ข้อคิดชีวิตทวนกระแส

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ทวนกระแส ไม่ใช่ต้านกระแส

อาตมาเห็นว่า เรื่องการทวนกระแสนี้มีแง่พูดแง่พิจารณาหลายอย่าง อย่างหนึ่งต้องเข้าใจว่า ทวนกระแสกับต้านกระแสไม่เหมือนกัน ถ้าหากเราไม่ทำความชัดเจนในเรื่องนี้ เราอาจจะเอาคำว่าทวนกระแสไปเป็นต้านกระแส

คำว่าต้านกระแส มีความหมายเน้นไปที่ผู้อื่น เน้นไปที่ตัวกระแสที่กำลังเป็นอยู่ เรามองออกไปอย่างไม่พอใจต่อมัน และจะไปต้านโดยที่ว่าเราไม่มีจุดหมายของตนเองหรืออาจจะมีแต่ไม่เน้นออกมาให้ชัด คือมุ่งแต่ไปต้านหรือไปปะทะกับเขา แต่การทวนกระแส มีความหมายว่า เรามีแนวทาง เรามีจุดมุ่งหมายของตัวเราเอง และเราไปตามแนวทางของเรานั้น แต่ว่าการพุ่งมุ่งไปในแนวทางของเรานั้น มันไม่เป็นไปตามกระแสของสังคม หรือคนส่วนใหญ่ที่เขาเป็นไป มันก็เลยกลายเป็นทวน เหมือนกระแสน้ำในแม่น้ำที่ไหลไปในทิศทางหนึ่ง สมมติว่าไปทางใต้ เรามีแนวทาง เรามีจุดมุ่งหมายของเรา เราอาจจะเป็นปลาหรือเป็นคนก็ได้ แต่ต้องการว่ายน้ำไปทางเหนือ จุดหมายของเราอยู่ที่นั่น เราก็ว่ายไปตามทางของเรา แต่เพราะกระแสน้ำไหลไปทางใต้ เราก็เลยกลายเป็นทวนกระแสนั้น และจึงกลายเป็นความยาก

ในการทวนนั้นบางทีอาจจะมีการต้านอยู่บ้าง แต่ต้านในแง่เพียงว่าเป็นความจำเป็นที่อาจจะต้องทำในการที่จะนำตัวเราไปในแนวทางของเรา อันนี้เป็นเรื่องของการทวนกระแส ซึ่งเรามีจุดมุ่งหมายเป็นของเราเองที่ชัดเจน แต่ถ้าต้านกระแสก็ไม่มีจุดมุ่งของตัวเอง อาจจะเป็นเพียงการเอาตัวมายืนทื่ออยู่นิ่งๆ กลางกระแสน้ำ หรือพยายามว่ายเพียงเพื่อไม่ให้ไปตามกระแสนั้น หรืออาจจะต้านไม่ให้กระแสนั้นเป็นไปได้ คือเพียงแต่จะไม่ให้เขาไป โดยไม่ได้มุ่งว่าตัวเองจะไปไหน ได้แต่ต้านให้เขาหยุด โดยอาจเอาไม้มากั้นกระแส ซึ่งถ้าล้นไปได้มันก็ไปต่อ และบางทีตัวเราเองก็ยับเยินด้วย

รวมความว่าเราต้องทำความชัดเจนว่า เราทวนกระแสโดยที่เรามีจุดมุ่งของเราเอง ไม่ใช่มุ่งเพื่อไปต้านเขา ไม่ใช่มุ่งจะไปเป็นคู่ต่อสู้กับเขาซึ่งก็จะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง วิธีปฏิบัติก็จะต่างกัน เมื่อพูดมาอย่างนี้แล้ว ผู้ที่จะดำเนินชีวิตทวนกระแสจะต้องมีความชัดเจนอย่างที่หนึ่งก็คือว่า จะต้องมีความชัดเจนในจุดมุ่งหมายและแนวทางของตนเอง ต้องเข้าใจให้ชัดเจนว่าแนวทางของตนเองเป็นอย่างไร จุดหมายของตนเองคืออะไร เมื่อมองเห็นชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่ดีแน่นอนแล้วก็มุ่งไป จึงจะมีความเป็นไปได้ที่จะทำสำเร็จแล้วก็ไม่เกิดปัญหาขึ้น

