สัจจธรรมกับจริยธรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จริยธรรมต่อสัจจธรรม

เมื่อได้โยงสัจจธรรมกับจริยธรรมเข้าหากันจนถึงบัญญัติธรรมแล้ว ก็จะมองเห็นวิถีแห่งชีวิตและวิถีแห่งสังคมของมนุษย์ ตลอดจนธรรมชาติแวดล้อม โยงถึงกันหมด และเมื่อมองเข้าไปในส่วนรายละเอียด ก็จะมีแม้แต่จริยธรรมในการปฏิบัติต่อสัจจธรรม ดังได้กล่าวแล้วว่า การปฏิบัติในทางจริยธรรมนั้น อาศัยความรู้หรือปัญญาที่รู้สัจจธรรม แต่ในระหว่างที่เรารู้สัจจธรรมยังไม่เพียงพอ การปฏิบัติจริยธรรมของเราก็ต้องให้เป็นไปเพื่อเข้าถึงสัจจธรรม คือทำให้ปัญญาที่รู้สัจจธรรมนั้นเพิ่มขึ้นด้วย ในการนี้เราจึงต้องมีวิธีปฏิบัติต่อสัจจธรรม พระพุทธศาสนาได้วางหลักในการปฏิบัติต่อสัจจธรรมขึ้นไว้ ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นจริยธรรมต่อสัจจธรรม จริยธรรมต่อสัจจธรรมเป็นอย่างไร วิธีปฏิบัติต่อสัจจธรรมอย่างหนึ่งท่านเรียกว่าสัจจานุรักษ์ สัจจานุรักษ์ แปลว่า การอนุรักษ์สัจจะ หรือการรักษาสัจจะ หรือการคุ้มครองสัจจะ

สัจจานุรักษ์นั้นทำอย่างไร? เมื่อคนทั้งหลายต้องการเข้าถึงความจริง เราจึงต้องมีการพัฒนาปัญญา และในกระบวนการพัฒนาปัญญานั้น ก็จะมีการสนทนา การอภิปรายถกเถียง การแสดงทัศนะต่อกัน และการเสนอความเห็นต่างๆ ที่จะนำไปสู่ปัญญา กิจกรรมต่างๆ ในการช่วยกันแสวงปัญญานั้นเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้น มนุษย์จะต้องมีท่าทีปฏิบัติต่อสัจจธรรมที่ตนพยายามจะเข้าถึงนั้นให้ถูกต้อง ท่าทีที่ถูกต้องนี้เรียกว่า สัจจานุรักษ์ พระพุทธศาสนาแนะนำว่า เมื่อเรามีความเชื่อ มีความคิดเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เวลาแสดงออกต่อผู้อื่น จะพูดอย่างไร จะแสดงอย่างไร ท่าทีประการที่หนึ่งคือ ไม่กล่าวว่า อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จทั้งสิ้น (อิทเมว สจฺจํ โมฆมญฺญํ) คือ จะต้องมีความใจกว้าง ไม่ผูกขาดสัจจธรรม ด้วยความเชื่อหรือความคิดเห็นของตน ดังนั้น ในประการที่สอง จึงมีท่าทีปฏิบัติในการพูดเช่นว่า ข้าพเจ้าเชื่อว่าดังนี้ๆ ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นว่าดังนี้ๆ การที่พูดว่าข้าพเจ้ามีความเชื่อว่าดังนี้ๆ หรือมีความเห็นว่าดังนี้ๆ นั้น เป็นการบอกว่าตนเองมีความเข้าใจหรือความเชื่อเท่านี้ก่อน เป็นการจำกัดขอบเขตไว้ว่า สิ่งที่พูดนั้นเป็นเพียงความเชื่อหรือความคิดเห็นของตน ซึ่งจะตรงกับสัจจธรรมหรือไม่ก็ตาม แต่ไม่เป็นการเอื้อมไปตัดสินสัจจธรรม ไม่ได้เป็นการไปผูกขาดสัจจธรรม แต่ถ้าเราบอกว่าความจริงต้องเป็นอย่างนี้ ก็เป็นการก้าวไปเอาความเชื่อของเราเป็นตัวสัจจธรรม ถ้าเอาความเห็นหรือความเชื่อของตนไปเป็นตัวตัดสินความจริงเมื่อไร ก็พลาด กลายเป็นการผูกขาดสัจจธรรมไป เพราะฉะนั้น ท่าทีที่ถูกต้องต่อสัจจธรรมคือไม่ผูกขาดสัจจธรรม คือการไม่ยึดถือว่า อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จทั้งสิ้น การที่แสดง พูดโดยจำกัดขอบเขตความเชื่อหรือความคิดเห็นของตัวว่า ข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ นี่เป็นสัจจานุรักษ์ส่วนหนึ่ง

