การพัฒนาจริยธรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เหตุใด ในปัจจุบัน ปัญหาจริยธรรมจึงแก้ไขได้ยาก?

ข้อสังเกตนี้ก็ไปสัมพันธ์กับสภาพของบ้านเมือง การที่เราให้ความสำคัญ หรือสนใจต่อเรื่องจริยธรรมและคุณธรรมมากขึ้น ก็เนื่องจากว่าในสังคมนี้หรือในประเทศชาตินี้ เราได้ประสบปัญหาในทางจริยธรรมและคุณธรรม หรือเรียกศัพท์อย่างเก่าๆ ว่าปัญหาทางศีลธรรมเพิ่มขึ้น

ในยุคก่อนนั้น เรากำลังมุ่งไปในการพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า ให้พ้นจากสภาพด้อยพัฒนา หรือแม้ภายหลังเราจะเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา เราก็จะทำให้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เรามุ่งมั่นดำเนินงานต่างๆ ที่เรียกว่าการพัฒนา

อย่างไรก็ตาม กระบวนการพัฒนาในสมัยก่อนนั้นได้มุ่งไปทางด้านวัตถุมาก

เมื่อเราดำเนินงานกันมาได้ระยะหนึ่ง ซึ่งก็เป็นกาลเวลาที่ผ่านไปมากพอสมควรแล้ว ประเทศชาติสังคมก็ควรจะพัฒนาไปได้ไกลพอสมควร การที่พัฒนานั้นก็หมายความว่าปัญหาต่างๆ ก็ควรจะลดลง แต่ตามสภาพที่มองเห็น เรารู้สึกว่าไม่ค่อยจะสมหวัง เพราะปรากฏว่า ประเทศของเราก็ยังมีปัญหามากมาย สังคมนี้ยังไม่พ้นจากข้อบกพร่องที่ประสบอยู่ตั้งแต่เดิม แล้วก็ยังมีปัญหาใหม่ๆ เข้ามาอีกมากมายเหลือเกิน ทำให้ต้องมาคิดทบทวนกันว่า นี่มันอะไรกัน

โดยเฉพาะในเรื่องศีลธรรมนี้ ก็เกิดความรู้สึกว่า ประชาชนมีความเสื่อมโทรมมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ในตอนหลังๆ นี้ การพัฒนาประเทศชาติจึงชักจะให้ความสนใจ หันมาเน้นในเรื่องการพัฒนาคน และพัฒนาจิตใจมากขึ้น หันมาสนใจปัญหาเรื่องคุณธรรมจริยธรรมมากขึ้น จนทำให้มีข้อสังเกต ดังที่ได้ว่าไว้เมื่อกี้นี้

ในเมื่อได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างนี้แล้ว มันก็โยงต่อไปถึงว่า สภาพเหล่านี้ย่อมเป็นเครื่องฟ้อง หรือเป็นเครื่องแสดงอยู่ในตัว กล่าวคือ การที่เราไม่ได้ให้ความสนใจต่อปัญหาเรื่องนี้กันมานาน แล้วกลับหันมาสนใจอีกครั้งหนึ่ง ในเมื่อปัญหามันปรากฏชัดขึ้นมาแล้ว ย่อมทำให้มองเห็นได้ตามหลักสามัญว่า คนที่โดยพื้นเดิมของตนเองไม่ได้มีความสนใจในเรื่องนั้น ย่อมจะสนใจขึ้นมาก็ต่อเมื่อจำเป็นต้องสนใจ เพราะเรื่องนั้นเกิดเป็นปัญหา กระทบกระเทือนตนเองอย่างรุนแรง จนทนไม่ได้ที่จะไม่สนใจ หรือไม่ก็เป็นเพราะเรื่องนั้นเกิดความวิปริตผิดแปลกไปเด่นชัดมากเหลือเกิน จนกระทั่งแม้แต่คนที่ไม่เอาใจใส่หรือไม่เคยเหลียวแล ก็ต้องมองเห็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หมายความว่า คนที่ไม่สนใจเรื่องนี้จะสนใจขึ้นก็ต่อเมื่อปัญหานี่มันรุนแรง เมื่อรุนแรงก็หมายความว่าปัญหานั้นมันได้มีกำลังมากขึ้นแล้ว ถ้าเรียกว่าเป็นกระแสก็เป็นกระแสที่หนัก ไหลมาอย่างรุนแรงและท่วมท้น ถ้าเป็นน้ำหลาก น้ำท่วม มันก็ไหลมาจนบ่านองไปหมดแล้ว ถ้าเป็นไฟไหม้ก็ไหม้ลุกลามใหญ่โตแดงฉานทั่วไปหมด หรือถ้าเป็นร่างกายของเราก็เหมือนกับว่าโรคร้ายได้เข้ามากัดกร่อนเบียดเบียนเสียโทรมไปหมด เป็นไปเสียมากแล้ว เราจึงได้เห็นชัด