ความชัดเจนอย่างที่สองก็คือ เราจะต้องรู้ด้วยว่า กระแสส่วนใหญ่ที่เป็นอยู่ที่เราทวนนั้น มีจุดอ่อน มีข้อเสีย หรือไม่ดีอย่างไร เราจึงต้องทวนกระแส ไม่ใช่มุ่งแต่ไปต้าน ต้องเข้าใจตามความเป็นจริง รู้ในคุณและโทษของมัน ส่วนดีก็อาจจะมีอยู่บ้าง เราก็ต้องเข้าใจ และส่วนเสียเป็นอย่างไร บางทีส่วนเสียมีไม่มาก แต่เป็นจุดสำคัญมีผลเสียหายยิ่งใหญ่ที่เราจะต้องทวน เราจะต้องจับจุดนั้นให้ได้ว่าเราทวนกระแสเพราะเหตุผลอันใด การทวนกระแสนั้น ไม่ใช่เฉพาะเข้าใจรู้ถึงคุณและโทษของตัวกระแส แม้แต่คนที่อยู่ในกระแสนั้นเราก็ต้องเข้าใจเขาด้วย เข้าใจเหตุปัจจัยที่ทำให้เขาเป็นอย่างนั้น ซึ่งจะทำให้เราเห็นใจเขาโดยมีเมตตากรุณาต่อเขา แล้วก็มุ่งหมายว่า ถ้ามีโอกาสก็จะต้องทำความเข้าใจกับเขาต่อไป

สรุปว่าต้องมีความชัดเจนทั้งสองด้าน ถ้าทำอย่างนี้แล้วการทวนกระแสที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เป็นเพียงไปต้านกระแส ผู้ที่ต้านกระแสนั้นต้องใช้กำลังมาก ต้านไปต้านมาตัวเองก็เหน็ดเหนื่อย ยิ่งถ้าตนเองก็ไม่ชัดเจนว่าจะมุ่งไปไหนแล้วก็จะมัวยุ่งอยู่กับการปะทะและเกิดผลเสียต่อทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าเราทวนกระแสได้ดีด้วยความชัดเจนมั่นใจในแนวทางและจุดมุ่งหมายของตน ก็อาจจะนำทางให้คนที่อยู่ในกระแสนั้นเห็นตามและก็ดำเนินตามไปด้วยมาช่วยกันทวนกระแส อาจทำให้กระแสที่ทวนนี้กลายเป็นกระแสใหญ่ต่อไป เช่น ลำน้ำ ถ้าฝ่ายที่หลั่งไหลกลับขึ้นไปมีมาก กระแสที่ทวนก็จะกลายเป็นกระแสหลักได้ แต่เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปหวังอย่างนั้น

ข้อสำคัญก็คือความชัดเจนเข้าใจและมั่นใจในแนวทางและจุดหมายของตนเองนั่นแหละเป็นสิ่งสำคัญ ดังที่ท่านเรียกว่าต้องทำด้วยปัญญา ซึ่งจะทำให้ศรัทธา คือความเชื่อ หรือความมั่นใจที่แท้จริงเกิดขึ้นได้ เมื่อเราทำโดยมีศรัทธาและปัญญาอย่างแท้จริงแล้วเราจะมีจิตเมตตากรุณาต่อผู้อื่นได้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องของการปฏิบัติที่ถูกต้อง ที่มีผลดี ทั้งในแง่ของการปฏิบัติที่เรียกว่าทวนกระแส และผลดีด้านชีวิตจิตใจของตัวเราเอง และส่งผลไปยังสังคมด้วย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.