ต่อไป คือข้อพิจารณาในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ที่มีความเชื่อต่างๆ กัน มีท่านอาจารย์บางท่านเสนอความเห็นว่า ในศาสนาต่างๆ นี้ น่าจะมีการประนีประนอมกันเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยดี วิธีประนีประนอมกันนั้น ก็คืออาจจะมาตกลงหรือยอมรับถือกันเป็นมติว่า ศาสดาของศาสนาทั้งหลายนั้น แต่ละท่านก็คงเข้าถึงสัจจธรรมเช่นเดียวกัน แต่เมื่อท่านเข้าถึงสัจจธรรมแล้ว ท่านไปแสดงสัจจธรรม เปิดเผย สั่งสอนแก่คน คนละหมู่ คนละพวก มีพื้นเพภูมิหลังวัฒนธรรมต่างกัน คำสอนก็เลยต่างกันไป เหมือนคนหลายคนขึ้นภูเขา ทุกคนไปถึงยอดเขาเหมือนกัน เมื่อถึงยอดแล้ว ก็มองเห็นสิ่งทั้งหลายบนยอดเขาเหมือนกัน แต่เมื่อเขามองลงมาข้างล่าง ท่านหนึ่งหันมองไปทางด้านใต้ สิ่งทั้งหลายที่อยู่ทางด้านใต้เป็นอย่างหนึ่ง การแสดงสัจจธรรมให้เข้ากับสภาพด้านใต้ก็ต้องพูดอย่างหนึ่ง อีกท่านหนึ่งขึ้นไปอยู่บนยอดเขาเหมือนกัน แต่มองไปทางทิศตะวันตก ก็เห็นสภาพพื้นภูมิประเทศไปอีกอย่างหนึ่ง การแสดงภาพความจริงที่ปรากฏแก่คนที่อยู่ด้านนั้น ก็ต้องพูดไปอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราเข้าใจ หรือยอมรับ หรือถือว่า ท่านศาสดาทั้งหลายเหล่านั้นได้เข้าถึงสัจจธรรมเหมือนกัน แต่ได้มาแสดงสัจจธรรมนั้นแตกต่างกันไป ตามพื้นเพภูมิหลังวัฒนธรรมของชนหมู่ต่างๆ เราก็น่าจะประนีประนอมกันได้เพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยดี โดยมาตกลงกันว่า พระศาสดาทุกท่านนั้นเข้าถึงสัจจธรรมเหมือนกัน และสิ่งที่ทุกท่านประกาศนั้นที่จริงก็คือสัจจธรรมอันเดียวกัน

ทัศนะหรือข้อเสนอที่กล่าวมานี้ ก็เป็นเรื่องที่แสดงถึงเจตนาที่ดี คือต้องการความมีสันติสุขของมนุษย์ แต่ในการอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุขของมนุษย์นั้น ก็ต้องระวังว่าอย่าไปแทรกแซงสัจจธรรม อย่าไปแทรกแซงกฎธรรมชาติ ถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็ว่า อย่าไปปิดกั้นหรือบังตากันเองจากสัจจธรรมเลย ความเข้าใจสับสนที่น่าเป็นห่วงก็คือ การเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เราจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องนี้เสียก่อน เพราะความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั้นอย่างหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัจจธรรม หรือตัวธรรมชาติก็อีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน

