ชวนคิด-พินิจธรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

คำปรารภ

ผู้ศรัทธาท่านหนึ่ง ซึ่งได้ตั้งทุนไว้สำหรับพิมพ์หนังสือพุทธธรรมเผยแพร่ให้กว้างขวาง ได้มาเสนอแนะและแสดงความประสงค์ ขอให้ใช้ทุนนั้นพิมพ์หนังสือธรรมเล่มอื่นๆ ที่เป็นงานปลีกย่อยเล่มเล็กๆ น้อยๆ ออกเผยแพร่ด้วย เฉพาะอย่างยิ่ง บางเล่มที่ท่านเห็นว่าเป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติแก่ชีวิต และสังคมในสภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบัน โดยจัดเตรียมไว้ให้มีพร้อมที่จะแจกได้ตลอดเวลา อาตมภาพขออนุโมทนา

เท่าที่ได้ปฏิบัติมา หนังสือที่อาตมภาพแจกมอบแก่พุทธศาสนิกชนอยู่ตามปกตินั้น ไม่เป็นเรื่องจำเพาะแต่อย่างใด คือสุดแต่ว่าระยะนั้น มีหนังสือเล่มใดพอแจกได้ จะเป็นหนังสือที่พิมพ์ขึ้นโดยปรารภเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหนังสือที่มีผู้ขออนุญาตจัดพิมพ์ แล้วนำบางส่วนมาถวายก็ตาม ก็แจกหนังสือเล่มนั้นๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมด การที่ผู้ศรัทธาท่านนี้มาเสนอแนะครั้งนี้ ทำให้ได้ความคิดใหม่ที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์มากขึ้น หวังว่าจะทำให้การแจกหนังสือธรรมดำเนินไปอย่างมีเป้าหมายที่จะเกิดประโยชน์ชัดเจนยิ่งขึ้น อาตมภาพเห็นด้วย และได้จัดพิมพ์ "ทำอย่างไรจะหายโกรธ" และ "รักษาใจในยาม-ป่วยไข้" ขึ้นสนองความมุ่งหมายนี้ เป็นเรื่องเริ่มแรก

บัดนี้ ได้พิจารณาเห็นว่าหนังสือเรื่อง "ชวนคิด - พินิจธรรม" เหมาะแก่การเผยแพร่ให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้อ่านเป็นอุปกรณ์แห่งการเจริญกุศลธรรม อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สุข ที่เป็นแก่นสารอย่างยั่งยืนนาน จึงได้จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน

"ชวนคิด - พินิจธรรม" นี้ ประกอบด้วยคำบรรยาย ธรรมกถา และคำให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ รวม ๕ เรื่อง จัดเป็น ๓ ภาค กล่าวคือ

ภาคที่ ๑ "ชวนคิด" ประกอบด้วยคำบรรยาย เรื่อง เทวดาพราหมณ์ เทวดาพุทธ และ บทเรียนของชาวพุทธ

ภาคที่ ๒ "พินิจธรรม" ประกอบด้วยธรรมกถา เรื่อง แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม และ โพชฌงค์ ๗: พุทธวิธีเสริมสุขภาพ

ภาคผนวก เป็นคำให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ "มติชน" ฉบับส่งปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ซึ่งได้ตั้งชื่อหัวข้อใหม่ในที่นี้ว่า พุทธศาสน์เมืองไทย สู่ปีใหม่ ๒๕๓๔ พร้อมด้วย พรปีใหม่ สำหรับชาวไทยทุกคน

สองเรื่องแรก ยกคัดตัดมาจากหนังสือ "ตามทางพุทธกิจ" ของผู้เรียบเรียง ที่พิมพ์นานแล้ว ใน พ.ศ. ๒๕๓๑ ในการพิมพ์ครั้งนี้ได้ปรับปรุงแต่งเสริมเพิ่มความ พร้อมทั้งตั้งหัวข้อย่อย และจัดวรรคตอนให้อ่านง่ายขึ้น โดยเฉพาะเรื่องแรก เดิมชื่อ อินเดีย แดนเทวดา ในที่นี้ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

