จริยธรรมนักการเมือง

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ปัจจัยดี คือเศรษฐกิจที่ทั่วถึง และเพียงพอ

ข้อที่ ๔ ก็มีความสำคัญมาก เป็นเรื่องทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งทางธรรมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญขั้นพื้นฐานที่เรียกว่าปัจจัย

การคุ้มครองรักษาประชาชน และการที่จะป้องกันไม่ให้มีการกระทำชั่วร้ายหรือความไม่ชอบธรรมในสังคมนั้น จะเดินหน้าไปได้ยาก ถ้าขาดความเพียงพอทางด้านเศรษฐกิจเป็นพื้นฐาน เพราะฉะนั้น ท่านจึงวางหลักการข้อที่ ๔ นี้ไว้ เพื่อให้พยายามจัดดำเนินการไม่ให้มีคนยากไร้

การดำเนินการในข้อนี้เรียกว่า ธนานุประทาน แปลว่า การจัดสรรปันทรัพย์ ให้แก่คนยากไร้ ผู้ไม่มีเงินทอง ให้คนที่ยากจนขัดสนได้รับการเอาใจใส่ ให้มีทางทำมาหาเลี้ยงชีพ เป็นอยู่ได้

การส่งเสริมให้คนร่ำรวย จะกลายเป็นภัยอันตราย ถ้าสังคมไม่เอาใจใส่คนที่ยากไร้ขาดแคลน แต่ในทางตรงข้าม ถ้าเราเอาใจใส่คนยากไร้ขาดแคลน ให้ได้รับความเกื้อหนุนมีทางเป็นอยู่และฟื้นตัวได้ การที่จะส่งเสริมความร่ำรวยมั่งคั่งในทางที่จะเพิ่มความหมุนเวียนของทรัพย์ ก็จะกลายเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น แต่ก็จะต้องอยู่ในหลักการ คือเข้าใจความหมายของความเจริญพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจหรือทางวัตถุ ข้อนี้สำคัญมาก

ความพรั่งพร้อมทางวัตถุ หรือการมีเงินทองเป็นต้นนี้เรียกว่า ปัจจัย หมายความว่า เป็น means คือ เป็นเครื่องเกื้อหนุนให้ก้าวต่อไปได้ ถ้าเราขาดวัตถุ ขาดปัจจัย ๔ เราจะไม่สามารถก้าวไปสู่การสร้างสรรค์ และทำความดีงามที่สูงขึ้นไป

จะต้องย้ำว่า ความเจริญพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจหรือทางวัตถุนี้ เป็นปัจจัยเกื้อหนุนความก้าวหน้าที่ดีงามและการสร้างสรรค์ แต่ไม่ใช่เป็นจุดหมาย

ถ้าสังคมเข้าใจว่าความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ ความมั่งมีสิ่งเสพบริโภคเป็นจุดหมายเมื่อไร นั่นคือความเสื่อมของสังคม

ปัญหาปัจจุบันนี้ที่สำคัญมากก็คือ คนมีความโน้มเอียงที่จะมองเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความพรั่งพร้อมทางวัตถุ เรื่องการเสพบริโภคการบำรุงบำเรอนี้เป็นจุดหมายไป ฉะนั้นสังคมนี้จะตัน แล้วก็จะตกอยู่ในความลุ่มหลงมัวเมา แล้วก็เสื่อม

เพราะฉะนั้น จะต้องมีทัศนคติ ท่าทีการมองความหมายของความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ หรือความพรั่งพร้อมทางวัตถุนี้ให้ถูกต้อง ว่าเป็นปัจจัย คือเป็นเครื่องเกื้อหนุนต่อการสร้างสรรค์ทำสิ่งดีงามที่สูงขึ้นไป คือการที่จะมีความเจริญก้าวหน้าพัฒนาทางด้านจิตใจ ทางด้านปัญญา ทางด้านวัฒนธรรมและศิลปวิทยาการ เป็นต้น ไม่ใช่แค่มาบำรุงบำเรอเสพบริโภคแล้วก็จบ

แต่ทั้งนี้ ในทางกลับกัน การที่จะก้าวไปสู่ความดีงาม และการสร้างสรรค์เหล่านั้น ก็จะต้องให้คนในสังคมนี้ไม่ขาดแคลนวัตถุปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีพ อย่างที่กล่าวแล้ว

นี่คือข้อ ๔ ธนานุประทาน การจัดสรรแบ่งปันทรัพย์ให้กับคนที่ยากไร้ขาดแคลน หรือพยายามจัดดำเนินการไม่ให้มีคนที่ยากไร้ขาดแคลน ให้ประชาชนมีปัจจัยอุดหนุนทางวัตถุเพียงพอที่จะเป็นฐานให้ก้าวขึ้นสู่จุดหมายที่สูงขึ้นไปของชีวิตและสังคม

 

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.