พระพุทธศาสนากับการศึกษาในอดีต

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ข้อสังเกต และข้อสรุปบางประการ
เกี่ยวกับพระพุทธศาสนากับการศึกษาสมัยเดิมของไทย

๑. การศึกษาของชาติไทยแต่เดิมมา มีศูนย์กลางที่เป็นแหล่งให้การศึกษา ๒ แหล่ง คือ วัด กับ วัง เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่วังจะต้องเป็นศูนย์รวมใหญ่ เพราะเป็นที่รวบรวมผู้ทรงวิชาความรู้ ศิลปิน และช่างฝีมือ เป็นต้น ไว้ใช้ในราชการ แม้แต่วัดใหญ่ๆ ก็เนื่องกับวัง ถึงพระสงฆ์เองที่ศึกษาชั้นสูง ก็มักมีพระบรมราชูปถัมภ์จัดให้เรียนในวังด้วย แต่วังเป็นสถานศึกษาที่คนทั่วไปเข้าไม่ถึง จึงเป็นสถานศึกษาสงวนสำหรับคนจำนวนน้อย

ส่วนวัดเป็นของมีแพร่หลายทั่วไปทุกท้องถิ่น และเป็นสถานที่เปิดทั่วไปสำหรับทุกคน เป็นศูนย์กลางของชุมชนแต่ละท้องถิ่น และถือว่าเป็นสมบัติร่วมกันของคนในถิ่นนั้นๆ ทั้งหมด วัดจึงเป็นแหล่งให้การศึกษาแก่ประชาชนส่วนใหญ่ ข้อนี้พึงสังเกตได้ว่า แม้ในสมัยต่อมา เมื่อเริ่มจัดการศึกษาอย่างสมัยใหม่ในรัชกาลที่ ๕ (ดูตอน ๒ ว่าด้วยพุทธศาสนากับการศึกษาสมัยใหม่ของไทย) ทางราชการก็ได้ขอร้อง และมอบหมายให้พระสงฆ์เป็นผู้รับผิดชอบช่วยจัดการศึกษาขึ้นในวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในชั้นมูลศึกษา และชั้นประถมศึกษา

๒. ประเพณีสำคัญ ที่ทำให้วัดเป็นแหล่งการศึกษา ก็คือ การบวชเรียน ชาวบ้านถ้าไม่ได้อาศัยประเพณีบวชเรียนแล้ว ก็เห็นจะไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือตลอดชีวิต และในการบวชเรียนนั้น ไม่ใช่ไปวัดก็บวชเลยอย่างที่มักเป็นในปัจจุบัน ต้องไปอยู่วัด เตรียมบวชก่อนระยะหนึ่ง ระยะนี้จึงเป็นระยะของการได้ศึกษาอบรม ทั้งวิชาหนังสือ ธรรมวินัย และการประพฤติปฏิบัติ กิริยา มารยาท การบวชเรียนนี้ อาจสืบทอดมาจากชีวิตวัยต้นที่วัดก่อนแล้วก็ได้ ตอนนี้ขอยกคำของเสฐียรโกเศศ มาเพื่อพิจารณา

“เด็กผู้ชายลูกชาวบ้านถ้าไม่มีเหตุขัดข้องอย่างไร พ่อแม่มักนำไปฝากเป็นลูกศิษย์พระ เพื่อจะได้มีโอกาสเล่าเรียนเขียนอ่านหนังสือ และศึกษาพระธรรมวินัยเบื้องต้นไปในตัว...ส่วนใหญ่ เด็กเหล่านั้นมักมีความรู้เรื่องหนังสือเป็นอย่างงูๆ ปลาๆ เท่านั้น เพราะโอกาสและสิ่งแวดล้อมไม่อำนวย ทั้งความต้องการเรื่องรู้หนังสือให้ซึ้ง ก็ยังไม่มีความจำเป็นแก่คนทั่วไปที่มีชีวิตอยู่ในหมู่บ้านชาวชนบท”

“ลางที่พ่อแม่ติดธุระเรื่องทำมาหากิน ก็นำบุตรชายไปฝากพระตั้งแต่เล็ก พระท่านก็เอาใจใส่เลี้ยงดูให้ ถ้ายังเล็กอยู่ท่านก็ป้อนข้าว อาบน้ำทาขมิ้นให้ เสมอด้วยลูกหลานของท่าน..”

“ครั้นเด็กนั้นเจริญวัยขึ้นแล้ว ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นต้องกลับไปบ้านเพื่อช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ซึ่งเป็นการฝึกฝนวิชาชีพในสกุลของตนไปในตัว ก็บวชเป็นเณรศึกษาพระธรรมวินัยต่อไป เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์แล้วก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์เพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนา ถ้าบวชอยู่นานหน่อยต้องช่วยงานของวัด เช่น ซ่อมแซมเสนาสนะของวัดบ้าง การเสมียนบ้าง การหมอบ้าง ทำจนมีความชำนาญ เมื่อสึกออกมาก็กลายเป็นอาชีพติดตัวไปด้วยก็มี ทั้งชาวบ้านก็นิยมชมชอบ”1