ในความเป็นอยู่ของมนุษย์นั้น เราต้องการความอยู่ร่วมกันด้วยดี มนุษย์มีความต้องการต่างๆ ที่สามารถปรับเข้าหากันได้ สามารถยอมความกันได้ สามารถตกลงประนีประนอมกันได้ หลักในการปฏิบัติต่อกันระหว่างมนุษย์ในความสัมพันธ์ที่ดีงามก็คือเมตตา ได้แก่ความปรารถนาดีต่อกัน ซึ่งแสดงออกทางศีล ความประพฤติดี ไม่ล่วงละเมิด ไม่เบียดเบียนกัน เป็นต้น ตลอดจนการช่วยเหลือสงเคราะห์ต่างๆ พูดง่ายๆ สั้นๆ ว่า หลักความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั้นคือเมตตา

แต่ในการปฏิบัติต่อสัจจธรรม เราเอาหลักการอยู่ร่วมกันด้วยดีระหว่างมนุษย์นี้มาใช้ได้หรือไม่ ตอบว่าไม่ได้ เพราะสัจจธรรมย่อมเป็นไปของมันอย่างนั้น และเป็นของมันเองอย่างนั้น มันไม่ยอมประนีประนอมกับมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัจจธรรมนั้นได้บอกแล้วว่า ได้แก่ ปัญญาคือความรู้ มนุษย์มีหน้าที่ที่จะต้องรู้สัจจธรรม จะต้องเข้าถึงด้วยความรู้ มนุษย์ไม่สามารถประนีประนอมกับสัจจธรรมว่าข้าพเจ้าต้องการอย่างนี้ ท่านจงเป็นอย่างนี้นะ เป็นไปไม่ได้ สัจจธรรมย่อมไม่ยอมประนีประนอมด้วย เมื่อสัจจธรรมไม่ยอมประนีประนอมด้วย ก็เป็นหน้าที่ของมนุษย์จะต้องสร้างปัญญาขึ้นมาให้รู้มัน เป็นอันว่า หลักความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัจจธรรมนั้นคือปัญญา มนุษย์จะต้องพัฒนาปัญญาให้เข้าถึงสัจจธรรมเอง

