ชีวิตที่เป็นอยู่ดี: ด้วยมีการศึกษาทั้ง ๓ ที่ทำให้พัฒนาครบทั้ง ๔

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ระบบแห่งสิกขา เริ่มด้วยจัดปรับพื้นที่ให้พร้อมที่จะทำงานฝึกศึกษา

ไตรสิกขา เป็นการศึกษา ๓ ด้าน ที่พัฒนาชีวิตไปพร้อมกันทั้งระบบ แต่ถ้ามองหยาบๆ เป็นภาพใหญ่ ก็มองเห็นเป็นการฝึกศึกษาที่ดำเนินไปใน ๓ ด้าน/ขั้นตอน ตามลำดับ (มองได้ทั้งในแง่ประสานกันและเป็นปัจจัยต่อกัน)

ศีล เป็นเหมือนการจัดปรับพื้นที่และบริเวณแวดล้อม ให้สะอาดหมดจดเรียบร้อยราบรื่นแน่นหนามั่นคง มีสภาพที่พร้อมจะทำงานได้คล่องสะดวก

สมาธิ เป็นเหมือนการเตรียมตัวของผู้ทำงานให้มีเรี่ยวแรงกำลังความถนัดจัดเจนที่พร้อมจะลงมือทำงาน

ปัญญา เป็นเหมือนอุปกรณ์ที่จะใช้ทำงานนั้นๆ ให้สำเร็จ

เช่น จะตัดต้นไม้: ได้พื้นเหยียบยันที่แน่นหนามั่นคง (ศีล) + มีกำลังแขนแข็งแรงจับมีดหรือขวานได้ถนัดมั่น (สมาธิ) + อุปกรณ์คือมีดหรือขวานที่ใช้ตัดนั้นได้ขนาดมีคุณภาพดีและลับไว้คมกริบ (ปัญญา) ➜ ได้ผลคือตัดไม้สำเร็จโดยไม่ยาก

อีกอุปมาหนึ่งที่อาจจะช่วยเสริมความชัดเจน

บ้านเรือนที่อยู่ที่ทำงาน ฝาผุพื้นขรุขระหลังคารั่ว รอบอาคารถนนหนทางรกรุงรัง ทั้งเป็นถิ่นไม่ปลอดภัย (ขาดศีล) ➜ การจัดแต่งตั้งวางสิ่งของเครื่องใช้ จะเตรียมตัวอยู่หรือทำงาน อึดอัดขัดข้อง ไม่พร้อมไม่สบายไม่มั่นใจไปหมด (ขาดสมาธิ) ➜ การเป็นอยู่และทำงานคิดการทั้งหลาย ไม่อาจดำเนินไปได้ด้วยดี (ขาดปัญญา) ➜ ชีวิตและงานไม่สัมฤทธิ์ลุจุดหมาย

เนื่องจากไตรสิกขา เป็นหลักใหญ่ที่ครอบคลุมธรรมภาคปฏิบัติทั้งหมด ในที่นี้จึงมิใช่โอกาสที่จะอธิบายหลักธรรมหมวดนี้ได้มาก โดยเฉพาะขั้นสมาธิและปัญญาที่เป็นธรรมละเอียดลึกซึ้ง จะยังไม่พูดเพิ่มเติมจากที่ได้อธิบายไปแล้ว แต่ในขั้นศีลจะพูดเพิ่มอีกบ้าง เพราะเกี่ยวข้องกับคนทั่วไปมาก และจะได้เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิกขาทั้ง ๓ ด้านนั้นด้วย

การฝึกศึกษาในขั้นศีล มีหลักปฏิบัติที่สำคัญ ๔ หมวด คือ1

๑. วินัย เป็นเครื่องมือสำคัญขั้นแรกที่ใช้ในการฝึกขั้นศีล มีตั้งแต่วินัยแม่บท2ของชุมชนใหญ่น้อย ไปจนถึงวินัยส่วนตัวในชีวิตประจำวัน

