู้ได้ทราบเรื่องราวทั้งหลาย ให้มีความเข้มแข็งอาจหาญในการที่จะบำเพ็ญความดียิ่งๆ ขึ้นไป การสูญเสียชีวิตของเธอก็จะไม่กลายเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านไปเปล่า และจักเป็นการทำความอมตะให้ปรากฏแก่ชีวิตของเธอสืบไป

การที่จะให้คุณความดีของบุคคลมีค่ายั่งยืนส่งผลแก่ผู้อื่นต่อไปได้ยาวนานนั้น ผู้ร่วมสังคมจะต้องช่วยกันยกย่องเชิดชู สนับสนุนให้ปรากฏตามสมควร การทำเช่นนี้มิใช่จะเอาใจผู้บำเพ็ญกรณีย์ แต่เพื่อธำรงความดีของสังคม สมตามพุทธพจน์ที่แสดงมาข้างต้น แม้คณะเจ้าภาพผู้มาบำเพ็ญกุศลในบัดนี้ ก็คงมีความมุ่งหมายเช่นเดียวกัน จึงได้ขวนขวายจัดงานทำบุญสัตตมวารอุทิศให้

ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนานี้ ขออำนาจกุศลบุญราศีที่คณะเจ้าภาพได้บำเพ็ญทั้งมวล จงเป็นพลวปัจจัยอำนวยวิบากสมบัติแก่นายโกมล คีมทอง ตามสมควรแก่คติวิสัยในสัมปรายภพ ตามเจตน์จำนงของคณะเจ้าภาพทุกประการ

อาตมภาพ รับประทานวิสัชนาพระธรรมเทศนาในอโมฆชีวีกถา โดยสมควรแก่เวลา ยุติลงแต่เพียงนี้ เอวํ ก็มี ฯ

1พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ โกมล คีมทอง อันเป็นหนังสือที่ระลึกในงานสังสการศพ นายโกมล คีมทอง ณ ฌาปนสถาน วัดประยุรวงศาวาส ๑ มิถุนายน ๒๕๑๔
2สะกดนามมหาวิทยาลัยโดยไม่มีการันต์ที่ ณ ตามแบบที่ใช้กันในช่วงปี พ.ศ. 2497–2514 -- ผู้จัดทำเว็บไซต์
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.