จะสุขแท้ต้องเป็นไท : ต้องสุขเองได้ จึงจะช่วยโลกให้เป็นสุข

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ที่ว่าของเรานั้นไม่จริง
ความจริงเท่านั้นเป็นของเรา

รวมความแล้วทั้งหมดนี้ก็อยู่ที่การรู้เท่าทันความจริง แล้วใช้ความรู้ในความจริงนั้นให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง และแก่ผู้อื่นนั่นเอง แล้วข้อนี้ก็จะโยงไปถึงชุดที่ ๒ ที่ให้รู้ความจริงว่าเราจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจทั้งสิ้น

อันนี้ก็เป็นธรรมดาอย่างที่กล่าวแล้วว่า ตัวเราก็ดี คนอื่นก็ดี ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างก็อยู่ในกฎธรรมชาติ มีความเป็นอนิจจัง ต่างก็เกิดขึ้นและต่างก็สิ้นสุดไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นจึงเป็นธรรมดา ที่จะอยู่ด้วยกันตลอดไปไม่ได้ ความพลัดพรากจากกันจะต้องมาถึงในวันหนึ่ง เมื่อเรารู้ความจริงนี้แล้ว เราก็จะไม่มีความยึดติดถือมั่นเกินไป

คนเรานี้มักสร้างปัญหาให้แก่ตัวเอง คือตอนแรกก็ยึดติดหวงแหนในสิ่งทั้งหลาย และในบุคคลทั้งหลายที่ตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์ เมื่อไม่รู้เข้าใจความจริงและปฏิบัติให้ถูกต้องก็เกิดปัญหา ทั้งในแง่ที่ทำให้เกิดความทุกข์แก่ตนเอง และก่อความเบียดเบียนกันกับผู้อื่น

ที่ว่าก่อทุกข์แก่ตนเองก็คือ มีความยึดติดผูกพันเกินไปจนทำให้มีความห่วงหวงแหนบีบคั้นใจตัวเอง ตลอดจนมีความทุกข์โศกเศร้าเหี่ยวแห้งใจในยามพลัดพราก ประการต่อไปก็ก่อความทุกข์ความเดือดร้อนแก่กันและกันในโลก เพราะเมื่อยึดติดหวงแหนก็ทำให้เห็นแก่ตน และเห็นแก่คนเฉพาะที่ตัวเองมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องใกล้ชิด จนกระทั่งเกิดความลำเอียง แล้วก็ทำให้เกิดการเบียดเบียน ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นเพื่อเห็นแก่ตัวและกลุ่มพวกของตน อันนี้ก็เป็นต้นตอของปัญหาที่สำคัญในโลกมนุษย์

ไม่ใช่เพียงความยึดติดถือมั่นผูกพันเอนเอียงเท่านั้น มันยังพ่วงเอาความเข้าใจผิดมาด้วย ๒ ประการ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดที่สำคัญ คือ

ประการที่ ๑ คนเรานี้ทึกทักเข้าใจเอาเองว่า เรามีสิ่งต่างๆ เป็นเจ้าของสิ่งที่เรายึดถือครอบครองไว้ อันนั้นเป็นสมบัติของเรา เป็นของของเรา เรายึดถือคล้ายๆ กับว่ามันเป็นของของเราจริงจัง เมื่อมีความเข้าใจผิดยึดถือเป็นของเราจริงจังแล้วก็นึกว่าเราจะมีความสุขจากสิ่งเหล่านี้ มันจะให้ความสุขแก่เราแล้วจากนั้น

ประการที่ ๒ เมื่อแสวงหาสิ่งเหล่านี้ได้มาก ก็เข้าใจผิดต่อไปอีกว่าเรามีความเป็นอิสระจะทำอะไรก็ได้ เรายิ่งใหญ่ คนที่หาทรัพย์สินเงินทอง มีพวกพ้องบริวาร ครองอำนาจได้มากมาย ก็ถือว่าตัวนี้เก่ง เป็นคนที่ยิ่งใหญ่ เป็นอิสระ มีอิสรภาพที่แท้จริง

ความเข้าใจอย่างนี้ถูกต้องหรือเปล่า อันนี้ที่แท้แล้ว เป็นความเข้าใจผิด ลองมาพิจารณากันให้ถูกต้อง

ประการแรก ที่เราบอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของของเราเป็นสมบัติของเรานั้น ที่แท้แล้วมันเป็นของเราจริงหรือเปล่า ที่จริงก็เป็นเพียงสมมติ คือว่าไปตามที่ตกลงกันในหมู่มนุษย์ที่ยอมรับการเข้าไปยึดถือครอบครอง ถ้ามนุษย์ไม่ยอมรับกัน มันจะเป็นสมบัติของเราได้หรือเปล่า เอาแค่นี้ก็ไม่ได้แล้ว ที่เป็นอย่างนี้ได้ ก็เพราะโลกยอมรับ สังคม กำหนดกติกาขึ้น โดยสัมพันธ์กับการที่มนุษย์พัฒนาจิตใจขึ้นมา ถ้ามนุษย์ไม่ยอมรับกันก็เป็นสมบัติของเราไม่ได้ ใครเขาจะมาทำอย่างไร เราก็ไม่สามารถจะถือสิทธิได้ เพราะมันไม่ใช่ของเราจริง แต่มันเป็นของธรรมชาติ คือ มันไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเราจริง เราจะปรารถนาว่าให้มันเป็นอย่างนี้ ให้มันเป็นอย่างโน้น ไม่ให้เป็นอย่างนั้น อะไรตามที่เราปรารถนาไม่ได้ แต่สิ่งทั้งหลายนั้นเป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน สิ่งทั้งหลายไม่ได้เป็นไปตามปรารถนาของคนที่มายึดถือเป็นเจ้าของ แต่มันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน

เราอยากให้อะไรเป็นอย่างไร ก็ต้องทำเหตุปัจจัยที่จะให้มันเป็นอย่างนั้น ถึงอยากเท่าไร ถ้าไม่ทำเหตุปัจจัย ก็ไม่สำเร็จ มีแต่จะทำให้ช้ำใจ เพราะความอยากเป็นได้แค่สมุทัย ถ้าจะให้สำเร็จ ก็ต้องใช้ปัญญาทำการที่ตัวเหตุปัจจัย จึงจะเป็นมรรคและได้ผล เพราะปัญญาเป็นองค์ของมรรคาที่แท้ และสำเร็จด้วยการกระทำที่เป็นเหตุปัจจัย

ในที่สุดแล้ว สิ่งที่เรายึดถือเป็นสมบัติครอบครองนั้น มันเป็นสมบัติของธรรมชาติต่างหาก ไม่ใช่สมบัติของเรา มันเป็นสมบัติของธรรมชาติ เพราะว่ามันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเป็นต้น เอาเข้าจริงมันก็หมุนเวียนไปตามคติของธรรมชาตินั่นแหละ มันไม่ได้เป็นไปตามความปรารถนาของมนุษย์หรอก เราได้แต่มายึดถือกันตามสมมติชั่วคราวเท่านั้น อันนี้เป็นความจริงที่แน่นอน ลองถามตัวเองดูว่าสิ่งของทั้งหลายและผู้คนที่เรายึดถืออยู่นี้เป็นของเราจริงหรือเป็นของธรรมชาติ ก็จะตอบได้ชัดเจนแน่นอนว่าเป็นของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ไม่ได้เป็นไปตามความปรารถนาของเรา อันนี้เป็นเรื่องของความเข้าใจผิดประการที่หนึ่ง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.