การศึกษากับการวิจัย เพื่ออนาคตของประเทศไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พื้นฐานเดิมที่จะต้องพัฒนา เพื่ออนาคต
ของสังคมไทย

ในสังคมไทยนี้น่าย้ำให้มากว่าจิตใจแบบนักวิจัยนี้เรามีน้อย ไม่ใช่เฉพาะในหมู่นักวิจัย แต่เป็นสภาพของคนไทยทั่วไปเลย ฝรั่งนั้นยังมีฐาน ทางลักษณะนิสัย และสภาพจิตใจที่เป็นผู้ใฝ่รู้ ซึ่งได้ฝังลึกในสังคมตะวันตกมากกว่าในสังคมไทย

ในเรื่องนี้จะขอพูดแทรกนิดหนึ่ง แม้ว่าอาจจะเป็นเรื่องซ้ำซาก คือเราดูว่า พื้นฐานจิตใจของคนของเรา กับคนในสังคมตะวันตกนั้นไม่เหมือนกันแม้ในการสัมพันธ์กับสิ่งเดียวกัน ขอยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องเทคโนโลยี ฝรั่งก็มีเทคโนโลยี ไทยเราก็มีเทคโนโลยี โดยเฉพาะเวลานี้ฝรั่งมีเทคโนโลยีอะไรสังคมไทยเราก็มีด้วย แต่ความหมายของเทคโนโลยีต่อคนไทยและต่อคนตะวันตกไม่เหมือนกัน และอันนี้จะมีความหมายโยงไปถึงคุณสมบัติ และสภาพจิตใจอะไรต่างๆ ที่จะนำไปสู่การที่จะพัฒนาประเทศได้ดีหรือไม่ด้วย เทคโนโลยีในสังคมตะวันตกกับในสังคมไทยต่างกันอย่างไร

ข้อหนึ่งก็คือ คนไทยเราเริ่มพบกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ประมาณว่าร้อยปีมาแล้ว พอเริ่มพบเทคโนโลยี เราก็พบในฐานะผู้บริโภค เทคโนโลยีจากสังคมตะวันตกเข้ามาสู่สังคมไทย แบบสำเร็จรูป และมาเป็นสิ่งที่จะบริโภค คนไทยจึงพบกับเทคโนโลยีโดยมีจิตใจที่จะบริโภคเพื่อเอามาเสริมความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย เป็นเครื่องบำรุงบำเรอ

หันกลับไปดูที่สังคมตะวันตก สังคมตะวันตกมีเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของเขาเอง แต่การที่ตะวันตกจะสร้างสรรค์เทคโนโลยีขึ้นมาได้นั้น ไม่ใช่สร้างขึ้นมาได้วันเดียว มันต้องผ่านกระบวนการของภูมิหลังที่ยาวนานเป็นร้อยๆ ปี ภูมิหลังอะไร ประการแรก เทคโนโลยีนั้นตั้งอยู่บนฐานของวิทยาศาสตร์ การที่เทคโนโลยีจะเจริญขึ้นมาได้ต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมายาวนานกว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีอย่างที่มีในปัจจุบันได้ การแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์สำเร็จด้วยอะไร ด้วยการที่จะต้องเป็นนักพิสูจน์ นักสืบค้น นักทดลอง มีจิตใจที่ใฝ่รู้และนิยมเหตุผล พูดง่ายๆ ว่าเป็นนักวิจัย จากพัฒนาการของวิทยาศาสตร์ตลอดเวลายาวนานจนเกิดมีเทคโนโลยีอย่างที่เป็นอยู่นี้ จึงหมายความว่า ชาวตะวันตกได้ผ่านประสบการณ์ที่ได้สร้างนิสัยและสภาพจิตใจขึ้นมา ให้เขามีจิตใจวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ คือความมีจิตใจที่ใฝ่รู้ ชอบเหตุชอบผล ชอบค้นคว้าสืบค้นพิสูจน์ทดลอง เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีที่สำเร็จมาในสังคมตะวันตกโดยผ่านวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ จึงทำให้ฝรั่งได้ผลพ่วงมาอีกอย่างหนึ่งคือจิตใจที่ใฝ่รู้

ประการที่สอง เทคโนโลยีที่สำเร็จมาในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่อาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่ต้องผ่านกระบวนการสำคัญอีกอย่างหนึ่งคืออุตสาหกรรม เทคโนโลยีเองเป็นตัวไปเกื้อหนุนอุตสาหกรรม เป็นเครื่องมือพัฒนาอุตสาหกรรม แล้วอุตสาหกรรมก็มาสร้างสรรค์พัฒนาเทคโนโลยีให้เจริญยิ่งขึ้น การที่จะสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมให้สำเร็จได้นั้นต้องใช้เวลายาวนาน ทำให้เกิดผลต่อชีวิต สภาพจิตใจและวิถีของสังคมที่เรียกว่าวัฒนธรรมอุตสาหกรรม วัฒนธรรมอุตสาหกรรม คือการที่ต้องมีความขยันหมั่นเพียร จะต้องพยายามเอาชนะความยากลำบาก เอาชนะความทุกข์ยาก เอาชนะความแร้นแค้น เอาชนะความฝืดเคืองต่างๆ เพื่อสร้างสิ่งผลิตต่างๆ ขึ้นมาให้สำเร็จ จนกว่าจะมีความพรั่งพร้อม

