บทเรียน ๒๕ ปี คนไทยเรียนรู้หรือยัง?

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ลักษณะทั่วไปของปัญหาสังคมไทย

เรื่องปัญหาสังคมนั้น ในปัจจุบันมีอยู่มากมายและเป็นที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว สังคมไทยในปัจจุบันถูกเรียกว่า เป็นสังคมด้อยพัฒนา หรือพยายามพูดให้ดีขึ้นมาหน่อยก็กำลังพัฒนา หมายความว่ากำลังพยายามทำตัวให้เจริญขึ้น แต่ยังไม่เจริญในรูปที่น่าพอใจ เมื่อเป็นอย่างนั้นก็หมายความว่าสภาพในปัจจุบันนี้เป็นสภาพที่ยังไม่ดี ยังไม่สมปรารถนา เพราะมีปัญหามากมาย เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาเรื่องประชากรจะล้นประเทศ การว่างงาน ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม บริการทางด้านสุขภาพอนามัย และบริการสังคมอย่างอื่นๆ ไม่ทั่วถึง เป็นต้น อันนี้เป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว คิดว่าจะไม่มาแจกแจงเรื่องปัญหาในสังคมไทยว่ากำลังเป็นอย่างไรบ้าง

ปัญหาต่างๆ เป็นเรื่องซับซ้อน บางปัญหาเป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวกัน เป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน เช่น ปัญหาความยากจนก็เป็นเหตุปัจจัยให้แก่ปัญหาอาชญากรรม โดยที่คนยากจนอาจจะประกอบอาชญากรรมขึ้น ในเมื่อไม่มีทางออกอย่างอื่นและไม่มีเครื่องยับยั้ง เมื่อเกิดอาชญากรรมขึ้น ก็ทำให้เกิดความยากจนขึ้นอีก เช่น ผู้ประกอบอาชญากรรมนั้นประกอบอาชญากรรมแล้วถูกจับได้ ติดคุก ลูกเมียก็ลำบาก หรือตนเองไปทำอาชญากรรมแก่ผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นถูกฆ่า หรือได้รับบาดเจ็บทุพพลภาพไป เช่น การปล้นรถแท็กซี่ เป็นต้น เสร็จแล้วลูกเมียของผู้ที่ถูกฆ่าหรือพิกลพิการนั้นก็พลอยได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน พลอยยากจนข้นแค้นลงไปด้วย อันนี้ก็เป็นปัญหาพัวพันกันไป

หรืออย่างในชนบท ปัญหาจากประชาชนไม่รู้ไม่เข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ไม่รู้จักคุณค่าของการสงวนทรัพยากรธรรมชาติ จากความไม่รู้นั้นที่ไปตัดไม้ทำลายป่า ทำให้สูญเสียทรัพยากรของชาติไป ในระยะยาวก็ทำให้เกิดความแห้งแล้งขึ้นมาซ้ำเติมความยากจนลงไปอีก เป็นปัญหาที่วนเวียนพัลวันและจะสะสมปัญหายิ่งขึ้น คือปัญหาหนึ่งก็จะสะท้อนไปอีกปัญหาหนึ่ง แล้วสังคมที่มีปัญหาอย่างนี้ ก็กลายเป็นสังคมที่พอกพูนปัญหาให้ตนเอง และถ้าไม่รีบแก้ไข ไม่หาทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ก็จะเกิดความยุ่งยากซับซ้อนและความเสื่อมโทรมมากขึ้นไปเป็นลำดับ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.