วันอาสาฬหบูชา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

วันเข้าพรรษา

คำว่า พรรษา แปลว่า ฤดูฝน ปีหนึ่งก็ผ่านฤดูฝนครั้งหนึ่ง คนที่อยู่มาเท่านั้นฝนเท่านี้ฝนก็คืออยู่มาเท่านั้นปี ดังนั้น ในที่ทั่วๆ ไป จึงแปลพรรษากันว่า ปี

คำว่า เข้าพรรษา ก็คือ เข้าฤดูฝน คือถึงเวลาที่จะต้องหยุดการเดินทางในฤดูฝน พักอยู่ในที่ใดที่หนึ่งเป็นประจำ โดยไม่ไปแรมคืนที่อื่น เพราะเหตุนี้ จึงมีคำเกิดขึ้นอีกคำหนึ่งคือคำว่า จำพรรษา

คำว่า จำพรรษา ก็คือ อยู่วัดประจำในฤดูฝน หมายความว่า พระสงฆ์จะต้องอยู่ในวัดที่ตนอธิษฐานพรรษาตลอดสามเดือนในฤดูฝน จะไปแรมคืนที่อื่นไม่ได้ นอกจากมีเหตุจำเป็น

คำว่า วันเข้าพรรษา ก็คือ วันที่พระสงฆ์ทำพิธีอธิษฐานพรรษา ซึ่งเป็นวันแรกของการจำพรรษานั่นเอง

“อธิษฐาน” แปลว่า ตั้งใจกำหนดแน่นอนลงไป “อธิษฐานพรรษา” ก็คือ ตั้งใจกำหนดแน่นอนลงไปว่าจะอยู่ประจำ ณ ที่นั้นตลอด ๓ เดือนในฤดูฝน

กาลที่นิยมว่าเป็นฤดูฝน ที่เรียกในบาลีว่า วสฺสาน นั้น มีกำหนด ๔ เดือน คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ การจำพรรษาของพระสงฆ์มีกำหนด ๓ เดือน การจำพรรษานั้น มี ๒ ระยะ ระยะแรกเรียกว่า ปุริมพรรษา แปลว่า พรรษาแรก หรือ พรรษาต้น เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ระยะหลังเรียกว่า ปัจฉิมพรรษา แปลว่าพรรษาหลัง เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันเข้าปุริมพรรษา วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ เป็นวันเข้าปัจฉิมพรรษา

ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือเพิ่มเดือน ๘ เข้ามาอีกเดือนหนึ่ง เป็นแปดสองแปด ในปีนั้นให้ถือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลัง เป็นวันเข้าปุริมพรรษา

การที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตวันเข้าพรรษาไว้ ๒ วัน คือ วันเข้าปุริมพรรษา และวันเข้าปัจฉิมพรรษานั้น ก็เพื่อให้พระสงฆ์ที่จำพรรษาในวันเข้าปุริมพรรษาไม่ทันด้วยเหตุจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถเลื่อนไปเริ่มจำพรรษาในวันเข้าปัจฉิมพรรษา

การจำพรรษา และวันเข้าพรรษา ถึงจะมีเป็นสองอย่างก็จริง แต่ที่ถือเป็นสำคัญและปฏิบัติกันโดยทั่วไปนั้นก็คือ วันเข้าปุริมพรรษา ซึ่งเป็นวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ และไปครบสามเดือนในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันออกพรรษา ยังเหลือเวลาอีกหนึ่งเดือนท้ายฤดูฝนสำหรับเตรียมตัวเพื่อเดินทางไปในที่ต่างๆ ต่อไป ฉะนั้นในทางปฏิบัติ เมื่อพูดถึงวันเข้าพรรษา ก็หมายถึงวันเข้าปุริมพรรษานั่นเอง