นอกจากนี้ การบวชเป็นเครื่องผูกพันชีวิตของชาวไทยไว้กับวัด กับพระพุทธศาสนาและชุมชนของตน เมื่อบวช บุคคลมีโอกาสร่วมในชีวิตสังคมที่กว้างขวางขึ้น ได้อยู่ร่วมกับผู้บวชด้วยกันที่มาจากตระกูลและฐานะต่างๆ กัน ได้เกี่ยวข้องสมาคมกับผู้ที่มาวัด ซึ่งมีฐานะและวัยต่างๆ กับตน ชนชาวไทยทุกระดับ ตั้งแต่เจ้านาย ซึ่งอาจรวมทั้งองค์พระมหากษัตริย์ด้วย ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน คนทุกประเภท มีโอกาสได้ผ่านการศึกษาอบรมอย่างหนึ่งในชีวิตที่เหมือนๆ กัน ทั้งเป็นโอกาสให้เจ้านายและคนชั้นสูง ได้รู้จักชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วๆ ไป อันเป็นประโยชน์ในการบริหารงานเป็นต้นต่อไป นอกจากนี้ความรู้สึกที่ว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของวัดของพระศาสนาและสังคมวัฒนธรรมไทยก็เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์

๓. วงจรชีวิตของคนไทยผูกพันอยู่กับวัดโดยปกติอยู่แล้ว “ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านและชาววัดเมื่อก่อนนี้ เป็นชีวิตที่แยกกันไม่ออกเพราะพัวพันอยู่อย่างใกล้ชิด ชาวบ้านย่อมพึ่งวัด และวัดก็ต้องพึ่งชาวบ้าน อาจกล่าวได้ว่า ชีวิตของชาวบ้านตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งตายเกี่ยวข้องกันอยู่กับวัดตลอดไป”2 นอกจากการอยู่วัดบวชเรียนแล้ว พิธีกรรมต่างๆ การไปร่วมงาน การชุมนุมทำบุญ งานมหรสพ การไปช่วยงานวัด ไปสนทนาปรึกษาหารือ การฟังเทศน์ฟังธรรมของหญิงสาวและคนชรา ตลอดจนการจำศีล เป็นเรื่องของการศึกษาโดยอ้อม โดยเฉพาะเกี่ยวกับชีวิตสังคม มีการศึกษาอบรมกิริยามารยาท เป็นต้น

๔. วัดเป็นแหล่งสร้างสรรค์ รักษา สืบต่อ พัฒนา และถ่ายทอดศิลปวิทยา นอกจากวิชาหนังสือเบื้องต้น วิชาเลข ภาษาบาลี และพระธรรมวินัยแล้ว วัดยังเป็นแหล่งของศิลปวิทยาอื่นๆ ขอยกคำของเสฐียรโกเศศมาลงไว้อีก

“ขึ้นชื่อว่าศิลปวิทยา ย่อมมีบ่อเกิดจากวัดก่อนเพราะพระท่านมีเวลาว่าง...ที่พระท่านใช้เวลาว่าง ไม่ปล่อยเวลาให้หมดเปลืองไปเปล่าๆ ก็เพราะพระธรรมวินัยในพระศาสนานั่นเอง จะเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้ใช้เวลาว่างอยู่เปล่าๆ เมื่อมีเวลาว่าง ก็ใช้มันให้เกิดประโยชน์ควบกันไป เช่นสอนหนังสือ สอนศีลธรรม จรรยา สอนวิชาเบื้องต้นให้แก่เด็กๆ ลูกชาวบ้าน แม้ลางท่านจะใช้เวลาว่างบ้าง เป็นลางครั้งลางคราว เพื่อความเพลิน ก็เป็นไปในงานอดิเรก ที่อาจเกิดประโยชน์ทางช่างฝีมือขึ้นได้ เพราะฉะนั้น วัดจึงเป็นผู้สร้างศิลปะและเป็นผู้สืบต่อศิลปะ มากกว่าจะเป็นผู้รับ ที่คนแต่ก่อนรักษาและสืบต่อศิลปวิทยาเอาไว้ได้ ส่วนใหญ่ก็อยู่ที่พระและที่วัด”3

“คราวนี้ให้เราดูวัดในอีกแง่หนึ่ง คือ แง่ศิลปะ เช่น สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ดุริยางคศิลป์ วรรณคดี และนาฏศิลป์ ในสมัยโบราณสิ่งเหล่านี้อาจจะหาดูได้ ก็แต่ที่วัดเป็นส่วนใหญ่ และบ่อเกิดแห่งศิลปะที่ว่านี้ ก็คือมาจากวัด ทั้งโดยตรงและโดยปริยาย ที่ว่าโดยตรงก็เพราะพระท่านมีเวลาเหลืออยู่บ้าง ไม่ต้องกังวลเรื่องทำมาหากิน ท่านก็ฝึกฝนเรื่องช่าง เรื่องศิลปะไปในตัว เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับวัดเป็นข้อใหญ่ ยกเว้นแต่เรื่องดุริยางคศิลป์และนาฏศิลป์ ถึงแม้จะเล่นเองไม่ได้เพราะขัดต่อพระวินัยก็ตาม แต่ลางวัดท่านก็มีเครื่องปี่พาทย์ไว้ สำหรับหัดเด็กให้เป็นในทางนั้น...แต่วิจิตรศิลป์สองสาขานี้ ส่วนใหญ่ก็มักไปเล่นไปแสดงกันที่วัดเป็นพุทธบูชา...ส่วนวรรณคดีนั้นก็มีบ่อเกิดส่วนใหญ่มาจากวัดเหมือนกัน เมื่อว่ากันตามส่วน ผู้ที่รู้หนังสือ แต่งหนังสือดีกว่าคนอื่นในหมู่บ้าน ก็คือพระนั่นเองเป็นผู้แต่ง หรือไม่ก็มาจากผู้ที่เคยอยู่ที่วัดมาก่อน”