ในการที่จะสร้างสรรค์ผลิตผลให้พรั่งพร้อมเพื่อเอาชนะความขาดแคลนให้สำเร็จนี้ ฝรั่งต้องต่อสู้กับความทุกข์ยากมาก ต้องมีความขยันหมั่นเพียรอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมจึงสำเร็จ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าอุตสาหกรรม ซึ่งแปลว่า การกระทำด้วยอุตสาหะ ตรงตามภาษาอังกฤษว่า industry ซึ่งก็แปลว่าความขยันอยู่แล้ว ชื่อของมันก็บอกอยู่แล้วว่าอุตสาหกรรมเกิดจากความขยันหมั่นเพียร ฝรั่งต้องมีความขยันหมั่นเพียรสู้ความเหนื่อยยากมานานเป็นร้อยปีกว่าจะประสบความสำเร็จ ให้อุตสาหกรรมเจริญมาได้ ตลอดเวลายาวนานนี้เขาจึงมีวัฒนธรรมอุตสาหกรรมที่สร้างนิสัยจิตใจของคน ให้มีความขยันหมั่นเพียร ความสู้สิ่งยาก และความมีจริยธรรมในการทำงาน

เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีที่พัฒนามาถึงปัจจุบันจึงบอกถึงภูมิหลังของตะวันตกที่ได้พัฒนาสภาพจิตใจที่ฝังลึกมาเป็นร้อยๆ ปี คือสภาพจิตใจที่เกิดจากวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ได้แก่ความใฝ่รู้ และสภาพจิตใจที่เกิดจากวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ได้แก่ ความสู้สิ่งยาก ความใฝ่รู้-สู้สิ่งยากก็จึงมาเป็นสภาพจิตใจของฝรั่ง ที่แม้จะเปลี่ยนจากสังคมอุตสาหกรรมมาเป็นสังคมบริโภคแล้ว แม้ว่าคนรุ่นใหม่จะอ่อนแอลงจนกระทั่งคนรุ่นเก่าต้องคร่ำครวญต่อว่าคนรุ่นใหม่ว่าเป็นคนที่อ่อนแอ ใจเสาะเปราะบาง หยิบโหย่ง สำรวย แต่ถึงอย่างนั้นพื้นฐานแห่งความใฝ่รู้-สู้สิ่งยากที่ฝังลึกมาเป็นร้อยปีก็ยังจะช่วยสังคมของเขาไปได้อีกนาน

ทีนี้หันมาดูสังคมไทยของเรา คนไทยเราอยู่สบาย ในถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ภูมิอากาศอำนวย ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ทำให้มีจิตใจที่โน้มไปในทางที่ชอบสะดวกสบายอยู่แล้ว อยู่ๆ มาก็เจอเข้ากับอุปกรณ์เทคโนโลยีที่เข้ามากับฝรั่ง โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จรูป และเทคโนโลยีแบบบริโภค เทคโนโลยีนั้นจึงเป็นสิ่งที่มาเสริมความสะดวกสบายเข้าอีกชั้นหนึ่ง วัฒนธรรมแห่งความสะดวกสบายชอบสนุกสนานโน้มไปทางเสพบริโภคก็ยิ่งได้รับการเสริมซ้ำหนักเข้าไปอีก ส่วนฐานทางด้านความใฝ่รู้-สู้สิ่งยากนั้นแทบไม่มีเลย มีแต่ความชอบสนุกสนานสะดวกสบาย

สภาพอย่างนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่คนไทยจะต้องยอมรับว่าเป็นปัจจัยแห่งความอ่อนแอของสังคมของตัวเอง และจะต้องจับต้องจี้ให้ถูกจุดตลอดจนจะต้องแก้ให้ได้ คือ ทำอย่างไรจะให้คนของเราเป็นคนที่ใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก เพื่อสร้างลักษณะจิตใจที่เป็นนักวิจัยขึ้นมาแล้วการสร้างสรรค์สังคมของเราจึงจะสำเร็จ

หลักการพัฒนาคนอย่างหนึ่งคือฝึกให้เป็นคนที่สู้ปัญหา ถ้าเด็กของเราเป็นคนที่เอาแต่สบาย ได้รับแต่การปรนเปรอ ก็จะกลายเป็นนักเสพ และนักหาความสุขจากสิ่งเสพ เขาจะหวังความสุขจากการได้รับความปรนเปรอและการที่ไม่ต้องทำอะไร การที่จะต้องทำอะไรจะกลายเป็นความทุกข์ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ทั้งต่อชีวิตของเขา ต่อสังคม และต่ออารยธรรมทั้งหมด เด็กเหล่านี้จะอ่อนแอใจเสาะเปราะบาง แม้แต่สังคมตะวันตกที่มีฐานเข้มมาตลอดเวลายาวนาน พอมาเจอสังคมแบบฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อเป็นสังคมบริโภคเข้าก็ยังแย่ เวลานี้คนรุ่นใหม่ของเขาจำนวนมากก็กลายเป็นคนใจเสาะเปราะบาง อ่อนแอ ทุกข์ง่าย สุขได้ยาก