วินัย คือการจัดตั้งวางระบบระเบียบแบบแผนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต และการอยู่ร่วมกันของหมู่มนุษย์ เพื่อจัดปรับเตรียมสภาพชีวิตสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลักษณะแห่งความสัมพันธ์ต่างๆ ให้อยู่ในภาวะที่เหมาะและพร้อมที่จะเป็นอยู่ปฏิบัติกิจและดำเนินการต่างๆ เพื่อก้าวหน้าไปอย่างได้ผลดีที่สุด สู่จุดหมายของชีวิต ของบุคคล ขององค์กร ของชุมชน ตลอดจนของสังคมทั้งหมดไม่ว่าในระดับใดๆ โดยเฉพาะสำคัญที่สุด เพื่อเอื้อโอกาสให้แต่ละบุคคลฝึกศึกษาพัฒนาชีวิตของเขาให้ประณีตประเสริฐ ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดที่จะพึงได้จากการที่ได้มีชีวิตเป็นอยู่

วินัยพื้นฐานหรือขั้นต้นสุดของสังคมมนุษย์ ได้แก่ ข้อปฏิบัติที่จะไม่ให้มีการเบียดเบียนกัน ๕ ประการ คือ

๑. เว้นการทำร้ายร่างกายทำลายชีวิต
๒. เว้นการละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน
๓. เว้นการประพฤติผิดทางเพศและละเมิดต่อคู่ครองของผู้อื่น
๔. เว้นการพูดเท็จให้ร้ายหลอกลวง และ
๕. เว้นการเสพสุรายาเมาสิ่งเสพติด ที่ทำลายสติสัมปชัญญะ แล้วนำไปสู่การก่อกรรมชั่วอย่างอื่น เริ่มตั้งแต่คุกคามต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของผู้ร่วมสังคม

ข้อปฏิบัติพื้นฐานชุดนี้ ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่า ศีล ๕ เป็นหลักประกันที่รักษาสังคมให้มั่นคงปลอดภัย เพียงพอที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันเป็นปกติสุข และดำเนินชีวิตทำกิจการต่างๆ ให้เป็นไปได้ด้วยดีพอสมควร นับว่าเป็นวินัยแม่บทของคฤหัสถ์ หรือของชาวโลกทั้งหมด

ไม่ควรมองวินัยว่าเป็นการบีบบังคับจำกัด แต่พึงเข้าใจว่าวินัยเป็นการจัดสรรโอกาส หรือจัดสรรสิ่งแวดล้อมหรือสภาวะทางกายภาพให้เอื้อโอกาส แก่การที่จะดำเนินชีวิตและกิจการต่างๆ ให้ได้ผลดีที่สุด ตั้งแต่เรื่องง่ายๆ เช่น การจัดสิ่งของเครื่องใช้เตียงตั่งโต๊ะเก้าอี้ในบ้านให้เป็นที่เป็นทาง ทำให้หยิบง่ายใช้คล่องนั่งเดินยืนนอนสะดวกสบาย การจัดเตรียมวางส่งเครื่องมือผ่าตัดของศัลยแพทย์ การจัดระเบียบจราจรบนท้องถนน วินัยของทหาร วินัยของข้าราชการ ตลอดจนจรรยาบรรณของวิชาชีพต่างๆ

ในวงกว้าง ระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ระบบการเมืองการปกครอง ตลอดจนแบบแผนทุกอย่างที่อยู่ตัวกลายเป็นวัฒนธรรม รวมอยู่ในความหมายของคำว่า “วินัย” ทั้งสิ้น

สาระของวินัย คือ การอาศัย(ความรู้ใน)ธรรมคือความจริงของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นอยู่ มาจัดสรรตั้งวางระเบียบระบบต่างๆ ขึ้น เพื่อให้มนุษย์ได้ประโยชน์สูงสุดจากธรรมคือความจริงนั้น