“อีกอย่างหนึ่ง ถ้าพระคิดประดิษฐ์สร้างอะไรขึ้นเป็นงานอดิเรกของท่านเอง เช่น ทำเครื่องใช้ไม้สอยอะไร ก็ทำเพื่อช่วยเหลือ หรือแจกจ่ายให้ปันแก่ญาติโยมของท่าน”

“...สิ่งลางอย่าง พระท่านทำเล่นของท่านในยามว่าง เช่น คิดทำดอกไม้ไฟสำหรับจุดเป็นพุทธบูชาเวลามีงานเป็นต้น”4

“เท่าที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่าวัดและพระมีคุณแก่ชาวบ้านสักเพียงไร ถ้าชาวบ้านไม่รู้เรื่องอย่างนี้ ธุระอะไรจะกระตือรือร้นเรื่องสร้างวัด”5

เรื่องพระภิกษุสามเณรรู้วิชาศิลปะ และการช่างต่างๆ นี้ ที่เลยถึงเป็นช่างทองช่างเงินก็มี อย่างหลักฐานปรากฏในประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ความตอนหนึ่งว่า

“ให้พระครูทักษิณคณิสร พระครูอุดรคณารักษ์ พระครูอมรวิไชยเจ้าคณะใหญ่วัดพระเชตุพน มีลิขิตประกาศไปทุกพระอารามในกรุงเทพ ฯ และเมืองขึ้น ซึ่งมีรายชื่อในบัญชี พระราชาคณะ พระครู พระฐานา พระเปรียญ เจ้าอธิการ พระสงฆ์อนุจร สามเณรเปรียญอนุจร ซึ่งเป็นช่างทำทองรูปพรรณต่างๆ และเป็นช่างเงิน ช่างหุงทอง ช่างตีเหล็ก มีเตาสูบ ไม่มีเตาสูบ และมีเตาสูบเล่นแร่แปรธาตุปรอท ต้มน้ำร้อน มาส่งเจ้าพนักงานผู้รับสั่งจงละเอียดลออ ให้จดวัสสายุ สังกัดเจ้านาย กับว่าสักแล้วยังไม่ได้สัก ทั้งนายประกันผู้บอกด้วยให้แน่นอนจงทุกกรม กำหนดให้เอาบาญชีมายื่นพระอารามหลวงนั้น กำหนดเอามาส่งให้เสร็จแต่ในวันเดือน ๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีฉลู เบญจศก... จะได้ทำบาญชีรายชื่อนี้ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบใต้ฝ่าละอองไว้ ถ้าจะทรงสร้างรูปพระปฏิมากรหรือพระเจดีย์เป็นเครื่องทำทอง แลของที่เป็นพระราชกุศลต่างๆ เมื่อใด ก็จะได้นิมนต์พระสงฆ์สามเณรที่เป็นช่างทองมาช่วยทำฉลองพระเดชพระคุณ กับพวกช่างทองหลวง ให้แล้วโดยเร็วทันพระราชประสงค์ เหมือนอย่างพระสงฆ์สามเณรที่เป็นช่างเขียนช่างปั้น นั้นเล่า แต่ก่อนๆ มาก็เคยนิมนต์มาช่วยช่างหลวงเขียนปั้น พระอุโบสถ วิหาร แล้วมาเป็นหลายพระอารามหลวง จนบาญชีรายชื่อพระช่าง ก็ยังปรากฏมาเท่าทุกวันนี้ นั้นฉันใด พระสงฆ์สามเณรที่เป็นช่างทองนั้นก็จะได้มีบาญชีรายชื่อตำบลวัด และสังกัดเจ้านายให้แน่นอนไว้ในกรมพระธรรมการให้เหมือนกัน อนึ่ง หมายฉบับใหญ่ที่จะว่าให้ละเอียดนั้น เจ้าพนักงานเรียงเสร็จแล้ว จะให้นำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายเมื่อใด จึงจะได้เอาคำประกาศหมายมาให้ทราบต่อครั้งหลัง อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง หมายมา ณ วันศุกร์ เดือน ๗ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีฉลู เบญจศก”6

