จิตวิทยาเพื่อการพัฒนาคน ตามแนวธรรมชาติ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

คุณภาพคนไทยที่ต้องพัฒนาให้ทันยุคสมัย

เรามาถึงยุคสมัยนี้ที่เรียกว่ายุคสารสนเทศ คำถามก็เกิดขึ้นว่า ในท่ามกลางสภาพปัจจุบันที่เรียกว่ายุคสารสนเทศนี้ เราจะพัฒนาคนอย่างไรโดยใช้หลักการแห่งไตรสิกขานั้นเพื่อให้ได้ชีวิตที่ดีงาม ให้คนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ดีในสภาพอย่างนี้ สามารถแก้ปัญหาได้ สามารถสร้างสรรค์ได้

ยุคสารสนเทศนี้ เป็นยุคที่มีความหมายพ่วงเข้ามาว่าเป็นยุคโลกาภิวัตน์ด้วย ที่จริงสารสนเทศนี่แหละเป็นปัจจัยสำคัญของสภาพโลกาภิวัตน์ เนื่องจากสารสนเทศหรือข้อมูลข่าวสารนี้แพร่กระจายอย่างฉับไวไปทั่วโลก แต่เบื้องหลังของการที่สารสนเทศจะทำให้เกิดสภาพโลกาภิวัตน์นั้น ตัวอุปกรณ์หรือปัจจัยสำคัญที่ทำให้สารสนเทศนั้นแผ่ไปทั่วก็คือเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางด้านสารสนเทศที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ไอที เพราะฉะนั้นที่จริงเทคโนโลยีทั้งหลายนี้แหละเป็นตัวการสำคัญของสภาพโลกาภิวัตน์ มนุษย์ในยุคนี้ที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศก็สัมพันธ์กับเทคโนโลยีด้วย

ทีนี้หันไปดูทางด้านระบบสังคมบ้าง ระบบสังคมก็ใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเครื่องมือ ระบบสังคมที่เด่นปัจจุบันนี้คือระบบการแข่งขัน ซึ่งเป็นเรื่องของธุรกิจ อยู่ในด้านเศรษฐกิจ เวลานี้ระบบแข่งขันได้ครอบงำสังคมและกลายเป็นโลกาภิวัตน์ที่อยู่เบื้องหลังของเทคโนโลยีและสารสนเทศด้วยซ้ำ หมายความว่าระบบแข่งขันนี้กลับมาใช้สารสนเทศเป็นเครื่องมือ และนอกจากระบบแข่งขันที่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจแล้ว ก็มีสภาพจิตใจของคนที่สอดคล้องกันที่จะช่วยให้ระบบการแข่งขันดำเนินไปอย่างดีด้วย คือค่านิยมบริโภค ค่านิยมบริโภคก็ได้แผ่ไปครอบงำมนุษย์ในยุคปัจจุบันและกลายเป็นโลกาภิวัตน์อย่างหนึ่ง จนกระทั่งเราเรียกสังคมยุคนี้ว่าเป็นสังคมบริโภคนิยม ซึ่งแสดงว่าค่านิยมบริโภคได้แพร่หลายไปทั่ว และได้ครอบงำจิตใจคนอย่างกว้างขวาง

ถ้าเราเอาสภาพที่มองผิวเผินแค่นี้เป็นแนวทางในการพิจารณา เราก็ต้องพัฒนาคนให้มาอยู่ได้ด้วยดีในสภาพเหล่านี้ เช่นให้มาอยู่กับสภาพโลกาภิวัตน์แบบนี้ โดยปฏิบัติต่อสารสนเทศอย่างถูกต้อง ใช้มันอย่างถูกต้อง หรือรับมือกับมันอย่างถูกต้อง ปฏิบัติต่อเทคโนโลยีถูกต้อง และเผชิญกับบริโภคนิยมได้อย่างดี สามารถอยู่ในระบบแข่งขันได้อย่างผู้ชนะเป็นต้น อันนี้เป็นการพิจารณาเพียงขั้นต้นที่ผิวเผินซึ่งไม่จำเป็นจะต้องถูกต้อง แต่อย่างน้อยเราก็จะต้องทำให้ได้ เพราะถ้าจะทำอะไรที่ดีกว่าก็ต้องอยู่รอดก่อน

เมื่อวางสภาพปัจจุบันให้เห็นรูปร่างอย่างนี้แล้ว ก็มาดูว่าเราจะพัฒนาคนอย่างไร ถ้าจะให้คนอยู่ได้อย่างดีและประสบความสำเร็จในสังคมแห่งระบบแข่งขันซึ่งเป็นระบบที่จะต้องเอาชนะกัน อย่างน้อยก็ต้องการความเข้มแข็ง ทีนี้เราก็หันมามองดูในสังคมไทยของเรา ขอพูดในวงแคบเอาแค่สังคมไทยก่อน ที่จริงจะต้องพูดกันทั้งโลกมนุษย์ในปัจจุบัน แต่ขอพูดถึงสังคมไทยเป็นตัวอย่าง ก็มีปัญหาว่าในสภาพของโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขันกันนี้ เราพร้อมที่จะเข้าไปอยู่ร่วมเผชิญและต่อสู้ได้อย่างดีหรือไม่ เราสามารถเอาชนะได้ไหม อย่างน้อยไม่ให้ถูกเขาครอบงำ

