ชีวิตที่เป็นอยู่ดี: ด้วยมีการศึกษาทั้ง ๓ ที่ทำให้พัฒนาครบทั้ง ๔

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การศึกษา[ที่สังคม]จัดตั้ง ต้องไม่บดบังการศึกษาที่แท้ของชีวิต

การศึกษาที่จัดทำกันอย่างเป็นงานเป็นการ เป็นกิจการของรัฐของสังคม ก็คือการยอมรับความสำคัญและดำเนินการในขั้นของ ปัจจัยข้อที่ ๑ คือ ความมีกัลยาณมิตร ที่เป็น ปัจจัยภายนอก นั่นเอง

ปัจจัยข้อ ๑ นี้เป็นเรื่องใหญ่ มีความสำคัญมาก รัฐหรือสังคมนั่นเองทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ด้วยการจัดสรรและจัดเตรียมบุคลากรที่จะดำเนินบทบาทของกัลยาณมิตร เช่น ครูอาจารย์ ผู้บริหาร พร้อมทั้งอุปกรณ์ และปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ ถึงกับต้องจัดเป็นองค์กรใหญ่โต ใช้จ่ายงบประมาณมากมาย

ถ้าได้กัลยาณมิตรที่ดี มีคุณสมบัติที่เหมาะ และมีความรู้เข้าใจชัดเจนในกระบวนการของการศึกษา สำนึกตระหนักต่อหน้าที่และบทบาทของตนในกระบวนการแห่งสิกขานั้น มีเมตตา ปรารถนาดีต่อชีวิตของผู้เรียนด้วยใจจริง และพร้อมที่จะทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร กิจการการศึกษาของสังคมก็จะประสบความสำเร็จด้วยดี

ดังนั้น การสร้างสรรจัดเตรียมกัลยาณมิตรจึงเป็นงานใหญ่ที่สำคัญยิ่ง ซึ่งควรดำเนินการให้ถูกต้อง อย่างจริงจัง ด้วยความไม่ประมาท

อย่างไรก็ดี จะต้องระลึกตระหนักไว้ตลอดเวลาว่า การพยายามจัดให้มีปรโตโฆสะที่ดี ด้วยการวางระบบองค์กรและบุคลากรกัลยาณมิตรขึ้นทั้งหมดนี้ แม้จะเป็นกิจการทางสังคมที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง และแม้จะทำอย่างดีเลิศเพียงใด ก็อยู่ในขั้นของการนำเข้าสู่การศึกษา เป็นขั้นตอนก่อนมรรค และเป็นเรื่องของปัจจัยภายนอกทั้งนั้น พูดสั้นๆ ว่าเป็น การศึกษาจัดตั้ง

การศึกษาจัดตั้ง ก็คือ กระบวนการช่วยชักนำคนเข้าสู่การศึกษา โดยการดำเนินงานของกัลยาณมิตร

ในกระบวนการศึกษาจัดตั้งนี้ ผู้ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร และผู้ทำงานในระบบจัดสรรปรโตโฆสกรรม/ปรโตโฆสการ ทั้งหมด พึงระลึกตระหนักต่อหลักการสำคัญบางอย่าง เพื่อความมั่นใจในการที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง และป้องกันความผิดพลาด ดังต่อไปนี้

โดยหลักการ กระบวนการแห่งการศึกษาดำเนินไปในตัวบุคคล โดยสัมพันธ์กับโลก/สิ่งแวดล้อม/ปัจจัยภายนอก ทั้งในแง่รับเข้า แสดงออก และปฏิสัมพันธ์

สำหรับคนส่วนใหญ่ กระบวนการแห่งการศึกษาอาศัยการโน้มนำและเกื้อหนุนของปัจจัยภายนอกเป็นอย่างมาก ถ้ามีแต่ปัจจัยภายนอกที่ไม่เอื้อ คนอาจจะหมกจมติดอยู่ในกระบวนการเสพความรู้สึก และไม่เข้าสู่การศึกษา เราจึงจัดสรรปัจจัยภายนอก ที่จะโน้มนำและเกื้อหนุนปัจจัยภายในที่ดีให้พัฒนาขึ้นมา ซึ่งจะนำเขาเข้าสู่การศึกษา และก้าวไปในทางชีวิตที่เป็นมรรค

โดยความมุ่งหมาย เราจัดสรรและเป็นปัจจัยภายนอกในฐานะกัลยาณมิตร ที่จะโน้มนำให้ปัจจัยภายในที่ดีพัฒนาขึ้นมาในตัวเขาเอง และเกื้อหนุนให้กระบวนการแห่งการศึกษาในตัวของเขา พาเขาก้าวไปในมรรค

