การพัฒนาที่ดี หนีไม่พ้นธรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

คนดีมีพลังที่แท้ คือพลังแห่งธรรม

วันนี้ ทางสำนักบัณฑิตอาสาสมัครจัดพิธีทำบุญอุทิศกุศลแด่อาจารย์ป๋วย แน่นอนว่ากิจกรรมนี้เป็นการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของธรรมข้อนี้ด้วย คือการบูชาบูชนียชน ในฐานะที่ท่านเป็นบุคคลที่ถือว่าควรจะบูชาสำหรับสังคมไทย การบูชานี้อย่างน้อยเพื่อให้เป็นแบบอย่าง และแสดงน้ำใจของเราว่า เราบูชาคุณธรรม บูชาความดี บูชาธรรม

นี้ก็คือได้ ๒ อย่าง สำหรับข้อแรก คือความกตัญญูกตเวทีนั้นก็สำคัญ แต่วันนี้จะไม่เน้น เราควรจะเน้นอย่างหนึ่งเป็นพิเศษซึ่งเห็นว่าสำคัญมากสำหรับสังคมไทย

ในด้านความดีต่อตัวระหว่างบุคคล เราก็มีความกตัญญูแล้ว แต่สำหรับคนที่มีความดี ทำประโยชน์ให้ และเป็นแบบอย่างแก่สังคมวงกว้าง เราต้องมาเน้นข้อบูชาบูชนียชน ที่เป็นมงคลอันอุดม

ขอย้ำอีกครั้งว่า ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ แปลว่า การบูชาบูชนียชน เป็นมงคลอันสูงสุด

ตอนนี้ขอให้มาดูว่า คนที่ควรบูชา ที่เราบอกว่าท่านมีธรรม เราจึงบูชาท่าน ยกย่องท่าน ในฐานะที่เราเห็นท่านเป็นชื่อของธรรม และเป็นที่รองรับของธรรม ซึ่งโยงเราขึ้นไปสู่การบูชาธรรมนั้น ท่านมีคุณความดีเป็นสื่อของธรรมอย่างไร

เราได้เห็นว่า อาจารย์ป๋วยมีคุณความดีหลายอย่าง แต่ความดีอย่างหนึ่งที่รู้สึกว่าเด่นมากก็คือ ความซื่อสัตย์สุจริต คุณสมบัติข้อนี้ได้ยินพูดกันอยู่เสมอ พอดีอาตมภาพก็ได้เขียนไว้ในข้อเขียนที่ลงในหนังสือที่ระลึก ไม่ทราบว่าเสร็จแล้วหรือยัง? ตั้งชื่อหัวข้อไว้ว่า “ดร.ป๋วย กับธรรมะ” ซึ่งได้เล่าไว้ว่า อาตมภาพทั้งแปลกใจและประทับใจ ซึ่งทำให้จำแม่นและได้เขียนไว้ในหนังสือนั้น คือว่าได้ไปพบข้อเขียนของอาจารย์ป๋วย พูดถึงธรรมหมวดหนึ่ง ที่ชื่อว่า พละ ๔

พละ ๔ ไม่ค่อยมีคนได้ยิน แม้แต่ในวงการผู้ศึกษาธรรมทั่วไป ก็ไม่ค่อยได้ยิน ก็เลยนึกว่า อาจารย์ป๋วย คงจะสนใจธรรมมาก จึงไปเจอหมวดธรรมที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก แล้วคิดต่อไปว่าท่านคงเอาใจใส่หรือให้ความสำคัญแก่ธรรมชุดนี้มาก ก็เลยเอามาพูดในที่นี้

ใครพูดถึงอาจารย์ป๋วยทีไร อาตมานึกถึงธรรมหมวดนี้ทุกที โยงไปด้วยกันเลย ธรรมที่เรียกว่า พละ ๔ นี้ มี

อะไรบ้าง ข้อที่ ๑ ปัญญาพละ หรือปัญญาพลัง กำลังปัญญา ข้อนี้สำคัญมาก คนเราต้องมีกำลังปัญญา การที่เราศึกษาเล่าเรียนกันมาจนจบมหาวิทยาลัย ก็เพื่อจะได้มีปัญญา ปัญญาทำให้เรารู้จัก และเข้าใจสิ่งต่างๆ แล้วปฏิบัติได้ถูกต้อง ทำให้สามารถแก้ไขปรับปรุง ทำให้พ้นจากปัญหา ขจัดข้อติดขัดต่างๆ ทำให้จิตใจเราเป็นอิสระ ทำให้หลุดพ้นได้ ปัญญาเป็นตัวส่องสว่าง ชี้นำ บอกทาง ขยายขอบเขต ปลดปล่อยให้เป็นอิสระ

อย่างน้อย เมื่อปฏิบัติหน้าที่การงานทำกิจการใด ก็ต้องรู้เข้าใจงานการที่ตนทำเป็นอย่างดี

