การศึกษาของคณะสงฆ์: ปัญหาที่รอทางออก

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พระราชบัญญัติ
กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา
พ.ศ. ๒๕๒๗

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๗
เป็นปีที่ ๓๙ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๒๗"

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ วิชาการพระพุทธศาสนา หมายความว่า วิชาการซึ่งจัดให้พระภิกษุสามเณรศึกษาตามหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) หลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวง

(๒) หลักสูตรปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิตของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

(๓) หลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

มาตรา ๔ ให้ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา

(๑) ตามหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวงเปรียญธรรมเก้าประโยค มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรี เรียกว่า "เปรียญธรรมเก้าประโยค" ใช้อักษรย่อว่า "ป.ธ. ๙"

(๒) ตามหลักสูตรปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิตจากสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรี เรียกว่า "ศาสนศาสตรบัณฑิต" ใช้อักษรย่อว่า "ศน.บ."

(๓) ตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรี เรียกว่า "พุทธศาสตรบัณฑิต" ใช้อักษรย่อว่า "พธ.บ."

มาตรา ๕ นอกจากปริญญาตามมาตรา ๔ พระภิกษุสามเณรซึ่งได้ศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนาอาจได้รับประกาศนียบัตรรับรองความรู้ ตามหลักสูตรที่คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ให้ความเห็นชอบ

มาตรา ๖ ให้มีคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์คณะหนึ่ง ประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานกรรมการแม่กองบาลีสนามหลวง แม่กองธรรมสนามหลวง นายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย สภานายกมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประธานกรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย อธิบดีกรมการฝึกหัดครู อธิบดีกรมการศาสนา อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน อธิบดีกรมวิชาการ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เป็นกรรมการ กับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม

ให้คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์เลือกกรรมการผู้หนึ่งเป็นรองประธานกรรมการ

ให้อธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ และให้กรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์

มาตรา ๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

ในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งทรงแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว

มาตรา ๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก หรือ

(๓) สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออก

ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ สมเด็จพระสังฆราชอาจทรงแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทนโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมได้ และให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน

มาตรา ๙ การประชุมของคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น จึงจะเป็นองค์ประชุม

ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุม หรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่มาประชุม หรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการผู้หนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการผู้หนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๑๐ คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดนโยบาย และแผนการจัดการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

(๒) กำหนดมาตรฐาน และให้ความเห็นชอบหลักสูตรวิชาการพระพุทธศาสนา

(๓) กำหนดพื้นความรู้ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์การเข้าศึกษา ระยะเวลาการศึกษา การสอบและเงื่อนไขในการรับปริญญา หรือประกาศนียบัตร

(๔) ควบคุมดูแลการจัดการศึกษาวิชาพระพุทธศาสนาให้มีการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นหลัก และป้องกันมิให้มีการเปลี่ยนแปลงพระธรรมวินัยให้ผิดไปจากพระบาลีในพระไตรปิฎก

(๕) วินิจฉัยสั่งการเพื่อยับยั้งหรือยุติการดำเนินกิจการที่ขัดต่อพระธรรมวินัยหรือขัดต่อกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ หรือคำสั่งของสถานศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนาตามพระราชบัญญัตินี้

(๖) วางระเบียบ และออกข้อบังคับหรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๑ ผู้ใดไม่มีสิทธิใช้ปริญญาหรือประกาศนียบัตร หรืออักษรย่อปริญญาตามพระราชบัญญัตินี้ กระทำการเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๒ ให้ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวง เปรียญธรรมเก้าประโยค ปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิตจากสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรีตามมาตรา ๔

มาตรา ๑๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประจวบ สุนทรางกูร
รองนายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระภิกษุสามเณรซึ่งได้ศึกษาและสอบไล่ได้เปรียญเก้าประโยคตามหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวงของคณะสงฆ์ ปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิต ตามหลักสูตรปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิตของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เทียบขั้นบัณฑิตด้านสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฝ่ายอาณาจักร สมควรกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรทั้งสามนี้ให้สูงเท่ากับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยฝ่ายอาณาจักร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

 

(คัดจากราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๑๔๐ วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๒๗ หน้า ๔-๑๐.)

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.