ร่ำรวย ยิ่งใหญ่ เลื่อนลอย หรือเพื่ออะไร

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

อารยชนมีจุดสนใจ
ที่วิธีใช้ทรัพย์และอำนาจ

ต่อมาพระเจ้าอโศกมหาราชได้หันมานับถือพระพุทธศาสนา เมื่อมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ย่อมเรียนรู้ธรรม แล้วก็รู้เข้าใจหลักพระไตรลักษณ์ว่า สิ่งทั้งหลาย โดยเฉพาะที่เป็นวัตถุ รวมทั้งทรัพย์สินเงินทองและอำนาจนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อไม่เที่ยงเป็นอนิจจัง ก็ไม่มีสาระที่แท้จริงต่อชีวิต

เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงมองเห็นแล้วว่าทรัพย์และอำนาจไม่ใช่ความหมายและสาระที่แท้จริงของชีวิต พระเจ้าอโศกจะปฏิบัติต่อทรัพย์และอำนาจอย่างไร พระองค์จะทรงทิ้ง สละ ไม่เอาพระทัยใส่กับทรัพย์และอำนาจนั้นหรือ หาได้เป็นเช่นนั้นไม่

ชาวพุทธที่ถูกต้อง ย่อมมองดูความหมายของทรัพย์และอำนาจด้วยสายตาใหม่ และปฏิบัติต่อทรัพย์และอำนาจโดยธรรม

เพราะฉะนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชจึงทรงมองเห็นว่า ทรัพย์และอำนาจนั้น ถ้าเราใช้โดยสนองกิเลสด้วยความเห็นแก่ตัว มันก็เป็นเพียงเครื่องบำรุงบำเรอตนเอง และเป็นเครื่องสนองความปรารถนา ความยิ่งใหญ่ของตน แล้วก็ก่อความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนร่วมโลก

แต่ถ้าเราเอาทรัพย์นั้นมาเป็นเครื่องมือ มาเป็นช่องทางในการทำความดี ในการสร้างสรรค์บำเพ็ญประโยชน์ ทรัพย์และอำนาจนั้นก็จะสามารถเป็นเครื่องมือสร้างสรรค์ประโยชน์สุขได้เป็นอันมาก

เพราะฉะนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชจึงทรงใช้ทรัพย์และอำนาจเป็นเครื่องมือ หรือเป็นอุปกรณ์แห่งธรรม

“ธรรม” ก็คือ หลักแห่งการทำความดี และการบำเพ็ญคุณประโยชน์

ต่อจากนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชก็ทรงเลิกนโยบายที่เรียกว่า สังคามวิชัย คือ การเอาชนะด้วยสงคราม เปลี่ยนเป็น ธรรมวิชัย คือ การชนะด้วยธรรม

ธรรมวิชัย คือ การชนะด้วยธรรมนั้น ได้แก่ การสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามและบำเพ็ญประโยชน์ ดังที่พระองค์ได้ทรงใช้ทรัพย์และอำนาจในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามไว้มากมาย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.