เพื่อให้บุคคลจำนวนมาก ได้ประโยชน์จากธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งสังฆะขึ้น โดยจัดวางระเบียบระบบต่างๆ ภายในสังฆะนั้น ให้ผู้ที่สมัครเข้ามา ได้มีความเป็นอยู่ มีวิถีชีวิต มีกิจหน้าที่ มีระบบการอยู่ร่วมกัน การดำเนินกิจการงาน การสัมพันธ์กันเองและสัมพันธ์กับบุคคลภายนอก มีวิธีแสวงหาจัดสรรแบ่งปันและบริโภคปัจจัย ๔ และการจัดสรรสภาพแวดล้อมทุกอย่างที่เอื้อเกื้อกูลเหมาะกัน พร้อมทั้งปิดกั้นช่องโหว่โอกาสที่จะก่อเกื้อแก่การที่เสื่อมเสียหาย ทำทุกอย่างให้อำนวยโอกาสมากที่สุด แก่การที่แต่ละบุคคลจะฝึกศึกษาพัฒนาตน ให้เจริญในไตรสิกขาก้าวหน้าไปในมรรค และบรรลุผลที่พึงได้จากชีวิตที่ดีงามประเสริฐ เข้าถึงธรรมสูงสุด ทั้งวิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สันติ นิพพาน กับทั้งให้ชุมชนแห่งสังฆะนั้นเป็นแหล่งแผ่ขยายธรรม และประโยชน์สุขกว้างขวางออกไปโดยรอบและทั่วไปในโลก นี้คือวินัยของสังฆะ

โดยนัยนี้ วินัย จึงเป็นจุดเริ่มต้นในกระบวนการฝึกศึกษาพัฒนามนุษย์ เป็นกระบวนการพื้นฐานในการฝึกพฤติกรรมที่ดี และจัดสรรสภาพแวดล้อมที่จะป้องกันไม่ให้มีพฤติกรรมที่ไม่ดี แต่ให้เอื้อต่อการมีพฤติกรรมที่ดีที่พึงประสงค์ พร้อมทั้งฝึกคนให้คุ้นกับพฤติกรรมที่ดีจนพฤติกรรมเคยชินที่ดีนั้น กลายเป็นพฤติกรรมเคยชินและเป็นวิถีชีวิตของเขา ตลอดจนการจัดระเบียบระบบทั้งหลายทั้งปวงในสังคมมนุษย์เพื่อให้เกิดผลเช่นนั้น

เมื่อใดการฝึกศึกษาได้ผล จนพฤติกรรมที่ดีตามวินัย กลายเป็นพฤติกรรมเคยชิน อยู่ตัว หรือเป็นวิถีชีวิตของบุคคล ก็เกิดเป็นศีล

1ศีล ๔ หมวดนี้ ตามปกติท่านแสดงไว้เป็นข้อปฏิบัติของพระภิกษุ เรียกว่า ปาริสุทธิศีล ๔ มีชื่อที่เรียงตามลำดับ คือ ๑. ปาติโมกขสังวรสีล ๒. อินทรียสังวรสีล ๓. อาชีวปาริสุทธิสีล และ ๔. ปัจจัยสันนิสสิตสีล หรือ ปัจจัยปฏิเสวนสีล (เช่น วิสุทฺธิ. ๑/๑๘-๕๖) ที่ท่านเรียงข้อ ๓. ไว้ก่อนข้อ ๔. นั้น เห็นได้ว่าเป็นไปตามลำดับที่เป็นจริง คือ ข้อ ๓. เป็นเรื่องของปัจจัยปริเยสนา คือการแสวงหาปัจจัย ซึ่งมาก่อนปัจจัยปฏิเสวนา คือการเสพปัจจัย แต่ในที่นี้ มุ่งให้คฤหัสถ์นำมาปฏิบัติให้เหมาะกับตนด้วย โดยเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก จึงเรียกโดยชื่อที่คุ้นแก่คนทั่วไป และเรียงอาชีวะเป็นข้อสุดท้าย
2วินัยแม่บทของพระภิกษุ เรียกว่า ภิกขุปาติโมกข์ (ภิกขุปาฏิโมกข์ ก็ใช้)
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.