ในเมื่อเห็นชัดเอาเมื่อมันมากแล้ว ในเมื่อมารู้ตัวเอาเมื่อมันรุนแรงไปเสียไกลแล้ว ก็เป็นธรรมดาที่ว่ามันต้องยากที่จะแก้ไข คนที่จะแก้ไขก็ตื่นช้า แล้วโรคหรือว่าปัญหานั้นมันก็แรงแล้ว ฉะนั้น กระแสที่แรงนั้นกว่าจะกั้นหยุดยั้งหรือทานได้ มันจะต้องไหลอย่างหนักหน่วงไปอีกนาน การที่จะแก้ไขให้เสร็จสิ้นไปง่ายๆ เป็นไปได้ยาก อันนี้เราต้องยอมรับความจริงเป็นเบื้องต้นก่อน

เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะทำงานเกี่ยวกับการแก้ปัญหาทางคุณธรรมจริยธรรมนั้น จะต้องยอมรับความจริงไว้แต่ต้นๆ ว่า มันเป็นเรื่องที่ยาก

โดยปกติ การอบรมปลูกฝังจริยธรรมก็เป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อมาเข้ากับสภาพอย่างนี้ที่ว่า เราได้ปล่อยให้ปัญหามันปรากฏชัดรุนแรงแล้ว จึงมาสนใจ ก็เลยยิ่งเป็นเรื่องยากกันใหญ่

นี่เป็นประการที่หนึ่ง ที่เราจะต้องยอมรับความยากไว้แต่ต้น จะได้ไม่ท้อใจว่า เอ! ทำไมแก้ไขไม่เห็นค่อยสำเร็จ เราประชุม เราสัมมนา เราพยายามจัดหลักสูตรจริยศึกษาอะไรกันมา ตั้งหลายปีแล้วก็ไม่เห็นก้าวหน้าไปเท่าไร ปัญหาก็ยังมีเรื่อย เพราะเราปล่อยให้กระแสมันแรงไปตั้งไกล มันไหลมาท่วมท้นแล้ว จะไปแก้กันให้รวดเร็วได้อย่างไร มันต้องใช้เวลานานแน่นอน

อีกประการหนึ่ง มันก็ฟ้องไปในตัวพร้อมกันนั้นว่า การที่กระแสอย่างนี้จะรุนแรงขึ้นได้ ก็เพราะเราได้ปล่อยปละละเลยในเรื่องระบบการควบคุมดูแล ไม่ได้ใส่ใจจัดสรรระบบควบคุมทางจริยธรรมต่างๆ

รวมไปถึงสถาบันที่มีหน้าที่ในทางศีลธรรมจริยธรรมด้วย ก็เป็นเครื่องฟ้องว่า สถาบันอะไรต่างๆ เหล่านั้น หรือระบบทั้งหมดได้ย่อหย่อนอ่อนแอไป ขาดความเอาใจใส่ แม้แต่วัดวาอารามก็คงจะมีความอ่อนกำลังในเรื่องนี้ด้วย จึงได้ปรากฏผลออกมาอย่างนี้

ในเมื่อระบบการควบคุมมันอ่อนกำลัง และเราไม่ได้เอาใจใส่ดูแลระบบนั้น ปล่อยปละละเลยกันมา มันก็อยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรม ก็กลายเป็นว่า เราจะต้องไปรื้อฟื้นระบบการควบคุม ระบบที่จะมารักษาดูแล เป็นเครื่องประคับประคองจริยธรรมของสังคมนี้ขึ้นมาอีก นี้ก็คือความไม่พร้อมอีกสถานหนึ่ง

เฉพาะตัวปัญหาเอง ที่รุนแรง ก็ยากอยู่แล้ว ระบบที่จะรับผิดชอบช่วยในทางจริยธรรมก็อ่อนโทรมเสียอีก จะต้องกลับไปหาทางช่วยเสริมกำลังให้สถาบัน และระบบทั้งหมดนั้นเข้มแข็งขึ้นมา จึงเป็นเรื่องที่ยากซ้ำสอง

นอกจากนั้น ที่ว่ามานี้ยังเป็นการพูดเฉพาะในแง่สถานการณ์เท่านั้น ถ้าว่าให้ลึกลงไป สังคมปัจจุบันมีค่านิยมทางวัตถุสูง การมีค่านิยมทางวัตถุสูง ย่อมหนุนให้เกิดปัญหาจริยธรรมได้ง่าย และเป็นแรงต้านให้การแก้ไขปัญหาจริยธรรมเป็นไปได้ยาก

เพราะฉะนั้น เราต้องยอมรับความจริง การที่จะบ่นอะไรต่ออะไรกันไป ก็บ่นได้ แต่จะต้องเข้าใจสภาพพื้นเพว่า อะไรเป็นตัวปัญหา สภาพที่เป็นปัญหาคืออะไร เพราะอะไร

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.