ไม่เฉพาะตัวบุคคลในวัดคือพระสงฆ์เท่านั้น ที่เป็นผู้สืบต่อศิลปวิทยาที่กล่าวมา แม้ตัวสถานที่คือตัววัดเอง อันประกอบด้วยสิ่งก่อสร้าง และศิลปวัตถุต่างๆ ก็เป็นอุปกรณ์การศึกษา และเป็นที่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และวิทยาการต่างๆ ตลอดจนเป็นพิพิธภัณฑ์รักษาวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งจะให้การศึกษาแก่ผู้คนไปอีกเป็นเวลานาน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ตำรา จารึกต่างๆ ในวัดพระเชตุพน ฯ (วัดโพธิ์) ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตและนายช่างต่างๆ ที่มีความรู้ความชำนาญแต่ละสาขาวิชา จัดทำตำราจารึกไว้ในแผ่นศิลามาประดับไว้ โดยทรงพระราชดำริที่จะให้วัดพระเชตุพน ฯ เป็นสถานที่สำหรับมหาชนได้ศึกษาหาความรู้ เพราะสมัยนั้น การพิมพ์หนังสือให้แพร่หลายยังไม่มี คนที่มีตำรับตำราก็มักจะหวงแหนไม่ยอมเปิดเผย วิชาต่างๆ ที่ จารึกไว้นั้นมีมากมาย มีทั้งอักษรศาสตร์ วิชาฉันทลักษณ์ วิชาแพทย์ ตำรายาต่างๆ วิชาช่างเขียนภาพ เขียนลาย ช่างหล่อ ช่างปั้น ช่างแกะ ช่างสลัก ช่างประดับ นิทานสุภาษิต ขนบธรรมเนียมโบราณ ฯลฯ จนวัดโพธิ์ได้สมญาว่าเป็นวัดมหาวิทยาลัย7

๕. การเรียนการสอนในสมัยก่อน ที่จะมีเป็นแบบเป็นแผน เช่น เป็นโรง เป็นชั้นเรียน มีกำหนดเวลาแน่นอนตายตัว เป็นต้น อย่างโรงเรียนในความหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ถ้าจะมีก็คงเฉพาะในวังหรือในวัดใหญ่ๆ เท่านั้น ซึ่งก็ไม่แน่ใจนักด้วย ส่วนมากหรือกล่าวได้เป็นกลางๆ ทั่วไปก็ว่า เป็นการเรียน การสอนอย่างไม่เป็นแบบแผนระบบการ (informal) ขึ้นต่อตัวครูผู้สอน และตามแต่สถานที่สิ่งแวดล้อมอำนวย คือ เด็กหรือผู้เรียนมาอยู่รับใช้เล่าเรียนศึกษาอยู่ด้วย ครูอาจารย์ก็ถ่ายทอดความรู้ให้ไปโดยตั้งใจเป็นงานเป็นการบ้าง ไม่ตั้งใจเลยบ้าง อย่างที่ว่า

“ถ้าว่าโดยสามัญ เด็กๆ ลูกชาวบ้าน เมื่อเรียนอ่านตัวพยัญชนะและแจกลูกถึงแม่เกยแล้ว อาจารย์ก็ให้อ่านหนังสือ เช่น เรื่องพระมาลัย ยังไม่ทันไร ก็ต้องลาพระอาจารย์กลับไปอยู่บ้าน เพื่อช่วยพ่อแม่ทำไร่ ทำนา หรืออาชีพอื่นที่พ่อแม่ทำอยู่ ถ้าพ่อแม่มีกำลังอยู่บ้างก็ให้ลูกเรียนต่อ คราวนี้เป็นเรียนหนังสือขอม จนอายุครบบวชเณรก็บรรพชาเป็นเณรเรียนพระธรรมวินัยต่อไป ในตอนนี้ อาจได้มีโอกาสเรียนเลขธรรมดาหรือหารเลขที่ใช้อยู่ในวิชาโหราศาสตร์ และเรียนเขียนหมายบอกเงินตราเครื่องหมาย บอกขึ้นแรม ตลอดจนเรียนแต่งกลอน หรือเรียนภาษาบาลี แต่ทั้งนี้เป็นไปตามใจสมัคร จะเรียนได้ยิ่งหย่อนอย่างไร ก็แล้วแต่ความรู้ของอาจารย์ หรือถ้าไม่สมัคร เพราะต้องการจะเรียนวิชาชีพเป็นเฉพาะ เช่น โหราศาสตร์ คณิตศาสตร์ แพทย์ ช่าง วาดเขียน หรือช่างอื่นๆ ก็ต้องขวนขวายไปสืบหาอาจารย์เรียน เป็นพิเศษ อาจารย์ที่ว่านี้อาจเป็นสงฆ์อยู่ในวัดเดียวกัน หรือต่างวัดก็ได้...”

“การเรียนวิชาชีพดังกล่าวมาข้างต้นนี้ ถ้าพ่อแม่ต้องการจะให้ลูกได้ศึกษาวิชาไรเป็นเฉพาะ ก็นำไปฝากพระสงฆ์ที่ท่านทรงความรู้ในวิชานั้น เมื่อพระผู้เป็นอาจารย์ทำงานอะไร ก็รับใช้ท่านหรือติดสอยห้อยตามท่านไป โดยมากพระที่มีวิชาความรู้ ชาวบ้านมักวานให้ทำโน่นทำนี่เสมอไม่ใคร่ขาด เป็นโอกาสให้ลูกศิษย์ได้เรียนรู้และจดจำไว้ เมื่อมีเวลาว่าง อาจารย์ท่านก็แนะ หรือบอกให้บ้างเป็นลำดับไป ใครมีปัญญาไวและเอาใจใส่ก็เรียนได้เร็ว เป็นเรียนไปทำไปในตัว เมื่อมีความรู้ขึ้นบ้าง ถ้าชาวบ้านมาไหว้วานอาจารย์ทำโน่นทำนี่ อาจารย์เห็นว่าศิษย์คนไหนมีความรู้พอจะทำได้ ท่านก็ให้ศิษย์คนนั้นไปทำแทน เท่ากับฝึกหัดปฏิบัติงานในวิชาที่เรียนไปในตัว”8

