รู้จักอเมริกา หันมาดูศักยภาพของไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

รู้จักอเมริกา หันมาดูศักยภาพของไทย1

(บทสรุป)

การที่จะสร้างสรรค์พัฒนาสังคมประเทศชาติให้เจริญมั่นคงและดีงาม มีสันติสุขได้นั้น ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เช่น ทรัพยากรวัตถุที่เพียงพอ ความพร้อมเพรียงสามัคคีของคน และความฉลาดในวิธีจัดการดำเนินการ เป็นต้น แต่บรรดาปัจจัยทั้งหมดนั้น ปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบหลักมี ๒ อย่าง คือ

๑. เจตนาที่ดี คือ ความปรารถนาดีต่อสังคมประเทศชาติโดยบริสุทธิ์ใจ มีเจตจำนงมุ่งมั่นแน่วแน่ต่อจุดหมาย คือประโยชน์สุขของส่วนรวม ไม่หลอกลวง ไม่มีเจตนาเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง

๒. ปัญญาที่ถึงและทัน คือ ความรู้เข้าใจปัญหา มองเห็นทั่วตลอด ทันต่อสถานการณ์ หยั่งเห็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก รวมทั้งสิ่งที่นิยมเรียกว่า วิสัยทัศน์

วิสัยทัศน์ ว่ามองไกล ก็มักมองได้แค่ในกรอบของยุคสมัย

อย่างไรก็ตาม ในด้านปัญญา คนทั่วไป แม้แต่ที่ถือกันว่าฉลาดหลักแหลม ก็มักจะรู้และคิดกันภายในกรอบของสถานการณ์ และกระแสของยุคสมัย โดยมุ่งเพื่อจะแก้ปัญหาที่เป็นเรื่องของกาลเทศะนั้นๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย คือในยุคปัจจุบัน มีการแข่งขันเป็นโลกาภิวัตน์ เจตจำนงและปรีชาสามารถทุกอย่างก็จะถูกระดมมาใช้ เพื่อหาทางให้ตนและสังคมประเทศชาติของตนมีชัยชนะในการแข่งขันกับสังคมอื่นประเทศอื่น โดยเฉพาะด้านที่เด่นของยุคปัจจุบัน ก็คือชัยชนะเชิงธุรกิจเพื่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจ

แม้แต่คำว่า “วิสัยทัศน์” ที่นิยมกันนักหนาเวลานี้ โดยทั่วไปก็มองความหมายกันเพียงในแง่ของการมีสายตายาวไกล มองเห็นการณ์ข้างหน้า หยั่งหรือคาดหมายอนาคตได้แม่นยำ แต่ทั้งหมดนั้นก็มุ่งเพื่อสนองแนวคิดความมุ่งหมายที่อยู่ในกรอบแห่งสถานการณ์ และกระแสของยุคสมัย คือการที่จะประสบความสำเร็จหรือมีชัยในการแข่งขันอย่างที่พูดข้างต้น

การแข่งขันนั้น มองที่สถานการณ์เฉพาะหน้า ก็เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ เพราะสภาพแวดล้อมบีบรัด จึงจะต้องเข้มแข็งพอที่จะยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ถูกใครครอบงำ แต่ต้องมองกว้างออกไปอีกชั้นหนึ่ง ถึงความจริงที่ครอบคลุมอยู่เบื้องหลังด้วยว่า เมื่อมนุษย์แข่งขันเอาชนะกันอยู่นั้น ต่างก็มุ่งแสวงหาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และอำนาจการเมือง เพื่อฉกฉวยผลประโยชน์และครองความยิ่งใหญ่ แต่ผลรวมก็เหมือนกับว่ามนุษย์สมคบกันทำลายชีวิตสังคมและธรรมชาติให้เสื่อมโทรม จนอาจถึงพินาศ ดังที่ประจักษ์กันอยู่แล้วว่าขณะนี้ ปัญหาชีวิต ปัญหาสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อมในโลก เพิ่มขยายร้ายแรงขึ้นเพียงใด

มนุษย์จะต้องมองทะลุสถานการณ์เฉพาะหน้า และกรอบความคิดแห่งการแข่งขันของโลกาภิวัตน์นี้ออกไป จึงจะเห็นความจริงแท้ของโลกและชีวิต กับทั้งจุดหมายอันยั่งยืนถาวรที่มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยต้องการ คือ ชีวิตที่ดีงาม สังคมที่มีสันติสุข และโลกที่น่าอยู่อาศัย ปัญญาที่มนุษย์จะต้องพัฒนาขึ้นมาใช้ในการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมนั้น จะต้องก้าวมาถึงขั้นนี้ มิใช่แค่วิสัยทัศน์ที่เพียงสนองจุดหมายแห่งความสำเร็จ ในกรอบความคิดของการเอาชนะในระบบแข่งขัน

