ยิ่งก้าวถึงสุข ยิ่งใกล้ถึงธรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ปรนเปรอประสาททั้งห้า เป็นวิธีหาความสุขพื้นฐาน

ก่อนที่จะชี้ลงไปว่าวิธีไหนผิดวิธีไหนถูก เรามาสำรวจกันดูว่า คนเราใช้วิธีการอะไรบ้าง ในการสร้างชีวิตที่ดีมีความสุขนั้น

เพื่อเป็นการรวบรัด อาตมภาพก็ขอสรุปเลยว่าในวิถีทางดำเนินชีวิตของมนุษย์เพื่อสร้างชีวิตที่ดีมีความสุขนั้น มนุษย์ได้ปฏิบัติตามวิธีการต่างๆ ดังต่อไปนี้

วิธีที่ ๑ ได้แก่ การหาวัตถุมาบำรุงบำเรอปรนเปรอประสาททั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายของเรา อันนี้เป็นสิ่งที่แน่นอน ความสุขส่วนใหญ่ของมนุษย์อยู่ที่นี่ คือ เราจะหาอะไรต่างๆ มาปรนเปรอตา หู จมูก ลิ้น กายของเรา

เริ่มต้นก็ปรนเปรอตา ให้ตาของเราได้ดูรูปที่สวยงาม การที่เราสร้างเทคโนโลยีกันขึ้นมา ให้มีภาพยนตร์ดีๆ มีวีดีโอสารพัดเรื่องนั้น ก็เพื่อจะปรนเปรอตา จะได้ดูภาพที่สวยๆ งามๆ เราพยายามสร้าง ทีวี วีดีโอ เป็นต้น ที่มีประสิทธิภาพ ให้ได้ภาพที่ชัดแจ๋วยิ่งขึ้น สีสวยยิ่งขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของการปรนเปรอตา

นอกจากนั้นก็ปรนเปรอหู ให้ได้ฟังเสียงดนตรีที่ไพเราะนิ่มนวล ปรนเปรอจมูก ให้ได้ดมกลิ่นหอมๆ ปรนเปรอลิ้นให้ได้ลิ้มรสอาหารอร่อยๆ ปรนเปรอกายให้ได้สัมผัสที่นุ่มนวล อะไรต่างๆ เหล่านี้ นี่แหละคือ แหล่งที่มาแห่งความสุขส่วนใหญ่ของมนุษย์

ในการพัฒนาอารยธรรมของมนุษย์นั้น เราได้ทุ่มเทเรี่ยวแรงกำลังไปไม่น้อยให้กับเรื่องเหล่านี้ ดังจะเห็นว่า การพัฒนาที่ผ่านมานี้มีจุดหมาย หรือเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ได้สิ่งสำหรับปรนเปรอประสาททั้ง ๕ นี้มา แล้วมันก็ได้กลายเป็นแหล่งที่มาของอารยธรรมมนุษย์ไม่ใช้น้อยทีเดียว

แต่ทีนี้ ถ้าเรามองดูด้วยความยุติธรรม การหาความสุขแบบนี้ของมนุษย์ คือการหาวัตถุมาปรนเปรอประสาททั้ง ๕ นั้น ว่ากันไปแล้ว มันเป็นวิธีการพื้นฐานที่แทบจะไม่ต่างอะไรกัน กับสัตว์ทั้งหลายอื่น กล่าวคือ สัตว์ที่เราเรียกว่าเดรัจฉานทั้งหลาย มันก็แสวงหาสิ่งต่างๆ มาเพื่อจะปรนเปรอ ตา หู จมูก ลิ้น กายของมันเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น วิธีการนี้จึงเป็นเรื่องของการหาความสุขแบบพื้นฐาน ซึ่งเสมอเหมือนกันในหมู่สัตว์ทั้งหลาย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.