แม้การเรียนแบบต่อหนังสือ จะมีกำหนดเกี่ยวกับสถานที่ กำหนดเวลาเรียน และระเบียบพิธีบางอย่างพอจะเรียกว่าเป็นระเบียบได้บ้าง แต่ก็เป็นไปตามประเพณีนิยมเป็นสำคัญ หาใช่มีระบบการที่กำหนดวางโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ หรือหลักการอันใดอันหนึ่งเป็นเกณฑ์อันชัดเจนไม่9 ถึงการเรียนของเด็กที่บ้านไม่ว่าหญิงว่าชาย ก็เป็นการฝึกหัดเรียนงานไปตามอาชีพของตน โดยหัดทำไป รู้และเป็นไปเอง10

อย่างไรก็ดี วิธีเรียนแบบนี้ (หมายถึงอย่างที่ทำที่วัดแต่เดิม) ก็ยังมีวิธีปฏิบัติจัดเข้าในระบบอันเตวาสิกได้อยู่ ในข้อที่ศิษย์มาอยู่รับใช้ปฏิบัติอาจารย์โดยใกล้ชิด ซึ่งได้ผลดีในความเคารพรักระหว่างอาจารย์กับศิษย์ และการฝึกอบรมความประพฤติ ตลอดจนกิริยามารยาทต่างๆ

แน่นอนว่าผลการจัดการศึกษา เท่าที่เป็นมาอย่างเดิมนี้ ย่อมไม่เป็นที่พึงพอใจของบุคคลเป็นอันมาก ผู้มองเทียบผลในด้านความพัฒนาเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ ในสังคมของตนกับสังคมอื่นในปัจจุบัน และอาจยกเป็นข้อถามขึ้นได้ต่างๆ เป็นต้นว่า เหตุไรพระพุทธศาสนาจึงไม่ช่วยการศึกษาในอดีตของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า มีสถาบันใหญ่โตอย่างมหาวิทยาลัยนาลันทา และมหาวิทยาลัยในยุโรป เหตุไรจึงไม่ช่วยให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าด้วยวิชาการต่างๆ อย่างโลกตะวันตก ดังนี้เป็นต้น ในที่นี้จะขอเสนอเหตุผล และข้อคิดเห็นบางประการไว้เพื่อประกอบการพิจารณาสำหรับผู้ถามปัญหาเช่นนั้น

๑. สภาพความเป็นอยู่ของประชาชน อันสัมพันธ์กับความหนาแน่นของประชากร ความอุดมสมบูรณ์และการดิ้นรนแข่งขันในการหาเลี้ยงชีพ เมื่อเทียบกันแล้วในอดีตสมัยเดียวกัน ยุโรปมีประชากรหนาแน่นกว่ามากมาย สภาพความเป็นอยู่ทางธรรมชาติอุดมสมบูรณ์น้อยกว่าและมีความบีบคั้นเกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศมากกว่า ต้องดิ้นรนต่อสู้ ทั้งแข่งขันกันในหมู่ผู้คนด้วยกัน และดิ้นรนต่อสู้กับธรรมชาติ ความจำเป็นย่อมเป็นเหตุให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้น อีกประการหนึ่ง จำนวนผู้คนที่มีมาก ทำให้ประกอบอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในทางอุตสาหกรรม หัตถกรรม ซื้อขายแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นได้ ส่วนในประเทศไทย ประชาชนอยู่กันไม่หนาแน่น พื้นแผ่นดินพืชพันธ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ประชาชนมีความเป็นอยู่สุขสบาย ไม่ต้องดิ้นรนแข่งขันกัน มีความพึงพอใจในความเป็นอยู่ และตีความคำสอนในศาสนาให้เข้ากับความต้องการของตนได้11 และในด้านความหนาแน่นของประชากร เมื่อมีผู้คนน้อย งานต่างๆ เช่น การช่าง การหัตถกรรมต่างๆ ทำขึ้นมาก็ให้ถึงขั้นเป็นอาชีพไม่ได้ เพราะไม่มีจำนวนงานเพียงพอ ที่ศิลปวิทยารักษาอยู่ได้ก็เพราะพระมีเวลาว่าง และสืบต่อศิลปวิทยาไว้ด้วยใจรักอย่างที่ว่า