ถ้าถามว่าคนของเรามีความเข้มแข็งพอไหม ก็ขอยกตัวอย่างขึ้นมาแสดงว่าคนไทยของเรานี้อาจจะมีความไม่ค่อยพร้อม มีภาวะที่ค่อนข้างอ่อนแอ เนื่องจากมีปัจจัยที่ทำให้คนไทยค่อนข้างอ่อนแออย่างน้อย ๔ ประการด้วยกัน ซึ่งเราจะต้องรู้ตัวและรับมือกับมันให้ถูก และถ้าเป็นไปได้ก็แก้ไขปรับปรุงให้กลายเป็นดี

ทำไมคนไทยจึงมีแนวโน้มที่จะอ่อนแอ ความหมายอย่างหนึ่งของความอ่อนแอ ก็คือการที่ไม่ค่อยสู้ปัญหา และเห็นแก่ความสะดวกสบาย เห็นแก่ความง่าย ถ้าเป็นเรื่องยากก็คอยหลีกเลี่ยงไม่ค่อยสู้ และอีกอย่างหนึ่งก็แสดงออกที่นิสัยชอบบริโภคชอบเสพ เพราะว่าการชอบเสพชอบบริโภคนั้นก็คือการที่ชอบรับการบำรุงบำเรอปรนเปรอ การชอบรับการบำรุงบำเรอปรนเปรอก็มีความหมายแฝงมาในตัวว่าต้องการมีความสุขโดยไม่ต้องทำอะไร หมายความว่ามีอะไรมาปรนเปรอช่วยให้เราสบาย เราจะได้ไม่ต้องทำอะไร นั่นคือความสุข คนที่เป็นอย่างนี้ก็หมายความว่าถ้าต้องทำอะไรก็เป็นทุกข์ คนที่หวังความสุขจากการเสพการบริโภคโดยมีความสุขจากการบำรุงบำเรอปรนเปรอจะกลัวการกระทำ ฉะนั้นถ้าจะต้องทำอะไรก็จะฝืนใจมีความทุกข์ สภาพอย่างนี้เราเรียกว่าเป็นความอ่อนแอ

ความอ่อนแอของคนไทยนี้มีปัจจัยเกื้อหนุนจากภูมิหลังที่เป็นมา ซึ่งในที่นี้ขอนำเสนอว่ามี ๔ ประการ

ประการที่ ๑ ก็คือ สภาพภูมิศาสตร์ที่มีธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ดังที่เราพูดกันว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” สภาพความเป็นอยู่เช่นนี้ทำให้เรามีความโน้มเอียงในทางที่ชอบความสะดวกสบาย ไม่อยากเจอปัญหา ไม่อยากทำอะไรที่ต้องเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก ชอบหันไปหาอะไรที่ง่ายๆ นี้เป็นประการที่หนึ่ง

ที่จริง “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” นี่แสนจะดี แต่เราพูดในแง่ของอิทธิพลที่ว่ามันอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาต่อชีวิตคนหรือต่อการพัฒนามนุษย์ได้ เพราะว่าธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นปุถุชนนั้นจะขึ้นต่อปัจจัยภายนอกมาก คือมนุษย์นั้นถ้าถูกทุกข์บีบคั้นถูกภัยคุกคามก็จะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย เพราะฉะนั้น มนุษย์ที่เกิดในดินแดนที่มีความขัดสน ยากลำบาก ธรรมชาติแร้นแค้น ก็จะต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดและทำให้เกิดความเข้มแข็ง ส่วนมนุษย์ที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สะดวกสบายก็มีความโน้มเอียงที่จะเห็นแก่ความง่ายสะดวกสบาย จึงไม่ดิ้นรนและชอบนอนเสวยสุข อันนี้เราพูดกันในขั้นต้นก่อน เพราะฉะนั้น สภาพแวดล้อมของธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เป็นอยู่สบายของไทย จึงเป็นอิทธิพลที่อาจจะทำให้เกิดความอ่อนแอได้