เรื่องที่ ๓ ได้พิมพ์ครั้งแรก ในเดือนตุลาคม ๒๕๓๓ ในการพิมพ์ครั้งใหม่นี้ ได้ตั้งหัวข้อย่อยให้อ่านง่ายขึ้น และแทรกเพิ่มข้อความเข้าบ้างเล็กน้อย ส่วนเรื่องที่ ๔ เป็นธรรมกถาที่แสดงไว้นานแล้ว (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๘) มูลนิธิพุทธธรรมได้ขออนุญาตจัดพิมพ์แล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นดำเนินการ ประจวบโอกาสนี้มาถึง เห็นเหมาะจึงนำมาพิมพ์ก่อน นับเป็นการพิมพ์ครั้งแรก

การพิมพ์หนังสือนี้ นับว่าเป็นการดำเนินการอย่างเร่งด่วน ในเวลากระชั้นชิดมาก แต่ได้อาศัยความร่วมแรงร่วมใจจาก พระมหาอินศร จินฺตาปญฺโญฺ ในการพิมพ์ต้นแบบหนังสือด้วยคอมพิวเตอร์ และอาศัยความร่วมมือของโรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ช่วยเร่งรัดการตีพิมพ์ให้ จึงขออนุโมทนาสาธุการ พระมหาอินศร จินฺตาปญฺโญ และคุณนพพร โชคไพรศรี ผู้จัดการโรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ไว้ ณ ที่นี้เป็นอย่างยิ่ง

ขออนุโมทนาฉันทะ และความดำริอันเป็นประโยชน์ของท่านผู้ศรัทธาที่ได้เสนอแนะวิธีการนี้ ขอกุศลกิจที่ได้บำเพ็ญตามแนวความคิดนี้ จงเป็นปัจจัยส่งเสริมให้สัมมาทัศนะและธรรมานุธรรมปฏิบัติเจริญแพร่หลาย เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนสืบไป ตลอดกาลนาน

ทุนส่งเสริมพุทธธรรม

๙ มีนาคม ๒๕๓๔

 

 

 

คำปรารภ

 

มูลนิธิพุทธธรรม มีกุศลฉันทะจะพิมพ์คำบรรยายธรรมเรื่อง “ชวนคิด” ขึ้นเผยแพร่ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในทางธรรมที่จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน และชี้แนะแนวทาง ปฏิบัติในการพัฒนาชีวิตและสังคม อาตมภาพขออนุโมทนาตามความประสงค์

เรื่อง”ชวนคิด”นี้ ประกอบด้วยคำบรรยาย ๒ เรื่อง คือเทวดาพราหมณ์ เทวดาพุทธ และ บทเรียนของชาวพุทธ ซึ่งทั้ง ๒ เรื่องนี้ ได้เคยตีพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ ตามทางพุทธกิจ และ ชวนคิด-พินิจธรรม ของผู้เรียบเรียง ที่พิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ และ พ.ศ. ๒๕๓๔ ตามลำดับ

การพิมพ์ครั้งใหม่นี้ เป็นการพิมพ์ซ้ำ โดยยังมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ต่างออกไป

ขออนุโมทนาทางมูลนิธิพุทธธรรมที่ได้มีความดำริอันเป็นกุศลที่จะบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม ด้วยการเผยแพร่หนังสือธรรมครั้งนี้

หวังว่า บุญกิริยาร่วมกันในการเผยแพร่ธรรมนี้ จักอำนวยประโยชน์ในการเสริมสร้างสัมมาทัศนะที่จะเป็นแนวทางแก่สัมมาปฏิบัติ อันอำนวยประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติ พระศาสนา และมวลมนุษย์สืบไป ตลอดกาลนาน

พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
๒๔ สิงหาคม ๒๕๓๕

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.