พุทธวิธีในการสอน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พุทธวิธีในการสอน1

พระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า ที่ปราชญ์ได้ขนานถวาย และพุทธศาสนิกชนนิยมกล่าวเรียกเสมอ คือคำว่า พระบรมศาสดา หรือ พระบรมครู ซึ่งแปลว่า พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยม หรือ ผู้เป็นยอดของครู

ในภาษาบาลีก็มีบทพุทธคุณถวายพระเกียรติว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ แปลว่า พระศาสดาของทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย และมีคำเสริมพระคุณว่า อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ แปลว่า เป็นสารถีฝึกคนได้ไม่มีใครยิ่งกว่า

พระนามเหล่านี้ แสดงความหมายอยู่ในตัวว่า ปราชญ์และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายเคารพบูชาและยกย่องเทอดทูนพระองค์ ในฐานะทรงเป็นนักการสอนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทรงมีพระปรีชาสามารถอย่างยอดเยี่ยมในการอบรมสั่งสอน และได้ทรงประสบความสำเร็จในงานนี้เป็นอย่างดี

ความยิ่งใหญ่และพระปรีชาสามารถของพระพุทธเจ้าในด้านการสอนนั้น ถ้าจะพูดให้เห็นด้วยอาศัยประจักษ์พยานภายนอกก็เป็นเรื่องไม่ยาก เพราะเพียงพิจารณาเผินๆ จากเหตุผลง่ายๆ ต่อไปนี้ ก็จะนึกได้ทันที คือ:-

  1. พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในยุคที่ชมพูทวีปเป็นถิ่นนักปราชญ์ เต็มไปด้วยศาสดาจารย์เจ้าลัทธิต่างๆ เป็นอันมาก แต่ละท่านล้วนมีชื่อเสียงและมีความสามารถ ผู้ที่มาเผชิญพระองค์นั้น มีทั้งมาดีและมาร้าย มีทั้งที่แสวงหาความรู้ มาลองภูมิ และที่ต้องการมาข่มมาปราบ แต่พระองค์สามารถประสบชัยชนะในการสอน จนมีพระนามนำเด่นมาถึงปัจจุบัน
  2. คำสอนของพระองค์ ขัดแย้งกับคำสอนในศาสนาเดิม และแย้งกับความเชื่อถือความประพฤติปฏิบัติที่แพร่หลายอยู่ในสังคมสมัยนั้น เช่น การทำลายความเชื่อถือเรื่องวรรณะ เป็นต้น ทรงจัดตั้งระบบคำสอนและความเชื่อถืออย่างใหม่ให้แก่สังคม การกระทำเช่นนี้ให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ย่อมเป็นงานยากอย่างยิ่ง
  3. ขอบเขตงานสอนของพระองค์กว้างขวางมาก ทั้งโดยเทศะและระดับชนในสังคม ต้องเสด็จไปสั่งสอนในหลายถิ่นแคว้น พบคนทุกชั้นในสังคม ซึ่งมีระดับความเป็นอยู่ ความเชื่อถือ การศึกษาอบรม นิสัยใจคอ และสติปัญญาแตกต่างกัน ทุกแบบทุกชนิด ทรงสามารถสอนคนเหล่านั้นให้เข้าใจได้ และยอมเป็นศิษย์ของพระองค์ นับแต่พระมหากษัตริย์ลงมาทีเดียว
  4. พระพุทธศาสนาที่เจริญมาได้ตลอดเวลานับพันๆ ปี แพร่หลายเป็นที่นับถืออยู่ในประเทศต่างๆ และคณะสงฆ์ผู้สืบต่อพระศาสนา ซึ่งเป็นสถาบันใหญ่และสำคัญในสังคมดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เป็นผลงานยิ่งใหญ่ของพระองค์ ยืนยันถึงพระปรีชาสามารถอย่างประจักษ์ชัดโดยไม่ต้องอธิบาย

ในเมื่อประจักษ์พยานภายนอกแสดงให้เห็นแล้วเช่นนี้ ย่อมชวนให้พิจารณาสืบค้นต่อไปถึงเนื้อธรรมคำสอน หลักการสอน และวิธีการสอนของพระองค์ว่าเป็นอย่างไร ยิ่งใหญ่และประเสริฐสมจริงเพียงใด

เนื้อพระธรรมคำสอน หลักการสอน และวิธีการสอนของพระพุทธองค์นั้น ปรากฏอยู่แล้วในพระไตรปิฎก และคัมภีร์อธิบายมีอรรถกถาเป็นต้นแล้ว แต่คัมภีร์เหล่านั้นมีเนื้อหามากมาย มีขนาดใหญ่โต2 เกินกว่าจะสำรวจเนื้อหา รวบรวมความ นำมาสรุปแสดงให้ครอบคลุมทั้งหมดในเวลาอันสั้น ในที่นี้จึงขอนำมาแสดงเพียงให้เห็นรูปลักษณะทั่วไปเท่านั้น.

1บรรยายสรุป ณ วิทยาลัยครูธนบุรี เมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๓ ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระศรีวิสุทธิโมลี
หมายเหตุ: เขียนในเวลากระชั้นชิด การศึกษาความหมายและตีความหลักธรรมบางข้อต้องกระทำในเวลาเร่งรัดเกินไป จึงขอให้ถือเป็นเพียงขั้นริเริ่ม เผื่อถ้ามีโอกาสก็จะได้ทำให้ชัดเจนถ่องแท้ต่อไป หลักบางข้อยังหาตัวอย่างประกอบไว้น้อยและบางตัวอย่างเพียงอ้างไว้ ยังมิได้ค้นหลักฐานนำมาแสดงให้เต็มที่
2พระไตรปิฏกบาลีอักษรไทยจำนวน ๒๑,๙๒๖ หน้า อรรถกถาและคัมภีร์เฉพาะที่พิมพ์เป็นเล่มแล้ว ๒๘,๓๑๘ หน้า
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.