ประการที่ ๒ ก็คือ สภาพการรับเทคโนโลยีของคนไทย ซึ่งมีความหมายต่างจากตะวันตกมาก เทคโนโลยีเกิดขึ้นในสังคมตะวันตกนั้นมีความหมายต่อฝรั่งต่างจากสังคมไทย เพราะเทคโนโลยีที่เกิดในสังคมตะวันตกนั้นเกิดจากฝีมือของเขาเอง คือ เกิดจากความเพียรพยายามของเขาสร้างสรรค์ขึ้นมา โดยมีความหมายที่โยงไปถึงภูมิหลังต่างๆ มากมาย

ภูมิหลังอะไรที่ผลักดันสังคมตะวันตกในการที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีมาถึงปัจจุบัน ขอให้มองดูว่า เทคโนโลยีเกิดขึ้นมาด้วยอาศัยปัจจัยอะไรบ้าง

ปัจจัยที่หนึ่ง คือความรู้ทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ได้เจริญมาพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยี เมื่อมีความรู้วิทยาศาสตร์ก็ทำให้เราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้ เมื่อเทคโนโลยีเจริญขึ้นมาก็ทำให้เราพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยิ่งขึ้นไป ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่นกล้องดูดาว เราต้องการความรู้ทางดาราศาสตร์ ตอนแรกเราดูด้วยตาเปล่าก็เห็นดาวในขอบเขตจำกัด แต่ต่อมาเรามีความรู้วิทยาศาสตร์ในเรื่องแสง ก็ประดิษฐ์กล้องดูดาวขึ้นมา พอมีเทคโนโลยีคือกล้องดูดาวแล้ว ความรู้ทางดาราศาสตร์ก็พัฒนายิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีจึงเกื้อกูลอุดหนุนซึ่งกันและกัน

ทีนี้ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้น วิทยาศาสตร์ที่เจริญมาเป็นร้อยๆ ปีกว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีมาถึงขั้นนี้ได้นั้น ก็ได้ปลูกฝังทัศนคติและความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ลงเป็นนิสัยใจคอของมนุษย์ด้วย กล่าวคือลักษณะจิตใจที่เรียกว่าจิตใจวิทยาศาสตร์ ซึ่งแสดงออกมาสู่วิถีชีวิตของคนเป็นวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ คือความมีจิตใจใฝ่รู้ ความนิยมเหตุผล การชอบพิสูจน์ทดลอง การที่พยายามเข้าถึงความจริงของสิ่งต่างๆ อย่างไม่ยอมหยุดยั้ง ถ้าไม่เข้าถึงความจริงไม่ยอมหยุด จิตใจอย่างนี้เราเรียกกันง่ายๆ ว่าความใฝ่รู้ ซึ่งกว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีมาถึงปัจจุบันได้ฝรั่งก็ได้ผลพ่วงอันนี้ คือได้จิตใจที่ใฝ่รู้ซึ่งฝังลึกลงไปมาก

ต่อไปปัจจัยอีกอย่างหนึ่งคืออะไร เทคโนโลยีคู่กับวิทยาศาสตร์ พร้อมกันนั้นเทคโนโลยีก็คู่กับอุตสาหกรรม การที่เทคโนโลยีจะเจริญมาได้ถึงปัจจุบันนี้ ต้องอาศัยโรงงานอุตสาหกรรมผลิตและพัฒนา พร้อมกันนั้นอุตสาหกรรมก็อาศัยเทคโนโลยี การสร้างโรงงานอุตสาหกรรมก็ดี เครื่องมือของอุตสาหกรรมก็ดี ต้องใช้เทคโนโลยี เสร็จแล้วโรงงานอุตสาหกรรมนั้นก็พัฒนาเทคโนโลยีให้เจริญขึ้นไปอีก ถ้าเราไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม เทคโนโลยีที่เราใช้ก็คงไม่มี เราจะมีไมโครโฟนอย่างนี้ เราจะมีเครื่องบันทึกเสียงอย่างนี้ ก็ต้องอาศัยโรงงานอุตสาหกรรมด้วย

ทีนี้อุตสาหกรรมเกิดขึ้นมาอย่างไร อุตสาหกรรมก็เกิดจากการที่มีความทุกข์ยากจากสภาพแวดล้อม เช่น ธรรมชาติที่บีบคั้น และความแร้นแค้นขาดแคลนที่ฝรั่งเรียกว่า scarcity แล้วด้วยความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะความขาดแคลนนั้น คนก็ตั้งใจขยันหมั่นเพียรทำการทำงาน อย่างที่เรียกว่ามีจริยธรรมในการทำงาน (work ethic) เช่นมีความรักงาน ขยัน สู้งาน และมีความสันโดษ เป็นอยู่ง่าย ไม่เห็นแก่ความสุขสำราญบำรุงบำเรอ ตั้งใจทำงานอย่างเดียว ได้เงินได้กำไรก็เอามาสะสมระดมทุนเข้าไป มุ่งหน้าแต่ทำงานทำการ อุตสาหกรรมก็เจริญมาจนกระทั่งผลิตเทคโนโลยีได้ประณีตซับซ้อนยิ่งขึ้นๆ ซึ่งกว่าจะเจริญถึงขั้นนี้ได้ก็ใช้เวลาเป็นร้อยๆ ปี และตลอดเวลาอันยาวนานนั้น ทัศนคติความรู้สึกนึกคิดและวิถีชีวิตแบบอุตสาหกรรมหรือชีวิตแห่งความเพียรในการผลิตก็ได้ฝังลึกอยู่ตัวลงตัวแน่นสนิท กลายเป็นวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ที่ฝังลงไปในจิตใจ ซึ่งทำให้ฝรั่งได้นิสัยที่ขยันขันแข็ง หมั่นเพียร ชอบผลิต ชอบทำ ที่เรียกว่า สู้สิ่งยาก