พูดสั้นๆ ว่า ตัวเราที่เป็นปัจจัยภายนอกนี้ จะต้องต่อหรือจุดไฟปัจจัยภายในของเขาขึ้นมาให้ได้ ความสำเร็จอยู่ที่เขาเกิดมีปัจจัยภายใน (โยนิโสมนสิการ และบุพนิมิตแห่งมรรคข้ออื่นๆ อีก ๕) ซึ่งจะนำเขาเข้าสู่กระบวนการแห่งการศึกษา (ศีล สมาธิ ปัญญา) ที่ทำให้เขาก้าวไปในมรรค ด้วยตัวเขาเอง

โดยขอบเขตบทบาท ระลึกตระหนักชัดต่อตำแหน่งหน้าที่ของตนในฐานะกัลยาณมิตร/ปัจจัยภายนอก ที่จะช่วย(โน้มนำเกื้อหนุน)ให้เขาศึกษาสิกขาอยู่ที่ตัวเขา มรรคอยู่ในชีวิตของเขา เราต้องจัดสรรและเป็นปัจจัยภายนอกที่ดีที่สุด

แต่ปัจจัยภายนอกที่ว่า “ดีที่สุด” นั้น อยู่ที่หนุนเสริมปัจจัยภายในของเขาให้พัฒนาอย่างได้ผลที่สุด และให้เขาเดินไปได้เอง ไม่ใช่ว่าดีจนกลายเป็นทำให้เขาไม่ต้องฝึกไม่ต้องศึกษา ได้แต่พึ่งพาปัจจัยภายนอกเรื่อยไป คิดว่าดีแต่ที่แท้เป็นการก้าวก่ายกีดขวางล่วงล้ำและครอบงำโดยไม่รู้ตัว

โดยการระวังจุดพลาด ระบบและกระบวนการแห่งการศึกษา ที่รัฐหรือสังคมจัดขึ้นมาทั้งหมด เป็นการศึกษาจัดตั้ง ความสำเร็จของการศึกษาจัดตั้งนี้ อยู่ที่การเชื่อมประสานหรือต่อโยง ให้เกิดมีและพัฒนาการศึกษาแท้ขึ้นในตัวบุคคล อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น

เรื่องนี้ ถ้าไม่ระวัง จะหลงเพลินว่าได้ “จัด” การศึกษาอย่างดีที่สุด แต่การศึกษาก็จบอยู่แค่การจัดตั้ง การศึกษาที่แท้ไม่พัฒนาขึ้นไปในเนื้อตัวของคน

แม้แต่การเรียนอย่างมีความสุข ก็อาจจะเป็นความสุขแบบจัดตั้ง ที่เกิดจากการจัดสรรปัจจัยภายนอก ในกระบวนการของการศึกษาจัดตั้ง ในชั้นเรียนหรือในโรงรียน เป็นต้น

ถึงแม้นักเรียนจะมีความสุขจริงๆ ในบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่จัดตั้งนั้น แต่ถ้าเด็กยังไม่เกิดมีปัจจัยภายในที่จะทำให้เขาสามารถมีและสร้างความสุขได้ เมื่อเขาออกไปอยู่กับชีวิตจริง ในโลกแห่งความเป็นจริง ที่ไม่เข้าใครออกใคร ไม่มีใครตามไปเอาอกเอาใจ หรือไปจัดสรรความสุขแบบจัดตั้งให้ เขาก็จะกลายเป็นคนที่ไม่มีความสุข

ซ้ำร้ายความสุขที่เกิดจากการจัดตั้งนั้น อาจทำให้เขาเป็นคนมีความสุขแบบพึ่งพา ที่พึ่งตนเองไม่ได้ในการที่จะมีความสุข ต้องอาศัยการจัดตั้งอยู่เรื่อยไป และกลายเป็นคนที่มีความสุขได้ยาก หรือไม่สามารถมีความสุขได้ในโลกแห่งความป็นจริง

อาจกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาจัดตั้งของสังคม กับการศึกษาที่แท้ของชีวิต ที่ดูเหมือนย้อนแย้งกัน แต่ต้องทำให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ ซึ่งเป็นตัวอย่างของข้อเตือนใจไว้ป้องกันความผิดพลาด ดังนี้

๑) (ปัจจัยภายนอก) จัดสรรให้เด็กได้รับสิ่งแวดล้อมและปัจจัยเอื้อทุกอย่างที่ดีที่สุด

๒) (ปัจจัยภายใน) ฝึกสอนให้เด็กสามารถเรียนรู้อยู่ดีเฟ้นหาคุณค่าประโยชน์ได้จากสิ่งแวดล้อมและสภาพทุกอย่างแม้แต่ที่เลวร้ายที่สุด

๒. ขั้นไตรสิกขา หรือกระบวนการศึกษาที่แท้ของธรรมชาติ

ขั้นตอนนี้ เป็นการเข้าสู่กระบวนการฝึกศึกษา ที่เป็นกิจกรรมแห่งชีวิตของแต่ละบุคคล ในระบบแห่งไตรสิกขา คือ การฝึกศึกษาพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา ตามหลักแห่ง ศีล สมาธิ และปัญญา ที่ได้พูดไปก่อนนี้แล้ว

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.