ชาวพุทธต้องเป็นผู้ตื่น

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ต่อมาพระองค์ยังตื่นต่อไปอีก

คนสมัยนั้นที่ตื่นอย่างพระองค์ในแง่นี้ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน มีไม่น้อยที่เห็นว่ากามสุขนั้นไม่จีรังยั่งยืน และไม่ให้ความหมายที่แท้จริงแก่ชีวิต ก็สละออกไปแสวงหาความหมายของชีวิต ไปค้นหาสัจธรรม ด้วยการดำเนินวิธีปฏิบัติหรือให้ชีวิตแบบใหม่

พวกหนึ่งคิดว่าเมื่อกามสุขคือการบำรุงบำเรอร่างกาย ยอมตามความปรารถนาของร่างกายนี้ เป็นทางของความไม่เที่ยงแท้แน่นอน และไม่ใช่สิ่งที่มีคุณค่าแท้จริง ก็มองไปว่าอีกวิธีหนึ่งที่ตรงข้าม ก็คือร่างกายของเรานี้มันยั่วยวน ทำให้เราคอยจะปรนเปรอ แล้วก็นำมาซึ่งความทุกข์ในขั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นการเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ควรจะเลิกตามใจร่างกายนี้เสีย และถ้าจะให้ดีก็ต้องทำให้มันเดือดร้อน คือทรมานมัน ไม่ให้มันได้ตามที่อยาก มันอยากอย่างไรก็แกล้งบังคับมันให้เป็นไปในทางตรงข้าม ถ้าทำอย่างนี้แล้วกิเลสก็คงจะหมดสิ้นไป และก็คงจะพบสัจธรรมได้ พวกนี้ก็เลยออกไปใช้วิธีที่เรียกว่า บำเพ็ญตบะ หรือ อัตตกิลมถานุโยค ทรมานตนเองด้วยประการต่างๆ

การบำเพ็ญตบะนี้ก็มีมากมายหลายวิธี อย่างที่เราเรียนพุทธประวัติกันมา ง่ายๆ ก็มีอดอาหาร กลั้นลมหายใจ ตลอดจนขุดหลุมเอาดินฝังตัว อยู่ในดินเป็นเวลานานๆ หรือนอนบนหนาม อาบน้ำในฤดูหนาว ยืนกลางแดดในฤดูร้อน ยืนขาเดียว เอาขาเหนี่ยวกิ่งไม้ เอาศีรษะห้อยลงมา เวลาจะโกนผมแทนที่จะใช้มีดโกน ก็ใช้ถอนผมทีละเส้น ทรมานร่างกายด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติอย่างหนึ่งตามความเชื่อของคนในสมัยนั้น ซึ่งเขาถือว่าจะเป็นทางให้บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ชีวิตจะบริสุทธิ์เพราะไม่ตามใจกิเลส และจะทำให้จิตใจห่างเหินจากเครื่องยั่วยวน และจะค้นพบสัจธรรมได้

พระพุทธองค์ได้ทรงทดลองปฏิบัติตามแบบนี้ด้วย แล้วในที่สุดพระองค์ก็ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เป็นเพียงที่สุดหรือสุดโต่งอีกด้านหนึ่งเท่านั้นเอง ซึ่งตรงข้ามกับกามสุขด้านแรกคือการบำรุงบำเรอปรนเปรอตน ด้านที่สองนี้คือการฝืนใจตนเอง พยายามบีบบังคับความต้องการต่างๆ ซึ่งก็ไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง พระองค์จึงทรงละเลิกวิธีนั้น

อย่างนี้ก็เป็นการตื่นอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่าเป็นการตื่นครั้งที่สองของพระพุทธเจ้า คือไม่หลับใหล ไม่หลงงมงายไปในวิธีปฏิบัติที่รู้ชัดแล้วว่า ไม่สามารถนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่ถูกต้องได้

ต่อไปดูว่าพระพุทธเจ้าตื่นอะไรอีกบ้าง

วิธีปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งของคนในสมัยนั้นก็คือ ในบรรดาคนที่เบื่อหน่ายกามสุขสละทรัพย์สมบัติออกไปแล้ว ก็มีพวกหนึ่งที่เข้าไปอยู่ตามป่าตามเขาตามถ้ำ แล้วบำเพ็ญสมาธิ มีฤษีชีไพรจำนวนมากก่อนพุทธกาล ไปบำเพ็ญพรตทำสมาธิจนได้ ฌานสมาบัติ

พวกที่ได้ฌานมาก่อนพระพุทธเจ้ามีมากมาย ในชาดกก็มีเรื่องว่า พระพุทธเจ้าสมัยเป็นพระโพธิสัตว์ ก็เคยไปบำเพ็ญพรต ทำสมาธิในป่าจนได้ฌานสมาบัติเช่นเดียวกัน

และเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าออกบวชคราวสุดท้ายนี้ พระองค์ก็ได้ไปอยู่ในสำนักของดาบส ไปฝึกโยคะ ไปบำเพ็ญฌาน จนกระทั่งได้ฌานชั้นที่เรียกว่าสูงสุด แต่พระองค์ก็รู้ชัดว่าไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง

ฌานสมาบัตินี้ก็เรียกว่าเป็นสิ่งที่ดีประเสริฐอย่างยิ่งแล้ว พระองค์ก็ยังทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง มันอาจจะใช้ประโยชน์ได้บ้าง แต่ตัวมันเองไม่ใช่การบรรลุความมุ่งหมายโดยแท้จริง เพราะฉะนั้นพระองค์จึงสละมา ก็เรียกว่าเป็นความตื่นอีกครั้งหนึ่ง

จากนั้นพระองค์ก็บำเพ็ญเพียร หรือว่าปฏิบัติโดยวิธีที่เราเรียกว่า ทางสายกลาง หรือ มัชฌิมาปฏิปทา และในที่สุดก็ได้ตรัสรู้ นี่จะเห็นว่าเป็นความตื่นในแบบต่างๆ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.