จิตวิทยาเพื่อการพัฒนาคน ตามแนวธรรมชาติ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จิตวิทยาเพื่อการพัฒนาคน
ตามแนวธรรมชาติ1

ขออำนวยพรท่านองคมนตรี ท่านผู้หญิงในฐานะประธานในพิธี ท่านนายกสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย ท่านผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน

วันนี้ อาตมภาพได้รับนิมนต์มาให้พูดในเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการพัฒนาคนในยุคสารสนเทศ คือยุคปัจจุบันนี้ เนื่องจากมีเวลาพูดจำกัด จึงคิดว่าจะต้องเร่งรีบเข้าสู่ประเด็นที่เป็นหัวข้อของการประชุม

หัวข้อที่ให้พูดนี้เป็นเรื่องสัมพันธ์กับกาล กับยุคสมัย คือเป็นการพัฒนาคนสำหรับสภาวการณ์ปัจจุบัน แต่ในการพูดนั้นคิดว่าคงต้องแยกเป็น ๒ ส่วน ตอนแรกจะพูดถึงหลักการทั่วไป แต่จะพูดสั้นๆ และในตอนที่สองจึงพูดเรื่องการพัฒนาคนสำหรับสภาวการณ์ปัจจุบันที่เรียกว่ายุคสารสนเทศ

ในด้านหลักการนั้น ในตอนต้นขอทำความเข้าใจกันก่อนว่า คำว่า จิตวิทยา ก็ดี คำว่า ศาสนา ก็ดี เป็นคำพูดในระบบความคิดปัจจุบันซึ่งเป็นแนวคิดที่พูดได้ว่าเป็นแบบตะวันตก คือแนวความคิดแบบชำนาญพิเศษหรือแยกส่วน หมายความว่าเรานิยมจัดแบ่งวิชาการเป็นต้น ออกเป็นเรื่องๆ ด้านๆ เฉพาะไป เรามีเรื่องจิตวิทยา เรามีเรื่องจริยธรรม เรามีเรื่องศาสนา แม้แต่คำว่าศาสนาเองที่ใช้กันอยู่ ก็เป็นศาสนาในความหมายของตะวันตก

ในความเป็นจริงนั้นวิชาการเหล่านี้เราคงแยกจำเพาะไม่ได้ เพราะเรื่องของชีวิตมนุษย์ ตลอดจนเรื่องของโลกทั้งหมด เป็นสิ่งที่โยงถึงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว แต่เราพูดแยกออกไปเพื่อความสะดวกในทางระบบความคิด แต่ในเชิงปฏิบัติการและการนำเข้าสู่ความเป็นจริงจะต้องเอามาโยงสัมพันธ์กันให้ได้

สำหรับเรื่องจิตวิทยา ศาสนา และจริยธรรมนั้น เวลานี้บางทีเมื่อใช้กันไปเราก็ติดในความหมายเฉพาะอย่างเฉพาะด้าน แล้วก็เกิดปัญหาคือการโยงกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นในที่นี้อาตมภาพจะหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำเหล่านี้ คือจะพูดกันตามสภาพความเป็นจริงเลย หมายความว่าไม่ต้องไปแยกว่าจิตวิทยา หรือศาสนา หรืออะไรทั้งนั้น แต่จะพูดถึงการพัฒนาคน

1ปาฐกถานำ ในการประชุมวิชาการของสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมรอยัลออร์คิดเชอราตัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๓๙ (เดิมมีชื่อเรื่องว่า “จิตวิทยา และศาสนาเพื่อการพัฒนาคนในยุคสารสนเทศ” ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ให้สอดคล้องกับเนื้อหามากขึ้น)
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.