การพัฒนาที่ดี หนีไม่พ้นธรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พัฒนาคน ต้องให้ครบทุกด้าน
ให้ปัจจัยภายนอกกับภายใน มาประสานบรรจบกัน

คนเรานั้นมีท่าที่ในการมองประสบการณ์ต่างๆ ๒ แบบ

  1. มองอะไรๆ ด้วยท่าทีของความชอบใจและไม่ชอบใจ ท่าทีแบบนี้ก็คือการก่อปัญหานั่นเอง คนทั่วไปที่ยังไม่มีการศึกษานั้น พิสูจน์ง่าย คือพอเจออะไรก็มองด้วยท่าที่ของความชอบใจและไม่ชอบใจ
  2. มองอะไรๆ ด้วยท่าทีของการเรียนรู้ ซึ่งเป็นท่าทีของคนที่มีการศึกษา เมื่อมองด้วยท่าทีของการเรียนรู้ ไม่ว่าเจออะไรก็เป็นสุขไปทุกอย่าง

ถ้าเรามองอะไรด้วยท่าที่ชอบใจไม่ชอบใจ ก็จะมีปัญหาไปตลอด ถ้าชอบใจอยากได้ อยากเอา เมื่อยังไม่ได้ก็ทุกข์ พอเจอสิ่งไม่ชอบใจก็ทุกข์ สิ่งที่ชอบใจเปลี่ยนไปก็ทุกข์ ปัญหาเกิดขึ้นเรื่อย

ในทางตรงข้าม พอมองด้วยท่าทีของการเรียนรู้ สิ่งที่ชอบใจเราก็ได้เรียนรู้ สิ่งไม่ชอบใจเราก็ได้เรียนรู้ เพราะฉะนั้นจึงได้หมดทุกกรณี และโดยมากสิ่งไม่ชอบใจเรามักได้เรียนรู้มากกว่าสิ่งชอบใจ เชื่อไหม?

เมื่อสิ่งไม่ชอบใจเราได้เรียนรู้มาก ก็กลายเป็นดีไป สิ่งไม่ชอบใจกลายเป็นดีเพราะทำให้เราได้ความรู้ และแถมมีความสุขจากสิ่งที่ไม่ชอบใจได้ด้วย นั่นก็เพราะว่าได้เรียนรู้นั่นแหละ พร้อมทั้งเป็นการฝึกไปด้วย ในเรื่องเดียวกันนั้นเอง

การเรียนรู้นั้นภาษาพระเรียก “สิกขา” ฝึกก็เรียก “สิกขา” เราฝึกไปก็เรียนรู้ไป ถ้ามองอย่างนี้ก็ได้หมด เจอเขาด่าก็ได้ฝึกและได้เรียนรู้ ได้จริงๆ นะ อันนี้ไม่ใช่พูดเล่น เพราะฉะนั้นพระอรหันต์บางองค์สำเร็จด้วยการพบประสบการณ์ที่เราอาจจะนึกไม่ถึง เช่น

พระอรหันต์องค์หนึ่งได้ยินคำพูดของคนบ้า ท่านมีโยนิโสมนสิการ (ลักษณะการมองอย่างที่ว่ามานั้นท่านเรียกว่า โยนิโสมนสิการ) คนบ้านั้น จำอะไรมาพูดประหลาดๆ บางทีเราไม่ทันนึก เด็กอย่าง คนบ้าอย่าง อาจจะพูดสิ่งที่เราไม่ทันนึกหรือนึกไม่ถึง ทีนี้พอได้ยินปั๊บ ท่านเป็นนักเรียนรู้และรู้จักคิด ได้แง่มุมความคิดใหม่ที่คนพูดเองไม่ได้คิด ก็ตรัสรู้เลย เพราะฉะนั้นอย่าไปดูถูกคนที่มีโยนิโสมนสิการ เขาสามารถเอาประโยชน์ได้จากทุกอย่าง

โยนิโสมนสิการ มีหลักสำคัญ ๒ อย่าง คือ

  1. มองให้เห็นความจริง
  2. มองให้ได้ประโยชน์

เพราะฉะนั้น ในทุกสถานการณ์ ตั้งโยนิโสมนสิการไว้ ฉันจะต้องมองให้เห็นความจริง และฉันจะต้องเอาประโยชน์ให้ได้ ไม่ว่าเรื่องร้ายหรือเรื่องดี

คนที่มีความสามารถที่สุด คือคนที่สามารถเอาประโยชน์ได้แม้แต่จากสิ่งที่เลวที่สุด อย่างเราพัฒนาเด็กจะต้องพัฒนาย้อนทาง ๒ ด้านมาบรรจบกัน คือ

๑. จัดสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก

แต่ถ้าเราจัดสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็กอย่างเดียว เช่น จัดสภาพแวดล้อม เตรียมข่าวสารข้อมูลอย่างดีให้เขา ซึ่งเราต้องพยายามเต็มที่ เพื่อให้เด็กได้รับสิ่งดีที่สุด แต่ถ้าเราทำอย่างนี้โดยไม่ระวังให้ดี เด็กจะมีลักษณะพึ่งพา แล้วก็ช่วยตัวเองไม่ได้ พึ่งตัวเองได้ยาก โลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นไปตามที่เราจัดให้แก่เด็กนี้หรอก เพราะฉะนั้นท่านจึงให้พัฒนาย้อนจากภายในด้วย นี่ก็คือ

๒. พัฒนาเด็กให้เอาประโยชน์ได้จากสิ่งที่เลวร้ายที่สุด

การจัดสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก เรียกว่าปัจจัยภายนอก แต่ภายในเด็กก็ต้องพัฒนาให้รับกันและให้เหนือกว่าด้วย เรียกว่าพัฒนาปัจจัยภายใน คือการพัฒนาในตัวเด็กให้มีความสามารถที่จะเอาประโยชน์ให้ได้จากสิ่งที่เลวที่สุด ถ้าได้การพัฒนา ๒ ทางมาบรรจบกันอย่างนี้ ก็สำเร็จ

เพราะฉะนั้น อย่ามัวเพลินอยู่กับการจัดสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าจัดสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเด็กด้านเดียว

  1. เด็กจะมีนิสัยพึ่งพา
  2. เด็กจะอ่อนแอ

เช่นเรามีเมตตากรุณามากเกินไป อะไรต่ออะไรก็ทำให้หมดเด็กก็ไม่พัฒนา ต้องรู้จักใช้ปัญญาวางอุเบกขาให้เป็น เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กใช้และพัฒนาปัจจัยภายใน โดยเฉพาะโยนิโสมนสิการขึ้นมา

ถ้าได้พัฒนาย้อนทางมาประสานบรรจบกันอย่างที่ว่านี้ ก็จะเกิดภาวะสมดุล และเด็กจะพัฒนาอย่างสมบูรณ์

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.