“ตามปกติหมู่บ้านที่ยังไม่เจริญ ซึ่งต้องพึ่งตนเองตามสภาพแห่งความเป็นอยู่ เรื่องที่จะมีผู้ประกอบอาชีพที่ได้ไปเรียนมาให้เป็นล่ำเป็นสันในท้องถิ่นจึงไม่มี เพราะจะหากินในอาชีพที่เรียนรู้มาอย่างเดียว ก็ไม่พอเลี้ยงตัว งานการอะไรที่ทำเองไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้ ก็ต้องขอแรงกัน ได้แต่ค่ากำนลบูชาครูบ้างเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้น ช่างก่อสร้าง ช่างไม้ ช่างหล่อ ช่างปั้น ช่างเขียน ช่างปูน ช่างทำกระเบื้อง หมอผี หมอยา จึงอยู่ที่วัด และงานช่างเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องสร้างวัดมากกว่าอื่น”

“ต่อมาเมื่อหมู่บ้านเจริญขึ้นแล้ว จึงจะมีผู้ประกอบอาชีพอย่างอื่น นอกจากการทำไร่ไถนา เป็นล่ำเป็นสันขึ้นได้ ถ้าเป็นผู้มีฝีมือดี งานการที่ทำก็เจริญ มีคนมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ขอเรียน ขอฝึกหัดในวิชาชีพนั้นๆ ผู้ที่มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ก็เป็นทำนองเดียวกับลูกศิษย์พระ คือไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนอะไร ซ้ำตามปกติกินอยู่กับครูเสียด้วย โดยไม่ต้องเสียค่ากินอยู่อะไร การเรียนก็เป็นอย่างเดียวกับที่วัด จะต่างกันบ้างก็ที่ฝ่ายหนึ่งเป็นชีวิตของชาวบ้าน และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นชีวิตของชาววัดเท่านั้น... แต่ตามปกติ การหากินในวิชาช่างโดยเฉพาะอย่างนี้ มักตั้งทำรวมอยู่ในที่แห่งเดียวกัน เพราะสะดวกแก่ผู้มาว่าจ้าง... เกิดเป็นบ้านมีชื่อเรียกไปตามอาชีพ ที่คนในถิ่นนั้นประกอบกันอยู่ เป็นบ้านหม้อ บ้านดอกไม้ บ้านบาตร บ้านพานถม บ้านหล่อ บ้านบุ เป็นต้น”12

แม้วิชาหนังสือเอง ก็ไม่มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้ต้องเรียน ถ้าไม่มีการบวชเรียน การรู้หนังสือจะยิ่งลดน้อย อย่างที่ว่า “เด็กชายลูกชาวบ้านซึ่งมีโอกาสได้เรียนหนังสือที่วัด โดยมากรู้หนังสือเพียงอ่านออกเขียนได้อย่างงูๆ ปลาๆ เท่านั้น... ก็เป็นไปตามความรู้ของพระผู้เป็นอาจารย์และพื้นปัญญาของเด็ก หรือไม่ก็เป็นเพราะเห็นว่ารู้หนังสือแล้ว ไม่รู้จะเอาไปใช้อะไร”13

โดยเหตุนี้ ถ้าไม่ใช่จะเรียนบาลี วรรณคดีศาสนาหรือไปรับราชการที่เกี่ยวกับหนังสือในวังแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะนำไปใช้อะไร เรื่องนี้จะเห็นได้ชัดเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มการศึกษาแบบใหม่ ขยายการศึกษา ชักชวนราษฎรให้เล่าเรียนหนังสือ ประชาชนยังรู้สึกไปในทำนองจะเอาของอะไรที่เขาไม่จำเป็นต้องใช้ไปยัดเยียดให้เขาด้วยซ้ำ ที่ถึงกับต้องบำรุง คล้ายจ้างเรียนก็มี ผิดกับสมัยนี้ ที่เหตุจำเป็นในการดิ้นรนเลี้ยงชีวิต ทำให้มีแต่ต้องวิ่งแข่งกันหาที่เรียน แม้ในสมัยใกล้ๆ นี้เอง ในชนบทเด็กเรียนหนังสือจบโรงเรียนประชาบาลแล้ว ก็ไม่รู้จะเอาความรู้นั้นไปใช้อะไร ไปประกอบอาชีพทำไร่ไถนา ไม่มีโอกาสใช้หนังสือ นานๆ เข้าก็ลืมหมด แต่การบวชเป็นเหตุบีบบังคับอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ผู้บวชได้ใช้หนังสืออีก ได้ทบทวน และเพิ่มพูนความรู้ความจัดเจนในภาษา เช่น การที่จะต้องท่องหนังสือสวดมนต์ ต้องแสดงธรรมให้หมู่ญาติ และประชาชนฟัง การบวชจึงเป็นสิ่งบังคับอย่างหนึ่งให้เรียนรู้และทบทวนความรู้หนังสือ มิฉะนั้น ชาวบ้านจะไม่เอาใจใส่เรื่องหนังสือเลย