มูลเหตุที่พระสงฆ์ต้องจำพรรษา กล่าวความตามบาลีวัสสูปนายิกขันธกะ คัมภีร์มหาวรรค พระวินัยปิฎก1 ว่าในมัชฌิมประเทศสมัย โบราณคืออินเดียตอนเหนือ เมื่อถึงฤดูฝนพื้นที่ย่อมเป็นโคลนเลนทั่วไป ไม่สะดวกแก่การเดินทาง คราวหนึ่ง มีพระพวกที่เรียกว่าฉัพพัคคีย์ คือเป็นกลุ่มมี ๖ รูปด้วยกัน ไม่รู้จักกาล เที่ยวไปมาทุกฤดูกาล ไม่หยุดพักเลย แม้ในฤดูฝนก็ยังเดินทาง เที่ยวเหยียบย่ำข้าวกล้าหญ้าระบัดและสัตว์เล็กๆ ตาย คนทั้งหลายพากันติเตียนว่า ในฤดูฝนแม้พวกเดียรถีย์และปริพาชกเขาก็ยังหยุด ที่สุดจนนกก็ยังรู้จักทำรังบนยอดไม้เพื่อหลบฝน แต่พระสมณศากยบุตรทำไมจึงยังเที่ยวอยู่ทั้งสามฤดู เหยียบย่ำข้าวกล้าและต้นไม้ที่เป็นของเป็นอยู่ และทำสัตว์ให้ตายเป็นอันมาก ความทราบถึงพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์อยู่ประจำที่ในฤดูฝนในที่แห่งเดียวเป็นเวลา ๓ เดือน เรียกว่า จำพรรษา ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์จึงต้องจำพรรษา และมีวันเข้าพรรษาสืบมาจนบัดนี้

สถานที่ที่พระสงฆ์จำพรรษานั้น พระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ให้ จำพรรษาในที่กลางแจ้ง ในโพรงไม้ และในตุ่มหรือในหลุมขุด ซึ่งไม่ใช่เสนาสนะคือไม่ใช่ที่อยู่ที่อาศัย ทรงอนุญาตให้จำพรรษาในกุฏิที่มุงที่บังมีหลังคาและฝารอบขอบชิด อยู่ให้ครบ ๓ เดือน ถ้าอยู่ไม่ครบ ๓ เดือน หลีกไปเสีย พรรษาขาดและต้องอาบัติคือมีโทษ แต่เป็นโทษขนาดเบา เรียกว่าอาบัติทุกกฏ ถ้ามีภัยอันตรายเกิดขึ้น จะอยู่ในที่นั้นไม่ได้ เช่นน้ำท่วม หรือชาวบ้านถิ่นนั้นอพยพไปอยู่ที่อื่น เป็นต้น อนุญาตให้ไปในระหว่างพรรษาได้ ไม่เป็นอาบัติ หรือมีกิจจำเป็นที่จะต้องไปแรมคืนที่อื่น เช่นกิจนิมนต์ กิจเกี่ยวกับพระศาสนา ตลอดจนพระอุปัชฌาย์อาจารย์อาพาธ เป็นต้น อนุญาตให้ไปด้วยสัตตาหกรณียะ คือกิจที่ไปทำแล้วกลับมาให้ทันภายใน ๗ วัน พรรษาไม่ขาด

พิธีอธิษฐานพรรษา2 คือ เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พระสงฆ์ประชุมพร้อมกันโดยนิยมในโรงพระอุโบสถ ทำวัตรสวดมนต์ตามธรรมดา แล้วเปล่งวาจาอธิษฐานพรรษาพร้อมกันว่า อิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ (นิยมว่า ๓ หน) แปลว่า ข้าพเจ้าจำพรรษาในอาวาสนี้ตลอดสามเดือน ดังนี้ และยังมีธรรมเนียมอธิษฐานพรรษาเฉพาะรูปๆ ซ้ำอีก ซึ่งบางแห่งยังปฏิบัติอยู่ว่า เมื่อออกจากโรงพระอุโบสถกลับไปถึงที่อยู่คือกุฎี ทำความสะอาดปัดกวาดเรียบร้อย ตั้งน้ำใช้น้ำฉันไว้แล้ว กล่าวคำอธิษฐานพรรษาในกุฎีอีกว่า อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ (นิยมว่า ๓ หน) แปลว่า ข้าพเจ้าจำพรรษาในกุฎีนี้ตลอดสามเดือน ดังนี้

เมื่อกล่าวคำอธิษฐานพรรษาเสร็จแล้ว ยังมีพิธีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือพิธีขอขมาโทษ ซึ่งเป็นพิธีที่เนื่องกับวันเข้าพรรษา วิธีปฏิบัติ คือ พระผู้น้อยนำดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปหาพระผู้ใหญ่ กล่าวคำขอขมาโทษ แปลเป็นใจความว่า “กระผมขอขมาโทษที่ได้ล่วงเกินทางกาย วาจา ใจ เพราะความประมาท” แล้วพระผู้ใหญ่ก็กล่าวตอบแปลเป็นใจความว่า “ข้าพเจ้ายกโทษให้ แม้ท่านก็พึงยกโทษให้ข้าพเจ้า” พระผู้น้อยก็กล่าวว่า “กระผมขอยกโทษให้” เป็นอันต่างฝ่ายต่างให้อภัยกันในความล่วงเกินที่ได้ทำมาแล้ว นับเป็นวิธีสมานสามัคคีอย่างดียิ่ง

เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อย เพราะถือเป็นโอกาสที่จะได้บำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษจากที่ได้บำเพ็ญเป็นประจำตามหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน เริ่มต้นแต่เมื่อใกล้จะถึงเข้าพรรษาต่างก็ช่วยกันซ่อมแซมตกแต่งเสนาสนะเพื่อให้พระสงฆ์ได้อยู่เป็นสุข นำลูกหลานญาติมิตรไปประชุมกันตามวัด ถวายผ้าอาบน้ำฝนและจตุปัจจัยแก่ภิกษุสามเณร พอถึงวันเข้าพรรษา บางพวกก็อธิษฐานว่า จะรักษาอุโบสถศีล ตลอด ๓ เดือน บางพวกก็อธิษฐานว่า จะฟังเทศน์ทุกวันมิให้ขาดตลอด ๓ เดือน บางพวกปวารณาตนต่อภิกษุสามเณรเฉพาะองค์ หรือทั้งวัด ถวายสิ่งที่ขาดเหลือตลอด ๓ เดือน บางพวกก็อธิษฐานใจ เว้นสิ่งที่ควรเว้น บำเพ็ญสิ่งที่ควรบำเพ็ญ เช่นพวกดื่มเหล้า บางคนก็เว้นดื่มเหล้าตลอดพรรษา โดยตั้งใจเว้นเองก็มี เข้าไปปฏิญาณต่อหน้าพระก็มี บางคนที่ทำบาปหยาบช้าทารุณกรรมต่างๆ ก็ปฏิญาณตนไม่ทำในสิ่งนั้น บางคนก็จัดดอกไม้ธูปเทียนและของใช้ประจำอื่นๆ เช่น สบู่ แปรง ยาสีฟัน สีย้อมผ้า ตลอดจนยารักษาโรค เป็นต้น ไปถวายแก่พระที่ตนเคารพนับถือ หรือที่เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ของตน นี้เป็นกุศลพิธี คือเป็นพิธีบำเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนา เป็นหน้าที่ที่พุทธศาสนิกชนจะพึงปฏิบัติในวันเข้าพรรษา

ผ้าอาบน้ำฝนนั้น มีกำหนดตามที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ คือ ยาว ๖ คืบ กว้าง ๒ คืบครึ่ง โดยคืบพระสุคต3 คำนวณตามอัตราที่นิยมถือกันมาเทียบกับมาตราที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ตัดเศษแล้วได้ ยาว ๒ เมตร กว้าง ๘๓ เซนติเมตร (ถ้าถืออย่างง่าย คิดเท่ากับมาตราที่ใช้ในปัจจุบันเลยทีเดียว จะได้เพียงยาว ๑ เมตรครึ่ง กว้าง ๖๒.๕ เซนติเมตร) ทำยาวหรือกว้างกว่ากำหนดใช้ไม่ได้ ภิกษุผู้ทำหรือให้ทำหรือใช้นุ่งมีความผิด เวลาที่จะถวายผ้าอาบน้ำฝนนั้นมีพุทธบัญญัติไว้ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๗ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งเป็นเวลาก่อนเข้าพรรษา ๑ เดือน ระยะนี้เป็นเวลาที่พระภิกษุจะแสวงหาผ้าอาบน้ำฝน ผู้ประสงค์จะบำเพ็ญกุศลให้ต้องตามพุทธานุญาต จึงหาผ้าอาบน้ำฝนถวายในระยะนี้ แต่ที่ปฏิบัติกันทั่วๆ ไปถวายในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ก่อนวันเข้าพรรษา ๑ วัน เพราะวันนั้นเป็นวันธรรมสวนะและเป็นวันอาสาฬหบูชาด้วย พุทธศาสนิกชนไปประชุมกันที่วัดเป็นปรกติอยู่แล้ว จึงถือโอกาสถวายผ้าอาบน้ำฝนในวันนั้น

1วินย.๔/๒๐๕-๒๒๒ (วินัยปิฎก มหาวรรค พระไตรปิฎก เล่ม ๔ ข้อ ๒๐๕-๒๒๒)
2ดูวิธีปฏิบัติตามมติอรรถกถา ที่ วินย.อ. ๓/๑๕๙ (สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย ภาค ๓ หน้า ๑๕๙)
3วินย.๒/๗๗๓ (วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๒ พระไตรปิฎก เล่ม ๒ ข้อ ๗๗๓)
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.