ในยุคยาวนานที่ผ่านมา มนุษย์ได้สร้างความเจริญก้าวหน้าขึ้นมา ด้วยความเพียรพยายามที่มุ่งหมายจะเอาชนะธรรมชาติ แต่ในที่สุด เมื่อประมาณ ๓๐ ปีมานี้เอง มนุษย์ชาวตะวันตกก็ได้เกิดความสำนึกผิดว่า แนวคิดความมุ่งหมายนี้ เป็นเหตุให้มนุษย์ข่มเหงทำลายธรรมชาติ ซึ่งส่งผลสะท้อนกลับมาให้มนุษย์ประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นๆ จนคุกคามต่อความอยู่รอดของโลกมนุษย์เอง มนุษย์ตะวันตกนั้นจึงสอนและเตือนกันให้เลิกคิดแยกตัวจากธรรมชาติ และเลิกคิดเอาชนะมัน แต่ให้หันมามองตนเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และคิดที่จะเกื้อกูลและอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ

ทั้งที่เกิดความสำนึกผิดอย่างนี้ และร่ำร้องกันว่าจะต้องเลิกคิดเอาชนะธรรมชาติ แต่การแข่งขันจะเอาชนะระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ได้กลายเป็นเครื่องกีดกั้นขัดขวางตนเองให้ไม่สามารถอยู่กับธรรมชาติได้โดยสันติ และต้องรุกรานข่มเหงธรรมชาติต่อไป เพื่อให้มีผลประโยชน์ที่จะรักษาอำนาจ และสถานะแห่งความยิ่งใหญ่ของตนไว้

มนุษย์จะต้องพัฒนาปัญญาที่รู้ตระหนักถึงจุดหมายที่แท้จริงของอารยธรรม คือ ความเจริญงอกงามของชีวิต สังคม และธรรมชาติ ในการที่จะดำรงอยู่อย่างประสานเกื้อกูลกัน และดีงามยิ่งขึ้น เบียดเบียนตนและเบียดเบียนกันน้อยลง และจะต้องจัดสรรพลังความเพียรพยายามส่วนสำคัญให้แก่การกระทำเพื่อจุดหมายนี้

จำเป็นต้องแข่งขัน ก็ต้องรู้เขาอย่างถึงรากเหง้าและเนื้อใน

แต่ในสถานการณ์ต่อหน้า ที่ถูกแวดล้อมและบีบรัดด้วยระบบแข่งขันนี้ มนุษย์ผู้ตั้งใจจรรโลงชีวิต สังคม และธรรมชาติ จะทำการที่มุ่งหมายได้ ต้องมีอิสรภาพ และมีกำลังเข้มแข็งพอที่จะไม่ถูกครอบงำหรือกำจัดเสียก่อน ดังนั้น มนุษย์ผู้มีเจตนาที่ชอบธรรม และมีปัญญาที่ถึงธรรม เมื่อจะนำอารยธรรมของมนุษย์ให้เดินไปในทางที่ถูกต้อง จึงมีภารกิจ ๒ ชั้น คือ

ชั้นแรก จะต้องยืนหยัดอยู่ได้อย่างดี ไม่พ่ายแพ้ ไม่ถูกครอบงำ และไม่จมลงใต้กระแสโลกาภิวัตน์แห่งการแข่งขันนั้น แต่เป็นอิสระที่จะใช้กำลังจัดการกับกระแสนั้นได้ และ

ชั้นที่สอง พยายามผันเบนนำกระแสอารยธรรมไปในทิศทางสู่จุดหมายที่ถูกต้อง

ภารกิจชั้นแรก คือการที่จะมีชัย เพื่อยืนหยัดอยู่ได้ในกระแสโลกาภิวัตน์แห่งการแข่งขัน ไม่ถูกครอบงำ และมีอิสรภาพที่จะทำการอะไรตามเจตจำนงของตนได้นั้น ปัญญาด้านหนึ่งที่สำคัญ ก็คือที่พูดกันด้วยภาษาชาวบ้านง่ายๆ ว่า “รู้เขา รู้เรา”

ในโลกแห่งการแข่งขัน ที่มีประเทศชาติมากมายอยู่บนเวทีนั้น สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหนึ่งที่จะต้อง “รู้เขา” ให้ชัดเป็นพิเศษ ทั้งในแง่ที่เป็นผู้นำ มีกำลังใหญ่ที่สุดในการแข่งขัน ในแง่ที่เป็นต้นแหล่งแห่งกระแสการแข่งขัน และในแง่เป็นแบบอย่างที่สังคมไทยชื่นชมนิยมตาม การรู้เขาจึงควรเริ่มด้วยอเมริกาเป็นอันดับแรก

1เดิมเขียนขึ้นเพื่อเป็นคำปรารภสำหรับบทเสวนาผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม ๖ ครั้ง แห่ง พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจะรวบรวมจัดพิมพ์ขึ้น ในกลางปี พ.ศ. ๒๕๔๔ แต่ปรากฏว่าเขียนยาวเกินไป จึงต้องตัดย่อสั้นลงเป็นคำปรารภฉบับหนึ่ง
ส่วนฉบับยาวนี้ ขอมอบให้แก่กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม สวช. สนองตามคำขอบทความเรื่อง “วิกฤตการณ์ทางสังคมและทางออก” และขอมอบแก่พระธรรมทูตสายต่างประเทศ ผู้เข้ารับการอบรมรุ่นที่ ๗ ณ มหาจุฬาฯ แทนการบรรยายตามกำหนดในวันที่ ๑๗ พ.ค. ๒๕๔๔ ที่ได้งดเพราะอาพาธ
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.