เพราะฉะนั้น การที่เทคโนโลยีเกิดขึ้นในสังคมฝรั่ง และพัฒนามาได้ถึงบัดนี้นั้น จึงหมายถึงภูมิหลังแห่งความเพียรพยายามในการสร้างสรรค์ ที่เกิดจากวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้เขาได้นิสัยใจคอแห่งความใฝ่รู้และสู้สิ่งยาก แต่พอมาถึงสังคมไทยนี่มันไม่มีอย่างนี้

สังคมไทยเราเจอกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เมื่อประมาณร้อยปีมานี้เมื่อมันเข้ามาพร้อมกับฝรั่ง เราเรียกฝรั่งว่าชาวอารยประเทศ เราชอบและอยากได้ความเจริญอย่างฝรั่งที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามา เทคโนโลยีนั้นเป็นเครื่องหมายสำคัญของความเจริญก้าวหน้า เช่น กล้องถ่ายรูป เครื่องพิมพ์ เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น ทีนี้เทคโนโลยีที่เข้ามานี้สำหรับคนไทยก็คือเทคโนโลยีสำเร็จรูปที่ฝรั่งสร้างเสร็จมาแล้ว หนึ่งละ มันสำเร็จรูปแล้วเราไม่ต้องทำ สอง เทคโนโลยีที่เข้ามากับฝรั่งเป็นเทคโนโลยีประเภทบริโภคคือเครื่องใช้สอยที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบาย ส่วนเทคโนโลยีในการผลิตก็อยู่ที่ประเทศของเขา เพราะฉะนั้นคนไทยก็เจอกับเทคโนโลยีสำเร็จรูปประเภทบริโภคที่มาเสริมซ้ำความสะดวกสบายที่เรามีอยู่แล้ว ในน้ำมีปลาในนามีข้าวอยู่แล้ว แถมยังได้เทคโนโลยีมาเสริมความสะดวกสบายเพิ่มเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นคนไทยจึงมองเทคโนโลยีในความหมายว่าเป็นเครื่องบำรุงบำเรออำนวยความสะดวกสบาย และโดยนัยนี้เทคโนโลยีก็มีความหมายสำหรับคนไทยต่างกับฝรั่งมาก แล้วมันก็ยิ่งเสริมซ้ำความอ่อนแอให้แก่เรา

เป็นอันว่า จากภูมิหลังที่กล่าวมานี้ คนไทยเรานอกจากไม่ได้เหตุปัจจัยที่จะปลูกฝังความใฝ่รู้ และสู้สิ่งยากแล้ว เรายังมีทัศนคติ หรือท่าทีการมองเทคโนโลยีในเชิงเสพเชิงบริโภคมากกว่าในเชิงผลิตด้วย คือ เรามองเทคโนโลยีในความหมายว่าเป็นเครื่องเสริมเพิ่มความสะดวกสบายมากกว่าจะมองในความหมายว่าเป็นเครื่องช่วยทำการสร้างสรรค์

เมื่อมองความหมายของอุตสาหกรรม อุตสาหกรรม ก็จะมีความหมายสำหรับคนไทยในแง่ที่ว่าเป็นระบบและกระบวนการผลิตสิ่งเสพสิ่งบริโภคมาเสริมเพิ่มความสะดวกสบาย หรือบำรุงบำเรอเราให้เสพสุขได้มากขึ้น เราไม่มองอย่างฝรั่งที่เขาสร้างศัพท์เรียกอุตสาหกรรมว่า industry คือความขยันหมั่นเพียรในการผลิต หรือการเพียรพยายามสร้างสรรค์ทำให้เกิดมีสิ่งใหม่ๆ โดยไม่ยอมแพ้แก่ความเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก ตรงกับที่เรามาบัญญัติเป็นศัพท์ในภาษาไทยว่า อุตสาหกรรม ซึ่งแปลว่าการกระทำด้วยอุตสาหะ แต่เราใช้คำนี้โดยไม่รู้สึกตระหนักถึงความหมายที่แท้ของมันเลย

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.