๒. โอกาสในการถ่ายเท ถ่ายทอด และกระตุ้นให้เกิดความคิดแปลกใหม่ในระหว่างต่างชนชาติ ต่างอารยธรรม และต่างวัฒนธรรม พร้อมทั้งศูนย์รวมอำนาจขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยทำหน้าที่เก็บรวบรวมรักษาและเผยแพร่วิทยาการนั้นๆ ชนชาติในฝ่ายตะวันตกที่มีมากมายหลายชนชาติ มีขอบเขตความเกี่ยวข้องกันอย่างกว้างขวาง และประสบภัยรุกรานจากชนชาติที่มีอารยธรรมวัฒนธรรมต่างกันมาก จากดินแดนไกลๆ ทำให้เกิดการถ่ายเท ถ่ายทอดความรู้ความคิดต่างๆ และกระตุ้นให้เกิดความคิดริเริ่มใหม่ๆ และการดิ้นรนต่อสู้ปรับปรุงตนเองมาก และในทุกยุคจะมีศูนย์รวมอำนาจแห่งใหญ่ๆ เช่น กรีก โรมัน คริสตจักร เป็นต้น เป็นแหล่งรวบรวมสิ่งสร้างสรรค์ศิลปวิทยาต่างๆ และเป็นแหล่งเผยแพร่ความเจริญก้าวหน้าเหล่านั้น ส่วนในทางตะวันออกก็เช่นเดียวกัน จะเห็นว่ายุคที่วิทยาการเจริญรุ่งเรืองนั้น ก็มีศูนย์รวมอำนาจขนาดใหญ่ ที่รวบรวมศิลปวิทยาการ ช่วยเผยแพร่ความรู้ ตลอดจนความคิดใหม่ๆ กว้างขวางออกไปในชนชาติใกล้เคียง แต่ในระยะหลังสภาพเช่นนี้ไม่มี และการติดต่อกันไม่มีในปริมาณมากพอ ประเทศไทยกับชนชาติใกล้เคียง มีการติดต่อเกี่ยวข้องและรบราฆ่าฟันทำสงครามระหว่างกัน ก็เป็นไปในหมู่ชนชาติที่มีวัฒนธรรมเหมือนๆ กัน จึงแทบไม่ทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้นได้เลย กลับทำให้เสียหายและหยุดชะงักความเจริญไปด้วยซ้ำ

๓. ขาดระบบการบริหารการศึกษา ในอดีต การบริหารการคณะสงฆ์คงจะได้มุ่งเน้นไปในด้านการปกครองเป็นสำคัญ ส่วนในด้านการศึกษานั้น มิได้จัดวางแผนและระบบการบริหารไว้เป็นโครงรูปที่แน่นอน ซึ่งอาจเป็นด้วยถือว่าองค์พระมหากษัตริย์ได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงจัดให้ในวังเห็นว่าเป็นการสูงสุดแล้ว และอาจเป็นด้วยถือว่า เป็นเรื่องของแต่ละวัด แต่ละสำนัก ที่จะรับผิดชอบจัดการเป็นงานภายใน คือเป็นระบบสำนัก เมื่อขาดระบบการบริหารเป็นลำดับชั้น ก็ไม่มีศูนย์รวมที่จะคอยตรวจตราดูแล รักษาและปรับปรุงมาตรฐานการศึกษา หรือรวบรวมผลงาน และจัดสรรกำลังงานทางด้านการศึกษา การศึกษาแต่ละวัดแต่ละสำนัก ย่อมเจริญขึ้น เสื่อมลงหรือสูญหายไปตามตัวบุคคล แม้วิชาการต่างๆ ที่เกิดมีผู้คิดค้นได้ ก็มักสูญหาย หรือไม่แพร่หลายตามสมควร ทั้งไม่มีการควบคุมคุณภาพครูผู้สอนด้วย

๔. ข้อที่สัมพันธ์และสืบเนื่องมาจากข้อ ๓ อย่างหนึ่ง คือ เรื่องคุณภาพของผู้สอนที่ไม่มีระบบการควบคุม และไม่มีระบบการฝึกสร้าง เมื่อครูมีคุณภาพไม่สูง จะหวังให้การศึกษามีคุณภาพดีได้ยาก จะเห็นว่าในชนบทหาพระที่มีความรู้พอสอนก็หายาก

“ชีวิตชาวชนบท...ว่าถึงการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเรียนหนังสือ ก็ยังไม่มีกันแพร่หลาย เพราะฉะนั้น ชาวบ้านจึงเป็นผู้ไม่รู้จักหนังสือ จะมีผู้รู้อยู่บ้าง ก็คือพระสงฆ์ แต่ก็ไม่ทั่วไป คงมีที่รู้แต่บางองค์เท่านั้น แม้กระนั้นหนังสือสำหรับพระที่ไม่ได้เป็นมหาเปรียญ ที่พอจะหาดูได้ ก็มีแต่หนังสือมหาขันธ์ บุพพสิกขา และวินัยแปล และก็ไม่ใคร่มีทั่วไปทุกวัด บางคราวเกิดขัดข้องทางวินัย ก็ต้องรอคอยพระผู้ใหญ่ที่ออกไปจากกรุงเทพ ฯ และใช่ว่าท่านจะออกไปบ่อยๆ เมื่อไร ท่านจะออกไปก็เมื่อมีกิจจำเป็น เช่น ฤดูอุปสมบท ฉะนั้น เมื่อใกล้ฤดูงานอุปสมบท ก็ต้องคอยสืบข่าวว่าที่วัดไหนมีบวชกันบ้าง ครั้นถึงกำหนดก็ไปพร้อมกัน ที่ไปเองไม่ได้ก็ให้พระลูกวัดไปแทน เมื่อได้รับคำชี้แจงจนเป็นที่เข้าใจดีแล้ว เจ้าอาวาสก็นำมาถ่ายทอดและสั่งสอนให้ลูกวัดฟังอีกทีหนึ่ง”14