คนในสังคมที่สร้างสรรค์พัฒนามาบนฐานของความใฝ่รู้สู้สิ่งยากจะมีลักษณะที่ทุกข์ได้ยากแต่สุขได้ง่าย ส่วนคนที่ได้รับการบำรุงบำเรอเต็มที่จนเคยตัวหรือจนกลายเป็นวัฒนธรรมก็จะเป็นคนที่มีลักษณะทุกข์ได้ง่ายและสุขได้ยาก เพราะว่าพอเกิดมาก็เจอกับสภาพบำรุงบำเรอสะดวกสบายจนกลายเป็นสภาพปกติ ดังนั้นพอขาดอะไรนิดเดียวก็ทุกข์ทันที ไม่ได้อย่างใจก็ทุกข์ทันที ต้องทำอะไรก็ทุกข์ทันที สุขได้ยากเพราะมีสิ่งปรนเปรอเต็มไปหมดเติมไม่ไหว แต่คนที่สู้สิ่งยากจะสุขได้ง่าย และมีความสุขจากการกระทำและการสร้างสรรค์ เพราะว่าเมื่อได้อะไรมานิดหรือทำอะไรก้าวหน้าไปหน่อย ทำอะไรสำเร็จหรือชนะความยากลำบากนิดหน่อยก็สุขทันที นอกจากนั้นเพราะเขาเจอกับสิ่งยากมาหนักหนาแล้ว ถึงมีอะไรยากมาอีกก็ไม่เท่าไร ไม่ลำบาก

เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในสังคมบริโภคถ้าไม่เตรียมพัฒนาชีวิตฝึกตนให้ดีก็จะใจเสาะเปราะบางและจะฆ่าตัวตายมาก ขอให้ดูอย่างสังคมอเมริกันที่เปลี่ยนจากสังคมอุตสาหกรรมมาเป็นสังคมบริโภค เพียง ๓๐ ปีที่ผ่านมานี้ เด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นๆ มากกว่าก่อนนั้นถึง ๓๐๐ เปอร์เซ็นต์

เคยพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก ยกตัวอย่างคนจีนมาเมืองไทยเสื่อผืนหมอนใบสมัยก่อน เขาสร้างเนื้อสร้างตัว โดยผ่านความอดอยากยากแค้น อดมื้อกินมื้อ มีใครฆ่าตัวตายไหม ไม่ฆ่าตัวตายหรอก แต่เด็กในยุคปัจจุบันที่แสนจะสุขมีเทคโนโลยีเต็มที่นี่แหละจะฆ่าตัวตายโดยง่าย ฉะนั้นถ้าเราไม่ให้การศึกษาที่ถูกต้อง เด็กจะอ่อนแออย่างยิ่ง และจะไปไม่รอด ไม่ใช่เฉพาะชีวิตของตัวเขาเองเท่านั้นสังคมก็จะไปไม่รอดด้วย เพราะฉะนั้นจะต้องทำให้ได้ คือสร้างจิตใจที่สู้ปัญหา เอาปัญหาเป็นเวทีพัฒนาปัญญา จะต้องเป็นผู้สามารถเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญาให้ได้ ไม่ใช่มีอะไรปั๊บยกปัญหาให้เทวดาแก้ ถ้ายกปัญหาให้เทวดาแก้ ตัวเองก็ไม่ได้สู้ปัญหา ไม่ได้คิดแก้ปัญหา แล้วปัญญามันจะมาอย่างไร มันก็อ่อนแอถอยหลังลงไปทุกที

เวลานี้สังคมไทยอยู่ในสภาพน่าเป็นห่วง เป็นสังคมที่อ่อนแอ คนจำนวนมากหวังพึ่งปัจจัยภายนอก คืออำนาจดลบันดาลต่างๆ ไม่ชอบแก้ปัญหาด้วยตนเอง หวังลาภลอยจากสิ่งเลื่อนลอย เช่น การพนัน เป็นต้น ไม่เข้มแข็งอดทนที่จะรอผลจากการกระทำด้วยความเพียรพยายามของตน มีปัญหาก็ยกให้เทวดาช่วยแก้ มีอะไรจะต้องทำ ก็โอนภาระไปให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้ เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ลำบากพัฒนายาก เพราะฉะนั้นสังคมของเราเวลานี้จะต้องยอมรับว่าพื้นฐานของเราแพ้ฝรั่ง เนื่องจากได้พบและมองเทคโนโลยีแบบบำรุงบำเรอ เราไม่มีพื้นฐานนิสัยแห่งการผลิตและสร้างสรรค์เทคโนโลยีด้วยวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมมาก่อน ฐานจึงต่างกันมาก ทั้งหมดนี้เป็นการพูดเลยออกไปข้างนอก

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.