ข้อที่ ๒ วิริยพละ หรือวิริยพลัง กำลังความเพียร คนเราทำการอะไรต่างๆ จะสำเร็จได้ต้องมีความเพียร ถ้าไม่มีความเพียรก็ไม่สำเร็จ โดยเฉพาะในพระพุทธศาสนาที่สอนให้หวังผลจากการกระทำ เมื่อจะทำให้เดินหน้าไปก็ต้องทำด้วยความเพียรพยายาม จะมัวรอใครบันดาลให้ไม่ได้

อย่างน้อย ไม่ว่าจะทำหน้าที่กิจการงานอะไร ก็ต้องขยันหมั่นทำให้สำเร็จเรียบร้อย ไม่ให้บกพร่อง

ข้อที่ ๓ อนวัชชพละ หรืออนวัชชพลัง กำลังความสุจริต กำลังแห่งการกระทำหรือกิจการงานที่ไม่มีโทษ ไม่มีข้อที่ใครจะยกมาติเตียนได้ พูดง่ายๆ ว่า “มือสะอาด”

การที่อาจารย์ป๋วยสนใจหลักพละ ๔ นี้ อาจจะเป็นเพราะธรรมชุดนี้มีอนวัชชพละ คือกำลังความสุจริตด้วย

ข้อที่ ๔ สังคหพละ หรือสังคหพลัง กำลังการสงเคราะห์ คือความสัมพันธ์ที่ดีงามเกื้อกูลกันในหมู่มนุษย์

  • ด้วยการให้เผื่อแผ่แบ่งปัน ที่เรียกว่า “ทาน”
  • ด้วยถ้อยคำดีงาม ที่พูดด้วยใจรักหรือมีน้ำใจ เช่น ใช้ วาจาช่วยเหลือกันในการแนะนำบอกทางแก้ปัญหา เป็นต้น ที่เรียกว่า “ปิยวาจา”
  • ด้วยเรี่ยวแรง กำลัง ในการบำเพ็ญประโยชน์ ที่เรียกว่า “อัตถจริยา”
  • ด้วยการมีความเสมอภาค ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่ เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน ร่วมสุขร่วมทุกข์ กัน ที่เรียกว่า “สมานัตตตา”

รวมแล้ว สังคหพละ ที่แยกย่อยเป็น ๔ ข้อ ก็คือ ความสัมพันธ์ที่ดีในสังคม มนุษย์นอกจากจะอยู่ร่วมกันด้วยดีมีเมตตาแล้ว ก็ต้องมีการช่วยเหลือกัน ซึ่งจะยึดเหนี่ยวชุมชนและสังคมไว้ให้มีความสามัคคี

อย่างน้อย เมื่อทำหน้าที่การงาน ก็ไม่เอาแต่ตัวคนเดียว แต่รู้จักใส่ใจมีน้ำใจเอื้อเฟื้อคำนึงถึงคนที่อยู่ร่วมในวงงาน รักษาความสัมพันธ์ที่ดี ร่วมมือร่วมใจกัน และเกื้อกูลสังคมไปด้วย

พละ ๔ นี้ ขอย้ำหัวข้ออีกครั้งหนึ่ง

  1. ปัญญาพละ - กำลังปัญญา
  2. วิริยพละ - กำลังความเพียร
  3. อนวัชชพละ - กำลังความสุจริต
  4. สังคหพละ - กำลังการช่วยเหลือกันหรือประสานสังคม

หลักพละ ๔ นี้ อาจารย์ป๋วยก็เขียนไว้ในหนังสือของท่านด้วย อาตมาเลยจำแม่นว่า อาจารย์ป๋วยสนใจธรรมะ และจำชื่อท่านติดมากับธรรมชุดนี้

เมื่ออาจารย์ป๋วยสนใจแล้ว ผู้อื่นที่นับถือท่านก็น่าจะสนใจและชวนกันเอาไปประพฤติปฏิบัติด้วย

ถ้าธรรม ๔ ข้อนี้ ได้รับการใส่ใจนำมาใช้ประพฤติปฏิบัติกันในสังคมนี้ สังคมก็เจริญพัฒนาแน่นอน และเจริญอย่างมั่นคง เพราะในข้อสุดท้ายมี “สังคห” ซึ่งในภาษาบาลีแปลว่า ประสาน รวม ผนึก ทำให้เกิดเอกภาพ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดมีพละหรือพลังภายในตัว ๔ ประการนี้ จะมีความมั่นใจในตนเอง จะดำเนินชีวิตหรือทำกิจการงานใดๆ ก็ทำด้วยความมั่นใจ ไม่หวั่นเกรงต่อภัยอันตรายใดๆ ไม่กลัวแม้แต่ความตาย

คนเรานี้หลักสำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือความมั่นใจในตนเอง ซึ่งต้องสร้างขึ้นให้ได้ ถ้าเรามีพละ ๔ ประการนี้ เราก็จะมีความมั่นใจ ยืนหยัดอยู่ในโลก และยืนยงอยู่ในสังคมได้อย่างดี

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.