๕. เหตุประกอบอย่างอื่น อาจมีอีกหลายประการ เช่น บางที่จะไม่ได้ปฏิบัติตามระบบการถือนิสัยอันเตวาสิกกันถูกต้อง ตามความหมายที่แท้จริง การถือความศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับภาษาที่ใช้ เช่น ต้องใช้อักษรขอมเขียนบาลี ก็อาจเป็นอุปสรรคหนึ่งในการเผยแพร่การศึกษา ดังนี้เป็นต้น แต่ข้อสำคัญคงจะได้แก่การไม่มีเหตุบีบบังคับให้ต้องดิ้นรนแสวงหา และไม่มีการกระทบกระทั่งจากภายนอกที่จะกระตุ้นให้เร่งรัดตัวเกิดความคิดใหม่ๆ

การศึกษาส่วนอดีตในประเทศไทย เท่าที่กล่าวมา ถือว่าเป็นอันจบตอนที่ ๑ คือ ที่ว่าด้วยการศึกษาแบบเดิม ส่วนตอนที่ ๒ ที่ว่าด้วยการศึกษาแบบสมัยใหม่ ถือว่าเริ่มแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา เป็นตอนที่มีเรื่องราวมาก เพราะเป็นอดีตส่วนใกล้ และเป็นระยะที่มีการปรับปรุงการศึกษาเป็นการใหญ่ เป็นอันสุดวิสัยจะเล่าให้จบในคราวนี้ได้ เพราะเป็นการจวนเจียนเกินไป จึงยุติไว้แต่เพียงตอนที่ ๑ เท่านี้

อย่างไรก็ดี น่าจะได้คติอย่างหนึ่งจากการศึกษาเรื่องอดีตว่า การที่จะสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าขึ้นนั้น ย่อมหมายถึง สร้างให้แก่ตน หรือสร้างตนนั่นเองขึ้นไป การที่จะสร้างให้แก่ตน หรือสร้างตนขึ้นได้ ก็ต้องรู้พื้นเพของตนก่อนว่า มีอะไรมากอะไรน้อยและขาดแคลนอะไร จะได้แก้ไขต่อเติมได้ถูกต้อง แม้ของใหม่ที่จะต่อเติมนั้น ก็จะต้องทำให้เป็นของตนเองเสียก่อน จึงจะผสมผสานเข้ากันได้ อีกอย่างหนึ่ง จะต้องรู้ฐานว่าตนดำรงอยู่ที่ใดอย่างไร แล้วก่อตนเพิ่มพูนขึ้นไปจากฐานนั้นให้ถูกรูปถูกร่างกัน คือ ต้องมีหลัก มีรูป มีแนวของตนเอง จากภาพในอดีตจะเห็นว่า อารยธรรมใดที่ดีเด่นขึ้นได้นั้น ก็ด้วยอาศัยแรงกระทบกระเทือนภายนอกมาเป็นเหตุสร้างพลังเพิ่มพูนขึ้นในตน คือต้องพยายามดำรงตน รักษาและดัดแปลงคุณค่าต่างๆ เชิดชูตนขึ้นไป ในท่ามกลางความประสานและความขัดแย้งกับอารยธรรมอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องนั้น หากไม่มีหลักของตน เห็นเขาเจริญก้าวหน้า คิดจะตามเขาไป ก็จะต้องเป็นผู้ตามอยู่ร่ำไป ไม่มีที่สิ้นสุด และหมดตนในที่สุดด้วย

1เสฐียรโกเศศ, ชีวิตชาวไทยสมัยก่อน (ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๑๐), หน้า ๑๓๕-๖.
2ชีวิตชาวไทยฯ, หน้า ๑๓๔-๕.
3ชีวิตชาวไทยฯ, หน้า ๑๔๑.
4ชีวิตชาวไทยฯ, หน้า ๑๓๙-๑๔๐.
5ชีวิตชาวไทยฯ, หน้า ๑๔๒.
6ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๓๙๔ ๒๔๐๔, พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระมหาโพธิวงศาจารย์ อินทโชตเถระ, ๙ พ.ย. ๒๕๑๑, หน้า ๓๗-๓๘.
7ดู หนังสือ ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์ ของกาญจนาคพันธุ์ สำนักพิมพ์สาสน์สวรรค์ พ.ศ. ๒๕๐๙, ๘๓๑ หน้า เป็นต้น
8ชีวิตชาวไทยฯ, หน้า ๑๖๔.
9ดู ชีวิตชาวไทยฯ, หน้า ๑๔๘-๑๖๓.
10ดู ชีวิตชาวไทยฯ, หน้า ๑๔๗.
11พึงสังเกตว่า ประชาชนดึงคำสอนในศาสนาให้เข้ากับความต้องการของตน ไม่น้อยกว่าที่ศาสนาสามารถดึงคนเข้าหาคำสอน.
12ชีวิตชาวไทยฯ, หน้า ๑๖๔ ๑๖๖.
13ชีวิตชาวไทยฯ, หน้า ๑๔๙.
14ชีวิตชาวไทยฯ, หน้า ๑๔๕-๑๔๖.
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.