จิตวิทยาเพื่อการพัฒนาคน ตามแนวธรรมชาติ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เร่งรัดพัฒนาด้วยระบบสร้างความเครียด กับระบบสติปัญญา

ก่อนจะผ่านไป ขอย้อนกลับมาพูดเรื่องสิ่งกล่อมอีกหน่อย ได้พูดแล้วว่าตามธรรมดาของมนุษย์ทั่วไป เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นหรือภัยคุกคาม จึงจะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย แล้วก็ทำให้เจริญเข้มแข็งขึ้นมา แต่เมื่อพรั่งพร้อมสุขสบายก็มีความโน้มเอียงที่จะเฉื่อยชาเกียจคร้านและนอนเสวยสุข แล้วก็อ่อนแอและเสื่อมลง เพราะธรรมดาวิสัยของมนุษย์ปุถุชนที่หมุนเวียนไปตามกิเลสอย่างนี้ ชีวิตและสังคมมนุษย์จึงวนเวียนอยู่ในวงจรแห่งความเจริญและความเสื่อมกันเรื่อยตลอดมา การพัฒนาคนที่จะถึงขั้นที่นับได้ว่าได้ผลจริงบรรลุความสำเร็จ จะต้องทำให้คนมีความดีงามความสามารถพอที่จะหลุดพ้นขึ้นอยู่เหนือวงจรนี้ได้

พระพุทธศาสนาเน้นเรื่องการพัฒนาคนให้ถึงระดับนี้เป็นอย่างมาก และถือเอาคุณสมบัติขั้นนี้เป็นเกณฑ์วัดการพัฒนาของคนอย่างหนึ่ง คือการที่มนุษย์สามารถสร้างสรรค์ความดีงามและความเจริญได้เรื่อยไป หมายความว่าสามารถทำการสร้างสรรค์หรือมีความกระตือรือร้นขวนขวายเพียรพยายามทำการต่างๆ ได้โดยไม่ต้องรอให้ถูกทุกข์บีบคั้นหรือถูกภัยคุกคาม และเมื่อมีความสุขความพรั่งพร้อมประสบความสำเร็จแล้ว ก็ไม่ติด ไม่หลงเพลิน ไม่มัวเมา ไม่เฉื่อยชาแล้วกลายเป็นเพียงผู้เสพเสวยผล แต่ยังคงมีความเข้มแข็งและเพียรพยายามใฝ่ทำการสร้างสรรค์ต่อไป สามารถทำการต่างๆ ด้วยความรู้เท่าทันเหตุปัจจัยทั้งหลายอย่างสม่ำเสมอ ท่านเรียกภาวะนี้ว่าความไม่ประมาท

ความไม่ประมาท ในที่นี้ หมายถึงความไม่ประมาทแท้ด้วยสติปัญญา คือมีสติตามทันสถานการณ์ คอยนึกคอยระลึก คอยสำรวจ คอยจับเอาทุกสิ่งทุกอย่างทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นไป อันจะส่งผลกระทบต่อชีวิตต่อสังคมเป็นต้น เอามาส่งให้ปัญญาพิจารณาตรวจตราวิเคราะห์วิจัยสืบสาวค้นคว้า ว่าอันใดจะทำให้เกิดความเสื่อม อันใดจะช่วยให้เกิดความเจริญ แล้วหาวิธีที่จะป้องกันกำจัดแก้ไขเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม และสร้างสรรค์ส่งเสริมเร่งทำเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเจริญงอกงาม โดยไม่ผัดเพี้ยนไม่ละเลยไม่นิ่งเฉยเฉื่อยชา พระพุทธศาสนารับรองว่า ถ้ามนุษย์ไม่ประมาทอย่างแท้จริงด้วยสติปัญญาอย่างนี้ สังคมจะมีแต่ความเจริญอย่างเดียวไม่มีเสื่อม

สังคมตะวันตกมีภูมิหลังแห่งการถูกทุกข์บีบคั้นและถูกภัยคุกคาม จึงดิ้นรนต่อสู้เข้มแข็ง มีความเพียรพยายามทำการต่างๆ สามารถพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้เกิดความเจริญอย่างที่เป็นอยู่นี้ขึ้นมาได้ (จุดเริ่มของอุตสาหกรรม ฝรั่งก็ยอมรับว่า คือ scarcity) และโดยสอดคล้องกับภูมิหลังนี้ ชาวตะวันตกก็มีวัฒนธรรมแห่งระบบแข่งขัน ซึ่งเป็นระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์ ที่บีบคนให้เครียด และต้องเร่งรัดตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าไม่ดิ้น ก็อยู่ไม่รอด ถ้าไม่เหนือเขา ก็ต้องหมดสภาพไป ความเครียด (stress หรือ tension) หรือภาวะบีบเร่ง จึงเป็นปัจจัยสำคัญอยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์ความเจริญของสังคมตะวันตก แต่เมื่อเวลาผ่านไปถึงบัดนี้ก็ปรากฏผลร้ายสะสมรุนแรงขึ้นๆ ว่า ความเครียดและภาวะบีบเร่งนี้ ได้กลายเป็นสาเหตุแห่งความเสื่อมสลายหรือความวิบัติทั้งของชีวิตและสังคม เสื่อมโทรมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