ฉะนั้น การที่มนุษย์ ๒ กลุ่ม ๒ พวก หรือหลายกลุ่มหลายพวก ต่างก็นำเอาสิ่งที่ตัวถือว่าเป็นสัจจธรรมมาตกลง ประนีประนอมกัน ทำท่าทีเหมือนเป็นเจ้าของสัจจธรรมนั้น มาเจ้ากี้เจ้าการกำหนดสัจจธรรมกัน ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มนุษย์สองพวกหรือหลายพวกจะเอาเรื่องของสัจจธรรมมาเจรจาตกลงกันเอง สัจจธรรมย่อมไม่รับรู้ด้วย จะเป็นได้ก็เพียงการมาตกลงกันวาดภาพสัจจธรรมขึ้นมาใหม่กันเองตามที่เห็นชอบร่วมกัน เหมือนคนสองคนมาตกลงกันวาดรูปพระจันทร์เป็นสามเหลี่ยม หรือสี่เหลี่ยม ซึ่งนอกจากจะไม่มีผลกระทบต่อพระจันทร์ตัวจริงแล้ว ยังอาจจะกลายเป็นภาพที่ยกขึ้นมาบังตาไม่ให้เห็นพระจันทร์ตัวจริงเสียด้วยซ้ำไป ความจริง เราไม่สามารถรู้ได้ว่า ศาสดาทุกท่านนั้นได้ขึ้นถึงยอดเขาทุกท่านหรือเปล่า หรือขึ้นเขาไปได้สูงเท่ากันหรือเปล่า อย่างนี้เป็นต้น เรายังไม่สามารถจะรู้ แล้วเราจะเป็นผู้วินิจฉัยได้อย่างไร อันนี้เป็นจุดที่ต้องระวังว่า จะกลายเป็นการนำเอาสัจจธรรมมาประนีประนอมกับมนุษย์ไป ซึ่งสัจจธรรมนั้นย่อมไม่ประนีประนอมด้วย มันย่อมเป็นไปของมันอย่างนั้นตามธรรมดาของมันอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม จะต้องแยกระหว่างการเสนอความเห็น กับการตกลงกันยึดถือ ถ้าบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเสนอความเห็นว่า พระศาสดาทุกท่านอาจจะเข้าถึงสัจจธรรมอย่างเดียวกันทั้งหมด แต่แสดงสัจจธรรมนั้นแตกต่างกันไปตามกาลเทศะ เหมือนคนทุกคนที่ขึ้นถึงยอดเขาเหมือนกัน แต่กล่าวถึงลักษณะและสภาพของยอดเขาโดยสัมพันธ์กับภูมิประเทศแถบที่ต่างคนต่างขึ้นมาแตกต่างกันไป การเสนอความเห็นของเขานั้นย่อมเป็นการชอบธรรม เป็นสิทธิที่จะทำได้ เพราะความจริงอาจเป็นเช่นนั้นก็ได้ แต่ก็ทำได้เพียงเท่านั้น จะมาชวนคนอื่นให้ตกลงยึดถือกันอย่างนั้นไม่ได้ การเสนอความเห็นทำให้มีการค้นคว้าหาความจริงหรือพิสูจน์ให้เห็นความจริงต่อไป แต่การตกลงยึดถือทำให้คนหยุดไม่แสวงหาหรือพิสูจน์ความจริงอีกต่อไป

เพราะฉะนั้น ท่าทีที่ถูกต้อง ก็คือ มนุษย์จะต้องแยกให้ถูก แม้ว่าเราควรจะต้องอยู่ร่วมกันด้วยดี แต่เราก็ต้องการเข้าถึงสัจจธรรมด้วย ดังนั้นเราจะต้องเปิดทางไว้ ไม่เอาการที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดีมาอ้างให้เป็นเหตุปิดบังขวางกั้นปัญญาของมนุษย์ ถ้าเรามาตกลงยุติกันเสียอย่างนี้แล้ว ก็เท่ากับว่าเราได้ปิดบังปัญญาของมนุษย์ทั้งหลายต่อไปข้างหน้าที่จะค้นคว้าให้เข้าถึงสัจจธรรม ในการเข้าถึงสัจจธรรมนั้น ทางจะต้องเปิดไว้ให้ปัญญาเป็นอิสระอยู่เสมอ แต่ปัญญาจะเป็นอิสระได้อย่างไร ในขณะที่เราต้องการให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้ดีโดยไม่มีความขัดแย้ง อันนี้แหละคือการพัฒนามนุษย์ที่สำคัญที่สุด ทำอย่างไรจะให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยดีได้ด้วย โดยที่ว่าต่างก็ถือว่าตนกำลังอยู่ในระหว่างการค้นหาสัจจธรรม และมีความเชื่อถือหรือความคิดเห็นแตกต่างจากกันและกัน แม้จะมีทัศนะหรือความคิดเห็นต่างกัน ก็อยู่ร่วมกันด้วยดี ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็จะได้ทั้ง ๒ ด้าน คือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก็ดีด้วย ความสัมพันธ์กับสัจจธรรมก็ดำรงอยู่ด้วยดีด้วย ไม่มีการปิดกั้นปัญญาของมนุษย์

