จะสุขแท้ต้องเป็นไท : ต้องสุขเองได้ จึงจะช่วยโลกให้เป็นสุข

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ชีวิตและสังคมจะเกษมศานติ์
เมื่อคนทำการโดยไม่เป็นกรรม

ในเรื่องกรรมนี้ถึงสุดท้ายก็จะพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง คือถึงความพ้นกรรม เราทั้งหลายที่เรียกว่าทำกรรมนี้ก็คือ มีเจตจำนง คือมีความจงใจที่จะสนองความต้องการของตัวตนอย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการกระทำของตัวตน

คนเราที่คิดที่พูดที่ทำนี้ มีจุดยึดอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งบางทีก็ไม่รู้ตัว คือเรากระทำเพื่อสนองความต้องการของตัวตนที่ยึดถือเอาไว้ การกระทำที่สนองความต้องการของตัวตนนั้นเป็นกรรม ซึ่งจะเป็นไปด้วยตัณหาคืออยากได้ผลประโยชน์ให้แก่ตัว เพื่อบำรุงบำเรอตัวเองบ้าง เป็นไปด้วยมานะ คือต้องการความยิ่งใหญ่ ต้องการอำนาจบ้าง เป็นไปด้วยทิฏฐิ คือทำโดยยึดถือในความเห็น ในลัทธิอุดมการณ์เป็นต้นบ้าง ล้วนเป็นเรื่องของการยึดถือว่า เป็นตัวตนของตนทั้งนั้น การกระทำที่สนองตัวตน หรือสนองความต้องการของตัวตนนี้เป็นกรรม ซึ่งทำให้เราหมุนเวียนอยู่ในวงจรของกรรม

เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้น มนุษย์ก็จะไม่เอาความอยากได้ผลประโยชน์ ความต้องการอำนาจ และความต้องการสนองความเห็นหรือความยึดถือในทิฏฐิของตัวเองมาเป็นตัวกำกับ เขาก็จะทำด้วยความรู้เข้าใจความจริง โดยพิจารณาด้วยปัญญา เมื่อคนทำอะไรด้วยปัญญา ด้วยความรู้เข้าใจความจริง ทำไปตามเหตุผลของความจริงนั้นแท้ๆ ก็จะไม่เป็นการกระทำเพื่อสนองตัวตน ไม่ใช่เพื่อสนองความต้องการที่เกี่ยวกับเรื่องตัวตน การกระทำก็จะกลายเป็นเพียงการกระทำของปัญญาบริสุทธิ์ที่ไม่ใช่กรรม ตอนนี้คนก็จะพ้นจากกรรม

เมื่อเราทำด้วยปัญญา ทำไปตามความรู้ในความจริงเพื่อเหตุผลของเรื่องนั้นๆเอง ตามที่ควรจะเป็นไปของมันเองล้วนๆ ไม่ใช่เพื่อสนองตัวตนแล้ว การกระทำนั้นก็ไม่เป็นการกระทำของตัวตน ไม่เป็นกรรม และโดยภาวะมันก็ไม่มีพิษมีภัยทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น อันนี้จะเป็นการพัฒนาขั้นสุดท้าย คนที่พิจารณาเข้าใจเท่าทันความจริงในเรื่องกรรมเป็นของของตน จนกระทั่งพ้นจากกรรมได้ อันนี้เป็นการพัฒนาขั้นสูงสุด และเป็นการใช้ประโยชน์อย่างสมบูรณ์จากการพิจารณาหลักที่เรียกว่า อภิณหปัจจเวกขณะ ๕ ประการนี้

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.