ลักษณะการสร้างความเจริญของชาวตะวันตกนี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นความไม่ประมาทอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ความไม่ประมาทที่แท้ เป็นเพียงความไม่ประมาทเทียม เพราะไม่เกิดจากคุณสมบัติที่พัฒนาขึ้นในตัวคนจากสติปัญญาแท้จริง แต่เกิดจากแรงบีบคั้นของปัจจัยภายนอก ที่ทำให้เกิดความเครียด ซึ่งเป็นภาวะบีบเร่งทางจิต เช่น ความกลัวแพ้ ความกลัวว่าตัวจะอยู่ไม่รอด กลัวเขาจะขึ้นหน้าเหนือตัว เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดความทุกข์มาก และจะเห็นได้ว่าพอมาถึงปัจจุบัน เมื่อสังคมเกิดความพรั่งพร้อมทางวัตถุมากขึ้น มีเทคโนโลยีสะดวกสบายมากขึ้น ทั้งที่ระบบแข่งขันก็ยังครอบงำสังคมอยู่ คนก็เริ่มอ่อนแอเฉื่อยชาลง ดังที่มีวรรณกรรมใหม่ๆ ออกมามากมายโอดครวญว่าคนรุ่นใหม่ในสังคมอเมริกันสำรวย หยิบโหย่ง ใจเสาะเปราะบาง ไม่สู้งาน ขาด work ethic และเกิดความขัดแย้งในจิตใจของคนรุ่นใหม่นั้นเองที่ตนชอบสะดวกสบาย เห็นแก่ความง่ายมากขึ้น แต่ระบบสังคมซับซ้อนต้องการความเข้มแข็งยิ่งขึ้น เลยยิ่งทำให้คนมีความทุกข์มากขึ้น พร้อมกับที่สังคมก็ยิ่งเสื่อมโทรมลงไป

ส่วนในสังคมไทย เมื่อสภาพแวดล้อมอุดมสมบูรณ์แล้วยังแถมมีเทคโนโลยีประเภทบริโภคมาเสริมความสุขสบาย ถ้าเห็นแก่ความสุขสบาย ชอบง่าย ไม่สู้ปัญหา ไม่ทนต่อความยากลำบาก ชอบผัดเพี้ยน และหมกมุ่นเพลิดเพลิน ก็ตกอยู่ในความประมาทอย่างที่กล่าวมาแล้ว

พระพุทธศาสนาสอนความไม่ประมาทที่แท้ด้วยสติปัญญา ซึ่งเกิดจากการพัฒนาคน นอกจากใช้สติสำรวจและใช้ปัญญาวิเคราะห์วิจัยเพื่อทำการให้ตรงกับเหตุปัจจัยแล้ว พระพุทธศาสนาก็ใช้ภาวะบีบเร่งด้วย แต่ไม่ใช่เป็นภาวะบีบเร่งทางจิต ท่านให้ใช้ภาวะบีบเร่งทางปัญญา คือการมองเห็น และรู้เข้าใจความจริงแห่งความเปลี่ยนแปลง ความเป็นอนิจจัง ภาวะเกิดดับ และความไม่คงอยู่ยั่งยืนของชีวิตและสิ่งทั้งหลายโยงมาสู่การใช้เวลาให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ภาวะบีบเร่งทางปัญญานี้ไม่ทำให้เกิดความเครียดกังวล ความขุ่นมัวเศร้าหมองใจหรือความเป็นทุกข์ แต่เป็นความปลอดโปร่งใจสว่างด้วยปัญญา คำสอนเช่นนี้มีมาก เช่น “คนเรานี้มีอายุอยู่ได้ไม่นาน จะต้องไปภพหน้า ควรทำความดี ควรดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ คนที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายเป็นไม่มี คนที่มีชีวิตยืนยาวก็อยู่ได้แค่ ๑๐๐ ปี จะเกินไปบ้างก็เพียงเล็กน้อย…พึงดำเนินชีวิตดังมีไฟไหม้อยู่บนศีรษะ” (๑๕/๔๔๐-๒)

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.