การที่จะปฏิบัติให้ได้ผลเช่นนี้ ก็จะต้องใช้หลักการซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชได้ใช้มาแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชไม่ได้บอกว่าคนจะต้องถือว่า ทุกลัทธิศาสนาหรือทุกศาสดาเข้าถึงสัจจธรรมอย่างเดียวกัน ใครจะเชื่อถืออย่างไร ก็มีสิทธิ์ ปัญญาของทุกคนเป็นอิสระ แต่ให้ทุกคนรับฟังธรรมของกันและกัน และในการรับฟังธรรมของกันและกันนี้ ก็มีพื้นฐานแห่งความรัก ความปรารถนาดีต่อกันและกัน ซึ่งอาจจะรวมถึงความปรารถนาดีที่จะให้คนอื่นๆ ได้เข้าถึงสัจจธรรมอย่างที่ตนเข้าใจด้วย ดังนั้น ถ้าเห็นว่าสิ่งที่ตนเข้าใจเป็นสัจจธรรม ก็สามารถเพียรพยายามที่จะแสดงแก่ผู้อื่นด้วยเหตุด้วยผล และด้วยความปรารถนาดีออกไป แต่ก็ไม่ไปบังคับเขา นี้เป็นท่าทีปฏิบัติที่ถูกต้อง

เป็นอันว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เราต้องปฏิบัติต่อกันโดยมีเมตตา แล้วก็มีศีล เป็นต้น ส่วนในการปฏิบัติต่อสัจจธรรมก็ต้องดำเนินไปด้วยปัญญา เปิดปัญญาให้เป็นอิสระอยู่ ไม่ไปปิดกั้นผูกขาดปัญญา นี้เป็นวิธีปฏิบัติในการที่จะเกี่ยวข้องกับสัจจธรรม ซึ่งเป็นจริยธรรมต่อสัจจธรรมอีกอย่างหนึ่ง มนุษย์ที่ปฏิบัติตามหลักการนี้ จะแสวงหาความจริงด้วยการใช้ปัญญาอย่างเต็มที่ แต่ก็จะแสดงออกต่อกันด้วยเมตตา ถึงจะถกเถียงกันมากมายเท่าไรก็ได้ เพื่อให้ได้ความจริง แต่ก็ทำด้วยหวังดีต่อกันและมีศีลที่จะไม่ทำร้ายเบียดเบียนหรือบังคับกัน ทำให้ได้ทั้งสองอย่าง คือ ทั้งการได้ปัญญาที่จะเข้าถึงสัจจธรรม และการอยู่ร่วมกันด้วยดี พร้อมกันนั้น ก็เป็นการฝึกฝนพัฒนาตนให้มีความสมบูรณ์ในทางจริยธรรม และในการที่จะเข้าถึงสัจจธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป

นอกจากนี้ ในการที่เราจะประนีประนอมกันระหว่างมนุษย์เกี่ยวกับเรื่องสัจจธรรม สิ่งที่ต้องระวังมากอย่างหนึ่งนอกเหนือจากความสัมพันธ์ที่ไปปิดกั้นสัจจธรรมหรือปิดกั้นปัญญา ที่จะเข้าถึงสัจจธรรม ก็ขอย้ำสิ่งที่ได้พูดถึงแล้วครั้งหนึ่ง คือ เราไม่ควรจะไปวินิจฉัยพระศาสดา การที่จะพูดตัดสินว่าพระศาสดาทั้งหลายเข้าถึงความจริงเดียวกันหรือไม่นั้น เราต้องรู้เท่าหรือรู้เหนือกว่าพระศาสดาเหล่านั้นทั้งหมด จึงจะวินิจฉัยได้ เวลานี้เรายังแสดงตนว่าเป็นผู้แสวงหาสัจจธรรม จะไปวินิจฉัยพระศาสดาได้อย่างไร นี้ก็เป็นข้อพิจารณาอีกอย่างหนึ่ง และในการปฏิบัติที่ไม่วินิจฉัยพระศาสดา และไม่เอาสัจจธรรมมาประนีประนอมกันเองนี้ ก็จะไม่เป็นการเข้าไปแทรกแซงหรือปกคลุมความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ แต่จะเป็นการปล่อยธรรมชาติหรือสัจจธรรมไว้ตามสภาพของมัน ซึ่งมันจะปรากฏแก่มนุษย์ผู้เข้าถึงเอง

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.